แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
[00:00] บทบาทของพ่อแม่ แน่แท้ช่วยให้ลูกศึกษา ช่วงที่ 2
ใน 3 อย่างนี้เรียกว่าเป็นด้านความรู้สึก แล้วก็ข้อ 4 ก็เป็นด้านความรู้ คือ [00:09] พ่อแม่จะต้องรู้ความจริงว่า อ้อ ลูกไม่ได้อยู่กับเราตลอดชีวิตนะ ลูกอยู่กับความเป็นจริงของโลกของชีวิต ร่างกายชีวิตของเขาก็เป็นธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ เขาออกไปอยู่ในสังคมก็ต้องอยู่ในกติกาสังคม โลกชีวิตต่าง ๆ มันไม่ตามใจเราหรอก ไม่ตามใจเขาหรอก เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมเขาให้พร้อมที่จะไปรับผิดชอบชีวิตของเขาเอง ตอนนี้พ่อแม่ก็เลยใช้อุเบกขาหาแบบฝึกหัดมาให้ลูกทำ อย่างที่ว่า ดูให้ลูกทำ ตอนนี้ลูกคนนี้จะเข้มแข็ง รับผิดชอบตัวเองได้ เพราะฉะนั้นเราต้องหันกลับมาเน้นเรื่องการศึกษาในครอบครัว แม้แต่ขั้นพื้นฐานแค่นี้ก็ไม่ค่อยไหวกันแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ครอบครัวนี่หายากเหลือเกินที่ทำหน้าที่แค่ 2 อย่างนี้นะ ทีนี้ต่อไปเอาหล่ะยังไม่พอ ถ้ามีเวลาต่อไปก็จะพูดถึงบทบาทของพ่อแม่ในการนำเข้าสู่การศึกษาขั้นสูงขึ้นไปล่ะ ทีนี้ก็เข้าสู่ชีวิตของลูกที่จะเดินหน้า ซึ่งจะเป็นการพัฒนาก้าวไปสู่ความสมบูรณ์ พร้อมที่จะไปอยู่ในโลก พร้อมที่จะไปสร้างสรรค์โลกและมีชีวิตที่ดีงามมีความสุข
[01:33] ชีวิตคน มี 3 ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา
อะไรหล่ะ ตอนนี้พ่อแม่ก็จะช่วยลูกในเรื่องของ [01:38] การพัฒนาตัวชีวิตเขาเอง ชีวิตของตัวเขานี่นะมีอะไรบ้าง ชีวิตของคนเราที่ดำเนินอยู่นี่มี 3 ด้านด้วยกัน
ด้านที่ 1 คือ ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในทางกาย วาจา ใช่ไหม อันนี้เป็นตัวที่ปรากฏชัดก่อนเลย เราอยู่ร่วมในโลกนี้ เราก็สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมมี 2 ประเภท คือ 1) สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ แม้แต่อาหารการกิน สิ่งที่เราได้พบเห็น แม้แต่โบสถ์ แม้แต่หลวงพ่ออะไรต่าง ๆ ที่มาพบ ญาติมิตรครูอาจารย์นี้เป็นสิ่งแวดล้อมสำหรับเราทั้งนั้น เราต้องใช้กาย วาจา ในการสัมผัสแสดงออก ต่อไป 2) ชีวิตของเราดำเนินอยู่ได้ด้วยอะไร ก็บอกว่าด้วยจิตใจ เราจะมีพฤติกรรมกาย วาจา แสดงออกสัมพันธ์อย่างไรเนี่ย มันไม่ปราศจากด้านจิตใจ อย่างน้อยมันต้องมีความตั้งใจ ต้องมีเจตนา ต้องมีเจตจำนง เราจะเคลื่อนไหวกายสักอย่างหนึ่ง จะเดินไปไหน จะเอามือไปหยิบอะไร เราจะพูดอะไรนี่ เรามีความตั้งใจ ฉะนั้นจิตใจมาเชื่อมทันที เป็นตัวชักใยอยู่เบื้องหลัง จิตใจทำหน้าที่ตลอดเวลาที่เราเคลื่อนไหวพฤติกรรม ตั้งใจอย่างไร เจตนาอย่างไร อยู่ที่แรงจูงใจ อยู่ที่คุณสมบัติ แรงจูงใจโลภอยากได้ แรงจูงใจโกรธอยากทำร้าย อันนี้จะแสดงออกมาโดยความตั้งใจ ในทางพฤติกรรมกาย วาจา เคลื่อนไหว พูดจาก็จะเป็นไปตามนั้น ฉะนั้นพฤติกรรมกาย วาจา ไม่ได้เป็นอิสระต้องมีจิตใจประกอบด้วย
เอาหล่ะนะ 2 ด้านจิตใจ แล้วจิตใจนั้นก็มีอะไรบ้าง มีจิตใจที่มีคุณธรรมความดีหรือไม่ เช่น โกรธอยากทำร้าย หรือมีเมตตากรุณา รักใคร่ ปรารถนาดี นี่เป็นพวกคุณธรรม หรือว่ามีสัมพันธภาพไหม จิตใจเข้มแข็งหรืออ่อนแอ เจออะไรแล้วถอย เจอปัญหาปั๊บไม่สู้แล้ว ยอแยงอแง หรือว่าเจอปัญหาแล้วสู้ ต้องทำ อย่างที่ว่ามีคติ มีจิตสำนึกในการฝึกตนว่า เจอปัญหาเลยเจอแบบฝึกหัด ถ้าเราทำแบบฝึกหัดสำเร็จ คือเราได้ก้าวหน้าขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ฉะนั้นเราก็อยู่ที่นี่เรียกว่าสมรรถภาพทางด้านจิตใจ มีความเพียร มีความเข้มแข็ง มีความรับผิดชอบ มีสติ มีความยั้งคิด มีการรู้จักควบคุมตนเองได้ มีสมาธิ มีจิตใจแน่วแน่ จิตอยู่กะ?? ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน หมายความว่า จะทำอะไรใจอยู่กับสิ่งนั้นได้แน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วอกแวก อันนี้ก็เป็นเรื่องของสมรรถภาพจิตใจ แล้วอีกอันก็คือความสุขความทุกข์ จิตใจขุ่นมัวเศร้าหมอง ว้าเหว่ เบื่อหน่าย หรือเป็นจิตใจที่ร่าเริงเบิกบานผ่องใสสดชื่น มีความสุข อันนี้เป็นด้านจิตใจ แล้วมันจะมีผลออกมาทางพฤติกรรมหมดเลย
แล้วทีนี้อีกอันหนึ่งคืออะไร คือด้านปัญญา ชีวิตมนุษย์ของเรานี่ไม่ขาดปัญญา ทุกขณะที่เราเคลื่อนไหวพฤติกรรมนั้น เราจะพูดอะไร เราจะทำอะไร แม้แต่จะเดินเนี่ยเราต้องมีความรู้ ถ้าเราไม่รู้เราเดินไม่ได้ แล้วไม่รู้จะเดินไปอย่างไร เดินไปไหน เรารู้ที่หมายที่ไป เรารู้ว่าเราอยู่ที่ไหน แล้วก็เรารู้แค่ไหน เราทำได้แค่นั้น ใช่ไหม เรารู้แค่ไหน พฤติกรรมของเราก็ทำได้แค่นั้น เราก็ขยับเขยื้อนได้แค่นั้น แล้วก็พูดจาได้แค่นั้น จิตใจของเราก็เหมือนกันต้องอาศัยปัญญาความรู้ ถ้าเราไม่รู้ เราเจออะไรปั๊บ อึดอัดขัดข้องทันที ลองเจออะไรที่ไม่รู้สิ มันคืออะไร มันเป็นอย่างไร มันจะเอายังไงกับเรา อึดอัดขัดข้องมีความทุกข์บีบคั้นจิตใจทันที ฉะนั้นไม่รู้นี้มาคู่กับทุกข์ แต่พอรู้ว่ามันคืออะไร เป็นยังไง เราจะทำอะไรกับมันเนี่ย โล่งทันที เพราะฉะนั้นปัญญาความรู้นี่ทำให้จิตใจเป็นอิสระ ปัญญาความรู้เป็นตัวทำอย่างไรบ้าง ชี้นำ บอกทาง ขยายขอบเขต เราเคยรู้เราเคยทำได้แค่นี้ พอความรู้มานี้มันขยายขอบเขตทันทีเลย ทำให้เราทำได้กว้างขวางซับซ้อนยิ่งขึ้น มันเป็นตัวปลดปล่อยให้เป็นอิสระ เราไม่รู้ปั๊บอึดอัดขัดข้องบีบคั้น พอรู้ปั๊บโล่งทันทีเลยเป็นอิสระ พฤติกรรมการเคลื่อนไหวติดขัดอยู่ พอปัญญารู้ปั๊บโล่งไปได้ตลอด เพราะฉะนั้นปัญญานี้หน้าที่สำคัญที่สุดของมันคือเป็นตัวปลดปล่อย เป็นตัวทำให้เป็นอิสระ ฉะนั้นทำให้พฤติกรรมเป็นอิสระ ทำให้จิตใจเป็นอิสระ
ชีวิตของคนเราที่ดำเนินตลอดเวลาเนี่ยก็คือการใช้ 3 ด้านของชีวิตนี้
1) พฤติกรรมกายวาจาสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุและทางสังคม
2) จิตใจของเราที่มีคุณธรรม หรือมีกิเลส แล้วก็มีสมรรถภาพหรือไม่ แล้วก็มีความสุขหรือไม่ แล้วก็
3) เรื่องปัญญาความรู้ของเรา ที่จะเข้าใจสิ่งทั้งหลายได้ถูกต้อง แล้วรู้จักใช้ความคิดให้ถูกทางให้สำเร็จ
[06:51] รู้จักชีวิตทั้ง ๓ ด้าน ตามหลักไตรสิกขา
อันนี้พ่อแม่ก็ต้องมาช่วยลูกในการพัฒนา 3 ด้านนี้ 3 ด้านนี้มันเป็นคำที่ยาวจะเรียกให้สั้นว่าอย่างไร ใครทราบบ้าง
1) ด้านความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางวัตถุและทางสังคม ด้วยกายวาจา ใช้ศัพท์สั้นว่าอะไร นี่แหล่ะ อ้าวทีนี้จะเฉลย เราไปติดศัพท์แล้วเราก็ไปติดกับความคิดความเข้าใจเก่า ๆ โดยแปลความหมายไม่เป็น อันนี้เรียกว่า ศีล หลายคนนึกไม่ออก เอ๊ มันจะเป็นศีลได้อย่างไร นี่แหล่ะศีลแหล่ะ อ้าวให้ความหมายอีกที ศีลคือการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งทางวัตถุและทางสังคมด้วยกายวาจาของเรา
ต่อไปด้านที่ 2) ด้านจิตใจ ที่มีคุณธรรมหรือมีกิเลส แต่เราต้องการให้มีคุณธรรมความดี แล้วก็มีสมรรถภาพเข้มแข็ง เป็นต้น พร้อมทั้งมีความสุขสดชื่นเบิกบานผ่องใส อะไร ตัวนี้คืออะไร เรียกสั้นที่สุดคือ สมาธิ ตอนนี้ชักเริ่มคาดหมายได้แล้ว เอาหละตอนนี้พอเห็นแนวแล้วนี่ พอเริ่มศีลมาฉันก็เดาได้เหมือนกัน ก็เพราะฉะนั้นศีลมันก็ต่อด้วยสมาธิ ถูกต้อง สมาธิบ้างทีพระท่านเรียกว่า อธิจิตตสิกขา ด้านจิตใจ
ต่อไปด้านที่ 3) ความรู้ความเข้าใจ อันนี้ไม่ต้องทายแล้ว ได้อยู่แล้วทุกคน ก็คือปัญญา เอานะ 3 อัน นี่คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าใครจะมาถามศีล สมาธิ ปัญญา อธิบายในภาษาสมัยใหม่ อธิบายให้ถูกต้อง นี่คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ทีนี้พ่อแม่ก็ต้องมาช่วยสิ ลูกเนี่ยจะดำเนินชีวิตของเขาต่อไปในโลกนี้ ตลอดชีวิตเขาใช้ 3 อย่างนี้เท่านั้นแหล่ะ แล้วเขาจะต้องพัฒนา 3 ด้านนี้ให้สมบูรณ์ ถ้าเขาพัฒนาได้ดีเท่าไร เขายิ่งมีชีวิตที่ดีที่ประเสริฐเท่านั้น โดยเฉพาะด้านปัญญานี้จะต้องพัฒนากันอย่างยิ่งเลย พัฒนาจนกระทั่งปัญญานั้นเป็นโพธิญาณเลย แล้วปัญญาตรัสรู้ อ้าวทีนี้ พ่อแม่ก็พัฒนา อาตมาก็จะยกตัวอย่างเช่นเรื่องศีลก่อน
[09:31] พัฒนาชีวิตด้วย “ศีล” เริ่มตั้งแต่ในครอบครัว
[09:31] ศีลนี่พวกเรามักจะไปนึกถึง โอ “ปาณาติปาตา เวรมณี” อันนั้นก็ถูกใช่ อันนั้นเรียกว่าศีล 5 คือ เว้นจากปาณาติบาต เป็นต้น ก็ไม่ผิด แต่มันไม่พอ เอานะไม่ผิดแต่ไม่พอ เพราะว่าศีลไม่ใช่แค่นั้น ศีลอันนั้นเป็นศีลในแง่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม ถ้าต้องการให้มนุษย์ไม่เบียดเบียนกันไม่แย่งชิงกันเกินไป พออยู่กันได้ โลกไม่ลุกเป็นไฟ ท่านก็เลยให้ศีล 5 มา สำหรับอยู่กับเพื่อนมนุษย์ แต่ว่าศีลในด้านสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุล่ะ อันนี้ที่เรามักจะไม่ค่อยมองแล้วพระท่านเน้นมาก เมื่อกี้บอกแล้วว่าเราเกิดมามีอะไรติดมา ที่จะทำให้เรานี่ได้หาความรู้ได้ศึกษา ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วเราก็เอาตา หู จมูก ลิ้น กายของเรานี่แหล่ะสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เราสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยตาก็คือดู สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยหูก็คือฟัง สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยจมูกก็ดมกลิ่น สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วยลิ้นก็คือลิ้มรส เป็นต้น
กายสัมผัสอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์จะใช้มาก 3 คือ 1) ใช้ตา 2) ใช้หู 3) ใช้กายสัมผัส สัมผัสกาย 3 ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ ทีนี้คนเราก็หาความรู้อย่างนี้ การสังเกตปรากฏการณ์อะไรต่าง ๆ ก็ใช้พวกอินทรีย์เหล่านี้ ทางพระท่านเรียกอินทรีย์ เราต้องใช้เป็น การใช้อินทรีย์สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมให้เป็น นี่คือศีลประเภทสำคัญที่เราจะต้องเริ่มตั้งแต่ในครอบครัว ถ้าพ่อแม่ไม่รู้หลักนี้ก็ไม่ได้ใช้ตา หู จมูก ลิ้น ของลูกให้เป็นทางของการศึกษา ไม่ช่วยลูกเลย แล้วพ่อแม่ก็ทำหน้าที่แสดงโลกแก่ลูกนี้ไม่เป็น พอแสดงโลกแก่ลูกจะแสดงทางไหน ทางตาทางหูใช่ไหม ให้ลูกได้ดูได้ฟัง ลูกก็ใช้ไม่เป็น ก็เอาตาไปดูทีวีรายการที่มันโหดร้ายเป็นต้น อย่างที่ว่าเมื่อกี้ก็กลายเป็นเสียไป
อันนี้เราก็เริ่มล่ะทีนี้ ถ้าใช้ตาหูเป็นต้นสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมให้เป็น สัมพันธ์ยังไง สัมพันธ์โดยที่ว่าให้เกิดประโยชน์ การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมก็จะได้ 2 อย่าง คือ 1) ได้ความรู้ หาความจริงให้ได้ 2) ได้ประโยชน์แก่ชีวิต เอามาใช้ เช่น ในการแก้ปัญหา เป็นต้น จำไว้เลยมันมี 2 อันที่เราจะต้องให้ได้ในการสัมพันธ์ มองเป็น ฟังเป็น คือมองให้ได้ความจริงกับมองให้ได้ประโยชน์ ถ้ามองไม่เป็นก็ไปติดที่ความรู้สึกคือความชอบใจ-ไม่ชอบใจ ใช่ไหม จบ ถ้าคนที่ติดอยู่กับชอบใจ-ไม่ชอบใจนะ ตาดูหูฟัง ถูกใจถูกตาถูกหูก็ชอบใจก็สุข เจอสิ่งไม่ชอบใจไม่ชอบหูก็เป็นทุกข์ ก็อยู่แค่นั้นไม่ได้อะไร แต่คนที่เป็นนี่ไม่ว่าอะไรชอบใจ-ไม่ชอบใจ ฉันนี้รู้เป็นหมด ฉะนั้นฉันก็มองเป็นดูเป็น ก็ได้ความรู้ ฉะนั้นก็เป็นอันว่า
แม้แต่สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเนี่ย คนที่มีการศึกษาเขาจะใช้ตาหูให้ได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นมันไม่มีอะไรเลยที่เราจะไม่สามารถหาประโยชน์ได้
ฉะนั้นถ้าเป็นวิถีพุทธจะต้องตั้งแนวคิดนี้ไว้เลยว่า “ไม่มีอะไรเลยในโลกนี้ที่เราจะหาประโยชน์ไม่ได้” 1) หาความรู้ที่จะได้คติต่อชีวิต สิ่งเลวร้ายก็เป็นคติแก่เราได้ แล้วแน่นอนที่เราได้ก็คือความจริง นักวิทยาศาสตร์เขาไปสังเกตปรากฎการณ์ เขาหาความรู้ หาความรู้จากสิ่งที่เป็นปัญหานะ ใช่ไหม ใครเขาไปหาความรู้จากสิ่งที่ไม่เป็นปัญหา เขายังไม่รู้ว่าเป็นปัญหาแล้วเขาก็ไปหาความรู้ ฉะนั้นคนที่จะพัฒนาจึงบอกว่าต้องเจอแบบฝึกหัดและเจอปัญหาและแก้ปัญหา เขาก็เรียนรู้ไป แล้วก็ใช้ตาหูให้เป็น เอาล่ะอันที่ 1 นี่ศีลแล้ว ศีลคือใช้ตาหู เป็นต้น ที่เรียกว่าอินทรีย์นี้ให้เป็น ให้ได้ความจริงและได้ประโยชน์
