แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
และก็สองขั้นที่จะเอามาวิเคราะห์วิจารณ์อะไรก็แล้วแต่อีกขั้นนึง นี้เรามักจะมองข้าม โอ้ยวิจารณ์ได้เก่งอะไรต่างๆ ไม่ดูว่าข้อมูลนั่นถ่องแท้ถูกต้องหรือเปล่า ทีนี้ถ้าข้อมูลผิดพลาดหละพลาดละมันเสียหมดเลย การวิจารณ์นะ เหมือนพูดเรื่องแมวแล้วตัวเองไปจับเอาเป็นเรื่องเสือ การสันนิษฐาน วิจารณ์ก็คลาดเคลื่อนหมด และก็พูดเรื่องมะนาวแล้วตัวเองไปฟังเป็นมะพร้าวอย่างงี้ เจริญพร แล้วก็เอาไปพูดเรื่องมะพร้าวมันก็ไปคนละเรื่องหนะ ทีนี้ประเด็นของเรื่องของท่านเมตตานันโทเนี่ย มันเป็นประเด็นที่ข้อมูล ข้อมูลที่มันไม่ตรวจตราให้ถ่องแท้ จะด้วยเหตุอะไรก็ไม่ทราบแหละ อาตมาก็จะขอยกตัวอย่างซักสองสามอย่าง
ก็อันที่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นตัวที่ทำให้การสันนิษฐานนี่ไปไกล ก็คือที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์เจริญอิทธิบาทแล้วเนี่ย ถ้าต้องการก็จะอยู่ได้ตลอดกัปที่ไปทำเป็นภาษาอังกฤษว่า till the end of the world อะไรเนี่ย นะฮะ ไปจนกระทั่งว่าโลกแตก หรือสิ้นโลก อันนี้ในเมื่อไปมองอย่างนี้นะก็ทำให้มองว่าพระพุทธเจ้าแสดงพระองค์ว่า มีฤทธิ์เก่งกาจเหลือเกินอยู่ไปได้สิ้นโลก นี้พอคิดอย่างงี้แล้วมันก็ตีความไปกันใหญ่ อันนี้ก็เป็นจุดที่ว่าพอจับผิดแล้วก็ไปไกลเลย แล้วก็ข้อมูลก็ไม่ดูให้ถ่องแท้
พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่าพระองค์ พระองค์ตรัสว่า ยสฺส กสฺสจิ ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ใช่เฉพาะพระองค์ ผู้ใดก็ตามเนี่ยเจริญอิทธิบาท 4 ได้ดีแล้วเนี่ย ถ้าประสงค์ก็จะอยู่ได้ตลอดกัป ทีนี้ท่านก็ คัมภีร์ของเราเนี่ยจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ คำว่ากัปนี่มันมีความหมายหลายอย่าง ในที่นี้คืออายุกัป อายุกัปก็คือช่วงชีวิตของคนในยุคนั้น ซึ่งตามความหมายของยุคสมัยนั้นก็ประมาณ 100 ปี หมายความพระพุทธเจ้าจะอยู่ให้ตลอดร้อยปี ถ้าพระองค์จะต้องการ พระองค์เจริญอิทธิบาทก็ทำได้
งั้นก็เป็นอันว่าหนึ่ง ความหมายของคำว่ากัปเนี่ย ก็จับผิด ก็ถือว่าข้อมูลผิด แล้วก็สองก็คือว่า ข้อมูลเหมือนกัน คือว่าความไม่รอบคอบไม่ตรวจตราให้ดี คือไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ๆก็บอกฉันนี่นะเก่งอยู่ได้ตลอดกัปเลย พระองค์ตรัส ใครก็ตามที่บำเพ็ญอิทธิบาท 4 เนี่ยก็เป็นหลักธรรมข้อปฏิบัติสำหรับคนทุกคน นี่ก็ตัวอย่างอันหนึ่งที่ทำให้พลาด และอย่างต่อไปก็อย่างอีกอันนึง ก็ท่านบอกว่าพระพุทธเจ้าต้องปรินิพพานในตัวเมืองกุสินารา พระอานนท์เนี่ยไปจับไอ้อะไร ไม้กลอนหัวสิงห์ ว่างั้น แล้วต้องเป็นอาคารอยู่ในเมือง เขาอาจจะไปคิดว่า โอ๋ย ไอ้ไม้หัวสิงห์นี่เป็นวัตถุ อาจจะเป็นศิลปะ หรืออะไรอย่างดี จะต้องเป็นอาคารใหญ่ๆสำคัญ หรือว่าอาคารผู้มีเงิน หรือไงอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าท่านก็สรุปว่าต้องเป็นอาคารที่อยู่ในเมือง
แล้วก็ทีนี้ท่านก็หนึ่งก็ผิดแล้วหัวสิงห์ มันก็ชัดๆอยู่แล้วมันหัวลิง นะฮะ คือศัพท์บาลีนั่นยิ่งชัดเป็น กปิสีสัง กปิสีสัง ก็หัวลิง กปิ ก็ กะบี่ กะบี่วานรผ่อนพักกายา นะฮะ กะบี่นะ กะบี่ก็แปลมาจากบาลีว่า กปิ กปิก็แปลว่าลิง กปิสีสังก็ไม้หัวลิง ทีนี้ไม้หัวลิงเนี่ย เราจะเห็นได้ชัดว่าในพระวินัยเนี่ยมีบัญญัติไว้ ในพระวินัยปิฎกนั้นมีบัญญัติไว้ตั้งหลายแห่ง เรื่องสิ่งก่อสร้าง เรือนพัก แม้แต่ ขออภัย ส้วมของพระเนี่ยที่สร้างขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็มีพุทธานุญาตว่าให้มีอุปกรณ์ดังนี้ดังนี้ดังนี้ ก็ในบรรดาอุปกรณ์เหล่านั้นก็มีไอ้กปิสีสัง ไม้หัวลิงนี้ด้วย คือไม้กลอนชนิดเนี้ย แสดงว่าเป็นไม้กลอนที่มีในสิ่งก่อสร้างง่ายๆ แม้แต่สิ่งก่อสร้างในวัด แม้แต่ส้วม นะฮะ ก็เรื่องของวัดที่อยู่ของพระมันก็ง่ายๆอยู่แล้ว เจริญพร
นั้นมันก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะต้องไปสันนิษฐานอะไรไกล เพราะฉะนั้นก็ตัวศัพท์นี่มันผิดชัดๆเลย ใช่มั้ย หัวสิงห์ หัวลิง มันก็ไปแล้ว ก็อาจจะอ่านผ่านๆไปทั้งๆที่ตัว อาจจะไปอ่านพระไตรปิฎกภาษาไทย พระไตรปิฎกภาษาไทยก็ต้องบอกว่าหัวลิง ทีนี้ท่านอาจจะอ่านเผินๆไป ใช่มั้ย ก็ใจไปนึกเป็นหัวสิงห์ก็เลยคือว่า มันมีไอ้อะไรต่างๆในเมืองไทยเยอะไปไอ้ที่หัวสิงห์ ไม่เคยได้ยินหัวลิงนะฮะ ก็เลยอ่านปั๊บก็ไป ใจไปนึกหัวสิงห์ ก็เป็นหัวสิงห์ไปเลย
ก็แสดงว่าหนึ่งก็ดูคำไทยไม่ชัด เพราะพระไตรปิฎกแปลไทยก็คงไม่พิมพ์ผิดเป็นหัวสิงห์ สองก็คือไม่ได้ตรวจบาลี บาลีนั้นแน่นอน กปิสีสัง และสามก็คือ ไม่ได้ดู ไม่ได้ตรวจสอบว่าไอ้ไม้กลอนพันนี้หนะ มันมีความเป็นมาอย่างไร มีการใช้อย่างไรในยุคสมัยนั้น ในพระไตรปิฎกมีที่อื่นหรือเปล่า นี้การตรวจสอบข้อมูลต้องให้ถ่องแท้ ไม่ใช่เราจะอยู่ๆจะไปสันนิษฐาน นี่อยู่ๆก็ปั๊บก็เอาเลยบอกว่าเนี่ยพระพุทธเจ้าต้องปรินิพพานในตัวเมือง เพราะจากการที่มีข้อมูลที่มันผิดพลาดเนี่ย การสันนิษฐานเนี่ยก็ผิด อย่างในกรณีนี้ก็คล้ายๆกับว่า เขาพูดมะนาวเอาเป็นมะพร้าว อะไรเป็นอย่างงั้น มันก็ตีความ สันนิษฐานเป็นคนละเรื่องไป
หรืออย่างอีกตอนที่พระพุทธเจ้า เสด็จพุทธดำเนินมายังที่ปรินิพพาน ตอนนั้นก็มี ตอนหนึ่งที่ว่าพระอานนท์ปูผ้าสังฆาฏิซ้อน 4 ชั้น ท่านก็บอกว่า โอ้เนี่ย พระพุทธเจ้าต้องประทับนอนไม่ไหวแล้ว ถึงให้พระอานนท์ได้ปูสังฆาฏิ 4 ชั้น ท่านก็ไม่ได้ไปตรวจดูว่า เออ ในพระไตรปิฎก มีการใช้การปูสังฆาฏิ 4 ชั้นที่อื่นอีกมั้ยในกรณีอย่างไร พระในสมัยนั้นมีชีวิตอย่างไร เราไปดูในพระไตรปิฎกที่อื่นเล่มอื่นก็มี พระเถระองค์อื่นไม่ต้องพระพุทธเจ้า ก็ไปปูนั่ง สังฆาฏิปู 4 ชั้น นั่งก็ได้ นอนก็ได้ ถ้าปูนั่งก็มี และในกรณีของพระพุทธเจ้าคราวนั้น พระองค์ก็ปูนั่ง นี้ท่านไปสันนิษฐานว่า อู้ นี่ไม่ได้ พระพุทธเจ้าไปไม่ไหว ต้องนอนแน่ ว่าอย่างงั้น ก็กลายเป็นคิดเอาเอง
แล้วก็นอกจากนั้นก็คือว่า เพราะท่านไปสันนิษฐานเอาว่าต้องเป็นโรคนี้ไปไม่ไหวแล้วแน่ ไอ้ข้อมูลตอนที่จะเอาว่าตอนที่พระพุทธเจ้าประชวร อาพาธอย่างเงี้ย ท่านก็เอาข้อมูลในนั้นหนะ แล้วก็จับว่าต้องเป็นอย่างงั้น พอท่านจับ สันนิษฐานว่าต้องเป็นอย่างงี้แล้ว ข้อมูลต่อจากนั้นที่ขัดท่านบอกว่า แต่งใหม่ อ้าว ก็ทำไมไม่ปฏิบัติต่อข้อมูลเหล่านั้นซึ่งมาจากที่มาเดียวกันให้สม่ำเสมอ ถ้าอย่างงั้นข้อมูลข้างหลังนั้น ถ้าถูก ข้อมูลต้นที่ท่านเอามาสันนิษฐานก็แต่ง ใช่มั้ย ก็ตีความกลับกัน ถ้าเราซื่อสัตย์เราก็ต้องเอาตามนั้น ข้อมูลในพระไตรปิฎกนะฮะ ท่านบอกว่าพระพุทธเจ้าเนี่ย ตอนนั้นหนะไม่ไหวแล้ว เดินไม่ได้แล้ว พระสาวกนี่ต้องไปหาคานหามมาหามพระองค์ซึ่งก็ไม่มีในนั้นเลย ใช่มั้ยฮะ ท่านก็ว่าของท่านไป
