แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ระยะเริ่มแรกแล้วก็ก่อนจะเข้าหลักการนี่ คุยกันเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันความเป็นอยู่สิ่งที่มองเห็น สิ่งที่จะต้องใช้ในการปฏิบัติกิจ เช่น กิจวัตรประจำวัน นี่เรามาบูชาเมื่อกี้พูดเรื่องเครื่องบูชาก็เลยเอาเรื่องเกี่ยวกับบูชามาพูดสักหน่อย การบูชานี่ในภาษาไทยความหมายออกจะสูงไปสักหน่อย ในภาษาเดิมบาลีไม่ได้สูงอย่างนี้ คือสูงแต่กว้างกว่า ภาษาไทยนี่บูชาไปอยู่ในระดับเดียวคือสูงมาก ภาษาบาลีนี้คลุมหมด บูชาก็คือยกย่อง ให้เกียรติ เทิดทูนเชิดชู ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า บูชาปูชะนียานังเอตัมมังคะละมุตตะมัง คาถาที่เราสวดในมงคลสูตร บูชาคนควรบูชา คนที่ควรบูชา คือคนที่ควรให้เกียรติควรยกย่อง อย่างสังคมไทยก็มีพระสงฆ์ ครู ครูอาจารย์ นี่ก็ถือเป็น ปูชนียบุคคล นี่อย่างพ่อแม่ก็เป็นปูชนียบุคคลสำหรับลูก ทีนี้คำว่าเป็นที่บูชาก็คือว่า เคารพนับถือให้เกียรติ แต่ว่าในภาษาบาลีนี่จะเห็นความหมายกว้างออกไป
เช่นอย่างมีคนหนึ่งมีความขยันหมั่นเพียรสร้างหลักฐาน จนกระทั่งว่า จากคนยากจนก็กลายเป็นคนมั่งมีเป็นเศรษฐี ในสมัยโบราณนี่ เศรษฐีนี้เขาตั้งเป็นตำแหน่งของบ้านเมือง คงเมืองใหญ่ ๆ อย่างเมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี ซึ่่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นที่เป็นมหาอำนาจ เขาก็จะถือว่า คนที่เป็นเศรษฐีนี่จะเรียกว่าเป็นทรัพย์ยากรสำคัญ เป็นเครื่องหมายของความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของแว้นแคว้นของรัฐนั้น ๆ ฉะนั้นจะมีการตั้ง นี้มีเรื่องหนึ่งที่แสดงความหมายของคำว่าบูชาได้ด้วย ก็คือว่า คนหนึ่งแกยากจนแล้วแกก็ขยันหมั่นเพียรสร้างเนื้อสร้างตัวสำเร็จ มีเงินมีทอง ร่ำรวย คือหมายความว่า คนร่ำรวยด้วยแสดงเป็นคนมีคุณธรรมความดี สามารถสร้างทรัพย์สินขึ้นมาด้วยความสามารถของตน ในคัมภีร์ท่านก็เล่าบอกว่า พระราชาก็ทรงบูชาบุคคลนี้ด้วยเป็นเศรษฐี ตั้งให้เป็นเศรษฐี ใช้คำว่าบูชา ก็นี้เราจะเห็นความหมายของคำนี้ พระราชาบูชาบุคคลนี้ด้วยตำแหน่งเศรษฐี ก็หมายความว่ายกย่องนั่นเองให้เกียรติ ไม่ใช่หมายความจะต้องให้เอามาขึ้นแท่นหรือขึ้นหิ้งแล้วก็กราบไหว้ เดี๋ยวจะว่าพระราชานี่ต้องมากราบนายคนนี้ที่เป็นเศรษฐีไม่ใช่อย่างนั้น นี้การบูชา การยกย่องให้เกียรตินี้ก็ในทางพระศาสนานี่ก็ ให้หลักว่า บูชาคน บูชาอย่างที่ว่า