แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพรคุณโยม??? วันนี้อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาต่อโยมอาจารย์รดา รัฐ???กสิกร พร้อมทั้งญาติมิตรในการเลี้ยงภัตตาหารแก่อาตมาภาพ ทั้งนี้ก็ปรารภการที่โยมอาจารย์รดาจะเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ในสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ในประเทศอินเดีย การเดินทางอย่างนี้ เราเรียกได้ว่าเป็นบุญจาริก การเดินทางที่เป็นบุญเป็นกุศล เพราะมีจิตตั้ง เป็นเจตนาที่ดีงาม ว่าจะไปในสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักข้อแรกในพระรัตนตรัย เพราะว่าประเทศอินเดียนั้นเป็นสถานที่อุบัติของพระพุทธเจ้า เป็นที่ประดิษฐานเริ่มแรกของพระพุทธศาสนา ก็มีสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามากมาย โดยเฉพาะที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ก็คือ สังเวชนียสถาน 4 อันได้แก่ ที่ประสูติ ที่ตรัสรู้ ที่แสดงปฐมเทศนา และที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน แม้ว่าที่ประสูตินั้นแท้จริงจะอยู่นอกเขตประเทศอินเดีย แต่ก็อยู่ในสถานที่ใกล้เคียง ซึ่งเมื่อเดินทางไปถึงประเทศอินเดียแล้วก็สามารถเดินทางต่อไปได้ไม่ไกลนัก นอกจากสถานที่ที่เรียกว่าสังเวชนียสถาน 4 แล้ว ก็ยังมีสถานที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเป็นอันมาก ทั้งในสมัยพุทธกาลและสมัยหลังพระพุทธกาล ในสมัยพุทธกาลก็มีบ้านเมืองต่างๆ ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันนี้จะเปลี่ยนชื่อไปเป็นอย่างอื่นแล้ว แต่ก็อาศัยการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์การขุดค้นทางโบราณคดี เราก็ได้ทราบว่าบ้านเมืองเก่าๆ สมัยพุทธกาลนั้น อยู่ที่ใดบ้าง แม้แต่ไม่ทั้งหมดแต่ก็ได้เป็นส่วนใหญ่ ส่วนภายหลังพุทธกาลก็ยังมีสถานที่สำคัญตลอดมาหลายยุคหลายสมัย เช่นเป็นสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชบ้าง สมัยหลังนั้นมา อย่างที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยนาลันทาบ้าง มีสถานที่ที่ยังมีถาวรวัตถุมั่นคงอยู่ก็มี ที่สลายไปตามกาลเวลาก็มี ที่นิยมไปกันมากก็อย่างเช่น ถ้ำอชันต้า ถ้าอโรล่า อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เมื่อไปแล้ว ได้ไปเห็นสถานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เกิดความปิติ เอิบอิ่มใจ อันนั้นจิตใจก็เป็นบุญเป็นกุศล นั่นก็ถือว่าได้บุญแล้ว นอกจากนั้นถ้าได้ไป มาระลึกถึงความเป็นอนิจจัง ตามหลักไตรลักษณ์ เห็นว่าสังขารทั้งหลายมีความไม่เที่ยง มีความสูญสลายไปเป็นธรรมดา แล้วก็เห็นสภาพความเป็นจริง บ้านเมืองในสถานที่ต่างๆ ที่ได้สลักหักพังสูญสลายไป เกิดความรู้เท่าทันหลักไตรลักษณ์นั้น ก็ทำให้เกิดปัญญาด้วย นอกจากเกิดปัญญาแล้ว ท่านว่ายังได้เกิดธรรมสังเวช คือได้รู้เท่าทันความเป็นจริงนั้นแล้ว ก็จะเกิดความไม่ประมาท เร่งขวนขวายทำความดี เร่งปฏิบัติธรรม ก็จะเป็นบุญเป็นกุศลยิ่งๆ ขึ้นไป การเดินทางนี้จึงเรียกว่าเป็นบุญจาริก ในเวลาเดียวกันก็เที่ยวธรรมจาริก ธรรมจาริก คือ การเดินทางที่มีการประพฤติธรรม หรือที่ประกอบด้วยธรรม เพราะประเทศอินเดียนั้นในสภาพปัจจุบันนั้นรู้กันว่าเป็นที่แห้งแล้ง มีความยากจน แล้วก็มีความไม่สะดวก หลายประการ ผู้ที่ไปก็ต้องมีความอดทน มีขันติธรรม หรือมีความตั้งใจเป็นบุญเป็นกุศล ถ้าเราตั้งใจอุทิศต่อพระพุทธเจ้า แม้การเดินทางจะลำบาก ก็จะไม่รู้สึกถึงความลำบากนั้นมากนัก ยิ่งถ้าได้เจริญขันติธรรม มีความอดทนก็จะได้เป็นการทดสอบตนเองไปด้วย ก็คือการได้ประพฤติธรรมต่างๆ ไปด้วย ก็ถือว่าเป็นธรรมจาริก ก็อยู่ที่ว่าถ้าได้ตั้งใจไว้ให้ดี ก็น้อมจิตว่าบูชาพระรัตนตรัย แม้มีความยากลำบากก็ถือว่าความยากลำบากนั้นก็คือ การได้บุญได้กุศล และก็ได้บำเพ็ญขันติธรรมไปด้วย ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ดีงามไปเลย การเดินทางอย่างที่เรียกว่าบุญจาริก หรือธรรมจาริกนี้ มีตัวอย่างที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา ก็คือว่าพระเจ้าอโศกมหาราชได้บำเพ็ญแนวทางเป็นแบบอย่างเอาไว้ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ตรัสไว้เป็นจารึกในศิลา เรียกว่าจารึกในศิลาฉบับที่ 8 ซึ่งทำไว้เมื่อประมาณ พ.ศ.สองร้อยปีเศษ ซึ่งก็นานมากแล้วเกินสองพันปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้ตรัสเล่าถึงการเดินทางที่เป็นขบวนใหญ่ๆ ซึ่งเราเรียกกันว่า ยาตรา พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปเป็นขบวนทัพ เราเรียกกันว่า ยาตรา ขบวนรถเราเรียกกันว่า พยุหยาตรา ที่นี้มียาตรา 2 อย่าง ที่พระองค์ตรัสไว้ อย่างที่หนึ่งเรียกว่า วิหารยาตรา วิหารยาตรานั้น แปลว่า การเดินทางเพื่อการพักผ่อน อย่างที่สองคือ ธรรมยาตรา การเดินทางที่มีการประพฤติธรรมด้วย พระองค์ได้ตรัสเล่าไว้ในจารึกศิลานี้ว่า ในสมัยก่อนๆ เท่าที่ผ่านมาก่อนสมัยของพระองค์นั้น พระมหากษัตริย์ทั้งหลายก็นิยมเสด็จวิหารยาตรากันอยู่เสมอ การวิหารยาตรานั้นคือ การเดินทางเพื่อการพักผ่อน ในการเดินทางพักผ่อนเช่นนั้นต้องมีการล่าสัตว์ ยิงนก ตกปลา เป็นต้น ตลอดจนกระทั่งมีการสนุกสนานด้วยประการต่างๆ ครั้นมาถึงสมัยของพระองค์ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว คราวหนึ่งพระองค์ได้เสด็จเดินทางไปนมัสการสถานที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ อย่างที่เราเรียกปัจจุบันว่า พุทธคยา พระองค์ตรัสว่านับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ได้มีการยาตราอย่างใหม่เกิดขึ้นเรียกว่า ธรรมยาตรา ธรรมยาตรานั้นก็คือการเดินทางที่ประกอบด้วยธรรมะ และมีการประพฤติธรรม พระองค์ตรัสว่าในการธรรมยาตรานั้น ต้องมีการเสด็จไปเยี่ยมเยียนสมณะพราหมณ์ ถวายทานแด่ท่านเหล่านั้น มีการเสด็จไปเยี่ยมเยียนท่านผู้สูงอายุทั้งหลาย และก็บริจาคสงเคราะห์ท่านเหล่านั้น มีการไปเยี่ยมเยียนราษฎรในชนบท มีการสั่งสอนธรรมและมีการซักถามปัญหาธรรมะ สนทนาธรรมะกัน อันนี้เรียกว่า ธรรมยาตรา พระองค์ได้มีความปิติ มีความสุข สำราญพระราชหฤทัยเป็นอันมาก จากการที่ได้บำเพ็ญธรรมยาตรานั้น อันนี้ก็กล่าวได้ว่าพระเจ้าอโศกมหาราช อันเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในพระพุทธศาสนานั้น ได้บำเพ็ญการเดินทางในทางธรรมเป็นตัวอย่างไว้ให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ฉะนั้นเราเกิดมาภายหลังก็ได้ดำเนินตาม พระจริยาวัตรของพระองค์ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นว่ในหมู่ชาวพุทธนั้นได้มีประเพณีในการเดินทางที่เป็นบุญเป็นกุศลมาอย่างไร แล้วพระเจ้าอโศกได้มีการเริ่มเดินทางจากพุทธคยา ซึ่งเป็นสถานที่ตรัสรู้ ซึ่งเป็นสังเวชนียสถานแห่งหนึ่ง ซึ่งถ้าเราหวนย้อนกลับไปถึงสมัยพุทธกาลจะเห็นว่ามีการจาริก เช่นนี้มากมาย ไม่ต้องพูดถึงสังเวชนียสถาน 4 พูดกลับไปถึงสมัยพุทธกาล การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การประดิษฐานพระพุทธศาสนานั้น ก็เกิดขึ้นจากการเดินทางการจาริกทั้งสิ้น เมื่อพระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนาใหม่ๆ พระองค์นอกจากจาริกด้วยพระองค์เองแล้ว ก็ทรงส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนา เมื่อเริ่มมีพระสาวกกลุ่มแรกที่สุดมีจำนวน 60 รูป พระองค์ก็ได้ทรงประชุมแล้วส่งไปประกาศพระศาสนาจากเมืองพาราณสี พระพุทธพจน์ที่ตรัสในครั้งนั้นพระองค์ตรัสว่า “จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย” ตรัสบอกว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไป เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่คนทั้งหลายจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก ไปประกาศแบบแผนการครองชีวิตอันประเสริฐ ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ซึ่งงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง และงามในที่สุด” ดังนี้เป็นต้น อันนี้ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาก็เริ่มต้น จากการที่ส่งพระสาวกไปจาริกในครั้งนี้ และพระองค์เองก็จาริกไปในที่ต่างๆ ในคัมภีร์ท่านยังกล่าวไว้ถึงการจาริกของพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์มีการจาริกกี่อย่างด้วยกัน อย่างง่ายๆ อย่างที่หนึ่งท่านเรียกว่า การจาริกเพื่อความสบายพระวรกาย ท่านใช้คำว่า ???วิหาร หมายความว่า พระองค์ก็เดินทางเพื่อสุขภาพ การจาริกประโยชน์ที่หนึ่ง เพื่อทำให้สบายพระวรกาย ประการที่สอง ท่านบอกว่าเพื่อรอกาลเวลาที่จะมีเรื่อง มีเรื่องในที่นี้หมายความว่ามีเรื่องปรารถสำหรับที่จะตรัสแสดงพระธรรมเทศนา เช่นว่ามีเหตุการณ์สำคัญๆ พระองค์ก็จะเสด็จไป แล้วก็รอเวลา เมื่อเวลาเหมาะ พระองค์ก็จะตรัสแสดงพระธรรมเทศนาที่เหมาะกับโอกาสนั้น อันนี้เรียกว่าเสด็จไปรอเวลามีเรื่องเกิดขึ้น ก็เพื่อแสดงพระธรรมเทศนา ประการที่สาม เสด็จจาริกไปเพื่อบัญญัติสิกขาบทแก่พระสงฆ์ อันนี้หมายความว่า ในหมู่พระสงฆ์นั้นก็จะมีเหตุการณ์เช่น พระสงฆ์บางรูปประพฤติไม่ดีไม่งามขึ้น พระองค์ก็ต้องบัญญัติสิกขาบทคือกฎระเบียบข้อบังคับใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อควบคุมความเป็นอยู่ให้พระสงฆ์อยู่ด้วยกัน ด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม อันนี้ก็จะเป็นการจาริกไปเพื่อการบัญญัติสิกขาบท เป็นประการที่สามเป็นเรื่องของคณะสงฆ์ แล้วประการที่สี่เป็นการเสด็จจาริกไปเพื่อไปโปรดบุคคลที่มีอินทรีย์แก่กล้าโดยเฉพาะ แต่ละวันๆ ในพุทธกิจ จะมีการที่พระพุทธเจ้านี้ ได้ประทับสมาธิทรงพิจารณาว่าผู้ใดเป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว สมควรจะไปโปรดแล้ววันนั้นก็จะเสด็จไปเจาะจงที่นั่น ไปโปรดบุคคลนั้นๆ อันนี้เรียกว่าเป็นการเสด็จไปโดยจำเฉพาะ เรียกว่าทั้งหมด ท่านบอกว่าการเสด็จจาริกของพระพุทธเจ้า จะมี 2 อย่าง อย่างที่หนึ่งเรียกว่า ???