แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
วันนี้ก็คุยกันนิด ๆ หน่อย ๆ คงจะไม่ได้พูดเป็นเรื่องเป็นราวอะไรมาก พูดเป็นเกร็ดหรือเป็นเรื่องไปเตือน วันนี้จะพูดเรื่องถ้อยคำเรื่องศัพท์ พอดีว่าที่พูดคราวก่อนพูดถึงเรื่องชีวิตในวัดสมัยพุทธกาลที่มีชีวิตของการศึกษาแล้วก็มีสถานที่ที่แสดงธรรมที่พระพบปะกันพูดจาสากัจฉาอะไรกันในทางธรรมะ ก็ได้เล่าให้ฟังแล้วว่ามีอาคารหรือจะเรียกว่าสถานที่ก็แล้วกันที่สำคัญที่ใช้ที่ได้ยินอยู่เรื่อย ๆ 1) อุปัฏฐานศาลา แปลอย่างหนึ่งก็เอาง่าย ๆ ว่าศาลาที่เฝ้า แล้วก็ 2) มณฑลมาน หรือมันดาลา (Mandala) โรงกลม อันนี้ก็เล่าไปแล้ว ก็มีท่านหนึ่งในนี้แหละนอกที่ประชุมท่านถามเรื่องนี้โยงไปเรื่องธรรมสภา ก็เลยเอามาเล่าให้ฟัง ก็โมทนาท่านที่มีความสนใจใฝ่รู้ใคร่ในการศึกษาเมื่อได้ยินเรื่องนี้แล้วสนใจถามต่อ ก็เล่าเรื่องศัพท์ให้ฟังหน่อย ก็ทวนความอีกทีหนึ่งในสมัยพุทธกาลที่พระไปประชุมกัน แล้วมีแม้แต่การแสดงพระสูตรเกิดที่อุปัฏฐานศาลานี้ ก็เป็นที่สำคัญแห่งหนึ่ง เป็นคำที่เรียกยากหน่อย อุปัฏฐานศาลาที่จริงแล้วเป็นหอฉัน ก็คือเดิมพระในสมัยพุทธกาลตอนแรกก็ฉันกลางแจ้งเพราะว่ายังไม่มีอาคารที่จะฉัน เมื่อไปบิณฑบาตกลับมาแล้วก็มานั่งฉันกันกลางแจ้ง ร้อน พระพุทธเจ้าก็เลยมีพุทธานุญาตว่าให้ภิกษุทั้งหลายฉันในอุปัฏฐานศาลา แต่เรานิยมแปลกันว่าศาลาเป็นที่บำรุง จะแปลว่าบำรุงก็ได้ แปลว่าดูแลก็ได้ ไป ๆ มา ๆ ก็แปลว่าเฝ้า เหมือนอย่างอุปัฏฐากที่บอกแล้ว อุปัฏฐานกับอุปัฏฐาก อุปัฏฐานก็แปลสถานที่ อุปัฏฐากก็เป็นบุคคล นั่นแหละที่สำหรับอุปัฏฐาก สำหรับไปอุปัฏฐากไปอุปัฏฐานพระพุทธเจ้าก็คือเฝ้า แม้แต่ว่าดูแลพระภิกษุอาพาธก็เรียกว่าเฝ้าไข้ ศาลาที่เป็นที่พระฉันกันนี้ก็ย่อมเป็นอาคารหรือว่าเป็นสถานที่กว้างขวางหน่อยเพราะว่าตามกุฏิก็เล็ก ๆ เมื่อเลิกฉันแล้วพระก็ฉันแค่ไม่เกินเที่ยง ศาลานี้ก็ว่างไม่ได้ใช้งานเป็นเวลาตั้งครึ่งค่อนวัน พระก็เลยมาใช้เป็นที่ประชุม มาแสดงธรรม มาสนทนาธรรม มาสากัจฉากัน อย่างที่เคยเล่าไปคราวก่อนแล้วเรื่องราวต่าง ๆ อันนี้ก็หนึ่งละอุปัฏฐานศาลาเป็นที่ที่พระมาพบปะสนทนาคุยธรรมะ แสดงธรรมของพระพุทธเจ้า แม้แต่พระสูตรบางสูตรก็เกิดในอุปัฏฐานศาลานี้ อีกแห่งหนึ่งก็มณฑลมานที่ว่าไปแล้ว โรงกลมนี้อยู่มักจะไม่ไกลจากกุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้า พระก็เหมือนกันก็มานั่งสนทนากันตรงนี้ พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากพระวิหาร ที่ประทับเรียกว่าวิหาร ในพระไตรปิฎกเรียกว่าวิหาร บ่อย ๆ ทีเดียวก็จะเสด็จมาที่พระสนทนากันนี้ แล้วก็จะตรัสถามว่าพวกเธอทั้งหลายสนทนากันอยู่เรื่องอะไร คุยเรื่องอะไรที่เคยค้างอยู่ อย่างที่เคยเล่าไปแล้ว กายนุตฺถ ภิกขเว เอตรหิ กถาย สนฺนิสินฺนา อะไรนั่นนะ ที่ว่าไปแล้ว พระก็จะกราบทูลแล้วพระพุทธเจ้าก็จะตรัสสอนแนะนำแล้วบางทีก็เลยกลายเป็นทรงอธิบายอะไรยาวเป็นพระสูตรไปเลย ที่อุปัฏฐานศาลาและมณฑลมานก็เกิดพระสูตร อย่างน้อยก็เป็นที่พระสนทนาธรรมกัน เรื่องมาในพระไตรปิฎกก็เป็นแบบนี้
ต่อมาในสมัยอรรถกถาจะมีคำใหม่ที่ใช้มากคือคำว่าธรรมสภา ธรรมสภานี้ก็มากมายในอรรถกถานี้ แม้แต่เพียงข้อความว่า ธมฺมสภายํ กถํ สมุฏฐาเปสุํ ถ้าจะได้ยินเรื่อยแหละเรียนอรรถกถาธรรมบท ท่านก็จะเล่าเรื่องพระสนทนากันตั้งเรื่องยกเรื่องราวขึ้นมาพูดจาสนทนากันก็เรียกว่า ธมฺมสภายํ กถํ สมุฏฐาเปสุํ ยังงี้ มาในอรรถกถาเฉพาะข้อความนี้เกินร้อยแห่ง แค่อรรถกถาชาดกก็ร่วมร้อยแห่งแล้วยังมาในอรรถกถาธรรมบทที่พระเริ่มเรียนบาลีก็จะใช้คัมภีร์นี้ก็หลายสิบแห่ง คำว่าธรรมสภานี้เป็นคำในยุคอรรถกถา ในพระไตรปิฎกนั้นก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ อุปัฏฐานศาลาแล้วก็มณฑลมานแล้วโดยมากก็ไม่บอกก็จะบอกโดยว่าพระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรมรวบรัดไปเลย ในพระไตรปิฎกนั้นใช้ธรรมสภาน้อย ไม่ใช่ในความหมายนี้ด้วยซ้ำ ใช้ในความหมายอื่น ยกตัวอย่างเช่นว่า พระมหาสาวกที่สำคัญเป็นเอตทัคคะทางพระวินัย ใครล่ะ ถามหน่อย พระอุบาลี พระอุบาลีท่านเป็นเอตทัคคะทางพระวินัย เมื่อท่านเล่าประวัติของท่าน ท่านก็เล่าเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นมาท่านเล่าเป็นความอุปมา ท่านเล่าไว้ในประวัติของท่านว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงสร้างธรรมนครขึ้น ธรรมนครก็หมายความว่าเหมือนอย่างทางบ้านเมืองเขาสร้างบ้านเมือง พระพุทธเจ้าก็ทรงสร้างธรรมนครขึ้น ธรรมนครนี้ไม่ได้เป็นวัตถุหรอก เป็นนามธรรม แล้วก็บรรยายว่าในนั้นมีอะไร ๆ แล้วก็มีธรรมสภาด้วย แต่ธรรมสภานี้เป็นคำอุปมา ท่านอธิบายไว้เองในนั้นว่าธรรมสภาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสร้างขึ้นก็ได้แก่ พระไตรปิฎก พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม พร้อมทั้งนวังคสัตถุสาสน์ พระพุทธพจน์มีองค์ 9 นี่คือธรรมสภาในความหมายของพระอุบาลี เป็นคำอุปมาเท่านั้น เป็นนามธรรม แล้วก็ไปมีเป็นธรรมสภาของชาวบ้าน เออ! แปลก แทนที่จะเป็นของพระ พระเจ้าแผ่นดินแห่งกุรุรัฐ กุรุนี้อยู่ที่ไหน อ้าว! ถาม เมืองอินทรปัตถ์เป็นเมืองหลวงของกุรุรัฐ แคว้นกุรุ จำได้ไหม กุรุ ปัญจาละ อัสสกะ อวันตี คันธาระ กัมโพชะ ฯลฯ รัฐ 16 รัฐในพุทธกาล กุรุนี้เป็นรัฐใหญ่ เดี๋ยวนี้ก็อยู่แถวเมืองเดลี นิวเดลีนี้อยู่แถวแคว้นกุรุ ที่แคว้นกุรุนี้ก็มีเมืองหลวงชื่ออินทรปัตถ์แล้วมีพระเจ้าแผ่นดินครองตามเรื่องในชาดกก็มีเรื่องราวยาวเป็นวิธุรชาดกก็เล่าเรื่องนี้ ก็กลายเป็นว่าเมืองอินทรปัตถ์เมืองหลวงของแคว้นกุรุ พระเจ้าโกรพยะ โกรัพยะ โกรพ ไทยเรียกว่าโกรพ ก็มีธรรมสภา แล้วก็พระโพธิสัตว์เป็นวิธุรบัณฑิตก็ไปกล่าวธรรมะในธรรมสภาของแคว้นกุรุนี้ ก็เป็นเรื่องประกอบไป เป็นเรื่องย่อย กลายเป็นว่าใช้อย่างนี้ในสมัยพุทธกาลธรรมสภานี้ไม่ได้เป็นที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรม แต่พอมายุคอรรถกถาแล้วเต็มไปหมดเลย อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาแล้วก็กลายเป็นว่าแสดงธรรม บางทีก็บอกเลยพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในธรรมสภา อันนี้หมายถึงอรรถกถาเล่านะไม่ใช่ในพระไตรปิฎก
ยกตัวอย่างง่าย ๆ อันนี้เล่าเป็นเกร็ดความรู้ท่านก็ฟังไว้ คือในพระไตรปิฎกนี้ก็รู้กันอยู่แล้วว่าพระสุตตันตปิฎกมีพระสูตรมากมาย พระสูตรโดยทั่วไปก็พระอานนท์เป็นผู้ทรงจำแล้วก็เป็นผู้นำมาแสดง ในการสังคายนาพระอานนท์ก็จะขึ้นต้นด้วย เอวมฺเม สุตํ ฯ เอกํ สมยํ ภควา แล้วก็ว่าไป สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ฯ อย่างนี้เป็นต้น นี่ก็เป็นสำนวนประจำไปเลย เอวมฺเม ฯ ทุกสูตร พระสูตรนี้มีมากมาย ที่นี่ในเล่มที่เป็นพระสูตรยาว ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย มีนิกายละไม่กี่สูตร 30 กว่าสูตร 152 สูตรอย่างนี้ก็พอไหวขึ้นเอวมฺเม ฯ ทุกสูตร ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย ท่านก็ลงไว้หมด เอวมฺเม สุตํ ฯ แล้วก็บอกที่ว่าตรัสที่ไหน แต่พอถึงสังยุตตนิกาย อังคุตรนิกาย ที่นี่สูตรเยอะเลย สังยุตตนิกายนี้ตั้ง 7,762 สูตร เอาละสิ ถ้าเอาคำว่า เอวมฺเม สุตํ ฯ เอกํ สมยํ ภควา ตรัสที่ไหนเข้าไปอีกกินอีกหลายบรรทัดเลย 7,762 สูตรนี้เข้าไปเพิ่มอีกกี่หน้าละ เอวมฺเม สุตํ ฯ เอาละสังยุตตนิกายยังพอว่า พอไปอังคุตรนิกาย 9,557 สูตร พระสูตรนี้จำนวนนี้เป็นเรื่องที่จำติดมาเก่าถ้าเลือนลางไปใครก็ไปช่วยตรวจสอบด้วย เอาเป็นว่ามากมาย อังคุตรนิกาย 9,557 สูตร แล้วก็มีทั้งหมด 5 เล่ม เล่ม 1 เล่ม 2 เอกกนิบาต ทุกนิบาต ถึงติกนิบาตร สูตรหนึ่งนี้บางที 2 – 3 บรรทัด สั้นนิดเดียว พอสูตรต่อมาเป็นหมวด 2 หมวด 3 ก็ยาวขึ้น ครึ่งหน้าบ้างอะไรบ้าง ขนาดถึงจตุกกนิบาตบางทีสูตรหนึ่งแค่ค่อนหน้าก็ยังมี ถ้าขืนไปลง เอวมฺเม สุตํ ฯ บอกคำเริ่มต้น บอกสถานที่ตรัสทุกแห่งแล้วก็ไม่รู้ว่าเนื้อที่กินอีกเท่าไร ดังนั้นพอถึงอังคุตรนิกายพระสูตรสั้น ๆ ท่านก็ไม่ใส่แล้ว ละไว้ฐานที่เข้าใจ ก็เลยไม่มีแล้ว เอวมฺเม สุตํ ฯ เอกํ สมยํ ภควา แต่ให้รู้กันว่า อ๋อ! ใส่เอาเองนะ เช่นขึ้นว่า จตฺตาโรเม ภิกฺขเว อริยวํสา อย่างนี้เป็นต้น ขึ้นมาเฉย ๆ อย่างนี้ ก็ให้รู้กันว่ามี เอวมฺเม สุตํฯ นำนะ ถ้าใครจะไปเขียนก็ไปใส่เอา แล้วโดยปกติพระสูตรส่วนใหญ่ก็ตรัสที่เมืองสาวัตถีเพราะฉะนั้นก็ใส่ สาวตฺถิยํ เรื่องก็เป็นมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้นในอังคุตรนิกายในนิกายโดยเฉพาะต้น ๆ ก็เป็นอันว่ามีแต่หัวข้อธรรมพระธรรมเทศนาแสดงหมวดธรรมต่าง ๆ อย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อกี้ จตฺตา ในนั้นอันนั้น จตฺตาโรสิ ก็อยู่ในจตุกกนิบาตก็คือเล่ม 21 จตฺตาโรเม ภิกฺขเว อริยวํสา เราก็มาเติมเอาสิ เอวมฺเม สุตํ ฯ เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ฯ