ก็ถือว่าการบูชาคนที่ควรบูชานี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ก็คือการรู้จักเชิดชูยกย่องคนดีนั่นเอง ซึ่งมันมีความหมายต่อสังคมมาก ถ้าคนในสังคมมีค่านิยมที่บูชายกย่องให้เกียรติคนดี มันก็จะนำทางของสังคมนั้นไปสู่ความดีงาม แต่นี้บางทีสังคมก็ไม่เป็นอย่างนั้น ไปบูชาทรัพย์สินเงินทอง ซึ่งเป็นกันมากไม่บูชาความดี ก็กลายเป็นค่านิยมที่เชิดชูเรื่องวัตถุ ในทางพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าก็ย้ำเรื่องนี้ โดยเอามาจัดเข้าในเรื่องของมงคล 38 ด้วย แล้วคาถาธรรมะบทก็จะมีกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ ถึงเรื่องให้ยกย่องคนดี มีคาถาหนึ่งบอกว่า เอกันจะวิพาวะตะกันมุทะมิเบปูชเยสาเยวะโปชนะสาโยยันเจวะสะตะตังกุตัง ก็ได้ใจความว่าบูชาคนที่ฝึกตนแล้ว แม้เพียงครู่เดียว ดีกว่าเซ่นสรวงเทพเจ้า 100 ปี ว่างั้น เอาขนาดนี้เลยน่ะ ทำไมว่าบูชาคนดีคนที่ฝึกตนแล้วครู่เดียวเท่านั้น ดีกว่าบูชาเซ่นสรวงเทพเจ้าอยู่เป็น 100 ปี ถ้าคนที่ไปเซ่นทรวงเทพเจ้าอยู่ไปอ้อนวอนขอความช่วยเหลือ ก็มัวแต่ไปนึกถึงนอกตัว เพื่อประโยชน์แก่ตัว คนก็ไม่เอาใจใส่กันสังคมที่ควรจะแก้ไขปัญหาอะไรต่ออะไรไม่เอาใจใส่ อันนี้เรามายกย่องคนดี ก็ใจเราก็มาอยู่กับเรื่องของมนุษย์ที่จะต้องช่วยกันทำความดี ช่วยกันแก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ จุดเน้นของความเอาใจใส่ก็มาอยู่ในเรื่องของความดีงามและเรื่องของการที่มนุษย์จะต้องทำอะไรใช่ไหม มันก็แก้ปัญหาสังคมมนุษย์ได้ ถ้ามัวมองไปข้างนอกไปรอ ไปขอความช่วยเหลือเทพเจ้าแล้วเมื่อไหร่จะได้แก้ปัญหา แล้วมนุษย์ก็ไม่เอาใจใส่ไม่ดูกันไม่คำนึงถึงเรื่องสิ่งที่ดีงามที่ควรจะทำ อันนี้ก็เป็นแง่คิดอันหนึ่ง นี่ที่เราจะบูชาอย่างเทวดาเคารพนับถือด้วยคุณธรรมความดี เหมือนกับบูชามนุษย์รนี่แหละ คือมุ่งในแง่มองความดีงาม จุดหมายคือว่าบูชาคนดีหรืออะไรที่ดีก็ตามนั้น ก็คือบูชาตัวธรรมะนั่นแหละ บูชาคนดีก็เท่ากับบูชาความดี คนดีนั้นดีขึ้นมาด้วยความดี ก็คนดีก็เท่าเป็นที่รวมหรือทางผ่านหรือสื่อแสดงออกของความดีนั่นเอง จุดหมายก็อยู่ที่ตัวความดี
สำหรับชาวพุทธเราก็มาบูชาพระพูทธเจ้านี่เป็นสูงสุด ก็รวมไปถึงพระรัตนตรัยทั้ง 3 อย่าง ในการบูชานี้เพื่อจะให้เกิดผลดี ก็เลยมีการโยงจากเรื่องของข้อปฏิบัติที่มีมาแต่โบราณ คือว่าแต่ก่อนเขามีการบูชาอยู่แล้ว เช่น บูชาเทพเจ้า บูชาสิ่งที่เคารพนับถือ ก็มีการแสดงออกด้วยกิริยาท่าทาง เช่น การยกมือไหว้ การกราบ ก็เลยมีวัตถุสิ่งของมาแสดงออกให้มากยิ่งขึ้น