แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพรท่านผู้สนใจเข้าปฏิบัติเจริญภาวนาทุกท่าน อาตมาขออนุโมทนาที่ท่านมีใจเป็นบุญเป็นกุศล จะมาปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา ผู้ที่เข้าปฏิบัติธรรมหรือเจริญภาวนานี้ เหมือนกับผู้ที่เริ่มทำกิจการงานหรือว่าทำกิจกรรมอะไรทั่วๆ ไป ก่อนที่จะเริ่มแรกลงมือปฏิบัติ ควรจะมีความรู้พื้นฐาน เพื่อให้เข้าใจความหมายของสิ่งที่ตนกระทำ และความมุ่งหมาย ซึ่งสำหรับผู้ที่จะเจริญภาวนานั้น มีสิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจ ทั้งในแง่เนื้อหาวิชาความรู้ พร้อมทั้งข้อปฏิบัติ และสิ่งที่จะต้องกระทำก่อนที่จะเข้าปฏิบัติด้วย สำหรับการเริ่มต้นเจริญภาวนา สิ่งที่ควรจะทราบก่อน อาตมาขอแบ่งเป็น 3 อย่าง คือ
1. เนื้อหาความรู้ ที่เราเรียกว่า ปริยัติ อันเป็นส่วนเบื้องต้น
2. ข้อปฏิบัติ หรือสิ่งที่จะต้องกระทำก่อนที่จะเข้าปฏิบัติ ซึ่งอาจจะเรียกว่า เป็นบุพกิจของภาวนา
3. พิธีกรรม ในตอนที่จะเริ่มลงมือปฏิบัติ ซึ่งอาจจะเรียกว่า วิธีสมาทาน คือ สมาทานกรรมฐาน อาตมาจะได้ชี้แจงไปโดยลำดับ
ข้อที่ 1. เรื่องเนื้อหาความรู้หรือสิ่งที่ควรทำความเข้าใจเบื้องต้น อันนี้จะเรียกตามภาษาพระว่า เป็นปริยัติ สำหรับผู้เข้าเจริญภาวนา ความรู้ในด้านนี้ ควรจะเรียนเพียงเท่าที่จำเป็น พอแก่การที่จะเป็นพื้นฐานความเข้าใจ สำหรับบางสำนัก ท่านอาจารย์อาจจะให้ฝากความไว้วางใจ ในด้านความรู้เหล่านี้ไว้กับตัวพระอาจารย์ทั้งหมด เพราะฉะนั้นอาจจะไม่สนับสนุนให้ต้องไปเล่าเรียนหาความรู้อะไร เมื่อเข้าปฏิบัติก็มาฟังจากพระอาจารย์โดยตรง ท่านจะบอกว่าเอาละเมื่อเริ่มลงมือปฏิบัติ ให้ทำอย่างนี้ อย่างนี้ เช่น
- ให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออก กำหนดโดยนับ 1,2,3,4,5
- ให้กำหนดโดยกำกับคำภาวนาว่า พุท-โธ
- ให้หายใจเข้า ก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออก ก็รู้ว่าหายใจออก หายใจเข้าสั้น ก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น หายใจเข้ายาว ก็ให้รู้ว่าหายใจเข้ายาว
แม้เพียงเท่านี้ ก็ถือว่าเป็นคำแนะนำเป็นความรู้พื้นฐานที่จะใช้ในการปฏิบัติ ซึ่งเรียกว่า เป็นปริยัติ
ปริยัติ จึงเป็นคำที่มีความหมายกว้าง-แคบกว่ากันได้มาก อย่างที่กล่าวว่า แม้แต่เพียงพระอาจารย์บอกว่า เธอไปกำหนดลมหายใจอย่างนี้ๆ นะ เท่านี้เราก็เรียกว่าเป็นปริยัติแล้ว ปริยัตินั้นเป็นพื้นฐานให้ปฏิบัติได้ถูกต้อง เพราะว่าเรามาเจริญภาวนา เราปฏิบัติตามหลักการและวิธีการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เรียกว่า ปริยัติ ตามปกติเราควรจะเรียนโดยตรงจากพระพุทธเจ้า