แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ผู้ดำเนินรายการ : กราบนมัสการท่านเจ้าคุณอาจารย์ที่เคารพ กระผมใคร่ขอขอกราบเรียนสรุปความเป็นมาของเรื่อง ด้วยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยผลคะแนนการทดสอบวัดความรู้ ครั้งที่ 2 / 2546 ประกอบการสอบเอนทรานซ์ประจำปีการศึกษา 2547 สำหรับนักเรียนชั้น ม.6 ผลพบว่านักเรียนส่วนใหญ่ 90% สอบตก ได้คะแนนไม่ถึง 50 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยเฉพาะวิชาหลักคือภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ กรณีนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า สาเหตุน่าจะมาจากปัจจัยอะไรบ้าง บ้างก็ว่านักเรียนยังเรียนไม่ครบหลักสูตร แล้วมาทดสอบวัดความรู้ก่อนที่จะจบหลักสูตร บ้างก็ว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ออกข้อสอบที่มีเนื้อหาสาระเกินหลักสูตร ข้อสอบยากเกินไป บ้างก็ว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาก็อ้างว่า โรงเรียนในระดับมัธยมสอนให้เด็กิดไม่เป็น วิเคราะห์ไม่เป็น ค่อนข้างจะเน้นวิชาท่องจำแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนข้อสอบของ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ก็ค่อนข้างเป็นข้อสอบที่เน้นการคิดการวิเคราะห์ นักเรียนมาคุ้นเคย ก็สอบไม่ได้ เป็นต้นนะครับ โดยข้อเท็จจริงแล้ว หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ.2521 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2533 ที่ใช้อยู่กับนักเรียนชั้น ม.6 ตามกรณีที่เกี่ยวข้องนี้ ได้กำหนดแนวทางการศึกษาที่เน้นการปฏิบัติ ให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นอยู่แล้ว เมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้ ก็น่าจะสะท้อนถึงความบกพร่องของบริบทที่เกี่ยวข้องหลายส่วน ตั้งแต่ตัวหลักสูตรเอง ครูผู้สอน สถานศึกษา สถาบันครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครอง ตัวเด็กเอง รวมถึงบริบทอื่นๆ ในทางสังคม กระผมจึงใคร่ขอความเมตตาจากท่านเจ้าคุณอาจารย์ กรุณาได้แสดงทัศนะในประเด็นที่ว่ากระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ รู้จักคิดเป็น วิเคราะห์เป็นนั้น ตามแนวหลักธรรมในพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมอะไรบ้างหรือไม่ ข้อใด แล้วหลักธรรมเหล่านั้นสามารถที่จะปลูกฝังสั่งสอนให้เด็กๆ นั้นเรียนได้อย่างไร ขอกราบนิมนต์ท่านเจ้าคุณอาจารย์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพรอนุโมทนา ท่านอาจารย์ รองประธานกรรมการ มูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ พร้อมด้วยท่านผู้ชมผู้ฟังทุกท่าน เกี่ยวกับการคิดอะไรเนี่ยเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยเฉพาะในพุทธศาสนา ซึ่งเน้นถึงความสำคัญของปัญญา ก็มีเรื่องที่เป็นแง่มุมที่ต้องพิจารณามากมาย วันนี้อาตมาภาพจะไปพูดไปกระทบเรื่องของสถานการณ์ทางการศึกษาของบ้านเมือง ที่ท่านอาจารย์ได้ปรารภแล้ว มาเข้าหลักกันซะเลย ทีนี้ในหัวข้อเรื่องที่ตั้งไว้นี่ ซึ่งเป็นเรื่องยาว อาตมาภาพว่าเราอาจจะแยกตั้งเป็นหัวข้อๆ หัวข้อที่น่าจะพูดก็มีเรื่องของตัวกระบวนการของความคิด ซึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติ อันนี้เราจะต้องเข้าใจเป็นฐานไว้ก่อน ว่าคนเราที่จะคิดให้ได้ผลเนี่ยทำอย่างไร สอง-ก็เป็นเรื่องของปัจจัยต่างๆ ที่มาเกื้อหนุนในความคิด สาม-ก็จะเป็นเรื่องของวิธีคิด แล้วสี่-ก็เป็นเรื่องปฏิบัติการในการฝึกคนให้รู้จักคิด สี่ข้อนี้คิดว่าพอ ทีนี้จะพูดได้แค่ไหนเพียงใดก็คิดว่าก็โดยสังเขป
เริ่มด้วยหัวข้อที่หนึ่ง-คือกระบวนการความคิด กระบวนการของความคิดนี้ ถ้าเรียกเต็มก็ต้องเรียกว่าระบบความสัมพันธ์ในกระบวนการของความคิด เพราะว่าในกระบวนการนี้มันมีระบบของมันอีกที ซึ่งมีระบบต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วทั้งหมดนี้ตัวกระบวนการของความคิดนี้เราก็ต้องมองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการพัฒนาปัญญา และตัวใหญ่ที่ต้องการที่สุดก็คือปัญญา ให้ความคิดอันนี้มันทำให้เกิดปัญญาให้ได้ ทีนี้ตัวกระบวนการของความคิดนี้ ก็ต้องระวัง ที่ผ่านมานี้ได้ยินบ่อยๆ คือเราจะพูดกันเรื่องเด็กมีปัญหา เอาแต่ท่องจำ แล้วก็ไม่รู้จักคิด บางทีก็เลยไปว่าอยากให้คิดโดยไม่ต้องจำ อันนี้ต้องระวังไว้ให้ดี จะกลายเป็นการคิดแยกส่วน แล้วเมื่อแยกส่วนแล้วก็อาจจะเป็นสุโต่งด้วย มนุษย์เรานี่ก็มีความโน้มเอียงอย่างหนึ่งที่ว่าจะไปสุดโต่ง พอไปสุดโต่ง ความจำ แล้วทีนี้จะไม่เอาความจำ จะมาเอาความคิด ก็จะฝึกให้คิด เน้นให้แสดงออก แสดงความคิดเห็นกันใหญ่ แต่ทั้งหมดนี้มันจะไม่ใช่ธรรมชาติที่แท้จริง ก็ไม่ควรจะแยกส่วนกันไปสุดโต่ง สมัยนี้ก็พูดกันนัก บอกว่าจะให้มองหรือคิดเป็นองค์รวม แล้วพอมาเอาเรื่องความคิดเอง กลับจะไปแยกส่วนซะนี่ อันนี้เรื่องของความจำก็ดี ความคิดก็ดี แล้วอีกตัวหนึ่งก็คือ ความรู้เข้าใจ ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญ ในกระบวนการของความคิด แทนที่เราจะไปแยกเอาเป็นแต่ละอย่างละอย่าง