แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[00:44] ท่านสพรหมจารีทั้งหลาย วันนี้รู้กันว่าเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาคือวันอาสาฬหบูชา เป็นการบูชาพระรัตนตรัยในโอกาสวันเพ็ญเดือน 8 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญคือการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในการที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมจักร หรือที่เราเรียกว่าเทศนาพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หมุนวงล้อธรรมให้เคลื่อนไป ก็คือแผ่ธรรมะคำว่าจักรวงล้อเป็นคำที่สำคัญ ในยุคนั้นน่าจะเป็นไปได้ว่าเรื่องล้อนี้เป็นความเจริญยุคใหม่ของอารยธรรม คำว่าจักรก็เลยมีความสำคัญมาก เรามีทั้งอาณาจักรคือดินแดนที่วงล้อแห่งอำนาจหมุนไปถึง เป็นอาณาจักร อันนี้เราก็เป็นธรรมจักรบ้าง ธรรมจักรก็หมุนวงล้อธรรมออกไป ธรรมไปถึงไหนนั่นก็เป็นดินแดนแห่งธรรมะ ท่านก็เลยเรียกว่า ธรรมจักร
เดี๋ยวนี้ก็มาเปลี่ยนเป็นเรียกเป็นพุทธจักร ศาสนจักร ที่จริงเดิมมีอยู่แล้วคือธรรมจักร อาณาจักรเป็นเรื่องของชาวบ้าน ธรรมจักรคือเรื่องของพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรหมุนวงล้อธรรมคือเผยแผ่ให้ธรรมะไปเหมือนกับวงล้อของรถวิ่งไปถึงไหน ทางฝ่ายทางบ้านเมืองคืออำนาจเขาแผ่ไป แต่แทนที่ทางนี้อำนาจเขาแผ่แทนที่อาณาอำนาจจะแผ่ก็เป็นธรรมะแผ่ไป ของเขาอำนาจคืออาณาแผ่ไปถึงไหนโดยจักรวงล้อรถนั่นคือดินแดนที่เรียกว่าอาณาจักร ส่วนของเราธรรมะแผ่ไปถึงไหนก็เป็นธรรมจักร จึงถือว่าวันนี้สำคัญมากเรียกว่าเป็นวันปฐมเทศนาก็ได้ จะเรียกว่าเป็นวันประดิษฐานพุทธศาสนาก็ได้ การบูชาในวันนี้ก็เพื่อระลึกถึงความเป็นมาของพระพุทธศาสนา ตอนที่สำคัญ ๆ ให้เราระลึกไว้ เราก็จะได้ เตือนใจเพื่อจะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์คือพระพุทธประสงค์ นั่นเองที่ประกาศไว้แล้ว
ในวันนี้ด้านของกิจกรรมและพิธีกรรมในวันอาสาฬหบูชาก็เสร็จสิ้นไปแล้ว ถือเอาการเวียนเทียนเป็นจุดสิ้นสุด มาถึงตอนนี้แม้จะอยู่ในวันขึ้น 15 ค่ำวันอาสาฬหบูชานี้ก็จริง แต่ว่ากิจกรรมในตอนต่อไปนี้ก็ถือว่าเป็นกิจกรรมหรือเป็นกิจกรณี เป็นสังฆกรณีที่เนื่องกับวันพรุ่งนี้ เราก็เหมือนกับมาเริ่มกิจกรรมวันเข้าพรรษาซึ่งจะมาถึงในวันพรุ่งนี้ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ท่านภิกษุทั้งหลายในวัดในสำนักก็ได้ทำสิ่งที่เรียกว่าสามีจิกรรม สมัยก่อนเขาเรียกกันว่าทำวัตร นำเอาเครื่องจะเรียกว่าเครื่องสักการะก็ได้มา แล้วเมื่อกี้ก็กล่าวคำขอขมา อันนี้ก็เป็นเรื่องของชีวิตหมู่คณะที่จะอยู่ร่วมกันให้มีความสุข จะเห็นว่าเมื่อมาถึงเหตุการณ์สำคัญที่หนึ่งพระก็มาขอขมากันทีหนึ่ง ขอขมาเมื่อกี้นี้บอกว่า สัพพัง อะปะราธัง เป็นต้น ก็ให้อภัยแก่กันและกันถ้าจะมีความพลาดพลั้งทางกายทางวาจาทางใจ อันนี้ก็เพื่อให้สบายใจก็อยู่ร่วมกันต่อไป เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับส่วนรวมแต่ว่ามาทำในวันที่จะเข้าพรรษา
[06:16] การเข้าพรรษานี้ก็เป็นกิจกรรมที่สำคัญ พระภิกษุแม้จะอยู่องค์เดียวก็ต้องจำพรรษา เป็นธรรมวินัย เมื่อพระภิกษุจำพรรษารูปเดียวก็ต้องมีชีวิตของชุมชนที่เรียกว่าสังฆะ เรียกว่าอยู่ในถิ่นที่ไปได้ถ้าไปไหวก็ไปร่วมสังฆกรรมทำอุโบสถเรียกว่าฟังสวดปาฏิโมกข์กัน 15 วันต่อครั้งอย่างนี้เป็นต้น มีกิจกรรมอะไรเรื่องของสังฆกรรมส่วนรวมก็มาร่วมกันทำ พุทธศาสนาจึงเป็นเรื่องของสังฆะ สังฆะก็คือสงฆ์ คือส่วนรวม เราจะเรียกเป็นภาษาปัจจุบันก็เป็นชุมชนจัดตั้ง ไม่ใช่เรื่องของบุคคล คนบางทีก็แยกไม่ออกพุทธศาสนา เรื่องของพุทธศาสนานี้สำคัญคือเรื่องสังฆะ เราก็รู้อยู่แล้วว่าเราเคารพพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเราเคารพธรรม เมื่อพระพุทธเจ้าเคารพธรรมเราทั้งหลายเคารพพระพุทธเจ้าก็ต้องเคารพธรรม ถือธรรมเป็นสูงสุด พระพุทธศาสนาถือธรรมเป็นสูงสุด ต่อมาพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเมื่อสงฆ์เติบใหญ่ขึ้นเราก็เคารพสงฆ์ สงฆ์ก็คือส่วนรวม ชุมชนของภิกษุทั้งหมดรวมกันเรียกว่าสังฆะ เป็นส่วนรวม ถ้าเป็นอริยสงฆ์ก็คือโยมคฤหัสถ์ก็เป็นได้ด้วย ถ้าเป็นอริยบุคคลเป็นโสดาบันขึ้นไปก็อยู่ในสังฆะ แต่เป็นอริยสังฆะ ถ้าเป็นพระภิกษุเราก็เรียกรวม ๆ ว่าเป็นภิกขุสังฆะ ภาษาสมัยต่อมาเรียกว่าสมมติสงฆ์ ก็อันเดียวกัน เราก็เรียกภิกขุสังฆะพอ ภิกขุถ้าจะเป็นอริยะหรือไม่เป็นอริยะก็แล้วแต่รวมกันแล้วก็เป็นภิกขุสังฆะ ในโลกของสมมติก็ยอมรับ แต่ในโลกของปรมัตถ์ก็มีอริยสังฆะซึ่งดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร
ในการอยู่ในโลกก็ต้องดูได้ ต้องปฏิบัติได้ ท่านก็ไม่เอาเรื่องปรมัตถ์มายุ่งในแง่นี้แต่ว่าเป็นจุดหมายอยู่นะ แต่ว่าเอาสมมติมาใช้ก็เป็นภิกขุสังฆะ เมื่อบวชมาแล้วก็มีสิทธิเสมอกันก็มาอยู่ร่วมกัน เป็นชุมชนที่ตั้งขึ้นเพื่อจุดหมายอันหนึ่งอันเดียวกันเป็นสังฆะ จุดหมายอันหนึ่งอันเดียวกันคือผู้ร่วมที่สมัยนี้อาจจะเรียกว่าสมาชิกก็ดำเนินชีวิตทำกิจการต่าง ๆ เพื่อบรรลุจุดหมายอันเดียวกันของสังฆะ สังฆะนี้จะให้ดำเนินไปสู่จุดหมายได้ก็มีข้อที่เรียกว่าวินัย วินัยคือการจัดตั้งวางระบบแบบแผนเพื่อจัดสรรให้ผู้ที่อยู่ในสังฆะคือพระภิกษุทั้งหลายดำเนินชีวิตได้ในแนวทางที่จะไปสู่จุดหมายนั้นเป็นจุดหมายอันเดียวกัน แล้วก็สร้างสภาพแวดล้อม จัดสรรสิ่งที่เป็นวัตถุเป็นต้น แม้แต่สิ่งก่อสร้างอะไรต่าง ๆ ให้เอื้ออำนวยแก่การที่ภิกษุเหล่านั้นจะดำเนินชีวิตเพื่อไปสู่จุดหมาย เพราะฉะนั้นทุกอย่างก็เป็นอันเดียวกัน วินัยก็เลยทำให้เป็นเครื่องจัดสรรหรือเป็นเครื่องมือที่จะจัดให้ระบบชีวิตของชุมชนหรือสังฆะนี้มันเป็นไปตามธรรม
