แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
อันดับต่อไป พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก จะได้เมตตากล่าวธรรมกถาก่อนที่จะประกอบพิธีเวียนเทียน ขอกราบอาราธนาพระเดชพระคุณครับ
ขอเจริญพรโยมญาติมิตรผู้มีจิตศรัทธาที่ได้มาร่วมกันทำบุญกุศลในวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่เรียกว่าวันอาสาฬหบูชาคือวันนี้ ความจริงก็มีโยมขอร้องว่าถ้าลมมาขอไม่ให้พูดให้เปิดเทปแทนเพราะเป็นห่วงเรื่องตาเนี่ย ตัวอาตมาเองก็รู้สึกเดินมาถึงโบสถ์แล้วรู้สึกจะไม่ไหวเหมือนกัน มายืนเหนื่อย พักเหนื่อย แต่ว่าเมื่อมาแล้วก็คงจะพูดกันจะพูดกันให้น้อยหน่อย จะพูดเป็นหัวข้อ ทีนี้เพื่อสรุปอย่างที่ว่า เป็นหัวข้อก็เริ่มด้วย
หนึ่งขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านที่ได้มาทำบุญถวายเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน เนื่องในวันเข้าพรรษาที่จะมาถึงพรุ่งนี้และเฉพาะวันนี้ก็คือทำบุญเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา วาระเดียวกันได้ทั้งสองอย่างเป็นบุญที่เรียกว่าทวีคูณ เพราะฉะนั้นก็อนุโมทนาเป็นทวีคูณเช่นกัน เมื่อโยมมาด้วยจิตศรัทธาแล้ว ก็เป็นบุญเป็นกุศลในตัว แล้วก็ได้แสดงออกทำบุญกุศลนั้นครบทั้งเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม บริบูรณ์ นอกจากทำบุญด้วยตนเองแล้ว ก็มีจิตเมตตาต่อกัน มีไมตรี มีความสามัคคี ร่วมใจกันทำความดี ปรารถนาดีต่อกัน อันนี้ก็เป็นบุญกุศลเพิ่มพูนขึ้นอีก รวมทั้งมีใจเกื้อกูลปรารถนาดีต่อพระสงฆ์และพระพุทธศาสนา อยากให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยั่งยืนนานแล้วก็ให้พระสงฆ์มีกำลังปฏิบัติศาสนกิจ นี่ก็เป็นน้ำใจที่ดี เรียกว่ามีเมตตา ก็เป็นบุญเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง อย่างน้อยเราทั้งหลายเมื่อตั้งใจที่มีเมตตาปรารถนาดีต่อกัน ก็ให้มีน้ำใจที่แสดงออกทางกาย วาจา ให้เป็นสิ่งแวดล้อมที่สร้างความเจริญใจแก่กัน เพราะว่าทุกคนเนี่ยมองในแง่หนึ่งก็เป็นสิ่งแวดดล้อมของผู้อื่น การที่เราทำตัวกายวาจาต่าง ๆ แสดงออกทำให้คนอื่นสบายใจเนี่ย ก็เป็นบุญเป็นกุศลทันที ใจเราก็ดีได้ปฏิบัติธรรมแล้วยังได้เกื้อกูลต่อผู้อื่นด้วย นี้ก็เป็นข้อที่หนึ่ง
