แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนทุกท่าน วันนี้ก็เป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ที่วันมาฆบาได้เวียนมาบรรจบครบรอบปี แล้วญาติโยมก็มีศรัทธามาร่วมทำบุญกันตั้งแต่เช้า บางท่านก็อยู่ได้ตลอดวัน บางท่านก็มีธุระอื่นก็กลับก่อน บางท่านก็มาได้ตอนบ่ายตอนเย็น แต่รวมแล้วก็คือได้มาทำบุญ ทำบุญวันนี้ก็เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติมา เราก็เรียกรวมๆ ว่าบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา โยมก็ทำกัยครบ ลองสำรวจตัวเอง ก็จะเห็นว่าเราทำบุญเนี่ย วันนี้ครบทั้ง 3 ประการ ถ้าทำโดยรู้เข้าใจก็จะได้บุญครบถ้วนสมบูรณ์ บางทีเราทำไป ไม่ได้สำรวจ ไม่ได้ตรวจตรา หรือว่าไม่ได้วัดผล ถ้าเราวัดผลด้วย เราจะรู้ ยิ่งเกิดปัญญา มีความรู้เข้าใจ แล้วก็ยิ่งทำให้บุญกุศลนั้นเพิ่มพูน เพราะว่าพอรู้เข้าใจแล้วจิตใจก็จะตามปัญญานั้น คือเกิดปิติ เกิดความอิ่มใจ เกิดความสุข เกิดความเบิกบานสดชื่นผ่องใส เป็นต้น ทีนี้โยมมาอย่างน้อยก็ได้แล้วกับจิตใจ เริ่มต้นก็ด้วยจิตใจมีศรัทธา ศรัทธาก็ทำให้ใจผ่องใส พอมาได้ทำบุญทำกุศลก็มีความเอิบอิ่มแช่มชื่นใจ อันนี้ก็เป็นความสุข พอเริ่มต้นที่ดี เริ่มต้นถูกต้องอย่างนี้ก็เข้าตามคติของวันนี้ที่เป็นวันมาฆบูชา ซึ่งโยมก็คงจะรู้จำได้ถึงความหมายของวันมาฆบูชา แต่ขอพูดถึงเรื่องของวันมาฆบูชานี้นิดหนึ่งว่า เราเรียกกันวันมาฆบูชาบ้าง อันนี้เป็นชื่อที่คุ้นที่สุด บางทีก็เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต หรือจะเรียกว่าวันโอวาทปาฏิโมกข์ ก็ได้ แค่บอกชื่ออย่างนี้ก็ ท่านใดเข้าใจความหมายของชื่อนั้นก็เป็นอันว่ารู้จักวันมาฆบูชาจริง ก็เรียกว่าไม่ต้องอธิบายกันมาก เมื่อถึงวันมาฆบูชา แต่ละปีก็จะได้อธิบายกัน แล้วอธิบายกันมากหลายปีแล้ว เพราะฉะนั้นปีนี้ก็จะไม่อธิบายมาก จะไม่ไปทบทวนความหมายของคำว่ามาฆบูชา จาตุรงคสันนิบาตมีอะไรบ้าง โอวาทปาฏิโมกข์ มีเนื้อความพิเศษพิสดารอย่างไร วันนี้จะขอโอกาสถือว่าโยมทราบแล้ว บอกแต่เพียงว่าชื่อวันมี 3 อย่างนี้ ทีนี้โยมมาทำบุญทำกุศลในวันมาฆบูชา จุดยอดนี่ก็มาระลึกถึงความหมายแล้วก็มาจบที่โอวาทปาฏิโมกข์ โอวาทปาฏิโมกข์แม้จะไม่พูดในรายละเอียด แต่ก็อาจจะจับบางจุดมาพูดหน่อย ก็ขอพูดถึงบางแง่บางมุมของโอวาทปาฏิโมกข์ ทีนี้จะพูดไปได้ โยมก็ต้องทำความเข้าใจความหมายพื้นฐานซะนิดหนึ่งก่อน ว่าโอวาทปาฏิโมกข์นั้นก็แปลว่า โอวาที่เป็นหลักเป็นประธาน คือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักใหญ่ เราก็เลยเรียกกันว่าเป็นหัวใจพุทธศาสนา ทีนี้หลักคำสอนที่เป็นหัวใจพุทธศาสนา โยมก็จำกันได้แม่นในตอนที่ว่า เว้นชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ หรือทำใจให้ผ่องใส อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งความจริงนั้นมี 3 ท่อน ที่นี้เรื่องปาฏิโมกข์ที่ว่าเป็นคำสอนที่เป็นหลักใหญ่เป็นประธานเนี่ย ตัวคำยืนมีคำหนึ่งว่า ปาฏิโมกข์ แปลว่าหลักใหญ่ หรือหลักที่เป็นประธาน ทีนี่เราได้ยินโอวาทปาฏิโมกข์ อ๋อ ก็เป็นคำสอนที่เป็นหลักเป็นประธาน ทีนี้ปาฏิโมกข์นี้มี 2 อย่าง วันนี้ที่จะมาทวนคือทวนเรื่องปาฏิโมกข์ 2 อย่าง อีกอย่างหนึ่งคืออะไร มีโอวาทปาฏิโมกข์ แล้วก็มีปาฏิโมกข์หนึ่ง เรียกว่า อาณาปาฏิโมกข์ โอวาทะ โอวาท คำสั่งสอน ทีนี้ อาณา แปลว่า อำนาจ คล้ายๆ คำสั่ง เป็นเชิงบังคับ ภาษาไทยใช่ในรูปสันสกฤตว่า อาชญา แต่ว่าความหมายใช้ภาษาไทยอันนี้อาจจะรู้สึกไม่ดี เช่นอาชญากรรมเป็นเรื่องไม่ดีไป อาณาก็เป็นเรื่องของอำนาจ ทีนี้วันนี้เป็นวันโอวาทปาฏิโมกข์ แต่ว่าเราต้องรู้จักปาฏิโมกข์ให้ครบ ปาฏิโมกข์มี 2 อย่าง อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า อาณาปาฏิโมกข์ แล้วต่างกันอย่างไร แล้วอาณาปาฏิโมกข์นั้นไปอยู่ที่ไหน ปาฏิโมกข์อีกอย่างที่เรียกว่าอาณาปาฏิโมกข์นั้น โยมได้ยินบ่อย วันนี้วันพระสิ้นเดือนนะ วันพระกลางเดือนนะ พระลงปาฏิโมกข์ โยมโดยเฉพาะท่านที่ใกล้ชิดวัด ก็จะต้องได้ยินคำนี้เสมอ นี่แหละลงปาฏิโมกข์ ปาฏิโมกข์ที่พระลงกันทุกครึ่งเดือนนี่ ถ้าเรียกเต็มก็เป็นอาณาปาฏิโมกข์ เมื่อมาเทียบกับโอวาทปาฏิโมกข์ เป็นอาณาปาฏิโมกข์ บางทีโยมไม่ได้สังเกต ไม่ได้เทียบกันว่าปาฏิโมกข์ที่ได้ยินว่าพระลงไปสวดปาฏิโมกข์เนี่ย มันสัมพันธ์อะไรกับโอวาทปาฏิโมกข์วันนี้ เลยจับมาโยงซะเลยวันนี้ เป็นอันว่าปาฏิโมกข์มี 2 อย่าง หนึ่ง-โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นคำสั่งสอน โอวาทของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักใหญ่ เป็นประธาน แล้วก็อาณาปาฏิโมกข์ คือปาฏิโมกข์ที่เป็นประเภทข้อบังคับคำสั่งที่พระจะต้องลงไปร่วมประชุมสวดทุกกึ่งเดือน ในวันกลางเดือน และวันสิ้นเดือน คืนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ แล้วก็วันแรม 14 หรือ 15 ค่ำ โอวาทปาฏิโมกข์นี้เกิดก่อน พระพุทธเจ้าตรัสแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ไว้ตั้งแต่หลังจากตรัสรู้ได้ 9 เดือน คือวันมาฆบูชานี้ หลังจากนั้นตามประวัติก็ว่าพระองค์ก็ทรงประชุมพระสงฆ์แล้วก็แสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นประจำ จนกระทั่ง 20 ปีต่อมา ก็ได้ทรงบัญญัติพระวินัย เรียกว่าสิขาบทคือข้อบัญญัติที่เป็นข้อๆๆ หรือคล้ายๆ กฎหมายก็เป็นแต่ละมาตรา รวมทั้งหมดเรียกว่าวินัย คล้ายๆ กฎหมาย ข้อบัญญัติที่เป็นวินัยนี้เกิดขึ้นมาก็จะต้องมีการประชุมสวดให้ที่ประชุมให้พระสงฆ์นี่ ถือเป็นหลักปฏิบัติ ทั่วเสมอกัน เมื่อเกิดวินัยอันนี้ขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็ให้สวดฟังปฏิโมกข์ที่เป็นวินัย ซึ่งเป็นฝ่ายข้อบังคับ หรืออาณาปาฏิโมกข์นี้แทน พระองค์ก็หยุดแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ก็หมายความว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์มา 20 ปี แล้วก็มาเปลี่ยนเป็นอาณาปาฏิโมกข์ อาณาปาฏิโมกข์ก็ที่พระสวดกันมาจนถึงทุกวันนี้ ทีนี้เรื่องเป็นยังไงจึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง โอวาทปาฏิโมกข์ คำสั่งสอนที่เป็นหลักใหญ่นั้น ก็เป็นการตรัสให้รู้กัน ไม่เป็นการบังคับ เพราะอะไร เพราะในระยะต้นพุทธกาลนั้น พระภิกษุทั้งหลายล้วนเข้ามาบวชด้วยศรัทธา คณะสงฆ์ก็ค่อยๆ ใหญ่ขึ้นมาๆ เวลามีจำนวนมากขึ้น แล้วก็จะมีเรื่องประกอบเข้ามาเช่น เรื่องลาภผลประโยชน์อะไรต่างๆ แล้วก็อาจจะมีคนไม่ค่อยดีเข้ามา แล้วคนที่บวชโดยที่ตามๆ กันไป ไม่รู้เข้าใจวัตถุประสงค์ความมุ่งหมาย ก็มีขึ้นๆ ต่อมาก็มีความประพฤติที่ไม่อยู่ในหลักการ ก็มีผู้ทำสิ่งที่ไม่ดีขึ้น เป็นที่น่าติเตียน แล้งทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในหมู่สงฆ์ พระพุทธเจ้าก็บัญญัติสิ่งที่เรียกว่าสิกขาบท ก็เหมือนกับข้อบัญญัตินั่นเอง เรียกว่าเป็นพุทธบัญญัติว่าทำนั้นไม่ได้นะ ทำนี้ไม่ได้ ทำอันนั้นแล้วมีความผิด เช่นว่าภิกษุดื่มสุราแล้วเป็นอาบัติปาจิตตีย์ อะไรอย่างนี้เป็นต้น นี่ก็เริ่มเมื่อ 20 ปี บทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงตราไว้กับพระภิกษุสงฆ์ให้ประพฤติปฏิบัติในทางวินัยเนี่ย ก็มารวมเรียกว่าเป็นปาฏิโมกข์ซึ่งเป็นฝ่ายอาณาปาฏิโมกข์ พระภิกษุในยุคแรกของพุทธกาล ก็อยู่กันด้วยหลักการที่รู้กัน อันนี้เป็นข้อสังเกตที่สำคัญก็คือว่าในยุคตนพุทธกาลนั้น พระทั้งหลายก็รู้กันว่าเราบวชกันมาทำไม หลักการทางพุทธศาสนานี่ บวชแล้วจะต้องประพฤติปฏิบัติยังไง แนวทางมีอยู่แล้วชัดเจนเข้าใจกันดี ก็เป็นอันว่าไม่ต้องมีข้อบังคับที่เรียกว่าประเภทวินัย บอกหลักการขึ้นมาก็ถือตามนั้น ก็รู้กันเลย พระพุทธเจ้าก็ทรงทบทวนอยู่เสมอว่า หลักการของพุทธศาสนานะ เป็นอย่างนี้ๆ แต่เมื่ออย่างที่บอกเมื่อกี้ไว้แล้วว่า เมื่อมีพระภิกษุจำนวนมากขึ้น แล้วก็มีลาภผลประโยชน์อะไรต่ออะไร ก็เลยเกิดปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ ก็จำเป็นจะต้องมีวินัยขึ้นมาแล้วก็มีการบัญญัติความผิด แล้วก็มีการลงโทษ นี่เรียกว่าเป็นอาณาปาฏิโมกข์ เพราะฉะนั้นอาณาปาฏิโมกข์ก็มีการลงโทษมีการทำความผิดด้วย นี่ก็เล่าให้โยมฟังเรื่องปาฏิโมกข์ 2 อย่าง จะได้มีความเข้าใจ นี่ล่ะเรื่องของสังคมมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้ แม้แต่เรื่องของพระสงฆ์ จะเรียกว่าเป็นชุมชนก็ได้ ที่ตั้งขึ้นเพื่อความดีงาม แล้วก็ผู้ที่เข้ามาก็ล้วนแต่เป็นผู้ที่ตั้งใจ มีเจตนาที่มุ่งมาเพื่อจะฝึกอบรมตนแล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่เมื่อหมู่ใหญ่ขึ้นมา ยิ่งเฉพาะเมื่อมีลาภมีผลประโยชน์เกิดขึ้น คนที่เข้ามาเพื่อลาภเพื่อผลประโยชน์ มีเข้ามาโดยที่ว่าท่านจะเรียกก็เหมือนกับเป็นการปลอมเข้ามา เพราะว่าไม่ได้เข้ามาด้วยใจจริง ก็ทำให้เกิดปัญหา วินัยก็มาช่วยแล้ว ตอนนี้ก็จะมาตีกรอบกัน มีการบัญญัติ มีความผิด มีการลงโทษอะไรเนี่ยก็เกิดขึ้นมา อาณาปาฏิโมกข์ก็มาเป็นเครื่องหนุน ก็เพื่อให้พระนั้นอยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์ ถ้าหากว่าพระสงฆ์ทั้งหลายนั้น ประพฤติปฏิบัติตามโอวาทปาฏิโมกข์ เราก็ไม่ต้องมีอาณาปาฏิโมกข์ วินัยต่างๆ ก็ไม่จำเป็น ทีนี้ในสังคมของมนุษย์ที่พัฒนาตัวดีแล้ว มีความเจริญงอกงามทางจิตใจทางปัญญาดี พฤติกรรมก็ดีแล้วเนี่ย อยู่ด้วยหลักการที่วางไว้ก็รู้เลย อย่างที่เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์นั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ก็เป็นเรื่องหลักคำสอนที่เป็นข้อที่เน้นที่พระสงฆ์ที่ทำหน้าที่ไปทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ไปเผยแผ่พระศาสนา จะได้ถือเป็นเครื่องปฏิบัติร่วมกัน ทั้งตัวเอง ผู้เผยแผ่ด้วย ผู้จะนำไปสอนผู้อื่นด้วย ถือเป็นหลักอย่างเดียวกันไว้ ก็จะมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ว่าเมื่อมีสงฆ์หมู่ใหญ่ขึ้น มาผู้ที่จะต้องคอยดูแลกันมากขึ้นก็มีวินัยมาเป็นเครื่องช่วย แล้ววินัยนั้นก็มาตีกรอบอีกที่ว่าเป็นเครื่องกำกับว่าทำยังไงจะให้พระมาประพฤติปฏิบัติอย่างที่เรียกว่าอยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์ได้ เหมือนกับอาณาปาฏิโมกข์มาช่วยโอวาทปาฏิโมกข์อีกชั้นหนึ่ง นี่โอวาทปาฏิโมกข์ก็เลยว่าก็มีแต่เพียงหลักใหญ่ๆ คำสอนมีไม่มาก มีแค่คาถา 3 ตอน 3 ช่วง เรามักจะแบ่งกันว่าเป็น 3 ส่วน แล้วก็ขอทวนกับโยมนิดหน่อย ว่าจะไม่ต้องทวนก็ทวนจนได้ แต่ว่าทวนนี้ไม่ได้ทวนอะไรหนักหนา ทวนเฉพาะสาระสำคัญ ช่วงที่หนึ่งก็เป็นว่า
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต
ก็แค่นี้ เรียกว่าคาถาเดียว ข้อที่หนึ่ง ก็บอกให้รู้ เรียกกันง่ายๆ ว่าเป็นลักษณะหรือเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนา ซึ่งอาจจะเทียบเคียงกับลัทธิศาสนาอื่นที่มีในสมัยนั้น ว่าพุทธศาสนามีลักษณะอย่างนี้นะ เขาบำเพ็ญตบะกันพุทธศาสนาไม่ถือเอาตบะแบบนั้นที่เขาเป็นทรมานร่างกายนี่พุทธศาสนาไม่เอาด้วย ตบะของพุทธศาสนาก็คือขันตินี่แหละ ไม่ต้องไปเที่ยวทรมานร่างกายอะไรหรอก จุดหมายของศาสนาเขาเข้าไปถึงพระพรหม อยู่รวมกับพระพรหมอะไรต่างๆ เหล่านี้ พุทธศาสนาก็บอกว่านิพพานคือจุดหมาย เป็นบรมธรรม แล้วก็ลักษณะของบรรพชิตสมณะนักบวชในศาสนาอื่น ท่านก็อาจจะมองคือผู้มีฤทธิ์มีปาฏิหาริย์ ผู้ที่ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่ทำพิธีกรรมสื่อระหว่างพระพรหมกับมนุษย์ พระพุทธเจ้าก็บอกนักบวช บรรพชิตสมณะในความหมายของพุทธศาสนาคือผู้ไม่ทำร้ายใคร ไม่เบียดเบียนใครว่างั้น เป็นผู้สงบอย่างนี้เป็นต้น นี่ก็จะเห็นว่าคาถาแรกนี่แสดงลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของพระพุทธศาสนา แล้วมาท่อนที่สองก็จะบอกหลักการให้ หลักการก็จะบอกหลักใหญ่ใจความของพระพุทธศาสนา
สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง
กุสะลัสสูปะสัมปะทา
สะจิตตะปะริ โยทะปะนัง
บอกว่า หนึ่ง-ไม่ทำความชั่วทั้งปวง สอง-ทำกุศลหรือความดีให้เพียบพร้อม สาม- ทำจิตใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์ แล้วก็
เอตัง พุทธานะสาสะนัง
อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เราก็เอาท่อนนี้มาเป็นหัวใจพุทธศาสนา แล้วก็ไปท่อนสุดท้าย ต่อไปส่วนที่ 3 ก็จะบอกว่า
อะนูปะวาโท อะนูปะฆาโต
ปาติโมกเข จะ สังวะโร
มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง
ปันตัญจะ สะยะนาสะนัง
อะธิจิตเต จะ อาโยโค
เอตัง พุทธานะสาสะนัง
ก็บอกว่าไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้าย รู้จักประมาณในการบริโภค นั่งนอนในที่สงัด บำเพ็ญเพียรด้วยอธิจิต จิตของตนใหญ่ขึ้นไป นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย อันนี้เป็นลักษณะวิถีชีวิตของพระภิกษุ คือผู้ที่ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ว่าพระภิกษุผู้ที่ทำงานเผยแผ่พระศาสนาเป็นประโยชน์แก่ชาวโลกนะ ดำเนินชีวิตแบบนี้ เป็นผู้ที่ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้ายใคร แล้วก็เป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค ลักษณะสำคัญ แล้วก็เป็นผู้ที่ชอบอยู่ในที่สงัด บำเพ็ญเพียรฝึกจิตของตนยิ่งขึ้นไป นี่ก็ 3 ส่วนนี่โยมก็จำไว้ให้ดี ที่จริงพระพุทธเจ้าทรงมุ่งประความเข้าใจ ทบทวนกับพระสงฆ์เอง แต่ว่าญาติโยมก็ควรรู้ด้วย อย่าเห็นว่าพระที่จะไปสอนนี่ต้อง หนึ่ง-รู้ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนา เพราะว่าอยู่ท่ามกลางลัทธิศาสนาในสมัยนั้น จะได้รู้ว่าแนวทางพุทธศาสนาเป็นอย่างไร แล้วสอง-ก็หลักการใหญ่ที่จะไปสอนประชาชน สาม-ตัวเองดำเนินวิถีชีวิตอย่างไร มีพร้อมอยู่ในนี้ อันนี้ก็เป็นการกล่าวอย่างคนที่รู้กันอยู่แล้ว ที่จริงข้อปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ ยังมีเยอะแยะ แต่ว่าท่านเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้ฝึกอบรมตนแล้วก็อยู่กับพระพุทธเจ้าบ้าง แล้วก็อยู่กับพระอรหันต์ พระสาวกผู้ใหญ่บ้าง ก็ฝึกอบรมตน มีการเจริญไตรสิกขากันดี พระพุทธเจ้าก็มาตรัสข้อเน้นย้ำเป็นการทบทวนไว้ที่เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์นี้ เรียกว่าเราต้องดูหลักคำสอนนี้ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมคือสังคมยุคนั้น ลัทธิศาสนาสมัยนั้น ว่าเขาเป็นกันอย่างนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสอันนี้ขึ้นมา เพื่อให้เห็นลักษณะเฉพาะของพุทธศาสนา ทีนี้พอมีปัญหาอย่างที่ว่าแล้ว พระหมู่ใหญ่ขึ้นมา มีเรื่องของคนดีคนร้าย มีอะไรต่างๆ ก็มีการบัญญัติวินัย เป็นอาณาปาฏิโมกข์ ก็กำกับเข้าไป อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งของวันโอวาทปาฏิโมกข์ วันมาฆบูชาที่โยมอาจจะได้ความรู้ขึ้นมาอีกด้านหนึ่ง ก็เลยนำมาพูดในวันนี้ ก็เลยว่ามีเรื่องที่อยากจะพูดเพิ่มอีกนิดหนึ่ง สำหรับเรื่องมาฆบูชาเนี่ย เราก็ได้ความแล้วนะตอนนี้ว่าโอวาทปาฏิโมกข์นี่เป็นหลักใหญ่ คำสอนที่เป็นหัวข้อสำคัญ แล้วเราก็มีอาณาปาฏิโมกข์มากำกับ พอมาในสมัยนี้ อย่างในประเทศไทยก็มีเพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง ก็มีกฎหมายคณะสงฆ์ เช่นอย่างมี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ขึ้นมา อันนี้ก็เป็นเรื่องของความขยายตัวและวิธีการของสังคมมนุษย์ที่จะมาช่วยทำให้กิจการต่างๆ ในสังคมเป็นไปด้วยดี ทีนี้ในเมื่อสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมามีในสังคม ในหมู่ชาวพุทธนี้ ชาวพุทธก็ต้องรู้เข้าใจให้ถูกต้อง เวลานี้ก็มีข่าวเรื่องโน้นเรื่องนี้กัน ดีบ้างร้ายบ้างเนี่ย ชาวพุทธจะต้องวางใจให้ถูกต้อง ในการวางใจให้ถูกต้องนี้ก็ต้องแยกได้ระหว่างความรู้สึกกับความรู้ ด้านหนึ่งคือความรู้ ความรู้นี้ต้องหาต้องเข้าใจ มีอะไรเกิดขึ้นรู้ทัน รู้ความจริง หาความรู้ให้ถ่องแท้ถูกต้อง ส่วนเรื่อง
ความรู้สึกระวังอย่าให้เกิดความรู้สึกที่เราเรียกว่าอารมณ์ เป็นโลภะ โทสะ โมหะ เป็นความโกรธความอะไรกันนี้ แล้วก็ทะเลาะวิวาทอะไรต่ออะไรกัน ต้องเข้าใจว่าทุกอย่างนี้มุ่งเพื่อประโยชน์แห่งส่วนรวม การที่เรามีกฎหมายคณะสงฆ์อะไรต่างๆ ก็มากำกับอีกชั้นหนึ่ง เหมือนกับหนึ่ง-โอวาทปาฏิโมกข์นี้เป็นหลักใหญ่ ตัวสิ่งที่ต้องการแล้ว ให้พระปฏิบัติตามนี้ แม้แต่ไม่มีระเบียบวินัยที่มาบังคับกันนะ ถ้ารู้เข้าใจทำตามนั้นก็อยู่แล้วพระศาสนา ทีนี้เรามองดูสังคมมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้แหละ มีคนดีบ้างมีคนชั่วบ้าง ก็เลยต้องมีอาณาปาฏิโมกข์ขึ้นมา พอมาถึงเมืองไทย อาณาปาฏิโมกข์ยังไม่พออีกรึ กฎหมายวินัยของพระสงฆ์ยังต้องมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เข้าไปอีกชั้นหนึ่งอีก ลองคิดดู ทีนี้ถ้า พ.ร.บ.คณะสงฆ์อีกชั้นหนึ่งแล้วยังไม่ไหว ท่าจะแย่แล้วนะ นี่ก็หมายความว่า 3 ชั้นแล้ว ชั้นที่หนึ่ง-โอวาทปาฏิโมกข์ พระสงฆ์อบรมดีพัฒนาตัวดีแล้วโอวาทปาฏิโมกข์พอ อ้าว ไม่พอ อาณาปาฏิโมกข์วินัยพระมา ก็ได้แก่ศีล 227 ที่พระสวดกัน นี่ยังไม่พออีกรึ ต้องมีพระราชบัญญัติกฎหมายคณะสงฆ์มาช่วยกับกับอีกชั้นหนึ่ง แต่ว่าเราก็มองอย่างนี้ว่าเรื่องของสังคมมนุษย์มันก็มีปัญหาต่างๆ เราก็มามองว่า ตอนนี้เจาพูดกันเรื่อง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มันก็โยงมาหาเรื่องวันมาฆบูชา โอวาทปาฏิโมกข์ และอาณาปาฏิโมกข์นี้ ฉะนั้นวันนี้แม้แต่เป็นเรื่องของทางบ้านเมือง แต่มาเกี่ยวกับพระสงฆ์ เกี่ยวกับศาสนาเข้าก็เลยถือโอกาสทำความเข้าใจกับโยมนิดนึง แต่อาตมาบอกว่าให้หาความรู้ความเข้าใจตัวเอง ก็ยังไม่มีเวลาหาความรู้เข้าใจพอ มีบางท่านก็ชอบถามอาตมาว่า ที่เขาจะออก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ใหม่กันเนี่ย มีร่างโน้น ร่างนี้ ท่านคิดยังไง อาตมาบอกว่าอาตมายังไม่สามารถให้ความเห็นได้ เพราะอะไร เพราะว่ายังไม่ได้หาความรู้ให้เพียงพอ เพราะก่อนจะให้ความเห็นต้องขอหาความรู้ก่อน ทีนี้ร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กี่ฉบับก็ตาม ที่อยู่ในปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่มีเวลาได้อ่านจบ มีคนส่งมาเพื่อจะขอให้ช่วยออกความเห็น ส่งมาตั้งหลายครั้งแล้ว ส่งมาทีละ 2 ร่าง หรือเกินกว่านั้น ก็ไม่มีเวลาจะอ่าน แต่บอกว่าถ้าจะให้ความเห็นต้องหาความรู้ก่อน เพราะฉะนั้นจึงยังไม่ให้ความเห็น บางท่านอาจจะฟังไปแล้วก็จับไม่ถูกว่าอาตมาไปให้ความเห็น ยังไม่ได้ให้ความเห็นหรอก แต่ให้ได้อยู่อย่างหนึ่งคือให้หลักการ เรื่อง พ.