เราต้องมาดูความสัมพันธ์ขององค์ประกอบเหล่านี้ มีกระบวนการในการพัฒนาปัญญาว่า มันสัมพันธ์กันอย่างไร มันเกื้อหนุนกันอย่างไร อาศัยกันอย่างไร ถ้าอย่างนี้แล้วก็ เราก็จะมองเห็นเรื่องของขอบเขตที่จะต้องใช้งานของแต่ละอย่าง เช่นว่าความจำ ก็อาจจะต้องมองว่ามีความสัมพันธ์กับความคิดอย่างไร แล้วแค่ไหนมันจึงจะพอดี แค่ไหนต้องจำ ไม่ใช่ไปมองแต่ในแง่ความจำสุดโต่งแยกออกไปโดดเดี่ยว อย่างนั้นก็ได้แต่ท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง หรือคิด จะเอาแต่คิดอย่างเดียว ก็อาจจะกลายเป็นการคิดเรื่อยลอย ซึ่งเป็นกันมาก ก็คือว่าไม่ต้องอาศัยข้อมูล ความรู้อะไรหรอก ก็คิดกันไป ก็เป็นการคิดเลื่อนลอยเพ้อฝันไป แล้วแม้จะมีความรู้เข้ามจ พอรู้เข้าใจแล้วก็ทิ้งไว้ที่นั่น รู้เข้าใจ แล้วก็จบ ไม่รู้จักเลือก ไม่รู้จักจัดสรรความรู้ ไม่รู้จักระบบเก็บข้อมูลในทางความรู้ เพราะว่าความรู้ความเข้าใจนี่พอได้แล้วนี่ มันกลับมาบันทึกไว้เป็นข้อมูล แล้วก็เข้าไปอยู่ในความจำ ก็คือว่าตอนแรกถ้าเราเริ่มจากความจำ ที่จริงมันเป็นวงกลม เราไม่ต้องไปพูดว่าจะเริ่มที่ไหน แต่ว่าก็ต้องจำที่จุดหนึ่ง ถ้าเราเริ่มที่ความจำ ก็บอกว่าความจำนี่มันเน้นที่ข้อมูล ก็คือว่าเราจำเราก็มีข้อมูลไว้ แล้วข้อมูลนี้มันก็มาใช้ในการคิด เราก็ต้องดูว่าการคิดของเรานี้แน่นอนต้องอาศัยข้อมูล แต่ว่าข้อมูลนี้เราต้องดูเหมือนกันว่า แค่ไหนที่จำเป็น และต้องใช้ในการคิด คนเรานี่ถ้าคิดโดยขาดข้อมูล มันก็เป็นการคิดที่เลื่อนลอย ทีนี้ก็ต้องหาข้อมูล ข้อมูลนี้มีประโยชน์หลายอย่าง อย่างเราคิดนี่ อาจจะเป็นหนึ่ง-ข้อมูลปัจจุบัน สอง-ข้อมูลในอดีตที่อยู่ในความทรงจำ ข้อมูลปัจจุบันเช่นว่าเราฟังปฐกถา หรือเราอ่านหนังสือแล้วเราเจอข้อมูลนั้น แล้วบนฐานของข้อมูล ที่เป็นการฟังก็ตาม การอ่านก็ตาม เราก็คิดไป แต่อย่าลืมว่าในการคิด แม้ต่อข้อมูลปัจจุบัน หรือบนฐานของข้อมูลต่อหน้านี่ เราอาศัยข้อมูลในความทรงจำเหมือนกัน ถ้าคนไหนมีข้อมูลในความทรงจำดีๆ มันจะเอาไปโยงกันได้ แล้วทำให้เกิดการโยงการประสาน การเชื่อม การสร้างความรู้ใหม่เห็นใหม่ขึ้นมา ฉะนั้นข้อมูลที่เป็นความจำนี้ มีความสำคัญมาก เป็นจุดกระทบบ้าง เป็นตัวสะดุดบ้าง ที่จับที่เกาะเกี่ยว เป็นตัวช่วยเสริม เป็นตัวที่ต้องใช้ในการสร้างความคิดใหม่ เพราะฉะนั้นคนที่มีข้อมูลในความทรงจำไว้เยอะๆ แต่ถ้าเขารู้จักจำ มันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แล้วความจำบางอย่างนี่ จำเป็นต่อการคิดทีเดียว เช่น อย่างพวกจำสูตรอะไรบางอย่าง พอเราจะต้องใช้งานในการคิดนี่ เราจำสูตรไม่ได้ ติดเลย ฉะนั้นพอได้สูตรเราก็คิดออก ฉะนั้นเรื่องความจำกับความคิดนี่ต้องให้มองเห็นความสัมพันธ์ แล้วเราจะกำหนดได้ว่าเราจะต้องให้จำแค่ไหน ที่เหลือจากจำ เราก็จด เพราะฉะนั้นจำนี่คู่กับจด เราก็แบ่งได้ว่าแค่ไหนจำแค่ไหนจด แล้วส่วนที่จดไว้ เราไว้ใจไม่ได้ทีเดียว บางคนจะนึกว่าไม่ต้องจำแล้ว จดแล้ว หรือบันทึกใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์แล้ว แต่ว่าบางทีลืมไปเลย ไม่รู้ว่าตัวนี่มีข้อมูลอะไรด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นบางทีข้อมูลที่จดไว้ บันทึกไว้ก็เลยไม่เกิดประโยชน์ ฉะนั้นสำคัญอย่างยิ่งจะต้องกำหนดให้ได้ว่าข้อมูลอะไรที่จะต้องจำ และจำเป็นสำหรับการคิด มีประโยชน์ต่อการคิด เพราะฉะนั้นคนที่จำได้ดีนี่ก็ได้เปรียบในการคิด แล้วจะคิดบนฐานของข้อมูล คิดไม่เลื่อนลอย เพราะฉะนั้นอันนี้อันที่หนึ่ง ก็เป็นอันว่าความสัมพันธ์ระหว่างจำกับคิด ต่อไปเมื่อคิด ก็คิดอย่างมีจุดหมาย ไม่ใช่คิดเลื่อนลอย คิดบนฐานของข้อมูลแล้ว ทีนี้ก็ต้องคิดอย่างมีจุดหมาย จุดหมายของการคิด เพื่ออะไร หนึ่ง-เพื่อรู้เข้าใจ เข้าถึงความจริง เราต้องการรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย เราก็คิด อย่างที่เรียกว่าให้รู้เข้าใจ แล้วก็เข้าถึงความจริง คิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คิดที่จะทำ คิดที่จะสร้างสรรค์ คิดที่จะแก้ปัญหา คิดที่จะใช้ประโยชน์ ก็คือคิดที่จะใช้การปฏิบัติการคิดใช้ประโยชน์นั่นเอง นำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ ก็ตกลงว่าตอนนี้ความคิดก็จะมีจุดหมาย แล้วก็ครบกระบวนการ ก็เหมือนกับว่าเป็นวงกลม วงล้อ มี 3 ส่วน หนึ่ง-ก็คือเป็นเรื่องของความจำ มีข้อมูลให้แก่การคิด สอง-ก็การคิดที่มีความมุ่งหมาย โยงไปหาการรู้เข้าใจความจริง และการที่จะนำไปใช้ประโยชน์ พอได้อย่างนี้แล้ว ก็เป็นวงกลม วงกลมนี้ก็หมุนไป ก็เดินหน้าไป ก็เกิดการพัฒนาของปัญญา พร้อมกันนั้นในวงกลมภายในที่มีจำ มีข้อมูลให้แก่การคิด คิดแล้วได้ความรู้ความเข้าใจ ความรู้ความเข้าใจนั้น นำมาจัดสรร เลือกด้วย เลือกดูอันไหนที่ควรจะจำ ไม่ควรจำ จัดสรรวางไว้ เก็บไว้ แยกส่วนว่าส่วนไหนจำ ส่วนไหนจด แล้วจำก็มาเป็นข้อมูลให้กับการคิด การคิดก็ไปสู่การรู้เข้าใจใช้ประโยชน์ แล้วก็ได้ความรู้มาเป็นข้อมูลให้กับความจำต่อไป วงกลมภายในก็หมุนไป ตัวคนก็พัฒนาไป พร้อมกันนั้นประโยชน์ที่ออกไปภายนอกจากวงล้อแห่งความคิด หรือวงล้อกระบวนการพัฒนาปัญญา ก็คือผลผลิตจากการคิดความรู้เข้าใจนั้น ก็ออกมาเป็นเรื่องของความรู้จักจัดสรร สร้างสรรค์ แก้ปัญหา