แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:50]
ผู้ฟัง: ก็อยากจะเรียนถาม ปัญหาซึ่งทุกวันนี้น่าจะเรียกว่าเป็นวิกฤติของสังคมแล้ว คนฆ่าตัวตายไม่เว้นแต่ละวัน เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมา อยากให้ท่านเจ้าคุณมองภาพ
เหตุปัจจัยก็มีหลายอย่าง แต่ถ้าเราพูดสั้น ๆ ก็คงจะมี มีปัจจัยภายในคือ ในตัวคน ปัจจัยภายนอกก็คือเรื่องของ สังคม เรื่องของความเป็นไปทั้งในประเทศและในโลก ทีนี้ว่าถึงเหตุปัจจัยภายนอกเป็นจุดที่คนมองเป็นตัวที่หนึ่ง รู้กันอยู่ว่ามีวิกฤตเศรษฐกิจ คนก็มีความเป็นอยู่ไม่สะดวกสบาย แต่ยิ่งกว่านั้นคือมันบีบคั้น มีความทุกข์ความเดือดร้อน ความขาดแคลน เมื่อมีความทุกข์มาก ก็มีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่มีทางไปก็อาจจะคิดสั้น คิดฆ่าตัวตาย แต่ยังไงก็ดี ตอนนี้ก็ต้องแยกเหมือนกันว่า ที่มีการฆ่าตัวตายเนี่ย ก็มีทั้งที่เขาจะฆ่าตัวตายอยู่แล้ว จากเหตุปัจจัยที่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เราเรียกว่าวิกฤติเศรษฐกิจ คือเรื่องของความผิดหวัง เรื่องของความรัก เรื่องของอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ มันก็มาผสมกันกับด้านของความคับแค้นในเรื่องเศรษฐกิจ
ทีนี้เราก็ต้องแยกออก ว่าถึงเรื่องของด้านอื่น ด้านปัจจัยทางสังคมที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ มันก็กำลังมีแนวโน้มมาทางที่จะทำให้คนฆ่าตัวตายมากขึ้น อย่างสังคมอเมริกัน ตั้งแต่ก่อนระยะที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเดี๋ยวนี้อเมริกาเศรษฐกิจก็กระเตื้องขึ้นมาเนี่ย การฆ่าตัวตายก็เพิ่มอยู่แล้ว แม้ไม่ใช่เหตุทางเศรษฐกิจ คือแนวโน้มของสังคมยุคนี้เป็นอย่างนี้ ยุคอุตสาหกรรม ยุคการแข่งขัน ยุคที่จิตใจมีความคับเครียด อย่างอเมริกานี่เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก เขาบอกว่าเพิ่มขึ้น 300 คน อันนี้หมายความว่าเราไม่ต้องพูดถึงเฉพาะเศรษฐกิจ ก็มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายมากขึ้น แล้วยิ่งมาเจอปัญหาเศรษฐกิจขึ้น มันก็เท่ากับว่ามาซ้ำให้ปัญหาหนักขึ้น
ในแง่หนึ่งเราก็มองว่า เรื่องของด้านของเศรษฐกิจเนี่ยเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ คนเราไม่มีจะรับประทาน และก็เป็นห่วงครอบครัว มองในแง่หนึ่งก็เห็นใจเขา แต่ว่าจะมัวเห็นใจกันอยู่อย่างเดียวก็ไม่ได้ ก็ต้องมาพิจารณาแก้ไขแล้วก็ทำให้คนที่คิดอย่างนั้นได้สติเหมือนกัน ว่าเราฆ่าตัวตายไปแล้วนี่ ก็ไม่ใช่ว่าจะทำให้อะไรมันดีขึ้น ความจริง แม้แต่สถานการณ์เศรษฐกิจเอง เรามองตัวเองโดยเทียบกับสมัยที่เคยฟุ่มเฟือย อยู่สุขสบาย เวลานี้ก็เลยรู้สึกว่า ทุกอย่างลำบาก
