แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:02] งานบุญเวียนเทียน
[00:02] ขอเจริญพรโยมญาติมิตร สาธุชนทุกท่าน ขออนุโมทนา ท่านทั้งหลายที่ได้มีจิตศรัทธาแล้วมีฉันทะในบุญกุศลมาร่วมในงานบุญเวียนเทียนในวันมาฆบูชา วันนี้ก็ญาติโยมก็มากันพรั่งพร้อม ก็มีตั้งแต่โยมผู้ใหญ่ ท่านผู้เฒ่าชรา มาจนกระทั่งถึงเด็กเล็ก ๆ เมื่อกี้ได้ยินเสียงหนูน้อยรับศีล เสียงดังดี ถ้าหนู ๆ ช่วยกันรับศีลให้ดังชัด ๆ อย่างนี้น่าอนุโมทนา มากันพร้อมอย่างนี้ดี คือตั้งแต่คุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย จนกระทั่งหลานเหลนมาแล้วก็มีความสุขด้วยกัน แล้วก็ทำบุญด้วยกัน สำหรับเด็ก ๆ นั้นก็เป็นการเรียนรู้ไปด้วย ในบุญกุศลทำจิตใจให้เจริญงอกงามได้มีปัญญารู้เข้าใจดีขึ้น ก็เป็นการฝึกฝนพัฒนา ส่วนท่านผู้ใหญ่ผู้สูงอายุก็เป็นเวลาที่ลูกหลานจะได้ช่วยให้ท่านได้มีจิตใจเบิกบานผ่องใสมีความสุขต่อบุญกุศล ท่านได้ทำอะไรต่ออะไรมามากแล้วถึงเวลานี้ก็เป็นเวลาที่ควรได้เสวยผลแห่งบุญกุศลที่ได้ทำมาให้จิตใจบันเทิงปราโมทย์ปีติในบุญในกุศลนั้น ผู้ใหญ่นี้ก็จะได้เป็นหลักเป็นผู้มีประสบการณ์มาก นำประสบการณ์มาแนะนำบอกเล่าแก่ลูก ๆ หลาน ๆ ต่อไป ก็เป็นความสามัคคีในหมู่ชนก็ทำให้สังคมของเราร่มเย็นเป็นสุข
[02:06] แล้วทีนี้เราก็มาสามัคคีพร้อมใจกันในวันมาฆบูชา แล้ววันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง ก็มาพร้อมเพรียงกันทั้งพุทธบริษัทไป ฝ่ายญาติโยมที่เป็นคฤหัสถ์แล้วก็มาสามัคคีกับฝ่ายสงฆ์ที่เป็นบรรพชิต เท่ากับว่าพร้อมพุทธบริษัท 4 อันนี้เรามาทำบุญแล้วก็เป็นการที่บูชาพระรัตนตรัย พุทธบริษัท 4 ก็มาพร้อมใจกัน ถวายสักการะบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมและก็พระสงฆ์ ในโอกาสวันนี้ที่เราเรียกวันมาฆบูชา
[02:50] วันสำคัญทางด้านบูชา
[02:50]วันมาฆบูชานี้ในบรรดาวันสำคัญที่เราจัดกันในปัจจุบันที่เป็นวันทางด้านบูชาก็มี 3 วันอย่างที่เคยว่ามาแล้ว ก็ทวนกันนิดหนึ่งก็คือ วันมาฆบูชานี้ วันวิสาขบูชาและวันอาสาฬหบูชา ถ้านับตามปฏิทินมาฆบูชาก็เป็นวันแรก คือพอเริ่มปีใหม่ตามปฏิทินสุริยคติ มกราคมแล้วมาเดือนนี้กุมภาพันธ์ มามีมาฆบูชาเป็นบูชาแรก ต่อไปก็เดือน 6 ประมาณพฤษภาคมหรือมิถุนายนต้น ๆ ก็จะมีวิสาขบูชาเป็นที่ 2 แล้วต่อไปก็จะมีอาสาฬหบูชาต่อด้วยเข้าพรรษาเป็นวันที่ 3 ในเดือน 8 นี้เรียงตามลำดับในปฏิทินมาฆบูชาเป็นวันแรก แต่ถ้าเรียงตามเหตุการณ์ในพระพุทธประวัติก็ตรงข้าม มาฆบูชาก็เป็นวันที่ 3 คือเริ่มด้วยวิสาขบูชาพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ก็ถือความเป็นพระพุทธเจ้าเริ่มต้นที่ตรัสรู้ วิสาขบูชาเดือน 6 แล้วต่อมาเดือน 8 มีอาสาฬหบูชา พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ก็เป็นเหตุการณ์ที่ 2 แล้วต่อมาถึงเดือน 3 ก็คือ 9 เดือนหลังจากพุทธปรินิพพาน จึงมีมาฆบูชาเป็นการประชุมสงฆ์ครั้งใหญ่ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต แล้วก็ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ก็เป็นอันว่ามาฆบูชานี้เป็นสุดท้าย วิสาขบูชาก็เริ่มต้นวันตรัสรู้อีก 2 เดือนต่อมาอาสาฬหบูชา ก็แสดงปฐมเทศนาอาสาฬห แล้วมา 3 อีก 9 เดือนหลังตรัสรู้จึงได้มีมาฆบูชา แต่ว่าถ้าว่าตามที่ชาวพุทธได้จัดกันในประเทศไทยก็เป็นอีกอย่างหนึ่งว่าตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่มีการจัดพิธีบูชา กลายเป็นว่า หนึ่งวิสาขบูชานั้นยืนพื้นมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไรและเท่าที่เราทราบก็น่าจะตั้งแต่สมัยสุโขทัยเพราะว่าเป็นการบูชาหลัก วิสาขบูชามาสุโขทัยอยุธยาแล้วก็กรุงเก่าแตกก็สูญหายไป จนกระทั่งมารัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงได้รับคล้าย ๆ คำถวายวิสัชนาเป็นการบำรุงพระราชศรัทธา ก็เลยทรงจัดงานวิสาขบูชาขึ้นมาเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์คือฟื้นขึ้นมาใหม่ในรัชกาลที่ 2 หลังจากหายไปหลายปี ทีนี้วิสาขบูชาก็ยืนพื้นมาแต่โบราณ จนกระทั่งมาถึงรัชกาลที่ 4 ทรงพิจารณามีพระราชดำริว่า วันมาฆบูชาจาตุรงคสันนิบาตนี้ก็มีความสำคัญมาก เป็นการประกาศหลักพุทธศาสนาที่สำคัญก็ทรงจัดพิธีมาฆบูชาขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 4 กลายเป็นว่ามาฆบูชานี้เป็นเหตุการณ์ที่ 2 มาเป็นกลาง ก็มีเฉพาะในประเทศไทย แล้วก็มาถึงหลังจากฉลอง 25 พุทธศตวรรษ คณะสงฆ์ก็ตกลงว่าต่อแต่นี้ไปตั้งแต่ปี สองพันห้าร้อยเอ็ดหรือ สองพันห้าร้อยหนึ่ง ก็เริ่มจัดพิธีอาสาฬหบูชาในวันแสดงปฐมเทศนา โดยทางรัฐบาลได้เห็นชอบตามคำแนะนำของคณะสงฆ์ก็ประกาศเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง ก็เป็นว่าวันอาสาฬหบูชากลายเป็นวันที่ 3 มาฆบูชาเป็นวันกลางนี่ว่าตามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ก็มาเล่าให้ญาติโยมฟังจะได้เป็นความรู้ประกอบไว้ เพราะเราทำอะไรก็รู้แสดงให้ชัดเจน
[07:31] วันมาฆบูชา