ทำประโยชน์ต่างๆ ก็พัฒนาโลก พัฒนาสังคม พัฒนาอริยธรรมข้างนอก วงล้อแห่งความคิดของมนุษย์ก็เดินไป ตกลงว่าโลดมนุษย์นี้สร้างได้ด้วยความคิด ความคิดนี้เป็นตัวสร้างโลก ฉะนั้นสร้างทั้งโลก สร้างทั้งชีวิต ในตัวเรานี่ ในวงกลมวงล้ออันนี้ หมุนไปเราก็เจริญพัฒนาไป ข้างนอกมันก็ออกมาเป็นผลิตผลทางปัญญา ทำให้โลกเจริญก้าวหน้า มีอริยธรรมยิ่งขึ้น ตกลงว่าอันนี้เราต้องจับให้ชัดในเรื่องของความสัมพันธ์ในระบบขององค์ประกอบที่อยู่ในกระบวนการของความคิด ที่จะทำให้เกิดกระบวนการพัฒนาปัญญา ถ้าอย่างนี้แล้ว มันก็จะเป็นการคิดที่มีความหมายเป็นประโยชน์ ไม่ใช่เป็นความคิดที่ขาดฐาน ไม่มีจุดหมาย กลายเป็นความคิดที่เลื่อนลอยไป เวลานี้ต้องระวังเพราะพูดกันเน้นบ่อยเหลือเกิน ชอบให้เด็กแสดงความคิดเห็น ถ้าเป็นอย่างนี้ระวัง เด็กไทยจะคิดเห็นกันมาเหลือเกิน กล้าแสดงออกไว แต่ก่อนไม่กล้าแสดงออก คือเด็กไทยที่ไวในการปรับตัว ไม่ใช่เด็กไทยหรอ คนไทยแต่ไหนแต่ไรแล้ว อารยธรรม วัฒนธรรมที่รับจากเมืองนอก แต่ก่อนไม่เคยเป็น เดี๋ยวเดียวคนไทยล้ำหน้าฝรั่งแล้ว เรื่องคิดเห็นก็เหมือนกัน ต่อไปก็แสดงความคิดเห็นล้ำหน้าฝรั่ง แต่ว่าจะได้สาระหรือเปล่าเนี่ย ถ้าไม่รู้จักปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามกระบวนการของความคิดในทางธรรมชาติแล้ว อาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้ เพราะฉะนั้นก็เลยคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องให้กระบวนการของความคิด ระวัง หนึ่ง-ก็อย่างที่ว่า อย่าให้เป็นเรื่องแยกส่วน แล้วก็กลายเป็นสุดโต่งไป สอง ก็อย่าให้เป็นการคิดที่เลื่อนลอย คือเป็นความคิดที่ขาดฐาน ไม่มีจุดหมาย กลายเป็นว่าไม่เป็นประโยชน์ เป็นความคิดที่เลื่อนลอยอย่างที่ว่า แล้วถ้าทำได้ถูกต้องมันก็เป็นวงล้อแห่งกระบวนการพัฒนาปัญญา ที่จะหมุนไปสู่ปัญญาการพัฒนาชีวิตแล้วก็ของสังคม ของอารยธรรมของโลกต่อไป ก็อยากจะผ่านไปเลย ทีนี้ก็ต่อไปสู่หัวข้อที่สอง
หัวข้อที่สอง-ก็คือเรื่องปัจจัยต่างๆ ที่จะมาเกื้อหนุน กระตุ้น ตลอดจนกระทั่งบีบให้คนคิด อันนี้เป็นเรื่องสำคัญเหมือนกัน ก็มาพูดกันว่าเด็กไทยไม่รู้จักคิด แล้วเด็กไทยไม่รู้จักคิดนี่มีความหมายว่าอย่างไร หนึ่ง-ไม่รู้จักคิดก็คือว่าคิดเหมือนกัน แต่แก่คิดออกนอกลู่นอกทาง เรียกว่าคิดไม่เป็น บางทีคิดฟุ้งซ่าน คิดเพ้อฝัน เลื่อนลอย ทางพระเรียกว่าคิดปรุงแต่ง ก็พูดง่ายว่าคิดปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน เพ้อฝัน เลื่อนลอย คิดโศกเศร้า เหงาหงอย ทุกข์ระทมตรใจ อะไรอย่างนี้ เรียกว่าเป็นเรื่องของความคิดแบบปรุงแต่ง เรียกว่าเป็นความคิด เป็นทาสอารมณ์ คิดอย่างนี้เรียกว่าเป็นทาสอารมณ์นะ แล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร แล้วก็เกิดความทุกข์ด้วย คิดอย่างนี้ไม่ถูกต้อง แทนที่จะคิดอย่างนี้ ใช้ได้เหมือนกัน เกิดคิดทุกข์ระทมขึ้นมา ก็เอาเป็นทุกข์นี่กลับมาเลย พลิกทุกข์มาเป็นตัวกระตุ้นกำลังใจ ให้มีกำลังใจลุกขึ้นมาต่อสู้ จะแก้ไขความทุกข์นั้น แล้วก็เอาทุกข์เป็นแบบฝึกหัดทางปัญญา ว่าเราเจอแบบฝึกหัดแล้ว คนฝึกตัวด้วยแบบฝึกหัดแล้วมันจะพัฒนาปัญญา พลิกเลย ถ้าคิดอย่างนี้เรียกว่าคิดเป็นแล้ว แล้วเอาแล้ว ยังไงเราจะไปสู่ความคิด ก็เลยจะต้องมีวิธีปฏิบัติกันต่อไป ตอนนี้ก็คือปัญหาเรื่องว่าทำความเข้าใจกันเรื่องที่ว่าเด็กไทยไม่รู้จักคิดเนี่ย ก็คือคิดไม่ถูก ย้ำอีกทีว่าคิดปรุงแต่ง คิดฟุ้งซ่าน เพ้อฝัน เลื่อนลอย เป็นทาสอารมณ์ ถ้าคิดอย่างนี้ก็ใช้ไม่ได้ ทีนี้ว่าพอไม่คิดแบบเพ้อฝันเลื่อนลอย ปรุงแต่ง ก็ไม่คิด ทีนี้การที่เราว่าไม่รู้จักคิดนี่เราหมายถึงว่าไม่คิดในทางที่ถูกต้องที่เป็นประโยชน์ การไม่รู้จักคิดก็ต้องเริ่มจากการไม่คิด อันนี้เราตัดออกไปแล้วนะเรื่องการคิดปรุงแต่ง เพ้อฝันเลื่อนลอย อันนั้นคนละเรื่อง ทีนี้มาเรื่องไม่รู้จักคิดเนี่ย การไม่รู้จักคิดมันก็เริ่มจากไม่คิด คือเด็กแกไม่คิด พอจะคิดแกจะคิดไปในทางเพ้อฝัน ปรุงแต่ง เลื่อนลอย อย่างที่ว่า ถ้าไม่งั้นก็ไม่คิด ฉะนั้นไม่รู้จักคิด ก็เริ่มจากไม่คิด ก็ต้องถามว่าแล้วทำไมเด็กไทยจึงไม่คิด แกไม่คิดเพราะ หนึ่ง-ไม่อยากคิด สอง-แกไม่ต้องคิด สาม-แกไม่เคยคิด สามอย่างนี้แหละสำคัญมาก หนึ่ง-ไม่อยากคิด ก็คนไม่อยากคิดมันก็หยุด มันก็ไม่เดินหน้า ทีนี้สอง-คนไม่อยากคิด แต่ว่ามันมีสถานการณ์บีบคั้น ก็ทำให้ต้องคิด อันนี้สำคัญเหมือนกัน ทีนี้การที่ต้องคิดนี่ก็ยกตัวอย่างเช่น ภัยอันตราย สถานการณ์บีบบังคับ การที่พึ่งใครไม่ได้ ต้องพึ่งตนเอง ยกตัวอย่างง่ายๆ เอาอย่างพวกนี้ก็แล้วกัน อย่างพวกยิวเนี่ย ประเทศเขาก็เล็ก มีประชากรก็น้อย แค่เท่าไหร่ เดี๋ยวนี้ 6-7 ล้านคนมั้ง ประมาณนั้น อาตมาก็ไม่ได้ดูสถิติแน่นอน แต่ว่าภัยอันตรายรอบด้าน ตัวนี้ มีแต่ว่าเขาจะเอาตายอยู่ทุกวัน เพราะฉะนั้นต้องคิดหาทางรอด ก็ต้องคิดแล้วก็ต้องทำ ต้องทำนั่นแหละทำให้ต้องคิด ต้องทำก็เพื่อให้ตัวอยู่รอด แล้วก็คิด ไอ้นี่สถานการณ์บีบคั้น หรืออย่างประเทศอเมริกา พวกฝรั่งนี่ก็มีระบบแข่งขัน ประเทศอเมริกานี่ไม่ใช่ว่าสุขสบายเท่าไหร่นะ ไม่เหมือนเมืองไทย เมืองไทยสุขสบายกว่า ฝรั่งมีกินมีใช้บริโภคสะดวกจริง แต่แกมีระบบแข่งขันบีบคั้นตลอดเวลา