ที่นี่พอเราไปดูอรรถกถาอธิบายพระสูตรอริยวังสานี้ พระอรรถกถาจารย์ก็ใส่เข้าไปเลยบอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้อริยวงศ์ 4 นี้ในธรรมสภา ว่างั้นนะ พระอรรถกถาจารย์ใส่เข้ามาเลยบอกว่าตรัสในธรรมสภาที่เชตวันในพระนครสาวัตถี เพราะฉะนั้นให้เข้าใจคำว่าธรรมสภาในสมัยอรรถกถาว่าท่านหมายถึงที่ประชุม ที่พูดธรรมะกัน แสดงธรรมฟังธรรมกัน ก็เรียกเป็นที่ประชุมแบบนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่ ไม่ใช่เรียกตัวสถานที่หรือเรียกที่ประชุมอย่างนั้น ซึ่งที่จริงแล้วอาจจะเป็นอุปัฏฐานศาลาก็ได้ อาจจะเป็นมณฑลมานก็ได้ในพุทธกาล พอถึงอรรถกถาท่านก็พูดให้คลุม ๆ คล้าย ๆ ว่าไม่ต้องเสียเวลาไปทวนกันอีกก็ใช้คำว่าธรรมสภาที่พุทธบริษัทประชุมกันมาฟังธรรมกันนั่นแหละใช้คำว่าธรรมสภา เพราะฉะนั้นท่านก็เลยใช้อย่างนี้เรื่อยไป เพราะฉะนั้นในอรรถกถาก็เลยมีคำว่าธรรมสภาเยอะไปหมดอย่างที่บอกเมื่อกี้ ศัพท์ในยุคพุทธกาลกับในยุคอรรถกถานี้บางทีก็เพี้ยนต่างกันไปเยอะ อย่างในสมัยพุทธกาลเมื่อเริ่มต้นเรียกวัดว่าอาราม ต่อมาก็มีคำว่าอาวาสเข้ามา แล้วมาสมัยอรรถกถาเริ่มใช้คำว่าวิหารกันเสียมาก อย่างเชตวันนี้ก็ดูสิ เอวมฺเม สุตํ ฯ เอกํ สมยํ ภควา สาวตฺถิยํ วิหรติ เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม ฯ บอกว่า ดังข้าพเจ้าได้สดับมา สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวัน อันเป็นอารามของเศรษฐีอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในพระนครสาวัตถี เห็นไหมว่าคำว่าวัดใช้คำว่าอาราม แล้วก็เป็นเชตวันนั่นก็คือเดิมเป็นป่าของเจ้าเชต เพราะฉะนั้นก็เป็นคำเรียกวัด พระพุทธเจ้าตรัสว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว อารามํ ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตอาราม ก็คืออนุญาตวัดให้พระมีที่อยู่ ใช้คำว่าอาราม แต่มีใช้คำว่าอาวาสบ้างอย่างในวินัย พอมายุคอรรถกถา เชตวันนารามก็มาเรียกเป็นเชตวันวิหารแล้ว เรียกเชตะวันมหาวิหารบ้าง อย่างที่ประทับของพระพุทธเจ้าไม่มีหรอกในพระสูตรว่าเรียกว่าคันธกุฎี พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากวิหาร ไปดูในพระไตรปิฎก แล้วมาที่มนฑลมานพบภิกษุทั้งหลาย ก็คือที่ประทับของพระพุทธเจ้าใช้คำว่าวิหาร เรามาสร้างที่ประทับของพระพุทธเจ้า ให้พระพุทธเจ้าประทับอยู่กับเราในวัด เราก็เลยเรียกวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้านั้นว่าวิหาร มักสร้างไว้คู่กับโบสถ์ วิหารก็คือเราต้องการให้พระพุทธเจ้าประทับอยู่กับเราด้วย เราก็สร้างที่ประทับให้แก่พระองค์เรียกว่าวิหาร ก็คู่กับโบสถ์ แล้วเราก็มีพระพุทธรูปมากมายเราก็ไปเก็บไว้ในวิหารนั่นแหละ ก็คือที่ประทับของพระพุทธเจ้า แต่วิหารที่จริงก็ใช้ได้กับภิกษุทุกรูป ก็คือที่อยู่นั่นแหละ สมัยพุทธกาลพอมีอารามต่อมาก็มีวิหารอยู่ในอาราม ก็คือที่อยู่ กุฏิก็คือวิหาร ที่จริงเป็นศัพท์ธรรมดาแปลว่าที่อยู่ เดี๋ยวนี้เรามาติดรูปแบบในเมืองไทยนึกว่าวิหารคือรูปทรงอย่างนั้น อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องแยกแยะเอา เรื่องก็เป็นอย่างนี้ ที่พระพุทธเจ้าประทับก็เรียกง่าย ๆ ว่าเสด็จออกจากวิหารแล้วก็เสด็จไปที่มณฑลมานหรือไปอุปัฏฐานศาลา ทรงพบภิกษุทั้งหลายแล้วก็ได้ตรัสถาม ทรงสนทนา แสดงธรรม อะไรก็ว่าไป แต่ในสมัยอรรถกถาเรียกที่ประทับของพระพุทธเจ้าว่าพระคันธกุฎีอย่างนี้เป็นต้น อันนี้เราก็ต้องเข้าใจ ยุคสมัยก็เปลี่ยนแปลงไป การใช้ศัพท์ถ้อยคำก็เปลี่ยนแปลงไป อันนี้ก็เลยเอามาเล่าให้ฟัง
แล้วก็มีอีกอันหนึ่ง ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เขาเรียกว่าเทวสภา เทวสภามีชื่อเต็มว่าสุธรรมาเทวสภา เทวสภาคือสภาของเทวดา ที่ประชุมเทวดา ชื่อว่าสุธรรมา เหตุที่ชื่อว่าสุธรรมาก็เป็นชื่อว่าพระเทวีองค์หนึ่งของพระอินทร์หรือท้าวสักกะ คือพระอินทร์หรือท้าวสักกะมีเทวี 4 องค์ คือ สุชาดา สุจิตรา สุนันทา สุธรรมา สุธรรมานี้ก็เป็นเทวีพระองค์หนึ่ง แล้วก็ได้ใช้ชื่อเป็นชื่อของเทวสภาของดาวดึงส์สวรรค์ก็เลยได้เรียกว่าสุธรรมาเทวสภา แล้วก็มีเรื่องราวที่ว่าทำไมจึงตั้งชื่อสุธรรมาเทวสภาก็เล่ากันมาในอรรถกถา เล่าตั้งแต่เป็นมนุษย์ สมัยที่พระอินทร์หรือท้าวสักกะเป็นมฆมาณพได้บำเพ็ญประโยชน์ ก็ได้มีการทำบุญต่าง ๆ เรียกว่าทำบุญ เช่น ทำถนน ขุดบ่อน้ำ สร้างสะพาน ทำความสะอาดสถานที่ต่าง ๆ สร้างศาลาที่พักคนเดินทาง นี่คือการทำบุญของพระอินทร์ ซึ่งจะทำชุมชนให้อยู่กันดีมีความสุขเป็นบุญขั้นต้นที่ชาวพุทธในสมัยปัจจุบันนี้ไม่ค่อยได้เอาใจใส่ คือคนทำบุญต้องนึกถึงชุมชนของตัว ทำความดีบำเพ็ญประโยชน์ให้ชุมชนของตัวอยู่กันดีแล้วพร้อมแล้ว อีกด้านหนึ่งพระสงฆ์ท่านอยู่ท่านจะอยู่ได้อย่างไร ท่านต้องอาศัยอามิสทานของชาวบ้าน โยมก็ไปบำรุงให้พระสงฆ์อยู่ได้ นั่นก็เรียกว่าทำบุญ ทำบุญมีตั้ง 10 อย่าง ฉะนั้นการทำบุญเบื้องต้นขั้นแรก ๆ นี้เราไม่ค่อยนึก ให้นึกถึงพระอินทร์ สมัยก่อนเทศน์กันค่อนข้างบ่อยเรื่องวัตตบท 7 ประการของพระอินทร์ ของมฆมาณพ มฆมาณพเป็นนักทำบุญ เป็นผู้ที่ทำความสะอาดสถานที่ บริเวณที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน จัดให้เป็นรมณีย์ ศัพท์นี้มากับการทำบุญของพระอินทร์ก็คือทำให้มันเป็นรมณีย์ อยู่ไหนที่ไหนต้องทำให้เป็นรมณีย์ เป็นที่น่ารื่นรมย์ สะอาดสะอ้าน สบายตาสบายใจ น่าทำงาน น่าอยู่ เสร็จแล้วก็ทำอย่างไร บำเพ็ญประโยชน์ในท้องถิ่นชุมชนของตัว ถนนหนทางไม่มีไม่สะดวกก็ไปสร้างถนนหนทางให้เรียบร้อย แล้วที่ไหนไม่มีสะพานข้ามแม่น้ำก็ไปสร้างสะพาน ที่ไหนขาดแคลนน้ำก็ไปขุดบ่อน้ำ ขุดสระ แล้วก็ตามถนนทางไกลพอมีกำลังมากขึ้นคนเดินทางไปมาลำบากไม่มีที่พักคนเดินทางก็ไปสร้างศาลาที่พักคนเดินทาง ปลูกสวนปลูกป่าอะไรต่าง ๆ นี่คือการทำบุญขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่ท่านเน้นไว้ในยุคโน้น แต่ว่าในสมัยนี้เราทำบุญคือไปถวายสังฆทานไปวัดโน่น แล้วก็ลืมไม่นึกถึงการทำบุญที่ชุมชนของตัวเองที่จำเป็นต้องทำให้ดี ทำบุญสมัยนี้แคบ ต้องนึกให้ดีให้พร้อม อันนี้ก็เลยเอามาทบทวนให้ฟังด้วย
