แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ขอเจริญพรโยมญาติมิตร ผู้มีจิตศรัทธา มีน้ำใจเมตตา มาร่วมกันทำบุญทุกท่าน วันวิสาขบูชาก็เวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่ง เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่เราทุกคนถือเป็นสำคัญ จะว่าสำคัญที่สุดก็ได้ ในรอบปี เพราะว่าเป็นวันสำคัญสำหรับองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า คือวันประสูติ วันตรัสรู้ วันปรินิพพาน นี่ก็เป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนา เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาด้วย แล้วจะว่าไปอีกแง่หนึ่ง จะถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวพุทธก็ได้ บางทีชาวพุทธบูชาหรือทำพิธี จะเรียกว่าฉลองก็ได้ในวันวิสาขบูชา จนลืมคิดไปว่าที่แท้วันนี้เราเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวพุทธ ทำไมจึงเรียกว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ เรานับปีพุทธศักราชอย่างไร ก็นับจากวันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน เราก็เริ่มนับพุทธศักราช สำหรับประเทศไทยเรานี้ก็นับไปเรื่อยๆ ตั้งแต่วันที่พระองค์ปรินิพพาน มาจนกระทั่งครบ 1 ปี เราก็เรียกว่าพุทธศักราชล่วงแล้ว 1 พรรษา แล้วเราก็พูดสั้นๆ ว่า พ.ศ. 1 ในสำนวนของไทย คำว่า พ.ศ.1 หมายความว่า พุทธปรินิพพานล่วงแล้ว 1 พรรษา แต่สำหรับประเทศลังกา พม่า ไม่ได้นับอย่างประเทศไทย นับทันที พอพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานก็เริ่ม พ.ศ.1 เลย เพราะฉะนั้นพุทธศักราชของไทยกับของพม่า ศรีลังกา ก็ต่างกัน 1 ปี ปีนี้ประเทศลังกาและพม่านี่เป็น พ.ศ.2552 ของไทยเราเป็น พ.ศ. 2551 ก็ต่างกัน 1 ปี โยมต้องรู้วิธีนับนี้ด้วย ทีนี้เมื่อเรานับพุทธปรินิพพานเป็นเกณฑ์กำหนดนับ พ.ศ. เราก็ใช้ พ.ศ.กันอยู่ แล้ว พ.ศ.จะครบเมื่อไหร่ ก็ต้องครบวันวิสาขบูชา เพราะฉะนั้นวันขึ้นปีใหม่ที่แท้ก็คือวันวิสาขบูชา ตอนนี้เราก็มีวันขึ้นปีใหม่กันเยอะ ของคนไทยเราเนี่ย มีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จะว่าเป็นวันใหม่แบบฝรั่งก็ได้ ตอนนั้นก็จะมีเครื่องหมาย บางทีก็จะทำเป็นกองหิมะ แล้วก็จะมีต้น
คริสตร์มาส อะไรต่างๆ อันนั้นก็เป็นเครื่องหมายของการขึ้นปีใหม่ที่เราเรียกว่าสากล ก็คือแบบฝรั่งนั่นเอง ก็มีการสนุกสนานอะไรกันต่างๆ ต่อมาเราก็มีวันขึ้นปีใหม่ตรุษจีน ขึ้นปีใหม่แบบจีนก็เป็นวันขึ้นปีใหม่ที่เน้นเรื่องของความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษนี่เท่าที่ทราบ ถ้าอาตมาพูดผิดไปก็ช่วยแก้ด้วย มาถึงจีนเราก็ขึ้นปีใหม่ด้วย เราก็ขึ้นปีใหม่ด้วย คนไทยมีน้ำใจร่วมหมด ใครขึ้นปีใหม่ก็ร่วมด้วย ต่อมาเราก็มีวันขึ้นปีใหม่สงกรานต์ สงกรานต์เราก็ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่แบบไทยแท้ ก็เป็นวันที่แสดงน้ำในต่อกัน มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ แล้วคนที่อยู่ในปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ก็มาสนุกสนานแสดงน้ำใจต่อกัน มีการไปรดน้ำรับอวยพรจากผู้ใหญ่ต่างๆ แล้วก็สนุกสนานในหมู่เด็กหนุ่มสาวกันทั่วไป ก็เรียกว่าเป็นวันร่าเริงเบิกบานรับปีใหม่ ทีนี้ในวันวิสาขบูชานี้ ถ้าเรามองเข้าความหมายนี้ก็เราก็มาขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง ขึ้นปีใหม่วิสาขบูชานี้เรียกได้ว่ารวบยอดเลย คลุมหมด ก็เรียกว่าเป็นปีใหม่แท้ก็ว่าได้ โยมลองไปคิดเองเถอะ เป็นวันปีใหม่แท้ไหม เพราะว่าเรานับพุทธศักราช นับ พ.