แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ในวันนี้อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาที่ทุกท่านได้มาทำบุญ ได้มาเลี้ยงเพลพระสงฆ์ โดยการนัดหมายของคุณวิบูลย์ ซึ่งก็ปรารภการที่บริษัทที่ปรึกษากฎหมายอินเตอร์เน็ท ได้ตั้งมาครบทศวรรษ ก็คือ ๑๐ ปี นี่ก็เป็นโอกาสอันเหมาะ ก็ชวนญาติมิตร ท่านที่เคารพนับถือ มาทำบุญด้วยกัน การทำบุญด้วยกันนั้นก็ เรามักจะมองไปที่การเลี้ยงพระ ก็คือถวายทาน เช่นว่า ทำบุญนั้นตามหลักพระศาสนา ท่านบอกว่า มีทาน มีศีล มีภาวนา นี่คือ ข้อสรุป หมายความว่า นอกจากถวายทาน การเลี้ยงพระ การถวายเครื่องไทยธรรมสิ่งของแล้ว ก็มีเรื่องของศีล คือเรื่องของพฤติกรรมกาย วาจาด้วย แล้วก็มีเรื่องของภาวนาก็คือ การที่ฝึกอบรมทำจิตใจและปัญญาให้เจริญงอกงามด้วย ความจริงนั้น ถ้าปฏิบัติให้ถูกต้อง เวลาเรามาถวายทาน เราก็ได้ครบหมด
เพราะผู้ที่มาถวายทานเลี้ยงพระ เริ่มต้นก็เข้ามาสู่วัดวาอาราม กายวาจาก็ต้องสำรวม กายวาจานั้น เป็นกายวาจาที่ดี ที่สงบ ที่เป็นกุศล เว้นจากสิ่งที่เป็นการเบียดเบียนกัน เรามาที่นี่ไม่มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน มีแต่เกื้อกูลกัน มาช่วยเหลือร่วมมือกัน มาร่วมกันส่งเสริมกัน ในการทำบุญทำกุศล ทำความดี แล้วยังมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เวลาเข้าพิธีต้องนั่งสงบ สำรวมกาย วาจาต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของศีลทั้งนั้น
แล้วก็เรื่องภาวนาก็ได้ ตั้งแต่เข้ามาในบรรยากาศที่สงบ จิตใจก็โน้มไปในทางของความสงบไปด้วย เราเข้าที่สงบ จิตใจก็สงบ และมีความร่มรื่นของวัดวาอาราม จิตใจก็ยิ่งมีความเบิกบานผ่องใส เพียงแค่นี้ก็เรียกว่าเจริญใจ คำว่า เจริญใจก็คือ อาการที่ว่าได้ภาวนาแล้วล่ะ จิตใจเจริญงอกงามขึ้น ด้วยความรู้สึกที่ดีงาม สภาพจิตที่เบิกบานสดชื่นเป็นกุศล เป็นภาวนาแล้ว แล้วทีนี้พอได้ทำบุญ ทำกุศลอีก ก็รู้สึกว่ามีความอิ่มใจ ได้ทำสิ่งที่ดี ได้สนับสนุนบำรุงพระศาสนา ปลื้มใจ อิ่มใจ ก็ยิ่งทำให้จิตใจเจริญงอกงามมากขึ้น เสร็จแล้วก็จะมีอีกส่วนหนึ่งก็คือ การฟังธรรม การฟังธรรมหรือการฟังเทศน์ ได้เข้าใจเรื่องคำสั่งสอนธรรมะ รู้ความจริงของชีวิต รู้หลักประพฤติปฏิบัติความดีงามต่างๆ ปัญญาเจริญงอกงามขึ้นอีก อันนี้แหละ รวมแล้วก็อยู่ในข้อภาวนา พอได้ทำอย่างนี้แล้ว ก็เลยครบ ๓ ถ้าครบ ๓ ก็เป็นอันว่า ทาน ศีล ภาวนา มาพรั่งพร้อม
เราก็เลยไม่รู้จะเรียกยังไง พอเรียกว่าถวายทานอย่างเดียวก็ไม่ครบ แม้ว่าเราจะเริ่มต้นด้วยการไปถวายทาน แต่ว่าเวลาไปทำจริงแล้ว ครบหมด ทานก็มา ศีลก็มา ภาวนาก็มา จะพูดว่าไปถวายทานอย่างเดียว ไม่ครบ เพราะฉะนั้น ต้องพูดว่าไปทำบุญ ฉะนั้น การที่เรามาวัดแล้วก็ เราเรียกว่ามาทำบุญก็เพราะเหตุนี้ เพราะว่าเราได้หมด แต่ก็ต้องเข้าใจ แล้วก็ทำให้ถูกด้วย จึงจะได้หมด ถ้าได้ครบนี่ เราพูดได้เต็มภาคภูมิว่า เราไปทำบุญ คือ ได้ทั้งทาน ทั้งศีลแล้วก็ภาวนา พอได้อย่างนี้แล้ว ก็เป็นปัจจัยที่จะปรุงแต่งสร้างสรรค์ให้ชีวิตนี้เจริญงอกงาม มีความสุข
เพราะฉะนั้น ท่านที่ปฏิบัติถูกต้อง มาเกี่ยวข้องกับพระศาสนา ชีวิตเจริญงอกงามมีความสุขเรื่อยเลย ก็สมวัตถุประสงค์ที่คุณวิบูลย์ตั้งไว้ บอกว่าจะทำอย่างไรให้มีความสุข พอญาติมิตรมาทำบุญอย่างนี้ ทำถูกทางก็มีความสุขแล้วนะ ไม่เฉพาะในด้านพระศาสนาเท่านั้น แม้แต่ในหมู่ญาติมิตรด้วยกันเอง มาพบปะกัน เวลาเรามาพบปะกัน มาพบในเรื่องดีๆ ในเรื่องทำบุญ ทำกุศล จิตใจของเราก็ดีงาม ความเป็นมิตรนั่นก็ทำให้จิตใจดีอยู่แล้ว มิตรนั้นก็มีเมตตา ความเป็นมิตรก็คือ เมตตาธรรม มาพบกันมีไมตรี มีความสุขในการที่ได้พบกัน เขาเรียกว่าไมตรีรสเกิดขึ้น แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว เพราะฉะนั้นเป็นกุศลทั้งนั้น
ทีนี้วันนี้คุณวิบูลย์ก็อยากจะให้ญาติมิตรได้รับประโยชน์จากการทำบุญ ทำกุศลมากขึ้นอีก ก็เลยอยากจะให้พูดธรรมะเกี่ยวกับเรื่องความสุข ทำอย่างไรจะมีความสุข แล้วก็ไร้ทุกข์ คุณวิบูลย์ย้ำไว้ว่า ไม่เฉพาะให้มีความสุข ยังให้ไร้ทุกข์ด้วย ทีนี้เราก็เลยลองมาคุยกันเรื่องความสุขไร้ทุกข์ว่า จะทำยังไงกันดี
ว่าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ถ้าเราปฏิบัติละก็ เราก็เจริญงอกงามขึ้นในความสุข แล้วก็ร้างทุกข์ ไร้ทุกข์ ห่างทุกข์ ยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งหมดทุกข์เลย หมดทุกข์แล้วก็เหลือแต่ความสุข พอสุขสมบูรณ์เต็มที่ ก็เป็นบรมสุข ทางพระท่านเรียกว่า นิพพานัง ปรมัง สุขขัง นิพพานเป็นสุขอย่างเยี่ยมยอด อย่างสูงสุด หรือว่า นัทถิ สันติ ปรมัง สุขขัง สุขอื่นยิ่งกว่าสันติไม่มี นั่นแหละเป็นสุขที่สมบูรณ์ ฉะนั้น ข้อปฏิบัติในทางพุทธศาสนานี่ จะนำเราไปสู่ความสุขอย่างแท้จริง พระพุทธเจ้าก็ตรัสวิธีที่จะทำให้เรามีความสุขว่าเยอะแยะหมด พระองค์ตรัสเรื่องความสุขไว้หลายแห่ง บางแห่งตรัสแยกไว้ถึงรวมแล้วนับได้ประมาณ ๑๐ ประเภท คือ ความสุขนี่มีหลายประเภทมากมาย เรามักจะมองความสุขได้แค่อย่าง ๒ อย่าง เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ดีต้องมีการเรียนรู้ว่าความสุขนั้นมีได้มากมาย หลายอย่าง หลายช่องทาง เพราะถ้าหากว่าเราไม่ได้เรียนรู้ เราก็นึกว่าความสุขมีอย่างที่เราเคยเข้าใจเท่านั้น ที่จริงความสุขมีวิธี มีช่องทางเยอะ มีหลายแบบ และมีหลักการในการที่จะสร้างให้มีขึ้นได้หลายวิธีด้วย
แล้วก็ตอนแรกก็เพื่อจะให้เกิดความรู้นี้ ก็เลยต้องพูดคู่กันก่อนว่า ความสุขนั้นคู่กับความทุกข์ ดูว่าพุทธศาสนามีหลักการเกี่ยวกับเรื่องสุข ทุกข์ อย่างไร เราพูดเรื่องความทุกข์เสียก่อนเลย เพราะว่าจุดหมายเราไปอยู่ที่สุข เราก็เริ่มที่ทุกข์ก่อน ความทุกข์นี่ที่จริงมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ เราอย่าเพิ่งเอามาไว้ในใจของเรา คือ ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของกฎธรรมชาติ สภาพที่มีอยู่ในสิ่งทั้งหลาย คือ สิ่งทั้งหลายที่เราพบเห็นปรากฏในโลก ทั้งชีวิตของเราด้วย ทางพระท่านเรียกว่า สังขาร
สังขารก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัย มาปรุง มาแต่ง มาประชุมกันขึ้น เลยเรียกกันง่ายๆ ว่า สิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง การเกิดจากปัจจัยปรุงแต่งมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยนั้นคือ กฎธรรมชาติ ทีนี้สิ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัย ถูกปัจจัยปรุงแต่ง เหตุปัจจัยมันเป็นยังไง มันก็ทำให้สิ่งเหล่านั้นพลอยเป็นไปด้วย การที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้น มันก็คือ มันอยู่อย่างเดิมไม่ได้ การอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ก็คือ เปลี่ยนแปลง ก็เลยมีสภาพที่เรียกว่า มันไม่เที่ยง แล้วก็เปลี่ยนแปลงไป แปรปรวนไป อันนี้หลักภาษาพระ ท่านก็มีศัพท์ให้ ซึ่งเราคุ้นกันดี เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่แหละ ก็สิ่งทั้งหลายมันเป็นสังขาร มันตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ มันเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย หลักเกณฑ์ของกฎธรรมชาติก็คือ ความเป็นเหตุเป็นผล เป็นไปตามเหตุปัจจัยนี่แหละ ซึ่งก็ตรงกันถึงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็พูดถึงเรื่องนี้ กฎธรรมชาตินี้มีสิ่งทั้งหลายทั่วไปหมด ก็เลยเป็นอันว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป ตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ปรากฎรูปขึ้นมาต่างๆ ซึ่งแล้วแต่เหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลัง สิ่งที่เราพบเห็น เราเรียกว่าอันโน้นอันนี้ เป็นตัวเป็นตน อันที่จริงตัวตนของมันแท้ๆ มันไม่มีหรอก ตัวตนนี้เป็นสภาพรวม เป็นภาพปรากฏ จากเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังของมัน ทีนี้ถ้าเราจับได้ เหตุปัจจัยของมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ตัวรูปร่างของมันก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ฉะนั้น ตัวตนก็คือ ภาพรวมหรือภาพปรากฏของการประชุมของเหตุปัจจัยที่อยู่เบื้องหลัง ฉะนั้น ตัวแท้เราต้องจับได้คือ เหตุปัจจัยเหล่านั้น ตัวจริงอยู่ที่ความเป็นเหตุปัจจัย เลยทางพระท่านก็เลยเรียกว่า อนิจจัง คือ ไม่เที่ยง เกิด ดับ ทุกขังคือ อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มีการเปลี่ยนแปลงไป แล้วก็อนัตตา ไม่มีตัวตนยืนตัว แต่ว่าปรากฏขึ้นตามเหตุปัจจัยของมัน นี่คือหลักพระไตรลักษณ์
ทีนี้ เวลาเราพูดถึงทุกข์ ทุกข์มันก็รวมอยู่ในหลัก ๓ ประการที่ว่า คือ กฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ทุกขัง ก็คือ ทุกข์ คำว่าทุกข์อยู่ตรงนี้เอง อยู่ในกฎธรรมชาติ แล้วทุกขังนั่นแหละ เป็นส่วนที่ปรากฏสำคัญแก่มนุษย์ พอมันมีความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป เป็นไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้อง มันเกิดผลแก่มนุษย์เลย คือว่า เกิดผลแก่มนุษย์ก็คือว่า
