แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[00:00:00] พระพุทธเจ้า ผู้เป็นแบบอย่างผู้นำ ผู้เป็นกัลยาณมิตร
[00:00:00] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ทีนี้เรามาดูว่าความเป็นผู้นำนี้ พระพุทธเจ้าก็ต้องเป็นตัวอย่าง เพราะทรงเป็นผู้นำ พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้นำ เพราะเราเรียกพระองค์ว่า “นายโก” นายก คำว่า “นายก” เป็นคำที่เรียกพระพุทธเจ้ามาแต่เก่า แล้วเราเอามาใช้เรียกผู้นำของเราว่า นายก พระพุทธเจ้าเรียก นายโก นายกเฉยๆ บ้าง ก็เรียก โลกนายโก บ้าง “โลกนายโก” ก็คือ ผู้นำโลก คำว่า “โลก” ก็คือ สังคม สมัยเก่านี้ สมัยพุทธกาล คำว่าสังคมนี้เราไม่ได้ใช้ในความหมายปัจจุบัน คำว่า “สังคม” ก็ใช้คำว่า โลก นั่นเอง ในอินเดียยังใช้อยู่เลย คำว่า โลก เป็นหมายถึง สังคม อันนี้ โลกนายโก ก็คือผู้นำของสังคม หรือผู้นำโลก พระพุทธเจ้าก็เป็นอันนี้ แล้วความเป็นนายกอันนี้ก็ออกมาเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่เตือนใจระลึก พอเป็นที่พึ่ง ก็คือเตือนใจระลึก เตือนใจระลึกอะไร เราจะดูที่ว่า ความเป็นผู้นำของพระพุทธเจ้ามีตั้งแต่การที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความหมายอะไรขึ้นมา
[00:01:09] การระลึกถึงพระพุทธเจ้าจะมีความหมาย ๔ ประการ
๑. คือเมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าเราจะใช้คำว่า “ศรัทธา” ใช่ไหม เกิดศรัทธา ศรัทธานั้นมั่นใจในความเป็นมนุษย์และศักยภาพของมนุษย์ ใช่ไหม พอระลึกถึงพระพุทธเจ้าปั๊บ พระพุทธเจ้าสอนว่ามนุษย์มีธรรมชาติเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ชีวิตที่ดีจะดีได้ด้วยสิกขา คือการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนาทั้งสิ้น ทีนี้ธรรมชาติมนุษย์อันพื้นฐานนี่ที่เป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา หลักการพุทธศาสนาตั้งอยู่บนฐานความเชื่อนี้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และจะประเสริฐด้วยการฝึก เมื่อฝึกแล้ว มนุษย์พัฒนาดีแล้ว ฝึกตนแล้ว ประเสริฐสุด แม้แต่เทพพรหมต้องนมัสการไหว้ ไม่ใช่ต้องนมัสการ จะยินดีนมัสการ เราไม่บังคับใคร เป็นมิตรกัน ก็หมายความว่าแม้แต่เทพพรหมก็หันมากราบมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว
ฉะนั้นมนุษย์ก็จะมีว่า มีพระพุทธเจ้าพัฒนาพระองค์ไปจนกระทั่งว่าเป็นบุคคลที่เป็นอุดมคติสูงสุด ดีเลิศประเสริฐพรั่งพร้อมด้วยปัญญา พรั่งพร้อมด้วยพระคุณกรุณา พรั่งพร้อมด้วยความบริสุทธิ์ พรั่งพร้อมด้วยความบริสุทธิ์หลุดพ้น มีความสุขทุกประการ เป็นมนุษย์แบบอย่างเลย ทีนี้พอเราระลึกถึงพระพุทธเจ้า โอ้ มนุษย์ฝึกได้จริง ๆ มีตัวอย่าง มีพระพุทธเจ้าเป็นตัวแบบไว้ให้แล้ว ก็เกิดความมั่นใจในความเป็นมนุษย์ของตัวเองว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ดูสิ พระพุทธเจ้า มนุษย์นี่แหละ ฝึกตนแล้วเป็นได้ถึงขนาดนี้ เราก็เป็นมนุษย์ เราก็ฝึกตัวได้ เพราะฉะนั้นพอระลึกถึงพระพุทธเจ้า ความเป็นผู้นำของพระองค์ ทำให้เราเกิดความมั่นใจในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ เอาละ เราก็เกิดกำลัง เกิดความพร้อมที่จะฝึก ที่จะศึกษา ฝึกฝน พัฒนา
๒. เกิดความสำนึกในหน้าที่ของมนุษย์ มันไม่ใช่เฉพาะว่าศรัทธา มั่นใจในศักยภาพ แต่หน้าที่ของมนุษย์คือ เธอต้องฝึกตัว ฉะนั้นเราจะต้องฝึกตัวเอง ต้องทำหน้าที่ ต่อไปนี้ก็คือถึงขั้นใกล้ภาคปฏิบัติ ใช่ไหม ตอนแรกเกิดความเชื่อมั่นใจ ทีนี้ออกสู่ภาคปฏิบัติ สำนึกในหน้าที่ ต้องทำ ต้องฝึกตน ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดพัฒนา
ทีนี้ต่อไปพอจะทำเข้าจริง แหม มันชักอ่อนใจแล้ว มันยาก พอระลึกถึงพระพุทธเจ้า เกิดกำลังใจ โอ้ พระพุทธเจ้า ดูประวัติของพระองค์สิ กว่าจะมาเป็นพุทธะนี่ พระองค์มีความเข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม มีความเสียสละ ไม่มีการท้อถอย เสียสละแม้แต่เพื่อผู้อื่น สละชีวิตเพื่อทำความดี สละชีวิตเพื่อช่วยเหลือเขา ไม่มีการท้อถอย ไม่มีระย่อ แม้จะถูกกลั่นแกล้งยังไง ก็ไม่ระย่อในการทำความดี ดูในพุทธประวัติชาตินี้ไม่พอ ไปดูในประวัติอดีตในชาดก ในตอนพระโพธิสัตว์อีก พอไปดูประวัติพระพุทธเจ้า เห็นแบบอย่างนี้แล้วก็เกิดกำลังใจ ฮึกสู้ต่อ ไม่ถอย บอกเราทำดีแทบตายไม่ได้ผลอะไรต่ออะไร ก็ท้อแล้ว พอไปเห็นพระพุทธเจ้า โอ ท่านโดนแกล้งเหมือนกับเราเยอะแยะ ท่านยังสู้ อ้าว ต่อสู้ต่อ เกิดกำลังใจ ๓. แล้ว สี่อะไร
๔. ก็ได้วิธีการ ได้วิธีจากแบบอย่างของพระองค์ พระองค์ทำมาแล้ว ลองผิดลองถูกกว่าจะสำเร็จ เสียเวลามาก เรานี่ได้สำเร็จรูปจากที่พระพุทธเจ้าทำแล้ว ได้ประสบการณ์ของพระพุทธเจ้าเอามาใช้เลย เราไม่ต้องไปลำบากลองผิดลองถูก เพราะฉะนั้นเราก็ได้ตัวอย่างเป็นวิธีการ เป็นประสบการณ์ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้เลย
[00:05:07] จากผู้นำอันนี้ได้ประโยชน์ ๔ อย่าง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าระลึกแล้วที่เรียกว่า “เป็นสรณะ” ก็ทำให้เราได้ ๔ ประการ พอเราได้ ๔ ประการนี้ เราก็เข้าสู่ “ตัวธรรมะ” ก็คือ หลักปฏิบัติความเป็นจริงของธรรมชาติ การที่จะต้องนำความจริงนั้น กฎเกณฑ์แห่งเหตุผลมาใช้ในชีวิตของเรา ทำให้เป็นไปตามนั้น แล้วเราก็จะได้สร้างสรรค์สังคมมนุษย์ที่ดีขึ้น “เป็นสังฆะ” เป็นชุมชนที่ประเสริฐ นี่เรียกว่า “รัตนตรัย”
[00:05:35] แต่ว่าเราได้พระพุทธเจ้ามาเป็นผู้นำนี้ได้ ๔ ประการ นี่ก็คือ ลักษณะผู้นำ ตามที่ว่ามานี้ก็เท่ากับว่า บุคคลผู้นำนั้น ถ้าจะเอาแบบนี้ต้องเป็นคนสมบูรณ์เลย เพราะว่าเป็นผู้พัฒนาตนเต็มที่แล้ว ถ้าไม่ได้ถึงขนาดนี้ก็ต้องพัฒนาตนให้ดี ก็พัฒนาตนได้ดีมากแล้ว แล้วก็ทำให้คนอื่นเกิดความเชื่อมั่นอย่างที่ว่า แล้วก็เกิดกำลังใจ ซึ่งมันจะเกิดขึ้นได้เมื่อระลึกถึงผู้นำ เห็นแบบอย่าง แล้วก็ได้วิธีการปฏิบัติไปด้วย โดยนัยนี้ความเป็นผู้นำจะมีลักษณะที่ว่า เป็นบุคคลที่เราเรียกว่า “กัลยาณมิตร” นั่นเอง คือไม่ใช่เป็นเจ้านาย ใช่ไหม ก็คือ เป็นกัลยาณมิตร
เพราะฉะนั้นพุทธเจ้าจึงเรียกพระองค์ว่า เราเป็นกัลยาณมิตรของสัตว์ทั้งหลาย ว่างั้น มีพระสูตรหนึ่งเลย อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร สัตว์ผู้ตกอยู่ใต้อำนาจของชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงพ้นจากภาวะเหล่านั้น หมายความว่า อาศัยเราผู้เป็นกัลยาณมิตร สัตว์ผู้อยู่ในความทุกข์ก็พ้นจากความทุกข์ไปได้ นี่ก็คือ สถานะของผู้นำเป็นกัลยาณมิตร
[00:06:57] ผู้นำมีปัญญา มองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง
[00:06:57] ทีนี้พอเป็นกัลยาณมิตร เราก็มาดูคุณสมบัติ แต่ว่าก่อนที่จะไปดูคุณสมบัติ ก็อยากจะพูดเน้นบางอย่าง คือลักษณะที่เด่นของผู้นำอันหนึ่งก็คือปัญญา ใช่ไหม ปัญญาที่รวมทั้งการที่รู้เข้าใจชัดเจน ชัดเจนในจุดหมายที่จะไป ว่ามันคืออะไร แล้วมันดีอย่างไร มันจึงควรจะเป็นจุดหมาย ถ้าผู้นำไม่สามารถชี้จุดหมายได้ ผู้นำเองก็พร่า แล้วจะนำเขาไปไหนล่ะ อันนี้สำคัญมากนะ เวลานี้ผู้นำมีปัญหามาก ยิ่งในยุคปัจจุบันนี้สังคมมีปัญหาสับสนวุ่นวายอย่างนี้ ตัวผู้นำเองก็ไม่ชัดเจนในจุดหมายว่าจะพากันไปไหน ทีนี้สังคมทั้งสังคมก็สับสน พร่าหมดเลย
เวลานี้สังคมไทยสังคมโลกไม่รู้จะไปไหน ใช่ไหม อะไรเป็นจุดหมายของสังคม สังคมที่ดี ชีวิตที่ดีคืออย่างไร บอกไม่ถูก แล้วจะพากันไปไหนล่ะ ก็ตั้งรูปแบบขึ้นมาอันหนึ่ง ในสมัยหนึ่งก็บอกว่าต้องเศรษฐกิจสมบูรณ์ มีพรั่งพร้อม มีเงินมีทองใช้มากที่สุด แล้วก็จบ ใช่ไหม เวลานี้บอกเศรษฐกิจดีอย่างเดียวไม่พอ มันเป็นการพัฒนาไม่ยั่งยืน ใช่ไหม ทีนี้พอบอกพัฒนาไม่ยั่งยืน ทีนี้ยิ่งเคว้งคว้าง ไม่รู้จะเอาอะไรแล้ว แล้วผู้นำส่วนมากก็ยังติดอยู่กับเศรษฐกิจนี่แหละ จะบอกว่าเอาล่ะให้มีเงินมีทองใช้ก็พอ อะไรต่างๆ แล้วสภาพสังคมมันก็เป็นจริงอยู่เยอะที่ยังไม่มีความพรั่งพร้อม ยังมีความขาดแคลนแร้นแค้นมาก แต่ว่ามันไม่ใช่ตัวจริง ใช่ไหม ไม่พอแค่นั้น เพราะฉะนั้นเวลานี้ก็ยังสับสนแม้แต่เรื่องของความชัดเจนของจุดหมาย ตัวปัญญามันไม่พอหรอก
แล้วนอกจากว่าเป็นผู้ที่ชัดเจนในจุดหมาย มีปัญญาแล้ว ก็คือว่า ถ้ายังไม่สมบูรณ์จริงต้องเป็นนักแสวงปัญญาด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงว่า รู้อยู่เท่าไหร่ก็เท่านั้น ต้องเป็นนักแสวงปัญญา ต้องคอยตื่นตัวหาปัญญาอยู่เสมอ เมื่อตัวเองมีความชัดเจนแล้ว มันก็จะทำให้คนอื่นเกิดความมั่นใจในจุดหมายนั้นด้วย ศรัทธามันจึงจะเกิดขึ้น นอกจากนั้นแล้วก็คือ นอกจากมีความชัดเจน ตัวเองมั่นใจ ชัดเจนมันต้องมั่นใจด้วยนะ พอปัญญาชัด ตัวความมั่นใจศรัทธามันก็ชัดด้วย ทีนี้ทำได้ เอาละสิทีนี้ ผู้นำนี่ต้องทำได้ ตัวเองทำได้ จะนำให้เขาทำ ตัวต้องทำได้ หรือบอกให้เขาทำได้ในสิ่งนั้นด้วย หมายความว่าถ้าเหมือนอย่างเดินไปสู่จุดหมาย เราก็ต้องรู้จุดหมายที่เราจะไป แล้วเราก็เดินไปจุดหมายนั้นได้ด้วย เราพาให้เขาเดินไปได้
ทีนี้ก็ต่อไปอะไรอีกล่ะ ทีนี้พาให้เขาเดินไปได้ ก็ต้องรวมใจเขา รวมคนได้ รวมให้คนเขาผนึกกัน ร่วมกันเดินไปได้ด้วย ใช่ไหม ไม่ใช่แตกกระจาย คนหนึ่งไปทาง คนหนึ่งไปทาง ทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ ก็ไปไม่รอดอีก นี่เป็นจุดประสานที่ว่าเมื่อกี้ ตะล่อมคนให้รวมกันได้ อยู่ในความสามัคคี ซึ่งการรวมใจคนนี้มันมีความหมายตั้งแต่รวมใจให้มั่นในผู้นำด้วย ใช่ไหม แล้วก็รวมกันเอง รวมกันนี่มีเยอะเลยที่จะต้องมีคุณสมบัติที่มาช่วยรวม คุณสมบัติอะไรจะมารวมคนได้ ก็คือเรื่องที่เราจะต้องพูดกันต่อไป ใช่ไหม ซึ่งอาจจะหมายถึงว่าความสัมพันธ์ที่ดี มนุษยสัมพันธ์ที่ดี ความรัก ความอบอุ่น ความหวังดีต่อเขา ตลอดจนความเป็นธรรม จะรวมใจคนนี่ต้องมีความเป็นธรรมด้วยนะ
ทีนี้ดูต่อไป นอกจากนั้นก็คือว่า นอกจากตะล่อมคนให้รวมกันอยู่ได้ เดินไปด้วยกันได้แล้วก็คือ ตะล่อมให้คนอยู่ในหลักการด้วยนะ หลักการ เพราะว่าจุดหมายจะสำเร็จด้วยหลักการ การมีจุดหมายต้องมีตัวหลักการเป็นฐานที่จะทำให้สำเร็จผลตามจุดหมายนั้น จุดหมายไปจากหลักการ ทีนี้จะต้องให้คนอยู่ในหลักการนั้นได้ ถ้าคนไม่อยู่ในหลักการ จุดหมายไม่มีทางสำเร็จ ก็ต้องสามารถตะล่อมคนให้อยู่ในหลักการด้วย
ทีนี้ต่อไปก็ต้องมีความฉลาดในวิธีการอีกละทีนี้ ๓ ตัวนี้มันโยงกันอยู่ จุดหมาย หลักการ วิธีการ จุดหมายอยู่ปลายนี้ หลักการอยู่จุดต้นนี้ ตัวเชื่อมหลักการกับจุดหมายก็คือวิธีการ ใช่ไหม เราจะทำให้หลักการนี้สัมฤทธิ์ผลสู่จุดหมาย เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ฉลาดในวิธีการ ก็จบอีก แต่ว่ามันก็ไปรวมอยู่ในปัญญาอีกนั่นแหละ ปัญญาที่ชัดเจน ตัวเองก็ชัดเจนในจุดหมาย ตัวเองก็ชัดเจนในหลักการ และตัวเองต้องรู้วิธีการด้วย แต่เรามาแยก
[00:12:00] ทีนี้ต่อไปก็คือ ผู้นำนี้มีความตื่นตัวอยู่เสมอ เพราะว่าในการที่จะเดินหน้านำเขาไปนั้น มันมีภัยอันตราย มีอุปสรรค มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา วิธีการที่จัดขึ้นมานี้ สภาพสถานการณ์แวดล้อมเปลี่ยนปั๊บ วิธีการปรับไม่ทัน ใช้ไม่ได้ ใช่ไหม ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นก็ได้ อุปสรรคปัญหาเกิดขึ้นตลอดเวลา อันตรายต่าง ๆ เกิดได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นผู้นำจะต้องมีความตื่นตัว ทันต่อสถานการณ์ ไวต่อการรับรู้เรื่องราวต่างๆ อยู่เสมอ ก็เลยต้องไม่มีความหลับใหล ไม่หลงใหล ไม่ฟุ้งเฟ้อ มัวเมาอะไรต่างๆ เหล่านี้ด้วย แล้วก็ไม่ประมาท ใช่ไหม ก็รวมอยู่ในคำว่า “มีสติ ไม่ประมาท” นั่นเอง มีสติ ไม่ประมาทก็รวมอันนี้หมด คือว่าตื่นตัวทันต่อสถานการณ์ ไวต่อความเคลื่อนไหวอะไรทุกอย่าง แล้วก็จะทำให้คนต่าง ๆ ที่อยู่ร่วมกันนี่ จะได้ไม่พลอยจมอยู่ด้วย เพราะว่าถ้าผู้นำมัวเมาซะอย่างก็จบเลย
แล้วต่อไปก็นอกจากไว ตื่นตัว ก็ไม่หวั่นไหวด้วยนะ บางคนไวแต่มันหวั่นไหว ใช่ไหม มันตื่นตัวแต่มันตื่นเต้นด้วย ใช่ไหม ทีนี้จะทำยังไงจะตื่นตัวแต่ไม่ต้องตื่นเต้น อันนี้สิสำคัญ จิตที่มั่นคงเรียบสนิท นี่คือภาวะจิตที่ท่านเรียกว่า “อุเบกขา” ซึ่งหาได้ยาก โดยมากคนจะเข้าใจผิดหมด นึกว่าอุเบกขาคือเฉย เฉยแบบไม่เอาเรื่องเอาราว ท่านเรียกว่า “อัญญาณุเบกขา” คือ เฉยโง่ คือเฉยไม่รู้ อัญญาณุเบกขา เป็นกันมาก คือไม่รู้เรื่องรู้ราวก็เฉย ทีนี้เฉยแบบผู้นำนี้คือเฉยด้วยปัญญา เฉยด้วยปัญญาหมายความว่าไง
ยกตัวอย่างมีสถาการณ์เกิดขึ้น น่าตื่นเต้น เป็นเหตุร้าย จะมีคน ๓ พวก คนพวกหนึ่งไม่รู้เรื่องรู้ราว เพราะแกไม่รู้เรื่องรู้ราว แกก็เฉยสิ ใช่ไหม แกไม่รู้นี่ แกจะทำยังไง ก็ต้องเฉย เฉยเพราะไม่รู้เรื่อง แล้วก็ไม่ได้เรื่อง ไม่เอาเรื่อง ทีนี้อีกพวกหนึ่งคือรู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง หรือรู้เหตุการณ์แต่ไม่รู้จะแก้ไขยังไง เพราะมีแต่ตื่นเต้นโวยวาย ลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น อะไรต่ออะไร บางทีทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ วุ่นวายหนักเข้าไปอีก อันนี้พวกที่สอง เต้นกันมากอีกเหมือนกัน โวยวาย แก้ปัญหาไม่ได้ กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายหนักเข้าไปอีก ทีนี้พวกที่สาม น้อย ไม่ควรจะเป็นพวกแล้ว เป็นบางคนแล้ว บางคนนี่รู้เข้าใจหมด สถานการณ์นี้คืออะไร เป็นอย่างไร เหตุปัจจัยมาจากอะไร พอรู้เหตุปัจจัยแล้วจะแก้อย่างไร การแก้นั้นจะต้องวางเป็นจุด ๆ จะแก้จุดไหน ทำอะไร อย่างไร พอรู้อย่างนี้ปั๊บ เฉย ใจเขาเรียบสงบ แต่มีความมั่นใจ มั่งคง ไม่หวั่นไหว พร้อมที่จะแก้ไขปัญหา ถึงจังหวะปั๊บจัดการ ๆ ๆ ทุกอย่างเรียบร้อยหมด
[00:15:15] นี่พวกที่สามนี่ท่านเรียกว่า “อุเบกขา” นี่คืออุเบกขาที่แท้ อุเบกขาต้องมาด้วยปัญญา คนไม่มีปัญญาจะอุเบกขาไม่ได้ ถ้ามีอุเบกขาจะเป็นอุเบกขาแบบอัญญาณุเบกขา เฉยโง่ ก็คืออกุศล คือไม่รู้เรื่อง ไม่เอาเรื่อง และไม่ได้เรื่อง ส่วนคนที่มีอุเบกขาด้วยปัญญานั้นจะเฉยรู้เรื่อง เฉยเอาเรื่อง และเฉยได้เรื่อง ทีนี้ก็เป็นอันว่าไม่หวั่นไหวแล้ว มั่นคง นี่ก็เป็นหลักสำคัญๆ
