แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร บัดนี้คณะบุญจาริกได้เดินทางมาถึงวัดเชตวัน และก็ได้มาทำวัตรสวดมนต์บูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ที่พระคันธกุฎี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่เป็นเวลารวมถึง 19 ปี ในพระเชตวันนี้ แล้วก็ในกรุงที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ชื่อว่าสาวัตถี เมืองสาวัตถีนี้ก็เป็นชื่อในภาษาบาลีเดิม เรียกตามภาษาสันสกฤติว่า เมืองศราวัสตี แต่ชื่อสาวัตถีก็ดี ศราวัสตีก็ดี ก็เป็นชื่อที่เรารื้อฟื้นขึ้นมาในสมัยปัจจุบัน ก่อนที่จะมีการรื้อฟื้นสถานที่สำคัญในทางพุทธศาสนา ชื่อนี้ก็เลือนรางจางหายไปแล้ว คนอินเดียก็ไม่รู้จักเขาเรียกถิ่นนี้ว่าสะเหถ-มะเหถ แล้วก็สถานที่นี้ซึ่งเคยเป็นเมืองใหญ่ เป็นราชธานีของแคว้นที่เป็นมหาอำนาจในสมัยโบราณก็กลับเป็นที่รกร้างเป็นถิ่นกันดารห่างไกล อย่างที่โยมได้เดินทางเมื่อวานนี้ แม้แต่สมัยปัจจุบันนี้หนทางก็เดินทางมาแสนยาก นี่ก็เป็นเรื่องที่ให้เห็นความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งหลาย
คำว่าสาวัตถีนี้ก็มีตำนานว่าที่ได้ตั้งขึ้นมีชื่อว่าสาวัตถีก็เพราะว่า เดิมเป็นที่อยู่ของฤาษีชื่อว่าสวัตถะ อันนี้ก็เป็นตำนานหนึ่ง แต่มีตำนานหนึ่งเล่าว่าพวกพ่อค้ากองเกวียนต่างๆ ที่เราเรียกคาราวาน จะเดินทางมาค้าขายที่นี่เพราะเป็นเมืองใหญ่ และเมื่อมาถึงนี่ละก็มีการไถ่ถามว่ามีของอะไรมาขายบ้าง กองคาราวานก็จะตอบไปบอกว่า มีทุกอย่าง คำว่ามีทุกอย่างนี่ ภาษาบาลีว่า “สพฺพํ อตฺถิ” สพฺพํ นั้นภาษาสันสกฤตก็เป็น สรฺวํ อสฺติ แปลว่ามี หรือ สพฺพํ แปลว่าทุกอย่าง มีทุกอย่าง สรฺวํ อสฺติ หรือ สพฺพํ อตฺถิ และคำว่า สพฺพํ อตฺถิ หรือ สรฺวํ อสฺติ นี้ก็เลยกลายมาเป็นสาวัตถี อันนี้ก็เป็นตำนานเรื่องราวที่เป็นมาในอดีต เป็นประวัติของชื่อเมืองนี้ เมืองสาวัตถีนี้ตามพระคัมภีร์ว่าอยู่ห่างจากเมืองราชคฤห์ 45 โยชน์ ถ้าคิดตามตัวเลขปัจจุบัน โยชน์ละประมาณ 16 กิโลเมตร ก็ได้ 720 กิโลเมตร นี่ก็ว่าไปตามตัวเลขในคัมภีร์ ทางเดินสมัยก่อนก็คงเป็นทางเดินของกองเกวียน ปัจจุบันนี้โยมก็คำนวณเอาเอง เพราะเราก็เดินทางมาตามลำดับ แต่เราจะเห็นว่าการวัดระยะทางนี่เมืองราชคฤห์มักจะเป็นจุดที่เป็นศูนย์กลางในการวัด แสดงว่าเมืองราชคฤห์มีความสำคัญมาก
ทีนี้เมืองสาวัตถีนี้ก็ดังได้กล่าวแล้วว่าเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่นานที่สุดในการบำเพ็ญพุทธกิจนี้ มาประทับที่สาวัตถีถึง 25 พรรษา โดยแบ่งเป็น 2 วัด ประทับที่วัดนี้คือ วัดพระเชตวันนั้น 19 พรรษา แล้วก็ประทับที่วัดบุพพารามของนางวิสาขาอีก 6 ปี อีก 6 พรรษา แต่ที่จริงนั้นยังมีวัดใหญ่วัดสำคัญในเมืองสาวัตถีอีกวัดหนึ่ง คือวัดราชการาม หรือราชิการาม แต่ในคัมภีร์เขาเรียกราชการาม ราชการามนั้นเป็นวัดของพระเจ้าปเสนทิโกศลบุคคลสำคัญมากในเมืองสาวัตถีนี้ ที่มีความคุ้นเคยสนิทสนมเป็นผู้อุปถัมภ์องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ ก็มีนี่แหละพระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี แล้วก็นางวิสาขามหาอุบาสิกา อาจจะเป็นด้วยเหตุที่ในเมืองสาวัตถีนี้มีบุคคลที่มีความคุ้นเคยสนิทสนมใกล้ชิดกับองค์สัมมาสัมพุทธเจ้ามาก ก็เลยเป็นเหตุให้พระองค์เสด็จประทับที่นี่มาก ทั้งที่ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาเบื้องต้นที่เมืองราชคฤห์ แต่กลับมาประทับที่นี่มากที่สุด เพราะเมืองราชคฤห์นั้นต่อมาก็มีเหตุการณ์มีความเปลี่ยนแปลง พระเจ้าแผ่นดินองค์เดิมที่เริ่มต้นในการประกาศพระศาสนามีความสนิทสนมกับพระพุทธเจ้ามาก คือพระเจ้าพิมพิสาร ก็ถูกพระราชโอรสคือ พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์ แล้วต่อมาเรื่องราวในกรุงราชคฤห์ก็คงจะไม่เป็นที่เรียบร้อยดีเท่าไร อันนี้ก็อาจจะเป็นเหตุหนึ่งเมื่อมีเศรษฐี มีมหากษัตริย์ ในเมืองสาวัตถีนี้มีศรัทธามากแล้วก็มีความสนิทสนมคุ้นเคยมาก พระพุทธเจ้าก็เลยเสด็จมาประทับที่นี่มาก
ถ้าเราเทียบกันดูในศาสนกิจ อาตมาก็อยากจะทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธกิจอยู่ทั้งหมด 45 พรรษา พอมามองดูว่าประทับอยู่ที่สาวัตถีถึง 25 แหละ ก็เหลือที่อื่นอยู่ 20 เท่านั้นเอง และ 20 นี่ เอาราชคฤห์ออกเสียอีก 5 คือราชคฤห์นี่ประทับประมาณ 5 พรรษา คือตัวเลขนี้อาจจะมีการขัดแย้งกันบ้าง แต่ว่าตัวเลขในคัมภีร์ที่ยอมรับทั่วไปก็ 5 พรรษา คืออาตมาเคยบอกแล้วว่าพระพุทธเจ้าประทับที่เมืองราชคฤห์ในพรรษาที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 17 และที่ 20 ก็ 5 พรรษา แล้วมาประทับที่สาวัตถีนี่พรรษาแรก คือพรรษาที่ 14 ก่อนนั้นก็เสด็จมาแต่ไม่ได้จำพรรษา มาพรรษาแรกจำพรรษาก็ 14 แล้วก็ข้ามไป 21 ไปถึง 44 เลย 21- 44 ติดต่อกันตลอดเลย ก็ปาเข้าไปเท่าไรแล้ว สาวัตถีกับราชคฤห์ 2 เมืองก็ 30 พรรษาแล้ว 30 พรรษาก็เหลืออีก 15 พรรษา พรรษาแรกก็ที่ อิสิปตนมฤคทายวัน หนึ่งเพื่อประกาศพระพุทธศาสนา พรรษาสุดท้ายก่อนจะปรินิพพานก็ที่ เวฬุวคาม เมืองเวสาลี ก็รวมเป็นอีก 2 แล้ว แล้วก็ไปที่จาลิยบรรพต และนั่นก็นับว่านานที่สุด รองไปจาก 2 เมืองนี้ อีก 3 พรรษา ก็เป็นอีก 5 ก็เข้าไปเท่าไหร่แล้วก็ 35 พรรษาแล้ว ก็เหลืออีกเพียง 10 พรรษา นอกจากนั้นแล้วพระองค์ประทับเฉลี่ยไปแห่งละ 1 พรรษา หลายแห่งก็ไม่ต้องมาลำดับ เพราะว่าสถานการณ์ยาก
อันนี้ก็เป็นการทำให้มองเห็นภาพการดำเนินพุทธกิจของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าประทับที่เมืองนี้มากที่สุด เพราะฉะนั้นพระธรรมเทศนาของพระองค์ก็เกิดขึ้นที่นี่มากมาย อย่างมงคลสูตรที่หลวงพ่อฤาษีท่านกล่าวถึง พระพุทธเจ้าก็ตรัสที่นี่เป็นพระสูตรที่เรารู้จักมากที่สุดพระสูตรหนึ่ง เราสวดกันเรื่อยเลย เวลามีงานมงคลอะไรก็ต้องสวดมงคลสูตรก็เกิดขึ้นที่นี่ แล้วพระสูตรอย่างที่ตรัสแสดงถึงหลักธรรมที่ว่าตัวธรรมะหลักความจริงเป็นธรรมนิยาม เป็นกฎของธรรมชาติ ดำรงอยู่ตามธรรมดาของมันไม่ว่าตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธรรมะก็เป็นอย่างนั้นแต่พระองค์มาค้นพบ แล้วก็นำมาเปิดเผยแสดงชี้แจงทำให้เข้าใจได้ง่าย พระสูตรนี้เราเรียกว่า ธรรมนิยามสูตรหรือในพระไตรปิฎกท่านเรียกว่า อุปปาทสูตร พระสูตรนี้ก็ตรัสที่นี่เหมือนกัน แล้วก็ถึงแม้สูตรอื่นๆ ก็ยังมีอีกมากมายไม่ในเมืองนี้เองก็ในแคว้นนี้ อย่างพระสูตรที่คนรู้จักกันมากชื่อ กาลามสูตร กาลามสูตรนี้ก็ตรัสในแคว้นโกศลนี้แหละ ในเกสปุตตนิคม เยอะแยะไปหมดพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัส
ก็อย่างที่อาตมากล่าวแล้วว่า พระพุทธเจ้าได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ เมืองราชคฤห์เป็นเมืองใหญ่ พระพุทธเจ้าคงจะทรงมองเห็นการณ์ไกลความสัมพันธ์ของเมืองราชคฤห์ จะเห็นว่าเหตุการณ์สำคัญในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มต้นก็ไปประดิษฐานที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ การสังคายนาก็ไปทำที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ แล้วพระเจ้าอโศกมหาราชส่งศาสนทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาก็จะออกจากแคว้นมคธ ตอนนั้นย้ายจากราชคฤห์ไปปาฏลีบุตร ฉะนั้นเรื่องความสำคัญเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในพระพุทธศาสนานี้ ที่เรียกว่าเป็นจุดตั้งต้นครั้งสำคัญๆ นี้ก็ไปจากเมืองหลวงของแคว้นมคธ แต่สาวัตถีกลับเป็นดินแดนที่พระพุทธเจ้าประทับมากที่สุด อันนี้ก็คงจะทรงมองเห็นเรื่องของการทรงแสดงธรรมเพื่อให้มีคำสอนที่จะไปใช้ ไปปฏิบัติ ไปสอนเนี่ย เอาที่นี่เป็นแหล่งในการที่จะได้สั่งสอน แต่ว่าจุดที่เป็นต้นกำเนิดสำคัญๆ ที่จะทำงานในทางพระศาสนา จุดสำคัญในการทำงานของคณะสงฆ์ไปใช้ในราชคฤห์เป็นศูนย์กลาง ฉะนั้นเมือง 2 เมืองนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เราก็ควรจะได้เห็นภาพอันนี้ไว้
ทีนี้อาตมาได้กล่าวบอกว่าที่พระพุทธเจ้าได้ประทับที่นี่มาก เพราะมีบุคคลที่ทรงมีความใกล้ชิดคุ้นเคยมาก อย่างนางวิสาขานี้โยมก็ได้รู้จักมาก ได้ยินชื่อเป็นประจำเลย มหาอุบาสิกา เรื่องของนางวิสาขามามากในพระวินัย มีเรื่องมาในพระวินัยเยอะไปหมดเลย นางวิสาขานี้เป็นต้นเหตุของการบัญญัติอะไรต่างๆ การที่พระสงฆ์ได้มีพวกอาหารฉัน ในชื่อต่างๆ แม้แต่ผ้าอาบน้ำฝนนี่ นางวิสาขาเป็นผู้เริ่มต้นทั้งนั้นเลย แล้วก็นางวิสาขานี้มีบทบาทสำคัญแม้แต่ในเวลาเกิดเหตุการณ์ เช่น มีเรื่องอธิกรณ์เกิดขึ้น อย่างที่เคยเล่าให้โยมฟัง นางภิกษุณีผู้เป็นมารดาของพระกุมารกัสสปะ ได้ตั้งครรภ์มา ปรากฎครรภ์ขึ้นมาได้เกิดเรื่อง แล้วก็โพนทนาว่าเธอทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ เธอบวชเข้ามาแล้วทำไมประพฤติผิดล่วงละเมิดพระวินัยอะไรต่างๆ ก็เกิดเรื่องเกิดราวเอาไปหาพระเทวทัต พระเทวทัตก็ตัดสินให้สึกเพราะว่าบวชเดิมนั้น มารดาพระกุมารกัสสปะนั้นบวชในสำนักพระเทวทัต ทีนี้ก็ไปให้พระเทวทัตวินิจฉัย พระเทวทัตกลัวจะขายหน้าหมู่คณะของตนเองก็บอกให้สึกไปซะ ฝ่ายพระภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะก็มาคิดน้อยใจว่า แหมเรานี้ตั้งใจบวชด้วยศรัทธาอย่างยิ่ง อุตส่าห์เสียสละทรัพย์สมบัติมา เป็นลูกผู้ดีมีเงินทองมากมายสละชีวิตมาบวชในพระศาสนาแล้ว และเราก็ไม่ได้ทำความผิด ทำไมจะมายอมง่ายๆ อย่างนั้น แล้วก็คิดขึ้นมาอีกว่าเราบวชอุทิศพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่ได้บวชอุทิศให้พระเทวทัต พอคิดได้อย่างนี้ก็เลยไปพูดปรึกษานางภิกษุณีช่วยนำเรื่องมาหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทั้งๆ ที่รู้ว่านางภิกษุณีนี้บริสุทธิ์ แต่ก็ต้องทำการให้เป็นไปตามขั้นตอนของพระวินัย ก็ตั้งอย่างที่สมัยนี้ก็เรียกว่าตั้งคณะกรรมการขึ้นมา มีฝ่ายพระมีพระอุบาลีเป็นประธาน และทางฝ่ายอุบาสิกาก็มีนางวิสาขาด้วย มีอนาถกบิณฑิกเศรษฐี มีพระเจ้าปเสนทิโกศลด้วย เพราะนางภิกษุณีรูปนี้เป็นคนบุคคลสำคัญธิดาเศรษฐีใหญ่ ให้พระเจ้าแผ่นดินปเสนทิโกศลก็เป็นกรรมการ แต่นางวิสาขาก็เป็นกรรมการคนสำคัญ นางวิสาขาก็ทำหน้าที่ได้ตรวจสอบตรวจร่างกายนางภิกษุณี แล้วก็ได้สอบถามเพราะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการตั้งครรภ์ ในที่สุดก็ไปชี้แจงที่ประชุม พอประมวลเรื่องราวก็พอวินิจฉัยได้ว่า นางภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะนั้นตั้งครรภ์มาตั้งแต่ก่อนบวชแล้วมีครรภ์ติดมา ก็เลยเป็นอันว่าพ้นจากอธิกรณ์ พ้นคดีไป เป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วก็อยู่มาก็คลอดได้เป็นกุมาร แล้วก็พระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ขอไปเลี้ยง เพราะว่าเสด็จเข้ามาในวัดได้ยินเสียงเด็กร้อง เอ๊ะไม่สมควรจะอยู่ในวัด แล้วก็จะอยู่ลำบาก การเลี้ยงดูเป็นภิกษุณีก็เลี้ยงลำบาก ก็เลยขอไปเลี้ยงในวัง เพราะเหตุที่ว่าไปอยู่ในวังก็เป็นกุมาร คำว่ากุมารนี้ก็เหมือนกับราชกุมารเติบโตขึ้นวัง เปลี่ยนชื่อว่าพระกุมารกัสสปะ ก็ได้เป็นสาวกองค์สำคัญของพระพุทธเจ้า ได้เป็นเอตทัคคะในการแสดงธรรมวิจิตร แล้วมารดาต่อมาก็ได้อาศัยพระกุมารกัสสปะนี้ก็ได้บรรลุอรหัตผลหมือนกัน อันนี้เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นที่พระเชตวันในเมืองสาวัตถีนี้
อาตมาก็เล่านอกเรื่องไป เรื่องในพระเชตวันเรื่องเมืองสาวัตถีนี้มากมายเหลือเกินนี้เป็นเพียงตัวอย่าง แต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงใกล้ชิดมากกับคนในเมืองสาวัตถีนี้ นอกจากนางวิสาขา ก็มีอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง แล้วก็นอกจากอุปถัมภ์พระสงฆ์ แล้วก็อุปถัมภ์คนยากคนจน คนอนาถาทั้งหมด จนกระทั่งได้ชื่อว่าอนาถบิณฑิกะ ตัวจริงชื่อสุทัตตะ แต่เพราะเหตุที่ว่า เป็นคนที่เลี้ยงดูคนอยากคนจนอะไรด้วย ก็เลยเขาเรียกสมญาว่าอนาถบิณฑิกะ อนาถบิณฑิกะแปลว่าผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา หมายความว่าคนอนาถาไม่มีเงินทอง ไม่มีอาหารกินก็ได้พึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐี แล้วก็แม้นองค์พระมหากษัตริย์เอง พระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ก็เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเคารพนับถือในพระพุทธเจ้าอย่างยวดยิ่ง ก็คงจะเทียบคล้ายๆ กับพระเจ้าพิมพิสาร แต่ของพระเจ้าพิมพิสารแคว้นมคธนั้นท่านอายุสั้นกว่า ท่านถูกปลงพระชนม์เสียโดยพระราชโอรส
พระเจ้าปเสนทิโกศลนี้มีความเคารพในพระพุทธเจ้ามาก แล้วก็มีอายุเท่าพระพุทธเจ้าด้วย ก็เรียกว่าเกิดปีเดียวกันเป็นสหชาติ พระเจ้าปเสนทิโกศลนี้ได้เคยแสดงความเคารพในพระพุทธเจ้า ครั้งหนึ่งเคยเข้ามาถึงก็มากอดจูบพระบาทแสดงความเคารพอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า มหาบพิตรทำไมมีอะไรหรือจึงมาแสดงความรักความเคารพอาตมาถึงอย่างนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้กราบทูลว่า พระองค์นี้ทำให้ชนและมหาชนนี้ตั้งอยู่ในกุศล อยู่ในความดี หมายความว่าพระพุทธเจ้านี้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชน แก่ประเทศของพระองค์ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นก็มีความเคารพในส่วนบุคคล ในตัวพระองค์เองก็มีความเคารพรักมีความใกล้ชิดด้วย แล้วก็ได้ตรัสเหตุต่างๆ คือ ข้อที่พระเจ้าปเสนทิโกศลมีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าหลายอย่างหลายประการ คำตรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่แสดงความเคารพพระพุทธเจ้าและเหตุผลต่างๆ ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้านี้ ได้เป็นพระสูตรหนึ่งเลยนะ เจริญพร เรียกว่าพระธรรมเจติยสูตร ธรรมเจติพระพุทธเจ้า เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสจบไปแล้ว พระพุทธเจ้าก็บอกพระสงฆ์ ขอให้สงฆ์จำไว้เรียกข้อความที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลพระองค์นี้ว่าธรรมเจติ
นี่ก็เท่ากับว่า คำว่าสูตรหนึ่งนี้เป็นคำตรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระสูตรนี้ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องเป็นพระพุทธเจ้าตรัสทั้งหมด นี่เห็นตัวอย่างว่านี่เป็นเหมือนกับว่าเป็นคำตรัสของพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งก็เป็นพระสูตรได้เหมือนกัน ธรรมเจติยสูตรนี้ก็เป็นสูตรที่น่าศึกษาเหมือนกัน แสดงให้เห็นถึงสภาพการณ์ของพระศาสนา พระสงฆ์อะไรต่างๆ ซึ่งก็มีการเปรียบเทียบกับลัทธิศาสนาอื่นๆ ไปด้วยในตัวว่า ทำไมจึงทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลมีความเลื่อมใสศรัทธา
นอกจากนั้นบางครั้งพระพุทธเจ้ายังได้ทรงอนุเคราะห์พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นการส่วนพระองค์ คือพระเจ้าปเสนทิโกศลจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นประจำเลย เดี๋ยวก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า เรียกว่าเฝ้าทุกวัน คล้ายๆ มีความรักมากอยากจะคุยด้วย พูดง่ายๆ อย่างภาษาชาวบ้าน อยากจะคุยกับพระพุทธเจ้าทุกวัน เพราะฉะนั้นก็มาเฝ้าเรื่อยเลย ทีนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ทรงเสวยจุ เสวยมาก ก็เลยทรงน้ำหนักมาก น้ำหนักมากก็เลยอุ้ยอ้าย เวลาจะประทับนั่งอะไรต่ออะไรก็ไม่ค่อยสะดวก จะลุกจะเอาอะไรทีนึงก็ไม่ค่อยจะคล่องแคล่ว ทีนี้เวลามาเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสคาถาหนึ่งขึ้นมา ทำนองว่าคล้ายๆ ก็พูดถึงเรื่องนี้ อาตมาก็ไม่ได้ทบทวนนานแล้วคาถานี้ลืมไปแล้ว คือข้อความทำนองว่าถ้าหากว่าเสวยน้อยๆ อะไรพอดีๆ นี้ก็จะทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าอะไรทำนองนั้นทีนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงได้สติ ก็เลยตกลงให้หลานของพระองค์ พระราชนัดดาซึ่งตามเสด็จมาเฝ้าด้วย เรียนคาถาของพระพุทธเจ้านี้ไว้ แล้วเวลาพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสวยครั้งไร พระราชนัดดานี้ก็จะรีบชิงว่าคาถานี้ขึ้นมาก่อนเลย พอพระราชนัดดาว่าคาถานี้ขึ้นมาพระเจ้าปเสนทิโกศลนี้ก็สะดุด พอสะดุดก็เลยทำให้เสวยพอประมาณไม่เสวยมากเกินไปก็ได้ผล
ต่อมาก็ปรากฏว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่าคล่องแคล่วขึ้นมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และครั้งหนึ่งก็ยังได้กราบทูลพระพุทธเจ้า บอกว่า พระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ยอนุเคราะห์หม่อมฉันไม่เฉพาะแต่สัมปรายิกัตถะเท่านั้น แต่ยังสงเคราะห์ทิฏฐธัมมิกัตถะด้วย หมายความว่าอย่างไร คือพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้ข้อปฏิบัติในการปฏิบัติขัดเกลาพัฒนาจิตใจอะไรต่างๆ เป็นสัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ลึกซึ้ง ประโยชน์เบื้องสูง ประโยชน์เบื้องหน้า แต่ไม่เพียงเท่านั้นพระองค์ยังสงเคราะห์ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือประโยชน์ปัจจุบันด้วย ได้แก่ เรื่องของสุขภาพ ร่างกาย เรื่องของความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เรื่องของการมีทรัพย์สินเงินทองอะไรต่างๆ การปฏิบัติต่อทรัพย์ เป็นต้น เรียกว่าประโยชน์ปัจจุบัน ในที่นี้ก็คือเรื่องสุขภาพ อันนี้ก็เป็นเรื่องแสดงให้เห็นตัวอย่างของความสนิทสนมของพระเจ้าปเสนทิโกศลต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นี่แหละในเมืองสาวัตถีเนี่ยมีบุคคลสำคัญที่มีความใกล้ชิดเคารพรักพระพุทธเจ้ามาก แม้แค่ 3 ท่านนี้ก็น่าจะเป็นเหตุเพียงพอแล้วที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงพอพระทัยที่จะประทับอยู่ที่นี่นานๆ อันนี้ก็อาตมาก็เล่าให้ฟังเพื่อจะได้มองเห็นสภาพแวดล้อมของถิ่นที่นี้ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ขอเล่าเลยไปนิดหนึ่งอย่างที่อาตมากล่าวแล้วว่าเมืองสาวัตถีนี้ก็เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ได้พูดให้โยมฟังตั้งแต่ต้นแล้วว่าในสมัยพุทธกาล บรรดาแคว้น 16 แคว้น แคว้นที่ยิ่งใหญ่มีอำนาจมากก็มีแค่ 5 แคว้นหรือ 5 รัฐ 5 ประเทศ คือ 1) มคธ มีราชคฤห์เป็นหลวง 2) โกศล มีสาวัตถีเป็นเมืองหลวง 3) วัชชี ที่พระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพไปกำจัด มีกษัตริย์ลิจฉวี แล้วก็ต่อไปก็โน่นนะทางแคว้นวังสะ เมืองโกสัมพี แล้วก็แคว้นอวันตี มีอุชเชนีเป็นเมืองหลวง ก็มีพวกกามนิต วาสิฏฐี แต่อยู่ไกลออกไปทางตะวันตกโน่น แล้วก็เลยไม่ค่อยมีเรื่องเกี่ยวข้องมากเพราะเป็นเมืองไกล พระพุทธเจ้าก็เคยเสด็จไปแต่ไม่มากไม่บ่อยเท่าทางนี้
ตกลงเมื่อจำกัดให้เหลือแคบเข้าก็ 3 คือเอาอวันตีมีอุชเชนีเป็นเมืองหลวง แล้วก็วังสะมีโกสัมพีเป็นเมืองหลวงออกไปเพราะอยู่ทางตะวันตกไกลออกไป ก็เหลือ 3 แคว้น ก็คือแคว้นมคธ แคว้นโกศล แล้วก็แคว้นวัชชี อาตมาเคยเล่าไปแล้วว่าแคว้นวัชชีนี้ต่อมาก็หมดอำนาจไปเพราะแตกความสามัคคีกัน เพราะวัสสการพราหมณ์ยุแหย่ ฝ่ายโกศลนี้ก็เป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจ แล้วตอนพุทธกาลนี้ก็ผนวกเอาแคว้นกาสีเข้ามาด้วยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลที่ถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินของโกศลเมืองสาวัตถีนี้ บางครั้งก็เรียกว่าเป็นมหาราชาหรือราชาแห่งกาสีและโกศลเลย เรียกผนวกเลย แต่ถึงแม้เรียกโกศลอย่างเดียวก็รวมกาสีด้วยแล้ว กาสีก็มีเมืองพาราณสีเป็นเมืองหลวงแต่หมดอำนาจไป ทีนี้กาสีนี่เมื่อตกเป็นส่วนหนึ่งของโกศลไปแล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลก็จัดการได้ตามชอบใจ สำหรับพระเจ้าปเสนทิโกศลก็มีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้าพิมพิสาร เพราะเป็นพี่เขยของกันและกัน คือน้องสาวพระราชกนิษฐภคินีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ไปเป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร แล้วก็พระราชกนิษฐภคินีของน้องสาวพระเจ้าพิมพิสาร ก็มาเป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล แคว้นทั้ง 2 นี้ ซึ่งแข่งอำนาจกันมาก็เลยหยุดแข่งอำนาจ เพราะว่าเป็นญาติกันมีความใกล้ชิดกันมาก อันนี้ก็อาจจะเป็นโยงใยอันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารมีความสัมพันธ์เลื่อมใสพระพุทธเจ้า การที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะเลื่อมใสก็ง่ายเพราะมีความใกล้ชิดเป็นญาติกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องราวที่อาจจะเป็นประโยชน์ให้โยมได้เห็นภาพบางอย่าง ทีนี้ตอนพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ให้น้องสาวไปแต่งงานกับพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้มอบหมู่บ้านในแคว้นกาสีหมู่บ้านหนึ่งเป็นของขวัญการแต่งงานนั้นให้แก่แคว้นมคธ ให้แก่พระเจ้าพิมพิสาร
ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูซึ่งเป็นเท่ากับเป็นหลานของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา พอปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลในฐานะที่เป็นลุงนี่ มีความโกรธเคืองมากแล้วพระนางโกศลเทวีซึ่งเป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล อาตมาบอกแล้วว่าเป็นน้องสาวของพระเจ้าพิมพิสาร พอพระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระราชบิดา พระนางโกศลเทวีซึ่งเป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็เสียพระทัยมากเป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ สวรรคต คือประชวรมากในที่สุดก็จากไป พระเจ้าปเสนทิโกศลก็โกรธพระเจ้าอชาตศัตรูอย่างยิ่งยกทัพไปรบกัน โอ๊ะ ตอนแรกยังไม่รบกัน ไปยึดเอาหมู่บ้านกาสีที่เคยยกให้คืน ถือว่าไม่มีสิทธิ์ ผู้ฆ่าพ่อไม่มีสิทธิ์ได้ทรัพย์สมบัติของพ่อ แล้วต่อมาก็รบกัน รบกันผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ครั้งสุดท้ายนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลชนะจับเป็นพระเจ้าอชาตศัตรูได้ พอจับเป็นได้ก็ไม่ฆ่าเห็นว่าเป็นหลาน แต่ว่าก็ได้ยอมให้สละราชสมบัติ แล้วต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลคงจะสงสารหรืออย่างไรไม่ทราบสั่งให้กลับไปครองราชสมบัติอีก และยังแถมพระราชทานพระราชธิดาให้ไปด้วยอีก กลับเป็นสัมพันธไมตรีกันอีก มคธและโกศลก็เป็นไมตรีกันจนสิ้นรัชกาล
ตอนปลายรัชกาลนั้นพระเจ้าวิฑูฑภะซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศลยึดอำนาจอีก ยึดอำนาจพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลหนีไปทรงม้า หนีไปอายุ 80 แล้วตอนนั้น ทรงม้าหนีไปโน่นจะไปขอกำลังจากพระเจ้าอชาตศัตรู เป็นพันธมิตรกันแล้วนี่ เป็นหลาน จะไปขอกำลังหลานพระเจ้าอชาตศัตรูมาช่วย ก็ทรงม้าตลอดเวลากลางคืน เหน็ดเหนื่อยมากมีผู้ติดตามไปคนเดียว แล้วไปถึงไม่ทันประตูเมืองปิด ไปถึงตอนค่ำที่เมืองราชคฤห์นั้นพอค่ำเขาปิดประตูเมืองแล้วไม่ว่าใครทั้งนั้นไม่ยอมให้เข้า ก็เลยประทับอยู่นอกเมือง หนาวด้วยและเหน็ดเหนื่อยด้วย ก็เลยสวรรคตที่นอกประตูเมือง พอตอนเช้า ตอนกลางวันข่าวไปถึงพระเจ้าอชาตศัตรู พอทราบก็เลยมาจัดการเรื่องปลงพระศพ เรื่องราวก็เป็นมาอย่างนี้ เจริญพร
ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูนี้ได้ไปกำจัดแคว้นวัชชีสำเร็จ ต่อมาอีกไม่นานก็ได้ผนวกแคว้นโกศลเข้าไปอยู่ใต้อำนาจของมคธ ตกลงวัชชี โกศลหมดเข้าไปอยู่ในแคว้นมคธหมด มคธก็รุ่งเรืองต่อมา เป็นแคว้นเดียวที่ยิ่งใหญ่มหาอำนาจ แล้วก็แผ่อำนาจต่อไปๆ อย่างตอนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชโน่นไปเป็นอุปราชอยู่กรุงอุชเชนีโน่น กรุงอุชเชนีที่ว่าเป็นเมืองหลวงของแคว้นอวันตี พระเจ้าอโศกมหาราชไปเป็นอุปราชอยู่ที่โน่น พอพระราชบิดาพิมพิสารสวรรคต อโศกมหาราชราชกุมารตอนนั้นก็เลยเข้ามาจัดการเข่นฆ่าพี่น้องขึ้นครองราชย์แต่ผู้เดียว อย่างที่อาตมาได้เคยเล่าไปแล้ว แล้วแคว้นมคธก็เลยยิ่งใหญ่ขยายอิทธิพลดินแดนออกไปกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย
อันนี้เป็นเรื่องราวเก่าๆ อาตมาเอามาเล่าไว้โยมจะได้ทราบความเป็นไป แต่ว่ารวมความก็คือว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ชื่อว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลนี้มีความสำคัญกับพระพุทธเจ้ามาก จึงมีพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลนี้เยอะเลย ในพระไตรปิฎกนี้ท่านรวมไว้เป็นหมวดหนึ่งเลย เรียกว่าโกสลสังยุตต์ โกสลสังยุตต์นี้อยู่ในพระไตรปิฎกอยู่ที่เล่มที่ 15 ตอนนั้นทั้งตอนเลยเป็นพระสูตรที่ตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ฉะนั้นบุคคลหนึ่งที่เราไม่ควรจะลืมก็คือพระเจ้าปเสนทิโกศล ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
