แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพร โยมญาติมิตรสาธุชนทุกท่าน ท่านทั้งหลายได้มีใจเป็นกุศลมาทำบุญในวันสำคัญของพระพุทธศาสนาโดยพร้อมกันด้วยความสามัคคี ตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไป คุณพ่อคุณแม่มากับลูก บางทีก็มากับปู่ย่าตายายญาติพี่น้อง ทางโรงเรียนก็มากันทางคณะผู้บริหารครูอาจารย์ ลูกศิษย์ญาติมิตรทั้งหลายก็มาทำบุญร่วมกัน การทำบุญร่วมกันนี้ ได้บุญหลายอย่าง ทำบุญเฉพาะตัวก็ได้บุญหลายอย่าง ท่านบอกไว้ว่าถ้าทำบุญด้วยตัวเอง ได้บุญขั้นที่หนึ่ง ชวนผู้อื่นทำบุญด้วยก็ได้บุญเพิ่มอีกเป็นกำลังสอง เพราะว่าเราทำให้คนอื่นได้บุญนี่ เท่ากับว่าเราได้ทำบุญของตนเองด้วย แล้วคนอื่นก็พลอยได้บุญขยายบุญให้กว้างขวางออกไป แล้วน้ำใจที่ร่วมกันนั้นก็เป็นน้ำใจที่เป็นบุญเป็นกุศลในตัวมันเอง คือมีเมตตาไมตรีมีจิตหวังดีต่อกัน เป็นต้น ช่วยให้บรรยากาศมีความสุข สดชื่น รื่นเริง มีมิตรไมตรี ไมตรีจิตมิตรภาพมาประกอบกันด้วย อันนี้เป็นบุญเพิ่มกำลัง มองในแง่พระศาสนาก็มีกำลัง ผู้ที่มาค้ำจุนอุดหนุนทำให้พระศาสนาดำรงมั่นคงยิ่งขึ้นไป ฉะนั้นพุทธศาสนิกชนเมื่อถึงวันสำคัญ ก็ถือกันว่าชวนกันมาทำบุญ ไม่เฉพาะเข้ามาทำบุญเฉยๆ ก็จึงขออนุโมทนาทั้ง 2 ชั้น ทั้งในแง่ที่ท่านทั้งหลายมีใจศรัทธา มาทำบุญแล้วก็มีใจปรารถนาดี เมตตาไมตรี ชวนกันมาทำบุญด้วยกัน แล้ววันนี้ก็เป็นวันที่ทำบุญสองอย่างด้วย เมื่อกี้นี้ว่าทำบุญสองชั้น คือ ด้วยตนเอง แล้วก็ชวนกันมา ทีนี้วันนี้เองก็ทำบุญสองอย่าง คือทำบุญวันเข้าพรรษากับวันอาสาฬหบูชา ซ้อนกันอยู่ ความจริงวันสำคัญสองวันนี้ คนละวัน ต่างวันแต่ว่าเรารวมมาทำบุญซะวันเดียวกัน วันหนึ่งวันนี้แท้ๆ ก็คือวันอาสาฬหบูชา วันทำการบูชาพระรัตนตรับเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญ คือการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ส่วนอีกวันหนึ่งก็คือวันพรุ่งนี้ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 สำหรับปีนี้ก็เป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง เป็นวันเข้าพรรษา ความจริงการทำบุญสองวันนี้ทำคนละอย่าง ญาติโยมที่รู้เข้าใจชัดเจนก็แยกได้ถูก แต่ว่าบางท่านยังไม่คุ้นเคย ก็ถือโอกาสเป็นการแยกให้เกิดความเข้าใจชัดเจน ว่าที่เราได้ทำพิธีถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนไปเมื่อกี้นั้น เป็นการทำบุญในโอกาสเข้าพรรษา คือสำหรับวันพรุ่งนี้ ส่วนวันอาสาฬหบูชานั้นก็คือที่กำลังจะปฏิบัติต่อไป ได้แก่การเวียนเทียน นี่เรามาทำบุญสองอย่างในวันเดียวกัน ก็เพราะว่าสองวันนี้อยู่ติดกันใกล้กัน แต่ว่าแยกสองตอน คือตอนที่ถวายเทียนพรรษาผ้าอาบน้ำฝนก็แยกไปตอนหนึ่ง แล้วก็ทำวิธีเวียนเทียนก็แยกไปอีกตอนหนึ่ง รวมกันก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ว่าต้องเข้าใจให้ชัดด้วย ก็เลยถือโอกาสพูดเล่าให้ญาติโยมฟัง เป็นเรื่องให้เข้าใจเล็กๆ น้อยๆ วันนี้ถือว่าไม่ค่อยมีกำลังจะพูด ไอมาก แต่ตามปกติอาตมาเวลาพูดจะไม่ไอ คือจะพูดแทนไอ หมายความว่าลมมันระบายออกไปแทนไอ ไปจนกระทั่งพูดจบ พูดจบเมื่อไหร่ทีนี้ล่ะก็ ไอตามมาอย่างหนัก เวลานี้ยังไม่ใช่เวลาไป เวลาไอต้องหลังจากพูด ทีนี้ก็เล่าให้ฟังทั้งสองวันนิดหน่อย ก็พูดให้ฟังเรื่องเข้าพรรษษซะก่อน ทั้งที่วันเข้าพรรษานั้นเป็นวันพรุ่งนี้ วันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญตามพระวินัย เป็นเรื่องของพระสงห์ จะต้องอยู่ประจำที่เป็นเวลา 3 เดือนในฤดูฝน ก็เริ่มต้นฤดูฝน วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 เมื่อพระสงฆ์ปฏิบัติตามพระวินัย โยมพุทธษัทคฤหัสถ์ก็มาสนับสนุน ก็เลยเกิดประเพณีทำบุญขึ้นมา เป็นการสนับสนุนอุปถัมภ์พระสงฆ์เพื่อให้ท่านมีกำลังที่จะปฏิบัติศาสนกิจ อันนี้เป็นวันสำคัญทางพระวินัย ก็คือพูดง่ายๆ ว่ามาอุปถัมภ์พระสงฆ์ พระสงฆ์อยู่จำพรรษาจะต้องมีผ้าอาบน้ำฝน โยมก็พากันเอาผ้าอาบน้ำฝนมาถวาย พระสงฆ์จำพรรษาต้องมีการศึกษาเล่าเรียน ปฏิบัติกิจวัตร ทำวัตร สวดมนต์ บางทีก็เป็นเวลาค่ำคืน ต้องอาศัยแสงสว่างดวงประทีป ญาติโยมก็เอาเทียนพรรษามาถวายเพื่อเป็นประเพณีทำบุญอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา เนี่ยประเพณีทำบุญเข้าพรรษาด้วยการถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝนก็เลยเกิดขึ้นมาเป็นประเพณีใหญ่โต มีการแห่เทียนมีการหล่อเทียน ก็เป็นเรื่องของประเพณีที่มีมาแต่โบราณ อันนี้ให้โยมทราบไว้ ที่จริงเป็นเรื่องของพระ แต่โยมมาสนับสนุนให้พระได้มีกำลังปฏิบัติศาสนากิจ ฤดูเข้าพรรษาก็จะมีพระมากเป็นพิเศษ เพราะว่าเรามีประเพณีบวชเรียน เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษาก็จะมีพระใหม่เพิ่มขึ้นมา แล้วก็มาอยู่จำพรรษา จะมีการศึกษาเล่าเรียนเป็นพิเศษ แต่เดี๋ยวนี้วัดต่างๆ ประเพณีนี้ก็เรียกได้ว่าเสื่อมถอยลงไป ผู้บวชที่จะอยู่จำพรรษาเหลือน้อยลง หลวงพ่อจังหวัดหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่าจังหวัดของท่านนี้ในเขตเทศบาลทั้งจังหวัด พรรษานั้นไม่มีผู้บวชอยู่จำพรรษาเลยแม่แต่รูปเดียว ก็กลายเป็นว่าประเพณีนี้ได้เสื่อมถอยลดหย่อนลงไป