[00:15:52] นอกจากนั้นก็มีปัญญาอีกเหมือนกัน ก็คุมท้าย ก็คือสายตากว้างไกล มองเห็นกว้าง อะไรที่จะเกี่ยวข้องกระทบกระเทือน อย่างอยู่ในประเทศไทย รู้ทั้งโลก รู้ไปทั้งจักรวาล ต้องรู้หมด มองกว้าง มองเหตุการณ์ที่นี่ ไม่ได้มองอยู่แค่นี้ มองโยงสัมพันธ์ไปทั้งระบบ มองไปทั้งสังคม มองไปทั้งประเทศ มองไปทั้งโลก ที่เกิดเหตุการณ์นี้มันจะมีผลกระทบไม่เฉพาะที่นี่ มันส่งผลไปถึงทั้งสังคมทั้งโลกอย่างไร เหตุที่เกิดขึ้นจากภายนอก มันจะส่งผลกระทบมาถึงเรายังไง การมองกว้างอย่างนี้จึงจะทำให้ทันต่อเหตุการณ์และแก้ปัญหาได้ถูกจุด ไม่งั้นไม่ได้ ยิ่งตอนนี้เป็นโลกาภิวัตน์ด้วย การมองกว้างนี้สำคัญมาก ทีนี้ถ้าผู้นำมองไม่กว้าง แย่เลย มองกว้าง
[00:16:47] ทีนี้ต่อไปก็ต้อง คิดไกล คิดไกลก็หมายความว่า จะต้องคิดสาวหาเหตุปัจจัย เรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เหตุปัจจัยเป็นยังไง จึงเกิดผลอย่างนี้ขึ้นมา อย่างสังคมปัจจุบันนี้ ที่เกิดเป็นอย่างนี้ มันมีเหตุปัจจัยอะไร การที่จะรู้จักอะไรจริง ๆ ต้องรู้ถึงเหตุปัจจัยของสิ่งนั้น ไม่ใช่แค่รู้จักผล ถ้าใครรู้แค่ผลนะ ไม่รู้จักสิ่งนั้นจริง ผิวเผินมาก
อย่างถ้าเรารู้จักสังคมอเมริกัน ต้องถามว่ารู้จักเหตุปัจจัยในสังคมอเมริกันไหม ถ้าไม่รู้ ไม่รู้จักสังคมอเมริกัน ใครไปรู้แค่สังคมอเมริกันปัจจุบันนี้เรียกว่าผิวเผินเต็มที แล้วพลาดด้วย เพราะว่าสภาพปัจจุบันของอเมริกานั้นคือเหตุปัจจัยที่จะให้อเมริกาเป็นอย่างไรในอนาคต สภาพปัจจุบันอาจจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเสื่อมก็ได้ อเมริกากำลังเสื่อมจริงๆ ด้วย ใช่ไหม อเมริกาเองกำลังโอดครวญร้องทุกข์กันอยู่ว่า เวลานี้จะแย่แล้ว ทุกอย่างในสังคมนี้มันจะแตกสลาย ทำนายกันว่าอเมริกานี้จะเป็นประเทศโลกที่สาม ภายในปี ๒๐๒๐ หรือไม่งั้นก็อาจจะช้าไปอีก ๑๐ ปี หรือ ๑๕ ปี โดยมากในอเมริกาเวลานี้ ค่อนข้างเชื่อแน่ว่าประเทศตัวเองอารยธรรมจะต้องสลาย แล้วก็มีความคร่ำครวญกันถึงการสูญเสียความยิ่งใหญ่อะไรต่างๆ ไป ทีนี้เราไปรู้จักอเมริกาปัจจุบัน จบ ผิวเผินที่สุด ต้องรู้ว่าอเมริกาเป็นเพราะอะไรจึงมาเป็นอย่างนี้ ต้องรู้อเมริกาเมื่อเหตุปัจจัยของเขา ๑๐๐ ปีมาแล้ว ๒๐๐ ปีมาแล้ว หรือตั้งแต่อยู่ยุโรป มายังไง เป็นยังไง ทำไมอเมริกาจึงเป็นอย่างงี้ เจริญด้วยเศรษฐกิจเพราะอะไร มีอุตสาหกรรมเจริญขึ้นเพราะอะไร ๆ ต้องรู้เหตุปัจจัยอันนั้น
อันนี้ก็คิดไกล แล้วคิดไปถึงขั้น คิดย้อนอดีตได้ไกล ก็จะคิดถึงอนาคตได้ไกลด้วย ใช่ไหม เพราะว่าการสั่งสมประสบการณ์ เหตุปัจจัยทั้งหมด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะส่งผลไปถึงอนาคต แล้วก็วางแผนอนาคตว่าจะเอายังไง จะให้เป็นยังไง โดยสัมพันธ์กับเหตุปัจจัยทั้งหมด ไม่ใช่ฝันลอย ๆ ถ้าฝันลอย ๆ ก็ไม่เป็นวางแผน ฝันลอย ๆ ก็คือคนที่ไม่รู้สภาพปัญหาและเหตุปัจจัย ถ้าคนรู้เหตุปัจจัยปัญหา ก็วางแผนได้ อนาคตก็มองไกลได้
[00:19:27] แล้วอีกอย่างหนึ่งก็ใฝ่สูง ใฝ่สูง หมายความว่า คิดถึงอุดมคติสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีเลิศประเสริฐ ไม่ใช่ใฝ่ลาภยศ ความเจริญทางวัตถุ อำนาจ ได้เงินทองมาก อะไรต่าง ๆ มีทรัพย์ มีอำนาจ ใฝ่อย่างนี้เรียกว่า “ใฝ่ต่ำ” ทีนี้คนไทยโดยมากเข้าใจผิด ใฝ่สูงนึกว่าจะได้ยศตำแหน่งอะไรเรียกว่าใฝ่สูง ผิดหมด ถ้าเรียกทางพระท่านเรียกว่า ใฝ่ต่ำ “ใฝ่สูง” ก็คือ ใฝ่ในความดีงามสูงสุด ว่าชีวิตจะดีงามอย่างไร สังคมจะดีงามประเสริฐยังไง จะพาสังคมไปสู่ความดีงามนี้ อย่างนี้เรียกว่า ใฝ่สูง อย่างพระพุทธเจ้านี่ใฝ่สูง พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสรู้ ไม่ใฝ่สูงไม่มาเพียรพยายามเป็นโพธิสัตว์ ฉะนั้นผู้นำก็ต้องมองกว้าง คิดไกล ใฝ่สูง อันนี้ก็เป็นเรื่องทางด้านปัญญา เอาแล้วทีนี้มาพูดกันถึงเรื่องจุดที่เน้น แล้วก็มาพูดถึงคุณสมบัติของผู้นำบ้าง
[00:20:36] ผู้นำเข้าถึงธรรม วินัยจัดวาง สังคมสามัคคี
[00:20:36] การที่ผู้นำจะประสานหมู่ชนไว้ได้ มันก็ต้องมีคุณสมบัติในตัวเอง เมื่อกี้นี้บอกว่าต้องให้ได้ทั้งศรัทธา และได้ทั้งการประสานความร่วมมือ ทีนี้จะพูดเกี่ยวกับการประสานก่อน การประสานหมู่ชนอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ หลักพุทธศาสนาถือเป็นเรื่องสำคัญมาก พระพุทธเจ้าตั้งสงฆ์ขึ้นมา เป็นการจัดตั้งองค์กร พระพุทธเจ้านี่มีความสามารถพิเศษ ๒ อย่าง คือ
๑. เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ เราเรียกว่า เข้าถึงตัวธรรม
๒. นำความรู้ในความจริงของธรรมชาติ ที่เรียกว่าธรรมนั้น มาจัดตั้งวางระบบขึ้น เรียกว่า วินัย
การจัดตั้งวางระบบในหมู่มนุษย์เรียกว่า “วินัย” วินัยไม่ใช่ความหมายแคบ ๆ ในภาษาไทยนะว่ากฎเกณฑ์อะไรก็ไม่รู้ ระเบียบ วินัย ก็คือการที่ ๒ อย่าง พุทธศาสนามี ๒ อย่าง อันนี้คือ ธรรมะกับวินัย ธรรมะ ก็คือการรู้ความจริงในธรรมชาติ เข้าถึงมัน สอง-ก็คือ นอกจากรู้แล้ว เอาความรู้ในธรรมชาติในความจริงนั้นมาจัดตั้งวางระบบ เพื่อให้มวลหมู่มนุษย์ได้ประโยชน์จากความจริงนั้นด้วย ถ้าได้แต่เข้าถึงความจริงนั้น เข้าถึงธรรมะอย่างเดียว ไม่สามารถจัดตั้งวางระบบให้มนุษย์ได้ประโยชน์จากความจริงนั้น ได้เป็นแค่ปัจเจกพระพุทธเจ้า เพราะปัจเจกพระพุทธเจ้าได้แค่อันเดียว แต่เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะได้ทั้งสอง เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนามีธรรมกับวินัย
การจัดตั้งวางระบบถือเป็นเรื่องใหญ่นะ เป็นเรื่องสมมติแต่เป็นเรื่องสำคัญมาก สมมติไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอยเหลวไหล สมมตินี่เรื่องสำคัญมาก อารยธรรมของมนุษย์ เกิดจากมนุษย์สามารถในการสมมติ แต่มันสมมติถูกไม่ถูกนี่อีกปัญหาหนึ่ง สมมตินั้นจะถูกเมื่อมนุษย์รู้ตัวธรรม รู้ตัวความจริงของธรรมชาติ ถ้ามนุษย์ไม่เข้าถึงตัวความจริงของธรรมชาติ มนุษย์จะวางสมมติไม่ถูก แล้วก็จะเกิดความวิปริตผันแปรคือ เป็นทฤษฎีต่างๆที่ไม่สัมฤทธิ์ผล ทฤษฎีต่างๆ ก็คือการพยายามเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ แล้วนำความรู้และความจริงนั้นมาจัดตั้งวางระบบในหมู่มนุษย์ ใช่ไหม ทฤษฎีเป็นตัวเชื่อม แต่ว่าถ้าเข้าไม่ถึงความจริงของธรรมชาติ จบ ไอ้สมมติที่จัดตั้งวางระบบมันก็ไม่สัมฤทธิ์ผลดี
เพราะฉะนั้น (๑) ต้องเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ คิดถึงธรรมะ แล้ว (๒) ก็เอาความรู้ในความจริงนั้นมาจัดตั้งวางระบบแบบแผนในหมู่มนุษย์และมนุษย์อื่น หมู่มนุษย์ก็ได้ประโยชน์จากตัวความจริงนั้นด้วย ธรรมะคือตัวความจริง แล้ววินัยก็คือตัวการจัดตั้งวางระบบในสังคมมนุษย์คู่กัน พระพุทธเจ้าต้องสามารถทั้ง ๒ อย่าง จึงได้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า ทีนี้ว่าเลยไปแล้ว ทำไมออกไปเรื่องนี้ซะแล้ว เอาเป็นว่ามีความสามารถ ๒ อย่าง
