แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
สมเด็จฯ อ้าว! มีอะไรอีกไหมครับ จะถามอะไร
ผู้ถาม กระผมมี 2 คำถาม ??? คำถามแรกก็ พอดีผมแต่งงานแล้ว มีครอบครัว มีบุตรชายแล้ว ก็อยากจะถามเกี่ยวกับหลักการเลี้ยงลูกหล่ะครับว่า ได้เคยอ่านหนังสือของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เกี่ยวกับว่าให้ใช้พรหมวิหาร 4 แล้วก็ให้ใช้อินทรียสังวร ตาดู หูฟัง เป็นอันนี้อยากจะได้รายละเอียด ให้เขาเป็นทั้งคนดีด้วย และคนเก่งด้วย แล้วก็...
สมเด็จฯ มีความสุข
ผู้ถาม เป็นคนดี เป็นคนเก่ง มีความสุข แล้วก็อยากได้ในภาคปฏิบัติด้วยครับ อยากให้พระเด็จพระคุณหลวงพ่อยกตัวอย่าง ??? ในทำนองนี้ด้วย ข้อที่ 2 เนื่องจากบิดามารดา ภรรยาของเราเอง และบุตรชายก็เป็นที่รักของเรา ก็อยากจะถามว่า เกิดชาติหน้าเนี่ยจะทำยังไงให้เกิดมาเป็นลูกเราอีก แล้วก็เป็นภรรยาเราอีก แล้วเราได้เป็นลูกของพ่อแม่เราอีก
สมเด็จฯ โอว นี่แสดงว่าปฏิบัติธรรมมาดีทำให้ชีวิตครอบครัวดี อนุโมทนาด้วย ก็หายากนะครอบครัวที่ดีอย่างนี้ เป็นครอบครัวตัวอย่างนะ ในพระไตรปิฎกก็เป็นที่ยกย่องที่สามีภรรยาหวังจะพบกันทุกชาติไป ใครรู้บ้างเป็นอริยสาวกสำคัญเลยนะ สามีภรรยาคู่และกุลบิดา เออนั่นแหล่ะปรารถนาจะพบกันทุกชาติไป อ้าว 2 คำถามท่านต้องคอยทวงนะเผื่อผมตอบออกนอกลู่นอกทาง
อันที่ 1 ก็คือธรรมมะในการปฏิบัติต่อบุตรธิดา ที่ท่านพูดมาเนี่ยเท่ากับ 2 ชุด ชุดแรกนี่พรหมวิหาร นี่เป็นเรื่องของฝ่ายตัวเอง พ่อแม่เป็นผู้ปฏิบัติต่อลูก ส่วนอินทรียสังวรนั้นหมายถึงข้อปฏิบัติของลูกที่เราจะให้เขาเจริญงอกงาม หมายความว่าการพัฒนาของเด็กจะเจริญอย่างไรให้เจริญ คือทำอย่างนี้ได้ อย่างนี้ได้ เป็นสิ่งที่เขาจะพึงปฏิบัติ อ้าวชุดแรกก็เป็นพรหมวิหารเราปฏิบัติต่อเขา อันนี้ก็คงไม่ต้องพูดมากเพราะท่านอ่านมาแล้ว ผมก็ไปเน้นข้ออุเบกขา ที่เน้นเพราะคนไทยเนี่ยไม่เข้าใจ แล้วก็ปฏิบัติผิดอย่างที่ว่าเป็นเฉยโง่ไปสะ อัญญานุเบกขา นี้อุเบกขาเป็นตัวสำคัญมาก ท่านจึงไปวางข้อท้าย เพราะเป็นจุดบรรจบกับปัญญา บอกเมื่อกี้แล้วว่าปัญญาเป็นตัวข่มนะ เอาแล้วชุดนี้ไม่เห็นมีปัญญาเลย นั่นท่านดูไม่เป็นมันอยู่ในข้ออุเบกขา นั่นแหล่ะปัญญาไปคุมอยู่ในอุเบกขาโน่น แต่ว่าพรหมวิหารนี่ท่านเน้นด้านจิตใจ ท่านไม่เอาปัญญามาแสดง เพราะอุเบกขามันก็เป็นสภาพจิต ไม่ใช่ตัวปัญญา แต่ว่าปัญญามาทำให้อุเบกขาเกิด ที่จะเป็นอุเบกขาได้เพราะปัญญา ทีนี้ท่านเอาตัวผลด้านจิตใจที่มาจากปัญญา มาวางเป็นข้อ 4 ของพรหมวิหาร แต่ไอ้ตัวแกนของมันอยู่ที่ปัญญา