อาตมาก็เล่าให้โยมฟังเพราะคิดว่าคงจะได้ภาพทั่วๆ ไป ของแว่นแคว้นดินแดนที่เรามานั่งกันอยู่นี้ นี่แหละคือศูนย์กลางแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาสำคัญอย่างยิ่ง พระเชตวันที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ทั้งหมด 19 พรรษา ก็รวมกับที่บุพพารามของนางวิสาขาด้วยอีก 6 ก็รวมเป็น 25 ที่อยู่ในสาวัตถี ส่วนราชการามของพระเจ้า ปเสนทิโกศลนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้แต่เคยเสด็จไปประทับแต่ไม่ได้จำพรรษา ทีนี้ก็พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมได้ตรัสสั่งสอนประชาชนมากมาย รวบรวมเป็นพระธรรมที่ได้จัดเป็นหมวดหมู่ เราเรียนกันมา 84,000 พระธรรมขันธ์ จัดเป็นเล่มพระไตรปิฎกอักษรไทย 45 เล่ม หลังจากที่ได้ทรงสอนธรรมะเป็นเวลายาวนานถึง 45 พรรษาแล้ว ในที่สุดเมื่อจะเสด็จดับขันธ์พระปรินิพพานก็ได้ตรัสวาจาสุดท้ายเรียกว่าปัจฉิมวาจาเพียงสั้นๆ ว่า “วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ” แปลว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวง มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” อันนี้ก็เป็นพุทธพจน์ที่อาตมาได้เคยบอกโยมแล้วว่ามีความสำคัญมาก ถ้ามีโอกาสเราควรจะได้มาสนทนาปราศรัยกัน
บัดนี้เราก็ได้เดินทางมาจนกระทั่งครบพุทธสถานสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง และยังได้ผนวกเอาที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าได้เคยประทับอย่างที่สาวัตถีนี้เข้าไปด้วย ฉะนั้นเราก็ควรจะเอาธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสนี้มาพูดจาสนทนากัน ทีนี้เรื่องความไม่ประมาทนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตัดเฉพาะที่เป็นปัจฉิมวาจา ระหว่างที่พระองค์ได้ประทับอยู่ที่สาวัตถีนี้ ก็เคยตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล คราวนั้นตรัสถึงเรื่องของความเจริญงอกงาม ความมั่นคงของแม้แต่แว่นแคว้นเอง ของฝ่ายรัฐบ้านเมืองเนี่ย การที่บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยพระราชาต้องมี 1) พระกัลยาณมิตร มีมหาอำมาตย์ มีข้าราชบริพารที่มีความสามารถ มีสติปัญญา มีความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม และนอกจากนั้นก็ต้องมีความไม่ประมาท พระองค์ทรงตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลนี้เลยนะเรื่องความไม่ประมาท และในที่อื่นๆ พระองค์ยังตรัสไว้อีกว่า ความไม่ประมาทนั้นเป็นดุจรอยเท้าช้าง คือรอยเท้าสัตว์บกทั้งหลายนี่ไม่มีรอยเท้าใดใหญ่เกินรอยเท้าช้าง ทุกอย่างลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด เหมือนกับธรรมะทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเนี่ยก็ลงในความไม่ประมาทได้ทั้งสิ้น
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงย้ำนักหนาในความไม่ประมาทก็เลยอยากจะเอามาพูดกัน เท่ากับว่า ในแง่หนึ่งเหมือนกับเป็นการสรุปรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วย เพราะบอกแล้วว่าธรรมทุกข้อรวมลงด้วยความไม่ประมาท แล้วก็เรื่องความไม่ประมาทนี้ก็ตรัสที่สาวัตถีนี้บ้างด้วย ขอให้โยมพิจารณาถึงความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ที่เราบอกว่ามีความไม่เที่ยง มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ในเรื่องของความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนี้ก็รวมถึงเรื่องสังคมมนุษย์ด้วย สังคมมนุษย์ของเรา แม้แต่สังคมที่เล็กที่สุดก็คือครอบครัว วงศ์ตระกูล ขยายไปจนกระทั่งถึงชุมชน ถิ่นฐานแว่นแคว้น ประเทศชาติ แล้วก็อารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมด เราจะเห็นว่ามันตกอยู่ในคตินี้คือมีความเจริญแล้วก็เสื่อม เจริญขึ้นแล้วก็เสื่อมไป มันก็เป็นอย่างนี้กันมาเรื่อยตลอดเวลา
ทีนี้ความเจริญความเสื่อมไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นั้น เราก็เห็นได้ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยในความเสื่อมความเจริญเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็คือการกระทำของมนุษย์เอง หมายความว่ามนุษย์นี้เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งในบรรดาเหตุปัจจัยทั้งหลาย แต่ไม่ใช่ทั้งหมดนะ หมายความว่าที่เจริญที่เสื่อมไปนั้นเหตุปัจจัยอย่างอื่นก็มี แต่เหตุปัจจัยอย่างหนึ่งก็คือตัวมนุษย์เอง ได้แก่การกระทำของมนุษย์ การกระทำของมนุษย์นี้เป็นส่วนสำคัญมาก คือ กรรม ที่จะทำให้เกิดความเสื่อมความเจริญ แล้วปัจจัยในส่วนของมนุษย์หรือกรรมของมนุษย์เนี่ยเป็นปัจจัยใหญ่ที่ว่าจะไปจัดการกับเหตุปัจจัยอื่นได้ด้วย คือเหตุปัจจัยในธรรมชาติสิ่งทั้งหลายนี้มันจะเป็นอย่างไรนี้ก็เป็นเพราะมนุษย์ไปจัดไปทำมัน
อย่างเรื่องของธรรมชาติแวดล้อมที่มันเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมทางเจริญ อย่างต้นไม้นี้มนุษย์สามารถไปปลูกก็ได้ จะไปตัดไปโค่นมันก็ได้ ป่าไม้ที่หมดไปนี้มนุษย์ทำลายจำนวนมากมาย ฉะนั้นปัจจัยส่วนมนุษย์นี่มันมีความหมายที่ว่า ไม่เฉพาะการกระทำของตัวเองในส่วนของที่เป็นเรื่องของมนุษย์เองเท่านั้น มนุษย์ยังไปจัดการกับสิ่งอื่นๆ ทั่วไปด้วย เช่น ธรรมชาติแวดล้อม เป็นต้น ฉะนั้นเราจะต้องให้ความสำคัญแก่เหตุปัจจัยในส่วนของมนุษย์
ทีนี้เรามามองว่าสังคมมนุษย์มีความเสื่อมความเจริญ และความเสื่อมความเจริญนี้เป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยที่สำคัญก็คือตัวมนุษย์เอง ตัวมนุษย์เองนี้ทำให้เกิดความเสื่อมความเจริญขึ้น แต่ว่าตัวมนุษย์ที่ทำให้เกิดความเสื่อมความเจริญนั้นเป็นอย่างไร เราก็มามองดูว่าการที่จะเจริญ-เสื่อมนั้นก็อยู่ที่มนุษย์นี้ ในสมัยไหนมีความเข้มแข็ง มีความเอาใจใส่ใช้สติปัญญา เช่นว่ามีความตั้งใจทำงานทำการ มีความเพียรพยายามในสังคม ตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป วงศ์ตระกูลก็เจริญมั่นคง แต่สมัยไหนมนุษย์เป็นคนเกียจคร้าน ไม่มีความเพียรพยายาม มีความหลงมัวเมาเพลิดเพลินในความสุข เป็นต้น สังคมก็มีความเสื่อม เราจะเห็นว่าอารยธรรมต่างๆ ก็จะเป็นแบบนี้
อารยธรรมหลายอารยธรรมนี่สมัยก่อนไม่มีความเจริญเลย อยู่กันลำบากยากแค้น บรรพบุรุษนี้มีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ความเจริญขึ้นมาก็จะเจริญรุ่งเรือง แต่พอเจริญรุ่งเรืองแล้วพอถึงยุคที่มีความสุขสำราญพรั่งพร้อมทุกอย่าง คนในยุคนั้นเริ่มหลงมัวเมาติดเพลินในความสุข ไม่มีขยันหมั่นเพียร ไม่ตั้งใจทำกิจหน้าที่ สังคมก็เสื่อมลงไป เสื่อม-เจริญอย่างนี้สลับกันไป เราก็เลยได้เห็นวงจรสังคมของมนุษย์ เข้าหลักอันหนึ่งที่บอกว่า มนุษย์เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็จะกระตือรือร้นขวนขวาย แต่เมื่อไรมีความสุขสบายก็มีความโน้มเอียงไปในทางที่จะมัวเมาประมาท อันนี้แหละคือปัจจัยของมนุษย์ที่ทำให้เกิดความเจริญ-เสื่อม แต่อันนี้เป็นความเสื่อม-เจริญในฝ่ายของกิเลสของมนุษย์ปุถุชน มนุษย์ปุถุชนมักจะอยู่ในคติของความเสื่อมความเจริญแบบนี้ ก็คือว่า ย้ำอีกทีหนึ่ง “เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็จะกระตือรือร้นดิ้นรนขวนขวาย เมื่อใดมีความสุขสบายก็เพลิดเพลินหลงมัวเมา เพราะมนุษย์ปุถุชนเป็นอย่างนี้ จึงต้องตกอยู่ภายใต้วงจรแห่งความเสื่อมความเจริญ”
ในทางธรรมะท่านจึงสอนให้เราแก้ไขกิเลสนี้เสีย ถ้ามนุษย์ไม่ตกอยู่ในอำนาจกิเลสนี้ เราตระหนักในสิ่งที่ควรจะทำใช้สติปัญญาอยู่เสมอ รู้ว่าอะไรเป็นหน้าที่ อะไรเป็นสิ่งที่ควรทำ อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เสื่อม เราก็แก้ไขป้องกัน อะไรที่จะนำความเจริญมาให้ เราก็ทำ เราไม่มัวผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่มัวปล่อยปละละเลยทอดทิ้งอะไรอย่างนี้ เราก็สามารถสร้างสรรค์รักษาความเจริญไว้ได้ อันนี้คือหลักความไม่ประมาท ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเป็นหลักประกันไว้ว่าถ้าเราไม่ประมาทแล้วนี่ เราไม่จำเป็นจะต้องเสื่อม นี่คือหลักสำคัญ หลักธรรมหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เรียก อปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมะไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ดูแล้วเหมือนกับคัดค้านหลักอนิจจังนะ คือพระพุทธเจ้าตรัสธรรมะไว้เนี่ยให้ดูอยู่ 2 แง่ แง่หนึ่งพระองค์ตรัสบอกว่าสิ่งทั้งหลายมันอนิจจังไม่เที่ยง ต้องเกิดขึ้น เสื่อมไปเป็นธรรมดา นี่เรามองในแง่อนิจจังกฎธรรมชาติ ก็เป็นความจริงอย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้นเราก็จะพูดทำนองว่า สิ่งทั้งหลายก็เป็นธรรมดา มันเสื่อมมันเจริญก็อนิจจัง เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไปเราก็พูดทำนองนี้ แต่เราอย่าลืมนะอันนี้ มีอีกหลักหนึ่งคือหลักความไม่ประมาท ถ้าเราไม่ประมาทแล้วเราจะไม่จำเป็นต้องเสื่อมเจริญเรื่อยๆ ไป แล้ว 2 หลักนี้ที่เป็นปริศนาไว้ให้ชาวพุทธพิจารณา ว่ามันไม่ขัดกันอย่างไร เดี๋ยวจะว่าเอ๊ะ ทำไมพระพุทธเจ้าทำไมตรัสอย่างนี้ ทำให้ดีแล้วไม่มีเสื่อมเลยนะ อ้าว ก็ไม่ขัดกับที่พระองค์ทรงตรัสไว้หรือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจังเกิดขึ้นก็ต้องดับไป 2 หลักนี้ไม่ขัดกันเลยแล้วแถมสนับสนุนกันด้วย อันหนึ่งเป็นกฎธรรมชาติ เป็นคติธรรมดาของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง แต่อีกด้านหนึ่งพระองค์ก็ตรัสว่า ถ้าเราไม่ประมาทเสียแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องเสื่อม
อันนี้เพราะอะไรอาตมาจะขออธิบายสั้นๆ คือความไม่เที่ยงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นั้นเป็นกฎธรรมชาติทั้งสิ้น สิ่งทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ทีนี้เวลาความเปลี่ยนแปลงนั้นมันมาสัมพันธ์กับมนุษย์เนี่ย ความเปลี่ยนแปลงนั้นมันจะมีความหมายเป็นความสุขและความเจริญ โดยที่ว่า ถึงเสื่อมถึงเจริญมันก็เป็นอนิจจังทั้งคู่นั่นแหละ ใช่มั้ย มันจะเป็นการเสื่อมหรือเจริญมันก็คือความไม่เที่ยงต้องเปลี่ยนแปลงไป ตัวอนิจจังไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปนั้น มันยังเป็นกลางๆ มันยังเป็นกฎธรรมชาติ ไม่ดีไม่ชั่ว มันก็เปลี่ยนแปลงไปล่ะ แต่ทีนี้สำหรับมนุษย์นั้นความเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่งเราพอใจเป็นคุณประโยชน์ต่อเรา เราเรียกว่าเป็นความเจริญ ความเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่งที่ไม่เที่ยงแบบหนึ่งนั้น ไม่เป็นที่พอใจแก่เรา เป็นโทษต่อเรา เราเรียกว่าความเสื่อม ที่เราเรียกว่าเจริญหรือเสื่อม ที่จริงก็คืออนิจจังนั่นแหละ เพราะฉะนั้นเสื่อมหรือเจริญนี้ในแง่สังคมมนุษย์เป็นเรื่องสมมุติ แต่ว่าสมมุตินี้แหละสำคัญสำหรับมนุษย์ เมื่อเราชอบสมมุติในสิ่งที่เรียกว่าเจริญ เราก็ให้มันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เจริญสิ เพราะว่ามันก็คือเปลี่ยนแปลงนั่นแหละ เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ใช่ไหม เจริญพร
ไม่ว่ามันจะเปลี่ยนทางไหนมันก็เปลี่ยนแปลงนั่นแหละ แต่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็แล้วแต่เหตุปัจจัยสิ ฉะนั้นเราก็เปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทางที่เราชอบใจเสีย โดยทำเหตุปัจจัยในมันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราเรียกว่าเจริญ แล้วเราก็ป้องกันความเปลี่ยนแปลงที่เราเรียกว่าความเสื่อม เพราะฉะนั้นเราก็สามารถป้องกันความเสื่อมรักษาความเจริญได้ ฉะนั้นหลักธรรม 2 หลักนี้ไม่คัดค้านกันเลย สนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่เรามีความไม่ประมาทสักอย่าง เราสามารถเอาประโยชน์จากอนิจจังได้ นี่สิความสามารถของมนุษย์ ความไม่ประมาทคือหลักที่ทำให้เราสามารถเอาประโยชน์จากอนิจจังได้ อนิจจังเป็นกฎธรรมชาติที่ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันเปลี่ยนแปลงไป แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เราก็ใช้ประโยชน์มันซะเลย เราก็ไปทำเหตุปัจจัยที่จะให้เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญซะ มันก็จะเจริญอยู่เรื่อยไป นี่แหละมนุษย์ต้องใช้สติปัญญาพัฒนา ฉะนั้น 2 หลักนี้ ถ้าใครจับได้ละก็ สามารถทำให้ไม่มีความเสื่อมมีแต่ความเจริญ เรียกว่าใช้ประโยชน์จากอนิจจังได้
ก็ขอย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องความไม่ประมาทอีกทีหนึ่ง เพราะอันนี้แหละคือความไม่ประมาทที่จะทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากอนิจจัง ทีนี้ความไม่ประมาทนี้นั้นแปลว่าอะไร เราก็มาดูตัวความประมาทก่อน ความประมาทนั้นแปลว่า ความขาดสติ ความละเลย ความทอดทิ้ง ความเฉื่อยชา ความไม่กระตือรือร้นขวนขวาย ความผลัดเพี้ยน เอ้อ ไม่เอาเรื่องเอาราว ไม่ไส่ใจ การปล่อยปละละเลย เรียกว่าความประมาท สิ่งที่ควรจะต้องทำ เห็นอยู่ก็ผลัดเพี้ยนไป เอาไว้พรุ่งนี้เถอะค่อยทำ นี่เรียกว่าความประมาท หรือว่ามัวไปเพลิดเพลินมัวเมา หลงในความสุขซะ ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำก็เรียกว่าประมาท ความประมาทนี้สำคัญอย่างยิ่ง ทีนี้ความประมาทนี้จะมีความสำคัญอย่างไร ถ้าประมาทซะอย่าง
1) ก็คือว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าอุตส่าห์สั่งสอนมา 45 พรรษา 84,000 พระธรรมขันธ์ มีในคัมภีร์มากมายเท่าไร เรียนกันไปเท่าไร รู้จำไปได้เท่าไร ประมาทซะอย่างเดียวไม่ได้รับการปฏิบัติ ใช่ไหม เจริญพร เรียกว่าธรรมะมีเท่าไร เรียนมาเท่าไร ก็นอนหลับอยู่ในคัมภีร์หมดเลย ประมาทซะอย่างเดียวนะ ฉะนั้นใครจะมาพูดว่ารู้ธรรมะอย่างนั้นอย่างนี้ เก่งเท่าไร ประมาทอย่างเดียวเขาก็ไม่ปฏิบัติเลย เพราะฉะนั้นความไม่ประมาทจึงรวมธรรมะอื่นหมด ก็เพราะอันนี้ เพราะว่าประมาทซะอย่างเดียวแล้ว ธรรมะทุกอย่างมีเท่าไรก็ไม่มีการปฏิบัติ แต่ถ้าไม่ประมาทก็ตรงข้าม เรียนธรรมะมา 1 ข้อ ก็ได้รับการปฏิบัติ เรียนมา 2 ก็ปฏิบัติ 2 เรียนมา 50 หัวข้อก็ปฏิบัติหมด ฉะนั้นเรียนมารู้เท่าไรก็ได้รับการปฏิบัติหมดเลย ความไม่ประมาทจึงสำคัญอย่างยิ่ง อันนี้ประการที่ 1 นี่นับหนึ่งแล้วนะ เจริญพร ที่ว่าสำคัญนี่ ทำไมมันจึงครอบคลุมเป็นรอยเท้าช้าง เพราะทำให้ธรรมะทุกข้อที่ได้ร่ำเรียน ที่ปฏิบัติ ที่พระพุทธเจ้าสอนนี้ได้รับการปฏิบัติจริง
ต่อไปประการที่ 2 ก็คือว่ามันไปดักข้างหน้าอีกทีหนึ่ง คือคนที่ปฏิบัติธรรมะหรือคนที่ได้สร้างสรรค์ความเจริญอะไรต่างๆ เนี่ย ได้มีความดีงาม ความเจริญมีความสุขเนี่ย พอไปถึงจุดได้ทำความดี ได้ประสบความสำเร็จ มีความสุขเนี่ย นี่คือพวกดีใช่ไหม เจริญพร เราก็นึกว่าดีแล้วอุตส่าห์ปฏิบัติธรรม เป็นคนที่เจริญก้าวหน้ามันจะมาตกหลุมสำคัญคือหลุมความประมาท นี่แหละความไม่ประมาทมันสำคัญตรงนี้แหละ คือคนที่ไม่ดีเราก็พยายามสอนให้เขาทำดี ยังไม่มีความสุขก็พยายามสอนจ้ำจี้จ้ำไชให้สร้างตัวนะ พัฒนาจิตใจ พัฒนาทุกอย่างจะได้มีความสุข ยังไม่มีความสำเร็จก็ให้เขาขยันหมั่นเพียร ก็สอนอุตส่าห์สอนกันมา สอนจนกระทั่งเขามีความสำเร็จ มีความสุข มีความดีจริง แต่พอเขาดี เขามีความสุข เขามีความสำเร็จ เขาก็มาตกหลุมความประมาทอีก
นี่แหละฉะนั้นมันจึงสำคัญมากตรงนี้ ความประมาทเป็นหลุมดักคนดี คนประสบความสำเร็จ และคนมีความสุข ฉะนั้นชาติที่เจริญรุ่งเรืองเดี๋ยวก็มาตกหลุมนี้ แม้แต่พระอริยเจ้า อาตมาเล่าให้ฟังทีแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตร พระโสดาบันปฏิบัติธรรมได้บรรลุคุณธรรมวิเศษเบื้องสูงก็มาภูมิใจว่า แหมเรานี้ได้เพียรพยายามปฏิบัติประสบความสำเร็จได้บรรลุธรรมเบื้องสูงถึงเพียงนี้แล้ว เกิดความภูมิใจและสันโดษขึ้นมานี่ พระพุทธเจ้าตรัสคำนี้เลยนะว่าสันโดษขึ้นมา เกิดความสันโดษพอใจในคุณความดีที่ตนได้บรรลุ ตอนนี้แหละจะทำให้เฉื่อยแล้ว เจริญพร พอใจในคุณธรรมที่ได้บรรลุก็เฉื่อยเลย ใช่ไหม ไม่ขมีขมัน ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย พระพุทธเจ้าตรัสว่านี่ “ปมาทวิหารี เธอผู้อยู่ด้วยความประมาท” หยุดแล้วนี้เสื่อมแล้ว เจริญพร ตราบใดยังไม่เป็นพระอรหันต์อย่าได้นอนใจ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนใจและพระองค์ตรัสไว้ว่า บุคคลผู้เดียวที่จะเป็นผู้ไม่ประมาทก็คือพระอรหันต์ แม้แต่พระอนาคามีก็ยังประมาทได้ นี่เพราะฉะนั้นความไม่ประมาทเนี่ยเป็นหลักธรรมสูงสุดเลยนะ เจริญพร มีพระอรหันต์เท่านั้น ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนนี้จะต้องเร่งกันอยู่เสมอเลย แล้วจะใช้ตัวนี้เป็นเกณฑ์ในการวัด ตัดสินความเสื่อมความเจริญ การพัฒนามนุษย์ เอาเป็นว่านี้เป็นเหตุผลประการที่ 2 แล้ว ที่ว่า คนเราเจริญ-เสื่อม แล้วก็จะมาติดอันนี้
ทีนี้มาพูดถึงเรื่องของคนที่ว่าดี อาตมาก็ยกตัวอย่างแล้ว เช่น พระโสดาบันบรรลุคุณธรรม ความดีเบื้องสูงก็ประมาท เพราะพอใจ หยุด เฉื่อย แต่ทีนี้สุขนะ คนที่มีความสุขก็อาจจะสุขเพราะว่าทำปัจจัยภายนอกได้ประสบความสำเร็จ ได้สร้างสรรค์ทรัพย์สินเงินทอง อย่างคนที่ร่ำรวยขึ้นมา อย่างพ่อแม่เคยยากจนข้นแค้น ถูกทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม ก็เลยกระตือรือร้นขวนขวายเร่งรัดตัวเองจนกระทั่งมั่งมีศรีสุข ทีนี้ตัวเองเพราะว่าเคยขยันมาจนชินเป็นนิสัยก็เลยขยันต่อมา แต่ทีนี้ลูกเกิดมาในท่ามกลางความสุข สบาย ไม่เคยสร้างนิสัยที่ขยันหมั่นเพียรมาก่อน แล้วพ่อแม่ก็ใช้พรหมวิหารไม่ครบ เอาแต่เมตตา กรุณา มุทิตา ไม่ใช้อุเบกขา ไม่ฝึกลูก ไม่หัดให้ลูกรับผิดชอบ ลูกก็เลยเพลิดเพลินหลงมัวเมาในความสุข ตอนนี้แหละเสื่อม มีคนที่สุขแล้วเสื่อม สุขที่มีความพรั่งพร้อมภายนอก ทีนี้สุขที่ 2 คือ สุขภายใน คนที่ปฏิบัติธรรม ได้ประสบแม้แต่ภัยพิบัติ ความพลัดพรากหรือความเสื่อมภายนอก ปรับใจได้ทำใจได้ก็มีความสุข พอปรับใจได้มีความสุขก็สบาย ประมาทได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงว่าดีนะ เจริญพร แม้แต่ปรับใจได้ ทำใจได้นี่ มันมีจุดเสื่อมเหมือนกัน คือเกิดความสบายแล้วก็ไม่กระตือรือร้น ขวนขวาย ปัญหาข้างนอกมีอยู่ไม่แก้ไข เพราะตัวเองสบายแล้วทำใจได้ เป็นอะไรก็เป็นไป เราทำใจได้แล้ว ฉะนั้นก็ไปแพ้คนที่เขาจิตใจไม่สบายมีความทุกข์ คนที่มีความทุกข์กระวนกระวาย ปรับใจไม่ได้ ต้องไปแก้ไขข้างนอกยังดิ้นรนอยู่ ก็แก้ไขปัญหาข้างนอก ก็เสียอย่างคือใจเป็นทุกข์ แต่ว่าสามารถแก้ไขปัญหาภายนอกได้ ก็เลยดีคนละอย่างเสียคนละอย่าง คนที่ปรับใจได้ ทำใจได้ มีความสุขภายใน แต่ปัญหาภายนอกนี้ทิ้งเลยไม่แก้ ก็เสียอีก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเรื่องความไม่ประมาทนี้มาดักไว้ว่า ถ้าหากว่าทำความสุขให้เกิดขึ้นกับตนได้ จะสุขจากปัจจัยภายนอกก็ตาม จากปัจจัยภายในก็ตามเนี่ย จะต้องไม่ประมาท จะต้องไม่หลงติดในความสุขไม่ว่าประการใดๆ ทั้งสิ้น
อันนี้คนจำนวนมากเนี่ยมามีปัญหาเรื่องนี้ อันนี้อาตมาก็เลยโยงมาที่เรื่องที่ตั้งเป็นคำถามเมื่อวานนี้ บอกว่า เอาล่ะอาตมาก็ยกตัวอย่าง เช่น อินเดียกับฝรั่ง บอกว่าคนอินเดียนี่อยู่ง่ายๆ ยังไงก็ได้ อยู่สกปรกรกรุงรังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยก็สบายใจ แล้วก็มีความสุขดีเหมือนกันพอสมควร ก็อย่างน้อยก็ไม่ค่อยเป็นโรคเส้นประสาทอะไร ทีนี้ฝรั่งนี่แก้ไขปัญหาดิ้นรนกระตือรือร้นขวนขวาย อยู่ไม่ได้กับความยากจน อยู่ไม่ได้กับสิ่งของน้อยๆ ต้องสร้างต้องทำขึ้นมา แต่ว่าชีวิตนั้นมีความเครียดมีความกระวนกระวายเป็นโรคเส้นประสาทมาก ก็เลยได้ถามว่าอันนี้เป็นทางเลือก 2 อย่างที่ต้องเลือกเอาอย่างหนึ่ง หรืออย่างไร หรือที่จริงมันเป็นเพียงสุดโต่ง 2 ทาง ที่เราจะต้องแก้ทั้ง 2 ไม่ใช่เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทีนี้ถ้าตอบตามหลักพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นสุดโต่ง ไม่ถูกทั้ง 2 จะต้องแก้ไข จะต้องปรับให้มันพอดี ทีนี้สังคมอินเดียนี่ ถ้าเราพิจารณาในแง่หนึ่ง เพราะการที่ว่าอยู่ง่ายๆ อย่างที่บอกยังไงก็ได้ ไอ้ยังไงก็ได้ก็เลยกลายเป็นอาจจะเป็นมักง่ายไป มันเป็นความโน้มเอียงของจิตใจ พอเราสบายเสียแล้ว เราก็ปล่อยเรื่อยเฉื่อย นี่แหละคือความประมาท อะไรที่ควรทำก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่าความง่าย แม้แต่ความเป็นอยู่เรียบง่ายอะไรเนี่ย มันไม่เป็นตัวตัดสินในตัวเองต้องระวังมาก มันต้องมาควบกับองค์ธรรมข้ออื่นด้วย มันต้องมีวัตถุประสงค์ ถ้ามันมาเฉพาะตัวมัน แล้วมันทำให้เราเกิดความพอใจสบายเสียแล้ว ไอ้ตัวพอใจนี่แหละจะนำไปสู่ความหยุด ความเฉื่อยชา และความประมาท แล้วจะนำไปสู่ความเสื่อม อย่างนี้ก็เรียกว่าปรับใจได้ ก็หมายความว่าเขาพอใจในสิ่งง่ายๆ ในแม้แต่ความที่ไม่ค่อยมีอะไรเขาก็อยู่กันได้ ปรับใจได้ พอใจ สบายมีความสุข แต่ว่าอันนี้คือนำไปสู่ความเกียจคร้าน ความมักง่าย ความเฉื่อยชา และความตกต่ำเหมือนกัน ถ้าเขาพอใจสบาย ไม่ต้องมีอะไรแล้ว เขาก็ไม่ต้องขอสิ นี่เสร็จแล้วทำไมพอใจอยู่สบาย คนมาทีไรแบบมือทุกที อย่างนี้ตัวเองไม่ทำ อย่างนี้ไม่ไหวแล้ว ถ้าพอใจสบายดีแล้วก็อย่ามาขอสิ ใช่ไหม เจริญพร ก็พอแล้ว ฉะนั้นไปๆ มาๆ จะติดเป็นนิสัยเอาง่ายเข้าว่า
ทีนี้คนอีกพวกหนึ่งก็ยังอยู่ในลักษณะปุถุชนเหมือนกัน คือว่าถูกทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคาม ก็กระตือรือร้นขวนขวาย การที่ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามนี่ เราจะสามารถผลักดันให้แรงขึ้นด้วยอำนาจกิเลส เอาโลภะเอาโทสะมาผลักดันนี้ จะทำให้ตัวบีบคั้นในจิตนี้มันแรงขึ้น เอาโลภเอาโกรธมาผลักดันบีบคั้นจิตใจเข้า มันจะดีดดิ้นกันใหญ่เลย มันก็จะเร่งกระตือรือร้นขวนขวายกันใหญ่ คิดว่าปัจจุบันนี้ ที่เรียกว่าระบบแข่งขันนี่ ก็เป็นวิธีของการเอาทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม มาทำให้คนกระตือรือร้นขวนขวาย เพราะระบบแข่งขันนี้จะทำให้คนนี่ต้องตัวใครตัวมัน นานไปก็พึ่งกันไม่ได้ เราจะต้องให้เดินหน้าชนะเขา ต้องเลยหน้าคนอื่นนะ ถ้าหากว่าไม่รีบเร่งขวนขวายไม่กระตือรือร้น ตายไม่มีใครช่วยเหลือ ฉะนั้นก็เอาสภาพสังคมนี้เอาระบบมาบีบคั้นคน ก็เป็นระบบของการที่ใช้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม แต่มันกลายเป็นระบบสังคมไปเลย เป็นอาตมาใช้คำว่าเป็นระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ คือทำให้มันคนสร้างมันขึ้นมา ให้คนที่อยู่ในสังคมนี้ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามตลอดเวลา ฉะนั้นสังคมที่ใช้พรหมวิหารไม่มีดุลยภาพ จึงบอกว่าคนมีเมตตา กรุณา มุทิตา ช่วยเหลือกันมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดี คนที่อยู่ในสังคมแบบนี้ ถ้าเอียงสุดไปก็จะกลายเป็นคนที่ว่าหวังพึ่งกันได้ง่าย ก็ทำให้ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย ก็โน้มไปในทางที่จะตกอยู่ในความประมาท
ฉะนั้นธรรมะนี่แหมเป็นเรื่องที่ต้องระวัง นี่แหละตัวไม่ประมาทคือตัวสติ ความไม่ประมาทนั้นท่านแปลว่าความไม่อยู่ปราศจากสติ คือเป็นอยู่ไม่ปราศจากสติเลย สติมันเป็นตัวคอยตรวจสอบ สติคืออะไร คือความระลึกคอยนึก คอยนึกคอยระลึก มีอะไรเกิดขึ้นเป็นไป มันจะทำให้เกิดผลกระทบในทางที่เสียหาย ไม่ดีไม่งาม ทำให้เกิดความเสื่อม ก็ต้องรีบจับเอามาแก้ไขป้องกัน อะไรที่จะทำให้เกิดความดีงามความเจริญก็รีบเอามาปฏิบัติ สติมันจะคอยตรวจอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเราจะไม่เพลี่ยงพล้ำเพราะสตินี้คอยตรวจคอยตราไว้แล้วก็ไม่ประมาท ทีนี้ถ้าเราไม่ใช้สตินี่ เราอาจจะพลาดอยู่เรื่อยเลย พอมีความสุขสบายก็หลงเพลิดเพลินอย่างที่ว่า นี่ก็เป็นอย่างนี้ในสังคมที่มีน้ำใจช่วยเหลือกันมากเกินไป จนกระทั่งไม่เอาหลักเอาเกณฑ์ ก็จะทำให้คนนี่หวังพึ่งผู้อื่น คนบางคนนี้จะมัวแต่หวังพึ่งคนอื่น คอยรับความช่วยเหลือในที่สุดก็ไม่กระตือรือร้น ขวนขวาย เสร็จแล้วก็ทำให้เกิดความเสื่อม ฉะนั้นในแง่หนึ่งอีกสังคมมันกลับกลายเป็นเจริญ เพราะว่าแต่ละคนไม่ช่วยเหลือกันเลย ก็บีบคั้นว่าใครไม่ดิ้นรนแล้วก็ตาย อยู่ไม่รอด ฉะนั้นก็ต้องช่วยตัวเองสิ ไม่มีใครเอาด้วยหรอกตัวใครตัวมัน ดิ้นรนขวนขวายไปมันก็เจริญก็ดีไปอย่างแต่ว่ามันไม่สมดุล แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์นี้เป็นระบบกิเลส เมื่อเป็นระบบกิเลสเนี่ยมันไม่มองเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสรรค์ความดีงาม มันเอาตัวแค่ว่า คือหมายความว่าที่ดิ้นรนนั้นเพื่อปกป้องตัวเอง เพื่อเอาตัวรอด และเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ดิ้นรนขวนขวายไป แต่ว่าด้วยอำนาจกิเลสมุ่งเพื่อปกป้องตัวเอง มุ่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่คำนึงถึงเหตุปัจจัยที่จะเป็นไปเพื่อความดีงามและความเจริญ ความสุขที่แท้จริงของชีวิตและสังคม ฉะนั้นก็ไม่ใช่เป็นประโยชน์ที่แท้จริง
พระพุทธศาสนาจึงไม่ยอมรับความไม่ประมาทแบบนี้ ความไม่ประมาทที่เกิดจากการใช้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามตามประสาปุถุชน ตลอดจนเอากิเลสมาช่วยเป็นตัวเร่งรัดแบบนี้ ไม่ใช่ความประมาทที่แท้ แต่เป็นความประมาทเทียม พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับ ถ้ามนุษย์ใช้ความไม่ประมาทเทียมแบบนี้แล้ว เขาจะต้องตกอยู่ในวงจรแห่งความเสื่อมความเจริญเรื่อยไป เพราะอะไร เพราะพอเขาดิ้นรนขวนขวายเจริญขึ้นมาได้ เขาก็เพลิดเพลินในความสุขก็มัวเมา พอมัวเมาเขาก็เสื่อม ถ้ามนุษย์อยู่ใต้อำนาจระบบแบบนี้แล้ว วงจรแห่งความเสื่อมความเจริญก็มีเรื่อยไป แล้วก็จะไม่สามารถเข้าถึงความเจริญแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ให้มีแต่ความเจริญไม่เสื่อม ก็คือต้องใช้ความไม่ประมาท