ธรรมคือความเป็นจริงของธรรมชาติของโลกของชีวิตที่เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง เช่นตามกฎแห่งเหตุปัจจัยของมัน แล้วก็เพื่อบรรลุจุดหมาย มีชีวิตที่ดีงาม เพื่อความสิ้นทุกข์ หมดทุกข์ เป็นอิสระเสรี มีวิมุตติ ต้องอาศัยตัวแท้คือธรรมะ แต่จะดำเนินตามธรรมะได้ดีก็ต้องอาศัยการจัดตั้งวางระบบในทางสังคมและมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันก็เรียกว่าวินัย วินัยก็มาจัดเอื้อต่อการที่จะดำเนินตามธรรมให้บรรลุจุดหมายของธรรมะนั้น ระบบพระพุทธศาสนาก็เลยเรียกว่าธรรมวินัย ธรรมวินัยก็เลยเป็นหลักของสังฆะ สังฆะก็ต้องดำเนินตามธรรมวินัยด้วยและต้องรักษาธรรมวินัยนี้ไว้ แล้วก็มาช่วยกันสืบต่อเผยแผ่ขยายธรรมวินัยออกไป โดยเฉพาะวินัยก็บอกไว้แล้วว่าวางระบบจัดตั้งเพื่อให้เราสามารถดำเนินตามธรรมนั่นเอง ตัวแท้ก็อยู่ที่ธรรมะ วินัยก็เป็นเครื่องมือของธรรมะ แล้วก็เพื่อประโยชน์เป็นเครื่องรองรับเป็นเครื่องที่จะช่วยให้ธรรมะนี้ดำรงอยู่ได้ เป็นต้น จนกระทั่งเกิดผลต่อมนุษย์ ถ้าเราไม่รู้จักจัดระบบสังคมระบบชีวิตธรรมะมีอยู่คนก็ไม่รู้จักปฏิบัติ ไม่รู้จักเริ่มสักที วินัยก็มาจัดสรรให้ มาช่วยทำให้เกิดการฝึก นี่คือเรื่องของสังฆะ
สังฆะก็เป็นอันว่าเรามาอยู่ในสังฆะมีชีวิตหมู่คณะมีชีวิตชุมชน ไม่ใช่เป็นเรื่องของบุคคลผู้เดียว
[12:31] สมัยก่อนมีคนนอกศาสนา คนภายนอกเขาก็ไม่เข้าใจ คือพุทธศาสนาเกิดในชมพูทวีปหรือในอินเดีย แล้วในสมัยนั้นก็มีฤๅษี โยคี ดาบส นักบวชนอกศาสนาที่มีมาก่อนพุทธศาสนาก็เยอะ พวกนี้ก็อยู่กัน บางทีก็ไปอยู่ในป่าคนเดียว หรือมีเพื่อน 2 – 3 คนไปตั้งอาศรมอะไรกันอยู่ ก็เป็นชีวิตส่วนตัว ปลีกตัวหนีจากสังคมออกไป ปลีกตัวออกไปอยากอยู่อย่างเงียบสงบ เป็นพวกฤๅษีชีไพร แล้วก็ไม่ยุ่งกับผู้คนแล้ว กินอาหารก็ไม่เอา ใช้วิธีไปเก็บเผือกมันกิน ทำเองไม่ยุ่งกับผู้คน บางนิกายบางลัทธิบางศาสนาก็เอาหนัก เช่น กินแต่ผลไม้ที่หล่นเองจากต้น จะไม่ไปเอา ไม่ไปปลิด ไม่ไปเด็ด ไม่ไปสอยมัน ต้องรอให้มันหล่นเองจึงจะกิน เหล่านี้เป็นพวกลัทธิต่าง ๆ พวกนี้จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้คนแล้ว อยู่นอกสังคมไปเลย พระพุทธศาสนาก็เกิดขึ้นท่ามกลางลัทธิศาสนาเหล่านี้ โดยเฉพาะพวกฤๅษีชีไพร แล้วพระพุทธเจ้าก็ทรงตั้งสังฆะขึ้นมาซึ่งมีชีวิตต่างไปเลย พวกคนนอกศาสนาอย่างฝรั่งเมื่อ 40 – 50 ปีก่อนนี้ยังมีการบอกว่าพุทธศาสนานี้เป็น asceticism คือลัทธิฤๅษีชีไพรที่มีลักษณะทรมานตัวเอง มีชีวิตที่บีบคั้นตัวเอง เขาก็มองพุทธศาสนาเป็นอย่างนั้นไปด้วย คนไทยบางทีไม่เข้าใจนึกว่าพุทธศาสนา เออ! จริงของฝรั่ง ก็เกิดอยู่กับพวกฤๅษีชีไพร แต่เปล่า ต่างกันลิบลับ
พุทธศาสนานั้นพระจะไปเก็บอาหารฉันได้ไหม ไม่ได้ ต้องมีประเคน พระพุทธเจ้าบังคับให้ ชีวิตของพระต้องอยู่กับสังคมมนุษย์ แต่ละวัน ๆ ต้องออกไปบิณฑบาต ต้องพบผู้คน อย่างน้อยวันหนึ่งก็ต้องพบตอนเช้า แล้วต่อจากนั้นอาจจะมีความสัมพันธ์กันซึ่งท่านจะมีวินัยบอกไว้เพื่อจะให้ความสัมพันธ์นั้นดีงามถูกต้องเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของพระเองด้วยและเป็นประโยชน์แก่สังคม พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ด้านหนึ่งก็คือให้มนุษย์แต่ละคนรู้จักรับผิดชอบตัวเอง ก็คือฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตนด้วยไตรสิกขาเพื่ออิสรภาพ เพื่อชีวิตที่หมดทุกข์ ไม่มีทุกข์มีแต่ความสุข อีกด้านหนึ่งก็ชีวิตที่สัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งในสังฆะเองแล้วก็ในภายนอกกับประชาชน เพราะว่าในที่สุดเมื่อภิกษุทั้งหลายนี้หมดทุกข์ไม่มีทุกข์เพราะกำจัดเหตุแห่งทุกข์ในตัวได้แล้วก็มีจิตใจเป็นอิสระ คราวนี้ไม่ต้องทำอะไรเพื่อตนเองแล้ว ต่อไปนี้ก็ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย คราวนี้ไม่ต้องทำอะไรละเดินทางจารึกไปถ้าเป็นสมัยพุทธกาล สมัยนี้ไม่ต้องจารึกอย่างนั้นแล้วจารึกออกไปทางอินเตอร์เน็ตก็มี เรียกว่าไม่ต้องจารึกอะไรแล้วอยู่กับวัดเทศน์สั่งสอนผู้คน ทำไป ต่อจากนั้นแล้วก็ไม่มีอะไรที่ต้องทำเพื่อตัวเอง ท่านเรียกว่าเป็นผู้หมดกิจ ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีก ต่อไปนี้ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว ทำเพื่อโลก
[16:24] ฉะนั้นสังฆะที่พระพุทธเจ้าจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้พระภิกษุมาอยู่ร่วมกันนี้เพื่อจุดหมายอะไร ก็คือ เพื่อเธอทั้งหลายจะได้รู้เข้าใจความจริงของโลกของชีวิตของธรรมชาติ แล้วก็มาฝึกฝนตนเองด้วยไตรสิกขา เจริญศีล พัฒนาการดำเนินชีวิตที่ดีงามในการอยู่ร่วมกัน ในการมีพฤติกรรมที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลเป็นประโยชน์ ไม่เบียดเบียน แล้วก็เจริญสมาธิพัฒนาจิตใจ แล้วเจริญปัญญาพัฒนาปรีชาญาณหรือญาณทัสสนะ พอเจริญฝึกตัวได้ดีแล้วก็รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายรู้ชีวิตของตนเอง เข้าใจสิ่งทั้งหลายมีปัญญาทำให้จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ จิตหลุดพ้นเป็นอิสระก็คือหมดเหตุแห่งทุกข์ความทุกข์เพราะว่าอิสระนั้นก็คือพ้น หลุดออกไปจากตัวเหตุอะไรก็ตามที่มันจะมาครอบงำบีบคั้นบังคับตั้งแต่อวิชชา ตัณหา อุปาทาน อะไรก็แล้วแต่ หมด เมื่อเรื่องตัวเองหมดแล้วที่นี่ก็ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว เพราะฉะนั้นสังฆะนี้เพื่อพระสงฆ์ทั้งหลายมาศึกษาพัฒนาตนเอง แต่ตัวสังฆะนั่นเองในที่สุดก็เพื่อโลก
