แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอเจริญพร โยมญาติมิตรผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน บัดนี้คณะบุญจาริก ก็ได้เดินทางมาถึงจุดสำคัญ เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า คือ 'ต้นพระศรีมหาโพธิ์' เราเรียกกันว่า 'พุทธคยา' สถานที่นี้ก็นับเนื่องอยู่ใน 'สังเวชนียสถานทั้ง 4' ตอนนี้เราก็พูดได้เต็มปากว่า เราได้มาถึงสังเวชนียสถานอย่างแท้จริง ที่ผ่านมานั้น แม้จะเป็นสถานที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังไม่อยู่ในสังเวชนียสถานที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้
สังเวชนียสถาน 4 นั้นก็จำเพาะว่าได้แก่
1. สถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ
2. สถานที่พระองค์ตรัสรู้
3. สถานที่พระองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
และ 4.สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน
อันนี้เป็นสถานที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติในเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในพระชนม์ชีพของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
ส่วนสถานที่อื่นนั้น ก็เป็นสถานที่เสด็จไป ผ่านไป ไปประทับ ทรงบําเพ็ญพุทธกิจ อะไรต่างๆ แม้จะมีความสําคัญ แต่ว่าก็ถือว่ายังไม่ใช่สังเวชนียสถาน
วันนี้เราเดินทางมาถึงจุดนี้ก็เข้าสู่สังเวชนียสถาน ในลำดับที่ 1 สำหรับการเดินทางของเรา คือถ้าว่าตามลำดับ ในเหตุการณ์ของพุทธประวัติแล้วก็ ก็อาจจะสับกันไปสับกันมาบ้าง อันนั้นก็เป็นเรื่องของเส้นทางที่จะเดินทางไปได้โดยสะดวก
ทีนี้ ในการมาถึงที่ตรัสรู้นี้ เราพูดได้ว่า นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเริ่มต้นจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็จึงนำเอาธรรมะที่ตรัสรู้นี้ไปเผยแผ่สั่งสอนต่อไป
สถานที่เราผ่านมานั้น ก็เป็นประจักษ์หลักฐานของการบําเพ็ญพุทธกิจ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรม ทำให้พระศาสนาขยายกว้างขวางออกไป และบางแห่งนั้นก็เป็นสถานที่เกี่ยวด้วยเหตุการณ์หลังพุทธกาล คือเป็นผลงานของพระสงฆ์ และก็อุบาสก อุบาสิกา ที่ได้นำพระศาสนาสืบกันมา
ถ้าเราพูดในแง่หนึ่งแล้ว เราเดินทางมาจากประเทศไทยมาถึงที่นี้ เหมือนกับเราเดินย้อนมา เราเริ่มต้นจากประเทศไทย ก็ถือว่าเป็นจุดปลายทางที่พระพุทธศาสนาแผ่ไปถึง และเราเดินทางมาเราก็มาถึงเมืองปัตนะ หรือปาฏลีบุตร ก็เป็นจุดต้นแหล่งที่พระพุทธศาสนาแผ่ไปถึงประเทศไทย นั่นก็หมายความว่า เราเดินทางจากประเทศไทยมาถึงแหล่งที่พระพุทธศาสนาได้แพร่ออกไป พอมาถึงเมืองปาฏลีบุตรเราก็ได้พบสถานที่ที่ท่านได้ส่งพระสงฆ์ไปประกาศพระศาสนาเป็นศาสนทูต เราก็รู้ว่า อ้อ! พระโสณะอุตตระ ที่ไปถึงดินแดนประเทศไทยของเราตั้งแต่สมัยก่อนโน้น ที่เรียกว่าสุวรรณภูมินั้น ก็เราได้มาถึงแล้ว ก็คือดินแดนของพระเจ้าอโศกมหาราช
ที่นี้ต่อจากนั้นเราเดินทางต่อมาอีก จากเมืองปาฏลีบุตร พอมาถึงเมืองราชคฤห์ อันนั้นก็ยิ่งเป็นต้นทางมากขึ้น ปาฏลีบุตรนั้นเป็นที่ส่งพระศาสนทูตไปก็จริง แต่เป็นเหตุการณ์หลังพุทธกาลตั้ง 200 กว่าปีแล้ว พุทธศาสนากว่าจะไปถึงปาฏลีบุตรนั้น ก็ต้องเริ่มต้นไปจากที่เมืองราชคฤห์ก่อน เมืองราชคฤห์นี้เป็นที่พระพุทธเจ้าทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากราชคฤห์นี้แหละ พระพุทธศาสนาก็แผ่ขยายกว้างขวางออกไป และมามั่นคงเจริญยิ่งขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช
เพราะฉะนั้นราชคฤห์ก็เป็นจุดเชื่อมต่อเป็นต้นทางของที่ปาฏลีบุตรอีกทีหนึ่ง
นี้ราชคฤห์นั้นเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าเสด็จไปประดิษฐานที่นั่น นำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่แก่ประชาชน เริ่มตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินเป็นต้นไป การที่จะทรงปฏิบัติอย่างนั้นได้ ก็เพราะว่าได้ตรัสรู้ ณ สถานที่นี้ คือที่พุทธคยา ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้
เราเดินทางมาตามลำดับๆ ในที่สุดก็มาถึงต้นแหล่งต้นทางของธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงเผยแผ่ คือพระพุทธศาสนาที่ไปถึงประเทศไทยเรา
ฉะนั้นบัดนี้เรามาถึงจุดศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาที่แท้จริงแล้ว เราก็ได้มานมัสการ ได้มาบูชาพระรัตนตรัย ได้ทำวัตรสวดมนต์ ได้สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย อันนี้ก็ได้แสดงออกซึ่งน้ำใจศรัทธาของพุทธศาสนิกชน และจำเพาะพอดีวันนี้ก็เป็นวันมาฆบูชาด้วย เป็นวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ก็ควรจะมีความอิ่มใจปีติมากยิ่งขึ้น ที่ว่าเราได้มานมัสการพระศรีมหาโพธิ์ในวันสำคัญอย่างยิ่งวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา
แต่สำหรับพิธีมาฆบูชานี้ก็เมื่อวานนี้ ก็ประจวบกับคณะบุญยะจาริกได้มาถึงพระเวฬุวัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เป็นต้นกำเนิดของมาฆบูชา เราก็เลยถือว่าถึงสถานที่นั้นแล้ว เวลาก็จวนแล้ว ก็เลยได้ประกอบพิธีเวียนเทียนมาฆบูชากันซะก่อนที่นั่น
แต่ถึงแม้มาที่นี่แล้ว มาถึงวันจริงเข้า จะทำพิธีอีกก็ไม่เป็นไร คือเมื่อวานนี้มาถึงสถานที่จริง วันนี้มาถึงวันจริง ได้ 2 อย่าง ได้ 2 จริง 2 ครั้ง สถานที่จริงก็ทำไปทีหนึ่ง พอถึงวันจริงก็ทำอีกทีก็ไม่เป็นไร เรื่องบุญนี่ทำยิ่งมากเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น
เพราะฉะนั้น โยมก็มาเวียนเทียนบูชาพระรัตนตรัยเนื่องในโอกาสมาฆบูชากันอีกครั้งหนึ่ง ที่ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์นี้ ก็จะเจริญบุญเจริญกุศลยิ่งขึ้น เราก็มาน้อมนำใจให้รำลึกถึงพุทธคุณ โดยโยงไปหาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้น เกิดขึ้นอย่างไร เราก็เรียนพุทธประวัติกันมาพอสมควรแล้ว ลำดับเหตุการณ์นั้นอาตมาก็คงไม่จำเป็นจะต้องมาเล่าให้โยมฟังอีก
แต่ว่ามีจุดเฉพาะสำคัญๆ ที่ควรสังเกตก็ขอย้อนรำลึกไปถึงคำที่อาตมาเคยเล่าให้ฟัง ว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นคือการค้นพบสัจธรรมความจริง และความจริงที่ว่านี้ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมดา ตามพุทธพจน์ที่เคยได้อ้างไว้ว่า "ตถาคตทั้งหลาย จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดก็ตาม หลักความจริงก็ดำรงอยู่เป็นปกติของมันอยู่แล้ว ว่าดังนี้ๆ ตถาคตคือพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ค้นพบความจริงนั้น และนำมาเปิดเผยแสดงชี้แจงให้เข้าใจง่าย ความเป็นหลักลงว่าดังนี้ๆ" นี่คือพุทธพจน์ที่ตรัสแสดง
หลักความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้นี้ เป็นเรื่องของธรรมดาธรรมชาติมีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์ก็จึงได้ทรงเปล่งอุทานวาจา คำเปล่งอุทานนี้ก็มีปรากฏอยู่ ที่ว่า "ยะทา หะเว ปาตุภะวันติ ธัมมา" เป็นต้น ซึ่งมีความหมายโดยย่อของว่า "เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์" คำว่า 'พราหมณ์' ในที่นี้หมายถึงว่า ท่านผู้บำเพ็ญปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่ดีงามสูงสุด คือเป็นคำเก่าที่เขาใช้กันสืบมา พระองค์ก็นำศัพท์นี้มาใช้ด้วย
"เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของพราหมณ์นั้นย่อมหมดสิ้นไป เพราะมารู้ทั่วถึงธรรมพร้อมทั้งปัจจัย" อันนี้เป็นพุทธพจน์ที่แสดงหลักความจริงที่ตรัสรู้ส่วนหนึ่ง ก็คือแสดงถึงกฎธรรมชาติแห่งความเป็นเหตุปัจจัย ที่บอกความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา พระพุทธเจ้ามาค้นพบนี้คืออะไร? ก็คือมาค้นพบความจริงกฎธรรมชาติความเป็นไปตามเหตุปัจจัย คือการที่ผลเกิดจากเหตุ เหตุก่อให้เกิดผล ที่เราเรียกกันง่ายๆว่า 'กฎปฏิจจสมุปบาท' หรือเรียกเต็มว่า 'อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท' นั่นเอง
และพระองค์ก็ตรัสต่อไปเป็นคาถาที่ 2 ข้อความคล้ายๆกันว่า "เมื่อใดธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยของพราหมณ์นั้นย่อมหมดสิ้นไป เพราะมารู้ธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย" อันนี้ก็คือการที่พระองค์ตรัส กล่าวอ้างอิงไปถึง ธรรมะอันเป็นที่สิ้นเหตุปัจจัย ที่ปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้ ได้แก่พระนิพพาน
ข้อที่ 1 นั้นแสดงหลักปฏิจจสมุปบาท
ข้อที่ 2 ก็แสดงถึงพระนิพพาน ที่เป็นธรรมพ้นจากปัจจัยปรุงแต่ง
และเมื่อได้ตรัสรู้ถึง อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท พร้อมทั้งพระนิพพานแล้ว คาถาสุดท้ายก็แสดงถึงการที่ว่า พระองค์ก็ได้กำจัดมารและเสนา เหมือนอย่างดวงอาทิตย์อุทัย ที่พ้นขึ้นมาจากเมฆหมอกภูเขา แล้วก็ทอแสงสว่างทำให้เห็นสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ชัดเจนสว่างอย่างกระจ่างจ้า อันนี้ก็คือปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ที่ทำลายความมืดแห่งอวิชชาหมดไป
