แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ขอเจริญพร ญาติโยมสาธุชนทุกท่าน ขออนุโมทนาที่ทุกท่านได้มีน้ำใจประกอบด้วยคุณธรรมในใจ มีศรัทธาเป็นต้น และมีความสามัคคีมาพร้อมเพรียงกันทำพิธีพุทธบูชา วันนี้ถือว่าเรามายกเวลาถวายแก่พระพุทธเจ้า และไม่ใช่ยกถวายเฉพาะเวลา ยกจิตใจเราให้ถวายพระองค์ด้วย การที่เรายกเวลาถวายจิตใจแก่พระพุทธเจ้านั้น ก็เป็นการบูชาที่สำคัญ ตามปกติเราก็ยกเอาพวกเครื่องสักการะ ดอกไม้ธูปเทียนถวายอยู่แล้ว แต่นั่นก็ยังเป็นสิ่งภายนอก ถ้าเรายกจิตใจถวายนั่นก็คือ บูชาแท้ ๆด้วยความจริงใจ และการที่ถวายแก่พระองค์นั้นก็เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเอง เรายกจิตใจถวายท่านก็คือใจเราไปอยู่กับธรรมะ อยู่กับพระพุทธเจ้า ใจเราก็สดชื่นเบิกบานผ่องใสจริง ใจเรานี่อาจจะวุ่นวายกับเรื่องต่าง ๆมา วันเวลาก็มีเรื่องโน้นเรื่องนี้เข้ามา จิตใจก็มีเรื่องรบกวนอย่างโน้นอย่างนี้ พอถึงวันนี้เราถวายเป็นพุทธบูชา ใจเราเหมือนกับปลง วาง สิ่งเหล่านั้นทั้งหมด พอวางเรื่องวุ่นวายต่าง ๆความสับสนความขุ่นมัวเศร้าหมองหมดไปเหลือแต่ความสงบความผ่องใสเบิกบานมีในใจ วันนี้ยกถวายพระพุทธเจ้าวันนึง จิตใจของเราก็จะดีเอง ก็คือเป็นจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศล แต่ว่าที่เรายกถวาย อย่างที่เรียกว่าปล่อยวางอะไรต่าง ๆเหล่าเนี้ย ก็ไม่ใช่หมายความว่า ปล่อยไม่เอาเรื่องเอาราวอะไรทั้งนั้น แต่ว่าเป็นการปล่อยแบบตั้งหลัก คือเราอาจจะวุ่นวาย แล้วก็วิ่งเต้นไปตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น บางทีก็พลุ่งพล่านงุ่นง่านไป อย่างน้อยก็เป็นไปตามกระแสที่ไหลมา เราก็พลอยสับสน ทีนี้พอเราวางเรื่องเหล่านั้นลงไป ใจมีเวลาได้พัก ตั้งหลักได้ แล้วเราจะพร้อมที่จะไปดำเนินการ ไปจัดการกับสิ่งทั้งหลายต่อไป ไม่ใช่ว่าปล่อยวางแล้วทิ้ง ถ้าปล่อยวางอย่างงั้นก็กลายเป็นประมาท กลายเป็นปล่อยปละละเลย ปล่อยไม่เอาเรื่องเอาราวอย่างงั้นไม่ได้ ปล่อยนี่ก็คือว่า ปล่อยทางจิตใจที่ทำให้เกิดจุดที่ว่างขึ้นมาในใจของเรา เวลาเราอยู่ในชีวิตประจำวันแม้แต่ทำงานทำการเนี่ย ใจของเราถ้าวุ่นไปหมดก็เกิดปัญหากับตัวเอง แม้แต่คิดอะไรก็ไม่ค่อยได้ผล แต่ใจของเรามีจุดว่างของเราอยู่บ้างเนี่ย ทำให้เรามีหลัก มีจุดที่มาอยู่กับตัวเอง แล้วก็ใช้เป็นที่ว่างในการคิดพิจารณา นำเอาสิ่งต่าง ๆมาใคร่ครวญ ทำให้เกิดผลดี คือทำให้ใจพร้อมที่จะใช้งาน
(นาทีที่4.29) อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทำจิตของเราเนี่ยให้เป็น(กำมะณียะ) ให้เหมาะกับงาน ก็คือจิตของเรานี่ต้องสงบ ว่างจากเรื่องวุ่น พอไม่มีเรื่องวุ่นใจว่าง ปัญญาก็จะมองเห็นอะไรต่ออะไรชัดเจนแจ่มใส เราอาจจะวุ่นวายจนกระทั่งตั้งหลักไม่ถูก พอถึงวันนี้เราปล่อย วางซ่ะที ใจเราตั้งหลักได้ วันนี้เราได้โอกาสทำให้เกิดจุดที่เป็นศูนย์กลาง ตั้งหลักของตัวเองไว้ ทีนี้ต่อไปยังไงก็มีหลักของตัวเอง มีที่ทำการพิเศษ ที่เป็นแก่นเป็นแกน แม้แต่เป็นจุดพักของตัวเองขึ้นมาก็ยังดี
(นาทีที่5.14) เวลาเนี้ยโลกเราก็รู้กันอยู่ว่าวุ่นวายสับสนมาก วันนี้ยังดีว่าผ่านพ้นไปอีกวันนึง ถ้าหากว่าเรื่องเมื่อวานเนี่ยมาตรงกับวันนี้ โยมหลายท่านอาจจะไม่กล้ามา หรือมาก็ใจระทึกหวั่นไหวอะไรกันอยู่ วันนี้ก็เรื่องผ่านพ้นไปได้ ก็ทำให้จิตใจสงบง่ายขึ้น แล้วโยมก็ควรจะทำให้ใจสงบว่างได้จริง เรื่องของสิ่งวุ่นวายต่าง ๆเหล่านั้นก็เป็นเครื่องพิสูจน์เราเหมือนกัน เป็นแบบฝึกหัดที่ว่าเราจะวางใจของเราต่อสิ่งเหล่านั้นได้ยังไง
(นาทีที่5.53) ปัญหาต่าง ๆเวลานี้ก็มีมากมายเหลือเกิน ชาวพุทธเรานี่จะต้องฝึกตัวเองตลอดเวลา ฝึกพฤติกรรมก็คือในการที่จะวางตัว ปฏิบัติแสดงออกภายนอกให้เหมาะสม และลึกเข้ามาก็ฝึกจิตใจนี่แหละ ทำไงจะวางใจให้สงบอยู่ได้ วางใจต่อสิ่งเหล่านั้นให้ถูกต้อง ให้มันผ่านไปด้วยดี ที่สำคัญก็คือฝึกปัญญา จะต้องมองให้รู้เข้าใจชัดเจน การรู้เข้าใจชัดเจนเนี่ยจะทำให้วางใจได้ถูกต้อง ถ้าเราไม่รู้ไม่เข้าใจจริงและวางใจได้ยาก ก็สับสนอยู่นั่นแหละ ไม่รู้จักจบ
(นาทีที่6.37) นั่นก็เป็นเรื่องการเมืองพระก็ไม่อยากเข้าไปยุ่ง แต่ว่าก็เคยพูดกับพระใหม่ท่านบอกว่าต้องเข้าใจให้ถูกนะ พระเนี่ยก็ต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ว่าต้องรู้เข้าใจด้วยว่า พระเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างไร พระก็มีวิธีปฏิบัติ มีท่าที มีการวางตัวของท่านต่อเรื่องการเมือง อาตมาก็พูดให้ท่านฟังไปแล้วไม่ต้องมาซ้ำในที่นี้ แค่พูดนี่การเมือง ก็มีทั้งแง่ที่พูดได้และแง่ที่พูดไม่ได้ พระพูดเรื่องการเมือง พูดในแง่ไหนถูกต้อง พูดในแง่ไหนไม่ถูกต้อง อาตมาก็ยกตัวอย่างบอกว่าพระพูดเรื่องโจรได้ไหม ก็บอกมีทั้งพูดได้และพูดไม่ได้ ถ้าพูดเรื่องโจรพูดไม่ดีท่านเรียกว่าเป็นติรัจฉานกคาถา เป็นการพูดที่เสียหาย ขัดขวางต่อทางปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่ถ้าพูดถูกต้องถูกทางนี่พระพุทธเจ้าก็ตรัส พระสูตรว่าด้วยเรื่องโจรในพระไตรปิฎกมีอย่างน้อย ๔สูตร พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องโจรไว้ เช่นตรัสว่าโจรเนี่ยควรจะประพฤติตัวอย่างไรในการเข้าปล้น ก็หมายความว่าพระพุทธเจ้าก็ยังตรัสในเรื่องโจร ที่ยกเรื่องโจรมาเป็นตัวอย่างไม่ใช่หมายความว่าการเมืองไม่ดีเอาไปเทียบกับโจร แต่หมายความว่าแม้แต่เรื่องที่เห็นอยู่ชัด ๆว่าพระไม่ควรเป็นโจรอันนี้โยมรู้แน่แล้ว พระก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับโจร ยังต้องพูดถึงเรื่องโจรได้ แล้วเรื่องการเมืองนี่ที่จริงเป็นเรื่องสร้างสรรค์ประเทศชาติ ความมุ่งหมายที่แท้และเป็นเรื่องที่ดีแล้วทำไมพระจะพูดไม่ได้ แต่ต้องพูดให้ถูกเรื่อง ถ้าพูดไม่ถูกทางแล้วก็พูดเรื่องการเมืองก็เป็นติรัจฉานกคาถาเหมือนกัน ถ้าแปลหยาบ ๆก็เป็นถ้อยคำที่เป็นดิรัจฉาน แต่ถ้าพูดถูกแล้วก็เป็นถ้อยคำที่ดีงามประเสริฐ
(นาทีที่8.34) พระพุทธเจ้าก็ทรงตรัสสอนธรรมะสำหรับผู้ที่ปกครองบ้านเมือง ให้ดำรงอยู่ในธรรมะจะได้ปกครองให้ประเทศชาติอยู่ร่มเย็นเป็นสุข การเมืองก็เป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญต่อประชาชนทั้งประเทศชาติ แต่วันนี้เราก็ไม่พูดกันล่ะเรื่องการเมือง เราก็พูดเรื่องอื่น เนี่ยพูดเรื่องการบ้านก็ได้ การบ้านก็เรื่องของครอบครัว จะจัดการยังไงให้ลูกหลานอยู่ดีมีความสุขก็เป็นเรื่องสำคัญ พระไม่อยู่บ้านก็พูดเรื่องชาวบ้านได้ เลยไปก็การประเทศชาติ เรื่องของการของโลก การโลกก็สำคัญเหมือนกันก็ต้องพูด