สังฆะนี้มีเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกตามอุดมคติที่ว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย ฉะนั้นสังฆะในลักษณะเริ่มต้นก็คือลักษณะที่ไม่มีการเบียดเบียน ภิกษุสงฆ์ชีวิตแต่ละองค์ก็ไม่เบียดเบียนสังฆะ ท่านก็บัญญัติไว้ทุกอย่างเพื่อจะไม่ให้มีการเบียดเบียน จนกระทั่งฝรั่งไปเขียนไว้ใน Encyclopaedia Britannica ก็มี เขียนมาตั้งหลายสิบปีแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ บอกว่า พุทธศาสนานี้เป็น movement เป็นกระบวนการ เป็นความเคลื่อนไหวของ pacifism คือ สันตินิยม เป็นสันตินิยมขบวนการแรกเท่าที่มนุษย์จะรู้จักในโลกนี้ เรียกว่าพุทธศาสนานี้เป็นหลักการที่ไม่มีการเบียดเบียนใคร ฝรั่งเขายอมรับอันนี้ แล้วเขาบอกว่าสังฆะเป็นสถาบันที่ยืนยาวที่สุดในโลก เก่าแก่แล้วก็ยืนยงมาได้จวน 3,000 ปีแล้ว เขาบอกว่าเป็นสถาบันที่เก่าแก่และมีอายุยืนยาวที่สุดในโลก อันนี้เราก็ฟังไว้ ฝรั่งเขาชอบศึกษาเขาก็มาพูด แต่ฝรั่งที่พูดว่าพุทธศาสนาเป็น asceticism ไม่ถูกนะ ฝรั่งก็มีผิดมีถูกแต่ว่าเราดูว่าเขาศึกษาแล้วเขาว่าอย่างนี้ เอาละก็ให้เข้าใจว่าสังฆะเป็นเรื่องของพุทธศาสนามีความสำคัญอย่างมาก
พุทธศาสนาก็มีระบบของสังฆะ อยู่ได้ด้วยสังฆะ พระภิกษุทั้งหลายต้องเคารพสงฆ์ ถือสงฆ์เป็นสำคัญ
[19:47] นอกเรื่องขอแทรกนิดหน่อย สังฆะมีคำที่คล้ายคลึงว่า สังคม เรามีคำว่าสังคมแต่สังคมเป็นคำที่เราเอามาใช้เป็นศัพท์วิชาการในเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้เอง เพิ่งเกิดหลังสังฆะ สังคมในภาษาบาลีเดิมก็มี สงฺคม สงฺคโม เป็นศัพท์สามัญ แปลว่าไปด้วยกัน หรือว่าไปพบกัน ไปเจอกัน แล้วก็ไปด้วยกันก็คบหากัน เพราะฉะนั้นก็มีภาษิตอย่างเช่น ปาโป กาปุริเสน สงฺคโม สังคมกับคนชั่วเป็นเรื่องเลวร้ายหรือทำให้ตกต่ำ อย่างน้อยก็ทำให้จิตใจตกต่ำลงไป แล้วท่านก็บอกว่า ภทฺโท สปฺปุริเสหิ สงฺคโม การสังคมก็ไปด้วยกัน คบหากันกับคนดีทั้งหลายเรียกว่าสัปบุรุษ ก็เป็นความเจริญงอกงาม เป็นความดีความงาม อย่างนี้เป็นต้น ก็กลายเป็นว่าเป็นคำที่ใช้ที่พูดเพื่อสอนกันก็กลายเป็นภาษิตไป ส่วนอีกคำหนึ่งที่คล้ายกันมากก็คือคำว่า สงฺคาโม เรามาใช้ในไทยก็เป็นสังคม สงฺคาโมแปลว่าสงคราม แต่ภาษาไทยเราไปตัดไม้หันอากาศออก เราก็เลยไม่รู้ว่าที่จริง 2 คำนี้คือสังคมกับสงครามนี้มาจากรากศัพท์เดียวกัน
สังคมเป็นอย่างไรจึงเป็นสงคราม สังคมบอกแล้วว่าไปด้วยกัน ไปเจอกัน ไปพบปะกัน สงฺคาโมแปลว่าสงครามก็แปลว่าไปเจอกัน ไปพบปะกัน แต่ว่าไปพบปะกันแบบสงฺคาโมที่แปลว่าสงคราม คือไปพบปะแบบไม่ดี ไปพบปะแบบปะทะกันแล้วก็ประหัตประหารต่อสู้กัน แต่ให้ทราบว่าที่จริงแล้วเป็นศัพท์ที่มีรากเดียวกันสงฺคาโมกับสงคราม ในวินัยของพระก็มีสงครามนะ ในวินัยไปดูสิ มีทั้งจูฬสงครามและมหาสงคราม มหาสงครามเขาไปใช้กับสงครามโลก แต่ของพระใช้มานานแล้วในพระวินัยปิฎกมีจูฬสงครามและมหาสงคราม สงครามคือการไปพบปะเจอกัน เมื่อไปเจอกันแล้วพอมาก ๆ คนก็อาจจะไปยืนด้วยกัน ไปนั่งด้วยกัน ถ้าไม่ต่อสู้กันก็มานั่งทำสิ่งที่ดีงาม ก็กลายเป็นว่าคำว่าสงฺคาโมหรือสงครามแปลอีกอย่างว่าประชุม คือที่ไปพบปะกันแล้วก็ไปประชุมกันพร้อมกัน ฉะนั้นพระก็มีการประชุมกันเรียกว่าสงคราม แต่ในวินัยท่านใช้ว่าเป็นสงครามคือการพบปะประชุมกันเรียกว่าสันนิบาต สังฆสันนิบาต สันนิบาตกับคำว่าสงครามใช้แทนกันได้ สันนิบาตแปลว่าประชุมกัน ประชุมกันทำสงคราม ทำสงครามคืออะไร ของพระนี้ก็แปลว่ามาประชุมสงฆ์เป็นสังฆสันนิบาตเพื่อจะวินิจฉัยอธิกรณ์เรียกว่าสงคราม ท่านจะได้รู้ว่าที่จริงคำว่าสงครามของพระก็มีใช้อยู่ ก็ให้เข้าใจเรื่องอย่างนี้ ก็เอาเป็นเรื่องแทรกไป
[23:47] เรื่องชีวิตของพระสงฆ์ก็บอกแล้วว่าเรื่องของพุทธศาสนานี้ไม่ใช่ชีวิตโดดเดี่ยว แต่ว่าพร้อมกันนั้นท่านก็ระวังไม่ให้เป็นชีวิตของการที่ว่ามาอยู่ร่วมกันแล้วก็สนุกสนามเฮฮาอย่างเดียวก็ได้แต่ทำอะไรไม่เป็นเรื่อง ท่านเรียกว่าคลุกคลี คลุกคลีกลายเป็นผิดวินัยเสียหาย หมายความว่าการอยู่ร่วมสังคมก็ต้องมีวินัยมีเครื่องช่วยให้ดำเนินชีวิตให้ถูกต้องให้การอยู่ร่วมกันมันเป็นไปโดยสงบเรียบร้อย เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อประโยชน์ร่วมกัน วินัยก็มาจัดสรรให้ชีวิตความเป็นอยู่ของหมู่คณะส่วนรวมมาเกื้อกูลแก่กันและกัน ให้แต่ละองค์เกื้อกูลอยู่ด้วยกัน พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนว่าให้พระอยู่กันนะให้มีปิยจักขุ แปลว่ามีดวงตาเป็นที่รัก เหมือนกับทางวาจาเราก็มีปิยวาจา วาจาเป็นที่รัก พูดกันก็เป็นปิยวาจา แม้จะไม่ได้พูดกันเดินเจอกันผ่านกันพบเห็นกันก็มีปิยจักขุ แปลว่ามีดวงตาที่แสดงเมตตามีความรักมีความปรารถนาดีต่อกัน พระพุทธเจ้าจะสอนย้ำไว้ให้พระอยู่ด้วยกันให้มีปิยจักขุ แล้วก็ให้อยู่เหมือนกับน้ำกับน้ำนม ไม่ใช่น้ำกับน้ำมัน เพราะธรรมดาน้ำกับน้ำมันอยู่ด้วยกันไม่ได้ มันแยกกันเลย แม้แต่ไปใส่ในแก้วเดียวกันมันก็ไม่ยอมรวมกัน แต่ว่าถ้าเป็นน้ำกับน้ำนมผสมกันได้เลย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็สอนไว้