ต่อไปข้อที่สองก็จะเลยไปถึงเรื่องวันอาสาฬหบูชา สำหรับเรื่องวันเข้าพรรษาปีนี้จะขอถือว่ากล่าวรวมไปแล้วในการอนุโมทนาไม่แยกกล่าวเป็นพิเศษ แล้ววันอาสาฬหบูชาก็คือวันที่อยู่เฉพาะหน้าในบัดนี้ด้วย วันอาสาฬหบูชานี้ก็เป็นวันสำคัญในด้านบูชาคือถวายความเคารพแด่พระรัตนตรัย ในวโรกาสสำคัญที่เราจัดกันวันนี้ก็มีสามวันตามปฏิทินคือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬหบูชา สามวันนี้ก็เลยถือโอกาสว่าวันนี้เราให้หัวข้อความหมายสั้นๆกันนิดหน่อยเป็นการรวบรัดมาสรุปทีเดียวกัน คือวันสำคัญทั้งสามนี้ก็มีความหมายที่มองได้หลายแง่ วันนี้ก็จะพูดสักแง่หนึ่ง ถ้าพูดว่ามาฆบูชาเป็นการบูชาในวันเพ็ญเดือนสาม แล้ววิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือนหก อาสาฬหบูชาในวันเพ็ญเดือนแปด ดูเลขแล้วก็โยมไปหาคติหรือหลักที่เราควรจะได้มองเอามาใช้ประโยชน์ ทีนี้มองเอาในแง่ตัวเลขก็ได้ สำหรับวันมาฆบูชาที่ว่าสำหรับเดือนสามนั้นก็ให้ญาติโยมเนี่ยมองว่าวันมาฆบูชาเนี่ยมีคาถาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นหลักในวันนั้นเนี่ยเขาเรียกกันว่าสามคาถากึ่ง คือสามคาถาครึ่ง ก็เรียกกันง่ายๆว่าสามตอนหรือสามท่อน เนี่ยมาฆบูชาเราก็ได้คาถาสามตอนเนี่ยถ้าโยมเข้าใจความหมายไปอ่านว่าได้เนื้อหาของมาฆบูชาหมด ต่อไปวันวิสาขบูชา วิสาขบูชาเลขหกก็มีพุทธพจน์และพระวาจาที่เป็นสำคัญสำหรับวันเนี้ยรวมหกตอนด้วยกัน ถ้าญาติโยมเข้าใจสาระความหมายของพระวาจาและพุทธพจน์ทั้งหกนี้ล่ะก็ถือว่าได้สาระของวันวิสาขบูชาก็เป็นวาทะในตอนประสูติหนึ่ง ตอนตรัสรู้สี่ และปรินิพพานหนึ่ง อันนี้ก็ฝากไว้ให้โยมเนี่ยอะตอนนี้เราเอาสาระแล้วตรงตัวเลขด้วยเลขเดือนพอดี นี้ตอนนี้ก็มาถึงวันอาสาฬหบูชา อาสาฬหบูชาเลขแปด ก็ได้พุทธพจน์ที่แสดงหลักการเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางอันได้แก่ทางหรือมรรคมีองค์แปดประการ เนี่ยถ้าโยมจับความหมายขององค์แปดประการของมัชฌิมาปฏิปทาได้ก็ถือว่าได้สาระของวันอาสาฬบูชา เพราะว่าวันอาสาฬหบูชานี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางสายกลางซึ่งก็คือมรรคมีองค์แปดประการ นี้วันนี้มาถึงวันอาสาฬหบูชาเราก็จะต้องจับตรงเนี้ยทางสายกลางนี้ให้ได้ ทางสายกลางก็เลยบ่งชี้ไปถึงทางเอียงสุดสองทางคือละทางที่เรียกว่าสุดโต่งสองอย่างแล้วจึงมาเข้าทางสายกลาง สุดโต่งสองอย่างก็เราเรียกกันว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” การประกอบตนให้หมกมุ่นอยู่ในกามสุขหรืออย่างเรียกปัจจุบันก็คือการกินเสพบริโภคเนี่ยพูดอย่างง่ายๆ จนกระทั่งลุ่มหลงมัวเมา แล้วก็สองก็คือ “อัตตกิลมถานุโยค”
การทรมาณตนเองให้ลำบากเปล่าซึ่งเป็นทางตรงข้ามกับทางที่หนึ่ง สุดไปคนละข้างเลยแล้วสองข้างนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทีนี้ทางสายที่หนึ่งนี่มองดูให้ดีเนี่ยดูจะเฉียดหรือจะไกล้หรือจะเหมือนกับสภาพในสังคมปัจจุบันนี้มาก สังคมปัจจุบันนี้จะโน้มไปในทางของการหมกมุ่นมัวเมาในการกินเสพบริโภควุ่นวายกับเรื่องเหล่านี้ จนกระทั่งพวกชาวโลกเองก็ยอมรับก็เลยเรียกกันว่าเป็นสังคมบริโภคหรือเป็นยุคบริโภคนิยม นี้ก็คือยอมรับตัวเองแล้วว่ากำลังยุ่งกับเรื่องของการกินเสพบริโภค นี้มองในแง่ของทางสายกลางเรามามองว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสทางสายกลางขึ้นมา ให้เห็นเหตุผลก่อนแล้วก็จึงเข้าใจความหมาย ก็ขอพูดสั้นๆให้เห็นว่ามนุษย์เราเนี่ยตามคติพุทธศาสนาเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ใช้ภาษาสำนวนปัจจุบันเขาเรียกว่ามีศักยภาพ มีศักยภาพเนี่ยมากเหลือเกินสูงสุดซึ่งขึ้นต่อการฝึกเราจะเรียกว่าการฝึกหัดพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่าการศึกษา ก็จะทำให้ศักยภาพนี้คลึ่คลายขยายเบิกบานออกมาจนเกิดผลถึงเป็นพระพุทธเจ้าได้ ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ประเสริฐได้ถึงโพธิทีเดียว ทีนี้มนุษย์ที่จมอยู่กับการกินเสพบริโภคเนี่ยเขามาวุ่นวายใช้เวลาแรงงานอะไรต่างๆให้หมดไปกับเรื่องการกินเสพบริโภค ศักยภาพที่เขามีอยู่เนี่ยเขาก็เลยไม่ได้พัฒนาแล้วเขาก็ล้มหายตายจากไปก็น่าเสียดายความเป็นมนุษย์และศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่มันหายสูญไปซะเปล่า มนุษย์นี้ทางด้านกายวาจาก็มีความสามารถฝึกฝนให้มีทักษะแคล่วคล่องชำนิชำนาญได้มากมายในศิลปะวิทยาการต่างๆ มนุษย์ที่ไม่ลุ่มหลงมัวเมามากเกินไปก็พัฒนาอย่างน้อยในขั้นนี้ แต่ต่อไปอีกในทางจิตใจในทางปัญญาเนี่ยยังมีศักยภาพที่จะบรรลุสิ่งที่ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “อัตถะ” จะเรียกว่าประโยชน์หรือจุดหมายที่สูงขึ้นไปอีกมากมาย แต่มนุษย์ที่ลุ่มหลงกับการกินเสพบริโภคเนี้ยก็เลยไม่ได้พัฒนาศักยภาพที่ตัวมี ทำความเป็นมนุษย์ศักยภาพความเป็นมนุษย์เนี่ยให้สูญเสียเปล่า ท่านเรียกว่าให้เป็นโมฆะชีวิต ชีวิตที่ว่างเปล่า ฉนั้นขอให้คิดให้ดีอันนี้คือเรื่องสำคัญที่จะนำไปสู่ทางสายกลาง เอาล่ะมนุษย์พวกที่หนึ่งก็เป็นอันว่าวุ่นวายอยู่เนี่ยมัวเมาลุ่มหลงอยู่ไม่ได้ไปไหนอ่ะ ศักยภาพที่มีอยู่ไม่ได้พัฒนา ตายไปก็เหมือนอย่างสัตว์ทั้งหลายอื่น เกิดมายังไงมีอายตนะมาเสพอะไรก็หมดจบสิ้นชีวิตไปแค่นั้น ทีนี้อีกพวกหนึ่งก็เห็นว่าวิถีชีวิตอย่างนี้ไม่ถูกต้อง ก็ดำเนินชีวิตที่ตรงข้าม ไม่ยอมตามใจก็ฝืน ก็กด ก็ข่ม ก็บีบ ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ตรงข้าม มัวแต่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ตรงข้าม ต่อสู้กับไอ้ฝ่ายที่หนึ่งอยู่ เลยทุ่มเทแรงงานเวลาหมดไปกับการต่อสู้ดิ้นรนอันนี้ก็ไม่ไปไหนศักยภาพอะไรที่มีอยู่ก็ไม่ได้พัฒนา นี้คือสิ่งที่เรียกว่าที่สุดสองอย่าง โดยสาระพระพุทธเจ้าก็ทรงประกาศทางสายกลางขึ้นมา จุดนี้คือที่สำคัญที่เราจะเข้าใจสาระความเป็นสายกลาง ไม่ใช่ว่าปฏิบัติกึ่งกลางระหว่างสองอย่างแล้วก็เป็นทางสายกลาง แต่ว่าจุดหมายก็คืออย่างที่บอกเมื่อกี้มนุษย์เราเนี่ยมีความเป็นสัตว์ที่ฝึกได้มีศักยภาพอยู่ เราควรจะดำเนินตามวิถีทางที่จะพัฒนานำเอาศักยภาพนี้ออกมาทำให้พัฒนาคลี่คลายเบิกบานจนกระทั่งเกิดความสมบูรณ์จนกระทั่งว่ากายวาจาจิตใจปัญญานี้ได้บรรลุจุดหมายที่สมบูรณ์ของมัน เพราะฉนั้นพระพุทธศาสนาก็ไม่มัวเมาวุ่นวายกับเรื่องข้อปฏิบัติสองแบบนั้น แต่มองดูว่าสิ่งแวดล้อมวิถีชีวิตอะไรที่มันจะเกื้อกูลช่วยให้ดำเนินไปในการพัฒนาศักยภาพนั้นได้ก็เอาอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่มัวไปนึกเรื่องกินเสพบริโภคแต่ว่าการกินเสพบริโภคอ่ะแค่ไหนที่จะเกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตหรือจะเรียกว่าพัฒนาศักยภาพ แม้ข้อปฏิบัติของพวกที่เรียกว่าสู้เป็นฝ่ายตรงข้ามกับกามสุขัลลิกานุโยคบางอย่างจะเห็นว่าพุทธศาสนาก็นำมาใช้ แต่ว่าต้องเข้าใจว่าไม่ใช่เพื่อต่อสู้กับอีกฝ่ายแต่เพื่อให้มันเป็นตัวเอื้อต่อการที่เราจะมาปฏิบัติเพื่อก้าวไปสู่จุดหมายที่ดีงามที่เป็นการพัฒนาชีวิตนั้น ตรงนี้แหละเราจึงมีวิถีชีวิตที่เรียกว่าเป็นการฝึกฝนตนเอง ไม่ใช่ไปฝืนหรือไปทำตัวตรงข้าม การฝึกกับการฝืนไม่เหมือนกัน วิธีสุดโต่งนี่ก็เหมือนกับเป็นการฝืนการทำตัวเป็นปฏิปักษ์ที่ตรงข้าม พอเราฝึกแล้วทีนี้แล้วก็เราเอาข้อปฏิบัติอะไรต่างๆเนี่ยมาเป็นตัวเอื้อให้เราเดินหน้าไป ฉะนั้นจุดสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ นี้เป็นจุดต่างที่สำคัญของทางสายกลางหรือมัชฌิมาปฏิปทา นั้นมัชฌิมาปฏิปทานี่เวลาปฏิบัติท่านใช้คำว่า “ภาวนา” ภาวนานี้ก็ไม่ใช่ความหมายที่ในภาษาไทยได้เพี้ยนไปต้องเข้าใจกันให้ถูกต้อง ภาวนาก็คือการที่ทำให้เป็นให้มีขึ้นมาก็คือเราแปลกันว่า “เจริญ” ก็ทำให้ความสามารถศักยภาพที่มีอยู่เนี่ยพัฒนาขึ้นไปอันนี้เราเรียกว่าภาวนา ภาวนาขึ้นไปจนกระทั่งว่ากายก็พัฒนาถึงที่สุด ทางด้านพฤติกรรมการติดต่อสัมพันธ์โลกภายนอกก็ทำได้อย่างที่ดีสุดเรียกว่า “ศีล” แล้วก็ทางจิตใจก็พัฒนาไปได้อย่างที่ที่สุดมีความสามารถมีความสุขอะไรต่างๆ คุณธรรมความดีต่างๆในทางจิตใจได้ถึงจุดสมบูรณ์ แล้วทางปัญญาก็เช่นเดียวกันก็พัฒนาไปจนกระทั่งบรรลุถึงจุดหมายที่สมบูรณ์ อันนี้แหละก็คือความหมายที่สำคัญของมัชฌิมาปฏิปทา มนุษย์เราเนี่ยถ้าเรามองสังคมก็มองไปว่าก็ประกอบด้วยสัตว์ทั้งหลายที่ต่างก็เป็นมนุษย์เป็นสัตว์ที่พึงฝึกต้องฝึกแล้วก็เราก็พัฒนาชีวิตกันไปแต่ละเวลาเราก็มีชีวิตที่อยู่ในระดับการพัฒนาต่างๆกัน เราก็ยอมรับมนุษย์ตามที่เป็นแต่ว่าอย่าให้เขาหยุดอยู่กับที่ให้เขาพัฒนาต่อไปแล้วก็เมื่อมองอะไรต่ออะไรเป็นการฝึกนี้จะทำให้เราได้ความสุขจากการปฏิบัติสิ่งทั้งหลาย อย่างสิ่งที่ฝืนเนี่ยถ้าเปลี่ยนมาเป็นฝึก ทุกข์ก็หายกลายเป็นสุขได้ทันที คนเราพอไปทำอะไรมันยากเป็นต้นก็จะรู้สึกฝืนใจ แต่พอเรามองว่าเราจะฝึกตัวเนี่ยเราจะหายทุกข์ ความฝืนใจหายไป ทุกข์ก็หายไปด้วย โอ้นี่เราจะได้ฝึกตัวเอง พอนึกว่าฝึกตัวเองก็ได้ละทีนี้ก็มีความสุข เพราะฉนั้นก็มองอย่าให้เป็นฝืนมองให้เป็นฝึกแล้วก็ได้แล้วก็จะมีความสุข หรืออย่างแม้แต่เรื่องที่เป็นเรื่องทุกข์เรื่องร้าย ถ้าหากว่ามองเป็นแบบฝึกหัดก็ทำให้คนเราเนี่ยเริ่มพัฒนาได้ทันที ไม่ว่าทุกข์อะไรเรื่องร้ายอะไรมาเนี่ยเรามัวไปเผชิญแล้วก็มีความรู้สึกที่มันบีบคั้นเราเราก็ทุกข์เราก็ยิ่งแย่ แต่ถ้าเรามองเป็นแบบฝึกหัดปั๊บเราเริ่มพัฒนาทันที เพราะฉะนั้นนี้ก็คือวิถีที่สอดคล้องกับมัชฌิมาปฏิปทา เป็นทางของการพัฒนาศักยภาพที่เรียกว่าภาวนา เป็นทางของการฝึกตนเดินหน้าไปเรื่อยๆมีอะไรเข้ามาเราก็มองในแง่นี้เป็นแบบฝึกหัดให้แก่เรา เป็นวิถีทางหรือเป็นสิ่งที่จะมาช่วยให้เราได้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ชีวิตก็เจริญงอกงามแล้วก็มีความสุขไปเรื่อยๆ เราก็มาใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ปัจจุบัน โลกปัจจุบันนี้ถ้าหากว่าเราปล่อยให้กลายเป็นอย่างนี้ไม่มีจุดหมาย มนุษย์ก็นึกว่าการกินเสพบริโภคพรั่งพร้อมกับวัตถุนี้เป็นความสุขเป็นจุดหมายแห่งชีวิตของเขา แต่อีกด้านหนึ่งเขาไม่ได้มองว่าศักยภาพของความเป็นมนุษย์ที่เขามีเนี่ย เขาไม่ได้เอามาใช้เอามาพัฒนาเลย แล้วในที่สุดเขาก็จะไม่รู้ตัวว่าเขาตายไปเปล่า เพราะฉะนั้นก็เราเข้าใจหลักทางสายกลางนี้แล้วเนี่ยเราจะเห็นคุณค่าของคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเราจะปฏิบัติต่อวัตถุสิ่งเสพบริโภคนั้นได้ถูกต้อง เอามันมาเป็นปัจจัยมาเป็นเครื่องเอื้อ เครื่องเกื้อกูลต่อการพัฒนาชีวิตหรือพัฒนาศักยภาพของเรา เรามีอะไรที่ต้องทำและจะไปถึงได้จุดหมายสูงขึ้นไป ทางด้านกายก็ตาม ทางด้านพฤติกรรม ทางด้านการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกทางด้านจิตใจ ทางด้านปัญญาเนี่ย เราหันมามองซะ แล้วก็เราจะสามารถเอาทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกไม่ว่าสิ่งที่ดีที่ร้ายมาใช้เป็นเครื่องมือและเป็นเครื่องเกื้อหนุนการพัฒนาชีวิตได้ทั้งสิ้น