(นาทีที่9.15) ตอนนี้ก็มีวิสาขบูชาโลก ก็ต้องเอาเหตุการณ์ของโลกเข้ามา เพราะเราจะทำให้เกิดสันติภาพในโลกได้อย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพระ พระก็พูดเรื่องการโลก ไม่เฉพาะการบ้านการเมืองการประเทศชาตินะการโลกเลย แต่ว่าลึกเข้าไปอีก??? แคบเข้ามาที่สุดแล้วออกไปไกลถึงโลก แล้วกลับมาใกล้ที่สุด การในใจของตัวเอง ในที่สุดต้องพูดถึงการในใจ ก็ต้องมีวิธีปฏิบัติต่อจิตใจของตัวเองให้ถูกต้อง
(นาทีที่9.48) แม้จะจัดงานวิสาขบูชาโลก ก็ต้องพูดถึงเรื่องการทำสมาธิ การทำจิตใจยังไงให้มีคุณธรรม ให้มีความสงบให้ตั้งมั่นก็เป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวแหละ ถ้าจัดการจิตใจของเราให้ดีให้ถูกต้องได้ เราจะออกไปจัดการเรื่องการบ้านการเมืองการประเทศชาติการโลก มันก็ทำได้ผลดี แต่ก็แม้แต่การในจิตใจของเราบางทีก็วางไม่ถูกเหมือนกัน บางคนไปปฏิบัติธรรมเข้าวัด นึกว่าเออไปจัดการกับเรื่องจิตใจของตัวเอง ไปเข้ากรรมฐานพิจารณาขันธ์๕ รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง เพราะฉะนั้นเราจะต้องปล่อยวาง ไม่เอาเรื่องเอาราว เลยไม่เอาอะไรทั้งนั้น อย่างนี้ก็กลายเป็นว่าอาจจะผิดไปเลย ไม่เอา ไม่เอาเรื่องไม่เอาเงินอาจจะถูก แต่ว่าเกิดไม่เอางานขึ้นมันก็ยุ่งเลยก็ต้องพิจารณาให้ถูก ไปทำกรรมฐานปฏิบัติธรรมนี่ก็ต้องทำจิตใจของเราให้ถูก ได้หลักวิปัสสนาพิจารณาเห็นความจริงของสังขาร วางใจต่อสังขารได้ ก็หมายความว่าเราเนี่ยได้หลักที่จะกลับออกไปทำงานทำการได้ดีขึ้น
(นาทีที่11.09) แต่ก่อนนี้อาจจะคิดถึงวัตถุสิ่งของอยากได้อยากอะไรต่าง ๆมีความโลภมีความโกรธ พอเห็นความไม่เที่ยงความเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เห็นพระไตรลักษณ์ในสังขารในขันธ์๕แล้ว วางใจถูกต้องได้ก็ไม่โลภ ทีนี้จะไปทำงานทำการไปปกครองบ้านเมือง ไปบริหารประเทศชาติ ใจก็คิดไปตามความมุ่งหมายในการปกครองบ้านเมืองให้มีความร่มเย็นเป็นสุขจริง ๆไม่คิดที่จะเอาละไม่คิดจะเอาเพื่อตัวเองละ เพราะว่าเรารู้เข้าใจเรื่องความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา เราทำไปตามความมุ่งหมายที่แท้ ไม่ใช่ว่าเลยปล่อยไม่เอาเรื่องเอาราว เรื่องของบ้านเมืองประเทศชาติ เรื่องของบ้าน เรื่องครอบครัวทิ้งหมดอย่างนั้นไม่ใช่ถ้าเรายังทำหน้าที่อยู่ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง แต่เราจะทำได้ถูก ก็หมายความว่าเรารู้ทันและความจริงของสังขาร
(นาทีที่12.06) ทีนี้เราจะจัดการกับสิ่งเหล่านั้นเราไม่มีกิเลสในใจอย่างที่บอกเมื่อกี้เนี่ย เราเคยคิดทำงานส่วนรวมเราก็มามีความโลภของตัวเองอยู่ซ่ะนี่ ทีนี้พอเราไปเข้ากรรมฐานแล้วใจเรารู้เท่าทันอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หมดความโลภ ไม่คิดเอาเพื่อตัวเองแล้วทีนี้ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแท้ ๆเลย ใจมันก็บริสุทธิ์ทำงานก็สะอาด ปัญญาก็เดินเต็มที่เลย ทำงานทำการให้สำเร็จผลบรรลุจุดมุ่งหมายที่แท้จริง ไม่ใช่กลายเป็นว่าพอไปเข้ากรรมฐานปฏิบัติธรรมเลยกลายเป็นคนไม่เอาเรื่องเอาราวปล่อยเลอะเทอะหมดกลายเป็นคนประมาท ก็เลยปล่อยวางกลายเป็นปล่อยปละละเลย ถ้าปล่อยปละละเลยทีนี้ก็เป็นคนประมาท เป็นคนประมาทก็เสียเลย (นาทีที่12.51) (ปะมาโทมัดจุโนปะทัง) ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย นั่นก็ต้องทำความเข้าใจให้ถูก ไม่ว่าการอะไรทั้งนั้นถ้าปฏิบัติผิดละก็เกิดปัญหาทั้งนั้นเลย แม้แต่เรื่องปฏิบัติธรรมนี่ บางทีก็ยังมีความเข้าใจไม่ถูกต้อง แล้วก็เกิดปัญหาขึ้นได้ ก็เป็นเรื่องที่เรียกว่าละเอียดอ่อนพอสมควร แต่ทั้งหมดนั่นก็คือต้องมีปัญญาที่รู้เข้าใจชัดเจนนั่นเอง
(นาทีที่13.19) อย่างตอนเนี้ยนอกจากเรื่องการเมืองก็กระแสสังคมกว้างออกไป คนก็มาเพลิดเพลินกันเรื่องกระแสจตุคามรามเทพ แล้ววันนี้โยมก็คงได้รับแจกหนังสือบทสนทนาเรื่องคติจตุคามรามเทพ ความจริงนั้นสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติขอพิมพ์ ทางนี้ไม่ได้คิดจะพิมพ์อะไรหรอก นี่ก็ขอพิมพ์ไปล่ะ เอ้าก็ทำให้ทางโน้น เลยทางนี้ก็ไม่พิมพ์ เพราะว่าเมื่อทางสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติพิมพ์แล้วก็ท่านพิมพ์มากก็แจกมาถึงนี่เอง แต่ปรากฏว่าทางสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติได้ทราบว่าเกิดพิมพ์ไม่ทัน เลยไม่มีจะแจก แต่ว่าก็พอดีมีโยมมาพิมพ์ทันขึ้นมาก็เลยมีแจกวันนี้ ก็ไม่ใช่วัดพิมพ์ละเป็นโยมพิมพ์ นี้จะเห็นว่ามีแบบปกแปลกหน่อย อาตมาเห็นก็มานึกว่า ท่านออกแบบมีความหมายดี โยมลองตีความหมายดูสิปกหนังสือคติจตุคามรามเทพนะได้เห็นแล้วเป็นยังไง
(นาทีที่14.28) ก็ขอตีความให้ฟังนิดนึง ว่าองค์จตุคามรามเทพเนี่ยท่านเป็นเทวดาที่ดี ประวัติบอกว่าตั้งใจบำเพ็ญบารมีจะเป็นพระโพธิสัตว์ทีแเดียวแหละ ก็เป็นผู้มีศรัทธาตั้งใจทำความดีอย่างสูงเลย ทีนี้ท่านอยู่มาเป็นพันปีท่านก็อยู่มาอย่างเนี้ย แต่มาถึงตอนนี้สังคมไทยตื่นท่านกันใหญ่เลย ทีนี้ที่ตื่นเนี่ยมันมีอันหนึ่งที่เข้ามาก็แสดงออกในภาพ ที่อยู่กับเหรียญจตุคามนั้น ก็คือมีรูปคล้าย ๆกับดัก กับดักนั่นก็คือสัญลักษณ์ของสังคมไทยปัจจุบัน มีอะไรต่ออะไรแม้แต่สิ่งที่ดีเนี่ย มีผู้นำมาใช้เป็นกับดักหมด องค์จตุคามท่านแสนดี ท่านก็อยู่มาเป็นพันปีท่านก็อยู่ของท่านสบาย ๆทำความดีของท่านไป สังคมไทยปัจจุบันนี่มีคนเอาท่านมาใช้ มาติดกับกับดัก เพราะนั้นเราก็ต้องรู้ทันกับดักนี้ แล้วทำไง รู้ทันกับดักนี้เราก็เลี่ยงก็หลบก็ข้ามกับดักนี้ไปให้ได้