มีบ่อยเราจะต้องไปเรียนรู้นี่คือชีวิตสังฆะ พระพุทธเจ้าจะสอนว่าอยู่ร่วมกันอย่างไร ให้อยู่กันด้วยบรรยากาศแห่งจิตใจที่มีความรักความปรารถนาดีต่อกัน มีความหวังดีต่อกัน แล้วช่วยเหลือกัน กิงกรณีเยสุ ทักขตา มีกิจอะไรก็คอยถาม “ท่าน มีอะไรให้ผมช่วยไหมครับ” ส่วนรวมมีการงานอะไรก็ไปคอยถามแล้วก็ช่วยเหลือกัน ญาติโยมเอาไปใช้ได้ทั้งนั้นแหละ ชีวิตรวมกันตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไปเลย พระพุทธเจ้าสอนไว้นักว่าพระนี้ตัวเองต้องมีความรับผิดชอบต่อชีวิตของตัวเองที่คนอื่นทำให้ไม่ได้ อย่างสมาธิจิตใจของเรานี้คนอื่นจะมาช่วยให้ใจของเราเป็นสมาธิได้ไหม ก็ไม่ได้ คนเราจะมีปัญญาของเราได้ไหม คนอื่นอุตส่าห์มาสอน เข้าหูซ้ายออกหูขวา ไม่ได้อะไรเลย ก็ต้องมีความตั้งใจ มีความคิดพิจารณา เสร็จแล้วก็เลยได้ปัญญา ปัญญาก็ต้องทำเอง ต้องสร้างเอง ต้องพัฒนาขึ้นเอง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อตนเองก็คือไตรสิกขา ฝึกฝนตนเอง เราก็เลยมีระบบที่ว่าในส่วนนี้ที่ท่านรับผิดชอบจะต้องฝึกฝนตนเอง อ้าว! แล้วเรามีชีวิตร่วมกันเราก็มาเกื้อกูลกันด้วยแต่พร้อมกันนั้นพอเราเกื้อกูลต่อผู้อื่นที่อยู่ร่วมกันแล้วชุมชนของเราก็อยู่กันดีมีความสุข มีบรรยากาศที่เอื้อเฟื้อ มีบรรยากาศที่รื่นรมย์สบายใจ แล้วท่านก็ทำให้วัตถุเป็นรมณีย์อีกด้วย นี่ของพระนะท่านจะต้องทำให้ชุมชนอยู่ในที่รมณีย์เป็นที่รื่นรมย์ จิตใจก็จะได้พร้อม จิตใจก็ น้อมไปในการที่จะเจริญกุศล ในการที่จะพัฒนาตน ในการที่จะศึกษา ก็เลยเจริญงอกงามกันใหญ่
ก็หมายความว่าบุคคลก็เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อสังคม เป็นส่วนร่วมที่จะช่วยให้สังคมหรือชุมชนคือสังฆะนี้อยู่ด้วยดีเจริญงอกงาม อยู่กันร่มเย็นมีความสุข แล้วก็ร่วมมือกันเป็นสามัคคีมีพลังมาก เพราะว่าพลังสามัคคีก็เกิดจากการที่ร่วมใจกันของสมาชิกที่อยู่ด้วยกัน แต่พร้อมกันนั้นเมื่อชุมชนคือสังฆะนี้อยู่ดีมีความสงบเรียบร้อยบรรยากาศดี ก็นึกขึ้นมาเมื่อไหร่สบายใจเราจะประกอบกิจธุระอะไรของเราก็ทำได้สะดวก คนอื่นก็มาช่วย เมื่อเราเจริญไตรสิกขาจะเจริญสมาธิอะไรต่ออะไรบรรยากาศก็เอื้อ แถมมีกัลยาณมิตร มีคนที่มีความรู้ก็ไปสอบถามท่านได้ ให้ท่านให้คำปรึกษาตอบปัญหาอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ นี่คือชีวิตสังฆะที่พระพุทธเจ้าตั้งไว้ คือว่าบุคคลก็เกื้อกูลมีส่วนร่วมที่ช่วยกันสร้างสรรค์สังฆะหรือสังคมชุมชนส่วนรวมให้ดีงามมีความสุข พร้อมกันนั้นชุมชนที่ดีงามสังฆะที่อยู่กันสงบเรียบร้อยก็เป็นบรรยากาศและเป็นเครื่องประกอบที่จะมาช่วยเอื้อให้แต่ละบุคคลมาทำกิจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะการศึกษาการพัฒนาตนได้อีกยิ่งขึ้น 2 อย่างนี้เป็นเรื่องอาศัยซึ่งกันและกัน เรื่องของสังฆะกับภิกขุหรือว่าสังคมกับบุคคล ต้องอาศัยซึ่งกันและกันแล้วก็เอื้อต่อกันอย่างนี้จึงจะไปได้ พระพุทธเจ้าก็สอนเราว่าให้ปฏิบัติอย่างนี้ เพราะฉะนั้นในวันนี้จะเข้าพรรษาเริ่มต้นก็เลยให้มาพบกัน
[29:16] ให้พระทั้งหลายมาพบกัน แม้แต่ไปอยู่ไกล ๆ ก็มาหาครูอาจารย์ มาพบปะกันไว้ ขอขมากัน ไม่มีอะไรกินแหนงแคลงใจติดใจแล้ว สบายใจกัน อย่างน้อยอันนี้ก็ทำพอเป็นรู้กัน แล้วที่จริงอาจจะไม่มีอะไร ไม่ใช่นึกสงสัยอะไรกันหรอก สบายใจ เผื่อจะมีท่านก็บอกไว้ พอทำเสร็จแล้วก็เป็นโอกาสได้พบปะกัน จะได้รู้สุขรู้ทุกข์กัน จะได้ถามไถ่ ลูกศิษย์มีปัญหาอะไรอยากจะถามก็จะได้ถาม อาจารย์มีอะไรจะนัดหมายก็บอกกัน มีอะไรสั่งสอนแนะนำก็บอกกัน ก็จะทำกันเป็นระยะ ๆ อย่างนี้ มีเวลามีโอกาสที่จะมาพบปะกันเรื่อย ๆ ชาวบ้านเขาเรียกว่าสังสรรค์ แต่ของพระก็มาพบกันทำสามีจิกรรม แต่ว่าสามีจิกรรมเป็นเรื่องธรรมเป็นเรื่องที่ดีที่ว่า เพื่อเป็นเรื่องการกุศลในเรื่องของพบปะกันแล้วก็จะได้เกื้อหนุนกันในการศึกษาเท่านั้นเอง เรื่องก็เป็นอย่างนี้ พระสงฆ์ก็มีหลักธรรมต่าง ๆ นอกจากที่บอกเมื่อกี้ว่าให้อยู่ร่วมกันด้วยดี ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อแก่กัน มีเมตตาแก่กัน และท่านยังสอนหลักที่สำคัญไว้มากำกับวินัยอีกด้วยนะ มีหลักธรรมอยู่ชุดหนึ่งเรียกว่า สาราณียธรรม 6 ประการ สาราณียธรรมแปลว่าธรรมเป็นเครื่องระลึกถึงกัน
ท่านสอนไว้เป็นพิเศษสำหรับพระสงฆ์ วินัยจะเอาธรรมะชุดนี้ไปไว้เน้นในวินัย ซึ่งธรรมะชุดอื่น ๆ ท่านไม่ค่อยพูดถึงหรอกเพราะว่าเรื่องธรรมะก็มีมากมายแล้วไปเรียนเอา แต่ว่าธรรมะชุดนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่จะรักษาวินัยที่จะอยู่ในสังฆะให้สังฆะนี้มีสามัคคีอยู่ด้วยกันอย่างดี พระพุทธเจ้าก็ตรัสสาราณียธรรม 6 ประการให้พระสงฆ์ปฏิบัตินะ ปฏิบัติก็ปฏิบัติต่อกันนั่นเอง ปฏิบัติต่อกันในหมู่สงฆ์นั้น 6 ประการมีอะไรบ้าง ทุกท่านเข้าใจว่าถ้าพรรษาหนึ่งขึ้นไปก็คงจำกันได้ มี 6 ประการ มีอะไรบ้าง เดี๋ยวมาทบทวนกันนิดหน่อย เพราะตอนนี้จะเริ่มชีวิตของชุมชนหรือสังฆะในช่วงเข้าพรรษาไตรมาสนี้เราจะต้องอยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมกันให้ดีจะเป็นเครื่องตรวจสอบและพิสูจน์ว่าพวกเราทั้งหลายได้ปฏิบัติบำเพ็ญสาราณียธรรมด้วยดีไหม สาราณียธรรม 6 ประการมีอะไรบ้าง แต่ท่านบอกไว้ก่อนนะ สาราณียธรรม 6 ประการนี้เมื่อปฏิบัติไปแล้วก็จะเป็นสาราณียะเป็นเครื่องทำให้ระลึกถึงกัน เป็นเครื่องสังคหะทำให้ร่วมจิตยึดเหนี่ยวใจกันไว้ ทำให้เกิดสามัคคิยาเป็นไปเพื่อความสามัคคี อะวิวาทายะเป็นไปเพื่อการไม่วิวาทกัน เอกีภาวายะเพื่อความเป็นอันหนึ่งเดียวกันที่สมัยนี้เขาเรียกว่าเป็นเอกภาพ ธรรมทั้งหมดนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าจะมีอานิสงค์อย่างนี้ มีอะไรบ้าง 6 ประการ
กายกรรมประกอบด้วยเมตตา จะทำอะไรทางกาย จะยกเก้าอี้อะไรต่ออะไรเหล่านี้ จะใช้มือใช้เท้าทำอะไรก็เรียกว่ากายกรรมก็ให้ประกอบด้วยเมตตา คือความปรารถนาดีต่อกัน ท่าน เก้าอี้นี้หนักไปสำหรับองค์นั้น องค์นั้นกำลังสู้องค์นั้นไม่ได้ องค์นี้ก็ไปช่วยยกเก้าอี้ให้ อะไรอย่างนี้เป็นต้น แค่ง่าย ๆ อะไรก็เอื้อเฟื้อกัน เมตตากายกรรมก็คือการกระทำทางกายประกอบด้วยเมตตา ให้สังเกตด้วยนะว่าเมตตามันอยู่ในใจต้องมีศัพท์ที่มารับให้มันแสดงออกมาทางนอก ให้ออกมามันก็ต้องออกมาทางกายทางวาจา ถ้าไม่ออกมาข้างนอกมันอยู่ในใจเราก็ต้องคิดเป็นมโนกรรม ตัวเมตตามันเป็นคุณธรรมเฉย ๆ เราจะแสดงมันต้องออกมาทางนี้ ออกมาทางเมตตากายกรรมเป็นทางกาย เมตตาวจีกรรมทางพูด เมตตามโนกรรมทางคิด แม้จะไม่ออกมาโดยใช้ศัพท์กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็เป็นศัพท์อื่นเช่น ออกมาเป็นทาน ให้ เอาสิ่งของหรืออะไรก็ตาม อย่างพระให้ธรรมแก่โยมเป็นธรรมทานก็ให้ด้วยเมตตา ปิยวาจาพูดจาน่ารักก็พูดด้วยใจเมตตา อัตถจริยาบำเพ็ญประโยชน์ช่วยเหลือเกื้อกูลกันก็ทำด้วยเมตตากรุณา