ตัวมนุษย์เองนั้น ๑ ก็เป็นธรรมชาติด้วย เมื่อเป็นธรรมชาติ เป็นสังขาร ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นด้วย มีการเปลี่ยนแปลง อยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อันนี้ก็คือ ชีวิตของเรานี้ ก็กลายเป็นว่า มีตัวอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้ามาอยู่ด้วยแหละ ตอนนี้ละ จากกฎธรรมชาติเข้ามาถึงตัวคนแล้ว แต่ว่าเราต้องยอมรับความจริงตามกฎธรรมชาติว่า ชีวิตของเรานี้ อยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตัวเด่นสำหรับความรู้สึกของมนุษย์ก็คือว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ออกมาในความรู้สึก ก็กลายเป็นเรื่อง ทุกข์ไป คือว่า มันไม่คงที่ มันตั้งอยู่สภาพเดิมไม่ได้ ก็เกิดเป็นปัญหาแก่เรานั่นเอง เป็นปัญหากับเรา ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เราไปสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายนั้น เรามีความปรารถนา แล้วความปรารถนาที่จะให้มันเป็นไปตามใจชอบของเรา ทีนี้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ ก็เกิดการขัดแย้งกัน ระหว่างความเป็นจริงที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้าความปรารถนาของเราในใจที่ว่า ต้องการให้ไปทางนี้ ไอ้เจ้าสิ่งโน้นไปทางโน้น เราต้องการให้มันอยู่กับที่ ให้มันไม่เปลี่ยนแปลง มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย พอเราเกิดไปยึดถือว่า สิ่งที่เราเกี่ยวข้อง เราครอบครอง มันจะต้องเป็นอย่างนี้ พอมันไม่เป็น มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันฝืนความปรารถนา เราก็ถูกกระทบกระแทก เกิดความขัดแย้ง ก็เกิดความทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ในกฎธรรมชาติก็เลยส่งผลมาเป็นทุกข์ในตัวเรา ในใจเรา
ตกลงว่าความทุกข์ ความอะไรที่แท้มาจากกฎธรรมชาตินั่นแหละ ตัวจริงมันอยู่ที่กฎธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจหลักการที่ว่า ทุกข์ที่จริงนั้นมันอยู่ในกฎธรรมชาติ ส่งผลต่อเรา เพราะ
๑ ตัวเรา ชีวิตเรานั้น เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาตินั้นด้วย
๒ เพราะว่าเราไปมีความยึดถือ ยึดมั่น ถือมั่น ในสิ่งทั้งหลาย จะให้เป็นอย่างโน้น อย่างนี้ แล้วไปขัดแย้งกับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติเข้า เราไม่ได้ตามปรารถนา เกิดการปะทะ กระแทก ขัดแย้ง ก็เลยทุกข์ขึ้นมา ถ้าเรารู้หลักความจริงเหล่านี้ ปฏิบัติให้ถูกต้อง เราจะเริ่มเบาทุกข์ สร่างทุกข์ ล้างทุกข์ หายทุกข์ แล้วก็สุขมากขึ้น
ตอนนี้ก็เลยเริ่มต้นให้รู้ความจริงเสียก่อน พระพุทธเจ้าก็เลยสอนว่า เรื่องของทุกข์ ท่านจะต้องเข้าใจความจริงอันนี้ อย่างน้อยเข้าใจหลักความจริงตามธรรมชาติก่อน อย่าไปหนี อย่าไปเลี่ยง ต้องเผชิญหน้า แต่ว่าเผชิญหน้าด้วยความรู้ ด้วยปัญญา ฉะนั้น ทุกข์ก็เลยมาเป็นอริยสัจข้อที่ ๑ เป็นความจริงที่เราจะต้องรู้ พระพุทธเจ้าก็สอนไว้เสร็จเลยว่า หน้าที่ต่อทุกข์คืออะไร พระองค์ก็ตรัสไว้ ต่อทุกขัง ?????? แปลว่า ความทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่ต้องรู้เท่าทัน หมายความว่า เรามีหน้าที่ต่อทุกข์ ก็แค่ได้ปัญญา ที่ไปรู้เท่าทันมันเท่านั้นเอง ห้ามเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้จักทุกข์ พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้เราเป็นทุกข์นะ เพราะว่าเรื่องอริยสัจจ์นี่สำคัญ คือ หน้าที่ต่ออริยสัจจ์ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้แต่อริยสัจจ์อย่างเดียว อริยสัจจ์นั้นมีหน้าที่ด้วย ท่านเรียกว่า กิจในอริยสัจจ์ ทุกข์นี้ ๑ แล้ว ที่เราว่าไปเมื่อกี้ ทีนี้มันก็มีเหตุของทุกข์ ทุกข์ที่ปรากฏขึ้น จากความยึดอยากปรารถนาของเรา เหตุของมันอยู่ที่ตัวที่ ๒ คือ ตัวความยึด ความปรารถนา สมุทัย นอกนั้นก็จะดับทุกข์ ทำลายทุกข์ หายทุกข์ ก็โดยที่ว่ารู้เท่าทันความจริง ทำให้ไม่มีตัวความยึด ความอยากที่สร้างกระแสเข้ามาขัดกับกฎธรรมชาติ แล้วก็ปฏิบัติ โดยวิธีการที่เข้าถึงความรู้ความจริงอันนี้
ทีนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสหน้าที่ต่ออริยสัจจ์ไว้เรียกว่า กิจในอริยสัจจ์ ซึ่งเราจะต้องเข้าใจ ถ้าเรารู้อริยสัจจ์ ต้องรู้กิจในอริยสัจจ์ด้วย ถ้ารู้อริยสัจจ์อย่างเดียว ถ้าทำกิจในอริยสัจจ์ผิด เราก็พลาดหมดเลย ฉะนั้น กิจในอริยสัจจ์นี่สำคัญ อริยสัจ ๔ มีทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระพุทธเจ้าก็ตรัสกิจหรือหน้าที่ต่ออริยสัจจ์ไว้เท่ากัน หน้าที่ต่ออริยสัจจ์
ข้อ ๑ คือ ทุกข์ ได้แก่อะไร ก็ได้บอกไว้ ได้แก่ ปริญญา ท่านจึงบอกว่า ทุกขัง ปริญญยัง ทุกข์นั้นต้องปริญญา ปริญญาก็แปลว่า รู้รอบ รู้เท่าทัน รู้ความจริงของมัน รู้ตามที่มันเป็น เป็นอันว่าหน้าที่ต่อทุกข์พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดแล้วนะ ทุกข์เป็นเรื่องสำหรับปัญญารู้ ไม่ใช่สำหรับให้เราเป็นทุกข์ ถ้าเราเป็นทุกข์ เราก็ผิด ผิดถนัดเลย หน้าที่ของเราต่อทุกข์ จำต้องชัดเจน ต้องเป็นเรื่องความรู้
๒ สมุทัย เหตุของทุกข์นั้นสิ เราต้องละ ต้องกำจัด เขาเรียกว่า กิจต่อสมุทัย ได้แก่ ปหานะแล้วต่อไป
กิจต่ออริยสัจจ์ ข้อง ๓ จุดหมายความหมดทุกข์ ดับทุกข์ ไร้ทุกข์ อันนี้ท่านบอกว่า สัจฉิกิริยา เราต้องประจักษ์แจ้ง คือ เราจะต้องบรรลุถึง อันนั้นคือ จุดหมายของเราแล้ว คือ ความไม่มีทุกข์ ความไร้ทุกข์อันนี้เป็นตัวที่เราจะต้องประจักษ์แจ้ง ทำให้เกิดเป็นจริง ทำให้เป็นของจริงขึ้นในตัวเรา
แล้วก็สุดท้ายก็มรรค จะทำยังไงให้เข้าถึงความไร้ทุกข์นี้ หรือว่าได้ทำให้ความไร้ทุกข์หมดทุกข์นี้เป็นจริงขึ้นมา เราก็ต้องข้อที่ ๔ คือ ลงมือปฏิบัติ เรียกว่า มรรค มีหน้าที่คือ ภาวนา ได้แก่ การลงมือทำ
๔ ข้อนี้ชัด แต่วันนี้ต้องการพูดเฉพาะข้อที่ ๑ ข้อ ๒, ๓, ๔ นี่ ไม่ได้พูดโดยตรง พูดโดยอ้อม เพราะฉะนั้น จะไม่ไปลงรายละเอียดในอริยสัจจ์แล้ว ยกขึ้นมาเพราะต้องการชี้ถึงคำว่า “ทุกข์” ว่าพระพุทธเจ้าตรัสบอกหน้าที่ไว้แล้วว่า ทุกข์เรามีหน้าที่อย่างเดียวคือ “ปริญญา” รู้เท่าทัน ก็รู้อย่างที่ว่าเมื่อกี้ รู้ความจริงของมันว่า มันมาจากกฎธรรมชาตินี่เอง เราไปสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติ แล้วเราสัมพันธ์ไม่เป็น ตั้งวางใจไม่ถูกต้อง ก็เกิดปัญหาขึ้นมา ฉะนั้น ตอนแรกก็เลยให้รู้ควมจริงนี้เสียก่อน รู้กฎธรรมชาติ รู้ความสัมพันธ์ระหว่างกฎธรรมชาติกับชีวิตของเรา ทางมาที่ทำให้เกิดทุกข์ ตอนนี้แหละเรียกว่า ปริญญา เอ้า ๑ ละเรื่องหน้าที่ต่อทุกข์
ทีนี้ต่อมาเมื่อมีทุกข์แล้ว ก็มีสุข พระพุทธเจ้าก็ตรัสหลักวิธีปฏิบัติต่อความทุกข์และความสุขรวมไปด้วยกันเลย ว่าชีวิตของเรา เราจะเอายังไงกับเรื่องสุข เรื่องทุกข์ พระพุทธเจ้าก็ให้หลักไว้ หลักสำคัญ ๔ ประการนี้ ชาวพุทธน่าจะจำไว้ให้ดีทีเดียว มีอะไรบ้าง
การปฏิบัติต่อทุกข์กับสุข
๑ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ ข้อที่ ๑ บางคนนี่ชอบเอาทุกข์มาใส่ตัว โดยใช่เหตุ ตัวเองไม่มีทุกข์ ก็อยู่สบายๆ ลองคิดดู หลายคนเอาเรื่องนั้นมากลุ้มใจ หรือเก็บเรื่องนี้มา แล้วก็คิด ทำให้ใจวุ่นวาย เดือดร้อน มีความเครียด ทั้งๆ ที่ชีวิตก็อยู่ไปเรื่อยๆ เอาละคนพวกที่ ๑ นี่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนว่า ๑ ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์ เดี๋ยวลองดูว่าเราเป็นคนอย่างนั้นหรือเปล่า ทุกข์ทับถมตนหรือเปล่า
๒ ท่านบอกว่า ไม่ละทุกข์ ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบทำ หมายความว่า ความสุดใดที่เป็นสิ่งที่ชอบทำ ไม่ก่อความเสียหาย ไม่เบียดเบียนเดือดร้อนแก่ใคร ท่านก็ให้เราใช้สิทธิ เสวยความสุขนั้นได้ ๒ ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบทำ
๓ แม้แต่สุขที่ชอบทำ ที่ดีนั้น ก็ไม่ลุ่มหลง หมกมุ่น มัวเมา เอาล่ะ ทีนี้นี่ต้องระวังนะ พระพุทธเจ้ากันไว้เป็นขั้นๆ เลยนะ ทีนี้พอเราไม่ละทิ้งสุขที่ชอบทำ ทีนี้พอเราสุข เราหลงแล้ว ติดหมกมุ่น เพลิดเพลิน แล้วก็เกิดโทษ ทีนี้ก็มัวเมาประมาท คนที่ลุ่มหลงในความสุข คราวนี้ก็ละทิ้งกิจหน้าที่การงาน ตกอยู่ในความประมาท มีอะไรที่จะต้องทำ ก็ไม่เร่งรัด ผลัดเพี้ยนเวลา อย่างนี้ท่านเรียกว่า มัวเมาประมาท เพราะฉะนั้น ใช้ไม่ได้เหมือนกัน ฉะนั้น ถึงแม้สุขที่ชอบทำ ก็ต้องไม่หลง หมกมุ่น มัวเมา ประมาท แล้วยังไม่จบ อีกข้อหนึ่ง
ก็คือว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป ก็หมายความว่า ยังมีสุขอื่นอีกนะ คุณอย่ามาติดอยู่แค่สุขขั้นนี้ เดี๋ยวเราจะบอกว่าสุขนี้สำหรับเราดีแล้ว มันชอบธรรม เราก็มีสิทธิ์เสวยสุข เราก็เลยอยู่แค่นั้น ไม่พัฒนาตัว ท่านบอกว่า มีความสุขอื่นที่เราถึงอีก ฉะนั้น ให้พัฒนาต่อไป พยายามเข้าถึงความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป นั่นแหละจนกระทั่งถึงสุขที่สมบูรณ์อย่างที่พูดในตอนแรก นั่นแหละจึงจะพอ พระพุทธเจ้าให้หลักไว้แล้ว ปฏิบัติตามหลัก ๔ ข้อนี้ เป็นชาวพุทธสมบูรณ์แล้ว คือการปฏิบัติตามพระพุทธศาสนานี้ ปฏิบัติตามหลักไหนก็ได้ มีวิธีปฏิบัติหลายอย่าง แต่ว่าเราเอาความสุขมาเป็นแนวก็ได้ ปฏิบัติตามหลักความสุข ๔ อย่างนี้ก็ถือว่าปฏิบัติพุทธศาสนาถูกต้องสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น พุทธศาสนานี่พูดในแง่ความสุขก็ได้ เป็นเรื่องความสุขทั้งหมดเลย ทวนอีกทีนะ
