แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[0:00:00] จริยธรรมแบบตะวันตก
ก็อยากจะทำความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมนิดหน่อย คอร์สนี้อยู่ในเรื่องของจริยศาสตร์ ทีนี้เราพูดในแง่ของจริยธรรม จริยศาสตร์นั้นรู้กันอยู่แล้วว่า โดยปกติเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญา แต่ตามตัวก็คือ ศาสตร์ว่าด้วยจริยธรรมนั่นเอง ความรู้ที่ว่าด้วยเรื่องของจริยธรรมว่า ความดีคืออะไร ความชั่วคืออะไร เป็นต้น ความดีมีจริงไหม หรือไม่มี นี่ก็ด้านหนึ่ง แต่เราจะพูดที่จริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของความประพฤติปฏิบัติ หรือหลักเกณฑ์ที่นำมาใช้ในชีวิตจริง ถ้าเป็นจริยศาสตร์ก็ยังเป็นองค์ความรู้อยู่ ตอนนี้เป็นจริยธรรม เรื่องที่นำมาใช้ในชีวิตและสังคม แต่เรื่องจริยธรรมมีปัญหาอย่างหนึ่ง คือเรารู้อยู่แล้วว่า คำว่า "จริยธรรม" เป็นคำใหม่ในสังคมไทย เกิดขึ้นประมาณสัก 30 กว่าปี เขาเรียกว่าเป็นศัพท์บัญญัติ เมื่อเป็นศัพท์บัญญัติก็คือว่า เดิมเขามีคำอยู่ในต่างประเทศ แล้วเราพยายามหาทางแปล หรือหาคำไทยไปใช้ เพื่อให้เหมือนคำนั้น ไม่ใช่คำของเราเอง หมายความว่า เราพยายามหาคำที่สื่อความหมายเดิมนั้นให้ดีที่สุด แม้จะได้คำนั้นแล้วก็ต้องเข้าใจความหมายตามคำเดิมด้วย คำว่า "จริยธรรม" เกิดขึ้นเพื่อที่จะใช้แทนคำว่า ethic เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจความหมายตามภาษาอังกฤษ "จริยธรรม" จึงหมายถึงจริยธรรมในความหมายของตะวันตก เพราะคำว่า ethic เป็นของตะวันตก
ตะวันตกเข้าใจจริยธรรมอย่างไร ก็มีประวัติยาวนาน เพราะว่าเรื่องการศึกษาจริยศาสตร์ เรื่องปรัชญามีมาแต่เก่าก่อน ก็สนใจ จริยธรรมเป็นปัญหาของมนุษย์ที่นักปรัชญาเอามาวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ เป็นเวลายาวนาน ต้องมีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมต่าง ๆ กันมากมาย พูดง่าย ๆ ก็คือ จริยศาสตร์ศึกษาเรื่องจริยธรรม ถ้าเรามองแนวคิดของตะวันตกแล้ว จะมีกระแสที่หนักไปในแง่ที่เราพอจะพูดเป็นลักษณะได้ 3-4 ข้อ คือไม่ได้หมายความว่าตะวันตกยอมรับแบบนี้ทั้งหมด แต่ว่ากระแสที่เป็นมาปัจจุบัน จนกระทั่งมีอิทธิพลกับสังคมตะวันตก หล่อหลอมสังคมตะวันตก
[0:03:07] จริยธรรมอันที่หนึ่งก็คือ ความหมายนั้น หนึ่ง ก็คือมองในแง่เป็นบัญญัติ บัญญัติหมายความว่าเป็นสิ่งที่จัดตั้งวางขึ้น ไม่ใช่เป็นของมีในธรรมชาติ บางคนเห็นว่า จริยศาสตร์มีในธรรมชาติเหมือนกัน แต่ตามกระแสใหญ่ที่ครอบงำสังคมตะวันตก จริยธรรมเป็นเรื่องที่บัญญัติขึ้น เดิมคือ บัญญัติของเทพเจ้า เป็นเทวโองการ เทวบัญชา พระผู้เป็นเจ้าเทพผู้เป็นใหญ่สั่งบังคับมาว่า ให้มนุษย์ประพฤติปฏิบัติแบบนี้ แล้วงดเว้นการประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น ถ้าไม่ทำตาม หรือละเมิด คือบอกว่าให้เว้นก็ไม่เว้น หรือบอกว่าอย่าทำก็ไปละเมิดทำเข้า บอกให้ทำก็ไม่ทำตาม ก็จะลงโทษ ถ้าปฏิบัติตาม ยอมรับ เชื่อฟังด้วยดี ก็โปรดปรานก็ให้รางวัล มีเรื่องการลงโทษและการให้รางวัล ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในทางจริยธรรม โดยเฉพาะแบบเทวโองการ เทวโองการมีมานาน สังคมตะวันตกอยู่ภายใต้ความเชื่อถือแบบนี้ การที่ได้รับผลดีผลร้ายขึ้นอยู่กับการโปรดปรานของเทพเจ้า คือการให้รางวัลและลงโทษ เพราะฉะนั้น ทั้งหมดขึ้นต่อเทพยิ่งใหญ่ ทั้งตัวบัญญัติจริยธรรม ทั้งการที่จะได้รับผล ตัวบัญญัติก็เป็นของเทพเจ้าวางไว้ การได้รับผลดีผลร้ายก็อยู่ที่เทพเจ้าเหมือนกัน ลงโทษและให้รางวัล สังคมตะวันตกอยู่ภายใต้ความเชื่อถือนี้ จริง ๆ ตะวันออกก็อยู่ภายใต้อำนาจนี้ไม่น้อยเหมือนกัน โดยเฉพาะสังคมยุคโบราณ ยุคบุพกาล เชื่อ ๆ กันมา
[0:05:30] ต่อมาวิทยาศาสตร์เจริญขึ้น นับแต่ศตวรรษที่ 17 เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญขึ้น โดยเฉพาะศตวรรษที่ 19 เรียกว่าเป็นยุค Scientism เลย คือเป็นยุคสมัยที่คนนิยมวิทยาศาสตร์ ที่เรียกว่าคลั่งวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ขึ้นมาเป็นความหวังและความใฝ่ฝันของมนุษย์ว่า เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมาแล้ว มนุษย์จะรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง รู้ธรรมชาติหมด แล้วสามารถจัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ แนวคิดนี้คือแนวคิดที่ว่า วิทยาศาสตร์จะทำให้เราชนะธรรมชาติได้ แล้วความจริงนั้นก็อยู่ในการที่รู้ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์คือความรู้เรื่องธรรมชาติ รู้จนกระทั่งว่าสามารถชนะธรรมชาติ จัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ เมื่อมนุษย์รู้แล้วก็จัดการกับธรรมชาติได้ตามชอบใจ ดังนั้น มนุษย์จะมีความเป็นอยู่ที่สุขสมบูรณ์ ที่มีปัญหาติดขัดก็เพราะมนุษย์ต้องมีชีวิตอยู่ใต้การครอบงำของธรรมชาติ จึงคิดว่าวิทยาศาสตร์จะให้ความหวังสูงสุด คิดว่าวิทยาศาตร์เจริญ มนุษย์จะมีชีวิตที่สุขสมบูรณ์ นี่ก็เรื่องหนึ่ง ทีนี้เพราะวิทยาศาสตร์นี้เรียนรู้ธรรมชาติ เข้าใจความจริง ให้รู้จักเหตุรู้จักผลต่าง ๆ เพราะฉะนั้น ความจริงเป็นเรื่องที่ต้องถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์เลยเป็นมาตรฐานวัดความจริง
