แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ก็มาคุยกันต่อ ความจริงเรื่องเกี่ยวกับเทวดา เรื่องการนับถือ เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่น่าคุยกันเหมือนกันนะ เพราะว่ามันเป็นบรรยากาศของสังคมไทยเรามาก แต่ว่าเราคุยกันเราก็คุยในแง่ที่มันสัมพันธ์กับพุทธศาสนา แล้วก็ไม่ใช่แค่ว่าสัมพันธ์กับพุทธศาสนา เราต้องมองได้แง่ที่ว่าโยงมาหาการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วไปโดยเฉพาะก็คือความเชื่อถือและการประพฤติปฏิบัติของประชาชนในสังคมไทย ซึ่งเมื่อเรามีความรู้แล้วก็จะทำให้เรามองเห็นแง่มุมที่ว่าอะไรเสียหาย อะไรที่ควรจะแก้ไขปรับปรุงทำให้ดีขึ้น ถ้าไม่รู้บางที่เราเองก็หลงเข้าใจผิด บางทีก็จับมาเป็นพุทธศาสนาไปด้วยอะไรนี้ หรือจับแง่จับมุมในเรื่องนั้นไม่ถูกว่าพุทธศาสนามองอย่างไร ที่พูดไปแล้วก็พูดเยอะแล้วแต่ที่จริงยังมีอีกเยอะเลยที่ ควรจะพูด แต่ที่ควรจะย้ำก็คือเรื่องนี้ที่ว่าหลักการใหญ่เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นก็ทำให้เปลี่ยนแนวคิดพื้นฐานจะเรียกว่าหลักการใหญ่หรือเปลี่ยนจุดยืนก็ได้ ก็คือจากเทพสูงสุดมาเป็นธรรมสูงสุด อันนี้ที่สำคัญมาก เมื่อเปลี่ยนอันนี้แล้วทุกอย่างหมด พอหลักการใหญ่เปลี่ยนอันอื่นก็เปลี่ยนตาม คงเข้าใจนะ ถ้ายกตัวอย่างง่าย ๆ ก็เมื่อนับถือเทพเป็นใหญ่ เทพเป็นผู้สร้างสรรค์บันดาลทุกอย่างรวมทั้งวิถีชีวิตโชคชะตาของคน คนก็ต้องเพ่งความสนใจไปที่เทพเจ้า ก็เทพเจ้าท่านเป็นผู้ที่จะบันดาลคนก็ต้องเอาอกเอาใจท่าน การเอาอกเอาใจก็ต้องไปอ้อนวอนมันก็ทำให้เกิดพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะก็คือการเซ่นสรวงที่อินเดียเรียกว่าบูชายัญ มันก็เกิดเรื่องของการสัมพันธ์ระหว่างสิ่งสูงสุดที่นับถือกับมนุษย์ด้วยการที่ไปอ้อนวอนขอผล อันนี้วิธีปฏิบัติมันก็กลายเป็นเรื่องของการเซ่นสรวงการทำพิธีกรรมอะไรต่าง ๆ ทั้งนั้น แต่ว่าในเมื่อเปลี่ยนจากเทพสูงสุดมาเป็นธรรมสูงสุด ธรรมก็คือความจริงที่มีตามธรรมดาของมัน ธรรมะความจริงธรรมดามันไม่มีจิตมีใจแล้วมันก็อยู่ของมันตามธรรมดาของมัน ไม่เข้าใครออกใคร ก็เป็นเรื่องของคนที่จะต้องไปรู้เข้าใจมัน ต้องไปรู้เข้าใจธรรมะแล้วปฏิบัติให้ถูก ไม่เหมือนความสัมพันธ์กับเทพเจ้า ความสัมพันธ์กับเทพเจ้าก็พยายามไปเอาอกเอาใจท่าน ลักษณะการปฏิบัติก็ไปอีกทิศหนึ่งเลย หาทางทำอย่างไรที่ท่านจะชอบ ท่านจะพอใจ ท่านจะหายโกรธ ท่านจะไม่กริ้วไม่พิโรธ ก็ทำอย่างนั้น ทีนี้พอหันมาหาธรรมสูงสุดก็ต้องศึกษาต้องเรียนรู้ต้องพัฒนาปัญญา เพราะฉะนั้นก็กลายเป็นว่าตัวเองจะต้องรู้เข้าใจตัวธรรมะความจริงนั้นด้วยการที่สร้างปัญญาขึ้นมา ปัญญาของตัวเอง แล้วเมื่อรู้ความจริงแล้วความจริงมันเป็นอย่างไร อย่างเหตุปัจจัย เหตุอะไรผลอะไรก็ต้องไปตามเหตุปัจจัยนั้นเพื่อให้เกิดผลที่ต้องการ แล้วก็ต้องทำเอา ก็ต้องใช้วิธีการกระทำด้วยความเพียรพยายาม เพราะคนไม่มีความเพียรมันก็ทำอะไรไม่ได้ มันก็ไม่เดินหน้า ก็เลยทำให้ทุกอย่างในศาสนาเปลี่ยนไปหมดเลย วิธีปฏิบัติอะไรต่าง ๆ เปลี่ยนหมดจากการที่ว่าไปอ้อนวอนบูชายัญเซ่นสรวงอะไรต่าง ๆ เอาอกเอาใจเทพเจ้าแล้วก็ไปปรึกษาพราหมณ์ให้ทำพิธีก็กลายเป็นว่าตัวเองต้องมาศึกษาพัฒนาชีวิตของตัวเอง หลักของธรรมะก็เลยนำไปสู่การที่ต้องสิกขา ต้องเรียนรู้ แล้วจุดหมายในการสิกขาศึกษาพัฒนาชีวิตของตัวเองก็คือให้เกิดปัญญา รู้เข้าใจตัวความจริงนั้นที่เรียกว่าธรรม เพราะปัญญาเป็นตัวทำให้มนุษย์เข้าถึงธรรมะ เป็นตัวเชื่อมโยงมนุษย์เข้าถึงธรรมะ เมื่อรู้ธรรมะแล้วทีนี้ก็ต้องทำตามตัวธรรมหรือความจริงนั้นโดยมีความเพียรก็เลยมีหลักจากสิกขาเพื่อให้เกิดปัญญาเป็นสูงสุดก็ต้องมีกรรมคือการกระทำ สำเร็จด้วยกรรมคือการกระทำ แล้วกรรมการกระทำจะสำเร็จได้ก็ต้องมีความเพียร ก็ต้องมีวิริยะ หลักพุทธศาสนาก็มาหมด หลักสิกขาก็มาเพราะอย่างนี้
ทั้ง ๆ ที่พุทธศาสนาสอนอย่างนี้ แต่ว่าที่เรียกว่าชาวพุทธจำนวนมากก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ จับหลักนี้ยังไม่ค่อยถูก ก็ยังไปเชื่อถือปฏิบัติตามลัทธิความเชื่อเก่า ๆ อยู่ อันนี้หลักการพื้นฐานก็เป็นอย่างที่ว่า ทีนี้ในเรื่องธรรมะเป็นใหญ่นี้มันก็มีหลายระดับในแง่ที่ว่าพอมาสัมพันธ์กับคนส่วนใหญ่ ที่เราบอกแล้วว่าพระพุทธเจ้ามาสอนคนนี้พระองค์ก็มีพระปัญญาแล้วก็จะให้เขาเข้าถึงปัญญาด้วยพระองค์ก็ต้องใช้กรุณา ทีนี้คนที่เขายังไม่พร้อมจะต้องทำอย่างไร ก็ต้องหาวิธี หาวิธีทำให้พร้อม ตอนนี้มันก็ทำให้มีเรื่องของการปฏิบัติต่อคนส่วนใหญ่หรือคนโดยเฉลี่ย ก็เลยมีวิธีปฏิบัติที่เป็นเรื่องของสะพานหรือสื่อเพื่อจะมาโยงเข้าหาวิธีที่มันจะนำขึ้นไปหรือให้การศึกษาโดยแม้แต่ไม่รู้ตัว อันนี้เมื่อเขาอยู่ในสังคมแบบเดิมก็กลายเป็นว่าบางทีต้องไปยอมรับเขา เหมือนกับว่าเขาเชื่อถืออย่างไรก็ต้องไม่ถึงกับไปด่าว่าหรือไปหักล้างทันที ถ้าคนไหนเฉพาะรายบุคคลเขามีปัญญาเข้าใจได้ก็เอาเลย จะเห็นบางรายพระพุทธเจ้าหรือพระสาวกก็สอนแบบที่เรียกว่าฉับพลันทันทีเลย ก้าวทีเดียวมาถึงเลิกละกันไปเลย แต่ว่าคนจำนวนมากมันไม่ได้หรอก ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป อย่างที่ว่าเป็นเวไนย นี่ก็เป็นเหตุให้มีเรื่องของวิธีสื่อสารที่ยอมรับข้อปฏิบัติของเขา แม้แต่เรื่องการนับถือเทวดาของเขา ก็กลายเป็นว่ามันก็เข้ามาสู่พุทธศาสนาได้ ทีนี้ในเมื่อเราไม่ไปล้มล้าง เช่น ความเชื่อเรื่องเทวดา แต่ว่าเราต้องการที่จะให้เขาปฏิบัติให้เข้าสู่แนวทางที่ถูกต้อง หลักการมันมีอยู่ว่าธรรมะเป็นใหญ่ คนจะต้องรู้เข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยความเพียรพยายามของตน ไม่ใช่มัวมาอ้อนวอนหวังพึ่งการดลบันดาลอยู่ ถ้าหากว่าเราจับหลักนี้ไม่ได้โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่เขานึกว่าพุทธศาสนายังยอมรับเทวดาอยู่ก็เลยนึกว่าเหมือนเดิม อย่างนั้นก็อ้อนวอนเทวดาต่อไป มันเกิดปัญหาตรงนี้ ตรงนี้คือที่ว่าเรื่องละเอียดอ่อน จะว่าละเอียดอ่อนก็ได้เพราะว่าสัมพันธ์กับคนจำนวนมากที่ว่าจะต้องจับจุดให้ถูก พุทธศาสนาใช้หลักกรุณาก็ไม่ไปล้มล้างหักล้างความเชื่อเขา ไม่ไปบังคับเขา เมื่อไม่บังคับมันก็ธรรมดา