แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร โยมญาติวิสาธุชนทุกท่าน วันนี้ก็เป็นวันสำคัญที่เรามาพบปะกันอีกครั้งหนึ่ง มาพบปะกันในทางกุศล คือมาทำพุทธบูชา และวันนี้วันวิสาขบูชาก็ทราบกันดีว่าเป็นวันที่สำคัญที่สุดในบรรดาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นวันที่เรียกได้ว่าเป็นการเกิดขึ้นของพระพุทธศาสนา โดยอาศัยการอุบัติขึ้นขององค์พระบรมศาสดาผู้สถาปนาหรือประดิษฐานพระพุทธศาสนา เพราะถ้าไม่มีองค์พระบรมศาสดาประดิษฐาน พระพุทธศาสนาก็ไม่เกิดขึ้น ทีนี้การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าหรือเราเรียกว่าการอุบัติของพระพุทธเจ้านี่ก็ทั้งโดยอุบัติโดยพระกาย คือ การประสูติเป็นเจ้าชาย สิทธัตถะ แล้วก็การอุบัติโดยนามธรรมที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนั้นซึ่งเป็นตัวการอุบัติที่แท้ของพระพุทธศาสนาก็คือ การตรัสรู้ นั่นคือการเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง แต่ถ้าไม่มีเจ้าชายสิทธัตถะก็ไม่มีพระพุทธเจ้าเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ทีนี้ในที่สุดก็มาถึงเรื่องของกฎธรรมดา ธรรมชาติที่จะโยงพระพระพุทธเจ้าไปหาพระธรรม ซึ่งก็โยงทุกครั้งแหละ พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานเนี่ย ถ้ามองให้ดีก็โยงไปหาพระธรรมทุกตอน แต่ว่าตอนพระนิพพานเนี่ยเราชัดเพราะเราไม่มีเรื่องที่จะจูงให้ไปตื่นเต้นกับเรื่องอื่น พอปรินิพพานก็ พระพุทธเจ้าโดยพระวรกายในฐานะที่พระองค์ก็มีสภาวะที่ทรงเป็นมนุษย์ ก็ถึงสิ้นชีวิตพูดอย่างง่าย ๆ พระชนม์ชีพก็ดับเรียกว่าดับขันธปรินิพพาน อันนี้ก็โยงไปหาพระธรรมชัด ๆ ก็คือกฎธรรมดา หรือ กฎธรรมชาติ เนี่ย ความจริงของสิ่งทั้งหลายเนี่ย ซึ่งพระองค์ก็ตรัสเตือนเราอยู่เสมอให้เราระลึกถึงธรรมะนะ เพราะว่าพระพุทธเจ้าที่เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะตรัสรู้ธรรมะ แล้วเสร็จแล้วพระองค์ โดยการเป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นเพราะการตรัสรู้พระธรรม แล้วพระองค์ในฐานะที่พระวรกายเป็นมนุษย์ก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติของธรรมะก็ปรินิพพาน เพราะฉะนั้นเรื่องของพระพุทธเจ้าเนี่ยก็โยงไปหาธรรมะได้ตลอด เพราะฉะนั้นวันวิสาขบูชา วันอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า เราบอกว่าเป็นวันพระพุทธแต่ที่จริงก็โยงไปหาพระธรรมด้วย แล้วก็พร้อมกันนั้นก็โยงไปหาพระสงฆ์ เพราะว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว อ้าว พระศาสนามาถึงได้ยังไง มาถึงเรายังไง แล้วใครได้รับประโยชน์จากพระธรรมนั้น จากพระพุทธเจ้า เป็นสักขีพยานเป็นต้นเนี่ยก็อาศัยพระสงฆ์นั่นเอง ในที่สุดก็โยงมาหาพระสงฆ์ แล้วพระสงฆ์ก็เป็นสื่อนำเราให้ไปถึงพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วก็ให้ไปได้ศึกษาพระธรรม ได้ไปเรียนรู้ปฏิบัติ แล้วก็ครบพระรัตนตรัย เพราะฉะนั้นวันวิสาขบูชาวันเดียวนี่แหละที่ว่าเป็นวันพระพุทธเนี่ยก็ถึงพระรัตนตรัยครบ แต่ว่าวันไหนก็ถึงหมดแหละนะ เพราะว่าชาวพุทธจะต้องทราบว่าวันสำคัญทางพุทธศาสนาทุกวันเนี่ยก็เป็นวันพระรัตนตรัยทั้งสิ้น แต่ว่าเราจะกำหนดเอาความหมายพื้น ๆ ที่มองเห็นเบื้องต้นโดยนิมิต โดยเครื่องหมาย โดยอาการ โดยเหตุการณ์เหล่านี้เราก็มากำหนดว่าเป็นวันพระพุทธเจ้า วันพระธรรม วันพระสงฆ์ ว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน เรื่องของพระพุทธเจ้าก็เป็นวันพระพุทธ วันที่ทรงแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร แสดงธรรมครั้งแรก อาสาฬหบูชาก็เป็นวันพระธรรม ที่จริงไม่ใช่ เราก็เอาว่าวันที่แสดงโอวาทปาติโมกข์ แสดงหลักพระศาสนาเป็นวันพระธรรม แล้วเสร็จแล้วเราก็บอกว่าวันที่แสดงปฐมเทศนามีพระอริยสาวกเกิดขึ้น มีสังฆะเกิดขึ้น นั่นเป็นวันพระสงฆ์ แต่ที่จริงเนี่ยถ้าเราจะเปลี่ยนก็ได้นะ เราบอกว่าวันแสดงปฐมเทศนาเป็นวันที่ประกาศให้พระธรรมปรากฏก็น่าจะเป็นวันพระธรรม ใช่มั้ย? แล้ววันจาตุรงคสันนิบาตแสดงโอวาทปาติโมกข์นั้นเป็นการประชุมพระสงฆ์ครั้งใหญ่นะ เป็นมหาสันนิบาตแห่งมหาสาวก มีครั้งเดียว ซึ่งในพุทธกาลทุกพุทธกาลก็จะมีมหาสันนิบาตแห่งพระสาวกครั้งหนึ่ง ก็เป็นวัน น่าจะเป็นวันพระสงฆ์ใช่มั้ย? นี่ ก็กลับกันซะก็ได้ แต่ที่จริงจะพูดยังไงแต่อย่าไปถือเป็นสำคัญเลย สาระอันเดียวกันก็คือวันพระรัตนตรัยทั้งหมด สุดแต่เราจะกำหนดเอาอะไรแล้วก็เราก็มาตกลงกัน อย่าไปขัดแย้ง ทะเลาะกันให้เสียเวลา ใช่มั้ย? ก็สาระก็ได้ความเป็นอันเดียวกัน
ทีนี้เวลานี้ก็ตกลงกันว่าให้วันวิสาขบูชาเนี่ยถือเป็นวันพระพุทธ วันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม แล้วก็วันอาสาฬหบูชาเป็นวันพระสงฆ์ ก็ยุติกันด้วยเหตุผลนั้น ๆ เราก็บอกว่ายอมรับเหตุผลกันด้วยเหตุผลนี้ ๆ นะ แต่ว่ารู้กันว่าอันนี้เป็นเรื่องของการยอมรับ การยอมรับร่วมกันนี่ถ้าทางภาษาธรรมะเรียกว่าอะไร เรียกว่า “สัมมติ” สัมมติ แปลว่า มีมติร่วมกัน มาแปลงเป็นภาษาไทยเรียกว่า “สมมติ” สมมติ แปลว่า ยอมรับร่วมกัน ก็คือว่าโดยสมมตินั่นเอง สมมติไม่ใช่ของเหลวไหล ย้ำอีกทีหนึ่ง บางคนไปนึกว่าสมมติเป็นของเหลวไหล สมมตินี่ก็แปลว่ามติร่วมกัน แล้วสมมติก็เกิดจากมติร่วมกัน การยอมรับรู้ร่วมกัน แล้วก็ตกลงว่าเอางี้นะ ก็แปลว่าเป็นสมมติ โลกนี้อยู่ได้ด้วยสมมติ พระพุทธเจ้าจึงให้ความสำคัญเรื่องสมมติว่าให้เรารู้จักปฏิบัติให้ถูกต้องตามสมมติ แต่รู้จักปฏิบัติอย่างรู้เท่าทัน ไม่หลงตามสมมติแต่ก็ไม่ผิดสมมติด้วย ถ้าผิดสมมติก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน เพราะสมมตินั้นเป็นของมีเหตุผล พระพุทธเจ้าก็ยังทรงใช้สมมตินี่แหละในการที่ตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา บัญญัติวินัย เป็นต้น อันนี้ก็เป็นการพูดเรื่อยไป ก็เป็นอันว่านี่เป็นการพูดปรารภให้โยมฟังเรื่องของวันวิสาขบูชาที่เราได้ถือเป็นวันสำคัญ สาระสำคัญก็อยู่ที่ว่ามาระลึกถึงพระรัตนตรัย เริ่มแต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็เป็นเครื่องนำให้จิตใจของเราเนี่ยเข้าสู่บุญ เข้าสู่กุศล ได้ทำกุศล เริ่มต้นตั้งแต่โยมระลึกถึง อ้าว วันวิสาขบูชามาถึงแล้วนะ เออ เราก็มีใจดี ใจบุญ ตั้งใจว่าจะไปวัดวาอาราม ไปทำบุญ ไปถวายภัตตาหาร ตักบาตร อะไรก็แล้วแต่เนี่ย ตั้งขึ้นมาอย่างนี้ก็มโนกรรม จิตใจก็เป็นบุญ เป็นกุศลแล้ว หลายท่านใกล้วันวิสาขบูชาก็มาเตรียมการกันก่อน อย่างที่นี่ทั้งคนในวัด คนนอกวัด ญาติโยมก็มาช่วยกันเตรียมงาน ไม่ได้ทำด้วยความจำใจ ทำด้วยความเต็มใจ ใจเป็นบุญ เป็นกุศล ทำอย่างนี้ก็เรียกว่า เนี่ย บุญเริ่มเกิดขึ้นแล้ว บุญอย่างนี้ก็เป็นบุญกิริยาวัตถุที่เราเรียกว่า “ไวยาวัจมัยกุศล” โดยมากเราพูดถึงว่าเราทำบุญกุศลก็มีทาน ศีล ภาวนา ตัววันจริง ๆ นี่เราจะเน้นที่ทาน ศีล ภาวนา แต่ที่จริงก่อนที่เราจะมาทำทาน ศีล ภาวนานี่ หลายท่านทำมาก่อนแล้ว คือมาช่วยเหลือ รับใช้จัดเตรียมงาน เป็นต้นเนี่ย อันนี้ก็เป็นบุญ เป็นกุศลเหมือนกัน ท่านเรียกว่าไวยาวัจมัยกุศล บุญที่เกิดจากการช่วยเหลือรับใช้ ทีนี้บุญ โยม บุญอันนี้โยมทำกันอยู่เสมอ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเหลือรับใช้เป็นไวยาวัจมัยแล้วก็เป็นอัตถจริยาด้วย “อัตถจริยา” ก็คือการบำเพ็ญประโยชน์ เป็นสังคหวัตถุประการหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมะสำคัญที่จะดำรงรักษาสังคมให้เจริญมั่นคง ทั้งหมดนี้ก็ล้วนแต่เป็นบุญ เป็นกุศล แล้วเสร็จแล้วพอถึงวันจริงก็ ญาติโยมก็มากัน
เนี่ย อย่างวันนี้ก็เป็นอันว่าตั้งแต่เช้าญาติโยมก็ได้ทราบว่ามามาก อาตมาไม่ได้ออกมาก็จริงแต่ว่าก็ถามไถ่อยู่ แต่ว่าเมื่อวานนี้มีท่านที่ตั้งข้อสังเกตบอกว่าโยมน้อย ก็ยังพูดกัน วิจารณ์ทำนองว่าอาจจะเป็นเพราะว่ามีวันหยุดติดกันสามวัน เป็นวันชดเชยซะวันหนึ่ง คือวันจันทร์ วันพรุ่งนี้ ก็เลยญาติโยมเห็นวันหยุดยาวก็ออกต่างจังหวัดกันเป็นเหตุให้มาน้อย แต่พอมาวันนี้ก็มามากเหมือนกันก็เลยมองไปอีกแง่หนึ่งบอกว่าอาจจะเป็นเพราะว่าโยมรู้อยู่แล้วว่าวันพรุ่งนี้ก็จะไปวัด เพราะฉะนั้นเมื่อวานนี้ก็ไม่ต้องมา ก็เตรียมการ ก็เป็นอย่างนั้นไป ก็มองยังไงก็ตามก็เป็นเรื่องดีทั้งนั้นแหละนะ ตกลงว่าโยมมาเนี่ยก็ทำบุญ ทำกุศลกัน ข้อสำคัญก็อย่างที่บอก ก็คือเริ่มที่ใจ ให้ใจดี ใจบุญ ใจกุศล เป็นใจที่ผ่องแพ้ว มีเจตนาที่ดี ตั้งใจทำความดี แล้วก็ใจที่สดชื่นเบิกบาน ผ่องใส อันนี้เป็นบุญ เป็นกุศลแล้ว เพียงแต่เราคิดแล้วก็ทำอะไรที่ดี ๆ อย่างนี้ แล้วก็เรียกว่าได้ประโยชน์ในวันวิสาขบูชา เป็นการบูชาพระพุทธเจ้าที่ท่านเรียกว่าปฏิบัติบูชานะโยม นอกจากทำปฏิบัติบูชาก็ทำอามิสบูชาด้วยโดยการที่มาถวายดอกไม้ ธูป เทียน ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ ทั้งหมดนี้นี่ก็เป็นเรื่องของการทำบุญในวันมาฆะ เอ้ย วิสาขบูชา จะเรียกว่าเป็นการฉลองก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามก็จะให้ได้ประโยชน์ยิ่งขึ้นเราก็จะมาปรารภกันอีกว่าที่เราบอกว่าไปวัดแล้วให้ได้ครบนะทั้ง ทาน ศีล ภาวนา โยมทำก็จะเน้นเรื่องทานก่อน ทานก็ตักบาตร เลี้ยงพระ อะไรต่าง ๆ ถวายโน่น ถวายนี่ ไทยธรรม บางคนก็อาจจะถวายสังฆทาน แล้วศีลก็ โดยมากก็ทำกันเป็นสัญลักษณ์โดยการรับศีล อย่างเมื่อกี้นี่เริ่มพิธีเราก็มีการอาราธนาศีล รับศีล แต่ที่จริง ที่จริงไม่ใช่แค่เป็นเพียงสัญลักษณ์หรอก โยมมานี่รักษาศีลในตัวอยู่แล้ว คือเราสำรวมกาย วาจา อยู่ในวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม อยู่ในความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นกาย วาจาที่ไม่เบียดเบียนใคร เป็นกาย วาจาที่เกื้อกูล เป็นกาย วาจาที่ช่วยเกื้อหนุนสังคม เราไม่รู้ตัวว่าที่เราทำเนี่ยนะเป็นการรักษาความดีงามให้แก่สังคม โยมมาประชุมกันทำตามระเบียบประเพณีเนี่ย เป็นความดีงามแก่สังคมของเรานะซึ่งเราเรียกว่าวัฒนธรรม อันนี้ก็เป็นเรื่องของศีลเหมือนกัน นี้ก็ไม่ใช่ว่าเราเว้นชั่ว เราก็ทำความดีไปด้วยในตัว เราเกื้อกูลแก่สังคมของเราด้วยการมาร่วมกันอย่างนี้ ก็อย่างนี้ก็ได้ศีลละ แล้วก็ได้ภาวนา ภาวนาก็กลับไปอยู่ที่ส่วนลึกที่ว่าเมื่อกี้ก็ที่จิตใจ ก็จิตใจเบิกบาน ผ่องใส มาแล้วก็ให้โยมจิตใจสงบ ผ่องใส เบิกบาน แม้แต่ด้วยบรรยากาศแวดล้อม แล้วก็ยิ่งได้ทำความดีต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้เกิดปีติ มีความสุขยิ่งขึ้นไป