ทีนี้การที่เราจะรักษาชีวิตและสังคมให้เจริญงอกงาม ต้องใช้ความไม่ประมาทที่แท้ ความไม่ประมาทที่แท้นั้นก็คือ ตัวสติและปัญญา ไม่ต้องรอให้ทุกข์มาบีบคั้น ไม่ต้องรอให้ภัยมาคุกคามแล้วจึงลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวาย แต่เอาสติปัญญานี้แหละมาเป็นตัวบอก อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าสตินี้มันทำหน้าที่ยังไง มันคอยนึกคอยระลึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา สตินี้เป็นตัวตื่นนะ “สติ โลกสฺมิ ชาคโร สติเป็นธรรมเครื่องตื่นในโลก” ถ้าใครมีสติแล้วไม่หลับใหล ไม่หลงใหล ทั้งไม่หลับไหลและไม่หลงไหลตื่นตัวอยู่เสมอ ตื่นตัวอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นเป็นไปก็คอยนึกคอยระลึก ทีนี้เราอยู่ในสังคมเดี๋ยวนี้ ชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับอะไรๆ มันจะมีผลกระทบต่อความดีงามความเจริญความสุขของเรา ต่อสังคมของเรา ต่อครอบครัวของเรานี้ โยมเอามานึกเอามาระลึกอยู่เสมอ ก็ตื่นตัวทันต่อสถานการณ์ พอเราเอามานึกเอามาระลึกแล้ว อันใดที่มันจะมีผลกระทบอย่างที่ว่าเราก็ส่งให้ปัญญาพิจารณา สติปัญญาทำงานคู่กัน สติระลึกนึกเอามา แล้วก็ส่งให้ปัญญาพิจารณา ปัญญาก็ดูว่าอันนี้มันจะเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมหรือความเจริญ พอเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม รีบจัดการป้องกันแก้ไขทันทีไม่ปล่อยไว้ อันไหนที่จะทำให้เกิดความเจริญก็รีบจัดการสร้างขึ้นมาเลย ไม่มีการผลัดเพี้ยน แล้วเราคิดดูเถิด เราจะไม่สามารถรักษาความเจริญไว้ได้หรือถ้าเราทำอย่างนี้ มันก็ต้องสามารถป้องกันความเสื่อมรักษาความเจริญไว้ได้
อันนี้แหละคือความไม่ประมาทที่แท้จริง แต่มันเป็นตัวพิสูจน์ว่ามนุษย์นี้จะสามารถพัฒนาตนได้หรือไม่ ความไม่ประมาทมนุษย์ทำได้ไหม ทั้งในชีวิตส่วนตัวและในสังคม สังคมมนุษย์นี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกไว้แล้วว่า ท่านสามารถนะที่จะไม่เสื่อมมีแต่เจริญอย่างเดียว ถ้าท่านไม่ประมาท แต่ว่ามนุษย์จะทำได้ไหม ถ้าเป็นปุถุชนมันก็จะมีความโน้มเอียงอย่างที่ว่า พอทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็เอาซะที ลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น วิ่งเลย พอภัยผ่านพ้นทุกข์หายไป เสวยสุขก็ลุ่มหลงมัวเมา ก็เป็นอยู่อย่างนี้ บ้านเมืองเวลามีสงคราม มีศัตรู มีกองทัพจากภายนอกยกมารุกราน ก็ลุกขึ้นมากุลีกุจอมีความสามัคคีกันสักทีหนึ่ง รวมกำลังกันต่อสู้ พอภัยผ่านไปแล้ว สบาย ทะเลาะกันใหม่ เสวยความสุขลุ่มหลงมัวเมา มันเป็นอย่างนี้แหละสังคมมนุษย์ ฉะนั้นมันจึงแก้ไขไม่ได้ วงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญ ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเราสามารถรักษาความเจริญไว้ได้
ฉะนั้นเรื่องของสังคมอินเดียและสังคมฝรั่ง ที่อาตมาเอามายกเป็นตัวอย่างเนี่ยก็เพื่อให้เห็นว่า สังคมอินเดียนี้อาจจะเป็นสังคมที่ปรับใจได้แล้วก็มีความสุขตามสมควรกับสิ่งง่ายๆ แต่วันนี้ก็คือว่าปล่อยปละละเลย ไม่ต้องทำอะไร มีอะไรก็ผลัดเพี้ยนไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบ เพราะฉะนั้นเรามาเมืองนี้ก็ได้ยินอย่างที่ท่านมหาสุทินบ้าง ท่านมหากฤษณะบ้างเล่าให้ฟัง เมื่อวานนี้ท่านก็เล่าบอกว่าที่วัดไทยในกุสินาราได้ลองดูแล้ว เอางานอันเดียวกันให้ทำคนอินเดียกับคนไทย คนอินเดีย 4 คน ทำงาน 4 วันงานชิ้นนั้นเสร็จ งานชิ้นเดียวกันนั้นให้คนไทย 2 คนทำ ไม่ถึง 1 วันเสร็จ ความเฉื่อยชาเกิดขึ้นขนาดไหน นี่คือความประมาท ความเฉื่อยชา การผลัดเพี้ยนเวลา การปล่อยปละละเลย นี้คือลักษณะของสังคมที่ตกอยู่ในความระมาท น่าจะลองเอางานชิ้นเดียวอย่างเมื่อกี้นี้ มอบหมายให้คนญี่ปุ่นและคนฝรั่งลองทำดูบ้าง เราคงจะได้เห็นอะไรแปลกๆ เป็นความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ แม้แต่คนไทยเนี่ย ถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะกลายเป็นอย่างเดียวกับคนอินเดียที่เราหัวเราะนั้นก็ได้ หรืออย่างคนอเมริกันรุ่นใหม่ยุคนี้ที่เขาเรียกว่ายุคสังคมบริโภคซึ่งเป็นยุคเสพสุข แล้วก็เลยเสื่อมถอย กลายเป็นคนสำรวยเฉื่อยชาลงมาเรื่อยๆ ตรงข้ามกับอินเดีย สังคมฝรั่งเป็นสังคมที่ตกอยู่ในความไม่ประมาทเทียม เขาใช้ระบบที่ขอเรียกว่าทุกข์ภัยประดิษฐ์มาบีบคั้นคน ฉะนั้นไปไม่รอด ระยะยาวก็เสื่อม ฉะนั้นพวกนี้ตอนนี้อเมริกันก็ร้องทุกข์โอดครวญแล้วนี่ว่า คนของตัวรุ่นใหม่นี้ไม่มีนิสัยในการทำงานแล้วกำลังเสื่อมอยู่ แล้วก็กำลังสูญเสียความยิ่งใหญ่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราควรพิจารณา หลักธรรมของพระพุทธเจ้านี้สำคัญยิ่งนัก ฉะนั้นโยมจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องความไม่ประมาทนี่ เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสดักไว้หมด
ในการปกครองบ้านเมืองก็ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลนะ พระองค์ต้องมีกัลยาณมิตรนะ แล้วเสร็จแล้วก็ต้องไม่ประมาท กิจการใดๆ ในบ้านในเมืองจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ ต้องไปดูชาวไร่ชาวนาชาวชนบทยุ้งฉางเหลื่อมทางเป็นอย่างไร ตรวจตราสอดส่องอะไรที่ต้องรู้ด้วยตัวเอง ต้องตรวจตราด้วยตัวเอง อย่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แล้วก็ตรัสว่าเป็นคำที่เป็นดุจรอยเท้าช้างใหญ่ครอบคลุมธรรมอื่นหมด แล้วก็แถมตรัสเป็นปัจฉิมวาจาด้วยวาจาสุดท้าย ชาวพุทธจะต้องเอาหลักนี้เป็นหลักที่สำคัญมาก เพราะว่าอย่างที่บอกเมื่อกี้แล้วว่า เราอาจจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม เป็นคนดี แล้วก็ประสบความสำเร็จมีความสุข แต่เราก็มาตกหลุมความประมาทนี่แหละแล้วก็ไปไม่รอด แม้แต่เป็นพระโสดาบัน ฉะนั้นจึงต้องย้ำพุทธพจน์ที่ตรัสบอกว่า เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตั้งอยู่ได้ยังไม่สรรเสริญ ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรมทั้งหลาย เราสรรเสริญอย่างเดียวคือ ความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสบอกว่า พระองค์เองได้เห็นคุณของธรรม 2 ประการ
1) ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีพอใจในเรื่องกุศลธรรม ทำไปสำเร็จแค่นี้ต้องไปต่อ ต้องทำเพิ่มมากขึ้น ตรงข้ามกับความสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอความสุข พระองค์บอกให้สันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย การแสวงหาสติปัญญาความรู้ความเข้าใจต้องการเข้าถึงสัจธรรมความจริง พัฒนาปัญญาของตนเองสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม ทำประโยชน์สุขแก่สังคม อันนี้ต้องทำกันไปเรื่อยๆ หยุดไม่ได้ นี่แหละคือความไม่สันโดษในกุศลธรรมเป็นคู่กัน ถ้าใครจับหลักนี้ได้ก็เอาความสันโดษในวัตถุบำเรอความสุขส่วนตัว มาเป็นตัวเกื้อหนุนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมมันก็เข้าคู่กันไป ก็มีความเพียรพยายามมาก พร้อมกันนี้เราก็จะได้บำเพ็ญความไม่ประมาทไปด้วย และตอนนี้ก็จะได้ให้เห็นแล้วว่าหลักความจริงของธรรมชาติคือความเป็นอนิจจังนั้น พระพุทธเจ้าตรัสมาประสานบรรจบกับความไม่ประมาท ในพุทธโอวาทเป็นปัจฉิมวาจาว่า “วะยะธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ” เพราะว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา อันนี้อนิจจัง แล้วเสร็จแล้วพระองค์ก็ตรัสบอก เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม อันนี้ความไม่ประมาท พอเราไม่ประมาทเราก็สามารถพลิกอนิจจังให้มาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตได้ ฉะนั้นจึงบอกว่าสังคมของเราไม่จำเป็นต้องเสื่อม พระองค์ตรัสไว้แล้ว ถ้าเราไม่ประมาท เราก็สามารถรักษาความเจริญไว้ได้
แต่ความไม่ประมาทที่แท้นั้นคืออะไร ก็คือการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ขาดสติ ท่านแปลว่าอย่างนั้นเลย ความไม่ประมาทคือการไม่อยู่ปราศจากสติ หรืออยู่ไม่ปราศจากสติ ไม่ขาดสติ ใช้สติตื่นตัวรู้ทัน ตรวจตราทุกอย่าง แล้วก็พอสติมาปัญญาก็ทำงานต่อ ก็ส่งต่อให้ปัญญาทำงาน ปัญญาทำงานอะไรก็ไปศึกษาเหตุปัจจัย ก็เอาเหตุปัจจัยในกฎอนิจจังในกฎธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ก็กลายไปตามเหตุปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นอนิจจัง ในทางที่พึงปรารถนาแล้วเกิดเป็นความเจริญขึ้นมา อนิจจังก็เลยกลายเป็นดีไป อนิจจังมันเป็นกฎธรรมชาติเป็นกลางๆ ไม่ดี-ไม่ชั่ว ใครจะไปบอกว่าอนิจจังชั่ว ไม่มีหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไม่เคยสอน บางคนไปเข้าใจว่าอนิจจังไม่ดี อนิจจังเป็นกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติมันจะไปดีไปชั่วอะไร มันเป็นของกลางๆ ดี-ชั่ว ไม่ดี-ไม่ชั่วเป็นกลางๆ มันมาดี-มาชั่วที่มนุษย์นี่ แล้วเราจัดผลัดมันซะรู้จักใช้ประโยชน์ เราก็ได้ประโยชน์จากอนิจจัง อนิจจังก็กลายเป็นดีสำหรับเรา อนิจจังก็ 2 ตอน เตือนสติ ไม่ประมาท ปัญญาพิจารณารู้เห็นปัจจัย แล้วก็รู้เท่าทัน ถ้าทำอย่างนี้จะได้ 2 ตอน ก็คือ
1) ว่าด้วยความรู้เท่าทันนั้น เราก็ไม่ทุกข์ร้อนมากในเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง เหตุปัจจัยมีเท่าไหน เราพิจารณา อ๋อมันมีแค่นี้ เราทำได้แค่นี้ตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยส่วนไหนเราทำได้เราทำ เราก็ใช้ประโยชน์จากอนิจจังได้ด้วย พร้อมกันนั้นเราก็ไม่ทุกข์ร้อนเกินไป เพราะความเปลี่ยนแปลงตามกฎธรรมชาติ อันนี้อาตมายกมาให้โยมฟัง ในเรื่องของความไม่ประมาท
ทีนี้ต่อไปก็เรื่องของความไม่ประมาทนี้ก็ถือว่าโดยหลักการใหญ่ๆ ก็ คิดว่าพอสมควร แต่ก็อยากจะพูดโยงไปหาข้อย่อยๆ ต่างๆ ที่อาตมาพูดมาส่วนหนึ่งก็ให้เห็นว่า ความไม่ประมาทนี้ไปโยงกับความพอดีที่เป็นทางสายกลางเพราะพูดไปวันก่อนแล้ว เอ๊ะมันโยงกันนะ เรื่องความไม่ประมาทหรือความพอดีหรือมัชฉิมาปฏิปทา ก็ตัวความไม่ประมาทนี่แหละมันจะมาปรับให้พอดีเสมอ ถ้าเราประมาทซะอย่าง มันก็ไม่มีทางพอดี การที่มีชีวิตสุดโต่งไปเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งก็เพราะอะไร เพราะปล่อยตัวละเลย ไม่มีสติ ไม่ตรวจตรา ไม่ทันต่อเหตุการณ์แล้วก็เลยทำให้เกิดการเอียงขึ้นมา อย่างเรื่องของอินเดียกับฝรั่งนี้ก็เอามาใช้ในเรื่องการปรับให้พอดีด้วยความไม่ประมาทได้ ถ้าหากว่าปรับใจให้มันสบายมีความสุขได้ แต่ปล่อยตัวละเลย กลายเป็นว่าสบายใจแล้วก็เลยไม่เอาเรื่องเอาราว ไม่กระตือรือร้น อันนี้แสดงว่ามันไม่พอดี ทีนี้ความไม่ประมาทก็มาปรับได้ พอเราไม่ประมาทเสียแล้วเราปรับใจสบายได้ แต่ว่าปัญหาเราไม่ทิ้ง เขาเรียกว่าข้างนอกแก้ไข ข้างในเป็นอิสระ คือคนที่ปฏิบัติธรรมนี้ปัญหาข้างนอกไม่ทิ้งนะ เจริญพร เป็นแต่ว่ากันปัญหาไม่ให้เข้ามาเป็นทุกข์ข้างใน ไอ้เจ้าปัญหาข้างนอกก็เป็นปัญหาข้างนอกไป ไม่เข้ามาเป็นทุกข์ข้างในใจ กันตัวปัญหากันตัวทุกข์ไว้ข้างนอก ทำใจของตัวเองให้เป็นอิสระได้ เสร็จแล้วพอใจเป็นอิสระ ไม่หยุดแค่นั้นออกไปจัดการแก้ไขปัญหาข้างนอกตามเหตุปัจจัย เราก็ไปศึกษาเหตุปัจจัยแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาก็ได้ผลด้วย เพราะฉะนั้นความไม่ประมาทก็เป็นตัวปรับให้เกิดความพอดี ถ้าอินเดียปรับซะหน่อยทำใจให้สบายมีความสุขได้ เออก็ดีแล้วส่วนนี้ แต่ว่าสบายแล้วอย่าไปปล่อยปัญหาข้างนอกทิ้งไว้ อย่าไปละเลยทอดทิ้งผลัดเพี้ยนอยู่ไม่ได้ มีสติแล้วไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมผลัดเพี้ยน ก็ไปจับจัดการแก้ไขปัญหาข้างนอก ความยากจนความไม่เป็นระเบียบอันนี้ไม่ปล่อยแล้วต้องจัดการให้หมด มันก็เกิดความพอดี ทีนี้ของฝรั่งก็เหมือนกันสุดโต่งไปเอาความไม่ประมาทมาปรับซะมันก็พอดี ก็คือเอาความประมาทที่แท้ เลิกความไม่ประมาทเทียมที่เอาระบบกิเลส ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์มาบีบคั้นคนไม่เอา แต่เอาความประมาทที่แท้มาแก้ ทีนี้สังคมที่ดีสังคมไทย ถ้าหากว่าเราจะสร้างสรรค์ความเจริญเราน่าจะทำเป็นแบบอย่างได้ในฐานะเป็นพุทธสาวก และเราทำไง เราจะสร้างความเจริญที่มันดีมันพอดีได้ มันน่าจะเป็นสังคมตัวอย่างได้สักสังคมหนึ่ง ไม่เห็นมีสังคมไหนดีสักสังคม มันเอียงไปทางโน้นบ้างเอียงไปทางนี้บ้าง นี่แหละอาตมาก็เลยอยากให้โยมได้มองเห็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่เป็นระบบความสัมพันธ์ อาตมาได้ยกตัวอย่างเรื่องพรหมวิหารเป็นระบบของดุลยภาพ เป็นเรื่องของความพอดี เป็นมัชฉิมา ก็ขอทวนอีกทีว่า การรักษาความเป็นมัชฉิมา
1) ต้องมีฐานจากปัญญารู้เข้าใจ เช่น กินเพื่ออะไร รู้ความมุ่งหมายของการกิน ก็เอาปัญญาที่รู้ความมุ่งหมายของการกินมาปรับ ทำให้เกิดการกินพอดีเป็นมัชฉิมานี้ก็เรื่องง่ายๆ แล้วก็ระบบดุลยภาพแห่งองค์รวมที่ว่าธรรมทั้งหลายนั้นพระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นชุดๆ ปฏิบัติให้ครบชุดนะ ไม่ใช่ปฏิบัติบกๆ พร่องๆ อันนี้ทำอันนี้ไม่ทำมีแต่เมตตากรุณา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดี แต่ความสัมพันธ์กับตัวธรรมอุเบกขาไม่เอาไปทิ้งซะนี่ หรือเอาแต่อุเบกขาเอาแต่ธรรมะไว้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่เอาก็เอียงสุดไปข้าง เลยไม่พอดีซะที ก็ปรับให้ได้พรหมวิหารครบ 4 ก็เกิดดุลยภาพ แล้วก็ความเป็นเหตุปัจจัยกันที่ว่าธรรมะมันประกอบกัน ไอ้ตัวนี้ต้องไปประกอบกับตัวโน้น เช่น ศรัทธากับปัญญานี่ก็เป็นความพอดีชนิดหนึ่ง ศรัทธานั้นเป็นตัวกุศลธรรมนะ เจริญพร อภิธรรมเขารับรองไว้ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้นนี่ เป็นกุศลธรรมเป็นโสตนะเจตสิก เป็นโสตนะเจตสิก เป็นเจตสิกที่ดีโดยตัวของมันเอง แต่ว่าเวลาเอาไปประกอบใช้นี่ ถ้าเอาไปประกอบใช้ผิดนี้เกิดโทษ ใช่ไหม เจริญพร
ฉะนั้นเวลาประกอบใช้จะให้เกิดมัชฉิมา ทางสายกลาง เราต้องดูตัวประกอบว่าธรรมะนี้ไปประกอบกับธรรมะตัวไหน ถ้าไปประกอบผิดตัว อย่างที่อาตมายกตัวอย่างนี้ที่อาจารย์ ดร.อุดมพูด อย่างเหมือนกับทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าเมื่อวานนี้ H2O เอาไฮโดรเยน 2 ไปบวกกับออกซิเยน 1 เกิดเป็นน้ำ เป็นประโยชน์ แต่ว่าเอา คาร์บอน 1 และออกซิเยน 2 เป็น CO2 กลายเป็นพิษเลย ก็นี่แหละออกซิเยนเหมือนกันไปประกอบกับธาตุคนละอย่างเกิดดีเกิดเสียได้
องค์ธรรมก็คล้ายๆ ทำนองนั้นแหละ องค์ธรรมนี้อาจจะดีแต่ไปประกอบกับองค์ธรรมอื่นที่มันเสีย อาจจะเกิดผลร้ายก็ได้ แม้แต่องค์ธรรมเดียวกันนั้นดีเป็นปัจจัยแก่องค์ธรรมไม่ดี เรียกว่าเป็นกุศลปัจจัยแก่อกุศลธรรม อันนี้ท่านยกตัวอย่างไว้ในคัมภีร์แม้แต่อภิธรรมนะ เจริญพร อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลก็ได้ กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลก็ได้ เช่นคนมีศรัทธาทำความดี ทำบุญทำกุศล เกิดความภูมิใจลำพองใจในตัวเองว่าตัวได้ปฏิบัติ ได้บำเพ็ญธรรม ได้ก้าวหน้าในธรรมะ เกิดความสันโดษพอใจเกียจคร้านขึ้นมาเฉื่อยชาประมาทเป็นอกุศล เรียกว่ากุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล หรือเกิดลำพองใจว่าเรานี้เก่งกว่าเหนือกว่าคนอื่น ได้ทำบุญมาก ก็เกิดมานะกลายเป็นกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลก็ได้เป็นต้น
ฉะนั้นเรื่องธรรมะนี้พอดีนี่มันต้องมองระบบความสัมพันธ์ความเป็นเหตุปัจจัยต่อกัน การมาเป็นตัวประกอบร่วม ทีนี้การเป็นตัวประกอบร่วมก็อย่างศรัทธาที่ว่าเมื่อกี้ ศรัทธาโดยตัวมันเองเป็นกุศล แต่ไปผิดไปประกอบกับโมหะเข้าไปก็กลายเป็นความงมงาย แล้วถ้าเกิดมีวิริยะขึ้นมาอาจจะเอาความเชื่อถือลัทธิศาสนาตัวไปบีบคั้นเบียดเบียนคนอื่นก็ได้ ใช่ไหม กลายเป็นเกิดโทสะรุนแรงไปเลย ลัทธิศาสนาต่างๆ จึงเป็นเหตุให้คนฆ่าฟันกันเบียดเบียนทำสงครามกัน ในพระพุทธศาสนาบอกว่า ศรัทธามาต้องเอาปัญญามาประกบทันทีเลย ตัวประกอบร่วมต้องมาศรัทธามาปัญญาประกบ พอศรัทธามาปัญญาประกบก็ทำให้ศรัทธานั้นตั้งอยู่บนฐานของเหตุผล มีวิจารณญาณ และศรัทธานั้นต้องเป็นไปเพื่อปัญญา ปัญญาไม่มีศรัทธาช่วยกลายเป็นคนจับจด ไอ้นั้นก็จะเอาไอ้นี้ก็จะเอา ไอ้นี้ก็พอรู้แล้ว ไปรู้อันโน้นต่อ ไม่เอาจริงสักเรื่อง พอเอาศรัทธามาประกอบ ศรัทธามันทำให้ใจพุ่งสิ ทำให้จับเป้าจับจุดแน่นลงไป พอศรัทธาจับให้ปัญญาก็ศึกษาเรื่องนั้นจริงจัง ลงลึกเลย แล้วก็พุ่งเป้าทำให้มีกำลังในการศึกษา ทำให้เกิดปัญญาจริงจัง ศรัทธาก็ทำให้เกิดปัญญา นำไปสู่ปัญญา จนกระทั่งศรัทธาหมดหน้าที่ ก็ยกส่งต่อให้ปัญญาในขั้นสุดท้าย อันนี้เรียกว่าตัวองค์ธรรมที่มาประกอบกันเนี่ยสำคัญมากเยอะแยะไปหมด
ฉะนั้นเราจะมองธรรมะโดดๆ ไม่ได้ เราจะไปบอกว่าเนี่ยมันดีแล้วนะ ไม่ได้หรอกนะบางทีไปประกอบตัวผิดเข้าเกิดผลร้ายหนักเข้าไปอีก อันนี้อาตมาก็จะยกอีกคู่หนึ่งที่สำคัญมากเป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา คู่นี้คือชื่อของพระพุทธศาสนาเลย พระพุทธศาสนานี้ประกอบด้วยองค์หรือส่วนประกอบใหญ่ 2 ส่วน ซึ่งมาเป็นชื่อของพระพุทธศาสนาเอง ปัจจุบันนี้เราเรียกกันว่าพระพุทธศาสนา คำว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นคำนิยมในสมัยหลัง ชื่อเดิมนั้นคืออะไรให้โยมทาย พระพุทธเจ้าเรียกพระศาสนาของพระองค์ว่าอะไร เรียกว่าอะไรนะโยม
โยมผู้หญิงตอบว่า พระธรรมวินัย
สมเด็จฯ ธรรมวินัย นั่นโยมตอบถูก โยมมีความรู้ดีเข้าใจดี ก็โมทนาด้วย เดิมนั้นพระพุทธเจ้าเรียกพระศาสนานี้ว่าธรรมวินัย บางครั้งเรียกว่า พรหมจริยะ แต่ว่าตอนนี้เราเรียกว่าพระธรรมวินัย แล้วตอนที่จะปรินิพพานนั้น ก็ตรัสว่าธรรมวินัยนี้จะเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป อันนี้แหละ หลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา พุทธพจน์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งให้เห็นว่าพุทธศาสนานั้นต้องครบ 2 อย่าง แล้วจึงจะมีดุลยภาพ ถ้าเอาอย่างเดียวนะอาจจะเสียดุล เรื่องธรรมวินัยนี้ต้องมีดุลยภาพระหว่างกัน แล้วมันจะเป็นตัวตรวจสอบกันด้วย ทำให้เราเกิดความพอดี ถ้ามิฉะนั้นอาจจะเอียงไป ธรรมวินัยนี้เป็น 2 ก็จริง แต่ว่าเวลามาเป็นศัพท์ชื่อพระพุทธศาสนาในภาษาบาลีท่านถือเป็นเอกพจน์ เรียกว่า ธรรมวินะโย เป็นหนึ่ง สองในความเป็นหนึ่งหรือหนึ่งจากสองมารวมกันเข้า เหมือนชีวิตของเราเกิดจากนามรูป ก็ต้องมีดุลยภาพ นามรูป 2 อย่าง เวลารวมกันในภาษาบาลีเป็นเอกพจน์ว่า นามะรูปะ ท่านถือเป็นหนึ่งนะ เจริญพร นามะรูปัง รวมเป็นอันเดียว ธัมโม จะ วินะโย จะ รวมกันเข้าเป็นธัมมะวินะโย สองเป็นหนึ่ง นะโยม
ทีนี้ธรรมะคืออะไร อันนี้แหละ โยมจะต้องมาฟังกันให้ ทำความชัดเจนกันหน่อย ธรรมะนั้นอย่างที่บอกไปแล้ว ธรรมะเป็นความจริง มีอยู่ตามธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิดมันก็เป็นอย่างนั้น ใช่ไหม เจริญพร แต่พระพุทธเจ้าทรงมีพระปัญญาทรงค้นพบความจริงนั้น แล้วนำเอาเปิดเผยแสดงชี้แจงธรรมให้เข้าใจง่าย แต่ธรรมะมันก็อยู่อย่างนั้นแหละ อันนี้ธรรมะนี้ก็เป็นสิ่งธรรมดา การที่จะเอาธรรมะมาทำให้เกิดเป็นประโยชน์แก่มนุษย์นี้ มนุษย์นี้มีจำนวนมากอยู่กันเป็นสังคม เอามาทำให้เกิดประโยชน์กันแต่ละคน ต้องทำให้แต่ละคนเข้าใจ ให้มีความรู้เข้าใจแต่ละคนๆ ไป ช้าเสียเวลา ทำไงจะให้เกิดประโยชน์แก่คนจำนวนมากที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมนี้ ต้องวางเป็นระบบต้องมีการจัดตั้ง แล้วจะได้มีวิธีการที่จะทำให้คนจำนวนมากนี้ได้เข้าถึง ก็เอาความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้น มาใช้ความรู้ในความจริงในธรรมชาตินั้น มาจัดวางระบบขึ้นมาสำหรับมนุษย์ การจัดวางระบบแบบแผนจากธรรมะนั้นมาให้เป็นวิธีการปฏิบัติได้ในหมู่มนุษย์ อันนี้เรียกว่าเป็นวินัย และการที่สามารถเอาความรู้ในสัจธรรม ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดามาจัดวางเป็นระบบสำหรับมนุษย์ได้นี้ เป็นความสามารถพิเศษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระปัจเจกพระพุทธเจ้าไม่มี นี่ทำไมจึงเป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน เพราะพระปัจเจกพระพุทธเจ้าก็ค้นพบสัจธรรมเหมือนพระพุทธเจ้า รู้เข้าถึงความจริงหมดกิเลส แต่ทำไม่ได้ตอนวางวินัย เจริญพร ได้แค่รู้ความจริงเข้าถึงตัวธรรมะแต่จัดวางวินัยไม่ได้ คือ วางระบบแบบแผนขึ้นมาให้ธรรมะนั้นกลายเป็นประโยชน์แก่สังคมมนุษย์นี้ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าไม่เป็น ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เพราะว่ามีทั้ง 2 อย่าง
1) มีปัญญาสามารถเข้าถึงสัจธรรม รู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา
2) เอาความรู้ในความจริงนั้นมาจัดวางระบบแบบแผน เริ่มแต่สั่งสอนให้มนุษย์อื่นเข้าใจได้
ฉะนั้นวินัยนี้เป็นความสามารถส่วนพิเศษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้แหละเราวางเป็นระเบียบชีวิต ระบบสังคมของมนุษย์ วินัยก็มีตัวอย่าง การจัดวางเกี่ยวกับเรื่องวัตถุปัจจัยสี่ เป็นต้น จะกินจะอยู่ จะอะไรอย่างไร จัดสภาพแวดล้อมอย่างไร ให้เกื้อหนุนต่อการที่บุคคลจะพัฒนาตัวเองเข้าถึงธรรมะได้ วินัยคือหนึ่งจัดสรรเรื่องวัตถุ ก็อ้างมาจากจัดสรรสภาพแวดล้อม จัดทำไม เพื่อให้มันเกื้อหนุนต่อการที่คนจะพัฒนาตัวเข้าถึงธรรมะได้ ถ้าดำเนินชีวิตตามแบบแผนที่เรียกว่าวินัยที่จัดตั้งไว้นี้แล้ว สภาพแวดล้อมจะเอื้อต่อการเข้าถึงธรรมะ ใช่หรือไม่ จัดระเบียบสังคม จัดระบบความเป็นอยู่ การอยู่ร่วมกัน จะอยู่ร่วมกันอย่างไร มีสังฆกรรม มีกิจการหมู่คณะเกิดขึ้น มีพระทำผิดจะทำอย่างไร การบริหารการคณะสงฆ์ โอ้ว วางไปหมดเลย เจริญพร ฉะนั้นในวินัยของพระนี่ให้ความสำคัญแก่ปัจจัยสี่ เรื่องวัตถุ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องระบบการบริหารการปกครอง เรื่องของระเบียบสังคมทุกอย่างเลย เป็นฐานในการที่จะให้คนเข้าสู่ธรรมะ บางคนมองแต่ธรรมะอย่างเดียว เห็นพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องจิตใจ ไม่เกี่ยวกับสังคม เป็นเรื่องเฉพาะตัว บอกว่า โอว ถ้าคนแต่ละคนดีแล้ว สังคมก็ดีเอง นี่ตอบแบบธรรมะ ถูกต้องไม่ผิด ใช่ไหม เจริญพร ถ้าแต่ละคนดีแล้วสังคมก็ดีเอง อันนี้ไม่ผิดหรอกแต่เป็นกำปั้นทุบดิน ก็ใช่สิถ้าทุกคนดีสังคมมันก็ดี แต่ปัญหาต่อไปทำอย่างไรจะให้แต่ละคนดี นี่ปัญหาของวินัยมาแล้ว ปัญหาของวินัยมาเริ่มตอนที่ว่าแล้วทำอย่างไรจะให้แต่ละคนดี ก็ต้องจัดวางระเบียบระบบแบบแผนสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลขึ้น จะได้ตะล่อมช่วยป้องกันคนจากการทำชั่วหรือทำในทางที่ผิดเสียหาย และสร้างความเกื้อหนุนเอื้อต่อการทำความดี เอื้อต่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมอย่างนี้เป็นวินัย ฉะนั้นวินัยก็จะมาช่วยในการที่จะทำให้ทำอย่างไรที่จะทำให้แต่ละคนนี้กลายเป็นคนดีขึ้นมา เขาจะได้มีเครื่องชักนำเข้าสู่ธรรมะได้ ธรรมะนั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เช่น เป็นเรื่องของชีวิตแต่ละชีวิตนี่รับผิดชอบ ทุกคนนี้รับผิดชอบแต่กรรมของตัวเอง รับผิดชอบต่อกฎธรรมชาติ ชีวิตแต่ละคนนี้ต้องขึ้นต่อคติธรรมดาของสังขาร เกิด แก่ เจ็บ ตาย เราทำกรรมดีแล้วผลดีนี้เป็นเรื่องของแต่ละคน ธรรมะเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลรับผิดชอบต่อชีวิตของตัวเอง แต่วินัยนี้ท่านให้รับผิดชอบต่อสังคมเลย พระทำความผิด หนึ่งในแง่ของธรรมะ รับผิดชอบต่อกรรมที่ตัวทำ ทำกรรมชั่วรับผลชั่ว อันนั้นกรรมว่าไป แต่สองรับผิดชอบทางวินัยต่อชุมชนสงฆ์ด้วย สงฆ์จะเอาตัวมาจัดการ มาชำระคดี มาตัดสินความผิด มาลงโทษ 2 ส่วน เจริญพร แล้วเพื่ออะไรล่ะ วินัยจัดตั้งเพื่ออะไร ก็เพื่อจะให้ธรรมะนี้เกิดผลในสังคมมนุษย์ เปิดช่องวินัยเปิดช่องให้ธรรมะแสดงผล แต่ว่าวินัยนั้นจะมีผลจริงก็ต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ ถ้าวินัยไม่ตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ ไม่ชอบธรรม ไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์และเหตุปัจจัย วินัยนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ยั่งยืน ไม่เป็นจริง ไม่มีผล ไร้ความหมาย ฉะนั้นวินัยต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ ต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงเหตุปัจจัย ต้องตั้งอยู่ในฐานของความรู้ในกฎธรรมชาติ วินัยนี้ก็เลยต้องมีอยู่ 2 อย่าง คือผู้ที่จัดตั้งนั้นจะต้องมีปรีชาญาณ มีญาณรู้เข้าใจสัจธรรม ใครรู้ธรรมะ รู้ตัวความจริง ความจริงของกฎธรรมชาติ ธรรมดาได้เท่าไร การวางวินัยจัดเป็นระบบแบบแผนในสังคมนั้นก็ยิ่งได้ผลดีเท่านั้น 1) ปัญญา 2) คุณธรรม เจตนา คือต้องเป็นเจตนาบริสุทธิ์ไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่เห็นแก่ตัว อย่างพระพุทธเจ้านี้
1) มีพระปัญญาเข้าถึงหลักสัจธรรมความจริงของธรรมชาติ ความรู้อันนี้ก็ทำให้วางกฎระเบียบแบบแผนที่มันสอดคล้องกับตัวธรรมะ คือตัวหลักการวินัยก็จะสอดคล้องกับตัวธรรมะ