ก็มีดอกไม้ธูปเทียนเป็นต้นอย่างที่เราทำกันอยู่ แล้วก็อาหารก็เป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่ง เครื่องบูชามีหลายอย่าง อาหารก็เป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่ง ตอนหลัง ๆ นี่มานึกว่าถวายข้าวพระ บางคนก็เข้าใจเป็นว่าจะให้พระพุทธเจ้ามาเสวยหรืออย่างไร เปล่าเป็นเครื่องบูชา เป็นของโบราณเขามีถือว่าอาหารเป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่ง ก็เหมือนกับบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน หมายความว่าเราเคารพยกย่องอะไรเราก็พยายามเอาสิ่งที่เราเห็นว่ามีค่าดีที่สุดนี่เอาไปบูชาท่าน บางทีคนเก่า ๆ นี่ได้อะไร ลูกจันทร์สวย ๆ มาก็นึกถึงพระ ก็เอาไปบูชาพระ ก็เลยไม่เฉพาะดอกไม้ผลไม้สวย ๆ งาม ๆ ดี ๆ อะไรต่ออะไรที่น่าชื่นใจ บางทีก็มีกลิ่นด้วย คือพยายามเอาสิ่งที่ดีที่สุดไปบูชาท่าน การที่เอาสิ่งที่ดีไปให้ท่านถวายท่านก็คือ เป็นเครื่องหมายของการแสดงความยกย่องเทิดทูนเท่านั้นเอง ทีนี้ในการบูชาด้วยสิ่งของวัตถุเหล่านี้ทั้งหมดพระพุทธเจ้าก็เรียกว่า อามิสบูชา การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ
ทีนี้เป็นเรื่องของธรรมเนียมประเพณี เป็นเรื่องทางด้านรูปธรรม ก็มีความหมายทางสังคมเกิดเป็นวัฒนธรรม แต่ว่าควรจะมีความหมายมากขึ้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสต่อไปว่า แต่อามิสบูชานี่ยังไม่มีผลมาก การที่จะมีผลมากแท้ก็คือ ปฏิบัติด้วยบูชา การบูชาด้วยการปฏิบัติ นี่ก็คือว่านำทางหรือว่าชี้ทางให้สูงขึ้นไปให้เข้าสู่ธรรมะได้ดียิ่งขึ้น อามิสบูชานี่เวลาเราบูชาความจริงก็ต้องออกมาจากจิตใจ ถ้าให้ได้ผลก็คือ จิตใจต้องออกมาจากจิตใจ เข้าใจความหมายว่า เราบูชาเพื่ออะไร แล้วเราเห็นคุณค่าความดีแล้วเราจะไปบูชาแค่นี้ก็ได้อยู่แล้ว แต่ว่าเพื่อให้ได้ผลยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าก็ให้มองเห็นว่า อามิสบูชามองให้เห็นว่าบูชาด้วยสิ่งของนี่ยังไม่สำคัญเท่าไหร่ ยังไม่ประเสริฐแท้จะประเสริฐแท้ต้องบูชาด้วยการปฏิบัติ ก็คือตัวเราเนี่ยทำความดีซะเอง แล้วก็พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็ต้องการให้เราประพฤติปฏิบัติตาม เพราะทรงหวังดีเลือกคัดสิ่งที่ดีมาให้แล้ว ถ้าหากว่าเราเคารพระองค์จริงก็ต้องเอาไปปฏิบัติตตาม เมื่อปฏิบัตตามก็ถือว่าได้บูชาพระองค์ด้วยสูงสุด เพราะฉะนั้นก็เลยมีการบูชา 2 อย่าง อามิสบูชา กับปฏิบัติบูชา การบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ ซึ่งเป็นฐานเบื้องต้น