[14:01] แล้วเราฝึกกันไหม ถ้าเด็กวัน ๆ หนึ่งก็ไม่มีอะไร ใช้ตาดูหูฟัง ได้แต่เสพ ได้แต่ความชอบใจ-ไม่ชอบใจ ดูทีวีก็ได้แค่สนุกสนานบันเทิงลุ่มหลงมัวเมาอะไรอย่างนี้ก็แสดงว่าไม่มีศีล ถ้าหากว่าดูเป็นฟังเป็นก็มีศีล อันนี้ศีลนี้ท่านเรียกว่า อินทรียสังวรศีล ศีลที่เกี่ยวกับการรู้จักใช้อินทรีย์ ศีลเริ่มต้นที่บ้านแล้วเห็นไหม ถ้าพ่อแม่ชักนำลูกเป็นก็เริ่มให้ลูกได้พัฒนาศีล คือความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทุกอย่างเป็น ไปเจอธรรมชาติ ได้รู้จักได้สัมผัสกับมัน ได้ความสวยงาม ได้เรียนรู้ อะไรคืออะไร เป็นอะไร เรียนรู้เพิ่มทุกวัน ไม่อยู่แค่ชอบใจ-ไม่ชอบใจ
ยังมีอีกอาตมาจะยกตัวอย่าง ศีลที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ชีวิตของคนเราทุกคนเกิดมาพอเริ่มชีวิตก็ต้องกินอยู่ เป็นอยู่ต้องบริโภค การบริโภคเช่นบริโภคอาหารเป็นต้น เราต้องกินอาหารจึงอยู่ได้ พอกินเราก็สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางวัตถุทันที การกินการบริโภคการใช้สอยต่าง ๆ นี้ คือความสัมพันธ์พื้นฐานของชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ทีนี้ถ้าเราสัมพันธ์ไม่เป็นก็เกิดโทษ เช่นกับอาหารเราสัมพันธ์เป็นไหม ถ้าเราสัมพันธ์เป็น เราก็กินอาหารเป็น เพราะฉะนั้นพระท่านจะสอนเริ่มต้นด้วยศีลในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางด้านวัตถุปัจจัย 4 สิ่งเสพบริโภค บอกว่า ถ้าท่านจะกินอาหารให้ถามก่อนว่ากินเพื่ออะไร ตอบได้ไหม ต้องหัด เด็กโตมาในบ้าน ตอนแรกแกก็ติดเรื่องอร่อยก่อน ใช่ไหม อร่อย-ไม่อร่อย ถ้าพ่อแม่ไม่ให้การศึกษาแก่ลูก ไม่ชักนำในการศึกษาก็ติดอยู่แค่สนองความต้องการอร่อย-ไม่อร่อยของลูกก็จบอยู่เท่านั้นแหล่ะ
ทีนี้ อร่อย-มันไม่อร่อยนี่ มันไม่แน่ว่าจะเป็นคุณเป็นโทษแก่ชีวิตไม่เด็ดขาด เราก็ต้องมีความรู้เพื่อที่จะรู้ว่า เออ เรากินนี้เพื่ออะไร เรากินเพื่ออร่อย เรากินเพื่อโก้เก๋ อวดกันว่าเรานี้โก้กว่าคนอื่น มีฐานะกว่า หรือกินเพื่ออะไร ก็จะตอบได้ทุกคนว่าที่จริงนี้กินเพื่อร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี มันเป็นความต้องการของชีวิต เป็นความต้องการของร่างกายโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ความต้องการโก้เก๋เอร็ดอร่อยหรอกที่เป็นตัวความต้องการที่แท้จริง ความต้องการที่แท้จริงคือความต้องการของชีวิตที่จะเป็นอยู่ คือให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี แล้วเราจะได้อาศัยร่างกายนี้ไปดำเนินชีวิตเป็นอยู่ ไปทำงานทำการเป็นต้น ไปทำการสร้างสรรค์ ดำเนินชีวิตที่ดี ศึกษาอะไร เป็นต้น
เมื่อเรารู้เข้าใจอย่างนี้เราก็กินให้สนองความต้องการที่แท้จริงของชีวิต อย่างนี้เขาเรียกกินด้วยความรู้ คือกินด้วยปัญญา ถ้ากินเพียงเสพรสอร่อย-ไม่อร่อย ท่านเรียกว่ากินด้วยตัณหา ก็ต้องแยกให้ได้ พอกินด้วยปัญญาก็กินด้วยความรู้เข้าใจความมุ่งหมายที่แท้จริง ไอ้ตัวความรู้เข้าใจความมุ่งหมายที่แท้จริงของการกินเนี่ย มันรู้ปั๊บมันโยงไปหาจุดหมายที่แท้ของชีวิตคือสุขภาพดี มันจะดูอาหารว่าอาหารนี้กินแค่ไหนจะพอดี ให้สุขภาพของเราดี กินอาหารประเภทไหนมันจึงจะเป็นคุณแก่ร่างกายแก่ชีวิตนี้ แล้วเราก็กินมัน ใช่ไหม เราก็เลือกอาหารเป็น เราจะรู้จักปริมาณและประเภทอาหาร กินได้พอดี อันนี้เรียกว่ากินเป็น คือการที่มีศีลในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านการกินอยู่บริโภค นี่คือศีลเริ่มต้น
ใช้สอยเสื้อผ้าเหมือนกัน ทุกคนต้องคิดว่าที่เราใช้เสื้อผ้านี่ มันมี 1) เพื่อสนองความต้องการของชีวิต คือ เรามีหนาว มีร้อน เป็นต้น แม้แต่กระทั่งความละอาย ทีนี้ 2) ก็คือสนองความต้องการของบุคคลในการอยู่ร่วมสังคม เช่น แสดงฐานะ ความโก้เก๋เป็นต้น ทีนี้เราต้องดูว่าความต้องการที่แท้ที่เป็นสาระอยู่ไหน ใช่ไหม เราก็ตัดสินด้วยการตีความต้องการที่แท้ของชีวิตในแง่ของเสื้อผ้านั้นคือกันร้อนหนาว เป็นต้น ส่วนความต้องการโก้เก๋อวดฐานะนี้เป็นความต้องการตามค่านิยมทางสังคม ซึ่งเป็นตัวเสริมประกอบไม่ใช่แท้จริง เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้วเราต้องให้ได้อันที่ 1 ก่อน คือต้องสนองความต้องการที่แท้จริงของชีวิตก่อน เมื่อได้อันนั้นแล้ว จะสนองความต้องการทางสังคมทางค่านิยมเป็นต้นแค่ไหน เราก็ใช้ปัญญาพิจารณาจัดให้เหมาะ แล้วเราก็จะพอดีไม่ใช่ลุ่มหลงไปตามค่านิยม ทีนี้คนที่ไม่มีปัญญาไม่รู้จักบริโภคด้วยปัญญา แกก็ไปตามค่านิยม ไปตามสังคมเป็นบุคคลที่ต้องการอวดโก้เก๋ ไม่รู้ว่ากินอยู่ ใช้เสื้อผ้าเป็นต้น เพื่อความมุ่งหมายอะไรที่แท้จริง เพราะฉะนั้นศีลมันก็ไม่เริ่ม
ฉะนั้นศีลนี่ เอาล่ะนะ ตะกี้นี้ศีลคือการใช้อินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เป็นให้ได้ความจริงและประโยชน์ 2. ก็คือศีลเกี่ยวกับการบริโภคปัจจัย 4 และเครื่องใช้สอยต่าง ๆ ซึ่งเราจะต้องใช้สอยบริโภคด้วยความรู้เข้าใจวัตถุประสงค์ที่แท้จริงโดยเฉพาะเป็นความต้องการของชีวิต
[19:49] วิถีชีวิตพุทธเป็นชีวิตแห่งการศึกษาและเป็นชีวิตที่ดีงามที่ปลอดภัย
เราจะต้องมองว่าตัวเรา [19:50] คนทุกคนมี 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นชีวิตและด้านหนึ่งเป็นบุคคล ทุกคนเนี่ย ด้านหนึ่งเป็นชีวิต คือ เราทุกคนร่างกายจิตใจของเราเป็นธรรมชาติและเป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย มีอะไรต่ออะไร ต้องมีระบบย่อยอาหาร มีระบบหายใจ มีระบบไหลเวียนของโลหิต เป็นต้น อันนี้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ
มนุษย์ทุกคนด้านหนึ่งเป็นชีวิตที่เป็นจริงตามธรรมชาติ เป็นไปตามกฎธรรมชาติ อีกด้านหนึ่งก็คือมนุษย์เป็นบุคคล เป็นส่วนร่วมอยู่ในสังคม ชื่อนาย ก นาย ข คุณนั่น คุณนี่ มีบทบาท ตำแหน่งหน้าที่นั้นในสังคม อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ 2 อันนี้ เราต้องรู้จักประสานให้ดี อย่างเวลารับประทานอาหารปั๊บ เราโยงบุคคลกับชีวิตได้ เรากินอาหาร อ๋อ ไม่ใช่แค่สนองความต้องการของบุคคลที่โก้เก๋อยู่ในฐานะในสังคมนะ เรากินอาหารเพื่อสนองความต้องการของชีวิตที่มนุษย์เราด้านที่แท้เป็นชีวิต แล้วต้องให้ได้อันนี้ก่อน อย่างนี้เป็นต้น
พอได้อย่างนี้แล้วก็เป็นการเป็นอยู่อย่างฉลาด แล้วได้อะไรคือการไม่แปลกแยก นี่คือจุดเริ่มต้นที่บอกเมื่อกี้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเก่งที่สร้างโลกของมนุษย์ขึ้นมาได้ซ้อนโลกธรรมชาติ แต่มันซ้อนตั้งแต่ชีวิตเขาแล้ว ที่บอกว่ามนุษย์นี้ด้านหนึ่งเป็นชีวิต ด้านหนึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในสังคม แล้วด้านที่เป็นบุคคลในสังคมเนี่ยไปสร้างโลกของมนุษย์ขึ้น ด้านที่เป็นชีวิตมันก็อยู่ในโลกธรรมชาติไปตามเดิม ถ้าเราดำเนินชีวิตในแต่ละวันเนี่ย เราดำเนินชีวิตเป็นเราก็ไม่แปลกแยก ใช่ไหม ตั้งแต่ชีวิตกับบุคคลเนี่ยตัวเราเองไม่แปลกแยก เราเป็นมนุษย์ที่มี 2 ด้าน ด้านที่เป็นชีวิตกับบุคคลนี้ [21:48]แม้แต่กินอาหารเราก็เชื่อมประสานได้แล้ว พอกินอาหารในฐานะบุคคลปั๊บโยงไปถึงชีวิตให้ชีวิตได้คุณค่าได้สุขภาพดีทันที เราก็ไม่แปลกแยก นี่แหล่ะคือ วิถีชีวิตพุทธล่ะ ก็เป็นชีวิตแห่งการศึกษา และเป็นชีวิตที่ดีงามที่ปลอดภัย
มนุษย์ที่พัฒนาอย่างนี้ตั้งแต่ในบ้านแล้ว ออกไปอยู่ในโลกได้ปลอดภัยแน่ ดำเนินชีวิตที่ดีงาม มีความสุขด้วยตนเอง รับผิดชอบตัวเองได้ สร้างสรรค์สังคม ไม่ต้องเบียดเบียนใคร พออยู่ในโลกนี้ไป ต่อไปก็เป็นคนมีความสามารถที่จะมีความสุขด้วย ไม่ใช่เฉพาะมีความสามารถที่จะหาสิ่งเสพบำเรอความสุข ฉะนั้นถ้าเราพัฒนาถูกต้องในการศึกษานี้ เราจะต้องบอกว่าเรามีความสามารถที่จะมีความสุขแค่ไหน ถามตัวเอง อย่าไปคิดแค่ว่า ฉันมีความสามารถที่จะหาความสุขแค่ไหน ถ้าได้แค่นั้นละก็โลกนี้ร้อนลุกเป็นไฟ จะเบียดเบียนกันไม่มีใครพอ ฉันต้องเอาให้มากที่สุด ใช่ไหม แล้วทรัพยากรธรรมชาติอะไรต่ออะไรในโลกนี้มันไม่พอหรอก ก็ต้องฆ่าฟันทำสงครามกัน ข่มเหงกันอยู่เนี่ย
แต่ว่าถ้ามีความสามารถในการมีความสุขแล้ว เราจะมีความสุขโดยพึ่งพาสิ่งภายนอกน้อยลง และจะมีอิสรภาพมากขึ้น คนที่ดำเนินชีวิตผิด นึกว่าหาสิ่งเสพบำเรอความสุขได้มากแล้วตัวเองเก่ง เปล่า ความสุขของเขานั้นไปฝากไว้กับสิ่งภายนอกหมด ขาดสิ่งภายนอกปั๊บไม่มีความสุขแล้ว มีความทุกข์อย่างเดียว ฉะนั้นคนพวกนี้สูญเสียอิสรภาพ อยู่ในโลกนี้นานไป นี่แย่ เป็นยังไง ก็เป็นคนทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก ทุกข์ได้ง่ายเพราะอะไร เพราะว่ามันต้องมีสิ่งบำเรอความสุขข้างนอกมาช่วยแล้วจึงจะสุขได้ ถ้าขาดสิ่งบำเรอความสุข ฉันก็สุขไม่ได้ก็มีแต่ทุกข์
ทีนี้พอเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขขึ้นมาภายใน เราพึ่งพาวัตถุภายนอกได้น้อย น้อย ๆ ก็ได้ เราก็สุขได้นี่ เราเก่งในการมีความสุข เราสุขง่ายขึ้น ฉะนั้นคนที่เก่งจริง ๆ ถามตัวเองในแง่ความสุขว่า โตขึ้นมาเนี่ย สุขง่ายขึ้นหรือสุขยากขึ้น ถ้าคนไหนตอบว่าฉันสุขยากขึ้น แสดงว่าการศึกษาผิดแล้ว ถ้าหากว่าเก่งจริงนะ ก็ต้องตอบว่าฉันเป็นคนสุขได้ง่ายขึ้น เออ อย่างนี้ถูกต้อง ก็แสดงว่ามีความสามารถที่จะมีความสุข
ทุกข์ก็เช่นเดียวกัน คนที่อยู่ไปโตขึ้นไป โตขึ้นไป ทุกข์ได้ง่ายขึ้นทุกที ก็แย่สิ จะพัฒนาอะไร ทีนี้ถ้าหากว่าเก่งจริงก็ต้องทุกข์ได้ยากขึ้น อะไรต่ออะไรจะมาทำให้ฉันทุกข์นี่ โอ ทำได้ยาก เจออะไรต่ออะไรฉันเป็นสุขได้หมด ใช่ไหม เจอปัญหาฉันก็สุข เจอสิ่งที่ยากฉันก็ได้เรียนรู้ คนที่เป็นนักพัฒนาตน มีจิตสำนึกในการพัฒนาเนี่ย เขาจะมองว่า อะไรที่มันยิ่งยาก อะไรที่เป็นปัญหานี่ เราจะได้ฝึกตัวเองมาก ได้พัฒนาตัวเองมาก เพราะฉะนั้นเจอปัญหานี้ชอบใจ เจอของยากนี้ชอบใจ เจอบทเรียนยากชอบใจ ปรี่เข้าไปหา บอกว่า เออ ดีแล้ว เดี๋ยวฉันจะได้ฝึกเต็มที่เลย แล้วจริง ๆ นะกว่าจะผ่านไปได้เนี่ยได้เยอะแยะ
แต่คนที่ไม่มีจิตสำนึกในการฝึกตัวเองไปเจออะไรยาก ก็ท้อแล้ว ถอยหลังแล้ว ไม่สู้แล้ว จิตใจก็หดหู่ท้อแท้ มีความทุกข์ ใจก็ทุกข์ ไม่เต็มใจทำ ก็ฝืนใจทำ ก็ไม่ได้ผล เขาเรียกว่า งานก็ไม่ได้ผลคนก็เป็นทุกข์ แต่พอตั้งใจถูก มีท่าทีมีจิตสำนึกในการฝึกตน เจอเรื่องยากบอกที่นี่ดีแล้ว เจอเรื่องยากฉันยิ่งได้มาก ยิ่งยากยิ่งได้ฝึกตัวเองมาก นั้นก็เลยชอบใจ ก็เลยไปทำสิ่งที่ยาก พอทำสำเร็จ 1) ใจตัวเองก็เต็มใจทำ 2) ก็ตั้งใจทำด้วยเพราะชอบ ตั้งใจทำแล้วก็มีความสุขด้วยงานสำเร็จดีด้วย ชีวิตก็พัฒนา
[25:59] คนพุทธต้องเอาประโยชน์จากวิกฤติ พลิกวิกฤติให้เป็นวิวัฒน์
ฉะนั้นเราเป็นอยู่อย่างดีนี้ไม่ต้องกลัว ตอนนี้สังคมมีวิกฤตไม่ต้องกลัวทั้งนั้น เอามาเป็นบทเรียน แต่ว่าต้องหาให้เป็น ถ้ามองไม่เป็นก็เนี่ย 1) ก็จับเจ่านั่งทุกข์ ตอนนี้สังคมของเราวิกฤติ เราไม่มีเงินซื้ออะไรได้ตามชอบใจแล้ว ลำบากใจก็ทุกข์อย่างเดียว ถ้าไม่อย่างนั้นก็พอมีเงินก็ไปลุ่มหลงมัวเมา หาแต่ความสุขจากการเสพ หาความสุขอยู่นั่นแหล่ะ แล้วก็เบียดเบียนกัน ประเทศชาติก็ไม่พัฒนา อันนี้ถ้าเรามองเป็น เรามีการศึกษาแบบพุทธ มีวิถีชีวิตพุทธ ใช่ไหม เราก็มองสถานการณ์ทุกอย่าง เราได้เรียนรู้หมด เวลานี้สถานการณ์สังคมไม่ดีเป็นวิกฤติ เราก็ต้องหาประโยชน์จากมันให้มากที่สุด
1) เรียนรู้ หาความจริงว่าเหตุผลเป็นอย่างไรสังคมของเราจึงเกิดปัญหาอย่างนี้ ประสบวิกฤติอย่างนี้ เป็นเพราะเหตุปัจจัยอะไรที่พวกเราทำอย่างนั้น ยังไงกันบ้าง