อันนี้เป็นพุทธพจน์ที่เราเรียกว่าเป็น 'ปฐมพุทธพจน์' ในอรรถกถาท่านว่าอย่างนั้น บอกว่าพุทธพจน์แรกเลยที่พระพุทธเจ้าตรัสก็คือ พุทธพจน์ที่แสดงการตรัสรู้อันนี้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา คือกฎธรรมชาติความเป็นไปตามเหตุปัจจัย พร้อมทั้งธรรมะที่พ้นจากปัจจัยปรุงแต่ง
นี่แหละ เป็นเรื่องที่ดูเป็นเรื่องคล้ายๆว่าง่ายๆ เพราะว่าถ้าเราจะตอบชาวบ้านไป เวลาเขาถามว่า "พระพุทธศาสนาสอนอะไร?" หรือ "พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร?" ตอบในความหมายหนึ่งง่ายๆ ก็ตอบว่า "ตรัสรู้ธรรมดานี้เอง" ตรัสรู้ธรรมะนั้นก็คือธรรมดา แต่ว่าธรรมดานี้แหละเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ความจริงมีอยู่เป็นของธรรมดามีอยู่ตลอดกาล ใครจะรู้ไม่รู้ ใครจะเห็นไม่เห็น ความจริงก็คงอยู่อย่างนั้น
แต่เพราะมนุษย์ไม่รู้ความจริงอันนี้ที่เป็นธรรมดานี่แหละ ก็จึงดำเนินชีวิตไม่ถูกต้อง ก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาในชีวิตของตนเอง ปัญหาในสังคม ปัญหากับสิ่งแวดล้อม ทุกอย่างทุกประการ
แต่ถ้ามนุษย์รู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดานี้เมื่อใด เมื่อนั้นเขาก็ปฏิบัติถูกต่อทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อปฏิบัติถูกต้องก็ไม่เกิดปัญหา ทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดีเรียบร้อย ชีวิตก็ดีงามประเสริฐมีความสุข
ฉะนั้นปัญหาของมนุษย์นี้ในที่สุด เมื่อสืบลึกลงไป สืบสาวไปก็อยู่ที่การไม่รู้ไม่เข้าใจความจริงนี่เอง
ฉะนั้น มองในแง่หนึ่งแล้ว เรื่องของการตรัสรู้นี้ก็เหมือนกับว่าไม่มีอะไรมาก ก็คือการเข้าถึงตัวธรรมดาหรือความจริง แต่ตัวความจริงหรือตัวธรรมะอันนี้แหละ ที่เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ถ้าเราเข้าถึงความจริงเมื่อใด ทุกอย่างก็เรียบร้อย
แม้แต่วิทยาศาสตร์อย่างที่เรารู้จักกันนี้ ก็ไม่ได้ค้นพบอะไร ก็คือค้นพบธรรมดานี่แหละ ค้นพบความจริง แต่ก็เพียรพยายามกันมาทำเป็นกิจการใหญ่โต ลงทุนลงแรงไม่รู้เท่าไร เพื่อจะหาความจริงตามธรรมดานี้ แล้วก็ค้นพบกันมาทีละน้อย ละน้อย วิทยาศาสตร์ก็ค้นพบความจริงแต่ด้านวัตถุด้านเดียว อันนั้นแม้แต่ความจริงเพียงด้านวัตถุอย่างเดียว ก็ยังใช้เวลากันไม่รู้ว่าเท่าไหร่ แล้วบัดนี้ก็ยังหาได้ถึงความจริงนั้นไม่
สิ่งที่ค้นพบไปในทางวิทยาศาสตร์ สมัยหนึ่งก็ว่าอย่างนี้ อย่างนี้ นึกว่าค้นพบเป็นความจริงแท้แล้ว เวลาผ่านไปอีก 20 ปี 50 ปี 100 ปี คนรุ่นหลังนักวิทยาศาสตร์ที่มีเครื่องมือทันสมัยยิ่งขึ้นและก็มีประสบการณ์จากคนรุ่นก่อนทำไว้ให้มากขึ้น ก็มาค้นพบว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รุ่นก่อนได้ค้นพบไว้นั้นไม่จริงแท้เสียแล้ว เพราะว่ามองความจริงไม่ทั่วถึง มองเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์นั้นไม่รอบด้าน ก็กลายเป็นว่าสิ่งที่ค้นพบเก่านั้นเป็นเท็จไป ค้นพบความจริงใหม่ก็ประกาศว่าอันนี้ถึงจะจริง ต่อไปก็ปรากฏว่าค้นพบอีก อันนั้นก็อาจจะไม่จริงอีก ก็เป็นอย่างนี้กันเรื่อยมา
จุดปรารถนายอดความต้องการสูงสุดก็อันเดียว ก็คือ เราต้องการเข้าถึงความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดานี่เอง
สำหรับธรรมะในพุทธศาสนานั้น เรามองเห็นกันว่า เป็นความจริงที่ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง คือพระพุทธเจ้าทรงค้นพบความจริงนั้นเป็นหลักการใหญ่ ที่ไม่จำกัดเฉพาะด้านวัตถุอย่างเดียว และไม่จำกัดเฉพาะนามธรรม ทางพุทธศาสนานี้ท่านมองครอบทุกอย่างทั้งรูปธรรมและนามธรรม ที่เราเรียกกันว่า "รูป-นาม" เราถือว่าชีวิตมนุษย์นี้เป็นสุดยอด ของสิ่งทั้งหลายที่บรรดามีในโลก ถ้าเราไปค้นพบแต่เพียงวัตถุ เราก็ได้เพียงด้านเดียว เข้ามาถึงก็แค่ตัวเราด้านร่างกายเท่านั้นเอง
แต่ชีวิตของมนุษย์นี้ เป็นสิ่งที่มีทุกอย่างรวมอยู่ด้วยกันในตัว จะว่าทางด้านวัตถุก็คือการกลั่นกรองวัตถุทั้งหลาย ที่เราเรียกกันง่ายๆว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ เนี่ย กลั่นกรองมาสุดยอดแล้วก็มาเป็นร่างกายของเรานี่ แล้วนอกจากร่างกายแล้วเรายังมีส่วนจิตใจอีก มีนามธรรม เราเรียกว่าเป็นขันธ์ 5 มีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร วิญญาณ ทั้ง 5 อย่างนี้แหละ เป็นชีวิตของมนุษย์
พระพุทธเจ้าค้นพบตรัสรู้ความจริงกฎธรรมชาติ ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องนามธรรมและรูปธรรม เพราะฉะนั้น ก็จึงเป็นความจริงที่มีความสมบูรณ์ในตัว ไม่ใช่เป็นความจริงเฉพาะด้าน
เวลานี้ก็ในการค้นพบทางวิชาการต่างๆ ที่ว่าเป็นวิทยาศาสตร์เจริญเข้ามา ไปเน้นแต่ทางวัตถุ ก็เลยว่ายังค้นพบความจริงไม่ทั่วถึง ก็ต้องพิสูจน์ค้นกันต่อไป กันต่อไป จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ก็เริ่มมาสนใจเรื่องจิตใจ แต่ก่อนนี้ถือว่าเรื่องจิตใจนี้เป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน เป็นเรื่องที่ว่าไม่เกี่ยวกับตัวความจริงในธรรมชาติ จนกระทั่งว่าแยกคนนี้ออกเป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากธรรมชาติไปเลย เวลานี้ก็เริ่มมาสนใจเรื่องนามธรรมเรื่องติดใจว่าคืออะไร?
ถ้ามนุษย์จะเข้าถึงความจริงแท้ หนีไม่พ้นที่จะต้องเข้าใจตัวมนุษย์เอง ถ้าเข้าใจตัวมนุษย์เองแล้ว กล่าวได้ว่าเข้าใจหมดทุกอย่าง เพราะว่าตัวมนุษย์นี้เป็นสุดยอดของสิ่งทั้งหลายบรรดามีในโลกนี้
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสให้เราค้นพบตัวเอง ให้รู้จักตัวเอง ให้เข้าถึงความจริงที่มีอยู่ในขันธ์ 5 นี้แหละ เมื่อใดเข้าถึงความจริงอันนี้แล้ว ก็จะทำให้เรานี้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้อง ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายภายนอกถูกต้อง ถ้าปฏิบัติต่อชีวิตจิตใจของตนเองยังไม่ถูกต้องก็ยังแก้ปัญหาไม่จบไม่สิ้น ปัญหาทุกอย่างนั้น มันโยงกันไปหมด มีเหตุปัจจัยถึงกัน ทั้งรูปธรรมและนามธรรม
ฉะนั้นการแก้ปัญหาของมนุษย์นี้มักจะเป็นส่วนหนึ่งด้านหนึ่ง อย่างมนุษย์ปัจจุบันที่กล่าวมา เพราะเราไปให้ความสนใจทางวัตถุมาก บางทีเราก็แก้ปัญหาโดยพิจารณาแต่ด้านเหตุปัจจัยทางวัตถุอย่างเดียว ก็แก้ปัญหาไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะว่าเหตุปัจจัยนั้น อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่าโยงกันทั้งหมดทั้งรูปธรรมและนามธรรม ในที่สุดมนุษย์จะหนีไม่พ้น ที่จะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง ซึ่งประกอบด้วยทั้งกายและใจ ทั้งนามธรรมและรูปธรรม
พระพุทธเจ้าได้ทรงจับเข้าถึงจุดของความจริงอันนี้เลย ก็คือว่าค้นพบความจริงของชีวิตนี้ทั้งหมด ทั้งนามธรรม-รูปธรรม กฎเกณฑ์แห่งเหตุปัจจัยที่ครอบคลุม เพราะฉะนั้นพระโพธิญาณของพระองค์นี้จึงเป็นสิ่งที่ให้ถึงสัจจะ ไม่มีการเคลื่อนคลาดเปลี่ยนแปลง 2,500 กว่าปีแล้ว มาถึงปัจจุบันนี้เราก็ไม่เห็นว่าจะมีการคลาดเคลื่อนไป ยิ่งเวลาผ่านไปเราก็ยิ่งเห็นคุณค่าเห็นความจริงแห่งพระธรรมะ ที่พระองค์ประกาศไว้มากยิ่งขึ้นทุกที
แต่อย่างไรก็ตามความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นี้ แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาง่ายๆนี่แหละ แต่ว่าสำหรับคนทั่วไปมนุษย์เรานี้อยู่ในสิ่งแวดล้อม มีความคิด-ความเชื่อถือที่ถ่ายทอดกันมา จนกระทั่งเป็นความยึดติดถือมั่น เป็นวัฒนธรรม เป็นศาสนา อะไรต่างๆแล้ว พอมีความยึดติดถือมั่นแล้วนี่ ทำให้เข้าถึงความจริงได้ยาก บางทีสิ่งที่เราเชื่อสิ่งที่เรายึดถือนี่แหละ ก็กลับมาปิดบังตาหรือป้องกันกีดกั้นตนเอง ไม่ให้ยอมรับ ไม่ให้ยอมฟัง ไม่ยอมศึกษา ไม่สามารถเข้าใจความจริงนั้นได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นความลำบาก ในการที่ว่าจะนำธรรมะมาแสดง
จะเห็นได้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์ได้มาทรงรำพึงถึงธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็น้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ทรงสั่งสอนตามที่เราได้เรียนในพุทธประวัติ เราแปลกันว่า "ท้อพระทัย" ที่จริงไม่ใช่ท้อพระทัยหรอก แต่ท้อพระทัยนี่เป็นสำนวนพูดของชาวบ้าน พระพุทธเจ้าจะไปท้ออะไร คือหมายความว่าน้อมพระทัยไปในทางที่จะไม่ทรงแสดงธรรม
ทำไมน้อมพระทัยไปไม่แสดง? คือว่าทรงพิจารณาว่า เอ๊! จะแสดงไปนี่จะได้ประโยชน์แค่ไหน? เพราะทรงพิจารณาเห็นว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ คนทั้งหลายนี่ที่วุ่นวายอยู่ อยู่ในความลุ่มหลงมัวเมา มีความเพลิดเพลินอยู่ในสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะทางวัตถุเนี่ย จะรู้ตาม-เข้าใจตามได้ยาก
