แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร อาตมาในนามของวัดญาณเวศกวัน ก็ขออนุโมทนาคณะโยมญาติมิตร ท่านที่เป็นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ที่เป็นชาวสำนักงานวิจัย โรงพยาบาลรามาธิบดี ทุกท่าน ที่ได้มานี่ อาจจะมาในฐานะที่อยู่ในรามาธิบดีเอง แล้วอาจในฐานะที่อยู่ในครอบครัวของท่านที่ทำงานที่นั่น อย่างไรก็แล้วแต่ ก็ถือว่ามาในวันนี้ ก็มาในเรื่องบุญกุศล มาตั้งใจฟังธรรมะกัน ทีนี้ ทางท่านผู้ดำเนินการติดต่อสำหรับวันนี้ ได้ขอให้พูดในเรื่องว่า พัฒนากาย พัฒนาจิต เพื่อความสุขที่แท้ อาจจะจำหัวข้อเพี้ยนไปบ้างนิดหน่อย แต่ก็โดยสาระสำคัญก็อย่างที่กล่าวมานี้ แต่ทีนี้เรื่องพัฒนา พัฒนานี่ก็เป็นเรื่องที่เราได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ พัฒนาข้างนอกกันมานาน คือ พัฒนากันทางด้านวัตถุ โดยเฉพาะก็คือ พัฒนาเรื่องเศรษฐกิจ จนกระทั่งมาถึงระยะหนึ่ง ก็เกิดการเห็นชัดปรากฎขึ้นมาว่า มันมีปัญหามากมาย การพัฒนาทางด้านวัตถุหรือทางเศรษฐกิจนั้น ไม่ได้ทำให้มนุษย์มีความสุขที่แท้จริง ทั้งตัวบุคคลในชีวิตจิตใจ ทั้งสังคมที่อยู่ร่วมกัน แล้วก็ทั้งสภาพแวดล้อม มีปัญหาเยอะแยะ ตอนนี้ก็เลยบอกว่าพัฒนาแต่ข้างนอก ไม่พอแล้ว ต้องพัฒนาข้างใน ข้างในก็หมายถึงที่ตัวคน ก็เลยตอนนี้หันมาเน้นการพัฒนาคน ดังที่ได้มีประจักษ์หลักฐานชัดเจนก็คือ แผนพัฒนาเศรษกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๘ ซึ่งให้ถือการพัฒนาคนเป็นศูนย์กลาง แต่ว่าการพัฒนาคน ไม่ได้มาสำคัญขึ้นเพราะแผนพัฒนานี้ คือมันสำคัญอยู่ก่อนแล้ว แต่ว่าเราเพิ่งมาเห็นความสำคัญ มาเน้นกัน
วันนี้เรามาพูดกันในแง่ของการพัฒนาข้างใน เราไม่พูดถึงการพัฒนาข้างนอก เรื่องเศรษฐกิจและสังคม แต่เรามาพูดถึงพัฒนาที่ตัวคน ตัวเราเอง นั่นเอง ที่กายกับใจ คนเราก็มี ๒ ส่วนนี้แหละ กายกับใจ ทีนี้การพัฒนาข้างในนี้ ก็ไปสัมพันธ์กับการพัฒนาข้างนอก ในแง่หนึ่งก็คือว่า การพัฒนาข้างนอกนั้น จะได้ผลดี ไม่ดี แล้วก็ไปถูกทางหรือไม่ถูกทาง นี่ก็ต้องอาศัยการพัฒนาคน ถ้าคนมีคุณภาพอย่างไร ก็มีพฤติกรรมอย่างไร มีความสามารถแค่ไหน ก็ไปพัฒนาข้างนอกได้อย่างนั้น ฉะนั้น การพัฒนาข้างนอกก็ต้องอาศัยปัจจัยทั้งทางพฤติกรรมการพัฒนาข้างในที่ตัวคน อีกประการหนึ่งไม่ใช่แค่นั้นหรอก ก็คือตัวคนที่พัฒนาแล้ว จะอยู่ในสภาพแวดล้อมข้างนอก ไม่ว่าจะพัฒนาหรือไม่พัฒนานั้นได้อย่างไร ฉะนั้น ก็มี ๒ ขั้นตอน การที่เราต้องพัฒนาตัวคนนี้ อย่างน้อยก็คือว่า ในเมื่อสภาพแวดล้อมสังคมภายนอกนี้ มันมีความเปลี่ยนแปลง และโดยเฉพาะปัจจุบันนี้ เห็นกันว่ามีปัญหามากมายเหลือเกิน หลายคนจะบ่นแบบชนิดเรียกว่าแทบจะสิ้นหวังกับสังคมนี้ ว่าสังคมไทยนี้ปัญหาทำไมมันมากมายนัก อย่างยาเสพติดนี่ก็มันเป็นปัญหาใหญ่ แค่ปัญหาเดียวสังคมไทยก็จะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงปัญหาอื่น ปัญหายาเสพติดปัญหาเดียวก็จะไม่รอดแล้ว นอกจากนั้นยังมีปัญหาโรคเอดส์ ก็เข้ามาคุกคามอย่างรุนแรงมาก ประเทศไทยก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่เป็นอันดับหนึ่งในเอเชีย ในเรื่องโรคเอดส์ แล้วก็ต่อไปก็อาจจะเป็นอันดับหนึ่งในโลก เพราะก้าวขึ้นมาตามลำดับ คือ เก่งเมืองไทยนี่ ก้าวในเรื่องนี้ เก่งมาก ไว จนกระทั่งว่าเวลานี้คนตายด้วยโรคเอดส์นี่ เมืองไทยบอกว่าชั่วโมงละ ๔ คน ๔ คนนี่ไม่ใช่เบาแล้วนะ แต่ว่าในกรุงเทพฯ ในภาคกลางก็อาจจะเบาหน่อย นี่ไปทางภาคเหนือ ญาติโยมมาจากเชียงใหม่บอกว่า ที่วัดๆ เดียวนี่บางทีเผาวันละ ๔-๕ คน เขาบอกว่าตายเป็นใบไม้ร่วง ตอนนี้สถิติการตายด้วยโรคเอดส์ก็มาเป็นอันดับ ๑ ของสาเหตุการตายของคนไทย ซึ่งแต่ก่อนนี้ตายมากที่สุดด้วยอุบัติเหตุ อุบัติเหตุเมื่อสัก ๓ ปีก่อนนี้ ก็ยังเป็นอันดับ ๑ ตอนนี้มาเอดส์ชนะแล้ว เป็นอันดับ ๑ เรื่องตายด้วยอุบัติเหตุก็ไม่ใช่ดี ใช่ไหม แสดงถึงความาประมาท แสดงถึงขาดธรรมะอยู่แล้ว พอมาตายด้วยโรคเอดส์ ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก นี่สภาพสังคมของเรามันมีปัญหาเยอะแยะ เราไม่ต้องมาพูดกันล่ะ แต่ว่าอันหนึ่งก็คือ ในเมื่อสภาพสังคมที่แวดล้อมมีปัญหามาก ก็จะโน้มจิตใจทำให้เรามีความทุกข์มากขึ้น ทีนี้การพัฒนาคนนี่ อย่างน้อยก็มาช่วยสร้างภูมิต้านทานว่า เราจะอยู่ดีในท่ามกลางสภาพแวดล้อมอย่างนี้ เผชิญกับมัน รับมือกับมันได้ดีที่สุดอย่างไร อยู่ให้มีทุกข์น้อย ได้ดีแค่นี้ก็ดีขั้นที่ ๑ ทีนี้ว่าเราคงไม่พอใจเท่านี้หรอก เราก็พอใจที่ว่าจะให้มีความสามารถมากกว่านั้น นอกจากมีภูมิต้านทาน รับมือกับปัญหาความทุกข์ภายนอก ให้มีผลกระทบต่อเรามีทุกข์น้อยแล้ว ก็คือว่าสามารถที่จะพัฒนาตัวเราให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เอาประโยชน์ทำให้การเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนี้ มาเกิดประโยชน์แก่ชีวิตและสังคม เอามันมาใช้นั่นเอง ได้อย่างไร อย่างเรื่องของความเจริญทางด้านข่าวสารข้อมูล เรื่องของเทคโนโลยีอย่างนี้ เราต้องพัฒนาตัวเราให้ทันกับมันนะ ถ้าเราพัฒนาไม่ทันนี่ เราใช้ประโยชน์มันไม่ได้ เรากลายเป็นได้รับโทษจากมัน ฉะนั้น ถ้าเราพัฒนาตัวเราดีนี่ เราเอาประโยชน์จากมันได้ สังคมไทยนี้ เป็นปัญหาตั้งแต่ว่ารู้จักใช้ความเจริญให้เป็นประโยชน์หรือได้รับโทษจากมัน ได้รับคุณหรือโทษจากมันมากกว่ากัน อันนี้ก็เป็นปัญหาล่ะ และถ้าเราพัฒนาคนให้ดี เราเอาสิ่งที่เรียกว่าความเจริญนี้ มาใช้ประโยชน์ได้ เรียกว่ามีแง่มุมของการปฏิบัติต่อเทคโนโลยี เป็นต้น
ทีนี้ ต่อจากนั้นก็คือ เราเก่งไปอีก พัฒนาคนให้เก่งกว่านั้น สามารถที่จะแก้ไข นำการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีงาม ไม่ใช่ไปว่าเพียงแค่ตามทันการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในความเจริญอย่างนี้ เราก็มาใช้ประโยชน์ได้ แต่เราเป็นผู้สามารถสร้างสรรค์เองเลย นำทางการเปลี่ยนแปลง นำทางความเจริญ จะให้ความเจริญเป็นไปในรูปไหน อย่างไร การพัฒนาที่แท้สำหรับในตัวคนนั้น จะต้องได้ถึงขั้นที่ ๓ นี่ก็อย่างน้อยก็เอาละเป็น ๓ ขั้น
ขั้นที่ ๑ ก็ให้ภูมิต้านทาน สภาพที่มันเป็นปัญหา กระทบกระทั่งอยู่ กระแสที่มันไหลแรงอย่างนี้ เราจะอยู่ได้อย่างไรที่จะมีความเข้มแข็งพอทน
ขั้นที่ ๒ ก็คือว่า เอามันมาใช้ประโยชน์
ขั้นที่ ๓ ก็คือ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนั้นเสียเองเลย ให้เป็นไปในทางที่ดี ถ้าพัฒนาคนประสบความสำเร็จ ก็ได้ถึงขั้นที่ ๓
ทีนี้เรื่องพัฒนาคนนี้ ในหัวข้อที่ตั้งไว้ ก็มี ๒ อย่าง พัฒนากายกับพัฒนาจิต คงจะมองในแง่ว่า คนเรานี้ต้องมี ๒ ส่วน คือมีร่างกายกับจิตใจ เพราะฉะนั้น ก็ต้องพัฒนาให้ครบทั้ง ๒ ด้าน แต่ว่าความหมายของการพัฒนากายนี้เป็นยังไง ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าศึกษาอยู่ มันอาจจะไม่ได้มีความหมายแคบๆ เพียงแค่ที่มองเห็นรูปสัก อ๋อ กายคือร่างกาย อะไรแค่นี้ ถ้าหากว่าบอกพัฒนากาย ก็คือ ทำกายให้เจริญเติบโต ก็คือว่า รับประทานอาหาร เป็นต้น และร่างกายของเราแข็งแรง และก็เจริญเติบโตจากเด็กก็เป็นผู้ใหญ่ อย่างนี้เขาเรียกว่าพัฒนากาย แต่ในทางธรรมะไม่ได้มองแค่นั่น พัฒนากายไม่ได้มีความหมายแค่นั้น พัฒนากายนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบการพัฒนาชีวิตมนุษย์ที่เรียกว่า คนทั้งหมด
เอ้า แล้วก็มันไม่ใช่แค่มี ๒ โยมนึกว่าก็มีกายกับใจ ก็พัฒนากาย พัฒนาใจ ก็ครบ แต่ทางพระท่านบอก ไม่ครบหรอก คนเรามีกายกับใจก็จริง แต่เวลามาจัดเป็นกระบวนการพัฒนานี้ ต้องแยกย่อยออกไปให้ครบ มีหลายด้าน คนเรานี้มีชีวิตหลายด้าน ที่เราดำเนินชีวิตอยู่นี้ เราทำอะไรบ้าง โยมลองแยกดู แล้วเรามองชีวิตของเราให้ครบทุกด้าน แล้วอย่างน้อยเราปฏิบัติต่อชีวิตของเราในด้านนั้นๆ ให้ถูกต้อง แค่นี้ก็เริ่มกระบวนการพัฒนาแล้ว ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าเรามีชีวิตเป็นอยู่ เรามีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร อะไรที่เราเป็นอยู่ อะไรบ้างที่เป็นอยู่ เป็นอยู่เป็นชีวิตนี่ ก็ต้องมาดูแยกแยะออกไป ทางพระท่านก็จะบอกให้เราเห็นว่า เริ่มต้นดูจากข้างนอกเข้าไปข้างใน เราก็จะเห็นการเคลื่อนไหว คนเรานี่จากข้างนอกแต่ละคน ข้างนอกที่มองเห็นก็คือ การเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวก็จะมี ๒ อย่าง การเคลื่อนไหวกายกับการเคลื่อนไหวทางวาจา นี่คือ ภาพปรากฏของเรา การเคลื่อนไหวเดินเหิร ทำโน่นทำนี่ เอามือเอาเท้าไปทำสิ่งต่างๆ เริ่มตั้งแต่ปรุงอาหาร รับประทานอาหาร ใช้กายเคลื่อนไหว แล้วก็อีกด้านหนึ่งก็คือ เคลื่อนไหวทางวาจา ก็คือ พูดจา นี่คือภาพปรากฏทั้งหลาย อันนี้หนึ่งละ