2) ก็หาประโยชน์จากมันให้ได้ ก็คือฝึกตัวเอง ฝึกตัวเองจากปัญหา แล้วกว่าจะผ่านวิกฤติไปนี่ คนไทยก็จะพัฒนาเยอะแยะ จะเก่ง
ถ้าหากวิกฤติเข้ามาอย่างนี้ คนไทยยังไม่รู้จักใช้ให้เป็นบทเรียน เป็นแบบฝึกหัด มันก็น่าเสียดาย เสียเปล่า เวลาก็จะหมดไปเปล่า เสร็จแล้วเราก็แย่ตามเดิม ฉะนั้นอยู่ที่ว่าเราจะดำเนินวิถีชีวิตพุทธเป็นไหม ถ้าหากว่าดำเนินวิถีชีวิตพุทธเป็น เวลานี้สังคมมีวิกฤติ เราจะต้องบอกว่า [27:33] คนพุทธต้องเอาประโยชน์จากวิกฤตินี้ให้ได้ แล้วจะต้องสร้างชีวิตสังคมของเรานี้ให้ดี ให้เข้มแข็ง ให้ก้าวหน้าขึ้นมาจากวิกฤตินี้แหล่ะ เอาวิกฤตนี้เป็นจุดเริ่มต้น แล้ววิกฤตินี้ก็จะเป็นจุดพลิกผันใหม่ พลิกผันในทางที่ดี คือไปสู่ความเจริญก้าวหน้า ถ้าวิกฤติเราใช้ไม่เป็น ก็จะไปต่อด้วยวิบัติ ถ้าวิกฤติเราใช้เป็น เราปฏิบัติถูกมันก็กลายเป็นวิวัฒน์ ตรงนี้คือจุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ฉะนั้นก็ให้เรามามองให้เป็นแล้วใช้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ที่เนื้อตัวของชีวิตเรานี้แหล่ะ ไม่ใช่ต้องไปเที่ยวหาว่า ถ้าพัฒนาชีวิตเป็น ใช้หลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นก็อยู่ที่ชีวิตเราแล้ว เราก็หาประโยชน์จากมัน แล้วพลิกวิกฤติให้เป็นวิวัฒน์ หรือทำวิกฤติให้เป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒน์ให้ได้
คนไทยจะต้องมีความเข้มแข็งอันนี้ น่าเสียดายมากคนไทยจำนวนมากเนี่ย 1) อ่อนแอ แล้วพอเจอวิกฤติเข้าไปนะ โอดโอย ไม่มีความอดทน ไม่มีความเข้มแข็ง หันไปได้แต่ไปขอร้อง ไปบนบาน ไปวิงวอน หาโชคลาภลอยอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ นี่หนึ่งล่ะ พวกนี้อ่อนแอ อีกพวกหนึ่งก็พอตัวเองได้โอกาสก็ฉวยโอกาส ไม่เห็นแก่เพื่อนร่วมสังคม แล้วก็หาความสุขจากการเสพมัวเมาหลงระเริง ใช่ไหม อย่างนี้สังคมของเราถ้าเขินอยู่ในแนวนี้นะวิบัติตามมา
ถ้าเราจะเป็นชาวพุทธใช้วิถีชีวิตพุทธ จะต้องมาดำเนินในทางที่ถูกต้องนี้ ต้องใช้วิกฤตินี้เป็นแบบฝึกหัดในการพัฒนาตัวเอง ฝึกตัวเองของเราขึ้นมาแล้วเราจะมีความเข้มแข็ง เราจะได้ปัญญา เราจะพัฒนาชีวิตและสังคมของเราให้เจริญงอกงามได้อย่างแน่นอน แล้ววิกฤตินี้ก็จะกลายเป็นวิวัฒน์ต่อไป ฉะนั้นอย่าได้เสียกำลังใจ อย่าได้อ่อนแอ อย่าได้ท้อถอย นี่คือเวลาดีงาม [29:54] ให้มองดูว่าสังคมทั้งหลายที่เขาเจริญพัฒนาปัจจุบันนี้ มาจากความทุกข์ทั้งนั้น สังคมอเมริกันก็ตาม ญี่ปุ่นก็ตาม ญี่ปุ่นเจริญเพราะมันฮึดสู้ ขออภัยอย่าไปใช้มันใช้เขาก็แล้วกัน อย่างญี่ปุ่นนี่แกถูกฝรั่งนายพลเพร์รีนี่เอากองทัพเรือไปปิดเลย บอกว่าเปิดประเทศ ปิดประเทศมาเป็นตั้งร้อย ๆ ปี ไม่เปิดนี่ฉันจะใช้เรือรบเข้าบุกเลย ญี่ปุ่นก็รู้ตัว โอ้นี่ เรานี่ไม่ได้สัมพันธ์กับโลกภายนอก เขาก้าวไปไกลเทคโนโลยีเราไม่มี เราต้องยอมเขาต้องเปิดประเทศ ไม่ได้ต่อไปนี้เราจะต้องพัฒนาประเทศให้เหนือฝรั่งให้ได้ ต่อจากนั้นก็เป็นยุคของการสร้างประเทศให้เจริญงอกงาม มีเป้าหมายที่เด่นชัด ไม่ใช่มัวจะหาความสุขสำเริงสำราญส่วนตัว มันต้องมีเป้าหมายรวมของประเทศชาติ ต้องมีความคิดที่จะแก้ปัญหาชีวิตและสังคม
หรืออย่างฝรั่งนี่ อเมริกันหนีมาจากยุโรป ใช่ไหม เดินทางข้ามทะเลมา หนีภัยถูกเขาจับฆ่าระหว่างโปรเตสแตนต์กับคาทอลิกเป็นต้น ฆ่ากันสังหารกัน หนีมาลงเรือมา ขึ้นแล้วก็มองไปข้างหน้า มีแต่ป่าเขา หนาวเย็น จะไปอย่างไร เจอแต่อินเดียแดงอะไรต่าง ๆ นี้ บุกตลอด 300 ปี ฝรั่งเขาเรียกว่า ยุคฟรอนเยียร์ เอกซ์แพนชั่น 300 ปี อเมริกันจึงสำเร็จ ไปสุดจากนี้เริ่มต้นจากแถวแมร์รี่แลนด์ แมร์รี่แลนด์ก็ทางบัลติมอร์โน่น แล้วก็ทางนิวยอร์ก แล้วก็ทางพวกรัฐนิวอิงแลนด์ทั้งหลายเนี่ย เป็นจุดเริ่มต้นของฝรั่งพวกนี้ อเมริกันนี่ ก็บุกเบิกไป เขาเรียกว่าบุกฝ่าพรมแดน 300 ปี ไปถึงทางด้านแคลิฟอร์เนีย 4,000 กว่ากิโลเมตร (3,000 ไมล์) 3,000 ไมล์ 300 ปี ปีละเฉลี่ย 10 ไมล์นะ อเมริกันบุกไป เป็นระยะเวลาของความทุกข์ยากเดือดร้อน แต่เต็มเปี่ยมด้วยความหวังว่า ความสุขสมบูรณ์ความสำเร็จของเราอยู่ข้างหน้า เนี่ยอเมริกันเขาสร้างชาติมาได้อย่างนี้
ฉะนั้นคนที่ไม่รู้จักแบบฝึกหัด ไม่รู้จักใช้แบบฝึกหัดจะพัฒนาไม่ได้ ฉะนั้นประเทศที่เขาเจริญงอกงามนี้มาจากความทุกข์ มาจากการสู้ปัญหา คนไทยเราเจอวิกฤตินี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะฉะนั้นเราต้องสู้ ญี่ปุ่นเมื่อแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ยับเยินกว่าเราไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยเท่า เยอรมันก็เหมือนกัน แล้วเดี๋ยวนี้เขาไปไหน ฉะนั้นคนไทยมาเจอวิกฤติแค่นี้ มาท้อเสียแล้ว ไม่ไหวหรอก ก็ต้องเข้มแข็งลุกขึ้นสู้ เอาวิกฤติเป็นโอกาสก็ได้ เอาวิกฤติเป็นแบบฝึกหัดก็ได้ พัฒนาชีวิตและสังคมก้าวไปด้วยวิถีพุทธที่จริง
อันนี้แหล่ะอาตมาก็บอกว่า คือวิถีพุทธ และก็ด้วย [33:16] การศึกษาที่เริ่มต้นที่บ้าน ให้การศึกษาถูกต้อง พัฒนาเด็กอย่างถูกต้อง แล้วครูอาจารย์ที่โรงเรียนก็มาช่วยเสริมช่วยหนุน ถ้าหากว่าให้การศึกษามาไม่ถูก ก็ช่วยแก้ช่วยไขช่วยปรับ ต่อไปสังคมของเราก็เจริญงอกงาม แต่ในที่สุดความรับผิดชอบก็อยู่ที่ตัวของทุกคน ที่จะต้องรู้จักเรียนรู้ศึกษาพัฒนาตัวเองให้ดี และมองทุกอย่างให้เป็น มองโลก มองชีวิต มองสถานการณ์ให้เป็น ให้ได้ประโยชน์ ในแง่ความจริงและประโยชน์ที่จะเอามาใช้แก่ชีวิต แก่สังคม ดังที่กล่าวมา