ตอนนี้ก็จัดตั้งวางระบบ พระพุทธเจ้าก็จัดตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา ชุมชน ชุมชนนี้ก็จะมีหลักการสำคัญก็คือ ต้องมีความสามัคคีพร้อมเรียงอยู่ร่วมกันได้ดี เพื่ออะไร เพื่อให้เป็นชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการที่สมาชิกแต่ละคน จะได้พัฒนาตัวเองไปเข้าถึงตัวธรรมะได้ แล้วจะได้ประโยชน์จากธรรมะไง ใช่ไหม ไม่เช่นนั้น วินัยตัวการจัดตั้งวางระบบของมนุษย์ มันจะไม่สัมฤทธิ์ผล ดังนั้นตัวชุมชนการจัดตั้งนี้ก็ต้องวางให้ดี วางแล้วก็ต้องให้เขาอยู่ร่วมกันได้ดีด้วย
หลักการอยู่ร่วมกันได้ดีเขาเรียกว่า “สามัคคี” ทำยังไงจะให้ชุมชนที่เรียกว่า “สังฆะ” นี้มีสามัคคี ก็คือมี สังฆสามัคคี เพราะฉะนั้นหลักการของสังฆะก็เลยต้องมีสามัคคีเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะถ้าไม่สามัคคีปั๊บ ตัวสภาพแวดล้อม ระบบการเป็นอยู่ที่วางไว้ให้นี่เรรวนหมด แล้วตัวบุคคลนั้นจะไม่ได้ประโยชน์จากธรรมะที่ต้องการจะให้เขาได้ประโยชน์ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก็ต้องจัดสรรระบบสังคมนั้นก็คือวินัย
วินัยก็คือกระบวนการจัดตั้งวางระบบ วินัยจัดตั้งวางระบบมนุษย์ขึ้นเป็นสงฆ์ สงฆ์นั้นอยู่ในสามัคคีเมื่ออยู่ในวินัย ระบบที่วางไว้ก็เกิดสามัคคี สามัคคีก็สังฆะในชุมชนนั้น ก็เป็นสน็น็ภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เอื้อโอกาสให้แต่ละคนที่อยู่ในชุมชนนั้น พัฒนาตัวเองจนได้ประโยชน์จากธรรมะเข้าถึงธรรมะได้ ก็ย้อนกลับไปที่ธรรมะตามเดิม ใช่ไหม เป็นจุดตั้งต้น เพราะฉะนั้นธรรมะจึงเป็นทั้งจุดต้นและจุดปลายของวินัย เพราะว่าการที่จะวางระบบสังคมมนุษย์ ต้องอิงบนฐานของความจริงในกฎธรรมชาติตัวธรรมะนี้ แล้ววางเพื่ออะไร เพื่อที่เขาจะได้เข้าถึงตัวความจริงนี้ ได้ประโยชน์จากความจริง ใช่ไหม
ธรรมวินัย ต้องคู่กันตลอดในพุทธศาสนา ธรรมะนั้นพระพุทธเจ้าใช้คำว่า “แสดง” เพราะเป็นของจริงอยู่ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าบอกว่า เราจะเกิดหรือไม่เกิด ความจริงมันก็มีอยู่ของมันตามธรรมดาอย่างนั้น เราไปค้นพบเราก็เอามาเปิดเผยแสดงชี้แจงให้เข้าใจง่าย อย่างนี้เรียกว่าแสดง ธรรมะแสดง เพราะว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้เอามาทำขึ้นเอง และวินัยพระพุทธเจ้าใช้คำว่า “บัญญัติ” เพราะว่าเป็นของวางตั้งจัดระบบขึ้นมา เป็นของสมมติ แต่ธรรมะนั้นมีบัญญัติบางเหมือนกันคือ หมายความว่าความจริงมันมีอย่างนี้ มาวางให้เป็นระบบเป็นหมวดเป็นหมู่ อย่างนี้เรียกว่าบัญญัติได้เหมือนกัน เราต้องเข้าใจว่า ที่แท้แล้วคือแสดง เอาละ นี่ก็เป็นอันว่าสามัคคีนี่เป็นหลักการสำคัญของชุมชน
[00:26:07] ผู้นำบูรณาการ พรหมวิหารธรรม สร้างโลกสมดุล
[00:26:07] ทีนี้ผู้นำก็จะต้องสามารถประสานความสามัคคีนี้ไว้ในหมู่ชน ก็หลักธรรมพื้นฐาน ก็จะมีหลัก เอาชิ้นไหนก่อนดี หลักง่ายๆ ก็คือ หมู่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้ดีได้อย่างไร ในสังคมไทยเราก็มีให้เห็นเป็นเค้าอยู่ แต่ว่าบางทีมันไม่ชัดเจน หรือว่านานๆ ไป การศึกษามันคลาดเคลื่อนไป ก็มีการที่ว่าเกิดความบกพร่อง ในการประพฤติปฏิบัติ ในเรื่องการเข้าใจความหมายไม่ครบ หลักการเหล่านี้ก็เลยกระจัดกระจายหมด เวลานี้หลักธรรมในพระพุทธศาสนากระจัดกระจายมาก
คนไทยนี้มีหลักการที่จะอยู่ร่วมกันได้ดี ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็ เมตตากรุณา ใช่ไหม ซึ่งเป็นธรรมะมาจากพุทธศาสนา เมตตากรุณา ก็ทำให้คนช่วยเหลือกัน เกื้อกูลกัน เมื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มันก็ช่วยให้อยู่ได้ดี ใช่ไหม แต่เท่านี้มันพอไหม มันไม่พอ ทีนี้เมตตากรุณาก็ทำให้คนมีน้ำใจ เพราะฉะนั้นสังคมไทยได้ชื่อในแง่ว่า เป็นสังคมที่คนมีน้ำใจ เน้นเรื่องเมตตากรุณามาก เอาศัพท์ในพระพุทธศาสนามาใช้ เอาหลักธรรมมาปฏิบัติ จนกระทั่งว่ามันเป็นคำคุ้นหู เป็นชีวิตประจำวันไปเลย เราก็เก่งในเรื่องเมตตากรุณา
[00:27:26] แต่ว่าหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสนี้ โดยปกติแล้วจะเป็นระบบที่ปัจจุบันเรียกว่า “องค์รวม” เป็นระบบบูรณาการทั้งสิ้น จะเห็นว่าธรรมะนั้นจะมาเป็นชุด ๆ ๆ เป็นหมวด ๆ ไม่มาเป็นเดี่ยว ๆ นี่คือระบบองค์รวม การที่วางเป็นชุดนั้นมีความหมาย คือหมายความว่ามันครบสมบูรณ์ในตัวที่จะปฏิบัติในแง่ต่าง ๆ บ้าง หรือมันเป็นการที่ให้เกิดดุลยภาพบ้าง องค์รวม บูรณาการ ดุลยภาพ นี่เป็นศัพท์ชุดเดียวกัน ใช่ไหม บูรณาการก็ทำให้เกิดดุลยภาพ ธรรมะในชุดหนึ่งนั้นปฏิบัติให้ได้ครบ ๔ แล้วก็ให้ถูกตามสถานการณ์ มันจะเกิดดุลยภาพ แล้วเกิดความพอดี ดุลยภาพก็พอดี จึงจะสำเร็จผล
ทีนี้ถ้าเกิดปฏิบัติไม่ครบ ก็เกิดการเว้า ๆ แหว่ง ๆ แม้จะดีก็จะเป็นโทษ อาจจะเป็นโทษร้ายแรงกว่าดีด้วย ดีจริง แต่เกิดโทษที่ร้ายแรง เพราะฉะนั้นเวลานี้ปัญหาในสังคมไทย ปฏิบัติธรรมะในพุทธศาสนาทั้งความรู้ความเข้าใจและการใช้เนี่ย ก็เกิดปัญหากระจัดกระจาย แต่เมตตากรุณาจะทำให้เกิดปัญหาได้หลายอย่าง เราลองมาดูก่อนว่า ที่จริงมันมาในชุดอะไร เต็มของเขาคืออะไร เต็มของพระพุทธเจ้า เมตตา กรุณา มาใช้ธรรมะชุดที่เรียกว่าอะไร พรหมวิหาร แทบทุกท่านทราบ
[00:28:55] พรหมวิหาร มีกี่อย่าง มี ๔ อย่างคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่คนไทยเอามาใช้มากแค่เมตตา กรุณา ส่วน มุทิตา ก็ใช้น้อยลง ส่วน อุเบกขา นั้นใช้ผิดเลย ใช้ผิดเลย เข้าใจผิดด้วย เอาล่ะ ทีนี้เราก็ต้องดูให้ครบ นี่แหละเริ่มต้นก็ที่นี่เลย ผู้นำจะต้องเริ่มด้วยอันนี้ก่อน เพราะว่าเป็นตัวที่จะประสานหมู่ชนไว้ให้อยู่ในสามัคคี จะผดุงสังคม รักษาสังคมไว้ได้
ทีนี้ก็มาดูว่า ๔ ข้อนี้มีความหมายอย่างไร เพื่อรวบรัดเวลาจะไม่พอ มาดูว่า ๔ อย่างมีความหมายอย่างไรบ้าง พรหมวิหาร ๔ เมตตา กรุณา สองข้อนี้ใช้มากในสังคมไทย แต่คนไทยก็ใช้ปนจนกระทั่งหลายคนแยกไม่ออกว่าต่างกันอย่างไร หลายคนให้อธิบาย แยกไม่ได้แล้ว เมตตากับกรุณาต่างกันยังไง โดยรวบรัดก็คือว่า ธรรมะ ๔ ข้อนี้ เป็นธรรมะสำหรับแสดงออกด้วยตั้งแต่ความรู้สึกต่อผู้อื่น คือใช้ปฏิบัติต่อผู้อื่น การที่จะแยกความหมายจะดูได้ง่าย ด้วยการดูที่ผู้อื่นไม่ใช่ดูที่ตัว เมื่อปฏิบัติต่อเขา ก็ต้องดูที่เขา ดูที่เขา ดูยังไง ดูที่สถานการณ์ที่เขาประสบ ที่เราจะต้องใช้แต่ละข้อ
๑. คนเราอยู่ในสถานการณ์อะไร สถานการณ์ทั่วไปก็คือสถานการณ์ปกติ ถ้าคนอื่นเขาอยู่ในสถานการณ์ปกติ เราก็เริ่มด้วยข้อหนึ่งคือ มีเมตตา เมตตามาจากอะไร มาจาก “มิตตะ” แปลง อิ เป็น เอ ก็เป็น “เมตตะ” ตามหลักไวยกรณ์ จาก อะ เป็น อา ก็เป็น “เมตตา” ก็เท่านั้นเอง เมตตาก็ความเป็นมิตร น้ำใจมิตร คุณสมบัติของมิตร คือความปรารถนาดีต่อกัน การหวังประโยชน์สุขแก่กัน อยากให้เขาเป็นสุข แปลง่ายๆ เมตตาก็อยากให้เขาเป็นสุข ก็คือว่าเขาอยู่เป็นปกติ มีเมตตาเป็นมิตรไมตรี
