แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พิธีกร: กราบนมัสการพระเดชพระคุณอาจารย์พระธรรมปิฎกที่เคารพอย่างสูง ในนามของมูลนิธิฯ กระผมใคร่ขอกราบเรียนความเป็นมาว่า สืบเนื่องจากที่มูลนิธิเพื่อการศึกษาและสันติภาพพระไตรปิฎก ปอ.ปยุตโต ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ได้จัดกิจกรรมประชุมสัมมนาทางวิชาการเป็นประจำทุกปี ปีนี้มูลนิธิฯ ได้จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การศึกษาเพื่อสันติภาพวิถีชาวพุทธที่ควรจะเป็นในสังคมไทยปัจจุบัน” ในวันที่ 20-21 ธันวาคม 2543 ณ สถาบันราชภัฏสวนสุนันท์ทา ในการดำเนินงานดังกล่าวนี้ คณะกรรมการดำเนินงานใคร่ขออนุญาตอาราธนาท่านเจ้าคุณอาจารย์แสดงทัศนะ เรื่อง “วิถีชาวพุทธที่ควรจะเป็นในสังคมไทยปัจจุบัน” และขออนุญาตถ่ายทำวีดิโอเพื่อจะได้นำไปขายให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาชมในวันเปิดประชุมสัมมนา ณ สถาบันราชภัฏสวนสุนันท์ทา และในส่วนภูมิภาคอีก 3 แห่ง คือ สถาบันราชภัฏนครสวรรค์ สถาบันราชภัฏอุดรธานี และสถาบันราชภัฏรำไพพรรณี ในโอกาสนี้กระผมใคร่ขอกราบเรียนถามทัศนะของท่านเจ้าคุณอาจารย์โดยขอขยายความจากหัวข้อเรื่องที่ได้ตั้งไว้ ดังต่อไปนี้ คือ
ในระดับของครอบครัวสังคมก็คาดหวังว่าพ่อแม่ก็จะต้องเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูกให้เป็นลูกที่ดี ในวงการศึกษาไทย มักจะได้ยินคำพูดอยู่เสมอถึงเป้าหมายของการอบรมสั่งสอนนักเรียนนักศึกษาว่า ต้องการให้เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม หรือต้องการคนเก่งและคนดี สำหรับประชาชนทั่วไปก็มักจะพูดถึงการเป็นพลเมืองที่ดี หรือเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม ศาสนานับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง ที่จะทำให้บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ จึงใคร่ขออนุญาตกราบเรียนถามทัศนะของพระคุณเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สถาบันครอบครัวโดยเฉพาะพ่อแม่ สถาบันการศึกษาโดยเฉพาะครูอาจารย์ และสถาบันศาสนาโดยเฉพาะพระสงฆ์ สมควรจะมีบทบาทอย่างไรในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน ให้การศึกษาแก่เด็ก เยาวชน และประชาชนคนไทยให้มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนา และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง จนเป็นวิถีชีวิตชาวพุทธศาสนิกชนที่ดี หรือเป็นวิถีชีวิตชาวพุทธที่ควรจะเป็นในสังคมไทยปัจจุบันสืบต่อไป ครับ
สมเด็จฯ: ขอเจริญพร ท่านรองประธานกรรมการในนามของมูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพฯ พร้อมด้วยท่านอาจารย์ กรรมการฯ ทุกท่านและนักศึกษาทุกคน ที่ได้มาฟังในโอกาสนี้ อาตมาภาพก็ขออนุโมทนาที่ทางมูลนิธิฯ ได้มีความตั้งใจดีที่จะจัดประชุมขึ้น โดยเฉพาะก็มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์แก่สังคม แก่ชีวิตของคนไทยทุกคน ซึ่งก็หมายถึงในฐานะส่วนร่วมของประชาชาวโลกก็เท่ากับว่าในที่สุดก็เพื่อประโยชน์แก่โลกนี้ทั้งหมด ท่านได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องวิถีชาวพุทธหรือจะเรียกว่าวิถีชีวิตชาวพุทธก็ได้ ซึ่งถ้าจะใช้คำพูดอีกอย่างหนึ่งก็คล้าย ๆกับคำว่า วัฒนธรรม เพราะเรามักจะให้ความหมายของวัฒนธรรมว่า วิถีชีวิต แต่ว่าคำถามของท่านก็โยงไปหาการศึกษาซึ่งก็ตรงกับแนวคิดในพระพุทธศาสนาหรือหลักธรรมสอนไว้อย่างนั้น ในทางพุทธศาสนานั้นก็ถือว่าชีวิตคือการศึกษา การศึกษาก็ทำให้เกิดชีวิตที่ดี ทำไมจึงว่าชีวิตคือการศึกษา ชีวิตคือการที่เราเป็นอยู่ เราเคลื่อนไหว เรามีชีวิตอยู่ทุกวันที่เราเคลื่อนไหวนี้เราก็ต้องพบประสบการณ์ใหม่ ๆ เราต้องพบสถานการณ์ใหม่ ๆ เราต้องคิดต้องหาทางที่จะปฏิบัติต่อสิ่งที่เราเข้าไปพบเห็นเกี่ยวข้องนั้นให้ถูกต้อง การที่พยายามจะปฏิบัติต่อสิ่งที่พบเห็น เป็นต้น จัดการกับปัญหาสถานการณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง ในแต่ละขณะให้ถูกต้องนี้ก็คือการศึกษา คนจะมีชีวิตอยู่ดีได้ต้องมีการศึกษาตลอดเวลา ฉะนั้นชีวิตก็เป็นอันเดียวกับการศึกษา ถ้าชีวิตใดไม่มีการศึกษาก็เป็นชีวิตที่ดีไม่ได้ คือมันไม่เจริญก้าวหน้า ท่านเรียกว่าเป็นพาล พาลนี้ทางพระแปลว่าเป็นอยู่สักแต่ว่าลมหายใจ นี่ความหมายคำว่า พาล คือได้แค่หายใจเข้า-ออก คือชีวิตจะเป็นอยู่ดีก็แน่นอนว่าเราก็ต้องคิดหาทางแก้ไขปัญหา สถานการณ์ ประสบการณ์ที่เราพบ เราต้องเรียนรู้ว่ามันคืออะไร เป็นอะไร เราจะจัดการต่อมันอย่างไร เนี่ยเรามีการศึกษาตลอดเวลา ฉะนั้นในทางพระนี้ถือว่าชีวิตก็คือการศึกษา แต่ต้องวงเล็บว่า หมายถึงชีวิตที่ดีนะ ถ้าเป็นชีวิตที่ไม่ดีก็เป็นชีวิตที่ว่างเปล่า เป็นชีวิตพาลก็ไม่มีการศึกษา คือพบประสบการณ์อะไรก็ไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้หาทางคิดแก้ปัญหาหรือจัดการกับสิ่งนั้นให้ถูกต้อง ฉะนั้นถ้าเราจะมีชีวิตที่ดี เราก็ต้องศึกษาตลอดเวลา เดี๋ยวนี้เขามีคำว่า “Life Long Education” หรือ “Life Long Learning” การเรียนตลอดชีวิตหรือการศึกษาตลอดชีวิต ฝรั่งมาได้ฟังทัศนะของพุทธศาสนา เขาเลยไปได้ความคิดใหม่มีท่านที่เอาเรื่องนี้ไปเล่าให้ที่ประชุมของนานาชาติฟัง แล้วท่านก็เอากลับมาเล่าอีกที่หนึ่ง คือได้พูดถึงเรื่องการศึกษาในพุทธศาสนานี่นะมันเป็นชีวิตอย่างนี้แหล่ะ ฝรั่งเขาก็เลยบอกว่าอ้อของเขานี้เป็น “Life Long Learning” การเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่พุทธศาสนานี้เป็น “Learning Life” เลย เป็นชีวิตที่เรียนรู้หรือเป็นชีวิตแห่งการเรียนรู้ก็ได้ แล้วตอนนี้เท่ากับว่ามีแนวคิด 2 แบบ ถ้าเป็นแบบฝรั่ง แม้จะเป็น “Life Long Education” เป็น “Life Long Learning” มันเหมือนแยกชีวิตกับการเรียนรู้หรือการศึกษาออกเป็น 2 อย่าง แล้วก็เอามาควบคู่ไปด้วยกัน เพราะตราบใดที่ยังมีชีวิตก็เรียนรู้ไปศึกษาไป แต่ในพุทธศาสนานี่ชีวิตที่เป็นตัวการศึกษาเป็นการเรียนรู้เลย ฉะนั้นก็ให้เข้าใจว่าแนวคิดไม่เหมือนกันทีเดียว ฝรั่งเขาจับได้ไวเขาฟังเราไปแล้วเขาเอาไปสรุปว่า อ้อตอนนี้มีแนวคิดที่ต่างกันนิดหน่อย แต่ฝรั่งนั้นหันมาแล้วแหล่ะในแง่ “Life Long Education” หรือ “Life Long Learning” ทีนี้ในเมื่อชีวิตที่ดีเป็นชีวิตแห่งการศึกษาหรือเป็นการศึกษาเรียนรู้ตลอดเวลา ก็เข้ากับธรรมชาติของมนุษย์ ทางพุทธศาสนาถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้และต้องฝึก