[07:31] นี้วันนี้ก็เป็นอันว่าเป็นวันมาฆบูชา เป็นวันที่ 3 ในเหตุการณ์ทางพุทธประวัติแล้วเป็นวันที่ 1 ในปฏิทินสุริยคติและเป็นวันที่ 2 อันกลางในเหตุการณ์การจัดพิธีของชาวพุทธทั้งหลาย มาถึงวันมาฆบูชาแล้วเราก็เข้าใจความหมายกันดีว่าวันมาฆบูชานี้เป็นการบูชาพระรัตนตรัย เนื่องด้วยเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา คือจาตุรงคสันนิบาตที่ว่า หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน เมื่อมีพระสาวกจำนวนถึง 1150 รูปเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น แล้วในวันมาฆบูชาคือวันเพ็ญเดือน 3 มาฆะปุรณมีนั้น ในยามราตรีที่พระเวฬุวัน ที่เมืองราชคฤห์ คือป่าไผ่หรือสวนไผ่ของพระเจ้าแผ่นดินพระเจ้าพิมพิสารได้ถวายแก่พระสงฆ์ แก่พระพุทธเจ้าเป็นประมุขพร้อมด้วยพระสงฆ์ทั้งหลาย พระสงฆ์จำนวน 1250 รูปก็มาประชุมโดยไม่ได้นัดหมายกัน พระพุทธเจ้าทรงปรารภเหตุการณ์ที่เป็นบรรยากาศเหมาะสมก็เลยทรงแสดงหลักการสำคัญของพุทธศาสนาที่เรียกว่าโอวาทปาติโมกข์ แปลว่าพระโอวาสที่เป็นหลักเป็นประธาน มี 3 คาถากึ่ง มี ขันติปรมังตโปตีติกขานิพพานังปรมังวัฑฒันติพุทธาเป็นต้น แต่คาถาที่เราจำกันได้มากก็เป็นคาถากลาง บางแห่งท่านเอาคาถากลางมาเป็นคาถาที่ 1 แต่ว่าในเหตุการณ์แท้ ๆ นั้นเริ่มต้นด้วย ขันติปรมังตโปตีติกขา นี้คาถากลางที่เราจำกันได้มากกว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง กุสะลัสสูปะสัมปะทา สะจิตตะปะริโยทะปะนัง เอตังพุทธานะสาสะนัง
[09:41] ก็มาทวนแปลกันนิดหน่อย โยมก็จำกันได้คิดว่าดีแล้ว แต่ว่าฟังกันบ่อย ๆ ไม่ให้ลืมไปเลย โดยเฉพาะเด็ก ๆ ก็ท่องให้แม่นทั้งบาลีทั้งไทยก็ดี ก็บอกว่า
1 ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ไม่ทำบาปทั้งปวง
2 กุสะลัสสูปะสัมปทา ก็แปลว่าทำกุศลให้ถึงพร้อม พูดง่าย ๆ ก็ทำดีให้เพียบพร้อม
3 สะจิตตะปะริโยทะปะนัง ก็แปลว่าทำจิตใจของตนให้ผ่องใส คำว่าทำจิตให้ผ่องใสนะไม่ใช่จิตอย่าง
เดียวนะจิตจะผ่องใสได้จริงเนี่ยบริสุทธิ์ต้องปัญญาด้วย
[10:32] วันแห่งความรัก
[10:32]นั้นข้อ 3 เนี่ยพูดถึงจิตแต่เน้นที่ปัญญา ก็คือเอาปัญญามาชำระจิตให้ผ่องใส คาถานี้เป็นคาถากลาง คาถาที่ 2 ที่จำกันแม่น แต่ว่าอีก 2 คาถากึ่งนั้นก็สำคัญเหมือนกัน แต่วันนี้นั้นยังไม่เข้าสู่รายละเอียดก็ถือว่าเรื่องรายละเอียดนี่ค่อย ๆ ว่ากันทีละเล็กละน้อย มาอธิบายวันเดียวจบเลยโยมจำไม่ไหว ฟังยังไม่ค่อยไหวเลย ฉะนั้นก็เลยเอาว่าแต่ละครั้งก็มาจับแง่มุมนิด ๆ หน่อย ๆ ของวันมาฆบูชา โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันเนี้ยะ ตั้งแต่มีการฉลองวันวาเลนไทน์ในประเทศไทยนี่ ก็เลยกลายเป็นว่า พอถึงวันมาฆบูชาชักจะมีการพูดถึงวันมาฆบูชาในแง่ของความรักคือพูดให้มันสอดคล้องกับเรื่องของวันวาเลนไทน์ ฉะนั้นทุกปีเวลานี้เราจะได้ยินกันเรื่อย เวลาพระหรือโยมก็ตามพูดถึงวันมาฆบูชาก็จะพูดถึงว่า เอ้อเขามีเรื่องความรักกันในวันวาเลนไทน์นะ แล้วความรักในพุทธศาสนาก็มีโดยเฉพาะวันมาฆบูชานี่แหละเป็นวันแห่งความรัก เป็นความรักแท้ที่ยั่งยืนด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์แท้จริง ฉะนั้นก็มาฆบูชาก็เป็นวันแห่งความรักเหมือนกัน ก็ให้ความรักในมาฆบูชานี้ไปเสริมความรักในวาเลนไทน์ มันจะได้แก้กันสมดุลไม่ให้เขวไปในทางที่เสียหาย ถ้าหากว่าความรักของวาเลนไทน์นั้นได้ความรักของมาฆบูชามาช่วยไว้ก็จะทำให้ไม่พลาดไม่เฉไม่ตกหลุมเสียหายไปละ คือไม่ไปอบายนั่นเอง หมายความว่าความรักนี่นะ ถ้าทำไม่ดีก็ไปอบายได้ แต่ถ้าทำดีนะความรักก็ไปสวรรค์ แล้วไปสวรรค์สูงด้วยนะความรักเนี่ย ความรักนี้พาไปสวรรค์ชั้นพรหมเลย
[12:50] ความรักในพรหมวิหาร4
[12:50]ความรักคือในพรหมวิหาร 4 เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา ข้อที่ 1 เมตตาก็เริ่มเลยความรัก รัก รักของเมตตาก็เรา อยากให้เขาเป็นสุข ถ้าเราอยากให้เขาเป็นสุขก็แสดงว่าเป็นความรักในพรหมวิหาร เป็นความรักอย่างพ่อแม่อยากให้ลูกเป็นสุข ถ้าความรักในแบบราคะ ก็แปลว่าอยากได้เขามาทำให้เราเป็นสุข อันนั้นต้องระวังถ้าทำไม่ดีก็ตกอบายไปเลย นั้นก็เลยเอาว่าเรามีเมตตามีความรักของวันมาฆบูชาก็มาช่วยแหละ อย่างน้อยก็ดึงกันไว้ให้สมดุลแล้วก็ถ้าพัฒนามาในความรักของมาฆบูชาได้ก็เดินทางไปสู่พรหมโลกเลย ทีนี้สูงลิ่วเลย เรียกว่าใกล้พระอริยบุคคลแล้ว พอเป็นพระพรหมแล้วทีนี้อีกทีก็เป็นพระอริยะ เป็นอริยะแล้วก็ไปสู่พระนิพพาน ชั้นพรหมก็สูงมาก เพราะฉะนั้นตอนนี้เรามาพูดกันถึงความรักกันบ่อยในวันมาฆบูชา