สองเรื่องนี้ยิ่งใหญ่มาก หนึ่ง คือให้ความหวังแก่มนุษย์ว่า จะประสบความสุขที่สมบูรณ์ รวมทั้งอิสรภาพอะไรต่าง ๆ ทุกสิ่งที่ดีงามที่สุด แล้ว สอง ก็คือเป็นมาตรฐานวัดความจริง ศาสตร์ต่าง ๆ พยายามปรับตัวให้เป็นวิทยาศาสตร์ วิชาการต่าง ๆ อย่างด้านการปกครอง ด้านกฎหมายอะไรต่าง ๆ มีมาแต่โบราณแล้ว ตั้งแต่ เพลโต อริสโตเติล ก็มีมาแล้ว พอมาถึงยุคนี้มีปัญหาว่าเป็นวิชาการที่เชื่อถือได้ไหม ถ้าไม่ได้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ไม่ได้ คือว่าไม่ได้ใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่ใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ เชื่อถือไม่ได้ เขาเรียกว่าต้องมี Scientific Method เพราะฉะนั้น วิชาเก่า ๆ ก็พยายามที่จะทำตัวให้น่าเชื่อถือ เรียกว่าเอาวิทยาศาสตร์เป็นเกณฑ์วัดความจริง จะต้องให้ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มาศึกษา วิชาเหล่านี้มีการปรับตัว กลายเป็นวิชาที่เรียกว่าสังคมศาสตร์ ในระยะ 200 ปีที่แล้วมานี้ [0:08:44] คือสังคมศาสตร์ก็เกิดขึ้น ตอนหลัง ๆ มีการแยกวิชากันใหม่ 3 หมวดวิชา อย่างที่นิยมกันปัจจุบัน คือเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิชาสังคมศาสตร์ วิชามนุษยศาสตร์ แต่บางทีก็ให้เกียรติมนุษยศาสตร์เป็นวิชาที่มีมาแต่เดิม ก็เอาเป็นที่หนึ่งเป็นมนุษยศาสตร์ แต่ว่าวิทยาศาสตร์เป็นอันดับหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเป็นตัวให้ความหวัง ความใฝ่ฝันแก่มนุษย์ เป็นเกณฑ์วัดความจริงด้วย เพราะฉะนั้น อันดับหนึ่ง อันดับสองก็สังคมศาสตร์ เขาว่าเชื่อถือได้ตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ใช้วิทยาศาสตร์ เรียกได้ว่าเป็นวิทยาศาสตร์ คือ วิชาเหล่านี้อย่างสังคมวิทยาก็เกิดขึ้น รัฐศาสตร์ก็เกิดขึ้น ทั้งที่รัฐศาสตร์นั้นอย่าง เพลโต อริสโตเติล ว่ามาเยอะแล้ว แต่ไม่นับ คือไม่ถือว่าเป็นสังคมศาสตร์ ต้องมาเป็นสังคมศาสตร์ต่อเมื่อใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ เมื่อ 200 ปี
[0:10:12] ส่วนวิชาที่เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องมนุษย์ วัฒนธรรมมนุษย์อะไรต่าง ๆ ซึ่งไม่อาจจะใช้วิธีการวิทยาศาสตร์ได้ ก็เป็นพวกมนุษยศาสตร์ เมื่อวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมา แล้วสังคมศาสตร์ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์เลยตกต่ำไป ด้อยไป ระยะหลังเป็นปัญหามาจนกระทั่งปัจจุบัน มนุษยศาสตร์อย่างพวกปรัชญาก็พลอยอยู่ในนี้ด้วย อยู่ในมนุษยศาสตร์ ตกต่ำไปในเรื่องของมาตรฐานทางวิชาการของมนุษย์ปัจจุบัน หรืออารยธรรมปัจจุบัน เป็นอันว่า เรามีวิชา 3 หมวด ในพวกสังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ก็เด่นมาก ใช้วิธีการวิทยาศาสตร์มาก นี่เป็นเรื่องความเจริญของมนุษย์ที่โยงมาถึงเรื่องจริยธรรมด้วย
เรื่องของจริยธรรมเป็นเรื่องของเทวบัญชา [0:11:24] พอวิทยาศาสตร์เกิดขึ้น วิทยาศาสตร์ไม่เชื่อถือ ไม่ยอมรับ ตอนนั้นบางคนบอกว่าพระเจ้า dead แล้ว God is dead แล้ว วิทยาศาสตร์ทำให้คนมีทัศนคติไม่ดีต่อเรื่องศาสนาในแบบตะวันตกที่มีมาแต่เดิม ศาสนาก็ตกต่ำ จริยธรรมมากับศาสนาจึงพลอยตกต่ำไปด้วย เขาบอกว่ามีที่ไหนพระเจ้าจะมาบัญญัติเป็นเทวโองการอะไรต่าง ๆ ลงโทษ ให้รางวัล ไม่จริง ไม่เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ พอว่าไม่เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์แล้วก็ไม่มีจริงหรอก เทพเจ้าที่ไหนจะมาบัญญัติวางอะไรอย่างนี้ แล้วในสังคมมนุษย์ มนุษย์ยังจะต้องมีการปฏิบัติ ยังจะต้องอยู่ร่วมกัน ประพฤติปฏิบัติต่อกันให้ดี ไม่เบียดเบียนกันและกัน ต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือ ต้องมีหลักความประพฤติ แล้วจริยธรรม หลักความประพฤติเหล่านี้เป็นอะไร เขาก็มองว่าเป็นเพียงเรื่องของมนุษย์ บัญญัติกันขึ้นเอง จะไปยกให้พระเจ้าหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่ามนุษย์บัญญัติขึ้น ก็ตกลงกันสิ มนุษย์มีปัญญา อยู่ในสังคมก็เห็นว่า ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเกิดผลเสีย คนอื่นจะเดือดร้อน ตัวเองก็อยู่ไม่เป็นสุข สังคมไม่มีความร่มเย็นเป็นสุข ฉะนั้น ต้องวางข้อปฏิบัติ ข้อความประพฤติขึ้นมา มนุษย์นี่แหละตกลงกันวาง คือเป็นบัญญัติอีก แต่เปลี่ยนจากบัญญัติของเทพเจ้ามาเป็นบัญญัติของคนหรือของมนุษย์ ต่อมาสังคมฝรั่งยังอยู่ในสายความคิดเดิม คือเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องบัญญัติขึ้นมา สังคมนี้ว่าเรื่องนี้ดี ก็ว่าไป กลายเป็นความจริงในสังคมนี้ แต่ไปสำรวจศึกษากว้างออกไปจะเห็นว่า ทางโน้นเขาอาจจะบอกว่า ความประพฤติเดียวกันนี้ที่ทางสังคมนี้ว่าดี มันไม่ดี แล้วเขาก็ยึดถือกันว่าอย่างนั้น เรื่องหนึ่งสังคมนี้ว่าดี สังคมโน้นว่าไม่ดี สังคมโน้นว่าดี สังคมนี้กลับว่าไม่ดี นั่นคือเรื่องที่มนุษย์วางกันขึ้นเอง แล้วตกลงกัน ใช่ไหม อ้าว ก็เป็นบัญญัติอีก พอเป็นบัญญัติ เป็นเรื่องคุณค่าที่มนุษย์ตกลงว่าจะเอาอย่างไร ไม่ใช่เป็นความจริงแท้ทางวิทยาศาสตร์ ตกลงจริยธรรมเป็นเรื่องคุณค่า เรื่องคุณค่าไม่ใช่ของจริงแท้ เป็นเรื่องที่ศึกษาในพวกมนุษยศาสตร์ ฉะนั้น จริยธรรมก็ตกต่ำในสังคมตะวันตกตลอดมา เพราะไม่ใช่ของจริงอะไร
จริยธรรมอยู่ในสถานะลำบากมาจนถึงยุคปัจจุบัน การศึกษาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่ค่อยเอาใจใส่ จนมาถึงปัจจุบันเริ่มกลับตีตื้นแล้วพุ่งขึ้นสูงมาก เพราะอะไร ก็เพราะมนุษย์ประสบปัญหาจากอารยธรรม แล้วอารยธรรมมนุษย์ยุคปัจจุบันนี้ได้รับผลที่เรียกว่า ความเจริญจากวิทยาศาสตร์ รวมทั้งสิ่งที่พ่วงมาคือเทคโนโลยี แล้วพ่วงมาอีกด้านคืออุตสาหกรรม ความเจริญยุคปัจจุบันไม่ได้ทำให้บรรลุความใฝ่ฝันอันสูงสุดที่มนุษย์เคยหวังจากวิทยาศาสตร์ กลับเกิดโทษภัยมากมาย สังคมเดือดร้อนวุ่นวาย ขัดแย้งกัน เบียดเบียน แย่งชิง เอารัดเอาเปรียบ ข่มเหงกัน แก้ไม่ตก แล้วยังมีความชั่วร้ายระบาดในสังคม ปัญหายาเสพติด ปัญหาโสเภณี ปัญหาอะไรต่าง ๆ มากมาย ชีวิตคนไม่ได้ดีขึ้น พ่วงกันไปพันกันไปกับเรื่องของสังคมด้วย ว่าชีวิตคนมีปัญหาจากการอยู่ร่วมสังคมที่มีการแข่งขันเอารัดเอาเปรียบกันมาก คนมีความเครียดมาก ความเจริญทางอุตสาหกรรมกลับทำให้คนจิตใจไม่สบาย ความสัมพันธ์ไม่อบอุ่น จิตใจเครียด เป็นทุกข์ในใจตัวเอง ทุกข์มาก ๆ ในใจ การฆ่าตัวตายก็มาก
