แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร ท่านผู้บริหารงานวัฒนธรรมระดับสูงทุกท่าน วันนี้อาตมภาพขออนุโมทนาที่ท่านผู้บริหารระดับสูงได้มาเยี่ยมถึงวัดญาณเวสกวัน และพร้อมกันนี้ก็ต้องขอประทานอภัยด้วย ที่ว่าตามปรกติ วิทยากรจะไปพูด ณ ที่ที่ประชุมของท่านผู้เข้ารับการอบรม แต่วันนี้กลายเป็นว่า ท่านทั้งหลายต้องเดินทางมาที่นี่ แต่ก็ถือว่าเป็นการมาเยี่ยมวัดไปด้วยในตัว
ตอนต้นนี้ก็อยากจะพูดถึงหัวข้อที่กำหนดให้พูดซะก่อน วันนี้ท่านกำหนดหัวข้อให้พูด เรื่องการสร้างเสริมคุณธรรมในสังคม ที่ต้องพูดถึงชื่อหัวข้อก่อนนี้ ไม่ใช่ว่า จะเป็นการมาต่อว่า เด๋วจะเข้าใจผิดว่า ต่อว่าว่าตั้งหัวข้อเรื่องผิด ไม่ใช่อย่างนั้น ก็เป็นการทำความเข้าใจกันให้ชัดเสียก่อน คือตามปรกตินี่ เวลาเราพูดถึงคุณธรรม เราจะพูดถึงคุณธรรมของคน แต่ในที่นี้บอกคุณธรรมในสังคม บางท่านก็อาจจะสงสัยว่าเอ๊ะ ทำไมเป็นคุณธรรมในสังคม เราก็อาจจะเติม คือว่า หัวข้อเรื่องนี้เป็นการตัดลัดให้สั้น ถ้าพูดเต็มก็เป็น การสร้างเสริมคุณธรรมของคนในสังคม แต่ว่าตัวสังคมเองนี่ ไม่ใช่เจ้าของคุณธรรม คุณธรรมมันอยู่ในตัวคน แต่การที่ใช้คำว่าในนี้ ก็บ่งชี้ว่ามีคำอะไรซ่อนอยู่ คือเขาไม่ได้พูดว่าการสร้างเสริมคุณธรรมของสังคม แต่ถึงจะพูดอย่างนั้นก็พอได้ คือต้องมองความหมายอีกชั้นหนึ่ง อันนี้ก็คือการที่เราจะต้องมาพูดถึงความสัมพันธ์ ระหว่างคนกับสังคม และก็ระหว่างคุณธรรมกับวัฒนธรรม คนกับสังคมนั้น รู้กันดีว่า เป็นปัจจัยแก่กันและกัน บุคคลที่เราเรียกกันว่าคนเนี่ย โดยทั่วไปก็หมายถึงบุคคล บุคคลมารวมกัน เราเรียกกันว่าสังคม และบุคคลมีคุณสมบัติเป็นต้นอย่างไร ก็ทำให้เกิดสังคมที่มีคุณภาพเป็นต้นอย่างนั้น ในทางกลับกัน สังคมเป็นอย่างไร ก็จะเป็นปัจจัยหล่อมหลอมบุคคลที่อยู่ในสังคมนั้นไปด้วย ทีนี้เรื่องคุณธรรมนี้ก็เช่นเดียวกัน คุณธรรมนั้นเป็นคุณสมบัติอยู่ในตัวคน นี้เมื่อมองรวมๆ ทั้งสังคม ในยุคสมัยใด คนจำนวนมากในสังคมมีคุณธรรมดี ภาพรวมออกมาก็คือ สังคมนั้นเป็นสังคมที่เจริญด้วยคุณธรรม และภาพรวมที่เป็นคุณธรรมออกมาในระดับสังคมนั้น ก็คือวัฒนธรรม ก็จะออกมาในรูปที่ว่าสังคมนั้น มีวัฒนธรรมของคนที่มีคุณธรรม เพราะฉะนั้นคุณธรรมมันก็แสดงผลออกมาที่วัฒนธรรม อันนี้หมายถึงว่าคุณธรรมของคนจำนวนมาก ถ้าหากว่าคนทั่วไปในสังคมนั้น เสื่อมจากคุณธรรม มีความชั่วเกิดขึ้นมาก ภาพรวมออกมาก็กลายเป็นวัฒนธรรมของสังคมนั้นที่ด้อยทางคุณธรรม คุณธรรมในตัวบุคคลก็ออกมาปรากฎผลในวัฒนธรรมของสังคมนั้นเอง อันนี้ก็เป็นแง่ที่ วันนี้แม้เราจะพูดในหัวข้อเรื่องชื่อสั้นๆ ว่าการสร้างเสริมคุณธรรมในสังคม แต่ว่าตรงนี้เป็นการบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ว่า เราจะต้องพูดลงไปถึงตัวคน หมายความว่าก่อนที่จะออกมาเป็นคุณธรรมในสังคม หรือเป็นวัฒนธรรมได้ ต้องเริ่มกันที่ตัวคน นี่ก็เป็นแง่ที่หนึ่ง ก็เป็นการพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ เป็นปัจจัยแก่กัน ระหว่างบุคคลกับสังคม และก็ระหว่างคุณธรรมของบุคคลกับวัฒนธรรมของสังคม แต่นี้เมื่อคนมีคุณธรรมกันทั่วไปมาก ปรากฏออกมาเป็นวัฒนธรรมของสังคมที่ดี เด่นในทางคุณธรรม ก็อย่างที่บอกแล้วว่าในทางกลับกัน ในทางสังคม ด้านวัฒนธรรมก็ส่งผลกลับไปสู่คุณธรรมในบุคคล ถ้าวัฒนธรรมของสังคมนั้นดี ก็หวังได้ว่า บุคคลที่อยู่ที่เกิดมาในสังคมนั้น ก็มีโอกาสมากที่จะมีคุณธรรมดีด้วย หมายความว่าวัฒนธรรมนี้จะช่วยหล่อมหลอมให้คนมีคุณธรรม และสภาพทั้งสองอย่างนี้ฟ้องซึ่งกันและกัน
เอาล่ะนี่เป็นแง่ที่หนึ่ง นี้ต่อไป มองต่อไปเราก็จะเห็นว่า สิ่งที่จะมาเป็นปัจจัยแก่คุณธรรมในตัวคนนั้น ไม่ใช่มีแต่วัฒนธรรมอย่างเดียว ยังมีอื่นอีกหลายอย่าง เด๋วจะมองดูแค่วัฒนธรรม หรือแม้แต่ว่าสังคมทั้งหมด การที่คุณธรรมในตัวคนจะเป็นอย่างไรนั้น มิได้ขึ้นต่อวัฒนธรรมอย่างเดียวเท่านั้น อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องแจกแจง แต่ถ้าเราพูดสั้นๆ เราก็พูดรวบรัดไปว่า ในตัวคนนั้น ปัจจัยที่จะทำให้เกิดคุณธรรม มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน วัฒนธรรมนั้นจัดเข้าในฝ่ายปัจจัยภายนอก ฉะนั้นคนไม่จำเป็นจะต้องขึ้นต่อวัฒนธรรมอย่างเดียว แต่วัฒนธรรมมีส่วนอย่างมาก ในการที่จะทำให้คุณธรรมในตัวบุคคลเป็นอย่างไร อันนี้มองให้กว้างออกไป เป็นอันว่าไม่ใช่วัฒนธรรมอย่างเดียว ที่จะเป็นปัจจัยแก่คุณธรรมในคน แล้วในเวลาเดียวกัน วัฒนธรรมก็มิได้มีแต่เรื่องคุณธรรมเท่านั้น วัฒนธรรมนั้น ยังมีด้านอื่นๆ อีกมากมาย เช่นวิทยาการ ความรู้ ศาสตร์ต่างๆ แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังถือว่าอยู่ในวัฒนธรรม แต่หมายถึงตัวความรู้ ความเจริญทางวิทยาการ เรื่องของวัตถุ เครื่องใช้สอย อุปกรณ์เทคโนโลยี ก็เป็นเรื่องวัฒนธรรม เรื่องของดนตรี กีฬา บันเทิงอะไรต่างๆ ก็อยู่ในเรื่องของวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นวัฒนธรรม ก็ยังมีด้านอื่นๆ ที่นอกจากคุณธรรม แต่ทั้งหมดนั้น ทุกด้านของวัฒนธรรมที่กล่าวมา มีผลต่อคุณธรรมของบุคคลได้ทั้งสิ้น มิใช่วัฒนธรรมเฉพาะด้านคุณธรรมอย่างเดียว วัฒนธรรมด้านอื่น สร้างความรู้วิทยาการต่างๆ ดนตรี กีฬา บันเทิงต่างๆ นั้น มีผลตีกลับไปยังคุณธรรมในคนได้ทั้งหมด นะอันนี้เป็นเรื่องที่มองกว้างออกไป เอาล่ะ นี่เป็นขั้นที่สอง
ต่อไปขั้นที่สาม มองกว้างออกไปอีก เวลาเราพูดถึงวัฒนธรรมนี่ เราจะพูดถึงวัฒนธรรมของสังคมนั้น วัฒนธรรมของสังคมนี้ สังคมในโลกนี้มีหลากหลาย มีภูมิหลังของตัวเอง มีประวัติศาสตร์เป็นมาต่างๆ กัน และก็มีสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมที่ปรากฎอยู่ไม่เหมือนกัน แต่ละสังคม ก็มีวัฒนธรรมของตนเอง เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมก็หลากหลาย แตกต่างกันไป ตามความแตกต่างของสังคม ทีนี้ยิ่งในโลกปัจจุบันนี้ ที่เขาเรียกว่าเป็นยุคโลกาภิวัฒน์ ความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ ก็ปรากฎชัดขึ้นมาให้เห็นทั่วกัน แต่โลกาภิวัฒน์เวลานี้ ก็ยังต้องถือว่าเป็นโลกาภิวัฒน์เทียม คือยังไม่เป็นโลกาภิวัฒน์แท้ เพราะในความเป็นโลกาภิวัฒน์นี้ มีความขัดแย้งลักลั่นกันมากมาย ความหลากหลายไม่เป็นไร ไม่ถือเป็นความขัดแย้ง ความหลากหลายนี่เป็นของดีได้ เพราะว่าแม้แต่คนในสังคมเดียวกัน ในที่อยู่บ้านเดียวกัน ก็แตกต่างกันได้ แต่ความแตกต่าง กลายเป็นส่วนเสริมเติมเต็มแก่กัน และก็ดี แต่ถ้าความแตกต่าง ใช้ไม่เป็นก็เป็นความขัดแย้ง เวลานี้ปัญหาในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ก็คือความขัดแย้งมากมาย พอเป็นโลกาภิวัฒน์ โลกเจริญถึงกัน เหมือนกับโลกเป็นหมู่บ้านเดียวอย่างที่ใครเคยพูด เป็นหมู่บ้านโลก เป็น Global Village แต่ว่ามันไม่มีความเป็นอันเดียวกัน มันไม่ประสานกลมกลืนกัน มันเต็มไปด้วยความขัดแย้ง และบางครั้งดูเหมือนว่าความขัดแย้งนี้ จะทวีลุกลามมาก แล้วก็นอกจากความขัดแย้งในการอยู่ร่วมกัน ก็มีความลักลั่น เช่นความแตกต่าง ความด้อย ความเด่น ความเจริญ ความล้าหลัง ในทางเศรษฐกิจ ในทางวิชาการสังคม วัฒนธรรมอะไรต่างๆ เนี่ย อันนี้เป็นโลกาภิวัฒน์ที่ถือว่าเทียม ถ้าเป็นโลกาภิวัฒน์แท้ มันจะต้องมีความเป็นอันเดียวกัน ที่ทั่วถึงกัน ฉะนั้นคำว่าโลกาภิวัฒน์นี้ ก็เป็นได้ทั้งความครอบคลุมและความครอบงำ ครอบคลุมอาจจะดีก็ได้ คืออะไรต่ออะไรมี ก็ไปถึงทั่วกันหมด อย่างข่าวสารข้อมูล ก็ครอบคลุมไปทั่ว แผ่ไปทั่วถึงกัน แต่ว่าบางทีมันกลายเป็นครอบงำกันไป งั้นโลกาภิวัฒน์ก็แปลได้ 2 อย่าง เพราะศัพท์ในภาษาไทยให้ซะด้วย ในภาษาอังกฤษ นั้นความหมายยังไม่เท่าภาษาไทย ภาษาอังกฤษ Globalization ก็แค่แผ่ไปทั่วโลก แต่ภาษาไทยคำว่า โลกาภิวัฒน์ นี้แปลว่าครอบงำโลก โลกะอภิวัตน์ อภิวัตนะ แปลว่าครอบงำ ไม่ใช่ อภิวัฒนะ ถ้าอภิวัฒนะ แปลว่าเจริญยิ่ง แต่นี่อภิวัตนะ อภิวัตนะ ก็แปลว่าเป็นไป แล้วก็อภิตัวนั้น แสดงถึงอำนาจ ก็ครอบงำเลย ในเวลานี้ ก็จะกลายเป็นว่า ถ้าถือตามนัยยะลักษณะนี้ต้องดูว่าใครครอบงำใคร ในสภาพโลกาภิวัฒน์แบบนี้ ที่โลกมีสังคมหลากหลาย มีวัฒนธรรมแตกต่างกันมากมาย สังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ก็ย่อมมีอิทธิพลต่อกัน ส่งผลต่อกัน ในความมีอิทธิพลต่อกันนี้ ก็จะมีวัฒนธรรมที่แข็ง และ วัฒนธรรมที่อ่อน วัฒนธรรมที่เด่น วัฒนธรรมที่ที่ด้อย วัฒนธรรมที่เจริญพัฒนาแล้ว วัฒนธรรมที่ล้าหลัง มีวัฒนธรรมที่รุก และก็วัฒนธรรมฝ่ายรับ มีวัฒนธรรมที่เป็นฝ่ายนำ และมีวัฒนธรรมที่เป็นฝ่ายตาม เราก็ดูได้เลย ว่าเวลานี้เป็นอย่างไร ที่นี้สภาพที่บ่งชี้ถึงการนำ การตาม ก็นอกจากอิทธิพลต่างๆ ก็อาจมองได้หลายอย่าง นอกจากการเมือง เศรษฐกิจ เป็นต้นแล้วนี่ ก็มองดูท่าทีของวัฒนธรรมและของสังคมนั้น เพราะวัฒนธรรมนี้ เป็นวิถีชีวิตของคนในสังคมนั้นๆ แล้วก็ถือกันว่าเป็นเอกลักษณ์ของสังคม เมื่อเป็นเอกลักษณ์ของสังคมที่รักตัวเอง เช่นเป็นประเทศชาติ ก็อยากจะรักษาความเป็นเอกภาพ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ลักษณะของตนเอง ที่เรียกว่าเอกลักษณ์ไว้ เพื่อจะรักษาเอกลักษณ์ไว้ ก็เลยมีการเน้นในการที่จะรักษาวัฒนธรรม ในการรักษาวัฒนธรรมนี้ ก็มีลักษณะท่าทีที่ปรากฎออกมา เราจะเห็นว่า บางสังคมนั้น มีลักษณะท่าทีแบบ เป็นวัฒนธรรมแบบปกป้องตัวเอง ถ้าวัฒนธรรมใด มีท่าทีแบบปกป้องตัวเอง ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ตัวเองนี้เป็นฝ่ายรับ และเป็นฝ่ายที่กลัว หวาดว่าจะสูญเสีย พูดง่ายๆ เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เพราะฉะนั้นต้องระวัง วัฒนธรรมที่มีลักษณะปกป้องตัว ทำอะไรก็พยายามปกป้องตัว ไม่สามารถเป็นฝ่ายรุก เป็นฝ่ายแผ่ขยายไปให้เขายอมรับตน อีกอย่างนึง นอกจากเป็นการปกป้องตัวเอง ก็จะมีอีกแบบนึงคือ เป็นวัฒนธรรมแบบตามเรื่อยเปื่อย วัฒนธรรมที่ตามเรื่อยเปื่อย ก็หมายความว่าแทบจะไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีความภูมิใจ หรือไม่มีความรู้สึกว่า ตัวเองมีอะไรดี ที่จะรักษาเป็นต้น ก็ยอมรับหรือมองตัวเองด้อย แล้วก็คอยมองคอยตามว่า เขามีอะไรเข้ามาใหม่ๆ ในกระแส ก็คอยตามกระแสไป นี้ตามเรื่อยเปื่อย ก็ตามเพียงด้วยความรู้สึก ไม่ได้ตามด้วยความรู้ จนกระทั่งว่าไปๆ มาๆ ความไม่รู้อยู่แต่ความรู้สึกนั้น ก็เลยไม่รู้จัก แม้แต่กระแสที่ตัวนั้นเข้าไปถูกพัดพาอยู่ ตัวเข้าไปอยู่ในกระแสอะไรก็ไม่รู้จัก กระแสนั้นมันเป็นยังไง มาจากไหน ต้นทางเป็นยังไง ไม่รู้จักทั้งนั้น ก็มีแต่อะไร มันเด่น มันปรากฎขึ้นมาในกระแส ก็รับมันไป ก็ชื่นชมไปตาม คนในสังคมแบบนี้ ไปๆ มาๆ จะถึงขั้นที่ว่า ไม่มีเรื่องอะไร ไม่มีอะไรจะทำ คล้ายๆ มองไม่เห็นอะไร ที่เป็นการสร้างสรรค์ที่ตัวเองจะต้องทำ มองไม่รู้จักภาระของตัวเอง พอมนุษย์จะเป็นบุคคล หรือเป็นสังคมก็ตาม ย่อมมีภาระในการสร้างสรรค์ รับผิดชอบทั้งสิ้น แต่สังคมที่ไปตามเรื่อยเปื่อย ก็เหมือนกับว่าได้ของสำเร็จมา ตัวเองก็ไม่มีภาระ มองไม่เห็นว่าตัวเองจะต้องทำงานทำการ สร้างสรรค์ มีภาระอะไร ก็มองคอยรอตามไป บางทีก็เป็นเศษของ ของเขาทิ้งบ้าง จากไอ้ต้นทางนั้นมา ก็ตื่นไป ไม่ได้รู้เรื่องของเขาแท้จริง และอย่างที่ว่า ก็คือว่าไม่มีอะไรจะทำ ปรากฎการณ์ในสังคมไทยปัจจุบัน จะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่น่าพิจารณา แม้แต่เรื่องที่เห็นกันอยู่ เป็นข่าวปัจจุบันนี้ เรื่องเด็กวัยรุ่น เป็นอย่างนั้นอย่างนี้อะไรกันนี่ ในแง่หนึ่ง เราอาจจะมองได้ว่า แกไม่มีเรื่องอะไร ที่จะทำให้ตัวแกสนใจ แกไม่มีเรื่องอะไรที่น่าทำ ที่จะสนใจ แล้วก็ไม่มีอะไรอื่นที่จะทำให้คนอื่นสนใจแก นอกจากมาดูหมกมุ่นกับเรื่องตัวเอง เรื่องคับแคบภายใน เรื่องที่มันไม่กว้างไม่ไกล มันมองได้แค่นี้ คือคนเรามันก็ต้องมีอะไรทำ ที่นี้มันไม่มีอะไร มองไม่เห็นอะไรที่น่าสนใจจะทำ มันมองไม่เห็นอะไรอื่น ที่น่าสนใจ ที่ตัวเองสนใจจะทำ แล้วก็มองไม่เห็นอะไรอื่น ที่ตัวเองจะทำให้คนอื่นมาสนใจตัวเอง เพราะว่าคนนี่เขาก็พยายามทำให้สนใจตัวเขา ทั้งสองประการนี้ มันก็ทำให้ทำอะไรต่างๆ ไอ้เท่าที่มันมองเห็นแคบๆ ฉะนั้นสังคมในการแก้ปัญหานั้น จะต้องมีอะไรให้คนทำ และสังคมที่มองกว้าง มองไกล มีความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ ทันต่อสถานการณ์ มันจะเห็นภารกิจของตัวเอง ของชีวิตของสังคม ที่เราจะต้องทำ และมันจะสนใจ ดังนั้นการแก้ปัญหาอย่างนึง ก็คือการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องแก้ ที่เคยพูดบ่อยๆ การแก้ปัญหาที่มัวแก้กันอยู่นี่ โดยมากมันจะจมลงไปๆ คือปัญหามันก็หนักเข้า ตัวเองก็แก้ไป แก้เก่งเป็นบางครั้ง เดี๋ยวปัญหามันก็มาอีก การแก้ปัญหาที่แท้นั้น มันเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่ต้องแก้ การแก้ปัญหาโดยแก้ มันจะต้องทำไปด้วย การแก้ปัญหาโดยไม่ต้องแก้ ก็คือมีอะไรที่เป็นการสร้างสรรค์ให้คนทำ บางคนมีเรื่องต้องทำ ที่เป็นการสร้างสรรค์ มันน่าสนใจ มันน่าภูมิใจ เป็นต้น เขาเกิดความรัก ความพอใจ ภูมิใจ เป็นต้น แล้วเขาอยากจะทำตอนนี้ ไปทำอันนั้นล่ะ เขาลืมเอง ไอ้ปัญหา มันก็หายไป เหมือนอย่างเด็กในโรงเรียนเนี่ย ถ้ามันไม่มีอะไรจะทำ เดี๋ยวมองหน้ากันไปกันมา เปรียบเทียบบ่อยๆ มันเหมือนไก่ในเข่ง มันไม่มีที่จะไป มันมองกันไป มองกันมา มันก็ขัดตาขัดใจ ก็ตีกัน จิกกันอยู่ในเข่ง แต่ทีนี้ ถ้ามันอยู่ในที่กว้างๆ มันมองออกไป มันมีเรื่องอะไรจะทำ มันก็หันไปสนใจสิ่งที่จะทำ เพราะสิ่งที่จะทำ มันต้องการเรี่ยวแรงเยอะ มันต้องมาร่วมมือกัน มันกลายเป็นว่า มันมีเป้าหมายร่วมกัน จะเป็นงานที่ต้องทำร่วมกัน หรือจุดหมายกว้างไกล มองออกไปข้างนอก อย่างคนเราเนี่ย เราอยู่กัน 50 คนนี่ เรามีจุดหมายไกลๆ เรามองไปข้างหน้า ตาเรานี่ไปรวมกันที่จุดหมายเดียวกัน เราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ถ้าตา 50 นั้น มามองกันและกันเมื่อไร เกิดเรื่องทันที ทีนี้เด็กคนไทยเวลานี้ มันเป็นปัญหา มันไม่มีอะไรเป็นจุดหมายที่จะมองไกล ที่จะให้สายตามารวมกัน มันก็หันมามองกัน แล้วมันก็ขัดใจกัน ขัดตากัน ตีกัน อะไรต่ออะไรไป มันไม่มีอะไรจะสนใจ นี่ละเป็นปัญหา สังคมเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ก็ขอให้ดู แล้วถ้าจะแก้ปัญหากันจริงๆ ปัญหาอะไรที่เป็นเรื่องสร้างสรรค์ให้ทำ เมื่อเขาสร้างสรรค์กันอยู่ เขาจะใจหมกหมุ่น เขาจะเอาใจจดจิตจดจ่ออยู่กับเรื่องที่ทำเนี่ย จนกระทั่งเขาลืมไอ้เรื่องที่จะเป็นปัญหา มันหายไปเอง การแก้ปัญหาอย่างนี้ เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง ส่วนการแก้ปัญหา โดยแก้ปัญหานั้น เป็นการแก้ปัญหาแบบปลีกย่อย คือเป็นเรื่องที่ต้องทำไปด้วย แต่การแก้ปัญหาที่แท้ ต้องทำด้วยการสร้างสรรค์ อันนี้ก็เป็นเรื่องของสังคมที่อยู่ในโลก เอาล่ะ แล้วก็มองกว้างออกไป
ทีนี้ก็ขอย้อนกลับมาดูที่ การสร้างเสริมคุณธรรมในสังคมที่ว่าเมื่อกี้ พอเราพูดถึงการสร้างสรรค์คุณธรรมในสังคมเมื่อกี้ก็บอกแล้ว บอกว่าก็ต้องมาสร้างคุณธรรมที่ตัวคน ไปสร้างที่สังคมมันก็มองไม่ออก มันเป็นภาพเฉยๆ มันไม่มีตัวมีตนหรอก ดังนั้นต้องมาสร้างคุณธรรมขึ้นที่ตัวคน นี้จะสร้างคุณธรรมที่ตัวคนเนี่ย มันก็ต้องสร้างโดยสัมพันธ์กับองค์ประกอบ ปัจจัยที่กล่าวมาทุกระดับ ทั้ง 3 ที่กล่าวมาข้างต้นหมดเลย ไม่ใช่ว่าจะสร้างคุณธรรมในตัวคนไปโดดเดี่ยว เพราะว่าที่กล่าวมาทั้ง 3 ขั้นนั้นน่ะ มันเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลมาที่ตัวคน และต่อคุณธรรมของคนทั้งสิ้น อ้าวทีนี้เราทำความเข้าใจกันอย่างนี้ ก็หันมาดูที่ตัวคน นี้พอมาดูที่ตัวคนก็อีกล่ะ เราก็บอกว่าคุณธรรมนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตคน คุณธรรมไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิตคน อันนี้ด้านอื่นๆ ของชีวิตมันยังมีอีกหลายอย่างนี่ แล้วด้านอื่นๆ ของชีวิตนั้น ก็สัมพันธ์กับคุณธรรมนี้ เป็นปฏิสัมพันธ์ สัมพันธ์ต่อกัน ก็หมายความว่าส่งผลต่อกัน คือคุณธรรมก็ส่งผลต่อชีวิตด้านอื่นของบุคคล แล้วด้านอื่นๆ ส่วนอื่นๆ ของชีวิตของบุคคลนั้น ก็ส่งผลต่อคุณธรรมของเขา จะทำให้เสื่อมหรือให้เจริญด้วย เพราฉะนั้นเราก็จะต้องสร้างเสริมคุณธรรมนี้ โดยตระหนักรู้และทำร่วมกันไปกับด้านอื่นๆ ของชีวิต ไม่ใช่แยกทำเฉพาะคุณธรรมอย่างเดียว เราก็ต้องดูต่อไป อ้าว ถ้าอย่างนั้น ชีวิตคนนี่มันมีกี่ด้าน มันอะไรบ้าง ถ้าดูไปก็ไม่ยาก เอาหลักง่ายๆ หลักนี่มีหลายหลัก หลักง่ายที่สุดนี่ เป็นหลักที่เห็นกันชัดๆ เลย ชีวิตคนนี่ ท่านให้แบ่งเป็น 3 ด้าน ด้านที่ 1 นี้เราเอาตัวคนเป็นหลัก ด้านที่ 1 คือ ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ภาษาพระเรียกว่า ความสัมพันธ์กับโลก ทีนี้สิ่งแวดล้อมในโลกแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย สิ่งแวดล้อมหรือโลกฝ่ายหนึ่ง ก็คือโลกมนุษย์ โลกมนุษย์ก็คือสังคมนี่ล่ะ โลกมนุษย์นี่ ทุกคนต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรียกตามฝรั่ง เราบอกว่ามนุษย์นี่เป็นสัตว์สังคม ถ้าอย่างนี้ก็ชัดเลย เราก็ต้องเกี่ยวข้องกับสังคม อีกด้านหนึ่ง ก็คือโลกของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมด้านธรรมชาติ เราก็ต้องเกี่ยวข้อง นี่อันที่หนึ่ง ด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือความสัมพันธ์กับโลก ซึ่งต้องแบ่งเป็นสองด้าน อันนี้สำคัญมาก ต้องแบ่งได้ คือสิ่งแวดล้อมในโลกนี้ ต้องแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายสังคมกับฝ่ายธรรมชาติ หรือฝ่ายกายภาพก็ได้ กับฝ่ายสังคม
ต่อไป ลึกลงไปกับความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ในการที่จะมาสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมนั้น เขาสัมพันธ์อย่างไร การสัมพันธ์นี่ ก่อนที่จะไปถึงแดนที่สอง จะพูดถึงความสัมพันธ์อีกทีนึงก่อน ที่ว่าสัมพันธ์กันสองด้าน ด้านสังคมกับด้านกายภาพนี่ ไอ้ตัวที่ไปสัมพันธ์ วิธีสัมพันธ์ เครื่องติดต่อในการสัมพันธ์ของมนุษย์นี่ มันมี 2 ประเภทด้วย จะต้องทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน 1. เป็นแดนรับรู้ เป็นด้านรับรู้ เรารับรู้ด้วยตาเห็น หูฟังเป็นต้นนี่ ทางภาษาพระเรียกว่า ผัสสะ การรับรู้ การรับรู้นี้ก็ใช้ เขาเรียกว่า อินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่เป็นทางรับรู้ของมนุษย์ เราติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกนี่ เราใช้ ตาดูหูฟัง เป็นต้นนี่ อันนี้หนึ่ง นี้ด้านรับรู้ อีกด้านหนึ่งเป็นด้านแสดงออก หรือกระทำ เรากระทำต่อโลกภายนอกด้วย เราใช้สอย เสพบริโภค เราไปสร้างสรรค์ ไปทำลายอะไรต่างๆ นี่ อย่างน้อยเราก็มีการเคลื่อนไหว เราพูดจาเป็นต้น อันนี้ทางพระ เรียกว่ากรรม เราสัมพันธ์กับโลกภายนอกทางที่ 1. นี่ผัสสะ ด้านรับรู้ 2. ก็กรรม คือการกระทำ การกระทำนี้ ออกทางกาย วาจา ใจ เราคิด พูดและทำ คิด พูด ทำ นี้เป็นการสื่อสารสัมพันธ์กับโลกภายนอก อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ด้านที่มนุษย์ติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกนี่ แบ่งโลกเป็น 2 ด้าน 2 ฝ่าย แล้วยังวิธีการสัมพันธ์ของมนุษย์ ยังมี 2 แบบคือ แบบรับรู้ กับแบบที่แสดงออก หรือกระทำต่อสิ่งเหล่านั้น อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ ทีนี้ต่อไปก็จะเข้าสู่ด้านที่ 2 ของชีวิต ด้านที่ 2 ของชีวิต ที่เรามามีความสัมพันธ์กับโลกภายนอก จะโดยการรับรู้ก็ดี เราจะดู จะฟังอะไร เราจะดู จะรับอย่างไร จะได้ผลอย่างไรแก่การสัมผัส แก่ชีวิตของเรา เช่นได้ความรู้หรือไม่ หรือได้ความลุ่มหลง เพลิดเพลิน ตื่นเต้น อะไรงี้ เป็นต้น มันอยู่ที่อะไร ตอนนี้ล่ะ แดนที่ 2 ก็มา ตัวสำคัญที่มันจะมาแสดงต่อ กับไอ้การสัมพันธ์กับโลกภายนอก จะโดยทางผัสสะ การรับรู้ก็ดี โดยการกระทำ กรรมก็ดี ก็คือเจตนา เจตจำนง มนุษย์มีเจตจำนง มิฉะนั้นการเคลื่อนไหวของเขา ก็จะเหมือนกับใบไม้ กิ่งไม้ แห้งหักร่วงลงมา อะไรต่ออะไร ซึ่งไม่มีเจตนา แต่การกระทำของมนุษย์ แม้แต่ดูฟัง ก็มีเจตนา มีเจตจำนง จะดูอะไร ดูอย่างไร ฉะนั้น นี้เป็นสิ่งสำคัญ ไอ้ตัวนี้มันมาจากไหน มาจากใจ นี่ล่ะเป็นตัวเชื่อมสำคัญเลย เจตนาหรือเจตจำนง เป็นตัวต่อออกมาสู่ความสัมพันธ์กับโลกภายนอก จะทำอะไร จะพูดจายังไง ก็มาจากเจตนา เจตจำนง เจ้าเจตนานี้ ก็เป็นตัวส่อแสดงถึงแดนใหญ่ที่อยู่ข้างใน ก็คือแดนของจิตใจ แดนของจิตใจนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก แดนจิตใจก็มี ที่เรากำลังพุดกันเรื่องคุณธรรมก็อยู่ในใจนี้ด้วย ซึ่งตรงข้ามกับความขั่ว บางทีเราเรียกว่า พวกกิเลศ พวกบาป พวกอกุศล ทำดีก็เรียกบุญ เรียกกุศล พวกคุณธรรม ความดีอะไรต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของคุณภาพ คุณสมบัติที่อยู่ในจิตใจ นอกเหนือจากนั้น มันยังมีความสุข ความทุกข์ ก็เป็นเรื่องใหญ่ ความขุ่นมัว ความเศร้าหมอง ความเครียด ความกระวนกระวาย ความชื่นบาน ผ่องใส ร่าเริง อะไรต่างๆ เหล่านี้ อันนี้เป็นคุณสมบัติทางด้านจิตใจ ซึ่งจะมาแสดงออกทางด้านเจตจำนง มาสู่การสัมพันธ์กับโลก เช่นว่าเขาทุกข์ ถ้าคนในใจมีความทุกข์ เขาจะมีเจตนาออกมาเพื่อ 1. หนีจากความทุกข์นั้น หาทางหนีจากความทุกข์ 2. ระบายทุกข์ เป็นต้น หรือว่าหาความสุข เจตนาที่จะหาความสุข หนีความทุกข์ ระบายทุกข์เป็นต้นเนี่ย ถ้ามีสุข มันสามารถมีเจตนาอันหนึ่งด้วย คือเจตนาที่จะระบายสุข หรือเผื่อแผ่สุข เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นจุดสำคัญว่า เจตนามันจะออกมารูปไหน มันจะไปนำเจ้าพฤติกรรม ไอ้คำว่ากรรมเนี่ย บางทีเราก็เรียกว่าพฤติกรรม แต่พฤติกรรมนี่ บางทีมันไม่ครบ เพราะว่ากรรมในที่นี้ ท่านหมายถึงทั้งความคิด การพูด การกระทำ อันนี้เจตนานี่ มันจะออกมาทางตาดูหูฟัง เด็กจะไปดูอะไร อยากจะไปฟังอะไร เด็กจะไปทำอะไร เคลื่อนไหว จะเอาไปปืนไปยิง หรืออะไรนี่ มันมาจาก ไอ้ตัวจากสภาพจิตของเขา เช่นความสุข ความทุกข์ และก็ตัวคุณธรรม เป็นกิเลศ หรือเป็นความโกรธ ความโลภ ความหลง ความเคียดแค้น ชิงขัง หรือเป็นเมตตากรุณา ความปรารถนาดี ใจกว้างเป้นต้น อันนี้ก็อยู่ที่ว่าเป็นด้านไหน คุณสมบัตืในใจเหล่านี้ เป็นตัวปรุงแต่งเจตนา หรือเจตจำนงนั้น ฉะนั้นเราก็จะต้องเข้าไปสู่แดนของจิตใจ ตรงนี้แหล่ะ แดนจิตใจ ก็มีเรื่องใหญ่ที่บอกไปแล้ว ก็คือ 1. คุณธรรม ซึ่งตรงข้ามกับด้านของบาปธรรม ความขั่วร้าย ก็ฝ่ายดีมี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา มีความกตัญญูกตเวที มีความเคารพ มีความเผื่อแผ่ เสียสละ อะไรก็ว่าไป นี่ด้านนึง แล้วก็เรื่องของสมรรถภาพจิตใจ ความเข้มแข็ง ความเพียร ความอดทน ความรับผิดชอบ ความมีวินัย บังคับตนเองได้ ความมีสติ ความมีสมาธิ จิตใจแน่วแน่ อยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ตามปรารถนา สงบมั่นคง ไม่ว่อกแว่กหวั่นไหวง่าย ไม่มีอะไรมากระทบเทือนง่าย ไม่มีความเครียด เป็นต้น เพราะว่ามีความสามารถ เข้มแข็ง สงบพอ ที่จะรับมือกับสิ่งที่เข้ามารบกวนได้ แล้วก็ความสุขความทุกข์ที่ว่า ทั้งหมดนี้อยู่ในแดนจิตใจ ซึ่งเป็นตัวสำคัญมาก โดยเฉพาะเรื่องสุขทุกข์นี้ จะต้องให้ความสำคัญมาก เพราะสุขทุกข์นี้ เมื่อเราไปแบ่งเป็นแดนย่อย เจ้าสุขทุกข์นี่เป็นแดนใหญ่ แดนหนึ่งในจิตใจ แล้วมันจะออกมาสู่เจตนา ที่บอกเมื่อกี้ว่า เจตนาหนีทุกข์ เจตนาระบายทุกข์ เจตนาหาความสุข แล้วมันก็จะออกมาสู่พฤติกรรม ออกมาสู่การหาผัสสะ การรับรู้ต่างๆ เนี่ย ที่เด็กเป็นอย่างนี้ เราดูว่าเป็นเพราะอันนี้หรือเปล่า เอ้า นี้คือแดนจิตใจ ต่อไปมีอีกแดนหนึ่ง แดนที่ 3 