ธรรมะที่กล่าวนี้ ก็พระองค์ก็ตรัสสั้นๆ บอกว่า "อิทัปปัจจยตา-ปฏิจจสมุปบาท และพระนิพพาน" อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ ที่คาถาที่พระพุทธเจ้าอุทานไว้นั้นน่ะ ก็แสดงหลักธรรมใหญ่ 2 ประการนี้ ส่งนำไปแสดงเป็นตัวหลักการ ตัวความจริงในธรรมชาตินี้ ยากที่คนทั้งหลายจะเข้าใจ เพราะว่ามีสิ่งหุ้มห่ออย่างที่กล่าวเมื่อกี้น่ะ มีความลุ่มหลง มีความเพลิดเพลิน มีความมัวเมาต่างๆ มีความเชื่อ มีวัฒนธรรมอะไรต่างๆ ประเพณียึดติดถือมั่น ยากที่จะเข้าใจ พระองค์ก็น้อมพระทัยไปในทางไม่ทรงแสดงธรรม
และเสร็จแล้วก็มีเรื่องกล่าวว่า มีพระพรหมมาอาราธนา 'สหัมบดีพรหม' มาอาราธนาว่า "ยังมีสัตว์ที่มีธุลีในดวงตาน้อย หวังว่าสัตว์เหล่านั้นน่ะคงจะพอเข้าใจได้บ้าง"
ก็หมายความว่า ถ้าว่าโดยคนส่วนใหญ่แล้วนี่ยากที่จะเข้าใจ แต่ว่าคนที่มีสติปัญญา และก็ไม่มีความลุ่มหลง เพลิดเพลิน มัวเมา ติดใน อามิสวัตถุทั้งหลายมากมายนัก ท่านเหล่านั้นก็อาจจะพอสามารถที่จะได้รับการแนะนำให้เกิดความเข้าใจได้บ้าง
อันนี้ก็ทำให้พระพุทธเจ้า ได้ทรงตัดสินพระทัยที่จะเสด็จออกมาทรงแสดงธรรมสั่งสอน
อันนี้เป็นพุทธพจน์ที่เป็นเครื่องเตือนใจเราอย่างหนึ่ง ให้เราเห็นว่าการที่จะเข้าใจถึงตัวธรรมะแท้ๆเนี่ย ถ้าจะเอาให้ถึงที่สุดแล้วก็จะได้เพียงคนส่วนน้อย แต่พระพุทธศาสนานี่ก็มองมนุษย์ในแง่ว่าเป็นสัตว์ที่ 'ต้องฝึกกันไป' เมื่อฝึกกันไปก็หมายความว่า ถึงแม้ส่วนใหญ่นี่จะไม่ถึงที่สุด ไม่ถึงความจริงสูงสุด แต่ให้เขาดีขึ้นกว่าเดิมก็ยังดี
ฉะนั้น ถ้ามองในแง่นี้แล้ว เราก็สามารถทำให้พระพุทธศาสนานี้ เกิดผลเป็นประโยชน์แก่มนุษย์จำนวนมากได้
เราหันไปมองดูสภาพของอินเดีย สมัยพุทธกาลนี้ ก็จะเห็นความจริงที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงโน้มพระทัยในทางที่ไม่ทรงสั่งสอน
อินเดียในพุทธกาลเป็นอย่างไร? เต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ทำให้จิตใจของคนนี่ เหินห่างจากความจริงห่างจากตัวธรรมะ
เอากันอย่างง่ายๆ คนในสมัยพุทธกาล ก่อนพุทธกาล ก่อนพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ตกอยู่ใต้อำนาจคำสอนหลักลัทธิของศาสนาพราหมณ์ มีความเชื่อในพระพรหม ในเทพเจ้าสูงสุด ผู้สร้างสรรค์บันดาลโลกและชีวิต พระผู้เป็นเจ้าหรือพระพรหมนี้สร้างสรรค์บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง สร้างโลกสร้างชีวิตมนุษย์ขึ้นมา แล้วยังแถมกำหนดมาเสร็จว่าให้มนุษย์นี้แบ่งกันเป็นวรรณะ 4 เป็นกษัตริย์ เป็นพราหมณ์ เป็นแพศย์ เป็นศูทร เกิดมาอย่างไรก็ต้องอยู่อย่างนั้นตลอดชาติ อิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เช่นในเรื่องวรรณะนี่ มีความแน่นหนักฝังลึกเหลือเกิน
ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้นั้น เราจะเห็นได้ว่าเป็นความจริงจนกระทั่งปัจจุบัน เวลานี้วรรณะ 4 ก็ยังครอบงำคนอินเดียอยู่ โยมผ่านมาเมื่อวานนี้ก็เห็นชัดเจน แค่ไปที่ตโปทาราม ไปเห็นคนอินเดียที่มาอาบน้ำที่บ่อน้ำร้อน เสร็จแล้วแบ่งกันเป็นเขตๆ คนที่เป็นวรรณะสูงก็อาบตอนสูง และก็คนวรรณะต่ำลงมาก็ยอมรับสถานะของตนเอง ไปยอมอาบน้ำที่คนวรรณะสูงเขาใช้แล้วอาบแล้วเนี่ย มาอาบตัวเองอีก อันนี้ สภาพความยึดติดถือมั่นอันนี้ ฝังลึกมากเพราะเชื่อว่าพระพรหมท่านสร้างมาอย่างนั้น ก็แก้ไขได้ยาก
พระพุทธศาสนาเข้ามาเจริญรุ่งเรือง พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมประกาศความจริงให้ ในที่สุดพระพุทธศาสนาเองก็อยู่ยังไม่ได้ พุทธศาสนาก็ปลาสนาการไปจากประเทศอินเดีย คนอินเดียก็นับถือวรรณะ 4 กันต่อไป เวลานี้ก็ยังอยู่ในสภาพอันนั้น นี่ก็คือความฝังลึก จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาด้วยความยากลำบากขนาดไหน เนี่ยที่ว่า เราจะต้องดูสภาพแวดล้อมความเป็นจริงอันนี้
มีอีกด้านหนึ่งก็คือ สัมพันธ์กับเรื่องเดียวกัน เหตุเดียวกัน ก็คือความเชื่อในเทพเจ้าสูงสุด ที่สร้างสรรค์บันดาลทุกอย่างนี้ ก็มีเทพเจ้าต่างๆอีกเยอะแยะมากมายเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน เทพเจ้าเหล่านั้นก็มีอำนาจ มีอิทธิฤทธิ์ มีปาฏิหาริย์ เป็นผู้ที่จะดลบันดาลสิ่งต่างๆ มนุษย์ต้องการอะไร อยากได้อะไรก็ไปอ้อนวอนขอต่อเทพเจ้าเหล่านั้น กลัวภัยอันตรายต่างๆก็ไปเอาอกเอาใจ เพราะว่าเชื่อว่าเทพเจ้าเป็นผู้บันดาลทุกสิ่งทุกอย่าง จนกระทั่งว่าคนอินเดียนี้ ได้ประดิดประดอยวิธีเอาใจเทพเจ้า เกิดเป็นการบวงสรวงอ้อนวอนต่างๆ การบวงสรวงอ้อนวอนเหล่านั้น ก็ทำให้ใหญ่โตมากขึ้นวิจิตรพิสดารมากขึ้น จนกระทั่งเป็นพิธีที่เรียกว่า 'การบูชายัญ' การบูชายัญก็เป็นวิธีเอาอกเอาใจเทพเจ้านั่นเอง
และเราจะไปรู้ได้ยังไงว่าเทพเจ้าท่านจะพอใจแค่ไหน? อย่างเราทำไปแค่นี้เราเห็นว่า เอ้อ! เหตุร้ายยังไม่หมดไป เราก็นึกว่า เอ้อ! เทพเจ้าท่านยังไม่พอใจนะ เราก็เอาใจมากขึ้นอีก หรือว่า ทำไปแล้วอยากจะได้สิ่งที่ปรารถนา อันนี้อ้อนวอนไปแล้ว ทำพิธีบูชายัญบวงสรวงไปเท่านี้ยังไม่ได้ แทนที่จะมาคิดถึงเหตุผล แทนที่จะไปว่าเทพเจ้า ก็ไปคิดว่าตัวเองคงยังเอาใจไม่พอ เมื่อเอาใจไม่พอก็ต้องพยายามเอาใจให้มากขึ้นอีก พิธีบูชายัญบวงสรวงก็เลยวิจิตรพิสดารขึ้นทุกที จนกระทั่งว่า มีพิธีบูชายัญด้วยการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมากมาย อย่างละเป็นจำนวนห้าร้อย ห้าร้อย โดยเฉพาะวัว 500 แพะ 500 แกะ 500 จนในที่สุดก็ถึงขั้นเอาคนไปบูชายัญ ต่อมาประเทศชาติเจริญมากขึ้น สังคมเจริญมากขึ้น ก็มีการออกกฎหมายห้าม
อย่างอินเดียเนี่ย อังกฤษเข้ามาปกครองก็มีการออกกฎหมายห้าม และสังคมเป็นประชาธิปไตยขึ้นก็มีกฎหมายห้าม ไม่ให้เอาคนมาบูชายัญ เพราะการฆ่าคนนี่ก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว
แม้กระนั้น ความเชื่อทางศาสนาก็เป็นเหตุให้คนยังพยายามอยากจะได้ผลประโยชน์จากการบูชายัญ ที่เมืองกัลกัตตานั้นก็ พระที่นั่นก็ยังเล่าว่ายังมีคนพยายามบูชายัญด้วยการค้ามนุษย์อยู่ ก็จะมีการลักพาตัวสาวพรหมจารีเอาไปฆ่าสังเวยเจ้าแม่กาลี ที่เทวาลัยเจ้าแม่กาลีในเมืองกัลกัตตานี่ เป็นครั้งเป็นคราว อยู่ๆก็ผู้หญิงสาวพรหมจารีก็หายไปจากบ้าน ปรากฏว่าถูกนำไปฆ่าสังเวยเจ้าแม่กาลีซะแล้ว ที่ศาลเจ้าแม่กาลีนั้นก็มีแท่นบูชายัญ เขาบอกว่า เอาคอคนไปวางแล้วเวลาตัดศีรษะนี้ เลือดจากคอนี้จะพุ่งตรงไปที่ปากเจ้าแม่กาลีพอดี แหม! สร้างประดิดประดอยดีเหลือเกิน
ถ้าเอาความคิดอย่างนี้ ความสามารถนี้ มาประดิษฐ์สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์แก่มนุษย์นี่จะได้คุณค่ามหาศาล นี่แทนที่จะคิดอย่างนี้ เอาไปประดิดประดอยหาทางเอาใจเทพเจ้า เอาใจเจ้าแม่กาลี
นี่แหละ เป็นกันจนกระทั่งบัดนี้ เรียกว่าแม้แต่กฎหมายลงโทษรุนแรงเขาก็ยังกล้า ยังพยายามหาทางหลีกเลี่ยง นี่ก็คือสภาพแวดล้อมในสังคม ตั้งแต่สมัยพุทธกาลนี่ คนก็ลุ่มหลงอยู่ในสิ่งเหล่านี้ อ้อนวอนขออำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า
พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาแล้ว ตรัสรู้ค้นพบความจริงเข้าถึงกฎธรรมชาติ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้ว พระองค์ก็มาทรงแสดงธรรม เท่ากับว่า ไปบอกแก่ประชาชนทั้งหลาย บอกว่า "เออ! ท่านทั้งหลายอย่ามัวไปมองออกไปข้างนอกนะ อย่ามัวไปหวังผลการดลบันดาลจากเทพเจ้า ไปขอให้ท่านช่วยโน่นช่วยนี่ สิ่งทั้งหลายนี่นะ มันเป็นไปตามความจริงตามเหตุปัจจัยของมันเอง หันมาดูความจริงกันสิ อย่ามัวแต่มองไปที่เทพเจ้า ว่าเราจะเอาโน่นเอานี่ แล้วขอให้ท่านทำให้ แต่ให้มามองตัวความจริงที่อยู่รอบตัวเรานี้แหละ ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา ว่าสิ่งทั้งหลายเนี่ย เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน คนที่เราต้องการนี้จะเกิดขึ้นด้วยการกระทำของเราด้วยการทำเหตุ ถ้าเราทำเหตุแล้วผลก็จะเกิดขึ้น นี่คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย"
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็ชี้ชวนประชาชนนี้ ให้หันเหเบนความสนใจ จากการดลบันดาลของเทพเจ้าที่เป็นอำนาจภายนอกที่เลื่อนลอย ที่ตัวเองมองไม่เห็นและไม่สามารถบังคับควบคุมได้เนี่ย ให้หันมาดูความจริงของสิ่งทั้งหลายที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน คือตัวธรรมะ
ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยตัวความจริงนี้ เราใช้ศัพท์สั้นนิดเดียว ด้วยคำคำเดียวว่า 'ธรรมะ' เท่านั้น
จากเทพเจ้าที่ดลบันดาลนั้น พระพุทธเจ้าเบนความสนใจของประชาชนมาสู่ตัวธรรมะ
เพราะฉะนั้น พุทธกิจอย่างหนึ่งที่สรุปได้ง่ายๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำก็คือ ทรงดึงประชาชนจากเทพมาสู่ธรรม
'จากเทพสู่ธรรม' นี่คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพุทธกาล ประชาชนหลงใหลวุ่นวายอยู่กับเรื่องเทพเจ้า อ้อนวอนขออำนาจเทพเจ้า บันดาลโน่น ดลนี่ อะไรต่างๆนี้ พระพุทธเจ้าดึงมาให้เขามาสนใจตัวธรรมะคือความจริงความเป็นเหตุปัจจัย
