แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ถามถึงความคิดเห็นของแต่ละท่าน ในวันนี้ก็ถ้าเป็นไปได้อีกองค์ก็ต่อเสียให้จบ นี่ก็เริ่ม เริ่มที่ใครดีล่ะ อริยญาโณ
ท่านอริยญาโณ :
สำหรับข้อ 1 ขอแยกตอบเป็น 2 นะครับ อันที่ 1 ก็เป็นธรรมะที่เป็นตัวเด่นในใจ แล้วก็อันที่ 2 นี่เป็นธรรมะที่ยังสงสัยอยากจะถามพระเดชพระคุณเพิ่มเติมนะครับ อันที่ 1 ธรรมะที่เป็นตัวเด่นในใจก็คือ ท่าทีต่อทุกข์นะครับ เพราะว่าทุกข์ ทุกข์สุขนี่เป็นภาคหนึ่งของชีวิตเลยครับ แล้วก็เมื่อพิจารณาชีวิตก็จะเต็มไปด้วยกับสุขกับทุกข์สลับกันนะครับ แล้วถ้ามนุษย์สามารถปฏิบัติเพื่อให้ถึงทุกข์ได้ก็น่าจะ แต่ถึงสุขได้ก็จะปฏิบัติให้ตนเองมีสุขนะครับ คราวนี้ก็ได้ยึดหลักที่พระเดชพระคุณพูดไว้ในเทปว่า การมอง มองอะไรก็มองแบบมองในเชิงสร้างสรรค์ไว้ เช่น พระที่ท่านมองจากตึกมหาจุฬาแล้วเห็นคนเดินอะไรต่างๆเนี่ยครับ ท่านก็ไม่ทุกข์ และคราวนี้หลักท่านก็วางไว้ชัดอยู่แล้วว่าทุกข์นั้นสำหรับเห็นนะครับ เป็นกิจในอริยสัจ นะครับ ก็เลยพยายามฝึก ฝึกตัวเองว่าจะไม่ทุกข์ในใจ ครับ นี่เป็นหลักที่พยายามฝึกอยู่ครับ
ส่วนธรรมะที่เป็นข้อสงสัยหรืออยากจะเรียนถามพระเดชพระคุณเพิ่มเติมก็มีเรื่องหลักใหญ่ๆ 2 เรื่องครับ หนึ่งเรื่องทุกข์ สองก็เรื่องแรงจูงใจทางพระพุทธศาสนาครับ เรื่องที่ 1 เรื่องทุกข์นั้นก็ได้อ่านที่พุทธธรรมแล้วก็ฟังเทปว่าทุกข์นั้นท่านพูดไว้ในต่างที่กันก็จะมีความหมายกว้างแคบต่างกัน เช่น ในไตรลักษณ์ ในอริยสัจ และก็ทุกข์ที่เป็นเวทนานะครับ และคราวนี้ก็อยากจะถามเฉพาะว่า ทุกข์ที่ในอริยสัจนั้นท่านมุ่งที่ตัวอุปาทาน แล้วส่วนพระผู้บรรลุธรรมแล้วท่านยังมีขันธ์ 5 อยู่นั้น ท่านยังเป็นทุกข์ในอริยสัจหรือไม่ นะครับ อันที่ 1 ครับ
ต่อไปนั้นก็คือสิ่งที่ชาวพุทธปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หมายถึงดับทุกข์ในอริยสัจ ทั้งทุกข์กาย ทุกข์ใจด้วยหรือเปล่า อันนี้ที่ 2 ครับ แล้วตัวตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ใจนั่นชัดเจนอยู่แล้ว แล้วตัณหานั้นจะสามารถทำให้เกิดทุกข์กายได้หรือไม่ แล้วก็ อันนี้เอาไว้แค่นี้ก่อนครับ เรื่องส่วนตัว ครับ
อ้าว พูดจะให้จบเลยก่อนดีมั้ย พูดตอบปัญหาเรื่องส่วนรวมไปซะเลย นะฮะ
ท่านอริยญาโณ :
อันนี้เรื่องสุขทุกข์นะครับ ส่วนเรื่องแรงจูงใจทางพุทธศาสนานั้นก็เป็นเรื่องตัณหากับฉันทะครับ พระเดชพระคุณก็อธิบายไปบ้างแล้ว นะครับ แล้วคราวนี้ว่าอยากถามว่า ถ้าเกิดว่าจะเอาทฤษฎีทางพระพุทธศาสนาเนี้ยครับไปสู่การทำวิจัย หรือการทำวิทยานิพนธ์โดยใช้ทฤษฎีทางพุทธศาสนาเป็นฐานนะครับ ซึ่งปัจจุบันนี้วิทยานิพนธ์เขาทำ เขาก็ใช้ทฤษฎีทางตะวันตก นะครับ เช่น มาสโลว์ ( Maslow ) อย่างเงี้ยนะครับ ถ้าเกิดว่างานทั้งเล่มนั้นเราใช้ทฤษฎีทางพุทธศาสนาธรรมนี้จะไปได้แค่ไหน เพราะว่าจิตวิทยาหรือวิชาการทางข้างนอกนี่ ก็จะมีมุ่งเน้นที่เป็นวิทยาศาสตร์วัด ด้วยตัวเลขอะไรอย่างงี้นะครับ แล้วคราวนี้ว่าถ้าเกิดเอาทฤษฎีตัณหา ฉันทะไปทำนี้ จะสามารถวัดได้ด้วยวิธีการของเขาได้หรือไม่นะครับ แล้วก็ติดที่ข้อจำกัดอันนี้ด้วย ส่วนทฤษฎีทางพุทธศาสนาเอง เช่น ตัณหากับฉันทะนี้จะแปรผกผันกันหรือไม่ คือหมายถึงว่าถ้าตัณหาสูง จะหมายถึงฉันทะต่ำหรือไม่นะครับ แล้วการที่จะนำไปสู่การวัดนั้นจะวัดตัณหา หรือวัดฉันทะดี เพราะว่าเป็นพูดถึงพร้อมกัน 2 เรื่องครับ แล้วก็การจะพัฒนาแรงจูงใจทางพระพุทธศาสนานี้ จะใช้วิปัสสนากรรมฐานมาพัฒนาได้หรือไม่ นะครับ อันนี้เป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ
อ้าว อันนี้ก็กลายเป็นว่า คือ เรื่องส่วนตัว แต่ว่ายังมีแง่มุมที่ลึกลงไปเป็นข้อสงสัยถาม เพราะฉะนั้น อันนี้จะต้องแยกไว้ก่อน นะฮะ เอาเป็นว่าโดยส่วนตัวเนี่ยสนใจเรื่องสุขทุกข์และเรื่องตัณหาและฉันทะ และการปฏิบัติต่อสุขและทุกข์ อ้าวทีนี้เอาเป็นว่าในแง่ของความสนใจ ของส่วนตัวเป็นงี้ก่อน ส่วนตัว รายละเอียดในเรื่องของการตอบปัญหาข้อสงสัยนี่เอาไว้เดี๋ยวอีกที ทีนี้เข้าไปเรื่องส่วนรวมซะเลยจะได้จบตอน
ท่านอริยญาโณ :
เรื่องส่วนรวมนี่ผมรู้สึกว่าปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะสังคมไทยนี้มีแนวโน้มไปว่า จะ เรื่องการยั่วยวนทางกามรมณ์นี้จะเด่นเห็นชัดขึ้นมากครับ โดยเฉพาะที่สังเกตได้คือหนังสือพิมพ์นี่จะมีเรื่องนี้เด่นชัดขึ้นมากครับ แล้วก็กลายเป็นว่าเรื่องพวกนี้เด่นขึ้น หรือเป็นที่สนใจแล้วก็จะแข่งขันกันมาเป็นจุดล่อเงี้ยครับ ส่วนชาวพุทธเองเนี่ยจะมีท่าทีหรือปฏิบัติกับเรื่องพวกนี้ยังไงครับ นี่เป็นเรื่องของสังคมครับ
แต่ว่าเป็นห่วงเรื่องนี้
ท่านอริยญาโณ :
ครับ