(นาทีที่15.39) ผู้ใดเลี่ยงหลบข้ามกับดักอันนั้นไปได้ก็ไปถึงองค์จตุคามรามเทพ พอไปถึงองค์จตุคามรามเทพก็ร่วมขบวนกับองค์จตุคามรามเทพไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะว่าองค์จตุคามรามเทพเนี่ยท่านเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่ เป็นเทวดาที่พิทักษ์พระบรมธาตุ เหมือนกับไปสนองงาน เทพทั้งหลายใหญ่ ๆก็รับสนองงานพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ก็เคยเล่าให้ฟังแล้ว อย่างที่หลวงพ่อโสธรบ้าง ที่หลวงพ่อพระแก้วมรกตที่วัดพระแก้วนี่ก็มีเทวดารักษาทั้งนั้น เทวดาเหล่าเนี้ยมาคอยรับใช้ พูดง่าย ๆก็คือมาช่วยดูแลผู้คนในต่าง ๆก็บอกไว้ในหนังสือนี้แล้วบอกพระพุทธเจ้านะไม่ทรงมาบันดาลอะไรให้ใครหรอก เรื่องของชาวบ้านไม่มายุ่งด้วย แล้วพระองค์ก็ปรินิพพานแล้ว แต่ว่าที่มาช่วยก็คือพวกเทวดาที่มาคอยเฝ้าพระพุทธเจ้าเนี่ย เรียกว่ามาคอยรับใช้พระพุทธเจ้าอยู่ก็ล้วนแต่เป็นเทวดาผู้ใหญ่ สมัยพุทธกาลก็มีเรื่องเยอะ พระอินทร์นี่ก็เป็นองค์หนึ่งเมื่อมานับถือพุทธศาสนาแล้ว เวลาพระพุทธเจ้าทรงอาพาธเนี่ยพระอินทร์องค์เนี้ยจะมารับใช้ใกล้ชิดที่สุดเลย เพราะงั้นเทวดาเหล่าเนี้ยท่านก็เป็นชาวพุทธที่ดี ทีนี้ถ้าหากเราเข้าใจท่านให้ถูก เราไม่มาเขวซ่ะนะข้ามกับดักไปได้ก็ไปถึงองค์จตุคามรามเทพ ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้จะร่วมขบวนกับท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็จะได้ไปรับธรรมะ จะได้ปฏิบัติให้ถูกทางซ่ะ อันนั้นก็เป็นปริศนาให้แก่สังคมไทยว่า จะต้องปฏิบัติในเรื่องแม้แต่เทวดาให้ถูกต้อง ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าเวลาเนี้ยความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเทวดาเนี้ยคนไทยเนี่ยหลงไปเยอะ
(นาทีที่17.29) คนไทยที่เรียกว่าชาวพุทธนี่แหละหลงไม่รู้เรื่อง คติเก่าท่านมีมาเนี่ยถือกันมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแหละ ไม่เข้าใจอะไรเลย ก็น่าจะถือโอกาสมีเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นมาแล้วก็ ทำให้มันเป็นโอกาสซ่ะในการที่จะศึกษาให้รู้ให้เข้าใจให้ถูกต้อง ว่าเทวดาเนี่ยมีความสัมพันธ์กับพุทธศาสนาอย่างไร ชาวพุทธควรมีท่าทีปฏิบัติตนต่อเรื่องเทวดาอย่างไรเนี่ย ถ้าปฏิบัติถูกต้องเราก็จะไม่มีปัญหา มีเทวดามาเราก็รู้แนวรู้ทางปฏิบัติถูกต้องใคร ๆก็มาหลอกไม่ได้ แล้วเราเองก็ไม่สับสน แล้วเราก็ไม่เสียหลักในการปฏิบัติพระพุทธศาสนาด้วย ทุกอย่างก็เป็นไปด้วยดี ก็เอาเป็นว่าเป็นบทเรียนว่าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ก็เป็นบทพิสูจน์ เป็นแบบฝึกหัดสำหรับชาวพุทธทั้งหลายจะได้มาอย่างน้อยก็เรียนรู้ให้เข้าใจ
(นาทีที่18.28) อันนี้อาตมาก็พูดเรื่อยไปวันนี้ไม่ได้คิดจะมาพูดเป็นเรื่องเป็นราวกับโยมหรอก ก็ถือว่ามาพบปะกับโยม ความจริงแค่จะผ่านตั้งนโมก็เหนื่อยแทบแย่แล้วเมื่อกี้เนี้ย ก็เอาค่อย ๆตั้งตัวพูดไปเรื่อย ๆ ตอนนี้มีเรื่องเด่นอะไรก็เลยยกมาพูดกันให้เข้าใจ แต่เรื่องเหล่านี้โยมต้องถือว่าสำคัญนะ ถือว่าต้องเข้าใจและปฏิบัติให้ถูก แล้วเวลานี้เราจะมามัวยุ่งกับเรื่องที่เกิดขึ้นเดี๋ยวเรื่องโน้นเดี๋ยวเรื่องนี้นะ ไม่ได้นะ แต่ไม่ใช่มองข้ามนะต้องไม่ประมาท จะต้องเอาใจใส่ แต่ว่าถ้าเรามัวไปสับสนวุ่นวายงุ่นง่านอยู่กับสถานการณ์เหล่านั้น เราก็ทำอะไรไม่ถูก เราก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์
(นาทีที่19.15) เรื่องราวต่าง ๆที่เกิดขึ้นตอนเนี้ย ในแง่หนึ่งมันเป็นการพิสูจน์ว่าคนไทยชาวพุทธเราที่ผ่านมาเนี้ย ไม่ค่อยจะมีหลักและยังปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง หรืออาจจะเดินไม่ค่อยถูกทางยังกระจัดกระจายอ่อนแอ เป็นต้น แล้วถ้ามองไประยะยาวข้างหน้าเนี่ย เราจะเอาประเทศชาติ สังคมของเราไปรอดได้อย่างไร นั้นอย่ามองกันชั่วเฉพาะหน้าระยะสั้น ขอให้มองไกลระยะยาว ปัญหาระยะสั้นก็ว่ากันไปแหละ แต่บางทีเรามายุ่งอยู่กับเรื่องเฉพาะหน้า จนกระทั่งมองข้ามเรื่องระยะยาว จะต้องเอาใจใส่เรื่องระยะยาวให้มาก ถ้าเราจะแก้ปัญหาสังคมไทย เราจะนำประเทศชาติไปได้ดีเนี่ยจะต้องไปคิดกันให้ชัด แล้วก็ทำงานระยะยาว ต้องเริ่มแล้วแหละโดยเฉพาะฝ่ายการศึกษา โรงเรียน ครู อาจารย์นี่จะต้องเต็มที่ แต่ว่าโรงเรียนเท่านั้นก็ไม่พอ ครูคนแรกของลูกก็คือพ่อแม่เป็นบูรพาจารย์นะต้องเริ่มในครอบครัว
(นาทีที่20.19) ขณะนี้ต้องยอมรับนะว่าสังคมไทยนี่อ่อนแอมาก อะไรต่ออะไรที่มันเข้ามาเป็นบทพิสูจน์ความอ่อนแอของคนไทย ก็อย่างเรื่องเนี้ยเรื่องความตื่นกระแส เรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ การดลบันดาลการหวังลาภลอยนอนคอยโชคอะไรพวกเนี้ย คือการที่ว่าอยากจะได้อะไรง่าย ๆไม่ต้องทำ ก็แสดงถึงความอ่อนแอ และการที่อยากเสพอยากบริโภคมีอะไรก็อยากจะได้มาบำรุงบำเรอความสุข ชอบติดเกินในวัตถุอยากได้ไม่อยากทำ อยากหาความสุขไม่อยากทำ อยากได้ก็ไม่อยากทำ อยากหาความสุขเพลิดเพลินก็ไม่อยากทำ คนไม่อยากทำนี่มันคนอ่อนแอ อยากทำก็หมายความว่าทำการสร้างสรรค์ทำการผลิตเนี่ย นี่คือเรื่องที่จะสร้างชาติสร้างสังคมระยะยาวจะต้องคิดกันให้จริงจัง เพราะงั้นต่อไปเนี้ยมาคิดกันเรื่องระยะยาวทำกันให้จริงจัง แล้วต่อไปข้างหน้าอดทนเอาหน่อย แล้วประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าได้ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่เนี่ยจะต้องเป็นคนเข้มแข็งจะเป็นคนอ่อนแอไม่ได้แล้ว
(นาทีที่21.31) ดูคติจากพระพุทธเจ้าซิ พระพุทธเจ้าบำเพ็ญบารมี ต้องกี่อสงไขยกี่แสนกัป คติโบราณเราก็นับไม่ไหวแหละ พระองค์ยังมีความขยันหมั่นเพียรอดทนได้บำเพ็ญบารมีได้ แล้วไม่ต้องไปถึงอดีตหรอกเอาแค่ในพระชาติสุดท้าย พระองค์ก็ทรงมีความมุ่งมั่นพากเพียรเด็ดเดี่ยวเข้มแข็งจริง ๆ เสียสละได้ทุกอย่างแล้วก็ไปพิสูจน์ทุกอย่างได้ แม้แต่พิสูจน์ในป่าพระองค์ยังเข้าไปปฏิบัติบำเพ็ญเพียรในป่า ดึกสงัดอ้าวพระองค์ก็ไปทดลองเลยไปที่จุดที่เขาถือว่าน่ากลัวที่สุด แล้วพระองค์ก็พิสูจน์ทดลองฝ่าฟันความกลัวฝึกพระองค์ให้หายกลัวจนได้ นี่แหละต้องเป็นคนมีความเพียรความขยันความอดทนเป็นคนจริงเป็นคนเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นจึงจะทำการได้สำเร็จไม่ใช่คนอ่อนแอจะทำได้ เรื่องของความเพียรพยายามระยะยาวเนี่ยสำคัญ
(นาทีที่22.32) คติสำคัญในวันวิสาขบูชาที่พระพุทธเจ้าประสูติแล้วมาตรัสรู้ นำธรรมะมาประกาศได้จนกระทั่งปรินิพพานตั้งพระศาสนาได้มั่นคงเนี่ยอะไรที่เป็นจุดหัวใจ จุดหัวใจก็พระองค์ตรัสรู้ไงล่ะ เพราะตรัสรู้จึงเป็นพระพุทธเจ้า ตรัสรู้ก็คือบรรลุโพธิญาณ โพธิญาณก็คือปัญญาที่ทำให้รู้สัจธรรม รู้ความจริงแล้วก็สามารถที่จะนำเอาความจริงนั้นมาประกาศชี้แจงสั่งสอนมนุษย์ให้รู้เข้าใจตาม ประพฤติปฏิบัติตามได้ แก้ไขปัญหาของชีวิตของสังคมของโลก อะไรต่าง ๆเหล่าเนี้ยซึ่งต้องมาช่วยกัน ฉะนั้นจุดสำคัญก็คือความรู้ และความรู้ในทีนี้ไม่ใช่ความรู้เฉย ๆแต่หมายถึงความรู้ที่ชัดเจนแจ่มแจ้ง และความรู้ที่ชัดเจนแจ่มแจ้งนี้ ไม่ใช่ได้มาง่าย ๆ ไม่ใช่ใครเขาจะมาบอกให้เฉย ๆแล้วก็ตัวเองไม่ต้องคิดพิจารณา ต้องใช้ความเพียรพยายามมาก พระพุทธเจ้าต้องทรงขวนขวาย ทรงสละราชสมบัติออกไปแสวงหาปัญญาตัวเนี้ยเพื่อจะได้โพธิญาณ