ทีนี้ นี่เราเรียกว่าอะไรทั้ง ๒ อย่าง นี่ชีวิตของเราที่เป็นอยู่ ที่เคลื่อนไหวกายกับวาจา ทำการโน่น ทำการนี่ พูดนั่น พูดนี่ ต้องเรียกกันง่ายๆ ภาษาสมัยใหม่เรียกว่า พฤติกรรม ตกลงว่าชีวิตของเราส่วนที่เห็นง่ายที่สุด ปรากฏออกมาข้างนอกก็คือ พฤติกรรมทางกาย วาจา และพฤติกรรมทางกาย วาจา ของเรานี่ ก็ต้องดูอีกว่า มันไปเกี่ยวข้องกับอะไร ที่ทำๆ กัน เราก็จะมองเห็นว่า พฤติกรรมกาย วาจา ของเราที่ทำนี้ เพราะเราจะดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางโลกนี้ ที่เราเรียกว่าสิ่งแวดล้อม เราต้องไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เพื่อจะเอาประโยชน์จากมัน หรือว่าเพื่อจะปกป้องตัวเอง หรือยังไงก็ตาม ให้ชีวิตของเราไปรอด ไปได้ดีในสภาพแวดล้อมเหล่านี้ เราก็เลยมีพฤติกรรมขึ้นมา ในการเป็นสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมที่ไปสัมพันธ์นี้ ก็ต้องแยกอีกว่ามีอะไรบ้าง เราดูๆ ไป สิ่งแวดล้อมที่เราไปสัมพันธ์นี้ก็มีอะไร
๑ มนุษย์ในการที่...เราก็อยู่กับเพื่อนมนุษย์ เจอคนโน้น เจอคนนี้ ก็พูดจาปราศรัยกัน โบกมือโบกไม้ช่วยกันทำงาน เป็นต้น อันนี้เราก็เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม ทีนี้นอกจากมนุษย์ด้วยกันแล้ว เราสัมพันธ์กับสิ่งของวัตถุต่างๆ เช่นว่าเริ่มต้นขึ้นมา ตื่นเช้าอาจจะไปอาบน้ำ อาจจะรับประทานอาหาร นี่ก็นำอาหาร เป็นต้น ตลอดจนถนนหนทาง วัตถุสิ่งของเครื่องใช้ ทีวี เทคโนโลยีต่างๆ แล้วก็ธรรมชาติทั้งหลาย ต้นไม้ ดิน น้ำ อะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมอีกด้านหนึ่ง ก็เราก็มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อนมนุษย์ที่เรียกว่า ทางสัมคมอย่างหนึ่ง แล้วก็สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ เช่น ปัจจัย ๔ อาหาร เป็นต้น นี่ก็คือชีวิตของเราด้านที่ปรากฏสำคัญเลย ถ้าเรามีความสัมพันธ์โดยใช้พฤติกรรมกับสิ่งเหล่านี้ดี ถูกต้อง ชีวิตของเราก็ดำเนินไปได้ดี ถ้าเรามีพฤติกรรมไม่ถูกต้อง ก็เกิดความขัดข้อง เกิดปัญหา เกิดปํญหาโดยที่ว่า เราเองเป็นผู้ต้องรับปัญหา เกิดปัญหากับตัวเรา หรือเราเป็นผู้ก่อปัญหา ทำปัญหาให้แก่ผู้อื่นและสิ่งอื่นก็ได้ เราอาจจะก่อการเบียดเบียน ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่เพื่อนมนุษย์ก็ได้ เพียงได้พูดจาไม่ดี ก็เกิดปัญหาแล้ว คนอื่นก็เกิดความขัดใจ แล้วก็เกิดโต้ตอบมาไม่ดี เกิดปัญหาแก่เราเอง ทีนี้เราใช้กายเคลื่อนไหวไม่ดี ทำอะไรไม่ถูกไม่ต้อง มีพฤติกรรมเช่น กินอาหาร กินไม่เป็น กินอาหารที่มันไม่ดีเข้า เกิดท้องเสียขึ้นมา ก็เกิดทุกข์ขึ้นมาอีก พฤติกรรมก็เป็นเรื่องที่ว่า จะต้องจัดการกับมันให้ดี ให้ถูกต้อง พฤติกรรมทางกาย วาจา แต่ชีวิตของเราก็ไม่มีเท่านี้ แต่เราจะต้องเห็นว่า นี่แหละส่วนสำคัญของชีวิตของเราส่วนที่หนึ่ง ก็คือ พฤติกรรม กาย วาจา ที่ไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม จะเป็นเพื่อนมนุษย์ในสังคมก็ตาม เป็นวัตถุสิ่งของก็ตาม ๑ แล้วนะ
ทีนี้ ที่เรามีพฤติกรรมอย่างนี้ ที่จริงมันไม่ได้ออกมาเฉยๆ นะ มันมีความตั้งใจ ถ้าไม่มีความตั้งใจ พฤติกรรมนี้ไม่ออกมา พฤติกรรมที่ไม่ได้มีความตั้งใจ จะเลื่อนลอย แล้วก็ไม่ค่อยมีผล แต่ว่าถ้าอันไหนตั้งใจแล้ว มันมีผลยั่งยืน เพราะว่าแสดงว่าจิตใจเราชอบอย่างนั้น ตั้งใจอย่างนั้น มันลึกซื้งเข้าไปอีก อันจะมีเรื่องของมีความโน้มเอียงของจิตใจ มีนิสัยที่สะสมไว้ แปลว่ารวมความก็คือ พฤติกรรมที่ออกมา เช่นจะพูดนี่ ก็ต้องตั้งใจก่อน จะเคลื่อนไหวไปรับประทานอาหาร เลือกอาหารอันไหน ก็อยู่ที่จิตใจตั้งใจก่อนทั้งนั้น ตกลงว่าที่สำคัญในชีวิตของเราอีกด้านหนึ่งก็คือ จิตใจ จิตใจที่มีความตั้งใจ มีแรงจูงใจในการที่จะทำอะไรต่างๆ แล้วก็มีคุณสมบัติในจิตใจ เช่น เป็นบุญ เป็นบาป เป็นกุศล เป็นอกุศล เป็นความดี ความชั่ว เป็นคุณธรรมหรือมิใช่คุณธรรม นี่อันนี้ก็สำคัญมาก แล้วต่อจากนั้น ในจิตใจก็มีสุข มีทุกข์ ถ้าหากว่าสุข ก็ชอบใจ อะไรทำให้เราสุข เราชอบใจ เราก็มีความโน้มเอียงที่จะไปสัมพันธ์กับสิ่งนั้นเพิ่มขึ้น ถ้าอันไหนทำให้เราทุกข์ไม่สบายใจ เราก็มีความโน้มเอียงที่จะหลีกเลี่ยง จะหนี หรืออาจจะเกิดพฤติกรรมในการทำลาย เกิดความสัมพันธ์ในทางพฤติกรรมที่เป็นไปในทางเบียดเบียน ด้วยความเสียหาย เกิดเป็นพฤติกรรมในทางลบ ตกลงว่าอีกด้านหนึ่งที่สำคัญก็คือ จิตใจของเรานี่เอง เพราะฉะนั้น ก็สำคัญมาก อีกด้านหนึ่งที่เรามองข้ามไม่ได้
ทีนี้ต่อไปอีกอันหนึ่ง ก็ในการที่เราจะตั้งใจยังไง แล้วเราจะเคลื่อนไหวตามพฤติกรรมยังไง ต้องมีอีกตัวหนึ่งนะทุกครั้งด้วย เราจะเคลื่อนไหวยังไง เราเคลื่อนไหวได้ตามความรู้ของเรา เรารู้แค่ไหน เราก็เคลื่อนไหวได้ตามนั้น เรารู้เข้าใจ เช่นเราอยากจะได้อะไรสักอย่างหนึ่ง เรามีปัญญารู้ว่า เราจะต้องทำอะไร แค่ไหนเพื่อให้ได้สิ่งนี้มา ปัญญาของเรารู้แค่ไหน เราทำได้แค่ไหน เพราะฉะนั้น เบื้องหลังความตั้งใจ เบื้องหลังพฤติกรรม มีตัวปัญญาความรู้ว่าปัญญารู้แค่ไหน ทำได้แค่ไหน ถ้าคิดให้ละเอียดลึกซึ้ง ก็พฤติกรรมก็มีความซับซ้อนมากขึ้น นี่คือชีวิตของเรานะที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาที่เป็นอยู่ เรามองจากข้างนอก พฤติกรรมกาย วาจา แต่ว่าลึกเข้าไปก็คือ จิตใจที่ขาดไม่ได้ เป็นฐานของพฤติกรรม แล้วจิตใจนั้นก็ต้องอาศัยปัญญาความรู้ นี่คือ ทั้งหมดของชีวิตของเรา ฉะนั้น เวลาจะไปพัฒนา เราต้องพัฒนาโดยดูทั้งทุกด้านของชีวิต ไม่ใช่ว่าเอาแค่กายกับใจเรา ต้องพัฒนาให้ครบ จากทีพูดมาเราจะเห็นว่า เราต้องจัดการกับชีวิตของเรากี่ด้าน
ด้านที่ ๑ ด้านพฤติกรรมที่ไปสัมพันธ์กับสังคมกับวัตถุทั้งหลาย ต้องรู้จักจัดการกับพฤติกรรมของตัวเองให้ดีที่สุด คนไหนจัดการได้ดี มีความสามารถในการจัดการกับพฤติกรรม นั่นคือ บุคคลนั้นมีการพัฒนา ถ้าหากว่าไม่มีความสามารถในการจัดการ ก็แสดงว่ายังไม่ได้พัฒนาในด้านพฤติกรรม นี่อันนี้สำคัญเบื้องต้น ก็พฤติกรรมนี้บอกแล้วว่า เราจะแยกในแง่กาย วาจา ก็ได้ หรือแยกในแง่ของจุดสัมพันธ์ของเรา ก็คือ
๑ สัมพันธ์กับสังคม สิ่งแวดล้อมกับสังคม
๒ สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ทางพระท่านเลยแยกอันนี้ออก ให้เป็น ๒ อย่าง ในด้านพฤติกรรมก็แยกเป็น ๒ ระดับคือ พฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นวัตถุ สิ่งของเครื่องใช้ เทคโนโลยี ปัจจัย ๔ แม้แต่ธรรมชาติแวดล้อม ต้นไม้ ภูเขา อะไรต่างๆ เหล่านี้ อันนี้เรียกอันหนึ่ง เรียกว่า เป็นพัฒนาด้านกาย ที่อาตมาพูดว่าพัฒนากาย ทางพระหมายถึงทางนี้พัฒนากายก็คือ พัฒนาความสัมพันธ์ของเรา โดยทางพฤติกรรมนี้ กับสิ่งแวดล้อมที่เป็นวัตถุ เริ่มตั้งแต่อาหารการกิน เป็นต้น ซึ่งตัวนี้ไปสัมพันธ์ก็คือ กาย วาจา และอีกตัวหนึ่งก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเราอาจจะไม่ได้มองว่า เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา ตัวสัมพันธ์ที่สำคัญคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรานี่เอง ตาดู หูฟัง ต้องพัฒนาการดู การฟัง เป็นต้นของเรา บางทีเราไม่เคยนึกว่า การดู การฟัง นี่ต้องพัฒนาด้วยนะ นี่แหละเรียกว่าพัฒนากาย ไม่ใช่ทำให้แค่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโต รับประทานอาหารเข้าไป แล้วกายใหญ่โตก็พัฒนากาย ทางพระไม่ได้เอาแค่นั้น อันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง พัฒนากายนี้ก็คือ นี่แหละส่วนของร่างกายของเราที่จะไปสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมให้เกิดผลดีแก่ชีวิต ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะฉะนั้นต้องพัฒนาว่า เราจะมีพฤติกรรมในการดูอย่างไร ในการฟังอย่างไร จึงจะเกิดคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อชีวิต ไม่ได้เกิดโทษ ถ้าดูไม่เป็น ใช้ตาไม่เป็น เกิดโทษ ใช้หูไม่เป็น ก็เกิดโทษ ถ้าใช้หูเป็น ก็เกิดประโยชน์ ใช่ไหม ฉะนั้น นี่แหละพัฒนากายมันอยู่ที่นี่แหละ เพราะฉะนั้น พัฒนากายก็หมายถึงพัฒนา พูดซ้ำอีกที พฤติกรรมในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ โดยทางกาย วาจา โดยทางอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วก็เข้าไปถึงใจของเราด้วย อย่างนี้เรียกว่าพัฒนากายที่แท้จริง ถ้าพูดอย่างนี้แล้วจะเห็นช่องทางของการพัฒนาเยอะเลยว่า มันมีผลต่อชีวิตของเรายังไง พัฒนาการดู การฟัง เป็นเบื้องต้นของการศึกษา และการพัฒนามนุษย์เลย ปัจจุบันนี้มักจะมองข้ามพวกนี้ไป แล้วก็ตั้งแต่เด็กก็ดูทีวีไม่เป็น พอมาใช้เทคโนโลยีอื่น ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้ไม่เป็น นี่คือปัญหาของการขาดการพัฒนากาย ตอนนี้อาตมาอยากจะแจกแจงเรื่องของการพัฒนาตัวคน ให้เห็นว่าชีวิตมีทั้งหมดหลายด้าน ทางด้านพฤติกรรมก็ซอยออกไป
