แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เรามาคุยธรรมะเล็กๆ น้อยๆ กัน ตอนนี้เวลาจะฉันข้าวยังสวดปฏิสังขาโยหรือเปล่า สวดนะ แล้วเข้าใจความหมายไหม คือให้รับประทานอาหารด้วยปัญญา สาระสำคัญ ไม่ใช่รับประทานเพียงด้วยตัณหา สองอย่างนี้จะมีพูดถึงในนั้น ต่างกันอย่างไร ตอนแรกท่านจะบอก เราพิจารณาแล้วโดยแยบคายจึงฉันภัตตาหารนี้ มิใช่เพื่ออย่างนี้ๆ ท่อนที่หนึ่ง มิใช่เพื่อเห็นแก่เอร็ดอร่อย มิใช่เพื่อสนุกสนานมัวเมาโก้เก๋ นี่ท่อนที่หนึ่งเรียกว่าด้านตัณหา ถ้าไปกินอาหารเพื่ออย่างนั้นก็ไปกินเพื่อสนองตัณหา แต่รับประทานเพื่อยังชีวิตให้เป็นไป เพื่ออนุเคราะห์ชีวิตที่ดีงาม อนุเคราะห์นี้หมายความว่าเกื้อหนุน เกื้อหนุนการมีชีวิตที่ดีงามประเสริฐ เราจะทำหน้าที่อะไร ทำความดีอะไรเราก็จะได้มีกำลังไปทำ โดยเฉพาะก็คือใครอยู่ในชีวิตกิจการงานอะไร มีหน้าที่อะไรก็จะมีกำลังไปทำ ร่างกายจะได้อยู่ดี ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน แล้วก็กินไม่ให้เป็นโทษ ท่อนแรกก็ปฏิเสธว่าไม่กินด้วยตัณหา ท่อนสองก็กินด้วยปัญญา กินด้วยปัญญาก็คือกินด้วยความรู้เข้าใจความหมายที่แท้จริงของการบริโภคอาหาร หมายความว่าการกินอาหารนี้ ความมุ่งหมายที่แท้ที่เป็นประโยชน์ของมันคืออะไร ใช่ไหม ท่านก็ให้เข้าใจ แล้วกินให้ตรงความมุ่งหมายนั้น เพราะว่าคนเรานี้มันก็จะมี 2 แบบ คือกินสนองความต้องการที่เป็นเรื่องของความรู้สึก ชอบใจ ไม่ชอบใจ เอร็ดอร่อย โดยไม่รู้ว่าที่กินไป ความมุ่งหมายที่แท้คืออะไร รู้ก็ไม่ตระหนักเวลากิน ไม่ได้นึกถึง ทีนี้ท่านก็เลยเตือน เวลารับประทานอาหารก็ให้พิจารณา เป็นการฝึก การรับประทานอาหารนี้ก็เป็นเพียงตัวอย่าง การเกี่ยวข้องบริโภคใช้สอยปัจจัยสี่ ตลอดจนอุปกรณ์เทคโนโลยีทุกอย่าง ที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง ที่นำมาใช้ประโยชน์ ก็ต้องมีวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ซึ่งเป็นคุณค่าของมัน เราพูดได้ว่าเป็นคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นต่อชีวิตของเรา ทีนี้เราจะใช้อะไรเราก็ต้องจับให้ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างคนซื้อรถ คุณค่าที่แท้จริงของรถคืออะไร แต่ว่าสำหรับคนนี่มันจะมีอันหนึ่งมาประกอบ ซึ่งหลายคนจะไปเด่นที่อันนั้น ไปเด่นที่ด้านความรู้สึก ซื้อรถก็จะนึกถึงว่า เราต้องมีรถ ไม่งั้นไม่โก้ ไม่มี แสดงว่าเรานี้ด้อยกว่าเขา หรือว่าอยากจะให้เด่นอะไรอย่างนี้ โดยไม่ได้คิดถึงว่าตัวรถที่แท้มันเป็นยังไง แล้วประโยชน์ที่แท้ที่เรียกคุณค่านี่ของรถคืออะไร อะไร เป็นยานพาหนะสำหรับให้เดินทางโดยสะดวก ไปถึงที่หมายโดยรวดเร็ว แล้วก็ควรจะมีคุณสมบัติประกอบ เช่น ความปลอดภัย ความแข็งแรงทนทาน อันนี้ก็เมื่อมองเห็น คุณสมบัติที่แท้เนี่ยมันต้องใช้ปัญญา การใช้อย่างนี้จะไม่พลาด แล้วการตัดสินใจก็จะได้ประโยชน์พอดี เพราะว่าความมุ่งหมายอะไรที่แม้เมื่อเราเอาความมุ่งหมายที่เรารู้ด้วยปัญญาที่เป็นความจริงไปตัดสิน มันก็จะเกิดความพอดี ถึงได้ให้ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็อาหารเป็นเรื่องประจำวัน อย่างว่าถ้าเรารู้ว่าเรากินอาหารเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงสุขภาพดี ใช่ไหม อันนี้มันตรงความต้องการของชีวิต เรามองที่จุดนี้ เกณฑ์ตัดสินมันมีว่า ให้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ก็กินให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย หนึ่ง-มันก็จะจำกัดปริมาณอาหารที่บริโภค ใช่ไหม เรากินมากไป อร่อยอยู่ แต่กินเข้าไปๆ ก็เป็นโทษต่อร่างกาย ก็ไม่กิน เพราะว่าเป้าหมายมันอยู่ที่สุขภาพ ปริมาณอาหารก็พอดี สอง-ประเภทอาหาร เราต้องเลือกอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของเรา เราก็ศึกษาว่าอาหารชนิดไหนบ้างที่ร่างกายต้องการ กินแล้วจะเป็นประโยชน์ไม่เกิดโทษกับชีวิตของเรา เราก็ได้ประเภทอาหารที่พอดี แต่ถ้าเราไม่มีเกณฑ์ตัดสินด้วยปัญญาที่รู้คุณค่าความมุ่งหมายที่แท้จริง เราก็กินไปตามความรู้สึก เรียกว่าชอบใจ ไม่ชอบใจ กินด้วยปัญญานั่นคือกินด้วยความรู้ ตรงข้ามก็คือกินตามความรู้สึก รู้สึกก็ชอบใจ ไม่ชอบใจ มันก็จะไม่มีขอบเขต กินตามอร่อย ยังอร่อยอยู่ก็กิน แล้วถ้าไม่อร่อย ตรงข้าม ไม่ยอมกิน ทั้งๆ ที่ของนั้นมีประโยชน์ แล้วไปกินของประเภทที่มันมาสนองความอยาก แล้วบางทีมันไม่ใช่แค่อร่อย เอาโก้เอาเก๋ ใช่ไหม ฉะนั้นคนจำนวนมากกินสิ้นเปลืองเปล่าๆ แล้วไม่ได้ประโยชน์ เป็นปัญหาให้กับโลกนี้มาก ไม่ใช่เฉพาะกับชีวิตบุคคล สังคมนี้เป็นปัญหามาก หลายคนนี้กินล้างกินผลาญ ใช่หรือเปล่า กินอาหารมื้อละหมื่นก็มี มื้อละแสนก็มี แล้วไม่เป็นประโยชน์กับร่างกายด้วย กินแล้วเป็นโทษ เป็นพิษเป็นภัย แล้วก็เบียดเบียนกันสิ เพราะว่าต้องใช้สิ้นเปลือง ก็ต้องหาเงิน แย่งกันชิม บางทีก็ต้องเอาเปรียบคนอื่น มนุษย์ที่เป็นปัญหามันเป็นมาจากเรื่องนี้มาก โดยที่แท้ว่าไปแล้วก็คือจากตัณหานี่แหละ ทีนี้ถ้ากินด้วยปัญญานะ ซื่อตรงตามปัญญาบอก มันก็ง่าย กินอาหารมื้อหนึ่งก็อาจจะไม่แพงเท่าไหร่ใช่ไหม ตรงความต้องการของร่างกาย ได้ประโยชน์ด้วย แต่ถ้ากินด้วยตัณหานี่ ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีพอดี ไม่รู้ขอบเขต เป็นโทษต่อชีวิตตนเอง เป็นโทษต่อสังคม เบียดเบียนกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็สอนให้เราฝึก นี่คือการศึกษาเบื้องต้น ในขั้นนี้เรียกว่าศีลนะ การปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อมถูกต้อง เป็นศีล เพราะยังไม่ใช่เรื่องจิตใจโดยตรง แต่มันมาจากปัญญาและจิตใจด้วย คือเวลาเรามีชีวิตเนี่ย ทั้งด้านความสัมพันธ์สิ่งแวดล้อม การแสดงออก พฤติกรรม ทั้งด้านจิตใจทั้งปัญญามันต้องมาด้วยกันหมด แต่ตอนนั้นตัวปรากฏการณ์มันอยู่ที่ด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ปัญญา กับจิตใจนี่เป็นตัวที่มาหนุน ฉะนั้นในเรื่องที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก เรื่องพฤติกรรมนี่ที่เกี่ยวกับกาย วาจา ไปแสดงออก ทำอะไรเนี่ย ท่านเรียกว่าด้านศีล ทีนี้การไปเกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ รับประทานอาหารเป็นต้น ก็เลยเป็นเรื่องศีล ฉะนั้นที่เราท่องสวด