สังคมอเมริกันเจริญมาก คนฆ่าตัวตายมาก พอเจริญยิ่งขึ้น วัยรุ่น วัยหนุ่ม ฆ่าตัวตายมาก หนุ่มสาวฆ่าตัวตายมาก จนงงหมด อเมริกามีสถิติฆ่าตัวตายมากกว่าเม็กซิโก 7.4 เท่า ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศมั่งคั่งพรั่งพร้อม ส่วนเม็กซิโกเป็นประเทศยากจนข้นแค้น กำลังพัฒนา ประเทศอเมริกาคนเจริญมั่งคั่ง สะดวกสบายฆ่าตัวตายมาก แล้วร่างกายก็มีปัญหาสุขภาพ ถึงแม้อารยธรรมจะช่วยแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บไปได้มาก เช่น กรณีมีโรคระบาด เช่น อหิวาตกโรค กาฬโรค ฝีดาษ ไข้ทรพิษ แต่ว่าหลายอย่างก็กลับเกิดขึ้นใหม่ มีโรคที่เกิดจากอารยธรรม การดำเนินชีวิตที่ผิด ที่เรียกว่ามีไลฟ์สไตล์ที่ไม่ถูกต้อง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอะไรต่าง ๆ โรคที่เกิดจากความเครียด ยิ่งความเครียดนี่ทำให้เกิดโรคสารพัดเลย เท่ากับหมุนเวียนว่า แม้แต่ชีวิตด้านร่างกายก็ไม่ดี แล้วมาสุดท้ายคือปัญหาธรรมชาติแวดล้อม ทั้งสองอย่าง ปัญหาชีวิตทั้งกายใจ และปัญหาสังคมนั้น แม้จะรุนแรง มนุษย์ก็ยังพออยู่ได้ ยังหวังกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่พอปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเกิดขึ้นรุนแรง ตั้งแต่ปี 1972 เป็นปัญหาที่ทั่วโลกตื่นขึ้นมา มีการประชุมสุดยอด เรียกว่า ซัมมิต ครั้งแรกเมื่อปี 1972 นับมาถึงนี่ 24 ปี ตื่นตัวขึ้นมาว่าทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ มีมลภาวะสูง มนุษย์เอาของดีในธรรมชาติมาใช้สิ้นเปลือง แล้วระบายของเสียให้แก่โลก หมายความว่า ของดีที่มีอยู่ในโลกก็ผลาญให้หมดไป แล้วยังระบายของเสียให้แก่โลกอีก ทำทั้งสองประการ
โลกแย่ ธรรมชาติแวดล้อมจะพินาศ ถ้าพินาศแล้วมนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ ตอนนี้เป็นปัญหาสุดท้ายแล้ว อยู่ไม่ได้ เพราะสองข้อก่อนยังพอทนได้ มันจะแย่ก็อยู่กันไป ทีนี้ที่อยู่จะไม่มีแล้ว เลยตื่นตัวขึ้นมา โยงกลับไปว่า [0:18:39] โอ ที่มนุษย์มีปัญหาอย่างนี้นั้น ด้านหนึ่งเกิดจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจ อีกด้านหนึ่งเกิดจากคนที่มีความประพฤติไม่ถูกต้อง เขาเรียกว่าขาดการพัฒนา คือไม่มีจริยธรรมนั่นเอง เพราะฉะนั้น ก็เห็นพิษภัยของการพัฒนาทางเศรษฐกิจทางวัตถุที่มีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นผู้นำ โดยกระบวนการอุตสาหกรรม แล้วเห็นความสำคัญของจริยธรรม พอเห็นความสำคัญของจริยธรรม ก็มาฟื้นจริยธรรมมากันใหม่ เกิดการศึกษาจริยธรรมในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วไปหมด แม้แต่วงการธุรกิจก็มีวิชา Business Ethic ขึ้นมา แล้ววิชา Business Ethic หลักการสำคัญข้อหนึ่งคือ นักธุรกิจซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ในวงการเศรษฐกิจจะต้องช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น ในจริยธรรม ธุรกิจต้องหาทางว่า ทำอย่างไรจะดำเนินกิจการทางธุรกิจอุตสาหกรรมโดยไม่ไปทำลายสิ่งแวดล้อม ข้อนี้เป็นหลักใหญ่ข้อหนึ่ง เพราะฉะนั้น ก็เกิดจริยธรรมสิ่งแวดล้อมขึ้นมาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ จะเรียกว่าเป็นหลักใหญ่ของจริยธรรมธุรกิจด้วย จริยธรรมสิ่งแวดล้อมเป็นจริยธรรมใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ เป็น the Environment Ethic ขึ้นมาใหม่ แต่ว่าปัญหาที่ทางตะวันตกโยงไปเรื่องที่ว่าจริยธรรมตะวันตกไม่มีฐานที่มั่นคง เพราะคลอนแคลนมานาน พอจะรื้อฟื้นขึ้นมาก็เกิดปัญหาอีกว่า จะเอาจริยธรรมที่ไหนมาใช้ จริยธรรมเทวบัญชาก็ไม่มั่นคงแล้ว ถูกวิทยาศาสตร์ตีฟันคลอนไปหมด แล้วที่เหลืออยู่ก็เป็นเรื่องของบัญญัติในสังคมมนุษย์ว่ากันเอาเอง จะเอาอย่างไร ใช่ไหม
จริยธรรมในวงการการศึกษาก็ไม่มีตัวที่จะไปให้ชัดเจน นักการศึกษายังไม่มั่นใจ แล้วเถียงกันอยู่ มีนักการศึกษาใหม่ ๆ อย่างพวก Kohlberg อย่างนี้ มาสร้างแนวความคิดทางจริยธรรม เรื่องจริยธรรมไม่ใช่เป็นเรื่องของความประพฤติ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเหตุผล เรื่องของปัญญาด้วย อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ นี่ก็ว่ากันไป ก็มีปัญหา พวกหนึ่งจะไปเอาจริยธรรมของเดิมของศาสนามาใช้ ก็เกิดติดขัดหลายอย่าง พวกหนึ่งไม่เชื่อ เพราะถึงอย่างไรวิทยาศาสตร์ในแง่ความเป็นจริงก็ยังมีอิทธิพลมากอยู่ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือสังคมตะวันตกมีปัญหาขาดเอกภาพในเรื่องของการเชื่อถือทางศาสนา นิกายเดียวเถียงกันไม่รู้จักจบ แม้แต่เพียงว่าศาสนานิกายเดียวกัน อย่างอเมริกา ศาสนาคริสต์ด้วยกัน คาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ หรือโปรเตสแตนต์ด้วยกัน คนละนิกายตีความคำสอนไม่เหมือนกัน จะสอนในโรงเรียนก็เกิดปัญหา อาตมาเคยเล่าให้ฟังบ่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น หมู่บ้านหนึ่งหรืออำเภอหนึ่ง ชื่อฮอลแลนด์ ชื่อเหมือนประเทศฮอลแลนด์ อยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ อเมริกา เด็กนักเรียนไปโรงเรียน ทีนี้จะถึงวันสำคัญทางศาสนา ครูอธิบายความหมายเรื่องคริสต์มาส เรื่องอีสเตอร์ เด็กไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่มาเล่นงานโรงเรียนว่า ทำไมครูสอนอย่างนี้ ครูหวังดี แต่ไม่ทันนึก อธิบายตามที่ตัวเข้าใจ ในความคิดในนิกายของตัว แต่อีกนิกายเขาไม่ยอมรับครู ก็เล่นงานโรงเรียน นี่เป็นตัวอย่าง เพราะว่าตีความไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เขาไม่มีเอกภาพ การสอนศาสนาในโรงเรียนติดขัดอีก จะเอาเข้าไปก็ถึงกับต้องวางรัฐธรรมนูญไว้ ให้แยก church กับ state ออกจากกัน ไม่ให้สอนศาสนาในโรงเรียน แม้แต่สวดมนต์ก็ไม่ได้ เกิดปัญหากันอีก ขึ้นโรงขึ้นศาล จนกระทั่งศาลฎีกา มีกระแสความคิดพวกหนึ่งจะนำเข้าไปในโรงเรียนให้ได้ ตอนหนึ่งวิทยุออกมา อาตมาฟังพอดี กำลังเดินทางในอเมริกา วิทยุบอกว่าอเมริกาสมัยหนึ่งได้ kick God ออกจากประตูโรงเรียนไป ตอนนี้จะรับพระผู้เป็นเจ้าเข้าโรงเรียนใหม่ จะรับเข้าได้หรือเปล่า เป็นปัญหามาก ยุ่งอย่างยิ่งเลย เถียงกันไม่รู้จักจบ เดี๋ยวนี้ก็ยังลงตัวไม่ได้ เถียงกันมาก แต่ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่รอ ทีนี้พวกหนึ่งเอาแนวความคิดที่เป็นศาสตร์สมัยใหม่ อย่างนักการศึกษา อย่าง โคลเบิร์ก แต่อีกพวกยังค้านอยู่ ยังไม่มีทางลงตัว จะเอาจริยธรรมเข้าโรงเรียน ก็ยังไม่ตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร เพราะฉะนั้น สังคมมีปัญหามาก