เมตตากรุณามันทำในใจไม่ใช่การแสดงออก เวลาจะแสดงออกเมตตากรุณามุทิตาอะไรพวกนี้มันต้องไปแสดงออกที่ธรรมะอื่น ถ้าไม่มีธรรมะข้ออื่นมารับก็จะต้องเติมคำว่ากายกรรม มโนกรรม วจีกรรมเข้าไป ต้องคัดแยกให้ถูกด้วย เดี๋ยวนี้บางทีเราไปพูดเอาเมตตาเป็นการกระทำไป “แหม หลวงพ่อท่านเมตตาผม” ท่านเมตตาท่านทำอะไรให้ละ ท่านเมตตาท่านก็อยู่ในใจของท่านสิ แต่ท่านอาจจะยิ้มให้อะไรอย่างนี้ แต่ว่ายิ้มให้มันก็เป็นการแสดงออกแล้ว อย่างน้อยก็ใจคิดดีละ คิดปรารถนาดี เอาละอันนี้คือข้อหนึ่ง เมตตากายกรรม กายกรรมการกระทำทางกาย การแสดงออกทางกายที่มีเมตตามีความรักความปรารถนาดี
การกระทำทางวาจาคือการพูด พูดจาเป็นปิยวาจา ถ้อยคำอ่อนหวานน่ารัก หรือว่าถ้อยคำที่แนะนำให้เป็นประโยชน์ หวังดี แม้จะพูดไม่ดีบ้าง อย่างท่านยกตัวอย่างไว้ว่าคุณแม่พูดกับลูก ลูกคนนี้มันดื้อเหลือเกิน ว่ายังไงก็ไม่ฟังมันจะไปเที่ยวแต่ในป่า สมัยก่อนป่ามันน่ากลัวมีแต่สัตว์ร้าย วันหนึ่งก็บอกว่าลูกจะไปเที่ยวแต่ป่า แม่จะว่าอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง วันนี้มาอีกละก็บอก “แม่ วันนี้จะไปป่านะ” แม่ก็ “เออ มึงไปให้ควายกัดตายเลย” ว่าอย่างนั้นเลยนะ โยมบอกคุณแม่นี้พูดไม่เป็นปิยวาจา คัมภีร์ท่านอธิบายบอกว่าใจคุณแม่ไม่ได้มีความคิดร้ายต่อลูกแน่นอน ใจปรารถนาดีต่อลูก เป็นแต่เพียงว่าด้วยใจที่ปรารถนาดีลูกดื้อมากก็เลยว่าเอาแรง ๆ แต่ว่าใจไม่ได้เปลี่ยนไปเลย หวังดีต่อลูก เพราะฉะนั้นที่ท่านว่าถ้าเอ็งไปให้เสือกัดตายหรืออะไรอย่างนี้ ท่านบอกว่าไม่ผิดปิยวาจา คัมภีร์เข้าข้างคุณแม่แล้ว อย่างนี้เป็นต้น รวมความว่าพูดกันด้วยความหวังดีด้วยมีเมตตา ปิยวาจา
คิดต่อกันในทางที่ดี คิดปรารถนาดี คิดว่าทำอย่างไรจะให้เพื่อนสหธรรมิกพระภิกษุรูปนั้นรูปนี้อยู่ด้วยกัน ขอให้ท่านอยู่เป็นสุข มีความสบาย มีอะไรติดขัดเราจะหาทางช่วย คิดต่อกันในทางที่หวังดีมีเมตตา
มีอะไรเป็นลาภ เป็นปัจจัย 4 เมื่อได้มาแล้ว ถ้าเอาอย่างแรงนะ ยังไม่แบ่งก็ยังไม่ฉัน ว่าอย่างนั้นนะ ถ้ายังไม่แบ่งใครก็ยังไม่ใช้ มีโยมคนหนึ่งในคัมภีร์ท่านเล่าไว้ ได้อธิษฐานจิตแบบนี้ ตั้งใจ ตั้งเป็นข้อวัตรประจำตัว บอกว่าทุกวันตอนเช้าถ้าฉันยังไม่ได้แบ่งอะไรให้แก่คนอื่นก่อนฉันยังไม่กินข้าว อันนี้คือการปฏิบัติตามอย่างพระ พระก็ต้องแบบนี้มีลาภมีอะไรมาก็ต้องแบ่งให้ทั่วถึงกัน นึกถึงกัน นี่ก็คือชีวิตอยู่ร่วมกันในด้านของวัตถุ เรียกว่าอัปปฏิวิภัตตโภคี ถ้าปฏิบัติได้อย่างดีมากก็คืออันนั้นแล้วแต่ท่านไม่ว่าหรอกก็คือถ้ายังไม่แบ่งให้คนอื่นก็ยังไม่ฉัน ว่าอย่างนั้นนะ อันนี้ก็ถือให้ฝึกตนให้ยวดยิ่งหน่อย แต่ว่าโดยทั่วไปก็คือเฉลี่ยแบ่งปันให้ลาภผลนี้ทั่วถึงกัน เพราะฉะนั้นพระก็จะมีการจัดระบบวินัย เช่น มีภัตตุเทสก์เป็นผู้นิมนต์เพื่อที่จะทำให้ได้รับความเป็นธรรมได้สม่ำเสมอกันในเรื่องลาภที่เข้ามา เป็นต้น
รักษาวินัยให้มีศีลเสมอกัน ไม่ประพฤติตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ เขามีศีลมีข้อวัตรปฏิบัติอะไรในการอยู่ร่วมกันให้สังคมชุมชนของเราอยู่กันด้วยดีสังฆะจะได้สงบเรียบร้อย แล้วก็ใจนึกถึงกันด้วยความสบายใจ ไม่ใช่ว่าใจนึกแล้วกินแหนงไม่สบายใจอึดอัดอะไรอย่างนี้ไม่ดี ฉะนั้นก็เลยต้องสร้างบรรยากาศ แล้วก็อยู่ร่วมกันด้วยการที่ว่าศีลเป็นเรื่องของส่วนรวมคือการรักษาวินัยนี้ทุกคนก็ตั้งใจประพฤติปฏิบัติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้สม่ำเสมอกัน อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่าไม่ประพฤติตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ มันก็เป็นเครื่องรักษาความสามัคคีได้อย่างหนึ่ง
ความมีทิฏฐิเสมอกัน ก็เป็นความเสมอภาค ให้เสมอกันในแง่ของความสมาน ที่ว่าจะทำให้อยู่ร่วมกันได้ดีก็คือแนวคิด ทิฏฐิ ความคิดเห็นในหลักทางพุทธศาสนานั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ ตัวหลักสำคัญ เราต้องพยายามปรับเรียนรู้ศึกษาให้มีสัมมาทิฏฐิ ให้มีทิฏฐิรวมเป็นอันเดียวกันที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้ายังไม่มีมันก็จะเป็นเหตุให้เกิดทะเลาะวิวาทกัน คนนี้ทิฏฐิอย่างนั้น คนนั้นทิฏฐิอย่างนี้ แล้วทิฏฐินี้เป็นตัวสำคัญที่ทำให้คนทะเลาะเบาะแว้งกันยืดเยื้อที่สุดยิ่งกว่าโลภะ โทสะ ท่านก็ให้บอกไว้ แล้วถ้าหากว่ามีความคิดเห็นแตกต่างกัน ท่านก็ให้โอกาสให้มาพูดจากัน มาประชุมกันแล้วพูดกันดี ๆ มาถกเถียงกัน แล้วอย่าเป็นคนดื้อรั้น ให้รับฟังผู้อื่น เพราะฉะนั้นในสังฆะนี้ก็จะมีเรื่องของการพบปะสนทนา มีการสากัจฉา ถกเถียงปัญหา มีปริปุจฉาการไถ่ถามซักรอบตอบถามอะไรกัน เป็นลักษณะของการศึกษา เป็นบรรยากาศของการเรียนรู้ การสอน การบอกเล่า การตอบถาม การปรึกษาหารือ อะไรต่าง ๆ มากมายเต็มไปหมด ซึ่งเดี๋ยวนี้เราปฏิบัติกันน้อย