มนุษย์จะทำอะไรก็ตาม จะเคลื่อนไหวนิดหน่อย มันต้องรู้ ถ้ามันไม่รู้ มันทำไม่ได้ ถ้าไม่รู้ เขาก็เคลื่อนไหว ไม่ได้เรื่องได้ราว ไม่มีความมุ่งหมาย เลื่อนลอย ไร้ประโยชน์ ไม่สำเร็จผล ถ้าเขาจะเคลื่อนไหว กระทำการต่างๆ แม้แต่จะดู จะฟังให้ได้ผลดี เขาต้องมีความรู้ เขาจะต้องการดูอะไร เขาอาจจะคาดหมาย รู้แล้วด้วยซ้ำ ว่าดูแล้วได้อะไร เขาจะฟังอะไร เขาจะไปทำอะไร เขาจะไปพูดกับใคร เขาก็ต้องมีความรู้ในระดับใดระดับหนึ่ง ยิ่งเขารู้มากมายกว้างขวาง พฤติกรรมของเขาก็ยิ่งซับซ้อน และทำได้ผลยิ่งขึ้น จิตใจของเขาก็จะแคบหรือกว้าง จะอึดอัด ติดขัด ขับข้อง หรือจะเปิดโล่งเป็นอิสระ ก็ด้วยตัวความรู้ ที่เรียกว่าปัญญา เราไปไหนนี่ เราไม่รู้จะทำอย่างไรนี่ ใจอึดอัด ติดขัดขับข้องทันที พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไร จะทำยังไง มันก็โล่ง หายทันที ฉะนั้นพอไม่รู้ ก็เกิดปัญหา ติดขัดขับข้อง บีบคั้น คับเครียด นี่เรียกว่าปัญหา เรียกว่าทุกข์นั่นเอง ภาษาพระจะเรียกว่าทุกข์ ก็คือความติดขัด บีบคั้นขับข้อง ใจเรามันขาดปัญญาซะอย่าง มันไม่รู้จะทำอย่างไรนี่ มันหมดช่องทาง มันอึดอัด ติดขัดขับข้อง ทุกข์ทันที แต่พอมันรู้ว่า อะไรคืออะไร เป็นอย่างไง อะไรเป็นคุณแก่ตน เป็นโทษแก่ตน จะทำยังไง จึงจะแก้ปัญหาได้ รู้ช่องทางไป ทางออกจากที่นี่คืออะไร โล่งเลยทีนี้ เป็นอิสระ เพราะฉะนั้นปัญญานี้เป็นตัวสำคัญ เป็นตัว liberator เป็นตัวปลดปล่อย เป็นตัวทำให้เป็นอิสระ เกิดอิสรภาพ นั้น แดนที่ 3 นี่เป็นแดนที่ใหญ่มาก คือแดนความรู้ คนเราจะพัฒนาไป ตัวรู้จะต้องพัฒนาไปเสมอ และการที่เรามีอินทรีย์มา นี่ก็เพื่อจะมาช่วยการพัฒนาปัญญาความรู้นี่ล่ะ เราจะได้รู้เข้าใจโลกภายนอก อะไรเป็นอะไร เป็นอย่างไร และถ้าเรารู้จักใช้อินทรีย์ เราจะสามารถเกิดความรู้ หยั่งเข้าไปในสิ่งต่างๆ ได้ สามารถแก้ปัญหาได้ สามารถเอาสิ่งต่างๆ มาทำประโยชน์สนองความต้องการของเราได้ ฉะนั้นตรงนี้ที่เป็นตัวสำคัญ อันนั้นตัวรู้ คือปัญญานี้ เป็นแดนยิ่งใหญ่มาก แดนที่ 3 เป็นตัวที่ส่องสว่าง บอกทางให้ ขยายช่องทาง มันแคบอยู่ ก็เปิดช่องทางให้กว้าง คนรู้เท่าไร ทางมันยิ่งกว้างเท่านั้น และปลดปล่อยให้เป็นอิสระ และเป็นตัวปรับแก้ พฤติกรรมนี้ทำไม่สำเร็จ ทำไปงี้ไม่ได้ผล ปัญญามา ก็มาปรับแก้พฤติกรรมนั้น จิตใจมันไม่ดี พอมีปัญญารู้ รู้ว่ารู้หลายขั้น ปัญญามันมีไปถึงทุกขั้น มันไม่ใช่แค่รู้วิชาทำมาหาเลี้ยงชีพ ไม่ใช่แค่รู้เหตุรู้ผล มันรู้ถึงความจริงของโลกชีวิต ของธรรมชาติ เข้าถึงชีวิตความจริงของโลก และชีวิตตามธรรมชาติ อะไร ถ้าเรียกว่ารู้เท่าทันสังขาร มันเปลี่ยนท่าทีของจิตใจใหม่เลย มันปลดปล่อยจิตใจเป็นอิสระได้ หมดความทุกข์ได้เลย วางท่าทีต่อสิ่งต่างๆ ได้ถูกต้องหมด ดังนั้นไอ้ปัญญานี่ เป็นตัวสำคัญที่สุดเลย เป็นตัวที่มาเป็นตัวกุมยอด ก็ 3 แดนนี่ หรือ 3 ด้านนี่ ของชีวิตมนุษย์นี่ มันไปด้วยกันตลอดเวลา ด้านที่ 1 สัมพันธ์กับโลกภายนอก เราทั้งหามาสนองความต้องการแก่ตัวเรา และทางด้านที่สนองความต้องการในการที่เราจะเสพบริโภค เป็นต้น อันนี้เราจะหาความสุข เราก็สนองความต้องการของเรา ด้วยการทำพฤติกรรม เพราะฉะนั้นพฤติกรรมนี่ ก็เป็นตัวสนองความต้องการของจิตใจ จิตใจอยากจะหายทุกข์ อยากจะมีความสุข ก็ใช้พฤติกรรมนั้นเป็นทางของการสนอง ปัญญาต้องการหาความรู้ ก็ใช้พฤติกรรมไปหาความรู้ รู้จักพูดจักจา ฝึกพูดจาให้เก่ง ก็หาความรู้ได้ดี รู้จักเคลื่อนไหว รู้จักแยกแยะใช้มือเป็น อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็สามารถที่จะค้นคว้า วิเคราะห์ สิ่งต่างๆ หาความรู้ ฝึกปรือในการเกิดทักษะ ความเชี่ยวชาญ ชำนาญงาน ปัญญาก็เกิดจากการใช้พฤติกรรมเป็น และจิตใจก็ใช้พฤติกรรมไปทางสนอง และพฤติกรรมก็ต้องอาศัยว่า ตัวเจตนาจากจิตใจ เป็นตัวบังคับมัน แล้วปัญญาก็เป็นตัวที่จะเปิดทางให้มัน ว่ามันจะทำได้แค่ไหน เพียงไร ก็ปรับแก้ให้มันได้ผลดียิ่งขึ้น ตกลงปัญญามันจะได้ความรู้ขึ้นมา มันก็ต้องอาศัยจิตใจ มีความต้องการ เช่นอยากรู้ อยากได้ความดีงาม อยากจะไปสู่สิ่งที่ดีงาม สูงขึ้นไป อยากจะประสบความสำเร็จ มันก็ต้องหาทาง ทำให้ไอ้เจ้าปัญญา เมื่อจิตใจมันมีความต้องการ มีความเพียรพยายาม มีความเพียร มีความอดทน มีความเข้มแข็ง ไอ้ปัญญามันก็เดินหน้า มันก็พัฒนาได้ ถ้าไอ้เจ้าจิตใจมันเกียจคร้าน ไม่มีความต้องการ มันก็หมด มันก็ห่อเหี่ยว มันก็เฉย ไม่เอาเรื่องเอาราว ปัญญาก็พัฒนาไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไอ้เจ้าปัญญาก็ต้องอาศัยจิตใจ จิตใจมีสมาธิดี มีจิตใจสงบ มั่งคงแน่วแน่ อะไรรบกวนไม่ได้ ไม่ว่อกแว่ก ไม่ฟุ้งซ่านเลย จะนั่งอ่านหนังสือ ฉันจะอ่านหนังสือของฉัน ใครจะเดินมา ใครจะส่งเสียง จะร้องเพลงอะไร ฉันก็ไม่ได้ยินทั้งนั้น ฉันอ่านหนังสือฉันได้หมด มีสมาธิอย่างนี้ ปัญญามันก็เจริญดี ไอ้เจ้าปัญญาก็ต้องอาศัยจิตเนี่ย เป็นตัวทำงานในการที่จะพัฒนาตัวมัน ฉะนั้นทั้ง 3 ด้านของชีวิตเนี่ย อาศัยซึ่งกันและกัน คือด้านความสัมพันธ์กับโลกภายนอก ทางผัสสะ การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และก็ทางพฤติกรรม หรือกรรม คือการกระทำ ทางการคิด การพูด การทำ แล้วก็สัมพันธ์ทั้งกับโลก สังคมมนุษย์ แล้วก็โลกธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทางกายภาพทั้งหมด แล้วก็จิตใจเป็นตัวคุม เป็นตัวที่จะออกมาปรากฎโดยเจตนา เจตนาเป็นตัวต่อมาสู่อินทรีย์และพฤติกรรม แล้วก็มีปัญญา เป็นตัวคุม ตัวส่องทางชี้อะไรทั้งหลาย มันเดินกันไปกันตลอดเวลา และเจ้า 3 อันนี้ เป็นปัจจัยแก่กันและกัน นี้คือการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่เป็นอยู่ทุกขณะ ถ้าเข้าใจ 3 แดนนี้ จะเข้าใจชีวิตของตน และถ้าวิเคราะห์ออกไปอีกทีหนึ่ง เราก็จะเห็นว่า ในการสัมพันธ์กับโลกหรือสิ่งแวดล้อมนั้น มนุษย์เราเนี่ย ที่เป็นคนคนนึง เราก็แยกได้เป็น 2 อย่างเหมือนกัน ที่บอกเมื่อกี้ว่าเราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านสังคม และก็สิ่งแวดล้อมด้านธรรมชาติ เพราะว่าตัวเราเองน่ะ มันมี 2 ด้านอยู่ในตัว คนเราเนี่ยด้านหนึ่งมันเป็นชีวิต ชีวิตของเรานี้เป็นธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เกิด แก่เจ็บ ตาย ไปตามธรรมชาติ มีระบบการไหลเวียนของโลหิต มีระบบการหายใจ มีระบบการย่อยอาหาร อะไรเป็นต้นเนี่ย ทั้งหมดเนี่ย เป็นไปตามธรรมชาติและกฎธรรมชาติ นี่เป็นชีวิต นี่คือด้านหนึ่งของเรา ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับธรรมชาติ และหนีธรรมชาติไม่พ้น และธรรมชาติมันเสื่อมโทรมแล้ว เราแย่ เช่นว่า ดินน้ำไม่ดี น้ำไม่มีคุณภาพ อากาศมีมลภาวะสูง อย่างนี้ล่ะก็ ชีวิตเราแย่แน่ อันนี้เป็นด้านหนึ่งของเรา คือมนุษย์ในแง่ที่เป็นชีวิต และอีกด้านหนึ่ง มนุษย์นั้นพร้อมกับที่เป็นชีวิต เขาเป็นบุคคลที่อยู่ในสังคม สองอันเนี่ย คนไม่ค่อยจะแยก ถ้าเขาเป็นชีวิต ก็คือเขาเป็นธรรมชาติ ถ้าเขาเป็นบุคคล ก็คือเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พร้อมกับที่เขาเป็นชีวิตนั้น เขาเป็นบุคคลที่อยู่ในสังคม เขาก็เคลื่อนไหว มีความสัมพันธ์กับผู้อื่น พูดจาปราศรัย มีฐานะ มีความเจริญก้าวหน้า ในสังคม ได้รับการยกย่อง มีลาภ มีเกียรติ มียศ ได้รับการนินทา สรรเสริญ อะไรต่างๆ ในการสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งเราเรียกว่าโลกแห่งการสมมุติ ซึ่งในแง่ธรรมชาติแล้ว มันไม่มีจริงเลย ใช่ไหม ไอ้ชีวิต มันก็เป็นชีวิตอยู่นั่นแหล่ะ มันจะเป็นคนไหน เป็นอะไร มียศ มีศักดิ์ เท่าไร ธรรมชาติไม่รับรู้ มันก็บอก แกจะเป็นใคร แกต้องกินอาหาร แกจะเป็นใคร แกต้องย่อยอาหาร ย่อยไม่ดีแกป่วย ไม่รับรู้ทั้งนั้น ทำให้ถูกต้องตามกฎธรรมชาติ ตามหลักเหตุปัจจัยก็ล่ะกัน นี่เป็นชีวิต ทีนี้ มนุษย์จะต้องเข้าให้ถึงทั้งหมด แล้วเขาจะตอบกลับธรรมชาติด้วยชีวิตของเขา แล้วเขาจะตอบกลับสังคม ด้วยความเป็นบุคคล แม้แต่กินอาหารเนี่ย คนเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ล่ะ เริ่มแตกแยกจากธรรมชาติ พอเราแยกคนเป็นชีวิต เป็นบุคคล เราก็เห็นเลยว่า ชีวิตก็มีความต้องการในการกินอาหาร บุคคลก็มีความต้องการในการกินอาหาร แต่ปรากฎว่า ไอ้เจ้าความต้องการ ของไอ้ชีวิตกับบุคคลเนี่ย มันไม่ค่อยตรงกัน ความต้องการของชีวิตที่เป็นธรรมชาติ นั้นแน่นอน ไม่มีใครปฎิเสธได้ ชีวิตต้องการอาหารเพื่ออะไร เพื่อซ่อมแซมส่วนสึกหรอ เพื่อจะได้บำรุงหล่อเลี้ยง ให้แข็งแรง เจริญเติบโตงอกงาม อันนี้ไม่มีใครปฎิเสธได้ แล้วก็ ถ้าเราสนองความต้องการของชีวิต เราก็กินอาหาร โดยที่ต้องรู้ปริมาณให้พอดี แล้วก็ต้องกินอาหารให้ถูกประเภท ร่างกายต้องการอะไร ศึกษาให้ใช้ปัญญาให้รู้ อันนี้ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา ไม่รู้ ก็จะไม่รู้ว่ากินเพื่ออะไร ถ้ารู้ ที่แท้อ้อ ที่จริงการกินอาหารนี่ เพื่อสนองความต้องการของชีวิต อ้า ก็เพื่อสุขภาพของร่างกาย อ๋อ ถ้าอย่างนี้ เราจะมีชีวิตที่ดี ต้องมีสุขภาพร่างกายดี การกินอาหารเพื่อสนองความต้องการของชีวิต ถ้าอย่างนี้ เราก็จะกินอย่างไงล่ะ เราก็ต้องกินให้พอดีความต้องการของร่างกาย อย่าให้มากไปน้อยไป ถ้ามากไปเกิดโทษ น้อยไปก็เกิดปัญหาอีก แล้วต้องกินอาหารให้ถูกประเภทด้วยนะ ประเภทอะไร ที่ร่างกายต้องการ ต้องกินให้ครบ ให้ถูกส่วน จะไปกินแค่ตามอร่อย ไม่ได้ล่ะ ทีนี้ถ้ากินตามความต้องการของบุคคล ไปอีกเรื่องนึงเลย บุคคลนี้ต้องการฐานะความโก้เก๋ อยากจะไปกินเหลานั้น ภัตตาคารนี้ จะได้โก้ กินมื้อละหมื่น มื้อละแสน เสร็จแล้วกินแล้ว ปรากฎว่าไอ้เจ้าความต้องการของชีวิต กับความต้องการของบุคคลมันขัดกัน บางคนกินตั้งหมื่นนึงนั้น มันสนองความต้องการของบุคคลได้ แต่มันกลายเป็น ไปทำลายขัดขวางความต้องการของชีวิต กินหมื่นบาท ปรากฎว่าทำลายสุขภาพ ใช่มั้ย แล้วไอ้ตัวไหน เป็นตัวความต้องการที่แท้ เราก็ตอบได้เลย ความต้องการของชีวิตซิ อ้าว แล้วทำไมคนโง่หรือฉลาด ที่ไปกินสนองความต้องการของบุคคล มันก็ชัดๆ อยู่แล้ว อันนี้ แค่นี้คนก็ไม่คิด ก็เป็นเรื่องง่ายๆ การศึกษาก็ต้องให้รู้ก่อน เพราะฉะนั้นพุทธศาสนาก็สอนเริ่มต้นที่การกินอยู่ พอเกิดมา เราชีวิตต้องหาทางเป็นอยู่ให้ได้ ที่เรียกว่าต้องศึกษาทันที พอสิกขา ก็ต้องขวนขวายในพฤติกรรม ในการรับรู้ด้วยผัสสะ เพื่อหาความรู้มา เพื่อจะให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แล้วจะได้มาอย่าวไร แล้วก็จิตใจมีความต้องการไปตามที่ปัญญามันบอก ถ้าปัญญามันบอกว่า เรากินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต ไอ้จิตใจมันก็จะเกิดสนองความต้องการนั้น เกิดความต้องการอาหารทีมีคุณภาพ พอจิตใจต้องการอาหารที่มีคุณภาพ พอกินสนองความต้องการ ชีวิตให้มีสุขภาพดี ให้จิตใจเป็นสุข เพราะมันได้รับการสนองความต้องการ แต่ถ้าเจ้าคนนั้นต้องการกิน เพื่อสนองความต้องการของบุคคล ต้องการกินเพื่ออร่อย แสดงฐานะ โก้หรูหรา ไอ้เจ้านี่ กินอาหารที่มีคุณภาพ มันไม่เป็นสุขหรอก มันเป็นทุกข์ มันเกิดเป็นทุกข์ เพราะอาหารมันไม่โก้ ทั้งๆ ที่อาหารนี่คุณภาพแสนดี ใช่ไหม เกิดเป็นทุกข์ขี้นมา แล้วก็ไปกินอาหารที่สนองความต้องการของบุคคล โก้หรู แต่เป็นโทษต่อร่างกาย แค่นี้คนก็ไม่รู้ แยกไม่ได้ ระหว่างชีวิตกับบุคคล ฉะนั้น ต้องแยกให้ได้ก่อน นี่คือตัวเรา การที่จะเสริมสร้างคุณธรรมในตัวคน ต้องรู้จักคน รู้จักชีวิตก่อน ทีนี้คุณธรรมที่จะเจริญก้าวหน้าพัฒนา มันต้องไปด้วยกันทั้ง 3 ด้านนี้ พุทธศาสนาไม่เคยสอนให้พัฒนาสร้างเสริมคุณธรรมต่างหาก เป็นเรื่องต่างหาก ไม่มี พุทธศาสนาสอนสร้างเสริมคุณธรรม โดยรวมอยู่ในกระบวนการของเจ้า 3 ตัวนี้ 3 ด้านของชีวิต เราเรียกว่า ถ้าเราจะใช้คำว่าเสริมสร้างคุณธรรม เราต้องบอกว่า กระบวนการสร้างเสริมคุณธรรม ที่ประสานการกับระบบการดำเนินชีวิตทั้ง 