แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ขอเจริญพรโยมทุกท่านผู้ร่วมในบุญจาริกครั้งนี้ บัดนี้เราก็ได้เดินทางมาถึงพระเวฬุวัน วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองราชคฤห์ เรามาที่เมืองราชคฤห์อีกครั้งหนึ่ง ความจริงเมื่อวานนี้เราก็มาแล้ว แต่เรามาแค่ที่พระมูลคันธกุฎี กุฏิเดิมของพระพุทธเจ้าที่เขาคิชฌกูฏ แล้วเวลาก็มืดค่ำเราก็ไม่สามารถจะมาถึงพระเวฬุวันได้ ทั้ง ๆ ที่อยู่ที่ใกล้กันก็จึงต้องกลับไปพักผ่อนกันที่วัดไทยนาลันทา ตามคัมภีร์ท่านบอกว่านาลันทามาถึงราชคฤห์นี้ ห่างกัน 1 โยชน์ 1 โยชน์นี้มาเทียบปัจจุบันก็ต้อง 16 กิโลเมตร นี้ก็ระยะทางในบัดนี้ทางโดยรถยนต์ก็ทราบจากท่านมหาบุญธรรมว่า 13 กิโลเมตร ก็แสดงว่าตัวเลขใกล้เคียงมาก ก็อาจจะเป็นได้ว่าสมัยก่อนเป็นทางเกวียน ทางเกวียนก็ และก็อีกอย่างเป็นการที่วัดคร่าว ๆ เพราะฉะนั้นก็ใกล้เคียงความจริงมาก ตัวเลขเก่าในคัมภีร์ซึ่งนานตั้งเป็นพัน ๆ ปีแล้วกับข้อเท็จจริงที่เป็นปัจจุบัน แสดงว่าสถานที่ต่าง ๆ ที่เรามานี้ คงไม่ผิดแน่นอน นี่เราก็เดินทางเมื่อกี้นี้จากนาลันทาแล้วก็มาราชคฤห์ ในเวลาประมาณสักเท่าไหร่ เมื่อกี้นี้ใช้เวลาสัก 20 นาทีได้ไหมประมาณนั้น สำหรับระยะทาง 13 กิโลเมตร หรือ 1 โยชน์ ซึ่งตามตัวเลขของการคำนวณก็ต้องเป็น 16 กิโลเมตร สำหรับเรื่องเมืองราชคฤห์นี้ อาตมาก็ได้เคยพูดถึงแล้วสองสามครั้ง ว่าเป็นเมืองหลวงของแคว้นมคธ แล้วก็เป็นเมืองหลวงสมัยพุทธกาลก็ได้เล่าให้ฟังว่าต่อมาก็ได้ย้ายไปสู่เมืองปาฏลีบุตร แต่ก่อนที่จะไปสู่ปาฏลีบุตรนั้นก็ตามตำนานก็ว่า ย้ายไปเมืองเวสาลีก่อน คัมภีร์บอกว่าพระเจ้าสุสูนาคะ หรือ สุสูนาค เป็นผู้ย้ายเมืองหลวงไปแคว้นมคธ จากราชคฤห์ไปที่เวสาลี เวสาลีนี้โยมหลายท่านอาจจะไม่รู้จัก แต่อาตมาได้เล่าเรื่องแคว้นวัชชีแล้ว เวสาลีเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชี เวลาเรียกเป็นภาษาไทยเรามักนิยมรูปสันสกฤต เราก็เรียกกันว่าไพศาลี ไพศาลีกับเวสาลีก็เมืองเดียวกัน เวสาลีเป็นเหมืองหลวงของแคว้นวัชชี ที่นี้การที่พระเจ้าสุสูนาคแห่งแคว้นมคธจะย้ายเมืองหลวงจากราชคฤห์ ไปตั้งที่เวสาลีได้นั้นก็เพราะว่าแคว้นมคธได้ปราบปรามพวกแคว้นวัชชีลงได้แล้ว แล้วก็วัชชีก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมคธไป อันนี้ก็ยืนยันว่าเวสาลีนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นมคธ พระเจ้าแผ่นดินมคธก็เลยตั้งเมืองหลวง ย้ายเมืองหลวงมาตามชอบใจ ชอบเมืองเวสาลีก็เลยย้ายไปเมืองเวสาลี แล้วต่อมา ตอนสังคายนาครั้งที่สองพระเจ้ากาลาโศกราช เป็นพระเจ้าแผ่นดินผู้อุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่สองนี่ ก็ไปจัดการสังคายนาที่เมืองเวสาลีนี้ด้วย ซึ่งก็อยู่ในอำนาจแคว้นมคธแล้ว จนกระทั่งต่อมาอีกมาถึง ออ! พระเจ้ากาลาโศกราชนี่แหละ เป็นผู้ย้ายเมืองหลวงจากเวสาลีไปที่เมืองปาฏลีบุตรอีกทีหนึ่ง แสดงว่าย้ายกันตั้งสองครั้ง ย้ายจากราชคฤห์ไปเวสาลี แล้วก็ย้ายจากเวสาลีไปที่ปาฏลีบุตรอีกทีหนึ่ง แล้วตอนที่พระเจ้ากาลาโศกราชอุปถัมภ์สังคายนาครั้งที่สองนั้น การสังคายนาก็จัดที่เมืองเวสาลี อันนี้รายละเอียดนี้ก็ไม่ได้ตรวจตราให้แน่นอน อาจจะเป็นได้ว่าหลังจากที่จัดสังคายนาแล้ว พระเจ้ากาลาโศกราชจึงได้ย้ายเมืองหลวงไปที่ปาฏลีบุตร หรือว่าอาจจะย้ายไปก่อน แต่เวสาลีก็ยังเป็นเมืองใหญ่ก็พระสงฆ์ก็มาจัดการสังคายนาที่เวสาลี อันนี้อาตมาไม่ได้ตรวจสอบหลักฐาน เพราะว่าเรื่องเก่า ๆ บางทีเราก็ดูผ่าน ๆ กันไปเท่านั้นเอง เล่าแต่ความทรงจำและข้อมูลเบ็ดเตล็ดเท่าที่จะระลึกขึ้นมาได้ แล้วก็รวบรวมได้ อันนี้ก็เป็นภาพของเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาลที่มาสัมพันธ์กับเรื่องราวในพระพุทธศาสนา ก็ต้องขอย้อนกลับมาพูดถึงเมืองราชคฤห์ ว่าเมืองราชคฤห์นี้เป็นเมืองหลวงสำคัญในสมัยพุทธกาลดังที่กล่าวแล้ว ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงพบกับพระเจ้าพิมพิสารกษัตริย์ผู้ปกครองได้ร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าและต่อมาก็พระเจ้าอชาตศัตรูพระโอรสก็ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา คือพระเจ้าพิมพิสารแล้วพระเจ้าอชาตศัตรูขึ้นครองราชย์ แล้วพระเจ้าอชาตศัตรูก็ห่างเหินจากพระพุทธศาสนาไปพักหนึ่ง จนกระทั่งตอนหลังจึงหันมาอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาตลอดจนกระทั่งอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่หนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งแรกของพระพุทธศาสนานี้ นี่เมืองราชคฤห์ก็เป็นเมืองที่มีชื่อเรียกหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็เรียกว่าเบญจคีรีนคร เบญจคีรีนครก็แปลว่าเมืองที่มีเขาทั้งห้า เขาห้าเขาก็ท่านมหาบุญธรรมก็เล่าให้โยมฟังไปแล้ว ก็มีเขาคิชฌกูฏที่เราไปขึ้นเมื่อวาน แล้วก็มีเขาปัณฑวะรูปทรงเป็นบัณเฑาะว์ แล้วก็มีเขาเวภาระที่เป็นที่ทำสังคายนาครั้งที่หนึ่งที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา แล้วก็มีเขาอิสิคิลิ แล้วก็เขาเวปุลละห้าภูเขานี้ เพราะเหตุที่เมืองนี้ตั้งอยู่ติดกับภูเขาห้าลูกก็เลยเรียกชื่อว่าเบญจคีรีนคร และก็เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งตามมา จากการที่มีภูเขาห้าลูกล้อมรอบอยู่ ก็ภูเขาห้าลูกนี้เป็นเหมือนคอกล้อมรอบเมืองนี้ เมืองนี้ก็เลยชื่อว่าคิริพพชะ แปลว่ามีภูเขาเป็นคอก ก็คือมีภูเขาล้อมรอบนั่นเอง นี่ก็เป็นชื่อต่าง ๆ ของเมืองราชคฤห์ ซึ่งก็ไม่จำเป็นจะต้องจดจำอะไร แต่ก็เป็นเพียงความรู้รอบตัว ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนได้ยินไว้ก็อาจจะผ่าน ๆ ไว้ก่อน ข้อสำคัญก็คือว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองนี้ เพราะทรง ทรงต้องมองเห็นการณ์ไกล อย่างที่กล่าวแล้วว่า ตอนนั้นก็มีแว่นแคว้นใหญ่ ๆ ตั้งหลายแคว้น ขอทวนซ้ำอีกทีหนึ่ง ที่บอกว่ามีมหาชนบทหรือประเภทใหญ่ ๆ อยู่ตั้ง 16 แคว้น แล้วมาถึงพุทธกาลก็มีแคว้นที่สำคัญนี้ อยู่ในย่านนี้ก็สามแคว้น ก็คือแคว้นมคธนี่ แล้วก็แคว้นวัชชี แล้วก็แคว้นโกศล พอสิ้นพุทธกาลไปนี้ก็ แคว้นโกศลก็ดี วัชชีก็ดี ก็มาตกอยู่ใต้อำนาจแคว้นมคธหมด แล้วราชคฤห์จึงเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองและอำนาจในทางการบ้านเมือง นี้พระพุทธเจ้าเสด็จมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่นี่ ก็ถ้าว่าในทางการเมืองก็แสดงว่าได้ที่ที่เหมาะที่สุดแล้ว เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้ามาประดิษฐานพระพุทธศาสนาในเมืองราชคฤห์แล้ว ก็ทรงประกาศพระศาสนาเริ่มตั้งแต่ทรงแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าพิมพิสารก็ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนา ก็เป็นองค์ศาสนูปถัมภก กาลต่อจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงโปรดอัครสาวกสองท่าน ก็คือพระสารีบุตรและโมคคัลลานะ แต่ย้อนกลับไปพูดนิดหนึ่ง อาตมาก็พลอยเล่าข้ามไป คือว่าพระเจ้าพิมพิสารเมื่อเลื่อมใสแล้ว ก็ได้ถวายวัดแห่งแรกก็คือวัดเวฬุวันนี่ เวฬุวันนั้นก็แปลว่าป่าไผ่ เรามาในที่นี่ด้านนอก ๆ โยมก็ยังเห็นต้นไผ่ ไม่ทราบว่าไผ่นี้จะสืบมาจากพุทธกาลหรือว่าเป็นไผ่ปลูกใหม่ แต่ว่าก็ดีเป็นบรรยากาศที่ทำให้เราหวนระลึกไปถึงวัดพระเวฬุวัน ซึ่งมีความหมายว่าเป็นป่าไผ่ นี้ป่าไผ่อันนี้กับสมัยพุทธกาลก็คงจะมากกว่านี้มากมาย พระพุทธเจ้าเสด็จประทับที่นี้ก็ถือว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา นี้เหตุการณ์สำคัญต่อมา ก็คือว่าทรงได้อัครสาวกซ้ายขวา พอได้อัครสาวกซ้ายขวาคือพระสารีบุตรและโมคคัลลานะนั้น ตามประวัติก็บอกว่าพระโมคคัลลานะ บวชได้ 7 วัน ก็ได้บรรลุอรหันตผล ส่วนพระสารีบุตรนั้นมีปัญญามากได้บรรลุอรหันตผลทีหลัง มีปัญญามากกลับบรรลุทีหลัง พระอรรถกถาจารย์ท่านก็ได้อธิบายบอกว่า เหมือนกับพระเจ้าแผ่นดินหรือแม่ทัพใหญ่ ๆ นี้ เวลาจะเคลื่อนทัพไปนี้ ช้า อืดอาด ไม่เหมือนกับคนชาวบ้านทั่วไป จะไปไหนก็ไปปุ๊บปั๊บทันทีไปได้ แสดงว่าพระสารีบุตรปัญญาท่านมาก ท่านคิดเยอะไง ไตร่ตรองพิจารณา ทวนหลัง ทวนหน้า สืบหาเหตุปัจจัยต่าง ๆ เหมือนพระราชาที่ว่าจะยกทัพ จะเคลื่อนย้ายพลกายไปที่ต่าง ๆ นี้ล่าช้าหน่อย แต่เมื่อพระสารีบุตรตรัสรู้แล้วนั่นคือลาภอันยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนา เพราะเป็นกำลังของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสสรรเสริญพระสารีบุตรนอกจากเป็นเอตทัคคะในทางมีปัญญามากแล้วพระองค์ตรัสว่าสามารถแสดงพระธรรมจักรได้แม้นพระองค์ทีเดียว คือพระธรรมจักรนี้เราก็รู้กันว่าเป็นพระสูตรที่สำคัญ แสดงหลักการของพระพุทธศาสนา พระสารีบุตรนี้สามารถแสดงได้แม้นเหมือนพระองค์ทีเดียว เพราะฉะนั้นเป็นกำลังอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า ทำงานเป็น ก็เรียกว่ามือขวาชัดอยู่แล้วว่า อัครสาวกเบื้องขวา นี้พระสารีบุตรนี้ก็ได้ตรัสรู้ บรรลุอรหันตผล 15 วันหลังจากที่ได้บวช แล้วก็ได้บรรลุธรรมโน้นตรงถ้ำสุกรขาตาที่เราขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏเมื่อวาน ก่อนที่จะขึ้นไปถึงคันธกุฎีบนยอดนั้นก็ได้ผ่านถ้ำสุกรขาตา ถ้ำสุกรขาตานั้นก็เป็นจุดที่พระสารีบุตรท่านได้ฟังพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก่ทีฆนขปริพาชก พระสารีบุตรนั้นก็อยู่เบื้องหลัง ก็เรียกว่าถวายงานพัดอยู่ ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ของพระพุทธ เบื้องพระปฤษฎางค์ก็คือข้างหลังนั่นเอง แล้วตอนนั้นก็เป็นลูกศิษย์ เป็นสัทธิวิหาริกก็เลยดูแลปฏิบัติพระอุปชา ก็พัดให้พระพุทธเจ้า ที่นี้ก็พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้แก่ปริพาชก พระสารีบุตรก็เลยได้ฟังด้วย เมื่อฟังจบแล้วพระสารีบุตรก็เลยได้บรรลุพระอรหันตผล เหตุการณ์ก็มาประจวบตอนนี้ ตอนนี้ก็พอดีจะถึงวันเพ็ญเดือน 3 วันเพ็ญเดือน 3 นับจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มา ท่านบอกได้ 9 เดือนพอดี พระพุทธเจ้าตรัสรู้วันเพ็ญเดือน 6 แล้วก็มาจำพรรษาแรก เพื่อแสดงธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร ที่เมืองพาราณสี อิสิปตนมฤคทายวัน แล้วเสด็จต่อมามายังแคว้นมคธนี้ มาถึงนี้จนได้อัครสาวกแสดงธรรมโปรดทีฆนขปริพาชก พระสารีบุตรได้ตรัสรู้นี้ล่วงพอดี 9 เดือน 9 เดือนพอดีถึงวันมาฆปุณณมี วันเพ็ญเดือน 3 เป็นเวลาที่ถือว่ามีความสำคัญที่ว่าแต่ก่อนนี้นั้นถือปฏิทินทางจันทรคติ เพราะฉะนั้นวันเพ็ญจะมีความสำคัญอยู่ โดย 3 วันแล้ว นอกจากนั้นท่านยังบอกว่าเป็นวันสำคัญในศาสนาพราหมณ์ด้วย บ้างก็ว่าเป็นวันศิวาราตรีอะไรต่าง ๆ อันนี้เราก็ไม่ต้องเอาใจใส่มากนัก รวมความว่าเป็นวันที่มีความสำคัญในศาสนาเดิมของเขาตามประเพณี อันนี้ก็เลยเกิดเหตุการณ์ในพุทธศาสนาขึ้นมาด้วย ว่าตอนเย็นพระพุทธเจ้าก็เสด็จลงมาจากเขาคิชฌกูฏ แล้วก็มาที่พระเวฬุวันนี้ ปรากฏว่ามีพระอรหันต์ได้มาประชุมกันที่นี่ที่พระเวฬุวันนี้ 1,250 องค์ ก็เกิดเป็นการประชุมใหญ่ของพระสาวกขึ้น ตอนนั้นยังต้นพุทธกาล ลองคิดดูแค่ 9 เดือนเท่านั้นเองหลังจากตรัสรู้ มีพระสาวกมาประชุมกันตั้ง 1,250 องค์ ก็ต้องถือว่าเป็นการประชุมใหญ่ ทั้งนี้เรียกว่าเป็นมหาสังฆนิบาติ นี้การประชุมครั้งนี้มีลักษณะพิเศษที่ว่ามีองค์ประกอบ 4 ประการ ก็คือว่า หนึ่งมีพระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมกัน แล้วล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น แล้วก็ท่านเหล่านั้นล้วนแต่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทาได้บวชโดยตรงจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบวชให้เอง แล้วก็เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอภิญญา แล้วก็มาโดยไม่ได้นัดหมายกันด้วย นั้นถือว่าอันนี้เป็นองค์ประกอบ 4 ประการ ก็เลยเรียกการประชุมนี้ว่าจาตุรงคสันนิบาต แปลว่าการประชุมที่พร้อมในองค์ 4 ประการ พระพุทธเจ้าก็ทรงเห็นว่าการพักพร้อมอย่างนี้ก็เป็นโอกาสพิเศษที่ดี เหมาะแก่การที่จะทรงแสดงธรรมเป็นพิเศษ ก็เลยได้ทรงแสดงโอวาทหลักคำสอนที่เป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา เราเรียกกันว่า โอวาทปาฏิโมกข์ โอวาทะ ก็โอวาทคือคำกล่าวสอน ปาฏิโมกข์ก็ที่เป็นหลัก เป็นประธาน คำกล่าวสอนที่เป็นหลักเป็นประธาน ก็คือคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา ในคำสอนนี้ก็มีตั้งหลายตอน มีทั้งหมดสามคาถาครึ่ง ก็พูดง่าย ๆ ว่ามี 3 ตอน วันนี้เรามาประชุมกันในที่นี้ ก็พอดีประจวบมาที่พระเวฬุวันด้วย และก็วันพรุ่งนี้ก็เป็นวันมาฆปุณณมีเป็นวันเพ็ญเดือน 3 ก็จะเป็นวันมาฆบูชา มาฆบูชาจะมาถึงวันพรุ่งนี้ วันนี้ก่อนไปวันหนึ่ง แต่คิดว่าไหน ๆ ก็มาที่นี่แล้วใกล้วันจริงแล้วก็เลยทำพิธีมาฆบูชากันซะที่นี้เลย แม้จะยังไม่ตรงก่อนหน้าวันหนึ่งก็ไม่เป็นไร เราก็เลยมาฟังธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา นี้อย่างที่กล่าวแล้วว่า ในวันมาฆบูชาหรือวันมาฆปุณณมีพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์ เราก็เลยมาศึกษาเรื่องโอวาทปาฏิโมกข์กันหน่อย โอวาทปาฏิโมกข์ได้บอกโยมเมื่อกี้นี้บอกว่าประกอบด้วยคาถาสามคาถากึ่งหรือจะเรียกว่าเป็น 3 ตอนก็ได้ ตอนที่ 1 นี้ก็มีว่า อาตมาจะเล่าให้ฟังก่อนนะโยมคือว่าอย่าพึ่งถือเอาเป็นเรื่องที่หนักสมอง เพราะว่าเวลาพูดให้ฟังอย่างนี้ ก็รู้สึกว่ายากเหมือนกันแหละ แต่เอาพอผ่าน ๆ ไว้ก่อนเดี๋ยวอาตมาค่อยไปจี้จุดที่ต้องการให้โยมรู้อีกทีหนึ่ง ลำดับความว่ามีคาถา 3 ตอน ตอนแรกนี้ก็บอกว่า ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต อันนี้คาถาแรก คาถาแรกนี้แสดงอะไรบ้าง แสดงลักษณะของพุทธศาสนา ที่ต่างจากศาสนาพื้นเดิมที่มีอยู่ พุทธศาสนาเกิดขึ้นใหม่ เมื่อจะแสดงหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา จุดแรกก็คือการแยกออกจากศาสนาเดิม เพราะอันนี้จะเป็นข้อสำคัญเพื่อให้ชาวพุทธนี่รู้จักตัวเอง รู้จักหลักคำสอนให้ถูกต้อง มิฉะนั้นเดี๋ยวจะเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าไปเที่ยวปะปนกับลัทธิอื่น ๆ คำสอนอันแรกก็บอก ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา คือสมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมานั้น ข้อปฏิบัติสำคัญในศาสนาพื้นเดิมก็คือเขาชอบบำเพ็ญตบะ การบำเพ็ญตบะนี้เป็นที่นิยมกันหนักหนาว่าจะเป็นทางที่จะทำให้บรรลุความบริสุทธิ์หลุดพ้นถึงจุดหมายของศาสนา ศาสนาในยุคนั้นก็เลยมีการบำเพ็ญตบะกันมาก พระพุทธเจ้าได้ทรงให้ประทานคำสอนใหม่ว่า การที่มาทรมานร่างกายตนเองด้วยประการต่าง ๆ เช่นว่า ไปอดข้าว กลั้นลมหายใจ นอนบนหนาม อาบน้ำในฤดูหนาว ตากอยู่กลางแดดในฤดูร้อน อะไรทำนองนี้เป็นต้น ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้เกิดการตรัสรู้ อย่างนักบวชเชน แม้แต่สมัยปัจจุบันก็ยังใช้วิธีบำเพ็ญตบะอยู่ เช่นเขาจะโกนผม เขาก็ไม่ใช้มีดโกน จะใช้วิธีถอนผมทีละเส้น จากที่เราพบที่เรียกว่าสาธวีที่มานั่งอยู่ในพิธีเมื่อเช้าที่นาลันทา ที่แต่งชุดขาวแล้วมีอะไรปิดที่จมูกหรือปาก นั่นเรียกว่าสาธวีเป็นนักบวชเชน นิกายเศวตัมพร หรือเสตัมพร แปลว่านุ่งขาวห่มขาวแล้วเป็นนักบวชหญิงของเชน ถ้าหากว่าเป็นอีกนิกายหนึ่งก็จะเรียกว่าทิคัมพร ไม่นุ่งผ้าเลย ที่นี้เมื่อเช้านี้เราไปเจอนิกายที่นุ่งผ้าขาว และนักบวชเชนนี้ก็ทรมานร่างกายตัวเอง ฉะนั้นเวลาเขาจะโกนผม เขาจะถอนผมทีละเส้น และนักบวชผู้หญิงเมื่อเช้า สาธวีนั้นก็เหมือนกัน เวลาเขาจะโกนผมเขาก็จะถอนทีละเส้น ก็ลองนึกดูว่าจะเจ็บแค่ไหน ก็ถือว่าไม่ตามใจร่างกายมัน ทรมานมัน มันจะได้หมดกิเลสไป พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าการบำเพ็ญตบะนี่ ที่ทรมานร่างกายนี่ ไม่ใช่วิถีทางแห่งความหลุดพ้นที่จะเข้าถึงจุดหมายของศาสนา การที่ตรัสอันนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะให้เกิดความรู้ เข้าใจ ลักษณะที่แตกต่างของพุทธศาสนาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เริ่มแต่วิธีปฏิบัติ พระองค์ก็ตรัสแทนไปว่า ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ขันติคือความอดได้ทนได้นี่แหละ เป็นตบะอย่างยิ่ง ไม่เอาที่ทางไปทรมานร่างกาย เอาขันติ ความอดทน โดยใช้สติปัญญา ทำความเพียรไป และก็มีความเข้มแข็งในจิตใจ ที่จะทำการสำเร็จด้วยความอดทนนี้ นี่ก็เป็นตบะแล้ว ไม่ต้องเที่ยวไปทรมานร่างกายตัวเอง แล้วจากข้อปฏิบัตินั้น พระพุทธเจ้าก็ก้าวไปสู่จุดหมายของพุทธศาสนา บอกว่า นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา นิพพานเป็นบรมธรรม นิพพานเป็นธรรมะอันสูงสุด เป็นธรรมะอย่างยิ่ง อันนี้คือการแสดงจุดหมายของพระศาสนาได้แก่พระนิพพาน ไม่ใช่ลัทธิไปสู่พระพรหมอะไร สมัยนั้นศาสนาพราหมณ์นี้เขาถือว่าจุดหมายของศาสนาก็คือ พรัหมะ สหัพยตา อันนี้จะมีในพระสูตรเช่นอย่างเตวิชชสูตรในพระไตรปิฎกทีฆนิกาย พอพูดถึงเรื่องพราหมณ์พยายามจะเข้าถึงพรหมไปอยู่รวมกับพระพรหมด้วยวิธีต่าง ๆ พระพุทธเจ้าก็ตรัสคัดค้านเป็นอันว่าการอยู่ร่วมพระพรหม การเป็นหนึ่งเดียวกับพระพรหม การเข้าถึงพรหมเป็นจุดหมายศาสนาพราหมณ์ก่อนพระพุทธเจ้าของเราอุบัติขึ้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงจุดหมายของพุทธศาสนาว่าได้แก่นิพพาน บอกให้รู้ชัดไปเลย ไม่ใช่ให้ไปอยู่กับพระพรหมนะ และต่อไปก็สิ่งที่ปรากฏของศาสนาข้อสำคัญอีกอย่างก็คือนักบวช นักบวชคือคนประเภทใดที่เป็นบรรพชิตในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ตรัสออกไปเลยว่า คนที่จะเป็นบรรพชิตนั้นไม่เป็นผู้ทำร้ายผู้อื่น ถ้าเป็นผู้ที่ทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ หมายความว่านักบวชหรือสมณะหรือบรรพชิตนี้ไม่ใช่คนทำร้ายคนอื่น เป็นผู้ที่ไม่มีภัย มีเวร อันนี้ก็เป็นลักษณะสำคัญของพระภิกษุซึ่งเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ไม่ได้เอาที่การเป็นสื่อตัวกลางระหว่างพระพรหมกับมนุษย์ อย่างศาสนาพราหมณ์นี้ นักบวชก็เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างพระพรหมกับมนุษย์ หรือเป็นผู้ผูกขาดพระเวท เป็นผู้ทำพิธีบูชายัญอะไรทำนองนี้ ความหมายหลายอย่างหรือว่าเป็นผู้ที่สามารถดลบันดาลสิ่งนั้นสิ่งนี้มีอำนาจอภินิหาร ในความหมายของนักบวชจะมีเป็นประการต่าง ๆ พระพุทธเจ้าก็ตรัสออกไปเลย ลักษณะนักบวชบรรพชิตในพุทธศาสนานั้น อยู่ที่ความเป็นผู้ไม่มีภัยมีเวร ลักษณะนี้จะมีมาในประเพณีพุทธศาสนาตลอดมา คือเราจะมีความรู้สึกว่าถ้าเห็นพระสงฆ์แล้วก็จะปลอดภัย มีความร่มเย็น พระสงฆ์ไปไหนไม่มีภัยมีเวรไม่มีอันตรายแก่ใคร อันนี้ลักษณะที่แท้จริงของพระ ไม่ไปเอาที่ การที่ว่าไปทำฤทธิ์เดชปาฏิหาริย์ ดลบันดาลมาเป็นสื่อกลางพระพรหมอะไรต่าง ๆ อย่างที่ว่าเมื่อกี้ นี้แยกให้ถูกเลย นี่แหละพระพุทธเจ้าตรัสให้เห็นลักษณะบางอย่างที่เด่นชัดในพุทธศาสนา ที่ต่างจากศาสนาพื้นเดิม ซึ่งใช้ได้แม้กระทั่งปัจจุบัน นี่คือคาถาที่หนึ่ง นี่ถ้าโยมเข้าใจนี้ก็จะเห็นว่า อ้อ! คาถาในพระโอวาทปาฏิโมกข์นี้มีความสำคัญอย่างไร อ้าว! อาตมาก็ผ่านไปแล้วคาถาที่หนึ่ง ที่นี้คาถาที่สอง พอแสดงลักษณะของพระพุทธศาสนาที่ต่างจากศาสนาอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุคนั้นแล้ว พระองค์ก็เข้ามาถึงตัวหลักคำสอนเลย หลักคำสอนก็มีว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา สะจิตตะปะริ โยทะปะนัง เอตัง พุทธานะสาสะนัง ก็บอกออกไปว่า การไม่ทำความชั่วทั้งปวงหนึ่ง การทำความดีหรือกุศลให้ถึงพร้อมหนึ่ง การทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสหนึ่ง นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระองค์ไม่ได้บอกว่าของพระพุทธองค์นี้นะ บอกว่าพุทธานัง ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ว่าพระพุทธเจ้าองค์ไหนก็สอนอย่างนี้หมด อันนี้ คาถานี้เป็นคาถาที่ชาวพุทธรู้จักมากที่สุด และพระก็นิยมสอนเพราะว่าเป็นข้อปฏิบัติ คาถาที่หนึ่งนั้นแสดงลักษณะสำคัญของพุทธศาสนา พอมาคาถาที่สองนี้เป็นคำสอน สำหรับเป็นภาคปฏิบัติหรือว่าชาวพุทธนี้จะต้องทำอะไรบ้าง หนึ่งไม่ทำชั่ว สองทำความดี สามทำใจให้ผ่องใส อันนี้จำกันได้ดีแล้ว เพราะฉะนั้นอาตมาก็ไม่ต้องอธิบายมาก แต่อาจจะย้อนกลับมาพูดอีกทีหนึ่ง แล้วก็ไปท่อนที่สาม อีกคาถากึ่งสุดท้าย อีกคาถากึ่งนั่นก็มีว่า อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต ปาติโมกเข จะ สังวะโร มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง อะธิจิตเต จะ อาโยโค เอตัง พุทธานะ สาสะนัง อันนี้ก็เป็นท่อนที่ถือกันว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าสำหรับพระสงฆ์ที่ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา ว่าจะประพฤติปฏิบัติตัวอย่างไร คือพอได้คำสอนที่จะสอนแล้ว ที่นี้ตัวผู้ที่จะสอนเขา นำคำสอนไปเผยแผ่นี้ ควรจะดำเนินชีวิต มีวัฏฏะปฏิบัติอย่างไร เริ่มด้วย อะนูปะวาโท การไม่กล่าวร้ายหนึ่ง อะนูปะฆาโต การไม่ทำร้ายหนึ่ง พระจะไปสอนเขานี้ต้องเป็นตัวอย่าง ไม่กล่าวร้ายใคร ไม่ทำร้ายใคร ปาติโมกเข จะ สังวะโร แปลว่าสำรวมตนในปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์ก็คือหลักพระวินัย คำสอนที่เป็นพื้นฐาน ที่เป็นระเบียบกฎเกณฑ์ข้อบังคับในการดำเนินชีวิตของพระภิกษุ ก็จะต้องมีความสำรวม ระวัง ตั้งอยู่ในปาฏิโมกข์ ในศีล