ปฏิสังขาโย เป็นเรื่องของการฝึกในขั้นศีล ศีลวันที่บวชก็ได้อธิบายแล้ว แต่ท่านอาจจะได้ยินมากเกินไป จำไม่ไหม ฉะนั้นผมบอกแล้วนี่ว่าศีลนั้นก็คือการที่เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอกด้วยกาย วาจา ของเรา แล้วการสัมพันธ์นั้นมีอะไรบ้าง นี่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม 3 อันพื้นฐาน คือ ปัจจัยสี่ อาหารการกิน การบริโภค นี่เป็นศีลอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่า ปัจ-จะ-ยะ-ปัต-ติ-เส-วะ-นา ปัต-ติ-เส-วะ-นา ก็คือการเสพการบริโภค เส-วะ-นา เสพไง ปัจจัย ก็ ปัจจัยสี่ แล้วก็สิ่งของเครื่องใช้เกื้อหนุนชีวิต เข้าใจไหมสิ่งที่เกื้อหนุน ในที่นี้เราหมายถึงเกื้อหนุนชีวิตใช่ไหม เราต้องอาศัยมัน เราไม่อาศัยมันเราก็แย่ ด้านนี้ก็เป็นศีลประเภท 1 ใน 4 อย่าง ศีลมี 4 หมวด 4 ประเภท ด้านนี้สำคัญ เรารับประทานอาหารก็ให้รู้ว่าที่แท้เพื่ออะไร แล้วรับประทานให้ตรง ต่อไปเราก็ฝึก เราใช้เครื่องนุ่งห่ม เรามีที่อยู่อาศัย เราจะซื้อรถซื้ออะไรต่างๆ นี่ เราพิจารณาด้วยปัญญาว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงที่มันจะมีประโยชน์ต่อชีวิตเรานั้นคืออะไร แล้วเอาอันนี้เป็นหลัก ส่วนที่ว่าเรายังมีตัณหาอะไรเป็นปุถุชนก็เป็นธรรมดา อย่าให้มันมาครอบงำเป็นใหญ่ ให้มันเป็นรอง ต้องเอาด้านที่หนึ่งที่เป็นเรื่องปัญญาเป็นของแท้ให้ได้ก่อน แล้วที่เหลือก็ประกอบ พอเราได้หลักนี้เราจะมั่นใจ แล้วเราจะไม่หลง เราจะระงับยับยั้งตัวเองได้ง่าย มีสติดีขึ้น ไม่งั้นเราก็หลงเพลิดเพลินไปตามกระแส กลัวจะน้อยหน้าคนอื่น กลัวจะไม่เด่น เราก็ไม่มีชีวิตที่ดีงามแท้ แล้วก็ทำให้เสียแก่สังคมไปด้วย อันที่หนึ่งก็คือ ปัจ-จะ-ยะ-ปัต-ติ-เส-วะ-นา ทีนี้เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมยังมีเรื่องอะไร ก็เรื่องตา หู จมูก ลิ้น ของเรา ตาดู หูฟัง ที่ได้ย้ำบ่อยๆ ดูเป็น ฟังเป็น ดูทีวีเพื่ออะไร มนุษย์ต้องการอะไรจากสิ่งเหล่านี้ ก็ต้องการข้อมูลความรู้ แล้วจะเป็นประโยชน์กับชีวิตใช่ไหม เราจะอยู่ได้ดีขึ้น เราจะได้พัฒนาชีวิตของเรา เราจะได้ทันต่อสิ่งทั้งหลาย เราจะได้ปฏิบัติต่อมันถูก แต่ทีนี้บางคนดูแล้วไม่ได้ประโยชน์เลย ไม่ได้ข้อมูลอะไรเพิ่มเลย ได้แต่ความรู้สึกอย่างเดียว แล้วก็ลุ่มหลงไป ถูกมันกล่อม มันชัก มันจูง เกิดโทษกับชีวิต ฉะนั้นท่านก็เลยเน้นว่าการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ต้องให้ได้ประโยชน์ มีสติคอยกำกับไว้ แล้วก็ให้คอยพิจารณาว่าประโยชน์ที่แท้เราได้ไหม โดยเฉพาะก็คือด้านปัญญาและความดีงาม ความไม่เสียหาย ดูทีวีปั๊บ ต้องได้อันที่หนึ่งก็คือความรู้ สอง-ประโยชน์ คติธรรมอะไรต่างๆ เหล่านี้ ด้านที่ไปลุ่มหลงเพลิดเพลินเราก็เอาแค่สนุกสนานหย่อนใจบ้างพอประมาณ ต้องมีสติคอยยับยั้งตรงนี้ อันนี้ก็เป็นศีล ท่านเรียกว่าอินทรีย์สังวร ศีลประเภทเมื่อกี้ ปัจ-จะ-ยะ-ปัต-ติ-เส-วะ-นา การเสพปัจจัยสี่ อันนี้อินทรีย์สังวร เรื่องการใช้อินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ตามจริงท่านเรียงอินทรีย์สังวรก่อนนะ แล้วถึงมาข้ออื่น ตา หู จมูก ลิ้น มันใช้ตลอดเวลา แล้วก็อะไรอีก ด้านอีกด้านหนึ่งก็คือด้านการอยู่ร่วมชุมชน การมีชีวิตอยู่ในหมู่คณะ การอยู่ในสถาบันองค์กร ในหมู่บ้านอะไรก็แล้วแต่ ในโรงเรียน ชุมชนต่างๆ จะมีวินัย ใช่ไหม ต้องอยู่ร่วมกันให้ดี แล้วก็มันจะมีกฎระเบียบกติกา เพื่อการอยู่กันด้วยดี แล้วแต่ละคนก็จะได้ดำเนินชีวิตของตนก้าวไปในสังคมชุมชนนั้น ท่านจะเรียกว่าเป็นศีลอีกประเภทหนึ่ง เหมือนอย่างเรามาบวชมีศีล 227 คือศีลประเภทนี้ ชื่อพระท่านเรียกว่า ปาฏิโมกขสังวรศีล จะไปชุมนุมชนไหน แม้แต่ประเทศก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ ใช่ไหม ศีลประเภทนี้ก็สำคัญ วางไว้เพื่อให้หมู่ชนนั้นอยู่กันได้ด้วยดี เมื่ออยู่กันได้ด้วยดีแต่ละคนนั้นเองก็จะได้ดำเนินชีวิตก้าวไปสู่จุดหมาย จะได้พัฒนาตัวได้สะดวกคล่องตัว มันเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตัวเราเองก็ต้องเกื้อหนุนส่วนรวมให้ส่วนรวมอยู่ได้ดี ไม่ไปเป็นส่วนประกอบที่ทำลายให้เกิดความเดือดร้อน เมื่อสังคมหมู่ชนอยู่ดี มันก็กลับเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เราทำอะไรได้คล่องตัว มันก็หนุนซึ่งกันและกัน แล้วศีลประเภทหนึ่งก็คือการประกอบอาชีพ เรียกว่า สัมมาอาชีพ หรือภาษาพระเรียกว่า อาชีวปาริสุทธิศีล ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีพ ก็เราทำการทำงาน อยู่ในโลกก็ต้องหาเลี้ยงชีพเป็นธรรมดา แต่การหาเลี้ยงชีพก็หลักการเบื้องต้นคือ อย่าสร้างความเดือดร้อนเวรภัยแก่ผู้อื่น ให้เป็นอาชีพสุจริต แล้วประโยชน์ต่อจากนั้นก็คือ อาชีพที่ดีนั้นมันเป็นอาชีพที่สร้างขึ้นด้วยความต้องการความจำเป็นของมนุษยื เช่นว่าทำไมมีอาชีพแพทย์ เพราะว่าคนมีโรคภัยไข้เจ็บ ทำไมมีอาชีพสถาปัตย์ เพราะต้องมีการก่อสร้างสิ่งโน้นสิ่งนี้ ทำไมต้องมีวิศวกรรมศาสตร์ มันก็ต้องมีเหตุผลทั้งนั้น ทีนี้อาชีพแต่ละอาชีพเนี่ย ก็มีไว้เพื่อแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ประโยชน์สู่สังคมอย่างใดอย่างหนึ่ง เราก็ทำอาชีพให้ตรงความมุ่งหมายนี้ อย่าไปเห็นแก่ว่าได้รายได้อย่างเดียว ต้องทำให้ได้วัตถุประสงค์ของอาชีพนั้น ถ้าเราเป็นแพทย์เราก็ต้องคำยึงถึงอาชีพแพทย์ เพื่อจะช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ ทำให้เขามีสุขภาพดี อันนี้เราต้องทำให้ได้วัตถุประสงค์นี้ ถูกไหม เพราะฉะนั้นหนึ่ง-ไม่ก่อความเดือดร้อนเบียดเบียน อิงสุจริต ไม่ทุจริต ไม่ใช่แค่นั้น สอง-ให้ได้วัตถุประสงค์ของอาชีพนั้น ถ้าคนไม่เอาอย่างนั้นก็เอาแต่หาประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียว ไม่คำนึงถึงคนอื่น ไม่คำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้ของอาชีพ สาม-อะไรต่อไปอีก สามก็คือว่าชีวิตของเราส่วนใหญ่นี้ มันหมดไป เวลาเราใช้ไปกับเรื่องของการทำอาชีพเยอะ วันๆ หนึ่งหมดไปกับอาชีพเท่าไหร่ อาชีพการงาน อย่างวันหนึ่งประกอบอาชีพราชการวันหนึ่ง 8 ชั่วโมง 1 ใน 3 ของวันเลย แล้วไม่เฉพาะไปอยู่ที่ทำงานนะ เดินทางอีก ขับรถอีก เตรียมตัวอาบน้ำอาบท่าไป ตกลงมันกินเวลาชีวอตเราวันหนึ่งเยอะ เกือบครึ่งหนึ่งเลย ฉะนั้นเราจะต้องเอาประโยชน์จากเวลาที่เสียไป ชีวิตของเรานี่หมดไปกับมันตั้งเกือบครึ่ง เราทำไงจะให้ได้ประโยชน์ เราก็ชีวิตของเราจะดีด้วยการฝึกพัฒนาตัวเอง เราก็ต้องใช้อาชีพเป็นแดนพัฒนาตัวเอง นี่จะเป็นวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด เพราะว่าคนเรานะเมื่อประกอบอาชีพเป็น ไม่ใช่สักแต่ว่าทำแล้วก็เลยฝืนใจ แล้วสักแต่ว่าหากินหาเลี้ยงชีพ แต่ทำด้วยความรู้เข้าใจว่าเราใช้เวลาไปกับอาชีพการงานนี้มาก แล้วในอาชีพการงานนี้นะ ที่จริงเราฝึกตัวเองตลอดเวลา เราทำงานเราฝึกมือฝึกเท้า เราฝึกการสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ เราฝึกจิตใจของเราว่าเราเจอสิ่งโน้นสิ่งนี้กระทบกระทั่งอะไรต่ออะไร เรารับได้ไหม เราแก้ปัญหาได้ดีไหม สัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีไหม ใช่ไหม