อันที่หนึ่ง ก็พฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั่วไป เริ่มตั้งแต่รับประทานอาหาร ก็รับประทานให้เป็น ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม พวกนี้อยู่ในพัฒนากายหมด
ทีนี้ต่อไปก็พฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม คือ เพื่อนมนุษย์ อันนี้ก็ต้องพัฒนา พัฒนารู้จักพูดจักจา พูดยังไงเขาจึงจะเข้าใจดี พูดยังไงเขาจึงจะสบายใจ พูดไม่ใช่เอาแต่ใจเรา ให้ตัวเราชอบใจ ไม่ชอบใจเท่านั้น ถ้าเราพัฒนาขึ้นไปอีก เราจะพัฒนาในแง่ว่า แทนที่จะตั้งใจพูดให้เราสบายใจได้ประโยชน์ เราก็พูดเพื่อประโยชน์แก่เขา ถ้าคนเราจะมี ๒ ชั้น เช่นอย่างนี้ อาตมาพูดมาเป็นตัวอย่าง เช่นอย่างว่า เราจะพูดกับคน เราก็
๑ พูดไปตามชอบใจ นึกยังไงขึ้นมาก็พูด อย่างนี้ก็เรียกว่าเกิดปัญหามากที่สุด ใช่ไหม อันนี้ไม่ต้องคำนึงถึงใครทั้งสิ้น
๒ เป็นคนมีปัญญาขึ้นหน่อย พูดเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง แต่ว่ามีปัญญามองเห็นกว้างไกลว่า เราจะได้ผลประโยชน์จากเขา ถ้าเรารู้จักพูด ตอนนี้ก็รู้จักควบคุมพฤติกรรมในการพูด รู้จักแต่งถ้อยคำ แต่งให้สุภาพไพเราะอ่อนหวานให้เขาชอบใจ แล้วเขาจะได้ให้ผลประโยชน์แก่เรา อันนี้ก็พัฒนาขึ้นมาขั้นหนึ่ง จะเห็นว่าวาจาจะประณีตขึ้น วาจานี้จะรู้สึกว่าจะสละสลวย น่าฟัง แหมต้องคิดมาก กว่าจะปรุงแต่งพัฒนาวาจาในขั้นนี้ได้ เดล คาเนกี นี้แกจะพัฒนาด้านนี้มาก เป็นอย่างสอนวิธีทำยังไง แล้วจะพูดให้คนเขาชอบใจเรา พูดแบบว่าล้วงกระเป๋าเขาได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของการพัฒนาพฤติกรรมทางวาจา ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเอง
๓ ทีนี้พัฒนากว่านั้น พัฒนาโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ตัวเองเลย ตั้งใจแต่ว่าเราทำยังไงจะให้เขาเป็นสุข อยู่ในบ้านก็อยู่กับแฟน ก็นึกจะทำยังไงจะให้แฟนนี่สบายใจ มีอะไรที่พูดไปแล้วเขาจะไม่สบายใจ ไม่พูด เราอดทนไว้ ขอพูดแต่คำที่จะทำให้เขามีความสุข สบายใจ ก็ตั้งใจพยายามหาทาง อันนี้ยิ่งต้องใช้ความเข้มแข็งของจิตใจมากขึ้น ต้องใช้พลังความสามารถในการที่จะมาสร้างสรรค์ ในการที่จะปรุงแต่งถ้อยคำ และในการที่จะระงับควบคุมจิตใจตนเอง อันนี้ยากยิ่งกว่าการพูดเพื่อประโยชน์ของตนเอง ขั้นนี้ที่พัฒนามากที่สุด ในการใช้วาจา ก็คือ พูดยังไงจะให้เป็นวาจาที่ทำให้คนอื่นเป็นสุข พูดเพื่อผู้อื่น อันนี้ก็กลายเป็นว่าเราก็พูดเพื่อให้คนอื่นได้มีคววามสุข หรือพูดเพื่อประโยชน์แก่เขา เขามีปัญหา เขาขาดความรู้เรื่องอะไร ก็ไปช่วยแนะนำ มองไปในทางที่จะช่วยเหลือเกื้อกูล อย่างพ่อแม่ก็นึกถึงลูก ทำยังไงจะให้ลูก ได้เกิดความรู้ความเข้าใจ อยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง แล้วคอยคิดแต่ว่าจะพูดยังไง ให้ลูกได้รู้เข้าใจ ได้เกิดปัญญา ได้อยู่ในแนวทางที่เป็นคุณธรรม เป็นจริยธรรม ถ้าอย่างนี้ลูกก็เหมือนกัน ก็จะพูดอะไรกับพ่อแม่ ก็คิดถึงประโยชน์ของพ่อแม่ ไม่ใช่คิดถึงประโยชน์ของตัวเอง
เดี๋ยวนี้นะ อาตมาของแทรกว่า สังคมนี้ไปเน้นในแง่ว่า แม้แต่พัฒนาคน ก็มุ่งในแง่เพื่อสนองประโยชน์ตนมากกว่า ใช่ไหม มันก็เลยกลายเป็นจิตวิทยาแบบตะวันตก จิตวิทยาตะวันตกนี้ เป็นจิตวิทยาแบบล้วงกระเป๋า อย่างเช่นว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ก็เพื่อประโยชน์ของเรา เราพูดให้เขาชอบเรา เพื่อเขาจะได้ให้ผลประโยชน์แก่เรา แต่ทางพุทธศาสนาเน้นไว้อย่างนั้น ถือว่าอันนั้นยังพัฒนาขั้นที่ยังด้อยไป ต้องพัฒนาไปถึงขั้นที่ว่า คำนึงถึงประโยชน์สุขของผู้อื่น แล้วเราก็มาพัฒนาตัวเอง มาปรับปรุงความสามารถในการพูดจา แล้วทำการต่างๆ เพื่อประโยชน์เรา อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง นี่ก็เรื่องของการอยู่ร่วมสังคม ก็เราพัฒนาพฤติกรรมแหละ เราจะอยู่ได้ด้วยดี เราคงทำไปตามชอบใจ ไม่ชอบใจไม่ได้ เอาแค่ตามชอบใจ ไม่ชอบใจ เกิดเรื่องทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกันทั้งวัน เราจะเห็นว่า เรานึกอะไรในใจนี้ เราพูดไม่ได้ทุกอย่าง ใช่ไหม ถ้าเราพูดทุกอย่างเป็นยุ่ง ฉะนั้น ก็ต้องมีการควบคุม ควบคุมพฤติกรรมทางวาจา อันนี้ที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในทางสังคม อย่างน้อยท่านก็ให้หลักไว้เรียกว่า ศีล ๕ คือว่า อย่างน้อยเอาละพฤติกรรมนี่ ถึงยังไม่เกื้อกูลเขา ก็อย่าไปเบียดเบียน อย่าไปก่อความเดือดร้อน พฤติกรรมในแง่ร่วมสังคม ก็
๑ ขออย่าให้ไปทำร้ายร่างกาย ทำลายชีวิตเขา
๒ ก็ขอเถอะ อย่าให้ไปละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเขา
๓ ก็ขออย่าให้ได้ไปละเมิดคู่ครองเขา
๔ ก็ขออย่าได้ไปทำลายผลประโยชน์เขาทางวาจา หลอกลวงเขา และ
(๔) ๕ ก็ขออย่าให้ไปคุกคามต่อความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์ ด้วยการเสพยา เมา สิ่งเสพติด สุรา ที่ทำให้ขาดสติ เพราะคนที่ขาดสติด้วยสิ่งเสพติดนี้ เป็นผู้คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยของสังคม อันนี้ไม่พูดถึงตัวเองนะ เรื่องศีลนี้มุ่งในแง่สังคม เราจะเห็นว่าศีลข้อ ๕ นี้ เรามักจะไปอธิบายในแง่ของผลเสียต่อตัวเอง ผลเสียต่อตัวเองมันเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ว่าศีลเขาต้องการเรื่องความสัมพันธ์ในสังคม ก็ทำยังไงมนุษย์จะอยู่ด้วยกันได้ดี คนที่ขาดสติ ท่านเรียกว่า เกิดความประมาท ก็คือเมานั่นแหละ เพราะไปดื่มสุรายาเมา สิ่งเสพติด มันคุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้อื่น อย่างน้อยนะ พอเราเมาปั๊บ คนอื่นเขาไม่แน่ใจแล้ว เราจะเอายังไงกับเขา ใช่ไหม เขาสูญเสียความรู้สึกปลอดภัย มั่นคง ความไว้วางใจหมดไปแล้ว มาทางไหนก็ไม่รู้ ทำได้ทุกอย่างเลย คนเมา ขาดสติแล้ว แล้วอย่างขาดสติอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ แม้ไม่ได้ตั้งใจ อย่างเช่นว่าขับรถ เพราะฉะนั้น เราขับรถไปในถนน ถ้าเราเกิดความรู้สึกว่า รถคันที่ขับสวนมาเมาเหล้า หรือรถสิบล้อคันที่กำลังสวนมานี่กินยาม้า แล้วเดี๋ยวนี้เราชักไว้ใจไม่ได้ คันไหนกินยาม้าบ้าง แค่นี้แหละสังคมเริ่มเกิดความรู้สึกหวั่นไหวไม่มั่นคง ทีนี้คนที่กินยาม้า ก็เป็นผู้ทำลาย เป็นผู้คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์ ฉะนั้น จึงเป็นอันตรายต่อสังคม แล้วก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจริงๆ และอาจจะกลายเป็นคนไม่มีสติ แล้วทำอะไรก็ได้ ทำร้ายผู้อื่นก็ได้ ซึ่งจะมีกรณีคนกินยาบ้า แล้วถึงกับขาดสติ ประสาทหลอน นี่ว่าจะมาทำร้ายตัวเอง เอาเด็กจับไปเป้นตัวประกัน เอามีดจ่อคอหอย จะปาดคอ อะไรอย่างนี้ ก็นอกจากเด็กคนนั้นจะถูกคุกคามแล้ว เพื่อนมนุษย์ถูกคุกคามความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยไปหมด ตื่นตระหนกตกใจ หมดประวัติข้ามคืน ใช่ไหม
ฉะนั้น เรื่องยาเสพติดนี้ ก็มีผลเสียหายต่อสังคม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสให้เรา อย่าน้อยในแง่ของความสัมพันธ์ในทางสังคม ให้มีพฤติกรรมที่เว้นจากการก่อความเดือดร้อนเบียดเบียน ๕ ประการ เรียกว่าให้มีศีล ๕ แต่ที่จริงไม่แค่นั้นหรอก ให้มีพฤติกรรมที่เกื้อกูลต่อกันทั้งทางกาย ทางวาจา แต่รวมแล้วมันก็อยู่ที่กาย วาจา
ทีนี้ก็การพัฒนาด้านนี้ ที่อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ในสังคม เขาเรียกว่าพัฒนาศีล ๕
๑ พัฒนากาย การใช้ตาดู หูฟัง การใช้กาย วาจา สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การรับประทานอาหารกินอยู่ อะไรต่างๆ เหล่านี้ คือพัฒนากาย แล้วก็มาพัฒนาศีล อยู่ร่วมสังคมกับเพื่อนมนุษย์ แล้วต่อไปที่มีคุณธรรม ปรารถนาดี ถ้าเราพัฒนาจิตใจของเรา เปลี่ยนจากการที่ว่า ปล่อยไปตามชอบใจ ไม่ชอบใจ ให้มีความเข้มแข็งขึ้น รู้จักยับยั้งคุมตนเองให้รู้จักว่าอันนี้เป็นประโยชน์แก่เรานะ เราต้องยับยั้งส่วนที่จะขัดขวางผลประโยชน์ของตัวเอง ทำแต่ส่วนที่ทำให้เกิดประโยชน์ อย่างนี้แสดงว่าจิตใจเริ่มเข้มแข็งพัฒนาขึ้นมา เอ้ามันก็อยู่ที่ใจ ทีนี้จะพัฒนาไปถึงขั้นที่มีจิตใจไม่คิดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว คิดมุ่งเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น หวังดีต่อแฟน หวังดีต่อลูก หวังดีต่อพ่อแม่ หวังดีต่อเพื่อนมนุษย์ ทำอะไรก็คิดแต่ประโยชน์แก่ผู้อื่น อันนี้ก็อยู่ที่ใจเหมือนกัน ฉะนั้น พฤติกรรมที่ออกจากใจ ก็ต้องพัฒนาจิตใจให้มีคุณธรรม และคุณธรรมนั้นจะมั่นคง ก็ต้องจิตใจมีความสุข ถ้าประพฤติคุณธรรมด้วยความทุกข์ฝืนใจ ก็คุณธรรมก็ไม่ยั่งยืน ฉะนั้น คุณธรรมต้องมากับความสุขด้วย ทำยังไงจะพัฒนาความสุขให้มากับจิตใจที่ดีงาม นี่ก็เป็นปัญหาของการพัฒนาทางด้านจิตใจ