เคยบอกไปแล้วว่าบรรยากาศของสังฆะนี้ให้ไปดูเถอะ เริ่มต้นตั้งแต่หน้าที่อุปัชฌาย์รู้ไหมว่ามีอะไร ในอุปัชฌายวัตรหน้าที่ของอุปัชฌาย์เริ่มต้นคืออะไร ต้องเอาใจใส่ให้สัทธิวิหาริกวัตรได้อุเทศปริปุจฉา เริ่มแรกเลย อุเทศคือการที่จะได้ให้หลักหัวข้อสอนในการศึกษาว่าจะเรียนรู้เรื่องนี้หลักเป็นอย่างนี้ ๆ สอนแล้วปริปุจฉาก็ซักถามกัน พูดจาสนทนา มีอะไรสงสัยก็พูดจาชี้แจงอธิบายจนกระทั่งปรุโปร่งโล่งไปเลย เป็นบรรยากาศของการศึกษาเริ่มต้นจากอุปัชฌาย์เป็นที่เลย หน้าที่ของอุปัชฌาย์จึงได้บอกว่าอุปัชฌาย์ไม่ใช่ผู้ปกครอง แต่อุปัชฌาย์คือผู้ที่เป็นตัวประกันว่าผู้ที่บวชเข้ามาจะได้รับการศึกษา หน้าที่ตัวแรกของตนเองก็คือจะต้องเอาใจใส่ให้สัทธิวิหาริกลูกศิษย์ได้รับอุเทศปริปุจฉา ส่วนการปกครองก็เป็นเครื่องมือของการศึกษาเท่านั้นเอง คือเป็นเครื่องช่วย เป็นเครื่องประกัน เป็นเครื่องจัดดำเนินการเพื่อให้การศึกษาดำเนินไปได้ นี่คือชีวิตของสังฆะ มีสาราณียธรรม 6 ประการนี้ก็จะทำให้เกิดสามัคคี ได้แค่ 3 ข้อแรกก็สบายไปเยอะแล้ว พอได้ข้อที่ 4 อีก ลาภผลมาวัตถุปัจจัยก็ไม่มีการทะเลาะกันแล้ว มีแต่สามัคคีเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกัน ประพฤติตัวก็ดีไม่เป็นที่รังเกียจของหมู่คณะ มีความคิดเห็นอะไรในการศึกษาก็มาถกมาเถียงกันมาเรียนรู้กันด้วยจิตใจที่ใฝ่รู้ใฝ่ธรรมไม่ใช่จะเอาชนะกัน จะมุ่งธรรมะมุ่งความจริงความถูกต้องความดีงาม มันก็ดำเนินไปได้
[42:56] นี่คือชุมชมของสังฆะอยู่ด้วยดีด้วยมีสาราณียธรรมเป็นต้น หลักธรรมตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้มีมากมาย อปริยหานิยธรรมก็เหมือนกัน จะได้ไม่เสื่อม ไม่เฉพาะกับพระด้วยกันนะ บอกแล้วสังฆะนี้ก็เป็นชุมชนจัดตั้งขึ้นมาโดยวัตถุประสงค์ที่สัมพันธ์กับสังคมใหญ่ภายนอกก็คือประพฤติตนเพื่อประโยชน์สุขแก่โลกแก่สังคมใหญ่ข้างนอกนั่นเอง เพราะฉะนั้นก็จะมีความสัมพันธ์กับคฤหัสถ์ คฤหัสถ์สัมพันธ์อย่างไร ตั้งแต่เช้าที่ว่าพระในพุทธศาสนานี้แยกตัวออกไปโดดเดี่ยวไม่ได้ เริ่มต้นอาหารก็ต้องอาศัยญาติโยมเลื่อมใส ต้องประพฤติตัวให้เขาศรัทธา จะไปเที่ยวบอกขอออกปากขออาหารเพื่อตนเองมีความผิดทันทีเลย ไปยืนถ้าเขาไม่ถวายก็ไม่มีสิทธิ์จะบอกขอ นอกจากจะขอให้คนอื่นคือคนอื่นเขาเจ็บป่วยก็ขอได้ แต่ถ้าตัวเองนี้ขอให้ตัวเองเป็นอาบัติ มีความผิด ฉะนั้นถ้าไปยืนแล้วเขาไม่ศรัทธาก็อด ก็เดินต่อไป แต่ถ้าเขาศรัทธาเขาเห็นว่าพระนี้ประพฤติดีน่าเลื่อมใสแล้วต้องมีธรรมะมีไว้ในโลกเพราะฉะนั้นต้องมีพระเพื่อรักษาธรรมะไว้เขาก็เลยมาตักบาตรให้ฉัน พระจะได้ศึกษาและรักษาธรรมะไว้ได้ พระต้องมามีความเกี่ยวข้องกับญาติโยม ก็เลยมีหลักความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์กับคฤหัสถ์ว่าคฤหัสถ์ จะถวายอามิสทานคือถวายอามิสถวายสิ่งของวัตถุปัจจัย 4 พระก็ต้องธรรมทานให้ธรรม อันนี้เป็นหลักใหญ่เลยนะ อามิสทานกับธรรมทาน โยมอามิสทานแก่พระ พระต้องธรรมทานแก่โยม
การไปบิณฑบาตในสมัยก่อนพระพุทธเจ้าก็คือการที่พระองค์ไปโปรดสัตว์ ที่ว่าโปรดสัตว์ก็คือพระองค์จะเทศน์ตอนไปบิณฑบาตนั่นแหละ ก็จะไปพบคนที่เขามีปัญหา คนที่เขามีทุกข์ บางทีพระองค์ก็ก่อนที่จะอรุณก่อนออกไปบิณฑบาตพระองค์ก็จะทรงพิจารณาแล้ว เขาเรียกกันว่าตรวจดู เล็งญาณ ตรวจดูสัตวโลก คนไหนมีญาณแก่กล้า คนไหนมีปัญหาควรจะไปสงเคราะห์เช้านี้ พระพุทธเจ้าไม่ใช่เสด็จไปมุ่งเพื่อภัตตาหารของพระองค์เองหรอก อันนั้นก็เป็นส่วนผลพลอยได้ แต่ว่าจุดหมายก็คือจะไปโปรด เออ! เด็กคนนี้มีปัญหา อย่างในมัฏฐกุลฑลีเคยอ่านไหม มีปัญหาทำอย่างไร พระพุทธเจ้าตรงไปเลยเพื่อไปโปรด นั่นแน่ เด็กชายมัฏฐกุลฑลี เป็นเด็กคนเดียวพระพุทธเจ้าก็ยังเอาใจใส่ บางทีมีคนจนอยู่ที่ต่างเมืองต่างรัฐ พระพุทธเจ้าเสด็จไปองค์เดียวเลยเพื่อไปโปรดคนนั้นเท่านั้น เดินทางแสนจะลำบาก ให้นึกถึงพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้า ไปเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นเราจึงเรียกว่าโปรดสัตว์ เลยเรียกติดกันมาอย่างนี้ เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าก็ให้ธรรมก็เป็นธรรมทาน พระก็ให้ธรรมทานแก่โยม โยมก็อามิสทานถวายแก่พระ ฉะนั้นหลักการของธรรมทานจึงมีอยู่เสมอ
[46:15] แล้วก็มีความสัมพันธ์ระหว่างโยมกับพระอีก ตรัสไว้ ทิศ 6 ทิศที่ 6 อุปริมทิศว่าญาติโยมกับพระสงฆ์ หรือสมัยก่อนเขาเรียกกุลบุตรกับสมณพราหมณ์ เป็นทิศที่ 6 ทิศเบื้องบน ก็มีข้อปฏิบัติต่อกันอีกเพื่อให้อยู่ในสังคมใหญ่อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข เกื้อกูลต่อกัน สังคมจะได้อยู่กันดีร่มเย็นเป็นสุขก็คือเกื้อกูลต่อกันและกัน เราก็ต้องมาทวนว่าพระควรปฏิบัติอย่างไรหรือมีหน้าที่อย่างไรต่อโยม คฤหัสถ์ควรปฏิบัติอย่างไรต่อพระ มองในแง่ของคฤหัสถ์ก็เริ่มต้นที่ทิศ 6 ใครว่าได้บ้างในใจ ข้อ 1 ก็เหมือนกันสาราณียธรรม เหมือนกันเลยเห็นไหม นี่ ๆ พระต่อพระก็ปฏิบัติกันเริ่มต้นที่เมตตากายกรรม พอโยมปฏิบัติต่อพระก็เหมือนกันเลย เมตเตนะ กายกัมเมนะ ด้วยกายกรรมที่มีเมตตา โยมปฏิบัติต่อพระเหมือนกับพระปฏิบัติต่อพระ แต่ว่าอันนั้นเรียกของพระว่าสาราณียธรรม ของโยมนี้อยู่ในทิศ 6 เป็นการปฏิบัติทิศเบื้องบนต่อพระสงฆ์ว่า
1) เมตเตนะ กายกัมเมนะ มีกายกรรมจะทำอะไรก็มีเมตตาแสดงออก เช่น ไปบ้านก็ต้อนรับ หรือช่วยขวนขวายเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาให้ แม้แต่ว่าบางทีโยมก็เคารพมาก ไปที่บ้านสมัยก่อนเขาจะมีตุ่มน้ำวางไว้แล้วโยมก็ตักน้ำล้างเท้าให้พระอย่างนี้เป็นต้น กายกรรมก็มีเมตตามีอะไรช่วยเหลือกัน ที่วัดนี้โยมมาช่วยกันเยอะเลยเป็นเมตตากายกรรม
2) เมตตาวจีกรรม ก็เช่นเดียวกัน พูดอะไรก็พูดกับพระก็ด้วยความรักความปรารถนาดีต่อท่าน มีความเคารพ ศรัทธา
3) เมตตามโนกรรม คิดอะไรก็คิดต่อท่านด้วยดี หวังดี ปรารถนาดี คิดว่าจะแก้ไขปัญหาที่วัด ขาดเหลืออะไรต่ออะไร โยมก็คิดกันเยอะทำกันมา