ฉะนั้นพอพูดถึงอุเบกขาปับให้เรานึกถึงปัญญาทันที เอาเป็นว่าพอนึกถึงอุเบกขาปับให้ปัญญามาปุบเลย เออให้มาถึงกัน ก็นึกถึงไม่งั้นมันจะเป็นอัญญานุเบกขาเป็นเฉยโง่ไป ทีนี้บอกแล้วว่าอุเบกขาเป็นตัวเน้นตัวคุม คุมกระบวนให้ไปถูกต้อง ถ้าท่านมีแค่เมตตา กรุณา มุทิตานี่ ดีจริง ๆ แต่ดีเลยเถิด เสียเลยนะดีเกินไปก็เสีย เพราะทางด้านจิตใจนี่มันดีมันก็เสียได้ ดังนั้นจึงต้องมีข้ออุเบกขา ที่ว่าเสียท่านก็รู้อยู่แล้วนี่ เมตตาก็รักในยามเป็นปกติ ก็อยู่เป็นปกติ ก็รัก ก็ปรารถนาให้เขาเป็นสุข ก็ดูแลอยู่ทุกอย่างทุกประการ แล้วก็กรุณายามเขาตกต่ำลงไป มีทุกข์ เจ็บไข้ได้ป่วยอะไรก็แก้ปัญหาเขา แล้วก็มุทิตาเขาเจริญก้าวหน้าก็ส่งเสริมให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปมันก็ชัด แต่ทีนี้อย่างที่ว่าเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขานี่ มันเป็นด้านความรู้สึก บางทีไม่ได้ใช้ปัญญา ก็อาจจะสุดโต่ง เช่น อย่างรักลูก ตามใจลูก โอ๋ลูกเกินไป เอาแต่ใจลูกจนกระทั่งเด็กเนี่ยเสียคนไปเลยก็มี บางรายนี่เอาใจลูกจนเสียคนเลยใช่ไหม คือลูกจะกลายเป็นคนที่ไม่รู้จักรักคนอื่น เอาแต่ใจตัวเอง เป็นฝ่ายเรียกร้อง คือเมตตานี่ท่านมีเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ลูกด้วย นอกจากว่าเราจะอุปถัมภ์บำรุงดูแลเขาดีแล้ว แล้วก็มันเป็นคุณธรรมที่แผ่ไป คือคนเราเนี่ยมันตามอย่างลูกก็จะตามพ่อแม่ พอพ่อแม่มีความรักอย่างนี้ เด็กก็มองในแง่กว้างก็คือคนต่อคน พ่อต่อลูก ลูกต่อพ่อ ก็คนต่อคน นี่ก็พ่อก็เป็นตัวแทนของมนุษย์ผู้ชายในโลกนี้ แม่ก็เป็นตัวแทนของมนุษย์ผู้หญิงในโลกนี้ ทีนี้ถ้ามองในแง่นี้ก็คือ ในเวลาเดียวกันที่มีความรู้สึกต่อพ่อนั้นก็หมายถึงต่อผู้ชายด้วย ทีนี้ความรู้สึกที่เมตตารักเนี่ย เขาก็พร้อมที่จะมีในคนอื่นได้ด้วย เขาจะมีความรู้สึกว่าความรักมันเป็นยังไง เข้าใจ แล้วก็จะมีต่อผู้อื่นได้ งั้นก็เลยว่าการมีเมตตา กรุณา มุทิตาเนี่ย มันเป็นคุณธรรมที่แผ่แล้วก็เป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่าง ถ่ายทอดแก่กันให้ถึงลูก ลูกก็จะมีจิตใจที่พร้อมจะมีเมตตา กรุณา มุทิตา แต่ทั้งนี้พ่อต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาไอ้ตัวสามัญนี่จะเขว ไอ้ที่ว่าพอตามใจลูกมาไป แกไม่นึกในแง่นั้นแล้ว แกจะรอให้พ่อแม่เอามาให้หล่ะทีนี้ 1) เอามาให้ 2) ทำให้ ถ้าเป็นของวัตถุก็เอามาให้ ถ้าเป็นการกระทำงานการ แกก็ไม่ทำให้พ่อแม่ทำให้ ทีนี้พอไป ๆ มา ๆ แกไม่ไปนึกเมตตา กรุณาคนอื่นแล้ว