ถึงอย่างไรคนเรานี่จะให้เข้าสู่นามธรรมเลยนี่บางทีก็ยากเอาวัตถุมาเป็นฐานมาเป็นสื่อก่อน แต่ว่าสิ่งที่ต้องการนั้นคือ การบูชาด้วยการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติบูชาแล้วก็จะเกิดผลจริง เกิดผลดีแก่ชีวิตของเรา แล้วธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนก็เกิดผลตามที่พระองค์ทรงต้องการ และความดีงามก็จะอยู่ในสังคม แล้วอามิสบูชานั้นถ้าไม่มีปฏิบัติบูชารองรับ ในระยะยาวมันก็ค่อย ๆ หมดความหมายไป พอเมื่อมีการปฏิบัติไปบูชาด้วยการปฏิบัติแล้วความดีงามอยู่ในหมู่มนุษย์ คนก็ยังนิยมยกย่องความดีงาม แล้วอามิสบูชาก็เป็นไปเอง อันนี้ก็เป็นหลักเรื่องเกี่ยวกับการบูชา
แต่ว่าในพุทธพจน์ในแห่งที่ตรัสเกี่ยวบูชา 2 อย่างนี้ไม่ได้ใช้คำว่าปฏิบัติบูชา ใช้คำว่า 1 อามิสบูชา 2 ธรรมะบูชา เพราะฉะนั้นคู่ที่แท้นี่เป็น อามิสบูชากับธรรมะบูชา บูชาด้วยวัตถุสิ่งของกับบูชาด้วยธรรม ก็ความหมายก็โยงมาเป็นอันเดียวกัน ก็บูชาด้วยธรรมะ ก็หมายถึงเอาธรรมะมาปฏิบัติ เป็นอันว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงมุ่งหมายแท้จริงก็คือให้พุทธศาสนิกชน นี่ตั้งใจปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์คือเอาธรรมะนั่นเองไปปฏิบัต เพื่อให้เกิดผลดีแก่ชีวิตของตนเอง เพราะแท้จริงแล้วพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงต้องการวัตถุสิ่งของอะไรที่เราไปบูชาด้วยซ้ำ เป็นการแสดงน้ำใจของเราเอง แสดงน้ำใจอย่างจริงจังก็คือพระองค์หวังดีแล้วนี่ สอนให้ท่านปฏิบัติทำความดี ก็เอาความดีนี้ไปทำตามบูชาแทน อันนี้เพื่อให้การบูชาด้วยอามิสนี้ ได้อามิสนี่มีความหมายขึ้นอย่างน้อยคนก็ทำกันอยู่เรื่อย จะได้ให้อามิสบูชานี้เชื่อมกับปฏิบัติบูชาได้ง่ายขึ้น ก็มีการให้ความหมายของเครื่องบูชาด้วย แต่ความหมายเหล่านี้ให้ถือว่าเป็นมติของนักปราญ์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องตายตัว เป็นเพียงว่าหาความหมายของสิ่งเหล่านี้จะได้มีทางที่จะคิดเชื่อมต่อไปหาธรรมะ สิ่งที่ดีงามทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้
นี้เราบูชาด้วยธูปเทียนดอกไม้นี้เป็นหลัก เมื่ออย่างนี้ก็เลยเอามาดูความหมายของธูปเทียนดอกไม้ มีมติหนึ่งที่ดีเอามาใช้ประโยชน์ได้ เอ้ามีธูปเทียนดอกไม้ นี่ก็เครื่องบูชาก็มี 3 อย่าง ก็ตรงกับพระรัตนตรัยซึ่งก็มี 3 อย่าง ก็เลยจัดเป็นว่า ธูปนั้นบูชาพระพุทธเจ้า เทียนบูชาพระธรรม ดอกไม้บูชาพระสงฆ์ และให้ความหมายต่อไปว่า ที่บูชาพระพุทธเจ้าด้วยธูปนั้นจะเห็นว่ามี 3 ดอก 3 ดอกนั้นคืออะไร พระพุทธเจ้ามีพระคุณ 3 1 พระปัญญาคุณที่ทำให้ตรัสรู้ 2 พระวิสุทธิคุณความบริสุทธิ์ ก็เมื่อตรัสรู้ด้วยปัญญา ก็ทำให้พระองค์บริสุทธิ์สะอาดตรัสจากกิเลส เอาปัญญาคุณที่ตรัสรู้นี่ ทำให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส แล้วหลุดพ้นจากความทุกข์ วิสุทธิคุณนี้อันเดียวกับวิมุติคุณ จะเรียกวิสุทธิคุณก็ได้ วิมุติคุณก็ได้ หลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ อันนี้ก็กลายเป็นพระคุณที่ 2 แล้วพระองค์มีมหากรุณาคุณ ก็คือพระคุณได้แก่ มหากรุณาปรารถนาประโยชน์สุขแก่ปวงสัตว์ช่วยเหลือสัตว์ให้พ้นจากความทุกข์ก็เป็นพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้พระองค์ได้ออกประกาศพระศาสนา ก็เป็นพระคุณข้อที่ 3 พระพุทธเจ้ามีพระคุณ 3 บูชาพระพุทธเจ้าดัวยธูป 3 ประการ แล้วก็จะเห็นว่าธูปนี่ มีกลิ่น มีควัน ที่ออกมาเป็นกลิ่นหอม ๆ นี้ก็เป็นสัญลักษณ์ของกลิ่นของความดี กลิ่นของคุณ คุณความดีนี้มีกลิ่น มีกลิ่นอันหอม เหมือนกับกิตติศักดิ์ เราได้ยินคุณความดีของคนนี้เรียกว่าคนนั้นหอม ว่าอย่างนั้น กลิ่นของความดี หรือความหอมของความดีนี้ ประเสริฐยิ่งกว่าหอมของธูป เพราะว่ากลิ่นหอมของธูปนี้ไปทวนลมไม่ได้ แต่ว่ากลิ่นหอมของความดีไปทวนลมได้ ว่างั้น ให้นึกอีกขั้นหนึ่งว่ากลิ่นหอมความดีนั้นประเสริฐยิ่งกว่าหอมของวัตถุหรือธูปเป็นต้น แต่เอาเป็นว่าบูชาพระพุทธเจ้าด้วยธูป และ 3 ดอก หมายถึงบูชาพระคุณทั้ง 3 ประการ ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ
ทีนี้ต่อไปที่ 2 เทียนก็เป็นเครื่องหมายของการบูชาพระธรรม จะเห็นว่าบูชาด้วยเทียนนี้ใช้ 2 เล่ม ทำไมใช้ 2 เล่ม พระพุทธศาสนานั้นแยกเป็น 2 ส่วนคือ ธรรมะกับวินัย เราเรียกว่าพระธรรมวินัย เป็นชื่อของพระพุทธศาสนา ธรรมะกับวินัยรวมกันทำให้เป็นพระพุทธศาสนาอยู่ได้ ถ้ามีแต่ธรรมะไม่มีวินัย ธรรมะก็ดำรงอยู่ไม่นาน มีแต่วินัยไม่มีธรรมะก็วินัยไม่รู้จะสื่อไปถึงไหน วินัยนี่ก็สื่อถึงธรรมะนั่นเอง เพื่อจะสื่อวินัยมาช่วยสื่อให้ถึงธรรม เพื่อฝึกคนนำคนไปสู่ธรรม แต่ธรรมะจะปรากฏประโยชน์หมู่มนุษย์ได้ ก็ด้วยอาศัยวินัยที่เป็นรูปแบบ ธรรมะนั้นเป็นเนื้อหาสาระ วินัยเป็นรูปแบบ เป็นการจัดตั้งวางระบบแบบแผนในสังคมในหมู่ชุมชน ทำให้ความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติปรากฏผลออกมาในหมู่แก่มนุษย์ได้ ฉะนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของพุทธศาสนา 2 อย่าง ธรรมะกับวินัย นี่่ก็เทียนก็เลยใช้ 2 เล่ม เป็นสัญญลักษณ์ของพระธรรมกับพระวินัย ทีนี้เทียนนั้นจุดแล้วสว่างก็เหมือนกับธรรมะรวมทั้งวินัยด้วย ที่ว่าเป็นเหมือนดวงประทีปส่องสว่างให้คนรู้เกิดปัญญาเข้าใจ รู้จักดำเนินชีวิตได้ถูกต้อง เข้าถึงคุณความดีอะไรต่าง ๆ อ้าวนี่เป็นความหมายของเรื่องของเทียนที่ใช้บูชาพระธรรม