๒. สถานการณ์เปลี่ยนไป เขาตกต่ำ ปกติก็เปลี่ยนเป็นตกต่ำ เดือดร้อน เป็นทุกข์ มีปัญหา เราก็ย้ายจากเมตตามาสู่ข้อที่สอง ก็คือ กรุณา กรุณาก็พลอยหวั่นใจในความทุกข์ของเขา พลอยหวั่นไหวหวั่นใจในความทุกข์ของเขา อยากจะไปช่วยปลดเปลื้องให้เขาพ้นจากทุกข์ ผิดกันเยอะเลยนะ เมตตากับกรุณา
๓. สถานการณ์เปลี่ยนไป เขาขึ้นสูงแล้วทีนี้ เขาขึ้นสูงประสบความสำเร็จได้ดี มีสุข เราก็ย้ายไปสู่ข้อที่สาม มุทิตา พลอยดีใจด้วย ส่งเสริมสนับสนุน ต่างกันนะ ชัดนะ สามสถานการณ์ สองกับสามนี่พลอยทั้งนั้นนะ กรุณา พลอยหวั่นใจในทุกข์ของเขา มุทิตา พลอยดีใจในความสุขของเขา ในการทำถูกต้องดีงามของเขา
สามสถานการณ์แล้วนี้ ครบยังมนุษย์ มนุษย์ก็อยู่ในสามสถานการณ์นี้แหละ แล้วจะเอาอะไรอีกล่ะ แล้วทำไมมีข้อ ๔. นี่คือปัญหาว่า แล้วข้อ ๔. สถานการณ์อะไร ที่เขาประสบแล้วเราต้องใช้อุเบกขานี้ ยากที่สุดเลย ส่วนมากจะตอบไม่ถูก
ก็ถามว่าสถานการณ์อะไร เขาอยู่ในสถานการณ์อะไร เราจึงต้องใช้อุเบกขา อะไรนะ ช่วยไม่ได้ อย่างนี้ก็แย่สิ ก็เลยไม่พยายาม นั่นแหละ มันพูดยาก มันตัดสินยาก มันต้องพยายามจนสุดสามารถแหละ พระพุทธเจ้าขนาดสละชีวิต พระองค์ยังยอมเลย ใช่ไหม เราจึงเรียกว่า มีมหากรุณา ช่วยเขาขนาดจะสละชีวิต แต่มันก็มีหลักเกณฑ์ มันไม่ต้องสุดวิสัย มันไม่ต้องช่วยไม่ได้หรอก มันมีหลักเลยว่าถ้าอย่างนี้เราไม่เอา หลักมันง่ายๆ ที่สุดเลย สถานการณ์ที่ ๔ นะ สามสถานการณ์นี้ในหมู่มนุษย์ปฏิบัติต่อกัน ช่วยเหลือกันพอแล้ว มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ดีด้วยการที่ว่ามีเมตตา กรุณา มุทิตา แต่ว่าลำพังมนุษย์อยู่ด้วยกันได้ดี ช่วยเหลือกัน มันพอไหมที่จะให้สังคมมนุษย์อยู่ได้
มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ดี ช่วยเหลือกันดี เท่านั้นพอไหมที่จะให้สังคมอยู่ได้ ไม่พอ เพราะอะไร เบื้องหลังสังคมมนุษย์มีสิ่งที่รองรับอยู่อีกอันหนึ่งคือ ธรรมะ ใช่ไหม ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ ตลอดจนกระทั่งว่า ความจริงที่เป็นหลักการของความจริงความถูกต้องดีงามนั้น ที่มนุษย์เอามาบัญญัติเป็นกฎเกณฑ์กติกาสังคม เขาเรียกว่าหลักการเหมือนกัน เป็นกฎหมาย เป็นกติกาต่างๆ เหล่านี้ อย่างมาบัญญัติเป็นหลักการของสังคมเป็นกฎหมายแล้วเรียกว่า “ธรรม” เช่น ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่เรียนกฎหมาย เขาเรียกธรรมศาสตร์เป็นวิชากฎหมายเลย นั่นคือว่า ธรรมะที่วางในระบบสังคมมนุษย์
เพราะฉะนั้นหลักการของสังคม หลักการในความจริงความถูกต้องดีงาม จะเป็นหลักการในระดับความจริงในธรรมชาติก็ตาม หลักการในระดับที่มนุษย์มาบัญญัติจัดตั้งวางเป็นกฎเกณฑ์กติกาสังคม เช่น กฎหมาย เป็นต้นก็ตาม อันนี้เรียกว่า “ตัวธรรม” นี้คือสิ่งที่รองรับสังคมมนุษย์อยู่อีกชั้นหนึ่ง แม้มนุษย์จะสัมพันธ์กันดี ช่วยเหลือกัน แต่ถ้าละเมิดทำให้เสียหายต่อตัวธรรมะนี่เมื่อไหร่ สังคมมนุษย์จะวิปลาส แปรปรวน และอยู่ไม่ได้ เชื่อไหม เพราะฉะนั้นมนุษย์จะไม่อยู่แค่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ จะต้องรักษาตัวธรรมะนี้ไว้ให้ได้
จึงมีสถานการณ์ที่ ๔ ว่า ถ้ากรณีใดก็ตามการปฏิบัติต่อกันในหมู่มนุษย์ แม้จะเป็นเมตตา กรุณา มุทิตา แต่ไปทำให้เกิดผลเสีย ส่งผลกระทบ ละเมิดต่อตัวธรรมะ ทำให้เสียหายต่อตัวธรรมะ ต้องหยุด เฉย นี่คือ เฉย คือ ไม่แทรกแซงตัวธรรม ที่ว่าเฉยคือไม่แทรกแซงก้าวก่ายตัวธรรมะ เพราะว่าถ้าขืนไปก้าวก่ายไม่หยุดนะ ทำให้หลักการเสียเลย สังคมมนุษย์ ขณะนี้สังคมไทยมันเสียดุลตรงนี้เลย คือเอาแต่เมตตากรุณามาก ช่วยกันจนกระทั่งไม่มองกฎเกณฑ์กติกาหลักการความถูกต้องชอบธรรม เสียอุเบกขานี่ที่สุดเลย ถูกไหม เพราะฉะนั้นมันไปเลยเนี่ย นี่คือตัวรองรับสังคม
เพราะฉะนั้นเด็กคนหนึ่งไปประสบความสำเร็จในการลักขโมยเงินเขา ๕,๐๐๐ บาท มาถึงเรา สถานการณ์ที่ ๓ เราต้องมุทิตา พลอยยินดีด้วย ส่งเสริมด้วย ก็จบสิ ใช่ไหม อันนี้ส่งผลเสียหายต่อตัวธรรมะ ใช่ไหม หรือผู้พิพากษา เจ้าคนนี้ทำความผิดมาจริง สงสารถ้าจะตัดสินลงโทษ ก็เลยกรุณา ก็เลยไม่ให้มีความผิด อย่างนี้ก็เสียตัวธรรมะ ใช่ไหม ฉะนั้นในกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในข้อ ๑-๓ ส่งผลกระทบเสียหายต่อตัวธรรมะ ต้องหยุด วางเฉยต่อตัวคนนั้น บอกฉันไม่เอากับคุณแล้ว นี่คือเฉยต่อคนนั้น เพื่อได้ไม่ก้าวก่ายแทรกแซงธรรมะ และธรรมะจะได้ออกปฏิบัติการ ทีนี้ใครมีหน้าที่อะไรตามธรรมะนั้นว่าไป ใช่ไหม
อันนี้ในสังคมที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะเสียดุลยภาพ เสียดุลยภาพยังไง คือสังคมบางสังคมจะเอาความสัมพันธ์ระหว่างคนเป็นใหญ่ แล้วเสียตัวธรรมะ หลักการ กฎเกณฑ์ กติกา ถูกไหม บางสังคมนี่จะเอากฎเกณฑ์กติกาเป็นใหญ่ แล้วก็ไม่เอาการช่วยเหลือระหว่างมนุษย์
ยกตัวอย่างง่ายๆ สังคมไทยเนี่ยจะเป็นสังคมที่เอียงในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคน ช่วยเหลือกัน มีน้ำใจกันเต็มที่เลย แต่ว่าไปเสียอุเบกขา ขาดดุลยภาพ สังคมเช่นนี้จะมีข้อเสียอย่างไรบ้าง จะมีข้อเสียอย่างน้อย ๒ ข้อ คือ (๑) ทำให้เสียความเป็นธรรมได้ง่าย (๒) ทำให้คนอ่อนแอ คนจะหวังพึ่งกัน แล้วก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย หวังว่าคนโน้นจะช่วยคนนี้จะช่วย ลำบากเดือดร้อนจะไปหาเพื่อน ไปหาผู้ใหญ่ ไปหาญาติให้ช่วย เพราะฉะนั้นแกก็ไม่ดิ้นรนขวนขวาย ก็อ่อนแอ ตกอยู่ในความประมาท เป็นสังคมที่ตกอยู่ในความประมาทได้ง่าย แต่มีข้อดีคือ ทำให้มีความอบอุ่น มีน้ำใจ อยู่กันดี ก็ได้อย่างเสียอย่าง
ส่วนสังคมที่เอียงในด้านของอุเบกขา ไม่ค่อยมีเมตตากรุณา ไม่มีความเอื้อเฟื้อ ไม่มีน้ำใจช่วยเหลือกัน เช่น สังคมอเมริกัน สังคมแบบนี้จะเป็นสังคมแบบเอาหลักการเข้าว่า กติกาเข้าว่า สังคมอเมริกาจะภูมิใจ อันนี้เค้าเรียกว่าเป็นสังคมของเขา เป็นสังคมที่เรียกว่า The Rule of the Law ภูมิใจยิ่งนัก สังคมที่อยู่ด้วยกฎหมาย เอาหลักการเข้าว่า คุณไม่ผิดกติกาทำไป แต่ถ้าคุณทำละเมิดโดนจัดการ แต่ระหว่างนี้ไม่ช่วย ดิ้นเอา ทีนี้เมื่อไม่มีเมตตากรุณา มันก็ดิ้นกันสุดเหวี่ยง ใช่ไหม หวังความช่วยเหลือจากใครไม่ได้ ก็ต้องแข็ง สังคมแบบนี้จะได้ ๒ อย่าง คือ (๑) รักษากฎเกณฑ์กติกาหลักการความเป็นธรรมได้ดีกว่า แล้ว (๒) จะทำให้คนเข้มแข็ง แต่ว่าเสียในด้านของความอบอุ่น เครียด มีทุกข์มาก จิตใจไม่สบาย แล้วก็เสียกันคนละอย่าง
[00:39:07] เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้ครบชุด เมื่อครบชุดแล้วมันจะมีดุลยภาพพอดี ๔ สถานการณ์ต้องให้พอดี เมื่อเขาเป็นปกติมีเมตตา เมื่อเขาตกต่ำเดือดร้อนมีกรุณา เมื่อเขาขึ้นสูงทำถูกต้องดีงามประสบความสุขความสำเร็จก็ส่งเสริม ถ้าเขาละเมิดธรรมต้องเอาธรรมะเข้าว่า อันนี้ก็อยู่ได้ คนที่ปฏิบัติตามหลัก ๔ ข้อนี้จึงเป็นพรหม เป็นพรหมเพราะอะไร พรหมคืออะไร พรหมคือเดิมหมายถึง เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่เป็นผู้สร้างโลกและผดุงโลก พระพุทธเจ้าไม่ต้องการให้รอเทพเจ้ามาสร้างโลกและผดุงโลก แล้วมนุษย์ก็ทำลายโลก รอให้พรหมมาสร้างอีกที พระพุทธเจ้าก็เลยให้ทุกคนเป็นพรหม เมื่อใครมีธรรม ๔ ประการนี้ เขาเรียกว่า มีธรรมประจำใจของพรหม ก็เป็นพรหมในตัวเอง คือแต่ละคนเนี่ยเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์โลก และอภิบาลผดุงโลกนี้ไว้ ถูกไหม แล้วพระพุทธเจ้าให้ทุกคนเป็นพรหมเลย ให้เรามาสร้างสรรค์อภิบาลโลกไปด้วยกัน ผดุงสังคม สร้างสรรค์สังคม แล้วทุกคนมีส่วนร่วม
คนไทยเข้าใจเรื่องเมตตากรุณาผิด แม้แต่บอกเป็นธรรมะของผู้ใหญ่ มีที่ไหนในพระไตรปิฎกในคัมภีร์บาลี ไม่มี บอกเป็นธรรมะของผู้ใหญ่ กลายเป็นมองว่าผู้ใหญ่หรือผู้น้อย เป็นธรรมะที่ทุกคนจะต้องมีต่อกัน ต่อเพื่อนมนุษย์ ก็ให้ทุกคนเป็นผู้สร้างสรรค์อภิบาลโลกทั้งนั้น แต่ถ้าเราจะบอกว่าผู้ใหญ่ก็คือเป็นในฐานะผู้รับผิดชอบ ที่จะต้องเริ่มในฐานะการเป็นผู้นำนี่ไง ใช่ไหม แต่ว่าไม่มีที่ไหนในคัมภีร์ที่บอกว่าเป็นธรรมะของผู้ใหญ่ เราสัพเพสัตตา ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงมีความสุข พ้นจากความทุกข์ ไม่มีเวรมีภัยอะไรต่างๆ แผ่เมตตาทุกคนแหละ ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่จะต้องปฏิบัติ เพราะฉะนั้นเรียนธรรมะกันพลาดเยอะ พลาดในความหมาย พลาดในการแยกส่วน ในกระจัดกระจายอะไรต่างๆ
เอาเป็นอันว่าผู้นำก็จะต้องมีอันนี้จึงจะประสานหมู่ชนไว้ได้ อย่างข้อ ๔ นี้ สำคัญใช่ไหม ความเป็นธรรมก็เกิด พอมีพรหมวิหาร ๔ แล้วมันก็ออกมาที่หลักภาคปฏิบัติ พรหมวิหาร ๔ นี่เป็นธรรมะภาคคุณสมบัติในใจนะ ยังไม่ออกมาในภาคปฏิบัติการนะ อย่าเข้าใจผิด มันเป็นท่าทีของจิตใจต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์อื่น มันจะต้องมีธรรมะภาคปฏิบัติการมารับช่วงต่อ
[00:41:42] ผู้นำใจพรหม ประสานหมู่ชนเดินทาง ร่วมจิตปฏิบัติการ ครบหลักธรรมสู่สามัคคี
[00:41:42] ธรรมะภาคปฏิบัติคืออะไร บอกแล้วว่าเจ้าชุดนี้เป็นธรรมะสำหรับสร้างสรรค์อภิบาลโลก ก็คือว่าสังคมนี่ การสร้างสรรค์สังคมมันจะออกมาลักษณะสำคัญก็คือ มันประสานหมู่ชนให้รวมกันอยู่ได้ ตอนนี้ภาคปฏิบัติ ตัวพรหมวิหารเป็นฐานที่จะให้ประสานได้ ทีนี้ออกมาสู่ภาคปฏิบัติการในการประสาน
ตัวการประสานหรือรวมกันเข้าไปเนี่ย เราเอามาใช้ในภาษาไทยเราเรียกว่า “สังเคราะห์” แต่ว่ามันเป็นการทำสิ่งใหม่ขึ้นมา แต่ว่าเป็นการเอาศัพท์พระมาใช้ แต่ที่จริงสังเคราะห์มาจากภาษาบาลี ซึ่งเรามาใช้เป็นไทยว่า “สงเคราะห์” เราก็เห็นว่าสงเคราะห์มันกลายเป็นความหมายช่วยเหลือกัน มันก็กลับไปหาความหมายเดิม โดยเปลี่ยน สง เป็น สัง ก็ตัวเดียวกัน สังเคราะห์ก็กลายเป็นว่าทำให้เกิด เอาสิ่งต่าง ๆ มาสังเคราะห์ มาประมวล ทำให้เกิดอะไรใหม่ขึ้นมา แต่ที่จริง สังเคราะห์ สงเคราะห์ ตัวเดียวกัน “สงเคราะห์” ที่แปลว่า ช่วยเหลือนั้นที่จริงคืออะไร สงเคราะห์ มาจากบาลีก็ สัง-คะ-หะ “สังคหะ” แปลว่า ยึดเข้ามารวมกัน ประสานเข้าด้วยกัน รวมเข้าด้วยกัน ธรรมะข้อนี้สงเคราะห์ข้อนั้น ธรรมะข้อนี้สงเคราะห์ข้อนั้น คือรวมเข้า เพราะฉะนั้นที่จริงสงเคราะห์แปลว่า การประสานรวมเข้าด้วยกัน ความหมายแท้มันอย่างนี้
เพราะฉะนั้นธรรมะข้อนี้ออกในภาคปฏิบัติการจึงเรียกว่า “สังคหวัตถุ” แปลว่า หลักการสงเคราะห์ สงเคราะห์คือการประสานหมู่ชนไว้ให้อยู่ในสามัคคี เราก็มาเรียกกันว่าหลักการสงเคราะห์ แต่สงเคราะห์เราก็ไม่เข้าใจความหมาย นึกว่า อ๋อ คือการช่วยเหลือกัน ที่จริงจุดหมายคือการประสานหมู่ชนให้รวมกันอยู่ได้ ยึดเหนี่ยวให้สังคมมารวมกัน ท่านบอกว่าถ้าไม่มีธรรมะ ๔ ข้อนี้ เหมือนกับรถที่วิ่งไปแล้วไม่มีตัวสลัก มันกระจัดกระจายหลุดหมดเลย ใช่ไหม พอมีสลักปั๊บมันรวมกันอยู่ได้ ก็ยังเป็นรถที่วิ่งไปได้
[00:43:45] ผู้นำนี่เหมือนสารถี ขับรถพาไป ให้รถนี่ต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่ไม่มีตัวสลักลิ่ม แล้วก็เลยกระจัดกระจาย เสี่ยงล้อไปทาง อะไรต่ออะไร ยาง ตัวถัง ไปคนละทิศละทาง อย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องรวมประสาน เรียกว่า “สังคหวัตถุ” หลักการสงเคราะห์ ประสานยึดเหนี่ยวจิตใจคนและประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี เพราะฉะนั้นสังคหวัตถุก็ทำให้เกิดเอกภาพ เอกีภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เกิดสามัคคี เกิดการไม่ทะเลาะวิวาท
เรามีฐานอยู่แล้วนี่ พรหมวิหาร ๔ ก็ออกมาสู่ภาคปฏิบัติการด้วยสังคหวัตถุ ๔ ก็จะเห็นว่ามันรับกันเปี๊ยบเลย ๔ ข้อรับกันยังไง สังคหวัตถุ ใครทราบว่ามีอะไรบ้าง ๔ ข้อ หลักการสงเคราะห์ ประสานจิตใจคนและประสานหมู่ชนไว้ในสามัคคี หนึ่ง-ทาน สอง-ปิยวาจา สาม-อัตถจริยา สี่-สมานัตตตา วันนี้ก็เลยมาเรียนธรรมะเบื้องต้นกันนะ ต้องขอทบทวน บางทีเราเข้าใจกันมาผิดนะ ทีนี้ ๔ ข้อ มารับกับพรหมวิหาร ๔ ยังไง ธรรมะในใจออกสู่ปฏิบัติการแล้ว
ถ้าเราจับจุดนี้ไม่ถูก โดนฝรั่งเล่นงาน อับเบิร์ต ชไวท์เซอร์ เล่นงานมาแล้ว โรเบิร์ต แอล ชัตตัน เล่นงานมาแล้ว โรเบิร์ต แอล ชัตตัน เขียนหนังสือ Public Administration in Thailand ตอนที่มาตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วต่อมาก็ไปเป็นนิด้า เป็นสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ เริ่มจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ ก็อาจารย์จากอินเดียน่ามา มาร่วมมือ โรเบิร์ต แอล ชัตตันก็เขียน Public Administration in Thailand ว่าพระพุทธศาสนาเป็นตัวถ่วงการพัฒนาสังคม ก็เล่นงานบอกว่าพุทธศาสนาสอน แกว่าตาม อัลเบิร์ก ชไวเซอร์ ปราชญ์ของฝรั่งเขา ว่าพุทธศาสนาสอนให้ทำดี ทำดีอะไร ทำดีก็คือนอนแผ่เมตตาอยู่ในมุ้ง ว่างั้นนะ ไม่ต้องทำอะไรหรอก นอนแผ่เมตตาก็พอแล้ว ขอให้คนนั้นเป็นสุขเถิด อันนี้คือทำดีของพระพุทธศาสนา เนี่ยเพราะเมตตามันไปไม่ออกสู่ภาคปฏิบัติ เรามีอยู่แล้ว สังคหวัตถุ ๔ ต้องออกมาปฏิบัติด้วย
ทีนี้ออกมายังไง มารับกันปั๊บ ทาน การให้ ให้นี่ก็เป็นการจะใช้คำว่าช่วยเหลือก็ได้ ช่วยเหลือด้วยวัตถุสิ่งของก่อน คนเรานี้มีสิ่งที่ต้องการ ปัจจัยเลี้ยงชีวิต ช่วยเหลือด้วยสิ่งของก่อน ก็มีทาน ทีนี้ทานนี้เราให้ด้วยอะไรบ้าง เรามีแรงจูงใจอะไรจึงให้ ก็แรงจูงใจเน้น ๓ ข้อต้น เราให้เพื่อไมตรี เพื่อแสดงน้ำใจ เขาก็ไม่ได้เดือดร้อน เราสังคมไทยโบราณ บ้านนี้ทำแกงนี้ ก็เผื่อแผ่เอาไปบ้านนั้นด้วย แสดงน้ำใจ ยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ทำให้อยู่รวมกันได้ดี บ้านนั้นแกงโน่นก็เอามาให้บ้านนี้ เขาก็ไม่ได้เดือดร้อน เขายังอยู่ได้ อย่างนี้เรียกว่า ให้ด้วยเมตตา ใช่ไหม ทีนี้ต่อมาคนประสบวาตภัย มีคนประสบอัคคีภัย มีความเดือดร้อนอะไรต่างๆ เราก็ให้เงินให้ทอง ให้เงินให้อาหาร ให้ปัจจัย ๔ ให้ตอนนี้เพื่อช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของเขา ที่เรียกว่า ให้ด้วยกรุณา ถ้าเขาตกทุกข์ได้ยาก อ้าว เขาทำความดี เขากำลังไม่พอจะทำสิ่งที่ดีงาม เราก็ให้เงินให้ทอง เพื่อส่งเสริมสนับสนุน นี่ให้ด้วยมุทิตา ใช่ไหม การให้ก็ให้จากเมตตาบ้าง กรุณาบ้าง มุทิตาบ้าง