อาตมาก็ได้พูดมาในเรื่องวิถีพุทธ ก็มีนัยดังที่กล่าวมาซึ่งเป็นเรื่องของการศึกษาที่แท้จริง ก็ขออนุโมทนาท่านอาจารย์แห่งมูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ แล้วก็นักศึกษาทุกท่านและญาติโยมทุกคนที่มานั่งฟังกันในที่นี้โดยตลอด มาเป็นเวลาอันยาวนานพอสมควร ก็ขอให้พวกเราอย่างที่กล่าวแล้ว มีกำลังใจมาช่วยกันสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมต่อไป เวลานี้ก็เป็นโอกาสอันสมควร ท่ามกลางวิกฤตินี้เรามีไมตรีจิตมิตรภาพต่อกัน และตั้งจิตอยู่ในทางที่ถูกต้อง ก็ใจคอไม่หดหู่ท้อถอย แต่มีความเบิกบานร่าเริงผ่องใส มีกำลังใจพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป ก็ขอคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พรอภิบาลรักษาให้ทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ดำเนินชีวิตของตนเองครอบครัว และสถาบันสังคมตลอดทั้งโลกนี้ให้ก้าวไปสู่ความเจริญงอกงามและสันติสุข มีความร่มเย็นงอกงามในธรรมทั่วกันทุกท่านตลอดกาลทุกเมื่อ และในโอกาสที่ปีใหม่ก็จะมาถึงใกล้ ๆ นี้ 2544 ก็ขอให้เป็นนิมิตดีที่เราจะได้ก้าวหน้ารับความใหม่นี้เพื่อนำความใหม่นั้นไปสู่ความงอกงามรุ่งเรืองยิ่งขึ้น สืบต่อไปตลอดกาลนานเทอญ
เสียงตอบรับ สาธุ
พิธีกร: กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพอย่างสูง กระผมในนามของมูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพใคร่ขอกราบขอบพระคุณในความเมตตาของพระคุณเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้กรุณาแสดงธรรมะ แสดงทัศนะตามหัวข้อเรื่องที่ได้กำหนดว่า วิถีชาวพุทธที่ควรจะเป็นในสังคมไทยปัจจุบัน พระคุณเจ้าก็ได้กรุณาปรับคำว่า จริง ๆ คำนี้ก็น่าจะเป็นว่า วิถีชีวิตชาวพุทธที่ควรจะเป็นในสังคมไทย หรือวัฒนธรรมของคนไทยที่ควรจะเป็นในสังคมไทยในปัจจุบัน ท่านก็ได้กรุณาให้เนื้อหาสาระที่เป็นความรู้แก่คณะพวกเรา เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ทั้ง ๆ ที่คณะของกระผมก็พอจะทราบว่า สุขภาพอนามัยของท่านเจ้าคุณอาจารย์ก็ยังไม่ปกติดีนัก คณะที่มาในวันนี้ก็คงจะได้รับประโยชน์ในปัจจุบันที่จะนำไปขบคิดและปฏิบัติให้เป็นวิถีชาวพุทธที่ควรจะเป็นตามคำแนะนำของพระคุณเจ้าตลอดมา ต่อไปก็คงจะได้นำไปขยายผลอย่างที่กราบเรียนตั้งแต่ตอนต้นว่า ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการในเรื่องนี้ที่สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา แล้วก็จะขยายผลไปยังต่างจังหวัด ก็คือ สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี อุดรธานี แล้วก็นครสวรรค์ นอกจากนั้นในวันนี้สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ก็มาด้วย ก็คิดว่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะนำเรื่องนี้ไปขยายผลแก่ประชาชนโดยทั่วไป และในเวลาโอกาสอันสมควร ทางมูลนิธิฯ ก็คงจะได้ถอดเทปแล้วอาจจะนำไปพิมพ์เป็นหนังสือเป็นรูปเล่มต่อไปครับ ในนามของมูลนิธิฯ ก็ใคร่ขอกราบขอบคุณพระคุณเจ้าเป็นอย่างสูงไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ
[37:47] สู่ชีวิตที่เป็นสุขเมื่อปฏิบัติสันโดษอย่างถูกต้อง
สมเด็จฯ: [37:47] ข้อธรรมที่จะว่าสืบเนื่องจากที่พูดมาแล้วก็ได้ คือมีความสัมพันธ์กัน จะเป็นข้อปฏิบัติที่มาช่วยจำกัดตัณหา แล้วก็หนุนหรือส่งเสริมฉันทะ แล้วก็เป็นตัวที่ช่วยเอื้อโอกาสให้การปฏิบัติต่าง ๆ เจริญก้าวหน้า ได้ผลดียิ่งขึ้นไป หลักธรรมข้อนี้ก็เป็นศัพท์ที่ใช้ในภาษาไทย ใช้กันบ่อยพอสมควรก็คือคำว่า สันโดษ เคยได้ยินใช่ไหม ทุกท่านเคยได้ยิน แล้วได้อ่านมาบ้างหรือยัง ทีนี้เราก็มาทำความเข้าใจเพิ่มเติมสร้างความชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อกี้บอกแล้วว่าสันโดษนี้มันจะมาช่วยจำกัดตัณหา แล้วมาหนุนฉันทะ แล้วมันจำกัดได้อย่างไรหนุนได้อย่างไร นอกจากหนุนฉันทะแล้วก็หนุนการปฏิบัติ การทำสิ่งที่ดีงามอื่น การพัฒนาอะไรต่ออะไรให้ก้าวหน้าไปได้ เราก็มาดูว่าสันโดษคืออะไร มีความมุ่งหมายอย่างไร
[39:06] สันโดษนั้นถ้าว่าตามศัพท์แปลว่า ความพอใจ ถ้าขยายออกไปนิดหนึ่งก็พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ หรือพอใจในของของตน นี่แปลตามศัพท์นะ ก็ขยายไปว่าพอใจตามมีตามได้ คือตัวมีเท่าไรก็เอาเท่านั้น ทีนี้สันโดษมันก็ใช้ไปในวัตถุในสิ่งของอย่างหนึ่ง กับใช้ในเช่นการสร้างสรรค์ทำกิจการงาน ทีนี้ถ้าใช้กับวัตถุสิ่งบำรุงบำเรอ อันนี้คือสันโดษที่แท้จริงของท่าน ทีนี้ถ้าเป็นสันโดษในการทำงาน ในการสร้างสรรค์ พอใจแล้ว ทำงานได้แค่นี้ได้ผลแค่นี้ก็เอาแค่นี้ ถ้าอย่างนี้ท่านไม่เอาด้วยนะ ใช่ไหม สันโดษต้องมีตัวจำกัดว่าสันโดษในอะไร ไม่ใช่ไปสันโดษกลาง ๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าต้องมีตัวต่อว่าสันโดษที่ว่าพอใจในของของตนนั้น คือพอใจในวัตถุ เช่นว่าภิกษุนี่พอใจในอาหาร ในเครื่องนุ่งห่ม ในจีวรที่มีเป็นของตน ก็จะได้ไม่โลภ ไม่เที่ยวแสวงหาวุ่นวายในเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะสำหรับชีวิตพระภิกษุนี้จะต้องเน้นเรื่องสันโดษในปัจจัย 4 ในวัตถุมาก เพราะว่าชีวิตของพระโดยเป้าหมายนี่เป็นชีวิตที่ละทิ้งวัตถุ ใช่ไหม ไม่เอาวัตถุ เอาวัตถุพออยู่ได้เท่านั้น ชีวิตของพระจะมุ่งไปทางการบำเพ็ญเพียรปฏิบัติกิจของสมณะพระสงฆ์ เล่าเรียน ปฏิบัติเผยแผ่ธรรมะ ใช่ไหม ฉะนั้นเรื่องวัตถุนี่ก็จะต้องพยายามตัดความกังวล ความวุ่นวายให้เหลือน้อย นี่เหตุผลของตัวเองในแง่หน้าที่การงาน จุดมุ่งหมายของชีวิต
ทีนี้ด้านที่ 2 ก็คือว่า เพราะว่าพระสงฆ์ได้ปัจจัย 4 วัตถุมาโดยที่ตนเองไม่ได้ทำมาหาเลี้ยงชีพเอง แต่อาศัยความศรัทธาของชาวบ้าน เมื่ออาศัยศรัทธาของชาวบ้าน ถ้าตัววุ่นวายจะหาเสพไอ้สิ่งอาหารอร่อย จีวรสวย ๆ งาม ๆ ดี ๆ มีเยอะ ๆ อะไรอย่างนี้นะ ที่อยู่สวยงามสบายอะไรต่าง ๆ นี้ ถ้าพระอย่างนี้เขาเรียกว่าไม่สันโดษในวัตถุปัจจัย 4 ก็จะต้องรบกวนชาวบ้าน ใช่ไหม ซึ่งขัดหลักพระศาสนา ชาวบ้านจะต้องวุ่นเที่ยวหาให้พระ อันนี้ใช้ไม่ได้ ฉะนั้นเพื่อทำตัวให้เลี้ยงง่ายก็ต้องสันโดษ ให้ชาวบ้านเขาไม่ต้องมาวุ่นวายกับเรื่องการเป็นอยู่ของพระมากนัก ช่วยให้ท่านพอมีอยู่ท่านก็อยู่ได้ ก็เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาได้ด้วย มิฉะนั้นไปรบกวนเขา ดีไม่ดีก็ไปรบกวนคนที่เขาไม่ได้มีศรัทธาเท่าไร ไปเที่ยวแสวงหาลาภผลมากมายเรี่ยไรอะไรต่าง ๆ ก็ทำให้เขาทุกข์เดือดร้อน สังคมก็ยิ่งไม่พอใจใหญ่นะ เอาแล้วทีนี้พระภิกษุเป็นอันว่า เมื่อสันโดษเนี่ยก็จะได้ไม่มัววุ่นวายกับเรื่องการที่จะมาบำรุงบำเรอตัวเอง จะได้ตั้งใจทำหน้าที่เพราะกิจของพระนั้น มันเป็นไปในทางที่มุ่งในทางนามธรรมมากกว่า และอีกอย่างหนึ่งก็จะได้ไม่รบกวนชาวบ้าน เพราะพระอาศัยปัจจัย 4 ที่ชาวบ้านเลี้ยง ต้องทำตัวให้เขาเลี้ยงง่าย ท่านว่าอย่างนั้นนะ ไม่รบกวนให้เป็นอย่างที่เคยพูดไปแล้ว ให้เหมือนกับแมลงผึ้งที่เที่ยวหาน้ำหวานจากดอกไม้ ไม่ทำให้ดอกไม้กลิ่นและสีของมันชอกช้ำ นี่ก็เป็นลักษณะทั่วไป
ทีนี้เรามาดูความหมายให้ชัดลงไปอีก ที่พูดมาแล้วนี่ก็ บอกแล้วว่าสันโดษ ให้สันโดษในวัตถุ สิ่งเสพบำรุงบำเรอ สำหรับพระนี้ชัดแล้วนะ ทีนี้มาใช้สำหรับคฤหัสถ์บ้าง ถ้าใช้สำหรับคฤหัสถ์ก็สิ่งเสพบำรุงบำเรอเราก็ควรจะมีความสันโดษเหมือนกัน พอใจในสิ่งที่มีเป็นของตน แต่ไม่ได้ไปห้ามความเพียรพยายาม หมายความว่าพอใจในสิ่งที่ได้มี ได้มาเป็นของตน ก็โดยความเพียรพยายามของตน ไม่ใช่ไปเที่ยวทำทุจริตได้มา ใช่ไหม ไม่ใช่ปรารถนาของคนอื่น อันนี้ก็เป็นขอบเขตอย่างหนึ่ง แต่มันไม่ใช่แค่นั้นหรอก ทีนี้ถ้าพระก็ดี ญาติโยมก็ดีมีความสันโดษแบบนี้ แล้วก็สันโดษ เอ้อ เรามีวัตถุเท่านี้ก็พอแล้ว พอไม่ทะเยอทะยานไม่วุ่นวายกับการอยากจะได้โน่นได้นี่มากมาย มันก็เป็นความสุขง่าย ใช่ไหม คนที่พอใจมันก็สุข มันก็ได้ผลอย่างหนึ่งก็คือความสุข ฉะนั้นสันโดษจะมีผลพ่วงมาอันหนึ่งก็คือความสุข เพราะเราพอใจในสิ่งที่มีที่ได้แล้ว ได้แค่ไหน มีแค่ไหน ก็พอใจแค่นั้น มันก็มีความสุข แต่ถ้าแค่นี้นะครับตันเลย พอใจแล้วก็สุข ก็ดีนี่ แต่ว่ามันจะทำให้ขี้เกียจได้นะ ใช่ไหม ก็สบายแล้วนี่มันก็ไม่กระตือรือร้น ไม่ทะเยอทะยานขวนขวายหา ก็สุขแล้ว พอสุขแล้วก็ไม่ขวนขวาย ก็อย่างที่ว่าก็หยุด ก็อาจจะเป็นขี้เกียจไปเลย
นี่แหล่ะจุดที่สำคัญ สันโดษแม้จะเข้าความหมายแล้วนะ ก็อาจจะผิดได้ ผิดตรงนี้แหล่ะ ตรงที่ว่ามันไม่มีวัตถุประสงค์ เพราะว่าสันโดษนั้นมันมีวัตถุประสงค์ว่าเพื่ออะไร มันส่งต่อที่บอกเมื่อกี้นะ มันมาจำกัดตัณหาตรงนี้ไง ใช่ไหม เพราะทำให้เราพอแล้ว ไม่ต้องทะเยอทะยานกับวัตถุสิ่งเสพบำรุงบำเรอที่ยังไม่มี ใช่ไหม เอาแต่เป็นของตนมีได้พอใจแล้ว ตอนนี้จำกัดตัณหาเห็นไหม แต่ทีนี้มันจะหนุนฉันทะอย่างไร ธรรมะทุกข้อมันต้องส่งผลต่อข้ออื่นให้เดินหน้า เพราะมันเป็นไตรสิกขา ไตรสิกขานี้คือกระบวนการพัฒนามนุษย์ทำให้เราเดินไปสู่ความดีงามยิ่งขึ้นไป ไม่ใช่มาหยุดอยู่ ทีนี้ถ้าสันโดษมาทำพอใจแล้วเอาแค่นี้ แล้วเราก็มีความสุข แล้วก็เลยนอนสิทีนี้ นอนเสวยความสุข ไม่กระตือรือร้น มันก็ไม่ส่งต่อ ไม่ช่วยหนุนฉันทะอะไร มันหนุนยังไงหล่ะ นี่แหล่ะตรงนี้คือจุดสำคัญ ถ้าหากชาวพุทธเข้าใจสันโดษอย่างแค่เมื่อกี้ แม้จะมีความหมายถูกต้องพอสมควร แต่ก็ปฏิบัติผิด แล้วจะทำให้กลายเป็นเครื่องขัดขวางการพัฒนาอย่างที่เขาว่า
ทีนี้จุดที่สำคัญก็คือว่าแล้วสันโดษทำไม เออ ที่สันโดษนี้นะ เพราะจุดมุ่งหมายมันเพื่อจะได้มีหนุนการปฏิบัติ เราจะได้ปฏิบัติต่อไป เราไม่มีกังวล มันจะได้อะไรบ้างเมื่อเราสันโดษ พอเราสันโดษพอใจในวัตถุสิ่งเสพเท่าที่มีอยู่ตามมีตามได้ ไม่มามัววุ่นวายกับการหาสิ่งบำรุงบำเรอตัวเอง
คนที่ไม่สันโดษ ใช่ไหม แกก็วุ่นวายคิดแต่จะหาสิ่งเสพ เอาอย่างพระเนี่ย แกก็ใช้เวลาไปในการวุ่นวายหาจีวร หาอะไรต่าง ๆ ที่มันจะได้มาบำรุงบำเรอตัวเอง เวลาแกก็ใช้ไปอย่างสิ้นเปลืองในเรื่องนี้ แรงงานแกก็เที่ยวใช้ไปในเรื่องนี้ ความคิดแกก็ครุ่นคิดอย่างที่ว่าอย่างที่พูดเมื่อกี้นี้ เอ จีวรผืนนี้ยังไม่สวย เราจะหาจีวรอะไรดีหนอ ยี่ห้ออะไรมันจะดีกว่านี้ ยี่ห้อไหนดีที่สุด แกก็ครุ่นคิดอยู่แต่เรื่องนี้ ทำไงจะทำที่อยู่ให้มันหรูหรา ครุ่นคิดอยู่อย่างนี้ เวลา แรงงาน ความคิดหมดไปกับเรื่องนี้หมดเลย ทีนี้หน้าที่การงานก็ไม่เป็นอันทำสิ ใช่ไหม ทีนี้ในทางตรงข้าม พอเรามีความสันโดษ เราก็พอ เออวัตถุแค่นี้พอเป็นอยู่แล้ว ทำให้เราพร้อมที่จะทำงานได้ เอาหล่ะสิทีนี้ เวลาก็ไม่ต้องไปสิ้นเปลืองกับการยุ่งวุ่นวายกับเรื่องนี้ แรงงานก็ไม่ต้องหมดไป ความคิดก็มา สามารถระดมไปใช้ในทางที่ถูกต้อง ไม่ไปยุ่งเรื่องนั้น ได้แล้วครับ เป็นอันว่าออมหรือสงวนเวลา แรงงานและความคิดไว้ได้ ใช่ไหม เวลา แรงงาน และความคิดที่สงวนไว้ได้เอาไปทำอะไรหล่ะ นี่แหล่ะจุดนี้ที่สำคัญ ถ้าเราสงวนออมเวลา แรงงานและความคิดไว้ได้เสร็จแล้วเราไปทิ้งอยู่เฉย ๆ นอนเพราะว่าสบายแล้ว มันก็ไม่ได้ผลอะไร ใช่ไหม ไอ้จุดมุ่งหมายมันอยู่ที่ตรงนี้ ไม่ใช่ว่าสันโดษเพื่อสุข สุขนั้นมันมาเอง พอสันโดษปั๊บมันก็สุขเลย แต่ไม่ใช่จุดหมาย จุดหมายอยู่ที่นี่ ออมเวลา แรงงาน และความคิดไว้ได้ เสร็จแล้วเอาเวลา แรงงานและความคิดนี่แหล่ะ ไปใช้ในการทำกิจหน้าที่ของเรา การสร้างสรรค์ ที่ท่านเรียกว่ากุศลธรรม เพราะพระจะต้องปฏิบัติต่อนี้ ใช่ไหม ก็เอาสิ เอาเวลา แรงงาน และความคิดมาใช้ อย่างพระก็ใช้ในการเล่าเรียนสิ เล่าเรียนคำสอนพุทธพจน์ ปริยัติ ปฏิบัติไป ตั้งหน้าปฏิบัติไม่ต้องห่วงกังวลเรื่องวัตถุ ใช่ไหม แล้วก็จะสั่งสอนธรรมะเผยแพร่ก็ทำไปได้เต็มที่ เวลาแรงงานและความคิดมี ใช่ไหม นี่หล่ะครับสันโดษจึงมาหนุนฉันทะ
ทีนี้เรามีฉันทะอยู่แล้วอยากจะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม ไอ้เวลาแรงงานเราความคิดเรามีมาจากสันโดษ เราก็มาทุ่มสนองฉันทะได้เต็มที่ ถูกไหมครับ ก็เดินหน้าต่อไป ตรงนี้แหล่ะ เป็นอันว่ามันทั้งจำกัดตัณหาด้วย แล้วก็มาหนุนฉันทะให้เดินหน้าต่อไป [49:53]อันนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสต่อไปอีกว่า ให้สันโดษในวัตถุสิ่งเสพ อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้คือสันโดษ ทีนี้ก็บอกว่าไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม ถ้าเป็นกุศลธรรมคือสิ่งดีงามแล้วไม่ให้สันโดษ ถ้าสันโดษในกุศลธรรมท่านเรียกว่าประมาท ใครสันโดษในกุศลธรรม พอใจแล้วฉันทำสิ่งดีงาม สร้างสรรค์ได้เท่านี้ ฉันปฏิบัติได้เท่านี้แล้ว แม้แต่เป็นพระอริยบุคคลนะปฏิบัติไปได้บรรลุคุณวิเศษ เกิดพอใจว่า แหมเรานี่ปฏิบัติมาจนได้บรรลุผลสำเร็จดีงามเกิดความพอใจ มันก็มีความโน้มเอียงที่จะหยุด พระพุทธเจ้าก็ตรัส เธอเป็นประมาทวิหารี แปลว่าผู้อยู่ในความประมาท ใช่ไม่ได้
ฉะนั้นในด้านกุศลธรรมหรือสิ่งดีงาม พระพุทธเจ้าไม่ให้สันโดษ ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะมันเข้ากับหลักไตรสิกขา เราจะพอใจเท่านี้ไม่ได้ ชีวิตของเราไม่รู้จะอยู่อย่างไร อนิจจังจะเป็นอย่างไร เมื่อไร ก็ไม่รู้ มันไม่ใช่ยาวนับร้อยปี ฉะนั้นในเวลานี้ทำสิ่งที่ดีงาม ทำชีวิตให้มีค่า ทำสิ่งที่ชีวิตควรจะได้จะถึงให้มันได้อย่างดีที่สุด อันนี้ล่ะท่านไม่ยอมให้สันโดษ ทีนี้พอเราสันโดษในสิ่งเสพบำรุงบำเรอ เราก็สามารถไม่สันโดษในกุศลธรรมได้เต็มที่ ใช่ไหม กลับหนุนกัน ฉะนั้นถ้าถามว่าพระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษ ใช่ไหม อย่าพึงไปรับ เพราะอาจจะผิด ต้องแยกแยะ ท่านบอกว่าวิธีตอบแบบวิภัชชวาท วิภัชชวาทก็คือรู้จักแยกแยะตอบ แยกแยะตอบว่า พระพุทธเจ้าสอนให้สันโดษในวัตถุบำรุงบำเรอ แต่ให้ไม่สันโดษในกุศลธรรม ใช่ไหม ในสิ่งที่ดีงาม ฉะนั้นในสิ่งที่ดีงามเราก็มาคิดว่าเราจะแก้ไข จะปรับปรุงอย่างไร ทำให้มันดีขึ้น ต้องคิดอย่างนี้เรื่อย เราก็เอาเวลา แรงงาน และความคิดมาใช้การพัฒนาสร้างสรรค์เหล่านี้ แล้วเราก็ไม่ไปห่วงกังวลในเรื่องวัตถุใช่ไหม เราก็สบาย พวกที่สร้างสรรค์ความก้าวหน้าในอริยธรรมของโลกนี้ ก็เป็นพวกนักสันโดษทั้งนั้น อย่างไอน์สไตน์นี้ ใช่ไหม แกไปคิดหาความสุขสำราญที่ไหน แกไม่มีหรอกใช่ไหม แต่แกใฝ่รู้อยากจะรู้ความจริงของธรรมชาติเป็นอย่างไร แกก็ทุ่มเทเวลา แรงงาน และความคิดให้แก่เรื่องของการที่จะค้นหาความรู้ ถูกใช่ไหม แกไม่เอาใจใส่เรื่องของการปรนเปรอตัวเอง ก็คนที่สร้างสรรค์ก็ต้องมีลักษณะอย่างนี้
แล้วทีนี้มันด้วนไปที่ว่า พอสันโดษพอใจในสิ่งที่มีแล้วหยุดเลย นอนเสวยสุขอย่างนี้ก็ตัน ใช่ไหม ฉะนั้นมันมี 2 ตอน คือสันโดษ ก็ต้องให้ถูกความหมาย ต้องให้เป็นสันโดษในวัตถุเสพ แต่เมื่อสันโดษในวัตถุเสพสิ่งบำรุงบำเรอแล้ว ก็ต้องมีความมุ่งหมายว่าเพื่อมาหนุนให้การเราจะได้ออมเวลา แรงงาน และความคิดมาใช้ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไป มันต้องรับกันอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้แล้วก็ไม่มีปัญหา ใช่ไหม อันนี้มันผิดทั้งคู่ ไอ้พวกหนึ่งสันโดษก็นอนสบาย ขี้เกียจ อีกพวกหนึ่งก็ไม่สันโดษก็ไปเอาแต่สิ่งบำรุงบำเรอก็เลยหาทางลัดกู้หนี้ยืมสินลักขโมยทุจริตไปคนละทิศไปเลย ก็เลยเสียทั้ง 2 อย่าง คล้าย ๆ ว่า นึกว่าตนเองเดิมสันโดษไม่ถูก ใช่ไหม สันโดษก็เลยไปอีกทิศ เลยผิดพลาดทั้งคู่
ทีนี้ว่าในแง่อีกแง่หนึ่งก็คือความสุข หันมาเมื่อกี้บอกแล้วว่า พอสันโดษปั๊บมันก็ได้ผลพ่วงมาก็คือความสุข ฉะนั้นคนสันโดษก็จะมีลักษณะอย่างหนึ่งคือ สุขง่ายด้วยวัตถุน้อย ทีนี้คนที่ไม่สันโดษแกก็สุขยากสิ ใช่ไหม แล้วก็สุขด้วยวัตถุที่ยังไม่มี ไอ้ความสุขไปอยู่กับสิ่งที่ยังไม่มีไม่ได้ ไอ้สิ่งที่ได้มาเป็นของตัวแล้วเนี่ย มันไม่พอมันก็ไม่สุข ใช่ไหม เมื่อความสุขไปอยู่กับสิ่งที่ไม่มีไม่ได้ มันก็ไม่ถึงความสุขนั้นสักที มันยังไม่มีความสุขกับวัตถุ ทีนี้เราลองมาดูว่า ประโยชน์และโทษของความสันโดษและไม่สันโดษ ในแง่สิ่งเสพบำรุงบำเรอนี้ อ้าว ดูคนไม่สันโดษก่อน คนไม่สันโดษในวัตถุสิ่งเสพบำรุงบำเรอ
ทีนี้เรามาดูคนสันโดษบ้าง ถ้าสันโดษอย่างถูกต้อง
ก็รวมความว่าหลักการนี้จึงบอกว่า สันโดษนั้นมันจำกัดตัณหาด้วย แล้วก็สนับสนุนฉันทะด้วย หนุนให้ฉันทะเดินหน้าไปได้ผลที่ต้องการ ฉะนั้นถ้าเราจะพัฒนาประเทศให้ถูกต้อง ก็ต้องส่งเสริมความสันโดษให้ถูกต้องนี้ พร้อมทั้งส่งเสริมความไม่สันโดษในกุศลธรรมด้วยให้ได้คู่กัน พอสันโดษในสิ่งเสพปั๊บ ก็ไปไม่สันโดษในกุศลธรรม ก็เดินหน้า ก็เป็นไปด้วยดี เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสมากในเรื่องที่ว่าไม่ให้สันโดษออกในลักษณะที่ไปสัมพันธ์กับอีกอันหนึ่ง คือความไม่ประมาท เพราะว่าถ้าสันโดษในการทำกิจหน้าที่สิ่งดีงามก็ประมาท
อย่างผมไปที่ครอบครัวไทยในอเมริกา เช่น พวกหมอนะ ลูกเขาก็ไปเรียน ก็เป็นคนอเมริกัน นี่แหล่ะ ลูกเขาเกิดที่นั่น พอโตมาเรียนมหาวิทยาลัย ทีนี้เขาก็บอกว่าญาติจากเมืองไทยไปเยี่ยม ญาติเมืองไทยไปเยี่ยมก็จะไปหาซื้อของฟุ่มเฟือย ไปหาซื้อพวกเสื้อผ้า กระเป๋า อะไรต่ออะไรราคาแพง ๆ เขาก็บอกว่า เอ เด็กอเมริกันไม่เห็นเอาใจใส่ในเรื่องของฟุ่มเฟือยเหล่านี้เลย อ้าว เด็กไทยหนักกว่า ใช่ไหม แล้วพ่อแม่ก็ไปตามหาซื้อสิ่งเหล่านี้ แล้วคนไทยพวกเศรษฐีไปอเมริกา ไปหาซื้อแต่เรื่องนี้ ไม่เคยไปหาสิ่งที่เป็นประโยชน์คุณภาพชีวิต หาความรู้สติปัญญาไม่มีไปหา ไปหาซื้อของฟุ่มเฟือยราคาแพง ๆ นี่คนไทยเราเป็นอย่างนั้น เป็นเศรษฐีไปหาซื้อแต่ของฟุ่มเฟือยทั้งนั้นแหล่ะ ไม่หาสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่เป็นเนื้อหาสาระ แล้วนอกจากนั้นก็ลูกก็เป็นอย่างนั้น ไปหาซื้อให้ลูก ๆ ทีนี้เขาก็บอกอย่างที่ว่าเพราะเขาเป็นคนไทยแต่เขาอยู่ในอเมริกา ใช่ไหม เขาบอกว่า เอ เด็กอเมริกันเรียนมหาวิทยาลัยเขาไม่คิดถึงเรื่องเหล่านี้เลย แล้วอย่างไปนิวยอร์ก คนไทยที่นั่นเขาก็อยู่ เขาก็บอกว่าเนี่ยคนไทยมาจากเมืองไทยให้เขาพาไปแหล่งบันเทิงหาความสุขยามราตรี ก็มาเมืองนี้จะไปหาอะไรเล่า มันไม่เหมือนเมืองไทย เขาว่างั้น จะมาหาอะไรที่นี่ เมืองอเมริกามันไม่ได้เป็นอย่างเมืองไทยนะเรื่องหาความสุข บันเทิง ยามราตรีแบบนั้น ไม่มีแหล่งมากมายฟุ่มเฟือยอย่างเมืองไทย แสดงว่าเมืองไทยนี่ไปไกลกว่าเขา