กลายเป็นว่าบวชเข้าพรรษาครั้งละประมาณ 1 เดือน บางทีก็สั้นกว่านั้น เหลือ 15 วัน 7 วัน ที่นี้ก็ถือว่าถ้าบวชแล้วก็ต้องเรียน เพราะประเพณีเราบอกแล้วว่าบวชเรียน การที่จะบวชแค่ 7 วันนี้ ยังไม่ทันได้เรียนไร เพราะฉะนั้นก็เลยถือเป็นหลักปฏิบัติว่า ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ขออย่าให้สั้นกว่า 1 เดือน ก็ให้บวชได้อย่างน้อย 1 เดือน ก็เลยมีการบวชเป็นรุ่นๆ รุ่นละ 1 เดือน แล้วก็จัดหลักสูตรให้เหมาะว่าเรียนกันจบภายใน 1 เดือนนั้น ทีนี้ท่านที่มีเวลา มีศรัทธา สามารถบวชในพรรษาได้ ก็อยู่จำพรรษา 3 เดือน อย่างรุ่นนี้ก็มี 9 รูปมาบวชอยู่จำพรรษาเต็มตามประเพณี แล้วนอกรุ่นพรรษาแท้ๆ แล้วก็มีรุ่นเก่า บวชก่อนพรรษา 1 เดือนบ้าง 2 เดือนบ้าง แต่ท่านยังอยู่ คือไม่หมดไปกับรุ่น รุ่นของท่านมีรุ่นละ 9 รูป บางรุ่นก็เหลือ 1 รูป บางรุ่นก็เหลือ 2 รูป แล้วท่านเหล่านั้นก็อยู่รวมมาถึงเข้าพรรษา ก็เลยอยู่ร่วมจำพรรษาด้วย พระใหม่สำหรับพรรษานี้นอกจากรุ่นบวชเข้าพรรษาแท้ๆ 9 รูป ก็จะมีรุ่นก่อนพรรษาที่ยังอยู่สืบมา รวมแล้วเข้าใจว่าประมาณ 12 รูป ก็ทำให้มีจำนวนพระใหม่มากพอสมควร พอเข้าพรรษาเสร็จ พรุ่งนี้ก็เริ่มต้นเรียนกันเลย ก็เรียนกันตลอด พอตอนท้ายจะหมดพรรษาก็สอบ พร้อมกันนั้นก็จะมีกิจวัตรปารปฏิบัติอะไรต่างๆ รวมแล้วก็เรียกว่าเจริญไตรสิกขา นอกจาะพระใหม่แล้วก็มีพระเก่า พระเก่าที่นี่มีน้อย เป็นวัดเล็กๆ มีไม่กี่องค์ 5-6 องค์เท่านั้น รวมแล้วทั้งหมดเข้าพรรษานี้รวมแล้วจะมีสัก 20 รูป นับว่ามากพอสมควร ทีนี้ก็มีความไม่สมดุลอยู่ เพราะว่ามีพระใหม่มากแต่พระเก่าน้อย พระที่จะปฏิบัติศาสนกิจได้จริงก็คือพระเก่า พระใหม่ก็คือผู้มาเล่าเรียน ฉะนั้นพระเก่าก็เป็นครูอาจารย์ ต้องมาสอนพระใหม่ด้วย ต้องเอากำลังมาสอนมาให้ความรู้กับพระใหม่ มาแนะนำแล้ว ก็ยังต้องมาต้อนรับญาติโยม อำนวยความสะดวกในการบำเพ็ญธรรมทานแก่โยมผู้มาบำเพ็ญอามิสทานอีก ก็เลยเกิดปัญหาว่ามีกำลังไม่ค่อยพอ ก็ถึงกับต้องขอร้องญาติโยมว่า เอาละโยมร่วมทำบุญอีกอย่างหนึ่งนะ นอกจากบุญมาทำบุญของโยมที่ถวายทาน แล้วโยมก็ทำบุญด้วยการอุปถัมภ์ อุดหนุนศาสนกิจของพระด้วย คือพระท่านจะปฏิบัติศาสนกิจสำคัญที่สุดก็คือการเจริญไตรสิกขา ก็คือการศึกษา ทีนี้การศึกษาในวัดแล้ว ท่านยังต้องไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ อีก กำลังไม่พอจริงๆ ทีนี้โยมก็มีศรัทธามาก พากันมาถวายสังฆทานเป็นอันดับหนึ่งเลย นอกจากนั้นก็เรื่องอื่น ทำบุญเลี้ยงพระ แต่ว่าถวายสังฆทานนี้ก็เป็นปัญหามาก พระก็อยากจะสนองศรัทธาโยม แต่กำลังตัวเองก็ไม่มี กำลังโดยเฉพาะกำลังในแง่เวลา ฉะนั้นก็เลยต้องขอความร่วมมือโยมว่า ไม่ใช่เฉพาะอุปถัมภ์ด้วยทาน ด้วยวัตถุปัจจัยสี่เท่านั้น แต่อุปถัมภ์ด้วยการสนับสนุนศาสนกิจ ก็คือให้พระมีเวลาไปทำงานของท่าน ไปสอน ไปอบรม ไปให้การศึกษา ไปสั่งสอนต่างๆ เนี่ย ถ้าโยมช่วยอย่างนี้ โยมก็ทำบุญด้วย เพราะว่าพระศาสนาจะดำรงอยู่ได้ยั่งยืนนาน พวกทานนี่เป็นเพียงเครื่องอุดหนุนนะโยม ต้องเข้าใจ ทานนี่เป็นกำลังเครื่องอุดหนุนเพื่อให้พระมีกำลังทำงานที่แท้ พระศาสนาอยู่ได้ด้วยศาสนกิจที่แท้ ซึ่งเป็นการที่ไปให้การศึกษา อบรมสั่งสอน เผยแพร่ธรรมะนี่แหละ ฉะนั้นโยมจะต้องนึกว่าแม้แต่เรามาถวายทานนี่ก็เพื่อให้พระท่านได้มีกำลังไปทำงานนี้ ทีนี้ในกรณีที่ทานพอแล้ว โยมก็อุปถัมภ์ให้พระไปทำงานด้วยการให้เวลา เป็นต้น โยมก็ได้บุญได้กุศล แม้แต่เพียงทราบว่าพระท่านไปทำงานสอนในวัดก็ตาม สอนนอกวัดก็ตาม โยมชื่นใจด้วย นี่โยมได้บุญแล้วนะ อนุโมทนาอย่างนี้เป็น ปัตตานุโมทนามัย ลองไปดูสิหลักการทำบุญมีตั้ง 10 อย่างใช่ไหม บุญกิริยาวัตถุ 10 ไม่ใช่ติดอยู่กับทาน อะไรก็ทาน ศีล ภาวนา ไม่ก้าวหน้าไปเลย แล้วก็ยิ่งแบ่งเป็น
บุญกิริยาวัตถุ 10 ทานมัย สีลมัย ภาวนามัย อปจายนมัย ไวยาวัจจมัย ปัตติทานมัย ปัตตานุโมทนามัย ไปเรื่อยจนกระทั่งถึง ธรรมสวนมัย ธรรมเทศนามัย ทิฏฐุชุกรรม นั่นแหละ โยมควรจะทำให้ครบ แล้วบุญที่สำคัญมากที่สุดมันจบที่ปัญญา บุญทางวัตถุ แล้วก็บุญทางพฤติกรรม กาย วาจา แล้วก็จิตใจ แล้วก็บุญทางปัญญา แค่นี้โยมก็แยกแยะได้แล้ว ถ้าโยมอยู่แค่ทาน โยมจะอิงอยู่กับวัตถุเรื่อย ใช่ไหม ก็อยู่แค่ขั้นวัตถุ จริงอยู่มันไม่ใช่อค่วัตถุอย่างเดียวหรอก โยมจะถวายทานได้นั้นโยมต้องมีจิตใจ มีเจตนา มีศรัทธา ใจต้องมาด้วย พฤติกรรมก็ต้องดีไปเอง เป็นพฤติกรรมที่สนับสุนส่งเสริม ช่วยเหลือเกื้อกูลทำนุบำรุง ก็เป็นพฤติกรรมดี ศีลก็มาด้วย จิตใจก็ดีด้วย มีเมตตา ปรารถนาดีมีความเคารพความสดชื่น เบิกบาน ผ่องใส ทำทานแล้วก็พอได้บุญทางจิตใจ แล้วก็ได้ปัญญารู้เข้าใจ ได้ฟังพระสงฆ์แนะนำสั่งสอนให้ความรู้ธรรมะ แล้วก็ได้พิจารณามองเห็นประโยชน์ของทานที่ตนได้บำเพ็ญไป ว่าทานที่เราถวายไปนี้ พระท่านได้อาศัยแล้วนะ เนี่ยอาศัยทานที่เราถวายแล้วพระท่านมีกำลัง ท่านจะไปปฏิบัติธรรมของท่าน เล่าเรียนศึกษาก็ตาม ไปบำเพ็ญสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ก็ตาม เพราะท่านมีกำลังจากทานที่เราถวาย แล้วท่านก็ไปสั่งสอนญาติโยมประชาชน ทำให้พระศาสนาแผ่ขยายไพศาล ประชาชนสังคมอยู่กันร่มเย็นเป็นสุข โยมมองว่าทานของเราที่ทำนี่ พวกเรามองเห็นด้วยปัญญาว่ามีประโยชน์มีคุณค่ามหาศาล โยมก็ปลาบปลื้มใจปิติ อย่างนี้จึงจะได้บุญจริง ไม่ใช่ไปนึกว่าถวายทานๆ เสร็จก็จบไป แล้วก็ไปนึกวาดภาพว่าเดี๋ยวเราคงจะร่ำรวยได้เป็นเศรษฐี