เรารู้จักพูดจักจาไหม แล้วจิตใจของเรามีความเข้มแข็งอดทน มีสมาธิ มีสติในการทำงานไหม เรารู้จักแก้ปัญหา ได้เรียนรู้หาความรู้ในเรื่องการงานให้ดียิ่งขึ้น ปัญญาของเราจะได้พัฒนาไหม ถ้าเราใช้อาชีพเป็นแดนพัฒนาตัวเอง ฝึกตัวเอง ได้เยอะเลย ก็ยิ่งหาโอกาสเลย ใช้อาชีพเป็นที่ฝึกตัวเอง ทำด้วยความตระหนักรู้ แล้วได้ประโยชน์ ไม่งั้นหลายคนไม่ได้ประโยชน์ เวลาก็เสียไปเปล่า ครึ่งค่อนชีวิต แล้วนอกจากนั้นก็คือ เมื่อประกอบอาชีพอะไร เราก็ทำอาชีพนั้นให้เป็นแดนมีความสุขของเราด้วย ถ้าเราทำอาชีพแล้วเราไม่มีความสุข เราก็หมดความสุขไปครึ่งชีวิตเลย ใช่ไหม แย่ นี่แหละก็เลยว่าเรื่องศีลเป็นเรื่องใหญ่ ศีลก็คือความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมที่ออกมาในรูปที่ว่าไปแล้ว เอาทวนอีกที ศีล ทีนี้ว่าตามลำดับ หนึ่ง-การใช้อินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ตั้งแต่ดูฟังให้ดี ให้ได้สติปัญญา ประโยชน์ คติธรรม อะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ สอง-ก็เรื่องการประกอบอาชีพการงาน เป็นแดนใหญ่ที่เราควรจะได้ประโยชน์ แล้วก็ทำประโยชน์ด้วยนะ ได้ประโยชน์ตัวเอง แล้วทำประโยชน์กับสังคม แล้วทำดีแล้วก็ได้หมดเลย แล้วก็สาม-ก็เรื่องการเสพบริโภคปัจจัยสี่ สิ่งของเครื่องใช้บริโภคทั้งหลาย ใช่ไหม ให้กินด้วยปัญญา เมื่อกินด้วยปัญญา บริโภคด้วยปัญญา ก็จะเกิดความพอดี ท่านเรียกว่า มัตตัญญุตา เช่น โภชเนมัตตัญญุตา การรู้จักประมาณในการบริโภค ก็คือการบริโภคปัญญานั่นเอง แล้วชีวิตก็ดีด้วย ไม่เบียดเบียนกัน สี่-ก็เรื่องของวินัยที่เป็นหลักของชุมชนสังคมนั้นๆ ที่จริงท่านตั้งเป็นข้อหนึ่งด้วยซ้ำ อย่างของพระก็ ปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลก็มี 4 หมวดนี้ เรารู้จักกันมักจะรู้จักแค่ศีล 5 ศีล 5นี่ก็เป็นประเภทวินัยของคฤหัสถ์ สำหรับเป็นหลักประกันสังคมไม่ให้เบียดเบียนกันเกินไป ที่จริงไม่พอหรอก อย่างเด็กในบ้านเนี่ย ไม่ใช่ฝึกกันแค่ศีล 5 ฝึกศีล การใช้ตา หู เริ่มดูทีวีอะไรอย่างนี้ ฟังอะไรต่างๆ ถ้าเราไม่รู้จักฝึก เราก็มัวแต่หลงเพลิดเพลินใจ หารายการบันเทิงอย่างเดียว มันก็เป็นโทษ ไม่พัฒนาตัวเอง ทีนี้ที่จริงเรื่องบันเทิงอะไรต่างๆ ที่จริงมันเป็นเพียงส่วนประกอบของชีวิตเท่านั้น แต่เราเอากลับมาเป็นหลัก มันก็เสียหมดสิ ยิ่งสังคมสมัยนี้ก็หาเงินหาทองกันมาก ก็เอาเรื่องบันเทิงมาเป็นเรื่องล่อคน เพื่อจะได้เงินเยอะๆ แต่คนที่ถูกล่อนี่ไปติดบันเทิงนี่ ตัวเองเสีย เขาได้ แต่เขาก็ได้เงิน ไม่ได้สิ่งที่เป็นสาระเท่าไหร่ ได้ศีลแค่ 4 หมวดนี้แล้วก็ดีเยอะแล้วชีวิต ใช่ไหม เชื่อไหม แค่ศีลเนี่ยชาวพุทธยังไม่รู้จักกันเลย ศีล 4 ประเภท สาระสำคัญก็คือการที่ชีวิตของเราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทีนี้ลึกลงไปก็ไปเรื่องจิตใจ เรื่องปัญญา อันนั้นค่อยว่ากันอีกที ตอนนี้ก็เอาเรื่องศีลให้ชัด เราจะไม่อยู่แค่ศีล 5 แต่ว่าสังคมไทยแค่ศีล 5 ก็แทบตายแล้ว จะไม่รอดอยู่แล้ว แต่ทีนี้ถ้าเรามัวแต่เพ่งไปศีลอย่างเดียว ที่จริงมันกลับยาก ถ้าเราไปฝึกศีลอย่างอื่นมา มันกลับหนุนให้ศีล 5 บางทีเป็นไปได้เองเลย เหมือนอย่างจะไม่เบียดเบียนกันแย่งชิง ถ้าเราปฏิบัติตามศีลข้อการกินเสพบริโภคด้วยปัญญา รู้จักประมาณ มันกลับมาหนุนศีล 5 เอง เชื่อไหม มันก็ไม่ต้องไปเบียดเบียนกันสิ แล้วอย่างสุรามันก็ลดความสำคัญไปเลย ยาเสพติดก็ไม่มีปัญหา ทีนี้เรามัวไปเน้นจะเอาศีล 5 บังคับคน ถ้าฝึกด้วยความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน การใช้ตา หู จมูก ลิ้น ตั้งแต่เด็กแล้วอยู่ในบ้าน หนูดูทีวีเพื่ออะไร ผมเล่าบ่อยๆ เด็กประถมมา แต่ก่อนก็ต้องไปฉันข้างนอกนะ เด็กประถม 4 เด็กประถม 3 มา หนูดูทีวีมากไหม เยอะ บอกดูเยอะ อ้าว ดูวันละเท่าไหร่ บอกว่าถ้าเป็นวันธรรมดาก็ดูน้อยหน่อย ถ้าวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ดูทั้งวัน แล้วหนูดูทีวีดูเพื่อเสพกี่เปอร์เซ็นต์ ดูเพื่อศึกษากี่เปอร์เซนต์ เคยได้ยินไหมคำนี้ ไม่ได้ยินเลย แต่ว่าพอแยกให้ เดี๋ยวเดียวก็เข้าใจ ดูเพื่อเสพกับดูเพื่อศึกษา คนโดยมากไม่ได้คิด ไม่เคยดูตัวเองว่าเราดูเพื่ออะไร ดูเพื่อเสพกับดูเพื่อศึกษากี่เปอร์เซ็นต์ เด็กอาจจะงงตอนแรก เดี๋ยวก็รู้แล้ว พอรู้ เด็กบอกดูเพื่อเสพ 99 เปอร์เซ็นต์ ดูเพื่อศึกษาแทบไม่มี เด็กอีกคนหนึ่งใช้คอมพิวเตอร์ คุณพ่อซื้อให้ ก็บอกแล้วหนูใช้คอมพิวเตอร์เพื่อเสพกี่เปอร์เซนต์ เพื่อศึกษากี่เปอร์เซ็นต์ เหมือนกัน เสพ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทำอะไร เล่นเกม บอกอย่างนั้น แล้วบอกว่าหนูแล้วที่ดูทีวีเพื่อเสพ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วไม่มีเพื่อการศึกษาเลยเนี่ย หนูทำถูกไหม เด็กบอกไม่ถูก เด็กก็รู้ตัวนะ ถ้าถาม พอเราถาม เขาตรวจสอบตัวเองทันที เราไม่ต้องไปว่าไปอะไรเขาหรอก เขาก็จะพิจารณาเห็นได้เอง ทีนี้บอกว่าถ้ามันไม่ถูกแล้วทำไงดี เด็กก็บอกต้องแก้ไข ต้องแก้ไข แล้วหนูจะทำยังไง เด็กก็บอกว่าเอา 50/50 ว่างั้น ก็เลยบอกว่าไม่ต้องมากหรอกตอนนี้ ยอมให้ เราเคยมาก่อนเรื่องเสพเยอะ ตั้ง 99 เปอร์เซ็นต์ อยู่ๆ จะมา 50/50 แล้วสังคมมันก็เป็นอย่างนี้ด้วย ส่วนใหญ่ก็ทำมา เพราะฉะนั้นก็เห็นใจเด็ก ก็ค่อยๆ ฝึกไป แล้วก็หารือกัน ตกลงในที่สุดเด็กก็บอกเอาเสพ 70 ศึกษา 30 บอกเอาละ แค่นี้เริ่มต้น ต่อไปค่อยๆ ก้าวไป ทีนี้ถ้าคนมีหลักนะ ต่อไปก็จะมีมาตรฐาน มีการฝึกตัวเอง มีแนวทาง ทีนี้ก็คุมตัวเองอยู่ ก็เกิดความรู้จักประมาณ ทำอะไรท่านเรียกว่าให้รู้จักประมาณ มันจะมีสติ แล้วการที่เรารู้จักประมาณเพราะเรามีปัญญารู้ความจริง ว่าวัตถุประสงค์ที่แท้ คุณค่าที่แท้มันอยู่ที่ไหน ใช่ไหม ถ้าเราไม่รู้ ไม่มีปัญญา ไม่รู้ความหมายที่แท้จริง ประโยชน์ที่แท้จริงมันอยู่ที่ไหน มันจะรู้จักประมาณได้อย่างไร มันก็ไม่มี ก็ต้องตั้งเกณฑ์ให้ กลายเป็นบังคับฝืนใจ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้ใช้ปัญญา พุทธศาสนานี่จึงสอนเรื่องปัญญา เพราะฉะนั้นฝึกเรื่องศีล ท่านก็ให้เริ่มด้วยปัญญาที่ศีลข้อบริโภคปัจจัยสี่ อ้าว ให้พิจารณาได้โดยแยบคาย นี่คือปัญญา ศีลก็ต้องอาศัยปัญญาพิจารณา ให้รู้ว่าการที่เรากินอาหารนี้ มันไม่ใช่เพียงแค่นี้หรอก ไม่ใช่อยู่ที่เอร็ดอร่อย มาวัดฐานะแสดงความโก้เก๋ ไม่ใช่อย่างนั้น ที่แท้มันอยู่ที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี แล้วเราจะได้เอาร่างกายนี้ไปทำประโยชน์ ไปทำงานการ ทำหน้าที่ โดยเฉพาะพระท่านเน้นมากเพราะอะไร เพราะพระต้องอาศัยอาหารของญาติโยม ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ต้องกินด้วยปัญญา เอาคุณค่าที่แท้จริง ไม่เห็นแก่เรื่องเอร็ดอร่อยโก้เก๋ แล้วก็จะได้ไม่รบกวนญาติโยม ท่านเรียกว่าให้เป็นคนเลี้ยงง่าย แล้วก็จะได้เอาใจใส่ เอาเวลามาทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง คือการศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัย เผยแผ่
