แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
กระผมขอคัดลอกปัญหาบางตอนจากปาฐกถาของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ดังต่อไปนี้ ปัญหาที่เหลือก็คือปัญหาส่วนตัว อันเป็นปัญหาที่กล่าวได้ว่าน่าคิดอยู่ในเมืองไทยเวลานี้ และเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ซึ่งปาฐกได้รับคำถามอยู่แทบทุกวันคือปัญหาของคนที่ถามมาว่า พระพุทธศาสนาเรานี้จะเชื่อได้หรือไม่ เพราะเห็นว่าได้ปฏิบัติดูแล้ว ยิ่งเกิดผลไม่เป็นอย่างที่ท่านสอน พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ผู้ถามปัญหาบอกว่า พยายามทำดีทุกทางแล้ว ไม่เห็นได้ดีสักอย่าง ได้แต่ชั่ว แต่คนที่ทำชั่ว เป็นก่ายเป็นกอง กลับได้ความดี มีบ้านช่องอยู่ใหญ่โต มีรถยนต์ขี่ ไปที่ไหนที่ไหนก็มีคนเชื่อฟังกราบไหว้ ส่วนคนที่ทำดีเกือบตาย เป็นเสมียนชั้นจัตวา ต้องเป็นหนี้เขากินทุกวันทุกวัน ลูกเมียเกือบไม่มีอะไรจะกินอยู่แล้ว และอย่างนี้จะให้เชื่อพระพุทธศาสนาได้อย่างไร สังเกตเห็นผู้ฟังหลายท่านหัวเราะกัน ปาฐกก็หัวเราะเมื่ออ่านปัญหานี้ แต่เมื่อคิดดูให้ดีแล้ว รู้สึกว่าเป็นปัญหาใหญ่เหลือเกิน และเป็นปัญหาที่เผชิญกับคนไทยทุกวันนี้ ซึ่งปาฐกเองก็รู้สึกวิตกมาก เพราะถ้าไม่มีใครตอบได้แล้ว ปัญหานี้แหละที่อยากจะกล่าวว่าเป็นทางที่จะนำไปสู่ความเสื่อมโทรมของพระพุทธศาสนาในเมืองไทยด้วย และในที่สุดจะไม่มีพระพุทธศาสนาเหลือ เพราะการที่ตอบปัญหาข้อนี้ไม่ได้ หากคนทั่วไปเห็นว่าชั่วกลับได้ดี แล้วคนที่ทำดีกลับทุกข์ยากแสนสาหัส เป็นหนี้สินล้นพันตัว และเป็นเช่นนี้อีก 20 – 30 ปี ก็จะไม่มีใครเข้าวัด เลิกเชื่อกันหมด จึงอยากจะถามผู้ฟังว่า จะทำกันอย่างไร ปาฐกเองก็หมดปัญหาเต็มที แม้จะได้พยายามอธิบายว่าความดีที่พระพุทธเจ้าท่านหมายความนั้น ไม่ใช่ความดีที่เข้าใจกัน ความดีไม่ใช่ตึก ไม่ใช่รถยนต์ ไม่ใช่โภคทรัพย์ ไม่ใช่ลาภยศต่างๆ เหล่านี้ มันเป็นเรื่องความดีที่เกิดแก่คนอื่น ความดีที่อยู่ในใจเราคือ ความรู้สึกว่าเราบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว กำจัดโลภได้นั่นแหละความดี เมื่อชี้แจงไปเช่นนี้ ก็ได้รับคำตอบว่า แล้วพระท่านมาเทศน์ทำไม เวลาพระท่านให้ ศีล 5 ท่านชอบลงในคาถาว่า สีเลนะ โภคะสัมปะทา ใครนับถือศีล 5 แล้วได้สตางค์ แต่ความจริงก็ไม่เห็นได้อะไรสักที เพราะฉะนั้นสู้ไปตามวัดวาอาราม หาอาจารย์บางองค์บอกเลขท้ายลอตเตอรี่ ยังจะดีกว่าถือศีล 5 เป็นกอง คำตอบเช่นนี้ ก็จนปัญญาเพราะปาฐกเองถือศีล 5 ตลอดตั้งแต่เด็กจนแก่ เพราะอยากได้สตางค์ สำหรับปาฐกได้แต่ สำหรับคนอื่นไม่ได้ จึงไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร เหตุนี้จึงอยากวิงวอนผู้ฟังทั้งหลายในฐานะที่เป็นพุทธมามะกะคนหนึ่ง แล้วที่นี้ก็เป็นพุทธสมาคม เป็นสถาบันส่งเสริมพระพุทธศาสนา จึงอยากขอความกรุณาสมาชิกทั้งหลายว่า เหล่านี้เป็นปัญหาที่มีผู้ถามมาด้วยความจริงใจ จะไปนั่งตอบด้วยเหตุผลหรือคารมโวหาร บางทีก็ถูก บางทีก็ผิด บางทีเราก็ไม่มีเวลาตอบ หรืออาจจะตอบถูกตามความในใจของเรา ผู้ถามก็มีข้อโต้แย้งได้ เพราะความรู้สึกในใจที่มีอยู่อีกอย่างหนึ่ง อยากจะเชื่อ อยากจะถือ แต่ยังมีปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว ปาฐกถาตอนที่กระผมคัดลอกมานี้ คัดมาจากหนังสือ คึกฤทธิ์ลาโลก ซึ่งเขียนโดย วิลาศ มณีวัต หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ได้ไปแสดงปาฐกถาเรื่องพระพุทธศาสนากับชีวิตประจำวัน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2500 ตามคำเชิญของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย กระผมขอกราบรบกวนพระคุณท่านได้โปรดให้คำอธิบายหรือความคิดเห็นในปัญหาที่ผู้แสดงปาฐกถาเอง ก็รับว่าวิตกมากและหมดปัญญาเต็มที เพื่อจะได้ยึดเป็นแนวทางเมื่อถูกใครถาม หรือมีความจำเป็นที่จะต้องอธิบายให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง อันจะนำมาซึ่งความคิด ความรู้สึกที่ถูกและดีในพระพุทธศาสนาของเรา ในฐานะที่กระผมเป็นชาวพุทธคนหนึ่ง ขอนมัสการด้วยความเคารพอย่างสูงครับ
สำหรับคำถามของท่านผู้นี้นั้น ปรารภหนังสือของท่านคึกฤทธิ์ ที่ท่านเคยไปพูดพุทธสมาคมใช่มั๊ย อันนั้นท่านไปพูดในหมู่ของผู้ทำงานทางด้านพุทธศาสนา ผมมองว่าท่านอาจจะไปพูดเป็นคล้ายๆว่าไปพูดในหมู่ผู้ทำงานทางพุทธศาสนาอยู่แล้ว ก็เลยไปเหน็บแนมหน่อย หรือว่าไปแกล้งว่า เพื่อจะให้หาทางตอบกันให้มันได้ผล ไปเป็นกระตุ้นอะไรทำนองนั้น ตัวท่านไปพูดที่อื่นท่านอาจจะไม่พูดอย่างนี้ก็ได้ แต่ยังไงก็ตาม ก็คือตัวปัญหาหนะเป็นเรื่องที่ยกมาพูดกันอยู่เรื่อย เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ว่าบ่นกันมากทำดีแล้วไม่เห็นได้ดี อันนี้ที่เค้าบอกว่าพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ไม่ถูก ความจริงก็พุทธศาสนาก็ไม่ได้สอนอย่างที่เค้าเข้าใจ แม้เค้าจะยกคำพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วมาก็ตาม แต่รายละเอียดของสิ่งที่อยู่เบื้องหลังของ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว รายละเอียดของคำสอนหนะ มันไม่เหมือนอย่างที่เขาเข้าใจ เพราะฉะนั้นจะบอกว่า ที่พุทธศาสนาสอนไม่ถูก นี่เค้าก็ยังไม่ได้เข้าใจว่าพุทธศาสนาสอนว่ายังไง แล้วก็บอกว่าถ้าหากว่าตอบคำถามนี้ไม่ได้ พุทธศาสนาก็จะเสื่อม มันก็เสื่อมไปด้วยกันหนะ สังคมก็เสื่อมใช่มั๊ย เมื่อสังคมเสื่อม คนมันก็ไม่เอากับพุทธศาสนา มันก็ไม่เอากับความดี ก็เป็นธรรมดา แต่ว่าไอ้ตัวผลร้ายก็ตกแก่สังคมเอง ว่าไปแล้วก็คือสังคมเสื่อมมากกว่า ทีนี้มาที่ตัวประเด็นเลยตัวคำถามเรื่อง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี มันมีข้อพิจารณาอยู่ 2 อย่าง คือเรื่องของการมองแคบ คนที่มองผลที่ทำมันไม่ดีอย่างที่ทำเหตุ อันนี้ก็เรียกอีกอย่างที่ว่ามองแคบ 2 ด้าน 1. ก็คือมองแคบในด้านความต้องการ หรือมองแคบในด้านผลที่ต้องการ 2. ก็มองแคบในแง่หลักการ ไม่กว้างพอ นี้เมื่อมองแคบแล้วมันก็ทำให้การพิจารณานี้มันผิดพลาดได้ มาดูเอาที่ความต้องการก่อน จะเห็นว่าคนนี้เค้าต้องการผลที่เกิดกับตนเองเท่านั้นเอง ไม่ได้มองดูว่าไอ้การทำความดีนั้นมันมีผลเกิดขึ้นมายังไงอีกบ้าง ก็เอาแต่ฉันได้ ฉันไม่ได้ เมื่อฉันไม่ได้ ฉันก็ไม่พอใจ จบ ทีนี้คนที่ใจจะมองความจริงนั้น มันต้องมองกว้าง มองให้ทั่วถึงทุกอย่าง เมื่อมองเอาแค่ตัวเองได้ มันไม่ได้อย่างนั้น ก็ไม่พอใจ เหมือนอย่างท่านที่เคยถามคราวก่อนที่บอกว่าทำธุรกิจ โดยเฉพาะในยุคนี้ เค้าเอาเปรียบกัน แล้วเรามัวแต่ทำดี ไม่เอาเปรียบ ไม่ทำในทางที่ผิดพลาด เราก็แย่อะไรนี้ ถ้าเราจะมุ่งความดีงาม เราก็ เห็นได้ว่านี้มองในแง่หลักการด้วยมันโยงเข้ามา แต่เดี๋ยวค่อยพูด คือคนกับสังคมเนี่ยมันอยู่ด้วยกัน ที่เราบอกว่าไม่ได้ดี ไม่ได้ผลดี ก็คือไม่ได้ดีในสังคมอย่างนี้ เพราะว่าสังคมอย่างนี้ มันไม่ต้องการความดีแบบนี้ ทีนี้เมื่อเราอยู่ในสังคมอย่างนี้ ถ้าเราต้องการแต่ผลที่ดีกับตนเอง เหมือนอย่างที่คนอื่นต้องการก็เท่ากับซ้ำเติมสังคม