2) พระองค์มีพระบริสุทธิคุณ มีจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา ไม่มีอกุศลธรรม ไม่มีเจตนาร้าย ไม่ได้หวังผลประโยชน์ส่วนพระองค์ ทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะฉะนั้นเจตนาบริสุทธิ์ประกอบด้วย เมตตา กรุณาก็ทำให้วางวินัยนี้ได้มั่นคง ก็จัดตั้งระบบคณะสงฆ์ขึ้นมาเป็นสถาบันที่ยั่งยืนที่สุดในโลก ฝรั่งยอมรับในปัจจุบัน บอกว่าสถาบันที่ยั่งยืนที่สุดในโลกคือ คณะสงฆ์ในพุทธศาสนา ยังไม่มีสถาบันองค์กรอะไรไม่เคยมีเลย ยั่งยืนเท่าคณะสงฆ์ 2,500 กว่าปีแล้วยังอยู่ได้
อันนี้ก็เป็นเรื่องของวินัยแล้ว ฉะนั้นวินัยนี่จะเป็นตัวสำคัญ ถ้าเราปฏิบัติตามธรรมะนี่ ถ้าไม่มีวินัยมาช่วยดึงนี่ บางทีพานจะเผลอเข้าใจผิด เช่นอย่างว่า เอออยู่ง่ายๆ เราปฏิบัติธรรมนี่ เอออยู่ง่ายๆ สบายๆ ยังไงก็ได้ วินัยบอกยังไงก็ได้ ไม่ได้ วินัยจะไม่ยอมเด็ดขาดเลย จะให้ยังไงก็ได้ พระวิสูตรจะต้องปฏิบัติกิจอย่างนั้นๆ จะอยู่อย่างสบาย บอกว่าฉันสบายแล้วปรับใจได้วินัยไม่ยอม วินัยไม่เอาด้วย ฉะนั้นวินัยนี้เป็นตัวตรึงแล้วทำให้เรารู้ว่าพระพุทธเจ้าจะเอายังไง แล้วเป็นตัวมาตรฐานทำให้บอกได้ว่าชีวิตพระอริยะคืออย่างไร พระอริยบุคคลไม่ใช่คนที่ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่เอาอะไรทั้งนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่าเธออยู่ง่ายๆ อยู่ง่ายๆ ไม่ใช่มักง่ายนะ ใช่ไหม เจริญพร พระสงฆ์นี่มีไตรจีวร มีจีวรแค่ 3 ผืนนี้อยู่ง่ายแล้วใช่ไหม เจริญพร เธอสามารถมีความสุขได้กับจีวรแค่ 3 ผืน แต่ว่าเมื่อเธอรับเอาจีวร 3 ผืนนี้ โดยสมมติว่าเป็นของตนแล้ว ต้องรับผิดชอบ วินัยมาเลยนะ เจริญพร จีวร 3 ผืนนี้ พระจะบอกว่าเป็นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยปละละเลยทิ้งไม่ได้นะ โยมนะ พระพุทธเจ้าบอกว่าอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้ราตรีเดียวต้องอาบัติไป 10 ปี เลย เมื่อตกลงกันแล้วว่าเธอเป็นเจ้าของไตรจีวรผืนนี้ต้องรับผิดชอบ แม้แต่ราตรีเดียวก็ขาดจากความรับผิดชอบไม่ได้ เนี่ยอย่างนี้เป็นต้น
วินัยจะเต็มไปด้วยความรับผิดชอบ พระต้องรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างต่อชีวิตตัวเอง ต่อสังคม ชุมชนของตัวเอง เอาของสงฆ์ไปใช้ ถ้าไม่เอาเก็บไว้ที่เดิมต้องอาบัติ อะไรต่ออะไรหยุมหยิมไปหมดเลย แต่มันส่งผลกลับเพราะว่าพระปฏิบัติธรรมไม่ยึดมั่นถือมั่น จึงไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง จึงทำเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ได้ จึงทำได้ตามวินัย เพราะว่าเราไม่ยึดมั่นประโยชน์ส่วนตัว เราก็เลยปฏิบัติตามวินัยได้ด้วยความเต็มใจ มันกลับมีผลย้อนกลับ ถ้าปฏิบัติธรรมถูกต้องแล้วนี่จะกลายเป็นคนที่สามารถปฏิบัติตามวินัยได้ผลด้วย อันนี้จะเป็นตัวกันกันไว้เลย ดุลกันไว้เลย เจริญพร วินัยจะเป็นตัวกันไว้ไม่ให้ปฏิบัติพลั้งเผลอ มิฉะนั้นแล้วเดี๋ยวจะกลายเป็นว่า เออ ปฏิบัติธรรมไปแล้ว แหมเราไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ก็ปล่อยตามเรื่องตามราว อะไรจะเป็นไงก็ช่างมันไม่เอาด้วย นี่แหละวินัยกันไว้เลย ไม่มีทางเป็นไปได้
ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็จะอ้าง อาตมาเคยได้ยินเอามาเล่าอีกแล้วเล่าหลายครั้งแล้ว ในกรุงเทพฯ นี้เอง มีโยมมาเล่าให้ฟัง ที่วัดหนึ่งก็มีพระอายุมากแล้ว อายุคงจะสัก 70 อะไรแถวนั้นแหละ ก็มาเล่าบอกว่าท่านให้ผู้หญิงสาวๆ นวด บอกว่าไม่มีกิเลสแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว นี่เห็นไหม นี่ดีไม่ดีอ้างแบบนี้ เจริญพร ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่เป็นไรทำยังไงก็ไม่มีปัญหา เนี่ยวินัยไม่ให้ ทีนี้ถ้าเราไม่มีวินัยไว้กันนะ พวกที่จะอ้างแบบนี้เยอะเลย ใช่ไหม ทำไงก็ได้ไม่ยึดมั่นเลย แต่วินัยเป็นตัวกันไว้เสร็จเลยไม่มีทาง แล้วคติพระอรหันต์เป็นอย่างไร คติพระอรหันต์บอกแล้วว่า พระอรหันต์คือผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว มีประโยชน์ตนสมบูรณ์แล้ว ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีก ไอ้ตัวที่บอกว่าไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกมันสำคัญนักนะ เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ชีวิตของพระอรหันต์ซึ่งมีความสมบูรณ์ มีอิสรภาพ สมบูรณ์ภายใน มีความสุขเต็มอิ่มภายใน มีความสุขอยู่กับตัวตลอดเวลา ไม่ต้องหาความสุขแล้วนี่ ด้วยความสมบูรณ์เต็มอิ่มไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองนี่ จึงอุทิศพลังชีวิตให้แก่มนุษยชาติได้หมด ทำการเพื่อผู้อื่นทั้งสิ้นเลย ต่อจากนั้นพระพุทธเจ้าพระอรหันต์นี่ไม่ต้องทำอะไรเก่งกว่าพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์นี่แสนจะเก่งแล้วนะ คือยอมสละชีวิตตัวเองเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ แต่ว่าพระโพธิสัตว์นั้นต้องทำด้วยปณิธาน คือต้องตั้งใจ ต้องมีปณิธานตั้งมั่นไว้ อธิษฐานจิตไว้ทำความดีอย่างนั้นๆ แต่พระอรหันต์และพระพุทธเจ้านี่ท่านทำความดีโดยอัตโนมัติเพราะเป็นธรรมดาของท่านเอง มันต่างกันตรงนี้ พระอรหันต์พระพุทธเจ้าเก่งกว่าพระโพธิสัตว์ตรงนี้ คือทำความดีโดยเป็นธรรมดาของตัวท่านเองเป็นอัตโนมัติ เพราะพระอรหันต์ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง ฉะนั้นพระอรหันต์ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกแล้วท่านจะมาให้คนนั้นคนนี้นวดให้ทำไม ใช่ไหม ถ้าไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง ท่านต้องคำนึงถึงผู้อื่นเท่านั้น ความสุขท่านเต็มในตัวแล้ว ท่านไม่ต้องทำอะไรเพื่อตัวเอง ท่านต้องคำนึงถึงผู้อื่น งั้นคติพระอรหันต์เนี่ยจึงเป็นสุดยอดที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่เสมอ ส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนา ประกาศปรารภในการทำสังคายนาอะไรอันเดียวกัน “พหุชะนะ หิตายะ พหุชะนะ สุขายะ โลกา นุกัมปายะ” นี่คือคติชีวิตพระอรหันต์ว่า “ดำรงอยู่ ดำเนินชีวิตเป็นไป จาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก” อันนี้พระอรหันต์จะมีชีวิตอยู่เพื่ออันนี้ แล้วอีกคติหนึ่งที่พ่วงมาด้วยกันก็คือ “ปัจฉิมา ชะนะตา นุกัมปา” แปลว่าเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลัง ชนผู้จะเกิดตามมาภายหลัง หรือบางทีก็ใช้คำว่า เพื่ออนุเคราะห์ชนผู้จะเกิดตามมาภายหลัง คือเป็นแบบอย่าง พระอรหันต์จะมีคติสำคัญ 2 อย่างนี้ คือ
1) ประพฤติทุกอย่างเพื่อเป็นแบบอย่างไว้แก่คนที่จะเกิดภายหลัง และ
2) ทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
ฉะนั้น ก็มีตัวอย่างเรื่องของพระมหากัสสปะ พระมหากัสสปะนี้ก็อายุมาก แก่กว่าพระพุทธเจ้าอีกใช่ไหม เจริญพร ทีนี้พระมหากัสสปะเนี่ย ท่านถือธุดงค์ตลอดชีวิต ธุดงค์นั้นไม่ใช่หมายความว่าเที่ยวจาริกไปนะ โยมมักจะเข้าใจผิด ธุดงค์นั้นมีตั้ง 13 ข้อ ธุดงค์นั้นแปลว่าข้อปฏิบัติขัดเกลากิเลส เช่นว่า ใช้จีวรแค่ไตรจีวร 3 ผืน ไม่ยอมใช้อดิเรก เกินนั้นไม่ใช้ หรือบางองค์ถือจีวรจากบังสุกุล คือเอาผ้าที่เขาทิ้ง ไปเที่ยวเก็บเอาของเขาทิ้งมา แล้วก็มาเอามาต้ม มาตัด มาเย็บ มาย้อม ไม่ยอมใช้ของเขาถวาย บางองค์ถือออกบิณฑบาตเป็นประจำไม่รับนิมนต์ บางองค์ถือฉันมื้อเดียว บางองค์ถืออยู่ป่าตลอดชีวิต พระมหากัสสปะถือธุดงค์หลายข้อ ทีนี้ตอนท่านแก่แล้ว ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า โอ้ พระมหากัสสปะนี่เธอก็แก่แล้ว ผ้าบังสุกุลเนื้อหยาบนี้มันหนักนะ เธอมายอมรับผ้าคหบดีเขาถวายเถอะ เธอรับผ้าที่ประณีต คือพระพุทธเจ้านี่ทรงประกาศไว้
เดี๋ยวแทรกนิดหนึ่ง เคยมีคนมาชมพระพุทธเจ้าบอกพระองค์นี่เป็นผู้มีชีวิตที่ขัดเกลาอยู่ง่าย อะไรเรียบง่าย พระพุทธเจ้าบอกว่าที่เธอชมเราเนี่ย ไม่ถูก เราไม่ใช่เป็นผู้ที่สาวกเคารพยกย่องเพราะเหตุเหล่านี้ ถ้าจะเอาเพราะฉันอาหารน้อย ใช้จีวรน้อย ปัจจัยสี่น้อยอะไรกินอยู่ขัดเกลานี่ สาวกของเราหลายองค์ถือปฏิบัติเคร่งครัด เข้มงวดกว่าเราเยอะเลย แต่เรานี่ที่สาวกเขาเคารพบูชาก็เพราะว่าเป็นผู้ที่ได้ เป็นผู้ค้นพบทางและชี้ทางให้แก่ผู้อื่น เพราะพระองค์ตรัสเลยว่าในเรื่องฉันอาหาร เดี๋ยวพระองค์ก็รับนิมนต์ที่นั่นที่นี่ไป พระองค์ก็เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ พราหมณ์ หรือคนชั้นสูง เศรษฐี คหบดี ใช้จีวรก็บางทีก็รับจีวรดีๆ มาใช้อะไรต่างๆ
ทีนี้พระมหากัสสปะนี้ท่านถือธุดงควัตรที่ว่า อันนี้พระพุทธเจ้าชวนพระมหากัสสปะก็บอกว่าขอโอกาสพระองค์ ข้าพระองค์ก็จะขอปฏิบัติไปตามเดิม พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่าเธอมีเหตุผลอะไรถึงจะได้ปฏิบัติไปตามเดิม ทั้งๆ ที่ว่า อย่างจีวรก็หนัก ใช้ลำบาก ผ้าก็เนื้อหยาบ ไม่สบาย ท่านก็บอกว่า “ปัจฉิมา ชะนะตา นุกัมปา” เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างแก่ผู้คนที่เกิดในภายหลัง” นี่แหละพระอรหันต์ท่านไม่เห็นแก่ตัวเลย ฉะนั้นการปฏิบัติวินัยอะไรต่ออะไรท่านจะทำเป็นแบบอย่าง เพราะท่านต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น ฉะนั้นใครจะมาอ้างว่าผิดวินัยอะไรต่ออะไรเพราะเป็นอรหันต์หมดกิเลสฟังไม่ขึ้นหรอก เจริญพร ครั้งหนึ่งนะมีผู้หญิงศรัทธาในพระมหากัสสปะมาก ก็มาช่วยกวาดในกุฏิให้ พระมหากัสสปะท่านมาเจอ ท่านบอกว่าไป ขอเชิญไปอย่ามาทำให้ เขาก็บอกว่าเนี่ยมาช่วยท่านเพราะเลื่อมใสศรัทธา ท่านบอกว่ามันจะเป็นที่ติฉินนินทา ไม่ดีไม่เป็นแบบอย่าง ฉะนั้นท่านก็บอกว่าท่านต้องทำเป็นแบบอย่าง อันนี้เป็นต้น นี่ก็อาตมาก็ยกมาเป็นตัวอย่างให้
นี่ก็คือคติของพระอรหันต์ในอดีตที่ทำมา พระมหากัสสปะก็เป็นอย่างนี้ ธุดงค์นั้นเป็นข้อปฏิบัติขัดเกลากิเลส อ้าวก็พระมหากัสสปะหมดกิเลสแล้วจะไปขัดเกลากิเลสอะไรอีก ล่ะ ใช่ไหม ท่านไม่จำเป็นที่จะต้องไปถือธุดงค์ แต่ที่ท่านถือนั้นเพราะว่าท่านทำเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลัง ใช่ไหม เจริญพร อันนี้เป็นคติพระอรหันต์ และความไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราดูจากเรื่องวินัยเราจะได้คติเยอะ อย่างที่ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราเอียงไปแง่เดียวนี้เราอาจจะเข้าใจธรรมะผิดด้วย ธรรมะที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น ต้องเกิดจากปัญญาเห็นความจริงในสัจธรรมแล้วเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ถ้าสำหรับปุถุชนความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นมันเป็นเครื่องฝึกตนเท่านั้น แล้วต้องระวังมากความไม่ยึดมั่นของปุถุชนที่เอามาปฏิบัตินั้น เพราะว่าเรารับมาด้วยสัญญาไม่ใช่ปัญญา คือเราฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านว่า เออ สิ่งทั้งหลายนี้มันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะไปยึดมั่นไม่ได้นะ มันไม่เป็นไปตามนั้น เราไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันเปลี่ยนแปลงไปมันเราก็เกิดความทุกข์บีบคั้นจิตใจ มันไม่เป็นไปตามที่ต้องการหรอก อะไรนี้เราก็เลื่อมใส เราก็เกิดชอบใจก็นำมาปฏิบัติ อย่างนี้ท่านเรียกว่า ได้ปัญญานิดหน่อย แต่ตัวสำคัญที่รับมาคือสัญญา
เราก็รับมาปฏิบัติ ต่อไปนี้เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรนะ กลับไปบ้านก็เออนี่ก็ไม่ใช่ลูกของเรา นี่ก็ไม่ใช่ภรรยาของเรานี่ ก็ไม่ใช่เงินของเรา ใช่ไหม เจริญพร บ้านก็ไม่ใช่บ้านของเรา ไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เลยไม่เอาเรื่องเอาราว เนี่ยเกิดความประมาทในเรื่องนี้ ทีนี้พอไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่เอาเรื่องเอาราวแล้วเกิดอะไรขึ้นมา ท่านเรียกว่า นี้คือความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น เพราะไอ้ความไม่ยึดมั่นตัวนี้ไม่ใช่ความยึดมั่นที่แท้ มันเป็นความยึดมั่นที่เกิดจากสัญญา แล้วตัวก็เอาตัวไอ้ความไม่ยึดมั่นนี้มาจับมายึดเข้าไว้อีกทีหนึ่ง มันเป็นความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น โยมระวังให้ดีเถอะ ถ้าเป็นปุถุชนจะทำได้แค่นี้
ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้นเกิดจากปัญญา เมื่อเราเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เรารู้ทันสัจธรรมแล้ว ความเป็นไปของมันไม่เข้ามาบีบคั้นจิตใจของเรา จิตใจของเราเป็นอิสระ ต่อจากนั้นเราจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นตามเหตุตามผลด้วยปัญญา ตอนนี้แหละสำคัญมาก เรามีทรัพย์ก็ปฏิบัติต่อทรัพย์ให้ถูกต้องตามเหตุผลว่าทรัพย์มีเพื่ออะไร ไม่ยึดมั่นถือมั่นให้เป็นเหตุบีบคั้นจิตใจให้มีความทุกข์ แต่ใช้ให้มันสมคุณค่า ให้เป็นประโยชน์ตามความหมายของมันนะ ทรัพย์ก็เกิดประโยชน์แท้จริงเหมือนพระเจ้าอโศก ใช่ไหม เจริญพร พระเจ้าอโศกก็ปฏิบัติในคตินี้ เออทรัพย์นี้เราไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ แล้วมันไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของชีวิต มันไม่ใช่ตัวให้ความสุขแก่ชีวิตหรอก เราเคยไปหลงเอาทรัพย์มา เป็นเครื่องบำรุงบำเรอ ความยิ่งใหญ่ของเรา ความสุขสบายของเรา พระเจ้าอโศกบอกว่าไม่เอาแล้ว ต่อไปนี้ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งทรัพย์นะ ก็ปฏิบัติตามทรัพย์และเหตุผล ก็พลิกความหมายของทรัพย์ว่าทรัพย์นั้นไม่ใช่ความหมายที่จะทำให้เราเป็นสุขหรอก เพราะเรามีความสุขได้เองแล้ว เราพัฒนาจิตใจ เราพัฒนามีปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เรามีความสุขที่ประณีตกว่าแล้ว ทรัพย์สินสมบัติเหล่านี้ อำนาจ ไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตของเรา แต่ว่าถ้าเราใช้ให้เป็นประโยชน์มันก็เป็นอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุข ทำความดีแก่สังคม
ฉะนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชก็เลยให้ความหมายใหม่แก่ทรัพย์บอกว่า ยศความยิ่งใหญ่ของพระองค์นี้จะไม่มีความหมายถ้าไม่ช่วยให้ประชาชนปฏิบัติธรรม นี่จารึกไว้เลยในศิลาจารึกพระเจ้าอโศก แล้วพระองค์ก็ใช้ทรัพย์และอำนาจนั้นสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนทำความดีเป็นการใหญ่เลย นี่แหละ ถ้าหากพระเจ้าอโศกไม่มีทรัพย์ ไม่มีอำนาจ พระเจ้าอโศกทำความดีอย่างนี้ไม่สำเร็จ ถ้าทรัพย์และอำนาจเมื่อใช้เป็นและใช้ถูกก็กลายเป็นอุปกรณ์สร้างสรรค์ประโยชน์สุขและความดีงาม มันเป็นประโยชน์มหาศาล แม้แต่ทางพระพุทธศาสนาไปถึงเราในประเทศไทยด้วย อันนี้แหละก็คือคติต่างๆ
ก็เป็นอันว่าวันนี้ก็พูดเรื่องพระธรรมวินัยด้วย ผนวกเข้ามาว่าอันนี้เป็นคู่กัน วินัยนั้นจะช่วยให้เรานั้นปฏิบัติได้ถูกต้อง แล้วทางวินัยจะทำให้เราเห็นว่าพุทธศาสนานี้ให้ความสำคัญแก่วัตถุ ให้ความสำคัญแก่ปัจจัยสี่ ให้ความสำคัญแก่เศรษฐกิจ ให้ความสำคัญแก่สังคม อะไรต่างๆ โดยมีความหมายโยงไปกับธรรมะนะ ไม่ใช่มีความหมายสำคัญในตัวมันเอง เดี๋ยวโยมจะเข้าใจผิดอีก เดี๋ยวจะบอกว่าเศรษฐกิจสำคัญแล้วก็หยุดแค่นั้น เศรษฐกิจ วัตถุ ปัจจัยสี่ สังคม สำคัญโดยที่ว่าเมื่อทำให้ถูกต้อง มันเป็นตัวเอื้อต่อธรรมะ ตอนโยงนี่แหละสำคัญ ถ้าไม่โยงแล้วพลาดอีกแล้ว ถ้าแยกเดี่ยววินัยไปวินัย เหมือนอย่างคนที่บอกว่าวัตถุสำคัญอะไรต่ออะไรก็ไปหยุดอยู่แค่นั้นก็ผิดอีก วัตถุสำคัญจัดสรรมันให้ดีนะเพราะมันเป็นฐานที่จะทำให้เราก้าวไปสู่ธรรมะได้ จัดสรรวัตถุ จัดสรรปัจจัยสี่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ให้เรียบร้อยเกื้อกูลต่อการก้าวไปในธรรมะ เกื้อกูลต่อการพัฒนาตนของแต่ละบุคคล นี่คือธรรมะมาแล้ว ตกลงธรรมวินัยก็คู่กัน
ถ้าเราสามารถใช้หลักการนี้ถูกต้อง เราก็จะมีความเจริญงอกงามในพระศาสนา ธรรมวินัย พระศาสนาจะเกิดประโยชน์แก่เราอย่างแท้จริง ฉะนั้นโยมจะต้องจับหลักให้ครบ มองดูพุทธศาสนาอย่าให้เว้าๆ แหว่งๆ เวลานี้น่ากลัวมากเรื่องมองดูพระศาสนาเว้าๆ แหว่งๆ เนี่ย แล้วเลยไม่เกิดมัชฉิมา มัชฉิมาความพอดี ความเป็นทางสายกลางเนี่ย อาตมาก็ได้แสดงมาหลายแง่หลายมุมแล้วนะ เจริญพร แล้วก็มาโยงกับความไม่ประมาทนี้ ความไม่ประมาทจะเป็นตัวปรับให้มัชฉิมาดำรงอยู่ได้ ก็เลยเรื่องธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสในวันแสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้แก่ มัชฉิมาปฏิปทา ก็มาบรรจบกับเรื่องความไม่ประมาทที่ตรัสไว้เป็นปัจฉิมวาจาในวันเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานที่กุสินารา แล้วก็เอามาโยงกับธรรมะที่พระองค์ตรัสทั่วไปที่สาวัตถีนี้ ก็เข้ากันหมด ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นทุกอย่างถ้าเราจับจุดถูกแล้ว มันเป็นระบบความสัมพันธ์ เนื่องโยงถึงกันได้หมดทุกอย่าง จับที่ไหนก็ถึงที่อื่นด้วยหมด ฉะนั้นถ้าโยมจับหลักการนี้ได้แล้ว ไม่ว่าใครทำใครพูดธรรมะข้อไหนมาโยมจับได้หมด โยงได้หมด อันนี้อยู่ในจุดนั้น อยู่ในระดับนี้ อะไรต่างๆ สบายเลย ไม่มีปัญหา เราก็จะสบายใจ อย่างพระพุทธเจ้านี้มีวิธีสรุปธรรมะเยอะเลย วิธีสรุปธรรมะของพระองค์ สรุปด้วยอริยสัจสี่ แล้วพระองค์ยังโยงอริยสัจสี่ไปสู่ธรรมะหมดทุกสิ่งทุกประการ
แล้วจะขอพูดให้ฟังอีกนิดหนึ่งนะ เจริญพร เวลายังมีอีกหน่อย อันนี้เป็นการยกตัวอย่างวิธีสรุปธรรมะของพระพุทธเจ้าที่พระองค์สรุปไว้หลายนัย สรุปเป็นสองก็ได้ สรุปเป็นสามก็ได้ สรุปเป็นสี่ก็ได้ แล้วเราไม่ต้องมาเถียงกัน บางคนไปยึดอันเดียวแล้วทีนี้เถียงกับคนอื่น ยุ่งอยู่นั่นแหละ ทั้งๆ ที่ธรรมะนั้นมีวิธีการหลายอย่างในการจำแนก แต่ว่ามันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่พระพุทธเจ้าตรัสธรรมะบอก ทั้งหมดรวมอยู่ในอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วพระองค์ก็โยงไปหาหลักอีกชุดหนึ่งเลย เพื่อจะประมวลธรรมทั้งปวงให้เข้าเป็นชุดเดียวกัน เพราะว่า ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญายัง เนี่ยมีปริญญายังเข้ามาแล้ว นี่คือหลักที่ว่ากิจในอริยสัจสี่ ถ้าใครจะปฏิบัติต่ออริยสัจสี่ให้ถูกต้อง ถ้าไม่รู้หลักกิจในอริยสัจสี่ละก็พลาดเลย เจริญพร อริยสัจสี่จะไปรู้แต่อริยสัจไม่ได้นะ ต้องรู้กิจในอริยสัจด้วย นี่เสียดุลอีกแล้วรู้แต่อริยสัจไม่รู้กิจในอริยสัจ ถ้าปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจผิดไปเลย เจริญพร พลาดเลย เพราะว่าอริยสัจสี่แต่ละข้อมันมีหน้าที่ต่อมัน หน้าที่ต่อทุกข์มีแล้ว ตรัสไว้ในธรรมจักรกัปวัตนสูตรนี่แหละ เราสวดกันอยู่เรื่อย
1) ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญายัง ทุกขังอริยสัจนั้นเป็นสิ่งต้องปริญญา มาแล้วหน้าที่ต่อทุกข์ต้องปริญญา แปลว่ากำหนดรู้ รู้จัก ทุกข์เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ เรามีหน้าที่รู้ทุกข์นะ เจริญพร หน้าที่รู้ทันทุกข์ การรู้จักทุกข์กับเป็นทุกข์ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ถ้าใครปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจผิด เอาทุกข์มาเป็นทุกข์จบเลย เจริญพร ผิดแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้ใครเป็นทุกข์นะ เจริญพร แต่สอนให้รู้ทันทุกข์ ฉะนั้นกิจอริยสัจข้อที่หนึ่งแค่นี้ก็พลาดแล้วหลายคน ต้องรู้ว่าทุกข์นี้ปริญญายังต้องปริญญา รู้ทันมัน
2) ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพัง ทุกขะ สมุทัย อริยสัจเป็นสิ่งที่พึงปะหานะ ละ ก็คือปะหานะ สองแล้วนะโยม
3) ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพัง ทุกขะนิโรธ อริยสัจเป็นสิ่งที่ต้องสัจฉิกิริยา ทำให้แจ้ง ทำให้เป็นจริง บรรลุถึง อันนี้สามสัจฉิกิริยามาแล้ว
4) ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพัง ทุกขะนิโรธะคามินี อริยสัจเป็นสิ่งที่พึงเจริญ พึงปฏิบัติ ลงมือทำ ภาเวตัพพัง คือลงมือทำ ข้อปฏิบัติอยู่ที่ข้อที่ 4 เรียกว่าภาวนา
ตกลงว่าหน้าที่ของอริยสัจข้อที่ 1 คือ ทุกข์ ได้แก่ปริญญา หน้าที่อริยสัจข้อ 2 สมุทัย คือปะหานะ หน้าที่อริยสัจข้อที่ 3 นิโรธ คือสัจฉิกิริยา การบรรลุหรือทำให้เป็นจริงหรือทำให้แจ้ง แล้วข้อ 4 หน้าที่ต่อมรรค ก็คือภาวนา คือการลงมือปฏิบัติ
เราต้องปฏิบัติอันเดียวอันสุดท้าย คือข้อ 4 มรรค นอกนั้นเราปฏิบัติไปตามข้อ 4 แล้ว มันถึงเองหมด แต่เรารู้ไว้ว่าหน้าที่เดิมของมันคืออะไร แล้วทีนี้พระพุทธเจ้าก็เอาหลักสี่นี้ไปจัดธรรมะอีก ปริญญาก็ไปจัดธรรมะทุกอย่างเป็นธรรมะ พวกหนึ่งเป็นปริญเญยธรรม ธรรมะที่พึงปริญญาคือต้องรู้จัก เช่น ขันธ์ 5 อย่างนี้ ไตรลักษณ์ อย่างนี้ เป็นพวกปริญเญยธรรม ธรรมที่พึงกำหนดรู้ รู้จัก รู้เท่าทัน ไตรลักษณ์นี้เรามีหน้าที่รู้จัก ขันธ์ 5 มีหน้าที่รู้จัก อายตนะมีหน้าที่รู้จัก ธาตุสิบแปด พวกนี้เป็นปริญเญยธรรมหมด
2) พวกปหาตัพพธรรม มีหน้าที่ที่เราจะต้องละ มีธรรมะประเภทนี้เยอะเช่นกัน เช่นว่า อกุศลมูล โลภะ โทสะ โมหะ พวกตัณหา มานะ ทิฐิ เยอะแยะไปหมด พวกนี้พวกบาป พวกอกุศลอะไรต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงมากมาย ตลอดจนกระทั่งในที่สุด อวิชชา พวกนี้เป็นปหาตัพพธรรม
3) ธรรมะอีกหมวดหนึ่ง สิ่งทั้งหลายจัดเข้าในประเภทที่ 3 คือสัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมะที่พึงทำให้แจ้ง ต้องบรรลุถึง พวกนี้เช่น สันติ ความสงบ วิสุทธิ ความบริสุทธิ์ ความเป็นอิสระ ความสะอาด พระนิพพาน พวกนี้เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมะที่พึงทำให้แจ้ง
4) แล้วสุดท้ายก็ ภาเวตัพพธรรม ธรรมะที่พึงปฏิบัติ ศรัทธาก็ดี ศีลก็ดี หรืออะไรเยอะแยะ ปัญญาก็ดี หรือว่า สมาธิก็ดี หิริโอตตัปปะก็ดี อะไรเยอะแยะไปหมด ข้อธรรมต่างๆ พวกนี้เป็น ภาเวตัพพธรรม พึงเจริญ พึงทำให้เกิดให้มี พึงปฏิบัติ ที่เราเรียกรวมกันง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นภาเวตัพพธรรม หรือมรรคมีองค์แปดก็ได้ หรือโพธิปักขิยธรรมก็ได้ โยมจะแยกเป็นยังไงก็ได้ เป็น 37 ประการก็ได้ เป็นกี่อย่างๆ พวกนี้ก็รวมอยู่ใน ภาเวตัพพธรรม ธรรมะก็มีทั้งหมดนะ อะไรๆ ทั้งหลายบรรดามีก็จัดไว้ในชุด 4 อย่างนี้ เป็นปริญเญยธรรมพวกหนึ่ง เป็นปหาตัพพธรรมพวกหนึ่ง เป็นสัจฉิกาตัพพธรรมพวกหนึ่ง เป็นภาเวตัพพธรรมพวกหนึ่ง พวกนี้จัดแล้วเอามาประสานกับอริยสัจสี่ ก็นำไปสู่เรื่องกิจต่ออริยสัจ ปฏิบัติกิจต่ออริยสัจถูกต้อง ก็เข้าสู่ทางพระพุทธศาสนาถูกต้อง
อันนี้เวลานี้ก็ 10.53 นาฬิกาแล้ว พอสมควรแก่เวลา อาตมาก็เลยพูดธรรมะมาให้โยมฟังในวันนี้ก็คิดว่าคงจะช่วยให้โยมได้เห็นภาพของพระพุทธศาสนา ทั้งในแง่ของสภาพแวดล้อมในยุคพุทธกาล สภาพของถิ่นฐานแว่นแคว้นที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จไป และโยงมาหาธรรมะที่พระองค์ตรัส และภาพรวมของพระพุทธศาสนาที่ว่าเป็นธรรมวินัย แล้วก็ประชุมลงในเรื่องการปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท โยงไปหามัชฉิมาปฏิปทา รวมเรื่องไตรสิกขา เป็นต้น ก็คิดว่าโยมคงจะได้มีความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งคิดว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้มีผลในการดำเนินชีวิตในการปฏิบัติธรรม แล้วก็จะมาเป็นธรรมกายในตัวโยม ธรรมกายที่ไม่มีรูปมีร่างไม่ต้องเห็น แต่เห็นด้วยปัญญา เห็นธรรมะ โยมปฏิบัติไปข้อหนึ่งก็ได้เข้ามาข้อหนึ่งแล้ว ปฏิบัติรู้เข้ามาอีกข้อ ก็ได้ 2 ธรรมกายก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ธรรมกายนี้เสื่อมมั่งเจริญมั่ง อ้าว อันนั้นหายไป อันนี้มาใหม่ ธรรมกายยุบธรรมกายพอง ไปมาไปมาธรรมกายนี้ไปถึงเป็นมรรคผลนิพพานเมื่อไร ธรรมกายนี้แน่นแฟ้นมั่นคง ก็ขอให้โยมได้เจริญพัฒนาจนกระทั่งได้ประสบธรรมกาย ที่เป็นธรรมกายอันมั่นคงที่ยั่งยืนยงอยู่กับตัวโยมตลอดไป คือมรรคผลนิพพาน ก็ขอให้การเดินทางมาในสถานที่ที่เป็นพุทธสถานสำคัญ โดยเฉพาะสังเวชนียสถานนี้เป็นเครื่องหรือเป็นปัจจัยทำให้โยมได้เจริญกุศลธรรม มีศรัทธายิ่งๆ ขึ้นไป และได้ ปีติ โสมนัส ความปลาบปลื้มใจจะได้เป็นเครื่องนำโยมไปสู่ความงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็ขอให้โยมทุกท่านได้มีความเจริญงอกงาม ความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันยิ่งขึ้นไปตลอดกาลนานเทอญ ... สาธุ
……………………………………………..
คำแนะนำในการถอดเสียง
1. ไม่ต้องถอดเสียงอื่นๆ ที่ไม่ใช่คำพูด เช่น บทสวดมนต์ เสียงกระแอม ไอ
2. คำบาลี หรือ ศัพท์ที่สะกดไม่ได้ ให้สะกดตามเสียงที่ได้ยิน พร้อมใส่ไว้ในวงเล็บ เช่น (ปา ติ จะ ซา หมุป ปะ บาด) จะมีอาสามาช่วยตรวจสอบซ้ำอีกรอบ
3. คำที่ไม่แน่ใจ เพราะได้ยินไม่ชัดและไม่อาจสะกดได้ (เช่น บางครั้งเสียงของผู้ฟังในห้องที่ถามคำถามอาจจะเบามาก จนไม่ได้ยิน) ให้ใช้เครื่องหมายคำถามสามอันติดกัน ??? จะมีอาสามาตรวจสอบซ้ำอีกรอบ
รายชื่อไฟล์เสียง |
PA01P019 (09. ทางสายกลาง เพื่อชีวิตสังคมที่สุขสมบูรณ์) |
รายชื่อผู้ถอด |
นางประไพ โรจน์ประทักษ์ |
หมายเหตุ |
คำ ข้อความที่ระบายสีเหลืองไว้ คือไม่แน่ใจว่าพิมพ์ถูกต้องตามคำศัพท์หรือไม่ค่ะ ไม่แน่ใจสะกดคำว่า ธรรม ธรรมะ ธรรมะ หรือธัมมะ |
เนื้อหา
ซีดีธรรมะบรรยาย ชุด จาริกบุญ จารึกธรรม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ.ปยุตโต วัดญาณเวศกวัน ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม
ตอนที่ 9 ทางสายกลาง เพื่อชีวิตสังคมที่สุขสมบูรณ์
บรรยายที่พระคันธกุฎี วัดพระเชตวันเมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2538 เวลา 08.20 น.