ศ.กันตรงนี้แหละ ทีนี้พอเรารับปีใหม่วันวิสาขบูชานี่ ความหมายก็เป็นเรื่องของกุศล เป็นมงคลที่แท้จริงที่เราจะเริ่มปีใหม่กัน ด้วยธรรมะที่เอาส่วนดีทุกปีใหม่มารวมกัน ก็มีทั้งให้ปัญญาแจ่มใส จิตใจผ่องใส แล้วก็มีความสุขสดใส สดใสทั้งหมด สดใส แจ่มใส ผ่องใส สมกับคำว่าพุทธะ พุทธะก็แปลว่ารู้ ตื่น เบิกบาน รู้ก็ปัญญา ปัญญาก็เป็นเรื่องของปัญญาแจ่มใส แล้วก็จิตใจก็ผ่องใส แล้วก็มาสุขเบิกบาน ก็สดใส ก็ขอให้เราเริ่มปีใหม่วันวิสาขบูชา ด้วยจิตใจที่เป็นกุศล แล้วก็เป็นวันที่ทำกุศลกันจริงจังด้วย วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันดี อย่างน้อยก็พุทธศาสนิกชนก็มาพบปะกัน ถ้าไม่มีกำลังจะพูดมาก ก็ถือว่าการมาพบปะกันก็เป็นสิริมงคล ก็เป็นเรื่องของความมีน้ำใจไมตรี เบิกบานใจ มีความปรารถนาดีต่อกัน ก็เป็นเรื่องของความสุข เริ่มด้วยความสุข แต่เป็นความสุขที่เป็นกุศล เมื่อกี้นี้อยู่ที่กุฏิ ยังได้ยินมีเสียงตีขิม ปีนี้มีปีพิเศษ มีเสียงขิมด้วย ขิมในวิสาขบูชาปีนี้ก็เป็นน้ำใจกุศลของคุณภุชงค์ ฉิมพิบูลย์ ก็ได้ยินเสียงขิม ต่อมาก็เป็นเสียงขิมอยู่คล้ายๆ อย่างที่เขาเรียกว่าเป็นแบ็กกราวด์ แล้วก็มีเสียงโฆษก??? ทองขาว พูดบรรยาย ย้อนไปอีกหน่อยก็ได้ยินเสียงโฆษกพูดนำมาตั้งแต่ต้น ก็เป็นเรื่องเบิกบานสดใส มาช่วยกัน ทำให้วันวิสาขบูชานี้ มีความร่าเริงเบิกบานยิ่งขึ้น มีความหมายด้วยกำลังของชาวพุทธ ตอนนี้ญาติโยมก็พากันมา ครอบครัวก็พากันมา คุณพ่อคุณแม่ลูกเล็กก็พากันมาร่วม แล้วโรงเรียนก็มา โรงเรียนก็มีทั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทอสี โรงเรียนหนูน้อย โรงเรียนหนูน้อยนี่เดิมก็คืออนุบาลหนูน้อย ตอนนี้ก็ได้ขยายมีโรงเรียนประถมมานานแล้ว มีประถม ก็เห็นว่าควรจะทำชื่อให้คลุมความหมาย ไม่ใช่อยู่แค่หนูน้อยซึ่งเป็นเล็ก ตอนนี้ได้ชื่อใหม่เป็นโรงเรียนสยามสามไตร ตอนนี้ก็มากัน ก็เรียกว่าเป็นโรงเรียนแนวพุทธเดิม อันนี้เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ ก็มาร่วมกันฉลองวัน
วิสาขบูชา เพราะการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ มีความหมายโยงไปถึงสังคมประเทศชาติ การศึกษาดีแล้ว นำหลักพระพุทธศาสนาไปปฏิบัติ ดำเนินการให้การศึกษาเป็นไปในแนวทางที่ถูกต้อง ก็จะช่วยวางรากฐานให้กับสังคมประเทศชาติ ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข โดยเฉพาะหนูน้อยๆเนี่ย ได้มาร่วมวันวิสาขบูชา ได้รับบรรยากาศและเรียนรู้ตั้งแต่เล็กๆนี่สำคัญมาก เด็กๆก็ควรจะมาศึกษานอก โดยเฉพาะมากับคุณพ่อคุณแม่ผู้ใหญ่ มีความสุขในบรรยากาศภายนอกแล้วก็ให้เรามาเรียนด้วย มาเห็นความรู้ ให้รู้จักวิสาขบูชาคืออะไร ทีนี้ว่าถึงวิสาขบูชา ก็ได้พูดกันมาเรื่อยทุกปี มีความหมายในแง่ต่างๆ เยอะแยะไปหมด ทีนี้อยากจะย้อนไปพูดเมื่อกี้ก่อน ที่เราจัดพิธีกันนี่ มีการพูด มีการเวียนเทียน มีการแสดงธรรม แล้วแม้แต่ว่ามีโฆษกมาพูด