แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เมื่อเช้านี้ ได้พูดเรื่องเกี่ยวกับเนื้อหาในการทำวัตรสวดมนต์ว่า เรามีบทระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยแล้วก็พิจารณาคำสอนของพระพุทธเจ้า และก็แผ่เมตตาอุทิศกุศล 3 อย่าง ในเรื่องระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ทั้ง 3อย่างคือ คุณพระรัตนตรัย แล้วก็เลยมาพูดถึงคุณพระพุทธเจ้าที่เราระลึกว่าเป็นอย่างไร ก็เริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้า คำว่า “พุทธะ” แปลว่าอะไร ใครเคยได้ยินบ้างไหม “พุทธะ” เรียกเต็มว่าพระพุทธเจ้าเป็นภาษาไทย แต่ตัวบาลีก็ “พุทธะ” แปลว่าอะไร “พุทธะ” แปลได้ 3 อย่าง คือที่จริงก็อย่างเดียวกันนั่นแหละ แปลไปแง่ต่าง ๆ “พุทธะ” หรือ “พุทธ” ที่เราพูดกันภาษาบาลีคือ “พุทโธ” หนึ่งแปลว่า รู้ สองแปลว่า ตื่น สามแปลว่า เบิกบาน รู้ ตื่น เบิกบาน รู้ก็หมายความว่า รู้ความจริง รู้เข้าใจธรรมชาติ กฎของธรรมชาติ ความเป็นเหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลาย รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยหรือกฎแห่งเหตุและผล สิ่งทั้งหลายที่เป็นไปต้องมีเหตุ มาจากเหตุก็ก่อให้เกิดผล มองไปได้ทุกอย่างแหละลองดูเถอะ มันก็เป็นเรื่องของเหตุและผล รู้ความจริงของธรรมชาติ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นื่คือ “รู้” และก็สอง ก็มา “ตื่น” เมื่อรู้เข้าใจความจริงแล้วก็ทำให้ตื่นด้วย “รู้” แสดงถึงมีปัญญา รู้ความจริงแล้วทำให้ “ตื่น” ตื่นจากอะไร ตื่นปกติก็คือคนก็ตื่นจากหลับ แต่หลับในที่นี้หมายถึงหลับทางจิตใจ ไม่ใช่หลับทางร่างกาย หลับทางจิตใจก็หมายความคนที่หลับใหล คนจำนวนมากหลับใหล คือว่าไม่เอาไม่เอาเรื่องเอาราว อะไรที่ควรทำก็ไม่ทำมัวแต่เฉื่อยชาปล่อยเวลาให้ผ่านไปไม่รู้ว่าอะไรมันเกิดขึ้น ไม่รู้เท่าทันเหตุการณ์ คนอย่างนี้มีเยอะก็เรียกว่าหลับใหล เพราะฉะนั้น ก็ปล่อยให้ชีวิตล่วงไป ๆ วันเวลาผ่านไป ไม่ได้ประโยชน์ คนที่รู้เท่าทันความจริงว่าชีวิตของเราเวลาผ่านไปชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เขารู้เท่าทันอย่างนี้เขาจะไม่หลับใหล เขาจะตื่นตัวขึ้นมาแล้วเร่งทำสิ่งที่ควรทำ ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างนี้เรียกว่า “ตื่น” คือตื่นตัวนั่นเอง ไม่หลับใหล นี่เป็นความหมายว่าตื่นในแง่ไม่หลับใหล ตื่นอีกอย่างหมายความว่าไม่หลงใหล คนบางคนก็ไม่หลับใหลแต่ไปชอบอะไรบางอย่าง ไปเพลินอยู่ตรงนั้น สิ่งนั้นโดยไม่รู้ความจริงว่ามันมีคุณมีโทษอย่างไรแล้วหลงติดอยู่ตรงนั่นแหละ อย่างคนที่ติดยาเสพติดก็หลงยาเสพติด ชื่นใจมีความสุขกับสิ่งนั้น เสร็จแล้วเป็นโทษก็ไม่รู้ นี่ไม่รู้ความจริง คนที่รู้ความจริงว่าสิ่งนี้เป็นโทษไม่ได้เป็นประโยชน์ก็ไม่หลงใหลสิ่งนั้น พอไม่หลงใหลก็เป็นความตื่นชนิดหนึ่งเพราะมีความรู้มีปัญญา ก็ทำให้ดำเนินชีวิตถูกต้อง เพราะฉะนั้น จึงมีความหมายจาก “รู้” ก็มา “ตื่น” คือว่า ไม่หลับใหลแล้วก็ไม่หลงใหล