แม้แต่สิ่งแวดล้อมก็มีปัญหาว่า จะเอาอย่างไร จะรักษาจริยธรรมสิ่งแวดล้อมในแนวคิดแบบไหน [0:24:25] พวกหนึ่งติเตียนแนวความคิดตะวันตกว่าผิดหมดอยู่แล้ว คือเป็นแนวความคิดที่จะพิชิตธรรมชาติ ตั้งแต่กรีก เพลโต อริสโตเติล เป็นหมด โสเครติส เป็นหมด มาจนกระทั่งสมัย เดส์การ์ต พวกมหากวีฟรานซิส เบคอน ไม่รู้ใครละ นักจิตวิทยา ซิกมันด์ ฟรอยด์ หรือใครก็ตาม ทุกคน ไม่ว่าฝ่ายทุนนิยมหรือฝ่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ เป็นแบบเดียวกันหมด มีแนวความคิดอยู่บนฐานอันเดียวกัน คือความคิดพิชิตธรรมชาติ ตะวันตกแยกเป็น 2 ค่ายก็จริง แต่ที่จริงนั้นอันเดียวกัน เป็นวัตถุนิยมทั้งคู่ ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยมหรือสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ที่แยกเป็นค่ายนั้นไปแยกกันในส่วนปลาย แต่โคนเดียวกัน เพราะฉะนั้น มีแนวความคิดเดียวคือจะพิชิตธรรมชาติ จึงไม่เอื้อกับการที่จะรักษาธรรมชาติได้ ทำให้มนุษย์แยกต่างหากจากธรรมชาติ ปัญหาก็หนัก จะทำอย่างไรดี เพราะว่ารากฐานจริยธรรมนี้ไม่ช่วย จะต้องสร้างแนวความคิดใหม่ ทีนี้เขาก็โจมตี พวกหนึ่งโจมตีแม้กระทั่งศาสนา บอกดูสิในคัมภีร์เจเนซิส บอกพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลกมา สร้างแล้วบอกว่าสร้างมนุษย์ เสร็จแล้วก็สร้างสิงสาราสัตว์ พืช บอกให้เป็นอาหารของเจ้า ให้มนุษย์มี dominion เหนือสิ่งเหล่านั้น dominion คือมีอำนาจครอบครอง ก็เกิดแตกเป็นสองพวก พวกหนึ่งบอกว่าที่ศาสนาสอนอย่างนั้น อย่าไปว่า ไม่ได้สอนอย่างนั้นหรอก พระผู้เป็นเจ้าไม่ได้หมายความว่าให้มนุษย์ไปครอบงำจัดการธรรมชาติได้ตามชอบใจ แต่หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นพระผู้เป็นเจ้าสร้างมา เป็นสมบัติของพระองค์ แล้วให้มนุษย์ดูแลไว้ให้พระองค์ แนวความคิดนี้เขาเรียกว่า Stewardship of the Earth หมายความว่าให้ถือว่ามนุษย์ดูแลต่างตา ต่างตัว ดูแลโลกหรือธรรมชาติแทนพระผู้เป็นเจ้า
ฝรั่งในเรื่องนี้แยกเป็น 2 พวก พวกหนึ่งว่าศาสนาคริสต์เหมือนกับแนวคิดในตะวันตกทั้งหมด ให้มนุษย์จัดการกับธรรมชาติตามชอบใจ อีกพวกหนึ่งแยกออกมาว่า ไม่ใช่หรอก ศาสนาคริสต์สอนให้มนุษย์ดูแลสมบัติของพระผู้เป็นเจ้าไว้แทนพระองค์ เพราะฉะนั้น ต้องดูแลให้ดี มนุษย์จะต้องรักษาธรรมชาติ แต่พวกนี้ก็ยอมรับว่า สถาบันศาสนาคริสต์และพวกนักเผยแพร่ตกอยู่ใต้อิทธิพลแนวคิดตะวันตกที่มีมาเก่า แล้วสอนผิดไป แนวคิดนี้ก็อย่าง อัล กอร์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ มีความเห็นอย่างนี้ ว่าพวกศาสนาคริสต์ตกอยู่ใต้อิทธิพลของความคิดตะวันตกเดิมที่มีมาก่อน แล้วสอนอย่างเดียวกันไปเลย ศาสนาคริสต์ที่มีอยู่ปัจจุบันก็พลอยสอนให้มนุษย์เอารัดเอาเปรียบเบียดเบียน ทำลายธรรมชาติไปด้วย แนวความคิดที่มีมาแต่เดิมที่ว่านี้คือ แนวคิดกรีกซึ่งมีมาแต่เก่า บางพวกติหมด แต่ อัล กอร์ ยังยกย่องอยู่คนหนึ่งคือ อริสโตเติล แต่ว่า เพลโต อริสโตเติล มีความเห็นเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน ตกลงก็ยังยุ่งอยู่ในตะวันตก เอาอะไรลงตัวไม่ได้ แต่ว่าตอนนี้แนวคิด Stewardship of the Earth กำลังได้รับความนิยม ว่ามนุษย์จะต้องเป็นผู้ดูแลธรรมชาติไว้ ดูแลไว้ให้พระผู้เป็นเจ้า หรือดูแลไว้ให้มนุษย์ยุคหลังก็ได้ ถ้าตีความทางวิทยาศาสตร์ก็หมายความว่า มนุษย์ดูแลธรรมชาติไว้ให้มนุษยชาติระยะยาว เป็นแนวคิดที่จะรักษาธรรมชาติ แต่รวมแล้วจริยธรรมตะวันตกยังไม่มีอะไรที่จะเอาไปลงตัวได้ ปัญหาเป็นตัวจริยธรรมเองที่จะใช้ด้วย
[0:28:40] ทีนี้เรามาดูลักษณะจริยธรรมตะวันตก หนึ่ง ก็เป็นบัญญัติ จะเป็นบัญญัติของเทพเจ้า หรือเป็นบัญญัติของมนุษย์ ก็แล้วแต่ สอง ที่สำคัญคือว่า ถ้ามองในสายตาของเรา เป็นจริยธรรมที่แยกต่างหากออกจากชีวิตของมนุษย์ คือแปลกแยกจากชีวิตมนุษย์ ต่อเนื่องจากข้อแรก เพราะว่าเป็นบัญญัติของสิ่งอื่น ของเทพเจ้า หรือของสังคมมนุษย์ก็ตาม ไม่ใช่เป็นของธรรมชาติ หมายความว่าจริยธรรมไม่มีโดยธรรมชาติ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องของชีวิตสิ ไม่เป็นเนื้อเป็นตัวของชีวิต แต่เป็นเรื่องที่มนุษย์เราจะต้องไปปฏิบัติตามของภายนอก เช่น เป็นบัญญัติของสังคม เป็นกติกา กฎเกณฑ์ของสังคม นี่ก็เกิดลักษณะที่ว่าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิต นี่เป็นจริยธรรมแบบแตกแยกจากชีวิตจริง ไม่ใช่ของธรรมชาติ อีกอย่างหนึ่งคือ มองด้วยสายตาของเราว่าแยกส่วน ซึ่งเป็นแนวคิดตะวันตกทั้งหมด พยายามที่จะแยกแยะทุกอย่างออกไป วิเคราะห์ออกไป แล้วเกิดเป็นความคิดแบบแยกส่วน ฝรั่งเรียกว่า reduction, reductive view หรือ reductionism ซึ่งทางวิชาการก็เป็น specialization เป็นความชำนาญพิเศษเฉพาะทาง จริยธรรมก็พลอยเป็นลักษณะอย่างนี้ด้วย คือเป็นเรื่องชำนาญพิเศษ ชำนาญพิเศษเรื่องการดำเนินชีวิตของมนุษย์ การอยู่ร่วมกันและความประพฤติ เรื่องนี้ต้องพูดต่อ คือจะต้องชัดขึ้นเมื่อมีการเปรียบเทียบ แต่รวมความในตอนนี้ก็คือแยกส่วนออกไป เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์ เป็นเรื่องพฤติกรรม พฤติกรรมภายนอก แสดงออกจากกาย วาจา ที่จะสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากว่าเน้นความสัมพันธ์กับสังคม ปัจจุบันเน้นเรื่องความสัมพันธ์กับธรรมชาติด้วย แต่ว่าเป็นพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องพฤติกรรม แยกส่วนจากชีวิต แม้จะเป็นของนอกชีวิต เสร็จแล้วก็เกี่ยวข้องกับชีวิต เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมนุษย์ แยกส่วนออกไป