ธรรมไป ใช่ไหม นี่มันก็โยงกันไปหมด ฉะนั้นเรื่องปัจจัยสี่เป็นเรื่องใหญ่ ชีวิตของคนเราเวลานี้ เราจะเห็นว่าแม้ว่าโลกเจริญ ก็ไม่มีหลักในเรื่องเหล่านี้ ยิ่งมายุ มาล่อให้เสพบริโภคกันมาก ถือเป็นดีไปเลย แล้วที่จริงเกิดโทษกับชีวิตมากกว่า จริงไหมเดี๋ยวนี้ เกิดโทษกับชีวิตและสังคมมาก เพราะการเสพบริโภค ที่เรียกบริโภคนิยม นี่เป็นปัญหามากมาย ฉะนั้นการทำอะไรก็ หนึ่ง-คำนึงถึงประโยชน์ที่แท้ ทำอะไรเมื่อเกิดประโยชน์ที่แท้ จะเป็นคุณสมบัติแห่งชีวิต ก็คือทำให้ชีวิตเรามีคุณภาพดียิ่งขึ้น อันนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ที่แท้ ไม่ใช่ว่าทำอะไรเพื่อประโยชน์ตน ไม่ใช่หมายความว่าผลประโยชน์ได้เงินทองมาก ถ้าเงินทองมากนั้นมันไม่เกิดผลกับชีวิตที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น ท่านไม่ถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะตัวคนเรามันก็อยู่ที่เรา ชีวิตของเรา ใช่ไหม ทีนี้ถ้าชีวิตของเราดีขึ้น คุณภาพดีขึ้น มันก็เรียกว่าเป็นประโยชน์ตน เพราะฉะนั้นเป็นประโยชน์ในทางพระศาสนาที่ท่านเรียกว่าประโยชน์ตนนี่หมายถึงชีวิตของเราดีงามยิ่งขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น เช่นมีปัญญาดีขึ้น มีความสามารถมากขึ้น มีความเพียรพยายาม แข็งแกร่งขึ้น อย่างนี้เรียกว่า ประโยชน์ตน แทนที่ท่านจะไปมองว่าได้โน่นได้นี่ ได้โน่นได้นี่ที่จริงบางทีไม่ได้เป็นประโยชน์เลย มันกลับทำลายประโยชน์ด้วยซ้ำ ฉะนั้นคนจับไม่ถูก ฉะนั้นความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่าประโยชน์ตน ชัด ประโยชน์ตนที่แท้ก็คือการที่ชีวิตของเรามันดีขึ้น มีความสามารถมากขึ้น ปัญญามากขึ้น ทำอะไรได้ดีขึ้น มีคุณภาพต่างๆ ทุกด้านดีขึ้น ก็เสริมกันเข้าไปอย่างนี้ ได้ประโยชน์ตน ประโยชน์ตนแบบนี้มันไม่เสียกับคนอื่น ใช่ไหม ถ้าประโยชน์แบบเงินทองข้าวของเครื่องใช้ อันนั้นละถ้าขืนไปติดล่ะแย่งกันตายเลย แต่ท่านไม่ได้ปฏิเสธ สิ่งเหล่านี้มันต้องมองว่ามันเป็นเครื่องหนุนประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่นด้วย เราอาศัยมันแล้วก็แต่ว่าเราอย่าไปจบแค่นั้น เอามันมาหนุนประโยชน์ตนที่แท้ มาพัฒนาทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น อันนี้ประโยชน์ตนก็จะไปหนุนประโยชน์ผู้อื่นเมื่อเรามีความสามารถ มีความดี มีปัญญามากขึ้น เราก็ช่วยคนอื่นได้ดีมากขึ้น ประโยชน์ตนที่แท้ ประโยชน์เพื่อผู้อื่น ก็ไปด้วยกัน อย่างการบริโภคปัจจัยสี่ก็เลยขอเพิ่มอีกนิดหนึ่ง อย่างเราใช้เสื้อผ้าปัจจัยสี่ เอาละ หนึ่ง-เราก็คำนึงถึงประโยชน์จุดมุ่งหมายที่แท้ เมื่อกี้ได้พูดถึงอาหาร ทีนี้อย่างเครื่องนุ่งห่ม ท่านใช้เพื่ออะไร มีได้ท่องหรือเปล่าอันนี้ ที่จริงต้องท่องครบ 4 ปัจจัยเลยนะ ปฏิสังขาโยสำหรับพระอรหันต์ ก็
โยนิโส ปิณฑะปาตัง ถ้าใช้เครื่องนุ่งห่มก็ปฏิสังขาโย โยนิโส
จีวะรัง ปฏิเสวามิ ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคายจึงนุ่งห่มจีวร แล้วก็ที่อยู่อาศัยก็เหมือนกัน คนเดี๋ยวนี้ก็เพราะต้องการโก้ แสดงเด่นยิ่งใหญ่ สร้างบ้านกันเป็นไม่รู้กี่ร้อยล้าน อย่างพระพุทธเจ้าอยู่ อยู่ง่ายนิดเดียวเลย แล้วพระองค์มีความสุขกว่าคนที่อยู่ 500 ล้านอีก เชื่อไหม ทีนี้เรามาดูหลักการ อย่างเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเพื่ออะไร ท่านก็บอกเพื่อกันหนาวร้อน แดด เหลือบ ยุง ลิ้น ไร อะไรต่างๆ พวกนี้ อันนี้คือวัตถุประสงค์ แล้วก็ป้องกันความละอาย ใช่ไหม อันนี่คือความมุ่งหมายหรือประโยชน์คุณค่าที่แท้จริง ทีนี้คุณค่าที่มนุษย์เติมเข้าไปก็คือเพื่อล่อตา แล้วก็เพื่อโก้เก๋ เพื่อแสดงฐานะ อวดว่าฉันนี้แน่ มีเงินมีทองมากกว่า ใช่ไหม วัดฐานะกัน ใช่ไหม อันนี้พอมันเป็นปัญหา เป็นปัญหาตอนนี้ใช่ไหม ถ้าเอาคุณค่าแท้ไม่มีปัญหา ทีนี้เมื่อคนมีปัญญาแล้วปฏิบัติตามหลักพระศาสนาก็มีศีล ก็เป็นอันว่าเรายึดหลักคุณค่าที่แท้จริงนี้ ใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มเพื่อวัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือให้มันเป็นประโยชน์กับร่างกาย เช่น กันหนาวร้อนให้พอดีกับสุขภาพ ไม่ใช่เอาที่ราคาแพงหรือไม่ โก้หรือไม่ บางทีเสื้อผ้าบางชนิดแพงซะเปล่า เป็นทาต่อสุขภาพ จริงไม่จริง จริง นี่แสดงว่าคนนี่มีปัญญาหรือไม่มีปัญญา คนที่ใช้อย่างนี้ ฉลาดหรือเปล่า ไม่ได้ฉลาดเลย นี่แสดงว่าคนนี่พัฒนามาก บอกมีอารยรรม ที่จริงไม่ได้ฉลาดเลย ใช่ไหม คนฉลาดจริงก็ต้องรู้เข้าใจ มีปัญหารู้ประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งนั้นถูกต้อง อันหนึ่งแล้ว ทีนี้พอเราใช้ถูกต้องตามความมุ่งหมาย เช่นใช้เสื้อผ้า อ๋อ เพื่อปกปิดความละอาย แล้วก็เพื่อกันหนาว ร้อน เหลือบ ลิ้น ไร อะไรก็แล้วแต่เนี่ย เสร็จแล้วเราสัมพันธ์อยู่กับเพื่อนมนุษย์ ทีนี้เป็นว่าเราตัดได้อันหนึ่ง คือการที่จะใช้จ่าย ซื้อเสื้อผ้าเพียงเพื่อแสดงอวดโก้ฐานะ เป็นต้น ลุ่มหลงมัวเมา เราตัดไปได้แต่ทีนี้ถ้าหากว่าบางคนเขาบอก โอย เสื้อผ้าไม่มีความหมาย ใส่ยังไงก็ได้ แต่งตัว เลยกลายเป็นปล่อยปละละเลยเรื่องเสื้อผ้า เสื้อผ้ามอมแมมไปอย่างนี้ ถูกไหม มีหลักอะไรในการตัดสิน เขาไม่ห่วงใยแล้วนี่ คล้ายๆ ว่าฉันไม่ได้ถือสา ไม่ยึดมั่น ว่างั้น เรื่องเสื้อผ้าปล่อยไปตามสภาพ มียังไงก็ไม่ต้องซักต้องรีดก็ได้ แต่งตัวสกปรกเลยก็ได้ บางคนถือว่าอย่างนี้ บางทีพระบางองค์ก็เลยไม่ซักผ้า ก็ปล่อยอย่างนี้เหม็นสาบไปเลย ว่าไง ถูกไหม ไม่ถูก แล้วใช้หลักยังไง คนที่แต่งตัวปล่อยเรื่อยเปื่อยไป นึกว่าตัวเองไม่เอาใจใส่ ไม่ยึดถืออะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่เวลานั้นก็คำนึงแต่ตนเอง ว่าเราไม่เอาใจใส่มัน ไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องนี้ คิดถึงตัวเอง บางคนก็เลยเถิดไปมองในแง่ว่า เขาจะได้เห็นว่าเราเป็นคนไม่ยึดมั่นถือมัน หรืออะไรอย่างนี้นะ อันนี้ก็เป็นการคิดถึงตัวเอง การคิดที่ถูกต้องคืออย่างนี้ ลองคิดตามหลักพระศาสนา เราต้องมีเมตตากับเพื่อนมนุษย์ใช่ไหม จิตใจเราไม่มีอะไร เราก็เอาตามหลักการความมุ่งหมายที่แท้ เราใส่เสื้อผ้าก็เพื่อจุดมุ่งหมายที่แท้ นี่ก็ได้แล้ว แต่ทีนี้เราอยู่กับเพื่อนร่วมสังคม เพื่อมนนุษย์เราส่วนใหญ่ก็ยังเป็นปุถุชนอยู่ เขาก็ต้องการพัฒนาปัญญา แล้วคนเราขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเยอะ ได้เห็นสิ่งภายนอก เช่นเห็นธรรมชาติ ต้นไม้สวยสดงดงาม จิตใจก็สบาย เขาเรียกว่ามีจิตใจเป็นกุศล