3 ด้าน คือมันต้องไปด้วยกัน ระบบการดำเนินชีวิตของคนเรา มี 3 ด้าน ด้านติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก ด้านจิตใจที่ออกมาทางเจตจำนง มาต่อกับพฤติกรรมเป็นต้นเนี่ย แล้วก็ด้านปัญญา รู้เข้าใจ ที่มันจะเป็นตัวที่คุม และก็ปรับแก้ อะไรต่ออะไร เป็นต้น ไอ้เจ้า 2 ตัวแรกนี่ มันก้าวหน้าไปด้วยดี นี้ แล้วมันก็อาศัยเจ้า 2 ตัวแรกนี้ด้วย ในการที่พัฒนาตัวมัน นั้น พอได้อย่างนี้แล้ว มันจะไปด้วยกัน ไอ้เจ้าปัญญามักจะไปถูกที่ด้วย เพราะปัญญาแบบนี้มันบอกถูกต้องเลย เช่น เธอกินเพื่ออะไร กินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต เพราะฉะนั้นจะกินให้ชีวิตดี ให้ร่างกายแข็งแรงทำไง ต้องดูว่าร่างกายต้องการอะไรบ้าง ต้องการกินอาหารประเภทไหน อ่ะแล้วต้องการกินเท่าไร กินให้พอดี ใช่ไหม อย่างนี้ ท่านเรียกว่า รู้จักประมาณในการบริโภค คือการบริโภคด้วยปัญญา แค่นี้ล่ะ ฉะนั้น ถ้าเราจะซื้อรถยนต์ ซื้ออะไร วัตถุ ของใช้ ก็ต้องถามก่อนว่าเอ๊ะ ไอ้คุณค่า ความหมายที่แท้ ประโยชน์ของมันอยู่ที่ไหน วัตถประสงค์ที่แท้จริงในการซื้อคืออะไร ให้ได้อันนี้ก่อน ส่วนนอกนั้นเป็นคุณค่าทางสังคม เราเรียกว่าคุณค่าเทียม คือมนุษย์ไปปั้นแต่งเสริมเข้าไป จะเป็นโก้ เป็นเก๋ อะไรต่ออะไร เป็นต้น ซึ่งมันไม่มีจริง อันนี้แล้วแต่ค่านิยม แล้วก็ เลยเรารู้ทันอย่างนี้ เราก็ให้ได้สนองความต้องการของชีวิต ที่เป็นคุณค่าแท้ก่อน คุณค่าทางสังคม ที่เทียมเสริมไป ก็เป็นส่วนรองลงไป ได้ก็เอา ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร พอให้อยู่ อย่างรู้เท่าทัน อยู่กับเขาได้ในโลกนี้ และอยู่อย่างปัญญา มีปัญญารู้เท่าทัน ก็มั่นใจในตัวเอง ไม่ได้อยู่อย่างโง่ๆ ถ้าอยู่อย่างโมหะ มันก็ไปเที่ยวหลงไม่เข้าเรื่อง ไปภูมิใจโก้ในสิ่งที่มันไม่มีสาระ ถ้าเรามีปัญญาให้ถูกต้อง มันก็แก้ปัญหาไปได้ เด็กสมัยนี้ มันก็เป็นปัญหาเนี่ยตั้งแต่ในบ้าน ก็ไม่เคยพิจารณาว่ากินเพื่ออะไร เป็นต้น ไมได้กินด้วยความรู้ ไม่ได้กินด้วยปัญญา มันก็กินด้วยปัญหา กินเพื่อเสพรสอาหาร กินเพื่อเอร็ดอร่อย กินอาหารที่เสริมแต่ง กลิ่นสีรส ทำให้เกิดเป็นพิษป็นภัย ต่อสุขภาพ กินแล้วกลับได้ผลตรงกันข้าม แทนที่สนองความต้องการของชีวิต กลายเป็นทำลายชีวิตไป อะไรเหล่านี้ เป็นต้น สังคมเกิดปัญหา เพราะเรื่องไม่เป็นเรื่องอย่างนี้ ใช่หรือเปล่า มากมาย ใช่ไหม ก็แค่แก้ปัญหา ด้วยการศึกษาพื้นฐาน แค่นี้มันก็แก้ปัญหาสังคมนี้ไปได้มากมายแล้ว ทางพระท่านถือว่า นี่คือการศึกษาเบื้องต้น เริ่มตั้งแต่อะไร เอาล่ะ ทีนี้เราก็มาดูแจกแจง ก็ได้ความว่า 3 ด้านของชีวิตมนุษย์เนี่ย ไปด้วยกัน แล้วจะพัฒนาแยกจากกันไม่ได้ เพราฉะนั้นมนุษย์เขาต้องการความสุข นี้ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าความสุขของเขา เช่นของเด็กเนี่ย อยู่ที่การได้เสพบริโภคของเอร็ดอร่อย เอาละ ความต้องการของจิตใจมันมุ่งไปที่นั่น ปัญญาเขาไม่มีที่จะรู้ ทางที่จะมีความสุขเหนือจากนี้ เขาก็มุ่งไปหาความสุข จากการเสพบริโภคกับหาวัตถุให้มาก ลุ่มหลงมัวเมา แย่งชิงกัน เบียดเบียนกัน ทำร้ายกัน ก็เกิดปัญหาขึ้น อันนี้ก็คือความต้องการของจิตใจ ที่ออกทางเจตนา มันได้แค่นั้น นี้ถ้าเขามีสภาพจิตใจเปลี่ยนไป เช่น เขารัก รักพี่รักน้อง คนรัก นี่ก็หมายความว่ายังไง รักแปลว่าอยากให้เขาเป็นสุข ภาษาง่ายๆ ที่ว่ารัก ง่ายๆ ก็คือ พ่อแม่รักลูก พ่อแม่รักลูกคืออะไร ก็คืออยากให้ลูกเป็นสุข ถ้าเราจะขยายความก็ อยากให้ลูกเจริญงอกงาม มีความดี ความงาม ความเจริญ และความสุข แต่พูดง่ายๆ ก็อยากให้ลูกเป็นสุข ความอยากให้เขาเป็นสุขนี่คือ ความรัก ในภาษาที่เรียกว่าเมตตา ถ้ารักในภาษาราคะ คือหมายความว่า รักคือชอบใจ อยากจะได้เขามาบำเรอความสุขของตัว อันนี่คือความรักที่เรียกว่าราคะ รักเพราะชอบใจ ถ้าได้เขามา ฉันถึงจะเป็นสุข แต่ถ้ารักแบบพ่อแม่รักลูก คือรักอยากให้เขาเป็นสุข เห็นลูกเป็นสุข แล้วพ่อแม่จึงจะเป็นสุข ทั้งๆ ที่พ่อแม่เสียก็ยังสุข ใช่มั้ย เออต้องให้กับลูก ไอ้ของที่เราจะกินซักหน่อย อด ลูกกิน ให้ลูกกิน ยอมอดได้ ลูกกินแล้ว เห็นลูกเป็นสุข ตัวเองเป็นสุขได้ เพราะอะไร เพราะความรัก ถ้าไอ้ตัวความรัก มันเกิดขึ้นในใจ นี่คือสภาพจิตมันเปลี่ยนไป ความรักนี้เป็นคุณธรรม นี่ตัวอย่างคุณธรรม พอคุณธรรมอันนี้เกิดขึ้น ความสุขก็เปลี่ยน ความสุขของฉันจะเกิดขึ้น ต่อเมื่อลูกเป็นสุข หรือเห็นเขาเป็นสุข ไอ้ตัวความสุขนี้มันเกิดจากการได้สนองความต้องการ ทีนี้คนเรามันเปลี่ยนความต้องการได้ ทางพุทธศาสนานี้ เรื่องสำคัญมากคือการพัฒนาความต้องการ ทำไงจะพัฒนาความต้องการของมนุษย์ให้เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปสู่ความต้องการที่สูงขึ้น แล้วความต้องการตัวนี้ จะเป็นตัวกำหนดคุณธรรม จริยธรรม พอเขาต้องการเสพสิ่งบริโภค ความสุขเขาอยู่ที่เสพสิ่งบริโภค เขาก็ต้องไปหาวัตถุซิ อยู่ที่การบำรุงบำเรอตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นต้น ก็แย่งชิง ต้องแย่งจากคนอื่น ถ้าเห็นคนอื่นได้ เราเสีย เราเป็นทุกข์ ทีนี้ ความสุขแบบนี้ต้องแย่งกัน เขาได้ เราอด เราได้ เขาอด เราสุข เขาทุกข์ เขาทุกข์ เราสุข อะไรงี้ แต่ทีนี้พอว่า เกิดไอ้ความรักขึ้นมา เป็นคุณธรรม มีเมตตา มันอยากให้เขาเป็นสุข อยากเห็นเขาเป็นสุข เกิดความต้องการใหม่ เพราะต้องการให้เขาเป็นสุข เช่นพ่อแม่ต้องการให้ลูกเป็นสุข ตอนนี้มันไม่มาดูที่ตัวเองจะได้กินล่ะ มาดูที่ลูกได้กินหรือเปล่า เออ ถ้าลูกได้กิน ลูกสบาย มีความสุข ฉันสุขด้วย เห็นลูกสุขจึงจะสุข ทีนี้ ถ้าพี่กับน้องเขาเกิดรักกัน พี่ก็รักน้อง อยากให้น้องเป็นสุข ต้องเห็นน้องเป็นสุข ตัวจึงจะเป็นสุข ใช่ไหม ก็ต้องหาทางทำให้น้องป็นสุข ไอ้ตัวเองก็ไม่เป็นไร ไอ้เรื่องเบียดเบียน แย่งชิงก็ลดลงไป เกิดน้องก็รักพี่ อยากให้พี่เป็นสุขบ้าง ทีนี้สบายล่ะ ต่อไปก็รักเพื่อน อยากให้เพื่อนเป็นสุข ต่อไปก็รักหมดเลย เพื่อนมนุษย์ อยากให้เพื่อนมนุษย์เป็นสุข อยากเห็นเพื่อนมนุษย์เป็นสุข คราวนี้สบายเลย ไอ้ความสุขก็พัฒนา ทีนี้ความสุขไม่ไช่มีเฉพาะในกิน เสพ บริโภค ความสุขเกิดจากการได้อยู่ร่วมด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีเมตตา จากการที่ได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จากการที่ได้เห็นคนอื่นเป็นสุข ใช่ไหม ฉะนั้น คุณธรรมนี่มันมาปั๊ป มันเปลี่ยนจิตทันที มันเปลี่ยนความต้องการ มันเปลี่ยนพัฒนาความสุข ดังนั้น ทางพุทธศาสนา นี่ท่านจัดลำดับความสุขไว้ถึง 10 ขั้นด้วยกัน เพราะความสุข เช่นเราพูดง่ายๆ ความสุขอิงอามิส ต้องอาศัยวัตถุภายนอก ต้องขึ้นกับมัน บางคนนี่บอกว่าชั้นเก่ง ชั้นหาวัตถุได้มากมาย โอ้โหคนในโลกก็สรรเสริญ กันว่าคนนี้เก่งเนี่ย มีเงินมีทองมาก หาของมาเสพบริโภคได้มากมาย พวกนี้เรียกว่าเก่ง แต่ไมได้ดูตัวเอง อยู่ไปๆ หมดอิสรภาพ ปรากฎว่า เอาความสุขไปฝากกับวัตถุภายนอกหมด อยู่ด้วยตัวเอง ไม่สามารถมีความสุขได้ ความสุขไปขึ้นต่อวัตถุเสพบริโภคหมด ปรากฎว่าอยู่ไปๆ ในโลก เป็นคนที่สุขได้ยากขึ้นและทุกข์ได้ง่ายขึ้น คนในโลกปัจจุบันเป็นอย่างนี้มาก ใช่หรือเปล่า ขอให้ดู ถ้าเก่งจริง มนุษย์ที่พัฒนา อยู่ไปๆ ต้องเป็นคนที่สุขง่ายขึ้น ทุกข์ได้ยากขึ้น แต่นี่มันกลับกัน มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ มีการศึกษา หรือพัฒนาที่ถูกหรือผิด ก็ขอให้พิจารณาเอา อยู่ในโลกไปๆ ยิ่งทุกข์ง่าย เจออะไรนิด ต้องทำอะไรหน่อยก็ทุกข์ เจออะไรไม่ได้อย่างใจหน่อย ก็ทุกข์ มาไม่ทันใจหน่อย ก็ทุกข์ สุขก็ยาก แต่ก่อนมีเท่านี้ก็สุข ต่อมาต้องเพิ่มเท่าโน้นจึงจะสุข ต่อมาเท่านั้นก็ชินชา ไม่สุขซะแล้ว ก็เลยกลายเป็นสุขได้ยาก ฉะนั้น มนุษย์อย่างนี้แย่ หมดอิสรภาพ ก็เอาความสุขของตัวเนี่ยไปฝากกับวัตถุภายนอก ถ้าขาดวัตถุสิ่งเสพบริโภค เทคโนโลยีที่จะบำรุงบำเรอเมื่อ่ไร ทุกข์ทันที นี้ถ้าคนที่เก่งจริงเนี่ย เขาพัฒนาสองด้านให้สมดุลย์ คือคนทั่วไปเขาจำเป็นต้องหาวัตถุมาเสพบริโภค แต่ว่าถ้าเขาไม่เสียอิสรภาพนะ เขารักษาอิสรภาพไว้ได้ เขาก็จะมีวัตถุในระดับหนึ่ง คือเขาจะพออยู่ได้เป็นสุข ทีนี้เขาก็พัฒนาความสามารถในการหาวัตถุเสพ มาบำรุงความสุข อันนี้ด้านหนึ่ง คนจำนวนมากจะพัฒนาด้านนี้ พัฒนาความสามารถที่จะหาวัตถุ มาเสพบำเรอความสุข แต่มักจะมองข้ามว่า มนุษย์มีอีกอันหนึ่ง คือศักยภาพที่มีความสุข เขาไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เพราะฉะนั้นจะต้องระลึกไว้เสมอว่า จะต้องพัฒนาอย่างน้อยให้สมดุลย์ คือพัฒนาความสามารถที่จะหาวัตถุมาบำรุงความสุข กับพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ทีนี้คนที่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ปรากฎว่า ไอ้แดนมิติแห่งการมีความสุขนี้มันขยาย มันกว้าง มันมากขึ้นเรื่อยๆ โอ้มันเลยสุขง่ายขึ้น แล้วมันมีทางมีความสุขเยอะแยะไปหมด แล้วความสุขที่แย่งกันแบบที่แรกอ่ะ มันค่อยๆ หมดไป ความสุขที่เกิดจากรักผู้อื่น อยากให้เขาเป็นสุข แบบพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นสุข ทำให้เขาเป็นสุข ตัวเองเป็นสุขนี่ แค่นี้มันก็ลดการเบียดเบียนในโลกแล้ว มันก็อยู่ร่วมกันได้ดีแล้ว สังคมมันก็ดีล่ะ ฉะนั้น พัฒนาความสามารถแค่เนี้ย ไม่ต้องเอาสูงล่ะ ความต้องการในทางความสุข มันก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ฉะนั้น จากความสุขที่อาศัยวัตถุภายนอก ที่เรียกว่า สามิสสุข ความสุขอิงอามิส หรือขึ้นต่ออามิส ต่อมามนุษย์ก็จะมีความสุขเช่น จากไมตรีจิตมิตรภาพ จากการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ อยากเห็นเขาเป็นสุข ก็อยากเห็นเขาเป็นสุข เขาก็ตั้งพ่อแม่ไว้ให้เป็นหลัก เป็นตัวอย่างแล้ว เพื่อจะพัฒนามนุษย์ ให้ได้อย่างพ่อแม่ แล้วเสร็จแล้วเราก็พัฒนาออกจากความเป็นพ่อเป็นแม่ นั่นล่ะเลยยิ่งแย่ใหญ่ สังคมมันน่าจะเจริญขึ้น ตามตัวอย่างพ่อแม่
ทีนี้ต่อไปก็ความสุขจากการอยู่กับธรรมชาติ คนเราเนี่ย เห็นท้องฟ้า สายลม แสงแดด อะไรต่างๆ เหล่านี้ น้ำไหลใสเย็น อะไรต่างๆ เหล่านี้ ทำให้มีความสุข สบาย ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง ถ้าจิตใจของเรา ไม่มัวไปข้องติดกับการเสพวัตถุ จนคับแคบ การซึมซับความงามของธรรมชาติ ก็เกิดได้ง่าย ถ้าคนเราจิตใจไปขึ้นต่อวัตถุ เสพบริโภคมาก มันครุ่นหมกมุ่น หาทาง หวาดกลัวว่าจะสูญเสีย หวาดระแวงว่าจะไม่ทันเขาอะไรต่างๆ เหล่านี้ จิตใจไม่มีความสุข แม้จะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มันก็ไม่สามารถเข้าถึงความงาม และความสุขจากธรรมชาติได้ ฉะนั้น เขาจะต้องแก้ปัญหานี้ด้วย เมื่อเขาแก้ปัญหา รู้จักประมาณในวัตถุเสพบริโภค เป็นอิสระด้านนี้ เขาจะมีโอกาสในการที่จะพัฒนาความสุข ในทางการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ ในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ แล้วกิจกรรมต่างๆ ของเขา ก็จะเป็นกิจกรรมที่เป็นไปเพื่อความสุข จะทำอะไรต่ออะไร มันหาความสุขได้หมด ฉะนั้น ความสุขพื้นฐานของมนุษย์นั้นมันมีอยู่ 3 อย่าง มันประจำชีวิตเลย ไม่ว่ามนุษย์จะมีอารยธรรมหรือไม่ มันอยู่กับชีวิตของเรา รู้ไว้ ตระหนักไว้ และรักษาไว้ให้ดี สบายเลย ได้ 3 อย่างนี้ 1 ขีวิตของเราเป็นธรรมชาติ และมันก็มีความสุขที่อยู่กับธรรมชาติที่เกื้อกูล ใข่ไหม ธรรมชาติที่เกื้อกูล ดูซิ ทุ่งนา ป่าเขา เขียว สวยสดงดงาม รื่นรมย์ สายลม แสงแดด อะไรต่างๆ เหล่านี้ เราสุขสบาย ชีวิตของเราใช่ไหม ของที่มันดี เกื้อกูลกับชีวิต เราก็สบาย แต่ถ้ามันขุ่นมัว เข้าไปในกรุงเทพ มองไปไหน ก็หายใจอึดอัด เห็นแต่ฟ้ามัวไปหมดเนี่ย ชักไม่สบายแล้วใช่ไหม แล้วชีวิตของเรา ไอ้ความสุขพื้นฐานเนี่ย 1. ล่ะนะ 2. มนุษย์เราเป็นสัตว์สังคม อยู่ร่วมในสังคม และความสุขของเรานี่ ก็เกิดจากการอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ ตั้งแต่ในครอบครัว เกิดมาลูกอยู่กับพ่อแม่พี่น่อง พ่อแม่มีเมตตา มีความรัก ลูกก็มีความสุข ลูกได้รับความสุขจากพ่อแม่ มีจิตใจดีงาม ก็เจริญพัฒนาเมตตาความรักขึ้นมาในจิตใจ ก็รักเพื่อนมนุษย์ รักพี่รักน้อง ต่อไปก็อยู่กันด้วยไมตรีจิตมิตรภาพ ก็มีความสุขในการอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ อันนี้เป็นธรรมดา ทีนี้ต่อไป 3. ก็มนุษย์นี้ไม่ได้อยู่เฉยๆ ชีวิตเป็นการเคลื่อนไหว มีกิจกรรมตลอดเวลา มนุษย์เขาต้องการทำโน่นทำนี่ เคลื่อนไหว เขาก็มีความประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เรียกว่ามีความต้องการ นี้เขาได้สนองความต้องการในการกระทำนั้น สิ่งนั้น เขาก็มีความสุข ทีนี้กิจกรรรมที่ ถ้าพอมันประสานกัน ใช่มั้ย เขามีความสุขกับธรรมชาติ มีความสุขอยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ กิจกรรมที่เขาทำ เขาก็ไม่อยากไปรบกวนเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ ใช่มั้ย เขาก็ทำเพื่อการช่วยเหลือ เกื้อกูล สร้างสรรค์กัน เขาทำเพื่อ ทำอะไรต่ออะไร ที่เขาอยากจะทำ อยากจะจัด อยากจะสาน อยากจะขุดดิน อยากจะไปรดน้ำต้นไม้ ทำอะไรต่ออะไร มันก็สุขไปหมด เพราะทำด้วยความต้องการ เป็นกิจกรรมของชีวิตนี้ล่ะ ความสุขพื้นฐานประจำชีวิต มันมี 3 อย่างนี้ นี้เมื่อมนุษย์เจริญด้วยอารยธรรมขึ้นมา ปรากฎว่า เขาหาความสุขจากวัตถุเสพบริโภค บางทีกลายเป็นว่า คำว่าลิดรอนไอ้ความสุข 3 อย่างนี้ ให้เสื่อมโทรม สูญเสีย หรือสิ้นไปเลย บางคนเนี่ย มัวแต่แสวงหาความสุขจากวัตถุเสพบริโภค จนเจ้า 3 ตัวนี้แทบไม่เหลือเลย เชื่อมั้ย เพราะว่ามัวแต่แก่งแย่ง แข่งขัน แย่งชิง คิดแต่ทำไง จะได้จะเอา ใจมันวุ่นวายเนี่ย หวาดระแวงคนอื่น ไม่มีไมตรีจิตมิตรภาพ มองเห็นกันก็ไม่มีไมตรีจิต ไม่มีความจริงใจ ใจไม่สบาย หวาดระแวง ไอ้ความสุขในทางสังคม มันไม่มี มีแต่ความทุกข์ ทีนี้ไปเห็นธรรมชาติ ไปอยู่กับธรรมชาติ ไอ้ใจมันข้องอยู่ เอ ตอนที่เรามานี่ เจ้าคนนั้น มันเอานี่ไปหรือยัง อะไรต่างๆ ใจมันหวาดระแวง มันก็ทุกข์อีก อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มันก็ไม่สามารถเข้าถึงความสุขกับธรรมชาติ ใช่ไหม ทีนี้จะทำกิจกรรมอะไร มันไม่ได้ทำด้วยกิจกรรม ที่เป็นไปตามความต้องการ โดยบริสุทธ์ตามธรรมชาติ มันเป็นกิจกรรมตามเงื่อนไข คือมนุษย์ปัจจุบันเนี่ย มันเป็นโลกที่มีอารยธรรมจริง แต่ว่าปรากฎว่า มันอยู่กันด้วยเงื่อนไข เงื่อนไขยังไง ก็คือว่า เอ้อ เราต้องการหาสิ่งเสพบริโภค เราต้องมีเงิน การที่จะมีเงิน ต้องทำไอ้โน่นทำนี่ ไอ้สิ่งที่เราทำ เราไม่ได้ทำเพราะเราใจชอบใจรักอยากทำ แต่เพราะมันเป็นเงื่อนไขให้เราได้เงินมา ได้วัตถุเสพบริโภคใช่ไหม ทีนี้ไอ้สิ่งที่เราไม่ได้ทำด้วยใจรัก มันทำด้วยความทุกข์ ด้วยความฝืนใจ เพราะฉะนั้นไอ้การกระทำในโลกมนุษย์ปัจจุบันที่เจริญด้วยอารยธรรมนั้น เป็นการกระทำแบบเงื่อนไข ซะเป็นส่วนมาก เมื่อเป็นการกระทำแบบเงื่อนไข มันก็จำใจทำ มันก็ทุกข์เลย ไม่สบาย เพราะฉะนั้นกิจกรรมที่เป็น ไอ้ตัวสิ่งประจำชีวิตของเขา มันก็เลยไม่ได้เป็นที่มาของความสุข ฉะนั้นมนุษย์จะพัฒนาไปอย่างไรก็ตาม อย่าลืมความสุขพื้นฐาน 3 อย่างนี้ รักษาไว้ให้ได้ แล้วถ้าเขาทำเป็นนะ เขาจะเพิ่มทวีไอ้สุขพื้นฐาน 3 อย่างนี้ เขาจะยิ่งมีความซาบซึ้ง ความงาม ความสุขทางธรรมชาติมากขึ้น มีความสุขในการมีไมตรีจิตมิตรภาพ อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์มากขึ้น มีการช่วยเหลือเกื้อกูล ไปทำให้คนโน้นเป็นสุข อะไรงี้ แล้วก็มีความสุขในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เขารักเขาพอใจ เขาเรียกว่ามีฉันทะ ทีนี้ตอนนี้มันเสียหมดเลย พอไปหาสิ่งเสพบริโภคกัน จนกระทั่งหมดเลยเจ้าสุขพื้นฐาน 3 อย่างนี้ไปแทบไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้นอารยธรรมของเรานี่มันเจริญหรือเสื่อมกันแน่ พามนุษย์ไปความสุขหรือความทุกข์ ถ้าจะให้รักษาสุขพื้นฐาน ทั้ง 3 ประการนี้ไว้ แล้วคุณจะสร้างเท่าไรสร้างไป แล้วทีนี้ไอ้การพัฒนามนุษย์มันจะมาช่วยเอง ให้เราเนี่ย ไม่ไปทุ่มเทกับการหาวัตถุ หาสิ่งเสพบำเรอสุข เราจะใช้วัตถุในการสร้างสรรค์ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แล้วคุณธรรมต่างๆ เนี่ยมันมาเอง ในกระบวนการพัฒนามนุษย์ ที่อยู่ในระบบการดำเนินชีวิต 3 ด้านนี่ ทำให้ถูกต้อง สังคมไทยเราเนี่ย แต่ก่อนมันก็เป็นการศึกษาพัฒนาชีวิต ในระบบที่ค่อนข้าง เป็นระบบการดำเนินชีวิตตามธรรมชาติอย่างนี้ แล้วเราก็มาเริ่มจากการศึกษาสมัยใหม่ ใช่ไหม พอการศึกษาตะวันตกมา เรามีชั้นเรียน พอมีชั้นเรียน เราก็แยกวิชาศีลธรรม จริยธรรม แต่ก่อนวิชาศีลธรรมก็ไม่มี ทีนี้ครูก็มาสอนวิชาศีลธรรมในชั้นเรียน ก็หมือนกับละคร กึ่งๆ ใช่ไหม ก็เป็นการให้การศึกษา เป็นละครกึ่งๆ มันไม่ใช่ชีวิตจริง แต่ก่อนเนี่ยมันอยู่กันในชีวิตจริง การจะสั่งสอน การจะพูดจา มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ไปพบสิ่งโน้น หลวงพ่อบ้าง พ่อแม่ก็สอนลูก เออเนี่ยต้นไม้นี่ เห็นมั้ยมันสวยงามอย่างนี้ เราต้องช่วยกันทะนุถนอมมัน มันก็เป็นเรื่องของชีวิตจริง เรื่องการสั่งสอน การแนะนำอะไรต่ออะไร มันก็เป็นไปในความเป็นจริงของชีวิตนั้น แต่เวลาเรามีการศึกษาสมัยใหม่ปั๊ป มันเกิดชั้นเรียนอย่างที่ว่า แยกวิชากระจัดกระจายออกไป เป็นการแบบแยกส่วน แยกส่วนเป็นชำนาญพิเศษ ก็มีวิชาอย่างที่ว่า แม้แต่วิชาศีลธรรม ก็สอนกันเป็นครูอาจารย์ ก็ขออภัย กึ่งละคร ก็สอนกันไปอย่างงี้ แต่ว่าทีนี้เราจะเอายังไง ในเมื่อโลกมันเปลี่ยนไป แล้วเราก็ต้องมาจัดให้มันดี ในเมื่อเราต้องเป็นละครแล้ว เราก็ทำเป็นละครที่มันได้ผลดีซะหน่อย ก็เอาเป็นว่า นี่ก็คือเรื่องของชีวิตที่แท้จริง การสร้างเสริมคุณธรรมนี่ มันอยู่ในระบบการดำเนินชีวิต ฉะนั้นก็พูดย้ำอีกทีว่า กระบวนการพัฒนาหรือเสริมสร้างคุณธรรมนั้น ต้องประสานไปด้วยกันกับระบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และก็เติมว่าซึ่งมี 3 ด้าน ต้องไปด้วยกันให้ครบ แล้วมันไปเอง อย่างที่ว่า
ก็เอาล่ะ ทีนี้ท่านก็แบ่งต่อไปอีก ถ้ายังไม่เบื่อฟัง อาตมาจะแบ่งให้ฟังอีกหน่อย เมื่อกี้บอกแล้วว่า 3 แดน 1. แดนหรือด้านความสัมพันธ์กับโลกภายนอก 2. ด้านจิตใจ มีสุขมีทุกข์ มีคุณธรรม ความดีความชั่ว มีความสามารถ สมรรถภาพจิตใจ ออกมาทางเจตนา เชื่อมพฤติกรรม แลก็ 3. ด้านปัญญา 3 อย่างนี้ ทีนี้เวลาเรามาอยู่ในชีวิตจริง ด้านสัมพันธ์กับโลกภายนอกเนี่ย เป็นด้านที่เกี่ยวข้องกับเรามากที่สุดที่ปรากฎออกมา เป็นด้านที่ปรากฎ ทีนี้ด้านที่ปรากฎเนี่ย ที่มาสัมพันธ์กับโลกภายนอก เป็นด้านต่างๆ มีหลายแง่หลายมุม เราก็แจกแจงกันไปเมื่อกี้นี้ ก็แยกออกไปแล้วว่า เป็นด้านภายภาพ รวมทั้งธรรมชาติ แล้วก็ด้านสังคม แล้วก็สัมพันธ์ด้วยผัสสะ การรับรู้ และสัมพันธ์ด้วยกรรมหรือพฤติกรรม ด้านการกระทำต่อสิ่งภายนอก อันนี้ท่านก็แยกออกไปอีกว่า อ้าว เพื่อจะให้มันเป็นระบบ ก็แบ่งแดน ว่าการพัฒนาคนในการสัมพันธ์กับโลกนี่ 1. ด้านใช้อินทรีย์ก่อน ตาดู หูฟัง ต้องดูฟังให้เป็น ก็ดูฟังให้เป็น ท่านเรียกว่าดูฟังอย่างมีสติ ดูฟังอย่างมีสติก็รู้เลยว่า ไอ้การรับรู้ของเรานี่ วัตถุประสงค์ที่สำคัญต้องให้ได้ความรู้ก่อน ความรู้อะไรเป็นอะไรยังไง แล้วต่อไปก็ความรู้จะพัฒนาไป ทีนี้อินทรีย์ของคน ตา หู จมูก ลิ้น กายนี่ มันทำหน้าที่ 2 อย่างพร้อมกัน คือหน้าที่รู้กับหน้าที่รู้สึก พร้อมกับที่รู้อะไรเป็นอะไร เขียวขาว ดำแดง ใบไม้ ดิน น้ำ อะไรเนี่ย มันก็รู้สึกสบายไม่สบาย สุขหรือทุกข์ ถูกตาไม่ถูกตาเป็นต้น ทางหูก็หมือนกัน ได้ยินสียงก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไร กับรู้สึกว่าไพเราะไม่ไพเราะเป็นต้น อันนี้ล่ะ เป็นแดนแยกที่สำคัญเลย จะเอารู้ไปประกอบรู้สึก หรือจะเอารู้สึกไปประกอบรู้ ทีนี้ถ้าคนที่มีการพัฒนา ไอ้แดนรู้จะเป็นหลัก ไอ้แดนรู้สึกก็จะมาเป็นตัวประกอบ มาเป็นตัวเกื้อหนุนด้านรู้ ก็จะรับรู้เพราะรู้ ไอ้สติก็จะมาเป็นตัวคอยเตือนไว้ ว่าแกรับรู้เพราะรู้นะ รับรู้เพราะรู้ ก็รู้ว่า ไอ้นี่มันเขียวขาว ดำแดง มันเป็นอะไร ต้องหาความรู้ จะดูทีวี เอ้อก็ต้องถามว่าเราดูแล้ว ได้ความรู้อะไรบ้าง ไม่ใช่ดูแค่รู้สึกสนุกสนานบันเทิง เพลิดเพลินตื่นเต้นไป เอาแล้วทีนี้ก็เลยกลายเป็นนี่ คือการพัฒนามนุษย์ว่าเขาทำถูกไหม ใช้อินทรีย์เป็นมั้ย เป็นแดนที่ 1 ที่พระจะถาม ใช้อินทรีย์เป็นมั้ย เริ่มจากตาดูหูฟังนี่ ถ้าใช้ตาดูเป็น ก็ต้องดูแล้วได้ความรู้ ได้คติ ได้สิ่งที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ เอามานำมาแก้ปัญหาสร้างสรรค์ทำอะไรได้ ถ้าดูแล้ว ได้แต่ลุ่มหลงเพลิดเพลินมัวเมาไปอย่างนั้น ไม่ได้เรื่องแล้ว เป็นอันว่าใช้ผิดใช้ไม่เป็น แดนที่ 1 ล่ะ
ต่อไปแดนที่ 2 แดนที่ 2 คือเสพบริโภค ปัจจัย 4 ก็คนเรานี่ มันมีชีวิตอยู่ มันต้องกินอยู่ มันต้องเสพบริโภค ต้องมีอาหาร เครื่องนุ่งห่มบริโภค เป็นต้น แล้วใช้กินอยู่เป็นมั้ย กินเป็นมั้ย กินเพื่ออะไร ถามก่อน อ้าว กินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพดีแข็งแรง อ้อถ้าอย่างนั้นต้องกินประมาณเท่านี้นะ ต้องกินอาหารประเภทนี้นะ เอออย่างนี้กินเป็น ถ้ากินไม่เป็น ก็เพียงเพื่อเอร็ดอร่อย โก้เก๋ วัดฐานะกันไป สิ้นเปลืองไป เสร็จแล้วสิ้นเปลืองเงินทองด้วย ทำลายสุขภาพตัวเองด้วย เสียเวลา เสียเงินเสียทอง เกิดเรื่องทะเลาะวิวาทกันด้วย ยังงั้นเรียกว่าว่ากินไม่เป็น บริโภคไม่เป็น ใช่ไหม ก็เลยต้องกินด้วยปัญญา แดนที่ 2 นี่คือด้านสัมพันธ์กับโลกภายนอก สัมพันธ์กับโลกภายนอกยังต้องแยกอีก 1. ด้านการใช้อินทรีย์ ตา หู ดู ฟัง เป็นต้น 2. ด้านการเสพบริโภค ก็เป็นอันว่าเสพบริโภคอย่างที่ว่า เช่นว่า จะกิน จะใช้ จะซื้อของ ก็คิดซะก่อน ว่าไอ้วัตถุประสงค์คุณค่าของสิ่งนี้ ประโยชน์ที่แท้มันอยู่ที่ไหน แล้วให้ได้ประโยชน์นั้น แล้วต่อจากนั้นไอ้เรื่องของค่านิยมในสังคม ค่อยว่าไปตามอยากรู้เท่าทัน รู้เท่าทัน ไม่ใช่ว่าเราจะทิ้งเลย เรารู้เท่าทัน แต่เราไม่หลงไปตาม ได้ล่ะ นี่ 2 แดนแล้วนะ ด้านสัมพันธ์กับโลกภายนอก ยังมีอีก แล้วต่อไปด้านอะไรล่ะ อินทรีย์ อ้อต่อไปก็ด้านอาชีพ
