แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพรท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมทั้งท่านรองอธิการบดี ท่านคณบดีคณะทันตแพทย์ศาสตร์ พร้อมทั้งอาจารย์และก็ท่านนักศึกษา ท่านผู้สนใจใฝ่รู้ใฝ่ธรรมทุกท่าน โดยเฉพาะวันนี้ขอแสดงมุทิตาจิต คือแสดงความยินดีต่อท่านผู้จบการศึกษา การจบการศึกษานี้ถือว่าเป็นความสำเร็จ สำคัญ และก็มีความหมายต่อชีวิตของแต่ละคนมาก เพราะว่าความสำเร็จในการศึกษานี้ถือว่าเป็นช่วงต่อของชีวิต โดยปกติเราถือว่าพอจบการศึกษาก็คือจะไปทำงานทีนี้การที่ออกจากการศึกษาไปทำงานก็มีความหมายขึ้นมาอีกหลายอย่าง เป็นการตั้งต้นชีวิตในช่วงตอนใหม่ หรือจะเรียกว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตของตนเองก็ได้ เช่นว่าความสัมพันธ์ในครอบครัว แม้แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ก่อนนี้ก็มีความรู้สึกว่ายังเป็นเด็ก อยู่ในความดูแล ต่อไปนี้ถือว่าจบการศึกษาแล้ว จะไปทำงานแล้ว เป็นผู้ใหญ่ อันนี้นอกจากว่าความรู้สึกต่อกันที่ว่าเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็คือว่าความสัมพันธ์ในทางสังคมก็จะเปลี่ยนด้วย ต่อนี้มีงานมีการทำของตัวเอง มีเงินเดือนของตัวเองแล้วนะ รับผิดชอบเลี้ยงตัวเองละ ไม่ต้องอาศัยคุณพ่อคุณแม่ หรือว่าอาศัยน้อยลง นอกจากนั้นก็อาจจะมีความหมายไปอีกถึงการเริ่มตั้งครอบครัว แล้วก็มีความหมายทางสังคมก็คือการที่ต้องไปรับผิดชอบการงานในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ แล้วก็มีความหมายไปถึงความหวังในความก้าวหน้าในสังคม ต่อๆไปคือเป็นเรื่องเริ่มต้นใหม่ที่มีความหมายไกลทีเดียว เพราฉะนั้นเรื่องจบการศึกษานี้จึงเป็นเรื่องที่ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทีนี้เรามีความสำเร็จในการศึกษาแล้ว ก็ย่อมมีความหวังว่าเมื่อไปทำงานก็ต้องมีความสำเร็จในการงานด้วย ตอนนี้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาว่าที่จริงแล้วก็ย่อมมีความหวังว่าเมื่อมีความสามารถที่จะเรียนสำเร็จ ก็น่าจะมีความสามารถที่จะทำงานได้สำเร็จด้วย แต่ว่าบางทีก็ไม่แน่นัก บางคนมีความสำเร็จดีในการศึกษาแต่พอออกไปทำงานก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เพราะฉะนั้นก็จึงเป็นเรื่องที่ว่าจะต้องมีการเรียนรู้ มีการฝึกฝน มีการเตรียมตัวให้ดีเหมือนกัน บางทีในการศึกษานั้นการที่จะทำให้เกิดความสำเร็จนั้นอย่างหนึ่ง แต่เวลาไปทำงานวิธีการที่จะทำให้เกิดความสำเร็จก็ไม่เหมือนกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งละ และอีกอย่างหนึ่งก็คือที่ว่าสำเร็จ ความหมายก็ต่างกันอีก ความสำเร็จในการทำงานนั้นคืออะไร อย่างไรเรียกว่าเป็นความสำเร็จ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องนำมาพูดกัน เป็นเรื่องที่ต้องวิเคราะห์แยกแยะ แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนั้นอาตมาก็อยากจะพูดถึงเรื่องแทรก เป็นข้อสังเกตนิดหน่อย คือเราพูดว่าจบการศึกษา ความจริงอันนี้เป็นเพียงคำพูดแบบว่า ตกลงกันในสังคม หรือว่ายอมรับกันเท่านั้นเอง เป็นเรื่องของคล้ายๆว่า รู้กันว่ามันเป็นเพียงการจบการศึกษาเนี่ยในความหมายด้านหนึ่ง แง่หนึ่งเท่านั้นเอง คือมันจะต้องมีคำต่อว่า อ้าวจบการศึกษาในวิชาการหรือวิชาชีพอันนี้นะเท่านั้นเอง เช่นอย่างในกรณีนี้ก็คือ จบการศึกษาทันตแพทย์ศาสตร์ หรือว่าอาจจะท่านบางท่านก็จบทางพยาบาล ก็จบการศึกษาในด้านนั้น และแม้แต่ในด้านนี้ก็อาจจะมีการศึกษาต่อไปอีก พอจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และปริญญาโท แล้วยังมีปริญญาเอกอีก อันนี้ก็เป็นการจบในด้านและในขั้นหนึ่งๆ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจบการศึกษาทั้งหมดจริง เพราะว่าที่จริงแล้วการศึกษานี่มันไม่จบหรอก ตราบใดยังเป็นมนุษย์อยู่เนี่ยไม่มีจบการศึกษา ทางพระพุทธศาสนาท่านถือว่าจะจบการศึกษาก็ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์เท่านั้น เพราะอะไร เพราะว่าโดยธรรมชาติของมนุษย์นี่ ชีวิตของเราเนี่ยมันอยู่ได้ด้วยการศึกษาทั้งนั้น และเรายังมีชีวิตอยู่เนี่ย เราต้องศึกษาเรื่อยไป นั้นการจบการศึกษาที่แท้นี่ยังไม่มีหรอก ทำไมจึงว่าอย่างนั้น อันนี้ก็ขอพูดแทรกนิดหน่อย ที่บอกเมื่อกี้บอกว่าธรรมชาติของมนุษย์เลยนี่ต้องอยู่ด้วยการศึกษา เพราะว่ามนุษย์นี่เป็นสัตว์พิเศษ ความพิเศษของมนุษย์นี่บางทีเราถือว่าเป็นสัตว์ประเสริฐเลยทีเดียว นี้ที่ว่าประเสริฐหรือพิเศษเนี่ย มันพิเศษอย่างไร คือแปลกจากสัตว์ชนิดอื่น ความพิเศษหรือประเสริฐของมนุษย์อยู่ที่ตรงไหน ก็ตอบได้เลยว่า เอาศัพท์ทางพุทธศาสนาก็ละกัน ท่านเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก คำว่าฝึกก็คือหมายความต้องมีการเรียนรู้ แล้วก็ต้องมีการฝึกหัด แล้วก็มีการพัฒนาตัวเอง การดำเนินชีวิตของมนุษย์นี่ไม่ได้มาเปล่าๆ มนุษย์จะดำเนินชีวิตได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ เกิดมาแล้วก็ดำเนินชีวิตได้ ต้องลงทุน การลงทุนของมนุษย์ก็คือว่าต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่ว่าแทบจะไม่ต้องลงทุนเลย สัตว์ชนิดอื่นนั้นเกิดมาแล้วดำเนินชีวิตอยู่ได้ หากินได้ อยู่รอด เค้าเรียกว่าอยู่ด้วยสัญชาตญาณ อย่างลองดูสัตว์ชนิดอื่นส่วนมากออกมาจากท้องของแม่แทบจะเดี๋ยวนั้นบางชนิดก็อยู่ได้เลย เดินได้ ว่ายน้ำได้ หากินได้ บางชนิดอาจจะหลายวันหน่อยแต่รวมแล้วก็คือไม่นานสัตว์เหล่านั้นเดี๋ยวก็ไปได้แล้ว เพราะฉะนั้นเขาอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ เขาต้องลงทุนต้องฝึกหัดน้อยเหลือเกิน แต่ว่ามนุษย์นั้นไม่สามารถอยู่ได้เพียงสัญชาตญาณ สัญชาตญาณช่วยได้น้อยอย่างยิ่ง เวลาเกิดมาแล้วนี้ต้องมีผู้ดูแลเช่นพ่อแม่เป็นต้น ถ้าไม่มีใครดูแลเดี๋ยวก็ตาย อยู่ไม่รอด อย่าว่าแต่ในช่วงสองสามวันเลย แม้แต่ปีหนึ่งก็ยังไม่รอด เพราะฉะนั้นมนุษย์นี้จะต้องเลี้ยงดูประคบประหงมกันนานเหลือเกิน คนอื่นเลี้ยงดูไปแต่ว่าในระหว่างนั้นเจ้าตัวเองทำอะไร เจ้าตัวเองเรียนรู้และฝึก ฝึกทุกอย่าง ยืนเดินนั่งนอน ฝึกหมด แม้แต่กินขับถ่ายต้องฝึกทั้งนั้นมนุษย์นี่ เพราะฉนั้นทางพระเค้าเรียกว่าเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก คือเรียนรู้หมดแหละ ระหว่างนี้ก่อนที่จะดำเนินชีวิตได้เองเนี่ย ต้องเรียนรู้ ฝึกตัวเองไป จนกระทั่งว่า แม้แต่พูดก็ฝึก พอฝึกพูดแล้วต่อมาก็ดำเนินชีวิตได้ รวมแล้วกว่ามนุษย์จะดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเองอยู่รอดนี่ ใช้เวลานานเหลือเกินนะเป็นสิบๆปีเลย รวมแล้วในแง่นี้ก็คือมนุษย์เป็นสัตว์พิเศษในแง่ที่ว่าแย่กว่าสัตว์อื่น คือสัตว์อื่นนั้นเขาไม่จำเป็นต้องมาฝึก ต้องเรียนรู้อย่างมนุษย์ เขาอยู่ได้ แต่มนุษย์นี่ถ้าหากว่าไม่เรียนรู้ ไม่ฝึกแล้วอยู่ไม่ได้เลย และในแง่นี้เรียกว่าแย่กว่าสัตว์อื่นหมด เป็นความพิเศษในแง่คำว่าพิเศษนั่นคือแปลก คำว่าพิเศษนั้นอย่าไปคิดว่ามันดีนะ คือพิเศษก็คือแปลกจากพวกอื่น มนุษย์นี่เป็นสัตว์ที่แปลกจากพวกอื่นตรงนี้ แต่ทีนี้มันวิเศษในแง่ดีด้วย ในแง่หนึ่งว่ามันแย่ แต่ในแง่หนึ่งก็ดี