เอาละว่าจะพูดเรื่องศัพท์ก็เลยชักจะเลยไปแล้วขยายไปเรื่อยเลย เรื่องศัพท์ก็เป็นอันว่าเมื่อกี้พูดถึงอุปัฏฐานศาลา มณฑลมานอะไรนั่นยุคพุทธกาล มาสมัยอรรถกถาก็ธรรมสภา ถ้าเป็นสวรรค์ก็เทวสภา ธรรมสภาก็เป็นที่ที่พระและพุทธบริษัทมาฟังธรรมหรือมาสนทนา มาพูดจาถกเถียงอภิปรายธรรมะกัน ก็ได้ความรู้ให้เจริญธรรมเจริญปัญญา ชีวิตสมัยนั้นก็ต้องการอันนี้เป็นสำคัญ ก็คิดว่าพูดเรื่องธรรมสภาโยงไปที่อุปัฏฐานศาลา มณฑลมาน ก็พอสมควร ท่านจะได้เข้าใจว่ามันเป็นอย่างไรมาอย่างไรกัน ก็เลยอยากจะย้อนพูดเรื่องเก่าที่พูดไปเมื่อคราวที่แล้วนิดหน่อยคือชีวิตพระชีวิตสังฆะนี้อยู่กันเป็นชุมชน แต่พร้อมกันนั้นคนก็จะนึกกันว่าพระก็อยู่เงียบ ๆ อยู่สงัด ด้านหนึ่งก็เป็นชีวิตสังฆะอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน อีกด้านหนึ่งก็เป็นชีวิตเหมือนกับอยู่คนเดียวเดี่ยวโดด เป็นชีวิตที่ปลีกวิเวก อยู่สงัด รับผิดชอบในการศึกษาฝึกตนเอง นี่แหละ 2 ด้านนี้ต้องสมดุลกัน ใครมองพระพุทธศาสนาต้องมองให้ครบ อย่าไปมองพุทธศาสนาในแบบที่เล่าเมื่อคราวที่แล้วที่ฝรั่งมองผิด ตอนแรกแกยังไม่ได้ศึกษา ที่บอกว่ามีฝรั่งตอนระยะเมื่อ 40 – 50 ปีก่อนนี้เรียกพระพุทธศาสนาเป็นพวก asceticism ลัทธิฤาษีชีไพร อย่างที่บอกแล้วฤาษีชีไพรท่านปลีกหนีสังคมหลบลี้ออกไปอยู่ในป่าไกล ๆ ไม่ให้คนไปถึง แล้วก็ไปสร้างอาศรมกันแล้วก็อยู่เงียบ ๆ ไม่เอาอาหารจากผู้คน ไปหากินเอง ไปขุดเผือกขุดมัน ไม่งั้นก็ไปรอให้ผลไม้หล่นเอง บางลัทธินี้ถือสำคัญ พอไม่สอยไม่ไปปีนต้นเอาก็ต้องไปรอให้ผลไม้หล่นเองถึงจะไปเอามากินอะไรทำนองนี้ก็แล้วแต่จะถือกัน แล้วก็นาน ๆ เป็นหลาย ๆ เดือนก็เข้ามาในหมู่บ้านสักทีมาหาเกลือเพราะว่าไม่มีเกลือจะฉัน ก็จะมีเรื่องในอรรถกถาเล่าเรื่องฤาษีชีไพร แต่พระของเราไม่ได้ พระพุทธเจ้าเห็นมาแล้วพวกลัทธิฤาษีชีไพรพระองค์ไม่ทรงยอมรับ เป็นชีวิตที่หนีสังคม พระพุทธเจ้าบัญญัติพระสงฆ์ต้องอยู่ด้วยอาหารบิณฑบาต ก็เลยกลายเป็นว่าทุกวันนี้ต้องพบชาวบ้านต้องพบประชาชน แล้วก็มีโอกาสว่าตัวเองไปปฏิบัติธรรมอย่างไรมาเมื่อรู้แล้วต้องเอาไปเผื่อแผ่แจกจ่ายแก่ประชาชน ตั้งต้นแต่พบกันที่บิณฑบาตนั้น ดังนั้นของพระพุทธศาสนานั้นก็เป็นอันว่าไม่ให้เป็นชีวิตที่อยู่เดียวดายหลบลี้หนีสังคม ท่านไม่ยอม นี่ก็คฤหัสถ์เป็นขั้นต้น ถ้าพระด้วยกันก็ต้องมีสังฆกรรม มีอะไรที่เป็นกิจส่วนรวม มีเรื่องอะไรก็ต้องมาประชุมกันพิจารณาตัดสินเรียกว่าสังฆกรรม แม้จะรับคนใหม่จะบวชก็ต้องทำสังฆกรรมอย่างนี้เป็นต้น อย่างน้อยก็ 15 วันก็มาพบกันครั้งหนึ่งมาประชุมกันสวดปาฏิโมกข์ ฟังเรื่องศีลทบทวนศีลกันที่เราเรียกว่าศีล 227 ก็คือวินัย 227 สิกขาบท ก็มาทบทวนกันแล้วก็ได้มีโอกาสมาสนทนาปรึกษาหารือแก้ปัญหาส่วนรวมด้วยกันซึ่งต้องใช้สังฆกรรมการประชุมสงฆ์ทั้งนั้น
ดังนั้นญาติโยมพุทธศาสนิกชนต้องเข้าใจ พุทธศาสนานี้ชีวิตส่วนตัวกับชีวิตส่วนรวมสังคมมันต้องสมดุลกัน ถ้ามีหลักนี้อยู่เรื่อยไป อ้าว! เมื่อกี้บอกชีวิตสังฆะ อีกด้านหนึ่งก็ชีวิตสงัดสงบ เราจะดูง่าย ๆ เวลาคนพบกันนี้มีอันหนึ่งต้องพูดใช่ไหม พอพบกันแล้วไม่พูดก็ถ้าจะไม่ได้เรื่องแล้ว พบกันก็พูดกันเพราะฉะนั้นก็มีเรื่องนี้ ยกตัวอย่าง พระจะจำพรรษา พระพุทธเจ้าตรัสเป็นสิกขาบทห้ามไว้ เคยเล่าไปแล้วเล่าอีกทีก็ได้ มีพระอยู่กลุ่มหนึ่งจะเข้าพรรษาท่านก็ไปหาที่อยู่ ก็ไปได้ที่หมู่บ้านหนึ่งในชนบท นี่เป็นพระในพุทธกาลก็ต้องเดินทางไปพอถึงพรรษาก็ต้องอยู่ประจำที่ พระกลุ่มนี้ก็พอจะเข้าพรรษาก็ไปหาที่ได้ที่ชนบทหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ก็ตกลงว่าอยู่ที่นี่แล้วนะ เออ! พวกเราพรรษานี้จะต้องปฏิบัติกันเต็มที่ ตั้งใจเอาจริงเอาจัง เข้าเข้มงวดกัน ก็เลยบอกว่า เอ้า! เราจะปฏิบัติกันเต็มที่ ก็เลยตกลงกันว่าพรรษานี้ไม่ต้องพูดกันนะ ตกลงกันไว้ก่อน ตั้งกติกาว่าจะมีสัญญาณอะไรก็ว่ากันไป แล้วก็ไม่ต้องพูดต่อจากนั้นใช้สัญญาณนี้ พอจำพรรษาจนครบ 3 เดือนเมื่อออกพรรษาแล้วก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นธรรมเนียม พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่าเธอทั้งหลายอยู่กันสบายดีหรือ อะไรทำนองนี้ พระท่านก็กราบทูลว่าสบายดี พระพุทธเจ้าตรัสถามว่าอยู่กันอย่างไร พระก็เล่าด้วยความภูมิใจคิดว่าพระพุทธเจ้าจะทรงชื่นชมว่า แหม! พวกเรานี้ปฏิบัติกันเคร่งครัดไม่ได้พูดเลย ก็เลยกราบทูลว่าพวกเรานี้ตั้งกติกาในพรรษาว่าไม่พูดกันเลย ปฏิบัติเข้มเต็มที่เลย พอทูลจบพระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างไรรู้ไหม ตรัสว่า “ดูก่อน โมฆบุรุษ” ว่างั้น บอกว่า “พวกเธอทำไมทำอย่างนี้ ทำไมอยู่กันอย่างปศุสัตว์” ใช้คำนี้เลยนะ บอกว่าปศุสัตว์มันอยู่มันไม่พูดกันหรอก แต่ว่ามนุษย์ต้องพูดกัน พระพุทธเจ้าเลยตั้งบัญญัติเป็นสิกขาบทบอกว่าไม่ให้ภิกษุทั้งหลายนี้อยู่โดยไม่พูดกันเรียกว่าอยู่โดยมูควัตร มูคพรต มูคะแปลว่าคนใบ้ ก็คือถือข้อปฏิบัติของคนใบ้ ไม่ให้ทำ ไม่ให้ปฏิบัติ เพราะว่าปศุสัตว์เขาอยู่กันอย่างนั้นแต่คนนี้มันต้องพูดกัน แล้วใช้วาจาให้เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ไม่พูดแต่ต้องฝึกการพูด รู้จักการพูด พูดให้ดี พูดให้ได้เนื้อหาได้เจริญธรรมเจริญปัญญาแก้ปัญหาได้ พูดแล้วเป็นประโยชน์ สำเร็จประโยชน์ ไม่ใช่พูดแล้วเกิดเรื่องเกิดราวทะเลาะวิวาทหรือสนุกสนานกันเป็นเพ้อเจ้อเสียเวลาเปล่า คือการที่ว่ามนุษย์นี้ต้องพูดแต่รู้จักพูดแล้วต้องฝึกการพูด เลยถือการฝึกพูดนี้เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่ไม่พูด แต่ถ้าพูดมากไปก็ไม่ได้อีก ต้องรู้จักพอดี ถ้าถึงขั้นไม่พูดก็เป็นมูคพรตอย่างที่ว่า
ที่พระพุทธเจ้าตรัสติเตียนมากอีกอย่างก็คือพูดมาก ชอบพูด ท่านให้ศัพท์เรียกว่าภัสสารามตา ภัสสารามตาแปลว่าความเป็นผู้มีการพูดคุยเป็นที่มายินดี เป็นสำนวนภาษาบาลี ถ้าสำนวนไทยก็แปลว่าชอบพูดคุย ชอบพูดคุยนี้ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ผิด พระพุทธเจ้าทรงติเตียนบ่อย ภัสสารามตา ชอบจริงคุยกัน อะไรก็ไม่รู้เอามาคุยกันเรื่อยเปื่อยอันนี้เรียกว่าภัสสารามตา ถ้าเป็นคนเรียกว่าภัสสาราโม ผู้ที่ชอบพูดคุย ดังนั้นต้องรู้จักประมาณ เช่นว่าคำที่ท่านตรัสเตือนไว้ให้รู้จักประมาณให้รู้จักพูดนี้มีเยอะแยะเลยไปดูสิคำสุภาษิตมีลักษณะ 5 อย่าง ฝากให้ไปทบทวน ไปค้นดู คำสุภาษิตนี้มีองค์ 5 มีลักษณะ 5 อย่าง แต่ที่เน้นก็คือเรื่องกาลวาที รู้จักกาละที่จะพูด รู้ว่าจะพูดให้เป็นเวลา ให้ถูกเวลา แล้วก็ให้พอสมควรแก่เวลา เป็นต้น มิตภาณีก็ต้องพูดโดยรู้จักประมาณ มันตาภาษาพูดด้วยปัญญา อะไรพวกนี้ท่านจะตรัสเน้นเรื่องวาจา พระพุทธเจ้าตรัสบ่อยมาก เป็นวาจาที่สำคัญ แม้แต่ปิยวาจานี้ก็มากเหลือเกิน ตรัสไว้อีกอย่างในสังคหวัตถุ 4 อย่างนี้ โอ้! เรื่องวาจานี้เรื่องใหญ่มาก ต้องฝึกพูดให้เป็นสำคัญมากมาบวชเป็นพระนี้ต้องไปแสดงธรรมด้วย ต้องไปเป็นธรรมกถึก ไม่ไปเป็นธรรมกถึกก็ต้องไปช่วยบอกเล่าบอกธรรมให้โยมฟังตามหลักที่ปฏิบัติในสิงคาลกสูตร แม้แต่ในทิศ 6 ทิศสุดท้าย อุปริมทิศ ทิศที่ 6 ว่าอย่างไรละ ก็บอกว่าพระภิกษุนี้ปฏิบัติอย่างไรกับโยม ให้โยมได้ยินได้ฟังได้ยินได้รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง แล้วก็ทำสิ่งที่ได้ยินได้รู้นี้ให้ชัดเจนแจ่มแจ้งเป็นหน้าที่ของพระต่อญาติโยม เพราะฉะนั้นพระก็ต้องมีหน้าที่อย่างนี้ ท่านก็สนับสนุนให้พระมาสนทนากันมาสากัจฉา มีวิธีปริปุจฉา มีอุทเทสปริปุจฉา การศึกษาของพระนี้มีการพูดกันเรื่อยแต่พูดให้เจริญธรรมเจริญปัญญา ไม่ใช่พูดเรื่อยเปื่อยเพ้อเจ้อไป ฉะนั้นก็ความพอดีนี้สำคัญ มูควัตรไม่พูดเลยนั่นก็ตรงข้ามเป็นสุดโต่ง แล้วก็ภัสสารามตาชอบพูดเอาแต่พูดก็สุดโต่งไป ก็เสีย ที่นี่ก็เอาตัวการที่มาอยู่ร่วมกัน สังฆะเป็นชีวิตชุมชนใช่ไหม อันนี้ก็บอกแล้วเคยเล่าแล้วอย่างพบปะกันกับญาติโยมก็มีหน้าที่ต่อญาติโยม โยมมีปัญหาอะไร ไม่เข้าใจอะไรไต่ถาม หรือฉันมีอะไรใหม่ ๆ ให้โยมได้ฟังก็บอกไป
แต่ไม่เท่านั้นท่านก็ระวังอีก พระบางองค์ก็ไปวุ่นวายกับญาติโยมมากถึงขั้นที่ท่านใช้คำว่าคลุกคลีกับคฤหัสน์ เคยพูดแล้วเรื่องนี้ คลุกคลีกับคฤหัสน์ท่านใช้คำว่าคิหิสังสัคคะ ถ้าเป็นบุคคลก็เรียกว่าคิหิสังสัคโค แปลว่าคลุกคลีกับคฤหัสน์ ลักษณะคลุกคลีก็คือสหนันที สหโสกี เป็นต้น ก็บอกว่าเขาเฮก็เฮด้วย เขาฮาก็ฮาด้วย เขาโฮก็โฮด้วย ว่างั้นนะ เข้าใจไหมว่าโฮด้วยคืออะไร โฮด้วยก็คือเขาร้องไห้ก็ร้องไห้ด้วย แล้วก็ไปทำอะไรต่ออะไรเขามีธุระกิจหรืออะไรต่ออะไรก็เข้าไปวุ่นวายยุ่งเกี่ยวข้องกับเขา อย่างนี้ท่านเรียกว่าไปคลุกคลีกับคฤหัสน์ พระสงฆ์ที่ประชุมชุมชนสังฆะมองเห็นพระภิกษุรูปนี้ไปคลุกคลีกับญาติโยมอย่างนี้ก็อาจจะมาพิจารณานำเข้าที่ประชุม นี่แหละสังฆกรรม ว่าท่านนี่ชักจะเกินไปแล้วนะ ไปคลุกคลีกับญาติโยมมันเกินความเป็นพระแล้ว เตือนกันก่อน เตือนแล้วเชื่อฟังก็ดี เมื่อเตือนแล้วไม่เชื่อฟังก็เอาแล้วเข้าที่ประชุมคราวนี้ตกลงกันสวดญัตติเลย