แต่นี้ในนั้นหนะ พระพุทธเจ้าเมื่อประทับที่ว่า ปูสังฆาฏิ 4 ชั้น จตุคฺคุณํ สงฺฆาฏึ ก็ประทับนั่ง แล้วยังสนทนากับนายปุกกุสะซึ่งเดินทางมาพบนะฮะ ก็เลยได้สนทนาธรรมกันอีก นั่งสนทนาด้วย แล้วต่อมาพระองค์ไปถึงอีกแม่น้ำนึง ก็ยังเสด็จลงสรงในแม่น้ำด้วยนะฮะ จะไปคานหามยังไง ใช่มั้ย ก็ยังเดินทางอยู่ ก็ดูแล้วก็คือว่า ข้อมูลมันไม่เป็นไปตามนั้น หรือว่าถ้าตัวไม่เชื่อต้องอ้างข้อเหตุผล ต้องบอกมาว่า เออ ข้อมูลในมหาปรินิพพานสูตรนั้น ตอนนี้ว่าอย่างงี้ ว่าอย่างงี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเพราะอย่างงี้ต้องว่าไปใช่มั้ยฮะ ไม่ใช่ว่าข้ามไปซะ อันไหนตัวไม่เอา ไม่เห็นด้วย ข้ามไป นะฮะ แล้วบอกว่าตอนนั้นแต่งมาใหม่
หรืออย่างเรื่องพระสารีบุตรก็เหมือนกัน บอกว่าพระสูตรตอนอื่นบอกว่า พระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว นี้คือการนำเสนอที่คลุมเครือ การนำเสนอข้อมูลเนี่ย นักวิชาการจะต้องมีความชัดเจนนะฮะ ถ้าบอกว่าพระสูตรตอนอื่น พระสูตรตอนอื่นนี่คือที่ไหน และคำพูดไม่ชัด คำว่าพระสูตรตอนอื่น คนอาจจะนึกว่า เอ้อ มหาปรินิพพานสูตรนี้แหละ ตอนอื่น มันไม่ใช่พระสูตร มหาปรินิพพานสูตรมีกล่าวถึงพระสารีบุตรครั้งเดียวตรงนั้นเท่านั้น นี่คำว่าพระสูตรตอนอื่นของท่านเราก็ต้องไปตีความช่วยท่าน เพราะท่านหมายถึงพระสุตตันตปิฎก พระสูตรทั้งหมด ทั้ง 25 เล่มหนะ ตอนอื่นคือเล่มอื่น ที่อื่น ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว
อ้าว ก็ไม่มีที่ไหนว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้วก่อนตรงนี้ เพราะว่าในเล่ม 19 เนี่ยจะกล่าวถึงเรื่องพระพุทธเจ้า ปรารภการปรินิพพานของพระสารีบุตร โมคัลลานะ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้บอกว่าเป็นเหตุการณ์ก่อนอันนี้ ซึ่งก็แบบที่อาตมาพูดไปแล้ว อธิบายเรื่องพระไตรปิฎกว่าพระสูตรนั้นเป็นเรื่องที่แล้วแต่ว่าพระพุทธเจ้าไปทรงแสดงปาฐกถาธรรมแก่ใคร ปรารภเหตุใด มันก็ขึ้นมาเฉพาะตอนนั้น ซึ่งบางทีเราสันนิษฐานเรามองไม่ออกว่าอันไหนก่อนอันไหน นี้ท่านจะไปบอกว่าด้วยเหตุที่ไปในอยู่ที่อื่นท่านอ่านมาก่อน แล้วท่านก็บอกว่า พระสูตรตอนอื่นบอกว่าปรินิพพานไปแล้ว มันไม่ได้ ใช่มั้ยฮะ ก็พระสูตรตอนนั้นได้แต่บอกว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นั่น ปรารภการปรินิพพานของพระสารีบุตรและโมคัลลานะ ว่าพระสารีบุตร โมคัลลานะปรินิพพาน ท่านก็ไม่ได้เอาศีล สมาธิ ปัญญา ไปด้วย เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลายก็ยังมีศีล สมาธิ ปัญญาอยู่นะ ก็ให้ปฏิบัติพึ่งตนเองอะไรอย่างเงี้ย ทีนี้ในพระสูตรนั้นซึ่งอยู่ในเล่ม 19 เนี่ยก็ปรารภอย่างนี้ และที่ประทับนั้นก็อยู่ที่เวสาลี อยู่ที่ริมแม่น้ำคงคา ชื่อตำบลว่า อุกกเจลา หรือบางฉบับเป็นอุกกเวลา ของเราเป็นอุกกเวลา บางฉบับเป็นอุกกเจลาเนี่ย นี้ก็อยู่ในเขตเวสาลี
ทีนี้จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาจากราชคฤห์ มานาลันทา แล้วจึงมาเวสาลี อ้า พบพระสารีบุตรที่นาลันทา ก็พบก่อนใช่มั้ย ก่อนที่มาปรารภปรินิพพาน พระสารีบุตรที่เวสาลีนี้ได้ ถ้าพูดตามนี้นะ ถ้าเราจะมาจับ มันก็กลาย เป็นไปได้ที่ว่า พระพุทธเจ้าปรารภการปรินิพพานของพระสารีบุตรทีหลังจากนั้นจากที่พบใช่มั้ย เมื่อหลังจากพบแล้ว พระสารีบุตรปรินิพพานแล้วจึงมาที่เวสาลีแล้วจึงตรัสเรื่องนี้ นั้นก็ไม่มีเหตุผลที่ท่านจะมาตรัส ที่จะมาบอกว่า พระสูตรตอนอื่นบอกว่าพระสารีบุตรปรินิพพานไปแล้ว ท่านเลยหาว่าพระที่รวบรวมพระไตรปิฎกเนี่ยฟั่นเฟือนว่าอย่างงั้น ท่านเขียนอย่างงั้นเลย ก็เลยกลายเป็นว่าไปกันใหญ่ ก็อันนี้ก็กลายเป็นว่าเป็นเพราะความไม่รอบคอบ อันนี้แหละคือตัวจริยธรรมทางวิชาการ อยู่ที่ตรงนี้เลย อย่าไปว่าคนอื่นเขาว่าแรงว่าเริงเลย เพราะตัวเองนำเสนออย่างเงี้ยทำให้คนเข้าใจผิด ก็ทำให้คนเข้าใจผิดหลงผิดนี่คือ เสียจริยธรรมทางวิชาการอย่างยิ่ง ไม่มีความรับผิดชอบ ก็จะว่าบาปก็คือบาปนั่นแหละ อันนี้มันก็แน่นอน เพราะใช้สำนวนพระก็คือบาป เจริญพร
หญิง ( 2 ) : สรุปแล้วเนี่ยการศึกษาพระอภิธรรมหรือพระไตรปิฎกเนี่ยจะช่วยให้หลงทางได้มากน้อยแค่ไหนค่ะ
ก็อยู่ที่จับผิดจับถูก เพราะอันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้ว บอกว่าเมื่อเรียนธรรมะของพระองค์ จับผิด เหมือนกับเลียนแบบ อลคัททูปม เลียนแบบว่ามีประมาณเหมือนจับงูที่หาง จับหางงูแล้วก็มันก็ตวัดฉกเอา เจริญพร
หญิง ( 2 ) : แล้วถ้าเรียนพระไตรปิฎกเนี่ยตรงส่วนไหนที่จะช่วยป้องกันหลงทางได้มากที่สุด โดยเฉพาะพระค่ะ เพราะดิฉันรู้สึกว่าพระวินัยน่าช่วยได้มากที่สุดจะจริงหรือเปล่าค่ะ
ก็มันก็ทั้งนั้นแหละ เจริญพร คือมันอยู่ที่การตั้งจิต วางทิฏฐิ เช่นว่าคนที่มีทิฏฐิจับของตัวมาเดิมอย่างหนึ่ง แล้วมาเรียนแล้วแกก็จะแปลอะไรต่ออะไรให้เข้าทิฏฐิกันไป คือมีทิฏฐิของตัวเองมาแล้ว
หญิง ( 2 ) : เพราะฉะนั้นการที่ปฏิบัติก่อนแล้วมาศึกษาปริยัติ มีหวังตอนปฏิบัติก็จับความเชื่อของตัวเองไปแล้วขั้นนึง ก็น่าจะเรียนปริยัติก่อนแล้วไปปฏิบัติ
คือในวิธีของพระพุทธเจ้าหนะทรงให้ คือทำไมพระพุทธเจ้าจึงให้มีกัลยาณมิตร แม้แต่พระพุทธเจ้าเองเป็นกัลยาณมิตร ก็เพราะว่าจะได้คอยตรวจคอยสอบคอยเช็คกัน คอยแก้กัน ทีนี้ ในกระบวนการเรียนศึกษาเพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิเนี่ย พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้หลายอย่าง มีการสอบถามมีการสากัจฉา มีการสนทนากัน นะฮะ มีการที่จะไปปฏิบัติไปพิจารณาคิดให้โยนิโสมนสิการ คือหมายความว่ามันเป็นกระบวนการมากกว่าที่จะลงไปว่าต้องทำอย่างงั้นอย่างงี้ คือ ระบบชีวิตด้วย
การที่พระพุทธเจ้าตั้งสงฆ์นี่ก็เพื่อให้มีบรรยากาศที่พระจะได้มาอยู่ร่วมกัน แล้วก็มีแนวทางความมุ่งหมายอย่างนี้เพื่อการศึกษา ก็จะได้มาเป็นกัลยาณมิตรแก่กัน มีการถกเถียงสนทนา อย่างในวัดในสมัยพุทธกาลเนี่ย ก็จะมีอุปัฏฐานศาลา อุปัฏฐานศาลาเนี่ยจะเป็นทั้งที่ฉัน ถ้าท่านใช้ในการฉันมันใช้ชั่วประเดี๋ยวเดียว แต่เวลานอกนั้นก็คือใช้เป็นที่ประชุม ก็เป็นที่เฝ้าพระพุทธเจ้า ทีนี้หลังฉันแล้วเนี่ย พระท่านจะมาเมื่อไหร่ก็ได้ มาที่อุปัฏฐานศาลาเนี่ย แล้วท่านก็อาจจะมาสนทนาธรรมกัน แล้วก็อาจจะแสดงธรรมให้กันฟัง