คำว่าฝึกนั้นก็คือศึกษานั่นเอง ภาษาพระก็คือสิกขาหรือศึกษา แปลเป็นภาษาไทยว่า “ฝึก” โบราณเราก็ใช้คำว่า ฝึก ฝึกศึกษาหรือพัฒนาทำให้ดีขึ้นเจริญงอกงามขึ้น ทีนี้สัตว์ที่เรียกว่ามนุษย์นี้เป็นสัตว์พิเศษตรงที่ว่าฝึกได้ เรียนรู้ได้ ศึกษาได้ สัตว์ชนิดอื่นเรียนรู้ได้บ้างแต่จำกัด ฝึกได้นิดหน่อย ฝึกได้จำกัดด้วย แล้วแถมจะฝึกให้ดีสักหน่อยก็ต้องให้มนุษย์ฝึก ฝึกตัวเองไม่ได้ เหมือนอย่างช้างม้านี่เป็นสัตว์ที่อยู่ในระดับที่เรียกว่าเรียนรู้ได้มากหน่อย แต่ถึงอย่างนั้นแกก็เรียนรู้ด้วยตนเองได้จำกัดอย่างยิ่ง โดยปกติก็อยู่แค่สัญชาตญาณ แล้วก็ตลอดชีวิตก็อยู่แค่นั้น เขาเรียกว่าเกิดมาอย่างไรก็ตายไปอย่างนั้น เกิดมาอย่างช้างก็ตายไปอย่างช้าง เกิดมาอย่างม้าก็ตายไปอย่างม้า ทีนี้มาอยู่กับคนคนก็ช่วยฝึกให้ ช้างก็เอาไปลากซุงได้ ม้าก็เอามารบทัพจับศึกได้ ลิงก็เอาไปขึ้นต้นมะพร้าวได้ กลายเป็นว่าฝึกไว้รับใช้มนุษย์ ต้องให้มนุษย์ฝึกให้ก็ได้แค่นั้นเอง ต่างจากมนุษย์ที่เป็นสัตว์ฝึกได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าหากว่ามีความเพียรที่จะฝึกตนแล้วฝึกไปเถอะ ฝึกไปจนกระทั่งเป็นมนุษย์อัจฉริยะจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เป็นไอน์สไตน์ เป็นมหาบุรุษอะไรต่ออะไรของโลก จนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ ฉะนั้นมนุษย์เกิดมาอย่างหนึ่งตายไปอีกอย่างหนึ่ง นอกจากนั้นมนุษย์นี้ยังสามารถสร้างโลกของตัวเองขึ้นมาซ้อนขึ้นในโลกของธรรมชาติ โลกธรรมชาตินี้เราเห็นอยู่ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ ท้องฟ้า แต่ว่ามนุษย์นี่เกิดมาแล้วฝึกตัวเองศึกษามีความคิดพัฒนาทำการต่าง ๆ มีการประดิษฐ์สร้างสรรค์มีเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า ทำให้เกิดโลกขึ้นมาต่างหากเรียกว่าโลกมนุษย์ซ้อนอยู่ในโลกธรรมชาติ ฉะนั้นมนุษย์บางคนเกิดมาแล้วเนี่ย บางคนดำเนินชีวิตไม่ได้สัมผัสกับโลกธรรมชาติ เพราะอยู่ในโลกของมนุษย์ ในแง่หนึ่งก็แสดงถึงความพิเศษ ความสามารถของมนุษย์ และพร้อมกันนั้นมันก็เป็นจุดอันตรายด้วย ถ้าหากว่ามนุษย์นี่แตกแยกออกจากโลกธรรมชาติไปอยู่ในโลกของตัวเอง เข้ามาสู่โลกธรรมชาติเชื่อมกับประสานโลกมนุษย์กับโลกธรรมชาติไม่ได้ก็จะยุ่ง อย่างเวลานี้มนุษย์ฉลาดในแง่หนึ่ง แต่ฉลาดน้อยไปคือไม่รอบคอบ สร้างโลกของตัวเองแล้วปลีกตัวแปลกแยกออกจากโลกของธรรมชาติ มาอยู่ต่างหากแล้วกลับไปเบียดเบียนทำลายโลกของธรรมชาติที่รองรับโลกของตัวเองอยู่ โลกธรรมชาตินี้รองรับโลกของมนุษย์อยู่นะ โลกมนุษย์ไม่ได้อยู่ลำพังโดดเดี่ยว โลกมนุษย์จะอยู่โดยอิสระของมันไม่ได้ มันต้องอาศัยโลกธรรมชาติ ทีนี้เราสร้างโลกมนุษย์ขึ้นมาเสร็จแล้วเรากลับไปทำลายโลกธรรมชาติที่ซ้อนรองรับเราอยู่ แล้วมันก็เกิดปัญหาเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนเป็นต้นอย่างที่พบกันอยู่ นี่ก็เป็นเรื่องของมนุษย์เท่านั้นแหล่ะที่มีความสามารถพิเศษ แต่ว่าเราจะจัดการกับความสามารถของเราอย่างไร ทีนี้เราก็ต้องมาดูว่าในทีนี้ต้องการให้เห็นว่า ชีวิตมนุษย์ที่เป็นสัตว์พิเศษนี่มันอยู่ดีได้ด้วยการศึกษา คือการฝึกการพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ฉะนั้นคนเราก็เลยสำคัญว่าจะต้องรู้ธรรมชาติของตัวเอง ถ้าคนไหนรู้ธรรมชาติของเราเองว่า อ๋อ มนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้จะต้องฝึกถ้าไม่ฝึกแล้วแย่ที่สุด มนุษย์เราไม่ฝึกไม่ศึกษาไม่เรียนรู้สิแย่กว่าสัตว์ชนิดอื่นเลยสู้ช้างสู้ม้าสู้วัวไม่ได้ เพราะว่าสัตว์อื่นมันอาศัยสัญชาตญาณมันทำได้ มันอยู่ได้ แต่มนุษย์ไม่เรียนรู้อยู่ไม่รอด พอเรียนรู้ก็ต้องอาศัยพ่อแม่ เป็นต้น สอนกันนานด้วย สัตว์นี้บางทีวันเกิดมาวันเดียวมันเดินได้แล้ว เหมือนโคนี่ออกมาเดี๋ยวเดียวมันเดินแล้ว แต่มนุษย์นี่ต้องฝึกทุกอย่างเรียนรู้ทุกอย่าง นั่ง นอน กิน ขับถ่าย เดิน พูด ต้องมีผู้ที่ฝึกศึกษาสอนให้เรียนรู้กันเป็น 10 ปี กว่าจะอยู่รอด แต่ทีนี้มนุษย์เราเนี่ยรู้ธรรมชาติของเราเป็นสัตว์ที่ฝึกได้เรียนรู้ได้จะต้องฝึกศึกษา ถ้าเราฝึกศึกษาเราก็จะเจริญก้าวหน้าเรื่อยไป เราก็ไม่พอใจแค่เรียนรู้พออยู่รอด เราต้องเรียนรู้ให้อยู่ดี ให้เป็นสัตว์ประเสริฐ และในทางพุทธศาสนาก็เน้นเรื่องความสำคัญของการศึกษา ว่ามนุษย์อย่างที่ว่าแล้วเป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไหม ใครจะมาพูดว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐไม่ถูกหลัก พุทธศาสนาไม่ยอมรับว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ต้องพูดให้เต็มว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่ ท่านลองไปคิดให้ดี ที่ฝึกนี้คือการศึกษา ในพุทธศาสนานี้ท่านเน้นไว้ อย่างยกบาลีก็ได้ “ทนฺโต เสฎโฐ มนุสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์ผู้ที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด” ท่านไม่ได้ยอมรับว่าอยู่ ๆ มนุษย์จะประเสริฐขึ้นมาใครจะไปพูด พุทธศาสนาไม่ยอมรับด้วยต้องฝึกต้องศึกษาจึงจะประเสริฐ เอาแหล่ะเรามีเงื่อนไข ทีนี้รวมความก็คือว่า เราจะมีชีวิตที่ดีนี่ต้องมีการเรียนรู้ ต้องมีการศึกษาพัฒนาเรื่อยไป ทีนี้การศึกษาของมนุษย์นี้ก็อาศัยอะไร อาศัยเขาเรียกว่าปัจจัย ปัจจัยนี้มีภายในกับภายนอก คนเราจะเรียนรู้จะฝึกตนได้นี่ เรามีทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก เราก็ใช้มันให้เป็นประโยชน์ ก็เริ่มที่ว่าเรารู้ธรรมชาติของเราแล้วจะประเสริฐได้ด้วยการฝึก เราก็มีจิตสำนึกในการศึกษา ถ้าคนใดสร้างจิตสำนึกนี้ขึ้นมาได้ คนนั้นเนี่ยมีหวังที่จะเจริญก้าวหน้าแน่นอน เพราะว่าเขาจะมีจิตสำนึกตัวนี้เตือนใจตลอดเวลา เวลาพบประสบการณ์ สถานการณ์อะไรเนี่ยมองเป็นการเรียนรู้หมด พอมีการมองเป็นการเรียนรู้เราก็ได้ตลอดเวลา อันนี้ก็ต้องเอาธรรมชาติของตัวเองมาใช้ให้ได้ ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตของตัวเอง ทีนี้ในการที่จะศึกษา นอกจากมีจิตสำนึกในการศึกษาหรือฝึกตนแล้วก็จะต้องอาศัยปัจจัยภายในภายนอก ทีนี้คนเราเกิดมาตอนแรก เราก็อยู่กับพ่อแม่ อยู่ในครอบครัวก่อน คนที่ใกล้ชิดที่สุดก็คือพ่อแม่ จุดนี้เป็นจุดที่สำคัญ ในเมื่อการศึกษามันเป็นชีวิตของเรา ฉะนั้นชีวิตของเราเริ่มต้นเกิดมามันก็ต้องศึกษา ชีวิตเกิดมาก็ต้องพยายามอยู่ให้รอด ต้องเรียนรู้ ต้องใช้ตาดูหูฟัง เพราะว่าคนเราถ้าไม่มีความรู้อยู่ไม่ได้ พอเกิดออกมาพบเห็นประสบการณ์สิ่งรอบตัว ไม่รู้คืออะไรสักอย่าง ไม่รู้มันจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อตัวเอง ไม่รู้จะปฏิบัติต่อมันอย่างไร ตอนนี้ติดขัดอึดอัดขัดข้องแล้วท่านเรียกว่าไม่มีความรู้ เกิดมาไม่มีความรู้หรือมีความไม่รู้ คนเราเกิดมามีเหมือนกันคือมีความไม่รู้ พอมีความไม่รู้เจออะไรไม่รู้จะทำอย่างไร ก็อึดอัดขัดข้องท่านเรียกว่าความไม่รู้นำมาซึ่งปัญหา ทีนี้ความไม่รู้นี้เรียกว่าอวิชชา ปัญหาเรียกว่าความทุกข์ ฉะนั้นอวิชชาเป็นที่มาของความทุกข์หรือเป็นปัจจัยของความทุกข์ เมื่อเรามีความไม่รู้หรืออวิชชาเกิดปัญหาคือความทุกข์ เราจะทำอย่างไร ท่านบอกว่าเรามีอุปกรณ์ติดตัวมานะที่เราจะแก้ปัญหาได้ ทุกคนเกิดมานี่มีอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มาไว้ติดต่อกับโลกภายนอก นี่แหล่ะเป็นเครื่องมือของเราที่เราจะแก้ปัญหา เราจะรู้เราจะต้องเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา เราจะปฏิบัติกับสิ่งทั้งหลายถูกต้อง แต่ว่ามีคนช่วยก็คือ พ่อแม่ของเรา
ทีนี้มาเรื่องการศึกษาเริ่มต้นพร้อมกับชีวิตเริ่มต้น ฉะนั้นการศึกษาต้องเริ่มต้นที่บ้านในครอบครัว อันนี้ก็เป็นหลักธรรมดา ฉะนั้นถ้าเราจะดำเนินชีวิตเองนี่ยากมาก ก็ต้องมีคนที่มาช่วยก็คือคนที่ใกล้ชิดที่สุด ซึ่งโดยพื้นฐานโดยธรรมชาติเนี่ยมีคุณธรรมคือเมตตากรุณา มีความรักอยู่ในใจ เรียกว่ามีเมตตาอยู่แล้ว ท่านปรารถนาดีอยากให้เรามีความสุข ท่านก็อยากให้เราอยู่รอดและอยู่ดีได้ด้วย ฉะนั้นพ่อแม่ก็จะมาช่วยตรงนี้ ช่วยเราฝึกศึกษาเรียนรู้ การที่พ่อแม่ช่วยเนี่ย ช่วยเลี้ยงก็คือช่วยให้เราสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวเอง การเลี้ยงคือการอะไร เช่นเราจะเอาวงล้อสักวงหนึ่ง แต่ก่อนเด็ก ๆ ชอบเอามาตีให้มันวิ่งไปโดยไม่ล้ม การกระทำอย่างนั้นเขาเรียกว่าเลี้ยง เลี้ยงก็หมายความว่าทำให้ล้อนั้นดำรงอยู่ได้ไปได้ด้วยตัวเอง ทีนี้ที่พ่อแม่เลี้ยงลูกก็คือว่าพยายามให้ลูกสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง เมื่อไรลูกดำรงชีวิตได้ด้วยตัวเอง ดำเนินชีวิตได้แล้วดีแล้ว พ่อแม่วางใจก็เลิกเลี้ยง ฉะนั้นการเลี้ยงก็คือการช่วยประคับประคองเกื้อหนุนในเบื้องต้น เพี่อให้ลูกสามารถดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวเอง การที่ลูกจะดำเนินชีวิตได้ด้วยตัวเอง ทำอะไร ก็คือเรียนตลอดเวลา คือเรียนรู้ เรียนรู้ เรียนรู้ เรียนสิ่งที่พ่อแม่สั่งสอน นั่ง กิน ยืน เดิน พูด อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ พ่อแม่ก็สอนเราก็เรียนรู้ไป เรียนรู้ไป ฝึกหัดตัวเองไป ฉะนั้นการเลี้ยงก็จะคู่กับการเรียน พ่อแม่เลี้ยงลูกก็เรียนไป การเลี้ยงก็คือกระบวนการช่วยเกื้อหนุนการเรียนของลูก อันนี้จะต้องจำไว้ถ้าการเลี้ยงไม่มีการเรียนก็เป็นการเลี้ยงที่ว่างเปล่า บางคนเข้าใจว่าการเลี้ยงคือการเอาอาหารอะไรต่ออะไรมาให้กับลูกบำรุงบำเรอ ไม่ใช่อันนั้นมันเป็นเพียงเครื่องประกอบ หมายความว่าพ่อแม่เอาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และปัจจัยสี่มาช่วยเป็นเครื่องเกื้อหนุนให้ลูกนี้ได้พร้อมที่จะเรียน เรียนก็เพื่อลูกจะได้สามารถดำเนินชีวิตที่ดีได้ด้วยตนเอง ฉะนั้นตกลงว่าพ่อแม่ก็มาเป็นผู้เกื้อหนุน แต่หน้าที่ในการศึกษาเป็นหน้าที่ของทุกคนของทุกชีวิต อย่างที่บอกแล้วว่าชีวิตคือการศึกษา ชีวิตที่ดีก็ต้องเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ พ่อแม่ก็มาเริ่มช่วยเกื้อหนุนเรา ชีวิตเริ่มต้นเมื่อไรการศึกษาก็เริ่มต้นเมื่อนั้น ฉะนั้นถ้าใครถามว่าการศึกษาเมื่อต้นที่ไหนก็บอกว่าเริ่มต้นพร้อมกับชีวิตเริ่ม ถ้าชีวิตเริ่มต้นในบ้านเพราะฉะนั้นการศึกษาเริ่มในบ้าน พอเริ่มในบ้านเอาหล่ะทีนี้พ่อแม่ก็มีบทบาทสำคัญ การศึกษาในปัจจุบันนี้เรามักจะเน้นที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา โดยมักจะมองข้ามเรื่องบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ครอบครัวไปเสีย อันนี้จะเป็นอันตรายเพราะว่ากว่าจะไปถึงโรงเรียนเนี่ยการศึกษามันเข้าไปเป็นพื้นฐานชีวิตของคนแล้ว เวลาไปถึงโรงเรียนแล้วส่วนที่เป็นคุณสมบัติเป็นแกนของชีวิตเนี่ยมันเสร็จไปแล้ว ครูโดยมากจะได้แค่ไปเติมไปเสริมไปแต่งไปเพิ่มให้ บางทีก็ไปให้วิชาเฉพาะอย่าง แม้แต่ว่าวิชาสำหรับไปทำมาหาเลี้ยงชีพ แต่ว่าการศึกษาที่แท้มันต้องเกิดขึ้นเป็นคุณสมบัติในชีวิตของเรา ฉะนั้นตัวคุณสมบัติในชีวิตของเราที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ได้ดีนี่แหล่ะคือเนื้อแท้ของการศึกษาซึ่งจะเกิดขึ้น พออยู่ที่บ้านเราได้การศึกษาพื้นฐานของชีวิตไปแล้ว ฉะนั้นการศึกษาในบ้านนี้พระพุทธเจ้าจึงทรงเน้นมาก ทำไมพระพุทธเจ้าตรัสว่าพ่อแม่นี้เราเรียกว่าเป็นอาจารย์ต้น อาจารย์ต้นก็คือครูอาจารย์คนแรก หลายท่านคงเคยได้ยินคำบาลีที่บอกว่า “ปุพพาจริยาติ วุจจเร แปลว่า พ่อแม่นี้ท่านเรียกว่าเป็นบูรพาจารย์” บูรพาจารย์ก็คืออาจารย์คนแรกหรืออาจารย์ต้น เมื่อพ่อแม่คืออาจารย์ต้น พ่อแม่ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีและถ้าพ่อแม่ไม่ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่ลูก ก็แสดงว่าพ่อแม่บกพร่อง พอลูกจะไปถึงโรงเรียนนี้บางทีก็แทบจะสายไปแล้ว ต้องครูเก่งจริง ๆ จึงจะมาแก้ปัญหาที่ติดไปจากบ้าน ที่พ่อแม่ไม่ได้ให้การศึกษาที่ดีแก่ลูก เราก็ต้องยกย่องว่าครูที่ทำได้อย่างนั้นนี่เป็นผู้ที่มีความสามารถเป็นอย่างยิ่ง ที่ว่าแกนมันไม่ค่อยดีแล้วยังสามารถไปแก้ไปไขไปแต่งไปสรรค์ไปจัดให้มันดีได้ ครูที่โรงเรียนจึงเป็นผู้เสริมและทำให้ก้าวต่อไป แต่วางพื้นฐานนี้ก็ต้องวางฐานกันที่บ้านในครอบครัวในบ้าน บทบาทสำคัญที่จะทำให้เกิดวิถีชีวิตที่ดีงาม จะเรียกวิถีพุทธหรืออะไรก็ได้ เพราะวิถีพุทธก็คือชีวิตเป็นการศึกษาอย่างที่ว่ามา ทำอย่างไรพ่อแม่จึงจะมีบทบาทที่ถูกต้องบทบาทหนึ่ง คนเราพอจะมีการศึกษาที่มีคุณสมบัติที่เสร็จไปในระยะแรกเลยก็คือ ท่าทีการมองโลก ความรู้สึกต่อสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์ อันนี้สำคัญมันเสร็จไปจากบ้านในชีวิตระยะแรก ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจะเน้นจุดนี้ ถ้าเราเห็นสิ่งรอบตัวเราเป็นปฏิปักษ์ในลักษณะที่ไม่ดี มีความก้าวร้าวรุนแรงอยู่เสมอ คนนั้นหรือเด็กนั้นมักจะมีความโน้มเอียงที่จะมีท่าทีความรู้สึกมองโลกในเชิงเป็นปฏิปักษ์ก้าวร้าวรุกราน