แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
วันนี้อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาที่ทุกท่านได้มาทำบุญ ได้มาเลี้ยงเพลพระสงฆ์ โดยการนัดหมายของคุณวิบูลย์ ซึ่งก็ปรารภการที่บริษัทที่ปรึกษากฎหมายอินเทอร์เน็ตได้ตั้งมาครบทศวรรษก็คือ 10 ปี นี่ก็เป็นโอกาสอันเหมาะก็ชวนญาติมิตรท่านที่เคารพนับถือมาทำบุญด้วยกัน การทำบุญด้วยกันก็เรามักจะมองไปที่การเลี้ยงพระก็ถือถวายทาน นี้ว่าทำบุญนั้นตามหลักพระศาสนาท่านบอกว่า มีทาน มีศีล มีภาวนา นี่เป็นข้อสรุป หมายความว่านอกจากถวายทานการเลี้ยงพระการถวายเครื่องไทยธรรมสิ่งของแล้ว ก็มีเรื่องของศีล คือเรื่องของพฤติกรรม กายวาจาด้วย แล้วก็มีเรื่องของภาวนาก็คือการที่ฝึกอบรมทำจิตใจและปัญญาให้เจริญงอกงามด้วย ความจริงนั้นถ้าปฏิบัติให้ถูกต้อง เวลาเรามาถวายทานนี่ เราก็ได้ครบหมดก็ผู้ที่มาถวายทานเลี้ยงพระนี่ เริ่มต้นก็เข้ามาสู่วัดวาอาราม กายวาจาก็ต้องสำรวม กายวาจานั้นเป็นกายวาจาที่ดี ที่สงบ ที่เป็นกุศล เว้นจากสิ่งที่เป็นการเบียดเบียนกัน เรามาที่นี่ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน มีแต่เกื้อกูลกัน มาช่วยเหลือร่วมมือกัน มาร่วมกันส่งเสริมกันในการทำบุญทำกุศลทำความดี แล้วยังมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เวลาเข้าพิธีเราก็ต้องนั่งสงบ สำรวมกายวาจาต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของศีลทั้งนั้น แล้วก็เรื่องภาวนาก็ได้ตั้งแต่ว่าเข้ามาในบรรยากาศที่สงบ จิตใจก็โน้มไปในทางของความสงบไปด้วย เราเข้าที่สงบจิตใจก็สงบ แล้วมีความร่มรื่นของวัดวาอารามจิตใจก็ยิ่งมีความเบิกบานผ่องใส เพียงแค่นี้ก็เรียกว่าเจริญใจ คำว่าเจริญใจก็คืออาการที่ว่าได้ภาวนาแล้วแหละ จิตใจเจริญงอกงามขึ้นด้วยความรู้สึกที่ดีงาม สภาพจิตที่เบิกบานสดชื่นเนี่ย เป็นกุศล เป็นภาวนาแล้ว แล้วทีนี้พอได้ทำบุญทำกุศลอีกก็รู้สึกว่ามีความอิ่มใจ ได้ทำสิ่งที่ดี ได้สนับสนุนบำรุงพระศาสนา ปลื้มใจอิ่มใจก็ยิ่งทำให้จิตใจเจริญงอกงามมากขึ้น เสร็จแล้วก็จะมีอีกส่วนก็คือการฟังธรรม การฟังธรรมหรือการฟังเทศน์ ได้เข้าใจเรื่องคำสั่งสอนธรรมะ รู้ความจริงของชีวิต รู้หลักประพฤติปฏิบัติความดีงามต่างๆ ปัญญาเจริญงอกงามขึ้นอีกอันนี้แหละรวมแล้วก็อยู่ในข้อภาวนา พอได้ทำอย่างนี้แล้วก็เลยครบ 3 พอครบ 3 ก็เป็นอันว่า ทาน ศีล ภาวนา มาพรั่งพร้อม เราก็เลยไม่รู้จะเรียกยังไง ไปเรียกว่าถวายทานอย่างเดียวก็ไม่ครบ แม้ว่าเราจะเริ่มต้นด้วยการไปถวายทาน แต่ว่าเวลาไปทำจริงแล้วครบหมด ทานก็มา ศีลก็มา ภาวนาก็มา จะพูดว่าไปถวายทานอย่างเดียวไม่ครบ เพราะฉะนั้นต้องพูดว่าไปทำบุญ นั้นการที่เรามาวัดแล้วก็เราเรียกว่ามาทำบุญก็เพราะเหตุนี้ เพราะว่าเราได้หมดแต่ก็ต้องเข้าใจและทำให้ถูกด้วยจึงจะได้หมด ถ้าได้ครบนี้เราพูดได้เต็มภาคภูมิว่าเราไปทำบุญคือได้ทั้งทาน ทั้งศีล และก็ภาวนา พอได้อย่างนี้แล้วก็เป็นปัจจัยที่จะปรุงแต่งสร้างสรรค์ให้ชีวิตนี้เจริญงอกงามมีความสุข เพราะฉะนั้นท่านที่ปฏิบัติถูกต้องมาเกี่ยวข้องกับพระศาสนาเนี่ย ชีวิตเจริญงอกงามมีความสุขเรื่อยเลย ก็สมวัตถุประสงค์ที่คุณวิบูลย์ตั้งไว้บอกว่าจะทำอย่างไรให้มีความสุข พอญาติมิตรมาทำบุญอย่างนี้ ทำถูกทางก็มีความสุขแล้วนะ ไม่เฉพาะในด้านพระศาสนาเท่านั้น แม้แต่ในหมู่ญาติมิตรด้วยกันเอง มาพบปะกัน เวลาเรามาพบปะกันมาพบในเรื่องดีดี ในเรื่องทำบุญทำกุศล จิตใจของเราก็ดีงาม ความเป็นมิตรก็ทำให้จิตใจดีอยู่แล้ว มิตรนั้นก็มีเมตตา ความเป็นมิตรก็คือเมตตาธรรม มาพบกันมีไมตรีมีความสุขในการที่ได้พบกัน เค้าเรียกว่าไมตรีรสเกิดขึ้น แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว เพราะฉนั้นเป็นกุศลทั้งนั้น ทีนี้วันนี้คุณวิบูลย์ก็อยากจะให้ญาติมิตรได้รับประโยชน์จากการทำบุญทำกุศลมากขึ้นอีก ก็เลยอยากจะให้พูดธรรมะเกี่ยวกับเรื่องความสุข ทำอย่างไรจะมีความสุขและก็ไร้ทุกข์ คุณวิบูลย์ย้ำไว้ว่าไม่เฉพาะให้มีความสุข ยังให้ไร้ทุกข์ด้วย นี้เราก็เลยลองมาคุยกันเรื่องความสุขไร้ทุกข์ว่าจะทำยังไงกันดี ว่าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นถ้าเราปฏิบัติแล้วก็เราก็จะเจริญงอกงามขึ้น ในความสุขแล้วก็ร้างทุกข์ ไร้ทุกข์ ห่างทุกข์ยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งว่าหมดทุกข์เลย หมดทุกข์แล้วก็เหลือแต่ความสุข พอสุขสมบูรณ์เต็มที่ก็เป็นบรมสุข ทางพระท่านเรียกว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างเยี่ยมยอดอย่างสูงสุด หรือว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอื่นยิ่งกว่าสันติไม่มี นั่นแหละเป็นสุขที่สมบูรณ์ นั้นข้อปฏิบัติในทางพุทธศาสนานี้จะนำเราไปสู่ความสุขอย่างแท้แจริง พระพุทธเจ้าก็ตรัสวิธีที่จะทำให้เรามีความสุขว่าเยอะแยะหมด พระองค์ตรัสเรื่องความสุขไว้หลายแห่ง บางแห่งนี่ตรัสแยกไว้ถึงรวมแล้วนับได้ประมาณ 10 ประเภทนะ คือความสุขนี่มีหลายประเภทมากมาย เรามักจะมองกันความสุขได้แค่อย่างสองอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าจะให้ดีต้องมีการเรียนรู้ว่าความสุขนั้นมีได้มากมายหลายอย่างหลายช่องทาง เพราะถ้าหากว่าเราไม่ได้เรียนรู้ เราก็นึกว่า เออความสุขมีอย่างที่เราเคยเข้าใจเท่านั้น ที่จริงความสุขมีวิธี มีช่องทางเยอะ มีหลายแบบ แล้วมีหลักการในการที่จะสร้างให้มีขึ้นได้หลายวิธีด้วย แล้วก็ตอนแรกก็เพื่อจะให้เกิดความรู้นี้ ก็เลยต้องพูดคู่กันก่อนว่าความสุขนั้นคู่กับความทุกข์ ดูว่าพุทธศาสนามีหลักการเกี่ยวกับเรื่องสุขทุกข์อย่างไร เราพูดเรื่องความทุกข์ซะก่อนเลย เพราะว่าจุดหมายเราไปอยู่ที่สุข เราก็เริ่มที่ทุกข์ก่อน ความทุกข์นี้ที่จริงมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เราอย่าพึ่งเอามาไว้ในใจของเรา คือความทุกข์นี่เป็นส่วนหนึ่งของกฎธรรมชาติ สภาพที่มีอยู่ในสิ่งทั้งหลายคือสิ่งทั้งหลายที่เราพบเห็นปรากฏเนี่ย ในโลกเนี่ย ทั้งชีวิตของเราด้วย ทางพระท่านเรียกว่าสังขาร สังขารก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยมาปรุงมาแต่งมาประชุมกันขึ้น เลยเรียกกันง่ายๆว่าสิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง การเกิดจากปัจจัยปรุงแต่งมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยนั้นคือกฎธรรมชาติ ทีนี้สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัยถูกปัจจัยปรุงแต่ง เหตุปัจจัยมันเป็นยังไง มันก็ทำให้สิ่งเหล่านั้นพลอยเป็นไปด้วย การที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น มันก็คือมันอยู่อย่างเดิมไม่ได้ การอยู่อย่างเดิมไม่ได้ก็คือเปลี่ยนแปลง ก็เลยมีสภาพที่เรียกว่ามันไม่เที่ยง แล้วก็เปลี่ยนแปลงไป แปรปรวนไป อันนี้หลักภาษาพระท่านก็มีศัพท์ให้ที่เราคุ้นกันดี เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่แหละสิ่งทั้งหลายมันเป็นสังขาร มันตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ มันเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หลักเกณฑ์ของกฎธรรมชาติก็คือความเป็นเหตุเป็นผล เป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ ซึ่งก็ตรงกันถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็พูดถึงเรื่องนี้ กฎธรรมชาตินี้มีสิ่งทั้งหลายทั่วไปหมด ก็เลยเป็นอันว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป ตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ปรากฏรูปขึ้นมาต่างๆ ซึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลัง สิ่งที่เราพบเห็นเราเรียกว่าอันโน้นอันนี้ เป็นตัวเป็นตนนั้นที่จริง ตัวตนของมันแท้ๆ มันไม่มีหรอก ตัวตนนี้เป็นสภาพรวมเป็นภาพปรากฏจากเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังของมัน ทีนี้ถ้าเราจับได้เหตุปัจจัยของมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไอ้ตัวรูปร่างของมันก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ฉะนั้นตัวตนก็คือภาพรวมหรือภาพปรากฏของการประชุมของเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลัง ฉะนั้นตัวแท้เราต้องจับได้คือเหตุปัจจัยเหล่านั้น ฉะนั้นตัวจริงอยู่ที่ความเป็นเหตุปัจจัย เลยทางพระท่านก็เลยเรียกว่า อนิจจัง คือไม่เที่ยง เกิด ดับ ทุกขัง คืออยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงไป แล้วก็อนัตตา ไม่มีตัวตน ยืนตัว แต่ว่าปรากฏขึ้นตามเหตุปัจจัยของมัน นี่คือหลักพระไตรลักษณ์ ทีนี้เวลาเราพูดถึงทุกข์ ทุกข์มันก็รวมอยู่ในหลัก 3 ประการที่ว่าคือกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ทุกขังคือทุกข์ คำว่าทุกข์อยู่ตรงนี้เองอยู่ในกฎธรรมชาติ แล้วทุกขังนั่นแหละเป็นส่วนที่ปรากฏสำคัญแก่มนุษย์ พอมันมีความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป เป็นไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องมันเกิดผลแก่มนุษย์เลย คือว่าเกิดผลแก่มนุษย์ก็คือว่าตัวมนุษย์เองนั้นหนึ่งก็เป็นธรรมชาติด้วย เมื่อเป็นธรรมชาติ เป็นสังขารก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นด้วย มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อันนี้ก็คือชีวิตของเรานี้ ก็กลายเป็นว่ามี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามาอยู่ด้วยละ ตอนนี้หละจากกฎธรรมชาติเข้ามาถึงตัวคนละ แปลว่าเราต้องยอมรับความจริงตามกฎธรรมชาติว่าชีวิตของเรานี้ อยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติที่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไอ้ตัวเด่นสำหรับความรู้สึกของมนุษย์ก็คือว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ ออกมาในความรู้สึกก็กลายเป็นเรื่องทุกข์ไป คือว่ามันไม่คงที่ มันตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ก็เกิดเป็นปัญหาแก่เรานั่นเอง เป็นปัญหาแก่เราทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือเราไปสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายนั้น เรามีความปรารถนา ความปรารถนาที่จะให้มันเป็นไปตามใจชอบของเรา ทีนี้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ก็เกิดการขัดแย้งกันระหว่างความเป็นจริงที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความปรารถนาของเราในใจที่ว่าต้องการให้ไปทางนี้ ไอ้เจ้าสิ่งโน้นไปทางโน้น เราต้องการให้มันอยู่กับที่ ให้มันไม่เปลี่ยนแปลง มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย พอเราเกิดไปยึดถือว่าสิ่งที่เราเกี่ยวข้อง เราครอบครองมันจะต้องเป็นอย่างนี้ พอมันไม่เป็น มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันฝืนความปรารถนาเราก็ถูกกระทบกระแทก เกิดความขัดแย้ง ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ในกฎธรรมชาติก็เลยส่งผลมาเป็นทุกข์ในตัวเราในใจเรา ตกลงว่าไอ้ความทุกข์ความอะไรที่แท้มาจากกฎธรรมชาตินั่นแหละ ตัวจริงมันอยู่ที่กฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจหลักการนี้ว่าทุกข์ที่จริงนั้น