ทีนี้ ทั้งหมดนี้ก็ต้องอาศัยปัญญา ปัญญานี้จะเป็นตัวรู้ พอรู้ว่าอันนี้นะจึงจะเป็นประโยชน์แก่เราแท้จริง ปัญญามันก็บอกให้ใจตั้งใจ ว่าให้ทำพฤติกรรมอย่างนั้น ใช่ไหม ฉะนั้น ปัญญาประสานจิตใจกับพฤติกรรม จิตใจตั้งใจไปตามที่ปัญญาบอก ปัญญาชี้นำ ชี้นำจิตใจว่าจะให้สั่งการแก่พฤติกรรมอย่างไร ออกมาเป็นชั้นๆ และพฤติกรรมก็เป็นไปตามบัญชาของจิตใจ ภายใต้การชี้นำของปัญญา ทีนี้ ถ้าเราพัฒนาปัญญาได้มาก ปัญญานี้ก็มีความสามารถในการชี้นำ รู้ว่าประโยชน์อย่างนี้ ไม่ใช่ประโยชน์แท้จริง ประโยชน์ที่แท้มันอยู่ขั้นโน้น มันก็ปรับจิตใจ มันก็มาปรับพฤติกรรมต่อ แล้วในที่สุดก็ไปพัฒนาปัญญา พอปัญญารู้เข้าใจ ตอนแรกก็รู้เข้าใจแต่เรื่องชีวิตตัวเอง มันก็มองแค่ประโยชน์ตัวเอง ต่อมาเข้าใจโลกและชีวิต เข้าใจสังคม เข้าใจธรรมชาติแวดล้อม เข้าใจสังขาร เข้าใจธรรมชาติทั้งหมด มันเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ แล้ว ก็กลายเป็นว่าจิตใจโล่งโปร่งเป็นอิสระ มันไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตัวเองแล้ว จิตใจที่เกิดปัญญารู้ความจริงอย่างนี้ มันจึงจะมีความมั่นคงแท้ ว่ามันจะมีคุณธรรมที่สมบูรณ์
ฉะนั้น ปัญญาก็เลยต้องพัฒนากันหลายขั้นตอน แต่รวมความก็คือ เท่าที่พูดมานี้ จะเห็นว่าการพัฒนามี ๔ ด้าน
๑ พัฒนาพฤติกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ เริ่มจากปัจจัย ๔ เป็นต้นไป เรียกว่าพัฒนากาย รู้จักใช้ตาดู หูฟัง เป็นต้น
๒ พัฒนาพฤติกรรมในการอยู่ร่วมสังคม เรียกว่าพัฒนา ๔ อยู่กับเพื่อนมนุษย์ อยู่ยังไงไม่เบียดเบียน ไม่ก่อความเดือดร้อนแก่กัน เกื้อกูลกัน
๓ พัฒนาจิตใจของตัวเองให้ดีงามและมีความสุข และมีความเข้มแข็ง สามารถบังคับควบคุมตัวเองได้
๔ พัฒนาปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ ในสิ่งทั้งหลายที่จะมาชี้นำ ให้เราได้สามารถดำเนินชีวิตพฤติกรรมของเราไปได้อย่างดีที่สุด มีคุณค่าเป็นประโยชน์ บรรลุผลสำเร็จที่ต้องการ
ทีนี้ ตอนนี้ก็เท่ากับมาตกลงกันว่า พัฒนาต้องครบ ๔ ด้าน และ ๔ ด้านนี้สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ เพราะว่าบอกแล้วว่า มีพฤติกรรมพัฒนา พฤติกรรมควรจะพัฒนาพฤติกรรมได้ มันมาจากจิตใจ คุณต้องพัฒนาจิตใจด้วย แต่จิตใจมันจะทำได้แค่ไหน มันอยู่ที่ปัญญาชี้นำ เพราะฉะนั้น ต้องพัฒนาปัญญาด้วย แต่ปัญญาจะพัฒนาได้อย่างไร พัฒนาปัญญาคุณก็ต้องพัฒนาพฤติกรรมไปหาข้อมูล ไปหาข้อมูลก็ต้องเคลื่อนไหวพฤติกรรมเหมือนกัน ต้องรู้จักไปอ่านหนังสือ ไปค้นห้องสมุดเดินไปดู รู้จักใช้หูฟัง ต้องใช้พฤติกรรมจึงจะหาปัญญาได้ หรือต้องไปสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์เป็น ต้องรู้จักพูดจักจา ต้องรู้จักตั้งคำถาม คำถามไม่เป็นก็ไม่เข้าใจ พูดกันตั้งชั่วโมง ไม่รู่ว่าพูดอะไร ก็เลยไม่ได้ข้อมูล ไม่ได้ปัญญา ไม่เข้าใจเรื่องเราวที่ต้องการ ก็ต้องพัฒนาพฤติกรรม จึงจะมาช่วยในการพัฒนาปัญญา และจิตใจก็เหมือนกัน ถ้าเราจะพัฒนาปัญญา จิตใจมันขี้เกียจ จิตใจมันท้อแท้หดหู่ มันไม่สู้ เจออะไรต่ออะไรมันคร้าน มันอยากจะถอย มันก็ไม่เพียรพยายาม เช่น อย่างไม่พยายามคิด เป็นต้น เมื่อไม่พยายามคิด ปัญญามันก็ไม่เกิด หรือคิดเหมือนกัน แต่ใจว้าวุ่นสับสน ขุ่นมัว เดือดร้อน กระวนกระวาย พลุ่งพล่านคิดไม่ออก ทีนี้ต้องทำใจให้สงบ เป็นสมาธิ จิตใจมั่นคงแน่วแน่สงบ ผ่องใจปั๊บ มองอะไร คิดอะไรชัดเจน ตกลงว่าจิตใจก็ช่วยปัญญา
ฉะนั้น ปัญญาจะพัฒนาก็ต้องอาศัยจิตใจ ต้องอาศัยพฤติกรรม มันวนกันไปหมดเลย พฤติกรรมจะเป็นไปยังไง ก็อยู่ที่จิตใจสั่ง ปัญญาชี้นำ จิตใจจะเป็นยังไง ต้องอาศัยปัญญาที่จะมาชี้ช่องทางให้ แล้วจิตใจนี้ จะมีความสุข ความทุกข์ ก็ต้องอาศัยพฤติกรรม เกิดไปเจออะไรที่ทำได้ พฤติกรรมที่พอใจ ก็มีความสุข ถ้าหากต้องทำพฤติกรรมที่ฝืนใจ ก็ทุกข์ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น พฤติกรรมก็เป็นที่มาสำคัญของความสุขของมนุษย์ ที่เรามีความสุขกันส่วนมาก ก็คือเราได้ทำพฤติกรรมเคลื่อนไหว ทำอะไรต่ออะไรที่เราชอบ ที่เราต้องการ มันวนกันไปหมดล่ะ ตกลงว่าพฤติกรรม จิตใจ และปัญญานี้ เป็น ๓ ด้านของชีวิต มนุษย์ที่เราจะต้องรู้จักมันตามเป็นจริง และจัดการกับมันให้ดี ถ้าเรามาพัฒนา ๓ จุดนี้ดี ชีวิตของเราเลิศเกินสุข เอายังไงก็ได้ แต่ว่าเราเคยมองและเอาใจใส่มันเพียงพอหรือเปล่า เมื่อทำความเข้าใจกันอย่างนี้แล้ว เราก็มาเริ่มพัฒนา การพัฒนาที่พูดโดยสรุปว่ากายใจ แต่ว่าพูดให้ครบต้องเป็นว่า พัฒนากาย พัฒนาศีล พัฒนาจิต พัฒนาปัญญา ๔ อันเลย เราพัฒนาอย่างบูรณาการ ให้มันมาสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มาเป็นปัจจัยเสริมซึ่งกันและกัน อย่างนี้เราก็จะมีชีวิตที่ดีงามมีความสุข
ทีนี้การพัฒนานี้มันก็มีเรื่อยๆ แหละ อย่างโยมมาที่นี่ ถ้าสังเกตดูนะ มันก็เกิดการพัฒนา ถ้าท่านเคยยุ่งการงาน อยู่กับเรื่องของวัตถุ อยู่กับตึก อยู่กับคอนกรีต แล้ววันนี้เกิดมาที่นี่ มาเจอต้นไม้ มาเจอสายลม แสงแดด มาเจอสระน้ำ มองไปแล้วใจสบาย มองเห็นฟ้า มองกว้างไกล ใจปลอดโปร่งผ่องใส แค่นี้ใจพัฒนาแล้ว ใจก็สู่ความสงบ มีความเยือกเย็น ก็มีความสุขขึ้นมาอันหนึ่งพัฒนาแล้ว
ทีนี้ที่เราพัฒนาอย่างนี้ ก็เพราะว่าเรารู้จัก แต่อาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ได้ ก็คือ มันมาทางไหนล่ะ ที่เราใจสงบสบายมีธรรมชาติแวดล้อม ก็เพราะว่าเรามีพฤติกรรม ตาดู หูฟัง ตาของเรานี้ไปเจอกับใบไม้ที่ถูกลมพัด กิ่งก้านแกว่งๆ ไกว ใบไม้ก็พลิ้ว อะไรต่ออะไรมีเสียงออกมา เราก็ได้เห็นด้วยตา หูได้ฟังเสียงธรรมชาติ นอกจากเสียงใบไม้ที่โดนสายลมพัดพลิ้วแล้ว ก็ยังมีเสียงนก เสียงอะไรต่างๆ เรามีความสุข ฉะนั้น นี่ก็เป็นเรื่องพฤติกรรม ถ้าคนไหนจิตใจไม่ชอบสิ่งเหล่านี้ ชอบแต่เรื่องของเทคโนโลยี เรื่องของผู้อื่น เสียงเอะอะตูมตาม ดนตรีพวกดิสโก้เทค อะไรอย่างนี้ มาเจออย่างนี้ใจไม่สบาย พวกนั้นต้องไปในที่มีเสียงดังๆ มากๆ แสง สีให้มันจาบจ้าไปหมด อย่างนั้นเขาจะรู้สึกว่ามีความสุข แต่ว่าเราจะเห็นว่าชีวิตเราต้องการหลายอย่าง บางครั้งเรายุ่งวุ่นวายกับเรื่องวัตถุ เทคโนโลยีอะไรมาก เราก็เกิดความต้องการทางด้านความสงบ ความต้องการในเชิงธรรมชาติ ความงามของสิ่งที่มีที่เป็นตามธรรมดาของมันอย่างนี้ เรามาอย่างนี้ เราก็ได้ความสุข แต่มันเป็นส่วนหนึ่ง ที่มานี้ก็เป็นอันว่า เราได้อาศัยตาหู เป็นต้นของเรา ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แล้วถ้าเรารู้จักพัฒนามัน แล้วก็ไปสัมพันธ์กับการพัฒนาทางด้านจิตใจ พฤติกรรมในการดูฟัง ได้เห็นสิ่งที่เป็นไป ได้ฟังสิ่ง เสียงที่ได้ยินอะไรต่างๆ เหล่านี้ มันก็มีผลต่อจิตใจของเรา ทำให้เรามีจิตใจที่มีความสุขได้ ก็ต้องพัฒนา ๒ ด้าน พัฒนาจิตใจให้มันประสานรับสอดคล้องกัน ก็แค่นี้ ก็เริ่มแล้วล่ะ ในชีวิตประจำวันนี้แหละ ถ้าเรารู้จักจัดการกับมันให้ถูกต้อง มันก็เป็นทางมาของการที่จะได้ความสุข
ทีนี้ ความสุขนี้ก็มีความสุขกาย กับสุขใจ ใช่ไหม สุขกายก็เป็นเรื่องภายนอก แต่ว่เรามองแค่สุขกายก่อน สุขกายนี้ก็ต้องมี ๒ อย่าง คือ ความสุขชนิดหนึ่งเป็นพื้นฐานรองรับอยู่ โดยที่ไม่ต้องรู้ว่าสุข ถ้ามีอันนี้แล้วนะ จะเป็นฐานรองรับ เป็นความพร้อม ที่ว่าเมื่อไรเราไปเจอสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข แล้วเราจึงจะได้รับความสุขนั้น แต่ถ้าความสุขที่เป็นฐานนี้ไม่มี สิ่งที่จะให้ความสุขข้างนอก ที่ชอบ ที่พอใจ หมดความหมายไปเลย ความสุขที่เป็นพื้นฐาน ซึ่งบางทีเราไม่เรียกว่าความสุขนั้น คืออะไร ที่จริงเราเรียกโดยไม่รู้ แต่เราไม่เคยคิดที่คำว่า สุขภาพ ร่างกายของเรานี้ เราต้องการความสุขทางกาย ไปกินอาหารอร่อย ไปนอนบนเตียงอันอ่อนนุ่ม ไปฟังเสียงดนตรีอันไพเราะ เราบอกว่าเป็นความสุขทางกาย แต่ว่ากายที่จะไปได้รับความสุขเหล่านั้น ต้องมีความสุขพื้นฐานก่อน คือ สุขภาพ ภาวะที่ร่างกายนี้สมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ถ้าท่านไม่มีสุขภาพกาย ไอ้ตัวสุขอันนี้เป็นฐาน คือ ความสมบูรณ์ของความพร้อมของร่างกาย โรคภัยเบียดเบียนเจ็บไม่สบายอยู่ อาหารการกินเบื่อเลย อาหารที่อร่อย หมดความหมายทันที ไม่อยากกิน อาหารที่เคยอร่อยชอบนักหนา อุตส่าห์ขับรถจากบ้านไปเหลานี่ ไกลตั้งหลายกิโล บางทีนะ เพื่อจะไปกิน บางคนนี่บินจากเมืองไทยไปกินฮ่องกง อุตส่าห์เสียเงินเสียทองบินข้ามไปไกล นอนอยู่บนเตียงเจ็บไข้ เขาเอามาถึงเตียง ก็ยังไม่เอา ใช่ไหม ไล่เลย อาหารที่แสนจะโปรดอยากกินนะไม่เอาเลย กลายเป็นเกลียดเลย นี่เพราะสุขภาพไม่ดี เพราะฉะนั้น สุขภาพกายนี้สำคัญมาก คนไม่นึกว่าต้องมีอันนี้ก่อน พอมีสุขภาพกายเป็นความสุขพื้นฐานแล้ว ก็สามารถที่จะมีความสุขอื่น สุขที่จะได้จัดการ ได้กิน ได้ดูทีวี ได้ฟังเสียงดนตรีก็มาได้ แต่ว่าถ้ากายมันไม่รับ ไม่เอาแล้วนี่ มันหมดเลย ความสุขอันที่จะมาทางกาย หมดความหมาย เพราะฉะนั้น ต้องมองว่าสุขที่เป็นฐาน