[13:59]วันนี้ก็เลยมามองว่าเอ้อพูดกันมาเยอะแยะแล้ว ความรักของมาฆบูชาอะไรเนี่ย ก็อยากจะพูดอีกแง่หนึ่งบอกว่า ในพุทธศาสนาเนี่ยอย่าเพลินไปนะอย่าพูดแต่ความรัก ในพุทธศาสนานี้ท่านย้ำว่า ความรักต้องมาก่อนความรู้ แล้วจากรักมารู้เนี่ยนะจะไปต่อ ถ้าอยู่แค่รักก็ไปได้ถึงพระพรหม แต่ถ้ามีรู้ด้วยนี่ไปนิพพานได้เลย จะเป็นอริยะนี้ต้องมีรู้ก็คือปัญญา ฉะนั้นต้องมาต่อ รักไม่พอต้องรู้ด้วย พอรู้แล้วทีนี้ก็เดินหน้าต่อจากพระพรหมก็ไปสู่ความเป็นอารยะชนไปสู่พระนิพพานได้ วันนี้ก็เลยมาย้ำกันนิดหน่อยว่า เอ้อ[14:58]เรามีความรักนี่ดีแล้วนะ เป็นความรักที่เป็นคุณธรรมอยู่ในพรหมวิหาร 4 เริ่มด้วยเมตตาเป็นต้นไป ก็เป็นการปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนา แล้วก็มาย้ำกันในวันมาฆบูชา ก็ขอให้เดินหน้าต่อไปในเรื่องวิถีของพุทธธรรม ก็คือว่ารักแล้วให้มีรู้มาคู่ด้วย นี้ความรู้นี่ก็เป็นเรื่องปัญญา หมายความเมตตาความรักแล้วโยงไปนะไม่ใช่ว่าเฉพาะเมตตาอย่างเดียว เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาทั้งชุดนี้แหละอยู่ในชุดของความรักไปจนกระทั่งถึงว่าวางใจเป็นกลางแล้วไปเชื่อมอุเบกขาเข้ากับความรู้ ตอนที่ถึงอุเบกขาเนี่ยไปเชื่อมความรู้ แล้วก็จะถึงธรรมะเลย ตัวรู้หรือปัญญานี่เป็นตัวที่ทำให้ถึงธรรม นี้เราก็มีปัญญาความรู้นี้มาคู่ ในทางพุทธศาสนาท่านเน้นมาก ขอให้สังเกตดูในพระพุทธคุณ
[16:05] พระพุทธคุณ
[16:05] พุทธคุณนี้ในเมืองไทยเรานิยมชุด 3 มีอะไรบ้าง 1 พระปัญญาคุณ 2 พระวิสุทธิคุณ 3 พระมหากรุณาธิคุณ นี่ 3 ประการ เราจำกันแม่นเลยนะ นี่เป็นความนิยมในเมืองไทย ทีนี้ถ้าว่าไปตามหลักเดิมเนี่ยก็เป็นว่าพุทธคุณ 9 ในบทอิติปิโส นั่นก็มากเยอะแยะจำไม่ค่อยไหว นี้ที่ท่านนิยมในคัมภีร์นี่ท่านเอาแค่ 2 วันนี้ก็เลยมาเล่าให้โยมฟังเป็นความรู้เพิ่มเติมขึ้นมา คือพุทธคุณที่ย่อสุดนี่ ในคัมภีร์ท่านนิยมแค่ 2 คืออะไร คือปัญญากับมหากรุณา แล้ววิสุทธิคุณไปไหนละเรามี 3 นี่ ของท่านมีแค่ 2 ก็ตอบได้ง่าย ๆ มองได้ง่าย ๆ ว่าในคัมภีร์หรือว่าแต่โบราณนั้นท่านถือว่า ความเป็นพระพุทธเจ้าเนี่ยมีความบริสุทธิ์เป็นพื้นอยู่แล้วที่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าคือต้องพ้นจากกิเลส เราเรียกว่าวิมุติ พ้นจากกิเลสก็คือ พ้นจากสิ่งเศร้าหมองสิ่งไม่ดีไม่งามทั้งหลาย พอพ้นจากสิ่งเศร้าหมองพ้นจากกิเลส วิมุติหลุดพ้น ก็เป็นวิสุทธิ เพราะฉะนั้นวิสุทธิวิมุตินี่ ก็มีความหมายแทนกันได้เป็นอันเดียวกันเรียกว่าเป็นไวพจน์ แล้ววิมุติวิสุทธิก็เท่ากับสันติก็สงบแหละ คนที่หลุดพ้นมีความบริสุทธิ์แล้วก็สงบ สงบกาย สงบวาจา สงบใจ สงบจากกิเลส สงบจากภัยอันตรายหมด แล้วสันติแล้วก็นิพพานอันเดียวกัน เพราะฉะนั้นคำว่าวิมุติ วิสุทธิ สันตินิพพานเนี่ย เป็นคำเดียวกัน นี้ท่านถือว่าความเป็นพระพุทธเจ้านี่ก็อยู่ทีนี้แล้ว ก็คือบรรลุนิพานมีวิสุทธิวิมุติอยู่ในตัว นั้นท่านก็เลยไม่ต้องพูดถึงอีก ทีนี้พุทธคุณที่จะมาแสดงออกใช้ปฏิบัติท่านก็เน้นอยู่แค่นี้ 2 ข้อ ก็คือข้อ พระปัญญาคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ความเป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นวิสุทธิไม่ต้องพูดถึงแล้วอยู่ในตัว ของเราก็เสียดายก็เลยเอามาพูดซะด้วย เมืองไทยก็เลยเป็น 3 ก็เป็นอันว่า ให้จำไว้น่ะเมืองไทยเรานิยม 3 เป็น พระปัญญาคุณ คล้าย ๆ เรียงลำดับ ปัญญาเนี่ยจะเป็นเหตุ แล้วทำให้วิสุทธิให้บริสุทธิ์ได้ถ้าไม่มีปัญญาก็บริสุทธิ์ไม่ได้ ปัญญาคุณก็มาก่อน แล้วก็วิสุทธิแล้วก็บริสุทธิ์ผู้หลุดพ้นจากกิเลส แล้วก็มหากรุณาคุณ พอมีความบริสุทธิ์ของตนเองแล้วจิตใจสะอาดมีปัญญารู้เข้าใจ เห็นทุกข์ของสัตว์ทั้งหลาย เห็นสัตว์ทั้งหลายมีความเป็นอยู่มีปัญหากันอยู่ เดือดร้อนกันอยู่ ก็กระตุ้นเร้าให้เกิดพระมหากรุณา นั้นกรุณาก็เป็นข้อที่ 3 ที่เกิดจากปัญญาในจิตใจที่บริสุทธิ์ คนที่มีจิตใจบริสุทธิ์แล้วมีปัญญานี่จะเกิดกรุณา แต่ถ้าปัญญานั้นอยู่ในใจที่ยังไม่บริสุทธิ์ก็ยังรับประกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตใจบริสุทธิ์แล้วปัญญามาแล้วก็จะเกิดกรุณา เห็นเพื่อนมนุษย์มีข้อบกพร่องจุดอ่อนมีปัญหากันแล้วก็อดสงสารเห็นใจเข้าใจแล้วพยายามแก้ไขปัญหา ก็จึงมีกรุณา เพราะฉะนั้นกรุณาที่แท้นี้ต้องมาในใจที่บริสุทธิ์ เอาละน่ะก็เป็นว่า 3 ประการ แบบไทยเราปัญญาทำให้บริสุทธิ์ บริสุทธิ์แล้วปัญญาก็กระตุ้นให้เกิดกรุณา 3 ประการ ในคัมภีร์ทั้งหลายก็นิยมแค่ 2 ว่าความเป็นพุทธะนั้นบอกอยู่ในตัวแล้วถึงวิสุทธิเพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงอีก ก็เอาพุทธคุณส่วนภาคปฏิบัติมาใช้ก็ปัญญากับกรุณา ปัญญานี้เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อรู้เข้าใจก็จะไปจัดการแม้แต่รู้ว่าใครทุกข์แล้วเขาทุกข์อะไรจึงจะไปปฏิบัติการในการช่วยแก้ปัญหากรุณาจึงจะทำงานได้ไม่มีปัญญาจะเป็นกรุณายังไงก็ทำอะไรไม่ได้ นั้นก็ต้องมีปัญญา รู้ว่าใครทุกข์ ๆ เรื่องอะไร แล้วจะจัดการแก้ไขปัญหาอะไรยังไง อะไรเป็นเหตุให้เขามีทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เขาเป็นปัญหาทุกอย่างก็อาศัยปัญญาทั้งนั้น
นั้นปัญญาต้องควบคู่กับกรุณา มีแต่กรุณาด้านรักด้านเดียวนี่ก็ไปไม่รอด มีแต่ปัญญาอย่างเดียวใจไม่บริสุทธิ์ไม่เกิดกรุณาดีไม่ดีไปห้ำหั่นเขาเสียอีก