นิพพันธจาริกะหรือนิพพันธจาริก การเสด็จไปโดยมีข้อผูกพันจำเฉพาะตัว หมายความว่า เป็นการเสด็จไปเพื่อโปรดบุคคลผู้นั้นๆ โดยเฉพาะทีเดียว อย่างนี้ทรงเล็งเห็นว่าท่านองคุลีมาลมีอินทรีย์แก่กล้าแล้ว หรือเป็นบุคคลที่สมควรจะโปรด พระองค์ก็จะทรงเสด็จจำเพาะไปเพื่อที่จะไปโปรดท่านองคุลีมาล อย่างนี้เรียกว่า ???นิพพันธจาริก เป็นการเสด็จไปโดยมีข้อผูกพันจำเฉพาะตัว ส่วนการจาริกอย่างอื่นเสด็จไปเรื่อยๆ ตามลำดับอย่างนั้นเรียกว่า ???อนิพพันธจาริก การเสด็จจาริกไปโดยไม่มีข้อผูกพันเฉพาะ จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญอย่างมากแก่บุคคลที่มีอินทรีย์แก่กล้า แม้บุคคลผู้เดียวแต่พระพุทธองค์ก็พยายามเสด็จไปที่ไกลเพื่อที่จะไปโปรดเขา อันนี้ก็เป็นอันที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงสืบๆ มา เมื่อเราเห็นพุทธจริยาเช่นนี้ ตลอดจนกระทั่งจริยาวัตรของพระสงฆ์ทั้งหลายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เราจะเห็นว่ามีความยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยมากการเดินทางสมัยก่อนก็ไม่สะดวก ส่วนมากก็ต้องเดินเท้า ก็ต้องมีป่าดง ที่ก็เป็นที่ราบบ้าง ที่ลุ่มบ้าง ที่เป็นภูเขาขรุขระก็มากมาย ไม่สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ ท่านก็ได้มีความเพียรพยายามลำบากตรากตรำ เห็นแก่ความสุข ประโยชน์ของหมู่มนุษย์ทั้งหลายจำนวนมาก ก็ไปประกาศพระศาสนาให้สำเร็จประโยชน์ ได้ผลอย่างที่ปรากฎปัจจุบัน ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายในบัดนี้ แม้จะเดินทางมีความยากลำบากบ้าง ถ้ามองถึงพุทธจริยวัตร และปฏิปทาพระสงฆ์ในอดีตแล้ว เราก็จะรู้สึกว่า โอ้ ท่านทำด้วยความเหน็ดเหนื่อยยากลำบากมากกว่าเรามากมาย เมื่อทำใจได้อย่างนี้ก็จะมีความสบายใจและมีความเต็มใจที่จะเดินทาง ก็เดินทางด้วยจิตใจที่มีความสบายใจ มีความพร้อม เต็มใจ มอบใจให้พระรัตนตรัยแล้ว ก็จะมีแต่ความสุข และจิตใจเอิบอิ่มได้ปิติ แล้วก็เป็นบุญเป็นกุศล ในโอกาสอันดีงามนี้ ที่อาจารย์ลดา จะได้เดินทางไปประเทศอินเดียในการบุญจาริก หรือเรียกว่าธรรมจาริกครั้งนี้ อาตมาภาพจึงขออนุโมทนาด้วย และขอเอาใจช่วย ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัย และขออานุภาพบุญกุศล ร่วมกับกุศลเจตนาที่ตั้งไว้อันดีงามนี้ จงเป็นปัจจัยให้โยมอาจารย์ได้เดินทางโดยสวัสดิภาพ มีความสุขกาย สบายใจ มีความเจริญงอกงามในธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในด้านความเข้าใจและในด้านของการประพฤติปฏิบัติให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และจงได้ประสบผลสำเร็จในสิ่งที่พึงปรารถนา พร้อมทั้งญาติมิตรทุกท่านตลอดกาลนาน