สังคมนี้มันก็จะทรุดลงไปเรื่อยๆ ใช่มั๊ย ทีนี้ถ้ามองให้ถูก เราก็มองว่าสังคมนี่มันแย่ มันมีความเสื่อม คนนี่เอารัดเอาเปรียบ ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นสังคมจะเสื่อมโทรมลงไป เราจะให้สังคมนี้ดี ถ้ามองความต้องการให้กว้าง ไม่ต้องการเฉพาะผลที่ตัวได้ เราต้องมองว่าหน้าที่ของมนุษย์ไม่ใช่เฉพาะจะหาอะไรให้แก่ตัวเองเท่านั้น จะต้องมองว่าจะทำสังคมอะไรทุกอย่างให้มันดีด้วย เพราะฉะนั้นถ้าขืนคนเอารัดเอาเปรียบกันอยู่อย่างนี้ เขาก็ได้ผลประโยชน์ของตัวเองจริง แต่สังคมจะเสื่อมลงไปทุกที แล้วผลร้ายเมื่อสังคมมันเสื่อม มันก็ตกมาถึงคนนั่นเองระยะยาว ฉะนั้นเรามองความต้องการให้กว้างออกไป มีความต้องการที่กว้าง ก็ต้องการไม่ใช่เฉพาะต้องการผลได้กับตัวเองคนเดียว ต้องมองผลที่ต้องการหรือต้องการผลดีต่อสังคม ต่อส่วนรวม ต่อชีวิตมนุษย์ทั้งหมดด้วย พอเรามองอย่างนั้นแล้ว มันจะพิจารณาเรื่องนี้ได้ดีขึ้น เราจะไม่มัวมองว่า เออเราได้หรือไม่ได้ละ ถ้าเราใจกว้างขึ้น เราจะ เอาละเราต้องยอมเสียบ้าง เพื่อจะช่วยให้สังคมนี้มันดี เพื่อความดีงามร่วมกัน ก็ต้องพยายามไปแก้ไขปัญหาที่มันนำมาสู่ความเสื่อมโทรมของสังคม เมื่อสังคมมันเสื่อมก็เป็นธรรมดา ก็สังคมมันเสื่อม แล้วคนทำดีจะได้ผลประโยชน์ที่ต้องการได้ยังไง มันก็เป็นธรรมดา ไม่งั้นมันจะเรียกว่าเสื่อมเหรอ ไอ้ที่มันเสื่อมก็เพราะคนที่ทำดี มันควรจะได้ผลอย่างนี้มันก็ไม่ได้ ไอ้คนที่มันร้ายมันกลับได้ ก็นี่แหละมันถึงเรียกว่าเสื่อม ก็ต้องมองกว้างออกไป แล้วก็คิดจะแก้ไข เมื่อคิดจะแก้ไขสังคมส่วนรวมอย่างนั้นแล้ว เราก็ไม่มัวแต่คำนึงถึงผลที่ได้แก่ตัวเอง ก็คิดถึงว่าจะแก้ไขปัญหายังไง เราจะต้องยอมเสียสละยังไง เราจะอยู่ได้ดี เอาบางทีก็ต้องพออยู่ได้ แต่ว่าต้องมุ่งไปที่การแก้ไขตัวสังคมนี้ให้ดี เพราะว่าเมื่อสังคมมันร้าย แล้วคนที่ดีก็ย่อมไม่ได้รับการยกย่อง สังคมที่มันไม่ดี มันก็นิยมสิ่งไม่ดี มันก็ไปเชิดชูไอ้เรื่องที่ไม่ดี แม้แต่หลักทางพุทธศาสนาก็บอกว่า เมื่ออธรรมวาทีรุ่งเรือง มีกำลังมาก พวกธรรมวาทีก็หมดเสียงว่างั้น หมดเสียงก็พูดไม่ออกว่างั้น ทีนี้หน้าที่ของเราก็คือต้องพยายามสร้างความดี ให้คนนิยมความดี เมื่อคนนิยมความดีแล้ว พูดสิ่งที่ดีงาม นิยมสิ่งที่ดีงาม พวกธรรมวาทีก็มีกำลังขึ้น พวกอธรรมวาทีก็หมดเสียงท่านว่าอย่างนั้น ท่านก็ว่าไปตามตรงละ คือไม่ใช่มองเฉพาะผลประโยชน์ของตัว ต้องมองผลประโยชน์ส่วนรวมสังคมไปด้วย ไอ้ 2 อย่างนี้มันสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน เมื่อผลร้ายมันมีในสังคม สังคมมันเสื่อม มันก็ส่งผลร้ายมาที่ตัวบุคคล ฉะนั้นเราจึงไม่ใช่ติดอยู่แค่มองความต้องการตัวเองเท่านั้น นี่คือเรื่องมองกว้างมองแคบ นี้ถ้ามองกันอย่างนี้ ก็ไม่มีทางก็อยู่กันแค่นี้ ได้แต่ร้องทุกข์ บ่นกันไป เมื่อไหร่ทำดีจะได้ดี ก็แกไม่พยายามแก้ไขสังคมให้มันดี แล้วแกจะไปทำดี แล้วได้ผลดีอย่างที่แกต้องการได้ยังไงเล่า มันก็ต้องไปช่วยกันแก้ไขปัญหาสังคมด้วย เพราะว่ามันเป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน คนกับสังคม ไม่งั้นพระพุทธเจ้าจะต้องมามัวสอนอยู่ทำไมว่า ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง บูชาคนที่ควรบูชา คือบูชายกย่องคนดีแล้ว นี่แหละเป็นอุดมมงคล ก็ท่านก็เห็นแล้วว่าไอ้เรื่องร้ายมันมีอยู่ เมื่อสังคมบูชายกย่องคนที่เอาแต่เรื่องของทรัพย์ เรื่องอำนาจอะไรเป็นต้นใช่มั๊ย สังคมมันก็เสื่อม แล้วคนทำความดีมันก็ตกต่ำ เพราะเขาจะไม่เชิดชู เพราะเขาเชิดชูคนมีทรัพย์ มีอะไรเป็นต้น ฉนั้นท่านถึงได้ย้ำบอกว่าบูชาคือยกย่องคนที่ควรบูชา คนที่ทำความดี เมื่อสังคมยกย่องเชิดชูคนดี แนวทางวิถีของสังคมมันก็ไปดี ไอ้คนทำความดีก็ได้รับผลที่ดี นี่ก็มองกว้างว่าเราอย่าต้องการเพียงผลประโยชน์ตอบแทนแก่ตัวเองเท่านั้น ต้องมองผลที่เกิดขึ้นแก่สังคมกับส่วนรวมซึ่งมันมีผลกลับมาถึงบุคคลแต่ละคนอีกทีด้วย แต่ว่าไอ้ที่ว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วหนะ มันก็ตรงไปตรงมานั่นแหละ ก็เว้นแต่ว่าเราจะมองกี่ขั้นเท่านั้นแหละ มองปัจจัยแค่ตัวเอง หรือมองปัจจัยแล้วก็การให้ผลในระดับที่กว้างออกไปทั้งสังคมใช่มั๊ย ทีนี้ถ้ามองตามความจริง มันมองจำกัดแค่ขอบเขตใดไม่ได้ มันต้องมองตลอด มองทั้งระดับบุคคล ทั้งระดับสังคม ทั้งตลอดกระบวนการที่ผลมันส่งกลับไปกลับมา ผลจากบุคคลส่งไปถึงสังคม สังคมมีผลเกิดขึ้นแล้วส่งผลกลับมาสู่บุคคล ก็เป็นปัจจัยแก่กันและกัน แต่ไอ้ตัวหลักการมันก็ตรงไปตรงมาอยู่ ทำดีได้ดี ก็ได้ดีสิ ทำชั่วก็ได้ชั่ว กินน้ำก็ได้น้ำ กินข้าวก็ได้ข้าว ก็ว่าตรงไปตรงมา ไม่ได้ว่าอะไร ติดแต่ว่าจะตีความให้ดีว่ายังไงอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าเราอย่าไปติดอยู่แค่นี้ ต้องมองให้ตลอด จากไอ้เรื่องความต้องการมันก็เลยโยงมาถึงหลักการ ที่ว่าเค้ามองหลักการแคบด้วย ไม่ใช่มองเฉพาะความต้องการแคบ มองหลักการ เค้าก็มองแคบ ไอ้เรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็คือหลักกรรม หลักกรรมนี้ เขาก็มองไม่ทั่ว หนึ่งละ สองแล้วก็มองแค่กรรม มองแค่กรรมก็กว้างไม่พออีก เพราะกรรมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกฎธรรมชาติใหญ่ทั้งหมด กฎธรรมชาติใหญ่ทั้งหมดคือธรรมใช่มั๊ย กรรมเป็นส่วนหนึ่งของธรรมเท่านั้น จะมองอยู่แค่กรรมไม่ได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้หลายแห่ง บอกว่าใครเชื่อว่าอะไรต่ออะไรก็เป็นเพราะกรรมทั้งนั้น นี่คนนั้นผิดว่างั้นนะ ทุกอย่างไปเชื่อว่าทุกอย่างเป็นเพราะกรรมหมด ก็กฎธรรมชาติมันมีหลายกฎ คือเหตุปัจจัยนั่นแหละ ถ้าพูดให้กว้าง กรรมนั้นเป็นเหตุปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้น เวลาเราพูดว่าเหตุปัจจัยมันคลุมหมด คลุมกว่ากรรม กรรมนี่เป็นส่วนหนึ่งของเหตุปัจจัย กรรมก็คือเหตุปัจจัยในส่วนที่เกี่ยวกับเจตจำนงค์ของมนุษย์ เจตนาใช่มั๊ย นี่คือกรรม ไอ้ตัวเจตนาเนี่ยออกมาสู่การกระทำ เป็นคิด พูด ทำ อันนี้แหละเป็นเหตุปัจจัยในส่วนที่เกี่ยวกับมนุษย์ ทีนี้เหตุปัจจัยอื่นมันมีอีก นอกเหนือจากที่อยู่ที่มนุษย์ เหตุปัจจัยในธรรมชาติแวดล้อม เหตุปัจจัยแม้แต่ที่คนที่พันธุกรรม เหตุปัจจัยด้านจิต ด้านอุตุ ด้านกรรม ด้านพีชะ ต้องพิจารณาให้หมด นี่เค้ามองแค่อย่างเดียว ก็มี 2 ประเด็น 1. มองกรรมก็มองแคบ ไม่ถึงกรรม ไม่ทั่วกรรม 2. แล้วก็มองแค่กรรม มันก็ไม่ครบเหตุปัจจัยทั้งหมด อย่างที่ว่ามองแม้แต่มองที่กรรม ก็มองไม่ทั่วถึงหลักกรรมทั้งหมด มองแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง แม้แต่กรรมก็มีเรื่องของเหตุปัจจัยที่เคยพูดไปแล้ว บอกว่าเราอาจจะพูดถึงกรรมคือการกระทำอันใดอันหนึ่งเป็นตัวเหตุ แล้วเราก็มองว่าไอ้กรรมตัวเหตุนั้นทำให้เกิดผล ทำเหตุดี ทำกรรมดี แล้วต้องได้ผลดี เคยพูดไปแล้วนะ ว่าผลดีที่ต้องการคืออะไร อันนี้ก็ไปสัมพันธ์กับต้องการเมื่อกี้ ผลดีที่เค้าพูดถึงเนี่ยเราวิเคราะห์ได้เลยว่าเค้าต้องการผลดีอะไร เค้าต้องการผลดีคือได้เงิน