แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พิธีกรกล่าว
กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระเถรานุเถระ กราบเรียนท่านผู้เข้าฟังปาฐกถา และท่านผู้ฟังการถ่ายทอดเสียงในขณะนี้ทุกท่าน ต่อไปนี้จะเป็นการแสดงปาฐกถาพิเศษ วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติครั้งที่ 2 ครั้งแรกเราได้จัดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 คือเมื่อปีที่แล้ว โดยมุ่งให้เป็นงานวิชาการอันทรงคุณค่า เนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การจัดปาฐกถาครั้งแรกนั้น คณะกรรมการได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประกาศทศวรรษโลกเพื่อการพัฒนาวัฒนธรรมขององค์การสหประชาชาติ จึงตั้งชื่อปาฐกถาว่า วิทยาศาสตร์กับวัฒนธรรม โดยได้รับเกียรติจากท่านอาจารย์ ดร. เอกวิทย์ ณ ถลาง เลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นผู้แสดงปาฐกถา
ในปีนี้ ได้มุ่งเน้นความสำคัญมาที่ศาสนธรรม ซึ่งถือเป็นรากฐานขอววัฒนธรรมด้วย โดยเฉพาะศาสนธรรมจากพุทธศาสนา อันถือได้ว่า เป็นภูมิปัญญาแห่งอารยธรรมตะวันออก ซึ่งได้รับการกล่าวถึงไม่เฉพาะในบรรดานักปราชญ์ตะวันตกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญๆของโลกด้วย เช่น นีลส์ บอร์ ผู้เสนอทฤษฎีอะตอม ไฮเซนเบิร์ก ผู้นำแห่งทฤษฎีควอนตัมยุคใหม่ และไอน์สไตน์ เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพอันลือชื่อ เป็นต้น
ท่านเหล่านี้ได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้า และสัจจธรรมจากพุทธศาสนา ด้วยมุมมองของนักวิทยาศาสตร์ ที่ท้าทายยิ่งสำหรับนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ไทย เพราะเหตุที่ว่าพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่คุ้นเคย ปรากฎพบเห็นเป็นธรรมดอยู่ทั่วไปในสังคม แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยเรา ยังขาดโอกาส และแรงจูงใจที่จะเข้าถึงสาระของภูมิปัญญาและภูมิธรรมอย่างที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกเหล่านั้น ทั้งนี้ จะด้วยระบบการศึกษาหรือเหตุใดก็ตาม จึงเป็นเหตุให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ในโอกาสอันสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์ที่จะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดเป็นทางการ เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ไทย และนักวิชาการผู้สนใจทุกท่าน มีส่วนร่วมในการศึกษาและวิเคราะห์เรื่องนี้อย่างจริงจัง
องค์ปาฐกที่จะแสดงปาฐกถาพิเศษวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติในปีนี้นั้น คือ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวที ประยุทธ์ ปยุตฺโต วัดพระพิเรนทร์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าท่านเจ้าคุณอาจารย์เป็นพระเถระที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นปราชญ์ผู้แตกฉานในพระธรรมวินัย ท่านบรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 13 ปี และสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร จึงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในฐานะนาคหลวง จวบจนปัจจุบันผ่านมาถึง 40 ปีนั้น ชีวิตของท่าน นับว่าเป็นแบบอย่างอันดีงามของพระภิกษุในพุทธศาสนา เป็นพระพุทธสาวกในอุดมคติรูปหนึ่งของไทย ถือเป็นทรัพยากรบุคคลและตัวแทนด้านสติปัญญาของประชาชาติ ที่คนไทยสามารถอ้างได้ด้วยความภูมิใจ ดังนักวิชาการสหรัฐ แห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล ชื่อ ดร. แกรนท์ อัลเลน ออลสัน ได้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขามนุษยวิทยา เกี่ยวชีวิตของท่านเรื่อง A Person Center Innography of Thai Buddhism the life of พระราชวรมุนี ประยุทธ์ ปยุตฺโตเมื่อปี พ.ศ. 2532
ท่านเจ้าคุณพระเทพเวทีได้นิพนธ์งานวิชาการไว้มาถึง 116 เรื่อง ทุกเรื่องเป็นที่รู้กันว่าเป็นงานที่ดีเยี่ยม ตามมาตรฐานของงานวิชาการ มีความถูกต้องชัดเจน ทั้งด้านภาษา และหลักการทางพระพุทธศาสนา งานนิพนธ์ที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น พุทธธรรม พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม ธรรมนูญชีวิต การศึกษาที่สากลบนฐานภูมิปัญญาไทย Thai Buddhism in the Buddhist World ทำไมคนไทยจึงเรียนพระพุทธศาสนา เป็นต้น
นอกจากนี้ ท่านเจ้าคุณพระเทพเวที ได้รับนิมนต์เป็นที่ปรึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการสร้างพระไตรปิฎกฉบับคอมพิวเตอร์ สำเร็จสมบูรณ์เป็นฉบับแรกของโลก ทำให้การศึกษาค้นคว้าหลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนาเป็นไปได้อย่างสะดวก รวดเร็วและถูกต้องแม่นยำ ท่านเคยรับอาราธนาไปบรรยายที่สหรัฐอเมริกา ที่ Swarthmore College มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย และที่มหาวิทยาฮาร์วาร์ด เป็นต้น
อีกทั้งมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ สำนักงานใหญ่ ณ ประเทศญี่ปุ่น ได้กราบนิมนต์ให้ท่านนิพนธ์เรื่อง Buddhist Education เพื่อบรรจุเป็นตำราเรียนในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ แล้วเสร็จเมื่อ 2 ปีมานี้ ท่านเจ้าคุณพระเทพเวทีเป็นพระภิกษุไทยที่ได้รับการบรรจุเจาะจง อาราธนาให้เป็นผู้แสดงปาฐกถาในที่ประชุมนานาชาติขององค์การระดับโลกหลายครั้ง เช่น ปาฐกถาเรื่อง Buddhism and Peace ขององค์การสหประชาชาติที่จัดในประเทศไทย และเรื่อง Identity of Buddhism ขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก เป็นต้น
บัดนี้ เป็นโอกาสอันสมควร กระผมในนามของคณะอนุกรรมการฝ่ายจัดปาฐกถาพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์ และเจ้าภาพร่วม คือ สำนักหอสมุด ภาควิชาปรัชญาและศาสนา โครงการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอกราบอาราธนาพระคุณเจ้า ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระเทพเวทีได้แสดงปาฐกถาพิเศษวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2534 เรื่อง พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ ณ บัดนี้
ขอกราบอาราธนา
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เริ่มปาฐกถา
ท่านพระเถรานุเถระที่เคารพนับถือ และท่านสพรหมจารี ทุกท่าน ขอเจริญพร ท่านคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะกรรมการจัดงาน ท่านอาจารย์ นักศึกษา พร้อมทั้งท่านผู้สนใจทุกท่าน วันนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มช. ก็ได้กรุณาให้ความสำคัญ นิมนต์อาตมภาพ มาแสดงปาฐกถาในงานใหญ่ของคณะ แต่นี้ ได้ยินข่าวว่า หลายท่านฟังดูปาฐกถานี้แล้ว ได้ยินชื่อก็รู้สึกว่าแปลกใจว่า มีการนิมนต์พระมาพูดในเรื่องวิทยาศาสตร์ อันนี้เป็นเรื่องที่ว่า เหมือนกับว่าไม่ค่อยน่าจะเป็นไปได้ แล้วก็บางท่านก็มีความรู้สึกทำนองว่า เอ๊ะ เอานักศาสนามาพูดเรื่องวิทยาศาสตร์ อาตมาก็มามีความรู้สึกว่า เอ ถ้ามีความรู้สึกอย่างนี้ ก็อาจจะไม่ค่อยถูกต้อง
