แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
วันนี้ตั้งแต่เช้าเลยทีเดียว เราก็ได้ออกเดินทางมาเยี่ยมเยียนสถานที่สำคัญในพระพุทธศาสนา สำหรับวันนี้เราก็ได้มา ณ สถานที่ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นหลักฐานแสดงถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีต ทางฝรั่งเขาเรียกกันว่า มหาวิทยาลัยนาลันทา แต่ว่าทางของเราเองนี้ในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา
เราเรียกกันว่า นาลันทามหาวิหาร คำว่าวิหารนั้นก็แปลว่าวัดนั่นเอง ในภาษาไทยนี้อาจจะสับสนหน่อย คือ
เราเอาคำว่าวิหารไปใช้เรียกอาคารหลังหนึ่งในวัดที่คู่กับโบสถ์ แต่ความจริงนั้น เดิมคำว่าวิหาร ก็หมายถึงที่อยู่ของพระ คำว่าวิหารแปลว่าที่อยู่ ที่อยู่ของพระนี้ก็อาจจะเป็นที่เล็ก ๆ อาจจะเป็นอาคารหลังเดียวก็ได้ แล้วต่อมาก็หมายถึงว่าบริเวณที่อยู่อาศัยของพระทั้งหมดก็เรียกว่าวิหาร คำว่าวิหารก็เลยหมายถึงวัด เช่น อย่าง
เชตวันวิหาร ที่นี้ถ้าใหญ่ วิหารนั้นก็เป็นมหาวิหาร อย่างพระเชตวันนี้ ถ้าเรียกว่าเชตวันวิหารก็ยังเล็กไป ก็เติมเข้าไปเป็น เชตวันมหาวิหาร นี้สถานที่นี้ก็ทำนองนั้นเหมือนกันก็เป็นวัด แต่วัดนี้ก็สืบเนื่องมาแต่พุทธกาล แต่ว่าสำหรับวัดนี้ตามประวัติว่า เริ่มต้นหลังพุทธกาล แต่เราก็ไม่ทราบแน่นอน ว่าจะมีมาตั้งแต่พุทธกาลด้วยหรือเปล่า แต่ว่าที่พอจะสืบได้ก็หลังพุทธกาล แล้ววัดก็มีเพิ่มจำนวนขึ้น เพิ่มจำนวนขึ้น พระพุทธศาสนาก็เผยแพร่กว้างขวางออกไป จนกระทั่งว่าถึงในยุคหนึ่งนี้ เมื่อมีวัดจำนวนมาก บางทีก็มีการรวมวัดหลาย ๆ วัดเข้าด้วยกัน สำหรับนาลันทานี้ก็มีประวัติเท่าที่เขาสืบได้ว่า ถึงยุคหนึ่งนี้หลังพุทธกาล ก็จะใกล้สมัยพระเจ้าอโศก มีการรวมวัด หรือจะประมาณ 6 วัดด้วยกัน นี่อาตมาก็ไม่ยืนยันตัวเลขนี้ มีการล้อมกำแพงให้ 6 วัดนี้อยู่ในเขตเดียวกัน วัดซึ่งแต่ละวัดก็เรียกว่าวิหาร วิหาร เมื่อรวมกันอยู่ในกำแพงเดียวตั้ง 6 วัดก็เลยกลายเป็นมหาวิหาร คือ วัดใหญ่ นี้คำว่าวิหาร มหาวิหารวัดใหญ่ก็หมายถึงการศึกษาที่เป็นแหล่งสำคัญไปด้วย เพราะว่า คำว่าวัดนั้นมีความหมายนอกจากเป็นสถานที่ทางพระพุทธศาสนาแล้ว ก็เป็นศูนย์กลางการศึกษา วัดในพระพุทธศาสนาทั้งหมดนั้น เป็นที่ฝึกฝนอบรมบุคคลให้มีความเจริญงอกงาม ก็หลักการของพระพุทธศาสนาก็เป็นการศึกษาอยู่แล้ว เราก็ทราบกันดีว่า ตัวข้อปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนานี้ เรียกว่าสิกขา สิกขานั้นแปลว่าการศึกษา นั้นชีวิตของพระนี้อยู่ด้วยสิกขา เวลาพระบวชเข้ามานี้ พระอุปัชฌาย์ท่านก็จะบอกว่า สีลัง สัมมะทักขาตัง สะมาธิ สัมมะทักขาโต ปัญญา สัมมะทักขาตา แล้วก็จะบอกสรุปให้ทราบ บอกว่าให้พระนี้ตั้งใจศึกษาตามสิกขา 3 ประการนี้ว่า สักกัจจัง อะธิสีละสิกขา สิกขิตัพพา อะธิจิตตะสิกขา สิกขิตัพพา อะธิปัญญาสิกขา สิกขิตัพพา นี้ชีวิตของพระพอเริ่มต้นบวช พระอุปัชฌาย์ก็จะบอกแล้วว่านะให้ตั้งใจนะ ให้ฝึกฝนอบรมศึกษาตามหลักอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ชีวิตพระเป็นการศึกษาทั้งนั้น เพราะฉะนั้นวัดก็เลยกลายเป็นศูนย์กลางการศึกษา และยิ่งสมัยพุทธกาลด้วย มีทั้งภิกษุ และภิกษุณี เพราะฉะนั้นก็จึงถือว่าพระพุทธศาสนานี้ช่วยให้คนได้รับการศึกษาทั่วไป เป็นการศึกษามวลชน แล้วก็มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย สตรีก็มีโอกาสได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี แล้วมีพระเถรีที่มีชื่อเสียงเป็นเอตทัคคะในด้านต่าง ๆ เป็นธรรมกถึก เป็นพหูสูตร เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นอัครสาวิกามากมาย อันนี้ก็เป็นประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา แล้วนอกจากนั้นที่สำคัญ ก็คือว่าการศึกษาในพุทธศาสนานี้เปิดโอกาสให้แก่ทุกวรรณะ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้แล้วบอกว่าจะเป็นคนวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ก็ตาม วรรณะพราหมณ์ก็ตาม วรรณะแพทย์ก็ตาม วรรณะศูทรก็ตาม คือจะเป็นวรรณะผู้ปกครอง หรือจะเป็นวรรณะผู้กระทำพิธีกรรม เป็นนักวิชาการ หรือว่าจะเป็นพ่อค้า หรือว่าเป็นกรรมกร เป็นคนรับใช้อะไรต่าง ๆ นี้ เข้ามาบวชแล้ว ท่านเรียกว่า เป็นสมณศากยบุตรเสมอกันทั้งหมด เพราะฉะนั้นพุทธศาสนานี้เปิดรับคนมาจากทุกชั้นวรรณะ แล้วก็ให้ความเสมอภาค ก็ทำให้ทุกคนมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน อันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญ เพราะว่าศาสนาพราหมณ์นี้เขาจะผูกขาดเรื่องการศึกษา อย่างที่กล่าวว่าพราหมณ์เท่านั้นเป็นผู้รักษาทรงพระเวทไว้ เป็นผู้สืบต่อกันมา เป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ที่นี้วรรณะที่จะเรียนได้บ้าง ก็มีวรรณะกษัตริย์ และวรรณะรองลงไปก็วรรณะแพทย์พวกพ่อค้า แต่วรรณะศูทรนี้ไม่มีโอกาสที่จะศึกษาเลย พวกนอกวรรณะคือจัณฑาลนี้ไม่ต้องพูดถึง สำหรับคนวรรณะศูทรนี้ ถ้าหากว่ามาแม้แต่เพียงฟังพระเวท เขาก็มีบทลงโทษไว้ในคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์เป็นหนังสือกฎหมาย ตำรากฎหมาย ว่าให้เอาตะกั่วหลอมหยอดหูมัน ถ้าหากมันสาธยายพระเวท ให้ตัดลิ้นมันเสีย ถ้าหากว่ามันเรียนพระเวท ให้ผ่ากายมันเป็นสองซีก นี่ร้ายแรงขนาดไหน มีเรื่องราวในชาดก ท่านเล่าถึงพระโพธิสัตว์ เกิดเป็นคนนอกวรรณะ คือเป็นจัณฑาล แล้วอยากจะเล่าเรียนศึกษา สมัยก่อนพุทธกาลนั้นแหล่งการศึกษาสำคัญก็คือตักศิลา เป็นดินแดนที่ทิศาปาโมกข์ ใคร ๆ ก็ไปเรียนกันที่นั้น เป็นพ่อค้า เป็นมหากษัตริย์ เป็นเจ้าชาย ก็จะต้องพากันไปเรียนที่สำนักทิศาปาโมกข์ แต่เขาก็จะเปิดให้เรียนเฉพาะวรรณะสูงเท่านั้น พวกวรรณะศูทรนี้ไม่มีโอกาสได้เรียน วรรณะจัณฑาลไม่ต้องพูดถึง ที่นี้มีเรื่องราวที่กล่าวเมื่อกี้ว่า พระโพธิสัตว์ได้เกิดเป็นคนในวรรณะจัณฑาล ก็มีความใคร่ต่อการศึกษาอยากจะเรียน ก็ไม่มีทางจะเล่าเรียน ก็เลยปลอมตัวไปเข้าในสำนักทิศาปาโมกข์ เรียนไป ๆ ก็มาถึงวันหนึ่ง ก็ไม่สามารถปิดบังชาติกำเนิดของตนได้ คือว่าชาติกำเนิดนี้มันจะมีเกี่ยวกับเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณี ชีวิตความเป็นอยู่แต่พื้นฐาน เมื่อไปอยู่ร่วมกันมันจะปกปิดไม่ไหว วันหนึ่งก็ปรากฏว่าเพื่อนจับได้ พอเพื่อนจับได้ว่าเป็นคนจัณฑาลมาร่วมสำนักเท่านั้นแหล่ะ เพื่อนที่เคยอยู่ร่วมกันรักใคร่กันดี ก็กลับเป็นศัตรูทันทีเลย พร้อมกันจับตัวป้องซ้อมใหญ่ ขับไล่ออกจากสำนักมา อันนี้ก็ให้เห็นว่า การศึกษาที่เป็นมาในศาสนาพราหมณ์นั้นมีการผูกขาดเหลือเกิน ด้วยลัทธิวรรณะ พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาตั้งคณะสงฆ์นี้จึงถือว่า เป็นการปฏิวัติสังคมที่สำคัญ ก็เปิดรับคนจากทุกวรรณะให้มีการศึกษาเสมอภาค การศึกษาก็ได้เจริญขึ้นโดยอาศัยพระพุทธศาสนานี้ ก็เจริญเรื่อยสืบมา แล้วก็วัดนี่แหล่ะก็คือศูนย์กลางการศึกษา เมื่อหลังจากพุทธกาลแล้วพระพุทธศาสนาก็เจริญขึ้น การศึกษาก็เจริญขึ้นด้วย อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า แหล่งกำเนิดของมหาวิทยาลัยนาลันทา ก็คือวัดเล็ก ๆ ต่าง ๆ ที่มารวมกันเข้า ที่มีการสร้างกำแพงล้อมรอบ ประมาณ 6 วัด รวมเป็นวัดเดียวก่อน ก็กลายเป็นมหาวิหารและต่อจากนั้นก็ขยายตัวขึ้นมาตามลำดับ ตามยุคตามสมัย ทั้งนี้พระราชามหากษัตริย์ที่นับถือพุทธศาสนาเมื่อมีพระมาเล่าเรียนกันอยู่มาก ก็ทรงอุปถัมภ์บำรุงจนกระทั่งถึงยุคสมัยหนึ่งนี้ พระมหากษัตริย์ก็ให้ทรงเก็บภาษี จากหมู่บ้านกี่หมู่บ้านอาตมาก็ไม่ได้จำแล้วตอนนี้ คือก็ไม่ได้ทบทวน บอกว่าให้เอาภาษีจากหมู่บ้านเหล่านั้นนะมาบำรุงมหาวิทยาลัยนาลันทานี้ พระที่มาเล่าเรียนก็สะดวกสบาย ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนกันเต็มที่ มหาวิทยาลัยนาลันทาก็ขยายใหญ่โต จนกระทั่งเป็นสถาบันการศึกษานานาชาติ เมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นแผ่ไพศาลไปตามประเทศต่าง ๆ แล้วมีอาณาจักรในดินแดนอื่น ๆ ที่นับถือพุทธศาสนา ก็จะมีพระสงฆ์จากประเทศเหล่านั้นเดินทางมาศึกษาที่นี้ เช่น อาณาจักรศรีวิชัย ปัจจุบันเป็นประเทศอินโดนีเซีย แล้วก็เป็นมาเลเซีย จนกระทั่งถึงตอนใต้ของประเทศไทย ถึงทางนครศรีธรรมราช ล้วนแต่อยู่ในอาณาจักรศรีวิชัย ตอนนั้นพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ก็มีพระสงฆ์ที่เดินทางมาเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทานี้ หรืออย่างที่จีนก็มีที่สำคัญก็หลวงจีนเสวียนจั้ง หรือที่เรารู้จักกันในนามว่าพระถังซัมจั๋ง พระถังซัมจั๋งนี้ก็เดินทางมาเรียนที่นี่จบและยังแถมได้เป็นผู้บริหารท่านหนึ่งด้วยในมหาวิทยาลัยนาลันทานี้ เป็นประวัติศาสตร์ที่เลี่ยงลือและนำความเจริญทางพุทธศาสนากลับไปให้แก่ประเทศจีน และก็ยังมีจากประเทศทิเบต หรือบางท่านจากนี่เอง ท่านที่เป็นปราชญ์ชาวอินเดียเองก็ได้รับนิมนต์ให้ไปสอนในประเทศทิเบต แล้วก็ชาวทิเบตเองก็มาเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทา เมื่อพรากจากนาลันทาก็ไปสอนในประเทศจีน ล้วนแล้วแต่ว่ามาถือเอาเมืองนาลันทา มหาวิทยาลัยนาลันทานี้เป็นศูนย์กลางของการศึกษา อันนี้อาตมาก็ขอย้อนกลับไปพูดเริ่มต้นนิดหน่อยว่า กำเนิดของมหาวิทยาลัยนาลันทาเนื่องจากสถานที่นี้อยู่ในถิ่นที่สืบเนื่องกับพระมหาสาวกองค์สำคัญ คือ พระสารีบุตร ก็เลยโยงเข้าไปเกี่ยวข้องโดยเป็นสถานที่ที่เป็นอนุสรณ์ของพระสารีบุตรไปด้วย เพราะเหตุว่าพระสารีบุตรมหาสาวกเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะในทางปัญญา ได้ถือกำเนิดที่หมู่บ้านนาลันทา เรียกว่านาลันทคามหรือนาลกะ ก็อยู่ในบริเวณนี้แหล่ะ เมื่อมหาวิทยาลัยนี้ตั้งขึ้นแล้ว ต่อมาก็ปรากฏว่าได้มีการสร้างอนุสรณ์สำคัญจะเรียกว่าเป็น สถูป หรือว่าเป็นเจดีย์หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เราขึ้นไปเมื่อกี้นี้ที่สูงที่สุด เป็นอนุสรณ์สถาน เป็นอนุสาวรีย์หรือว่าเป็นสถูปที่ลำลึกถึงพระมหาเถระคือพระสารีบุตรนี้ พระสารีบุตรนั้นก็เรียกว่าการที่มามีมหาวิทยาลัยนาลันทาขึ้นที่นี้ก็เป็นความพอเหมาะอย่างหนึ่ง คือว่ามหาวิทยาลัยนาลันทาก็เป็นศูนย์กลางการศึกษาเป็นเรื่องทางปัญญา แล้วก็พอดีตรงกับเป็นที่เกิดของพระสารีบุตร แล้วพระสารีบุตรก็เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา และเป็นผู้เลิศทางปัญญา เลิศทางปัญญาก็เป็นผู้ที่ให้ความรู้ เพราะฉะนั้นกิจกรรมของมหาวิทยาลัยนี้ก็สอดคล้องกับความเป็นเลิศของพระสารีบุตร เป็นแหล่งที่ให้ปัญญา สร้างปัญญา พระสารีบุตรนั้นก็ตั้งแต่ท่านยังดำรงชีวิตอยู่ ท่านเป็นผู้มีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่ง ก็คือว่าท่านเอาใจใส่การศึกษาเล่าเรียน ให้การศึกษาอบรม อย่าลืมว่าพระสารีบุตรนี้แหล่ะที่พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายให้เป็นผู้บวชให้พระราหุล สามเณรราหุลเป็นเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา ก็เป็นลูกศิษย์ของพระสารีบุตร พระสารีบุตรดูแลให้การศึกษาอบรมและต่อมา มาถึงประวัติโดยทั่วไปพระสารีบุตรท่านก็เอาใจใส่ดูแล ไปพบเด็กยากจน ท่านก็ชวนเอามาบวชเป็นเณร ดูแลให้การศึกษานี้แสดงถึงลักษณะของพระสารีบุตรที่ท่านช่วยเหลือพวกเด็ก ๆ ให้มีการศึกษา อันนี้เป็นวัตรปฏิบัติที่เราน่าจะนำมาใช้เป็นตัวอย่างของการ พระสงฆ์ที่เป็นอัครสาวกของพระพุทธเจ้า ท่านเอาใจใส่เรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชนในรูปที่เป็นเณร ไปเอาเด็ก ๆ มาบวชเณร เด็กที่ยากจน อะไรต่าง ๆ ท่านก็ดูแล ก็เรียกว่าตั้งแต่เด็กลูกเจ้าคือพระราหุลจนกระทั่งถึงเด็กยากจนที่ท่านไปพบไม่ค่อยมีเสื้อผ้าจะนุ่ง ท่านก็เอามาบวชแล้วก็ให้การศึกษา อันนี้เป็นจริยาวัตรที่เป็นแบบอย่างของพระสารีบุตร แล้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นอนุสรณ์สำหรับพระสารีบุตร นี่หวนกลับมาถึงเรื่องของมหาวิทยาลัยนาลันทาต่อมา มหาวิทยาลัยนาลันทานี้ได้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาเรื่อยจนกระทั่งว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคสมัยของพระพุทธศาสนาก็ว่าได้ คือ เรามองความเจริญ ความเสื่อมของพระพุทธศาสนาในอินเดียนี้ โดยสัมพันธ์กับประวัติของมหาวิทยาลัยนาลันทา นาลันทาเจริญมาเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุด ถ้าจะเทียบกับทางยุโรป ทางตะวันตกนี้ก็บอกว่ามหาวิทยาลัยโบโลญญา และก็ปารีสพวกนี้เป็นมหาวิทยาลัยยุคแรกเกิดขึ้นก่อน แต่ถ้ามาเทียบกับทางมหาวิทยาลัยนาลันทาแล้ว ก็กลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยนาลันทาของเรานี้เป็นมหาวิทยาลัยแรกในโลกก็ว่าได้ เกิดขึ้นก่อน นี้มหาวิทยาลัยนาลันทาเกิดขึ้นมาแล้วเจริญสืบมาจนระยะหลัง ๆ มาถึง พ.