แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
วันนี้ก็เป็นวันสำคัญสำหรับชีวิตของพระสงฆ์ในรอบปี ก็คือวันเข้าพรรษา หรือวันเริ่มต้นของพรรษา โดยเฉพาะสำหรับท่านที่บวช 3 เดือน ก็ถือว่าวันนี้แหละเป็นวันแท้วันจริง ที่ว่า เหมือนกับเป้าหมายของการบวชเนี่ยมาเริ่มต้นวันนี้ ส่วนว่าการบวชก่อนหน้านี้ก็คือว่าการเตรียมเพื่อจะมาเข้าพรรษา เพราะฉะนั้นแต่ละปีก็เป็นเพียงกำหนดว่า ให้ทันวันเข้าพรรษา ก็มักจะกำหนดในวันเสาร์อาทิตย์ก่อนวันเข้าพรรษา ปีนี้ที่จริงก็ถ้าจะให้ได้เสาร์อาทิตย์สุดท้ายก่อนเข้าพรรษาก็คือเมื่อวาน ก็เป็นวันอาสาฬหบูชา ก็กระชั้นเกินไปเพราะเป็นวันที่มีพิธีเวียนเทียน ถ้าจะมีการบวชด้วยก็จะเกิดฉุกละหุกได้ บางปีนี่ก็เสาร์อาทิตย์ก่อนวันเข้าพรรษาสองสามวัน ก็เลยบางรุ่นก็บวชกันแค่สองสามวันก่อนเข้าพรรษา ปีนี้เสาร์อาทิตย์ที่ไม่กระชั้นนัก ก็เรียกว่าต่อกันก่อนถึงจะเข้าพรรษานี้ ก็ก่อนหน้าเข้าพรรษานี่เรา 7 วัน พอดี นะฮะ ก็เลยรุ่นนี้ นับว่าบวชก่อนเข้าพรรษายาวหน่อย แล้วก็ความตั้งใจก็คือมาเริ่มเข้าพรรษาในวันนี้นั่นเอง
วันเข้าพรรษาก็คือวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 แต่ปีนี้ก็มีพิเศษว่า มี 8 สองหน เมื่อมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนวันเข้าพรรษามาเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 หลัง ช้าไปเดือนหนึ่ง ปีนี้ก็นับว่า เทียบกับปีก่อนๆแล้วช้าเป็นพิเศษ เพราะมาขึ้นเอาเดือนสิงหาคมเลย แต่เป็นวันแรกของเดือนสิงหาคม 1 สิงหาคม โดยมาก วันเข้าพรรษาจะอยู่แค่ในเดือนกรกฎาคม หายากที่จะมาถึงเดือนสิงหาคม ก็ต่อไปนี่ก็ วันเข้าพรรษาก็จะไวเข้า จนกระทั่งไปถึงใกล้ๆต้นเดือนกรกฎา แล้วก็จะถึง 8 สองหนอีก แล้วก็มาเข้าพรรษาช้าเป็นเดือน 8 หลังอีก ก็เป็นอย่างนี้เรื่อยไปเพราะเป็นเรื่องของจันทรคติ กับสุริยคติ
นี้วันเข้าพรรษาเริ่มเรม 1 ค่ำเดือน 8 สำหรับปีนี้ก็ 8 หลัง ได้แก่วันนี้ ก็นับไป 3 เดือน ก็ไปครบในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ก็เป็นวันสุดท้ายของพรรษา เราเริ่มต้นพรรษา เราอธิษฐาน คือ กำหนดใจไว้ แล้วก็กล่าว เปล่งวาจาออกมา แสดงความกำหนดใจว่า อยู่ประจำที่นี้ 3 เดือน ครบเมื่อไหร่ก็ออกเมื่อนั้น นะฮะ ก็คือสิ้นสุดหมดไปเอง แต่ว่า เพื่อเป็นเครื่องกำหนดหมายให้รู้กันก็เลยมีวันออกพรรษา ความจริงก็ ครบเมื่อไหร่ก็ออกเมื่อนั้น โดยไม่ต้องมีพิธีพิเศษ ไม่ต้องมี ไม่ต้องมีพิธีออกพรรษา พรรษาออกไปเอง ในเมื่อวันครบ 3 เดือน แต่ว่าจะมีสังฆกรรมอื่นเข้ามา อันนั้นค่อยว่ากันอีกทีหนึ่ง ก็รวมความก็คือว่าเข้าพรรษาวันนี้ไปสิ้นสุด จบในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11
ในการจำพรรษานี้ ก็คือ อยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน อยู่ประจำที่กำหนดด้วยอะไร ก็กำหนดว่าทุกวันอยู่ที่วัด ทีนี้จะอยู่ที่วัดตลอดทั้งวันทั้งคืนก็ไม่อาจเป็นไปได้ เริ่มตั้งแต่เช้าก็ไปบิณฑบาต ก็ต้องมีแบบแผนของส่วนรวมเพื่อเป็นเครื่องกำหนดว่า เอาเวลาจุดใดที่เป็นเครื่องกำหนดหมายแต่ละวันว่าตอนนั้นน่ะอยู่ในวัด นี้การกำหนดวันคืนของทางด้านตะวันออกเราเนี่ย ใช้พระอาทิตย์เป็นตัวกำหนด ไม่เหมือนสังคมตะวันตกที่เราไปรับเอามาที่เรียกปัจจุบันว่าสากล ก็ไปกำหนดเอาว่าเที่ยงคืนนี่เป็นสิ้นสุดวัน แล้วก็หลังเที่ยงคืนก็ขึ้นวันใหม่ อันนี้เราเพิ่งมารับตะวันตกในตอนยุคหลัง แต่ก่อนนี้เราก็ถือตามแบบของเราเดิม ก็เอาพระอาทิตย์เป็นหลัก คือ รุ่งอรุณ คือ พระอาทิตย์ขึ้นก็เป็นขึ้นวันใหม่
ก็ถือกำหนดอันเนี้ยว่า ตอนที่รุ่งอรุณเนี่ย ที่ขึ้นวันใหม่เวลานั้นอยู่ในวัด ดังนั้นก็เลยถือจุดนี้เป็นสำคัญว่าตอนรุ่งอรุณเนี่ยให้อยู่ในวัด จะได้เป็นเครื่องกำหนดหมายร่วมกัน ไปไหนก็ตามก็เป็นอันว่าให้ทัน กลับมาให้ทันรุ่งอรุณ ให้มารับอรุณที่วัด อันนี้ก็เลยเป็นเรื่องสำคัญ แม้แต่ว่าอย่างการออกบิณฑบาต เมื่อถือว่ารับอรุณในวัด ถ้าเราไปออกบิณฑบาต เช้ามืดยังไม่ทันสว่าง ก็ทำให้ขาดพรรษาได้ อันนี้ก็ต้องรู้หลักกันไว้ นะฮะ เอาแล้วก็เป็นอันว่าหนึ่งก็เรื่องเวลา เป็นอันว่า กำหนดหมายกันว่าให้เอาการรับรุ่งอรุณนี้เป็นวันขึ้นวันใหม่ นะฮะ รับอรุณที่วัด
นี้ก็ต้องรู้เขตวัด เขตวัดนั้นก็เดี๋ยวนี้ก็ง่ายก็คือมีกำแพงเป็นที่กำหนด กำแพงก็ล้อมรอบหมดแล้ว ก็เลย ไม่ต้องอธิบายมาก สมัยก่อนนี่วัดยังไม่มีกำแพง และวัดสมัยก่อนตามชนบทก็ไม่นิยมมีกำแพง เพราะเป็นสถานที่เรียกว่าสาธารณะ ก็ต้องกำหนดหมายโดยรู้กัน นะ ว่าทางวัดก็อาจจะต้องมีการชี้แจงว่า เขตวัดของเรานะที่จะต้องรับอรุณน่ะอยู่แค่นี้แค่นี้ แต่ว่าสำหรับของเราตอนนี้ก็ไม่ต้องชี้แจงอะไร ก็บอกว่าเอากำแพงเป็นหลัก อ้าวก็เป็นอันว่าต้องอยู่ในเนี้ย รับอรุณในเขตวัดเนี้ย 3 เดือน ทุกวันๆ
