แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ยังมีอะไรในแง่ที่ไม่ชัดหรือไม่เข้าใจอีก
“ผมก็มองว่าอย่างวิชาการสมัยใหม่มันก็เป็นอรรถกถาในศตวรรษที่ 20 สมมติว่าอย่างของเมตตานันโท เขาบอกว่าเขาจะปฏิเสธพระมหากัสสปะแล้วอย่างนี้จะเป็นอรรถกถาหรือครับ”
ไม่ ไม่ใช่ หลักการมันมีอยู่อรรถกถานั้นกำหนดด้วยการอธิบายพุทธพจน์ มีพุทธพจน์เป็นหลัก พระไตรปิฎกเป็นหลักและอรรถกถาก็อธิบายพระไตรปิฎกพุทธพจน์นี้
“แล้วที่จะมีนักวิชาการฝรั่งก็จะมาตีความ”
อันนั้นมันก็เป็นวิจารณ์รุ่นหลังแล้ว ที่ว่าตัวเองไม่มีโอกาสไปทันรู้เรื่องเก่าคืออรรถกถาก็ต้องโยงไปบุคคลที่ทันพระพุทธเจ้าเลยนะ
“แล้วนักวิชาการในศตวรรษที่ 20 ที่ไปตีความแบบนี้”
อันนี้คือพวกที่ไปวิจารณ์โดยไปมองอีกชั้นหนึ่ง อรรถกถาก็คือต้องเล็งไปที่พุทธพจน์และคำอธิบายพุทธพจน์นั้น ถ้าเอาอันดับหนึ่งก็ของท่านที่ทันอย่างพระสารีบุตรเป็นต้น ต่อมาลูกศิษย์ก็รักษาอรรถกถานั้นก็จัดเป็นสายชัดเจน อย่างสายวินัยนี่บอกเลยนะตั้งแต่พระอุบาลีมามีลูกศิษย์ชื่อนั้นต่อมาก็พระเถระชื่อนั้น ๆ ๆ ๆ สายวินัยบอกหมดเลยได้ขนาดนี้เลย แล้วเราทำได้มั๊ย ของเราไม่มีสายอะไรเลย
“เพราะที่ผมอ่านอย่างของท่านอาจารย์สมภารนี่นะครับ สมมติว่าบอกว่าตรัสแล้วบรรลุเลยอย่างคาถาเยธัมมาที่พระอัสชิตรัสให้พระสารีบุตรบรรลุธรรมจนเป็นพระโสดาบันแค่ประโยคเดียวนั่นนะครับคือภายใต้สิ่งแวดล้อมนี้เรามาสามารถไปตีความได้เลยใช่มั๊ยว่าแค่เยธัมมาแล้วพระสารีบุตรได้ดวงตาเห็นธรรมนี่นะครับ”
อันนี้เป็นเรื่องของนักวิจารณ์แล้วไม่ใช่เรื่องอรรถกถาเป็นผู้วิจารณ์อรรถกถาอีกทีหนึ่ง เอาว่าเรารู้เรื่องเดิมก่อนอะไรเป็นยังไงคือให้รู้เรื่องว่าข้อมูลความเป็นมาอะไรมันเป็นยังไงต่อไปนี้เรามีความเห็นยังไงก็ว่าไปแยกกันให้ได้ก่อน อย่าเพิ่งเอาความเห็นไปปนทีนี้เราก็ฟังแล้วมีความเห็นในส่วนนั้น ถ้าข้อมูลตรงนี้ยังไม่ชัดมันอาจจะมีข้อมูลอื่นอีกความเห็นของท่านอาจจะเกิดจากการที่ยังเห็นข้อมูลไม่เพียงพอไปเอาข้อมูลมาให้ครบ ให้ดูใหม่ อย่าเพิ่งวิจารณ์ต่อ ดูข้อมูลให้มันแน่นอนก่อน ทีนี้ปัญหาก็คือคนที่มาวิจารณ์กันนี่ไปจับได้ข้อมูลตรงนี้นิดหนึ่ง เอาแล้ว ยังไม่ทันดูให้รอบคอบ ถ้าหากเราจะให้ชัดใช่มั๊ยในเรื่องนี้ท่านพูดว่ายังไงบ้างต้องตามไปเอาให้หมดก่อนถูกไม่ถูก เช่นพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องนี้ว่าอย่างไร ไม่ใช่ไปเจอทีเดียวก็วิจารณ์แล้วก็ไปดูเอามาให้ครบก่อน ใช่มั๊ย ให้ครบแล้วทีนี้เราก็พูดได้ ในพระสูตรนั้นพระไตรปิฎกเล่มนั้นพูดเรื่องนี้ว่าอย่างนี้ในเล่มนั้น หน้านั้น ข้อนั้นพูดไว้อย่างนี้ ๆ มันตรงกันหรือมันไม่ตรงกันมันเสริมกันยังไงก็ว่าไป และก็ความเห็นของเราว่ายังไงก็ว่าไป ทีนี้อย่างน้อยก็ให้ได้ข้อมูลที่แม่นยำครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ใช่แค่แม่นยำนะครบถ้วนสมบูรณ์อีก อันนี้แค่แม่นยำที่เดียวก็ยังไม่แม่นเลย ที่เดียวก็อ้างผิดแล้ว ไม่ต้องพูดถึงครบถ้วนหรอกมันก็ไม่ไหวสิ หนึ่งข้อมูล เฉพาะจุดนั้นก็ไม่ใช่ข้อมูลจริง เสร็จแล้วใช่มั๊ย สอง ข้อมูลในเรื่องนี้ก็ไม่ครบ มันก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นบางครั้งก็ต้องบอกไปว่ามันเป็นการเอาแค่รูปแบบวิชาการคือมันได้รูปแบบ ทีนี้เมื่อใช้รูปแบบทางวิชาการมันกลายเป็นทำให้คนหลง พวกนักอ่านมาเห็นก็บอกว่านี่มันวิชาการ ใช่มั๊ย ก็ทำท่าจะเชื่อที่แท้ข้อมูลก็ไม่ตรงแล้วก็ไม่ครบถ้วนอีก ก็อย่างที่ว่าไปอ่านหนังสือ อย่างอ่านของอาตมาไปวรรคหนึ่งหรือสองวรรค หรือย่อหน้าหนึ่งในหนังสือเล่มหนึ่งพูดอย่างนั้นไว้ อ้าวเจ้าคุณองค์นี้ว่าอย่างนี้ ใช่มั๊ย วิจารณ์ไปเลยทั้ง ๆ ที่เราพูดเรื่องนี้ไว้ตั้งหลายแห่งแล้วก็พูดในแง่มุมต่าง ๆ นี่ล่ะปัญหาวิชาการปัจจุบันเป็นปัญหา เรื่องขั้นที่หนึ่งความแม่นยำในข้อมูล แม่นยำและครบถ้วน ทีนี้อันนี้เราวิจารณ์ได้ อย่างอรรถกถาเราก็ต้องเข้าใจท่าน อย่างที่ว่ายุคนั้นนะมีอย่างนี้และเราก็แยกได้ว่าอรรถกถาเป็นเรื่องสืบต่อนำกันมาและก็ต้องรู้ว่ามันมีความรู้ความเข้าใจ และข้อมูลที่เพิ่มเติมในยุคสมัยด้วย เราก็ต้องสามารถแยกแยะ เราต้องเอามาประกอบ เรามองอรรถกถาว่าเป็นเครื่องประกอบในการศึกษาพระไตรปิฎก เราไม่ได้มองว่านี่คือตัวมาตรฐานใหญ่ เรามองว่าพระไตรปิฎกคือตัวจริง อรรถกถาก็มาช่วยเราในการศึกษาและท่านผ่านเหตุการณ์มาก่อน รวมทั้งนำข้อมูลจากผู้ที่ทันพระพุทธเจ้าด้วย และจะเชื่อไม่เชื่อเราก็ควรศึกษาก่อนใช่มั๊ย อยู่ ๆ มาบอกอรรถกถาเชื่อไม่ได้ ไม่เอา อย่างนี้ก็กลายเป็นทัศนะที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการด้วยซ้ำ ก็เป็นเพียงกระแสขึ้นมาที่ว่าเมื่อกี้ ว่าไม่เอาแล้ว อรรถกถาไม่น่าเชื่อ