เค้าต้องการผลดีคือคนยกย่องสรรเสริญ เค้าต้องการผลดีคือการช่วยมาแก้ปัญหาสังคม เค้าต้องการผลดีคือจิตใจเค้าสบายมีความสุข ได้ชื่นชม มีปีติในชีวิตที่ดีงาม เค้าทำดีต้องการผลไปสวรรค์ เค้าต้องการผลไหน เมื่อต้องการผลแล้วก็มาพิจารณาว่าไอ้เหตุดีตัวนี้ เมื่อจะนำมาสู่ผลที่ต้องการ ซึ่งกลายเป็นว่าไอ้ผลดีที่ไม่เหมือนกันแล้วใช่มั๊ย กรรมดีอันเดียวกัน ผลดีที่ต้องการ คนนี้ต้องการแค่ให้ชีวิตของตัวพัฒนาเจริญงอกงามแล้วจิตใจตัวเองก็ดีมีความสุข แล้วอีกคนต้องการผลดีที่ว่าคนชื่นชมสรรเสริญ อีกคนหนึ่งต้องการผลดีได้ผลตอบแทนอะไรต่ออะไรเนี่ย แสดงว่าไอ้ผลดีที่ต้องการไม่เท่ากัน เราไม่ต้องไปวิเคราะห์ว่าไอ้ผลดีนี้ดีหรือไม่ดี เอาเป็นว่าเรายอมรับว่านี่เป็นผลดีที่เค้าต้องการ นี้ตามหลักเหตุปัจจัยก็คือเมื่อเหตุจะก่อให้เกิดผล ต้องมีปัจจัยพร้อมด้วย ก็ต้องดูว่าไอ้ผลที่ต้องการอันนี้ มันจะต้องมีปัจจัยอะไรมาประกอบถึงจะได้ผลอันนี้ แล้วตัวเองต้องทำให้ครบ ถ้าการทำดีอันนี้ กรรมดีอันนี้จะทำให้ตัวได้รับผล คือยกย่องสรรเสริญ ต้องมองด้วยว่า เออ แล้วทำกรรมดีอันนี้อันเดียวกันนี้แล้ว เราต้องมีปัจจัยอะไรจึงจะทำให้คนสรรเสริญ แล้วเราทำหรือยังปัจจัยนั้นใช่มั๊ย นี่สิมันถึงจะใช้ปัญญาถูกต้องจริง จึงจะพิจารณาบทหลักของกรรม หรือว่ากฎแห่งกรรมนี่ได้ครบถ้วน ไม่ใช่ไปมองแค่เหตุเดียวแล้วก็ผลเดียวไปเลย ท่านเรียกว่า ลัทธิเอกการณวาท ไม่ใช่พุทธศาสนาที่บอกว่าคนนี้เขาเข้าใจ ที่เขาเข้าใจก็ไม่ใช่พุทธศาสนา ก็เพราะอย่างนี้ เพราะว่ามันไม่ถูก ทีนี้คนนี้ต้องการเงิน ผลตอบแทนจากการกระทำอันนี้ การกระทำดีอันนี้จะต้องอาศัยปัจจัยอะไรอีกบ้าง จึงจะทำให้ผลกลับมาเป็นเงินทอง เขาก็ต้องทำให้ครบตามนั้นใช่มั๊ยฮะ อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็น ปรัชญาการกุศโล ผู้ฉลาดในปรัชญาการ ต้องมีความฉลาด มีปัญญา รู้เข้าใจถึงกระบวนการของเหตุปัจจัยให้เพียงพอ ไม่งั้นมันก็ได้อยู่แค่นี้ ฉันทำดีไปแล้ว แล้วก็รอไม่เห็นได้ผล แล้วก็มาคร่ำครวญ ไม่เคยมาวิเคราะห์พินิจพิจารณาใช้ปัญญาว่า เออ เหตุมันยังงี้ มีปัจจัยอะไรประกอบ จะได้ผลงี้ เราทำทั่วถึงมั๊ย แล้วมันจะทำให้เราพัฒนา ปัญญาก็พัฒนา การกระทำกรรมของเราก็พัฒนาดีขึ้น มันก็อยู่ที่ว่าเราจะเอาผลแค่ไหนใช่มั๊ยฮะ ถ้าท่านที่ต้องการผลตอบแทนเป็นเงิน มันก็ต้องเอาปัจจัยอย่างหนึ่ง ถ้าต้องการเสียงสรรเสริญ ก็ต้องทำปัจจัยตัวนั้นขึ้นมา จากการกระทำเดียวกันนั้นนะ ต้องเอาปัจจัยตัวอื่นเข้ามาเสริม แล้วท่านที่ต้องการแก้ไขปัญหาสังคม อันนี้ก็ทำปัจจัยในด้านนั้นมาช่วย ไม่งั้นไม่สำเร็จ ถูกขัดขวางใช่มั๊ยฮะ แต่บางอย่างปัจจัยเรารอไม่ได้ เราก็ต้องยอมให้ถูกขัดขวางบ้าง แต่ว่าพยายามให้มันถูกขัดขวางมีอุปสรรคน้อยที่สุด แล้วก็ไม่ต้องไปหวังเสียงสรรเสริญเป็นต้นใช่มั๊ย ถ้าต้องการเพียงว่าพัฒนาชีวิตจิตใจตัวเอง อันนี้ก็ต้องการปัจจัยอื่นน้อยใช่มั๊ยฮะ ก็ต้องการแต่ปัจจัยภายในในทางที่ เช่นมีปัญญา ทำเพื่อให้พัฒนาชีวิตของตัวเองดีขึ้น อย่างนี้ท่านเรียกว่าฉลาดในเรื่องกระบวนการของปัจจัย แล้วการกระทำกรรมนั้น มันจึงได้ผล ถ้าหากว่าเราปฏิบัติตามหลักกรรมด้วยความฉลาดใช้ปัญญา ตามหลักเหตุปัจจัยอย่างนี้แล้วเนี่ย มันก็จะทำให้เราพัฒนาตัวเอง การปฏิบัติต่อกรรมที่ถูกต้อง ต้องทำให้คนพัฒนาขึ้นมา มีปัญญาดีขึ้น แล้วทำกรรมนั้นได้ผลสมความปรารถนามากขึ้น แต่ว่าก็ต้องพัฒนาความปรารถนาหรือความต้องการของเราด้วยนะ ไม่งั้นมันก็ต้องการแต่เรื่องของผลตอบแทน หรือผลของกรรมดีที่สนองความโลภอะไรของตัวเป็นต้นเท่านั้นเอง ตัวเองก็ไม่พัฒนาเท่าไหร่ ฉะนั้นกรรมที่ดีมันต้องพัฒนาหมด พัฒนาชีวิตจิตใจอะไรต่ออะไรไปด้วย นี่ก็แค่เรื่องกรรมก็มองไม่ทั่วละ นี่ก็อย่างที่ว่าเมื่อกี้ว่า กรรมนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุปัจจัยทั้งหมด พอมองไปที่เหตุปัจจัยทั้งหมด เราก็จะเห็นได้ถึงเหตุปัจจัยที่กว้างออกไป จากเรื่องของตัวบุคคลตัวเราออกไปสู่ เช่นสังคม ธรรมชาติแวดล้อมอะไรทั้งหมด อย่างมนุษย์นี่ ตีโพยตีพายกันว่า ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วกลับได้ดีอะไรเนี่ย ก็ไม่ได้มองผลที่เกิดขึ้นแก่สังคมที่ว่า เช่น ทำให้สังคมเสื่อม ก็มองแค่ผลที่ตัวต้องการอยากได้ แล้วต่อไปก็ผลต่อระบบของธรรมชาติ ระบบของโลกหมดใช่มั๊ยฮะ มองมั๊ย ฉะนั้นไอ้เหตุปัจจัยแม้จะเป็นด้านกรรม เวลามันส่งผลออกไป มันไปสัมพันธ์กับเหตุปัจจัยด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อมในกฎธรรมชาติอีก แล้วในที่สุดมันก็ส่งผลไปหมดเลย ไม่เฉพาะชีวิตคน ไม่เฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่มันออกไปสู่สังคม แล้วก็ออกไปสู่ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ระบบทั้งหมดเลย ไม่งั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเกิดยังไงใช่มั๊ย มันก็มาจากอันนี้ มันก็ มนุษย์แล้วแต่จะมองแคบหรือมองกว้างแค่ไหน แต่ก่อนมนุษย์มองแคบก็มองแค่ตัวเองก็ได้ ต่อมามองกว้างไปหน่อยก็มองได้ถึงสังคม ก็นึกว่ามนุษย์อยู่กันดีแล้ว ได้ผลประโยชน์ เสร็จแล้วอีกตั้งนานจึงได้เห็นว่า ระบบธรรมชาติมันเสีย แล้วก็ตอนนี้ก็เอาใจใส่ กว้างขึ้นอีกหน่อย ก็มองได้ทีละขีดแต่ละขั้น แล้วเสร็จแล้วก็ ตัวความเคยชินก็ยังอยู่อย่างเดิมแหละ ก็มองๆ แค่ผลที่ได้แก่ตนเองนั่นแหละ ไม่มองทั่วตลอด นี้คนที่มีปัญญาจริงจะทำอะไรก็ต้องมองหมดเลย มองผลที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของตน มองผลที่เกิดขึ้นแก่สังคม ชุมชน อะไรทั้ง มองออกไปถึงโลกทั้งหมดเลย ฉะนั้นก็ต้องทำให้ทั้งระบบนี่มันดี การกระทำที่ดีที่แท้เนี่ย ประกอบด้วยปัญญา เมื่อทำไปแล้วนี่มันจะเสริมระบบทั้งหมด ทั้งโลกที่รวมทั้งสังคม ทั้งชีวิตเราเนี่ย่ให้มันดี แล้วมันอยู่ด้วยกัน มันผสานกลมกลืนก็หมดปัญหาไป ก็ต้องมองให้กว้างอย่างนี้ ถ้ามองแค่อย่างนี้ ก็มองกันแบบที่เป็น ไม่ไปไหนเลย มองแค่ตัวจะได้หรือไม่ได้ ตัวจะได้หรือไม่ได้ใช่มั๊ย แล้วมันจะไปพัฒนาอะไร พุทธศาสนาท่านต้องการให้มองทุกระดับ ทุกขั้น ไม่ได้ปฏิเสธการมองผลที่ได้แก่ตนเอง แต่อย่าลืมว่าการมองผลที่ได้แก่ตนเอง ก็ต้องมีการพัฒนาความต้องการ ไม่ใช่ต้องการอยู่แค่วัตถุ ผลประโยชน์ ลาภเท่านั้น ต้องมองถึงเรื่องของด้าน อ้าว ชีวิตของเราพัฒนาขึ้นมั๊ย เราพัฒนาการกระทำของเราให้มันประณีตดีขึ้นมั๊ย พัฒนาชีวิต พัฒนาจิตใจของเราให้ดีขึ้นมั๊ย พัฒนาปัญญาของเราให้ดีขึ้นหรือไม่ ไม่ใช่ไปอยู่แค่ติดผลประโยชน์อย่างเดียว แล้วก็ตัวเองความจริงก็คือ ได้รับผลร้ายด้วยนะ เพราะว่าเวลาทำกรรมอย่างนั้นนะ แล้วตัวต้องการผลประโยชน์แก่ตัวเอง มันอาจจะไปโลภมากๆ ไอ้โลภมากๆ มันก็เป็นอกุศลด้วยนะใช่มั๊ย แล้วมันก็ทำให้จิตใจของตัวเองเสื่อมลงไปอีก แล้วตัวเองก็ได้รับผลร้ายนั่นแหละ จิตใจมันเสื่อมลงไป ตัวเองก็ไปมองผลดีเฉพาะได้ผลประโยชน์นั้น ได้ลาภนั้นหรือไม่ แล้วบอกว่ามันไม่ได้ก็ไม่ได้รับผลดี แต่ตัวเองเพราะโลภนั่นแหละ กำลังทำอกุศลกรรมอีกอันหนึ่ง