มีดนตรี มีขิม มาต่างๆ เหล่านี้ ในเขตนี้ที่เราจัดพิธีนี่เราเรียกภาษาแบบไทยว่าเป็นเขตพุทธาวาส งานใหญ่ๆ วันนี้เสียงดังหน่อยก็เลยได้ยินไปถึงเขตสังฆาวาสด้วย ก็หมายความว่าพิธีวันนี้ใหญ่จริงๆ เลยไม่จำกัดอยู่ในเขตพุทธาวาส แล้วเขตพุทธาวาสกับสังฆาวาสนี้ก็คู่กันมา บางทีเราก็พูดโดยไม่ได้เข้าใจ วันนี้ก็ถือโอกาสทำความเข้าใจเล็กๆ น้อยๆ ด้วย เพราะว่าเมื่อเราทำความเข้าใจเรื่องวิสาขบูชา เราก็ควรรู้เรื่องแวดล้อม เรื่องประกอบธรรมให้ความหมายของคำว่าวิสาขบูชาเด่นชัดขึ้น ถ้าเราไม่รู้สถานที่ไปประกอบพิธี เราไม่รู้เรื่องอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เราก็ไปทำพิธีวิสาขบูชาลอยๆ อยู่ ฉะนั้นควรจะเข้าใจให้ชัดหมด ทีนี้เมื่อพูดขึ้นมาแล้วถึงคำว่าพุทธาวาส สังฆาวาส นี่ ก็มาทำความเข้าใจกันนิดหน่อย ถ้าแปลง่ายๆ พุทธาวาส ก็แปลว่าเขตวัดส่วนที่เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เขตนี้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า พุทธาวาส วาสก็แปลว่าเป็นที่อยู่ที่ประทับ พุทธะก็แปลว่าพระพุทธเจ้า แล้วอีกเขตก็เป็นเขตสังฆาวาส ก็เป็นเขตที่อยู่ของพระสงฆ์ ในประเพณีเมืองไทยเรานี้ได้คิดกันมา เหมือนกับว่าแบ่งวัดเป็นสองส่วนนี้ แต่ความจริงในสมัยพุทธกาลไม่มีศัพท์นี้หรอก ศัพท์ว่าพุทธาวาส สังฆาวาส เดิมวัดเกิดขึ้นมาก็เป็นที่ที่ว่ามีผู้อยากจะไปอยู่กับพระพุทธเจ้า ได้รับคำสอนใกล้ชิด เข้ามาสมัครขอบวชก็เลยเป็นพระภิกษุ ถ้าไม่เป็นภิกษุ ยังไม่พร้อมก็เป็นสามเณร ต่อๆมามีภิกษุณี มี
สิ-กะ-มา-นา มีสามเณรี ก็เป็นสงฆ์ขยายออกไป ทีนี้ว่านอกจากพระสงฆ์ไปอยู่กับพระพุทธเจ้า เพื่อจะไปฝึกฝนอบรมเจริญไตรสิกขาแล้ว ทีนี้ญาติโยมล่ะ ประชาชน ก็อยากจะฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเหมือนกัน พระพุทธเจ้าประทับอยู่กับพระสงฆ์ ที่วัด ที่อาวาส หรืออารามในสมัยพุทธกาล ตอนแรกเรียกว่าอารามก่อน ตอนที่พระพุทธเจ้า อนุญาตวัด ท่านต้องทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตอาราม อารามก็หมายความว่าเป็นส่วน เป็นหมู่ไม้ เวฬุวัน เนี่ย อารามแรกในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตก็เวฬุวัน ต่อมาที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ คือแถวเวฬุวันนี่แหละ มีผู้เลื่อมใสเห็นว่าพระไม่มีที่อยู่ เสนาสนะ คือที่อยู่ที่อาศัยของพระ ที่เป็นหลักก็คือโคนไม้ นอกจากนั้นก็อยู่กันตามลอมฟาง ตรงที่แจ้ง ตามอะไรต่างๆ ทีนี้เวลาเช้าพระก็ออกมา ญาติโยมก็เห็น ทีนี้เศรษฐีชาวราชคฤห์เห็นพระน่าเลื่อมใสมาก แต่เห็นท่านไม่มีที่อยู่ ก็เลยอยากให้ท่านมีที่อยู่ ก็เลยเขาไปบอกพระว่านี่ผมเลื่อมใสท่านนะ อยากจะให้ท่านมีที่อยู่ ขอสร้างที่อยู่ถวาย คำว่าที่อยู่เรียกว่า วิหาร วิหารเดี๋ยวนี้เราเรียกว่ากุฏิ ที่จริงเดิมเรียกว่าวิหาร ท่านเศรษฐีก็บอกพระว่าผมจะขออนุญาตสร้างวิหารถวาน จะได้มีที่อยู่ที่อาศัย ไม่ต้องตากฝนตากลมอะไรต่างๆ ลำบาก พระก็บอกเดี๋ยว พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงอนุญาต ท่านเศรษฐีก็บอกว่าถ้าอย่างนั้นฝากด้วย ท่านไปขออนุญาตพระพุทธเจ้าหน่อย ผมจะรอฟัง