ก็ต้องพยายามให้เขาค่อย ๆ เรียนรู้ขึ้นมา ทีนี้ถ้าพระเองไม่เข้าใจแล้วเข้าไปยืนอยู่ในหลักแล้วไม่มีกรุณาจริงจัง แล้วก็ไม่มีความเพียรพยายามที่จะช่วยเขามันก็ปล่อยปละละเลย แล้วบางทีตัวเองไม่เข้าใจด้วยก็เลยกลายเป็นว่าทำให้หลงไปตาม ๆ กัน ตัวเองก็อาจจะหลงด้วย พาเขาหลงด้วย นี่ที่ทำให้มันเกิดปัญหากันมากมาย อย่างเดี๋ยวนี้ชาวพุทธก็จับหลักไม่ค่อยได้ว่า เอ๊ะ! ชาวพุทธก็ยังนับถือเทวดานี่ นับถือพระพรหม เออมีพระพรหมก็ไปอ้อนวอนสิ ไปบวงสรวงขออย่างนั้นอย่างนี้ บนบานศาลกล่าวอะไรอย่างนี้ ก็คือจับหลักไม่ได้ คือพุทธศาสนาจะเปลี่ยน ไม่ได้หักล้างล้มล้างความเชื่อเรื่องเทวดา เทวดาก็ยังนับถือได้แต่ว่าท่าทีในการนับถือก็เปลี่ยนไป เคยนับถือในฐานะท่านมีอำนาจดลบันดาลต้องไปอ้อนวอนเอาอกเอาใจท่าน พุทธศาสนาก็มองว่าเทวดาก็คือท่านผู้ใหญ่ ท่านที่มีคุณธรรมความดี จะเรียกว่ามีภูมิธรรมภูมิปัญญาสูงกว่าคนทั่วไปโดยเฉลี่ย เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับนับถือผู้ใหญ่ ก็นับถือท่าน อยู่ในโลกในสังคมเดียวกัน เราก็นับถือกัน มีหลักอยู่แล้วว่าปฏิบัติต่อกันด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ตลอดทั้งหมดนั้นเรียกพรหมวิหาร 4 ก็อยู่ร่วมกันด้วยดีด้วยมีไมตรี เป็นต้น แต่ก็อยู่กันแค่นั้นนะ อยู่ด้วยไมตรีมีการแผ่เมตตาให้ เป็นต้น ก็เหมือนกับว่าเรามีหลักการแผ่เมตตาแม้แต่สวดมนต์ เราแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ก็รวมทั้งว่าแผ่ให้เทวดาด้วยเช่นเดียวกับแผ่ให้กับแมว เราแผ่เมตตาให้กับแมวฉันใดเราก็แผ่เมตตาให้เทวดาด้วย ก็ไม่ได้เว้นอะไร ก็คืออยู่ด้วยกันดีเคารพนับถือกันก็เท่านั้นเอง
เราก็อยู่ร่วมกับเทวดาโดยนับถือท่านว่าเป็นผู้ใหญ่มีเมตตากรุณาแต่ไม่ไปหวังผลดลบันดาลจากท่าน อันนี้ที่สำคัญมาก ฉะนั้นพุทธศาสนาก็จะมีการว่าให้ทำบุญอุทิศเทวดา เออก็ได้ คุณยังนับถือเทวดาจะทำบุญก็อุทิศกุศลให้เทวดาด้วย เวลาจะทำอะไรที่ดี ๆ ก็นึกถึงเทวดาด้วย แล้วบางทีเขายังไม่พร้อมก็เป็นเครื่องปลอบประโลมใจด้วย อย่างที่เคยเล่าบ่อย ๆ เหมือนอย่างกับชุมนุมเทวดาที่จริงควรจะเน้นเพราะว่ามันอยู่ในพิธีกรรมที่ชาวบ้านเห็นบ่อย ๆ ชาวพุทธก็ไม่เข้าใจว่าชุมนุมเทวดาคืออะไร พระจะสวดมนต์ทีหนึ่ง มีพิธีใหญ่ ๆ ทำบุญงานมงคล มีงานแต่งงาน งานทำบุญอายุวันเกิด งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ สถานที่ราชการเปิด อะไรอย่างนี้แล้วมีคำชุมนุมเทวดา ก็คงนึกกันแหมนี่พระยังอุตส่าห์ คือพระยังต้องขอร้องเทวดาให้มาช่วย คล้าย ๆ ว่าเทวดาคงจะมาช่วยเพื่อจะมาบันดาลอะไรให้ นี่คือไม่เข้าใจเลย ที่ไหนได้ ไม่ได้ดูหรอก ว่าในคำชุมนุมเทวดานั้นลองแปลดูสิว่าอย่างไร แปลตรงตัวก็ไม่มีอะไร เวลาสวดมนต์นี้ก็คือว่านำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้ามาสวดให้ประชาชนได้ยิน เช่น มงคลสูตร อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ฯ ก็บอกว่าไม่คบคนพาล คบบัณฑิต บูชาคนที่ควรบูชานี่แหละเป็นมงคลอันสูงสุด อย่างนี้เป็นต้น อ้าวก็ธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าตอนนี้เราจะเอามาสวดสาธยาย คนฟังก็ได้ฟังจากชาวบ้าน เออเราก็นึกถึงว่าเทวดาท่านก็ยังต้องฝึกฝนปฏิบัติตนเองอยู่ เทวดาส่วนมากก็ยังเป็นปุถุชนใช่ไหม ยังมีกิเลส ก็ยังต้องประพฤติปฏิบัติธรรม ต้องปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา ต้องพัฒนาตนขึ้นไป เพราะฉะนั้นก็ควรจะมาฟังธรรมแล้วจะได้เอาธรรมะไปใช้ไปปฏิบัติไปฝึกตน เราก็นึกถึงเทวดาด้วยก็เลยชวนเทวดามาฟังธรรมด้วยว่าเรามีใจเผื่อแผ่ต่อเทวดาไม่ใช่ฟังเฉพาะในชาวบ้านมนุษย์เท่านั้นนะ แต่อีกแง่หนึ่งก็มีความหมายด้วยว่าคือชาวบ้านเหล่านี้บางทีเข้ามาสู่พุทธศาสนาใหม่ ๆ และพุทธศาสนาเมื่อไม่บังคับใจคนมันก็ก้ำ ๆ กึ่ง ๆ ในแง่หนึ่งก็ยังห่วงว่า เออ เรามานับถือพุทธศาสนามาอยู่กับพระแล้วเทวดาของเราท่านจะว่าอย่างไรก็ไม่รู้นะ เดี๋ยวท่านโกรธเอา ทีนี้ที่พระท่านสวดชุมนุมเทวดาให้ก็เป็นการบอกไปในตัวว่าเทวดาท่านก็พวกเดียวกับเรา ท่านก็นับถือพระเลยอยากมาฟังธรรมด้วย พอชาวบ้านได้ยินพระสวดชุมนุมเทวดาบอกเทวดาให้มาฟังธรรมด้วยกันชาวบ้านก็อุ่นใจว่าเทวดาพวกเราก็มาฟังธรรมกับเราด้วยเป็นพวกเดียวกัน ใจก็มีกำลังมากขึ้น จิตใจก็พร้อมที่จะฟังธรรม ฉะนั้นในคำชุมนุมเทวดาก็บอกหมด สัคเค กาเม จะ รูเป คิริสิขะระตะเฏ จันตะลิกเข วิมาเน บอกหมดว่าเทวดาอยู่ไหน ๆ ในนั้นจะบอกว่าเป็นที่ไหนบ้าง ทุกหนทุกแห่งสารพัดว่าจารนัยไป เทวดาจะอยู่ที่ไหนก็ตามลงท้ายบอกว่าธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ท่านผู้เจริญทั้งหลายบัดนี้เป็นเวลาฟังธรรม ธัมมัสสะวะนะกาโล อะยัมภะทันตา ท่านผู้เจริญทั้งหลายบัดนี้ถึงเวลาฟังธรรมแล้ว ก็คือบอกเทวดาว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตามถึงเวลาฟังธรรมแล้ว เชิญมาฟังธรรม ก็คือบอกเทวดาให้มาฟังธรรมด้วย เราไม่ได้ขอร้องให้เทวดามาทำอะไรเลย นี่เห็นไหมถ้าเข้าใจแม้แต่เรื่องนี้ก็จะชัดว่าเราอยู่กับเทวดาแบบมิตรไมตรีมีเมตตาต่อกัน
แล้วคติพุทธศาสนานี้จะคุ้มไปหมดเลยนะ ท่านจะเห็นว่าหลักการเรื่องนี้มันไปถึงแม้แต่การดำเนินชีวิตของเทวดาเรามาดูเอาง่าย ๆ เรื่องเทวดาที่มีมาในลัทธิศาสนาแต่ก่อน นอกจากความความหมายหลักที่ว่าอยู่คนละฐาน อยู่คนละจุดยืน เทวดาอยู่จุดยืนหนึ่งว่าเป็นผู้มีอำนาจดลบันดาล ธรรมะคือความจริงตามธรรมชาติเป็นไปตามธรรมดาของมัน ตามเหตุปัจจัย เป็นต้น นี่คนละฐานแล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างเทวดากับธรรมะเราจะเห็นเลยว่าถ้าเรามองดูนะ เทวดาที่นับถือกันมานี้มันเหมือนกับเกิดจากที่ว่าความคิดของมนุษย์นะ มนุษย์มองดูพวกมนุษย์ด้วยกันที่มีอำนาจเป็นใหญ่ เช่น เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นผู้ปกครอง ใช่ไหม มีอำนาจแล้วท่านเหล่านั้นถ้าเกิดพิโรธโกรธเกรี้ยวขึ้นมาแล้วมีอำนาจตัดหัวได้เลยใช่ไหม ก็เหมือนกันนี้เวลาตัวเองมานึกถึงเทวดา จะเห็นว่าเทวดาก็เหมือนกับผู้มีอำนาจนั่นเอง คล้าย ๆ ว่าถ้าโกรธขึ้นมาก็จะทำร้ายรุนแรง ถ้าท่านโปรดถ้าท่านพอใจก็จะให้ประโยชน์ช่วยดลบันดาลสิ่งที่พอใจให้อย่างดีที่สุดเลยอย่างนี้ คนก็นึกถึงเทวดาอย่างนี้จนกระทั่งนักจิตวิทยาตะวันตกบางคนก็บอกว่ามนุษย์สร้างเทวดาขึ้นมา คือว่ามนุษย์บอกว่าเทวดาสร้างมนุษย์แต่ที่จริงแล้วมองกลับอีกทีก็คือมนุษย์สร้างเทวดาขึ้นมา แล้วเทวดาที่มนุษย์สร้างก็มีนิสัยเหมือนมนุษย์นั่นแหละ ท่านลองดูเถอะ เหมือนกันแหละ แต่ว่าเป็นมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่มีอำนาจมากและเทวดาเหล่านี้ก็มีนิสัยแบบมนุษย์ ก็เลยมนุษย์ก็ต้องเอาอกเอาใจ เราก็จะเห็นว่าเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ในศาสนาพราหมณ์ที่เป็นมาเป็นยังไงล่ะ อ้าวพระอินทร์ก็เป็นนักรบใช่ไหม แล้วต่อมาพอถึงสมัยที่เสื่อมลงเขาก็แต่งเรื่องเป็นตำนานไปเป็นชู้กับภรรยาพระฤาษีอะไรอย่างนี้ ถูกสาปบ้างอย่างไรบ้าง แล้วก็พระพรหมเองที่ว่าเป็นผู้สร้างโลก อ้าวพอสร้างโลกเสร็จก็ทำพิธีบูชายัญเรียกว่าอัศวเมธ อัศวเมธก็คือฆ่าม้าบูชายัญ แล้วเสร็จแล้วต่อมาตอนที่พระพรหมชักเสื่อมลงในสมัยที่พระนารายณ์ขึ้น พระศิวะหรือพระอิศวรขึ้น ก็มีเรื่องว่าพระพรหมไปล่วงเกินต่อพระนางปารวตีซึ่งเป็นมเหสีของพระศิวะหรือพระอิศวร พระศิวะหรือพระอิศวรก็เลยตัดเศียรที่ 5 คือพระพรหมนั้นมี 5 หน้า 5 พระพักตร์ ไม่ใช่ 4 มีข้างบนอีกอันหนึ่ง พระพักตร์ที่ 5 ก็ถูกพระอิศวรตัดด้วยไฟไหม้ไปหรือว่าบางตำนานก็ว่าตัดด้วยเล็บมือ เล็บมือของพระอิศวรตัดฉับเดียวไปเลย หัวพระพรหมหลุดเลย พระพรหมก็เลยเศียรขาดไปเศียรหนึ่งอะไรอย่างนี้ ก็กลายเป็นว่าเทวดาเหล่านี้ยิ่งใหญ่ขนาดเป็นผู้สร้างโลกสูงสุดที่มนุษย์แสนจะบูชาก็ดูไปแล้วก็มีกิเลสเหมือนมนุษย์นะ แย่งลูกแย่งเมียกันหรืออะไรทำร้ายกัน ฆ่ากัน อะไรอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้ ฉะนั้นเราจะเห็นว่าถ้ามองในแง่ของธรรมะก็คือว่าเทวดาเหล่านี้ก็ไม่ได้มองถึงหลักความจริงของทุกข์สุขของมนุษย์ที่จะต้องเข้าใจและมนุษย์มีความต้องการยังไงควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร ยังไม่ค่อยมีความรู้เข้าใจเรื่องเหล่านี้ที่เราเรียกว่าธรรมะ
ในพุทธศาสนาที่เราให้มีธรรมะก็คือว่าเมื่อมนุษย์รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายมนุษย์จะเข้าใจชีวิตของกันและกันด้วยมองเห็นทุกข์สุขของกันและกัน มองเห็นทุกข์สุขของตัวเองเกิดจากเหตุปัจจัย แล้วก็รู้ความต้องการของมนุษย์ว่าคนอื่นเค้าต้องการหลีกเลี่ยงความทุกข์ต้องการความสุขแล้วจะทำยังไงจะให้เกิดความสุข แล้วก็ความสุขของมนุษย์มันเนื่องกันอยู่ สังคมเราจะอยู่ดีต้องไม่เบียดเบียนกัน เราต้องทำสังคมให้ดี อันนี้มันก็กลายเป็นธรรมในภาคปฏิบัติที่มาจากหลักความจริงที่เป็นพื้นฐาน ฉะนั้นก็ด้วยเหตุผลอย่างนี้มนุษย์ก็จึงควรประพฤติปฏิบัติต่อกันด้วยดี มีเมตตาธรรม เป็นต้น เราจะเห็นว่าพระพรหมตามคติที่ว่าเมื่อกี้นี้ท่านจะมีเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาไหมครับ ตามคติของพราหมณ์ 4 พระพักตร์ของพรหมจึงไม่มีเรื่องเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา นี่มันเรื่องคติมาทางพุทธศาสนา ของเขาก็อย่างที่บอกแล้ว 4 พระพักตร์ของพระพรหมก็คือพระเวท 4 หรือไม่อย่างนั้นก็วรรณะ 4 หรือยุค 4 ความหมายไปคนละเรื่องเลย เทวดาของพราหมณ์เขาก็มาอย่างนี้ซึ่งในแง่พุทธศาสนาเราจะเห็นว่าไม่ได้ประกอบด้วยธรรมะอะไรเลย ทีนี้พอพุทธศาสนาเกิดขึ้นเมื่อประชาชนยังนับถือเทวดาเรานี้เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของเทวดาเหล่านี้หมดเลย เริ่มจากพระอินทร์ก่อน พระอินทร์บอกแล้วว่าเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สูงสุดในยุคแรกที่ว่าพวกอารยันเข้ามารุกรานชมพูทวีป ตอนนั้นพระพรหมยังไม่มีชื่อแล้วพระอินทร์เป็นใหญ่ ต่อมาพอเข้ามาตั้งหลักแหล่งได้ดีแล้วพระอินทร์จึงเสื่อม ตอนนั้นพระอินทร์ยิ่งใหญ่ ตำนานของฝ่ายพราหมณ์เขาบอกว่าพระอินทร์ยิ่งใหญ่ขึ้นมาด้วยการกระทำการบูชายัญอัศวเมธ 100 ครั้ง ว่าอย่างนั้น โอ้โหยิ่งใหญ่เหลือเกิน แล้วต่อมาพระอินทร์ก็เสื่อม ประพฤติเหลวไหลที่ไปเป็นชู้กับภรรยาของพระฤาษีอะไรอย่างที่ว่า แล้วเทวดาเหล่านั้นมนุษย์ก็ต้องเกรงกลัวอำนาจท่าน แล้วก็ต้องระวังไม่ให้ท่านพิโรธ เอาอกเอาใจ อยากได้อะไรก็ไปขอไปอ้อนวอน จะเห็นว่าเรื่องของเทวดาก็มากับเรื่องฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ถูกไหม อำนาจนั่นเองแหละ ความยิ่งใหญ่ที่จะบันดาลสิ่งที่ต้องการและให้พ้นจากภัยพิบัตินี่แหละคือฤทธิ์ เพราะฉะนั้นเรื่องเทวดาก็มากับเรื่องฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ดังนั้นศาสนาเก่า ๆ พวกนี้ที่มีเทวดาก็มีเรื่องฤทธิ์ปาฏิหาริย์เป็นใหญ่ แม้พุทธศาสนาเกิดขึ้นมาก็แน่นอนว่าต้องเกิดขึ้นมาท่ามกลางความเชื่อเรื่องฤทธิ์ปาฏิหาริย์ พอพุทธศาสนาเกิดขึ้นมา เขาก็เชื่ออย่างนี้ ตอนนั้นพวกฝ่ายพราหมณ์ที่เป็นพวกที่เป็นปัญญาชนนักวิชาการใหญ่ขึ้นมาแล้วเพราะว่าเป็นพวกกำกับเรื่องสังคม แต่ถึงอย่างนั้นก็นับถือฤทธิ์อีกแหละ เทวดาที่แม้จะอยู่ฝ่ายสงบ ไม่ใช่ออกรบ ก็ต้องมีฤทธิ์ใหญ่ ถึงกับว่าพวกฤาษีซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพวกพราหมณ์นี่แหละ ฤาษีนี้เป็นต้นทางของพวกพราหมณ์ พราหมณ์จะอ้างอิงพระฤาษีมากันเป็นแถวเลย และพระฤาษีเหล่านั้นก็จะบำเพ็ญตบะแข่งกับพวกเทวดาที่บอกว่าตอนยุคนี้กลายเป็นว่ามนุษย์ที่เป็นพวกฤาษีนี้บำเพ็ญตบะจนกระทั่งมีอำนาจเก่งกว่าเทวดา สาปเทวดาได้อะไรอย่างนี้ ก็คือพวกปัญญาชนพวกที่มาเป็นพราหมณ์นี้ ก็ยังแข่งกันด้วยฤทธิ์จนกระทั่งว่าใครจะเป็นพระอรหันต์ก็คือต้องมีฤทธิ์ อย่างที่พระพุทธเจ้าเริ่มต้นจะมาแผ่พระศาสนานี้เจอกับอุรุเวลกัสสปะ เป็นต้น ชฏิล 3 พี่น้อง พวกนั้นก็นับถือว่าต้องมีฤทธิ์ ถ้าไม่มีฤทธิ์ก็เป็นพระอรหันต์ไม่ได้ จึงทรงไปปราบฤทธิ์ก่อน พอปราบฤทธิ์แล้วก็เลิกบอกว่าไม่จำเป็นต้องมีฤทธิ์ การเป็นพระอรหันต์ไม่ขึ้นต่อฤทธิ์ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้านี้ยากมากที่เกิดขึ้นในท่ามกลางความเชื่อเหล่านี้ เขาเอาฤทธิ์เป็นตัวตัดสิน
เอาล่ะทีนี้เป็นอันว่าเทวดาก็ต้องมีฤทธิ์ยิ่งใหญ่ จากพระอินทร์ก็มีฤทธิ์ พรหมก็มีฤทธิ์ยิ่งใหญ่ แล้วพวกศาสนาพราหมณ์มาเป็นฮินดูจนกระทั่งที่บอกว่ายุคฮินดูคลาสสิคแล้ว หลังพุทธกาลตั้งนานเนแกก็ยังเอาฤทธิ์เป็นใหญ่อยู่นั่นแหละ ใช่ไหม ศาสนานี้เขาก็เอาฤทธิ์เรื่อยมาของเขา พุทธศาสนาทั้ง ๆ ที่สอนอย่างไรคนก็ยังไปเชื่อศาสนาแบบเทพนี้มาก พุทธศาสนาเกิดขึ้นมาก็เป็นอันว่ามาสู้กับพวกนี้ พุทธศาสนาก็ให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องเทวดาเหล่านี้ใหม่เลย พระอินทร์ของเขาก็เป็นอันว่าทำพิธีบูชายัญอัศวเมธ 100 ครั้งได้เป็นพระอินทร์ ของเราท่านเคยฟังไหมว่าพระอินทร์ได้เป็นพระอินทร์ได้อย่างไร พระอินทร์เดิมชื่อมฆมานพอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่ก่อนนี้เป็นมนุษย์นี่แหละ แล้วก็มีความคิดว่าหมู่บ้านของเรานี้มันมีถนนหนทางก็ไม่ค่อยเรียบร้อย คนเดินทางก็ไม่สะดวก บริเวณที่ทำงานทำการกันนี้ก็ยังขรุขระ ทำงานกันในที่กลางแจ้งไม่ค่อยสะดวก พื้นที่ไม่ราบเรียบ ไปที่ ๆ มีน้ำมีคลองก็เดินทางข้ามยาก ไม่มีสะพาน มฆมานพนี้ก็เป็นต้นคิด ตอนแรกก็ที่ทำงานก่อน บริเวณที่ทำงานก็ทำที่ที่ตัวทำงานให้เรียบร้อย ที่ที่มันขรุขระก็แก้ไขปรับที่ให้ดี พอปรับที่แล้วตัวแกเองก็มีที่ที่ทำงานดี คนอื่นเขาเห็นที่ที่มฆมานพทำไว้ดีแล้วเขาก็เลยมาอาศัยบ้าง ตัวก็มีใจดี บอกเออให้เขาเลย แล้วตัวเองก็ไปที่ใหม่ ปรับที่อย่างนี้ไปคนก็มาอาศัยแก แกก็ทำไป แกก็ไม่ถือ ไม่หวง บำเพ็ญประโยชน์อย่างนี้คนอื่นก็เลยชอบแก แล้วทีนี้ต่อมาแกก็ชวนคนอื่น ๆ พวกหนุ่ม ๆ ว่าเรามาบำเพ็ญประโยชน์กันเถอะ หมู่บ้านเรานี้ถนนหนทางก็ไม่เรียบร้อย แล้วสะพานก็ไม่มี เรามาช่วยกัน ตกลงก็เลยบำเพ็ญประโยชน์กัน พอตื่นเช้าก็ถืออุปกรณ์เครื่องมือไปแล้วก็ไปทำงานเหล่านี้ บำเพ็ญประโยชน์กันเป็นการใหญ่ ต่อมาคนทั้งหมู่บ้านก็มาช่วยกันทำจนกระทั่งพวกผู้หญิงก็มาช่วยกัน มาทำสถานที่ เช่น ศาลาที่จะพักผ่อนพักแรม ศาลาพักคนเดินทาง คนเดินทางมาพักแล้วให้เขาสบาย พวกผู้หญิงก็มาปลูกต้นไม้อะไรต่าง ๆ ทำสวนให้อีก ให้น่ารื่นรมย์ ทำกันดีใหญ่เลย พวกนี้ก็บำเพ็ญประโยชน์กลายเป็นหมู่บ้านที่คนใจดี แล้วเวลาแกจะทำอะไรแกก็มาประชุมกัน ตอนแรกแกก็ไปประชุมในดงไม้ มีการประชุมนะ เขามีวิธีการ ประชุมกันว่าเราจะทำอย่างไร พรุ่งนี้จะวางแผนทำอะไรต่อไป ทีนี้พวกหัวหน้าหมู่บ้านก็คงจะเป็นพวกผู้ใหญ่บ้านหรือว่ากำนันหรือนายอำเภอก็แล้วแต่ ก็เกิดความไม่พอใจเพราะว่าพวกนี้พอทำบำเพ็ญประโยชน์ไปแล้วก็ไม่กินเหล้าด้วย แล้วก็ชวนคนอื่นไม่กินเหล่าด้วย ทีนี้พวกในหมู่บ้านเคยได้รายได้จากการขายสุรา เรื่องสมัยก่อนมันแทบเหมือนสมัยนี้นะ ท่านลองคิดดูให้ดีนะ ท่านกำนันหรือว่าจะเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือจะเรียกนายอำเภอผมก็เทียบไม่ถูกเพราะตำแหน่งคนละยุคสมัย ท่านนี้ก็โกรธก็เลยหาเรื่องว่าจะต้องตั้งข้อหาว่าพวกนี้ตั้งซ่องสุมกำลังจะก่อการร้าย ว่าอย่างนั้นนะ ก็เลยเอาเรื่องยกเรื่องไปถึงผู้ปกครองเป็นลำดับชั้นขึ้นไปว่าพวกนายมฆกำลังซ่องสุมผู้คนก็เลยจะมาจัดการ พวกนี้ก็ถูกจับไปแล้วก็ไปพิสูจน์ตัวกับพระเจ้าแผ่นดิน พอไปพิสูจน์ตัวแล้วพระเจ้าแผ่นดินกลับเลื่อมใสบอกว่าพวกนี้มาบำเพ็ญประโยชน์ ไม่ใช่ทำก่อการร้ายอะไรเพราะฉะนั้นจะต้องสนับสนุน ก็เลยยิ่งสนับสนุนใหญ่เลย มฆมานพก็เลยกลายเป็นผู้นำที่ได้ช่วยบำเพ็ญประโยชน์อย่างกว้างขวางทั้งหมู่บ้านถิ่นของตัวเองแล้วยังไปช่วยยังในถิ่นอื่น ๆ ต่อไปอีก แล้วท่านผู้นี้แหละมีด้วยกันเป็นหมู่ทั้งชุดนี้ 33 คน พอตายแล้วก็เลยไปเกิดบนสวรรค์เป็นเทวดาชั้นดาวดึงส์ ดาวดึงส์ก็มาจากคำว่า 33 นี่แหละ เทวดา 33 เตตฺตึส ไตรตรึงษ์ เขาเรียกไตรตรึงษ์ เทวดาชั้นไตรตรึงษ์ ก็มาจากตัวเลข 33 นี่คือตำนานฝ่ายพุทธศาสนา ก็กลายเป็นว่าจากการที่บำเพ็ญประโยชน์เป็นคนดี ทำการช่วยเหลือต่อกัน ทำดีต่อสังคมก็ทำให้ได้ไปเกิดเป็นเทวดาเป็นพระอินทร์ ใช่ไหม ต่างกันลิบลับเลย
ของพุทธก็เปลี่ยนคติใหม่ ของพราหมณ์เขาต้องไปอ้อนวอนใช่ไหม ต้องกลัวพระองค์พิโรธ ถ้าโกรธขึ้นมาแล้วก็ยุ่งเลย แล้วก็ต้องค่อยเอาใจว่าจะทำอย่างไรไม่ให้พระองค์โกรธ ของพุทธก็กลายเป็นว่าทุกคนนี้แม้แต่เทวดาก็ต้องปฏิบัติตามธรรม ผู้มีธรรมก็คือผู้ที่รู้ว่าอะไรควรไม่ควรโดยเหตุผล เมื่อใครประพฤติดีปฏิบัติชอบก็ต้องไปช่วยเหลือเขาถ้าเขาเดือดร้อน ไม่ใช่รอใครมาอ้อนวอนแล้วก็มาเซ่นสรวงแล้วก็ไปช่วย อย่างนี้มันก็เป็นทางของการคอร์รัปชันสิใช่ไหม ถูกไหม ทีนี้ของพุทธไม่ใช่อย่างนั้น ของพุทธก็หมายความว่าเทวดาก็ใครเป็นผู้ใหญ่ต้องคอยมองดูเอง ถ้าหากว่าเห็นคนไหนมีธรรม อย่างในหมู่มนุษย์นี้คนไหนเป็นคนดี เขาประพฤติธรรมแล้วเขาเดือดร้อนตัวเองต้องไปช่วยเขาเลย ไม่ต้องให้เขามาอ้อนวอน เป็นอย่างนี้นะ เอาละ เพราะฉะนั้นพระอินทร์ก็มีธรรมสภาแล้วก็จะประชุมเทวดา ถึงวันที่ประชุมกันนี้เป็นวันเพ็ญก็จะมาตรวจสอบไถ่ถามกันว่าสภาพของสวรรค์ตอนนี้เป็นอย่างไร มีคนมาเกิดมากขึ้นหรือลดน้อยลง ที่เกิดมากขึ้นก็คือมาจากมนุษย์ เป็นต้น ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบมา ถ้าหากว่ามีผู้มาเกิดมากขึ้นแสดงว่ามีคนที่ทำดีมากก็ยินดีชอบใจ แล้วทางพระอินทร์ก็มีหน้าที่ที่จะตั้งเทวดามาตรวจสอบดูผู้คนในสังคมมนุษย์ว่าใครประพฤติดีประพฤติชอบบ้าง แล้วก็มีเทวดาที่มีหน้าที่ต่าง ๆ เช่น คอยดูแลมนุษย์ เช่นอย่างที่มหาสมุทรก็มีเทพธิดาชื่อมณีเมขลา เคยได้ยินไหมครับ เทพธิดาที่รักษาท้องมหาสมุทรถ้าใครเดือดร้อนแล้วจะได้มาช่วย ดูสิเรื่องมหาชนก ผมจะเล่าเรื่องมหาชนกนี่ก็เป็นตัวอย่าง เรื่องมหาชนกนี้ก็จะให้เห็นคติพุทธเลยว่ามันไม่เหมือนคติของพราหมณ์ มหาชนกก็ไปเรือสำเภา เรือทะเล ออกทะเลเรือก็เกิดอับปางขึ้นมา ตอนที่เรือจะอับปางนั้นมนุษย์ก็มีอาการกิริยาต่าง ๆ บ้างก็คร่ำครวญสวดอ้อนวอนต่อเทพเจ้าให้เทพเจ้าที่ตัวเชื่อถือเคารพนับถือนั้นมาช่วย บ้างก็ร้องไห้ฟูมฟายไม่มีสติ มีอาการเป็นไปต่าง ๆ ส่วนมหาชนกนั้นไม่เสียเวลาไปกับการที่จะมัวฟูมฟายร้องไห้หรือว่าจะไปอ้อนวอนอะไรต่าง ๆ ทั้งนั้น ก็คิดเลยว่าอย่างน้อยเราจะต้องให้อยู่ได้นานที่สุดในน้ำถ้าหากเราจะตาย แต่อาจจะรอดได้ เราควรจะไปอยู่ตรงจุดไหนของเรือในเวลาที่เรือล่มจะปลอดภัยที่สุด แล้วเราจะเตรียมอุปกรณ์อะไรไว้บ้างเพื่อจะให้อยู่ได้ ได้อาศัยมัน