ร.บ.คณะสงฆ์นี่ เราไม่พูดเฉพาะฉบับไหนๆ ร่างไหนๆ ก็ได้ แต่เราพูดกว้างไปเลย ไม่ว่าท่านจะออก พ.ร.บ.อันไหนก็ตาม กฎหมายคณะสงฆ์อันไหนก็ตาม มีหลักการอยู่อันหนึ่งว่าควรจะเป็นอย่างนี้ อันนี้เราจะพูดว่าเราให้ความเห็นก็ได้ ให้หลักการก็ได้ เพราะเป็นเรื่องของตัวสาระในทางพระพุทธศาสนา ฉะนั้นเรื่องร่าง พ.ร.บ.ที่ร่างกันอยู่ในปัจจุบันนี้ยังไม่ได้อ่านให้จบ เพราะฉะนั้นไม่สามารถให้ความเห็นได้ แต่ไม่ว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์จะเป็นร่างฉบับใดก็ตาม ก็จะต้องมีหลักการอันเดียวกัน เพื่อจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน แล้ว พ.ร.บ.ที่ดีที่สุดก็คือ พ.ร.บ.ที่ช่วยให้สำเร็จผลตามจุดมุ่งหมายนี้ ถ้าร่างใดมันมำผลให้เกิดตามจุดมุ่งหมายนี้ได้ นั่นก็เป็น พ.ร.บ.ที่ดี ทีนี้เราจะพูดยังไงว่า พ.ร.บ.ยังไงจึงจะดี พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ หรือกฎหมายคณะสงฆ์ทั้งหลายนี้มีขึ้นเพื่ออะไร เราบอกเพื่อรักษาพุทธศาสนา แล้วก็เพื่อรักษาคณะสงฆ์ หรือจะเพื่อเชิดชูพุทธศาสนา เราก็ต้องถามว่าแล้วอะไรคือตัวพระพุทธศาสนา ที่ว่าเราจะรักษาพระพุทธศาสนานั้น เราจะรักษาอะไร พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็ทรงสั่งสอน เสด็จจาริกไปสั่งสอนโน่นสั่งสอนนี่ สิ่งที่ทรงสั่งสอนทั้งหมด ตรัสวางไว้รวมทั้งเป็นวินัยที่เราเรียกอาณาปาฏิโมกข์ทั้งหมด คือสิ่งที่พระองค์ได้สร้างไว้ เป็นจะเรียกง่ายๆ ว่าเป็นผลงานของพระพุทธเจ้าก็ได้ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้าก็มอบไว้ให้แก่เรา ทั้งหมดเรียกว่าพระธรรมวินัย นี้คือเนื้อตัวที่แท้ของพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ก็ตรัสไว้เลยว่า โย โว อานนฺท ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญญฺตฺโต,โส โว มมจฺจเยน
สตฺถา บอกว่า อานนท์ ธรรมใดวินัยใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป ธรรมวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย อันนี้ก็คือว่าเมื่อพระพุทธเจ้า แม้แต่ปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมวินัยนี่แหละก็เป็นศาสดา เป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้าสืบมา เพราะฉะนั้นเวลานี้เราจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ ก็คือไปเฝ้าที่พระธรรมวินัยของพระองค์ แล้วอันนี้แหละคือเนื้อตัวของพุทธศาสนา ส่วนนอกนั้นก็คือสิ่งที่งอกมาจากพระธรรมวินัยนี้ ก็คือการที่เราจะเอาพระธรรมวินัยนี้มาใช้ประโยชน์ จะทำให้เกิดผลดีแก่ชีวิตแก่สังคมของเรา เราก็เอาพระธรรมวินัยนี้มาเผยแผ่มาสั่งสอน มาประพฤติปฏิบัติกัน นี่พระพุทธเจ้าก็มอบไว้ให้แก่เรา เนื้อตัวของพุทธศาสนาอยู่ที่นี่ ฉะนั้นก็ถามต่อไปว่า แล้วพระธรรมวินัยไม่พอรึ ต้องมีพ.ร.บ.คณะสงฆ์อีก เราก็ตอบได้บอกว่าพระธรรมวินัยนั้นพระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้แล้วก็จริง แล้วเป็นศาสดาแทนพระองค์ แต่องค์พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ ไม่ได้มีพระพุทธเจ้าคอยตรัสคอยกำกับว่าสั่งสอนพูดอย่างนั้นอย่างนี้ให้ ซึ่งอยู่ในพระธรรมวินัย แล้วก็ไม่มีศูนย์กลางอันเดียวกันที่จะมาคอยกำกับอย่างนั้น ต่อมามีพระมาก มีญาติโยมมาก พุทธบริษัทกระจายออกไป ก็มีคนที่ประพฤติปฏิบัติ ไปทำอะไรต่ออะไร แม้แต่พูดจาสั่งสอนนอกออกไป แล้วจะกำกับกันได้อย่างไร ยิ่งสมัยนี้บางทีมีคนที่ไม่ได้เข้ามาเพื่อปฏิบัติในทางพุทธศาสนา เพื่อที่จะเอาประโยชน์จากพระธรรมวินัย ก็จะเข้ามาทำความเสื่อมเสีย สั่งสอนนอกเรื่องไป ปฏิบัตินอกทางไป แล้วจะทำยังไง บ้านเมืองก็รักพระพุทธศาสนา เห็นพระพุทธศาสนาคือตัวพระธรรมวินัยนี้เป็นประโยชน์ จะต้องให้รักษาพระพุทธศาสนา หรือตัวพระธรรมวินัยนี้ ให้เป็นหลักต่อประเทศชาติต่อไป เหมือนอย่างโบราณประเพณีของเรา องค์พระมหากษัตริย์แต่กาลก่อนก็ต้องพยายามมีการสังคายนาอุปถัมภ์สังคายนาพระธรรมวินัย แล้วก็จัดให้มีการพิมพ์ มีการจารึกพระธรรมวินัยไว้ เป็นหลักตั้งแต่ในหลวงกรุงธนบุรี พอตั้งกรุงธนบุรีได้ บ้านเมืองพอจะเข้าที่ ก็รีบให้หาพระไตรปิฏกส่งมาจากเมืองใต้เมืองเหนือซะ มารวมไว้ กลัวว่าพระศาสนานี้จะเสื่อมไป ให้หลักพระธรรมวินัยอยู่ เพราะหลักพระธรรมวินัยจารึกไว้ในพระไตรปิฏก พอในหลวงรัชกาลที่ 1 ตั้งกรุงเทพฯได้ สิ่งที่ทำเป็นประการแรกเมื่อตั้งกรุงเข้าที่คืออะไร ก็คือจัดสังคายนา ประชุมจารึกพระธรรมวินัยแล้วก็เอามาตั้งเป็นหอพระคัมภีร์ไว้ที่วัดพระแก้ว พอถึงรัชกาลที่ 5 พอมีระบบการพิมพ์ขึ้นมาเป็นหลักฐาน รัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มเลย เอาพระไตรปิฏกที่อยู่ในใบลานนั้น มาพิมพ์เป็นเล่มหนังสือแจกประเทศต่างๆ พระธรรมวินัยเป็นหลักพระพุทธศาสนา บ้านเมืองก็รู้อยู่ว่าพระธรรมวินัยนี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา แต่ว่าคนที่มาบวชมาอะไรกัน มาอยู่ในวงการพุทธศาสนา มีชื่อเป็นชาวพุทธก็ตาม หรือคนข้างนอกก็ตาม ทำไงจะไม่ให้มาทำลายพระธรรมวินัยนี้ แล้วก็ทำให้ยึดถือพระธรรมวินัยนี้เป็นหลักทั่วกันจะทำยังไง บ้านเมืองก็เข้ามาช่วย ก็มีการตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้นมา ที่มาเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์เนี่ย ก็คือจะมาช่วยเป็นฐานของพระธรรมวินับอีกชั้นหนึ่ง เพราะชูพระธรรมวินัยขึ้นมาให้เป็นหลักแก่พุทธศาสนาให้ได้ เพราฉะนั้นข้อที่หนึ่งก็คือ กฎหมายคณะสงฆ์นี้มีขึ้นเพื่อเป็นฐานรองรับพระธรรมวินัย นี่ทำหน้าที่ที่หนึ่งเลย ต่อไปก็พระธรรมวินัยนี้มีไว้เพื่ออะไร ก็เพื่อประโยชน์แก่ทุกๆ คนนี่แหละ เริ่ทมตั้งแต่คนที่เข้ามาบวช พอเข้ามาบวชในพระธรรมวินัยก็จะได้ใช้ประโยชน์จากพระธรรมวินัยมาเล่ามาเรียนมาศึกษามาปฏิบัติ พอเล่าเรียนศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมวินัยแล้ว ก็ได้ประโยชน์จากพระธรรมวินัย คำสอนของพระพุทธเจ้านี้ ก็คือเจริญในไตรสิกขา มีศีล สมาธิ ปัญญา ฉะนั้นกฎหมายคณะสงฆ์เข้ามาช่วยอีก คือมาช่วยกำกับให้คนที่เข้ามาบวชเป็นพระเป็นเณรเนี่ย ให้มาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เล่าเรียนพระธรรมวินัย เอาพระธรรมวินัยมาใช้ประโยชน์ แล้วทำตัวให้เจริญงอกงามขึ้นในไตรสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะฉะนั้นประโยชน์ของกฎหมายคณะสงฆ์ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ก็คือต้องมาเป็นเครื่องกำกับให้ผู้ที่เข้ามาบวชเป็นพระเป็นเณรเนี่ย ได้ประพฤติปฏิบัติเล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัยเจริญด้วยไตรสิกขา อันนี้ก็คือเรียกว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่เป็นสาระสำคัญของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ทีนี้พอพระสงฆ์ได้เจริญในไตรสิกขาก็เป็นพระเณรที่มีคุณภาพ พระเณรนั้นก็อยู่กับประชาชน ได้รับการอุปถัมภ์จากญาติโยม อยู่ในวัด วัดนั้นก็เป็นที่ญาติโยมมาพบปะพระสงฆ์ มาทำบุญ มาถวายภัตาหารอะไรต่างๆ เหล่านี้ พระสงฆ์ก็ให้ประโยชน์แก่ญาติโยม โดยสั่งสอนพระธรรมวินัย ทีนี้วัดก็เลยกลายเป็นแหล่งเป็นศูนย์กลางที่เผยแพร่ธรรมวินัย เผยแพร่ขยายศีลธรรมไปสู่ชุมชน ไปสู่ชาวบ้าน ไปสู่สังคมประเทศชาติ ฉะนั้น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ก็มาทำหน้าที่เพื่อให้ได้ประโยชน์ตลอดครบวงจร ก็คือมาเป็นหลักประกันว่าให้วัดเนี่ยเป็นแหล่งหรือเป็นศูนย์กลางที่แผ่ขยายธรรมะ ศีลธรรม ไปสู่ชุมชน ไปสู่ประชาชน จบเลย เท่านี้แหละ นี่คือจุดหมายสาระสำคัญของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ส่วนที่จะไปจัดว่าใครจะปกครอง ใครจะทำหน้าที่ยังไง จะแบ่งเป็นระบบยังไง จะจัดเป็นอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ตามแบบบ้านเมืองสมัยปัจจุบัน อันนี้เป็นเรื่องของระบบที่จะมาค้ำจุนจุดหมายนี้ ถ้าหากว่าวางระบบขึ้นมาแล้ว ได้ผลที่ว่า 3 ประการนั้น พ.ร.บ. นั้นใช้ได้ แต่จะวางยังไงก็ตาม ถ้าไม่ได้ผล 3 ประการนั้น ก็เป็น พ.ร.บ.ที่ล้มเหลว ฉะนั้นอันนี้เราพูดได้ ให้ความเห็นได้ ถ้าใครมาถามอาตมาก็จะให้ความเห็นแค่นี้ ร่างพ.ร.บ.ที่ร่างกันอยู่ปัจจุบันนี้ บอกว่ายังไม่ให้ความเห็นเพราะว่ายังไม่ได้มีเวลาอ่านให้จบ ก็เอาเป็นทวนอีกทีหนึ่งว่า กฎหมายคณะสงฆ์ โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คณะสงฆ์นั้น จะต้องมีขึ้นเพื่อจุดหมายที่ต้องทำให้สำเร็จให้ได้ หนึ่ง-ต้องเป็นฐานรองรับพระธรรมวินัย เชิดชูพระธรรมวินัยขึ้นไปเป็นหลักของพระศาสนาให้ได้ สอง-ต้องเป็นเครื่องกำกับผู้ที่เข้ามาบวชเป็นพระเณร ให้เล่าเรียนปฏิบัติพระธรรมวินัยเจริญในไตรสิกขา ต้องทำให้ได้ สาม-ต้องเป็นหลักประกันให้วัด เป็นแหล่งที่แผ่ขยายธรรมะและปัญญาสู่ชุมชน ตั้งแต่ชนบทจนกระทั่งถึงเมืองกรุง ประเทศชาติทั้งหมด ทำได้ 3 อย่างนี้พอแล้วเจริญพร พ.ร.บ.คณะสงฆ์ แต่จะบัญญัติกันละเอียดยังไงก็ตาม ถ้าไม่ได้ผล 3 อย่างนี้ ก็ล้มเหลว ทีนี้เวลานี้ได้ยินว่าไปพูดกันอะไรต่ออะไร เรื่องว่าจะเอายังไง จะจัดปกครองยังไง จะมีนั่นกี่องค์ นี่กี่องค์ อันนี้ถ้าไม่คำนึงถึงตัวเป้าหมายจุดหมายของการที่เรามีว่า พ.ร.บ.นี้มีเพื่ออะไร มันก็กลายเป็นว่าไปถกเถียงกันในเรื่องนอกเรื่อง ซึ่งถ้ามันไม่เกิดผลที่มุ่งหมายนี้มันก็เสียเวลาเปล่า ฉะนั้น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ที่เป็นมานี่มันมีปัญหากันเพราะว่าเรายังไม่สามารถทำให้ได้ผลตามนี้ วันนี้ก็เลยมาย้ำกัน แล้วก็เป็นการทำความเข้าใจกันด้วย เพราะชอบถาม ท่านมีความเห็นอย่างไร บอกว่ายังไม่มีความเห็นเพราะว่ายังไม่ได้อ่านตลอด เราจะให้ความเห็นในเรื่องอะไร เราต้องหาความรู้ให้พร้อมก่อน แต่ว่าในเรื่องหลักการนี่พูดได้เลย ไม่ว่า พ.ร.บ.ฉบับไหนก็ต้องขอให้ได้ตามนี้ แล้วหมดเรื่องกัน ฉะนั้นไม่ว่าใครจะร่างเนี่ย ใครร่างให้ได้ผลตามนี้ คนนั้นเรายอมรับได้เลย ถือว่าประสบความสำเร็จ เป็นใคร แต่ทำไงจะให้ได้ตามนี้ โยมก็บอกว่ายากเหมือนกัน ก็เอาแล้ว นี่ก็เป็นเรื่องขององค์ประกอบฝ่ายบ้านเมืองที่เข้ามาช่วยของพระศาสนานั้นก็มี หนึ่ง-โอวาทปาฏิโมกข์ แล้ว สอง-มีอาณาปาฏิโมกข์ แล้ว มีศีล 227 สาม-บ้านเมืองเข้ามาชวยค้ำจุนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง นี่ก็เพื่อให้ราษฎรของประเทศชาติที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับพุทธศาสนานี่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องด้วย เพราะว่าปาฏิโมกข์ของพระนั้น ถ้าใช้สำหรับผู้ที่เข้ามาบวชแล้ว ทีนี้คนที่มาบวชนี้มาจากไหน ก็มาจาก หนึ่ง-สังคมภายนอก มาจากประเทศชาติบ้านเมือง อย่างคนไทยทั้งหลายเนี่ย จะมาบวช แล้วทีนี้จะทำไงล่ะ ปาฏิโมกข์ของพระนี่ไม่คลุมไปถึงญาติโยมภายนอก พ.ร.บ.คณะสงฆ์ก็เลยออกมาช่วยอีกชั้นหนึ่ง นี่เป็นเรื่องของฝ่ายบ้านเมืองที่มีความปรารถนาดีต่อพระศาสนา ต้องการจะรักษาพระศาสนาให้มั่นคง และต้องประสานให้ได้ พอทำอย่างนี้แล้วจะประสานได้เลย คือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์นี่จะเป็นวงนอกที่สุดที่จะมาช่วยตะล่อมกำกับไว้ให้พุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตเข้ามาสู่พระธรรมวินัย ก็เข้ามาสู่อาณาปาฏิโมกข์ อาณาปาฏิโมกข์ก็กำกับในชั้นในให้พระสงฆ์นี่มาอยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์อีกชั้นหนึ่ง ถ้าเราได้ครบ 3 ชั้นอย่างนี้แล้ว สังคมชาวพุทธเราก็ดี ประเทศชาติก็เจริญมั่นคง สังคมก็มีความร่มเย็นเป็นสุข วันนี้ก็เลยถือโอกาสเอามาพูดว่าอาณาปาฏิโมกข์นี่เท่ากับเป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์กับโอวาทปาฏิโมกข์ แล้วโอวาทปาฏิโมกข์นั้นก็เป็นเรื่องของแง่ด้านสำคัญที่พระพุทธเจ้าเอามาเน้นกับพระสงฆ์ผู้ทำงานเผยแผ่พระศาสนา โดยยกคัดออกมาจากพระธรรมวินัยนั่นเอง หมายความว่าโอวาทปาฏิโมกข์นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าต้องการเน้นแก่พระสงฆ์ที่ทำงานเผยแผ่พระศาสนา โยมเข้าใจอย่างนี้แล้วก็โยงได้หมด มองเห็นพุทธศาสนา เราก็จะได้อยู่กันด้วยความสบายแล้วก็จะยังไงก็ให้มีความสามัคคีกันไว้ เวลานี้มีเรื่องราวอะไรต่ออะไร ข่าวบ่อยๆ เรื่องพระศาสนาเนี่ย มันชวนให้เกิดอารมณ์ โยมเดี๋ยวก็โกรธกัน เดี๋ยวก็ว่ากัน ดีไม่ดีก็ทะเลาะกัน บอกเมื่อกี้แล้วบอกว่าเอาด้านปัญญาและความรู้ อันนี้ไม่อั้นเลย เรื่องความรู้นี่ต้องหาความรู้กันให้ถึงที่สุดเรื่องการรู้ความจริง แต่สอง-รู้แล้วต้องรักษาจิตได้ ต้องไม่ไปตามความรู้สึก คือความรู้นี่ถ้าคนสามัญปุถุชนมันมักจะทำให้เกิดความรู้สึก พอรู้ว่าคนนั้นเขาคิดร้ายแล้วใช่ไหม พอรู้ว่าเขาคิดร้าย เราก็โกรธแล้ว นี่ความรู้สึกก็มา ถ้ารู้ว่าเขาปรารถนาดีต่อเรา เราก็ใจดีด้วย ทีนี้ว่าทางพระท่านก็มาคุมอีกชั้นให้รู้ ให้รู้นี่ท่านไม่ว่า รู้เข้าไปเยอะ ไปเป็นปัญญา เราต้องรู้ด้วย แต่ด้านรู้สึกนี่เราวางลง พอรู้ไปแล้ว เขามีความประสงค์ร้ายต่อเรา ทำลายเรา เราทำไง จะโกรธ แต่ว่าต้องแก้ไขปัญหานะไม่ใช่ทิ้งไว้ ทิ้งไว้ก็เป็นประมาท ต้องแก้ไขปัญหา อย่างเวลานี้ ปัญหาในทางพระศาสนาเยอะ มีเรื่องราวเกิดขึ้นมา ก็ต้องย้ำกันบ่อยๆ บอกว่าปัญหาเหล่านี้มันเป็นผลอาการสะสมยาวนาน เหตุปัจจัยนี่สำคัญ เรานี่ได้ทำกันมานานแล้ว สังคมของเรานี่ จนกระทั่งปัญหามันเกิดขึ้นมา เมื่อปัญหามันเกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัยที่ยาวนานนี่เราก็ต้องแบ่งการแก้ปัญหาเป็น 2 ขั้น หนึ่ง- การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กรณีอะไรเกิดขึ้นมาก็แก้ไขให้มันจบให้มันสิ้น ให้มันเรียบร้อยไป แต่อย่าลืมแก้ปัญหาระยะยาวจากเหตุปัจจัยที่มันทำให้เกิดปัญหานี้ขึ้นว่าเป็นเพราะอะไรนะมันจึงเป็นอย่างนี้ เราก็จะดูแล้วก็จะเห็นได้ชัด อ้อ มันก็เป็นเพราะไม่เป็นไปตามที่ว่าเมื่อกี้ หนึ่ง-เราไม่ได้เอาพระธรรมวินัยเป็นหลักของพระศาสนา ใช่ไหม จนกระทั่งว่าชาวพุทธนี่ไม่รู้จักเนื้อตัวพุทธศาสนาอยู่ที่ไหนแล้ว ธรรมวินัยนี่เป็นตัวเนื้อของพระศาสนา เป็นแก่นเป็นแกน เป็นตัวแท้ เป็นองค์พระศาสดาแทนพระพุทธเจ้า เราก็ไม่ได้เอาใจใส่ หนึ่งแล้วนะ สอง-พระเณรบวชเข้ามาแล้วก็ไม่ได้เล่าเรียน ประเพณีบวชเรียนก็พูดกันไปอย่างนั้นเอง บวชเรียนก็คือต้องเข้ามาศึกษา บำเพ็ญไตรสิกขา ไตรสิกขาก็ห่างเหินไปจากชีวิตของพระสงฆ์ แล้ววัดก็ไม่ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะ ขยายธรรมะ ขยายปัญญาไปสู่ประชาชน นี่ตัวสำคัญนะ เหตุปัจจัย ถ้าไม่แก้อันนี้นะโยม ไม่มีทางจบหรอก มีปัญหา ฉะนั้นปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย นั่นก็ต้องแก้ไปเฉพาะๆ เรื่องอย่างหนึ่ง เฉพาะหน้า แต่ว่าเหตุปัจจัยอย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ต้องทำให้ได้ การที่มีการคิดสร้าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ขึ้นมาใหม่อะไรต่างๆ นี้ มันก็ฟ้องถึงการที่ว่าเรายังจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ผลใช่ไหม ฉะนั้น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ก็ต้องหาทางแก้กันว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ทีนี้ถ้าแก้กันแล้ว ถ้าไม่เข้าใจหลักความมุ่งหมายที่แท้ เนื้อตัวพุทธศาสนาไม่รู้อยู่ไหน จะมี พ.ร.บ.ไปเพื่ออะไร แล้วก็จบ มันก็ไปไม่ถึงจุดหมาย มันก็ไม่เกิดผลสำเร็จ ฉะนั้น พ.ร.บ.คณะสงฆ์นี่ ก็จะใช้ทั้งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและแก้ปัญหาระยะยาว แก้ปัญหาระยะยาวก็คือแก้ปัญหาที่ตัวเหตุปัจจัย แล้วสร้างเหตุปัจจัยที่ถูกต้องขึ้นมาอย่างที่ว่าเมื่อกี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เราควรเข้าใจ แต่พร้อมกันนั้นก็ตัวเองก็นอกจากเข้าใจรู้ด้วยปัญญา ก็ต้องรักษาใจด้วย รักษาใจที่ว่าในสภาพสังคมอย่างนี้ มีปัญหาเยอะแยะ มีสิ่งกระทบกระทั่งทำให้ใจเราไม่ดี ถ้าเรารุ่มร้อนไปก็จะเกิดโทสะ เกิดความโกรธ อะไรอย่างนี้ก็ต้องมีความเข้มแข็ง มีความอดทน รักษาใจไว้ให้ดี แล้วก็แก้ไขด้วยสติ แล้วมีปัญญาเป็นตัวนำ จะทำอะไรก็จะทำด้วยปัญญา รู้เข้าใจให้ถ่องแท้ชัดเจนแจ่มแจ้ง พุทธศาสนานี้เน้นปัญญา เพราะว่าเราจะแก้ไขปัญหาอะไรเนี่ย ถ้ามันไม่มีปัญญา มันไม่รู้จริง มันแก้ไม่จบหรอก อย่างไม่รู้จักว่าพุทธศาสนาเนื้อแท้อยู่ที่ไหน บอกรักษาตัวพุทธศาสนา ไม่รู้จะรักษาตัวอะไร อย่างนี้มันก็ไม่รู้ ทำก็ทำไม่ถูกที่ ทีนี้ญาติโยมมาพูดถึงเรื่องเหตุการณ์เหล่านี้ที่มีขึ้นในเวลานี้ เนื่องโดยเฉพาะก็มีปัญหาเรื่องพระ เราก็จะได้ยินกันมาหลายปีแล้ว เรื่องพระประพฤติไม่ดี อะไรต่างๆ ทำให้โยมพลอยหวั่นไหว ศรัทธาบางทีก็คลอนแคลนไปด้วย ความจริงเหตุการณ์เหล่านี้ มันเป็นผลกรรมของสังคมไทย ชาวพุทธสร้างขึ้นมานะ คิดดูให้ดีเถอะ เมื่อมันเกิดขึ้นมาจากผลกรรมร่วมกันแล้ว เราต้องช่วยกันแก้ไข แล้วมันก็เป็นบทพิสูจน์ตัวเราด้วย ว่าเรานี้วางใจวางท่าทีถูกต้องไหม มีความรู้ความเข้าใจชัดเจนหรือเปล่า เรามองตัวเรายังไง อย่างว่ามีพระประพฤติไม่ดีมีปัญหาเกิดขึ้น เบื่อแล้ว พระพุทธศาสนานี่ไม่เอาพระ เลิกทำบุญ อย่างนี้แสดงว่านี่เราไม่ได้มองว่าเรามีส่วนร่วมในพระศาสนา ชาวพุทธทุกคน พุทธบริษัทสี่นี่ มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพระศาสนาร่วมกัน เราไม่บอกว่าใครคนหนึ่งเป็นเจ้าของนะ จะบอกว่าใครเป็นเจ้าของนี่ทีเดียวก็ไม่ถูก ก็ต้องบอกว่าเรามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของด้วยกัน พอเรามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของด้วยกันเนี่ย เวลามีอะไร ภัยอันตราย มีความเสื่อมโทรมเกิดขึ้นแก่ของร่วมกัน สมบัติร่วมกันนี้เราก็ต้องมาช่วยกันแก้ไข เราไม่ใช่มองเป็นคนนอก เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นเหมือนบทพิสูจน์ญาติโยมด้วยว่า เรานี่ประพฤติปฏิบัติวางใจถูกไหม ถ้าเราไปบอกว่าพระประพฤติไม่ดี ฉันเลิก ไม่เอาแล้ว อย่างนี้ก็แสดงว่าเราไม่ได้ตั้งท่าทีที่ถูกต้อง ไม่มีความรู้สึกมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของด้วย ถ้ามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ เกิดเหตุการณ์ร้ายอย่างนี้ พระพุทธศาสนากระทบกระเทือน เรายิ่งต้องเข้มแข็งใหญ่เลย ถึงจะบำรุงพระศาสนา ใช่ไหม พระศาสนาตอนนี้จะแย่แล้ว หรืออาจจะร่อแร่แล้ว พวกเรานี่แหละจะต้องช่วยกันให้เต็มที่เลย ตอนนี้ต้องขมีขมัน ลุกขึ้นมากระตือรือร้น มาช่วยกันบำรุง แต่ข้อสำคัญคือบำรุงให้มันถูกที่ ตอนนี้แหละจะเป็นเวลาสำคัญที่ว่าจะต้องมาแก้ไขปัญหาด้วยกัน ทำให้ถูก เพราะที่ผ่านมา เพราะชาวพุทธเอง บางทีก็คิดจะบำรุงอุปถัมภ์พระศาสนา ก็อุปถัมภ์บำรุงไม่ถูกทาง กลายเป็นไปส่งเสริมความชั่วร้ายหรือปัญหาให้เกิดขึ้น ก็เลยต้องบอกว่าต้องใช้ปัญญา รู้ว่าอะไรจะทำให้พระศาสนาอยู่ได้ อะไรจะทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม อะไรจะทำให้ธรรมวินัยอยู่ได้ อะไรจะทำให้พระสงฆ์เจริญในไตรสิกขา อะไรจะทำให้วัดเป็นแหล่งเผยแพร่ธรรมะ เติมปัญญาแก่ประชาชน เราก็ทำอันนั้น ไม่ใช่ทำเรื่อยเปื่อยทำส่งๆ ไป ทำอย่างนั้นบางทีมันก็พลาด ทำให้เกิดผลเสีย แล้วมันก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าบางทีญาติโยมคิดทำบำรุงวัด บำรุงพระศาสนา เอาแค่ผลตอบแทนกับตัวเองเท่านั้นเอง แทนที่จะมีส่วนร่วมรับผิดชอบว่าอันนี้เป็นศาสนาร่วมกันนะ เราจะต้องช่วยบำรุงรักษาด้วย ฉะนั้นเราก็จะต้องมีส่วนแก้ปัญหา เพราะฉะนั้นเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นนี้ มองในแง่หนึ่งก็ดี ดีคือมันเป็นเครื่องพิสูจน์พวกเราชาวพุทธ แล้งก็เป็นเครื่องเตือนใจว่า ถ้าใช้โยนิโสมนสิการคิดให้ถูกทางแล้วจะตื่นรู้ขึ้นมา แล้วกระตือรือร้นขวนขวายมาช่วยแก้ไขปัญหา แล้วพระพุทธศาสนาก็จะกลับเจริญมั่นคงขึ้นมาใหม่ ถ้าคราวนี้ทำให้ดีนะจะเจริญหนักเข้าไปอีก เพราะว่าคนเริ่มรู้เข้าใจ พอมีปัญหาอันหนึ่งมันจะมีประโยชน์ในแง่ว่าคนจะตื่นตัวและ ถ้าใช้โยนิโสมนสิการคิดให้ถูกทาง ก็จะมาแก้ปัญหา แล้วจะแก้สิ่งที่ผิดไปด้วย ฉะนั้นสิ่งอะไรที่มันเป็นของแปลกปลอม มันไม่ถูกต้องเนี่ย เราก็จะได้โอกาสแก้ไขไปด้วย แต่ก็อยู่ที่ว่าเราจะใช้โอกาสได้ถูกต้องหรือไม่ด้วย ถ้าใช้ไม่เป็นก็ยิ่งเสื่อมกันใหญ่ แล้วตอนนี้จะเรียกว่าเป็นวิกฤติก็ได้ เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อนั่นเอง ว่าเราจะเดินไปทางถูกหรือเดินไปทางผิด เคยอุปมาบ่อยๆ ว่าจะลงเหว หรือจะออกจากกระแสน้ำที่มันจะไหลลงเหวนี้ขึ้นฝั่งไป แล้วก็ไปในทางที่ถูกต้อง วันนี้ก็เลยถือโอกาสเอาเรื่องต่างๆ มาพูดกับญาติโยม ก็เป็นข้อคิดความเห็นเนื่องในวันสำคัญทางพุทธศาสนา วันมาฆบูชาของเรานี้ จุดหมายของญาติโยมในการมาทำบุญมาฆบูชาอย่างหนึ่งนะ นอกจากทำบุญให้จิตใจของตัวเองสะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส มีความดีแล้ว ก็คือว่ามุ่งจะมาอุปถัมภ์พระศาสนาด้วย เราจะมีส่วนร่วมในการสืบต่อพระศาสนา มาบูชาพระคุณความดีของพระพุทธเจ้า เมื่อเราบูชาคุณความดีของพระพุทธเจ้า เราก็ต้องการที่จะรักษาศาสนาของพระองค์ไว้ เพราะฉะนั้นเราจะบูชาพระคุณของพระองค์ได้อย่างไร ก็ทำหน้าที่ของชาวพุทธให้ดี ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ รักษาพุทธศาสนาให้คงอยู่ยั่งยืน ก็เป็นการบูชาคุณพระพุทธเจ้าไปในตัว แต่ถ้าเราบอกว่ามาทำมาฆบูชาคุณพระรัตนตรัย แต่ไม่ทำอะไร ได้แต่บูชา ไหว้ปะหลกๆ อย่างเดียว มันก็ไม่ได้บูชาแท้ บูชาพระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วบอกว่าการบูชานั้นมี 2 อย่าง คือ หนึ่ง-อามิสบูชา บูชาอามิสวัตถุสิ่งของ เช่น ดอกไม้ธูปเทียน เป็นต้น นี่อย่างหนึ่ง สอง-ปฏิบัติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติ เรียกว่าธรรมะบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติธรรม คือเอาธรรมะที่พระองค์สอน
นั่นแหละมาใช้ มาดำเนินตาม มาทำให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของเรา ถ้าอย่างนี้เป็นการบูชาที่แท้จริง พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วนี่บอกว่า การบูชา 2 อย่าง คืออามิสบูชา กับการบูชาด้วยการปฏิบัติธรรมนั้น การบูชาด้วยการปฏิบัติมีอานิสงส์สูงสุดเลย เป็นยอดของการบูชา ฉะนั้นญาติโยมมาวันนี้ อามิสบูชาได้ทำแล้ว เราก็มีหน้าที่ต้องทำปฏิบัติบูชาต่อไป โดยเอาธรรมะที่พระองค์สอนนี้แหละมาใส่เข้าไปในจิตใจของเรา ด้วยการทบทวนพระธรรมคำสอน โน้มนำมาทำให้จิตใจของเราสะอาด บริสุทธิ์ผ่องใสสดชื่น ให้สติแก่เราที่จะระลึกถึงความดีงาม ระลึกถึงการทำประโยชน์ต่อกัน ตั้งแต่ในบ้าน ทำบ้านของเราให้ร่มเย็นเป็นสุข กับคุณพ่อคุณแม่ก็มีความรักลูกอยู่ อันนี้ปฏิเสธไม่ได้แน่นอน ก็ตั้งใจเลี้ยงลุกอย่างดีแล้ว ลูกก็มีน้ำใจตอบแทนต่อคุณพ่อคุณแม่ อยากให้คุณพ่อคุณแม่มีความสุข แล้วคุณพ่อคุณแม่จะมีความสุขได้อย่างไรล่ะ เราก็ต้องประพฤติตัวให้ดี คุณพ่อคุณแม่เป็นห่วงอนาคตขของเรา เป็นห่วงปัจจุบัน วันนี้ไปไหน ไปทำอะไร บางทีพ่อแม่สมัยนี้เป็นห่วงกังวลมากกว่าสมัยก่อน ลูกออกจากบ้านไปแล้ว ชักไม่แน่ใจ กังวล ทีนี้พ่อแม่รักลูกเพราะอยากให้ลูกเป็นสุข ถ้าลูกไม่เป็นสุข พ่อแม่ก็เป็นทุกข์ ถ้าลูกรักพ่อแม่ก็ต้องอยากให้พ่อแม่มีความสุข ทีนี้พ่อแม่จะมีความสุขได้อย่างไร อย่างน้อยไม่ให้ท่านต้องหนักใจกับเรา ไม่ต้องให้ท่านกังวลกับเรา เราให้ท่านสบายใจว่า เราไปนี่เราไปที่บอกไว้แน่นอน ไปโรงเรียนก็ไปเรียนแน่นอน ตั้งใจเรียนตามเวลา พ่อแม่มีความมั่นใจ พ่อแม่ก็นอนตาหลับ จะทำงานประกอบอาชีพ เรียกว่าทำงานทำการก็เหนื่อยแล้วนะ อย่ามาทุกข์เพราะลูกเลย อย่ามาให้หนักใจกังวลเลยนะ ทีนี้ลูกตั้งใจประพฤติดี ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องห่วงกังวลแล้ว ใจพ่อแม่จะทำงานหนัก คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ว่า ใช่ไหม ทำงานหนักก็หนักไป ลูกของเราดี พ่อแม่แสนจะสุขใจ เชื่อเถอะว่าพ่อแม่นี่ถึงจะทำงานหนัก แต่ถ้าลูกประพฤติดี ตั้งใจเล่าเรียนศึกษา พ่อแม่ก็มีความสุข ฉะนั้นถ้าลูกรักพ่อแม่ อยากให้พ่อแม่มีความสุข ก็ง่ายๆ ตั้งใจทำหน้าที่ของตัวเอง ศึกษาเล่าเรียน ไม่ประพฤติเกเร พ่อแม่ก็ฝากความสุขไว้ หนึ่ง
-ความสุขของลูกนั่นแหละ ถ้าลูกเป็นสุข พ่อแม่สุขด้วย สอง-พ่อแม่ฝากความสุขไว้กับความดีของลูก ถ้าลูกประพฤติดี ไม่ประพฤติเสียหาย ไม่เกเร ไม่ออกไปนอกลู่นอกทาง ไม่ไปติดยาเสพติด ไปมั่วสุม ไปก่อการทะเลาะวิวาท ตั้งใจเรียน ทำความดี พ่อแม่ก็มีความสุข ใช่ไหม สาม-พ่อแม่ก็ฝากความสุขไว้กับความเจริญงอกงามของลูก ลูกไปทำอะไร ทำการงานเล่าเรียนศึกษา ก็เจริญก้าวหน้าต่อไป พ่อแม่ได้ยินก็มีความสุข ความชื่นใจ แล้วก็ลูกนี่แหละตอบแทนคุณพ่อแม่อยู่ตลอดเวลาด้วยการทำตัวเองให้ดี แล้วพ่อแม่ก็มีความสุข ก็เป็นความสุขร่วมกันตั้งแต่ในครอบครัว พอในครอบครัวมีความสุขดีแล้ว สังคมก็จะพลอยมีความสุขไปด้วย เวลานี้ปัญหามันเริ่มตั้งแต่ในครอบครัว พอครอบครัวรักษาไว้ไม่ดี ปัญหาก็ขยายออกไปในสังคม แล้วจึงได้ย้ำบ่อยๆ ว่า จะจัดระเบียบสังคมต้องจัดระเบียบในครอบครัวก่อน ให้แน่นอน ให้ได้ผลดี แต่ต้องไปด้วยกัน เพราะว่าจัดระเบียบสังคมก็เหมือนอย่างนี้ เวลานี้ก็เหมือนอย่างที่มีพ.ร.บ.สงฆ์เข้ามากำกับ ในบ้านเราก็มีโอวาทปาฏิโมกข์ มีอาณาปาฏิโมกข์ แล้ว ใช่ไหม ทีนี้บ้านเราก็อยู่ดี แต่สังคมข้างนอกมันแย่ มันมีเครื่องล่อเร้าชักจูง มีอันตรายอย่างนี้ ก็ต้องมีด้านนอก พ.ร.บ.เข้ามากำกับอีกที ก็จัดระเบียบสังคมเขามากำกับ จะระเบียบในครอบครัวก็ดี ระเบียบสังคมก็ดี ก็ไปด้วยกันดี แล้วก็ระเบียบชีวิตของแต่ละคนด้วย ก็จัดระเบียบชีวิต จัดระเบียบครอบครัว จัดระเบียบสังคม ทั้งหมดนี้ก็อาศัยพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้านั่นแหละเป็นหลัก มาใช้ให้ได้หมดทุกระดับ โดยเฉพาะก็เริ่มตั้งแต่จัดระเบียบชีวิตของเรา จัดระเบียบชีวิตของเราทั้งกายทั้งใจ ใช้ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า แล้วทุกอย่างก็จะเริ่มดี เพราะแกนมันดีแล้ว ตอนจัดระเบียบชีวิตดีด้วยธรรมะ อยู่ในใจออกมาทางกายทางวาจาแล้ว ในครอบครัวดีแล้ว ออกไปสู่สังคมบ้านเมืองก็มาช่วยกำกับโดยอาศัยหลักธรรมวินัยอีก ก็เป็นที่น่าโมทนา อย่างปีนี้ก็จัดระเบียบสังคมก็ก้าวมาถึงว่าวันมาฆบูชา ทางการก็ขอให้งดเว้นร้าน สถานบันเทิงก็หยุด ไม่ให้ยิงนกตกปลาฆ่าสัตว์ในวันมาฆบูชา สนุกสนานรื่นเริงที่มันเลยเถิดออกไปนอกศีลธรรม ก็ให้หยุด ใครไม่ปฏิบัติตาม ละเมิดก็แถมลงโทษซะด้วย อันนี้ก็เลยเหมือนกับไปอนุวัตตามโบราณ ตั้งแต่สมัยโน้น ในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงฟื้นฟูประเพณี
วิสาขบูชา ก็ทรงประกาศ มีพระบรมราชโองการทั่วราชอาณาจักร ให้ปฏิบัติตามนี้ พอถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนา ตอนนั้นมีแค่วิสาขบูชา มาฆบูชายังไม่มีเกิด ก็มี 3 วัน 3 คืน เลย 3 วัน 3 คืนนี้ไม่มีเรื่องเลวร้ายเลย เรื่องของการบันเทิงในทางอบายมุขอะไรต่างๆ อะไรต่ออะไรไม่มี การฆ่าสัตว์เบียดเบียนไม่มี มาทำความดีบุญกุศลกันไป บำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ถ้าสังคมชาวพุทธเรามาช่วยกันกำกับทุกระดับนะ ก็มีธรรมวินัยเป็นฐานเป็นแกนให้ กฎหมายบ้านเมืองก็เข้ามาช่วยเอาธรรมวินัยนี้มาเป็นเป้าหมาย แล้วก็จัดสรรระเบียบสังคมให้มันเกิดขึ้น เข้ากัน คุมกันได้ดี สังคมของเราก็ไปได้ จากจัดระเบียบชีวิต ระเบียบครอบครัว ระเบียบสังคม ก็อยู่กันด้วยดีก็มีความสุข วันมาฆบูชาถึงเวลาวันสำคัญเราก็มาทำพิธีบูชากันด้วยจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน ไม่ต้องเป็นห่วงเป็นกังวล แล้วก็มีความหวังว่า ปีหน้าต่อไปสังคมของเราจะดีขึ้น ประชาชนพลเมืองก็เรียกว่าเป็นไพร่ฟ้าหน้าใส หน้าใสไม่ใช่หน้าขุ่นมัวเศร้าหมอง หน้าแห้งกันไป หน้ากังวล หน้าหม่น หน้ามัว ไม่ดี ฉะนั้นก็เอาเป็นว่าเรามาช่วยกันสร้างชีวิต สร้างสังคมของเรา ประเทศชาติให้ดี ก็โดยที่มายึดหลักตั้งแต่โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นต้นไป วันนี้ก็เล่าให้ญาติโยมฟังทั้งเรื่อง โอวาทปาฏิโมกข์ อาณาปาฏิโมกข์ แล้วมาแถม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ด้วย เป็น 3 ชั้น ก็หวังว่าญาติดโยมจะได้ความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น ถ้าได้อย่างนั้นก็ขอโมทนา ก็เป็นประโยชน์ในวันมาฆบูชานี้ อย่างน้อยก็อนุโมทนาที่โยมทุกท่านที่มีจิตศรัทธา มีจิตใจเป็นบุญเป็นกุศล มาร่วมกันทำบุญวันมาฆบูชา เริ่มตั้งแต่เช้า บางท่านก็ตักบาตรที่บ้านแล้ว หรือว่ามาถวายภัตาหารที่วัด บำรุงพระศาสนา ให้กำลังแก่พระสงฆ์ที่จะปฏิบัติศาสนกิจต่อไป ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้บุญกุศลความดีงามเจริญเพิ่มพูนขึ้นทั้งในชีวิตของเรา และในสังคมของเรา เพื่อการอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขต่อไป ก็ขออานิสงส์จงได้บังเกิดมีขึ้น เนื่องจากบุญกุศลที่โยมทุกท่านได้บำเพ็ญนี้ ระตะนัตตะยานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะเตชะสา ด้วยเดชานุภาพคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศลที่เราได้บำเพ็ญด้วยจิตใจเป็นต้น ในวันมาฆบูชานี้ ซึ่งเราได้ละชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เท่าที่ทำได้ตามกำลังของตนแล้ว ก็ขอจงเป็นปัจจัยอภิบาลรักษาให้โยมญาติมิตรทุกท่านเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา กำลังความสามัคคี ที่จะดำเนินชีวิตและกิจการงาน รวมทั้งตั้งแต่เด็กๆ มีการศึกษาที่เจริญก้าวหน้า บรรลุผลสำเร็จสมความมุ่งหมาย ทำประโยชน์สุขให้เกิดกับชีวิตครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และโลกที่เราอยู่อาศัยร่วมกันนี้ ก็ขอให้มีความเจริญในธรรม ในปัญญา ร่มเย็นในร่มเงาของพุทธศาสนาทั่วกันทุกท่านตลอดการทุกเมื่อเทอญ