ทีนี้ว่าเรื่องของภาวนานี่ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าไม่ได้จบแค่จิตใจ เพราว่าภาวนานี้มีสองด้าน มีจิตตภาวนา เจริญจิตใจ แล้วก็ปัญญาภาวนา เจริญปัญญา นี้พระพุทธศาสนาเนี่ยว่าไปแล้วเนี่ยสาระสำคัญสำคัญที่สุดก็มาอยู่ที่ปัญญา บุญทั้งหลายเนี่ยมาจบที่ปัญญา การตรัสรู้ก็เป็นเครื่องบอกเรา ที่ตรัสรู้นั้นคืออะไร ก็ตรัสรู้ด้วยปัญญา ค้นพบสัจธรรมด้วยโพธิญาณ เราเรียกว่าบรรลุโพธิญาณ ตัวโพธิญาณก็เป็นตัวปัญญา เป็นโพธิ เป็นปัญญาตรัสรู้ เป็นญาณ เป็นความหยั่งรู้ หยั่งเห็น เข้าใจสัจธรรม เพราะฉะนั้นบุญที่แท้ในที่สุดก็ไปบรรจบที่ปัญญา การที่เราบำเพ็ญทาน ศีล การที่เรามีศีล สมาธิเนี่ย เป็นตัวเครื่องช่วยให้เกิดปัญญา แล้วปัญญาก็เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะมาช่วยปรับให้เราปฏิบัติทาน ปฏิบัติศีล ปฏิบัติสมาธิได้ถูกต้อง ถ้าหากว่าไม่มีปัญญาแล้วศีล สมาธิ แม้แต่ทานก็เฉไฉได้ หลงผิดทางได้หมด เพราะฉะนั้นปัญญาจึงเป็นตัวสำคัญแต่ก็ต้องใช้ให้ครบ พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงตรัสเป็นชุดให้มีทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนา นี่เป็นชุดแบบที่ว่ามองง่ายเป็นรูปธรรมหน่อย ถ้ามองเป็นนามธรรมลึก เอาจริงเอาจังก็เป็น ศีล สมาธิ ปัญญา
ทีนี้เมื่อมาถึงวันพระพุทธเจ้าแล้วก็เป็นวันที่พระพุทธเจ้าจากเจ้าชายสิทธัตถะนี้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ก็เป็นการเปลี่ยน เกิดพระพุทธเจ้าด้วยปัญญาที่เรียกว่าโพธิญาณ เพราะฉะนั้นชาวพุทธเนี่ยจะต้องไม่ลืมว่าเมื่อได้ทำบุญ วิสาขบูชาก็ต้องให้บุญได้ถึงปัญญาเลย เนี่ย ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องให้ถึงปัญญา เพราะฉะนั้นเราจึงมีประเพณีกันมาว่าทำทาน ถวายภัตตาหารเลี้ยงพระแล้ว รักษาศีลแล้วก็ต้องมีการฟังธรรมด้วย ฟังธรรมนี้จะเป็นหลักมาแต่ไหนแต่ไร มีพระธรรมเทศนาก็เพื่อให้โยมเนี่ยได้ปัญญา เมื่อได้ปัญญา ได้ความรู้ ความเข้าใจก็มีหลายขั้น ปัญญาก็มีหลายระดับ ทั้งโลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา แต่อย่างน้อยก็ให้ได้ปัญญาที่รู้เข้าใจเรื่องที่เราทำกันในบัดนี้ก็ยังดี เรื่องของพระพุทธศาสนานี่ก็เป็นอันว่าปัญญาเป็นตัวสำคัญ คนเราจะอยู่ดีได้ จะทำการแก้ไขปรับปรุง ทำการต่าง ๆ ให้สำเร็จก็ด้วยปัญญา ยุคนี้ก็เป็นยุคที่คนจะต้องใช้ปัญญาให้มาก ถ้าไม่มีปัญญาก็ไปไม่ไหว เขาเรียกกันว่ายุคข่าวสารข้อมูล ยุคข่าวสารข้อมูลก็เป็นเรื่องของเกี่ยวกับความรู้ทั้งนั้นเลยนะ ความรู้ และการใช้ความรู้ และก็ต้องหาความรู้ มีทั้งเรื่องหาความรู้ แล้วก็ใช้ความรู้ คนที่ไม่รู้จักหาความรู้ ไม่รู้จักใช้ความรู้ก็เสียเปรียบเขา ไม่ต้องพูดถึงการที่จะไปบรรลุธรรมชั้นสูงหรอก แม้แต่มีชีวิตอยู่ในโลกทั่วไปเนี่ย หาความรู้ไม่เป็น ใช้ความรู้ไม่เป็นก็ลำบาก เพราะฉะนั้นต้องเน้นกันในยุคนี้ ยุคที่เรียกว่าข่าวสารข้อมูล ทีนี้ถ้าเราอยู่ไม่เป็นในยุคนี้ก็ใช้ข่าวสารข้อมูลไม่เป็น ข่าวสารข้อมูลนั้นก็หลงกันว่าเป็นเรื่องความรู้แต่บางทีมันไม่รู้ บางทีมีข่าวสารข้อมูลแต่มันหลงนะ ข่าวสารข้อมูลมากก็หลงมากนะ ก็ต้องถามว่าอย่างตัวเราก็ดี สังคมของเราก็ดีเนี่ยได้ประโยชน์ ได้ปัญญา ได้ความรู้จากข้อมูลข่าวสารนี้มาก หรือว่ามันตรงกันข้าม บางทีมันได้ความหลงซะมาก ถ้าได้ความหลงมันก็ผิดวัตถุประสงค์ มันเสียเลย มันผิดทาง ทีนี้จะต้องให้การศึกษาที่ถูกต้อง เพราะว่าเรื่องของปัญญาจะเกิดก็ต้องอาศัยการศึกษา การศึกษาก็มาฝึก มาพัฒนาคนให้ถูกต้องเนี่ย ทำไงจะให้เกิดปัญญาโดยเฉพาะการใช้ข่าวสารข้อมูล ถ้าหากว่ารับไม่เป็น ใช้ไม่เป็นก็ยิ่งเกิดโทษ
ในสังคมของเราเวลานี้ถ้าเรามาถามกัน ไม่ใช่หลง ปล่อย แล้วก็นึกเพลินไปตามคำที่เขาพูดว่าเป็นยุคที่มีความรู้นะ ปัญญาแผ่ขยายกว้างขวาง เราจะเพลินไปตามถ้อยคำ เรามาตั้งสติ มาระลึก ระลึกแล้วก็พิจารณาดูว่าเราได้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลจริงมั้ย เราใช้ถูกจริงมั้ย อะไรอย่างนี้มันเกิดโทษหรือเกิดประประโยชน์แก่สังคม และชีวิตของเรามากหรือน้อยกว่ากัน ตั้งแต่ลูกของเรา ครอบครัวของเราเนี่ยนะ โยมลองคิดดูให้ดีเถอะ ลูกของเราได้ประโยชน์จากข่าวสารข้อมูลมาก หรือได้โทษมากกันแน่ ถ้าได้โทษมากแสดงว่ามันต้องมีการเดินทางผิด เพราะฉะนั้นนั่นก็เป็นเรื่องใหญ่ ทำไงจะปฏิบัติในเรื่องนี้ถูก ถ้าการศึกษามาจัดเรื่องนี้ไม่ถูก มาทำให้คนปฏิบัติแต่เรื่องข่าวสารข้อมูลไม่ถูก การศึกษานั้นก็ต้องไม่ถูกด้วย อาจจะกลายเป็นการศึกษาที่ล้มเหลว บางทีอาจจะได้รับโทษจากข่าวสารข้อมูลมากก็ได้ อย่างเวลานี้เราก็เป็นการศึกษาที่เราบอกว่าเน้นเรื่องอะไร มันเป็นยุคองค์รวม เป็นยุคองค์รวมก็หมายความว่าต้องบูรณาการ แต่บางทีบูรณาการก็จับจุดกันยุ่งเหมือนกันแหละนะ อย่างขอยกตัวอย่าง เราจะมีเรื่องปัญหากันอยู่เรื่อยเรื่องการศึกษาเนี่ยซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับเรื่องปัญญา แล้วก็เรื่องข่าวสารข้อมูล อย่างตอนนี้ก็มีหลายท่านจะพูดกันว่าคนไทย เด็กไทยเราเนี่ยไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็น จะต้องให้การศึกษาที่ให้เด็กเป็นคนกล้าแสดงความคิดเห็น พอได้ยินอย่างนี้เนี่ยน่าเป็นห่วงทันทีเลย ทำไมล่ะ เนี่ย อาจจะจริงส่วนหนึ่งว่าเด็กไทยเนี่ยไม่ค่อยกล้าแสดงความเห็น ไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่เวลาแก้น่ะมาแก้ตรงจุดหรือเปล่านะ อยู่ ๆ จะไปแก้ให้กล้าแสดงความเห็นเนี่ย อาตมาจะยกตัวอย่างเทียบ มันจะคล้าย ๆ กันเรื่องหนึ่งถ้าถอยหลังไปเมื่อสิบห้า ยี่สิบปีเนี่ย เราจะมองเด็กไทยว่า โอ้ เป็นคนขี้อายนะ ไม่ค่อยมีเสรีภาพทางเพศ เป็นคนหงิม ๆ ระวังตัวมากไป อะไรต่าง ๆ ต้องให้มีเสรีภาพทางเพศ เป็นไงปัจจุบันนี้ ล้ำหน้าฝรั่งเลยใช่มั้ย เนี่ย คนไทยเรานี่ไวมาก เพราะฉะนั้นเรื่องแสดงความเห็นไม่ต้องห่วงหรอกเรื่องกล้าแสดงความเห็น ไม่ช้าหรอกคนไทยเนี่ยถ้าจับจุดไม่ถูกมันจะได้รับโทษเกิดปัญหาจากเรื่องการแสดงความเห็นเนี่ยมากกว่านะ เพราะฉะนั้นจับจุดให้มันถูก