ทีนี้ด้านใจก็เช่นเดียวกัน ความสุขทางกายต้องมีสุขภาพกายเป็นฐาน ถ้าใครมีสุขภาพกายเป็นฐานแล้ว เขาจะพร้อมที่สุดที่จะได้รับความสุขทางกายอย่างเต็มบริบูรณ์ แต่ถ้าสุขภาพเสียแล้ว มันจะรบกวนทำให้การเสวยความสุขทางกายของเขานี่ ไม่เต็มที่ ไม่สมบูรณ์ บกพร่องไปมาก หรือแม้กระทั่งไม่รู้สึกเป็นสุข หรือแม้กระทั่งกลายเป็นว่าสิ่งที่เคยให้ความสุข กลายเป็นความทุกข์ไปเลย ทีนี้ด้านจิตใจก็เหมือนกัน แต่จิตใจนี้ละเอียดอ่อนกว่า พูดทางกายนี้ยังเห็นง่าย ทางใจนี้เราไม่เคยนึก คนเรานี้สุขภาพกายนี้ ที่ว่าอยู่ในระดับที่เรียกว่ามีสุขภาพกายดีนี้ ก็มีกันมาก คนเป็นจำนวนมากอยู่ในระดับที่มีสุขภาพกายดี แต่สุขภาพจิตที่ดีไม่ถูกรบกวน ไม่มีอะไรเข้ามาเสียดแทง ไม่มีอะไรขึ้นมาทำให้บกพร่อง ทำให้มีความระคาย อะไรนี่น่ะ หายากนะ สุขภาพจิตที่สมบูรณ์ พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า คนที่ไม่มีโรคทางกายยังพอพูดบอกยืนยันกับผู้อื่นได้ “ฉันน่ะไม่มีโรคเลย ตลอดเวลา เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง ๒ปี” บางคนว่าถึง ๑๐ ปี มีหลวงลุงอยู่นี่องค์หนึ่งท่านบอกว่าท่านไม่ป่วยเลย นี่ตอนนี้ไม่มา ท่านอายุ ๘๓ ปีแล้ว ตกสะพานนี้เมื่อไม่กี่วัน สักเดือนหนึ่ง เดินๆ ไป เดินหลับตา อายุ ๘๓ แล้ว สะพานตอนนั้นไม่ได้ทำราวสะพาน ก็เดินไปแล้วก็เดินหลับตา ก็เลยเดินเอียงไปข้างหนึ่ง ไปสะดุดขอบสะพาน เลยหล่นไปในคลอง ลงในคลองแล้วทีนี้ไหล่นี่ไปฟาดเอาคานข้างล่างเข้า หักเลย ไหปลาร้าหัก เอ้า! มาแล้ว พูดถึง เดินมาโน่นแล้ว ท่านอายุ ๘๓ ปีแล้ว ตกลงไปในคลอง แล้วก็เลยเป็นอันว่ากระดูกไหปลาร้าหัก ก็เอาไปเข้าโรงพยาบาล และกลับมา ๑๙ วันกระดูกติด หมอบอกว่าทำไมติดเร็วนักล่ะน่าจะ ๒ เดือน นี่มาแล้ว ท่านปกติไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ต้องใช้ยา นี่ ๘๓ ปียังขึ้นเขาสบายเลย ๘ นาทีถึงยอดเขาที่พนมสารคาม นี่คนที่มีสุขภาพกาย ยืนยันตัวเองได้เป็นเวลานาน แต่ว่าที่จะยืนยันไม่มีสุขภาพจิตดีนี่ แม้แต่เพียงแค่ชั่วโมงเดียวก็หายาก ที่จิตใจไม่มีอารมณ์อะไรที่จะมาระแคะระคายรบกวนเลยนี่ เดี๋ยวก็โกรธบ้าง เดี๋ยวก็เคืองบ้าง เดี๋ยวกระทบโน่นกระทบนี่ ขัดใจโน่น ขัดใจนี่ มองเห็นอะไรไม่สบายใจ ได้ยินเสียงอะไรขัดหู คือไม่มีอะไรเลย ไม่มีใครมาทำอะไรเลย ใจตัวเองนั่งอยู่คนเดียว แต่นึกเรื่องไม่เข้าเรื่อง ใจไม่สบายขึ้นมา ใช่ไหม เพราะฉะนั้น สุขภาพจิตที่สมบูรณ์นี่ หาได้ยาก พระพุทธเจ้าตรัสบอก มีแต่พระอรหันต์เท่านั้น ที่สุขภาพจิตสมบูรณ์
ทีนี้สุขภาพจิตก็เช่นเดียวกัน มันเป็นฐานรองรับความสุขอื่น ทั้งทางจิตแล้วยังแถมออกมาทางกายด้วย ถ้าคนมีสุขภาพจิตสมบูรณ์นะ เขาไม่มีข้อบกพร่อง ไม่มีอะไรรบกวนระคายใจ เขาย่อมพร้อมที่จะเสวยสุขทุกอย่าง ความสุขทุกอย่างที่เขาเสวยสุขมันจะเต็มสมบูรณ์ของมัน สุขทางใจเข้ามา ใจของตัวเองนี่มันบริบูรณ์สมบูรณ์ มันก็รับความสุขได้เต็มที่ สุขทางกายมันก็ต้องเรื่องถึงใจอยู่ดี ก็ไปเสวยสุข ก็ไม่มีอะไรที่มาค้างใจ ไม่มีอะไรรบกวนใจ โดยเฉพาะสิ่งค้างใจนี่ สำคัญนะ ปุถุชนนี่มีตัวอันหนึ่งก็คือ อารมณ์ค้างใจ เจ้าสิ่งค้างใจนี่ มันเข้ามารบกวนตลอดเวลาเลย ทีนี้ก็ทำให้เราเสวยสุขต่างๆ ไม่บริบูรณ์ ทีนี้ถ้าใครถามว่า ถ้าทำให้สุขภาพจิตได้ จิตใจนี้เต็มบริบูรณ์ ไม่ถูกรบกวน ไม่มีอะไรเสียดแทง ไม่มีอะไรระคายเคือง เขาจะเป็นผู้พร้อมที่สุด ที่จะเสวยความสุขทุกอย่าง
ฉะนั้น คนในโลกนี้จำนวนมาก ที่เสวยสุขกันไปนี่ มันเสวยสุขได้ไม่สมบูรณ์หรอก ในขณะที่เสวยสุขต่างๆ ในใจเองนี่มันมีความห่วง ความกังวล ความหวาดระแวง ความหวั่นใจ มันทั้งข้างหลังข้างหน้า หวาดไปข้างหน้า ถ้าเราได้สุขอย่างนี้ แล้วสุขอย่างนี้จะอยู่กับเราต่อไปหรือเปล่า ใช่ไหม แค่นี้ก็ทำให้ความสุขที่เสวยนี่ เว้าแหว่งไม่สมบูรณ์แล้ว ไม่เต็มอิ่ม พอหรือว่าเกิดได้สุขไปแล้ว ผ่านไปเสียดายอีกแล้ว เกิดความเสียดายนี่ เสียสุขภาพจิตขึ้นมาอีกแล้ว พอห่างจากสิ่งที่จะให้ความสุข เกิดความรู้สึกว้าเหว่เหงาขึ้นมาอีกแล้ว ทุกข์ใช่ไหม สุขภาพจิตเสีย ไอ้ตัวนี้แหละ ทำยังไงที่จะให้มันหายไป ให้มันสมบูรณ์ เป็นจิตใจที่สมบูรณ์ได้ตลอดเวลา พอจิตสมบูรณ์ เป็นสุขภาพจิตดี คราวนี้จะเสวยสุขอะไรก็เต็มที่ พระพุทธเจ้าก็เลยเน้นว่า เอาละนะ เธอ
๑ ต้องมีสุขภาพกายเป็นทิฏฐธัมมิกัตถะขณะปัจจุบันส่วนหนึ่ง แล้วนอกจากนั้นมีตัวประกอบ มีทรัพย์สินเงินทอง มีการยอมรับในทางสังคม พระพุทธเจ้าถือว่าสำคัญเหมือนกัน ท่านเรียกว่าเป็นประโยชน์ที่ตามองเห็นเป็นอันดับ ๑ ต้องมีอย่างพระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ายังทรงเอาพระทัยใส่เรื่องสุขภาพของพระเจ้าปเสนทิโกศล ยังไปนึกว่าพระพุทธเจ้าตรัสแต่เรื่องจิตใจ วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเสวยมาก เสวยจุก ก็อ้วนจนอุ้ยอ้าย จะลุกจะนั่งก็ลำบาก ทีนี้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พอลงนั่งก็ต้องนั่งลำบาก ไม่ทราบต้องประคองนั่งหรือเปล่า แต่ว่าพอนั่งลงไปแล้ว ก็อึดอัดสิ เสวยมาใหม่ๆ เสวยเสียเต็มที่เลย ไปนั่งที่ต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า ก็ทรงแสดงอาการอึดอัดให้พระพุทธเจ้าทรงทอดพระเนตรห็น พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสคาถาขึ้นมาคาถาหนึ่ง อาตมาไม่ได้เตรียมมา อาจจะลืมๆ คาถานี้ เป็นข้อความทำนองว่า คนที่มีสติ รู้จักประมาณในการบริโภค ก็จะมีความสุข อายุก็จะยืนด้วย อะไรทำนองนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสออกมา พระพุทธเจ้าตรัสว่า จะแก่ช้าแล้วก็จะมีอายุยืนยาวด้วย พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงตักเตือน ทรงเข้าพระทัยในความปรารถนาดีของพระพุทธเจ้า ก็เลยเอ้อ เราไม่ได้แล้ว ถ้าขืนเราจะเสวยจุอย่างนี้เรื่อยไป ถ้าจะแย่ ไม่ดีแน่ แต่ทุกข์ที่เห็นชัดก็คือนั่งในขณะนี้มันอึดอัด ก็เลยมาบอกแก่ เรียกว่า ราชวัลลภสิ คนสนิทที่ติดตาม เป็นหลานของพระองค์ นี่ๆ เธอจำพระคาถาของพระพุทธเจ้านี้ไว้หน่อย แล้วเวลาเราเสวยทีไร พอจะเริ่มปั๊บ จะตักช้อนแรกว่าขึ้นมาเลยนะ ทีนี้พอว่าขึ้นมา จะได้สะดุด คือเป็นการเตือนสติ ไม่เช่นนั้นเราจะเพลิน พอเห็นอาหารอร่อย ก็จะจ้วงเรื่อยไป ทีนี้ก็เลยว่า หลานท่านผู้นี้ก็เลยจำไว้ เวลาพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเริ่มเสวย พระเจ้าหลานนี้ก็ปั๊บว่าขึ้นมาทันที พอว่าขึ้นมาพระเจ้าปเสนทิโกศลก็สะดุด ทรงได้พระสติ ก็เสวยแต่พอประมาณ ยับยั้งพระองค์เอง พอเสวยแต่พอประมาณแล้ว ต่อมาปรากฏว่าเวลาผ่านไป พระองค์ก็มีพระวรกายกะปรี้กะเปร่าขึ้น ก็วันหนึ่งก็ทรงระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านี่ทรงมีพระทัยเมตตาปรารถนาดีแก่เรา ไม่ใช่เฉพาะแต่ประโยชน์ที่ตามองไม่เห็น ที่ทางพระท่านเรียกว่าสัมปรายิกัตถะเท่านั้น ทรงปรารถนาประโยชน์สุขแก่เรา แม้แต่ที่เป็นปัจจุบันที่ตามองเห็นด้วย เรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะคือสุขภาพร่างกาย ฉะนั้น อันนี้แหละสำคัญ เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีสุขภาพกายดีที่เป็นฐาน ในการที่จะได้ความสุขทางกาย แต่ที่ลึกกว่านั้นก็คือ มีสุขภาพจิตที่ดี เพื่อเป็นฐานในการเสวยความสุขอื่นทั้งหมด โยมจะไปมองแต่เพียงว่า เราจะมีความสุขอะไรได้บ้าง อะไรได้บ้างนะ มันต้องมีอันหนึ่งก็คือ ความพร้อมที่จะมีความสุข ก็คือ ตัวสุขภาพนี่ ก็ถือเป็นความสุขชนิดหนึ่ง เป็นความสุขชนิดที่เรียกว่า มันเป็นความสุขในตัวเอง โดยที่เราไม่ได้นึก คนที่เขาขาดอันนี้แหละ เขาถึงจะรู้ตัว ถูกไหม คนที่ร่างกายมีโรคภัยไข้เจ็บ จึงจะรู้ตัวว่า ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี มันเป็นความสุขที่สำคัญทีเดียว พระพุทธเจ้าเคยตรัส การที่เรามีสุขภาพกาย สุขภาพจิตสมบูรณ์ เป็นความสุขสำคัญเลย เป็นความสุขพื้นฐานเลย แล้วพระพุทธศาสนานี้จะเน้นเรื่องการสร้างภาวะที่เป็นสุขภาพสมบูรณ์ ไร้โรคทั้งทางกาย ทางจิต โดยเฉพาะทางจิตใจให้มีขึ้นมาให้ได้ เพราะถ้าไร้อันนี้ ไร้โรคทางจิตแล้ว คุณจะไปเสวยสุขยังไง เรื่องของคุณ ถ้าคุณมีความพร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสอนว่าจะไปหาความสุขอะไรอีก แต่ว่าสร้างความพร้อมที่จะมีความสุขอันนี้ขึ้นมา เรามีความพร้อมที่จะมีความสุขใหม่ ถ้าเราขาดอันนี้ สุขภาพจิตไม่มีแล้ว เราจะไปเสวยความสุขอะไร มันก็ไม่เต็มอิ่ม มันมีปัญหาไปทุกเรื่อง แล้วความสุขนั้น ดีไม่ดี ก็ส่งผลตีกลับสะท้อนมาให้เรากลับเป็นทุกข์ด้วยซ้ำไป แต่คนที่มีสุขภาพจิตเป็นพื้นฐานแล้ว จะไม่มีปัญหานี้เลย สุขที่เสวยสมบูรณ์ และสุขนั้นไม่ส่งผลกลับมาเป็นทุกข์ด้วย