[0:31:01] เมื่อแยกส่วนก็จะมีปัญหาตามมาอีกอย่างคือ เป็นจริยธรรมแบบจำใจ เพราะมนุษย์ไม่ชอบ ไม่ต้องการ ไม่สนองตอบความอยากของมนุษย์ เป็นกฎเกณฑ์บัญญัติ สังคมจะต้องเอาอย่างนั้น มนุษย์จะต้องยอมตาม จำใจจำยอม ฉันไม่อยากทำอย่างนั้นหรอก ฉันอยากจะได้อย่างโน้น แต่เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่วาง ฉันต้องยอมทำตาม ฉะนั้น จึงเป็นจริยธรรมแบบจำใจ หรือต้องประนีประนอม เช่นอย่างกับธรรมชาตินี้ ทำไมเราจะต้องมีจริยธรรมกับสิ่งแวดล้อม รักษาทรัพยากร เราต้องทำเพราะเกี่ยวกับผลประโยชน์ของมนุษย์ ถ้ามนุษย์ใช้ทรัพยากรมาก แล้วระบายมลภาวะมาก ธรรมชาติแวดล้อมเสีย ก็เป็นภัยต่อชีวิตมนุษย์ แล้วมนุษย์จะพินาศไปด้วย
เอาเป็นว่ามนุษย์จะตามใจตัวเองไม่ได้ เพราะเป็นภัยกับตัวเอง เพราะฉะนั้น มนุษย์จำเป็นจะต้องยอมประพฤติปฎิบัติ ยอมยับยั้งชั่งใจ ยอมควบคุมตนเอง ยอมอดความต้องการบางอย่าง ยอมจำใจ ระบบนี้เรียกว่าประนีประนอม ประนีประนอมกับธรรมชาติ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ด้วยกัน ต่างฝ่ายต่างต้องยอม เรียกว่าระบบประนีประนอม ธรรมชาติยอมเราอยู่แล้ว แต่เราต้องยอมธรรมชาติบ้าง ในเมื่อทั้งสองฝ่ายได้ด้วยกัน เราอยู่ได้ด้วยทรัพยากร แต่ถ้าเอาตามใจตนเองก็พินาศหมด จึงเป็นจริยธรรมแบบประนีประนอม ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของความจำใจ [0:32:42] จริยธรรมตะวันตกมีลักษณะอย่างที่ว่ามาทั้งหมด ก็เรียกว่า...ฝรั่งเขายังไม่เรียกนะ เขามีแต่คำว่าทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เขาจะเอาการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยจริยธรรมแบบนี้ เลยต้องเรียกจริยธรรมแบบเขา นี่คำอาตมาเอง เรียกว่าจริยธรรมที่ไม่ยั่งยืน เมื่อจริยธรรมไม่ยั่งยืนแล้ว จะเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างไร ใช่ไหม จึงเป็นปัญหาของอารยธรรม จะเป็นอารยธรรมที่ไม่ยั่งยืนไปด้วย ฉะนั้น บนฐานของจริยธรรมที่ไม่ยั่งยืน ต้องมีการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน นำไปสู่อารยธรรมที่ไม่ยั่งยืน ตะวันตกจะมาแก้การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนด้วยจริยธรรม แต่จริยธรรมนั้นไม่ยั่งยืน ตกลงไปไม่รอด
[0:33:35] จริยธรรมในมุมมองพุทธศาสนา
ทีนี้มามองในสายตาของเรา คำว่า "จริยธรรม" บอกแล้วว่าเป็นบัญญัติใหม่ แต่ที่จริงถ้าจะหาไปก็พอหาเค้าได้ คำว่า "จริยะ" เป็นคำในพุทธศาสนา แต่เรียก "จริยะ" เฉย ๆ แล้วมี "จริยะ" แปลว่าการดำเนินชีวิต จร แปลว่าการเดิน แล้วมาใช้กับชีวิต คือดำเนินชีวิต เดิน แผลงเป็น ดำเนิน เสด็จพระราชดำเนิน อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้าใช้กับชีวิตเป็นดำเนินชีวิต จริยะก็คือการดำเนินชีวิต การดำเนินชีวิตอย่างเป็นกลาง ๆ ถูกหรือผิดยังไม่รู้ ฉะนั้น ก็มีการดำเนินชีวิตที่ดีงามประเสริฐ ท่านเรียกว่า "พรหมจริยะ" เป็นการดำเนินชีวิตที่ประเสริฐ การดำเนินชีวิตที่ประเสริฐคือดำเนินชีวิตที่เรียกว่า มรรคมีองค์ 8 พระพุทธเจ้าตรัสว่า มรรคมีองค์ 8 นี้ เราเรียกว่าจริยะอันเป็นพรหฺม คือจริยะอันประเสริฐ หมายความว่าการดำเนินชีวิตตามทางวิถีนี้ มรรคคือวิถีทาง ทางเดิน เพราะฉะนั้น การดำเนินชีวิตตามทางเดียวกันนี้คือ มรรคมีองค์ 8 เรียกว่าจริยะอันประเสริฐ มีอะไรบ้าง ก็มี สัมมาทิฐิ เป็นต้น ถึงสัมมาสมาธิ แล้วพอย่อไป 8 ข้อ เหลือ 3 ใช่ไหม เหลือ 3 ก็มี ศีล สมาธิ ปัญญา
สรุปว่า จริยะอันประเสริฐ ในความคิดความหมายเดิมของพุทธศาสนาที่มีอยู่แล้ว มี 3 ส่วน คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มนุษย์จะมีชีวิตที่ดีงามได้จะต้องฝึกฝนพัฒนาตนเอง มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก แต่ว่าฝึกได้ ชีวิตมนุษย์ที่ดำเนินอยู่ได้ดีต้องอาศัยการฝึก ชีวิตที่ดีของมนุษย์ไม่ได้มาเปล่า ๆ ต้องได้ด้วยการฝึกคือการศึกษา ฉะนั้น ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีการศึกษา เราพูดได้เลยว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีการศึกษา ชีวิตที่ดีคือจริยะอันประเสริฐหรือมรรค ชีวิตที่ดีต้องได้มาด้วยการศึกษา คือ สิกขา ชีวิตที่ดี หรือมรรค หรือพรหมจริยะ ได้มาด้วยสิกขา คือการศึกษา ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีการศึกษา การศึกษากับจริยะอันประเสริฐ หรือมรรค จึงเป็นคำที่แทบจะเป็นอันเดียวกัน เมื่อเรามีการศึกษา ฝึกฝนพัฒนาตัวก็มีชีวิตที่ดี ใช่ไหม ฉะนั้น สิกขาทำให้มีมรรค หรือทำให้มีพรหมจริยะ พรหมจริยะหรือมรรค จะไปได้ด้วยสิกขา
ฉะนั้น เมื่อเรามาดูสิกขา การศึกษาในทางพุทธศาสนาเรียกว่า ไตรสิกขา สิกขา 3 ส่วน มีศีล สมาธิ ปัญญา ตกลงมรรคย่อกับศีล สมาธิ ปัญญา สิกขา การศึกษาย่อก็มีศีล สมาธิ ปัญญา อันเดียวกัน ก็คือชีวิตที่ดีมีได้ด้วยการศึกษา ชีวิตที่ดีฝึกได้ด้วยการศึกษา ฝึกอะไร ก็ฝึกศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเกิดเป็นชีวิตที่มีศีล สมาธิ ปัญญา อันเดียวกัน สิกขากับมรรคจึงย่อมาแล้วตรงกัน เป็นศีล สมาธิ ปัญญา เป็นชีวิตที่ดีได้ด้วยสิกขา เมื่อมีสิกขาก็มีชีวิตที่ดี แต่ว่ามี 3 ส่วน มีศีล สมาธิ ปัญญา เราไปดูว่า ethic ของฝรั่ง ethic เป็นเรื่องพฤติกรรม เราแปลว่าจริยธรรม ทำให้เกิดความสับสนขึ้น ถ้าไปดูในวงการพุทธศาสนา ในทางวิชาการ ประเทศอื่นที่เขาไม่เคยเข้ามารู้เรื่องของประเทศไทย พวกนักศึกษาพุทธศาสนาต่างประเทศแปล ethic ว่าอย่างไร เขาแปลว่า ศีล จบเลย ตกลงว่า ethic ก็คือศีล ใช่ไหม ชัดเจนมาก คนที่เรียนพระพุทธศาสนาโดยไม่เคยเข้ามายุ่งกับประเทศไทย ไม่รู้ภูมิหลัง ไม่รู้เรื่องของเราด้วย เขาแปล ethic ว่าศีล ตกลงจริยธรรมของฝรั่งก็คือ ศีล เพราะว่าด้วยเรื่องพฤติกรรม แต่ทีนี้ว่าจริยะ ที่เป็น พรหฺม ในพุทธศาสนานั้น หมายถึงศีล สมาธิ ปัญญา ตอนนี้ชักยุ่งแล้ว ความหมายทางพระพุทธศาสนาตั้ง 3 ด้าน อันนี้คืออะไร ก็คือชีวิตมนุษย์นั่นเอง ชีวิตมนุษย์จะแยกจากกันเป็นส่วน ๆ ไม่ได้ ชีวิตเป็นองค์รวม เป็นระบบความสัมพันธ์ของด้านต่าง ๆ ของการดำเนินชีวิต