๑ ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่มีทุกข์
๒ ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม
๓ แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้น ก็ไม่หลง ไม่ลุ่มหลง หมกมุ่น มัวเมา แล้วก็
๔ เพียรพยายามเข้าถึงความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป
จาก ๔ ข้อนี้ อาตมาก็เลยจะมาพูดถึงเรื่องความสุข เอาอันนี้เป็นมาตรฐาน เป็นแนวไว้ ว่าในพุทธศาสนานี้ ท่านแสดงเรื่องความสุขไว้เยอะแยะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่อาตมาพูดแต่เบื้องต้น บอกว่าความสุขนั้นมีตั้ง ๑๐ ชนิดก็มี บางแห่งพระองค์ก็ตรัสไว้ ๒ แบบง่ายๆ ทีนี้วันนี้เราจะพูดสักเท่าไหร่ดี เพราะว่าพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องความสุขไว้เยอะ คือในพุทธศาสนาเราเอาเรื่องทุกข์แต่เพียงเป็นเรื่องสำหรับรู้เท่าทัน ต้องปริญญา แต่เรื่องสุขนี้เป็นเรื่องของชีวิตของเรา ที่เราจะปฏิบัติให้เกิดมีเลย ฉะนั้น ชาวพุทธปฏิบัติถูก จึงมีแต่ความสุข เราก็มาเริ่มว่า มีความสุขกี่ประเภท วันนี้คิดว่าเอา ๕ อย่าง จะมากไปหรือเปล่า ญาติโยมว่าโอ้โฮ ๕ อย่างกว่าจะจบ ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ กลัวว่าเวลาจะไม่พอ ตกลงว่าลองดูก่อนก็แล้วกันว่า จะพูดความสุข ๕ ประเภท ก็ไม่ต้องพูดถึง ๑๐ ประเภท ถ้า ๑๐ ประเภทนี้ ยาวมากไป แล้วก็อีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่า จะสับสนจำไม่ไหว ทีนี้เอาความสุขแค่ ๕ ประเภทนี่ ก็พอปานกลาง พอจำได้ เริ่มความสุขประเภทที่ ๑ ก่อน
ความสุขประเภทที่ ๑ คนรู้จักกันมาก โดยมากเวลาพูดถึงความสุข คนทั่วไปจะมองเห็นได้ในประเภทที่ ๑ นี้ บางคนมองไม่เคยเลยประเภทที่ ๑ เลยนะ ประเภทที่ ๑ นี้คืออะไร ประเภทที่ ๑ ก็คือ ความสุขที่เป็นด้านสิ่งเสพสิ่งบริโภค เป็นวัตถุ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรานี้ จะต้องการวัตถุมาเสพ มาบริโภค ตาก็อยากเห็นสิ่งสวยงาม อยากดูทีวี อยากอะไร ดูวีดิโอ อะไรก็ไม่รู้แหละ ดูสิ่งสวยๆ งามๆ หูก็อยากจะฟังเสียงไพเราะดนตรี อะไรต่างๆ แล้วก็จมูกก็ดมกลิ่นที่หอม ลิ้นที่ลิ้มรสอาหารเอร็ดอร่อย นี่เป็นเรื่องใหญ่เลยนะ เรื่องลิ้นนี่ แล้วเรื่องกายสัมผัสสิ่งที่นุ่มนวล ฟู่ฟ่า อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราก็จะอยู่กับความสุขที่มาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย สิ่งที่มาเสพบำรุงบำเรอ ปรนเปรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เขาเรียกว่า รูป รส กลิ่น เสียง สมผัส อันนี้เป็นความสุข ประเภทที่ ๑ ของคน ทางพระท่านเรียกว่า สามิสสุข สามิสก็มาจากคำว่า สุข กับ สามิส สามิสแปลว่า อาศัยอามิสนั่นเอง หรือความสุขที่อิงอามิส ประกอบด้วยอามิส อามิสนั่นก็คือวัตถุนั่นเอง วัตถุที่เสพบริโภค เขาเรียกว่า อามิส หรือบางทีท่านเรียกว่า กามสุข ใช้แทนกันได้ กามสุขก็สิ่งที่ชอบใจ คำว่า “กาม” ในทางธรรมมีความหมายกว้าง หมายถึงสิ่งที่มาบำรุงบำเรอ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เรียกว่า “กาม” ทั้งสิ้น ก็เป็นอามิสนั่นเอง เพราะฉะนั้นความสุขของคนทั่วไป ก็จะอยู่ที่ประเภทที่ ๑ นี้
ทีนี้ประเภทแรกนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ปฏิเสธ ทรงถือว่าเป็นสุขเหมือนกัน แต่ว่าเราจะต้องรู้เท่าทัน คือ คนที่จะมีชีวิตอยู่ดีที่สุดนี่ จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้น แม้แต่สิ่งที่ให้ความสุขอย่างถูกต้อง อย่าให้มันทำพิษให้แก่ตนเอง ถ้าหากว่ามันมีโทษ เราก็ต้องรู้ทันมัน ส่วนที่ดีเป็นคุณก็รู้ทัน ส่วนที่เป็นโทษก็รู้ทัน ถ้ารู้ทันแล้วมันจะมีโทษต่อเราน้อย ก็ต้องถามต่อไป ความสุขประเภทนี้ ไม่ต้องบรรยายว่า มีความสุขอย่างไร แต่ว่าต้องดูว่า แล้วมันมีโทษไหม มันมีปัญหา มีข้อเสียไหม ถ้าหากว่าเราไม่รู้ทันมัน ถ้าเกิดมันมีข้อเสีย เราก็อาจจะลำบาก เกิดความเดือดร้อน โดยที่ว่าได้ประโยชน์จากมันไม่คุ้มเสีย ฉะนั้น เราจะหาความสุขจากสิ่งเหล่านี้ เราก็ต้องรู้เท่าทันอย่างที่ว่า แล้วก็ปฏิบัติต่อมันให้ดีที่สุด ให้ได้ประโยชน์จากมันมากที่สุด ให้ได้โทษจากมันน้อยที่สุด ทำยังไง ก็เราลองมาดูว่า ความสุขประเภทที่ ๑ ถ้ามันมีคุณอย่างเดียว แล้วไปไม่ต้องพูดต่อ แต่ว่ามันมีคุณอย่างเดียวหรือมีโทษด้วย ถ้ามีโทษด้วยเราต้องรู้ ถ้ามีโทษแล้ว เราก็จะต้องแก้ไข ทำให้มันมีโทษน้อย หรือไม่ให้มันมี ในส่วนดีเป็นอันว่าบอกแล้วว่าไม่ต้องพูดนะ กามสุขหรือสามิสสุข มีส่วนดีอย่างไร
ทีนี้ส่วนเสีย ส่วนเสียเป็นยังไง มันมีไหม พระพุทธเจ้าตรัสบอกมี ส่วนเสียเป็นยังไงบ้าง ส่วนเสียของสามิสสุข สุขที่เกี่ยวกับวัตถุ สิ่งภายนอก สิ่งเสพบริโภค ลองมาดูกัน เรื่องนี้ยาว ถ้าพูดเรื่องนี้อย่างเดียว ก็หมดเลยเวลา ทีนี้เราก็คงต้องพูดกันย่อๆ ว่าสามิสสุข กามสุข มีโทษอย่างไรบ้าง มีโทษก็
๑ ต่อชีวิตของเรา
๒ ต่อสังคม ต่อเพื่อนมนุษย์ มองหลายด้าน
นี่มองด้านตัวเองก่อน มองด้านชีวิตของเรา มันมีโทษไหมหนอ มีโทษอย่างไรบ้าง คนที่หาความสุขประเภทนี้ เอากันง่ายๆ อย่างหนึ่งที่เห็นชัดก็คือว่า ความสุขของตัวนี่ จะมีได้ต้องเสพวัตถุภายนอก สิ่งนั้นอยู่ภายนอกตัวนะ ไม่ได้อยู่ในตัว อันนี้กลายเป็นว่า ความสุขนี้ไม่อยู่ในตัวเอง ความสุขนี้ต้องขึ้นต่อวัตถุสิ่งเสพภายนอก พอขึ้นกับสิ่งเสพภายนอกก็เลยไม่เป็นอิสระ ทีนี้ถ้าหากว่าไม่ระวังตัวให้ดีนะ เราจะมีลักษณะชีวิตที่ว่ามีความพึ่งพามาก ชีวิตและความสุขต้องไปขึ้นต่อวัตถุ สิ่งเสพภายนอก ไม่สามารถมีความสุขด้วยตนเอง ทีนี้ถ้าหากว่าไม่รู้จักพัฒนาชีวิตของตนเอง ก็จะสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข คนนี้นะ พอได้วัตถุสิ่งเสพ มันมีลักษณะอย่างหนึ่งก็คือว่า สิ่งเสพเหล่านี้ มันจะต้องเพิ่มปริมาณและดีกรีมากขึ้น เพื่อจะให้ได้ความสุขเท่าเดิม แต่ก่อนนี้เคยมีเท่านี้ ก็มีความสุขแล้ว มีความมุ่งหมายใฝ่ฝันว่า ถ้าได้เงินเท่านี้ จะมีความสุขสุดแสนสูงสุดสุดยอดเลย สมมติว่า เคยพูดบ่อยๆ เช่นว่า คนหนึ่งแต่ก่อนนี้ไม่มีเงิน ยากจนนะ ก็เลยคิดว่า แหมถ้าเรามีเงินเดือน สมมติว่า ๕,๐๐๐ สมมติอย่างนั้น จะเป็นสุดยอดปรารถนามีความสุขเต็มที่ สมมติว่าอย่างนั้น หรือว่าเอา ๑๐,๐๐๐ ก็แล้วกันยุคนี้เงินมันมีค่าน้อย สมมติว่าคนหนึ่ง แต่ก่อนนี้ยากจนมาก ก็เลยตั้งความใฝ่ฝันไว้ว่า ถ้าเรามีเงินเดือน ๑๐,๐๐๐ นี่ เราพอ เราสบาย มีความสุขสุดยอดเลย ทีนี้ต่อมาเขาก็เพียรพยายามสู้เหน็ดเหนื่อย แล้วก็ทำงานทำการจนกระทั่งได้เงินเดือน ๑๐,๐๐๐ จริงๆ ตอนที่ได้ครั้งแรกนั้น สุขจริงๆ นะ สุขเหลือเกินเลย สุขเต็มที่ แต่ว่าพอนานไป คราวนี้ชักชินแล้ว พอชิน ๑๐,๐๐๐ นี่ ความสุขนี่ก็ชักเฉยๆ ตอนนี้ปรารถนา ๕๐,๐๐๐ ปรารถนา ๕๐,๐๐๐ ต่อไปก็เกิดได้ ๕๐,๐๐๐ ต่อมาได้ ๕๐,๐๐๐ แล้วก็สุข แต่ตอนนี้ไม่สุขเท่าตอนได้ ๑๐,๐๐๐ ด้วยซ้ำนะ เชื่อไหม ตอนได้ ๕๐,๐๐๐ นี่ พอได้ ๑๐,๐๐๐ แรกนี่ ความปรารถนามันตั้งไว้สูง ฉะนั้น พอความปรารถนาสำเร็จก็สุขมาก นี่ตอน ๕๐,๐๐๐ นี่ มันตั้งความปรารถนาไม่สูงนัก ก็ได้ ก็มีความสุขพอสมควร ก็ต่อมาพอได้ ๕๐,๐๐๐ แล้วก็ปรารถนาต่อไปให้ได้ ๑๐๐,๐๐๐ ต่อมาพอได้ ๑๐๐,๐๐๐ ก็สุขพอสมควรอย่างที่ว่า แต่ไม่ได้เท่าตอนได้ ๑๐,๐๐๐ ตอนแรกเลย ทีนี้มองย้อนกลับ ตอนที่ได้เงินเดือน ๑๐๐,๐๐๐ ถ้าเกิดมันมีเหตุอะไรที่ทำให้หมดเงินเดือน ๑๐๐,๐๐๐ นี้ไป แล้วไปได้ ๑๐,๐๐๐ ตอนนี้ไอ้ ๑๐,๐๐๐ นั้นกลายเป็นทุกข์ไปเลย เชื่อไหม ๑๐,๐๐๐ ที่เคยทำให้แสนสุขนี่ กลายเป็นความทุกข์ไปแล้ว อันนี้เป็นเรื่องของชีวิตมนุษย์ที่ว่า ในความสุขสิ่งที่จะมาสนองความต้องการนั้น ที่เป็นวัตถุนี่ จะต้องเพิ่มปริมาณและดีกรี เพื่อจะดึงให้ความสุขนี้ ดำรงตัวอยู่เท่าเดิม