ศ. พันกว่าปีแล้วก็มีพระมหากษัตริย์ที่มีความเลื่อมใสในพุทธศาสนา และต้องการทำนุบำรุงการศึกษาก็ได้มีการสร้างมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนายุคหลังขึ้นมาอีกหลายแห่งด้วยกัน ซึ่งท่านมหาบุญธรรมก็ได้ออกชื่อให้โยมฟังแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยวิกรมศิลา โอทันตะปุระ อะไรเป็นต้น ชคัททละ วเรนทรี มีหลายแห่ง มีมหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งที่เป็นคู่กันกับมหาวิทยาลัยนาลันทานี้ แต่ก็ไม่ได้มีชื่อเสียงเท่า คือมหาวิทยาลัยนาลันทาอยู่มาสมัยหลังนี้ พุทธศาสนาเจริญขึ้น ก็มีการแยกตัวเป็นเถรวาทและก็มหายาน ที่เราเรียกกันว่าหินยานและมหายาน ก็ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยนาลันทานี้ได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นหนักในการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายานไป มหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ทางริมทะเล (วลภี ?) อาตมาตอนนี้นึกชื่อไม่ทัน ท่านมหาบุญธรรมนึกออกไหม มหาวิทยาลัยที่เน้นทางเถรวาท ยุคก่อนมีมหาวิทยาลัยที่คู่กันกับมหาวิทยาลัยนาลันทา มีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่งที่เป็นฝ่ายเถรวาท อาตมานึกไม่ทัน ในตอนนี้ เอาไว้ติดก่อน เพราะว่า พอนาน ๆ ไปก็ลืม ๆ ไป ชื่อต่าง ๆ นึกออกบ้าง นึกไม่ออกบ้าง แต่ก็เป็นอันว่ามหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งไปทางเถรวาทในขณะที่นาลันทานี้ได้เน้นหนักไปทางมหายาน ที่นี้มหายานก็เจริญรุ่งเรืองที่นี่ และก็รู้กันว่าพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้นต่อมาก็ค่อย ๆ เสื่อมไปจากอินเดีย แล้วก็ไปตั้งศูนย์กลางใหญ่อยู่ที่ศรีลังกา แม้แต่พุทธศาสนาในประเทศไทย สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชก็ได้มาจากประเทศศรีลังกา จนกระทั่งเราเรียกกันว่าเป็นลังกาวงศ์ ส่วนพุทธศาสนาแบบเดิมที่เป็นจากสมัยพระเจ้าอโศกที่ไปถึงประเทศเราโดยทางนครปฐมอะไรนั้นก็เลือนลางจางลงไป ก็ได้อาศัยสายใหม่ก็คือสายศรีลังกานี้เข้าไปเป็นสายปัจจุบัน นี้เป็นอันว่าพุทธศาสนาสายเถรวาทนี้ก็เสื่อมไปจากประเทศอินเดีย อินเดียในยุคหลังก็มีแต่พุทธศาสนาฝ่ายมหายานนี้รุ่งเรืองอยู่ แล้วพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเมื่อรุ่งเรืองต่อมา มายุคหลังนี้ก็จะมีการผสมผสานกับศาสนาฮินดู คือว่าหลังพุทธกาลแล้วนี้ ศาสนาพราหมณ์ได้ปรับปรุงตัวเป็นการใหญ่ เพราะว่าการเจริญขึ้นของพระพุทธศาสนานี้กระทบกระเทือนต่อศาสนาฮินดู หรือพราหมณ์เก่านั้นมาก จนกระทั่งเห็นว่าตัวเองจะอยู่ไม่ไหว ก็มีการปรับปรุงตัว การปรับปรุงตัวของศาสนาพราหมณ์ก็วิธีหนึ่งก็คือมาเอาหลักธรรมคำสอนไปจากพุทธศาสนา เราจะเห็นว่าในบางคัมภีร์ แม้แต่คัมภีร์มหาภารตะที่เป็นคัมภีร์สำคัญมากของฮินดู จะเอาหลักคำสอน เช่น ในพระธรรมบทไปใส่ไว้ด้วย เราจะไปอ่านคัมภีร์ คัมภีร์ภควัทคีตา ขออภัย ภควัทคีตา ที่เป็นคัมภีร์สำคัญของเวทานตะ ของศาสนาฮินดูยุคหลังนี้จะพบคาถาเห็นได้ว่าเอาไปจากพระพุทธศาสนาจากคาถาธรรมบท นอกจากเอาคำสอนไปแล้ว ก็ยังมีการตั้งวัดและคณะสงฆ์ขึ้นมา เลียนแบบพระพุทธศาสนา คนที่ทำอย่างนี้ก็คือศังกราจารย์ ศังกราจารย์นี้มีเล่ากันว่าเคยเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทาด้วย ถ้าเป็นจริงอย่างนั้นก็น่าสันนิษฐานว่าคงจะเป็นการเรียนโดยมีแผนการหรือทำนองนั้น คือเรียนเพื่อมาเอาหลักคำสอนและวิธีการของพระพุทธศาสนาไปใช้ ไปตั้งคณะสงฆ์เลียนแบบ คือศาสนาพราหมณ์เดิมนี้เขาไม่มีคณะสงฆ์ พราหมณ์นี้ก็อยู่กับบ้านครองเรือน มีบุตร มีภรรยา หรือแม้แต่พราหมณ์เดิมสมัยก่อนเขาไม่ครองเรือน แต่เขาก็ไม่มีวัด ไม่ได้ตั้งเป็นชุมชนคณะสงฆ์ ต่อมาเขาก็มาเลียนแบบเอา ตั้งวัดแบบพุทธศาสนาขึ้นมา และก็มีนักบวชอยู่ แล้วก็ต่อก็ทำให้เกิดความกลมกลืนและยิ่งสมัยหลังมีกษัตริย์ฮินดูปกครอง ชาวพุทธเราเป็นคนที่ใจคอมีเสรีภาพ และก็ชอบอยู่กลมกลืนกันก็เลยเข้ากันได้นี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่ง นี้เวลากษัตริย์ฮินดูขึ้นปกครองนี่ พอพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองไปมากแล้ว กษัตริย์ฮินดูนั้นก็ไม่กล้าเบียดเบียนพุทธศาสนาก็อุปถัมภ์บำรุง อย่างนาลันทานี้เขาก็บำรุงด้วยแต่ก็คิดว่าบำรุงในฐานะที่เป็นสถานบันการศึกษา เพราะนาลันทานั้นก็ไม่ได้เป็นสถานศึกษาเฉพาะพุทธศาสนาเท่านั้น เมื่อเจริญขยายตัวออกไปนาน ๆ เข้า นี่ก็มีการให้การศึกษาวิชาการทั่วไปทางโลกด้วย