(นาทีที่23.43) ปัญญาเป็นจุดหมายที่ต้องการ สำเร็จได้ด้วยความเพียรพยายามอย่างยวดยิ่ง คนไทยจะสร้างประเทศชาติ สังคมแม้จะสร้างชีวิต ครอบครัวเนี่ยจะต้องใช้คติจากวิสาขบูชานี้ให้ได้ ก็คือต้องหาความรู้แจ้งจริงด้วยความเพียรพยายามอย่างจริงจังเนี่ยต้องเอาให้ได้ และคนไทยรุ่นต่อไปเนี่ยจะสร้างประเทศชาติ สังคม สร้างชีวิตของตัวเองได้ต้องมี เพราะงั้นเป็นคนที่รู้อะไรก็รู้ไม่ชัดไม่เจน เวลานี้ปัญหาอะไรต่าง ๆเกิดจากสังคมไทยเนี่ยเต็มไปด้วยความไม่รู้ ตอนนี้ต้องถึงขั้นที่พูดว่าเป็นสังคมที่อุดมด้วยความไม่รู้ มีการพูดกันบอกว่าจะให้เป็นสังคมอุดมปัญญา มันจะตรงข้ามนะ ถ้ามันไม่อุดมปัญญา มันก็อุดมด้วยความไม่รู้ หรืออุดมด้วยโมหะ ก็สักแต่ว่าพูดกันไป การแสดงความไม่รู้ที่สำคัญอันนึงก็คือมีแต่แสดงความเห็น ตอนนี้ชอบพูดกันมากจะฝึกเด็กให้แสดงความคิดเห็น ต้องขอคัดค้านว่าข้ามกระบวนการที่สำคัญ ขั้นตอนก่อนที่จะแสดงความเห็นต้องหาความรู้ก่อน ต้องหาความรู้ให้ชัดเจนแล้วมาแสดงความคิดเห็นบนฐานของความรู้ที่ชัดนะ ไม่งั้นนะความคิดเห็นมันเลื่อนลอยแล้วมันหลอกลวง มันเป็นปัญหามากของสังคมไทยปัจจุบันนี้สักแต่ว่าตื่นกระแส ก็ตื่นกระแสแบบเดียวกับจตุคามรามเทพ แล้วก็ไม่รู้ว่าจตุคามรามเทพเป็นอะไร ตื่นกันไปนี่ลองไปถามซิว่าจตุคามนี่คือใคร เป็นอะไร มายังไง ???ปฏิบัติยังไงจะถูกต้องไม่รู้เรื่องเลย คือไม่รู้เลยก็ว่ากันไปได้
(นาทีที่25.30) เรื่องความคิดเห็นก็เหมือนกันแสดงได้ทั้งนั้นแหละแต่ไม่รู้เรื่องเลยเรื่องที่ตัวแสดงความเห็นนะไม่รู้เรื่องหรอก อย่างนี้ก็น่าตกใจมากเพราะนั้นสังคมเนี่ยจะต้องมาแก้จุดนี้ให้ได้ ต้องเป็นสังคมที่อุดมด้วยความรู้ด้วยปัญญาจริง ๆ ไอ้ปัญญานะไม่ใช่ความคิดเห็นนะ ปัญญาคือตัวความรู้ แล้วไอ้ความคิดเห็นมาเป็นเครื่องมือที่จะเอาความรู้นั้นมาพัฒนาเพื่อให้เกิดความเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น และมันก็ก้าวต่อไปให้ถึงความจริงเป็นขั้นตอนไป แต่ไม่ใช่ลำพังความคิดเห็นขึ้นมามันจะสำเร็จ ความคิดเห็นขึ้นมาไม่มีความรู้เป็นฐานรองรับก็เลื่อนลอยซิ จะเปรียบเทียบให้ฟัง ยกตัวอย่างอันหนึ่ง คนคนหนึ่งเนี่ยเดินไปในที่มืดแกก็เดินไปในที่ ๆเป็นทางเดินตามธรรมชาติใต้ร่มไม้ พอดีเดินไปถึงจุดหนึ่งก็ไปเหยียบเอากาบมะพร้าวเข้า กาบมะพร้าวนั่นมันมีเศษกะลาติดอยู่แหลม ๆมันก็กระดกขึ้นมาทิ่มขาเอา แกก็นึกว่างูมันกัด ไฟฉายก็ไม่มี มองไม่เห็นว่าเป็นอะไรชัดเจนก็ใช้ความคิดเห็นละทีนี้ละ มองไม่เห็นนะ มองไม่เห็นชัดเจนก็คิดเห็นไป นี้ก็คิดเห็นก็ปรุงแต่งซิว่าโอ๋น่ากลัวเป็นงู งูอะไรก็ไม่รู้สงสัยจะเป็นงูมีพิษหรือเปล่าก็ไม่รู้เราแย่แล้ว ปรุงแต่งไปปรุงแต่งมา แย่แล้วเราโอ้ชักรู้สึกไม่ดีแล้วเจ็บปวดขึ้นมา เอ้ถ้าจะแย่แล้วไปกันใหญ่ทำท่าจะตายเอานึกว่างูพิษกัด และก็เลยพอดีมีคนที่ว่าไปหาไฟฉายมาได้มาส่อง ปรากฏว่าเป็นไอ้กากมะพร้าว หมดเรื่องหายเจ็บหายปวดหมดเลยมันไปไหนละ ก็เพราะว่านี่แหละ ก็คือเมื่อมองไม่เห็นความจริง มองไม่เห็นก็เลยคิดเห็น แต่คิดเห็นเนี่ยมันไม่ใช่ปัญญามันไม่มีความรู้แท้จริงมันก็เลยกลายเป็นคิดเห็นหลอกหลอน เมื่อมองเห็นไม่ชัดเจนก็คิดเห็นหลอกลวงตัวเองไป เพราะนั้นคนปัจจุบันก็จะเป็นอย่างเงี้ยเมื่อไม่มีความรู้ชัดเจน ไอ้ความคิดเห็นมันก็มาปรุงแต่ง
(นาทีที่27.49) อาตมาก็ขออภัยทำตัวเป็นผู้มองดูบ้าง อย่างตอนนี้ก็เรียกร้องเรื่องศาสนาประจำชาติกัน หนังสือพิมพ์บางฉบับท่านผู้เขียนบทความเป็นนักวิชาการไปเขียนลงได้บอกว่าอาตมาเนี่ยเป็นผู้เรียกร้องให้เอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติว่างั้นนะ นี่ตัวอย่างก็ไม่รู้ความจริงก็ไปเขียนเดาเอา คือจากการที่ไม่เห็นความจริงไม่รู้ชัดแล้วก็ไปคิดตีความเอาจากตรงโน้นตรงนี้ เนี่ยจากความที่ไม่รู้ความจริงก็คิดเห็น ไอ้ความคิดเห็นมันก็ปรุงแต่ง เช่นตีความไม่ถูกต้อง เป็นต้น ก็เลยต้องเขียนให้เขาเข้าใจ ว่าโน้น๑๓ปีมาแล้วปี๒๕๓๗ เขาก็รณรงค์ คราวนั้นเขาไม่ได้ใช้คำว่าเรียกร้อง ตอนนั้นเมื่อปี๒๕๓๗นั้นเขาจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช๒๕๔๐ คือฉบับที่เลิกล้มไปใหม่ ๆที่เปลี่ยนมาจะร่างเป็น๒๕๕๐เนี่ย ตอนนั้นปี๒๕๓๗เขากำลังเริ่มร่างกันอยู่ ก็มีการรณรงค์ตอนนั้นเขาได้ใช้ศัพท์ว่ารณรงค์ ตอนนี้เขาใช้ศัพท์เรียกร้องนะ อันเนี่ยคนตอนยุคเนี้ยไม่รู้เรื่อง หลายคนไม่รู้เรื่องว่าเมื่อปี๒๕๓๗เขาก็รณรงค์กันมาแล้วเรื่องเนี้ย แล้วฟังดูเถียงกันไปเถียงกันมาก็เถียงเหมือนเดิม เถียงเหมือนยังกับปี๒๕๓๗นั่นแหละไม่ไปไหนนะ แล้วก็คือมีแต่ความเห็น ดูแล้วก็ไม่ได้เอาความรู้มาแสดง ถ้ายังงี้สังคมมันก็วนเวียนเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏไม่ไปไหน นี้ก็เลยบอกว่าอาตมานะจะไปเรียกร้องอะไรแล้วไปอยู่ต่างจังหวัดตอนนั้นอาพาธแล้วก็ไปพักอยู่ต่างจังหวัด ก็ได้ยินข่าวเขาเรียกร้องกัน แล้วจนกระทั่งตัวเองกลับเข้ามา ก็ได้ฟังได้ดูเขาก็เอาหนังสือที่อาตมาเขียนไว้ให้พุทธมณฑลตอนนั้นเขาอาราธนาขอมาเลยว่าขอให้เขียนเป็นบทความชื่อว่า ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นศาสนาประจำชาติ ลงในหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ในปีพุทธศักราช๒๕๓๐ คือยี่สิบปีมาแล้ว ปรากฏว่าตอนเนี้ยเขาก็เอาหนังสือเล่มเนี้ยมาลงในหนังสือพิมพ์บ้าง เอามาพูดมาอ่านกัน แล้วบางคนก็ตีความเป็นว่าอาตมามาร่วมเรียกร้อง หนังสือตั้งยี่สิบปีมาแหละ
(นาทีที่30.24) แล้วก็มาอีกเล่มนึงเนี่ยที่ออกวันนี้ เรื่องเจาะหาความจริงเรื่องศาสนาประจำชาติ นี่ก็คือเรื่องเมื่อสิบสามปีมาแล้ว ตอนนั้นอาตมาก็ได้รับนิมนต์ไปพูดก็บอกอาตมาเนี่ยไม่ได้ร่วมรณรงค์ด้วยนะ บอกไว้ก่อนตั้งแต่เริ่มพูด เพราะอาตมาเนี่ยเป็นห่วงการรณรงค์ ไม่ได้เป็นห่วงเรื่องศาสนาประจำชาติ แต่เป็นห่วงการรณรงค์ ว่ารณรงค์ต้องรณรงค์ให้ดีให้ได้ผลดีไม่ให้เกิดผลเสีย และก็ต้องทำกันด้วยความรู้ความเข้าใจ เวลานี้ก็เห็นคนเถียงกันเรื่องเนี้ย ฝ่ายหนึ่งก็เรียกร้องฝ่ายหนึ่งก็ค้าน ก็มีแต่ความเห็นเป็นส่วนใหญ่ ทำไงเราจะให้ความรู้ความเข้าใจเผยแพร่กันไป ก็เลยบอกว่าเอาล่ะมันจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมายังไงก็แล้วแต่เนี่ยขอให้ได้ความรู้ จะสำเร็จผลหรือไม่ถ้าเกิดความรู้ขึ้นมาก็ถือว่าคุ้มละ เหตุการณ์นี้ก็ไม่ผ่านไปเสียเปล่า นั้นก็ขอให้หาความรู้กันให้ชัดเจน เวลาเกิดอะไรต่ออะไรขึ้นมาเนี่ยทำกันด้วยความรู้ ไม่ใช่สักแต่ว่าพูด บางทีเอามาโฆษณาออกวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