ฉะนั้น โดยวิธีนี้ มนษย์ก็ยิ่งต้องแสวงหามากขึ้น ความสุขก็ยิ่งขึ้นต่อวัตถุมากขึ้น ก็เลย พร้อมกันนั้น ตัวไม่รู้ว่าการที่ต้องหาให้ได้มากขึ้น ปริมาณและดีกรีมากขึ้น ก็ยิ่งเหน็ดเหนื่อยมากขึ้น ในระหว่างนั้นก็ทุกข์มากขึ้นด้วย เพื่อจะได้ความสุขเท่าเดิม ทีนี้ความสุขก็หนีไป ก็ตามขบวนไล่กันไปอย่างนี้เรื่อยเลย นี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งของความสุขประเภทนี้ คือ การพัฒนาชีวิตที่เสียดุลยภาพ เพราะฉะนั้น อันนี้แค่อันที่ ๑ นี่ก็ต้องมีวิธีปฏิบัติ วิธีปฏิบัติคืออย่างไร คือ เรายังมองด้านเดียว ถ้ามองด้านเดียวว่า ความสุขอยู่ที่การหาสิ่งเสพให้ได้มากที่สุด แล้วเราจะสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข มีความสามารถหาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข คนเรามักจะไม่ได้มองว่า ตัวอันหนึ่งที่เราลืมไปก็คือ ความสามารถที่จะมีความสุข ซึ่งทุกคนมีอยู่เดิมในชีวิต เป็นศักยภาพ ถ้าเรารักษามันไว้ เรามีวัตถุเท่าไร เราก็มีแต่ความสุข และยิ่งเพิ่มวัตถุ เรายิ่งสุขมากขึ้น โดยที่เราจะไม่สูญเสียมันไป แล้วถ้าให้ดี เราก็พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขนี้ให้มากขึ้นด้วย แล้วเราจะได้ลักษณะของชีวิตที่ว่า คนที่พัฒนาสองด้าน จะมีลักษณะต่างกับคนที่พัฒนาด้านเดียว คนที่พัฒนาด้านเดียว คือว่า พัฒนาแต่ความสามารถหาสิ่งเสพบำเรอความสุข เก่งในการหาสิ่งบำเรอความสุขจริง แต่ว่าสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข ก็จะเกิดลักษณะที่เรียกว่า อยู่ไปนานเข้าในโลกนี้ เป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น ลองสำรวจมนุษย์ในโลกปัจจุบัน จะมีลักษณะอย่างนี้เยอะ อยู่ไปในโลกแล้ว เป็นคนที่สุขยากขึ้น ก็คือ ต้องมีสิ่งเสพมากขึ้นๆ เพื่อสุขเท่าเดิม ทีนี้ถ้าเขาพัฒนาถูกต้อง เขาก็จะรักษาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ ฉะนั้น อยู่ในโลกนานๆ ไป เครื่องวัดที่ดีคอยสำรวจตัวเองว่า เราเป็นคนสุขง่ายขึ้นหรือเปล่า ถ้าเราพัฒนาชีวิตถูกต้อง เราต้องเป็นคนสุขง่ายขึ้น เราจึงจะชื่อว่าเก่งจริง ไม่งั้นมันจะเก่งยังไง มันก็ไม่เก่งสิ เก่งแต่หาสิ่งเสพบำเรอความสุข แต่ไม่มีความเก่งที่จะมีความสุข เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่จะต้องระวัง เราจะต้องพัฒนาด้วยคือ ความสามารถที่จะมีความสุข เพราะฉะนั้น ทางพุทธศาสนาท่านจึงเน้นทั้งสองอย่าง พร้อมกับการที่เราเล่าเรียนศึกษา พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งมาบำเรอความสุข เราก็พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขไปด้วย พอพัฒนาสองด้านนี้ คราวนี้ล่ะสุขทวีคูณเลย สุขทวีคูณยังไง เพราะว่าเราสุขง่ายขึ้น แล้วสิ่งที่จะหามาบำรุงความสุข ก็หาได้เก่งขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็สุขสมบูรณ์เลย
ทีนี้ถ้าหากว่าเราสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขข้างในออกไป เราหาสิ่งเสพบำเรอความสุขได้เก่งเท่าไร มันก็ได้สุขเท่าเดิมอยู่นั่นแหละ เพราะว่าข้างนอกมัน +๑ แต่ข้างใน-๑ ใช่ไหม ข้างใน -๑ ข้างนอก +๑ ก็ ๐ เรื่อยไป ดังนั้น บางคนนี่อยู่ในโลกไป เป็นคนสุขได้ยากขึ้นทุกที ต้องหาวัตถุเท่าไรก็ไม่สุขเต็มที่สักที จนกระทั่งในที่สุด แม้มีล้นฟ้า มีพรั่งพร้อมบริบูรณ์ ก็เป็นคนไม่มีความสุข จนกระทั่งบางคนนี่ อยู่ไปในโลก เป็นคนที่หมดความสามารถที่จะมีความสุข อันนี้ตัวร้ายมาก เมื่อหมดความสามารถที่จะมีความสุขเสียแล้ว มีอะไรเท่าไร มันก็ไม่ทำให้มีความสุข ใช่ไหม อันนี้เป็นตัวอย่างอันหนึ่งที่ว่า โทษของความสุขทางด้านอามิส ที่เกิดจากเรารู้ไม่เท่าทันและปฏิบัติไม่ถูก เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้หลักอันนี้ เราปฏิบัติให้ถูกปั๊บ เราก็ได้สุขจริงจากวัตถุเสพ
ต่อไปดูต่อไป เพราะมันยังมีโทษอะไรอีก โทษจากความสุขประเภทนี้ ก็นอกจากว่าต้องเพิ่มปริมาณและดีกรี ก็คือว่า มันเป็นของที่ชินชาได้ พอเรามีความคุ้นกับมัน ตอนแรกเราหวังจากมันนะ ว่าได้สิ่งนี้แล้ว แหมจะแสนสุข เรียกว่าใฝ่ฝันนัก พอได้ก็สุขจริง แต่พอชินชาไปหายสุข ตอนนี้กลายเป็นบางทีเบื่อ พอเบื่อแล้วเกิดความจำเป็นต้องอยู่ด้วย ไปไม่ได้ คราวนี้ทุกข์เลย ทุกข์เพราะต้องจำทนอยู่ ทีนี้อันนี้ก็ร้ายเหมือนกัน ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าอนิจจังมา ก็ช่วยเลย ใช่ไหม กลับชอบอนิจจังให้เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น อันนี้สำคัญมาก นี่ก็โทษอีกอันหนึ่งของ สามิสสุข
ต่อไปอีกอันหนึ่ง คราวนี้ก็มาถึงตังกฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทีนี้สิ่งเหล่านี้ ทั้งตัวเราเอง ทั้งสิ่งที่เราปรารถนาเหล่านั้น อามิสทั้งหลายมันล้วนแต่ตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ มีความไม่เที่ยงแปรปรวนไป มันก็ต้องมีการจาก มีการพลัดพรากได้ คนก็มีความทุกข์จากเรื่องเหล่านี้ แม้ไม่เกิดขึ้นจริงนะ การแตกหักสลายสูญเสียยังไม่เกิด แต่มีความหวาดหวั่น หวาดหวั่นพรั่นกลัวต่อความสูญเสีย พลัดพรากเหล่านั้น นี่ก็ทุกข์ทั้งนั้นเลย เพราะฉะนั้นความสุขที่เกิดจากอามิส จากสิ่งเสพภายนอกนี่ มีจุดอ่อนหลายอย่าง นี่อาตมาก็เอามาให้ดู ๒-๓ อย่างแล้วนะ ทีนี้ในแง่ชีวิตของเรา ทีนี้มองออกไปกว้าง ก็คือ ในทางสังคม มองในทางสังคมก็มีผลเสียได้เหมือนกัน ถ้าปฏิบัติผิดล่ะยุ่งเลย แล้วอันนี้แหละ คือที่มาของปัญหาสังคมแทบทุกอย่าง เพราะว่ามนุษย์ทุกคนนั้น มีความเข้าใจอย่างเดียวกันว่า จะต้องเสพวัตถุหามาให้ได้มากที่สุด แล้วตัวเองจะมีความสุขมากที่สุด ทุกคนมองอย่างเดียวกันว่า ฉันต้องมีมากที่สุด จึงจะสุขที่สุด ฉะนั้น ฉันก็หาให้มากที่สุด เมื่อต่างคนต่างหาให้มากที่สุด มันก็ต้องเบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน ใครมีกำลังมาก มีโอกาสมาก มีความสามารถมาก ก็หาได้มาก คนที่มีกำลังน้อย โอกาสน้อย ความสามารถน้อย ก็หาได้น้อย ก็เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ข่มเหงซึ่งกันและกัน เบียดเบียนกัน ก็เกิดความทุกข์ในสังคมเลยทีนี้ จุดนี้แหละเป็นจุดที่ว่า อามิสสุขมีปัญหาร้ายแรงต่อสังคมมนุษย์ เพราะสังคมมนุษย์ที่มีความเดือดร้อนปัจจุบันนี้ ก็มาจากเรื่องการเบียดเบียนแย่งชิงสิ่งเสพอามิสบริโภค แล้วปัญหานี้ก็เลยไปถึงสิ่งแวดล้อมธรรมชาติด้วย เมื่อจะเสพบริโภคให้มาก ความสุขขึ้นต่อสิ่งเสพ เขาเรียกว่า เสพมากที่สุด สุขมากที่สุด ก็ต้องเอาจากธรรมชาติมากที่สุด ทรัยากรธรรมชาติก็ถูกทำลาย ฉะนั้น ปัญหาธรรมชาติแวดล้อมก็เกิดขึ้นมาอีก ตกลงว่าความสุขประเภทที่ ๑ นี่ ถ้ามนุษย์ปฏิบัติไม่ถูกแล้วยุ่งมาก
๑ ชีวิตของตัวเองก็ไม่มีความสุขแท้จริง
๒ เกิดปัญหาในทางสังคม การเบียดเบียน ข่มเหง แย่งชิงเอารัดเอาเปรียบกัน
๓ ปัญหาต่อธรรมชาติแวดล้อม
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็เลยเอาละ ความสุขประเภทที่ ๑ คุณจะมี คุณต้องระวัง และปฏิบัติให้ถูกต้อง ให้มีโทษที่น้อยที่สุด แต่อย่างน้อยเราต้องยอมรับความจริงว่า ถึงยังไงมันพ้นความทุกข์จากมันไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นสังขาร มันเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ตกอยู่ใต้กฎธรรมชาติ ต้องมีการแตกหักสลาย แปรปรวน สูญเสีย พลัดพราก ใช่ไหม ฉะนั้น มันขึ้นต่อธรรมชาติ ขึ้นต่อกฎธรรมชาติ ไม่ได้ขึ้นต่อใจเรา ความสุขประเภทนี้
๑ มันอยู่ข้างนอก ไม่ได้อยู่ในตัว เราต้องหา
๒ มันใม่ได้เป็นสมบัติของเรา มันเป็นของภายนอก มันขึ้นต่อกฎธรรมชาติ ไม่ได้ขึ้นต่อใจเรา
เพราะฉะนั้น คุณจะเอาความสุขสมบูรณ์จากความสุขประเภทที่ ๑ เป็นไปไม่ได้ ขอให้ยอมรับความจริง เมื่อยอมรับความจริงแล้ว คุณจะปฏิบัติต่อมันด้วยความรู้เท่าทัน แล้วจะอยู่ได้อย่างดีที่สุด ทุกข์น้อยที่สุด แต่ไม่ได้หมดทุกข์หรอก พระพุทธเจ้าให้รู้เท่าทันอย่างนี้ ฉะนั้น ก็เลยบอกว่า ในแง่ชีวิตของเรา เรามีความรู้เท่าทัน ปฏิบัติต่อมันให้ดี ให้มีทุกข์น้อย เราได้ความสุข อย่างมากที่สุดจากมัน ในแง่สังคม พระพุทธเจ้าก็ให้หลักไว้บอกว่า ให้เราอยู่กันไปได้ ทุกๆ คนจะพอมีวัตถุบริโภคเสพ พระองค์ก็ให้หลักปฏิบัติคือ ศีล ๕ มา เอาละ คุณจะหาความสุขจากวัตถุมาเสพ คุณจะหาอะไร ก็หาไป แต่ขออย่างเดียวนะ อย่าละเมิดหลักปฏิบัติ ๕ ข้อนี้ วางเป็นกรอบไว้ในสังคม เกิดคุณหาไปก็
๑ อย่าไปเบียดเบียน ทำร้าย ชีวิตร่างกายผู้อื่น
(๒) คุณจะทำไป หาไป ก็อย่าให้ล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น
(๓) คุณหาไปอย่าละเมิดคู่ครองคนอื่น
(๔) คุณหาไปอย่าไปทำลาย หลอกลวงเขา
(๕) คุณหาไปก็ อย่าไปทำลายสติสัมปชัญญะและก่อความรู้สึกไม่มั่นคง ปลอดภัยแก่ผู้อื่น ด้วยการที่มาเสพยาเสพติด
ศีล ๕ ก็เลยเป็นหลักในทางสังคม เป็นกรอบสำหรับกันไว้ว่า ในการหาวัตถุเสพนั้น ขอให้มีขีดคั่น ขอบเขตไว้ แค่นี้ก็พออยู่กันได้ สังคมไม่เดือดร้อนเกินไป ทุกคนพอจะมีบ้าง แต่ว่าอย่าไปหวังว่าจะมีความสุขสมบูรณ์ ศีล ๕ นี้เป็นเกณฑ์เพียงอย่างต่ำ เพื่อช่วยสังคมให้อยู่กันได้เท่านั้นเอง ทั้งหมดทั้ง ๕ ข้อนี้ มีความมุ่งหมายทางการรักษาสังคม ให้มนุษย์อยู่กันได้ แม้แต่ข้อที่ ๕ เราอาจจะไปเน้นในแง่ว่า เวลารับประทานเสพสุรายาเมาสิ่งเสพติด แล้วมันทำลายสติสัมปชัญญะแต่ว่าความมุ่งหมายในศีล ๕ ท่านอยู่ที่ทางสังคม คนที่เสพยาเสพติด เกิดความมึนเมาแล้ว เป็นคนที่ผู้อื่นเขาไม่สามารถไว้วางใจได้ เป็นผู้ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย เป็นผู้คุกคามความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้อื่น เราเห็นคนเมามา ใจไม่ดีแล้ว จะเอาท่าไหน ใช่ไหม รถคันนั้นเมา คนขับเมา รถคันอื่นไม่สบายใจ ยิ่งรถที่จะสวนด้วย ไม่สบายใจเลย หรือว่ารถคันโน้นสิบล้อกินยาม้ามา ใครสบายใจบ้าง นี่คนที่เสพยาเสพติดเป็นผู้คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของสังคม ฉะนั้น จึงเป็นศีล ๕ อยู่ในระบบของสังคม เอาละ เจริญพร ก็เป็นอันว่า ในแง่สังคมแล้ว จะหาความสุขทางวัตถุ ก็หาไปเถิด แต่ขออย่างเดียวว่า อย่างน้อยให้รักษากรอบขอบเขตไว้ ๕ ข้อนี้ แล้วคุณจะอยู่กันได้ พอจะหาความสุขจากวัตถุไปได้