พระพุทธเจ้าก็เป็นผู้ตื่นแล้ว คนสมัยนั้นก็หลับใหล เป็นคนจำนวนมากก็มัวปล่อยเวลาให้ผ่านไปไม่ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ บางพวกก็หลงในสิ่งต่าง ๆ ดำเนินชีวิตผิดพลาด พระพุทธเจ้าได้รู้แล้ว ก็ตื่นแล้วไม่หลงใหลไม่หลับใหล สาม ก็แปลว่าเบิกบาน เมื่อมีปัญญา รู้เข้าใจความจริงแล้ว ไม่มัวหลงติดในเพลิดเพลินสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นทาสของสิ่งต่าง ๆ แล้ว ใจเราก็สบายก็เบิกบานใจ เพราะฉะนั้น ก็มีความหมายอีกอย่างว่าเบิกบาน ความเบิกบานเนี่ยเป็นสำคัญ ทำให้เกิดความสุขที่แท้จริง ความสุขบางชนิดเกิดจากความหลงไปติดใจในสิ่งเหล่านั้น จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมองไม่สบาย นึกว่าเป็นสุขแต่ว่าจิตใจเศร้าหมองขุ่นมัว ไม่ได้มีความเบิกบาน ฉะนั้น มีความสุขที่แท้จริง ก็เป็นจิตใจที่เบิกบาน ปลอดโปร่ง ผ่องใส สดชื่น ชีวิตเราก็จะมีความเจริญก้าวหน้าและก็มีความสุข เพราะฉะนั้น ทำใจให้ร่าเริงเบิกบาน ไม่เศร้าหมองไม่ขุ่นมัวไม่เร่าร้อน นี่เป็นลักษณะที่ทำตามพระพุทธเจ้า ชาวพุทธก็คนที่รู้ตื่นแล้วเบิกบาน เอาละ นี่เป็นเรื่องของ พระพุทธเจ้า
ทีนี้ จะแถมไปอีกหน่อยหนึ่ง เมื่อกี้เราแปลความหมายของคำว่า “พุทธะ” ทีนี้ เอาว่าพระพุทธเจ้าเนี่ย มีคุณความดี มีคุณสมบัติมากมายหลายอย่างเพราะมีความสามารถฝึกตัวเองมาดีแล้ว พัฒนาตนเองเป็น แต่พูดโดยย่อแล้ว พระพุทธเจ้ามีพระคุณ 3 อย่าง คือ หนึ่ง มีปัญญา นี่ตรงกับความหมายแรกเลย คือพุทธะ ผู้รู้ มีปัญญาเราเรียกเต็มๆ ว่าพระปัญญาคุณ คือมีปัญญารู้เข้าใจความจริง สอง มีความบริสุทธิ์ ถ้าเรียกเป็นศัพท์ก็เรียก วิสุทธิคุณ พระพุทธเจ้านอกจากมีปัญญารู้ความจริงแล้วก็ทำใจให้บริสุทธิ์ด้วย ปัญญารู้ความจริง ทำใจให้บริสุทธิ์จากกิเลสจากความชั่วร้ายอะไรต่าง ๆ ไม่ให้มี ปัญญาของคนที่รู้จริงทำให้ใจพ้นจากกิเลส จากความโลภ ความโกรธ ความหลงอะไรต่าง ๆ ทำให้จิตใจบริสุทธิ์ และทำความดีด้วยบริสุทธิ์ใจ ก็เป็นอันว่า มีความบริสุทธิ์ ทั้งบริสุทธิ์จากกิเลส คือความชั่วต่าง ๆ แล้วก็บริสุทธิ์ พ้นจากความทุกข์ด้วย พระพุทธเจ้าไม่มีความทุกข์ สบายเพราะใจสบาย รู้เข้าใจความจริง ปลอดโปร่ง เบิกบาน แล้วก็บริสุทธิ์ แล้วก็สาม นอกจากบริสุทธิ์ด้วยตัวเอง ตัวเองบริสุทธิ์และมีปัญญาดี แล้วก็เอาปัญญาไปใช้ทำประโยชน์แก่ผู้อื่น คือมีความกรุณา คิดช่วยเหลือผู้อื่น เห็นคนอื่นมีความทุกข์ ก็คนที่ได้รู้ความจริงอย่างพระพุทธเจ้ามีความสุขย่อมเห็นคนอื่นว่าเป็นทุกข์อย่างไร