แกนึกจะเอาอย่างเดียวเลย ต้องตามใจ แกก็เป็นนักเรียกร้อง ต่อไปแกไปไหนแกก็เป็นมิตรกับใครไม่ค่อยได้ คนที่จะเอาแต่ใจตัวเองเนี่ย เอาใจตัวเองอย่างเดียว ใครขัดใจไม่ได้ ใช่ไหม ทีนี้ยุ่งเลย ก็เลยต้องมีอุเบกขาข่ม บอกว่าถ้ามันจะเกินควร มันไม่พอดี มันจะผิดมันจะพลาดต้องหยุด แต่ที่มันใช้มากคือใช้ในการพัฒนาเด็ก อุเบกขาถ้าอยู่ที่คำไทยก็คือความรับผิดชอบ
1) เด็กต้องหัดรับผิดชอบตัวเอง อ้าว เป็นมนุษย์มีชีวิตอยู่ พ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วยตลอดชีวิต จะไปช่วยทำให้เขาได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้ เราก็มาช่วยเลี้ยงคือเลี้ยงเพื่อให้เขาทำให้เป็น เลี้ยงให้เขาเดินนี่ ยังเลี้ยงตัวอยู่ก็คือยังเดินไม่เป็น เลี้ยงตัวจนกระทั่งเดินเป็น ใช่ไหม เราเลี้ยงนี่ก็เพื่อให้เขาทำเป็น ใช่ไหม เพราะฉะนั้นจุดหมายไม่ได้จบ เพราะฉะนั้นก็ต้องเลี้ยงกันไปตลอดชีวิต เลี้ยงเพื่อให้เขาทำได้เอง ใช่ไหม ก็เลี้ยงตอนนี้หน้าที่ของเราก็คือเตรียมให้เขาทำเอง ข้อสำคัญก็คือเขารับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้ แล้วก็เจริญก้าวหน้าได้ พร้อมที่จะพัฒนาชีวิต นำชีวิตของตัวเองไปได้ดี ไม่ใช่แค่รับผิดชอบได้ นำไปได้ ตอนนี้แหล่ะครับก็คือขั้นที่ 1 อุเบกขาก็จะมาฝึกลูกให้หัดรับผิดชอบตัวเอง นำชีวิตของตัวเองไปให้ได้
2) ก็คือในยามที่เขาต้องรับผิดชอบตัวเองในปัจจุบัน เขามีกฎกติกาในครอบครัว หรือมีความสัมพันธ์ในครอบครัว ระหว่างลูกต่อลูก พี่กับน้อง เป็นต้น ซึ่งต้องการความเป็นธรรม ความยุติธรรม เขาจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของเขาที่ผิดหรือถูก อันนี้พ่อแม่ก็ต้องหัด เช่น มีกติกาในครอบครัว ใครจะต้องทำอะไรทำผิดพลาดแล้วตกลงกัน จะทำอย่างไร ใช่ไหม ก็ให้เขารับผิดชอบนี่ก็รับผิดชอบตอนทำ อันที่ 1 ก็รับผิดชอบชีวิตเขา ก็รับผิดชอบตอนทำนั่นแหล่ะ คือความถูกต้องที่ควรจะเป็น แล้วก็ 3 ก็คือว่า ถึงเวลาที่เขาจะรับผิดชอบตัวเองได้ ควรจะรับผิดชอบตัวเอง คือหยุด ใช่ไหม ลูกแต่งงานมีครอบครัว มีการงานทำเป็นของตัวเองแล้ว พ่อแม่อย่าไปยุ่งย่าม ก้าวก่าย แทรกแซงในครอบครัวเขา นี่เรียกว่าอุเบกขา เอ้อ เอาหล่ะครับ 3 อันนี้สำคัญของอุเบกขา 1) ขั้นต้นนี้สำคัญตอนเลี้ยงเนี่ย เลี้ยงให้เขาเป็นนะ ก็คือฝึกให้เขารับผิดชอบตัวเองได้ นำชีวิตได้ แล้วก็พร้อมกันนั้นปัจจุบัน แต่ละเวลาที่เป็นไปก็คือ เขาต้องรับผิดชอบในการกระทำของเขา แล้วก็ 3 ไปข้างหน้า เมื่อเขารับผิดชอบตัวเองได้ ก็อย่าไปก้าวก่ายในชีวิตของเขา