มันอยู่ในกฎธรรมชาติส่งผลต่อเราเพราะ 1. ตัวเราชีวิตเรานั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาตินั้นด้วย 2. เพราะว่าเราไปมีความยึดถือ ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายจะให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วไปขัดแย้งกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติเข้า เราไม่ได้ตามปรารถนาเกิดการปะทะกระแทกขัดแย้ง ก็เลยทุกข์ขึ้นมา ถ้าเรารู้หลักความจริงเหล่านี้ ปฏิบัติให้ถูกต้อง เราจะเริ่มเบาทุกข์ สร่างทุกข์ ร้างทุกข์ หายทุกข์ แล้วก็สุขมากขึ้น ตอนนี้ก็เลยเริ่มต้นให้รู้ความจริงซะก่อนว่า พระพุทธเจ้าก็เลยสอนว่า เออ เรื่องของทุกข์นะ ท่านจะต้องเข้าใจความจริงอันนี้ อย่างน้อยเข้าใจหลักความจริงตามธรรมชาติก่อน อย่าไปหนีอย่าไปเลี่ยง ต้องเผชิญหน้าแต่ว่าเผชิญหน้าด้วยความรู้ ด้วยปัญญา ฉะนั้นทุกข์ก็เลยมาเป็น อริยสัจข้อที่ 1 เป็นความจริงที่เราจะต้องรู้ พระพุทธเจ้าก็สอนไว้เสร็จเลยว่า หน้าที่ต่อทุกข์คืออะไร พระองค์ก็ตรัสไว้ ทุกขัง ปริญเญยยัง แปลว่าความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องรู้เท่านั้น ว่างั้นหมายความว่าเรามีหน้าที่ต่อทุกข์ ก็แค่ด้วยปัญญาที่ไปรู้เท่าทันมันเท่านั้นเอง ห้ามเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้จักทุกข์ พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้เราเป็นทุกข์นะ เพราะว่าเรื่องอริยสัจนี่สำคัญคือหน้าที่ต่ออริยสัจ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้แต่อริยสัจอย่างเดียว อริยสัจนั้นมีหน้าที่ด้วย ท่านเรียกว่ากิจในอริยสัจ ทุกข์ ตัวทุกข์นี้หนึ่งละ ที่เราว่าไปเมื่อกี้ ทีนี้มันก็เหตุของทุกข์ ไอ้ทุกข์ที่ปรากฎขึ้นจากความยึดอยากปรารถนาของเรา เหตุของมันอยู่ที่ตัวที่สองคือตัวความยึดความปรารถนา สมุทัย แล้วนั้นก็อยากจะดับทุกข์ ทำลายทุกข์ หายทุกข์ก็โดยที่ว่ารู้เท่าทันความจริง ทำให้ไม่มีไอ้ตัวความยึดความอยากที่สร้างกระแสเข้ามาขัดกับกฎธรรมชาติ แล้วก็ปฏิบัติโดยวิธีการที่เข้าถึงความรู้ความจริงอันนี้ ทีนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสหน้าที่ต่ออริยสัจไว้ เรียกว่ากิจในอริยสัจซึ่งเราจะต้องเข้าใจ ถ้าเรารู้อริยสัจ ต้องรู้กิจในอริยสัจด้วย ถ้ารู้อริยสัจอย่างเดียว ถ้าทำกิจในอริยสัจผิด เราก็พลาดหมดเลย นั้นกิจในอริยสัจสำคัญ อริยสัจ 4 มี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระพุทธเจ้าก็ตรัสกิจหรือหน้าที่ต่ออริยสัจไว้เท่ากัน หน้าที่ต่ออริยสัจข้อ 1 คือทุกข์ได้แก่อะไร ตอนนั้นบอกว่าได้แก่ปริญญา ท่านจึงบอกว่า ทุกขัง ปริญเญยยัง ทุกข์นั้นต้องปริญญา ปริญญาก็แปลว่ารู้รอบ รู้เท่าทัน รู้ความจริงของมัน รู้ตามที่มันเป็น เป็นอันว่าหน้าที่ต่อทุกข์พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดแล้วนะทุกข์เป็นเรื่องสำหรับปัญญารู้ ไม่ใช่สำหรับให้เราเป็นทุกข์ ถ้าเราเป็นทุกข์หละก็ผิด ผิดถนัดเลย หน้าที่ของเราต่อทุกข์นี่ต้องชัดเจน ต้องเป็นเรื่องของความรู้ แล้วก็ 2 สมุทัย เหตุของทุกข์นั้นสิ เราต้องละ ต้องกำจัด ท่านเรียกว่ากิจต่อสมุทัยได้แก่ ปหานะ แล้วต่อไปกิจต่ออริยสัจข้อ 3 จุดหมายความหมดทุกข์ ดับทุกข์ ไร้ทุกข์ อันนี้ท่านบอกว่า สัจฉิกิริยา เราต้องประจักษ์แจ้ง คือเราจะต้องบรรลุถึง คือจุดหมายของเราละ คือความไม่มีทุกข์ ความไร้ทุกข์ อันนี้คือตัวที่เราจะต้องประจักษ์แจ้ง ทำให้เกิดเป็นจริง ทำให้เป็นของจริงขึ้นในตัวเรา แล้วก็สุดท้ายก็มรรค จะทำไงให้เข้าถึงความไร้ทุกข์นี้ หรือว่าได้ทำให้ความไร้ทุกข์ หมดทุกข์นี้เป็นจริงขึ้นมา เราก็ต้องข้อที่ 4 คือลงมือปฏิบัติ เรียกว่ามรรค เป็นมีหน้าที่คือภาวนา ได้แก่การลงมือทำ 4 ข้อนี้ชัด แต่วันนี้ต้องการพูดเฉพาะข้อที่ 1 ข้อ 2 3 4 นี่ไม่ได้พูดโดยตรงพูดโดยอ้อม เพราะฉนั้นจะไม่ไปลงรายละเอียดในอริยสัจละ ยกขึ้นมาเพราะต้องการชี้ถึงคำว่าทุกข์ว่า พระพุทธเจ้าตรัสบอกหน้าที่ไว้แล้วว่า ทุกข์เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือปริญญา รู้เท่าทันนี่ ก็รู้อย่างที่ว่าเมื่อกี้ รู้ความจริงของมันว่า อ่อ มันมาจากกฎธรรมชาตินี้เอง เราไปสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ แล้วเราสัมพันธ์ไม่เป็น ตั้งวางใจไม่ถูกต้องก็เกิดปัญหาขึ้นมา งั้นตอนแรกก็เลยให้รู้ความจริงนี้ซะก่อน รู้กฎธรรมชาติ รู้ความสัมพันธ์ระหว่างกฎธรรมชาติกับชีวิตของเรา ทางมาที่ทำให้เกิดทุกข์ ตอนนี้แหละเรียกว่าปริญญาละ น่าละหนึ่งละ เรื่องหน้าที่ต่อทุกข์ ทีนี้ต่อมาก็เมื่อมีทุกข์และก็มีสุข พระพุทธเจ้าก็ตรัสหลักวิธีปฏิบัติต่อความทุกข์และความสุขรวมไปด้วยกันเลยทีนี้ ว่าชีวิตของเรานี้ เราจะเอาไงกับเรื่องสุขเรื่องทุกข์ พระพุทธเจ้าก็ให้หลักไว้ หลักสำคัญ 4 ประการนี้ ชาวพุทธน่าจะจำไว้ให้ดีทีเดียว มีอะไรบ้าง การปฏิบัติต่อทุกข์ต่อสุข 1. พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ นะข้อที่ 1 บางคนนี้ชอบเอาทุกข์มาใส่ตัวโดยใช่เหตุ ตัวเองไม่ได้ทุกข์ก็อยู่สบายๆ ลองคิดดูหลายคนนี่ เอาเรื่องนั้นมากลุ้มใจ เก็บเรื่องนี้มาแล้วก็คิด ทำให้ใจวุ่นวาย เดือดร้อน มีความเครียด ทั้งๆชีวิตก็อยู่ไปเรื่อยๆ เอาหล่ะคนพวกที่ 1 นี่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนว่า 1. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ เดี๋ยวลองดูว่าเราเป็นคนอย่างนั้นหรือเปล่า เอาทุกข์ทับถมตนหรือเปล่า 2. ท่านบอกว่าไม่ละทุกข์ อ่ะ ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม หมายความว่าความสุขใดที่เป็นสิ่งที่ชอบธรรม ไม่ก่อความเสียหาย ไม่เบียดเบียนเดือดร้อนแก่ใคร ท่านก็ให้เราใช้สิทธิเสวยความสุขนั้นได้ 2. ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม 3. แม้แต่สุขที่ชอบธรรมที่ดีนั้น ก็ไม่ลุ่มหลงหมกมุ่นมัวเมา เอาหล่ะนี่ต้องระวังนะพระพุทธเจ้ากันไว้เป็นขั้นๆ ทีนี้พอเราไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม ทีนี้พอเราสุข เราหลงละใช่มั๊ย ติดหมกมุ่น เพลิดเพลิน แล้วก็เกิดโทษ ทีนี้ก็มัวเมาประมาท คนที่ลุ่มหลงในความสุขคราวนี้ก็ละทิ้งกิจหน้าที่การงาน ตกอยู่ในความประมาท มีอะไรที่จะต้องทำก็ไม่เร่งรับ ผลัดเพี้ยนเวลาอย่างนี้ท่านเรียกว่ามัวเมาประมาท เพราะฉะนั้นใช้ไม่ได้เหมือนกัน นั้นถึงแม้สุขที่ชอบธรรมก็ต้องไม่หลงหมกมุ่นมัวเมาประมาท แล้วยังไม่จบอีกข้อหนึ่ง ข้อหนึ่งก็คือว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป นี่ก็หมายความว่ายังมีสุขอื่นอีกนะ คุณอย่ามาติดอยู่แค่สุขขั้นนี้ เดี๋ยวเราจะบอกว่า เอออันนี้สุขนี้สำหรับเราดีแล้ว มันชอบธรรมเราก็มีสิทธิ์เสวยสุข เราก็เลยอยู่แค่นั้นไม่พัฒนาตัว ถ้าบอกมีความสุขอื่นที่เราถึงอีก ฉะนั้นให้พัฒนาต่อไป พยายามเข้าถึงความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป นั่นแหละจนกระทั่งถึงสุขที่สมบูรณ์อย่างที่พูดไปตอนแรกนั่นแหละจึงจะพอใช่มั๊ย นี่พระพุทธเจ้าให้หลักมาแล้ว ปฏิบัติตามหลัก 4 ข้อนี้เป็นชาวพุทธสมบูรณ์แล้ว คือการปฏิบัติตามพระพุทธศาสนานี้ ปฏิบัติตามหลักไหนก็ได้มีวิธีปฏิบัติหลายอย่าง แต่ว่าเราเอาความสุขมาเป็นแนวก็ได้ ปฏิบัติตามหลักความสุข 4 อย่างนี้ก็ถือว่าปฏิบัติพุทธศาสนาถูกต้องสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นพุทธศาสนานี้พูดในแง่ความสุขก็ได้ เป็นเรื่องของความสุขทั้งหมดเลย อ้าวทวนอีกทีนะ 1. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ 2. ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม 3. แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้นก็ไม่ลุ่มหลงหมกมุ่นมัวเมา แล้วก็ 4. เพียรพยายามเข้าถึงความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป จาก 4 ข้อนี้อาตมาก็เลยจะมาพูดถึงเรื่องความสุขหล่ะ เอาอันนี้เป็นมาตรฐานเป็นแนวไว้ว่าในพุทธศาสนานี้ท่านแสดงเรื่องความสุขไว้เยอะแยะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่อาตมาพูดในเบื้องต้นบอกว่าความสุขนั้นมีตั้ง 10 ชนิดก็มี บางแห่งพระองค์ก็ตรัสไว้ 2 แบบง่ายๆ ทีนี้วันนี้เราจะพูดซักเท่าไหร่ดี เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องความสุขไว้เยอะ คือในพุทธศาสนานี่เราเอาเรื่องทุกข์แต่เพียงเป็นเรื่องสำหรับรู้เท่าทันใช่มั๊ย ต้องปริญญา แต่เรื่องสุขนี่เป็นเรื่องของชีวิตของเราที่เราจะปฏิบัติให้เกิดมี ฉะนั้นชาวพุทธปฏิบัติถูกจึงมีแต่ความสุข นี่เราก็มาเริ่มว่ามีความสุขกี่ประเภท วันนี้คิดว่าเอา 5 อย่าง จะมากไปหรือเปล่านะญาติโยมว่า โอ้โห 5 อย่างกว่าจะจบไม่รู้เท่าไหร่ กลัวว่าเวลาจะไม่พอ เอาตกลงว่าลองดูก่อนก็แล้วกันว่าจะพูดความสุข 5 ประเภท ก็ไม่ต้องพูดถึง 10 ประเภทหล่ะ ถ้า 10 ประเภทนี้ยาวมากไป แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือว่าจะสับสนจำไม่ไหว นี้เอาความสุขแค่ 5 ประเภทนี้ก็พอปานกลาง พอจำได้ เริ่มความสุขประเภทที่ 1 ก่อน ความสุขประเภทที่ 1 นี่คนรู้จักกันมาก โดยมากเวลาพูดถึงความสุข คนทั่วไปจะมองเห็นได้ในประเภทที่ 1 นี่ บางคนมองไม่เคยเลยประเภทที่ 1 เลยนะ ประเภทที่ 1 นี้คืออะไร ประเภทที่ 1 ก็คือความสุขที่เป็นด้านสิ่งเสพสิ่งบริโภค เป็นวัตถุซึ่งเกี่ยวข้องกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา ตา หู จมูก ลิ้น กายของเรานี่จะต้องการวัตถุมาเสพมาบริโภค ตาก็อยากเห็นสิ่งสวยงาม อยากดูทีวี อยากอะไรดูวีดีโอ อันรู้แหละดูสิ่งสวยๆงามๆ หูก็อยากจะฟังเสียงไพเราะดนตรี อะไรต่างๆ แล้วก็จมูกก็ดมกลิ่นที่หอม ลิ้นที่ลิ้มรสอาหารเอร็ดอร่อยนี่เป็นเรื่องใหญ่เลยนะเรื่องลิ้นนี่ แล้วเรื่องกายสัมผัสสิ่งที่นุ่มนวล ฟู่ฟ่าอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็เราก็จะอยู่กะความสุขที่มาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งที่มาเสพบำรุงบำเรอปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เค้าเรียกว่า รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อันนี้เป็นความสุขประเภทที่ 1 ของคน ทางพระท่านเรียกว่า สามิสสุข สามิสก็มาจากคำว่าสุขกะสามิส สามิสแปลว่าอาศัยอามิสนั่นเอง หรือความสุขที่อิงอามิสประกอบด้วยอามิส อามิสนั่นก็คือวัตถุนั่นเอง วัตถุที่เสพบริโภคเค้าเรียกว่าอามิส หรือบางทีท่านเรียกว่า กามสุข ใช้แทนกันได้ กามสุขก็สิ่งที่ชอบใจ คำว่ากามในทางธรรมนี้มีความหมายกว้าง หมายถึงสิ่งที่มาบำรุง บำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่ากามทั้งสิ้น ก็เป็นอามิสนั่นเอง เพราะฉะนั้นความสุขของคนทั่วไปก็จะอยู่ที่ประเภทที่ 1 นี้ ประเภทแรกนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ปฏิเสธ ทรงถือว่าเป็นสุขเหมือนกัน แต่ว่าเราจะต้องรู้เท่าทัน คือว่าคนที่จะมีชีวิตอยู่ดีที่สุดนี่ จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นแม้แต่สิ่งที่ให้ความสุขอย่างถูกต้อง อย่าให้มันทำพิษให้แก่ตนเอง ถ้าหากว่ามันมีโทษเราก็ต้องรู้ทันมัน