(นาทีที่31.36) ขออภัยเล่าเรื่องเป็นเกร็ดไปก็แล้วกัน วันนี้คุยกันไปเรื่อย ๆ เขาก็พูดเรื่องพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแล้วก็เอาเสียงฝ่ายค้านมา คงจะเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรืออะไรทำนองเนี้ย เวลาข่าวภาคเช้าภาคค่ำก็จะเอาเสียงคนให้ความเห็นมาออก วันหนึ่งก็บอกว่าเอ้อนี่ถ้าเอาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ยังงั้นถ้าต่อไปนี้ผิดศีลห้าก็ต้องผิดกฎหมายซิเดี๋ยวก็ถูกจับอะไรทำนองนี้ไป ก็ฟังแล้วก็นึกดูก็น่าขำ คือเหมือนกับว่าชาวพุทธเราเนี้ยไม่มีความรู้เข้าใจอะไรเลย ที่พูดว่าผิดศีลห้าแล้วเนี่ยจะมีความผิดกฎหมายต้องถูกจับอะไรเนี่ย ก็คลุมเครือคือมองไม่รู้อะไรทั้งนั้นนะ พูดไปโดยในใจเนี่ยไม่เข้าใจอะไรชัดเจน แล้วก็ทางกรรมการเนี่ยความเห็นที่ไม่เกิดจากความรู้แสดงความไม่รู้เลยเนี่ยทำไมเอามาออก ก็แสดงว่าคณะกรรมการเนี่ยก็คงมีความไม่รู้เหมือนกัน เพราะมันก็ชัดอยู่แล้วมองได้สองอย่าง บอกว่าเอ้อคนทำผิดศีลห้าต่อไปพอบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติก็ต้องผิดกฎหมายด้วยซิ บอกไม่ต้องไปบัญญัติหรอกเดี๋ยวนี้ก็ผิดอยู่แล้ว ก็เลยยกตัวอย่างให้พระท่านฟัง บอกอ้าวลองไปปล้นร้านทองเงี้ย ใช่ไหมเดี๋ยวนี้กำลังคิดกันมากว่าทำไงจะช่วยร้านทองได้ ปล้นร้านทองเนี่ยผิดกฎหมายไหมแล้วก็ถูกจับไหม นี่ละผิดศีลห้าก็ผิดกฎหมายถูกไหม หรือไปฆ่าคนเนี่ยก็ผิดกฎหมายไหม ก็ผิดศีลห้ามันก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว แล้วแต่จะผิดศีลระดับไหน คือเขาเอาเรื่องของศีลห้านี่แหละไปเป็นฐานในการบัญญัติกฎหมาย แต่ศีลห้านะเป็นหลักใหญ่ที่กว้างไม่ให้เบียดเบียนในเรื่องชีวิตร่างกาย เวลาจะบัญญัติจะไปบัญญัติเฉพาะหลักการดิบ ๆได้ไง ก็ต้องไปแยกแยะออกไปว่าเอ้อถ้าความผิดต่อชีวิตร่างกายในระดับนี้ ต่อทรัพย์สินระดับนี้ ไปปล้นไปฆ่าอย่างงี้ละก็มีความผิดแค่นี้แค่นี้ นั่นเป็นเรื่องกฎหมายเอาประโยชน์จากเรื่องศีลห้าเนี่ยไปบัญญัติ ที่เขาบัญญัติกฎหมายอาญากฎหมายแพ่งกันมาเนี่ยในประเทศไทยเนี่ยเอาศีลห้าเนี่ยเป็นฐานตลอดมาแหละ
(นาทีที่34.03) เพราะฉะนั้นที่ผิดศีลห้ามันก็ผิดกฎหมาย แต่จะผิดระดับไหนมันก็ผิดว่าไปตามที่เราจะเอามาบัญญัติแค่ไหนนี่มองแง่หนึ่ง ทีนี้มองอีกแง่หนึ่งก็คือว่าถ้าเอาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหมายความว่าพระจะเอาศีลห้ามาบังคับคนหรือไง มันก็เป็นไปไม่ได้เพราะว่าหลักพุทธศาสนานะไม่บังคับใคร ใครอยากจะรักษาศีล๒๒๗ก็ต้องไปบวชใช่ไหม แล้วต้องไปสมัครใจไปขอบวชนะถ้าไม่ใช่มาบวชให้เฉย ๆต้องขอบวชด้วย แล้วแม้แต่โยมจะรักษาศีลห้าเนี่ย พระไม่มีทางที่ท่านจะมาบังคับโยมให้รักษาศีลห้าหรอก แม้แต่โยมอยากจะรักษาศีลห้ายังต้องไปขอท่านเลยใช่ไหม โยมไปขอท่านไป มะยังภันเตวิสุงวิสุงบ้างไม่วิสุงวิสุงบ้าง มะยังภันเตติสะระเณนะสะหะปัญจะสีลานิยาจามะ บอกว่าท่านขอรับหรือท่านเจ้าคะ ผมหรือดิฉันเนี่ยขอศีลห้านะว่างั้นนะ ต้องไปขอนะท่านจึงจะให้นะ ไม่มีทางที่พระท่านจะเอาศีลมาบังคับใคร เพราะนั้นเรื่องทางพระศาสนาเนี่ยต้องถือว่าท่านสอนให้คนได้เห็นเหตุเห็นผลมีความเข้าใจดีแล้ว แล้วก็คนนั้นเห็นว่าเอ้อการประพฤติปฏิบัติอย่างนี้ถูกต้อง เราไม่ควรจะทำความชั่วไม่ควรเบียดเบียนกัน ก็เลยตกลงกันให้ท่านเป็นพยาน บอกกับท่านว่าฉันจะรักษาศีลนี้นี้ จึงต้องขอศีลเพราะฉะนั้นเรื่องจะมาบังคับให้รักษาศีลนะมันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วอย่างนี้เป็นต้น
(นาทีที่35.39) ถ้าเป็นชาวพุทธที่รู้เข้าใจมันก็ไม่มีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นมา นี่ถ้าแม้แต่เรื่องอย่างนี้ชาวพุทธเรายังไม่เข้าใจเนี่ย แล้วมันจะไปรอดหรือ และก็อะไรต่ออะไรก็ไม่รู้แหละบางทีก็บอกว่าอ้าวก็บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติทำไมละ พุทธศาสนาประจำใจก็พอแล้ว หรืออะไรอย่างเงี้ยคือแยกไม่ออกอะไรเป็นอะไร พูดได้แต่แยกไม่ออกเรื่องพุทธศาสนาเชิงบุคคลกับพุทธศาสนาเชิงสังคมอย่างนี้เป็นต้น ถ้าพูดสั้น ๆก็ต้องพูดทำนองนี้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องชี้แจงกันยาวแต่แสดงว่าเรายังแยกแยะกันไม่ถูก
(นาทีที่36.18) ก็ถือเป็นโอกาสที่ว่าจะต้องพัฒนาชาวพุทธ อย่างน้อยให้หาความรู้ให้มีความรู้ความเข้าใจกัน เพราะว่าปัญหาต่าง ๆนี่จะแก้ได้สำเร็จต้องมีปัญญา และจุดหมายพุทธศาสนานั้นก็คือโพธิญาณ เราจะต้องหาความรู้ที่แท้จริงให้ชัดเจนด้วยการมีความเพียรพยายาม อย่าย่นระย่อท้อถอย เพราะนั้นอนุชนรุ่นต่อไปเนี่ยลูกหลานทั้งหลายเด็ก ๆในครอบครัวเนี่ย ขอให้ญาติโยมสาธุชนเนี่ยเอาใจใส่เรื่องนี้ ก็คือว่าจะต้องสร้างเด็กให้เป็นคนเข้มแข็งและเป็นคนที่ใฝ่รู้ขยันหมั่นเพียรที่จะหาความรู้แสวงหาปัญญาอย่างจริงจัง ถ้าสังคมของเราไม่มีความเข้มแข็ง ไปไม่รอดหรอกต่อไป เวลานี้มันแย่อยู่แล้วอ่อนแอเหลือเกินแล้วอ่อนแอทางไหนบ้างละ อ่อนแอทางกายก็สุขภาพ แต่ว่าแค่นี้มันก็ยังเพียงด้านหนึ่งเท่านั้นนะ และอ่อนแอทางด้านพฤติกรรมที่ว่ามันอ่อนไหวถูกชักจูงง่ายไม่มีความมั่นคงเข้มแข็งในพฤติกรรมที่ดีงามก็อ่อนแออีก อ่อนแอทางจิตใจ จิตใจไม่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่มีความเข้มแข็งอดทนไม่มีสติไม่มีสมาธิแย่อีกหนักเข้าไปอีกพลอยพฤติกรรมก็เลยไม่เข้มแข็ง และที่ร้ายที่สุดก็คืออ่อนแอทางปัญญา ไม่มีความเข้มแข็งทางปัญญา สังคมใดไม่มีความเข้มแข็งทางปัญญาเนี่ยมันนำเขาไม่ได้ สังคมที่จะนำเขาได้จริงเนี่ยมันต้องเข้มแข็งทางปัญญา ความเข้มแข็งทางปัญญานี่เป็นความเข้มแข็งที่ประเสริฐสุด (นาทีที่38.01) เพราะฉะนั้นในหนังสือเรื่องเจาะหาความจริงเรื่องศาสนาประจำชาติเนี่ยจึงได้ยกพุทธพรตมาอันหนึ่งเลยตั้งไว้ให้ดูให้โยมไปดูกัน พุทธพรตอันหนึ่งบอกว่าความเสื่อมถอยที่เลวร้ายที่สุด คือความเสื่อมถอยทางปัญญา แล้วความเจริญพัฒนาที่ประเสริฐสุดคืออะไร ก็คือความเจริญพัฒนาทางปัญญา เพราะนั้นเราจะต้องให้คนของเราเนี่ยพัฒนาปัญญาให้เข้มแข็งให้ได้ เมื่อเราพัฒนาปัญญาให้เข้มแข็งแล้ว เราจะเอาทางไหนก็ได้อย่างที่เราชอบเรียกว่าทางโลกทางธรรม เราจะไปทางโลกทางเทคโนโลยีเนี่ยมันก็ไปนำเขาไม่ได้ถ้ามันไม่มีความเข้มแข็งทางปัญญา ถ้ามีความเข้มแข็งทางปัญญาจะนำอเมริกาในการพัฒนาเทคโนโลยีก็ได้ใช่ไหม เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปกลัวหรอกขอให้มันมีความเข้มแข็งทางปัญญาจริง ๆ หรือในทางธรรมะก็เหมือนกันเราก็ต้องมีความเข้มแข็งทางปัญญาที่จะให้ความรู้เข้าใจความจริงของชีวิตเป็นต้น