ตั้งข้อเสนอ ลงมติ เมื่อลงมติแล้วก็ลงโทษเลย ลงโทษได้หลายสถานเลย ท่านเรียกว่านิคคหกรรม ลงปัพพาชนียกรรมขับไล่จากวัด ลงนิยสกรรมถ้าเป็นภาษาปัจจุบันเขาเรียกว่าถอดยศ เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ต่อไปนี้ไม่ต้องไหว้เป็นการลงโทษ ลงโทษได้เยอะเลย ลงโทษได้แทบทุกอย่างที่พระมีให้ลงโทษสำหรับพระที่ไปคลุกคลีกับคฤหัสน์ สงฆ์ที่ประชุมสงฆ์ลงโทษ นี่ก็คิหิสังสัคคะ เรื่องอะไรพระไปร่วมเขาเฮก็เฮด้วย เขาฮาก็ฮาด้วย โฮก็โฮด้วย สหนันที สหโสกี ท่านไม่ทำอย่างนั้น ถ้าชาวบ้านเขารื่นเริงบันเทิงเกินไปเขาจะลุ่มหลงมัวเมาก็ไปเตือนเขา สอนธรรม ไม่ใช่ไม่พูดนะ ก็ไปบอก “เออ โยมอย่าไปสนุกสนานกันเกินไปนัก มันตั้งอยู่บนความประมาทเสียแล้ว ควรจะตั้งใจทำกิจทำหน้าที่การงาน มีปัญหาเรื่องราวอะไรเราควรจะช่วยกันคิดแก้ไข” อะไรเหล่านี้เป็นต้น ถ้าเขาเศร้าโศกมีเรื่องราวเสียใจก็ต้องเป็นหลักให้เขา ไปช่วยปลอบโยน ไปช่วยให้สติให้ธรรมะ เขาจะได้ทำใจแก้ไขปัญหาของเขาได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่ไปอย่างที่ว่า เฮด้วย โฮด้วย อันนั้นไม่ใช่ ก็เป็นอันว่าพระนี้ไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับญาติโยมโดยวิธีที่ไม่เป็นการคลุกคลีกับคฤหัสน์ เป็นพอดี ๆ เป็นที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทานั่นแหละ เห็นไหมแม้แต่คฤหัสถ์ญาติโยมท่านก็ให้มีหน้าที่ต้องพบปะ ปฏิบัติให้ถูก โยมมีอามิสทานมา พระก็มีธรรมทานไป
อ้าว! แล้วก็หมู่พระด้วยกันละ ท่านก็ไม่ให้คลุกคลีเหมือนกัน เวลาจะทำอะไรก็ต้องทำเป็นการสงฆ์มีกิจสงฆ์ มาถามว่าเออท่าน กิงกรณีเยสุ ทักขตา ถามว่า “ท่านครับ มีอะไรให้ผมช่วยบ้าง” อย่างนี้ท่านเรียกว่า กิงกรณีเยสุ ทักขตา ต้องคอยถามด้วยนะองค์โน้นองค์นี้หลวงพี่หลวงน้อง องค์ไหนมีอะไรให้ช่วยทำบ้างก็จะช่วย อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นหลักปฏิบัติ ไปอยู่ในนาถกรณธรรม นอกจากนี้ท่านก็ต้องระวังอีกถ้าหากว่าอยู่ในชีวิตสังฆะเป็นชุมชนแล้วไปคลุกคลีกับกับหมู่คณะท่านมีศัพท์ให้เรียกว่าคณสังคณิกา เมื่อกี้คลุกคลีกับคฤหัสถ์เรียกว่าคิหิหังสัคคะ ถ้าเป็นตัวพระเรียกว่าคิหิสังสัคโค ถ้าคลุกคลีกับพระด้วยกันละก็เป็นคณสังคณิกา หรือเรียกสั้น ๆ ว่า สังคณิกา ก็คลุกคลีกับหมู่คณะ ผิดอีก มีความผิดอีก พระพุทธเจ้าก็ตรัสติเตียน ต้องรู้จักพอดี ชีวิตสังฆะก็คือชีวิตที่โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาท่านหนุนเต็มที่เลย การศึกษา เจริญธรรม เจริญปัญญา ให้มาสนทนาไต่ถามกัน นั่นละปริปุจฉา เรียกว่าอะไร เคยแปลให้แล้ว ก็คือถามจนปริ ถามปริปุจฉาคือถามสอบค้นจนกระทั่งว่าให้มันกระจ่างแจ้งไปเลย การซักถามนี้ในสังฆะในพุทธศาสนาเน้นมาก เรื่องศัพท์ทางการศึกษานี้เราไม่ค่อยเอามาใช้แสดงว่าในประเทศไทยเรานี้ทำบุญ ๆ ทำบุญกันมาจนกระทั่งว่าศัพท์ทางการศึกษานี้หายไปหมด ไม่รู้จักเอามาใช้ อุทเทสปริปุจฉา สากัจฉา แล้วก็ธรรมสากัจฉาก็อยู่ในมงคลสูตรด้วยใช่ไหม แล้วก็มีอื่น ๆ อีกเยอะแยะไปหมด ท่านให้ปฏิบัติแต่เราไม่ค่อยปฏิบัติแม้แต่สาธยายพระสูตรสาธยายธรรมะอะไรต่าง ๆ ก็เป็นอันว่าเราควรจะรื้อฟื้นศัพท์นี้เอามาใช้ศัพท์ในเรื่องการศึกษา ชีวิตพระก็แบบนี้จะมาอยู่พบปะกันในเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็มาช่วยกันในเรื่องกิจที่ดีงาม มาทำกิจวัตร อย่างในวัดป่าท่านก็จะมีการที่ว่าเวลาฉันก็แยกกันไปนะ อยู่ในกุฏิของตัว พอบ่ายเวลาเท่านั้นโมงบางวัดก็อาจจะตีระฆังหรืออะไรก็แล้วแต่ให้มาพร้อมกันนะมาฉันน้ำปานะแล้วก็กวาดลานวัดด้วยกัน อย่างนี้เป็นต้น คือชีวิตส่วนรวมที่ทำประโยชน์ด้วยกัน แล้วก็มีการศึกษาแต่ว่าไม่ใช่มาคลุกคลีเอาแต่เฮฮากันไป ไม่งั้นมันก็จะกลายเป็นคณสังคณิกา ถ้าเป็นพระสงฆ์คลุกคลีกับหมู่คณะก็ผิดอีกเสียอีก ก็เรียกว่าชีวิตที่พอดี นี่คือชีวิตชุมชนของพระสงฆ์ ก็เลยเล่าให้ฟัง มีอีกหลายอย่างไม่รู้วันนี้พูดไปครบหรือยัง มันมีอีกเยอะ
ที่นึกขึ้นมามีที่น่าพูดอีกอันก็คือ อย่างพระที่ท่านเวลาอยู่วิเวกมีศัพท์อันหนึ่งที่ท่านใช้ตรงข้ามกับภัสสารามตาชอบพูดคุยก็คือปวิเวการามตา อันนี้ท่านสนับสนุน ปวิเวการามตา ปวิเวกก็แปลว่าวิเวกนั่นเอง วิเวก สงัด อยู่สงัดตอนนี้แหละ ปลีกตัวไปอาจจะไปอยู่คนเดียวแล้วไปศึกษา ไปปฏิบัติ ไปฝึกตนเอง ไปเจริญสมถะวิปัสสนา อันนี้ก็อาศัยต้องไปอยู่วิเวก ก็ตรงข้ามกับภัสสารามตาถ้าคุยก็ต้องพบคนอื่น ปวิเวการามตานี้ก็ปลีกตัวไปปฏิบัติ ไปเจริญภาวนา ไปฝึกตน ไปวิเวการามตานี้เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่จะทำให้พระภิกษุเจริญงอกงามในพระธรรมวินัย ก็ต้องมีสิกขากามตาด้วยนะคือการเป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา โอ! เรื่องเยอะ เอาอีกอันพระที่ไปอยู่วิเวกบางทีก็อยู่ไกลในป่า ป่านี้ถ้าเป็นป่าที่เป็นดงไม้แม้แต่อยู่ในวัดนี้ท่านเรียกว่าวน ต้องรู้จักด้วยนะ บางทีป่ามีคำว่าอะไรบ้าง 1) วน 2) อรัญ รู้จักว่าวนกับอรัญต่างกันอย่างไร ต้องรู้จักแยก วนคือป่าดงไม้ อย่างพระเชตวัน สวนเจ้าเชตใช่ไหม ก็เป็นวัดไปเลย หรือเวฬุวัน สวนไผ่ของพระเจ้าพิมพิสารก็เป็นวัดแห่งแรกเลย เป็นเวฬุวนาราม ป่าวนก็เป็นพระอยู่วัดตามปกติเวลาสงัดท่านก็ออกไปนั่งในดงไม้ในป่าของวัดในบริเวณนั้นนะ ไปนั่งองค์เดียวตามโคนไม้ ไปสาธยายพระสูตรบ้าง ไปนั่งปฏิบัติเจริญสมาธิ อะไรก็แล้วแต่ นั่นเรียกว่าพวกวน ที่นี่อรัญไม่ใช่อย่างนั้น อรัญคือป่าห่างไกล ป่าลึก ๆ ป่าเปลี่ยว ที่พวกฤาษีชีไพรเขาไปอยู่กัน น่ากลัว อาจจะมีสัตว์ร้ายมีอะไรต่ออะไร อรัญนี้พระพุทธเจ้าห้ามไม่ให้ภิกษุณีไปอยู่เพราะว่าเป็นอันตรายมาก เพราะฉะนั้นจึงมีสิกขาบทมีภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์มีแล้วไม่ให้ภิกษุณีไปอยู่อรัญ แต่ภิกษุณีอยู่วนก็อยู่ในวัดนี่แหละ แล้วก็ท่านก็ไปนั่งในวนบางทีในบางพระสูตรมี พระสูตรนี้เกิดจากภิกษุณีบางท่านที่ไปนั่งที่วนในโคนไม้แล้วก็มีการพูดธรรมะอะไรต่ออะไรกันเกิดเป็นพระสูตรขึ้นก็มี อันนี้ก็เป็นอันหนึ่งที่เราควรรู้ อรัญนี้ก็เป็นว่ามีพระไปอยู่ป่า ก็เป็นพระไปอยู่ป่าจนกระทั่งมาปัจจุบันนี้เรามีพระพวกหนึ่งเรียกว่าอรัญวาสี เป็นพระอยู่ป่า แล้วก็แยกเป็นพระอยู่บ้านเรียกว่าคามวาสี เกิดเป็นพระ 2 ฝ่าย คือ พระอรัญวาสี พระคามวาสี ก็นึกว่าพระที่ปลีกตัวไปอยู่วิเวกไม่อยากพบปะกับคนมากก็ไปอยู่อรัญเป็นพระอรัญวาสี แต่ต้องทำความเข้าใจในสมัยพุทธกาลไม่มีการแบ่งแยกเป็นพระคามวาสี อรัญวาสี การแบ่งแยกเป็นพระคามวาสี อรัญวาสีนี้เพิ่งเกิดในลังกาในสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ที่ 1 ในลังกา ในราวปี พ.ศ. 1700 ก่อนสมัยสุโขทัย 100 ปี นี่แหละที่พ่อขุนรามคำแหงพระร่วงได้ทรงนิมนต์พระมหาสวามีสังฆราชมาจากนครศรีธรรมราช ท่านที่ว่านี้มาจากลังกาก็มาจากการที่พระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชได้ทรงฟื้นฟูดูแลจัดการหรือเรียกว่าชำระก็ได้ ชำระการพระศาสนาในสิงหลทวีปทำให้พุทธศาสนาในสิงหลทวีปหรือลังกาที่เวลานี้เรียกศรีลังกา ตอนนั้นไม่ได้เรียกศรีลังกาหรอก เจริญงอกงามรุ่งเรืองมาก กระฉ่อนไปในทวีปต่าง ๆ ไปพม่า ไทย ไทยเราก็เลยไปศึกษากันที่นั่น พอมาถึงสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชตั้งแต่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ก็เป็นอันรู้กันว่าพระที่มีความรู้ไปศึกษาจากศรีลังกาแล้วก็มาที่เมืองใต้นี้ซึ่งเป็นถิ่นที่ไปลังกาง่ายเมื่อกลับมาท่านก็ตั้งกันอยู่ที่นั่นที่นครศรีธรรมราช พระร่วงท่านก็นิมนต์พระมหาสวามีสังฆราชจากนครศรีธรรมราชขึ้นมา มาสถิตที่วัดอรัญญิกที่สุโขทัย นี่คือประวัติพุทธศาสนาที่เจริญขึ้นแบบเถรวาทในประเทศไทยที่เราเรียกว่าลังกาวงศ์ก็เพราะอย่างนี้ เรื่องมันยาว ตั้งแต่สมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชก็มีการแยกพระเป็นขามวาสีกับอรัญวาสี เป็น 2 ฝ่าย จนกระทั่งเมืองไทยก็มาเอาตามกลายเป็นพระป่าพระบ้านไป แต่ในสมัยพุทธกาลศัพท์พวกนี้เป็นศัพท์สามัญคือคามวาสี อรัญวาสี ไม่ได้เป็นศัพท์พิเศษศัพท์วิชาการศัพท์ทางการอะไรหรอก ชาวบ้านบางคนไม่ต้องพระหรอก ชาวบ้านไปอยู่ในป่าเขาก็เรียกอรัญวาสี แม้แต่ช้างม้าวัวกระทิงอะไรต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ในป่าเขาก็เรียกอรัญวาสี ก็เรียกว่าได้หมด เป็นคำธรรมดาแปลว่าอยู่ในป่า ในสมัยพุทธกาลท่านก็เรียกได้ เรียกคนเรียกอะไรพระจะไปอยู่ก็เรียกได้ เป็นศัพท์สามัญ
ในสมัยพุทธกาลมีอะไรที่พระไปอยู่ป่าบ้าง อย่างมหากัสสปะมีธุดงค์ ในสมัยพุทธกาลนี้ก็มีธุดงค์มีข้อปฏิบัติสำหรับขัดเกลากิเลส พระภิกษุทุกรูปถ้าเรียกในสมัยปัจจุบันก็ใช้คำว่ามีสิทธิ์ มีสิทธิ์ที่จะสมาทานธุดงค์ เอ้า! ก็เลือกเอาสิใครสมัครใจ ใช้คำว่าสมัครใจดีกว่า ใช้คำว่ามีสิทธิ์เป็นศัพท์สมัยปัจจุบันนี่ก็ไม่จำเป็น เอาแค่ว่าสมัครใจ ธุดงค์เป็นเรื่องความสมัครใจ ภิกษุรูปไหนอยากจะขัดเกลากิเลสปฏิบัติให้เคร่งครัดจริงจังก็เอาธุดงค์มาดูสิ 13 ข้อจะเอาข้อไหน แล้วใน 13 ข้อนั้นก็มีอยู่ข้อหนึ่งเรียกว่าอารัญญิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้อยู่ป่า อารัญญิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้เป็นอารัญญิก ตัวศัพท์เรียกเป็นไทยก็อรัญญิก แล้วมาที่พระร่วงท่านสร้างวัดให้พระสังฆราชประทับเรียกว่าวัดอรัญญิก ใช่ไหม ก็คือ(รัด-สะ) ตัว R ที่จริงอารัญญิกมันเป็นศัพท์เรียกบุคคล คือพระที่ปฏิบัติอยู่ป่าเรียกว่าอารัญญิก ตัวป่าเรียกว่าอรัญ อรัญมาเป็นบุคคลที่อยู่ป่าเรียกว่าอารัญญิก