ปัจจุบันที่เรารู้กันว่า ศีล 217 มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง แปลว่าความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค อันนี้ก็ข้อสำคัญ ถ้ารู้จักกินพอดี เป็นผู้รู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร บริโภคด้วยความรู้เข้าใจว่า วัตถุประสงค์โดยใช้ปัญญา ไม่ได้กินอาหารเพื่อจะเพียงเอร็ดอร่อย เพื่อจะตามใจอยากตามใจลิ้น โดยเฉพาะพระสงฆ์นี้ เป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยอาศัยญาติโยมเลี้ยง ต้องอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่ เพราะฉะนั้นจะต้องทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย เป็นอยู่ง่าย ๆ ไม่มัววุ่นวาย มาครุ่นคิด และใช้แรงงานเวลาไปกับการแสวงหาสิ่งเหล่านี้ ไม่เฉพาะอาหารเท่านั้น ปัจจัย 4 อื่นก็เช่นเดียวกัน คือไม่มามุ่งหาความสุขสำราญจากเรื่องของวัตถุหนึ่ง ตัวเรื่องการกินอาหารจะเป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ เพราะฉะนั้นท่านก็จับจุดแรก ก็คือให้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร กินโดยรู้คุณค่าด้วยปัญญาว่าเรากินเพื่ออะไร กินเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดีจะได้ใช้ร่างกายนี้ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ท่านเรียกว่าจะได้อนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ จะได้มีชีวิตที่ดีงามประเสริฐ และจะได้ทำหน้าที่ นำธรรมะไปสั่งสอนประชาชนได้ นี่คือหลักการที่เรียกว่ามัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง รู้จักอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด ไม่ใช่วุ่นวายออกไปคลุกคลีอยู่ในหมู่ชาวบ้าน ไม่ไปวุ่นวายแล้วก็เป็นผู้ที่ไม่รู้จักหาความสงบ ไม่ปลีกตัวพัฒนาจิตใจ พระสงฆ์จะต้องให้เวลาในการพัฒนาทางด้านจิตใจ เมื่อแสวงหาที่สงัดเป็นที่วิเวกแล้ว ก็เป็นบรรยากาศที่เอื้อต่อการที่จะพัฒนาจิตใจ เจริญจิตภาวนา และก้าวไปสู่การทำปัญญาภาวนาด้วย แต่ว่าจุดสำคัญก็คือว่าจะต้องมีที่อยู่ที่เหมาะ รู้จักหลีกเร้นนี้เป็นข้อปฏิบัติอันหนึ่งที่สำคัญ จะไปทำงานทำการไปสั่งสอนหมู่ประชาชน ต้องไปยุ่งกับชาวบ้านนี้ แต่ก็ไม่ละทิ้งที่การจะไปอยู่ในที่สงัด อันนี้ก็เป็นคำเตือนไว้เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าเองก็เหมือนกัน พระองค์เสด็จไปสั่งสอนประชาชนนี้ ต้องไปยุ่งเกี่ยวไปวุ่นวายในการที่จะเสด็จไปที่คนโน้นคนนี้ ไปโปรดคนโน้นคนนี้ เป็นกษัตริย์บ้าง เป็นพราหมณ์บ้าง เป็นพ่อค้า เป็นชาวนา เป็นอะไรต่าง ๆ พระองค์ก็ต้องไปเกี่ยวข้องเรื่อย แต่พระองค์ก็ไม่ละทิ้งความสงัด พอได้โอกาสพระองค์ก็เสด็จไปประทับในที่วิเวก หาความสงบเป็นแบบอย่าง เพราะฉะนั้นก็ไม่ให้ทิ้งข้อนี้ อะธิจิตเต จะ อาโยโค พอได้ที่สงัดแล้วเมื่อกี้อาตมาก็พูดไปแล้วก็ประกอบในอธิจิต ในการฝึกฝนจิตใจยิ่งขึ้นไปนี่แหละผสานกัน พระสงฆ์ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา เป็นผู้ที่นำประชาชนในการพัฒนาในศีล สมาธิ ปัญญา แต่ว่าแบบอย่างที่สำคัญของพระ ก็คือว่าด้วยทางด้านจิตใจ เรื่องคุณธรรม อันนี้พระสงฆ์ก็ควรจะได้ให้เขาเห็นแบบอย่างเลยว่า พระท่านพัฒนาจิตใจ มีจิตใจที่ประณีต งดงาม ดีอย่างไร มีความสุขทางจิตใจ พึ่งพาอาศัยวัตถุน้อย ท่านอยู่ได้อย่างไร มีชีวิตที่เป็นสุขอย่างไร เป็นแบบอย่างต่อประชาชน ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แล้ว คำสอนก็อาจจะได้ผลน้อย ถ้าพระสงฆ์ได้ดำเนินชีวิตตามหลักที่ว่ามาในคาถากึ่งสุดท้ายนี้ก็จะเป็นแนวทางเป็นคติแก่ประชาชน และทำให้ประชาชนนี้ได้มีความหวังแล้วก็มีความศรัทธาเลื่อมใสในพระสงฆ์ในพุทธศาสนาทำหน้าที่ได้ผลดีต่อไปด้วย อันนี้ก็รวมเป็นสามคาถากึ่งสามตอน อาตมาก็ทบทวนอีกทีหนึ่ง ว่าคาถาที่หนึ่งนั้นแสดงลักษณะทั่วไปของพระพุทธศาสนาที่แสดงออกมาทางด้านข้อประพฤติปฏิบัติ และก็จุดหมาย แล้วก็ลักษณะของพระสงฆ์ หรือบรรพชิต ส่วนคาถาที่สองนั้นกล่าวถึงหลักคำสอนโดยตรง ที่เราเรียกกันว่าหัวใจพระพุทธศาสนา แล้วก็ส่วนที่สามซึ่งยาวหน่อยก็เป็นข้อปฏิบัติการดำเนินชีวิตของพระภิกษุที่ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ธรรมะสั่งสอนประชาชนต่อไป มีข้อสังเกตนิดหนึ่งว่าในพระไตรปิฎก มีพระสูตรชื่อมหาปทานสูตร อยู่ในทีฆนิกาย ในพระสูตรนั้นก็เล่าเรื่องประวัติของท้าววิปัสสีพุทธเจ้า ซึ่งท้าววิปัสสีพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ไว้ด้วย ในที่มหาสันนิบาตร ก็เลยมีคาถานี้ปรากฏสองแห่ง แต่ก็มีข้อแตกต่างกันนิดคือมีการสลับคาถา แห่งหนึ่งนั่นเอาคาถา ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ขึ้นก่อนแล้วคาถา สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง เป็นคาถาที่สอง ส่วนอีกแห่งหนึ่งนั้นกลับเอาคาถา สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ขึ้นก่อน เอาตัวหลักคำสอนขึ้นก่อนแล้วก็ไปแสดง ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา คือลักษณะทั่วไปของพุทธศาสนามาลำดับที่รอง อันนี้ก็อย่าไปถือเป็นสำคัญเลย ก็ใจความก็ได้เท่ากันนั้นแหละสลับกันไปสลับกันมา อันนี้เป็นความรู้เบื้องต้นสำหรับให้โยมทราบคร่าว ๆ เกี่ยวกับพระโอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆปุณณมี ซึ่งวันนี้เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา วันมาฆบูชานั้นไม่ใช่ศัพท์เดิมในพุทธกาลไม่มีคำนี้ มีแต่คำว่ามาฆปุณณมีเท่านั้นเอง มาฆปุณณมีประกอบเป็นคำในภาษาบาลีตามไวยากรณ์ก็เป็นมาฆปุณณมียัง คือแปลว่าในวันดิถีเป็นที่เต็มดวงแห่งพระจันทร์ ในเดือนมาฆะที่เราเรียกกันว่าเดือนสาม นี้ต่อมาเรากำหนดให้วันมาฆปุณณมี หรือวันเพ็ญเดือนสามนี้เป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนา ประกอบพิธีบูชาขึ้น เราก็เลยเรียกว่าวันมาฆบูชา แปลว่าการบูชาในวันในเดือนมาฆะ ทิ้งคำว่าเพ็ญไว้ในที่ฐานเข้าใจ การบูชาในเดือนมาฆะก็หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือนมาฆะนั่นเอง วันมาฆบูชานี้พึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัชการที่ 4 นี่เอง คือในหลวงรัชกาลที่ 4 ก็ทรงศึกษาพระคัมภีร์ ศึกษาพระไตรปิฏกมาก ทรงพบเห็นเหตุการณ์อันนี้ก็เห็นว่า เอ๊ะ! เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญน่าจะกำหนดเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาด้วย ก็จึงโปรดให้จัดพิธีบูชาขึ้นมา สมัยก่อนนี้ในเมืองไทยเราก็มีวันวิสาขบูชาเท่านั้นเอง เป็นวันสำคัญในสมัยสุโขทัยนั่น จำไม่แม่นแต่ดูเหมือนจะมีการฉลองมีการบูชากันถึงสามวันหรือเจ็ดวันอะไรนี่ อาตมาต้องไปดูอีกทีหนึ่ง โยมสนใจก็ไปดูเอาเองได้ แต่ว่าทำกันจริงจังใหญ่โตมาก แล้วก็ต่อมาวันวิสาขบูชาเองประเพณีก็เลือนรางลงไป จนกระทั่งมาถึงสมัยยุคจะประมาณรัชกาลที่ 2 ก็มีการฟื้นฟูเป็นการใหญ่อีก ดูจะสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง ก็เป็นผู้ที่เป็นประมุขพระสงฆ์ แล้วในหลวงโปรดว่าอยากจะให้มีพิธีวิสาขบูชาเป็นการใหญ่อีกรื้อฟื้น คล้าย ๆ ว่าประเพณีเสื่อมถอยไปปลายอยุธยาหรือเป็นเพราะว่าอยุธยากรุงแตกไปแล้ว ก็เลยการพิธีในพุทธศาสนาก็เลยค่อย ๆ เลือนรางลงไป พอมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ในหลวงก็ทรงยุ่งกับเรื่องการรบราการที่จะป้องกันข้าศึก การป้องกันบ้านเมือง พอปรับปรุงประเทศชาติได้ร่มเย็นเป็นสุขมาถึงสมัยรัชกาลที่ 2 นี้บ้านเมืองมั่นคงแล้ว ก็หันมาเอาใจใส่ในเรื่องของสันติ เรื่องความสงบ เรื่องงานในยามที่บ้านเมืองดี ก็เลยฟื้นฟูพระศาสนา ก็ฟื้นฟูพิธีวิสาขบูชาด้วยให้มีถึงสามวันนั้นก็เป็นการใหญ่ แล้วต่อมาเราก็เลือนรางไปอีกจนกระทั่งวิสาขบูชาก็เหลือวันเดียว แต่ในประเทศศรีลังกานี้เขาให้ความสำคัญกับวิสาขาบูชามาก มีพิธีใหญ่โตมาก ใครเคยไปไม่ทราบมีกี่วัน อย่างน้อยก็ 3 วันที่ประเทศศรีลังกา 1 เดือนนะ ข้างหลังท่านบอกว่าทำตั้ง 1 เดือน วิสาขบูชานี้ใหญ่โตมาก นี่เมืองไทยเราเดิมก็เป็นอันว่ามีวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญในแง่ที่เกี่ยวกับพุทธประวัติวันเดียว นอกนั้นก็มีแต่วันที่เกี่ยวกับวินัย คือการเข้าพรรษา ออกพรรษาเป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องเป็นไปตามคติความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ กฐินอะไรพวกนี้ นี้พอมารัชกาลที่ 4 ก็โปรดให้มีพิธีมาฆบูชาเพิ่มขึ้น แล้วก็มาถึง พ.ศ. 2501 เมื่อฉลอง 25 พุทธศตวรรษเสร็จแล้วนี่ ทางคณะสงฆ์ก็เลยได้เห็นว่าวันแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรปฐมเทศนานี้ก็เป็นวันที่สำคัญมาก น่าจะได้กำหนดเป็นพิธีบูชาใหญ่ ทางราชการก็เลยตกลงเห็นชอบกับคณะสงฆ์ประกาศให้มีวันสำคัญพุทธศาสนาเพิ่มขึ้นมาอีกวันคือวันอาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชานี้ล่าสุดพึ่งมีเมื่อ พ.ศ. 2501(เอ็ด) 2501(หนึ่ง)นี่เอง ก็อาตมาก็เลยพลอยเล่าไปถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย โยมรู้อย่างนี้แล้วจะได้ไม่แปลกใจว่า ในกิจการพุทธศาสนาระหว่างประเทศนั้นเป็นที่รู้จักกันก็เฉพาะวันวิสาขบูชาเท่านั้น วันอื่น ๆ มาฆบูชา อาสาฬหบูชาประเทศอื่นเขาไม่รู้ด้วย ที่นี่ก็วันนี้เรามาถึงใกล้มาฆบูชาที่จะมาถึงวันพรุ่งนี้ อาตมาก็มาถึงเวฬุวันเราก็เลยมาทำพิธีมาฆบูชา เป็นการระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ในที่ประชุมจาตุรงคสันนิบาต อาตมาก็ได้กล่าวไปแล้วว่าโอวาทปาฏิโมกข์มีความหมายอย่างไร แล้วก็มีใจความคำสอน โดยย่อหรือตัวแท้ ๆ ว่าอย่างไร ในสามส่วนนี้ได้บอกไว้แล้วว่า ส่วนที่ชาวพุทธรู้จักกันดีที่สุดก็คือคาถาสั้น ๆ ว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา สะจิตตะปะริ โยทะปะนัง เอตัง พุทธานะสาสะนัง แปลอีกครั้งหนึ่งว่าการไม่ทำชั่วทั้งปวง หรือการไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลและความดีให้ถึงพร้อม การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันนี้เรามักจะเรียกกันวาหัวใจพระพุทธศาสนา ที่เรียกว่าหัวใจพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้บอกไว้หรอกเราก็มาเรียกกันเองในยุคหลัง ที่นี่ตอนหลังชาวพุทธก็ชักมาเถียงกัน เอ๊ะ! อันไหนจะเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนากันแน่ ก็เลยบางท่านบอกก็อริยสัจ 4 สิ บางท่านก็บอกว่าต้องพุทธพจน์ ที่บอกว่า สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งปวงไม่ควรแก่การยึดมั่น คือว่าธรรมทั้งปวงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นได้ บางท่านก็เอาส่วนอื่น ๆ มาอีก