การที่เราให้มีความเห็นนี่เพื่ออะไร ความเห็นนั้นทางพระท่านเรียกว่า “ทิฐิ” คนเราเนี่ยเมื่อหาความรู้ได้บ้างนิดหน่อยแล้วเนี่ยมันเริ่มเกิดความเห็น ก็จะเห็นว่าเป็นอย่างนั้น เห็นว่าเป็นอย่างนี้ เป็นทำนองยึดถือแล้วก็เชื่อ นี่แหละเป็นอยู่ในเรื่องของทิฐิ คนเราพอรู้ พอเห็น เริ่มแต่นิดหน่อยมันก็เริ่มเกิดไอ้ทิฐิ ความเห็นว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ทีนี้ความเห็นเนี่ยมันก็เป็นบันไดอันหนึ่งไปสู่ความรู้แต่ถ้าใช้ไม่เป็นเนี่ย ไอ้ตัวทิฐิความเห็นเนี่ย มันกลับมาเป็นอุปสรรคในการที่จะทำให้เราเนี่ยถูกปิดกั้นเลย มันมาปิดกั้นขัดขวางเราไม่ให้เราเข้าถึงความจริง หนึ่ง ตัวคนนั้นจะยึดถือความเห็น และเอาความเห็น ความจริงแล้วก็ไม่ไปต่อ สอง แล้วจะมาเป็นเหตุในการที่จะมาเบียดเบียนกัน เอามาข่มเหงกัน ไม่ยอมรับคนอื่น มาทะเลาะวิวาท อะไรต่ออะไรเนี่ยมันเป็นปัญหาจากไอ้เรื่องทิฐิ ทิฐิก็อยู่ในกระบวนการหาความรู้ของคน ตกลงไอ้ทิฐิความเห็นเนี่ยมันเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการหาความรู้ของมนุษย์ เพราะฉะนั้นต้องจับให้ถูก เพราะฉะนั้นจะต้องโยงไอ้เรื่องความเห็นไปหาความรู้ เพราะฉะนั้นเขาให้มีการแสดงความเห็นเนี่ยเพื่อเป็นช่องทางให้คนเนี่ย หนึ่ง เป็นตัวกระตุ้นให้หาความรู้ สอง แล้วก็ให้ความรู้นั้นถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ตัวจริงที่แท้เนี่ยมันก็คือความรู้ ถ้าไม่รู้ซะแล้วไม่ได้ประโยชน์ เรามาฟังความเห็นคนอื่น เราอาจจะได้แง่มุมแล้วเราก็จะมองเห็น ได้ความรู้ แล้วเราเห็นทางไปหาความรู้ เพราะฉะนั้นไอ้ตัวความเห็นเป็นการแสดงออกเนี่ยมันต้องมีพื้นฐานจากความรู้ คนที่แสดงความเห็นโดยไม่มีความรู้นี่มันยุ่งใช่มั้ย? ก็มันไม่รู้แล้วมันก็ว่าไปเรื่อย ๆ ไป สอง แล้วมันก็ไม่เอาความรู้มาใช้ประโยชน์ มันเพียงแต่ว่าแสดงความเห็นไปอย่างนั้นเองนะ มันก็เลยกลายเป็นความเห็นที่เลื่อนลอย แล้วก็เกิดปัญหาแก่สังคมมาก เพราะฉะนั้นจึงต้องย้ำกันอยู่เสมอบอกว่าให้การให้ความเห็นต้องมาคู่กับการให้ความรู้ ต้องให้การหาความรู้ต้องมาคู่กับการแสดงความเห็น ต้องให้การแสดงความเห็น ให้ความเห็นเนี่ยตั้งอยู่บนฐานของความรู้ที่มั่นคงที่สุดแล้วก็หาความรู้ไป ได้แค่ความเห็นเนี่ยคนที่เขาเป็นนักใช้ความเห็นหรือทิฐิเนี่ยเขาจะฟังแล้วเขาจะไปหาความรู้เพิ่มเติม ไม่ใช่เขาหยุดแค่ความเห็นหรอก ทีนี้ไอ้ความเห็นเนี่ยต้องจำไว้เลยว่ามันเป็นบันได เป็นส่วนในกระบวนการสู่ความรู้ เราต้องการปัญญานี่ เราไม่ต้องการไอ้ทิฐินะ ไอ้ทิฐิมันเป็นส่วนประกอบในทางปัญญา ทีนี้ถ้าเป็นทิฐิที่ถูกต้องมันเป็นสัมมาทิฐิ มันเป็นสัมมาทิฐิ ลักษณะของสัมมาทิฐิก็คือเป็นทิฐิที่มันเป็นตัวที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ก้าวไปสู่ความรู้ได้ ไม่เป็นทิฐิที่มากีดกั้นขัดขวาง หรือปิดกั้นเรา อย่างสัมมาทิฐินี่ก็คือ เช่น ยกตัวอย่าง ความรู้เห็นยึดหลักว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย พอมองว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ปั๊บเนี่ย ไอ้ความเห็นนี่มันจะช่วยให้หาความรู้ว่า เออ อ๋อ อันนี้มันเกิดขึ้นมันต้องมีเหตุปัจจัยสินะ เพราะฉะนั้นเราต้องค้นหาเหตุปัจจัยก็นำไปสู่ความรู้ เพราะฉะนั้นความเห็นแบบนี้เนี่ยมันนำไปสู่ปัญญาได้ ท่านยอมให้เป็นสัมมาทิฐิ แต่เป็นความเห็นประเภทที่เจอปั๊บ ติดปุ๊บ เหนียวหนับอย่างนี้ล่ะก็ไม่รอดแล้ว ไม่นำไปสู่ปัญญา เพราะฉะนั้นก็ให้ไอ้ตัวความเห็นเนี่ยมาคู่กับการหาความรู้
อย่างเด็กไทยเนี่ยจะต้องเน้นการหาความรู้มากกว่าการให้ความเห็น ต้องให้การแสดงความเห็นนั้นตั้งอยู่บนฐานของความรู้ที่มั่นคงที่สุด เวลานี้มีปัญหามากเหลือเกิน คนชอบแสดงความเห็นโดยไม่หาความรู้เลยนะ ไม่รู้ว่าอะไรความจริงเป็นยังไง ๆ ก็แสดงกันเรื่อยเปื่อยไป เพราะฉะนั้นมาเน้นเรื่องนี้การศึกษามันจะพายุ่งเหมือนกับเรื่องเสรีภาพทางเพศของเมืองไทยน่ะ มันจับจุดไม่ถูก อันนี้ก็จะบอกให้เด็กไทยกล้าแสดงความเห็น ไม่ช้าล่ะได้เรื่องเลย ปัญหามาเทียว มันไม่หาความรู้ มันจะเอาแต่แสดงความเห็น เพราะฉะนั้นเราไปเน้นกันเรื่องหาความรู้เนี่ยดีที่สุด ให้เด็กไทยเก่งขยันหาความรู้นี่เป็นเรื่องสำคัญ การคิด การอะไรต่าง ๆ นี่เป็นบันไดไปสู่ความรู้ทั้งนั้นนะ ถ้าคิดเป็นแล้วมันก็ได้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นการคิด การเห็นเนี่ย คิดเพื่อหาความรู้ คิดหาทางว่าทำยังไงจะได้ความรู้เนี่ยสำคัญนะ คิดเพื่อหาความรู้หนึ่ง แล้วก็คิดใช้ความรู้ สองอันเนี่ย ถ้าคิดแบบนี้ล่ะก็จะดี แล้วเราจะรู้ว่าไอ้สองอันนี้เนี่ยมีความรู้เป็นฐานทั้งสิ้นใช่มั้ย? หนึ่งเป็นจุดหมายก็คิดเพื่อหาความรู้ ลองสิ ลูกญาติโยมเนี่ยให้เป็นคนนักคิดหาความรู้เนี่ยจะค่อนข้างปลอดภัยไม่ค่อยมีปัญหา คิดไปหาความรู้ทำยังไงจะได้ความรู้ คนคิดเป็นเนี่ยเขาจะหาความรู้ได้เก่ง สอง พอมีความรู้แล้วคิดใช้ความรู้ให้เป็นอีกนะ ใช้ให้มันเป็นประโยชน์เพราะว่าคนมีความรู้แต่ไม่รู้จักคิด คิดไม่เป็นก็ใช้ประโยชน์จากความรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องคู่กัน ความรู้คู่กับความคิด อย่าให้เป็นความคิดเห็นเลื่อนลอย ก็เลยเป็นปัญหาเวลานี้ การศึกษาซึ่งโยงไปถึงเรื่องวิชาการของคนไทยเนี่ย ถ้าหากจับจุดผิดแล้ววิชาการนั้นมันก็เลื่อนลอย บางทีก็เหลวไหล อย่างน้อยก็หละหลวม คือมันไม่ได้มีฐานของความรู้