ต่อไปดอกไม้ใช้บูชาพระสงฆ์ ทำไมดอกไม้บูชาพระสงฆ์ จะเห็นว่าดอกไม้นั้น ที่เราเอามานี่มีสีสรรประเภทชนิดต่าง ๆ เขาเรียกว่า นานาพันธุ์ใช่ไหม จะนานาพันทุก็ได้ นานาพันนะ พอ-รอ-หัน-นอ-เนน ก็ได้ พรรณแปลว่าสีต่าง ๆ ประเภทต่าง ๆ ดอกไม้นี้สารพัด เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ทีนี้ดอกไม้เหล่านี้เวลาเอามาบูชาเนี่ย เราจะเห็นว่าเขาไม่ได้มาถึงก็เอามาบูชาเฉย ๆ เขาจัด ๆ เป็นพวงมาลามาลัยบ้าง จัดใส่แจกันบ้าง จัดใส่พานบ้าง เป็นระเบียบเรียบร้อย อันนี้ก็จะโยงไปหาพระสงฆ์ เปรียบเหมือนพระสงฆ์ สงฆ์นี่เป็นหมู่เป็นชุมชนก็ประกอบด้วยภิกษุ ที่มาจากชาติตระกูลต่าง ๆ ภูมิหลังการศึกษาอบรมต่าง ๆ กัน ชีวิตจิตใจความรู้สึกอะไรต่าง ๆ กัน ต่างกันหมด แต่ละคนนี้ไม่เหมือนกัน แต่พอเข้ามารวมกันสังฆะ เข้าสังฆะนี้ มีวินัยอันหนึ่งอันเดียวกัน ปฏิบัติเพื่อธรรมะตามแนวทางธรรมะอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเฉพาะมีวินัยเป็นเครื่องจัดตั้งวางระบบ ก็ทำให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ก็งาม เหมือนอย่างกับดอกไม้ที่ต่างสีต่างพันธุ์ ดอกเล็กดอกใหญ่มากมายนั้น ช่างดอกไม้เขาจัดดอกไม้เป็นระเบียบร้อยสวยงาม อันนี้เมื่อนึกถึงดอกไม้ก็ทำให้นึกถึงสังฆะ ว่าอ้อ นี่แหละคนมีต่าง ๆ กันอย่างไรก็ตามเข้ามาสู่ธรรมวินัยแล้ว ก็จะมีแบบแผนวินัยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็มีความงาม สังคมของเราถ้าหากว่าได้มีการจัดตั้งวางระบบให้ดีด้วยวินัยและก็มีหลักการคือธรรมะอันเดียวกัน ก็จะเป็นชุมชนเป็นสังคมที่ดีงาม มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยฉันนั้น อันนั้นก็บูชาสังฆะ คือพระสงฆ์ด้วยดอกไม้
อันนี้ก็เป็นเครื่องหมายของเครื่องบูชา เมื่อเรามองความหมายเครื่องบูชาอย่างนี้แล้ว ก็เห็นทางปฏิบัติและจิตใจก็มองกว้างไม่ติดอยู่แค่วัตถุ มีสิ่งที่จะไปพิจารณาใคร่ควร นำทางชีวิตจิตใจได้เป็นสื่อที่จะนำให้ลึกซึ้งต่อไปในการศึกษาธรรมวินัยด้วย
