แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ใครมีอะไรจะถามก็เชิญ อย่างน้อยก็อนุโมทนาว่า ทุกท่านเป็นผู้ที่ทำงานสำคัญของประเทศชาติ สังคม เริ่มต้นจากชีวิตของเด็ก เป็นผู้ที่เรียกว่า สร้างอนาคตของชาติก็ได้ เพราะเขาบอกว่า เด็กคืออนาคตของชาติ ในเมื่อเด็กเป็นอนาคตของชาติ เด็กจะเจริญได้อย่างไร ก็ต้องอาศัยครู ถ้าอย่างนั้นครูก็เป็นผู้สร้างอนาคตของชาติ ก็อยู่ด้วยกันในตัว ครูสร้างอนาคตของชาติด้วยการสร้างเด็ก พัฒนาเด็ก การพัฒนาเด็กเป็นเรื่องสำคัญมาก จุดเริ่มต้นก็มาจากใจ ใจของครูนั่นเอง ใจที่อยากจะให้เด็กมีความสุข ความดีงาม ความเจริญ เป็นคนที่มีคุณภาพ
โดยเฉพาะในยุคนี้เป็นการมองที่ไปสัมพันธ์กับสังคมมาก บางยุคเราอาจจะมองไปที่ตัวเด็ก มองเด็กเป็นรายบุคคลมากหน่อย มองความสัมพันธ์กับสังคมน้อย ขณะนี้จุดเน้นเหมือนไปอยู่ที่สังคม มองเด็กก็มองเห็นไปถึงสังคมว่าเราจะพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ เป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคม มองในแง่ของการแก้ปัญหา หรือในแง่การสร้างสรรค์พัฒนาต่าง ๆ ถ้ามองแบบยุคพัฒนา สัมพันธ์กับยุคนี้ที่มีการแข่งขันมาก มองในแง่ที่ว่าให้สังคมของเราหรือประเทศไทยนี้มีความพร้อมในการแข่งขัน ก็ต้องให้เด็กเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ จึงจะสามารถทำให้ประเทศไทยไปแข่งขันในประชาคมโลกได้
ทีนี้ถ้ามองในแง่แก้ปัญหา ปัญหาสังคมเวลานี้ก็หนักเหลือเกิน สังคมซวนเซหรือเพียบแปล้ ถ้าอย่างนั้นเราทำยังไงจะให้เด็กของเรามีคุณงามความดีที่จะไม่ไปซ้ำเติมสังคมให้มันทรุดลงไปอีก ในทางตรงกันข้ามคือ ให้ช่วยฟื้นฟูสังคมนี้ให้ดีขึ้น ให้ถอนตัวขึ้นได้จากความเสื่อม ถ้าใช้ภาษาพระจะเรียกว่า ให้ขึ้นมาจากอบาย คือตอนนี้มันอยู่ที่อบายมุขหนักหน่อย อย่างที่รู้กันแล้ว ตอนนี้มันอยู่ที่ปากแห่งอบาย หมายความว่า มันอยู่ในปาก ในช่องทางที่จะลงไปในอบาย ในความเสื่อม ต้องถอนเด็กให้พ้นออกไปจากช่องหรือปากทางของอบาย เพราะว่าสภาพสังคมนั้นเต็มไปด้วยอบายหรืออบายมุข เราก็ต้องสู้กระแสหนักกันหน่อย
ถาม: ในจุดนี้เอง ครูอาจารย์ก็รู้สึกเพลียใจมากเลย ระหว่างสังคมในโรงเรียนกับสังคมนอกโรงเรียนดูมันจะขัดแย้งกัน มันไม่ส่งเสริมกัน
ใช่ อันนี้แน่นอน นี่ก็คือสภาพสังคมที่กำลังเพียบแปล้ เพราะสภาพสังคมแบบนี้ ครูยิ่งต้องมีกำลัง เรามาเจอสังคมแบบนี้ เราเป็นคนที่เกิดมาในยุคพิเศษที่หาคนเกิดมาอย่างนี้ได้ยาก เรามาเจอเข้าแล้ว เราเป็นคนที่ได้โอกาสพิเศษมาเจอแบบนี้ เราทำงานที่เด่นมาก เราทำงานที่สำคัญพิเศษ ถ้าเราทำสำเร็จ นี่จะเป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจอย่างยิ่ง ถ้าเป็นยุคธรรมดาที่ไม่มีปัญหามาก เราก็ทำเหมือนคนที่เขาทำมาก่อนๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดา เขาดีอยู่แล้วก็ส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้นไป ตอนนี้มันเสื่อมมันทรุด เรามาเจอ งานมันหนักมาก คนที่มาทำในเวลาที่กำลังมีวิกฤต แก้ปัญหาได้ คือคนพิเศษ อัจฉริยะมาเกิดตอนนี้แหละ ฉะนั้นให้ภูมิใจ อย่าไปท้อ บอกว่าเจอเข้าแล้ว นี่คือโอกาสของเราที่จะใช้ความสามารถพิเศษ เราจะต้องพัฒนาตัวอย่างวิเศษด้วย ครูต้องคิดอย่างนี้
อย่างพระพุทธเจ้าก็เกิดในยุคที่โลกมีปัญหา มหาบุรุษทั้งหลายก็เกิดในยุคที่จะต้องมีการแก้ปัญหาใหญ่ๆ พระเจ้าตากเกิดขึ้นเพราะว่าต้องกู้แผ่นดิน ครูอาจารย์ตอนนี้มาเกิดในยุคที่ต้องการความสามารถพิเศษ ฉะนั้นก็ต้องภูมิใจว่าเรากำลังทำงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง อย่าไปท้อเลย กลับเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกำลังใจมากขึ้น เห็นด้วยไหม ไม่ถอย ถอยไม่ได้ ต้องสู้เต็มที่ พวกปรัชญาวิชาการต่าง ๆ ก็นำเอามาใช้ตอนนี้แหละท้าทายที่สุด วิชาการมันจะจริงจะแท้ หรือเราจะใช้มันได้ผลไหม และเราจะมีความสามารถจริงไหม จะพิสูจน์กันได้ในตอนนี้ ถ้าไม่เช่นนั้นมันก็ยังเลื่อนลอย ก็ว่ากันไป ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ความจริงอย่างนั้น วิชาการสอนไป ตอนนี้คือตอนที่จะต้องใช้ให้ได้ผลสำเร็จอย่างแท้จริง และคนที่จะทำงานสำเร็จได้ตอนนี้ต้องชัด วิชาการต่าง ๆ สิ่งที่เขาสอนกันมา เรียนกันมาต้องชัด