ทีนี้ตอนที่หัดให้เขารับผิดชอบตัวเองได้เนี่ยก็อยู่ที่ปัญญาของพ่อแม่ ซึ่งต้องใช้อยู่แล้ว ถ้าพ่อแม่ไม่มีอุเบกขาลูกก็ทำอะไรไม่เป็นหรอก กินข้าวยังไม่เป็น ตอนลูกกินข้างเนี่ยสังเกตไหม พ่อแม่ก็ต้องมีอุเบกขา คือเคยป้อน ป้อน ป้อนทุกวัน วันนี้จะให้เขากินเองก็ต้องหยุด อุเบกขาก็คือวางเฉยใช่ไหม นิ่งให้เขาหยิบช้อนหรือว่ายกช้อนใส่ปากเอง ถ้าพ่อแม่ยังเอาช้อนใส่ปากให้เขา พ่อแม่ก็ยังขาดอุเบกขา แล้วถ้าพ่อแม่เอาช้อนใส่ปากให้ลูก ป้อนอย่างนั้นทุกวัน ลูกจะกินเป็นไหม ที่ลูกกินเป็นมานี้ได้เพราะพ่อแม่นี้มีอุเบกขา ถูกไหม ฉะนั้นนี่เป็นตัวตัดสินความเจริญงอกงาม ที่เด็กเจริญมาเนี่ย พัฒนามา เราไม่ใช่มีแต่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาตลอดเลย เป็นแต่เพียงไม่ได้สังเกตตอนที่เขาจะเป็นนะมันต้องอุเบกขาทั้งนั้นแหล่ะ ใช่ไหม เด็กตั้งไข่หัดเดินนะอุเบกขาไหม ถ้าเราไม่อุเบกขาอุ้มตลอด แต่พอแกไปเดินหล่ะ อุ๊ยเดี๋ยวล้ม แล้วเด็กเดินได้ไหม ต้องอุเบกขา บางทีต้องยอมให้เขาล้มบ้าง แต่เราดู เราไม่ได้ทิ้ง เพราะฉะนั้นอุเบกขาท่านจึงแปลว่าดูอยู่ใกล้ ๆ ไม่ได้ทิ้งเลย อุเบกขาไม่ได้ทิ้ง อุเบกขาท่านบอกมาจากฉันทะ ในแง่ว่าปรารถนาให้เขาอยู่ในความถูกต้องสมควร ความชอบธรรม อันนั้นคือแก่นของอุเบกขา ความต้องการให้เขาอยู่ในความสมควร ในความถูกต้อง ในความเป็นเหตุเป็นผล รวมแล้วคืออยู่ในธรรมนั่นเอง ก็จึงอุเบกขา ถ้าไปเมตตา กรุณา มุทิตาบางทีเอียงหมดเลย ในสถานะที่ไม่ถูกต้อง อันนี้พอเขาดุล???เข้าที่แล้ว แล้วก็ต้องอุเบกขา
เพราะฉะนั้นอุเบกขานี่เป็นตัวที่คุมกระบวนหมดเลย เลี้ยงลูกตั้งแต่เล็กไปก็ใช้อุเบกขาเขาถึงโตได้ ทีนี้พ่อแม่ใช้อุเบกขาได้แค่นี้ลูกก็พอโตได้ แต่ถ้าพ่อแม่เก่งกว่านี้ก็คือ เอ้อมองกาลไกลแล้ว ทีนี้ปัญญามาแล้ว ปัญญาไม่ใช่แค่ขั้นเฉพาะหน้า ปัญญามองระยะยาวว่า เอ้อ ลูกเราจะต้องไปเผชิญชีวิตด้วยตนเอง พ่อแม่จะอยู่ด้วยอีกกี่ปีก็ไม่รู้นะ ต่อจากนั้นเขาจะต้องเดินไปในโลกกว้าง รับผิดชอบชีวิตตัวเองได้ เขาจะต้องเก่ง ต้องมีความสามารถ ทำยังไงดี ควรจะทำอะไรเป็นมั่ง เอาแล้วคิดเลย เนี่ยพ่อแม่ต้องใช้ปัญญา ลูกเราเราอยากให้เก่งทางไหน อยากให้ทำอะไรเป็นบ้าง เตรียมหัดเลย ตอนนี้หล่ะบทบาทของอุเบกขามาเยอะ เมตตา กรุณา มุทิตานี่เอามาให้ ทำให้ เออ เขาทำไม่เป็นสักที ทำให้ ๆ ทีนี้ ดูให้เขาทำแล้ว อุเบกขาก็คือดู อุเบกขาดูอยู่ใกล้ ๆ คอยดู ดูให้เขาทำ ตอนนี้หล่ะลูกจะเก่งเพราะไม่มีคนดูให้เขาทำเขาก็ทำไม่เป็น เออ ทำให้เขาเขาก็ไม่เป็น ทำให้ก็ไม่เป็น