มีทุกข์มาก เขาบอกแข่งขันที่ต้องทำให้ต้องพึ่งตนเอง เราต้องเร่งรัดตัวเอง มันทำให้คิด ทุกคนต้องคิด คือว่าสถานการณ์สภาพแวดล้อมมันบีบบังคับให้ต้องคิด แล้วสามก็คือ-ไม่เคยคิด หมายความว่าไม่เคยชินกับการคิด ไม่มีนิสัยในการคิด ไม่ได้ฝึกอบรมมา วัฒนธรรมในการคิดไม่มี การศึกษาอบรมไม่ช่วย อันนี้อาจจะเป็นเมืองไทยด้วยหรือเปล่า ขอให้คิดดู แล้วตกลงว่า 3 อย่างนี้ อาจจะเป็นเหตุให้เด็กไทย ไม่รู้จักคิดเรื่อง เรื่องไม่คิด คือหนึ่ง-ไม่อยากคิด สอง-ไม่ต้องคิด สาม-ไม่เคยคิด ทีนี้เราก็มาดูว่าแล้วจะทำยังไง เราก็มาแยกดูว่า ปัจจัยสำคัญทั้งหมดนี้นะก็แยกได้เป็น 2 ด้าน หรือ 2 ฝ่าย คือปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอก เรียกว่าปัจจัยที่ทำให้ไม่คิดหรือปัจจัยที่ทำให้คิดเนี่ย มี 2 ฝ่าย ปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอก ทีนี้ปัจจัยภายในซะก่อน ปัจจัยภายในนี่ก็ง่าย เราก็พูดกันบ่อย ใฝ่รู้ ใฝ่ทำ อยากรู้อยากทำ อันนี้สำคัญ เราอาจจะเริ่มด้วยใฝ่ทำก่อน คนเรามันอยากทำอะไร มันเป็นตัวบีบบังคับเรียกร้องเองให้ต้องคิด ฉันจะทำอันนี้ แล้วจะทำยังไงล่ะ มันก็ต้องรู้สิ ไม่รู้แล้วจะไปทำยังไง การที่ต้องทำ การที่จะทำ แม้จะไม่ต้องทำแต่ว่าตัวอยากทำ พออยากทำ ใฝ่ทำ อยากจะทำ ความมันก็เรียกร้องว่าเธอต้องรู้ เมื่อเธอต้องรู้ เธอต้องหาความรู้ มันก็เลยเป็นปัจจัยผลักดันให้เด็กหาความรู้ แล้วสอง-นอกจากหาความรู้แล้ว ต้องคิด แล้วคิดเพื่อจะทำยังไงก็ต้องคิด ใช่ไหม เพราะฉะนั้นมันก็มาด้วยกัน ทีนี้ถ้ามีความใฝ่ทำมันก็ทำให้มีความใฝ่รู้ ทีนี้เด็กไทยมีไหมการใฝ่รู้ ใฝ่ทำ ทั้ง 2 อย่างนี้เราบอกว่าขาด เพราะฉะนั้นแสดงว่าปัจจัยภายในเราไม่มีแล้ว ถ้าเด็กมีความอยากทำใฝ่ทำ อยากสร้างสรรค์ ทำอะไรโน่น ทำอะไรนี่ อยากจะประดิษฐ์อะไรต่างๆ เดี๋ยวก็คิดค้น มันต้องหาความรู้ มันต้องมากันเป็นกระบวนไปเลย เพราะฉะนั้นใฝ่รู้ ใฝ่ทำ หรือจะเอาตัวใฝ่ทำนี้เป็นสำคัญก็แล้วแต่ ทางพระเรียกว่าฉันทะ อันนี้ต้องมี ถ้ามีฉันทะ ใฝ่ทำแล้ว ก็เรียกร้องความใฝ่รู้แล้วก็เรียกร้องการคิด มันก็เป็นตัวบีบบังคับภายใน นี่ก็เป็นปัจจัยภายใน สอง-ปัจจัยภายนอก ที่สำคัญก็คือสภาพแวดล้อม สถานการณ์ที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้ก็คือภัยอันตราย แล้วก็สอง-สภาวะของการดำเนินชีวิต เช่นการแข่งขัน การบีบรัดต่างๆ นี่ทำให้ทุกคนต้องคิด แล้วปัจจัยภายนอกอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญ ก็คือเป็นพื้นของสังคมนั้นๆ ได้แก่วิถีชีวิตวัฒนธรรม การศึกษาอบรม อันนี้ก็อยู่ในข้อที่ว่าไม่เคยคิดหรือว่าไม่เคยคิดเกี่ยวกับการคิด ถ้าหากว่าเราไม่มีวัฒนธรรมในการคิด ไม่ฝึกกันมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ในบ้าน ตั้งแต่ในครอบครัว ไปโรงเรียนก็ไม่ได้เสริมขึ้นไป ก็ไม่มีนิสัยในการคิด แล้วจะคิดอะไร เจออะไรมันก็ไม่อยากคิด แล้วตรงกันข้ามก็คือ ตรงข้ามกับสถานการณ์บีบคั้น เช่นภัยอันตรายนี่ ที่สำคัญก็คือฝ่ายตรงข้าม ได้แก่ความสุขสบาย ความลุ่มหลงมัวเมา พอสบาย เพลิดเพลิน ก็เอาแล้ว มันก็มีความโน้มเอียงที่จะเฉื่อย ก็จะไปเสพสนุกสนาน ก็เลยไม่ต้องคิดอย่างที่ว่าแล้ว ทีนี้ซับซ้อนไปกว่านั้นก็คือว่า บางทีทั้งๆที่มีภัย แต่ว่ามันมีความซับซ้อนทางสังคมที่ทำให้คนไปเพลิดเพลินกับการเสพบริโภค คนก็เลยทั้งๆ ที่มีภัย ก็มัวเพลิน พอมีภัย แต่มัวเพลิน เช่นอาจจะมีเหยื่อล่อจากสังคมอื่นที่เขาหาผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นต้น แกก็ไม่ต้องคิดแล้ว ทั้งๆที่มีเรื่องต้องคิด มีภัยอันตรายบีบคั้นอยู่ ไม่มอง ก็ได้แต่ไปเสพ ไปหาความสนุกสนานเพลิดเพลินมัวเมา อย่างนี้เรียกว่ามีภัยแต่มัวเพลิน เมื่อมีภัยแต่มัวเพลินก็เลยไม่คิดอีก เสร็จแล้วพวกนี้จะต้องลำบากมาก เพราะว่าภัยนั้นจะมาถึงขั้นที่จะอยู่ไม่ได้ จะพินาศวิบัติแล้วจึงจะเริ่มคิด คิดไม่ทัน ฉะนั้นก็เป็นอันว่าเรื่องนี้จะต้องมาพิจารณากันให้มาก แล้วอาตมาภาพก็ขอพูดเรื่องปัจจัยต่างๆ ในเรื่องของกระบวนการทางความคิดนี้ที่เราจะต้องเข้าใจ แล้วเราจะเอาข้อไหนล่ะ จะเอาเรื่องของปัจจัยภายในก็ต้องสร้างแน่นอน แล้วปัจจัยภายนอกทำยังไง ปัจจัยภายนอกเราชอบไหมเรื่องภัยอันตราย เราก็ไม่ชอบ ระบบแข่งขัน เราก็เข้ามาแล้ว อยู่ในระบบของโลก แต่เราก็บอกว่าไม่ดีเท่าไหร่ ทีนี้ที่ดีที่สุดก็คือสร้างตัววัฒนธรรมในการแสวงปัญญา คือสภาพแวดล้อมวิถีชีวิตของสังคมนั้น ที่ทำให้คนใฝ่รู้ใฝ่ทำ แสวงหาความรู้อะไรต่างๆ ซึ่งจะต้องฝึกกันมาแต่เด็ก ตั้งแต่เล็กแต่น้อย อันนี้อาตมาภาพก็ขอข้ามไปก่อน ให้เรามองที่หลักกันก่อน
ผ่านมา 2 หัวข้อแล้ว หัวข้อที่หนึ่ง ก็คือธรรมชาติของกระบวนการคิด แล้วข้อที่สอง-ก็คือปัจจัยต่างๆ ที่เกื้อหนุน กระตุ้น บีบให้คิด
แล้วสาม-ก็มาเรื่องวิธีคิด ก็เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว รู้สึกว่าเราจะต้องเน้นกันที่หัวข้อที่สาม-วิธีคิด วิธีคิดนี่มันก็โยงไปหาหัวข้อก่อนๆ คือถ้าคนอยากคิด ต้องคิด แล้วก็เคยชินกับการคิดอยู่แล้วเนี่ย มันก็เรียกหาวิธีคิด บางทีเขาอาจจะยังไม่มีวิธีการคิดที่ดี เรามีวิธีคิดที่ดีไว้ให้ อย่างพุทธศาสนานี่สอนวิธีคิดไว้มากมาย พอคนเขาพร้อมแล้ว เขาอยากคิด เขาต้องคิด เขาเคยชินกับการคิด เขาจะคิดอยู่เรื่อย เราก็เอาวิธรนี้มาสนองให้ วิธีในพุทธศาสนานี้เคยเสนอไว้ว่า สรุปไว้เป็น 10 วิธีคิด ทีนี้ว่าวิธีคิดต่างๆ นี้ ลักษณะทั่วไปมันก็จะมีลักษณะร่วมกันคือเป็นวิธีคิดที่ดี ที่เราเรียกว่า โยนิโสมนสิการ มีลักษณะสำคัญ 4 ประการ คือ