เมื่อไม่นานมานี้อาตมาก็เคยเขียนหนังสือ เอ้า ก็เขียนเตือนกันบอกว่านะ เรื่องทางวิชาการ การแสดงผลงานทางวิชาการเนี่ยต้องควรจะมีความรับผิดชอบกันหน่อยนะ เพราะว่ามันเป็นเรื่องของคนที่อ่าน ที่ฟัง เขาอาจจะเข้าใจผิดไป จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ของสังคม ของคนที่รับความรู้นั้น มุ่งให้ได้ความรู้ที่แท้จริง เพราะฉะนั้นไม่ใช่พูดโพล่ง ๆๆๆ หรือแสดงความเห็นโพล่ง ๆ ไป ต้องมีฐานความรู้ที่แน่นอน มีการตรวจสอบหลักฐานข้อมูลให้ชัดเจนหน่อย เขียนไปแล้วเขาไปเขียนยังไงรู้มั้ย ? เขาไปเขียนสรุป มีวารสารอันหนึ่งมีคนส่งมาให้ อาตมาไม่ได้ตามไปอ่าน พอเปิดดู อ้าว เขาไปสรุปบอกอาตมาบอกว่างานวิชาการไม่สำคัญว่างั้น นี่อย่างนี้ก็เป็นต้น ก็ยุ่ง เราอุตส่าห์บอกว่าวิชาการเนี่ยอย่าไปแสดงเรื่อยเปื่อย ให้มันมีความรู้ที่ชัดเจน ตรวจสอบข้อมูลหลักฐานให้ชัด ไม่ใช่พูดโพล่ง ๆ เนี่ย เขาก็บอกว่าเนี่ยท่านพระธรรมปิฎกว่าวิชาการไม่สำคัญว่างั้น เพราะฉะนั้นเวลานี้ก็เลยกลายเป็นว่าสภาพเหตุการณ์ต่าง ๆ เนี่ยมันท้าทายให้เราเนี่ยต้องใช้หลักพระพุทธศาสนายิ่งขึ้นในการที่ เช่น ใช้กาลามสูตร ไม่เชื่อง่าย ต้องตรวจสอบหาข้อมูลความจริงให้ชัดเจน เป็นคนใฝ่รู้ หาความรู้กันให้ถ่องแท้ชัดเจนไปเลย แล้วก็มีการรู้จักคิดที่ท่านเรียกว่า โยนิโสมนสิการ การรู้จักคิดพิจารณาต่าง ๆ เนี่ยเป็นเรื่องที่ทำให้เราเข้าใจอยู่โลกได้ดี ใช้ความรู้ได้ถูกต้อง หาความรู้ได้จนถึงที่สุด แม้แต่ในทางพระพุทธศาสนาก็จะใช้หลักโยนิโสมนสิการนี่แหละมาเข้าถึงความรู้ได้ แม้แต่ตรัสรู้ก็อาศัยโยนิโสมนสิการ การรู้จักคิด รู้จักคิดพิจารณา คิดเป็น
ก็ขออภัย พูดเรื่องส่วนตัวบ้าง ความจริงเคยนึกว่าวันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันสำคัญเนี่ยก็ไม่ให้เรื่องหนักนักนะมาคุยกับญาติโยม เพราะอาตมาเองก็ แม้แต่โยมที่มาวัดประจำก็ไม่ค่อยได้พบกัน ก็เลยนึกว่าเวลามาพบกันทีก็พูดเรื่องเกี่ยวกับตัวบ้าง เกี่ยวกับตัวในแง่ที่เกี่ยวกับญาติโยมด้วย แล้วก็เกี่ยวกับเรื่องวัดบ้าง แล้วก็เกี่ยวกับเรื่องการพระศาสนา ถ้าคุยกันแบบสบาย ๆ คิดว่าโยมก็คงไม่ค่อยถือสา ทีนี้เรื่องของความรู้นี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง อย่างขออภัยที่บอกว่าพูดเรื่องส่วนตัวนิดหน่อย เมื่อสักอาจจะถึงเดือนมาแล้วมั้งก็มีหมอโทรมา หมอบอกว่า “เนี่ย มีคนโทรมาบอกหมอ บอกว่าทีวีออกไอ้ตัววิ่งน่ะบอกว่าพระธรรมปิฎกป่วยหนักว่างั้น อาพาธหนักว่างั้น” แล้วก็ต่อมาก็มีอีกท่านหนึ่งโทรไปบอก บอกว่า “อีกช่องหนึ่งเขาลงบอกว่าพระธรรมปิฎกดีขึ้นแล้วว่างั้น” ก็ ก็ เอ้า ก็ว่ากันไปนะ ทีนี้ก็แต่มองไปว่ามันก็เป็นเรื่องของความปรารถนาดี บางท่านก็วิจารณ์ว่าเนี่ยเขาโกรธที่พระธรรมปิฎกไม่ยอมมาพบให้สัมภาษณ์เรื่อง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ว่างั้นนะ เขาก็เลยไปลงเรื่องว่าพระธรรมปิฎกอาพาธจะแย่อยู่แล้วว่างั้น คือตอนนั้นกำลังมีเรื่อง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พระท่านก็เล่าบอกว่ามีหนังสือพิมพ์เนี่ยมากันเยอะเลยหลายฉบับ เดี๋ยวฉบับโน้นมา ฉบับนี้มาจะมาสัมภาษณ์เรื่อง พ.ร.บ. แม้แต่ท่านที่ไม่ได้มาก็โทรศัพท์มาถาม ทีนี้ก็พระท่านก็อ้างว่าอาตมาเนี่ยอาพาธก็เลยไม่ให้พบ ไม่ให้ถาม ทางนั้นก็กลายไปออกข่าวทีวีว่าอาพาธหนัก เรื่องก็เป็นอย่างนั้น ทีนี้มาเมื่อตอนมาฆบูชาเนี่ย อาตมาก็อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ให้โยมฟังนะ นี่ก็เป็นเรื่องของข่าวสารข้อมูลเนี่ยซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกเหมือนกันบอกว่าวันวิสาขบูชาปีนี้รัฐจัดงานใหญ่ หนังสือพิมพ์วันที่ ๑๑ พฤษภาคม บอกว่ากรุงเทพวันวิสาขบูชา ๒๐ ถึง ๒๖ พฤษภาคม ปีนี้ รัฐจัดงานใหญ่ จัดงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาทั้งใน และนอกประเทศ พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก , ร้อยตำรวจตรีเกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ปลัด กทม. , นายประกิต กันยาบาล รองอธิบดีกรมการปกครอง , พลเอกธงชัย เกื้อสกุล ผู้แทนศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย , พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ร่วมแถลงข่าวการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนี่ยโยม และท่านที่อ่านจะนึกยังไง โอ้ นี่อาตมาถึงกับไปออกแถลงข่าวด้วยนี่ ก็ข่าวนี้ก็ไปไกลมากละ ก็ตอนนั้นอาตมาอยู่ภูเขา ไปพักที่ภูเขาแล้วก็มีญาติโยมอ่านอันนี้ให้ฟัง อาตมาก็แปลกใจดี โยมบางท่านก็วิจารณ์บอก นี่ ท่านแบ่งภาคได้แล้วหรือนี่ ว่างั้น นี่ก็เป็นตัวอย่าง ดังนั้นข่าวสารข้อมูลเนี่ยบางทีก็ผิดพลาดมากอย่างเรื่องนี้เป็นตัวอย่าง เรื่องที่อาตมานี่ก็จะเรียกว่าอะไร นอนหลับไม่รู้ นอนคู้ไม่เห็น ก็ไปกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดงานวิสาขบูชาลงข่าวหนังสือพิมพ์ใหญ่โต แต่อันนี้ก็ไม่ถือสา เราก็อย่าไปโทษหนังสือพิมพ์ คือหนังสือพิมพ์บางทีก็อาจจะไม่ได้เจตนา ก็มองไปในแง่ดีว่าท่านที่เขียนข่าวเนี่ยก็กำลังนึกถึงพระธรรมปิฎกอยู่ว่าข่าวพระธรรมปิฎกอาพาธหนักใช่มั้ย? ทีนี้มีพระองค์หนึ่งไปร่วมแถลงข่าวก็นึกขึ้นมาชื่ออาตมาก็เข้าไปแทนเลยก็เลยกลายเป็นพระธรรมปิฎกไปแถลงข่าวอย่างนี้เป็นต้น