อันนี้วันนี้เลยพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรา กับชาวพุทธประจำวันเลย เห็น ๆ กันอยู่นี่ ตอนแรก ๆ นี่ก็จะเอาเรื่องพวกที่มองเห็น ๆ นี่มาพูดก่อน แล้วตอนหลังค่อยพูดหลักการ เพราะเรื่องหลักการอาจจะยากบ้าง วันนี้ก็ได้พูดมาพอสมควรแล้ว มีอะไรสงสัยไหมครับ
(1)
คนฟังถาม คนที่ควรบูชามีอะไรบ้าง
พระตอบ อ้อ ก็ความหมายที่เขาต้องการกว้างมาก แต่ว่าอันนี้ยกตัวอย่าง เพียงยกตัวอย่างเท่านั้น พ่อแม่ก็เป็นปูชนียบุคคลของลูก ครูอาจารย์ก็เป็นปูชนียบุคคลของลูกศิษย์ พระพุทธเจ้าก็เป็นปูชนียบุคคลของพุทธศาสนิกชน ที่จริงก็คือของคนทั้งหลาย แต่ว่าสะระสำคัญก็คือ คนดีเป็นที่สถิตของความดีใช่ไหม ก็เป็นคนที่ควรบูชา ก็อย่างที่ว่า แม้แต่นายคนยากจนเมื่อกี้ที่ขยันหมั่นเพียร จนกระทั่งตั้งตัวได้ร่ำรวย พระราชาก็บูชาด้วยตำแหน่งเศรษฐีใช่ไหม คนดีทั้งหลายให้บูชาคนดี ทีนี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นคาถา ท่านบอกว่าบูชาคนที่ฝึกตนแล้ว แม้ครู่เดียว ปรเสริฐกว่าบูชาบวงสรวงเทพเจ้าเป็น 100 ปี เอาอย่างนี้เลย ฉะนั้นก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ เพราะว่ามันเป็นเรื่องใหญ่ คติของสังคม ถ้าสังคมไม่ยึดหลักอันนี้สังคมก็จะเสื่อม อย่างที่มาบูชาเรื่องทรัพย์สินเงินทอง อำนาจใช่ไหม และเดี๋ยวนี้สังคมของเราจะเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ที่นี้ถ้าสังคมหันไปสู่การบูชายกย่อง เอาที่ความมีวัตถุมาก มีทรัพย์สินเงินทอง อำนาจ คือลาภยศนี่ แนวทางของสังคมก็ต้องไหลลง กระแสไปสู่วัตถุนิยมใช่ไหม คุณความดีก็ไม่รับการนับถือ คนก็ไม่เอาใจใส่เรื่องความดีใช่ไม ทำยังไงก็ได้เพื่อให้มีทรัพย์ มีอำนาจ ก็สังคมก็เสี่อมใช่ไหม จะไปโทษใคร เพราะเป็นค่านิยมของสังคมที่จะเอาอย่างงั้น
(2)
คนฟังถาม เศรษฐีนีสมัยพุทธกาล จะต้องมีคุณธรรมด้วยใช่ไหมครับ
พระตอบ ก็หมายความว่า พระราชาก็ต้องพิจารณาซิ ว่าท่านผู้นี้สมควรจะแต่งตั้งด้วยตำแหน่งเศรษฐีไหม
(3)
คนฟังถาม เศรษฐีปัจจุบันไม่อย่างนี้
พระตอบ อ้อก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถึงเศรษฐีในพุทธกาลก็ต้องเป็นคนที่ไม่ค่อยมีคุณธรรมอย่างน้อยบางคนแกรวยแล้วแกก็ขี้เหนียวเหลือเกิน ยังมีเรื่องในคัมภีร์ว่า พระมหาเถระ เช่นอย่างมหาโมคคัลลานะ ไปทรมานเศรษฐี คำว่าทรมานนี้แปลว่าฝึก ทรามานนี้มาจากคำว่า ทะมะนะ ทะมะนะก็มาจาก ทะมะแปลว่าฝึก ฝึกหมายความว่าทำให้รู้บาปบุญคุณโทษ รู้กุศล รู้จักอกุศล รู้จักปัญญาเข้าใจความจริงพัฒนาปัญญาขึ้นมาเรียกว่าฝึก ภาษาบาลีเรียกว่าทะมะนะ ภาษาสันสกฤต แล้วแปลงเป็นไทย ทรมาน ทรมาน หมายความ ไปฝึก ไปทำให้เขาเกิดความรู้เกิดปัญญา