พระสงฆ์ก็เลยไปกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงเห็นสมควรแล้วว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องของพระเที่ยวขวยขวายปรารถนา แต่เขาศรัทธาเลื่อมใสเห็นค่าประโยชน์ของพระ ก็ทรงอนุญาต ตอนนี้เรียกว่าอนุญาตเสนาสนะ 5 ประการ เสนาสนะ 5 อย่าง อย่างที่หนึ่ง-เรียกว่า วิหาร วิหารก็คือที่อยู่ที่เราต่อมาเรียกว่ากุฏิ นี่เป็นเริ่มต้นที่พระมีที่อยู่ เป็นกุฏิ ทีนี้ท่านเศรษฐีก็สร้างวิหารหรือกุฏิมากมาย นับแต่นั้นมาพระก็มีที่อยู่อาศัย อันนี้ต่อมาก็มีศัพท์พัฒนาขึ้นมา วิหารหลายวิหาร เป็นหมู่เป็นอะไรต่ออะไร เวลาเรียกชื่อเป็นถิ่นก็เลยเรียกรวมๆ กันว่า วิหารหมู่นี้เป็นของใครชื่ออะไรก็เรียกรวมกัน เกิดเป็น เชตะวันวิหาร ก็เรียกทั้งสองอย่าง เชตวนาราม ศัพท์เดิมเรียกว่าอาราม ต่อมาก็เป็น เชตะวันวิหาร เพราะใหญ่ก็เลยเป็นมหาวิหาร วัดใหญ่ วิหารก็เลยแปลว่าวัดไป ที่จริงก็คือกลุ่มที่อยู่นั่นเอง ต่อมาก็มีคำว่า อาวาส ตอนนี้โดยมากจะใช้คำว่าอาวาส ถ้าชาวพุทธรู้ความเป็นมาของศัพท์เหล่านี้ก็ดีเหมือนกัน ก็คือให้รู้ว่า ความหมายเดิมที่แท้นั้น วัดเป็นอารามนะ เป็นที่รื่นรมย์ เป็นอารามเป็นสวน อารามนั้นแปลว่าเป็นที่มายินดี ใครมาสวนแล้วก็สบาย สบายใจ ก็เลยเล่าประวัติให้ฟัง ทีนี้พระพุทธเจ้าบำเพ็ญพุทธกิจอยู่ ก็อยู่ที่วัด จะเรียกว่าอาราม จะเรียกว่าวิหาร เรียกว่าอาวาสก็แล้วแต่ พระนี่อยู่เป็นหลักด้วย ทีนี้ญาติโยมประชาชนก็อยากฟังธรรมะ พระพุทธเจ้าก็เลยมาเฝ้า ต่อมาก็เลยมีวิวัฒนาการ มีการสร้างศาลา มีอะไรต่างๆ ขึ้นมา ที่ญาติโยมจะไปฟังธรรมได้ด้วย แต่ตอนระยะแรกก็มีศาลาสำหรับพระก่อน อย่างหอฉัน เขาเรียกว่า อุ-ปัด-ถา-นะ-ศา-ลา ใช้เป็นหอฉัน พอฉันภัตตาหารแล้วพระใช้เป็นที่มาพบปะ มาสนทนาธรรมกัน มาพูดคำอธิบายธรรมให้ฟัง อุ-ปัด-ถา-นะ-ศา-ลา สมัยต่อมาหลังพุทธกาลก็กลายเป็น ธรรมสภา
สมัยอรรถกถาเรียก อุ-ปัด-ถา-นะ-ศา-ลา ว่าธรรมสภา ในสมัยพุทธกาลยังไม่เรียกว่าธรรมสภา เหล่านี้มีวิวัฒนาการทั้งนั้น แล้วก็กุฏิพระพุทธเจ้าสมัยพุทธกาลก็เรียกวิหาร พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากวิหาร ไปประทับ ไปเทศ ไปแสดงธรรมแก่พระสงฆ์ พอสมัยอรรถกถาก็เกิดคำใหม่แล้ว ตอนนี้มีคำว่า กุฏิ แล้วกุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้าก็มีชื่อพิเศษเรียกว่า พระคันธกุฏิ กุฏิพระพุทธเจ้าสมัยอรรถกถาก็เรียกว่าพระคันธกุฏิ ตอนพุทธกาลไม่ได้เรียก ในสมัยพุทธกาลในพระไตรปิฎกพระคันธกุฏิ ใช้เรียกกุฏิของพระพุทธเจ้าในอดีตบางพระองค์ ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ยังไม่เรียกว่าพระคันธกุฏิ ก็เรียกวิหาร ในพระไตรปิฎกบอกว่าพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากวิหาร มาที่นี่นี่ มาแสดงธรรม อรรถกถาพูดถึงที่เดียวกัน แต่อรรถกถาเปลี่ยนสำนวนใหม่ บอกว่าพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากพระคันธกุฏิ เนี่ยต่างกันเลยสำนวน สำนวนในพระไตรปิฎกบอกเสด็จออกจากวิหาร ใน อรรถกถาบอกเสด็จออกจากพระคันธกุฏิ ทีนี้เวลาแปลพระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นไทย พระที่แปลท่านก็แปลตามอรรถกถา แปลข้อความตอนนั้นซึ่งในพระไตรปิฎกเสด็จออกจากวิหาร พระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นไทยก็บอกว่า