“แม้แต่ตัวอภิธรรมก็น่าจะเรียกว่าเป็นอรรถกถามั๊ยครับ ถ้าอย่างนั้น”
ไม่ อภิธรรมก็มีอภิธรรมในพระไตรปิฎก อภิธรรยุคอรรถกถาก็เหมือนกัน ก็พระไตรปิฎกประกอบด้วยพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก ใช่มั๊ย พระอภิธรรมก็มีในพระไตรปิฎกและก็มีอรรถกถาอภิธรรม และก็มาคัมภีร์รุ่นหลัง ฎีกานู้น ฎีกาว่าไป ปกรณ์วิเสส และที่เราเรียนกันนี่ ในเมืองไทยเราเอาเป็นหลักเอาของพระอนุรุทธาจารย์ชื่อ อภิธัมมัตถสังคหะ นี้เป็นรุ่นปกรณ์วิเสสหลังพระพุทธโฆษาจารย์อีกตั้งเยอะตีว่าในราวพ.ศ. 1,500 พระพุทธโฆษาจารย์ท่านยังก่อน พ.ศ. 1,000 นิดหน่อย นี่พระอนุรุทธาจารย์ประมาณ พ.ศ. 1,500 ทีนี้ท่านก็เป็นอาจารย์ใหญ่ที่มีลูกศิษย์เยอะท่านชำนาญท่านก็สอนมาก ท่านก็ปรารถนาดีต่อลูกศิษย์เรียนกันไปแหม มันยากเย็น ท่านก็เอาสาระมาตั้งเป็นระบบขึ้นมาเป็นเค้าโครงขึ้นมา เอามาย่อสรุปให้เพื่อให้เป็นหลัก เอาแต่สาระจริง ๆ แต่งเป็นคาถาเลย เพราะง่ายดี จำง่าย พระก็เลยเอามาสวดศพเลย ง่ายดี ใช่มั๊ย อันนั้นของท่านสาระแท้ ๆ ใช่มั๊ย มีแค่ 20 – 30 หน้าเท่านั้นเอง
“และที่ของอาจารย์ระวี ภาวิไล มาทำให้มันง่ายลงไปอีก ตรงนั้นก็ยังไม่ใช่อรรถกถาอีกใช่มั๊ยครับ”
คือเราต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่าอรรถกถานี้เราใช้ในความหมายระดับไหน ถ้าเรามุ่งว่าเพื่อให้มันเป็นเรื่องเป็นราวต่อมาเราต้องมายุติกันว่าคำว่าอรรถกถามันมีความหมายกว้างขวางจะใช้ยังไงก็ได้ ก็คือถ้อยแถลงที่อธิบายเนื้อความ ถ้าใช้อย่างนี้ความหมายมันกว้าง ในเมื่อประวัติศาสตร์มันเป็นมาอย่างนี้ มันมีเรื่องราวเป็นเนื้อหาสาระแล้ว เราตัองการอย่างนี้ จุดมุ่งหมายของเราอยู่ที่อันนี้ ก็คือว่าต้องการเข้าใจพุทธศาสนาซึ่งมีพระไตรปิฎกเป็นแกนกลาง เอาพุทธพจน์เป็นหลัก และก็มาอธิบายพุทธพจน์เรียกอรรถกถา ตกลงเอาแค่นี้นะว่าอรรถกถาให้ใช้ในความหมายว่าเป็นคำอธิบายพุทธพจน์และต่อมาก็บอกว่า เอาล่ะอรรถกถานี้นำสืบกันมาเป็นภาษาสิงหลในเกาะลังกาจนกระทั้งว่าที่อื่นก็ไม่รู้ด้วยแล้ว พระพุทธโฆษาจารย์มาแปลกลับเป็นภาษาบาลี ยุคนี้เกิดอรรถกถาที่แปลกลับจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลีกันเป็นยุคใหญ่เลย ต่อมาก็ให้ตั้งคำจำกัดความระดับสองบอกว่าอรรถกถาหมายถึงคัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎกที่เกิดขึ้นในยุค พ.