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสไว้ มีคาถาๆ หนึ่ง ซึ่งญาติโยมคนไทยนี้ จำกันแม่น จำกันว่า อโรคยา ปรมาลาภา แปลว่าอะไร ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ หรือลาภอย่างยิ่ง แต่ที่จริงเราจำเพี้ยนไปนิดหนึ่ง ภาษาบาลีนี้ ไม่ใช่อย่างนี้หรอก คือเราปรับให้เข้ากับลิ้นไทย เราปรับลิ้นไทยเป็น อโรคยา ปรมาลาภา ภาษาบาลีว่า อโรคยะ ปรมาลาภา ลิ้นไทยไม่คล่อง ไม่ถนัด ก็เลยเปลี่ยน อโรคยะ ปรมาลาภา ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ หรือลาภอย่างยิ่ง หรือยอดแห่งลาภ ทีนี้ วันหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงสนทนากับพราหมณ์ผู้หนึ่ง พราหมณ์ผู้นี้ก็กล่าวถึงพระพุทธเจ้ายกคาถานี้ขึ้นมากล่าว พราหมณ์เขาก็เข้าใจความหมายแค่สุขภาพกายไม่มีโรค เขาก็ลูบตัวของเขาต่อพระพักตร์พระพุทธเจ้า นี่ไงข้าพเจ้าสุขภาพแข็งแรง ข้าพเจ้ามีลาภอย่างยอดเยี่ยม พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า นี่เป็นความหมายชั้นปุถุชนเท่านั้น ความหมายที่แท้ไม่ได้อยู่แค่นี้นะ อโรคยะ ปรมาลาภา ความไม่มีโรคนี้ ที่ท่านเข้าใจแค่ไม่มีโรคกาย แต่ว่าความหมายที่แท้นี้ เราต้องการหมายถึงความไม่มีโรคทางจิตเลย นี่แหละที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น คาถานี้ ที่เต็มจะมีคำต่อด้วยนะ ไม่ได้จบแค่นี้ อโรคยะ ปรมาลาภา จบลงด้วย นิพพานัง ปรมัง สุขัง แปลว่า นิพพานเป็นบรมสุข นิพพานก็คือภาวะไร้โรคทางจิต ถ้าใครถึงนิพพาน ผู้นั้นจะไม่มีโรคทางจิต และผู้นั้นจะเป็นผู้พร้อมที่สุด ที่จะเสวยความสุขทุกอย่างอย่างเต็มอิ่ม แล้วแต่ตัวเองจะปรารถนา แต่เขาจะเสวยสุขอะไรหรือไม่เสวย ก็แล้วแต่เขา
ทีนี้จะเห็นว่า พระที่ท่านพัฒนาตัวเองขึ้นไปตามลำดับในทางจิตนี้ ซึ่งหมายถึงทั้ง ๔ ด้าน ทางกาย ศีล จิต ปัญญา จะก้าวขึ้นไปเป็นอริยบุคคล เป็นโสดาบัน สกิทาคามี อานาคามี เป็นพระอรหันต์ เป็นชั้นๆ เราจะเห็นว่าไปถึงโสดาบัน เป็นตัวคาบเกี่ยว เพิ่งจะพ้นจากความเป็นปุถุชน พระโสดาบันนี้จะยังครองเรือน ใช่ไหม จะยังมีบุตร ภรรยา มีสามี อยู่บ้านจะเป็นคนที่มีความทุกข์น้อยที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ถ้าเปรียบเทียบกันเรื่องสุข ทุกข์ นี้ ระหว่างพระโสดาบันกับปุถุชน ความทุกข์ที่ยังมีอยู่ของปุถุชนนี้ เหมือนภูเขาหิมาลัย แต่ความทุกข์ที่ยังมีในใจของพระโสดาบันนี้ เท่ากับก้อนกรวด โยมว่าทุกข์ต่างกันมากเท่าไร ใช่ไหม ภูเขาหิมาลัยกับก้อนกรวดนี้ต่างกันเยอะ เอาละ แค่เป็นโสดาบันนี่ทุกข์แทบไม่เหลือแล้ว แต่พระโสดาบันท่านก็ยังมีครอบครัว ยังมีสามี ภรรยา นี่คือตัวอย่างของคนที่ว่าอยู่ในโลกอย่างไร มีครอบครัวเป็นต้นอย่างไร จึงจะมีความสุขมากที่สุด น้อยที่สุด นี่ต้องมีสุขภาพจิตที่ดีที่สุด โสดาบันยังไม่ใช่หมดกิเลสโดยสิ้นเชิงนะ ท่านยังมีบ้าง แต่ว่านี่เหลือน้อยที่สุดและทุกข์ก็น้อยที่สุด ท่านจะอยู่อย่างมีความสุขที่สุดเลยในโลกนี้ อยู่คาบเกี่ยวระหว่างผู้ละโลกกับผู้ที่อยู่ในโลก เพราะฉะนั้น พระโสดาบันยังครองเหย้าครองเรือนอยู่ ในแบบฉบับของชาวบ้านทั้งหลาย ชาวบ้านทั้งหลายควรใฝ่ปรารถนาเป็นโสดาบัน อย่างน้อยคาบเกี่ยวระหว่างโสดาบันกับปุถุชนทั่วไปเขาเรียกว่า กัลยาณปุถุชน ปุถุชนชั้นดี เป็นกัลยาณปุถุชนหรือกัลยาณชน ได้แค่นั้นก็มีความสุขมากแล้ว เราไม่เอาถึงขนาดที่ว่า ความทุกข์เหลือเท่าก้อนกรวดหรอก ใช่ไหม เอาเท่าไรดีล่ะ เพราะว่าเทียบกับทุกข์ของปุถุชนที่เท่าภูเขาหิมาลัย เราเอาแค่ไหน เราทุกข์เท่าภูเขาทองหรือเท่าก้อนอิฐก็ยังดีนะ ก้อนกรวดมันเล็กไป นี่แหละก็คือการพัฒนาคน ซึ่งเราจะต้องพยายามทำให้จิตใจของเรานี้ มีทุกข์เหลือน้อย ทีนี้พอเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านมีสิทธิ์ที่จะเสวยสุขทุกอย่าง แต่ความสุขบางอย่างท่านเลิกไปเอง ท่านเลิกไปเองไม่ใช่ว่าท่านเสวยไม่ได้ แต่ว่ามันเป็นสภาพจิตอย่างนั้น
อาตมาก็จะเปรียบเทียบให้ฟัง อันนี้อาจจะนอกเรื่องไปหน่อย แต่จะคุยให้ฟังด้วย ก็อยู่ในพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง อโรคยะ ปรมาลาภา นั่นแหละ เรื่องสุขภาพกาย สุขภาพจิต ที่เป็นฐานของความสุขทั้งหลาย ก็พระพุทธเจ้าก็ตรัสเรื่องว่า คาถานี้ที่แท้แล้วหมายถึงสุขภาพจิตใจ หมายถึงนิพพานนั่นเอง ทีนี้ก็พูดถึงคนหาความสุขกันในโลก เราจะเห็นว่าคนเรานี้จะมีต่างๆ กัน ความสุข เอาเรื่องสุขภาพกายก่อน สุขภาพกายนี้ คนที่ไม่มีสุขภาพกาย เขาจะมีความสุขบางอย่าง ซึ่งไม่จำเป็น เอายังไง ขอให้ดู ยกตัวอย่าง พระพุทธเจ้ายกตัวอย่างคนเป็นโรคเรื้อน ใครต้องการความสุขกับคนโรคเรื้อน ก็ไปพัฒนาโรคเรื้อนให้เกิดกับตัวเอง แล้วจะได้ความสุขชนิดหนึ่ง ทีนี้คนเป็นโรคเรื้อน สมัยก่อนไม่มีวิธีรักษาดีอย่างนี้ คนเป็นโรคเรื้อนจะคัน จะเป็นแผลตามตัว ทีนี้แกก็คัน พอแกคันแล้ว แกจะเกา แล้วแกจะมีความสุขจากการเกา เชื่อไหม ถ้าไม่เกาแล้วทุกข์แย่เลย แล้วพอมันเกิดคันขึ้นมาแล้วทุกข์ แต่พอได้เกานี่ สุข แต่ทีนี้พอเกาเข้าแล้วก็เป็นการทำร้ายตัวเองสิ ก็ยิ่งคะเยอเป็นแผลเฟอะช้ำ อะไรต่างๆ ก็เลยกลายเป็นว่ายิ่งคันก็ยิ่งเกา ก็เกาก็ยิ่งคัน แต่ทีนี้อีกอันหนึ่ง ความหมายพ่วงมาก็คือ ยิ่งเกาก็ยิ่งมีความสุข ยิ่งเกาก็ยิ่งมีความสุข ยิ่งคันก็ยิ่งเกา ยิ่งเกาก็ยิ่งมีความสุข อะไรอย่างนี้ ต้องปนกันไปเรื่อย หนึ่งแล้วนะ ความสุขเกิดจากการได้เกาที่คัน นี่หนึ่งแล้วนะ ทีนี้คนเป็นโรคเรื้อนนี้ ก็ชอบไปหาไฟผิง ไฟขนาดธรรมดาก็ยังไม่สุขเท่าไร ถ้าได้ย่างตัวชนิดที่ร้อนที่คนธรรมดาทนจะไม่ไหว แกจะมีความสุขมาก ฉะนั้น คนเป็นโรคเรื้อน ก็นอกจากเกาที่คันแล้ว มันยังไม่พอ มันมีความทุกข์มาก ก็เอาตัวไปย่างไฟ พอตัวไปย่างไฟ แล้วมีความสุขจากการได้ย่างไฟนั้น เป็นความสุขที่คนธรรมดาไม่มี ตกลงว่ามีความสุขจากการเกาที่คัน ความสุขจากการเอาตัวไปย่างไฟ พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า ต่อมามีหมอที่มียาดีมารักษา คนเป็นโรคเรื้อนนี้ให้หาย จนกระทั่งว่ากายเขาสมบูรณ์ แผลไม่มีแล้ว เกลี้ยงเกลา ร่างกายหมดจด ตอนนี้ถามว่าเขาอยากจะหาความสุขจากการเกาที่คันไหม หาไหม เขามีสิทธิ์ แต่เขาไม่เอา และถามว่าเขาจะไปหาความสุขจากการเอาตัวไปย่างไฟไหม ไม่เอา เป็นทุกข์เลย ขืนไปย่างอย่างนั้น ร้อนแทบตาย ใช่ไหม ไอ้ตอนที่เป็นโรคเรื้อน มันสุขเหลือเกิน แต่ตอนนี้พอหายไปแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสบอก อย่าว่แต่คนที่มีความสุข ๒ แบบ หนึ่งความสุขจากการเกาที่คัน อีกคนหนึ่งความสุขจากการไม่มีที่คันจะต้องเกา อันไหนสุขกว่ากัน เป็นอันว่ามี ๒ อย่าง นี่แค่ร่างกาย นี่พระพุทธเจ้าอุปมาให้เห็น ความสุขจากการเกาที่คันกับความสุขจากไม่มีที่คันจะต้องเกา ความสุขจากไม่มีที่คันจะต้องเกาก็คือ การที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แกกลับไม่เอาด้วย จะไปเกา เรื่องอะไร เกาแล้วก็เจ็บ นี่ไปย่างตัวไม่เอาด้วยหรอก นี่ก็อันหนึ่งแล้วนะ นี่อุปมา
ทีนี้พูดในเชิงวิวัฒนาการ พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่า เอาละนะ คนเรานี้เกิดมาเริ่มต้นเป็นเด็กอ่อนๆ นอนในเบาะ เป็นทารก ขณะที่นอนแบเบาะนั้น แกขออภัยเถิด ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ท่านเรียกว่าคูถมูกออกมา เล่นสนุกเลย เชื่อไหม เด็กมีความสุขในการเล่นคูถมูกของตนเอง ต่อมาเด็กนั้นโตขึ้น ชักวิ่งเล่นแล้ว ตอนนี้มีความสุข สนุกสนานกับเครื่องเล่น สมัยก่อนมีรถน้อยๆ เรือน้อยๆ ธนูน้อยๆ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ท่านใช้คำน้อยๆ เดี๋ยวนี้มีเยอะ เดี๋ยวนี้ก็มีรถไฟ เครื่องบิน มีอะไรต่างๆ มีปืนเล็กๆ อะไรปืนสำหรับเด็กเล่น ของเด็กเล่นเยอะแยะหมด แม้แต่เล่นดิน เล่นทราย เด็กจะมีความสุขในการเล่นสิ่งของเครื่องเล่นเหล่านี้ พวกตุ๊กตา เป็นต้น แล้วจากความสุขของแกนี้ แกจะหวงแหนมากนะ แกรักมาก เพราะมันจะเป็นสิ่งที่จะให้ความสุขกับแก แกจะรักปานชีวิตเลยนะ ของเล่นบางอย่างนี้ แกหวงมาก ใครจะแตะไม่ได้ แกร้องจ้าเลย ใช่ไหม ทีนี้ผู้ใหญ่บางคนก็แกล้งเด็ก ไปแกล้งทำอะไร จับของแก แกก็ร้องไห้ ดิ้นอะไรต่างๆ ผู้ใหญ่ก็เห็นเป็นสนุกสนาน ทีนี้ผู้ใหญ่มองเด็กหวง เล่น มีความสุขสนุกสนานกับเครื่องเล่นเหล่านี้ ผู้ใหญ่ก็สนุกในอาการของเด็ก แต่ไม่มีความสุขไปด้วยกับเรื่องการที่จะมีเครื่องเล่นเหล่านั้น ทีนี้ต่อมาเด็กนั้นโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ทีนี้ท่านบอกว่า ก็จะมีความสุขจากการแสวงกามคุณ รูป รส กลิ่น เสียงต่างๆ ตอนนี้ก็จะไม่เห็นความสุขจากการเล่นเครื่องเล่นของเด็กอีกต่อไป มองดูแล้วจะเห็นเป็นเรื่องไม่มีความหมาย ทีนี้ท่านบอกว่าต่อไปพัฒนาไปอีก มีความสุขอย่างเป็นอริยะ ก็จะเห็นการแสวงหาความสุขกามคุณของปุถุชนนี้ เหมือนอย่างที่ผู้ใหญ่ได้เห็นเด็กเล่นเครื่องเล่น ฉะนั้น มันเป็นไปเองตามพัฒนาการของจิตใจและปัญญาด้วย อย่างที่ว่ามาแล้ว ฉะนั้นเราจึงต้องเข้าใจสภาพจิตของท่านเหล่านี้ว่า มันเป็นเรื่องที่เป็นไปเองตามธรรมดาของมัน แต่ว่ามันมีอันหนึ่งก็คือ ฐานความพร้อม ที่เรียกว่า ความสุขที่เป็นฐานที่สุด ก็คือ ตัวสุขภาพ สุขภาพทางกาย เป็นฐานของความสุขทางกาย และสุขภาพทางจิต ก็เป็นฐานของความสุขทางจิตใจ รวมถึงความสุขทางกายด้วยทั้งหมด เพราะความสุขทางกายก็ต้องลงไปถึงจิตด้วย ทีนี้เมื่อท่านมีสุขภาพจิตอันนี้เป็นฐานแล้ว ท่านก็มีสิทธิ์จะเสวยสุขทุกอย่างได้ และเสวยได้ด้วยความสุขเต็มอิ่มเต็มที่ แต่ท่านจะเสวยหรือแสวงหาหรือไม่ เป็นเรื่องของท่าน เป็นสิทธิของท่าน เมื่อท่านไม่ต้องการ ก็เป็นเรื่องของท่านเอง ฉะนั้น เราไม่ต้องไปห่วงท่าน เอาละนะ นี่เป็นเรื่องของการพูดเชิงอุปมาอุปไมยให้เห็น