เสด็จออกจากพระคันธกุฏิ คนไทยไม่รู้ก็นึกว่าพระไตรปิฎกแปลไทยนี่แหละเป็นมาตรฐาน ก็เลยนึกว่าศัพท์ว่าพระคันธกุฏิ เป็นศัพท์ในพระไตรปิฎก เปล่า อย่างนี้เป็นต้น คือเราต้องรู้ว่าเวลาเราอ่านพระไตรปิฎกภาษาไทยเนี่ยเราอ่านตามอฐกถานะ เพราะว่าพระท่านแปลศัพท์ในภาษาบาลีในขั้นพระไตรปิฎกเนี่ย มีศัพท์ที่ไม่รู้เยอะ เวลาแปลทำยังไงก็แปลปรึกษาอรรถกถา เหมือนกับเราปรึกษาดิกชั่นนารี เพราะฉะนนั้นเวลาโยมอ่ายพระไตรปิฎกแปลเป็นไทยนี่ รู้ว่าเสียเปรียบ บางทีไม่รู้หรอก บังเอิญตัวเองอ่าน อันนี้อาตมาก็เล่าแถมให้ฟังเป็นอย่างนี้ๆ เยอะแยะหมด ในพระไตรปิฎกแปล แปลตามอรรถกถา ทีนี้หวนกลับไปว่า ญาติโยมชาวพุทธก็อยากจะฟังธรรมะบ้าง ก็เลยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ต่อมาก็มีอาคารที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ประชาชนเข้าไป ก็พัฒนาการกันมาอย่างนี้ ต่อมายุคหลังๆ ก็เลยมีเขตที่ประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องมากขึ้น ประชาชนเข้าไปนอกจากว่าไปฟังธรรมแล้วก็นำภัตตาหารไปเลี้ยงพระ เกิดมีที่ประชาชนไปพบกับพระสงฆ์ ไปทำบุญทำกุศล อย่างในเมืองไทยเราพัฒนามามากอย่างที่เราเห็นในวัดสมัยโบราณ ก็เลยเกิดมีคำว่า พุทธาวาส สังฆาวาส ขึ้นมา ทีนี้พุทธาวาสกับสังฆาวาสนี้ ก็ต้องทราบความแตกต่างหน่อย สังฆาวาสก็แปลว่าเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ เมื่อเป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ก็เป็นที่อยู่ของผู้ที่ตั้งใจสละเย้าเรือนมา มาบวชเพื่อเจริญไตรสิกขา มาเจริญภาวนา มาอยู่หาความสงบสงัด เพราะฉะนั้นในส่วนของสังฆาวาสก็จะเป็นที่ความสงบสงัด การที่ว่าจะต้องมีกิจกรรมในการที่จะปฏิบัติเจริญ จะเรียกว่าด้าน คัน-ทา-ธุ-ระ กับ วิปัสสนาธุระ โดยเฉพาะวิปัสสนาธุระ รวมทั้งสมถะด้วยเนี่ย คำว่า วิปัสสนาธุระ ท่านบอกว่าก็คือคัน-ทา-ธุ-ระ โดยมีวิปัสสนาธุระ เป็นยอด คำว่า วิปัสสนาธุระ รวมทั้งสมถะด้วย เวลาท่านแปลท่านก็จะให้ความหมายอย่างนั้น ทีนี้ก็เป็นอันว่าท่านต้องเจริญวิปัสสนาธุระ เริ่มด้วย คัน-ทา-ธุ-ระ เนี่ย ท่านก็ต้องใช้สถานที่สงบสงัดเป็นธรรมชาติ เป็นวิเวกไป เพราะฉะนั้นลักษณะของสังฆาวาสก็จะเรียบง่าย สงบ มีแต่หมู่ไม้ มีแต่ธรรมชาติ อะไรต่างๆเหล่านั้น เรียกว่าไม่มีเรื่องปรุงแต่งอะไร ทีนี้ฝ่ายพุทธาวาสก็เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เราก็แปลความหมายหนึ่ง เพราะพระพุทธเจ้าเวลานี้ไม่ได้ประทับอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าไม่ได้ประทับอยู่เพราะพระองค์ปรินิพพานแล้ว เราก็สร้างที่ประทับเสมือนพระองค์ประทับอยู่ด้วย สถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎกก็เรียกว่าวิหาร เพราะฉะนั้นเราก็สร้างวิหารขึ้นเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า วัดต่างๆ ก็เลยมีวิหาร วิหารก็คือที่ประทับของพระพุทธเจ้า ก็คือที่ที่เราสร้างถวายอุทิศพระพุทธเจ้าเสมือนว่าพระองค์ประทับอยู่เป็นประธาน เวลานี้วิหารก็กลายเป็นที่เก็บพระพุทธรูป ใช่ไหม วิหารก็เป็นที่เก็บพระพุทธรูป ใช่ไหม เพราะว่าเป็นที่สร้างถวายพระพุทธเจ้า ให้เป็นที่ประทับของพระองค์เหมือนกับพระองค์ยังเป็นประธานของวัด