มีเช่น อย่างเรื่องดาราศาสตร์ เป็นต้น และก็การแพทย์ เป็นต้น กฎหมายก็เรียน นั้นวิชาการทางโลกก็เรียนกันก็รับคฤหัสถ์เข้ามาเรียนด้วย นี้การศึกษาขยายออกไปก็ทำให้เป็นกิจการของรัฐ รัฐก็ต้องอุปถัมภ์ ฉะนั้นกษัตริย์ฮินดูก็มาอุปถัมภ์นาลันทานี้ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา และเพราะเหตุที่เข้ามาอุปถัมภ์อันนี้ก็อาจจะเป็นปัจจัยอันหนึ่งที่ทำให้พระของเรานี้ โดยเฉพาะผู้บริหารต้องไปคล้าย ๆ ว่ามีการเกรงใจพระมหากษัตริย์ผู้อุปถัมภ์บ้าง ก็ทำให้คำสอนอะไรต่าง ๆ ชักจะกลืนกันไปเรื่อย ๆ กับพวกฮินดู จนกระทั่งต่อมานี้ปรากฏว่าก็จะมีหลักลัทธิต่าง ๆ ข้อปฏิบัติในพุทธศาสนามหายานเข้าไปประสานกับฮินดูเรื่อยมากขึ้น ๆ ทางฝ่ายฮินดูเขาก็สร้างหลักทฤษฎีขึ้นมา เช่น อย่างการที่บอกว่าพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่นี้ มีการอวตารและก็บอกว่าพระพุทธเจ้าก็เป็นอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ นี้เป็นวิธีกลืนเลยให้พระพุทธเจ้าเป็นส่วนหนึ่งของพระนารายณ์ เขาบอกว่าบูชาพระพุทธเจ้าได้ไม่เป็นไร เพราะว่าพระพุทธเจ้าก็เป็นพระนารายณ์นี้เองอวตารลงมา ว่าแล้วเขาก็เอาพระพุทธรูปนี้ไปไว้เทวสถาน เทวาลัยฮินดูด้วยเอาไปประกอบพระนารายณ์ เอาพระนารายณ์ตั้งตรงกลาง และก็เอาพระพุทธรูปไปวางข้าง ๆ อะไรอย่างนี้ อันนี้ก็ค่อย ๆ ประสานกลมกลืนกันไป และก็มีวิธีการทางฝ่ายพุทธศาสนาเราก็มีการกลมกลืนคำสอน เพื่อจะให้สนองความต้องการของชาวบ้าน มีการสร้างลัทธิพระโพธิสัตว์ขึ้นมา มีพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ มีพระอวโลกิเตศวร พระมัญชุศรี เป็นต้น ต่อมาพระโพธิสัตว์นี้ก็ทำให้เกิดลัทธิที่มีการอ้อนวอน มีการขออำนาจดลบันดาลก็คล้าย ๆ กับเทพในศาสนาพราหมณ์มากขึ้นทุกที ก็เลยความกลมกลืนก็มากขึ้น ๆ จนกระทั่งว่าต่อมานี้ก็ถึงกับมีลัทธิตันตระ ในฮินดูก็มีลัทธิตันตระในพุทธศาสนาเราก็มีลัทธิตันตระเกิดขึ้น ก็เป็นพุทธศาสนาที่เราถือว่ายุคที่เสื่อมแล้ว ตันตระนี้ก็เกิดขึ้นประมาณสัก ประมาณ พ.ศ. 2200 แล้วก็ถือว่าเป็นยุคที่พุทธศาสนาเสื่อม และต่อมาก็มีตันตระแบบที่เสื่อมลงไปอีก จนกระทั่งถือว่าการเสพกามนี้ก็เป็นเรื่องของการเข้าพระนิพานได้อะไรต่าง ๆ เหล่านั้นไป ก็ลัทธินี้ก็เผยแพร่ไปในที่ต่าง ๆ นำมาซึ่งความเสื่อมโทรมแก่พุทธศาสนา พุทธศาสนาในยุคหลังนี้กลมกลืนกับศาสนาฮินดูมาก ที่นี้อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญที่เป็นข้อน่าสังเกตก็คือว่า การที่มหาวิทยาลัยนาลันทานี้เป็นศูนย์กลางการศึกษาของพระ มีพระมาอยู่มากมายเป็นจำนวนหมื่น พระอาจารย์ที่สำคัญ ๆ มีความรู้ก็มารวมกันอยู่ที่นี่ นาน ๆ เข้าก็เกิดผลเสียอีกด้านหนึ่ง ผลดีนี้ก็มีแล้วอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เป็นศูนย์กลางการศึกษาแม้แต่ระหว่างชาติ ใคร ๆ ก็ปรารถนาว่าจะมาเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทา แต่ในเวลาเดียวกันอีกด้านหนึ่งความเสื่อมโทรมก็ได้เกิดขึ้น ก็คือว่าพระนี่จะมุ่งไหลมายังศูนย์กลางการศึกษาเข้ามาสู่ตัวเมือง ก็ทำให้วัดในชนบทนี้อ่อนแอ วัดตามชนบทไม่ค่อยมีพระอยู่ และไม่ค่อยมีพระที่มีคุณภาพ ที่นี้ฝ่ายฮินดูก็ตั้งวัดขึ้นมาเลียนแบบพุทธศาสนา วัดก็อยู่ใกล้ ๆ กันแล้วก็มีอะไร ๆ ก็คล้าย ๆ กัน ต่อมาก็ไม่ค่อยมีพระอยู่พระฮินดูก็มาช่วยวัดพุทธบ้าง มาทำอะไรต่ออะไรให้ ต่อมาไม่มีพระอยู่ ฮินดูก็กลืนไปเลยทำนองนี้ นี้ก็เป็นเหตุหนึ่งเป็นความอ่อนแอของพระพุทธศาสนาในชนบท พุทธศาสนาก็มารวมกันอยู่ที่ศูนย์กลางเมืองใหญ่เมืองสำคัญแบบนี้ แบบมหาวิทยาลัยนาลันทา อันนี้ก็เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของความเสื่อมของพุทธศาสนา และนอกจากนั้นก็คือในการศึกษาภายในสถาบันเองนี้ไป ๆ มา ๆ นี้พระ หนึ่งก็ได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากพระราชา และไม่ต้องคอยอาศัยประชาชนเท่าไหร่ ก็อยู่โดยขาดความสัมพันธ์กับชาวบ้าน ความสัมพันธ์กับชาวบ้านลดน้อยลง แล้วตัวเองก็หันมาสนใจการศึกษาแบบที่เป็นพวกปรัชญา ปรัชญาก็มีการถกเถียงกันต่าง ๆ ในเรื่องเหตุเรื่องผล และก็ห่างการปฏิบัติที่แท้จริง ทั้งการปฏิบัติในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวข้องกับประชาชน