(นาทีที่39.13) เรื่องไตรลักษณ์อะไรงี้ให้ฝรั่งเข้าใจ เวลานี้อย่างที่เขาประชุมวิสาขบูชาโลก ว่าฝรั่งมาสนใจพุทธศาสนา มีพวกฝรั่งพวกผู้บริหารนักการเมืองมาสนใจสมาธิที่เขาเรียก( เมดิเตชั่น )อะไรเนี่ย คือฝรั่งก็มาสนใจจุดนี้เพราะอะไรเพราะฝรั่งเขาขาด ฝรั่งน่ะแกเป็นคนมุ่งมั่นเข้มแข็งในการที่จะเพียรพยายามทำโน้นทำนี่ดิ้นรนต่อสู้เป็นนักผจญภัยมาแต่ไหนแต่ไรแหละ ชอบเสี่ยงภัยนิสัยฝรั่งโดยเฉพาะพวกอเมริกันนะนิสัยพื้นเขาเป็นอย่างงั้น ทีนี้เขามีข้อเสียคือจิตใจมันงุ่นง่านพลุ่งพล่านกระวนกระวายเครียด พอมาได้ทางสมาธิมาช่วยเนี่ยจิตใจสงบ เขาก็เอาไปเสริมของเขา เพราะนั้นมันก็กลายเป็นว่าเขามีดีของเขาอยู่ส่วนหนึ่งแล้ว ไอ้ส่วนนี้ก็ไปหนุนทำให้เขาทำงานด้วยจิตใจที่สงบมั่นคงยิ่งขึ้นทำงานที่เขามีความขยันหมั่นเพียรก็ได้ผลยิ่งขึ้น (นาทีที่40.17) นี่ถ้าคนไทยเราเอาแต่สมาธิมาใช้เราสงบแล้วเราไม่รู้หลักเราไม่ไปทำการทำงานนะ แทนที่จะเอาใจที่เป็นสมาธิที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นจิตที่เหมาะกับงานไปใช้งานกลับมานอนซ่ะนี่นะบอกว่าใจสงบสบาย จึงกลายเป็นคนขี้เกียจตกอยู่ในความประมาทแล้วมันจะไปได้เรื่องอะไรละ เพราะนั้นจะต้องรู้ทันฝรั่งด้วย บอกแม้แต่ฝรั่งที่แกเอาไปใช้อย่างงี้เราก็ยังไม่น่าพอใจละนะ เวลานี้ฝรั่งที่มาพอใจ ( เมดิเตชั่น ) เนี่ยแกพอใจในแง่นี้ ย้ำอีกทีว่าแกถนัดในเรื่องการบุกเบิก ฝ่าฟัน สร้างสรรค์ ทำการงานขยันหมั่นเพียร เป็นนักผลิตนักอุตสาหกรรมเนี่ยแกไปได้ดีละ แต่เพราะอย่างนั้นอีกด้านหนึ่งนะ แกจิตใจเครียดกระวนกระวายพลุ่งพล่านงุ่นง่านแกได้สมาธิแกก็ไปช่วยตรงนี้แกก็สบายขึ้นมา
(นาทีที่41.12) ???ทีนี้แกเอาไอ้สมาธิจิตสงบเนี่ยไปสนองรับใช้ไอ้แนวคิดอุตสาหกรรม แนวคิดพิชิตธรรมชาติอะไรเป็นต้นของแกเนี่ย ไอ้จุดเนี้ยที่เราจะต้องรู้ทันว่า ว่าคุณอย่าเพิ่งพอใจและคุณยังใช้ไม่ถูกหรอก คุณจะต้องไปแก้ไขทิฐิแนวคิดที่ผิดของคุณด้วย ไม่งั้นคุณจะไม่มีความสุขที่แท้จริงและแก้ปัญหาของโลกไม่ได้หรอก นั้นเราจะต้องทันฝรั่งด้วย และก็ไม่ใช่ทันฝรั่งแล้วตัวเองก็เลยไม่ได้เรื่อง ตัวเองก็ต้องรู้และจัดการปัญหาของตัวเองให้ถูกด้วย
(นาทีที่41.48) นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่าเมื่อวิสาขบูชาโลกมาถึงเมืองไทย เมืองไทยเป็นศูนย์กลางจัดแล้วเนี่ย เราจะเป็นศูนย์กลางได้จริงเราต้องรู้ทันฝรั่งนะ แล้วก็ต้องสอนฝรั่งให้ได้ให้ไปในทางที่ถูกต้อง เพราะว่าอ้าวพุทธศาสนาเขามาสนใจแล้วเราก็ต้องมีอะไรให้เขาซิ ให้เขาเข้าใจถูกต้อง ฝรั่งมาติดอยู่แค่สมาธิจิตใจแกก็ไปโยคีง่าย พุทธศาสนาอุบัติขึ้นมาเนี่ยไม่ใช่เพียงเพื่อว่า มาให้เกิดผลสำเร็จทางด้านจิตใจ เพราะตอนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นนั้นเขามีลัทธิฤาษี โยคี ดาบส นักพรตอยู่ในไพรเขาเจริญไปได้ฌานสมาบัติอยู่แล้ว ลัทธิโยคะก็เจริญแล้ว อาฬารดาบส กับ (อาฬามาโคตร) อุทกดาบส รามบุตรก็เก่งอยู่แล้ว พระพุทธเจ้ายังต้องไปเรียนจากท่านมาเลย แล้วพระองค์ก็ผ่านอันนั้นมา แล้วพระองค์ก็มาแสวงปัญญาได้อีก นั้นฝรั่งตอนนี้ก็ไปได้แค่อาจารย์อุทกดาบส รามบุตร แกก็พอใจแล้วไม่ต้องมาหาพระพุทธเจ้าหรอก
(นาทีที่42.50) ทีนี้ตอนนี้ฝรั่งไปได้ถึงอุทกดาบส รามบุตรเนี่ย เราบอกคุณอย่าหยุดน่ะแค่นั้นมันยังไม่ถึงพุทธศาสนาหรอกต้องไปต่อ ต้องไปปัญญาที่แท้ และมันถึงจะแก้ปัญหาโลกได้แกเอาสมาธิไปใช้แก้ปัญหาจิตใจของแก แกทำงานได้ดี แต่แกยังโลภมีแนวความคิดที่ผิดแต่แกก็เบียดเบียนต่อไป แกก็แสวงหาเกิดปัญหาการแข่งขันการเอาเปรียบกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศยังไม่พัฒนาไม่รู้จักจบหรอก เพราะฉะนั้นฝรั่งต้องก้าวไปอีกในแง่ปัญญาที่ถูกต้องเป็นสัมมาปัญญาปัญญาที่ชอบธรรม
(นาทีที่43.25) วันนี้ก็เลยมาคุยกับโยม ก็เน้นในแง่ หนึ่งก็คือต้องมีความเข้มแข็งทางปัญญา เพราะปัญญาที่แท้จะทำให้มนุษย์ได้บรรลุอิสรภาพความหลุดพ้น เป็นวิมุตเนี่ยต้องมีโพธิญาณปัญญาสูงสุดเลย หรือสำหรับพวกเราก็คือปัญญาที่รู้แจ้งสัจธรรมอย่างแท้จริง คือรู้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ไม่ใช่ว่าเป็นเพียงความคิดเห็น แต่ความคิดเห็นเป็นเครื่องมือของการพัฒนาปัญญาเท่านั้น ต้องเอาความคิดเห็นมารับใช้ และเป็นขั้นตอนในกระบวนการพัฒนาปัญญา อย่าไปติดหลงอยู่แค่ความคิดเห็น แล้วจะเป็นความคิดเห็นที่หลอกหลอนมากกว่า เมื่อมองเห็นไม่ชัดเจนก็เป็นความคิดเห็นที่หลอกหลอนตัวเองไป ไอ้มองเห็นเนี่ยมันก็ลูกกะตามันมองเห็นมันก็ได้ความรู้ที่ชัดในระดับหนึ่งแหละใช่ไหม มันก็ไม่ต้องไปคิดเห็นผิด ๆ ถ้าเรามองเห็นไม่ชัดเจนก็คิดเห็นปรุงแต่งก็หลอนตัวเองไป เพราะงั้นไอ้ความคิดเห็นเนี่ยต้องมีความรู้ปัญญาเป็นฐานทั้งนั้น ไม่ว่าเป็นความรู้เรื่องรูปธรรมหรือนามธรรม นี้ก็เอาเป็นว่าเราจะต้องมาเน้นเรื่องเนี้ยเรื่องปัญญา แล้วก็ต้องพัฒนาคนระยะยาวด้วยการสร้างเด็กในครอบครัวของทุกท่านเนี้ยให้เข้มแข็งในการแสวงหาความรู้ให้ได้
(นาทีที่44.44) อย่ายอมย่อท้อให้เป็นคนใฝ่รู้ เมื่อเขาใฝ่รู้แสวงปัญญาหาความรู้ที่ชัดเจนแล้ว เขาจะมองเห็นอะไรต่าง ๆ โอ้ว???อันนี้มันไม่ถูก มันควรแก้ไขจุดบกพร่อง อันนี้มันดีมันควรจะเป็นยังงี้สิ่งที่สมบรูณ์เป็นยังงี้ คนมีปัญญามองเห็นแยกแยะถูก พอเขามองเห็นว่าอะไรมันผิดอะไรมันถูกอะไรมันบกพร่องอะไรมันสมบรูณ์ เขาทำไง เขาก็เกิดความใฝ่จะทำให้ดีให้สมบรูณ์ขึ้นมาทันทีเลย ตอนนี้แหละเขาจะอยากทำ อยากทำการสร้างสรรค์ อยากจะแก้ไขสิ่งที่บกพร่องผิดพลาด และอยากจะทำสิ่งที่ดีงามสมบรูณ์ให้เกิดขึ้น ไอ้ปัญญาตัวเนี้ยมันมาทำให้เกิดเอง ถ้าคิดเห็นอย่างนี้ไม่ไปไหนหรอก ไอ้ความใฝ่ปรารถนาจะทำการเนี่ยมันไม่เกิด มันต้องมีปัญญา พอปัญญามันแยกได้อย่างที่บอกเมื่อกี้ อันนี้มันไม่ถูกมันไม่สมบรูณ์มันยังมีผิดพลาดบกพร่อง มันจะสมบรูณ์มันจะดีต้องอย่างนี้เนี่ย แกก็อยากจะให้สมบรูณ์ยังงี้ทันที ความอยากจะแก้ไขกับอยากจะทำก็เกิดขึ้น ก็เกิดการกระทำก็ทำด้วยความอยากทำ มีความสุขมีความเข้มแข็งทำการด้วยใจตัวเองเลย (นาทีที่46.04) อย่างนี้การสร้างสรรค์พัฒนาก็เกิดขึ้นได้ ถ้ามัวความคิดเห็นกันอยู่นี่ไปไม่รอด ไม่ไปไหนหรอกประเทศไทย เพราะนั้นตอนนี้ต้องค้านกันให้เต็มที่เลยพวกที่เอาแต่ความคิดเห็นเนี่ย พูดมาหลายปีแหละไม่ก้าวหน้าซักทีนึง ออกวิทยุก็พูดก็แสดงความคิดเห็น สังคมไทยจะเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏก็เพราะไอ้ระบบการแสดงความคิดเห็นที่ไม่มีความรู้เป็นฐานนี่แหละ