คำว่า “ครู” เวลานี้ไปเด่นที่เมืองฝรั่ง เมืองไทยเราเองนี่ ครูทรุดนะ บางทีไม่อยากเรียกว่า ครู เลย ในยุคหนึ่งนี่ไม่อยากเรียกว่า ครู ต้องเป็นอาจารย์ รู้สึกว่าครูจะเล็กน้อย อาจารย์จะใหญ่กว่า แล้วก็เป็นครูก็รู้สึกว่าสังคมจะไม่ให้เกียรติ แต่คำว่าครูกลับไปเด่นในสังคมอเมริกัน ยิ่งใหญ่เหลือเกินเวลานี้ คำว่า ครู ภาษาสันสกฤตเรียกว่า คุรุ คณะครุศาสตร์สมัยหนึ่งเคยใช้เป็นชื่อคณะ มาจากบาลีสันสกฤตนั่นเอง ภาษาบาลีเรียกว่า ครุ สันสกฤตเรียกว่า คุรุ อินเดียจะใช้ภาษาสันสกฤตมากกว่าในระดับของพวกวรรณคดี ภาษาชั้นสูง ติดกันมาตั้งแต่ยุคนั้น ถ้าใช้ภาษาอังกฤษก็จะเป็น Guru ‘G’ เทียบเท่ากับ ‘ค’ หนังสือพิมพ์ไทยเอามาเขียนเป็น “กูรู” อะไรก็ไม่รู้ คือไม่รู้เรื่อง ที่จริงคือ คุรุ คนไทยเราไม่รู้เรื่อง อ่านก็ผิด ฝรั่งเขาเรียก คุรุ ก็คือครู เขาได้ศัพท์นี้มาจากอินเดีย
ยุคที่แล้วเป็นยุคที่ฝรั่งอเมริกัน “ตื่นแขก” นี่ไม่ใช่คำเสียหาย คนไทยเราพูดกันแบบเล่นสนุก ที่เราพูดกัน เราไม่ได้ดูถูก คนอินเดียเข้าไปด้วยจิตใจที่เห็นคนอเมริกันเกิดปัญหา ปัญหามากและหนักตั้งแต่ปี 1950 เป็นปัญหาหลายด้าน ปัญหาสังคมอเมริกันที่มั่งคั่งพรั่งพร้อม แต่ชีวิตคนหาได้มีความสุขจริงไม่ ใจไม่สบาย มีความเร่าร้อน กระวนกระวาย และต่อมาก็มีความเครียด ระยะนั้นจะมีศัพท์ที่เน้นกัน เรียกว่า anxiety เร่าร้อน กระวนกระวาย จิตใจไม่สงบ มายุคหลังจะมาเด่นที่คำว่า stress แปลว่า เครียด แต่ยุคนั้นเด่นที่คำว่า anxiety ทีนี้คนมีจิตใจที่ไม่สงบ ดิ้นรนแข่งขันตลอดเวลา จิตใจไม่มีความสุข
ปี 1950 กว่า ก็มีความเจริญมากแล้วทางวัตถุ ถึงแม้จะไม่เจริญเท่าปัจจุบัน แต่ก็เห็นแล้วว่าลักษณะที่เราเรียกว่า “มีความมั่งคั่งพรั่งพร้อม” เป็นยังไง แต่เห็นว่าวัตถุพรั่งพร้อม มั่งมีบริบูรณ์ ก็ไม่ได้เห็นว่ามีความสุขแท้จริง ชีวิตก็ไม่ได้มีความหมายอะไร คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็เบื่อหน่าย เริ่มปฏิเสธสังคม เกิดสิ่งที่เรียกว่า Beat Generation เราต้องศึกษาสังคมอเมริกันนะ ถ้าเราจะแก้สังคมไทย ตอนนั้นเริ่มยุคที่อเมริกันกำลังจะเปลี่ยนแปลงใหญ่ เขาเรียกว่า Counter Culture เป็นวัฒนธรรมย้อนกระแส หรือวัฒนธรรมทวนกระแส เริ่มจาก Beat Generation พวกนี้จะปฏิเสธสังคม หันมาหาธรรมชาติ หันมาหาด้านจิตใจ หันมาหาสมาธิ เซนได้รับความนิยมมาก สมาธิแบบเซน เคยได้ยินไหม เซน ก็คือนิกายเซน นิกายฌาน มาจากคำว่า ธฺยาน คือคำว่า ฌาน นั่นเอง ก็คือ สมาธิชั้นที่สูงขึ้น ฌานที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 รูปฌาน อรูปฌานนี่แหละ สันสกฤต เป็น ธฺยาน ไปเมืองจีนเป็น ฉาน ไปญี่ปุ่นเป็น เซน ทั้งหมดอันเดียวกัน
เซนไปเจริญในอเมริกา ยุคที่ว่านี้คนอเมริกันก็เห็นว่า มีวัตถุพรั่งพร้อม ชีวิตก็ไม่ได้มีความสุขอะไร ชีวิตไม่ได้มีความหมาย เด็กหนุ่มสาวก็หันมานิยมสมาธิแบบเซนกันใหญ่ จนกระทั่งว่าสมาธิเป็นแฟชั่น ฝรั่งนิยมกันขนาดนั้น ไปไหนมาไหนก็สมาธิ กระแส 40-50 ปีก่อน คนไทยตอนนั้นดูถูกสมาธิ ใครนั่งสมาธิก็จะหาว่าคร่ำครึ ไม่เข้าเรื่อง อะไรทำนองนี้ เรื่องสมาธิ วิปัสสนานี่ คนไทยเหยียดหยาม เป็นคำที่ไม่ได้รับการยกย่องเชิดชู เสียเกียรติ
ทีนี้ตอนนั้นฝรั่งนิยม กระแสจะกลับมา คนไทยเมื่อได้ยินฝรั่งนิยมสมาธิ ก็เอาบ้าง ทีนี้สมาธิก็ขึ้นมา คนไทยเราก็มีค่านิยมตามตรงนั้น พอเห็นฝรั่งนิยม ก็พลอยนิยม ก็เริ่มมองเห็นของตัวเองชักจะดีขึ้นมา กระแสพวกสมาธิเพิ่งกลับมาเมื่อตอนนั้นแหละ 1950 กว่าๆ เป็นยุค Beat Generation ฝรั่งหันไปเอาดีด้านธรรมชาติ สมาธิ จิตใจ และสิ่งเสพติด สิ่งกล่อมประสาท สิ่งที่ทำให้เกิดจินตนาการ ที่เรียกว่า psychedelic พวกยากล่อมประสาท มันไม่ได้กล่อมเฉย ๆ มันทำให้เกิดจินตนาการ ใช้ยาเสพติดแล้วทำให้ฝันไป เห็นสวรรค์ เห็นอะไรต่ออะไรไปกันเหลือเกิน