ไอ้จิตใจของตัวเองก็เสื่อมโทรมลงไป ก็ไม่ได้รู้ว่า พร้อมกับที่ได้ผลดีอย่างหนึ่งที่มอง อีกด้านหนึ่งที่ตัวมองไม่เห็นก็ได้รับผลร้าย ความจริงมันไม่ได้ทำอย่างเดียวด้วยซ้ำ ตัวเองไปมองกรรมอันเดียว กรรมดีอันหนึ่งที่ตัวจ้องแล้วไปสัมพันธ์กับผลที่จะเอา แต่ไม่ได้มองว่าขณะที่ทำมันทำหลายอย่าง ทำดีบ้าง ชั่วบ้าง ปนปนกัน ลองไปวิเคราะห์สิ ในขณะที่บอกว่าทำกรรมดี ไอ้ตัวเองหนะใจโลภต้องการผลตอบแทน ในขณะที่ทำกรรมดีก็ทำกรรมชั่วด้วยใช่มั๊ย เพราะจิตเป็นอกุศลใช่มั๊ย ก็เลยกลายเป็นว่าทำกรรมดี ไอ้ตัวนั้นคือตัวที่ตัวจ้องอยู่ แต่ว่าไอ้ตัวที่ไม่ได้มองไม่รู้ตัวก็คือ จิตของตัวโลภ ก็คิดเป็นเจตนาที่เป็นอกุศล เป็นอกุศลมโนกรรม มโนกรรมคือความคิดใช่มั๊ย ที่เป็นอกุศลประกอบด้วยความโลภ ก็ทำกรรมที่เป็นอกุศลพร้อมกันไปนั่นแหละ ก็ทีนี้นำมาสู่ความเสื่อม ตัวเองก็ได้รับผลร้ายไป ฉะนั้นต้องพัฒนาแม้แต่การมอง ไม่ใช่มองติดอยู่แค่อันเดียวอันเดียว ไม่ไปไหน ถ้าอย่างนี้ไม่ช้ามนุษย์เป็นอย่างนี้กันหมด พอเป็นหลายๆคนสังคมก็เสื่อม พอสังคมก็เสื่อม ตกลงมนุษย์ที่จะทำความดีก็ต้องต่ำต้อย หรือไม่งั้นก็ต้องหลบมุม ต้องเลือนรางไปใช่มั๊ย ก็คนร้ายก็มีอำนาจมีกำลังขึ้นมา แต่กำลังอำนาจของคนพาลก็ในที่สุดก็คือทำร้ายสังคม ในที่สุดสังคมก็เสื่อมไปเอง แล้วมันก็พินาศไปด้วยกัน มองให้มันกว้างมันไกลให้มันทั่วหน่อย เอาแค่นี้ก่อนท่านว่ายังไง ก็ตกลงว่าที่พูดเนี่ยเราต้องว่าไม่เฉพาะท่านที่ถาม ก็คือทั่วไปคนมักจะมองอย่างนี้ มองแคบแค่ความต้องการ ผลแก่ตัวเอง แล้วก็มองหลักการก็แคบ เหตุปัจจัยแค่ส่วนหนึ่งของกรรม แค่เหตุเดียวผลเดียวนั่นแหละ แม้แต่กรรมก็มองไม่ทั่วถึง ไม่ต้องพูดถึงระบบเหตุปัจจัยทั้งหมด
ครับ แล้วที่เค้าอ้างมาที่พระให้พรว่ามี ศีล 5 แล้วได้สตางค์นี่มีจริงเหรอครับ ถ้ามีนี่ต้องเลิกได้แล้วนะครับ
คืออันนี้ ศีล 5 ความจริงเรียกว่าอะไรครับ สิกขาบท สิกขาบทก็แปลว่าข้อฝึกใช่มั๊ย ก็คือว่ามาฝึกตัวเราให้มีพฤติกรรมดีงามขึ้น แล้วก็ให้อยู่ในระบบชีวิตที่มีจิตใจ ปัญญา พัฒนาขึ้นไป นี่ก็เมื่อเราปฏิบัติตามสิกขาบท เราก็เป็นผู้มีศีล ศีลจะเกิดต่อเมื่อปฏิบัติตามสิกขาบท จึงได้ย้ำบ่อยๆไง เคยอ่านแล้วใช่มั๊ย ฟังแล้วที่บอกว่า ญาติโยมขอศีล พระให้สิกขาบท พระบอกว่า ชั้นให้ศีลไม่ได้ ศีลใครทำคนนั้นก็ได้เองใช่มั๊ย คุณเอาสิกขาบทนี่ไปปฏิบัติ แล้วคุณก็เป็นผู้มีศีลเอง นี้ถ้าทุกคนเนี่ยมีศีล มีความสุจริต ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่ล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์กัน สังคมมันก็มีโอกาสที่จะเจริญงอกงาม มีความมั่นคงในการที่จะพัฒนาแม้แต่โภคทรัพย์ใช่มั๊ย อันนี้ก็มองกว้างสิ สีเลนะ โภคะสัมปะทา ไม่งั้นคนมองเอาตัวคนเดียว มักจะเป็นอย่างนั้นใช่เปล่า มองเอาผลที่เกิดกับตัวเอง แล้วมองแค่ผลเป็นผลประโยชน์ ไม่ได้มองประโยชน์ที่แท้แก่ชีวิต ก็ สีเลนะ ที่ท่าน??? สีเลนะ สุคะติง ยันติ ไปสุขคติด้วยศีล สีเลนะ โภคะสัมปะทา ด้วยศีลก็จะทำให้มีความถึงพร้อมแห่งโภคะ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ แปลว่าด้วยศีลก็ไปสู่นิพพาน นี่แหละข้อนิพพานนี่จะเห็นชัด บอกด้วยศีลไปนิพพาน ถ้าเรามองแคบ ก็บอกโอย ฉันประพฤติศีล แล้วฉันก็นิพพานได้ นิพพานได้มั๊ยฮะ ไม่มีทางเลยศีลอย่างเดียวจะไปนิพพานได้ยังไง แต่หมายความว่าเป็นตัวปัจจัย เริ่มต้นพื้นฐานเลยใช่มั๊ย เป็นปัจจัยพื้นฐาน ถ้าไม่มีศีลแล้วการปฏิบัติที่จะพัฒนาสูงขึ้นไปในทางจิตใจ ปัญญา มันจะไปไม่ได้ นั้นท่านก็บอกว่าด้วยศีลเนี่ย มองไกลออกไปก็ไปถึงนิพพานนะ แต่คุณต้องทำอื่นอีกมีแต่ศีลอย่างเดียวไปไม่ได้ ถือว่าบริสุทธิ์ได้ด้วยศีล เป็นถึงนิพพานได้ด้วยศีลอย่างเดียวก็เป็น สีลัพพต ปรามาส ก็ด้วยศีลแล้วเราก็จะมีโอกาสก้าวไปสู่การพัฒนาจิตใจปัญญา แล้วเราจะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เราพัฒนาตัวเองปฏิบัติธรรมอะไรต่ออะไรก็ได้ นี่ก็ด้วยจุดเริ่มจากศีลมันก็เหมือนกับท่านพูดให้เห็นเป็นช่วงช่วงๆ ไกลอออกไป แต่ว่าท่านเอา สุคะติง ก่อน ด้วยศีลไปสุขคติ ด้วยศีลทำให้เกิดความถึงพร้อมแห่งโภคะ ด้วยศีลก็ทำให้ไปนิพพานได้ แต่ทั้งนี้ก็มีปัจจัยเงื่อนไขประกอบอื่นอีกหลายอย่างนะ แต่ว่ามันก็มีตัวนี้ด้วยนะ ถ้าไม่มีตัวนี้มันไปไม่ได้ ถ้าสังคมนี้ขาดศีลซะ อย่างที่บอกเมื่อกี้ ฆ่ากันตลอดเวลา จะไปไหนเดินไปไหนไม่มีความปลอดภัยเลย ทำธุรกิจก็ไม่ได้แล้วใช่มั๊ย ก่อการร้ายระเบิดตู้ม ระเบิดตู้มที่นี่หละก็ แล้วก็ละเมิดกรรมสิทธิ์ ลักของขโมยของ แย่งชิงกัน จนกระทั่งไม่มีความปลอดภัยเลย ทำอาชีพอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น ในที่สุดบ้านเมืองก็แย่ โภคะก็พินาศหมด ต้องกู้หนี้อย่างเดียว หรือต้องอาศัยความช่วยเหลือประเทศใหญ่อย่างเดียวใช่มั๊ย นั่นก็ต้องสร้างความมั่นคง ศีลก็เป็นตัวสร้างความมั่นคง ทำให้เกิด Social Security ใช่มั๊ย ถ้าไม่มีศีลแล้ว Social Security ก็ไม่เกิด Social Security ไม่มีแล้ว ประเทศชาติก็ไม่มี Security พอประเทศชาติสังคมไม่มี Security ประชาชนแต่ละคนก็ขาด Security ขาดความมั่นคง กิจการงานต่างๆก็แย่ไปหมด ในที่สุดก็ยับเยินเหมือนกับประเทศที่เกิดสงคราม ฉะนั้นตกลงว่าพุทธศาสนาท่านสอนให้มองระบบเหตุปัจจัยกว้างตลอด แล้วก็อย่างที่เรามาแบ่งกันเนี่ยต้องให้ครบ คือ สีเลนะ โภคะสัมปะทา ด้วยศีลก็ทำโภคะให้ถึงพร้อม อันนี้มันเป็นการมองกว้างๆนะ คือมันมองได้หลายระดับ ที่ว่าถ้าคนมันไม่มีศีล มันแย่งกันมันทำร้ายกัน มันลักขโมยกันอยู่อย่างนี้ ไอ้โภคะไปไม่รอด พังพินาศหมด ก็จะให้โภคะมันถึงพร้อม อ้าว มันก็ต้องมีศีล แต่ว่าท่านบอกด้วยนะ ท่านไม่ได้บอกปัจจัยเดียว เวลาท่านอธิบายท่านบอกต้องมีความไม่ประมาทด้วย ถ้าประมาทอยู่ ถึงแม้มีศีล มันก็โภคะมันก็ไม่เกิด คือที่บอกเมื่อกี้ไง อย่ามองเหตุเดียวผลเดียว ไอ้ตัวเหตุนี่คือตัวตรง แล้วมันมีตัวปัจจัยอะไรบ้างต้องทำให้พร้อม ก็หมายความ มีศีลแล้วก็ต้องทำปัจจัยอื่นๆ ที่จะทำให้โภคะเกิดขึ้นใช่มั๊ย ทีนี้ว่าต่อจากนั้นมันก็สัมพัทธ์ละ การที่จะมีศีลแต่ละบุคคลแล้วจะได้ทรัพย์สมบัติหรือไม่ อันนี้มันก็อยู่ที่ว่าเราจะมีความเพียรแค่ไหนเป็นต้น บางคนไม่อยากจะเพียรพยายามมาก ไม่อยากจะขยันมาก แต่อยากรวยง่ายๆ ก็จะใช้วิธีหนึ่ง แต่คนที่อยากจะรวยก็อยากจะรวย แต่ต้องการทำให้ถูกต้อง คนนี้อาจจะต้องใช้ความเพียรมากถูกมั๊ยฮะ เออนี้ถ้าเขาขยันหมั่นเพียร แล้วนอกจากขยันหมั่นเพียร ขยันอย่างเดียวไม่พอนะ โง่ซะอีก ขยันทำไปเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จถูกมั๊ย เอ้อ ทีนี้ก็ทำอาชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร แล้วมีปัญญา แล้วอยู่ในความสุจริต เออมีทางได้ขึ้นใช่มั๊ยฮะ ท่านก็ให้ตั้งไอ้ตัวนี้ไว้ก่อน มันมีความสุจริต เราสุจริตอย่างเดียวไม่ใช่ว่าทรัพย์มันจะมาเลย เออ คุณปลูกมะม่วงไม่รู้ทางไปทางมาตลาดใช่มั๊ย ไอ้ราคามะม่วงมันตกก็แย่สิใช่มั๊ย มันก็ต้องมีปัญญาฉลาด ปัญญาฉลาดแล้วก็ทำให้ถูก เรื่องของการตลาดเป็นต้นใช่มั๊ย มันก็ต้องมีปัญญาอะไรต่ออะไรเข้ามาประกอบ เอาสุจริตเป็นฐานไว้ก่อน แล้วมันจะมีความหมายโยงไปเรื่องอื่นด้วย ถ้าเราทำด้วยปัญญา มีความขยันหมั่นเพียร แล้วมีสุจริตเป็นฐานเนี่ย เราโล่งเลยใช่มั๊ย ถ้าเราประสบความสำเร็จ แต่ถ้าไม่สุจริตมีปัญหา แม้จะมีปัญญา แม้จะมีความขยันหมั่นเพียรทำให้สำเร็จ แต่ว่าหลายคนนี่เอาปัญญาฉลาดเฉโก ที่ว่าโกง เสร็จแล้วก็ไม่ค่อยขยัน เอาทางลัดให้รวย เรารวยแล้วก็แล้วไปใช่มั๊ย นี่ก็มีอย่างนี้ อันนี้ก็เลยกลายเป็นทางมาของการเอารัดเอาเปรียบกัน ก็เบียดเบียนกัน แล้วเสร็จแล้วผลร้ายก็ตกแก่สังคม อย่างที่ว่ามันก็เป็นปัจจัยหนุนเนื่องซ้อนกันไปอีก อย่างที่ว่าสังคมมันก็เสื่อมใช่มั๊ย สังคมเสื่อมแล้วมันก็ส่งผลมาที่บุคคลแต่ละคนอีก อันนี้ก็คือต้องมองให้ตลอด ทั้งกว้าง ทั้งลึก ทั้งทั่ว ตลอดกว้างและตลอด ว่ายังไงหละครับ