การอยู่ในโลกนี้ก็ต้องประกอบอาชีพ ทำมาหาเลี้ยงชีพ ไอ้ตัวนี้ล่ะที่เป็นสำคัญ ถ้าเราหาอาชีพ เราไม่รู้วัตถุประสงค์ เราก็ลุ่มหลงไปเพียงว่าเอออาชีพของเราจะได้เงินมากๆ จะได้ซื้อวัตถุเสพบริโภคมากๆ แล้วเราจะได้มีความสุขจากการเสพบริโภค เนี่ยจะเข้าแนวเมื่อกี้นี้ ค่อยๆ ทำลายไอ้ความสุชของตัวเองที่เป็นพื้นฐานหมดไป นี้ถ้ารู้อาชีพที่แท้มันคืออะไร อาชีพที่แท้มันเกิดขึ้นมาในโลกมนุษย์เนี่ย มันมีความมุ่งหมาย เพราะสังคมมนุษย์เจริญ มีอารยธรรมขึ้นมา มีการรู้จักแบ่งงานกัน มนุษย์มีความต้องการจะสร้างบ้าน เราก็มีคนที่ถนัดชำนาญในการสร้างบ้าน มาสร้างบ้าน อาชีพสร้างบ้าน สถาปนิก วิศวกร ก็มีความถนัดสามารถในการก่อสร้างเป็นต้น อาชีพแพทย์ มีขึ้นเพื่ออะไร มีเพื่อจะทำให้คนมีสุขภาพดี หายไข้หายป่วย เอ้อเพราะฉะนั้น อาชีพแพทย์ก็มีวัตถุประสงค์เพื่อทำอันนี้ วัตถุประสงค์ที่แท้ นี้เพื่อให้อาชีพนี้มันเป็นอยู่ได้ เขาไม่ต้องไปวุ่นวาย ไม่ต้องไปกังวลกับเรื่องความเป็นอยู่ ก็เลยจัดสรรว่า เอ้อคุณทำอาชีพนี้แล้ว คุณทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์นะ คุณก็ไม่ต้องกังวลหาเงินหาทอง หาสิ่งเสพบริโภค ฉันให้เครื่องตอบแทน ให้เงินคุณ พอถึงเดือนคุณก็มีเงินมาใช้จ่าย หาสิ่งเสพบริโภค ก็ตั้งหน้าตั้งตา ตั้งใจทำอาชีพของคุณให้ดี อาชีพของคุณก็จะสนองความต้องการของสังคมมนุษย์ แก้ปัญหาสร้างสรรค์ได้ดี พอได้อย่างนี้แล้ว เราก็มองถูกเลยว่า อาชีพของเรา อ๋อ เราต้องทำให้ดี คือให้สนองวัตถุประสงค์ที่แท้ของมัน อยากเป็นครูอาจารย์ก็เพื่อจะทำเด็กให้ดี พัฒนาชีวิตของเด็กให้เจริญงอกงาม อะไรต่างๆ เนี่ย ไอ้ตัววัตถประสงค์ที่แท้อยู่ที่นี่ ไอ้ตัวสิ่งตอบแทนนั้น ก็เป็นเครื่องประกอบตามอารายธรรมมนุษย์ที่เป็นคนฉลาด รู้จักมาจัดสรรแบ่งงานกัน ต่อไปเขาก็รู้ว่า อ๋ออาชีพนี้กินเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตเรา วันนึงตั้ง 8 ชั่วโมง แถมยังเดินทางรถติดอะไรต่ออะไรอีก บางทีเป็น 10 ชั่วโมง 12 ชั่วโมง แล้วเราก็ต้องนอนอีกตั้ง 5, 6, 7, 8 ชั่วโมง เราเหลือเวลาในชีวิตนิดเดียว หมดเวลาไปกับอาชีพของเราให้มาก ฉะนั้นอาชีพของเรานี้เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งเวลาที่ใช้ในอาชีพด้วย สุขทุกข์ของเราเป็นต้น จะฝากไว้กับอาชีพเนี่ย ถ้าเวลาส่วนใหญ่ในอาชีพของเราเป็นทุกข์ ก็แสดงว่าเวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของเราเป็นทุกข์ ใช่ไหม วันหนึ่งเราทำงานในอาชีพหมดไป 1 ใน 3 ของชีวิต เสร็จแล้วเราเป็นทุกข์ในการประกอบอาชีพ เวลาทำงานเป็นทุกข์ตลอดเวลา ก็แสดงว่า 1 ใน 3 ของชีวิตเรานี่เป็นทุกข์หมด เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะให้ชีวิตของเรามีความสุข เราต้องทำอาชีพของเรานี่เป็นแดนของความสุข เราจะต้องมีความสุขในการประกอบอาชีพ ไม่ว่าเวลาเราทำงานทำการ เรามีความสุข เราก็ได้เป็น 1 ใน 3 ของชีวิตแล้วเป็นอย่างน้อย แล้วเวลาเราทำอาชีพนี่ คนเรานี่ต้องพัฒนาตัวเอง เวลาเราทำอาชีพ เราก็ต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ เราก็ใช้อาชีพนี่ เป็นแดนพัฒนาชีวิตของเรา เราจะฝึกพฤติกรรมในการเป็นอยู่ ในการพูดจาปราศรัย ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ฝึกฝนพัฒนาจิตใจของเรา ในการรู้สึกอดทน มีสมาธิ มีสติ ในการที่ว่า มีความแจ่มใสร่าเริง เบิกบาน หรือว่าในการพัฒนาปัญญา คิดแก้ปัญหา อะไรต่ออะไรเนี่ย ก็ใช้อาชีพนี่ล่ะ เป็นแดนพัฒนาตัวเราดีที่สุด งั้นเราจะต้องใช้เวลาในอาชีพนี้ให้คุ้ม เพราะฉะนั้นเราก็เลย อาชีพมันก็มีความหมาย 1. ในแง่สังคม เป็นเครื่องช่วยหรือใช้ในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ แต่ละอย่างๆ ในสังคมมนุษย์ 2. ในแง่ตัวเรา เป็นแดนของการที่จะมีความสุขและพัฒนาชีวิตของตัวเองนะ เสร็จแล้ว ความสุขเสร็จไปในตัวเลย ไม่ต้องไปรอว่า โอ๋ ทำงานด้วยความทุกข์ แล้วเป็นเงื่อนไข แล้วต่อไป รอเมื่อไรจะได้เงินมา จะได้ไปซื้อสิ่งเสพบริโภค ความสุขรออยู่โน่น ไม่ถึงซักที ฉะนั้นต้องให้ความสุขมันเสร็จไปเลย เวลาทำงานทำการอย่างนี้สบาย ก็นี่คืออาชีพ อันนี้แดนที่ 3 อาชีพ เป็นเรื่องใหญ่ของมนุษย์ ก็เป็นอาชีพที่สุจริต เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ เป็นต้น ท่านก็ให้ล่ะ
แล้วต่อไปแดนที่ 4 อีกแดนหนึ่ง ก็คือมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกัน เป็นชุมชน เป็นสังคม เป็นบ้านเป็นเมือง เป็นประเทศ ในการอยู่ร่วมกันต้องมีกฏเกณฑ์ กติกา กฎเกณฑ์กติกาเหล่านี้ เรียกว่าวินัยนะทางพระ หรือเราเรียกว่ากฎหมายก็แล้วแต่ ก็มีจรรยาบรรณ มีอะไรต่ออะไร สร้างขึ้นมา วินัยนี้เป็นเครื่องเรียกว่าจัดสรรโอกาส เพื่อให้เราที่อยู่ในวงงานชุมชนนั้นน่ะ อยู่ร่วมกันด้วยดี และกิจกรรมของเราที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ของชุมชน หรือของส่วนรวมของสังคมนั้น มันเป็นไปได้ง่ายโดยสะดวก ถ้าเราไม่มีกฎเกณฑ์หรือกติกานี้ มันจะเกิดความวุ่นวาย สับสนอลหม่าน ไอ้กิจกรรมที่จะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนรวม มันไม่เป็นไป เพราะฉะนั้นจึงต้องมีวินัย วินัยไม่ได้แปลว่าเครื่องบังคับ เด๋วนี้เรามาแปลวินัยเป็นบังคับไปหมด วินัยทางพระ แปลว่าเครื่องนำไปให้วิเศษ ก็เป็นเครื่องจัดสรรโอกาส เราจะเดินไปที่ประตูนี่ เก้าอี้เก้าเอ้อ เกะกะไปหมด เดินไปยากเต็มที มันไม่มีวินัย นี้จะทำไง จัดเก้าอี้เก้าเอ้อให้มันเข้าที่ ไอ้ตรงไหนเป็นทางเดิน ก็รู้ว่าเป็นทางเดิน ก็จัดเป็นทางเดิน พอจะเดิน ก็เดินพรวดเดียวถึงประตูเลย ก็สะดวก ทำงานทำการอะไรก็ต้องมีวินัย วินัยก็คือ เป็นเครื่องช่วยให้เกิดโอกาส ในการที่ชุมชนนั้นจะบรรลุวัตถุประสงต์ของตน กิจกรรมที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์นั้น จะได้ดำเนินไปด้วยดี นี่คือวินัย วินัยสร้างขึ้นเพื่ออันนี้ทั้งนั้น ถ้าวินัยไม่สนองวัตถุประสงค์นี้เมือ่ไร ก็เป็นอันว่าวินัยนั้นผิด ก็ประเทศชาติก็เหมือนกัน รัฐธรรมนูญ กฏหมายมีไว้เพื่ออันนี้ เพื่อสนองวัตถุประสงค์ของสังคม แล้วก็ให้กิจกรรมที่สนองวัตถุประสงค์นี้ ดำเนินไปด้วยดี ไม่ติดขัด เพราฉะนั้นศีลก็มาจากวินัย เมื่อเราประพฤติวินัยได้ดี ลงตัวเรียกว่าศีล เอาล่ะเหมือนอย่างกับท่านมาถ่ายภาพนี้ ก็ต้องมีวินัยล่ะ ต้องมีการตั้งกล้อง จัดอะไรต่ออะไรให้เรียบร้อย ไม่อยากนั้นก็การถ่ายภาพ อะไรต่ออะไร ก็ไม่สำเร็จ เราจะมานั่งประชุมกัน ถ้าไม่มีวินัยก็จบกัน อาตมาไม่พูดองค์เดียวล่ะ ถ้าท่านอื่นก็พูดด้วยกัน ว่ากันนัวเนีย ก็เลยหมดกัน ไม่ต้องรู้เรื่องกัน ฉะนั้นวินัยเป็นเครื่องจัดสรรโอกาส ทำให้เกิดโอกาสขึ้น ทำให้กิจกรรมที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ร่วมกันของชุมชนนั้น มันดำเนินไปได้ด้วยดีบรรลุเป้าหมาย อันนี้ก็เลยเป็นเรื่องใหญ่
ตกลงการสัมพันธ์กับโลกภายนอก ท่านเลยจัดสรรไว้ 4 ด้าน 1. เรื่องการรู้จักใช้ตาดู หูฟัง ที่เรียกว่าใช้อินทรีย์ ดูเป็นฟังเป็น เป็นต้น 2. ก็เรื่องการเสพบริโภค เริ่มจากปัจจัย 4 กินเป็น บริโภคเป็น เสพเป็น และก็ 3. เรื่องของอาชีพ ให้อาชีพมันเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ที่แท้จริง อย่างน้อยไม่เบียดเบียนทำร้ายเพื่อนมนุษย์และสังคม ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมเสียหาย และก็ 4. เรื่องของกฎหมายกติกา หลักเกณฑ์ต่างๆ ระเบียบแบบแผนของสังคม ของชุมชนที่เราอยู่ร่วมกัน ก็ 4 อันเนี่ย ทั้งหมดนี้ เป็นด้านหนึ่งที่เรามาใช้ดูมนุษย์ แล้วเราก็เรียกว่าเป็นการฝึกมนุษย์ ในด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งโลกมนุษย์และโลกกายภาพ หรือโลกธรรมชาติ แล้วทั้งโดยผัสสะ การรับรู้ และโดยกรรมหรือพฤติกรรม ทั้งหมดนี้ท่านเรียกว่าศีล เท่านี้เอง ต่อไปถ้าใครเขาถามว่าศีลคืออะไร อย่าไปติดแค่ศีล 5 มันแคบเหลือเกิน ศีล 5 ก็คือเครื่องกำกับระดับหนึ่ง ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ใช่ไหม กติกาสังคม เป็นส่วนหนึ่ง แดนนิดเดียว เพราฉะนั้นศีลของพระ ท่านเริ่มที่นี่ ปฏิสังขาโย กินเสพ กินเพื่ออะไร ใช้ชุดจีวรเพื่ออะไร ต้องตอบได้ เด็กทุกคนในบ้านต้องตอบได้ ดูเป็น ฟังเป็น กินอยู่เป็น การศึกษาเริ่มทันที พัฒนามนุษย์เริ่มทันที คุณธรรมมาทันที มนุษย์พัฒนาทันทีเลย แล้วแนวทางของชีวิต การพัฒนาที่ถูกต้อง เริ่มได้ทันที แต่ถ้าจับอันนี้ไม่ได้นะ มีทางที่คุณธรรมจะหดหาย แล้วบาปอกุศลต่างๆ จะเกิดขึ้นมากมาย เวลานี้สังคมเป็นยังไง แค่นี้ก็พลาดแล้ว เพราะฉะนั้นนี่คือศีล และต่อไปก็ศีล การสัมพันธ์กับโลกภายนอกจะเป็นอย่างไร ก็บอกแล้วว่าต้องมาเจตนา เจตจำนง เจตนาจะเป็นอย่างไร มาจากสุขทุกข์ มาจากคุณธรรมความดีความชั่ว กิเลศ บาป อกุศล กุศล แล้วก็มาจากสมรรถภาพจิต หรือความอ่อนแอของจิต เขามีสมรรถภาพจิตดี เขามีสมาธิ มีความเข้มแข็ง เขาก็ไม่หวั่นไหวง่าย ใช่ไหม มีจิตสงบ เหมือนเด็กเดี๋ยวนี้ มันหวั่นไหวว่อกแว่ก อะไรต่ออะไร ตื่นง่าย มันก็ไปหมดล่ะ มันไม่มีสมาธิ ใจมันไม่อยู่ เพราะฉะนั้นพัฒนาจิตใจ เราก็แบ่งง่ายๆ เป็น 3 อย่าง คือคุณภาพจิต คุณภาพจิตก็คือ คุณธรรม ความดีต่างๆ พวกเมตตากรุณา ความกตัญญูกตเวที มีความเคารพอะไรก็ว่าไป แล้วก็เรื่องสมรรถภาพจิต ความเพียร ความขยัน ความอดทน ความรับผิดชอบ ความมีวินัย ความสามารถบังคับควบคุมตนเอง ความมีสติ ความยั้งคิด การรู้จักใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ การไม่ถลำพลาดในทางเสื่อม การไม่ปล่อยปละละเลย การที่มีสมาธิ ใจตั้งมั่น แน่วแน่มั่นคง สงบได้ อะไรต่างๆ เหล่านี้
แล้วก็เรื่องของแดนที่ 3 สุขภาพจิต สุขภาพจิตก็ความสุข ความร่าเริง ความเบิกบาน ความผ่องใส ความมีปิติปราโมทย์ พระพุทธเจ้าให้ไว้ ท่านเรียกว่าธรรมสมาธิมี 5 ข้อ ต้องสร้างไว้ในทุกคน คนที่จะพัฒนาเนี่ย ถ้าดูที่ง่ายๆ ที่วัดผล ดูด้านจิตคือดูด้านไหนก็ว่าไปเป็นด้านๆ ด้านจิตใจ ให้ดูที่ธรรมสมาธิ 5 ประการ ธรรมสมาธิมันลงท้ายด้วยสมาธิ 1. ปราโมทย์ ความร่าเริงเบิกบานใจ พระพุทธศาสนาถือสำคัญมากเรื่องปราโมทย์ ปราโมทย์เป็นตัวนำไปสู่นิพพาน ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ จะทำทุกข์ให้หมดสิ้น ฉะนั้นต้องจำให้แม่นเลย สร้างเด็กให้มีปราโมทย์ 1. ร่าเริง เบิกบานแจ่มใส นี่คือปราโมทย์ 2. ปิติ มีความอื่มใจ ปลื้มใจ ได้ทำอะไรแล้ว กิจกรรมที่ทำนั้นนำปิติมาให้ได้เสมอ เด็กจะทำกิจกรรมอะไร ทำได้ด้วยความเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ เอ้อเราจะกวาดบ้าน มันดียังไง มันทำให้ที่อยู่สะอาด แล้วเราก็อยู่กันสบาย เรียบร้อย เราจะนั่งจะนอนยังไงก็ได้ เด็กก็เห็นคุณค่า ไปกวาด พอไปกวาด แกก็รู้สึกว่าแกได้ก้าวหน้า ในการทำความสะอาดให้เกิดขี้น แกก็มีปีติอิ่มใจไปเรื่อยๆ นี่ปีติ ต่อไปก็ปัสสถิ ความผ่อนคลาย สงบเย็นกายใจ ไม่เครียด อันนี้ตัวสำคัญเลย ถ้ามีปราโมทย์ ปีติ ทีนี้ไม่เครียด ผ่อนคลาย เป็นปัสสถิ และต่อไปก็สุข มีความสุข มีความสุขก็แช่มชื่นใจ ฉ่ำชื่น เรียกว่าฉ่ำชื่นรื่นใจ นี่คือความสุข ความฉ่ำชื่นรื่นใจ พอมีความสุข แล้วก็มาถึงสมาธิ สมาธิก็ใจก็สงบ ตั้งมั่นแน่วแน่ พระพุทธศาสนาถือว่า ความสุขเป็นบรรทัดฐานของสมาธิ ถ้าไม่มีสุขแล้ว สมาธิจะเกิดขึ้นได้ยากที่สุด เพราะทุกข์นี่เป็นตัวทำให้จิตใจมันเครียด มันกระวนกระวาย มันเร่าร้อน มันพล่าน ฉะนั้นจะเกิดสมาธิแทบไม่ได้เลย คนที่จะเกิดสมาธิต้องทำให้เป็นสุข เพราะฉะนั้นว่าบาลีให้ฟังก็ได้ สุขปทัฏฐาโน สมาธิ สมาธิมีสุขเป็นบรรทัดฐาน พุทธศาสนานี่ เราพูดได้ในแง่หนึ่งว่า เป็นศาสนาแห่งการพัฒนาความสุข พัฒนาจากการที่ไม่มีสุขมีแต่ทุกข์ ไปสู่การที่หมดทุกข์ลงไปๆ ทุกข์เหลือน้อยลง สุขเหลือมากขึ้นด้วย แล้วจะเห็นว่าไอ้สุขนี่มันขยายขอบเขต ขยายมิติ มีทางที่จะเป็นสุขนี้มากมายเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เลย แล้วก็พอสุข เมื่อกี้ยังว่าสุขไม่จบเลยนะ สุขก็เยอะเหลือเกิน ถ้าสุขจากเสพขึ้นต่อเขา ฝากสุขไว้กับสิ่งภายนอก หมดอิสรภาพ พอมีสุขจากเพื่อนมนุษย์ ก็ดีขึ้นล่ะ ไม่ขึ้นกับวัตถุเสพ สุขจากธรรมชาติ ต่อไปสุขจากการปรุงแต่งจิตใจตัวเองได้ พวกนี้เรียกว่าสมถะ ใจของตัวเองเนี่ย ปรุงแต่งให้มีปราโมทย์ได้ ก็เรานั่งอยู่เนี่ย บางคนก็ไปเก็บเอาเรื่องที่กระทบกระทั่งตาหู ไปเห็นคนนั้นพูดไม่ดี เราจำมาแล้ว ก็มานั่งคิดปรุงแต่ง ก็ปรุงแต่งทุกข์ ทีนี้คนปรุงแต่งเป็น เขาปรุงแต่งสุข ปรุงแต่งปราโมทย์ ทำใจให้ร่าเริงแจ่มใสอะไรเนี่ย นี่เรียกว่าความสุขที่ปรุงแต่งสร้างได้เอง
ต่อไปก็ความสุขจากปัญญา รู้เท่าทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย เป็นอิสระ ความสุขที่เป็นอิสระ ไม่ขึ้นกับภายนอกแล้ว ความสุขมันก็เลยมีหลายระดับ แต่ว่าตอนนี้เราเอามาโยงกับเรื่องนี้ ก็เป็นอันว่า ก็เป็นเรื่องที่ว่าแดนของจิตใจนี่ มันสัมพันธ์กันทั้งนั้น ถ้าคนเรามีความสุขถูกต้องเนี่ย คุณธรรมมันก็พัฒนา ถ้ายังต้องทำอะไร เช่นจริยธรรม การประพฤติดี เป็นเรื่องฝืนใจทำใจ มันก็ทุกข์ซิ พอทุกข์แล้ว ไอ้คุณธรรมพัฒนายาก แล้วเวลานี้ จริยธรรมเป็นเรื่องฝืนใจซะเยอะ เพราะจับหลักไม่ถูก จริยธรรมที่แท้ต้องเป็นจริยธรรมที่พัฒนาไปกับความสุข แล้วหลักพระพุทธศาสนาก็ต้องอย่างงั้น ก็เอาล่ะ เป็นอันว่านี่ก็ แค่ศีลสัมพันธ์กับโลกภายนอกก็แบ่งได้เป็น 4 ด้าน แล้วเราพัฒนาให้ครบ แล้วเราก็มาดูด้านเจตจำนงที่ออกมาจากจิตใจ ทั้งคุณภาพจิต สมรรถภาพจิต แล้วก็สุขภาพจิต พอจิตมีความสุข ทีนี้ก็พัฒนาไป ทีนี้ก็พัฒนาไอ้ตัวปัญญาความรู้ ความรู้ก็จะทำให้เรามาปรับแก้พฤติกรรม จิตใจไปเรื่อยๆ ก็เจริญงอกงามไป ปัญญานี่ล่ะ จะทำให้แก้ปัญหาได้หมด ก็เอาล่ะ ก็เด๋วอาตมาจะพูดยืดยาวมาก ตอนนี้ก็ 4 โมงแล้ว ก็ขอรวบรัดเอาว่า สาระสำคัญตอนนี้ สรุปอีกทีว่า กระบวนการพัฒนาคุณธรรมหรือเสริมสร้างคุณธรรมนั้น ต้องประสานไปด้วยกันกับระบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทั้ง 3 ด้าน แล้วมันจะเป็นไปเองโดยธรรมชาติ ทีนี้เมื่อพูดกันอย่างนี้แล้ว ก็ถือว่าได้หลักการแล้ว ในรายละเอียดค่อยไปว่ากันอีกที