อันนี้แหละคือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา
เพราะฉะนั้น จึงเป็นการปฏิวัติสังคม ในขณะที่สังคมเนี่ยมัววุ่นวายอยู่กับการหวังผลจากการดลบันดาลของเทพเจ้าต่างๆ พระพุทธเจ้าดึงคนให้มาสนใจตัวธรรมะ ไม่ว่าสนใจตัวธรรมะ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือความเป็นเหตุเป็นผลกันในสิ่งทั้งหลาย
ความเป็นเหตุเป็นผล-ความเป็นเหตุปัจจัยนั้น ที่สัมพันธ์กับตัวมนุษย์คืออะไร?...คือมนุษย์นี้ต้องการผล ต้องการประโยชน์บางอย่างให้แก่ตนเอง ผลที่ต้องการนี้ก็ต้องเกิดจากเหตุ
เหตุนั้นก็คืออะไร?...ก็คือการกระทำของตนเอง เพราะเราต้องการผล ก็ต้องทำเหตุ
การทำเหตุด้วยตัวของมนุษย์เอง อันนั้นก็คือตัวการกระทำ เพราะฉะนั้นตัวการกระทำเป็นตัวเหตุปัจจัยที่จะนำผลที่ต้องการมาให้ ตัวการกระทำของมนุษย์นั้น ท่านเรียกว่า"กรรม"
เพราะฉะนั้น กฎแห่งธรรมะคือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับตัวมนุษย์ก็แคบลงมาเรียกว่า "กรรม" นั่นเอง จาก "ธรรม" ก็มาหา "กรรม" กรรมก็ซ่อนอยู่ในธรรม หมายความว่า บอกแม้ว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยผลจะเกิดจากเหตุ
อ้าว! ที่นี้ ผลในส่วนที่เกี่ยวกับตัวมนุษย์ ผลที่มนุษย์ต้องการก็เกิดจากการทำเหตุ การกระทำเหตุนั้นคือตัวกรรม เพราะฉะนั้นผลที่เราต้องการก็เกิดจากกรรม เพราะฉะนั้น จากธรรม พระพุทธเจ้าก็ชี้แคบลงมาถึงกรรม
พอมาถึงกรรมแล้ว ทีนี้ต่อไปอะไรล่ะ?...มนุษย์จะต้องทำกรรม ให้สำเร็จผลที่ต้องการ ทีนี้ถ้าต้องการผลดี ก็ต้องทำกรรมดี ถ้าหากว่าไม่ต้องการผลชั่ว-ผลร้าย ก็ต้องหลีกเลี่ยงกรรมชั่วร้าย ก็เลยมีหลักการว่า กรรมดีนำไปสู่ผลดี กรรมชั่วนำไปสู่ผลชั่ว ทำกรรมดีก็จะทำให้ได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ได้รับผลชั่ว นี้มนุษย์ก็จะต้องเพียรพยายามทำเอา
แต่ว่ามนุษย์ที่เพียรพยายามทำเอานี่ ถ้าหากว่าตัวเองไม่มีความรู้เข้าใจ ทั้งๆที่มีความเพียรพยายามทำ ทำกรรมไปแต่ทำเหตุไม่ตรงผล ถ้าเหตุไม่ตรงผล ผลที่ต้องการก็ไม่เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นการทำกรรม ก็ยังไม่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้สำเร็จผลที่ต้องการ เพราะว่าไม่รู้ว่าการกระทำใดจะนำไปสู่หนใด
อันนี้ก็ขาดอะไรไปอย่าง?...ก็คือขาดปัญญา ที่นี้ขาดปัญญา เพราะฉะนั้นจะต้องมีปัญญา เพื่อจะให้ทำกรรมที่ถูกต้อง ตรง ที่เป็นเหตุให้เกิดผลดีแท้ๆจริง
ทำไงจะให้เกิดปัญญาขึ้นมา? แต่ว่าตอนนี้ตัดสินได้ว่ามนุษย์จะต้องมีปัญญา จะต้องรู้เข้าใจ จะต้องมีปัญญารู้เข้าใจจะได้รู้ว่า กรรมไหนจะนำไปสู่ผลอันไหน ที่ตนต้องการได้ อันนั้นก็คือเรียนรู้เหตุปัจจัยนั่นเอง จะได้ทำได้ตรงจุด
ฉะนั้น คนเราจะต้องมีปัญญา จะทำให้มีปัญญาทำยังไง?...ก็ต้องฝึกคน พัฒนาคนขึ้นมา เพราะฉะนั้น ก็เลยทำให้มีหลักการของพระพุทธศาสนาขึ้นมาว่า มนุษย์นี้จะต้องมีการฝึกฝนพัฒนานะ เราก็เลยเกิดหลักการปฏิบัติในพุทธศาสนาขึ้นมาเรียกว่า "สิกขา" ซึ่งแปลว่า "การศึกษา หรือการฝึกฝนมนุษย์"
การฝึกฝนมนุษย์นี่ เป้าหมายสำคัญก็ให้เกิดปัญญา เกิดปัญญาแล้วก็รู้ถึงความเป็นเหตุปัจจัย หรือถึงตัวเหตุที่จะทำให้เกิดผลที่ต้องการ ก็คือรู้ตัวธรรมะนั่นเอง รู้ตัวธรรมะ รู้ความจริงของความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เสร็จแล้ว พอตัวมีปัญญารู้เหตุปัจจัยได้ดี ตัวเองก็มาทำกรรมได้สอดคล้อง ได้ถูกต้อง ก็ทำกรรมที่จะให้เกิดผลที่ดีงามที่ต้องการ หลีกเลี่ยงกรรมที่จะเป็นเหตุปัจจัย ที่จะทำให้เกิดผลที่ไม่ดีได้
เพราะฉะนั้น หลักการของพระพุทธศาสนาในที่สุดก็มาถึง ตัวมนุษย์ว่าจะต้องมีการสิกขา ต้องมีการฝึกฝนพัฒนา อันนี้แหละ ก็เป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา
จากเทพ พระพุทธเจ้าดึงคนมาสู่ธรรม
จากธรรม ในนั้นแฝงเรื่องกรรมอยู่
จากเรื่องกรรม เพื่อจะให้กรรมได้ผลดี มนุษย์ก็ต้องพัฒนาปัญญาขึ้นมา
จะพัฒนาปัญญา ก็ต้องมีสิกขา
ที่นี้จะให้ มีการสิกขามีการฝึกฝนมนุษย์นั้น ก็เพื่อปัญญานั่นแหละ แต่ว่าปัญญาจะเกิดขึ้นนั้น มันต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ ทุกด้านของมนุษย์ มนุษย์จะต้องมีพฤติกรรมที่ดีงามเอื้อต่อการเจริญปัญญา ถ้าหากไม่มีพฤติกรรมที่ดี ก็ปัญญาก็ไม่เกิดเหมือนกัน
ฉะนั้นก็ต้องวางฐาน ว่าพฤติกรรมต่างๆ ความประพฤติ กาย วาจา ต้องจัดให้ดี เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่จะเอื้อต่อการแสวงหาปัญญา เพื่อตัวเองจะได้หาความรู้ ได้เจริญปัญญายิ่งขึ้น จะต้องฝึกฝนจิตใจ เพื่อสร้างสภาพจิตที่ดี แม้กระทั่งในที่สุด สร้างจิตให้เกิดสมาธิ สมาธิทำให้จิตเป็นกัมมนียะ ทำให้จิตเหมาะแก่งาน แล้วก็เอาไปใช้ ทำให้พิจารณาคิดสิ่งต่างๆ "สะมาหิโต ยะถาภูตัง ปะชานาติ"
พอจิตมั่นคงเป็นสมาธิ ก็ทำให้เกิดปัญญาได้ง่าย และเอี้อต่อการเกิดปัญญา
ฉะนั้น เพื่อจะให้เกิดปัญญานี้แหละ ก็เลยต้องมีการพัฒนาในด้านพฤติกรรมที่เรียกว่า "ศีล" ด้วย พัฒนาในเรื่องจิตด้วย ก็เลยกลายเป็น"สิกขา 3 " ขึ้นมา มีศีล มีสมาธิ ปัญญา
ศีล ก็พัฒนาในเรื่องพฤติกรรม กาย-วาจา ในการสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ทางสังคมบ้าง ทางด้านวัตถุบ้าง แล้วก็พัฒนาทางด้านจิตใจ แล้วก็พัฒนาปัญญา และก็มาช่วยกันเสริมกัน มนุษย์ก็จะเข้าถึงธรรมมากขึ้นตามลำดับ
พอมนุษย์เข้าถึงธรรม รู้ความจริงของเหตุปัจจัยทั้งหลายแล้ว เอ้า! เราก็รู้ว่าจะทำกรรมยังไง จะสร้างเหตุปัจจัยอะไรจึงจะได้ผลดี มนุษย์ทำกรรมได้ถูกต้อง ก็เกิดผลดีตามที่ตัวต้องการ กรรมนี้ก็ประณีตขึ้นไปตามลำดับ จนกระทั่งว่าพ้นกรรมไปเลย
นี่แหละ! ก็คือหลักการใหญ่ๆ ของพระพุทธศาสนา แต่หลักการใหญ่ที่ครอบคลุมนี้ มันก็เป็นเรื่องที่ว่า พูดง่ายทำยาก เวลาพูดนี่ไม่ยากเท่าไหร่หรอก เวลาปฏิบัตินี้แสนยาก
โยมแค่รักษาศีลอย่างเดียว พัฒนาศีลก็แทบแย่แล้ว แต่ทีนี้อย่างไรก็ตาม ก็ขอให้ได้ภาพรวมไว้ก่อน ถ้าเราได้ภาพรวมของพระพุทธศาสนาไปแล้วนี่ เราก็จะได้มองเห็นจุดหมายปลายทาง เห็นในความสัมพันธ์ของการปฏิบัติของเรา ว่าอันไหนโยงไปไหน แล้วเราจะปฏิบัติได้ถูกต้องดีขึ้น
หลักการของพระพุทธศาสนานี้ ที่ว่าด้วยธรรมะนี้แหละ จึงขยายไปสู่หลักปลีกย่อยต่างๆ แล้วหลังปลีกย่อยทั้งหลายนี้ก็โยงถึงกันหมดทุกอย่างเลย
พระพุทธเจ้าทรงแสดงมาให้แล้ว แต่ข้อสำคัญก็คือว่า พระองค์ไม่ได้แสดงไว้แค่นี้ ไม่ได้แสดงแต่หลัก พระองค์ให้กำลังใจพวกเราด้วย
ให้กำลังใจอย่างไร?...พระองค์ตรัสบอกว่า "เอ้อ! มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้นะ" มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ อันนี้ล่ะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และพร้อมกันนั้น มองอีกด้านหนึ่งก็คือบอกว่า "เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก" ด้วยนะ
"ฝึกได้" นี่ให้เกิดกำลังใจ แต่ "ต้องฝึก" บอกให้สำนึกในหน้าที่ ว่าเราเป็นคนนี่ต้องฝึกตน จะอยู่อย่างสัตว์ทั้งหลายไม่ได้
ก็ต้องย้ำอีกทีหนึ่งว่า ความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์ทั้งหลาย 'มนุษย์นี่เป็นสัตว์พิเศษ' เป็นสัตว์พิเศษที่ว่า มีการฝึกฝนพัฒนาได้เท่านั้นเอง
คือสัตว์ชนิดอื่นนี่มันฝึกฝนพัฒนาไม่ได้ มันมีข้อแตกต่างอย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายอื่น ที่เราเรียกว่า "เดรัจฉาน" นั้นน่ะ อยู่ด้วยสัญชาตญาณ
ในแง่สัญชาตญาณแล้ว สัตว์ทั้งหลายนี้เก่งกว่าเรา เราอย่าไปเทียบเลยเรื่องสัญชาตญาณ มนุษย์เกิดมานี่อาศัยสัญชาตญาณได้น้อย ไม่ค่อยมีความสามารถ
อะไรพิสูจน์ว่าเราแพ้สัตว์ทั้งหลาย ในเรื่องสัญชาตญาณ?...สัตว์ทั้งหลายนี้เกิดมา พ่อออกจากท้องพ่อท้องแม่ ก็มีชีวิตอยู่ได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ สัตว์ทั้งหลายนั้นช่วยเหลือตัวเองได้ พอออกจากท้องแม่ก็เดินได้เลย หลายชนิดทีเดียว ว่ายน้ำได้ หากินได้
แต่ว่ามนุษย์นั้นอ่อนแอมาก พอคลอดออกมาแล้ว ถ้าไม่มีใครเลี้ยงดูประคบประหงมแล้ว ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ต้องมีคนเลี้ยงดูจนกระทั่งแม้แต่อยู่ได้ปีหนึ่งก็ยังช่วยตัวเองไม่ได้ อยู่ได้ปีหนึ่งแล้วนี่ถ้าใครทิ้งก็ตายอีกแหละ
ฉะนั้น มนุษย์นี่เป็นสัตว์ที่อ่อนแอไร้ความสามารถที่สุด แต่ว่ามีข้อดีพิเศษก็คือว่า มีการเรียนรู้ มนุษย์นั้นเรียนรู้ มีการเรียนรู้ก็คือการศึกษานั่นเอง เมื่อมีการเรียนรู้-มีการศึกษา ก็ทำให้สามารถที่จะทำอะไรต่ออะไรได้ สามารถรับถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นเก่า พ่อแม่บอก ครูอาจารย์บอก คนแวดล้อมบอก ได้ความรู้เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น สามารถเอาความรู้ที่สะสมมาเป็นเวลาพันๆ ปีเนี่ย มาอยู่ในคนเดียวได้ อันนี้เป็นข้อประเสริฐพิเศษของมนุษย์ ไม่เหมือนสัตว์ทั้งหลายอื่น