สอง ปิยวาจา พูดก็เหมือนกัน ยามเป็นปกติก็มีวาจาที่แสดงความรัก พูดจากใจรัก พูดด้วยคำสุภาพ ไพเราะ อ่อนหวาน พูดด้วยใจ มีไมตรีอะไรต่างๆ ถนอมน้ำใจกันไว้ ใช่ไหม ปิยวาจาในยามปกติก็ต้องออกจากเมตตา พอเขาเดือดร้อนเป็นทุกข์ขึ้นมา ก็มาปลอบโยน มาช่วยให้กำลังใจ แล้วก็มาพูดแนะนำวิธีแก้ปัญหา ปิยวาจานี่สำคัญตรงนี้เลย แนะนำวิธีแก้ปัญหา ให้ความรู้ความเข้าใจ นี่ก็ตอนกรุณา ใช่ไหม ปิยวาจาด้วยกรุณา ต่อไปเขาทำดีทำถูกต้องก็ส่งเสริมพูดหนุนเลย ใช่ไหม ปิยวาจาก็พลอยส่งเสริมแสดงความยินดีด้วย ไปแสดงมุทิตาจิต อะไรต่างๆ เหล่านี้ ขอให้ท่านเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป ท่านทำดีถูกต้องแล้ว ทำยิ่งขึ้นไปนะ อันนี้ก็แสดงว่า ปิยวาจาก็ทำตามเมตตา กรุณา มุทิตา ได้ทั้งนั้น
ต่อไป อัตถจริยา เมื่อกี้นี้ช่วยด้วยสิ่งของ แล้วก็มาช่วยด้วยถ้อยคำ แล้วก็ช่วยด้วยกำลังกายแล้วทีนี้ ด้วยเรี่ยวแรงกำลัง คนเราช่วยกัน ช่วยของก็มี ช่วยให้วาจาก็มี ช่วยด้วยกำลังเรี่ยวแรง ทีนี้ อัตถจริยา ก็ช่วยด้วยเรี่ยวแรงกำลังเลย หนึ่ง-เขาอยู่เป็นปกติไม่เดือดร้อน เราก็ช่วย ใช่ไหม เดินไปด้วยกัน คนหนึ่งถือของมากกว่า อีกคนหนึ่งก็แบ่งมา เขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร หรือเราไม่ได้ถืออะไรเลย เราก็ช่วยแบ่งเบา หรือเราอยู่ตรงโน้นใกล้ของที่เขาต้องการ ก็ไปหยิบให้เขา เรียกว่าช่วยด้วยเมตตา เขาไม่ได้ตกทุกข์เดือดร้อนอะไร แสดงน้ำใจก็ช่วยด้วยเมตตา อัตถจริยาด้วยเมตตา ทีนี้เขาเดือดร้อนเป็นทุกข์ เพราะตกน้ำ หรือว่าอยู่ในไฟ อย่างนี้เราต้องสละแรงกายเข้าไปช่วยเขาปลดเปลื้องความทุกข์นี้ เราอาจจะต้องลำบากด้วย ใช่ไหม นี่คือช่วยด้วยกรุณา อัตถจริยาด้วยกรุณา ทีนี้เขาทำความดีกัน เขาไปช่วยงานวัด เขาไปทำงานส่วนรวม หรือเขาไปขนไปก่อเจดีย์ทราย เราไปช่วยขนทรายเข้าวัด สมัยโบราณ เราก็ไปช่วยเขาทำอะไรต่างๆ ไปปัดกวาดวัด ลานวัด ไปช่วยทำกิจกรรมส่วนรวม นี่เรียกว่า อัตถจริยาด้วยมุทิตา อัตถจริยาก็มีทั้ง ๓ ใช่ไหม ถูกต้อง
ทีนี้อันนี้ยังเป็นต่อกันอยู่ ๑-๓ นี่ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา นี่ยังต่อกัน ทีนี้มันต้องเข้าคลุกด้วยกันเลย อยู่ด้วยกันเลย ข้อที่ ๔ มาแล้ว ทำตัวให้เข้ากันได้ คราวนี้เข้าร่วมเลย คลุกเลย เมื่อกี้มันยังต่อกันอยู่ คราวนี้เข้าคลุก สมานัตตตา ทำตัวให้เค้าเข้ากันได้ แต่มันจะเด่นที่อุเบกขานะ ข้อที่ ๔ เนี่ย เด่นด้วยอุเบกขาอะไร เป็นตัวที่ต้องรักษาความเสมอภาค ความเป็นธรรม ความเสมอภาค เป็นเรื่องของอุเบกขา อันนี้เป็นตัวรักษาสมานัตตตา คือความมีตนเสมอ มันยึดตัวธรรมะเป็นหลักเลย สมานัตตตา เพราะว่าคนเราถึงแม้จะช่วยเหลือกัน มีเมตตา กรุณา แต่ถ้าขาดความเป็นธรรม ไม่เสมอภาคเมื่อไหร่เนี่ย พัง อยู่ไม่ได้ ชุมชนนั้นสลาย ไม่มีความสามัคคี เชื่อไหม
(๑) ต้องมีอะไร ไม่ดูถูกดูแคลนกัน ใช่ไหม อันนี้ความเสมอภาค ไม่ดูถูกดูหมิ่นกัน
(๒) ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ลองลำเอียงสิ ใช่ไหม ลำเอียงเข้าข้างโน้นข้างนี้ ทั้ง ๆ ที่ช่วยดีนะ ไม่อยู่แล้วสังคม มันสามัคคีไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง ต้องเสมอภาค
(๓) ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ใช่ไหม ลองเอารัดเอาเปรียบ อีกแล้ว ไปอีก อยู่ไม่ได้อีก
เพราะฉะนั้นตัวสมานัตตตา ความมีตนเสมอภาคนี่แหละ ความเสมอภาคนี้สำคัญมาก เป็นตัวที่สืบเนื่องมาจากอุเบกขาเป็นใหญ่เป็นฐาน ทำให้รักษาความเป็นธรรมในสังคมไว้ได้ แล้วตรงนี้ก็จะยึดสังคมให้รวมกันอยู่ได้ ก็เป็นอันว่าครบ ๔ ข้อ เลยอุเบกขาก็มาโยงกับสมานัตตตา ทีนี้ก็ออกในภาคปฏิบัติการ ก็พอสมควร ผู้นำก็จะต้องทำให้ครบ ๔ ข้อนี้ ใช่ไหม ต้องมีทั้งทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตตา แล้วก็ทำให้คนในชุมชนของตัวเองเนี่ยเข้ามาสู่หลักการอันนี้ด้วย
[00:52:00] ทีนี้เน้นนิดหนึ่งก็คือว่าในพรหมวิหาร ๔ สามข้อแรกนี่หนักทางด้านความรู้สึก ส่วนข้อสี่ นี้เรื่องความรู้ ในมนุษย์นี้มนุษย์ที่จะเจริญสมบูรณ์ต้องถึงรู้นะ แค่รู้สึกไม่ได้ แล้วความรู้มันจะมาพัฒนาความรู้สึกให้ประณีตขึ้น เบื้องต้นนี่คนจะมีความรู้สึกที่ยังหยาบยังต่ำตามสัญชาติญาณเยอะ เราก็พัฒนาคนให้มีความรู้สึกที่ดี ที่มีเมตตา มีไมตรี มีความรู้สึกเป็นมิตร มีรู้สึกสงสาร รู้สึกดีใจด้วย อะไรต่างๆ รู้สึก พัฒนาความรู้สึก แต่การพัฒนาความรู้สึกเหล่านี้ ถ้าไม่มีปัญญา ไม่มีตัวรู้มาปรับแล้วอาจจะเลยเถิด แล้วพลาด ต้องมีตัวรู้ ตัวรู้มันจะปรับให้ตัวความรู้สึกนี้พอดี ตัวรู้ก็คือปัญญา ปัญญาก็เป็นฐานของอุเบกขา
เจ้าสามตัวแรกเนี่ย พอเขามีสถานการณ์ปกติ ก็มีเมตตา รู้สึกดีก็ง่าย พอเขาทุกข์ก็รู้สึกสงสาร พอเขาได้ดีทำดีเราก็รู้สึกดีใจด้วย รู้สึกมันง่าย แต่อุเบกขานี้ยาก ต้องใช้ปัญญา ต้องรู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความถูกต้อง อะไรคือความดีงาม อะไรเป็นเหตุเป็นผล อะไรเป็นหลักการแล้วจึงปฏิบัติได้ถูกต้อง พอเรารู้ว่าความเป็นธรรมคืออย่างนี้ มันจะปรับความรู้สึกให้พอดี เรียบสงบได้ ถ้าหากว่าไม่มีตัวรู้ปั๊บ ความรู้สึกนี้ เราต้องปฏิบัติความเป็นธรรม แต่ความรู้ไม่เข้าใจ จะงุ่นง่าย จะไม่สบาย เพราะฉะนั้นผู้นำก็เลยต้องครบทั้งพรหมวิหาร ๔ และสังคหวัตถุ ๔
ตอนนี้ก็เข้าไปตั้งเพล ๑๔ จะเอายังไงต่อไป ตกลงว่าเราพูดเท่าที่ได้แล้วกัน นี่ก็คือตัวอย่างก็แล้วกัน ว่าเป็นตัวอย่างของความเป็นผู้นำนะ เดี๋ยวจะฉันสัก ๑๑ โมง ๒๐ แล้วกัน เดี๋ยวขออีกนิดนึง แต่คิดว่าแค่นี้ก็เป็นเรื่องที่พอจะเห็นแนวแล้ว และอีกอย่างหนึ่งก็โดยสรุปนะ
[00:53:53] ไตรสิกขาพัฒนาคุณสมบัติของผู้นำทั้ง ๓ ด้าน
[00:53:53] ในแง่ในกรณีที่เราจะต้องการพูดคุณสมบัติแบบรวบรัดเนี่ย เราก็ใช้หลักใหญ่ คือระบบการดำเนินชีวิตของคน หรือระบบการฝึกคนก็มี ๓ ด้าน เอาศีล สมาธิ ปัญญา เนี่ยมาวัดความเป็นผู้นำด้วย เพราะคนจะพัฒนาในทุกด้านทุกแนวทุกกรณี มันก็ต้องใช้พัฒนา ๓ อย่างนี่แหละ
เราก็มาดูว่าผู้นำควรจะมีพฤติกรรมยังไง พฤติกรรมนี้เหมาะจะเป็นผู้นำไหม จิตใจ มีสภาพจิตใจ มีคุณธรรมต่างๆ เหล่านี้ มีความเข้มแข็งของจิตใจ มีความอดทน มีความเพียรพยายาม มีความรับผิดชอบอะไรต่างๆ เหล่านี้ ด้านจิตใจนี่ ไปแยกเอาว่ามีไหม พอไหม แล้วสาม-ด้านปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ การที่จะรู้จักแก้ไขปัญหา การสามารถแสวงหาปัญญา นำข้อมูลมาโยงกัน สามารถสร้างความรู้ใหม่ขึ้น เอามาใช้แก้ปัญหา สร้างสรรค์อะไร สิ่งใหม่ๆ ได้ไหม ๓ ด้านนี้แหละ ศีล สมาธิ ปัญญานี้ วัดได้หมด วัดได้ไม่ว่ากรณีไหนทั้งสิ้น