แต่ในบัดนี้เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว เราไม่สามารถจะฟังจากพระองค์โดยตรงได้ เราก็เรียนจากถ้อยคำสั่งสอนที่สืบๆ กันมา เช่น ในพระไตรปิฎก โดยเฉพาะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ท่านรวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก เรารู้คำสอนของพระพุทธเจ้าได้จากพระไตรปิฎก คำสอนของพระองค์ที่เล่าเรียนกันนี่แหละเรียกว่า “ปริยัติ”
ปริยัติเป็นสื่อที่จะเชื่อมโยงตัวเรากับพระพุทธเจ้า ถ้าหากว่าเราไม่รู้ ไม่ฟังปริยัติ เท่ากับบอกว่า เราสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องรู้คำสอนของพระพุทธเจ้า หรือถ้าพูดให้ตรงลงไปกว่านั้น กลายเป็นว่า เราสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ต้องมีพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นเรื่องที่อาจจะทำให้ กลายเป็นการปฏิบัติผิดหลักพระพุทธศาสนา หรือไม่ใช่พระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นปริยัตินี้เป็นสิ่งที่จำเป็น เพียงแต่ว่าเราจะ เรียนมาก เรียนน้อย เราเข้าปฏิบัติ เราเรียนเพียงเท่าที่จำเป็นแก่การปฏิบัติ ถ้าหากว่าเราไม่เรียนเลยด้วยตนเอง เรารับฟังจากพระอาจารย์ ฝากความไว้วางใจไว้กับตัวท่าน ท่านบอกให้เลือกปริยัติให้เรา ในแต่ละครั้งๆ ไป เพราะฉะนั้นในคราวนี้ เราอาจจะต้องพิจารณาตัวเองว่าเราจะเอาปริยัติแค่ไหน การพิจารณาของเราอาจจะขึ้นกับพระอาจารย์ด้วย อาจารย์ท่านอาจจะบอกว่า สำหรับการมาปฏิบัติที่นี่ไม่ต้องไปเรียนรู้ปริยัติอะไร หมายความว่ามาเอาปริยัติจากที่ท่านบอกให้ โดยที่ท่านจะบอกให้เป็นลำดับไปเท่าที่จำเป็น เป็นตามตอน บอกปริยัติโดยควบคู่ไปกับการปฏิบัติ หรือว่าก้าวหน้าไปกับการปฏิบัติ ตอนแรกให้รู้เพียงเท่านี้พอไปเป็นข้อกำหนดให้ปฏิบัติได้ พอปฏิบัติไปก้าวหน้าไปอีก ท่านเห็นว่าควรจะให้ปริยัติเพิ่มก็บอกมา ถ้าหากว่าคำที่ท่านบอกนั้นตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้า อันนั้นเป็นปริยัติที่แท้จริง เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า
ในกรณีนี้คิดว่าเราอาจจะเรียนปริยัติให้ได้ถึงขนาดที่เรียกว่า พอเพียง เพราะฉะนั้นในคราวนี้จะมีหัวข้อเกี่ยวกับปริยัติที่เราจะได้ศึกษา อาจจะหลายหัวข้อสักหน่อย ไม่ใช่ว่าเพียงฟังจากพระอาจารย์ในตอนปฏิบัติ พอให้เข้าไปลงมือทำได้แค่ไหนแค่นั้นเฉพาะตอนๆ คราวนี้จะให้รู้เป็นพื้นฐานให้เพียงพอ
อันนี้เป็นการทำความเข้าใจกันในเบื้องต้นเป็นหัวข้อที่ 1
ข้อที่ 2. สิ่งที่ควรจะกระทำก่อนที่จะเข้าเจริญภาวนา อย่างที่เรียกว่า บุพกิจของภาวนา บุพกิจของภาวนานี้ มีหัวข้อสำคัญ 3 อย่างด้วยกัน