ทีนี้ตอนหลังภาษาไทย ทรมาน กลายเป็นว่า ทำให้เจ็บปวด ไปกันคนละเรื่องเลย นี่เราจะไปอ่านหนังสือเก่า ๆ ก็จะเจอคำเหล่านี้ ว่าพระพุทธเจ้าไปทรมานพระกะพรม เป็นต้น พระพุทธเจ้าทำไมไปทำให้เขาเจ็บปวดลำบากไม่ใช่ ทรมานหมายความไปฝึกเขา ไปทำให้เขารู้เข้าใจเห็นความจริงเกิดปัญญา ทีนี้เศรษฐีในพุทธกาลก่อนพุทธกาลก็มีพวกเศรษฐีที่ขี้เหนียว แม้แต่ตัวเองก็ไม่รู้จักใช้ทรัพย์ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองด้วย กินอยู่อย่างเหมือนกับคนจนเพราะว่าหวงแหนทรัพย์สมบัติ ทีนี้ก็เลยคนที่อยู่ใกล้ชิดครอบครัวแต่อะไร ก็ไม่บำรุงรักษา ไม่เอาใจใส่ ไม่ใช้ทรัพย์ออกไปบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมแก่เพื่อนมนุษษย์ ถ้าอย่างนี้พระมหาเถระ เช่น พระโมคัลลานะ ท่านก็ไปทรมาน ไปแก้นั่นเอง ไปแก้ไข ไปปรับปรุง ไปพัฒนาเขา ก็มีเรื่องมาในคัมภีร์ในอรรถกถาธรรมบท ทำให้เศรษฐีนั้นใจกว้างขึ้น หายตระหนี่แล้วรู้จักดำเนินชีวิตให้ถูกต้อง ใช้ทรัพย์มาดูเลี้ยงดูตนเอง ให้เป็นสุขตามสมควรแก่อัตภาพเลี้ยงดูคนในความรับผิดชอบตั้งแต่ในครอบครัวบุตรภรรยาเป็นต้นไป แล้วก็นำไปทำประโยชน์ช่วยเหลือสังคมไปช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยากบำเพ็ญประโยชน์ อย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นเศรษฐี บางคนแกก็มีคุณธรรม ในการที่ทำความขยันหมั่นเพียรตั้งเนื้อตั้งตัว แต่แกมีความตระหนี่มาก ก็ต้องพัฒนาแกอีก เพราะฉะนั้นต้องไปทะมะนะคือทรมานอย่างที่ว่า แต่รวมความก็เป็น ตำแหน่งที่พระราชาแต่งตั้ง ทีนี้การที่จะแต่งตั้งได้คนดีแค่ไหนก็อยู่ที่พระราชาอีกด้วย ว่าพระราชานี้มีค่านิยมอย่างไรใช่ไหม มีคุณธรรมแค่ไหน แต่ว่าอันนี้พระราชาตั้ง ก็ต้องขึ้นกับมาตราฐานของสังคมอีกเหมือนกัน ค่านิยมสังคมไปทางไหน คนแต่งตั้งก็จะต้องอยู่ใต้อิทธิพลของค่านิยมของสังคมเหมือนกัน นี่มันต้องอยูู่ที่ภาวะสังคม ถ้าเป็นยุคนี้ ถ้าไปเชิดชูทรัพย์และอำนาจ การแต่งตั้งก็ไม่เป็นไปตามความดีใช่ไหม แต่รวมแล้วก็ยังใช้คำว่าบูชา อยู่นั่นแหละ บูขาก็คือยกย่อง ยกย่องให้เกียรติ
อันนี้ผมมาเล่าเพียงให้เห็นความหมายของคำว่าบูชา ว่าไม่ใช่หมายความว่าต้องเอาขึ้นหิ้ง ขึ้นโต๊ะหมู่บูชากราบไหว้ บูชาหมายถึงให้เกียรติยกย่องเชิดชู หลักการสำคัญก็คือว่าพระพุทธเจ้าต้องการให้คนเราเนี่ย หันมายึดเอาความดีเป็นหลัก แล้วเมื่อยึดความดีเป็นหลัก ก็เลยต้องเชิดชูยกย่องคนดี คนทำความดี มีอะไรสงสัยไหมครับ ถ้าไม่มีวันนี้ก็คงจะเท่านี้ก่อน