ผมมานึกเล่นๆ คนที่เค้าตีความว่าถือศีล 5 แล้วได้ทรัพย์ เค้าก็ไม่รู้คิดอะไรอยู่ ถ้าเกิดว่าคนถือศีล 5 แล้วได้ทรัพย์ พระถือ 227 ข้อ รวยกว่านะครับ
ก็นั่นสิใช่ มันก็กลายเป็นอย่างงั้นไป เพราะพระภิกษุนี่ไม่ได้ต้องการโภคะ ที่เป็นทรัพย์ เป็นเงิน เป็นรูปธรรม โภคะของพระก็คือพรหมวิหาร แต่ว่าชาวบ้านก็ได้ด้วยนะ แต่ว่าชาวบ้านก็จะเอาโภคะที่เป็นไปตามความหมายพยัญชนะด้วย แล้วความหมายโดยอัตถะลึกซึ้งด้วย
ขออนุญาตย้อนกลับมาในเรื่องของการทำธุรกิจนิดหนึ่ง ในยุคปัจจุบันหรือตั้งแต่อดีตมาแล้วเนี่ยคือ แนวทางของการทำธุรกิจก็คือต้นทุนต่ำสุดเพื่อหวังกำไรสูงสุด แล้วในหลักของการทำธุรกิจแนวพุทธธรรมเนี่ย เราจะมีวิธีการอธิบายให้เค้าเข้าใจยังไงครับ ว่าบางครั้งกำไรสูงสุดก็น่าจะเป็นชีวิตที่ดีงามที่สุด
ก็ในสภาพสังคมอย่างนี้ กระแสของโลกโลกาภิวัตน์ หรือกระแสธุรกิจมันไปทางนั้น ทางทุนนิยมที่ค่อนข้างจะสุดโต่งนะ ก็คือว่ามุ่งกำไรสูงสุด โดยไม่คำนึงถึง เรื่องของเช่น คุณภาพชีวิต บางทีก็เพื่อตัวเองได้กำไรสูงสุด ก็ไม่คำนึงว่าจะเกิดผลเสียแก่เพื่อนมนุษย์อย่างไรใช่มั๊ย ทีนี้ว่าถึงอย่างไรในสังคมมนุษย์เนี่ย มันก็ยังมีการถ่วงดุลกันบ้าง จะถ่วงได้มากได้น้อย หมายความว่ามันก็แล้วแต่กำลังฝ่ายดี กำลังฝ่ายชั่ว อันไหนจะมาก มันไม่ถึงกับชั่วอย่างเดียว สังคมมนุษย์เนี่ยนะ เพราะถึงอย่างไรคนแม้แต่ชั่ว มันก็ยังชอบความดีอยู่ อยากให้คนอื่นทำดีต่อตัว แม้แต่โจรมันก็ยังอยากให้มีรัก ยังอยากให้มีอันนี้มาภักดีต่อตัว ไม่ทรยศต่อตัวเป็นต้น ถูกไม่ถูก ยังอยากให้ลูกน้องพูดจริงต่อตัวถูกมั๊ย หัวหน้าโจรก็ไม่อยากให้ลูกน้องโกหกตัว แสดงว่าแม้แต่โจรร้าย มันยังต้องการความดีใช่มั๊ย มันหนีไม่พ้นหรอก โลกนี้ถึงไงมันต้องการความดี แต่ทีนี้ไอ้ตัวสิมันอยากได้ผลประโยชน์ มันก็เลยไม่ยอมทำดี มันก็ไปเอารัดเอาเปรียบคนอื่นเป็นต้น ฉะนั้นก็จึงต้องมีคำสอนเลยว่าให้ อะไร เห็นอกเขาเห็นอกเรา อะไรเป็นต้นเนี่ย ก็เพื่อจะมาเตือนกันนั่นเอง ทีนี้มนุษย์นี่มันก็เลยเป็นอันว่าถึงยังไงมันยังต้องการความดีอยู่ เพราะฉะนั้นมันก็มีตัวนี้คอยถ่วงอยู่ ไม่ให้ถึงกับไปสุดโต่งเต็มที่ แต่ว่าแค่นี้เราก็ถือว่าสุดโต่งละ คือไอ้ตัวความดีนี่มันเหลือน้อย หรือมันไม่โผล่ให้ชัดออกมา เราต้องการให้ความดี ความต้องการความดีเนี่ยมันโผล่เด่นชัด นี้มันกลายเป็นว่า ถ้าไปถึงระดับนี้ก็คือ มันทิฐิของสังคมมันเสีย ทิฐิในแค่นี้ก็คือ เช่นค่านิยม ค่านิยมเนี่ยมันไปนิยมไอ้เรื่องของความเด่นความดัง เรื่องการมีทรัพย์สมบัติอะไรต่ออะไร การได้บริโภคมาก โดยไม่คำนึงถึงไอ้ตัวความดีงามเลยใช่มั๊ย ไอ้ความดีงามมันก็เลือนหาย มันก็ถูกบดบังไป ทั้งๆที่ว่าคนก็ยังต้องการอยู่ เวลาเค้าอยู่ เวลาเค้าว้าเหว่หงอยเหงา เค้าต้องการความดีนี่แหละใช่มั๊ย ทีนี้เราทำไงให้ตัวความดีนี้มันเด่นขึ้นมา นี้ในสังคมที่ว่าต้องการกำไรสูงสุดเนี่ย เมื่อคนนี้มันต้องการอย่างนี้มาก มันก็เบียดเบียนกันมาก แล้วก็ทำลายคุณภาพชีวิตส่วนรวมของสังคมลงไป แล้วสังคมมันก็เสื่อมสิใช่มั๊ย ก็อย่างง่ายๆ เช่นการแพทย์ ถ้าการแพทย์นี่มีแต่แพทย์ที่ต้องการกำไรสูงสุดอย่างเดียว เค้าก็ไม่คำนึงถึงชีวิตคนไข้และถูกมั๊ย คนไข้ก็แย่สิ แล้วก็เดือดร้อนกันไปตามๆกัน เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีทางถ่วง บางทีรัฐก็ต้องเข้ามาถ่วง บางทีรัฐก็อาจจะดำเนินนโยบายผิดก็มีใช่มั๊ย ก็ยังมีคนดี แพทย์ที่ดีเค้าก็มี เค้าก็ต้องพยายาม มันก็แล้วแต่ว่าใครจะมีกำลังมากกำลังน้อย ถ้าฝ่ายดีมันมีกำลังน้อย ฝ่ายชั่วมีกำลังมาก มันก็พาสังคมไปสู่ความเสื่อมมาก ถ้าดุลมันถ่วงไม่ไหว สังคมนั้นก็พินาศล่มจมไปเลย นี้สังคมไทยเราก็ไม่ได้ปลอดภัยนี่ ตอนนี้มันก็ไม่มีความมั่นคงแน่นอน ถ้าหากว่ากระแสไอ้กำไรสูงสุดนี่มันไปสุดโต่งเกินไป จนกระทั่งความดีเลือนลับหาย คนไม่มีความตระหนักถึงตัวความต้องการในความดีซะเลย ในที่สุดสังคมไทยก็จะล่มเหมือนกันใช่มั๊ย แล้วพอสังคมไทยล่ม ไอ้คนที่อยากได้ผลประโยชน์นั่นแหละ ทำชั่วมันก็ไม่ได้ผลประโยชน์หรอก มันแย่ไปด้วยกัน ฉะนั้นก็ต้องมองอย่างนี้ด้วย เพราะฉะนั้นพอพิจารณาไปถึงขั้นหนึ่ง พอมีปัญญาไปแล้ว คนเค้าก็ไม่มาติดใจกับเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนมากนักแหละ นี่ก็มองในแง่ว่า เอ๊ะทำไงเราจะให้สังคมดี ทำให้ชีวิตมนุษย์ดีขึ้น ตอนนี้แหละเขาจะไม่ห่วงเรื่องผลประโยชน์ตัวเองมากนัก เขาจะทำ โอ้ ให้ทำความดีเพื่อผลดีที่เกิดแก่สังคม ตรงไปตรงมากับชีวิตจิตใจ การพัฒนาชีวิตของตัวเอง ต้องการทำสังคมให้ดีเป็นต้น คนจำนวนนี้มีมากมั๊ย ก็มีอยู่ ถ้าไม่มีคนอย่างนี้เลยมันก็แย่ แต่ว่าบางทีสังคมมันก็เกิดจากกระแสได้เหมือนกัน พอกระแสทางร้ายมันไปมากนัก มันก็จะเกิดแรงปะทะกระทบทำให้คนที่ฉุกคิดได้เกิดมีขึ้น คนที่ฉุกคิดได้ก็จะมากระตุ้น แล้วเพราะถูกกระทบมีประสบการณ์แรง ก็จะทำให้ไอ้เรื่องอย่างนี้ ชี้ให้เห็นความเลวร้ายมันชัดเจนขึ้น คนก็จะมาเห็นด้วยเพิ่มขึ้นใช่มั๊ย กระแสฝ่ายดีก็จะมีเพิ่มขึ้น มันก็ดุลกันไปกันมาอย่างนี้ แต่นี้โดยวิถีของธรรมะ เราต้องการผลดีแก่ชีวิต แก่สังคมทั้งหมด แก่โลกทั้งหมด เราก็ต้องพยายามหนุนไอ้ฝ่ายดีขึ้นมา ให้มันแรงให้มีกำลัง แล้วแม้แต่กฎหมายบ้านเมืองนี่นะ โดยสาระสำคัญก็คือเนี่ย ต้องการจัดสรรสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะในทางสังคมเนี่ย ให้มันเอื้อต่อการที่ความดีงามมันจะเจริญขึ้น ให้ไอ้กำลังฝ่ายร้ายมันเสื่อม เพราะฉะนั้นวินัยจึงมีขึ้น แล้ววินัยก็คือจัดสรร ชุมชน สังคม เรื่องของสังคมมนุษย์ก็ต้องการอันเนี้ย มามีการจัดระบบระเบียบต่างๆ เพื่อหนุนไอ้ฝ่ายดีขึ้นไป แล้วก็กีดกั้น ป้องกันฝ่ายร้าย ไม่ให้มีกำลังขึ้นมา พระพุทธเจ้าก็บอกว่า ถ้าหากวินัยมันเกิดไม่ได้ผลขึ้นมา ที่ท่านบอก บอกเมื่อใด อธรรมวาทีมีกำลัง เมื่อนั้นธรรมวาทีก็หมดเสียง ท่านว่าอย่างนี้เลย พระพุทธเจ้าตรัสเอง แต่เมื่อใดธรรมวาที มีกำลัง อธรรมวาทีก็หมดเสียงใช่มั๊ย อันนี้ก็เป็นหลักธรรมดาของสังคม เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการให้เกิดผลดีแก่ชีวิต แก่สังคมจริงๆ ต้องมองให้กว้าง