ต่อจากยุค Beat Generation ก็เข้ายุค 1960 กว่า ก็เป็นยุค Hippy ฮิปปี้ก็ขยายใหญ่เลย เป็นนิคม ต่อมาก็ยุคของศาสนาตะวันออกเข้าไป มี TM-Transcendental Meditation มีฮาเรกฤษณะ (Hare Krishna) เข้าไป มีซันเมียงมูนเข้าไป ว่ากันนัวเนีย เด็กฝรั่งสาวอเมริกันหนีพ่อแม่ ออกจากครอบครัวมาอยู่กับฮาเรกฤษณะบ้าง ซันเมียงมูนบ้าง ไม่เอาแล้ว เลิกเรียนเลย พ่อแม่ก็เป็นทุกข์ ต้องไปจ้างพวกหนึ่งที่เรียกว่า Dream programmer เกิดอาชีพใหม่คือ Dream programmer รับจ้างพ่อแม่ไปเอาตัวเด็กกลับมาให้มาอยู่กับพ่อแม่ กลับมาเรียนหนังสือ เขาหาว่าพวกฮาเรกฤษณะใช้ mind control ซึ่งรองจาก brainwashing หรือการล้างสมอง mind control จะสามารถบังคับจิตให้เป็นไปตามที่เขาต้องการได้ ฝรั่งก็นึกว่าพวกนี้มีความสามารถอันนี้ มีการฟ้องร้องขึ้นศาลกันวุ่นวายกันไปหมด ฟ้องว่าพวกฮาเรกฤษณะใช้ mind control จะต้องถูกเนรเทศ เกิดเรื่องเกิดราว พวกที่เป็น Dream programmer ก็จะไปถอนโปรแกรมในสมองของเด็กให้กลับมาอยู่กับพ่อแม่ เลิกเชื่อถือ ยุคนั้นก็เป็นเรื่องราวใหญ่โตกับเรื่องนี้ Dream programmer ก็ไปตามหาเด็ก รับจ้างเขามาแล้ว ได้เงินทองแล้ว ก็เอารถไปตาม บางรายก็ไปเจอตามท้องถนน ได้โอกาสก็อุ้มขึ้นรถไป แล้วเอาไปล้างสมองกลับ บางรายก็เอามาออกโทรทัศน์ว่า เด็กคนนี้ยอมกลับมาแล้ว เห็นว่าที่ไปนั้นเพราะว่าหลงผิดไป ออกมาสารภาพ เขาก็เอามาเป็นตัวอย่างเพื่อจะให้สังคมเห็น บางรายเด็กก็หลอกผู้ใหญ่ บอกว่า กลับตัวแล้ว ที่ไปเพราะหลงผิดไป แต่พอพ่อแม่เผลอ Dream programmer เผลอ ก็กลับไปอยู่กับพวกนั้นใหม่ ว่ากันยุ่งหมด สังคมอเมริกันของยุค Counter Culture ยุควัฒนธรรมทวนกระแส ซึ่งก็มีเรื่องสืบเนื่องมาจาก
แม้แต่พวกคอมพิวเตอร์ PC ที่มาเป็นโน้ตบุ๊ก ก็เกิดจากพวกฮิปปี้ พวกฮิปปี้เห็นโทษของการที่กิจการใหญ่ ๆ จะควบคุมมนุษย์ ระบบคอมพิวเตอร์ตอนนั้นต้องเป็นบริษัทที่มีระบบ กิจการใหญ่ๆ เท่านั้นถึงจะมีระบบที่มีความซับซ้อนได้ และต้องใช้ทุนรอนสูงมาก เขาเรียกเครื่อง super computer อะไรพวกนี้ คนธรรมดาไม่มีทางได้ใช้ พวกฮิปปี้นี่แหละที่มาพัฒนา PC ขึ้นมาเพื่อให้คนได้ใช้ คนที่เป็นอิสระจาก cooperation ใหญ่ๆ จากกิจการที่มันรวมศูนย์อำนาจ นี่เป็นเรื่องของสังคมอเมริกันที่เราต้องเรียนรู้ ถ้าเราไม่รู้สังคมอเมริกัน เราจะไม่เข้าใจสังคมไทยในยุคนี้จริง เพราะสังคมไทยที่เป็นไป มันเป็นไปด้วยการอาศัยอำนาจจากสังคมอเมริกันที่เขาเดินหน้าไป แล้วเป็นเพราะว่าคนของเราไปนิยม ไปตามเขา เป็นสังคมที่เรียกกันว่า สังคมที่รับการป้อน เวลานี้สังคมไทยเป็นสังคมที่รับการป้อน เด็กของเราว่าโก้ ว่าหรู ก็คอยรับป้อน แม้แต่ IT ภาษาข้อมูลก็ไม่ได้มีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นผู้รับป้อน คอยรอเขาป้อนให้ ทีนี้เขาป้อนอะไร เขาป้อนเหยื่อมา แล้วก็ลากพาไป สังคมจึงเป็นสังคมที่รับป้อนเหยื่อมา แล้วถูกเขาลากพาไป แล้วแต่เขาจะลากพาไปยังไง ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่สามารถที่จะแข่งขันหรือไปเป็นผู้นำอะไรได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นจะต้องสร้างกำลังใจให้แก่เด็ก ๆ ด้วย อย่างน้อยคุณครูก็ต้องรู้ทัน ให้สติแก่เด็ก เด็กไม่รู้ตัวเพราะนึกว่าโก้ คนไทยมีค่านิยมชอบโก้อยู่แล้ว ก็นึกว่าได้อย่างฝรั่ง ฝรั่งเจริญ ก็นึกว่าทำได้อย่างฝรั่ง คือเจริญ เคยสงสัยหรือเคยคิดไหมว่า ที่จริงนั้นตัวเองไม่มีศักดิ์ศรี เป็นสังคมที่รับการป้อน แล้วถูกเขาลากไป เวลานี้เขาจะมีผลิตภัณฑ์อะไรใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีมา เราก็รับป้อน เขาก็ลากไปด้วยเหยื่อที่เขาป้อน ไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง แล้วมันน่าภูมิใจหรือ สังคมแบบนี้ ดูให้ดี ที่ว่าโก้ โก้ มีอะไรน่าโก้บ้าง ที่ชัดๆ ก็คือ เขาพยายามที่จะป้อนเหยื่อใหม่ๆ เข้ามาให้ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศที่จนกว่า เขารวยกว่า แต่เขาหาเงินได้จากประเทศที่จนกว่า ประเทศที่จนกว่าก็กลับไปกู้เงินประเทศที่รวย แล้วเอาเงินที่กู้ไปซื้อของประเทศที่รวย เอาเงินกลับไปให้ประเทศที่รวย ประเทศไทยเราก็ตามไปด้วยการเสพบริโภค ลุ่มหลงเพลิดเพลิน ไม่ทันแม้แต่จะรู้ว่า สังคมเขามีจุดอ่อน มีจุดพร่องในแง่ไหน เราก็เป็นฝ่ายเบี้ยล่างอย่างเดียว