ก็จะมีเรื่องที่พระพุทธเจ้าไปตรัสที่อุปัฏฐานศาลาเนี่ยหลายครั้ง คือบางทีพระองค์เสด็จไป กำลังมีพระองค์หนึ่งแสดงธรรมให้เพื่อนพระภิกษุฟัง พระองค์ก็จะไม่รบกวนที่ประชุม พระองค์ก็จะไปหยุดยืนที่ประตู รอ แล้วก็ฟังไปด้วย แล้วพอฟังจบแล้ว พระองค์ก็จะเคาะประตู นะฮะ แล้วพระก็จะเปิด พระองค์ก็เข้าไป บางทีก็พระองค์ได้ทรงฟังแล้ว ก็อาจจะทรงยกย่องพระภิกษุที่ได้แสดงธรรมว่า เออ เธอแสดงธรรมได้ดีอะไรต่างๆ นี้บางครั้งพระองค์ไป พระกำลังคุยกันเรื่องไม่เป็นเรื่อง พระองค์ก็ไปตักเตือน นะฮะ ว่าคุยกันอย่างงี้ไม่เหมาะอะไรอย่างงี้ เจริญพร ก็มี นี่ก็เป็นบรรยากาศในวัดซึ่งจะเห็นว่าชีวิตในสมัยก่อน ในสมัยพุทธกาลเนี่ย ก็เป็นบรรยากาศแห่งการศึกษาแท้ๆ ชีวิตมันจะเต็มไปเรื่องของการศึกษา การเรียนรู้ นะฮะ การฝึกตน นะฮะ การเป็นกัลยาณมิตรแก่กัน อุปัชฌาอาจารย์ก็ทำหน้าที่ในฐานะท่านผู้มีประสบการณ์มากกว่า เรียนรู้มาก็มาแนะนำถ่ายทอดให้ แล้วก็บอกแนวทางนะฮะ แล้วก็สร้างบรรยากาศที่อยู่ร่วมกันนี้ให้มันเป็นไปในทางเดียวกันแล้ว เจริญพร
แล้วก็มีการศึกษา สนทนา มีการแสดงธรรมฟังกันอะไรต่างๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งเดี๋ยวนี้บรรยากาศเนี่ยไม่มีเหลือ แทบ แทบไม่มีเหลือ เพราะคำว่าอุปัฏฐานศาลามันก็หายไปแล้ว แต่ก็มีศาลาการเปรียญซึ่งแต่ก่อนก็ยังใช้เพื่อความหมายนี้บ้าง เพราะคำว่าการเปรียญนี้แสดงว่าเกี่ยวกับศึกษานี้เหมือนกัน และตอนหลังนี่ศาลาก็ใช้ไปในเรื่องอื่นๆหมด เจริญพร
หญิง ( 2 ) : ไม่ทราบจะขอเรียนถามเรื่องอื่น ท่านเจ้าคุณยังพอมีเวลามั้ยค่ะ
เจริญพร ไม่เป็นไร
หญิง ( 2 ) : ว่าคือเรื่องสติกับสมาธิฮ่ะ ถ้าฟังที่ท่าน อ่านหนังสือ แล้วก็ฟังท่านเจ้าคุณ ไม่ทราบเข้าใจถูกว่า สติที่ต่อเนื่องเนี่ยทำให้เกิดสมาธิ ไม่ทราบถูกมั้ย
เจริญพร ก็สติคือนี่เป็นตัวนำให้
หญิง ( 2 ) : นำให้เกิดสมาธิ
แต่ว่าเป็นคุณสมบัติคนละอย่างของจิต แต่ว่าเวลาเราจะฝึกสมาธินี่ เราจะอาศัยสติ เพราะฉะนั้นวิธีฝึกสมาธิ หลายอย่างจะใช้ชื่อว่าสติ เช่น อย่างอานาปานสติ แล้วบางทีก็ต่อด้วยอานาปานสติสมาธิ คือสมาธิที่เกิดขึ้นโดยการฝึกอานาปานสติเนี่ย โดยใช้อานาปานสติ
หญิง ( 2 ) : โดยใช้อานาปานสติ
เจริญพร
หญิง ( 2 ) : แล้วสมาธิเนี่ยถ้าเกิดขึ้น ถ้าไม่มีสติจะเกิดสมาธิเนี่ยได้มั้ยค่ะ
คือสติมันต้องอยู่นะ เจริญพร แม้แต่ขณะที่เกิดสมาธิแล้ว สติก็ยังอยู่
หญิง ( 2 ) : และที่ว่าสมาธิยิ่งเกิน และเป็นเดชสมาธิ และสติตามไม่ทัน เหมือนไม่มี balance กันอย่างงี้ มันเป็นยังไงฮะ ในความเข้าใจตรงนี้
เจริญพร สมาธิมันจะเสีย balance กับโน่น กับความเพียร จะเสียกับความเพียรมากกว่า คือ มันคู่กัน อินทรีย์ ตัวความเพียรกับตัวสมาธิเนี่ย สมาธิเป็นตัวที่สงบ นิ่ง มั่น แล้วพอสงบมันมีความโน้มเอียงจะเฉื่อย จะเฉื่อยชา ก็นิ่งนั่นแหละ ก็นิ่งมันก็ไปกันได้กับความเฉื่อย ทีนี้ท่านก็เลยบอกว่า สมาธิเนี่ยเป็นพวกเดียวกับ โกสัชชะ ความเกียจคร้าน อันนั้นจึงต้องให้ระวัง ต้องเอาวิริยะมาคานไว้ วิริยะก็คือความเพียร ความเป็นผู้ที่ใจแกล้วกล้า จะบุกจะเดินจะก้าวไปข้างหน้า ลักษณะของวิริยะเนี่ยจะก้าวไปเรื่อย แต่สมาธินี่พอสงบแล้วมันจะนิ่ง จะหยุด นั้นท่านก็เลยให้มีทั้งสมาธิและวิริยะเนี่ยเข้าคู่ สม่ำเสมอได้ดุลกัน พอได้ดุลกัน มันก็จะก้าวไปอย่างมั่นคง
หญิง ( 2 ) : ซึ่งวิริยะนั่นก็หมายถึงให้ฝึกสติต่ออย่างงั้น
อ๋อ ที่ได้สตินั่นเป็นตัวที่คอยตรวจเลย
หญิง ( 2 ) : คอยตรวจอยู่เลย
คอยระวังว่า สมาธิพอดีหรือเปล่า ถ้าสมาธิไม่พอดีก็จะได้แก้ สติก็เป็นคอย ตัวที่คอยตรวจตรา คอยเช็ค คอยตรวจเช็คนะ เจริญพร ก็ท่านเปรียบเหมือนอย่างนายประตู สติเนี่ยเหมือนนายประตู ใครจะเข้าจะออก ใครจะทำอะไรผิดจะถูกอะไรนี่นะฮะ มันคอยตื่นตัวระมัดระวัง ตรวจตรา สอดส่อง โดยทำงานคู่กับปัญญา สติมันจะมีนี่ว่า หนึ่ง เป็นตัวนำให้เกิดสมาธิ สอง ทำงานกับปัญญา เพราะฉะนั้น เราจะเห็นไอ้ลักษณะนี้อยู่เสมอ สตินำสมาธิเนี่ยก็จะเห็นได้ในการฝึกสมาธิทั้งหลายเนี่ย จะเอาสติมาจับก่อน เช่นว่า อานาปานสติ ก็สติกำหนดลมหายใจ จนกระทั่งจิตอยู่กับลมได้ก็สมาธิก็เกิด
แต่ตอนที่ยังกำหนดอยู่ก็เป็นสติ แล้วเมื่อสมาธิเกิด สติไม่ได้ให้หายไปไหน แต่ตัวเหมือนกับแฝงเร้นอยู่ นี้ท่านจะอุปมาโดยวิธีต่างๆเช่นอย่างที่ท่านพูดบ่อยๆว่า เหมือนอย่างเราจับเอาสัตว์ป่ามา เช่น วัวป่า มันยังพยศแล้วเอามาไว้ในบ้าน มันก็จะวิ่งเข้าป่าอยู่เรื่อยไป ก็วัวป่าตัวนี้ก็เหมือนกับจิตของคน จิตของคนที่มันไม่อยู่นิ่ง วอกแวก วิ่งพล่านไปนู่นไปนี่เรื่อย นี้จะทำไงจะฝึก ก็บอกว่าตอนแรกเนี่ยให้หาหลักมา เช่นต้นไม้ก็ได้ที่มันแข็งแรง ถ้าไม่มีต้นไม้ก็เอาหลักอะไรมาปักไว้ แล้วเสร็จแล้วก็เอาเชือกมาผูกเจ้าวัวพยศนี้กะหลัก
หลักนี้ก็คืออารมณ์ที่กำหนดเช่น อารมณ์กรรมฐาน เช่นลมหายใจ อย่างเงี้ยนะ เจริญพร เท่ากับหลัก คืออะไรก็ตามที่มาเป็นจุดกำหนดให้ แล้วก็เชือกก็คือสติ เชือกก็เป็นตัวดึงให้จิตของเราที่พยศเหมือนวัวป่าเนี่ย ไปไหนไม่ได้นะฮะ ดึงให้อยู่กะหลัก เพราะฉะนั้น เราก็จะกำหนดที่ว่าเอาสติกำหนดอารมณ์ไง อารมณ์กรรมฐาน ก็คือการที่เหมือนกะเอาเชือกดึงจิตไว้กับหลักเนี่ย หลักนั้นก็คืออารมณ์กรรมฐาน เชือกก็คือสติ วัวป่าก็คือจิต นี่ก็ดึงกันอยู่อย่างเงี้ย ไอ้เจ้าวัวพยศจะไปก็ไปไม่ได้นะฮะ วิ่งไปสุดก็กลับมา วิ่งไปก็กลับมา เวียนไปเวียนมา จนกระทั่งมันชักคลายพยศ พอคลายพยศในที่สุดมันมอบอยู่กับหลัก นิ่งอยู่
ตอนที่หมอบอยู่กับหลักเนี่ย คือ อาการของสมาธิ เพราะฉะนั้นการที่เราฝึกเราก็ใช้สติมาช่วยก่อน พอมันจิตมันสงบมันแน่ว มันอยู่ตัว มันไม่ดิ้นรนและ ตอนแรกนี่สติมันใช้กับสภาวะที่ดิ้นรน ใช่มั้ยโยม มันจะไปจะไปจะไป ดิ้นรนก็ต้องดึงกันไว้ เพราะฉะนั้น สติจึงมีลักษณะดึง ดึงตรึง เป็นอาการของการระลึกไว้ นึกไว้ อันนี้พอมันอยู่สงบแล้วก็ไม่ต้องดึง มันก็เป็นสมาธิ ก็แน่วแน่ แต่ไม่ได้หมายความสติจะหายไปไหน ให้สตินั้นก็คุมอยู่ตลอดนะฮะ ก็แฝงอยู่ ไม่ได้ทำหน้าที่เด่นออกมา ตอนนี้ตัวปรากฏเด่นก็คือสมาธิ
หรืออย่างเวลาเราเปรียบเทียบอีกอย่างนะง่ายๆ ก็เหมือนอย่างว่า ความแตกต่างระหว่างสติ สมาธิ นะฮะ เช่นอย่างเราจะดูลวดลายหรือตัวหนังสือ แล้วมีแผ่นป้ายอันนึงเป็นแผ่นผ้าหรือแผ่นป้ายที่เบา ทีนี้แผ่นผ้าหรือป้ายเนี่ย มันก็จะลอยไปตามลม แต่ไปไม่ได้เพราะว่าเชือกดึงอยู่ เชือกคือสติดึงอยู่ ได้ป้ายนี่ไปไม่ได้แต่เราก็สามารถอ่านหนังสือ นี้ถ้าหากว่าผ้า ตัวหนังสือ ลวดลาย เนี่ยมันใหญ่ ตาเรา ตาเราเนี่ยเปรียบเหมือนปัญญา ตาเราก็มองเห็นอ่านออก
แต่ทีนี้ถ้าหากว่าตัวหนังสือ หรือลวดลายนั้นมันเล็กจิ๋ว ตอนเนี้ยแกว่งนิดเดียวไม่เห็นเลย อ่านไม่ออก ดูไม่ได้ นี่คือว่าสติไม่พอแล้วตอนนี้ ถ้าหากว่าภาพนั้นใหญ่โตอะไรต่ออะไรเนี่ย สติพอ จะไหวอะไรนิดหน่อยไม่เป็นไร อ่านได้ แต่พอมันละเอียดมากนี้ ไหวนิดเดียวอ่านไม่ได้ สตินี่ดึงไว้ก็ไม่ไหว ต้องนิ่งสนิท ตอนนี้ต้องอาศัยสมาธิ เมื่อมันภาพเนี้ย ป้ายเนี้ย นิ่งสนิท แล้วเราก็อ่านลวดลาย ตัวหนังสือ เล็กๆน้อยๆได้ นี่คือ สมาธิ ความต่างระหว่างสติ สมาธิ เจริญพร
ชาย ( 2 ) : ผมสงสัยเรื่องของสตินะฮะ ทำไมต้องเป็นเรื่องของกุศลเท่านั้น ไม่มีมิจฉาสติ เพราะว่าในพระอภิธรรมเนี่ย สติมันอยู่ในโสภณเจตสิกซึ่งเป็นกุศลเท่านั้น ทำไมในฝ่ายอกุศลไม่มี อย่างเช่นคนที่เป็นคิดทางชั่ว ก็อาจจะมีสติในการคิด มีสมาธิในการคิด แต่ถ้าเขาทำความชั่วแล้ว กาย วาจา ใจ ครับ ผมก็เลยพอเห็นท่านอาจารย์ถาม ผมก็เลยขออนุญาตกราบเรียนถามบ้าง
อ๋อ สตินั่นเป็นกุศล คำว่ากุศลนั่นมักหมายความว่าเกื้อเอื้อต่อชีวิตจิตใจของเรา แต่ตัวเราจะนำไปใช้อะไรเป็นเรื่องของเรา สติเป็นกุศล แต่ไปใช้ผิดเรียกว่าเป็นมิจฉาสติ ไอ้คำว่ามิจฉาไม่ใช่คำว่าชั่ว แปลว่าใช้ผิด เพราะฉะนั้น มันจะเสียทั้งกระบวนก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าตั้งแต่ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ ไปตลอดจนมิจฉาสมาธิเลย ไอ้บางตัวในนั้นนะมันเป็นกุศลฝ่ายเดียวด้วยซ้ำ แต่ว่าใช้ผิด คือใช้ในเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่ว่ามันเกื้อกูลนะ แม้แต่ในการใช้ผิดเนี่ย มันเป็นตัวที่เกื้อกูลต่อชีวิตจิตใจ ทำให้ทำอะไรได้ผล ลองไม่มีสติสิ ใช่มั้ยทำอะไรไม่ได้ผล แม้แต่ทำความชั่วก็ทำไม่ได้ผลดีใช้มั้ยฮะ ทีนี้ถ้ามีสติและทำชั่ว ก็ทำได้ผลดี คือมันเอื้อเกื้อกูลต่อชีวิตจิตใจ ใช่มั้ย
อย่างปัญญาเนี่ยก็เป็นกุศลเหมือนกัน ใช่มั้ย เจริญพร แต่ใช้ผิด ใช้ในเรื่องไม่ดี เป็นอันว่าเป็นที่การใช้ผิด แต่ตัวมันก็ยังเป็นกุศลอยู่ตาม ก็ยังมีคุณสมบัติที่เอื้อเกื้อกูลอยู่ ก็เลยแทรกนิดนึงคือเรื่องอย่างที่คุณหมอถามเนี่ย เคยมีพระวัดป่าท่านถามอีกเรื่องนึง แต่เห็นว่าคล้ายๆกัน ถามนานแล้วหลายปีแล้ว เรื่องว่า เอ๊ะ วิจิกิจฉาความสงสัยก็ไม่ดี เป็นอกุศล เป็นนิวรณ์ อ้าว แล้วก็เลยทำให้เรา ไม่ได้ปัญญาสิ เพราะถ้าไม่สงสัยละก้อ ก็เลยไม่เรียนรู้อะไรต่างๆ นะฮะ สงสัยเนี่ยจะดี จะทำให้เราได้เรียนรู้ศึกษา อันนี้นี่แหละเป็นตัวอย่างคล้ายๆกับเมื่อกี้ คือไอ้ตัวมันหนะไม่ดี วิจิกิจฉาความคลางแคลงสงสัย มันก็เป็นตัวรบกวนจิตใจ ไม่เกื้อกูลต่อจิตใจ จิตใจไม่สบาย ไม่สงบอะไรต่างๆเหล่านี้
แต่มันมีแง่ที่มันไปดีสองอย่างเพราะมันเป็นอกุศลเราต้องแก้ แล้วแก้ เราก็ต้องสร้างปัญญาขึ้นมามันจะได้หายไป หนึ่งหละ แต่สองก็คืออกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล เพราะสงสัยก็เป็นเหตุให้เรา ไปหาความรู้ หาปัญญา เพื่อจะแก้สงสัยนี้ การใช้อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลนี่ก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ว่าอย่าลืมว่าไอ้ตัววิจิกิจฉาเนี่ย มันไม่ใช่ตัวที่ทำให้สำเร็จ ความมุ่งหมายที่ดีนะ ถ้าคนไม่มีไอ้ตัวพื้นใจคุณสมบัติอื่นอยู่แฝงอยู่นะ เช่นความใฝ่รู้เนี่ย แกก็สงสัยไปอย่างงั้นเอง จิตใจแกก็ไม่สบายแล้วก็อยู่นั่นแหละ ไม่ได้ไปไหน ไม่ได้ปัญญา
ทีนี้ไอ้เจ้าตัวความสงสัยเนี่ย สำหรับคนที่มีความใฝ่รู้อยู่ มันก็ไปเร่งรัดไอ้เจ้าตัวความใฝ่รู้ให้รีบหาทางแก้ข้อสงสัยอย่างงี้เรียกว่าเป็นปัจจัย คือตัวอกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล ทำให้กุศลเนี่ยเร่งทำงาน เจริญพร ก็เป็นดีไป แต่ว่า เราจะจับผิด ถ้าเราจะไปเอาอยู่แค่วิจิกิจฉาไม่ได้ ตัวที่สำคัญคือต้องสร้างความใฝ่รู้ไว้ ความใฝ่รู้เนี่ยจะเป็นตัวที่คอยทำหน้าที่ เมื่อมีอะไรสงสับปั๊บมันจะรับช่วงจากตัวความสงสัยเนี่ย มันได้รับการกระตุ้นจากความสงสัยให้มันเดินเลย ทำหน้าที่ก้าวหน้าไป เพราะฉะนั้นไอ้ตัวก้าวแท้คือความใฝ่รู้ แต่ว่าเรารู้จักใช้ประโยชน์จากความสงสัย ก็คือเอามันมาเป็นปัจจัยของกุศลไป
ชาย ( 4 ) : ครับก็อยากจะเรียนถามต่อเมื่อกี้ที่อาจารย์สุมาลีถามฮะ เรื่องของสติกับสมาธิ คือตามความเข้าใจของกระผมเนี่ยว่า สติ เมื่อมีสติเนี่ย สมาธิ จะประกอบด้วยเสมอ แต่ว่าสมาธิอาจจะเกิดขึ้นโดยไม่มีสติได้ ซึ่งอันนี้ก็ ถ้ามองในแง่ของแนวของการปฏิบัติ มีสอง สองแนวทางที่เรียกว่า สมถะกับวิปัสสนาเนี่ย และบางครั้งการเจริญสมถกรรมฐานเนี่ยจะทำไปโดย ก็คือมีแต่ฝึก แต่ฝึกสมาธิ แต่ว่าในวิปัสสนานั้นคือต้อง ต้องต้องปฏิบัติตามแนวของสติปัฏฐาน คือจะต้องอาศัยสติเป็นตัวนำ และก็อันนี้ก็ไปประกอบกับ เอ่อ เรื่องราวในสมัยพุทธกาลที่บอกว่า พระเทวทัตที่ออกมาออกบวชพร้อมกับเจ้าชายองค์อื่นเนี่ย องค์อื่นๆท่านปฏิบัติเจริญวิปัสสนา แต่ว่าพระเทวทัตเจริญสมถกรรมฐาน ก็เลยหลงทางแล้วก็มีสมาธิ มีอภิญญา แต่ก็ไม่สามารถที่จะทำลายกิเลสครับ อย่างนี้แสดงว่าสมาธิสามารถจะอยู่ได้โดยไม่มีสติ ถูกต้องหรือเปล่าครับ
คืออย่างนี้ เจริญพร คือการพูดถึงองค์ธรรมเนี่ย มันมีหนึ่งเป็นการพูดในแง่ตัวไหนมีบทบาทเด่นจึงพูดตัวนั้น นี่อย่างหนึ่ง สองก็คือระดับของการใช้ศัพท์ เช่นอย่างสมาธิเนี่ย ตัวศัพท์เดิมเขาเรียกเอกัคคตา มันมีอยู่กับจิตทุกขณะ เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก อ้าว ถ้าอย่างงั้นสมาธิก็มีตลอดเวลาละสิ ใช่มั้ย ทีนี้ถ้าสงวนไว้ใช้ว่าสมาธิเนี่ยต้องถึงในระดับอย่างงี้แล้วเรียกว่าสมาธิ อันนี้ก็การรู้จักแยกการใช้คำว่า จะใช้คำนั้นในระดับไหน
อันนี้สมาธิ เรื่องของสมถะเนี่ยก็อยู่ที่สมาธิ แล้วเอาสติมาเป็นตัวนำ เช่นว่า อานาปานสติ ตัวที่จะนำเข้าสู่สมาธิก็คือสติ ก็อย่างที่พูดเมื่อกี้ ในสมถะนั้นตัวเด่น ตัวเป้า คือ สมาธิ งั้นสมาธิเนี่ยจะประณีตยิ่งขึ้นหรือเราพูดว่าลึกยิ่งขึ้น แน่วสนิทยิ่งขึ้นทุกทีจนกระทั่งตัวองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเนี่ย ที่จะมาช่วยพยุงเนี่ยตัดออกไปหมดเลย เกือบหมด เหลืออุเบกขาในที่สุดเลย เหลืออุเบกขากับเอกัคคตา นี่นี้คือสมาธิระดับจตุตถฌานเลย เพราะฉะนั้นเราเน้นตัวเด่นคือสมาธิ แต่ไม่ใช่หมายความว่าตัวอื่นไม่อยู่ ตัวอื่นไม่มีบทบาทเด่นก็แฝงอยู่ เงียบ นี่ก็คือเรื่องของสมถะ