ถูกลอตตานี่ที่หนึ่ง ไม่ใช่แค่นั้น ต้องมองให้กว้าง อย่างน้อยใจต้องดี ใจต้องสบาย สดชื่น เบิกบาน ผ่องใส อย่างนี้ดี ให้ได้ความสุขไปเลย ก็สุขยั่งยืนด้วย นึกเมื่อไหร่ก็มีปิติปลาบปลื้มใจ อุ่นใจ มีความสุข ฉะนั้นแม้แต่ทำทานก็ทำให้ได้ครบ ให้ได้ทั้งศีล บวกพ่วงมากับทาน จิตใจสมาธิก็ได้มา พ่วงกับทาน ปัญญาก็พ่วงมากับทานเสร็จ แต่ว่าบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องถวายวัตถุก็ได้ เราก็ทำบุญด้วยการอุปถัมภ์ศาสนกิจของพระสงฆ์ แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้รู้เข้าใจว่าพระสงฆ์ท่านมีหน้าที่อะไร ท่านทำหน้าที่ถูกต้อง เราอนุโมทนาด้วย เราจะส่งเสริมให้ท่านทำหน้าที่ของท่านได้อย่างไร เราจะช่วยให้พระศาสนา ธรรมะ แพร่หลายไปยังไง คิดไปอย่างนี้แล้วก็บุญไม่รู้จักจบเลยนะ บุญเจริญงอกงาม เขาเรียกว่าก้าวไปในบุญ แล้วบุญก็เจริญงอกงามจนกระทั่งไพบูลย์ ฉะนั้นโยมอย่าได้ติดอยู่แค่บุญขั้นต้นอย่างเดียว เมื่อไหร่ๆ ก็ไม่ไปไหนสักที ต้องก้าวหน้าไปในบุญด้วย ขยายบุญให้แผ่ไพศาล แล้วชีวิตของเราก็จะดีงาม ความสุขความอะไรก็จะขยายไปหมด บุญต้องพัฒนา ไม่ให้อยู่แค่นั้นตลอดไป
เอาละ กลับมาเรื่องเก่า เป็นอันว่าวันนี้ก็มาทำบุญเนื่องในวันเข้าพรรษา โยมก็มาทำบุญศาสนกิจ ท่านก็บอกแล้วที่มาถวายผ้าอาบน้ำฝนเพราะอะไร เพราะพระท่านจะจำพรรษา พระท่านต้องใช้ผ้าอาบน้ำฝน แล้วก็ถวายเทียนพรรษาเพราะอะไร พระท่านจะได้ศึกษาเล่าเรียนอ่านหนังสือ ตำรับตำรา ทำวัตร์ค่ำ เป็นต้น สวดมนต์ภาวนาอะไรจะได้อาศัยแสงประทีปของเรา แสงประทีปพอส่องไปแล้วได้เห็นได้อ่านหนังสือ ได้เรียนรู้ ได้เข้าใจอะไรต่างๆ แล้วโดยเฉพาะไปศึกษาเล่าเรียน แสงสว่างของวัตถุ ก็กลายเป็นแสงสว่างของปัญญา ก็ให้เราถวายวัตถุ แสงเทียนนี้หรือแสงประทีปนี้ ให้มีความหมายขยายไปถึงแสงแห่งปัญญาด้วย เพราะฉะนั้นโยมทุกคนจะต้องไปให้ถึงปัญญา เรื่องเข้าพรรษาก็เอาแต่เพียงพอเข้าใจนี้ เป็นอันว่าเราได้มาทำบุญอุดหนุนพระสงฆ์ให้ทำกิจพระศาสนา การทำบุญเข้าพรรษาเป็นการทำบุญช่วงยาว หมายความว่าเราทำในวันนี้ เริ่มต้นให้ท่าน แล้วท่านก็อาศัยทานที่เราถวายนี้ใช้ไปอย่างน้อย 3 เดือน โยมก็สบายใจ ปลื้มใจได้ นี่ไปเรื่องหนึ่งแล้ว
ทีนี้เรื่องที่สองก็มาทำบุญวันอาสาฬหบูชา คือตัววันนี้ที่แท้จริง ซึ่งตัวพิธีสำคัญก็คือการเวียนเทียน โยมก็มุ่งมาเวียนเทียน เวียนเทียนนั้นไม่ใช่เรื่องของการเข้าพรรษา เวียนเทียนเป็นเรื่องของอาสาฬหบูชา เรื่องวันอาสาฬหบูชา มีความหมายอย่างไร ก็แทบจะไม่ต้องอธิบาย เพราะถือว่ารู้กันอยู่แล้ว อาจจะพูดพาดพิงไปนิดหน่อย แต่วันนี้มีข้อที่ควรจะเอ่ยเป็นพิเศษ คือว่าวันนี้ต้องถือว่าเป็นวันฉลองครบ 50 ปีของการเกิดขึ้นของพิธีอาสาฬหบูชา หลายท่านลืมหมดแล้ว
วันอาสาฬหบูชาเพิ่งเกิดมาได้ 50 ปี ครบรอบวันนี้นะ วันนี้จะถือเป็นวันฉลองก็ได้ แต่ไม่มีใครคิดฉลองเลย ทำไมล่ะ วันบูชาแต่ก่อนนี้เคยเล่าให้ฟัง หรือเล่าหลายครั้งแล้วมั้ง ว่าประเพณีทำบุญบูชานี่ ปกติแต่เดิมมาเรามีวันเดียว วันวิสาขบูชา ก็คือวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า แล้วเนื่องกันกับวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน พอปรินิพพานแล้วก็มีอีกวันหนึ่งพ่วงมา คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสารีระ เขาเรียกว่าวันอัฐมีบูชา คือวันแรม 8 ค่ำ ต่อจากวันวิสาขบูชา โบราณก็จะมี 2 วัน ปัจจุบันนี้วันอัฐมีบูชาแทบไม่มีใครรู้จักแล้ว ก็คือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสารีระ เดี๋ยวนี้แทบไม่มีจัดแล้ว ก็เหลือวันวิสาขบูชาเป็นหลักมาตลอด แล้วในประเทศพุทธศาสนาก็มีทุกประเทศ แม้ในบางประเทษจะไม่ได้ถือจัทรคติ อย่างญี่ปุ่นเขาถือวันสุริยคติ เขานับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินสุริยคติ คือวัน เดือน ปี แบบมการา กุมภา มีนา เมษา เอาพฤษภาคม เขาไม่ได้นับเดือน 6 ทีนี้ของเราก็มีวิสาขบูชามาตลอด อยุธยาเป็นงานใหญ่ พอมารัตนโกสินทร์ หลังกรุงแตกแล้วก็ประเพณีเสื่อม เพราะชาวพุทธไทยแตกกระสานซ่านกระเซน เลยประเพณีก็เสื่อมหาย จนพระทั่งสมเด็จพระสังฆราชมีในรัชกาลที่ 2 ก็เลยเสนอฟื้นฟูขึ้นมา ก็ให้ทำกันเป็นการใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เข้มแข็งมั่นคงจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็ต้องยอมรับว่าเราไม่เข้มแข็งมั่นคงเหมือนลังกาที่เขาสืบทอดมาจากโบราณจนปัจจุบัน เขามี 7 วัน 7 คืน เป็นงานใหญ่มาก ให้ไปดู ไปศึกษาเรื่องของลังกาเขาทำกันอย่างไรประเพณีวิสาขบูชา แล้วของไทยเราก็มีวิสาขบูชาเป็นแกนมาจนกระทั่งถึงรัชกาลที่ 4 ในหลวงรัชกาลที่ 4 ก็ทรงพิจารณาว่าการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในที่ประชุมใหญ่พระสงฆ์ 1,250 รูป เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต นั้น เป็นเหตุการณ์ใหญ่มาก น่าจะยกขึ้นมาจัดเป็นวันสำคัญให้มีคนบูชาด้วย ก้เลยตกลง พระองค์ก็ทรงเป็นผู้นำแล้วก็จัดให้มีพิธีบูชาในวันที่เรียกว่ามาฆบูชา คือในรัชกาลที่ 4 นี้เอง ไม่ใช่ของเก่า แล้วอัฐมีบูชาตอนนั้นก็ยังใช้ปฏิบัติกันมาก เวลาผ่านมาๆ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2500 รัฐบาลไทยก็จัดทำบุญใหญ่เรียกว่าฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ชาวบ้านชอบเรียกว่าฉลองกึ่งพุทธกาล ทางการขอร้องว่าอย่าให้เรียกกึ่งพุทธกาล ให้เรียกว่าฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ก็ทำบุญฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เสร็จ ทางคณะสงฆ์ ตอนนั้นมีสงฆมนตรี เป็นการปกครองพระสงฆ์ยุคเก่า พระราชบัญญัติพระสงฆ์ พ.ศ.2484 มีคณะสังฆมนตรีด้วย สังฆมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯตอนนั้น ชื่อว่าท่านเจ้าคุณพระธรรมโฆษาจารย์ อยู่พระมหาธาตุ เป็นเจ้าคณะจังหวัดชลบุรี ท่านเป็นสังฆมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ ท่านก็เสนอขึ้นมาว่าวันทีพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา น่าจะป็นวันสำคัญที่ควรฉลอง หรือทำบุญบูชาด้วย ก็เลยเสนอไปยังรัฐบาล รัฐาลตอนนั้นก็มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีก็เห็นด้วย ก็ตกลงประกาศให้มีวันสำคัญทางพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง คือวันที่เรียกว่าอาสาฬหบูชา เป็นการบูชาเนื่องในวันแสดงปฐมเทศนาประกาศธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นั่นก็คือ พ.ศ.ถัดจาก พ.ศ. 2500 ที่ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ก็เป็น พ.ศ.สองพันห้าร้อยเอ็ด หรือสองพันห้าร้อยหนึ่ง เมื่อนับมาถึงวันนี้ก็เลยครบ 50 ปี ฉะนั้นวันนี้ก็เท่ากับว่าเป็นวันครบ 50 ปีของการมีพิธีอาสาฬหบูชา ก็เลยเล่าเป็นความรู้ให้ญาติโยมฟัง ทีนี้เราก็ไม่รู้เข้าใจ ถึงวันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา เราก็ทำไปเรื่อย ก็บูชากันไป เรื่องความรู้นี้สำคัญ อย่างน้อยก็มีไว้บ้างดี ได้เข้าใจความเป็นไปเป็นมา ทีนี้ที่พอมีเป็นหลัก 3 วันแล้ว มีวันวิสาขบูชา มีมาฆบูชา มีอาสาฬหบูชา ก็เลยมาคิดกันว่า 3 วันนี้เรามาเรียกเป็นวันพระรัตนตรัย เป็น 3 วันก็แล้วกัน แต่ละวันก็ยกถวายพระรัตนตรัย วันวิสาขบูชานี้เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เป็นวันเกี่ยวกับองค์พระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นวันวิสาขบูชานี้น่าจะเรียกเป็นวันพระพุทะเจ้า ก็ดูสมเหตุสมผลดี ทีนี้ก็มาดูว่าวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ โอวาทปาฏิโมกข์นั้นเป็นหลักใหญ่ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็คือหลักใหญ่แห่งธรรมะ หรือหลักการของธรรมะในพุทธศาสนาทั้งหมด เป็นการทำความเข้าใจ แต่ว่าหลักธรรมของพระพุทธศาสนาตั้งแต่จุดหมายสูงสุดคืออันนี้ วิธีปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ฉะนั้นน่าจะถือว่าวันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม ก็เลยตกลงว่าให้วันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม ส่วนวันอาสาฬหบูชานี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแล้ว ปัญจวัคคีย์ได้ฟัง หัวหน้าปัญจวัคคีย์ ชื่อว่า โกณฑัญญะ ก็บรรลุธรรม แล้วก็เติมชื่อให้ท่านเป็น อัญญาโกณฑัญญะ เรียกกันว่าเป็นอัญญาโกณฑัญญะ เพราะคำว่า อัญญา แปลว่าได้รู้แล้ว อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ ได้รู้แล้วหนอ ก็เลยได้เป็นเหมือนกับสมญาของท่านว่าอัญญาโกณฑัญญะ ประเทศอื่นเขาเรียกว่าอัญญาตะโกณฑัญญะ ประเทศไทยเรียกว่าอัญญาโกณฑัญญะ เพี้ยนกันนิดหน่อย ทีนี้ท่านก็ขอบวช ก็เลยเป็นพระภิกษุองค์แรก เราก็ถือว่าวันอาสาฬหบูชานี้เกิดพระภิกษุองค์แรกนะ ก็เป็นพระอาริยสาวกองค์แรก พระรัตนตรัยตอนนี้ก็มีแค่พระพุทธเจ้ากับพระธรรม ตอนนี้มีพระสงฆ์ด้วย ถ้าอย่างนั้เราก็เรียกวันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระสงฆ์ ดูเข้าเหตุผลดีก็เลยตกลง คล้ายๆ กับตกลง แต่ที่จริงก็ไม่ได้มีการตกลงกันเป็นทางการอะไร ก็เลยคล้ายๆ ถือกันมาบอกว่าวันวิสาขบูชาเป็นวันพระพุทธเจ้า วันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม วันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระสงฆ์ แต่ว่ากันไปแล้วที่จริงในเหตุการณ์ทางพุทธประวัติเองนั้น อาสาฬหบูชาเกิดก่อนมาฆบูชานะ เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐทเทศนาก็คือเทศน์ครั้งแรก จนกระทั่งมีสาวกองค์แรกขึ้นมา ตอนที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ วันมาฆบูชานั้น มีพระสงฆ์ตั้ง 1,250 รูป ไม่เป็นไร ตกลงก็มีเหตุมีผล ทีนี้บางท่านก็มาคิดตามคงท่านว่า เอ วันอาสาฬหบูชานี้เป็นวันประกาศธรรมนี่ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเทศน์ครั้งแรก ประกาศหลักธรรม น่าจะเป็นวันพระธรรม บางท่านก็บอกว่าน่าจะเอาวันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระธรรม ก็ว่าไป อย่าไปเถียงกันเลย ไม่ต้องไปเถียงกันหรอก อันนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงว่าไว้หรอก