ขอเจริญพร บัดนี้คณะบุญจาริกได้เดินทางมาถึงวัดเชตวัน และก็ได้มาทำวัตรสวดมนต์บูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ที่พระคันธกุฎี ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่เป็นเวลารวมถึง 19 ปี ในพระเชตวันนี้ แล้วก็ในกรุงที่เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ชื่อว่าสาวัตถี เมืองสาวัตถีนี้ก็เป็นชื่อในภาษาบาลีเดิม เรียกตามภาษาสันสกฤติว่า เมืองศราวัสตี แต่ชื่อสาวัตถีก็ดี ศราวัสตีก็ดี ก็เป็นชื่อที่เรารื้อฟื้นขึ้นมาในสมัยปัจจุบัน ก่อนที่จะมีการรื้อฟื้นสถานที่สำคัญในทางพุทธศาสนา ชื่อนี้ก็เลือนรางจางหายไปแล้ว คนอินเดียก็ไม่รู้จักเขาเรียกถิ่นนี้ว่าสะเหถ-มะเหถ แล้วก็สถานที่นี้ซึ่งเคยเป็นเมืองใหญ่ เป็นราชธานีของแคว้นที่เป็นมหาอำนาจในสมัยโบราณก็กลับเป็นที่รกร้างเป็นถิ่นกันดารห่างไกล อย่างที่โยมได้เดินทางเมื่อวานนี้ แม้แต่สมัยปัจจุบันนี้หนทางก็เดินทางมาแสนยาก นี่ก็เป็นเรื่องที่ให้เห็นความเป็นอนิจจังของสิ่งทั้งหลาย
คำว่าสาวัตถีนี้ก็มีตำนานว่าที่ได้ตั้งขึ้นมีชื่อว่าสาวัตถีก็เพราะว่า เดิมเป็นที่อยู่ของฤาษีชื่อว่าสวัตถะ อันนี้ก็เป็นตำนานหนึ่ง แต่มีตำนานหนึ่งเล่าว่าพวกพ่อค้ากองเกวียนต่างๆ ที่เราเรียกคาราวาน จะเดินทางมาค้าขายที่นี่เพราะเป็นเมืองใหญ่ และเมื่อมาถึงนี่ละก็มีการไถ่ถามว่ามีของอะไรมาขายบ้าง กองคาราวานก็จะตอบไปบอกว่า มีทุกอย่าง คำว่ามีทุกอย่างนี่ ภาษาบาลีว่า “สพฺพํ อตฺถิ” สพฺพํ นั้นภาษาสันสกฤตก็เป็น สรฺวํ อสฺติ แปลว่ามี หรือ สพฺพํ แปลว่าทุกอย่าง มีทุกอย่าง สรฺวํ อสฺติ หรือ สพฺพํ อตฺถิ และคำว่า สพฺพํ อตฺถิ หรือ สรฺวํ อสฺติ นี้ก็เลยกลายมาเป็นสาวัตถี อันนี้ก็เป็นตำนานเรื่องราวที่เป็นมาในอดีต เป็นประวัติของชื่อเมืองนี้ เมืองสาวัตถีนี้ตามพระคัมภีร์ว่าอยู่ห่างจากเมืองราชคฤห์ 45 โยชน์ ถ้าคิดตามตัวเลขปัจจุบัน โยชน์ละประมาณ 16 กิโลเมตร ก็ได้ 720 กิโลเมตร นี่ก็ว่าไปตามตัวเลขในคัมภีร์ ทางเดินสมัยก่อนก็คงเป็นทางเดินของกองเกวียน ปัจจุบันนี้โยมก็คำนวณเอาเอง เพราะเราก็เดินทางมาตามลำดับ แต่เราจะเห็นว่าการวัดระยะทางนี่เมืองราชคฤห์มักจะเป็นจุดที่เป็นศูนย์กลางในการวัด แสดงว่าเมืองราชคฤห์มีความสำคัญมาก
ทีนี้เมืองสาวัตถีนี้ก็ดังได้กล่าวแล้วว่าเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าได้ประทับอยู่นานที่สุดในการบำเพ็ญพุทธกิจนี้ มาประทับที่สาวัตถีถึง 25 พรรษา โดยแบ่งเป็น 2 วัด ประทับที่วัดนี้คือ วัดพระเชตวันนั้น 19 พรรษา แล้วก็ประทับที่วัดบุพพารามของนางวิสาขาอีก 6 ปี อีก 6 พรรษา แต่ที่จริงนั้นยังมีวัดใหญ่วัดสำคัญในเมืองสาวัตถีอีกวัดหนึ่ง คือวัดราชการาม หรือราชิการาม แต่ในคัมภีร์เขาเรียกราชการาม ราชการามนั้นเป็นวัดของพระเจ้าปเสนทิโกศลบุคคลสำคัญมากในเมืองสาวัตถีนี้ ที่มีความคุ้นเคยสนิทสนมเป็นผู้อุปถัมภ์องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและคณะสงฆ์ ก็มีนี่แหละพระเจ้าปเสนทิโกศล ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี แล้วก็นางวิสาขามหาอุบาสิกา อาจจะเป็นด้วยเหตุที่ในเมืองสาวัตถีนี้มีบุคคลที่มีความคุ้นเคยสนิทสนมใกล้ชิดกับองค์สัมมาสัมพุทธเจ้ามาก ก็เลยเป็นเหตุให้พระองค์เสด็จประทับที่นี่มาก ทั้งที่ว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาเบื้องต้นที่เมืองราชคฤห์ แต่กลับมาประทับที่นี่มากที่สุด เพราะเมืองราชคฤห์นั้นต่อมาก็มีเหตุการณ์มีความเปลี่ยนแปลง พระเจ้าแผ่นดินองค์เดิมที่เริ่มต้นในการประกาศพระศาสนามีความสนิทสนมกับพระพุทธเจ้ามาก คือพระเจ้าพิมพิสาร ก็ถูกพระราชโอรสคือ พระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์ แล้วต่อมาเรื่องราวในกรุงราชคฤห์ก็คงจะไม่เป็นที่เรียบร้อยดีเท่าไร อันนี้ก็อาจจะเป็นเหตุหนึ่งเมื่อมีเศรษฐี มีมหากษัตริย์ ในเมืองสาวัตถีนี้มีศรัทธามากแล้วก็มีความสนิทสนมคุ้นเคยมาก พระพุทธเจ้าก็เลยเสด็จมาประทับที่นี่มาก
ถ้าเราเทียบกันดูในศาสนกิจ อาตมาก็อยากจะทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธกิจอยู่ทั้งหมด 45 พรรษา พอมามองดูว่าประทับอยู่ที่สาวัตถีถึง 25 แหละ ก็เหลือที่อื่นอยู่ 20 เท่านั้นเอง และ 20 นี่ เอาราชคฤห์ออกเสียอีก 5 คือราชคฤห์นี่ประทับประมาณ 5 พรรษา คือตัวเลขนี้อาจจะมีการขัดแย้งกันบ้าง แต่ว่าตัวเลขในคัมภีร์ที่ยอมรับทั่วไปก็ 5 พรรษา คืออาตมาเคยบอกแล้วว่าพระพุทธเจ้าประทับที่เมืองราชคฤห์ในพรรษาที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 17 และที่ 20 ก็ 5 พรรษา แล้วมาประทับที่สาวัตถีนี่พรรษาแรก คือพรรษาที่ 14 ก่อนนั้นก็เสด็จมาแต่ไม่ได้จำพรรษา มาพรรษาแรกจำพรรษาก็ 14 แล้วก็ข้ามไป 21 ไปถึง 44 เลย 21- 44 ติดต่อกันตลอดเลย ก็ปาเข้าไปเท่าไรแล้ว สาวัตถีกับราชคฤห์ 2 เมืองก็ 30 พรรษาแล้ว 30 พรรษาก็เหลืออีก 15 พรรษา พรรษาแรกก็ที่ อิสิปตนมฤคทายวัน หนึ่งเพื่อประกาศพระพุทธศาสนา พรรษาสุดท้ายก่อนจะปรินิพพานก็ที่ เวฬุวคาม เมืองเวสาลี ก็รวมเป็นอีก 2 แล้ว แล้วก็ไปที่จาลิยบรรพต และนั่นก็นับว่านานที่สุด รองไปจาก 2 เมืองนี้ อีก 3 พรรษา ก็เป็นอีก 5 ก็เข้าไปเท่าไหร่แล้วก็ 35 พรรษาแล้ว ก็เหลืออีกเพียง 10 พรรษา นอกจากนั้นแล้วพระองค์ประทับเฉลี่ยไปแห่งละ 1 พรรษา หลายแห่งก็ไม่ต้องมาลำดับ เพราะว่าสถานการณ์ยาก
อันนี้ก็เป็นการทำให้มองเห็นภาพการดำเนินพุทธกิจของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าประทับที่เมืองนี้มากที่สุด เพราะฉะนั้นพระธรรมเทศนาของพระองค์ก็เกิดขึ้นที่นี่มากมาย อย่างมงคลสูตรที่หลวงพ่อฤาษีท่านกล่าวถึง พระพุทธเจ้าก็ตรัสที่นี่เป็นพระสูตรที่เรารู้จักมากที่สุดพระสูตรหนึ่ง เราสวดกันเรื่อยเลย เวลามีงานมงคลอะไรก็ต้องสวดมงคลสูตรก็เกิดขึ้นที่นี่ แล้วพระสูตรอย่างที่ตรัสแสดงถึงหลักธรรมที่ว่าตัวธรรมะหลักความจริงเป็นธรรมนิยาม เป็นกฎของธรรมชาติ ดำรงอยู่ตามธรรมดาของมันไม่ว่าตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธรรมะก็เป็นอย่างนั้นแต่พระองค์มาค้นพบ แล้วก็นำมาเปิดเผยแสดงชี้แจงทำให้เข้าใจได้ง่าย พระสูตรนี้เราเรียกว่า ธรรมนิยามสูตรหรือในพระไตรปิฎกท่านเรียกว่า อุปปาทสูตร พระสูตรนี้ก็ตรัสที่นี่เหมือนกัน แล้วก็ถึงแม้สูตรอื่นๆ ก็ยังมีอีกมากมายไม่ในเมืองนี้เองก็ในแคว้นนี้ อย่างพระสูตรที่คนรู้จักกันมากชื่อ กาลามสูตร กาลามสูตรนี้ก็ตรัสในแคว้นโกศลนี้แหละ ในเกสปุตตนิคม เยอะแยะไปหมดพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัส
ก็อย่างที่อาตมากล่าวแล้วว่า พระพุทธเจ้าได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ เมืองราชคฤห์เป็นเมืองใหญ่ พระพุทธเจ้าคงจะทรงมองเห็นการณ์ไกลความสัมพันธ์ของเมืองราชคฤห์ จะเห็นว่าเหตุการณ์สำคัญในการประดิษฐานพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงเริ่มต้นก็ไปประดิษฐานที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ การสังคายนาก็ไปทำที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ แล้วพระเจ้าอโศกมหาราชส่งศาสนทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาก็จะออกจากแคว้นมคธ ตอนนั้นย้ายจากราชคฤห์ไปปาฏลีบุตร ฉะนั้นเรื่องความสำคัญเหตุการณ์ใหญ่ๆ ในพระพุทธศาสนานี้ ที่เรียกว่าเป็นจุดตั้งต้นครั้งสำคัญๆ นี้ก็ไปจากเมืองหลวงของแคว้นมคธ แต่สาวัตถีกลับเป็นดินแดนที่พระพุทธเจ้าประทับมากที่สุด อันนี้ก็คงจะทรงมองเห็นเรื่องของการทรงแสดงธรรมเพื่อให้มีคำสอนที่จะไปใช้ ไปปฏิบัติ ไปสอนเนี่ย เอาที่นี่เป็นแหล่งในการที่จะได้สั่งสอน แต่ว่าจุดที่เป็นต้นกำเนิดสำคัญๆ ที่จะทำงานในทางพระศาสนา จุดสำคัญในการทำงานของคณะสงฆ์ไปใช้ในราชคฤห์เป็นศูนย์กลาง ฉะนั้นเมือง 2 เมืองนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง เราก็ควรจะได้เห็นภาพอันนี้ไว้
ทีนี้อาตมาได้กล่าวบอกว่าที่พระพุทธเจ้าได้ประทับที่นี่มาก เพราะมีบุคคลที่ทรงมีความใกล้ชิดคุ้นเคยมาก อย่างนางวิสาขานี้โยมก็ได้รู้จักมาก ได้ยินชื่อเป็นประจำเลย มหาอุบาสิกา เรื่องของนางวิสาขามามากในพระวินัย มีเรื่องมาในพระวินัยเยอะไปหมดเลย นางวิสาขานี้เป็นต้นเหตุของการบัญญัติอะไรต่างๆ การที่พระสงฆ์ได้มีพวกอาหารฉัน ในชื่อต่างๆ แม้แต่ผ้าอาบน้ำฝนนี่ นางวิสาขาเป็นผู้เริ่มต้นทั้งนั้นเลย แล้วก็นางวิสาขานี้มีบทบาทสำคัญแม้แต่ในเวลาเกิดเหตุการณ์ เช่น มีเรื่องอธิกรณ์เกิดขึ้น อย่างที่เคยเล่าให้โยมฟัง นางภิกษุณีผู้เป็นมารดาของพระกุมารกัสสปะ ได้ตั้งครรภ์มา ปรากฎครรภ์ขึ้นมาได้เกิดเรื่อง แล้วก็โพนทนาว่าเธอทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ เธอบวชเข้ามาแล้วทำไมประพฤติผิดล่วงละเมิดพระวินัยอะไรต่างๆ ก็เกิดเรื่องเกิดราวเอาไปหาพระเทวทัต พระเทวทัตก็ตัดสินให้สึกเพราะว่าบวชเดิมนั้น มารดาพระกุมารกัสสปะนั้นบวชในสำนักพระเทวทัต ทีนี้ก็ไปให้พระเทวทัตวินิจฉัย พระเทวทัตกลัวจะขายหน้าหมู่คณะของตนเองก็บอกให้สึกไปซะ ฝ่ายพระภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะก็มาคิดน้อยใจว่า แหมเรานี้ตั้งใจบวชด้วยศรัทธาอย่างยิ่ง อุตส่าห์เสียสละทรัพย์สมบัติมา เป็นลูกผู้ดีมีเงินทองมากมายสละชีวิตมาบวชในพระศาสนาแล้ว และเราก็ไม่ได้ทำความผิด ทำไมจะมายอมง่ายๆ อย่างนั้น แล้วก็คิดขึ้นมาอีกว่าเราบวชอุทิศพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่ได้บวชอุทิศให้พระเทวทัต พอคิดได้อย่างนี้ก็เลยไปพูดปรึกษานางภิกษุณีช่วยนำเรื่องมาหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทั้งๆ ที่รู้ว่านางภิกษุณีนี้บริสุทธิ์ แต่ก็ต้องทำการให้เป็นไปตามขั้นตอนของพระวินัย ก็ตั้งอย่างที่สมัยนี้ก็เรียกว่าตั้งคณะกรรมการขึ้นมา มีฝ่ายพระมีพระอุบาลีเป็นประธาน และทางฝ่ายอุบาสิกาก็มีนางวิสาขาด้วย มีอนาถกบิณฑิกเศรษฐี มีพระเจ้าปเสนทิโกศลด้วย เพราะนางภิกษุณีรูปนี้เป็นคนบุคคลสำคัญธิดาเศรษฐีใหญ่ ให้พระเจ้าแผ่นดินปเสนทิโกศลก็เป็นกรรมการ แต่นางวิสาขาก็เป็นกรรมการคนสำคัญ นางวิสาขาก็ทำหน้าที่ได้ตรวจสอบตรวจร่างกายนางภิกษุณี แล้วก็ได้สอบถามเพราะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการตั้งครรภ์ ในที่สุดก็ไปชี้แจงที่ประชุม พอประมวลเรื่องราวก็พอวินิจฉัยได้ว่า นางภิกษุณีมารดาของพระกุมารกัสสปะนั้นตั้งครรภ์มาตั้งแต่ก่อนบวชแล้วมีครรภ์ติดมา ก็เลยเป็นอันว่าพ้นจากอธิกรณ์ พ้นคดีไป เป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วก็อยู่มาก็คลอดได้เป็นกุมาร แล้วก็พระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ขอไปเลี้ยง เพราะว่าเสด็จเข้ามาในวัดได้ยินเสียงเด็กร้อง เอ๊ะไม่สมควรจะอยู่ในวัด แล้วก็จะอยู่ลำบาก การเลี้ยงดูเป็นภิกษุณีก็เลี้ยงลำบาก ก็เลยขอไปเลี้ยงในวัง เพราะเหตุที่ว่าไปอยู่ในวังก็เป็นกุมาร คำว่ากุมารนี้ก็เหมือนกับราชกุมารเติบโตขึ้นวัง เปลี่ยนชื่อว่าพระกุมารกัสสปะ ก็ได้เป็นสาวกองค์สำคัญของพระพุทธเจ้า ได้เป็นเอตทัคคะในการแสดงธรรมวิจิตร แล้วมารดาต่อมาก็ได้อาศัยพระกุมารกัสสปะนี้ก็ได้บรรลุอรหัตผลหมือนกัน อันนี้เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นที่พระเชตวันในเมืองสาวัตถีนี้
อาตมาก็เล่านอกเรื่องไป เรื่องในพระเชตวันเรื่องเมืองสาวัตถีนี้มากมายเหลือเกินนี้เป็นเพียงตัวอย่าง แต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงใกล้ชิดมากกับคนในเมืองสาวัตถีนี้ นอกจากนางวิสาขา ก็มีอนาถบิณฑิกเศรษฐีซึ่งอุปถัมภ์บำรุงพระสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง แล้วก็นอกจากอุปถัมภ์พระสงฆ์ แล้วก็อุปถัมภ์คนยากคนจน คนอนาถาทั้งหมด จนกระทั่งได้ชื่อว่าอนาถบิณฑิกะ ตัวจริงชื่อสุทัตตะ แต่เพราะเหตุที่ว่า เป็นคนที่เลี้ยงดูคนอยากคนจนอะไรด้วย ก็เลยเขาเรียกสมญาว่าอนาถบิณฑิกะ อนาถบิณฑิกะแปลว่าผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถา หมายความว่าคนอนาถาไม่มีเงินทอง ไม่มีอาหารกินก็ได้พึ่งอนาถบิณฑิกเศรษฐี แล้วก็แม้นองค์พระมหากษัตริย์เอง พระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ก็เป็นพระมหากษัตริย์ที่มีความเคารพนับถือในพระพุทธเจ้าอย่างยวดยิ่ง ก็คงจะเทียบคล้ายๆ กับพระเจ้าพิมพิสาร แต่ของพระเจ้าพิมพิสารแคว้นมคธนั้นท่านอายุสั้นกว่า ท่านถูกปลงพระชนม์เสียโดยพระราชโอรส
พระเจ้าปเสนทิโกศลนี้มีความเคารพในพระพุทธเจ้ามาก แล้วก็มีอายุเท่าพระพุทธเจ้าด้วย ก็เรียกว่าเกิดปีเดียวกันเป็นสหชาติ พระเจ้าปเสนทิโกศลนี้ได้เคยแสดงความเคารพในพระพุทธเจ้า ครั้งหนึ่งเคยเข้ามาถึงก็มากอดจูบพระบาทแสดงความเคารพอย่างยิ่ง พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า มหาบพิตรทำไมมีอะไรหรือจึงมาแสดงความรักความเคารพอาตมาถึงอย่างนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้กราบทูลว่า พระองค์นี้ทำให้ชนและมหาชนนี้ตั้งอยู่ในกุศล อยู่ในความดี หมายความว่าพระพุทธเจ้านี้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชน แก่ประเทศของพระองค์ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นก็มีความเคารพในส่วนบุคคล ในตัวพระองค์เองก็มีความเคารพรักมีความใกล้ชิดด้วย แล้วก็ได้ตรัสเหตุต่างๆ คือ ข้อที่พระเจ้าปเสนทิโกศลมีความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าหลายอย่างหลายประการ คำตรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่แสดงความเคารพพระพุทธเจ้าและเหตุผลต่างๆ ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้านี้ ได้เป็นพระสูตรหนึ่งเลยนะ เจริญพร เรียกว่าพระธรรมเจติยสูตร ธรรมเจติพระพุทธเจ้า เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสจบไปแล้ว พระพุทธเจ้าก็บอกพระสงฆ์ ขอให้สงฆ์จำไว้เรียกข้อความที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลพระองค์นี้ว่าธรรมเจติ
นี่ก็เท่ากับว่า คำว่าสูตรหนึ่งนี้เป็นคำตรัสของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระสูตรนี้ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องเป็นพระพุทธเจ้าตรัสทั้งหมด นี่เห็นตัวอย่างว่านี่เป็นเหมือนกับว่าเป็นคำตรัสของพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งก็เป็นพระสูตรได้เหมือนกัน ธรรมเจติยสูตรนี้ก็เป็นสูตรที่น่าศึกษาเหมือนกัน แสดงให้เห็นถึงสภาพการณ์ของพระศาสนา พระสงฆ์อะไรต่างๆ ซึ่งก็มีการเปรียบเทียบกับลัทธิศาสนาอื่นๆ ไปด้วยในตัวว่า ทำไมจึงทำให้พระเจ้าปเสนทิโกศลมีความเลื่อมใสศรัทธา
นอกจากนั้นบางครั้งพระพุทธเจ้ายังได้ทรงอนุเคราะห์พระเจ้าปเสนทิโกศลเป็นการส่วนพระองค์ คือพระเจ้าปเสนทิโกศลจะมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นประจำเลย เดี๋ยวก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้า เรียกว่าเฝ้าทุกวัน คล้ายๆ มีความรักมากอยากจะคุยด้วย พูดง่ายๆ อย่างภาษาชาวบ้าน อยากจะคุยกับพระพุทธเจ้าทุกวัน เพราะฉะนั้นก็มาเฝ้าเรื่อยเลย ทีนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลนี่ทรงเสวยจุ เสวยมาก ก็เลยทรงน้ำหนักมาก น้ำหนักมากก็เลยอุ้ยอ้าย เวลาจะประทับนั่งอะไรต่ออะไรก็ไม่ค่อยสะดวก จะลุกจะเอาอะไรทีนึงก็ไม่ค่อยจะคล่องแคล่ว ทีนี้เวลามาเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสคาถาหนึ่งขึ้นมา ทำนองว่าคล้ายๆ ก็พูดถึงเรื่องนี้ อาตมาก็ไม่ได้ทบทวนนานแล้วคาถานี้ลืมไปแล้ว คือข้อความทำนองว่าถ้าหากว่าเสวยน้อยๆ อะไรพอดีๆ นี้ก็จะทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าอะไรทำนองนั้นทีนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงได้สติ ก็เลยตกลงให้หลานของพระองค์ พระราชนัดดาซึ่งตามเสด็จมาเฝ้าด้วย เรียนคาถาของพระพุทธเจ้านี้ไว้ แล้วเวลาพระเจ้าปเสนทิโกศลจะเสวยครั้งไร พระราชนัดดานี้ก็จะรีบชิงว่าคาถานี้ขึ้นมาก่อนเลย พอพระราชนัดดาว่าคาถานี้ขึ้นมาพระเจ้าปเสนทิโกศลนี้ก็สะดุด พอสะดุดก็เลยทำให้เสวยพอประมาณไม่เสวยมากเกินไปก็ได้ผล
ต่อมาก็ปรากฏว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงมีพระวรกายกระปรี้กระเปร่าคล่องแคล่วขึ้นมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และครั้งหนึ่งก็ยังได้กราบทูลพระพุทธเจ้า บอกว่า พระองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ยอนุเคราะห์หม่อมฉันไม่เฉพาะแต่สัมปรายิกัตถะเท่านั้น แต่ยังสงเคราะห์ทิฏฐธัมมิกัตถะด้วย หมายความว่าอย่างไร คือพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้ข้อปฏิบัติในการปฏิบัติขัดเกลาพัฒนาจิตใจอะไรต่างๆ เป็นสัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ลึกซึ้ง ประโยชน์เบื้องสูง ประโยชน์เบื้องหน้า แต่ไม่เพียงเท่านั้นพระองค์ยังสงเคราะห์ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือประโยชน์ปัจจุบันด้วย ได้แก่ เรื่องของสุขภาพ ร่างกาย เรื่องของความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เรื่องของการมีทรัพย์สินเงินทองอะไรต่างๆ การปฏิบัติต่อทรัพย์ เป็นต้น เรียกว่าประโยชน์ปัจจุบัน ในที่นี้ก็คือเรื่องสุขภาพ อันนี้ก็เป็นเรื่องแสดงให้เห็นตัวอย่างของความสนิทสนมของพระเจ้าปเสนทิโกศลต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นี่แหละในเมืองสาวัตถีเนี่ยมีบุคคลสำคัญที่มีความใกล้ชิดเคารพรักพระพุทธเจ้ามาก แม้แค่ 3 ท่านนี้ก็น่าจะเป็นเหตุเพียงพอแล้วที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงพอพระทัยที่จะประทับอยู่ที่นี่นานๆ อันนี้ก็อาตมาก็เล่าให้ฟังเพื่อจะได้มองเห็นสภาพแวดล้อมของถิ่นที่นี้ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ขอเล่าเลยไปนิดหนึ่งอย่างที่อาตมากล่าวแล้วว่าเมืองสาวัตถีนี้ก็เป็นเมืองหลวงของแคว้นโกศล ได้พูดให้โยมฟังตั้งแต่ต้นแล้วว่าในสมัยพุทธกาล บรรดาแคว้น 16 แคว้น แคว้นที่ยิ่งใหญ่มีอำนาจมากก็มีแค่ 5 แคว้นหรือ 5 รัฐ 5 ประเทศ คือ 1) มคธ มีราชคฤห์เป็นหลวง 2) โกศล มีสาวัตถีเป็นเมืองหลวง 3) วัชชี ที่พระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพไปกำจัด มีกษัตริย์ลิจฉวี แล้วก็ต่อไปก็โน่นนะทางแคว้นวังสะ เมืองโกสัมพี แล้วก็แคว้นอวันตี มีอุชเชนีเป็นเมืองหลวง ก็มีพวกกามนิต วาสิฏฐี แต่อยู่ไกลออกไปทางตะวันตกโน่น แล้วก็เลยไม่ค่อยมีเรื่องเกี่ยวข้องมากเพราะเป็นเมืองไกล พระพุทธเจ้าก็เคยเสด็จไปแต่ไม่มากไม่บ่อยเท่าทางนี้
ตกลงเมื่อจำกัดให้เหลือแคบเข้าก็ 3 คือเอาอวันตีมีอุชเชนีเป็นเมืองหลวง แล้วก็วังสะมีโกสัมพีเป็นเมืองหลวงออกไปเพราะอยู่ทางตะวันตกไกลออกไป ก็เหลือ 3 แคว้น ก็คือแคว้นมคธ แคว้นโกศล แล้วก็แคว้นวัชชี อาตมาเคยเล่าไปแล้วว่าแคว้นวัชชีนี้ต่อมาก็หมดอำนาจไปเพราะแตกความสามัคคีกัน เพราะวัสสการพราหมณ์ยุแหย่ ฝ่ายโกศลนี้ก็เป็นแคว้นที่ยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจ แล้วตอนพุทธกาลนี้ก็ผนวกเอาแคว้นกาสีเข้ามาด้วยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลที่ถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินของโกศลเมืองสาวัตถีนี้ บางครั้งก็เรียกว่าเป็นมหาราชาหรือราชาแห่งกาสีและโกศลเลย เรียกผนวกเลย แต่ถึงแม้เรียกโกศลอย่างเดียวก็รวมกาสีด้วยแล้ว กาสีก็มีเมืองพาราณสีเป็นเมืองหลวงแต่หมดอำนาจไป ทีนี้กาสีนี่เมื่อตกเป็นส่วนหนึ่งของโกศลไปแล้วพระเจ้าปเสนทิโกศลก็จัดการได้ตามชอบใจ สำหรับพระเจ้าปเสนทิโกศลก็มีความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้าพิมพิสาร เพราะเป็นพี่เขยของกันและกัน คือน้องสาวพระราชกนิษฐภคินีของพระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ไปเป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร แล้วก็พระราชกนิษฐภคินีของน้องสาวพระเจ้าพิมพิสาร ก็มาเป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล แคว้นทั้ง 2 นี้ ซึ่งแข่งอำนาจกันมาก็เลยหยุดแข่งอำนาจ เพราะว่าเป็นญาติกันมีความใกล้ชิดกันมาก อันนี้ก็อาจจะเป็นโยงใยอันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารมีความสัมพันธ์เลื่อมใสพระพุทธเจ้า การที่พระเจ้าปเสนทิโกศลจะเลื่อมใสก็ง่ายเพราะมีความใกล้ชิดเป็นญาติกัน อันนี้ก็เป็นเรื่องราวที่อาจจะเป็นประโยชน์ให้โยมได้เห็นภาพบางอย่าง ทีนี้ตอนพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ให้น้องสาวไปแต่งงานกับพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้มอบหมู่บ้านในแคว้นกาสีหมู่บ้านหนึ่งเป็นของขวัญการแต่งงานนั้นให้แก่แคว้นมคธ ให้แก่พระเจ้าพิมพิสาร
ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูซึ่งเป็นเท่ากับเป็นหลานของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ปลงพระชนม์พระราชบิดา พอปลงพระชนม์พระราชบิดาแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลในฐานะที่เป็นลุงนี่ มีความโกรธเคืองมากแล้วพระนางโกศลเทวีซึ่งเป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศล อาตมาบอกแล้วว่าเป็นน้องสาวของพระเจ้าพิมพิสาร พอพระเจ้าอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระราชบิดา พระนางโกศลเทวีซึ่งเป็นมเหสีของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็เสียพระทัยมากเป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์ สวรรคต คือประชวรมากในที่สุดก็จากไป พระเจ้าปเสนทิโกศลก็โกรธพระเจ้าอชาตศัตรูอย่างยิ่งยกทัพไปรบกัน โอ๊ะ ตอนแรกยังไม่รบกัน ไปยึดเอาหมู่บ้านกาสีที่เคยยกให้คืน ถือว่าไม่มีสิทธิ์ ผู้ฆ่าพ่อไม่มีสิทธิ์ได้ทรัพย์สมบัติของพ่อ แล้วต่อมาก็รบกัน รบกันผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ครั้งสุดท้ายนี้พระเจ้าปเสนทิโกศลชนะจับเป็นพระเจ้าอชาตศัตรูได้ พอจับเป็นได้ก็ไม่ฆ่าเห็นว่าเป็นหลาน แต่ว่าก็ได้ยอมให้สละราชสมบัติ แล้วต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลคงจะสงสารหรืออย่างไรไม่ทราบสั่งให้กลับไปครองราชสมบัติอีก และยังแถมพระราชทานพระราชธิดาให้ไปด้วยอีก กลับเป็นสัมพันธไมตรีกันอีก มคธและโกศลก็เป็นไมตรีกันจนสิ้นรัชกาล
ตอนปลายรัชกาลนั้นพระเจ้าวิฑูฑภะซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศลยึดอำนาจอีก ยึดอำนาจพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลหนีไปทรงม้า หนีไปอายุ 80 แล้วตอนนั้น ทรงม้าหนีไปโน่นจะไปขอกำลังจากพระเจ้าอชาตศัตรู เป็นพันธมิตรกันแล้วนี่ เป็นหลาน จะไปขอกำลังหลานพระเจ้าอชาตศัตรูมาช่วย ก็ทรงม้าตลอดเวลากลางคืน เหน็ดเหนื่อยมากมีผู้ติดตามไปคนเดียว แล้วไปถึงไม่ทันประตูเมืองปิด ไปถึงตอนค่ำที่เมืองราชคฤห์นั้นพอค่ำเขาปิดประตูเมืองแล้วไม่ว่าใครทั้งนั้นไม่ยอมให้เข้า ก็เลยประทับอยู่นอกเมือง หนาวด้วยและเหน็ดเหนื่อยด้วย ก็เลยสวรรคตที่นอกประตูเมือง พอตอนเช้า ตอนกลางวันข่าวไปถึงพระเจ้าอชาตศัตรู พอทราบก็เลยมาจัดการเรื่องปลงพระศพ เรื่องราวก็เป็นมาอย่างนี้ เจริญพร
ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูนี้ได้ไปกำจัดแคว้นวัชชีสำเร็จ ต่อมาอีกไม่นานก็ได้ผนวกแคว้นโกศลเข้าไปอยู่ใต้อำนาจของมคธ ตกลงวัชชี โกศลหมดเข้าไปอยู่ในแคว้นมคธหมด มคธก็รุ่งเรืองต่อมา เป็นแคว้นเดียวที่ยิ่งใหญ่มหาอำนาจ แล้วก็แผ่อำนาจต่อไปๆ อย่างตอนสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชโน่นไปเป็นอุปราชอยู่กรุงอุชเชนีโน่น กรุงอุชเชนีที่ว่าเป็นเมืองหลวงของแคว้นอวันตี พระเจ้าอโศกมหาราชไปเป็นอุปราชอยู่ที่โน่น พอพระราชบิดาพิมพิสารสวรรคต อโศกมหาราชราชกุมารตอนนั้นก็เลยเข้ามาจัดการเข่นฆ่าพี่น้องขึ้นครองราชย์แต่ผู้เดียว อย่างที่อาตมาได้เคยเล่าไปแล้ว แล้วแคว้นมคธก็เลยยิ่งใหญ่ขยายอิทธิพลดินแดนออกไปกว้างขวางที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินเดีย
อันนี้เป็นเรื่องราวเก่าๆ อาตมาเอามาเล่าไว้โยมจะได้ทราบความเป็นไป แต่ว่ารวมความก็คือว่าพระเจ้าแผ่นดินที่ชื่อว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลนี้มีความสำคัญกับพระพุทธเจ้ามาก จึงมีพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงแก่พระเจ้าปเสนทิโกศลนี้เยอะเลย ในพระไตรปิฎกนี้ท่านรวมไว้เป็นหมวดหนึ่งเลย เรียกว่าโกสลสังยุตต์ โกสลสังยุตต์นี้อยู่ในพระไตรปิฎกอยู่ที่เล่มที่ 15 ตอนนั้นทั้งตอนเลยเป็นพระสูตรที่ตรัสแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล ฉะนั้นบุคคลหนึ่งที่เราไม่ควรจะลืมก็คือพระเจ้าปเสนทิโกศล ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