คือการที่มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกเนี่ยมันมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ต้องฝึกแต่ฝึกได้ สัตว์ชนิดอื่นไม่ต้องฝึกแต่ฝึกไม่ได้ นี่ตอนนี้หละที่เป็นความพิเศษกลายเป็นความประเสริฐของมนุษย์ เพราะมนุษย์นั้นต้องฝึกก็จริง แต่ฝึกได้ด้วย พอมนุษย์ฝึกคราวนี้หล่ะก็เดินหน้า จนกระทั่งว่าจากการที่ว่าแย่กว่าสัตว์อื่นเนี่ย มนุษย์ฝึกแล้วนี่ ทำอะไรต่ออะไรได้พิเศษอย่างที่สัตว์ทั้งหลายอื่นทำไม่ได้เลย สัตว์ทั้งหลายอื่นอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณไม่ต้องเรียนรู้มาก เรียนรู้นิดนิดหน่อยหน่อยเดี๋ยวก็ไปได้แล้ว แต่ว่าต่อจากนั้นแล้วมันก็แค่นั้นเอง มันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณอย่างเดียวกัน หมายความว่า เกิดมาด้วยสัญชาตญาณใดก็ตายไปด้วยสัญชาตญาณอย่างนั้น ที่จะฝึกได้มีน้อยและฝึกได้นิดหน่อย อย่างสัตว์บางชนิด ช้าง ม้า ลิงไรพวกนี้นะ ฝึกได้บ้างเหมือนกันแต่ฝึกได้น้อย แล้วฝึกตัวเองไม่เป็นต้องให้มนุษย์ฝึกให้ แต่มนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษคือฝึกตัวเองได้ อันนี้เป็นความสามารถยอดเยี่ยมของมนุษย์และความประเสริฐของมนุษย์อยู่ตรงนี้เอง ก็เป็นอันว่าสัตว์ทั้งหลายอื่นนั้นเก่งที่ว่าสามารถดำเนินชีวิตอยู่ได้โดยแทบไม่ต้องเรียนรู้และฝึกฝนตนเอง ส่วนมนุษย์นั้นต้องฝึกจึงอยู่ได้ แต่ว่าอันนี้กับเป็นความพิเศษของมนุษย์ที่ว่าเมื่อฝึกแล้วนี่ มนุษย์จะก้าวหน้าต่อไปแทบจะไม่มีที่สิ้นสุด จนกระทั่งกลายเป็นว่าฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น เป็นแต่เพียงมนุษย์จะหยุดฝึกตัวหรือไม่ นี่ถ้ามนุษย์รู้ธรรมชาติของตัวเองอันนี้แล้ว ก็ฝึกตัวเองเรื่อยไปก็คือเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตัวเอง ที่เราเรียกว่าศึกษานั่นเอง ถ้ามนุษย์ศึกษาอยู่เรื่อยไปแล้วมนุษย์จะมีความเจริญ พัฒนาตัวเองได้อย่างแทบไม่มีที่สิ้นสุดเลย นี่จึงเป็นข้อพิเศษของมนุษย์ที่ท่านเรียกว่าความประเสริฐของมนุษย์ เราจึงเรียกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ทีนี้การที่เรียกว่าประเสริฐเนี่ย เราพูดทิ้งท้ายไว้ความจริงมันมีเงื่อนไขคือต้องต่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แล้วก็ต่อว่าด้วยการฝึก แล้วก็อาจจะพูดเพิ่มว่าถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่ อย่านึกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐขึ้นมาลอยลอยนะ เพราะว่าถ้าไม่ฝึก ไม่เรียนรู้ ไม่ฝึกฝน ไม่พัฒนาแล้ว บอกแต่ต้นแล้วว่าแย่ยิ่งกว่าสัตว์ชนิดอื่น ฉะนั้นในเมื่อเรารู้ธรรมชาติของมนุษย์อย่างนี้แล้ว เราก็จับเอานี่มาเป็นหลักการดำเนินชีวิตเลย ว่าชีวิตที่ดีนั้นจะต้องมีการศึกษา เรียนรู้เรื่อยไป เพราะฉะนั้นถ้าเราเอาหลักการอันนี้ไปใช้นะ เราดำเนินชีวิตต่อไปด้วยการศึกษา นี่เราจะเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนา เอาทุกอย่างที่เราไปเกี่ยวข้อง แม้แต่ในการทำงานนี่ เป็นเรื่องของการศึกษา เรื่องของการเรียนรู้นี่ เราจะได้กำไร เราจะพัฒนาตัวเองก้าวหน้าไปด้วย แล้วชีวิตจะมีความหมาย การทำงานนั้นจะไม่เลื่อนลอย ทุกอย่างจะรู้สึกว่ามีความหมาย เราจะได้อยู่เรื่อยเลย เงินทองจะเป็นเรื่องประกอบไปด้วย ถ้าเรามองชีวิตอย่างนี้ อย่างนี้คือพื้นฐานที่แน่นอน มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทีเดียว เราก็จับเอาอันนี้มาเป็นหลักการใหญ่ว่า เราจะมีชีวิตที่ดีงามด้วยการศึกษาคือฝึกฝน เรียนรู้ฝึกฝนหรือฝึกหัดพัฒนาตนเองเรื่อยไป อันนี้ถ้าเราพูดอย่างนี้แล้วมันก็โยงมาถึงความหมายของงานด้วย เวลาเราพูดถึงงาน เราก็มองไปถึงเรื่องของสิ่งที่จะต้องทำ ถ้าเราไปเปิดพจนานุกรมดูเนี่ย คำว่างานเค้าจะอธิบายว่าสิ่งหรือเรื่องที่เราทำ หรือจะเติมว่าต้องทำก็ได้ สิ่งที่เราต้องทำหรือภารกิจต่างๆ นี้เวลาเราพูดถึงงาน สิ่งที่ต้องทำเรามักจะนึกถึงเรื่องของสิ่งที่ต้องทำเพื่อหาเลี้ยงชีวิต เรามักจะมองอย่างนี้ คือการงานที่เราเรียกว่าอาชีพต่างๆ แต่ที่จริงนั้น ไอ้สิ่งที่ต้องทำหรือภารกิจที่แท้ของชีวิตคืออะไร มันไม่ใช่แค่การหาเลี้ยงชีพ หาวัตถุ หาปัจจัยสี่เท่านั้นหรอก ภารกิจที่แท้ของชีวิตของเราก็คือการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนานี่แหละ เพราะฉะนั้นในที่สุดแล้วตัวงานที่แท้ของเราก็คือการศึกษานี่แหละ เพราะฉะนั้นในที่สุดการศึกษากับงาน อันนี้เป็นอันเดียวกัน การศึกษานี่แหละคือตัวงานของชีวิตของเรา เพราะว่าเป็นภารกิจของชีวิตทุกคนเลย ทุกคนจะมีชีวิตที่ดีงามได้ต้องมีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาทั้งนั้น ถ้าไม่มีการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาจะมีชีวิตที่ดีงามไม่ได้ ฉะนั้นคนที่รู้หลักการนี้ก็ดำเนินชีวิตให้เป็นการศึกษาเลย ให้มีการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา เอาการเรียนรู้ฝึกฝนพัฒนานี้มาเป็นงานของชีวิตเลย แล้วแม้แต่งานการอาชีพของเราเนี่ย เราจะเห็นได้ว่ามันก็เป็นเครื่องฝึกฝนพัฒนาชีวิตของเราทั้งนั้นเหมือนกัน เวลาเราไปทำงานการศึกษาของเราจบที่ไหนหล่ะ ทุกท่านไปทำงานแล้วได้เรียนรู้เพิ่มทั้งนั้นเลย การศึกษาของเราคงไม่จบแค่ในมหาวิทยาลัย ในชั้นเรียนเท่านั้น อันนั้นเป็นเพียงส่วนเบื้องต้น เป็นฐานเท่านั้นเอง แม้แต่ในวิชาการ วิชาชีพของตัวเองก็ต้องไปเรียนรู้ฝึกฝนเพิ่มในเวลาไปทำงาน พอทำงานแล้วตอนนี้เราได้เรียนรู้จริงๆ ได้ศึกษาจริง ได้ฝึกหัดพัฒนาตัวเอง แล้วการประสบความสำเร็จจะมาจากตอนนั้นแหละ ฉนั้นหัวใจของการที่จะประสบความสำเร็จในการงาน มันอยู่ที่การศึกษานี่ด้วย แล้วการศึกษามันไม่ใช่เฉพาะในตัวการงานเท่านั้นนะ มันหมายถึงการศึกษาเรียนรู้ฝึกหัดในการอยู่ร่วมสังคม ในการติดต่อมนุษยสัมพันธ์ อะไรต่างๆ ฝึกฝนทั้งพฤติกรรม ทั้งจิตใจ ทั้งสติปัญญาของตัวเองไปหมดเลย เพราะฉะนั้นการศึกษาไม่ได้สิ้นสุดแค่มหาวิทยาลัย แต่ว่างานการของเราก็เป็นการศึกษาด้วย พูดไปพูดมาเรื่องการศึกษาการงานกลายเป็นอันเดียวกัน ตกลงว่าที่ว่าจบการศึกษาก็ไม่ใช่จบหรอก อันนี้เป็นส่วนเบื้องต้นของการศึกษาของชีวิต แล้วก็ที่ว่าไปทำงานเปลี่ยนจากการศึกษาไปเป็นทำงานก็ไม่จริง ที่จริงงานก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาด้วย อันนี้ก็เรียกว่าต้องแยกไอ้ข้อตกลงหรือว่าคำพูดที่นิยมใช้กันในสังคมที่เป็นสมมตินี่ออกจากความเป็นจริง ความเป็นจริงแท้นั้นการศึกษาที่แท้แล้วการศึกษานั้นหล่ะคือตัวงานของชีวิตของเรา ก็ขอทำความเข้าใจกันในเบื้องต้นอย่างนี้ก่อน ทีนี้ก็อยากจะพูดต่อไปว่าในเมื่อเราไปทำงานในความหมายปัจจุบัน หรือว่าไปทำงานในความหมายว่าไปหาเลี้ยงชีพนั่นเอง แล้วเราจะได้อะไรจากการงานของเรา ในเวลาเราไปทำการงาน เราก็ย่อมมีความหวังว่าจะต้องได้อะไร นี้เรานึกถึงอะไรหล่ะเวลาเราจะทำงาน โดยมากคนจะนึกถึงรายได้ก่อน เงินทองทางพระท่านเรียกว่าลาภ หรือผลประโยชน์ ทีนี้นอกจากลาภ ผลประโยชน์ เงินทองทรัพย์สินแล้ว อ้าวก็จะนึกถึงตำแหน่งฐานะ หรือความเป็นใหญ่เป็นโต ทางพระท่านเรียกว่ายศ สองอย่างเนี่ยคู่กันเลย ลาภกะยศนี่ในโลกนี้คนชอบมาก จะทำไรก็ต้องนึกถึงลาภกะยศก่อน ผลประโยชน์กะฐานะ ตำแหน่งความเป็นใหญ่ หรือแม้แต่อำนาจ คำว่ายศนี่รวมทั้งอำนาจด้วย