ถ้าเราออกเสียงตามบาลีก็เป็นอา-รัน-ยิ-กะ แล้วก็มีองค์ก็เติมเป็นอารัญญิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้ถืออยู่ป่า ในธุดงค์ 13 ข้อก็มีข้ออารัญญิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้เป็นอารัญญิกหรืออารัญญิกะ ภิกษุอยู่ป่า ใครจะสมาทานก็เอาสิ บางองค์อย่างมหากัสสปะนี้ท่านสมาทานตลอดชีวิตเลย มหากัสสปะนี้ถือธุดงค์ตลอดชีวิตท่านก็เลยอยู่ป่าตลอดชีวิต แต่องค์อื่นอาจจะไปอยู่แค่ 3 เดือนก็ได้ จะไปอยู่แค่ไหนก็แล้วแต่สมาทานตามสมัครใจ ดังนั้นในสมัยพุทธกาลการไปอยู่ป่านี้ก็แล้วแต่สมัครใจแล้วก็ภิกษุก็ไม่แน่นอน บางองค์ก็มาอยู่ในวัดบ้านสักพักหนึ่งเดี๋ยวก็ เออ! เราไปปฏิบัติถือธุดงค์ข้ออารัญญิกังคะนี้ก็ดี ก็ขอไปอยู่อีกพรรษาหนึ่ง เออ! หรือคราวนี้ไปอยู่ 5 พรรษาเลย ก็ไปอยู่นาน ๆ ก็แล้วแต่สมัครใจนี่เป็นธุดงค์ สมัยพุทธกาลเรื่องการไปอยู่ป่าก็เป็นธุดงค์เพราะฉะนั้นเราก็แยกไม่ได้เพราะว่าภิกษุองค์นี้อาจจะไปอยู่ป่าปีนี้แต่ปีหน้ากลับมาอยู่วัดในบ้านอะไรอย่างนี้ก็สลับกันไป เพราะฉะนั้นในสมัยพุทธกาลก็เลยไม่มีการแยกกลุ่ม เป็นเพียงข้อปฏิบัติที่ถือตามความสมัครใจ เอาเป็นว่าอยู่ในธุดงค์ 13 ข้อ ในข้ออารัญญิกังคะ เป็นภิกษุก็ขอสมาทานว่าข้าพเจ้าถือปฏิบัติอยู่ป่า ก็ขอไปอยู่ในป่าก็เอาเป็นว่าไปอยู่ป่าจะอยู่นานเท่าไรก็ว่าไปเรียกว่าอารัญญิก ดังนั้นคำว่าอารัญญิกนี่ก็คือตัวศัพท์ที่เป็นทางการ
บางทีท่านก็เรียกพระอารัญญิกนี้ว่าอรัญวาสี ในอรรถกถาบางทีก็ใช้คำนี้เรียก อารัญญิก อารัญญิกะ ก็เรียกเป็นอรัญวาสีเพราะว่าท่านไปอยู่ที่ป่า พอมาในสมัยลังกาที่ว่าพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราชในราวปี พ.ศ. 1700 คือตอนที่พระองค์สวรรคต ก็หมายความว่าในช่วงนั้นนะ แล้วพุทธศาสนาในลังกาก็เลยเจริญใหญ่เลย เป็นที่เรียกว่าเสียงเล่าลือกระฉ่อนไปในประเทศพุทธศาสนาพากันไปศึกษาที่นั่นทั้งไทยทั้งพม่า เป็นต้น ก็เลยเป็นที่มาของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่เริ่มต้นในยุคสุโขทัยจนมาเป็นแบบแผนพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ แม้แต่สมณศักดิ์ของพระเวลาลงท้ายก็จะลงว่าคามวาสี บางองค์ตั้งสมณศักดิ์ลงท้ายว่าอรัญวาสี ไปดูเถอะ ไปดูสมณศักดิ์ของพระจะยาว ๆ ลงท้ายท่านจะไปดูได้ว่าเป็นคามวาสีหรืออรัญวาสี การที่แบ่งแยกอย่างนี้คือเริ่มต้นมาจากลังกาสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุมหาราช ประมาณปี พ.ศ. 1700 เรื่องราวก็เป็นอย่างนี้ เรื่องนี้ก็เป็นอันหนึ่งที่เราควรจะรู้และเข้าใจความเป็นมา พระพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญภิกษุว่าดีไปอยู่ป่าจะได้มีโอกาสได้ฝึกหัดปฏิบัติเต็มที่ แต่พระองค์นี้ถ้าจะถือว่าเคร่งครัดพระองค์ก็ไม่ทรงเคร่งครัดขนาดนั้น พระองค์ตรัสมีพระสูตรหนึ่งเลยว่ามีคนเขามาชมสรรเสริญยกย่องพระพุทธเจ้าต่อพระพักตร์ว่าพระองค์ทรงปฏิบัติเคร่งครัดอะไรต่ออะไรหลายข้อข้อ 1, 2, 3, 4, 5 … พระพุทธเจ้าบอก “เดี๋ยว สาวกของเราที่ปฏิบัติเคร่งครัดกว่าเราในทุกข้อเหล่านี้มีอยู่ เราไม่ได้ปฏิบัติเคร่งครัดที่สุดอย่างนั้นหรอก” อย่างเช่นการอยู่ป่านี้พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าอยู่ป่าบ้าง อยู่วัดบ้าน อยู่เกี่ยวข้องกับประชาชน ญาติโยม พุทธบริษัท 4 ทั้งพวกพราหมณ์พวกอะไรต่ออะไร คนวรรณะต่าง ๆ ทั้งหลายในสังคมนี้พระองค์เสด็จไปทรงเกี่ยวข้องตลอด เรียกว่าเป็นพุทธกิจประจำวันเลย นอกจากบางระยะบางพรรษาที่เสด็จไปปลีกพระองค์ไปจำพรรษา 3 เดือน ไม่ทรงพบใครเลย มีเหมือนกัน แล้วก็ตกลงไว้ว่าพระองค์นี้นะเป็นผู้นำอาหารบิณฑบาตไปส่งถวายอะไรอย่างนี้ นาน ๆ พระองค์ก็อาจจะทรงปฏิบัติสักทีหนึ่ง แต่ว่าตามปกติพระองค์ก็ทรงอยู่กับพุทธบริษัท 4 เพราะว่าอยู่เพื่อที่จะได้ช่วยเขา แสดงธรรมเพื่อให้เขาได้เจริญไตรสิกขาก็ตาม เจริญภาวนาก็ตาม หรือเจริญบุญญกิริยาวัตถุ ทาน ศีล ภาวนาก็ตาม แล้วแต่จะเรียก เรียกได้หลายอย่าง ก็เอาไปว่าวันนี้ก็พูดเรื่อย ๆ ไป ให้โยมรู้เรื่องต่าง ๆ เป็นเรื่องเบ็ดเตล็ดวันนี้ ปรารภเรื่องศัพท์ ถ้อยคำ ถ้อยคำพวกนี้ก็น่าสนใจ เรารู้ไว้ก็ดี แต่ละศัพท์มันจะโยงไปศัพท์อื่น เราพูดถึงศัพท์นี้เสร็จเดี๋ยวศัพท์นี้ก็โยงไปเองแหละไปหาศัพท์อื่น ๆ ก็มีเรื่องคุยกันไปเรื่อย ๆ แล้วก็ขอให้ได้ธรรมะ ให้ได้ปัญญา วันนี้ข้อสำคัญก็เป็นแง่หนึ่งของการปฏิบัติพอดีทางสายกลาง รู้จักประมาณ เช่น ในการพูดจา รู้จักประมาณในการอยู่ร่วมกันว่าอยู่กันสงัดวิเวกปลีกตัวคนเดียวแค่ไหน แล้วก็มาอยู่ร่วมสังฆะอยู่ร่วมชุมชนแค่ไหนอะไรต่ออะไร ก็พูดย้ำอีกครั้งหนึ่ง เอาละเห็นจะพอสมควร พูดเยอะแล้ว ก็เอาเป็นเกร็ดความรู้ไปก็แล้วกันวันนี้ ใครมีอะไรสงสัยไหมครับ สงสัยก็ถามได้ ไม่มีก็จบ เอาละ