1. การตัดปริโพธ ปริโพธ แปลว่า สิ่งที่ผูกพันหน่วงเหนี่ยวให้ใจห่วงกังวล หรือสิ่งที่ทำให้ใจติดข้อง ถ้าหากว่าใจติดข้องกังวลห่วงอยู่ ทำให้มารบกวนการปฏิบัติ โดยเฉพาะการปฏิบัตินี้ สิ่งที่เราต้องการที่สำคัญ คือ สมาธิ ถ้าใจฟุ้งซ่านสมาธิก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นข้อที่ 1 ตัดปริโพธ
2. เข้าหากัลยาณมิตร คือ อาจารย์ผู้บอกกรรมฐาน แล้วรับกรรมฐานจากท่าน
3. หาที่สัปปายะ เมื่อได้กรรมฐานที่เหมาะกับจริตของตน หรือตามที่พระอาจารย์ให้แล้ว เลือกหาสถานที่ๆ เหมาะที่จะปฏิบัติ ซึ่งเรียกว่า หาที่สัปปายะ
อาตมาจะพูดไปตามลำดับแต่ละข้อ ซึ่งเริ่มจากข้อที่ 1 ได้แก่ การตัดปริโพธ ก่อนที่จะไปตัดปริโพธ
ท่านว่า ตัวเราในพื้นฐานตัวเองนั้น ควรจะมีศีลบริสุทธิ์ ให้ตรวจดูตัวเอง ชำระศีลให้บริสุทธิ์ ทำตนให้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ก่อน ศีลบริสุทธิ์ในที่นี้มีความหมายถึงการที่ว่าในด้านความสุจริต หรือความประพฤติทั่วๆ ไปไม่เสียหาย อย่างน้อยการมีศีลหรือมีความสุจริตนี้ เป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราไปทำความชั่วลักขโมยของเขามา เป็นต้น ยังกลัวตำรวจจะตามจับอยู่อย่างนี้ เรามาเข้ากรรมฐานใจย่อมคิดหวาดระแวง ฟุ้งซ่านไป ห่วงกังวลไป ไม่เป็นสมาธิไปได้ ฉะนั้นที่ท่านบอกว่าให้ศีล มองความหมายอย่างหยาบๆ ตั้งแต่ที่ว่า การที่ไม่ได้ไปทำความผิดความชั่วร้ายอะไรมา เช่น ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง เป็นต้น ในข้ออย่างที่ว่า ไม่ได้ไปทำความผิดความเสียหาย ที่กลัวตำรวจเขาจะมาจับ ตลอดจนกระทั่งว่า ถ้าเรามีศีล คือ ความประพฤติลึกๆ ลงไปแม้แต่ในส่วนที่ประณีต ที่เป็นศีล 5 ในระดับของการแม้แต่เบียดเบียนทำลายชีวิตสัตว์ ในตอนที่จะเริ่มลงมือปฏิบัติ เราก็ควรจะทำตัวให้มีความบริสุทธิ์เท่าที่ทำได้ เพราะจะทำให้จิตใจสบาย สงบ เป็นเครื่องสนับสนุนได้ดีขึ้น แล้วถ้าเรารู้สึกตัวว่าเรามีศีลบริสุทธิ์ จะทำให้จิตใจนี้เกิดปิติเป็นเครื่องเอื้อ เป็นเครื่องช่วยในการเจริญสมาธิด้วย ท่านเลยบอกว่าให้มีพื้นในตัวเอง คือ การที่มีศีลบริสุทธิ์ อย่างน้อยไม่ได้ไปทำความผิด ความชั่วร้ายที่จะต้องกลัวเขาจะตามจับ ตามลงโทษ ถ้าหากว่าได้แค่นั้นมาพอสมควรแล้วก็เข้าปฏิบัติ พอว่าตัวเองมีพื้นฐานเรื่องศีลบริสุทธิ์ พอสมควรแล้วเริ่มลงมือปฏิบัติโดยตัดปริโพธ ในกรณีนี้อาตมาพูด หมายถึง ญาติโยมทั่วๆ ไป ถ้าสำหรับพระ ศีลในที่นี้ก็จะหมายไปถึงศีล 227 ข้อ และสำหรับสามเณรศีล 10 ข้อ ซึ่งจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าหากว่าไปทำอะไรผิด ก็ต้องแก้ไข เช่น เป็นพระต้องปลงอาบัติ เป็นต้น อันนั้นจะไม่พูดถึงในที่นี้ เพราะในที่นี้มุ่งสำหรับญาติโยมสาธุชน