เนี่ยเป็นเรื่องของข่าวสารข้อมูล เพราะฉะนั้นเราอยู่ในโลกยุคนี้เนี่ยจะต้องพยายามสืบสาวหาความจริง จะตั้งท่าทีที่ถูกต้อง คือเริ่มต้นตั้งแต่ไม่เชื่อง่าย แต่บางทีก็เป็นเรื่องของข่าวผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่บางครั้งมันก็เป็นเรื่องตั้งใจ ที่เราน่ากลัวก็คือเรื่องเจตนา เจตนาทำให้ผิดอันนั้นน่ะเป็นเรื่องที่เสียหายมาก ก็เลยเนี่ยก็เป็นตัวอย่าง อันนี้ก็เป็นแค่ข่าวสารข้อมูลเบื้องต้น ทีนี้การใช้ข่าวสารข้อมูลเนี่ย พวกคนที่เป็นนักใช้ข่าวสารข้อมูลก็ใช้เช่น ใช้เพื่อ ทางไม่ดีก็เช่นใช้ล่อหลอก แม้แต่การโฆษณาก็เป็นวิธีหนึ่งในการที่จะล่อหลอกคนนะเพื่อจะให้หลงไปตามใช่มั้ย? เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ว่าข้อสำคัญเนี่ย ในยุคนี้เราต้องใช้ปัญญาให้หนัก เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกเด็กของเราเนี่ยให้มีปัญญาในการที่จะรับรู้พิจารณาข่าวสารข้อมูลเรื่องโฆษณา เรื่องอะไรต่าง ๆ เนี่ยอย่าไปหลง ไปตามง่าย ๆ เราต้องมองว่าเขามีเจตนาอะไร เขาทำเพื่ออะไร
เรื่องของคนเนี่ยมันมีสำคัญสองด้าน นอกจากพฤติกรรมที่ปรากฏก็คือว่า มันมีไอ้เรื่องปัญญากับเรื่องเจตนา ปัญญาความรู้ ความเข้าใจ ถ้าไม่มีปัญญา รู้เข้าใจผิด หลงผิดก็ทำให้เกิดปัญหา ให้ข่าวสารที่ผิด รู้ผิด ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือเจตนา เจตนาไม่ดี เจตนาไม่สุจริต หรือ เจตนาไม่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา แต่เจตนาที่ประกอบด้วยการคิดโทสะ ประทุษร้าย อะไรเป็นต้นเนี่ยมันก็ทำให้เกิดปัญหา เพราะฉะนั้นเราจะต้องพยายามให้คนเนี่ยจะต้อง หนึ่ง มีปัญญา ความรู้ ความเข้าใจถูกต้อง สอง มีเจตนาที่ดี เจตนาตั้งใจอันนี้เป็นแกนของด้านจิต จิตก็มีความตั้งใจ อย่างน้อยสุจริต บริสุทธิ์ ไม่ได้คิดเห็นแก่ตัว โลภ ต้องการผลประโยชน์เพื่อตน ไม่ได้ต้องการประทุษร้ายใคร ไม่ได้ลุ่มหลงในอะไร มีเจตนาบริสุทธิ์ แล้วก็เจตนาดีนั้นก็จะก้าวต่อไป มีเมตตา ประกอบด้วยความเมตตา กรุณา ปรารถดีต่อเพื่อนมนุษย์ ปรารถนาดีแก่สังคม อย่างคนที่ทำงานข่าวสารข้อมูลเนี่ยถ้ามีสองอันนี้จะช่วยสังคมได้มากก็คือ หนึ่ง ปัญญา หาความรู้ให้เกิดความเข้าใจถ่องแท้ชัดเจน เนี่ย ปัญญามาแล้ว สอง เจตนาดีบริสุทธิ์ ไม่คิดจะประทุษร้ายกลั่นแกล้งใคร แล้วก็มีเจตนาทำเพื่อประโยชน์แก่สังคมนะ ให้สังคมของเราเนี่ยดี เจริญก้าวหน้า ให้เด็กและเยาวชนของเรานี่มีความรู้ความเข้าใจพัฒนาได้ดี ถูกทาง อย่างนี้ก็ไปได้แล้ว ไอ้ปัญญากับเจตนาเนี่ยมันใช้ในทุกกิจการเลย คือเป็นตัวแกนของเรื่อง ที่ว่าปัญญาเนี่ยเรารู้แล้วสำคัญ แล้วเจตนาเนี่ยเป็นแกนของด้านจิตนะ จิตเนี่ยมันไปตามเจตนา พอเจตนามามันก็ออกมาประสานกับพฤติกรรมใช่มั้ย? โยมลองดูให้ดีเถอะที่ท่านบอกว่าคนเราเนี่ยมี หนึ่ง - ศีล สอง - สมาธิ สาม - ปัญญา ศีลก็ด้านพฤติกรรม การแสดงออก ติดต่อโลกภายนอก สอง ด้านจิตใจหรือสมาธินะอยู่ภายใน แล้วสาม ปัญญา ทีนี้ไอ้ตัวที่จะเชื่อมจิตใจของมนุษย์กับเรื่องพฤติกรรมที่แสดงออก กาย วาจาเนี่ย อะไร? เจตนาใช่มั้ย? เพราะฉะนั้นเจตนาเนี่ยสำคัญมาก เป็นตัวโยงจากจิต เรามีสภาพจิตยังไง มีแรงจูงใจยังไง มีความโลภ ความโกรธยังไงเนี่ย เจตนานี้เป็นตัวที่จะเอาไอ้สภาพจิตนี้ออกมาสู่พฤติกรรมนะ กาย วาจา เป็นตามเจตนานั้น เพราะฉะนั้นเจตนานี้เป็นตัวเชื่อมจิตกับพฤติกรรม กาย วาจา แล้วคุมด้วยปัญญาอีกทีหนึ่ง เอาปัญญามาคอยแก้ ถ้ามีปัญญาบริสุทธิ์แล้วตั้งเจตนาให้ดีแล้วทุกอย่างก็ไปได้ดี
ทีนี้ก็เลยพูดให้โยมฟังไปเรื่อย ๆ คือ คิดว่าพูดวันนี้เบ็ดเตล็ดอิงธรรมะก็แล้วกันนะ พูดแบบสบาย ๆ แล้วก็เลยพูดมาถึงเรื่องเจ็บ ไข้ ได้ป่วยก็อีก ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องการใช้ความคิดหรือไม่ก็โยนิโสมนสิการ อย่างเรามีคติ โยมก็จำกันได้แม่น เรา เรามักจะท่องว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” แต่ที่จริงบาลีต้องเป็น “อาโรคฺยปรมา ลาภา” เราก็เพี้ยนหน่อยให้ลิ้นของเราคล่อง เราก็เรียกว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” ของพระเรียกว่า“อาโรคฺยปรมา ลาภา” แปลตามศัพท์เนี่ยแปลว่า “ลาภทั้งหลายมีความไม่มีโรคเป็นอย่างยิ่ง” เราก็แปลว่า “ความไม่โรคเป็นลาภอันประเสริฐ” นี่สำนวนไทยนะ ทีนี้ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ อันนี้ ๆ เป็นตัวอย่างอันหนึ่งของหลักพระพุทธศาสนาที่เป็นเรื่องปัญญา ที่อาตมากำลังจะพูดนี่เพื่อให้โยมได้รู้ว่าเรื่องของพระพุทธศาสนาเนี่ยมีเรื่องที่ต้องคิด และทำความเข้าใจหลายอย่าง อันหนึ่งก็คือ หนึ่ง หลักความจริง สอง หลักการปฏิบัติ ซึ่งสองอย่างนี้โยงกัน ความจริงเป็นอย่างนี้ เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ เราจึงต้องทำอย่างนี้ เพราะไฟมันร้อน เรารู้ว่าความจริงคือไฟร้อนแล้วมันเผาไหม้ได้ เมื่อเรารู้อย่างนี้เราก็ปฏิบัติต่อไฟถูก แล้วเอาไฟไปใช้ประโยชน์ได้นะ เรื่องของพระพุทธศาสนาจะต้องมีอย่างน้อยสองอันเนี่ยที่เราจะต้องเข้าใจ เวลาพระท่านพูดมาเนี่ยเราจะต้องมองว่า อ้อ อันนี้ท่านกำลังพูดถึงหลักความจริง หรือ หลักปฏิบัติ หรือ ข้อปฏิบัติ อย่างพระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง หรือ เป็นลาภอันประเสริฐ อ้าว ถามโยมว่าเป็นการตรัสในแง่ไหน ภาคปฏิบัติ หรือ ในแง่หลักความจริง หลักอะไร? หลักความความจริงตรัสตามสภาวะ สภาวะพื้น ๆ ว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ไม่ได้บอกว่าจะให้ปฏิบัติอย่างไรใช่มั้ย? เนี่ยเราจะต้องรู้แล้ว