ทีนี้ในอีกความหมายหนึ่งคำว่า พุทธาวาส ก็คือส่วนของวัดที่สร้างอุทิศแด่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า คำว่าอุทิศนี้หมายความว่าเรามุ่งหมายเพื่อพระองค์ สร้างถวายแก่พระองค์ เป็นอุทิศต่อพระองค์ แล้วก็ทำกิจกรรมต่างๆ โดยมีใจหมายมุ่งไปที่พระพุทธเจ้า ก็กลายเป็นว่าส่วนพุทธาวาสก็คือส่วนที่ชาวพุทธ หรือพุทธบริษัททั้งสี่ ทั้งพระสงฆ์และโยมคฤหัสถ์เนี่ยมาเฝ้าพระพุทธเจ้านั่นเอง เขตพุทธาวาสก็คือเขตที่เรามาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระสงฆ์มีเขตที่อยู่อยู่แล้วก็คือสังฆาวาส ท่านก็อยู่ใกล้ชิด ท่านก็มาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เขตพุทธาวาสนี้ด้วย จะเห็นโบสถ์ก็เลยอยู่ในเจตพุทธาวาสนั้นด้วย โบสถ์นั้นคืออะไร โบสถ์นั้นที่จริงเป็นที่ทำกิจกรรมของสงฆ์ ก็คือเป็นที่ทำสังฆกรรม เป็นที่ที่พระสงฆ์จะมาประชุมกัน สวดปาติโมกข์ มาทำกิจกรรมของส่วนรวม เช่นว่าการปวารณา อะไรต่างๆเหล่านี้ คือกิจกรรมส่วนรวม ทีนี้กิจกรรมบางอย่างก็ไปโยงกับโยมด้วย อย่างเรื่องการอุปสมบทที่จริงก็เป็นกิจกรรมของสงฆ์ ก็คือรับพระใหม่เข้าไป แต่ทีนี้ผู้ที่จะมาบวชเป็นพระใหม่ก็เป็นโยมมาก่อน แล้วก็มีญาติมิตร ทีนี้ญาติมิตรก็อยากจะมาอนุโมทนา ก็มาร่วมด้วย ก็เลยกลายเป็นว่า โบสถ์นี่ไม่ใช่เป็นที่ของสงฆ์อย่างเดียวซะแล้ว เป็นที่โยมมาด้วย ในบางถิ่นอย่างเมืองเหนือนี้ก็ยังถือเคร่งครัดมากหน่อยว่าให้อุโบสถนี่เป็นเขตของสงฆ์ ฉะนั้นก็ไม่ยอมให้โยมผู้หญิงเข้าไป เพราะถือว่าเป็นเขตของพระสงฆ์เท่านั้น ทีนี้สำหรับในภาคกลางนี้ อุโบสถนี่ก็กลายเป็นอาคารหลักไปแล้ว เพราะถือว่าเป็นที่พบปะกัน กลายเป็นว่าเอาโบสถ์นี่เป็นที่ตั้งพระประธานไปเลย พระประธานของวัดกลายเป็นว่าอยู่ที่โบสถ์สำหรับภาคกลาง แล้ววิหารแทนที่จะเป็นที่ตั้งพระประธานก็กลายเป็นที่สำหรับสถิต ประทับของพระพุทธรูปองค์อื่นๆ แต่ว่าวัดใหญ่ๆ ยังจะเห็นว่ามีพระวิหารสำหรับพระสำคัญๆ ที่ประทับพระพุทธเจ้า ควรทราบความเป็นมานี้จะได้เข้าใจเรื่องราวของวัดวาอาราม ตอนนี้ก็เป็นอันว่าเราก็มีเขตพุทธาวาส เป็นที่ที่พุทธบริษัทมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เมื่อพุทธบริษัทมาเฝ้าพระพุทธเจ้าก็เลยมาพบพร้อมกันทั้งพระทั้งโยมเลยทีนี้ เขตพุทธาวาสก็เป็นเขตที่พร้อมกัน แล้วก็เลยแยก จะเห็นว่าเขตสงฆ์ มักจะไม่ค่อยยอมให้โยมเข้าไป เพราะพระต้องการความสงยสงัดเป็นที่ท่านปฏิบัติเจริญภาวนากรรมฐาน โยมเข้าไปสุ่มสี่สุ่มห้าก็จะทำให้ท่านเสียความสงบเสียความวิเวกไป แล้วก็จะพลุกพล่าน ทีนี้ก็อยู่กันในพุทธาวาส ทีนี้พระอยู่ใกล้อยู่แล้ว พระมาเฝ้าพระพุทธเจ้าในเขตพุทธาวาส แต่สังฆาวาสก็อยู่ใกล้ๆ นี้ พระก็มาเดี๋ยวเดียว ทีนี้โยมสิต้องการไกล เมื่อเป็นอย่างนี้ไปๆมาๆ พระที่อยู่ในฝ่ายใกล้ แม้จะมาเฝ้าพระพุทธเจ้าเหมือนกันกับโยมนั่นแหละ มาเฝ้าที่เขตพุทธาวาส แต่เพราะเหตุที่เป็นฝ่ายอยู่ใกล้ ก็มาเฝ้าอยู่เรื่อยแล้ว เดี๋ยวบางทีก็มาทำวัตร สวดมนต์ เฝ้ากันแทบทุกวัน โยมนานๆมาที ก็เลยพระมาบ่อย มาอยู่เสมอก็เลยเป็นฝ่ายต้อนรับ ก็เลยกลายเป็นว่าพระเป็นฝ่ายต้อนรับโยม พุทธบริษัท ฝ่ายบรรพชิตก็ต้อนรับฝ่ายคฤหัสถ์ ทีนี้ฝ่ายโยมก็เป็นฝ่ายมาจากข้างนอก ไกลหน่อย พุทธาวาสต่อมาก็มีความหมายว่าที่ญาติโยมมาพบปะเฝ้าพระพุทธเจ้า ฟังธรรม ทำบุญทำกุศล แล้วพระสงฆ์ก็จะได้เทศน์แสดงธรรม แล้วเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกไป มองในหนึ่งก็คือเขตพุทธาวาสเป็นจุดบรรจบของพุทธบริษัทญาติโยมพุทธบริษัทมาจากข้างนอกแล้วมาวัดที่นี่ แล้วก็นำเอาธรรมะออกไปแพร่ขยาย เพราะฉะนั้นพุทธาวาสก็เลยเป็นเขตที่เผยแพร่พระพุทธศาสนาออกไปด้วย ก็เป็นศูนย์กลางที่สำคัญ นี่แหละพุทธาวาสเป็นเขตที่เกี่ยวกับโยมมาก เพราะว่าเป็นที่ต้อนรับโยมแล้วก็พระนี่อยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ก็ต้องให้ความสำคัญแก่โยมมาก เขตพุทธาวาสไปๆมาๆ ก็แทบจะเป็นเขตของโยม ไปๆมาๆ เขตพุทธาวาสนี่กลายเป็นศูนย์กลางของสังคม ศูนย์กลางของชุมชน มีอะไรต่ออะไร งานประชุมของญาติโยม ก็มาประชุมที่วัด แม้แต่มีมหรสพเล่นลิเกละคร ไปๆมาๆ มาจัดที่วัดหมด นี่แหละเรื่องมันบานปลาย แต่ไม่เป็นไร โบราณท่านก็มีความเข้าใจว่าโยมก็มีความธรรมดาที่ต้องการเรื่องสนุกสนานบันเทิงบ้าง การที่มาจัดในวัดนี่ก็ดี ทำให้อยู่ในควบคุม หนึ่ง-โยมที่มาจัดก็สนุกสนานในวัด ก็มีความกลัวบาป ระมัดระวังตัว แล้วก็มากัน มีทั้งผู้ใหญ่ เด็ก รุ่นผู้ใหญ่มา เด็กก็เกรงใจ จะเล่นอะไรเกินไปก็ไม่ดี แล้วมองเข้าไปข้างในก็มีพระอยู่อีก เพราะฉะนั้นก็อยู่ในควบคุม มันก็เป็นการควบคุมทางสังคมไปเสร็จ ฉะนั้นแม้จะมีมหรสพอะไรต่างๆ สมัยโบราณก็อยู่ในขอบเขตเพราะว่ามาเล่นในวัด ต่อมาสังคมกระจัดกระจาย อะไรต่ออะไรก็ออกไปจากวัดหมด มหรสพ ความสนุกสนานบันเทิง สถานบันเทิง สมัยหลังนี่ไม่มีขอบเขตเลย หมดศีลธรรม ไม่เหลือไม่ได้นึกว่าที่จริงเดิมนั้น วัดนี่แหละเป็นศูนย์กลางทุกอย่าง แม้แต่มหรสพ แต่ว่าอยู่ในขอบเขตของศีลธรรมที่ว่า ทีนี้ในเมื่อส่วนพุทธาวาสให้ความสำคัญแก่ญาติโยมมาก ก็จะต้องทำให้จิตใจโยมสบาย มาแล้วจิตใจเบิกบานแจ่มใส ก็มีการปรุงแต่งต่างๆ เพราะว่าโยมนี่ไม่ได้มีจิตใจในระดับเดียวกันหมด ที่จะพร้อมจะเข้ามาปฏิบัติ มาเจริญกรรมฐาน อะไรอย่างนี้ โยมยังไม่พร้อม โยมมากันลูกเล็กเด็กแดงวัยรุ่นหนุ่มสาวมีความต้องการต่างๆ เป็นแต่เพียงว่า เอาว่าให้บรรยากาศในวัดน้อมเข้ามาในธรรมะในทางกุศลก็แล้วกัน ก็เลยจัดบริการขึ้นมาหลายระดับเลย เพราะฉะนั้นพวกศิลปะพวกอะไรต่างๆ ก็เกิดในเขตพุทธาวาส แล้วก็มีดนตรี แต่ก่อนนี้ก็มีปี่พาทย์ ดนตรีไทยเกิดที่ไหน พัฒนาที่ไหน ก็พัฒนาในวัด แล้วก็พวกจิตรกรรมวาดภาพอะไรต่างๆ มาที่ไหน ก็เกิดจากวัดทั้งนั้น เพื่อจะเป็นสื่อ เขียนจิตรกรรมฝาผนังรูปชาดกบ้าง เรื่องทศชาติบ้าง อะไรต่างๆ เหล่านี้ เพื่อให้ญาติโยมพาเด็กมาก็ได้มาดูมาอ่านมาเห็นภาพ ญาติโยมผู้ใหญ่ พระ ก็จะได้อธิบายไป ได้เข้าถึงธรรมะ เลยเขตของพุทธาวาสนี้ขยายกลายเป็นเขตสวยงาม มีการปรุงแต่งต่างๆ ซึ่งต่างจากเขตสังฆาวาส พอเข้าเขตสังฆาวาสเปลี่ยนเลยบรรยากาศ สงบ เป็นธรรมชาติ เรียบง่าย มีแต่ของอาจจะเก่าหน่อย ใช้กันง่ายๆ แต่พอมาส่วนญาติโยมพุทธาวาสนี่จะสดใส บางทีมีพรมปูสวยงาม มีพื้นหินอ่อนอย่างนี้ ที่โยมนั่งกันนั่นละ สร้างอาคารก็มีโบสถ์มีช่อฟ้าใบระกา มีอะไรต่างๆ พัฒนากันมา เรื่องศิลปะเนี่ยจะทำให้ชื่นชูใจ ทำให้โยมเข้ามา พุทธบริษัท