หมายความว่า เดี๋ยวนี้เหมือนกับว่า ไอ้เรื่องเพศเนี่ย ถูกปลุกกระตุ้นเร้ามาก แล้วก็กลายเป็นเครื่องมือของธุรกิจไปด้วย แล้วธุรกิจก็ยิ่งมาใช้ไอ้ตัวนี้เป็นตัวปลุกกระตุ้นเร้า เพื่อให้เสริมไอ้การหมุนเวียนของธุรกิจนั้นมากขึ้น นะฮะ ก็เลยกลายเป็นวงจรร้ายไป เรียกว่า witches circle นะฮะ อ้าว จบแล้ว นะฮะ ทีนี้จะตอบ ผมว่าเรื่องตอบนี่เป็นรายละเอียดมาก เดี๋ยวฟังให้จบเสียก่อนนะฮะ ให้ท่านสิทธิศักดิ์โขตอบ จะได้ครบกันซะก่อน นะฮะ ทีนี้ค่อยมาลงรายละเอียด
ท่านสิทธิศักดิ์โข :
ครับ ในหมวดหลักธรรมที่ผมรู้สึกประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ยิน ก็จะเป็นเรื่องของปฏิจจสมุปบาทนะครับ มีเป็นที่เด่นขึ้นมาในใจ เลยทำให้อยากจะศึกษาลึกลงไปถึงหลักหมวดธรรมต่างๆครับ
ที่สนใจเรื่องนี้เพราะเหตุผลอะไรหรือเปล่า
ท่านสิทธิศักดิ์โข :
ก็รู้สึกว่าเรามองอะไรสั้นนะครับ ใกล้ มองแค่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าที่ตาเห็น แต่ไม่ได้มองกว้างออกไปถึงผลกระทบ
นี่คือแค่พื้นผิว เปลือกมัน
ท่านสิทธิศักดิ์โข :
ใช่ครับ พอมองเห็นถึงหลักนี้แล้วก็ ก็ถึงจะมารู้ว่า อ้อ ตัวอวิชชานั้นมันเป็นแรงขับดันทุกอย่างครับ ก็เลย รู้สึกว่าพุทธศาสนานี่ลึกซึ้งมากครับ ก็เกิดความประทับใจ ส่วนในเรื่องของแง่สังคมก็ ก็อย่างที่ได้เคย ท่านพระเดชพระคุณเจ้าคุณอาจารย์ได้เคยถามว่า ปัญหาของสังคมในสายตาของพวกผม ผมก็ได้ตอบไปในเรื่องของการศึกษา ก็เลย ก็เลยยังคงในแง่คิดของเรื่องไตรสิกขาไว้อยู่ครับว่า คือคนเนี่ยควรจะต้องรู้จักศึกษา แล้วก็ควรจะรู้ว่าชีวิตนั้นเป็นไปเพื่ออะไร ชีวิตนี้คืออะไร ควรจะทำอย่างไรกับมัน
ก็ต้องพัฒนาชีวิตกันเรื่อยไป
ท่านสิทธิศักดิ์โข :
ครับผม ก็มีสองหลักนี้แหละครับ
อ้าวก็เลย เดี๋ยวค่อยมาของท่านอริยญาโณ จำคำถามของตัวเองไว้ให้ครบนะฮะ เพราะผมจำไม่หมดน่ะ ทีนี้อยากจะพูดย้อนไปอีกนิดนึง คือ เรื่องที่พูดคราวที่แล้ว ที่ว่า เราวัดเรื่องเกี่ยวกับพฤติกรรมของคนในสังคมเนี่ย ที่ว่ายังหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลอะไรอยู่เนี่ย นะฮะ เราก็ยังต้องแยกไปอีกว่า พวกที่เชื่อ หวังอำนาจดลบันดาลอย่างเงี้ย ก็มีบางพวกที่ว่า หวังรอคอยแบบงอมืองอเท้า นะฮะ รอการดลบันดาลอย่างเดียว กับพวกที่ว่ามีความเพียรพยายามกระทำ เป็นแต่ว่ารู้สึกไม่มั่นใจ ยังหวาดในสิ่งที่ตัวเองมองไม่เห็น นะฮะ ก็ต้องการกำลังใจบ้าง หรือการคุ้มครองบ้าง นะฮะ
เราก็ยังแยกว่าสองพวกนี้ก็ไม่เหมือนกัน นี้ใช้หลักอะไรมาเป็นเกณฑ์ ในการตัดสิน ก็คือหลักกรรมที่เคยบอก พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่าเรา เป็นกรรมวาทะ เป็นวิริยะวาทะ เป็นกิริยะ วิริยะวาทะ และกิริยะวาทะ ถ้าเต็มก็มีเนี่ยกรรม เราเป็นกรรมวาทะ วิริยะวาทะ ให้ขอไป กรรมวาทะ กิริยะวาทะ วิริยะวาทะ แต่บางครั้งพระองค์ก็ตัด กิริยะ ออก เพราะมันก็พวกเดียวกัน ก็เหลือสองตัวก็กรรมวาทะ กับวิริยะวาทะ หรือกรรมวาท วิริยวาท คือ กรรม การกระทำ แล้วก็วิริยะความเพียร สองอันนี้มันต้องเนื่องกัน ก็หมายความว่า ถือหลักการกระทำ และถือหลักความเพียร เมื่อคนจะทำก็ต้องมีความเพียร นะฮะ ก็ควบกันมา หรือมีความเพียรในการกระทำ
นี้เราดูคนสองพวกนั้นที่ว่า ยังหวังพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิอยู่ แต่พวกหนี่งยังมีการกระทำ ใช่มั้ย ยังหวังผลจากการกระทำ และมีความเพียรในการทำการ ในการเพียรในการทำการนี้เป็นตัวบอกว่าเขายังไม่พลาดจากพุทธศาสนาทีเดียว แต่ถ้าเขาไม่มีความเพียรทำการเลย ก็แสดงว่าเขาหลุดไปจากหลักกรรม หลักความเพียรไปแล้ว ใช่มั้ยฮะ มันก็หมดไป รอคอยอย่างเดียว มันก็ไม่มีทางพัฒนาชีวิตได้ นะฮะ ทีนี้พอคนมีการกระทำมีความเพียร มันมีการกระทำ มันก็จะมีการพัฒนาตัวเองได้ และก็เดินหน้า ก็เป็นว่าใช้หลักนี้ตัดสิน
ทำไมเราจึงบอกว่า 2 พวกนี้ต่างกัน นี้ว่า อ้าว เพราะฉะนั้นต้องมีการกระทำ และมีความเพียรในการกระทำ หรือเรียกง่ายๆว่ามีความเพียรในการทำการ เป็นตัวสำคัญที่จะดูมนุษย์ว่ายังอยู่ในหลักการของพุทธศาสนาอยู่ ที่ว่า เราอาจจะมองลึกลงไปอีก นอกจากเพียรในการทำการแล้วเนี่ย พอพูดถึงกรรม เราก็จะต้องมีการแยกว่ากรรมดีกรรมชั่ว บุญบาป กุศล อกุศล เราก็มุ่งให้ทำกรรมที่ดี ที่เป็นกุศล ภาษาสมัยใหม่เขาเรียกว่าเป็นการกระทำที่เป็นการสร้างสรรค์ หรือว่าไม่เบียดเบียน นะฮะ ก็เป็นการทำกรรมที่ดี ไม่ทำกรรมชั่วนั่นเอง มุ่งอย่างงี้ นะฮะ เพียรทำการ แล้วก็พยายามทำสิ่งที่ดี แต่ไม่ใช่เท่านั้น นะฮะ มันต้องตอบอีกว่า ทำให้ดียิ่งขึ้นไป ใช่มั้ยฮะ แต่ก่อนนี้ดีแค่นี้ ต่อไปก็ดียิ่งขึ้น อ้าว ดียิ่งขึ้นยังไง นะฮะ ในแง่ ศีล ก็คือว่า พ้นจากการเบียดเบียนกัน เบียดเบียนกันน้อยลง และก็เกื้อกูลกันมาขึ้น ใช่มั้ย นี่ก็แสดงว่ากรรมนั้นมีการก้าวหน้าหรือพัฒนาในด้านศีล ห่าง ห่างพ้นจากการเบียดเบียน และเกื้อกูลกันมากขึ้น และก็ในแง่จิตใจมีคุณธรรมมากขึ้น ทำกรรมที่ประกอบด้วยคุณธรรม เกิดจากศรัทธา เกิดจากเมตตากรุณา อะไรต่างๆ และจิตใจดีงาม มีความผ่องใส ความสดชื่น อะไรต่างๆเนี่ย มีความเข้มแข็ง จิตใจก็ดีขึ้นในการกระทำนั้น มีความขยัน อดทน มีสติ มีสมาธิมากขึ้น อ้า แสดงว่ากรรมนี้ดีขึ้น
และในแง่ปัญญา ก็รู้เหตุรู้ผล มองใกล้ มองไกล มองเห็นเหตุปัจจัย มองผลที่จะเกิดสืบต่อไปว่ามันจะไปเกิดผลดีผลเสียงยังไง นะฮะ กว้างออกไปด้วย ก็ถ้าอย่างนี้ก็หมายความว่า กรรมมันก็มาโยงกับหลักไตรสิกขา คือการกระทำกรรมของคนเนี่ยมันก็เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชีวิตนั่นแหละ ไตรสิกขามันก็ออกที่กรรมนี่เองแหละ เพราะฉะนั้นกรรมก็จะต้องดียิ่งขึ้นไป โดยตัดสินด้วยหลักไตรสิกขาอย่างที่ว่าเนี่ย นะฮะ เราก็มองเป็นชั้นๆ เป็นอันว่าเอาละนะให้ถือว่าขั้นต้นให้มีความเพียรในการทำการ และก็ขยายต่อไปว่าทำการที่ดี แล้วก็ดียิ่งขึ้นไป นะฮะ แล้วก็พอบอกดียิ่งขึ้นไปตอนนี้จะมีการพัฒนา ก็ต้องดูว่าดีขึ้นยังไง ในแง่ไหน นะฮะ ในแง่ศีล ในแง่จิต ในแง่ปัญญา อันนี้ก็จะโยงไปหาหลักพุทธศาสนาอื่นได้หมดเลยตอนเนี้ยนะฮะ อันนี้ก็เป็นของที่พูดแถมจากคราวที่แล้วเพื่อให้ชัดยิ่งขึ้น
ถ้าไม่มีอะไร จุดนี้ก็มาที่ท่านอริยญาโณถาม เหลือเวลาอีก 15 นาที นี่ก็มีเรื่องสองเรื่อง เรื่องทุกข์ เรื่องสุข นะฮะ ก็เอาเรื่องทุกข์เรื่องสุขที่ถามก่อน เรื่องทุกข์เรื่องสุขนี่ ก็อย่างที่พูดคราวที่แล้วก็ได้บอกถึงวิธีปฏิบัติต่อทุกข์และสุขว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้ในเทวทหสูตร นะฮะ พระไตรปิฎกเล่ม 14 พระสูตรแรกเลย ก็มีวิธีปฏิบัติต่อทุกข์สุข 4 ประการ หนึ่ง ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่เป็นทุกข์ ที่ท่านใช้คำเต็มว่าที่ไม่ถูกทุกข์ทับถม สอง ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม สาม แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้นก็ไม่สยบมัวเมา สี่ เพียรกำจัดเหตุแห่งทุกให้หมดสิ้นไป หรือว่าพูดอีกสำนวนหนึ่งว่าเพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป
อันนี้ก็บอกอยู่ในตัวแล้วนอกจากแยกทุกข์แยกสุขแล้วเนี่ย สุขก็ยังแยกระดับอีก เนี่ยตรงเนี้ยจะต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้นสุขแง่หนึ่งก็คือว่า ถ้าว่าตามสภาวะแล้ว ไอ้คำว่าสุขเนี่ยโดยสภาวะแล้วมันก็เป็นทุกข์ นะฮะ เพราะอะไร เพราะมันอยู่ในขันธ์ 5 นั่นเอง ใช่มั้ย อยู่ในขันธ์ไหน เอ่ย อ้าวทายนิดนึง สุขเนี่ยอยู่ในขันธ์ไหน ฮะ เวทนาขันธ์ สุขทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ หรืออุเบกขาอะไรก็แล้วแต่ นะฮะ แยกห้าก็เป็น สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา สุข สุขทุกข์ทางกาย สุขทุกข์ทางใจ แล้วก็กลางๆ ทีนี้มันเป็นเวทนา มันก็เป็นสภาวะธรรม เพราะพวกที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง เรียกว่า สังขตธรรม หรือจะเรียกว่าสังขารอีกทีนะฮะ ก็ต้องแยกได้ระหว่างคำว่าสังขารในขันธ์ 5 กับคำว่าสังขารในไตรลักษณ์ นี่เข้าใจแล้วใช่มั้ย เข้าใจดีแล้วใช่มั้ยฮะ ไม่สับสน
เอา เอาง่ายๆก็ คือ แทนที่จะพูดว่าสังขารในไตรลักษณ์เนี่ยเราพูดอีกคำว่า สังขตธรรม เนี่ยง่ายกว่า จะได้ไม่ยุ่ง คำว่าสังขารในไตรลักษณ์เนี่ยพูดอีกสำนวนหนึ่งใช้คำว่า สังขตธรรม มันจะชัดขึ้น นี้ในเมื่อมันเป็นสังขตธรรม มันเกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง ไม่ว่าสุข ว่าทุกข์ อุเบกขา เฉยเฉย มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็เลยไม่เที่ยง และก็เป็นทุกข์คงอยู่ไม่ได้ แล้วก็เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นไอ้สุขนี่ก็เป็นทุกข์ ใช่มั้ยฮะ ในแง่นี้ นี่คือ สุขเวทนา ความรู้สึกสุข แต่มันเป็นทุกข์ในแง่ของทุกข์ในไตรลักษณ์ เข้าใจมั้ยตรงเนี้ย เนี่ยแยกกันแล้ว นี้ท่านต้องเข้าใจก่อนนะ ทุกท่านเข้าใจดีมั้ย เนี่ย ไม่มีปัญหา นะฮะ
อ้าวก็เป็นอันว่านี่ก็คือเราแยกให้เห็นสุขที่เป็นระดับต่างๆ แม้ตอนแรกก็แยกในแง่สภาวะว่า อ๋อ ที่เราว่าพูดว่าสุขเนี่ย เราพูดโดยสำนวนภาษา ต้องแยกให้ได้ว่าโดยสภาวะนี้สุขที่เข้าใจกันทั่วไปเนี่ย มันก็เป็นความผันเปลี่ยน แปร ผันแปรของความรู้สึกที่ขึ้นต่อสิ่งที่ประสบ เช่น อารมณ์ สิ่งพิเศษ ใช่มั้ยฮะ และมันก็เปลี่ยนแปลงไป มันไม่คงที่อยู่ แล้วแต่เหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เอ้า แปลว่าสุขในแง่นี้ สุขเวทนา ก็ยังเป็นทุกข์ในแง่มันเป็นสังขตธรรมที่เป็นไปตามพระไตรลักษณ์