(นาทีที่46.30) นั้นขอให้สร้างปัญญาที่แท้จริงที่มองเห็นชัดเจน แล้วสร้างด้วยความเพียรพยายามระยะยาวอย่าย่อท้อ แล้วประเทศไทยจะก้าวหน้าได้ไม่ผิดหวังแน่นอน ยอมอดทนหน่อยเด็กรุ่นเนี้ยรุ่นต่อไปเนี้ยถ้ามีความเข้มแข็งอย่างนี้ประเทศไทยจะเจริญพัฒนาได้ ไปร่วมแก้ไขปัญหาสังคมโลกหรือแม้แต่นำโลกก็ได้
(นาทีที่46.56) วันนี้เป็นวันวิสาขบูชาแล้วเป็นวันสำคัญ พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่างแล้ว เราก็นำแบบอย่างของพระองค์เนี่ยมาใช้มาดำเนินตามให้เกิดผลอย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่ามาเพียงบูชา มากราบไหว้แล้วก็จบแล้วก็จะได้??? ไม่ใช่ไม่ได้นะได้ทุกขั้นแต่ว่าได้น้อยไป ควรจะได้ให้คุ้มให้ได้มากที่สุด ถ้าปีก่อนเราได้เท่านี้ ปีนี้เราต้องได้มากขึ้น เราเคยมาเราก็จิตใจสบายขึ้นเยือกเย็นสงบ อย่างที่ว่าได้หลักในใจแล้วเวลาไปทำงานทำการเรามีหลักในใจมีศูนย์กลางทั้งจิตใจเป็นที่รวมเป็นที่ว่างที่สงบของเราแล้ว ทำงานก็ได้ผลดีขึ้น ต่อมาเราพัฒนาปัญญาของเราเข้าถึงความจริงตามหลักที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นี่แหละตรงนี้ที่สำคัญ
(นาทีที่47.49) ก็เป็นอันว่ายอดการพัฒนาก็คือการพัฒนาปัญญาเนี่ยให้เกิดความเข้มแข็ง ความรู้แจ้งความรู้จริงทางปัญญาให้ชัดเจน แล้วจะสำเร็จได้ต้องด้วยความขยันหมั่นเพียรเอาจริงเอาจัง ไม่ใช่เป็นทางของคนประมาท ไม่ใช่ทางของคนอ่อนแอเกียจคร้าน ก็ขอให้เรามาช่วยกันสร้างสรรค์สังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่พูดกันสักแต่ว่า ปากว่ากันไปชวนกันไปแล้วก็เป็นคำหวาน แล้วก็จบไปไม่ได้เรื่องได้ราว เอาจริงกันเถิดนะ สังคมมันแย่มาเต็มทีแล้วอ่อนแอกันเหลือเกินแล้ว ต่อไปนี้สร้างสรรค์ระยะยาว ก็เป็นอันว่าย้ำเรื่องปัญญา ความรู้แจ้งชัดเจน ด้วยการที่มีการพัฒนาปัญญากันอย่างเอาจริงเอาจังเต็มที่ ตั้งแต่ในครอบครัว ตั้งแต่เด็กเกิดมาเลยโยมต้องเลี้ยงให้ถูกต้อง เลี้ยงให้เจริญปัญญาให้ได้ อย่าเลี้ยงมาเป็นนักเสพนักบริโภคน่ะ ตอนนี้เลี้ยงเด็กมาให้เป็นนักเสพบริโภคพ่อแม่ก็ไม่เป็นบูรพาจารย์ซิ พระพุทธเจ้าอุตส่าห์สอนไว้บอกว่าพ่อแม่ต้องเป็นบูรพาจารย์ อ้าวเด็กเกิดมาพ่อแม่ไม่เป็นบูรพาจารย์ซ่ะละนำไปในทางที่ผิดใช้ไม่ได้ ต้องเป็นบูรพาจารย์อาจารย์คนแรกก่อนจะส่งไปถึงโรงเรียนนี่ พ่อแม่ต้องส่งลูกไปโรงเรียนด้วยความมั่นใจเลย ลูกของเรานี่ก้าวหน้าแล้วเราสร้างฐานไว้ดีนี่ ถ้าเป็นโรงเรียนดีก็ยิ่งส่งเสริมลูกเราไปดี ถ้าโรงเรียนไม่ดีลูกเราสร้างทุนไว้ดีแล้วเราไม่กลัวเหมือนกันนะ เพราะนั้นพ่อแม่จะต้องเป็นหลักประกันอันที่หนึ่งให้แก่สังคม ต้องมีความมั่นใจตัวเองและมีความตั้งใจเด็ดเดี่ยวทำให้ได้ให้สำเร็จให้จงได้
(นาทีที่49.35) แล้วคติของวันวิสาขบูชาก็มาครบตรงนี้ เอาล่ะที่บอกเมื่อกี้บอกว่าปัญญาเป็นตัวเป้าหมายสำคัญของเราตอนนี้นะ แล้วก็มาลงที่เหตุการณ์สำคัญ๓อย่างในวิสาขบูชา คือการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เมื่อประสูตินั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่ายังไง โยมจำได้ไหมพุทธพรตที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อตอนที่ประสูติ อันนี้เป็นคติหลักเลยนะ เมื่อถึงวันวิสาขบูชาถ้าเราจะทวนอย่างง่าย ๆน่ะ ต้องเอาพุทธพรตที่ตรัสในวันนั้น ๆมา อ้าวนึกออกไหมตอนนี้ทายแล้วละ วันวิสาขบูชาประสูติตรัสว่า (นาทีที่50.20) (อัคโคหะมัสมิ โลกัสสะ เชฎโฐหะมัสสะมิ โลกัสสะ เสฎโฐหะมัสสะมิ โลกัสสะ )เราเป็นเลิศแห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก คำว่า( เชฎโฐ )เนี่ยเดิมเป็นคำเรียกพระพรหม พระพรหมนี่เป็นใหญ่เป็น( เชฎโฐ )ตอนที่พระพุทธเจ้าประสูติมา เจ้าชายสิทธัตถะประกาศเลย( เชฎโฐหะมัสสะมิ ) เรานี่ละประเสริฐสุด ก็คือเปลี่ยนจุดสนใจย้ายจากพระพรหมมาอยู่ที่พระพุทธเจ้า ความเป็นผู้เลิศสุดย้ายจากพรหม มาอยู่ที่พระพุทธเจ้าคือย้ายจากเทพมาอยู่ที่มนุษย์ แต่เป็นมนุษย์ที่ฝึกตนอย่างยอดเยี่ยมแล้ว ที่เรียกว่า ( ทันโตเสฏโฐมนุสเสสุ ) ในหมู่มนุษย์นั้นผู้ที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่างของมนุษย์ที่ฝึกแล้ว มนุษย์นั้นให้ถือหลักว่าจะดีจะเลิศได้ด้วยการฝึก เพราะฉะนั้นคติจากวันวิสาขบูชา คติที่หนึ่งก็คือจะต้องฝึกตนโดยเฉพาะก็คือพ่อแม่ก็เลี้ยงลูก ครูอาจารย์ก็ให้การศึกษา หรือว่านำเด็กในการศึกษาพัฒนาตัวของเขาให้เป็นคนที่ฝึกแล้ว ฝึกแล้ว( ทันโต )แล้วจะเป็น( ภาวิตักโต ) ผู้ที่พัฒนาตนแล้ว๔ด้าน ทีนี้ครูอาจารย์ก็จะจำแม่น อันเดียวกันนะ ( ทันโต ภาวิตักโต ธันตะ) ผู้ที่ฝึกแล้ว (ภาวิตะ) แปลว่าผู้พัฒนาแล้ว๔ด้าน
(นาทีที่51.53) นี่พระพุทธเจ้าให้คติแล้วแม้แต่การประสูติของพระองค์เนี่ยพระองค์ให้แล้ว เพราะนั้นเราก็ถือตามคติพระพุทธเจ้า จะต้องฝึกตนและชวนกันให้ฝึก โดยเฉพาะพ่อแม่ชวนลูกให้ฝึกตน บอกลูก หนูตั้งแต่เกิดมานี่ก็ต้องฝึกกันอยู่แล้ว แม้แต่รับประทานข้าวก็ต้องฝึกใช่ไหม ก็ฝึกก็คือหัดนั่นแหละ หัดทานข้าว หัดยกช้อน หัดขับถ่าย หัดนอนนอนก็ต้องนอนให้เป็น หัดนั่งหัดเดินหัดพูด มนุษย์ต้องฝึกต้องหัดทั้งนั้น จะเอาดีได้มนุษย์ต้องฝึกต้องหัดทั้งนั้น ก็หนูก็ต้องฝึกต้องหัดมาแล้วจึงทำได้อย่างนี้ แล้วทำไมหนูไม่ฝึกหัดต่อไป ถ้าหนูฝึกหัดต่อไปไม่หยุดหนูจะประเสริฐสุดจะเป็นอย่างไอน์สไตน์ หรือยิ่งกว่าไอน์สไตน์ก็ได้ใช่ไหม ไอน์สไตน์ไม่ฝึกแล้วแกจะเป็นไอน์สไตน์ได้ไหม ไม่มีทางจะเป็นได้ยังไงไอน์สไตน์นี่แกมีความใฝ่รู้อย่างยิ่ง แกบอกทำไงแกจะรู้ความจริงของธรรมชาติได้ จากไอ้ความใฝ่รู้อันนี้แหละก็ทำให้แกทำทุกอย่าง ไม่หลับไม่นอนไม่กินกินน้อย ๆก็ได้ ปล่อยผมเป็นก็กระเซิงเลยไม่ต้องตัด ก็เพราะว่าอยากจะรู้นี่แหละ และพระพุทธเจ้าก็ทำได้ยิ่งกว่านั้นอีก ก็พระองค์ก็สละราชสมบัติออกมาอยู่ป่า เพียรพยายามทุกอย่างก็เพื่อให้ได้ความรู้นี้ใช่ไหม อ่านี่แหละเพราะนั้นฝึกตนด้วยการฝึกตนก็เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็เป็นยอดหรือเป็นตัวอย่าง เป็นแบบอย่างของคนที่ฝึกแล้ว