ทีนี้พอพูดหลักความจริงนี่มาแล้วเนี่ย ถ้าไม่บอกการปฏิบัติต่อเนี่ยคนก็อาจจะเคว้งคว้างได้เหมือนกัน แล้วก็อาจจะไม่มีโยนิโสมนสกิการพาผิด ทีนี้จะให้ดูตัวอย่าง ไอ้หลักความจริงเนี่ยมันจะโยงไปสู่การปฏิบัติอย่างไร ตอนที่ยังไม่ได้บอกนะแต่ละคนก็คิดละ ทีนี้ถ้าไม่มีโยนิโสมนสิการอาจจะ เออ ดีนะ ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เรามีสุขภาพดี ทีนี้ก็นำไปสู่ความมัวเมา หลง ประมาท ประมาทในความไม่มีโรค ฉันมีสุขภาพดีแล้วก็เพลินเลย อันนี้ท่านเรียกว่ามี “อโยนิโสมนสิการ” คือขาดโยนิโสมนสิการ ไม่รู้จักคิด เกิดความมัวเมา ประมาท ทีนี้ตรงข้าม ถ้าเป็นคนที่มีโรคก็เลยเสียใจ โอ้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เราเป็นคนมีโรคมาก เราแย่แล้วใช่มั้ย? นี่ก็เศร้าเสียใจ นี่ท่านก็เรียกว่าอโยนิโสมนสิการเหมือนกัน ทีนี้ทำไง จะโยงความจริงไปสู่การปฏิบัติ ทำให้มันเกิดการปฏิบัติที่ถูกต้อง ก็ต้องมีโยนิโสมนสิการ รู้จักคิดพิจารณา ทีนี้ที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่งเนี่ยตรัสไว้หลายระดับ ระดับสูงสุดนี่หมายถึงพระนิพพานนะ ไม่มีโรคทางจิตนะ โดยแท้ ๆ เนี่ยหมายถึงอันนี้นะ อาโรคฺยปรมา ลาภา เนี่ยในพระสูตรที่แท้ “มาคัณฑิยสูตร” เนี่ยหมายถึงพระนิพพานเลย นิพพาน เพราะฉะนั้นต่อจาก อาโรคฺยปรมา ลาภา จึงมีคำว่า “นิพพานัง ปรมัง สุขัง” ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง ลงท้ายว่านิพพานเป็นบรมสุข ทีนี้ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐในระดับคนทั่วไปเนี่ย ทีนี้เมื่อกี้เป็นอโยนิโสมนสิการ คิดไม่เป็น ถ้าเป็นคนที่มีสุขภาพดีก็เลยหลงระเริง ประมาท มัวเมา ถ้าเป็นคนมีสุขภาพไม่ดี โรคมากก็เลยเสียใจ ท้อแท้ เกิดความเศร้า ทุกข์ ทีนี้ถ้าเป็นคนมีโยนิโสมนสิการก็คิดใหม่ คิดไปสู่การปฏิบัติ เออ เมื่อความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เราจะต้องรักษาสุขภาพให้ดี จะต้องระวังไม่ให้เกิดปัญหาให้เสียสุขภาพ ระวังสุขภาพของตัว ของลูก ของครอบครัวให้ดีนะ อย่าไปประมาท อย่าให้สูญเสียลาภอันประเสริฐนี้ไปเสียใช่มั้ย? อย่างนี้ก็เรียกว่าคิดเริ่มถูกทางแล้วนะ ทีนี้ถ้าเป็นคนมีโรคมากทำไง ก็อย่าไปเศร้าเสียใจสิใช่มั้ย? ว่าเออ เรามีโรคมาก แย่แล้ว เราไม่มีลาภอันประเสริฐ พระพุทธเจ้าให้ทางเราไว้แล้วนี่ เมื่อความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เมื่อท่านมีโรคท่านก็ต้องทำโรคให้เป็นลาภ ว่างั้น นี่คือหลักพระพุทธศาสนานะ เราเป็นคนมีโรคมาก เราจต้องรู้จักทำโรคนี้ให้เป็นลาภ แล้วมันก็มีทางทำเยอะนะ ในทางพระพุทธศาสนาเนี่ยไม่มีทางสิ้นหวังเลยคนถ้าปฏิบัติถูก แม้กระทั่งจะตายแล้วนะ อย่างพระที่ท่านเจ็บป่วยหนักท่านเอาโรคมาเป็นอารมณ์กรรมฐานเลยตรัสรู้เลยใช่มั้ย? ได้ลาภอันประเสริฐสูงกว่านั้นอีกคือลาภสูงสุดได้แก่พระนิพพาน นี่แหละลาภที่สูงกว่าลาภไม่มีโรคทางกายคือไม่มีโรคทางจิตใจ ได้แก่ พระนิพพานเนี่ยเป็นลาภอันสูงสุด เพราะฉะนั้นการมีโรคทางกายอาจเป็นปัจจัยให้เราได้โรค ได้ลาภอันประเสริฐกว่านั้นคือความไม่มีโรคทางจิตก็ได้ใช่มั้ย? เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
ทีนี้ทางพระพุทธศาสนาบอกว่าไม่ให้คนสิ้นหวัง เดี๋ยวโยมก็บอกว่า อ้าว ทำไมว่าอย่างนั้นล่ะ? ทางพระพุทธศาสนาท่านบอกว่าหลักนี้ถือว่าคนไม่มีความหวังสิ พระอรหันต์เป็นคนไม่มีความหวังจึงจะถูกต้อง ทำไมท่านมาว่าให้อยู่ด้วยความหวัง เออ เอาอีกละ เนี่ย โยมก็ต้องรู้จักแยกแยะ นี่แหละวิธีคิด ทางพระพุทธศาสนาท่านเป็น “วิภัชชวาท” ให้รู้จักแยกแยะ แยกแยะยังไง ไอ้เรื่องหวัง ไม่หวังนี่มันมีทั้งดีและไม่ดี แล้วมันมีเป็นขั้น เป็นระดับ ก็ เอ้าลองแยกกันดู วิธีง่าย ๆ จะลองแยกดูนะ ให้โยมคิดดู แบ่งคนโดยความหวังมีสี่ประเภท
คนประเภทที่หนึ่ง ไม่มีอะไรจะหวังได้เลย คือมองไปแล้วไม่มีทางจะได้อะไรเลย นี่คนไม่มีอะไรจะหวังเลย นี่คนที่พวกที่หนึ่ง
คนพวกที่สอง คนที่มีความหวังแต่ผิดหวัง ไม่สมหวัง นี่พวกที่สอง
พวกที่สาม พวกที่มีความหวังแล้วมีทางเป็นไปได้ที่จะได้สิ่งที่หวัง เปี่ยมด้วยความหวังนั่นเองว่ามีทางได้สิ่งที่หวัง
แล้วคนพวกที่สี่ เป็นคนที่เป็นอิสระจากความหวัง ไม่ต้องอยู่ด้วยความหวัง ไม่ต้องอาศัยความหวัง เต็มเปี่ยมในปัจจุบันแล้ว
นี่ คนแบ่งด้วยความหวังมีสี่ประเภท แล้วลองคิดดูซิ อันไหนดีที่สุด? อะ ลองตอบดู สี่ประเภทนี้อันไหนดีที่สุด อันที่สี่เนี่ย พระอรหันต์เป็นประเภทที่สี่ คือที่ท่านเรียกว่าพระอรหันต์เป็นนิราศา เป็นนิราโศ นิราศา เป็นผู้ไม่มีความหวังเนี่ย ถ้าเราเข้าใจผิดเรานึกว่าเป็นประเภทที่หนึ่งใช่มั้ย? ที่จริงไอ้ประเภทที่หนึ่งกับที่สี่นี่มันตรงกันข้ามเลยใช่มั้ย? แต่ไม่มีหวังเหมือนกัน ก็นั่นแหละความไม่มีหวังของประเภทที่สี่นี่คือไม่ต้องอาศัยความหวัง ไม่ต้องอยู่ด้วยความหวัง ท่านเต็มเปี่ยมในปัจจุบันอยู่แล้ว เป็นผู้อิสระจากความหวัง แต่คนพวกที่หนึ่งนี่แย่ที่สุดเลยใช่มั้ย ตัวเองก็ต้องอยู่ด้วยความหวังแต่ไม่มีสิ่งใดที่จะหวังได้เลยใช่มั้ย นี้พวกที่สองนี้ก็แย่ เคยมีหวังก็ผิดหวัง ไม่สมหวัง พวกที่สามนี่ดีหน่อย