เรื่องข้อพิเศษของมนุษย์นี้ ก็จึงอยู่ที่การเรียนรู้อย่างที่ว่าแล้ว การเรียนรู้นี้คือการศึกษา การศึกษาก็เป็นการฝึกฝนพัฒนาคน และตัวสิ่งสำคัญก็คือปัญญานั่นเอง ปัญญาทำให้รู้ ทำให้ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง แก้ปัญหาได้สำเร็จ
ทีนี้สัตว์ทั้งหลายมันอยู่ด้วยสัญชาตญาณ อย่างไรก็อย่างนั้นตลอดชีวิต เกิดมาอย่างไรก็ตายไปแค่นั้น ส่วนมนุษย์นี้เกิดมาโดยไร้ความสามารถ แต่เมื่อเรียนรู้แล้วก็ฝึกฝนพัฒนาไป จนกระทั่งว่ามีความสามารถพิเศษ อย่างแทบจะไม่มีที่สิ้นสุด
การที่เรามีพระพุทธเจ้าไว้นี้ เป็นประจักษ์พยานของการพัฒนามนุษย์ ให้เห็นว่ามนุษย์นี้สามารถพัฒนาได้สูงสุดจนเป็น 'พุทธะ'
พุทธะ นั้นคือ คำแสดงภาวะที่พัฒนาสูงสุดของมนุษย์ ว่ามนุษย์นั้นพัฒนาสูงสุดได้ถึงขนาดนี้ เป็นพุทธะก็เป็นต้นแบบสำหรับมนุษย์ทั้งหมด
เพราะฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า "มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ" ก็ขอย้ำว่า ทางพระพุทธศาสนานั้น ไม่ได้ถือว่าประเสริฐเฉยๆ "มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกแล้วหาประเสริฐไม่"
เราไปพูดกันบอกว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ" ความจริงพูดด้วนๆ ขาดห้วนไป ต้องพูดให้เต็มว่า "มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก" พอฝึกแล้วประเสริฐสุด "ทันโต เสฏโฐ มะนุส เสสุ" ในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด และประเสริฐสุดจนกระทั่งว่า เทวดาและพระพรหมก็น้อมนมัสการ
เพราะฉะนั้น จะมีพุทธพจน์มากมาย ที่ให้กำลังใจแก่มนุษย์ ว่าให้มนุษย์เรานี้ฝึกฝนพัฒนาตนไป แล้วเทวดา-พรหมทั้งหลายก็น้อมนมัสการเอง เราไม่ได้ไปเรียกร้อง เราไม่ได้ไปดูถูกท่าน แต่ว่าเพราะคุณความดีจากการที่เราได้บำเพ็ญ ได้ฝึกฝนพัฒนาตนนี้แหละ เทพพรหมทั้งหลายก็หันมาน้อมนมัสการ
อันนี้เป็นการเตือนมนุษย์ ไม่ให้มัวไปสยบอยู่ คือมนุษย์ในสมัยก่อนพุทธกาลนั้น มัวแต่มองออกไปข้างนอกตัว ไม่ได้มองดูตัวเองว่าเราจะต้องทำอะไร? มองแต่ว่าเราจะได้อะไรจากเทพเจ้ามาช่วย มองไปหาพระพรหม มองไปหาเทวดา ท่านจะช่วยอะไรเราได้บ้าง? ไปอ้อนวอน คิดแต่อย่างนั้นน่ะ ตัวเองไม่เอาใจใส่ที่จะฝึกฝนพัฒนานี่แหละมนุษย์จะเป็นอย่างนี้ ที่จริงทำอย่างนั้นมันก็ง่ายดีนะ มนุษย์ก็เลยมีความโน้มเอียงที่จะทำอย่างนั้น ขอคนอื่นง่ายกว่า ทำเองมันยาก อย่างนั้นก็เลยไม่คิดจะฝึกตนสักทีหนึ่ง คิดแต่ว่าจะขอให้เทพเจ้า ขอให้พระพรหมช่วยดลบันดาล คิดกันแต่อย่างนี้
ทีนี้พระพุทธเจ้ามาแก้ปัญหา นี้เรียกว่า"ปฏิวัติสังคม" ดึงให้หันมาดูตัวเอง ว่าเรานี่จะต้องทำอะไรบ้าง? จากการที่ดูว่าตัวต้องทำอะไรบ้าง ก็เลยให้ดูเรื่องธรรมะ คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้แหละ นี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ แล้วพระพุทธเจ้าก็มาให้เรานี่ สนใจเรื่องความสามารถพิเศษที่มีอยู่ในตัวเราเนี่ย ความพิเศษของมนุษย์นั้น คือการที่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้
จะมีพุทธพจน์ตรัสว่า "สัตว์ทั้งหลายอื่นนี่นะ มันฝึกตัวเองไม่ได้" โดยทั่วไปแล้วฝึกไม่ได้ สัตว์บางชนิดฝึกได้แต่ฝึกตัวเองไม่ได้ต้องให้คนฝึก อันนี้เป็นข้อพิเศษนะ แม้แต่สัตว์ที่ฝึกได้ก็ยังต้องอาศัยคนฝึก
ช้างฝึกตัวเองได้ไหม?...ไม่ได้
ม้าฝึกตัวเองได้ไหม?...ไม่ได้
ลิงฝึกตัวเองได้ไหม?...ไม่ได้ ให้คนฝึกทั้งนั้น
ท่านบอกว่า "วะระมัสสะตะรา ทันตา อาชานียา จะ สินธะวา" เป็นต้น บอกว่า "ช้างหลวง ช้างพลาย ช้างอะไรต่างๆ ตลอดจนกระทั่ง ม้าอาชาไนย ต่างๆเนี่ย เมื่อได้รับการฝึกแล้วก็ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่เก่ง แต่มนุษย์ที่ฝึกแล้วประเสริฐกว่านั้น"
คือสัตว์ทั้งหลายเนี่ย มันฝึกตัวเองไม่ได้ต้องอาศัยมนุษย์ฝึก แถมฝึกได้ในขอบเขตเดียวเท่านั้นเอง ฝึกไปถึงระดับหนึ่งแล้ว ไปไม่ไหวแล้ว มันได้แค่นั้น
แต่มนุษย์นี่ฝึกตัวเองได้ แล้วฝึกได้ไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งเป็นพุทธะได้ ประเสริฐเลิศที่สุด
ฉะนั้น มนุษย์เนี่ยจะต้องหันมาดูความพิเศษของตัวเองตรงนี้ แทนที่เราจะไปติดอยู่กับคำว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ" แล้วก็หลงภูมิใจตัวเอง อย่าเอาเลย มาสนใจที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีกว่าว่า "ความพิเศษและความประเสริฐของมนุษย์นั้น อยู่ที่ความเป็นสัตว์ที่ฝึกได้" อันนี้มีประโยชน์กว่า
ถ้าเราไปติดคำว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐแล้วเราหลงตัวเองเลย เราก็ไม่ต้องทำอะไรละ
แต่ถ้าเรามาเอาตามพุทธพจน์ว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก" นี่เราเห็นทางปฏิบัติเลยใช่ไหม? และมันจะดีกว่าเยอะแยะ นี่พุทธพจน์เรากลับไม่เอา คำของพระพุทธเจ้านี่แสดงว่าบางทีเราก็เพลินมองข้ามไปเหมือนกัน
ถ้าเราจะเอาคำที่ว่า "มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ" ต้องต่อว่า "เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก" อันนี้จึงจะครบถ้วนใจความ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้
รวมความว่า พระพุทธเจ้าได้ชี้เรื่องธรรมะให้แล้ว ความจริง ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ดึงความสนใจจากเทพมาสู่ธรรมะ ดึงความสนใจจากการรอคอยอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า มาสู่การทำความเพียรพยายามด้วยกรรมของตนเองที่ดี
พอดึงมาเสร็จแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้หยุดแค่นั้น ก็ชี้มาที่ในตัวมนุษย์อีก บอกว่า "เอ้อ! อย่าไปท้อใจนะ มีกำลังใจ เราเป็นสัตว์พิเศษที่ฝึกตัวเองได้ พัฒนาได้" พอมาถึงอันนี้แล้ว มนุษย์ก็มีกำลังใจ
ตอนนี้ให้ข้อสังเกตว่า จะมีตัวธรรมะ 2 ตัว ธรรมะตัวที่ 1 ที่พระพุทธเจ้าดึงมาจากเทพสู่ธรรมะ เขียนเป็นภาษาบาลี ธ. ธง, ไม้หันอากาศ, ม. ม้า 2 ตัว, สระอะ (ธัมมะ) นี้คือตัว 'ธัมมะ' ที่พระพุทธเจ้าต้องการชี้ให้เราทุกคนเข้าใจ
แล้วมาดูที่ตัวเราก็เป็นธรรมะเหมือนกัน เป็น ท. ทหาร ท. ทหาร ท. ทหาร, ไม้หันอากาศ, ม. ม้า 2 ตัว, สระอะ (ทัมมะ) 'ทัมมะ' แปลว่า สัตว์ที่ฝึกได้
ดู 2 ตัวนี้พอเลยโยม แล้วชาวพุทธจะปฏิบัติเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง
1 หลักการใหญ่ที่อยู่ล้อมรอบตัวเราทั้งหมดเนี่ย ชีวิตของเราก็อยู่ใต้สิ่งนี้ด้วยก็คือตัว ธัมมะ ธ. ธง ความจริงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยกฎธรรมชาติ
และตัวเราเองก็เป็น ท. ทหาร, ไม้หันอากาศ, ม. ม้า 2 ตัว, สระอะ เป็น ทัมมะ เหมือนกัน และเจ้าตัวทัมมะตัวที่ 2 ตัวทัมมะที่อยู่ที่ตัวเราเนี่ย เราภูมิใจในความสามารถ เจาะจุดถูกแล้วทีนี้เราก็ฝึกตัวเองเราไป เราจะเข้าถึงตัวธัมมะที่ 1 ตัว ธ.ธง ได้ แล้วชีวิตของเรานี้จะเป็นชีวิตที่ดีงาม
ตัวทัมมะ ตัว ท. ทหาร นี่ฝึกไป เป็นบุคคลแรกที่เข้าถึงตัวธัมมะที่ 1 ตัว ธ. ธง กลายเป็นพุทธะเลย ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้นหลักพระรัตนตรัยก็เกิดขึ้นจากอันนี้ ก็คือว่า มีมนุษย์ผู้หนึ่งที่เดิมก็เป็นเหมือนกับมนุษย์ทั้งหลายนี่แหละ เหมือนกับคนอื่นๆนี่แหละ แต่ได้ฝึกฝนพัฒนาพระองค์มาจนกระทั่งเกิดปัญญาที่เป็น 'โพธิ' ปัญญานั้นพัฒนาจนเป็นโพธิ เป็นโพธิญาณก็ได้ เรียกว่า 'โพธิญาณ'
ปัญญาที่เรียกว่าโพธิญาณนี้ ก็สามารถหยั่งเข้าถึงตัวธัมมะ ธ. ธง ที่ว่านี่ พอเข้าถึงตัวธัมมะ ธ. ธง ตัวนี้ มนุษย์ผู้นั้นได้กลายเป็นพุทธะไปเลย เป็นพุทธะไปแล้ว
แล้วก็เลยมี 2 ขึ้นมาแล้วตอนนี้
1) ธ. ธง ธัมมะ ธ. ธง นั้นคือความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา
2) ก็คือตัวมนุษย์ที่เข้าถึงตัวธัมมะ ธ. ธง นั้นได้กลายเป็นพุทธะ 2 แล้ว
อันนี้คือต้นกำเนิดของพระรัตนตรัย
ทีนี้พอพุทธะ ท.ทหาร แล้ว ก็ที่ได้ฝึกจนกระทั่งเข้าถึงตัวธัมมะ ธ. ธง เป็นพุทธะไปแล้วเนี่ย ก็นำเอาธัมมะ ธ. ธง เนี่ย มาชี้แจงประกาศสั่งสอนมนุษย์อื่นต่อมา
มนุษย์อื่นต่อมาก็สามารถเข้าถึงความจริงนี้ ได้ประกอบกันเข้าเป็นชุมชน หมู่ชนผู้พัฒนาตน เป็นพุทธะอย่างเดียวกับพระพุทธเจ้า ชุมชนอันนี้เป็นชุมชนหรือหมู่ชนพิเศษให้ชื่อว่า 'สังฆะ'
เราก็ได้สิ่งที่เรียกว่าพระรัตนตรัย ที่เป็นหลักประกอบของพระพุทธศาสนา 3 ประการ พระรัตนตรัยเกิดขึ้นแล้ว
หลักพระรัตนตรัยนี้ ก็เอามาใช้เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นเครื่องรำลึกสำหรับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อจะน้อมนำจิตเข้าสู่การปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา แล้วจะได้ไม่เขว ถ้าเราระลึกถึงพระรัตนตรัยถูกต้องแล้ว โยมจะไม่พลาดจากหลักพระพุทธศาสนา
ถ้าหากว่าเราเข้าใจพระรัตนตรัยไม่ถูก ไม่รำลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นเครื่องเตือนใจตัวเอง บางทีเราก็เขวออกไป ดีไม่ดีถึงกับออกไปสู่เทพอีกตามเคย แทนที่จะอยู่กับธรรมะก็ออกไปสู่เทพอีก
อันนี้จะอยู่ได้ยังไง หลักพระรัตนตรัยนี่?