แต่ทีนี้ 3 ด้านเนี่ย เวลาวัดผล คนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาท่านเรียกว่าภาวิต ภาวิตนี่มี 4 ด้าน ด้านที่ 1 ก็คือด้านสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม แล้วท่านแยก ตอนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมเนี่ย เวลาวัดผลแยกเป็น 2 ด้าน ตอนที่พัฒนาคนเนี่ยไม่แยก เพราะว่าเวลาเราสัมพันธ์นี่ เราสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้านในด้านหนึ่งในขณะหนึ่ง ในครั้งนึง ในกิจกรรมนึง แล้วก็จิตใจของเรา เจตนาเป็นอย่างไร แล้วปัญญารู้แค่ไหน แต่เวลาเราวัดผล เราแยกได้เลย ฉะนั้นเราแยกละเอียด เวลาพัฒนาเนี่ย กระบวนการของการพัฒนามันมี 3 แต่เวลาวัดผลนี่แยกเป็น 4 คนที่พัฒนา 4 ด้านเนี่ย ก็เรียกว่า ภาวิต ซึ่งเป็นภาวิต 4 ด้านหนึ่งคือ พัมนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ ด้านวัตถุ ด้านเครื่องใช้ไม้สอย การเสพบริโภค การดูหูฟัง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ว่าดูเป็นฟังเป็น กินอยู่เป็นไหม อะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วก็ 2 ภาวิตที่ 2 อ้อภาวิตที่ 1 ท่านเรียกว่า
ภาวิตกาย ภาวิตกายก็แปลว่ามีการ มีพัฒนาทาง ถ้าใช้ศัพท์สมัยใหม่ เรียกว่ามีการพัฒนาทางกาย ดีแล้ว ต่อไปที่ 2 ภาวิตศีล แปลว่ามีศีลที่พัฒนาแล้ว ก็หมายความว่า มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านสังคมหรือโลกเพื่อนมนุษย์ด้วยดี อยู่ร่วมกับเพื่อนมนุษย์ได้ดี รู้จักใช้กริยามารยาท รู้จักพูดจักจาปราศรัยให้ได้ผล เป็นต้น ด้านที่ 2 แล้วต่อไปด้านที่ 3 ภาวิตจิต มีจิตใจที่ได้พัฒนาแล้ว หรือมีพัฒนาการทางจิตใจดีแล้ว ก็คือด้าน Emotion เด๋วนี้เราไปแปลด้าน Mental Development เป็นพัฒนาจิตใจ ขออภัยผิด 100 % ทำไม Mental ของฝรั่งตัวนี้เขาหมายถึง Intellectual แน่นอน ไม่ต้องไปสงสัย หนังสือฝรั่งนี่เวลาเขาแบ่ง 4 นะ Physical Development, Mental Development, Emotional Development แล้วก็ Social Development อันที่ 2 Mental Development บางทีเขาเปลี่ยนใช้ว่า Intellectual Development เพราะว่า Mental กับ Intellectual, Mental ในภาษาอังกฤษ มันเป็นคำกำกวม มันเป็นคำที่คลุมเครือ เพราะฉะนั้นบางคนเขาเลี่ยง เขาไปใช้ Intellectual คือพัฒนาการทางปัญญา พัฒนาการทางกาย พัฒนาการทางปัญญา พัฒนาการทาง Emotion, Emotion นั้นภาษาพระ ไม่แปลว่าอารมณ์ เพราะอารมณ์มันแปลว่า สิ่งที่จิตรับรู้ ตาดูหูฟัง อะไรนั้น เรียกว่าอารมณ์ทั้งนั้น รูปเสียงกลิ่นรส เรียกว่าอารมณ์ Emotion ก็คือสภาวะจิตที่มีโลภ มีโกรธ มีหลง เมตตากรุณา อะไรเป็นต้น มีความรัก ความเกลียด ความกลัว อะไรต่างๆ นี่ Emotion ฝ่าย Positive ฝ่าย Negative ฝ่ายบวก ฝ่ายลบ ก็พัฒนาการด้าน Emotion หรืออารมณ์นั่นล่ะ คือด้านจิตใจ เราไปแปลกันมา ไปทำให้ด้านจิตใจแยกเป็นสอง ยุ่งไปหมด เพราะฉะนั้นพัฒนาการด้านจิตใจด้านอารมณ์ มันต้องย้ำกันซักทีว่า ผิดชัดๆ คือ Mental อย่าไปแปลในกรณีนี้ อย่าไปแปลว่าด้านจิตใจ เพราะฉะนั้นจะบอกว่า ฝรั่งทำไม่ครบ ใช่ไหม ฝรั่งมีแต่พัฒนาการทางกาย พัฒนาการทางจิตใจ พัฒนาการทางอารมณ์ พัฒนาการทางสังคม แหมฝรั่งมันไม่พัฒนาการทางปัญญาเลยนะ แล้วเราเลยต้องมาเติม เรื่องอะไร ฝรั่งเขาเน้นออก แต่ฝรั่งเขาเน้นเรื่อง Intellectual ปัญญาแค่ระดับของเหตุผล ทีนี้ของเรานี่ ปัญญาเราไม่ได้หมายถึงแค่พุทธิปัญญา ปัญญาเรามีหลายระดับ ปัญญาไปถึง พุทธิปัญญา พัฒนาไปเป็นโพธิปัญญา ไอ้โพธิปัญญานั่นล่ะ จึงจะใช้ได้ พุทธิปัญญาก็แค่รู้เหตุผลอยู่ในโลกมนุษย์ได้อย่างดี จะรบกับเขาก็ชนะ เพราะรู้ดีกว่า มีเทคโนโลยีดีกว่า เป็นต้น เอาละทีนี้ ก็เด๋วจะพูดมากไป เด๋วจะขยายไปทุกที ไหน อ้อข้อที่ 4 คือ ภาวิตปัญญา แปลว่าพัฒนาปัญญา ทีนี้ของฝรั่งกับเขาเรานี่ ไม่รู้มันบังเอิญ ไปเกิดไปตรงกันเข้า แต่ของเราว่ามา 2500 ปีแล้ว แต่ไม่เหมือนกันข้อที่ 1 เนี่ย ของฝรั่ง Physical Development เขามุ่งพัฒนาร่างกายสูขภาพ เช่น พลศึกษา แต่ของเราหมายถึงพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ หมายถึงว่าการกินอยู่ บริโภคอาหารเป็นต้น ก็กินเป็น อยู่เป็น กินอาการรู้ว่ากินเพื่ออะไร ต้องมีปัญญา กินให้พอดี รู้จักปริมาณในการบริโภค กินแล้วได้สุขภาพ รู้จักใช้ตาดู หูฟังเป็น ดูทีวี ก็ดูแล้วได้ความรู้ ได้ประโยชน์ ไม่ใช่ได้แต่ความลุ่มหลงมัวเมา นี่แค่นี้ ก็ได้แค่ศีล 2 ข้อต้น คุณพ่อคุณแม่ก็พัฒนาลูกได้ดีแล้ว เป็นอันว่าตอนนี้ก็มีเรื่องของกระบวนการพัฒนามนุษย์เนี่ย 3 ด้าน สัมพันธ์กับ 3 ด้านของชีวิต แล้วก็มาวัดผล 4 ด้าน เป็นภาวิตกาย พัฒนาด้านความสัมพันธ์กายภาพ ภาวิตศีล พัฒนาความสัมพันธ์สิ่งแวดล้อมทางสังคมเพื่อนมนุษย์ และก็ภาวิตจิต พัฒนาด้านจิตใจ ทั้งคุณธรรม คุณภาพจิตใจ ทั้งสมรรถภาพจิตใจและก็สุขภาพจิตใจ แล้วก็พัฒนาภาวิตปัญญา พัฒนาทางปัญญา ความรู้ความเข้าใจทุกระดับ
นี่ก็เอาล่ะ ก็ขอผ่านไป ต่อไปนี้เรื่องหลักขอจบก่อน ต่อไปนี้ขอฝากข้อคิดก่อน ข้อคิดนี้มันก็มีหลายเรื่อง 1. ก็คือเรื่องที่มนุษย์ปัจจุบันในวงวิชาการ ก็จัดเอาเรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องทางสังคม ใช่ไหม ทีนี้ก็ต้องระวัง เดี๋ยวนี้มนุษย์ยุคนี้เขาก็รู้ตัวแล้วว่าเขาเป็นนักแยกส่วน ซึ่งมันทำให้พลาด ทีนี้มาจัดวัฒนธรรมเป็นเรื่องทางสังคม มันก็ทำให้เราบางทีสูญเสียโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ศาสตร์ทั้งหลายเนี่ย เขาจัดมาเป็นมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และก็วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ อันนี้มันก็เพื่อความสะดวกในการเรียนรู้ให้มันลึกให้มันชัด แต่มันจะไปแยกกันเด็ดขาดมันไม่จริงหรอก เพราะสิ่งทั้งหลายในโลกมันไม่ได้แยกอย่างนั้น มันถึงกันหมด สัมพันธ์เป็นอันเดียวกัน ฉะนั้นเราต้องแยกด้วยรู้ตัว แยกไปดูความสัมพันธ์ไป คนที่แยกเป็นนี่ เขาจะดูความสัมพันธ์ตลอด ในพุทธศาสนาจึงเน้นเรื่องความสัมพันธ์ ถ้าคุณแยกแล้วไม่รู้ความสัมพันธ์ ถือว่าผิด พลาดเลย แยกไปรู้ความสัมพันธ์ตลอดนั้น ไม่มีผิด ยิ่งดียิ่งชัดใหญ่เลย แล้วองค์รวมนั้นจะยิ่งชัด เพราะองค์ย่อยมันแยกไป แล้วยิ่งเห็นความสัมพันธ์ในองค์รวมทั้งระบบ ยิ่งสบายเลย ไอ้การแยกกับการโยงไปด้วยกัน แยกส่วนวิเคราะห์กับเรื่องขององค์รวมนี่ เรื่ององค์รวมมันจะประสานสมดุลย์กันเลย มันไม่ได้แยกไปสุดโต่งสองทาง ทีนี้ว่าเราไปเอาวัฒนธรรมเป็นเรื่องทางสังคมเนี่ย ถ้าเราไปตันอยู่อย่างนั้น เราพลาดนะ มนุษย์นั้นไม่สามารถแยกขาดจากธรรมชาติได้ เบื้องหลังตัวเรา เมื่อกี้บอกแล้วว่า คนแต่ละคน ด้านหนึ่งเป็นชีวิต เป็นธรรมชาติ อยู่ใต้กฎธรรมชาติ เป็นไปตามธรรมชาติ อีกด้านหนึ่งเป็นบุคคลอยู่ในสังคม แล้วสังคมนั้นเอง เป็นไปอย่างไรนั้น เบื้องหลังก็มีโลกของธรรมชาติรองรับอยู่ ใช่ไหม ความเป็นไปในสังคมทุกอย่าง ในทึ่สุดแล้วมันเป็นไปตามกระบวนการของเหตุปัจจัยทั้งนั้น ถ้าใครเข้าถึงกระบวนการของเหตุปัจจัยนี้ ที่เป็นของจริงอยู่ในโลกของธรรมชาติ เขาจะเข้าใจสังคมด้วย แล้วเขาจะเข้าถึงความเป็นจริงของสังคมอย่างแท้จริง และมนุษย์ที่เข้าถึงธรรมชาตินี้แห-ล่ะ จะเป็นอิสระจากสังคมได้ มนุษย์ในแต่ละยุคแต่ละบุคคลนี้ เป็นส่วนหนี่งของสังคม ขึ้นกับสังคม แต่มนุษย์ที่ฉลาด เขาจะศึกษาจนเข้าถึงความจริงของธรรรมขาติ มนุษย์ที่เข้าถึงความจริงของธรรรมขาติ ก็จะเป็นอิสระจากสังคมได้ ทุกยุคทุกสมัย และมนุษย์ที่เข้าถึงความจริงของธรรรมขาตินี้ล่ะ จะกลับมาพลิกสังคมใหม่ จะมารู้ว่าไอ้สังคมนี้ มันเดินไปผิดหรือไปถูกทาง แล้วเขาก็จะมาปรับมาแก้ เพราะฉะนั้น มันจะมีมหาบุรุษเกิดขึ้นเป็นยุคๆ ที่จะมาปรับไอ้เรื่องของสังคมนี้ ให้เห็นแนวทางใหม่ ความจริงใหม่ อะไรต่างๆ ที่ถูกต้อง ซึ่งบางคนก็ได้บางส่วน แง่โน่นแง่นี้ มันกลายเป็นนผิด ก็เอาล่ะ ก็คือว่าวัฒนธรรมนั้น ในที่สุดจะต้องประสานโยงมนุษย์ ทั้งบุคคลและสังคมให้เข้าถึงธรรมชาติให้ได้ ถ้าไม่ถึงธรรมชาติแล้ว วัฒนธรรมนั้นจะไม่มีทางเป็นวัฒนธรรมที่สมบูรณ์ แค่เรื่องกินอยู่ ก็เป็นวัฒนธรรมใหญ่ใช่ไหม ถ้ากินอยู่นี่ไม่เข้าถึงธรรมชาติ เราก็แยกไม่เป็นแล้ว อย่างที่อาตมาบอกเมื่อกี้ วัฒนธรรมนั้นดี ในเมื่อมนุษย์ดำเนินชีวิตถูกต้อง วิถีชีวิตของมนุษย์ที่ดำเนินไปอย่างดีงามเป็นไปเพื่อความเจริญ เป็นไปเพื่อสันติสุขของมวลมนุษย์ จึงจะเป็นวัฒนธรรมที่ดี และวัฒนธรรมที่ดี ที่มนุษย์อยู่กันอย่างดีนั้นก็ต้องอยู่ถูกต้องตามหลักการของธรรมชาติด้วย ใช่ไหม มีความสมดุลย์ เป็นต้น เช่น กินเป็นอย่างนี้ อย่างว่าในการกินนั้น เราสนองความต้องการของบุคคลกับสนองความต้องการของชีวิต วัฒนธรรมต้องเข้าถึงชีวิตแล้ว ว่าเอ้อเรากินนี่ เพื่อสนองความต้องการของชีวิตให้ได้ก่อนนนะ เป็นฐานแบบนี้ เป็นต้น นี่ก็แสดงว่าวัฒนธรรมต้องเข้าถึงธรรมชาติด้วย หรืออย่างที่อาตมายกตัวอย่างเมื่อกี้นี้ ในระดับสังคม คือการประกอบอาชีพ บอกว่ามนุษย์ประกอบอาชีพการงาน เราแบ่งแดนการงานกันไปนี่ เราก็จัดสรรแบ่งงานกันไป แล้วเราก็ตั้งกฎกติกาขึ้นมาในสังคมมนุษย์ แม้กระทั่งมีกฏหมาย มีรัฐธรรมนูญว่าทำอันนี้แล้ว ในเวลาเท่านั้น แล้วจะได้ผลอันนี้เช่นว่า มาทำ ยกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นทำสวน 1 เดือน การทำสวนเป็นเหตุ ได้เงินเดือน 5,000 บาท เป็นผล ใช่ไหม บอกว่าใช่ จริงไม่จริง การทำสวนเป็นเหตุ ได้เงิน 5,000 บาท เป็นผล บอกว่าจริง แต่จริงไม่แท้ เป็นจริงสมมุติ จริงโดยการยอมรับร่วมกันของมนุษย์ สมมุติแปลว่าการยอมรับร่วมกันของมนุษย์ คือมนุษย์สองฝ่ายนี้ มาตกลงกัน เอานะ แกมาทำสวน 1 เดือน แล้วฉันให้เงินแก 5,000 บาท แต่ถ้าสมมุตินี่หายไป คือการยอมรับร่วมกันนี่หายไปปั๊ป กฎมนุษย์นี่หายทันที เชื่อไหม พอไม่ยอมรับร่วมกันปั๊ป ทำสวน 1 เดือน 5,000 บาทไม่มาแล้ว ใช่ไหม ฉะนั้นไอ้กฎมนุษย์นี้ นี่คือวัฒนธรรมของมนุษย์ แล้ววัฒนธรรมอันนี้ จะเข้าถึงธรรมชาติได้อย่างไร ง่ายนิดเดียว เบื้องหลังการมีกฎมนุษย์ที่ว่า ทำสวน 1 เดือน ได้เงินเดือน 5,000 บาทนี้ เพราะอะไร เพราะมนุษย์มีความต้องการตามกฎธรรมชาติ คือมนุษย์ต้องการผลอย่างหนึ่ง คือการที่ต้นไม้ในสวนนี้งอกงาม อยากเห็นต้นไม้เจริญเติบโต ใบเขียวขจี ดอกสวยงาม บานสะพรั่งเลยสวนนี้ หญ้าก็สะอาด เรียบน่านอน อะไรงี้นะ ก็นี่เขาอยากจะได้ผลอันนี้ ก็เลยจัดการตามระบบแบ่งงาน ให้มีคนมาทำสวนโดยฉพาะ ไม่ต้องไปห่วงกังวลอื่น ก็แกมาทำสวนหรือคุณมาทำสวนนี่นะ 1 เดือน ตั้งใจทำสวนนี้ให้ดี ให้สวยงาม แล้วฉันจะให้เงิน 5,000 บาท ก็เลยมีกฎ 2 กฎนี้ ซ้อนกันอยู่ 1. กฎมนุษย์ คือการทำสวนเป็นเหตุ การได้เงิน 5,000 บาทเป็นผล แต่ผลที่แท้ คือผลตามกฎธรรมชาติว่า การทำสวนเป็นเหตุ ต้นไม้เจริญงอกงามเป็นผล ใช่หรือเปล่า มนุษย์ต้องการผลตามกฎธรรมชาติ คือต้องการให้สวนต้นไม้ เจริญงอกงาม รื่นรมย์ แล้วมันจะเกิดผลนี้ได้ ต้องทำเหตุ คือการทำสวน เขาจึงจัดระบบตามอารยธรรมของมนุษย์ เรียกว่าตั้งกฎสมมุติขึ้นมาว่าให้คนมาทำสวน 1 เดือน ให้ 5,000 บาท งั้นกฎสมมุติของมนุษย์ เป็นกฎที่ตั้งขึ้น ด้วยความฉลาดของมนุษย์ เพื่อจะสนับสนุนให้ได้ผลตามกฎธรรมชาติ ถ้ากฎธรรมชาตินี้ หายไปเมือ่ไร กฎมนุษย์ทำพิษทันที ทำพิษยังไง คนสวนมาทำงานเพื่อได้เงินเดือน 5,000 บาท อย่างเดียว ไม่ต้องการผลตามกฎธรรมชาติ ไม่ได้รักต้นไม้ ไม่ได้ต้องการให้สวนเจริญงอกงาม ฉันมาทำสวน 1 เดือนแล้ว เงิน 5,000 บาท มา ต้นไม้เป็นไง ฉันไม่เอาใจใส่ ใช่ไหม แล้วเป็นยังไง อย่างนี้แย่ ฉะนั้นมนุษย์ที่ฉลาดต้องพัฒนาคนอย่างถึงธรรมชาติ วัฒนธรรมที่ดี ก็จะถึงธรรมชาตินี้ด้วย อ็อ เราสร้างกฎมนุษย์ขึ้นมา ให้มนุษย์ทำสวน 1 เดือน ได้เงิน 5,000 บาท ที่แท้แล้ว เราต้องสร้างให้เขามีจิตใจรักต้นไม้ รักธรรมชาติมสวนเลย รักความเจริญงอกงาม อยากเห็นสวนร่มรื่นด้วย ถ้าคนสวนนั้นรักผลตามธรรมชาติ รักต้นไม้ รักความรื่นรมย์ อยากเห็นต้นไม้เขียวสดขจี ดอกใบพรั่งพร้อม อะไรอย่างนี้นะ อย่างนี้สบายใจได้ใช่ไหม ก็กฎมนุษย์ที่เป็นกฎสมมุติ ก็มาสนับสนุนกฎธรรมชาติ ตอนนี้ก็ประสานกันไปได้ด้วยดี เพราฉะนั้น จึงบอกว่าวัฒนธรรมต้องโยงมนุษย์ หรือโยงบุคคลและสังคมให้ถึงธรรมชาติ อย่าให้แปลกแยก เวลานี้เป็นปัญหามาก วัฒนธรรมของมนุษย์ อารยธรรมนี่ ได้มาถึงจุดที่มนุษย์แตกแยกจากธรรมชาติ เกิดมีโลกมนุษย์ที่แยกจากโลกธรรมชาติ แล้วมนุษย์จำนวนมากรู้จักแต่โลกมนุษย์ ไม่รู้จักโลกธรรมชาติ และไม่รู้จักที่จะมีความสุขในโลกของธรรมชาติด้วย ฉะนั้นตอนนี้ ถ้าวัฒนธรรมประสานนี้ได้ ประสานบุคคลกับสังคม และเข้าถึงธรรมชาติได้ วัฒนธรรมนั้นก็มีทางที่เจริญงอกงาม และไม่เสียฐาน ฐานไม่เสีย ถ้าพลาดจากธรรมชาติเมื่อไร ลืมธรรมชาติ ก็เสียฐานเลย ก็จะพลาดได้ง่าย เอาล่ะนะ ทีนี้ต่อไป อันที่ 2 แหมข้อคิดแต่ละอัน มันช่างยาวเหลือเกิน