หนึ่ง-คิดให้เห็นทั่วตลอดทะลุปรุโปร่ง ลงถึงต้นตอรากเหง้า หมายความว่า ท่านเรียกว่ามองอะไรนี่ท่านจะใช้คำเริ่มต้นว่าทั่วตลอด ทั่วตลอดนี่ก็ลองดูก็แล้วกัน คำสื่ออยู่แล้ว ทั่วด้วย ตลอดด้วย แล้วยังทะลุปรุโปร่งโล่งไปถึงต้นตอรากเหง้า อันนี้ ถ้าใครคิดได้อย่างนี้ ก็ได้ลักษณะที่หนึ่งอยู่แล้ว หลักความคิดที่เป็นโยนิโสมนสิการ
สอง-คิดเป็นลำดับ เป็นขั้นตอน คิดเป็นขั้นตอนมีลำดับ คนที่เขาคิดเป็นนี่เขาคิดเป็นลำดับเป็นขั้นตอน เหมือนกับคนทำงานทั่วไปที่เขาวางแผนในการทำงานว่า มีลำดับอย่างนั้นๆ ทำอันนั้นก่อนอันนี้ก่อน คนที่เขาคิดเป็นเขาคิดเป็นลำดับ จะต้องไปอย่างนั้นๆ ไม่งั้นมันก็จะยุ่งไปหมด คิดเตลิดเปิดเปิง คิดข้ามขั้นตอนอะไรต่างๆ คิดไม่เป็นเรื่องเป็นราว เพราะฉะนั้นก็ต้องคิดเป็นขั้นเป็นตอน เป็นลำดับ แบบนี้เรียกว่าทำให้มีทางไปเลยทีเดียว พอมีขั้นมีตอนมีลำดับนี่ จะมีทางชัดไปเลย แล้วทางตัวนี้มันก็จะพุ่งไปเข้าหาข้อที่หนึ่งที่จะทำให้คิดทะลุปรุโปร่งทั่วตลอด ทางนั้นไปถึงไหน มันก็ไปหมด ได้หมด ได้ทั้งทั่ว ได้ทั้งตลอด เหมือนมีรถยนต์ที่วิ่งไปนี่ เราก็วิ่งไปตามถนนหนทาง ไปตามลำดับ แล้วเราก็ไปทั่วด้วยตลอดด้วย ถึงต้นตอรากเหง้ายังไงก็ไปได้
ทีนี้ต่อไปอันที่สาม- พอเรามีลักษณะการคิดที่ว่า หนึ่ง-ก็คือทั่วตลอดอย่างที่ว่ามาแล้ว สอง-ก็คือมีขั้นตอนมีลำดับ ทีนี้เราก็เอาวิธีการต่างๆ มาสนอง ก็มีการคิดที่ถูกวิธี นี่เป็นข้อที่สาม ที่ถูกวิธี ตอนนี้วิธีการต่างๆ ก็เข้ามา วิธีการนั้นก็มีมากมาย เช่น คิดแยกแยะ วิเคราะห์องค์ประกอบว่า สิ่งนี้ๆ มันเกิดอะไรบ้างประกอบกัน มันจึงได้เกิดเป็นอันนี้ขึ้น หรือคิดแยกแยะในแง่ทางเลือกว่า เรื่องนี้วิธีทำ มีทางเลือกได้หลายอย่าง 5 อย่าง 10 อย่าง ทางเลือกไหนดีที่สุด เหมาะแก่เรา เราจะทำได้ในสถานการณ์นี้ แล้วก็แยกแยะเรื่องความเป็นไปได้อย่างอื่น เราทำไปอย่างนี้มันติดตันแล้ว ตันยังไงล่ะ เราก็คิดหาทางเป็นไปได้อื่นๆ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า ทรงดำเนินวิธีปฏิบัติในการแสวงหาโพธิญาณในการบรรลุโพธิญาณนั้น พระองค์ไปๆ ก็ทรงไปติดว่า วิธีบำเพ็ญ
ทุกรกิริยานี้ พวกตบะ โยคะ เป็นต้น ที่เขาทำกันในอดีตเนี่ย ไม่สำเร็จผล แล้วพระองค์จะไปจนปัญญาทำไม พระองค์ก็คิดทางแห่งการเป็นไปได้อย่างอื่น แล้วมันจะมีทางเป็นไปได้อย่างอื่นไหม ก็คิดไป อย่างเนี่ย คิดหาทางเป็นไปได้อย่างอื่น คิดดู มองสิ่งทั้งหลาย ทั้งด้านแง่ดีแง่เสีย ข้อดีข้อด้อย แล้วก็ทางออกทางแก้ไข คิดอย่างที่เขาเรียกว่าพลิกวิกฤติเป็นโอกาส อะไรอย่างเนี่ยนะ คิดหาสุขจากทุกข์ ทำทุกข์ให้เป็นผลดี อะไรนี่ คิดได้ทั้งนั้นแหละ คนรู้จักคิดแล้วท่านว่าไม่ตัน สรุปแล้วก็คือนี่แหละ ก็เอาเป็นว่า มีวิธีคิดกี่อย่างก็เอามาสนอง
ข้อที่สี่- ก็เป็นตัวที่จะไปตัดสินขั้นสุดท้าย ก็คือจะเข้าถึงผล ท่านบอกว่าลักษณะการคิดที่ดีก็คือ ข้อที่สี่-ก็คิดให้เกิดผล ก็มี 2 อย่าง ที่บอกแล้วก็คือการคิดต่างๆ นี่ มันจะมีจุดหมายโดยคร่าวๆ แยกเป็น 2 แบบ แบบที่หนึ่งคือเข้าถึงความจริง คิดให้เกิดความรู้ความเข้าใจเข้าถึงความจริง โดยปกติเราคิด เราศึกษาอะไรเนี่ย หนึ่งก็เพื่อเข้าถึงความจริง ให้รู้ความจริงของสิ่งนั้นๆ อย่างพวกนักวิทยาศาสตร์ก็คิด พยายามเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ เหตุปัจจัย ระบบความสัมพันธ์เป็นยังไง มองให้มันถึงนี่ เรียกว่าคิดให้เกิดผลโดยแท้ ทีนี้คิดให้เกิดผลอย่างที่สองก็คือว่าคิดให้เกิดประโยชน์ มีความรู้เรื่องอย่างนี้ เราจะเอาความรู้ไปใช้ทำประโยชน์ได้ยังไง แก้ปัญหายังไง อย่างนี้เรียกว่าคิดให้เกิดประโยชน์ ทำประโยชน์ขึ้นมาให้ได้ อันนี้ก็สำคัญ วิธีอย่างพวกเทคโนโลยี เทคโนโลยีจะเข้าลักษณะความคิดแบบที่สองเนี่ย รวมแล้วก็คือว่าคิดให้เกิดผล โดยให้ความรู้ความเข้าใจเข้าถึงความจริงแบบหนึ่ง แล้วก็คิดให้เกิดประโยชน์ในการที่จะเอามาทำ เอามาปฏิบัติ ในการที่จะสร้างสรรค์แก้ปัญหา ทำการริเริ่มอะไรต่างๆ ขึ้นมา ก็เป็นอันว่านี่ก็คือเป็นลักษณะความคิด ถ้าพูดรวมแค่นี้ก็พอ ส่วนวิธีคิดในรายละเอียดจะกี่วิธีๆ ก็ไปดูกันอีกทีหนึ่ง เพราะว่ามีในที่อื่นอยู่แล้ว รวมเป็นว่าโดยสรุปก็มีประมาณนี้