แล้วท่านก็ใช้เวลาที่มีอยู่ในขณะที่เรือจะอับปางเตรียมตัวไปอยู่ในจุดที่คิดว่าดีที่สุด แล้วก็หาพวกอุปกรณ์ เช่น ไม้ อะไรต่ออะไรในเรือที่หาได้ แล้วพอเรืออับปางท่านก็อยู่ในจุดที่ค่อนข้างดี ถึงอย่างนั้นมันก็มองไม่เห็นฝั่งเลย ท่านก็ไม่ยอมหยุดก็ว่ายน้ำไปเท่าที่มองเห็นว่าทางไหนน่าจะถูกที่สุด ก็ว่ายน้ำไม่หยุด แล้วนางมณีเมขลาซึ่งมีหน้าที่ที่จะดูตรวจตรามหาสมุทรก็มาเห็น ท่านมีหน้าที่ที่จะช่วยเหลือดูแลความเรียบร้อยในท้องทะเล ท่านก็เห็นมหาชนกมีความเพียรว่ายน้ำไม่หยุดเลย ตอนแรกก็แกล้งมาลองใจ แกล้งเยาะเย้ย ก็เยาะเย้ยว่ามองก็ไม่เห็นฝั่ง จะว่ายไปทำไมตายเปล่าอะไรทำนองนี้นะ ก็พูดแกล้งเย้า อันนั้นก็ไปอ่านเอาเอง ท่านจะเย้าว่าอย่างไรบ้าง แล้วก็เป็นคำโต้ตอบกันระหว่างมหาชนกกับนางมณีเมขลา มหาชนกก็จะพูดถึงการที่มนุษย์จะต้องมีความเพียรพยายามใช้หัวคิดแล้วก็เพียรพยายามไป อาจจะยังมีความหวัง ถึงแม้เพียรพยายามไปแล้วมันตายก็ไม่ได้เป็นหนี้ใคร ว่าอะไรทำนองนี้นะ ท่านก็พูดไปจนว่ากระทั่งในที่สุดนางมณีเมขลาก็พอใจ แล้วตัวเองก็มีหน้าที่อยู่แล้วก็เลยช่วยพาเข้าฝั่ง เรื่องก็เป็นอย่างนั้น ก็หมายความว่ามนุษย์ก็ทำหน้าที่ของตัวเองไปด้วยความเพียรพยายามและความดีก็คือประพฤติธรรม ส่วนเทวดาที่เป็นผู้จะช่วยเหลือก็ทำหน้าที่ของตัวเองไปในการช่วยเหลือคนที่มีกำลังน้อยกว่าตัว อันนี้ก็คือคติที่จะให้ดำรงสังคมมนุษย์ด้วย
คติพุทธศาสนานี้ไม่เคยศึกษากันเลย มีอยู่ในแทบทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นพระพรหมของพุทธศาสนาก็กลายเป็นว่ามีพรหมวิหาร 4 มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้วท่านก็บอกไม่ให้มนุษย์รอพระพรหม มนุษย์ทุกคนจะต้องประพฤติพรหมวิหารด้วยตนเอง ก็คือมีธรรมะ 4 ประการประจำใจ แล้วมนุษย์นี่แหละก็จะเป็นผู้สร้างสรรค์บันดาลโลก จะเรียกว่าสร้างสรรค์บันดาลโลกก็ไม่ถูก ต้องเรียกว่าสร้างสรรค์อภิบาลโลก สร้างสรรค์อภิบาลโลกก็คือว่าทำให้โลกเจริญงอกงามแล้วก็รักษาไว้ให้อยู่ดี ก็เมื่อมนุษย์เรานี้อยู่ในเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เราก็อยู่กันดี สังคมมนุษย์มันก็เรียบร้อย ไม่ใช่ว่าตัวเองไม่คำนึงถึงอะไรเอาแต่จะรอเทวดา ตัวเองก็อยู่ในความประมาท เบียดเบียนกันบ้าง ปล่อยเรื่อยเปื่อยไปบ้าง สังคมก็เสื่อมไป ถ้ารอให้โลกสังคมมันเสื่อมสลายแล้วให้เทวดามาสร้างใหม่ อันนั้นไม่ได้เรื่อง มนุษย์เราเองนี่แหละเป็นพรหมเองเลย ท่านก็บอกให้มนุษย์นี่แหละเป็นพรหมเอง เราก็เป็นผู้สร้างสรรค์บันดาลโลกด้วยการประพฤติธรรม 4 ประการนี้ ก็ทั้งให้เทวดาต้องเปลี่ยนแนวใหม่แนวความคิดแนวการปฏิบัติใหม่ ทั้งมนุษย์เองก็ปฏิบัติตัวเป็นเทวดาได้ด้วย พอระลึกถึงเทวดาในธรรมะมีอยู่หมวดหนึ่งเขาเรียกว่าอนุสสติ 10 มีเทวตานุสสติด้วย เทวตานุสสติก็คือระลึกถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา ไม่ใช่ไประลึกถึงแต่เทวดาองค์นั้นท่านเก่งอย่างนั้น เทวดาองค์นี้เก่งอย่างนี้ ท่านจะบันดาลอะไรให้เรา พรุ่งนี้เราจะเอาอะไรไปเซ่นไหว้ท่านดี ใช่ไหม ไม่ใช่อย่างนั้น เทวตานุสสติของเรานี้คือระลึกถึงว่าเทวดาองค์นี้ท่านมีคุณความดีอะไร ท่านมาเกิดได้ด้วยอาศัยคุณธรรมอะไร อย่างเป็นพระอินทร์นี้ก็เป็นมฆมานพบำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชนอะไรต่ออะไร เราจะเป็นเทวดาเราก็ต้องประพฤติธรรมอย่างนั้น อย่างน้อยก็มีหิริโอตัปปะ เรียกว่า หิริโอตตัปปะสัมปันนา สุกกะธัมมะสะมาหิตา สันโตสัปปุริสาโลเก เทวะธัมมาติ วุจจะเรฯ ยังสวดรึเปล่า นี่แหละบอกว่า หิริโอตตัปปะสัมปันนา มนุษย์ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตัปปะแล้วเรียกว่าถึงพร้อมด้วยเทวธรรม ธรรมะนี้ทำให้เป็นเทวดา ก็อยู่ด้วยหิริโอตัปปะสังคมมนุษย์ก็จะเป็นสังคมเทวดาได้ คติพุทธมีมากมายเลยอยู่ในเรื่องนี้ แม้แต่เราจะนับถือเทวดาอยู่นี้มันก็เปลี่ยนหมดเลย ทุกอย่างเปลี่ยนหมด แต่เราไม่เคยเอามาใช้ อ้อนวอนมาอย่างไรก็อ้อนวอนต่อไป จนกระทั่งว่าชาวพุทธจะเป็นชาวอะไรไปแล้วก็ไม่รู้ ใช่ไหม ไม่ได้ประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นจึงบอกเวลาเกิดเรื่องอะไรมันน่าจะเอาความรู้มาเผยแผ่ขยายแก่ประชาชน เรื่องนี้ยังมีแง่มุมที่ต้องพูดอีกเยอะเลยแต่เวลามันจะไม่พอ แต่ว่าขอแทรกนิดนึงเรื่องอัศวเมธ เรื่องบูชายัญ เพราะเป็นเรื่องพิธีใหญ่ของศาสนาพราหมณ์ อัศวเมธแปลว่าฆ่าม้าบูชายัญ อัศว คือ อสฺส แปลว่าม้า เมธ ความหมายหนึ่งแปลว่าฆ่า อัศวเมธก็แปลว่าการฆ่าม้าบูชายัญ เป็นการบูชายัญอย่างใหญ่ของพวกมหากษัตริย์ซึ่งผมจะเล่าการทำให้โดยย่อ ท่านจะได้พอเห็นแนวทางว่ามันยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็คือว่ากษัตริย์ที่เห็นว่าตัวเองยิ่งใหญ่พอแล้วแล้วจะประกาศศักดาก็จะประกอบพิธีอัศวเมธ เบื้องต้นก็คือคัดเลือกม้าที่มีคุณสมบัติดีตามตำราโดยมากจะเป็นม้าสีขาว พอได้แล้วก็จะคัดเลือกพวกเจ้าชายและทหารที่มีฝีมือตัวนำ 100 คน แล้วก็ให้ติดตามม้าไปโดยให้ม้านี้ไปตามชอบใจเป็นเวลา 1 ปี ทีนี้ม้าตัวนี้เมื่อมันวิ่งไปมันก็ต้องผ่านแดนโน้นแดนนี้ ผ่านแดนไหนแล้วแดนนั้นถ้าไม่ยอมให้ผ่านก็ถือว่าต้องรบกัน นี่ก็เป็นวิธีประกาศศักดาเดช ถ้าใครไม่กล้าก็ต้องเปิดให้ผ่าน เปิดให้ผ่านก็คือยอมรับอำนาจ ทีนี้ถ้าไม่รับก็รบกัน ตัวเองจะทำอัศวเมธก็ต้องแน่ใจแล้วว่าฉันต้องเก่งใช่ไหม ก็ทำอย่างนี้ 1 ปีแล้วก็ม้านั้นพร้อมทั้งพวกเจ้าชายนายทัพก็กลับมาที่บ้านเมืองของตัวเอง ระหว่างเวลา 1 ปีนั้นที่บ้านเมืองของตัวเองโดยเฉพาะเมืองหลวงก็จะมีการมหรสพการฉลองกันเป็นการใหญ่ตลอดปี สนุกสนานกันใหญ่เลยตลอดปี พอมาถึงแล้วก็ทำพิธีใหญ่ยิ่งขึ้น ม้าตัวนั้นจะต้องถูกฆ่าบูชายัญ แต่ก่อนจะฆ่าบูชายัญก็จะมีพิธีมากมาย ในพิธีเหล่านี้ก็จะการฆ่าสัตว์อื่นบูชายัญอีกราว 609 ตัว อาจจะมีตั้งแต่เป็ด ไก่ แพะ แกะ วัว จนกระทั่งอูฐแล้วก็ช้าง แล้วบางทีก็อาจจะฆ่าคนบูชายัญด้วย ม้าเองก็อาจจะหาอีก บางกษัตริย์ก็เอา 10 ตัว บางกษัตริย์ก็เอาถึง 100 ตัวเลย เอาเฉพาะม้าอย่างเดียว 100 ตัวมาฆ่าบูชายัญ แล้วกษัตริย์และมเหสีต้องเข้าสู่พิธีมีอะไรต่ออะไรเยอะแยะ แล้วมีเรื่องหยาบโลนทางเพศ ผมไม่เล่านะ ทั้งทางวาจาทั้งกริยา มีเรื่องทางเพศทางอะไรต่ออะไรเข้ามาด้วย นี่แหละทำเสร็จก็เป็นอันว่าจบ นึกดูสิเป็นพิธีตั้งปีหนึ่งแน่ะ สนุกสนานกันใหญ่ แล้วลงทุนอะไรต่ออะไรมหาศาลเพื่อจะประกาศอำนาจ อันนี้ศาสนาพราหมณ์เขาก็เชื่อเป็นคติกันมาว่าถ้ากษัตริย์องค์ใดได้ประกอบพิธีอัศวเมธถึง 100 ครั้ง จะเป็นใหญ่ยิ่งกว่าพระอินทร์ในสรวงสวรรค์ เป็นเจ้าจักรวาลเลยว่าอย่างนั้นเถอะ แต่ใครจะไปทำได้ละครับ เพราะว่าพิธีปีหนึ่งใช่ไหม ร้อยครั้งก็ร้อยปี แล้วกษัตริย์องค์ไหนจะอยู่ล่ะ กว่าจะได้เป็นกษัตริย์ก็อายุเท่าไรแล้ว ให้เป็นอย่างหนุ่มก็ 19 ปี หรือให้ 20 ปีถ้วน ๆ ท่านก็ทำพิธีอัศวเมธ 100 ครั้ง ทำทุกปีก็อายุ 120 ปี แล้วอายุ 120 ปี เป็นเจ้าจักรวาลเป็นอย่างไรครับ ไหวไหม นี่แหละครับความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ ให้ท่านเห็นตัวอย่าง เขาก็เชื่อกันมาอย่างนี้