เราก็ควรจะมีส่วนร่วมช่วยให้จิตใจเขาดีงามเหมาะสม เพราะฉะนั้นเราก็เป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับคนอื่น ทั้งนั้นแหละ เขาก็ต้องเห็นเรา เราก็ต้องแต่งตัวให้ดูเรียบร้อย คนอื่นเขาเห็นแล้วเขาจะได้สบายตาสบายใจ เขาก็เจริญ มีความผ่องใส ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง แล้วก็นี่เรียกว่ามีเมตตากับคนอื่น อย่างนี้คือการปฏิบัติที่ถูก ทีนี้มันเฉียดกันนิดเดียว คิดว่าแต่งให้โก้แล้วเขาจะมาชมเรา เห็นเราโก้เราอะไรอย่างนี้ หรือแม้แต่ติดใจอะไรก็แล้วแต่ อันนี้ก็เป็นเอาแต่ตัว แต่ถ้าเรามองในแง่ว่าเพื่อเราจะได้เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี ช่วยคนอื่นเขามีจิตใจสบาย ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง เราก็จะแต่งพอดีใช่ไหม เชื่อไหม ความพอดีจะเกิดขึ้นเลย แต่ถ้าจะเอาโก้เอาฐานะตัวเอง ไม่มีพอดี ไม่จบ แล้วเราก็จะไม่ตัวมอมแมมด้วย ความพอดีเกิดขึ้น มันพอดีหมดเลย ถ้าเราใช้หลักที่ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าสอนให้เรา ฉะนั้นแม้แต่เรื่องของการใช้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแค่นี้ มันมีความหมายเยอะเลย แก่ชีวิตของเราและแก่สังคม ก็เป็นอันว่า หนึ่ง-ใช้ด้วยความรู้เข้าใจความมุ่งหมายที่แท้จริง ประโยชน์ของมันต่อชีวิต อันนี้ขั้นที่หนึ่ง สอง-ก็ไม่เอาตัวเองมาเป็นเกณฑ์ เป็นการยึดมั่น 2 แบบ ยึดมั่นในความโก้เก๋ยิ่งใหญ่ของตัวเองมาก ยึดมั่นในตรงข้าม คือยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น เพื่อแสดงตัวว่าฉันไม่ยึดมั่น อันนี้ก็ยึดมั่นเหมือนกัน เข้าใจไหม ยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น บางคนบอกฉันไม่ยึดมั่น คือเขายึดมั่นในความไม่ยึดมั่น ทีนี้ตัดไปคือว่าไปตามปัญญาที่รู้ความจริง นี่เราเห็นแก่เพื่อนมนุษย์ เขาอยู่อย่างนี้ต้องการให้เขามีจิตใจดีงาม ก็ทำให้พอดี เขาเห็นเราก็เป็นสภาพแวดล้อมที่ดี จิตใจของเราก็เป็นจิตใจที่มีเมตตา ดีไปหมด เขาก็ได้ เราก็ได้ ใช่ไหม จิตใจแบบนี้จึงเป็นจิตใจที่ดีงาม แล้วก็วางจิตใจให้ถูก แม้แต่เรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มแต่งตัว แล้วเรื่องอื่นก็เหมือนกัน อย่างที่เราฝึกกัน อย่างให้ ทางพระท่านถือว่าชีวิตของเราเป็นชีวิตแห่งการฝึก จะดีได้ด้วยการฝึก อย่างทำไมพระท่านสอนให้นั่งให้เรียบร้อย แม้แต่พูดก็ให้มีพนมมือ อะไรอย่างนี้ มันเป็นการฝึกตัวเอง ท่านไม่ได้มุ่งว่าพระผู้ใหญ่จะเอาความเคารพกราบไหว้ ต้องการแสดงตัวใหญ่โตหรืออะไร ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องมองให้ถูกว่าการไหว้ก็เหมือนกัน เพื่อหนึ่งก็ฝึกตัวเรา ฝึกนิสัยในการอ่อนโยน ในการไม่แข็งกระด้าง แล้วเวลาเราพนมมือไหว้ เราต้องสำรวมตัวเอง มีความเข้มแข็ง บางทีเราจะพูด ร่างกายของเราต้องแกว่งไกวโยกเยก
อะไรต่างๆ ไป เราก็ต้องฝึก ฝึกเพื่อให้เกิดความมั่นคง อันนี้ถ้าเราปล่อยตัวไปเราก็เรื่อยเปื่อย แล้วเราก็ไม่รู้ตัว ท่านเรียกว่าเกิดเป็นวาสนาที่ไม่ดี วาสนาก็คือการสั่งสมอบรมหรือทำให้มันเป็นลักษณะประจำตัวขึ้นมากับความเคยชิน วาสนานี่ไม่ใช่คำดีนะ ทางพระท่านบอกว่าให้แก้ไขวาสนา ละวาสนา แต่คนไทยกลับชอบวาสนา บอกคนนั้นวาสนาดี คนนี้วาสนาดี พระอรหันต์ละวาสนาหมดเลย พระพุทธเจ้าละได้หมด พระอรหันต์ทั่วไปยังละได้ไม่หมดสิ้น เหลือที่มันติดลึกๆ เล็กๆ น้อยๆ เช่นท่าทางการพูดอะไรอย่างนี้ท่านเรียกว่าวาสนา คือการที่เคยอย่างไร ชินอย่างไร แล้วก็ติดมา ใช้ถ้อยคำอย่างนั้นอย่างนี้ ทีนี้ถ้าคนที่มีสติดี ก็จะมาปรับปรุงตัวเอง คอยพัฒนา สติมันจะช่วยกำหนด จุดนี้เรายังบกพร่อง จุดนี้เรายังเผลอไป ก็แก้ไข ปรับ เพราะฉะนั้นวาสนาทางพระมีไว้สำหรับแก้ไข ท่านไม่ได้ว่าให้มีไว้แข่งขัน ทีนี้คนไทยก็บอกว่าแข่งอะไรก็แข่งได้ แต่อย่าไปแข่งบุญวาสนา ท่านไม่ได้เอาไว้ให้แข่ง ท่านเอาไว้สำหรับแก้ไขปรับปรุง อย่างความเคยชินของเรา เราก็ปรับปรุงซะ แก้ไข ทีนี้ถ้าเราไม่รู้ตัว เราก็ปรับปรุงไม่ได้ ทีนี้การที่เรามีระเบียบวินัยหรือวิธีปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน ในการสำรวมอะไรต่างๆ นี่ก็เป็นการฝึกในเรื่องพฤติกรรม ให้จิตใจของเรามาช่วย แล้วพอเราควบคุมอยู่เราจะมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น อย่างการที่ว่าเวลาไหว้ แทนที่จะเอามือไปเที่ยวโหวกเหวกๆ แกว่งไปโน่นไปนี่ใช่ไหม เราก็พูดอย่างมั่นใจเลย พูดสำรวมแล้วก็กาย วาจา ตั้งเป็นหลักมั่นไปเลย อย่างทหารเขาก็ต้องฝึกใช่ไหม มีวินัย แต่วินัยของทหารนั้นแสดงความเข้มแข็ง ข่มศัตรู แต่ของพระนี่มีความเข้มแข็งข่มกิเลส ฉะนั้นเราก็ต้องเข้มแข็งเหมือนกัน เข้มแข็งในทางที่เป็นหลักที่ทำให้เกิดความมั่นใจ ทำให้คนอื่นมีความสบายใจ ไม่ใช่ไปทำให้เขาเกรงกลัว แต่ว่าก็คือฝึกตัวเอง เหมือนอย่างการไหว้ การกราบพระ ท่านไม่ได้มาถือในการแข่งกันว่า ไหว้เพื่อที่จะแสดงว่าเขาสูง เขาเหนือกว่าเรา อันนี้เป็นเรื่องของทิฐิมานะ ฉะนั้นเข้ามาในพุทธศาสนาแล้วก็ไม่ได้มองในแง่นี้ หนึ่ง-การไหว้การกราบก็เป็นเรื่องของการที่จะช่วยให้สังคมนี้มันมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ตอนที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเรื่องการไหว้ ท่านก็เล่าไว้ พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลาย บอกว่าเราอยู่กันนี่มันไม่มีการแสดงความเคารพกราบไหว้กัน มันก็ไม่ดี มันควรจะมีระเบียบกติกาในเรื่องนี้ ทีนี้จะเอาเกณฑ์อะไรใช้ในการที่ว่าใครจะไหว้ใคร พระพุทธเจ้าก็ถามความเห็นของพระ องค์นี้ก็ตอบว่าเอาตามวรรณะสิพระเจ้าค่ะ ว่างั้นนะ ถ้าองค์ไหนมาจากวรรณะกษัตริย์ก็สูงหน่อย องค์ที่วรรณะต่ำมาจากวรรณะศูทร วรรณะแพศย์ ก็ต้องไหว้ ถ้าคนไหนมาจากวรรณะแพศย์ วรรณะศูทรก็ไหว้ แต่ตัวเองต้องไปไหว้วรรณะกษัตริย์ วรรณะพราหมณ์ อะไรอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ฟังไว้ แล้วพระพุทธเจ้าก็ถามองค์โน้น คิดว่ายังไง อีกองค์ก็บอกว่าเอาตามคุณธรรมในใจที่ได้บรรลุ องค์ที่เป็นโสดา ก็ไหว้องค์ที่เป็นอนาคามี อรหันต์ องค์ที่เป็นปุถุชนก็ไหว้องค์ที่เป็นอริยะ พระพุทธเจ้าก็ทรงฟัง ถามคนโน้นทีคนนี้ที ให้ความเห็น แล้วในที่สุดพระพุทธเจ้าก็ลงมติ เอาตามลำดับบวชก่อน-หลัง ไม่ต้องว่าใครเหนือกว่าใครทั้งนั้น ไม่ว่าวรรณะหรือว่าคุณธรรมภายใน เอาตามสังคมภายนอกก็วรรณะใช่ไหม ก็ถือชนชั้น พระพุทธเจ้าไม่เอาอยู่แล้ว ทีนี้เอาตามคุณธรรมภายใน นี่มันเรื่องของสังคม กติกาเพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกัน ขืนไปรอดูว่าใครบรรลุธรรมชั้นไหน ทำยังไง ดูออกไหม เถียงกันตายเลย ไม่มีมาตรการ เรื่องวินัยเป็นเรื่องสมมติ ข้อตกลงในทางสังคม สมมติแปลว่ามติร่วมกัน ข้อตกลงวางไว้ เอาอะไรเป็นเกณฑ์ เราทำเพื่อความดีงามของสังคม ชุมชน เราไม่ได้มาวัดใครสูงใครต่ำ เพราะฉะนั้นการไหว้ของพระสงฆ์ ท่านไม่ได้ถือ พระอรหันต์ก็กราบปุถุชน บวชทีหลังท่านไม่ถือ เพราะว่าเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เราไม่วัดว่าใครสูงกว่าใคร เราไหว้เพื่อระเบียบเรียบร้อย ความดีงามของหมู่คณะ ให้มีหลักมีกติกาการอยู่ร่วมกัน ฉะนั้นถ้าปฏิบัติตามหลักพระศาสนาไม่มีปัญหา เวลานี้คนมีปัญหา คนนั้นเราไปไหว้ทำไม หรืออะไรอย่างนี้นะ ไม่เห็นมีอะไรสูงเหนือกว่าเราเลย อย่างนี้ก็ถือตัวกัน คนที่จะไหว้ก็มัวถือตัว ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม ฉะนั้นถ้าปฏิบัติตามหลักพระศาสนา หนึ่ง-ไหว้ เราทำเพื่อฝึกตัวเอง ถ้ามองในแง่ตัวเองคือเราจะได้ฝึกตัวเอง เราไม่มีความเย่อหยิ่งผยองอะไรทั้งนั้น เราก็ไหว้โดยถือกติกาที่วางไว้เป็นหลัก แล้วก็หนึ่ง-ฝึกตัวเอง สอง-เพื่อความดีงามของสังคมชุมชน สาม-ประโยชน์ที่ลึกลงไปก็คือว่าคนที่ได้รับตกลงให้อยู่ในสถานะได้รับการไหว้ ถ้าสังคมปฏิบัติถูกต้อง มันจะเป็นเครื่องช่วยคุมเขา เขาจะต้องระวังตัว ประพฤติให้ดีให้เหมาะสมกับสถานะนั้น ใช่ไหม ใครคงสถานะที่เป็นที่เคารพ หรือเป็นที่ไหว้ของคนอื่น ทีนี้ท่านก็มีมาตรการว่า ถ้าประพฤติตัวไม่ดีจริงๆ ให้สงฆืตกลงกันไม่ไหว้ อย่างนี้เป็นต้น ตกลงกันเลย วางมติ ปกติจะไม่ปฏิบัติเป็นส่วนตัว แต่ท่านให้สิทธิ์ให้แนวทางมาแล้ว ถ้าเขาประพฤติตัวไม่ดีจริงๆ นะ คือในตามปกติก็เอาการไหว้เป็นเครื่องคุมเขาไว้เหมือนกัน เสร็จแล้วถ้ามันแย่จริงๆ ก็ลงมติไม่เอาด้วยเลย นี่ก็เป็นเรื่องของการใช้ระเบียบกติกา หลักเกณฑ์การอยู่ร่วมกันของสังคม มาเป็นเรื่องที่จะช่วยฝึกคนไปด้วย เราก็อาศัยเกณฑ์นี้ด้วยความรู้เข้าใจ ทำให้ส่วนรวม แต่ตัวเองก็ได้ฝึกไป มันก็เป็นการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ชีวิตของบุคคลกับสังคมก็ก้าวหน้าไปด้วยกัน อย่างนี้ก็ทำทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นไปพร้อมกัน ท่านก็ให้เราฝึกตัวอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่มามัวถือเรื่องนี้ ถ้าเราทำใจถูก เราก็ไม่ค่อยมีปัญหากับเรื่องนั้น สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสำคัญใช่ไหม วางใจผิดนิดเดียว ยุ่งเลย ใช่ไหม นี่ก็อย่างที่ว่าใส่เสื้อผ้า ทีนี้ก็วางใจซะให้ถูกแนวทาง ว่าเราใช้เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้คนอื่นเขาเห็นแล้วเจริญตาเจริญใจ จิตใจเขาผ่องใสได้ ดีแล้ว เราตั้งใจอย่างนี้ใจเราก็สบาย ไม่ไปวัดฐานะกัน ไม่อะไรทั้งนั้น มายึดทั้งในทางตรงข้ามทางนี้สุดโต่งไป ที่เอาเกียรติ เอายศ เอาความยิ่งใหญ่ แล้วก็มายึดถือตรงข้ามว่าฉันไม่เป็นคนยึดถืออะไรเลย ก็ไม่ใช่ทั้งนั้น เข้าใจแล้วนะหลักพระศาสนาในเรื่องนี้ นี่ก็เป็นเรื่องศีลทั้งนั้นเลยเนี่ย ศีลมีความหมายเยอะ เราไปมองแค่ศีล 5 แล้วถ้าเราไม่ปฏิบัติตามศีลข้ออื่น มันกลับทำให้ปฏิบัติศีล 5 ยาก พอเราเริ่มจากศีลในชีวิตประจำวัน การกิน การอยู่ อะไรอย่างนี้ กลายเป็นว่ามาเกื้อหนุนศีล 5 เอง ศีล 5 ก็กลายเป็นคล้ายๆ กติกาที่เรารู้ไว้ว่าเกณฑ์มันมีอย่างนี้ จะได้ช่วยกันรักษาไว้ สังคมก็อยู่ดี เพราะฉะนั้นก็เนี่ย อย่างใครมีรุ่นก่อนๆ ที่ท่านลาไป อายุมากมีลูก มีอะไรแล้ว ก็ตั้งแต่ลูกเลย ต้องฝึกการใช้อินทรีย์ ใช่ไหม ดู ฟัง นี่ศีลในบ้านเลย นี่ก็การกินอาหาร บริโภคใช้ประหยัดปัจจัยสี่ นี่ทุกคนต้องฝึกอย่างนั้น ศีลประเภทนี้ดีแท้ๆ เลย แล้วก็เป็นการศึกษาเบื้องต้นที่สำคัญ นึกว่าจะไปเรียนหนังสือ ไปอ่านได้เยอะๆ อะไร นั่นนึกว่าเป็นการศึกษา การศึกษาคืออะไร คือการทำให้ชีวิตมันดีงามขึ้น มีคุณภาพดีขึ้น ใช่ไหม ถ้าไปเรียนหนังสือ อ่านหนังสือแล้วคุณภาพชีวิตมันก็ไม่มีคุณภาพดีขึ้น มันจะเป็นการศึกษาได้ยังไง แต่เรากินอยู่นี่แหละ ถ้าเรากินเป็น ดูฟังเป็น คุณภาพของชีวิตดีขึ้นทันที ใช่ไหม มันก็จึงเป็นการศึกษา ก็ดูว่าเป็นคนมีการศึกษาไหม ก็คือคนที่เป็นอยู่ได้ดีไหม มีความสามารถที่จะดำเนินชีวิตให้ดีได้หรือเปล่า วันนี้ก็คุยกันพอสมควรแล้ว นี่คุยเรื่องพื้นฐาน เรื่องศีล แล้วก็หลักที่เข้ามาอยู่ว่าจะเป็นศีลหรืออะไรก็ตาม อยู่ที่การฝึกตัวเอง เราก็เลยตั้งใจ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านก็จะสอนให้เราตั้งใจว่าเราจะฝึกตัวเอง เราจะพบจะเห็นจะเจออะไรก็ใช้เป็นเครื่องฝึกตัวเอง ถ้าดียิ่งกว่านั้นก็คือ เราทำตัวให้เป็นคนที่พร้อมที่จะรับสิ่งที่จะเป็นประโยชน์เข้ามา ก็เลยทำให้ทำลายความถือตัว อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี พร้อมที่จะรับฟังเขา อะไรต่ออะไร เพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงตัวเองให้ดียิ่งขึ้น จิตใจก็ดีด้วย ไม่ต้องเป็นทุกข์ไป มีความโกรธขึ้งเครียดง่าย ก็ดีไปหมด มีอะไรสงสัยไหม
ผู้ฟัง1 (ผู้ชาย) : ย้อนไปถามเรื่องการบริโภค พระสงฆ์จะต้องอยู่ง่ายกินง่าย ก็คืออยู่เพื่อเลี้ยงชีวิต เพื่อศึกษาใช่ไหมครับ แล้วปัจจัยนี้เราจำเป็นต้องพึ่งพาชาวบ้าน อันนี้เป็นเหตุผลเดียวหรือเปล่าครับที่ทำให้ไม่มีกฎหรืออะไรให้งดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็อันนี้ด้วย เพราะว่าต้องอาศัยอาหารจากผู้อื่นเลี้ยงเป็น
ผู้ฟัง 1(ผู้ชาย) : มีเหตุผลอื่นหรือเปล่าครับ หรือว่าอันนี้เป็นหลักอันเดียวเลย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : คือพระพุทธเจ้าเนี่ย ก็ถือว่าให้มองอาหารนี่เป็นเครื่องเกื้อหนุน เป็นปัจจัย ใช่ไหม ที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี แล้วจะได้ทำกิจหน้าที่ของตัว มีชีวิตที่ดีงาม ที่เรียกว่าชีวิตที่ประเสริฐได้ ฉะนั้นก็ให้มุ่งไปที่ว่า ประโยช์คุณค่าของอาหาร ใช่ไหม แล้วกินแล้วไม่มีโทษ ไม่ให้เป็นพิษเป็นภัย เกณฑ์การตัดสินอยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่หมายความว่าเขาถวายอาหารอะไรแล้วเราต้องฉัน ใช่ไหม คือว่าในแง่นั้นเป็นความสัมพันธ์กับญาติโยมชาวบ้าน ให้เลี้ยงง่าย ส่วนเรื่องของคุณประโยชน์ของอาหารนั้นอันนี้ไม่ได้บอกไว้โดยตรง เช่นว่าไม่ได้ตัดเรื่องอาหารเนื้ออะไรเนี่ย พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้บอกไว้ว่าเป็นเพราะเรื่องคุณค่าอาหารหรือเปล่า แต่ตรัสในแง่ที่เห็นเป็นรูปธรรมภายนอกได้ง่าย มาเกื้อหนุนพระ เพราะเห็นว่าพระเป็นผู้ที่ดีงาม เป็นแบบอย่าง แล้วก็ทำคุณประโยชน์กับสังคม โดยเฉพาะดำรงธรรมะไว้ให้แก่สังคม แล้วท่านก็ทำกิจหน้าที่ของท่าน ท่านจะได้ไม่กังวล ไม่ให้ท่านต้องมามีภาระเรื่องนี้ ชาวบ้านก็ต้องกินต้องอยู่อยู่แล้ว เลยช่วยรับภาระอันนี้มาเลย แล้วแบ่งไปให้ อันนี้ก็เป็นเรื่องของท่านเน้นในแง่ของความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกัน แล้วก็กินอยู่ไปตามอาหารที่มนุษย์เขากินอยู่กันทั่วไป ที่ท่านถามนี่มีเจาะจงในแง่ไหนหรือเปล่า