ต่อมาท่านก็สอนวิธีปฏิบัติอีกเยอะเลย ให้รู้จักประมาณในการบริโภค ท่านเรียกว่า รู้จักพอดีในการกิน เขาเรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา อันนี้ก็เป็นหลักปฏิบัติเพิ่มขึ้นมา ให้มี อินทรียสังวร รู้จักควบคุมอินทรีย์ รู้จักใช้ตา หู จมูก ลิ้น ไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมากับการเสพทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย มากเกินไป อะไรต่างๆ อันนี้เป็นหลักปฏิบัติเพื่อทำให้เรา พร้อมที่จะก้าวไปสู่ความสุขที่สูงขึ้นไป แต่ต่อนี้อาตมาจะไม่ลงรายละเอียดในข้อปฏิบัติเหล่านี้ เอาเป็นเพียงว่าได้แค่นี้ก็ดีถมไป เราจะหาความสุขกันได้ แล้วก็ปฏิบัติต่อความสุขได้ดีขึ้น แต่นี่ว่า เมื่อกี้นี้อาตมาได้พูดไปอันหนึ่ง ก็คือว่า การที่ว่าเราหาความสุขจากสิ่งเสพไปนี่ ถ้าจะให้ดีเราต้องรักษาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ได้ด้วย แล้วชีวิตของเรา ความสุขของเรา จะไม่ขึ้นต่อสิ่งเสพมากเกินไป จนต้องสูญเสียอิสรภาพ คือคนปัจจุบัน เราไปคิดในแง่ว่าเราเก่ง เก่งหาสิ่งเสพ แต่เราลืมไปว่า ในความเก่งนั้นคือ ความหมดอิสรภาพ เรานึกว่าเราหาอะไรต่ออะไรมาได้มากมาย แต่เสร็จแล้วความสุขของเรานี่ไม่อยู่ในตัว เราต้องขึ้นต่อวัตถุไปหมด ก็คือ เราไม่มีอิสรภาพนั่นเอง ขาดสิ่งเหล่านั้นแล้วทุรนทุราย กระวนกระวายอยู่ไม่ได้ เพื่อจะฝึกไว้ ให้เรารักษาความสามารถที่จะมีความสุข พระพุทธเจ้าก็ให้ไว้อีก
ลองดูวิธีปฏิบัติอันหนึ่งที่จะช่วยรักษาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า รักษาอิสรภาพในทางความสุขไว้ เมื่อกี้นี้เรามีศีล ๕ ศีล ๕ นี้ บอกแล้วว่าเพียงว่า เพื่อให้สังคมมีกรอบ ต่างคนต่างหาความสุขไป แต่ว่าจะพออยู่กันได้ ไม่มาก่อความเดือดร้อนกัน แล้วทุกคนก็เลยแย่ไปด้วยกัน ศีล ๕ เป็นเรื่องทางสังคม ต่อมาก็จะมาเข้ามาที่ชีวิตบุคคลมากขึ้นว่า จะมาเสริมศักยภาพในการมีความสุข หรือรักษาความสามารถที่จะมีความสุข และอิสรภาพในทางความสุขไว้ พระพุทธเจ้าก็เพิ่มศีล ๕ บวก ๓ เป็น ๘
ศีล ๘ นี้คือ หลักปฏิบัติเพื่อจะรักษาความสามารถในการมีความสุข และการที่ไม่ต้องสูญ
เสียอิสรภาพไป เป็นยังไง ศีล ๕ นี่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสังคมอย่างที่ว่า แต่ศีล ๘ เพิ่มเข้ามาอีก ๓ เป็นเรื่องส่วนบุคคลหมด ศีลข้อ ๖ ว่า เว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล เป็นเรื่องส่วนตัว ใช่ไหม ไม่ได้เกี่ยวกับคนอื่น
(๗) เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการละเล่น ทัดทรงแต่งตัวประดับอะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องส่วนตัว
(๘) เว้นจากที่นอนสูง ใหญ่ หรูหรา ฟุ่มเฟือย อะไรต่างๆ ก็เป็นเรื่องส่วนตัว
แม้แต่ข้อ ๓ เปลี่ยนจากกาเมมาเป็นอพฺรหฺมจริยา ก็เรื่องส่วนตัว ศีล ๘ ที่เพิ่มเข้ามา เป็นส่วนตัวเพื่ออะไร อันนี้แหละที่ว่า เพื่อจะได้รักษาอิสรภาพใน?????ที่จะมีความสุขไว้ เราเคยมีความสุขจากการเสพวัตถุที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น ต้องกิน ต้องอะไร อยากกินเมื่อไร อร่อยลิ้นเมื่อไร ก็กินเมื่อนั้น ความสุขไปๆ มาๆ มันขึ้นต่อสิ่งเหล่านั้นไปหมด พระพุทธเจ้าก็บอก คุณอย่าเผลอสตินะ ฝึกไว้บ้าง เอาละ ๗-๘ วันทีหนึ่ง ๘ วันเอาทีหนึ่งนะเพื่อรักษาอิสรภาพนี้ไว้ ก็คือ ถือศีล ๘ ท่านเรียกว่า อุโบสถ ไม่เอามาก ๘ วันเท่านั้น สมมติเดือนหนึ่งก็แค่ ๔ ครั้ง ถ้าใครมีศรัทธามากขึ้น ท่านบอกว่าเอาวันโกนด้วย ก็เป็นอันว่าเดือนละ ๘ ครั้ง เดือนละ ๘ ครั้งนี้เตือนสติแล้วลองด้วย เป็นการพิสูจน์ฝึกตัวเองว่า เราจะอยู่ด้วยวัตถุเสพที่เท่าที่จำเป็น พอให้มีคุณภาพชีวิตโดยไม่เป็นการบำรุงบำเรอตัวเองได้ไหม
เพราะฉะนั้น อย่างที่ว่าพอถึง ๘ วันทีหนึ่ง ลองดูสิ วันนี้นะไม่ต้องบำเรอลิ้น ไม่ต้องตามใจลิ้น กินแค่เท่าที่จำเป็นว่า แค่เที่ยงพอไหม พอให้ชีวิตอยู่มีสุขภาพดีได้แล้ว ตกลงเอาแค่นั้น แล้วต่อไปไม่ตามใจลิ้น เอาเวลาไปใช้ประโยชน์อื่น ทำอื่น เราจะอยู่ดีมีสุขได้ โดยไม่ต้องบำเรอลิ้น ไม่ต้องตามใจลิ้น อยู่ดีได้ไหม มีความสุขได้ไหม โดยไม่ต้องไปเที่ยวตามดูสิ่งบันเทิง โดยไม่ต้องนอนบนฟูกฟู ๘ วันทีนอนบนเสื่อบนกระดานที เอ๊ะ!โดยการนอนบนเสื่อบนกระดานนี่ เราจะพอมีความสุขอยู่ดีได้ไหม โดยไม่ต้องพึ่งเจ้าที่นอนฟูกอันนั้น ความสุขของเราต้องขึ้นต่อที่นอนฟูกไปหมดหรือ เราเกิดมาเราไม่ได้มีมันนี่ เราลองอยู่ง่ายๆ ไม่ต้องมีที่นอนฟูก นอนพื้น นอนกระดานเราจะมีความสุขได้ไหม พระพุทธเจ้าบอก ๘ วันเอาทีหนึ่ง นี่ถ้าเราทำได้อย่างนี้ เราก็จะรักษาอิสรภาพไว้ได้ คือ ความสุขของเรานี่ จะไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุสิ่งเสพมากเกินไป เราจะอยู่ดีได้ด้วยวัตถุแม้เพียงน้อยเท่าที่จำเป็นต่อชีวิตจริงๆ ตอนนี้เราจะสามารถที่จะพูดกับตัวเองได้ดีขึ้น วัตถุสิ่งเสพเหล่านั้น มีก็ดี ไม่มีก็ได้ บางคนพูดไม่ได้นะ ต้องมีจึงอยู่ได้ ไม่มีแล้วตาย คือ ถ้าไม่มีแล้วทุรนทุรายเลยนะ บางคนเป็นอย่างนั้น แสดงว่าถ้าคนไหนเป็นอย่างนั้น คนนั้นแสดงว่าหมดอิสรภาพแล้ว เขาได้สูญเสียอิสรภาพในการที่จะมีความสุขด้วยตนเอง ความสุขของเขาได้ขึ้นต่อวัตถุโดยสมบูรณ์สิ้นเชิงแล้ว บอกว่าต้องมี อันนั้นก็ต้องมี อันนี้ก็ต้องมี ถ้าไม่มีแล้วฉันตาย ฉันทุรนทุรายอยู่ไม่ได้ ถ้าคนอย่างนี้ลำบากต่อไป เพราะว่าชีวิตคนนี่ ต้องอยู่ด้วยตนเองหลายสถานการณ์ เช่น ยามเจ็บไข้ได้ป่วย เสพสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ ยามแก่เฒ่าชรา ร่างกายอินทรีย์แข็งแรงไม่พอ เสพสุขจากสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ แล้วทำยังไง ก็ทุรนทุรายสิ เพราะว่าอิสรภาพไม่มี ความสุขไปขึ้นต่อสิ่งเหล่านั้นหมดแล้ว ฉะนั้น ต้องเตรียมฝึกไว้ ในชีวิตประจำวันต้องให้สามารถพูดกับตัวเองได้อย่างที่ว่า บอกว่ามีก็ดี ไม่มีก็ได้ ญาติมิตรทุกท่านลองพูดกับตัวเอง พูดได้ไหม ถ้าพูดได้แสดงว่า ยังมีอิสรภาพนี้อยู่ มีก็ดี ไม่มีก็ได้
ทีนี้ถ้าฝึกตัวเองไปมาบางที บางครั้ง เราจะพูดไปอีกขั้นหนึ่งว่า บอกว่ามีก็ได้ ไม่มีก็ดี ว่างั้นนะ หมายความว่า บางอย่างนี่มันเกะกะ รกรุงรัง เราไม่มีเราก็สบายดี เป็นอิสระนะ บางคนพออยู่ได้ดีขึ้น มีชีวิตที่เป็นความสุข เป็นอิสรภาพ แล้วมีความรู้สึกเป็นอิสระ คล่องตัว จะไปไหนมาไหนเมื่อไร มันก็ปลอดโปร่ง คนที่ติดในวัตถุ ความสุขขึ้นกับวัตถุหมดอิสรภาพนี่ ไปไหนลำบาก ไม่มีอิสรภาพ ไม่คล่องตัว เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าให้ศีล ๘ มา สำหรับอย่างน้อยมาฝึกตัวเราไว้ รักษาอิสรภาพไว้ อย่าให้สูญเสียมันไป ได้แค่นี้ก็ดีแล้วนะ เอาละนะ นี่แหละ พระพุทธเจ้าให้วิธีปฏิบัติ พระองค์ฝึกคนเยอะเลย หลายวิธี แต่เรื่องกามสุขเห็นจะพอเสียที เพราะว่าเดี๋ยวเวลาจะหมด ยังไม่ไปไหน เพิ่งได้ขั้นที่ ๑ เป็นอันว่า เรื่องความสุขประเภทที่ ๑ คือ ความสุขอาศัยวัตถุเสพ หรืออามิสสุขหรือกามสุขนี้ เมื่อเรายังอยู่กับมัน เราต้องปฏิบัติให้ดี รู้เท่าทัน ปฏิบัติต่อมันให้ได้ประโยชน์จากมันมากที่สุด ให้ได้โทษน้อยที่สุด ทั้งชีวิตตัว ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าเราปฏิบัติดีแล้ว เราจะพัฒนาไปสู่ความสุขที่สูงขึ้นไป
เอ้าทีนี้ต่อมาเราก็เดินหน้าไปหาความสุขที่สูงขึ้นไป คนเรามีทางที่จะหาความสุขได้เยอะแยะไป คนเราพัฒนาได้ เมื่อพัฒนาได้ สิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวกับคนนี่พัฒนาได้หมด ความสุขก็เป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ก็พัฒนาได้ด้วย ทีนี้ลองดูความสุขประเภทที่สูงขึ้นไป มีอะไรบ้าง ขอต่อไปเลยก็คือว่า ลึกเข้าไปในทางจิตใจ มันก็จะมีทุนที่จะมาสร้างความสุขให้มากขึ้น แต่ก่อนนี้ความสุขของเราอยู่กับวัตถุภายนอกสิ่งเสพ เราก็ต้องหามาเสพ การหามาเสพ คือต้องเอา ต้องเอาก็ต้องได้มา เพราะฉะนั้น มนุษย์จะนึกถึงการได้ตลอดเวลา คนเราอยู่ในโลกนี้ เราเกี่ยวข้องกับวัตถุมาก เราจะนึก จะได้จะเอา จะได้จะเอา บางคนนี่หายใจออกมามีแต่เรื่องได้เรื่องเอาเท่านั้น ทำไงจะได้มา ทำไงจะเอามาได้ เพราะว่าการได้คือ ความสุข การได้คือ เป็นทางสำคัญ เป็นแหล่งเดียวของความสุขของเรา เพราะฉะนั้น เราต้องได้
ทีนี้คนในโลกจำนวนมากก็อยู่ภายใต้วิถีชีวิตและความคิดอย่างนี้ คือการได้ การเอา การเสพวัตถุ พระพุทธเจ้าก็เริ่งเตือนเลยว่า คุณอยู่ในโลก คุณสัมพันธ์กับวัตถุนะ คุณจะเอาแต่ได้อย่างเดียวไม่พอ เพราะถ้าเอาแต่ได้อย่างเดียว นี่มันเกิดปัญหาทั้งแก่ชีวิตคุณและแก่สังคม และสิ่งแวดล้อมแน่นอน อย่างที่ว่าไปเมื่อกี้นี้พูดไปแล้ว ทีนี้ทำยังไงในการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัตถุ ชีวิตจะต้องมีดุลยภาพ โดยหลักธรรมชาติแล้วต้องมีดุลยภาพ สิ่งทั้งหลายนี้เอาจากสิ่งอื่น ต้องให้กับสิ่งอื่นด้วย อย่างต้นไม้มันเอาอาหาร เอาอากาศ เอาน้ำจากสิ่งแวดล้อม มันก็ให้ด้วย ใช่ไหม มันให้อะไรต่างๆ ให้ร่มเงา ให้ความร่มเย็น ต้นไม้มันก็ให้แก่กันและกันเอง ต้นไม้เล็กให้แก่ต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ใหญ่ให้แก่ต้นไม้เล็ก อะไรต่างๆ มันก็ทำให้อยู่ได้ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มนุษย์เรานี่ เราจะเอาอย่างเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพื่อให้มีดุลยภาพ ท่านก็เลยสอนหลักปฏิบัติขั้นที่ ๑ มา
หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนข้อที่ ๑ เริ่มแรกคืออะไร คือ ทาน ใช่ไหม เพราะฉะนั้น หลักธรรมในพุทธศาสนาข้อแรก พระพุทธเจ้าตรัสไปตามธรรมชาติมนุษย์ ที่ว่าเราเกี่ยวข้องกับวัตถุจะได้จะเอา พระองค์ก็เลยบอกให้ๆ บ้าง ฉะนั้น ก็เลยมีคู่กับการได้ การเอา ก็มีการให้ด้วย บอกว่าคุณให้มีการให้ด้วยนะ ท่านก็เน้นเรื่องทาน ทาน ศีล ภาวนา ทานก็เป็นข้อที่ ๑ แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็มีทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑ ก็ทาน ทาน ศีล ทานเป็นข้อที่ ๑ แม้แต่จะบำเพ็ญบารมีเป็นพระพุทธเจ้าก็ให้ทานเป็นข้อที่ ๑ ทานเป็นหลักปฏิบัติขั้นแรกสุด ต้องมีการให้ด้วย เอาละ ให้คุณมีการให้คู่กับการเอา ให้คู่กับได้ แล้วชีวิตจะสมดุล สังคมก็จะมีดุลยภาพ แต่ว่าการที่คุณให้ มันเป็นวิธีพัฒนาตัวคุณด้วย นำไปสู่ความสุขที่ประณีตขึ้นไป
ทีนี้มาดูว่าจะสุขอย่างไร ถ้าให้เป็นแล้ว จะได้ความสุขประเภทที่ ๒ แล้วเป็นเรื่อง ธรรมชาติต้องการด้วย ถ้าเราปฏิบัติผิดแล้ว เราวุ่นวายเอง ฉะนั้น เราปฏิบัติถูกแล้ว เราได้ผลดี แม้แต่ความสุข ลองดูว่า การให้นี่จะเกี่ยวข้องกับความสุขอย่างไร ก็ขอให้ดูง่ายๆ กลับไปย้อนพูดถึงการเอาก่อนการได้ เวลาเราจะเอา เราจะได้ เรามองไปที่วัตถุ เราจะเอาวัตถุ เราจะเอาสิ่งเสพ เรามองไปสิ่งที่เราจะเอา พอเรามองไปที่วัตถุที่เราจะเอา โดยสัญชาตญาณความรู้สึกมันจะเกิดขึ้น มันจะมีความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์ขึ้นมาทันทีเลย เพราะเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งแวดล้อมของเรา พอเราคิดถึงวัตถุว่าเราจะเอาอันนี้ปั๊บ ความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์เกิดขึ้นมาว่าอย่างไร เพื่อนมนุษย์เขาก็จะเอาเหมือนกันนี่ เราก็จะเอาให้มากที่สุด เขาก็จะเอาให้มากที่สุด พอเราจะเอาสิ่งนี้ เขาก็จะเอาเหมือนกัน เราก็ระแวง คนที่คิดจะเอา คิดจะได้นี่ จะมองเพื่อนมนุษย์ด้วยความรู้สึกระแวง ต่อจากระแวงคือ มองเป็นคู่แข่ง ว่าเขาจะเอาหมือนกัน การมองเป็นคู่แข่งก็คือ การมองเป็นปฏิปักษ์ ใช่ไหม เป็นปฏิปักษ์ เพราะฉะนั้น มีความรู้สึกไม่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ คนที่มีจิตใจมุ่งแต่ได้ แต่เอา จะสร้างโลกให้เป็นโลกของความเป็นศัตรู การเบียดเบียนแน่นอน เพราะจิตใจไม่ดีต่อกัน ไม่สามารถสร้างความเป็นมิตรไมตรีได้ เพราะเรามุ่งแต่จะเอา มันก็ต้องแข่งกันเอา ฉะนั้น โดยความรู้สึกพื้นฐานก็เกิดความระแวง ความรู้สึกเป็นคู่แข่ง เป็นปฏิปักษ์ แล้วพอต่อไป หาเก่งเข้านะหาเก่งเข้ามองเพื่อนมนุษย์เป็นเหยื่อ คือ มองเพื่อนมนุษย์ มองในแง่ว่าเราจะเอาจากคนนี้ได้อย่างไร จะล้วงกระเป๋าได้อย่างไร จะเอาผลประโยชน์ได้อย่างไร มองเพื่อนมนุษย์เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ไปหมดเลย เราจะเห็นได้ชัดในสังคมที่ได้ไปสู่กระแสของระบบการแข่งขันแย่งชิงผลประโยชน์ มนุษย์จะเริ่มมีความรู้สึก มีจิตใจที่มองกันเป็นเหยื่อ เชื่อไหม เพราะฉะนั้น ในสังคมปัจจุบันนี้อันตรายมาก สภาพจิตของมนุษย์เริ่มมองเพื่อมนุษย์เป็นเหยื่อมากขึ้นแล้ว นี่ก็คือ วิถีกระแสซึ่งมีผลมาก ทั้งจิตใจและสังคม ตัวเองก็มองเพื่อนมนุษย์ศัตรู ก็หวาดระแวง ความรู้สึกได้เสพวัตถุเป็นความสุข แต่ความรู้สึกระแวงเพื่อนมนุษย์ ไม่เป็นความสุขเลยนะ เป็นคู่แข่ง เป็นปฏิปักษ์ อยู่กันด้วยความรู้สึกไม่สบายใจเลย
ทีนี้พระพุทธเจ้าก็สอนหลักของการให้มาคู่ เอ้าละนะคุณจะมีดุลยภาพ เราต้องมีการให้ด้วย ไม่ใช่เอาแต่ได้อย่างเดียว พอมีการให้ เราก็มองใหม่ ตอนที่จะเอาเรามองไปที่วัตถุ แล้วมองเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง ตอนนี้เรามองว่าจะให้ พอตั้งความคิดว่าจะให้ เราก็มองไปที่คน เพราะเราให้กับคนนี่ พอเราตั้งใจว่าจะให้ เรามองไปที่คน พอมองไปที่คน เราสนใจ มองหน้า มองตา สังเกตของรู้สึกของเขา เราเริ่มเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เราเห็นความต้องการของเขา เรามองเห็นสุข เห็นทุกข์ของเขา พอเราเห็นความต้องการเขา เห็นสุข เห็นทุกข์ของเขา เราเริ่มเห็นใจเพื่อนมนุษย์ ความเข้าใจเกิดขึ้น ความเห็นใจเกิดขึ้น พอความเห็นใจเกิดขึ้น คุณธรรมเกิดขึ้นเลย ความเมตตา รักใคร่ ความสงสารเกิดขึ้น พอเราเกิดความสงสาร เห็นใจเพื่อนมนุษย์แล้ว ความต้องการชนิดใหม่ เกิดมาเองโดยธรรมชาติ แต่ก่อนนี้เรามีความต้องการแต่วัตถุ จะได้ จะเอา ตอนนี้พอเราตั้งใจจะให้ เรามองไปที่คน แล้วเกิดความเข้าใจ เห็นใจ เกิดความต้องการใหม่ คือ ต้องการช่วยเหลือ ต้องการให้เขาหายทุกข์ ต้องการให้เขาเป็นสุข ความต้องการให้มนุษย์เป็นสุขนั้น เรียกว่า เมตตาเกิดแล้ว ถ้าเมื่อไรเราเกิดความต้องการให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข เมื่อนั้นเมตตาเกิดแล้ว จากการที่ตั้งใจให้ ก็นำมาซึ่งคุณธรรมโดยธรรมชาติ คือ เมตตามาแล้ว ความต้องการนั้นต้องสนอง เมื่อต้องการให้เขาเป็นสุข ก็ต้องการทำให้เขาเป็นสุข การทำให้เขามีความสุข เป็นการสนองความต้องการของเราเอง เราก็หาทาง ทีนี้พอต้องการขึ้นมาแล้วนี่ คนเรามันอยู่ด้วยความปรารถนา พอเราต้องการให้เขาเป็นสุข เราก็หาทางทำให้เขาเป็นสุข เขาขาดแคลนไม่มีอะไร เราก็เอาวัตถุให้เขา ใช่ไหม พอให้ การให้นั้นเป็นการทำให้เขามีความสุข การทำให้เขามีความสุข ก็สนองความต้องการของเรา พอได้สนองความต้องการของเรา เราก็เป็นสุข การให้กลายเป็นความสุข
แต่ก่อนนี้ต้องได้ จึงจะสุข ก็ให้คือเสีย เป็นทุกข์ ตอนนี้การให้ กลายเป็นความสุขไปแล้ว เป็นเรื่องธรรมชาติ เหมือนอย่างพ่อแม่นี่แหละ พ่อแม่นี่เป็นตัวอย่าง เพราะพ่อแม่นี่รักลูก ต้องการให้ลูกเป็นสุข พอมีความต้องการให้ลูกเป็นสุข ความต้องการนั้น ต้องได้รับการสนอง ก็หาทางทำให้ลูกเป็นสุข ก็ให้แก่ลูก พอให้แก่ลูก ตัวเองก็เป็นสุข เพราะฉะนั้น พ่อแม่ให้แก่ลูกก็เป็นสุข เพราะมีความต้องการที่เรียกว่า ความรักอันนี้เอง ทีนี้ถ้าเราสร้างความรู้สึกนี้ได้ต่อเพื่อนมนุษย์ มันก็ได้ความสุขจากการให้ขึ้นมา ฉะนั้น มนษย์ก็เลยมีช่องทางได้ความสุข อย่างที่ ๒ คือ ความสุขจากการให้ แต่ก่อนนี้มีความสุขจากการได้ การเอาอย่างเดียว ตอนนี้มีความสุขจากการให้ด้วย ความสุขจากการได้ การเอานั้น มีความสุขอยู่เฉพาะเวลาเสพได้นิดๆ เดียว นอกนั้นอยู่ด้วยความหวั่นหวาด ระแวง ความทุรนทุราย การที่ต้องหวังรอ รอความสุข แต่ทีนี้พอสุขจากการให้นี่ เป็นความสุขประเภทที่อิ่มเอิบ กว้างขวาง ประณีต ยาวนาน พอให้ไปแล้วนี่ มันไม่สุขเฉพาะเวลานั้น อย่างพ่อแม่ให้กับลูก เห็นลูกมีความสุข พ่อแม่สุขสบายไปทั้งวันเลย เพราะฉะนั้น ความสุขจากการให้นี่ ประณีต ลึกซึ้ง ยาวนาน อิ่มเอิบ กว้างขวาง เบิกบานใจ โล่งใจ โปร่งใจ ไม่คับแคบ คนมีความสุขได้จากการให้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้ฝึกในวิถีของพุทธศาสนิกชนนั้น ทานจะมาเป็นอันดับ ๑ จนกระทั่งเป็นวิถีชีวิตของเราเลยว่า วันๆ หนึ่งนั้น เราจะไปเอาแต่ได้อย่างเดียวนะ ต้องมีการให้ด้วย และเราฝึกใจถูกทาง เราให้โดยไม่ได้หวังผลประโยชน์ตอบแทน การที่จะมีเมตตาธรรมมันก็เกิดขึ้นมาเอง เราก็มีความสุขจากการให้ การให้กลายเป็นความสุข เพราะว่ามีเมตตา ความรัก นี่เอง ฉะนั้น ตกลงว่า มนุษย์เกิดความรัก เกิดคุณธรรมขึ้นในใจแล้ว ก็สามารถพลิกผัน เปลี่ยนการให้ที่เคยเป็นทุกข์ ที่เป็นการสูญเสีย ให้กลายเป็นความสุขไปได้
คุณธรรมอื่นก็เหมือนกัน อย่างศรัทธา เรามีความเชื่อในอุดมการณ์ ในสิ่งที่ดีงาม เชื่อในหลักพระศาสนา เชื่อในพระรัตนตรัย เชื่อในพระพุทธศาสนาว่า พระธรรมคำสอนเป็นสิ่งที่ดี ถ้าพระศาสนาเจริญงอกงามไป มนุษย์จะอยู่ร่มเย็นเป็นสุข เราปรารถนาในสิ่งดีงาม เราก็เลยอยากจะบำรุงพระศาสนา เราให้แก่พระศาสนา เราให้เราก็มีความสุข ฉะนั้น ด้วยการที่สร้างภายในให้มีคุณธรรมขึ้นมา ก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยเป็นทุกข์ ให้กลายเป็นความสุขได้ แล้วเกิดช่องทางใหม่ ในการมีความสุข เพราะฉะนั้น ตกลงว่านี่เป็นตัวอย่างของการพัฒนาความสุข เป็นวิธีที่ ๒ แล้วนะ คือว่า ความสุขจากการให้ มาแล้ว
พอมีความสุขจากการให้ คราวนี้มันกลายเป็นว่า ผลดีไม่ได้เกิดแก่ชีวิตของตัวเองเท่านั้น ตัวเองก็มีความสุขเพิ่มขึ้น ทีนี้ผลดีเกิดแก่สังคม ก็กลายเป็นว่า กลายเป็นการเกื้อกูล ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การให้ก็ความสุขของเราก็กลายเป็นผลดีแก่สังคมไปด้วย ตอนนี้มนุษย์สุขด้วยกันแล้ว แต่ก่อนนี้สุขแบบแย่งกัน ความสุขจากการได้ การเอานั้น เป็นความสุขแบบแย่งกัน แย่งชิง ฝ่ายหนึ่งสุข อีกฝ่ายหนึ่งทุกข์ ถ้าฉันได้ คุณเสีย หรือคุณอด ถ้าเขาได้ เราก็อด เราก็เสีย ใช่ไหม เพราะฉะนั้น “เขาสุข เราทุกข์” “เราสุข เขาทุกข์” ก็เป็นฝ่ายเดียวแล้วเบียดเบียนในทางสังคม ทีนี้พอมีความสุขจากการให้เท่านั้นล่ะ มันเปลี่ยนสุขด้วยกันเลย แล้วแถมความสุขของเราขึ้นต่อความสุขของเขา ต้องทำให้เขาสุข เราจึงจะสุข ทีนี้สุขด้วยกัน ก็เป็นความสุขแบบประสานกลมกลืนไม่แย่งชิง แล้วก็ทำให้สังคมอยู่ร่มเย็น
เอาละทีนี้มันมาช่วยสังคม ๒ อย่าง คือ
๑ ตัวเองก็ให้แล้วมีความสุข ก็ให้ได้