ศ. 900 เศษ มีพระพุทธโฆษาจารย์เป็นต้นเค้าหรือต้นแบบในการที่แปลนี้ ยุคนั้นขึ้นเป็นยุคอรรถกถาแล้วให้มีความหมาย อรรถกถาหมายถึงอันนี้ แล้วก็เพราะอรรถกถามีมาแต่เก่า เพื่อให้แยกกันก็เลยเรียกเก่าเป็นโปราณกถาอรรถกถาโบราณ เพราะฉะนั้นอรรถกถาที่พูดกันปัจจุบันก็เลย พอยังไม่มีการแยกแยะก็หมายถึงอรรถกถายุคพระพุทธโฆษาจารย์ อย่างนี้เรียกว่าเราต้องตั้งคำจำกัดความขึ้นมาโดยมีความหมายจำเพาะขึ้นมา
“คือผมมองว่า ปัญหาอย่างที่มาเรื่องประวัติศาสตร์ของตัวคัมภีร์นี้ไม่มีปัญหา ผมยกตัวอย่างนะครับอย่างเราอ่านอรรถกถา สมมติอย่างกรณีพระหาหิยะ พระพาหิยะในตัวพระสูตรก็ไม่มีอะไรท่านก็แค่ตรัสธรรมดาพระพาหิยะก็บรรลุธรรม แต่อรรถกถามันขยายว่าที่พระพาหิยะโดนแม่วัวขวิดนี้เพราะว่าสมัยชาติก่อนนู้น ๆ ๆ ๆ เคยไปรุมโทรมผู้หญิงมาและก็ผู้หญิงคนนั้นต่อมาก็กลายมาเป็นวัวอะไรแบบนี้ ใช่มั๊ยครับ แล้วแบบนี้เราจะไปค้นหาเราจะไปวิเคราะห์ยังไง มันก็จบ”
ไม่ ไม่ เราก็รู้จักสิ เราจะเอาพระไตรปิฎกเป็นหลัก เราต้องการศึกษา เราจะแปลพระไตรปิฎกตรงนี้เราติดขัดคำนี้ ไม่รู้จะแปลว่ายังไงเพราะว่าเก่ากว่าเยอะ ยุคพระไตรปิฎกนั้นแสนจะเก่าแก่ พระอรรถกถาจารย์ท่านก็มาช่วยบอกให้ว่าคำนี้มีความหมายอย่างนี้ ๆ ๆ ๆ นี้คือตัวแท้ตอนที่ท่านอธิบายพระไตรปิฎก ส่วนที่ท่านอธิบายเสริมยกนิทานยกอะไรนั้นเป็นเรื่องของท่านแล้ว อันนั้นท่านต้องรับผิดชอบ อรรถกถาจารย์ เราก็เรียกยุคอรรถกถาที่พระอาจารย์ที่ท่านมาแปลนี้เราเรียกว่าอรรถกถาจารย์ พอพูดถึงอรรถกถาจารย์ก็หมายถึงเรียบเรียงอรรถกถาในยุคพระพุทธโฆษาจารย์เป็นต้นแบบ เข้าใจนะ
“เข้าใจครับ”
และก็นี่ คำอธิบายเราก็ต้องโยงไปที่พระไตรปิฎกว่าอรรถกถานั้นมุ่งเพื่อใช้เป็นเครื่องประกอบการศึกษาพระไตรปิฎก เราก็ดูคำอธิบายพระไตรปิฎกเราก็อ่านพระไตรปิฎกเป็นหลักแล้วก็คำไหน ข้อความไหนเราไม่เข้าใจเราก็มาดู อรรถกถาก็จะบอกเช่นว่า ตั้งขึ้นมาคำหนึ่ง เช่น สุตันติ คำว่าพระสูตรแปลว่าอย่างนี้ ๆ ๆ ๆ ท่านก็อธิบาย เราไม่ทันเลยภาษายุคนั้นเราก็ได้พระอรรถกถาจารย์มาช่วยแปลศัพท์ให้ ผู้ที่จะแปลพระไตรปิฎกก็ต้องอาศัยอรรกถาทั้งนั้น ไม่งั้นไม่มีทางเข้าถึงไม่รู้จะแปลยังไงเลย ทีนี้พอท่านแปลให้อธิบายพระไตรปิฎกให้ท่านก็ เอาละสิ ตอนนี้เป็นความเห็นหรือความรู้ความเข้าใจของท่านแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างนี้ อธิบายกันอย่างนี้ เสร็จ ใช่มั๊ย ท่านก็บอกว่า อ้าว คนนี้ฟังแล้วได้ผลอย่างนี้ บรรลุอย่างนั้นได้ เกิดนิมิตตอนนี้เรื่องของพระอรรถกถาจารย์เองแล้ว และอาจจะเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อกันมาก็ได้ อาจจะเป็นเรื่องที่ท่านคิดขึ้นมาก็ได้ หรืออะไรอย่างนี้ ตอนนี้เราก็แยกสิ เราก็บอกแล้วนี่ อรรถกถามีไว้ศึกษาพระไตรปิฎก
“อันนี้ผมมองว่าถ้าผมเป็นพุทธศาสนิกชนมันไม่มีปัญหาผมอาจใช้ศรัทธาก่อนเพราะผมมีตถาคตโพธิศรัทธาเพราะฉะนั้นผมสามารถแยกว่าอันนี้เป็นเรื่องปลีกย่อย อันนี้เป็นเรื่องหลัก อันนี้เรื่องที่เป็นนิทานแต่สมมติกรณีอย่างพวกนักวิชาการสมมติว่าเขามองอะไรที่เป็นเรียลลิสต์มาก”
ไม่มีปัญหานะถ้ารู้หลักนี้แล้วเขาก็แยกเป็นสิ ก็คุณไม่รู้เรื่องแล้วคุณแยกไม่เป็นเอง ก็คุณก็แยกสิตรงนี้อรรถกถาอธิบายพระไตรปิฎกสิ่งที่เราต้องการแล้วมันนำสืบกันมา ถ้าเป็นตัวนี้อธิบายพระไตรปิฎกเขาต้องรักษากันมาเก่าใช่มั๊ย ส่วนเรื่องคำอธิบายประกอบเรื่องแทรกมีแม้แต่นิทานท้องถิ่นใคร ๆ ไปอ่านก็ต้องรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องในลังกายุคเก่าด้วยแล้วก็ไม่ใช่เรื่องในอินเดียด้วยก็เห็น ๆ อยู่แล้วคุณจะไปแยกไม่ออกคุณก็แย่แล้ว คุณไม่ศึกษา ไม่พิจารณา ไม่แยกแยะเองจะไปเที่ยวตีขลุมเอายังไงเล่าก็บอกคุณศึกษาซะก่อน อย่าเพิ่งพูดก่อนจะพูดศึกษาซะก่อนเราก็จะแยกได้อรรถกถาตอนนี้อธิบายพระไตรปิฎกอย่างนี้ ๆ ๆ ๆ เราก็ได้ความแล้ว แม่แต่พวกที่พูดว่าไม่เชื่ออรรถกถานี่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าตัวเองเอาอรรถกถามาอ้าง เพราะอะไรรู้มั๊ย เพราะว่าหลายท่านนี่ก็ไม่ได้ใช้พระไตรปิฎกบาลีไปใช้พระไตรปิฎกภาษาไทย ทีนี้คนแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทยนี่เขาแปลตามอรรถกถา แล้วคนที่ไปอ้างพระไตรปิฎกบอกว่าฉันเอาแต่พระไตรปิฎกไม่รู้ตัวหรอก ว่าที่ตัวเอาพระไตรปิฎกภาษาไทยมานี่คือเอาอรรถกถานั่นเอง
“ภาษาไทยพระไตรปิฎกนี่ไม่ตรงกับบาลีหรือครับ”
ไม่ คือแปลพระไตรปิฎกแต่แปลไม่ออกไงก็ต้องไปศึกษาอรรถกถา ก็หมายความว่าแปลตามอรรถกถาข้อความนี้พระบาลีพระไตรปิฎกว่าอย่างนี้ไม่รู้จะแปลยังไงก็ไปดูอรรถกถาแล้วก็บอกให้ว่าแปลว่าอย่างนี้ เข้าใจมั๊ย พระไตรปิฎกแปลก็แปลตามอรรถกถา คนที่ไม่เชื่ออรรถกถาแล้วไปอ้างพระไตรปิฎกภาษาไทยไม่รู้ตัวว่าตัวเองอ้างอรรถกถาอยู่เต็มที่เลย นั่นแหละตัวเองใช้อรรถกถาเต็มที่ นี่เพราะการที่ศึกษาไม่เข้าใจมันทำให้เกิดปัญหาเยอะ ก็บอกคุณนะถ้าคุณไม่ศึกษาพระไตรปิฎกบาลีนะแล้วคุณจะไปอ้างว่าคุณไม่เชื่ออรรถกถาแล้วคุณไปอ้างพระไตรปิฎกภาษาไทยนี่คุณพูดเท็จนะ
“ขออนุญาตครับ แล้วอย่างระดับชาวบ้านอย่างพวกเราอย่างนี้นะครับโอกาสที่จะได้ศึกษาที่เป็นหลักธรรมตามพระไตรปิฎกที่แท้จริงน่ะครับมีน้อยมากครับหรือแทบไม่มีเลย”
ยังไงนะ
“คือโอกาสที่ชาวบ้านอย่างพวกผมอย่างนี้นะครับที่ไม่ได้เข้าไปศึกษาในหลักสูตรพุทธศาสตร์บัณฑิตอะไรอย่างนี้โอกาสที่จะได้ศึกษาหลักธรรมในพระไตรปิฎกอย่างแท้จริงมีน้อยมากทีเดียวครับ”
อ้อ ก็ใช่ ถ้าเราเอาจริงนะคือ เราต้องยอมรับความจริงที่สังคมไทยนี่เราห่างเหินละทิ้งเรื่องการศึกษาพุทธพจน์มานานเราก็เลยรู้สึกว่าเรื่องพระไตรปิฎกมันห่างตัว แต่ว่าเมื่อไรเราเริ่มหันมาเอาจริงเอาจังนี่มันจะใกล้ตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วเราจะเข้าใจเองแล้วเราจะใช้เป็นด้วย ตอนนี้เราไม่รู้จักแม้แต่พระไตรปิฎกคืออะไร มีอะไร ยังไง อรรถกถาคืออะไร ก็ว่าไปตามที่เขาว่ากันไป ใช่มั๊ย มันก็เลยเป็นปัญหา
“อาจารย์ครับ ผมขอคำถามสุดท้าย สุดท้ายจริง ๆ ครับ อย่างกรณีของพระวักกลิกับพระฉันนะที่ฆ่าตัวตายที่ปรากฎในพระไตรปิฎกนะครับ และพระสารีบุตรยังสงสัยจนต้องไปถามพระพุทธเจ้า และผมยังงงว่าอย่างกรณีถ้าเป็นนักวิชาการต่างประเทศทำไมพระพุทธเจ้ามารู้วาระจิตของพระฉันนะ พระวักกลิตอนที่เชือดสุดท้ายซึ่งมาเข้ากับอรรถกถาที่อธิบายไว้ว่าตอนที่ลงดาบนี่ยังไม่บรรลุ แต่ตอนขณะที่จิตดับช่วงสุดท้ายบรรลุพระอรหันต์แล้ว พระพุทธเจ้าจึงรับรองว่ากรณีสองเคสนี้เป็นเคสการฆ่าตัวตายที่ไม่ผิด แต่กรณีในเชิงวิชาการอย่างนี้ก็เท่ากับท่านรับรอง อันนี้ผมไม่มีปัญหานะเพราะผมมีศรัทธาในพุทธศาสนาแต่อย่างกรณีถ้าเป็นเชิงวิชาการขึ้นมามันก็จะมีปัญหาตรงนี้ไงครับ”
ไม่มีหรอก อาตมาเอามาใช้อธิบายเยอะเลย บอกว่าพุทธศาสนาสอนนี้ให้เห็นว่ามนุษย์นี้มีโอกาสจะถึงที่สุดถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเลย คือไม่หมดโอกาสเลยเป็นมนุษย์นี่แม้กระทั่งจะตายก็มีโอกาสได้ประโยชน์สูงสุด มันอยู่ที่ว่ามนุษย์มีความสามารถแล้วรู้จักใช้มั๊ย มันก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นหรอกมันก็เป็นธรรมชาติ ธรรมดา เป็นแต่เพียงว่าก็ว่าไปตามธรรมชาติ ตามปกติการฆ่าตัวตายนี้ จิตคนที่ฆ่าตัวตายก็คือมีความหดหู่ใจ มีความท้อแท้ มีความคับแค้น มีความขัดเคือง มีความไม่พอใจอะไรต่ออะไร จิตมันก็ขุ่นมัว เศร้าหมอง วุ่นวาย ว้าวุ่นอะไรอยู่ จิตอย่างนี้เป็นอกุศล พูดโดยทั่วไปแล้วเราก็ต้องบอกอย่างนั้น แล้วฆ่าตัวตายมันเป็นบาป เพราะเวลานั้นจิตมันเป็นอย่างนั้น แต่ทีนี้เราก็พูดแยกแยะไปอย่างในกรณีนี้จิตของเขามันเป็นอย่างนั้นมันเหมือนกับในตอนแรกเขาผิดหวัง เขารู้สึกท้อแท้ใจว่า เราปฏิบัติมาอย่างนี้ก็ไม่สำเร็จ บัดนี้เราก็ทุกข์ เจ็บปวดทรมานเหลือเกิน จะอยู่ไปทำไมตายดีกว่าคงไม่บรรลุแล้ว จิตอย่างนี้ไม่ดี เป็นอกุศล คือจิตแบบคนฆ่าตัวตาย ทีนี้พอเฉือนคอไปแล้วเพราะเหตุที่ตัวเองเคยศึกษาร่ำเรียนมาเยอะได้ฝึกสติ ฝึกอะไรไว้มันเกิดพลิกขึ้นมาเกิดโยนิโสมนสิการ ไปนึกเอาอารมณ์ที่มีความเปลี่ยนแปลงการที่จะตาย เรื่องของทุกขเวทนามาเห็นไตรลักษณ์ชัดขึ้นมาเลย ใช่มั๊ย มันเข้าใจความจริงของชีวิต เข้าใจตามความเป็นจริงของสภาวะธรรมอะไรต่าง ๆ โปร่ง สว่างขึ้นมามันก็พลิกกลับไป จิตมันก็กลายเป็นดีไป ปรินิพพานตายตอนนั้นพอดี ก็เป็นอรหันต์ไป มันก็ธรรมชาติไม่มีอะไรผิดปกติ ใช่มั๊ย
“คือตรงนี้มันเป็นเชิงอธิบายเป็นอรรถกถามาอธิบายตรงนี้ ในตัวพระไตรปิฎกไม่ได้พูด”
ก็นั่นนะสิ เราก็ต้องพูดให้เห็นตามสภาวะหมายความว่าหลักการมันมีอยู่ คือท่านก็ไม่ต้องอธิบายเพราะว่าจิตคนที่ฆ่าตัวตายปกติมันก็เป็นอย่างนั้น ท่านก็ถือว่าเป็นอกุศล เป็นบาป ก็เวลาที่เขายังไม่ตายนี่เกิดจิตเขามีความเปลี่ยนแปลงโดยการที่ปัญญามันนำไปมันไปเข้าใจอะไรต่าง ๆ ขึ้นมาความเข้าใจนี่มันก็เปลี่ยนจิตไป ก็ธรรมดา ก็เป็นหลักการธรรมดา ใช่มั๊ย ปัญญามันเกิดความรู้แจ้งขึ้นมามันก็เปลี่ยนจิต จิตที่หม่นหมอง เศร้าหมองก็หมดไป
“แล้วทำไมกรณีอย่างนี้พระสารีบุตรไม่ทราบล่ะครับ”
อ้าว ก็หมายความว่าความสามารถในการรู้เข้าใจวาระจิตของบุคคลนี้ไม่เท่ากัน อันนี้ท่านยอมรับว่ะพระอรหันต์ก็ยังไม่เท่ากัน พระอรหันต์ทั่วไปก็ตามพระสารีบุตรไม่ทัน พระสารีบุตรก็ยังตามไม่ทันพระพุทธเจ้า อันนั้นเป็นความสามารถในเรื่องปัญญาอีกขั้นหนึ่งที่จะไปรู้หยั่งได้ ไม่งั้นพระสารีบุตรก็เป็นพระพุทธเจ้าแล้วนะสิ เอานะพอไหวมั๊ย เอาล่ะสุขสวัสดี ขออนุโมทนาทุกคนเลย เจริญสุข