ไม่ดูให้เขาทำก็ทำไม่เป็น นี้ได้หมด ดูให้เขาทำเท่านี้แหล่ะทั้งทำทั้งเป็น ใช่ไหม ทีนี้ท่านก็เอาสิ นึกถึงลูกเรานี่ควรจะหัดเรื่องอะไร ควรจะทำอะไรเป็น เอ้อตอนนี้มันอยู่ในระยะนี้แล้ว โลกเขาเป็นอย่างนี้ สถานการณ์อย่างนี้ควรจะเข้าใจ ทำอะไรได้อะไรอย่างนั้นนะ เตรียมนั่นเองฝึกเลยฝึกลูกได้พัฒนาเต็มที่ ก็มีเรื่องอะไรก็มาคุยกับลูก เอ้ออันนี้ลูกรู้จักไหม มันเป็นยังไง เอ้อ เขาทำได้อย่างไรนี่ เรามาลองกันดูไหม ก็หัดกันดู ตอนแรกก็ทำให้เขาดูก่อน ต่อมาก็อ้าวถึงเวลาพอแล้ว ก็ดูให้เขาทำ ตอนดูให้เขาทำ บทบาทของอุเบกขาก็เป็นที่ปรึกษา ที่ปรึกษาก็เอ้อทำเองนะติดขัดตรงไหนก็ถามอะไรอย่างนี้ นี่อุเบกขาหมดดีไหมครับ นี่แหล่ะอุเบกขายิ่งใหญ่ที่สุด แล้วลูกจะเก่งแสนเก่งเลยท่านจะเอายังไงก็ได้ จะให้ลูกเก่งแค่ไหนก็ใช้อุเบกขา คือปัญญาต้องมาก่อน คิดพิจารณาว่าลูกของเราจะเก่งในโลกปัจจุบัน สถานการณ์อย่างนี้ ประเทศไทยเป็นอย่างนี้นี่ เด็กที่ดีเด็กที่เก่งในอนาคตควรจะมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ต้องมาพิจารณานี่ก็เท่ากับวางแผนแล้ว ใช่ไหม แล้วก็ฝึกสิฝึกลูกก็จะเจริญก้าวหน้า นี่ก็อุเบกขา เอาแค่พรหมวิหาร 4 พอหรือยัง พอได้ไหมครับ เอาทีนี้หันไปด้านนี่เป็นคุณธรรมพ่อแม่ต่อลูก
ทีนี้หันไปดูลูกเขาจะพัฒนาอย่างไร ก็ให้เขาพัฒนาตามแนวที่ว่า ถ้าใช้หลักของพระเรียกว่า ไตรสิกขา ก็ศีล สมาธิ ปัญญา ทั้งพฤติกรรม ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แล้วก็ด้านจิตใจและด้านปัญญา เนี่ยให้เด็กพัฒนาทั้ง 4 ด้าน เขาเรียกว่า กายภาวนา ศีลภาวนา จิตภาวนา ปัญญาภาวนา ด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ด้านศีลภาวนา ด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ แล้วก็ด้านจิตใจของเขาแล้วก็ด้านปัญญา อันนี้ก็ตอนนี้อุเบกขาจะมาใช้ปัญญา ดูว่าพัฒนา 4 ด้านเขาจะไปอย่างไร แล้วก็วางแผนที่ว่าเริ่มต้นด้วยอินทรียสังวรก็ศีลไง ศีลก็คือความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ที่เราอยู่กันนี่ ตาดู หูฟัง เป็นต้นนี่ก็คือสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ก็ใช้ตาดู หูฟังให้มันถูกนี่ก็ฝึกขั้นต้นแล้ว ก็เกิดมามีชีวิตปับก็เริ่มต้นที่นี่ใช่ไหม เนี่ยเริ่มด้วยอินทรีย์นี่แหล่ะครับ เพราะฉะนั้น ชีวิตของเราเนี่ย ตัวแกนสำคัญของมันก็คือเจ้าอินทรีย์ แล้วก็เป็นตัวตั้งต้นนำชีวิต เด็กพอเขาเรียกว่าลืมตาใช่ไหม แล้วลืมตาดูโลกแล้วอะไรหล่ะ ตาดูใช่ไหม ก็อินทรีย์มาเลย