ทีนี้อเมริกาตั้งแต่ปี 1950 กว่าเป็นต้นมา เขามีปัญหาด้านจิตใจมาก ด้านวัตถุเจริญมาก แต่ด้านจิตใจเสื่อมโทรม ตกต่ำ และขาดแคลน ความขาดแคลนทำให้โหยหา จึงเป็นยุคของการแสวงหา เป็นยุคแสวงหาทางด้านจิตใจ พอทางตะวันออกเข้าไป ก็ถือได้ว่าอินเดียเข้าไปสนอง โยคีก็เข้าไป จึงได้เกิดพวกฮาเรกฤษณะ แม้แต่พวกซันเมียงมูน ซึ่งก็เป็นพวกศาสนาคริสต์ในเกาหลี ที่ว่านักศึกษาเป็นคริสต์ รู้หรือยังว่าซันเมียงมูนเป็นยังไง ต้องรู้ เราเรียน เรารู้เป็นวิชาการ ซันเมียงมูนเป็นคริสต์ เขาบอกว่าพระเยซูยังทำงานไม่จบ ถูกจับไปตรึงบนไม้กางเขน ท่านอายุยังไม่มาก แค่ 30 กว่าปี ก็ถูกชาวยิวด้วยกันไปฟ้องว่าท่านจะก่อการกำเริบ ซ่องสุมผู้คนทำนองนั้น พวกโรมันก็เลยลงโทษ ประหารชีวิตด้วยการตรึงไม้กางเขน ทีนี้ซันเมียงมูนก็ออกมาประกาศว่า พระเยซูคริสต์ท่านยังทำงานไม่จบ ถ้าท่านอยู่ต่อไป ท่านจะมีครอบครัว ซันเมียงมูนนี่แหละที่เป็นตัวแท้ตัวจริงที่มาทำงานต่อจากพระเยซู ให้งานที่พระเยซูทำค้างได้บรรลุจุดหมาย ท่านซันเมียงมูนก็ให้คำสอนต่อไปของศาสนาคริสต์ ที่ให้มีครอบครัว ท่านกับมาดามของท่านก็เป็นตัวอย่างของคริสต์ที่สมบูรณ์ ท่านไปเผยแผ่ในประเทศอเมริกา ได้รับความนิยม เฟื่องฟูอย่างยิ่ง มีเงินมีทอง ทรัพย์สินมหาศาล ตอนนั้นท่านจัดประชุมวิชาการในเมืองฝรั่ง เมืองนั้นเมืองนี้ แล้วเชิญนักวิชาการไทย หลายท่านได้รับจดหมายเชิญไปร่วมประชุม ตอนนั้นเฟื่องมาก เป็นอันว่าศาสนาตะวันออกเข้าไปในตะวันตกในเรื่องของจิตใจ ความนิยมสมาธิมีสูงจนกระทั่งปัจจุบัน
พวกอินเดียเข้าไป ผู้ที่เป็นโยคี ผู้ที่มีความรู้สูง ผู้มีความรู้ความชำนาญ ถนัดในแต่ละด้าน เขาเรียกว่า คุรุ คุรุเป็นที่นับถือ ฝรั่งได้ศัพท์ คุรุ มาจากอินเดีย แล้วใช้เรียกนักวิชาการ ผู้นำ แม้แต่ทางธุรกิจ กิจการงาน วิชาความรู้ที่สูงที่เด่นที่นำในเรื่องนั้น ๆ ใครเด่น ใครนำ เขาเรียก คุรุ คำว่า คุรุ หรือครู ก็กลายเป็นศัพท์ที่ยิ่งใหญ่ในประเทศอเมริกาจนกระทั่งทุกวันนี้
ครูตกต่ำในประเทศไทย แต่ไปใหญ่ในประเทศอเมริกา ตอนนี้ก็คุยได้เลยว่า ถ้าประเทศไทยกำลังตามอเมริกา ต่อไปครูก็ใหญ่อีกแหละ ตอนนี้ครูในอเมริกานี่ใหญ่มาก ใครจะไปสู้ได้ ต้องประกาศว่า ท่านผู้นี้เป็นคุรุ ลงหนังสือพิมพ์ว่าคนที่จะมาปาฐกถาคราวนี้เป็นคุรุ แต่หนังสือพิมพ์ไทยไม่รู้ ไปอ่านเป็น กูรู ที่จริงก็คือคุณครูนั่นเอง เราในฐานะเป็นครูต้องรู้ดีกว่าพวกสื่อ อย่าไปตามสื่อ ครูต้องเหนือสื่อ เรื่องทางปัญญา คุณครูต้องเป็นผู้นำในสังคม สังคมจะพัฒนาได้ เราต้องมีความเข้มแข็งและความเป็นผู้นำ ความเป็นผู้นำทางไหนที่เด็ดขาด ก็ความเป็นผู้นำทางปัญญา
เราต้องมีความเข้มแข็งทางร่างกาย สุขภาพดี ที่สำคัญโดยทั่วไป ความเข้มแข็งทางด้านจิตใจก็สำคัญ มีความเพียร ความรับผิดชอบ มีความมั่นคงแน่วแน่ หนักแน่น และต้องมีความเข้มแข็งทางพลังสามัคคี พลังมวลชน ประชาชนมีความสามัคคี และความเข้มแข็งทางปัญญา แต่ทั้งหมดนี้ถ้าขาดความเข้มแข็งทางปัญญาจะรวนเรหมด ง่อนแง่น สุขภาพกายก็ดำรงรักษาไม่ได้ถ้าขาดปัญญา สุขภาพจิตใจ ความเข้มแข็งทางจิตใจ คนขาดความรู้จริง พอทำอะไร ขาดความรู้จริงก็ไม่แน่ใจ ความมั่นใจไม่มี แล้วจะเข้มแข็งในจิตใจได้ยังไง คนไม่รู้จริง จะทำอะไร ความมั่นใจหายไป จิตใจอยู่ไม่ได้ และความสามัคคี พลังของกลุ่ม หมู่คณะ ก็อาศัยปัญญา ถ้ามีคนที่เป็นผู้นำที่มีความรู้จริง ทำให้คนอื่นมองเห็นความจริงได้ เห็นช่องทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ทำให้คนอื่นมองเห็นได้ชัด แสดงความรู้ ปัญญาที่นำเขาได้จริง ๆ คนก็รวมใจกันได้ มันก็ไม่พร่า ถ้าไม่มีความรู้จริงก็ง่อนแง่น ก็พร่า ก็สับสนไปหมด พอมีความรู้ชัด แน่วแน่ แน่นอน ชัดเจน ชี้ว่าสิ่งนี้เป็นอย่างนี้ อธิบายให้เข้าใจได้ว่ามันเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น คนก็เชื่อเลย พอปัญญามา ศรัทธาก็เกิด รวมจิตใจได้ สามัคคีก็มา แต่ทั้งนี้ต้องมีคุณสมบัติอื่นประกอบด้วย ไม่ใช่อย่างเดียว แต่ตัวนี้เป็นตัวสำคัญที่สุด ฉะนั้น ต้องมีความเข้มแข็งทางปัญญา กำลังปัญญาถ้าเรามี เราจะไปได้ เวลานี้สังคมไทยขาดแคลนกำลังปัญญามาก และกำลังอื่นก็ง่อนแง่น หง็อกแหง็กหมด เพราะฉะนั้นเราต้องสร้าง และครูนี่แหละเป็นผู้นำทางปัญญา เป็นผู้สร้างความเข้มแข็งทางปัญญา