แต่ถ้าหากว่าได้รับความเมตตากรุณาอย่างดีมีความอบอุ่นในชีวิต ก็จะมองโลกในแง่ดีมีความรู้สึกเป็นมิตรต่อเพื่อนร่วมโลกและเพื่อนมนุษย์ แต่ว่าอยู่กับพ่อแม่ที่แนะนำให้มองชีวิต มองธรรมชาติแวดล้อมสวยงาม เขาก็จะเริ่มมองแง่ของโลกที่มันสวยงามที่มันดี แล้วก็มองในแง่สิ่งที่น่าเรียนรู้ พ่อแม่ก็จะแนะนำว่าอันโน้นอย่างนั้นอันนี้อย่างนี้ เด็กก็จะมีความอยากรู้มากขึ้น ๆ เด็กมองโลกในแง่ของสิ่งที่น่ารู้อยากจะออกไปเรียนรู้ มีอะไรที่จะร่วมพ่อแม่ก็ชวนลูกทำโน่นทำนี่ชวนลูกทำ ต่อไปลูกก็เกิดทัศนคติที่จะไปร่วมในการสร้างสรรค์ ไปอยู่ในโลกก็ไปทำโน่นทำนี่ นี่คือการวางฐานการมองโลกของชีวิตให้แก่ลูกทางพระท่านเรียกว่าการทำหน้าที่แสดงโลกแก่ลูก อันนี้เป็นหน้าที่หนึ่งของพ่อแม่ที่สำคัญอย่างยิ่ง ตอนนี้เรากำลังจะพลาด ถ้าหน้าที่ที่ 1 พลาดไปแล้ว จะแก้ไขลำบากมากเพราะว่ามันเป็นท่าทีทัศนคติพื้นฐานของคน บทบาทปัจจุบันนี้ได้แต่ย้ำอยู่เสมอว่าพ่อแม่เรากำลังยกบทบาทนี้ให้แก่สื่อมวลชน ทีวี ไอทีต่าง ๆ พวกทีวีก็เข้าไปอยู่ในห้องนอนของลูก วีดิโออะไรก็มี ในนั้นมีแต่ภาพอะไรบ้าง พอดีก็เป็นภาพของความโหดร้าย การทะเลาะกัน การฆ่าฟัน การเบียดเบียนซึ่งกันและกัน การแย่งชิง แล้วก็ภาพแห่งการลุ่มหลงมัวเมา การเห็นแก่ตัวจะเอาให้แก่ตัว การจะเอาชนะกันอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ สิ่งเหล่นี้ที่ลูกเห็น ถ้าไม่ผู้ชี้นำที่ดีก็จะเกิดความรู้สึกต่อโลกต่อเพื่อมนุษย์อย่างนั้น และเด็กก็จะมองว่าโลกนี้คือแดนที่จะไปเอาแก่ตัวให้มากที่สุด ต้องไปแย่งชิงคนอื่น ต้องไปเอาชนะเขา ต้องไปขจัดศัตรู แล้วก็มองในแง่ความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์เป็นคู่แข่ง เป็นปฏิปักษ์จะต้องไปสู้กัน อันนี้ก็คือการพัฒนาท่าทีการมองโลกของชีวิตตั้งแต่เบื้องต้นอันนี้คือการศึกษาที่ผิด ถ้าพ่อแม่ไม่ทำหน้าที่นี้ก็พลาดตั้งแต่ต้นแล้ว นี่ก็คืออันที่หนึ่ง ฉะนั้นจึงต้องย้ำกันอยู่เสมอว่าเราจะต้องเน้นให้ครอบครัวทำหน้าที่ที่หนึ่งนี้ ก็คือว่าพ่อแม่ต้องทำหน้าที่แสดงโลกนี้แก่ลูก ถ้าใช้ภาษาสมัยใหม่เรียกว่านำเสนอโลกนี้แก่ลูก คนเราเกิดมาเราเห็นรอบตัวไปหมด อะไรต่ออะไรเต็มไปหมด ทั้งฟ้า ทั้งน้ำ ทั้งดิน ภูเขา ป่าไม้เนี่ย เราเห็นพร้อมกันหมดแต่เราเห็นเพียงบางแง่เท่านั้น คนเรานี่เห็นอะไรไม่ได้เห็นหมดทุกอย่างหรอก เห็นได้แง่มุมหนึ่งเท่านั้นแหล่ะ และแง่มุมไหนก็อยู่ที่ แง่ของการมอง แง่ของความสนใจ แง่ของเจตนา ถ้าเรามองตั้งแง่ผิดเราก็ได้ความหมายผิด พัฒนาท่าทีทัศนคติที่ผิด แต่ถ้ามองแง่ถูกอย่างพ่อแม่มีทัศนคติที่ถูกมีเมตตามีความรักต่อลูก ก็จะมาชี้ในแง่ที่ดีให้เกิดความชื่นชม อย่างที่เคยยกตัวอย่างบ่อย ๆ แม้แต่ตัวพ่อแม่นั่นแหล่ะ ตัวพ่อแม่ที่ปรากฏแก่ลูกนี้ก็คือการแสดงโลกให้แก่ลูก ก็หมายความว่าตัวพ่อแม่เองเป็นผู้แสดง เป็นตัวแสดงบทบาทแก่ลูก แสดงไง พ่อแม่นี้เป็นตัวแทนของมนุษยชาติ พ่อเป็นตัวแทนของมนุษย์ผู้ชาย แม่เป็นตัวแทนของมนุษย์ผู้หญิงทั้งโลกเลย ลูกเกิดมาทันทีก็ได้เห็นพ่อได้เห็นแม่ นั่นคือตัวแทนมนุษย์ทั้งโลก ทีนี้ตัวแทนมนุษย์ที่ลูกมองเห็นเป็นตัวแทนที่ดี ใช่ไหม เออมนุษย์ผู้ชายคนนี้มีความรักนี่ มาก็ช่วยเหลือเราไม่ทำร้ายเลยยิ้มแย้มแจ่มใสช่วยประคับประคอง ผู้หญิงที่เป็นตัวแทนของโลกก็เหมือนกันมาถึงเราก็มาโอบอุ้มมาช่วยเหลืออะไรต่าง ๆ ก็มีความรู้สึกที่ดี แล้วก็พัฒนา เราก็มองโลกมนุษย์มองเพื่อนมนุษย์นี่ที่มีพ่อแม่เป็นตัวแทนในแง่ที่ดี ในแง่ความรู้สึกเป็นมิตร มีเมตตาไมตรี และพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ท่านก็แนะนำ ญาติมิตรพี่น้องก็แนะนำในทางที่ดีให้เรียนรู้ ให้ศึกษาสิ่งดี ๆ ทั้งนั้น เพราะความรัก ความปรารถนาดี ฉะนั้นโดยธรรมชาติแล้วเนี่ย พ่อแม่จะนำเสนอโลกนี้แก่ลูกในทางที่ดีงามเป็นประโยชน์แก่ชีวิต แม้พ่อแม่จะไม่ฉลาดเท่าไรแต่ว่าโดยคุณธรรมที่มีมาจะทำให้ดีไปเอง แต่ถ้าพ่อแม่มีปัญญาด้วยยิ่งดีไปใหญ่เลย พ่อแม่ก็จะทำด้วยความรู้ความเข้าใจความตั้งใจว่า โอเราจะต้องให้ลูกเนี่ยได้มีทัศนคติต่อโลกอย่างไร ต่อชีวิตอย่างไร ต่อเพื่อนมนุษย์อย่างไร ต่อธรรมชาติแวดล้อมอย่างไร ให้มีความรู้สึกต่อเพื่อนมนุษย์นี้ให้มีเมตตาไมตรีจิตมิตรภาพ มองธรรมชาตินี้เป็นสิ่งสวยงามน่าชื่นชม มองสิ่งทั้งหลายในโลกนี้น่าเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เราจะไปเรียนรู้ศึกษาได้มากมาย แล้วก็มองโลกนี้ที่เราจะไปร่วมสร้างสรรค์นี้ละก็นี่คือการปลูกสร้างพื้นฐานที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นเลยของชีวิตที่แท้จริง แต่ถ้าลูกไปเจอปุบปับขึ้นมาก็เจอแต่ทีวี วีดิโอ ยิงกัน ฟันกัน ฆ่ากันเลือดนองจออะไรอย่างนี้แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ความรู้สึกไม่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ ทัศนคติที่ไม่ดีต่อโลก ความรู้สึกที่จะเข้าไปร่วมโลกไม่ใช่แบบสร้างสรรค์ช่วยกันเกื้อหนุนแล้ว ตอนนี้จะไปแช่งแย่งชิงแล้วจะเอาชนะจะกำจัด ฉะนั้นเวลานี้จึงเสี่ยงภัยแม้เราจะมีเทคโนโลยีที่เจริญ แต่การศึกษาของเรานี่เอื้ออำนวยหรือเปล่าที่เราจะใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นไปในทางที่เป็นคุณประโยชน์ ฉะนั้นเริ่มต้นพ่อแม่ก็จะต้องมาช่วยกำกับการแสดงโลกนี้แก่ลูกพร้อมทีวีเป็นต้น โดยให้ทีวีได้นำเสนอแต่สิ่งที่ถูกต้อง ช่วยเลือกคัดจัดสรรให้ลูก หรือว่าเวลาลูกดูก็มาช่วยร่วมดูด้วย มาช่วยชี้แนะว่าให้มองอย่างไร แล้วจะได้แง่มุมที่เป็นประโยชน์ ได้ความรู้ได้ความจริง
อันนี้ก็คือเริ่มแรกเป็นตัวอย่าง พอได้อย่างนี้แล้ว การศึกษาเริ่มต้น ชีวิตที่ดีงามก็เริ่มต้นแล้ว ต่อไปลูกไปโรงเรียนก็จะไปเสริม ไปเติม ถ้ามีพื้นฐานทัศนคติที่ดีอย่างนี้แล้ว เช่นว่ามีความรู้สึกท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายในโลกแบบเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้อย่างนี้ พอไปโรงเรียนรู้ลูกก็พร้อมที่จะเรียนเท่านั้นเอง อยากจะเรียนอยากจะได้ความรู้อะไรต่าง ๆ พัฒนาความใฝ่รู้อะไรต่าง ๆ ขึ้นมา ฉะนั้นนี่เป็นเพียงตัวอย่างแรกบทบาทของพ่อแม่หรือการศึกษาในครอบครัว แต่ไม่ใช่เท่านั้น
ทีนี้จะขอพูดอีกอย่างหนึ่ง คือการพูดเรื่องการศึกษาเนี่ยพูดได้หลายแง่ ถ้าเราจะพูดหลักทั่วไปเนี่ยมันก็กว้างเกินไปที่จะมาพูดกันในเวลาเท่านี้ ตอนนี้เราก็มาพูดได้บางแง่บางมุม บางจุด บางส่วน ทีนี้บางส่วนนี้อาตมาจะยกตัวอย่าง เมื่อกี้ก็เน้นเรื่องการนำเสนอโลกต่อลูกนะ ทีนี้ก็มาดูว่าอีกอันหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการศึกษาของมนุษย์ก็คือการพัฒนาความสุข คนเราไม่ค่อยพูดว่าความสุขนี้มีความสำคัญต่อการพัฒนาชีวิตของคนอย่างไร ชีวิตที่ดีนั้นแน่นอนทุกชีวิตต้องการพ้นทุกข์พบสุข เราก็อยากพ้นทุกข์ทั้งนั้นแหล่ะ ไม่มีใครอยากเจอทุกข์ ทีนี้ว่าเราก็อยากหาความสุขแต่ว่าเราหาความสุขเป็นไหม ในทางพุทธศาสนานั้นท่านสอนว่า ความสุขนั้นพัฒนาได้ การศึกษาในความหมายหนึ่งก็คือการมาพัฒนาความสุข แต่ยิ่งกระนั้นลึกลงไปท่านเรียกว่าการพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข อันนี้เป็นจุดที่สำคัญ ตอนนี้เป็นทางแยกคือมนุษย์จะมี 2 อย่างในเรื่องความสุขในขั้นต้น 1) การหาความสุขกับ 2) การมีความสุข มนุษย์พวกหนึ่งก็จะพยายามหาความสุข แล้วก็พัฒนาความสามารถที่จะหาความสุข การศึกษาเล่าเรียนในปัจจุบันนี้ไปในทางนี้มากคือพัฒนาความสามารถที่จะหาความสุข ไอ้ความสุขมันไม่ได้โดยตรงนี่ มันต้องมีสิ่งเสพบริโภค วัตถุต่าง ๆ ความหมายเต็มก็คือ การพัฒนาความสามารถที่จะหาวัตถุมาบำรุงบำเรอความสุข แต่เขาลืมไปว่าอีกด้านหนึ่งก็คือคนเรานี้มีความสามารถที่จะมีความสุข และความสามารถที่จะมีความสุขนี้พัฒนาได้ และการศึกษาที่แท้จะเข้าถึงตัวเป็นแก่น เป็นสาระของชีวิตนี้มันต้องพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ขอให้คิดดูว่าเราสามารถหาความสุขไอ้สิ่งที่จะบำเรอความสุขนั้นอยู่ข้างนอก กับการที่เราสามารถมีความสุข อันไหนเป็นตัวการศึกษาที่แท้ การศึกษาที่แท้อยู่ที่การพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ฉะนั้นอย่างน้อยต้องให้ได้ดุลกัน คือพัฒนาความสามารถที่จะหาความสุขกับพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข ก็เลยจะมาพูดเรื่องของที่โรงเรียนเลย จะได้มาดูเรื่องความหมายของความสุขและที่สัมพันธ์กับการศึกษาในแง่นี้
เราไปโรงเรียน เวลาไปโรงเรียนครูอาจารย์ก็จะได้รับคำแนะนำสั่งสอนบอกว่าต้องจัดบรรยากาศให้ดีนะ ให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข เราก็อยากให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข เด็กเรียนมีความสุขได้ก็ดี แต่ว่าระวังเหมือนกันนะ เราจะแยกดู ความสุขของคนนี้ขึ้นต่อ 1) ปัจจัยภายนอก 2) ปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกก็คือ อย่างง่ายที่สุดหลายคนก็จะบอกว่า อ๋อฉันจะมีความสุขหลังจากที่ฉันได้ดูรูปสวย ๆ ได้ฟังเสียงเพราะ ๆ ดนตรีที่ชอบ เพลงที่ชอบ และได้ลิ้มรสอาหารที่อร่อย เป็นต้น อย่างนี้ฉันมีความสุข อันนี้ก็เป็นความสุขที่อาศัยปัจจัยภายนอกอย่างหนึ่ง ถ้าปัจจัยภายนอกอย่างที่สองก็คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ที่เป็นเพื่อนเป็นครูอาจารย์เป็นพ่อแม่ มีความรัก มีไมตรีจิตมิตรภาพต่อเรา พอเราเจอคนอย่างนั้น หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ช่วยเหลือเกื้อหนุนกัน เราก็บอกว่าเรามีความสุข อันนี้ครูอาจารย์ก็มาช่วยได้ เราก็จัดสรรพยายามให้เด็กเรียนอย่างมีความสุข เราก็อาจนึกไปถึงวัตถุ สิ่งที่จะช่วยอำนวยความสะดวกสบาย ให้เด็กได้ตาดูหูฟังสิ่งที่ชอบใจมีความสุข อันนี้คือหนึ่งในปัจจัยภายนอก สองก็คือตัวครูเองเป็นคนมีเมตตา มีความรักใคร่ ปรารถนาดี จัดบรรยากาศเล่าเรียนสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้มีความสุข อันนี้ก็ดีแล้วนะเรียนอย่างมีความสุข เด็กก็สนใจ เล่าเรียนจิตใจก็ไม่เบื่อหน่าย ไม่ท้อแท้ไม่หงุดหงิด สบายใจก็ดีได้ขั้นหนึ่งแต่ว่าไม่พอ ตราบใดที่ยังไม่ถึงปัจจัยภายในแล้วยังพอไม่ได้ ยังไม่ได้เป็นการศึกษาที่แท้จริง บอกว่าครูนี้จะไปจัดบรรยากาศ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สนุกสนานให้มีบรรยากาศที่ร่าเริงผ่องใส มีความสุขเท่านี้ไม่พอ แต่ขาดไม่ได้มันเป็นปัจจัยด้านหนึ่งแต่เป็นปัจจัยภายนอก ทำไมจึงบอกว่าไม่พอ อันนี้เป็นความสุขแบบจัดตั้ง เราจัดตั้งในโรงเรียนในห้องเรียน จัดบรรยากาศกิจกรรมแต่ในโลกนี้ชีวิตนี้ที่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นตลอดไป เด็กไม่ได้อยู่ในชั้นเรียนตลอดไปหรอก โลกชีวิตในความเป็นจริงเนี่ยมันไม่ได้เป็นอย่างนี้เรื่อยไป จะให้เด็กพบอย่างนี้ตลอดไม่ได้ เราได้แต่จัดตั้งให้เขา ไอ้อยู่กับการจัดตั้งนี้ไม่ยั่งยืน ความสุขที่อยู่กับการจัดตั้งนี้ไม่ยั่งยืน พอเด็กออกไปแล้วไม่ไปพบกับสภาพการจัดตั้งนี้ไปเจอโลกที่เป็นจริง โลกนี้มันน่ารักบ้างน่าชังบ้าง มันกระทบกระทั่งกระแทกกระทั้นอะไรต่ออะไร เขาก็รับไม่ไหว ฉะนั้นที่เขาจัดสรรปัจจัยเกื้อหนุนความสุขให้มีกระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียนเป็นต้น ให้มีความสุขนี่มันไม่ใช่จบในตัว มันไม่ใช่แค่นั้น มันเป็นเพียงสื่อเพื่อจะเกื้อหนุนให้พัฒนาปัจจัยภายในขึ้นมา ปัจจัยภายในคืออะไร เมื่อปัจจัยภายในเกิดแล้วนั่นแหล่ะ เด็กจึงจะมีความสุขที่แท้จริงและเป็นตัวของตัวเองที่จะมีความสุข ต่อจากนั้นเขาจะออกไปอยู่ในโลกในชีวิต ท่ามกลางความผันผวนปรวนแปรมรสุมอย่างไร ไม่เป็นไรเขาจะรู้จักมีความสุขได้ นี่แหล่ะก็คือการศึกษาที่แท้จริง เพราะฉะนั้นการจัดตั้งในห้องเรียนนี้เป็นเพียงปัจจัยเกื้อหนุนเพื่อสร้างของจริง ก็เป็นอันว่าถ้าอยู่ด้วยการจัดตั้งไม่ยั่งยืน แต่การจัดตั้งมีขึ้นเพื่อสร้างสิ่งที่แท้ หมายความว่าการจัดตั้งก็เพื่อสร้างของจริง เราจัดตั้งเพื่อสร้างของจริงนะ ไม่ใช่จัดตั้งแล้วจบแค่นั้น ฉะนั้นเราจะไปจบแค่นี้ให้นักเรียนเรียนในบรรยากาศที่มีความสุข ครูอาจารย์ที่มีความเมตตากรุณา เดี๋ยวดีไม่ดีกลายเป็นเอาใจ แม้แต่พ่อแม่ก็เหมือนกัน พ่อแม่ก็จะพยายามเอาใจให้ลูกได้มีวัตถุอาหารเอร็จอร่อย กิน เลี้ยงดูให้เงินทองใช้ แล้วพ่อแม่เองก็มีเมตตากรุณาดีไม่ดีลูกเสีย เพราะว่าไม่ฉลาด ไม่ได้โยงเข้าหาปัจจัยภายใน แล้วเด็กก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาคุณสมบัติซึ่งจะทำให้เขามีความสุขได้ด้วยตัวเอง ก็ต้องพึ่งพาเรื่อยไป พึ่งพาให้คนอื่นมาจัดตั้ง มาจัดสรรสิ่งแวดล้อมให้ อย่างนี้เป็นไปไม่ได้โลกนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น ฉะนั้นเราก็โยงปัจจัยภายนอกเข้าไปหาปัจจัยภายใน ทีนี้การจัดตั้งที่ว่าก็จะเป็นประโยชน์