ทีนี้ต่อไปก็มีปัญหาอีกว่า เอ แล้วก็ถ้าเกิดมีธุระสำคัญ จำเป็นจริงๆ อยู่ติดต่อเนื่องกันทุกวันไม่ได้ นะฮะ ทำไง ท่านก็มียกเว้นให้อีกว่า ถ้ามีกิจจำเป็น กิจจำเป็นนี่ก็มีหลายอย่าง เช่นว่า อุปัชฌาย์อาจารย์นี้ไม่ได้อยู่ที่นี่ อยู่ที่วัดอื่นแล้วก็ท่านเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างหนักอะไรอย่างเงี้ย จะไปพยาบาลอะไร ก็อนุญาตว่าให้เดินทางไปค้างแรมที่อื่นได้ เพราะอาจจะเป็นต่างจังหวัดไกลๆ หรือว่าบิดามารดาโยม พ่อแม่ก็อยู่ไกลก็เจ็บป่วย หรือแม้แต่ว่าไม่ไกลนัก แต่ว่าต้องไปรักษาพยาบาล หรือว่ามีกิจนิมนต์สำคัญไปรักษาศรัทธาญาติโยม กิจการพระศาสนาสำคัญเนี่ย
อันนี้ท่านก็ยกให้ว่าให้ไปได้ในกำหนดเวลาเพียง 7 วัน เขาเรียกกันเป็นภาษาคำพูด ภาษาพูดว่า สัตตาหะไป คำว่า สัตตาหะนี้ก็มาจากคำว่า สัตตาหะกรณียะ สัตตาหะกรณียะ ก็แปลว่า กิจที่พึงกระทำให้เสร็จใน 7 วัน ก็หมายความว่าอนุญาตให้แค่ 7 วัน ต้องกลับมาให้ทัน ครบ วันที่ 7 นี่ต้องกลับมารับอรุณที่วัด นี้ถ้ามีกิจอย่างนั้นไม่จบ ก็เป็นอันว่าสัตตาหะใหม่ แต่ว่า 7 วันนี้ต้องกลับมารับอรุณที่วัด ก็แปลว่า สัตตาหะไปใหม่ได้ ก็ทำเป็นแบบแผนไป
อันนี้ก็ ส่วนรายละเอียดนี่ก็ไม่ยาก ก็เวลามีเหตุจริงๆก็ไถ่ถามหรือดูหนังสือได้มีอะไรบ้าง เพราะมันก็ยืดหยุ่น กิจสำคัญก็นี่แหละก็เกี่ยวกับบุคคลบ้าง เกี่ยวกับธุระการงานบ้าง การพระศาสนา นะฮะ แล้วก็ความสัมพันธ์กับประชาชนในแง่ไปสงเคราะห์ แม้แต่ว่าไปแสดงธรรม ไปโปรดเขา ได้รับกิจนิมนต์ไป ก็สงเคราะห์เข้า นี่ก็เป็นเรื่องข้อยกเว้น ก็ให้ทราบกันไว้
จุดอื่นก็มาถึงเรื่องตัวการจำพรรษาเอง การจำพรรษานี้ ชีวิตสมัยนี้ก็ไม่เหมือนสมัยก่อน สมัยพุทธกาลเอง ชีวิตในพรรษากับนอกพรรษาต่างกันมาก แต่เวลานี้พระอยู่ค่อนข้างประจำที่ อยู่ประจำวัด วัดไหนก็วัดนั้น บางทีชีวิตในพรรษา นอกพรรษา แทบไม่มีอะไรต่างกันเลย ถ้าเป็นสมัยพุทธกาลนี่ ออกพรรษา พระก็จาริกไป ไปเรื่อยไป ไปเมืองโน้นเมืองนี้ พอถึงพรรษาก็ไปอยู่ประจำที่ เพราะฉะนั้นสมาชิกของสังฆะ หรือพระภิกษุที่มาอยู่ร่วมกันนี้ก็อาจจะเปลี่ยนไปเรื่อย ปีนี้ก็ที่วัดนี้ก็มีพระมาองค์โน้นองค์นี้มารวมกันเข้าเป็นชุดหนึ่ง พอมาอีกปีหนึ่ง อ้าว แยกกันไปแล้วมาเปลี่ยนไปแล้ว ก็เปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ
แต่มาเดี๋ยวนี้เพราะว่า มันเกี่ยวกับเรื่องของชีวิต สถานการณ์เปลี่ยนไป แล้วก็เกี่ยวกับเรื่องบ้านเมือง พระต้องมีสังกัดอยู่ประจำที่แน่นอน ก็เลยกลายเป็นว่า อยู่กันประจำวัดไหนวัดนั้น สมาชิกก็เหมือนเดิมนอกจากองค์ไหนลาสิกขาไป องค์ไหนมาบวชใหม่เพิ่มเข้ามา ก็มีเปลี่ยนแปลงแค่นั้น แต่ว่าเราก็ถือธรรมเนียมตามพระธรรมวินัยมาให้มีการจำพรรษา
แต่ให้รู้ว่าภูมิหลังพื้นเดิมเป็นอย่างนั้น ก็คือชีวิตสมัยก่อนนั้นเป็นชีวิตของการจาริก ก็อยู่ประจำที่ในพรรษา นี้การอยู่ประจำที่ในพรรษาของพระสมัยก่อนนี้ก็ จะมีความหมายอีกแบบหนึ่งก็คือว่า ตอนนอกพรรษานี้ท่านก็จาริกไป ไปเพื่อไปหาสถานที่สำหรับไปศึกษา ไปปฏิบัติ นะฮะ ไปฝึกฝนตนเอง เล่าเรียนอะไร หรือว่าไปอยู่กับชุมชนที่โน่นที่นี่ แล้วพอจำพรรษาท่านก็อยู่ประจำกับที่
การที่ท่านอยู่ประจำที่นั้นก็มีข้อดีก็ทำให้พระที่ท่านมีประสบการณ์ แล้วก็มีพรรษายุกาลไม่เท่ากันเนี่ยได้มาอยู่ร่วมกัน บางท่านก็มีความรู้มีประสบการณ์มากเป็นครูอาจารย์ ก็เป็นโอกาสให้พระที่มีพรรษาน้อยกว่า มีการเล่าเรียนน้อยกว่า ประสบการณ์น้อยกว่า ก็ได้มาเล่าเรียนศึกษาเพิ่มเติมกับพระที่อยู่ในระดับครูอาจารย์ และนอกจากนั้นก็คือพระสงฆ์อยู่ประจำที่ ชุมชนที่อยู่โดยรอบก็ถือว่าได้ประโยชน์ ได้มารับความรู้จากพระที่มาอยู่กันพรั่งพร้อม ได้ฟังธรรม ได้มาทำบุญต่างๆ นะฮะ ก็เลยกลายเป็นว่าก็เป็นประโยชน์แง่หนึ่ง ประโยชน์ในช่วงจำพรรษา พอออกพรรษาพระก็กระจายกันไป
ทีนี้มาถึงสมัยนี้ พระอยู่ประจำที่แล้วก็เปลี่ยนเป็นว่า พระในพรรษาจะมีจำนวนมากพิเศษ โดยเรามีประเพณีบวชเรียนเพิ่มขึ้นมา สำหรับเมืองไทยเรามีประเพณีว่า บวชเรียนจำพรรษา ก็มีพระใหม่มาอยู่จำพรรษาก็เกิดความมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์พิเศษ ก็คือว่า สังคมไทยต้องการให้ท่านที่เป็นกุลบุตรอายุยังน้อย ได้มีโอกาสเข้ามาเล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัย หรือศึกษาพระพุทธศาสนา ก็เข้ามาบวชอยู่ระยะนี้