อาตมาก็เล่าให้โยมฟังเพราะคิดว่าคงจะได้ภาพทั่วๆ ไป ของแว่นแคว้นดินแดนที่เรามานั่งกันอยู่นี้ นี่แหละคือศูนย์กลางแห่งหนึ่งของพระพุทธศาสนาสำคัญอย่างยิ่ง พระเชตวันที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ทั้งหมด 19 พรรษา ก็รวมกับที่บุพพารามของนางวิสาขาด้วยอีก 6 ก็รวมเป็น 25 ที่อยู่ในสาวัตถี ส่วนราชการามของพระเจ้า ปเสนทิโกศลนั้น พระพุทธเจ้าก็ได้แต่เคยเสด็จไปประทับแต่ไม่ได้จำพรรษา ทีนี้ก็พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมได้ตรัสสั่งสอนประชาชนมากมาย รวบรวมเป็นพระธรรมที่ได้จัดเป็นหมวดหมู่ เราเรียนกันมา 84,000 พระธรรมขันธ์ จัดเป็นเล่มพระไตรปิฎกอักษรไทย 45 เล่ม หลังจากที่ได้ทรงสอนธรรมะเป็นเวลายาวนานถึง 45 พรรษาแล้ว ในที่สุดเมื่อจะเสด็จดับขันธ์พระปรินิพพานก็ได้ตรัสวาจาสุดท้ายเรียกว่าปัจฉิมวาจาเพียงสั้นๆ ว่า “วะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ” แปลว่า “สังขารทั้งหลายทั้งปวง มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม” อันนี้ก็เป็นพุทธพจน์ที่อาตมาได้เคยบอกโยมแล้วว่ามีความสำคัญมาก ถ้ามีโอกาสเราควรจะได้มาสนทนาปราศรัยกัน
บัดนี้เราก็ได้เดินทางมาจนกระทั่งครบพุทธสถานสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง และยังได้ผนวกเอาที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าได้เคยประทับอย่างที่สาวัตถีนี้เข้าไปด้วย ฉะนั้นเราก็ควรจะเอาธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสนี้มาพูดจาสนทนากัน ทีนี้เรื่องความไม่ประมาทนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตัดเฉพาะที่เป็นปัจฉิมวาจา ระหว่างที่พระองค์ได้ประทับอยู่ที่สาวัตถีนี้ ก็เคยตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล คราวนั้นตรัสถึงเรื่องของความเจริญงอกงาม ความมั่นคงของแม้แต่แว่นแคว้นเอง ของฝ่ายรัฐบ้านเมืองเนี่ย การที่บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองมั่นคงอยู่ได้ก็ต้องอาศัยพระราชาต้องมี 1) พระกัลยาณมิตร มีมหาอำมาตย์ มีข้าราชบริพารที่มีความสามารถ มีสติปัญญา มีความซื่อสัตย์และมีคุณธรรม และนอกจากนั้นก็ต้องมีความไม่ประมาท พระองค์ทรงตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลนี้เลยนะเรื่องความไม่ประมาท และในที่อื่นๆ พระองค์ยังตรัสไว้อีกว่า ความไม่ประมาทนั้นเป็นดุจรอยเท้าช้าง คือรอยเท้าสัตว์บกทั้งหลายนี่ไม่มีรอยเท้าใดใหญ่เกินรอยเท้าช้าง ทุกอย่างลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด เหมือนกับธรรมะทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสเนี่ยก็ลงในความไม่ประมาทได้ทั้งสิ้น
ทำไมพระพุทธเจ้าจึงทรงย้ำนักหนาในความไม่ประมาทก็เลยอยากจะเอามาพูดกัน เท่ากับว่า ในแง่หนึ่งเหมือนกับเป็นการสรุปรวมคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วย เพราะบอกแล้วว่าธรรมทุกข้อรวมลงด้วยความไม่ประมาท แล้วก็เรื่องความไม่ประมาทนี้ก็ตรัสที่สาวัตถีนี้บ้างด้วย ขอให้โยมพิจารณาถึงความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ที่เราบอกว่ามีความไม่เที่ยง มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป ในเรื่องของความไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนี้ก็รวมถึงเรื่องสังคมมนุษย์ด้วย สังคมมนุษย์ของเรา แม้แต่สังคมที่เล็กที่สุดก็คือครอบครัว วงศ์ตระกูล ขยายไปจนกระทั่งถึงชุมชน ถิ่นฐานแว่นแคว้น ประเทศชาติ แล้วก็อารยธรรมของมนุษย์ทั้งหมด เราจะเห็นว่ามันตกอยู่ในคตินี้คือมีความเจริญแล้วก็เสื่อม เจริญขึ้นแล้วก็เสื่อมไป มันก็เป็นอย่างนี้กันมาเรื่อยตลอดเวลา
ทีนี้ความเจริญความเสื่อมไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นั้น เราก็เห็นได้ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าว่ามันเป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยในความเสื่อมความเจริญเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็คือการกระทำของมนุษย์เอง หมายความว่ามนุษย์นี้เป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งในบรรดาเหตุปัจจัยทั้งหลาย แต่ไม่ใช่ทั้งหมดนะ หมายความว่าที่เจริญที่เสื่อมไปนั้นเหตุปัจจัยอย่างอื่นก็มี แต่เหตุปัจจัยอย่างหนึ่งก็คือตัวมนุษย์เอง ได้แก่การกระทำของมนุษย์ การกระทำของมนุษย์นี้เป็นส่วนสำคัญมาก คือ กรรม ที่จะทำให้เกิดความเสื่อมความเจริญ แล้วปัจจัยในส่วนของมนุษย์หรือกรรมของมนุษย์เนี่ยเป็นปัจจัยใหญ่ที่ว่าจะไปจัดการกับเหตุปัจจัยอื่นได้ด้วย คือเหตุปัจจัยในธรรมชาติสิ่งทั้งหลายนี้มันจะเป็นอย่างไรนี้ก็เป็นเพราะมนุษย์ไปจัดไปทำมัน
อย่างเรื่องของธรรมชาติแวดล้อมที่มันเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมทางเจริญ อย่างต้นไม้นี้มนุษย์สามารถไปปลูกก็ได้ จะไปตัดไปโค่นมันก็ได้ ป่าไม้ที่หมดไปนี้มนุษย์ทำลายจำนวนมากมาย ฉะนั้นปัจจัยส่วนมนุษย์นี่มันมีความหมายที่ว่า ไม่เฉพาะการกระทำของตัวเองในส่วนของที่เป็นเรื่องของมนุษย์เองเท่านั้น มนุษย์ยังไปจัดการกับสิ่งอื่นๆ ทั่วไปด้วย เช่น ธรรมชาติแวดล้อม เป็นต้น ฉะนั้นเราจะต้องให้ความสำคัญแก่เหตุปัจจัยในส่วนของมนุษย์
ทีนี้เรามามองว่าสังคมมนุษย์มีความเสื่อมความเจริญ และความเสื่อมความเจริญนี้เป็นไปตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยที่สำคัญก็คือตัวมนุษย์เอง ตัวมนุษย์เองนี้ทำให้เกิดความเสื่อมความเจริญขึ้น แต่ว่าตัวมนุษย์ที่ทำให้เกิดความเสื่อมความเจริญนั้นเป็นอย่างไร เราก็มามองดูว่าการที่จะเจริญ-เสื่อมนั้นก็อยู่ที่มนุษย์นี้ ในสมัยไหนมีความเข้มแข็ง มีความเอาใจใส่ใช้สติปัญญา เช่นว่ามีความตั้งใจทำงานทำการ มีความเพียรพยายามในสังคม ตั้งแต่ครอบครัวเป็นต้นไป วงศ์ตระกูลก็เจริญมั่นคง แต่สมัยไหนมนุษย์เป็นคนเกียจคร้าน ไม่มีความเพียรพยายาม มีความหลงมัวเมาเพลิดเพลินในความสุข เป็นต้น สังคมก็มีความเสื่อม เราจะเห็นว่าอารยธรรมต่างๆ ก็จะเป็นแบบนี้
อารยธรรมหลายอารยธรรมนี่สมัยก่อนไม่มีความเจริญเลย อยู่กันลำบากยากแค้น บรรพบุรุษนี้มีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจที่จะสร้างสรรค์ความเจริญขึ้นมาก็จะเจริญรุ่งเรือง แต่พอเจริญรุ่งเรืองแล้วพอถึงยุคที่มีความสุขสำราญพรั่งพร้อมทุกอย่าง คนในยุคนั้นเริ่มหลงมัวเมาติดเพลินในความสุข ไม่มีขยันหมั่นเพียร ไม่ตั้งใจทำกิจหน้าที่ สังคมก็เสื่อมลงไป เสื่อม-เจริญอย่างนี้สลับกันไป เราก็เลยได้เห็นวงจรสังคมของมนุษย์ เข้าหลักอันหนึ่งที่บอกว่า มนุษย์เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็จะกระตือรือร้นขวนขวาย แต่เมื่อไรมีความสุขสบายก็มีความโน้มเอียงไปในทางที่จะมัวเมาประมาท อันนี้แหละคือปัจจัยของมนุษย์ที่ทำให้เกิดความเจริญ-เสื่อม แต่อันนี้เป็นความเสื่อม-เจริญในฝ่ายของกิเลสของมนุษย์ปุถุชน มนุษย์ปุถุชนมักจะอยู่ในคติของความเสื่อมความเจริญแบบนี้ ก็คือว่า ย้ำอีกทีหนึ่ง “เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม ก็จะกระตือรือร้นดิ้นรนขวนขวาย เมื่อใดมีความสุขสบายก็เพลิดเพลินหลงมัวเมา เพราะมนุษย์ปุถุชนเป็นอย่างนี้ จึงต้องตกอยู่ภายใต้วงจรแห่งความเสื่อมความเจริญ”
ในทางธรรมะท่านจึงสอนให้เราแก้ไขกิเลสนี้เสีย ถ้ามนุษย์ไม่ตกอยู่ในอำนาจกิเลสนี้ เราตระหนักในสิ่งที่ควรจะทำใช้สติปัญญาอยู่เสมอ รู้ว่าอะไรเป็นหน้าที่ อะไรเป็นสิ่งที่ควรทำ อะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้เสื่อม เราก็แก้ไขป้องกัน อะไรที่จะนำความเจริญมาให้ เราก็ทำ เราไม่มัวผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่มัวปล่อยปละละเลยทอดทิ้งอะไรอย่างนี้ เราก็สามารถสร้างสรรค์รักษาความเจริญไว้ได้ อันนี้คือหลักความไม่ประมาท ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเป็นหลักประกันไว้ว่าถ้าเราไม่ประมาทแล้วนี่ เราไม่จำเป็นจะต้องเสื่อม นี่คือหลักสำคัญ หลักธรรมหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เรียก อปริหานิยธรรม แปลว่า ธรรมะไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ดูแล้วเหมือนกับคัดค้านหลักอนิจจังนะ คือพระพุทธเจ้าตรัสธรรมะไว้เนี่ยให้ดูอยู่ 2 แง่ แง่หนึ่งพระองค์ตรัสบอกว่าสิ่งทั้งหลายมันอนิจจังไม่เที่ยง ต้องเกิดขึ้น เสื่อมไปเป็นธรรมดา นี่เรามองในแง่อนิจจังกฎธรรมชาติ ก็เป็นความจริงอย่างนั้นนะ เพราะฉะนั้นเราก็จะพูดทำนองว่า สิ่งทั้งหลายก็เป็นธรรมดา มันเสื่อมมันเจริญก็อนิจจัง เกิดขึ้นแล้วก็ต้องดับไปเราก็พูดทำนองนี้ แต่เราอย่าลืมนะอันนี้ มีอีกหลักหนึ่งคือหลักความไม่ประมาท ถ้าเราไม่ประมาทแล้วเราจะไม่จำเป็นต้องเสื่อมเจริญเรื่อยๆ ไป แล้ว 2 หลักนี้ที่เป็นปริศนาไว้ให้ชาวพุทธพิจารณา ว่ามันไม่ขัดกันอย่างไร เดี๋ยวจะว่าเอ๊ะ ทำไมพระพุทธเจ้าทำไมตรัสอย่างนี้ ทำให้ดีแล้วไม่มีเสื่อมเลยนะ อ้าว ก็ไม่ขัดกับที่พระองค์ทรงตรัสไว้หรือว่าสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจังเกิดขึ้นก็ต้องดับไป 2 หลักนี้ไม่ขัดกันเลยแล้วแถมสนับสนุนกันด้วย อันหนึ่งเป็นกฎธรรมชาติ เป็นคติธรรมดาของสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงเป็นอนิจจัง แต่อีกด้านหนึ่งพระองค์ก็ตรัสว่า ถ้าเราไม่ประมาทเสียแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องเสื่อม
อันนี้เพราะอะไรอาตมาจะขออธิบายสั้นๆ คือความไม่เที่ยงเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป นั้นเป็นกฎธรรมชาติทั้งสิ้น สิ่งทั้งหลายมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ทีนี้เวลาความเปลี่ยนแปลงนั้นมันมาสัมพันธ์กับมนุษย์เนี่ย ความเปลี่ยนแปลงนั้นมันจะมีความหมายเป็นความสุขและความเจริญ โดยที่ว่า ถึงเสื่อมถึงเจริญมันก็เป็นอนิจจังทั้งคู่นั่นแหละ ใช่มั้ย มันจะเป็นการเสื่อมหรือเจริญมันก็คือความไม่เที่ยงต้องเปลี่ยนแปลงไป ตัวอนิจจังไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปนั้น มันยังเป็นกลางๆ มันยังเป็นกฎธรรมชาติ ไม่ดีไม่ชั่ว มันก็เปลี่ยนแปลงไปล่ะ แต่ทีนี้สำหรับมนุษย์นั้นความเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่งเราพอใจเป็นคุณประโยชน์ต่อเรา เราเรียกว่าเป็นความเจริญ ความเปลี่ยนแปลงแบบหนึ่งที่ไม่เที่ยงแบบหนึ่งนั้น ไม่เป็นที่พอใจแก่เรา เป็นโทษต่อเรา เราเรียกว่าความเสื่อม ที่เราเรียกว่าเจริญหรือเสื่อม ที่จริงก็คืออนิจจังนั่นแหละ เพราะฉะนั้นเสื่อมหรือเจริญนี้ในแง่สังคมมนุษย์เป็นเรื่องสมมุติ แต่ว่าสมมุตินี้แหละสำคัญสำหรับมนุษย์ เมื่อเราชอบสมมุติในสิ่งที่เรียกว่าเจริญ เราก็ให้มันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เจริญสิ เพราะว่ามันก็คือเปลี่ยนแปลงนั่นแหละ เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย ใช่ไหม เจริญพร
ไม่ว่ามันจะเปลี่ยนทางไหนมันก็เปลี่ยนแปลงนั่นแหละ แต่ว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็แล้วแต่เหตุปัจจัยสิ ฉะนั้นเราก็เปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทางที่เราชอบใจเสีย โดยทำเหตุปัจจัยในมันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เราเรียกว่าเจริญ แล้วเราก็ป้องกันความเปลี่ยนแปลงที่เราเรียกว่าความเสื่อม เพราะฉะนั้นเราก็สามารถป้องกันความเสื่อมรักษาความเจริญได้ ฉะนั้นหลักธรรม 2 หลักนี้ไม่คัดค้านกันเลย สนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่เรามีความไม่ประมาทสักอย่าง เราสามารถเอาประโยชน์จากอนิจจังได้ นี่สิความสามารถของมนุษย์ ความไม่ประมาทคือหลักที่ทำให้เราสามารถเอาประโยชน์จากอนิจจังได้ อนิจจังเป็นกฎธรรมชาติที่ว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้แน่นอน มันเปลี่ยนแปลงไป แต่เปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย เราก็ใช้ประโยชน์มันซะเลย เราก็ไปทำเหตุปัจจัยที่จะให้เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญซะ มันก็จะเจริญอยู่เรื่อยไป นี่แหละมนุษย์ต้องใช้สติปัญญาพัฒนา ฉะนั้น 2 หลักนี้ ถ้าใครจับได้ละก็ สามารถทำให้ไม่มีความเสื่อมมีแต่ความเจริญ เรียกว่าใช้ประโยชน์จากอนิจจังได้
ก็ขอย้อนกลับมาพูดถึงเรื่องความไม่ประมาทอีกทีหนึ่ง เพราะอันนี้แหละคือความไม่ประมาทที่จะทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์จากอนิจจัง ทีนี้ความไม่ประมาทนี้นั้นแปลว่าอะไร เราก็มาดูตัวความประมาทก่อน ความประมาทนั้นแปลว่า ความขาดสติ ความละเลย ความทอดทิ้ง ความเฉื่อยชา ความไม่กระตือรือร้นขวนขวาย ความผลัดเพี้ยน เอ้อ ไม่เอาเรื่องเอาราว ไม่ไส่ใจ การปล่อยปละละเลย เรียกว่าความประมาท สิ่งที่ควรจะต้องทำ เห็นอยู่ก็ผลัดเพี้ยนไป เอาไว้พรุ่งนี้เถอะค่อยทำ นี่เรียกว่าความประมาท หรือว่ามัวไปเพลิดเพลินมัวเมา หลงในความสุขซะ ไม่ทำในสิ่งที่ควรทำก็เรียกว่าประมาท ความประมาทนี้สำคัญอย่างยิ่ง ทีนี้ความประมาทนี้จะมีความสำคัญอย่างไร ถ้าประมาทซะอย่าง
1) ก็คือว่าธรรมะที่พระพุทธเจ้าอุตส่าห์สั่งสอนมา 45 พรรษา 84,000 พระธรรมขันธ์ มีในคัมภีร์มากมายเท่าไร เรียนกันไปเท่าไร รู้จำไปได้เท่าไร ประมาทซะอย่างเดียวไม่ได้รับการปฏิบัติ ใช่ไหม เจริญพร เรียกว่าธรรมะมีเท่าไร เรียนมาเท่าไร ก็นอนหลับอยู่ในคัมภีร์หมดเลย ประมาทซะอย่างเดียวนะ ฉะนั้นใครจะมาพูดว่ารู้ธรรมะอย่างนั้นอย่างนี้ เก่งเท่าไร ประมาทอย่างเดียวเขาก็ไม่ปฏิบัติเลย เพราะฉะนั้นความไม่ประมาทจึงรวมธรรมะอื่นหมด ก็เพราะอันนี้ เพราะว่าประมาทซะอย่างเดียวแล้ว ธรรมะทุกอย่างมีเท่าไรก็ไม่มีการปฏิบัติ แต่ถ้าไม่ประมาทก็ตรงข้าม เรียนธรรมะมา 1 ข้อ ก็ได้รับการปฏิบัติ เรียนมา 2 ก็ปฏิบัติ 2 เรียนมา 50 หัวข้อก็ปฏิบัติหมด ฉะนั้นเรียนมารู้เท่าไรก็ได้รับการปฏิบัติหมดเลย ความไม่ประมาทจึงสำคัญอย่างยิ่ง อันนี้ประการที่ 1 นี่นับหนึ่งแล้วนะ เจริญพร ที่ว่าสำคัญนี่ ทำไมมันจึงครอบคลุมเป็นรอยเท้าช้าง เพราะทำให้ธรรมะทุกข้อที่ได้ร่ำเรียน ที่ปฏิบัติ ที่พระพุทธเจ้าสอนนี้ได้รับการปฏิบัติจริง
ต่อไปประการที่ 2 ก็คือว่ามันไปดักข้างหน้าอีกทีหนึ่ง คือคนที่ปฏิบัติธรรมะหรือคนที่ได้สร้างสรรค์ความเจริญอะไรต่างๆ เนี่ย ได้มีความดีงาม ความเจริญมีความสุขเนี่ย พอไปถึงจุดได้ทำความดี ได้ประสบความสำเร็จ มีความสุขเนี่ย นี่คือพวกดีใช่ไหม เจริญพร เราก็นึกว่าดีแล้วอุตส่าห์ปฏิบัติธรรม เป็นคนที่เจริญก้าวหน้ามันจะมาตกหลุมสำคัญคือหลุมความประมาท นี่แหละความไม่ประมาทมันสำคัญตรงนี้แหละ คือคนที่ไม่ดีเราก็พยายามสอนให้เขาทำดี ยังไม่มีความสุขก็พยายามสอนจ้ำจี้จ้ำไชให้สร้างตัวนะ พัฒนาจิตใจ พัฒนาทุกอย่างจะได้มีความสุข ยังไม่มีความสำเร็จก็ให้เขาขยันหมั่นเพียร ก็สอนอุตส่าห์สอนกันมา สอนจนกระทั่งเขามีความสำเร็จ มีความสุข มีความดีจริง แต่พอเขาดี เขามีความสุข เขามีความสำเร็จ เขาก็มาตกหลุมความประมาทอีก
นี่แหละฉะนั้นมันจึงสำคัญมากตรงนี้ ความประมาทเป็นหลุมดักคนดี คนประสบความสำเร็จ และคนมีความสุข ฉะนั้นชาติที่เจริญรุ่งเรืองเดี๋ยวก็มาตกหลุมนี้ แม้แต่พระอริยเจ้า อาตมาเล่าให้ฟังทีแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตร พระโสดาบันปฏิบัติธรรมได้บรรลุคุณธรรมวิเศษเบื้องสูงก็มาภูมิใจว่า แหมเรานี้ได้เพียรพยายามปฏิบัติประสบความสำเร็จได้บรรลุธรรมเบื้องสูงถึงเพียงนี้แล้ว เกิดความภูมิใจและสันโดษขึ้นมานี่ พระพุทธเจ้าตรัสคำนี้เลยนะว่าสันโดษขึ้นมา เกิดความสันโดษพอใจในคุณความดีที่ตนได้บรรลุ ตอนนี้แหละจะทำให้เฉื่อยแล้ว เจริญพร พอใจในคุณธรรมที่ได้บรรลุก็เฉื่อยเลย ใช่ไหม ไม่ขมีขมัน ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย พระพุทธเจ้าตรัสว่านี่ “ปมาทวิหารี เธอผู้อยู่ด้วยความประมาท” หยุดแล้วนี้เสื่อมแล้ว เจริญพร ตราบใดยังไม่เป็นพระอรหันต์อย่าได้นอนใจ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนใจและพระองค์ตรัสไว้ว่า บุคคลผู้เดียวที่จะเป็นผู้ไม่ประมาทก็คือพระอรหันต์ แม้แต่พระอนาคามีก็ยังประมาทได้ นี่เพราะฉะนั้นความไม่ประมาทเนี่ยเป็นหลักธรรมสูงสุดเลยนะ เจริญพร มีพระอรหันต์เท่านั้น ถ้าเป็นมนุษย์ปุถุชนนี้จะต้องเร่งกันอยู่เสมอเลย แล้วจะใช้ตัวนี้เป็นเกณฑ์ในการวัด ตัดสินความเสื่อมความเจริญ การพัฒนามนุษย์ เอาเป็นว่านี้เป็นเหตุผลประการที่ 2 แล้ว ที่ว่า คนเราเจริญ-เสื่อม แล้วก็จะมาติดอันนี้
ทีนี้มาพูดถึงเรื่องของคนที่ว่าดี อาตมาก็ยกตัวอย่างแล้ว เช่น พระโสดาบันบรรลุคุณธรรม ความดีเบื้องสูงก็ประมาท เพราะพอใจ หยุด เฉื่อย แต่ทีนี้สุขนะ คนที่มีความสุขก็อาจจะสุขเพราะว่าทำปัจจัยภายนอกได้ประสบความสำเร็จ ได้สร้างสรรค์ทรัพย์สินเงินทอง อย่างคนที่ร่ำรวยขึ้นมา อย่างพ่อแม่เคยยากจนข้นแค้น ถูกทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม ก็เลยกระตือรือร้นขวนขวายเร่งรัดตัวเองจนกระทั่งมั่งมีศรีสุข ทีนี้ตัวเองเพราะว่าเคยขยันมาจนชินเป็นนิสัยก็เลยขยันต่อมา แต่ทีนี้ลูกเกิดมาในท่ามกลางความสุข สบาย ไม่เคยสร้างนิสัยที่ขยันหมั่นเพียรมาก่อน แล้วพ่อแม่ก็ใช้พรหมวิหารไม่ครบ เอาแต่เมตตา กรุณา มุทิตา ไม่ใช้อุเบกขา ไม่ฝึกลูก ไม่หัดให้ลูกรับผิดชอบ ลูกก็เลยเพลิดเพลินหลงมัวเมาในความสุข ตอนนี้แหละเสื่อม มีคนที่สุขแล้วเสื่อม สุขที่มีความพรั่งพร้อมภายนอก ทีนี้สุขที่ 2 คือ สุขภายใน คนที่ปฏิบัติธรรม ได้ประสบแม้แต่ภัยพิบัติ ความพลัดพรากหรือความเสื่อมภายนอก ปรับใจได้ทำใจได้ก็มีความสุข พอปรับใจได้มีความสุขก็สบาย ประมาทได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปหลงว่าดีนะ เจริญพร แม้แต่ปรับใจได้ ทำใจได้นี่ มันมีจุดเสื่อมเหมือนกัน คือเกิดความสบายแล้วก็ไม่กระตือรือร้น ขวนขวาย ปัญหาข้างนอกมีอยู่ไม่แก้ไข เพราะตัวเองสบายแล้วทำใจได้ เป็นอะไรก็เป็นไป เราทำใจได้แล้ว ฉะนั้นก็ไปแพ้คนที่เขาจิตใจไม่สบายมีความทุกข์ คนที่มีความทุกข์กระวนกระวาย ปรับใจไม่ได้ ต้องไปแก้ไขข้างนอกยังดิ้นรนอยู่ ก็แก้ไขปัญหาข้างนอก ก็เสียอย่างคือใจเป็นทุกข์ แต่ว่าสามารถแก้ไขปัญหาภายนอกได้ ก็เลยดีคนละอย่างเสียคนละอย่าง คนที่ปรับใจได้ ทำใจได้ มีความสุขภายใน แต่ปัญหาภายนอกนี้ทิ้งเลยไม่แก้ ก็เสียอีก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสเรื่องความไม่ประมาทนี้มาดักไว้ว่า ถ้าหากว่าทำความสุขให้เกิดขึ้นกับตนได้ จะสุขจากปัจจัยภายนอกก็ตาม จากปัจจัยภายในก็ตามเนี่ย จะต้องไม่ประมาท จะต้องไม่หลงติดในความสุขไม่ว่าประการใดๆ ทั้งสิ้น
อันนี้คนจำนวนมากเนี่ยมามีปัญหาเรื่องนี้ อันนี้อาตมาก็เลยโยงมาที่เรื่องที่ตั้งเป็นคำถามเมื่อวานนี้ บอกว่า เอาล่ะอาตมาก็ยกตัวอย่าง เช่น อินเดียกับฝรั่ง บอกว่าคนอินเดียนี่อยู่ง่ายๆ ยังไงก็ได้ อยู่สกปรกรกรุงรังไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยก็สบายใจ แล้วก็มีความสุขดีเหมือนกันพอสมควร ก็อย่างน้อยก็ไม่ค่อยเป็นโรคเส้นประสาทอะไร ทีนี้ฝรั่งนี่แก้ไขปัญหาดิ้นรนกระตือรือร้นขวนขวาย อยู่ไม่ได้กับความยากจน อยู่ไม่ได้กับสิ่งของน้อยๆ ต้องสร้างต้องทำขึ้นมา แต่ว่าชีวิตนั้นมีความเครียดมีความกระวนกระวายเป็นโรคเส้นประสาทมาก ก็เลยได้ถามว่าอันนี้เป็นทางเลือก 2 อย่างที่ต้องเลือกเอาอย่างหนึ่ง หรืออย่างไร หรือที่จริงมันเป็นเพียงสุดโต่ง 2 ทาง ที่เราจะต้องแก้ทั้ง 2 ไม่ใช่เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทีนี้ถ้าตอบตามหลักพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นสุดโต่ง ไม่ถูกทั้ง 2 จะต้องแก้ไข จะต้องปรับให้มันพอดี ทีนี้สังคมอินเดียนี่ ถ้าเราพิจารณาในแง่หนึ่ง เพราะการที่ว่าอยู่ง่ายๆ อย่างที่บอกยังไงก็ได้ ไอ้ยังไงก็ได้ก็เลยกลายเป็นอาจจะเป็นมักง่ายไป มันเป็นความโน้มเอียงของจิตใจ พอเราสบายเสียแล้ว เราก็ปล่อยเรื่อยเฉื่อย นี่แหละคือความประมาท อะไรที่ควรทำก็ไม่ทำ เพราะฉะนั้นจึงได้บอกว่าความง่าย แม้แต่ความเป็นอยู่เรียบง่ายอะไรเนี่ย มันไม่เป็นตัวตัดสินในตัวเองต้องระวังมาก มันต้องมาควบกับองค์ธรรมข้ออื่นด้วย มันต้องมีวัตถุประสงค์ ถ้ามันมาเฉพาะตัวมัน แล้วมันทำให้เราเกิดความพอใจสบายเสียแล้ว ไอ้ตัวพอใจนี่แหละจะนำไปสู่ความหยุด ความเฉื่อยชา และความประมาท แล้วจะนำไปสู่ความเสื่อม อย่างนี้ก็เรียกว่าปรับใจได้ ก็หมายความว่าเขาพอใจในสิ่งง่ายๆ ในแม้แต่ความที่ไม่ค่อยมีอะไรเขาก็อยู่กันได้ ปรับใจได้ พอใจ สบายมีความสุข แต่ว่าอันนี้คือนำไปสู่ความเกียจคร้าน ความมักง่าย ความเฉื่อยชา และความตกต่ำเหมือนกัน ถ้าเขาพอใจสบาย ไม่ต้องมีอะไรแล้ว เขาก็ไม่ต้องขอสิ นี่เสร็จแล้วทำไมพอใจอยู่สบาย คนมาทีไรแบบมือทุกที อย่างนี้ตัวเองไม่ทำ อย่างนี้ไม่ไหวแล้ว ถ้าพอใจสบายดีแล้วก็อย่ามาขอสิ ใช่ไหม เจริญพร ก็พอแล้ว ฉะนั้นไปๆ มาๆ จะติดเป็นนิสัยเอาง่ายเข้าว่า
ทีนี้คนอีกพวกหนึ่งก็ยังอยู่ในลักษณะปุถุชนเหมือนกัน คือว่าถูกทุกข์บีบคั้น ภัยคุกคาม ก็กระตือรือร้นขวนขวาย การที่ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามนี่ เราจะสามารถผลักดันให้แรงขึ้นด้วยอำนาจกิเลส เอาโลภะเอาโทสะมาผลักดันนี้ จะทำให้ตัวบีบคั้นในจิตนี้มันแรงขึ้น เอาโลภเอาโกรธมาผลักดันบีบคั้นจิตใจเข้า มันจะดีดดิ้นกันใหญ่เลย มันก็จะเร่งกระตือรือร้นขวนขวายกันใหญ่ คิดว่าปัจจุบันนี้ ที่เรียกว่าระบบแข่งขันนี่ ก็เป็นวิธีของการเอาทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม มาทำให้คนกระตือรือร้นขวนขวาย เพราะระบบแข่งขันนี้จะทำให้คนนี่ต้องตัวใครตัวมัน นานไปก็พึ่งกันไม่ได้ เราจะต้องให้เดินหน้าชนะเขา ต้องเลยหน้าคนอื่นนะ ถ้าหากว่าไม่รีบเร่งขวนขวายไม่กระตือรือร้น ตายไม่มีใครช่วยเหลือ ฉะนั้นก็เอาสภาพสังคมนี้เอาระบบมาบีบคั้นคน ก็เป็นระบบของการที่ใช้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคาม แต่มันกลายเป็นระบบสังคมไปเลย เป็นอาตมาใช้คำว่าเป็นระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์ คือทำให้มันคนสร้างมันขึ้นมา ให้คนที่อยู่ในสังคมนี้ถูกทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามตลอดเวลา ฉะนั้นสังคมที่ใช้พรหมวิหารไม่มีดุลยภาพ จึงบอกว่าคนมีเมตตา กรุณา มุทิตา ช่วยเหลือกันมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดี คนที่อยู่ในสังคมแบบนี้ ถ้าเอียงสุดไปก็จะกลายเป็นคนที่ว่าหวังพึ่งกันได้ง่าย ก็ทำให้ไม่กระตือรือร้นขวนขวาย ก็โน้มไปในทางที่จะตกอยู่ในความประมาท
ฉะนั้นธรรมะนี่แหมเป็นเรื่องที่ต้องระวัง นี่แหละตัวไม่ประมาทคือตัวสติ ความไม่ประมาทนั้นท่านแปลว่าความไม่อยู่ปราศจากสติ คือเป็นอยู่ไม่ปราศจากสติเลย สติมันเป็นตัวคอยตรวจสอบ สติคืออะไร คือความระลึกคอยนึก คอยนึกคอยระลึก มีอะไรเกิดขึ้นเป็นไป มันจะทำให้เกิดผลกระทบในทางที่เสียหาย ไม่ดีไม่งาม ทำให้เกิดความเสื่อม ก็ต้องรีบจับเอามาแก้ไขป้องกัน อะไรที่จะทำให้เกิดความดีงามความเจริญก็รีบเอามาปฏิบัติ สติมันจะคอยตรวจอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเราจะไม่เพลี่ยงพล้ำเพราะสตินี้คอยตรวจคอยตราไว้แล้วก็ไม่ประมาท ทีนี้ถ้าเราไม่ใช้สตินี่ เราอาจจะพลาดอยู่เรื่อยเลย พอมีความสุขสบายก็หลงเพลิดเพลินอย่างที่ว่า นี่ก็เป็นอย่างนี้ในสังคมที่มีน้ำใจช่วยเหลือกันมากเกินไป จนกระทั่งไม่เอาหลักเอาเกณฑ์ ก็จะทำให้คนนี่หวังพึ่งผู้อื่น คนบางคนนี้จะมัวแต่หวังพึ่งคนอื่น คอยรับความช่วยเหลือในที่สุดก็ไม่กระตือรือร้น ขวนขวาย เสร็จแล้วก็ทำให้เกิดความเสื่อม ฉะนั้นในแง่หนึ่งอีกสังคมมันกลับกลายเป็นเจริญ เพราะว่าแต่ละคนไม่ช่วยเหลือกันเลย ก็บีบคั้นว่าใครไม่ดิ้นรนแล้วก็ตาย อยู่ไม่รอด ฉะนั้นก็ต้องช่วยตัวเองสิ ไม่มีใครเอาด้วยหรอกตัวใครตัวมัน ดิ้นรนขวนขวายไปมันก็เจริญก็ดีไปอย่างแต่ว่ามันไม่สมดุล แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์นี้เป็นระบบกิเลส เมื่อเป็นระบบกิเลสเนี่ยมันไม่มองเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสรรค์ความดีงาม มันเอาตัวแค่ว่า คือหมายความว่าที่ดิ้นรนนั้นเพื่อปกป้องตัวเอง เพื่อเอาตัวรอด และเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ดิ้นรนขวนขวายไป แต่ว่าด้วยอำนาจกิเลสมุ่งเพื่อปกป้องตัวเอง มุ่งเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่คำนึงถึงเหตุปัจจัยที่จะเป็นไปเพื่อความดีงามและความเจริญ ความสุขที่แท้จริงของชีวิตและสังคม ฉะนั้นก็ไม่ใช่เป็นประโยชน์ที่แท้จริง