หรืออย่างมีอีกพุทธพจน์หนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ บอกว่าทั้งในกาลก่อนและบัดนี้ เราสอนเพียงอย่างเดียวคือทุกข์และความดับทุกข์ บางท่านก็เอาพุทธพจน์นี่บอกว่า นี้คือหัวใจของพุทธศาสนา ชาวพุทธบางทีก็เลยไปเถียงกัน อาตมาก็เลยขอโอกาสชี้แจงด้วย อย่ามัวไปเถียงกันเลย เพราะว่าคำว่าหัวใจพระพุทธศาสนานั่น พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสไว้เดิม เราก็เลยมากำหนดกันขึ้น แต่ว่าให้สังเกตว่าในพุทธพจน์นี้มีคำสรุปท้ายว่า เอตัง พุทธานะสาสะนัง นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คล้ายว่าเป็นคำสรุปของพระพุทธเจ้าเองว่า นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งพระองค์และพระพุทธเจ้าอื่นด้วย นั้นการที่จะบอกว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนาก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอก แต่ว่าเราจะไปยึดมั่นว่าต้องคาถานี้เท่านั้นเป็นหัวใจพุทธศาสนาก็จะยุ่ง ก็จะเถียงกัน ถ้าวิเคราะห์ออกไปแล้วคาถานี้ ที่ว่าไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส เป็นหัวใจพุทธศาสนาก็เป็นการสรุปคำสอนภาคปฏิบัติ เป็นหัวใจได้ เป็นหัวใจภาคปฏิบัติ คือเป็นเรื่องของการลงมือกระทำไง ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ แต่คำสอนพระพุทธเจ้านี้ ถ้าเราจะมองให้ครบจริง ๆ นี้ มันมีทั้งภาคที่เป็นตัวองค์ความรู้ด้วย ถ้าเรียกภาษาสมัยนี้ก็เรียกว่าภาคทฤษฎีด้วย และก็ภาคปฏิบัติด้วยจึงจะครบ แต่ก็ไม่อยากใช้คำว่าทฤษฎี เพราะคำว่าทฤษฎีนี้เป็นศัพท์สมัยใหม่ มีความหมายของเขาอีกแบบหนึ่ง เราอย่าไปยุ่งเลย อันนี้ก็คำสอนของพระพุทธเจ้านี้ไม่ได้มีเฉพาะภาคปฏิบัติลงมือทำอย่างเดียว ถ้าเราไปดูคำสอนที่กว้างออกไป ก็จะเห็นหลักที่เราเรียกว่าอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 นั้นมี ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ทุกข์ก็เป็นเรื่องไม่ใช่ข้อปฏิบัติ ท่านบอกว่าทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องรู้ลึก รู้จัก แล้วก็สมุทัยก็เป็นสิ่งที่ต้องละ ก็ไม่ใช่ปฏิบัติอีกแหละ นิโรธก็เป็นสิ่งที่ต้องเข้าถึง ก็ไม่ใช่ตัวการปฏิบัติ มรรคเป็นข้อปฏิบัติ ข้อปฏิบัติมาอยู่ในอริยสัจข้อสุดท้าย คือข้อที่ 4 แล้วพอไปถึงอรรถกถาท่านจะโยงให้เสร็จเลยว่า การไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสนั้นก็คือศีล สมาธิ ปัญญา พอเป็นศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ที่ไหน เอามรรคมีองค์ 8 สรุปแล้ว เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ตกลงว่าคาถานี้ สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์นี้ ก็อยู่ในข้อมรรคนั่นเอง คือศีล สมาธิ ปัญญา นั้นหลักนี้จึงเล็กกว่าหลักอริยสัจ เพราะไปอยู่แค่ในข้อที่ 4 คืออริยสัจนั่นคลุมหมด มีข้อปฏิบัติพร้อมอยู่ด้วย ได้แก่ข้อที่ 4 มรรคมีองค์ 8 ประการ สรุปมรรคเป็นองค์ 8 เหลือ 3 ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา ศีลสมาธิปัญญาพูดภาษาชาวบ้านง่าย ๆ เลยบอกว่า ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใสนี่แหละคือการแปลศีล สมาธิ ปัญญาอย่างง่าย เพราะฉะนั้นวันมาฆบูชานี้ พูดในแง่หนึ่งก็คือพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักคำสอนให้ง่าย ๆ เอาศีล สมาธิ ปัญญา มาตรัสในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง อ้าวที่นี้โยมก็เห็นตำแหน่ง นี่ถ้าเห็นตำแหน่งคำสอนมาโยงกันได้แล้วเลิกเถียงกันเลย ไม่ต้องมาเถียงกันให้ยุ่ง รู้ว่าอันไหนอยู่ที่ไหน แล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสอย่างในพระสูตรหลายสูตรก็จะตรัสลำดับการตรัสรู้ของพระองค์ พอตรัสไปตรัสมา พอได้ฌาน 4 แล้ว จิตเป็นสมาธิเป็นกรรมณีฌานพร้อมที่จะทำงาน พระองค์ก็โน้มจิตไปเพื่อรู้อริยสัจ ก็ได้ตรัสรู้อริยสัจ การตรัสรู้อริยสัจก็ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเล่มหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร ถ้าคำตอบก็คือตรัสรู้อริยสัจ 4 ซึ่งเอามาจากพุทธพจน์นี่เอง เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ อ้าว! ก็แสดงว่าอริยสัจเป็นหัวใจพุทธศาสนาใช่ไหม เพราะเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ก็มาโยงกันเข้าเรื่องการไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส หลักการนี้ก็อยู่ในข้อมรรค เพราะฉะนั้น อริยสัจ 4 ก็คลุมหมด ที่นี้ว่าไปถึงที่บอกว่าทั้งในกาลก่อนและบัดนี้ เราสอนแต่ในเรื่องความทุกข์ และความดับทุกข์ อ้าวทุกข์และความดับทุกข์อยู่ที่ไหนล่ะ ทุกข์ก็อยู่ในอริยสัจนั่นแหละ ทุกข์และกำเนิดแห่งทุกข์ หรือทุกข์และเหตุเกิดแห่งทุกข์ ทุกข์และทุกข์ สมุทัยนี่ เวลาพระพุทธเจ้าตรัสสั้น ๆ ตรัสไว้ข้อเดียวกันคือข้อว่าทุกข์ ทุกข์และเหตุแห่งทุกข์จัดเข้าเป็นข้อหนึ่ง แล้วก็การดับทุกข์ก็หมายถึงนิโรธและมรรคว่าด้วยกันเสร็จ เพราะฉะนั้นอริยสัจ 4 ก็เลยว่าเป็น 2 ชุด หรือเป็น 2 ตอน เป็น 2 อย่าง 2 หัวข้อใหญ่ นี่ก็เป็นวิธีย่อต่าง ๆ และ สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ อันนั้นก็เป็นตรัสแสดงความจริงของสิ่งทั้งหลายอย่างหนึ่งว่า เป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าไปยึดมั่นถือมั่นได้ เป็นการแสดงสภาวะของสิ่งทั้งหลายที่เป็นทุกข์แล้วก็โยงมาสู่การปฏิบัติที่ว่า เมื่อสิ่งทั้งหลายไม่อาจจะถือมั่นได้เราก็ไม่ต้องถือมั่นมัน ก็เลยโยงระหว่างตัวสภาวะที่เป็นทุกข์กับข้อปฏิบัติที่เรียกว่ามรรคเข้าด้วยกัน แม้จะพูดอันไหนคำสอนในพระพุทธศาสนานี่ถ้าพูดถูกแล้วโยงกันหมดเลย โยมไม่ต้องเป็นห่วง ใครจะมาบอกว่า ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส เป็นหัวใจพระพุทธศาสนา โยมไม่ต้องไปเถียง เถียงก็เสียเวลา เราก็บอกถูก ๆ ไม่ผิด แต่เรารู้ในใจเราโยงได้หมดแหละ เขาบอกว่าอริยสัจ 4 ก็ถูกอีกแหละ และยังตอบได้อีกนะ เวลาพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว พระองค์เสด็จไปสั่งสอน ทรงปรารภว่า เอ๊ะ! คำสอนของพระองค์นี่ยาก คนที่จะรู้ตามนี้ลำบากมากจะมีน้อย ตอนนั้นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ซึ่งคนอื่นจะรู้ตามได้ยากนี้ได้แก่อะไร พระองค์ตรัสไว้เลยนะเหมือนกัน พระองค์ตรัสบอกว่าได้แก่ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน 2 เหมือนกันนั่น อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท ก็คือทุกข์ กับสมุทัย นิพพานก็คือนิโรธแล้วก็รวมเอาหรือเล็งเอามรรคเข้าไว้ด้วย เพราะเป็นข้อปฏิบัติจะให้ถึง แต่ว่าทรงเอาเฉพาะสภาวธรรม ฉะนั้นเวลาตรัสคำสอนของพระพุทธศาสนา สาระสำคัญอย่างที่เรียกว่า เอาเฉพาะหลักการแท้ ๆ นี้นะ คือ อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท และนิพพานนี่แหละคือตัวจริงเลย นี่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เอง แต่พอมาแสดงแบบสำหรับชาวบ้านจะเข้าใจในเชิงปฏิบัติมาแสดงเป็นอริยสัจ 4 คือพระพุทธเจ้าตรัสปรารภกับพระองค์เอง พระองค์ตรัสว่า อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน นี้เอาแต่ตัวเนื้อหาสาระแก่นสารเลย ไม่ต้องกลัวว่าใครจะเข้าใจหรือไม่ แต่เวลามาแสดงแก่ประชาชนแล้ว ต้องแสดงในรูปอริยสัจก็คือเอา อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท และนิพพาน นั่นแหละมาแสดงในรูปที่จะสื่อกับประชาชนได้ เรียกว่าเป็นอริยสัจ 4 ประการ จึงถือว่าอริยสัจนั่น คือสัจธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงในรูปลักษณะที่จะให้คนทั้งหลายเขารู้เข้าใจแล้วนำไปประพฤติปฏิบัติได้ เพราะฉะนั้นอริยสัจจึงเป็นวิธีสอนของพระพุทธเจ้าไปด้วย วิธีสอนต่าง ๆ ที่จะได้ผลดีนี้ เราจะเห็นว่าแม้แต่ยุคปัจจุบันก็ต้องใช้หลักอริยสัจ 4 แม้แต่พวกที่เป็นนักปลุกระดม ก็ต้องใช้วิธีอริยสัจ 4 ก็ขอนอกเรื่องสักนิดหนึ่ง ใช้อย่างไรวิธีปลุกระดม ปลุกระดมก็ต้องใช้วิธีแบบอริยสัจ 4 หนึ่งจะต้องแถลงก่อนว่าเดี๋ยวนี้อะไรต่ออะไรมันเสียหายร้ายแรงเลวทรามอย่างไร เพื่อจะบอกว่าจะปฏิวัติสังคมนั่นนะ แล้วก็ต้องพูดขึ้นมาก่อนขณะนี้สังคมมันเลวร้าย มีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้พูดไป พูดจนกระทั่งคนเห็นว่าสังคมนี้ไม่ไหวแล้ว พอว่าพูดจนกระทั่งเห็นด้วยไม่ไหวจริง ๆ เลวเต็มทีแล้วจะต้องคิดแก้ไข นี้นักปลุกระดมก็ต้องพูดต่อไปว่า อ้าว! ทำไมมันจึงเป็นอย่างนี้แหละตัวการอะไร เอาแล้วที่นี้ชี้ตัวการ ตอนนี้นะตัวการอยู่ที่นั่น พวกนั้น พวกนี้ อันนั้น อันนี้เป็นตัวการ นี้แหละตัวเหตุล่ะ พอชี้ตัวการแล้วคนเอาแล้วพร้อมที่จะปฏิวัติเลยนะ ที่นี้พอชี้ตัวการเสร็จ ที่นี้ทำไง ก็บอกจุดหมายเลยว่าที่นี้ถ้าเราแก้ไขเสร็จแล้วนี่มันจะดีอย่างนั้นดีอย่างนี้เลยใช่ไหม บอกสภาพที่เป็นจุดหมายว่าจะดีเลิศประเสริฐอย่างไร จนกระทั่งคนกระหาย อยากจะเข้าถึงจุดหมายอันนั้น ถึงขั้นนี้แล้วคนพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติการทุกอย่าง เพราะว่าจุดหมายที่ดีงามก็อยากจะไปเต็มที จะไปได้ก็ต้องกำจัดไอ้ตัวร้ายทั้งหลายนี่ที่เป็นเหตุ แล้วจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ความทุกข์ความเดือดร้อนจะหมดไป พอพร้อมอย่างนี้แล้วก็บอกวิธีปฏิบัติ พอบอกวิธีปฏิบัติ ให้ลงมือทำจะทำอะไร ทำได้ทั้งนั้นตอนนี้จะยากจะเย็น จะซับซ้อนอย่างไงเอาทุกอย่างเลย นี่แหละวิธีสอนแบบอริยสัจ ใช้ได้สองพันห้าร้อยกว่าปีมาจนบัดนี้ไม่มีล้าสมัย ทั้งใครทุกพวกไม่ว่าจะฝ่ายดีฝ่ายร้ายต้องใช้ มีแต่ว่าจะใช้ทางดีหรือทางร้ายเท่านั้นเอง นั่นเดี๋ยวนี้ในวงการการศึกษาก็ยอมรับมาก เรื่องวิธีสอนแบบอริยสัจ คือเป็นต้นแบบของวิธีสอนทุกอย่าง พระพุทธเจ้าทรงเอาสัจธรรมนี้ มาแสดงแก่มนุษย์ในรูปที่เรียกว่าอริยสัจ 4 แต่ที่จริงสาระสำคัญที่พระองค์ต้องการก็คือเรื่อง อิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท และนิพพานนี่เอง พอมาสื่อกับประชาชนใช้อริยสัจนี้เป็นสิ่งที่เขาปฏิบัติได้ เป็นวิธีสอนในวงการการศึกษาเขาก็ต้องถือหลักการนี้ การสอนนั้นต้องเริ่มจากสิ่งที่มองเห็นสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ง่ายไปหาสิ่งที่ยาก จึงเริ่มด้วยปัญหา ทั้ง ๆ ที่อริยสัจนั่นมันสวนย้อนผลมาหาเหตุ ธรรมดาว่าสิ่งทั้งหลายหาเหตุก่อน เหตุเกิดก่อนแล้วจึงมีผล แต่ในอริยสัจนี้ผลมาก่อนแล้วจึงเห็นเหตุ เพราะทุกข์ เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ หนึ่งคู่แล้วคู่ที่หนึ่ง คู่ที่สองนิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ ผลมาก่อนเหตุสองชุดเลย พระพุทธเจ้าตรัส ต้องมีเหตุผลในการตรัสนี่แหละเพราะอย่างนี้ อยู่ ๆ พระพุทธเจ้าจะไปแสดงเหตุของทุกข์ก่อน ไม่มีใครฟังแน่นอน เมื่ออยู่ ๆ เมื่อไปถึงก็พูดเหตุของทุกข์ แล้วไม่พูดถึงตัวทุกข์พูดได้อย่างไร ก็ต้องพูดถึงปัญหาถึงตัวความทุกข์ สภาพที่ปรากฏ ปรากฏการณ์ที่มองเห็นเสียก่อน พอไปพูดถึงเรื่องของเขา โอ้! มีปัญหาอย่างนี้ มีทุกข์อย่างนี้ ก็เกี่ยวข้องกับชีวิตเขา พอเขาสนใจแล้ว อ้าว! คุณจะแก้ไข คุณต้องหาเหตุ กำจัดเหตุมันนะ ที่นี้ก็มาพูดถึงเหตุของมันกัน นี่แหละคือการแสดงธรรมะของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีความประเสริฐในลักษณะต่าง ๆ ความเป็นพระศาสดา นอกจากจะตรัสรู้ธรรมะความจริงแล้วจะต้องสามารถในวิธีการสั่งสอนด้วย อันนั้นคือความสำเร็จของพระพุทธเจ้าที่นี้ จึงเรียกว่าสัมมาสัมพุทธะ ถ้าตรัสรู้แต่ธรรมะที่เป็นสัจธรรมอย่างเดียวก็ได้เป็นแค่พระปัจเจกพุทธเจ้า แต่เพราะสามารถในการสั่งสอนด้วย จึงเป็นสัมมาสัมพุทธะ อริยสัจ 4 นี้ก็เป็นหลักธรรมที่ประกาศความเป็นพระบรมศาสดา ที่ได้ทั้งสัจธรรมและวิธีการทรงสั่งสอนด้วย อาตมาก็พูดออกไปนอกเรื่องเรื่อย ที่นี้ก็ขอย้อนกลับเข้ามาว่านี้ก็คือเรื่องอริยสัจ เป็นอันว่าหัวใจพระพุทธศาสนา โยมจะพูดอย่างไรก็พูดไปเถอะ โยงกันได้ทั้งหมดขอให้เข้าใจซะอย่างเดียว ถ้าโยมมีความเข้าใจนี่เป็นฐานแล้วจะพูดอย่างไรก็ได้ แล้วแต่สถานการณ์ ถ้าเราไปพูดกับคนที่เขายังไม่สามารถเข้าใจลึกซึ้งเราก็เอาในแง่ภาคปฏิบัติ หัวใจพุทธศาสนานะ ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส อะไรอย่างนี้ ก็เป็นอันว่าแค่นี้ก็พอแล้ว พอเขาเห็นด้วยจะปฏิบัติแล้ว ที่นี้เราค่อยให้ภาคตัวหลักคำสอน ว่าด้วยสัจธรรมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปตามลำดับ คราวนี้ก็ขอย้อนกลับเข้ามาเรื่องคาถาโอวาทปาฏิโมกข์อีกครั้งหนึ่ง ก็จะพูดเฉพาะคาถาที่รู้จักกันทั่วไป ที่ว่าไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ซึ่งบอกแล้วว่าอยู่ในอริยสัจ ข้อที่ 4 คือข้อมรรค เป็นรูปแบบที่ง่ายสำหรับ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่ก็ขอตั้งขอสังเกตแถมเข้าไปอีกนิดหนึ่ง เวลาเราแปลบางทีเราก็แปลว่า ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ก็มีผู้เถียง เถียงสองอย่าง พอละชั่วแสดงว่าท่านมีชั่วอยู่แล้วท่านจึงละ นั่นก็อ้าว! ก็อีกแหละถ้าอย่างนั้นคำแปลนี่ก็ไม่สมบูรณ์ ไม่ทำก็อย่าไปทำเลย ต้องรอไปทำแล้วมาละนี้ไม่เอา ก็เลยบอกว่าไม่ทำชั่ว แล้วพอดีประการที่สองก็คือ ตัวบาลีเองนี้ ก็ไม่ได้แปลว่าละนะ บาลี สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง อะกะระณังแปลว่าการไม่ทำไม่ได้แปลว่าละ ไม่ใช่ว่ามีแล้วไปละ เพราะฉะนั้นคำแปลที่ตรงที่สุดก็แปลว่าไม่กระทำความชั่วหรือไม่ทำชั่ว แล้วก็ทำดีให้ถึงพร้อม ทำใจให้ผ่องใส นี้ข้อสังเกตในคำสอน สามอย่างนี้ แหมมีมากมายเหลือเกิน แต่ว่าที่เป็นยอม เป็นที่ยอมรับอย่างหนึ่งก็คือคำสอนในพุทธศาสนาภาคปฏิบัติ แค่นี้ก็มีความสมบูรณ์มาก ในศาสนาต่าง ๆ นี้ จะไม่มี ศาสนาทั่วไปจะมีละชั่วหรือไม่ทำชั่ว แล้วก็ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสนี้มักจะไม่ถือ นี้การทำใจให้ผ่องใสนี่ ผ่องใสบริสุทธิ์ บริสุทธิ์ผ่องใสที่จะสมบูรณ์นั้นก็คือ ผ่องใสบริสุทธิ์จากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง คำว่ากิเลสทั้งหลายทั้งปวง สิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองนั้น ตัวรากเหง้าที่สุดก็คือโมหะ แล้วไปถือเอาอวิชชาความไม่รู้ นั่นที่ว่าทำใจให้บริสุทธิ์ บริสุทธิ์จนกระทั่งถึงหมด หลุดพ้นจากโมหะนะไม่ใช่โลภะ โทสะเท่านั้น เดี๋ยวจะว่าใจบริสุทธิ์ เอ๊ะ! ก็น่าจะมีได้ทั่วไป ทำใจให้ผ่องใส ผ่องใสก็คล้าย ๆ ว่าใจดี สบาย อย่างคนที่มีเมตตา กรุณาก็น่าจะใจผ่องใส แต่ว่าในพุทธศาสนานั้น ใจผ่องใสนี้ จะต้องถึงหมดอวิชชาความไม่รู้ด้วย ฉะนั้นการที่ผ่องใสโดยทั่วไปนั่น ใจดี มีเมตตา หรืออะไรต่ออะไรยังไม่พอหรอก นั่นถ้าหากว่ามีแค่ใจผ่องใส ด้วยเมตตากรุณาศาสนาอื่นก็มีแน่นอน อันนี้จึงต้องมาทำความเข้าใจกัน วันนี้อาตมาก็เลยอยากจะมาพูดเจาะเฉพาะตอนนี้นิดหน่อย คือที่บอกว่า ไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส ถ้าว่าในแง่รูปหยาบ พระพุทธเจ้าก็แสดงจากหยาบมาหาละเอียด ก็คือ 1 ไม่ทำชั่วนี่หยาบที่สุด พอไม่ทำชั่วแล้วก็ 2 ก็ประณีตขึ้นมาทำความดีให้ถึงพร้อม พอเราไม่ทำชั่วแล้วต่อไปนี้ก็ตั้งใจทำความดีให้สมบูรณ์ ทำทุกอย่างมีดีอะไรให้ทำก็ทำ ทำกุศล แล้วพอทำความดีแล้วก็ประณีตขึ้น แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ก็ต้องทำใจให้บริสุทธิ์หมดจด อีกชั้นหนึ่ง นี้ว่าโดยลำดับก็เรียกว่าจากหยาบไปหาละเอียด เพราะฉะนั้นถ้าจะเปรียบเทียบก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ทำชั่วก็อยู่ในระดับศีล ทำดีให้ถึงพร้อมก็อยู่ในระดับจิตใจที่เรียกว่าสมาธิ แล้วก็ทำใจให้ผ่องใสก็ต้องถึงปัญญา เพราะอะไร เพราะว่าเราต้องทำใจให้บริสุทธิ์จากโมหะด้วยนี้ โมหะจะหมดไปก็ต้องมีปัญญา จึงต้องถึงขั้นปัญญา นี้คำสอนที่มีความสมบูรณ์อย่างนี้ เรามาดูมีข้อสังเกต ก็คือว่าคนทำความดีแล้วนี้ ยังไม่สมบูรณ์หรอก ถ้าตราบใดยังไม่ชำระใจให้ผ่องใส มองในแง่หนึ่งก็คือเราเทียบเป็นเรื่องคณิตศาสตร์ 1 ไม่ทำชั่วก็เป็นลบ ความชั่วนี้เป็นเรื่องที่ลบอยู่แล้วในตัวเป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วเราก็ไปลบเจ้าตัวลบนั้น ก็ลบก็กลายเป็นบวก ลบ ลบ กลายเป็นบวก อันนี้คือไม่ทำชั่ว ทีนี้ 2 ทำความดีให้ถึงพร้อม นี้บวก บวก บวกให้มากขึ้นไป ตัวบวก นี้บวกต่อไป เพิ่ม เพราะตอนนี้เราเพิ่มแล้ว เพิ่มพูนความดีให้ยิ่งขึ้นไป ยิ่งขึ้นไป แล้วพอถึงตัวที่ 3 ตัวนั้นเป็นความว่างเลย ไม่บวก ไม่ลบแล้ว ถ้าบวกอยู่ก็ยังไม่สมบูรณ์ ก็บวกกันเรื่อยไป แล้วบวกบางทีมีปัญหาเหมือนกัน เดี๋ยวอาตมาจะพูดให้ฟัง ถ้าบวกมากนักบางทีมันเสียดุล พอเสียดุลแล้วเกิดความยุ่งยาก เพราะฉะนั้นการทำความดีนี้ ต้องระวังเหมือนกัน หลักพระพุทธศาสนานี้ต้องมองหลายชั้น หลายเชิง หลายแง่ หลายมุม การทำความดี ทำมากเกินไปแล้วเสียดุลก็เสีย ทำความดีทำไม่ถูกที่ถูกทางก็เสียได้ ทำความดีท่านเรียกว่าไม่เป็นธัมมานุธัมมปฏิบัติก็มี แปละว่าปฏิบัติธรรมไม่ถูกหลัก โบราณเรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรกระทำแล้วทำไม่ได้ตามนั้นก็เสียอีก ดังนั้นปฏิบัติธรรมนี้แม้แต่ทำความดีก็ต้องระวังเหมือนกันแล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ความดีหรือกุศลนั้นเป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลได้ด้วย อกุศลก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลได้เหมือนกัน ฉะนั้นความดีเป็นปัจจัยให้เกิดความชั่วได้ ความชั่วเป็นปัจจัยให้เกิดความดีได้ นี่โยมต้องระวังเหมือนกันนะ วันนี้อาตมาก็จะยกตัวอย่างให้ง่ายที่สุดข้อหนึ่ง ในเรื่องนี้ เพื่อจะให้เห็นความสมบูรณ์ในการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า พอดีว่าวันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันมาฆบูชาของปีนี้นั้นไปตรงกับวันวาเลนไทน์เข้า วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่นี้คนไทยเราปัจจุบันก็นิยมวันวาเลนไทน์มาก โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นเยาวชนนี้ เดี๋ยวนี้ให้ความสนใจแก่วันวาเลนไทน์มากกว่าวันมาฆบูชา เมื่อสองสามปีก่อนอาตมาเคยได้ยินว่า โรงเรียนฝึกหัดครูหรือวิทยาลัยครูแห่งหนึ่งในต่างจังหวัด ไม่ยอมจัดกิจกรรมในวันมาฆบูชาแต่ให้จัดในวันวาเลนไทน์ นี่แสดงถึงอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาครอบงำสังคมไทยแค่ไหน นี่พอดีปีนี้นะวันมาฆบูชากับวันวาเลนไทน์ตรงกัน เราก็เอาเรื่องนี้มาโยงเป็นตัวอย่าง เป็นตัวอย่างของการปฏิบัติตามหลักพระพุทธศาสนา เรื่องวาเลนไทน์นั้นเขาบอกเป็นวันแห่งความรัก แต่ความรักในวันวาเลนไทน์นี้มีปัญหาไม่รู้ว่าความหมายว่าอย่างไรกันแน่ก็สักแต่ว่าเอาละเป็นวันแห่งความรัก ก็มีการแสดง มีการส่งสัญญาณแห่งความรัก มีการให้ดอกไม้สีแดงอะไรต่าง ๆ โดยที่ว่าผู้ที่ให้ ผู้ที่แสดงนั้นก็ไม่รู้เข้าใจความหมายของความรักเท่าไหร่ แล้วความรักนั้นมีประโยชน์ มีโทษกับชีวิตอย่างไร ก่อนที่จะมีการปฏิบัติมันน่าจะมีความเข้าใจให้ดีแล้ววันวาเลนไทน์ถ้าจะมีคุณค่ามีประโยชน์ น่าจะช่วยให้คนมีความเข้าใจในเรื่องความรัก ไหน ๆ จะเป็นวันแห่งความรัก ก็คนก็ควรมีความเข้าใจในความรัก สอนให้คนปฏิบัติในเรื่องความรักให้ถูกต้อง แต่เท่าที่มองเห็นแล้ว วันวาเลนไทน์ไม่ได้ช่วยอะไรเรื่องนี้เลย ไม่ได้ทำให้คนมีความประณีตขึ้นในเรื่องความรัก ดีไม่ดีจะหลงเข้าไปกันใหญ่ อ้าว! เรามาดูในหลักพระพุทธศาสนา ความรักนี้มาโยงเข้าหาหลักเรื่องไม่ทำชั่ว ทำดี และทำใจให้ผ่องใสดูสิจะได้เป็นอย่างไร ความรักถ้าจะแยกตามหลักพุทธศาสนา เราก็แบ่งง่าย ๆ ก่อนว่าความรักมีสองแบบ ความรักแบบที่หนึ่ง คือ ความชอบใจในสิ่งที่จะเอามาบำรุงบำเรอความสุขของเรา ชอบใจสิ่งนั้นเพราะว่าจะมาสนองความต้องการบำรุงบำเรอความสุข ทำให้เรามีความสุขได้ อันนี้ความรักแบบหนึ่ง ก็มีมากทีเดียวอะไรที่จะทำให้เรามีความสุข เราชอบใจ เราต้องการมัน นี่คือความรัก แล้วที่นี้เพื่อที่จะให้เห็นถึงความแตกต่างก็ขอพูดถึงความรักแบบที่สอง ความรักแบบที่สองก็คือ ความต้องการให้คนอื่นมีความสุข ความปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข เรียกว่าความรักเหมือนกัน สองอย่างนี้แทบจะตรงข้ามเลย อันที่หนึ่งชอบใจเพราะว่าจะเอาเขามาบำเรอความสุขของเรา แต่อย่างที่สองบอกว่าอยากให้เขาเป็นสุข ความรักมีสองแบบ อันนี้ที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันก็ขอพูดอีกทีหนึ่ง เพราะว่าตัวอย่างนี้ยกบ่อย ๆ สำหรับความรักที่เด็กหนุ่มสาวพูดกันมากก็คือ ความรักแบบที่ว่าชอบใจ ที่จะได้เขามาสนองความต้องการของตนทำให้ตนมีความสุข แต่ว่าในครอบครัวนี้มันจะมีความรักอีกแบบหนึ่งให้เห็น ก็คือความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก ความรักของพ่อแม่ต่อลูกคือความอยากให้ลูกเป็นสุขอันนี้เราเรียกว่าความรักเหมือนกัน นั้นตอนแรกนี้จะต้องแยกระหว่างความรักสองแบบนี้ซะก่อน ความรักชอบใจที่จะได้คนอื่นมาบำเรอความสุขของเรานี้ทางพระท่านเรียกว่าราคะ ส่วนความรักที่อยากให้คนอื่นเป็นสุขนั้นท่านเรียกว่าเมตตา อันนี้แยกให้เห็นเลย ความรักสองแบบไม่เหมือนกัน แล้วอะไรจะตามมาจากความรักสองแบบนี้ ความรักสองแบบนี้มีลักษณะต่างกัน แล้วมีผลต่างกันด้วย ถ้ามีความรักแบบที่หนึ่งก็ต้องการได้ต้องการเอา เอามาเพื่อตนเอง เมื่อทุกคนต่างคนต่างอยากได้มีความรักประเภทนี้ มันก็จะนำมาซึ่งปัญหาก็คือความเบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน ก็คือความเห็นแก่ตัว ที่นี้ความรักแบบที่สองอยากให้คนอื่นเป็นสุข เมื่ออยากให้คนอื่นเป็นสุขก็จะพยายามทำให้เขาเป็นสุข เหมือนพ่อแม่รักลูก ก็จะพยายามทำให้ลูกเป็นสุข แล้วเมื่อทำให้เขาเป็นสุขได้ ตัวเองก็จึงจะเป็นสุข ความรักของพ่อแม่คืออยากทำให้ลูกเป็นสุข แล้วมีความสุขเมื่อเห็นลูกเป็นสุข แต่ความรักประเภทที่หนึ่งนั้นต้องได้ ต้องได้จึงจะเป็นสุข ซึ่งเป็นกระแสกิเลสของปุถุชนเป็นธรรมดา มนุษย์อยู่ในโลกนี้ปุถุชนก็ต้องการได้ต้องการเอา เมื่อได้เมื่อเอาแล้วก็มีความสุข แต่ถ้าต้องให้ ต้องเสียก็เป็นทุกข์ นี่วิถีของปุถุชนนี้จะทำให้ไม่สามารถพัฒนาเรื่องคุณธรรม เพราะว่าถ้าการให้เป็นทุกข์เสียแล้วนี้คุณธรรมมาไม่ได้ มนุษย์จะต้องเบียดเบียนกัน แก้ปัญหาสังคมไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ถ้าหากว่าเราสามารถมีความสุขจากการให้ เมื่อไรการให้กลายเป็นความสุข เมื่อนั้นปัญหาสังคมจะถูกลดน้อยลงไป แก้ลงไปได้ทันทีเลย เพราะมนุษย์จะเกื้อกูลกัน เมื่อมนุษย์ให้เขามีความสุข จะเป็นความสุขแบบสองฝ่ายสุขด้วยกัน คือเราผู้ให้ก็สุขเมื่อเห็นเขามีความสุข ส่วนผู้ได้รับนั้นก็มีความสุขในการได้รับอยู่แล้ว สองฝ่ายสุขด้วยกันก็เป็นความสุขแบบประสาน ความสุขแบบนี้ก็ดีแก่ชีวิตของตนเองด้วย คือตนเองก็มีทางได้ความสุขเพิ่มขึ้น การให้เป็นความสุขสำหรับตนเองด้วย แล้วก็ดีต่อสังคมเพราะว่าเป็นการเกื้อกูลกัน ทำให้อยู่ร่วมกันได้ดี อันนี้แหละที่ว่าเป็นคุณธรรมสองประการในเรื่องความรัก และเป็นการแยกความหมายเรื่องความรักเป็นสองแบบ ฉะนั้นในวันวาเลนไทน์นี่ เราน่าจะสอนคนให้รู้จักความรักสองแบบ และก็ให้พัฒนาจากความรักแบบที่หนึ่งไปสู่ความรักแบบที่สอง หรือให้ความรักแบบที่สองนี้เกิดมีขึ้นมาช่วยให้เกิดดุลยภาพในเรื่องความรัก อย่างในระหว่างหนุ่มสาวนี้ ถ้ามีแต่ความรักแบบที่หนึ่งอย่างเดียวแล้วจะไม่ยั่งยืน ต่อมาไม่นานก็จะต้องเกิดปัญหาแน่นอน เพราะว่าความรักนั้นต้องการที่จะเอาเขามาเป็นเครื่องบำรุงบำเรอตนเองเท่านั้น ถ้าเมื่อไหร่ตนไม่สมใจปรารถนา เมื่อนั้นก็จะเกิดโทสะความชิงชัง ปัญหาก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้นคนเราอาจจะเริ่มต้นด้วยความรักแบบที่หนึ่งได้เพราะเป็นปุถุชน แต่ว่าต้องรีบพัฒนาความรักแบบที่สองให้ขึ้นมา พออยู่เป็นคู่ครองกันแล้วมีความรักแบบที่สองก็จะทำให้อยู่กันได้ยั่งยืน ความรักแบบที่สองนี้จะเป็นตัวผูกพันที่สำคัญ ให้ชีวิตครองเรือนนี้มีความมั่นคง เพราะฉะนั้นอย่างน้อยปุถุชนนี้ก็ให้มีความรักสองแบบมามีดุลยภาพก็ยังดีแล้ว ขอให้ได้แค่นี้แหละ อย่างสามีภรรยานี้ถ้ามีความรักที่จะเอาแต่ใจฝ่ายตัวเอง ก็คือตัวเองต้องการเขามาเพื่อบำเรอความสุขของตนเอง ถ้าอย่างนี้ก็ต้องตามใจตัวไม่ช้าก็จะต้องเกิดปัญหาการทะเลาะวิวาท แล้วก็เบื่อหน่าย แล้วก็อยู่กันไม่ได้ไม่ยั่งยืน แต่ถ้าหากว่าเรามีความรักแบบที่สองคืออยากให้เขาเป็นสุข เราก็จะมีน้ำใจ พยายามช่วย พยายามทำให้เขาเป็นสุข ถ้ามีความรักแบบชนิดนี้อยู่แล้วก็ ความรักนั้นยั่งยืนแน่นอน เพราะต่างฝ่ายต่างก็คิดทำไงจะให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความสุข สามีก็คิดทำอย่างไรจะช่วยให้ภรรยามีความสุข ภรรยาก็คิดแต่ว่าทำไงจะให้สามีมีความสุข คิดกันอยู่อย่างนี้ก็มีแต่ความเกื้อกูลกัน ก็ทำให้ครอบครัวอยู่ยั่งยืนชีวิตก็มีความสุขได้ ความสุขประเภทที่หนึ่งไปไม่ได้ยั่งยืนหรอก วันวาเลนไทน์นี้รู้สึกว่าเขาจะย้ำแต่ความรักประเภทที่หนึ่งเท่านั้นเอง นั้นก็เป็นอันตรายไม่ช่วยให้คนพัฒนาในเรื่องคุณธรรม นั้นก็ตกลงว่าอันนี้ก็เป็นแง่คิดหนึ่งที่จะต้องยกขึ้นมาพูด ก็ถือว่าการพัฒนาคนในเรื่องความรัก ให้รู้จักความรักทั้งสองอย่าง อย่างน้อยก็ให้มีดุลยภาพในเรื่องความรักสองข้อนี้ แล้วพัฒนายิ่งขึ้นจนกระทั่งว่าคนเรานี้อยู่ด้วยความรักประเภทที่สอง นี้ความรักประเภทที่สองนี้แม้จะดี เพราะเราเปรียบเทียบกับความรักประเภทที่หนึ่ง แต่ยังไม่สมบูรณ์มีจุดอ่อนได้ เอาละที่นี้มาพูดกันต่อไป พุทธศาสนาจะต้องพัฒนาคนไปเป็นขั้น ๆ ความรักประเภทที่สองเป็นคุณธรรม เป็นเมตตาแล้ว เอ๊ะ! ก็ดีเยอะแล้วนี่ เอาเริ่มต้นก่อนพ่อแม่ก็จะรักมีเมตตาเฉพาะลูกของตัวเอง มีขอบเขตจำกัด พอเป็นคนอื่นแล้วก็ไม่ค่อยจะมีเมตตา เพราะฉะนั้นตอนแรกนี้จะให้เป็นเมตตาแท้จริงจะต้องกำจัดความเห็นแก่ตัวออกไป ความจำกัดขอบเขตเฉพาะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกอันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ต่อไปท่านก็ให้ขยายความรักนี้ไปยังเพื่อนมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายด้วย พอความรักนี้ขยายไปยังเพื่อนมนุษย์เป็นกลาง ๆ ได้เมื่อไหร่ นั้นจึงจะเป็นเมตตาตัวแท้ ถ้าเมตตาที่ยังจำกัดเฉพาะบุคคล อันนั้นยังไม่ใช่เมตตาที่บริสุทธิ์ยังไม่แท้ พอแผ่ออกไปได้สู่เพื่อนมนุษย์ต่อคนอื่นทั้งหลายทั้งปวงเป็นแบบเดียวกัน มีความรู้สึกเป็นไมตรี มีความรัก ปรารถนาให้เขาเป็นสุขได้ ตอนนี้ไม่จำกัดขอบเขตแล้ว เป็นเมตตาแท้ ๆ มีความบริสุทธิ์ ที่ท่านให้แผ่เมตตา ท่านมุ่งแบบนี้เพื่อให้เราเจริญเมตตาที่มันไม่มีความเห็นแก่ตัวประกอบอยู่ด้วย แล้วเมตตาก็ขยายออกไปก็เป็นคุณธรรมที่ทำให้จิตใจนี้มีความกว้างขวาง เห็นเพื่อนมนุษย์ทั้งหลายนี้ก็เป็นเพื่อนร่วมโลก ที่เราจะต้องปรารถนาดีหมด อย่างในกรณียเมตตสูตรนี้ ท่านจะกล่าวถึงว่าบุคคลที่เจริญเมตตาไปถึงจุดหนึ่งก็จะมีน้ำใจรักเพื่อนมนุษย์ เหมือนอย่างเป็นลูกเลย มองเพื่อนมนุษย์เหมือนเป็นลูกไปหมดเลยมีความรัก ทีนี้ลักษณะของความรักนี้มันดีอย่างหนึ่ง มันนำความสุขมาให้ด้วย ความรักแบบที่หนึ่งก็จะเกิดความสุขเมื่อได้สนองความต้องการที่ตัวจะได้ ความรักประเภทที่สองก็ได้ความสุขเมื่อได้สนองความต้องการที่จะให้เขาเป็นสุข ฉะนั้นคนที่ทำจิตให้มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ได้หมด ก็จะมีความสุขได้มากเหลือเกิน คือเวลาเห็นเพื่อนมนุษย์มีความสุข ทำให้เขาเป็นสุขได้ตัวเองก็มีความสุขด้วย คนประเภทนี้ก็เลยมีโอกาสที่จะมีความสุขมากยิ่งขึ้น คนระดับนี้จะถึงอย่างเช่นพระโสดาบัน พระโสดาบันนี้ไม่มีมัจฉริยะ ไม่มีความตระหนี่ ไม่มีความหวงแหน มีความพร้อมที่จะให้ ฉะนั้นคุณธรรมหรือเมตตาก็เจริญมากขึ้นด้วย ดังนั้นมีความพร้อมที่จะให้ ไม่มีความหวงแหน ไม่มีความเห็นแก่ตัว นั้นถ้าจะมีความสุขจากการให้ได้ทั่วไป ก็เลยมีลักษณะของพระโสดาบันอย่างหนึ่งก็คือพร้อมที่จะให้อยู่เสมอ จนกระทั่งว่าในวินัยของพระนี้ต้องบัญญัติไว้ ว่าสงฆ์มีการแต่งตั้งให้ญาติโยมบางท่านเป็นพระเสขะ เพราะว่าพระภิกษุบางรูปนี้ เห็นแก่ได้ ญาติโยมคนไหนมีศรัทธามากก็ไปขอเรื่อย จนกระทั่งอย่างพระโสดาบันนี้ท่านให้จนกระทั่งท่านเองลำบาก แต่ว่าท่านก็เห็นคนอื่นมีความสุข หรือพระนั่นต้องการท่านก็ให้อยู่เสมอ พระพุทธเจ้าก็บัญญัติวินัยให้สงฆ์นี้สมมติ สมมติคือหมายความว่าตกลงกันแต่งตั้งให้คฤหัสถ์ที่มีลักษณะอย่างนี้ที่เป็นพระเสขะ เป็นพระโสดาบัน เป็นอริยบุคคล แล้วไม่ให้พระภิกษุไปขอ อันนี้ก็เป็นเกร็ดความรู้ แต่ว่าพระโสดาบันนี้มีลักษณะจิตใจที่มีเมตตา มีความพร้อมที่จะให้ ไม่มีความตระหนี่ เพราะฉะนั้นจะมีความสุขจากการให้อยู่เสมอ ดังนั้นลักษณะจิตใจแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่ดีแก่ตนเองด้วย พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า ถ้าหากว่าจะเปรียบเทียบทุกข์ระหว่างปุถุชนกับพระโสดาบันนี้ ทุกข์ของปุถุชนนี้เหมือนภูเขาหิมาลัย ทุกข์พระโสดาบันนี้เหลือเท่าก้อนกรวดเท่านั้น หมายความว่าพระโสดาบันนี้ทุกข์น้อยเหลือเกิน ใจมีความสุขสบายตลอดเวลา เหลือทุกข์เท่าก้อนกรวด เม็ดกรวดเท่านั้นเอง นี่คือผลอย่างหนึ่งของการที่ว่าได้พัฒนาจิตใจด้วยการเจริญเมตตาเป็นต้น จิตใจก็จะยิ่งมีความสุขมากขึ้นตามลำดับ แต่อาตมาขอย้อนกลับมาพูดอีกทีว่าแม้เมตตาจะเป็นความดี แต่ก็ยังมีโทษถ้าตราบใดเรายังไม่ไปถึงข้อที่สาม ก็คือข้อทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ทำไมเมตตาก็ดีแล้วเป็นคุณธรรมอย่างที่ว่า ทำไมมีโทษได้อย่างไร มีโทษเอาตั้งแต่ในครอบครัวก่อน ค่อย ๆ พูดกันไป ในครอบครัวนั้นถ้าแม่ พ่อ มีเมตตามากก็จะดูแลเอาใจใส่ลูก แล้วก็คอยตามใจลูก อยากให้ลูกมีความสุขแน่นอน เมื่ออยากให้ลูกมีความสุขก็หาทางเอาอกเอาใจ จนกระทั่งถึงปรนเปรอจะให้ลูกมีความสุขตามใจทุกอย่างลูกอยากได้อะไรก็ให้ เพราะพ่อแม่ไม่หวงอยู่แล้ว อยากจะให้เพราะการให้ของพ่อแม่นั้นเป็นความสุขของตัวเองด้วย แต่ว่าการให้การแสดงเมตตาอย่างนี้ มันจะขาดคุณสมบัติไปอันหนึ่งคือปัญญา แล้วมันจะกลายเป็นความรักที่คิดสั้น ไม่ใช่ความรักแบบคิดยาว ความรักแบบคิดสั้นก็คือเป็นประโยชน์เฉพาะในเบื้องหน้า ทำให้ลูกมีความสุขขณะนั้น ตามใจลูกแต่ระยะยาวลูกอาจจะเสีย เป็นคนไม่รู้จักโต พ่อแม่โอ๋เกินไป ทำอะไรไม่เป็นเพราะมีเมตตากรุณาพ่อแม่ช่วยทุกอย่าง ไม่อยากให้ลูกลำบากเดือดร้อน ไม่อยากให้ลูกปวดเมื่อย ไม่อยากให้ลูกต้องใช้สมองใช้กำลังอะไรทั้งนั้น อะไร ๆ ก็ทำให้หมด เพราะฉะนั้นลูกก็ทำอะไรไม่เป็น นอกจากว่าลูกจะเสียนิสัยในการที่ว่าเป็นคนเอาแต่ใจตนเองแล้วอีกอย่างก็คือทำอะไรไม่เป็น งั้นทำอะไรไม่เป็นแล้วกลายเป็นว่าชีวิตของเขาระยะยาวนี้จะไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ดี ความเสียต่อตนเองชีวิตของเขาในระยะยาว นี่พ่อแม่คิดอย่างนี้ก็เท่ากับว่ารักลูกระยะสั้น ระยะยาวไม่ได้รักจริงเพราะว่าไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของเขาดีในระยะยาว เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ตรัสธรรมะแค่เมตตา นี้เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสธรรมะเป็นชุด ๆ ให้มีดุลยภาพต้องปฏิบัติให้ครบ ถ้าเราเอาธรรมะมาแยกกระจายออกไปเป็นข้อ ๆ นี้เป็นอันตราย ในสังคมของเราแม้แต่ในการเรียนการสอนนี้ นิยมกันเอาธรรมะมาแยกเป็นข้อ ๆ เอาเมตตามาข้อ เอากรุณามาข้อหนึ่ง แล้วไม่รู้ว่าชุดของมันอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าตรัสธรรมะให้เป็นชุด ๆ นี้มีเหตุผล เพราะธรรมะนั้นเป็นองค์รวมต้องปฏิบัติให้ครบจึงจะมีความสมบูรณ์ในตัวถ้าไม่ครบแล้วมีโทษ เมตตากรุณานี้ก็ถ้าปฏิบัติไม่เข้าชุดก็จะมีโทษได้ มีโทษอย่างที่ว่าเมื่อกี้ ก็คือว่าตามใจลูกแล้วลูกก็ไม่รู้จักทำอะไรเป็นไม่รู้จักรับผิดชอบตัวเอง เพราะฉะนั้นพ่อแม่จะต้องก้าวไปสู่การใช้ปัญญาแล้วก็มีธรรมะข้ออื่นมารับ มาทำให้เกิดดุลยภาพ หลักธรรมชุดนี้ก็คือหลักธรรมที่เรียกว่าพรหมวิหาร 4 เพราะฉะนั้นไม่ใช่มีแค่รักนะ มีแค่รักไม่พอพระพุทธศาสนาก้าวเป็นขั้น ๆ จากรักที่ผิดมาสู่รักที่ถูก