ข้อคิดที่ 2 ข้อคิดที่ 2 ก็เป็นเรื่องที่ว่า อย่าลืมว่า เรื่องของมนุษย์ทุกด้าน รวมทั้งด้านคุณธรรมนี่ ต้องถึงขั้นปัญญา เพราะว่าที่เราจะรู้ว่าอารยธรรมของเรา เช่นการตั้งกฎหมายกติกาขึ้นมา เพื่ออะไรกันแน่ วัตถุประสงค์ที่แท้ มันต้องมีปัญญา จึงรู้ใช่ไหม รู้ว่ากฎสมมุติมีเพื่ออะไร เพื่อหนุนกฎธรรมชาติอย่างไร ต้องมีปัญญา ฉะนั้นจะต้องไปให้ถึงขั้นปัญญา คือย้ำเมื่อกี้นี่เอง ว่ามนุษย์นั้นมี 3 แดน ด้านศีล ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ด้านจิตใจ ที่เราเรียกง่ายๆ ว่า ด้านสมาธิ และก็ด้านปัญญา ความรู้ความเข้าใจ เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมนี่จะต้องให้ถึงขั้นปัญญา แล้วทีนี้ ก็เลยมาถึงข้อคิดที่ 3
ข้อคิดที่ 3 นี่ เรื่องเกี่ยวข้องวกมาหาพระพุทธศาสนาซะที เพราะพูดมานานแล้วไม่ออกชื่อพระพุทธศาสนาโดยตรง ก็ออกบ้างโน่นนิดนี่หน่อย ความจริงที่ว่ามาแล้ว ก็ว่าไปตามหลักพระพุทธศาสนา ทีนี้วัฒนธรรมไทยเรานี่ เราบอกว่าได้เจริญมา โดยอาศัยรากฐานอย่างหนึ่ง ก็คือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็เป็นรากฐานอย่างหนึ่งของสังคม อ๊ะ ของวัฒนธรรมไทย นี้เรามองดูความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมไทยกับพระพุทธศาสนาอย่างไร ตรงนี้ท่านต้องชัด เราก็มองว่าพระพุทธศาสนานี่ โอ้วเห็นว่าพระพุทธศาสนาดี ก็รับเข้ามา แต่พระพุทธศาสนานี่มันเป็นเรื่องใหญ่ มีหลักการมากมาย แล้วก็แถมไม่ใช่วิธีบังคับด้วย ไม่วางกฎกติกาแบบศรัทธา ว่าคุณต้องเชื่ออย่างนี้ คุณต้องทำอย่างนี้ เปิดโอกาส ในทางการศึกษาและในเสรีภาพทางความคิด มันก็เลยทำให้มนุษย์ชาวไทยนี่ ก้าวไปสู่พระพุทธศาสนาตามชอบใจ ก็ก้าวไปๆ พระพุทธศาสนาที่เป็นหลักการใหญ่ ก้าวไปๆ จนถึงบัดนี้ ถ้าดูกันให้ดี ก็คือการที่สังคมไทย ได้พยายามเอาพุทธศาสนามาใช้ประโยชน์ หรือพูดอีกภาษานึงว่า พยายามก้าวเข้าไปในพุทธศาสนา แล้วเราก้าวเข้าไปได้เท่าไร ขอบอกว่าเราก้าวเข้าไปได้ขั้นจิตใจ พุทธศาสนานี่ ถ้าแบ่งตามระบบไตรสิกขาก็ ศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อกี้ 1. ด้านศีลนี่ เราได้พอสมควร ด้านพฤติกรรม อะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วก็ด้านจิตใจ เราได้เกิดวัฒนธรรมน้ำใจ ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่าวัฒนธรรมเมตตา คนไทยนี้มีชื่อในเรื่อง ความยิ้มแย้มแจ่มใส มีน้ำใจเกื้อกูลอะไรต่างๆ อันนี้เราดี นี่ก็คือ เราบอกได้จากเมตตากรุณา ในพระพุทธศาสนาเรียกว่าวัฒนธรรมเมตตา เป็นแดนจิตใจ แต่ว่าด้านปัญญาา อันนี้เราก้าวไปได้น้อย ทั้งๆ ที่ พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญานะ เพราะว่าระบบพระพุทธศาสนา จะสมบูรณ์ต่อเมื่อ ศีล สมาธิ ปัญญา เข้าถึงปัญญา และคำเรียกผู้ตรัสรู้ เรียกว่าพุทธะ พุทธะก็คือผู้รู้ผู้ตื่น ก็คือมีปัญญา แล้วเรียกความตรัสรู้ว่าโพธิ หรือโพธิญาณ ก็คือปัญญา ตรัสรู้ ฉะนั้นตัวที่ทำให้เกิดพระพุทธศาสนานั้นอยู่ที่ปัญญา ทีนี้เมืองไทยเรา วัฒนธรรมไทยเรานี่ ถ้าพูดในแง่บุคคล เราจะมีบุคคลที่อยู่สภาพแวดล้อมใดก็ตาม ที่จะมีบุคคลที่เข้าถึงธรรมชาติ เข้าถึงหลักการพุทธศาสนา ก็จะเป็นเรื่องรายบุคคลไป แต่ในแง่สังคมที่เคลื่อนกันไปขบวนใหญ่นี่ เราก้าวไปได้ทีละน้อยๆ ก้าวกน้าบ้าง ถอยหลังบ้าง อุ้ยอ้ายบ้าง อะไรบ้าง ยิ่งเราอยู่ในภูมิหลังสังคมแบบนี้ สงัคมไทยนี่เป็นสังคม ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ก็คือว่าอยู่ที่นี่ดีแล้ว พรั่งพร้อมแล้ว ไม่ต้องรีบร้อนอะไร เราก็ก้าวไปเอื่อยๆ ไม่ใช่สังคมแบบอเมริกัน สังคมอเมริกันเป็นสังคม Frontier สังคม Frontier ก็คือสังคมที่ รุก ขับ รับศึก รุก ขับ รับ รบ สังคมอเมริกันเป็นสังคม Frontier ความหวังอยู่ข้างหน้า กูฝากเรื่อยไป สังคมไทยบอก ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว อยู่นี่สุขสบายดีแล้ว อย่าไปไหนเลย เพราะฉะนั้นคนไทยก็เรื่อยๆ เฉื่อยๆ เอื่อยๆ เราก้าวไปในพระพุทธศาสนา เราก็ก้าวไปช้าๆ เวลานี้เราก้าวมา โดยรวมแล้ว เราก้าวไปได้แค่ด้านจิตใจ จิตใจดีมาก เป็นสังคมที่หาได้ยาก มีวัฒนธรรม มีเมตตา น้ำใจดี ก็รักษาไว้ แต่วัฒนธรรมด้านปัญญา การแสวงปัญญาความใฝ่รู้นี่ เราอ่อน เรายังพร่อง ซึ่งเป็นตัวพุทธศาสนา เราต้องก้าวต่อไปให้ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ถึงพระพุทธศาสนา จะต้องก้าวไปให้เกิดวัฒนธรรรมทางปัญญา อย่างน้อยวัฒนธรรรมแห่งการแสวงปัญญา แต่ว่าพร้อมกันนั้น อย่างทิ้งวัฒนธรรมแห่งเมตตาด้วย วัฒนธรรมแห่งจิตใจ ด้านเมตตาที่ได้แล้วอย่าทิ้ง เวลานี้เรากำลังจะเสียทั้งสอง ก็คือวัฒนธรรมแห่งเมตตา ด้านจิตใจ เราก็กำลังจะทิ้ง คนไทยโหดร้ายกันมากขึ้น ลูกฆ่าพ่อ พ่อฆ่าลูก ฆ่าแม่ พี่ฆ่าน้อง อะไรฆ่าครู ฆ่าอะไรกัน ย่อยยับหมด วัฒนธรรมแห่งเมตตา ก็จะรักษาไว้ไม่ได้ แล้วก็วัฒนธรรมแห่งปัญญาก็ไม่เอา อย่างนี้ก็เสียทั้งสองด้าน เพราะฉะนั้นจะต้องเอาให้ได้ทั้งคู่ ก็คือต้องรักษาวัฒนธรรมแห่งเมตตา ด้านจิตใจ ก็เอาไว้ ของดีมีแล้ว สองก้าวต่อไป ในวัฒนธรรมแห่งการแสวงปัญญา ถ้าได้อย่างนี้สังคมไทยจะพรั่งพร้อมบริบูรณ์ เพราะสังคมของเขานั้น บางสังคมเขาดี ด้านปัญญาบางอย่าง เช่นปัญญาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ด้านวัตถุ แต่ด้านจิตใจเขาขาด เขาพร่อง ถ้าคนไทยพัฒนาด้านปัญญาด้วย เราจะสมบูรณ์กว่าเขา เอาล่ะก็เป็นอันว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา เป็นศาสนาแห่งการศึกษา เมื่อ่ให้เสรีภาพในทางความคิด คนจะเข้าถึงหลักพุทธศาสนาต้องศึกษา ถ้าไม่ศึกษาหลักพระพุทธศาสนาที่ถือกันมา เล่าสืบกันมาก็เพี๊ยน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธศาสนา แม้แต่เมตตา กรุณาในภาษาไทยนี่ รู้ความหมายกันแบบพี๊ยนๆ ทั้งนั้น ได้เค้าจริงบ้าง ถูกบ้าง แต่ว่าผิดเยอะ เพราะพระพุทธศาสนาจะอยู่ได้ ด้วยการศึกษา ต้องศึกษา อะไรหลักการที่แท้มันเป็นยังไง เพราะฉะนั้นการเพี๊ยนเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะไม่มีตัวข้อบังคับในทางศรัทธาและข้อบังคับในการปฏิบัติ ให้เสรีภาพทางความคิด ก็ต้องอยู่ด้วยการศึกษา เอาล่ะทีนี้ต่อไป เมื่อพุทธศาสนาก้าวมา เอ้ย สังคมไทยก้าวไปในพุทธศาสนาได้แค่จิตใจ เราต้องก้าวต่อไปด้วยปัญญา
ทีนี้ก็มาอีกข้อคิดหนึ่ง ข้อคิดหนึ่งก็คือว่าการที่เราอยู่ในโลกยุคสมัยที่เป็นโลกาภิวัฒน์นี้ เมื่อกี้ได้พูดมาทีนึงแล้ว ตอนนี้จะต้องย้ำว่า ในเมื่อเราอยู่กับเขา แล้วมีสังคม มีวัฒนธรรมที่เจริญ ที่เป็นผู้นำอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราก็อย่าอยู่แค่ไปสุดโต่ง หรือแค่มีปฏิกิริยา สุดโต่ง ปฏิกิริยาก็คือว่า เราจะรักษาของเราไว้ เราต้องปกป้องตัวเอง แล้วก็ต้านเขา ไอ้การต้านนี่ เป็นปฏิกริยาด้วย แล้วเป็นสุดโต่ง สุดโต่งก็คือตามเรื่อยเปื่อย ตามก็ดี ต้านก็ดีเนี่ย เป็นสุดโต่ง เราไม่เอาทั้งตามทั้งต้าน เราจะทำยังไง เราก็ต้องรู้ รู้จักตัวเรา แล้วก็รู้เท่าทันเขา เลือกเอาดีมาปรับปรุงตัวขึ้นไป อันนี้สำคัญ รู้จักตัวเรา รู้เท่าทันเขา เลือกเอาดีมาปรับปรุงตัว ให้ดียิ่งขึ้นไป อันนี้เอาทั้งของตัวเอง ทั้งของคนอื่นไม่ทิ้งเลย เอามาให้หมด เรารู้ทันนะ แกมีมายังไง แกมานั้นส่วนดีอยู่ไหน ส่วนร้ายอยู่ไหน ของอเมริกันหรือของใครก็ตาม ฉันรู้เท่าทันหมด เลือกเอาแต่ที่ดีมาปรับปรุงตัว แค่นี้ไม่พอ ต้องอีกขั้นหนึ่ง ขั้นหนึ่งก็คือ บอกแล้วว่าวัฒนธรรมสังคมทั้งหมดอยู่ร่วมในโลก ที่มีสังคมมากมาย และทุกสังคม แม้กระทั่งบุคคล มนุษย์แต่ละคน มีหน้าที่รับผิดชอบต่อโลกต่อสังคมมนุษย์โดยรวม หรือต่อมนุษยชาติ ฉะนั้นมนุษย์หรือว่าสังคมที่ดี จะต้องก้าวเข้าไปมีส่วนรวมในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์อารยธรรมของโลก ถ้าอารยธรรมมันผิดต้องแก้ไขให้เป็นอารยธรรมที่ถูก ที่นำมนุษย์ไปสู่สู่สันติสุขให้ได้ มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ถ้าให้เก่งจริงต้องเป็นผู้นำเลย ถ้าหากว่าชาติต่างๆ ในโลกนี้ เวลานี้ มันไปผิดทาง อ่ะเดี๋ยวนี้ไปผิดจริงๆ นะ เวลานี้ไม่มีชาติไหนเลย อารยธรรมไหนไปถูก ฉะนั้นมันต้องมีมนุษย์พวกหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง สังคมหนึ่ง ที่เดินทางให้ถูก แล้วไปนำมนุษยชาติ ในการที่จะแก้ปัญหาอารยธรรมของโลกที่เดินทางผิด ให้ไปทางที่ถูก ไปสู่สู่สันติสุขที่แท้จริง เด๋วนี้แค่สันติภาพเขายังทำไมได้เลย แล้วสันติสุขเขาจะเอามาจากไหน สันติภาพนี่เดี๋ยวนี้ เขาเจริญแค่ไหน เขายิ่งทำลายสันติภาพ ยังไม่เห็นความหวัง ฉะนั้นวัฒนธรรมของเรานี่ ในยุคโลกาภิวัฒน์จะต้องเน้นจุดนี้ ก็คือสองข้อท้าย ว่าต้องทำให้ถึงขั้นนี้ให้ได้ คือ 1. รู้จักตัวเรา รู้เท่าทันเขา เลือกเอาดีมาปรับปรุงตัวขึ้นไป และ 2. ต้องมีส่วนร่วมหรือยิ่งกว่านั้น เป็นผู้นำในการแก้ปัญหา และสร้างสรรค์อารยธรรมของมนุษยชาติ วัฒนธรรมไทยต้องไปให้ได้ถึงขั้นนี้ ท่านจะสู้ไหม อ้าว ถ้าเราจะทำให้วัฒนธรรมไทยดีจริง ต้องไปให้ถึงขั้นนี้
แล้วอาตมภาพ ก็จะขอจบที่ตรงนี้ ก็ขออนุโมทนาท่านผู้บริหารงานวัฒนธรรมระดับสูงทุกท่าน อย่างที่กล่าวข้างต้นว่า ที่ได้มาเยี่ยมวัด แล้วก็ได้มานั่งประชุมกัน มาฟังคำบรรยาย ก็คือจะเรียกว่าฟังธรรมนั่นเอง ก็ขอให้ทุกท่าน ซึ่งมีเจตนาดี เป็นกุศล มุ่งหมายเพื่อความเจริญงอกงามของสังคมประเทศชาติ โดยเฉพาะด้านวัฒนธรรมที่เป็นส่วนสำคัญ ในการรังสรรค์สังคมประเทศชาตินี้ เมื่อท่านมีเจตนาดี เป็นบุญเป็นกุศล ก็ขอให้บุญกุศลนี่แหล่ะ ประกอบเข้ากับพระคุณรัตนตรัย อภิบาลรักษาท่าน พร้อมทั้งครอบครัวญาติมิตร เพื่อนร่วมสังคมประเทศชาติและเพื่อนร่วมโลกทั้งหมด เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป ด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญาและกำลังความสามัคคี ที่จะดำเนินชีวิตและกิจการงานทั้งหลาย ให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ทำประโยชน์สุขให้เกิดขึ้น สมตามความมุ่งหมาย มีความร่มเย็นงอกงามในธรรม โดยทั่วกันทุกท่าน ทุกเมื่อเทอญ