[20:50]ตกลงว่าพระพุทธเจ้ามีพระคุณสำคัญที่ออกสู่ภาคปฏิบัติการเนี่ยมีพระปัญญากับพระมหากรุณา แล้วปัญญาเราก็แปลง่าย ว่าๆ รู้ แล้วกรุณาก็รัก ในกรุณาของพระเจ้านี่เมตตามุทิตาอะไรพร้อมอยู่หมดแล้ว ทำไมมาเน้นพระพุทธเจ้าที่ข้อกรุณา เอ้าทายหน่อย ทำไมพระพุทธคุณนี้ไม่ใช้มหาเมตตา อย่างเราเดี๋ยวเนี้ยะเราจะพูดกันเมตตามหานิยม แต่ของพระพุทธเจ้านี่เป็นมหากรุณา ก็เพราะพระพุทธเจ้าทรงพ้นทุกข์หมดแล้วมีความบริสุทธิ์มีความสุขสมบูรณ์มีปรมังสุขังมีบรมสุขและสุขตลอดเวลามีแต่ความสุข นี้ท่านที่มีความสุขสมบูรณ์แล้วมองไปเห็นคนอื่นก็อยู่ในฐานะภาวะที่ยังทุกข์ทั้งนั้น เห็นคนอื่นยังอยู่ในภาวะที่สุขอย่างน้อยก็พร่องไม่สมบูรณ์ยังขาด ๆ วิ่น ๆ เว้า ๆ แหว่ง ๆ แล้วก็ยังมีทุกข์เยอะ เมื่อท่านมองลงมาก็เท่ากับเห็นคนอื่นเนี่ยอยู่ในฐานะที่จะต้องดึงขึ้น เมื่ออยู่ในฐานะที่ต้องดึงขึ้น พระคุณที่เด่นก็คือกรุณา ถ้าเมตตานี่เป็นความปรารถนาดีอยากให้เขาเป็นสุขในภาวะที่เขาเป็นปกติ ฉะนั้นก็เมตตาก็มีอย่างเป็นไมตรี เป็นเพื่อนอยากให้เขาเป็นสุขในระดับเดียวกันอะไรอย่างงี้ แต่ทีนี้พอเป็นพระพุทธเจ้าแล้วสูงขึ้นไปแล้วมองลงมามีแต่คนที่มีปัญหาจะต้องดึงขึ้นมาทั้งนั้นก็เลยกลายเป็นว่า เน้นพระมหากรุณา เพราะฉะนั้นพระคุณของพระพุทธเจ้าจึงเด่นที่มหากรุณา ส่วนข้ออื่นนั้น ก็เหมือนเป็นเพียงตัวประกอบแฝงอยู่เท่านั้นเอง ให้เข้าใจหลักการนี้ไว้ด้วย นั้นพระพุทธเจ้าจะเด่นที่มหากรุณา
[22:48] รู้ด้วยปัญญา
[22:48] เอาละ ความรู้ก็เป็นปัญญาก็รู้สูงสุดและเป็นโพธิญาณ แล้วก็ความรักก็มาเด่นที่กรุณา ทีนี้จะพระพุทธเจ้าก็มีคุณ 2 ประการนี้ รู้กับรัก เราทั้งหลายก็ต้องปฏิบัติตาม พยายามเจริญคุณธรรมเหล่านี้พัฒนาตัวเองให้มีความรู้และความรัก อย่างที่บอกไว้แต่ต้นมีความรักอย่างเดียวเนี่ยไม่เพียงพอหรอก ความรักบางทีพร้อมด้วยความหลง กลายเป็นว่ามีแต่ความรู้สึกแล้วรักและความหลงก็เลยกลายเป็นรักแบบหน้ามืดตามัว เป็นคนตาบอดรักไปแล้วก็มืดมองไม่เห็นลุ่มหลงไป แล้วก็เลยพอรักทางหนึ่งก็ไปชังอีกทางหนึ่งใช่ไหม โดยมากมันจะเป็นอย่างนี้ ถ้ารักด้วยไม่มีปัญญาไม่มีความรู้เนี่ยมันจะรักหลงหน้ามืดตามัวอย่างที่ว่าเมื่อกี้ไปด้านหนึ่ง เอียงสุดไปเลย อีกด้านหนึ่งก็พอดีก็ไปชังอีกทางหนึ่ง ทีนี้ก็เกิดสุดโต่ง 2 ข้าง แม้แต่คนเดียวนั่นแหละตอนแรกก็รักด้วยหน้ามืดตามัวมองไม่เห็นอะไร เขามีข้อบกพร่องอะไร ต่อมาตาสว่างขึ้นเห็นข้อบกพร่อง ทีนี้ชังเลย ชังคนนั้น ชังคนที่ตัวเคยรักนะสุดโต่งอีก ทีนี้ถ้ามีรู้ด้วยก็จะแก้ปัญหาทำให้ความรักนี่พอดี รู้เข้าใจเขา แล้วก็รู้คนที่เรารัก รู้คนอื่น ก็เข้าใจเขาไม่ถึงก็ชังเขา แต่ทีนี้มันไม่ใช่แค่นั้น แม้แต่คนที่เรารักนี่ เรารู้เข้าใจจุดอ่อนข้อบกพร่องข้อเสียเขา พอรู้ด้วยปัญญาแล้วเกิดความเข้าใจเห็นใจ พอเห็นใจคราวนี้ก็รักจริงแล้ว รักพอดี รักพอดีด้วย รักจริงด้วย โดยที่ว่ายอมรับจุดอ่อนข้อบกพร่องเค้าเห็นใจอะไรต่ออะไรไม่ใช่ว่าหน้ามืดตามัวไปตอนแรก แล้วพอเห็นเค้าก็เลยชังไปเลย นั้นก็ตอนเนี้ยะความรู้มาช่วยความรักได้ตั้งแต่ต้น เอาละอันที่ 1 ก็ทำให้พอดี ความรักพอดีทั้งบุคคลนั้นเองแล้วก็พอดีกับเพื่อนมนุษย์อื่นไม่ไปรักคนหนึ่งชังอีกคนหนึ่งเกินไป แล้วต่อไปสำหรับคนนั้นเองก็พอดีที่ว่าจะได้เข้าใจเห็นใจมีความสงสารช่วยเหลือกัน รักแบบนี้ไปก็ได้ ก็เป็นทางมาของกรุณา พอคนที่เรารักนั้นมีข้อบกพร่องจุดอื่นเข้าใจเขาเห็นใจเขา เราก็สงสารมีกรุณาอยากช่วยเหลือดีขึ้นไปแหละ เอ้ารักแค่นี้ก็ดีขึ้นมาเยอะแล้ว ความรู้ช่วยเยอะ ทีนี้มันไม่ใช่แค่นั้นน่ะความรู้นี่มันมาช่วยอีกในการที่จะต้องดำเนินชีวิตต่อไปจะประสบปัญหาจะได้แก้ไขมีแต่ความรักอย่างเดียวไปกันไม่รอดอยู่กันด้วยความรักอย่างเดียวนี่ไม่มีความรู้ดำเนินชีวิตต้องเจอปัญหาแน่ ปัญหาก็ไม่รู้ไม่มีปัญญาก็แก้ไม่ได้อีก เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มีความรู้มีปัญญา แล้วต่อไปเราดำเนินชีวิตก็พากันใช้ปัญญานี้ช่วยเป็นกำลังเสริมกันในการที่จะเดินหน้าแก้ปัญหาสร้างสรรค์นำพาชีวิตให้ก้าวหน้าประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไป นั้นตอนนี้[26:15]ความรู้เป็นเครื่องมือสำคัญมากเป็นทรัพย์อันประเสริฐ ท่านเรียกว่าอริยทรัพย์
[26:19] กว้างกว่ารักระหว่างคน
[26:19]เอาละทีนี้ยังกว้างออกไปอีก คือไม่ใช่เฉพาะรักกันระหว่างคน 2 คน 3 คน มันความรักมันออกไปถึงอย่างเป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ารักสรรพสัตว์หมดเลย มีความปรารถนาดีต่อสัตว์ทั้งปวงอยากให้เขาพ้นจากทุกข์ นั้นพระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงเห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อยเลยตลอด 45 พรรษา ใครเห็นพระพุทธเจ้าหยุดบ้าง พระพุทธเจ้าก็เสด็จไปตลอดเวลา มีหลักธรรมอันหนึ่งเรียกว่าพุทธธรรม 18 ประการ ใน 18 ประการนั้นมีข้อหนึ่ง ให้จำไว้เลยว่า นัตถิฉันทัสสะหานิ แปลว่าพุทธธรรมหรือพระคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าประการหนึ่งว่ามีฉันทะไม่ลดถอยเลย ฉันทะเข้าใจหรือยัง ฉันทะแปลว่าความปรารถนาดีที่จะทำสิ่งทั้งหลายให้ดีงามให้สมบูรณ์สำหรับมนุษย์ก็อยากทำให้เขาไปสุข อันนี้ฉันทะอันนี้พระพุทธเจ้าไม่มีลดถอยเลย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงมีพลังมากในการที่จะไปปฏิบัติพุทธกิจไปไหนไปได้หมด