ต่อไปก็พูดถึงหัวข้อที่สี่- เรื่องของปฏิบัติการในการฝึกการคิด เรื่องนี้ก็สำคัญ ปฏิบัติการในการคิดนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่ามาแล้ว ก็สัมพันธ์กับหัวข้อที่พูดมาทั้งหมด เราก็ต้องมานึกว่าเราจะฝึกอย่างไรดี ทีนี้เราจะมารอสถานการณ์มาบีบคั้นให้คนต้องคิด เราก็ไม่เอาแล้ว แต่ว่าต่อไประบบแข่งขันนี่มันจะมาบีบเอง แต่ระบบแข่งขันก็อย่างที่บอกว่าถ้ามีภัยแต่มัวเพลิน มันก็ไปไม่ได้ เช่นว่ามีภัย การแข่งขันมาบีบคั้นอยู่ แต่ตัวมัวเพลินกับสิ่งเสพบริโภคที่เป็นเหยื่อล่อของเขา ก็เลยไม่ต้องคิดเหมือนกัน พวกนี้ก็ได้แต่เพลินกับการเสพไป ไม่ได้ความ เพราะฉะนั้นทางออกอย่างหนึ่งก็คือว่าการใช้วิธีสร้างปัจจัยภายนอก มาโยงปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกตัวนี้ก็คือสร้างวัฒนธรรมในการคิดขึ้นมา ถ้าพูดในวงกว้างก็คือวัฒนธรรมแสวงปัญญา วัฒนธรรมแสวงปัญญานี้เป็นเรื่งใหญ่มาก ก้คืออันที่ว่าเมื่อกี้ ก็คือต้องมีการฝึก การอบรม การเลี้ยงดูตั้งแต่ในครอบครัว ให้เด็กเคยชินกับการคิด จนกระทั่งคิดเป็นนิสัย มีนิสัยในการคิด ถ้าอย่างนี้ล่ะก็เกิดวัฒนธรรมแน่ ถ้าได้ตั้งแต่ในครอบครัว ทีนี้เรามีไหม การฝึกอบรมที่จะมาเป็นปัจจัยภายนอก ทางวิถีชีวิตวัฒนธรรม วัฒนธรรมของเรามันขาดตรงนี้แหละ ฉะนั้นเราต้องเริ่มสร้างกันขึ้นมา ส่วนสังคมฝรั่งนั้น เขามีมาวัฒนธรรมในการคิด ในการแสวงปัญญา เพราะตัวปัจจัยภายนอก เรื่องภัยอันตราย เรื่องการแข่งขัน การต่อสู้ เป็นต้น มาบีบก่อน พอบีบนานๆ เข้า มันต้องคิดๆๆ คิดไปคิดมา คิดไปจนกระทั่งชิน จนกลายเป็นวัฒนธรรมแห่งการคิดไป ฉะนั้นเรื่องภัยอันตราย บีบคั้นให้ต้องคิด กับวัฒนธรรมในการคิด มันก็เลยมาโยงกันในที่สุดมันก็เกิดผลเป็นวัฒนธรรมการคิด การแสวงปัญญา ในการหาความรู้ ทีนี้เราก็มาเอาตัวที่เป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญก็คือวัฒนธรรม เราก็มาสร้างวิถีชีวิตอย่างนี้ขึ้นมา ตั้งแต่ครอบครัวด้วยการเลี้ยงดู เอาไง ก็มีจุดสำคัญที่จะฝึกเรื่องการคิด เอาง่ายๆ จะได้ไม่ต้องซับซ้อนมาก
หนึ่ง-การกินอยู่ เสพบริโภคในครอบครัวนี้ ที่พระท่านสอน พอเริ่มต้นฝึกเป็นพระก็ ปะ-ติ-สัง-ขา-โย-ปิ-โส-ปิน-นะ-ปา-ตัง ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคายจึงได้บริโภคอาหารนี้ว่า กินนี้เพื่ออะไร เด็กไม่เคยถูกถาม ไม่เคยคิด แค่กินก็ยังไม่เคยคิดเลย เราต้องถามเด็ก ให้เด็กรู้เข้าใจความมุ่งหมาย ตั้งแต่การเป็นอยู่ การเสพบริโภค การให้ปัจจัยสี่ การกินอาหาร การใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ให้รู้วัตถุประสงค์ ถามเลย ที่เรากินอาหารนี่เรากินเพื่ออะไร เด็กก็ไปคิดดู ก็ได้ความแล้ว ต่อไปก็จะเข้าใจว่าที่เรากินนี้ กินเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย บำรุงให้แข็งแรง ซ่อมแซมส่วนสึกหรอ ร่างกายของเราจะได้มีกำลัง มีสุขภาพดี แล้วเราไปทำการทำงานได้ ที่แท้แล้วเราไม่ได้กินเพื่อเอร็ดอร่อย เพื่อโก้เก๋ แสดงฐานะ อันนั้นเป็นเพียงตัวประกอบเสริม ตามค่านิยม ไม่ใช่ตัวแท้จริง เสื้อผ้าเพื่ออะไร ต้องคิด ต้องรู้ อย่างนี้เรียกว่ารู้จักประมาณ แล้วก็เสพบริโภคด้วยปัญญา ทีนี้ต่อไปขยายไปพวกเทคโนโลยีเหมือนกัน พ่อแม่ก็จะถามอยู่เรื่อย สมมติว่าเด็กจะไปซื้ออะไร เออ หนูจะซื้ออันนี้ต้องการเอามาใช้ประโยชน์อะไร อย่างเด็กจะซื้อคอมพิวเตอร์ หนูไปเขียนมา วางแผนในการใช้คอมพิวเตอร์ มาเสนอพ่อ แล้วเราตกลงกันว่าจะซื้อ นี่อย่างนี้ พ่อแม่เราเคยปฏิบัติไหม ไม่ใช่ว่าลูกอยากจะได้คอมพิวเตอร์ แหม จำเป็น แล้วก็ไม่รู้คลุมๆ เครือๆ แล้วก็ซื้อมาให้ สิ้นเงิน เปลืองเงินทอง ปรากฏว่าเด็กเอาไปเล่นเกม ทีนี้ถ้าหากว่าพ่อแม่จะฝึกสร้างวัฒนธรรมในการคิด ในการพัฒนาปัญญาเป็นวัฒนธรรมแสวงปัญญา มันก็ไม่ยากหรอก ก็เนี่ยพอเด็กจะซื้ออะไร ง่ายๆ ก็อย่างที่ว่า มือถือหนูจะซื้อทำไม ไปวางแผนมา เด็กก็ต้องไปเขียนแล้ว คิดแล้วใช่ไหม ฉะนั้นระบบการกินอยู่เสพบริโภคทุกอย่างนี่ เป็นกระบวนการที่ฝึกฝนการคิดได้ทั้งนั้น เราก็ต้องฝึกจากนี้แหละ มนุษย์สมัยโบราณ เขาเติบโตมาได้อย่างไร ก็เติบโตจากชีวิตประจำวันที่กินอยู่ เป็นอยู่ เสพบริโภค ใช้สอยสิ่งของ คบหาผู้คน เป็นต้น ทุกคนต้องคิดหมด ทีนี้ว่าผู้ใหญ่ก็มีหน้าที่ที่จะนำเขา ที่จะเป็นสื่อให้เขาต้องคิดด้วยการสร้างคำถามเป็นต้น พอสร้างคำถามให้ สร้างกิจกรรมให้ ไม่ต้องไปรอให้ครูหรอก ทำแบบที่ว่าวางแผนในการใช้คอมพิวเตอร์เป็นต้น พ่อแม่ก็ทำได้ นี่ก็การกินอยู่เสพบริโภค
สอง-การฝึกในเรื่องของการรับ การปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูล ข่าวสารข้อมูลในที่นี้ รวมทั้งข้อมูลหนังสือหนังหาตำราเรียนอะไรต่างๆทั้งหมดของเขาด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ จะปรากฏว่ายุคสมัยปัจจุบัน เด็กต้องเกี่ยวข้องกับพวกข่าวสารข้อมูลนี้ตลอดเวลา เราก็ให้เด็กใช้วิธีคิดเป็นแล้วทีนี้ ฝึกในตัวเลยเดี๋ยวมาหมดแหละ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันเป็นปัจจัยเรียกร้องกับเด็ก ทางพระท่านบอกว่า พอทำถูกทางแล้ว ทีนี้มันก็จะเป็นปัจจัยไปบีบคั้นให้เรียกร้องตัวโน้นมาเอง ท่านบอกว่าเมื่อปัจจัยพร้อมแล้ว มันมาเองไม่ต้องเรียกร้อง มันเป็นธรรมชาติของมัน ฉะนั้นเราทำให้ถูกวิธี สร้างปัจจัยให้มัน แทนที่จะพูดกันอยู่ ไปสร้างปัจจัยให้มัน ปัจจัยมันเกิดขึ้น เหตุเกิดแล้ว ผลตามมาเอง เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญก็คือไปทำปัจจัย หรือพูดเต็มๆ ว่า ไปทำเหตุปัจจัยขึ้นมา ไปทำเหตุปัจจัยอันนี้ก็คือเรื่องเอกสารข้อมูลนี้เด็กต้องพบอยู่ตลอดเวลา แล้วปฏิบัติต่อมันให้เป็น หลักของท่านง่ายๆ อันนี้เอาแค่วิธีสั้นๆ รวบรัดก่อน ก็คือหนึ่ง-พอเจอข่าวสารข้อมูล อันนี้เราเลือกได้แล้วว่าข้อมูลอันไหนเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ต่อเรา