พระสงฆ์ที่เป็นผู้เก่าก็ควรจะทำหน้าที่การงานพิเศษในช่วงนี้ ก็คือว่ามาช่วยให้ความรู้ มาอบรมสั่งสอน แล้วก็ประชาชนก็ในเมื่อพระสงฆ์อยู่กันพร้อม นะฮะ มีจำนวนมากพิเศษ อันนั้นก็อนุโลมคล้ายๆโบราณ ก็คือได้มาทำบุญมากขึ้น แล้วก็ไปสัมพันธ์โยงกับพระใหม่ว่าญาติโยม มีโยมพ่อโยมแม่ เป็นต้น ก็มาทำบุญทำกุศลมากเป็นพิเศษด้วย อันนี้ก็โยงกันไป เป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณี
ทีนี้เราก็เอาเรื่องของวันพรรษานี่มาใช้ประโยชน์ในแง่วัฒนธรรมประเพณี ก็ทำให้สังคมไทยนี่มีลักษณะพิเศษ ไม่เหมือนกับหลายประเทศที่เป็นประเทศพุทธเหมือนกันที่เขาไม่มีประเพณีบวชเรียนอย่างนี้ ก็เลยเป็นลักษณะเฉพาะที่เรียกว่าเอกลักษณ์ แม้แต่เป็นพุทธศาสนาเหมือนกัน เถรวาทเหมือนกัน แต่ว่ามีวัฒนธรรมเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง
นี้พอมีเรื่องของวัฒนธรรมเฉพาะ มีประเพณีบวชเรียนแล้วก็กิจกรรมอื่นก็ตามมา อย่างเช่นว่า พอเข้าพรรษาแล้วก็จะมีการเปิดเรียน คณะสงฆ์ก็จะจัดหลักสูตรที่เรียกว่านวกะขึ้นมา หรือก็คือตามแนวของระบบนักธรรม เป็นนักธรรมตรีให้ได้เล่าเรียนกัน แล้วก็จัดให้เหมือนกันทั่วประเทศ จะมีการเปิดเรียน เช่นว่า แรม 9 ค่ำเดือน 8 ก็เปิดเรียน เรียกได้ว่าพร้อมกันทั่วประเทศ แล้วก็เรียนไปก็มีการจัดสอบอีก นะฮะ มีการให้ประกาศนียบัตร อะไรนี้ก็เป็นเรื่องของระบบการที่วาง ที่ว่าสืบเนื่องจากวัฒนธรรมประเพณี ทำให้เป็นแบบแผนขึ้น เป็นส่วนที่งอกออกมาขยายเพิ่มเติมกันไป
แต่สาระสำคัญก็คือว่าให้การบวชเนี่ยได้ประโยชน์ ทีนี้สำหรับท่านที่มาบวชตามประเพณีวัฒนธรรมนั้น ก็เป็นประเพณีวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่บนฐานของหลักการของพุทธศาสนา ก็คือเอาหลักการของพุทธศาสนาเนี่ยมาใช้ประโยชน์ ให้เกิดผลแก่สังคมไทย ก็กลายเป็นวัฒนธรรมขึ้นมา ว่าเราจะเอาหลักการนี้มาใช้ประโยชน์อย่างไร ตรงนี้ก็คือทำให้ได้สาระ ไม่เป็นเพียงประเพณีหรือรูปแบบภายนอก
พอเราเข้าถึงหลักการ เอาหลักการไปใช้ประโยชน์ได้จริง นั่นก็คือ สมความมุ่งหมายของวัฒนธรรมประเพณีที่แท้ ก็คือให้การ ประเพณีการบวชเรียนเนี่ยมาสอดคล้องกับหลักการของพุทธศาสนาที่ว่า ให้พวกที่บวชเข้ามานั้นได้รับการศึกษา การบวชของเราก็เลยเรียกว่าการบวชเรียน การบวชก็เพื่อเล่าเรียนศึกษา เพราะฉะนั้น สาระสำคัญก็จึงอยู่ที่การเล่าเรียน แต่ว่าการเล่าเรียนของเรานี่มันก็ไม่ใช่เป็นเพียงการเรียนในชั้น
การเรียนหรือการศึกษาในที่นี้ ก็อยู่ในหลักที่เรียกว่าไตรสิกขา ไตรสิกขาก็มีศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็เป็นเรื่องของพฤติกรรม กาย วาจา ตลอดถึงการใช้ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมพันธ์กับโลกภายนอก สัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ สัมพันธ์กับวัตถุสิ่งของ สิ่งของเสพบริโภคทุกอย่างหมด อันนี้ก็คือเรื่องของศีล นะฮะ ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าที่เราเข้าใจ นะฮะ ที่เรานึก เช่นว่าไปนึกศีลห้า ก็จะเป็นเรื่องของการไม่เบียดเบียนกันเท่านั้น แต่ที่จริงนั้นก็เป็นเรื่องของการรักษาทั้งพฤติกรรมกาย วาจา ทั้งเรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย เรื่องการกิน เสพ บริโภค นะฮะ การ ก็พูดง่ายๆ ก็คือการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งทางสังคมและทางวัตถุ ให้ได้ประโยชน์แก่ชีวิตของเรา ให้เป็นการพัฒนาตัวเรา แล้วก็ให้มีผลดีแก่สิ่งแวดล้อมเหล่านั้น ก็มีสิ่งแวดล้อมทางสังคม และก็มีสิ่งเกื้อหนุนช่วยให้ ( นาทีที่ 18.40 )??? แล้วก็สิ่งแวดล้อมด้านอื่น เช่น การกิน เสพ บริโภค ก็จะได้รู้จักประมาณ เป็นต้น นะฮะ ก็เป็นการลดการเบียดเบียนหรือว่าทำเกิดการเกื้อกูลกันไปนั้นเอง รวมความ มันมีผลถึงกัน
และก็ สมาธิก็เรื่องของจิตใจทั้งหมด ไม่เฉพาะสิ่งที่เรียกว่าสมาธิ แต่สมาธินี้เป็นคุณสมบัติสำคัญในด้านจิตใจ ที่ว่าเป็นเหมือนกับที่รองรับ เป็นจุดรวมของคุณสมบัติทางจิตใจ ก็เลยเอาสมาธิมาเรียกเป็นตัวแทนของด้านจิตใจทั้งหมด แต่ในภาษาทางการจริงๆนั้น ท่านไม่เรียกว่าสมาธิสิกขานะ ท่านเรียกอธิจิตตสิกขา ศัพท์แท้ๆเรียกอย่างงั้น ไม่เรียกสมาธิสิกขาหรอก เรียก อธิจิตตสิกขา นะฮะ เป็นเรื่องของจิตใจทั้งหมด ก็คือเป็นการฝึกฝน ในเรื่องจิตใจทั้งด้านคุณธรรม ความดี ความงามต่างๆ ทั้งเรื่องของความเข้มแข็ง สติ สมาธิ ความเพียรพยายาม ความรับผิดชอบ ความอดทน อะไรต่างๆ แล้วก็ทั้งเรื่องของภาวะที่มีความสุข ความร่าเริงเบิกบานผ่องใสของจิตใจ นะฮะ ก็รวมนี้หมดแหละ ทั้งคุณภาพจิตใจ สมรรถภาพจิต สุขภาพจิต