ทีนี้ถ้าเราอยู่แค่ปัจจัยภายนอก มาพูดกันก่อนว่ามันจะมีข้อเสียอย่างไร พ่อแม่ก็ตาม ครูอาจารย์ก็ตาม โดยเฉพาะพ่อแม่นี้จะเห็นได้ชัดอยู่กับลูกตลอดเวลา ถ้าพ่อแม่จัดตั้งแล้วก็จัดสรรอะไรต่าง ๆ ให้ลูกได้มีความสุขแบบอาศัยปัจจัยภายนอก เป็นวัตถุสิ่งของสิ่งเสพปัจจัยบริโภค ตลอดจนตัวพ่อแม่เองก็ตามจะเป็นอย่างไร ถ้ามีแต่เมตตาความรักใคร่เด็กเนี่ย 1) ต่อไปจะอ่อนแอ สู้ชีวิตไม่เป็น ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ รับผิดชอบตัวเองไม่ได้ ต้องให้พ่อแม่ทำให้เรื่อย ช่วยเหลือเรื่อยนี่อ่อนแอ 2) เป็นคนพึ่งพา ต้องพึ่งพาพ่อแม่ เพราะทำไม่เป็น 3) ก็คือไม่รู้จักความจริงของชีวิต ไม่รู้จักความเป็นธรรม ไม่รู้จักกติกา กฎเกณฑ์ ชีวิตในสังคม ความเป็นจริงในสังคม ความเป็นจริงในธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันเป็นต้น ไม่สามารถแม้แต่รักษาหลักการของสังคม ออกไปอยู่ในสังคมแล้วก็จะเอาแต่ระบบของการที่ต้องมีคนช่วยเหลือเกื้อหนุนกันอยู่เป็นส่วนตัวเรื่อยไปก็เสีย แล้วก็ถ้าหากว่าเอาใจโอ๋มากเกินไปลูกจะเป็นนักเรียกร้อง ก็คือว่าจะเอาอย่างเดียวคราวนี้ไม่ดีแล้ว ทีนี้ถ้าพัฒนาพอดีจัดสรรปัจจัยแวดล้อมที่พอดี มีเมตตากรุณาลูกก็พัฒนาทัศนคติที่ดีอย่างที่ว่าไปเมื่อกี้ มีมิตรไมตรีมีความรู้สึกที่ดีต่อเพื่อนมนุษย์ มีความรักใคร่อบอุ่น อันนี้เป็นความรู้สึกที่ดีและพร้อมที่จะช่วยคนอื่น คือพ่อแม่ที่ช่วยเรามีเมตตากรุณานี้เป็นตัวอย่างให้เราไปมีเมตตาช่วยเหลือคนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าเป็นฝ่ายที่จะรอรับท่าเดียว ถ้าอย่างนั้นการศึกษาก็ผิดทางไปเลย เอาหล่ะทีนี้ปัจจัยภายนอกมาเกื้อหนุนก็นำไปสู่ปัจจัยภายใน ปัจจัยภายในเมื่อกี้บอกแล้วว่าที่บอกแล้วว่าที่พ่อแม่ ครูอาจารย์จัดสรรสภาพแวดล้อมสิ่งต่าง ๆ มานั้นเพื่อเกื้อหนุนให้เราได้ศึกษา ตัวเรานั่นแหล่ะต้องเรียนรู้ ตัวเราเรียนรู้อย่างไร เราก็พัฒนาคุณสมบัติภายในที่ท่านเรียกว่าปัจจัยภายในขึ้นมา ปัจจัยภายในอะไรที่จะทำให้เรามีการพัฒนาแม้แต่ความสุข ตอนแรกนี้พอเราอาศัยปัจจัยภายนอกให้มีความสุข เราจะต้องหาความสุขอยู่เรื่อยเพราะมันอยู่ข้างนอก มันไม่ได้อยู่ในตัวเราจึงต้องหา เราก็ต้องหาสิ่งเสพบริโภค เราก็ต้องหาคนที่เราชอบใจอะไรเป็นต้น นี่ต้องหากันอยู่เรื่อย ทีนี้ท่านบอกว่าให้พัฒนาความสามารถในการที่จะมีความสุขยิ่งขึ้นไป คนเรานี้เจอสิ่งที่ชอบใจทางตาหูอยู่เรื่อย เห็นรูปสวย ฟังเสียงเพราะ เราก็มีความสบายมีความสุขเราก็ชอบใจ เราก็เลยหาสิ่งที่ชอบ แล้วสิ่งที่มันทำให้ไม่สบายเราไม่ชอบเราก็พยายามหลีกเลี่ยง แล้วเจอสิ่งที่ชอบเราก็มีความสุข เจอสิ่งที่ไม่ชอบเราก็มีความทุกข์ นี่คือมนุษย์ปุถุชนเขาเรียกว่ามนุษย์ที่อยู่กับความยินดียินร้าย ได้เห็นสิ่งที่สบายก็ชอบใจ ได้เห็นสิ่งที่ไม่สบายก็ไม่ชอบใจ ก็ยินดียินร้ายอยู่อย่างนี้ สุขทุกข์อยู่กับความยินดียินร้ายชอบชัง ถ้าเราอยู่แค่นี้เราไม่พัฒนาเพราะสิ่งที่เราชอบชังหรือมีความรู้สึกเนี่ย เราเรียนรู้ได้น้อย เราก็ได้แค่นั้นแหล่ะ เจอสิ่งที่ไม่ชอบเราก็ไม่เอาเป็นทุกข์เราก็หนี เราก็จะพยายามไปหาสิ่งที่ชอบ แต่ทีนี้ว่าขอให้ดู ตา หู จมูก ลิ้น กายของเราเนี่ย ที่เมื่อกี้บอกว่าการศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนเริ่มมีชีวิตนี้ แล้วที่ว่ามันเริ่มมีชีวิตนี่มันเริ่มที่จุดไหนของชีวิต หล่ะ อ้าวก็มาดูแหล่ะ เมื่อกี้บอกแล้วนี่ว่าเราโผล่มาในโลกนี้เราไม่รู้จักอะไรสักอย่าง แต่ว่าเรามีอุปกรณ์ติดตัวมาสำหรับรู้จักมันก็คือ ตา หู จมูก ลิ้นของเรา เพราะฉะนั้นตา หู จมูก ลิ้น ของเรานี้แหล่ะเป็นทางที่เราจะได้รู้จักโลก เราก็เรียนรู้หาความรู้จากโลก ทีนี้พอดีว่าตา หู จมูก ลิ้น กายของเราเนี่ยมันทำหน้าที่ 2 อย่าง เราไม่ค่อยรู้นะ โดยมากเราจะพูด ถ้าถามว่า ตา หู จมูก ลิ้น กายมีไว้ทำไม ทำหน้าที่อะไรบ้าง หลายคนก็บอกว่า โอ๊ยฉันเป็นนักการศึกษา ฉันตอบได้เอาไว้ทำหน้าที่รับรู้ อย่างนี้ให้คะแนน 50% ไม่ถูก ตา หู จมูก ลิ้น กายไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเดียว แต่ทำหน้าที่ 2 อย่างพร้อมกันต้องแยกให้ได้ อะไรบ้าง มันพร้อมกันเลย ตาหู ทำหน้าที่ 1) รู้สึก 2) รู้ จะต้องแยกได้ รู้กับรู้สึก รู้สึกอย่างที่ว่าเมื่อกี้ พอเห็นรูปสวยงาม เห็นต้นไม้ใบเขียวขจีอะไรต่ออะไรก็สบาย อันนี้ก็เป็นรู้สึก ฟังเสียงนี่ได้ยินเสียงเอะอะอันนั้นอาจจะบอกว่าเอ๊ยไม่สบาย เป็นทุกข์แล้ว ก็แล้วแต่ ลิ้นก็เหมือนกันไปเจอรสขมก็ทุกข์ไม่สบาย พอเจอรสหวานพอดี ๆ ก็อร่อย ชอบใจ อันนี้ก็คือเรื่องของรู้สึก พอรู้สึกเนี่ยสบายก็ชอบใจ ไม่สบายก็ไม่ชอบใจ อันนี้ด้านรู้สึกจะมีปฏิกิริยาแบบนี้ แล้วคนก็วนเวียนอยู่ที่บอกเมื่อกี้นี้ พอรู้สึกสบายชอบใจก็จะเอามีความสุข แล้วถ้าไม่ชอบใจเจอก็จะหนีจะเลี่ยงแล้วก็มีความทุกข์ ทีนี้อีกด้านหนึ่ง ตา หู จมูก ลิ้นของเราเนี่ยทำหน้าที่รู้ ก็คือว่ารู้เขียว รู้แดง รู้ยาว รู้สั้น รู้ต้นไม้ รู้ว่าเป็นต้นมะม่วง รู้ต้นมะละกอ รู้ต้นกล้วย รู้ทุกอย่าง ทีนี้ไอ้หน้าที่รู้นี้สำคัญมันจะทำหน้าที่พร้อมกัน ทีนี้คนจำนวนมากไปตามความรู้สึก รู้สึกสบายถ้าชอบใจก็จะเอา ถ้ารู้สึกไม่สบายก็ไม่ชอบใจจะหนีจะทำลาย แล้วสุขทุกข์ก็อยู่ที่ชอบใจไม่ชอบใจก็วนเวียนอยู่แค่นั้น แต่คนที่รู้จักชีวิตจริงว่า อ๋อตา หู จมูก ลิ้นของเรานั้น มันทำหน้าที่ 2 อย่าง หน้าที่ที่ 2 คือรู้นะ อ้าวเพราะฉะนั้นก็ใช้มันให้ถูก เรียนรู้ซะว่าไอ้นี่เป็นอะไร ไอ้นี่คืออะไร ไอ้นี่เป็นอย่างไร ไอ้นี่เป็นเพราะอะไร ไอ้นี่ใช้ทำอะไร อันนี้เป็นมาอย่างไร เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับอะไร อย่างไรเนี่ย เอาหล่ะทีนี้ได้ความรู้
เอาหล่ะทีนี้ ถ้านักเรียนนักศึกษารู้จักใช้ตา หู จมูก ลิ้นทำหน้าที่ที่ 2 ตอนนี้การศึกษาจะเริ่มแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องแบ่งหน้าที่ให้ถูกต้องว่า เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย เนี่ย มันทำหน้าที่ 2 อย่างพร้อมกันนะ หน้าที่รู้สึกไม่ใช่ไม่เป็นประโยชน์ เรายังไม่ทันรู้นี่เราต้องอาศัยความรู้สึกก่อน ถ้ามันไม่สบายตาเนี่ยเรารีบหนีก่อนเลย เราได้ยินเสียงตูมตามขึ้นมานี่เรารู้สึกแล้วไม่ดีแล้วหนีก่อนอะไรอย่างนี้ มันช่วยชีวิตในขั้นต้นแต่มันไม่แท้จริง เราจะปลอดภัยได้ประโยชน์แท้จริงนี้ต้องขั้นรู้ งั้นเราก็ก้าวจากรู้สึกไปสู่รู้ เราก็ใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเรานี้ทำหน้าที่รู้ ตอนนี้แหล่ะ เราก็จะพัฒนาชีวิตของเรา การศึกษาก็เริ่มต้น บอกว่าตาดูหูฟัง รู้สึกก็อยู่สบาย-ไม่สบาย ชอบใจ-ไม่ชอบใจ แล้วสุข-ทุกข์ก็อยู่แค่นั้น คนนั้นก็เที่ยววิ่งหาสิ่งที่ชอบ แล้วก็หนีสิ่งที่ไม่ชอบเช่นนี้เรื่อยไป สุขทุกข์ของเขาก็อยู่แค่นี้ ทีนี้พอเขาใช้ตาดูหูฟังเพื่อรู้ เขาจะก้าวหน้า เพราะว่าการทำหน้าที่รู้ของตาหูนี่มันไม่ขึ้นต่อสิ่งที่ชอบ-ไม่ชอบ สิ่งที่ชอบก็ได้รู้ สิ่งที่ไม่ชอบก็ได้เรียนรู้ เราเรียนรู้ได้หมด สิ่งที่ชอบเราเรียนรู้สิ่งที่ไม่ชอบเราก็ได้เรียนรู้ ทีนี้เกิดเราอยากรู้ขึ้นมา ตอนนี้มันจะพัฒนา คนเรานี่ความสุขเกิดจากการได้สนองความอยากหรือสนองความต้องการนั่นเอง เราต้องการที่จะเสพรสของวัตถุ เช่น ดูสิ่งที่รู้สึกว่าสวยงามสบายตา หรือสิ่งที่ไพเราะแก่หู เราอยู่กับความรู้สึก เรามีความต้องการเสพด้านความรู้สึกที่สบายชอบใจ พอเราได้สนองความต้องการนั้น ได้ดูสิ่งสวยงาม เป็นต้น เราก็มีความสุข เพราะได้สนองความต้องการนั้น แต่ทีนี้พอเราใช้ตาดูหูฟังเพื่อเรียนรู้ขึ้นมา เราเกิดความต้องการรู้เพื่ออยากรู้ขึ้นมา ทีนี้พอเราได้รู้ได้สนองความต้องการเรียนรู้เราก็มีความสุข เพราะว่าความสุขเกิดจากได้สนองความต้องการ ทีนี้พอสุขเกิดจากความใฝ่รู้อยากรู้คราวนี้แหล่ะ มีความสุขเรื่อย ๆ เจอสิ่งที่ชอบก็ได้รู้ก็มีความสุข เจอสิ่งไม่ชอบก็ได้เรียนรู้ก็มีความสุข ตอนนี้ท่านเรียกว่าหลุดพ้นขั้นที่ 1 อันนี้แหล่ะอิสระเสรีภาพของมนุษย์มาอย่างนี้ แล้วความสุขก็พัฒนา จะเห็นได้ว่าความสุขเราเพิ่มแล้ว แต่ก่อนนี้ความสุขของเรานี้อยู่กับสิ่งเสพที่เราชอบใจ-ไม่ชอบใจ ใช่ไหม พอเจอสิ่งที่ชอบใจเรามีความสุข เจอสิ่งไม่ชอบใจเราทุกข์ ความสุขทุกข์ของเรามีจำกัดมาก เรามีโอกาสเจอสิ่งไม่ชอบใจเยอะเหลือเกิน แล้วเราจะทุกข์บ่อย ๆ แต่พอเราพัฒนาความต้องการรู้ เราใช้ตาหูเพื่อเรียนรู้ ตอนนี้เรามีความสุขประเภทที่ 2 พัฒนาความสุขชนิดใหม่ คือความสุขจากการเรียนรู้ ตอนนี้เรียนรู้ได้หมด สิ่งที่ชอบใจก็ได้เรียนรู้ สิ่งที่ไม่ชอบใจก็ได้เรียนรู้ เลยสุขไปหมดเลย ตอนนี้สุขทุกสถานการณ์ นี่คือการศึกษาที่มีผลต่อความสุข แล้วถ้าใครไม่สามารถพัฒนาความสุขชนิดนี้ขึ้นมาได้ อย่าพึ่งเรียกตัวเองว่ามีการศึกษา ฉะนั้นมันไม่แสดงว่าได้มีการศึกษาเลยเพราะมันไม่มีความสุขจากการศึกษานี่ การศึกษาก็เริ่มเรียนรู้ เราเรียนรู้เราก็มีความสุข ฉะนั้นเด็กที่เป็นอย่างนี้นะพ้นอันตรายเยอะเลย เพราะถ้าเราสุขจากการสนองความรู้สึก เขาเรียกว่าสุขจากเสพ ใช่ไหม ก็จะหาแต่สิ่งชอบใจ สิ่งสวยงาม ไพเราะ ก็ตามหาสิ่งเสพหาความสุขอยู่เรื่อยไป ก็กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว พอเห็นแก่ตัวแล้วต้องแย่งชิงเบียดเบียนกับคนอื่น มันก็ยุ่งละสิ โลกมันถึงเป็นปัญหาอย่างนี้ อย่างปัจจุบันเนี่ย คนไม่ค่อยรู้จักความสุขประเภทอื่น รู้จักความสุขประเภทเดียว คือความสุขจากการเสพบริโภคสิ่งที่จะให้ความรู้สึกที่จะเป็นสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย พอเรามีความสุขจากการสนองความต้องการรู้ ใฝ่รู้คราวนี้แหล่ะเราก็เดินหน้าไปเลย ความสุขของเราไม่ขึ้นกับสิ่งภายนอกมากแล้ว ขึ้นต่อสภาพจิตของเราที่มีความใฝ่รู้ เราเจอสถานการณ์ดี-ไม่ดี ชอบใจ-ไม่ชอบใจ เราสุขได้ทั้งนั้น ได้เรียนรู้ทั้งนั้นเลย ตอนนี้แหล่ะเราก็ก้าวหน้าแล้ว เพราะความสุขนี้ไม่เบียดเบียนใคร มีอยู่ในตัวเองเป็นอิสระ ฉะนั้นจึงได้บอกว่าการศึกษานั้นเป็นการพัฒนาความสุขด้วย แล้วท่านที่ทำหน้าที่ทางการศึกษาจะต้องช่วยเด็กให้ทำอันนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ ถ้าเด็กเกิดอันนี้ทางพระท่านเรียกว่าเด็กเกิดฉันทะ ถ้าเด็กยังมีแต่ความต้องการสนองทางด้านความรู้สึก ท่านเรียกว่ามีแต่ตัณหา คือต้องการสนองความรู้สึกสบาย-ไม่สบาย ชอบใจ-ไม่ชอบใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย อันนี้ท่านเรียกว่าตัณหา แต่ถ้าเมื่อไรเกิดความต้องการใฝ่รู้ ต้องการการเรียนรู้แล้วมีความสุขจากการได้รู้ อันนั้นเรียกว่าเกิดฉันทะขึ้นมา พอเกิดฉันทะแล้ว เดินหน้าแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่านี้คือรุ่งอรุณของชีวิตที่ดีงาม เขาเรียกว่าแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม หรือรุ่งอรุณของการศึกษา พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่าเมื่อดวงอาทิตย์จากอุทัยย่อมมีแสงอรุณคือแสงเงินแสงทองขึ้นมาก่อนฉันใด ชีวิตที่ดีงามที่เรียกว่า “มรรคาอันประเสริฐ” ก็มีฉันทะ คือความใฝ่รู้ อยากรู้ เป็นตัวนำมาก่อนฉันนั้น ฉะนั้นขอให้ทุกท่านจำไว้เลยว่าเราจะต้องพัฒนาอันนี้ให้ได้ทั้งแก่ตนเอง แล้วก็แก่เด็กทั้งหลายที่เราจะไปช่วยเขา จะไปสอนเด็ก ถ้าเป็นครูก็ต้องไปพัฒนาตัวความสุขอันนี้ ซึ่งก็หมายถึงการที่ต้องพัฒนาความต้องการใหม่นี้ให้ได้ แล้วเด็กก็จะพัฒนา ถ้าเป็นพ่อแม่ก็เช่นเดียวกันก็ต้องพัฒนาตัวความใฝ่รู้อยากรู้อันนี้ขึ้นมา แล้วชีวิตของเขาก็จะดีงามแน่ พอเด็กมีฉันทะ คือความต้องการรู้ใฝ่รู้อันนี้เด็กเรียกหาเองเลย อยากรู้โน่นอยากรู้นี่แล้วชีวิตของเขาพัฒนาเองเลย โดยเราไม่ต้องไปเรียกร้อง แล้วถ้าเด็กมีตัณหาความใฝ่เสพ พ่อแม่ต้องไปคอยบังคับจ้ำจี้จ้ำไช ให้เรียนให้รู้เด็กก็ฝืนใจมีความทุกข์ แต่ถ้าเด็กมีความใฝ่รู้อยากรู้ คราวนี้มาเรียกร้องพ่อแม่เองต้องเรียกร้องที่ดีนะ อยากรู้นั่นรู้นี่อยากอ่านหนังสือ อยากได้ความรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ ทีนี้สบายใจได้ว่าเด็กนี้ต้องพัฒนาแน่นอน ฉะนั้นการศึกษาที่ถูกต้องตามกฎธรรมชาตินี้ ท่านบอกเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันเป็นไปเองไม่ต้องไปเรียกร้อง ท่านบอกว่าเมื่อแม่ไก่ขึ้นไปฟักไข่ แล้วถึงเวลาลูกไก่ออกมา ไม่ต้องกลัว แต่ถ้าแม่ไก่ไปยืนอยู่นอกเล้าแล้วก็ร้องแล้วก็คร่ำครวญ อ้อนวอนขอให้ลูกไก่ออกมาจากไข่เถิด ท่านบอกว่าไข่เน่าแน่ ฉะนั้นนักเรียนนักศึกษาปฏิบัติตามหลักการที่แท้ในทางพุทธศาสนา การศึกษามันเป็นไปตามธรรมชาติ มันเป็นไปเองในชีวิตที่ดี ท่านถึงบอกการศึกษากับชีวิตที่ดีงามเป็นอันเดียวกัน เมื่อชีวิตดีงามดำเนินไปการศึกษาก็ดำเนินไป เมื่อการศึกษาดำเนินไปก็คือชีวิตที่ดีงาม เพราะชีวิตของคนนี้ต้องเป็นอยู่ต้องเจอประสบการณ์ใหม่ สถานการณ์ใหม่ ต้องปฏิบัติต่อมันให้ถูกต้อง ต้องคิดแก้ปัญหาตลอดเวลา การศึกษามันเป็นไปเอง เพียงแต่ว่าเมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว เราปฏิบัติต่อมันให้ถูก เช่นว่าคิดเป็น มองเป็นอย่างนี้ ใช้ตา หู จมูก ลิ้น ให้เป็น การศึกษามันมาเอง ฉะนั้นการศึกษาไม่ต้องอาศัยครูก็ได้นะ แต่ครูเป็นกัลยาณมิตรมาช่วยบอกมาช่วยแนะทาง เรายังมองไม่เป็นยังคิดไม่เป็น ท่านก็มาชี้แนะหนทางให้ นี่แหล่ะอาตมาก็ยกตัวอย่างความสุขที่ว่าพัฒนาแล้ว ความสุขอย่างนี้เรียกว่าเกิดจากปัจจัยภายใน พอเกิดปัจจัยภายในแล้วเป็นความสุขด้วยตนเอง คราวนี้เด็กจะไปอยู่ในสถานการณ์ไหนก็ไม่ต้องกลัว ใช่ไหม ที่บอกเมื่อกี้นี้ เด็กคนนี้มีความต้องการรู้ไปเจออะไรต่ออะไรนี่ แกหาความสุขได้เองโดยไม่ต้องให้คนอื่นมาจัดสรรความสุขให้ ทีนี้แกก็ไปอยู่ในโลกได้ รับผิดชอบตัวเองได้ แต่ว่ายังดีกว่านั้นอีกก็คือว่า คนเรานี่ในเมื่อเป็นสัตว์ที่มีธรรมชาติที่ต้องฝึกต้องพัฒนาต้องเรียนรู้ เราจะมีชีวิตที่ดีงามก็ต้องฝึก เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึกเนี่ย เราก็มีจิตสำนึกอย่างที่ว่าแล้วเนี่ย เราก็เลยรู้ว่า อ๋อชีวิตที่ดีจะเจริญงอกงามก้าวหน้านี้ ต้องเป็นชีวิตที่มีแบบฝึกหัด ต้องรู้จักทำแบบฝึกหัด ชีวิตไหนไม่ทำแบบฝึกหัดเนี่ยเอาดียาก ฉะนั้นคนเราเกิดมาเนี่ยมองเป็นแล้วไม่มีใครเสียเปรียบเลย คนรวยก็ได้เปรียบและเสียเปรียบ คนจนก็ได้เปรียบและเสียเปรียบแล้วแต่มอง ถ้ามองไม่เป็นก็เสียเปรียบ คนจนบอกว่าฉันเสียเปรียบไม่มีจะกินจะใช้ ลำบากทุกข์ยากเหลือเกิน ทีนี้คนรวยเรามองอย่างนั้นก็ได้เปรียบสิ มีเงินใช้เยอะแยะ ใช่ไหม จะเอาอะไรก็ได้ แต่คนร่ำรวยมั่งมีนี้เสียเปรียบเพราะว่าชีวิตของคนเราเจริญงอกงามมันต้องทำแบบฝึกหัด คนใดเกิดมาท่ามกลางความสุข เออจะทำอะไร ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว มันทำได้ตามสบาย เลยไม่ได้คิดไม่ได้ฝึกตัวเอง สมองไม่พัฒนา เพราะฉะนั้นเด็กที่ร่ำรวยเนี่ยถ้าพ่อแม่ไม่ฉลาดไม่หาแบบฝึกหัดให้ลูกทำนี้ ลูกจะแย่ไม่พัฒนารับผิดชอบตัวเองไม่ได้ เพราะว่าชีวิตมันไม่เจอแบบฝึกหัด แล้วเขาก็พัฒนาไม่ได้ ทีนี้คนจนเนี่ยถ้ามองเป็นนะ อย่าไปมัวโอดครวญร่ำไรเป็นทุกข์อยู่ มองเป็น โอ้เป็นโอกาสดีแล้ว เราเจอความจนความทุกข์ยากหรือปัญหาทั้งนั้นเป็นแบบฝึกหัด ถ้าเจอแบบฝึกหัดทำให้ได้สิ คนไหนทำแบบฝึกหัดสำเร็จคนนั้นชนะ ใช่ไหม เจริญก้าวหน้างอกงาม กว่าเราจะทำแบบฝึกหัดสำเร็จ แก้ปัญหาสำเร็จนี่เราพัฒนาเยอะแยะ
1) ความจัดเจนในด้านทักษะ พฤติกรรมกาย วาจา
2) จิตใจความเข้มแข็ง ความมีใจสู้อดทน
3) ปัญญาความคิดแก้ปัญหา เราเจอปัญหา เจอความทุกข์นี่เราต้องคิด ต้องหาทางแก้ไขเอาชนะ เอาปัญหาให้ลุล่วงให้ผ่านพ้น เราจะผ่านปัญหาได้ เราทำแบบฝึกหัดเยอะ เราเจริญพัฒนาไปเยอะเลย ขอให้มองให้เป็นเถิดว่า เราเจอทุกข์ เจอปัญหา เจอความลำบาก นั่นคือโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้นไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ ฉะนั้นคนรวยจำนวนมากเสียเปรียบเพราะมองไม่เป็นแล้วก็ไม่หาแบบฝึกหัดมาทำ แล้วพ่อแม่บางทีมาซ้ำเติมลูกไม่ช่วยลูกหาแบบฝึกหัดมาทำเลย ลูกแย่ไปอีก ทีนี้ถ้าพ่อแม่ที่เก่งเกิดมาจน ใช่ไหม หาแบบฝึกหัดให้ลูกรู้จัก ฝึกให้ลูกรู้จักทำแบบฝึกหัด แล้วลูกก็มองเป็น ไม่มัวอย่างที่ว่า ไม่มัวคร่ำครวญร่ำไร โอดครวญ มีความทุกขเวทนาอะไร ไม่เอาหล่ะมองให้เป็น เออเราจะต้องหาโอกาสฝึกตัวเอง ทำแบบฝึกหัดแล้วเราก็พัฒนา
ก็โดยหลักการก็รวมความว่าชีวิตที่ดีนั้น จะต้องผ่านแบบฝึกหัด งั้นเราก็หาแบบฝึกหัดมาทำ พ่อแม่ที่ฉลาดก็หาแบบฝึกหัดมาให้ลูกทำ อันนี้ท่านเรียกว่าให้มีคุณธรรมครบ
1) มีเมตตา ความรักอยากให้ลูกเป็นสุข
2) ยามลูกทุกข์เดือดร้อน ก็มีกรุณาสงสาร พยายามบำบัดความทุกข์นั้น
3) ยามลูกประสบความสำเร็จมีความสุข ทำอะไรได้ดีแล้ว พ่อแม่ก็มุทิตา พลอยยินดีด้วย ส่งเสริมสนับสนุน นี่ด้านนี้พ่อแม่พร้อม แต่ทีนี้ข้อ
4) อุเบกขา พ่อแม่ต้องหาแบบฝึกหัดให้ลูกทำ เพราะว่าไอ้ 3 อันแรกนี่พ่อแม่มีความโน้มเอียงทำให้ลูก ทำแทนเรื่อยไม่อยากให้ลูกลำบาก มีอะไรรักลูกก็ทำให้ลูก ทำแทนลูก หามาให้ลูก ทีนี้ลูกก็ไม่เข้มแข็ง ไม่ได้คิดถึงภายหน้า ไม่ได้ใช้ปัญญาว่าต่อไปนี้เราไม่ได้อยู่กับลูกตลอดไป ลูกต้องรับผิดชอบชีวิตด้วยตัวเขาเอง เขาอยู่กับความจริงของโลกและชีวิตมันไม่เข้าใครออกใคร ใครจะทำอย่างไร เอ้อเราก็ต้องเตรียมสิให้เขาไปรับผิดชอบชีวิตของเขาได้ นี่แหล่ะหน้าที่ของพ่อแม่ข้อที่ 4 อุเบกขา ก็หาแบบฝึกหัดมาให้ลูกทำ แล้วดูให้ลูกทำ ถ้า 3 อย่างแรกนี่ ทำให้ลูกดู ทำให้ลูก แต่ข้อที่ 4 นี้ ไม่ทำให้แล้ว ดูให้ลูกทำ ไม่ใช่ทิ้ง ให้ลูกทำแล้วก็ดูไปด้วย ทำผิดทำถูกก็จะได้เป็นที่ปรึกษาช่วยแก้ปัญหาช่วยแนะนำให้ทำให้ได้ผลดีต่อไปลูกก็เข้มแข็งสิ ลูกที่ได้คุณธรรมพ่อแม่ครบ 4 เนี่ย จะเป็นลูกที่พัฒนาอย่างสมบูรณ์
1) ด้านจิตใจ จิตใจก็ดีงาม มีไมตรีจิตมิตรภาพ มีความรู้สึกอบอุ่น มองโลกในแง่ดี มองเพื่อนมนุษย์เป็นมิตร มีไมตรี มีความรักใคร่ แล้วก็รู้จักเห็นใจเพื่อนมนุษย์ แล้วพร้อมกันนั้นก็มีความเข้มแข็ง มีปัญญารับผิดชอบ ช่วยตัวเองได้ แก้ปัญหาได้ อันนี้เรียกว่าการพัฒนาที่สมบูรณ์ ตอนนี้เขาเรียกว่าพ่อแม่เป็นพระพรหมของลูกแล้ว นี่ตอนนี้เลยหันกลับมาเรื่องพ่อแม่อีก เป็นอันว่าพ่อแม่นี่มีบทบาทในการให้การศึกษาแก่ลูก ก็คือนำลูกในการศึกษา ไม่ใช่ว่าเอาการศึกษามาหยิบยื่นให้ เพราะว่าการศึกษามันเกิดที่ลูกเอง ลูกต้องศึกษาเอง มีใครเอาการศึกษามาหยิบยื่นให้เราได้ เป็นไปไม่ได้ ใช่ไหม พ่อแม่ก็มาช่วยลูก ให้ลูกศึกษาเรียนรู้อย่างที่ว่าเนี่ย
ที่อาตมาพูดไปแล้วนี้บทบาทของพ่อแม่ก็มี 1) การแสดงโลกนี้ต่อลูกหรือนำเสนอโลกนี้แก่ลูก อย่าปล่อยให้ไอที ทีวี เป็นต้น มาทำหน้าที่แทนหรือมายึดครองดินแดนของพ่อแม่ เวลานี้ต้องใช้คำว่าพ่อแม่เสียเอกราช เสียอธิปไตยให้แก่ทีวีเป็นต้น ใช่ไหม เออถูกยึดครองดินแดนไปแล้ว แทนที่พ่อแม่จะเป็นผู้ปกครองดินแดนนี้ เปล่าหล่ะ บางทีเป็นข้าศึกศัตรูด้วยเข้ามาทางทีวีนี่ มานำมาชักจูงลูกไปในทางที่ผิดพลาด มานำเสนอโลกแก่ลูกในทางที่ผิด ฉะนั้นอันที่ 1 นะ การนำเสนอโลกให้แก่ลูก อันที่ 2) คือให้บรรยากาศในการศึกษาแก่ลูกอย่างครบถ้วนทั้ง 4 อย่างที่ว่า ตอกย้ำอีกทีว่า 1) ยามลูกเป็นปกติก็คือความรักความเมตตา เลี้ยงดูให้เขาเป็นสุข 2) ยามเขาทุกข์ยากเดือดร้อนตกต่ำก็มีกรุณา ปลดเปลื้องความทุกข์ให้เขา 3) ยามเขาประสบผลสำเร็จก้าวหน้าในความดีงามความสุข ก็ส่งเสริมสนับสนุนพลอยยินดีด้วย ใน 3 อย่างนี้ เรียกว่าเป็นด้านความรู้สึก แล้วก็ข้อ 4) เป็นด้านความรู้