ผลประโยชน์กะอำนาจนี่เรื่องใหญ่มากในสังคม ยิ่งสังคมยุคนี้เป็นสังคมระบบแข่งขันด้วยเนี่ยไอ้เจ้าสองตัวนี้เด่นที่สุดเลย ระบบการแข่งขันเพื่อผลประโยชน์ แล้วก็เพื่อความยิ่งใหญ่หรืออำนาจ นี้นอกจากนั้นแล้วอะไรคนเราก็ต้องการสิ่งที่เรียกว่าความชื่นชม เสียงสรรเสริญ เกียรติคุณ อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน บางทีในสังคมบางทีมันก็พ่วงมากับลาภยศด้วย แล้วแต่ค่านิยมสังคม อย่างค่านิยมของสังคมยุคนี้ที่นิยมเรื่องผลประโยชน์มาก อยู่ในระบบแข่งขันเนี่ย เกียรติก็มักจะไปพ่วงอยู่ของลาภของยศ ใครมีผลประโยชน์เงินทองทรัพย์สินมากก็เป็นที่ชื่นชมให้เกียรติ หรือว่ามีอำนาจมากก็พลอยได้เกียรติไปด้วย แต่ในบางยุคสมัย ค่านิยมสังคมเอาที่ความดีงาม อันนั้นก็เปลี่ยนไปว่าต้องคนที่ประพฤติดีงามแล้วก็จะได้เกียรติ ได้รับความนิยมสรรเสริญ อันนี้ขึ้นต่อค่านิยมสังคมอย่างที่ว่า แล้วอะไรอีกที่คนต้องการก็คือต้องการได้ความสุข ซึ่งบางทีมีผลประโยชน์มีเงินทองมากก็ไม่เป็นหลักประกันว่าจะมีความสุข หรือมีอำนาจยิ่งใหญ่ก็ไม่เป็นหลักประกันความสุข แต่โดยมากคนทั่วไปจะมองว่า ก่อนที่จะได้ความสุข คนเราต้องมีลาภมียศหรือว่าเอาเป็นอันเดียวกันเลย ผนวกเอาความสุขไว้กับการได้ลาภแล้วก็การได้ยศ ถ้าพูดไปตามหลักธรรมมะทางพระท่านเรียกสี่อย่างนี่คือ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ทางพระท่านถือเป็นชุดท่านเรียกว่าโลกธรรม โลกธรรมสิ่งที่มีประจำโลก มนุษย์เกิดมาแล้วก็ปรารถนาในสิ่งเหล่านี้ แต่ว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันก็เหมือนกับสิ่งทั้งหลายอื่น ก็มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เราทำเหตุปัจจัยทั้งที่เราทำและปัจจัยภายนอกด้วย เหตุปัจจัยภายนอกมาประกอบเข้าบางครั้งเราก็ได้สิ่งเหล่านี้ แล้วบางครั้งเหตุปัจจัยมาทั้งจากภายนอกและภายในก็ทำให้เราพลาดหรือเสื่อมไปจากสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นคู่กับการมีลาภ มียศ หรือได้ลาภ ได้ยศ ได้เสียงสรรเสริญและความสุข มันก็จะมีคู่ตรงข้ามก็คือ มีเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทาและทุกข์ ก็รวมแล้วฝ่ายละสี่ ฝ่ายที่เราชอบใจปรารถนาสี่ และไม่ชอบใจไม่ปรารถนาสี่ ท่านเรียกว่าโลกธรรมแปดประการ ก็บอกว่า ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุขทุกข์ แปดประการนี้ มนุษย์จะต้องรู้ทัน โดยเฉพาะคนที่ไปทำงานทำการต่อไปเป็นระยะยาวของชีวิต จะต้องรู้ทันสิ่งเหล่านี้ว่า มันจะต้องมีเกิดขึ้นมาแล้วก็จะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง มีปัญญาที่จะรู้ทัน แล้วชีวิตของเราจึงจะดีงามได้ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของมัน มิฉะนั้นแล้วจะเป็นคนชนิดที่เรียกว่า ฟูยุบ ฟูยุบหรือฟูแฟบ เวลาได้ลาภได้ยศเสียงสรรเสริญมามีความสุขก็ฟู ฟูขึ้นมาก็อาจจะเบ่ง แล้วก็ทีนี้พอสิ่งเหล่านี้เสื่อมหายไปก็แฟบหรือยุบ ก็ห่อเหี่ยว แล้วก็มีความระทดระทวยเศร้าโศกอะไรต่างๆ ซึ่งอันนั้นท่านถือว่าไม่เก่งจริง ถ้าเก่งจริงต้องสู้สิ่งเหล่านี้ได้ แล้วต้องใช้ประโยชน์ให้เป็นด้วย ทีนี้จะใช้ประโยชน์ยังไงหมายความว่าต้องทั้งสองฝ่ายมานี่ ฉันใช้ประโยชน์ได้หมด ฝ่ายดีมาฉันก็ใช้ประโยชน์ได้ ฝ่ายร้ายมาฉันก็ใช้ประโยชน์ได้ เอ๊ะใช้ยังไงขอพูดเลยก็แล้วกันที่จริงยังไม่เข้าถึงเรื่องที่พูดคือเรื่องงาน แต่ขอพูดแทรกซะก่อนเพราะว่าคนที่ไปทำงานจะต้องเจอสิ่งเหล่านี้ วิธีปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ที่ท่านเรียกว่าโลกธรรม ที่มันเกิดมีขึ้นแก่มนุษย์ตามเหตุปัจจัยเนี่ย แล้วมันก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอนท่านบอกว่าเราต้องใช้มันให้เป็นประโยชน์ได้หมด เวลาส่วนดีเกิดขึ้นก็คือฝ่ายได้ลาภได้ผลประโยชน์ ได้ยศได้ตำแหน่ง ฐานะยิ่งใหญ่อำนาจ แล้วก็ได้คำสรรเสริญเกียรติคุณ แล้วก็ได้ความสุข สิ่งที่ดีมา สิ่งที่ดีมาท่านก็บอกว่าอ้าวเรามีสิทธิ์ที่จะยินดีดีใจ ดีใจแต่อย่าเหลิงนะ อย่าเหลิงแล้วอย่าลืมตัว ถ้าหากว่าลืมตัวนี่แสดงว่าเราตกเป็นทาสของมันตอนนี้เราจะเกิดโทษแก่ชีวิตของตัวเองก็คือว่าด้วยความหลงเพลิดเพลินมัวเมาก็อาจจะทำให้ใช้มันผิด ลืมตัวแล้วก็เลยกลายเป็นว่าบางทีใช้สิ่งเหล่านี้ในทางที่เป็นโทษ สิ่งที่ควรจะใช้ให้เป็นประโยชน์เอามาใช้เป็นประโยชน์ก็ไม่ได้ทำ เวลานั้นก็หลงเพลิดเพลินมัวเมาเสพเสวยความสุขเหล่านั้นแล้วก็บางทีก็ใช้สิ่งเหล่านี้ในทางที่จะเบียดเบียนคนอื่น หรือว่าอย่างน้อยก็ไปทับคนอื่น หรือข่มขี่ครอบงำเขาอะไรต่างๆ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น บางคนใช้ทรัพย์อำนาจในทางที่เบียดเบียนผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นสังคมเดือดร้อน ทีนี้พอตัวเองเสื่อมลงตอนนี้สิ่งทั้งหลายมันไม่นิด ไม่เที่ยงแท้แน่นอน พอสิ่งเหล่านี้หมดไปก็ลำบาก คนอื่นก็มีแต่ความชิงชัง ตัวเองก็หมดไปจากสิ่งเหล่านั้นแล้วก็จะไม่มีความภูมิใจก็จะมีความทุกข์อย่างเดียว แต่ทีนี้ถ้าหากว่าเราใช้เป็นพอสิ่งเหล่านี้มาเราก็ดีใจแล้วถือเป็นโอกาส พอเราอยากจะทำสิ่งที่ดีงามเราไม่มีกำลังจะทำ เวลามีทรัพย์สินเงินทอง มีลาภมา มียศมีตำแหน่งฐานะมีอำนาจ สิ่งที่เราต้องการจะทำที่เป็นการสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์สุขของสังคมเป็นต้น เรามีความพร้อมที่จะทำ อย่างคนที่มีความคิดดีๆ จะทำอะไรเนี่ยเค้าไม่มีเงิน ไม่มีอำนาจ ไม่มีบริวาร ความคิดนั้นก็ไม่งอกเงยออกมาในทางปฏิบัติ ไม่เกิดผลประโยชน์ ทำได้คับแคบได้นิดๆเดียว ได้นิดเดียว คนก็ไม่ช่วยไม่ร่วมมือมากเท่าที่ควร ก็เลยประโยชน์ที่จะได้จากความสามารถของเขามีน้อย ทีนี้พอเขามีลาภมียศมีทรัพย์สินเงินทองมาก มีอำนาจมีบริวารมาก ทำอะไรนิดหน่อยก็มีคนร่วมมือ มีคนมีมือมีเท้าที่จะทำให้ แล้วก็สามารถแผ่ขยายงานที่ต้องการทำไปได้กว้างขวาง ฉะนั้นความคิดดีๆ อะไรต่างๆ ก็สำเร็จประโยชน์ คนที่มองลาภยศเป็นต้นในทางที่จะเอามาใช้ประโยชน์เนี่ย ก็กลายเป็นว่ากลายเป็นโอกาสในการสร้างสรรค์ นั้นเป็นโอกาสในการทำความดี แกก็ทำดีใหญ่เลย ตอนนี้โอกาสมาถึงเราแล้ว เรามีเงินมีทองมีทรัพย์มีอำนาจรีบทำความดีนั้นเสีย พอทำตอนนี้ หนึ่งก็ทำให้ชีวิตของตัวมีคุณค่า แล้วก็สอง คนอื่นได้รับประโยชน์ คนอื่นก็ชื่นชม มีความนิยมไว้แม้เขาจะเกิดมีความผันผวนปรวนแปรมีอันเป็นไป มีความไม่เที่ยง ก็เสื่อมลงจากลาภจากยศเป็นต้น สิ่งที่ทำไว้ก็ไม่สูญเปล่า ตัวเองก็สามารถภูมิใจในสิ่งที่ทำไปแล้ว ว่าลาภยศเกิดขึ้นมาแก่เรา เราไม่ได้ปล่อยให้มันสูญเปล่า เราได้ใช้ประโยชน์แล้วทำให้มันเกิดคุณค่าแก่ชีวิตของเรา และผู้อื่นก็ได้ระลึกถึงความดีเหล่านี้ นี่ไม่สูญเปล่า ท่านเรียกว่ารู้จักปฏิบัติต่อลาภยศหรือโลกธรรมส่วนที่ดีในทางที่เป็นประโยชน์ ทีนี้ในทางร้ายหล่ะ ลาภยศเกิดเสื่อมไป ก็เรียกว่าเสื่อมลาภเสื่อมยศ ถูกนินทามีความทุกข์ เอาหล่ะสิทีนี้ทำไง ถ้าคนที่ไม่มีการศึกษาปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ก็มีความห่อเหี่ยวเศร้าโศกเสียใจระทมขมขื่นก็เลยซ้ำเติมตัวเอง ก็ทุกข์หนักเข้าไปอีกแล้วแย่ไปเลย ทีนี้คนที่ปฏิบัติถูกต้อง รู้จักคิดรู้จักพิจารณาก็วางท่าทีให้ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้มาแล้วนี่ เราหนึ่งรู้ทันความจริงบอกว่าสิ่งทั้งหลายนี้มันไม่เที่ยง ลาภยศสิ่งสรรเสริญอะไรต่างๆ ก็เหมือนกันมันก็เป็นสิ่งไม่เที่ยง เราก็เจอเข้าแล้ว พอเจอเข้าแล้วก็รู้ทันตามความเป็นจริง พอรู้ทันตามความเป็นจริงก็เบาไปขั้นหนึ่ง ขั้นที่สองก็คือว่าเอามาใช้ประโยชน์ บอกว่ามนุษย์เรานี้จะเข้มแข็งมันต้องเจอปัญหา คนที่เจอปัญหาเจออุปสรรคแล้วได้เผชิญ แล้วจะพัฒนาตัวเองได้ดี เพราะฉะนั้นเราจะใช้สิ่งเหล่านี้ ใช้สิ่งที่เป็นอุปสรรค สิ่งที่ไม่น่าชอบใจ สิ่งที่ได้เข้ามาเป็นทุกข์ หรือเป็นสิ่งที่เป็นโชคร้าย เป็นเคราะห์อะไรก็ตามเนี่ย ที่มันไม่ดีเนี่ย ที่เผชิญเข้าแล้วเนี่ย หนึ่งใช้เป็นไร ท่านใช้เรียกว่าเป็นบททดสอบ ดูสิว่าเราเจอมันเข้าแล้วเนี่ย เราจะสู้มันมั๊ย สู้มันได้มั๊ย ผ่านมันมั๊ย ถ้าผ่านได้แสดงว่าเราพอใช้ได้ อันนี้ถ้าไม่ผ่านเราก็ได้ทดสอบแล้วก็ต้องพัฒนาความเข้มแข็ง แต่ว่าเรามีหลักแล้วตอนนี้ ไม่ใช่มัวแต่ทุกข์ระทมแย่ไปเลยกับซ้ำเติมตัวเอง เพราะฉนั้นใช้เป็นบททดสอบว่าเราแข็งพอมั๊ยที่จะผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ ถ้าเราผ่านไปได้แสดงว่าเราแน่ ต่อไปไม่กลัวละ ทีนี้นอกจากใช้เป็นบททดสอบ อันที่สองก็คือใช้เป็นเครื่องมือพัฒนา อันนี้ยิ่งเก่งกว่านั้นอีก ก็คือว่าปัญหาทุกอย่าง เคราะห์อุปสรรคทุกอย่างนี้เป็นสนามพัฒนาคน โดยเฉพาะปัญหานี้คือเวทีพัฒนาปัญญาคน คนไหนไม่เจอปัญหานี่พัฒนายาก ก็คนเรานี้มันจะพัฒนาจะเรียนรู้มันต้องเจอสิ่งที่ต้องทำต้องคิด พอเจอปัญหานี่เราเริ่มหาทางออก หาทางออกก็คิดพิจารณาจากการที่พยายามหาทางออก คิดพิจารณานั่นแหละปัญญาเริ่มเกิดขึ้น แล้วก็พยายามปฏิบัติตามที่คิดเพื่อจะหาทางแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ เราก็พัฒนาความสามารถขึ้นมาเสร็จแล้วกว่าจะผ่านพ้นปัญหาไปนั้น นั้นไปได้คนนั้นเก่งเลย พัฒนาตัวเองมาก แต่ว่าถ้าเราไม่เจอปัญหา ไม่เจออุปสรรคเราไม่ได้อะไรเลย เราก็อยู่ไปเหมือนเดิม เพราะฉนั้นคนที่จะเก่งต้องเป็นคนที่เจอปัญหาทั้งนั้น ขอให้ไปศึกษาประวัติคนสำคัญ เป็นคนที่เจอปัญหาและสู้ปัญหา แล้วมองปัญหาในแง่ดี มองปัญหาว่าเป็นเวทีพัฒนาปัญญา แล้วก็ปัญหานี้มันคู่กับปัญญานะ มันเปลี่ยนนิดเดียวนะ ปัญหามันเปลี่ยนแป๊บเดียวตัวเดียวเท่านั้นเป็นปัญญาเลย แล้วใครเปลี่ยนปัญหาได้เป็นปัญญาคนนั้นคือผู้ประสบความสำเร็จ เพราะฉนั้นมีสูตรอยู่ว่าให้เปลี่ยนปัญหาเป็นปัญญา อันนี้คือสูตรของความสำเร็จเลย ฉนั้นมันเฉียดกันอยู่นิดเดียวเท่านั้นเองปัญหากับปัญญา เพราะฉนั้นจากการที่เราสู้ปัญหา พยายามแก้ปัญหาเราก็จะได้ปัญญา ต่อไปเราไปทำงานต้องเจอแน่ปัญหา แล้วอย่าไปท้อเป็นอันขาด ต้องนึกสนุกเลย มองด้วยความชอบใจว่าเราเจอดีแล้ว เราเป็นโอกาสละที่จะพัฒนาตัวเอง เพราะฉนั้นคนไม่เจอปัญหา ไม่เจออุปสรรค ไม่เจอเคราะห์นี่ไม่เข้มแข็ง แล้วไม่ได้พัฒนา คนไหนยิ่งเจอยิ่งเก่ง อันนี้ก็เลยได้โอกาสในการที่จะพัฒนาตัวเอง เพราะฉนั้นไม่ว่าดีว่าร้ายมานี่คนที่มีการศึกษาจะใช้ให้เป็นประโยชน์ได้หมด มีแต่ได้ไม่มีเสีย เพราะฉนั้นในชีวิตของเรานี่ต่อไปนี้คือโลกแห่งการศึกษาที่แท้จริงละ ถ้าเรียนแต่ในมหาวิทยาลัยตอนนี้การศึกษาเบื้องต้น ออกไปแล้วนี่คือการศึกษาที่แท้จริง เวทีชีวิต เวทีของการศึกษาที่แท้จริง อันนี้ก็ทำความเข้าใจกันเบื้องต้นว่าเราจะได้อะไร นี่แหละคือได้ที่แท้จริง ส่วนว่าได้เงินได้ทองนี่เป็นส่วนปลีกย่อยเหลือเกิน เราจะต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้องแต่ไม่ใช่หมายความว่าปฏิเสธเรื่องลาภเรื่องยศก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่มันจะต้องมีความหมายไปถึงอื่นด้วย นอกจากได้ในเรื่องของลาภยศทรัพย์สินเงินทอง เราก็ต้องมองกว้างออกไปว่านอกจากได้แก่ตัวเองก็ได้แก่สังคม วิชาการต่างต่าง นี่มีขึ้นมาเนี่ยต้องมีวัตถุประสงค์แล้วมีความหมายอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาของสังคมมนุษย์ หรือเพื่อสร้างสรรค์อะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง การงานต่างๆ อาชีพต่างๆ นี่ ไม่ได้มีเพียงเพื่อให้มนุษย์มาหาเลี้ยงชีพได้เงินได้ทอง คนเรานี่มันจะมองว่าอาชีพนี้ก็คือ เป็นเครื่องมือหรือว่าช่องทางที่เราจะได้เลี้ยงชีวิตของเรา ได้ปัจจัยสี่ได้เงินได้ทองมา บางทีเรามองไปแง่เดียว ความจริงอันนั้นเป็นความหมายพ่วงต่างหาก อาชีพการงานทุกอย่างที่มีขึ้นในสังคมมนุษย์มันมีความหมายต่อสังคมก่อน ก็คือว่าตัวความหมายที่แท้จริงก็คือว่า เกิดมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาของชีวิตและสังคมมนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่งใช่มั๊ย แล้วอันนั้นเป็นตัวแท้เลยความมุ่งหมายที่แท้จริงของการงาน แล้วเราก็อาศัยอาชีพการงานที่มีเพื่อแก้ปัญหามนุษย์ หรือสร้างสรรค์สังคมในแง่ใดแง่หนึ่งนั้นหน่ะ มาให้เกิดผลพลอยได้เป็นประโยชน์ของตัวเราก็คือการได้เงินได้ทองมาเลี้ยงตัวเองด้วย นี้ถ้าเรามองไม่ครบ เรามองแง่เดียวก็มองไปว่า อาชีพการงานเป็นทางหาเงินหาทองไป ซึ่งเป็นการมองผิดจุดเลยไปเอาผลพลอยได้ไปเป็นตัวจริงซะนี่ ก็ลองสำรวจดูงานทุกอย่างตอบได้ทั้งนั้นมีคำตอบว่ามันมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาชีวิตและสังคมมนุษย์อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจกันไว้ก่อน และนอกจากนั้นเวลาเรามองก็มองเรื่องสิ่งที่ได้ มองในแง่ของวัตถุรูปธรรมซะมาก เรามักจะไม่ได้มองในแง่นามธรรม ความจริงนั้นสิ่งที่จะต้องได้จากการทำงาน มันมีเรื่องของนามธรรมเยอะเลย แล้วตัวนามธรรมนี่แหละที่จะยืนยงที่สุดเลย ท่านได้ในแง่รูปธรรมวัตถุมันไม่ยั่งยืน มันไม่สามารถหล่อเลี้ยง มันไม่ทำให้เกิดคุณค่าที่แท้จริงแก่ชีวิตได้ ตัวงานนั้นเองเราพูดได้ว่าเป็นคุณค่าแก่ชีวิต ในเมื่องานนั้นมันทำให้เกิดความดีงาม เป็นการสร้างสรรค์แก้ปัญหาแก่สังคมมนุษย์ได้ พอเราทำงานไปแล้วตรงตามจุดมุ่งหมายว่างานนี้เพื่อแก้ปัญหาสังคมอันนี้ พอเราทำสำเร็จบรรลุจุดมุ่งหมายนั้น เราเกิดความภูมิใจทันที อันนี้เป็นความได้อย่างหนึ่งในทางนามธรรม ในทางจิตใจ ความภูมิใจอะไรต่างๆ ตลอดถึงความสุขที่ประณีตลึกซึ้งก็เกิดจากอันนี้ ความสุขจากวัตถุก็เป็นเครื่องแคบเฉพาะตัวและก็ชั่วคราว มันไม่ยั่งยืนไป อย่างคนที่อยู่ทำงานไปจนเกษียณอายุ จนกระทั่งแก่ ต่อไปไม่มีโอกาสจะมาทำงานอย่างท่านที่อยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวอีก แล้วอะไรที่จะเป็นความสุขที่แท้จริง ความภูมิใจ ก็สิ่งที่ทำไว้เป็นคุณค่าเป็นประโยชน์สุข ที่ได้สนองความมุ่งหมายที่แท้จริงของอาชีพการงานนั้นนั้น ที่ว่าเพื่อแก้ปัญหา เพื่อสร้างสรรค์สังคม อันนี้จะเป็นความสุขที่ยั่งยืน อยู่คนเดียวก็สุขได้ อยู่ในที่เงียบก็สุขได้ แก่แล้วก็สุขกับสิ่งเหล่านี้ เพราะฉนั้นคนเรานี่จะหาแต่ความสุขทางด้านวัตถุอย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันไม่ยั่งยืนและคับแคบ แต่ว่าความสุขทางด้านจิตใจที่แท้จริงที่เป็นนามธรรมนี่แหละ จะเป็นตัวยืนตลอดไป อันนี้บางทีสิ่งที่ต้องการจะได้เหล่านี้ที่พูดมา บางครั้งขัดกัน อย่างเราทำงานเราบอกเพื่อผลประโยชน์ หาเงินให้ได้มากๆ บางทีการที่ได้ผลประโยชน์มากๆ มันไปขัดกันกับการที่จะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม การสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่สังคมหรือการแก้ปัญหาสังคม บางทีมันขัดผลประโยชน์ของเราก็มี หรือการที่เราได้ผลประโยชน์มากมันกลายไปเป็นทำลายสังคมหรือว่าก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่สังคมก็ได้ อันนี้ก็เป็นปัญหาเรื่องความขัดแย้งในการทำงานที่จะต้องเกิดขึ้น หรือได้ทางวัตถุเสียทางจิตใจ จะให้ได้ทางจิตใจเสียทางวัตถุ จะให้ได้ความภูมิใจมั่นใจมีความสุขทางจิตใจ ต้องยอมเสียผลประโยชน์หรือยังไงอันนี้ มันเป็นเรื่องที่ว่าในหมู่ผู้ทำงานเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมา ก็จึงต้องมีโจทย์ตั้งขึ้นมาว่าทำไงจะให้ได้ทุกอย่าง มันต้องมีวิธีที่ว่าไม่ให้สิ่งเหล่านี้ขัดกัน จะหาอะไรมาเป็นตัวประสานให้เราได้ทุกอย่างคือ เช่นว่าลาภยศ สรรเสริญ ความสุข หรือว่าผลประโยชน์ ตำแหน่งฐานะ ความยิ่งใหญ่อำนาจ แล้วก็ความชื่นชม เสียงสรรเสริญและความสุขก็ได้ด้วย แล้วก็เรื่องทางด้านคุณค่าต่อสังคม ประโยชน์สุขของส่วนรวม หรือเรื่องความภูมิใจมั่นใจในคุณค่าความดีงามต่างต่างทางจิตใจก็ได้ด้วย ทำไงจะให้ไปด้วยกัน มันมีวิธีการยังไง อันนี้มันต้องมี นี่แหละก็คือเรื่องของการที่ว่าเราจะต้องพัฒนาเรื่องของการทำงานว่าให้มันได้ประโยชน์ทุกอย่างมาผสานกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน ไม่ใช่เป็นลักษณะของการขัดแย้ง แต่ถ้าสังคมเราอยู่ในภาวะอย่างนี้แล้วคนไม่พัฒนา สิ่งเหล่านี้จะขัดแย้งกันหมด เพราะฉนั้นตอนนี้ก็จะมาถึงตอนที่ว่าจะหาทางทำให้ทุกอย่างที่เราควรจะได้จากการทำงานมันไปด้วยกันได้ไม่ขัดแย้งประสานกันส่งเสริมกันด้วย แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น อาตมาก็จะมาพูดถึงเกณฑ์มาตรฐานก่อน เกณฑ์มาตรฐานนี่ก็คือเป็นฐานเริ่มต้นที่ถูกต้องเลย ว่าเราจะมีวิธีการวินิจฉัยงานอย่างไร ว่ามีหลักเกณฑ์ยังไงที่จะถือว่างานนี้เริ่มต้นถูกต้องแล้วหรือเป็นงานที่ถูกต้องที่จะดำเนินไปสู่จุดหมายที่เราต้องการนั้นให้ได้ทุกอย่างโดยประสานกันไม่ขัดกัน หลักการง่ายง่าย มาตรฐานเบื้องต้นก็คืออย่างที่เราพูดกันบ่อยๆ ว่างานนั้นต้องเป็นสัมมาชีพ สัมมาชีพหรือพูดตามคำในทางพระศาสนาก็คือสัมมาอาชีวะ แล้วยังไงหล่ะเป็นสัมมาชีพหรือสัมมาอาชีวะ หลายท่านก็บอกว่างานการอาชีพที่ไม่ผิดกฎหมาย ก็เป็นสัมมาชีพสิ แต่มันคงไม่ใช่เท่านั้น มันต้องมีความหมายมากกว่านั้น เราลองมาแยกศัพท์ดูก็มีสองตัว ก็คือสัมมากับอาชีพบวกกลายเป็นสัมมาชีพหรือสัมมาอาชีวะก็คือสัมมาบวกอาชีวะ สัมมาแปลว่าถูกต้อง หรือบางทีเค้าแปลว่าสมบูรณ์ เวลาไปดูฝรั่งแปลว่าสัมมาเค้าแปลว่าสมบูรณ์ ขออภัยใช้ภาษาอังกฤษเขาใช้ว่าเพอร์เฟกต์ แต่ว่าเวลาไทยเราแปล เราแปลว่าโดยชอบ โดยชอบก็คือถูกต้อง มันถูกต้องในแง่ว่ามันมีความสมบูรณ์ของมัน ทีนี้อาชีพหรืออาชีวะก็คือการหาเลี้ยงชีพ ตอนแรกมันก็จะมีอาชีวะก่อนก็คืออาชีวะนี้เป็นการหาเลี้ยงชีพหรือเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพ แต่มันจะต้องเป็นสัมมาด้วย สัมมาก็คือถูกต้อง ถูกต้องตามที่มันควรจะเป็น สอดคล้องกับความหมายที่แท้จริงของมัน อย่างที่พูดเมื่อกี้อาชีพของมนุษย์เกิดมาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของมนุษย์ แก้ปัญหาชีวิตและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งนั้น เพราะฉนั้นจะต้องให้มันถูกต้องตามความหมายที่แท้จริงของมัน ก็คือมันเป็นผลดีแก่ชีวิตและสังคมนั่นเอง หรือตลอดจนกระทั่งดีกับทุกอย่างที่เกี่ยวข้องอย่างสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าดีกับชีวิตด้วย ดีกับสังคมด้วย ดีกับสิ่งแวดล้อมด้วย ดีกับธรรมชาติแวดล้อมเวลานี้ต้องพูดขยายไปให้ครบ แล้วทีนี้ในแง่ที่บอกดีต่อชีวิตก็ต้องดีทั้งในแง่กายและใจนะ เพราะชีวิตของคนเรามีสองด้าน ดีแก่ชีวิตทั้งด้านกายและจิตใจ เอา หล่ะทีนี้ทำไง ถ้าจะให้มันถูกต้องเราก็มาดูว่าลักษณะของสัมมาชีพอาชีวะที่ถูกต้องนี่ แยกออกไปสิ ก็หนึ่งเป็นอาชีพที่ไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่คนอื่นหรือแก่สังคม อันนี้หนึ่งละนะ สองในทางตรงข้ามก็คือเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาของสังคม ของชีวิตและสังคมหรือเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง ข้อหนึ่งข้อสองนี่ก็เป็นเพียงแง่ปฏิเสธ แง่ลบกับแง่บวก เอาละอันนี้ทุกอาชีพจะต้องมองดูเลยว่า อาชีพของเรานี่มันเป็นไปเพื่อการเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์มั๊ย หรือเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาช่วยสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม เราก็จะมองเห็นความหมายขึ้นมาเลย ถ้าหากว่ามันเป็นไปทางแก้ปัญหาสร้างสรรค์ แสดงว่ามันเป็นสัมมาชีพละ ได้ไปส่วนหนึ่งละ ทีนี้ต่อไปมันไม่ใช่แค่ต่อสังคมมนุษย์เท่านั้น ทีนี้หันมามองในแง่ตัวเอง สัมมาอาชีพอาชีพที่ถูกต้องนี้ไม่ทำชีวิตให้ตกต่ำ คือไม่ทำลายคุณค่าของชีวิต อาชีวะบางอย่างนี่ไปทำเข้าแล้วทำลายคุณค่าแห่งชีวิตของตัวเอง แล้วนอกจากว่าไม่ทำลายคุณค่าแห่งชีวิตก็ส่งเสริมคุณค่าแห่งชีวิตและเป็นโอกาสในการพัฒนาชีวิตของตนด้วย อาชีพที่ดีงามเนี่ยจะเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเอง เพราะอะไร คนเราจะพัฒนาตัวเองได้ยิ่งตามหลักธรรมชาติที่ว่าเมื่อกี้บอกชีวิตที่ดีคือชีวิตที่เรียนรู้ ฝึกหัดพัฒนาหรือศึกษาตลอดเวลา เราจะศึกษาพัฒนาตลอดเวลา เราก็ศึกษาจากการดำเนินชีวิต ทีนี้ชีวิตของคนส่วนใหญ่อยู่ที่การงานเลี้ยงชีพนี่มาก ขอให้ดูเถิดวันเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตเราให้ไปกับการหาเลี้ยงชีพ การงานของเรานี่ครองเวลาส่วนใหญ่ของเรา วันหนึ่งนี่เราให้เวลาแก่การงานอาชีพไปกี่เปอร์เซนต์ มากเหลือเกิน เพราะฉนั้นคนที่จะศึกษาพัฒนา จะพัฒนาที่ไหน ก็จะพัฒนาส่วนใหญ่จากการประกอบอาชีพ ถ้าคนประกอบอาชีพเป็นก็จะใช้อาชีพเป็นเวทีพัฒนาตัวเอง เวลาเราประกอบอาชีพเราพัฒนาทุกอย่าง เราพัฒนาพฤติกรรมของเรา เราพัฒนาพฤติกรรมในการอยู่ร่วมสังคม เราต้องสังสรรค์ ต้องพบปะผู้คน อาชีพบางชนิดนี่ต้องเกี่ยวข้องทำงานกับคนโดยตรงก็มี เราจะต้องเตรียมตัวเลยว่า อ้อนี่คือโอกาสละ พอเราเริ่มทำงานเราก็ใช้ทุกอย่างที่เราเกี่ยวข้องนั้นในการเป็นที่เรียนรู้ ฝึกฝนพัฒนาตัวเอง ฉนั้นเราจะเรียนรู้จากคนอื่นที่เราเกี่ยวข้อง เราจะเรียนรู้ในการที่จะปฏิบัติต่อเขา ในการที่จะอยู่ร่วมกับเขาได้ดี ในการพูดการจา ในการมีกริยาท่าทางตลอดจนกระทั่งเรียนรู้โลกและชีวิต เรียนรู้จากผู้คนที่เข้ามา เราเรียนรู้ได้ทุกอย่างเลย เราจะเข้าใจโลกมนุษย์นี้ จะเข้าใจสังคมมนุษย์ จากที่เรา??? เพียงแต่ว่าวางท่าทีจิตใจให้ถูกต้องเท่านั้น เรามีแต่ได้ เราก็เรียนรู้เรื่อยไป ฝึกฝึนต่อไปฝึกฝนจิตใจ พัฒนาจิตใจก็คือ เช่น ความรู้จักรับผิดชอบ ความขยันหมั่นเพียร ความมีสติ ความมีสมาธิฝึกในการทำงานหาเลี้ยงชีพได้ทั้งนั้นเลย แล้วความมีวินัย ฝึกความสามารถ ความช่ำชองชำนาญในการเรียนรู้จากเรื่องของสิ่งที่เราประสบทุกอย่าง เรียนรู้ได้ทุกอย่าง