อาจจะต้องทำความเข้าใจกันเล็กน้อยก่อน เพื่อเตรียมใจในการฟังปาฐกา คือเพื่อการวางท่าทีที่ถูกต้อง การที่มีความรู้สึกว่าเป็นนักศาสนามาพูดในเรื่องของนักวิทยาศาสตร์นี้ อาจจะเป็นความเคยชินของยุคสมัย คือ สมัยนี้เป็นยุคของความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เวลาได้ยินก็มีการแบ่งกันไปว่านี่เป็นนักศาสนา นี่เป็นนักวิทยาศาสตร์ นั่นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ นั่นเป็นนักรัฐศาสตร์ เป็นต้น แต่ละคนก็มีความเชี่ยวชาญในสาขาของตน แต่อาตมานี้ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักศาสนา และก็ไม่อยากจะยอมรับให้เรียกว่าเป็นนักศาสนา เพราะว่าก็เป็นพระภิกษุเท่านั้นเอง
พระภิกษุกับนักศาสนาไม่ได้เหมือนกัน พระภิกษุนั้นเป็นเรื่องของวิถีชีวิต เราอาจจะใช้คำเลียนแบบ คือ เติมคำว่าเฉพาะอย่าง ก็เป็นวิถีชีวิตเฉพาะอย่าง ส่วนการเป็นนักศาสนานั้น เป็นเรื่องของวิชาการเฉพาะอย่าง วิถีชีวิตเฉพาะอย่างกับวิชาการเฉพาะอย่างนี้ไม่เหมือนกัน ผู้ที่มีวิถีเฉพาะอย่างนั้นก็มีบทบาท มีหน้าที่ในแบบแผนของตนเอง ที่จะดำเนินชีวิตและอยู่ร่วมในสังคมด้วยดี อันนี้เป็นข้อที่สำคัญ คือ เขาจะมีวิถีชีวิตยังไงก็เป็นแบบของเขา แต่เขาอยู่ร่วมในโลกนี้ในสังคมนี้ ดำเนินชีวิตให้ดี
แต่ทีนี้ เรื่องวิชาการ มันเป็นเรื่องของการแบ่งซอย ไอ้เรื่องของตัววิชาการโดยเฉพาะว่ามีผู้เชี่ยวชาญในวงวิชาการนั้นๆ ซึ่งอาจจะไม่คำนึงถึงว่า ท่านผู้นั้นจะดำเนินชีวิตเป็นอย่างไรอยู่ในสังคมอย่างไร เรียกว่าเป็นเรื่องของวิชาการล้วนๆ เพราะฉะนั้น พระภิกษุนั้น ในกรณีอย่างนี้ คงจะไม่เรียกว่าเป็นนักศาสนา และก็อาตมาก็ไม่ได้สนใจศึกษาเรื่องศาสนาอะไรต่างๆมากมาย ซึ่งคำนี้ไม่ได้หมายความว่าศาสนานั้นเป็นธรรมะ ในกรณีนั้น ในกรณีนี้ ศาสนาเราใช้ในความหมายสมัยใหม่กันเรื่องวิชาการ เรื่องธรรมะในพระพุทธศาสนานั้นเป็นหน้าที่ของพระจะต้องศึกษา เป็นเรื่องของวิถีชีวิตของท่าน เพราะฉะนั้นอันนี้เราคงต้องทำความเข้าใจกันไว้ก่อน
เพราะฉะนั้น การที่จัดปาฐกถาครั้งนี้ขึ้น แล้วก็มีชื่อปาฐกถานี้ ที่บอกว่าเป็นเรื่องพระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์นั้น ก็ไม่ให้มองเป็นว่า เป็นการมาพบกันของผู้เชี่ยวชาญในวิชาการ 2 ฝ่าย มิฉะนั้นจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า แหม คราวนี้น่าสนใจ มีการมาพบกันของบุคคลที่ไม่น่าจะมาพบกัน 2 พวก หรือ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายศาสนากับฝ่ายวิทยาศาสตร์ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยนึกว่า เอ๊ะ เป็นคนละเรื่องกันเลย
ทีนี้ถ้าเราตั้งท่าทีให้ถูกต้องเราก็จะมองไปว่า อ๋อ ก็มีแต่เรื่องวิทยาศาสตร์นี้แหละ วิทยาศาสตร์นี้เป็นศูนย์กลางเป็นเจ้าของเรื่อง เป็นผู้ชำนาญพิเศษในวิชาการนี้ แล้วก็ตอนนี้เราก็ให้บุคคลภายนอกวงวิชาการวิทยาศาสตร์ เป็นพระบ้าง เป็นอะไรบ้าง ก็มาดูมามอง และก็มาให้ความคิดเห็น ถ้าตั้งท่าทีกันอย่างงี้ละก็ ก็จะฟังเรื่องนี้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งผู้ที่จะมาพูดนั้น เป็นคนนอกวงการ ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีความรู้วิทยาศาสตร์มากมาย อาจจะรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง รู้ผิดรู้ถูก พูดผิดพูดถูก แต่ตั้งท่าทีถูกแล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือวงการวิทยาศาสตร์เอง ดูว่าคนนอกเขามองอย่างไร
การที่ตั้งท่าทีอย่างนี้จะมีประโยชน์อย่างไร หรือมีเหตุผลอย่างไร ก็มีเหตุผลว่า บุคคลก็ตาม กิจการต่างๆของมนุษย์ก็ตามเนี่ย เมื่อเข้าสู่ชีวิตและโลกที่เป็นจริงแล้วเนี่ย มันไม่ใช่ว่า ดำเนินชีวิต หรือกิจการของตนไปโดดเดี่ยวลำพัง ให้สำเร็จได้ มันจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับความคิดจิตใจเรื่องราว ความเป็นไป อะไรต่างๆ รอบด้านที่มาจากทิศทางต่างๆ มีลักษณะต่างๆกัน ก็จะต้องมีการประสานสัมพันธ์กับบุคคลประเภทอื่น วิชาการสายอื่น ซึ่งการที่ประสานสัมพันธ์กัน ได้ประสบความสำเร็จก็จะทำให้การทำหน้าที่ของตนนั้นสำเร็จด้วย หากว่าไม่สามารถไปประสานสัมพันธ์ได้ดีแล้ว การทำหน้าที่ของตนหรือวิชาการของตนเอง ก็จะไม่สำเร็จประโยชน์ตามวัตถุประสงค์
เพราะฉะนั้น การที่เรามีการให้บุคคลภายนอกมาพูดมามองบ้างนี้ย่อมเป็นการดี ทำให้เราเห็นแง่มุมในการที่เราจะเข้าไปประสานสัมพันธ์กับโลกภายนอก หรือวงวิชาการต่างๆในวงกว้างได้ผลดียิ่งขึ้น เรียกว่าเป็นการทำให้เกิดความรอบคอบ และรอบด้าน ยิ่งขึ้น ก็ตกลงเป็นอันว่าจะให้มองเรื่องของปาฐกถาครั้งนี้เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์เองที่ให้บุคคลนอกมามอง คราวนี้ให้พระมามอง พระจะมองอย่างไรก็ค่อยมาดูกันต่อไป
ทีนี้ประการที่สองที่อยากจะทำความเข้าใจกันไว้ก่อน ก็คือชื่อเรื่องปาฐกถา บางท่านก็อาจจะมองอย่างเมื่อกี้นี้อีก คือว่าให้นักศาสนามาพูด และยังแถมอวดอ้างด้วยว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์ อันนี้อาตมายังไม่อธิบาย แต่จะบอกว่า ชื่อปาฐกถานี้ถือได้ว่าเป็นคำพูดของนักวิทยาศาสตร์เอง แล้วก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่บอกว่าเป็นใคร ท่านผู้นี้ไม่ได้พูดไว้ตรงๆอย่างนี้หรอก อาตมาก็ถือเอานัยยะมา มาตั้งเป็นชื่อ เอ้อ ถือว่าชื่อปาฐกถานี้เข้ากันได้กับคำพูดของท่าน แต่ว่าไม่ได้ถือเป็นเรื่องจริงจังนักหนา แล้วเราก็จะได้อธิบายกันต่อๆไป ไม่ต้องใส่ใจนัก ว่าเป็นรากฐานจริงหรือไม่ แต่ว่าเอาเป็นว่าในสิ่งที่พูดต่อไปเนี้ยมันจะได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา แล้วก็มันจะเป็นรากฐานจริงหรือไม่ ก็วินิจฉัยกันได้เองด้วยสติปัญญาพิจารณาของแต่ละท่าน
อันนี้นอกจากนี้แล้ว ก็คงจะต้องทำความเข้าใจกัน เกี่ยวกับเรื่องถ้อยคำบางอย่าง คือตัวคำว่าพระพุทธศาสนาเองกับคำว่าวิทยาศาสตร์ คำว่าพุทธศาสนาในทีนี้ ก็ต้องเข้าใจว่าไม่ได้หมายถึงรูปแบบ สถาบัน อะไรที่เป็นรูปธรรม แต่หมายถึงสาระที่เป็นนามธรรมที่เป็นเนื้อหาหลักการของพระพุทธศาสนา ส่วนวิทยาศาสตร์นั้นก็มีปัญหาอีก คือนักวิทยาศาสตร์เองนี่มักจะต้องพูดให้ชัดว่าในที่นี้ ฉันจะเอาวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นะ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ไม่เกี่ยว เทคโนโลยีไม่เกี่ยว แต่ในสายตาของชาวบ้านนั้น เวลามองเนี่ย ได้ยินคำว่าวิทยาศาสตร์เนี่ย เขามองรวมไปหมดเลย เขาไม่ได้ไปแยก
เพราะฉะนั้นอาตามานี่มาแบบชาวบ้าน คือหมายความว่าอยู่พวกเดียวกับชาวบ้านเป็นพระ พระเขาอยู่กับฝ่ายชาวบ้านนั่นแหละ คืออยู่ในวงคนทั่วไป ก็เพราะฉะนั้นอาตมาก็เลยมาพูดแบบว่าในความหมายคลุมๆเครือๆ คือเอาวิทยาศาสตร์ที่ หมายถึงว่าวิทยาศาตร์ประยุกต์ด้วยก็ได้ เทคโนโลยีก็ได้ แต่ว่าในบางตอนอาจจะแยก อันนี้ตอนที่แยกก็คงจะได้อธิบายเป็นเฉพาะตอนนั้นต่อไป
นี้ก่อนอื่นนี้ เราคงจะต้องยอมรับกันถึงคุณค่า หรือประโยชน์ หรือจะเรียกเป็นศัพท์สูงๆหน่อยว่าคุณูปการที่วิทยาศาสตร์ได้ ได้ทำไว้ให้แก่มนุษยชาติ วิทยาศาสตร์นี้มีประโยชน์เป็นอเนกอนันต์ อันนี้ไม่มีใครปฏิเสธ อาตมามาแสดงปาฐกถาครั้งนี้ก็เดินทางมาชั่วโมงเดียวก็ถึงเชียงใหม่จากสนามบินดอนเมือง นี้ถ้าหวนหลังไปเมื่อรัชกาลที่ 1 ซัก ร.ศ. 1 นี่ กว่าท่านผู้ฟังในที่นี้จะได้ฟังอาตมาคงรอไปอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งคงจะไม่มาซะมากกว่า
เพราะฉะนั้นอันนี้ก็ต้องถือว่าเป็นอุปการะของวิทยาศาสตร์ ช่วยให้การปฏิบัติกิจการต่างๆเนี่ยมันเกิดความสะดวกสบาย จะเดินทางท่องเที่ยวก็ได้ จะมาทางวิชาการเพื่อประโยชน์ในทางสติปัญญาก็ได้ นะฮะ มีทั้งเครื่องบิน มีทั้งรถไฟ รถยนต์ มองออกไปกว้างๆอีก การสื่อสาร วิทยุ โทรศัพท์ โทรสาร โทรทัศน์ อะไรเดี๋ยวนี้มีวีดิทัศน์ ดาวเทียมอะไรต่างๆนี้เป็นเครื่องมืออุปกรณ์ที่ ก็เกิดจากความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เดี๋ยวเราเห็นกันชัดๆก็อย่างในวงการแพทย์นี่ โรคระบาดมากมายหลายอย่างเดี๋ยวนี้ก็หายไปหมด อหิวาต์นี่แทบจะไม่มี ก็พึ่งจะไปโผล่ที่เปรูเมื่อไม่นานนี้ ก็เงียบไปนานแล้ว ในสายเอเซียนี่ก็เงียบไป อย่างโรคกาฬโรคนี่ก็หายไปเลย ไข้ทรพิษก็บอกว่าลบไปได้แล้ว แม้ว่ามาเลเรียจะยังรบกันไม่จบสิ้น อะไรต่างๆเหล่านี้ นี่ก็โรคระบาดเหล่านี้เดี๋ยวนี้เราก็ไม่ค่อยต้องกลัวภัยอันตราย อันนี้ แต่ก่อนนี้คนเป็นแค่ไส้ติ่งอักเสบก็คงจะต้องเสียชีวิต แต่เดี๋ยวนี้การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบก็เป็นเรื่องที่ง่ายเสียเหลือเกิน จนกระทั่งถึงผ่าสมอง และก็มีเครื่องมือในการตรวจ ในการหาสมุฏฐานของโรค ตำแหน่งของโรค อย่างเอ็กซเรย์ เจริญมาเป็นเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ จนกระทั่งเป็น MRI เดี๋ยวนี้
อันนี้มันก็เป็นเรื่องของความเจริญที่ล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น หรืออย่างเรามีเรื่องไฟฟ้า เครื่องทุ่นแรงสารพัด การพิมพ์ การอะไรต่างๆ ก็เจริญก้าวหน้า แม้แต่ของเล็กๆ อย่าง เดี๋ยวนี้เราไปเห็นเป็นของเล็กน้อย นาฬิกาเนี่ย สมัยก่อนหนหลังไปยี่สิบ สามสิบปีนี่ นาฬิกานี่เป็นของที่ไม่ค่อยจะง่ายนัก นะฮะ บางทีไปซื้อมาประจำบ้านนี่เรือนใหญ่ๆโตๆ แล้วก็ใช้ลำบาก นะ ต้องไข ต้องไขลานกันทุกวันอะไรทำนองนี้ เดี๋ยวนี้ นาฬิกาควอทซ์ มีแล้วเป็นเรื่องง่ายเหลือเกิน ราคาก็ถูก ถูกนิดเดียว แล้วก็เดินตรงกว่าสมัยก่อนมากมาย นาฬิกาสมัยก่อนเรือนใหญ่ๆราคาแพงๆนะจะให้ตรงนี้ยาก เราเรียกนาฬิกาปารีส บางทีต้องมาปรับกันอยู่นั่นแหละ นะฮะ ยากเหลือเกิน เดี๋ยวนี้มันกลายเป็นเรื่องแสนจะง่ายสบาย
จนกระทั่งว่าเราก็สามารถไปอวกาศได้ มีคอมพิวเตอร์ใช้ นี่ก็เป็นความเจริญที่เรียกว่ารุดหน้าอย่างยิ่ง ในทางชีววิทยาก็ไปถึงอะไรเขาเรียกว่า พันธุวิศวกรรม ซึ่งอาจจะมีการแปลงพันธุ์ แต่งพันธุ์ ปรุงแต่ง เพิ่มพันธุ์แปลกๆใหม่ๆของชีวิตพืชและสัตว์ต่างๆได้ อันนี้ก็เป็นความหวังกันของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน ก็เรียกกันว่าพรรณนากันไปได้แทบจะไม่มีที่สิ้นสุดเรื่องคุณประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ ซึ่งออกมาในรูปร่างของเทคโนโลยีเป็นอันมาก
แต่ในอีกด้านหนึ่งเมื่อมองไป ก็ปรากฏว่าวิทยาศาสตร์นี้ โดยเฉพาะที่ออกลูกมาเป็นเทคโนโลยีอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ ได้ก่อให้เกิดโทษอย่างมหาศาลแก่มนุษยชาติเช่นเดียวกัน แล้วปัจจุบันนี้เราก็มีความกังวลกันมาก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาว่า โลกนี้ มนุษยชาตินี้ อาจจะถึงความพินาศไป เพราะความเจริญหรือพัฒนาในทิศทางที่ทำกันมา อาจจะเป็นความพินาศแบบปุ๊บเดียว คือชั่วกดสวิตช์ กดปุ่ม อย่างสงครามนิวเคลียร์ หรือมิฉะนั้นก็เป็นความพินาศไปอย่างใช้เวลายาวนาน คือการที่ธรรมชาติแวดล้อมได้เสื่อมสลาย ซึ่งอันนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่มากในยุคปัจจุบัน
เดี๋ยวนี้เราก็ แม้แต่ชีวิตประจำวันที่ใกล้ตัวนี้ คนก็ถูกคุกคามด้วยภัยอันนี้กันมาก จะกินอาหารกัน ไม่รู้ว่าผักหรือปลานี้เขาแช่ฟอร์มาลีนหรือเปล่า อ้าว บางทีเขาฉีดฮอร์โมนเร่งความเติบโตของสัตว์ที่เอามาทำเป็นอาหาร หรืออาจสารเคมีเป็นพิษ อาจจะมาในรูปของสารที่ช่วยรักษาอาหารให้คงทนอยู่นานบ้าง หรือปรุงแต่งรส ปรุงแต่งเนื้อ ส่วนผสมอะไรต่างๆบ้าง ตลอดจนกระทั่งว่ายาฆ่าแมลง อันนี้ก็เป็นสภาพปัจจุบันที่คนไม่น้อยก็มีความหวาดกลัว แล้วมันก็คุกคามต่อชีวิตของคนจริงๆ
อันนี้มองไปในแง่หนึ่งก็เหมือนกับว่า เวลานี้น่ะ วิทยาศาสตร์ได้เข้าไปแปลกปนอยู่ในธรรมชาติ อันนี้เป็นสำนวนพูด คือเรารู้สึกเหมือนวิทยาศาสตร์กับธรรมชาติเนี่ย เวลานี้เนี่ย คนมองคล้ายๆกับวิทยาศาสตร์นี่เป็นพวกหนึ่ง กับธรรมชาติเป็นอีกพวกหนึ่ง เป็นคนละพวกกัน ทั้งๆที่ที่แท้จริงแล้ววิทยาศาสตร์นี้มันคือการศึกษาธรรมชาติ วิทยาศาสตร์นั้นจะต้องเป็นพวกเดียวกับธรรมชาติ โดยพื้นฐานของมัน
แต่ปัจจุบันนี้คนได้มีความรู้สึกว่า สิ่งที่เป็นวิทยาศาสตร์คือสิ่งที่มิใช่ธรรมชาติ เราเคยเรียกสิ่งที่ทำขึ้นมาโดยความรู้วิทยาศาสตร์แล้วมาประยุกต์ใช้ทำเป็นเทคโนโลยี เราเรียกว่าวิทยาศาสตร์ต่อท้ายคำนั้นๆ เช่นว่า ไต ที่ด้วยเทคโนโลยี ก็เป็น ไตวิทยาศาสตร์ ปอดที่ทำด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นเทคโนโลยี ก็เป็น ปอดวิทยาศาสตร์ แล้วต่อมา บางทีก็เปลี่ยนเรียก ปอดวิทยาศาสตร์ก็เป็นปอดเทียมไป ไตวิทยาศาสตร์ก็เป็นไตเทียม เอ๊ะ ไปๆมาๆคำว่าวิทยาศาสตร์นี่เป็นของเทียมแล้ว เอาละซิทีนี้ ความหมายในหมู่ประชาชนเนี่ยมันแปรเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ เราจะต้องติดตามดูเหมือนกัน
แต่นี้ถ้ามองอย่างงี้ก็กลายเป็นว่า เนี่ยเวลาเนี้ยวิทยาศาสตร์ได้เข้าแปลกปนอยู่ในธรรมชาติมากมาย เป็นการที่วิทยาศาสตร์ได้กระทำต่อธรรมชาติ เวลาเราพูดในวงสังคมศาสตร์ เราก็บอกว่ามนุษย์กระทำต่อธรรมชาติ แต่ตอนนี้มาพูดกับทางวิทยาศาสตร์ เราบอกว่า วิทยาศาสตร์กระทำต่อธรรมชาติ คือการที่วิทยาศาสตร์ อัน คือความหมายมันอันเดียวกัน การที่วิทยาศาสตร์จะไปกระทำต่อธรรมชาติอย่างนั้นได้ ก็เพราะมนุษย์นี่แหละเป็นผู้ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในการไปกระทำ แต่ว่ามูลเหตุเดิมมันมาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์
เพราะฉะนั้นก็เลยบอกว่าเนี่ย ไอ้ความเสื่อมความพินาศอะไรต่างๆที่มันกำลังจะมาเนี่ยนะ มันเกิดจากฝีมือของวิทยาศาสตร์ มันทำให้เกิดอันตรายแก่มนุษย์ปัจจุบันเป็นอันมาก ทำให้ธรรมชาตินี้แปรรูปใหม่ ธรรมชาติแปรรูปใหม่ก็หมายความโลกแห่งธรรมชาตินี่ต่อไป มันอาจจะไม่เป็นโลกแห่งธรรมชาติ มันอาจจะกลายเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์ ต่อไปก็หมายความว่า เราอาจจะไม่มีโลกธรรมชาติ ในเมื่อวิทยาศาสตร์นี้ได้เข้ามาทำอะไรต่ออะไรมากมายแล้ว เอาอะไรต่างๆเข้าไปปนในธรรมชาติมากแล้ว โลกแห่งธรรมชาติมันจะกลายเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์ ในความหมายหนึ่งเฉพาะที่กล่าวมา พอเป็นโลกแห่งวิทยาศาสตร์ต่อไปมันก็เป็นโลกเทียม อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ไตวิทยาศาสตร์เป็นไตเทียม เอ๊ มันไม่ใช่โลกแท้