ให้ไกล ให้ตลอด และพยายามทำให้ทุกระดับ ว่าไอ้การทำดีหรือชั่วของเรานี่ มันมีผลไม่เฉพาะตัวเราเท่านั้น มันส่งผลต่อ กว้างออกไปก็คือในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ต่อไปก็วิถีของสังคม แล้วต่อไปก็ทั้งระบบของโลก ของธรรมชาติทั้งหมดใช่มั๊ยฮะ แล้วเราก็ไม่คิดแคบ ไม่มองเฉพาะผลประโยชน์ของตัวเอง แล้วก็เราก็จะคิด แม้แต่ว่าถ้ามันร้าย เราก็ต้องคิดแก้ไขด้วย โดยที่ยอมอย่างที่เรียกว่าเสียสละตัวเอง แล้วคนที่มองกว้างอย่างเนี้ย จะมองความดีความ??? ผลที่ต้องการกว้างขึ้นไป ในที่สุดจะไม่มัวเห็นแก่ตัว จะต้องการทำดีเพื่อผลตอบแทนอะไรนิดๆหน่อยๆ มันจะมอง โอ้ เราจะทำยังไงให้โลกนี้มันดี มันอยู่กันด้วย มนุษย์อยู่กันดีอะไรต่ออะไร ต่อไปก็ไม่ต้องการมากมายละ นั่นก็อย่างที่บอกคนที่ทำธุรกิจก็ไปมัวห่วงเรื่องเขาเอาเปรียบเราไม่เอาเปรียบเรา เอาเปรียบกันแบบนี้ต่อไปสังคมมันก็แย่กันไป เราก็ต้องคิดในแง่ที่ว่า เอ๊ะเราจะเอาแค่ไหน แต่เมื่อสภาพสังคมมันมีกระแสอย่างนี้ เราก็ต้องอยู่รอดได้ด้วย เมื่อเราจะอยู่รอดในสภาพสังคมอย่างนี้ เราก็ต้องฉลาดพอที่ว่า ไม่ใช่ว่าจะไม่คำนึงถึงอะไรเลย ปล่อยตัว เสร็จแล้วก็กลายเป็นเหยื่อ ถูกเขากระทำอย่างเดียว ก็แย่เหมือนกัน จึงต้องรู้ทันด้วย รู้เท่ารู้ทัน แล้วก็สามารถปกป้องตัวได้ แล้วก็สามารถมีจุดหมายที่ดีที่สูง เป้าหมายคือทำสิ่งที่ดีงาม แก้ไขสิ่งที่เลวร้ายให้หมดไป แล้วก็มองอย่างที่ว่า มองอย่างพระโพธิสัตว์เลย ไม่งั้นจะมีพระโพธิสัตว์ทำไมใช่มั๊ย เออ ก็ที่พระโพธิสัตว์เกิดขึ้น ก็เพราะว่าปัญหามันเลวร้าย เช่นสังคม บ้านเมืองมันแย่แล้ว ก็เหมือนอย่างที่โอดครวญกันนี่ ว่าคนดีมันทำอะไรไม่ได้ดีใช่มั๊ย พระโพธิสัตว์ก็เกิดขึ้น ก็มาเพื่อมาแก้ปัญหาเหล่านี้ แล้วถ้าพระโพธิสัตว์โอดครวญแบบนี้ก็ตายสิ ก็ไม่มีคนทำดี พระโพธิสัตว์ท่านทำดีแล้วถูกเอาตัวไปฆ่าท่านก็ไม่ว่าอะไร จริงไม่จริง ก็พระโพธิสัตว์ท่านทำความดีเยอะแยะ แล้วเค้าก็ไม่เห็นคุณค่าของท่าน แล้วเค้าจับไปฆ่า ไปทรมานท่านก็ยอม ก็เพราะท่านคิดไกล ท่านคิดกว้างกว่าคนเหล่านี้ใช่มั๊ย พระโพธิสัตว์บอกว่าฉันก็ทำดีมานักทำไมไม่ได้ดี ก็เลยไม่ต้องมีอะไร เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็ไม่เกิดถูกไม่ถูก เนี่ยให้มองกว้างมองไกล มองให้ตลอด ฉะนั้นถ้ามองถึงพระโพธิสัตว์แล้วปัญญาท่านกว้าง ท่านก็เลยไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัวแล้ว ทำดีเพื่อผลดี ที่จริงมันก็เป็นดีแท้แก่ตัวท่านด้วย ท่านก็เห็นอยู่ใช่มั๊ย การพัฒนาชีวิตตัวเองท่านในทางพฤติกรรม จิตใจ ปัญญา ท่านก็เห็นผลดีที่แท้มันเกิดแก่ตัวท่านด้วย แล้วท่านต้องการผลแบบนี้ต่างหาก แล้วก็ท่านก็ยอมสละไอ้ผล ประโยชน์อื่นได้ เพื่อไอ้ผลดีที่แท้นี้ ก็เลยต้องพูดเมื่อกี้ไง คุณจะเอาผลดียังไง แล้วคุณก็ไปวิเคราะห์ผลดีให้ครบปัจจัย แล้วทำปัจจัยนั้นให้มันครบด้วย ไม่ต้องมาร้องโอดครวญอยู่ แล้วความจริงมันก็เป็นความจริงอยู่อย่างนั้นแหละ เหตุปัจจัยมัน ก็ต้องครบใช่มั๊ย เออปัจจัยมันไม่ครบ อย่างที่บอกแล้วว่า ถึงมีเม็ดมะม่วง แต่ปัจจัยไม่ครบ ต้นมะม่วงมันก็ไม่เกิดถูกมั๊ยฮะ มีเม็ดมะม่วงแล้วมาโอดครวญอะไรหละคุณ บอกฉันมีเม็ดมะม่วงแล้วเอาเม็ดมะม่วงไปวางไม่เห็นมันเกิดต้นมะม่วงขึ้นมา อ้าวแล้วก็คุณดูหรือยังว่าปัจจัยอะไรทำให้มันเกิดต้นมะม่วงมันงอก ต้องมีทั้งอะไร ต้องมีทั้งดิน ทั้งน้ำ ทั้งปุ๋ย ทั้งแก๊ส ทั้งอุณหภูมิอะไรต่ออะไรพอเหมาะ ไม่เคยวิเคราะห์เลย ฉันมีเม็ดมะม่วงอย่างเดียวเรียกร้องเอาต้นมะม่วง เออ เรื่องศักยภาพก็เลยจะถามหน่อย ฝรั่งมีนะฮะ แม้แต่นักการศึกษาเขาบอก เด็กเกิดมาเหมือนผ้าขาวสะอาดบริสุทธิ์เห็นด้วยมั๊ย เด็กเกิดมาสะอาดบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาว ก็เลยแล้วแต่เราจะย้อม
ผมเห็นด้วยส่วนหนึ่งครับว่า เด็กเกิดใหม่มันเหมือนผ้าขาว แต่ว่าเกิดในภูมิประเทศหรือว่าสภาวะแวดล้อมที่ดีกับไม่ดีต่างกันนี่ก็ทำให้ศักยภาพของเด็กแตกต่างกันได้ครับ
เนี่ยตอนนี้นะ ถ้ามองลึกๆ มันชอบกล ก็คือหมายความพูดแต่สภาวะนะ มันบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ก็แล้วกันว่าอย่างนี้นะ ทีนี้มันสภาพแวดล้อมเป็นยังไงก็อันนั้นก็คือว่า ถ้ามันเหมือนผ้าขาว เจอสภาพแวดล้อมไม่ดีมันก็เปื้อน เจอสภาพแวดล้อมดี มันก็ได้สีที่ดีสดใสไป
ขออนุญาตเสริมนิดหนึ่งครับ ผมมองว่าเพราะฝรั่งมองโลก มันมีชาติเดียวไงครับ มองเริ่มว่าเกิดแล้วก็ตายจบ มองแค่นี้ ฉนั้นก็เลยมองสภาวะว่ามนุษย์เกิดมาแล้วก็ถูกหล่อหลอมด้วยระบบสังคม มนุษย์ก็จะเป็นยังงั้น ถ้าระบบสังคมดีก็คือดี ถ้าระบบสิ่งแวดล้อมไม่ดี ก็คือออกมาไม่ดี แต่ว่ามันไม่เหมือนกับพุทธศาสนา คือพุทธศาสนามองระบบกรรม สภาวะมันรวม หมายถึงว่ามันมีกรรมจากในอดีตมา แต่แค่ว่าโลกปัจจุบันมันแสดงโดยธรรมชาติที่เป็นมนุษย์ก็คือ ตัวมนุษย์เกิดมานี่ต้องเรียนรู้ ต้องฝึก จะเกิดมาจากอีกชาติหนึ่งมาก็จริง แต่ว่าพอมาเกิดมาแล้วนี่ ก็ต้องเรียนรู้ต่อครับ ก็เลยคิดว่ายังไม่เห็นด้วยกับฝรั่งเท่าไหร่
ก็มีทั้งท่านที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก็ลองฟังทางพุทธศาสนา พุทธศาสนาไม่มาเถียงด้วยขาวไม่ขาว บอกว่าเด็กมนุษย์นี่เกิดมาเนี่ย จะเรียกว่ามีความไม่รู้ หรือยังไม่มีความรู้ก็ได้จริงมั๊ย ยังไม่มีความรู้ ไม่รู้โลกคืออะไร อะไรทั้งหลายเป็นยังไง อะไรเป็นอะไรยังไม่รู้ทั้งนั้นหนะ ก็คือว่ามีตัวความไม่รู้ แล้วแต่จะพูดนะ มีความไม่รู้ หรือไม่มีความรู้ พูดยังไงก็ได้ ไอ้ตัวไม่มีความรู้ หรือมีความไม่รู้เนี่ยแหละ มาหมดเลย ฉะนั้นไม่ต้องไปพูดหรอก บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ไอ้ความไม่รู้มันบริสุทธิ์มั๊ย มันไม่เดียงสา มันไม่รู้ ที่เราบอกว่าไม่เดียงสาเนี่ย มองในแง่หนึ่งก็บริสุทธิ์ใช่มั๊ย แต่ในแง่หนึ่ง ก็คือไม่รู้เรื่อง แล้วพอความไม่รู้มันดีไม่ดี เด็กมีความไม่รู้ ไอ้จากตัวไม่รู้ มันเกิดทุกอย่างเลย ความกลัวก็มาละใช่มั๊ย จากความกลัวนี่อะไรก็เกิดละ มันก็เกิดความรู้สึกกระทบใช่มั๊ย ไม่พอใจ อยากจะหนี เป็นปฏิปักษ์ อยากทำลาย แล้วก็เพราะตัวความไม่รู้อะไรเป็นอะไร ก็ไปตามรู้สึก มันมีไอ้ ตา หู จมูก ลิ้น อยู่ เกิดมาปั๊บมันมีแล้วใช่มั๊ย ไอ้เจ้าตา หู จมูก ลิ้น นี่ก็รับอารมณ์ ทางพระเรียกว่ารับอารมณ์ ก็คือรับประสบการณ์ต่างๆ หรือสิ่งเร้าเข้ามา พอสิ่งเร้าเข้ามาเจอปั๊บ ก็เกิดความรู้สึก ไอ้นี่รู้สึกสบาย ก็เกิดปฏิกิริยาชอบใจ ถ้าหากว่าไม่สบาย ก็ไม่ชอบใจ อยากจะหนี แล้วก็กลัวว่ามันจะเป็นอันตรายแก่ตนเอง เนี่ยไม่มีอะไรจะป้องกันตัวเองเลยใช่มั๊ย ตกลงว่าไอ้ตัวความไม่รู้นี่แหละ จะเรียกบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์แล้วแต่ จะคิดกันเอา ก็มีไอ้เจ้าตัวนี้แหละ แล้วมันก็เลยจะพูดภาษาสมัยใหม่ มันก็เลยมีศักยภาพ แห่งความทุกข์ แห่งกิเลสทั้งหลายใช่มั๊ยฮะ เพราะไอ้เจ้าอวิชชาพอมีแล้ว ไอ้เจ้ากิเลสทั้งหลายก็ได้ช่องมาหมดเลย เพราะฉะนั้นเราก็เลยมีตัวรู้มาคานใช่มั๊ย แล้วพัฒนาเพื่อจะให้รู้เข้าใจตัดสินได้ถูกต้อง มีการเลือกได้ถูกต้อง แล้วทีนี้ความรู้มันก็มีหลายระดับใช่มั๊ยฮะ รู้ในระดับต้นๆ ก็คือไม่รู้ ก็คือหรือรู้ผิดใช่มั๊ย ทำให้หลงผิด มีความเข้าใจผิด มีมิจฉาทิฐิ ก็ไม่ถือว่ารู้จริง ก็คือยังไม่รู้นั่นแหละ แต่พูดง่ายๆ ก็เราบอกว่า รู้แต่รู้ผิด รู้ยังไม่พอ รู้ไม่ครบ รู้บกพร่อง มันก็รู้ไม่จริงนั่นแหละ มันก็ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ จากตัวไม่รู้เนี่ย ศักยภาพแห่งปัญหา แห่งกิเลส และความทุกข์ มันก็เกิด พร้อมกันนั้นมนุษย์ก็เลยมีศักยภาพในทางที่ดีมาด้วยคือ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้พัฒนาได้ใช่มั๊ยฮะ นี่ก็ศักยภาพ 2 อันนี่ก็มีทั้งคู่ ตกลงว่า เราไม่ต้องไปตอบว่าขาวไม่ขาว บริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์ แต่มันมีความไม่รู้ แล้วไอ้เจ้าตัวความไม่รู้เนี่ย ก็เป็นทางมาของปัญหาต่างๆ กิเลสและความทุกข์ทั้งหลาย อาศัยไอ้ตัวอวิชชาความไม่รู้เนี่ยเป็นที่ตั้ง เจริญงอกงามขึ้นมา นิมนต์ฮะ