และการปฏิบัติเพื่อพัฒนาจิตใจอย่างแท้จริง อันนี้เป็นข้อสันนิษฐานนะ ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องเสื่อมไปตามนี้แท้หมด บางส่วนก็คงจะยังมีดีอยู่ แต่ว่า เอาเป็นว่าโดยความโน้มเอียง โดยความโน้มเอียงจะมีสภาพคล้าย ๆ อย่างนี้ พระจะไปสนใจเรื่องปรัชญา เรื่องถกเถียงปัญหาทางอภิปรัชญากันมาก ความห่างเหินกับประชาชนเกิดขึ้นอันนี้ก็นำมาซึ่งความเสื่อมแก่พระพุทธศาสนาด้วย เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาในยุคหลัง ๆ ของนาลันทานี้ก็จะเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์พุทธศาสนาที่ว่าพุทธศาสนาจากเถรวาทเด่นก็มาเป็นมหายานเด่น จากมหายานในยุคเบื้องต้นก็มาเป็นยุคที่มีลัทธิตันตระ ลัทธิตันตระก็มีลัทธิตันตระแบบเสื่อมโทรมมาก จนกระทั่งถึง พ.ศ. 1700 กองทัพมุสลิมก็บุกเข้ามา บุกมานานแล้วเป็นร้อย ๆ ปี เข้ามาทางตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วก็แถบโน้น แถบที่เข้ามาทาง ปากีสถาน อัฟกานิสถาน บุกเข้ามาทางโน้นก็รบราฆ่าฟันทำสงครามค่อย ๆ ชิงดินแดนได้เรื่อยมา ๆ เป็นร้อย ๆ ปี จนกระทั่งมาถึงแถบนี้ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย พ.ศ. 1700 กองทัพมุสลิมก็ยาตราเข้ามาบุกทำลายหมดเลย มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาทุกแห่งนี้เขาก็จะเข้าไปฆ่าพระสงฆ์แล้วก็เผา อย่างที่นาลันทานี้มีหอสมุดใหญ่ถึงสามหอสมุด ตามประวัติว่าเขาเผาอยู่ไหม้อยู่เป็นเดือนกว่าจะหมด แสดงว่าใหญ่โตมโหฬารเหลือเกิน พุทธศาสนาก็สูญสิ้น พระที่ขนคัมภีร์หนีไปได้ก็เอาไปได้บ้าง หนีไปทางพม่าโดยลงเรือไป และก็หนีไปทางเนปาล ทิเบต อะไรพวกนี้ หนีกันไปต่าง ๆ ก็หมดยุคพุทธศาสนาก็ถือว่าพุทธศาสนาสูญสิ้นจากประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ พ.ศ. 1700 หมดด้วยอาวุธ ด้วยคมอาวุธด้วยการสงคราม แต่ก่อนที่สงครามจะมาถึงก่อนที่มุสลิมจะทำลายนั้นก็อ่อนแอแล้ว ด้วยการที่เข้าไปประสานกลมกลืนกับศาสนาฮินดู แต่เมื่อกี้ลืมบอกไปว่า ศาสนาฮินดูนี้ความหมายหนึ่งก็คือศาสนาพราหมณ์ที่ปรับปรุงใหม่นั่นเอง คือพราหมณ์นั้นเขาปรับปรุงตัวใหม่ เราก็เรียกกันว่าศาสนาฮินดู เพื่อจะแยกให้เห็นง่าย ๆ ศาสนาฮินดูนี้จะมีหลักคำสอนที่มีหลายส่วนที่ละม้ายคล้ายคลึงพุทธศาสนา ดึงไปจากพุทธศาสนาแม้แต่เรื่องหลักอหิงสา ที่คนฮินดูไม่กินพวกเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เหล่านี้ก็ถือว่ามาจากอิทธิพลพุทธศาสนา เพราะศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาแห่งบูชายันต์ จะไม่กินเนื้อสัตว์ได้อย่างไรใช่ไหม ศาสนาพราหมณ์เดิมนั่นเป็นศาสนาแห่งการบูชายันต์ เอาอกเอาใจเทพเจ้า เอาสัตว์ทั้งหลายมาฆ่า เช่น เอาแพะ 100 แกะ 100 วัว 100 อย่างสมัยพุทธกาลนี้มีเรื่องในพระสูตรหลายพระสูตร พระพุทธเจ้าเสด็จไปที่โน้นที่นี่ เจอพระมหากษัตริย์บ้าง แม้แต่พระเจ้าปเสนทิโกศลที่มีชื่อในประวัติศาสตร์พุทธศาสนา หรือเจอพราหมณ์ผู้ใหญ่บ้าง กำลังเตรียมประกอบพิธีบูชายันต์ เอาสัตว์ต่าง ๆ จำนวนอย่างละ 500 มาผูกมามัดไว้ พระพุทธเจ้าก็เสด็จเข้าไปแล้วก็ทรงสนทนาไต่ถามแล้วก็ทรงสอนคำสอนที่ทำให้เขาเปลี่ยนความเชื่อถือ เลิกบูชายันต์ แก้มัดพวกสัตว์เหล่านั้นออกไปอย่างนี้เป็นต้น นี้ก็มีเรื่องราวมาในพระสูตร แต่ว่ามาในสมัยหลังนี้ศาสนาฮินดูกลายเป็นศาสนาที่คนไม่กินเนื้อสัตว์ ก็เพราะอิทธิพลพุทธศาสนา อาจจะเป็นได้ว่าพยายามแข่งกับพุทธศาสนา ให้เห็นว่า โอ้ พุทธศาสนานี้สอนหลักการไม่เบียดเบียน ฉันยิ่งกว่าพวกท่านอีก อะไรทำนองนี้ ทำได้ยิ่งกว่าท่านเป็นการแข่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์คงจะต้องสืบสาวกันเยอะ แต่ว่าจากความเป็นมาเท่าที่มองเห็นก็เป็นอย่างนี้แหล่ะ ก็เป็นอันว่าพุทธศาสนาก็หมดไปจากดินแดนในประเทศอินเดีย ถือว่าสูญสิ้นไปเลย ที่มีขึ้นมาในปัจจุบันนี้เป็นการรื้อฟื้นขึ้นใหม่ก็เข้ามาจากประเทศอื่น ๆ มาจากประเทศลังกาบ้าง อย่างท่านอนาคาริก ธรรมปาละนี่เข้ามาจากฟื้นฟูพุทธคยา พุทธคยาตอนที่ชาวพุทธจะมานมัสการใหม่นี้มันหมดสภาพไปแล้ว ไปตกอยู่เป็นที่ที่ชาวฮินดูยึดครอง นักบวชฮินดูเขายึดครองไว้หมดเลย อนาคาริก ธรรมปาละต้องมาต่อสู้อยู่เป็นเวลานานและใช้กำลัง ใช้ความสามารถ ความอดทน ความเพียรเป็นอย่างมาก