๒ ตัวเองได้รักษาอิสรภาพในการมีความสุขไว้ อิสรภาพที่ว่าเมื่อกี้ไง บอกว่า ให้ความสุข ไม่ขึ้นต่อวัตถุเกินไป เราฝึกกระทั่งว่า รักษาศีล อุโบสถ กระทั่งว่า “มีก็ดี ไม่มีก็ได้” ตอนนี้เรามีความสุขได้ง่าย เราเก่งในการหาวัตถุสิ่งเสพมากมาย หามาเยอะแยะ ต่อมาวัตถุเหล่านั้น เกินจำเป็นที่จะทำให้เรามีความสุข เพราะเราเป็นคนสุขง่าย วัตถุเหล่านั้นหามาเยอะแยะ เก่งในการหา มันเกินจำเป็นจะทำให้ตัวมีความสุข มันก็เลยพร้อมที่จะเอาไปให้แก่คนอื่น แล้วยังแถมมาพัฒนาความสุขจากการให้ด้วย มันก็เลยสบาย มีความสุขจากการให้ เลยพร้อมที่จะให้ สังคมก็ยิ่งมีความสุขสบาย ประสานกลมกลืนกัน เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไปได้ดียิ่งขึ้น เพระฉะนั้น ความสุขของคนเดียว ก็กลายเป็นความสุขของสังคมไปด้วย การพัฒนามนุษย์ที่ถูกต้อง เพียงแค่ ๒ ขั้นนี้ ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า มันเป็นสิ่งที่เกื้อกูลกัน การพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่ว่าทำให้คนหนึ่งสุขแล้ว สังคมจะต้องทุกข์นะ โดยมากเราไปนึกว่า ถ้าทำให้คนหนึ่งสุขแล้ว คนอื่นหรือสังคมจะต้องทุกข์เดือดร้อน มันไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ถ้าพัฒนาเป็น พัฒนาถูก ยิ่งสุขด้วยการ ความสุขยิ่งมีมากขึ้น ในเมื่อคนยิ่งกลายเป็นมาเกื้อกูลกัน สังคมก็ยิ่งดี บุคคลก็ยิ่งดี สังคมก็ยิ่งดียิ่งขึ้น อันนี้ก็ ๒ แล้วนะ
ทีนี้ต่อไปประเภทที่ ๓ ต่อไปความสุขประเภทที่ ๓ อะไร อันนี้ไม่ใช่เรื่องยาก ธรรมดานี่พระพุทธศาสนาสอนเรื่องธรรมชาติ ทุกอย่างที่พระพุทธศาสนาสอนนี้ เป็นเรื่องธรรมชาติหมด เรามาจากาความจริงในชีวิตของคน ทีนี้ธรรมชาติของคนเป็นอย่างไร ความสุขประเภทที่ ๓ นั้นคือ ความสุขที่เกิดจากการดำเนินชีวิตถูกต้อง ตามความจริงของธรรมชาติ ไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ การแปลกแยกจากธรรมชาตินั้น มีลักษณะอย่างหนึ่งคือ การหลงสมมติ คำคนไทยเก่าๆ เราพูดว่า หลงสมมติ
หลงสมมติเป็ยอย่างไร เอ้า วันนี้เรามาพูดกันนิดหนึ่ง ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ และความสุขจะมีมา แต่เราไม่มีเวลาพูดมาก อาตมาก็จะพูดให้เห็นว่า ชีวิตที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ ยกตัวอย่างมาสัก ๒-๓ ตัวอย่าง
ตัวอย่างที่ ๑ ก็คือว่า เราทำอะไร สิ่งนั้นก็เป็นเหตุให้เกิดผล มันเป็นธรรมดา ธรรมชาติ ทำอะไรก็เป็นเหตุให้เกิดผล และเมื่อทำอะไรที่เป็นเหตุให้เกิดผล ถ้าให้ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงของธรรมชาติ ก็ต้องการผลที่เกิดจากการกระทำนั้นจริงๆ เอ้า เป็นยังไงล่ะ เราทำอะไร เราต้องการผลที่เป็นไปจริงตามธรรมชาติแต่เหตุนั้น ยกตัวอย่าง มนุษย์ทำงานในสังคมปัจจุบัน เวลานี้ต้องการผลที่ตรงตามการกระทำที่เป็นเหตุจริงหรือเปล่า ถ้าหากว่าคนทำสวน ทำสวนด้วยใจปรารถนาความเจริญงอกงามของต้นไม้ ให้สวนเจริญงอกงาม ถ้าหากว่าคนกวาดถนน กวาดถนนด้วยความต้องการผลที่แท้จริงของตัวงานที่เป็นเหตุ คือ ต้องการความสะอาดของถนน ถ้าหากว่าครูสอนนักเรียนด้วยความรักนักเรียน ความรักนักเรียนนี้ ไม่ใช่รักเฉพาะหน้า สอนนักเรียนด้วยความรักอยากจะให้ชีวิตนักเรียนเป็นชีวิตที่ดีงาม มีความสุข สอนให้เด็กเป็นคนดีมีความสุข สอนด้วยใจรัก ต้องการผลการสอนเป็นเหตุ เด็กดีเป็นผล ชีวิตเขามีความสุขเป็นผล แพทย์รักษาคนไข้ คือ ทำการรักษาที่เป็นเหตุ ด้วยใจมุ่งหมายผลที่ตรงตามเหตุ คือ ต้องการให้คนไข้หายโรค อยากให้คนไข้มีสุขภาพดี ถ้าอย่างนี้นะ นี่เรียกว่าดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ คนทำสวนนั้นจะทำด้วยใจสบายมีความสุข คนกวาดถนนจะมีความสุขในการกวาดถนน กวาดแกร๊กหนึ่ง สะอาดเพิ่มขึ้น ได้เสวยผลของความสะอาด ได้เสวยผลของการกระทำงานของตนเองทันที แต่ว่าถ้าเราทำไม่ตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ คืออย่างไร คนทำสวนไม่ได้ต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ ไม่ต้องการเรื่องสวนหรอก ต้องการเพียงเงินเดือน การทำสวนเป็นเหตุ ในความหมายของเขาคืออะไร การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผล หรือคนกวาดถนน การกวาดถนนเป็นเหตุ การได้เงิน ๓,๐๐๐ บาทเป็นผล ครูสอนนักเรียนก็ การสอนเป็นเหตุ ได้เงินเดือน ๑๐,๐๐๐ บาท เป็นผล หรือเป็นแพทย์ การรักษาคนไข้เป็นเหตุ การได้ค่าตอบแทนเท่านั้น เท่านี้เป็นผล ถ้าใจของเรานี้ อยู่กับผลแบบที่ว่าได้ค่าตอบแทน อันนี้ท่านเรียกว่า หลงสมมติ แล้ว หลงสมมติยังไง ไม่ได้มีความจริงอยู่ในธรรมชาติอยู่ในอันนี้เลย การทำสวนเป็นเหตุ ได้เงน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผลนี่ เป็นกฎ แต่ไม่ใช่กฎธรรมชาติ เป็นกฎมนุษย์ กฎมนุษย์นั้น อยู่ด้วยสมมติ ท่านจึงเรียกว่า กฎสมมิต ทำไมจึงเรียกว่า กฎสมมติ สมมติแปลว่า การยอมรับร่วมกัน หรือข้อตกลงร่วมกัน สมมติมติ แปลว่า การยอมรับสารร่วมกัน สมมติการยอมรับร่วมกัน กฎของมนุษย์นั้นตั้งอยู่ได้ด้วยกันยอมรับร่วมกัน หรือสมมติ ถ้าสมมติหรือการยอมรับไม่มี กฎนั้นไม่เป็นกฎ เชื่อไหม
คุณทำสวน ๑ เดือน คุณได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผล เอ๊ะ จริงนี่ การได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผลของการทำสวน ๑ เดือนจริงๆ เป็นกฎ แต่จริงแท้ไหม มีในธรรมชาติหรือเปล่า ไม่มี เพราะฉะนั้น เรียกว่า กฎโดยสมมติ หมายความว่า มันเป็นจริงด้วยการยอมรับร่วมกัน ถ้ายอมรับเป็นจริงนะ ยอมรับก็ทำสวน ๑ เดือนเป็นเหตุ ก็ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผล ก็ยอมรับร่วมกัน ฝ่ายทำก็ กับฝ่ายให้เงินก็ตกลงกัน แล้วก็ยอมรับในอันนี้ การสมมติก็คือ การยอมรับร่วมกัน แต่ถ้าสมมติคือ การยอมรับร่วมกันหายไปปั๊บ กฎนี้ละลายทันที การยอมรับที่เรียกว่า สมมติ ไม่มีปั๊บ การสวนเป็นเหตุ เงินเดือน ๕,๐๐๐ ไม่มา อีกฝ่ายไม่ยอมรับ อาจจะได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท โดยไม่ต้องทำสวนก็ได้ เพราะฉะนั้น กฎนี้จริง แต่ท่านเรียกว่า จริงโดยสมมติ โดยสมมติคือ การยอมรับร่วมกัน
เพราะฉะนั้น กฎมนุษย์ทั้งหลาย เป็นกฎสมมติหมด ตรงข้ามกับกฎธรรมชาติ คือ เป็นจริงตามเหตุผลในกระบวนการของเหตุปัจจัยแท้ๆ ฉะนั้น เหตุผลที่แท้จริงที่เป็นกฎธรรมชาติในการทำสวนคืออะไร การทำสวนเป็นเหตุ ความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล แล้วที่เราตั้งกฎสมมตินี่ ผลที่แท้ที่เราต้องการคืออะไร บนฐานของกฎสมมตินั้น ต้องมีความจริงของธรรมชาติซ้อนอยู่ ถ้าไม่มีความจริงในธรรมชาติ เราไม่รู้จะวางกฎไว้ทำไม ให้คนมาทำสวนเพื่ออะไร เพื่อให้ได้เงินเดือนหรือ มันเรื่องอะไร สิ่งที่ต้องการแท้คืออะไร คือต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ ใช่ไหม อันนั้นเป็นกฎธรรมชาติและมีเหตุมีเผลในตัวแล้ว ใครปฏิเสธไม่ได้ เพราะฉะนั้น เบื้องหลังกฎสมมติของมนุษย์ว่า การทำสวนเป็นเหตุ การได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทเป็นผลนั้น มีความจริงในกฎธรรมชาติซ้อนอยู่คือ การทำสวนเป็นเหตุ ความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นผล แล้วอันนั้นแหละเป็นตัวจริงที่ต้องการ เป็นความจริงที่รองรับกฎสมมติของมนุษย์ ซึ่งถ้าไม่มีความจริงอันนั้นอยู่ กฎสมมติของมนุษย์ไม่มีความหมาย จริงไหม
ทีนี้ถ้ามนุษย์วางกฎสมมติด้วยความรู้เท่าทันว่า ที่เรามาตกลงกัน ทำสวน ๑ เดือน ได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาทนี่นะ เป็นข้อตกลงตามสมมติเรา เพื่อให้ชีวิตมนุษย์อยู่กันได้ แต่สิ่งที่เราต้องการที่แท้นั้น ก็คือ การต้องการให้สวนต้นไม้เจริญงอกงาม เพราะฉะนั้น เราจะต้องการตัวนี้ด้วย ถ้าเราจะทำสวน เราต้องการ เราต้องมีความต้องการให้ต้นไม้เจริญงอกงาม ถ้าเราต้องการผลที่ตรงเหตุปั๊บ นี่คือ เราไม่แปลกแยกจากธรรมชาติ ถ้าเราต้องการเพียงทำสวนและได้เงินเดือน ๕,๐๐๐ บาท ไม่เคยนนึกถึงเรื่องต้นไม้เจริญงอกงาม แสดงว่าเราหลงสมมติแล้ว เราติดอยู่แค่สมมติเท่านั้น เรามองไม่ถึงความจริงของธรรมชาติ แปลกแยกจากโลกของธรรมชาติ มนุษย์แปลกแยกจากธรรมชาติเมื่อไร เกิดความวิปริตแปรปรวนขึ้น ทั้งในจิตใจ ชีวิต และสังคมทันทีเลย
ลองนึกดูแค่นี้ก็วิปริตแล้ว ใช่ไหม พอมนุษย์เข้าไม่ถึงความจริงของกฎธรรมชาติที่อยู่เบื้องหลัง ชีวิตวิปริตแล้ว สังคมวิปริตแล้ว ถ้าคนทำสวนยังต้องการผลที่ตรงตามเหตุ คือต้องการความเจริญงอกงามของต้นไม้ เขาก็จะทำสวนด้วยความเต็มใจยินดี แล้วไม่ต้องมีคนคุมเลย เขาอยากทำ เขาจะพยายามหาทางให้ต้นไม้เจริญงอกงาม แล้วเขาทำด้วยความสุขด้วยนะ เพราะว่าความเจริญงอกงามของต้นไม้เป็นสิ่งที่เขาต้องการ พอเขาทำไป เขาเห็นต้นไม้เจริญ เขาก็มีความสุข เขาก็ดำเนินชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริงของธรรมชาติ นี่คือการทำเหตุ ที่ตรงกับความประสงค์ผล เพราะฉะนั้น คนเรานี่ อันนี้ปัจจุบันนี้มีปัญหามาก คือ หลงสมมติ แปลกแยกจากธรรมชาติ มีชีวิตที่นึกไม่ถึงตัวความจริงที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังเลย ถ้าครูสอนนักเรียนด้วยใจรักนักเรียน อยากให้นักเรียนเป็นคนดี มีความสุข มีชีวิตที่ดีงาม การสอนนั้นจะได้ผลดีมาก และครูก็จะมีความสุขในการสอน แต่ถ้าครูหวังแต่เงินเดือนอย่างเดียว ครูก็แปลกแยกจากความจริงของกฎธรรมชาติ มาอยู่กับสมมติ หลงสมมติ เมื่อนั้นการทำงานสังคม อะไรต่ออะไร แปรปรวนวิปริตหมด เพราะฉะนั้นอันนี้ จึงท่านบอกให้รู้ทันสมมติ รู้เท่าทันสมมติก็เรารู้ความประสงค์ว่า กฎสมมติที่เราวางกันขึ้นมานี้ ที่จริงมันมีความจริงในธรรมชาติเป็นฐานอยู่ อันนี้สิเป็นสิ่งที่เราต้องการ อันนี้วางขึ้นมาเพื่อให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ได้ เป็นกฎเกณฑ์ในสังคม รู้เท่าทัน พอรู้เท่าทันโยงความจริงในระดับสมมติกับโยงความจริงของธรรมชาติเข้าถึงกันได้ ก็เป็นอันว่าเรียบร้อย ชีวิตก็อยู่ดี สังคมก็เรียบร้อยด้วย ได้ทั้งชีวิต ได้ทั้งสังคม ดีหมด นี่ก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่ง นี่ก็เป็นอันว่าอันนี้อาตมาเพียงยกตัวอย่าง