อัศวเมธนี้ก็เป็นพิธีที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะฉะนั้นกษัตริย์ก็อย่างที่ผมเล่ามาแล้วที่ว่าพวกพราหมณ์เมื่อแค้นพระเจ้าอโศก ปุษยมิตรเป็นพราหมณ์ใหญ่ที่รับราชการกับวงศ์กษัตริย์พระเจ้าอโศก ก็เลยสังหารพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นหลานเหลนของพระเจ้าอโศกแล้วก็ตั้งราชวงศ์กษัตริย์ชื่อราชวงศ์ศุงคะขึ้นมา ตัวเองก็เป็นพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๆ ที่วรรณะพราหมณ์ แล้วก็ทำพิธีอัศวเมธฟื้นขึ้นมาเป็นครั้งแรก กษัตริย์ในยุคต่อ ๆ มาจะประกาศความยิ่งใหญ่ก็ประกอบพิธีอัศวเมธ ทีนี้เราจะเห็นว่าในพระไตรปิฎกเองได้เปลี่ยนคติเหล่านี้หมด ผมจะเล่าให้ฟังเป็นตัวอย่างคือพราหมณ์เขามีพิธีบูชายัญมันมีตั้งแต่พิธีในบ้านประจำวันเลยนะ เขาต้องรักษาไฟไม่ให้ดับ ในเรือนของตัวเองแต่ละคนนี้ไฟจะไม่ให้ดับเลยเพราะมันมีพิธีบูชายัญตั้งแต่ในครอบครัวในครัวเรือนไปจนกระทั่งพิธีใหญ่ระดับชาติเลย พิธีใหญ่ ๆ นี้พระพุทธเจ้าก็มาตรัสคำสอนให้เป็นหลักการอีกอย่างหนึ่งซึ่งเรียกว่าราชสังคหวัตถุ 4 ประการ ของพราหมณ์เป็นพิธีบูชายัญ อัศวเมธ ภาษาบาลีก็เป็นอศฺวเมธ คำว่าเมธะนี้มันเล่นศัพท์ได้ เมธะแปลว่าเมธาแปลว่าปัญญาก็ได้ เช่น เมธี เคยได้ยินไหม เมธา เมธีก็เป็นผู้มีปัญญา เพราะฉะนั้นเมธะแปลว่าฆ่าก็ได้ แปลว่าปัญญาก็ได้ พุทธศาสนาก็เปลี่ยนอัสสเมธะเป็นสัสสเมธะ สัสสะแปลว่าข้าวกล้า เมธะแปลว่าปรีชาฉลาด แปลเอาความสัสสเมธะก็แปลว่าปรีชาสามารถในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร นี่เปลี่ยนแล้วนะ ฆ่าสัตว์บูชายัญ ฆ่าม้ามาเป็นปรีชาสามารถในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร อันนี้เรื่องของกษัตริย์นะ ตอนนี้เรากำลังพูดถึงเรื่องของกษัตริย์ พระพุทธเจ้ากำลังกำหนดหน้าที่ใหม่ให้กษัตริย์ คุณไม่ต้องไปทำพิธีฆ่าม้าบูชายัญ คุณทำสัสสเมธะ 1) อัสสเมธะ อัศวเมธก็มาเป็นเรื่องของสัสสเมธะ แปลว่าปรีชาสามารถในการบำรุงพืชพันธุ์ธัญญาหาร ของพราหมณ์ 2) ปุริสเมธะ ฆ่าคนบูชายัญ ฆ่าคนบูชายัญเขามีด้วยนะ มีเรื่องใหญ่ในชาดกยังเล่าไว้เลยนะ แล้วก็ในเรื่องของพราหมณ์ก็มีเล่า บางคนถึงกับฆ่าลูกบูชายัญเพราะความเชื่อเหล่านี้ กษัตริย์ด้วยนะที่ฆ่าลูกบูชายัญ พุทธศาสนาก็เปลี่ยนเป็นปุริสเมธะ แปลว่าปรีชาฉลาดในการบำรุงข้าราชการ อันนั้นฆ่าคนบูชายัญ อันนี้ฉลาดในการบำรุงข้าราชการ นี่ก็กษัตริย์นะ คนละอย่างเลย 3) ของพราหมณ์เขาบอกว่าสัมมาปาสะ สัมมาปาสะก็เป็นชื่อยันต์ชนิดหนึ่ง มีวิธีที่ท่านพรรณนาไว้แต่ผมไม่อยากพูด ก็เอาพอเป็นพิธีบูชายัญอีกอย่างหนึ่งคือเขาก็โยนบ่วงไปแล้วบ่วงนี้ไปตกที่ไหนก็จะตั้งโรงประกอบพิธีที่นั่นเป็นจุด ๆ แล้วก็โยนต่อไป เรื่องของพราหมณ์นั้นพิธีบูชายัญมันหนักหนาแหละ ทีนี้คำว่าบ่วง สัมมาแปลว่าโดยชอบ บ่วงที่จัดการโดยชอบ บ่วงอันนี้พุทธศาสนาก็มาเปลี่ยนความหมายเป็นว่าบ่วงคล้องใจคน บ่วงคล้องใจคนก็หมายความว่าให้พระราชาผูกใจประชาชนด้วยการบำรุงด้านเศรษฐกิจ การค้า การพาณิชย์ เช่น ตั้งกองทุนให้พวกคนที่เขาตั้งตัวกู้ยืมไปประกอบการค้าขาย อันนี้ท่านบอกอธิบายไว้เลย ตั้งทุนไว้ให้เขากู้ยืมไปประกอบการค้าขายเพื่อการพาณิชย์ อันนี้พวกค้าขาย พวกที่หนึ่งเรื่องพืชพันธุ์ธัญญาหารการเกษตร พวกกสิกรก่อน อันที่สองก็มาพวกข้าราชการ อันที่สามก็พวกพ่อค้าวาณิช 4) วาชเปยะ เป็นพิธีดื่มน้ำคล้าย ๆ ดื่มน้ำชัยบาลฉลองชัยชนะอะไรพวกนี้ ก็เป็นพิธีบูชายัญอีกแบบหนึ่งของพราหมณ์ พระพุทธศาสนาก็มาใช้เป็นว่าวาชเปยะ เปยะมาจากคำว่าปิยะ ปิยะก็แปลว่าเป็นที่รัก วาชะก็แปลว่าวาจา วาจาอันเป็นที่รักดุจดื่มน้ำใจ แทนที่จะไปดื่มน้ำชัยบาลก็แปลว่าพูดจาดี พระราชาหรือผู้ปกครองประเทศรู้จักสื่อสารกับประชาชน สร้างความรู้ความเข้าใจต่อกัน ให้ประชาชนรู้เข้าใจความเป็นมาเป็นไป พูดกันแล้วให้เขามีความนับถือ มีความเชื่อถือ มีวาจาสื่อสารที่ดีที่ผูกพันน้ำใจคน แต่ของพราหมณ์เขามีอีกข้อหนึ่งคือ 5) นิรัคคฬะ หรือจะเทียบเท่ากับสรรพเมธะ เป็นยัญที่ใหญ่ที่สุดของพราหมณ์ ทุกอย่าง เป็นยัญที่พร้อมบริบูรณ์ ตั้งแต่ฆ่าคนหรือฆ่าอะไรพร้อมหมดบริบูรณ์ บูชายัญ ตัวศัพท์นิรัคคฬะแปลว่าไม่มีลิ่มกลอน คือไม่มีอะไรติดขัด อันนี้พระพุทธเจ้าเอามาเป็นข้ออานิสงค์ บอกว่าเมื่อพระราชาได้ประพฤติปฏิบัติอย่างที่ว่ามาแล้ว ประชาชนก็จะอยู่ร่มเย็นเป็นสุข จนกระทั่งว่าบ้านเรือนไม่ต้องลงกลอน เอาบุตรขึ้นมาฟ้อนบนอก สำนวนพระท่านว่าอย่างนั้นนะ หมายความว่าอยู่กันสุขสบายดี เศรษฐกิจก็ดี โจรขโมยก็ไม่มีปล้น บ้านเรือนก็ไม่ต้องติดกุญแจ ไม่ต้องลงกลอน ในครอบครัวก็มีความสุข สำนวนเขาเรียกว่าเอาบุตรขึ้นมาฟ้อนบนอก สำนวนพระว่าอย่างนั้น นี่ก็คือตัวอย่างหลักการพุทธศาสนาที่มาเปลี่ยนแปลง นี่ก็คือเรื่องธรรมะเหมือนกัน เปลี่ยนจากเทพมาสู่ธรรม