วันนี้ก็ขอฝากคติเรื่องมัชฌิมาปฏิปทาอันนี้ไว้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าที่สุดสองอย่างนั้นมันไม่เป็น จักขุกรณี ไม่เป็น ญาณกรณี เป็นต้น ไม่เป็นไปเพื่อ อุปะสะมายะ สัมโพธายะ นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ แต่ทางสายกลางนี้เป็นไปเพื่ออุปะสะมะเป็นต้น จนถึงเป็นไปเพื่อนิพพาน ก็หมายความว่ามันไม่ได้อยู่จมอยู่กับที่ตรงนั้นแต่มันเป็นเรื่องที่เป็นไป ดำเนินไป ก้าวไปสู่จุดหมาย ให้เรางอกงามไปถึงความสมบูรณ์ของศักยภาพที่เราสามารถพัฒนาได้ฝึกได้นั้นก็ขอฝากข้อคิดของมัชฌิมาปฏิปทาไว้วันนี้เพียงเท่านี้ นี้เป็นแง่มุมหนึ่งของความหมายที่สำคัญ ถ้าเราจับจุดนี้ได้คิดว่าชาวพุทธจะได้ประโยชน์มากโดยเฉพาะในทางการศึกษาและเราก็ไม่มัวไปต่อสู้ล่ะ เราต้องคิดในแง่เอามันมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร แล้วก็ถอนคนขึ้นมาจากการจมอยู่ ให้เขาเดินหน้าไปว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนวิธีใช้มันซะ เอามาแทนที่จะเอาความพรั่งพร้อมทางวัตถุกินเสพบริโภคเป็นจุดหมายก็เอามันมาเป็นปัจจัยอย่างที่เคยกล่าวบ่อยๆ เป็นเครื่องอาศัยเกื้อหนุนเราให้เราเดินหน้าไป แล้วก็มาพิจารณาดูกันให้ดีว่าชีวิตเขาเรานี่มีจุดหมายอะไรที่เราจะไปถึงได้ที่จะไปสู่ความเบิกบานเต็มที่เหมือนดอกไม้ที่ตูมต่อมาก็สามารถบาน ไม่ใช่ว่าจมอยู่แค่ตูมแล้วก็เน่าเสียไป ก็ทำให้เบิกบานขึ้นมาซะ เรามองแง่นี้แล้วเราก็จะเดินหน้าไปได้ตามคำสอนพระพุทธเจ้าและมรรคมีองค์แปดประการก็คือองค์ประกอบที่จะมาช่วยเราให้ใช้ปัจจัยเหล่านี้ได้ถูกต้องและก้าวไปจนถึงจุดหมายที่กล่าวมา ก็พุทธพจน์ที่ตรัสในวันนี้ธรรมจักรกัปปวัตนสูตรก็มีว่า มัชฌิมาปฏิปาท จักขุกรณี ญาณกรณี อุปะสะมายะ สัมโพธายะ จนถึง นิพพานายะ สังวัตตะติ ฯ ก็จะได้เกิดความหมายที่แท้จริงสมบูรณ์
ก็ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่าน ที่ได้มาร่วมทำบุญในวันอาสาฬหบูชาซึ่งรวมถึงวันเข้าพรรษาพรุ่งนี้ด้วย
ก็ขอคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พรอภิบาลรักษาให้ท่านทั้งหลายผู้มีจิตใจเจริญด้วยบุญกุศุลมีมโนกรรมเป็นบุญกุศลแล้วแสดงออกมาทางกายวาจาก็เป็นบุญกุศลครบทั้งไตรทวารแล้ว ขอจงได้เจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังที่จะปฏิบัติกิจหน้าที่ทั้งแต่ศึกษาเล่าเรียนเป็นต้นไป ให้บรรลุจุดหมายสามารถบำเพ็ญประโยชน์สุขให้เกิดแก่ชีวิตครอบครัวสังคมประเทศชาติและแก่โลกนี้ให้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุขยังยืนนานสืบไปทุกเมื่อเทอญ
สาธุ