พอไปวิปัสสนานี่ ไอ้บทบาทของสมาธิเนี่ยเป็นเพียงพื้นรอง อาศัยเป็นพื้นทำงานทั้งนั้น แต่ตัวทำงานมาอยู่ที่สติแหละ และก็ปัญญา เพราะฉะนั้นสติกับปัญญา ปัญญานั้นชื่อว่าสัมปชัญญะก็มาเลย งั้นตอนนี้แหละ หนึ่งในสติปัฏฐาน ไอ้ตัวเด่นก็สติสัมปชัญญะตลอดไปเลย แล้วก็จะมีอาตาปี สัมปชาโน สติมา ความเพียรไปด้วย ถ้าไม่มีความเพียรไปประคองให้ก้าวไปมันก็ไม่ไป นั้นจะเห็นว่าตรงนี้ก็ชัด อาตาปี เนี่ยจะมาเด่นในวิปัสสนาด้วย ส่วนสมถะหนะอาจจะหายไปเลย นี่วิริยะ แกเพลินนะสมถะ เพราะแกสมาธิใช่มั้ยหนะ ได้ฌานแล้ว แกไม่เพียรแล้ว แกชอบอยู่สงบ ติดเพลินกับความสุขไปเลยเนี่ย
เพราะฉะนั้น สมถะเนี่ยมันจึงกลายเป็นว่าไปไปมามาจะต้องระวัง ก็มันก็ดีแต่ว่า พระพุทธเจ้า อ้อท่าน หลักท่านก็เลยเตือน อันนี้มีในวิสุทธิมรรคที่บอกว่า สมาธินั้นเป็นฝักฝ่ายแห่งโกสัชชะ คือความเกียจคร้าน เพราะฉะนั้น สมาธินี่เข้าพวกเดียวกับความเกียจคร้านต้องระวังนะฮะ ต้องระวังอย่าไปเพลินมันเชียวนะ แล้วมันจะเฉื่อย แล้วมันไม่อยากทำอะไรหละ มันเกิดมีความสุขมันติดเลย ทีนี้มันเพลิน มันไม่อยากทำอะไร นั่งหลบงาน นั่งหลบเรื่องราวต่างๆมานั่งสมาธิสบาย นี้ก็กลายเป็นตกอยู่ในความประมาทก็ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาวิริยะ ความเพียรนี้เข้ามาประกอบ
ทีนี้ ในวิปัสสนาเนี่ย สมาธิก็จะพูดแต่เพียงว่ามาเป็นพื้นให้ มาเป็นที่ทำงานให้จิตเป็น กัมมนียัง พอจิตเป็น กัมมนียัง เหมาะกับการใช้งาน แล้วตัวเด่นก็ อาตาปี สัมปชาโน สติมา มีความเพียรก้าวไป แล้วตัวทำงานคือสติกับสัมปชัญญะ สติกับปัญญา เรื่องมันเป็นอย่างงี้
ชาย ( 4 ) : ครับขอ 5 นาที พอดีเนื่องจากว่าไม่ค่อยมีโอกาสมากราบนมัสการท่านก็เป็นเวลาหลายปีมาก แต่ก็มีประเด็นที่ติดใจอยู่มาก ก็คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งน่าจะได้กราบเรียนถามกันในครั้งนี้ ครับ คือในเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งก็มาจากมรรคมีองค์ 8 นะฮะ แล้วก็ แต่ว่า ซึ่งก็มรรคมีองค์ 8 นี่ถือว่าเป็นทางเดียว แต่องค์ประกอบ 8 อย่าง แต่ว่าในปัจจุบันเนี่ย หรือว่าที่ผ่านมาในวงการพุทธศาสนาในประเทศไทย เท่าที่เห็นการสอนกันนี่ก็คือสอนว่า เมื่อศีลทำให้เกิดสม เมื่อมีศีลทำให้เกิดสมาธิ เมื่อมีสมาธิก็จะทำให้เกิดปัญญา ซึ่งเป็นการสอนแบบแยก แยกส่วน ไม่ ไม่อยู่ในเรื่องของมรรค ตรงนี้เนี่ยจะ ผมเองมีความเข้าใจว่าเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ อา การปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตของชาวพุทธเนี่ยก็จะผิดพลาด คือ แล้วก็เลยก็ทำให้ทิ้ง คือ มา มาเข้าใจเรื่องนี้ดีขึ้น เนี่ยเมื่อตอนที่ปฏิบัติเจริญสติปัฏฐานว่าเห็นว่า ถ้าจะหัดจะปฏิบัติให้ศีล สมาธิ ปัญญา รวมกันหรือว่ามรรคมีองค์ 8 รวมกันนั้น จะต้องเจริญสติปัฏฐาน 4 แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชาวพุทธในประเทศไทยไม่ได้เน้น เพราะอันนี้ก็เลยเป็นจุดหนึ่งหรือเปล่าที่จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ความ การปฏิบัติคลาดเคลื่อน เป็นความไม่เข้าใจในพุทธศาสนาแล้วก็อะไรต่างๆที่ตามมา ครับ ก็อยากจะกราบนมัสการขอความเห็น
เจริญพร คือ ที่ท่านจัดเป็นขั้นตอน ศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนกับว่าเป็นช่วงๆเนี่ย มันเป็นการจัดแบบหยาบๆ คล้ายว่า ช่วงศีลก็คือว่า องค์ประกอบด้านศีลเด่น ไม่ได้หมายความว่าอันอื่นไม่ดู ช่วงสมาธิก็คือช่วงที่ตัวฝ่ายจิตเด่น แต่ว่าฝ่ายศีลกับปัญญาก็อยู่ ช่วงปัญญาก็คือช่วงที่ปัญญาเนี่ยเด่น ทำหน้าที่เป็นตัวนำแท้ๆ ชัดเจน แต่ศีล สมาธิ ก็อยู่ ต้องไปด้วยกัน จะไปขาด ไปแยก อย่างนั้นไม่ได้ เจริญพร
แต่ทีนี้วิธีพูดเนี่ยจะมี 2 วิธี วิธีแยกเป็นขั้นตอนใหญ่ๆที่ว่าก็เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา คล้ายๆว่าคนเราเวลาจะฝึกเนี่ย ดูภายนอกเนี่ย ตอนแรกก็ฝึกกันที่ด้านพฤติกรรมภายนอก กาย วาจา ก่อน ให้มันคุมได้ ในระหว่างที่กำลังคุมกาย วาจา เนี่ย จิตมันก็ฝึกไปด้วย เพราะคนที่จะคุมกาย วาจา ได้เนี่ย จิตมันต้องมีความตั้งใจ ต้องมีความเข้มแข็ง ฝึกความเพียร ฝึกความอดทน ฝึกความตั้งใจ ฝีกให้อยู่ในคุณธรรม ให้มีเมตตากรุณา หรืออะไรเข้ามา ใช่มั้ย มันก็ฝึกไปด้วย ปัญญาก็ต้องคอยดู คอยพิจารณา คอยแก้ คอยปรับ ทำไปด้วยตลอดเวลา เพราะฉะนั้นที่จริงแล้วมันทำงานด้วยกัน ก็เป็นอันว่า แบบช่วงยาวไกลเนี่ยก็คือเอาบทบาทที่เด่นของตัวหยาบมาขึ้นต้น คือ ศีล พอไปอีกช่วงหนึ่งก็ตัวที่ปราณีตขึ้น แต่เป็นปานกลาง ก็สมาธิก็มาเด่น และไปสุดท้ายก็ปัญญาเด่น
แต่ในความเป็นจริงก็อย่างที่ว่ามันต้องทำงานไปด้วยกัน คือ ชีวิตจริงของเราเนี่ย ชีวิตของเราที่เป็นอยู่ตลอดเวลา มันก็เห็นๆอยู่เนี่ย มีพฤติกรรม กาย วาจา พร้อมกันนั้นไอ้ที่ออกพฤติกรรมกาย วาจา ก็มีจิตใจ มีความตั้งใจ มีความรู้สึกที่ว่ายังไงก็ทำให้แสดงออกมาอย่างงั้น ก็จิตใจก็มีตลอดเวลา แล้วปัญญาก็รู้รู้ว่าจะทำไง จะเคลื่อนไหวยังไง ที่ทำเพื่อความมุ่งหมายอะไรเนี่ย ปัญญาก็ทำตลอดเวลา นี่คือชีวิตจริงของเรา นั้นในความเป็นจริงก็ในเมื่ออย่างงี้ มันก็ต้องฝึกไปตามความเป็นจริงก็คือฝึกทั้งชีวิต ก็คือฝึกทั้งศีล สมาธิ ปัญญา อันนี้ต้องไปด้วยกัน อันนี้ท่านไปใช้ชื่อเหมือนกัน ทั้งสิกขา 3 แล้วก็ทั้งมรรค คือ มรรคมีองค์ 8 พอจัดประมวลก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา อ้าว ไตรสิกขา ก็ศีล สมาธิ ปัญญา มาบรรจบกันก็หมายความว่า มรรคมีองค์ 8 ก็ศีล สมาธิ ปัญญา ไตรสิกขา ก็ศีล สมาธิ ปัญญา อันเดียวกัน
ทำไมเป็นอย่างงั้น ก็เพราะว่า อันนี้ก็คือความจริงตามธรรมชาติ มนุษย์เราเนี่ยมีชีวิตอยู่ การที่เรามีชีวิตอยู่ การเคลื่อนไหว ความเป็นไปในชีวิตของเรา ก็คือการเจอประสบการณ์ใหม่ เจอสถานการณ์ใหม่ เราต้องคิดแก้ไขปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้นให้ดี ให้ได้ผลจะทำไงไงไง เราก็มีการฝึกตัวเองไปเรื่อยๆ ทีนี้ชีวิตที่ดีก็คือชีวิตที่เรียนรู้สถานการณ์ใหม่ ประสบการณ์ใหม่ ปฏิบัติต่อสถานการณ์ใหม่ได้ดี ได้ผล ทั้งจิต ทั้งกาย วาจา ทั้งจิตใจ ทั้งปัญญา พัฒนาไปด้วยกัน เพื่อปฏิบัติต่อสถานการณ์ใหม่ ปัญหาใหม่ สิ่งที่ประสบใหม่ได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นไอ้ชีวิตที่ดีดำเนินไป ก็คือสิกขาก็ดำเนินไปด้วย
นั้นชีวิตที่ดีก็คือเป็นชีวิตแห่งการศึกษา เมื่อเป็นมีชีวิตแห่งการศึกษา เรียนรู้ไป ฝึกตัวเองไป ก็เป็นชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้นสิกขาก็เป็นชีวิตนั่นนะฮะ การศึกษาก็เป็นชีวิต ชีวิตก็เป็นการศึกษา นะชีวิตมันไม่ได้อยู่นิ่ง เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนาเนี่ยก็สอนมาแต่เก่าที่สุดที่ว่า ชีวิตคือการเรียนรู้ หรือชีวิตคือการศึกษา หรือการศึกษาตลอดชีวิตอะไรก็แล้วแต่เนี่ยมันเป็นของเดิมในพุทธศาสนา งั้นตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ก็ยังต้องศึกษาเรื่อยไป เรียกว่าเป็น เสขะ พระไม่ว่าจะบวชอายุเจ็ดแปดสิบพรรษา อายุร้อยปี ถ้ายังไม่เป็นพระอรหันต์ก็ยังต้องศึกษา ต้องฝึกตน เจริญพร