ผู้ฟัง 1(ผู้ชาย) : ในฐานะที่ตอนที่เคยเป็นฆราวาส ผมรู้สึกว่าการบริโภคเนื้อสัตว์มันเป็นการสนับสนุนทางอ้อมครับ ก็เลยรู้สึกว่าอย่างบางคนที่เราศรัทธานี่ ส่วนหนึ่งก็เห็นมาจากการที่เขางดเว้นการรับประทานอย่างนั้นด้วย ก็เหมือนกับเขาไม่อยากเบียดเบียนทั้งโดยตรงแล้วก็โดยอ้อม อันนี้ก็ทำให้เกิดความศรัทธาของกระผมขึ้นมา คราวนี้ก็เลยรู้สึกว่าอยากทราบว่ามีเหตุผลอื่นหรือเปล่าในศาสนาที่ว่าไม่ได้มีการห้ามในเรื่องนี้ แต่เรื่องที่ว่าให้การเป็นอยู่ง่าย แล้วก็อยู่ร่วมกับชาวบ้านได้เนี่ย อันนี้คือเป็นเหตุผลที่พอจะ คือถามท่านอื่นมาบ้างแล้ว ไม่ทราบว่ามีเหตุผลอื่นหรือเปล่า เลยลองถามท่านเจ้าคุณ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เหตุผลหลักในการนี้ คือพระต้องทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ไม่งั้นเขาก็ต้องกินอยู่อย่างของเขา แล้วก็ต้องไปหาอาหารพิเศษมาให้พระอีก ก็ลำบากเขา ทีนี้พระไม่ได้บอกว่าฉันกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ฉันกินอาหาร คุณกินอะไร ให้ฉัน ฉันก็กินไปตามนั้น ถ้าคุณเลิกกินเนื้อสัตว์ ก็ฉันกินตามที่คุณมี ฉันก็พลอยกินมังสวิรัติไปด้วย ใช่ไหม คือพระไม่ได้บอกว่าฉันกินอาหารประเภทไหน ที่จริงจะถามพระว่าท่านฉันเนื้อสัตว์ไหม พระตอบก็ไม่ถูกเหมือนกันว่าฉันหรือไม่ฉัน ก็แล้วแต่คุณจะให้กิน มีอะไรกินก็กินไปตามนั้น แต่ถ้าคุณเกิดไม่กินเนื้อสัตว์ขึ้นมา แล้วพระก็ไม่ได้ฉันเนื้อสัตว์ไปด้วย ธรรมดาไปเลย มันเป็นไปเอง ฉะนั้นถ้าว่าตามนี้แล้ว พระบอกไม่ฉันเนื้อสัตว์ แล้วญาติโยมเขายังกิน ญาติโยมก็ลำบาก ต้องไปจัดอาหารพิเศษมา แต่ทีนี้ในกรณีที่พระพุทธเจ้าก็จะกันไว้ก่อนอีก ถ้าเกิดว่าทำมาเพื่อพระโดยตรง ห้ามเลย เพราะฉะนั้นจึงมีศีลบัญญัติไว้ไง ถ้ารู้ ได้เห็น ได้ยิน หรือแม่แต่ระแวงสงสัยว่าเนื้อสัตว์นี้เขาทำมาเพื่อตน ฉันแล้วเป็นอาบัติเลย จุดนี้ที่เป็นตัวกันไว้เลยใช่ไหม ว่าถ้าทำเพื่อให้พระ ฉันไม่ได้ แต่ถ้าเขากินกันอยู่ เขาก็กินแกงนี้กันอยู่แล้วในบ้าน แล้วเขาก็ตักมาให้ 2-3 ช้อน ถวายพระ ถ้าพระบอกฉันฉันไม่ได้ ญาติโยมก็เกิดเกรงใจพระขึ้นมาอีก ก็ไปเที่ยวสาละวนวุ่นวายไปหาอีกใช่ไหม ทีนี้ท่านตรัสตรงนี้ต่างหาก ก็เลยวางไว้ 2 ชั้น ชั้นที่หนึ่งคือกินอยู่อย่างที่ชาวบ้านเขากินอยู่ เขามีอะไรให้ก็ฉันไป สอง-แต่ถ้าเขาทำมาเพื่อตัวเอง ห้าม พอไหมแค่นี้ พอแล้ว พระพุทธเจ้ากันไว้แล้ว ก็เป็นอันว่าเรื่องพระจะฉันเนื้อสัตว์หรือไม่ มันเป็นไปเองตามประชาชน ฉะนั้นสมัยพระเจ้าอโศกก็แน่นอน ก็ค่อนข้างแน่นอน อย่างน้อยที่วังของพระเจ้าอโศก พระก็พลอยไม่ได้ฉันเนื้อสัตว์ไปด้วย คือพระมีหน้าที่สอนอยู่แล้วนี่ไม่ให้เบียดเบียนอะไรใช่ไหม เมื่อเขาไม่เบียดเบียน เขาเว้น แล้วเขากินอย่างอื่น แล้วพระก็พลอยไปด้วยฉันไปตามนั้น ทีนี้พระเจ้าอโศกในวังนี่พระเจ้าอโศกบอกนับถือพุทธศาสนาแล้ว ท่านไม่เบียดเบียนสัตว์ ต่อมาท่านจารึกไว้ในศิลา เล่าไว้บอกว่าเวลานี้ที่ในวังมีการฆ่าเนื้อตัวหนึ่ง แล้วก็นกอะไรตัวหนึ่ง วันละอย่างละ 1 เท่านั้น หมายความว่าลดหมดแล้ว แล้วต่อไปก็จะหมด ไม่ฆ่าเลย นี่ก็แสดงว่าพระก็สอนให้เขาไม่เบียดเบียน เมื่อเขาเว้นแล้ว เขาเป็นอยู่ยังไง พระเป็นไปตามเองในด้านนี้ คือมันกลับมามีผลต่อกันไปเอง พระไปสอนเขาไม่ให้ฆ่า เขาไม่ฆ่า พระอดเอง ใช่ไหม นี่มันเป็นไปเองนะ ไม่ใช่พระจะไปเรียกร้องฉันไม่ฉันเนื้อ แล้วก็คุณจะกินยังไงก็กินของคุณไป แต่คุณต้องทำอย่างนี้ให้ฉัน อย่างนี้ก็แย่ ก็ท่านไม่ทำเองละ จะให้ฉันทำ ตัวเองก็ไม่หาอาหารเอง ไม่ทำอาหารเอง แล้วเวลาเขาทำให้ก็จะเรียกร้องอย่างนั้นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าอย่างนี้ต้องถือว่าทรงคิดรอบคอบแล้วนะ ใช่ไหม เป็นแต่เพียงพระนั่นเองแหละไปทำไง ซื่อตรงหรือเปล่า เท่านั้น มันจะอยู่ที่พระนี่แหละ ก็เอาเป็นว่าปล่อยไปตามที่ประชาชนเขาเป็นไป เป็นอยู่ แต่ก็สอนเขา นี่ปัญหามันอยู่ที่ หนึ่ง-พระไม่ได้สอน ไม่ได้ให้ธรรมะ แล้วก็ทำตัวให้เขาเลี้ยงง่ายในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ให้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ญาติโยมก็ให้วัตถุปัจจัยอามิส พระก็ให้ธรรมะไป ไปๆ ก็ชักยาว มีอะไรสงสัยไหม
ผู้ฟัง 2(ผู้ชาย) : พอดีพรุ่งนี้ที่บ้านผมจะนิมนต์ไป แล้วจะให้ผมเทศน์ ผมก็นึกอยู่ว่าผมจะเทศน์เรื่องการพัฒนาคน แล้วผมจะโยงมาว่าต้องใช้ปัญญาพัฒนาคน ใช่ไหมครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ใช่ เพราะเราต้องรู้ว่าอะไรดี ไม่ดี อะไรมีประโยชน์
ผู้ฟัง 2(ผู้ชาย) : ให้โยงไปที่ศรัทธา คือผมยังไม่ค่อยเข้าใจว่าเอาอะไรมาเป็นตัวเชื่อมโยงกันน่ะครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ศรัทธาก็หมายความว่า ตอนนี้ปัญญาเรายังมาพอ เรายังไม่เต็มที่ใช่ไหม เราก็ต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ของท่านผู้อื่น ศรัทธาจะเป็นตัวนี้ เราเห็นว่าหนังสือนี้ท่านผู้นี้บุคคลนี้ แหล่งนี้มีความรู้จริงแล้วก็เท่าที่เราเห็นเนี่ย ท่านพูดท่านสอนอะไรที่เป็นประโยชน์ นี่เรียกว่าเกิดศรัทธาแล้ว พอเกิดศรัทธาเราก็จะมีเป้าหมาย มีแนวทางว่าเราจะไปเอาความรู้ประสบการณ์จากที่ไหน แล้วเราก็จะมีกำลัง ความเข้มแข็งที่จะเอาจริงเอาจัง ใช่ไหม ถ้าเราไม่เห็นแหล่งที่จะได้ความรู้ เราก็เนือยๆ แล้วเราก็ไม่เชื่อถือ ไม่มีกำลัง บางทีก็เลยย่อท้อในการหาความรู้ ปัญญา ทีนี้พอเราเชื่อ ท่านผู้นี้พูดมีเหตุมีผล เท่าที่เราได้ฟังมาท่านพูดจริงทั้งนั้น พอเชื่ออย่างนี้ใช่ไหม เราก็มีกำลังใจที่จะฟังต่อไป ศึกษาเพิ่มเติม ก็เลยศรัทธาเข้ามาหนุน ฉะนั้นจึงบอกว่าปัญญาเป็นเป้าหมาย แต่ว่าปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆ มาช่วย โดยเฉพาะเมื่อเรายังไม่มีปัญญาของตัวเอง อาศัยปัจจัยภายนอก ตัวเชื่อมก็คือศรัทธา ศรัทธามาช่วยให้เรามีเป้าว่าจะไปหาจากแหล่งไหน แล้วมีกำลังที่จะเอาจริงเอาจัง เข้าไปหา เข้าไปฟัง เข้าไปสอบถาม เข้าไปค้นคว้า ก็เลยก้าวไปในปัญญายิ่งขึ้น ฉันได้แหล่ง ได้เป้าหมาย แล้วฉันได้กำลังเข้มแข็งที่จะเอาด้วย เข้าใจนะ ศรัทธาก็เป็นตัวที่จะโยงเราเข้าสู่ ท่านเรียกว่า ปะ-ระ-โต-โค-สะ หรือกัลยาณมิตร แล้วก็อยู่ที่จิตสำนึกของเราด้วยนะ ถ้าเรามีจิตสำนึกในการฝึกตัวเอง ว่าเราชีวิตดีงามประเสริฐได้ด้วยการฝึกตัวเอง ฉะนั้นเราก็จะมีแนวคิดท่าทีต่อสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปเลย สิ่งที่เราเคยจะต้องทำ เรารู้สึก แหม มันฝืนใจ ลำบาก สิ่งที่ยากแล้วไม่อยากทำเลย เป็นทุกข์ ทีนี้พอมาเกิดจิตสำนึกในการฝึกตัวเองแล้ว มันอยากเจอ ไอ้ที่ว่ายาก ลองดู เราจะได้ฝึกมันเยอะๆ เราจะยิ่งได้มาก เราก็จะมีคติว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก อะไรมันง่ายก็ไม่ได้ฝึกเท่าไหร่ ไม่ทันได้คิด ได้เพียรพยายาม มันก็ผ่านไปซะแล้ว ทีนี้อะไรมันยาก ใช้ความเพียร ต้องใช้กำลังใจ ต้องใช้ความเข้มแข็งอดทน ต้องใช้สมาธิ ต้องใช้ปัญญาคิดอะไรมาก ต้องลงมือทำ ได้ทักษะ ได้หมดเลย ฉะนั้นอะไรยากนี่ กว่าจะผ่านไปได้นี่ เราพัฒนาเยอะ ฉะนั้นแน่นอน ยิ่งยากยิ่งได้มาก แต่ว่าเราเกิดหรือยังจิตสำนึกนี้ ถ้าเกิดจิตสำนึกในการฝึกตนแล้วก็นี่ จะเป็นสุขจากการเจอปัญหาและสิ่งที่ยาก ถ้าคนไม่มีจิตสำนึกนี้ เจออะไรต้องทำหน่อย ท้อใจแล้ว ฝืนใจแล้ว ทุกข์ใจ พอทุกข์ใจแล้วทีนี้มันก็ใจที่จะทำไม่มี สักแต่ว่าทำ ทีนี้มันก็ไม่ค่อยได้ผล มันก็เสียหมด ใจตัวเองก็ไม่เป็นสุข ทำสิ่งใดก็ไม่ได้ผล แต่พอใจเราเข้มแข็ง เรานึกว่าที่ทำนี้ยาก เราจะได้เยอะ ใจมันเต็มใจขึ้นมา มันทำเป็นสุขได้ แล้วก็ได้ผลดีด้วย เรื่องนี้มันเป็นหลักพื้นๆ แต่ได้ประโยชน์เยอะ ท่านเห็นไหม พอจะเอาไปพูดได้ หลักพระพุทธเจ้าหลักใหญ่อยู่ที่นี่ เรื่องฝึก มนุษย์นี่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ แล้วก็ฝึกแล้วจะดีด้วยการฝึก ธรรมชาติมนุษย์อยู่ที่ตรงนี้ ใช้มันให้เป็นประโยชน์ จริงไหมที่ว่านี่ จริงนะ มนุษย์นี่ดีที่สุด ถ้าไม่ฝึกแล้ว ไม่ได้เรื่องเลย มีอะไรอีกไหมคำถาม
ผู้ฟัง 3 (ผู้ชาย) : บางทีผมเห็นในงานแต่งงานนะครับ งานรดน้ำสังข์หรือพระสวดเจริญพุทธมนต์ มีคู่บ่าวสาวรดน้ำสังข์ ผิดไหมครับเนี่ย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อ๋อ เจริญพุทธมนต์
ผู้ฟัง 3 (ผู้ชาย) : ครับ ที่กำลังรดน้ำสังข์อยู่ ผมเจอบ่อยมากครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เหรอ คืออันนี้อาจจะมาพัฒนาขึ้นทีหลัง แต่ก่อนไม่มี ทีนี้พระท่านอาจจะเริ่มขึ้นมาโดยการเผลอ แล้วก็เลยทำตามๆ กันไป แต่ถ้ามองว่าเป็นการแสดงความปรารถนาดี ให้พรเขา โดยมองไปในแง่ความสุขความเจริญทั่วไป มันก็ไม่ถึงกับผิด แต่ว่าอาจจะเป็นคล้ายๆ ว่ามันอาจจะสร้างธรรมเนียมใหม่ที่ไม่ค่อยจะดีนัก แต่ก็ไม่ได้เสียหายอะไร
ผู้ฟัง 3 (ผู้ชาย) : พอดีรู้สึกว่าพระไปรู้เห็นเป็นใจกับคนรักกัน
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็นั่นแหละก็เลยทำให้มองได้หลายแง่ไง แต่เมื่อมันมีแล้วก็ต้องวางใจซะให้ถูก เกิดทำขึ้นมาแล้วก็วางใจไปว่า เพื่อให้เขามีความสุขความเจริญ เหมือนอย่างนี้แต่ว่าไม่เหมือนทีเดียว อย่างทหารออกศึก เขาก็นิมนต์พระไปพรมน้ำมนต์ บางคนก็ติเตียนว่าพระทำไมไปพรมน้ำมนต์ให้ทหารออกศึก ใช่ไหม มันก็มองได้หลายแง่ มองในแง่หนึ่งก็มองเป็นกลางๆ ว่าพระมีเมตตาปรารถนาดี ไม่ได้หมายความว่าจะให้ไปฆ่าทางโน้น แต่หมายความว่าต่อบุคคลที่ท่านกำลังเกี่ยวข้องเฉพาะหน้า เหมือนอย่างเขามาลา บอกจะไปศึกสงคราม มันก็เป็นพระกับญาติโยม ก็ต้องอวยชัยให้พร ขอให้รอดปลอดภัยไปดีนะ ทีนี้เขามากันเป็นจำนวนมาก เป็นกองทัพ ก็ไปพรมน้ำมนต์ ก็หมายถึงสำหรับตัวเขา ให้เขามีความสุขสบาย มีความปลอดภัยเป็นเรื่องของเขา แต่ที่เขาไปทำหน้าที่ เราไม่เกี่ยว ก็ต้องตั้งใจแค่นี้ ใช่ไหม พอเห็นได้ไหม ก็ต้องจัดแบ่งให้ถูก ไม่ใช่ว่าแกไปรบคราวนี้นะ ฆ่าให้ได้เยอะๆ นะ อะไรอย่างนี้ ไม่ใช่อย่างนั้น ก็เป็นอันว่าตั้งความปรารถนาดี เมตตาต่อผู้นั้น
ผู้ฟัง 3 (ผู้ชาย) : อีกนิดหนึ่งครับ คือว่าขอหลักปฏิบัติสั้นๆ ในเรื่องของการทำให้การทำงานเป็นแดนแห่งความสุข ที่หลวงพ่อพูดว่าคิดอยู่ในใจว่าให้มีการพัฒนาตัว ให้มีกำลังใจ แต่พอจะมีหลักสั้นๆ แบบว่าฉุกเฉิน ผมเจอภาพอย่างนี้แล้วทำให้เราท้อเนี่ย หลวงพ่อมีหลักสั้นๆ ที่ช่วยให้ระลึกสติไว้ว่ายังไงบ้าง
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ก็ได้หลายอย่าง อย่างหนึ่งก็เรื่องการเรียนรู้ไง หมายความว่าเจออะไรมาก็เป็นการเรียนรู้หมด ใช่ไหม อย่างยกตัวอย่างบ่อยๆ อย่างหมอ หมอกับพยาบาลเนี่ย ต้องเจออารมณ์ ท่านเรียกว่า อนิฏฐารมณ์ ไม่น่าสบายใจ พอคนไข้มาหน้าตาเจ็บป่วยใช่ไหม บางทีก็ร่างกาบร่องแร่งอะไรต่างๆ มันเป็นภาพที่ไม่น่าสบายตาสบายใจ คนไข้มาเขาก็เจ็บปวด หรือเพื่อนญาติคนไข้มา เขาก็ร้องไห้ ใจไม่ดี มีทุกข์ บางทีเขาก็ยิ้มไม่ออก ทีนี้ถ้าเราไปมองในแง่จะเอาที่ชอบใจไม่ชอบใจ มันก็ต้องขัดใจ ใช่ไหม ก็มองได้หลายอย่าง มองในแง่เมตตากรุณานั่นก็อย่างหนึ่ง จะได้ช่วยเหลือเขา อะไร แต่ทีนี้ที่มองอีกอย่างก็คือมองได้เรียนรู้ เช่นว่า เราอยู่ในโลกนี้ เราจะเห็นคนต่างๆ มีอาการลักษณะต่างๆ กัน มีการพัฒนาระดับต่างๆ กัน เราได้เห็นคนนี้เป็นอย่างนี้ คนนั้นเป็นอย่างนี้ ได้เรียนรู้ทั้งนั้นเลย ก็เรียนรู้ว่าโลกเป็นอย่างนี้ ชีวิตคนเป็นอย่างนี้ ลักษณะคนต่างๆ กัน นั่นอย่างหนึ่ง นอกจากเรียนรู้ ต่อจากนั้นก็คือว่า เราอาจจะได้มาพัฒนาตัวไปด้วย เป็นบททดสอบที่ว่าเรานี่จะรู้ว่าเราฝึกตัวเองได้ผลแค่ไหน ดูที่เจอบททดสอบ เจ้านี่มาแล้ว ทดสอบเราใช่ไหม เราจะผ่านไหม มองเป็นบททดสอบ ก็ได้ ก็เรียนรู้ แล้วก็เป็นบททดสอบ แบบฝึกหัด ได้ทั้งนั้น ผมเคยยกตัวอย่างเรื่อย มีเพื่อนคนหนึ่งสมัยเรีบนด้วยกัน มีตึกอยู่ที่ท่าพระจันทร์ เวลาชั่วโมงว่าท่านก็นั่งที่หน้าต่าง ก็มองไปที่ท่าพระจันทร์ ตอนนั้นคนเดินเยอะเหลือเกิน สมัยนี้ยังเยอะหรือเปล่าไม่รู้ ขวักไขว่ไปหมด ท่านนั่งดูแล้วท่านก็นั่งหัวเราะ ถามว่าทำไมหัวเราะ บอกว่าคนก็ต่างๆ เดินก็ท่าทางไม่เหมือนกัน คนนั้นเดินท่าทางนี้ คนนี้เดินท่าทางนั้น หัวเป็นอย่างนั้น แขนเป็นอย่างนี้ ขำ ว่างั้น ก็เลยมองโลกเป็นขำไปหมดเลย คือเห็นคนเป็นไปต่างๆ ทีนี้ถ้าท่านมองคนที่เจอ อย่างหมอมองพยาบาล มองคนที่มานี่ก็มีอาการแปลกๆ ต่างๆ กัน หน้าบึ้ง บ้างยิ้ม บ้างอะไรต่างๆ พูดจาเร็วบ้าง ช้าบ้าง ขำหมดเลย นี่มันอยู่ที่วางใจ ใช่ไหม วางใจแบบนี้ก็ขำไปหมด ก็รักษาจิตใจได้ดี แต่ว่าอาจจะได้ประโยชน์ไม่มาก นี่ก็เป็นอันว่ามองแบบว่าได้เห็นอะไรแปลกๆ โลกเป็นอย่างนี้ สอง-ดีขึ้นมาก็ได้เรียนรู้ ก็ได้เห็นมนุษย์เป็นไปต่างๆ เราก็ได้ความรู้ข้อมูลอะไรเข้าใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้น เราไม่เอาความพอใจไม่พอใจมา คือมนุษย์นี่ถ้ามาเอาความชอบใจไม่ชอบใจปั๊บ เกิดตัณหาทันทีเลย ก็ทุกข์ แต่ถ้าไม่อยู่ที่ความชอบใจ ไม่ชอบใจ เราก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ อะไรต่ออะไรเป็นประสบการณ์ผ่านไปผ่านมาผ่านไป ก็เห็นเป็นข้อมูลไป ก็เรียนรู้ แล้วก็ทดสอบตัวเองไปแบบนี้ พอจะได้ไหม มีอะไรอีกไหม ถ้าไม่มี วันนี้ก็พอสมควรนะ โมทนาด้วย