รักที่ถูกก็ยังไม่พออีก ต้องก้าวต่อไปอีกต้องมีธรรมะข้ออื่นมาช่วยด้วย พระพุทธเจ้าตรัสธรรมะที่อยู่ในชุดของความรักต่อไปด้วยอีก 3 ข้อ เขาเรียกว่าพรหมวิหาร 4 ประการ ก็คือ 1 นี่แหละตัวความรัก เมตตา ปรารถนาดีอยากให้เขาเป็นสุข พอข้อ 2 คืออะไร ข้อ 2 ก็คือกรุณา ความสงสารอยากให้เขาพ้นจากความทุกข์ ข้อ 3 มุทิตา ความพลอยยินดีด้วย เมื่อเขาได้ดีมีความสุขหรือประสบความสำเร็จ แล้วก็ 4 อุเบกขา แปลว่าวางใจเป็นกลาง แต่ข้อนี้ยากที่สุดเดี๋ยวจะอธิบายอีกที อธิบายเรื่องนี้จบวันนี้พอแล้วเพราะกินเวลามากเหลือเกิน อาตมาว่าอันนี้สำคัญมากโดยเฉพาะโลกยุคปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ในครอบครัว เป็นธรรมะที่จะต้องปฏิบัติให้เกิดสมดุล ก็ขออธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่าง 4 ข้อนี้ก่อน ข้อ 1 เมตตา แสดงออกต่อคนอื่นในสถานการณ์ที่เขาอยู่เป็นปกติ เขาอยู่เป็นปกติ เขาไม่ได้เดือดร้อนอะไร อยู่สบาย เราก็มีเมตตา มีความเป็นมิตร ปรารถนาดี เมตตาแปลว่าน้ำใจของมิตร เมตตาเป็นคำเดียวกับคำว่ามิตตะ รากศัพท์เดียวกัน มิตตะแผลงอีกก็เป็นเมตตะ และก็ทำตามไวยากรณ์ก็เป็นเมตตา เมตตาน้ำใจของมิตร หรือคุณสมบัติของมิตร ปรารถนาดี มีความรัก หนึ่งละ 2 สถานการณ์เปลี่ยนไปบุคคลนั้นตกต่ำ เกิดความเดือดร้อนเป็นทุกข์ เราย้ายจากเมตตาไปข้อที่ 2 เป็นกรุณา กรุณาแสดงออกเมื่อคนนี้เกิดความเดือดร้อนตกต่ำ เป็นทุกข์ นี้เป็นวิธีแยกระหว่างข้อ 1 ข้อ 2 โยมหลายคนนี้แยกไม่ออกว่า เมตตา กรุณาต่างกันอย่างไร วิธีแยกที่ง่ายที่สุดคือดูคนที่เราไปเกี่ยวข้อง ถ้าเขาอยู่คนนั้นเป็นปกติ เขาจะใช้เมตตา แต่ถ้าคนนั้นเขาตกต่ำ เป็นทุกข์ใช้กรุณา ต่อไปสถานการณ์ที่สาม คือเมื่อคนนั้นเขาขึ้น เขาได้ดีมีสุขประสบความสำเร็จ ทำอะไรถูกต้องเรามาถึงข้อที่ 3 คือเรามีมุทิตา 1 เป็นปกติเมตตา 2 ตกต่ำกรุณา 3 ขึ้นสูงมุทิตา สถานการณ์ของเพื่อนมนุษย์ของเราจะมี 3 อย่างนี้ครบแล้ว นี่แหละเราต้องปฏิบัติให้ครบ แต่ท่านบอกว่ายังไม่พอ ถ้าพอก็ไม่ต้องตรัสข้อที่ 4 ข้อที่ 4 นี่แหละสำคัญมาก อ้าว! แล้วสถานการณ์ไหนจะทำข้อที่ 4 ละ 3 สถานการณ์แรกก็ครบแล้วนี้ คนไม่เป็นปกติมันก็ต้องตกต่ำเป็นทุกข์ ถ้าไม่ตกต่ำเป็นทุกข์มันก็ต้องได้ดีมีสุข แล้วจะเอาอย่างไรอีก นี่สถานการณ์ที่ 4 นั้นยากที่สุดเลย เอาละอันนี้แหละจะไขปัญหา ที่ว่าความรักนี้ไม่พอ ที่จะให้โลกอยู่ดีมีสุข ธรรมะ 3 ข้อที่ว่าไปแล้วนี้ เป็นหลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์เราอยู่ร่วมกันคนต่อคน คนนี้ต่อคนนั้น เราก็ใช้ธรรมะ 3 ข้อแรกนี้ แต่มนุษย์นั้นไม่ได้อยู่ลำพังกับมนุษย์เท่านั้นนะ เบื้องหลังลึกลงไปสิ่งที่รองรับโลกมนุษย์อยู่ทั้งโลกนี้คืออะไร คือธรรมชาติ กฎธรรมชาติ ความเป็นจริงของธรรมชาติ มนุษย์มีความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วย 3 ข้อต้นนี้พอแล้ว แต่ว่ามันยังมีอีกอันนี้ ก็คือมนุษย์ไม่ได้สัมพันธ์เฉพาะกับมนุษย์เท่านั้น ยังมีความสัมพันธ์กับความเป็นจริงของธรรมชาติด้วย แล้วอันนี้แหละรองรับอยู่เบื้องหลังระหว่างความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วย เพราะฉะนั้นจะต้องคำนึงถึงอันนี้ด้วย ว่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นี้ จะต้องระวังไม่ให้มันไปกระทบเกิดผลเสียต่อความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือความเป็นจริงในธรรมชาติ เพราะว่าความเป็นจริงในธรรมชาตินั้นรองรับโลกมนุษย์อีกทีหนึ่ง ถ้าโลกมนุษย์ปฏิบัติวิปริตผิดพลาดไปไม่ตรงตามความเป็นจริงของกฎธรรมชาติแล้วโลกมนุษย์เองจะพลอยเดือดร้อนจะเสียหาย เพราะฉะนั้นถ้ามนุษย์สัมพันธ์กันในความสัมพันธ์สามอย่างแรก แต่ไปก่อผลกระทบต่อความเป็นจริงของกฎธรรมชาติเมื่อไหร่ เมื่อนั้นโลกมนุษย์เองจะเดือดร้อน เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าไม่ให้หยุดอยู่แค่ 3 ข้อต้น จึงต้องพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับความเป็นจริงของกฎธรรมชาติเข้ามาอีกข้อหนึ่ง ความเป็นจริงของกฎธรรมชาติ คืออะไร คือการที่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุผลของมัน เป็นไปตามเหตุปัจจัย แล้วก็คือความดี ความงามอะไรต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นหลักสัจธรรม สิ่งเหล่านี้แหละ มนุษย์จะต้องเกี่ยวข้องในที่สุด และโลกมนุษย์ทั้งหมด ที่เรามาสัมพันธ์กันด้วยข้อ 3 ข้อต้นนี้ มันต้องตั้งอยู่บนอันนี้ด้วย ฉะนั้นเพื่อจะให้โลกมนุษย์อยู่ด้วยดี พระพุทธเจ้าจึงตรัสข้อที่ 4 เข้ามา เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นี้ไม่ไปกระทบเกิดผลเสียหายต่อความสัมพันธ์ตามกฎธรรมชาติ หรือความเป็นจริงของกฎธรรมชาติด้วย เอาละอันนี้ก็มาถึงจุดนี้แล้วก็หมายความว่าพระพุทธเจ้าตรัสข้อที่ 4 คืออุเบกขามานี้ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรือกฎความเป็นจริงของธรรมชาติให้อยู่ด้วยดีด้วย เพื่อผลดีนั้นจะได้เกิดขึ้นแก่สังคมมนุษย์เอง เพราะว่ากฎธรรมชาตินี้รองรับสังคมมนุษย์อยู่อีกชั้นหนึ่ง ในกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในข้อ 1 ถึง 3 นี้ ส่งผลกระทบต่อความจริง ความดีงามหลักการของธรรมชาติแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์จะต้องหยุดไว้ก่อน ยกตัวอย่างเช่นว่า ก็ยกบ่อย ๆ เช่นว่า เด็กคนหนึ่งนี้ไปลักของเขาประสบความสำเร็จ ได้เงินมาสองพันบาท สามพันบาท สถานการณ์นี้ตรงกับธรรมะข้อที่เท่าไหร่ เด็กคนหนึ่งประสบความสำเร็จในการลักเงินคนอื่นมาได้เงินตั้งสามพันบาท นี่คือสถานการณ์อะไร สถานการณ์ที่ 3 คือเขาประสบความสำเร็จ ถ้าตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในคุณธรรม 3 ข้อแรกก็ต้องแสดงอะไร มุทิตาก็พลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุนนี่ แต่ในกรณีนี้ปรากฏว่าถ้าไปแสดงความสนับสนุนแล้ว ส่งผลกระทบต่อตัวธรรมะแล้ว ตัวหลักเกณฑ์ความจริงของกฎธรรมชาติ หลักความดีงามใช่ไหม นี่คือกรณีที่จะต้องหยุดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ นี่คือสถานการณ์ที่ 4 สถานการณ์ที่ 4 ก็คือสถานการณ์ใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นเขาจะได้ดี ตกต่ำ ขึ้นสูงอะไรก็ตามแต่ถ้ามันไปกระทบต่อความเป็นจริงหลักการความดีงามของกฎธรรมชาติต้องหยุดเลย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หยุด ไม่เมตตา ไม่กรุณา มุทิตา ไม่แสดงออก เปิดโอกาสให้ธรรมะแสดงตัวออกมาเลย ปฏิบัติตามธรรมะ เอาหลักการเข้าว่านั่นก็คือต้องเอาความยุติธรรมเข้าว่า หรืออย่างผู้พิพากษาก็เป็นตัวอย่างที่ยกกันบ่อย ๆ จำเลยทำความผิดไปฆ่าคนตาย ผู้พิพากษาสงสารกลัวจำเลยนี้จะต้องไปรับโทษติดคุก ลำบาก ก็เลยตัดสินให้พ้นผิด อย่างนี้ช่วยคนผิดด้วยกรุณาก็เสียธรรมะใช่ไหม นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลนี้ไปทำลายตัวหลักการของความจริงของกฎธรรมชาติ ถ้าอย่างนี้แล้วโลกมนุษย์เองจะอยู่ไม่ได้ เพราะว่าโลกมนุษย์บอกแล้วว่าต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงหลักการของธรรมชาติอีกชั้นหนึ่ง นั้นการสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นี้จะต้องไม่ให้ไปกระทบต่อผลเสียต่อกฎธรรมชาติ หรือความเป็นจริงของตัวธรรมะ นี้คือข้อที่ 4 ถึงตอนนี้โยมก็ตอบได้แล้วว่าสถานการณ์ที่ 4 คืออะไร สถานการณ์ที่ 4 ก็คือกรณีที่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์นั้นจะไปส่งผลกระทบต่อตัวธรรมะ คือตัวหลักการแห่งความเป็นจริงความดีงามที่มีอยู่ในธรรมชาติของต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวหล่อเลี้ยงรักษารองรับสังคมมนุษย์ไว้อีกชั้นหนึ่ง ถ้าตัวนี้ไม่อยู่แล้วสังคมมนุษย์เองแม้จะสัมพันธ์กันดีด้วย 3 ข้อแรกก็อยู่ไม่ได้ จะต้องทำลายแน่ และนี้คือสถานการณ์ที่ 4 นี้คือที่สำคัญที่สุด นั่น 3 ข้อแรก มนุษย์ก็สัมพันธ์กันได้ดี เป็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ มนุษย์ก็มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่พอมีข้อที่ 4 ก็คือมนุษย์จะต้องรักษาหลักการแห่งความเป็นจริง ตัวธรรมะไว้ ตัวธรรมะหลักการแห่งความเป็นจริง ความดีงามในธรรมชาติแท้ ๆ และก็หลักการที่มนุษย์เอามาบัญญัติขึ้นมาในสังคม เช่น เป็นกฎหมาย เป็นระเบียบ เป็นกติกาสังคมเป็นต้น อันนี้ก็ถือว่าอยู่ในเรื่องของหลักการหรือตัวกฎเกณฑ์ธรรมะนี้ทั้งสิ้น แล้วเมื่อทำอะไรไป เวลามีเรื่องเกี่ยวข้องกับหลักการ เราต้องถือหลักการแล้วก็หยุดข้อ 1 ถึง 3 ไว้ ท่านเรียกว่าใช้อุเบกขา และวางใจเป็นกลางไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซง เพื่ออะไร เพื่อให้กฎธรรมชาติหรือหลักการแห่งความเป็นจริงหรือตัวธรรมะนี้มันได้ทำงานของมัน มิฉะนั้นแล้วธรรมะจะเคลื่อนคลาดไปหมด ตกลงว่านี้ครบแล้ว ฉะนั้นความรักอย่างเดียวไม่พอหรอก ความรักแม้แต่ที่ดีนี้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่จะเอาแต่รักลูกรักลูกตามใจลูกอย่างนี้ไม่พอ ลูกไม่เติบโต ไม่เจริญงอกงาม ดังนั้นพระพุทธเจ้าก็ให้ใช้เมตตา กรุณา มุทิตานี้โดยมีดุลภาพตรงอุเบกขา ก็เท่ากับว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในหมู่มนุษย์นี้จะต้องไปได้ดุลยภาพสมดุลกับความสัมพันธ์กับกฎธรรมชาติหรือความจริงในตัวธรรมด้วย นี้พ่อแม่ก็มีหน้าที่จะต้องวางอุเบกขาต่อลูกใน 3 สถานการณ์ที่ไม่ไปแสดงเมตตา กรุณา มุทิตา วางใจเป็นกลางให้เขารับผิดชอบตัวเอง 1 เมื่อเด็กสมควรจะฝึกหัดรับผิดชอบตัวเอง ถ้าเด็กสมควรจะต้องหัดทำอะไรต่ออะไรให้เป็นเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของเขานั้นในระยะยาว พ่อแม่อย่าช่วย อย่าไปเที่ยวทำแทนให้หมด หัดเขาให้รู้จักทำเองนี้คือรักลูกระยะยาว ถ้ารักระยะสั้นทำให้เขาเลย แต่ว่าเขาจะช่วยตัวเองไม่ได้ต่อไป ถ้าเรารักระยะยาวเราต้องอุเบกขา วางเฉย ดู ให้โอกาสเขา การวางอุเบกขานั้นเป็นการให้โอกาส เด็กจะได้พัฒนา เขาจะได้หัดทำสิ่งนั้นเองเป็น ก็เป็นอันว่าสถานการณ์ที่หนึ่งให้ใช้อุเบกขาก็คือว่า ในเมื่อเด็กสมควรจะหัดทำอะไรต่ออะไรเองให้เป็น หัดรับผิดชอบตัวเอง นี้เราก็วางอุเบกขา สองก็คือว่าเมื่อเด็กจะต้องรับผิดชอบการกระทำของเขา และครอบครัวของเรานี้เป็นตัวแทนของสังคมใหญ่ เราจะฝึกเด็กของเราไว้เพื่อไปอยู่ในสังคมใหญ่ ต่อไปไปอยู่ในสังคมแล้ว สังคมมีกฎเกณฑ์กติกา ทำดี ทำชั่ว ทำร้าย ทำอะไรก็จะได้รับผลการกระทำของตนเอง ก็มีความเป็นธรรมในสังคม ฉะนั้นในครอบครัวจะต้องฝึกความเป็นธรรมนี้ไว้ก่อน ถ้าเด็กรู้จักรับผิดชอบการทำผิดทำถูก รับผิดชอบการกระทำของเขา แล้วถ้ามีความเสมอภาคในระหว่างลูก ที่ว่าไม่ลำเอียง อันนี้ก็สอง