ครูต้องนำสื่อ นำอะไรต่อมิอะไรได้หมด ตอนนี้เหมือนกับว่าสื่อกำลังจะมานำสังคม แล้วนำได้หรือเปล่า นำดีหรือเปล่า (หลายเสียงตอบ: นำไม่ดี) ฉะนั้น มองในเชิงสังคมแล้วอันตราย ครูกลายเป็นคนที่เขาไม่ใคร่ให้ความสำคัญ ฉะนั้นครูจะต้องกู้สถานะกลับมาให้ได้ เดิมครูเป็นคนระดับผู้นำสังคม ครูเป็นผู้นำที่ทุกคนเคารพเชื่อฟัง อ้างอิง ครูต้องเป็นที่อ้างอิง ตอนนี้เขาไม่อ้างอิงครู เขาไปอ้างอิงอย่างอื่น แม้แต่ผู้บริหารบ้านเมืองก็ต้องเคารพครู ตอนนี้ผู้บริหารบ้านเมืองไม่เคารพครู มันก็ผิดหลัก ครูต้องกู้สิ่งนี้ขึ้นมาให้ได้ ความเป็นครูที่แท้จะต้องขึ้นมาสู่สถานะความเป็นผู้นำทางปัญญา สร้างความเข้มแข็งทางปัญญาให้แก่สังคม ตั้งแต่ชีวิตของเด็กเป็นต้นไป ก็ต้องเริ่มต้นที่ตัวครูนี่แหละ ในความเป็นครูที่แท้ก็ผสานกันหมด เริ่มที่ใจที่อยากให้เด็กของเราเป็นคนมีคุณภาพ เป็นคนดีมีความสามารถ มีความเจริญงอกงาม มีความสุข ต้องมีความอยากนี้อย่างจริงจัง ความอยากแบบนี้เรียกว่า ฉันทะ เป็นความอยากที่เป็นกุศล อย่าไปรังเกียจความอยาก คนไทยนี่บางทีแยกไม่เป็น พอพูดว่าอยากแล้วจะว่า “ไม่ได้ ไม่ได้ อย่าไปอยาก ยิ่งเป็นชาวพุทธ พูดว่าอยากไม่ได้” นี่คือไม่เคยศึกษา
ความอยากมี 2 อย่าง นั่นคือ ความอยากที่เป็นกุศล และความอยากที่เป็นอกุศล บาลีเรียกว่า ปตฺถนา ซึ่งก็คือ ปรารถนา ท่านเรียกว่า กุศลปตฺถนา และอกุศลปตฺถนา ความปรารถนาที่เป็นกุศล กับความปรารถนาที่เป็นอกุศล ความปรารถนาที่เป็นกุศล หรือความอยากที่เป็นกุศล เรียกว่า ฉันทะ ความอยากที่เป็นอกุศล เรียกว่า ตัณหา ความอยากที่เป็นอกุศล นี้เป็นฐานของการที่จะเจริญในการปฏิบัติ นำไปสู่ผลสำเร็จ จุดหมาย ถ้าไม่มีตัวนี้ ยากที่จะสำเร็จ มันจะไปไหนล่ะ ท่านเรียกว่า ฉันทมูลกาสัพเพธรรมา ธรรมทั้งปวงมีฉันทะเป็นมูล เป็นต้นตอ เป็นต้นเค้า มันเริ่มที่นี่ ถ้าไม่มีฉันทะมันไปไม่ได้ ต้องมีความอยาก อยากให้ชีวิตเด็กดี อยากให้เป็นคนดี อยากรู้ อยากทำให้ดี มีสองอันนี่แหละ อยากทำให้ดี ก็ต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรจึงจะดีได้ ก็อยากรู้ แล้วการทำ การรู้ การหาความรู้ก็กลายเป็นความสุข แต่ถ้าไม่มีความอยากรู้ ไม่มีการอยากทำให้ดี การกระทำกลายเป็นความทุกข์ และการหาความรู้ก็กลายเป็นทุกข์ฝืนใจ
ถ้ามีความอยากเมื่อไหร่ มีความต้องการนี้ การสนองความต้องการก็กลายเป็นความสุขทันที คนที่มีความใฝ่รู้ การหาความรู้ก็เป็นความสุขทันที คนที่อยากทำอะไรให้ดี เขาเรียกว่าอยากสร้างสรรค์ พอไปทำ มันก็มีความสุขในการทำ เด็กสมัยนี้มีแต่ความอยากเสพ ก็คืออยากบำรุงบำเรอ อยากรับการบำรุงบำเรอ พอต้องทำอะไร การกระทำกลายเป็นความทุกข์ เวลานี้การกระทำเป็นความทุกข์ในสังคมไทย เพราะมีแต่ความอยากเสพ อยากบริโภค อยากได้รับการบำรุงบำเรอ พอเขาเอามาให้เสพให้บริโภคมันจึงจะสุข คนที่เสพที่บริโภคก็คือได้รับการบำรุงบำเรอ ผัสสะ ไม่ต้องทำอะไร ถ้าทำก็ฝืนใจเป็นทุกข์ เมื่อไรการกระทำกลายเป็นความทุกข์ นั่นคือความพินาศย่อยยับ เวลานี้สังคมมันเป็นอย่างนี้แล้ว และการศึกษาก็จะเป็นอย่างนี้ ในวงการศึกษา เด็กนี่การกระทำเป็นความทุกข์ ใช่หรือเปล่า ลองคิดดู... ใช่ไหม
การศึกษาคือการเปลี่ยนคนจากความสุขจากเสพ พัฒนาสู่การมีความสุขจากการแสวงหาความรู้และการกระทำการหรือการสร้างสรรค์ เมื่อไรการกระทำเป็นความสุข เมื่อนั้นสบายใจได้ การศึกษาต้องทำอันนี้ให้สำเร็จ ถ้าการศึกษาทำอันนี้ไม่สำเร็จก็คือความล้มเหลว มันเปลี่ยนคนไม่ได้ ถ้าคนอยู่แค่เสพแล้วสุข เสพแล้วสุข ก็ไม่ต้องทำ ก็รอพ่อแม่ทำให้ เมื่อมันไม่มีทาง พ่อแม่ไม่มีให้ ก็ไปลักของเขา ก็หมดสิ ต้องสุขจากการกระทำ ทำในที่นี้คือ อยากทำให้มันดี อยากสร้างสรรค์ พออยากทำ การกระทำก็เป็นความสุข นี่แหละจะเป็นทางที่จะพัฒนาได้ ฉะนั้น ครูต้องมีความอยาก อยากให้เด็กดี อยากให้เป็นเด็กมีคุณภาพ อยากให้สังคมของเราเจริญรุ่งเรือง อยากให้ประเทศชาติเป็นประเทศที่ก้าวหน้า อยู่ประชาคมโลกได้อย่างมีความหมาย มีความสามารถ จะในเชิงธุรกิจ จะแข่งขันหรืออะไรก็แล้วแต่ ให้มันได้สักแง่หนึ่ง แต่ถ้าจะให้ดีก็คือว่า มีความสามารถที่จะไปแก้ปัญหาของโลกที่มันกำลังจะเสื่อมพินาศในทางจิตใจ ทางสิ่งแวดล้อม ทางสังคม เรื่องสิ่งแวดล้อมสำคัญอย่างยิ่งในตอนนี้ ทั้งหมดนี้เราต้องมีปัญญามองเห็น ความอยากก็ตามไป ปัญญามันเห็นอะไรว่าดี ว่าควรจะเป็น ความอยากก็ตามไปอยู่ที่นั่น ความอยากที่ตามไปกับปัญญา ท่านเรียกว่า ฉันทะ ต้องมี ถ้าไม่มีแล้วทำอะไรไม่ได้