พระพุทธศาสนาจึงไม่ยอมรับความไม่ประมาทแบบนี้ ความไม่ประมาทที่เกิดจากการใช้ทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามตามประสาปุถุชน ตลอดจนเอากิเลสมาช่วยเป็นตัวเร่งรัดแบบนี้ ไม่ใช่ความประมาทที่แท้ แต่เป็นความประมาทเทียม พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับ ถ้ามนุษย์ใช้ความไม่ประมาทเทียมแบบนี้แล้ว เขาจะต้องตกอยู่ในวงจรแห่งความเสื่อมความเจริญเรื่อยไป เพราะอะไร เพราะพอเขาดิ้นรนขวนขวายเจริญขึ้นมาได้ เขาก็เพลิดเพลินในความสุขก็มัวเมา พอมัวเมาเขาก็เสื่อม ถ้ามนุษย์อยู่ใต้อำนาจระบบแบบนี้แล้ว วงจรแห่งความเสื่อมความเจริญก็มีเรื่อยไป แล้วก็จะไม่สามารถเข้าถึงความเจริญแบบที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ให้มีแต่ความเจริญไม่เสื่อม ก็คือต้องใช้ความไม่ประมาท
ทีนี้การที่เราจะรักษาชีวิตและสังคมให้เจริญงอกงาม ต้องใช้ความไม่ประมาทที่แท้ ความไม่ประมาทที่แท้นั้นก็คือ ตัวสติและปัญญา ไม่ต้องรอให้ทุกข์มาบีบคั้น ไม่ต้องรอให้ภัยมาคุกคามแล้วจึงลุกขึ้นมาดิ้นรนขวนขวาย แต่เอาสติปัญญานี้แหละมาเป็นตัวบอก อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าสตินี้มันทำหน้าที่ยังไง มันคอยนึกคอยระลึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา สตินี้เป็นตัวตื่นนะ “สติ โลกสฺมิ ชาคโร สติเป็นธรรมเครื่องตื่นในโลก” ถ้าใครมีสติแล้วไม่หลับใหล ไม่หลงใหล ทั้งไม่หลับไหลและไม่หลงไหลตื่นตัวอยู่เสมอ ตื่นตัวอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นเป็นไปก็คอยนึกคอยระลึก ทีนี้เราอยู่ในสังคมเดี๋ยวนี้ ชีวิตของเราเกี่ยวข้องกับอะไรๆ มันจะมีผลกระทบต่อความดีงามความเจริญความสุขของเรา ต่อสังคมของเรา ต่อครอบครัวของเรานี้ โยมเอามานึกเอามาระลึกอยู่เสมอ ก็ตื่นตัวทันต่อสถานการณ์ พอเราเอามานึกเอามาระลึกแล้ว อันใดที่มันจะมีผลกระทบอย่างที่ว่าเราก็ส่งให้ปัญญาพิจารณา สติปัญญาทำงานคู่กัน สติระลึกนึกเอามา แล้วก็ส่งให้ปัญญาพิจารณา ปัญญาก็ดูว่าอันนี้มันจะเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อมหรือความเจริญ พอเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม รีบจัดการป้องกันแก้ไขทันทีไม่ปล่อยไว้ อันไหนที่จะทำให้เกิดความเจริญก็รีบจัดการสร้างขึ้นมาเลย ไม่มีการผลัดเพี้ยน แล้วเราคิดดูเถิด เราจะไม่สามารถรักษาความเจริญไว้ได้หรือถ้าเราทำอย่างนี้ มันก็ต้องสามารถป้องกันความเสื่อมรักษาความเจริญไว้ได้
อันนี้แหละคือความไม่ประมาทที่แท้จริง แต่มันเป็นตัวพิสูจน์ว่ามนุษย์นี้จะสามารถพัฒนาตนได้หรือไม่ ความไม่ประมาทมนุษย์ทำได้ไหม ทั้งในชีวิตส่วนตัวและในสังคม สังคมมนุษย์นี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกไว้แล้วว่า ท่านสามารถนะที่จะไม่เสื่อมมีแต่เจริญอย่างเดียว ถ้าท่านไม่ประมาท แต่ว่ามนุษย์จะทำได้ไหม ถ้าเป็นปุถุชนมันก็จะมีความโน้มเอียงอย่างที่ว่า พอทุกข์บีบคั้นภัยคุกคามก็เอาซะที ลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้น วิ่งเลย พอภัยผ่านพ้นทุกข์หายไป เสวยสุขก็ลุ่มหลงมัวเมา ก็เป็นอยู่อย่างนี้ บ้านเมืองเวลามีสงคราม มีศัตรู มีกองทัพจากภายนอกยกมารุกราน ก็ลุกขึ้นมากุลีกุจอมีความสามัคคีกันสักทีหนึ่ง รวมกำลังกันต่อสู้ พอภัยผ่านไปแล้ว สบาย ทะเลาะกันใหม่ เสวยความสุขลุ่มหลงมัวเมา มันเป็นอย่างนี้แหละสังคมมนุษย์ ฉะนั้นมันจึงแก้ไขไม่ได้ วงจรแห่งความเสื่อมและความเจริญ ฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเราสามารถรักษาความเจริญไว้ได้
ฉะนั้นเรื่องของสังคมอินเดียและสังคมฝรั่ง ที่อาตมาเอามายกเป็นตัวอย่างเนี่ยก็เพื่อให้เห็นว่า สังคมอินเดียนี้อาจจะเป็นสังคมที่ปรับใจได้แล้วก็มีความสุขตามสมควรกับสิ่งง่ายๆ แต่วันนี้ก็คือว่าปล่อยปละละเลย ไม่ต้องทำอะไร มีอะไรก็ผลัดเพี้ยนไปเรื่อยๆ ไม่ต้องรีบ เพราะฉะนั้นเรามาเมืองนี้ก็ได้ยินอย่างที่ท่านมหาสุทินบ้าง ท่านมหากฤษณะบ้างเล่าให้ฟัง เมื่อวานนี้ท่านก็เล่าบอกว่าที่วัดไทยในกุสินาราได้ลองดูแล้ว เอางานอันเดียวกันให้ทำคนอินเดียกับคนไทย คนอินเดีย 4 คน ทำงาน 4 วันงานชิ้นนั้นเสร็จ งานชิ้นเดียวกันนั้นให้คนไทย 2 คนทำ ไม่ถึง 1 วันเสร็จ ความเฉื่อยชาเกิดขึ้นขนาดไหน นี่คือความประมาท ความเฉื่อยชา การผลัดเพี้ยนเวลา การปล่อยปละละเลย นี้คือลักษณะของสังคมที่ตกอยู่ในความระมาท น่าจะลองเอางานชิ้นเดียวอย่างเมื่อกี้นี้ มอบหมายให้คนญี่ปุ่นและคนฝรั่งลองทำดูบ้าง เราคงจะได้เห็นอะไรแปลกๆ เป็นความรู้ใหม่ที่น่าสนใจ แม้แต่คนไทยเนี่ย ถ้าไม่ระวังให้ดีก็จะกลายเป็นอย่างเดียวกับคนอินเดียที่เราหัวเราะนั้นก็ได้ หรืออย่างคนอเมริกันรุ่นใหม่ยุคนี้ที่เขาเรียกว่ายุคสังคมบริโภคซึ่งเป็นยุคเสพสุข แล้วก็เลยเสื่อมถอย กลายเป็นคนสำรวยเฉื่อยชาลงมาเรื่อยๆ ตรงข้ามกับอินเดีย สังคมฝรั่งเป็นสังคมที่ตกอยู่ในความไม่ประมาทเทียม เขาใช้ระบบที่ขอเรียกว่าทุกข์ภัยประดิษฐ์มาบีบคั้นคน ฉะนั้นไปไม่รอด ระยะยาวก็เสื่อม ฉะนั้นพวกนี้ตอนนี้อเมริกันก็ร้องทุกข์โอดครวญแล้วนี่ว่า คนของตัวรุ่นใหม่นี้ไม่มีนิสัยในการทำงานแล้วกำลังเสื่อมอยู่ แล้วก็กำลังสูญเสียความยิ่งใหญ่ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราควรพิจารณา หลักธรรมของพระพุทธเจ้านี้สำคัญยิ่งนัก ฉะนั้นโยมจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องความไม่ประมาทนี่ เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสดักไว้หมด
ในการปกครองบ้านเมืองก็ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลนะ พระองค์ต้องมีกัลยาณมิตรนะ แล้วเสร็จแล้วก็ต้องไม่ประมาท กิจการใดๆ ในบ้านในเมืองจะปล่อยปละละเลยไม่ได้ ต้องไปดูชาวไร่ชาวนาชาวชนบทยุ้งฉางเหลื่อมทางเป็นอย่างไร ตรวจตราสอดส่องอะไรที่ต้องรู้ด้วยตัวเอง ต้องตรวจตราด้วยตัวเอง อย่างนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง แล้วก็ตรัสว่าเป็นคำที่เป็นดุจรอยเท้าช้างใหญ่ครอบคลุมธรรมอื่นหมด แล้วก็แถมตรัสเป็นปัจฉิมวาจาด้วยวาจาสุดท้าย ชาวพุทธจะต้องเอาหลักนี้เป็นหลักที่สำคัญมาก เพราะว่าอย่างที่บอกเมื่อกี้แล้วว่า เราอาจจะประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม เป็นคนดี แล้วก็ประสบความสำเร็จมีความสุข แต่เราก็มาตกหลุมความประมาทนี่แหละแล้วก็ไปไม่รอด แม้แต่เป็นพระโสดาบัน ฉะนั้นจึงต้องย้ำพุทธพจน์ที่ตรัสบอกว่า เราไม่สรรเสริญแม้แต่ความตั้งอยู่ได้ในกุศลธรรมทั้งหลาย ตั้งอยู่ได้ยังไม่สรรเสริญ ไม่ต้องพูดถึงความเสื่อมถอยจากกุศลธรรมทั้งหลาย เราสรรเสริญอย่างเดียวคือ ความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปในกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะฉะนั้นพระองค์จึงตรัสบอกว่า พระองค์เองได้เห็นคุณของธรรม 2 ประการ
1) ความไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย ไม่มีพอใจในเรื่องกุศลธรรม ทำไปสำเร็จแค่นี้ต้องไปต่อ ต้องทำเพิ่มมากขึ้น ตรงข้ามกับความสันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอความสุข พระองค์บอกให้สันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอความสุขส่วนตัว แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย การแสวงหาสติปัญญาความรู้ความเข้าใจต้องการเข้าถึงสัจธรรมความจริง พัฒนาปัญญาของตนเองสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม ทำประโยชน์สุขแก่สังคม อันนี้ต้องทำกันไปเรื่อยๆ หยุดไม่ได้ นี่แหละคือความไม่สันโดษในกุศลธรรมเป็นคู่กัน ถ้าใครจับหลักนี้ได้ก็เอาความสันโดษในวัตถุบำเรอความสุขส่วนตัว มาเป็นตัวเกื้อหนุนให้ไม่สันโดษในกุศลธรรมมันก็เข้าคู่กันไป ก็มีความเพียรพยายามมาก พร้อมกันนี้เราก็จะได้บำเพ็ญความไม่ประมาทไปด้วย และตอนนี้ก็จะได้ให้เห็นแล้วว่าหลักความจริงของธรรมชาติคือความเป็นอนิจจังนั้น พระพุทธเจ้าตรัสมาประสานบรรจบกับความไม่ประมาท ในพุทธโอวาทเป็นปัจฉิมวาจาว่า “วะยะธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทถะ” เพราะว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา อันนี้อนิจจัง แล้วเสร็จแล้วพระองค์ก็ตรัสบอก เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม อันนี้ความไม่ประมาท พอเราไม่ประมาทเราก็สามารถพลิกอนิจจังให้มาเป็นประโยชน์แก่ชีวิตได้ ฉะนั้นจึงบอกว่าสังคมของเราไม่จำเป็นต้องเสื่อม พระองค์ตรัสไว้แล้ว ถ้าเราไม่ประมาท เราก็สามารถรักษาความเจริญไว้ได้
แต่ความไม่ประมาทที่แท้นั้นคืออะไร ก็คือการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่ขาดสติ ท่านแปลว่าอย่างนั้นเลย ความไม่ประมาทคือการไม่อยู่ปราศจากสติ หรืออยู่ไม่ปราศจากสติ ไม่ขาดสติ ใช้สติตื่นตัวรู้ทัน ตรวจตราทุกอย่าง แล้วก็พอสติมาปัญญาก็ทำงานต่อ ก็ส่งต่อให้ปัญญาทำงาน ปัญญาทำงานอะไรก็ไปศึกษาเหตุปัจจัย ก็เอาเหตุปัจจัยในกฎอนิจจังในกฎธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ก็กลายไปตามเหตุปัจจัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นอนิจจัง ในทางที่พึงปรารถนาแล้วเกิดเป็นความเจริญขึ้นมา อนิจจังก็เลยกลายเป็นดีไป อนิจจังมันเป็นกฎธรรมชาติเป็นกลางๆ ไม่ดี-ไม่ชั่ว ใครจะไปบอกว่าอนิจจังชั่ว ไม่มีหลักธรรมในพระพุทธศาสนาไม่เคยสอน บางคนไปเข้าใจว่าอนิจจังไม่ดี อนิจจังเป็นกฎธรรมชาติ กฎธรรมชาติมันจะไปดีไปชั่วอะไร มันเป็นของกลางๆ ดี-ชั่ว ไม่ดี-ไม่ชั่วเป็นกลางๆ มันมาดี-มาชั่วที่มนุษย์นี่ แล้วเราจัดผลัดมันซะรู้จักใช้ประโยชน์ เราก็ได้ประโยชน์จากอนิจจัง อนิจจังก็กลายเป็นดีสำหรับเรา อนิจจังก็ 2 ตอน เตือนสติ ไม่ประมาท ปัญญาพิจารณารู้เห็นปัจจัย แล้วก็รู้เท่าทัน ถ้าทำอย่างนี้จะได้ 2 ตอน ก็คือ
1) ว่าด้วยความรู้เท่าทันนั้น เราก็ไม่ทุกข์ร้อนมากในเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง เหตุปัจจัยมีเท่าไหน เราพิจารณา อ๋อมันมีแค่นี้ เราทำได้แค่นี้ตามเหตุปัจจัย เหตุปัจจัยส่วนไหนเราทำได้เราทำ เราก็ใช้ประโยชน์จากอนิจจังได้ด้วย พร้อมกันนั้นเราก็ไม่ทุกข์ร้อนเกินไป เพราะความเปลี่ยนแปลงตามกฎธรรมชาติ อันนี้อาตมายกมาให้โยมฟัง ในเรื่องของความไม่ประมาท
ทีนี้ต่อไปก็เรื่องของความไม่ประมาทนี้ก็ถือว่าโดยหลักการใหญ่ๆ ก็ คิดว่าพอสมควร แต่ก็อยากจะพูดโยงไปหาข้อย่อยๆ ต่างๆ ที่อาตมาพูดมาส่วนหนึ่งก็ให้เห็นว่า ความไม่ประมาทนี้ไปโยงกับความพอดีที่เป็นทางสายกลางเพราะพูดไปวันก่อนแล้ว เอ๊ะมันโยงกันนะ เรื่องความไม่ประมาทหรือความพอดีหรือมัชฉิมาปฏิปทา ก็ตัวความไม่ประมาทนี่แหละมันจะมาปรับให้พอดีเสมอ ถ้าเราประมาทซะอย่าง มันก็ไม่มีทางพอดี การที่มีชีวิตสุดโต่งไปเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งก็เพราะอะไร เพราะปล่อยตัวละเลย ไม่มีสติ ไม่ตรวจตรา ไม่ทันต่อเหตุการณ์แล้วก็เลยทำให้เกิดการเอียงขึ้นมา อย่างเรื่องของอินเดียกับฝรั่งนี้ก็เอามาใช้ในเรื่องการปรับให้พอดีด้วยความไม่ประมาทได้ ถ้าหากว่าปรับใจให้มันสบายมีความสุขได้ แต่ปล่อยตัวละเลย กลายเป็นว่าสบายใจแล้วก็เลยไม่เอาเรื่องเอาราว ไม่กระตือรือร้น อันนี้แสดงว่ามันไม่พอดี ทีนี้ความไม่ประมาทก็มาปรับได้ พอเราไม่ประมาทเสียแล้วเราปรับใจสบายได้ แต่ว่าปัญหาเราไม่ทิ้ง เขาเรียกว่าข้างนอกแก้ไข ข้างในเป็นอิสระ คือคนที่ปฏิบัติธรรมนี้ปัญหาข้างนอกไม่ทิ้งนะ เจริญพร เป็นแต่ว่ากันปัญหาไม่ให้เข้ามาเป็นทุกข์ข้างใน ไอ้เจ้าปัญหาข้างนอกก็เป็นปัญหาข้างนอกไป ไม่เข้ามาเป็นทุกข์ข้างในใจ กันตัวปัญหากันตัวทุกข์ไว้ข้างนอก ทำใจของตัวเองให้เป็นอิสระได้ เสร็จแล้วพอใจเป็นอิสระ ไม่หยุดแค่นั้นออกไปจัดการแก้ไขปัญหาข้างนอกตามเหตุปัจจัย เราก็ไปศึกษาเหตุปัจจัยแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาก็ได้ผลด้วย เพราะฉะนั้นความไม่ประมาทก็เป็นตัวปรับให้เกิดความพอดี ถ้าอินเดียปรับซะหน่อยทำใจให้สบายมีความสุขได้ เออก็ดีแล้วส่วนนี้ แต่ว่าสบายแล้วอย่าไปปล่อยปัญหาข้างนอกทิ้งไว้ อย่าไปละเลยทอดทิ้งผลัดเพี้ยนอยู่ไม่ได้ มีสติแล้วไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมผลัดเพี้ยน ก็ไปจับจัดการแก้ไขปัญหาข้างนอก ความยากจนความไม่เป็นระเบียบอันนี้ไม่ปล่อยแล้วต้องจัดการให้หมด มันก็เกิดความพอดี ทีนี้ของฝรั่งก็เหมือนกันสุดโต่งไปเอาความไม่ประมาทมาปรับซะมันก็พอดี ก็คือเอาความประมาทที่แท้ เลิกความไม่ประมาทเทียมที่เอาระบบกิเลส ระบบทุกข์ภัยประดิษฐ์มาบีบคั้นคนไม่เอา แต่เอาความประมาทที่แท้มาแก้ ทีนี้สังคมที่ดีสังคมไทย ถ้าหากว่าเราจะสร้างสรรค์ความเจริญเราน่าจะทำเป็นแบบอย่างได้ในฐานะเป็นพุทธสาวก และเราทำไง เราจะสร้างความเจริญที่มันดีมันพอดีได้ มันน่าจะเป็นสังคมตัวอย่างได้สักสังคมหนึ่ง ไม่เห็นมีสังคมไหนดีสักสังคม มันเอียงไปทางโน้นบ้างเอียงไปทางนี้บ้าง นี่แหละอาตมาก็เลยอยากให้โยมได้มองเห็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่เป็นระบบความสัมพันธ์ อาตมาได้ยกตัวอย่างเรื่องพรหมวิหารเป็นระบบของดุลยภาพ เป็นเรื่องของความพอดี เป็นมัชฉิมา ก็ขอทวนอีกทีว่า การรักษาความเป็นมัชฉิมา
1) ต้องมีฐานจากปัญญารู้เข้าใจ เช่น กินเพื่ออะไร รู้ความมุ่งหมายของการกิน ก็เอาปัญญาที่รู้ความมุ่งหมายของการกินมาปรับ ทำให้เกิดการกินพอดีเป็นมัชฉิมานี้ก็เรื่องง่ายๆ แล้วก็ระบบดุลยภาพแห่งองค์รวมที่ว่าธรรมทั้งหลายนั้นพระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นชุดๆ ปฏิบัติให้ครบชุดนะ ไม่ใช่ปฏิบัติบกๆ พร่องๆ อันนี้ทำอันนี้ไม่ทำมีแต่เมตตากรุณา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดี แต่ความสัมพันธ์กับตัวธรรมอุเบกขาไม่เอาไปทิ้งซะนี่ หรือเอาแต่อุเบกขาเอาแต่ธรรมะไว้ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไม่เอาก็เอียงสุดไปข้าง เลยไม่พอดีซะที ก็ปรับให้ได้พรหมวิหารครบ 4 ก็เกิดดุลยภาพ แล้วก็ความเป็นเหตุปัจจัยกันที่ว่าธรรมะมันประกอบกัน ไอ้ตัวนี้ต้องไปประกอบกับตัวโน้น เช่น ศรัทธากับปัญญานี่ก็เป็นความพอดีชนิดหนึ่ง ศรัทธานั้นเป็นตัวกุศลธรรมนะ เจริญพร อภิธรรมเขารับรองไว้ ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ เป็นต้นนี่ เป็นกุศลธรรมเป็นโสตนะเจตสิก เป็นโสตนะเจตสิก เป็นเจตสิกที่ดีโดยตัวของมันเอง แต่ว่าเวลาเอาไปประกอบใช้นี่ ถ้าเอาไปประกอบใช้ผิดนี้เกิดโทษ ใช่ไหม เจริญพร
ฉะนั้นเวลาประกอบใช้จะให้เกิดมัชฉิมา ทางสายกลาง เราต้องดูตัวประกอบว่าธรรมะนี้ไปประกอบกับธรรมะตัวไหน ถ้าไปประกอบผิดตัว อย่างที่อาตมายกตัวอย่างนี้ที่อาจารย์ ดร.อุดมพูด อย่างเหมือนกับทางวิทยาศาสตร์ที่ว่าเมื่อวานนี้ H2O เอาไฮโดรเยน 2 ไปบวกกับออกซิเยน 1 เกิดเป็นน้ำ เป็นประโยชน์ แต่ว่าเอา คาร์บอน 1 และออกซิเยน 2 เป็น CO2 กลายเป็นพิษเลย ก็นี่แหละออกซิเยนเหมือนกันไปประกอบกับธาตุคนละอย่างเกิดดีเกิดเสียได้
องค์ธรรมก็คล้ายๆ ทำนองนั้นแหละ องค์ธรรมนี้อาจจะดีแต่ไปประกอบกับองค์ธรรมอื่นที่มันเสีย อาจจะเกิดผลร้ายก็ได้ แม้แต่องค์ธรรมเดียวกันนั้นดีเป็นปัจจัยแก่องค์ธรรมไม่ดี เรียกว่าเป็นกุศลปัจจัยแก่อกุศลธรรม อันนี้ท่านยกตัวอย่างไว้ในคัมภีร์แม้แต่อภิธรรมนะ เจริญพร อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลก็ได้ กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลก็ได้ เช่นคนมีศรัทธาทำความดี ทำบุญทำกุศล เกิดความภูมิใจลำพองใจในตัวเองว่าตัวได้ปฏิบัติ ได้บำเพ็ญธรรม ได้ก้าวหน้าในธรรมะ เกิดความสันโดษพอใจเกียจคร้านขึ้นมาเฉื่อยชาประมาทเป็นอกุศล เรียกว่ากุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล หรือเกิดลำพองใจว่าเรานี้เก่งกว่าเหนือกว่าคนอื่น ได้ทำบุญมาก ก็เกิดมานะกลายเป็นกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศลก็ได้เป็นต้น
ฉะนั้นเรื่องธรรมะนี้พอดีนี่มันต้องมองระบบความสัมพันธ์ความเป็นเหตุปัจจัยต่อกัน การมาเป็นตัวประกอบร่วม ทีนี้การเป็นตัวประกอบร่วมก็อย่างศรัทธาที่ว่าเมื่อกี้ ศรัทธาโดยตัวมันเองเป็นกุศล แต่ไปผิดไปประกอบกับโมหะเข้าไปก็กลายเป็นความงมงาย แล้วถ้าเกิดมีวิริยะขึ้นมาอาจจะเอาความเชื่อถือลัทธิศาสนาตัวไปบีบคั้นเบียดเบียนคนอื่นก็ได้ ใช่ไหม กลายเป็นเกิดโทสะรุนแรงไปเลย ลัทธิศาสนาต่างๆ จึงเป็นเหตุให้คนฆ่าฟันกันเบียดเบียนทำสงครามกัน ในพระพุทธศาสนาบอกว่า ศรัทธามาต้องเอาปัญญามาประกบทันทีเลย ตัวประกอบร่วมต้องมาศรัทธามาปัญญาประกบ พอศรัทธามาปัญญาประกบก็ทำให้ศรัทธานั้นตั้งอยู่บนฐานของเหตุผล มีวิจารณญาณ และศรัทธานั้นต้องเป็นไปเพื่อปัญญา ปัญญาไม่มีศรัทธาช่วยกลายเป็นคนจับจด ไอ้นั้นก็จะเอาไอ้นี้ก็จะเอา ไอ้นี้ก็พอรู้แล้ว ไปรู้อันโน้นต่อ ไม่เอาจริงสักเรื่อง พอเอาศรัทธามาประกอบ ศรัทธามันทำให้ใจพุ่งสิ ทำให้จับเป้าจับจุดแน่นลงไป พอศรัทธาจับให้ปัญญาก็ศึกษาเรื่องนั้นจริงจัง ลงลึกเลย แล้วก็พุ่งเป้าทำให้มีกำลังในการศึกษา ทำให้เกิดปัญญาจริงจัง ศรัทธาก็ทำให้เกิดปัญญา นำไปสู่ปัญญา จนกระทั่งศรัทธาหมดหน้าที่ ก็ยกส่งต่อให้ปัญญาในขั้นสุดท้าย อันนี้เรียกว่าตัวองค์ธรรมที่มาประกอบกันเนี่ยสำคัญมากเยอะแยะไปหมด
ฉะนั้นเราจะมองธรรมะโดดๆ ไม่ได้ เราจะไปบอกว่าเนี่ยมันดีแล้วนะ ไม่ได้หรอกนะบางทีไปประกอบตัวผิดเข้าเกิดผลร้ายหนักเข้าไปอีก อันนี้อาตมาก็จะยกอีกคู่หนึ่งที่สำคัญมากเป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา คู่นี้คือชื่อของพระพุทธศาสนาเลย พระพุทธศาสนานี้ประกอบด้วยองค์หรือส่วนประกอบใหญ่ 2 ส่วน ซึ่งมาเป็นชื่อของพระพุทธศาสนาเอง ปัจจุบันนี้เราเรียกกันว่าพระพุทธศาสนา คำว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นคำนิยมในสมัยหลัง ชื่อเดิมนั้นคืออะไรให้โยมทาย พระพุทธเจ้าเรียกพระศาสนาของพระองค์ว่าอะไร เรียกว่าอะไรนะโยม
โยมผู้หญิงตอบว่า พระธรรมวินัย
สมเด็จฯ ธรรมวินัย นั่นโยมตอบถูก โยมมีความรู้ดีเข้าใจดี ก็โมทนาด้วย เดิมนั้นพระพุทธเจ้าเรียกพระศาสนานี้ว่าธรรมวินัย บางครั้งเรียกว่า พรหมจริยะ แต่ว่าตอนนี้เราเรียกว่าพระธรรมวินัย แล้วตอนที่จะปรินิพพานนั้น ก็ตรัสว่าธรรมวินัยนี้จะเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป อันนี้แหละ หลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา พุทธพจน์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งให้เห็นว่าพุทธศาสนานั้นต้องครบ 2 อย่าง แล้วจึงจะมีดุลยภาพ ถ้าเอาอย่างเดียวนะอาจจะเสียดุล เรื่องธรรมวินัยนี้ต้องมีดุลยภาพระหว่างกัน แล้วมันจะเป็นตัวตรวจสอบกันด้วย ทำให้เราเกิดความพอดี ถ้ามิฉะนั้นอาจจะเอียงไป ธรรมวินัยนี้เป็น 2 ก็จริง แต่ว่าเวลามาเป็นศัพท์ชื่อพระพุทธศาสนาในภาษาบาลีท่านถือเป็นเอกพจน์ เรียกว่า ธรรมวินะโย เป็นหนึ่ง สองในความเป็นหนึ่งหรือหนึ่งจากสองมารวมกันเข้า เหมือนชีวิตของเราเกิดจากนามรูป ก็ต้องมีดุลยภาพ นามรูป 2 อย่าง เวลารวมกันในภาษาบาลีเป็นเอกพจน์ว่า นามะรูปะ ท่านถือเป็นหนึ่งนะ เจริญพร นามะรูปัง รวมเป็นอันเดียว ธัมโม จะ วินะโย จะ รวมกันเข้าเป็นธัมมะวินะโย สองเป็นหนึ่ง นะโยม
ทีนี้ธรรมะคืออะไร อันนี้แหละ โยมจะต้องมาฟังกันให้ ทำความชัดเจนกันหน่อย ธรรมะนั้นอย่างที่บอกไปแล้ว ธรรมะเป็นความจริง มีอยู่ตามธรรมดาของมัน พระพุทธเจ้าจะเกิดหรือไม่เกิดมันก็เป็นอย่างนั้น ใช่ไหม เจริญพร แต่พระพุทธเจ้าทรงมีพระปัญญาทรงค้นพบความจริงนั้น แล้วนำเอาเปิดเผยแสดงชี้แจงธรรมให้เข้าใจง่าย แต่ธรรมะมันก็อยู่อย่างนั้นแหละ อันนี้ธรรมะนี้ก็เป็นสิ่งธรรมดา การที่จะเอาธรรมะมาทำให้เกิดเป็นประโยชน์แก่มนุษย์นี้ มนุษย์นี้มีจำนวนมากอยู่กันเป็นสังคม เอามาทำให้เกิดประโยชน์กันแต่ละคน ต้องทำให้แต่ละคนเข้าใจ ให้มีความรู้เข้าใจแต่ละคนๆ ไป ช้าเสียเวลา ทำไงจะให้เกิดประโยชน์แก่คนจำนวนมากที่อยู่ร่วมกันเป็นสังคมนี้ ต้องวางเป็นระบบต้องมีการจัดตั้ง แล้วจะได้มีวิธีการที่จะทำให้คนจำนวนมากนี้ได้เข้าถึง ก็เอาความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาตินั้น มาใช้ความรู้ในความจริงในธรรมชาตินั้น มาจัดวางระบบขึ้นมาสำหรับมนุษย์ การจัดวางระบบแบบแผนจากธรรมะนั้นมาให้เป็นวิธีการปฏิบัติได้ในหมู่มนุษย์ อันนี้เรียกว่าเป็นวินัย และการที่สามารถเอาความรู้ในสัจธรรม ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดามาจัดวางเป็นระบบสำหรับมนุษย์ได้นี้ เป็นความสามารถพิเศษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพระปัจเจกพระพุทธเจ้าไม่มี นี่ทำไมจึงเป็นสัมมาสัมพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน เพราะพระปัจเจกพระพุทธเจ้าก็ค้นพบสัจธรรมเหมือนพระพุทธเจ้า รู้เข้าถึงความจริงหมดกิเลส แต่ทำไม่ได้ตอนวางวินัย เจริญพร ได้แค่รู้ความจริงเข้าถึงตัวธรรมะแต่จัดวางวินัยไม่ได้ คือ วางระบบแบบแผนขึ้นมาให้ธรรมะนั้นกลายเป็นประโยชน์แก่สังคมมนุษย์นี้ พระปัจเจกพระพุทธเจ้าไม่เป็น ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เพราะว่ามีทั้ง 2 อย่าง
1) มีปัญญาสามารถเข้าถึงสัจธรรม รู้ความจริงที่มีอยู่ตามธรรมดา
2) เอาความรู้ในความจริงนั้นมาจัดวางระบบแบบแผน เริ่มแต่สั่งสอนให้มนุษย์อื่นเข้าใจได้
ฉะนั้นวินัยนี้เป็นความสามารถส่วนพิเศษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้แหละเราวางเป็นระเบียบชีวิต ระบบสังคมของมนุษย์ วินัยก็มีตัวอย่าง การจัดวางเกี่ยวกับเรื่องวัตถุปัจจัยสี่ เป็นต้น จะกินจะอยู่ จะอะไรอย่างไร จัดสภาพแวดล้อมอย่างไร ให้เกื้อหนุนต่อการที่บุคคลจะพัฒนาตัวเองเข้าถึงธรรมะได้ วินัยคือหนึ่งจัดสรรเรื่องวัตถุ ก็อ้างมาจากจัดสรรสภาพแวดล้อม จัดทำไม เพื่อให้มันเกื้อหนุนต่อการที่คนจะพัฒนาตัวเข้าถึงธรรมะได้ ถ้าดำเนินชีวิตตามแบบแผนที่เรียกว่าวินัยที่จัดตั้งไว้นี้แล้ว สภาพแวดล้อมจะเอื้อต่อการเข้าถึงธรรมะ ใช่หรือไม่ จัดระเบียบสังคม จัดระบบความเป็นอยู่ การอยู่ร่วมกัน จะอยู่ร่วมกันอย่างไร มีสังฆกรรม มีกิจการหมู่คณะเกิดขึ้น มีพระทำผิดจะทำอย่างไร การบริหารการคณะสงฆ์ โอ้ว วางไปหมดเลย เจริญพร ฉะนั้นในวินัยของพระนี่ให้ความสำคัญแก่ปัจจัยสี่ เรื่องวัตถุ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องระบบการบริหารการปกครอง เรื่องของระเบียบสังคมทุกอย่างเลย เป็นฐานในการที่จะให้คนเข้าสู่ธรรมะ บางคนมองแต่ธรรมะอย่างเดียว เห็นพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องจิตใจ ไม่เกี่ยวกับสังคม เป็นเรื่องเฉพาะตัว บอกว่า โอว ถ้าคนแต่ละคนดีแล้ว สังคมก็ดีเอง นี่ตอบแบบธรรมะ ถูกต้องไม่ผิด ใช่ไหม เจริญพร ถ้าแต่ละคนดีแล้วสังคมก็ดีเอง อันนี้ไม่ผิดหรอกแต่เป็นกำปั้นทุบดิน ก็ใช่สิถ้าทุกคนดีสังคมมันก็ดี แต่ปัญหาต่อไปทำอย่างไรจะให้แต่ละคนดี นี่ปัญหาของวินัยมาแล้ว ปัญหาของวินัยมาเริ่มตอนที่ว่าแล้วทำอย่างไรจะให้แต่ละคนดี ก็ต้องจัดวางระเบียบระบบแบบแผนสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลขึ้น จะได้ตะล่อมช่วยป้องกันคนจากการทำชั่วหรือทำในทางที่ผิดเสียหาย และสร้างความเกื้อหนุนเอื้อต่อการทำความดี เอื้อต่อการพัฒนาสภาพแวดล้อมอย่างนี้เป็นวินัย ฉะนั้นวินัยก็จะมาช่วยในการที่จะทำให้ทำอย่างไรที่จะทำให้แต่ละคนนี้กลายเป็นคนดีขึ้นมา เขาจะได้มีเครื่องชักนำเข้าสู่ธรรมะได้ ธรรมะนั้นเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เช่น เป็นเรื่องของชีวิตแต่ละชีวิตนี่รับผิดชอบ ทุกคนนี้รับผิดชอบแต่กรรมของตัวเอง รับผิดชอบต่อกฎธรรมชาติ ชีวิตแต่ละคนนี้ต้องขึ้นต่อคติธรรมดาของสังขาร เกิด แก่ เจ็บ ตาย เราทำกรรมดีแล้วผลดีนี้เป็นเรื่องของแต่ละคน ธรรมะเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลรับผิดชอบต่อชีวิตของตัวเอง แต่วินัยนี้ท่านให้รับผิดชอบต่อสังคมเลย พระทำความผิด หนึ่งในแง่ของธรรมะ รับผิดชอบต่อกรรมที่ตัวทำ ทำกรรมชั่วรับผลชั่ว อันนั้นกรรมว่าไป แต่สองรับผิดชอบทางวินัยต่อชุมชนสงฆ์ด้วย สงฆ์จะเอาตัวมาจัดการ มาชำระคดี มาตัดสินความผิด มาลงโทษ 2 ส่วน เจริญพร แล้วเพื่ออะไรล่ะ วินัยจัดตั้งเพื่ออะไร ก็เพื่อจะให้ธรรมะนี้เกิดผลในสังคมมนุษย์ เปิดช่องวินัยเปิดช่องให้ธรรมะแสดงผล แต่ว่าวินัยนั้นจะมีผลจริงก็ต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ ถ้าวินัยไม่ตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ ไม่ชอบธรรม ไม่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์และเหตุปัจจัย วินัยนั้นไม่ถูกต้อง ไม่ยั่งยืน ไม่เป็นจริง ไม่มีผล ไร้ความหมาย ฉะนั้นวินัยต้องตั้งอยู่บนฐานของธรรมะ ต้องตั้งอยู่บนฐานของความจริงเหตุปัจจัย ต้องตั้งอยู่ในฐานของความรู้ในกฎธรรมชาติ วินัยนี้ก็เลยต้องมีอยู่ 2 อย่าง คือผู้ที่จัดตั้งนั้นจะต้องมีปรีชาญาณ มีญาณรู้เข้าใจสัจธรรม ใครรู้ธรรมะ รู้ตัวความจริง ความจริงของกฎธรรมชาติ ธรรมดาได้เท่าไร การวางวินัยจัดเป็นระบบแบบแผนในสังคมนั้นก็ยิ่งได้ผลดีเท่านั้น 1) ปัญญา 2) คุณธรรม เจตนา คือต้องเป็นเจตนาบริสุทธิ์ไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่เห็นแก่ตัว อย่างพระพุทธเจ้านี้