จากที่อาตมาพูดมาแล้วนี่ชัดเจนแล้ว ว่า "มนุษย์เนี่ย พัฒนาตัวเองจนเข้าถึงธรรมะ ก็กลายเป็นพุทธะ" ที่นี้หลักพุทธะนี้ก็จะมาเตือนใจเรา ให้เรานี้ได้ประโยชน์เวลาระลึกถึงนี้ หลายอย่างหลายประการ
ประการที่ 1) ก็เป็นเครื่องที่ชี้โยงมาถึงตัวเรา เวลาเราระลึกถึงพระพุทธเจ้า ก็เตือนใจเราให้ระลึกว่า "โอ้! ในตัวเราที่เป็นมนุษย์นี้ก็มีความสามารถอันนี้อยู่ ที่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ที่จะฝึกฝนพัฒนาตัวไปเป็นอย่างพุทธะนั้น"
พระพุทธเจ้าเคยเป็นอย่างเรานี่แหละ เป็นมนุษย์เนี่ย แต่ด้วยความสามารถ หรือศักยภาพที่ฝึกตัวเองได้ พระองค์ก็พัฒนาพระองค์จนเป็นพุทธะไป
เพราะฉะนั้น พอระลึกถึงพระพุทธเจ้า ก็เป็นต้นแบบเตือนใจเราว่า เรามีความสามารถอันนี้อยู่ จะต้องฝึกฝนพัฒนาตัวเรา ก็เท่ากับเตือนให้ระลึกถึงหน้าที่ของมนุษย์ หน้าที่ของมนุษย์ก็คือการที่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตัวเอง จะเรียกว่า "พัฒนาศักยภาพ" ก็ได้
อันที่ 2) อะไรอีก?..อันที่ 2) ก็ให้กำลังใจสิ บอกว่า ในการที่จะพัฒนาฝึกฝนนี้ เราอาจจะนึกว่ายาก ยากแล้วเราก็จะท้อ
เพราะฉะนั้น พอระลึกถึงพระพุทธเจ้าเราก็นึกว่า "อ้าว! มีตัวอย่างเป็นจริงนี่ มีผู้ที่เข้าถึงความจริงเป็นพุทธะอย่างนี้ได้แล้ว มีผู้ที่พัฒนาตนได้ สูงสุดอย่างนี้ได้เป็นจริงนี่" เราเห็นพระพุทธเจ้าทีไร เราก็เกิดกำลังใจว่า "เราทำได้ เราทำได้" อันนี้ได้ 2 ละนะ
1) เตือนให้ระลึกถึงหน้าที่ของเราในความเป็นมนุษย์ 'ต้องฝึก'
2) ก็ทำให้มีกำลังใจว่า "อ่า! เรามีแบบอย่าง มีท่านที่ทำได้จริงอย่างนี้แล้ว เราก็ทำได้อย่างละองค์" 2 ก็เกิดกำลังใจ
3) อะไรอีก?...3) ก็ได้แบบอย่างวิธีปฏิบัติ เอ้อ! พระพุทธเจ้าทำมายังไง? ท่านเดินหน้านำทางให้เราแล้ว เราง่ายขึ้นแล้ว เราไม่ต้องไปเที่ยวลองผิดลองถูกอีกแล้ว ถ้าเราไม่มีพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างให้ เราก็แย่สิใช่ไหม? ลองผิดลองถูกเมื่อไหร่จะถึงสักที?...พระพุทธเจ้าทำไว้ให้ ยังแถมบอกวิธีไว้ให้เยอะแยะด้วย เราก็ได้ตัวอย่าง แบบอย่าง วิธีการที่พระองค์ได้นำทางไว้ให้แล้ว ชี้ไว้ให้แล้ว เราสะดวกสบายหลายอย่าง
เพราะฉะนั้น การระลึกถึงพระพุทธเจ้านี่ ได้ประโยชน์ 3 ประการ อย่างน้อยนะ เจริญพร
1) เตือนใจให้ระลึกถึงหน้าที่ของเราเอง ที่ต้องฝึกฝนพัฒนาตน
2) ก็ทำให้เราได้กำลังใจ ที่จะฝึกฝนพัฒนาตนอย่างนั้น
3) ก็ได้แบบอย่างวิธีปฏิบัติ ทำให้เราทำได้ง่ายขึ้น
ทีนี้ พอพระพุทธเจ้าชี้มาถึงการพัฒนาตัวเรา พระองค์ก็ชี้ต่อไปว่า "เอ้อ! ที่เธอจะสำเร็จอย่างนี้ได้ พัฒนาตนสำเร็จน่ะ เธอต้องเข้าถึงธรรมะนะ" ใช่ไหม? การที่จะพัฒนาตนให้สำเร็จนี่ เราต้องเข้าถึงธรรมะ เริ่มต้นต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามธรรมะ เพราะการพัฒนาตัวของเรานั้น ต้องเป็นไปตามกฎแห่งเหตุปัจจัยทั้งนั้นเลย
ถ้าเราพัฒนาตัวเองเราทำไม่ตรงตามเหตุปัจจัย ไม่ตรงตามกฎธรรมชาติ ไม่ตรงตามตัวธรรม...ไม่สำเร็จหรอก
เพราะฉะนั้น เราจะต้องยึดถือหลักธรรมะเป็นสรณะ เป็นเกณฑ์ตลอดเลย ตั้งแต่ต้นจนจบเลย ในการดำเนินชีวิตที่ดีของเรานี่ เราต้องปฏิบัติตามนี้แหละ ธรรมะจะต้องเป็นสรณะเป็นที่พึ่ง เป็นที่ระลึก เป็นเครื่องเตือนใจตลอดเวลา
ชีวิตประจำวันเนี่ยมีประสบการณ์ต่างๆเข้ามา รับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี่ ก็ต้องมองในแง่ของธรรมะ คือมองตามเหตุปัจจัย พอเริ่มเอาหลักของธรรมะ คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัยมาใช้ เราก็เริ่มฝึกตัวเองแล้ว
แต่ก่อนนี้เราเคยมองสิ่งทั้งหลายตามชอบใจ ไม่ชอบใจ พอเจออารมณ์อะไรเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มันสบายก็ชอบใจ ไม่สบายก็ไม่ชอบใจ อยู่ด้วยความชอบใจ-ไม่ชอบใจ แล้วก็คิดปรุงแต่งไป ยินดี-ยินร้าย มนุษย์ก็เป็นอย่างนี้มนุษย์ไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา ท่านเรียกว่า "อะสะตวา ปุถุชชะโน" ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เรียนรู้ ก็จะเป็นอย่างนี้ทั้งนั้น คือว่ามีการรับรู้ด้วยความชอบและชัง ยินดีและยินร้าย
แต่พอเริ่มฝึกตน จะเริ่มเข้าสู่ความเป็นอริยะชน หรือว่าเป็นอริยสาวก ก็คือรับรู้โดยมองตามเหตุปัจจัย โดยใช้ปัญญา พอเริ่มมองตามเหตุปัจจัยมองเห็นตามความจริง ก็จะกำจัด ป้องกันแก้ไข ความยินดี-ยินร้าย ชอบ-ชังได้ จิตใจก็จะสบายขึ้นแล้วเจริญปัญญา เกิดความรู้เข้าใจ ไม่ใช่มองด้วยโมหะ ไม่ใช่มองสักแต่ว่า โลภะ โทสะ โมหะเท่านั้น
เพราะฉะนั้น เอามาใช้ ธรรมะก็เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะของเราในชีวิตประจำวันเลย แต่ว่ารวมความก็คือว่า ชีวิตของเรานี่ต้องเดินตามธรรมะตลอด จนกระทั่งในที่สุดเมื่อถึงธรรมะ เข้าถึงตัวธรรมะจริงๆ เข้าถึงความจริงที่เรียกว่าเป็นหลักการใหญ่แล้ว เราก็กลายเป็นพุทธะด้วย เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า
แต่เพราะว่าเราไม่ได้ค้นพบธรรมะด้วยตนเอง เราก็เลยไม่ได้เป็นสัมมาสัมพุทธะ เราก็เป็นอนุพุทธะไป
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าตรัสเรียก พระสาวกที่ตรัสรู้แล้วนี่ มีในพระสูตรเนี่ยพระองค์เรียกพุทธะเหมือนกันนะ
ตอนหนึ่งนี่พระสารีบุตร-โมคคัลลานะ เดินเข้ามา มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า "นั่นพุทธะกำลังมา"
นั่นก็คือว่า ทุกคนที่ได้ฝึกต้น จนกระทั่งเข้าถึงธรรมะโดยสมบูรณ์อย่างพระองค์ ก็เป็นพุทธะเช่นเดียวกับพระองค์เหมือนกัน
ทีนี้พุทธะ ที่เป็นอนุพุทธะนี่แหละ ก็จะมีการพัฒนาตนขึ้นมา เมื่อมนุษย์มีการฝึกฝนพัฒนาตน เขาเริ่มใช้ความสามารถที่มีอยู่ของเขามาเข้าถึงธรรมะ เอาตัวทัมมะ ท. ทหาร มาประสานกับธัมมะ ธ. ธง ตอนนี้เขาก็จะเดินในทางของการเป็นพุทธะ
เมื่อเขาเดินทางที่จะเข้าถึงความเป็นพุทธะนี้ เขาจะเริ่มเป็นอริยชน จะก้าวหน้าไปตามลำดับ เป็นคนที่พัฒนาขึ้นมา ระดับแรกที่ท่านยอมรับก็คือเป็น 'โสดาบัน' พอพัฒนามากขึ้นก็เป็น 'สกทาคามี' พัฒนามากขึ้นเป็น 'อนาคามี' จนกระทั่งจบก็เป็น 'พระอรหันต์' ท่านเหล่านี้ก็อยู่ในสายของการศึกษา
ระหว่างที่ยังไม่จบการศึกษา ยังไม่บรรลุธรรมะสูงสุดก็เรียกว่าเป็น 'เสขะ'
เสขะ ก็มาจากคำว่า 'เสกขะ'
เสกขะ ก็มาจาก 'สิกขา'
สิกขา แปลง -ิ เป็น เ- ก็เป็น 'เสกขา'
เสกขา ตัด -า ก็เหลือเป็น -ะ เป็น เสกขะ
นั้นก็คนผู้บำเพ็ญสิกขานั่นเอง ผู้บำเพ็ญสิกขาก็เป็นเสกขะ นั่นเริ่มได้ชื่อว่าเข้าสู่ชุมชนที่จะเป็นพุทธะแล้ว พอจบก็เป็น 'อเสกขะ' ไม่ต้องศึกษาต่อไป
ก็ชุมชนนี้ก็เกิดขึ้นมา คือชุมชนของคนที่มีการศึกษาพัฒนาตน ชุมชนนี้กำหนดให้เรียบชื่อว่า 'สังฆะ' สมาชิกของชุมชนซึ่งเป็นนักศึกษาผู้บำเพ็ญสิกขา ได้สร้างชุมชนนึ้ขึ้นเป็นจริง มีอยู่จริง เป็นไปได้ และเราก็จะต้องเข้าร่วมในชุมชนนี้ด้วย เพื่อสร้างสรรค์ชีวิต-สังคมที่ดีงามขึ้น ถ้าเราเอาหลักสังฆะมาเตือนใจเรา เราก็จะได้เพิ่มกำลังใจที่โยงมาถึงตัวเองแล้ว
ตอนแรกเรามองพุทธะ "อ้อ! มีมนุษย์ผู้หนึ่งที่ได้พัฒนาตนสูงสุดเป็นแบบอย่าง เป็นพุทธะ"
2) ที่จะพัฒนาอย่างนั้นสำเร็จ เพราะว่าเข้าถึงธรรมะ
3) ตัวเราล่ะ? ตัวเราก็อยู่ในชุมชนที่เป็นสังฆะได้
เพราะฉะนั้น มีประจักษ์พยานให้เห็นว่าเราก็จะเป็นได้อย่างนั้น เราก็เกิดหลักพระรัตนตรัยขึ้นมา ถ้าเราระลึกถึงพระรัตนตรัยอย่างถูกต้อง เราก็จะเกิดกำลังใจ และสำนึกปฏิบัติในหน้าที่ และเราจะปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ถูกต้องด้วย อันนี้คือหลักพระรัตนตรัย ซึ่งมาเป็นไตรสรณะ เป็นที่พึ่ง ที่ระลึกเตือนใจเรา 3 ประการ
ตกลงว่า หลักพระรัตนตรัยนึ้ ก็เป็นเครื่องนำเราเข้าสู่ธรรมะนั่นเอง