ส่วนที่ดีเป็นคุณก็รู้ทัน ส่วนที่เป็นโทษก็รู้ทัน ถ้ารู้ทันแล้วมันจะมีโทษต่อเราน้อย นั้นก็ต้องถามต่อไปความสุขประเภทนี้ไม่ต้องบรรยายว่าเป็นความสุขอย่างไร แต่ว่าต้องดูว่า เออแล้วมันมีโทษมั๊ย มีปัญหามีข้อเสียมั๊ย ถ้าหากว่าเราไม่รู้ทันมัน ถ้าเกิดมันมีข้อเสียเราก็อาจจะลำบาก เกิดความเดือดร้อนโดยที่ว่าได้ประโยชน์จากมันไม่คุ้มเสีย ฉะนั้นเราจะหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้ เราก็ต้องรู้เท่าทันอย่างที่ว่าแล้วก็ปฏิบัติต่อมันให้ดีที่สุด ให้ได้ประโยชน์จากมันมากที่สุด ให้ได้โทษจากมันน้อยที่สุด ทำยังไง เราก็มาลองดูว่าความสุขประเภทที่ 1 เนี่ยถ้ามันมีคุณอย่างเดียวแล้วไปไม่ต้องพูดต่อ แต่ว่ามันมีคุณอย่างเดียวหรือมีโทษด้วย ถ้ามีโทษด้วยเราก็จะต้องแก้ไข ทำให้มันมีโทษน้อยหรือไม่ให้มันมี ในส่วนดีเป็นอันว่าบอกแล้วว่าไม่ต้องพูดนะ กามสุขหรือสามิสสุขมีส่วนดีอย่างไร ทีนี้ส่วนเสีย ส่วนเสียเป็นอย่างไรบ้าง มีมั๊ย พระพุทธเจ้าตรัสบอกมี ส่วนเสียเป็นยังไงบ้าง ส่วนเสียของสามิสสุข สุขที่เกี่ยวกับวัตถุสิ่งภายนอก สิ่งเสพบริโภค เอาละลองมาดูกัน โอ้เรื่องนี้ยาวถ้าพูดเรื่องนี้อย่างเดียวก็หมดเลยเวลาใช่มั๊ย ทีนี้เราก็คงต้องพูดกันย่อๆ ว่าสามิสสุข กามสุข มีโทษอย่างไรบ้าง มีโทษท่านก็ เอ้า 1.ต่อชีวิตของเรา 2.ต่อสังคมต่อเพื่อนมนุษย์ มองหลายด้าน นี้มองด้านตัวเองก่อน มองด้านชีวิตของเรามันมีโทษมั๊ย มีโทษอย่างไรบ้าง เออ คนที่หาความสุขประเภทนี้นี่เอากันง่ายๆอย่างหนึ่งที่เห็นชัดก็คือว่าความสุขของตัวนี่จะมีได้ต้องเสพวัตถุภายนอก สิ่งนั้นอยู่ภายนอกตัวนะไม่ได้อยู่ในตัว อันนี้กลายเป็นว่าความสุขนั้นไม่ได้อยู่ในตัวเอง ความสุขนี้ต้องขึ้นต่อวัตถุสิ่งเสพภายนอก พอขึ้นต่อสิ่งเสพภายนอกก็เลยอ้าวไม่เป็นอิสระหล่ะสิ ทีนี้ถ้าหากว่าไม่ระวังตัวให้ดีนะ เราจะมีลักษณะชีวิตที่ว่ามีความพึ่งพามาก ชีวิตและความสุขต้องไปขึ้นต่อวัตถุสิ่งเสพภายนอก ไม่สามารถมีความสุขด้วยตนเอง ทีนี้ถ้าหากว่าไม่รู้จักพัฒนาชีวิตของตนเอง ก็จะสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข คนเนี่ยนะพอได้วัตถุสิ่งเสพมันมีลักษณะอย่างหนึ่งก็คือว่าสิ่งเสพเหล่านี้มันจะต้องเพิ่มปริมาณและดีกรีมากขึ้นเพื่อจะได้ให้ความสุขเท่าเดิม แต่ก่อนนี้เคยมีเท่านี้ก็มีความสุขแล้ว มีความมุ่งหมายใฝ่ฝันว่า โอถ้าได้เงินเท่านี้จะมีความสุขสุดแสนสูงสุดสุดยอดเลย สมมติว่าอ้าวเคยพูดบ่อยๆ เช่นว่าคนหนึ่งเนี่ยแต่ก่อนนี้ไม่มีเงิน ยากจนก็เลยคิดว่า แหมถ้าเรามีเงินเดือน สมมติว่าห้าพัน สมมติยังงั้นจะเป็นสุดยอดปรารถนามีความสุขเต็มที่ สมมติว่ายังงั้น อ้าวหรือเอาหมื่นก็ละกัน ยุคนี้เงินมันมีค่าน้อย สมมติว่าคนหนึ่งเนี่ยแต่ก่อนนี้ยากจนมาก ก็เลยตั้งความใฝ่ฝันไว้ว่าถ้าเรามีเงินเดือนหมื่นนี่เราพอเราสบายมีความสุขสุดยอดเลย นี้ต่อมาเขาก็เพียรพยายามสู้เหน็ดเหนื่อยแล้วก็ทำงานทำการจนกระทั่งได้เงินเดือนหมื่นจริงๆ ตอนที่ได้ครั้งแรกนั้นสุขจริงๆนะ สุขเหลือเกินเลย สุขเต็มที่ แต่ว่าพอนานไปคราวนี้ชักชิน พอชินไอ้หมื่นนึงเนี่ยความสุขนี้ก็ชักเฉยๆ ตอนนี้ปรารถนาห้าหมื่น ปรารถนาห้าหมื่นต่อไปก็เกิดได้ห้าหมื่น ต่อมาได้ห้าหมื่นแล้วก็เอ้อสุข แต่ว่าตอนนี้ไม่สุขเท่าตอนได้หมื่นด้วยซ้ำนะเชื่อมั๊ย ตอนได้ห้าหมื่นเนี่ยเพราะว่าไอ้หมื่นแรกความปรารถนามันตั้งไว้สูง ฉะนั้นพอความปรารถนาสำเร็จก็สุขมาก นี้ตอนห้าหมื่นนี่มันตั้งความปรารถนาไม่สูงนักก็ได้ก็มีความสุขพอสมควร ก็ต่อมาพอได้ห้าหมื่นแล้วก็ปรารถนาต่อไปให้ได้แสน ต่อมาพอได้แสนก็สุขพอสมควรอย่างที่ว่าแต่ไม่ได้เท่าตอนได้หมื่นตอนแรกเลย ทีนี้เอาหล่ะทีนี้มองย้อนกลับตอนที่ได้เงินเดือนแสนนั้นถ้าเกิดมันมีเหตุอะไรที่ทำให้หมดเงินเดือนแสนนี้ไปแล้วไปได้หมื่นเดียวนั้น ตอนนี้ไอ้หมื่นนั้นกลายเป็นทุกข์ไปเลยเชื่อมั๊ย หมื่นหนึ่งที่เคยทำให้แสนสุขนี่กลายเป็นทุกข์ไปแล้ว อันเนี้ยเป็นเรื่องของชีวิตมนุษย์ที่ว่า ในความสุขสิ่งที่จะมาสนองความต้องการนั้นที่เป็นวัตถุจะต้องเพิ่มปริมาณและดีกรีเพื่อจะดึงให้ความสุขดำรงตัวอยู่เท่าเดิม ฉะนั้นโดยวิธีนี้มนุษย์ก็ยิ่งต้องแสวงหามากขึ้นใช่มั๊ย ความสุขก็ยิ่งขึ้นต่อวัตถุมากขึ้น ก็เลยพร้อมกันนั้นตัวไม่รู้ว่าการที่ต้องหาให้ได้มากขึ้น ปริมาณและดีกรีมากขึ้นก็ยิ่งเหน็ดเหนื่อยมากขึ้นในระหว่างนั้นก็ทุกข์มากขึ้นด้วยเพื่อจะได้ความสุขเท่าเดิม นั้นความสุขก็หนีไปก็ตามกระบวนไล่กันไปอย่างนี้เรื่อยเลยนี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของความสุขประเภทนี้ คือการพัฒนาชีวิตที่เสียดุลยภาพ เพราะฉะนั้นอันนี้แค่อันที่ 1 นี้ก็ต้องมีวิธีปฏิบัติ วิธีปฏิบัติคืออย่างไร คือเราอย่ามองด้านเดียว ถ้ามองด้านเดียวว่าความสุขอยู่ที่การหาสิ่งเสพให้ได้มากที่สุด แล้วเราจะสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข มีความสามารถหาสิ่งเสพบำเรอความสุขแต่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข คนเรามักจะไม่ได้มองว่าไอ้ตัวอันหนึ่งที่เราลืมไปก็คือความสามารถที่จะมีความสุข ซึ่งทุกคนมีอยู่เดิมในชีวิตเป็นศักยภาพ ถ้าเรารักษามันไว้เนี่ยเรามีวัตถุเท่าไรเราก็มีความสุข แล้วยิ่งเพิ่มวัตถุเรายิ่งสุขมากขึ้นโดยที่เราจะไม่สูญเสียมันไป แล้วถ้าให้ดีเราก็พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขนี้ให้มากขึ้นด้วย แล้วเราจะได้ลักษณะของชีวิตที่ว่า คนที่พัฒนาสองด้านนี่จะมีลักษณะต่างกับคนที่พัฒนาด้านเดียว