พระพุทธเจ้ามีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ท่านเรียกว่าเป็นพุทธธรรมอย่างหนึ่งใน 18 ประการ ใน 18 ประการมีข้อหนึ่งว่า นฺตถิ ฉันทสุสหานิ แปลว่า มีฉันทะไม่ลดถอยเลย พระพุทธเจ้ามีฉันทะไม่ลดถอยเลย ถ้าต้องการจะทำอะไร ไปช่วยเหลือใคร จะต้องช่วยให้สำเร็จ เดินไปเป็นวัน ๆ จาริกไปด้วยพระบาทเปล่า เพื่อต้องการไปช่วยคน ไปสอนให้เขาหายหลงผิด ให้เขาหายทุกข์ พระพุทธเจ้าไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เดินไปจนกระทั่งทำงานสำเร็จ ถ้าไม่มีฉันทะ จะไปได้ยังไง พระพุทธเจ้ามีฉันทะไม่ลดถอยเลย ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือ อยากจะทำงานนั้นสำเร็จ เพราะอะไร เพราะว่ามีมหากรุณา อยากจะช่วยเหลือเขา อยากจะทำให้เขาพ้นความทุกข์ กรุณามาได้สำเร็จก็เพราะฉันทะเป็นตัวทำ
ครูต้องมีฉันทะตัวนี้ที่แรงเข้มมาก แล้วคนที่จะแก้ปัญหาของโลกของชาติต้องมีตัวนี้ ถ้าไม่มี ไปไม่ได้ ความอยาก ความปรารถนาแรงกล้า จนเป็นความมุ่งมั่นที่จะกระทำการในเรื่องที่เป็นจุดหมายดีงามให้สำเร็จให้ได้ ไม่มีถอย ครูจะมาบ่นท้อไม่ได้ ห้ามท้อแท้ ถ้าท้อแท้ เรียกว่า นิวรณ์ นิวรณ์เป็นกิเลส เป็นอกุศล นิวรณ์ข้อที่ 4 ถีนมิทธะ ความหดหู่ ความท้อแท้ ความถดถอย ความเหงาหงอย เหงาหงอยไม่ได้ ท้อแท้ไม่ได้ เป็นกิเลส เป็นนิวรณ์ คนที่จะปฏิบัติธรรมจะต้องก้าวหน้าไป วิริยะ ความเพียร ก็ตรงข้ามกับถีนมิทธะ ก็คือไม่มีท้อถอย ไม่มีเหงาหงอย ไม่มีหดหู่ ถ้าเป็นร่างกายก็เรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเป็นจิตใจนี่ไม่ได้ หดหู่ ท้อแท้ ถดถอยไม่ได้ ครูก็ต้องเป็นผู้นำในเรื่องนี้ด้วย นำอย่างนี้ในแง่จิตใจซึ่งประสานกับปัญญา ปัญญามองชัด จุดหมายคืออะไร อะไรคือดี ดีก็ต้องทำ สภาพแวดล้อม ปัญหาสังคมทั้งสังคมไทยและปัญหาโลกนี้เป็นยังไง ทันหมด เข้าใจเลยว่าสังคมอเมริกันเป็นยังไง จะเสื่อมหรือเจริญยังไง เราต้องเข้าใจเขาหมด เราเห็นจุดหมายที่เราจะทำ แล้วเราก็มุ่งหน้าไปสู่จุดหมายนั้น มีฉันทะ มีกำลังใจเข้มแข็ง ด้วยปัญญาที่รู้ชัด ฉันทะก็จะมีเป้าหมาย เดินหน้าไปสู่จุดหมาย จิตใจก็มีความมั่นใจ มีความเข้มแข็งไปด้วยกัน และพฤติกรรมก็ตามไป พฤติกรรมก็สนองตัวกำลังใจที่มีปัญญาเป็นตัวชี้นำ ก็ไปได้... ต้องเข้มแข็ง ครูจะไปถอยไม่ได้ ตกลงไหม... เราเกิดในยุคที่มันเสื่อม ยุคที่มีปัญหามาก นี่คือเรื่องที่ท้าทายเรา ท้าทายความสามารถ แล้วเราจะได้ใช้ความสามารถเต็มที่ตอนนี้ สู้กันเลย ลงสนาม อย่าถอยเป็นอันขาด พิสูจน์ความสำเร็จ ก้าวไปเลย บุกเลย สังคมไทยตอนนี้ คนที่มันแย่ยอบแยบ เราต้องเอามันขึ้นหน้าเป็นผู้นำให้ได้ตอนนี้
ถาม: อย่างนี้ก็หมายความว่า ต้องให้ครูวิ่งทวนลมใช่ไหมคะ
ตอบ: จะทวนลมทวนกระแสได้ทั้งนั้นแหละ อย่าไปต้านก็แล้วกัน
ถาม: มันจะวิ่งไม่ไหวสิคะ กว่าเราจะไปถึง
ตอบ: ไหวๆๆ ปลาไม่ตายว่ายทวนกระแส จริงหรือไม่จริง แต่ไม่ต้านกระแส ต้านกระแสไม่ไหว เราตาย ทวนกระแสทวนได้ แต่อย่าไปต้านกระแส ต้านกระแสมันแย่ ถ้ากระแสน้ำมาแรงๆ เราไปต้าน มันก็ทับถมเราตายเลย พินาศย่อยยับ แหลก แต่ทวนนี่เราทวนได้ ทวนลมทวนกระแสไปได้ทั้งนั้น... ไหวไหม
ตอบ: (หลายเสียง) ไหว.. ไม่ไหวก็ต้องไหว...
ถาม: แต่สิ่งแวดล้อมมันจะไม่เอื้อกับเราเท่าไหร่สิคะ
ตอบ: นี่แหละ เราต้องรู้ทัน เราต้องรู้ตระหนักว่าสภาพแวดล้อมไม่เอื้อ อันนี้เราต้องรู้ แต่ให้เป็นเรื่องความรู้ อย่าให้เป็นเรื่องฝ่ายจิต เรื่องปัญหาเป็นเรื่องฝ่ายปัญญา ท่านบอก ทุกข์สำหรับรู้ ทุกข์ไม่ใช่สำหรับเป็น อริยสัจเรียนแล้วอย่าให้ผิดเชียว ต้องรู้หน้าที่ต่ออริยสัจ ทุกข์สำหรับรู้ สมุทัยสำหรับละ นิโรธสำหรับลุ ก็คือลุถึง และมรรคสำหรับลงมือทำ ความสุขก็อยู่ฝ่ายนิโรธ ไร้ทุกข์ เป็นฝ่ายที่เราจะต้องบรรลุถึง ก้าวไป ให้สำเร็จ ทุกข์หรือปัญหาเป็นเรื่องสำหรับรู้ เราไม่มีหน้าที่มาเป็นทุกข์ ใครเป็นทุกข์ก็แปลว่าปฏิบัติผิด ทุกข์สำหรับรู้ เราต้องรู้ต้องเข้าใจหมด ถ้าเราไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้ปัญหา เราแก้ไม่ได้ ฉะนั้นสภาพสังคมที่มันไม่เอื้อ มันมีปัญหามากมาย เราต้องรู้ให้หมดเลย รู้แล้วก็อย่าเอาใจไปท้อ มันเป็นเรื่องสำหรับปัญญา ใจอย่าไปยุ่ง ถ้าเป็นเรื่องสำหรับปัญญา ปัญญารู้ไป รู้เข้าใจ แล้วจิตใจที่มันตามปัญญาไป มันก็จะตั้งตัวได้