เสด็จพุทธดำเนินนะพระบาทเปล่านี่ไปทั่วไปหมดเลย เรายังมีรถมีอะไรต่ออะไรสะดวกกว่าท่านเยอะ แต่ท่านก็ไม่เห็นเป็นไรท่านไม่ทุกข์นี่ ท่านมีความสุขในการบําเพ็ญพุทธกิจอยู่ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าก็ไปอย่างเงี้ย พุทธคุณเนี่ยก็เป็นตัวอย่างของการที่รู้ พระพุทธเจ้าท่านมีพระปัญญา มหากรุณาจึงได้ทำงานสำเร็จ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่มีพระปัญญาแล้วถึงจะกรุณารักเขาอยากช่วยเขาให้พ้นทุกข์ยังไงก็ไม่รู้จะแก้ปัญหาให้เขายังไง ปัญญาจึงต้องมาช่วยเป็นอุปกรณ์เป็นสำคัญเลย ปัญญาเป็นตัวทำให้ทำการสำเร็จได้ ฉะนั้นมหากรุณาก็เป็นตัวกระตุ้นเป็นตัวเร้าให้ลุกขึ้นให้เดินหน้าพาไป แต่จะไปทำการให้สำเร็จต้องปัญญา ปัญญาทำให้สำเร็จมีกรุณาอย่างเดียวทำไม่สำเร็จ เราทั้งหลายก็เหมือนกัน
[28:26] ผู้นำต้องมี
[28:26] นี้แคบลงมาจากพระพุทธเจ้าท่าน ก็เทียบอย่างผู้ปกครองประเทศ ผู้ปกครองแผ่นดินพระราชาอะไรเนี่ย ผู้นำทั้งหลายเนี่ย ก็เป็นผู้ที่จะต้องมีมหากรุณาอย่างพระพุทธเจ้า ก็ปรารถนาจะให้ราษฎรมีความสุข อย่างพระเจ้าแผ่นดินในรัตนโกสินทร์นี่เวลาขึ้นครองราชย์ก็จะมีพระดํารัสประกาศว่าอะไร เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม นะตรงเนี้ยประโยชน์สุข นี้ก็หมายความว่าที่ปกครองเนี่ยก็เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน อันนี้ก็คือท่านบอกไว้ว่าให้มีความกรุณา ความรักประชาชนนั่นเอง รักประชาชนก็อยากให้เขามีความสุขพ้นจากความทุกข์ พระราชาก็ต้องมีคุณธรรมข้อนี้ แต่พระราชามีความรักอย่างเดียว มีกรุณอย่างเดียวพอไหม ไม่พอ ต้องมีรู้ด้วยต้องมีปัญญา นั้นปัญญาความรู้นี้ต้องมาด้วยกันก็เลยเป็นเรื่องสำคัญว่าเราต้องให้มีผู้ปกครองที่ดำเนินอย่างพระพุทธเจ้า มีความบริสุทธิ์เป็นฐานดีแล้ว ต้องใจบริสุทธิ์มาแล้วจะมาทำการเพื่อประเทศชาติสังคมเสร็จแล้วก็ เอ้ามีกรุณามีความปรารถนาดีต้องการช่วยเหลือประชาชนให้ประสบความสุขแล้วก็มีปัญญาที่จะดำเนินการให้สำเร็จตามกรุณานั้นที่จะแก้ปัญหาแล้วก็ที่จะได้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้สำเร็จดำเนินการจะจัดการได้ ผู้นำก็ต้องมีทั้ง 2 อย่าง มีกรุณาแล้วก็มีปัญญา ถ้ามีแต่ปัญญารู้ไม่มีกรุณาก็ยุ่ง ฉะนั้นตอนเนี้ยะเราต้องการว่า เอาละไม่ต้องยากหรอกผู้นำประเทศเนี่ยขอให้ดำเนินตามพระพุทธคุณนี่ก็ไปได้แล้ว
[30:34] ร่วมสุขร่วมทุกข์
[30:34]นี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนเรื่องเกี่ยวกับผู้ปกครองต่าง ๆ ไว้ เราก็ถือกันมาหลักทศพิธราชธรรมอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ แต่เพื่อความรู้นี่ ต้องรู้ความเป็นไปของบ้านเมือง ความรู้นี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่างในชาดกไปพระไตรปิฎกนี่ก็มีคาถาหนึ่งจำง่าย ๆบอกว่า ระเถชะนะปะเทวิจานะ ระเถชะนะปะเทวิจาระ คำสอนสำหรับองค์พระราชาแห่งหนึ่ง ดูรามหาบพิตร พระองค์จงเสด็จเที่ยวสดับดูให้รู้ความเป็นอยู่เป็นไปในแว่นแคว้นทั้งในแดนชนบท ครั้นรู้ได้เห็นได้สดับ ความเป็นไปในที่นั้น ๆ แล้วจึงดำเนินพระราชกิจต่อแต่นั้น อันนี้ก็เป็นเรื่องความรู้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามีแต่ความกรุณาแล้วก็ไม่ได้ไปไหน ไม่ได้รู้เห็นอะไรเลย อันนั้นก็เลยเป็นวัตรปฏิบัติของกษัตริย์ชาวพุทธมา เราจะเห็นว่ากษัตริย์ชาวพุทธเรานี้จะเอาใจใส่ต่อทุกข์สุขของราษฎร ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชนี่ทรงปกครองแผ่นดิน ตอนแรกทรงเป็นจันดาโศก อโศกผู้โหดร้าย หรืออโศกจอมโหด แล้วทรงเปลี่ยนมาเป็นธรรมอโศก อโศกผู้ทรงธรรม แล้วก็ทรงบำเพ็ญราชกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริงเต็มที่ ข้อปฏิบัติพระราชจริยวัตรอย่างหนึ่งของพระเจ้าอโศกก็คือทรงเปลี่ยนวิหารยาตราเป็นธรรมยาตรา อันนี้อยู่ในศิลาจารึกกเลย ศิลาจารึกพระเจ้าอโศกก็บอกไว้บอกว่า พวกผู้นำกษัตริย์ในปรางค์ก่อนเนี่ยมีประเพณีวิหารยาตรา วิหารยาตราก็คือไปพักผ่อนโดยวิธีไปเที่ยวป่าล่าสัตว์เป็นต้น นี่เรียกวิหารยาตรา มาบัดนี้องค์พระเทวัญปิยะสัต คือองค์พระเจ้าอโศกมหาราชนี่ทรงละเลิก ไม่ทรงดำเนินในวิหารยาตรา แต่ทรงเปลี่ยนมาบำเพ็ญธรรมยาตรา ในธรรมยาตรานั้นก็คือการเสด็จไปในชนบทในแว่นแคว้น แล้วก็ดูความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นยังไงไปพบปะสมณะชีพราหมณ์ไปพบปะคนแก่คนเฒ่าไปพบปะชาวบ้านทั้งหลายชาวไร่ชาวนาอะไรเนี่ย แล้วก็ไปสนทนาปราศัยกับคนเฒ่าคนแก่ไปสงเคราะห์ผู้คนต่าง ๆ เหล่านี้ตลอดจนกระทั่งบางทีก็ปรารภจะเสด็จไปพุทธสถานสังเวชนียสถานและในระหว่างทางเสด็จก็ไปเยี่ยมที่โน่นที่นี่ อันนี้ก็มีเรื่องจารึกมาในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชนี้ก็เป็นวิธีที่จะหาความรู้ของพระราชา เพื่อจะได้บำเพ็ญพระราชกิจได้อย่างดี นี้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงบำเพ็ญเหมือนเป็นแบบอย่างมา