1) มีพระปัญญาเข้าถึงหลักสัจธรรมความจริงของธรรมชาติ ความรู้อันนี้ก็ทำให้วางกฎระเบียบแบบแผนที่มันสอดคล้องกับตัวธรรมะ คือตัวหลักการวินัยก็จะสอดคล้องกับตัวธรรมะ
2) พระองค์มีพระบริสุทธิคุณ มีจิตใจที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา ไม่มีอกุศลธรรม ไม่มีเจตนาร้าย ไม่ได้หวังผลประโยชน์ส่วนพระองค์ ทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะฉะนั้นเจตนาบริสุทธิ์ประกอบด้วย เมตตา กรุณาก็ทำให้วางวินัยนี้ได้มั่นคง ก็จัดตั้งระบบคณะสงฆ์ขึ้นมาเป็นสถาบันที่ยั่งยืนที่สุดในโลก ฝรั่งยอมรับในปัจจุบัน บอกว่าสถาบันที่ยั่งยืนที่สุดในโลกคือ คณะสงฆ์ในพุทธศาสนา ยังไม่มีสถาบันองค์กรอะไรไม่เคยมีเลย ยั่งยืนเท่าคณะสงฆ์ 2,500 กว่าปีแล้วยังอยู่ได้
อันนี้ก็เป็นเรื่องของวินัยแล้ว ฉะนั้นวินัยนี่จะเป็นตัวสำคัญ ถ้าเราปฏิบัติตามธรรมะนี่ ถ้าไม่มีวินัยมาช่วยดึงนี่ บางทีพานจะเผลอเข้าใจผิด เช่นอย่างว่า เอออยู่ง่ายๆ เราปฏิบัติธรรมนี่ เอออยู่ง่ายๆ สบายๆ ยังไงก็ได้ วินัยบอกยังไงก็ได้ ไม่ได้ วินัยจะไม่ยอมเด็ดขาดเลย จะให้ยังไงก็ได้ พระวิสูตรจะต้องปฏิบัติกิจอย่างนั้นๆ จะอยู่อย่างสบาย บอกว่าฉันสบายแล้วปรับใจได้วินัยไม่ยอม วินัยไม่เอาด้วย ฉะนั้นวินัยนี้เป็นตัวตรึงแล้วทำให้เรารู้ว่าพระพุทธเจ้าจะเอายังไง แล้วเป็นตัวมาตรฐานทำให้บอกได้ว่าชีวิตพระอริยะคืออย่างไร พระอริยบุคคลไม่ใช่คนที่ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่เอาอะไรทั้งนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่าเธออยู่ง่ายๆ อยู่ง่ายๆ ไม่ใช่มักง่ายนะ ใช่ไหม เจริญพร พระสงฆ์นี่มีไตรจีวร มีจีวรแค่ 3 ผืนนี้อยู่ง่ายแล้วใช่ไหม เจริญพร เธอสามารถมีความสุขได้กับจีวรแค่ 3 ผืน แต่ว่าเมื่อเธอรับเอาจีวร 3 ผืนนี้ โดยสมมติว่าเป็นของตนแล้ว ต้องรับผิดชอบ วินัยมาเลยนะ เจริญพร จีวร 3 ผืนนี้ พระจะบอกว่าเป็นของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราไม่ยึดมั่นถือมั่น ปล่อยปละละเลยทิ้งไม่ได้นะ โยมนะ พระพุทธเจ้าบอกว่าอยู่ปราศจากไตรจีวรแม้ราตรีเดียวต้องอาบัติไป 10 ปี เลย เมื่อตกลงกันแล้วว่าเธอเป็นเจ้าของไตรจีวรผืนนี้ต้องรับผิดชอบ แม้แต่ราตรีเดียวก็ขาดจากความรับผิดชอบไม่ได้ เนี่ยอย่างนี้เป็นต้น
วินัยจะเต็มไปด้วยความรับผิดชอบ พระต้องรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างต่อชีวิตตัวเอง ต่อสังคม ชุมชนของตัวเอง เอาของสงฆ์ไปใช้ ถ้าไม่เอาเก็บไว้ที่เดิมต้องอาบัติ อะไรต่ออะไรหยุมหยิมไปหมดเลย แต่มันส่งผลกลับเพราะว่าพระปฏิบัติธรรมไม่ยึดมั่นถือมั่น จึงไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง จึงทำเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ได้ จึงทำได้ตามวินัย เพราะว่าเราไม่ยึดมั่นประโยชน์ส่วนตัว เราก็เลยปฏิบัติตามวินัยได้ด้วยความเต็มใจ มันกลับมีผลย้อนกลับ ถ้าปฏิบัติธรรมถูกต้องแล้วนี่จะกลายเป็นคนที่สามารถปฏิบัติตามวินัยได้ผลด้วย อันนี้จะเป็นตัวกันกันไว้เลย ดุลกันไว้เลย เจริญพร วินัยจะเป็นตัวกันไว้ไม่ให้ปฏิบัติพลั้งเผลอ มิฉะนั้นแล้วเดี๋ยวจะกลายเป็นว่า เออ ปฏิบัติธรรมไปแล้ว แหมเราไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร ก็ปล่อยตามเรื่องตามราว อะไรจะเป็นไงก็ช่างมันไม่เอาด้วย นี่แหละวินัยกันไว้เลย ไม่มีทางเป็นไปได้
ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็จะอ้าง อาตมาเคยได้ยินเอามาเล่าอีกแล้วเล่าหลายครั้งแล้ว ในกรุงเทพฯ นี้เอง มีโยมมาเล่าให้ฟัง ที่วัดหนึ่งก็มีพระอายุมากแล้ว อายุคงจะสัก 70 อะไรแถวนั้นแหละ ก็มาเล่าบอกว่าท่านให้ผู้หญิงสาวๆ นวด บอกว่าไม่มีกิเลสแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว นี่เห็นไหม นี่ดีไม่ดีอ้างแบบนี้ เจริญพร ก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่เป็นไรทำยังไงก็ไม่มีปัญหา เนี่ยวินัยไม่ให้ ทีนี้ถ้าเราไม่มีวินัยไว้กันนะ พวกที่จะอ้างแบบนี้เยอะเลย ใช่ไหม ทำไงก็ได้ไม่ยึดมั่นเลย แต่วินัยเป็นตัวกันไว้เสร็จเลยไม่มีทาง แล้วคติพระอรหันต์เป็นอย่างไร คติพระอรหันต์บอกแล้วว่า พระอรหันต์คือผู้บรรลุประโยชน์ตนแล้ว มีประโยชน์ตนสมบูรณ์แล้ว ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีก ไอ้ตัวที่บอกว่าไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกมันสำคัญนักนะ เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ชีวิตของพระอรหันต์ซึ่งมีความสมบูรณ์ มีอิสรภาพ สมบูรณ์ภายใน มีความสุขเต็มอิ่มภายใน มีความสุขอยู่กับตัวตลอดเวลา ไม่ต้องหาความสุขแล้วนี่ ด้วยความสมบูรณ์เต็มอิ่มไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองนี่ จึงอุทิศพลังชีวิตให้แก่มนุษยชาติได้หมด ทำการเพื่อผู้อื่นทั้งสิ้นเลย ต่อจากนั้นพระพุทธเจ้าพระอรหันต์นี่ไม่ต้องทำอะไรเก่งกว่าพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์นี่แสนจะเก่งแล้วนะ คือยอมสละชีวิตตัวเองเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ แต่ว่าพระโพธิสัตว์นั้นต้องทำด้วยปณิธาน คือต้องตั้งใจ ต้องมีปณิธานตั้งมั่นไว้ อธิษฐานจิตไว้ทำความดีอย่างนั้นๆ แต่พระอรหันต์และพระพุทธเจ้านี่ท่านทำความดีโดยอัตโนมัติเพราะเป็นธรรมดาของท่านเอง มันต่างกันตรงนี้ พระอรหันต์พระพุทธเจ้าเก่งกว่าพระโพธิสัตว์ตรงนี้ คือทำความดีโดยเป็นธรรมดาของตัวท่านเองเป็นอัตโนมัติ เพราะพระอรหันต์ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง ฉะนั้นพระอรหันต์ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกแล้วท่านจะมาให้คนนั้นคนนี้นวดให้ทำไม ใช่ไหม ถ้าไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง ท่านต้องคำนึงถึงผู้อื่นเท่านั้น ความสุขท่านเต็มในตัวแล้ว ท่านไม่ต้องทำอะไรเพื่อตัวเอง ท่านต้องคำนึงถึงผู้อื่น งั้นคติพระอรหันต์เนี่ยจึงเป็นสุดยอดที่พระพุทธเจ้าตรัสอยู่เสมอ ส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนา ประกาศปรารภในการทำสังคายนาอะไรอันเดียวกัน “พหุชะนะ หิตายะ พหุชะนะ สุขายะ โลกา นุกัมปายะ” นี่คือคติชีวิตพระอรหันต์ว่า “ดำรงอยู่ ดำเนินชีวิตเป็นไป จาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก” อันนี้พระอรหันต์จะมีชีวิตอยู่เพื่ออันนี้ แล้วอีกคติหนึ่งที่พ่วงมาด้วยกันก็คือ “ปัจฉิมา ชะนะตา นุกัมปา” แปลว่าเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลัง ชนผู้จะเกิดตามมาภายหลัง หรือบางทีก็ใช้คำว่า เพื่ออนุเคราะห์ชนผู้จะเกิดตามมาภายหลัง คือเป็นแบบอย่าง พระอรหันต์จะมีคติสำคัญ 2 อย่างนี้ คือ
1) ประพฤติทุกอย่างเพื่อเป็นแบบอย่างไว้แก่คนที่จะเกิดภายหลัง และ
2) ทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
ฉะนั้น ก็มีตัวอย่างเรื่องของพระมหากัสสปะ พระมหากัสสปะนี้ก็อายุมาก แก่กว่าพระพุทธเจ้าอีกใช่ไหม เจริญพร ทีนี้พระมหากัสสปะเนี่ย ท่านถือธุดงค์ตลอดชีวิต ธุดงค์นั้นไม่ใช่หมายความว่าเที่ยวจาริกไปนะ โยมมักจะเข้าใจผิด ธุดงค์นั้นมีตั้ง 13 ข้อ ธุดงค์นั้นแปลว่าข้อปฏิบัติขัดเกลากิเลส เช่นว่า ใช้จีวรแค่ไตรจีวร 3 ผืน ไม่ยอมใช้อดิเรก เกินนั้นไม่ใช้ หรือบางองค์ถือจีวรจากบังสุกุล คือเอาผ้าที่เขาทิ้ง ไปเที่ยวเก็บเอาของเขาทิ้งมา แล้วก็มาเอามาต้ม มาตัด มาเย็บ มาย้อม ไม่ยอมใช้ของเขาถวาย บางองค์ถือออกบิณฑบาตเป็นประจำไม่รับนิมนต์ บางองค์ถือฉันมื้อเดียว บางองค์ถืออยู่ป่าตลอดชีวิต พระมหากัสสปะถือธุดงค์หลายข้อ ทีนี้ตอนท่านแก่แล้ว ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า โอ้ พระมหากัสสปะนี่เธอก็แก่แล้ว ผ้าบังสุกุลเนื้อหยาบนี้มันหนักนะ เธอมายอมรับผ้าคหบดีเขาถวายเถอะ เธอรับผ้าที่ประณีต คือพระพุทธเจ้านี่ทรงประกาศไว้
เดี๋ยวแทรกนิดหนึ่ง เคยมีคนมาชมพระพุทธเจ้าบอกพระองค์นี่เป็นผู้มีชีวิตที่ขัดเกลาอยู่ง่าย อะไรเรียบง่าย พระพุทธเจ้าบอกว่าที่เธอชมเราเนี่ย ไม่ถูก เราไม่ใช่เป็นผู้ที่สาวกเคารพยกย่องเพราะเหตุเหล่านี้ ถ้าจะเอาเพราะฉันอาหารน้อย ใช้จีวรน้อย ปัจจัยสี่น้อยอะไรกินอยู่ขัดเกลานี่ สาวกของเราหลายองค์ถือปฏิบัติเคร่งครัด เข้มงวดกว่าเราเยอะเลย แต่เรานี่ที่สาวกเขาเคารพบูชาก็เพราะว่าเป็นผู้ที่ได้ เป็นผู้ค้นพบทางและชี้ทางให้แก่ผู้อื่น เพราะพระองค์ตรัสเลยว่าในเรื่องฉันอาหาร เดี๋ยวพระองค์ก็รับนิมนต์ที่นั่นที่นี่ไป พระองค์ก็เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ พราหมณ์ หรือคนชั้นสูง เศรษฐี คหบดี ใช้จีวรก็บางทีก็รับจีวรดีๆ มาใช้อะไรต่างๆ
ทีนี้พระมหากัสสปะนี้ท่านถือธุดงควัตรที่ว่า อันนี้พระพุทธเจ้าชวนพระมหากัสสปะก็บอกว่าขอโอกาสพระองค์ ข้าพระองค์ก็จะขอปฏิบัติไปตามเดิม พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่าเธอมีเหตุผลอะไรถึงจะได้ปฏิบัติไปตามเดิม ทั้งๆ ที่ว่า อย่างจีวรก็หนัก ใช้ลำบาก ผ้าก็เนื้อหยาบ ไม่สบาย ท่านก็บอกว่า “ปัจฉิมา ชะนะตา นุกัมปา” เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างแก่ผู้คนที่เกิดในภายหลัง” นี่แหละพระอรหันต์ท่านไม่เห็นแก่ตัวเลย ฉะนั้นการปฏิบัติวินัยอะไรต่ออะไรท่านจะทำเป็นแบบอย่าง เพราะท่านต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น ฉะนั้นใครจะมาอ้างว่าผิดวินัยอะไรต่ออะไรเพราะเป็นอรหันต์หมดกิเลสฟังไม่ขึ้นหรอก เจริญพร ครั้งหนึ่งนะมีผู้หญิงศรัทธาในพระมหากัสสปะมาก ก็มาช่วยกวาดในกุฏิให้ พระมหากัสสปะท่านมาเจอ ท่านบอกว่าไป ขอเชิญไปอย่ามาทำให้ เขาก็บอกว่าเนี่ยมาช่วยท่านเพราะเลื่อมใสศรัทธา ท่านบอกว่ามันจะเป็นที่ติฉินนินทา ไม่ดีไม่เป็นแบบอย่าง ฉะนั้นท่านก็บอกว่าท่านต้องทำเป็นแบบอย่าง อันนี้เป็นต้น นี่ก็อาตมาก็ยกมาเป็นตัวอย่างให้
นี่ก็คือคติของพระอรหันต์ในอดีตที่ทำมา พระมหากัสสปะก็เป็นอย่างนี้ ธุดงค์นั้นเป็นข้อปฏิบัติขัดเกลากิเลส อ้าวก็พระมหากัสสปะหมดกิเลสแล้วจะไปขัดเกลากิเลสอะไรอีก ล่ะ ใช่ไหม ท่านไม่จำเป็นที่จะต้องไปถือธุดงค์ แต่ที่ท่านถือนั้นเพราะว่าท่านทำเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ชนรุ่นหลัง ใช่ไหม เจริญพร อันนี้เป็นคติพระอรหันต์ และความไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราดูจากเรื่องวินัยเราจะได้คติเยอะ อย่างที่ว่าไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราเอียงไปแง่เดียวนี้เราอาจจะเข้าใจธรรมะผิดด้วย ธรรมะที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้น ต้องเกิดจากปัญญาเห็นความจริงในสัจธรรมแล้วเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ถ้าสำหรับปุถุชนความไม่ยึดมั่นถือมั่นนั้นมันเป็นเครื่องฝึกตนเท่านั้น แล้วต้องระวังมากความไม่ยึดมั่นของปุถุชนที่เอามาปฏิบัตินั้น เพราะว่าเรารับมาด้วยสัญญาไม่ใช่ปัญญา คือเราฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าท่านว่า เออ สิ่งทั้งหลายนี้มันไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะไปยึดมั่นไม่ได้นะ มันไม่เป็นไปตามนั้น เราไปยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันเปลี่ยนแปลงไปมันเราก็เกิดความทุกข์บีบคั้นจิตใจ มันไม่เป็นไปตามที่ต้องการหรอก อะไรนี้เราก็เลื่อมใส เราก็เกิดชอบใจก็นำมาปฏิบัติ อย่างนี้ท่านเรียกว่า ได้ปัญญานิดหน่อย แต่ตัวสำคัญที่รับมาคือสัญญา
เราก็รับมาปฏิบัติ ต่อไปนี้เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรนะ กลับไปบ้านก็เออนี่ก็ไม่ใช่ลูกของเรา นี่ก็ไม่ใช่ภรรยาของเรานี่ ก็ไม่ใช่เงินของเรา ใช่ไหม เจริญพร บ้านก็ไม่ใช่บ้านของเรา ไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็เลยไม่เอาเรื่องเอาราว เนี่ยเกิดความประมาทในเรื่องนี้ ทีนี้พอไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่เอาเรื่องเอาราวแล้วเกิดอะไรขึ้นมา ท่านเรียกว่า นี้คือความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น เพราะไอ้ความไม่ยึดมั่นตัวนี้ไม่ใช่ความยึดมั่นที่แท้ มันเป็นความยึดมั่นที่เกิดจากสัญญา แล้วตัวก็เอาตัวไอ้ความไม่ยึดมั่นนี้มาจับมายึดเข้าไว้อีกทีหนึ่ง มันเป็นความยึดมั่นในความไม่ยึดมั่น โยมระวังให้ดีเถอะ ถ้าเป็นปุถุชนจะทำได้แค่นี้
ความไม่ยึดมั่นที่แท้นั้นเกิดจากปัญญา เมื่อเราเห็นสิ่งทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เรารู้ทันสัจธรรมแล้ว ความเป็นไปของมันไม่เข้ามาบีบคั้นจิตใจของเรา จิตใจของเราเป็นอิสระ ต่อจากนั้นเราจะปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านั้นตามเหตุตามผลด้วยปัญญา ตอนนี้แหละสำคัญมาก เรามีทรัพย์ก็ปฏิบัติต่อทรัพย์ให้ถูกต้องตามเหตุผลว่าทรัพย์มีเพื่ออะไร ไม่ยึดมั่นถือมั่นให้เป็นเหตุบีบคั้นจิตใจให้มีความทุกข์ แต่ใช้ให้มันสมคุณค่า ให้เป็นประโยชน์ตามความหมายของมันนะ ทรัพย์ก็เกิดประโยชน์แท้จริงเหมือนพระเจ้าอโศก ใช่ไหม เจริญพร พระเจ้าอโศกก็ปฏิบัติในคตินี้ เออทรัพย์นี้เราไปยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ แล้วมันไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของชีวิต มันไม่ใช่ตัวให้ความสุขแก่ชีวิตหรอก เราเคยไปหลงเอาทรัพย์มา เป็นเครื่องบำรุงบำเรอ ความยิ่งใหญ่ของเรา ความสุขสบายของเรา พระเจ้าอโศกบอกว่าไม่เอาแล้ว ต่อไปนี้ แต่ก็ไม่ได้ทิ้งทรัพย์นะ ก็ปฏิบัติตามทรัพย์และเหตุผล ก็พลิกความหมายของทรัพย์ว่าทรัพย์นั้นไม่ใช่ความหมายที่จะทำให้เราเป็นสุขหรอก เพราะเรามีความสุขได้เองแล้ว เราพัฒนาจิตใจ เราพัฒนามีปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เรามีความสุขที่ประณีตกว่าแล้ว ทรัพย์สินสมบัติเหล่านี้ อำนาจ ไม่ใช่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตของเรา แต่ว่าถ้าเราใช้ให้เป็นประโยชน์มันก็เป็นอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุข ทำความดีแก่สังคม
ฉะนั้นพระเจ้าอโศกมหาราชก็เลยให้ความหมายใหม่แก่ทรัพย์บอกว่า ยศความยิ่งใหญ่ของพระองค์นี้จะไม่มีความหมายถ้าไม่ช่วยให้ประชาชนปฏิบัติธรรม นี่จารึกไว้เลยในศิลาจารึกพระเจ้าอโศก แล้วพระองค์ก็ใช้ทรัพย์และอำนาจนั้นสร้างสรรค์ประโยชน์สุขแก่ประชาชนทำความดีเป็นการใหญ่เลย นี่แหละ ถ้าหากพระเจ้าอโศกไม่มีทรัพย์ ไม่มีอำนาจ พระเจ้าอโศกทำความดีอย่างนี้ไม่สำเร็จ ถ้าทรัพย์และอำนาจเมื่อใช้เป็นและใช้ถูกก็กลายเป็นอุปกรณ์สร้างสรรค์ประโยชน์สุขและความดีงาม มันเป็นประโยชน์มหาศาล แม้แต่ทางพระพุทธศาสนาไปถึงเราในประเทศไทยด้วย อันนี้แหละก็คือคติต่างๆ
ก็เป็นอันว่าวันนี้ก็พูดเรื่องพระธรรมวินัยด้วย ผนวกเข้ามาว่าอันนี้เป็นคู่กัน วินัยนั้นจะช่วยให้เรานั้นปฏิบัติได้ถูกต้อง แล้วทางวินัยจะทำให้เราเห็นว่าพุทธศาสนานี้ให้ความสำคัญแก่วัตถุ ให้ความสำคัญแก่ปัจจัยสี่ ให้ความสำคัญแก่เศรษฐกิจ ให้ความสำคัญแก่สังคม อะไรต่างๆ โดยมีความหมายโยงไปกับธรรมะนะ ไม่ใช่มีความหมายสำคัญในตัวมันเอง เดี๋ยวโยมจะเข้าใจผิดอีก เดี๋ยวจะบอกว่าเศรษฐกิจสำคัญแล้วก็หยุดแค่นั้น เศรษฐกิจ วัตถุ ปัจจัยสี่ สังคม สำคัญโดยที่ว่าเมื่อทำให้ถูกต้อง มันเป็นตัวเอื้อต่อธรรมะ ตอนโยงนี่แหละสำคัญ ถ้าไม่โยงแล้วพลาดอีกแล้ว ถ้าแยกเดี่ยววินัยไปวินัย เหมือนอย่างคนที่บอกว่าวัตถุสำคัญอะไรต่ออะไรก็ไปหยุดอยู่แค่นั้นก็ผิดอีก วัตถุสำคัญจัดสรรมันให้ดีนะเพราะมันเป็นฐานที่จะทำให้เราก้าวไปสู่ธรรมะได้ จัดสรรวัตถุ จัดสรรปัจจัยสี่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ให้เรียบร้อยเกื้อกูลต่อการก้าวไปในธรรมะ เกื้อกูลต่อการพัฒนาตนของแต่ละบุคคล นี่คือธรรมะมาแล้ว ตกลงธรรมวินัยก็คู่กัน
ถ้าเราสามารถใช้หลักการนี้ถูกต้อง เราก็จะมีความเจริญงอกงามในพระศาสนา ธรรมวินัย พระศาสนาจะเกิดประโยชน์แก่เราอย่างแท้จริง ฉะนั้นโยมจะต้องจับหลักให้ครบ มองดูพุทธศาสนาอย่าให้เว้าๆ แหว่งๆ เวลานี้น่ากลัวมากเรื่องมองดูพระศาสนาเว้าๆ แหว่งๆ เนี่ย แล้วเลยไม่เกิดมัชฉิมา มัชฉิมาความพอดี ความเป็นทางสายกลางเนี่ย อาตมาก็ได้แสดงมาหลายแง่หลายมุมแล้วนะ เจริญพร แล้วก็มาโยงกับความไม่ประมาทนี้ ความไม่ประมาทจะเป็นตัวปรับให้มัชฉิมาดำรงอยู่ได้ ก็เลยเรื่องธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสในวันแสดงปฐมเทศนาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้แก่ มัชฉิมาปฏิปทา ก็มาบรรจบกับเรื่องความไม่ประมาทที่ตรัสไว้เป็นปัจฉิมวาจาในวันเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานที่กุสินารา แล้วก็เอามาโยงกับธรรมะที่พระองค์ตรัสทั่วไปที่สาวัตถีนี้ ก็เข้ากันหมด ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นทุกอย่างถ้าเราจับจุดถูกแล้ว มันเป็นระบบความสัมพันธ์ เนื่องโยงถึงกันได้หมดทุกอย่าง จับที่ไหนก็ถึงที่อื่นด้วยหมด ฉะนั้นถ้าโยมจับหลักการนี้ได้แล้ว ไม่ว่าใครทำใครพูดธรรมะข้อไหนมาโยมจับได้หมด โยงได้หมด อันนี้อยู่ในจุดนั้น อยู่ในระดับนี้ อะไรต่างๆ สบายเลย ไม่มีปัญหา เราก็จะสบายใจ อย่างพระพุทธเจ้านี้มีวิธีสรุปธรรมะเยอะเลย วิธีสรุปธรรมะของพระองค์ สรุปด้วยอริยสัจสี่ แล้วพระองค์ยังโยงอริยสัจสี่ไปสู่ธรรมะหมดทุกสิ่งทุกประการ
แล้วจะขอพูดให้ฟังอีกนิดหนึ่งนะ เจริญพร เวลายังมีอีกหน่อย อันนี้เป็นการยกตัวอย่างวิธีสรุปธรรมะของพระพุทธเจ้าที่พระองค์สรุปไว้หลายนัย สรุปเป็นสองก็ได้ สรุปเป็นสามก็ได้ สรุปเป็นสี่ก็ได้ แล้วเราไม่ต้องมาเถียงกัน บางคนไปยึดอันเดียวแล้วทีนี้เถียงกับคนอื่น ยุ่งอยู่นั่นแหละ ทั้งๆ ที่ธรรมะนั้นมีวิธีการหลายอย่างในการจำแนก แต่ว่ามันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่พระพุทธเจ้าตรัสธรรมะบอก ทั้งหมดรวมอยู่ในอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แล้วพระองค์ก็โยงไปหาหลักอีกชุดหนึ่งเลย เพื่อจะประมวลธรรมทั้งปวงให้เข้าเป็นชุดเดียวกัน เพราะว่า ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญายัง เนี่ยมีปริญญายังเข้ามาแล้ว นี่คือหลักที่ว่ากิจในอริยสัจสี่ ถ้าใครจะปฏิบัติต่ออริยสัจสี่ให้ถูกต้อง ถ้าไม่รู้หลักกิจในอริยสัจสี่ละก็พลาดเลย เจริญพร อริยสัจสี่จะไปรู้แต่อริยสัจไม่ได้นะ ต้องรู้กิจในอริยสัจด้วย นี่เสียดุลอีกแล้วรู้แต่อริยสัจไม่รู้กิจในอริยสัจ ถ้าปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจผิดไปเลย เจริญพร พลาดเลย เพราะว่าอริยสัจสี่แต่ละข้อมันมีหน้าที่ต่อมัน หน้าที่ต่อทุกข์มีแล้ว ตรัสไว้ในธรรมจักรกัปวัตนสูตรนี่แหละ เราสวดกันอยู่เรื่อย
1) ทุกขัง อะริยะสัจจัง ปะริญญายัง ทุกขังอริยสัจนั้นเป็นสิ่งต้องปริญญา มาแล้วหน้าที่ต่อทุกข์ต้องปริญญา แปลว่ากำหนดรู้ รู้จัก ทุกข์เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ เรามีหน้าที่รู้ทุกข์นะ เจริญพร หน้าที่รู้ทันทุกข์ การรู้จักทุกข์กับเป็นทุกข์ไม่ใช่อย่างเดียวกัน ถ้าใครปฏิบัติหน้าที่ต่ออริยสัจผิด เอาทุกข์มาเป็นทุกข์จบเลย เจริญพร ผิดแล้ว พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้ใครเป็นทุกข์นะ เจริญพร แต่สอนให้รู้ทันทุกข์ ฉะนั้นกิจอริยสัจข้อที่หนึ่งแค่นี้ก็พลาดแล้วหลายคน ต้องรู้ว่าทุกข์นี้ปริญญายังต้องปริญญา รู้ทันมัน
2) ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง ปะหาตัพพัง ทุกขะ สมุทัย อริยสัจเป็นสิ่งที่พึงปะหานะ ละ ก็คือปะหานะ สองแล้วนะโยม
3) ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพัง ทุกขะนิโรธ อริยสัจเป็นสิ่งที่ต้องสัจฉิกิริยา ทำให้แจ้ง ทำให้เป็นจริง บรรลุถึง อันนี้สามสัจฉิกิริยามาแล้ว
4) ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง ภาเวตัพพัง ทุกขะนิโรธะคามินี อริยสัจเป็นสิ่งที่พึงเจริญ พึงปฏิบัติ ลงมือทำ ภาเวตัพพัง คือลงมือทำ ข้อปฏิบัติอยู่ที่ข้อที่ 4 เรียกว่าภาวนา
ตกลงว่าหน้าที่ของอริยสัจข้อที่ 1 คือ ทุกข์ ได้แก่ปริญญา หน้าที่อริยสัจข้อ 2 สมุทัย คือปะหานะ หน้าที่อริยสัจข้อที่ 3 นิโรธ คือสัจฉิกิริยา การบรรลุหรือทำให้เป็นจริงหรือทำให้แจ้ง แล้วข้อ 4 หน้าที่ต่อมรรค ก็คือภาวนา คือการลงมือปฏิบัติ
เราต้องปฏิบัติอันเดียวอันสุดท้าย คือข้อ 4 มรรค นอกนั้นเราปฏิบัติไปตามข้อ 4 แล้ว มันถึงเองหมด แต่เรารู้ไว้ว่าหน้าที่เดิมของมันคืออะไร แล้วทีนี้พระพุทธเจ้าก็เอาหลักสี่นี้ไปจัดธรรมะอีก ปริญญาก็ไปจัดธรรมะทุกอย่างเป็นธรรมะ พวกหนึ่งเป็นปริญเญยธรรม ธรรมะที่พึงปริญญาคือต้องรู้จัก เช่น ขันธ์ 5 อย่างนี้ ไตรลักษณ์ อย่างนี้ เป็นพวกปริญเญยธรรม ธรรมที่พึงกำหนดรู้ รู้จัก รู้เท่าทัน ไตรลักษณ์นี้เรามีหน้าที่รู้จัก ขันธ์ 5 มีหน้าที่รู้จัก อายตนะมีหน้าที่รู้จัก ธาตุสิบแปด พวกนี้เป็นปริญเญยธรรมหมด
2) พวกปหาตัพพธรรม มีหน้าที่ที่เราจะต้องละ มีธรรมะประเภทนี้เยอะเช่นกัน เช่นว่า อกุศลมูล โลภะ โทสะ โมหะ พวกตัณหา มานะ ทิฐิ เยอะแยะไปหมด พวกนี้พวกบาป พวกอกุศลอะไรต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงมากมาย ตลอดจนกระทั่งในที่สุด อวิชชา พวกนี้เป็นปหาตัพพธรรม
3) ธรรมะอีกหมวดหนึ่ง สิ่งทั้งหลายจัดเข้าในประเภทที่ 3 คือสัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมะที่พึงทำให้แจ้ง ต้องบรรลุถึง พวกนี้เช่น สันติ ความสงบ วิสุทธิ ความบริสุทธิ์ ความเป็นอิสระ ความสะอาด พระนิพพาน พวกนี้เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมะที่พึงทำให้แจ้ง
4) แล้วสุดท้ายก็ ภาเวตัพพธรรม ธรรมะที่พึงปฏิบัติ ศรัทธาก็ดี ศีลก็ดี หรืออะไรเยอะแยะ ปัญญาก็ดี หรือว่า สมาธิก็ดี หิริโอตตัปปะก็ดี อะไรเยอะแยะไปหมด ข้อธรรมต่างๆ พวกนี้เป็น ภาเวตัพพธรรม พึงเจริญ พึงทำให้เกิดให้มี พึงปฏิบัติ ที่เราเรียกรวมกันง่ายๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นภาเวตัพพธรรม หรือมรรคมีองค์แปดก็ได้ หรือโพธิปักขิยธรรมก็ได้ โยมจะแยกเป็นยังไงก็ได้ เป็น 37 ประการก็ได้ เป็นกี่อย่างๆ พวกนี้ก็รวมอยู่ใน ภาเวตัพพธรรม ธรรมะก็มีทั้งหมดนะ อะไรๆ ทั้งหลายบรรดามีก็จัดไว้ในชุด 4 อย่างนี้ เป็นปริญเญยธรรมพวกหนึ่ง เป็นปหาตัพพธรรมพวกหนึ่ง เป็นสัจฉิกาตัพพธรรมพวกหนึ่ง เป็นภาเวตัพพธรรมพวกหนึ่ง พวกนี้จัดแล้วเอามาประสานกับอริยสัจสี่ ก็นำไปสู่เรื่องกิจต่ออริยสัจ ปฏิบัติกิจต่ออริยสัจถูกต้อง ก็เข้าสู่ทางพระพุทธศาสนาถูกต้อง
อันนี้เวลานี้ก็ 10.53 นาฬิกาแล้ว พอสมควรแก่เวลา อาตมาก็เลยพูดธรรมะมาให้โยมฟังในวันนี้ก็คิดว่าคงจะช่วยให้โยมได้เห็นภาพของพระพุทธศาสนา ทั้งในแง่ของสภาพแวดล้อมในยุคพุทธกาล สภาพของถิ่นฐานแว่นแคว้นที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จไป และโยงมาหาธรรมะที่พระองค์ตรัส และภาพรวมของพระพุทธศาสนาที่ว่าเป็นธรรมวินัย แล้วก็ประชุมลงในเรื่องการปฏิบัติด้วยความไม่ประมาท โยงไปหามัชฉิมาปฏิปทา รวมเรื่องไตรสิกขา เป็นต้น ก็คิดว่าโยมคงจะได้มีความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งคิดว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้มีผลในการดำเนินชีวิตในการปฏิบัติธรรม แล้วก็จะมาเป็นธรรมกายในตัวโยม ธรรมกายที่ไม่มีรูปมีร่างไม่ต้องเห็น แต่เห็นด้วยปัญญา เห็นธรรมะ โยมปฏิบัติไปข้อหนึ่งก็ได้เข้ามาข้อหนึ่งแล้ว ปฏิบัติรู้เข้ามาอีกข้อ ก็ได้ 2 ธรรมกายก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ธรรมกายนี้เสื่อมมั่งเจริญมั่ง อ้าว อันนั้นหายไป อันนี้มาใหม่ ธรรมกายยุบธรรมกายพอง ไปมาไปมาธรรมกายนี้ไปถึงเป็นมรรคผลนิพพานเมื่อไร ธรรมกายนี้แน่นแฟ้นมั่นคง ก็ขอให้โยมได้เจริญพัฒนาจนกระทั่งได้ประสบธรรมกาย ที่เป็นธรรมกายอันมั่นคงที่ยั่งยืนยงอยู่กับตัวโยมตลอดไป คือมรรคผลนิพพาน ก็ขอให้การเดินทางมาในสถานที่ที่เป็นพุทธสถานสำคัญ โดยเฉพาะสังเวชนียสถานนี้เป็นเครื่องหรือเป็นปัจจัยทำให้โยมได้เจริญกุศลธรรม มีศรัทธายิ่งๆ ขึ้นไป และได้ ปีติ โสมนัส ความปลาบปลื้มใจจะได้เป็นเครื่องนำโยมไปสู่ความงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ก็ขอให้โยมทุกท่านได้มีความเจริญงอกงาม ความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันยิ่งขึ้นไปตลอดกาลนานเทอญ ... สาธุ
……………………………………………..