คฤหัสถ์ มาที่วัดแล้วใจสบายผ่องใส อย่างที่ว่าดนตรีก็มี อย่างเมื่อกี้ก็มีขิมเข้ามาแล้ว แต่ก่อนก็มีปี่พาทย์ ทีนี้กลุ่มดนตรีไทยไม่พัฒนาตามยุคสมัย ความจริงดนตรีก็คู่กับวัดนี่ ก็คือในระดับของโยม ศีล5 ก็ยังอยู่กับดนตรี ถ้าโยมศีล 8 ก็เหนือดนตรี โยมต้องเข้าใจอันนี้ด้วยนะ ทีนี้พอมาในระดับทั่วไปคือระดับศีล 5 ทีนี้ศีล 5 ก็ยังต้องอาศัยพวกดนตรีเหล่านี้อยู่ แต่ว่าต้องเป็นดนตรีที่ประกอบด้วยธรรม หมายความว่ามีธรรมะเป็นเครื่องโยง เวลามีงาน แม้แต่ว่าพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอรหันต์สาวกนิพพาน พระโมคคัลลานะปรินิพพานเนี่ย ก็จะมีการเล่นสนุกสนานมาด้วย ในคัมภีร์ก็บันทึกไว้ ท่านเรียกว่า สาธุกีฬา นี่มีมาตั้งนานแล้วมหรสพ พระพุทธเจ้าปรินิพพานก็มีสาธุกีฬา พระโมคคัลลานะปรินิพพานก็มีสาธุกีฬา 7 วัน ประชาชนที่ยังต้องการความร่าเริงเบิกบานบ้างก็เข้ามาด้วยเรื่องสาธุกีฬา อะไรอย่างนี้ แต่ว่ากีฬาของท่านสนุกสนาน มหรสพนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะ เรื่องให้คติธรรมะ ให้บทเรียน ให้คำสั่งสอนแนะนำ เพื่อโน้มนำจิตใจไปในทางที่เป็นบุญเป็นกุศล เพราะฉะนั้นโบราณของเราก็ใช้ศิลปะ ทั้งดนตรี ทั้งจิตรกรรมภาพต่างๆ เนี่ย มาเป็นเครื่องโน้มนำจิตใจของประชาชนเข้ามาสู่บุญกุศล เริ่มแต่เด็กเล็กๆเป็นต้นไป ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้มาแล้วก็พุทธศาสนาจะไม่สามารถครอบคลุมไปโอบอุ้มสังคมได้ ฉะนั้นเด็กรับไหวหรือ อยู่ๆ ก็มารับแต่สิ่งยากๆ บางทีเราก็ไม่เข้าใจ ดูของโบราณก็ดูไม่ออก แยกไม่เป็น เพราะฉะนั้นหน้าที่สำคัญของชาวพุทธยุคนี้ก็คือ ทำไงจะนำสิ่งเหล่านี้ เช่นพวกศิลปะมาใช้เป็นสื่อเพื่อธรรมะ สื่อกุศล โน้มนำจิตใจประชาชนเข้าสู่ธรรมะที่สูงขึ้นไป เพราะมนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ต้องมีการพัฒนา มีการศึกษา ไม่ใช่อยู่ๆ ขึ้นมาเป็นพระอรหันต์ทันที ยิ่งเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องพัฒนากันไป ก็ชักจูงโน้มนำกันไป แล้วให้เจริญพัฒนาขึ้นมา อันนี้แหละก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัดวาอาราม แม้แต่สถานที่ก็มีความหมายอย่างที่อาตมาบอกกล่าวมา วันนี้ก็เลยพูดให้โยมฟังถึงความหมายของพุทธาวาสกับสังฆาวาสด้วย โยมจะได้ชัดเจน แล้วจะได้แยกออกว่าทำไมเข้าสังฆาวาสไปอย่างหนึ่ง อยู่ในเขตพุทธาวาสเป็นอย่างหนึ่ง
พุทธาวาสเวลานี้ก็เหมือนเป็นเขตของประชาชน คือพระอยู่วัดอยู่แล้วก็ให้ความสำคัญแก่โยมว่า โยมไม่ได้มาบ่อยๆ โยมได้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า รวมแล้วก็คืออย่างวันนี้ พุทธบริษัททั้งสี่ ทั้งพระสงฆ์และโยมก็ได้เฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกัน แล้วเราก็มีพิธีกรรมต่างๆ งานบุญงานกุศลที่มีศูนย์รวมอยู่ที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เรียกว่าอุทิศพระพุทธเจ้า เราทำบุญทุกอย่าง ใจเรามุ่งหมายไปที่พระองค์ทั้งสิ้น เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วก็มาพูดกันถึงเรื่องของตัววันวิสาขบูชาอีกทีหนึ่งว่า พิธีวันวิสาขบูชานี้ เราก็จัดทำกันขึ้นในสภาพแวดล้อมของพุทธาวาสและสังฆาวาส โดยเฉพาะพุทธาวาส ดังที่กล่าวมา