ถ้าเอาใจไปรับปัญหาเสียก่อน จะท้อ หมดแรงเลย ใจไปเจอกับปัญหาที่มันทุกข์มันยาก มันหมดแรง ต้องเอาปัญญารับ ปัญหาหรือทุกข์ต้องเอาปัญญารับ อย่าไปเอาใจรับ ใจรับมันท้อแท้ หนัก บีบ อึดอัด พอเอาปัญญารับ เราก็ศึกษา มันมีทางไป คนเราเมื่อมีช่องทางไปจะไม่อึดอัด ไม่บีบคั้น ไม่ทุกข์ มันมีช่องทาง ถ้าเอาจิตไปรับ มันตัน มันอึดอัด บีบ มันก็ทุกข์นั่นเอง แต่พอเอาปัญญารับปั๊บ พอปัญญาเดินหน้าไป จิตตามปัญญาไม่เป็นไร ถ้าจิตตามปัญญา ไม่ต้องห่วง แต่ถ้าเอาจิตมารับ โดยไม่มีปัญญาละก็จบเลย ทุกปัญหาสำหรับปัญญารู้ จิตก็ตามปัญญา พอรู้ว่าจะต้องทำอะไรปั๊บ จิตจะตามปัญญาก็คือ ฉันทะ อยากจะทำนั่น อยากจะทำนี่ อยากจะแก้โน่นแก้นี่ นี่คือ ฉันทะมาแล้ว ฉันทะตามปัญญาก็จะมีจุดหมาย อยากโน่นอยากนี่เป็นกุศล
พอเด็กมีความอยากรู้ อยากทำให้ดี มีฉันทะ คราวนี้เดินหน้าไป การหาความรู้กลายเป็นความสุข การกระทำสิ่งที่ดีงามเป็นความสุข ตอนนี้พัฒนา แล้วก็มาดุล การหาความสุขจากการเสพก็เบาลง การที่จะลุ่มหลงมัวเมากับสิ่งเสพบริโภคก็น้อยลง ถ้ามีตัวดุลก็มีทางไป แต่ตอนนี้ไม่มีตัวดุลเลย มีแต่โถมเข้าไปด้านเสพ การกระทำเป็นความทุกข์ หาความรู้ก็ไม่เอา จะเสพอย่างเดียว
ความสุขอยู่ที่เสพ แล้วจะไปรอดอะไร เสพมากก็ลุ่มหลงมัวเมา ที่ได้มามันก็ไม่พอ แล้วก็ต้องแย่งชิงกับคนอื่น ไปทำร้ายเขา และยิ่งเสพมาก ที่เคยเสพเท่านี้ มันชินชา เบื่อหน่าย ต้องหาเพิ่ม ก็กลายเป็นสุขได้ยาก ทีนี้เคยมีสุข ได้รับการตามใจ ได้เสพ พอขาดนิดขาดหน่อยก็ทุกข์ ก็เลยมีลักษณะของคนยุคปัจจุบันที่บอกว่า สุขได้ยาก ทุกข์ได้ง่าย ทุกข์ง่ายแต่สุขได้ยาก เด็กยุคนี้จะเป็นอย่างนั้น ก็คือสวนทางกับการศึกษา การศึกษาจะต้องทำให้เด็กเป็นคนที่สุขได้ง่าย แต่ทุกข์ได้ยาก เด็กสมัยนี้กลายเป็นสุขได้ยาก ทุกข์ได้ง่าย ทุกข์ง่าย ขาดอะไรนิดก็ทุกข์ ไม่มีอะไรหน่อยก็ทุกข์ ทำอะไรหน่อยก็ทุกข์ หมดแล้ว นี่คือความย่อยยับของอารยธรรม... ทุกข์ง่าย สุขได้ยาก เพราะว่ามันชินไปหมด
นี่ก็มี นั่นก็มี เติมยังไงก็ไม่สุขสักที เอาไปก็ 1. เบื่อชีวิต ฆ่าตัวตาย 2. ไม่อย่างนั้นก็ไปฆ่าคนอื่น ไม่ฆ่าตัวตายก็ฆ่ากันตาย ก็วุ่นวายมีแต่การเบียดเบียน นี่ถ้าเราพัฒนาเด็ก การศึกษาต้องอยู่ที่นี่ ถ้าการศึกษามามันต้องเปลี่ยนจากการสุขยาก ทุกข์ได้ง่าย เปลี่ยนสุขจากการเสพ มาสุขจากการศึกษา สุขจากการหาความรู้ สุขจากการกระทำการสร้างสรรค์ สุขจากการทำอะไรให้มันดี พอสุขจากกการกระทำ สุขจากการหาความรู้ได้ มีตัวดุลแล้ว สุขจากการเสพก็มีอิทธิพลครอบงำน้อยลง เด็กก็มีช่องทางพัฒนา ค่อยๆ ขึ้นไป เราไม่ได้เริ่มทันที สุขจากการเสพก็ยังมีอยู่แต่มีอิทธิพลน้อยลง คือเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ความสุขจากการเสพมันมีทันที ไม่ต้องไปพัฒนา ไปทวี ไปเพิ่มดีกรีให้มัน มีแต่ว่าไปหาตัวดุลในทางฝ่ายกุศลมากขึ้น นี่เรากลับไปทับถม ไปโหมความสุขจากเสพ
ปัจจุบันนี้แม้แต่การศึกษา Child-Centered Education การศึกษาที่ใช้เด็กเป็นศูนย์กลาง เตือนกันบ่อย ๆ ให้ระวังว่าถ้าไม่เข้าใจชัด แล้วจะพลาด ว่าไปบางทีมีไปโก้ๆ เท่านั้นเอง การศึกษาที่ใช้เด็กเป็นศูนย์กลาง สาระที่แท้ก็ไม่เข้าใจอเมริกามี Child-Centered Education มานานจนถึงปี 1957 แล้วก็เกิดความผิดหวังเพราะว่าตอนนั้นโซเวียตยังอยู่ ยังไม่แตกเป็นรัสเซีย โซเวียตปล่อยสปุตนิกไปได้ ชนะในยุคแข่งขันอวกาศ พอโซเวียตปล่อยสปุตนิก 1 ขึ้นไปได้ในปี 1957 ตรงกับปี พ.ศ. 2500 พอดี อเมริกันหดหู่ใจ ท้อแท้ หมดหวัง แล้วหันไปโทษการศึกษา หันไปโทษ Child-Centered Education ให้ไปศึกษาประวัติศาสตร์การศึกษาอเมริกันดู คนไทยไม่รู้ นักการศึกษาบางทียังไม่รู้เลย ตอนนั้นด่า Child-Centered Education ว่าเป็นตัวร้าย ทำให้เด็กอเมริกันอ่อนแอ วิชาการอ่อน วินัยอ่อน บุคลิกอ่อน หันไป Subject-Centered /Teacher-Centered Education ใหม่ นี่ปี 1957
จนกระทั่งปี 1988 โดยประมาณ อเมริกันก็หวนกลับอีกที บอกว่าการศึกษาแบบ Teacher/Subject-Centered Education ทำให้เด็กเครียดมาก มีความทุกข์มากไป แนวโน้มเลยกลับมา Child-Centered ใหม่ อเมริกันก็แกว่งไปแกว่งมา หันไปหันมา ตอนนั้นไทยเราก็แล้วแต่อเมริกัน เขาเป็นยังไงก็ตามเขาไป ไม่ได้ศึกษาให้ชัดว่าเขามายังไง ไปยังไง เราต้องจัดให้เหมาะกับสังคมเรา สังคมเราไม่เป็นเหมือนสังคมอเมริกัน ต้องดูว่า Child-Centered เหมาะกับเราไหม Teacher-Centered /Subject-Centered เหมาะกับเราแค่ไหน แม้แต่อเมริกัน ตอนนั้นจอห์น ดิวอี้ยังอยู่ อยู่ในยุค ค.ศ. ก่อนนั้นอีก Child-Centered มีมาตั้งแต่ในยุโรปนานมากแล้ว เป็นศตวรรษแล้ว แต่มาเฟื่องในอเมริกาในยุคจอห์น ดิวอี้ วิทยาลัยการศึกษาของเราเรียกว่า จอห์น ดุย ตอนนั้นเฟื่องมาก ราวปี พ.ศ. 2500 นักการศึกษาของไทยติดชื่อจอห์น ดุย กันจัง Progressive Education / Child-Centered Education ตอนนั้นคำว่า Child-Centered Education จะไม่เด่นเท่า Progressive Education