โดยมากคนจะมองว่า ทุกข์มากเพราะไปเปรียบเทียบกับไอ้ตอนที่สภาพที่ดีกว่า แต่ถ้ามองในสภาพที่มันแย่กว่า ก็กลายเป็นว่า เอ้อ นี่เรายังดีอยู่
ก็สังคมไทยก็เหมือนกัน ระยะที่แล้วมานี่มีแต่ความฟุ้งเฟ้อ สุขสำราญมาก จนกระทั่งค่านิยมบริโภคนี้แผ่ขยายครอบงำหมด เคยมีแต่ความสุขอย่างนั้น พอมีความทุกข์ ไม่สะดวก ขัดข้อง คนก็ชักทนไม่ไหว นี่ถ้าเทียบประเทศไทยเอง เราก็เคยมีความทุกข์ยากมากกว่านี้ เมื่อวานก็พูดกับคณะหนึ่งไป พูดถึงว่า อย่างสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเนี่ย ก็มีความขาดแคลนมากในเรื่องปัจจัยสี่ แม้แต่ผ้านุ่งผ้าห่มก็ไม่ค่อยมี เด็ก ๆ นี่จะนุ่งกางเกงก้นปะกันมากมาย เป็นธรรมดา เสื้อผ้าหายาก ก็เลยต้องปะกันให้สวยหน่อย ทำเป็นรูปใบโพธิ์อะไรทำนองนั้นที่ก้น เดี๋ยวนี้จะหาแทบไม่เห็นละ เราก็อยู่กันสุขสบาย เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ถึงขนาดนั้น แล้วยา พวกเภสัชภัณฑ์ก็หายากมาก ถ้ารวม ๆ แล้ว ก็คือเวลานั้นน่ะ ลำบากกว่านี้เยอะ ถ้าเรามองอย่างนี้ เราก็จะเห็นว่า สมัยนี้ที่เราว่าทุกข์ยาก มันก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้น หรือว่าเราเทียบสังคมอื่นในอดีต ตอนที่เกิดสงครามโลก ไทยเรานี้ที่ว่าทุกข์ยากขนาดนั้น ก็ยังดีกว่าหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่สงครามที่แพ้ ญี่ปุ่น เยอรมัน นี่ก็แพ้อย่างเรียกว่าอย่างย่อยยับ สูญเสียไม่รู้เท่าไหร่ ผู้คนทุกข์ยากลำบากมาก
[07:00] แต่ความทุกข์ยากลำบากเนี่ย ถ้ารู้จักคิดพิจารณา ก็กลับทำให้คนเข้มแข็ง ลุกขึ้นมาสู้
เยอรมัน ญี่ปุ่น เราก็เห็นว่าปัจจุบันพวกเขากลายเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงมาก ทีนี้ไม่ต้องไปดูในอดีต ดูในปัจจุบันสภาพที่เป็นอยู่ปกติ ไม่ใช่ว่าทุกข์ยากมากมาย ไม่ได้เกิดสงคราม หลายประเทศปัจจุบันนี้ก็ทุกข์ยากเดือดร้อนเป็นปกติธรรมดาของเขามานานเป็นหลายสิบปี เขาอยู่กันอย่างนี้ เป็นชีวิตธรรมดาของเขาที่ยากจนข้นแค้นอย่างประเทศอินเดีย คนไทยเราที่ว่าทุกขขนาดเนี่ยก็ยังไม่ได้ถึงขนาดนั้น เขาอาจจะอยู่กินกันวันละรูปีเดียว หรือบาทเดียว เขาก็มีชีวิตอยู่ได้ คนไทยเรายังไม่ถึงขนาดนั้น
ที่เราทนไม่ได้ เพราะอย่างที่ว่า เราเคยผ่านความสุขสบาย และใจยังไม่ยอมรับถ้าใจเรารับ พร้อมที่จะสู้ มันก็ไปได้ หรือแม้แต่ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจด้วยกันนี้ ประเทศอื่นที่แย่กว่าเราล่ะ บางประเทศมันไม่ใช่แค่เรื่องของเงินทอง การขาดแคลนเรื่องอาหาร การรับประทานอะไรทั้งนั้น ชีวิตมันก็จะไม่ปลอดภัย อย่างประเทศที่เกิดปัญหาการเมืองขึ้นมา มาเลเซียก็มีปัญหาด้านหนึ่ง อินโดนีเซียหนักขึ้นไปอีก ในสภาพอย่างนั้น ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการขายของไม่ได้ เป็นหนี้คนอื่น อะไรต่าง ๆ แม้แต่ชีวิตเขายังไม่แน่นอนเลย