หรือต่อชีวิต หรือต่อการพัฒนาอะไรต่างๆ ก็ตาม ต่อตัวเองก็ตาม ต่อสังคม ต่อครอบครัวเป็นต้น เราเลือกเห็นว่าข้อมูลนี้ ข่าวสารนี้ดีเป็นประโยชน์ แล้วพอรับนี่ต้องเข้าใจทั่วตลอดเลย ไม่เข้าใจ ไม่รู้ชัด ไม่เข้าใจความหมาย แล้วก็ไม่ยอมผ่าน ถ้าหากจำเป็นมันไม่เข้าใจจริงๆ ฝากไว้ก่อน นี่ต้องเอากันขนาดนี้เลย เด็กเรียนหนังสืออะไร อ่านหนังสืออะไร ถ้าเป็นเรื่องจำเป็นสำคัญแล้วต้องอ่านชนิดที่ว่าเข้าใจจริงๆ พอเข้าใจความหมายชัดเจนดีแล้ว ทีนี้จับประเด็นได้ว่าที่เขาพูดมาทั้งหมดที่เราเข้าใจเนื้อความทั้งหมด คือเข้าใจความหมายของมัน แล้วเขาพูดอะไร ตัวประเด็นอยู่ที่ไหนหรือ ไม่งั้นเราจับมาตั้งหัวข้อเองก็ได้ อ่านไปหนึ่งหน้า สองหน้า สิบหน้า เราจับตั้งหัวข้อเลย ถ้าเด็กคนไหนอ่านหนังสือ หนึ่ง-เข้าใจตลอด สอง-จับตั้งหัวข้อได้ เด็กคนนี้รับรองเลยเก่งแน่ๆ เลย อย่างว่าจับตั้งหัวข้อได้ปั๊บ ต่อไปเด็กมาที่หน้า มองดูหัวข้อ แกนึกเนื้อหาออกเลย เพราะแกเข้าใจความหมาย พอเวลาจะสอบนี้นะ เด็กๆ อย่างนี้นะ เขาไม่ไปเสียเวลาทวนเนื้อหาทั้งหมดหรอก เวลาเรียนนั้นเขาเข้าใจเนื้อหาหมดแล้ว เข้าใจเนื้อหาก็หมายความว่าเข้าใจความหมายของมัน เสร็จแล้วเขาก็ตั้งหัวข้อไว้ หัวข้อหนึ่งอาจจะแทน 3 หน้า 10 หน้า อะไรต่างๆ แล้วหัวข้อเหล่านี้ก็มาเรียงอยู่ในหน้าเดียวเท่ากับหนังสือ 100-200 หน้า พอถึงเวลาเขาจะมาทวนสอบ เขาก็มาดูแผ่นเดียวเนี่ย ดูหัวข้อที่หนึ่งว่ายังงี้ เขานึกในใจถึงความหมายของมันทั้งหมด มองปรู๊ดเดียวนึกออกหมดเลย หัวข้อที่ 1 ได้เท่ากับ 10 หน้า ไม่ต้องไปอ่านเลย หัวข้อที่ 2ว่าอย่างนี้ ก็นึกปรู๊ดในใจ ออกหมดแล้ว ข้อที่ 3 เกิดไม่แน่ใจว่าความหมายนี้ชัดไม่ชัด เอาแล้ว ก็รู้จุดเลยว่าหัวข้อที่ 3 นี้เรายังไม่ชัด ก็ไปดูเฉพาะจุดเลย ไปดูว่าส่วนที่เรายังไม่เข้าใจนั้น ให้มันแน่ใจชัดเจนขึ้นมา หัวข้อที่ 3 เราก็มั่นใจ ต่อไปนี่เวลาจะสอบใช้เวลาแค่ไม่กี่วันหรอก ตอนเรียนใช้เวลาเยอะ เด็กบางคนไปเสียเวลาอ่านไป ทีนี้เด็กที่เก่งแกก็ไปหยิบกระดาษแผ่นเดียว ที่แกเขียนหัวข้อไว้ แกก็มาดูหัวข้อๆ หนึ่งในใจหลับตามองเห็นหมด เนื้อหาสว่างแจ้ง พอมองข้อที่สองเนื้อหาสว่างแจ้ง ข้อที่สามสว่างแจ้ง ถึงข้อสิบ หมดเล่มแล้ว สบายใจเลย สอบปุ๊บ ได้ปั๊บ เพราะฉะนั้นอันนี้มันไม่ใช่เรื่องที่ยาก เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่านี่ก็คือการรับข้อมูล ต่อไปก็ท่านบอกยังไม่จบ ต่อไปต้องหัดถ่ายทอด ต้องมาฝึกสิ พูดให้คนอื่นฟัง เรามีความเข้าใจอย่างนี้ พูดให้เขาเข้าใจอย่างที่เราเข้าใจได้ไหม พูดให้เขาเข้าใจได้อย่างที่เราต้องการให้เขาเข้าใจ อันนี้เป็นความสำเร็จขั้นที่หนึ่ง พูดได้ไหม บางคนพูดยังไงเขาก็ไม่เข้าใจ ต้องฝึกให้ได้ นี่ก็คือมันฝึกความชำนาญ จะพูดให้คนอื่นเข้าใจ ตัวเองต้องเป็นแล้ว ถ้าคิดไม่เป็น แล้วมาพูดให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ พอคิดเป็น พูดให้คนอื่นเข้าใจต่อไปนี่ เราพูดสำเร็จในการที่ว่า พูดให้เขาเข้าใจได้อย่างที่เราต้องการให้เขาเข้าใจ ทีนี้ต่อไปอาจจะเก่ง พูดให้เขาเชื่อได้อย่างที่เราต้องการให้เชื่อ สาม-พูดให้เขาทำอย่างที่เราต้องการให้ทำ ใช่ไหม เจริญพร ตอนนี้ชักเก่งกันใหญ่ แต่ว่าอย่าเก่งเกินไปจนเป็นฮิตเลอร์ อันนี้ก็หมายความว่าพูดให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการให้เขาทำ ใช่ไหม อันนี้ก็หมายความว่าต้องฝึก ทีนี้ต่อไป ยังไม่จบเท่านี้ เขาบอกว่าเรามีข้อมูลมีความรู้ไว้ แล้วเราก็เคยคิดต่างๆไว้ ให้ข้อมูลความรู้เหล่านี้ มันก็อยู่ในสมองของเรา หรือบางคนอาจจะบอกขออภัย อยู่ในพุงก็ได้ อยู่ในสมองของเรา แล้วก็เวลาเราจะใช้ประโยชน์นี่ เราต้องสามารถเรียกข้อมูลความรู้นั้นมาใช้ได้ทัน สถานการณ์ปัญหา จะต้องแก้ปัญหา เรื่องที่จะริเริ่มสร้างสรรค์ทำอะไรก็ตามเนี่ย หรือแม้แต่ไม่มีอะไร จะคิดริเริ่มใหม่ ก็เอาข้อมูลความรู้ข้อคิดต่างๆ ที่มีอยู่ มาเชื่อมมาโยงมาประสานกัน สร้างเป็นความอยากรู้อยากเห็นใหม่ พอได้ความอยากรู้อยากเห็นใหม่ วิสัยทัศน์มาหมด การคิดริเริ่ม นักประดิษฐ์มาหมด ตรงนี้ก็ถือว่าการที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลความรู้ที่มีอยู่แล้วเนี่ย มาสร้างสรรค์เป็นความอยากรูอยากเห็นใหม่ ทำให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นทำอะไรต่ออะไรก้าวหน้าไปได้ ทีนี้จบ ได้แค่สี่ข้อนี้ ทวนซะอีกที หนึ่ง-อ่าน ฟัง อะไรเข้าใจทั่วตลอดหมด สอง-พอเสร็จแล้วจับตั้งประเด็นเป็นหัวข้อได้ชัดเจน สาม-ก็คือสามารถเอาไปถ่ายทอดให้ผู้อื่นรู้เข้าใจตามที่เราต้องการ แล้วสี่-ก็เอาข้อมูลความรู้ที่มีอยู่นั้น มาเชื่อมโยงประสานกันสร้างความอยากรู้อยากเห็นใหม่ได้ อันนี้ก็คือกระบวนการของการคิด ที่มันอยู่ในกระบวนการพัฒนาปัญญาที่ครบถ้วนกระบวนการเป็นวงล้อที่หมุนไป ต้องมี 3 ส่วนอันนี้เป็นปัจจัยแก่กันหมุนกันไปอย่างที่บอก ก็เหมือนกับโยมกลับไปหาตอนต้นที่บอกข้อมูลความรู้อยู่ในความจำ ข้อมูลความรู้ในความจำนั้น ก็มาเป็นฐานของความคิด แล้วพอคิดไปแล้วก็มีความหมายก็ทำให้ข้อมูลความรู้นั้นออกสู่ความรู้ความเข้าใจ ความจริง