คนที่พัฒนาด้านเดียวคือว่าพัฒนาแต่ความสามารถหาสิ่งเสพบำเรอความสุข เก่งในการหาสิ่งบำเรอความสุขจริงแต่ว่าสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข ก็จะเกิดลักษณะที่เรียกว่าอยู่ไปนานเข้าในโลกนี้เป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น ลองสำรวจมนุษย์ในโลกปัจจุบันนี้จะมีลักษณะอย่างนี้เยอะ อยู่ไปในโลกแล้วเป็นคนที่สุขยากขึ้น ก็คือต้องมีสิ่งเสพมากขึ้นมากขึ้นเพื่อสุขเท่าเดิม ทีนี้ถ้าเขาพัฒนาถูกต้องเขาก็จะรักษาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ ฉะนั้นอยู่ในโลกนานๆไปเนี่ย เครื่องวัดที่ดีคอยสำรวจตัวเองว่าเราเป็นคนสุขง่ายขึ้นหรือเปล่า ถ้าเราพัฒนาชีวิตถูกต้องเราต้องเป็นคนสุขง่ายขึ้น เราจึงจะชื่อว่าเก่งจริง ไม่งั้นมันจะเก่งยังไง มันก็ไม่เก่งใช่มั๊ย เก่งแต่หาสิ่งเสพบำเรอความสุขแต่ไม่มีความเก่งที่จะมีความสุข ฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่จะต้องระวังเราจะต้องพัฒนาด้วยคือความสามารถที่จะมีความสุข เพราะฉะนั้นทางพุทธศาสนาท่านจึงเน้นทั้งสองอย่าง พร้อมกับการที่เราเล่าเรียนศึกษาพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งมาบำเรอความสุข เราก็พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขไปด้วย พอพัฒนาสองด้านนี้คราวนี้หล่ะสุขทวีคูณเลย สุขทวีคูณยังไงเพราะว่าเราสุขง่ายขึ้น แล้วสิ่งที่จะหามาบำรุงความสุขก็หาได้เก่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็สุขสมบูรณ์เลย ทีนี้ถ้าหากว่าเราสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขข้างในออกไป เราหาสิ่งเสพบำเรอได้เก่งเท่าไหร่มันก็ได้สุขเท่าเดิมอยู่นั่นหนะ เพราะว่าไอ้ข้างนอกมันบวกหนึ่งแต่ข้างในมันลบหนึ่งใช่มั๊ย ข้างในลบหนึ่งข้างนอกบวกหนึ่งก็ศูนย์เรื่อยไป ฉนั้นบางคนเนี่ยอยู่ในโลกไปเป็นคนสุขได้ยากขึ้นทุกที แล้วหาวัตถุเท่าไรก็ไม่สุขเต็มที่ซักทีจนกระทั่งในที่สุดแม้มีล้นฟ้ามีพรั่งพร้อมบริบูรณ์ก็เป็นคนไม่มีความสุข จนกระทั่งบางคนเนี่ยนะอยู่ไปในโลกเป็นคนที่หมดความสามารถที่จะมีความสุข อันนี้ตัวร้ายมาก เมื่อหมดความสามารถที่จะมีความสุขซะแล้ว มีอะไรเท่าไรมันก็ไม่ทำให้มีความสุขใช่มั๊ย อันนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่ว่าโทษของความสุขทางด้านอามิสที่เกิดจากเรารู้ไม่เท่าทันและปฏิบัติไม่ถูก เพราะฉนั้นถ้าเรารู้หลักอันนี้เราปฏิบัติให้ถูกปั๊บ เราก็ได้สุขจริงจากวัตถุเสพ ต่อไปดูต่อไปว่ามันยังมีโทษอะไรอีก โทษจากความสุขประเภทนี้ก็นอกจากว่าต้องเพิ่มปริมาณและดีกรีก็คือว่ามันเป็นของที่ชินชาได้ พอเรามีความคุ้นกับมัน ตอนแรกเราหวังจากมันนะว่าได้สิ่งนี้แล้ว แหมจะแสนสุข เรียกว่าใฝ่ฝันนักพอได้ก็สุขจริง แต่พอชินชาไปหายสุข ตอนนี้กลายเป็นบางทีเบื่อ พอเบื่อแล้วเกิดความจำเป็นต้องอยู่ด้วยไปไม่ได้ คราวนี้ทุกข์เลย ทุกข์เพราะต้องจำทนอยู่ ทีนี้อันนี้ก็ร้ายเหมือนกันนะ ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าอนิจจังมาแล้วช่วยเลยใช่มั๊ย กลับชอบอนิจจังให้เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นอันนี้สำคัญมากนี่ก็โทษอีกอันของสามิสสุข ต่อไปอีกอันหนึ่งคราวนี้ก็มาถึงตัวกฎ ของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทีนี้สิ่งเหล่านี้ทั้งตัวเราเอง ทั้งสิ่งที่เราปรารถนาเหล่านั้น อามิสทั้งหลายมันล้วนแต่ตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ มีความไม่เที่ยง แปรปรวนไป มันก็ต้องมีการจากมีการพลัดพรากได้ ทีนี้คนก็จะมีความทุกข์จากเรื่องเหล่านี้ แม้ไม่เกิดขึ้นจริงนะ การแตกหักสลายสูญเสียยังไม่เกิด แต่มีความหวาดหวั่นใช่มั๊ย หวาดหวั่นพรั่นกลัวต่อความสูญเสียพลัดพรากเหล่านั้น นี้ก็ทุกข์ทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นความสุขที่เกิดจากอามิสจากสิ่งเสพภายนอกนี่มีจุดอ่อนหลายอย่าง นี้อาตมาก็เอามาให้ดู 2-3 อย่างแล้วนะ นี้ในแง่ชีวิตของเรา นี้มองออกไปกว้างก็คือทางสังคม มองในทางสังคมก็มีผลเสียได้เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติผิดแล้วยุ่งเลย แล้วอันนี้แหละคือที่มาของปัญหาสังคมแทบทุกอย่าง เพราะว่ามนุษย์ทุกคนนั้นมีความเข้าใจอย่างเดียวกันว่าจะต้องเสพวัตถุหามาให้ได้มากที่สุดแล้วตัวเองจะมีความสุขมากที่สุด ทุกคนมองอย่างเดียวกันว่า ฉันต้องมีมากที่สุดจึงจะสุขที่สุด ฉะนั้นฉันก็หาให้มากที่สุด เมื่อต่างคนต่างหาให้มากที่สุด มันก็ต้องเบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน ใครมีกำลังมาก มีโอกาสมาก มีความสามารถมาก ก็หาได้มาก คนที่มีกำลังน้อย โอกาสน้อย ความสามารถน้อย ก็หาได้น้อย ก็เกิดการเอารัดเอาเปรียบข่มเหงซึ่งกันและกัน เบียดเบียนกัน ก็เกิดความทุกข์ในสังคมละทีนี้ อันนี้จุดนี้แหละเป็นจุดที่ว่าอามิสสุขมีปัญหาร้ายแรงต่อสังคมมนุษย์ เพราะสังคมมนุษย์ที่มีความเดือดร้อนปัจจุบันนี้ก็มาจากเรื่องของการเบียดเบียนแย่งชิงสิ่งเสพอามิสบริโภค แล้วปัญหานี้ก็เลยไปถึงสิ่งแวดล้อมธรรมชาติด้วย เมื่อจะเสพบริโภคให้มาก ความสุขขึ้นต่อสิ่งเสพ เค้าเรียกว่าเสพมากที่สุดสุขมากที่สุด จะต้องเอาจากธรรมชาติมากที่สุด ทรัพยากรธรรมชาติก็ถูกทำลาย ฉะนั้นปัญหาธรรมชาติแวดล้อมก็เกิดขึ้นมาอีก ฉะนั้นตกลงว่าความสุขประเภทที่ 1 นี้ ถ้ามนุษย์ปฏิบัติไม่ถูกแล้วยุ่งมาก 1. ชีวิตของตัวเองก็ไม่มีความสุขแท้จริง 2. เกิดปัญหาในทางสังคม การเบียดเบียนข่มเหงแย่งชิงเอารัดเอาเปรียบกัน 3. ปัญหาต่อธรรมชาติแวดล้อม เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็เลย เอาละความสุขประเภทที่ 1 นี้ คุณจะมีคุณต้องระวังและปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้มีโทษที่น้อยที่สุด แต่อย่างน้อยเราต้องยอมรับความจริงว่าถึงยังไงมันพ้นความทุกข์จากมันไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นสังขาร มันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ ต้องมีการแตกหักสลายแปรปรวนสูญเสียพลัดพรากใช่มั๊ย ฉะนั้นมันขึ้นต่อธรรมชาติ ขึ้นต่อกฎธรรมชาติไม่ได้ขึ้นต่อใจเราหนิ ความสุขประเภทนี้ใช่มั๊ย 1. มันอยู่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ในตัวเราต้องหา 2. มันไม่ใช่เป็นสมบัติของเรามันเป็นของภายนอก มันขึ้นต่อกฎธรรมชาติไม่ได้ขึ้นต่อใจเรา เพราะฉะนั้นคุณจะเอาสุขสมบูรณ์จากความสุขประเภทที่ 1 เป็นไปไม่ได้ ขอให้ยอมรับความจริง เมื่อยอมรับความจริงแล้วคุณจะปฏิบัติต่อมันด้วยความรู้เท่าทัน แล้วจะอยู่ได้อย่างดีที่สุด ทุกข์น้อยที่สุด แต่ไม่ได้หมดทุกข์หรอก พระพุทธเจ้าให้รู้เท่าทันอย่างนี้ นี้ก็เลยบอกว่าอ้าวในแง่ชีวิตของเรานะ เรามีความรู้เท่าทัน ปฏิบัติต่อมันให้ดี ให้มีทุกข์น้อย เราได้ความสุขอย่างมากที่สุดจากมัน ในแง่สังคมพระพุทธเจ้าก็ให้หลักไว้บอกว่าให้เราอยู่กันไปได้ ทุกทุกคนจะพอมีวัตถุบริโภคเสพ พระองค์ก็ให้หลักปฏิบัติเช่น ศีล 5 มา บอกเอาละคุณจะหาความสุขจากวัตถุมาเสพ คุณจะหาเท่าไรก็หาไป แต่ขออย่างเดียวนะอย่าละเมิดหลักปฏิบัติ 5 ข้อนี้วางเป็นกรอบไว้ในสังคม คุณหาไปก็ 1. อย่าไปเบียดเบียนทำร้ายชีวิตร่างกายผู้อื่น คุณจะทำไปหาไปก็อย่าให้ล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น คุณหาไปก็อย่าละเมิดคู่ครองคนอื่น คุณหาไปอย่าไปทำลายหลอกลวงเขา คุณหาไปก็อย่าไปทำลายสติสัมปชัญญะแล้วก่อความรู้สึกไม่มั่งคงปลอดภัยแก่ผู้อื่นด้วยการที่มาเสพยาเสพติด ศีล 5 ก็เลยเป็นหลักในทางสังคม เป็นกรอบสำหรับกันไว้ว่าในการหาวัตถุเสพนั้นขอให้มีขีดคั่นขอบเขตไว้แค่นี้ ก็พออยู่กันได้สังคมไม่เดือดร้อนเกินไป ทุกคนพอจะมีบ้างแต่ว่าอย่าไปหวังว่าจะมีความสุขสมบูรณ์นะ ศีล 5 นี้เป็นเกณฑ์เพียงอย่างต่ำเพื่อช่วยสังคมให้อยู่กันได้เท่านั้นเอง ทั้งหมดทั้ง 5 ข้อนี้มีความมุ่งหมายทางการรักษาสังคมให้มนุษย์อยู่กันได้ แม้แต่ข้อที่ 5 นี่เราอาจจะไปเน้นในแง่ว่าเวลารับประทานเสพสุรายาเมาสิ่งเสพติดแล้วมันทำลายสติสัมปชัญญะ แต่ว่าความมุ่งหมายในศีล 5 ท่านอยู่ที่ทางสังคม คนที่เสพยาเสพติดเกิดความมึนเมาแล้วนี่เป็นคนที่ผู้อื่นเค้าไม่สามารถไว้วางใจได้ เป็นผู้ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย เป็นผู้คุกคามความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้อื่นใช่มั๊ย เราเห็นคนเมามาปั๊บนี่ใจไม่ดีละ จะเอาท่าไหน รถคันนั้นเมา คนขับเมา รถคันอื่นไม่สบายใจใช่มั๊ย ยิ่งรถที่จะสวนด้วยนี่ แหมไม่สบายใจเลย หรือว่ารถคันโน้น สิบล้อกินยาม้ามา ใครสบายใจบ้าง นี่คนที่เสพยาเสพติดเนี่ยเป็นผู้คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของสังคม ฉะนั้นจึงเป็นศีล 5 อยู่ในระบบของสังคม นี่เอาละเจริญพร ก็เป็นอันว่าในแง่สังคมแล้ว จะหาความสุขทางวัตถุก็หาไปเถิด แต่ขออย่างเดียวว่าอย่างน้อยให้รักษากรอบขอบเขตไว้ 5 ข้อนี้แล้วคุณจะอยู่กันได้ พอจะหาความสุขจากวัตถุไปได้ นี้ต่อมาท่านก็สอนวิธีปฏิบัติอีกเยอะเลย ให้รู้จักประมาณในการบริโภค ท่านเรียกว่ารู้จักพอดีในการกินก็เรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา อันนี้ก็เป็นหลักปฏิบัติเพิ่มขึ้นมาให้มี อินทรียสังวร รู้จักควบคุมอินทรีย์ รู้จักใช้ตา หู จมูก ลิ้น ไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมากับการเสพทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มากเกินไปอะไรต่างๆ อันนี้เป็นหลักปฏิบัติเพื่อทำให้เราพร้อมที่จะก้าวไปสู่ความสุขที่สูงขึ้นไป แล้วตอนนี้อาตมาจะไม่ลงรายละเอียดละ ในข้อปฏิบัติเหล่านี้เอาเป็นเพียงว่าได้แค่นี้ก็ดีถมไปละ เราจะหาความสุขกันได้และก็ปฏิบัติต่อความสุขได้ดีขึ้น แต่นี้ว่าเมื่อกี้อาตมาได้พูดไปอันหนึ่งก็คือว่าการที่เราหาความสุขจากสิ่งเสพไปเนี่ย ถ้าจะให้ดีนี่เราต้องรักษาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ได้ด้วย แล้วชีวิตของเราความสุขของเราจะไม่ขึ้นต่อสิ่งเสพมากเกินไป จนทุกข์สูญเสียอิสรภาพ คือคนปัจจุบันนี้เราไปคิดในแง่ว่าเราเก่ง เก่งหาสิ่งเสพ แต่เราลืมไปว่าในความเก่งนั้นคือความหมดอิสรภาพใช่มั๊ย เรานึกว่าเออเราหาอะไรต่ออะไรมาได้มากมาย แต่เสร็จแล้วความสุขของเรานี้ไม่อยู่ในตัวต้องขึ้นกับวัตถุไปหมด ก็คือเราไม่มีอิสรภาพนั่นเอง ขาดสิ่งเหล่านั้นแล้วทุรนทุรายกระวนกระวายอยู่ไม่ได้ นี้เพื่อจะฝึกไว้ให้เรานี้รักษาความสามารถที่จะมีความสุข พระพุทธเจ้าก็ให้ไว้อีก เอาลองดูวิธีปฏิบัติอันหนึ่งนะที่จะช่วยรักษาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ และหรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่ารักษาอิสรภาพในทางความสุขไว้ เมื่อกี้นี้เรามีศีล 5 ศีล 5 นี้บอกแล้วว่าเพียงว่าเพื่อให้สังคมมีกรอบ ต่างคนต่างหาความสุขไปแต่ว่าจะพออยู่กันได้ไม่มาก่อความเดือดร้อนกันแล้วทุกคนก็เลยแย่ไปด้วยกัน ทีนี้ศีล 5 เป็นเรื่องทางสังคมต่อมาก็จะมาเข้ามาที่ชีวิตบุคคลมากขึ้นว่าจะมาเสริมศักยภาพในการมีความสุขหรือรักษาความสามารถที่จะมีความสุขและอิสรภาพในทางความสุขไว้ พระพุทธเจ้าก็เพิ่มศีล 5 บวก 3 เป็น 8 ศีล 