สำหรับ Progressive Education จะมีพัฒนาการ 4 ด้านเป็นตัวสำคัญ เรียกว่าพัฒนาเด็กทั้งคน ให้การศึกษาเด็กทั้งตัว ที่มาเป็นคำว่า “องค์รวม” คล้ายๆ ทำนองนี้ นี่คือยุคนั้น ตัวจอห์น ดิวอี้ ก็ยังวิตกกังวล ต้องคอยเตือนลูกศิษย์ว่าการเป็น Progressive Education หรือ Child-Centered ไม่ได้หมายความว่าไปตามใจเด็ก เขาเป็นห่วงมาก ลูกศิษย์ไปทำให้เขว มีตำราเป็นเล่มเลยเพื่อเตือนเรื่องนี้ เราต้องไปศึกษา ถ้าจะเอา Child-Centered ก็ต้องรู้จริง ๆ ให้มันถึงรากเหง้าหรือแก่นของมัน ไม่ใช่ว่าเอามา แล้วก็มาพูดกันตามความหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ เราอย่าอยู่กับความผิวเผิน รู้อะไรต้องรู้ให้ชัด รู้ถึงรากเหง้าต้นตอกันไปเลย
Child-Centered นี่ต้องระวัง เวลานี้เตือนกันบ่อย ที่ว่าอยากให้เด็กเรียนอย่างเป็นสุข อย่าให้เป็นความสุขจัดตั้ง เวลานี้มันจะเป็นความสุขจัดตั้ง คือครูอาจารย์จะไปจัดบทเรียน จัดกิจกรรมให้เด็กมีความสุข สนุกสนาน แล้วไม่ได้รู้ความมุ่งหมายว่านี่เป็นเพียงการจัดตั้งปัจจัยภายนอกเพื่อจุดมุ่งหมายคือไปเป็นตัวกลไก เป็นตัวสื่อที่จะเหนี่ยวโน้มนำให้เกิดปัจจัยภายในตัวเด็ก เมื่อใดปัจจัยภายในตัวเด็กเกิดขึ้นแล้วจึงจะมีการพัฒนา บรรลุผล
ถ้าอยู่แค่ปัจจัยภายนอกที่เราจัดตั้ง เช่น ความสุขจัดตั้ง จะกลายเป็นไปโทษเสียหมด เด็กเรียนอย่างสนุก มีความสุขกับการมีกิจกรรมอย่างนั้นที่คนอื่นจัดให้ ครูอาจารย์ โรงเรียนจัดให้ โลกที่เป็นจริงมันเป็นอย่างนั้นไหม เขาจัดกิจกรรมให้มีความสุขไหม เด็กจบไปแล้วไปอยู่ในสังคม โลกมันจัดตั้งความสุขให้ไหม... จัดไหม... มันไม่จัดในโลกความเป็นจริง เด็กต้องมีความสามารถที่จะสร้างความสุขขึ้นมาได้เอง แต่ตอนนี้เราอยู่ในระยะให้การศึกษา เราก็ดำเนินกระบวนวิธีการที่จะอาศัยการจัดตั้งไปทำให้เกิดปัจจัยในตัวเด็ก ให้เกิดคุณสมบัติภายในที่เด็กจะสามารถมีความเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ อยู่ในสังคมได้ด้วยตนเอง ไม่ใช่จะต้องอาศัยการจัดตั้งเรื่อยไป ถ้าอยู่แค่การจัดตั้ง เด็กก็กลายเป็นนักพึ่งพา ก็จะยิ่งมีความสุขได้ยาก ทุกข์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ต่อไปเมื่อไม่มีคนจัดตั้งหรือหาความสุขให้ เด็กก็ทุกข์อย่างเดียว ยิ่งแย่ใหญ่ กลายเป็นคนอ่อนแอหนักเข้าไปอีก
ฉะนั้น การจัดตั้งไม่เป็นจุดหมายในตัว ไม่เป็นจุดจบสิ้น จะต้องให้เกิดคุณสมบัติในตัวเด็ก ความสุขจัดตั้งที่จะให้เด็กอยากเรียนสนุกเป็นเพียงสะพาน เป็นตัวสื่อเพื่อที่เด็กจะได้เกิดตัวนี้ เกิดความอยากเรียนรู้ เมื่อใดที่เกิดความอยากรู้ ใฝ่รู้ขึ้นในใจแล้ว ทีนี้ความอยากรู้จะทำให้เด็กเกิดความสุขเองในการหาความรู้ ตอนนี้เขาไปหาความรู้ เขาก็มีความสุข แต่ถ้าเขาไม่เกิดความอยากรู้ใฝ่รู้ การหาความรู้ก็เป็นทุกข์อยู่เรื่อยไป ต้องหาคนมาจัดตั้งให้ การศึกษาตอนนี้เป็นเช่นนี้ เป็นการศึกษาจัดตั้ง ความสุขก็เป็นความสุขจัดตั้ง ไม่เป็นตัวแท้ตัวจริง อันตราย เราต้องเดินหน้าไปให้ได้ ทั้งหมดนี้เป็นภาระของคุณครูทั้งสิ้น ครูอาจารย์จะต้องทำหน้าที่นี้ เป็นบุคคลที่สำคัญอย่างยิ่งของสังคม เป็นแกนในการสร้างสรรค์ เป็นผู้กำอนาคตของประเทศชาติ ครูต้องกู้ฐานะในความเป็นผู้นำทางปัญญาของสังคมขึ้นมาให้ได้ ถ้าตัวเองมีความสามารถ มีความรู้จริงแล้ว ก็จะมีความสามารถในการสร้างสรรค์สังคม และสังคมนั้นจะเดินหน้าไปได้ก็ต้องมาฟังคนที่รู้จริง ถ้าครูมีความสามารถนั้นแล้ว ก็ต้องให้สังคมได้มาฟังครู ไม่ใช่ฟังสื่อ ฟังอะไรต่อมิอะไร ไม่เข้าเรื่อง
ท่าน ป.อ.ปยุตฺโต: “จวนจะเรียนจบกันรึยัง”
ครู: “เด็กที่พามาฟัง อีก 2 ปีจะจบ”
ท่าน ป.อ.ปยุตฺโต: “เพิ่งเริ่มต้น ก็อีก 2 ปี ถ้าเริ่มต้นก็ขอให้มีกำลังใจ... ไหวไหม (เสียงตอบพร้อมกัน: ไหว)... สู้ไหม (เสียงตอบพร้อมกัน: สู้)... ถ้าอย่างนี้ใช้ได้ อย่าไปท้อ มีเรื่องท้าทายเราแล้ว สู้เต็มที่ ช่วยกัน สังคมจะดี ชีวิตเด็กจะดีอยู่ที่ครูนะ ขอฝาก”