ก็ขอยกตัวอย่างอันหนึ่ง คือเรื่องของธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์นี่ถ้าเราบำรุงปรนเปรอ ให้ความบำรุงปรนเปรอเท่าไร มันจะกลายเป็นสภาพปกติของชีวิตเขา แล้วมันจะกลายเป็นสิ่งชินชา และเขาจะไม่รู้สึกถึงความสุขชัดเจน คือ ในความสัมพันธ์กับวัตถุ มันมีความจำเป็นอยู่ระดับหนึ่ง ทางพระท่านเรียกว่า ปัจจัย ๔ แต่ละคนปัจจัย ๔ ความจำเป็นไม่เท่ากัน แล้วแต่พัฒนาการของจิตใจด้วย แต่เอาเป็นว่ามันมีความจำเป็นระดับหนึ่ง ที่พ้นระดับนั้นแล้ว ต้องระวัง มันจะเป็นลักษณะที่เรียกว่าสัมพัทธ์ สัมพัทธ์คือยังไง คือมีความพรั่งพร้อม มีเท่าไรชีวิตมันจะชิน มันถือเป็นระดับปกติหมด ทีนี้ถ้าเราไม่พัฒนาคนนี่ มันจะเกิดผลอะไรขึ้นมาจากสภาพธรรมชาติอันนี้ คือ มนุษย์ในยุคที่มีสิ่งบำรุงบำเรอ ปรนเปรอ พรั่งพร้อม ไอ้สิ่งปรนเปรอพรั่งพร้อมนั้น เป็นปกติของเขาในขณะนั้น แล้วเขาจะไม่รู้สึกเป็นสุขอะไรพิเศษ เพราะฉะนั้น มันจะมีอันหนึ่งขึ้นมา คือ เรื่องของหลักการพัฒนาคน หลักการพัฒนามนุษย์ซึ่งหมายถึง พัฒนาความสุขด้วย จะมีสรุปเป็นหลักได้ว่า คนที่ได้พัฒนาให้มีจิตใจเห็นแก่ความสะดวกสบาย เห็นแก่ความง่าย แล้วมีสิ่งปรนเปรอมาก ต่อไปจะมีสภาพชีวิตปรากฏออกมาเป็นคนที่สุขได้ยาก และทุกข์ได้ง่าย เอานะคนที่พรั่งพร้อมได้รับการบำรุงบำเรอตามใจมากนี่ โดยธรรมชาติจะกลายเป็นคนที่สุขได้ยากและทุกข์ได้ง่าย ส่วนคนที่ผ่านชีวิตที่มีความทุกข์ยากลำบากมาก จะมีลักษณะตรงข้าม คือ เป็นคนที่สุขได้ง่ายและทุกข์ได้ยาก ทำไมเป็นอย่างนั้น ก็นี่แหละเรื่องสัมพัทธ์ที่ว่า ชีวิตคนประสบสภาพแวดล้อมอย่างไร ก็เป็นปกติของเขาอย่างนั้น ทั้งนี้ก็ขึ้นต่อการพัฒนาทางจิตใจที่จะมารับ เด็กที่ได้รับการบำรุงบำเรอ ปรนเปรอมาก มีอะไรก็พรั่งพร้อม พ่อแม่ตามใจทุกอย่าง จะเป็นเด็กที่ทุกข์ได้ง่าย ทุกข์ได้ง่ายยังไงล่ะ ขาดนิดขาดหน่อย สิ่งที่มีพรั่งพร้อมขาดนิดขาดหน่อย ทุกข์ทันที อยากได้อะไร ไม่ได้ตามใจนิดเดียว ทุกข์ทันที เพราะฉะนั้น แกก็อยากจะได้ ฝึกไว้แต่ความเคยชินอยากได้ อยากได้โน่น ได้นี่ ไม่ได้ตามใจ ไม่ได้ ไม่ทันทุกข์ ทุกข์ไปหมด แล้วไม่เคยทนต่อความลำบาก เจออะไรจะต้องทำนิด ทุกข์ หันไปทางไหนจะต้องทำ ทุกข์ ทุกข์ ทุกข์หมดเลย ทุกข์ทั้งนั้นเลย ทีนี้ เอาละ
๑ เราทุกข์ได้ง่าย
๒ สุขได้ยาก สุขได้ยากคือ อย่างไรล่ะ มันพรั่งพร้อมไปหมดแล้ว ตามใจอยู่เสมอ ทีนี้ส่วนที่มีพรั่งพร้อม มันกลายเป็นสภาพปกติ ชินชา จะให้สุขมันต้องเติม ทีนี้เติมยังไง มันพรั่งพร้อมแล้ว เริ่มต้นยาก เพราะฉะนั้น เลยสุขได้ยาก
ทีนี้ลองไปดูคนอีกประเภทหนึ่ง คือ คนที่ทนสู้ ชินกับความยากลำบาก เอาละนะ พวกนี้ พอทนสู้ชินกับความยากลำบาก พวกนี้ความยากลำบากเข้ามา ความยากลำบากลดลงไปนิดหนึ่ง ผ่านพ้นความยากลำบากไปนิดหนึ่ง มีสิ่งมาช่วยให้มีความสุขนิดหนึ่ง สุขทันทีเลย สุขง่ายมากพวกนี้ ทุกข์ได้ยาก สิ่งที่ลำบากยากเย็น อยู่ชินชาแล้ว จะเพิ่มเข้ามานั้นเรื่องเล็ก ไอ้ที่ตัวสู้อยู่ มันเยอะแยะกว่าตั้งเยอะแล้ว จะไปกลัวอะไรแค่นั้น ทีนี้หันไปเจออะไรที่ต้องทำ มันก็สู้อยู่แล้ว มันก็ทำ มันไม่ถือเป็นเรื่องสำคัญอะไร ที่จะมาเป็นทุกข์ เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้น โดยสภาพธรรมชาตินี่ เด็กที่ได้รับการบำรุงบำเรอ พรั่งพร้อมและตามใจมาก ระวังให้ดี จะเป็นคนอ่อนแอ ใจเสาะ เปราะบาง ทุกข์ได้ง่ายและสุขได้ยาก ส่วนคนที่ผ่านชีวิตที่ทุกข์ยากลำบากนั้น เขาสุขง่ายและทุกข์ได้ยาก อันนี้เราจะเห็นได้ทั้งชีวิตคนและสังคม อาตมายกตัวอย่างบ่อยๆ สังคมที่คนมีความทุกข์ยากลำบาก คนเขาไม่ฆ่าตัวตาย แต่สังคมที่มีความพรั่งพร้อม สะดวกสบาย จะมีคนฆ่าตัวตายมาก ยกตัวอย่างบ่อยก็คือ อเมริกากับเม็กซิโก อเมริกานี่เป็นสังคมที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม ทีนี้เขาบอกเป็นสังคมบริโภค มีอะไรทุกอย่าง กดปุ่มเอา ใช้แต่กล้ามนิ้ว ไม่ต้องใช้กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อไม่ต้องใช้ ถึงกล้ามนิ้วกดปั๊บ กดปั๊บ บางทีไม่ต้องกดด้วย เดินไปถึงประตู ประตูมันก็เปิดเลย นี่ก็สุขสบาย เดี๋ยวนี้ไป จะไปใช้น้ำ ก็เอามือไปรองปั๊บ น้ำก๊อกก็ไหล พอชักมือออก น้ำก็หยุด ไม่ต้องใช้กล้ามนิ้วด้วย ทีนี้สังคมอเมริกาที่พรั่งพร้อมนี่ เป็นยังไง เวลานี้สถิติตฆ่าตัวตาย แสดงออกมาแสนละ ๑๒.๕ คน ทีนี้ไปสังคมเม็กซิโก เม็กซิโกนั้นยากจนมาก อยู่ติดกันเลยนะ กับประเทศอเมริกาชายแดนติดกัน เม็กซิโกนั้นคนยากจนพยายามหลบหนี เข้าไปหางานทำในอเมริกา ประเทศที่ยากจนสถิติคนฆ่าตัวตายแสนละ ๑.๗๐ น้อยกว่าอเมริกา ๗.๔ เท่า อเมริกาฆ่าตัวตายมากกว่าเม็กซิโก ๗.๔ เท่า นี่คือประเทศที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม บอกแล้วว่า คนมันใจเสาะเปราะบาง อเมริกาสมัยก่อน เป็นประเทศอุตสาหกรรม สร้างเนื้อ สร้างตัวมาด้วยความลำเค็ญ ด้วยความขยันอดทน ยุคนั้นไม่ฆ่าตัวตาย แต่ว่ามามีปัญหาตอนที่เริ่มเป็นระบบอุตสาหกรรม แล้วชีวิตคนวุ่นวายกับการงาน คนหนุ่มคนสาว คนอยู่ในวัยทำงานยุ่งกับการงาน จนกระทั่งว่าตัวใครตัวมัน ไม่มีเวลาเอาใจใส่คนแก่ คนแก่ในสังคมอเมริกันก็ถูกทอดทิ้ง ในระยะนั้นคนแก่ฆ่าตัวตายมาก นี่สังคมอเมริกาค่อยๆ มาเป็นขั้นๆ แต่ก่อนก็เป็นสังคมทั่วไป เหมือนกับคนที่ยากจนลำบาก ก็ไม่ฆ่าตัวตาย ฆ่าตัวตายน้อย ต่อมาคนแก่ถูกทอดทิ้ง คนแก่ฆ่าตัวตายมาก พอมาถึงปัจจุบันนี้ เป็นสังคมที่มั่งคั่ง พรั่งพร้อม ปรากฏว่า คนหนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก คนวัยรุ่นฆ่าตัวตายมาก พอญี่ปุ่นพัฒนามาอย่างอเมริกา ก็ญี่ปุ่นก็สถิติฆ่าตัวตายก็สูงขึ้น เวลานี้เมืองไทยก็เริ่มฆ่าตัวตายมากขึ้น
ทีนี้ลองไปนึกดูว่า คนที่ทุกข์ยากลำบากนี่ ไม่ฆ่าตัวตาย ก็ยกตัวอย่างบ่อยๆ อีกอัน ก็คือว่าอย่างคนจีนสมัยก่อน ข้ามมาจากเมืองจีน ปู่ ย่า ตา ยาย นี่ เป็นคนที่อะไรมาเสี่ยงโชค อดมื้อ กินมื้อ เสื่อผืนหมอนใบ สร้างเนื้อสร้างตัว เขาเหน็ดเหนื่อยยากลำบากจะแย่อยู่นะ เขาฆ่าตัวตายที่ไหน ใช่ไหม แล้วเขาสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นเจ้าสัว เป็นเศรษฐีได้ พอรุ่นลูกเศรษฐี ลูกเจ้าสัว เริ่มฆ่าตัวตาย ชีวิตสะดวกสบาย ใจเสาะ เปราะบาง เพราะฉะนั้น ต้องระวังมากพัฒนาคนนี่ ถ้าไม่ระวังให้ดีแล้ว มันเป็นสัมพัทธ์อย่างที่ว่า สภาพที่เป็นอยู่ พรั่งพร้อมแค่ไหนก็เป็นปกติของคนในเวลานั้น ทีนี้ถ้าเราฝึกคนให้ดีนะ เรารู้หลักการนี้ เราก็พัฒนาคนให้เข้มแข็ง ขอใช้คำว่า ให้เป็นคนสู้สิ่งยาก พอพัฒนาให้เป็นคนสู้สิ่งยากขึ้นมาปั๊บ มันจะเป็นคนที่มาเสวยความสุขจากการพัฒนาวัตถุได้เต็มที่เลย เพราะว่าวัตถุพรั่งพร้อมพัฒนาไปเถิดคุณ แต่ใจคุณไม่พัฒนา ใจคุณจะ -๑ ตามการพัฒนาวัตถุ พัฒนาวัตถุขึ้นไปพรั่งพร้อม +๑ จิตคนนี่ -๑ ลบไป ๐ เท่าเดิม เป็นปกติ เป็นธรรมดา
เพราะฉะนั้น เรารู้หลักนี้แล้ว เราต้องพัฒนาคนให้ +๑ ด้วย พัฒนาวัตถุไปให้พรั่งพร้อม +๑ เราก็พัฒนาจิตใจคนให้ +๑ คือ สู้ เข้มแข็งยิ่งขึ้น พอคนสู้สิ่งยากเข้มแข็งขึ้น เขาเสวยความสุขจากวัตถุที่เราสร้างขึ้นได้เต็มที่เลย จึงจะมีความสุขอย่างแท้จริง จากสิ่งที่ได้สร้างสรรค์ ความเจริญจากวัตถุขึ้นมา ทีนี้เราก็มีหลักในการพัฒนาคนให้สู้สิ่งยาก คนสู้สิ่งยากก็สร้างจิตสำนึกในการฝึกตัวขึ้นมา พอสร้างจิตสำนึกในการฝึกตัว ก็ถือว่ามนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก มันเป็นธรรมดา ธรรมชาติของมนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ก็ขอพูดสั้นๆ ที่จริงเรื่องนี้พูดบ่อย คือ หลักพุทธศาสนาบอกว่า มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก การดำรงอยู่ ชีวิตที่ดีงามของมนุษย์นั้น มาจากการฝึกทั้งนั้น ไม่เหมือนสัตว์ทั้งหลายอื่น สัตว์ทั้งหลายอื่นนั้น เป็นสัตว์ที่ไม่ขึ้นต่อการฝึก แต่ขึ้นต่อสัญชาตญาณ ชีวิตอยู่ด้วยสัญชาตญาณ เกิดมาปั๊บ ออกจากท้องแม่ก็เดินได้ หากินได้ ว่ายน้ำได้ ช่วยตัวเองได้ แต่มนุษย์นั้น เกิดมาเป็นยังไง เกิดมาช่วยตัวเองไม่ได้เลย ใช่ไหม อย่าว่าแต่วัน เดือนหนึ่งเลย ปีหนึ่งยังช่วยตัวเองไม่ได้เลย ทิ้งก็ตาย เพราะฉะนั้น กว่าจะช่วยตัวเองได้ อาตมาเคยถามที่ประชุม ขอถามว่า คนเรานี่กว่าจะช่วยตัวเองได้นี่ กี่ปี เกิดมากี่ปี มีอาจารย์ท่านหนึ่งตอบว่า ๓๐ ปี ในที่ประชุมนี่จะเอาสักเท่าไร กี่ปีจะช่วยตัวเองได้ อยู่รอด