แล้วก็ไปเรื่องของปัญญา ความรู้เข้าใจต่อสิ่งทั้งหลาย ทั้งเรื่องของข้อมูลความรู้ เรื่องของหลักธรรมวินัย เล่าเรียน ทั้งเข้าใจและทรงจำไว้ และก็ปัญญาในเชิงของการคิด การพิจารณาสิ่งต่างๆ การคิดสืบสาวหาเหตุผล หาความจริง การพิจารณาแก้ปัญหาต่างๆ คือ จนกระทั่งถึงรู้เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย ตั้งแต่ความจริงในระดับทั่วไปจนกระทั่งความจริงของโลกและชีวิต ความจริงของสังขาร ของสัจจธรรมอะไรทั้งหมดเนี่ยนะฮะ ก็เรื่องปัญญา
นี้ เรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา ที่ว่าเนี่ยมันก็อยู่ในชีวิตของเราทุกขณะที่เราจะต้องได้เรียนรู้แล้วก็ฝึกไป พัฒนามันไป นั้น ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นการศึกษาที่แท้เนี่ย มันก็เป็นเรื่องตลอดเวลา ไม่ได้ขึ้นต่อการเล่าเรียนในชั้น คือการเล่าเรียนในชั้นนี้ก็คือเป็นตัวที่มาช่วยจัดตั้ง นะฮะ เป็นการศึกษาจัดตั้ง ไม่ใช่การศึกษาแท้ การศึกษาจัดตั้งก็เพื่อให้มันเป็นตัวมา เหมือนกับมาบีบ มากำหนด มาทำให้ต้องมีการศึกษาที่แท้ขึ้นมา นะฮะ มันมาเป็นเงื่อนไข มันมาช่วย นะฮะ เร่งรัด กระตุ้น ทำให้การศึกษาในตัวเราที่แท้เนี่ยมันดำเนินไป และก็ได้ข้อมูลความรู้ที่จะใช้ในการศึกษาที่แท้นั้น เพราะถ้าเราไม่ได้ข้อมูลความรู้ เราก็ขาดหลักในการที่จะไปพัฒนาเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา มันก็ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ก็เลยเกิดการเรียนในชั้นขึ้นมา
แต่ให้เข้าใจว่าการเรียนในชั้นนั้นมันไม่ใช่ตัวการศึกษาที่แท้หรอก เป็นเพียงส่วนหนึ่ง จะเห็นว่าในเวลาเรียนในชั้นเอง เราก็ต้องมีการศึกษาที่แท้เข้าไปปน นอกจากเรียนรู้ข้อมูลอะไรต่างๆแล้วเนี่ย ก็จะมีการฝึก อย่างเช่นว่าในทางกาย วาจา เนี่ย เมื่อมีการเล่าเรียนในชั้น ก็มีการอยู่ร่วมกัน มีกิจกรรมร่วมกันเกิดขึ้น มีการจัดระบบการสัมพันธ์ต่อกันในกิจกรรมในการเรียนการสอน การปฏิบัติต่อกันระหว่างครูอาจารย์ ลูกศิษย์ การที่เรียนหนังสือด้วยกันแล้วปฏิบัติต่อกัน ช่วยส่วนรวมยังไง รักษาระเบียบแบบแผน รักษาความสงบ มีระเบียบลำดับในการที่จะเรียนอย่างไร อะไรนี่ก็คือเป็นการฝึกฝนที่เรียกว่าสิกขาทั้งนั้น นะฮะ เพราะฉะนั้นการศึกษาเนี่ยมันดำเนินไปตลอดเวลา ไอ้ส่วนที่เป็นเรื่องของระเบียบแบบแผน กิจกรรม การที่จะดำเนินการศึกษาจัดตั้งไปให้ดีทั้งหมดนั่นเป็นการศึกษาที่แท้ทั้งนั้น ส่วนข้อมูลที่ได้ในการฟังครู อาจารย์นั้นก็เป็นส่วนสำคัญที่จะไปเกื้อหนุนให้ตัวการศึกษาที่แท้นี้ดำเนินไป
แต่การศึกษาที่แท้ก็คือการที่ทำให้พฤติกรรม กาย วาจา การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม จิตใจของเรา แล้วก็ปัญญาของเราเนี่ยเจริญงอกงามยิ่งขึ้นพัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งจะอาศัยกิจกรรมตลอดเวลาในการดำเนินชีวิต นะฮะ ดังนั้นก็ที่เรียกบวชเรียนจึงมีความหมายกว้าง การเล่าเรียนศึกษานี่จึงมีทั้งเรื่องของการอยู่ร่วมกัน เรื่องของกิจวัตร เรื่องของการฝึกปฏิบัติ อาจจะจัดกิจกรรมพิเศษ มีการฝึกสมาธิอะไรก็แล้วแต่ ก็มันก็รวมอยู่ในเรื่องเนี้ยก็เพื่อให้ผลให้เราทุกท่านเนี่ยเจริญงอกงามในไตรสิกขา นี้ก็แปลว่าตัวสิกขาทั้งสามเนี่ยเป็นตัวแกน เป็นสาระที่แท้จริงของการบวชเรียนที่เราต้องการ การบวชเรียนนี่ก็ ก็คือการเจริญไตรสิกขานั่นเอง โดยอาศัยหลักที่เราจะได้เรียนรู้มาเป็นข้อมูลความรู้ในเชิงของหนังสือ ตำรับตำรา ครูอาจารย์เล่าให้ฟัง บอก สั่งสอน ถ่ายทอด ทั้งในชั้นนอกชั้นเนี่ยก็เป็นส่วนที่จะมาเกื้อหนุนให้เราทำได้ผลดี
ทีนี้การเล่าเรียนศึกษาอย่างเงี้ยจะดำเนินไปได้ดี มันก็เลยมีหลายด้านที่ต้องเกี่ยวข้องกัน นะฮะ ถ้าพูดไปแล้วก็ผู้ที่บวชเข้ามาเวลาเรามาอยู่ โดยเฉพาะจำพรรษานี่ก็คือเราจะมาเจริญไตรสิกขาให้เต็มที่ ถ้าแยกแยะออกไป ก็มองเป็นความรับผิดชอบเพื่อจะให้เกิดผลในการศึกษานี้หลายด้าน ก็เหมือนกับว่า หนึ่ง มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ตัวเองเนี่ย แน่นอน เป็นแกนแล้ว จะทำไงให้ไตรสิกขานี้เจริญงอกงามไป ก็พร้อมกันนั้นก็คือ เราก็มีส่วนร่วมอยู่ในสังฆะนี้ เราก็เลยมีความรับผิดชอบต่อสงฆ์ส่วนรวม ต่อวัดของเรา แล้วก็ขยายไปถึงสงฆ์ทั้งหมด ทั้งประเทศ ทั้งโลกเลย แต่ว่าใกล้ๆชิดก็คือวัดเราเนี่ย
พระสงฆ์ทั้งหมดทุกท่าน แต่ละองค์ก็มีความรับผิดชอบต่อสงฆ์ร่วมกัน แล้วต่อไปก็มีความรับผิดชอบต่อพระศาสนา อันนี้ก็รวมอยู่ในเนี้ย ก็เอาจุดสำคัญ ถึงเอง ก็เอาแค่ว่ารับผิดชอบตัวเอง รับผิดชอบสงฆ์ส่วนรวม เริ่มแต่วัด แล้วก็ สาม รับผิดชอบต่อประชาชน รับผิดชอบต่อประชาชนนี้ก็รับผิดชอบต่อประชาชนที่มาวัด ชุมชนรอบวัด หรือใกล้ชิดตัวเองก็โยมพ่อโยมแม่ เป็นต้นไป