พุทธศาสนานี่เป็นอันว่าในอินเดียนี้หมดไปแล้ว และก็มาฟื้นฟูกันใหม่ นี้เรื่องของนาลันทานี้ก็จึงเป็นทั้งหลักฐานที่แสดงความเจริญรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนา พร้อมกันนั้นก็เป็นเครื่องแสดงถึงความสูญสิ้นของพุทธศาสนาด้วย เพราะว่าที่นี้ก็ถูกทำชาวมุสลิมเผาอย่างที่ว่า เมื่อนาลันทาสลายหมดแล้ว พุทธศาสนาก็หมดไปจากดินแดนประเทศอินเดีย นี้การสูญสิ้นของพุทธศาสนานี้เป็นเครื่องเตือนใจชาวพุทธว่า ประการหนึ่งที่จะรักษาพระพุทธศาสนาไว้ว่าไว้ได้ก็คือ พุทธบริษัท 4 ของเรานี้จะต้องมีความมั่นคงในหลักการของพุทธศาสนา แล้วจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในพระศาสนา แล้วจะต้องยึดถือในหลักการอย่างสำคัญ เวลานี้ที่น่าเป็นห่วงก็คือจะมามีความรู้สึกคล้าย ๆ แบ่งกัน เช่น เอ๊ะ!เหมือนกับว่าคนที่จะต้องรับผิดชอบพุทธศาสนาก็คือพระ เวลาพระทำอะไรไปแล้ว โยมก็บอกว่าพุทธศาสนานี้อย่างไร พระไม่ดี ไม่ได้ความ ไม่น่านับถือ ก็พาลจะเลิกนับถือพุทธศาสนา หาได้คิดไม่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นของบริษัท 4 พระท่านเสีย อ้าว! เรายังอยู่นี้ โยมยังอยู่ คฤหัสถ์ยังอยู่ อุบาสก อุบาสิกายังอยู่ อุบาสก อุบาสิกาก็ต้องรักษาพุทธศาสนา ยามใดที่พระสงฆ์เพลี่ยงพล้ำ อุบาสก อุบาสิกาก็จะต้องเป็นหลัก กลับมาช่วยฟื้นฟู รักษาพระพุทธศาสนาไว้ คติอย่างหนึ่งก็คือการที่วางท่าทีต่อสถานการณ์พุทธศาสนาให้ถูกต้อง เวลาเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีขึ้นมา ชาวพุทธจะต้องมองอีกแบบหนึ่ง คือจะต้องมองว่า เอ่อ! ว่าพุทธศาสนานี้เป็นสมบัติของชาวพุทธ เป็นสมบัติของประเทศชาติของเรา ท่านได้มีคุณประโยชน์ ทำคุณให้กับประเทศชาติสังคมของเรามา ทำให้สังคมของเรามีวัฒนธรรม มีความเจริญรุ่งเรืองมีสันติสุขมานานแล้ว บัดนี้พุทธศาสนาของเราตกต่ำ มีปัญหาเกิดขึ้น มีปัญหาแล้วเราชาวพุทธจะต้องช่วยเหลือกัน ตอนนี้เราจะช่วยพระพุทธศาสนาของเราอย่างไร เวลานี้ปัญหาจะเป็นแบบนี้ ไม่ใช่ว่า เอ่อ! พระไม่ดีแล้วไม่ได้ความพุทธศาสนาไม่ใช่อย่างนั้น จะต้องมองว่า เวลานี้พุทธศาสนาของเราเพลี่ยงพล้ำ เราจะช่วยท่านได้อย่างไร ก็คือชาวพุทธจะต้องมองในแง่ว่า เราจะช่วยพุทธศาสนาของเราอย่างไร ถ้าตั้งท่าทีอย่างนี้เราจะมีความเข้มแข็งขึ้น และนี้เป็นความเป็นมาในอดีตท่าทีของชาวพุทธจะต้องเป็นอย่างนี้ เราจะรักษาพุทธศาสนาได้ นี้ในการที่จะรักษาพุทธศาสนานั้น นอกจากมีจิตสำนึก มีความรับผิดชอบร่วมกัน มีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของด้วยแล้ว ก็คือว่าตัวเองจะต้องมีคุณสมบัติ พระพุทธเจ้าก็ตรัสหลักไว้ให้ในมหาปรินิพพานสูตร พระองค์ก็ตรัสว่าพระองค์จะปรินิพพานต่อเมื่อ พุทธบริษัททั้ง 4 ไม่ว่าจะเป็นภิกษุก็ตาม ภิกษุณีก็ตาม อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม ทั้ง 4 เลยนะ ไม่ใช่เฉพาะพระสงฆ์มีคุณสมบัติ 3 ข้อต่อไปนี้ คือ 1. โดยส่วนตัวจะต้องมีความรู้เข้าใจหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าถูกต้อง รู้เข้าใจถูกต้อง แล้วก็ปฏิบัติถูกต้อง นี้ส่วนตัว ตัวเองมีสองตอนคือ หนึ่งรู้เข้าใจ สองปฏิบัติได้ถูกต้อง ทั้งรู้ ทั้งเข้าใจ และทั้งปฏิบัติด้วย นี้ต่อไปข้อที่ 2. ในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ก็คือว่ามีความรู้เพียงพอและมีเมตตาธรรม มีความเผื่อแผ่ มีน้ำใจที่จะแนะนำสั่งสอนธรรมะนั้นแก่ผู้อื่นด้วย เช่นว่า เป็นคุณพ่อคุณแม่ก็เอาธรรมะไปสั่งสอนลูกอบรมลูก เป็นครูอาจารย์ก็สั่งสอนลูกศิษย์ เป็นเพื่อนก็แนะนำแก่เพื่อน เป็นผู้ใหญ่ก็แนะนำกับผู้น้อยแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นต้น อันนี้ก็จะช่วยทำหน้าที่ต่อสังคม ต่อพุทธศาสนา หน้าที่ประการที่สองก็เป็นอันว่าทำหน้าที่ต่อผู้อื่นด้วยการที่ว่ามีน้ำใจและมีความสามารถที่จะแนะนำให้ความรู้ธรรมะแก่เขาได้ ต่อไปประการที่ 3. ก็ในแง่หลักการ การรักษาหลักการของพระพุทธศาสนา ก็คือว่าเมื่อมีใคร พูดจาผิดพลาดปฏิบัติผิดพลาดเกี่ยวพุทธศาสนา มีวาทะกล่าวร้ายต่อพุทธศาสนาทำให้พระธรรมวินัยคลาดเคลื่อนนี้ ต้องสามารถที่จะชี้แจงแก้ไขได้ ท่านเรียกว่ากำราบปรัปวาทได้ อันนี้เป็นการรักษาหลักการ สามอย่างนี้แหล่ะ พุทธบริษัททุกคนถือว่ามีหน้าที่จะต้องศึกษาจนมีคุณสมบัติอย่างนี้ ขอย้ำอีกทีหนึ่ง 