เรามาว่ากันเอง ตกลงกันอย่างไรก็ได้ ให้มันได้ความหมายดีก็แล้วกัน ขออย่างเดียว อย่าไปเถียงกัน ถ้าได้ความหมายให้มีประโยชน์ ให้มีคุณค่า แล้วให้เกิดผลในการปฏิบัติ เอามาใช้ได้เป็นดีที่สุด ทีนี้เราก็มาถึงวันอาสาฬหบูชาแล้ว จะเรียกเป็นวันพระสงฆ์ก็สอดคล้องในชุด ใครอยากถืออย่างนี้ก็ถือไป แต่ถ้าพูดตามเหตุการณ์ก็เรียกได้ว่าเป็นวันประกาศพระธรรมจักร และแสดงมัชฌิมาปฏิปทา หรือประกาศธรรมจักร แสดงทางสายกลาง อันนี้คือตัวเหตุการณ์ที่แท้ เมื่อกี้บอกว่าวันอาสาฬหบูชานั้นมาถึงวันนี้ก็ครบ 50 ปี แต่เหตุการณ์ของอาสาฬหบูชานั้น 2595 ปีแล้ว ไม่ใช่ 50 ปี แต่ว่าเรามาทำพิธีบูชาได้ 50 ปี ก็คือพระพุทธเจ้าทรงเทศน์ครั้งแรก ปฐมเทศนา แล้วก็พระธรรมที่เทศน์นั้นเป็นพระสูตรเรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร พระสูตรว่าด้วยการหมุนววล้อแห่งธรรม เราก็เรียกง่ายๆว่าเป็นการประกาศพระธรรมจักร คือไม่จำเป็นต้องไปเรียกเต็มว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คำว่า ธรรมจักรนี้ก็เป็นทั้งเนื้อหาสาระของธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วบางครั้งก็เรียกแทนพระสูตรนี้ทั้งสูตรด้วย แล้วธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นั้น สาระสำคัญนี่ก็ขึ้นด้วย มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง แล้วทางสายกลางนี้ก็จะโยงต่อไปอริยสัจ แต่เมื่อพูดถึงทางสายกลางแล้ว ทางสายกลางนั้นนำไปสู่อริยสัจแน่นอนอยู่แล้ว ก็เลยไม่ต้องพูดถึงอริยสัจ พูดแค่ว่าทางสายกลาง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะพูดแบบจำเพาะเจาะจงแท้ๆ เราก็พูดได้ว่า วันอาสาฬหบูชาก็คือวันประกาศพระธรรมจักร แสดงทางสายกลาง หรือแสดงมัชฌิมาปฏิปทา วันนี้ก็จะคุยให้ความรู้เป็นเกร็ดๆ ไม่ต้องพูดลึกอะไรหนักหนา เรื่องธรรมจักรกับทางสายกลางนี่ก็เป็นเรื่งที่เนื่องกัน ธรรมจักร ก็แปลง่ายๆ จักร แปลว่าอะไร จักรเราก็นึกถึงวงกลมๆ เวลาอะไรเป็นจักรเนี่ยมันจะต้องเป็นวงกลมๆ แล้วจักรที่เป็นวงกลมแต่ก่อนนี้ก็คือเรียกล้อ ล้อรถ ล้อเกวียน อะไรพวกนี้ เรียกว่าจักร ทีนี้จักรหรือล้อนี้ สมัยก่อนนี้เกิดขึ้นมานี้คนตื่นเต้นมาก เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ ของความงอกงามแห่งอารยธรรมมนุษย์ เมื่อมนุษย์นี้สามารถเดินทางด้วยพาหนะมีล้อขึ้นมานี่ เกิดความเจริญมากมายเลย ธุรกิจการค้า กองคาราวานมีในประเทศต่างๆ สื่อสารกันได้ทั่วถึง หนึ่งแล้วนะ ด้านการพาณิชย์ค้าขาย ความเจริญก็ตามมากับการพาณิชย์นั้น เพราะนอกจากการค้าขายแล้ว อะไรต่ออะไรวัฒนธรรมอะไรต่างๆ ก็ไปด้วย ความรู้ การสื่อสาร ความรู้ต่างๆ ไปกับการค้ามากสมัยก่อน สมัยโบราณ ฉะนั้นล้อรถนี่เป็นเครื่องหมายของความเจริญ หรือการพัฒนาอย่างสูงของอารยธรรม แต่ไม่ใช่เท่านั้น เมื่อล้อรถเกิดขึ้นแล้ว รถไปได้ มันไม่ใช่เฉพาะธุรกิจการค้าการพาณิชย์เท่านั้น แต่หมายถึงอำนาจของราชาด้วย เพราะว่าพระราชาก็มีรถศึกแล้วทีนี้ แต่ก่อนต้องรบด้วยช้างด้วยม้าด้วยทหารราบ ตอนนี้มีรถม้าแล้ว มีรถศึก ฉะนั้นกลายเป็นว่ามีล้อรถ ล้อก็เป็นเครื่องหมายของรถนั่นเอง รถที่พาไปสามารถแผ่อำนาจไป ต่อมาคำว่าจักรหรือล้อนี่ก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ หมายความว่าการแผ่ไปในอำนาจ ล้อรถศึกแผ่ไปถึงไหน อาณาจักรก็ขยายไปถึงนั่น ก็เลยเกิดคำว่าอาณาจักรขึ้นมา อาณาจักรก็คือดินแดนที่ล้อแห่งอำนาจไปถึง เดี๋ยวนี้เราก็ยังใช้อยู่ ใช้กันโดยไม่รู้เลยใช่ไหม อาณาจักร ก็คือวงล้อแห่งอำนาจ ก่อนนี้ล้อรถศึกมันพาไป ล้อรถนี่ไปถึงไหน อำนาจของพระราชาก็ไปถึงนั่น คำว่าอาณาจักรก็เกิดขึ้น ก็คือดินแดนที่อยู่ในอำนาจของพระราชาองค์นั้น อันนี้ก็จะโยงมาหาธรรมจักร พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาว่าล้อมันพาอำนาจไป บางทีมันพาไปแต่ความเดือดร้อน พาสงครามไป การเบียดเบียนไปถึง เพราะฉะนั้นควรจะคิดกันให้ดี ควรจะให้ล้อนี้เป็นเครื่องนำเอาสิ่งที่สูงส่งกว่านั้นไปด้วย อะไรที่ดีที่สูงสุดประเสริฐ ก็คือธรรมะ ฉะนั้นล้อนี้ควรจะนำธรรมะไป จึงเกิดคำว่าธรรมจักรขึ้น นี่แหละพระสูตรนี้เป็นพระสูตรที่ปฏิวัติความคิดมนุษย์ คืออย่ามัวคิดแต่ว่าจะแผ่อำนาจ ให้แผ่ขยายธรรมไป ฉะนั้นแทนที่จะมีเพียงอาณาจักรก็ให้มีธรรมจักร พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมครั้งแรกก็เหมือนหมุนวงล้อแห่งธรรมะ ให้วงล้อแห่งธรรมะ แผ่ขยายก็คือหมุนไป แล้ววงล้อแห่งธรรมะนี้หมุนไปถึงไหน ดินแดนแห่งความร่มเย็นเป็นสุขด้วยธรรมะก็จะไปถึง ฉะนั้นธรรมจักรก็จะมีความหมายสองอย่างเช่นเดียวกับอาณาจักร หนึ่ง-ก็คือวงล้อแห่งธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงหมุน ก็คือประกาศธรรมะ แล้ววงล้อนี้เพื่ออะไร ก็เพื่อให้วงล้อนี้หมุนไปแผ่ธรรมะความดีงาม ความร่มเย็นเป็นสุข แผ่ไปถึงไหน ดินแดนนั้นก็เป็นดินแดนแห่งธรรมะ ก็คือดินแดนที่วงล้อแห่งธรรมะหมุนไปถึงนั่นเอง ฉะนั้นธรรมจักรก็แปลได้ทั้งวงล้อแห่งธรรมที่จะแผ่ไป และแปลว่าดินแดนที่วงล้อแห่งธรรมหมุนไปถึง เผยแผ่ไปถึง ธรรมจักรก็เป็นทั้งตัวธรรมะที่แสดง แล้วก็เป็นทั้งดินแดนแห่งธรรมะด้วย