ในเมืองไทยเราก็เห็นได้อย่างในหลวงรัชการที่ 5 ก็มีเรื่องประพาสต้นเสด็จไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ ไม่ให้เขารู้ด้วยซ้ำว่าเป็นใคร แล้วก็ไปอยู่กับชาวบ้านให้เห็นชีวิตของเขาสุขทุกข์โดยตรง หรือมาอย่างแผ่นดินปัจจุบันในหลวงรัชกาลที่ 9 สมัยก่อนเมื่อทรงยังแข็งแรงอยู่ก็เสด็จไปโน่นไปนี่ ไปในถิ่นชนบททั้งหลายเรียกว่ารู้สุขทุกข์ของราษฎร ถ้ายิ่งรู้สึกทุกข์ร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมสุขร่วมทุกข์ก็เป็นข้อปฏิบัติสำคัญในการที่จะสร้างสรรค์ยึดเหนี่ยวสังคมนี้ให้มีความแน่นแคว้นมั่นคงสามัคคี อันนี้ก็เป็นวัตรปฏิบัติในทางพุทธศาสนาที่เราสอนกันมา ก็เป็นว่ามาอยู่ในเรื่องความรู้ว่ามีความรักแล้วก็ต้องมีความรู้ด้วย ความรู้ก็จะช่วยให้การปฏิบัติกิจตามมหากรุณานั้น สำเร็จผลอย่างแท้จริง
[34:49] รักอย่างเดียวไม่พอ
[34:49] ตอนนี้เรามาถึงวันมาฆบูชานี่เราก็คงจะมาทบทวนกันถึงเรื่องเหล่านี้ ผู้ที่มีปัญญามีกรุณาจึงจะแก้ไขปัญหาจัดการเหตุการณ์ได้ มนุษย์เราปัจจุบันเนี่ยมันเป็นปัญหาขัดแย้งกันมากมายเหลือเกินในระหว่างชุมชน หมู่ชนระหว่างประเทศ ระหว่างค่าย ก็รบราฆ่าฟันกันเอาชนะซึ่งกันและกัน ทีนี้วิธีจะเอาชนะกันและกัน ก็คือรักฝ่ายข้างตัวแล้วก็ทำลายฝ่ายตรงข้าม ทำลายก็ทำร้าย วิธีทำลายคนก็ทำร้ายเขา ฆ่าฟันกันล้มตายไป มนุษย์ก็ยังหมุนเวียนอยู่ในอย่างเนี้ยะ อารยธรรมมนุษย์ก็เลยไม่ไปไหน พุทธศาสนาต้องการให้มนุษย์พัฒนาขึ้นไป แม้แต่การแก้ปัญหาในการชิงชัยเอาชนะกันระหว่างประเทศเนี่ย ท่านก็สอนไว้นะ คือรักอย่างเดียวไม่พอ รักพวกเรานะรักแน่นอน และให้รักศัตรูด้วย นั้นเราก็จะมีคำสอนว่า นะหิเวเรนะเว ลานิสัมมันตีทะอุทายจะนัง เป็นต้น แปลว่าไม่มีเลยในการไหน ๆ ที่เวรจะระงับได้ด้วยการจองเวร เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ชาวพุทธก็จำกันแม่น ที่ว่าไม่ให้จองเวรนี้ก็คือให้มีเมตตามีกรุณามีความรักนั่นเอง รัก ๆ ๆ เข้าไว้ รักทั้งเรารักทั้งเขา แต่ว่าชาวพุทธยังอยู่แค่นี้นะไม่พัฒนา รักเรารักเขาแล้วไม่ทำอะไร บอกไม่จองเวร จองเวร หมด ตัวตายเปล่า ให้มีกรุณาต้องมีปัญญาด้วย ที่จริงในหลักธรรมคำสอนนั้นท่านสอนไว้แล้ว ให้มนุษย์นี่พัฒนาต่อไป ถ้ามนุษย์เอาชนะกันแก้ปัญหากันด้วยการที่ว่า เอ้อฝ่ายโน้นเป็นศัตรูของเรา เราจะต้องฆ่าฟันมันให้จบ ฝ่ายเราที่เรารักนี่อยู่ มันก็หมุนเวียนอยู่ในวงจรนี้ไม่ไปไหน นั้นท่านสอนวิธีปฏิบัติไว้ แต่มนุษย์จะต้องพัฒนา นี้เราจะทำไงจะพัฒนามนุษย์ต่อไปให้ถึงขั้นนี้ มนุษย์ที่จะแก้ปัญหาด้วยทั้งกรุณาและปัญญามาคู่กันได้สมบูรณ์เนี่ย จะต้องเก่งกว่าพวกที่ชนะกันด้วยวิธีรุนแรงวิธีทำร้าย ตอนนี้ก็คือมนุษย์มีปัญญาก็ชนะ แต่ว่าไม่มีกรุณา นี้ทำไงจะได้ทั้งกรุณาและปัญญา ท่านก็สอนไว้
[37:17]ก็จะยกตัวอย่างมาให้ฟังอีก เคยพูดมาบ่อย ๆละ ชาดกท่านสอนเรื่องนี้ไว้เยอะเลย อย่างเรื่องมโหสถชาดก มโหสถชาดกนี่เป็นชาดกที่เน้นพระบารมีอะไร ปัญญาบารมี เนี่ย มโหสถปัญญาบารมีคนไทยจะหยุดแค่ทานนะ เนี่ยต่อว่าได้เพราะบารมีพระพุทธเจ้าตั้ง 10 คนไทยเนี่ยเก่งเรื่องทาน เก่งจริง ๆ แต่อยู่แค่เนี้ยะไม่ไปไหน เก่งจริง ๆ ไปไหนพร้อมให้ทันทีเลย ใจกว้างมีน้ำใจดี แต่ว่าไม่ค่อยก้าว บารมีมีตั้ง 10 ข้อ มาอยู่ข้อเดียวไม่ได้ ต้องไปต่อแล้วข้อสำคัญข้อหนึ่งก็ของพระมโหสถเนี่ยปัญญาบารมี ปัญญาบารมีสอนอะไรก็คือให้เอากรุณามาใช้โดยชนิดที่ประสบความสำเร็จ ก็คือมนุษย์จะต้องพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งในการแก้ความขัดแย้งระหว่างชุมชนหมู่ชนระหว่างพวกระวังหมู่จนกระทั่งถึงระหว่างประเทศชาตินี่ ทำไงจะให้ได้ขนาดนี้ เล่าย่อ ๆ ก็คือว่า มโหสถชาดกใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศทำให้ศึกสงครามสงบลงด้วยดี ก็คือว่าอีกประเทศหนึ่งเป็นประเทศของพระเจ้าปันจาระราช พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้เรียกว่ามีความโลภมาก โลภอะไรรู้ไหม โลภแผ่นดินอยากจะเป็นใหญ่ผู้เดียว ก็เลยเที่ยวไปลุกลานประเทศต่าง ๆ ชนะมาเยอะแยะแล้ว ตอนหนึ่งก็ยกทัพมาที่ประเทศชื่อว่าวิเทหะ วิเทหะรัฐนี่เป็นที่ ๆ พระมโหสถอยู่ พระเจ้าแผ่นดินก็เรียกกันว่าพระเจ้าวิเทหะราช เอ้าพอเห็นยกทัพมา พระเจ้าวิเทหะราชพอได้ยินว่า ทัพนี้เป็นทัพของพระเจ้าปันจาระราช ก็สดุ้งตัวสั่น พระองค์สั่นเลย ทำไมละเพราะว่า พระเจ้าปันจาระรบชนะมาจนกษัตริย์ร้อยเอ็ดแล้ว ที่นี่มันก็เรื่องเล็กแล้ว แคว้นวิเทหะนี่นิดเดียว ก็ อกสั่นขวัญแขวน ทีนี้ต่อมาก็พูดจากันหรืออะไรเนี่ยให้รู้ว่ามาเรื่องอะไรจะรบจะเอายังไงกัน ทางฝ่ายโน้นก็มีอุบายมาบอกว่าจะยกราชธิดาให้ แต่ว่าให้ไปทำพิธีวิวาห์อะไรที่เมืองโน้นว่าอย่างงั้นนะ ทีนี้ไม่รู้เจรจากันยังไง พระเจ้าวิเทหะราชนี่ก็ทรงตายพระทัย ก็โลภด้วยน่ะแหละอยากจะได้พระราชธิดาเขานะ ทำให้ตามืดไป ก็เลยยินดียอมจะไปนู่น มโหสถเป็นนักสืบข่าว นี่ตอนนี้ปัญญาทำงาน ตอนนั้นพระมโหสถขัดในที่ประชุมอำมาตย์ พระเจ้าวิเทหะราชก็ตามประเพณีพระราชาก็ต้องปรึกษาพวกปุโรหิตมหาอำมาตย์ทั้งหลายว่าจะเอาไง