(นาทีที่53.28) นั้นคติจากการประสูติก็อยู่ที่นี้ ก็คือคติฝึกมนุษย์โดยสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก เพราะฉะนั้นจะต้องฝึกเพื่อทำตนให้ประเสริฐสมชื่อว่าเป็นมนุษย์ อ้าวทีนี้ ๒ ตอนตรัสรู้พุทธพรตว่าไง อันเนี่ยสำคัญต้องจำให้ได้ต่อไปตัวแกนของวิสาขบูชาอยู่ที่นี่ พุทธพรตในการตรัสรู้ พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วเขาเรียกปฐมพุทธพรตเลย บอกว่า ( ยถาฮาเวปาสุปะภันติธัมมา ตาปิโนชายะโตพราหมณะสา )เป็นต้น ๓คาถาใจความว่าในการใดแลธรรมทั้งหลายปรากฏแก่พราหมณ์ พราหมณ์ในที่นี้หมายถึงบุคคลผู้ประเสริฐผู้มีความเพียรใช่ไหมต้องมีความเพียร เพ่งอยู่เพ่งพินิจพิจารณาอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยย่อมหมดสิ้นไปเพราะมารู้แจ้งความจริง คือรู้ทั้งปรากฏการณ์และเหตุที่ทำให้ปรากฏการณ์นั้นปรากฏขึ้น
(นาทีที่54.33) นี่ก็คือตอนตรัสรู้พระพุทธเจ้าตรัสถึงปัญญา ปัญญาที่รู้กระบวนการความจริงของธรรมชาติหยั่งลงไปถึงกระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ จากการที่รู้กระบวนการของเหตุปัจจัยในธรรมชาติ รู้กฎ ( ปฏิจัตุบาท ) รู้ไตรลักษณ์รู้หมดเลย นี้คือตัวปัญญา นี่ก็คือจุดสำคัญปัญญานี่ไงคือจุดหมายที่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นผู้ประเสริฐและต่อจากนั้นพระองค์ก็เป็นผู้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็นำเอาธรรมะที่ตรัสรู้ไปสอนผู้อื่นให้ปฏิบัติอย่างพระองค์ แก้ไขปัญหาชีวิตเป็นต้น พ้นจากทุกข์ได้ อันนี้คือตอนตรัสรู้ก็เป็นคติว่าเราจะต้องทำปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงอย่างเหตุปัจจัยในธรรมชาติเป็นต้น ให้ได้เนี่ยให้เกิดขึ้น เราเจออะไรต่ออะไรจะต้องพิจารณาเหตุปัจจัยต้องสืบสาวมันหัดคิด อย่างน้อยฝึกปัญญาในการสืบสวนสืบสาวหาเหตุปัจจัยให้ได้อย่าไปยอมแพ้มัน ถ้าเราเป็นคนที่ผจญปัญหาด้วยปัญญาที่สืบสาวหาเหตุปัจจัยเนี่ยเราจะไม่จน แม้จะจนครั้งนั้นเราจะไม่จบและเราจะต่อไปอีก เราจะก้าวต่อไปเราจะเจริญพัฒนาปัญญาไปเรื่อย ท่านจึงเอาคติข้อที่หนึ่งเนี่ยมาฝึก ฝึกการพัฒนาปัญญาไปเรื่อย ๆนะเพื่อให้เกิดการตรัสรู้รู้แจ้งจริง
(นาทีที่56.00) อ้าวต่อไปสุดท้าย ปรินิพพานพระพุทธเจ้าตรัสว่าไงอันนี้น่าจะได้ทุกท่านน่ะ พระพุทธพรตที่ตรัสตอนปรินิพพานว่า (หันทะทานิ ภิขะเว อามันตะยามิ โว วะยะธัมมา สังขารา อัปปมาเทนะ สัมปาเทนะ) ภิกษุทั้งหลายบัดนี้เราขอบอกหรือเตือนแก่เธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา จงยังจุดหมายให้สำเร็จด้วยความไม่ประมาท นี่คือพุทธพรตสุดท้าย จะบรรลุปัญญานั้นก็ตาม หรือได้ปัญญานั้นแล้วจะเอามาใช้แก้ไขปัญหาชีวิตแก้ปัญหาสังคม เอาไปสั่งสอนเพื่อนมนุษย์ก็ตามจะต้องทำด้วยความไม่ประมาท ไม่งั้นปัญญาที่ได้มามันก็นอนอยู่นั่นแหละ ปัญญาก็จะเกิดผลแก่ชีวิตแก่สังคมด้วยความไม่ประมาท ด้วยความที่ไม่เรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา ไม่ปล่อยปละละเลย ( ไม่เถลไถลไถถา ) ออกไป ต้องมุ่งมั่นทำการด้วยความเอาจริงเอาจัง นี่คือความไม่ประมาทมีสติเตือนตน ไม่หลงหล่นพลาดไปในทางที่ผิด แล้วไม่ปล่อยละเลยโอกาสที่จะทำการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม
(นาทีที่57.19) หลักของความไม่ประมาทมี๒ด้านเนี่ย ๑.ไม่ปล่อยตัวถลำไปในทางที่ผิดพลาดเสียหาย ๒.ไม่ละเลยทิ้งโอกาสในการสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ดีงาม มีสองอย่างเนี้ยถ้าคุณทิ้งโอกาสก็ยังถือว่าเป็นผู้ประมาทอยู่ เพราะนั้นเอาหลักความไม่ประมาทมาใช้ เสร็จแล้วก็จะเป็นความสัมฤทธิ์ผลในการแก้ปัญหาชีวิตสังคมได้หมด สังคมไทยระยะยาวขอให้เอาหลักของวิสาขบูชาตามคติทั้งสามนี้มาใช้เถอะ เจริญก้าวหน้างอกงามแน่สังคมไทยยังไม่ล้มเหลวทีเดียว อาจจะเกือบแล้วนะ เกือบล้มเหลวแล้วเกือบจะพังพาบอยู่แล้วนะ ตั้งตัวให้ได้เข้มแข็งลุกขึ้นมาเดินหน้าต่อไป อย่ายอมแพ้และขอให้สู้ในระยะยาว แล้วเราไม่ต้องไปสู้อะไรมาก??? สู้กับตัวเองก่อน??? ในการที่จะทำการที่จะให้สำเร็จเนี่ยแหละ ฝึกตนเข้าไปพัฒนาเข้าไปสร้างปัญญาเข้าไปมีความไม่ประมาท ทำการด้วยความขยันหมั่นเพียรจริงจังแล้วก็จะสำเร็จ เมื่อทำยังงี้แล้ววิสาขบูชาก็จะเกิดผลสมดั่งที่เรามาทำพิธีบูชายกให้เป็นวันสำคัญ ความสำคัญก็จะเกิดขึ้นสมความมุ่งหมายก็คือการที่บูชาไม่เสียผลเปล่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นประโยชน์แก่ชีวิตและสังคมสืบต่อไปในระยาวอย่างไม่อาจจะคำนวณคุณค่าได้เลย
(นาทีที่58.52) วันนี้อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาโยมญาติมิตรทุกท่านที่ได้มีศรัทธามา โยมมีใจดีแล้วตั้งใจเป็นกุศลมาเนี่ย ใจยังงี้เป็นใจที่มีธรรมะอยู่แล้ว ก็ขอให้ธรรมะเนี่ยมาเพิ่มพูนขึ้นในใจเรา มาช่วยกันเติมช่วยกันพัฒนาปัญญา พัฒนาธรรมะแล้วก็ปัญญานั้นรู้ธรรมะแเข้าใจธรรมะก็เอาธรรมะไปใช้ไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนแก่สังคมแก่ประเทศชาติแก่ชาวโลกสืบต่อไปด้วยการที่โยมมีตั้งใจ มีเจตนาดีงามเป็นกุศลทั้งในบัดนี้เป็นปัจจุบันแล้ว อันเบื้องหน้าก็เป็นที่หวังต่อไปเมื่อเรามีความรู้ความเข้าใจดีงามก็ขอให้ตั้งใจดังที่กล่าวมา
(นาทีที่59.36) ในส่วนขณะปัจจุบันก็คือขออนุโมทนาศรัทธา เป็นต้น พร้อมทั้งเมตตาไมตรีที่โยมญาติมิตรมีต่อกัน ก็ขอให้เราทั้งหลายมีจิตใจชื่นบานผ่องใสว่าได้มาทำบุญทำกุศลดีแล้ว บูชาพระพุทธเจ้า ทำหน้าที่ของตัวเองทำเพื่อตัวเองด้วย ทำเพื่อพระพุทธศาสนาด้วย เพราะว่าเมื่อเรามานั่งทำพิธีบูชาอย่างนี้ เราก็เหมือนกับว่าให้เวลาแก่พระพุทธศาสนา มาช่วยกันสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคงสืบต่อไป และพระพุทธศาสนาเจริญมั่นคงก็เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชาวโลกทั้งหมดรวมทั้งตัวเราด้วย ก็ขอบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญเป็นปัจจัยอวยชัยให้พรให้โยมญาติมิตรสาธุชนทั้งหลายจงเจริญด้วยจตุรพิธพรชัย มีกำลังกายใจ ปัญญาและกำลังความสามัคคีที่จะดำเนินชีวิตและกิจการงานและการบำเพ็ญประโยชน์ทั้งหลายให้สำเร็จก้าวหน้าไปสู่ความมุ่งหมาย มีความร่มเย็นงอกงามในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่านตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ.