แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ครบร้อยวันอุทิศแก่คุณสินีย์ วีรพัฒน์ โดยที่คุณโสภณ วีรพัฒน์ พร้อมทั้งครอบครัวและญาติมิตรท่านที่เคารพนับถือได้มาแสดงน้ำใจมาร่วมทำบุญด้วย มาร่วมบำเพ็ญกุศล อุทิศแก่ท่านผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย ก็เป็นการแสดงออกซึ่งธรรมะที่ท่านเรียกว่าญาติธรรม ญาติธรรมนั้นก็คือธรรมะต่อญาติ หรือหน้าที่ต่อญาติ แม้จะเป็นผู้ไม่ใช่ญาติโดยตรงโดยสายโลหิต แต่เรานับว่าเป็นญาติโดยความเคารพนับถือ ความใกล้ชิด อย่างที่ทุกท่านจำพุทธภาษิตได้ดี คนไทยก็มาใช้กันเสมอว่า วิสาสา ปรมา ญาติ โดยภาษาบาลี วิสาสา ปรมา ญาติ แปลว่า ญาตินั้นก็มีผู้ที่ สนิทสนม สนิทใจกันเป็นอย่างยิ่ง คือคนที่สนิทใจกัน ที่ท่านเรียกว่าคุ้นเคย จนกระทั่งว่าเชื่อถือ เคารพกัน ท่านถือว่าเป็นญาติ ท่านที่มานี้ก็มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์โดยสายโลหิตบ้าง โดยความเคารพนับถือ ความรักต่อกันบ้าง เมื่อท่านผู้ล่วงลับจากไปก็มาแสดงน้ำใจทั้งต่อผู้ล่วงลับไปและทั้งต่อครอบครัวของท่าน ก็เป็นการที่ได้แสดงออกถึงคุณธรรมคือความมีน้ำใจนั้น กับทั้งที่เป็นโอกาสที่ได้มาร่วมกันทำบุญในทางพระศาสนา ในการบำรุงสืบต่ออายุพระศาสนาไปด้วยหมายความว่าได้ทั้งสองอย่าง คือได้ทั้งให้แก่ท่านผู้ล่วงลับ และก็ถวายแก่พระศาสนา
พร้อมกันนั้นก็คือแสดงออกต่อผู้ที่ยังอยู่ ก็คือครอบครัวของท่านผู้ล่วงลับไปแล้ว มีไมตรีจิตมิตรธรรมได้มาแสดงออกกันในโอกาสนี้และในที่สุดก็คือถึงตัวท่านเองทุกท่านได้มาทำบุญแล้วก็เป็นบุญที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง อย่างน้อยก็ทำให้ได้มาระลึกถึง ความจริงของชีวิต เราก็ทราบกันดีในฐานะพุทธศาสนิกชนว่าชีวิตนี้ก็เป็นสังขาร หมายความว่าเกิดจากเหตุปัจจัย ปรุงแต่งขึ้นมาแล้วก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นมีความเปลี่ยนแปลงที่เราเรียกว่าเป็นอนิจจัง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
เรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ ตายนี้ก็เป็นธรรมดาของชีวิตที่เป็นไปตามกฎธรรมชาติ พุทธศาสนิกชนนั้นมีความรู้ เข้าใจ เท่าทัน ในเรื่องนี้ก็จะทำให้วางใจต่อการจากไปนี้ได้ดีขึ้น เพราะธรรมดาของผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอยู่ในครอบครัว มีความรัก มีความผูกพันกันมากเวลาจากไปก็เป็นธรรมดาว่าจะต้องมีความทุกข์มีความเศร้าโศรก นั้นเรียกว่า ปิยะวิปโยคทุกข์ ทุกข์เกิดจากพลัดพรากจากบุคคลที่เป็นที่รัก แต่เมื่อได้มาระลึกถึงธรรม คือ ความจริงของชีวิตก็จะทำให้จิตใจนี้วางลงได้ถูกต้องขึ้น คือตระหนักถึงความเป็นจริงนั้น แล้วก็บรรเทาความเศร้าโศรกเสียใจ ก็มานึกแต่ในทางที่ว่าแทนที่ว่าจะมัวแต่จะขุ่นข้อง หมองใจในความเศร้าโศรกก็มานึกถึงเรื่องที่เราจะทำอะไร ข้อสำคัญจึงอยู่ที่นี่ ทำอะไรก็ทำต่อผู้ล่วงลับไปแล้วว่าในฐานะที่ท่านเป็นผู้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพนับถือ จากไปแล้วเราไม่มีทางทำอื่น เราก็อุทิศกุศลให้ แล้วก็ยังได้เป็นโอกาศที่จะได้มาอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนาไปด้วย
นอกจากนั้นก็คือว่าเราจะทำอะไรกับชีวิตของเราเองหรือเราจะได้คติอะไรที่เป็นประโยชน์ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ถามว่าศาสนานั้นเมื่อท่านสอนให้ระลึกถึงความจริงของชีวิตที่มีความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ท่านก็จะให้เรามีความไม่ประมาทอันนี้เป็นหลักธรรมดาคือเมื่อเรานึกถึงความจริงว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไปไม่แน่นอน เราจะวางใจอยู่ไม่ได้ เราจะต้องเร่งรีบทำสิ่งที่ควรทำ สิ่งรอบตัวก็ไม่แน่นอน ชีวิตของเราก็ไม่ใช่ว่าแน่นอน ทีนี้เวลาที่ผ่านไปกับความไม่แน่นอนนี้เราต้องใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงอนิจจัง ก็ต้องตามมาด้วยความไม่ประมาทใช้เวลาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนมากมายเรื่องการที่จะไม่ประมาทโดยเฉพาะการใช้เวลาแต่ละวันๆนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด จนกระทั่งแม้แต่ แต่ละขณะนี้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะการดำเนินชีวิตภายนอก ลงมาลึกใกล้ชิดที่สุดคือชีวิต จิตใจของเราเองนี้ จะต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ทุกขณะ สิ่งภายนอกนั้นบางทีเรายังทำไม่ได้ทุกขณะแต่จิตใจของเรานี้อยู่กับเราทุกขณะ ถ้าเราใช้เป็น ปฏิบัติเป็น ชีวิตของเราก็จะได้ความเจริญงอกงามได้ความดี ได้ความสุข ฉะนั้นการปฏิบัติที่ลึกซึ้งที่สุดก็คือจิตใจแต่ละขณะของเรา ทำให้ดีที่สุด รวมแล้วก็คืออยู่ในหลักของความไม่ประมาท ทีนี้ในเรื่องของความไม่ประมาทนี้ถ้ามองทั้งชีวิตแล้วมีหลักธรรมอยู่บทหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะสำหรับญาติโยม คฤหัสถ์นี่ทรงเน้นอยู่เสมอ มีอยู่ ๕ ข้อด้วยกัน ถ้าหากว่านำไปใช้แล้วท่านว่าจะเป็นจะเป็นผู้ที่เอาสาระของชีวิตนี้ได้เกิดมาในโลกนี้แล้ว เมื่อชีวิตเป็นอนิจจังในที่สุดก็ต้องจากกันไปก็อยู่ที่ว่าชีวิตที่ตอนที่อยู่นี้ได้ใช้เป็นประโยชน์ มีคุณค่า เป็นสาระหรือไม่ ถ้าหากว่า ดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องก็กลายเป็นชีวิตที่ว่างเปล่าที่ เรียกว่า โมฆะชีวิต ถ้าดำเนินชีวิตถูกต้องก็เป็น ชีวิตที่มีสาระ เป็นแก่นสาร
ในทางพระศาสนานั้นมองการเป็นอยู่ของเรา ชีวิตของเรานี้เหมือนการเดินทาง เพราะฉะนั้นเราจึงใช้คำว่าดำเนินชีวิต คำในทางพระศาสนาเรียกการดำเนินชีวิตนี้ต่างๆ เช่น คำว่า มรรค ก็เป็นทางเดินชีวิต เรียกว่า ปฏิปทา เรียกว่า จริยะ แปลว่า การเดิน จริยะแปลว่าการเดิน ก็คือการเดินทางชีวิต มรรค ก็คือทางเดินชีวิต วิถีชีวิต แล้วก็เรียกว่าปฏิปทา ก็คือ ตัวการเดินทางนั้น พอเดินทางชีวิตผิดก็เป็นมิจฉาปฏิปทา ถ้าเดินทางชีวิตถูกก็เป็น สัมมาปฏิปทา ถ้าเราเดินทางชีวิตถูกก็จะช่วยให้เราได้ประโยชน์เป็นแก่นสาร หลักธรรมที่จะมาช่วยก็อย่างที่กล่าวแล้วชุดหนึ่งที่สำคัญที่ตรัสบ่อยนั้นมีอยู่ ๕ ข้อ เรามาเดินทางชีวิตกันให้ดี ให้ได้ประโยชน์ ให้เป็นสาระ จะต้องทำอย่างไรบ้าง
ตอนแรกท่านบอกว่าการเดินทางชีวิตนี้ก็ต้องมีทิศทางไป โดยเฉพาะก็คือมีจุดหมาย คนเราที่จะมีทิศทางก็ต้องมองลึกถึงจุดหมายว่าอะไรเป็นจุดหมายของชีวิต ถ้าคนที่ไม่มีทิศทางในการดำเนินชีวิตนี้ ก็เคว้งคว้างเลื่อนลอย ไปทางโน้น ไปทางนี้ ไปข้างโน้นที ข้างนี้ที บางทีก็เดินทางผิดพลาดก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นโทษทุกข์ภัยกับตนเองแล้วก็ทำให้เกิดเวรภัยแก่ผู้อื่น เกิดความเดือดร้อนกับเพื่อนมนุษย์ไปด้วย บางทีเกิดมาตลอดชีวิตไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย จากไปเสียเปล่าดังที่กล่าวมาเมื่อกี้เรียกว่าเป็นโมฆะชีวิต เพราะฉะนั้นเรื่องการมีทิศทางเดินทางของชีวิตนี้จึงเป็นสำคัญ การมีทิศทางเดินสำหรับคนปุถุชนนั้นยังไม่มีความรู้แจ้ง เมื่อไม่มีความรู้แจ้งก็จะอยู่กันด้วยความเชื่อ ฉะนั้นก็ต้องมีความเชื่อในจุดหมายที่ดีงาม อย่างน้อยทางพระศาสนาก็สอนว่าให้เชื่อในกรรมดี เชื่อในสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ เชื่อในการกระทำความดี อย่างนี้ก็เรียกว่ามีทิศทางที่จะเดินแล้วแต่ว่าสำหรับพุทธศาสนิกชนสามารถจะมีความเชื่อมากกว่านั้น เรามีความเชื่อว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงทราบ ทรงรู้แจ้ง ความจริง รู้จักชีวิตที่ดีงาม ที่มีความสุข แล้วพระองค์ก็มาสั่งสอนประชาชน ทรงทำหน้าที่ที่พระองค์เองก็ตรัสว่า อักขาตาโร ตถาคตา ตถาคตเป็นผู้บอก คือเป็นผู้ชี้ทางให้ เมื่อพุทธศานิกชนนับถือพุทธศาสนา ก็เชื่อในพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นผู้ชี้ทาง เราเชื่อพระองค์นี้ค้นพบสิ่งที่ประเสริฐ สำคัญ ที่จะเอาใช้ชี้ทางก็คือธรรมะเมื่อเราเชื่อในพระพุทธเจ้าก็จะโยงไปหาธรรมะ พระองค์ก็จะเอาธรรมะนี้มาชี้ให้เราเห็น ธรรมะนั้นก็คือความจริงของโลกและชีวิตและสิ่งที่เราจะต้องประพฤติ ปฏิบัติให้ถูกต้องก็คือความดีงามต่างๆ ความถูกต้อง สิ่งที่จะทำให้เกิดประโยชน์และความสุข
นอกจากนั้นแล้วก็จะมีผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรของเรา ที่ร่วมทางมากมายซึ่งท่านเป็นผู้มีความรู้ เดินหน้าไปกว่าเรา พัฒนาไปกว่าเราแล้วก็จะมาช่วยหนุนด้วย คือนำเอาคำสอนธรรมะของพระพุทธเจ้ามาบอกกล่าวช่วยเราอีก เราก็เลยมีความเชื่อในพระรัตนตรัย เชื่อในพระพุทธเจ้าผู้รู้ธรรมะชี้ทางให้เชื่อในธรรมะ คำสอนของพระองค์ที่แสดงถึงความจริง ความดีงามที่เราควรจะประพฤติ ปฏิบัติ ซึ่งกว้างขว้างไม่เฉพาะแค่การทำความดีเท่านั้น เราก็เชื่อในสังฆะชุมชนที่ประเสริฐที่รู้เข้าใจ นำเอาธรรมะสืบต่อกันมานี้ ถ้าหากว่าเราเชื่อในพระรัตนตรัยอย่างนี้ก็ได้ทิศทางที่มั่นใจ ก็เดินไปตามทางที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้นั้น อันนี้ก็คือว่าข้อที่ ๑ การมีความเชื่อซึ่งทำให้เกิดทิศทางที่จะเดินไปกล่าวคือเชื่อในผู้นำทางอันนี้ ทางธรรมะเรียกว่ามีศรัทธา
ข้อที่ ๑ จึงได้แก่ศรัทธา มีความเชื่อ ถ้าหากว่ากล่าวถึงพระรัตนตรัยอย่างน้อยก็ที่กล่าวข้างต้น เชื่อในการกระทำความดี ก็จะทำห้มีทิศทางแล้ว ตอนนี้ชีวิตก็จะไม่เคว้งคว้าง เวลาก็จะไม่ผ่านไปเปล่า แต่ว่าอย่างไรก็ตามศรัทธาก็ต้องระวัง ความเชื่อนั้นในที่นี้ได้กล่าวถึงพระรัตนตรัย มีความเชื่ออีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเชื่อที่ทำให้เกาะติดแน่นอยู่กับที่เลยไม่เดินเลยแต่เห็นว่ามีความเชื่อหลายอย่างที่ทำให้คนจม ติดอยู่กับที่ แล้วก็เลยพาชีวิตนั้นให้อยู่ที่นั่นเอง ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ลักษณะสำคัญก็คือเป็นศรัทธาที่ทำให้เรามีทางเดินไปข้างหน้า อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นลักษณะที่จะวินิจฉัยศรัทธานั้น เพราะแน่นอนว่าความเชื่อบางอย่างนั้น เชื่อแล้วก็ต้องยึดติดแน่นจมอยู่ที่นั่นเอง ซึ่งในโลกนี้มีหลายอย่างแล้วในเมืองไทยเวลานี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องระวังมากอยู่ เอาละว่าข้อที่ ๑ คือว่าเชื่อในผู้นำทางที่ถูกต้องสำหรับพุทธศาสนิกชนก็เชื่อในพระรัตนตรัยโยงไปหาธรรมะซึ่งเป็นความจริงที่ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง
ต่อไปประการที่ ๒ เมื่อเรามีทิศทางที่จะเดินแล้วก็จะมีอย่างที่สองก็คือชำระทาง ชำระทางให้เรียบร้อย ให้ปลอดโปร่ง ให้โล่งไม่มีขวากหนาม เครื่องกีดกั้น คนที่ดำเนินชีวิตไม่ถูกต้องนี้ สร้างขวากหนาม อุปสรรคให้กับชีวิตของตนเอง ในการเบียดเบียนสร้างเวรภัย ความยุ่งยากเดือดร้อนในการดำเนินชีวิต เบียดเบียนผู้อื่นก็ทำให้เกิดภัยกับตนเองนั่นแหละ ชีวิตมันก็ไม่ราบลื่น ถ้าหากว่าเราดำเนินชีวิตที่ดีมีความสุจริต ไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ รู้จักสัมพันธ์ที่ดีงามก็จะให้เรานี้เดินทางชีวิตได้สะดวก เรื่องอะไรเราเกิดมาแล้ว เดินทางชีวิตเราจะมาสร้างขวากหนามให้ตนเองเพราะฉะนั้น ท่านก็บอกว่า
ข้อ ๒ ให้มีศีล ศีลก็คือการที่มีความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ดีไม่ละเมิดเบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายต่อชีวิต ร่างกายผู้อื่น ไม่ละเมิดต่อทรัพย์สินของเขา ไม่ละเมิดต่อคู่ครองของเขา ของรักของหวงแหนของเขา ไม่หลอกลวง ไม่ละเมิดเขาด้วยวาจา ตลอดจนกระทั่งไม่ไปก่อความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยแก่ผู้อื่นโดยการไม่ติดยาเสพติด สุรายาเมาเป็นต้น อันนี้อย่างน้อยพอได้แค่นี้ก็เรียกว่าทางเดินของชีวิตนั้นก็โล่ง มีอุปสรรค ขวากหนามน้อย เป็นข้อที่ ๒ ข้างในมีความเชื่อในผู้นำทาง ข้างนอกชำระทางให้โล่ง ให้สะอาดไม่มีขวากหนามก็คือมีศีล
ต่อไปข้อที่ ๓ ท่านว่าให้มีทุน มีเสบียงในการเดินทาง เราเดินทางชีวิตเราต้องเป็นอยู่ ต้องอาศัยปัจจัย ๔ อาหารการกินเป็นต้น ตลอดจนกระทั่งถึงเรื่องของการรู้จักที่จะดำเนินชีวิตไปได้ว่าอะไรเป็นอะไร การแก้ปัญหาต่างๆจะสำเร็จได้อย่างไร ก็ต้องต้องมีสิ่งหนึ่งก็คือความรู้ศิลปะวิทยา เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีการเล่าเรียนศึกษา มีความรู้ มีทุนในทางสติปัญญา ทุนภายนอกนั้นก็จะเกิดมาจากทุนภายในนี้แหละ ฉะนั้นข้อที่ ๓ นั้นก็ต้องสร้างไว้ ถ้าไม่มีทุนก็ลำบากเดินทางไปแม้ทางจะปลอดโปร่งก็ไม่มีเสบียงเดินทาง ก็เดินทางได้ยาก เพราะฉะนั้นข้อ ๓ ก็เป็นอันว่าให้มีทุนมีเสบียงในการเดินทาง ข้อนี้ทางพระท่านเรียนว่ามีสุตตะ สุตตะก็คือความรู้ สิ่งที่ได้ศึกษาเล่าเรียน ศิลปะวิทยาเป็นต้น เป็นของจำเป็นสำหรับชีวิต ต่อไปพอมีทุนแล้วก็มาถึงข้อที่ ๔
ข้อที่ ๔ ก็บอกว่ารู้จักเกื้อหนุนเพื่อนร่วมทาง เราเดินทางชีวิตเราไม่ได้เดินทางคนเดียว ควรจะทำบรรยากาศของการเดินทางให้มีความสุข ให้มีความร่มรื่น ให้มีความชุ่มช่ำ มีความเบิกบานผ่องใส เพื่อนร่วมทางชีวิตเดินทางไปด้วยกันเยอะ ตั้งแต่ในครอบครัว ญาติมิตร เพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย เรามีทุนได้ทำไปแล้วคือข้อที่ ๓ เวลาเรามีทุนเรามีเสบียงเดินทางมานี้ เราได้เพิ่มทุนอยู่เรื่อยๆ เพิ่มทุนในระหว่างทาง เพิ่มทุนไป เรารู้จักเอาสิ่งที่เราได้มาในชีวิตเช่นทรัพย์สินเงินทองเป็นต้น แม้แต่ยศศักดิ์ต่างๆ อำนาจมาใช้ในการเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ซะ เราใช้ไม่เป็นก็กลายไปเป็นเครื่องเบียดเบียน ข่มแหงซึ่งกันและกัน ก่อความเดือดร้อน การเดินทางก็ไม่ราบลื่นแล้วก็ชีวิตก็ไม่เป็นประโยชน์ เราเดินทางไป เราเอาทุนที่มีอยู่ แล้วเอาสิ่งที่เกิดมีระหว่างทางที่เราสร้างขึ้นได้นี้ มาใช้สร้างสรรค์ทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์เกื้อหนุนผู้เดินทางด้วยกัน คนไหนอ่อนแอเดินทางไม่ไหวก็ช่วยเกื้อหนุนไป คนไหนเดินได้ดีก็อย่างน้อยสร้างบรรยากาศที่ร่มรื่น ชื่นบาน มีความสุขไปด้วยกัน อันนี้ก็มีความสำคัญ
นอกจากว่าจะเกื้อหนุนเพื่อนร่วมทางภายนอกแล้ว ตัวเองที่จิตใจที่จะให้แก่เขาได้ตัวเองก็ต้องไม่มีความยึดติด ถือมั่นตกเป็นทาสของสิ่งที่ตนสร้างสรรค์ขึ้นในระหว่างนั้น อันนี้ภาวะจิตนี้ ก็คือจิตใจที่สละได้ วางได้ไม่ยึดติด ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งที่สร้างขึ้น มิฉะนั้นสิ่งที่สร้างขึ้นมาในระหว่างนี้ก็หอบพะรุงพะรัง มีความห่วงหวงแหน มีความยึดติด มีความทุกข์เพราะสิ่งที่สร้างขึ้น ฉะนั้นข้อที่ ๔ มีความสำคัญ ภายนอกก็เกื้อหนุนสละให้กับผู้อื่นได้ ภายในก็รู้จักปล่อยวางจิตใจไม่ติดในยึดมั่น ไม่ตกเป็นทาสในสิ่งที่สร้างมาข้อนี้ท่านเรียกว่าจาคะ แล้วความสละได้ วางได้ ข้อที่ ๔ นี้ก็สำคัญตัวนี้แหละที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่าเป็นประโยชน์อย่างมาก แล้วรักษาอิสระภาพของชีวิตไว้ด้วย ถ้าเราไม่มีข้อนี้เราจะตกเป็นทาสของสิ่งที่เราสร้างขึ้นในระหว่างทาง แล้วก็ไปไหนไม่ได้ ชีวิตไม่ปลอดโปร่งอย่างแท้จริง พอเรามีจาคะแล้วเกิดมาเรามีอิสระภาพในชีวิตบ้างพอสมควร เราควรจะสร้างอิสระภาพให้มากขึ้น บางคนนี้กลับเอาสิ่งที่สร้างขึ้นมา มาทำลายอิสระภาพของชีวิตของตนเอง ฉะนั้นจะต้องรักษาอิสระภาพของชีวิตไว้ให้ได้ โดยการไม่ตกไปเป็นทาสของสิ่งที่สร้างขึ้นในระหว่างนี้
ต่อไปข้อสุดท้ายบอกว่า มีแสงสว่างหรือไฟส่องทางอันนี้สำคัญมาก เดินทางไปในความมืดแม้จะมีความเชื่อในทิศทางแต่ไม่มีแสงสว่างบางทีก็เดินทางพลาดได้ แล้วแสงสว่างนี้จะมาช่วยชำระทำให้เราเห็นสิ่งที่เขาชี้ได้ชัดเจน ผู้นำทางชี้ทางให้ตัวเองไม่มีปัญญาก็จะไม่รู้ไม่เข้าใจต้องสร้างปัญญา พัฒนาปัญญาขึ้นมาเพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมดทุกอย่าง สิ่งที่ผู้ชี้ทางให้เป็นต้น แม้แต่ศรัทธา ความเชื่อของตนเองก็จะได้อาศัยแสงสว่างนี้มาชำระให้เป็นศรัทธาที่ถูกต้อง ไม่เชื่อถือโดยงมงาย เพราะฉะนั้นข้อที่ ๔ นี้คลุมและคลุมหมด คือคลุมไม่ให้พลาด ศรัทธาถ้าไม่มีปัญญาคลุมก็พลาดได้ เชื่อเหลวไหล งมงาย ออกนอกลู่นอกทางไปหรือแม้แต่เชื่อแบบยึดติด ถือมั่น ไม่รู้จักคิดพิจารณา ฉะนั้นแล้วปัญญาก็จะมาบอกว่าจะสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์อย่างไรจะได้อยู่กันได้ดี ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันไม่สร้างขวากหนามของชีวิตอย่างที่ว่าปัญญาต้องมาคลุมหมด ปัญญาต้องมาใช้ สุตตะ ความรู้ศิลปะวิทยา บางคนเรียนมาใช้ไม่เป็นบางคน เรียนมาเท่ากัน คนหนึ่งเอาไปใช้ประโยชน์แก้ปัญหา สร้างสรรค์ได้ บางคนเรียนมาเท่าไหร่ก็อยู่เท่านั้นใช้ไม่เป็น
ฉะนั้นเขาจึงแยกความรู้ที่เรียนว่าสุตตะ เป็นประเภทข้อมูลเป็นต้นไว้ส่วนหนึ่งแล้วความรู้ที่เรียกว่าปัญญาอีกอย่างหนึ่ง คนละอย่างสุตตะนั้นเป็นความรู้ที่คนอื่นเขาถ่ายทอดให้ ถ้ายังไม่มีปัญญา ความรู้นั้นยังเป็นของผู้อื่นเอามาเก็บไว้ บางทีเก็บไว้หนักเปล่าๆเพราะไม่มีปัญญา รับความรู้ถ่ายทอดมาเยอะแยะหมดเลย อย่างนี้ยังไม่เป็นของตัวเอง เป็นของฝากไว้หรือเป็นของยืมเขามาพอมีปัญญาก็มากลั่นกรองให้ความรู้สุตตะนั้นกลายเป็นของตนเองใช้ประโยชน์ได้ ฉะนั้นปัญญาก็เป็นตัวสำคัญแล้วก็จาคะก็อย่างที่ว่าเราก็ต้องรู้ เราจะเกื้อหนุนเพื่อนมนุษย์ทำอะไรจึงจะเป็นประโยชน์แท้จริง ถ้าไม่มีปัญญา จาคะก็ทำไม่ถูกต้องฉะนั้นปัญญาก็เลยคลุมหมดเลย ตลอดจนกระทั่งในที่สุดปัญญามันช่วยให้เกิดจาคะที่แท้จริงเช่นว่า เรารู้จักชีวิตของเรา เรารู้จักโลก เรารู้จักสิ่งที่เราสร้างสรรค์ขึ้นเรารู้ความจริงของมันที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเป็นต้น ปัญญาที่รู้เท่าทันชีวิต รู้เท่าทันสังขารนี้ จะทำให้จิตใจเป็นอิสระได้แท้จริง ถ้าเราไม่มีปัญญารู้ความจริงของสิ่งทั้งหลายเราก็ปฏิบัติต่อมันไม่ถูก การปล่อยวางการเป็นอิสระก็เกิดขึ้นไม่ได้ ปัญญาก็ช่วยได้ทุกข้อ จนกระทั่งถึงจาคะ
จาคะในข้อสุดท้ายก็คือ ทำให้ชีวิตเป็นอิสระโดยสมบูรณ์มีจิตใจที่ปลอดโปร่ง ผ่องใสตลอดเวลาได้ ๕ ข้อนี้ก็เป็นอันว่า ทำชีวิตให้เดินทางโดยสวัสดิภาพและก็เป็นชีวิตที่มีค่าได้แน่นอน ตกลงว่ามีธรรมะ ๕ ประการนี้ท่านเรียกว่าเป็น อริยวัฑฒิ หรือ อริยวุฒิ ก็ได้ ความเจริญของอารยชน ถ้าใครมีแล้วก็จะทำให้ชีวิตเจริญงอกงามเดินไปในทางที่ถูกต้องและเป็นชีวิตที่มีคุณค่า เป็นสาระ ดีงามทั้งแก่ตนเองและแก่เพื่อนมนุษย์ด้วย ก็ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง ก็มี
วันนี้ก็เป็นวันที่โยม ญาติมิตรทุกท่านได้มาทำบุญด้วยกันโดยระลึกถึงท่านผู้ล่วงลับไป ก็มาทำบุญอุทิศกุศลให้แก่ท่านโดยเฉพาะโยม โสภณ วีรพัฒน์ และครอบครัว ท่านก็เป็นเจ้าภาพ อันนี้ก็เป็นการแสดงออกซึ่งน้ำใจอย่างที่กล่าวแล้วที่เรียกว่าเป็นญาติธรรม แล้วก็เป็นการบูชาคุณความดีของผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย การบูชาคุณก็หมายความว่าเรายกย่องให้เกียรติแก่ผู้ล่วงลับไป เห็นคุณค่าของความดีของท่านไม่ละเลยไม่ทอดทิ้ง เราก็ได้ทำแล้ว ได้แสดงออกแล้วและยังได้อุดหนุนพระศาสนาและข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าให้คติในเรื่องของชีวิตนี้เกิดมีเป็นประโยชน์ขึ้นแก่แต่ละท่านที่เป็นผู้ร่วมบุญ ร่วมกุศลด้วยกันนี้ด้วย อันนี้ก็จะได้ครบประโยชน์ของการทำบุญในพระศาสนาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า การทำบุญในพิธีเกี่ยวกับผู้ล่วงลับนี้มันมีวัตถุประสงค์ ๕ ประการด้วยกัน
ประการที่ ๑ ก็ตรงไปตรงมาซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายของเจ้าภาพก็คือการอุทิศกุศลแก่ผู้ล่วงลับ
ประการที่ ๒ เป็นการแสดงออกซึ่งญาติธรรม ก็คือธรรมะของญาติที่มีต่อญาติด้วยกัน
ต่อไปข้อที่ ๓ ก็ท่านเรียกว่าเป็นการบูชาคุณความดีของผู้ล่วงลับไปแล้ว
ข้อที่ ๔ เป็นการถือโอกาสที่มาถวายกำลังแก่พระสงฆ์ ให้มาทำศาสนกิจ หน้าที่สืบต่อพระศาสนา ให้พระศาสนาดำรงอยู่เพื่อธรรมะจะได้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนต่อไป
และข้อที่ ๕ ก็เป็นการทำความดีของท่านผู้มาร่วมบุญกุศลเองให้ความดีเกิดขึ้นโดยทานบ้าง โดยศีลบ้าง โดยภาวนาบ้าง ภาวนาก็คือการเจริญจิต เจริญปัญญา ให้จิตใจนี้มีความสงบ มีความผ่องใส มีปัญญา มีความรู้ ความเข้าใจ เข้าใจชีวิต เข้าใจโลก รู้จักดำเนินชีวิตได้ดีงามยิ่งขึ้น ถ้าได้อย่างนี้แล้วก็เป็นอันว่าได้ครบสมบูรณ์ ตามวัตถุประสงค์ของการทำบุญอุทิศกุศลนี้ อาตภาพก็ขออนุโมทนาน้ำใจของโยม ญาติมิตร ทุกท่านเริ่มจากโยมเจ้าภาพเป็นต้นไปที่ได้มีศรัทธาแล้วก็มีเมตตา ไมตรี มีกรุณา มีญาติธรรม ดังที่กล่าวมา เมื่อท่านได้บำเพ็ญกุศลอย่างนี้แล้วก็ขอให้สบายใจว่า สิ่งที่ควรทำ เราได้ทำแล้ว เมื่อได้ทำให้กับท่านแล้ว ทำใจให้สงบก็น้อมจิตอุทิศกุศลนี้ให้แก่คุณสินีย์ วีรพัฒน์ ผู้ล่วงลับไปแล้วก็ขอให้ท่านได้อนุโมทนาเพื่อเป็นความสุขในคตินั้นๆสืบต่อไป ต่อแต่นี้ไปก็ขอเชิญโยมเจ้าภาพได้กรวดน้ำ และรับพรจากพระสงฆ์สืบต่อไป