ถามบัณฑิต 4 ท่าน เสนะกะบัณฑิตเป็นต้นเป็นหัวหน้าใหญ่ เป็นปุโรหิตใหญ่ เสนะกะบอกว่า โอ้เขามาดีก็ตายใจ อำมาตย์ปุโรหิตที่ 2 ก็เหมือนกันดีหมด นี่ก็เลย มโหสถขัด พอ มโหสถขัดว่าไม่ใช่หรอกเขามาร้าย เขาจะเอาพระองค์นี่แหละไปเป็นลูกน้อง แต่ไม่ใช่แค่นั้นหรอก เขาฆ่าแน่ ก็ทรงกริ้วพิโรธมาก บอกว่านี่คือถ้าไม่รักไม่เคยทำความดีมาก่อนฆ่าแน่ แต่ว่านี่เคยมีความดี เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำหนัก คำหยาบก็ใช้คำว่าให้ใสหัวมโหสถออกไป นะไล่เลย แต่พระมโหสถนี้ท่านก็ไม่ท้อ ท่านก็รักแผ่นดิน รักประเทศชาติ รักพระเจ้าแผ่นดินท่านก็เลยคิดว่า ทำไงจะแก้ไขปัญหาได้ สืบข่าว นี่ปัญญามาแล้ว มีวิธีในการสืบข่าวจะรู้แผนของพระเจ้าปันจาระราช ก็คือว่าจะใช้วิธีที่ง่ายลวงพระเจ้าวิเทหะราชนี่ไปฆ่า มโหสถพอทราบแผนของพระเจ้าปันจาระราช มโหสถก็วางแผนซ้อนเลย เขาบอกว่าให้ไปสร้างพระราชวังของพระเจ้าวิเทหะราชนี่ ในดินแดนของพระเจ้าปันจาระราช เพื่อเตรียมพระราชพิธีวิวาห์มงคลหรืออะไรก็แล้วแต่ อภิเษกอะ พระมโหสถก็รับอาสาไปสร้างวังให้ก็เข้าไปดินแดนของฝ่ายปันจาระ แล้วพระมโหสถก็ไปสร้างวัง ในนั้นก็มีการสร้างอุโมงค์ อุโมงตอนนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่เลย พร้อมแล้วก็เชิญให้เจ้าวิเทหะราชนี่ไปประทับที่วังนั้น พอประทับที่วังแล้วก็อยู่ในเงื้อมมือของฝ่ายโน้นแล้วนะ ถึงแม้จะมีวังของตัวเอง มีค่าย มีป้อมอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเขาจะกำจัดง่ายนี่ ก็ไปกัน พอไปกันแล้วพอถึงวันดีคืนดี ทางพระเจ้าปันจะระราชบอกว่า เอ้าให้พระเจ้าวิเทหะราชกำหนดวันอภิเษกมา หาฤกษ์หามงคลยาม พระเจ้าวิเทหะราชก็หาวันมงคลเสร็จก็แจ้งไป พอถึงวันมงคลปั้บ กองทัพพระเจ้าปันจะระราชมาแล้ว พอมาถึงคืออยู่คนละฝั่งแม่น้ำนะ ถึงแม้จะอยู่ในแผ่นดินของฝ่ายปันจาระราชก็อยู่คนละฝั่งแม่น้ำ กองทัพมามากมายพระเจ้าวิเทหะราช ก็เอ๊ะอะไรกันเนี่ยมาพระราชทานพระราชธิดาทำไมทัพใหญ่อย่างนี้ ชักสงสัยในที่สุดก็เลยรู้ ตอนนี้พระเจ้าปันจาระราช ก็เห็นว่าไม่มีทางหนีแล้วก็ประกาศตรง ๆ พระเจ้าวิเทหะราชก็เลยทรงพระหทัยสั่น ไม่ใช่แค่กายสั่นพระทัยสั่นจะแก้ไขปัญหายังไงละ เจ้าบัณฑิต 4 คน เสนะกะเป็นต้นนั้นหมดทางไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง บอกว่าต้องยอมตายแน่ เราชิงตายเสียก่อนดีกว่า ฆ่าตัวตายกันดีกว่า มโหสถบอกไม่เป็นไร ที่พระองค์ไสหัวข้าพระพุทธเจ้ามาเนี่ยนะได้ทำการเตรียมพร้อมแล้ว ตอนนี้ไม่ต้องกลัว พระองค์ไม่ต้องกลัว เดี๋ยวจะบอกแผนให้ แล้วพระมโหสถก็บอกแผน ก็คือว่า เปิดอุโมงค์แล้วกองทัพของวิเทหะราชนี่ก็เข้าอุโมงค์ไปออกแม่น้ำข้ามฝั่งไปเลย แล้วก็ไปโน้น มโหสถเตรียมกระทั่งวังของฝ่ายโน้นยึดครอบครัวของพระราชาองค์นั้นไว้ ทีนี้ฝ่ายพระเจ้าปันจาระราชก็ขู่ แกตายแน่ต้องเปิดเมืองซะดี ๆ ยอม มโหสถก็บอกไม่หรอกไม่กลัวหละ บอกว่าตอนนี้พระเจ้าวิเทหะราชไม่อยู่ไปแล้ว พระเจ้าปันจาระราชก็บอกว่า เอ้อแกอยู่คนเดียวแกไปทำอย่างนี้หักหลังข้า แกตายแน่ ข้าจะฆ่าไอ้เจ้ามโหสถนี่ละ มโหสถก็บอกไม่เป็นไร พระองค์ฆ่าข้าพระองค์นะ พระเจ้าวิเทหะราชก็ฆ่าพระมเหสีของพระองค์เหมือนกันนะ เอาสิจะเลือกเอาอย่างไง พระองค์ทำไงข้าพระองค์ พระราชโอรสพระราชธิดาอะไรของพระองค์ก็หมดเหมือนกันนะ พระเจ้าปันจาระราชหมดทางเลย เห็นไหมวางแผนซ้อน พระมโหสถก็กำชับพระเจ้าวิเทหะราชเบ็ดเสร็จนะตอนที่ไปยึดวังฝ่ายโน้น อย่าไปทำอันตรายเขาน่ะ ก็คือให้มีความรักนั่นแหละ ให้ทุกคนอยู่กันดี แล้วพอทางฝ่ายปันจาระราชหมดทางใช่ไหม ก็โดนเงื่อนไขของฝ่ายของมโหสถก็เป็นอันว่าต้องยอม เมื่อยอมแล้ว มโหสถก็ไม่ทำร้ายอะไรชนะด้วยปัญญาที่เหนือกว่ากันจริง ๆ แล้วก็ให้อีกฝ่ายหนึ่งนี่ยอมกลับเป็นมิตร เรียกว่ากำหราบทำให้เขากลับใจได้ ก็กลายเป็นมิตรกันเลย ต่อจากนี้ก็หมดปัญหาไปเลย เนี่ยท่านสอนไว้มีหลายชาดก จะสอนแบบเนี้ยะก็คือว่า คนที่จะปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาแล้วจะแก้ปัญหาของโลกได้เนี่ยต้องพัฒนาตัวเองอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่ท่องกัน เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร แค่นี้ไปไหนไม่รอดหรอก นะไม่พอ ท่านให้หลักเบื้องต้นไว้ ต้องไปโน่นอย่างมโหสถนี่ คือคนที่จะชนะเขาด้วยความดีเนี่ยโดยที่เขาทำอะไรไม่ได้ มันต้องเก่งกว่าเขาเป็นสิบเท่า ร้อยเท่าใช่ไหม นั้นชาวพุทธต้องพัฒนาตัวเองอย่างยิ่ง แล้วโลกปัจจุบันนี่พัฒนาได้ไหมอย่างเงี๊ยะ พัฒนาแค่ให้อยู่กับเขา แก้ปัญหาด้วยใช้ปัญญาแบบมีกรุณาเพื่อความสันติของโลกนะไม่ได้ นั้นมันก็แค่ว่า ชนะเขาด้วยปัญญาที่ทำร้ายเขา แล้วชนะมันก็จองเวรกันอยู่เนี้ยะไม่รู้จักจบ เพราะฉะนั้นโลกนี้อริยธรรมมันก็ไม่ไปไหน ทำไงจะให้มนุษย์พัฒนาถึงขนาดที่ประเทศที่เก่งจริง ๆ เนี่ย เอาชนะฝ่ายอื่นได้ด้วยวิธีสันติทำให้เขายอมสยบ สยบการทำร้ายด้วยวิธีสันติชนะเขาด้วยความดีด้วยปัญญาที่เหนือกว่าจริง ๆ แล้วก็อยู่กันด้วยความสงบสุขต่อไป อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่ายาก แต่มนุษย์ต้องพัฒนา เมื่อจะให้โลกนี้มีสันติสุขที่แท้จริงต้องเดินหน้าต่อไป
[47:18] ช่วยโลกทั้งโลก
[47:18]วันนี้ก็เลยเอาเรื่องมหากรุณากับเรื่องปัญญานี่มาพูดในอีกแง่หนึ่ง ในระดับของโลก ในระดับของพระพุทธเจ้าที่ทรงบําเพ็ญพุทธกิจเพื่อประโยชน์แก่ชาวโลก แต่หลักการพุทธศาสนาก็ที่ว่าเนี่ย ด้วยความกรุณา พระสงฆ์เรา พุทธบริษัทเราเนี่ย ก็ปฏิบัติตามคำสอนที่เป็นพุทธโอวาท ว่า จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย ภิกษุทั้งหลายจงจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณต่อชาวโลก อันนี้เป็นหลักการทั่วไปเลย นั้นก็เราต้องมาคอยทบทวนหลักการของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ แล้วข้อสำคัญก็คือชาวพุทธนี่จะต้องฝึกตนต้องพัฒนาตน เพื่อปฏิบัติให้ได้ตามนี้ ถ้าเราไม่ฝึกตนไม่พัฒนาตนแล้ว ไม่มีทางทำได้สำเร็จหรอก หลักการพุทธศาสนามาใช่แค่ปฏิบัติกันอยู่ในรายวันเท่านี้นะ เป็นข้อปฏิบัติเพื่อช่วยโลกทั้งโลก เพื่อให้โลกนี้อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข โดยเฉพาะหนู ๆ ทั้งหลายที่เล่าเรียนศึกษานี่ เรียนกันฝึกกันให้เก่งอย่างที่ว่าเนี่ยให้สามารถแก้ปัญหาได้โดยใช้ปัญญาบนฐานของมหากรุณาทำได้มั๊ย มีกรุณาเป็นพื้นฐานและใช้ปัญญาแก้ปัญหาให้มันลงเอยด้วยดี ไม่ต้องมาทำร้ายกัน ทำได้ไหม ถ้าทำได้ นี่ก็คือความสำเร็จของชาวพุทธในการแก้ปัญหาในทุกระดับจนกระทั่งถึงโลก
[48:58] บำเพ็ญบูชา
[48:58]วันนี้อาตมาก็คิดว่าแค่นี้ก็คงจะพอสมควรแก่เวลาและใช้เวลาที่ประชุมไปเยอะ ก็เอาเป็นว่าวันนี้ถึงวันมาฆบูชาแล้ว ก็ขอให้เรามาบำเพ็ญบูชาให้ครบทั้ง 2 อย่าง ทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา อามิสบูชาเราก็ทำกันแล้ว ปฏิบัติบูชาเราก็ทำกันอยู่ แต่ว่าบางทีก็ไม่รู้ตัวก็คือบูชาด้วยการปฏิบัติ เริ่มต้นตั้งแต่ทำจิตใจของเราให้เบิกบานผ่องใส แล้วปฏิบัติบูชาที่ตรงกับในวันมาฆบูชาก็โอวาทปาติโมกข์อย่างน้อยก็หลัก 3 ข้อที่เราท่องจำกันแม่น ก็ขอทวนอีกทีหนึ่ง ขอให้เด็ก ๆ จำให้แม่นนะ เอ้อว่าตามก็ดีนะหนู ๆ เอ้า ว่าตามหน่อย
สัพพะปาปัสสะอะกะระณัง ไม่ทำชั่วทั้งปวง หรือไม่ทำชั่วทุกอย่างก็ได้ หมดไม่ทำเลย
กุสะสัสสูปะสัมปทา บำเพ็ญความดีให้เพียบพร้อม
สะจิตะปะริโยทะปะนัง ชำระจิตของตนให้ผ่องใส
เอตังพุธานะสาสนัง นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
เนี่ยได้แค่นี้ก็ยังดีและวันมาฆบูชาก็เกิดประโยชน์แท้จริงแล้ว ไม่ต้องเอาครบ 3 คาถากึ่งละ ให้ได้คาถาหนึ่งเนี่ย อาตมาก็ทวนให้ว่าไม่ทำชั่วทั้งปวงทำความดีให้เพียบพร้อมและทำจิตใจของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถ้าเราทำตามนี้ได้ก็เป็นปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาก็เป็นบูชาอย่างยอดเยี่ยมสูงสุดแล้ว เป็นเอตทัคคะ ในบรรดาบูชาทั้งหลาย ยิ่งถ้าเราทำพร้อมก็ยิ่งดี ได้อามิสบูชาด้วย ปฏิบัติบูชาด้วย วันนี้ก็เชิญชวนกันให้เรามาทำบุญวันมาฆบูชา ด้วยวิธีธรรมบูชาทั้ง 2 ประการนี้ คือ อามิสบูชาและปฏิบัติบูชา เมื่อทำได้พรั่งพร้อมบริบูรณ์ก็ขออนุโมทนา แม้ยังไม่พรั่งพร้อมก็ตั้งใจ เพียงตั้งใจก็เป็นบุญเป็นกุศลแล้ว แล้วตอนนี้เราก็กำลังก้าวหน้าไปในการบูชาทั้ง 2 นี้ อามิสบูชาเดี๋ยวเราจะเวียนเทียน เวียนเทียนก็เป็นอามิสบูชาเต็มที่ แต่พร้อมกันนั้น ในอามิสบูชาก็ขอให้เราบำเพ็ญปฏิบัติบูชาไปด้วย ตั้งใจปฏิบัติอย่างน้อยก็ชำระจิตของตนให้ผ่องใสให้ร่าเริงบันเทิงใจ มีปิติปราโมทย์ในบุญในกุศล มีความสุขร่วมกันมีไมตรีจิตมิตรภาพมีเมตตากรุณาต่อกันเนี่ย มีความสามัคคีกันพรั่งพร้อมใจกันแล้วก็เดินไปด้วยความมีจิตใจสงบพร้อมเพรียงสามัคคี ปฏิบัติบูชาก็เดินหน้า แล้วก็เอาคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้ประทานไว้เนี่ยมาระลึกก็ตั้งใจจะปฏิบัติกันต่อไป
[52:16]วันนี้ก็ขออนุโมทนา โยมญาติมิตรทั้งหลายอีกครั้งหนึ่งที่ทุกท่านได้มีศรัทธาในพระรัตนตรัย มีฉันทะในการทำบุญกุศลมาร่วมประชุมพร้อมเพรียงกันแล้ว เป็นทั้งกายสามัคคีและจิตสามัคคี ก็ขอให้ทุกท่านได้เดินหน้าไปในความสามัคคีที่เป็นพลังอันยิ่งใหญ่นี้ ให้เรามีความเพียบพร้อมด้วยกำลังกายกำลังใจ กำลังปัญญา กำลังความสามัคคีสามารถบำเพ็ญประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นสมดังพุทธดำรัสที่เป็นโอวาทของพระองค์นั้น เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกทั้งมวล เริ่มต้นตั้งแต่ชีวิตครอบครัว สังคมประเทศชาติ เป็นต้นไป เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พรแก่ โยมญาติมิตรทุกท่านตั้งแต่โยมปู่ย่าตายายท่านผู้เฒ่าจนกระทั่งถึงเด็กเล็ก ๆ หนูน้อยทั้งหลาย จงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัยมีความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพลังความสามารถที่จะช่วยกันบำเพ็ญประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นให้สำเร็จสมดังพุทธพจน์นั้นทุกประการ เทอญ สาธุ