ชาวพุทธก็ควรจะพยายามสร้างธรรมจักร คือดินแดนแห่งธรรมะนี้ให้เกิดขึ้น เราก็เลยมีอาณาจักรกับธรรมจักร วันนี้เป็นวันที่สำคัญมากเพราะเป็นวันแห่งธรรมจักร พระพุทธเจ้าประกาศธรรมจักร เมื่อมีล้อ มีรถ มีรถ มียานพาหนะ ก็ต้องมีทางไป ทางไปนี่แหละก็คือทางที่พระพุทธเจ้าต้องประสงค์ คือทางสายกลาง แล้วธรรมจักร ล้อรถแห่งธรรมะนี้ ก็ไปกับทางสายกลางนี้ นี่คือความหมายสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เป็นความสัมพันธ์กับเรื่องอารยธรรม อาตมาก็มาเล่าเป็นเกร็ดให้โยมฟัง เรื่อง จัก-กะ นี้เรื่องใหญ่มากนะ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ จัก-กะ ให้ความหมายศัพท์ก่อน เมื่อกี้ก็พูดไปทีหนึ่งแล้ว จัก-กะ ภาษาบาลีท่านเขียน สองกอ จกฺก สันสกฤตก็เป็น จกฺร เป็น จัก-กระ ไทยเราใช้ตามรูปสันสกฤต เป็น จักร(จัก-กระ) จักรก็แปลว่าวงกลม นั่นเอง คือวัตถุที่มีรูปทรงเป็นมนฑล มนฑลรู้จักไหม มนฑลก็คือรูปวงกลม แต่ว่าคำว่ามนฑล รูปทรงกลม หมายความของอยู่นิ่งๆ ลักษณะรูปทรงก็เป็นกลมๆ จักรลักษณะรูปทรงมันเป็นมนฑลกลมๆ แต่มันมีลักษณะอย่างหนึ่งคือมันเคลื่อนไหวด้วย ก็คือการที่มันหมุนหรือวน อาการหมุนของมันนี่เรียกว่า วัฏฏะ ไทยเราก็มาใช้ว่าวัฏจักร อาการของมันเป็นแบบวัฏฏะ มันหมุน เพราะฉะนั้นจักรล้อนี่มันมีลักษณะสองอย่างที่สำคัญ ก็คือรูปทรงมันกลม แล้วสองมันมีอาการคือการหมุน ก็เป็นวงกลมที่หมุน วงกลมที่หมุนนี่แหละสำคัญอย่างยิ่ง เป็นเครื่องหมายของอารยธรรมมนุษย์มา เรียกได้ว่าทุกยุคสมัยจนกระทั่งปัจจุบันนี้ แต่เดิมมันก็เป็นวงกลมธรรมดา อย่างลูกตาดำเราเนี่ย ภาษาบาลีก็เรียก จัก-กะ ได้ จัก-กะ ใช่ไหม ตาดำเราก็เป็นวงกลม ก็เป็น จัก-กะ นี่ จัก-กะ เล็กนะ อันนี้ไปอื่น ไปใหญ่ๆ ไปจักรวาล จัก-กระ เหมือนกันใช่ไหม ใหญ่ที่สุดเลย ก็กลมเหมือนกัน การเวลาก็หมุนวน วัน เดือน ปี ผ่านไป มกราปีนี้ เดี๋ยวมาถึงมกราปีหน้า ปีพ.ศ.กาลเวลาหมุนไป มันก็สัมพันธ์กับเรื่องของดวงดาว ก็มีคำว่า จักรราศี หมุนกลมอีกแล้ว แล้วตัวเวลาเองก็เรียกว่า กาลจักร อีก เอาละ นี่เป็นด้านหนึ่ง มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ ทีนี้เรามาดู จักร ที่มันเข้ามาสู่การใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ในสมัยพุทธกาลนั้น จักร ได้นำมาใช้ในการเป็นอยู่ของมนุษย์หลายอย่าง อย่างหนึ่งที่เด่นมากก็คือ แป้นหมุนของช่างหม้อในการปั้นหม้อ กุมภการ แปลว่าช่างหม้อ เขาปั้นหม้อก็จะมีแป้นหมุน แล้วก็จะปั้นบนแป้นหมุนนั้น นี่เรียกว่า จัก-กะ มีศัพท์เฉพาะเรียกว่ากุมภการจักร คำว่า จัก-กะของช่างหม้อ จัก-กะ นี้ก็ก้าวต่อมาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ก็มีล้อเกิดขึ้น ล้อรถก็พาเกวียนไป ทำให้การเกษตรรุ่งเรือง ทำให้การค้าพาณิชย์รุ่งเรือง ทำให้การแผ่อำนาจขยายไปได้ ก็เข้าสู่ยุคของการสื่อสารคมนาคมได้กว้างไกล เป็นความเจริญของอารยธรรม เพราะฉะนั้นจัก-กะจึงเป็นเครื่องหมายของความเจริญแห่งอารยธรรมมนุษย์ อย่างที่บอกไปแล้ว จนกระทั่งมาเป็นคำสำคัญเรียกว่า อาณาจักร ทีนี้คำว่า จัก-กะ ตามศัพท์แปลว่าสิ่งที่บดแผ่นดินไป เวลามันไปนี่มันบดผืนแผ่นดินไป แล้วมันเป็นเครื่องแสดงอำนาจ ฉะนั้นจึงนำมาใช้เป็นอาวุธของพระนารายณ์ คือ จักราวุธ
พระนารายณ์นั้นมีจักรเป็นอาวุธ วงกลมที่จักรของพระนารายณ์เนี่ย ขอบของท่านมันเป็นจักรๆ จักรบาลีสันสกฤตมามีจักรไทยเข้าไปรวม เข้าใจไหม จักรไทยหมายความว่ายังไง เป็นจักรๆ จักรมันมีขอบเป็นจักรๆ ทีนี้จักรบาลีสันสกฤตที่มีจักรไทยเป็นขอบเนี่ย ก็มาเป็นอาวุธของพระนารายณ์ พระนารายณ์ทรงพิโรธ ไม่พอพระทัยใครก็เขวี้ยงไปตัดคอเลย นี่เป็นเครื่องหมายอำนาจเหมือนกันใช่ไหม แล้วก็ยังมีเรื่องของการลงโทษชนิดหนึ่ง ก็ใช้จักรหมุนบนศรีษะ ก็เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่ง จักร เครื่องมือของอำนาจ พุทธศาสนาได้เห็นว่าเขาใช้ในเรื่องชองอำนาจ เรื่องไม่ดี เบียดเบียนกันมาก ก็นำมาใช้ในทางความดีงาม เป็นะธรรมจักรอย่างที่ว่านี้ ฉะนั้นเราจะต้องเห็นความสำคัญของธรรมจักร โดยเฉพาะแนวคิดใหม่ที่เกิดขึ้นมาเพื่อจะเปลี่ยนอารยธรรมมนุษย์ เอาละ ขอผ่านไป เอาเป็นว่า จัก-กะ ในตอนนี้ก็คือขั้นตอนสำคัญของอารยธรรมมนุษย์ที่ถึงขั้นมีรถ มีพาหนะที่จะได้เดินทางไปไกลๆ ของการค้า ธุรกิจ การพาณิชย์ และการแผ่นอำนาจ ต่อมาอีกยุคหนึ่งก็เข้าสู่ยุคที่เรียกว่าอุตสาหกรรม พอเข้ายุคอุตสาหกรรมก็มีจักรแบบพระนารายณ์เกิดขึ้น จักรแบบพระนารายณ์ก็คือจักรวงกลมที่มันมีจักรอยู่รอบๆ จักรไทย มีจักรๆๆๆ อยู่รอบนั้น ก็มาเป็นฟันเฟืองไง ฟันเฟืองนี่ก็เป็นสัญลักษณ์อันหนึ่งของอุตสาหกรรม บางทีก็เป็นสัญลักษณ์ของวิชาวิศวกรรมสาสตร์ ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าวิชา จักรยนตศาสตร์ ก็คือเรื่องวงลมนี่สำคัญมาก วงกลมที่มันหมุนนี้เป็นตัวสำคัญเลย ไม่มีตัวนี้แล้วอุตสาหกรรมไปได้ยาก ฉะนั้นยุคอุตสาหกรรมก็เจริญขึ้นมาด้วยจักรตัวนี้ จักรวงกลมวงล้อที่มันหมุนอันนี้ ซึ่งตอนนี้มันอาจจะมีรูปจักรอยู่ที่ขอบ ก็เจริญกันมา จนกระทั่งแม้แต่เครื่องบิน เครื่องบินที่เป็นความเจริญของยุคอุตสาหกรรม