แล้วก็เอาไปใช้ประโยชน์สร้างสรรค์แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ แล้วก็หมุนไปชีวิตของตัวก็พัฒนา แล้วก็พัฒนาอารยธรรมสร้างสรรค์ ภายนอกสังคมก็เจริญก้าวหน้า ประเทศไทยถ้าได้อย่างนี้ก็เป็นอันว่าเจริญแน่นอน เด็กไทยก็ฝึกได้ วันนี้ก็เท่ากับมาเน้นเรื่องของวัฒนธรรมแสวงปัญญา คือสร้างปัจจัยภายนอก จนกระทั่งปัจจัยภายนอก ในวัฒนธรรม วิถีชีวิตนี้ ที่อยู่กับการกินอยู่เสพบริโภคก็ตาม การรับ การใช้ปฏิบัติต่อข่าวสารข้อมูล รวมทั้งหนังสือตำรับตำราเรียนก็ตาม แล้วก็เรื่องของอย่างที่สาม ลืมพูดไปอีกอันหนึ่ง ก็คือการรู้ทันสถานการณ์ นี่ก็เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ความเป็นไปของโลก ความเป็นไปของชุมชน ของสถานการณ์ ของโลก เป็นยังไง สถานการณ์ในบ้านเมืองเป็นยังไง ในสังคมเป็นอย่างไรเนี่ย เด็กก็อยู่กับความเป็นจริงอันนี้แหละ แล้วให้เขารับรู้ ให้เขาเท่าทัน ให้เขาทันต่อความเป็นไปในสังคม ทันต่อสถานการณ์ แล้วการคิดก็ตามมา เขาคิดบนฐานของข้อมูลเหล่านี้ เสร็จแล้วก็จะทำให้ครบ ก็เป็นอันว่าที่พูดมานี้ เป็นตัวฝึกปัจจัยภายนอก ในวิถีวัฒนธรรมของการคิด ก็คือ หนึ่ง-การกินอยู่เสพบริโภค สอง-ข่าวสารข้อมูล สาม-สถานการณ์ การทันต่อความเป็นไปของสังคม เด็กของเรานี่บางทีได้แต่เสพบริโภค แกไม่รู้ว่าสังคมเป็นยังไง เสื่อมโทรมยังไง มีอะไรเกิดขึ้น มีข่าวอะไรกันที่ไหน ไม่เข้าใจ แล้วแกก็รับเลือกข้อมูลไม่เป็นอีก ก็เลยเกิดปัญหาขึ้นมา แต่ทีนี้พอมันชำนาญแล้ว ต่อไปมันเลือกเอง เป็นเองเลย ทันว่าสถานการณ์ไหนควรจะเข้าใจยังไง เหตุการณ์ไหนเป็นตัวสำคัญ เหตุการณ์อันไหนที่เราจะต้องเอาใจใส่ อันไหนเป็นตัวแวดล้อม เป็นตัวประกอบ เป็นตัวที่ไม่จำเป็น คัดออกไป เขาก็รู้จักข้อมูลที่แท้ที่ควรจะเลือกสรร แล้วรู้จักว่าอันไหนเป็นขยะข้อมูลก็ทิ้งไป ก็เป็นอันว่านี่ก็คือการสร้างวัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญา ก็เป็นวัฒนธรรมในการคิด ตกลงว่าอันนี้ก็เห็นว่าควรจะพอแล้ว ถึงข้อที่สี่แล้วก็ปฏิบัติการในการฝึก แล้วทีนี้ก็เน้นในเรื่องการฝึก ในแง่เป็นของวิถีชีวิตวัฒนธรรม จากการเลี้ยงดูในบ้าน พ่อแม่ได้ฝึกลูกในการคิด ไม่นานก็เกิดวัฒนธรรมแสวงปัญญา แล้วสังคมไทยก็เจริญก้าวหน้า ก็จะมาเติมเต็มให้กับสังคมตัวเองที่มีปัญหา คือสังคมไทยนี่ได้พูดย้ำบ่อยๆ ว่า สังคมไทยเราก็มีทั้งแง่ดีแง่ด้อย แง่ดีของเราก็ได้พัฒนามาในเรื่องของวัฒนธรรมทางจิตใจ คือสังคมไทยนี้ดี มีน้ำใจ เราพูดกันได้ สังคมอื่นมาก็มีความชอบใจสังคมไทยนี้มากว่าคนไทยนี้ใจดี มีน้ำใจ มีเมตตากรุณา มีการปฏิสันถารต้อนรับคนภายนอก แขกบ้านแขกเมือง แขกส่วนตัวอะไรก็ต้อนรับเป็นอย่างดี มีน้ำใจ แค่วัฒนธรรมทางจิตใจ หรือพูดง่ายๆก็คือวัฒนธรรมทางเมตตา วัตนธรรมแห่งเมตตา คนไทยนี้ดีด้านวัฒนธรรมเมตตา อันนี้เราต้องรักษาไว้ เวลานี้ก็น่าเสียดายว่าวัฒนธรรมแห่งเมตตา หรือวัฒนธรรมแห่งน้ำใจนี้ก็กำลังจะเสื่อมลง คนไทยเริ่มมีความโหดร้ายมากขึ้น แม้แต่ในครอบครัวก็ยังมีการฆ่าฟันกัน ฉะนั้นต้องตื่นขึ้นมา แล้วก็สงวนอนุรักษ์รักษาวัฒนธรรมทางจิตใจ หรือวัฒนธรรมแห่งเมตตานี้ให้ได้ แต่ว่าวัฒนธรรมอีกด้านหนึ่งที่ขาด ก็คือวัฒนธรรมแสวงปัญญา ทีนี้พุทธศาสนาเน้นปัญญา คือเอาจิตใจเป็นฐาน แล้วก็ก้าวไปสู่ปัญญา จะย้ำบ่อยๆ บอกว่าคนเป็นพระพุทธเจ้าด้วยโพธิ ด้วยปัญญา พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็คือต้องพัฒนาปัญญาเป็นโพธิตรัสรู้ได้ ถ้าเราไม่พัฒนาปัญญา ก็เป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ แม้จะพัฒนาจิตใจยังไง อย่างดีที่สุด ได้เป็นพระพรหม พระพรหมก็คือผู้มีจิตใจดีสมบูรณ์ที่สุด มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นพรหมวิหาร 4 ได้ 4 ข้อนี้เป็นพระพรหม แล้วคนไทยก็มาได้เป็นพระพรหม ตอนนี้จะไม่ยอมเป็นพระพรหมแล้ว ถ้าหากว่ารักษาไม่ดี ก็เสียความเป็นพระพรหมไปด้วย ทีนี้เรามาได้เป็นพระพรหมแล้วจะหยุดแค่นี้ไม่ได้ เราต้องดูว่าเมืองไทยเราก้าวมาในพระพุทธศาสนานี้ ถ้าว่าอย่างนี้ เราก็เป็นได้แค่พระพรหมเท่านั้น มาได้แค่วัฒนธรรมแห่งเมตตา หรือว่าวัฒนธรรมทางจิตใจ เพราะฉะนั้นจะต้องก้าวต่อไปสู่วัฒนธรรมพุทธที่แท้ คือวัฒนธรรมแห่งการแสดงปัญญา เมื่อไหร่เรามีปัญญาดี ชัดเจน มีกำลังแห่งปัญญาที่เข้มแข็ง สามารถแก้ปัญหาต่างๆ รู้เท่าทันโลก และก็นำโลกได้ เมื่อนั้นจึงจะสามารถเป็นพุทธะได้ คนเราไม่ได้เป็นพุทธะด้วยจิตใจ เป็นด้วยปัญญา แต่ต้องมีจิตใจที่ดีเป็นฐานด้วย เพราะฉะนั้นก็จึงว่า จงเดินหน้าสู่ความเป็นพุทธ อย่าหยุดแค่เป็นพรหม อันนี้ก็คือคติที่พูดมาทั้งหมดในวันนี้ เพราะว่าเดี๋ยวนี้สังคมไทยเรามาได้เป็นพรหมแล้ว เรายังไม่เข้าสู่การเป็นพุทธ เพราะฉะนั้นเดินหน้าต่อไป ก็ขอว่าในการสร้างวัฒนธรรมแห่งการคิดนี้ คือสร้างวัฒนธรรมปัญญา แล้วคนไทยจะเดินหน้าต่อไปสู่ความเป็นพุทธ ไม่อยู่แค่เป็นพระพรหม
อาตมาภาพก็ขออนุโมทนา คิดว่าจบการแสดงธรรมวันนี้เพียงเท่านี้ ต้องขออนุโมทนา แล้วขอทุกท่านจงมีความเจริญงอกงาม ในชีวิต และสามารถทำประโยชน์สุขให้เกิดขึ้น แก่ชีวิต ครอบครัว สังคม และโลกทั้งหมด ให้อยู่กันด้วยความร่มเย็น มีสันติสุขอย่างยั่งยืนนานสืบไป ขออนุโมทนา