วิชาการเราก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม เพราะฉะนั้นการงานอาชีพนี่เป็นเวทีเป็นสนามของการพัฒนาชีวิตทั้งนั้นเลย ฉะนั้นตกลงว่าอาชีพที่ดี เราจะได้พัฒนาตนเอง แต่ถ้าเป็นอาชีพที่ไม่ถูกต้อง เราจะเสื่อมลงนะไม่พัฒนา แล้วนอกจากไม่พัฒนาแล้วจะแย่ลงด้วย พฤติกรรมจะเสื่อมทรามลง จิตใจจะแย่ลง ความรู้ก็ไม่งอกเงยขอให้ลองดูเถอะ อาชีพที่มันไม่ถูกต้องมันจะเป็นยังไง ฉนั้นการมองสัมมาอาชีวะนี่ ต้องมองทั้งข้างนอกข้างใน ตกลงว่าเอาง่ายๆ ก็คือว่า อาชีพที่เป็นสัมมานี้ หนึ่งมันเป็นอาชีพที่ไม่ก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนผู้อื่น แต่ว่าแก้ปัญหาสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมพร้อมกันนั้นก็เป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเอง แล้วก็ทำชีวิตของเราให้มีคุณค่าไปด้วย อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นสัมมาอาชีวะ นี่ได้ขั้นพื้นฐานละ แต่นี้เวลาเราไปประกอบอาชีพนี่ เวลาเรามองความหมายของอาชีพในแง่ของการแก้ปัญหาสร้างสรรค์สังคม มองในแง่ภายนอกเราก็จะเห็นว่ายังมีความแตกต่างกันอีก อาชีพบางอย่างนี่สร้างสรรค์ความเจริญของสังคมในแง่เศรษฐกิจอย่างนี้เป็นต้น แต่ว่าอาชีพบางชนิดนี่ช่วยแก้ปัญหาสังคมโดยแก้ที่ตัวคนเลย เช่นแก้ปัญหาความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ อย่างอาชีพแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล นี่อาตมาคิดว่าแก้ปัญหาที่ตัวมนุษย์โดยตรง คือว่าแก้ความทุกข์ของเขาเลย เขาปวดฟันมาหรืออะไรนี่ ก็เราก็แก้ให้เลย บำบัดทุกข์ให้แก่มนุษย์ แก่ชีวิตโดยตรง นี้อาชีพที่สร้างสรรค์แก้ปัญหาบางอย่างที่ว่าไม่โดยตรงโดยอ้อม บางอย่างไม่แน่ เช่นว่าทำให้เกิดความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ไปไปมามานานเข้าความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นกลายเป็นผลร้ายก็มีนะ ฉะนั้นกลายเป็นข้อสงสัยกันอีก แต่อาชีพชนิดที่ว่าแก้ความทุกข์ให้กับมนุษย์โดยตรง เป็นอาชีพที่เห็นคุณค่าชัดเจนหน่อย ฉะนั้นท่านที่ประกอบอาชีพในด้านนี้ เป็นอาชีพที่เรียกว่าเป็นสัมมาอาชีพที่ชัดเจน เพราะว่าโดยตรงเลยเกิดคุณค่าเป็นประโยชน์ ส่วนว่าการสร้างสรรค์ความเจริญแก่สังคมมนุษย์บางอย่างเป็นปัญหา อย่างสมัยปัจจุบันกำลังสงสัยเรื่องความเจริญกันมากว่าความเจริญทางเศรษฐกิจนี้ มันเป็นผลดีหรือเปล่า อะไรยังงี้นะ ฉะนั้นอาชีพที่สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจเวลานี้ก็ต้องถูกสงสัยว่ามันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ชีวิตและสังคมกันแน่ อันนี้ก็เป็นเกณฑ์เบื้องต้น เราจะมาพูดกันเพียงเป็นพื้นฐานไว้เท่านั้น ทีนี้ต่อไปทำไงจะหาทางให้สัมมาอาชีพที่เรามีอยู่แล้ว ซึ่งได้ฐานได้เกณฑ์อย่างต่ำดีแล้ว มันเกิดไอ้ตัวประกอบหรือปัจจัยที่จะมาประสานให้เราได้ทุกอย่างที่ควรจะได้จากการงาน มันไม่เกิดการขัดกันทั้งการได้ทางวัตถุและทางจิตใจ ทั้งทางรูปธรรมนามธรรม ทั้งการได้แก่ตนเองและแก่สังคม อันนี้คือปัญหาที่ใหญ่ ถ้าเรามองขั้นเดียวมันจะต้องเป็นปัญหาเรื่องการที่เกิดความขัดแย้ง การมองชั้นเดียวก็อย่างที่พูดเมื่อกี้เช่นการมองในแง่ว่าการที่เราไปทำงานก็คือการได้เงินทอง ได้รายได้ ได้รายได้ก็คือการมีวัตถุมาเสพมาบริโภคและเราก็มองไปว่านี่คือความสุข เราก็มองความหมายความสุขไปด้วย ความสุขก็คือการที่ได้มีวัตถุทรัพย์สินเงินทองมาก มีสิ่งเสพสิ่งบริโภคมากแล้วความสุขของเราก็จำกัดความหมายอยู่แค่สิ่งเสพสิ่งบริโภค นี่คือความหมายของคนจำนวนมากทีเดียวแต่ว่าที่จริงแล้ว มันจะต้องมีความสุขอีกอันหนึ่ง ความสุขนี้ซึ่งตรงแท้เลยเป็นความสุขที่ตรงตามธรรมชาติ ตรงไปตรงมาจะเรียกว่าตามธรรมะก็ได้ ความสุขจากวัตถุนี่มันอย่างที่บอกเมื่อกี้แล้วงานการทุกอย่างที่มีขึ้นมา มันมีจุดหมายของมันโดยตรงเพื่อแก้ปัญหาของชีวิตและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อเราทำงานนั้นไป การงานที่แก้ปัญหาให้แก่ชีวิตและสังคมได้นั้น เราทำไปแล้วผลของตัวงานเองทำให้เรามีความสุขมั๊ย ตอนนี้มันจะมีผลสองอย่างขึ้นมาละ ผลจากการทำงานหลายคนคิดว่าคือเงิน ก็เราไปทำงานแล้วได้ผลก็คือได้เงิน แล้วโดยยิ่งได้มากยิ่งดี แต่ว่าไอ้เงินนั้นมันเป็นผลของตัวงานจริงรึเปล่า ถ้าเรามองความหมายของงานที่แท้ผลของงานก็คือการแก้ปัญหาของชีวิตและสังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง คิดตรงไปตรงมาตามวัตถุประสงค์ของงานนั้น ทีนี้อันนั้นก็กลายเป็นว่าผลงาน กลายเป็นว่าบางทีมันมีผลงานกับผลเงินซึ่งบางทีไม่ตรงกัน บางทีได้ผลงานแต่ว่าผลเงินไม่ค่อยได้ บางทีได้ผลเงินมากแต่ว่าผลงานแท้แท้ไม่ค่อยได้ แต่ว่าคนจำนวนมากเอามาสับสนกันนึกว่าผลงานก็คือเงิน แต่ที่จริงนั้นต้องแยกกัน ผลเงินอาจจะไม่ใช่ตัวงานที่แท้ งานนั้นอาจจะไม่ช่วยแก้ปัญหาชีวิตและสังคม ถ้าอย่างนั้นไม่เรียกว่าเป็นผลงานที่แท้จริง ทีนี้คนที่จะมีความสุขถ้าขืนมีความสุขอยู่แค่การได้รายได้ ได้เงินทองมาถ้าอยู่แค่นี้มันจะต้องเกิดการขัดกันแน่นอน เพราะว่าเขาไม่ได้ความสุขจากการที่ได้ผลของตัวงาน คือการที่ว่าแก้ปัญหาให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้ แก่ชีวิตสังคมได้ นี้คนที่จะได้ความสุขอีกขั้นหนึ่งมาประกอบก็คือว่า นอกจากได้เงินที่เป็นผลพลอยได้จากงานก็คือต้องได้ความสุขจากผลงานโดยตรงด้วย ถ้าเมื่อไรได้อันนี้นะนั่นคือตรงแท้เลย พอได้ตรงแล้วมันเป็นความจริงตามธรรมชาตินี่ ตอนนี้หล่ะเป็นตัวยืนพื้นเลย ความสุขจะมาเลย เพราะฉะนั้นความสุขในการทำงานจะเกิดขึ้นตอนนี้ ตอนที่ว่าในเมื่อเราได้มีความต้องการตรงกับผลที่เกิดจากเหตุของมันโดยตรง เหตุกับผลตรงกันก็คือการทำเหตุ เช่นว่าคน อาตมายกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นว่าเราจ้างคนมาทำสวน เราจ้างคนมาทำสวน ก็จะมีการที่ว่าคนทำสวนนั้นทำงานและก็ได้เงินเดือน สมมติว่าได้เงินเดือนห้าพันบาท เราก็บอกว่านี่คือผลจากการทำงาน การทำสวนคือการทำงานเป็นเหตุ เงินเดือนห้าพันบาทเป็นผล ถูกต้องมั๊ย หลายท่านจะบอกว่าถูก อ้าวก็ถูกสิ การทำงานเป็นเหตุได้เงินเดือนห้าพันบาทเป็นผล การทำงานในที่นี้คือการทำสวน อ้าวทีนี้ขอถามอีกที ถามย้ำให้ลึกลงไปอีกว่า จริงหรือการทำงานเป็นเหตุการได้เงินเดือนห้าพันบาทเป็นผล การทำสวนนั้นผลที่แท้ของมันคืออะไร งานคือการทำสวนผลของการทำสวนคืออะไร อย่าหลอกตัวเองนะ การทำสวนผลของมันคืออะไร คือต้นไม้เจริญงอกงามใช่มั๊ย อันนี้คือผลที่แท้จริงเลย ตกลงว่าตอนนี้มันมีกฎเกณฑ์สองกฎขึ้นมา ความเป็นเหตุเป็นผลมีสองชั้น เหตุผลที่หนึ่งที่เรามองผิวเผินคือการทำสวนเป็นเหตุการณ์ได้เงินเดือนห้าพันบาทเป็นผล นี่การมองชั้นแรกเปลือกนอก แต่ว่าจริงหรือการทำสวนจะทำให้เงินเกิดมาได้ไง เป็นไปได้เหรอ มีอย่างที่ไหนการทำสวนทำให้เงินเกิดขึ้นมา ไม่มี เงินเกิดจาการทำสวน มีคนให้ต่างหาก แต่ว่าการทำสวนนี่จะทำให้ต้นไม้เกิดและเจริญงอกงาม อันนี้จริงใช่มั๊ย เพราะฉะนั้นเหตุผลที่แท้จริงตามธรรมชาติเป็นความจริงแท้ก็คือว่าการทำสวนเป็นเหตุ ความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล อันนี้ผลเหตุตรงตามธรรมชาติ อ้าวแล้วมันก็กลายเป็นว่าแล้วทำไมมีผลกับเหตุที่ว่าการทำสวนเป็นเหตุแล้วเงินเดือนห้าพันบาทเป็นผล อันนี้แหละที่ว่ามันเป็นเรื่องของอารยธรรมมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐตรงที่เก่งสมมติ อันนี้คือสิ่งที่พระท่านเรียกว่าสมมติ การที่สมมติกันได้เป็นความสามารถพิเศษของมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายอื่นไม่รู้จักทำเป็น แล้วมันเป็นความเจริญของอารยธรรม อารยธรรมของมนุษย์ตั้งอยู่บนฐานที่เรียกว่าสิ่งสมมตินี้ สมมตินั้นอยู่อาศัยกฎของมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีกฎซ้อนขึ้นมาบนกฎธรรมชาติคือมี หนึ่งกฎธรรมชาติและสองกฎมนุษย์ ในเรื่องการทำสวนนี้จะเห็นได้ชัดถึงกฎธรรมชาติกับกฎของมนุษย์ที่ซ้อนกันอยู่ กฎของธรรมชาตินั้นแน่นอนเหตุผลก็คือการทำสวนเป็นเหตุ ความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล อันนี้ไม่มีใครจะเถียงได้เลย ทีนี้กฎของมนุษย์ก็คือการทำสวนเป็นเหตุการณ์ได้เงินเดือนห้าพันบาทเป็นผล อันนี้เป็นกฎของมนุษย์ กฎของมนุษย์นี่อาศัยตั้งอยู่ฐานของสิ่งที่เรียกว่าสมมติ สมมติคืออะไร สมมตินั้นเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในสังคมมนุษย์เลย ไม่ใช่สิ่งเหลวไหลนะสมมติเนี่ย ในภาษาไทยนี่นำมาใช้ไม่ค่อยถูกต้อง สมมติแปลว่าอะไร สมมติมาจากคำว่า สัง บวก มติ มติแปลว่าการยอมรับหรือข้อตกลง การรู้ร่วมกัน สังแปลว่าร่วมกัน ฉนั้นสังมติรวมเป็นสมมติ หรือสมมติ แปลว่าการยอมรับร่วมกันหรือการตกลงร่วมกัน ทีนี้กฎของมนุษย์นั้นตั้งอยู่บนฐานของการยอมรับร่วมกัน เมื่อมนุษย์ตกลงร่วมกัน ยอมรับร่วมกันว่าคุณมาทำสวนเดือนหนึ่งนะ ฉันจะให้เงินเดือนห้าพันบาท กฎก็เกิดขึ้น แต่ว่ากฎนี้ต้องอาศัยการยอมรับร่วมกัน ถ้าการยอมรับร่วมกันหายไปเมื่อไร กฎนี้หายเหมือนกัน ใช่มั๊ย คุณมาทำสวนเดือนหนึ่ง แต่ฉันไม่ยอมรับข้อตกลงอันนี้ ตกลงว่าไม่ได้เงินเดือนใช่มั๊ย ฉะนั้นต้องมีการยอมรับร่วมกัน จึงมีสมมติอยู่ ถ้าไม่มีสมมติ กฎมนุษย์ก็หายไป ฉะนั้นในสังคมมนุษย์เนี่ยอาศัยสมมติเป็นฐานของกฎเกณฑ์ต่างๆ กติกาสังคมเพราะฉะนั้นเรามีสองอย่าง คือกฎธรรมชาติกับกฎมนุษย์ ทีนี้มนุษย์ถ้าไม่รู้ตัวนะจะลืมกฎธรรมชาติแล้วหลงติดอยู่กับกฎระดับสมมติ คือกฎมนุษย์ แล้วทางพระท่านเรียกว่าหลงสมมติ ถ้ามนุษย์หลงสมมติเมื่อไร ไม่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ นั้นคือความผิดพลาดทั้งชีวิตและสังคมจะต้องเกิดความวิปริตผันแปร ยุ่งไปหมดเลย ความเสื่อมในชีวิตจิตใจ ความเสื่อมในสังคม เกิดจากการที่มนุษย์เข้าไม่ถึงความจริงแท้ที่เป็นฐานของกฎมนุษย์อีกทีหนึ่ง ที่จริงที่เราจะวางกฎมนุษย์นั้น เพราะว่ามันมีฐานของความจริงในกฎธรรมชาติอยู่ก่อน ถ้าไม่มีอันนี้แล้วกฎมนุษย์ไม่มีความหมาย ทำไมเราจึงวางกฎมนุษย์ที่ว่าให้ทำงานทำสวนหนึ่งเดือน แล้วได้เงินเดือนห้าพันบาท ก็เพราะว่าเรามีความต้องการตามกฎธรรมชาติใช่หรือเปล่า เราต้องการให้มีต้นไม้เจริญงอกงาม ให้สวนเจริญงอกงาม สวนรื่นรมย์ เราก็เลยใช้ระบบของมนุษย์ ความสามารถของมนุษย์ ที่ท่านเรียกว่าการจัดตั้ง การวางระบบแบบแผนในสังคมมนุษย์เป็นอารยธรรม ก็คือเพื่อให้ได้ผลตามกฎธรรมชาติ เราวางกฎมนุษย์ซ้อนขึ้นมา แล้วการปฏิบัติตามกฎมนุษย์ก็โยงไปหาตัวผลตามกฎธรรมชาติ ทำให้เราได้ผลตามกฎธรรมชาติด้วย แต่สิ่งที่เราต้องการแท้คือผลตามกฎธรรมชาตินะ ฉะนั้นตกลงที่เราจ้างคนมาทำสวนหนึ่งเดือนให้เงินเดือนห้าพันบาทนั้น สิ่งที่เราต้องการแท้คือเราต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ ต่อนี้ถ้าเราไม่ลืมกฎนี้นะ กฎธรรมชาติคือความจริงแท้ เราไม่พลาดหมายความว่าสมมตินี้เรารู้ทัน การที่หยั่งรู้ หยั่งรู้ตระหนักรู้ถึงความจริงในกฎธรรมชาติอยู่ไม่ลืมมัน ท่านเรียกว่ารู้ทันสมมติ ฉะนั้นเราจะใช้สมมติอย่างฉลาดและเป็นประโยชน์ที่แท้จริง สมมตินั้นก็เกิดผลเลย ฉะนั้นเราก็จ้างคนมาทำงาน ได้เงินเดือนให้เขาห้าพันบาท สวนของเราเจริญงอกงามด้วย ทีนี้ตัวคนทำงานหล่ะ ตัวคนทำงานก็จะต้องมีเรื่องนี้ด้วย ต้องมีการที่เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ ถ้าหากว่าเขาต้องการผลแค่กฎมนุษย์ เขาทำงานทำสวนด้วยต้องการเงินเดือนห้าพันบาท จะเกิดอะไรขึ้น เขาต้องการผลตามกฎมนุษย์เท่านั้น แล้วเขาไม่ได้คำนึงถึงตัวความเจริญงอกงามของต้นไม้คือเขาไม่ได้ต้องการ เขาไม่รักต้นไม้ เขาไม่ได้ต้องการความเจริญของต้นไม้ ไม่ต้องการความสวยงามรื่นรมย์ของสวน แล้วอะไรจะเกิดขึ้น อันนี้ก็คือว่าความมุ่งหวังเขาจะอยู่ที่ผลตอบแทนตามกฎของมนุษย์ที่เรียกว่าเงื่อนไข ก็คือต้องการเงินห้าพันบาทนั้นเท่านั้น ทีนี้ผลมันไม่ได้เกิดจากตัวงานที่เป็นเหตุโดยตรง เพราะว่าเป็นผลโดยสมมติเท่านั้น เพราะฉะนั้นการทำสวนมันไม่ได้ทำให้เกิดเงินทอง เพราะฉนั้นสิ่งที่เขาต้องการมันไม่เกิดจากการทำสวนโดยตรง เพราะฉะนั้นเขาไม่ต้องการทำสวน ทีนี้มันจะเกิดอะไรขึ้น ก็คือว่าเขาทำสวนเพียงเพื่อเพราะเป็นเงื่อนไขที่จะให้ได้เงิน เมื่อเป็นเพียงเงื่อนไขเขาก็จำใจทำ เขาก็ไม่เต็มใจทำ เขาไม่เต็มใจทำก็ไม่ตั้งใจทำ ไม่เต็มใจทำไม่ตั้งใจทำ งานก็ไม่ได้ผล จิตใจเขาก็ไม่เป็นสุข ถูกมั๊ย คนเราไม่เต็มใจนี่ตัวเองไม่มีความสุขละ ทำใจทำด้วยความฝืนใจ มีความทุกข์ในการทำ แล้วทีนี้ในเมื่อไม่เต็มใจทำ มันก็ไม่ตั้งใจ เมื่อไม่ตั้งใจทำมันก็ทำไม่ได้ดี มันก็งานก็ไม่ได้ผล คราวนี้ก็ต้องตั้งระบบควบคุมสิใช่มั๊ย เอาหละสิทีนี้ ในคนสวนแกไม่ได้ทำด้วยอยากทำสวนนี่ เราก็ต้องตั้งระบบการควบคุม มีคนคุม ไอ้คนคุมนั้นเค้าก็ไม่ได้ต้องการความเจริญงอกงามตามกฎธรรมชาติ ผลที่ตรงตามกฎธรรมชาติไม่ได้ต้องการ ก็เป็นปัญหาอีกคุมกันเป็นขั้นขั้นไม่รู้กี่ขั้น จนในที่สุดคุมกันไปคุมกันมา ทั้งระบบหมดเลย พังหมดเลย ไม่ได้ผลเลย แก้ให้ตรงตามธรรมชาติ แก้นิดเดียว สำเร็จเลย ก็คือเข้าถึงกฎธรรมชาติ ถ้าคนทำสวนนั้นต้องการผลที่ตรงตามเหตุของธรรมชาติ คือผลที่ตรงตามกฎธรรมชาตินี้เป็นตัวแก้ปัญหา หมดไปทันทีเลย แก้ปัญหาทั้งชีวิตและสังคมเสร็จไปทีเดียว ก็คือว่าในคนทำสวนนั้น เขาเข้าถึงตัวเหตุผลตามกฎธรรมชาติ ก็คือเขารักต้นไม้ คนทำสวนนั้นต้องการความเจริญของต้นไม้เท่านี้เองใช่มั๊ย ถ้าเมื่อไรคนทำสวนนั้นต้องการผลที่ตรงตามเหตุในกฎธรรมชาติคือต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ ตอนนี้สบายใจได้เลย ไอ้เงินเดือนนั้นก็เป็นตัวประกอบไป แต่ว่าคนทำสวนนั้น แกจะเต็มใจทำสวนและตั้งใจทำ พอนี้แกจะดูว่าทำไงจะให้ต้นไม้งอกงาม พอต้นไม้งอกงามแกก็สมใจแกหนิ แกต้องการงั้น แกก็มีความสุขด้วย ตกลงว่าได้อะไรบ้าง หนึ่งเต็มใจทำ สองตั้งใจทำ สามตัวคนทำสวนเองมีความสุขในการทำงานนั้น มีความสุขโดยไม่ต้องรอเงินเดือน แหมเดือนหนึ่งจะมาถึงสักที เดือนหนึ่งจะได้ผลที่ต้องการ แย่แต่ละวันนี่ต้องรอ ต้องจำใจมีแต่ความทุกข์ ทำงานด้วยความทุกข์ แต่ถ้าต้องการผลตามเหตุ มีความสุขตลอดเวลา ทุกเวลาที่กระทำงานนั้น เพราะฉะนั้นตลอดเวลาที่แกทำสวนแกก็เห็นผลจากการทำงานของแก แกก็มีความสุข แกมีความชื่นชมไปรดน้ำต้นไม้ไว้ ไปพรวนดินไว้ที่ต้นไม้นี้ บำรุงไว้ พรุ่งนี้เห็นมันเจริญงอกงาม ใบมันแตก แหมชื่นชมมีปิติ อิ่มใจ มีความสุข มีความสุขอยู่เรื่อยเลยจากการทำงาน