แม้แต่ทำกิจกรรมแต่ละกรณีก็ยังใช้ ๓ อันนี้นะ เช่น อย่างเราจะสอนเด็กนักเรียน สอนเด็กนักเรียนเมื่อจะทำกิจกรรมแต่ละอย่าง หรือแม้แต่มีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง จะพัฒนาคนนี่ต้องให้ ๓ ด้านพร้อมกัน
(๑) ด้านพฤติกรรม เด็ก ให้พิจารณาร่วมกันก่อนก็ได้ เรามาใช้โยนิโสมนสิการกันสิ พิจารณาว่ากิจกรรมที่เราจะทำนี้ หนึ่ง-มันเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายเบียดเบียนผู้อื่นหรือเปล่า นี่ด้านศีลแล้วนะ หรือเป็นไปในทางตรงข้ามคือช่วยเหลือเกื้อกูล ใช่ไหม นี่ศีลแล้ว
(๒) เราทำด้วยแรงจูงใจอะไร นี่สมาธิจิตแล้ว เราทำด้วยแรงจูงใจ อยากได้ผลประโยชน์ส่วนตัว เห็นแก่ตัว หรือทำด้วยเกลียดชัง มุ่งร้ายต่อคนอื่น กลั่นแกล้งใคร หรือทำด้วยแรงจูงใจที่ดี มุ่งสร้างสรรค์ มุ่งช่วยเหลือ อะไรอย่างนี้ ใช่ไหม แล้วสภาพจิตของเราเป็นยังไง สภาพจิตของเราเดือดร้อนกระวนกระวาย หรือสภาพจิตของเราเบิกบานผ่องใส มีความสุข พิจารณาได้เลย
(๓) ปัญญา เรารู้เข้าใจสิ่งที่ทำนั้นชัดเจนไหมว่าอะไรเป็นอะไร สถานการณ์เป็นอย่างไร เราทำท่ามกลางเหตุการณ์อย่างไร แล้วการกระทำนี้จะนำไปสู่ผลอะไร มีผลข้างเคียง ผลโดยตรงอย่างไร อะไรอย่างนี้ รู้หมด มีปัญญา
เพราะฉะนั้นกิจกรรมทุกกิจกรรม ถ้าเราใช้หลักการนี้ก็พัฒนาคนไปเลยทุกอย่าง เพราะฉะนั้นเอาไปใช้ได้ทุกอย่าง
ทีนี้ผู้นำก็เหมือนกัน ก็ต้องมาวัดว่าผู้นำนี้ มีการพัฒนาในด้านพฤติกรรมคือศีลอย่างไร จิตใจแค่ไหน คุณธรรม เป็นต้น แล้วก็ปัญญาความรู้ความเข้าใจ ออกมาเป็นความสามารถ ก็วัด ๓ ด้าน ในรายละเอียดก็คงไม่ต้องพูด ให้เห็นว่า อ้อ นี่มีวิธีวัด ๓ อย่างนี้ พฤติกรรมเขาสมควรเป็นผู้นำไหม พฤติกรรมผู้นำนี้มีแต่อบายมุข มีแต่ทำสิ่งเหลวไหล หรือไปทำสิ่งที่ผิดกฎหมายซะเอง หรืออะไรอย่างนี้เป็นต้นนะ อย่างนี้มันก็กลายเป็นว่ามันก็ไม่เป็นแบบอย่างแก่สังคม พฤติกรรมก็ต้องเป็นแบบอย่างด้วย จิตใจก็ต้องมีคุณธรรม แล้วก็มีความรับผิดชอบ เป็นต้น มีความเพียรพยายาม อะไรไม่ประมาท แล้วก็มีปัญญาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ มองกว้าง คิดไกล ไปสูง อย่างที่ว่าไป เจริญพร นี่ก็ได้หลักการทั่วไปในการวัดคุณสมบัติของผู้นำ
[00:57:22] หลักสำคัญของผู้นำ คือ มีกัลยาณมิตร และไม่ประมาท
[00:57:22] แล้วก็ยังมี อย่างพระพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล คล้ายๆ บอกว่าที่พระองค์ครองราชย์อยู่นี่ มีกัลยาณมิตร แล้วเมื่อมีกัลยาณมิตรแล้วต้องไม่ประมาทด้วย ๒ อย่างนี้ เป็นหลักสำคัญเลย มีกัลยาณมิตรหมายความว่า มันแสดงถึงการที่ว่าต้องหาคนร่วมมือที่ดี ใช่ไหม สร้างขุมกำลังคน เช่น มีอำมาตย์ ข้าราชบริพารที่ดี ที่มีความสามารถ มีความซื่อตรง มีคุณธรรมอะไรต่างๆ เหล่านี้ ต้องได้อันนี้
อย่างเป็นผู้บริหาร เป็นรัฐบาลก็ต้องมีคนข้างเคียง คนบริหารร่วมบริหารที่มีคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต อะไรต่างๆ เหล่านี้ มีกัลยาณมิตร แล้วทำตัวเป็นกัลยาณมิตร แล้วก็แสวงปัญญา คำว่า กัลยาณมิตร ก็หมายความว่า ตัวเองแสวงปัญญา หมายความว่า เช่น มีที่ปรึกษาที่ดี อย่างคุณสมบัติผู้นำที่พระพุทธเจ้าจะเน้นบ่อย อย่างเป็นจักรพรรดิ์ก็ต้องไปหาสมณพราหมณ์เพื่อไปศึกษาหาความรู้ว่า อะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด ไม่ใช่เป็นจักรพรรดิ์แล้วฉันแน่แล้ว ไม่หาความรู้ ผิด ขนาดเป็นจักรพรรดิเยี่ยมยอดยังต้องไปแสวงปัญญาเลย ใช่ไหม ก็หากัลยาณมิตร เพราะฉะนั้นกัลยาณมิตรจะมีทั้งในแง่เป็นกำลังทำงาน แล้วทั้งเป็นขุมปัญญาให้กับตนเองด้วยในการปรึกษาหารือ ได้ความรู้ ความคิด
พอเสร็จแล้วก็เมื่อได้กัลยาณมิตรแล้ว ก็ต้องไม่ประมาทด้วย ต้องตื่นตัว ทันต่อสถานการณ์ ต้องเร่งรัดเอาใจใส่ ขวนขวายในหน้าที่ รับผิดชอบ ไม่นิ่งนอนใจ อะไรที่ต้องทำต้องทำ แล้วก็จะเป็นผู้นำที่ทำให้คนอื่นพลอยไม่หลับใหล ไม่หลงใหลไปด้วย ถ้าผู้นำเป็นซะเอง ไม่ตื่นตัว หลับใหล หลงใหล คนอื่นก็ไปด้วยหมด
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็เน้นออกมาในการที่ว่าจะเป็นหลักการคลุมสำคัญก็ กัลยาณมิตรหนึ่ง ไม่ประมาทอีกหนึ่ง ทีนี้คล้ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา มีอยู่แล้วนะ ยังต้องมีกัลยาณมิตร กับไม่ประมาท มาเสริมขึ้นไป เป็นตัวที่จะให้ออกผลได้อีก แล้วในเชิงสังคมก็ไปได้พรหมวิหาร ๔ สังคหวัตถุ ๔ ที่ว่า แล้วยังมีกัลยาณมิตรธรรม พอเราพูดถึงเรื่องกัลยาณมิตรก็ต้องมีธรรมของกัลยาณมิตรอีก ก็มี ๗ ประการอีก มี ปิโยครุ ภวนีโย เป็นต้น อันนี้ก็ออกจากพรหมวิหาร เป็นต้นนั่นเอง ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ความเป็นกัลยาณมิตรก็เกิดขึ้น
[00:59:56] ผู้คนเป็นธรรมาธิปไตย สังคมเป็นประชาธิปไตย สู่ผู้นำในสังคมประชาธิปไตย
[00:59:56] แล้วก็ในสังคมประชาธิปไตย ก็ต้องมีคู่กัน เมื่อมีระบบก็ต้องมีตัวหลักการอยู่ เมื่อมีรูปแบบก็ต้องมีเนื้อหาสาระ รูปแบบก็คือประชาธิปไตย แล้วเนื้อหาคุณสมบัติในคนก็ต้องมีธรรมาธิปไตย ธรรมาธิปไตยเป็นคุณสมบัติของคนนะ เดี๋ยวนี้บางทีก็แยกกันไม่ถูก นึกว่าธรรมาธิปไตยเป็นอีกระบบหนึ่งกับประชาธิปไตย มันคนละเรื่อง ธรรมาธิปไตยเป็นคุณสมบัติของคน ประชาธิปไตยเป็นระบบของสังคม
ทีนี้จะจัดสังคมที่ดี คุณสมบัติของคนต้องมีด้วย ถ้าคนเป็นธรรมาธิปไตยก็ยึดถือธรรมเป็นใหญ่ ยึดถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขที่แท้เป็นใหญ่ อันนี้ตัดสินอะไร ใจตัดสินด้วยสิ่งนี้ พอตัดสินด้วยสิ่งนี้ เสียงที่ออกมาแต่ละเสียงมาร่วมกัน ทุกคนเป็นธรรมาธิปไตย ก็ได้ของดีจากสติปัญญาสูงสุด ได้สิ่งที่ดีเลิศประเสริฐ มันก็ทำให้สังคมดำเนินไปด้วยดี ประชาธิปไตยก็เป็นไปได้ ประชาธิปไตยก็เป็นช่องทางให้ธรรมาธิปไตยออกผลโดยสังคม ธรรมาธิปไตยเป็นของบุคคล ประชาธิปไตยเป็นระบบของสังคม
แต่ สองอันนี้ต้องมาประสาน พอประสานก็ได้ผลเลย ธรรมาธิปไตยมีขึ้นแล้ว คนนั้นก็จะมีอาการ เช่น ไม่ลำเอียง ไม่ลำเอียงด้วยอคติ ๔ เป็นต้น ไม่มีฉันทาคติ ไม่ลำเอียงด้วยความรัก ความชอบใจ ไม่ลำเอียงด้วยโทสาคติ ด้วยความชัง แล้วก็ไม่ลำเอียงด้วยโมหาคติ ความหลง ไม่รู้เขลา หรือว่าไม่ลำเอียงด้วยมายาคติ ด้วยความกลัว ก็เอาธรรมะเป็นใหญ่ ธรรมะเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยก็เดินไปได้ อันนี้ก็เลยกลายเป็น “ผู้นำในสังคมประชาธิปไตย”
ก็คิดว่าพูดไปแค่นี้ก็พอสมควรแก่เวลาแล้ว เดี๋ยวจะไม่ได้ฉัน เพราะฉะนั้นอาตมาก็ขออนุโมทนาท่านอาจารย์วิริยา แล้วก็ท่านนักศึกษาทุกท่านที่ได้มาฟังกันในวันนี้ ก็ขอเรามาร่วมกำลังกายกำลังใจกันในการที่จะมาปฏิบัติธรรมะโดยรู้เข้าใจแล้วนำไปใช้ให้เกิดผลเป็นประโยชน์ ทั้งแก่ชีวิตและสังคม ขอทุกท่านจงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัยโดยทั่วกันตลอดกาลนานเทอญ