พวกที่สามก็เรียกว่าเป็นขั้นปุถุชนทั่วไป ถ้าหากว่ายังทำขั้นที่สี่ไม่ได้ หรือเอาขั้นที่สี่ในบางแง่ เอาขั้นที่สามกับสี่เนี่ยให้มาด้วยกัน คือในระดับที่เรายังไม่บรรลุธรรมสูงสุด เราให้สามกับสี่ให้คู่ไปก่อนนะ เพราะฉะนั้นในธรรมะที่เป็นหลักปฏิบัติสำหรับคนทั่วไปเนี่ยเราจะเจอพุทธภาษิตที่มีอยู่เสมอ เช่นอย่างพุทธภาษิตบทหนึ่งเนี่ยหลายท่าน บางท่านอาจจะรู้ก็ได้ “อาสึเสเถว ปุริโส น นิพฺพินฺเทยฺย ปณฺฑิโต ปสฺสามิ โวหํ อตฺตานํ ยถา อิจฺฉึ ตถา อหุ” ก็แปลว่า เป็นคนควรหวังเรื่อยไป ไม่ควรท้อแท้ เราเห็นมากับตัวแล้ว เราเห็นประจักษ์มากับตนเองแล้ว เราปรารถนาอย่างไรก็ได้อย่างนั้น นี่ พระพุทธเจ้าตอนเป็นพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่างของคนที่อยู่ด้วยความหวังแต่เป็นคนที่มีความหวังที่มีปัญญาน่ะ มีปัญญาทำให้มองเห็นทางที่จะทำให้สำเร็จได้นะ ท่านก็มีความหวังเรื่อยไป แม้จะเจอความไม่สำเร็จก็ไม่หมดหวัง เราอย่าไปหมดหวังเพราะเรื่องเดียวสิ ทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จเราก็บอกหมดหวัง อย่างนี้ใช้ไม่ได้ ท่านก็ให้คิดต่อไป เมื่อเราไม่สำเร็จเรื่องนี้เราก็หวังเรื่องอื่นต่อใช่มั้ย แต่ให้เป็นความหวังด้วยปัญญาแล้วใช้ปัญญาหาสิ่งที่น่าจะทำ ให้ได้หวังสำเร็จนะ
พระพุทธเจ้านี่เป็นนักหวังเหมือนกันนะ พระโพธิสัตว์นี่เป็นนักหวัง ท่านคิดหวังจะเป็นพระพุทธเจ้าใช่มั้ย แต่ท่านไม่หวังเลื่อนลอย หวังแล้วก็ทำด้วย เพราะฉะนั้นท่านก็ใช้ปัญญาพิจารณาเอาว่าอะไรเป็นไปได้ อะไรเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ทำได้สำเร็จหมด ไอ้การที่มีความหวังคือการที่มีจุดมุ่งหมาย และจุดมุ่งหมายที่สำคัญก็มาเป็นปณิธาน เมื่อมีความหวังชัดเจนออกมาแล้วก็ตั้งปณิธานเลยว่าจะต้องทำให้สำเร็จตามนั้น เพราะฉะนั้นเรื่องความหวังก็แบ่งไปได้อีก มีความหวังสองแบบคือหวังจะได้กับหวังจะทำนะ บางคนหวังจะได้อย่างเดียว หวังจะได้ พอไม่เอาไอ้การได้มาโยงกับการกระทำก็เลยหวังว่าคนโน้นจะให้ คนนี้จะให้ อันนั้นจะมาบันดาลให้ นี่เขาเรียกว่าพวกหวังจะได้ ไม่ปลอดภัย ทีนี้ทางพระพุทธศาสนาท่านหวังจะทำ ถ้าจะหวังจะได้ต้องมาโยงกับการกระทำให้ได้ ทีนี้คนที่มันหวังจะทำเนี่ยมันต้องใช้ปัญญา หวังจะทำให้สำเร็จได้ เห็นทางที่จะทำให้สำเร็จ เห็นทางที่จะทำให้สำเร็จแล้วก็ลงมือทำ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการกระทำไม่ใช่เอาแต่ได้ ท่านไม่สรรเสริญความโลภแต่ท่านสรรเสริญการกระทำ เพราะฉะนั้นก็ให้เราหวังที่จะทำ อย่าไปมัวหวังที่จะได้นะ อันนี้ก็เป็นเรื่องตัวอย่างที่ว่าเรื่องพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องที่ต้องรู้จักคิดทั้งนั้น ต้องมีโยนิโสมนสิการ แม้แต่เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เรื่องหวัง เรื่องอะไรต่าง ๆ เนี่ยต้องรู้จักแยกแยะ พิจารณาใช้ปัญญา เมื่อเราใช้ปัญญาแยกแยะได้ถูกต้องมันก็เห็นทางปฏิบัติได้ถูก เมื่อทางปฏิบัติถูกต้องมาแล้วมันก็เดินหน้าไปสู่ความดีงาม ความสำเร็จ และความสุขได้
อาตมาก็พูดมาซะวันนี้เยอะ คิดว่าเป็นเรื่องค่อนข้างไม่หนักนนะ พูดเบา ๆ ให้โยมฟังก็คิดว่าจะได้ประโยชน์กันตามสมควรสำหรับวันวิสาขบูชานี้ ซึ่งเรามีเจตนาเป็นกุศลก็ตั้งใจที่จะทำพุทธบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโยงไปหาพระรัตนตรัยทั้งหมด จิตใจเราดีงาม เป็นบุญ เป็นกุศลแล้ว เป็นฐานรองรับที่ดี เมื่อจิตดีแล้วก็อย่าไปหยุดแค่นั้น ก็เจริญปัญญาต่อไป ใช้ปัญญาในการพิจารณาคิด ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ส่วนรวมสังคม ตั้งแต่ลูก ๆครอบครัวเป็นต้นไปเนี่ยให้อยู่กันด้วยดี ก็ให้วิสาขบูชาเนี่ยนำบุญกุศล ความดีงาม และความสุขมาให้แก่โยมทุกคน และก็ในครอบครัวเป็นต้นไปเลย ให้ลูกกับพ่อแม่นี่รักใคร่กันดี มีความสุขด้วยกัน แล้วก็เริ่มตั้งแต่นี้มาทำบุญด้วยกันก็หวังว่ามาทำบุญด้วยกันจะดีที่สุดนะ ลูก พ่อ แม่มาทำบุญด้วยก็มีความสุขด้วยกัน ต่อไปก็บุญที่ทำด้วยกันก็เป็นฐานของความเจริญงอกงาม ก็ลูกก็เจริญเติบโตดี มีความร่มเย็นเป็นสุข มีความเจริญก้าวหน้าโดยเฉพาะในสังคมปัจจุบันที่เราห่วงกันนักหนาว่ามีปัญหาเยอะแยะนี้ ก็ขอให้เราลุล่วงปัญหาไปด้วยการใช้หลักพระพุทธศาสนานี่แหละนะ มีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา ใช้ให้ถูกต้องแล้วไม่ต้องกลัว ชาวพุทธจะต้องแก้ปัญหาได้ และประสบความสำเร็จ
ก็ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านที่ได้มีใจเป็นบุญ เป็นกุศลมาร่วมให้กายสามัคคี ความสามัคคีพร้อมเพรียงทางกาย และจิตตสามัคคี ความพร้อมเพรียงทางใจทั้งสองประการครบถ้วนแล้ว เราก็มาทำบุญกุศลร่วมกัน เกิดกำลังในการที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธศาสนาที่เป็นตัวแท้ ตัวจริง เจริญรุ่งเรืองมั่นคงก็พาให้ชีวิต และสังคมของเราร่วมเย็นเป็นสุขไปด้วย ก็ขอคุณพระรัตนตรัยอวยชัยให้พร อภิบาลรักษาให้โยมญาติมิตรทุกท่าน ทั้งตนเอง ครอบครัว ญาติมิตร ลูกหลาน สังคมประเทศชาติ และชาวโลกเจริญงอกงาม พร้อมด้วยกำลังกาย กำลังใจ กำลังปัญญา กำลังความสามัคคีที่จะดำเนินชีวิต และกิจการให้ก้าวหน้า บรรลุผลสำเร็จที่ดีงามสมความมุ่งหมาย แผ่ประโยชน์สุขให้ขยายไพศาลออกไป มีความร่มเย็นเป็นสุขในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่านตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