เพราะฉะนั้นในพระสูตรบางแห่งนะจึงต้องมาพูดกันให้ชัดอีกว่า ทำไมว่านิพพานเป็นสุข อ้าว แล้วบอกว่านิพพานเป็นสุข ก็ในเมื่อสุขเป็นเวทนา แล้วมันก็เป็นสังขตธรรม มันก็เป็นอนิจจัง เป็นต้น เป็นทุกข์ อ้าว แล้วนิพพานเป็นสุข ก็นิพพานต้องมาเป็นทุกข์สิ ใช่มั้ย นะฮะ ใช้มั้ย คือถ้าว่าอย่างงี้ นะฮะ เปล่า ท่านไม่ได้หมายความอย่างงั้น คือ มันเป็นสำนวนภาษา อันนี้ต้องพูดกันในแง่อีกระดับหนึ่งว่า นี้ว่า สุขในความหมายทั่วไปของมนุษย์ปุถุชนที่พูดกัน ก็คือสุขอย่างที่ว่าเนี่ย นะฮะ ก็เป็นสุขเวทนา ก็เป็นไปตามพระไตรลักษณ์ที่ไม่เที่ยง คงอยู่ไม่ได้ และก็ไม่เป็นตัวตนของมันเอง ทีนี้ที่ว่าสุขในความหมายอย่างนิพพานเนี่ย ถ้าใช้สำนวนที่นิยม ท่านจะใช้ว่าไร้ทุกข์ ใช่มั้ยฮะ หรือพ้นทุกข์
แต่ว่า เพราะว่ามันมีการเปรียบเทียบอีก ในเมื่อไอ้สุขทั้งหลายของมนุษย์ปุถุชนเนี่ยมันยังเป็นทุกข์ เมื่อสุขนั้นไม่มีเหลือเลย ท่านก็บอกว่าสุขเยี่ยมยอด สุขสูงสุด ที่มันจะไม่เป็นทุกข์ นี่เป็นภาษาเปรียบเทียบ พอเข้าใจมั้ยฮะ ภาษาเปรียบเทียบ ไอ้เรื่องสำนวนภาษางี้ เรื่องของภาษาไม่มีจบ ใช่มั้ย ต้องรู้ทัน อย่างเงี้ย เขาเรียกว่ารู้ทันภาษาหรือรู้ทันสมมติ นะฮะ คือจะเป็นการพูดแยกแยะ บางทีก็แล้วแต่กรณี นะฮะ แต่ต้องทำความเข้าใจให้ทัน ท่านพอนึกออกมั้ยฮะ ท่านนันทมนูญ
เอาล่ะแปลว่า เพราะว่าสุขของมนุษย์ปุถุชนเป็นสุขเวทนาอะไรที่ว่าเนี่ย มันก็ยังเป็นทุกข์นั่นเอง นี้ท่านต้องการพูดให้เห็นว่า นิพพานน่ะ ไม่ตกอยู่ในภาวะที่จะขึ้นต่อไตรลักษณ์เป็นอนิจจัง ทุกขัง ในสองข้อแรก มันก็เลยไม่เป็นทุกข์แล้ว มันก็เป็นสุขแท้ นะฮะ สุขแท้ๆ ว่างั้น สุขแท้ก็คือไม่มีทุกข์ เท่านั้นเอง แต่ว่าถ้าพูดภาษาสำนวนแท้ๆ ท่านก็คือพ้นทุกข์นะฮะ ถ้าจะไม่ให้สับสน อ้าวนี่ก็เป็นแง่หนึ่ง นี่ก็พูดกันเป็นแง่ๆ
ทีนี้ย้อนกลับมาสุขของมนุษย์ทั่วไป ในนั้นก็บอกว่าให้เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นๆไป หรืออีกสำนวนบอกกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมด นั่นคือ ถ้าสำนวนแบบว่าไม่ให้ต้องมีข้อถกเถียงกันมาก ก็คือกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป ตราบใดที่ยังมีทุกข์ก็ยังเป็นปัญหาอยู่ก็กำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้สิ้นไป นี้ ตรงเนี้ย ไอ้สุขของมนุษย์ปุถุชนนี้ก็ยังแบ่งได้หลายระดับอีก ถูกมั้ยฮะ เนี่ย ทีนี้สุขมีหลายระดับก็เลยเป็นสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น อย่างที่เราเคยพูดกันน่ะ
อ้าว เช่น สุขของคนจำนวนมากนี่ ยังไม่พัฒนาเลยก็เป็นการที่ได้เสพอารมณ์ต่างๆ ใช่มั้ยฮะ ทางหู ทางตา ทางจมูก เห็นรูปสวย ได้ยินเสียงไพเราะ จมูกดมกินหอม ลิ้นลิ้มรสหวานอร่อย อะไรเงี้ยนะฮะ นี้ก็เป็นสุข สุขแบบนี้ก็ขึ้นต่ออารมณ์ที่ประสบ ที่ได้เสพ นะฮะ สุขแบบนี้ก็สุข ท่านเรียกว่า กามสุข หรือสามิสสุข สุขแบบอาศัยอามิส ก็ต้องอาศัยวัตถุภายนอกมา หรือบอกว่าขึ้นต่อสิ่งอื่น ขึ้นต่อวัตถุ ขึ้นต่อสิ่งเสพ ถ้าไม่มีสิ่งเสพ อด ไม่มีสุขนี้ สุขนี้หมดไปเลย เพราะเหตุที่มันขึ้นต่อสิ่งเสพ มันก็ไม่เป็นอิสระ ขาดไม่ได้ แล้วทีนี้มันชินชา เคยมีสิ่งเสพขนาดนี้ สุขต่อมามันชา มันชิน มันเบื่อ กลายเป็นว่าจำเจกะไอ้อันที่เคยให้สุข ทุกข์ซะแล้วทีนี้ ใช่มั้ย เออ ทีนี้จะต้องเจอไอ้ที่เสพที่มีแรงกระตุ้นเร้ายิ่งขึ้นไป จึงจะสุขขึ้น ขยายเพิ่มปริมาณหรือขยับดีกรีสูงขึ้นไป คราวนี้ก็เป็นกระบวนการวิ่งไล่ความสุขแล้ว ใช่มั้ยฮะ เอาแล้วทีนี้แกจะต้องเพิ่มปริมาณและก็เพิ่มดีกรีของสิ่งเสพนั้น
นี่แหละคือเรื่องของมนุษย์ยุคปัจจุบันที่เราพอพูดปัญหาใช่มั้ย ก็เพราะว่ามันไปอาศัยสุขจากสิ่งเสพ เป็นสามิสสุข สุขที่ขึ้นต่ออามิส มันก็ไม่เป็นอิสระสิ ตัวเองก็ต้องพึ่งพามัน แล้วก็ต้องเพิ่มจำนวนเพิ่มปริมาณเพิ่มดีกรี คราวนี้ก็มาคู่กับความเบื่อ เพราะว่าในการที่ว่า จะเพิ่มปริมาณดีกรีก็เพราะว่ามันเบื่อ มันชินชา เบื่อไอ้ไอ้ที่ปริมาณดีกรีเก่าก็เพิ่มปริมาณดีกรีขึ้นไป
แต่มันเรื่องไม่จบเท่านั้น พอเพิ่มบริมาณดีกรีนี่มันก็เกิดปัญหาว่าเพราะไอ้สิ่งเสพเหล่านี้มันมีปริมาณจำกัด แล้วมันเป็นของภายนอก คนอื่นก็ปรารถนา มันก็เลยเกิดการแย่งชิง ตอนนี้ก็เบียดเบียนกัน ใครจะเอาได้มากกว่า นะฮะ เบียดเบียนกัน การแย่งชิงกัน ก็ต้องแสวงอำนาจ เพื่อให้ตัวมีอำนาจมากกว่า เก่งกว่า ใช่มั้ยฮะ นี้ก็ยุ่งออกมาทางสังคมวุ่นวายไปหมดเลยเนี่ย นะฮะ ก็ปัญหาก็เลยตามมาเป็นกระบวนเลย เรื่องของสุขแบบเนี้ย
นั้นท่านถือว่าถ้าเราจมอยู่กับความสุขประเภทนี้นะ ไปไม่รอด ตัวเองก็ไม่ได้สุขจริงเพราะว่ามันชินชาจนกระทั่งว่า เคยใช้คำว่าความสามารถที่จะมีความสุขมันน้อยลง ใช่มั้ยฮะ แต่ก่อนมีนิดหน่อย สุขแล้ว ต่อมาไอ้สิ่งที่เคยมีเท่านั้น เคยให้สุขไม่สุข กลายเป็นทุกข์ด้วย นะฮะ ก็ต้องเพิ่มปริมาณดีกรี ตัวเองก็สุขได้ยากขึ้น ทุกข์ง่ายขึ้น แย่ ความสามารถในการมีความสุขลดลงไป
ก็กลายเป็นว่าก็ต้องไปเพิ่มความสามารถในการหาสิ่งเสพมาบำรุงบำเรอ ก็ไปพัฒนาความสามารถด้านหาสิ่งบำเรอ เมื่อตัวเองหมดความสามารถในการที่มีความสุข ก็ไปเพิ่มความสามารถในการหาสิ่งมาบำเรอความสุข ใช่มั้ย เพื่อให้ได้ปริมาณและดีกรีเพิ่มขึ้น การแย่งชิงอะไรต่ออะไรก็เพิ่มขึ้น ถ้าแย่งชิงกันก็เกิดทุกข์ในสังคมอีก เบียดเบียนกันอีก อ้า ก็เลยความสุขประเภทนี้ ก็ระคนกับทุกข์วุ่นวาย หวาดระแวงไปหมด นะฮะ ปัญหาของโลก ปัญหาชีวิต ปัญหาสังคมมันก็ซับซ้อนยิ่งขึ้นจนกระทั่งว่า แก้ไม่หวาดไม่ไหวแหละ นะฮะ ไอ้นี่คือเรื่องของมนุษย์ปัจจุบันเนี่ยที่เรามาพูดกันว่ามีปัญหาเนี่ยนะฮะ ที่ท่านหลายท่านพูดก็อยู่ในข้อนี้หมดเลย นะฮะ
ทีนี้ ท่านก็เลยบอกให้เห็นว่าไอ้ความสุขเนี่ยมันไม่ได้มีประเภทเดียวแค่นี้ ถ้าง่ายๆก็แบ่งอย่างหยาบที่สุดนะ สามิสสุข นิรามิสสุข สุขที่ขึ้นต่ออามิส สิ่งเสพ กับสิ่ง ความสุขที่ไม่ขึ้นต่ออามิส ความสุขที่ไม่ขึ้นต่ออามิสเราก็มีได้ ใช่มั้ยฮะ ไม่ต้องอาศัยสิ่งเสพบริโภค มันมีขึ้นมา เช่น ความสุขใจ ใช่มั้ยฮะ เออ จากการที่ว่าได้ทำสิ่งที่ดีงาม หรือแม้แต่ปรุงแต่งจิตของตัวเองให้ถูกต้อง แล้วแค่ว่าในจิตใจของตัวเองเนี่ยมีไอ้สิ่งที่เป็นอกุศล ไปคิดนึกปรุงแต่งอารมณ์ที่ไม่ดีใช่มั้ย กระทบกระทั่งเอามาปรุงแต่งก็ยิ่งหงุดหงิด ยิ่งเป็นทุกข์ อ้าว ก็หยุดมันซะสิ นะฮะ รู้จัก ก็นี่แหละ ก็เริ่มมีความฉลาดในปริยายของจิตที่บอกเมื่อกี้ และรู้ทันจิตแล้วก็ฉลาดในปริยายความยักเยื้องบิดเบือนของมัน เราก็เอาสติมาคุม ไม่เอาแล้ว ไอ้แกมาไปรับอารมณ์หรือว่าระลึกเก็บเอาอารมณ์พวกนี้มา มันทุกข์เปล่าๆ ก็ไปนึกถึงอารมณ์ดีๆ แล้วก็ปรุงแต่งจิตของตัวเองให้เกิดปราโมทย์ปีติอะไรพวกนี้นะฮะ มีความสุข อย่างงี้ก็ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งเสพแล้ว ใช่มั้ยฮะ สุขใจมีได้แล้ว หรือเราทำความดี แต่ก่อนนี้ต้องแย่งชิงสิ่งเสพบริโภคกับคนอื่นจึงจะสุข ได้มา
ต่อไป เอ๊ะ เราสามารถที่มีความสุขจากการทำให้แก่ผู้อื่นก็ได้ นะฮะ อ้าว เพราะทำไงจึงจะมีความสุขประเภทนี้ อ๋อ ถ้าเรามีจิตใจรักเขา อย่างพ่อแม่เป็นตัวอย่างใช่มั้ย พ่อแม่รักลูก อยากให้ลูกเป็นสุข พออยากให้ลูกเป็นสุข ก็อยากเห็นเขาเป็นสุข อยากเห็นเขาเป็นสุข ก็อยากทำให้เขาเป็นสุข เพราะเขายังไม่สุข พออยากทำให้เขาเป็นสุข ทำให้เขาเป็นสุขได้ สมปรารถนา ตัวเองก็เป็นสุข เอ๊ะ ก็ไม่เห็นต้องเสพอะไรเลย ทำให้เขาไปสุข ตัวเองก็พลอยสุขด้วย ตอนนี้มันชักมีไอ้ตัวดุลขึ้นมาแล้ว ไอ้กระบวนการที่จะวิ่งไล่หาความสุขจะเบาลง ก็หมายความว่าแม้เราจะยังอยู่ในระดับที่ยังพึ่งพาความสุขจากสิ่งเสพบริโภคอยู่ แต่เราไม่ลุ่มหลงเกินไป ไม่ทับถมตัวเองให้มันหนักลงไป เราก็เอาแค่พอว่า เออ เรามีสิ่งเสพบริโภคก็ขอให้เราสุขได้ง่าย นะฮะ สิ่งเสพบริโภค คนที่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขเนี่ย แม้มีสิ่งเสพบริโภคน้อยก็สามารถมีความสุขได้ ใช่มั้ยฮะ อันนั้นก็กลายเป็นความสามารถตัวเองด้วยซ้ำว่า แม้จะมีสิ่งเสพบริโภคไม่มากก็สามารถมีความสุขได้ แต่ก็คือพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ใช่มั้ยฮะ
ท่านจึงเริ่มให้คนหัดน่ะ ที่เคยพูดบ่อยๆ ศีลแปด เนี่ยท่านเอามาฝึกคนเนี่ยเป็นอิสระจากความสุขประเภทที่พึ่งอามิส คือให้รู้จักอยู่โดยไม่ต้องพึ่งสิ่งเสพ ให้ความสุขเนี่ยอยู่ภายในมากขึ้น อย่างน้อยก็เป็นก้าวแรกในการที่ว่าจะยั้งไม่ไหลวิ่งตามมันไป เพราะฉะนั้น ชาวพุทธเราเนี่ยที่จริงน่าจะเอาไอ้เรื่องอุโบสถมาปฏิบัติกันให้มากขึ้น เพราะมันเป็นด่านแรกในการที่ว่า จะทำตัวให้เริ่มเป็นอิสระจากการพึ่งพาความสุขจากสิ่งเสพบริโภค ก็หมายความว่าเจ็ดแปดวันทีก็เอาแล้ว ไม่ต้องวิ่งไล่หาความสุขจากการเที่ยวไปกินเสพอาหารอร่อย เป็นต้น นะฮะ แล้วกันเรื่องการบันเทิงฟ้อนรำขับร้องดนตรีอะไรต่างๆ หยุดสักวันหนึ่งว่า เอ้อ เราจะมีชีวิตอยู่ดีมีความสุขได้มั้ยโดยไม่ต้องพึ่งพาไอ้สิ่งเหล่านี้ ก็อยู่ง่ายๆ อยู่แบบธรรมชาติ แล้วก็เอาเวลานั้นน่ะมาใช้ ในการทำประโยชน์ นะฮะ
ทางออกท่านบอกว่า หนึ่ง ให้ทำอนวัชกรรม ก็เช่นว่า ไปบำเพ็ญประโยชน์ นะฮะ ไป สมัยก่อนเขาไป มีปลูกป่าสร้างสะพานอะไรต่ออะไร ทำประโยชน์สาธารณะ และก็ดีใจมีความสุข ในนี้ หรือว่าไปช่วยเหลือ ไปเลี้ยงคนยากคนจน เอาอาหารไปเลี้ยงเด็กพิการหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็เริ่มพัฒนาคุณธรรมที่มีเมตตา อยากเห็นเขาเป็นสุข พอไปเลี้ยงเด็ก เด็กที่เขายากจน ใช่มั้ยฮะ หน้าตาไม่ดี พอไปเลี้ยงเด็กได้ทานอาหาร ได้อิ่มบ้าง เด็กมันก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริงขึ้น นะฮะ คนที่ไปเลี้ยงนี่เห็นเด็กมีความสุข ตัวเองก็ชื่นใจ มีปิติ อิ่มใจ เงี้ย แสดงว่ามีความสุขจากการที่ได้เห็นคนอื่นมีความสุข ก็คุณธรรมก็เกิดขั้น
และอันนี้ก็คือเนี่ยแหละ ท่านเอาไอ้ตัวอุโบสถศีล 8 เนี่ยมาเป็นตัวเชื่อม เพราะเรายั้งจากนั้น จากการวิ่งไล่หาเสพความสุขจากสิ่งเสพบริโภค แล้วเราก็เอาเวลานี้มาใช้ในการเริ่มพัฒนา นะฮะ ไปทำประโยชน์เขา และก็มีความสุขจากการทำให้คนอื่นมีความสุข แล้วก็หาความสุขจากการ ธรรมชาติใช่มั้ยฮะ ไปอยู่ในที่สงบ อยู่กับต้นไม้อะไรต่ออะไรที่ธรรมชาติดีๆงามๆ อ้า ก็มีความสุข ไม่ต้องขึ้นต่ออามิสทั้งหลายแล้ว และก็ความสุขจากความสัมพันธ์ที่ดีงามในครอบครัว
วันนั้นก็ เออ อยู่กับครอบครัว คุยกันบ้าง อย่าไปเห็นกับการเสพบริโภค วันนี้ อ่า สำหรับวันพระนี้หรือวันอาทิตย์นี้ นะฮะ อยู่กับครอบครัว นะฮะ ก็ทั้งทำให้ครอบครัว คนในครอบครัวมีความสุขด้วย แล้วก็ได้สังสรรค์กัน นะฮะ ก็สบายใจ อยู่ด้วยคุณธรรม เมตตา ไมตรี อะไรต่างๆเนี่ย แล้วเสร็จแล้วก็อาจจะ บางครั้งก็อาจจะมา หรือแบ่งเวลาให้การฝึกสมาธิอะไรต่างๆเหล่านี้ ก็เป็นการสุขแบบไม่ต้องขึ้นก้บอามิสทั้งนั้น นะฮะ น้อยลงน้อยลง ขึ้นต่ออามิสน้อยลง ก็ฝึกสมาธิ ทำทางด้านจิตใจ หรือหาความรู้ ค้นคว้าหาความรู้เรื่องพัฒนาปัญญา นะฮะ
พอเราอยากรู้อะไร เราค้นคว้าหาความรู้ เราก็มีความสุขในการได้ความรู้นั้น ความรู้ประเภทนี้ก็จะเป็นความสุขที่ประณีตขึ้นไป ไม่ต้องขึ้นกับอามิส แล้วความสุขประเภทเนี้ย จะเริ่มเบนมาในทางที่กลับเป็นความสุขที่ร่วมกับคนอื่น แล้วก็เกื้อกูลต่อผู้อื่นด้วย ใช่มั้ย ไอ้ความสุขประเภทที่หนึ่งเนี่ย อิงอามิส อาศัยอามิส ขึ้นต่อสิ่งเสพบริโภคนี่มันต้องแย่งชิง มันเบียดเยียดกัน มันก่อความทุกข์แก่คนอื่นเพื่อหาสุขให้แก่ตนเอง แต่พอมาสุขประเภทที่สอง นี่มันเริ่มกลายเป็นว่า ไม่เบียดเบียนใครเลย แล้วก็เกื้อกูลต่อกัน ใช่มั้ยฮะ สุขร่วมกัน
อย่างที่ว่า เราไปช่วยให้แก่เขาแล้วเราเป็นสุข ก็ทำให้เขาเป็นสุข การให้ไม่เป็นการสูญเสียแต่กลายเป็นการให้ นะฮะ ไม่ต้องไปฝืนใจ พอให้เขา เขาเป็นสุข เราก็เป็นสุขด้วย ก็สุขร่วมกัน ความสุขร่วมกันก็เกิดมีขึ้นได้ และก็เกื้อกูลต่อกันด้วย นะฮะ เกื้อกูลสังคมยิ่งพัฒนาในแง่ความสุขน่ะจะเห็นว่า ไอ้ความสุขมันก็เปลี่ยนได้ไม่จำเป็นต้องแย่งกันใช่มั้ย จากความสุขที่แย่งกันก็เป็นความสุขร่วมกัน ความสุขที่มาหนุนเอื้อต่อกัน อันนี้ยิ่งท่านพัฒนาความสามารถ ปัญญา ปัญเญอไปแล้วจิตใจท่านมีเมตตามาหนุนต่อไปท่านก็ยิ่งมีความสามารถที่จะทำประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์มากขึ้น ก็ความสุขก็ประณีตขึ้น อย่างเงี้ย
ต่อไปท่านนั่งฝึกสมาธิ ได้อะไรก็แล้วแต่ มันก็เป็นความสุขประณีตยี่งขึ้นไป แล้วมีปัญญาเข้าใจสิ่งทั้งหลาย มองอะไรต่ออะไรกว้าง ลึกขึ้นไป รู้เท่าทันสิ่งต่างๆ เนี่ย นะฮะ มันก็ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์กระแสสิ่งต่างๆ ที่ว่าสุขทุกข์แล้ว เรียกว่าโคลงเคลงโคลงเคลงอยู่เรื่อย ใช่มั้ย กระเพื่อมอยู่เรื่อย ทีนี้พอมีปัญญา รู้เท่าทันความเป็นจริงสิ่งทั้งหลาย เเหตุการณ์เกิดขึ้นมันรู้เท่าทัน มันวางใจถูกต้อง มันก็ไม่ทุกข์ไปตาม แล้วก็มีความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น ปลอดโปร่งโล่งใจ เบิกบานผ่องใส ไอ้ความเบิกบานผ่องใสนี้ก็เป็นสุขชนิดหนึ่ง เป็นความสุขที่ประณีตด้วย ตอนนี้แหละก็เป็นสุขทางปัญญาที่ไม่ต้องเป็นไปตามกระแสความผันผวนปรวนแปรต่างๆ ก็สุขก็เขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ
อย่างที่บอกวันก่อนเนี่ย อย่างที่ว่าพระอรหันต์ท่านรู้เข้าใจสภาวธรรม โลกและชีวิต วางใจถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย จิตท่านมีพื้นเป็นอุเบกขา ใช่มั้ย วางใจพอดีต่อสิ่งทั้งหลาย เหมือนสารถีที่ว่า เชี่ยวชาญ แล้วก็วางใจ ก็มีอารมณ์ที่สุขมาก็เพิ่มความสุขเข้ามา แต่ว่าถึงไม่มีสิ่งเสพบริโภคท่านก็วางใจมีดุลยภาพ เรียบสม่ำเสมอ ไปเรื่อย นะฮะ แล้วก็มี เวลาเสวยสุข ก็ไม่มีทุกข์เข้าไปปน นี้ไม่เหมือนมนุษย์ปุถุชนที่มันแย่งเสพกันเนี่ยนะฮะ มันจะมีความหวาดระแวง มีความอะไรกันอยู่ตลอดเวลา จะเสพสุขนั้นมันก็ไม่สุขเต็มที่ มันมีไอ้ตัวทุกข์น่ะกวนใจเป็นพื้นตลอดเวลา เพราะฉะนั้นท่านจึงบอกพระโสดาบันเนี่ยจึงมีทุกข์น้อยเหลือเกินเพราะอะไร เพราะว่าท่านมีใจที่เป็นสุขเป็นพื้นอยู่ แล้วท่านเสพความสุขในระดับที่เป็นสามิส ท่านก็ไม่มีทุกข์กวนใจ ใช่มั้ยฮะ ก็เลยเป็นสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป
ก็เนี่ย ความสุขมันมีหลายระดับ หลายขั้น คนเราก็ต้องพัฒนาไป อย่างน้อยก็คืออย่าไปขึ้นต่อความสุขจากอามิสสิ่งสิ่งเสพบริโภคอย่างเดียว นะฮะ คนพวกนั้นแย่ที่สุด นะฮะ ทั้งชีวิตตัวเอง ทั้งสังคมเบียดเบียนกันวุ่นวายไปหมด แล้วปัญหาจะซับซ้อนขึ้นจนกระทั่งไม่มีใครสุขสักคน เชื่อมั้ยฮะ เพราะมันทุกข์กันไปหมด พอแย่งกันไปแย่งกันมาก็เลยใส่ทุกข์ให้แก่กัน พอคนแต่ละคนที่จะหาความสุขก็คือจะระบายทุกข์ให้แก่คนอื่น แล้วสุขประเภทนี้มันมีปัญหาหลายอย่าง นอกจากปัญหากับตน ที่ว่าไม่เป็นอิสระ นะฮะ แล้วก็มีการเพิ่มดีกรี ปริมาณ แล้วมีการแย่งชิงอะไรกันแล้วเนี่ย ตัวเองต่อไปอีก ตัวเองต่อไปเนี่ย สภาพร่างกายมันก็เปลี่ยน นะฮะ ตา หู จมูก ลิ้น ก็เสื่อม อายาตนะ ต่อไปไอ้ร่างกายตัวเองนี่แหละ การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวก็ไม่สะดวก ตา หู จมูก ลิ้น อินทรีย์เสื่อม
ต่อไปสิ่งเสพบริโภคเหล่านี้ไม่สามารถให้ความสุขได้ ตอนนี้แหละถ้าไม่ได้ฝึกตัวเองว่าแย่เลยนะฮะ เพราะฉะนั้นจึงให้ฝึกตัวเองไว้ แม้แต่ว่ายังไม่ได้แก่เฒ่า เวลามีเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าคนฝึกไว้ดีก็ไม่ต้องทุกข์มากใช่มั้ย เวลามีเจ็บไข้ มีความเดือดร้อนอะไร ร่างกายเป็นไรไปซึ่งประมาทไม่ได้ อ้า เราฝึกใจไว้แล้ว เราก็มีทางมีความสุขของเรา ไม่ทุกข์ร้อนกระวนกระวายเหลือเกิน นะ ต่อไปแก่เฒ่าลง เอ้า ฝึกตัวเองพร้อมไว้แล้ว นะฮะ ก็มีความสุขต่อได้อีก นะ ก็คนเราก็ท่านถึงให้พัฒนาตัวเองไป นะฮะ และก็พัฒนาเรื่องของความสุขนี้ด้วย ก็คือพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข จนกระทั่งว่า อยู่ยังไงก็สุขได้
ถ้าขั้นต้นก็อย่างที่ว่า ให้พยายามที่จะเป็นอิสระจากความสุขแบบขึ้นต่อสิ่งเสพบริโภคเนี่ยให้มันขึ้นน้อยที่สุด นะฮะ แล้วก็ฝึกอย่างที่บอกเมื่อกี้ เคยใช้คำที่มีญาติโยมเขาเอาไปพูด นะฮะ โดยใช้หลักนี้ ก็บอกว่า ตอนแรกเนี่ย ต้องมีจึงจะอยู่ได้ ถ้าไม่มีก็แย่หรือตาย นะฮะ สิ่งเสพบริโภคนะฮะ คนพวกเนี้ย คนทั่วไปต้องมี ไม่มีฉันตายเลย นะฮะ เพราะมันไม่มีอิสรภาพ มันขึ้นต่อสิ่งนั้น ความสุขของตัวไม่มี ขึ้นต่อสิ่งนั้นหมด ขึ้นต่อสิ่งเสพบริโภค พอเราฝึกตามระบบของ เช่น อุโบสถศีลแปดเนี่ย จะเริ่มพูดได้ว่า เออ มีก็ดี ไม่มีก็ได้ นะฮะ เออ มีก็ดี ก็ ฉันมีเสพ สุข แต่ไม่มีก็ได้ ไม่มีฉันก็ไม่เป็นไรนี่ เออ ต่อ นี่เริ่มเป็นอิสระมากขึ้น ต่อไปมันจะมีหลายอย่างที่รู้สึกว่า มีก็ได้ แต่ไม่มีก็ดี เพราะว่าบางทีสิ่งเสพบริโภคเหล่านั้นมันกลายเป็นสิ่งเกิน เหลือเฟือ เกะกะ นะฮะ เพราะเราสุขง่ายนี่ฮะ พอเราสุขง่าย เราก็กลายเป็นว่า มีนิดมีหน่อยเราก็สุขได้แล้ว และเป็นอิสระ จะเคลื่อนไหว จะยังไงก็คล่องตัวใช่มั้ย
ทีนี้ไอ้พวกที่ฝากความสุขไปขึ้นต่อสิ่งเสพนี้มันไม่เป็นอิสระ มันพะรุงพะรังไปหมดเลย นะฮะ ไปไหนก็ลำบากเดือดร้อน ไม่มีสิ่งเสพบริโภคนั้นอยู่ไม่ได้ นะฮะ นี้ถ้าหัด ฝึกตัวเองไว้ อย่างน้อยก็ให้ได้ขั้นเนี้ย มีก็ดี ไม่มีก็ได้ นะฮะ ให้พูดได้อย่างนี้ก่อน นะฮะ ต่อไปก็ค่อยก้าวไปว่า มีก็ได้ ไม่มีก็ดี ว่างั้นนะฮะ ก็ต่อไปถึงไม่มีฉันก็อยู่ได้ ไม่มีก็สบายได้ว่างั้นนะฮะ ก็คนเราก็ต้องฝึก ฝึกอย่างงี้ แม้แต่ในแง่ความสุขมันก็ดี รวมความก็คือสุขแม้แต่ที่เป็นเรื่องของมนุษย์ปุถุชนยังฝึกอยู่ก็มีหลายขั้น ที่ว่าสุข สุขที่ประณีตขึ้นไปจนกระทั่งว่ากำจัดเหตุแห่งทุกข์หมดสิ้น ก็ไม่มีทุกข์ เมื่อไม่มีทุกข์ ก็เป็นอันว่าเราก็ใช้สำนวนว่า สุขแท้ ว่างั้นนะฮะ เพราะว่ามันไม่เป็นทุกข์ นะฮะ แต่เป็นสำนวนเท่านั้น นะฮะ เป็นสุขที่ท่านเรียกว่าไม่เป็นเวทนา นะฮะ พระสารีบุตรท่านเคยชี้แจงเรื่องนี้ก็เป็นอันว่าเป็นสุขที่ไม่เป็นเวทนา ไม่ใช่เป็นสังขตธรรมนี่ มันเป็นสภาวะที่เราพูดเป็นสำนวนเปรียบเทียบ
อ้าวนี้เป็นแง่หนึ่ง ทีนี้แง่ไหนต่อล่ะ โอ้ ตายแล้วทำไงเหลืออีก 5 นาที จะพอเหรอ ไหน จะเริ่มเมื่อไหร่ก็ตาม เราตกลงกันไว้สามทุ่มสี่สิบห้า ใช่มั้ย นะฮะ ไปตกลงกันไว้อย่างงั้น นะฮะ เอาแง่ไหนที่ตอบได้สั้นๆก่อน เออ อันนึงก็เรื่องแรงจูงใจที่ท่านบอกว่า ฉันทะกับตัณหาเนี่ย มันเป็นเหมือนกับระดับเท่านั้นหรือเปล่าใช่มั้ย อ๋อ ต้องพูดว่ามันเป็นปัจจัยแก่กันได้ แต่ว่ามันไม่ใช่อันเดียวกัน เขา ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า มันต่าง in kind หรือ in degrees ใช่มั้ยฮะ อันนี้มันต่าง in kind ไม่ใช่ต่าง in degrees ใช่มั้ยฮะ ก็หมายความว่า มันเป็นคนละประเภทเลย ฉันทะกับตัณหา มันเป็นความพอใจ เป็นธรรมะคนละประเภท
ทีนี้ ฉันทะนี่ก็คือธรรมฉันทะ กุศลฉันทะ เป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายตัณหานั่นมันเป็นฝ่ายอกุศล อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าทั้งสองอย่างต้องละ แต่ว่าตัณหานั้นละด้วยการที่ทิ้งไปเลย ตัดไปเลย ส่วนฉันทะนั้นละด้วยการทำให้สำเร็จตามฉันทะนั้น นะฮะ ก็ละเหมือนกัน พอเราทำให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของมัน มันก็ละไปเอง ใช่มั้ยฮะ ทีนี้ก็แปลว่าต่างด้วยประเภท นะฮะ แต่ว่ามันเป็นปัจจัยแก่กันได้ เพราะเรายังมีกิเลส เช่น มีอวิชชาอยู่ ตรงนี้แหละที่เราต้องระวัง
เมื่อมีฉันทะแรง มันก็จะเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แรงได้ด้วยนะในแง่ตัณหา เพราะเรามีความยึดมันว่ามันจะต้องได้ต้องเป็นอย่างงั้น เมื่อฉันทะมันทำให้เกิดแรง ไฟปรารถนาที่จะให้เกิดผลอย่างนั้น ที่เป็นผลที่ดี แต่มันก็ มันมาเกิดเพิ่มความยึดติดในตัวอีก แหมฉันนี่แน่ เอาล่ะสิ ใช่มั้ยล่ะทีนี้ เกิดความยึดติดในตัวเอง มาเพิ่มไอ้ความภูมิใจพองตัวขึ้นมา ก็กลายเป็นว่าไอ้ฉันทะนั้นที่เป็นกุศลนะเป็นปัจจัยให้ตัวเราเนี่ยซึ่งมันมีอกุศลเป็นฐาน เช่น อวิชชาอยู่ เกิดตัวกิเลส ตัว เช่น มานะ ความยึดถือ ถือตัว แรงขึ้นอีก ใช่มั้ย อันนี้ก็เกิดทุกข์มากขึ้นได้ เวลาเกิดขัดขึ้นมา ถูกมั้ย เพราะว่าไอ้เจ้ามานะนี้เกิดไม่ได้ตามปรารถนาของมันปั๊บ มันทุกข์เลย หรือในแง่ของตัณหาก็เหมือนกัน เพราะว่า เราก็ปรารถนาจะให้มันดี ซึ่งเป็นเรื่องของมัน เราต้องการให้มันดี แต่เราก็มีความยึดอยากว่า เราเนี่ยจะให้มันเป็นอย่างนั้น แต่ว่ามันไม่เป็นไปตามที่เราต้องการ ไอ้ตัวความยึดในตัวเรามันมี มันก็ขัดความปรารถนาของตัวเอง นี่ตอนนี้เป็นตัณหาแล้ว มันก็เลยทุกข์ขึ้นมาอีก ใช่มั้ย เนี่ยเพราะฉะนั้นคนเราที่เป็นปุถุชนเนี่ย มันยังไม่หมดไอ้ตัวเชื้อกิเลส โดยเฉพาะตัวโมหะวิชาเนี่ย มันก็เลยเป็นปัจจัยให้ฝ่ายอกุศลเนี่ยอาศัยกุศลเกิดขึ้น
ตรงนี้จะต้องเข้าใจเรื่องกุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ นะฮะ แล้วโยนิโสมนสิการของท่านที่ว่านี้จะมาช่วยว่าทำไงจะพลิกไอ้เจ้าอกุศลให้มาเป็นปัจจัยแก่กุศล นี่ก็เป็นความฉลาดอย่างหนึ่ง และเป็นจิตตปริยายกุศโลเหมือนกัน ฉลาดในปริยายของจิต ก็คือหัก พลิกอกุศลให้เป็นปัจจัยแก่กุศล แล้วก็ระวังอย่าให้อกุศลมาเป็นปัจจัย เอ้ย ขออภัย อย่าให้กุศลเป็นปัจจัยแก่อกุศล มันเกิดได้เรื่อยแหละนะฮะ เช่น ทำบุญ ก็ทำบุญก็มีศรัทธามีจิตใจดีงามใช่มั้ยฮะ พอทำไปแล้วรู้สึกขึ้นมา แหมเรานี่แน่ ดีกว่าคนเยอะแยะ คนพวกนั้นไม่ได้ความ นะฮะ ไม่รู้จักทำบุญ ทำกุศล มีจิตดูถูกแหละ ใช่มั้ย อ้าว พอมีจิตดูถูก เป็นอกุศลแล้วใช่มั้ย อ้า อันนี้คือกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศล เอ้อ เป็นปัจจัยแก่อกุศล ใช่มั้ยฮะ
ทีนี้ อกุศลเป็นปัจจัยแก่กุศลก็ได้ บางคนไปโกรธขึ้นมา สติมาไม่ทัน คุมตัวไม่ทัน โกรธขึ้นมาแล้ว นะฮะ ก็เกิดความรู้สำนึกเท่าทันขึ้นมา โอ ไอ้ความโกรธนี่เป็นผลร้าย เกิดแล้วเสียหายเห็นชัดเลยว่าทำให้จิตเราเร่าร้อน เกิดปัญญาเห็นโทษของความโกรธ ปัญญานี่เป็นการกุศลใช่มั้ย อ้า นี่อกุศลก็เกิดเป็นปัจจัยแก่กุศลได้ นะฮะ แล้วพอรู้อย่างงี้ปั๊บก็เปลี่ยนเลย โอ๋ เราอย่าไปโกรธอีก ก็ยิ่งพัฒนาใหญ่ ใช่มั้ยฮะ เราจะต้องทำจิตใจให้ถูก คราวนี้กลายเป็นการเรียนรู้ว่าจะตั้งจิตยังไงต่อสถานการณ์แบบนี้ที่จะทำให้เกิด เขาเรียกว่าอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความโกรธเกิดขึ้น เราวางไจต่อมันยังไงดี ใช่มั้ยฮะ เราก็เรียนรู้ ตอนี้เราก็พัฒนาขึ้นไป ก็แม้แต่เรื่องอกุศล กุศลเนี่ยมาใช้ในการที่จะพัฒนาตัวเอง ก็อยู่ในโยนิโสมนสิการตอนนี้จะมา และจะทำให้เราเนี่ยพัฒนาขึ้นเรื่อยไป ก็เป็นอันว่าแม้แต่อกุศลตัวร้ายก็ใช้ประโยชน์มันได้ นะฮะ แต่โดยปกติก็หลีกเลี่ยงมัน นะฮะ พยายามทำกุศลให้เกิดขึ้น
ยังตอบไม่จบ ยังหลาย ยังอีกหลายข้อเลยจ้ะ อย่างงั้นท่านต้องจำไว้ก่อนนะ เพราะว่าเวลาหมดแล้ว ก็เอาไว้ต่อนะฮะ มีอะไรที่ยังสงสัยมั้ยเฉพาะในส่วนที่พูดกันไปแล้ว ถ้าไม่มีก็ยกยอดไว้ไปตอบท่านอริยญาโณ สองเรื่อง ทุกข์สุข และก็เรื่องฉันทะตัณหาต่อไป ก็พอสมควรแก่เวลาตามที่ว่ากันไว้ ถ้าไม่มีคำถามอะไรในเรื่องที่ผ่านมาก็ถือว่าวันนี้ก็ยุติกันเท่านี้ ก็โมทนาทุกท่าน