อย่างที่เคยพูดกันว่าบวชมานี่ โยมพ่อโยมแม่ก็เหมือนกับร่วมบวชด้วย นะฮะ ทำ ทำบุญกุศลเต็มที่เพื่อให้ลูกได้บวช และก็ติดตามคอยดูคอยฟังตลอดเวลา ใจก็มาอยู่กับท่านที่บวชเนี่ย นั้นก็เหมือนกับว่าทำบุญร่วมกันตลอดเวลา ถ้าท่านทำได้ดีก็โยมก็ได้บุญได้กุศลด้วย ในแง่นี้ก็เหมือนกับรับ ท่านรับผิดชอบต่อโยมพ่อแม่ปู่ย่าตายายท่านผู้ใหญ่ไปด้วยกันหมด แต่ว่าก็หมายถึงรับผิดชอบต่อประชาชนทั้งหมดที่ได้เกี่ยวข้องกับวัดเนี่ย แล้วก็เกี่ยวข้องกับพระศาสนา
นี้เกี่ยวข้องกับตัวเองก็อย่างที่บอกเมื่อกี้การเล่าเรียนศึกษาเจริญไตรสิกขาที่ตัวเองจะต้องทำ ต่อไปรับผิดชอบต่อสงฆ์ส่วนรวม อันนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ ก็คือ เราก็ต้องช่วยให้สังฆะส่วนรวมเนี้ยดำรงอยู่ด้วยดี เป็นสังฆะที่มีความงดงาม แล้วก็จะสามารถดำรงพระศาสนาได้ แล้วก็เป็น สังฆะนี่เองก็มีความหมายต่อสังคม เพราะสงฆ์นี่แหละไปโยงกับประชาชนทั้งหมด อยู่ร่วมกัน สงฆ์ก็มีเพื่อประชาชน เพื่อสังคม แล้วก็สงฆ์ก็อยู่ได้ด้วยสังคม ถ้าสังคมไม่ศรัทธา ไม่เกื้อหนุน สังฆะก็อยู่ไม่ได้ หรือสังฆะ พระสงฆ์นี่ไปชักจูงประชาชนในทางที่ผิด สังคมก็เสื่อมลงไป ใช่มั้ยฮะ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีความรับผิดชอบด้วยกัน
ก็มาถึงแต่ละองค์เนี่ยต้องรับผิดชอบต่อประชาชนไปด้วย ก็การรับผิดชอบต่อประชาชนก็ต้องรับผิดชอบต่อสังฆะ และสังฆะนี่เอง เมื่อสังฆะดี นะฮะ มีความงดงาม นะฮะ ดำเนินกิจวัตรเป็นไปด้วยดี มีสามัคคีมีความพร้อมเพรียง สังฆะนั้นก็เป็นสภาพเอื้อต่อการเจริญไตรสิกขา ต่อการพัฒนาตัวของแต่ละท่าน ถ้าสังฆะไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ละท่านก็ประพฤติปฏิบัติลำบาก นะฮะ อย่างส่วนรวม หลายองค์เขาไม่เอาใจใส่การศึกษาเนี่ย มีองค์หนึ่ง หรือสองสามองค์จะเอาใจใส่ ก็ลำบากองค์เหล่านั้นที่ตั้งใจก็จะติดขัด วุ่นวาย ดำเนินไปได้ไม่ดี
แต่ถ้าสังฆะทุกองค์มีความพร้อมเพรียงกัน แต่ละองค์ตั้งใจทำหน้าที่ สังฆะนั้นก็เป็นระเบียบเรียบร้อย งดงามด้วย และก็เกื้อหนุนให้แต่ละท่านเนี่ยได้สามารถพัฒนาชีวิตของตัวเองเจริญไตรสิกขาได้เต็มที่ แล้วก็องค์อื่นๆก็จะมาเกื้อหนุนกัน เช่นมีความสนใจร่วมกันก็มาถกเถียง มาสนทนาปราศรัย มาหาความรู้ร่วมกัน ครูอาจารย์ก็จะมาช่วยให้คำแนะนำปรึกษากับท่านที่เป็นศิษย์ ก็ชีวิตที่มีสังฆะก็คือเราจัดตั้งเนี่ยเพื่อให้ชุมชมหรือสังคมเนี่ยเป็นสภาพที่เอื้อต่อการพัฒนาตนของแต่ละคนนี้เอง นะฮะ
แต่ว่ามองไปในแง่หนี่งก็เหมือนกับเราแต่ละคนนี่รับผิดชอบต่อส่วนรวมช่วยให้สงฆ์งาม แต่ความจริงมันย้อนกลับมาก็คือสัง สังฆะงดงาม มีความสามัคคีพร้อมเพรียงกันดี ก็เป็นสภาพเอื้อให้แต่ละท่านพัฒนาตนเองดี ถ้าไม่สามัคคีกัน มีความขัดแย้งกันเท่านั้นแหละก็ยุ่งแล้ว ใจเราก็มีความขุ่นมัวเศร้าหมอง การที่จะได้เจริญไตรสิกขาเล่าเรียนศึกษามันก็ไม่ปลอดโปร่ง มันก็ติดขัดไปซิ นะฮะ
เพราะฉะนั้นก็เลย ท่านก็เลยเน้นเรื่องชีวิตส่วนรวมที่เป็นสังฆะ และมันก็มาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน แต่ละบุคคล ตั้งใจประพฤติปฏิบัติดี รับผิดชอบต่อสงฆ์ ก็ทำสงฆ์ให้งาม งั้นสงฆ์ที่งาม มีความสามัคคีเรียบร้อยดี ก็กลับมาเกื้อหนุนแต่ละบุคคลให้เจริญงอกงามเนี่ย เป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผู้ที่ปฏิบัติชอบดีเนี่ยท่านเรียกว่าสังฆโสภโณ แปลว่า ผู้งามในสงฆ์ก็ได้ ผู้ทำสงฆ์ให้งาม นะฮะ
ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ท่านยกย่องแล้วก็กระตุ้นหนุนให้เราพยายามทำตัวอย่างนั้น แล้วก็เน้นเรื่องความสามัคคี ความพรักพร้อมเพรียงกันทำกิจต่างๆ แล้วก็มีใจร่วมกันที่จะทำให้เราทำอะไรก็ปลอดโปร่ง พอมีความสามัคคีกัน มีความปรารถนาดีต่อกัน แล้วทีนี้จะทำอะไรก็เท่ากับมาเป็นกำลังใจแก่กัน ก็ยิ่งทำได้ผลดีต่างๆ ทั้งภายในแต่ละองค์ก็ทำได้ผลดี ทั้งภายนอก เวลามีกิจการร่วมกันก็มาร่วมกันทำอีกก็สำเร็จผลได้ดี เนี่ย นี่คือเรียกว่ารับผิดชอบต่อส่วนรวมต่อสังฆะ
แล้วต่อไปก็ขยายไปถึงประชาชน แล้วก็สังฆะ ประชาชนก็ สังฆะก็เอาวัดเป็นที่กำหนด วัดก็สัมพันธ์กับชนนอกวัดตั้งแต่เช้า พระไปบิณฑบาตก็สัมพันธ์กับญาติโยม และ และก็โยมก็มาวัดก็สัมพันธ์กัน ชีวิตพระนี่ก็ย้ำในที่นี้บอกว่า คนข้างนอกบางทีไม่ได้เล่าเรียนศึกษาพอเนี่ย ไม่เข้าใจนึกว่าพระสงฆ์เป็นนักบวชเหมือนอย่างกับพวกฤาษี นะฮะ ฝรั่งบางทีก็ไปเข้าใจผิด เคยมี ก็ตำราฝรั่งก็เรียกพุทธศาสนาเป็นแบบพวกลัทธิฤาษี ลัทธิฤาษีชีไพรเขาเรียกว่า asceticism ซึ่งต่างกันมากกับพุทธศาสนา