4) ไม่ปิดประตูบ้าน แปลว่ายินดีต้อนรับ อย่างนี้ก็เรียกว่าเผื่อพระจะได้ไปเยี่ยมโยมบ้างอะไรบ้าง จะได้แสดงธรรมให้ธรรม ไม่ปิดประตูบ้านก็เป็นการเปิดโอกาสให้ได้ธรรมะด้วย
5) อุปถัมภ์ด้วยปัจจัย 4 อันนี้แหละที่ว่าอามิสทาน ถวายอามิสทานต่อพระ
ต่อไปก็หน้าที่ของพระต่อโยมบ้าง ของโยมต่อพระมี 5 ข้อ แต่หน้าที่ของพระต่อโยมมี 6 ข้อ พระต้องทำมากกว่าโยม โยมแค่ 5 พระตั้ง 6 แล้วพระ 6 มีอะไรบ้าง
1) ห้ามปรามจากความชั่ว หน้าที่ของพระต่อโยมนะ โยมจะทำอะไรไม่ดีต้องพยายามหักห้ามบอกกล่าวแนะนำว่า “โยมอย่าไปทำเลย สิ่งนี้ไม่ดีหรอกมันเบียดเบียนกัน หรือจะทำให้ชีวิตตกต่ำเสียหาย” ห้ามปรามจากความชั่ว ปาปา นิวาเรนฺติ
2) กลฺยาเณ นิเวเสนฺติ แปลว่าให้อยู่ในความดี สั่งสอนแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณธรรม ในความดี ในกัลยาณะสิ่งที่ดีงามทั้งหลาย เอาละข้อ 2 แล้วหน้าที่ของพระต่อโยมให้โยมตั้งอยู่ในความดี
3) อนุเคราะห์ด้วยใจอันงาม โยมมาวัดแล้วพระก็อนุเคราะห์ต่าง ๆ โยมจะไปไหน ต้องการอะไร อยากจะได้หนังสือธรรมะอะไรหรือจะช่วยหาให้ อนุเคราะห์ต่าง ๆ บอกกล่าว “โยมอยากจะรู้เรื่องนี้นะ” “ไปโน้น ไปที่อาจารย์องค์นี้ท่านจะมีความรู้ดีสั่งสอน” อย่างนี้เรียกว่าอนุเคราะห์ด้วยความปรารถนาดี คือมีความเอื้อเฟื้อ ให้โอกาสแก่ญาติโยม ช่วยเหลือญาติโยมในสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลความดีงาม
4) ให้ได้ยินได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยได้ยิน ให้ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง หมายความว่าให้โยมได้เรียนรู้ได้ศึกษาได้รู้ธรรมะ ธรรมะนี้โยมยังไม่รู้ก็ให้ได้รู้ เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องอะไรต่าง ๆ หลักธรรมทั้งหลาย มีโอกาสก็แนะนำบอกโยม แม้แต่เรื่องสิ่งภายนอก สิ่งที่จะเป็นการบอกกล่าวให้ความรู้ ความรู้ที่ดีงามเป็นเรื่องของสิ่งที่เกื้อกูลต่อชีวิตเป็นประโยชน์ไม่เสียหายก็ให้โยมได้ยินได้ฟัง
5) ทำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังได้รู้แล้วให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ถ้าโยมยังมีข้อสงสัยอะไร ยังรู้ไม่ชัด พระลองถามดูแล้วโยมยังพูดไม่ค่อยถูก พระก็ช่วยชี้แจงอธิบายให้โยมเข้าใจให้ชัด
6) บอกทางสวรรค์ให้ คือบอกวิธีดำเนินชีวิตที่ดีงาม ให้ทำสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ พูดง่าย ๆ ก็กลายเป็นว่าทางสวรรค์ เหมือนอย่างที่มีเรื่องในคาถาอื่นท่านแนะนำไว้ เช่น โยมปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน ขุดบ่อน้ำ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์อย่างนี้พระพุทธตรัสไว้ว่านั่นกำลังเดินทางสวรรค์ เป็นต้น พระก็บอกทางสวรรค์แบบนี้ให้โยมทำความดีสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ก็ทำไป อันนี้เป็นหน้าที่ของพระต่อโยม เป็นความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสังฆะกับญาติโยมภายนอก
[53:14] เอาละก็พูดมามากมายแล้ว ให้เห็นว่าเรื่องของพระสงฆ์ท่านมีชีวิตชุมชนที่เรียกว่าสังฆะ แต่เป็นชุมชนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อจุดหมายอันหนึ่งอันเดียวกันที่ชัดเจน แล้วทุกคนก็มุ่งไปสู่จุดหมายนั้นโดยมีวินัยเป็นระบบการจัดตั้งระบบการจัดระเบียบชุมชนหรือสังคมนั้นให้อยู่กันด้วยดี จะได้มีสภาพแวดล้อมบรรยากาศที่เอื้อต่อบุคคลนั้นในการที่จะดำเนินชีวิตทำกิจของตนโดยเฉพาะในการศึกษาพัฒนาชีวิตของตนสู่จุดหมายทางธรรมะนั้นต่อไป อันนี้คิดว่ามันเป็นหลักการที่ใช้ได้ทั่วไป ในสังคมคฤหัสถ์ก็เหมือนกันที่จริงจะต้องเข้าใจอันนี้
วินัยท่านไม่ถือเป็นข้อบังคับ วินัยแปลว่าเครื่องนำไปให้วิเศษ แปลว่าเครื่องฝึกคนเพื่อไปสู่ความดีงามยิ่งขึ้นไป
เราไปแปลวินัยเป็นข้อบังคับบ้างอะไรบ้าง เลยเป็นคนไทยนี้แปลกแยกจากพุทธศาสนา ไม่รู้จักว่าข้อที่เราเรียกข้อบังคับในพุทธศาสนาไม่มี มีแต่สิกขาบท วินัยแยกเป็นแต่ละข้อ แต่ละข้อเรียกว่าสิกขาบท สิกขาบทแปลว่าอะไร ก็มาจากคำว่า สิกขา + บท บทแปลว่าข้อ สิกขาแปลว่าศึกษา สิกขาบทก็ข้อศึกษา ที่ท่านบอกว่าไม่ต้องทำอย่างนี้ ๆ ก็เป็นข้อศึกษาที่จะได้ฝึกตน แล้วเรารู้ว่าเราฝึกเพื่ออะไร มีจุดหมายดีงาม เราก็ฝึกต่อไป เพราะฉะนั้นเราก็มีกำลังใจ ไม่ฝืนใจ ไม่ทุกข์ เรามีจิตใจที่จะปฏิบัติตามวินัยด้วยจิตใจที่รู้ตัวว่าเราจะได้ฝึก เราจะได้พัฒนา เราก็เต็มใจที่จะปฏิบัติตามสิ เหมือนกับกฎหมายมาตราโน้นว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ ถ้าไปมองเป็นข้อบังคับ แหมมากดเรา เราไม่อยากทำเลย มันทุกข์ แต่ถ้ามองว่ากฎหมายเขาตั้งไว้แต่ละข้อเขามีเหตุผลเพื่อจะรักษาสังคมนี้ไม่ให้เบียดเบียนกัน ให้อยู่กันดี แล้วดำเนินไปสู่จุดหมายที่ดีงามของสังคม พอมองอย่างนี้แล้วมันก็กลายเป็นเครื่องฝึก เป็นข้อหมายรู้กันจะได้ปฏิบัติเพื่อความดีงามของส่วนรวม กฎหมายแปลว่ากฎที่หมายรู้ แปลว่าข้อที่เราหมายรู้ไว้ว่าเราจะต้องทำอย่างนี้ สังคมที่ดีคือมีกฎหมายคือกฎที่หมายรู้ร่วมกัน
1) กฎหมายหรือว่าวินัยสำหรับคนที่ยังไม่พัฒนากลายเป็นเครื่องบังคับ นี่คือคนที่ไม่พัฒนา
2) สำหรับคนที่กำลังพัฒนากลายเป็นเครื่องฝึก อย่างวินัยนี้เป็นเครื่องฝึก แต่ละข้อนี้ให้รู้ว่าเราได้ฝึกตัว ท่านบัญญัติไว้เพื่อให้เราได้ฝึกตัว เรารู้ว่าเราต้องทำอันนี้ เพื่อประโยชน์แก่เราเองและสังคมของเรา ได้ฝึก กฎหมายของรัฐของประเทศถ้าเป็นกฎหมายที่ดี ไม่ดีเราต้องแก้ต้องให้ได้จุดหมายนี้ เพื่อให้คนแต่ละคนได้ฝึกตัวเอง ชุมชนนั้น สังคมนั้น หรือสมาคมเป็นต้น เขาจะได้อยู่กันดี เขาจะได้จัดระเบียบเพื่อให้บรรยากาศได้เอื้อต่อคนแล้วทำงานทำการได้ผลดี สำหรับคนที่ยังศึกษากฎหมายและวินัยก็เป็นเครื่องฝึก
3) สำหรับผู้ที่บรรลุธรรมเป็นอเสขบุคคลอย่างพระอรหันต์ จบแล้ว วินัยหรือกฎหมายเป็นเครื่องหมายรู้ว่าที่เราจะอยู่กันนี้สังคมเราจะดีได้ อ๋อ! ตกลงกันว่าต้องทำอย่างนี้ ก็หมายรู้ว่าเอาละนะทำอย่างนี้ เขาตกลงว่าอย่างไร ว่าอย่างนี้ เอ้า! หมายรู้ไว้ กำหนดรู้ไว้ เรียกว่าสัญญาไว้ สัญญาคือกำหนดหมาย ต้องทำอย่างนี้นะ ก็ได้ความสิ พระอรหันต์ไม่ต้องรู้สึก ไม่รู้สึกบังคับ ไม่รู้สึกต้องฝึกเพราะท่านฝึกเสร็จแล้ว แต่ท่านหมายรู้ว่าเราต้องปฏิบัติ แล้วพระอรหันต์ก็กลายเป็นผู้นำในการปฏิบัติตามวินัยตามกฎหมาย เป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้อื่นโดยไม่ต้องบังคับฝืนใจ เพราะฉะนั้นกฎหมายบ้านเมืองควรเอาอย่างวินัยของพระที่ว่า 3 ประการนี้
กฎหมายต้องเลิกมองเป็นข้อบังคับ ถ้าเป็นข้อบังคับแสดงว่ามันมีจุดอ่อนมีผิดพลาดอะไรเราก็ต้องพยายามไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนั้นให้มันได้ผล กฎหมายเป็นเครื่องฝึกคน อ้าว! เมื่อกี้พูดไปแล้วลืมแล้ว ไม่ใช่หมายรู้นั้นขั้น 3 แล้ว บังคับนั้นขั้นใช้ไม่ได้
1) เป็นบังคับนี่ใช้ไม่ได้ผิด
2) เป็นเครื่องฝึกตน นี่ดี เริ่มเดินหน้าพัฒนาแล้ว
3) ก็เป็นเครื่องหมายรู้ว่าสังคมของเราชุมชนของเราเอาอย่างนี้นะ แต่ว่ามันมีเหตุผลเพื่อวัตถุประสงค์ที่ดีงามอย่างใดอย่างหนึ่งจึงตั้งขึ้นมา
[58:45] วันนี้ก็เลยพูดถึงชีวิตสังฆะให้เข้าใจว่าที่เรามาตรงนี้พรุ่งนี้สังฆะนี้ก็จะเริ่มชีวิตที่อยู่ร่วมกัน 3 เดือน ไตรมาส ฉะนั้นเราก็ต้องนำเอาธรรมะเข้าปฏิบัติพระพุทธเจ้าสอนไว้ โดยหลักการอย่างที่ว่านี้ อยู่อย่างที่มีความเมตตาหวังดีปรารถนาดีต่อกัน ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อกันตามหลักสาราณียธรรม 6 ประการ ให้มีบรรยากาศเป็นปิยจักขุ เป็นน้ำกับน้ำนม ไม่ใช่น้ำกับน้ำมัน แล้วก็อยู่กันดีก็มีความสุข พอสังฆะอยู่ดีมีความสุขมีความสามัคคีพระที่ประพฤติดีประพฤติชอบมีความเรียบร้อยสวยงามสังฆะนั้นก็เป็นโสภณะ เป็นสังฆะที่งดงาม พอสังฆะนี้งดงามญาติโยมก็มีจิตเลื่อมใสพระแต่ละองค์ ท่านเรียกว่าเป็น ปสาทนีย์ ปสาทนีย์ก็เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส มีศีลก็ดี ศีลาจารวัตรเรียบร้อยงดงาม มีจิตใจดี มีเมตตากรุณา มีความเอื้อเฟื้อ หวังดีต่อญาติโยม ปัญญาก็ดีมีความรู้ ตอบปัญหาธรรมะให้โยมได้ บอกความรู้ให้โยมได้ ให้รู้เข้าใจ ให้โยมได้ยินสิ่งที่ไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง ทำสิ่งที่รู้ที่เคยฟังแล้วให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง มีปัญญาแนะนำได้ด้วยก็เรียกว่าเป็นปสาทนีย์เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส โยมมาวัดโยมก็ได้ประโยชน์จากวัดไป ได้ธรรมทาน ได้พัฒนาจิตใจมา ได้รับความสงบจิตใจก็ชื่นใจได้มาในสภาพแวดล้อมสถานที่เป็นรมณีย์ เรียนไปเยอะ ไปเรียนเอานะ รมณีย์วันนี้ก็เน้นอีก
วัดสถานที่เป็นรมณีย์ พระต้องเป็นปสาทนีย์
โยมจำไว้ ถ้าได้ 2 อย่างนี้แล้วใช้ได้ วัด ตัววัด บริเวณวัด สถานที่ ตั้งแต่ดินตั้งแต่ถนนสะอาด เป็นต้น ก็ดูร่มรื่น สงบ อะไรสบายทำให้จิตใจร่าเริงเบิกบานสงบผ่องใส เรียกว่ารมณีย์ ศัพท์นี้พระพุทธเจ้าเน้นมาก แม้แต่ที่อยู่โยมก็ต้องเป็นรมณีย์นะ ศัพท์นี้เป็นศัพท์หลักสำคัญเลยพื้นฐาน เป็นตัวพื้นฐานในการพัฒนามนุษย์สภาพรมณีย์ รมณีย์ทำวัดต้องเป็นรมณีย์ สมัยก่อนนี้พระต้องกวาดวัดกันทุกวันเลย เป็นกิจวัตร เมื่อโยมมาวัดก็ใจสบายแล้วรมณีย์รื่นรมย์รมรื่น ใจสบายสงบแล้ว ใจเป็นกุศลแล้วที่นี่ก็ศึกษาธรรมฟังธรรมก็เจริญงอกงาม ที่นี่ก็ปสาทนีย์เมื่อเจอพระก็เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส ก็ได้ฟังธรรมได้อะไรต่ออะไรก็มีแต่ได้เจริญงอกงาม วัดก็เป็นแหล่งที่ช่วยให้ธรรมะแก่โยมและเป็นที่พัฒนาสังคม เป็นแหล่งของการศึกษาเรียนรู้พัฒนามนุษย์ อย่างนี้แหละถ้าเราปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้แล้วก็ดีเจริญงอกงามด้วยกัน สังฆะแต่ละองค์ของพระภิกษุก็เจริญงอกงาม ตัวสังฆะส่วนรวมก็มั่นคงสามัคคีแล้วก็มีความดีงาม มีความน่าเลื่อมใสแล้วรักษาพุทธศาสนาไว้ได้ ส่วนญาติโยมมาก็ทำให้ญาติโยมได้เจริญธรรมเจริญปัญญาแล้วพัฒนาชีวิตต่อไป แล้วโยมก็นำธรรมะไปใช้ไปสอนบอกต่อในหมู่โยมอีกที่ครอบครัวกับลูกหลานเป็นต้น โยมก็มีอย่างที่บอกคราวที่แล้ว โยมบางท่านก็เป็นเอตทัคคะ ในความเป็นพหูสูตเป็นผู้ทรงบางส่วนของพระไตรปิฎกรักษาไว้ให้พุทธศาสนาอย่างนี้เป็นต้น โยมก็เป็นธรรมกถึกเอง อย่างจิตตคหบดีเป็นเอตทัคคะในการแสดงธรรม สังคมก็จะไปดีอย่างนี้ เรามาช่วยกันนำหลักธรรมไปใช้ไปปฏิบัติด้วยความเข้าใจความมุ่งหมายสาระที่แท้จริง
วันนี้ก็เลยพูดเสียยืดยาว ก็เอาละ ไม่รู้พูดไปยาวเท่าไรแล้ว ก็ขอโมทนาทั้งพระทั้งโยม ก็พระได้มาทำสามีจิกรรมเรียกว่าทำวัตรกันแล้ว ก็เป็นอันว่าขอตั้งใจปรารถนาดีต่อกัน ก็ขอให้สพรหมจารีทุกท่านเป็นอยู่ดีมีสัปปายะเกื้อหนุนแก่การศึกษาปฏิบัติเจริญงอกงามแล้วก็ก้าวหน้าในพระธรรมวินัยเพื่อจะได้เจริญไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ไปสู่จุดหมายคือวิมุตติและความหมดไม่มีทุกข์ มีแต่สุข แล้วก็จะได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ญาติโยมสังคมต่อไป แล้วก็ขอให้ญาติโยมก็เช่นเดียวกัน ได้เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย เจริญธรรม เจริญปัญญา พาตนเอง ชีวิตครอบครัว สังคม ตลอดจนทั้งโลกนี้ให้เจริญงอกงามร่มเย็นเป็นสุขในระยะยาวอย่างยั่งยืนทั่วกันทุกเมื่อเทอญ