คนเรามีการดำเนินชีวิตที่แยกเป็นด้านต่าง ๆ ทางพุทธศาสนาแยกเป็น 3 ด้าน
[0:38:31] หนึ่ง ด้านพฤติกรรม การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทางสังคมก็ตาม ทางวัตถุก็ตาม การอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อม ทางสังคมกับเพื่อนมนุษย์ การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม อาหารการกิน ที่อยู่อาศัย ปัจจัย 4 ตลอดจนธรรมชาติแวดล้อม นี่ก็ด้านสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ มนุษย์ต้องมีความสัมพันธ์นี้ รวมทั้งหมดเป็นเรื่องศีลทั้งนั้น ศีลเป็นเรื่องที่กว้าง พฤติกรรมทางกาย วาจา แสดงออก แต่ว่าพฤติกรรมนั้นไม่สามารถแยกจากจิตใจได้ คนเราจะมีพฤติกรรมอย่างไร ต้องมาจากเจตจำนงในใจ ต้องมีความคิด ตั้งใจ ต้องมีแรงจูงใจ แรงจูงใจอะไร แรงจูงใจหาผลประโยชน์ แรงจูงใจจะกลั่นแกล้งหรือเกลียดชัง ต้องการทำร้ายผู้อื่น อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แล้วก็ต้องมีเรื่องความสุขความทุกข์ ถ้าหากว่าเขาพอใจ เขาเกิดความสุขอย่างนี้ จะทำอย่างนี้ ถ้าจะทำอีกอย่าง เขาไม่สุข เขาไม่พอใจ เขาไม่อยากทำ ถ้าต้องทำก็บังคับฝืนใจ ก็มาจากอิทธิพลภายนอก เพราะฉะนั้น ทางด้านจิตใจสำคัญมาก ตอนแรกเราต้องปฏิบัติตามกติกาสังคม เพราะเป็นเหตุผลว่าช่วยรักษาสังคมไว้ เสร็จแล้วจิตใจเราไม่พร้อม เราไม่เต็มใจ เราไม่พอใจ ก็ทุกข์ใช่ไหม ถ้าทุกข์แล้ว จริยธรรมไม่ยั่งยืน เพราะว่ามันอยากจะฝืน ละเมิดอยู่เรื่อย ๆ อย่างเราบอกว่า ไปทำร้ายเขาไม่ได้ แต่ใจเราโกรธอยู่ตลอดเวลา โกรธใจก็ฮึ่ม ๆ อยู่ ใช่ไหม จะคิดทำร้ายเขา ทำไม่ได้ เพราะกลัวการลงโทษ เป็นต้น เกิดอะไรขึ้น จริยธรรมสั่นคลอนแล้ว ไม่มั่นคง ใจคนนั้นอาจจะละเมิดเมื่อไหร่ก็ได้
สอง ใจเขาเป็นทุกข์ด้วย ถ้าทำให้จิตใจเขาเกิดความสุข เกิดความรัก พอเขารัก เขาเปลี่ยนเลย พฤติกรรมเป็นไปเอง เขาจะไม่เบียดเบียนเองเลย แล้วกลับไปช่วยเหลือด้วย นอกจากนั้น จิตใจเขาเป็นสุขด้วย สุขที่จะช่วยและจะไม่เบียดเบียน ใช่ไหม ได้ทั้งพฤติกรรม และด้านจิตใจ แล้วพฤติกรรมก็มั่นคง
ด้านปัญญาก็เช่นเดียวกัน ด้านปัญญาก็ว่า เราเห็นคนนี้ลักษณะท่าทางไม่น่าพอใจ เราโกรธ เราไม่พอใจ ใช่ไหม เราอยากมีพฤติกรรมที่ไม่ดี ต่อมามีคนชี้แจง เราได้ศึกษารู้ว่าคนนี้มีภูมิหลังอะไร มีปัญหาส่วนตัวถูกกดดันอะไรต่าง ๆ เราเกิดเห็นใจเขาด้วยปัญญาที่รู้ขึ้นมา พอเกิดเห็นใจ จิตใจเปลี่ยน แรงจูงใจเปลี่ยน ไม่อยากทำร้ายเขาแล้ว อยากจะช่วยเหลือเกื้อกูล ใช่ไหม พฤติกรรมก็เปลี่ยน
เพราะฉะนั้นพฤติกรรม จิตใจ ปัญญา สัมพันธ์กันหมด แยกกันไม่ได้
...
คือ 3 ด้านนี้เป็นด้านต่าง ๆ ของชีวิตที่สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ในระบบชีวิตที่เป็นองค์รวม แยกกันไม่ได้ ต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน พฤติกรรมต้องอาศัยจิตใจและปัญญา จิตใจก็ต้องเกี่ยวกับพฤติกรรม พฤติกรรมใดเคยชินแล้ว จิตใจจะยึดติด พอใจอย่างนั้น แล้วจิตใจก็หนุนปัญญา ถ้าหากว่าจิตใจของเราไม่มีความสุข ฟุ้งซ่านงุ่นง่านอยู่ ความคิดก็ไม่เดิน ถ้าจิตใจของเราสงบ มีสมาธิ มีความขยันหมั่นเพียรที่จะคิด แม้ในความเพียรพยายามที่จะคิด ใจสู้ สู้ปัญหา พยายามคิด ก็ทำให้เกิดปัญญา แล้วทำให้เรามีพฤติกรรมที่ออกไปหาข้อมูล เป็นต้น ข้อมูลและจิตใจนั้นก็เกื้อต่อการได้ปัญญาด้วย ฉะนั้น ปัญญาก็ไม่แยกกับพฤติกรรมและจิตใจ
ปัญญาทำให้เรามีพฤติกรรมที่ถูกต้อง แล้วเป็นไปด้วยจิตใจที่พร้อม มีความสุข แล้วต้องพัฒนาไปด้วยกัน เมื่อยิ่งพัฒนาพฤติกรรมไป ตอนแรกต้องจำใจ พอพัฒนาจิตใจขึ้น พฤติกรรมนั้นกลับมีความพร้อมและเต็มใจยิ่งขึ้น พอมีปัญญาเห็นเข้าใจชีวิตยิ่งขึ้น เข้าใจสังคม เข้าใจเหตุผล รู้คุณค่ายิ่งขึ้น ยิ่งมีพฤติกรรมถูกต้อง แล้วเต็มใจ ยิ่งมั่นคงใหญ่ เพราะฉะนั้น แยกกันไม่ได้ พุทธศาสนาจึงวางเป็นระบบศีล สมาธิ ปัญญา ต้องไปด้วยกัน
จริยธรรมตะวันตกมาแยกเอาศีล ความประพฤติออกไปจากระบบชีวิตเลย จึงต้องหยุดแค่ความจำใจเรื่อยไปไม่รู้จักจบ เพราะไม่พัฒนาจิตใจและปัญญา จะเห็นได้ว่าในสังคมไทยเรา เมื่อนำคำนี้มาใช้นาน ๆ เข้า ต่อมาเรามองว่าจริยธรรมไม่พอแล้ว ต้องเอาทางด้านคุณธรรมด้วย คุณธรรมก็หมายถึงคุณภาพในทางจิตใจ ตอนหลัง ๆ การประชุมเกี่ยวกับจริยธรรมมักจะมีพ่วงว่า การประชุมพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม ใช่ไหม ตอนนี้คือกระแสแนวความคิดที่ถือว่าจริยธรรมไม่พอ ต้องคุณธรรม และจิตใจด้วย พฤติกรรมไม่พอ นี่แหละเป็นปัญหา ถ้าอย่างนี้แล้วไม่รู้จักจบ ถ้าเราไม่รีบพูดกันให้ครบ เพราะที่จริง แค่คุณธรรมก็ไม่พออีก คุณธรรมจะไปพออะไรได้ด้านเดียว จิตใจไม่ได้มีแค่คุณธรรม จิตใจยังมีอื่นอีก โดยเฉพาะเรื่องความสุข ความสุขเป็นหลักสำคัญเป็นปัจจัยสำคัญของจริยธรรม ถ้าพฤติกรรมไม่ได้เป็นไปด้วยความสุขความพอใจก็ไม่มั่นคง เพราะฉะนั้น พุทธศาสนาจะเน้นเรื่องความสุข จะเห็นว่าสมาธิ แม้แต่สมาธิ มีสุขเป็นบรรทัดฐาน เป็นเหตุใกล้ที่จะทำให้เกิดสมาธิ ถ้าหากว่าไม่มีสมาธิ สุขเกิดได้ยาก คนมีทุกข์จิตใจกระวนกระวายเดือดร้อน สุขเป็นบรรทัดฐานของสมาธิ ถ้าได้สมาธิยิ่งสุขใหญ่