พวกฤาษีชีไพรนั่นก็คือเขารังเกียจสังคม เขาก็ตัดขาดจากสังคม ปลีกตัวไปจากสังคมไปอยู่ป่า แล้วก็ไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร แล้วไปหาเผือกหามันกินเอง ไม่พึ่งพาชาวบ้าน นานๆก็ไปหาเกลือซะทีนึง มาในหมู่บ้านเพื่อหาเกลือ ว่างั้น สมัยก่อนเป็นอย่างงั้น ก็นอกจากนั้นแล้วก็กินเผือก กินมัน กินผลไม้ อยู่ลำพัง แล้วก็บำเพ็ญสมาธิ ได้ฌานก็เล่นฌาน มีความสุขกับการเล่นฌาน เรียกว่า ฌานกีฬา นะฮะ เป็นกีฬาชนิดหนึ่ง ฌานกีฬา สนุก พวกฤาษีนี่เล่นฌานกีฬา ก็เป็นอย่างเงี้ย
ทีนี้ พระพุทธเจ้าตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นมา พระพุทธเจ้าไปเห็นแล้ว ชีวิตแบบเนี้ยพระองค์ถือว่าเป็นสุดโต่ง ตัดขาดจากสังคมไปเลย พระองค์ก็มาตั้งคณะสงฆ์ขึ้นมา แล้วก็ให้ชีวิตพระเนี่ย หนึ่ง อยู่กันเป็นชุมชน มีความรับผิดชอบต่อกัน สังฆะอยู่ร่วมกัน แม้จะให้มีความสงบ วิเวก นะฮะ ก็คือถือความวิเวก สงบ เป็นสำคัญ แต่ไม่ให้ตัดขาดจากชุมชน จะไปอยู่แบบฤาษีตัวคนเดียว หรือสองคนไม่ได้ ก็หมายความมีชุมชนของตัว อย่างน้อย 15 วันต้องมาประชุมกัน นะฮะ แล้วต่อจากนั้นจะไปอยู่สงบก็ไม่ว่า นะฮะ แล้วนอกจากบางครั้ง ระยะ บางระยะก็ยอมให้ เช่นว่า ปลีกตัวพิเศษสำหรับพรรษานี้ โดยอย่างพระพุทธเจ้าเองก็เคยไปจำพรรษา พรรษานั้นก็ทรงปลีกพระองค์แล้วก็มีพระที่ส่งภัตตาหารเฉพาะ
แต่โดยปกติ เราไม่นับกรณียกเว้น ก็คือพระต้องอยู่กันเป็นชุมชน มีความสงบ แต่ก็มีชีวิตเป็นสังฆะด้วย คำว่าสังฆะเนี่ยเป็นตัวบอกเสร็จว่า ในพุทธศาสนาหลักการนี่มุ่งสังคม นะฮะ ไม่ให้ตัดขาด คือ แต่ว่าเป็นทางสายกลางก็คือไม่ร่วมสังคมจนกลายเป็นคลุกคลี นะฮะ แล้วก็ไม่ใช่ว่าห่างจากสังคมจนกลายเป็นตัดขาด นะฮะ ก็หนึ่งก็คือ ในหมู่พระด้วยกันก็ต้องมีการประชุมกัน เวลามีกิจส่วนรวมก็ต้องมาประชุมกันพิจารณาตัดสิน เพราะฉะนั้นก็แปลว่า ตัดขาดจากสังคมไม่ได้ในแง่ของชีวิตของพระเอง นะฮะ
สอง ก็ในแง่ของประชาชน ก็บัญญัติไม่ให้พระนี่หากินเอง นะฮะ จะไปเก็บเผือกเก็บมันมาฉันไม่ได้ เก็บผลไม้มาฉันเองไม่ได้ ต้องให้ฝากท้องไว้กับประชาชน อันนี้ก็เป็นตัววินัยที่ทำให้พระเนี่ยไม่สามารถตัดขาดจากสังคม นะฮะ ท่านก็เลยให้พระเนี่ย อยู่ในป่าก็อยู่ไกลไม่ได้ นะฮะ อยู่ห่างได้แค่เรียกว่า 500 ชั่วธนูเท่านั้นเอง ก็ 500 วา นะฮะ ชั่วธนูก็คือวานึง ทีนี้ 500 ชั่วธนู 500 วา ก็หนึ่งกิโลเมตรนึง นะฮะ ก็หมายความว่าต้องอยู่ในเขตที่จะมาบิณฑบาตได้ เนี่ย ชีวิตพระก็ตัดขาดจากประชาชนไม่ได้ ก็ฝากท้องไว้กับประชาชน แต่ไม่ให้ไปคลุกคลีนะ นะฮะ จะได้เป็นหลักให้แก่ประชาชน เพราะตัวเองนั้นมีหน้าที่พิเศษ ชาวบ้านเขาวุ่นวายกันเรื่องชีวิตของเขา หากิน หาเสพอะไร ของพระนี่มุ่งในทางเขาเรียกว่าทางนามธรรม ทางด้านพัฒนา เช่นว่า ทางด้านจิตใจ ได้เข้าถึงภูมิธรรม ภูมิปัญญาที่สูง ก็นำเอาสิ่งที่ตัวได้เนี่ยมาแจกจ่ายประชาชน ก็เลยเกิดความสัมพันธ์ขึ้นระหว่างพระสงฆ์กับประชาชน
นี้พระสงฆ์กับประชาชนมาเจอกัน นะฮะ พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ให้พึ่งพากันและกัน ท่านเรียกว่า อนฺโยนฺย นิสิตา ต่างฝ่ายต่างเป็นนิสิต นิสิตา ก็นิสิต เป็นอนฺโยนฺย อนฺโยนฺย ก็แปลว่าซึ่งกันและกัน อนฺโยนฺย นิสิตา ก็แปลว่า พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน พระก็พึ่งโยม โยมก็พึ่งพระ พึ่งยังไงก็คือว่า พระเนี่ยพึ่งโยมในแง่ของปัจจัยสี่ เรื่องวัตถุท่านเรียกว่าอามิส อามิสก็ไม่เหมือนในภาษาไทย นะฮะ อามิสก็คือวัตถุประสงค์ของสิ่งของปัจจัยสี่อะไรนี่เรียกว่าอามิส ไทยเราถ้าพูดอามิสแล้วเดี๋ยวเข้าใจไปว่าเป็นไอ้พวกของที่มาให้สินจ้างสินบนอะไรไปเลยนะฮะ ทีนี้อามิสสินจ้าง นะฮะ ใช่มั้ยฮะ เช่นอย่างคำตรงนี้ อามิสในที่นี้ก็คือวัตถุปัจจัยต่างๆ พระก็พึ่งพาชาวบ้าน
ส่วนว่าชาวบ้านก็พึ่งพาพระในแง่ที่ว่า พระเนี่ยได้ไปค้นคว้าศึกษามาพัฒนาตนเอง มีประสบการณ์ทางภูมิธรรม ภูมิปัญญาก็เอามาแจกจ่าย ก็เลยให้แก่กันและกัน ชาวบ้านก็ถวายเป็นเรียกว่าอามิสทาน นะฮะ ให้วัตถุสิ่งของแก่พระ ส่วนพระก็ให้ธรรมะ เรียกว่า ธรรมทาน ก็จำกันไว้ง่ายๆเลย หน้าที่ระหว่างพระสงฆ์กับประชาชน พระสงฆ์ก็ถวายอามิสทาน ถ้าพระก็ให้ธรรมทาน ให้ธรรมทานแก่ประชาชน นี้ถ้าหากว่าทั้งสองฝ่ายทำหน้าที่ของตนเองด้วยดีก็จะทำให้โลกนี้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข
พระพุทธเจ้าเนี่ยต้อง ไม่ต้องการให้พระไปโดดเดี่ยวอยู่ต่างหาก แต่ก็สัมพันธ์ ก็ ก็สัมพันธ์กันเพียงว่า มาพบกันด้วย มีข้อผูกพันที่พระต้องพึ่งฝากท้องไว้ แล้วก็เลยเป็นโอกาสให้พระได้พบ แล้วก็ใช้โอกาสเนี้ย ในการที่จะแนะนำสั่งสอนให้ความรู้ อย่างน้อยก็ให้โดยไม่ต้องพูด
ให้ธรรมนี่มีสองอย่าง คือให้โดยพูดกับให้ไม่ต้องพูด ให้ต้องพูดก็เป็นธรรมดา ก็แนะนำสั่งสอนไป ให้โดยไม่ต้องพูดก็คือ พระปรากฏตัวที่ไหนนี่ ต้องให้ประชาชนได้ความดีความงาม ได้จิตใจที่ร่าเริงเบิกบานผ่องใส ให้พัฒนาขึ้น นะฮะ อย่างว่า พระมีความประพฤติดี ปฏิบัติชอบ มีความสำรวมเป็นเครื่องหมายความไม่มีภัย พระเนี่ยเป็นสัญลักษณ์ความไม่มีภัย นะฮะ เป็นผู้สงบ ไม่มีภัยอันตราย
พอประชาชนเห็นพระเมื่อไหร่เนี่ย ต้องจิตใจสบาย โอนี่ คือไปเจอพระปั๊บ รู้สึกว่าที่นี่ปลอดภัย โปร่งโล่งใจ และก็รู้สึกว่าท่านเป็นผู้เจริญงอกงาม เป็นตัวแทนของธรรมะ แล้วได้ที่เรียกว่า ปสาทะ จิตใจเบิกบานผ่องใส นะฮะ แล้วจิตใจก็โน้มไปหาธรรมะ เพียงได้แค่นี้ก็ พระก็ปรากฏตัวที่ไหนก็ให้โยมได้ธรรมะเมื่อนั้น จะได้จิตใจดีงามก็เป็นธรรมะแล้ว นะฮะ ให้ธรรมะโดยไม่ต้องพูด นี้ถ้ามีโอกาสก็ให้ธรรมะโดยการแนะนำสั่งสอนบอกกล่าว ตัวมีประสบกาณ์อะไรก็ให้ไป และ แต่ว่าให้ธรรมะโดยไม่ต้องพูด นี่แม้ยังไม่ได้เล่าเรียนอะไร ก็เพียงว่าประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในระเบียบวินัยก็ได้ผลแล้ว
นั้นท่านจึงน่ะเน้นเรื่องของการปรากฏตัวของพระ ทำไมพระจึงต้องห่มผ้า ระมัดระวัง จะต้องเดินสำรวมอะไรก็เพื่อ เนี้ยเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ตัวเองก็ได้ฝึกหัดขัดเกลาไปด้วย ฝึกตัวเอง แต่พร้อมกันนั้นก็คือเพื่อประโยชน์กับประชาชน อย่างน้อยมนุษย์เรานี่ ก็ถ้าเราหวังดีต่อกัน นะฮะ คนเราแต่ละคนก็ต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี เจริญตา เจริญใจ ทีนี้ก็แต่ละคนก็เป็นสิ่งแวดล้อมแก่กันและกัน คนเราแต่ละคนเมื่อปรากฏตัวแก่คนอื่นก็ควรทำให้คนอื่นเขาจิตใจสบาย ยิ่งเป็นพระด้วยก็ควรเป็นผู้นำ นั้นก็ปรากฏตัวที่ไหน เมื่อไหร่ โดยเฉพาะแก่ประชาชนก็ให้เป็นเครื่องชื่นชูจิตใจของประชาชน นะฮะ ก็จะได้ผลทันที
นั้นก็เป็นหลักมาแต่โบราณเลย นะฮะ ว่าวัดวาอารามพระสงฆ์นี่เป็นเครื่องจรรโลงจิตใจชองสังคม นะฮะ ทำให้สังคมเจริญงอกงามขึ้น ในทางจิตใจ ตั้งแต่เพียงได้ความรู้สึก แล้วต่อจากนั้นก็ได้ทางด้านปัญญา ความรู้ความเข้าใจ ก็ได้ขึ้นไปเป็นขั้นๆ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ นะฮะ รับผิดชอบต่อประชาชน ก็มีความสัมพันธ์ต่อกัน ญาติโยมไปมา ก็ทีนี้ถ้าพระสามารถ ก็ให้ความรู้แนะนำสั่งสอน นี้ก็เป็นเรื่องที่ว่า วัฒนธรรมของเราก็มาอาศัยหลักการเนี่ย ก็พัฒนาจนกระทั่งว่าได้ผลในโบราณเรานี้ก็มีเรื่องความสัมพันธ์ของพระกับประชาชนนี่จนกระทั่งว่า ประชาชนมีความเคารพเลื่อมใสมาก ที่กราบไหว้พระสงฆ์ เห็นเมื่อไหร่ก็จิตใจเขาผ่องเบิกบาน เขามีความสุข นะ ได้ปีติ เช้าพระไปบิณฑบาตนี่เห็นพระเดินมาเป็นแถว สำรวม เดินเรียบร้อยสงบ ห่มผ้าก็เรียบร้อยนะฮะ
สมัยก่อนนี้ก็อยู่กันชนบทนี่เป็นทุ่งนา นะ วัดก็อยู่ห่างออกไป เดินตัดทุ่งนามา มาหมู่บ้าน ชาวบ้านตื่นขึ้นมาก็นึกถึงเรื่องบุญกุศล ก็ไปจัดเตรียมขันข้าวตักบาตรมาเตรียม มายืนเข้าแถวกัน ตัวแต่ละคนก็คิดแต่เรื่องที่ดีตั้งแต่ตื่น นะ
เตรียมการก็นึกถึงบุญกุศล เริ่มวันด้วยจิตใจที่เบิกบานผ่องใสสดชื่นมีความสุข มาพบกันก็พูดถึงเรื่องว่าจะตักบาตร จะอะไร พูดถึงเรื่องดีงาม นะฮะ ก็โน้มนำจิตใจไปในความดี
แล้วก็เตรียม นะฮะ ชาวบ้านเขาก็ตั้งแถว นะฮะ ตั้งโต๊ะ ตั้งขัน อะไรเนี่ย หรือยืนถือ แต่ยืนเป็นแถว นะ พระท่านก็มาเป็นแถว เดินมา ตัดท้องทุ่งมาตามคันนา แสงแดดยามเช้าส่องมาต้องสีจีวรสดใส นะฮะ ญาติโยมเห็นจีวรพระเดินมาก็จิตใจปลาบปลื้ม เกิดความปีติสดชื่นเบิกบาน นะฮะ เนี่ย เป็นบรรยากาศที่สัมพันธ์กับพระศาสนา เรียกว่าให้ผลตั้งแต่เช้าเลย ทำให้จิตใจประชาชนมีความสุขได้เป็นจิตใจที่เป็นบุญเป็นกุศล เขาก็มาแล้วก็ตักบาตรไป นะฮะ นี่ก็คือ ที่จริงสมัยตอนที่เจริญงอกงาม
แล้วถึงพระไม่บิณฑบาตก็ได้อะไร เพราะประชาชนเลื่อมใสมากก็เอาปิ่นโตไปไว้ตามบ้าน มีลูกศิษย์อีก ชาวบ้านก็มีลูกอายุ 7 ขวบก็ไปแล้ว ไปวัด นะฮะ ลูกก็ไปช่วยเอาปิ่นโตไป ถึงพระไม่มาก็เอาปิ่นโตไปได้ นะฮะ แต่ทีนี้ว่าเราถือเป็นกิจวัตร นะฮะ เพราะว่าพระจะได้ทำหน้าต่อประชาชน เนี่ยก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีที่มีผลเข้าไปถึงชีวิตจิตใจแล้วมันก็เลยคงทนอยู่ได้ นะฮะ