แล้วสามสถานการณ์ สถานการณ์ที่สามก็คือว่า เมื่อลูกสามารถรับผิดชอบตัวเองได้แล้ว เขาสำเร็จการศึกษา เรียนจบแล้ว มีการมีงานทำ เขารับผิดชอบตัวเองแล้วได้แล้ว พ่อแม่ไม่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงในชีวิตของเขา ไม่ใช่ว่ารักลูกมากมีเมตตา กรุณาก็เข้าไปจัดในครอบครัวเขา เอ่อ! ลูกอยู่กันอย่างนี้นะ จัดอย่างนั้นอย่างนี้แล้วครอบครัวเขาก็เลยไม่มีความสุข อันนี้เรียกว่าไม่มีอุเบกขา ตกลงว่านี้ถ้าพ่อแม่ทำถูกมีอุเบกขาแล้วชีวิตจะสมบูรณ์ ลูกจะเติบโตอย่างมีความสุขเป็นบุคคลที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง ถ้าหากว่าพ่อแม่ขาดอุเบกขานี้ ลูกจะเสียหลายอย่าง คือไม่รู้จักโต ไม่รู้จักรับผิดชอบตัวเอง แล้วก็มีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ เพราะมีปัญหาแม้แต่กับพ่อแม่เองด้วย อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง นี่ก็อาตมายกตัวอย่าง เพราะฉะนั้นจะต้องก้าวจากเมตตา ความรักไปสู่อุเบกขา การมีปัญญาที่มาช่วยแก้ไขสถานการณ์ สำหรับข้อ 1 ถึง 3 นั้นไม่จำเป็นต้องใช้ปัญญามาก คือว่าพอเราเห็นเขาเป็นอย่างไร คือเราทุกข์เราก็จะกรุณา หรือเขาสำเร็จก็มุทิตาได้ง่ายทันที แต่อุเบกขานี้ยากต้องมีปัญญา ต้องรู้ว่าอะไรเขาควรรับผิดชอบตัวเอง อะไรที่เขาควรจะหัดจะฝึก จึงจะวางอุเบกขาได้ แล้วอุเบกขานี้ไม่ใช่เฉยเมินหรือเฉยเมย เฉยมอง อุเบกขาแปลว่าเฉยมอง คืออุเบกขาแปลว่าเข้าไปมองอยู่ มองอยู่ใกล้ ๆ เฉยแต่มองดูตลอดเวลา หมายความถ้าเขาเพลี่ยงพล้ำก็พร้อมที่จะช่วย ถ้าเฉยเมินหรือเฉยเมย ท่านเรียกว่าเป็นอัญญาณุเบกขา แปลว่าเฉยโง่ เฉยโง่เป็นอกุศล เป็นบาป แล้วถ้าใครเฉยไม่รู้เรื่องไม่เอาเรื่องเอาราวนี้ท่านติเตียนเลย เป็นอัญญาณุเบกขา เฉยโง่ เฉยต้องมีปัญญา อุเบกขานี้สำคัญมาก ต้องมีปัญญาประกอบจึงทวนปฏิบัติได้ อันนี้แหละเป็นตัวอย่าง เราจะต้องมีการพัฒนา เวลานี้วันวาเลนไทน์นี้สักแต่ว่าตื่นเต้น ฟู่ฟ่ากันไปไม่ได้หลักได้เกณฑ์อะไรเลย แม้แต่ในการดำเนินชีวิตที่จะให้คนมีความเจริญในการดำเนินชีวิตอย่างดี เด็กก็ไม่ได้สติอะไรขึ้นมาถ้าขืนอยู่กันอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมาฆบูชานี้จะมาช่วยแม้แต่หลักไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใสนี่ ต้องพัฒนาคน จากการรักที่ผิดไปสู่ความรักที่ถูกต้อง แล้วความรักนั้นก็ยังไม่พอ ยังต้องมีให้ครบชุด ต้องมีพรหมวิหารทั้ง 4 มีเมตตา กรุณา มุทิตา และต้องมีอุเบกขาด้วย แม้แต่ในสังคมเอง สังคมใดที่คนหนักในเมตตา กรุณา มุทิตาก็หนักในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ถ้าละทิ้งอุเบกขา สังคมก็เสียดุลยภาพ เสียดุลยภาพอย่างไงก็คือคนจะช่วยเหลือกันระหว่างบุคคลมีเรื่องอะไรก็ช่วยเหลือกันจนกระทั่งมองข้ามหลักการ กฎเกณฑ์ กติกาสังคม ไม่เอาทั้งนั้น ในสังคมแบบนี้ช่วยกันระหว่างบุคคลจนไม่เอากฎเกณฑ์ กติกา ทำลายกฎเกณฑ์กติกา มองข้ามกฎเกณฑ์กติกาไปเลย นี้สังคมที่เอียงสุดมีอุเบกขาก็ไม่มีน้ำใจ ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็ตัวใครตัวมันเอาหลักเกณฑ์กติกาเข้าว่า เธอทำไปตามกติกาก็แล้วกัน ถ้าเธอทำละเมิดกติกาเมื่อไหร่ฉันจัดการ แต่ระหว่างนั้นก็ไม่มีน้ำใจต่อกันสังคมอย่างนี้จิตใจไม่สบาย เครียด แล้วก็มีความทุกข์ มีโรคจิต มีโรคประสาทมากก็เสียไปอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นสังคมจะต้องมีดุลยภาพ แล้วสังคมที่เอาแต่ 3 ข้อแรก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากละทิ้งข้อที่ 4 จะมีผลเสียอีกอย่างก็คือว่าทำให้คนจะไม่รู้จักพึ่งตนเอง คือหวังความช่วยเหลือจากคนอื่นได้เรื่อย เดี๋ยวฉันเป็นอะไร ไม่มีจะกินหรือลำบากก็ไปขอยืมเพื่อนได้ ไปขอพ่อแม่ได้ เดี๋ยวคนนั้นก็มาช่วยเองก็ทำให้เกิดเป็นความประมาท สังคมก็ไม่เจริญพัฒนาเท่าที่ควรก็เสียอีก อันนี้สังคมที่มีแต่อุเบกขาไม่เอาใจใส่ช่วยเหลือกันตัวใครตัวมัน ถ้าหากว่าเอียงสุดจนเกินไป วันหนึ่งคนก็จะเกิดโทสะรุนแรง เพราะเห็นว่าไม่มีการช่วยเหลือกันเลยหรือนี่ นั่นหลักการก็อย่าเอามันเลยทำลายเลย นั่นสังคมก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ สังคมที่อยู่กันได้เพราะว่ามีทั้ง 4 ข้อ แต่เวลานี้ปัญหาก็คือว่ามันไม่พอดี เพราะฉะนั้นถ้าสังคมจะดี จะดำรงอยู่ได้ด้วยดีจะต้องมีครบทั้ง 4 ข้อ แล้วเมื่อครบ 4 ข้อแล้ว เราแต่ละคนที่ปฏิบัติตามนี้ ก็จะเป็นพระพรหม พระพุทธเจ้าสอนให้เราทุกคนเป็นพระพรหม ที่เรียกว่าพรหมวิหารเพราะว่าธรรมประจำใจของพรหมนั้นก็หมายความว่าให้เราทุกคนนี้เป็นพระพรหม ตอนแรกก็ให้พ่อแม่เป็นพรหมก่อนท่านจึงเรียกว่า พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร มารดาบิดานั้นแหละเป็นพรหมของลูก ให้พ่อแม่ปฏิบัติธรรมะในฐานะพระพรหมต่อลูกให้ครบชุดก่อน พ่อแม่ต้องทำให้ได้ ที่นี้ไม่ใช่แค่นั้นทุกคนต้องเป็นพรหมทั้งนั้นเลย เพราะว่าเราทุกคนนั้นมีส่วนในการสร้างสรรค์โลก แล้วก็ดูแลรักษาอภิบาลโลกนี้ไว้ให้อยู่ด้วยดี พระพรหมนั้นเป็นผู้สร้างโลก แต่พระพรหมของพราหมณ์นั้นไว้รอโลกมนุษย์ทำลายแล้วก็สร้างใหม่ ถ้าหากว่าเราไม่เป็นพรหมซะเอง เราก็ได้เป็นแต่ผู้ทำลายโลก แล้วรอให้พระพรหมสร้างใหม่ แต่ว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่เอาอย่างนั้น ท่านบอกเราทุกคนนี้จะเป็นพระพรหม ถ้าเราทุกคนเป็นพระพรหมก็คือเราปฏิบัติตามหลักธรรม 4 ข้อนี้ แล้วเราทุกคนก็เป็นพรหมเพราะว่า เราเป็นผู้มีส่วนในการสร้างสรรค์โลก หล่อเลี้ยงอภิบาลรักษาดูแลโลกนี้ไว้ให้อยู่ในความสงบสุข ถ้าเราปฏิบัติตามธรรมะ 4 ข้อนี้ได้ เราเป็นพรหมทุกคน แล้วโลกนี้จะมีสันติสุขอย่างแน่นอน อันนี้รับประกันได้เลย พระพุทธเจ้าตรัสไว้ให้เราเป็นพรหม เราอย่าละเลยธรรมะข้อนี้ ฉะนั้นเวลานี้ก็มีปัญหามากในเรื่องการปฏิบัติธรรมไม่ได้ดุลยภาพ ไม่ครบชุด ไม่ปฏิบัติตามหลักองค์รวมในที่ว่ามา ในวันนี้อาตมาเอาธรรมะเรื่องพรหมวิหารได้มาเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงถึงการที่ว่าการปฏิบัติธรรมนี้มีหลายขั้นหลายตอน แต่หลักการอันหนึ่งก็คือการปฏิบัติธรรมที่ครบชุดเป็นองค์รวมให้มีดุลยภาพอย่างที่ว่ามานี้ ถ้าเราทำได้ตามนี้แล้วก็เจริญก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม นี้เรื่องความรักก็เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของการที่ว่าทำความดีอย่างเดียวไม่พอนะ ต้องก้าวไปสู่การทำใจให้บริสุทธิ์ด้วย คือการมีปัญญาที่จะชำระกิเลส มิฉะนั้นแล้วความเห็นแก่ตัวจะไม่หมดไป ถ้าความเห็นแก่ตัวไม่หมดไปนั้นการปฏิบัติการต่าง ๆ มันก็จะยังมีปัญหาอยู่เรื่อย นี่ก็แม้แต่เรื่องของความรักนี้ ก็มีขั้นตอนอย่างที่กล่าวมา เป็นอันว่า 1 ในเรื่องความรักนี้ 1 ก็คือว่าให้ก้าวจากความรักที่ผิดมาสู่ความรักที่ถูก ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีที่เรามีความสุขเพิ่มขึ้นแล้วมีความสุขจากการให้ 2 แม้แต่ความรักที่ถูกต้องนั้น ก็ยังต้องมีดุลยภาพด้วยการมีอุเบกขาเข้ามาช่วย ซึ่งเกิดจากการมีปัญญา รู้จักพิจารณา ปฏิบัติให้เกิดดุลยภาพ ในองค์ธรรม 4 ประการที่ว่ามา อันนี้เป็นตัวอย่างตามที่กล่าวมาแล้ว ก็กินเวลาญาติโยมซะเยอะแยะเลย เดี๋ยวจะสายเกินไปเดินทางไปถึงค่ำมืดแน่ พูดไปพูดมายาวกันใหญ่ เพราะฉะนั้นก็เห็นว่าแสดงธรรมะในวันนี้เรื่องโอวาทปาฏิโมกข์ โดยเจาะที่หัวข้อละชั่วหรือไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส เป็นการเสริมคุณค่าแก่วันสำคัญนี้ ไม่ว่าจะมองในแง่ว่าเป็นวันมาฆบูชาหรือวาเลนไทน์ก็ตาม อย่ามัวไปตื่นแค่วัฒนธรรมตะวันตก ถ้าเราปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักธรรมแล้ว วาเลนไทน์ก็จะได้ลึกขึ้น มนุษย์จะได้พัฒนาขึ้น แล้วก็เข้าสู่ความสอนของพระพุทธเจ้า เข้าสู่หลักของการที่ว่าไม่ทำชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใสนี้ ซึ่งเป็นคำสอนที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง มีความครบถ้วนและมีดุลยภาพด้วย อาตมาก็หวังว่าญาติโยมทุกท่านก็คงจะได้มองเห็นความสำคัญของหลักธรรม 3 ประการนี้ที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ซึ่งครอบคลุมข้อปฏิบัติทั้งหมดและก็อยู่ในองค์มรรค 8 ประการ ก็มรรคนั้นเป็นวิถีชีวิตของชาวพุทธ ก็เมื่อเราปฏิบัติตามหลักมรรคแล้ว ก็จะก้าวหน้าในพระธรรมของพระพุทธเจ้าจนถึงจุดหมายคือพระนิพพานได้ วันนี้เป็นวันที่สุกดิบก่อนจะถึงวันมาฆบูชา ก็ถือว่าเรามาประกอบพิธีมาฆบูชากันในวันนี้เลย เพราะเรามาถึงสถานที่นี้แล้ว ก็ขอให้ทุกท่านได้ซาบซึ้ง โยมมาด้วยศรัทธาแล้วมีศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้าในพระรัตนตรัย และเราก็มาฟังธรรมะกัน เพื่อให้ศรัทธานั้นนำไปสู่ปัญญาด้วย ได้ทั้งศรัทธาและปัญญา ก็จะเกิดประโยชน์ต่อชีวิตอย่างแท้จริง เพราะปัญญาเป็นตัวนำเอาธรรมะไปใช้ปฏิบัติด้วยตนเอง ให้พึ่งตนเองได้ อันนี้ก็จะก่อให้เกิดผล แล้วสิ่งที่เรียกว่าปฏิบัติบูชาก็จะตามมา พอเราเป็นปฏิบัติบูชาได้ ก็คือบูชาพระพุทธเจ้าด้วยการบูชาอย่างสูงสุด ก็จะสัมฤทธิ์ผลแห่งการปฏิบัติหน้าที่ของพุทธศาสนิกชน สำหรับวันนี้นั้นเรามาถึงสถานที่นี้แล้วเราก็ทำบูชาให้ครบทั้ง 2 อย่างเลย อามิสบูชา และปฏิบัติบูชา สำหรับปฏิบัติบูชาก็เอาธรรมะที่กล่าวนี้ญาติโยมเข้าใจแล้วปฏิบัติ ส่วนเฉพาะหน้าเราก็จะได้เวียนเทียนกระทำปทักษิณองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในพระเวฬุวันอันเป็นที่กำเนิดแห่งพิธีมาฆบูชานี้ต่อไป ก็ขอให้โยมทุกท่านได้เจริญศรัทธา ขอให้มีจิตใจที่มีความเบิกบานผ่องใส ให้มีปิติมีความอิ่มใจว่าเราได้มานมัสการพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับอีกแห่งหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะก็คือวัดแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นวัดสำคัญเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่และประดิษฐานพระพุทธศาสนาด้วย ให้โยมทำใจให้ใกล้ชิดพระพุทธเจ้า นึกเหมือนว่าพระพุทธเจ้ามาประทับอยู่ใกล้ ๆ ทำใจว่าเราได้เฝ้าพระองค์ แล้วก็มีความอิ่มใจเบิกบานใจมีความสุข แล้วก็ให้กุศลผลความสุขที่ได้เกิดขึ้นในวันนี้ หล่อเลี้ยงจิตใจเป็นปัจจัยช่วยสร้างสรรค์ให้โยมมีชีวิตที่เจริญงอกงาม ยิ่งขึ้นไปในโอกาสนี้ก็ขอตั้งจิตอำนวยพรอีกครั้งหนึ่ง ขอคุณพระรัตนตรัยอภิบาลรักษาให้โยมญาติมิตรทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีความเจริญงอกงามพร้อมด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ที่จะดำเนินชีวิตประกอบกิจให้ประสบความก้าวหน้าและความสำเร็จ มีความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