เนี่ยก็ เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าสามส่วน ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องไปด้วยกันตลอด เพราะนี่คือชีวิตของเรา ที่มี 3 ด้าน ด้านพฤติกรรม กาย วาจา และก็การสื่อสารกับโลกภายนอก ทั้งตา หู จมูก ลิ้น พระพุทธเจ้าจะเน้นเรื่องเนี้ย ศีลก็เรื่องการใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย รับรู้สิ่งแวดล้อม และก็การเคลื่อนไหวกาย วาจา นะฮะ แล้วก็การเสพบริโภคปัจจัยสี่ อะไรต่างๆดำเนินชีวิตทั้งหมด ด้านภายนอก เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ฝึกไปเรียกว่าศีล นี้เรื่องของเบื้องหลังไอ้ที่จะมาแสดงพฤติกรรม กาย วาจา รับรู้ดูเห็นอย่างไรก็อยู่ที่จิตใจมีคุณภาพอย่างไร มีแรงจูงใจอย่างไร ตั้งใจออกมาอย่างนั้น ก็เคลื่อนไหวบังคับพฤติกรรมให้เป็นไปตามนั้น นี่ก็ด้านจิตใจก็เป็นไปตลอดเวลา
และทีนี้ก็ความรู้ไปเท่าไหนก็ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวตามพฤติกรรมกาย วาจา ได้ในขอบเขตเท่านั้น ปัญญามาเพิ่มขึ้นก็ขยายขอบเขต ขยายออกไป ชี้นำบอกทางใหม่ปรับแก้ พัฒนาให้ดีขึ้น และก็ทำให้เป็นอิสระ ตกลงก็ไปด้วยกันแน่นอนเลย และก็ต้องย้ำอันนี้ งั้นตอนนี้ก็จะมีพูดว่าต้องฝึก ฝึกศีล สมาธิ ปัญญา ไปด้วยกัน เช่นอย่างนักเรียน อาจจะเป็นหมู่ก็ได้ เวลาจะทำกิจกรรมอะไรปั๊บ อ้าวมาพิจารณากันก่อน คือพร้อมแล้วนะ จะดำเนินกิจกรรมนี้ เอ้า ตรวจสอบ หนึ่ง ในแง่พฤติกรรม สิ่งที่เราจะทำเนี่ย เป็นการเบียดเบียนก่อความเสียหายแก่เพื่อมนุษย์ แก่สิ่งแวดล้อม แก่อะไรหรือเปล่า หรือเป็นการเกื้อกูล เป็นการสร้างสรรพฤติกรรมกาย วาจา
สองจิตใจของเราเป็นยังไง จิตใจของเรามีแรงจูงใจที่ดี มีความปรารถนาดี มีเมตตา กรุณา หรือมีโทสะความคิดร้ายที่จะทำนี่จะกลั่นแกล้งใคร นะฮะ และมีจิตใจที่มีความกระตือรือร้น พยายาม ความหมั่นเพียรพร้อมที่จะทำ แล้วก็มีความสดชื่นเบิกบานผ่องใสหรือจิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง ตรวจตราดู แล้วก็ปัญญามีความรู้เข้าใจสิ่งที่ทำมั้ย มองเห็นว่ามันจะเป็นคุณเป็นประโยชน์อย่างไร พอตรวจสอบ 3 ด้านนี่พร้อม เออ ด้านเสีย พฤติกรรมก็ดี เกื้อกูลด้านจิตใจก็สมาธิก็ดี ด้านปัญญารู้ เข้าใจดี เอาและ ดำเนินกิจกรรมนี้ได้ กิจกรรมนี้จะเป็นที่ฝึกไตรสิกขาตลอดเวลา นั้นในโรงเรียนในอะไรต่ออะไรเนี้ยน่าจะฝึกกันอย่างงี้ มันจะได้ไปหมด การศึกษาจะมีตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าพอจะทำกิจกรรมนั้น อ้าวเฮสนุก ก็จบ ก็ไม่ได้อะไร เจริญพร
ก็ที่คุยกันไว้ ระหว่างที่คุยก็นึกว่าจะแนะนำพระไตรปิฎกเล่มที่ควรจะอ่าน เสร็จแล้วก็เผลอลืมไป ก็เลยเอามาเติมซะหน่อย คือในการศึกษาพระไตรปิฎกเนี่ย เราจะศึกษายังไงก็ตาม อาจจะใช้ลำดับแบบว่ามีครูอาจารย์สอน แล้วก็ท่านเลือกมาสอนให้จากโน่นจากนี่ หรือว่าจะใช้ลำดับโดยเป็นคัมภีร์ประเภทนั้นประเภทนี้ หมวดนั้นหมวดนี้ แต่จะอย่างไรก็ตามหนะ วิธีหนึ่งที่ดีก็คือว่า เรามีพระไตรปิฎกสักเล่ม สองเล่ม สามเล่ม ที่เราเหมือนกับติดตัวติดบ้านไว้อ่านเป็นประจำ ระหว่างที่ศึกษาตามหลักนั้นไปพลาง เราก็อ่านพระไตรปิฎกสองสามเล่มเนี้ย ทำให้คุ้นกับพระไตรปิฎก นอกจากว่าจะคุ้นกับพระไตรปิฎกแล้ว ก็ได้ความรู้ ได้ธรรมะไปด้วย
อันนี้พระไตรปิฎกที่อาตมาอยากจะแนะนำเนี่ยก็ 3 เล่ม เล่มที่ 1 ไม่ใช่เล่มลำดับที่ 1 หนึ่งเล่มก็คือ เล่มที่ 22 พระไตรปิฎกเล่มที่ 22 นี้ก็อยู่ในหมวดที่เรียกว่าอังคุตตรนิกาย เป็นพระสูตร อังคุตตรนิกายนี่ก็บอกแล้วว่า ว่าด้วยธรรมะเป็นหมวดๆเป็นจำนวน เล่ม 22 นี่ก็จะเป็นธรรมะในหมวด 5 หมวด 6 คือธรรมะที่มี 5 ข้อ มี 6 ข้อ เป็นธรรมะที่พื้นๆง่ายๆสำหรับชาวบ้านก็มี เป็นธรรมะสำหรับพระภิกษุก็มี เป็นธรรมะลึกซึ้งก็มี คือมีทุกแบบ อาตมาจึงแนะนำว่าน่าอ่าน
ยกตัวอย่างเช่น อย่างว่า อย่าง ธรรมะสำหรับพระภิกษุก็มี ธรรมะสำหรับพระนวกะอย่างงี้ พระภิกษุบวชใหม่ควรมีธรรมะ 5 ประการนี้ อะไรอย่างเงี้ย และอย่างว่าภิกษุที่เราเรียกว่าธรรมกถึก เป็นนักเทศน์ ก็จะมีธรรมะที่เป็นคุณสมบัติของนักเทศน์หรือนักแสดงธรรมว่า เช่นว่าควรจะแสดงธรรมอย่างงี้งี้นะ 5 ประการ ว่าแสดงไปตามลำดับไม่ตัดลัดให้ขัดความ และก็ในแต่ละเรื่องละข้อก็ชี้แจงแสดงเหตุผลให้เขาเข้าใจชัดเจน และก็แสดงธรรมโดยเห็นแก่ประโยชน์แก่ของเขา มีเมตตากรุณา และก็ไม่แสดงธรรมด้วยเห็นแก่อามิส แสดงธรรมไปก็ไม่ยกตนกระทบกระทั่งเสียดสีผู้อื่น อย่างงี้เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่าเป็นธรรมะของธรรมกถึก
แล้วก็มีอานิสงส์ของการฟังธรรม 5 ประการ อย่างมีเรื่องข้อที่ทุกคนควรพิจารณาที่เราเรียกว่า อภิณหปัจจเวกขณ์ 5 ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา มีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา จะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก อะไรอย่างเงี้ย มีกรรมเป็นของตนเนี้ย เป็นข้อพิจารณาประจำใหม่ หรือแม่แต่คุณสมบัติของเจ้าอาวาส ว่าเจ้าอาวาสควรมีคุณสมบัติ 5 ข้อ แล้วก็ 5 ข้อนี้จะมีตั้งเยอะแยะหลายหมวด หมายความว่าเจ้าอาวาสเนี่ยมีคุณสมบัติ ท่านจัดเป็นชุดๆละ 5 ละ 5 หลายชุด
หรืออย่างคฤหัสถ์ ชาวบ้าน ก็จะมีหลักธรรมเช่นที่เรียกว่า ประโยชน์ที่ควรจะถือเอาจากโภคทรัพย์ 5 หรือแม้แต่ศีล 5 หรือว่าธรรมที่แสดงถึงความเจริญของอุบาสก อุบาสิกา 5 ประการ มีศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา หรืออย่างเรื่องของคุณสมบัติของอุบาสกที่จะเรียกว่าเป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ดี เป็นอุบาสกแก้ว อุบาสิกาแก้ว มี 5 ประการ หรือธรรมะที่เป็นความรู้พิเศษที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกธรรมะที่ทำให้อายุยืน 5 ประการอะไรเงี้ย หรือว่าธรรมะที่เป็นหลัก ทั้งทางกุศล อกุศล อย่างเรื่องอินทรีย์ 5 พละ 5 หรืออย่างนิวรณ์ 5 หรืออย่างเรื่องมัจฉริยะ ความตระหนี่ 5 ประการอะไรเงี้ย หรืออย่างหมวด 6 ก็จะมีคารวะ 6 สาราณียธรรม 6 ซึ่งธรรมะที่เราเอามาเรียนกันเยอะแยะ นี้อยู่ในเล่ม 22 เนี่ยก็เลยเป็นเล่มที่น่าอ่าน ก็เลยแนะนำไว้เล่มนึงหละ