แม้แต่เทพเองในเรื่องวิถีชีวิตของเทพ วิธีปฏิบัติของเทพก็เปลี่ยนมาเป็นธรรมหมด ให้ธรรมะเป็นใหญ่ แล้วถ้าเกิดกรณีขัดแย้งกันระหว่างเทพกับมนุษย์ก็ให้ถือธรรมเป็นหลัก ถ้าหากว่ามนุษย์ปฏิบัติถูกธรรมะแล้วอย่ายอมกับเทพ ก็จะมีเรื่องที่มีในคติพุทธศาสนา ถ้ารู้จักค้นจะมีในพวกชาดกในพวกคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทท่านจะเล่าไว้ คือเทวดายังมีกิเลสอย่างที่เห็นอยู่แล้วเขายังอยู่กันด้วยฤทธิ์ ลองดูรูปปั้นเทวดาของพราหมณ์สิ มี 4 กร 20 กร แล้วก็ถืออาวุธต่าง ๆ ใช่ไหม แสดงท่าทางองอาจทำศัตรูให้ขยาดหวาดเกรง ต้องแสดงท่าทางยิ่งใหญ่เหยียบหน้าอกพวกศัตรูเลยอะไรอย่างนี้ นี่รูปปั้นของเทวดาก็ต้องมีฤทธิ์อย่างนี้ แต่ว่าพุทธศาสนาเปลี่ยนมา ความศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาดูที่พระพุทธรูปนั่งสงบ ยิ้มเลย ท่านดูสิรูปปั้นของศาสนาพราหมณ์กับพุทธบอกคติอยู่ในตัวแต่เราไม่ได้สังเกต ใช่ไหม ศาสนาพรามหณ์มีแต่เทวดาที่ต้องแสดงว่ายิ่งใหญ่จริง ๆ ต้องมีฤทธิ์ ต้องพิฆาตศัตรูได้มากที่สุด ของพุทธศาสนาไม่ทำอะไรใครเลย นั่งสงบ มีความบริสุทธิ์ มีเมตตา ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่ปัญญา ปัญญาและความบริสุทธิ์แล้วก็เมตตากรุณานี่แหละความศักดิ์สิทธิ์ที่แท้จริง คติของพุทธของพราหมณ์ก็มาต่างกัน ก็ใช้หลักการนี้มาตลอด ทีนี้ถ้ามนุษย์กับเทวดาเกิดมีเรื่องกันขึ้น ในคติพุทธเราก็จะมีเรื่องนี้เล่าไว้ให้เพื่อให้ชาวพุทธได้หลักว่าบางทีเทวดาท่านมีกิเลสท่านก็จะแกล้ง บางทีเทวดาเห็นพระมาก็รู้สึกว่าตัวเองจะอยู่ไม่เป็นสุขแล้วเพราะตัวเองเคยอยู่สบายมีอำนาจทำตามชอบใจ ทีนี้พระมาต้องเกรงใจเพราะพระมีธรรมะก็จะหาทางแกล้ง แล้วท่านก็จะบอกให้ตัดสินกันด้วยธรรมะ ถ้ามนุษย์อยู่ในธรรมะแล้วไม่ต้องกลัว ในที่สุดเทวดาจะต้องยอม ท่านก็เล่าเรื่องเป็นตัวอย่างไว้ ก็เรื่องเล่าไปแล้วอย่างสาวกท่านสำคัญที่เป็นคฤหัสถ์ อนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านมานับถือพุทธศาสนา ท่านได้เป็นโสดาบัน ท่านก็บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม บำรุงพระสงฆ์ แล้วก็ช่วยสังคม ตั้งโรงทาน เอาทรัพย์มาช่วยเหลือสังคม มาอุปถัมภ์พระสงฆ์ด้วยแล้วก็มาอุปถัมภ์คนยากคนจน จนกระทั่งตัวเองนี้ชักจะแย่ ทีนี้เรื่องมันไปถึงเทวดาตรงนี้ ตรงที่ว่าอย่างที่เคยเล่า เทวดาในชมพูทวีปคติเดิมนี้ไม่เหมือนเมืองไทยนะ เวลามนุษย์สร้างบ้านสร้างเรือนเทวดาก็จะมาหาที่อยู่เอาเอง ไม่มีคติเรื่องการที่จะต้องให้มนุษย์ไปสร้างศาลพระภูมิให้อยู่ สร้างบ้านแล้วที่ไหนมันดีที่สุดเทวดาท่านจะเลือกเอง ทีนี้อนาถบิณฑิกเศรษฐีพอท่านสร้างบ้านเทวดาก็มาอยู่ อยู่ที่ไหน โดยมากเทวดาจะชอบซุ้มประตู เทวดาท่านก็ขึ้นไปอยู่ที่ซุ้มประตูเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทีนี้พออนาถบิณฑิกเศรษฐีนับถือพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าก็เสด็จมาบ้าง ถ้าพระพุทธเจ้าไม่มาพระสงฆ์ก็มา มาบิณฑบาตบ้างอะไรบ้าง ทีนี้เทวดาเมื่อผู้มีศีลมาก็ลำบากใจ คือเทวดาก็ต้องนับถือพระเหมือนกัน เมื่อพระสงฆ์มาจะผ่านประตูนี้เทวดาอยู่ไม่ได้แล้วเพราะอยู่ข้างบนสูงกว่า เทวดาก็ต้องลงมาข้างล่าง เทวดาชักโกรธ บอกว่า เอ! พระมา พระพุทธเจ้ามา เราลำบากทุกที จะต้องหาทางให้เศรษฐีนี้เลิกคบกับพระพุทธเจ้า เลิกนับถือ แตกกันสักที ก็รอโอกาสมาตอนที่เศรษฐีชักทรัพย์ร่อยหรอลงไป เงินชักขาดแคลน เทวดาคิดว่าได้โอกาสแล้ว วันหนึ่งก็มาปรากฏตัวต่อท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีแล้วก็มาพูดให้ฟังว่าท่านเศรษฐีท่านเคยมีทรัพย์มากมายเหลือล้น จนกระทั่งอย่างที่ว่าสร้างวัดเชตวันก็เอาเกวียนมาบรรทุกเหรียญทองเอามาปูพื้นจนเต็ม ซื้อกันได้อย่างนี้เลย แล้วเดี๋ยวนี้ท่านจนลงเพราะอะไร ท่านก็ทราบอยู่แล้ว เพราะว่าท่านมาอุปถัมภ์บำรุงศาสนาพระสงฆ์มาก ท่านควรจะปฏิบัติตัวใหม่ ถ้าท่านเชื่อข้าพเจ้าจะช่วยท่านได้ ข้าพเจ้ารู้แหล่งมีขุมทรัพย์ใหญ่อยู่ ข้าพเจ้าจะบอกให้ แล้วท่านไปขุดเอา สบายเลย ทีนี้จะรวยเหมือนเดิมหรือรวยกว่าเดิมด้วยซ้ำ ก็ว่าไป เทวดาก็ชักจูงใจเป็นการใหญ่ ท่านเศรษฐีเป็นโสดาบันมีความมั่นในธรรม ไม่มีทางที่จะคลอนแคลนได้ ไม่ยอมเชื่อฟังเทวดาแล้วถือสิทธิ์เจ้าบ้าน บอกว่าข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับการที่ท่านกล่าว ที่ท่านกล่าวนี้ไม่ชอบธรรม เมื่อท่านกล่าวไม่ชอบธรรม ขอโทษเถอะข้าพเจ้าไม่ต้องการให้ท่านอยู่ทีนี้ เอาละสิ ยื่นคำขาดเลย เทวดาเดือดร้อนแล้วสิ เขาเป็นเจ้าบ้านเขามีสิทธิ์ เทวดาเดือดร้อนแล้วจะทำอย่างไรดี ก็เลยหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองอยู่ได้ ตอนนี้กลายเป็นว่าตัวเอง ก็เลยต้องหาทางแก้ไขตัวเอง ก็เลยนึกถึงพระอินทร์ว่าเราคงต้องไปขอให้พระอินทร์ช่วยพูดหน่อยแล้ว ก็ไปขอร้องพระอินทร์ว่าให้ช่วยหน่อย ให้ช่วยพูดให้หน่อย พระอินทร์ก็บอกว่าข้าพเจ้าก็ช่วยท่านไม่ได้หรอก มันอยู่ที่การที่ท่านจะปฏิบัติอย่างไรให้มันถูกต้องเพราะมันเกี่ยวกับเรื่องของการปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมะ แล้วดูว่าพระอินทร์จะเสนอแนะให้อีกทางหนึ่ง อ้าวท่านก็ใช้วิธีนี้สิ ก็บอกว่าท่านเศรษฐีก็ยากจนลงไปแล้วแต่ท่านก็มีจิตใจศรัทธาอยากจะทำบุญทำกุศลต่อไป ข้าพเจ้าจะสนับสนุนท่าน ข้าพเจ้าจะบอกขุมทรัพย์ให้ ท่านจะได้มีทรัพย์มาทำบุญต่อ เทวดาต้องใช้วิธีนี้ ก็ไปบอกท่านเศรษฐีใหม่ เศรษฐีก็เลยให้อยู่ต่อ อันนี้เป็นเรื่องตัวอย่าง
แล้วก็มีเรื่องอื่นอีก บางทีเทวดามาแกล้งพระ พระไปที่ครอบครัวหนึ่งที่เขานับถือเลื่อมใสอยู่แล้วทีนี้เทวดาท่านเดือดร้อนไม่อยากให้พระอยู่แถวนั้น ต้องการให้ไปเสีย ท่านก็หาทางให้พระประพฤติผิดวินัยด้วยการที่ไปขอให้เจ้าบ้านทายกขออะไรกับพระอย่างหนึ่งที่พระทำแล้วจะผิดวินัย ทีนี้พระท่านก็มั่นในหลักของท่าน ท่านก็ไม่ทำผิดวินัย ในที่สุดก็เลยกลายเป็นว่าพระท่านก็ยื่นคำขาดว่า ไม่ใช่อาตมาต้องไป ท่านต้องไป อะไรอย่างนี้เป็นต้น คือคติพุทธไม่ได้ยอมกับเทวดา แต่ว่าโดยพื้นฐานแล้วให้อยู่ร่วมกันอย่างไมตรี มีเมตตาต่อเทวดา ให้เกียรติเพราะว่าโดยปกติแล้วผู้จะไปเกิดเป็นเทวดาโดยเฉพาะตามคติพุทธนี้จะต้องประพฤติดีทำบุญกุศล อย่างน้อยก็โดยเฉลี่ยแล้วมีคุณธรรมสูงกว่า เพราะฉะนั้นก็ให้มนุษย์โดยทั่วไปนับถือเทวดาให้เกียรติเทวดา แต่ว่าก็นับถือกันอย่างท่านผู้ใหญ่ที่มีคุณธรรม อย่าไปนับถือแบบอ้อนวอนขอผลดลบันดาลเพราะแต่ละคนต้องรับผิดชอบตัวเอง เทวดาท่านก็ยังมีหน้าที่ ท่านต้องพัฒนาตัวเอง ท่านยังต้องประพฤติธรรม เพราะฉะนั้นถ้ามัวแต่มายุ่งกันอยู่ อ้อนวอนเอาอกเอาใจกันอยู่ เทวดาก็มัวแต่สาละวนกับการจะมาคอยเอาใจชาวบ้านที่มาอ้อนวอนตัวเองก็เลยไม่เป็นอันได้ประพฤติปฏิบัติทำหน้าที่ของตัวเองโดยชอบ คือเสีย เหมือนสังคมไทยเรานี้ถ้าผู้ใหญ่ไม่ประพฤติธรรมใช่ไหม มัวแต่รอผู้น้อยมาประจบประแจงอยู่มันก็แย่ สังคมมันก็เสื่อม ผู้น้อยก็ประพฤติตัวให้ดี ท่านผู้ใหญ่เราก็เคารพนับถือให้เกียรติท่าน แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ไม่ได้ไปประจบประแจงหวังผลอะไรจากท่าน เราก็ทำหน้าที่ของเราให้ดี แล้วผู้ใหญ่ก็ไม่ใช่ต้องรอให้เขามาประจบประแจงตัวเองก็ต้องดูผู้น้อยคนไหนที่เขามีความดีความอะไรประพฤติปฏิบัติโดยชอบธรรมประโยชน์ดีอะไรต่ออะไร ขยันหมั่นเพียร เป็นต้น ก็ต้องสนับสนุนเขา หรือเขาเดือดร้อนขึ้นมาก็ต้องช่วย นี่เป็นคติแบบเดียวกับเทวดาเปี๊ยบ เอาล่ะ ก็เป็นอันว่าท่านจับหลักการใหญ่ให้ได้ก่อนที่ว่าพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาก็ดึงออกจากเทพสู่ธรรม เปลี่ยนจากเทพสูงสุดเป็นธรรมสูงสุด จุดยืนเปลี่ยนหลักการใหญ่เปลี่ยนหมด พื้นฐานเปลี่ยน ข้อปฏิบัติอะไรต่ออะไรแยกหมดเลย ถ้าว่าถึงโดยพื้นฐานแล้วเปลี่ยนหมดเลย แต่พร้อมกันนั้นพระพุทธศาสนานี้ถือหลักตามธรรมดาธรรมชาติ ปัญญายัดเยียดใส่กันไม่ได้ ก็ต้องใช้กรุณา ใช้วิธีที่ว่าค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ จา สื่อสารกันไป อะไรพอจะเชื่อมโยงกันได้ก็โยงกันไป ค่อย ๆ ให้เขาพัฒนาไป เรื่องมันก็เป็นอย่างนี้ แล้วตกลงเทวดาก็รับเข้าระบบธรรมะไปหมด ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทวดาก็เป็นเรื่องธรรมะไป พอเราจับหลักอันนี้ได้อะไรต่ออะไรดูมันกลมกลืนหมดเลย หมดปัญหา ท่านมีอะไรสงสัยไหมครับ นิมนต์ครับ มีนิดนึง
คำถาม : กราบเรียนถามพระเดชพระคุณหลวงพ่อว่าเรื่องยมบาลเป็นคติพุทธหรือเปล่าครับ
คำตอบ : คือเดิมพราหมณ์เขามีมาก่อน พระยมนี้เป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่เลยนะ อยู่ในรุ่นพระอินทร์เลย อินทร์ วรุณ ยมเทพ ประชาบดี พวกนี้เป็นเทพรุ่นแรกที่ยิ่งใหญ่มาก ยมเทพก็ยิ่งใหญ่มาแต่เดิม ยมเทพมีมาเดิมแล้วก็มาเข้าคติพุทธศาสนา แบบเดียวกันนี่แหละครับ คติพุทธเราก็ให้มีธรรมะเข้าไป มีพระสูตรหนึ่งเลยที่พญายมทำหน้าที่ถามคนที่ตายจากโลกมนุษย์ไปก็จะไปพบพญายม พญายมก็จะถามว่าเมื่อท่านอยู่ในโลกมนุษย์นี้ท่านเคยเห็นเทวทูตไหม เทวทูตอะไร ก็คือคนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนทำบาปแล้วถูกจับถูกลงโทษ เขาเรียกว่าถูกลงทัณฑกรรมมาก่อน ถูกลงโทษขื่อคาเป็นต้น คนนั้นก็จะบอกเคยเห็น แล้วพญายมก็จะถามว่าแล้วท่านได้ความคิดอะไรไหม ถ้าไม่ได้ความคิดเพราะท่านมัวประมาทใช่ไหม แล้วก็ทำแต่กรรมชั่ว ก็กลายเป็นว่าจะต้องไปรับผลของกรรมชั่ว แต่ถ้าหากว่าเป็นคนที่รู้จักคิดได้เห็นคนเกิดแก่เจ็บตายก็จะเห็นคติธรรมดาของชีวิตของมนุษย์ เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เห็นผลของการทำความดีความชั่วว่าเราไม่ควรจะปล่อยตัวประมาท ควรจะทำความดีเว้นจากความชั่ว เมื่อทำกรรมดีก็ควรจะไปสู่ทางที่ดี ก็เลยกลายเป็นว่าพญายมเป็นเหมือนกับเทวดาที่คอยตัดสินคนที่จะไปนรกไปสวรรค์ อันนี้ก็มีเรื่องพญายมอยู่ในพระสูตรเหมือนกัน คติในพระพุทธศาสนาก็เอาในเรื่องในแง่ที่เกี่ยวกับธรรมะนั่นแหละเข้ามา คือจะไม่มีเรื่องเกี่ยวกับการอ้อนวอน การที่จะมาพิโรธลงโทษด้วยความโกรธ แล้วก็ให้คุณให้รางวัลด้วยการที่โปรดชอบใจ ไม่มีแบบนั้น ถ้าของเขาก็ต้องอ้อนวอนกันให้หายพิโรธ ไม่ให้โกรธ ไม่ให้ลงโทษ แล้วก็ให้ชอบใจให้โปรดปราน ก็เป็นคติคนละแบบ อันนี้เรื่องของพญายม
ขอแทรกอีกนิดเดียว เมื่อกี้บอกแล้วว่าเดิมพระอินทร์ใหญ่ที่สุด แล้วต่อมาพอเข้าสู่ชมพูทวีป สังคมนี้เริ่มสงบ อยู่กันเป็นหลักเป็นฐานแล้ว พวกปัญญาชนก็เริ่มใหญ่ขึ้นมา ปัญญาชนก็คือพวกที่สืบจากฤาษี ก็เป็นพวกพราหมณ์พวกนี้ พวกที่ศึกษาลงลึกเขาบอกว่าเทวดาที่ใหญ่ขึ้นมาที่มีชื่อคือพระพฤหัสบดีก่อน พระพรหมนี้ยังไม่ขึ้น พระพฤหัสบดีใหญ่ พระพฤหัสบดีนี้ก็เป็นพวกครู เป็นพวกเจ้าตำรา เป็นพวกนักวิชาการ แล้วก็อีกเทพหนึ่งซึ่งใหญ่มากมาแต่เดิมเหมือนกันตั้งแต่สมัยพระอินทร์ชื่อประชาบดี ประชาบดีนี่แหละที่มาเป็นองค์เดียวกับพระพรหมทีหลัง ประชาบดีแปลว่าเจ้าแห่งประชา ประชาก็คือประชาชน ก็คือหมู่สัตว์ ก็คือเจ้าพ่อนั่นเอง เทวดาที่เป็นเจ้าพ่อผู้สร้างมนุษย์ เขาบอกว่าพฤหัสบดีและประชาบดีนี่แหละที่มาเป็นพรหม ก็เป็นเทวดาพวกสันติ สร้างโลกสร้างมนุษย์ด้วย แต่พร้อมกันนั้นก็เป็นฝ่ายวิชาการ เป็นพวกครูอาจารย์ก็เป็นหน้าที่ของพราหมณ์ แล้วเป็นที่น่าสังเกตพฤหัสบดีเป็นเทพผู้ใหญ่นี้ถ้าเราไปดูฝ่ายกรีกโรมันมันไปตรงกันได้อย่างไร กรีกมีเทพเจ้าสูงสุดเป็นเจ้าสวรรค์คือซุส (Zeus) ถ้าอ่านแบบเราเรามักจะอ่านซีอุส ไม่ใช่ซีอุยนะ ซีอุสเป็นเจ้าสวรรค์ สวรรค์ของพวกกรีกอยู่บนยอดเขาโอลิมปัส ยอดเขาโอลิมปัสเป็นที่สถิตของเทพเจ้าทั้งหลาย มีเทพเจ้าคือซีอุส เป็นต้น เป็นเจ้าสวรรค์ ของอินเดียชมพูทวีปเทวดาทั้งหลายก็อยู่บนเขา เทวดาสูงสุดก็อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เห็นไหม ดูสิ กรีกอยู่บนยอดเขาโอลิมปัส เทพเจ้าซีอุส พอโรมันเป็นใหญ่ก็มีเจ้าสวรรค์เทพใหญ่ที่สุดชื่อจูปีเตอร์ จูปีเตอร์ก็คือพระพฤหัสบดี แล้วจูปีเตอร์โรมันบอกเป็นองค์เดียวกับซุสหรือซีอุส ซีอุสหรือซุสของกรีกก็เป็นจูปีเตอร์ของโรมัน จูปีเตอร์ของโรมันก็คือพระพฤหัสบดี พระพฤหัสบดีของโรมันก็มาตรงกับพระพฤหัสบดีของชมพูทวีปอินเดีย เป็นเทพเจ้าผู้ใหญ่ขึ้นมาต่อจากพระอินทร์ มันเป็นเรื่องที่ว่าจะคล้องจองกันอย่างไรกันก็แล้วแต่นะครับ ลองคิดดู ก็เป็นเรื่องที่ว่าน่าศึกษา มีเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เยอะแยะ แล้วเทพเจ้าพวกนี้ก็เป็นใหญ่เป็นยุค ๆ กันไป ก็อย่างที่ว่าพระอินทร์มาแล้วก็พระพฤหัสบดี ประชาบดีมาเป็นพรหม แล้วต่อมายุคหลังอีกตั้งหลายร้อยปีก็มีพระนารายณ์พระอิศวรที่ว่าใหญ่ขึ้นมา ก็เป็นยุค ๆ กันไป เรื่องเยอะเหลือเกินเกร็ดเหล่านี้ ก็ไว้ค่อยคุยกันใหม่ก็แล้วกันนะ เดี๋ยวเวลามันจะกินเข้าไปมาก เรื่องพูดไปก็เรื่องโน้นมาเรื่องนี้มา มีอะไรสงสัยไหมครับ ถ้าไม่มีวันนี้ก็คงเท่านี้