แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : พระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองบ้านเมืองก็ทราบหลักพระศาสนาแล้วมีการติดต่อสื่อสารศึกษากับพระสงฆ์อยู่ อย่างพระเจ้าอโศกมหาราช ตอนนั้นทะนุบำรุงพุทธศาสนามากมาย เพราะเดียรถีย์ปลอมบวชมากมาย แล้วพระทำไง เดียรถีย์ปลอมบวชก็อย่างว่า ก็ต้องการหาลาภใช่ไหม ก็เข้าไปบวชๆ ก็ถือว่าตัวเองมีสิทธิ์นี่ เข้าไปๆ แล้วพระทำไงครับ พระดีๆ ก็เยอะ ทำได้อย่างเดียวคือไม่ร่วมสังฆกรรม ไม่มีอำนาจ ไม่มีอะไรในมือเลย จะไปทำอะไรเขาได้ กลายเป็นเสียงข้างน้อยด้วยซ้ำ ไม่มีกำลัง พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นต้น พระอรหันต์ พากันไปไม่ลงร่วมสังฆกรรมกับพระที่ปลอมบวชตอนนั้น ก็เป็นสัญญานบอกให้บ้านเมืองรู้ว่า ไม่ปกติแล้ว ฝ่ายบ้านเมืองก็ต้องมาถามว่าเกิดอะไรขึ้น ให้เห็นว่าพระไม่มีกำลังอะไรจะไปจัดการ แต่ท่านเห็นคุณประโยชน์ของพระศาสนาไหม แล้วท่านอยู่ในพุทธบริษัทเอง เราก็ต้องช่วยกันรักษาพระศาสนา คฤหัสถ์เหล่านั้นก็อยู่ในพุทธบริษัท ที่จริงก็มีสิทธิ์เท่ากัน คนที่ไปบวชก็มีสิทธิ์ที่เท่าฉัน ฉันต้องการบวชวันไหนฉันก็มีสิทธิ์ไปบวชเหมือนกัน ฉะนั้นเวลาจะมองคนที่บวช ก็มองเหมือนกับฉันนี่แหละ แต่ตอนนี้ฉันยังไม่ได้บวช ถ้าฉันต้องการบวชวันไหน ฉันก็ไปบวช ฉันก็เป็นพระอย่างนั้น ทีนี้คนอย่างฉันนี่แหละ แต่ว่าบางคนมีเจตนาไม่ดี มันเข้าไปแอบแฝง มันก็เป็นคนอย่างเรา แต่ว่ามันเป็นคนไม่ดี เจตนาไม่ดี เราก็ต้องรักษาพระศาสนาของเราสิ ถูกไหม อย่างนั้นเราก็ต้องมาช่วยกันสิ เอาคนพวกนั้นออกมา นี่มองที่ถูกมันต้องมองอย่างนี้ ไม่ใช่ไปมองว่าพระทำไมทำไม่ได้ ไม่ใช่ คนละเรื่อง คนเดี๋ยวนี้มองไม่เป็นเลย มองไม่ถูกทางเลย เอาละ พระเจ้าอโศกก็เลยไปหาพระ ไปถามว่าอะไรกัน พระท่านก็บอกว่า เวลานี้ที่ท่านไปบำรุงให้พระมีลาภมีอะไรเยอะๆ ก็เลยมีคนปลอมบวช ทว่าไปแล้วในแง่หนึ่งก็เป็นความรับผิดชอบของบ้านเมืองเหมือนกันใช่ไหม ที่ไปเที่ยวบำรุงคนแล้วก็ไม่เลือกว่าใครดี เขาเข้ามา เขาก็ได้โอกาสน่ะสิ คุณนี่แหละไปบำรุงเขา เมื่อรู้ได้สติขึ้นมาแล้วก็จัดการสิ ก็เลยมาร่วมมือกับพระสงฆ์ จนกระทั่งในที่สุดพระเจ้าอโศกก็มาบอกตกลงว่าเราจะสอบเตรียมการขั้นตอนอย่างนี้นะ หนึ่ง-ก็คือเราต้องรู้ก่อนว่าใครเป็นพระปลอมพระจริง อย่างหนึ่งก็คือเขาตั้งใจบวชไหม เขามีเจตนาดีไหม ได้เล่าเรียนศึกษาหลักพระศาสนาไหม มีความรู้บ้างไหม เอาความรู้ขั้นต้นมา อย่างนั้นเราก็ต้องสอบความรู้ เพื่อรักษาพระศาสนาไว้ก่อน ตอนนี้เอาอย่างน้อยความรู้ระดับนี้ อย่างนั้นบ้านเมืองก็รับภาระไป พระเจ้าอโศกก็รับภาระจากพระสงฆ์ปรึกษากัน พระสงฆ์ก็ให้ท่านจัดการชำระสะสางก่อน เสร็จแล้วก็จะสังคายนาทบทวนพระธรรมวินัยกัน พระเจ้าอโศกรับไป ก็เอาหลักพระศาสนาที่ควรจะสอบความรู้นี้มา แล้วก็ตั้งกองสอบขึ้นมา ทดสอบความรู้พระทั้งหลาย เมื่อไม่มีความรู้หลักเบื้องต้นพื้นฐานอย่างนี้ก็เลยให้สึก เขาบอกให้ผ้าขาว ไม่ได้ลงโทษอะไรหรอก ไม่ได้ทำร้ายอะไร ก็คือว่าเพียงแต่ขอให้สึกซะ ถวายผ้าขาวให้ พอให้ผ้าขาวให้ ก็สึกไป 60,000 องค์ พอเสร็จแล้วพระพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ท่านก็เป็นประธานประชุมพระสงฆ์ ทำสังคายนา หลังจากชำระสะสางไปแล้ว เดี๋ยวนี้คนเข้าใจความหมายผิด เอาตัวชำระสะสางมาเป็นตัวสังคายนา เลยยุ่งไปหมด ชำระสะสางก่อน แล้วสังคายนาก็คือการรวบรวมสิ่งที่ยอมรับว่าดีแล้ว นี่เรียกว่าสังคายนา เป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง สังคายนาพระธรรมวินัยก็คือรวบรวมหลักการที่ดีที่ยอมรับไว้ให้เป็นหลักสำหรับคนต่อไป เอาดีไว้ ไม่ได้เอาเสียไว้ ท่านพอจะเห็นนะ ก็จะต้องช่วยกันเรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก อย่างน้อยพวกเรามาบวชแล้วให้เข้าใจหลักการนี้ก่อน แล้วจะได้มีท่าทีที่ถูกต้อง พระศาสนาของเรานี้ จัดสังฆะ จัดวัด ขึ้นมา เพื่อเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อโอกาสแก่บุคคลที่ต้องการฝึกฝนพัฒนาตนเอง เมื่อต้องการพัฒนาตนเอง อยู่เป็นคฤหัสถ์ก็พัฒนาได้ ก็เป็นชาวพุทธได้ทันที เมื่อตัวเองมีเจตนาที่จะฝึกฝนพัฒนาชีวิตของตนเอง แต่เมื่อเห็นว่าความเป็นอยู่ชีวิตคฤหัสถ์ไม่สะดวก เขาเรียกว่า สำ-พา-โท-คะ-รา-วะ-โส-อะ-โล-กา-โส-ปับ-พะ-ชา คำในบาลีท่านว่าอย่างนี้ บอกว่าฆราวาสคับแคบ บรรพชาเหมือนที่โล่งแจ้ง คนเดี๋ยวนี้บอกว่า เอ ฆราวาสคับแคบ ฆราวาสไปไหนก็ได้ พระสิคับแคบ ใช่ไหม พระไปไหนก็ไม่ได้ อยู่ได้แค่นิดเดียว ท่านมีความหมายคนละอย่าง ฆราวาสคับแคบคือมันวุ่นวาย ชีวิตมันมีสิ่งบีบรัด อาชีพบ้าง เรื่องของภาระพะรุงพะรัง โดยเฉพาะทรัพย์สินสมบัติ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ห่วงกังวล คับแคบรัดตัวหมด แต่พระนี่ อะ-โล-กา-โส เหมือนที่โล่งแจ้ง ภาระส่วนตัวก็คือพัฒนาชีวิตศึกษาไป แล้วก็ทำเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน เผยแผ่สั่งสอนธรรมะไป ไม่มีอะไรผูกมัดตัว เงินทองทรัพย์สินก็ไม่ต้องมามัดตัว ไม่ต้องมีกังวลอะไรมาก จะไปไหนก็ไปได้ ถ้าตามหลักของท่าน ท่านบอกว่าเหมือนกับนกมีแต่ปีสองปีก คิดจะบินไปไหนก็ไป เป็นอิสระอย่างนั้น ต้องการจะฝึกฝนพัฒนาตน จะศึกษาเล่าเรียน หรือจะไปสั่งสอนประชาชนก็ไปได้สะดวก ก็เลยว่าถ้าอยากจะฝึกฝนพัฒนาตนให้ดียิ่งขึ้น ก็เลยมาบวช ก็ได้โอกาสในการฝึกฝนพัฒนาชีวิตยิ่งขึ้น เอาเป็นว่าเป็นคฤหัสถ์ก็ได้ แต่ว่าต้องการให้ได้โอกาสฝึกฝนตัวเองมากขึ้น ก็ไปบวช การไปบวชก็คือการที่มีโอกาสมากขึ้นในการศึกษาพัฒนาตน ตัวเองนี่แหละเป็นคนสมัครใจ ไปเลือกใช้สิทธิ ไม่ใช่เป็นแบบศาสนาที่มีเจ้าหน้าที่ของศาสนาที่จะไปคัดเลือกคนมาทำหน้าที่ทางศาสนา ชัดพอหรือยัง เราจะได้เข้าใจ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วก็เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัททุกคนนี่แหละ ก็คือเราจะรักษาพระศาสนาอย่างไร คฤหัสถ์ต้องมองว่าเวลานี้พระศาสนามีภัยอันตรายยังไง พระสงฆ์เป็นยังไง คนที่ควรจะบวชไม่ได้บวช คนไม่ควรบวชก็ไปบวช ใช่ไหม แล้วเราจะเอาคนอย่างนี้ออกมายังไง จะกันเขายังไงไม่ให้บวช พระเจ้าแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเห็นว่า เราจะต้องเป็นเหมือนผู้นำเป็นผู้แทนของประชาชนมาช่วยในเรื่องนี้ จะช่วยการพระศาสนา พระสงฆ์ เช่นกันคนที่ไม่ควรจะบวช ไม่ให้บวช คนที่ควรจะบวชก็ส่งเสริมท่าน ให้กำลังสนับสนุน บวชแล้วก็ถวายกำลังให้ฝึกฝน ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ แต่คนที่ไม่ควรบวช ไปบวชแล้ว เราเอาออกมา ก็เลยมีวิธีปฏิบัติกันต่างๆ ในที่สุดเอายังไง ออกกฎหมายเลย อย่างรัชกาลที่ 1 ก็ออกเลย เรียกว่าในรัตนโกสินทร์ก็เริ่มจากรัชกาลที่ 1 กฎหมายพระสงฆ์เริ่มในรัชกาลที่ 1 แต่เรียกว่ากฎพระสงฆ์ อยู่ในกฎหมายตราสามดวงที่อยู่ในนี้ กฎหมายตราสามดวงก็มีกฎพระสงฆ์อยู่ชุดหนึ่งเลย ก็เป็นกฎหม่ายพระสงฆ์ฉบับแรก ก็เพื่อทำการนี้แหละ ในฐานะที่องค์พระมหากษัตริย์เป็นผู้นำของประชาชน เป็นชาวพุทธทั้งหมด แล้วก็เป็นตัวแทน ก็ทำการนี้ เพื่อจะได้ หนึ่ง-กันคนที่ไม่สมควรที่จะบวช ไม่ให้เข้าไปทำลายแอบแฝงพระศาสนา สอง-เพื่อไปเอาคนของตัว พลเมืองราษฎรที่ไม่สมควร มีเจตนาไม่ดี เข้าไปแอบแฝงทำลายพระศาสนา เอาออกมาเสีย สาม-เพื่อจะได้ให้กำลัง ถวายกำลังแก่บุคคลที่ตั้งใจบวช มีเจตนาดี ต้องการศึกษาพัฒนาตน ก็ถวายการสนับสนุนบำรุงให้ท่านสามารถมีกำลังศึกษายิ่งขึ้น ด้วยวิธีการอื่นๆ แล้ว เช่นวัตถุก็ไม่พอ ก็ออกกฎระเบียบขึ้นมา เป็นกติกาของสังคม ฉะนั้นในกฎพระสงฆ์ของรัชกาลที่ 1 ที่เป็นกฎหมายตราสามดวง ก็จะมีอย่างนี้เยอะ เช่นอย่างที่ผมเคยยกตัวอย่างบ่อยๆ บอกว่าผู้ใดมาบวชเป็นเณร บวชไปแล้วก็ไม่เล่าเรียน คันถธุระก็ไม่เอา วิปัสสนาธุระก็ไม่เอา สมัยนั้นใช้คำนี้ คันถธุระก็เล่าเรียนศึกษาพระคัมภีร์ วิปัสสนาธุระก็ไปปฏิบัติฝึกฝนกรรมฐาน แต่มัวไปเล่าเรียนเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อยู่ เอาแล้ว ทรงทราบดีนะ ในหลวงรัชกาลที่ 1 นี่ไม่ชอบไสยศาสตร์มาก มีกฎเยอะเลย ไม่ใช่ไม่ชอบ ก็คือทรงถือหลัก เพราะทรงรู้พระศาสนาอย่างดี เณรนี่คันถธุระก็ไม่เอา วิปัสสนาธุระก็ไม่เอา มัวไปยุ่งกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อยู่ ให้ไปเอาตัวมา แล้วตรงนั้นผมก็จำไม่แม่นแล้ว จะให้สึก หรืออะไรก็ไม่รู้แหละ คือก็หมายความว่าต้องให้จัดการ แล้วต้องให้เอาโทษกับพ่อแม่ ว่างั้น เอาโทษพ่อแม่ด้วยนะ แล้วเอาโทษกับอุปัชฌาย์ ครู อาจารย์ แล้วก็เอาโทษกับพวกผู้ปกครองท้องถิ่น พวกกำนันผู้ใหญ่บ้าน โดนด้วย ในฐานะที่ไม่ดูแลรับผิดชอบ นี่เห็นไหมตัวอย่าง แล้วต่อมาในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตย ก็ได้แบบมาจากนี่แหละ แต่สมัยประชาธิปไตยไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว ดีว่าสมัยนั้นกลายเป็นว่าท่านทำไว้ให้ รัชกาลที่ 1 ทรงทำไว้ให้ แล้วมารัชกาลที่ 5 ก็มีกฎหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรก รศ.121 เป็นกฎหมายพระสงฆ์ฉบับแรกในระบบปัจจุบัน พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รศ.121 ก็เริ่มมีระบบที่สืบมาถึงปัจจุบัน พอรศ.121 แล้วก็มาพอเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ต้องมีกฎหมายใหม่ สำหรับพระสงฆ์ เขามีกฎหมายเก่าอยู่แล้ว ก็เปลี่ยนแปลงระบบคณะสงฆ์ให้เป็นระบบประชาธิปไตยไปด้วย ก็เลยออก พ.ร.บ. 2484 เปลี่ยนจากระบบมีสมเด็จพระสังฆราช มหาเถรสมาคม ก็เปลี่ยนเป็นระบบที่มี สังฆสภา มีอำนาจนิติบัญญัติ มีคณะผู้บริหาร คณะสังฆมนตรี ก็คล้ายๆ เทียบกับรัฐมนตรี แล้วมีคณะวินัยธร เทียบกับศาล ใช้ระบบอำนาจสามอย่างแบบเดียวกับรัฐบาลยุคประชาธิปไตย เรียกว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2484 เลียนแบบทางบ้านเมืองเปี๊ยบ แล้วก็มาถึง พ.ศ. 2505 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติยึดอำนาจการปกครอง ก็เป็นเผด็จการ ก็บอกว่าการปกครองแบบกระจายอำนาจไม่เหมาะกับคณะสงฆ์ ก็ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ พุทธศักราช 2505 กลับไปสู่ระบบเก่า ให้รวมศูนย์อำนาจ ก็คือมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้บัญชาการให้คณะสงฆ์ แล้วก็มีมหาเถรสมาคมเป็นที่ปรึกษา อำนาจสูงสุดอยู่ที่สมเด็จพระสังฆราช แต่เดี๋ยวนี้ก็คืออำนาจอยู่ที่มหาเถรสมาคม พ.ร.บ.2484 เปลี่ยนแปลงบ้านเมืองก็คือว่าสมเด็จพระสังฆราชเป็นเพียงประมุขเฉยๆ เหมือนกับองค์พระมหากษัตริย์ แล้วมีสังฆนายก มีอำนาจบริหาร มีสังฆสภา มีคณะสังฆมนตรี เป็นองค์กรองค์การต่างๆ เหมือนกับกระทรวงต่างๆ แล้วก็มีคณะวินัยธรเท่ากับศาล แต่ก็รวมสาระสำคัญ ต้องจับสาระให้ได้ ก็คือว่าบ้านเมืองก็ต้องหาทางเพื่อจะช่วยหนุนการพระศาสนา ว่าทำยังไงจะกันไม่ให้คนร้ายเข้าไปแอบแฝงทำลายพระศาสนา แล้วก็จะทำยังไงจะได้ช่วยอุดหนุนกิจการที่ดีงาม ที่พระสงฆ์ซึ่งหมายถึงราษฎรของตัวเองนี่แหละที่เข้าไปบวช จะได้มีการศึกษาเป็นต้น เป็นพลเมืองที่ดี แล้วก็มาช่วยกันปกครองจัดการคณะสงฆ์ให้ดี แล้วพระสงฆ์เหล่านี้จะได้มีกำลัง มีคุณภาพที่จะไปสั่งสอนประชาชน ให้การศึกษา บำรุงศีลธรรมของสังคมอีกทีหนึ่ง ต่อมาเมื่อจับแม้แต่สาระของกฎหมายก็ไม่ได้ ไม่รู้ว่ามีกฎหมายคณะสงฆ์ขึ้นมาเพื่ออะไร ก็ไปติดอยู่ในตัวบัญญัติรูปแบบ มันก็ต้องมีกฎหมายอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรจะปกครองยังไง จะดีจะแย่กันยังไง โดยไม่ได้จับไปถึงสาระว่าเพื่ออะไร ที่แท้มาจากอย่างนี้ ก็คือว่าเพื่อดำรงพระศาสนาไว้ ให้กฎหมายไปค่ำจุนอีกทีหนึ่ง มีพระธรรมวินัยอยู่แล้ว แต่พระธรรมวินัยมาอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้ ซึ่งเขามีระบบการปกครองอย่างนี้ สภาพการปกครอง สภาพความเป็นอยู่ประชาชนมันอาจจะไม่รับกันดีกับธรรมวินัย ต้องมาจัดระบบอีกทีหนึ่ง ต้องจัดกฎหมายของบ้านเมืองให้มันหนุนรับพระธรรมวินัยอีกที ต้องให้กฎหมายมาหนุนพระธรรมวินัย จัดกลไกให้มันสอดคล้องกันซะ แล้วก็รู้ด้วยว่าบ้านเมืองนี้เป็นยังไง ระบบการปกครองของตัวเป็นยังไง คนแบบไหนไม่ดียังไงแล้วโอกาสในสังคมนี้เป็นอย่างนี้ จะเข้าไปแอบแฝงได้ เรารีบใช้กฎหมายกันซะ นอกจากกันแล้วพลเมืองไม่ดีก็ไปเอาออกมาได้ แล้วก็พระที่เข้าไปตั้งใจบวช เราจะสนับสนุนยังไง บำรุงสนับสนุนยังไงให้มีกำลังเล่าเรียนศึกษา จะได้เป็นพระที่ดี พระที่ดีก็คือเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในตัวเองอยู่แล้ว แล้วอีกอันหนึ่งก็คือจะได้มาทำหน้าที่ต่อสังคม มาสั่งสอนประชาชนให้การศึกษา เพื่อให้สังคมนี้มีศีลธรรม สังคมนี้ก็จะได้มีความสงบเรียบร้อย ไม่มีอาชญากรรมมาก เป็นต้น ก็เพื่อประโยชชน์แก่รัฐนั่นแหละ ใช่ไหม มันก็ถึงกันไปหมด ดำรงพระศาสนาเพื่ออะไร ก็เพื่อประโยชน์แก่สังคมนี้ เพื่อบ้านเมือง เพื่อรัฐนี้จะได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ก็หลักการเดียวกัน ตั้งแต่พระเจ้าจักรพรรดินั่นแหละ พระเจ้าจักรพรรดิขึ้นปกครองประเทศก็ต้องทำให้รัฐของตัวอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำยังไงล่ะ พระสงฆ์ท่านมาหน้าที่ ท่านก็ประพฤติปฏิบัติขัดเกลาตัวเองด้วย ท่านก็สั่งสอนประชาชนให้ดูดีๆ ด้วย เราก็ต้องใช้หลักการนี้เข้าไปหนุนท่านสิ ก็ไปสนับสนุนพระดีให้มีกำลังศึกษาเล่าเรียน แล้วก็มาสั่งสอนประชาชน แล้วเราก็ไปปรึกษาพวกพระสงฆ์ที่ดี ก็ได้ความคิดมาจัดการบ้านเมือง มันก็ถึงกันอยู่อย่างนี้ เวลานี้มันเหลือแต่รูปแบบ แทบจะเป็นอย่างนั้นนะ ไม่รู้เรื่อง มาจากไหน มีการปกครองอะไร เพื่ออะไร เอาแต่มาตรานี้ว่ารูปแบบมันเป็นอย่างนี้ ก็ต้องจัดไปเป็นอย่างนั้น ไม่รู้สาระสำคัญ จุดมุ่งหมาย อะไรต่ออะไรมันเป็นยังไง บางทีมันลืมไปแม้แต่อย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเหนื่อยหน่อย ต้องช่วยกันแก้ไข ก็เอาละ เป็นอันว่าผมก็ต้องการให้เข้าใจเรื่องของลักษณะทั่วไป บทบาท หน้าที่ ของวัด ของพระศาสนา ที่สัมพันธ์กับสังคม แล้วก็ให้เห็นความแตกต่างกับระบบอื่น เพื่อเราจะได้เข้าใจและจะได้วางท่าทีที่ถูกต้อง ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้แล้วเราจะวางตัวได้ดีขึ้น