มาประสานบรรจบกับการเดินทางสื่อสารคมนาคมที่เจริญสูงสุด ก็เทอร์โบเจ๊ต เทอร์โบตัวนี้ก็จักรอีกแหละ เทอร์โบ เทอร์บาย เครื่องยนต์พวกนี้เป็น ก็คือตัวมันเป็นรูปวงกลม แต่ว่าใช้วิธีเจาะช่องให้ไอแก๊สมันผ่าน เพื่อจะขับเคลื่อนไป ฉะนั้นเทอร์โบเจ๊ตก็เป็นเรื่องของจักรอีกที นี่ก็เจริญมาเป็นขั้นหนึ่งของอารยธรรม ยุคอุตสาหกรรมก็เจริญมาเรื่อย จนกระทั่งเวลานี้เขาบอกว่าผ่านพ้นยุคอุตสาหกรรมแล้ว มนุษย์ก็เจริญเข้าสู่ยุคที่เรียกว่าไอที เป็นยุคของเทคโลโลยีทางการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร อันนี้เรามักจะลืมว่าตัวสำคัญที่เป็นแกนหลักของความเจริญในยุคนี้ ก็คือจักรเหมือนกัน จักรตัวนี้เดี๋ยวนี้เขาเรียกว่าdisk ใช่ไหม disk ตัวนี้มันเป็นวงกลม จานนั่นแหละ เป็นจานกลมๆ เป็น hard disk ในเครื่องคอมพิวเตอร์ แล้วมาเป็น CD ย่อมาจากอะไร compact disk แล้วก็เป็น DVD ก็ digital video disk ก็ disk ทั้งนั้น เจ้า disk พวกนี้แหละที่เป็นแกนของความเจริญของยุคไอที ความเจริญนี่พุ่งมาถึงตอนนี้ เราก็อาศัยเจ้าจักรใหม่เป็นคอมพิวเตอร์จักร คอมพิวเตอร์จักรนี้ก็พาเราท่องเที่ยวไปใน space ใหม่ เรียกว่า cyber space ก็เป็นอวกาศแห่งความคิด หรือเป็นอวกาศแห่งจินตนาการ ไม่ใช่อวกาศที่แท้จริง แล้วเราก็อาศัยเจ้า disk พวกนี้พาเราไป เราก็ท้องเที่ยวไป บางทีเราไม่เห็นคุณค่า ไม่รู้หรอกว่ามันเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ เราก็มีอินเทอร์เนต เราก็มีเครือข่ายที่เชื่อมต่อถึงกัน แล้วก็อย่างที่ว่าก็ไปใน cyber space แล้วเราก็สนุกสนานกันใหญ่ แล้วบางทีเราก็เลยลุ่มหลง เพลิดเพลิน ก็ไม่ได้คิดอะไร มองให้ดี ย้อนไปมองว่าพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้แล้ว เรื่องจักรนี่ถ้าไม่ใช้ให้ดีนะ มันเป็นล้อรถพาหมุนไป รถพอเดินทางไปเนี่ย เมื่อกี้บอกมีทางสายกลางเป็นทางที่ถูกต้อง พระพุทธเจ้าให้เราเดินทางที่ถูกต้อง เพราะเขาคงเห็นแล้วว่าคนเดินทางผิด ทางผิดเขาเรียกว่าทางสุดโต่ง มีสองทาง ทางสุดโต่งซ้าย กับทางสุดโต่งขวา ทางหนึ่งไปแล้วตกหลุมตกเหวไป อีกทางหนึ่งไปแล้วก็วนเวียนอยู่นั่นไม่ไปไหน ก็วนเวียนมันก็ไม่ไป ก็จบ ทีนี้สองทางที่ผิดนี้ พระพุทธเจ้าบอกไม่ให้ไป ไม่ว่ามนุษย์ในยุคสมัยไหนก็สามารถเดินทางผิดอย่างนี้ได้ทั้งนั้น คือวิถีชีวิตของมนุษย์และการดำเนินกิจกรรมทั้งหลาย แม้แต่อารยธรรมของมนุษย์ก็จะตกอยู่ในวิถีนี้ ว่าจะไปสู่วิถีที่ถูกต้องเป็นทางสายกลาง หรือจะไปสู่ทางที่สุดโต่ง เป็นทางซ้าย ทางขวา อัตตกิลมถานุโค กามสุขัลลิกาถานุโยค กามสุขัลลิกาถานุโยค เวลานี้เราได้จักรคือ disk ตัวนี้มาพาเราท่องเที่ยวไปใน cyber space ด้วยระบบอินเทอร์เนต เครือข่ายที่มีการเชื่อมต่อถึงกันหมดเนี่ย เราได้นึกไหมว่าเราทำงานถูกต้องหรือเปล่า เรากำลังเดินทางนะที่เราไปเนี่ย ทางสายหนึ่งก็ไปตกหลุมตกเหวอย่างที่ว่า อีกสานหนึ่งก็คือไปวนเวียน เราก็อาจจะฝันเพ้อไป ก็บอกแล้วว่า cyber space เป็นอวกาศแห่งจินตนาการ ไม่ใช่ของจริง แล้วจินตนาการนี้ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็เป็นจินตนาการแห่งความเพ้อฝัน แล้วก็ลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมา บางทีก็ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่มาหาผลประโยชน์โดยไม่รู้ตัว หรือบางทีตัวเองก็ทำลายชีวิตทำลายความเจริญก้าวหน้าของตัวเอง ของสังคมไป โดยที่มัวลุ่มหลง แล้วก็ไม่พัฒนาชีวิตของคนเองตามที่มันควรจะเป็น ใช้เวลาของชีวิตให้เสียไปเปล่าแทนที่สิ่งเหล่านี้จะมาเป็นเครื่องมือเพื่อจะช่วยพัฒนาชีวิต พัฒนาสังคม ก็เลยกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชีวิตของตนเนี่ยต่ำ และเป็นเครื่องเบียดเบียนสังคม ทำให้สังคมเสื่อมโทรมลงไปอีก ซึ่งเวลานี้เรากำลังเป็นปัญหากันมาก ก็คือการที่เราอาศัยจักรตัวนี้ แต่เดินทางผิดหรือไม่ ก็คือไปสู่ทางสุดโต่งหรือไม่ ฉะนั้นเราจะต้องมาคิดกันเมื่อถึงวันอาฬสาหบูชานี้ ก็คือว่าวันอาสาฬหบูชาวันประกาศพระธรรมจักร แสดงทางสายกลางนั้น เป็นวันที่เตือนใจเราให้มาพิจารณาว่า การดำเนินชีวิต การประกอบกิจกรรม และการพัฒนาแม้แต่อารยธรรมขอเรา มุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ เรามีจิตสำนึก แม้แต่รู้ตัวมีสติหรือเปล่า ที่จะเตือนตนเองและใช้ปัญญามองให้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นคุณประโยชน์ที่แท้จริง มิฉะนั้นแล้วเจ้าความเจริญที่เรียกว่าอินเทอร์เนต ที่มันแปลว่าเครือข่าย ที่เชื่อมต่อถึงกันเนี่ย มันอาจจะกลายเป็นตาข่าย ถ้ามันเป็นตาข่ายมันก็ดักเราติดเลย แล้วปรากฏว่าเวลานี้เครือข่ายนี่เป็นตาข่ายเยอะแล้ว คนจำนวนมากไปติดในตาข่ายนี้ แล้วก็ดิ้นไม่หลุด นำไปสู่ความทุกข์ในขั้นสุดท้าย แต่ระหว่างนี้ก็ดิ้นไปบางทีก็สนุกไม่รู้ตัว ดิ้นไปดิ้นมาไม่รู้ว่าตัวเองเอาตาข่ายพันตัว เหมือนร่างแหที่ปลาเข้าไปติดแล้วมันก็ดิ้นไปดิ้นมา ตอนแรกมันนึกว่าจะได้กินเหยื่ออร่อย ดิ้นไปดิ้นมาติด โดนเขาจับขึ้นมาใส่หม้อแกง จบ ฉะนั้นก็คิดกันให้ดี ในที่สุดเราไม่ไปถึงไหน เราก็ยังอาศัยจักรนี้ จักนนี่ก็คือล้อที่นำรถ คือยานพาหนะไป