มันเป็นผลโดยตรงตามกฎธรรมชาติ มนุษย์ซื่อตรงตามกฎธรรมชาติแล้ว ได้ความสุขตลอดเวลา แล้วทีนี้พอตัวเองมีความสุขแบบนี้ ผลแก่สังคมเกิดแล้ว ก็คือว่าไอ้ที่เราไปจ้างเขามาทำสวนนั้น เราก็ได้ มหาวิทยาลัยก็ได้ผล สังคมก็ได้ผล ผู้คนก็ได้ชื่นชมความงามของต้นไม้ ความรื่นรมย์ของสวน สังคมก็ได้ ได้ตามวัตถุประสงค์ ได้หมดเลย ตอนนี้แหละมันกลมกลืนกันมันได้ทุกฝ่าย คือมันได้โดยไม่ขัดกัน ถ้าเราไปติดอยู่แค่ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินเป็นทอง มันขัดกันหมดเลย ชีวิตของเราก็แย่ สังคมก็แย่ ถ้าได้อย่างเดียวแล้วต้องรอนะเงินนี้กว่าจะได้ อย่างที่ว่าทำงานมีเวลาที่จะได้ความสุขจริงๆ อยู่ตอนวันจ่ายเงินเดือนเท่านั้นเอง วันนอกนั้นหละทุกข์เต็มทีเลย จำใจทำ ฉะนั้นคนที่ทำงานไม่เป็นนี่ก็คือไม่เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติ ก็หลอกตัวเองอยู่กับสมมติ เพราะฉนั้นเขาก็ไม่ได้ความสุข เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าทำงานเป็นถูกต้อง ต้องเข้าถึงความจริงที่แท้ แล้วอันนี้มันตรงไปตรงมาเพราะว่าไม่มีใครปฏิเสธอันนี้ได้ เพราะฉะนั้นทุกท่านลองสืบดู วิเคราะห์ดูเถิด งานทุกงานที่ท่านทำมันมีวัตถุประสงค์ตัวงานแท้แท้อันหนึ่ง แล้วก็มีวัตถุประสงค์ที่เป็นเรื่องของสมมติที่มนุษย์มาตั้งกันขึ้นอีกอย่างหนึ่งโดยเฉพาะก็คือเรื่องรายได้ผลประโยชน์ ถ้าเราไปติดอยู่แค่สมมติ เราจะลำบาก เราจะได้ความสุขอยู่ชั้นเดียว แต่ถ้าคนที่เข้าถึงความจริงของกฎธรรมชาติจะได้ความสุขสองชั้นและประโยชน์ต่างต่างจะมาประสานกันหมดเลย แล้วจะมีความสุขตลอดเวลา เพราะว่างานการบอกแล้วว่าเป็นส่วนใหญ่ของชีวิตของมนุษย์ เราต้องตั้งใจเลย เราจะต้องเอาดีให้ได้จากงานที่เราทำ เอาดีในการพัฒนาชีวิตของเรา เอาดีในแง่ความสุขด้วย เราต้องหาความสุขจากงานของเราให้ได้ ถ้าเราไม่สามารถมีความสุขจากการทำงานนั่นคือความพ่ายแพ้ของชีวิต เพราะอะไร เพราะเวลาเป็นส่วนใหญ่ของชีวิต เราก็มีความสุขอยู่นิดเดียวสิ เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตเราก็มีความทุกข์เท่านั้นใช่มั๊ย ถ้าเรามีความทุกข์อยู่ในเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต เสร็จแล้วเราจะมีความสุขอยู่ชั่วนิดเดียวเอง เพราะฉะนั้นตอนนี้เป็นเรื่องสำคัญมากจะต้องหาทางทำให้มีความสุขจากการทำงานให้ได้ อันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์การพัฒนาตัวเองและการแก้ปัญหา ตลอดจนความสำเร็จในการทำงานด้วย ถ้าคนที่บอกว่าประสบความสำเร็จในการทำงาน ทำงานได้เงินเดือนเยอะเยอะ ได้รายได้มากมาย แต่เสร็จแล้วไม่สามารถมีความสุขจากตัวงานที่แท้นี้ ซึ่งมันเป็นเวลาส่วนใหญ่ของชีวิตนี้ เค้าจะประสบความสำเร็จได้อย่างไรใช่มั๊ย มันไม่เรียกว่าประสบความสำเร็จ แต่ยังไม่จบเท่านี้นะความสำเร็จต้องว่ากันไปหลายชั้น อันนี้เป็นเพียงชั้นหนึ่งเท่านั้น อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งที่ควรจะพิจารณา ถ้าเราทำได้ถูกต้อง เราได้มากกว่านี้อีก เอาต่อลองดูต่อไปนี่เป็นองค์ประกอบหรือปัจจัยอันหนึ่งในการที่จะทำงานให้ได้ผล ที่ได้ทั้งผลงานและผลเงิน ได้ประโยชน์ต่างๆ ทั้งความสุขแบบต่างๆ หลายชนิดหลากหลาย ไม่ใช่ความสุขประเภทเดียวแล้วก็ได้แบบประสานกลมกลืนไม่ขัดแย้งกันด้วย เอาเราลองดูต่อไปอีก ที่อาตมาพูดไปเมื่อกี้นี้มันเป็นการพูดในแง่หนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าแรงจูงใจในการทำงาน คนเราทำอะไรทุกอย่างต้องมีแรงจูงใจ เราทำงานเรามีแรงจูงใจก็ลองพิจารณาดูว่าคนเรานี่ทำงานด้วยแรงจูงใจอะไรบ้าง อ้าวแรงจูงใจอันที่หนึ่งก็ย้อนไปหาคนที่พูดไว้แล้ว ที่ว่าคนเยอะทีเดียว ว่าทำด้วยแรงจูงใจคือต้องการได้ผลประโยชน์มากที่สุด ได้เงินมากที่สุด ทำงานต้องให้ได้เงิน ไม่ใช่ได้เฉยเฉยนะ ให้ได้มากที่สุด นี้คือแรงจูงใจอันดับหนึ่ง นี้สองก็คือ อีกคนหนึ่งว่าแรงจูงใจในการทำงานคือทำงานให้ตัวเรานี่ดีเด่นที่สุด ดีเด่นอาจจะเป็นเรื่องอำนาจ ความยิ่งใหญ่ หรือแม้แต่การชื่นชมไรต่อไร ให้ตัวเรานี่ยอด อันนี้ก็สองนะ สองนี่ก็เยอะนะ ทีนี้สามแรงจูงใจอีกแบบหนึ่งก็คือว่าทำให้งานนั้นเกิดผลดีที่สุด ทำงานนั้นให้ดีที่สุด สองกับสามที่แยกกันยากนะ บางคนแยกไม่ถูกเลย สับสน แล้วถ้าแยกไม่ถูก เกิดปัญหาทันทีเลย ทำงานให้ตัวเรานี่แน่ที่สุด เก่งที่สุดนี่แบบหนึ่ง หรือทำงานนั้นให้งานนั้นดีที่สุด เวลาเราจะทำงานอะไรทำให้มันดีที่สุดของมัน ให้งานนั้นเกิดประโยชน์ตามคุณค่าตามความมุ่งหมายของมันให้ดีที่สุด สามอย่างนี่แรงจูงใจของคน แบบที่สามนี่มักจะหาไม่ค่อยได้ ทำงานให้ดีที่สุด เวลาไปเกี่ยวข้องอะไรนี่ต้องฝึกเลย ถ้าฝึกแต่เด็กได้เป็นดีเลย ทำงานไรต้องทำให้มันดีที่สุด ให้มันดีที่สุดของมันนะ ไม่ใช่ให้เราดีที่สุด ทีนี้มันจะแยกไม่ได้ตรงนี้ อ้าวแรงจูงใจสามอย่างนี้ใช้ภาษาของพระ อันที่หนึ่งนี่ท่านเรียกว่าแรงจูงใจแบบตัณหา คือต้องการผลประโยชน์เช่นได้เงินทอง ซึ่งมีความมุ่งหมายไปเพื่ออะไร เพื่อให้ได้สิ่งเสพบริโภคสำหรับตนเอง บำรุงบำเรอความสุขของตนเอง ทีนี้สองทำงานเพื่อให้ตัวเราดีเด่นที่สุด ให้แน่ที่สุด ยอดที่สุด เก่งที่สุด ไรก็แล้วแต่ อันนี้ท่านเรียกว่าแรงจูงใจแบบมานะ มานะนี่ภาษาไทยใช้ผิดแล้วนะ ใช้ผิดเพราะว่าเราเอามาใช้เป็นแรงจูงใจในการกระตุ้นคนในทางที่ไม่ถูกต้อง ในสังคมไทยใช้ตัวมานะมาปลุกเร้าคนนานจนกระทั่งมานะกลายความหมาย มานะเดี๋ยวนี้ในภาษาไทยกลายความหมายเป็นความเพียรพยายาม แต่ที่จริงไม่ใช่ มานะแปลว่าความต้องการยิ่งใหญ่ ความต้องการยิ่งใหญ่ ต้องการอำนาจ ต้องการดีเด่นสำหรับตัว ทำไมกลายความหมายมาเป็นความเพียร อันนี้ขอนอกเรื่องนิดหนึ่งก็สันนิษฐานได้ว่าในสังคมไทยเรา ระยะหนึ่งเราได้มุ่งให้คนได้มาทำงานทำการเพื่อจะได้เป็นใหญ่เป็นโต ยุคหนึ่งเรียกว่าจะได้เป็นเจ้าคนนายคน ในตอนที่เราได้เริ่มการศึกษาแบบสมัยใหม่ระยะต้น เราได้สร้างค่านิยมระบบราชการ คือคนอยากจะมาเรียนศึกษาเพื่อจะเข้าสู่ระบบราชการ การเข้าสู่ระบบราชการก็เพื่อได้เป็นใหญ่เป็นโต ฉะนั้นแต่ก่อนนี่เราปลุกเร้าเด็กให้เพียรพยายามในการศึกษา เด็กไม่อยากเรียนก็ไปกระตุ้นเร้า บอกนี่นะหนูตั้งใจพากเพียรเล่าเรียนไปต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นเจ้าคนนายคนว่างั้น ทีนี้เพราะความอยากเป็นใหญ่เป็นโต เป็นเจ้าคนนายคนก็เลยขยันเรียนใหญ่ ไอ้ตัวเร้าก็เกิดจากแรงจูงใจที่อยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากมีตำแหน่งฐานะสูงก็เลยเพียรพยายามเรียน ตัวมานะนั้นคือต้องการความยิ่งใหญ่ ก็เป็นเหตุให้เพียรพยายาม เอามานะมาปลุกความเพียร ต่อมาตัวมานะกลายความหมายเป็นความเพียรไปเลย นี่คือสังคมไทย เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้ทันว่าเราใช้พลาดมาแล้ว ทีนี้สังคมไทยยุคที่ผ่านมานี่ชัดเลย ใครเรียนอะไรต้องการเข้าสู่ระบบราชการ ต้องการเป็นใหญ่เป็นโต พอมายุคนี้เปลี่ยนแล้ว มายุคนี้ชักไม่ต้องการระบบราชการเท่าไหร่ ต้องการผลประโยชน์เป็นใหญ่ รายได้สูงสูง เพราะฉะนั้นออกสู่ภาคเอกชนธุรกิจกันมากขึ้น ทีนี้ต้องการผลประโยชน์คือจะเรียนไรก็อันไหนจะให้ผลประโยชน์มากที่สุดใช่มั๊ย อันนี้ก็คือระบบอันที่หนึ่ง คืออะไร คือแรงจูงใจแบบอะไร