8 นี้คือหลักปฏิบัติเพื่อจะรักษาความสามารถในการมีความสุข และการที่ไม่ต้องสูญเสียอิสรภาพไป เป็นยังไงศีล 5 นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมอย่างที่ว่าแหละ แต่ศีล 8 เพิ่มเข้ามาอีก 3 ข้อเป็นเรื่องส่วนบุคคลหมดให้ดูเถอะ ศีลข้อที่ 6 ว่าเว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล เป็นเรื่องส่วนตัวใช่มั๊ยไม่ได้เกี่ยวกับคนอื่น เว้นจากการฟ้อนรำขับร้องประโคมดนตรีดูการละเล่น ทัดทรงแต่งตัวประดับอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องส่วนตัว เว้นจากที่นอนสูงใหญ่หรูหราฟุ่มเฟือยอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องส่วนตัว แม้แต่ข้อ 3 เปลี่ยนจากกาเม มาเป็น อพรัหมะจริยา ก็เรื่องส่วนตัว ศีล 8 ที่เพิ่มเข้ามาเป็นส่วนตัวเพื่ออะไร อันนี้แหละที่ว่าเพื่อจะได้รักษาอิสรภาพในการที่จะมีความสุขไว้ เราเคยมีความสุขจากการเสพวัตถุที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น ต้องกินต้องอะไร อยากกินเมื่อไร อร่อยลิ้นเมื่อไรก็กินเมื่อนั้น ความสุขไปไปมามามันขึ้นต่อสิ่งเหล่านั้นไปหมด ทีนี้พระพุทธเจ้าก็บอกว่าคุณอย่าเผลอสตินะ ฝึกไว้บ้าง เอาละ 7-8 วันทีหนึ่ง 8 วันเอาทีหนึ่งนะเพื่อรักษาอิสรภาพนี้ไว้ก็คือถือศีล 8 ท่านเรียกว่าอุโบสถ ไม่เอามาก 8 วันเท่านั้นหนะ เดือนหนึ่งก็แค่ 4 ครั้ง ถ้าใครมีศรัทธามากขึ้นท่านบอกเอาวันโกนด้วย ก็เป็นอันว่าเดือนละ 8 ครั้ง เดือนละ 8 ครั้งนี่เตือนสติแล้วลองด้วย เป็นการพิสูจน์ฝึกตัวเองว่าเราจะอยู่ด้วยวัตถุเสพที่เท่าที่จำเป็นพอให้มีคุณภาพชีวิตโดยไม่เป็นการบำรุงบำเรอตัวเองนี่ได้มั๊ย เพราะฉะนั้นอย่างที่ว่าพอถึง 8 วันทีนึง อ้าวลองดูซิ วันนี้นะไม่ต้องบำเรอลิ้น ไม่ต้องตามใจลิ้น กินแค่เท่าที่จำเป็นว่าแค่เที่ยงพอมั๊ย พอให้ชีวิตอยู่มีสุขภาพดีได้ละ อ้าวตกลงเอาแค่นั้น แล้วต่อไปไม่ตามใจลิ้นละ เอาเวลาไปใช้ประโยชน์อื่นทำอื่น เราจะอยู่ดีมีสุขได้มั๊ยโดยไม่ต้องบำเรอลิ้น ไม่ต้องตามใจลิ้น อยู่ดีได้มั๊ย มีความสุขได้มั๊ยโดยไม่ต้องไปเที่ยวตามดูสิ่งบันเทิง โดยไม่ต้องนอนบนฟูกฟู 8 วันทีนอนบนเสื่อบนกระดานที เอ๊ะโดยการนอนบนเสื่อบนกระดานนี่เราจะพอมีความสุขอยู่ดีได้มั๊ย โดยไม่ต้องพึ่งไอ้เจ้าที่นอนฟูกอันนั้น ความสุขของเราต้องขึ้นต่อที่นอนฟูกไปหมดหรือ เราเกิดมาเราไม่ได้มีมันหนิ เราลองอยู่ง่ายๆซิไม่ต้องมีที่นอนฟูก นอนพื้นนอนกระดานเราจะมีความสุขได้มั๊ย พระพุทธเจ้าบอก 8 วันเอาที นี้ถ้าเราทำได้อย่างนี้เราก็จะรักษาอิสรภาพไว้ได้ คือความสุขของเราจะไม่ต้องขึ้นกับวัตถุสิ่งเสพมากเกินไป เราจะอยู่ดีได้ด้วยวัตถุแม้เพียงน้อยเท่าที่จำเป็นต่อชีวิตจริงๆ ตอนนี้เราจะสามารถที่จะพูดกับตัวเองได้ดีขึ้น วัตถุสิ่งเสพเหล่านั้นมีก็ดี ไม่มีก็ได้ บางคนพูดไม่ได้นะ ต้องมีจึงอยู่ได้ ไม่มีแล้วตายนะ ถ้าไม่มีแล้วทุรนทุรายเลยนะ บางคนเป็นอย่างนั้นนะ นี้แสดงว่าถ้าคนไหนเป็นอย่างนั้น คนนั้นแสดงว่าหมดอิสรภาพแล้ว เขาได้สูญเสียอิสรภาพในการที่จะมีความสุขด้วยตนเอง ความสุขของเขาได้ขึ้นต่อวัตถุโดยสมบูรณ์สิ้นเชิงแล้วใช่มั๊ย บอกว่าต้องมี อันนั้นก็ต้องมี อันนี้ก็ต้องมี ถ้าไม่มีแล้วฉันตาย ฉันทุรนทุรายอยู่ไม่ได้ ถ้าคนอย่างนี้ลำบากต่อไปนี้ เพราะว่าชีวิตคนต้องอยู่ด้วยตนเองในหลายสถานการณ์ เช่นยามเจ็บไข้ได้ป่วย เสพสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ยามแก่เฒ่าชราร่างกายอินทรีย์แข็งแรงไม่พอ เสพสุขจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แล้วทำไงก็ทุรนทุรายสิ เพราะว่าอิสรภาพไม่มีใช่มั๊ย ความสุขไปขึ้นต่อสิ่งเหล่านั้นหมดแล้ว นั้นต้องเตรียมฝึกไว้ในชีวิตประจำวัน ต้องให้สามารถพูดกับตัวเองได้อย่างที่ว่า บอกว่ามีก็ดี ไม่มีก็ได้ อ้าวญาติมิตรทุกท่านลองพูดกับตัวเอง พูดได้มั๊ย ถ้าพูดได้แสดงว่ายังมีอิสรภาพนี้อยู่ มีก็ดีไม่มีก็ได้ นี้ถ้าฝึกตัวเองไปมา บางทีบางครั้งเราจะพูดไปอีกขั้นหนึ่ง บอกว่ามีก็ได้ ไม่มีก็ดี ว่างั้นนะ หมายความว่าบางอย่างนี่ มันเกะกะ รกรุงรัง เราไม่มีเราก็สบายดี เป็นอิสระนะ บางคนพออยู่ได้ดีขึ้นมีชีวิตที่เป็นความสุขเป็นอิสรภาพแล้วมีความรู้สึกเป็นอิสระ คล่องตัว จะไปไหนมาไหนเมื่อไรมันก็ปลอดโปร่งใช่มั๊ย คนที่ติดในวัตถุ ความสุขขึ้นต่อวัตถุ หมดอิสรภาพนี้มันไปไหนลำบาก ไม่มีอิสรภาพ ไม่คล่องตัว เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าให้ศีล 8 มาสำหรับอย่างน้อยมาฝึกตัวเราไว้ รักษาอิสรภาพไว้ อย่าให้สูญเสียมันไป ได้แค่นี้ก็ดีแล้วนะ เอาละนะเจริญพร นี่แหละ นี่พระพุทธเจ้าให้วิธีปฏิบัติ พระองค์ฝึกคนเยอะเลย หลายวิธี เรื่องกามสุขเห็นจะพอซะที เพราะว่าเดี๋ยวเวลาจะหมด ยังไม่ไปไหนพึ่งได้ขั้นที่ 1 เป็นอันว่าเรื่องความสุขประเภทที่ 1 คือ ความสุขอาศัยวัตถุเสพ หรืออามิสสุข หรือกามสุข เนี่ยเมื่อเรายังอยู่กับมันเราต้องปฏิบัติให้ดี รู้เท่าทัน ปฏิบัติต่อมันให้ได้ประโยชน์จากมันมากที่สุด ให้ได้โทษน้อยที่สุด ทั้งชีวิตตัว ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าเราปฏิบัติดีแล้ว เราจะพัฒนาไปสู่ความสุขที่สูงขึ้นไป อ้าวทีนี้ต่อมาเราก็เดินหน้าไปหาความสุขที่สูงขึ้นไป คนเรามีทางที่จะหาความสุขได้เยอะแยะไป คนเราพัฒนาได้หนิ เมื่อพัฒนาได้สิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวกับคน พัฒนาได้หมด ความสุขก็เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพราะฉะนั้นก็พัฒนาได้ด้วย นี้ลองดูความสุขที่สูงขึ้นไปมีอะไรบ้าง