พอเห็นเขามีความทุกข์แล้วใจอยากช่วยเหลือ อยากเข้าไปแก้ปัญหาให้เขา อยากจะไปปลดเปลื้องความทุกข์ให้ อันนี้เรียกว่าเกิดความกรุณา แล้วก็เลยออกสั่งสอน ไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัวแล้วก็ไม่กลัวเหนื่อยยาก จะเห็นว่าประวัติพระพุทธเจ้า พอตรัสรู้แล้วพระองค์ทำหน้าที่ของพระองค์เสร็จ หนึ่ง ปัญญาก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว หมดกิเลสหมดความทุกข์ไม่มีความชั่ว ก็ออกทำงานตลอดชีวิตเลย 45 ปีนี่พระพุทธเจ้าไม่หยุดเลย ออกไปเดินทางไป มองเห็นคนไหนว่าควรจะไปพูดชี้แจงให้รู้ความจริงให้เข้าใจให้แก้ปัญหาได้ เขามีปัญหามีความทุกข์ก็ไปช่วยเขาแก้ทุกข์ให้ เดินทางไปอย่างนี้ตลอดไม่เห็นแก่ความทุกข์ยากเดือดร้อน โดยมากพระพุทธเจ้าเดิน ไม่ค่อยได้ขึ้นรถ สมัยก่อนมีเกวียนก็ไม่ค่อยได้ใช้ พระพุทธเจ้าเดินเป็นส่วนใหญ่ เจอประชาชนทั่วไปหมดไปพบประชาชน จะได้พูดจากับเขาจะได้แนะนำตรรกะในเรื่องการดำเนินชีวิต หรือเขามีปัญหาอะไรก็ได้ให้คำปรึกษา นี่ก็เป็นกรุณาคุณ
กล่าวโดยสรุป พระพุทธเจ้ามีพระคุณสำคัญ 3 ประการ คือ ปัญญาคุณ วิสุทธิคุณ กรุณาคุณ แต่เรามักจะเติมพระเข้าไปด้วยความเคารพ หนึ่ง พระปัญญาคุณ สอง พระวิสุทธิคุณ สาม พระกรุณาคุณ กรุณานี่กรุณามากเราก็เติมมหาเข้าไปอีก เป็นพระมหากรุณาคุณ บางทีเติม “ธิ” เข้าไปอีก “ธิ” แปลว่ายิ่ง คุณอันยิ่ง เป็นพระมหากรุณาธิคุณ ตัวที่เติมก็เป็นตัวที่เน้นเข้าไปเท่านั้นเอง ตัวจริงมันก็คือ กรุณาคุณ เป็นพระมหากรุณาคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ก็คือพระกรุณาคุณที่ยิ่งใหญ่นั่นเอง ตกลงว่าพระพุทธเจ้ามีพระคุณสาม เราก็จำกันไว้ นี่ก็เป็นหลักสำหรับพุทธศาสนิกชนที่เรานับถือพระพุทธเจ้าเราก็ควรรู้จักพระพุทธเจ้าให้พอสมควร เมื่อเราก็รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีพระคุณสาม ที่ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าก็ระลึกในสามอย่างนี้ ตอนนี้ก็คิดว่าพอสมควรแล้ว เอาแต่เรื่องพระพุทธเจ้าพอ ลองว่าตามบอกว่าพระพุทธเจ้า ว่าดัง ๆ พร้อมกัน “พระพุทธเจ้า มีพระคุณโดยย่อ 3 ประการ คือ หนึ่ง พระปัญญาคุณ มีพระคุณคือพระปัญญา สอง พระวิสุทธิคุณ มีพระคุณคือความบริสุทธิ์ สาม พระกรุณาคุณ หรือพระมหากรุณาธิคุณ คือ มีคุณได้แก่ความกรุณาที่จะช่วยเหลือ สัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากความทุกข์ มีความสุขความเจริญยิ่งขึ้นไป” เอาละ เดี๋ยวว่าไป ก็จะยืดยาวกันใหญ่ นี่แหละก็ค่อย ๆ เรียนรู้ เพราะว่าเรานับถือพุทธศาสนาแล้วเราก็ควรจะรู้จักสิ่งที่เราเคารพให้ถูกต้อง ในรายละเอียดเป็นอย่างไรก็ไปเรียนในวิชาพุทธประวัติ แล้วก็วิชาธรรมะ ก็เรียนกระจายกันไป