เมื่อเราได้ระลึกถึงหลักพระรัตนตรัยอย่างนี้ เราก็จะเข้าสู่หลักการที่ว่า "สิ่งทั้งหลายนี้ จะต้องปฏิบัติไปตามกฎแห่งธรรมะ คือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย" ตอนนี้แหละ ที่หลักอริยสัจจะมา
พอน้อมรำลึกถึงพระรัตนตรัยถูกต้องแล้ว หลักพระรัตนตรัยนี้ จะโน้มนำไปสู่หลักอริยสัจ 4 ประการนี้ อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้เองในคาถาธรรมบท พระองค์ก็ตรัสบอกว่า
" พะหุง เว สะระณัง ยันติ ปัพพะตานิ วะนานิ จะ" เป็นต้น ก็จะบอกว่า
"มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว พากันถือเอาเจ้าป่า เจ้าเขา ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ อะไรต่างๆ เป็นที่พึ่งที่ระลึก แต่สิ่งเหล่านั้น หาใช่ที่พึ่งอันเกษมไม่ บุคคลถือเอาสิ่งเหล่านั้นเป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่อาจพ้นจากทุกข์ทั้งปวง"
"โย จะ พุทธัญจะ ธัมมัญจะ สังฆัญจะ สะระณัง คะโต"
"ส่วนผู้ใด มาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ มีปัญญารู้เข้าใจทุกข์ เหตุเกิดแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และทางให้ถึงความดับทุกข์ นั่นจึงจะเป็นสรณะอันเกษม บุคคลเข้าถึงสิ่งเหล่านี้เป็นสรณะแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้" อันนี้แหละ ที่เป็นสิ่งสำคัญ
พระพุทธเจ้าให้หลักพระรัตนตรัยไว้เนี่ย เพื่อโยงเราเข้าสู่ธรรมะนั่นเอง เพราะมิฉะนั้นเราก็จะไปหลงสิ่งอื่นๆอย่างที่ว่า พอมนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว ก็ไปยึดถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อ้อนวอน ขอผลดลบันดาล อย่างที่เป็นมาในสังคมอินเดีย จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็วุ่นวายอยู่กับเรื่องเหล่านี้ เทวดาในอินเดียนี่แทนที่จะน้อยลง มากขึ้นทุกที
ท่านที่อยู่ในอินเดียบอก "เดี๋ยวนี้เทวดาอินเดียไม่รู้กี่หมื่น" ก็แกก็ตั้งใจหาทางอ้อนวอนกันอยู่นี่แหละนะ เอาอกเอาใจยังไงก็ไม่พอ นี่ถ้าหากว่ากฎหมายไม่ออกมานะ ฝรั่งไม่เข้ามาปกครอง แล้วไม่มีการปกครองแบบปัจจุบัน ป่านนี้อินเดียพัฒนาบูชายัญไปถึงไหนก็ไม่รู้นะป่านนี้ มันเอาใจกันไม่รู้จักสิ้นสุดน่ะ การเอาใจเทพเจ้านี่ไม่มีทางสิ้นสุด เพราะเราไม่รู้ใจเทพเจ้า ไม่รู้เทพเจ้าจะเอายังไง
เพราะฉะนั้น เป็นหลักเตือนใจชาวพุทธว่า ต้องคอยตะล่อมตัวเองให้เข้าสู่หลักของพระพุทธศาสนาให้ดี มิฉะนั้นเราจะเพี้ยน มันเป็นสิ่งล่อ มันง่ายนี่ การที่จะไปขออำนาจดลบันดาลภายนอกนี่ง่ายเหลือเกิน ใช่ไหม? คนเราใจมันน้อมไปในทางที่จะอ่อนแอ การที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเอง ทำกรรมด้วยตนเองนี้มันยาก
แต่ว่า ความจริงก็เป็นความจริงอยู่อย่างนั้นแหละ ฉะนั้น หลักการนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง จริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น
"มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว" เนี่ย จุดเริ่มต้นของมนุษย์อยู่ที่นี่ พอถูกภัยคุกคามก็หันไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หันไปหาพึ่งสิ่งภายนอก ขอให้สิ่งโน้นช่วย สิ่งนี้ช่วย มันก็พัฒนาวิธีอ้อนวอนเป็นบูชายัญอะไรไปตามเรื่องของมัน
อันนี้ พระพุทธเจ้าเข้าถึงธรรมะ แต่ว่าการที่จะโยงคนเข้าหาธรรมะตัวหลักความจริงนี้ ก็ต้องมีตัวเชื่อมโยงให้ ก็เอาพระพุทธเจ้าตัวพระองค์เองมาเป็นตัวเชื่อม ใช่ไหม?...ก็เป็นหลักพระรัตนตรัยข้อแรก
อ้าว! มีพุทธะแล้วเกิดขึ้น มนุษย์นี่แหละ เราทุกคนเหมือนกันเป็นมนุษย์ สามารถพัฒนาได้ เป็นพุทธะได้
พอมีพุทธะมาเป็นแบบให้
1) ก็ทำให้เรามองเห็นธรรมชาติของตัวเราเอง ที่เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ พัฒนาได้เป็น ทัมมะ ท. ทหาร แล้วก็มีกำลังใจที่จะฝึกฝนพัฒนาตนเอง แล้วก็ได้แบบอย่าง เราก็ทำไปตามหลักธรรมะ เข้าถึงธรรมะ ตัวธรรมะ พระพุทธะ
พระพุทธะก็โยงเราเข้ามาสู่ธรรมะ แล้วเราสำนึกในการที่เราก็เป็นคนหนึ่ง มีตัวอย่างที่เข้าเป็นสังฆะกันได้เยอะแยะแล้ว เราก็จะต้องทำได้ด้วย
เราก็มาปฏิบัติตามธรรมะ พอถึงจุดนี้แหละ ธรรมะนี้แหละ ก็ขยายเป็นอริยสัจ 4 ประการ
เริ่มต้นด้วย เอ้า! สิ่งที่เกี่ยวข้องกับท่านทั้งหลาย คือสิ่งที่อยู่รอบตัวที่มันเกิดเป็นปัญหาขึ้นได้ นั่นเราเรียกว่า "ทุกข์" ต่อจากนั้นเราก็ค้นดูซิว่า เราจะแก้มันได้ แก้มันได้กลายเปลี่ยนมัน พลิกมันจะเป็นทุกข์ ให้กลายเป็นไม่มีทุกข์ สิ่งทั้งหลายที่เราเกี่ยวข้องนี่แหละ เราปฏิบัติต่อมันไม่เป็น เป็นทุกข์ทั้งนั้น พอมาปฏิบัติต่อมันถูกต้อง มาพลิกมันจากทุกข์เป็นหายทุกข์ หมดทุกข์ เป็นสุขไปเลย
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็เริ่มจากทุกข์ ว่าตัวธรรมะนี่จะทำให้ท่านรู้จักสิ่งทั้งหลาย ไอ้ที่มันเป็นปัญหาแก่ท่านนี่ ท่านรู้มันซะก่อน เอ้า! จับตัวมันให้ได้ เสร็จแล้วก็คลำหาเหตุ สืบสาวหาเหตุ "สมุทัย" รู้แล้ว รู้เป้าหมาย จุดหมายของตัว แล้วก็รู้ว่าตัวเองทำได้นะ เสร็จแล้วก็บอกวิธีปฏิบัติให้ พลิกมันซะ ข้อปฏิบัติถูกต้อง ทุกข์นั้นก็หายไปเลย ก็กลายเป็นว่าทุกข์นั้นไม่มี พอปฏิบัติไปตามหลักธรรมในที่สุดแล้วทุกข์ไม่มี เพราะทุกข์มันหายไปเลย อันนั้นก็คือความสิ้นทุกข์ ดับทุกข์ หมดทุกข์
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ปฏิบัติสำเร็จตามธรรมะ เข้าถึงธรรมะแท้จริงแล้วเนี่ย ทุกข์ไม่มี หายไป ทุกข์นั้นมีแต่ในธรรมชาติ ตามธรรมดาของมัน
สิ่งทั้งหลาย เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เป็นไปตามธรรมดาธรรมชาติของมัน แต่มนุษย์นี้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ เลยตกเป็นทาส ถูกกฎธรรมชาติครอบงำเกิดทุกข์ขึ้น
พอรู้ความจริงเข้า ถึงค่อยๆเป็นอิสระ ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น จนในที่สุดทุกข์หมดไปไม่เหลือ เพราะว่า ทุกข์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติไป
ใครไปแก้ได้ทุกข์ในธรรมชาติ? สิ่งทั้งหลายสังขารเป็นทุกข์ ใครไปแก้ได้?...แก้ไม่ได้
แต่ว่า สิ่งทั้งหลาย สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ทำไมมาเป็นทุกข์ในเราด้วยล่ะ?...ทีนี่ พอเราปฏิบัติถูกเข้าถึงความจริง เข้าถึงธรรมะแล้ว ทุกข์ที่มีในธรรมชาติ ก็เป็นทุกข์ตามธรรมชาติไป แต่ว่าไม่เข้ามาครอบงำจิตของเรา เราไม่เป็นทุกข์ไปด้วย นั่นเรียกว่า "เป็นอิสระหลุดพ้น" ก็ปฏิบัติตามธรรมะ ไปจนกระทั่งถึงจุดหมาย
แต่ว่า ก่อนที่จะถึงจุดหมาย หมดทุกข์อะไรต่างๆเหล่านี้ได้ มนุษย์จะประเสริฐขึ้นตามลำดับ มีความดีงามเกิดขึ้นในชีวิตของตนเอง เป็นส่วนประกอบที่ดีงามของสังคม เป็นมนุษย์ที่เกื้อกูลต่อชาวโลก ชีวิตก็ดีงาม สังคมก็ดีงาม ช่วยกันสร้างสรรค์โลกนี้ให้น่าอยู่ไปด้วย ทุกคนก็เป็นสุขร่วมกัน ถ้าปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนานี่ ก็จะทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างนี่ดีงามขึ้น พร้อมกับการประสานกลมกลืน และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ถ้าหากว่าเป็นวิถีของมนุษย์ที่เป็นปุถุชน ไม่ฝึกตน ก็หันไปคิดจะแก้ไขข้างนอก เอาชนะข้างนอก อย่างวิทยาศาสตร์นี่ก็มุ่งหวังพิชิตธรรมชาติ เสร็จแล้วก็จะจัดการกับโลกภายนอก ตัวเองไม่เอาชนะ ไม่เอาชนะธรรมชาติภายใน เสร็จแล้วก็เกิดปัญหายุ่งยากอย่างปัจจุบันนี้ เกิดความขัดแย้งกันไปหมด ชีวิตมนุษย์ก็ขัดแย้งกับสังคม, ผลประโยชน์ของบุคคลขัดแย้งกับผลประโยชน์ของสังคม, ผลประโยชน์ของมนุษย์ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของธรรมชาติ อยู่ร่วมกันไม่ได้, ฝ่ายหนึ่งได้ ฝ่ายหนึ่งก็เสีย วุ่นวายอย่างในปัจจุบันนี้