1. ตนเองทั้งรู้และปฏิบัติถูกต้อง 2. ในความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็มีความรู้ความสามารถและมีน้ำใจเมตตาที่จะเผื่อแผ่ให้ความรู้ธรรมะแก่เขา และ 3. ในแง่หลักการก็สามารถรักษาหลักการของพุทธศาสนาชี้แจงแก่ผู้ที่มาพูดกล่าวร้าย หรือแสดงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อพุทธศาสนาได้ ถ้าทุกคนที่เป็นชาวพุทธ เป็นพุทธบริษัท 4 เป็นอุบาสิกา เป็นอุบาสก เป็นภิกษุณี เป็นภิกษุนี้ มีความสามารถเหล่านี้ แล้วก็ช่วยกันรับผิดชอบก็จะสามารถรักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้แน่นอน เราจะไม่มีปัญหา แต่ว่าเมื่อใดความเสื่อมเกิดขึ้นนี้เข้ามาจนถึงจุดศูนย์กลาง ก็คือพระพุทธศาสนาที่มาเป็นส่วนของพระเองก็พลอยคลาดเคลื่อน หรือว่าพระเองไม่มีคุณสมบัติ เมื่อนั้นพุทธศาสนาก็จะมีความเสื่อมโทรมลงไป และความเสื่อมนี้จากที่นาลันทานี้เราจะเห็นได้ว่า ความเสื่อมนี้เข้ามาถึงตัวแกนกลางเลยศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ไม่มั่นคงในหลักการของตนเอง จนกระทั่งว่าเข้าไปกลมกลืนกับลัทธิศาสนาอื่น ก็ทำให้พุทธศาสนาเสื่อมโทรงลงไป ดังนั้นการที่พุทธศาสนาเสื่อมจากอินเดียนี้เราต้องมองหลายปัจจัย นี่อาตมายกมาให้เห็นเพียงบางอย่าง ว่าจุดสำคัญตัดสินสุดท้ายคือสงครามจากการทำลายของชาวมุสลิม แต่ว่าก่อนหน้านั้นก็คือความผุกร่อน ความโทรมของพุทธศาสนาเองจากการที่เข้าไปกลมกลืนกับศาสนาฮินดู วัตรปฏิบัติการรู้เข้าใจและการประพฤติตามหลักคำสอน และความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธอันนี้ก็สำคัญมาก พุทธบริษัท 4 นี้ไม่มีความสัมพันธ์ที่รับผิดชอบต่อการไม่รวมมือกันเท่าที่ควร เอาพุทธศาสนามาไว้กับพระฝ่ายเดียว เป็นต้น ผลที่สุดก็เลยพุทธศาสนาก็ค่อย ๆ เสื่อมไป วันนี้เรามาสถานที่นี้ คือมหาวิทยาลัยนาลันทา โยมก็เท่ากับว่าเรามาดูสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ซึ่งมีความหมายว่าเป็นเครื่องเตือนใจระลึก การเตือนใจระลึกก็ระลึกถึง 1. ความเจริญรุ่งเรือง ความยิ่งใหญ่ของพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการศึกษาในมหาวิทยาลัยนาลันทานี้เป็นปัจจัย และพร้อมกันนั้นก็อีกด้านหนึ่งก็คือความเป็นมาที่มีความเสื่อมความเจริญจนกระทั้งมีความเจริญอย่างไรและก็เสื่อมไปอย่างไรด้วย เข้าใจอย่างนี้แล้ว เราจะได้ประโยชน์ ได้สติปัญญาในการที่จะมารักษาพุทธศาสนาต่อไป คือเอาอดีตเอามาเป็นบทเรียน สิ่งที่เราได้ศึกษา ได้เห็นที่นาลันทานี้ก็ไม่ใช่แค่ว่ามาชื่นชมความเจริญในอดีต ความยิ่งใหญ่ว่า โอ้! นี้ต้องใหญ่ขนาดนี้แสดงว่าก็ต้องเจริญมากมายหนอ แล้วก็จบเท่านั้น ไม่พอ ต้องมองในแง่ว่า เอ่อ! จะมาใช้ประโยชน์กับปัจจุบันอย่างไร นี่แหล่ะอย่างที่อาตมากล่าวมานี้เป็นบทเรียนสำคัญที่เราจะเอามาใช้ประโยชน์ ในการรักษาพุทธศาสนาในขณะนี้ ถ้าหากว่าประโยชน์นี้ไม่สามารถโยงมาสู่ปัจจุบันได้ประโยชน์นั้นก็น้อย คุณค่าในการมานี้ก็ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ดังนั้นก็ขอให้โยมได้ประโยชน์จากที่อาตมาภาพได้เล่ามาให้ฟังนี้ สำหรับวันนี้เวลาก็จำกัดท่านมหาบุญธรรมท่านก็เตือนแล้ว เพราะฉะนั้นอาตมาก็ขออนุโมทนาโยมอีกครั้งหนึ่ง ก็โยมมาที่นี่แล้วมาเห็นก็ได้อย่างที่กล่าว ถ้ามองในแง่ของความเจริญในอดีต โยมก็ได้ปิติความอิ่มใจ ถ้ามองในแง่ อ้อ! มันหมดไปแล้วนี่ก็เหลือแต่ซาก โยมก็อาจจะสลดใจ หดหู่ใจ แต่ว่าจะเป็นอันไหนก็ตาม ถ้าจะให้ได้ผลดีก็คือ มันมากระตุ้นเร้าใจเราว่า เอ่อ! มันมีความเจริญอย่างนี้ในอดีต เราต้องทำใหม่ให้ได้ ในแง่ของความทำลายเสื่อมไป เราก็มาเตือนใจเราว่า เอ่อ! เราต้องได้บทเรียนเอามาใช้ประโยชน์ป้องกันไม่ให้เกิดความเสื่อมอย่างนี้ เราก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองประการ แล้วก็มาช่วยกันทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป ก็ขอให้โยมทุกท่านได้มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา ที่จะได้ช่วยกันปฏิบัติบำเพ็ญเพื่อความเจริญงอกงาม ความดี ความประเสริฐของชีวิต และก็ได้ช่วยกันดำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง มั่นคง เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชนและชาวโลกตลอดไปชั่วกาลนานเทอญ