ฉะนั้น ต้องไปด้วยกัน เรื่องของระบบจริยธรรมเป็นระบบองค์รวม ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องไปด้วยกัน เวลานี้ เราบอกว่าจริยธรรมไม่พอ จะเอาคุณธรรมและจิตใจ แต่ต่อไปจะรู้ว่าคุณธรรมก็ไม่พอ จะต้องเอาความสุขอีก ต่อไปจะรู้ว่าความสุขก็ไม่พออีก ต้องปัญญาด้วยอีก แล้วจะไปกันถึงไหนเมื่อไหร่ จึงจะรู้ถึงขั้นนี้ ฉะนั้น ต้องรีบรู้เลย คือต้องรู้ว่า "จริยะ" คือการดำเนินชีวิตของมนุษย์เป็นองค์รวม มีด้านต่าง ๆ 3 ด้าน พฤติกรรม จิตใจและปัญญา ที่ต้องเป็นปัจจัยสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน หนุนซึ่งกันและกัน พัฒนาไปด้วยกัน เป็นระบบองค์รวม แล้วจะช่วยให้แต่ละอย่างดีขึ้นไปด้วยกัน จนกระทั่งบรรลุจุดหมาย เป็นจริยธรรมในแนวคิดของพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าชีวิตเป็นองค์รวม อย่างที่ว่าแล้วว่าเป็นเรื่องของชีวิต จริยธรรมแบบนี้เป็นเนื้อตัวของชีวิต อยู่ในชีวิต เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องธรรมชาติ เช่น อย่างเราเกิดเมตตาขึ้นมาก่อนจะออกเป็นพฤติกรรม เมตตาเกิดขึ้นเป็นกุศล มีผลต่อชีวิตทันที เป็นธรรมชาติ พอเมตตาเกิดขึ้น จิตใจสบาย ถ้าเกิดโกรธก็เดือดร้อนทันที งุ่นง่าน แล้วผลออกมาทางร่างกายทันที พอเมตตา จิตใจชุ่มฉ่ำ เลือดลมเดินดี ร่างกายก็ดี ผ่องใส ร่างกายไม่เผาผลาญมาก แก่ช้า แต่ถ้าโกรธมาก จิตใจงุ่นง่าน ร่างกายต้องเผาผลาญมาก ออกมาทางร่างกาย หายใจเร็ว ลมหายใจต้องแรงเพื่อเอาออกซิเจนไปเผาผลาญมาก อย่างนี้เป็นต้น แล้วก็แก่ไว เป็นต้น อะไรอย่างนี้ ออกมาทางด้านจิตใจ ออกมาทางด้านกาย ออกมาทางด้านพฤติกรรม เดือดร้อนแก่สังคมอะไรต่าง ๆ เหล่านี้หมด เป็นระบบ เป็นปัจจัยโยงกันไป
[0:46:47] เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องต่างหากจากธรรมชาติ เพราะจริยธรรมก็เป็น หนึ่ง ไม่ใช่เป็นบัญญัติ บัญญัตินั้นอีกระดับหนึ่ง เป็นความฉลาดของสังคมมนุษย์ที่เอาเรื่องความดีความชั่วมาตั้งเป็นกฎเกณฑ์ในสังคมอีกชั้นหนึ่ง ต้องแยกให้ถูก นั่นเรียกว่าบัญญัติธรรม จริยธรรมที่แท้เป็นธรรมชาติอยู่ในชีวิต เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา เป็นข้อหนึ่งไม่ใช่บัญญัติ บัญญัติเป็นอีกชั้นหนึ่ง มนุษย์ฉลาดแล้วก็ทำขึ้น เป็นเรื่องของอารยธรรม แล้วข้อสองก็เป็นระบบองค์รวม แล้วก็ต้องไม่ใช่จำใจ ต้องพัฒนาให้คนเจริญไปในระบบนี้ จนกระทั่งให้เป็นไปเอง เป็นจริยธรรมแบบเต็มใจ เป็นจริยธรรมแห่งความสุข เรื่องจริยธรรมก็เป็นไปอย่างที่ว่ามานี้
[0:47:40] ภาวะผู้นำ: การเป็นผู้นำในแง่จริยธรรม
อาตมาพูดเรื่องจริยธรรมมากแล้ว มาเข้าเรื่องภาวะผู้นำ แต่ว่าเรามองเรื่องของการเป็นผู้นำในแง่จริยธรรม บนฐานความคิดที่เราได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ฉะนั้น เรื่องของภาวะผู้นำนี้ ผู้นำมีความหมายอย่างไร เป็นผู้นำ บุคคลที่ไม่ได้เรียนรู้ทางวิชาการก็อาจจะมองว่า โอ เป็นผู้ยิ่งใหญ่ หรืออาจจะเป็นผู้มีอำนาจอะไรอย่างนี้ เป็นผู้กำหนดชะตากรรมคนอื่น อะไรต่าง ๆ เป็นผู้ชี้ให้เห็นอะไรต่าง ๆ ชี้โชคชะตาของคนในสังคมเลย มองอย่างนี้ก็คือว่าไม่ถูก ความเป็นผู้นำที่แท้นั้น ประการหนึ่งก็คือว่า การที่นำนี่ไม่ได้ทั้งไปชี้ ไปกำหนดโชคชะตาคนอื่น ไปใช้อำนาจ แล้วทั้งไม่ใช่ไปทำให้เขาด้วย ไม่ไปทำแทนให้เขา หรือไปบันดาลให้ ดลบันดาลให้มีอะไรอย่างนี้ แต่ว่าเป็นผู้ที่นำให้เขาทำ พาเขาทำ ช่วยให้เขาทำให้เป็นด้วย ช่วยให้คนอื่นทำให้เป็น แล้วก็ไม่เฉพาะคนเดียว คือว่าให้เขาช่วยกันทำ ให้เขาช่วยกันทำจนกระทั่งสำเร็จ นำเขาไปสู่ความสำเร็จ การที่จะนำเขาไปสู่ความสำเร็จ ตัวเองต้องเป็นผู้เริ่มด้วยนะ การเป็นผู้นำคือนำการทำด้วย ตัวเองทำนำเขาเลย ไม่ใช่ไปเที่ยวชี้ให้เขาทำ แล้วตัวเองไม่ทำ ฉะนั้น นี่ก็เป็นความหมายหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า นำเขาไปสู่ประโยชน์สุขหรือจุดหมายที่ดีงามแก่เขา ไม่ใช่นำเขาไปเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง ข้อนี้ก็สำคัญ หมายความว่าที่เรานำเขาทำอะไรต่าง ๆ ก็เพื่อประโยชน์แก่เขานะ ไม่ใช่นำเพื่อประโยชน์แก่เรา คือนำเขา นำชีวิตของเขา นำสังคมของเขา ไปสู่ประโยชน์สุข แล้วในกระบวนการนี้ก็ทำให้เขาได้พัฒนาด้วย ซึ่งถ้าโยงมาในหลักพุทธศาสนาถือว่าชีวิตของมนุษย์อยู่ได้ด้วยการฝึกฝน ด้วยการเรียนรู้ ฝึกหัด พัฒนา เพราะฉะนั้น การเป็นผู้นำ ความหมายอย่างหนึ่งก็คือ นำเขาในการพัฒนาตัวเขาเองด้วย ซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษา เป็นธรรมชาติของมนุษย์เลย แต่ผลที่ออกมาก็คือ เรานำเขาเพื่อประโยชน์แห่งเขา แล้วนำเขาคือช่วยให้เขาทำให้เป็น แล้วช่วยกันทำจนกระทั่งสำเร็จ โดยเราเป็นผู้เริ่มที่จะทำ นี่ก็เป็นความเข้าใจบางอย่างเบื้องต้นที่ควรจะทราบ
[0:50:58] ลักษณะสำคัญ ๒ ประการของผู้นำ
เพื่อให้เกิดอาการอย่างนี้ได้ ผู้นำจะต้องมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ คือว่า
[0:51:07] ประการแรก เราอาจจะเรียกว่า ศรัทธา หนึ่งก็คือ เขายอมรับ เขาเชื่อ เขาเชื่อถือตัวผู้นำนี้ ยอมรับนับถือ เช่น เชื่อสติปัญญาความสามารถ มีปัญญารู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรจะเป็นประโยชน์ มีความสามารถจะนำเขาไปสู่จุดหมายได้ เขามีความเชื่อ แล้วอยากตาม ไม่ใช่เป็นผู้นำที่ไปสั่งให้เขาตาม คือเป็นผู้นำที่เขาอยากให้นำเขา หรือเขาอยากจะตาม หรือกลายเป็นผู้นำไปเอง หรือว่าเขาอยากตามเราเลยกลายเป็นผู้นำไปเอง เพราะว่าตัวมีคุณสมบัติที่จะทำให้เขาได้รับผลที่ต้องการ เพราะฉะนั้น จะออกผลมาคือ ศรัทธา นั่นเอง ศรัทธาซึ่งรวมทั้งความอยากด้วย อยากตาม ทีนี้นอกจากว่าจะเป็นศรัทธาที่โยงมาหาตัวผู้นำ คือยอมรับ เชื่อถือ อยากทำตามแล้ว ตัวเขาก็จะเกิดความมั่นใจในศักยภาพของตัวเขา ที่จะทำได้ด้วย นี่คือผู้นำที่สำคัญ ไม่ใช่ว่าจะให้เขามาเชื่อเราเท่านั้น แต่ทำให้เขามั่นใจในตัวเขาว่าเขาจะทำได้ เพราะในกระบวนการที่จะนำไปสู่จุดหมายนี้ ผู้นำจะต้องให้เขาร่วมลงมือทำด้วย เขาจะเกิดความมั่นใจในศักยภาพของเขา ฉะนั้น ศรัทธาเกิดใน 2 ลักษณะ คือเกิดในความสัมพันธ์โยงกันระหว่างตัวเขากับผู้นำ แล้วก็ในตัวเขาเอง ซึ่งโยงไปหาจุดหมายที่ต้องการ เพราะเขาสามารถจะทำได้ มีศักยภาพอยู่ ศรัทธา 2 ด้าน
[0:53:08] อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อผู้นำจะให้เขาทำ นำเขาทำ ผู้นำจะมีลักษณะสำคัญคือเป็นผู้ประสานความร่วมมือ เก่งในการประสานความร่วมมือ หนึ่ง ทำให้เขาอยากร่วมมือ หรือพร้อมที่จะร่วมมือกับตัวผู้นำเอง คือเราจะทำ เขาก็อยากจะมาช่วยมาทำด้วย มาร่วมมือด้วย พอบอกอะไร เขาอยากจะทำขึ้นมาเลย ไม่ต้องไปบังคับ อย่างนี้เลยได้ความ แล้วอีกอย่างหนึ่งไม่ใช่เฉพาะมาร่วมมือกับผู้นำ ร่วมมือกันเองในหมู่เขาด้วย ผู้นำไปประสานความร่วมมือทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความสมัครสมานสามัคคี ความพร้อมเพรียง สิ่งสำคัญก็คือผู้นำจะต้องสามารถทำให้เขาพร้อมเพรียง อยู่ร่วมกันได้ดีด้วย แล้วประสานความร่วมมือทั้งผู้นำและทั้งในหมู่พวกเขาเองด้วย ศรัทธาก็ 2 ด้าน ประสานความร่วมมือก็ 2 ด้าน นี่เป็นลักษณะเด่นที่จะทำให้การนำนี้เกิดความสำเร็จ
[0:54:19] ผู้นำในสังคมประชาธิปไตย
ยิ่งในสังคมประชาธิปไตยด้วย เรื่องนี้จะสำคัญมาก เวลานี้เราปกครองด้วยประชาธิปไตย ความเป็นผู้นำไม่ได้ไปชี้ไปกำหนด ไปสั่ง แต่ทำอย่างไรผู้นำจะทำให้เขาพร้อมที่จะร่วมมือ แล้วร่วมมือกัน ซึ่งยากมาก วัดความเป็นผู้นำได้เลย หนึ่ง เขาศรัทธาไหม พร้อมที่จะตาม อยากตาม หรืออยากให้มานำเขาไหม เขาเกิดความเชื่อมั่นในตัวเขาที่จะทำได้ไหม เขาพร้อมที่จะร่วมมือกับผู้นำไหม คอยฟัง อยากจะรู้ว่าผู้นำจะทำอะไร ฉันจะทำด้วย เขาพร้อมที่จะร่วมมือกันด้วย โดยผู้นำประสานความร่วมมือนั้น ในสังคมประชาธิปไตยต้องเป็นนักประสานความร่วมมือ ระบบราชการต่อไประยะยาวก็เป็นเพียงตัวประสานความร่วมมือนี้เท่านั้น แต่ว่ามันมาติดจากระบบเก่า ทำให้รู้สึกเหมือนว่าเป็นผู้กำหนดว่าจะเอาอย่างไร ๆ ใช่ไหม แต่มาประสานความต้องการ ประสานจุดหมายอะไรต่าง ๆ ก็ทำหน้าที่นี้ไป ผู้นำจะประสานหมด
[0:55:32] พระพุทธเจ้าเป็นผู้นำตัวอย่าง
เรามาดูว่าความเป็นผู้นำ ตัวอย่างคือพระพุทธเจ้า เพราะทรงเป็นผู้นำ พระพุทธเจ้าเป็นผู้นำ เพราะเราเรียกท่านว่า นายะโก นายก คำว่า "นายก" เป็นคำที่เรียกพระพุทธเจ้ามาแต่เก่า แล้วเราเอามาใช้เรียกผู้นำของเราว่านายก พระพุทธเจ้าเรียก นายะโก นายกเฉย ๆ โลกะนายะโก ก็เรียก โลกะนายะโก ก็คือผู้นำโลก คำว่าโลกก็คือสังคม สมัยก่อนเก่านี้ สมัยพุทธกาล คำว่า "สังคม" เราไม่ได้ใช้ในความหมายปัจจุบัน เพราะฉะนั้น สังคมก็ใช้คำว่าโลกนั่นเอง ในอินเดียยังใช้อยู่เลย คำว่า "โลก" หมายถึง สังคม โลกะนายะโก ก็คือผู้นำของสังคม หรือผู้นำของโลก พระพุทธเจ้าก็เป็น แล้วความเป็นนายกก็ออกมาเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นที่เตือนใจ ระลึก พอเป็นที่พึ่งก็คือเตือนใจระลึก เตือนใจระลึกอะไร มาดูสิว่าความเป็นผู้นำของพระพุทธเจ้ามีตั้งแต่การที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วเกิดความหมายอะไรขึ้นมา
การระลึกถึงพระพุทธเจ้าจะมีความหมาย 4 ประการ
หนึ่ง คือเมื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้า เราจะใช้คำว่า "ศรัทธา" ศรัทธานั้นมั่นใจในความเป็นมนุษย์และศักยภาพของมนุษย์ พอระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ชีวิตที่ดีจะดีได้ด้วยสิกขาหรือการเรียนรู้ฝึกหัดพัฒนา ธรรมชาติมนุษย์พื้นฐานที่เป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาคือ หลักการพุทธศาสนาตั้งอยู่บนฐานความเชื่อนี้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ จะประเสริฐด้วยการฝึก เมื่อฝึกแล้ว มนุษย์พัฒนาดีแล้ว ฝึกตนแล้ว ประเสริฐสุด แม้แต่เทพพรหมต้องนมัสการ ไม่ใช่ต้องนมัสการ จะยินดีนมัสการ เราไม่บังคับใคร หมายความว่า แม้แต่เทพพรหมก็มากราบมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว มนุษย์มีพระพุทธเจ้าซึ่งทรงพัฒนาพระองค์ไปจนกระทั่งเป็นบุคคลที่เป็นอุดมคติสูงสุด ดีเลิศประเสริฐพรั่งพร้อมด้วยปัญญา พรั่งพร้อมด้วยพระคุณกรุณา พรั่งพร้อมด้วยความบริสุทธิ์ หลุดพ้น มีความสุขทุกประการ เป็นมนุษย์แบบอย่างเลย ทีนี้พอเราระลึกถึงพระพุทธเจ้า โอ้ มนุษย์ฝึกได้ จริง ๆ มีตัวอย่าง มีพระพุทธเจ้าเป็นตัวแบบไว้ให้แล้ว ก็เกิดความมั่นใจในความเป็นมนุษย์ของตนเองว่า เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ที่พระพุทธเจ้า มนุษย์นี่แหละ ฝึกตนแล้วเป็นได้ถึงขนาดนี้ เราก็เป็นมนุษย์ เราก็ฝึกตนเองได้ เพราะฉะนั้น พอระลึกถึงพระพุทธเจ้า ความเป็นผู้นำของพระองค์ทำให้เราเกิดความมั่นใจในศักยภาพความเป็นมนุษย์ เอาละ เราก็เกิดกำลัง เกิดความพร้อมที่จะฝึก ที่จะศึกษา ฝึกฝน พัฒนา
สอง เกิดความสำนึกในหน้าที่ของมนุษย์ ไม่ใช่เฉพาะว่าศรัทธา มั่นใจในศักยภาพ แต่หน้าที่ของมนุษย์คือ เธอต้องฝึกตัว ฉะนั้น เราต้องฝึกตัวเอง ต้องทำหน้าที่ ต่อไปนี้ก็คือถึงภาคปฏิบัติ ตอนแรกเกิดความเชื่อ มั่นใจ ทีนี้สู่ภาคปฏิบัติ สำนึกในหน้าที่ที่ต้องทำ ต้องฝึกตน ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกหัดพัฒนา
สาม พอจะทำเข้าจริงก็ชักอ่อนใจแล้ว มันยาก พอระลึกถึงพระพุทธเจ้า เกิดกำลังใจ โอ้ พระพุทธเจ้า ดูประวัติของพระองค์สิ กว่าจะมาเป็นพุทธะ พระองค์มีความเข้มแข็ง มีความเพียรพยายาม มีความเสียสละ ไม่มีการท้อถอย เสียสละแม้แต่เพื่อผู้อื่น สละชีวิตเพื่อผู้อื่น ทำความดี สละชีวิตเพื่อช่วยเหลือเขา ไม่มีการท้อถอย ไม่มีระย่อ แม้จะถูกกลั่นแกล้งอย่างไร ก็ไม่ระย่อในการทำความดี ดูในพุทธประวัติชาตินี้ไม่พอ ไปดูในประวัติอดีตในชาดก ในพระชาติพระโพธิสัตว์อีก พอไปดูประวัติพระพุทธเจ้า เห็นแบบอย่างก็เกิดกำลังใจฮึกเหิม สู้ต่อ ไม่ถอย บอกเราทำดีแทบตายไม่ได้ผลอะไรต่ออะไรก็ท้อแล้ว พอไปเห็นพระพุทธเจ้า ท่านโดนแกล้งมากกว่าเรามากมาย ท่านยังสู้ อ้าว ต่อสู้ต่อ เกิดกำลังใจ
สี่ ได้วิธีการ ได้วิธีจากแบบอย่างของพระองค์ พระองค์ทำมาแล้ว ลองผิดลองถูกกว่าจะสำเร็จ เสียเวลามาก เราได้สำเร็จจากที่พระพุทธเจ้าทำแล้ว ได้ประสบการณ์ของพระพุทธเจ้าเอามาใช้เลย เราไม่ต้องไปลำบากลองผิดลองถูก เพราะฉะนั้น เราได้ตัวอย่างเป็นวิธีการ เป็นประสบการณ์ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้เลย จากเรื่องผู้นำนี้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง เพราะฉะนั้น ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าเป็นสรณะ ทำให้เราได้ความหมาย 4 ประการ