นี้ต่อมานี่ตอนนี้สังคมชักวุ่นวายสับสนไปหมด จนกระทั่ง ประเพณีวัฒนธรรมมันเหลือมาในสภาพที่ขาดวิ่น เว้าแหว่ง ไปหมด ไม่สมบูรณ์ นี้ถ้าหลักกการรักษาไว้ไม่ได้ก็เสื่อม เพราะฉะนั้นเราก็ต้องตั้งหลักนี้ไว้ให้ดี นะฮะ พระสงฆ์เราก็ ท่านก็วางหลักไว้ อย่างในทิศ 6 ใช่มั้ยฮะ ให้มีจิตใจเนี่ยหวังดีตั้งใจอนุเคราะห์ญาติโยมประชาชน ในทิศ 6 ก็จะมีหลักว่า ชาวบ้านมีหน้าที่ ไม่ใช่หน้าที่หรอก ก็คือข้อความปฏิบัติต่อพระสงฆ์อย่างไร แล้วพระสงฆ์ควรปฏิบัติต่อชาวบ้านญาติโยมอย่างไร นะฮะ พระสงฆ์ก็ควรปฏิบัติต่อญาติโยม 6 ข้อ หลวงลุงครับ เพื่อจะไม่ให้หลับ ทิศ 6 พระสงฆ์ปฏิบัติต่อญาติโยมยังไงบ้าง ฮะ มีอะไรบ้างนะฮะ พระสงฆ์
หลวงลุง : เอ ลืมไปเลย ให้ขึ้นต้น
อ้าว ถ้าได้ข้อ 1 แล้วท่านไปได้ อ้าว ใครเริ่มข้อ 1 ให้ นะฮะ ให้ไปถึงว่า ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง นะฮะ ทำสิ่งที่ฟังแล้วให้ชัดเจนแจ่มใส นะฮะ ก็ให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง บอกทางสวรรค์ให้ อะไรนี้นะฮะ อะไรเริ่มข้ออะไรว่าไง มีก็ข้ออนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม นี้ก็ได้กี่ข้อแล้ว สี่ ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ยังไม่เคยรู้ไม่เคยฟัง ทำสิ่งที่ได้ฟังได้รู้แล้วให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง ให้คลายสงสัย และก็ลงท้ายบอกทางสุขทางสวรรค์ให้ ทีนี้ย้อนขึ้นมาข้างต้นก็มี การอนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม นะฮะ แล้วก็อะไรล่ะทีเนี้ย เหลือ 2 ข้อล่ะทีนี้นะฮะ 2 ข้อ หน้าที่ของพระ ติดๆกันอย่างงี้ดี เพราะว่าจะได้เป็นจุดเน้นให้ไปสนใจ เอาไปเติมซะให้เต็มนะฮะอีก 2 ข้อ นะฮะ อีก 2 ข้อไปเติมให้เต็ม หน้าที่ของพระ นะฮะ ให้ไปค้นเลย
หน้าที่ของพระสงฆ์ต่อประชาชนมีมากถึง 6 ข้อ ในทิศ 6 นั้น หน้าที่ของคนอื่น พ่อ แม่ กับลูกๆ ลูกต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์ต่อศิษย์ ศิษย์ต่อครูอาจารย์ สามีต่อภรรยา ภรรยาต่อสามี เพื่อนต่อเพื่อนอะไรเนี่ย คนงานในงาน มีหน้าที่ต่อกันอย่างไรเนี่ย มีฝ่ายละ 5 เท่านั้น นะฮะ มีพระสงฆ์เนี่ยมีหน้าที่ 6 พิเศษกว่าเขา นะฮะ มากที่สุด นี้ก็บางทีพระก็ลืมหน้าที่ของตัวเอง ทีนี้ก็ให้มั่นในหน้าที่ นะฮะ ต่อประชาชน เนี่ยสำคัญมาก เพราะการปฏิบัติหน้าที่ต่อประชาชนเนี่ย มองในแง่หนึ่งก็คือการเกื้อกูลต่อประชาชน ต่อญาติโยม หวังดี ปรารถนาดีต่อเขา แต่ที่จริงคือตัวเองนั้นได้ปฏิบัติธรรม ก็ตัวเองก็คือฝึกตัวเอง
เมื่อเราประพฤติความดีต่อผู้อื่น ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นก็ตัวเราก็ฝึกตัวเอง พัฒนาตัวเอง มันไปด้วยกันแหละ นะฮะ ที่ว่าประโยชน์แก่ผู้อื่นกับทำประโยชน์แก่ตัวเองเนี่ยพัฒนาไปด้วยกัน พึ่งพาซึ่งกันและกัน และยิ่งเราคิดหาทางทำประโยชน์เขา โดยทางชอบธรรมขึ้นมา เราก็ยิ่งพัฒนาตัวเอง ต้องคิดหาทางว่าทำยังไงจึงได้ผลดี ใช่มั้ย งั้นเราก็ยิ่งพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้นเรื่องเนี้ยมันเป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ไม่ใช่จะมองไปว่า โอ๊ นี่เราจะไปทำให้แต่คนอื่น ไม่ใช่ยังงั้น ที่จริงเนี่ยทำให้คนอื่นก็คือทำให้แก่ตัวเอง และทำในสิ่งที่ดีงามถูกต้อง เป็นการฝึก ไม่ใช่เป็นแบบว่า กินเสพ กินเสพ แบบนั้นแย่งกัน นะฮะ ถ้าทำประโยชน์แก่กันแท้ๆแล้วมันเกื้อกูลซึ่งกันและกันตลอดเวลา
นี้ ในแง่ของประชาชนนี้ก็สำคัญ แบบว่าวัดก็อยู่กับประชาชนแล้วก็พระศาสนามีไว้เพื่อประโยชน์สุขกับประชาชน อันนี้ก็ให้มานึกถึงหลักการใหญ่หรืออุดมคติของพุทธศาสนา ให้มองเห็นว่าเรื่องของประโยชน์ตนก็คือการพัฒนาชีวิตให้ดีเจริญงอกงามขึ้นเนี่ย กับประโยชน์ผู้อื่นหรือประโยชน์แก่โลกเนี่ยมันอาศัยซึ่งกันและกัน นั้น เราพูดถึงจุดหมายของพุทธศาสนาเราก็จะพูดถึงพระนิพพาน ใช่มั้ยฮะ พระนิพพานนี่ก็คือจุดหมายเพื่อตน แต่จุดหมายเพื่อตนนั้น ที่จริงก็คือไม่ได้ทำอะไรให้กับตนเองเลย ฝึกตัวเอง นะฮะ ตอนที่ว่าทำให้ฝึกตนเอง ความจริงก็คือทำให้ตนเองหมดกิเลส นะฮะ ทำเพื่อนิพพาน ไม่ได้ เรามาทำเพื่อตน มันเป็นสำนวน จริง ทำเพื่อตน แต่ที่จริง ก็คือทำให้หมดตน ใช่มั้ยฮะ
เพราะนิพพานน่ะคือหมดตนนั่นเอง ถ้าทำเพื่อตนอะไรแล้ว นิพานก็คือหมดตน ใช่มั้ยฮะ ดับเลยตน น่ะ พอ พอถึงนิพพานก็หมด หมดตนแล้ว เนี่ยก็คือไอ้ตัวตนอัตตามันมีอยู่ มันเรียกร้อง มันเรียกหา มันขาด มันพร่อง มันหิว มันจะเอาเรื่อย ทีนี้มันก็หาความสุข มันก็เบียดเบียนแย่งชิงซึ่งกันและกัน นี้เราก็พัