แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ผู้ดำเนินรายการ : กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระธรรมปิฎกที่เคารพยิ่ง พระเถรานุเถระทุกรูป ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ในนามของคณะกรรมการกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก ป.อ.ปยุตฺโต กระผมก็กราบนมัสการพระคุณเจ้าพระธรรมปิฎก ด้วยความซาบซึ้งและขอบพระคุณในความกรุณาเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้กรุณารับเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดประชุมวิชาการครั้งสำคัญ เรื่องความร่มเย็นในวิถีไทยนี้ แล้วยังกรุณาปฐกถาพิเศษ เรื่องยุทธวิธีในการแก้ปัญหาวิกฤติของชาติ ซึ่งสอดคล้องตรงกับสถานการณ์ของชาติตอนนี้ยิ่งนัก แม้สุขภาพของพระคุณเจ้าจะยังไม่แข็งแรงนัก ณ โอกาสนี้ กระผมขออนุญาตรายงานความเป็นมาของกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพและการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้พอสังเขป นับตั้งแต่องค์การยูเนสโกได้ถวายรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพแด่พระธรรมปิฎก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พุทธศักราช 2547 โดยพิจารณาว่าพระพุทธเจ้าเป็นบุคคลที่เพียบพร้อมด้วยภูมิปัญญา ภูมิธรรม เป็นอย่างยิ่ง มีความรู้ความสามารถยิ่งในการให้การศึกษาเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพแก่บุคคลทั้งหลาย เป็นบุคคลที่มีความเพียรพยายามในการนำเสนอแนวปรัชญาที่มุ่งความสำคัญของสันติภาพภายใน และให้ความร่วมมือสันติภาพภายใน ความร่วมมือของมนุษย์ที่จะนำไปสู่การแสวงหาแนวทางความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และศีลธรรม อย่างสันติ เป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่น ในการพัฒนาศักยภาพ และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มุ่งปลูกฝังค่านิยมสันติภาพให้มีขึ้นจากภายใน แล้วส่งประกายออกมาให้ผู้อื่นได้ประจักษ์ และสัมผัสได้ ในที่สุดก็จะส่งผลสะท้อนไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ ประชาชนกับประชาชน รัฐต่อรัฐ รวมถึงสันติภาพถาวรในระดับชาติ รางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพของยูเนสโกนี้ พระคุณเจ้าพระธรรมปิฎกได้รับ ต้องถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งแก่ประเทศไทย แก่คนไทยทุกคน แล้วแก่วงการพุทธศาสนา ซึ่งพระคุณเจ้าเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลกที่ได้รับ ซึ่งย่อมเป็นที่ยอมรับว่าพุทธธรรมนั้นมีคุณค่ายิ่งในการสร้างสันติภาพเพื่อประชาคมโลก พระคุณเจ้าพระธรรมปิฎกเป็นแบบอย่างพุทธสาวกที่หาได้ยากยิ่ง มีบารมีแห่งอิทธิบาทธรรม อันแก่กล้าในการศึกษาค้นคว้าทางพุทธธรรม จนมีความรู้ความเข้าใจแตกฉานและลุ่มลึกยิ่ง จนได้รับการกล่าวขานเป็นปราชญ์แห่งสยาม ด้วยจริยวัตรอันงดงาม เรียบง่าย และมีเมตตาธรรมสูง กอรปกับความอุตสาหะ ความแน่วแน่มั่นคง ทำงานหนักด้วยความเพียรเป็นเลิศ หลายคนจึงกล่าวว่าชีวิตของพระคุณเจ้านั้นเป็นลักษณะชีวิตที่กล่าวว่า ชีวิตนี้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม พระคุณเจ้าได้สร้างงานอันมีค่ายิ่งฝากไว้ในวงการพุทธศาสนามากมายจนไม่น่าเชื่อ ทั้งการบรรยายธรรม การนิพนธ์ การนำปฏิบัติธรรม การเผยแพร่พุทธธรรมในรูปแบบต่างๆ เฉพาะในรูปนิพนธ์มีร่วม 200 เล่ม หลายเล่มและหลายเรื่องได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ที่จัดพิมพ์ขึ้นหลายครั้ง บางเรื่องพิมพ์ร่วม 200 ครั้ง เช่น ธรรมนูญชีวิต เป็นหนังสือที่ถือว่าเป็นเพชรน้ำเอกของวงการพุทธศาสนาก็คือพุทธธรรมนั้น ได้รับการพิมพ์อย่างแพร่หลาย ถือเป็นหนังสืออ้างอิงที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในวงการพุทธศาสนา ในเส้นทางของการศึกษาและเผยแพร่พุทธธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ไม่ยอมแพ้แก่อุปสรรคทั้งปวง แม้บางครั้งจนต้องฝึกสุขภาพก็ตาม พระคุณเจ้าพระธรรมปิฎกก็ไม่ได้ย่อท้อ ได้แสดงภาวะของการเป็นผู้ให้ที่สมบูรณ์ยิ่ง มีความสุขที่จะให้ธรรมะในทุกรูปแบบ ด้วยผลงานที่มีคุณค่า พระคุณเจ้าได้รับเกียรติจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูงเกือบทุกสถาบันในประเทศ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมาศักดิ์จัดให้ แล้วเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ที่ได้กล่าวไปแล้ว ได้รับมอบรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพจากยูเนสโก ประกาศในวันนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันอย่างชัดเจนว่าผลงานที่พระคุณเจ้าได้ทำงานอย่างหนักมาโดยตลอดนั้น ทั้งการศึกษาค้นคว้า เผยแพร่พุทธธรรมทั้งในและนอกประเทศ เพื่อประยุกต์พุทธธรรมในการแก้ปัญหาชีวิต สังคมและโลก มีผลอย่างยิ่งในการส่งผลให้เกิดความรู้ความเข้าใจอันถูกต้องในการมีชีวิตของมนุษยชาติ และถือเป็นการให้การศึกษาที่นำไปสู่การสร้างสันติภาพ ทั้งแก่บุคคล หมู่คณะ สังคม ประเทศชาติและโลก หลังจากได้รับรางวัลยูเนสโกแล้ว พระคุณเจ้าต้องทำงานอย่างหนักยิ่งขึ้น เพราะต้องได้รับกิจนิมนต์ไปบรรยายตามสถาบันต่างๆ แทบจะไม่ว่างเว้น ตารางการบรรยายนั้นแน่นไปเป็นระยะเวลา 3-4 เดือนล่วงหน้า จนบ่อยครั้งที่น่าเศร้า แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อ จนเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2538 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติได้ประกาศให้พระคุณเจ้าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีคุณค่าและมีเกียรติอย่างยิ่ง กองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพนั้นได้ก่อกำเนิดจากเงินทุนประมาณ 625,000 บาท ที่พระคุณเจ้าพระธรรมปิฎกได้รับการถวายจากยูเนสโก แล้วให้กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อสืบสานการศึกษา เผยแพร่รณรงค์ให้ประยุกต์ใช้พุทธธรรมในกระบวนการจัดการศึกษาเพื่อสันติภาพ คณะกรรมการกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ ซึ่งได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงรับเป็นประธานกิตติมาศักดิ์ของกองทุนฯ แล้วจัดกิจกรรมให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติมาตามลำดับ พอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ประการที่หนึ่ง-การจัดประชุมสัมนาเชิงวิชาการ เรื่องการศึกษาเพื่อสันติภาพ ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2539 ผลการประชุมนั้นได้นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมหลายประการ
ประการที่สอง-การทอดผ้าป่าสามัคคี และการปฐกถาธรรมของพระธรรมปิฎก เรื่องธรรมะกับสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อ 21 ธันวาคม 2539 ที่พุทธมณฑล เป็นผลให้เกิดกองทุนฯที่มีความเข้มแข็งขึ้น คณะนี้กองทุนฯ มีเงินทุนทั้งสิ้น 5 ล้านบาท
ประการที่สาม- ได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่ขยายผลงานของพระคุณเจ้าไปอย่างกว้างขวาง ทั้งสู่ประชาชน รวมไปถึงสถาบันการศึกษาทุกระดับทุกประเภท โดยคณะกรรมการกองทุนฯได้จัดพิมพ์หนังสือ 2 เรื่อง เรื่องละ 5,000 เล่ม กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้พิจารณาคัดเลือก หนังสือที่จะจัดพิมพ์ทั้งหมด 10 เรื่องด้วยกัน และได้พิมพ์ไปแล้ว 4 เรื่อง เรื่องละ 50,000 เล่ม
ประการที่สี่- งานนิพนธ์ของพระคุณเจ้าพระธรรมปิฎก จำนวนมากกว่า 165 ชื่อเรื่อง ได้จัดทำเป็นบรรณนิทัศน์ โดยสถาบันราชภัฏพระนคร เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว 103 เรื่อง ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานต่อไป
ประการที่ห้า- แนวคิดเรื่องสันติศึกษา ที่คณะกรรมการฯได้เสนอต่อสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏเพื่อให้เป็นรายวิชาพื้นฐานตามหลักสูตรในระดับปริญญาตรี ทางสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏได้จัดดำเนินการแล้ว โดยความร่วมมือของสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา และหน่วยสารนิเทศ สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ
ประการที่หก- งานวิจัยการศึกษาเพื่อสันติภาพได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการโดยจัดสรรเงินทุนเพื่อการวิจัยให้แก่นางเยาวภา ปิ่นทุพันธ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในวงเงิน 107,800 บาท
ประการที่เจ็ด- การเผยแพร่ผลงานของพระธรรมปิฎกในโฮมเพจ เพื่อนำเสนอผลงานต่อสาธารณชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯราชวิทยาลัย และสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ
ประการที่แปด- การเตรียมจัดหอจดหมายเหตุพระธรรมปิฏก ณ หอสมุดกลาง พุทธมนฑล เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าผลงานของพระคุณท่าน ได้รับความร่วมมือจากกรมการศาสนาดำเนินการ
ประการที่เก้า- คัดเลือกและมอบรางวัลแก่หน่วยงานที่ทำงานดีเด่นในการส่งเสริมสันติภาพ เป็นงานสำคัญอีกงานหนึ่งที่คณะกรรมการจะดูในงานต่อไป ในปีพุทธศักราช 2541 ในส่วนการประชุมวิชาการของกองทุนในครั้งนี้ ให้ชื่อว่า ความร่มเย็นในวิถีไทย ประกอบด้วยสาระดังนี้ พระคุณเจ้าพระธรรมปิฎกปฐกถานำเรื่อง พุทธวิธีในการแก้ปัญหาวิกฤติของชาติ ตามด้วยการอภิปรายของคณะแรก เรื่องทางสู่ความร่มเย็นในสังคมที่รุ่มร้อน และการอภิปรายในภาคบ่ายเรื่องพุทธะ เพื่อความสงบเย็น ซึ่งทางกองทุนได้รับความกรุณาอย่างยิ่ง จากท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้กรุณาและสละเวลาและจัดเวลาให้เพื่อได้มาร่วมระดมความคิดอันมีค่ายิ่งในวันนี้ ทางกองทุนฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลจากการจัดประชุมทางวิชาการในครั้งนี้ จะได้แนวคิดที่เป็นประโยชน์ยิ่ง เป็นแสงสว่าง เป็นกำลังใจในการแก้ปัญหาของแต่ละท่าน เพื่อไปเสริมแรงการแก้ปัญหาของชาติโดยส่วนรวมต่อไป เพื่อให้ผลการประชุมครั้งนี้สามารถสื่อสาระอันมีคุณค่าจากท่านวิทยากรทั้งหลายได้ อย่างกว้างขวาง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้กรุณาถ่ายทอดเสียงวิทยุโทรทัศน์ช่อง 11 ได้มาบันทึกวิดีโอเพื่อที่จะนำไปเผยแพร่ในโอกาสที่เหมาะสมต่อไป การจัดงานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่กระผมจะขอกล่าวไว้ในที่นี้โดยสังเขป
สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏและสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา เป็นแม่งานดูแลการประสานงานทั้งปวง แล้วสถาบันราชภัฏสวนสุนันทายังได้รับดูแลเรื่องอาหาร เครื่องดื่ม สำหรับท่านที่มาเข้าร่วมประชุมในวันนี้ ซึ่งอาจจะขาดตกบกพร่องบ้าง เพราะตอนแรกกำหนดไว้ประมาณ 250 แต่ก็ได้ขยายถึง 350 แล้ว แต่คาดว่าจำนวนคนที่มาฟังวันนี้จะมากกว่านั้นเข้าไปอีก ก็คงจะไม่ได้รับความสะดวกเท่าใดนัก กรมศิลปากรนั้น ส่วนหอสมุดแห่งชาติ ได้เอื้อเฟื้อห้องประชุมในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้มอบหนังสือสำหรับแจก และอนุเคราห์เงินสนับสนุนการประชุมครั้งนี้ 50,000 บาท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย รวบรวมปัจจัยจากผู้บริจาคสมทบกองทุน รายการโทรทัศน์รุ่งอรุณที่เมืองไทย จัดโดยคุณจักรภพ เพ็ญแข ได้กรุณาจัดการการของช่อง 9 ให้ คณะกรรมการเจ้าหน้าที่ทุกท่านของทุกองค์กร ได้ร่วมแรงทั้งกายใจให้งานนี้สำเร็จ แต่ท้ายที่สุดกระผมต้องขอขอบคุณท่านผู้มีเกียรติที่ท่านให้ความสนใจมาร่วมฟังการประชุมในวันนี้อย่างคับคั่ง ในนามกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ พระธรรมปิฎก ป.อ.ปยุตฺโต ขอขอบพระคุณทุกๆ ท่าน ทุกๆ หน่วยงานไว้เป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้ บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมขอกราบนมัสการพระคุณเจ้าพระธรรมปิฎก ได้กล่าวเปิดการประชุม แล้วได้โปรดกรุณาแสดงปฐกถาพิเศษตามลำดับต่อไป ขอกราบนมัสการด้วยความเคารพยิ่ง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ท่านพระเถรานุเถระ ท่านพรหมจารีทั้งหลาย ขอเจริญพรท่านประธานและคณะกรรมการกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ ท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ญาติโยมสาธุชนทุกท่าน อาตมาภาพได้รับแจ้งจ้างคณะกรรมการกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ เจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธาจารย์ได้มีบัญชาให้อาตมาภาพปฏิบัติหน้าที่แทน โดยเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมทางวิชาการครั้งที่ 2 เรื่องความร่มเย็นในวิถีไทย ที่คณะกรรมการฯได้จัดให้มีขึ้นครั้งนี้ อาตมาภาพมีความยินดีที่ได้รับทราบความก้าวหน้าของกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพ ตามที่ท่านประธานคณะกรรมการกองทุนฯ คือท่าน ดร.นิเชต สุนทรพิทักษ์ วุฒิสมาชิก ได้กรุณารายงานให้ที่ประชุมได้ทราบโดยทั่วกันแล้ว แล้วขออนุโมทนา ฉันทะ วิริยะ และความเสียสละ ที่ได้ดำเนินงานมาตามแนวทางและอุดมการณ์ของการศึกษาเพื่อสร้างสันติภาพอันถาวรให้เกิดขึ้นในสังคมโลก การสร้างสันติภาพอันถาวรให้เกิดขึ้นในโลก เป็นภาระหน้าที่ของมวลมนุษย์ทุกคนที่จะต้องมีส่วนร่วม โดยมีเป้าหมายร่วมกัน โดยเฉพาะเหตุการณ์ต่างๆ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมโลก ได้บ่งบอกให้ทราบถึงสัญญาณภัยที่คุกคามสันติภาพของโลก การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติซึ่งแสดงถึงความลดถอยแห่งคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ได้เบียดเบียนกันระหว่างมนุษย์ ทำลายสมดุลในระบบการดำรงอยู่ของธรรมชาติ และทำลายสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ จนเกิดปรากฎการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมโทรม ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางสังคม ซึ่งล้วนแต่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่สั่งสมสืบทอดมาในทางที่ผิดพลาด ทั้งโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และโดยเจตนา นานมาร่วมศตวรรษแล้ว ที่มนุษย์ทั้งหลายได้เพียรพยายามหาแนวทางซึ่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ด้วยการรวมกลุ่มกันจัดตั้งองค์กรระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาของโลก แต่การทำลายล้างแย่งชิงและการแข่งขันก็ยังคงดำเนินสืบต่อมา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังการศึกษาเพื่อสันติภาพให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล ทั้งในระดับครอบครัว ในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาค และในระดับนานาชาติ เพื่อให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ในโลกเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์สันติสุขให้แก่โลก อาตมาภาพของอนุโมทนาในความร่วมมือของหน่วยงานทุกองค์กรทุกสถาบัน ขออนุโมทนาทุกท่านที่ได้มีส่วนร่วมเป็นกำลังสำคัญในการประชุมวิชาการครั้งที่ 2 เรื่องความร่มเย็นในวิถีไทยครั้งนี้ โดยเฉพาะงานของกองทุนการศึกษาเพื่อสันติภาพนี้ ที่ได้ดำเนินมาด้วยอาศัยน้ำใจเสียสละเป็นอย่างสูง ขอให้กุศลกิจที่เราทั้งหลายได้ร่วมกันบำเพ็ญ จงส่งผลให้งานประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ทุกประการ บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว อาตมาภาพขอเปิดการประชุมทางวิชาการเรื่องความร่มเย็นในวิถีไทย ณ บัดนี้ ขอเจริญพร
ต่อแต่นี้ไป เนื่องจากอาตมาภาพได้รับนิมนต์ให้แสดงปฐกถาติดต่อกันไป เพราะฉะนั้นก็จะไม่มีการพัก ก็จะได้แสดงปฐกถาตามที่ได้รับอาราธนา ทางคณะกรรมการฯ ก็ได้ขอให้พูดในชื่อเรื่องว่าพุทธวิธีแก้ปัญหาวิกฤติของชาติ เวลานี้คำว่าวิกฤตินี่คนไทยได้ยินบ่อยมาก แล้วก็เป็นเรื่องวิกฤติทางเศรษฐกิจ รายการจัดการพูดการประชุม การอภิปราย ปฐกถา คือเรื่องวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจนี้บ่อย การประชุมครั้งนี้ก็ไม่เว้นเหมือนกัน พอเริ่มต้นการประชุมเรื่องแรกก็ให้พูดแก้วิกฤติ ทีนี้เรื่องวิกฤตินี่ก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เป็นเรื่องที่หัวเลี้ยงหัวต่อ จะเปลี่ยนไป ความจริงที่ว่าวิกฤติที่ว่าจะเปลี่ยนนี่ก็ไม่แน่จะเปลี่ยนทางร้ายทางดี มันถึงจุดที่ถ้าพูดภาษาสามัญก็เรียกว่าย่ำแย่ที่สุดเลย พอถึงจุดย่ำแย่ที่สุดก็เป็นจุดเปลี่ยน ทีนี่ว่าเปลี่ยนนี่ โดยมากเพราะว่ามันย่ำแย่ คนก็เลยจะนึกไปในทางที่ไม่ค่อยดี ความจริงคำว่าวิกฤตินี่มันจะเปลี่ยน อาจจะเปลี่ยนไปในทางดีก็ได้ แล้วก็โดยทั่วไปนะ ไม่ใช่ทุกครั้ง โดยทั่วไปเมื่อมันแย่ถึงที่สุดแล้ว ตกต่ำถึงที่สุด เปลี่ยน มันก็ต้องดีขึ้น แต่ว่าอย่าไปประมาท บางทีแย่ที่สุดแล้วก็กลายเป็นพินาศไปเลย เพราะฉะนั้นมี 2 ทาง อย่าให้เปลี่ยนจากวิกฤติเป็นพินาศ หรือเป็นวิบัติ วิกฤติ วิบัติ คำก็ใกล้ๆ กันอยู่ เราก็ให้เปลี่ยนไปทางดีซะ ให้เป็นวิวัฒน์ อย่าเป็นวิบัติ เป็นวิวัฒน์ก็เจริญต่อไป ทีนี้ในท่างกลางสภาพที่เป็นวิกฤตนี่ ก็จะมีข่าวตื่นเต้นมาก มันตื่นเต้นอยู่แล้ว แล้วยังได้ยินข่าวตื่นเต้น ก็ยิ่งตื่นกันใหญ่ นี่ถ้าตื่นเต้นมากก็กลายเป็นตื่นแตก ตื่นแตกก็เสียหาย แล้วก็เป็นเรื่องเฉพาะหน้า ความจริงในระยะเวลาอย่างนี้ เราอย่าไปมองเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่น่าตื่นเต้นเฉพาะหน้า ถ้ามองแต่เฉพาะหน้าไปบางทีลืม ลืมมองระยาวซึ่งชีวิตและสังคมของเรายังต้องเดินไปอีกเยอะ มัวแต่มองเพลินเฉพาะหน้าอย่างเดียวแล้วไม่คิดตั้งตัวเพื่อมุ่งผลระยะยาวเนี่ย จะทำให้แก้ปัญหาได้ยาก ถ้าเราตั้งใจให้ดี มองไปข้างหน้า บางทีใจเราจะเย็นลง มันจะเกิดเป็นความหวัง เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นเหมือนกับว่ามาเตือน ฉะนั้นอย่ามัวตื่นเต้นเฉพาะหน้าจนกระทั่งลืมมองระยะยาวไป ถ้าเรามัวจะตื่นเฉพาะเหตุการณ์เฉพาะหน้า อย่างเช่นคนตื่นสงคราม หรือมีเหตุการณ์ร้าย เหตุการณ์แตกตื่น ตื่นตระหนก คนที่ตื่นตระหนกตกใจเนี่ย บางทีตื่นตะลึงเป็นต้น เลยใจเตลิดเปิดเปิง แก้ปัญหาไม่ได้ คนที่จะแก้ปัญหาได้ต้องมีสติ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยก็คือว่าต้องจำคติว่าตื่นตัวอย่าตื่นตูม ตื่นตัวตื่นได้ที่สำคัญมาก ไม่ต้องพูดถึงเวลามีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นหรอก แม้แต่ยามปกติมันก็ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ ทางพระท่านเรียกว่าไม่ประมาท ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ ต้องตื่นตัวอยู่แล้ว เวลาเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ เราก็ยิ่งต้องตื่นตัว แต่อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ แต่อย่าตื่นตูม ตื่นตูมแล้วเดี๋ยวเป็นกระต่าย กระต่ายที่มันตื่นตูมพาให้สัตว์ทั้งหลายต่างๆวุ่นวายกันไปหมด ต้องอาศัยผู้มีปัญญา ก็คือราชสีห์ เจ้าป่ามาช่วยแก้ปัญหาได้ ความจริงนั้นท่ามกลางข่าวร้ายเนี่ยมีข่าวดีอยู่ด้วย ปนกันไป ข่าวร้ายนี่เวลานี้ได้ยินกันมากมาย แล้วข่าวร้ายนี่บางทีก็กลบความดีงามซะ ทำให้เรามองไม่เห็น อย่างน้อยก็คือว่าถ้าเรามองอีกด้านหนึ่งนี่ เปรียบเทียบกับเรื่องสภาพเหตุการณ์ที่เคยเกิดมีที่อื่น หรือแม้แต่ในสังคมไทยเราเอง โดยเปรียบเทียบแล้วสถานการณ์นี้ก็อาจจะยังดีกว่าที่เคยเป็น เวลานี้เราอาจจะตื่นกันในแง่ที่ว่า ที่ตื่นมากที่สุดก็คือเรื่องค่าเงินบาท ว่าค่าเงินบาทนี้ตกต่ำมาก ประมาณ 26 บาท เดี๋ยวกลายเป็น 30 กว่าบาท เดี๋ยวกลายเป็น 40 กว่าบาท จนจะเป็น 50 ไม่เป็นแหล่ ตอนนี้ดีขึ้นมาหน่อย 49 แล้ว กลับมาเหลือ 44 อีก ก็ดีขึ้นมา แต่อย่ามานอนใจ ถ้าปฏิบัติไม่ถูกก็มีหวังเป็น 50 หรือเลย 50 ได้เหมือนกัน แล้วเราอยู่ดีๆ นี่เงินมันก็ลดหายไปเฉยๆ แล้วแถมหนี้ก็เพิ่มขึ้น คนที่เคยเป็นหนี้ รวยหน่อยเป็นหนี้ 26 ล้านบาท อยู่ดีๆ หนี้นั้นกลายเป็น 49 ล้านบาท ไม่เฉพาะหนี้เพิ่ม ดอกเบี้ยที่จะชำระหนี้ก็เพิ่มไปด้วย คนที่ฝากเงินไว้พวกกองทุนเงินทุนหลักทรัพย์พวกไฟแนนซ์ต่างๆ ไฟแนนซ์ล้มไปถูกปิดไป 56 แห่ง เป็นข่าวตื่นเต้นทั้งนั้นเลย ทีนี้ถ้าเราดูกันอีกทีว่าที่ค่าเงินบาทของเราตกไป จาก 26 เป็น 40 กว่าบาท อะไรต่างๆ นี่ เทียบไปแล้วเคยมีเหตุการณ์ที่ร้ายกว่านี้ ถ้าจะเอาประเภทที่เหมือนกับนิทาน อย่างผู้ที่อ่านคัมภีร์พุทธศาสนา อรรถกถาต่างๆ เคยได้ยินเรื่องเป็นชาดกหรือว่าเป็นอรรถกถาธรรมบท ว่าเศรษฐีเงินกลายเป็นถ่าน พอเงินกลายเป็นถ่านก็หมดความหมายเลย แต่ว่าไม่ต้องเอาถึงพุทธกาลที่ว่าเศรษฐีเงินกลายเป็นถ่าน เอาแค่ไม่นานมานี้ ในเขมร ตอนที่นายพอลพตขึ้นปกครอง จะสร้างประเทศเขมรใหม่ อะไรต่ออะไรในประเทศเขมรนี่ต้องเริ่มต้นกันใหม่ทุกอย่าง ตอนนั้นเงินกลายเป็นกระดาษ ก็คือว่าแกประกาศยกเลิกธนบัตรที่ใช้กันอยู่เลย เริ่มต้นกันใหม่ ใครมีเงินเท่าไหร่เก็บกักตุนไว้เท่าไหร่ไม่มีความหมาย ความจริงเงินมันก็เป็นกระดาษอยู่แล้ว ไม่ต้องกลายเป็นกระดาษหรอก ที่จริงกระดาษมากลายเป็นเงินตามที่สมมติกัน หรืออย่างเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จใหม่ๆ อาตมาเป็นเด็กๆ อยู่ยังได้ทัน ตอนนั้นมีธนบัตร 1,000 บาท พอสงครามโลกจบไปไม่กี่ปี เงิน 1,000 บาทนั้นมีค่าเหลือ 50 สตางค์ ต้องมีการเอาตัวเลขมาปั๊มใหม่ เงิน 1,000 บาท เหลือ 50 สตางค์ ตอนนี้ของเรานี่ยังแค่เท่าไหร่ ดอลล่าร์ต่อ 40 กว่า ไม่เป็นไร ยังดีกว่าสถานการณ์ที่เคยวิกฤติมากกว่านี้ ในแง่นี้ก็ทำให้สบายใจขึ้น ในแง่ที่สบายใจที่เป็นจริงเป็นจังมากกว่า ก็คือว่ายามนี้เราจะเห็นว่าผู้คนทั่วไปที่เคยฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยนั้น ก็รู้จักยับยั้งชั่งใจ มีการประหยัดมากขึ้น แล้วก็มองอีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ใช่ว่าอะไรต่ออะไรจะต่ำไปหมด เพราะว่าเงินดอลล่าร์แพงอย่างเดียว แต่ว่าอาตมาได้ฟังจากญาติโยมทั่วไป ทั้งในกรุงและต่างจังหวัด อาหารค่อนข้างถูกลง เมื่อวานนี้ไปสุพรรณ มีญาติโยมที่นั่นบอกว่าตอนนี้ชาวบ้านกินหมูกันจนเบื่อ เพราะว่าไปไหนๆ แม้แต่ข้างถนนก็มีหมูขาย 3 กิโล 100 บาท ก่อนหน้านี้กิโลละ 80 บาท อาตมาไม่ค่อยได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ได้ซื้อหมูด้วย แต่ก็ยังพอได้ยิน ฟังวิทยุแห่งประเทศไทย ตอนก่อนวิกฤติเศรษฐกิจนี่ วิทยุประกาศรายงานเรื่องราคาสินค้าทั่วไป ราคาหมูตอนนั้นก็ 75-80 บาทต่อหนึ่งกิโลกรัม มาตอนนี้อยู่แค่ 70-75 บาท แม้แต่ราคาที่ประกาศเป็นทางการ แต่ที่ชาวบ้านซื้อนั้นได้เหลือ 3 กิโล 100 บาทเท่านั้น ก็มี ไม่ใช่ว่าจะดีของถูกไปทั้งหมดหรอก อย่างน้อยเราก็เห็นว่าความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วไป คนที่ไม่เกี่ยวข้องในสินค้าต่างประเทศนั้น ก็นับว่าพอเป็นอยู่ได้ บางอย่างก็อาจจะดีขึ้นด้วย แต่ทำไงจะให้ของที่มันถูกในบางอย่างอย่างนี้มันขยายไปสู่ทั่วๆ ไป แล้วก็ระยะยาว แต่อย่างน้อยสินค้าพื้นฐานอย่างอาหาร ถ้ามันถูกเราก็อยู่กันได้ เราก็จะเห็นว่าบางทีเราไปพึ่งสินค้าฟุ่มเฟือยเกินไปละมั้ง จึงทำให้เราต้องลำบาก อันนี้ก็เป็นแง่มุมต่างๆ ที่พิจารณา หรืออย่างเรื่องที่ว่าเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ หางานหาการทำยาก อย่างการก่อสร้างเวลานี้ลำบากมาก ต้องหยุดต้องค้างไปก็เยอะ แล้วชาวชนบทที่เข้ามาในเมือง เข้ามาในโรงงานอุตสาหกรรม มาทำงานและก่อสร้างกันเยอะ ตอนนี้ก็เลยไม่มีงานทำ ก็กลับถิ่น การกลับถิ่นนั้นเหมือนกับแย่ ชาวบ้านอาจจะบอกว่า แหม เข้ามาหาโชคทั้งที ไม่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นแย่ ต้องตกอับกลับบ้าน แต่ความจริงมองอีกแง่หนึ่ง การที่ชาวชนบทกลับถิ่น ก็เป็นการดี เรากำลังวิตกกังวลกัน อย่างเคยพบกับ ส.ส.บางท่าน ก่อนวิกฤติทางเศรษฐกิจเนี่ย เขาบอกว่าตอนนี้ชุมชนชนบทกำลังจะล้มละลายแล้ว เพราะว่าคนที่มีกำลังที่จะเป็นทรัพยากรของท้องถิ่นนั้น หนีเข้าเมืองกันหมดแล้ว ชนบทถูกทอดทิ้ง หมู่บ้านต่างๆนี่เหลือแต่คนแก่คนเด็ก ทีนี้มันก็กลับเป็นว่าถ้ามองในแง่นั้นก็ดีสิ คนที่เป็นกำลัง เป็นผู้ที่เป็นความหวังของชนบทนั้นกลับไปท้องถิ่นของตัวเอง จะให้เขาพัฒนาท้องถิ่น แล้วถ้าหากว่าเราหันกลับไปฟื้นฟู การเกษตรของเรานี่ ก็จะเป็นแนวทางที่อาจจะถูกต้องด้วยซ้ำ เพราะว่าการเกษตรของเรานี้เป็นพื้นเดิมของประเทศชาติ ประเทศไทยนี้ก็มีความชำนาญพิเศษเป็นทุนเดิมดีในด้านการเกษตร แล้วเราไปทอดทิ้ง เพราะเราอยากหวังเป็นอุตสาหกรรม อยากเป็นนิกส์ เป็นต้น ตอนนี้เรามีโอกาสจะไปฟื้นฟูการเกษตร บางทีมันอาจจะดี เกษตรมันจะฟื้นตัวขึ้นมา นี่ก็เป็นแง่มุมต่างๆ ที่มันน่าจะเป็นทางที่ดี อาจจะกลายเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้องก็ได้ ถ้าหากว่าเราเดินทางไปในวิถีทางที่นี้อีกสิ อาจจะผิดพลาดในระยะยาว จนกระทั่งว่าแก้ตัวไม่ไหว การที่มีวิกฤติซะตอนนี้ ได้กลับตัวแต่ต้น อาจจะกลายเป็นดีไปเลย อาจจะเป็นระยะเวลาเริ่มต้นที่ถูกก็ได้ ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ แล้วก็จับจุดของตัวเองให้ถูกว่าอะไรจะเป็นทางเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริง แล้วอย่างเรื่องของสถานการณ์อื่นๆ ที่เราน่าจะมองก็เช่นว่าตามปกติเนี่ย คนเวลามีความทุกข์ยาก โดยเฉพาะเวลามีทุกข์ร่วมกันแล้วเนี่ย จะเกิดความสามัคคีเห็นอกเห็นใจกัน ก็มีร่องรอยบ้างว่าคนนี่เริ่มเห็นอกเห็นใจกัน แต่ก็ยังต้องมองต่อไปอีกว่า แง่ดีนี้จะเกิดขึ้นจริงจังหรือไม่ คือการที่คนไทยจะมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ถ้าหากว่าเราปรารภเหตุการณ์ร้าย แล้วเกิดความสามัคคีขึ้นมาจริงๆ อย่างนี้ก็เป็นผลดีอีกอย่างหนึ่งที่สังคมควรจะยินดี แล้วก็ถ้าเรารักชาติกันจริงๆ ต่อจากนี้ก็จะได้แสดงออกแล้ว ดูว่าคนไทยนี้มีความจริงใจต่อประเทศชาติหรือเปล่า เอาละ ไม่ต้องพูดไปถึงรักชาติหรอก เอาแค่ว่าจริงใจต่อประเทศชาติ เราก็จะสำรวจตัวเอง แล้วก็พวกเรากันเองได้ เหล่านี้ก็เป็นแง่มุมต่างๆ ที่เราทั้งหลายจะได้เห็นว่าโอกาสนั้นมันมีอยู่ท่ามกลางของปัญหาความทุกข์ยากและความวิกฤติอันนี้ อย่างน้อยก็จะได้สำรวจตัวเองแล้วก็จะมีโอกาสที่จะฝึกฝนตนเองด้วย เอาพุทธภาษิตบทหนึ่งมาใช้ อาตมาว่าพุทธภาษิตง่ายๆ บทนี้มีประโยชน์มาก ใช้สำรวจตัวเองนี่พอเลย แล้วก็เป็นโอกาสที่จะตั้งต้นเดินทางไปให้ได้ผลมีความเจริญงอกงาม มีพุทธภาษิตบทหนึ่ง มาในชาดกง่ายมาก อาตมาก็พูดให้ฟังก่อนสั้นๆ กล่าวถึงว่าการครองชีวิตของผู้ครองเรือน แล้วก็ดูว่ามีความสำเร็จหรือความดีในขนาดไหน แบ่งเป็น 4 ขั้น ก็ดูว่า 4 ขั้นนี้มีอะไรบ้าง ท่านกล่าวว่าคนครองเรือนขยันดีข้อหนึ่ง มีทรัพย์แล้วแบ่งปันดีข้อสอง ยามรุ่งเรืองไม่เหลิงลอยดีข้อสาม ถึงคราวเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจดีครบสี่ แค่นี้แหละเจริญพร สำรวจตัวเองได้เลย 4 ข้อนี้เราได้ครบไหม ได้เกรดเอหรือเปล่า เดี๋ยวนี้เขาก็วัดกัน 4 นี่ ได้ 1 หรือ 2 หรือ 3 หรือ 4 นักเรียนนี่สอบ ถ้าได้ 4 ก็เต็มเลย ทีนี้ดูว่าเราได้ 4 หรือได้แค่ไหน ที่ผ่านมานี่เริ่มต้นเราขยันจริงไหม ที่เรามีความเจริญรุ่งเรืองค่อนข้างจะมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ขนาดที่ว่าปีหนึ่งมีความขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจ ขึ้นสูงถึงราวๆ 8.5 นะ ไปกันถึงขนาดนั้น ตอนนี้ติดลบแล้ว ถึงขนาดนั้นตอนรุ่งเรืองเนี่ย ความรุ่งเรืองนั้นเกิดจากความขยัน และการสร้างสรรค์ในการผลิตเป็นต้น หรือเปล่า หรือเป็นความเจริญมั่งคั่งตามกระแสลอยมา โดยอาศัยสมบัติยืมเขามาชม เป็นต้น นี่ก็ต้องดูแล้ว แม้แต่ความมั่งคั่งร่ำรวยที่เกิดขึ้นในยุคก่อนนี้ เกิดจากความขยันหมั่นเพียรในการสร้างสรรค์จริงไหม ถ้าขยันจริง ก็ได้ดีข้อหนึ่งแล้ว นี่ข้อสอง มีทรัพย์หรือได้แล้วแบ่งปัน มีทรัพย์แล้วแบ่งปัน ดีข้อสองก็คือว่าเวลารุ่งเรืองมั่งมีขึ้นมาแล้ว ก็รู้จักช่วยเหลือ แบ่งปันกัน เฉลี่ยเจือจานกันนี่เราได้ไหมคะแนขั้นสอง ต่อไปขั้นสามยามรุ่งเรืองไม่เหลิงลอย ยามมั่งคั่งพรั่งพร้อมเนี่ย เราอยู่กันด้วยความที่สำนึกตัว มีความระมัดระวังชั่งใจ อยู่กันด้วยความเรียบง่ายพอสมควร มีความสันโดษ เป็นต้น อยู่แต่พอดีๆ เอาแค่ว่าอยู่อย่างมัธยัสถ์พอดีๆ หรือว่าเหลิง หลายท่านก็ตอบว่าของเรานี่ดูเหมือนจะค่อนข้างเหลิงนะ เหลิงลอย แล้วอาจจะเป็นเพราะความเหลิงลอยฟุ้งเฟ้อเป็นต้นนั่นด้วยก็ได้ เป็นเหตุให้นำมาสู่ความเสื่อมถอยในปัจจุบัน ที่นี้มาถึงปัจจุบันนี้ก็ถึงคราวเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจ เอาแล้วทีนี้มาประสบข้อที่สี่ มาพิสูจน์ขั้นสุดท้ายเลยนี่ ตอนนี้วิกฤตินี้เรามีกำลังใจดีไหม ถ้าหากว่าคะแนนที่ผ่านมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มาถึงปัจจุบันนี้ต้องเอาดีให้ได้ อย่าหมดกำลังใจ ถ้าหมดกำลังใจก็เสียหมดเลย เพราะฉะนั้นถ้าเสียทั้ง 4 ขั้น ก็ศูนย์เท่านั้นเอง อย่างน้อยอันปัจจุบันนี้อย่าให้ศูนย์ เพราะฉะนั้นถ้าเสื่อมถอยก็ต้องไม่หมดกำลังใจ แต่ถ้าเราทำดีมาตลอด เราได้ 3 มาแล้ว ตอนนี้ก็ถ้าเราทำอีก 1 ก็จะได้เต็ม เพราะฉะนั้นจนปัจจุบันนี้ข้อสำคัญคืออย่าหมดกำลังใจ เอาพุทธพจน์นี้ง่านๆ นี่ เอามาพิสูจน์สำรวจตัวเอง แล้วก็จะเป็นโอกาสในการที่พัฒนาฝึกฝนตนเอง แล้วพอเราเสื่อมถอยไม่หมดกำลังใจนี่แล้ว ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งต้นหนึ่งใหม่ล่ะ ก็คือว่าต้องขยันดีข้อหนึ่งแหละ ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องหันมาเวียนเริ่มต้นวงจร ก็คือว่าต้องขยันดีข้อหนึ่ง ทำไงเราจะเป็นคนขยัน รู้จักจัดรู้จักทำรู้จักมีความหมั่นเพียร ไม่ย่อท้อ ตั้งใจสำคัญก็คือเป็นผู้ผลิตผู้สร้างสรรค์ ที่ว่าขยันก็คือขยันในการสร้างการผลิตเป็นต้น ไม่ใช่ขยันในการบริโภค นี่สำคัญว่าขยันจริงแต่ขยันบริโภค อย่างนี้ก็ลำบาก คำว่าขยันนี่มันต้องหมายความว่าขยันจัดทำ แล้วก็คือสร้าง นี่เป็นตัวอย่างของการที่มองสถานการณ์ เอาละทีนี้พูดกันถึงเรื่องปัญหากันพอสมควรแล้ว ก็สำรวจตนเอง ถ้าเราตั้งตัวดี ก็ถือว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้ตั้งต้นให้ถูกต้องต่อไป คิดว่ามองในแง่ตั้งต้นให้ถูกนี่ดีที่สุดเลย ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่สุดที่เมืองไทยจะตั้งต้นสร้างชาติ แก้ไขความผิดพลาดที่แล้วมา แล้วก็ทำทุกอย่างให้ดีหมดเลย ฉะนั้นการตั้งต้นใหม่นี้ เมื่อมันจำเป็นจะต้องตั้งต้น ก็ตั้งต้นให้มันดีที่สุดเลย เราก็เริ่มตั้งแต่การแก้วิกฤตแล้ว นี่ท่านบอกว่าให้พูดเรื่องยุทธวิธีในการแก้วิกฤติของชาติ การแก้วิกฤตินี้บอกแล้วว่ามักจะมองเฉพาะหน้า มันเป็นระยะสั้น การแก้ปัญหาระยะสั้นนี่ ถ้าไม่มองระยะยาวประกอบไปด้วย แม้แต่การแก้ปัญหาระยะสั้น ก็ไม่ได้ผลจริง เพราะฉะนั้นก็ต้องมองยาวมองไกล แต่เราก็อย่างว่า ต้องพูดเป็นขั้นเป็นตอน ตอนแรกพูดถึงการแก้วิกฤติเฉพาะหน้าก่อน เวลาเรือแตก เวลาไฟไหม้ ทำไงล่ะ ก็ต้องช่วยคนที่จะตายก่อนสิ ใช่ไหม อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน แต่นี่อย่าลืมว่าเราอยู่ในเรือที่แตกด้วยกัน ไม่ใช่คนนอก เดี๋ยวโยงไปจะนึกว่าคนนอกมาช่วย ทีนี้ถ้าหากเราพูดถึงว่าเรือแตก ไฟไหม้ แล้วเรามองในแง่คนนอก คนนอกก็เข้ามาช่วยคนที่ติดไฟ คนที่จะจมน้ำเป็นต้น ทีนี้เราก็อยู่ในเรือที่แตกด้วย เราก็อยู่ในตึกที่ไฟไหม้ด้วย เราจะทำยังไง เราก็ต้องช่วยตัวเอง ตั้งตัวเองให้ดีด้วย มีความแข็งแรง ตั้งตัวได้ พร้อมกันนั้นไม่ทอดทิ้งคนอื่น ก็พยายามช่วยเหลือ สิ่งที่สำคัญก็คือสำหรับคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมนี้ต้องช่วยคนที่จะตายให้รอด ให้เขามีทางไป อย่างน้อยก็มาช่วยชี้นำบอกทาง ให้ทางออก ให้พ้นไป หนีไฟไปทางนี้นะ ชวนกันไป ไม่ใช่ไปเอาตัวรอดคนเดียว แต่ว่าอันนี้ก็ต้องสุดแต่สถานการณ์ด้วย แต่หมายความว่ามีการคำนึงคิดถึงกัน ก็ช่วยคนที่สิ้นทางหมดทางนี่มีความสำคัญมาก ขณะนี้ถ้าปล่อยปละละทิ้งเขาก็จะทำให้สังคมนี้ตั้งตัวในทางที่ไม่ดี การตั้งตนที่ดีก็คือช่วยกันในขณะนี้ด้วย ก็จะเกิดความเห็นอกเห็นใจและความสามัคคีก็จะมา ทีนี้สถานการณ์นี้อย่างที่กล่าวก็คือความแตกตื่น ความตะหนกตกใจนี่ก็จะต้องมีการรักษาความสงบ ความมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เราทำไงจะให้คนที่อยู่ในสถานการณ์นี้ ตั้งสติได้ ฉะนั้นผู้ที่เป็นผู้นำเป็นต้น แต่ว่าต้องเริ่มจากตัวเองทุกคนแหละ จะต้องตั้งสติให้ได้ รักษาความสงบมั่นคง ก็อย่าแตกตื่น อย่าตระหนกตกใจอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ถ้าเป็นหัวหน้าหมู่ชนก็พยายามที่จะให้เกิดกำลังใจขึ้นมา หรือว่าให้สติกัน อย่าไปแตกตื่นตระหนก แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือสถานการณ์ที่เรียกว่าการช่วงชิง การแย้งกันออก การหาทางรอดให้กับตัวเองในสถานการณ์นี้ ที่น่ากลัวอีกอย่างก็คืออาชญากรรม ก็ต้องเตรียมป้องกันให้ดี เรื่องการแตกตื่นของคน เรื่องอาชญากรรมอะไรเนี่ย ก็รวมอยู่ในเรื่องของการรักษาความสงบมั่นคง ไม่ให้ตื่นตระหนกตกใจ อันนี้เป็นพื้นฐานอันหนึ่งไว้ ใครมีหน้าที่อะไรก็อาจจะแบ่งกันไปทำในเรื่องนั้น แต่ทีนี้ลึกลงไปก็คือในจิตใจ ก็คือการมีกำลังใจ เอาทุกข์มาปลุกใจ เรื่องเอาทุกข์มาปลุกใจเนี่ย ทุกข์นั้นก็มีส่วนที่ดี เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนาจึงสอนเริ่มต้นเรื่องทุกข์ เพราะอย่างน้อยคนจะแก้ปัญหาก็ต้องรู้จักทุกข์ รู้จักปัญหาซะก่อน แต่อีกอย่างหนึ่งที่ว่าทุกข์มันมีประโยชน์ก็คือว่า ทุกข์นี่มันเป็นตัวบีบตัวคั้น เพราะทุกข์นี่แปลว่าบีบคั้น การบีบคั้นกดดันนี่มันทำให้เกิดแรงดิ้น แรงดิ้นนี่ดี เพราะว่าทำให้คนไม่ประมาท แล้วก็ไม่นอน แล้วก็ไม่เฉย แต่ว่าลุกขึ้นดิ้นรน เกิดกำลัง พยายามที่จะหาทางออก ถ้าหากว่าเราใช้แรงดิ้นหรือพลังดิ้นให้เป็นประโยชน์นี่ เราก็จะเดินหน้าต่อไปได้ ทีนี้คนที่มีทุกข์นี้ ทั้งๆ ที่ดิ้นรนนี่ แต่เพราะไปตระหนกตกใจซะ ก็เลยเตลิด อาจจะซ้ำเติมตัวเอง ก็เสียหาย เพราะฉะนั้นตอนนี้ทำไงจะเอาพลังดิ้น หรือแรงดิ้นจากความทุกข์นี่มาใช้ประโยชน์ให้ได้ ก็เอาทุกข์มาเป็นเครื่องปลอบใจ ถ้าเราใช้เป็นก็เป็นประโยชน์ เพราะว่าทุกข์นั้นมันคู่กับสุข คนเรานี่มุ่งหมายสุข ตามวงจรปกติแล้วนี่ ปุถุชนมีคติว่าเมื่อทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็จะลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย อันนี้เป็นธรรมดา พอทุกข์บีบก็เอาแล้ว ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย ทำไม่หยุด พอทำสำเร็จแล้ว ก็พอได้มาแล้วสมใจแล้ว สุขสบาย ตอนนี้มีแนวโน้มจะนอนเสวยความสุขแล้ว เพราะฉะนั้นคนที่สุขสบายนี่ กลายเป็นว่าคนหยุด พอหยุดแล้วก็เลยขี้เกียจ เฉื่อยชา ฉะนั้นเลยกลายเป็นว่าความสุขนี่ที่จริงก็มีโทษ ความสุขนี่ทำให้คนหยุด นอนสบาย แต่ความทุกข์นี่ทำให้คนดิ้น ฉะนั้นคนที่ประสบความสำเร็จ จึงมาจากคนที่ประสบทุกข์ หรือถูกบีบคั้นมากกว่าคนที่มีความสุข เพราะคนที่มีความสุขมักจะหลงเพลิดเพลิน นอนสบาย เพราะฉะนั้นก็เอาทุกข์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ส่วนสุขนั้นก็ต้องใช้ให้เป็น ความสุขนั้นเดี๋ยวจะพูดต่อไป แต่ตอนนี้ตอนทุกข์เราใช้เป็นก็เป็นประโยชน์มาก นี่เป็นด้านจิตใจ ก็ต้องมีจิตใจเข้มแข็ง สู้ วางใจต่อความทุกข์ให้ถูกต้องที่ว่ามาเป็นทุกข์ช่วยปลอบใจ แล้วก็อีกด้านหนึ่งก็คือ ปัญญา คู่กับกำลังใจก็คือปัญญา การมองเหตุการณ์ให้ถูกต้อง การไม่ได้มองผิวเผินแต่เพียงปรากฏการณ์ตื่นตูมไป การมองให้ลึกซึ้งลงไปถึงว่าอะไรซ้อนอยู่ภายใน เช่นเหตุปัจจัยเป็นต้น ว่าเหตุปัจจัยอะไร แม้แต่เหตุปัจจัยของแต่ละคนที่ร่วมกันมาปรุงแต่งรวมกันมาเป็นสังคมนี้อย่างที่ว่าที่เราเป็นอยู่มาที่มีความฟุ้งเฟ้อเป็นต้นนี่ อาจจะเป็นเหตุปัจจัยของความเสื่อม อันนี้ถ้าเรามองได้ถูกต้อง วิเคราะห์เหตุปัจจัยได้ เราอาจจะแก้สถานการณ์ได้ดีขึ้น ที่นี้ก็จะเป็นทุนในการแก้ไขปัญหา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แล้วก็มองกว้างออกไป แล้วก็ตั้งจุดหมายระยะยาว การตั้งจุดหมายก็เป็นเรื่องของปัญญา ตั้งจุดหมายจากการเข้าใจสถานการณ์ แล้วก็วางจุดหมายระยะยาว เพื่อจะเดินทางไปในทิศทางที่พูดต้อง ตอนนี้เป็นระยะเวลาสำหรับการใช้ปัญญาในแนวทางนี้ ทั้งวิเคราะห์อดีต ทั้งวางแผนอนาคต อันนี้ขอพูดว่าเป็นเรื่องของการตั้งตัวระยะสั้น แต่ต่อไปนี้ก็คือสิ่งที่สำคัญก็คือการแก้ปัญหาระยะยาว คิดว่าเราน่าสนใจการแก้ปัญหาระยะยาวมากกว่า การแก้ปัญหาระยะยาวนั้น ทำอย่างไร คนเรานี้ที่เป็นอยู่นี่ เราต้องดำเนินชีวิตอยู่เสมอ การดำเนินชีวิตเนี่ย มันอยู่ประจำตัวประจำชีวิตของคนเรา แล้วคนเราก็มาประกอบกันขึ้นเป็นสังคม พอแต่ละคนดำเนินชีวิตอย่างไร ก็จะเป็นวิถีชีวิตของสังคมอย่างนั้น จึงกลายเป็นวัฒนธรรมเป็นต้น วิถีชีวิตวัฒนธรรม การดำเนินชีวิตของคนเนี่ย มันคงอยู่ยาวนาน มันก็เลยเป็นเรื่องการแก้ปัญหาระยะยาวด้วย แต่เกิดจากการแก้ปัญหาระยะสั้น ก็คือดำเนินชีวิตเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นเราเชื่อมระหว่างการแก้ปัญหาระยะสั้นกับระยะยาว ด้วยจุดสำคัญคือตัวคน ตัวคนที่ดำเนินชีวิตที่แหละ ถ้าดูกันไปแล้ว เวลานี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมของเรา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตที่ผิดหรือไม่ ถ้าเราบอกว่า แต่ก่อนนี้เราฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย เป็นต้น เป็นบริโภคนิยม เห็นแก่การบริโภคเกินไป เป็นชีวิตที่ผิดพลาด แล้วเราก็กำลังมาแก้ปัญหาที่เกิดจากการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดนั้น ก็การแก้ปัญหาจากการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาด แก้ที่ดีที่สุดก็คือ ดำเนินชีวิตซะใหม่ ให้ถูก ถ้าว่ากันไปแล้ว ถ้าเราจะแก้ปัญหา จะแก้ยังไงก็ตาม ถ้าไม่แก้ที่การดำเนินชีวิต ไม่มีทางสำเร็จแน่นอน มันแก้ได้เฉพาะหน้าชั่วคราวเท่านั้น จะแก้เรื่องของทรัสต์ เรื่องของธนาคาร เรื่องของอะไรก็แล้วแต่เนี่ย เป็นการแก้เฉพาะหน้า ตราบใดที่คนยังดำเนินชีวิตผิดพลาด มันไม่มีทางหนีในที่สุด มันก็ต้องกลับมาย้อนวงจร สังคมก็ต้องเกิดปัญหา เหมือนอย่างเดิม เพราะฉะนั้นต้องแก้ปัญหาด้วยการดำเนินชีวิตที่ไม่ก่อปัญหา แก้ปัญหาด้วยการดำเนินชีวิตชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหานี่ดีที่สุดเลย แต่ให้กลายเป็นการดำเนินชีวิตชนิดที่เป็นการสร้างสรรค์ความเจริญ ฉะนั้นดำเนินชีวิตที่ถูกต้องแล้ว ฉะนั้นมันก็เจริญเรื่อยไป แล้วนี่คือจุดรากฐานที่ใช้ได้ทั้งระยะสั้นระยะยาว ซึ่งมาจากแต่ละบุคคลนี้เอง แล้วก็เป็นวิถีชีวิตของสังคม การดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดอย่างที่เห็นก็ง่ายๆ ก็อย่างการที่ไม่รู้จักประหยัด การที่ตกอยู่ในความประมาท ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยอย่างนี้ มองกันเห็นง่าย ลึกๆ ลงไปก็ตรงข้ามกับความประมาท ความฟุ้งเฟ้อ ความชอบแต่เสพบริโภค ก็คือไม่เป็นนักผลิต บางทีเรามองในแง่ฟุ้งเฟ้อ แต่อีกด้านหนึ่งก็คือการที่เป็นแต่นักบริโภค ตรงข้ามก็คือว่าไม่เป็นนักผลิตนั่นเอง สังคมไทยที่ว่าเป็นผู้ฟุ้งเฟ้อ เป็นนักบริโภคนั้น พร้อมกันนั้นก็คือไม่เป็นนักผลิตด้วย ถ้าเราเป็นนักผลิต เราก็ตัดทอนความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยออกไปได้ ก็ต้องดำเนินชีวิตแบบนักสร้างสรรค์ให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีการประหยัด ทำให้ที่ไม่เห็นแก่การบริโภค เป็นต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญ คิดว่าไม่ต้องแจงรายละเอียดแล้ว เอาเป็นหลักการเลยว่าการแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานที่สุดเพื่อระยะยาว ก็คือแก้ที่การดำเนินชีวิตของคนเรา ก็แก้ ขอย้ำอีกทีว่าแก้ปัญหาด้วยการดำเนินชีวิตชนิดที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา แล้วถ้าเราดำเนินชีวิตที่ถูกต้องแล้ว ก็เป็นการแก้ปัญหาไปในตัวเลย แก้ปัญหา ไม่ก่อให้เกิดปัญหา แล้วจะกลายเป็นการสร้างสรรค์ไปด้วย อันนี้ก็ขอตั้งข้อสังเกตในข้อนี้เลยว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการดำเนินชีวิตแล้วเนี่ย มันก็เป็นปัญหาของการศึกษาโดนตรง เพราะการศึกษาที่แท้ก็คือเป็นเรื่องของชีวิต การศึกษาเป็นการพัฒนาชีวิต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เราดำเนินชีวิตไม่เป็น เมื่อมีการศึกษาก็คือดำเนินชีวิตเป็น การศึกษาเช่นเลี้ยงดู การเลี้ยงดู ก็คือการให้การศึกษา อย่างพ่อแม่เลี้ยงดูลูก คำเลี้ยงดูลูก หมายความว่ายังไง การเลี้ยงก็คือการมาช่วย ช่วยหนุน ช่วยส่งเสริมให้เขาดำเนินชีวิตได้เอง การเลี้ยงมีความหมายอย่างนี้ เพราะว่าถ้าเขาดำเนินชีวิตได้เอง เราก็ไม่ต้องเลี้ยง ทีนี้คนมักจะไปดูเลี้ยงดูก็คือว่า เอาปัจจัยสี่ เอาอะไรบำรุงบำเรอมาให้ บางทีเรามองพลาดไปถึงขนาดนี้ ทีนี้ที่ว่าพ่อแม่เอาอะไรต่ออะไรมาให้ก็คือการเลี้ยง คิดว่ามองเลยความหมายของการเลี้ยงไปแล้ว ที่เราเลี้ยง อย่างที่เราเรียกว่าเลี้ยงตัว บางคนนี่เดินบนสะพานเล็กๆ ไม้เล็กๆ ข้ามคลองเดินไม่ได้ จะหล่น ต้องเลี้ยงตัว ถ้าเขาเลี้ยงตัวได้ก็คือเขาสามารถเดินไปรอด ทีนี้คนที่เลี้ยงตัวไม่ได้ ก็คือยังดำเนินชีวิตไม่เป็น ดำเนินชีวิตอยู่ไม่รอด พ่อแม่เป็นต้น มาเลี้ยง ก็คือมาช่วยเกื้อหนุน สร้างสภาพแวดล้อม เครื่องอำนวยต่างๆ เพื่อให้เขาเตรียมตัว ฝึกตัว เรียนรู้พัฒนาตัวไปสู่การที่จะเดินได้ด้วยตนเอง คือดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง เมื่อเขาดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเองก็คือว่าเขาก็เลี้ยงตัวได้ เราก็เลิกเลี้ยงได้ ฉะนั้นการเลี้ยงก็คือกระบวนการเกื้อหนุนให้คนนี่ได้เรียนรู้ฝึกฝนพัฒนาตน คือศึกษานั่นเอง เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเอง ทีนี้ตอนนี้ก็คือว่า การศึกษานี้จะต้องเข้าไปสู่การช่วยให้คนดำเนินชีวิตได้ดี ด้วยตนเอง ให้รอด แล้วก็ถูกต้อง ทีนี้ถ้าหากว่าคนดำเนินชีวิตไม่ได้ถูกต้อง ก็แสดงว่าการศึกษายังไม่ได้ผลจริง ดังนั้นถ้าคนไทยดำเนินชีวิตมาผิด ก็แสดงว่าการศึกษาเรายังไม่ได้ผลจริงสิ ถ้าอย่างนั้น เพราะเรายังไม่สามารถช่วยให้คนดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง ก็เอาเป็นว่าเราจะต้องเอาใจใส่ปัญหาการศึกษาให้ได้ผลจริง ก็คือการที่มาช่วยให้มันออกผลมาสู่การดำเนินชีวิตที่แท้จริงเลย ฉะนั้นดำเนินชีวิตอย่างไรถูกต้องเนี่ย เป็นเรื่องที่เราจะต้องมาศึกษา เพราะว่าการศึกษาเป็นเรื่องของชีวิต ก็คือการฝึกให้คนดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ถ้าคนไหนดำเนินชีวิตถูกต้องก็คือคนที่ได้ฝึกตัวเองดีแล้วนั่นเอง อันเดียวกัน เพราะฉะนั้นในพุทธศาสนานี่มีหลักการว่าสิกขาคือการศึกษา ฝึกเพื่อให้เขาดำเนินชีวิตได้ ดำเนินชีวิตได้ถูกต้องก็เป็นมรรค มรรคก็คือทางดำเนินชีวิตที่เกิดจากสิกขา ก็คือการฝึกฝนศึกษาอย่างถูกต้องคู่กัน ฝึกให้เดินทางให้ถูกต้อง ดำเนินชีวิตถูกต้อง ทีนี้ตอนนี้อย่างเราต้องการเช่นว่าให้คนดำเนินชีวิตอย่างประหยัด ก็จะต้องมีการฝึกกัน ก็ขอยกมาเป็นตัวอย่างสักนิดหน่อย อย่างการฝึกให้คนประวัติที่เราเห็นว่าเป็นความจำเป็นขณะนี้ ถ้าเราบอกว่าให้ประหยัด การประหยัดมีความรู้สึกว่าให้ใช้จ่ายกันน้อย เคยใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้มาก สบาย มีความสุข บำรุงบำเรอตัวเอง ตอนนี้ต้องใช้น้อยๆ จำกัดจำเขี่ย แหม รู้สึกบีบคั้นเลย พอพ่อแม่บอกลูกให้ประหยัด ใช้น้อยๆ นะ ลูกนี้รู้สึกบีบคั้นใจจริงๆ แต่ถ้าเราให้การศึกษาที่ถูกต้อง การศึกษาจะมีความหมายในเชิงบวก การประหยัดคืออะไร การประหยัดก็คือการใช้ของน้อยที่สุด ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ถ้าเรามองในแง่นี้ก็คือกลายเป็นว่าบวก แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือว่ามันได้ในการฝึกฝนพัฒนาตน คนที่ว่าใช้ของน้อยที่สุด ได้ประโยชน์มากที่สุดเนี่ย จะรู้สึกตัวว่าเป็นคนมีความสามารถ ได้พัฒนาขึ้น อย่างเด็กถ้าเราให้เงินไป 100 บาท บอกหนูคิดดูสิหนูทำไงจะให้เงิน100 บาทนี้ได้ประโยชน์มากที่สุด ใช้ทำอะไรได้บ้าง แกจะใช้ความคิด แกจะต้องฝึกตนเองแล้ว ใช้ปัญญา ต่อมาพอไปใช้เงินจริง พอใช้ได้มาก แกมีความภูมิใจว่าแกประสบความสำเร็จ จะได้ทั้งการเรียนรู้ การฝึกฝนพัฒนาตน แล้วสุขภาพจิตที่ดีคือความภูมิใจในการพัฒนาก้าวหน้าของตนเอง ฉะนั้นการประหยัดที่ดีนี้ อาตมาภาพว่าต้องมาใช้ในเชิงบวก ในการที่เป็นเครื่องมือในการฝึกฝนพัฒนาคน เด็กจะไม่รู้สึกบีบคั้นจิตใจจนรู้สึกมีความสุขด้วย ที่ว่าต่นเองมีความสามารถในการใช้เงินน้อยนิดเดียวนี่ให้เป็นประโยชน์ได้มากที่สุด เขาจะได้ทั้งประโยชน์จากการประหยัด ประโยชน์ก็ได้มากด้วย พร้อมกันนั้นคนก็พัฒนาความสามารถด้วย ปัญญาก็เกิดขึ้นด้วย ฉะนั้นก็เริ่มต้นกันในครอบครัวนี้ ต้องฝึกเด็กว่าอย่าไปพูดในแง่ลบว่า ใช้ให้น้อยนะ อย่าไปซื้อนั่นซื้อนี่ ถ้าพูดอย่างนี้แล้วก็ เด็กใจไม่สบายเลย ถูกกดถูกบีบตลอดเวลาเลย ทุกข์จะตามมา แต่บอกว่าหนูลองใช้เงินจำนวนน้อยที่สุดนี้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ทำไง แกก็เริ่มคิด แล้วก็ทำได้ แกภูมิใจมาก คนก็พัฒนาไป ประโยชน์ก็เกิดขึ้นแก่ชีวิตและแก่สังคม อันนี้ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง แล้วก็การดำเนินชีวิตอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ทำตัวแบบที่สภาพร้ายนี้ไม่กระทบกระเทือนเรา หรือกระทบน้อยที่สุด อย่างผู้ที่มีชีวิตเดี๋ยวนี้ ถ้าเราดำเนินชีวิตถูกต้อง สภาพสังคมของเราพื้นมันดีพอสมควร อย่างทุนเดิมในทางทรัพยากรธรรมชาตินับว่าดี สินค้าในประเทศเราก็มี ถ้าหากว่าคนไหนไม่ใช้ของนอกมาก การดำเนินชีวิตในด้านภายนอก ถูกกระทบกระเทือนค่อนข้างน้อย แต่คนไหนพึ่งสินค้าภายนอกมาก ก็ถูกกระทบกระเทือนมาก ฉะนั้นนี่เป็นตัวอย่างของการที่ว่าเรารู้จักดำเนินชีวิต ทำตัวเราชนิดที่ว่าให้สภาพวิกฤตินี้มันกระทบกระเทือนตัวเองให้น้อยที่สุด นอกจากนั้นก็คือในทางจิตใจ นอกจากกระเทือนทางกายแล้ว กระเทือนทางจิตใจให้น้อยด้วย ก็คือวางจิตใจให้ถูกต้อง รู้เท่าทันความจริง รู้เท่าทันโลกธรรมความเป็นจริง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำใจให้ถูกกระทบกระเทือนจากโลกธรรมน้อยที่สุด ท่านบอกว่าคนเราอยู่ในโลกกระเทือนด้วยโลกธรรม มีทั้งได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ เป็นเรื่องธรรมดา รู้เท่าทันว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วก็เอามาใช้เป็นบทในการฝึกฝนพัฒนาตนเอง ยามดีเป็นโอกาสที่สร้างสรรค์ ก็เอาสิ่งที่ได้มา ได้ลาภ ได้ยศนั้นมาสร้างสรรค์ ทำความดีให้มากขึ้น ยามที่เสื่อม กระทบกับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ก็กลายเป็นบททดสอบตัวเอง กลายเป็นเครื่องมือฝึกฝนพัฒนาตนเอง เป็นบทเรียน ได้ประโยชน์ทั้งนั้น ในทางพระท่านถือว่า ก็มีโยนิโสมนสิการแล้วได้ประโยชน์ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าเคราะห์ ไม่ว่าโชค เพราะฉะนั้นเรื่องของทุกข์ เรื่องของเคราะห์ เรื่องของโชคนี่ บางทีก็อยู่ที่การปฏิบัติต่อมัน คนที่มีปัญญา ไม่ประมาท ก็ทำเคราะห์ ให้เป็นโอกาสได้ ทำเคราะห์ให้เป็นโชคได้ แต่ถ้าประมาทซะอย่างเดียวก็ทำโอกาสนั้นให้เป็นเคราะห์ไป แม่มีโอกาสก็เป็นเคราะห์ไปได้ แล้วที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ระยะยาว ก็คือการมีท่าทีของจิตใจที่ประกอบด้วยปัญญา การดำเนินชีวิตที่ถูกต้องในขั้นลึกซึ้ง ซึ่งมาจากฐานแนวความคิดด้วย ก็คือการที่ว่าเราจะต้องไม่ฝากชีวิต ไม่ฝากความสุขของเราไว้กับวัตถุมากเกินไป อย่างน้อยไม่ใช่ฝากชีวิตไว้กับวัตถุจนเสียดุล ถ้ามองไปวิเคราะห์สังคมของเราแล้ว คนของเราที่ประสบปัญหาส่วนรวมก็ตาม ทางจิตใจก็ตาม มากทีเดียวเป็นเพราะว่าเราไปฝากชีวิตและความสุขไว้กับวัตถุมากเกินไป ชีวิตของเรานี่ไม่ได้อยู่ด้วยวัตถุอย่างเดียวเท่านั้น เราอยู่กับจิตใจด้วย เราอยู่กับสิ่งที่เป็นนามธรรมมากมาย แต่เพราะว่าเราไปมุ่งหวังความสุขจากวัตถุอย่างเดียว จนกระทั่งว่าเอาวัตถุนี่เป็นจุดหมายของชีวิตเลย ความหมายของชีวิตก็ตาม จุดหมายของชีวิตอยู่ที่ความพรั่งพร้อมทางวัตถุ อันนี้เป็นลักษณะของสังคมบริโภคนิยม ซึ่งทำให้ชีวิตเสียดุล ก็ไปอยู่ข้างเดียวข้างวัตถุ มีชีวิตอยู่ เรียน ศึกษา ทำงาน เพื่อมั่งมีเงินทอง สิ่งบริโภค นี่คือตั้งเป้าหมายชีวิต ฉะนั้นต้องมีมากที่สุด จนกระทั่งนึกว่ามีวัตถุพรั่งพร้อมเต็มบริบูรณ์ มีรถยนต์อย่างดีใช้ มีตึกอยู่อย่างดี นั่นคือชีวิตสุขสมบูรณ์ ถึงขนาดตั้งกันอย่างนี้เลย อย่างนี้ก็เท่ากับว่าเอาวัตถุนี้เป็นจุดหมายและเป็นความหมายของชีวิต ตอนนี้แหละที่มันจะเสียดุล คนเรามีโอกาสเบื่อหน่ายวัตถุได้ คนเรามีโอกาสผิดหวังวัตถุได้ บางครั้งอยู่ไปอยู่มาเบื่อวัตถุผิดหวังวัตถุ เห็นวัตถุหมดความหมาย แต่เพราะเอาความหมายของชีวิตไปฝากกับวัตถุแล้ว พอวัตถุหมดความหมาย ชีวิตก็หมดความหมายด้วย ผิดหวังวัตถุ ผิดหวังชีวิตด้วย เป็นกันมากในสังคมบริโภคนิยม ฉะนั้นสังคมบริโภคนิยมอย่างอเมริกา คนฆ่าตัวตายจะมากกว่าสังคมที่ยากแค้น สังคมที่ขาดแคลนวัตถุ อย่างเคยเปรียบเทียบอย่างเม็กซิโกเนี่ย อยู่ใต้อเมริกาติดต่อกัน เป็นประเทศแร้นแค้นยากจน เจอวิกฤติเศรษฐกิจมาก่อน ไทยอีก ไทยเรายังเอามาเป็นตัวอย่าง เอามาพูดกันตอนเราเริ่มประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ว่าเม็กซิโกเคยเป็นมาแล้ว เม็กซิโกกับอเมริกาอยู่ติดกัน คนเม็กซิโกพยายามหลบหนี้เข้าไปหางานทำในอเมริกา มีความเป็นอยู่ มีมาตรฐานการครองชีพนี่ผิดกันมากมาย แต่เขาเปรียบเทียบเรื่องความทุกข์ว่าคนในอเมริกานี่ฆ่าตัวตายตั้งเท่าไหร่ แสนละ อาตมาลืมแล้ว เคยพูดไปนานเกินควร พูดมาหลายปีว่า เหมือนจะ 72 คนเศษ อเมริกานี้ฆ่าตัวตาย แต่คนเม็กซิโกที่แสนจะแร้นแค้น คนก็พยายามหนีมาหางานทำในเมริกา ฆ่าตัวตายน้อยกว่าคนอเมริกัน 7 เท่า อาตมาจำตัวเลขไม่ได้ แต่เอาความว่าน้อยกว่าคนอเมริกัน 7 เท่า ก็ลองคิดดูสิว่าเป็นเพราะอะไร ประเทศที่มั่งมีทรัพย์สินเงินทองหวังความสุขจากการบริโภควัตถุมาก คนจะฆ่าตัวตายมาก อันนี้เป็นธรรมดา เพราะว่าเอาความสุข เอาความหมายของชีวิตไปฝากไว้กับวัตถุ เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่าเมื่อวัตถุหมดความหมาย ชีวิตก็หมดความหมายด้วย เบื่อหน่ายวัตถุ ก็เบื่อหน่ายชีวิตด้วย จะอยู่ไปทำไม ถ้างั้นตายซะดีกว่า ทั้งๆที่มีของใช้ มีสิ่งบริโภคมากมาย ก็ไม่ได้ช่วยให้เขาอยู่ได้ ฉะนั้นนี่เป็นการเสียสมดุล ที่ผ่านมานี่เราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า คือฝากความหมายฝากความหวัง ฝากชีวิต ฝากความสุขของชีวิตไว้กับวัตถุใช่ไหม ถ้าอย่งนี้เราเสียดุลแล้ว เราจะต้องไม่ฝากชีวิตไว้กับวัตถุมากเกินไป ชีวิตของเรามี 2 ด้าน มีกายกับใจ มีวัตถุและนามธรรม ความสุขทางจิตใจ ความสุขจากมิตรไมตรีจิตมิตรภาพ ความสุขจากการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกัน ความสุขจากการบำเพ็ญประโยชน์ ความสุขจากการที่ศึกษาค้นคว้าวิชาการ การได้เรียนรู้ การได้สนองการใฝรู้ การได้เจริญสติปัญญา ความสุขจากการที่ได้เจริญสมาธิ ทำสมาธิให้จิตใจเข้มแข็ง มีความสงบมั่นคง ความสุขกับธรรมชาติแวดล้อมนี่มันมีอีกเยอะแยะ ทำไมเราจะไปฝากความสุขไว้กับวัตถุอย่างเดียวเล่า ฉะนั้นเราก็ขยายมิติแห่งความสุขออกไปสิ ฝึกชีวิตจิตใจของเราออกไป อย่าให้เสียดุล ให้มีทาง แม้วัตถุจะขาดแคลนก็สามารถมีความสุขได้ ฉะนั้นอันนี้ก็เป็นเรื่องของวิถีชีวิตอย่างหนึ่ง ขอเสนอเป็นตัวอย่างไว้ ตอนนี้เวลาน้อยแล้วก็ขอข้ามต่อไปในข้ออื่นๆ อย่างน้อยก็พูดในแง่หลักการไว้ ประการที่สองก็คือว่าฐานที่ตั้งตัว คนเรานี่จะเดินก้าวหน้าไปได้ มันต้องมีฐานที่ตั้งตัวก่อน เรายืนบนฐานนั้นแล้ว เรามีฐานที่ดี เราก็เดินก้าวจากฐานนั้นไป แล้วเราจะขึ้นสูงกว่านั้นเราก็ขึ้นจากฐานขึ้นไป ทีนี้ฐานในแต่ละคนต้องมีอยู่กับตัวก่อน ฐานที่ตั้งตัวก็เป็นฐานที่ตั้งต้นด้วย ตั้งตัวได้ แล้วก็ตั้งต้นเดินต่อไป คนไทยเราก็มีฐานที่ตั้งตัว แล้วก็ใช้เป็นที่ตั้งต้น แต่ดูเหมือนว่าเราไม่ใช้ทั้งเป็นที่ตั้งตัวและเป็นที่ตั้งต้น เราก็เลยยากที่จะเดินหน้า เป็นอย่างนี้หรือเปล่าว่าที่ผ่านมาเนี่ย