ครับ มองดูมุมหนึ่งเนี่ย เด็กทารกก็เหมือนกับคนชั่วที่ทำความชั่วโดยไม่รู้ แต่ว่าเด็กทารกเนี่ย อย่างน้อยยังมีพ่อแม่มาสอน แต่ว่าคนชั่วไม่มีใครไปสั่งสอนเค้า
นี่แหละท่านจึงว่า ให้พ่อแม่รีบทำหน้าที่ใช่มั๊ย พ่อแม่ต้องรีบทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร มีเมตตา พอมีเมตตาก็สร้างบรรยากาศแห่งความรู้สึกที่ดี เพื่อให้เด็ก เพื่อโน้ม เหนี่ยวนำไอ้ภาวะจิตที่มีความรู้สึกที่ดีขึ้นมา เพราะว่ามันจะไปด้วยกันใช่มั๊ย มันคนที่ยังไม่มีความรู้ มันไปตามบรรยากาศสิ่งแวดล้อม สิ่งที่มาชักจูง งั้นพ่อแม่ก็ได้โอกาสตอนนี้ ก่อนที่ฝ่ายร้ายจะมาชิงเอาไปซะก่อน ท่านก็รีบให้พ่อแม่มาชิงเอาไอ้ดีเข้าไปใส่ นำไปทางที่ดี ฉะนั้นพ่อแม่ก็เลยให้นำในความรู้สึกที่ดี มีเมตตา แล้วก็ชักนำเขาในศีลในการประพฤติทำกายวาจา แล้วก็คิดที่ดีงามใช่มั๊ย แต่เริ่มจากความรัก ความปรารถนาดีเนี่ย อะไรต่ออะไรมันก็มาได้ แต่พ่อแม่อย่าลืมว่าความปรารถนาดีอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีปัญญาด้วยใช่มั๊ย เจตนาดีอย่างเดียวไม่พอ อาจจะพลาดผิดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็ต้องมีปัญญา แล้วก็ต้องรู้ แม้แต่รู้ทันความจริงของโลกและชีวิตธรรมชาติที่ว่า ทุกชีวิตทุกคนเนี่ยเป็นธรรมชาติ ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เขาจะต้องมีความสามารถที่จะรับผิดชอบตัวเอง อยู่กับความเป็นจริงของธรรมชาติได้ด้วย เพราะฉะนั้นเราจะรักจะทำอะไรให้หมดเป็นไปไม่ได้ แล้วเขาจะแย่ ก็เลยต้องใช้เวลาเนี่ยด้วยความปรารถนาดี ก็ให้เค้าฝึกตัวเพื่อจะได้อยู่กับความเป็นจริงของโลกและชีวิตได้ใช่มั๊ย เพราะฉะนั้นจึงต้องมีปัญญา มีเมตตา ฝ่ายรักรวมทั้งกรุณา มุทิตา ด้านความรู้สึกที่ดี แล้วก็มีปัญญาที่จะนำมาวางตัวให้พอดี แล้วก็ปฏิบัติให้ถูก ตอนนี้เค้าเรียกว่าปฏิบัติตามธรรมว่างั้นนะ เมตตา กรุณา มุทิตา นี่ก็ปฏิบัติไปด้วยความรู้สึกที่ดี ช่วยเหลือ เกื้อกูล พอถึงอุเบกขา ปฏิบัติตามธรรม ตามเหตุตามผลตามหลักความจริง ตามความที่มันควรจะเป็น แล้วเด็กก็จะได้พัฒนาไอ้ตรงข้อสุดท้ายนี้อย่างมาก ข้อ 1,2,3 ก็ได้พัฒนา แต่ว่าไอ้ตัวตัดสินสำคัญ ตัวที่ 4
ต่อจากคำถามเมื่อกี้ ในกรณีนี้มีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะนำคนที่ทำไม่ดีเนี่ยมาสั่งสอน แทนที่จะจับเค้าไปอยู่ในคุก อยู่รวมกับคนไม่ดีด้วยกัน เค้าก็ไม่มีทางพัฒนาเลย ไม่ทราบว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนครับ ที่จะจับเค้ามา แล้วก็มาสอนให้เค้ารู้ว่าสิ่งที่ถูกต้องควรเป็นยังไง
คือพระพุทธเจ้าเนี่ย ทรงมองว่าความจริงก็คือมนุษย์ทุกคนเนี่ย ยังมีโอกาสยังมีทางเป็นไปได้ ที่จะแม้แต่บรรลุ นิพพานใช่มั๊ย แต่ว่าถ้าเรามองใกล้ เราก็จะแบ่งว่า มีคน 4 ประเภทถูกมั๊ยฮะ ท่านอาจจะจำหลักคติดอกบัว แต่ว่าที่จริงท่านตรัสว่าเป็น อุคฆฏิตัญญู วิปจิตัญญู เนยย ปทปรมะ มีคนอยู่พวกหนึ่งเป็น ปทปรมะ แม้แต่ปทปรมะ ที่ว่าไม่ไหว ถ้าปรปรมะ แปลว่ามีบทเป็นอย่างยิ่ง หมายความได้แค่ตัวบท คือไม่เข้าใจความหมาย ถ้าจะเอาธรรมะก็ได้แค่ตัวบท ไม่รู้ความหมาย ไม่เข้าใจทั้งนั้น แม้แต่คนแบบนี้ ทางพุทธศาสนาไม่ทิ้ง ท่านบอกว่าต้องช่วยเขา ให้เขาได้ยินไว้เป็นอุปนิสัย ก็คือ ไม่ถือว่าคนหมดหวังโดยสิ้นเชิง นี้การที่ว่าจะช่วยคนที่เลวร้ายอย่างไรเนี่ย มันก็ขึ้นต่อปัจจัยทั้ง 2 ฝ่าย ในแง่หนึ่งเราถือว่าในตัวคนนั้น มีปัจจัยฝ่ายดีอยู่ด้วย แต่เราจะเข้าถึงหรือไม่ ดึงเอามาใช้ได้หรือไม่ ต้องขึ้นต่อปัจจัยภายนอกคือตัวผู้สอน สภาพแวดล้อมเป็นต้นด้วย ถ้าสภาพแวดล้อมมันเอื้อ แล้วมันปิดช่อง เขาเองไม่มีทางเลย ทีนี้ถ้ามีสภาพแวดล้อม ที่ดี อ้าวเช่นอย่างมนุษย์ กัลยาณมิตร ก็กัลยาณมิตรนั้น ขึ้นต่อปัจจัยในตัวกัลยาณมิตร ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยภายนอกของเขา นอกตัวในคนนั้น ถ้าเป็นในตัวกัลยาณมิตรเองมีความสามารถแค่ไหนใช่มั๊ย อันนั้นในยุคที่ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิด ไม่มีมหาบุรุษ ก็ไม่สามารถจะช่วยคนพวกนี้ได้ใช่มั๊ยฮะ แต่พอมีคนที่มีความสามารถจริงๆ อ้าวแม้แต่คนอย่างนี้ อย่างองคุลีมาล ก็ยังสามารถบรรลุอรหัตผลได้ ถูกมั๊ยฮะ ฉะนั้นแม้แต่โจรที่ร้ายที่สุดก็ยังสามารถบรรลุธรรมได้ แล้วไอ้ประสบการณ์ที่ร้ายทั้งหลายนั่นแหละ พอเขาดึงปัจจัยฝ่ายดีขึ้นมา ไอ้ตัวประสบการณ์ที่ร้ายกลับมาเป็นปัจจัยที่ส่งผลได้อย่างดีเลย เพราะมันกระทบแรง ไอ้คนที่ว่าดีซะอีก กลับไม่มีประสบการณ์พอที่จะกระตุ้นแรงที่จะให้บรรลุธรรม เอออย่างนี้นะเพราะฉะนั้น ไอ้ตัวความยืดหยุ่น ตัวแปรหรือความเป็นไปได้ต่างๆ มันเยอะแยะเกินวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาจะมอง ต้องมองด้วยปัญญามีความซับซ้อนมาก ฉะนั้นก็ ก็เป็นอันว่าเราก็พูดง่ายๆ ขึ้นต่อปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอก ถ้าปัจจัยภายนอกแน่จริง อาจจะไปเจอคนแบบนี้แล้วทำให้เปลี่ยนเลยก็ได้ แต่ถ้าเขาไม่ได้ปัจจัยภายนอกตัวนี้เขาก็แย่ไปเลยใช่มั๊ยฮะ อย่าว่าแต่คนที่แย่เลย แม้แต่คนที่เก่งอย่างพระสารีบุตรเนี่ย จะบรรลุอรหัตผลอยู่รอมร่อว่างั้นนะ ถ้าเป็นฝ่ายร้ายก็เรียกว่าร่อแร่ ถ้าฝ่ายดีก็ได้รอมร่อ แต่ว่าถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาเอาผงออกจากตาก็ไม่บรรลุเหมือนกันใช่มั๊ยฮะ จนตลอดชาตินั่นแหละ ติดอยู่นิดเดียวถูกมั๊ยฮะ เนี่ยมันสำคัญนะปัจจัยภายนอก เพราะฉะนั้นพอพูดเรื่องการฝึกมนุษย์หรือสังคมแล้ว พุทธศาสนาเน้นปัจจัยภายนอกเลย ต้องเริ่มที่ปัจจัยภายนอกก่อน สร้างปรโตโฆสะที่ดี ให้มีกัลยาณมิตรเยอะๆ ให้สังคมนี้เป็นกัลยาณมิตร แล้วเสร็จแล้วมันก็จะเอื้อเข้าไปที่ตัวบุคคล เพื่อจะมาช่วยหรือจะหล่อหลอมหรือจะชักจูง หรือจะอะไรก็แล้วแต่โน้มน้อมคนให้มันไปในทางที่ดีมากขึ้น กระแสทางฝ่ายดีมันจะได้แรงขึ้น ในเวลานี้เราสังคมอาจจะขาดกัลยาณมิตร มีกัลยาณมิตรน้อยเกินไป หรือกัลยาณมิตรไม่มีกำลัง ไอ้กระแสฝ่ายร้ายมันแรงใช่มั๊ย มันก็ชักจูงกันไปในทางเสื่อมโทรม อ้าวผมพูดตรงจุดหรือเปล่าไม่รู้ ตรงนะฮะ อ้าวนิมนต์ มีอะไรฮะ