ทีนี้ เมื่อเราพัฒนาไปนี่ มันก็เป็นไปตามลำดับของความเจริญหรือพัฒนาการอย่างนั้น เราก็เอามาเรียนรู้วิธีการ เพื่อจะพัฒนาชีวิตของเราทั้งกายทั้งใจ หรือพูดให้เต็มว่า ทั้งกาย ศีล จิต ปัญญา ให้มันก้าวไปสู่ความดีงามและความสุขมากยิ่งขึ้น การพัฒนาที่ถูกต้องนั้น ไม่ได้พัฒนาเฉพาะความดี ความดีงามที่แท้นั้น จะมากับความสุขด้วย ถ้าความดีงามไม่มากับความสุขแล้ว จะเกิดการขัดแย้ง แล้วความดีงามนั้นเอง ก็จะไม่มั่นคง ฉะนั้นเวลานี้เราพูดกันถึงคำว่า จริยธรรม เราหมายถึงเรื่องความดีงาม แล้วทีนี้ไปๆ มาๆ เราก็มองว่า เรื่องจิรยธรรมมันเป็นเรื่องของความประพฤติ เป็นเรื่องพฤติกรรมภายนอกกาย วาจา เรื่องของสังคม เราก็เลยบอกว่า ไม่ได้หรอก มันต้องมีจิตใจด้วย เราก็เลยบอกจริยธรรมไม่พอ ต้องพัฒนาคุณธรรมด้วย คุณธรรมเราก็เลยเน้นกันว่า เดี๋ยวนี้เวลาพูดถึงจริยธรรม ต้องพูดควบกันไป ก็คุณธรรมและจริยธรรม เพราะฉะนั้น แผน ๘ แผนการศึกษาอะไรก็ตาม จะต้องมีคำนี้คู่กัน คุณธรรและ จริยรรม คุณธรรและจริยรรมเรื่อยไปเลย แต่ว่าเป็นการแสดงถึงความที่ยังดำเนินการพัฒนามนุษย์ไม่สมบูรณ์ เพราะว่าจิตใจไม่ได้มีแต่คุณธรรมเท่านั้น ถ้าขืนพัฒนาแต่คุณธรรมกับจริยธรรม มันด้วน มันขาด มันบกพร่อง ต้องพัฒนาความสุขด้วย และต้องโยงคุณธรรมให้ถึงความสุขให้ได้ เพราะฉะนั้น ศัพท์ของพระพุทธเจ้าให้ไปแล้ว ไม่เอามาใช้ ชอบใช้มาหาแต่งศัพท์ใหม่ๆ ทีนี้จริยธรรมก็เป็นบัญญัติใหม่ คุณธรรมก็เป็นศัพท์ชั้นรอง ไม่ใช่ศัพท์เดิม เป็นเรื่องด้านหนึ่งของจิตใจ จิตใจของเรานอกจากมีเรื่องความดีความชั่ว มันมีด้านความเข้มแข็ง ความอ่อนแออีก ใช่ไหม แล้วยังมีด้านความสุข ความทุกข์อีก มันไปพัฒนาคุณธรรมอย่างเดียวมันไม่พอหรอก ฉะนั้น ต้องพัฒนาเรื่องความสุขด้วย ความปลอดโปร่ง สดชื่น ผ่องใส เบิกบานของจิตใจ ต้องมีพระพุทธเจ้าเน้นออก คนเรานี่ท่านบอกว่า ถ้ามีปราโมทย์เท่านั้นแหละ อยู่ใกล้พระนิพพานแล้ว โยมเชื่อไหม พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า ภิกษุที่มากด้วยปราโมทย์ อยู่ใกล้พระนิพพาน ก็เมื่อจิตใจที่ดี ปราโมทย์แปลว่าอะไร ปราโมทย์ความร่าเริงเบิกบานใจ ใครทำใจให้สดชื่น เบิกบาน ผ่องใสได้ตลอดเวลา ใกล้พระนิพพานแล้วนะ คนโดยมากทำไม่ได้หรอก เดี๋ยวก็ขัดใจโน่น กระทบนี่ กระทบนั่น ใช่ไหม ใจขุ่นมัว เศร้าหมอง วุ่นวาย ทีนี้ถ้าเราทำใจเบิกบาน ร่าเริง สดชื่นอยู่ได้ ปราโมทย์ พระพุทธเจ้าจะตรัสเครื่องวัดความเจริญในการปฏิบัติธรรม
๑ มีปราโมทย์
๒ มีปีติ ความอิ่มใจ อิ่มใจนี่ก็สำคัญนะ อิ่มใจได้เห็นลูกเจริญเติบโตงอกงาม ลูกประพฤติดี มีการศึกษาเล่าเรียนดี ตั้งใจเรียนดี เห็นลูกเมื่อไร คุณแม่ก็ปลื้มใจ มีปีติ อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้เราต้องพยายามให้คนอื่นมีปีติ ทำความดีให้คนอื่นปีติ อย่างลูกตั้งใจดีต่อพ่อแม่ ขอให้คุณแม่คุณพ่อ ได้ข่าวเกี่ยวกับเรา ได้เห็นตัวเราก็ตาม ถ้าเราเรียนอยู่ใกล้ อยู่ที่บ้าน พอเห็นความก้าวหน้าในการเล่าเรียนของเรา ถ้าเราไปเรียนอยู่ไกลบ้าน ถ้าได้ข่าวว่าเราเรียนก้าวหน้า ประสบความสำเร็จ ตั้งใจเรียนดี พอได้ยินข่าวนี้ พ่อแม่ก็จะปีติ อิ่มใจ ปลื้มใจ สภาพปีติอย่างนี้ อาศัยคนอื่น หรืออย่างลูกก็ปีติเวลาคุณพ่อคุณแม่ให้อะไร พอคุณพ่อคุณแม่ให้ของที่ชอบใจ ก็ปีติอิ่มใจ ปีติอย่างนี้ต้องอาศัยคนอื่นทำให้ ทีนี้ปีติในตัวเองก็ทำได้ ต้องรู้จักพัฒนาจิตใจ มีปีติอิ่มใจอยู่เสมอ
๓มีปัสสัทธิ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ ทำอันนี้ได้ ยากนะสมัยนี้เป็นตัวสำคัญเลย คนมีความเครียดมาก ขาดความผ่อนคลาย ฉะนั้น
๑ ปราโมทย์
๒ ปีติ
๓ ปัสสัทธิ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ เป็นสภาพจิตที่มีสุขภาพอันหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เราสร้างประจำจิต คนปัจจุบันก็ขาดอย่างยิ่งเลย แทบหาไม่ได้เลยปัสสัทธิ ต่อไปจึงถึง
๔ สุข พอปัสสัทธิแล้วก็สุข สุขก็เป็นภาวะที่ใจมันไม่มีอะไรรบกวน คล่อง โล่ง โปร่ง สะดวก อย่างทางกายนี่ สะดวกท่านเรียกว่า สุข ทำอะไรต่ออะไรคล่อง โปร่ง ไม่มีอะไรบีบคั้น ภาวะสุขก็คือตรงข้ามกับทุกข์ ทุกข์ก็คือ บีบคั้น บีบคั้น ติดขัด คับข้อง อันนี้เรียกว่า ทุกข์ ทีนี้ ภาวะที่ตรงข้ามกับทุกข์ ก็เป็นสุข ไม่มีอะไรบีบคั้น ไม่มีอะไรติดขัด ไม่มีอะไรคับข้อง ก็โปร่ง โล่ง สะดวก นี่ใจก็ต้องให้ทำให้มีสุข คล่องไม่มีอะไรมาติดขัด ไม่มีอะไรมาบีบ แล้วก็ต่อไปก็
๕ สมาธิ ก็จะมา
ทั้ง ๕ อันนี้ ใครสร้างไว้ประจำใจได้ละก็ เข้าสู่แนวทางของความที่จะมีสุขภาพจิตสมบูรณ์
ทีนี้ทางผู้ปฏิบัติธรรม ไม่ค่อยนึกถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ให้เรามีสุขภาพจิตอย่างไร บางทีบางคนปฏิบัติธรรมไปแล้วเครียด ใจทุกข์ก็มี แสดงว่าปฏิบัติผิด ปฏิบัติถูก มันต้องอย่างนี้ ต้องมี ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ พอถึงสมาธิก็คือ สภาพจิตที่มันสมดุลเลย สมดุลที่จริงมันต้องมีตัวอุเบกขาสมดุลแท้ เอาแค่สมาธิก่อน อุเบกขานี่เป็นสมดุลที่ได้ปัญญามาช่วย คือสมดุลของจิตจะยังไม่สมบูรณ์ ตราบใดที่ปัญญายังไม่เข้ามาร่วม ถ้าได้แค่จิตอย่างเดียว ได้แค่สมาธิ ถ้าปัญญามานี่ มาช่วยให้เกิดอุเบกขาเลย แต่อุเบกขาไม่ใช่อุเบกขาอย่างที่คนไทยพูดกันนะ อุเบกขาคนไทยพูดว่า “เฉย” เฉยมันมี ๒ อย่าง คือพระท่านบอกอุเบกขานี้มี ๒ แบบ
อุเบกขาที่เกิดจากปัญญารู้ความจริงแล้ว วางใจได้ดุลย์เลย เหมือนกับคนรู้เข้าใจทุกอย่าง จะทำอะไร เมื่อไร จังหวะไหน คนอย่างนี้จะใจเข้าถึงดุลยภาพสงบเลย
ทีนี้คนอีกคนหนึ่งเฉย เพราะไม่รู้ คือเพราะไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรมันเกิดขึ้น ก็ไม่รู้ ก็เฉยสิ เฉยอย่างนี้ ทางพระท่านไม่นิยม เป็นอกุศล ท่านเรียกว่า อัญญาณุเบกขา แปลว่าเฉยโง่ เป็นอกุศล ใช้ไม่ได้ เฉยโง่คือ เฉยไม่รู้เรื่อง มันก็เลยไม่เอาเรื่อง แล้วมันก็ไม่ได้เรื่อง
ทีนี้ถ้าเฉยด้วยปัญญา เป็นอุเบกขาแท้ มันเฉยรู้เรื่อง รู้อย่างดีเสียด้วย เพราะรู้เต็มบริบูรณ์ มันถึงเฉยได้ ทีนี้พอเฉยรู้เรื่องแล้ว มันเฉยเอาเรื่อง คือมันจะปฏิบัติ แต่ว่ามันปฏิบัติได้ โดยรู้ว่าจะทำเมื่อไร จังหวะไหน อย่างไร เพราะฉะนั้นมันสบาย จิตมันสงบ แล้วก็เฉยได้เรื่อง เพราะมันรู้เรื่องนี่ มันทำอะไร มันก็ได้เรื่อง เพราะฉะนั้น เฉยที่เป็นอุเบกขา ต้องเฉยรู้เรื่อง เฉยเอาเรื่อง เฉยได้เรื่อง
ทีนี้ท่านเปรียบเทียบ อันนี้ก็นอกเรื่องไปอีกนิดหนึ่ง วันนี้คุยไปเรื่อยๆ ตามสบายก็แล้วกัน ทีนี้ว่าเฉยรู้เรื่องอย่างดีนี่เป็นอุเบกขา ยกตัวอย่างเช่นว่า เวลาเกิดเหตุการณ์ที่น่าตระหนกตกใจ พอเกิดเรื่องราวตระหนกตกใจ ก็จะมีคนแบ่งได้โดยเข้าท่าเป็น ๓ พวก
พวกที่ ๑ นี่คือ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเกิดขึ้น แกเฉย นี่เรียกว่า เฉยไม่รู้เรื่อง เป็นอุเบกขาโง่ เรียกว่า อัญญาณุเบกขา
ทีนี้ ๒ พวกรู้ครึ่ง ไม่รู้ครึ่ง หรือรู้แล้ว แต่ไม่รู้จะทำยังไงดี ไม่รู้จะแก้ปัญหายังไงดี พวกนี้อาจจะเอะอะมะทึ่ง ลุกขึ้นเต้นโวยวาย พอดีทำให้เรื่องใหญ่ขึ้น ใช่ไหม ทำให้เรื่องสับสน วุ่นวาย หนักเข้าไปอีก แก้ปัญหายาก นี่คนทั่วไปจะเป็นอย่างนี้มาก เป็นพวกที่รู้ครึ่งๆ กลางๆ แล้วก็เอะอะโวยวาย ตื่นเต้นไป แล้วก็แก้ปัญหาไม่ได้
ทีนี้ ๓ พวกเฉยรู้เรื่อง พวกรู้เรื่อง รู้หมดเลย เข้าใจสถานการณ์ เข้าใจเหตุปัจจัยของเรื่อง เห็นแนวทางวิธีแก้ปัญหา จะแก้ที่จังหวะไหน พวกนี้สงบเลย เชื่อไหม แกจะสงบ และแกรอจังหวะ พอถึงจังหวะนั่น ปฏิบัติการเป็นขั้นๆๆๆ สำเร็จเลย เรื่องราวทุกอย่างเรียบร้อย เฉยที่เราต้องการคือ เฉยแบบที่ ๓