ฉะนั้นเรื่องนี้เรื่องใหญ่ของชีวิตเลย ชีวิตเรานี่ก็อยู่ที่อินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่สัมพันธ์กับโลกภายนอกก็แค่กาย แต่ว่ามีใจเป็นตัวรับสุดท้ายแล้วก็เป็นตัวต้นที่จะบอกว่าจะเอายังไง ใจนี้เป็นตัวสุดท้ายและตัวต้นนะ ตัวสุดท้ายก็คือรับเข้าไปแล้วไปรวมที่นั่นลงท้ายที่ใจ แล้วใจก็เป็นตัวต้นอีกทีพอรับเสร็จแล้วแกจะทำไงต่อก็ใจบอกแล้ว กายเอ้อตาทำงั้น หูทำงั้น ทีนี้คือตอนนี้ต้องฝึกอินทรีย์ ตาดูหูฟัง เป็นต้น โดยเฉพาะทั้งหมดนี่อินทรีย์สำคัญมาก ใช้มากคือ ตาหู จึงเน้นว่าตาหูสำคัญมาก เพราะการศึกษาก็มาจากตาหูสัมพันธ์กับโลก ต้องใช้ตาดูหูฟังให้เป็น ถ้าการศึกษาจับแค่ตาหูยังไม่รู้จักเอาใจใส่ที่จะใช้ปฏิบัติให้ถูก การศึกษามันไปถึงไม่ได้ นั้นทางพระท่านจึงจับที่นี่เลย นั่นคือขึ้นต้นปับศีล ก็ความสัมพันธ์กับโลก สิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องด้วยตาหู เป็นต้น ดังนั้นจึงบอกให้เด็กใช้ตาหู แค่นี้ก็คือมาถึงพวกสื่อทั้งหลายใช่ไหม สื่อทั้งหลายก็เรื่องตาหูเป็นหลักใหญ่ ต้องเน้นให้เด็กใช้ให้เป็น ก็ต้องสอนเรื่องการใช้สื่อ การใช้สื่อก็มาที่ตัวเองก็คือการใช้ตาหู จะดูทีวีอย่างไร จะใช้พวกคอมพิวเตอร์อย่างไร จะเข้าในอินเตอร์เน็ตอะไรต่าง ๆ อย่างไร เอามาใช้ประโยชน์ควรจะมุ่งประโยชน์ในแง่ไหนอะไรต่ออะไร ปฏิบัติต่อมันใช้ให้เป็นคืออย่างไร เด็กก็จะพัฒนา ก็นี่แหล่ะอินทรียสังวร หัดเรื่องตาดูใช้ให้ได้ประโยชน์
หลักการคือว่า ใช้ให้มีสติเป็นตัวกำกับเหมือนกับเป็นตัวอะไรนะ หางเสืออย่าให้ไปผิดทาง ถ้าผิดทางปับก็ไปทางลุ่มหลง ติดเพลินอยู่กับความรู้สึก ติดทีวีก็ตาม อินเตอร์เน็ตอะไรก็ตามเนี่ย โดนความรู้สึกพาไปแล้วนะ ก็ติดหลง เพลิดเพลิน สนุกไป ก็เลยไม่ได้อะไร ก็ให้สตินี่พาปัญญามา เพราะฉะนั้นอินทรีย์สำคัญที่ตาหูก็คือว่า หนูจะใช้ทีวี จะใช้อินเตอร์เน็ต อย่าลืมนะก็ต้องให้ได้ปัญญา ใช่ไหม อ้าวแล้วก็ประโยชน์อะไรที่ตามมากับปัญญา คติอะไรต่าง ๆ ได้เรียนรู้ เข้าใจอะไรต่าง ๆ เราก็ค่อย ๆ บอกให้รู้ว่า คือพ่อแม่ก็จะนำได้ในแง่ว่า คือเราบอกเขาได้ในแง่หลักการที่ว่าปัญญานะ เด็กเขาไม่เข้าใจปัญญาเรื่องอะไร เราก็ต้องบอกว่า เออ เวลานี้โลกเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สิ่งนั้นดีสิ่งนี้ไม่ดี มีคุณมีโทษอย่างนั้น แล้วก็อย่างนี้มันเป็นกันอย่างนี้ ตอนนี้มันพากันไปเป็นอย่างนั้นแล้วในโลกนี้ ใช่ไหม ให้เด็กเขามองเห็นโลกโดยที่ว่าไม่ใช่โดนแล้วก็ชักนำพาไปโดยที่ไม่รู้โดยโมหะ หรือมีคนอื่นที่ไม่ได้มีความปรารถนาดีเนี่ย