ก็ เมื่อกี้กำลังจะถามเนี่ยฮะ เรื่องที่ว่าให้โอกาสคนจนถึงวินาทีสุดท้าย ก็นึกถึงองคุลีมาลเหมือนกันที่ว่ามีพุทธภาษิต โย จะ ปุพเพ ปะมัชชิตวา ปัจฉา โส นัปปะมัชชะติ ที่ว่าคนที่กลับตัวได้นี่ ก็เหมือนกับ กลับชีวิตใหม่ใช่มั๊ยฮะ สามารถแม้แต่องคุลีมาลก็บรรลุอรหันต์ได้ เพราะฉะนั้นก็เลยสงสัยว่าทำไมถึงมีอาบัติปาราชิกขึ้นมา
ไอ้นี่มันเรื่องของวินัย เพื่อจัดการสังคม เพราะไม่งั้นแล้วไม่มีเกณฑ์ ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ ยุ่งยาก สับสน เพราะว่าคนนั้น เค้าไม่ได้ตัดโอกาสหนิ เค้าก็สึกไปเป็นคฤหัสถ์ เค้าก็ไปปฏิบัติธรรมต่อสิ
แล้วยังจะบรรลุได้หรือเปล่า
ก็ยังไม่บรรลุในชาตินี้ แต่ว่าก็หมายความพัฒนาตัวเองได้เยอะ เพราะว่ามันจะมีไอ้ตัวนี้ฝังใจ เพราะว่าไอ้เนี่ย มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยไง โอกาสมันมี แต่หมายความมันต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัยใช่มั๊ย อย่าไปลืมเหตุปัจจัยสิ เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เคยมีคนที่บอกว่า อ๊ะเป็นพระอรหันต์เสื่อมได้มั๊ย กลับมาเป็นปุถุชนได้มั๊ย ก็ต้องเป็นได้สิ เค้าบอกว่างั้น ทำไมหละ อ้าวก็พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ทุกอย่างเป็นอนิจจัง เป็นไตรลักษณ์ เพราะฉะนั้นคนบรรลุอรหัตผลแล้ว เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องเปลี่ยนแปลง เป็นอนิจจัง นี่กลับมาเป็นปุถุชนได้ ท่านจะตอบว่าไง อันนี้ก็ตอบโดยนัยยะ ตรงไปเลย ก็คือมันหมดเหตุปัจจัยที่จะทำให้เป็นปุถุชนใช่มั๊ย แล้วมันจะเป็นได้ไง ก็ไม่มี เพราะไอ้เจ้ากิเลสนั้นมันไม่มีถูกมั๊ยฮะ อันนี้มันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เจ้าหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณ์เนี่ย ท่านไม่ได้บอกว่า เปลี่ยนแปลงไปโดยเลื่อนลอยนี่ใช่มั๊ย ท่านตรัส นี่มันเป็นกฎธรรมชาติเดียวกัน เพราะฉะนั้นใครมองพุทธศาสนาไม่ตลอด ก็เล่นงานพุทธศาสนาหนักที่อนิจจัง ทำไรก็ไม่เป็นประโยชน์ละ เดี๋ยวมันก็ไม่เที่ยง ก็เปลี่ยนไปหมดถูกมั๊ยฮะ เออ แล้วทำไปทำไม มันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแปลงไปไม่มีประโยชน์ เปล่า ท่านบอกว่ามันเปลี่ยนแปลง แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย มันจะเปลี่ยนไปยังไง ก็ตามเหตุปัจจัย ไอ้เหตุปัจจัยนี้สิมันลึกลงไปอีก ไอ้กรณีนี้ก็คือว่า มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไอ้ตัวแกนี่ทำเหตุปัจจัยนี้ไว้ ที่เป็นปาราชิกเนี่ย ก็เลยมีเหตุปัจจัยอันนี้ไปขวางอีกตัวหนึ่งใช่มั๊ย ทำให้ไอ้ตัวนั้นพัฒนาไม่ขึ้น ก็เท่านั้นเอง ก็เรื่องมันเป็นอย่างเนี้ย ทีนี้ก็เหตุปัจจัยนี้ก็เป็นเชิงสังคม เป็นเชิงกระบวนการธรรมชาติก็มี 2 แบบ แล้วเจ้า 2 อันนี้ก็กลับมาบรรจบกัน ที่ตัวไหน เจตนาสิครับ ไอ้ปัจจัยวินัย ปัจจัยทางสังคม แล้วมาเชื่อมกับปัจจัยทางธรรมชาติที่ไหน ที่เจตนา ไอ้เจตนานั้นเป็นตัวความจริงตามธรรมชาติ พอไปละเมิดบทบัญญัติที่เป็นสมมติปั๊บ ไอ้เจตนานี่มันทำให้เกิดเป็นจริงขึ้นมาเลยจริงไม่จริง มันก็เลยมีผลตามกฎธรรมชาติด้วย ไอ้ตัวบทบัญญัติทั้งหลาย วินัยทั้งหมด สมมติทั้งนั้น เป็นบัญญัติไม่มีจริง แต่ทำไมมันเกิดผลจริง เกิดผลจริง ก็เกิดผลจริงตามสังคมนั้น อย่างหนึ่งระดับสังคมตกลงกัน จะเอามาลงโทษได้หรือไม่ แล้วก็มีอีกระดับหนึ่งก็คือความจริงที่เชื่อมกับกฎธรรมชาติด้วยเจตนาของเขา ตอนนี้เข้าสู่ความจริงตามกฎธรรมชาติเลย ก็กลายเป็นกรรม
แต่อย่างนี้ไม่เรียกว่าตัดโอกาสเหรอฮะ เพราะอย่างปาราชิกนี่ ต้องได้ด้วยไม่รู้
อ่อ ไม่รู้ ไอ้นั่นมันกฎหมายมายกเว้น คือไม่รู้ แต่ว่ามีเจตนา
ถ้าเกิดว่าพระบวชใหม่ ไม่รู้ เห็นของเค้าแล้วอยากได้ กลับไปรับโทษทัณฑ์ทางบ้านเมืองเสร็จ ก็กลับมาบวชไม่ได้แล้ว เกิดว่าสำนึกขึ้นมาแล้วอยากกลับมาบวช อย่างนี้ถือว่าเป็นการไม่ให้โอกาสหรือเปล่าครับ
ก็ไม่ให้โอกาส เพราะว่าถ้าให้โอกาสกัน ในทางสังคมนี่จะยุ่งใช่มั๊ยฮะ เพราะฉนั้นแกก็จะเป็นข้ออ้างได้เรื่อย ตกลงเค้าไปทำอะไรมา แล้วเสร็จแล้วก็มาขอบวชอีก ฉันกลับใจกลับตัวแล้ว ใครจะมองเห็นหละใช่มั๊ย ฉะนั้นในทางสังคมมันต้องจัดระบบเพื่อจะให้มีความกระชับ มีความหนักแน่น มีความแน่นอน มั่นใจในการที่จะแก้ปัญหาส่วนรวมใช่มั๊ย มันไม่ทำเพื่อคนเดียวหนิ แล้วไม่ใช่ระยะเวลาเดียว ถ้าพระพุทธเจ้าอยู่อาจจะตัดสินได้ แต่ต่อไประยะยาว พระพุทธเจ้าไม่อยู่ ไอ้พวกที่ตัดสินก็เอาหละสิ ได้โอกาสใช่มั๊ย หมู่มากลากไป วุ่นวายกันใหญ่ มันก็ต้องมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน
ครับ คือผมเข้าใจอย่างนี้ครับ สงฆ์นี่ก็เหมือนกับเป็นรูปแบบสังคมที่จัดขึ้นเพื่อให้เอื้อกับไตรสิกขา จริงๆ แล้วฆราวาสนี่ก็ศึกษาธรรมะก็ได้อยู่แล้วใช่มั๊ยครับ
ได้ แต่ทีนี้สภาพแวดล้อมมันไม่เอื้อ
จริงๆ ธรรมะก็เข้าถึงทุกทั้งฆราวาส ทั้งสงฆ์ ไม่ว่าจะเป็นสงฆ์ หรือเป็นฆราวาสก็ไม่ทิ้ง ถึงใครผิดกฎปาราชิกไป เป็นฆราวาสถ้าใฝ่ธรรมะ ธรรมะก็ไม่ได้ทิ้ง อย่างนั้นใช่มั๊ยครับ
ไม่ได้ทิ้ง มันก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติ ความจริงก็อยู่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าจะเกิดไม่เกิดก็เป็นความจริง แต่ทีนี้ว่าไอ้ความจริงที่เห็นง่ายๆ ก็คือกระบวนการของเหตุปัจจัย มีเหตุปัจจัยก็มีทั้ง ปัจจัยทางวัตถุ ปัจจัยทางนามธรรม ปัจจัยในทางจิตใจ สำหรับมนุษย์ที่สำคัญ คือตัวเจตนา แล้วไอ้ตัวนี้แหละที่มาเป็นกรรมใช่มั๊ยฮะ มันก็เลยเป็นตัวสำคัญในกระบวนการของความจริงของกฎธรรมชาติ ที่ปัจจัยฝ่ายมนุษย์เข้าไปอยู่ด้วย แล้วปัจจัยฝ่ายมนุษย์เนี่ย ที่เป็นเจตนาดี แล้วถ้าเกิดมีปัญญาขึ้น ปัจจัยฝ่ายมนุษย์นี่จะเข้าไปจัดสรรระบบความสัมพันธ์ปัจจัยในโลกได้ดีเลยใช่มั๊ยฮะ ทำให้กระแสโลกทั้งหมด สังคมทั้งหมดไปในทางที่ดีได้ ก็เราก็ต้องการเนี่ย คือต้องการเจตนาที่ดี ก็ต้องการปัญญาที่ชัดเจนใช่มั๊ยฮะ แล้วไอ้ปัญญาที่ดี ที่รู้ถ่องแท้ชัดเจนทั่วตลอดนี่ มันมาประกอบกับเจตนาที่ดี จุดมุ่งหมายดีงาม ก็เดินหน้าไปในการที่จะแก้ไขปัญหาสร้างสรรค์ อะไรต่างๆ ให้ดีหมด นี่เราก็พยายามให้ทุกคนมีอันนี้ พัฒนาเจตนาที่ดี เจตนานี้ประกอบด้วย เมตตา กรุณา เป็นต้น หรือประกอบด้วยศรัทธา ประกอบด้วยอะไรก็แล้วแต่ที่ดีๆ เป็นไปในทางสร้างสรรค์ แล้วก็พัฒนาปัญญาใช่มั๊ย ปัญญาให้มีความรู้ เข้าใจถ่องแท้ ทั่วถึงตลอดหมด ก็พอไอ้เจตนาที่ดีเนี่ย มันมีปัญญามาชี้ทาง มาให้แสงสว่าง มันก็ออกมาสู่พฤติกรรม การจัดทำด้วยกาย วาจา ให้เกิดการสร้างสรรค์แก้ไขปัญหาได้อย่างดีใช่มั๊ยฮะ มีอะไรอย่าไปเก็บสงสัยไว้นะ มีแง่สงสัยก็ถาม ถามแล้วก็ถกเถียง แต่เราไม่ได้ถามหรือเถียงด้วยเจตนาร้าย เราถามเพื่อหาความรู้ คนที่ไม่ถามไม่รู้จักถาม เลยต้องคิดเอาด้วยการเดา มันก็เลยอยู่กับการเดา การคาดหมายใช่มั๊ย ถามมันก็จะโล่งไปซะ ไม่มีอะไรสงสัย