คือเฉยแบบนี้ แบบที่ ๒ พวกที่ ๒ ท่านเรียกว่า เฉย เป็นพวกยุ่ง ทีนี้พวกที่ ๓ นี้ ก็เป็นพวกเฉยประเภทรู้เรื่องด้วยปัญญา สงบ เรียกว่าจิตมันได้ดุลย์ มีดุลยภาพเพราะปัญญามา แล้วจิตจะลงตัวเลย หรือถ้าเปรียบเทียบอีกอย่างบอกว่าเหมือนสารถีที่เชี่ยวชาญในการขับรถ เราเปรียบเทียบคนขับรถ สมัยก่อนนี่เขาขับรถม้า คนที่ขับรถใหม่ๆ ใจคอไม่สบาย ใช่ไหม มันห่วง มันหวาด มันกังวลไปหมดเลย จะเอายังไง จะเข้าทาง จะวิ่งความเร็วเท่าไร คอยกังวล เครียด เกร็ง จะขยับดึงบังเหียน จะลงแส้ยังไง จะทำยังไงบังคับให้ม้าวิ่งอยู่ในทาง แล้วให้ความเร็วพอดี อะไรนี่นะ มันห่วงกังวลไปหมดเลย ทีนี้พอสารถีนั้นเชี่ยวชาญชำนาญการขับรถ ตอนนี้แหละ แกก็เพียงว่าออกรถ ขับรถออกจากบ้านเข้าถนน แกก็ดึงบังเหียน แกก็ลงแส้ ให้รถเข้าทาง พอเข้าทางดี จัดการควบคุมความเร็วพอดี รถเข้าทางดีแล้ว ความเร็วพอดีแล้ว แกนั่งสบายเลย นั่งสงบ นั่งสงบนี่รู้ใช่ไหม แกมีความรู้ในเรื่องการขับรถม้านี้อย่างเต็มเปี่ยมอยู่ในใจ เพราะฉะนั้น แกพร้อมตลอดเวลา ถ้าม้ามันขยับจะออกนอกทางปั๊บ หรือว่าความเร็วจะผิดจากที่ต้องการ แกแก้ไขได้ทันที ถูกไหม แกรู้พร้อมแล้ว แกไม่มีกังวลอะไรเลย แกนั่งเอ้อระเหยสบายใจเลย ภาวะจิตอย่างนี้เรียกว่า อุเบกขา เหมือนกับคนที่อยู่ในโลกนี้ เราแต่ละคนไม่ชำนาญชีวิต จะดำเนินชีวิตอย่างไร มีแต่ความหวาดกังวล อะไรจะเกิดขึ้น อะไรเกิดขึ้น จะทำยังไง มีชีวิตด้วยจิตที่ว้าวุ่น กังวล ห่วง มีอารมณ์ค้างใจ มีความทุกข์แฝงอยู่ โดยไม่รู้ตัวตลอดเวลา จิตไม่มีอุเบกขา แต่พระอรหันต์นั้น ท่านรู้เข้าใจโลกชีวิตตามเป็นจริง วางใจลงตัวกับโลกและชีวิตนี้ สบายเลย เพราะฉะนั้น ท่านจึงมีภาวะจิตที่เรียกว่าเป็นอุเบกขา ก็เลยพอดีถูกเตือนว่า ได้เวลาฉัน
เอาละเดี๋ยวขออภัย พูดแล้วอุเบกขาได้จบ เลยพัฒนากันไปไม่ถึงไหน พัฒนาได้นิดเดียว พัฒนามาถึงขั้นพอให้รู้แนวเท่านั้นเอง ยังไม่ได้เริ่มการพัฒนาแท้ เอาพอให้รู้ลักษณะก่อน จิตพระอรหันต์นี่ เป็นจิตเหมือนสารถีขับรถที่เชี่ยวชาญ ดำเนินชีวิตไปด้วยความรู้ ใจลงตัวกับทุกสิ่งทุกอย่างต่อโลกและชีวิตแล้ว ใช่ไหม ไม่มีความกังวลอะไรเลย อะไรจะมาๆ ท่านวางใจได้ถูก จะเอายังไงกับมัน ใจท่านพร้อมทุกอย่างแล้ว แล้วไม่มีอะไรระคายเคือง มันก็สบาย นี่แหละภาวะจิตที่ว่าอุเบกขา มันเหนือยิ่งกว่าสุขอีก มันเหนือกว่าสมาธิอีก โยมพอจะนึกเห็นภาพไหม นี่ใจเรากับสตินี่ เราไม่ถึงขั้นนั้นหรอก วุ่นวายใจ มีอะไรต่ออะไรอย่างที่ว่า อย่างน้อยจิตมันมีสิ่งที่ค้างใจตลอดเวลา เพราะฉะนั้น มันไม่สามารถเสวยสุขได้เต็มที่ แล้วความสุขที่เข้ามา ก็รับไม่เต็มที่ด้วย เพราะมันมีตัวกั้น ตัวขวาง ตัวกีดกัน ตัวรบกวนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ทำไมจึงถือว่ามีความสุขที่สุด เพราะภาวะจิตถึงอุเบกขา มีดุลยภาพสมบูรณ์ ลงตัวกับทุกสิ่งทุกอย่างกับโลกและชีวิต ประดุจสารถีที่เชี่ยวชาญในการขับรถที่ว่าพร้อมตลอดเวลา ด้วยปัญญาที่รู้แจ้งอย่างนี้
เอาละทีนี้อุเบกขานี้เหนือกว่าสมาธิ จะเห็นว่าในโพชฌงค์ มีสมาธิแล้วจึงไปอุเบกขา ทีนี้สมาธิก็เอาละ ได้สมาธินี่ จิตอยู่ตัวแล้ว ถ้าถึงสมาธิอยู่ตัว ถ้าไปอุเบกขาลงตัวเลย ได้ดุลยภาพ ทีนี้สมาธินี้ตั้งมั่นแน่วแน่ สงบ มั่นคง จิตเป็นตัวของตัวเอง ตั้งมั่นนี้ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างนี้ ดำรงอยู่ในจิตใจได้ และสามารถที่จะพัฒนาทำอะไรได้ จิตของเรานี้มีสมาธิ ก็เหมือนกับมีฐานที่มั่นที่รองรับอันมั่นคง อะไรต่ออะไรที่อยู่บนที่มั่นอันมั่นคงนี้ มันก็ตั้งอยู่ได้และเจริญงอกงามได้ แต่ถ้าที่ตั้งนี้ไหวโคลงเคลงไป อะไรที่อยู่บนนี้อยู่ไม่ได้ โงนเงน ดีไม่ดีก็ล้มหล่นหาย ที่จะเจริญก็เจริญไม่ไหว ฉะนั้น ท่านจึงให้สมาธิเป็นฐานในจิต พอจิตมีสมาธิเป็นฐาน ก็เป็นที่รองรับแห่งกุศลธรรมทั้งหลายที่เราจะพัฒนา ฉะนั้น เราจะพัฒนาความสุขก็ดี จะพัฒนาคุณธรรมความดีงาม ก็อาศัยสมาธิเป็นฐานรองรับ เจ้าตัวนี้ไม่มีสมาธินี้ ไม่มีตัวรองรับเสียแล้ว กุศลธรรมพัฒนาไม่ขึ้น ความสุขพัฒนาไม่ขึ้น หล่นหมด ความสุขไปอยู่ได้ยังไง จิตมันไม่มั่นคง เดี๋ยวหวั่นไหว ถูกโน่นรบกวนกระแทกที แย่เลย หวั่นไหวตลอดเวลา ต้องมีสมาธิ พอมีสมาธิก็จิตก็อยู่ตัว ไม่มีอะไรรบกวนได้ จิตเป็นตัวของตัวเอง จะรับอารมณ์อะไรก็รับ ไม่ต้องการอารมณ์อะไร ก็ตัดมันไป นี่สมาธิ ใช่ไหม ต้องการอยู่กับอารมณ์อะไร ก็อยู่กับมันตลอดเวลานานเท่าที่ต้องการ จิตอย่างนี้ก็เป็นจิตตัวของตัวเอง สบาย ตกลงว่า สภาพจิต ๕ ประการนี้ ที่จะต้องพัฒนา แล้วเราสามารถทำได้
๑ ปราโมทย์ ความร่าเริง เบิกบานใจ
๒ ปีติ ความอิ่มใจ
๓ ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบ เย็นกายใจ
๔ สุข ความสะดวกใจ คล่องใจ โล่งใจ ไม่มีอะไรบีบคั้น ขัดข้อง ติดขัด แล้วก็
๕ สมาธิ ภาวะจิตที่อยู่กับสิ่งที่ต้องการ ได้ตามที่ต้องการ ไม่มีอะไรมารบกวน ระคายเคือง
ทำให้ได้ ๕ ประการนี้ พัฒนาจิตสบาย จะอยู่ที่ไหนก็ไปได้หมด แต่ว่าอันนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในกระบวนการพัฒนานั้น พัฒนากาย ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ในการรับประทานอาหาร บริโภคปัจจัย ๔ ก็มีวิธีพัฒนา ว่ากินอาหารอย่างไร จะกินด้วยตัณหาหรือกินด้วยปัญญา พอกินด้วยปัญญาก็จะเริ่มมีความสุขชนิดใหม่ แต่ก่อนนี้กินด้วยตัณหา ก็จะมีความสุขจากการบำเรอลิ้น ต่อมามีความกินด้วยปัญญา ก็จะมีความสุขชนิดอื่นที่เกิดจากฉันทะ แล้วก็ ต่อไปก็ด้านอื่นปัจจัย ๔ การใช้เทคโนโลยี จะใช้เพื่อเสพ สามารถหาความสุขจากการสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี ต้องเปลี่ยน ต้องคืบหน้า ต้องพัฒนา ถ้าใครพัฒนาจากการหาความสุขจากการเสพเทคโนโลยี มาเป็นหาความสุขจากการใช้เทคโนโลยีทำการสร้างสรรค์ นี่คือ เขาพัฒนามิติใหม่แห่งความสุขขึ้นแล้ว ชีวิตก็จะดีขึ้น สังคมก็จะดีด้วย
ทีนี้เราเอาใจใส่ไหม ตั้งแต่แม้แต่เด็กในครอบครัว
๑ ดูทีวีเทคโนโลยีนี้ ดูเพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ ดูเพื่อศึกษากี่เปอร์เซ็นต์ ต้องเริ่มแล้ว รู้ตัวไหม ว่าเราอยู่กับการเสพมากไป ที่แท้มันต้องใช้เพื่อศึกษาให้มากขึ้น พอเด็กรู้ตัว เด็กก็ไม่ได้ๆ เราจะต้องใช้เพื่อศึกษา เพิ่มเปอร์เซ็นต์หน่อย เคยใช้เพื่อเสพ ๙๐ เปอร์เซ็นต์ ต่อไปนี้ลดให้เหลือ ๗๐ เปอร์เซ็นต์ ใช้เพื่อศึกษา ๓๐ เปอร์เซ็นต์ ดีขึ้น ใช่ไหม อย่างนี้ก็พัฒนาแล้ว หาความสุขจากการเรียนรู้ หาความสุขจากการสร้างสรรค์ มันไปได้เยอะ ในด้านพฤติกรรม พัฒนากายนี้ พัฒนาความสุขจากการศึกษาและสร้างสรรค์ ใช้ตาดู หูฟังเป็น พัฒนาอินทรีย์ ต่อไปก็ได้ความสุขใหม่จากการใช้ตาดู หูฟัง ใช้ตาเสพ ใช้ตาเรียนรู้ ใช้มือในการเอา ใช้มือในการสร้างสรรค์ มีความสุขคนละแบบ มีความสุขจากการจะเอา กับมีความสุขจากการให้ เป็นพ่อแม่มีความสุขจากการให้แก่ลูก ก็มีความสุขจากการให้ เพราะทำให้เขาเป็นสุข ก็พัฒนาคุณธรรมในใจ คือ เมตตา เป็นต้น
ต่อไปพัฒนาศีล ก็มีความสุขจากศีล เช่นรักษาอุโบสถ ทำให้มีภูมิต้านทาน ทำให้ชีวิตเป็นอิสระ ต่อความสุขที่ว่าต้องไปฝากความสุขไว้กับวัตถุภายนอก สามารถมีความสุขภายในตัวเอง มีความสุขที่เป็นอิสระ พัฒนาศีลก็ได้สุขใหม่ พัฒนาจิตใจได้ความสุขมากมาย ไม่รู้กี่อย่าง
แล้วพัฒนาปัญญา คราวนี้สุขโล่ง โปร่ง เป็นสุขชนิดที่เรียกว่า ในเรื่องที่ว่าความสุขที่ไม่มีที่คันที่จะต้องเกา
ก็เอาละ เจริญพร นี่ก็พูดไป เป็นอันว่าจำกัดด้วยเวลา อาตมาไม่นึกว่าจะพูดไปมากมายอย่างนี้ พูดไปพูดมามันเยอะ ก็ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่าน วันนี้ก็ขอยุติกันไว้เพียงเท่านี้ก่อน ก็คิดว่าเป็นพื้นฐานแนวทางในการพัฒนา ให้เห็นว่าในพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าตรัสวิธีการ หนทาง แนวทาง หลักการในการพัฒนาชีวิตของเราทั้ง ๔ ด้าน เพื่อความสุขที่แท้จริงนี้ และขยายมิติแห่งความสุขนั้น ไปได้อย่างมากมายเหลือเกิน เราจะมาติดอยู่แค่ความสุขที่ชาวโลกเขาเข้าใจเลย มันมีหนทางที่จะไปได้อีกยาวไกลนัก และกว้างขวางอย่างยิ่ง แล้วก็ชวนกันมาพัฒนาต่อไป ก็ขออวยชัยให้พร ขออารธนาคุณพระรัตนตรัย อภิบาลรักษาทุกท่านที่มีจิตใจเป็นกุศล ซึ่งเป็นที่น่าอนุโมทนาที่มาด้วยศรัทธาและจิตใจที่มีกุศลจิต มีไมตรีจิต มิตรภาพ เป็นต้น ก็ขอจงได้เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ด้วยการก้าวหน้าในการพัฒนาชีวิต ด้วยความสุขที่แท้จริงและให้ความสุขนี้ดำเนินมาพร้อมกับการดำเนินชีวิต และการประกอบกิจหน้าที่การงานให้บรรลุประโยชน์สุขความสำเร็จทั้งที่เป็นผลแก่ชีวิตของตนเอง และแก่สังคมส่วนรวม และจงมีความร่มเย็นงอกงามในฌานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่านตลอดกาลนานเทอญ