มาแสดงโลกให้แล้วก็พาไปลุ่มหลงพาอะไรต่ออะไรไป ทีนี้พ่อแม่นี่เป็นผู้ที่จะต้องมาคุมอีกชั้นหนึ่ง ก็จะช่วยไม่ใช่แค่คุมหรอก หมายความว่า ช่วยแนะแนวทางให้เขาเดินไปให้ถูกทาง ให้รู้ว่า เออ เวลานี้พอดูทีวีปับ เหตุการณ์ของโลกเราก็มองกว้างออกไปอย่างนี้ มองอย่างนี้จะทำให้เกิดโทษอย่างนั้นเรื่องนี้มีประโยชน์อย่างนั้น เด็กก็จะได้จับจุดถูกว่าเวลาดูแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร ไม่งั้นแกก็ลุ่มหลงไปตามที่เขาชักนำไป ดูแล้วไม่ได้ประโยชน์ลุ่มหลงอย่างเดียว หรือดีไม่ดีก็เขวไปเสียเลย ดังนั้นถ้าพ่อแม่รู้จักเป็นกัลยาณมิตรก็คือตอนที่เด็กใช้ตาดูหูฟังเป็นต้น ช่วยบอกช่วยเป็นเพื่อนไปด้วยกัน เออ เราคุยกันไปเป็นเพื่อนโดยเขาไม่ต้องรู้ตัวว่าเป็นยังนี้ แล้วก็เรื่องนี้มันเคยเกิดมาเป็นอย่างนี้ มันเกิดโทษอย่างนั้น อันนี้มันดีแล้ว มันดีไปอย่างนั้น ๆ เด็กจะได้เห็นแนวทางว่าควรจะเอาอันไหน ไปทางไหน ใช่ไหม อย่างนี้เป็นต้น อินทรียสังวร
แล้วก็มาอีกเรื่องอีกอันก็คือ ปัจจัยปฏิเสวนา หรือทางพระเรียกว่า ปัจจัยปฏิเสวนาศีล เรียกปัจจัยปฏิเสวนานี้ง่ายกว่า ก็คือการเสพปัจจัย การใช้สอยบริโภคนั้นเอง การกินอยู่ เรื่องของอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ปัจจัยสี่ และก็เรื่องของสิ่งของเครื่องใช้ทั้งหลายนั้น ก็ต้องปฏิบัติให้ถูก ให้เด็กคือชีวิตประจำวันมันเริ่มที่นี่ทั้งนั้น ตาดูหูฟังแล้วก็การเสพ การใช้บริโภค สิ่งต่าง ๆ เนี่ย ให้กินเป็น กินยังไงกินเป็น กินให้พอดี อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงบอกแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลให้รู้จักประมาณ อะไรอย่างนี้ ก็นี่แหล่ะครับอย่างนี้ก็คือการศึกษาในบ้านเลย ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าโรงเรียนอีก กินเป็นใช้เป็น มีสิ่งของเครื่องใช้อะไรนี่ เสื้อผ้านี่เราใช้เพื่ออะไร หัดให้เด็กตอบมีคำถาม เออไม่เคยคิด แต่งตัวเพื่ออะไรเนี่ย เพื่ออวดโก้ แสดงฐานะ เออเรารวยถึงได้มีเสื้อผ้าอย่างนี้ เออใช่หรือเปล่า ทีนี้ก็คุยกับเด็ก บอกว่า ถูกไหมที่เขาแต่งเพื่อจะอวดฐานะกัน ต้องแต่งสวยงามแพงๆ ถูกไหม ให้คิด ทีนี้เด็กอาจจะตอบเขวไปตามนิยม เราก็จะได้มีโอกาสบอกเนี่ยลองคิดดู ถ้าคนคิดกันอย่างนี้ในโลกนี้จะเบียดเบียนกันไหมอย่างนั้นอย่างนี้ ดูถูกดูหมิ่น ไม่เอาใจใส่กัน เราก็พรรณนาให้เห็นโทษ แล้วก็เอาตัวอย่างดีมาว่าเขาปฏิบัติต่อเรื่องเครื่องนุ่งห่มอย่างนั้น นี่พระพุทธเจ้าก็สอนไว้ ที่จริงประโยชน์ที่แท้ของมันมีแค่ไหน เครื่องนุ่งห่มนี่ใช้เพื่ออะไร ใช่ไหม เด็กก็ค่อย ๆ คิดเดี๋ยวก็ออก เราก็ค่อย ๆ มาช่วยบอก เพื่อให้ความอบอุ่นบ้าง กันหนาว กันร้อน กันแดด กันฝน หรืออะไรก็ว่าไป กันละอายหรืออะไรทางสังคม แล้วก็เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่เพื่อนมนุษย์ เออ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปมัวติด อันนั้นเขาเรียกว่าสิ่งสมมุติ หลงสมมุติแล้วมันเสีย เรามีปัญญาเราต้องพัฒนากว่านั้น เราต้องเข้าใจประโยชน์ที่แท้ของมัน ใช้เสื้อผ้าก็เพื่ออย่างนี้ ประโยชน์ที่แท้มันอยู่แค่นี้ ไอ้อันนั้นเขาเรียกว่าคุณค่าเทียมเราต้องรู้ว่าสมมุติกันขึ้นมา แล้วก็อย่าไปหลงมันรู้เท่าทัน เราก็เอาประโยชน์ที่แท้ได้ เราแต่งตัวเพื่ออะไร เรากันละอาย เพื่อกีดกัน เพื่อหนาวร้อนอะไรแล้ว แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็มนุษย์เราทุกคนนี้ก็เหมือนสิ่งทั้งหลาย เราเป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน เราก็มีความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ เราเองเราก็ปรารถนาอย่างนั้น เราก็อยากจะเห็นอะไรที่มันเรียบร้อย งดงาม สะอาดตา เราก็สบายใจ คนอื่นก็เช่นเดียวกัน เพื่อนมนุษย์แต่ละคนก็เป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน เราแต่งตัวนี่ ทุกคนก็แต่งตัวไป เราก็เป็นสิ่งแวดล้อมให้แก่กัน ถ้าเราแต่งตัวไม่ดี มันก็เป็นสิ่งแวดล้อมไม่ดี มันก็พาจิตใจเขาไม่ดีไปด้วยเป็นอกุศล เราแต่งตัวสุภาพ เรียบร้อย สะอาด หมดจด เออจิตใจของเขาเห็นเรา เขาก็สบายใจ ??? เอาหล่ะก็แปลว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี อย่างนี้ดีไหมเด็กจะได้เห็นเหตุผล ในการที่เป็นอยู่นะ นี่แค่ปัจจัยสี่ แล้วก็อธิบายไป สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัยแต่ละอย่างประโยชน์ที่แท้ คุณค่าแท้มันคืออะไร จับให้ได้ก่อน คุณค่าเทียม เรื่องสมมุติเรารู้ทัน แล้วปฏิบัติให้พอเหมาะ อย่าไปหลง พอเห็นทางไหมฮะ ท่านต้องถามเจาะจุดอีกทีหนึ่งว่าต้องการให้พูดเรื่องอะไร
วันนี้ก็ว่าไปสะยืดยาวนะ ยาวกันใหญ่ ท่านเตือนแล้ว เออจะมืดแล้ว เดี๋ยวยุ่งจะมา อันที่ 2 อะไร อ๋อ เรื่องอะไรนะ (เสียงตอบไม่ได้ยิน) อ๋อ ๆ ท่านว่าเอาไว้อีกที เอาไว้ต่อ ตกลงว่ามีต่อ เออแต่อันแรกถ้าไม่ชัดตรงไหนก็ถามด้วย อ้าว ตกลงว่าไปต่อข้างหน้า เรื่องที่ท่านถามเรื่องครอบครัว สามี ภรรยา บุตร ธิดา ทำไงจะได้ไปเกิดชาติหน้าจะได้พบกันอีก เอาหล่ะวันนี้ก็อนุโมทนาเท่านี้ก่อน