พระพุทธเจ้าบอกว่าให้เปลี่ยนเป็นธรรมจักร แล้วธรรมจักร นี่ก็มาเป็นธรรมรถ เพราะว่าเป็นล้อของรถธรรมะเรียกว่าธรรมรถ หรือธรรมยาน ธรรมยานนี้ก็พาเราเดินไปในทางสายกลาง ทางสายกลางนั้นก็คือทางที่ประกอบด้วยปัญญา มีความรู้เท่าทัน ถ้าเราทั้งหลาย แม้จะเจริญเข้าสู่ยุคของ cyber space ใช้อินเทอร์เนตอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราไม่ลืมสติ เรายังรู้จักใช้ปัญญา และใช้มันเพื่อปัญญา เราจะมีทางเจริญพัฒนา ถ้าท่านใช้เพียงเพื่อบำรุงบำเรอปรนเปรอหาความชอบใจ หาความสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างเดียวเนี่ย นั่นก็คือการที่เราอยู่ในเส้นทางสายที่มันวนเวียน แล้วมันก็ไม่ไปไหน ในที่สุดก็จะใช้เวลาให้หมดไปเปล่า แล้วความเจริญพัฒนามันก็ไม่สมารถจะเกิดขึ้นได้ ก็จะต้องคิดให้ดี ทางสายกลางก็มาพูดกันนิดเดียวก็พอ
เอาล่ะ มาถึงยุคนี้เราก็ต้องยังอยู่ด้วยจักร แต่ว่าเราไปในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น แล้วเรามีโลก มีจักรวาลแห่งจินตนาการ ซึ่งถ้าเราไม่ปฏิบัติต่อมันให้ดีแล้ว เราจะลุ่มหลงเพลิดเพลิน แล้วความลุ่มหลงเพลิดเพลินนี้เป็นโมหะ เป็นอวิชชาจะนำไปสู่ความพินาศ แล้วมันก็จะเป็นตัวต้นทุนที่มาให้โอกาสแก่โลภะ โทสะ เพราะถ้าโมหะมา เจ้าโลภะ โทสะ ก็ตามมาด้วย สิ่งแรกที่สำคัญพระพุทธเจ้าวางไว้ ทางสายกลางนั้นก็คือต้องมีสัมมาทิฐิ มีความรู้เท่าทัน มีความเห็นชอบ รู้เข้าใจปัญญาเห็นชอบ ใช้มันด้วยความรู้เข้าใจ เริ่มต้นต้องมีสติถามตัวเองว่าเรามีไว้เพื่ออะไร แม้แต่จะซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งก็ต้องวางแผนให้ดีก่อน ว่าเราจะใช้มันเพื่ออะไรบ้าง ความสนุกสนานเพลิดเพลินมันควรจะเป็นเพียงตัวประกอบใช่ไหม ประโยชน์ที่แท้มันอยู่ที่ไหน จะเอามาทำประโยชน์แก่ชีวิตแก่ครอบครัวแก่สังคมได้อย่างไร พัฒนาชีวิตของเราได้อย่างไร วางแผนการใช้ นี่ก็ใช้ปัญญานะ ใช้ปัญญาและต้องเพื่อปัญญา ใช้แล้วเราได้ปัญญาไหม ได้ความรู้ไหม ปัญญาพัฒนา เรียนรู้เจ้าใจโลก อย่างน้อยรู้ข่าวสารข้อมูลไม่พอ ต้องเข้าใจเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้น เอาไปใช้ประโยชน์ได้ สนองความต้องการในทางที่เป็นคุณ เป็นประโยชน์ได้ แล้วก็มองว่าที่จริงมันมีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมนะ แล้วเราจะใช้เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตอย่างไร ใช้เพื่อประโยชน์แก่สังคมอย่างไร ถ้าเกิดใช้แล้วลุ่มหลง ชีวิตเราไม่พัฒนา ก็ต้องสงสัยว่าผิด แล้วใช้แล้วไม่เกื้อกูลแก่ครอบครัว แก่เพื่อนมนุษย์ แก่สังคม เอ ต้องสงสัยแล้วว่าผิดแน่ เดินทางผิด ไม่ใช่ทางสายกลางแล้ว แค่นี้ก็เริ่มเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง ถ้าเราเดินอยู่ในทางที่ถูกต้อง มีธรรมจักร มีล้อรถแห่งธรรมะ มีธรรมรถ มีรถที่ถูกต้อง รถที่เป็นธรรมะและก็เดินไปในทางสายกลางแล้ว จะไปในอินเทอร์เนต ท่องเที่ยวไปใน cyber space ก็ไม่ผิดพลาด ก็จะได้แต่คุณประโยชน์ ไม่เป็นปัญหา เพราะฉะนั้น มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางของพระพุทธเจ้านี้ ใช้ได้อย่างดีในยุคนี้ด้วย ในยุค cyber space นี้ ก็ขอให้เราช่วยกันนำเรื่องนี้มาพิจารณา
อาตมาก็คิดว่าวันนี้พูดแค่นี้ก็แล้วกัน ไม่ต้องขยายความมาก เป็นเรื่องที่ว่าเราต้องใช้ประโยชน์จากวันสำคัญของพุทธศาสนาให้ถูกต้อง ธรรมะนี้มีความหมายกว้างไกล เพราะเป็นเรื่องของปัญญา มัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางคืออะไร คือ อา-ริ-โย-ถัง-ทิ-โก-สา-ยะ-ถี-สัม-มา-ทิ-ฐิ-สัม-มา-สัง-กับ-ปะ ก็ว่าเรื่อยไป สัมมาทิฐิก็เริ่มด้วยปัญญาอันเห็นชอบ และมีสติไปกำกับคอยเตือน พอเจออะไร สติมา เตือนทันที ให้พิจารณาก่อนว่าวัตถุประสงค์ของเรื่องนี้ที่แท้มันเพื่ออะไร แล้วเรากำลังจะใช้มันถูกทางหรือไม่ ที่ใช้ไปแล้วใช้ถูกไหม จะใช้ต่อไปใช้อย่างไรจึงจะถูก พอเราใช้ถูกต้องเราก็เดินไปในทางสายกลาง มัชฌิมาปฏิปทา ล้อรถแห่งธรรมก็มาทำหน้าที่ขับเคลื่อนเราไป ท่านเรียกว่าล้อแห่งวิริยะ ตัวล้อนี่ที่เรียกว่าวิริยะ วิริยะก็คือความเพียร มันจะเป็นล้อที่ขับเคลื่อนเราให้เดินหน้าไปเรื่อยๆ ธรรมรถเดินไป อาศัยธรรมจักรนี้เดินไปในทางสายกลางสู่จุดมุ่งหมาย ก็คือความร่มเย็นเป็นสุขที่แท้จริงของมนุษย์ ทั้งชีวิตส่วนตัวครอบครัวตลอดจนทรัพย์สิน สังคม ประเทศชาติ และโลกนี้ ให้อารยธรรมนำไปสู่จุดหมายที่แท้จริง คือสันติสุขของมนุษยชาติ ก็ขออนุโมทนาโยมทุกท่านที่ได้มาร่วมทำบุญในวันนี้ ได้มาร่วมวันอาสาฬหบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญ ย้ำอีกทีว่าเป็นการประกาศแสดงธรรมจักร ทางสายกลาง แล้วก็ขอชวนให้พวกเรานำเอาล้อธรรมจักรมาเป็นเครื่องขับเคลื่อนเราให้เดินไปในทางสายกลาง ในความสุขความเจริญดังที่ว่ามานั้น ในโอกาสนี้ก็ขออนโมทนาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย แล้วบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญร่วมกัน ขอให้ทุกท่านจงได้มีจิตใจสดชื่น เบิกบาน ผ่องใส เอิบอิ่ม ปลาบปลื้มใจ แล้วมีความสุข ทั้งในส่วนตัว ครอบครัว และในชุมชน สังคมประเทศชาติสืบไป ก็ขอจงมีความร่มเย็นงอกงาม