แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ทีนี้ต่อไปขอผ่านไปสู่หัวข้อที่ 2 คือสิ่งที่ควรจะกระทำก่อนที่จะเข้าเจริญภาวนา อย่างที่เรียกว่าบุพกิจของภาวนา บุพกิจของภาวนานี้ก็มีหัวข้อสำคัญ 3 อย่างด้วยกันคือ 1 คือการตัดปลิโพธ ก็แปลว่าสิ่งที่พวกพันหน่วงเหนี่ยวให้ใจห่วงกังวล หรือสิ่งที่ทำให้ใจติดข้อง ซึ่งถ้าหากว่าใจติดข้องกังวลห่วงอยู่ มารบกวนการปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัตินี้ สิ่งที่เราต้องการที่สำคัญคือสมาธิ ถ้าใจฟุ้งซ่านสมาธิก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องตัดปลิโพธ ปลิโพธ อาตมาได้กล่าวแล้วว่าหมายถึงสิ่งที่ติดข้องในใจ สิ่งที่ผูกพันหน่วงเหนี่ยวทำให้ใจห่วงกังวล ซึ่งก็มีมากมายหลายอย่าง เพื่อความสะดวกในทางคัมภีร์เก่าๆ ท่านก็เลยได้ แจกแจงไว้ โดยประเพณีถือกันมาอย่างในคัมถีร์วิสุทธิมรรค แสดงไว้ 10 อย่างเรียกว่า ปลิโพธ 10
ก็มีข้อที่ 1 อาวาส หมายถึงวัดหรือที่อยู่ ถ้าเป็นพระก็เป็นวัดถ้าเป็นฆารวาสก็หมายถึงที่อยู่ เวลาเราเข้าปฏิบัตินี้ ไม่ควรจะมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ นึกถึงบ้านของเราว่า ข้าวของเรามาก โจรขโมยจะมาลักหรือเปล่า เดี๋ยวจะรกรุงรัง ใครจะทำความสะอาด คนนั้นคนนี้จะดูแลให้ไหม ใจไปติดข้องกังวลกับเรื่องที่อยู่อาศัยกับบ้านกับเรือน ก็เลยฟุ้งซ่านไม่เป็นอันกำหนดอารมณ์ของกรรมฐาน ถึงกำหนดแล้วใจเดี๋ยวก็วอกแวกก็ฟุ้งไป ไม่เป็นสมาธิ ข้อที่ 2 ก็คือตระกูล ภาษาพระท่านเรียกว่ากุละ ตระกูลเริ่มตั้งแต่ครอบครัว วงค์ตระกูล ก็เป็นห่วงเรื่องครอบครัวขึ้นมาอีกว่า ครอบครัวจะเป็นอย่างไร จะอยู่กันดีเรียบร้อยไหม ใครจะเป็นอย่างไรบ้าง อะไรต่างๆเหล่านี้ หรือพระก็เป็นห่วงตระกูลของโยม ครอบครัวโยมที่อุปถัมภ์บำรุงว่าจะเป็นอย่างไร จะไปหาหรือเปล่าในตอนนี้ อะไรทำนองนี้ เรื่องนี้ก็ควรจะได้แก้ไขป้องกันให้เสร็จคือ ไม่ให้มีความห่วงกังวล หมายความว่าก่อนที่จะเข้าปฏิบัติก็จัดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวให้เรียบร้อย เช่นว่าบอกให้ทราบ จะได้ไม่ต้องห่วงซึ่งกันและกัน อย่างพระก็บอกครอบครัวโยมที่อุปถัมภ์ว่าตอนนี้จะเข้าปฏิบัติเป็นการเข้มข้นจริงจัง เพราะฉะนั้นให้รู้ว่าตอนนี้ไม่อยู่ ไม่ต้องนึกว่าทำไมหายไป แล้วก็จะได้จิตใจจะได้ไม่ต้องหวนกลับมานึกถึงเรื่องเหล่านี้อีก ข้อที่ 3 ท่านบอกว่าปลิโพธข้อที่ 3 ได้แก่ลาภ ลาภก็คือรายได้ผลประโยชน์ต่างๆ เวลาเข้าปฏิบัตินี้ก็ ไปปลีกตัวอยู่ห่างจากกิจการ หรือชีวิตประจำวัน บางทีก็มีรายได้ผลประโยชน์ก็ต้องสูญเสียไป บางท่านก็เป็นห่วงกังวลว่า ถ้าเราอยู่บ้านในตอนนี้หรืออยู่วัดในตอนนี้ อยู่ตามปกติทำงานทำการอะไรก็จะมีรายได้ขึ้นมา