แล้วการที่จะมองว่าเมื่อมีเหตุการณ์อย่างภิกษุ??? เกิดขึ้นนี่เราจะวางใจยังไง หรือมองในทางกลับกัน ภาพนั้นเองเป็นเครื่องฟ้องว่าสังคมเวลานี้เป็นยังไง เป็นเครื่องฟ้องว่าคนไทยแม้ที่เรียกตัวว่าชาวพุทธเนี่ย มีความเข้าใจต่อพระศาสนายังไง มีความเข้าใจแม้แต่บทบาทฐานะของพุทธบริษัท แม้แต่บทบาทของตัวเองในฐานะเป็นชาวพุทธ ที่เป็นคฤหัสถ์ เป็นอุบกสกอุบาสิกา หรือเป็นคนหนึ่งในสังคมไทยที่เป็นชาวพุทธ ตัวเข้าใจบทบาทของตัวและทำบทบาทถูกหรือไม่ ภาพนี้จะบอกหลายอย่าง แล้วเมื่อเราใช้ประโยชน์เป็น เราก็เอาภาพนี้มาเป็นเครื่องเตือนสังคม ว่าเวลานี้ท่านกำลังเป็นอย่างไร เข้าใจบทบาทของตัวเองถูกไหม เข้าใจพระศาสนา ถ้าไม่ถูก รีบแก้ซะสิ เอาประโยชน์จากมันโดยมาใช้ในการเตือนสติ แล้วเพื่อแก้ไขปรับปรุง กลับไปแก้ไขพุทธบริษัททั้งหมด แก้ไขโดยเฉพาะคฤหัสถ์ชาวพุทธ ให้ท่านเหล่านั้นเข้าใจซะให้ถูก เพราะฉะนั้นจะได้ประโยชน์เยอะ จากภาพนี้ ส่วนภาพนั้นถูกไม่ถูก ท่านก็วินิจฉัยได้เอง ใช่ไหม ท่านถามก่อนก็ได้ เดี๋ยวผมค่อยพูด เมื่อกี้ท่านว่าจะมีคำถามอะไรไม่ใช่เหรอ ก็เป็นอันว่าที่พูดกันวันนี้ก็พอสมควรนะ ตกลงว่า หนึ่ง-ต้องเข้าใจเรื่องของลักษณะ บทบาท หน้าที่ พื้นภูมิของพระศาสนานี้ โดยเฉพาะก็คือบทบาทของพุทธบริษัทว่าเป็นอย่างไร ก็วางตัววางท่าทีให้ถูกต้อง แล้วเมื่ออันนี้ได้เนี่ย มันจะได้อันที่สอง-คือจิตสำนึกในฐานะที่ตัวเองมีส่วนร่วม มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ มีส่วนร่วมรับผิดชอบ เช่นว่ามีเหตุการณ์ที่เรียกว่าเป็นความเสื่อมในพระศาสนาเกิดขึ้น เราเป็นเจ้าของด้วยนี่ เรามีส่วนร่วม เราได้รับผลกระทบกระเทือนด้วย ต้องนึกอย่างนั้นนะ เมื่อมีเหตุร้ายเกิดขึ้นเป็นความเสื่อมนี่เราโดนกระทบด้วยนะ เราต้องจัดการ ต้องเอา ไม่ใช่ว่าเรียกตัวเป็นชาวพุทธ แต่มองเหมือนเป็นคนนอก เวลานี้ชาวพุทธจำนวนมาก เวลาเกิดเหตุการณ์กับพระศาสนา เหมือนเป็นคนนอกมองเข้ามา ถูกไหม เหมือนเป็นคนอยู่ข้างนอกเลย ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แล้วแถมมองเข้ามา หนึ่ง-เป็นคนนอก สอง-มองว่าพระนี่เหมือนกับเป็นตัวพระศาสนา แล้วพระทำอย่างนั้นคือพระศาสนาเป็นงั้นไม่ดี พระไม่ดีอย่างนั้นๆ ว่าพระ พระโดนเล่นงานอย่างเดียวเลย แยกไม่ออก แยกในบทบาทเมื่อกี้ก็ไม่ออก แล้วตัวเองก็ไม่มองตัวเองว่ามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอย่างไร สำนึกนี้ไม่มีเลย ก็มองตัวเป็นคนนอก ก็จบ ก็เข้ามาซ้ำเติมพุทธศาสนา ทั้งๆ ที่ตัวเป็นชาวพุทธ แต่มองตัวเป็นคนนอก ทำตัวเหมือนเป็นคนนอก เข้ามาพูดว่ากล่าวก็พูดแบบคนนอกอีก ก็คือซ้ำเติมพุทธศาสนาให้หนักเข้าไปอีก ถูกไหมครับ เพราะฉะนั้นเป็นการผิดสองชั้น ตัวเองไม่เข้าใจ ทำผิดแล้วยังมาซ้ำเติมอีก พอยัง หลายท่านแล้วนะ เอาละ ก็เลยพูดเรื่องนี้มันก็โยงไปหาเรื่องภาพเรื่องอะไร เรื่องภิกษุสันดานกา