ปัญหาสภาพแวดล้อมเสีย, ปัญหาสังคมอยู่กันมีความขัดแย้งรบราฆ่าฟัน ไม่มีความสุขแท้จริง ชีวิตของคนก็ไม่มีความสุข เพราะมีความเร่าร้อนกระวนกระวายตลอดเวลา เพราะว่าเดินทางไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามตัวธรรมะ
ถ้าจะเอาให้ถูกต้องจริง จะให้ชีวิตดีงามมีความสุข ทั้งชีวิตตนเอง กาย-ใจ ทั้งสังคม ทั้งสิ่งแวดล้อม อยู่กันด้วยดีเนี่ย ตอนนี้เรียกได้ว่า "ไม่มีทางเลี่ยงแล้ว" จะต้องเข้ามาสู่ทางของธรรม
เวลานี้โลกมนุษย์เริ่มสำนึกรู้มากขึ้นตามลำดับ ว่าวิธีแก้ปัญหา วิธีสร้างความเจริญ หาความสุข แบบที่เป็นอยู่ในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย ที่สร้างอารยธรรมขึ้นมาอย่างที่เห็นกันอยู่เนี่ย มันผิดพลาดทำให้เกิดปัญหามากมาย
เพราะว่า อยู่ไปแล้วตัวเอง มนุษย์เองก็ไม่ได้มีความสุขมากขึ้น ชีวิต กาย-ใจ ก็ไม่ดีขึ้น สังคมก็วุ่นวายเดือดร้อนมากขึ้น สิ่งแวดล้อมก็ถูกเผาผลาญ ถูกผลาญถูกทำลาย สลายเสื่อมลงไปตามลำดับ
ฉะนั้น เวลานี้ก็ได้บทเรียนมากขึ้น ก็ทำให้มนุษย์เนี่ย เริ่มหันมาสนใจธรรมะ แต่ว่ามองในแง่หนึ่งก็เหมือนกับฝืนกระแส มันก็ยากเหมือนกัน แต่ว่าถ้าเราจับจุดที่ว่าเมื่อกี้ได้เนี่ย โยมจะสบายใจ ที่ว่า ตัวธรรมะ 2 ตัวเนี่ยจับให้ได้
เราไม่มีทางเลี่ยง ที่ว่าจะให้ชีวิตดีงาม จะให้ทุกสิ่งเป็นไปด้วยดีเนี่ย เราหลีกเลี่ยงความจริงไม่พ้นหรอก เราต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับความจริง ใช้ปัญญาที่รู้ความจริงมาจัดการ ไม่มีวิถีทางอื่นที่ดีกว่านี้ อันนี้แน่นอนปฏิเสธไม่ได้ ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้
วิทยาศาสตร์ที่พยายามแก้ปัญหา ก็โดยการพยายามเข้าถึงความจริงอันนี้
เพราะฉะนั้น เราอย่าไปมัวหวังวิธีอื่นเลย พระพุทธเจ้าสอนเราไว้แล้ว นานแล้ว อย่างน้อยพระองค์ก็ดึงจากเทพมาสู่ธรรมแล้ว
วิธี แน่นอนต้องเข้าถึงตัวธรรมะ ปฏิบัติไปตามธรรมะความจริงอันนี้แน่นอน ตัวธรรมะที่ 1
ในเมื่อเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องใช้วิธีนี้ อันที่ 2 ก็คือว่า มาดูตัวเอง เราเป็นทัมมะ ท. ทหาร ที่ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พัฒนาได้ เราก็มีกำลังใจ มีแบบอย่างให้คือพุทธะ เราก็พัฒนาตัวเองให้เกิดปัญญา เข้าถึงธรรมะแล้วปฏิบัติได้ตามธรรมะ นำธรรมะคือปัญญาที่รู้ความจริงของธรรมะมาใช้ประโยชน์ให้ได้
อันนี้เป็นทางออกและความสำเร็จอันเดียวของมนุษย์ เราจะพอใจหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่ไม่มีทางเลี่ยงนะ
เพราะฉะนั้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นี้ เป็นสัจธรรมความจริงที่ไม่มีใครกล้าคัดค้านได้ หรืออาจจะกล้าคัดค้านแต่คัดค้านไม่สำเร็จ เพราะว่าจะต้องใช้ธรรมะ ต้องเข้าถึงธรรมะนี่แน่นอน และตัวเราจะต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไป
เพราะฉะนั้น ชาวพุทธเนี่ย เอา 2 อย่างนี้นะ
1) ตัวธัมมะ ตัว ธ. ธง
2) ตัวเรา ทัมมะ
เอาเจ้า 2 ตัวนี้ไปประสานกันให้สำเร็จ นั่นก็จะบรรลุความเป็นพุทธะ
เรามาถึงที่นี่แล้ววันนี้ มาที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ นี่แหละคือจุดประสานของธรรมะ ท.ทหาร(ทัมมะ) กับ ธ. ธง(ธัมมะ) แล้ว เรามาถึงจุดแบบอย่าง พุทธะเกิดขึ้นที่นี่ ก็เป็นกำลังใจบอกโยมให้รู้แล้ว ว่าเราจะต้องทำหน้าที่นี้ให้สำเร็จ แล้วก็ไปช่วยกันแก้ไขปัญหาโลก ปัญหาสังคม ปัญหาชีวิต ให้สำเร็จด้วย
ถ้าหากว่าเราทำใจได้ถูกต้อง พิจารณาความจริงนี้ แม้จะยาก แต่เพราะเป็นสัจธรรม เราก็จะเกิดความมั่นใจในตัวเอง และเราจะต้องช่วยกันกระตุ้นเตือนจิตสำนึก และสร้างความมั่นใจ กำลังใจนี้ ให้เกิดขึ้นให้ได้
เพราะฉะนั้น เวลานี้นั้น กำลังในฝ่ายธรรมะนี่ เวลานี้เบา อ่อนแอ น้อย เพราะคนที่จะมีความมั่นใจในหลัก 2 ประการนี้ เดี๋ยวนี้น้อย
1) มั่นใจในตัวธรรมะ คือความจริงของกฎธรรมชาติ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัย อันนี้เราต้องสำรวจตัวเราเองแม้แต่ชาวพุทธ ว่าเรามีความมั่นใจแค่ไหน?
2) มั่นใจในตัวเราเองที่ฝึกได้ พัฒนาได้ ที่จะเป็นพุทธะเนี่ย เรามั่นใจแค่ไหน?
นี้เป็นทางออกทางเดียว ที่จะแก้ปัญหาของโลกมนุษย์นี้ได้ เราจะต้องพยายามช่วยเหลือโลกมนุษย์นี้ ด้วยการสร้างความมั่นใจนี้ขึ้นมา
ฉะนั้น เรามาถึงจุดนี้แล้ว เหตุการณ์ที่ธรรมะกับธรรมะ 2 ตัว ท.ทหาร(ทัมมะ) ธ. ธง(ธัมมะ) ประสานกันได้เกิดขึ้นที่นี่แล้ว
เพราะฉะนั้น ก็ขอให้เราเนี่ย ได้สร้างความมั่นใจขึ้นในตัวเราด้วย โดยเอาองค์พระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่าง ขอให้โยมทุกท่านเนี่ยได้มีความมั่นใจ กำลังใจ ใน 3 ประการ อย่างน้อยก็ให้องค์พุทธะมาเตือนใจเรา
1) สำนึกในความสามารถ ในศักยภาพ ในตัวเราที่เป็นมนุษย์ ที่เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนพัฒนาได้ จะต้องฝึกมันขึ้นไป 1 ละ
2) มีแบบอย่าง มีพระพุทธเจ้าทำได้จริงอย่างนี้แล้ว มาเกิดขึ้นที่นี่แล้ว เรามีกำลังใจว่าเราก็จะทำได้
3) พระองค์ก็ให้วิธีแบบอย่าง ที่พระองค์บำเพ็ญไว้แล้ว ขอให้เราไปประพฤติปฏิบัติต่อไป
เพียงแค่โยมมาวันนี้ ได้แค่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ให้เกิดความรำลึกเตือนใจใน 3 ประการนี้ ก็คุ้มแล้ว
ฉะนั้น ก็ขอให้โยมได้เกิดความมั่นใจอันนี้ขึ้นมานะ ต้องกระตุ้นกันมากหน่อยระยะนี้ เพราะว่าโลกปัจจุบันนี้ สิ่งแวดล้อมเป็นเหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "โลกนี้มัวแต่หลงระเริงอยู่ ในสิ่งที่ชักจูงให้เพลิดเพลินมัวเมา
เพราะฉะนั้น การที่จะได้เกิดกำลังใจในธรรมะนี้ก็ยาก พระองค์จึงน้อมพระทัยไปในการไม่สั่งสอน แต่เราในฐานะเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราได้รับคำสอนของพระองค์ ถ่ายทอดกันมาแล้ว เราต้องถือว่า เรานี้อยู่ในพวกที่สัตว์ที่ฝึกได้ แล้วก็มีธุลีในดวงตาน่าจะไม่มากนัก ถ้าเรามีธุลีไม่มากนัก เราก็จะเห็นแสงสว่าง และเราก็จะได้ดำเนินปฏิบัติตามพุทธปฏิปทาต่อไป
วันนี้ก็ขออนุโมทนาโยมทุกท่าน ที่ได้มาจาริก เราเรียกกันว่าเป็น "บุญจาริก" การจาริกที่เป็นบุญเป็นกุศล เป็นการทำความดี และมาถึงที่นี่แล้ว ความดีนั้นมีหลายอย่างหลายประการ การทำบุญทำกุศล มี ทาน ศีล ภาวนา แล้วก็มองให้เข้าหลักที่สำคัญก็คือ ไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา
วันนี้เราเอากันสุดยอดเลยคือ ตัวปัญญา ให้โยมนี้เกิดปัญญารู้เข้าใจ ตัวธัมมะ และทัมมะ อย่างที่กล่าวมา เพื่อจะเป็นทางเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนาต่อไป
ก็ขอให้โยมได้สำเร็จผล ตามที่อาตมาได้กล่าวมานี้ ขอให้เจริญศรัทธา และให้ศรัทธาที่ได้มีมาแล้วนั้น ได้เพิ่มพูนขึ้นออกผลเป็นปีติ เป็นความอิ่มใจปราบปลื้มใจว่า ได้มาถึงสถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้มาถึงสังเวชนียสถานแห่งหนึ่งแล้ว และได้มาระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ได้มาน้อมนำจิตรำลึกบูชาพระคุณของพระองค์ ได้ทำวัตรสวดมนต์ ทั้งหมดนี้ขอถวายเป็นพุทธบูชา
และขอให้พุทธบูชาที่เราได้บำเพ็ญนี้ มาเป็นปฏิบัติบูชา นำเราให้เข้าถึงธรรมะที่พระองค์ทรงสั่งสอนต่อไป ขอให้พระพุทธเจ้าทรงเป็นกำลังใจให้แก่เรา ในการที่จะบำเพ็ญปฏิบัติกุศล ในการที่ว่าจะได้ไม่ทำชั่ว ทำดีทำใจให้ผ่องใส อันเป็นพุทธโอวาทในวันมาฆบูชานี้ และเราก็จะได้มีชีวิตที่ดีงาม ช่วยกันสร้างสรรค์โลก สังคม ให้มีความร่มเย็นเป็นสุขสืบต่อไป
ก็ขออำนาจแห่งศรัทธาในคุณพระรัตนตรัย และบุญกุศลที่โยมทุกท่าน ได้บำเพ็ญในบุญจาริกครั้งนี้ จงเป็นปัจจัยอำนวยจตุรพิธพร ให้ทุกท่านเจริญงอกงาม ด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติในทางแห่งมรรค คืออริยมรรคา เพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา มีความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ...สาธุ