ตอนนี้เราก็ต้องสูญเสียรายได้ไป ไปห่วงเรื่องลาภ ทำให้จิตใจพร่า ทำให้จิตใจวอกแวกฟุ้งซ่านเช่นเดียวกัน ไม่เกิดสมาธิ หรือต่อไปถ้าบอกว่าได้แก่ คณะ หมู่คณะชุมชนของเราเป็นอย่างไรกันบ้าง อยู่กันดีหรือเปล่า มีความสามัคคีกันไหม อะไรต่างๆเหล่านี้ ไปคิดไปในเรื่องเหล่านี้ ใจไปห่วงกังวลก็ทำให้เสียสมาธิเช่นเดียวกัน อย่างข้ออื่นๆอีกก็คือ กรรม หรือกรรมะ ท่านแปลว่าการงาน เช่นว่า การก่อสร้างถ้าหากว่าเราปลีกตัวไปการงานก่อสร้างจะเป็นอย่างไรบ้าง ดำเนินไปด้วยดีหรือเปล่า ใจก็เป็นกังวล หรือทำงานอะไรก็ตามค้างไว้ อะไรต่างๆ ก็เที่ยวเป็นห่วงไปหมด การเป็นห่วงการงานก็ทำให้เกิดผลเสีย เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะเข้าปฏิบัติ ก็ชำระสะสางให้เรียบร้อย โดยที่ว่า จะไม่ทำให้เกิดกังวล ให้ใจเวลาเอาออกไปปฏิบัติก็ตัดได้ นี่ก็เป็นเรื่องข้อที่ 5 ต่อไปก็ข้อที่ 6 ท่านบอกว่า อัทธานะ ได้แก่การเดินทางไกล โดยเฉพาะในสมัยก่อนนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก อย่างเดินทางไปแม้แต่จังหวัดไกลๆ สมมติว่าอยู่กรุงเทพจะเดินทางไปเชียงใหม่ ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ต้องเตรียมการกันมาก ผู้ที่จะเดินทางไกล มีกิจเกี่ยวกับเดินทาง และยังไม่ได้เดินทาง เข้าปฏิบัติแล้ว ก็จะนึกว่าเดือนนั้นเดือนนี้จะต้องเดินทาง เราเตรียมตัวพร้อมหรือยัง หรือแม้จะนึกในแง่ว่า เดินทางไกล จะได้เห็นสิ่งโน้น สิ่งนี้แปลกไป ก็ไปนึกคิดฝันไป ในแง่ของกรรมฐาน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งนั้น เพราะจะทำให้มารบกวนในการปฏิบัติทำให้เสียสมาธิ ต่อไปก็เรื่องญาติ เรื่องญาติก็กลายเป็นปลิโพธได้ ถ้าหากเราไม่จัดการให้เรียบร้อยถูกต้อง คือความห่วงเกี่ยวกับเรื่อง การไปมาหาสู่บ้าง เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง สำหรับพระเณรนี้ ญาติก็ได้แก่อุปฌาย์อาจารย์ แม้แต่เพื่อน ลูกศิษย์ ถือว่าเป็นญาติทั้งนั้น ความห่วงกังวลเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ ก็ทำให้เกิดปัญหาในการเจริญสมาธิ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเข้าปฏิบัติก็ชำระสะสางให้ไม่ต้องห่วงไม่ต้องกังวล แล้วก็เวลาเข้าปฏิบัติก็ต้องให้แน่ใจว่าเราตัดใจได้ นอกจากนั้นก็มีเรื่องอาพาธ คือความเจ็บป่วยของตนเอง เราอาจจะมีโรคเล็กๆน้อยๆ เวลาเข้าปฏิบัติไม่ได้แก้ไขให้เรียบร้อย ก็ไปห่วงกังวลว่า โรคของเราเป็นอะไรกันแน่ มันจะกำเริบหรือเปล่า ก็ทำให้ไม่สบายใจ ปฏิบัติไม่ได้ หรือว่าใจคอไม่แน่วแน่ ไม่เป็นสมาธิ เพราะฉะนั้นอะไรที่จะแก้ไขได้ ก็ให้แก้ไขหรือถ้าหากว่าเป็นโรคประจำตัวที่แน่ใจ มันไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขกันในตอนนี้ ก็ให้ตัดใจเตรียมใจไว้ก่อนว่าเราจะไม่ห่วงกังวลกับเรื่องนี้ ต่อไปก็ได้แก่คันถะ คือการศึกษาเล่าเรียนหรือผู้ที่เป็นนักศึกษาก็จะเป็นห่วงเรื่องการเล่าเรียน เมื่อเราเข้าปฏิบัติแล้ว เราเคยดูหนังสือ มีกำหนดเวลาอย่างนั้นอย่างนี้เราก็ไม่ได้ทำการศึกษาเล่าเรียนของเราจะเสีย หรือจะไม่ได้ผลมากเท่าที่เราต้องการหรือตั้งเป้าไว้ ความห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ หรือแม้ว่าจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาระหว่างนี้เราจะขาดอะไรอย่างนี้ การนึกห่วงเรื่องเหล่านี้จะทำให้ใจคอไม่ดี ไม่เป็นประโยขน์ ไม่เกื้อกูลต่อการเจริญสมาธิ เพราะฉะนั้นก็ต้องตัดหรือทำใจให้เสร็จเสียก่อนว่าเราไม่ห่วงกับเรื่องเหล่านี้ อะไรทำได้ก็เตรียมทำให้เสร็จสิ้นไป ในประการสุดท้ายท่านบอกว่าได้แก่อิทธิ อิทธิคือฤทธิ์ ฤทธิ์ก็เป็นปลิโพธอย่างหนึ่งสำหรับผู้ที่ได้ฤทธิ์มาแล้ว ก็ต้องมีการรักษาทีนี้เมื่อเข้าปฏิบัติวิปัสสนา อาจจะทำให้ว่างเว้นจากการที่มาปฏิบัติเพื่อจะรักษาฤทธิ์นั้น สำหรับคนทั่วๆไป คำว่าฤทธิ์นี้ มาใช้ได้ในความหมายของความสำเร็จต่างๆ ซึ่งอาจจะคิดห่วงไปว่า ถ้าหากว่าเราไม่เข้าปฏิบัติ เราก็มีความสำเร็จในเรื่องนั้นเรื่องนี้รออยู่ แม้แต่เป็นเกียรติยศชื่อเสียงที่จะเป็นความสำเร็จเสร็จแล้ว พอเข้าปฏิบัติ สิ่งเหล่านั้นก็อาจจะผ่านไป ไปห่วงกังวลเรื่องเหล่านั้นก็อาจจะเสียผลได้ในการปฏิบัติของตนเอง เพราะฉะนั้นก็จะต้องปฏิบัติโดยวิธีประการที่หนึ่งก็คือว่า อะไรที่ควรจะทำให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยไปก็จัดการเสีย ในประการที่สองอะไรที่เป็นเรื่องระยะยาว ถ้าเราเห็นคุณค่าของการปฏิบัติแล้วเราก็ตัดใจซะให้แน่นอน เด็ดขาดตั้งแต่เข้าเริ่มปฏิบัติ ไม่ต้องไปเป็นห่วงกังวลต่อไปกับปลิโพธทั้ง 10 ประการที่กล่าวมานี้ และแม้จะห่วงกังวลอื่นๆที่มีขึ้นมาได้ ข้อสำคัญก็คือให้ แน่ใจว่าการเข้าปฏิบัติของเรานี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เมื่อปฏิบัติไปแล้วได้ผลดี ผลนั้นเป็นประโยชน์ที่คุ้มค่ากว่าการสูญเสียเล็กๆน้อยๆ ที่จะต้องไปห่วงกังวลถ้าเราเห็นคุณค่าของการปฏิบัติชัดเจนแล้ว เราก็จะสบายใจแล้วก็จะมีจิตใจที่แน่วแน่ในการที่จะเจริญภาวนา เพราะฉะนั้น เรื่องปลิโพธท่านก็ให้ตัดเสีย อันนี้ก็ได้พูดไปมากมาย ความจริงก็สาระสำคัญก็คือว่าไม่ให้มีห่วงกังวลใจจะได้แน่วแน่ในการปฏิบัติ เมื่อตัดปลิโพธแล้ว ก็เข้าสู่ข้อที่ 2 ก็คือเข้าหากัลยาณมิตร ได้แก่อาจารย์ที่ท่านสอนกรรมฐาน ซึ่งเราก็จะเลือกท่านที่เป็นพระอาจารย์ที่มีคุณสมบัติ หรือที่เรามีศรัทธา ที่เราเชื่อถือว่าท่านจะสอนได้ผล มีความรู้แท้จริง มีประสบการณ์ในการปฏิบัติ