เรื่องหมานุด อะไรไปด้วย แต่ว่าขออย่างเดียวที่ผมพูดนี้ขอให้นึกโยงและเข้าใจ ถ้าเข้าใจชัดแล้วพอเลย ต่อไปนั้นก็เรื่องจะเดินมาเอง ก็คือวางท่าทีแล้วจะปฏิบัติยังไงจึงจะถูก มิฉะนั้นแล้วเราจะอยู่ในสภาพนี้ แล้วพระศาสนาจะเสื่อมทรุดลงไปทุกทีเลย ใช่ไหม เสื่อมแน่ๆ อย่างนี้ไม่มีทางรอดเลย ก็พุทธศาสนิกชนมาทำร้ายโจมตีซ้ำเติมพระศาสนาของตนเอง แล้วพระศาสนาจะอยู่ได้ไง คนที่เคยทำหน้าที่มาผดุงมารักษา มาแก้ไขปัญหา กลับเป็นคนมาซ้ำเติมปัญหา มาทำร้ายซะเอง มันถึงเวลาที่ตัวจะต้องตื่นขึ้นมาอุ้ม พระศาสนาจะแย่แล้ว คณะสงฆ์ถูกแอบแฝงทำร้ายอะไรต่างๆ ถูกกัดกร่อนเบียดเบียนแล้ว ใช่ไหม เราจะต้องตื่นตัวขึ้นมา รีบมาจัดการ จะเอายังไง จะกันคน นี่มีบทเรียนแล้วอย่างนี้ แสดงว่าเราไม่ได้มีการขีดกั้นระวังเลย ให้คนที่ร้ายเข้าไปทำลาย สอง-เราไม่ได้มีวิธีการเลยในการเอาคนร้ายออกไป ใช่ไหม สาม-ไม่มีวิธีการเลย ที่จะสนับสนุนพระดี พระดีก็โดดเดี่ยว แกร่ว ไม่มีใครช่วยเลย จริงไม่จริง เวลานี้พระที่ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน ก็มีญาติโยมพุทธบริษัทกลุ่มหนึ่งที่มีความรู้ความเข้าใจ ไปอุปถัมภ์ดูแลบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วเขาไม่เอาด้วยหรอก ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยหรอก พวกนั้นเขานับถือพระที่ให้ลาภเขา แล้วก็ให้หวยเขาได้ หรือว่าทำอะไรก็ไม่รู้ ทำไสยศาสตร์ ให้เขารวยอะไรต่ออะไร สะเดาะห์เขาได้ อย่างนั้นละก็เอา แต่พระที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติศึกษาเล่าเรียนนี้ เขาไม่เอาด้วยหรอก มีโยมอยู่กลุ่มหนึ่งนั่นแหละที่ไปสนับสนุน ใช่ไหม ไม่ได้โยมกลุ่มนี้ พระเหล่านั้นแย่เลย จริงไหม นอกจากโยมส่วนใหญ่ ประชาชนส่วนใหญ่ ชาวบ้านไม่เอาเลยนะ ก็ไปขูดเลข ขูดหวย ไปตามต้นไม้อะไรต่ออะไรตามเรื่อง อันนั้นก็พอว่า นั่นชาวบ้าน ทีนี้นักการเมือง เป็นระดับผู้นำ เป็นระดับตัวแทนของประชาชน ผู้เป็นนักการเมือง ผู้บริหารบ้านเมือง เป็นอะไรต่ออะไร เป็น สส. เป็นอะไรด้วย ก็ไม่รู้เรื่องนี้อีก เป็นเหมือนชาวบ้านแบบนั้น แล้วเป็นนับถือพระแบบนี้อีก จริงไหม ก็ท่านเหล่านี้เป็นอย่างนี้ ท่านจะมาสนับสนุนพระดีอะไร จริงไหม พระดี พระตั้งใจศึกษาปฏิบัติ ท่านผู้ที่ทำหน้าที่แทนประชาชน เป็นผู้นำประชาชน ช่วยแก้ปัญหาพระศาสนา ดำรงพระศาสนา อุปถัมภ์พระศาสนา กลับไปเป็นฝ่ายตรงข้ามซะนี่ ก็คือหนึ่ง-ไม่สนับสนุนพระดี ดีไม่ดีก็ไปร่วมกันขับไล่พระดีซะอีกนะ แล้วก็ไปหนุนพระอะไรต่ออะไรต่างๆ จริงไม่จริงล่ะ ที่พูดเนี่ย จริงไหมครับ แล้วจะเป็นยังไงล่ะ ประชาชนไม่พอ ยังเป็นผู้บริหารบ้านเมืองประเทศชาติ ผมถึงบอกว่าต้อง reengineering ต้องศัพท์สมัย 10 ปีก่อนมาใช้ ต้องยกเครื่องสังคมไทยกันใหม่ ยกเครื่องพุทธบริษัทสี่กันใหม่ มันเหลวเละ มันคลาดเคลื่อน มันเพี้ยนกันไปหมดแล้ว ถูกไหมครับ ท่านธัมรันตโนว่าไง ถูกไหม ถูก เนี่ยยกเครื่องกันใหม่เลย เพราะฉะนั้นท่านที่เป็นผู้บริหารทั้งบ้านเมือง มีอำนาจปกครอง เป็นตัวแทนประชาชน เป็นผู้นำ จะต้องมีจิตสำนึกอันนี้ แล้วเล่าเรียนศึกษาให้รู้เข้าใจ แล้วปฏิบัติให้ถูก อย่ามัวมาได้แค่นี้ แม้แต่มหาวิทยาลัย อะไรต่ออะไร กำลังที่ทำเรื่องนี้ ไม่ใช่ไปหยุดแค่ว่า อันนี้มันถูกไม่ถูก ดีไม่ดี ไปพูดใส่กันไปกันมา บอกแล้วว่าเหมือนอยู่คนละมุมเลย แล้วก็พูดใส่กันไป เราต้องตั้งเจตนาร่วมกัน ก็คือทั้งสองฝ่าย ที่จริงเจตนาก็คือ เพื่อรักษาพระศาสนา แล้วทำไงจะให้เจตนาที่มุ่งไปสู่จุดหมายอันเดียวกันนี้ดีงาม เป็นประโยชน์กับส่วนรวม ให้มันสำเร็จ ท่านต้องไปที่จุดหมายนั้นใช่ไหม เมื่อเจตนานั้นต้องการที่จะส่งเสริมพระศาสนา เขียนภาพนี้มาก็เจตนาดี สะท้อนภาพไม่ดี ตักเตือน เอา แล้วท่านทำไงเพื่อสนองเจตนานี้ให้มันก้าวยิ่งขึ้น ให้มันแน่ใจว่าจะสำเร็จผลดีแก่พระศาสนา ก็ต้องทำการที่เหนือกว่านี้ ไม่ใช่อยู่แค่นี้ พระเองก็เหมือนกัน หรือฝ่ายที่ไม่ชอบก็บอก ไหนๆ เขาทำมาแล้ว เอาละ เราไม่ชอบใจ มันไม่ดี แต่เราเอาประโยชน์จากมันให้ได้ มันก็เป็นภาพที่แสดงว่าเดี๋ยวนี้คนเขามองพระศาสนาไม่ดีมีแล้วนะ เสื่อมมากแล้วต้องรีบแก้ไขปรับปรุง ก็ถือเป็นโอกาส เป็นเครื่องเตือนสติตัวเองในทางแก้ไขปรับปรุง เรียกว่าเอาประโยชน์จากสถานการณ์นี้ให้ได้ มันจะดีจะร้ายต้องเอาประโยชน์ให้ได้ อันนี้จึงจะใช้ได้ ทั้งสองฝ่ายแหละ ทั้งฝ่ายที่เขียนภาพ อย่ามาหยุดที่มาเถียงกันอยู่ เสียเวลา ฝ่ายท่านถูก หรือฝ่ายฉันถูก อะไรอย่างนี้นะ ฝ่ายนั้นดีไม่ดี บอกถ้าคุณมีเจตนาดี เจตนาดีมารวมกัน เจตนาดีเพื่อพระศาสนา เพื่อสังคมไทย เราก็ก้าวไปสู่เจตนา ทำการที่มันก้าวไปกว่านี้สิ จะมาหยุดแค่นี้ทำไม ทั้งฝ่ายเขียนภาพ ทั้งฝ่ายมหาวิยาลัยที่มาให้รางวัล กรรมการ หรืออะไร ทั้งฝ่ายพระสงฆ์ ทั้งฝ่ายชาวพุทธ ทั้งฝ่ายอะไรนั่นนะ มีจุดรวมกันแล้ว ตอนแรกนี่มันไม่เห็นด้วยกัน จุดแรกตรงนี้ แต่ว่าต่างคนต่างก็มีความปรารถนาดีต่อพระศาสนา แล้วก็สังคม เราก็มารวมกันที่นี่สิ ก้าวไปทำการที่สนองเจตนาที่ใหญ่กว่านี้ แล้วมันจะเป็นการพิสูจน์ตัวท่านอย่างแท้จริง ว่าท่านมีเจตนาจริงแท้หรือไม่ ถ้าเจตนาดีแท้เราก็ต้องทำงานต่อไปเพื่อให้สัมฤทธิ์ผล ที่ว่าจะให้พระศาสนาอยู่ดี สังคมอยู่ดี พุทธบริษัทนี้เจริญงอกงามอย่างถูกต้องด้วย มันน่าจะก้าวกันต่อไป ไม่ใช่หยุดอยู่แค่นี้ เห็นจะพอสักทีนะ มีอะไรสงสัยไหมครับ กลายเป็นวันนี้ว่าซะยืดยาว แต่ถ้าได้ประโยชน์ก็ควรนะ คือให้มันเป็นประโยชน์ เพราะว่ามันแย่ สภาพก็อยู่อย่างนี้ แล้วพื้นฐานความไม่เข้าใจ ก็อยู่อย่างนี้ เอานะ ถ้ามันได้ประโยชน์ ไปทำความเข้าใจอันนี้ให้ได้ละก็ คุ้ม เหนื่อยไม่เป็นไร เอาละครับ โมทนาทุกท่าน