ทีนี้มนุษย์ล่ะ มนุษย์นี้อยู่ในโลก เดิมอยู่ในโลกแห่งธรรมชาติ มนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งธรรมชาติด้วย เราก็เป็นมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติ แล้วก็อยู่ในโลกที่เป็นธรรมชาติ นี้ต่อไปเนี่ย เราจะเป็นมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติอยู่ในโลกที่เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วตอนนี้มันชักจะกลับกัน มันชักจะไม่สอดคล้องแล้ว อันนี้มนุษย์ที่เป็นธรรมชาติ ก็คือมนุษย์อย่างเราๆเนี่ย เพราะว่าร่างกายอะไรต่างๆของเรานี่ โดยสภาพชีวิตทางชีววิทยามันไม่ได้เปลี่ยนแปลง วิทยาศาสตร์ยังไม่ได้มาดัดแปลงชีวิต ในทางชีววิทยาของเราให้มันแปลกรูปไปให้มันสอดคล้องกับโลกวิทยาศาสตร์ที่กำลังจะเกิดขึ้น
อันที่จริงนั้นถ้าหากว่าจะให้มนุษย์นี่อยู่ได้ด้วยดีในโลกที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นโลกวิทยาศาสตร์ ที่มีสารอะไรต่างๆแปลกมาอย่างเนี่ย เราจะต้องมาปรับร่างกายมนุษย์ให้มันสอดคล้องกันด้วย แล้วเราก็จะได้เป็นมนุษย์วิทยาศาสตร์ ที่อยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้มันไม่เป็นอย่างงั้น มันไม่สอดคล้อง มันก็กลายเป็นว่ามนุษย์ธรรมชาติได้อยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ ถ้ามีความไม่สอดคล้องอย่างงี้ มันจะต้องเกิดปัญหา อันนี้แหละเป็นเรื่องที่ยุ่งอันหนึ่ง นี้ถ้าหากว่ามนุษย์ธรรมชาตินี้อยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ไม่ได้ มันก็จะต้องมีมนุษย์วิทยาศาสตร์ขึ้นมาอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจจะเป็นขึ้นมาก็ได้ มนุษย์วิทยาศาสตร์นั้นอาจจะได้แก่หุ่นยนต์
เพราะฉะนั้น ต่อไปก็เลยกลายเป็นว่า อ้าว โลกวิทยาศาสตร์นี้ก็เป็นโลกของมนุษย์วิทยาศาสตร์ มนุษย์เทียมก็คือหุ่นยนต์ พอ ถ้าเป็นอย่างงี้ก็หมายความว่ามนุษย์ธรรมชาตินี้อาจจะหายไปก็ได้ เพราะฉะนั้น มองในแง่หนึ่งแล้ว ก็เหมือนกับว่า ความเจริญในทางวิทยาศาสตร์เนี้ยไม่สอดคล้องกัน เหมือนกับว่าวิทยาศาสตร์นี้ได้ปรับแปรรูปโลกภายนอกที่เป็นสภาพแวดล้อมของมนุษย์เสียใหม่ให้เป็นโลกวิทยาศาสตร์ มีอะไรต่างๆที่มันเป็นของแปลกปลอมเกิดขึ้นเยอะแยะ แต่ว่าไม่ได้ปรับชีวิตของมนุษย์ให้มันสอดคล้องอย่างนั้นด้วย อันนั้น มันก็เกิดความขัดกัน
ทีนี้ถ้ามองลึกเสียอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่แค่นั้นหรอก มนุษย์นี้ประกอบด้วยกายกับใจ ในสองส่วนนี้ เรื่องมันกลับกันเสีย คือวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมานี้ ได้แปรเปลี่ยน ทำให้โลกภายนอกเป็นโลกวิทยาศาสตร์อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ ซึ่งโลกวิทยาศาสตร์นั้นเป็นโลกฝ่ายวัตถุ ไอ้คู่กันในฝ่ายร่าง เออ ชีวิตของมนุษย์เนี่ย มนุษย์ที่ว่าเป็นสองส่วนกายกับใจเนี่ย ส่วนที่มันเป็นคู่กับโลกวัตถุภายนอกก็คือส่วนร่างกาย พอเรามาพิจารณาในแง่นี้ก็ปรากฏว่า ในส่วนร่างกายเนี่ยยังไม่เปลี่ยน แต่กลับไปเปลี่ยนส่วนจิตใจ หมายความว่า วิทยาศาสตร์นี้ได้มีอิทธิพลต่อจิตใจของมนุษย์ ได้ทำให้มนุษย์นี้มีจิตใจแบบจิตใจเทียม คือ หมายความว่าเป็นจิตใจที่ชอบของวิทยาศาสตร์ นะ ของที่ไม่ใช่ของธรรมชาติ นะฮะ อันนี้กลับไปเปลี่ยนจิตใจซะนี่แทนที่จะเปลี่ยนกาย
ไอ้ส่วนที่มันสอดคล้องกันมันคือส่วนกายของมนุษย์เนี่ย มันจะต้องเข้ากับโลกวัตถุในภายนอก แต่ไอ้ส่วนกายนั้นกลับไม่ปรับเปลี่ยน กลับมาเปลี่ยนส่วนจิตใจ ทีนี้มันก็ขัดแย้งกันทั้งในตัวและภายนอก เพราะจิตใจกับร่างกายก็ขัดกัน แล้วจิตใจนี่ก็นิยมที่จะอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์โดยที่กายของตัวเนี่ยไม่เป็นไปด้วย ปัญหามันก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน เพราะฉะนั้นนี้เป็นปัญหาของโลกปัจจุบันที่ว่า เราจะแก้ไขยังไง ว่าร่างกายของเราที่เป็นพื้นฐานของชีวิตเนี่ย ที่สอดคล้องกับโลกภายนอกขณะเนี้ย มันยังเป็นธรรมชาติแท้ๆ มันยังต้องการน้ำที่บริสุทธิ์ ยังต้องการ อะไร อากาศที่บริสุทธิ์ แล้วก็ต้องการอาหารที่บริสุทธิ์ แต่เสร็จแล้วตอนเนี้ย เรามาเป็นปัญหากับสิ่งเหล่านี้ ที่ว่า น้ำต่อไปเป็นน้ำไม่บริสุทธิ์ คือ เป็นน้ำที่ถูกวิทยาศาสตร์ทำ อากาศก็เป็นอากาศที่ไม่บริสุทธิ์ เพราะเป็นอากาศที่ถูกวิทยาศาสตร์ทำ แล้วก็อาหารก็เป็นอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ เพราะเป็นอาหารที่วิทยาศาสตร์ทำ
อันนี้มันก็จะเกิดปัญหาขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหาชีวิตด้านร่างกายเสียใหม่ไม่ให้ ให้มันสอดคล้องกับโลกภายนอกที่เป็นวัตถุ เอาแล้วนี่คือเป็นการพูดในเชิงอุปมาแต่ให้เห็นเป็นภาพ ก็เป็นอันว่าต่อไปนี้ มนุษย์อาจจะต้องเลือกเอา มีการตัดสินใจว่าจะเอายังไง ระหว่างมนุษย์ธรรมชาติในโลกของธรรมชาติ กับการที่พยายาทมทำให้เป็นมนุษย์วิทยาศาสตร์ที่จะอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์เพื่อให้มันเกิดความสอดคล้องกัน มนุษย์จะเลือกเอาอย่างไหน หรือจะมีทางประนีประนอมอย่างไร ถ้าหากว่าเป็นไปในสภาพปัจจุบันก็คือว่าตัวมนุษย์โดยเฉพาะด้านร่างกายยังเป็นธรรมชาติ แล้วเรากำลังจะอยู่ในโลกวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่สอดคล้องกัน แล้วในทิศทางนี้จะต้องไปสู่ความพินาศอย่างแน่นอน ถ้าแก้ไขไม่ได้ หันเปลี่ยนเข็มหรือเบนทิศทางของความเจริญของมนุษยชาติไม่ได้
อันนี้เมื่อเราพิจารณาวิเคราะห์ออกไปอีกก็จะเห็นว่าส่วนของวิทยาศาสตร์ที่มาเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่เราเปลี่ยนโลกธรรมชาติเป็นโลกวิทยาศาสตร์หรือโลกเทียมอะไรต่างๆเนี้ย ส่วนที่มันเป็นตัวกระทำที่สำคัญก็คือที่เป็นเทคโนโลยี แต่มนุษย์ก็อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั่นแหละประดิษฐ์เทคโนโลยีขึ้นมา เราก็ใช้เทคโนโลยีนี้เป็นช่องทาง หรือเป็นเครื่องมือไปจัดการกับธรรมชาติ เพื่อจะหาความสุขสบายให้แก่ตนเอง มนุษย์ได้อาศัยเทคโนโลยีหาความสะดวกสบายให้แก่ตนเอง แล้วเสร็จแล้วปรากฏว่าภัยอันตรายทั้งหลาย ตลอดจนความพินาศที่อาจจะมีขึ้น ก็อาศัยเทคโนโลยีนั่นแหละ เป็นทาง เป็นช่องทางย้อนกลับเข้ามาทำร้ายมนุษย์อีกทีหนึ่ง
อันนั้นนี่ก็คือ กลายเป็นว่าเทคโนโลยีนี้เป็นทั้งเครื่องมือหาความสุขของมนุษย์ และเป็นเครื่องมือที่ว่าภัยอันตรายจะเข้ามาทำร้ายมนุษย์ด้วย อันนี้ก็เป็นปมปัญหาที่เราจะต้องหาทางแก้ไข นี้เรื่องที่ว่ามาทั้งหมดนี้ วิทยาศาสตร์ก็ย่อมเถียง อย่างที่อาตมากล่าวข้างต้น ในที่นี้ก็คือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ก็บอกว่า ข้าพเจ้าก็มีหน้าที่เพียงบอกความจริงให้ทราบเท่านั้น ค้นคว้าความรู้ในธรรมชาติออกมา ใครจะไปใช้อย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา ฉันไม่เกี่ยวด้วย นี่ วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นี้บางทีก็จะปัดความรับผิดชอบอย่างนั้น แล้วก็วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ก็มักจะโทษเทคโนโลยีว่า อ้า เทคโนโลยีนี้เอาความรู้ของตนไปหาประโยชน์