ทีนี้เล่มต่อไปที่คิดว่าน่าอ่านเหมือนกันก็คือเล่ม 15 จากเล่ม 22 ก็ไปเล่ม 15 เล่ม 15 นี่จะมีลักษณะพิเศษนี่ก็คือ เป็นธรรมประเภทโต้ตอบเชิงปฏิภาณ และจะเป็นคาถาสั้นๆ เช่นว่า มีเทวดามาเฝ้าพระพุทธเจ้า เขาก็มากล่าวถ้อยคำของเขาขึ้น พระพุทธเจ้าก็กล่าวของพระองค์บ้าง อะไรอย่างเงี้ยนะฮะ ก็ยกตัวอย่างเช่น อย่างที่ในเรื่องก็บอกว่าเทวดามากล่าวบอกว่าแสงสว่างนี่ที่จะเทียมเท่าพระอาทิตย์ไม่มี สระน้ำใหญ่ที่สุดก็คือมหาสมุทร พระพุทธเจ้าก็ตรัสของพระองค์บอกว่า แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี ว่างั้น เออ ตรัสไม่เหมือนกับเทวดา นะฮะ บอกว่า แหล่งน้ำใหญ่ที่สุดคือฝน ว่างั้น พระพุทธเจ้าตรัสอย่างงี้ เนี่ย ก็คือหมายความว่ามีข้อที่แตกต่างกันอย่างเงี้ย
หรืออย่างเช่น ภิกษุณีรูปหนึ่งไปเจริญธรรมอยู่ในป่า ก็มีมารมากล่าว คือเราไม่ต้องไปคำนึงถึงว่า เทวดาหรือมารนี้คือใคร แต่ว่าสาระมันอยู่ที่คำโต้ตอบ มารก็กล่าวกับนางภิกษุณี บอกว่า โอ้ย ที่ป่านี่มันไม่น่าแช่มชื่นยินดีเลย มันน่ากลัวมากกว่า นะฮะ แล้วก็ผู้หญิงปัญญาน้อย มาอยู่จะได้อะไร ว่างั้น ทีนี้ภิกษุณีชื่อโสมาก็ตอบไปบอกว่า ความเป็นหญิงจะไปเกี่ยวข้องอะไร นะฮะ ถ้าหากว่าจิตตั้งมั่นดีแล้ว เกิดญาณหยั่งรู้ ก็ไม่ต้องไปคิดถึงเป็นหญิงเป็นชายแล้ว นะฮะ ใครจะมัวมาคิดว่าเป็นหญิงเป็นชายอยู่เป็นอะไรอย่างงี้ ก็นั่นแหละมารจึงควรจะไปว่าคนนั้นว่างั้น ก็หมายความว่า ไม่มีเรื่องหญิงเรื่องชายแล้ว ถ้าหากว่าปฏิบัติธรรมได้เกิดจิตได้พัฒนา ได้สมาธิดี ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว ความเป็นหญิงเป็นชายไม่เกี่ยว อะไรทำนองนี้
หรือว่าคนหนึ่งก็มาพูดบอกว่า ต้องป้องกัน ห้ามจิตจากสิ่งทั้งปวงแล้วจะไม่มีทุกข์ พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า ไม่ต้องห้ามจิตจากสิ่งทั้งปวง อะไรที่มันจะเป็นเหตุให้เกิดบาปจึงค่อยห้ามจิตจากสิ่งนั้น ว่างั้น อะไรอย่างงี้ อย่างงี้เป็นต้นนะก็คือว่า คนหนึ่งกล่าวมา พระพุทธเจ้าก็กล่าวไปอีกอย่าง ก็จะมีคาถาแบบนี้เยอะแยะไปหมด เป็นคำ คาถาทั้งนั้น คาถาเรียกได้ว่าทั้งเล่ม เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า คาถาทวรรค แปลว่าวรรคที่ประกอบด้วยคาถา อันนี้ก็เป็นเล่มที่น่าอ่านเล่มนึง ก็เป็นคาถาที่เราเอามาใช้เป็นพุทธศาสนสุภาษิต อย่างที่เรียนในนักธรรมเนี่ย มาจากเล่ม 15 ทั้งนั้น เยอะแยะหมดเลย ก็เป็นคาถาสั้นสั้นสั้นสั้นสั้น อ้าวทีนี้ก็ อ้อ ยังมีคาถาที่เราได้ยินบ่อยก็อย่าง กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ ( กันยานะการี กันยานัง ปาปะการี จะ ปาปะกัง ) ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็มาในเล่ม 15 อันนี้อาตมาก็ยกตัวอย่าง
อีกเล่มนึงที่อยากจะแนะนำ ก็คือเล่ม 25 จากเล่ม 15 ก็ไปเล่ม 25 เป็นเล่มที่หนามาก เล่ม 15 นี่เป็นเล่มเล็ก ไม่หนาเท่าไหร่ เล่ม 22 หนาขึ้นมา หนากว่าเยอะเลย แต่มาเล่ม 25 นี่ ยิ่งหนากว่านั้นอีก หนากว่าเล่ม 22 เล่ม 25 นี่มีธรรมะหลากหลาย ก็เป็นเล่มที่น่าอ่านมาก คือมีตั้งแต่บทสวดมนต์ที่เราเอามาใช้สวดกันเรื่อยๆ เช่นในงานมงคลต่างๆ หรือมาสวดในตอนทำวัตรค่ำตอนเย็น อย่างมงคลสูตรเนี่ย อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา นี้ก็อยู่ในนี้ หรือกรณียเมตตสูตร ที่เราเอามาใช้ บางคนก็ไปใช้ โบราณก็ไปใช้เป็นคาถากันผี และก็เป็นบทแผ่เมตตา กรณียเมตตสูตรหรือรัตนสูตร สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย อะไรพวกเนี้ยก็อยู่ในตั้งแต่ตอนที่ 1 ของเล่มนี้ทีเดียว
และก็มีคาถาธรรมบท คาถาธรรมบทก็เป็นคาถาที่เรามาใช้เป็นสุภาษิตมาก เพราะว่าเป็นพุทธพจน์สั้นๆ เป็นร้อยกรอง อันนั้นก็จำง่าย อย่าง อัตตาหิ อัตตโนนาโถ นี้เป็นต้น ก็มาในคาถาธรรมบท เยอะแยะไปหมดเลยที่มาในคาถาธรรมบท มีทั้งหมด 423 คาถา ก็มาในเล่ม 25 นี้
นอกจากธรรมบทแล้วก็มีอุทาน อุทานก็คือพุทธพจน์ที่พระองค์เปล่งขึ้นมาในยามที่ทรงปรารภอะไรบางอย่าง แล้วก็มีพระทัยนึกถึงข้อปรารภนั้น แล้วก็นึกถึงธรรมะบางอย่างตรัสขึ้นมา อันนี้อย่าไปปะปนกับความหมายภาษาไทย อุทาน คนไทยเราพอพูดว่าอุทานเนี่ยนึกว่าตกใจ อุทานในภาษาของพระเนี่ยหมายความว่า พระพุทธเจ้าทรงมีพระทัยเบิกบาน ผ่องใสอยู่เป็นประจำเป็นปกติอยู่แล้ว ทีนี้ถ้ามีอะไรเป็นข้อปรารภ เช่นว่าไปทรงเห็นอะไร ทอดพระเนตรเห็นอะไรบางอย่าง แล้วก็เกิดทรงปรารภเหตุการณ์นั้นไปโยงก็ข้อธรรมซึ่งตรัสเองโดยไม่มีใครมาอาราธนา ไม่มีใครมาซักถาม อย่างนี้เรียกว่าอุทาน นะฮะ แต่ในอุทานของพระพุทธเจ้านี่เป็นคาถาบางทีตั้งหลายบรรทัด ไม่ใช่อุทานแบบไทย นิดเดียว ก็อุทานก็เป็นถ้อยคำที่เปล่งจากพระทัยที่เบิกบานผ่องใสโดยปรารภอะไรซักอย่างนึง
นี่ก็ยังมีเยอะ เช่นยังตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ พอตรัสรู้แล้วก็ประทับนั่ง ทรงปรารภธรรมะที่ได้ตรัสรู้ ทรงทบทวนปฏิจจสมุปบาท และก็ทรงเปล่งอุทานขึ้นมา ยะทา หะเว ปาตุภะวันติธัมมา อาตาปิโน ฌายะโต พราหมะณัสส เป็นต้น ที่เราเอามาใช้สวด ซึ่งเราเรียกว่า ถ้าพระอรรถกถาจารย์ เรียกว่า ปฐมพุทธพจน์ พุทธพจน์แรกที่ตรัส อันนี้ หรืออย่างที่ครั้งหนึ่ง อาตมาจะยกตัวอย่างอันหนึ่งอาจจะช่วยให้เห็นชัด
ครั้งหนึ่ง นางวิสาขามีธุระที่จะต้องอาศัยพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ไปเฝ้าพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลจะด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบ คงยังไม่มีเวลา ก็ยังไม่ได้พิจารณาจัดการธุระนั้นให้ นางวิสาขาก็เลยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ก็คงจะรอ อึดอัดใจอยู่ ยังไม่เสร็จธุระ ก็ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า อ้าว วิสาขา ทำไมวันนี้มาแต่วันเชียวหละ นางวิสาขาก็กราบทูลบอกว่า มีธุระกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ต้องอาศัยพระเจ้าปเสนทิโกศล และก็พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ยังไม่ได้จัดการให้ พระพุทธเจ้าก็ทรงรู้ใจนางวิสาขาคงจะอึดอัดรออยู่ และพระองค์ก็ทรงเปล่งอุทาน คือเขาไม่ได้ถามอะไร ใช่มั้ย พระองค์ก็เปล่งอุทานบอกว่า สฺพพํ ปรวสํ ทุกฺขํ ( สัพพัง ปะระวะสัง ทุกขัง ) สฺพพํ อิสฺสริยํ สุขํ ( สัพพัง อิสสะริยัง สุขัง ) เป็นต้น ก็แปลว่า การต้องขึ้นต่ออำนาจของคนอื่นนั่นมันเป็นทุกข์ ความเป็นอิสระเนี่ยเป็นทุกข์ เอ้อ เป็นสุข ไม่ใช่เป็นทุกข์ การขึ้นต่ออำนาจคนอื่นนี่เป็นทุกข์ ความเป็นอิสระหรืออิสรภาพเนี่ยแหละเป็นสุข ก็บอกว่าการที่ต้องไปยุ่งขึ้นต่อคนโน้นคนนี้เนี่ยมันลำบาก ต้องเดือดร้อน แต่ว่าไอ้การผูกพันต่างๆนี่ก็เป็นเรื่องที่ล่วงพ้นไปได้ยากอะไรอย่างงี้ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของการอุทาน อุทานของพระพุทธเจ้า