คนเราเนี่ยมันอยู่ที่ใจ เพราะเราตกลงใจว่าสู้แล้วละก็ ทีนี้เราก็เกิดความเข้มแข็ง ทีนี้ถ้าเราไปหนึ่งไปเทียบกับสภาพที่เคยสุขสบาย เราก็อ่อนระโหยโรยแรง ระทดระทวย ท้อแท้ เบื่อหน่ายขึ้นมา คือใจมันยังปรับไม่ถูก แต่ถ้าทุกข์นี่เราบอกว่า เอาล่ะ มันยังไงให้มันรู้กัน สู้ ถ้าใจมันรับขึ้นมาละ ตอนนี้มันเข้มแข็ง เป็นไงเป็นกันว่าอดตาย ก็ลองดู อย่างที่ว่าแล้ว เราก็ยังไม่หนักหนาเท่ากับประเทศไทยเองสมัยก่อน หรือว่าประเทศอื่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
[09:41] เพราะงั้นนี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า การที่ใจมันปรับตัวกับสถานการณ์ได้ รับมีความเข้มแข็ง ทีนี้เราต้องยอมรับว่าการที่เคยสุขสำราญ แล้วก็การที่มีค่านิยมเสพบริโภคเนี่ย เป็นตัวที่ทำให้คนอ่อนแอ คนเราแค่ที่ว่าเคยแต่ความสะดวกสบาย ได้รับการบำรุงบำเรอ ไม่ต้องทำอะไร อย่างเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวย ถ้าเคยตัวอย่างนั้นแล้ว นี่จะอ่อนแอ เวลาจะทำอะไร จะฝืนใจแล้วจะรู้สึกเหนื่อยยากลำบาก แต่ถ้าเขาเคยอยู่กับชีวิตอย่างนั้น ต้องทำอยู่ตลอดเวลา ก็เป็นเรื่องธรรมดา ก็ไม่ทุกข์
ดังนั้นคนสมัยนี้จะมีลักษณะหนึ่ง ที่เราบอกมีเทคโนโลยีมาก มีเครื่องบำรุงบำเรอความสะดวกสบายมาก แต่ว่าด้านหนึ่งมองที่ตัวคน จะเป็นคนที่ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก
ตรงที่ว่าเคยแต่สิ่งบำรุงบำเรอแล้ว มันชินชา ทีนี้จะให้สุข มันแสนยาก จะต้องหามาเพิ่มอีก บำรุงบำเรอ จะให้มันเพิ่มจากที่มีอยู่ ขณะที่มันมากอยู่แล้วนี่ มันยาก ทีนี้ทุกข์ได้ง่าย พอเกิดขาดแคลน ไม่ได้อย่างที่เคยได้ หรือไม่ได้ดั่งใจขึ้นมา มันก็ทุกข์ ทุกข์ง่าย ๆ เลย ถ้าคนเคยกับความลำบาก ทำอะไรทำอยู่เสมอ เหน็ดเหนื่อยไม่กลัวเนี่ย มันทุกข์ได้ยาก ไม่ค่อยทุกข์ แต่ว่าสุขได้ง่าย
ทีนี้ สังคมที่มันมั่งคั่งพรั่งพร้อมเนี่ยจะมีจุดอ่อน เหมือนอย่างสังคมอเมริกันเนี่ย ที่ว่าในขณะนี้เองก็อยู่ในระยะที่ว่ามีปัญหาเรื่องจิตใจ คนอ่อนแอลง ฆ่าตัวตายง่าย หนุ่มสาวที่อยู่ในวัยรุ่นไม่ควรจะฆ่าตัวตาย ก็อยากจะฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่น่าจะเป็น คนในวัยหาความสุขสำราญกลับเป็นคนที่ทนไม่ได้ กลายเป็นว่าเพราะว่ามันมั่งคั่งพรั่งพร้อมจนกระทั่งว่ามันชินชา จะว่าถ้าขาดอะไรนิดหน่อย หรือไม่ได้สามารถจะเพิ่ม เพราะว่าไอ้สิ่งที่มี ถ้าสมมุติว่ามันเต็มที่แล้วเนี่ย มันชิน มันไม่สุด มันจะหามาเติมยังไงละ มันหาได้ยาก เพราะฉะนั้นสุขมันเลยไม่ได้ เมื่อไม่ได้ความสุข มันตายดีกว่า เพราะงั้นก็จะมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายได้ง่าย
งั้นก็การที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจนี่ในแง่นึงก็เป็นเครื่องเตือนเราให้ได้สติ ให้รู้จักดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง รู้จัก เรียกว่า วางจิตวางใจให้ถูกต้อง แล้วในที่สุดคือพัฒนาคน พัฒนาเด็ก ของเราให้ถูกต้อง ไม่อย่างนั้นแล้วเนี่ย เราจะไม่สามารถฟื้นฟูกู้สถานการณ์นี้ได้ในระยะยาว แล้วก็แม้สังคมดีขึ้น ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าคนเราจะหายทุกข์ อย่างที่ว่าแล้วที่บอกว่า ไม่ใช่หมายความว่า จะฆ่าตัวตายเฉพาะเวลาที่มีวิกฤติเศรษฐกิจ เด็กไทย คนไทย ก็เริ่มฆ่าตัวตายมากขึ้นอยู่แล้วก่อนที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ตามอย่างสังคมอเมริกันที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม
[12:57] ก็เป็นอันว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ เกี่ยวกับเรื่องของท่าทีของจิตใจ เหตุปัจจัยภายนอกเป็นตัวบีบคั้น หรือว่าเข้ามากระทบกระทั่ง แต่ว่าไอ้ความที่จะสู้ได้ ทนทาน รับสถานการณ์นั้นได้อย่างไร ก็อยู่ที่จิตใจ คุณภาพของคน ถ้าหากว่า สุข เรามีท่าทีจิตใจไม่ถูกต้อง เราก็ไม่ได้ความสุขเท่าที่ควรจะได้ แต่ว่าเวลาทุกข์เข้ามา เราก็ทุกข์เกินเหตุ ทีนี้คนวางท่าทีจิตใจถูกต้องเนี่ย เวลาสุข เขาก็เลยได้สุขสบาย แล้วก็ไม่ประมาทไม่มัวเมา เวลาทุกข์ เขาก็ปรับใจรับได้ เขาก็สู้แล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ อันเนี้ยที่ว่ามีความสำคัญมาก คือเรื่องของการที่มีจิตใจเข้มแข็ง แล้วก็รู้จักใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ว่า ถ้าหากว่าเรามีความสุขสบายและก็มีความโน้มเอียงจะเฉื่อยชาประมาท ลุ่มหลง เพลิดเพลิน มัวเมา แล้วก็เสื่อมนั่นแหละที่เราเป็นอย่างนี้
ก็เพราะระยะที่แล้วมันลุ่มหลงก็เคยมัวเมาก็เคย นั่นก็แสดงว่าเราพลาดไปทีละ เราใช้สถานการณ์ที่พรั่งพร้อมไม่เป็น และความมั่งคั่งพรั่งพร้อมของเราก็หามีแก่นสารไม่ มันกลวงในที่เขาเรียกกันว่าเป็นเศรษฐกิจฟองสบู่ เหมือนลูกโป่งไม่มีเนื้อ เศรษฐกิจแบบนั้นจะยั่งยืนได้ยังไง มันไม่มีเนื้อ ไม่มีแก่นสาร เพราะงั้นเป็นเครื่องเตือนใจว่าเราจะต้องเตรียมสร้าง สร้างเศรษฐกิจที่มีเนื้อมีหนังมีแก่นสาร ไม่ใช่เป็นแต่เพียงนักบริโภค โก้เก๋ไป นักผลิตนักสร้างสรรนั่นแหละจึงจะมีเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมั่นคงถาวร ที่ว่าเป็นแก่นสารได้ ทีนี้มาถึงตอนทุกข์ นี่เราก็ต้องมีความเข้มแข็ง มองด้วยการที่ว่า ทำไงจะผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ดีที่สุด หนึ่งก็เป็นเครื่องทดสอบตัวเองว่ามีความเข้มแข็งทนทานพอไหม
เพราะคนเราอยู่ในโลกนี้ มันไม่แน่นอน ดีบ้างร้ายบ้าง แล้วถ้าเราเจอดี เราอยู่ได้ พอเจอทุกข์ เราอยู่ไม่ได้ ก็แสดงว่าเราก็ไม่แน่จริง
ก็ลองดูซิว่า มันเจอร้ายขึ้นมาเนี่ย ความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงเนี่ย เรารับสถานการณ์ได้ไหม ทดสอบตัวเองว่ามีความเข้มแข็งพอ สองก็คือว่า เอาความทุกข์ปัญหาเนี่ยมาเป็นแบบฝึกหัด มาพัฒนาตัวเอง ชีวิต สังคมทั้งหลายที่ไม่มีแบบฝึกหัดเนี่ย พัฒนายาก คนเรานี่ ที่มันมีสติปัญญา ความสามารถ มันก็เกิดจากการได้แบบฝึกหัด เด็กเรียนหนังสือ ไม่ทำแบบฝึกหัด ก็พัฒนาได้ยาก ทีนี้ชีวิตคนที่อยู่กับความสุขสำราญเนี่ย มันไม่มีแบบฝึกหัด เพราะงั้นมันก็ไม่พัฒนา สติปัญญาไม่เคยได้ใช้ ไม่เคยได้คิดหาทางแก้ปัญหา มันก็ไม่ก้าวหน้า ไม่เจริญงอกงาม แล้วอะไรต่ออะไรที่จะต้องทำ ก็ไม่มี ก็ไม่ได้หัดทำ คนเราไม่ทำอะไรความชำนิชำนาญก็ไม่มี เพราะงั้นคนที่เจอปัญหา เจอทุกข์เนี่ย ก็เท่ากับได้แบบฝึกหัด แต่ต้องรู้จักใช้แบบฝึกหัดให้เป็นประโยชน์ เอามันมาใช้เป็นแบบฝึกหัดสิ เอามาฝึกฝนสติปัญญาในการคิดแก้ปัญหา ในสร้างตัวสร้างสังคมกันต่อไป แบบฝึกหัดนี่จะช่วยให้สังคมไทยเจริญพัฒนา คนไทยจะได้มีคุณภาพดีขึ้น
[16:26] งั้นถ้ามองโดยรวมนะ ไม่มองในแง่ของความทุกข์ ก็จะเห็นว่าสถานการณ์เช่นนี้ จะเป็นประโยชน์กับเมืองไทยมากกว่าช่วงที่แล้ว ช่วงที่มั่งคั่งพรั่งพร้อมนั่นจะเป็นช่วงที่คนไทยไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากมัน คือแทนที่จะเป็นโอกาสในการที่ว่า เอ้อจะทำอะไรก็ทำได้ง่าย มีอะไรที่เราพร้อมจะทำ กลับไม่ทำ ก็มัวแต่เพลินเสวยความสุขอยู่ แล้วก็ประมาทก็เลยทำให้เสื่อม ทีนี้ตอนนี้ที่มีทุกข์เนี่ยแหละ คนไทยจะได้แบบฝึกหัด แต่ว่าถ้าไม่รู้จักใช้แบบฝึกหัดหมด ทดท้อ ระทดระทวยอยู่ก็จบอีกเหมือนกัน ไม่ได้ประโยชน์ แล้วก็มีแต่ความทุกข์ อันนี้ก็หนึ่งละคือว่า เน้นในด้านภายในคือคุณภาพตัวคน และอีกอันหนึ่งก็คือว่า ภายนอกปัจจัยภายนอกที่จะมีผลในการที่จะอยู่ในสถานการณ์นี้ได้อย่างดี ก็คือว่า มองโดยส่วนรวมเนี่ย คนไทยมีจิตใจที่มารับสถานการณ์ด้วยกันอย่างไรร่วมกันรับสถาณการณ์อย่างไร หรือต่างคนต่างรับ มีใจแยกกันไปคนละทิศละทาง คนเรานี่ถ้าหากว่า เกิดมีใจร่วมกันที่เขาเรียกจะเผชิญทุกข์เผชิญปัญหาเนี่ย เรียกว่าร่วมทุกข์ร่วมสุข ถ้าเกิดร่วมทุกข์เมื่อไรนะใจมันพร้อม แล้วมันกลายเป็นว่าเข้มแข็งมาก คนเดียวก็เข้มแข็งอยู่แล้ว พอได้ร่วมกันขึ้นมานี่ เข้มแข็งมาก หรือปัญหาก็คือต่างคนต่างจะหาความสุขอย่างนี้ละโดดเดี่ยวกันหมด แล้วทุกข์มาก
แต่ถ้าเมื่อไหร่บอกว่า ร่วมทุกข์กันละก็ เอาละเข้มแข็ง เหมือนอย่างในครอบครัวเนี่ย ครอบครัวพอเกิดสถานการณ์วิกฤตินี่ ก็ดูได้ง่าย ๆ ว่าจิตใจมาร่วมกันที่จะมาร่วมทุกข์กันไหม ถ้าใจร่วมทุกข์นะ มันก็จะออกในลักษณะที่เกิดความสามัคคี ถ้าไม่ร่วมทุกข์เป็นยังไง ต่างคนต่างหาสุข เด็กก็รู้สึกว่าโอ้ แต่ก่อนนั้นเคยได้เงินได้ทองวันละเท่านั้น จะหากินจะซื้อจะอะไรก็สะดวก ตอนนี้ไม่มีความสุขเลย ไม่สะดวกเลย พ่อแม่ก็ไม่ให้ ให้ได้น้อย แล้วก็มีจะมาสั่งว่าอันนั้นอย่าไปซื้อ มีแต่ทุกข์ มีแต่ความไม่สบาย มีแต่ความเดือดร้อน ทีนี้พ่อแม่ก็เห็นลูก ไม่ได้อย่างที่ปรารถนา ไม่ได้ตามต้องการ ก็มีความทุกข์ ทุกข์ใหญ่ แล้วตัวเองยังไปทุกข์กับข้างนอกเข้ามาอีก กับสถานการณ์สังคม ตัวเองก็ปัญหาเดือดร้อนอยู่แล้ว ยังมาทุกข์ใจเรื่องลูก
[19:15] แต่ถ้าเกิดสมมติว่า เกิดมีใจรับสถานการณ์ว่าร่วมทุกข์กันได้นะ สมมติว่าเด็กเนี่ยเกิดว่า โอ้ พ่อแม่ของเราเนี่ยกำลังลำบาก อยู่ในสังคมที่กำลังมีวิกฤติเนี่ย เราต้องเห็นใจพ่อแม่ พร้อมที่จะเผชิญทุกข์กับพ่อแม่ ถ้าเกิดเด็กคิดไปอย่างนี้ บอกพ่อแม่ว่า บอกว่า พ่อ หรือคุณพ่อครับคุณแม่ครับ ไม่เป็นไรครับ ตอนนี้ผมจะช่วย หนูจะช่วย จะเป็นอยู่อย่างอดทน ทำอะไรจะทำทุกอย่าง ไม่ต้องมาห่วงหนู เนี่ยลองคิดดู ถ้าลูกพูดขึ้นมาอย่างนี้ หรือมีจิตใจอย่างนี้ขึ้นมาเนี่ย พ่อแม่เนี่ยจะมีกำลังใจขึ้นมาเลย แล้วแทนที่จะทุกข์ กลับเป็นสุข คนที่ร่วมทุกข์กันเนี่ยจะสุขในทุกข์เลย พอใจมันร่วมกันทั้งครอบครัว ตอนนี้มันสู้ได้หมดเลย พ่อแม่ก็ได้กำลังใจจากลูก เข้มแข็งจากลูก ลูกก็ได้กำลังใจจากพ่อแม่ ตัวเองก็พร้อม ในสถานการณ์ที่เรากำลังต้องการอย่างยิ่งก็คือเนี่ย การมีความรู้สึกร่วม คือการร่วมทุกข์กัน ตั้งแต่ในครอบครัว ถ้าได้อย่างนี้แล้ว ปัญหาเรื่องฆ่าตัวตายจะน้อย เพราะว่าคนมันมีใจร่วมทุกข์กัน
พอร่วมทุกข์ทางสังคมนี่ มันกลายเป็นเข้มแข็งนะ มันจะมีความสุขในความทุกข์ขึ้นมาได้ด้วยซ้ำไป กลายเป็นเห็นทุกข์เป็นสนุกไปด้วย ดังนั้นตอนนี้คนไทยปัญหานี้ด้วย ใจไม่มีร่วมกันเลย ต่างคนต่างจะหาความสุข ไม่ได้มีจิตใจร่วมทุกข์ ฉะนั้นก็ต้องพิจารณาเอาละ ในใจตัวเองแต่ละคนนี่ มองเรื่องราวให้ถูก เราได้แค่นี้เราก็เข้มแข็งมาขั้นหนึ่ง แต่ถ้าให้ดี ทั้งสังคมเนี่ยให้มามีจิตใจร่วมกันในการร่วมทุกข์อย่างที่ว่าแล้วก็มา ร่วมกันเกิดความแข็งแข็ง ในการแก้ไขสถานการณ์ แล้วก็เราก็จะได้ประโยชน์ สถานการณ์นี้ก็จะมีแต่ดีขึ้นนะ แต่ว่าๆ พูดโดยรวมอย่างที่พ่อบอกเมื่อกี้เลยว่า ที่จริง ประเทศไทยช่วงนี้เป็นช่วงที่ ดีกว่าช่วงที่แล้วมา คือมีความ ฟุ้งเฟ้อ หรูหรา ฟุ่มเฟือย เต็มไปด้วยการเสพบริโภค แต่คนไทยเราเนี่ย ปัญหาอยู่ที่ว่าจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้หรือเปล่า ถ้ายังเป็นนักหาความสุขอยู่ ไม่มาร่วมทุกข์กันล่ะก็แก้ไขสถานการณ์ยาก
[21:50]
ผู้ฟัง: ทีนี้ปัญหาก็คือ ระดับที่เป็นผู้นำยังจะเอาสิ่งเก่าๆนั้นกลับคืนมา กลับคืนมาก็ไม่ได้สร้างให้คนที่จะมาร่วมทุกข์เพื่อสร้างสุขในระยะยาว ปัญหาทุกวันก็เป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร ก็จะเป็นแบบนี้ คือจะเอาฟองสบู่กลับมาเหมือนเดิม
ตอบ: อันนี้ก็ต้องช่วยกันติติง ให้สติกัน บางทีมันก็ คนธรรมดามันเคยมีอย่างนั้น แล้วก็รู้สึกว่าอย่างนั้นดี โดยตัวเลขมันสูง อะไรอย่างนี้ใช่มั้ย ก็อย่างน้อยก็ทำให้ได้ความรู้สึก แต่ว่าไอ้ตัวแท้มันจะได้หรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง ให้ได้ภาพ ให้ได้ความรู้สึกขึ้นมาก่อน เอาเป็นว่า อย่าไปเน้น อย่าไปมุ่งที่อันนั้น ต้องให้ได้ประโยชน์จากบทเรียนที่แล้วมา ว่าที่แล้วมานี่มันใส้กลวงนะ เพราะฉะนั้นต่อไปนี้จะให้อยู่ดีได้อย่างยั่งยืนถาวร มันต้องสร้างเนื้อหนังสาระข้างในขึ้นมาให้ได้ ก็ควรจะมาเน้นที่ตัวแก่นสารสาระภายใน เนื้อหนังที่มีแท้ๆของเศรษฐกิจไม่ใช่เอาเป็นภาพภายนอก ที่เป็นภาพลูกโป่งใหญ่ๆ ไอ้ฟองสบู่มันยังเล็กไปลูกโป่งมันใหญ่กว่า ทีนี้เศรษฐกิจที่แล้วมานี่ เป็นเศรษฐกิจลูกโป่ง
[23:25]
ผู้ฟัง:ปัญหาสังคมไทย คือคนไทยหวังพึ่งและคาดหวัง เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้ว สถาบันต่าง ๆ รวมทั้งผู้นำที่เป็นฝ่ายบริหารไม่นำแล้วเนี่ย เขาจะร่วมกันยังไงที่เขาจะฝ่าไปได้ เพราะมันกระจัดกระจายมาก
ตอบ: คือในช่วงของวิกฤติเนี่ยนะ เวลาคนมีทุกข์เนี่ย ใจมันหาทางออก ตอนที่สุขเนี่ยมันมัววน วนเวียน หมกมุ่น มัวเมา ไอ้ความสุขใช่มั้ย มันไม่อยากไปไหน ทีนี้พอมีทุกข์เนี่ยมันดิ้นรนหาทางออก ไอ้ตอนนี้แหละ ถ้าเกิดมีใครชี้ทางดีให้ ใจมันจะรวมกัน พุ่งมีกำลังเต็มที่เลย ฉะนั้นในยุคที่มีปัญหา มีความทุกข์ มีวิกฤติเนี่ย จะเห็นว่า ถ้าเจริญก็เจริญกันเลย แต่ว่าทำยังไงจะได้ไอ้เนี่ย จุดหมายรวมของสังคม เพราะว่าสังคมไทยนี่ขาดมานาน ไอ้เรื่องจุดหมายรวมของสังคม แต่ละคนก็ติดอยู่กับความสุขความสำราญของตัวเอง วนเวียนกันอยู่เนี่ย ตอนนี้ก็เป็นโอกาสอันนึงที่ว่า ถ้าเรามีผู้ที่ให้ทิศทางรวมที่ เกิดคนเรามองไปที่เดียวกันได้นี่แล้วก็ ไปทางเดียวกันขึ้นมา มีพลังอันใหญ่หลวงเลย
แต่ว่าจะนำไปดีไปร้ายก็ได้นะ เหมือนอย่างตอนที่เยอรมันแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ถูกบีบคั้นมาก สนธิสัญญาต่าง ๆ นี่ก็เรียกว่าพยายามจะไม่ให้เยอรมันฟื้นได้เลย กลัวว่าเยอรมันจะใหญ่ขึ้นมาอีก เพราะงั้นจะบีบมันให้เต็มที่ คนเยอรมันก็เต็มไปด้วยความทุกข์รู้สึกบีบคั้น ตอนนี้แหละ ไอ้พลังที่ถูกบีบ ถูกกดดันมันสูงมาก พอฮิตเลอร์ขึ้นมาชี้ทางปั๊บ มันไปพุ่งเลย เพราะงั้นเข้าสงครามโลกสู้เต็มที่เลยทีเนี่ย ญี่ปุ่นก็เหมือนกัน ถูกบีบคั้นมากนี่ ตอนที่อเมริกันเข้าไปบังคับให้เปิดประเทศ เอาเรือรบใหญ่เข้าไป ตอนนั้นญี่ปุ่นแต่ก่อนก็ยังมีขุนนางยึดอำนาจ จากพระเจ้าจักรพรรดิอะไรต่าง ๆ รบกันเองอยู่ พอถูกอเมริกันเข้ามาบีบปั๊บ คนญี่ปุ่น โอ้ ไม่ได้แล้วนี่ ประเทศเรายังล้าหลัง ประเทศที่เค้าเจริญ พวกฝรั่งเขามีกำลังมาบีบเราได้ เราจะต้องสู้ เพราะงั้นคนญี่ปุ่นก็รวมกำลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พวกโชกุนพวกขุนศึกยกอำนาจถวายพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่อจากนั้นก็มุ่งสร้างประเทศญี่ปุ่นให้เป็นหนึ่งในโลก ตั้งแต่นั้นมาก็ขึ้นตลอดเลย
ทีนี้คนไทยมันไม่มีเป้าหมายนี่มันก็อยู่ต่างคนก็ต่างอยู่ ฉันจะหาความสุขของฉันไป เวลาทุกข์ก็ทุกข์เต็มที่ เพราะคนที่ต่างก็หาความสุขนี่เวลาเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นมาโดดเดี่ยวทุกคน แต่ถ้าหากว่าเกิดร่วมทุกข์กันขึ้นมาล่ะก็มันไม่มีความโดดเดี่ยว มันจะรู้สึกว่ามีคนอื่นให้ความอบอุ่นอยู่ตลอดเวลา มีกำลังใจร่วมกัน ก็จะไม่ค่อยทุกข์หรอก เพราะงั้น ก็อยู่ที่ว่าคนไทยเนี่ยจะวางใจ มองสถานการณ์นี้อย่างไร ก็ควรจะเอาสถานการณ์นี้มาใช้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด เพราะว่าโดยธรรมชาติแล้ว โดยสัมพันธ์กับความเป็นมาภูมิหลังของสังคมไทย เวลานี้เป็นช่วงที่ดีกว่าช่วงก่อนที่กำลังมีความมั่งคั่งพรั่งพร้อม ที่ไม่ใช่ของจริง มั่งคั่งพรั่งพร้อมเป็นของหลอกลวงเป็นภาพลวงตา คนจะได้สติขึ้นมาอย่างน้อย
[27:05]
ผู้ฟัง: มันจะไปสู่กลียุคได้ไหม ที่มีการพูดถึงการวิเคราะห์ว่าถ้าเกิดเรายังไม่ยอมร่วมทุกข์ เพื่อที่จะแสวงจุดร่วม แล้วไปหาสุข มันจะไปสู่จุดนั้นได้ไหมครับ
ตอบ: ก็ต้องระวัง ต้องไม่ประมาท คือ อย่างน้อยนะ ผู้บริหารประเทศชาติเนี่ย มีอันหนึ่งก็คือ อย่าให้ประชาชนประมาท เพราะว่าตอนที่มันสุขสบาย ก็ประมาทไปแล้ว ทีนี้ตอนทุกข์ ถ้าไปมัวให้หวังนู่นหวังนี่ คนนั้นจะมาช่วย ไอ้เรื่องที่จะให้เขาช่วยนี่ เลิกเสียที ต้องรู้สึกจำใจนะที่รับความช่วยเหลือ คนไทยจะต้องรู้สึกอย่างนี้ ถ้าได้รับความช่วยเหลือจากประเทศอื่น ต้องรู้สึกจำใจ ไอ้นี่มันดีใจเขามาช่วย อย่างนี้ก็จบกัน มันไม่สร้างนิสัยในระยะยาวที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวเลย อยู่ด้วยการหวังพึ่งผู้อื่น รอผลที่ผู้อื่นจะทำให้ มันก็ไม่มีการสร้างสรรค์ของตัวเอง ระยะยาวมันไปไม่รอดแน่นอน เพราะงั้นถึงตอนนี้ยังไม่มาสร้างสรรค์ แล้วจะไปสร้างสรรค์เมื่อไร จะมามัวรอว่าเออคนโน้นเขาจะช่วยแล้วจะได้สบาย พอได้ยินว่าเขาจะช่วย เงินนั้นจะมา ก็เอาล่ะ ดีใจสักที ถ้าอย่างนี้ล่ะก็แสดงถึงภาวะขาดการพัฒนาอย่างสมบูรณ์