แต่ที่จริงเทคโนโลยีนั้นไม่ได้เอาความรู้วิทยาศาสตร์ไปหาประโยชน์อย่างเดียว ความจริง พื้นฐานเดิมเนี่ยต้องการเอาไปทำประโยชน์ แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่าเทคโนโลยีนี้มันมีสองอย่างแล้ว คือเอาไปทำประโยชน์อย่างหนึ่ง แล้วเอาไปหาประโยชน์อย่างหนึ่ง ไอ้สิ่งที่เราต้องการคือให้เทคโนโลยีไปทำประโยชน์ แต่ตอนนี้มันเกิดปัญหาขึ้นมาก็กลายเป็นว่า เทคโนโลยีไปหาประโยชน์ ไอ้คนนี่แหละเอาเทคโนโลยีแทนที่จะเอาไปทำประโยชน์ ก็ไปหาประโยชน์ ถ้าตราบใดเรายังจำกัดตัวอยู่ในคำว่าทำประโยชน์เนี่ย มันจะเกิดโทษพิษภัยแก่มนุษย์ได้น้อย ได้ยาก
แต่ถ้าเมื่อไรมันกลายเป็นเทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์ขึ้นมาแล้ว ปัญหามันก็เกิดขึ้นอย่างที่เราประสบอยู่ในปัจจุบัน ทีนี้เราจะต้องให้ความยุติธรรมแก่เทคโนโลยีบ้าง นอกจากที่อาตมากล่าวเบื้องต้นว่าชาวบ้านเนี่ยเขามองวิทยาศาสตร์ ในความหมายว่ารวมถึงวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และเทคโนโลยีด้วยแล้ว อันนี้เมื่อจะพูดถึงโทษภัยที่เกิดขึ้นมาเนี่ย วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เองก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะว่ากันไปแล้ว อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในประวัติศาสตร์ที่เป็นมาอย่างน้อยในช่วงเป็นร้อยๆปีเนี่ย วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์เองก็ไม่บริสุทธิ์แท้ นะฮะ ที่ว่าไม่บริสุทธิ์แท้นี่มันเป็นยังไง คือว่า มีคุณค่าซ่อนอยู่ข้างหลัง ซึ่งกำหนดทิศทางแก่วิทยาศาสตร์ บางทีวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ก็ไม่รู้ตัวว่า มันมีคุณค่าอะไรซ่อนอยู่ข้างหลังนะ ที่มันมากำหนดทิศทางของวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ซึ่งถ้าไม่รู้ตัวก็กลายเป็นไม่เป็นตัวของตัวเอง ถูกเขากำหนดทิศทางให้
ทีนี้ อีกอย่างหนึ่งเวลาคนพูดถึงคุณค่าของวิทยาศาสตร์เนี่ย คนเขาจะเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ผ่านทางเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น อย่างที่อาตมากล่าวมาเมื่อกี้เนี่ยบอกถึงประโยชน์ของวิทยาศาสตร์เนี่ย ที่อาตมาพูดมาเนี่ยมันเป็นเทคโนโลยีแทบทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นที่คนเขาเห็นคุณค่าของวิทยาศาสตร์เนี่ย เขาเห็นจากเทคโนโลยี เมื่อตอน เรื่องเป็นคุณของวิทยาศาสตร์ที่ผ่านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ยอมรับ หมายความเรารับว่า เอ้อ อันนี้ แหม วิทยาศาสตร์ได้ทำคุณแก่มนุษย์มากมายอย่างงี้ นี้ตอนเขากล่าวโทษบ้างก็ต้องรับเหมือนกัน นะฮะ อันนี้ ตอนนี้เรามาถึงโทษแล้วจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้ อันนี้เป็นประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือว่าวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีนี้ พี่งพาอาศัยซึ่งกันและกันมา ในความเจริญก้าวหน้าด้วยกัน ไม่ใช่ว่าวิทยาศาสตร์เป็นผู้ให้เกิดเทคโนโลยีแล้ว วิทยาศาสตร์จะเป็นผู้ให้เทคโนโลยีมีโอกาสเจริญก้าวหน้าอย่างเดียว ที่จริงนั้นเทคโนโลยีนี่เป็นตัวทำให้วิทยาศาสตร์เจริญมากมาย เพราะอะไรเล่า ก็ วิทยาศาสตร์จะเจริญก้าวหน้าได้ วิทยาการ วิธีการวิทยาศาสตร์ที่สำคัญคือการสังเกตและการทดลอง การสังเกตทดลองเบื้องต้น จะใช้ประสาททั้ง 5 ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยเฉพาะก็ตา แล้วก็กายคือสัมผัส แล้วก็หูคือฟัง 3 อย่างนี้สำคัญอย่างยิ่งในการสังเกตทดลองทางวิทยาศาสตร์
แต่ว่าอินทรีย์ของมนุษย์ หรือประสาทอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ทางพระใช้คำว่าอินทรีย์ มันมีขีด มีวิสัยจำกัด เราดูดาวไปไม่ได้ไกลเท่าไหร่ เห็นจักรวาลไม่กว้าง ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น มีกล้องโทรทรรศน์ กล้องส่องดูดาว แน่ะ ทำให้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าไปได้ ของเล็กๆมองไม่เห็น ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ขึ้นมา อ้าว วิทยาศาสตร์ก็ก้าวหน้าต่อไป เพราะฉะนั้น วิทยาศาสตร์บริสุทธิ์นี่อาศัยเทคโนโลยีด้วยในการเจริญก้าวหน้า มันต้องมองในทางกลับกันด้วยก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แล้วเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทดลองอะไรต่างๆเนี่ยเจริญมาก็เป็นส่วนของเทคโนโลยี
เพราะฉะนั้นจึงบอกเมื่อกี้ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาศัยซึ่งกันและกันในการที่เจริญก้าวหน้ามาด้วยกันจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบันนี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังมองไปที่คอมพิวเตอร์ว่าจะเป็นอุปกรณ์ เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะมาช่วยสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้วิทยาศาสตร์นี้ขยายขีดความสามารถในการที่จะเข้าถึงความจริงของโลกแห่งธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่แน่นอนว่า พวกคอมพิวเตอร์นี่จะมาช่วยรวบรวมประมวลข้อมูลในขอบเขตที่มากมายจนกระทั่งสมองมนุษย์นี่ไม่สามารถจะบันทึกไว้ไหว อันนี้วิทย์ คอมพิวเตอร์ก็ทำได้ และยังมีความสามารถในการที่จะประมวลสรุปอะไรต่างๆ ซึ่งการตั้งสมมติฐาน การวางทฤษฎีต่อๆไป อะไรต่างๆนี้ คงจะได้อาศัยคอมพิวเตอร์ช่วยเป็นอันมาก
แต่ในที่สุดก็คือว่า ???วิทยาศาสตร์นี้ปรากฎคุณค่าแก่โลกมนุษย์ให้คนทั่วไปเขายอมรับเกียรติของวิทยาศาสตร์เนี่ย ก็ด้วยอาศัยที่มีเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ปรากฏขึ้นเป็นอันมาก เป็นแต่ว่าเราจะต้องแยกให้ถูกและก็ใช้เทคโนโลยีอย่างถูกต้อง อย่างที่ว่าเมื่อกี้ก็คือว่าสนับสนุนเทคโนโลยีที่ทำประโยชน์ ไม่ใช่เทคโนโลยีเพื่อหาประโยชน์ เอาละ นี่เป็นการทำความเข้าใจกันในบางส่วนที่จะพึงรู้เพื่อจะได้วางท่าทีในการที่จะพูดกันต่อไป
แล้วทีนี่อีก ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือว่าเวลานี้ ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์นั้น ได้มาไกลมากแล้วจนกำลังจะสุดแดนแห่งโลกวัตถุ ขอบเขตของวิทยาศาสตร์นั้นอยู่ที่โลกวัตถุ แต่ตอนนี้มันจะสุดเขตของแดนโลกวัตถุแล้ว มันกำลังเข้ามาจ่อแดนของจิตใจ นะฮะ ตอนนี้แหละมันจะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมาก ถ้าในแง่ของสิ่งที่ศึกษา สิ่งที่วิทยาศาสตร์จะศึกษาพิสูจน์ต่อไป มันกำลังก้าวเข้ามาในแดนของจิตใจ วิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย กำลังหันมาสนใจปัญหาเรื่องจิตใจว่าจิตใจนี่คืออะไร จิตใจทำงานอย่างไร consciousness คืออะไร มันมาจากวัตถุจริงหรือไม่ หรือมันมีความ มีอยู่ของมันต่างหาก
อย่างคอมพิวเตอร์เวลานี้มี AI แล้ว AI ก็คือว่า Artificial Intelligence มี อะไร เขาเรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ ปัญญาประดิษฐ์นี้ต่อไป คอมพิวเตอร์จะมีจิตใจหรือไม่ อันนี้กำลังเป็นปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยกำลังถกเถียงกันอยู่ ถึงกับเขียนหนังสือมาเป็นเล่มโตๆเลย เดี๋ยวนี้ เป็น National Best Seller ของอเมริกาก็มี ว่าด้วยเรื่องคอมพิวเตอร์จะมีจิตใจได้หรือไม่ นี้ก็ นี่แสดงว่า วิทยาศาสตร์กำลังจะเข้ามาจ่อแดนของจิตใจ อันนั้น เมื่อจ่อแดนของจิตใจเนี่ย มันก็ก้าวมาสู่แดนของศาสนา เพราะฉะนั้นมันก็มีเรื่องที่จะต้องมาพิจารณากัน อันนี้ในแง่ของสิ่งที่ถูกพิสูจน์หรือศึกษา
นี้อีกด้านหนึ่งก็คือ ในแง่ของการพิสูจน์ หรือวิธีพิสูจน์ ที่วิธีการพิสูจน์นั้นกำลังพ้นเลยขอบเขตของอินทรีย์ 5 แต่ก่อนนี้เราใช้อินทรีย์ 5 เปล่าเปลือย คือ ตา หู ร่างกายล้วนๆ แล้วต่อมาเราอาศัยอุปกรณ์ที่ขยายวิสัยแห่งอินทรีย์ของมนุษย์ ที่ว่า ( ??? ) อินทรีย์เปล่าๆนี่ไม่สามารถจะได้รับรู้รับทราบได้ ก็เอาไอ้พวกเทคโนโลยีอุปกรณ์ที่ขยายวิสัยอินทรีย์นั้นมาใช้ และตอนนี้แม้แต่อุปกรณ์เหล่านั้นก็อาจจะไม่ไหว แต่นี้การพิสูจน์ของวิทยาศาสตร์ ก็จะมาเป็นเรื่องของคณิตศาสตร์ ใช้ภาษาคณิตศาสตร์เป็นสื่อ แล้วมาอยู่ที่สิ่งที่เรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ การตีความอะไรต่างๆ ซึ่งมาใกล้แดนของจิตใจมากขึ้น แล้วมันก็อยู่ในระดับของความเชื่อ มีเรื่องความเชื่อเข้าไปปะปนมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นนี่ก็คือไอ้เรื่องที่ว่าวิทยาศาสตร์มันกำลังเข้ามาจ่อแดนของจิตใจ อันนั้นก็เลยเป็นเรื่องที่เรา เป็นจุดที่เราน่าจะพิจารณา
เมื่อเราทำความเข้าใจเบื้องต้นกันอย่างนี้แล้ว เราก็หันกลับไปดู ตั้งแต่กำเนิดและพัฒนาการของวิทยาศาสตร์เป็นต้นมา ถ้าย้อนกลับไปพูดถึงกำเนิดของวิทยาศาสตร์และพร้อมทั้งความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นมาได้อย่างไร อะไรเป็นจุดต้นกำเนิดของวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าวิทยาศาสตร์ธรรมชาติก็ดี สังคมศาสตร์ก็ดีว่า กันไปแล้วเนี่ย ความจริงเนี่ยมันมีฐานอยู่ที่คุณค่าทางจิตใจทั้งนั้น ยกตัวอย่างเช่น เศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์นี่เริ่มด้วยฐานของมันคืออะไร คือความต้องการ ตัวกำหนดของเศรษฐศาสตร์ก็คือความต้องการ และความต้องการนี้เป็นอะไร เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ด้วยประสาททั้ง 5 หรืออินทรีย์ 5 หรือเปล่า มันเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของคุณค่า แต่ว่าศาสตร์ที่พยายามเป็นวิทยาศาสตร์ก็จะบอกว่าฉันไม่เกี่ยวกับคุณค่า เป็น value free แต่มันไม่ value free ซักที
เอาละทีนี้ ไหน (???) ในแง่ของตัววิทยาศาสตร์เองล่ะ จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์อยู่ที่ไหน จุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์คือความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ อันนี้นักวิทยาศาสตร์เองก็ยอมรับ ความใฝ่รู้ความจริงของความ ของธรรมชาติ ซึ่งเป็นความคิดหมายใฝ่ฝันอยู่ในใจ แล้วพร้อมด้วยความเชื่อว่า ในธรรมชาติมีกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผล ที่สม่ำเสมอแน่นอน อันนี้แหละ สองอันนี้เป็นฐานที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มประกอบกิจกรรมในการค้นคว้า ศึกษา หาความรู้ที่อยู่เบื้องหลังของธรรมชาติ เพราะฉะนั้นจุดกำเนิดของวิทยาศาสตร์นี้อยู่ที่ใจมนุษย์ อยู่ที่ความใฝ่รู้และศรัทธาคือความเชื่อ ถ้าปราศจากอันนี้แล้ววิทยาศาสตร์ไม่เกิดขึ้นแล้วไม่เจริญงอกงาม นักวิทยาศาสตร์ใดยิ่งมีความใฝ่รู้อย่างนี้บริสุทธิ์แรงกล้า มีความเชื่ออย่างนี้แรงกล้า นักวิทยาศาสตร์พวกนั้นจะสร้างความเจริญให้แก่วิทยาศาสตร์มาก
แต่ว่ามันไม่ใช่เท่านี้ อ้าว มันมียังไงต่อไป ตอนนี้ ตอนเราจะพูดไปเป็นขั้นๆ ตอนนี้เราเริ่มที่ความใฝ่รู้ก่อน ว่าความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาติ ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคต้นๆที่ยังกระเส็นกระสายเนี่ยมีจุดเริ่มอย่างนี้ คือความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติที่เราเรียกได้ว่า บริสุทธิ์พอสมควร แม้ว่าต่อมาความใฝ่รู้อันนี้จะถูกกดดันด้วยแรงบีบคั้นของศาสนจักรในยุคสมัยกลาง หรือยุคมืด ถึงกับว่าทางศาสนจักร คือทางศาสนาคริสต์นั้นได้ตั้งศาลไต่สวนศรัทธาที่เรียกว่า Inquisition ขึ้นมา เพี่อจะได้เอาคนที่ไปตั้งข้อสงสัยในคัมภีร์ศาสนา หรือพูดจาแสดงความไม่เชื่อในคำสอนทางศาสนาเนี้ย เอาขึ้นไปศาล
อย่าง กาลิเลโอที่ไปพูดไอ้เรื่อง เอ่อ โลกที่ไปหมุนรอบดวงอาทิตย์อะไรขึ้นก็ถูกจับขึ้นศาลไต่สวนศรัทธาหรือ Inquisition นี้ ก็จะให้ดื่มยาพิษ เสร็จแล้ว กาลิเลโอก็สารภาพซะ ก็เลยพ้นไป ก็เลยไม่ตาย แต่ว่าอีกหลายคนถูกเผาทั้งเป็น ก็ในยุคนั้นก็เป็นอันว่า ก็มีการที่ว่า ถือได้ว่าเป็นการบีบคั้นการแสวงหาความจริงในธรรมชาติกันเป็นอย่างมาก แต่ว่ายิ่งบีบก็ยิ่งดิ้น เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่า จากแรงกดดันในยุคมืดนั้นก็ทำให้ความใฝ่รู้ในความจริงของธรรมชาตินี้อาจจะแรงกล้าขึ้นมา แล้วฝังติดเป็นนิสัยของชาวตะวันตนมาจนปัจจุบันหรืออย่างน้อยก็เป็นส่วนหนึ่ง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าพิจารณาสังเกต เพราะฉะนั้นแต่ถึงอย่างไรก็ตาม อันนี้ก็ยังถือว่าเป็นความใฝ่รู้บริสุทธิ์
อันนี้เรื่องของวิทยาศาสตร์ที่เป็นมา ปัจจุบันมันไม่ใช่อย่างนั้น วิทยาศาสตร์ที่เป็นมาในปัจจุบันนี้ ประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์นั้นไปได้รับอิทธิพลครอบงำจากระบบคุณค่าใหญ่ 2 ประการ เป็นแนวคิด เป็นทัศคติ เป็นค่านิยม เป็นแรงจูงใจที่พ่วงแฝงอยู่เบื้องหลังความเจริญของวิทยาศาสตร์ เป็นตัวผลักดันกิจกรรมในการศึกษาค้นคว้าวิทยาศาสตร์ ตลอดจนกำหนดวิถีทิศทางความก้าวหน้าในการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ มา เรื่อยมา
ตัวอันนี้คืออะไร หนึ่ง คือ ความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ นะฮะ หรือความเข้าใจว่า ความสำเร็จของมนุษย์อยู่ที่การที่พิชิตธรรมชาติ เอาชนะธรรมชาติ อันนี้เกิดจากการที่ชาวตะวันตกมีความเข้าใจว่า มนุษย์เรานี้เป็นผู้ที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมา ในฉายาของพระองค์ คือในรูปแบบของพระองค์ สะแม้เหมือนสะแม้ เอ้อ แม้นเสมือนพระองค์ ให้มาครองโลกครองธรรมชาติ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างธรรมชาติ สรรพสิ่ง พวกสัตว์ทั้งหลาย ดิรัจฉานอะไรต่างๆขึ้นมาเนี่ย เพื่อมารับใช้สนองความปรารถนาของมนุษย์ เพราะฉะนั้นมนุษย์นี่เป็นใหญ่ เป็นศูนย์กลางของจักรวาล เป็นเจ้า เป็นผู้ครอบครอง
ทีนี้มนุษย์เรียนรู้ความลึกลับของธรรมชาติ ก็จะได้มาจัดการกับธรรมชาติ มาปั้นแต่งธรรมชาติให้เป็นไปตามความปรารถนาของตนเองตามใจชอบ เรียกว่าให้ธรรมชาติรับใช้มนุษย์ ตำราฝรั่งถึงกับบอกว่า แนวความคิดอันนี้แหละ ที่ได้อยู่เบื้องหลังความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ของตะวันตก เขาบอกว่า แต่ก่อนนี้ ในยุคโบราณนั้น ตะวันออก เช่น จีน และอินเดีย มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากกว่าประเทศตะวันตก แต่ด้วยอาศัยแนวความคิดอันนี้ที่จะพิชิตธรรมชาติ ได้ทำให้ตะวันตกได้เจริญล้ำหน้าตะวันออกในทางวิทยาศาสตร์มาได้จนปัจจุบัน แต่ว่าในปัจจุบันนี้ แนวคิดนี้กำลังเป็นปัญหา เป็นปัญหาอย่างไรก็คงจะได้ว่ากันต่อไป
เอาละ อันที่หนึ่งคือแนวคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ก็ออกมาเป็นรูปของความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติ ต่อไปประการที่สอง คือ ความเชื่อว่า ความสุขของมนุษย์อยู่ที่การมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อม นี่ อันนี้ก็เป็นความคิดที่สำคัญเหมือนกัน แนวคิดนี้พ่วงมากับการพัฒนาอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมในประเทศตะวันตกนั้น เกิดขึ้นมาจากแรงจูงใจและความคิดในการที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลน อันนี้เป็นประวัติศาสตร์ของสังคมตะวันตกเอง คือ แก้ปัญหาความขาดแคลน ความขาดแคลนหรือ scarcity เพราะว่าในโลกตะวันตกนั้นชีวิตถูกบีบคั้นด้วยธรรมชาติมาก เช่น ในฤดูหนาว เป็นต้น นะ พืชพรรณธัญญาหารก็ไม่ ไม่มี เกิดไม่ได้ ต้องอยู่ด้วยความยากลำบากเหลือเกิน นอกจาก อากาศหนาวเหน็บกับตัวเองแล้วหาอาหารได้ยากด้วย อันนี้มนุษย์จะต้องพยายามที่จะแก้ปัญหาความขาดแคลนนี้ ก็ทำให้เกิดอุตสาหกรรมขึ้นมา
ทีนี้ตรงข้ามกับความขาดแคลนคืออะไร มนุษย์ก็คิดว่าเมื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนแล้ว ถ้าหากว่าเกิดความพรั่งพร้อม มนุษย์ก็จะอยู่เป็นสุขอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นความคิดที่อยู่เบื้องหลังความเจริญอุตสาหกรรม ฝรั่งบอกว่า ได้แก่ความคิดนี้ คือความคิดที่ว่าจะแก้ปัญหาความขาดแคลน และให้วัตถุพรั่งพร้อม ซึ่งมองเป็นว่าความสุขของมนุษย์นั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยการมีวัตถุปรนเปรอพรั่งพร้อมอย่างที่กล่าวเมื่อกี้ ซึ่งพัฒนามาเป็นวัตถุนิยม แล้วมันก็มาสู่บริโภคนิยมได้ด้วย แล้วความเข้าใจแบบอุตสาหกรรมนี้ก็เข้ามา ประสานกันกับแนวคิดอันที่หนึ่ง เมื่อกี้นี้บอกว่า มนุษย์ถือว่า มนุษย์นี้จะมีความสำเร็จอยู่ในโลกอย่างผู้ที่ครอบครองโลกได้คือต้องเอาชนะธรรมชาติ
ทีนี้มาบวกอันที่สองเข้าไปบอกว่า จะมีความสุขได้จริงต่อเมื่อมีวัตถุพรั่งพร้อมสมบูรณ์ มันก็รวมกันเข้าไปว่า เราจะต้องพิชิตธรรมชาติ เพื่อจะเอาธรรมชาติมาปรุงแต่ง สร้างสิ่งที่เป็นวัตถุที่จะมาบำรุงบำเรอมนุษย์ให้พรั่งพร้อมสมบูรณ์ มันก็เลยไปกันเป็นปี่เป็นขลุ่ยเข้ากันได้เลย ตกลงสองแนวความคิดแรงจูงใจนี้มาประสานกันในตอนเนี้ย แนวสองอันนี้แหละอยู่เบื้องหลังความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
ตอนนี้ก็เป็นอันว่าไอ้ความใฝ่รู้อันบริสุทธิ์ที่ว่าเมื่อกี้นี้ ที่จะรู้ความจริงเบื้องหลังของธรรมชาตินั้น มันไม่ใช่บริสุทธิ์แล้วล่ะ นะฮะ มันมีมาบวกเขากับไอ้ความใฝ่ปรารถนาที่จะพิชิตธรรมชาติหนึ่ง และความใฝ่ปรารถนาที่จะมีวัตถุบำรุงบำเรออย่างพรั่งพร้อมประการหนึ่ง นี้ก็ เอาละ เราก็คิดว่าเมื่อไหร่เราเอาชนะธรรมชาติได้ แล้วเราสามารถที่จะปรุงแต่ง เอ่อ ประดิษฐ์ สร้างสรรค์วัตถุอะไรต่างๆขึ้นมาบำรุงบำเรอตนเมื่อนั้น เราก็จะมีความสุขอย่างสมบูรณ์ จนกระทั่งกล่าวว่าวิทยาศาสตร์ในยุคที่ผ่านมานี้เป็นวัต วิทยาศาสตร์ที่รับใช้อุตสาหกรรม นะฮะ เกิดมีการพูดอย่างนี้ขึ้นมา
ก็กลายเป็นว่า ความเจริญในยุคที่ผ่านมาซึ่งเรายอมรับว่าเป็นความเจริญในยุคอุตสาหกรรม ที่ฝรั่งกำลังผ่าน แต่ไทยยังกำลังจะเข้า นะฮะ ไทยเราก็บอกจะเป็นนิกส์ หมายความว่ากำลังจะเข้าอุตสาหกรรม ฝรั่งเขาบอกว่าฉันผ่านแล้วนะ นะฮะ ตอนนี้เขาบอกฉันเป็น Post Industrial แล้ว ฉันเข้า Information Age แล้วหรือ Society แล้ว นะฮะ อันนี้ตอนนี้ก็เป็นอันว่า วิทยาศาสตร์เนี่ยเป็นตัวสำคัญ เขาจะ วิทยาศาสตร์อ้างว่า วิทยาศาสตร์ก็บอกว่า ฉันนี่แหละเป็นผู้ที่ทำให้อุตสาหกรรมเจริญมาได้ นะฮะ แต่ในเวลากลับกันวิทยา ไอ้เจ้าอุตสาหกรรมบอกว่า โอ๊ วิทยาศาสตร์หรือเป็นผู้รับใช้ฉัน เออ แล้วแต่ใครจะพูด
อ้าว ทีนี้ก็ มันยังไม่หมดแค่นี้ นอกจากแนวความคิดใหญ่ๆ 2 ประการนั้นแล้ว ยังมีทัศนคติที่เจริญควบคู่มาด้วยกัน ที่เป็นปัจจัยแก่กันกับแนวความคิดสองอย่างข้างต้น ช่วยเสริมให้หนักเข้าไปอีก ก็คือ หนึ่ง แนวคิดแบบความชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ที่อาตมาพูดข้างต้น ยุคอุตสาหกรรมนั้น มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งคือเป็นยุค Specialization ด้วย คือยุคแห่งความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง วิทยาการต่างๆได้มีการแบ่งซอยออกไป ให้มีการศึกษาแน่วดิ่งไปในทิศทางของตน เจาะลึกเฉพาะด้านของตัวมาก จนกระทั่งเกิดความหลงผิดไปว่า วิทยาการในสายของตนนั้น จะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้ทุกอย่าง นะฮะ
อันนี้แหละมันเป็นตัวสำคัญ คือ ตอนแรกนี่ แบ่งแยกซอยทิศทางกันไปชำนาญพิเศษก็เพื่อจะได้รู้ ให้มันชัด แล้วจะได้เอามารับใช้มนุษย์ แต่ทีนี้ไปเกิดความหลงผิดว่า ไอ้ความเจริญของตัว ความรู้ของตัวนั้นมันแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง อันนี้ก็เลยเกิดแนวคิดแบบชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ที่เอียงสุดไปจนเข้าใจว่าวิชาการในแดนตนอย่างเดียวจะแก้ปัญหาของมนุษย์ได้หมด เหมือนอย่างวิทยาศาสตร์ก็อาจจะคิดว่า เอ้อ วิทยาศาสตร์อย่างเดียวเท่านั้น จะตอบปัญหาได้ทุกอย่าง จะแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ไม่เกิดความคิดที่จะไปประสานกับผู้อื่น แล้วก็ตลอดจนกระทั่งว่ามองศาสนา มองจริยธรรม เป็นเรื่องชำนาญพิเศษไปด้วย นะฮะ
เราจะเห็นว่าในยุคที่ผ่านมานี้จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ในวงการการศึกษา มองจริยธรรมเป็นเรื่องชำนาญพิเศษไปแล้ว นะฮะ อ้าวนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นจริยธรรม ฉันไม่เกี่ยว เวลาพูดถึงจริยธรรม ฉันไม่เกี่ยว แต่เวลาพูดถึงแก้ปัญหาของโลก ก็บอกว่าฉันนี่แหละแก้ได้ อะไรทำนองนี้ มันรู้สึกว่ามันจะสับสนกันอยู่ อ้าว เพราะฉะนั้น นั้นหมายความว่า เอ๊ แม้แต่ถ้าฉันแก้ปัญหาของโลกได้หมด ปัญหาจริยธรรมเป็นปัญหาของโลก ฉันก็แก้ได้ด้วย อ้าว แต่บอกว่าจริยธรรมเป็นเรื่องของพวกโน้น ชำนาญพิเศษ เอ๊ะ ยังไงก็ไม่รู้ หมายความว่าฉันก็ข้ามไปแก้ปัญหาของพวกจริยธรรมได้ด้วยซิ
อันนี้แหละมันมาสู่แนวคิดที่สอง คือ ความคิดที่ว่าจะแก้ปัญหาจริยธรรมได้โดยไม่ต้องใช้ปัจจัยหรือวิธีการทางจริยธรรม หมายความว่าจะแก้ปัญหาทางศีลธรรมได้ด้วยวิธีการทางวัตถุ หมายความว่าถ้าพัฒนาวัตถุพอ ปัญหาทางด้านจริยธรรมก็หมดไปเอง ไม่ต้องพัฒนามนุษย์ นี้เป็นความคิดในยุคที่ผ่านมา ซึ่งปรากฏมากในด้านเศรษฐศาสตร์ พวกเศรษฐศาสตร์บอก ถ้าเศรษฐกิจดี พัฒนาวัตถุพรั่งพร้อมแล้วไม่ไปมีปัญหาศีลธรรม นะฮะ เรียบร้อยไปเอง นะฮะ อันนี้ก็กลายเป็นว่าจะแก้ปัญหาทางจิตใจ หรือปัญหาทางจริยธรรมได้ด้วยวิธีการทางวัตถุ ไม่ต้องใช้วิธีการทางจริยธรรม ไอ้ความเชื่อแบบนี้แฝงมาในยุคอุตสาหกรรม พ่วงมากับแนวความคิด 2 อย่างเมื่อกี้นี้ เป็นตัวที่เสริมซ้ำให้ปัญหามันหนักแรงขึ้น เอาและทีนี้ก็ขอผ่านไปก่อน
อ้าว ทีนี้ที่ว่ามานี้ มันก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เรามีข้อพิจารณา อันนี้เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างไร มันก็เริ่มเกี่ยวข้องแล้วว่า ที่พูดมาให้เห็นนั่นแหละมันเกี่ยวข้องเข้ามาเยอะแยะแล้ว แต่ทีนี้เพื่อให้เราเห็นชัด เราจะย้อนกลับไปพูดถึงฝ่ายศาสนาบ้าง เมื่อกี้นี้พูดถึงเรื่องวิทยาศาสตร์เกิดพัฒนามาอย่างไร คราวนี้ก็จะไปดูว่าศาสนาเกิดขึ้นและพัฒนามาอย่างไร เพื่อจะให้ 2 เรื่องนี้มาบรรจบกัน
ศาสนามีจุดกำเนิดจากอะไร เรียนกันมาแต่ไหนแต่ไรบอก ศาสนามีตันกำเนิดจากความกลัวภัย ก็กลัวภัยธรรมชาตินี่แหละ ฟ้าผ่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด อะไรต่างๆเหล่านี้ พายุร้ายอะไรต่างๆนี่เป็นภัยอันตรายที่คุกคามชีวิตมนุษย์ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย ในสมัยโบราณนี้ก็มองไม่รู้เหตุรู้ผล ไม่รู้จักธรรมชาติ มันก็ต้องหาทาง หาคำตอบ นะฮะ เป็นอันว่ามนุษย์นี้ถูกภัยธรรมชาติบีบคั้น เกิดความกลัวภัยขึ้นมา ก็เริ่มที่จะหาคำตอบ และการที่จะหาคำตอบก็คือเกิดความสนใจต่อธรรมชาตินั่นเอง เพราะธรรมชาติมันมาทำให้เกิดภัยบีบคั้นเรา เราก็สนใจต่อธรรมชาติที่อยู่รอบตัว ที่เราจะต้องเกี่ยวข้อง ที่มีผลกระทบตัวเองอยู่ตลอดเวลา ก็ด้วยความปรารถนาจะพ้นภัย นี่คือมีความอันหนึ่งขึ้นมา อันนี้ก็คือเราจะเป็นไปบรรจบกับวิทยาศาสตร์ตรงที่ว่า ในฝ่ายศาสนานี้มีความใฝ่ปรารถนาจะพ้นภัย
เมื่อกี้เราพูดถึงวิทยาศาสตร์ว่ามีความใฝ่ปรารถนาจะรู้ความจริงของธรรมชาติ อันนี้เราพูดถึงวิทยา เอ้ย ศาสนาว่า มีความใฝ่ปรารถนาที่จะพ้นภัย อันนี้เมื่อมีความใฝ่ปรารถนาจะพ้นภัย แล้วภัยนี้เกี่ยวกับธรรมชาติ มีความกลัวภัย เขาก็มองดูไปที่ธรรมชาติ พร้อมกันนั้นเขาก็มีความอัศจรรย์ใจต่อความลึกลับมหัศจรรย์ยิ่งใหญ่ของธรรมชาตินี้ จากความอัศจรรย์นี้ ก็มีความใฝ่ปรารถนาต้องการที่จะรู้ความจริงของธรรมชาตินั้น ซึ่งไม่เฉพาะอยากจะรู้เท่านั้นแหละ มันบังคับให้เราอยากจะต้องรู้ด้วย เพราะมิฉะนั้นเราจะแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะมันจะคุกคามเราอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจากความใฝ่ปรารถนาที่จะพ้นภัย จากความกลัวนี้แหละ ก็นำไปสู่ความใฝ่รู้ ความจริงของธรรมชาติเช่นเดียวกัน
อันนั้นตอนนี้เราก็เห็นว่า ศาสนาก็มาบรรจบกับวิทยาศาสตร์แล้วแหละ แต่ที่จริงนั้น กำลังบอกว่า ศาสนามันเริ่มก่อน คือ มันเริ่มจากจุดนี้แหละ จุดที่ว่าเริ่มกลัวภัย แล้วก็ใฝ่ปรารถนาจะรู้ความจริงของธรรมชาติ มาถึงจุดนี้แหละทั้งศาสนาและวิทยาศาสตร์มาเกิดขึ้นด้วยกัน มาเกิดขึ้นด้วยกันยังไง นี่คือจุดบรรจบ เป็นอันว่าเรามาถึงจุดที่ว่า มีความใฝ่ปรารถนาต้องการที่จะรู้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังความเป็นไปของธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดร่วมที่เป็นที่เริ่มกำเนิดทั้งของศาสนาและวิทยาศาสตร์
แต่เราจะเห็นว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยุคแรกนั้นมากับศาสนา พวกที่กำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยุคแรกไว้ ในยุคอียิปต์ เมโสโปเตเมีย อะไร เท่าที่ทราบนี่เป็นพวกนัก เอ้อ เป็นคนในวงการศาสนา อาจจะเรียกว่าเป็นนักบวช หรืออะไรก็แล้วแต่ นะฮะ เพราะว่าบุคคลพวกนี้ก็มีความสนใจธรรมชาติจากไอ้เรื่องเนี้ย เรื่องภัยที่คุกคามธรรม มนุษย์เนี่ยเป็นพวกแรก แล้วก็เขาก็ใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติด้วย มันก็เลยกลายเป็นว่าวิทยาศาสตร์กับศาสนานี้เริ่มต้นมาด้วยกัน อันนี้เป็นจุดที่มาทางประวัติศาสตร์ เดี๋ยวจะมาบรรจบกับแนวความคิดของนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันทีหลังว่า ศาสนากับวิทยาศาสตร์นี้มันจุดเริ่มต้นกันอย่างไร
เอาละ ณ จุดร่วมที่เป็นจุดเริ่มนี้ เอ้อ ขออภัย ณ จุดเริ่มที่เป็นจุดร่วมนี้ นะฮะ คือ หมายความว่าไอ้จุดเริ่มของวิทยาศาสตร์และศาสนาที่เป็นจุดร่วมกันเนี่ย มันก็เป็นจุดแยกไปด้วยในตัว ศาสนากับวิทยาศาสตร์จะเริ่มแตกต่างกันตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แตกต่างกันอย่างไร อ้าว มันเป็นเรื่องของความจริงตามธรรมชาตินี่แหละ ธรรมชาติและภัยจากธรรมชาติที่มนุษย์หรือชีวิตจะต้องเผชิญนี้เป็นเรื่องต่อหน้า เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นความตาย ซึ่งจะต้องมีคำตอบและปฏิบัติได้ทันที นะฮะ ปฏิบัติได้ทันที รอไม่ได้ นะฮะ มันภัยอยู่ข้างหน้าแล้ว มาถึงแล้ว สถานการณ์อยู่เนี่ย จะทำยังไงก็ทำ ต้องมีคำตอบทำได้ทันที แล้วมันเป็นเรื่องของหมู่ชน หรือสังคมทั้งหมด ทุกคนจะต้องเผชิญร่วมกัน อันนั้น จากอันนี้ มันก็จะต้องมีผู้เสนอคำตอบขึ้น คำตอบที่จะให้ปฏิบัติได้ทันที พอแก่การถึงคำ (???) ยุติทีเดียว อันเนี้ย คำตอบแบบนี้แหละได้กลายมาเป็นศาสนา ไอ้เรื่องสิ่งที่เป็นรายการปฏิบัติได้ทันทีนั้น อาจจะออกมาในรูปที่เราเรียกปัจจุบันว่าไม่มีเหตุมีผล เช่นอย่างเป็นพิธีกรรม เป็นต้น แต่มันก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ทันที แต่นี้เป็นความจริงที่ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ นะฮะ มนุษย์จะต้องมีคำตอบที่ปฏิบัติได้ทันที แล้วก็สำหรับหมู่ชนที่เป็นสังคมทั้งหมด นี้ก็มาเป็นศาสนา
ทีนี้อีกพวกหนึ่ง หรือพร้อมกันนั้นในคนเดียวกันนั้นเอง ก็มีเวลาที่จะค่อยรวบรวมหาข้อมูล คิดค้นตรวจสอบความจริงไปเรื่อยๆ พวกนี้ได้คำตอบมา ต่อมาเราเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ คือ ค่อยๆพิสูจน์ได้ทีละอย่างๆ เป็นละเรื่องๆมา เพราะฉะนั้นนี้คือจุดที่แตกต่างกัน อันเดียวกัน มันเริ่มมาด้วยกัน แล้วมันกลายเป็นแยกเป็นสองอย่าง ไอ้คำตอบประเภทที่ว่าเป็นเรื่องทั้งทันที เป็นเรื่องของชุมชนหรือสังคมทั้งหมด จึงมาในรูปของความเชื่อหรือศรัทธา ก็มันไม่รู้มันจะพิสูจน์ยังไง มันไม่มีเวลา ไม่มีเวลาจะพิสูจน์หรอก มันต้องทำ แก้ปัญหากันไปเลย อันนั้น วิทยาศาสตร์ เอ้ย ศาสนาก็มากับศรัทธาก็เกิดขึ้นอย่างนี้
ส่วนวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสืบสาวหาความรู้ในความจริงอย่างค่อยเป็นค่อยไป นะฮะ ไม่จำเป็นต้องตอบทันที แล้วเป็นเรื่องของบุคคลที่มีความสนใจ ไม่เป็นเรื่องของสังคมหรือหมู่ชนทั้งหมด