และคัมภีร์ต่อไปก็คล้ายๆกับอุทานเนี่ย ก็คือจะมีเรื่องเป็นร้อยแก้วก่อน แล้วก็จะมีคาถาตามมา เรียกว่า อิติวุตตกะ คัมภีร์นี้ก็จะมีธรรมะที่น่าศึกษาน่าเรียนรู้เยอะเลยนะฮะ เช่นอย่างเรื่องบุญกิริยาวัตถุ 3 ทาน ศีล ภาวนา ก็มาที่นี่ หรืออย่างเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับคฤหัสถ์ที่บอกว่าทั้งผู้ครองเรือน ทั้งผู้เป็นอนาคาริกก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ฝ่ายหนึ่งก็บำรุงด้วยปัจจัยสี่ อีกฝ่ายหนึ่งก็แสดงธรรมให้ ถ้าหากว่าความสัมพันธ์พึ่งพาอาศัยกันดีอย่างนี้ ก็จะได้ล่วงพ้นความทุกข์ด้วยกัน หรืออย่างที่เราจำกันแม่น เรื่องพฺรหฺมาติ มาตาปิตโร ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า มารดาบิดาเป็นพระพรหม เป็นบูรพาจารย์ เป็นอาหุเนยยบุคคลของลูก อะไรอย่างงี้ ก็มาในคัมภีร์นี้เหมือนกัน
และต่อจากอิติวุตตกะ ก็มีคัมภีร์คัมภีร์หนึ่งซึ่งเป็นคาถาเกือบล้วนเลยเหมือนกัน เช่น สุตตนิบาต อันนี้จะเป็นคัมภีร์ที่มีธรรมะค่อนข้างจะลึกซึ้ง มี มันตั้งแต่ไล่ง่ายๆจนถึงลึกซึ้งมาก เช่น อย่างมงคลสูตรที่มีในตอนต้นในหมวดแรกแล้วก็ไปมีในตอนนี้ด้วย แล้วก็ไปมีอย่างวาเสฏฐสูตร ที่ว่าด้วยคำสอนของพราหมณ์กับของพุทธที่พราหมณ์เขาเชื่อว่าคนเรานี่จะประเสริฐจะทรามก็เพราะชาติกำเนิด แล้วแต่เกิดในวรรณะไหน แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนเราไม่ได้เป็นพราหมณ์ประเสริฐ ไม่ได้เป็นบุคคลต่ำทรามเพราะชาติกำเนิด แต่เป็นคนประเสริฐ หรือต่ำทรามก็เพราะการกระทำ อย่างงี้เป็นต้นนี่ก็เป็นการโต้แย้งกันระหว่างคำสอนของพระพุทธศาสนากับของพราหมณ์
และก็เรื่องอัตตา นิรัตตา ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้ง ถ้าจะใช้คำว่าปรัชญานี่ก็จะเจอในนี้เยอะ ในคัมภีร์สุตตนิบาต อัตตา นิรัตตา นี่ก็เป็นคู่ตรงข้ามซึ่งเราจะปกติไม่ได้ยิน เราจะได้ยินแต่อัตตา อนัตตา ถ้าถามว่าอัตตา อนัตตา อนัตตาก็เป็นเพียงคำปฏิเสธอัตตา ใช่มั้ย เหมือนอย่างคำพูดว่า เช่น พูดว่าอะไรดีหละ เช่นพูดว่า เหล็กเป็นไม้หรือไม่ อย่างงี้ใช่มั้ย เหล็กเป็นไม้หรือไม่ สมมติว่าอย่างงี้นะ สมมติว่าฝรั่งมาแล้วไม่เคยได้ยิน ได้ยินแต่ไม้ ทีนี้มาพูดคำว่าเหล็ก แกไม่รู้จัก นะฮะ เหล็กเนี่ยเป็นไม้หรือเปล่า ก็บอกว่าไม่ใช่ ใช่มั้ย เจริญพร ก็เหมือนกับถามว่านิพพานเป็นอัตตาหรือไม่ นะฮะ นิพพานเป็นอัตตาหรือไม่ ก็บอกไม่เป็น ก็เหมือนกับตอบว่าอนัตตา ก็ไม้สมมติว่าเป็นอัตตา ไม่ใช่ไม้ก็อนัตตา ใช่มั้ย เจริญพร นี่นี่คือแง่แบบนี้ธรรมดา อัตตา อนัตตา
แต่ทีนี้ในที่นี้ อย่างในคัมภีร์สุตตนิบาต มีอัตตา นิรัตตา อันนี้แหละคู่ตรงข้าม ที่ว่า เหมือนอย่างถามว่า เออ เหล็กเป็นไม้หรือเป็นกระดาษ ใช่มั้ย ก็ ก็ต้องบอกว่าเหล็กไม่ใช่ทั้งไม้ ไม่ใช่ทั้งกระดาษ ถูกมั้ย เจริญพร อย่างงี้ เหมือนกับถามว่านิพพานเป็นอัตตาหรือเป็นนิรัตตา ก็ต้องบอกว่านิพพานไม่ใช่ทั้งอัตตา ไม่ใช่ทั้งนิรัตตา อันเนี้ย คนไม่ค่อยรู้อันเนี้ย ที่คำคู่ อัตตา นิรัตตา นี้ก็มาเถียงกัน เอ๊ะ นิพพานเป็นอัตตาหรืออนัตตา ไปไปมามาหลง นึกว่าอัตตาก็อย่างหนึ่ง อนัตตาก็อย่างหนึ่ง ก็เลยเป็นอัตตาก็ไม่ใช่ อนัตตาก็ไม่ใช่ ก็เหมือนกับถามว่าเหล็กเป็นไม้หรือเปล่า ก็บอกเหล็กเป็นไม้ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ไม้ก็ไม่ใช่ ก็เลยไม่รู้เป็นอะไร ถ้าบอกเป็นอัตตาก็ไม่ใช่ อนัตตาก็ไม่ใช่ ก็เหมือนกับถามว่าเหล็กเป็นไม้หรือเปล่า และก็ตอบไปว่าเหล็กไม่ใช่ไม้ และจะไม่ใช่ไม้ก็ไม่ใช่ หรือว่าไม่ใช่ไม้ และก็ไม่ใช่ไม่ใช่ไม้อะไรอย่างเงี้ย มันคนละเรื่อง คำว่าอนัตตาก็เป็นเพียงปฏิเสธอัตตาเท่านั้นเอง
อันนี้ก็เป็นคัมภีร์สุตตนิบาตซึ่งเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง หรืออย่างตอบปัญหามานพ 16 คนที่เรียกกันว่าโสฬสปัญหา อย่างที่พระพุทธเจ้าสอน พระโมฆราช พระโมฆราชก็มาทูลถามว่า อะไร ทำยังไงมัจจุราชจึงจะไม่แลเห็น ว่างั้น พระพุทธเจ้าก็บอกว่า สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ มจฺจุราชา น ปสฺสติ บอก จงมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง แล้วมัจจุราชก็จะไม่แลเห็นว่างั้น อย่างงี้เป็นต้น อันนี้ก็เป็นธรรมะที่จัดว่าอยู่ในขั้นลึกซึ้ง เนี้ยอาตมาก็ยกมาให้ดูให้ฟังเป็นตัวอย่าง อันนั้นเล่ม 25 นี่มีธรรมะหลากหลายตั้งแต่ข้อปฏิบัติง่ายๆเป็นสุภาษิตสำหรับชีวิตประจำวัน จนกระทั่งถึงธรรมะที่ลึกซึ้งมาก ก็เลยเป็นเล่มที่น่าอ่าน
อาตมาก็แนะนำแค่ 3 เล่มนี่ก็พอ ตกลงก็ทวนว่ามีเล่ม 22 อ้อ เล่ม 22 แล้วก็เล่ม 15 แล้วก็เล่ม 25 เอาไว้อ่านทำความคุ้นเคยรู้จักกับพระไตรปิฎก แล้วก็ส่วนจะไปศึกษาพิเศษยังไงก็เป็น อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องนึง แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปหาคนอธิบายมากมายนอกจากว่ามีข้อสงสัยบางตอน ปัญหามันจะเกิดเช่นจากคำแปลของผู้แปล เพราะญาติโยมไม่รู้บาลีอันนี้ก็เป็นข้อติดขัดอย่างหนึ่ง คือ พระไตรปิฎกที่แปลเนี่ย ก็ต้องยอมรับความจริงว่า ยังไม่ดีถึงขนาด หรือดีเท่าที่ควร แต่ต้องขอบคุณท่าน อันที่ท่านแปลกันมา แต่ถึงยังไงก็ญาติโยมก็ยังอ่านลำบาก แล้วก็สำนวนก็ไม่สามารถสื่อได้ดี เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงถือเป็นคู่มือหรือเป็นหนังสือประกอบสำหรับทำความรู้จักหรือทำความเข้าใจเบื้องต้น
หนึ่งแปลแล้วเราอาจจะไม่คุ้นกับสำนวน ทำให้รู้สึกว่าอ่านยาก นะฮะ เข้าใจยาก และก็ สองก็คือว่า คำแปลผิดยังเยอะอยู่ คือพระไตรปิฎกแปลเนี่ยยังแปลผิดเยอะ และบางทีก็ลอกกันต่อๆมา คือ เล่มเก่าเคยแปลไว้ผิด เล่มใหม่ก็ไปลอกที่ผิดมาอีก ก็ผิดซ้ำๆกันอยู่ และก็ความไพเราะก็มีบ้างไม่มีบ้าง เพราะว่าพระไตรปิฎกเป็นหนังสือใหญ่ จำนวนมาก การที่จะแปลให้ดีนี่ต้องมีเวลาจริงๆ ตั้งใจ และก็เป็นคัมภีร์ที่มีธรรมะที่บางตอนก็ลึกซึ้งมาก และภาษาก็เก่า เพราะฉะนั้นจะแปลให้ไพเราะกินใจอะไรซาบซึ้งบางทีก็ยากเหมือนกัน เราก็อาจจะเอามาเป็นฐานแล้วก็มาปรับคำปรับคำแปลอีกครั้งนึง เหมือนอย่างว่าอาจารย์บางท่านเนี่ยท่านก็จะไปเจาะเฉพาะบางเล่มบางตอนแล้วก็แปลเฉพาะตอนนั้น มีเวลาให้เต็มที่แล้วก็ตั้งใจแปล ก็คิดว่าแค่นี้แหละ เจริญพร ก็เป็นการแนะนำเพิ่มเติมจากที่ได้พูดไปแล้ว อ้าว ก็ขออนุโมทนา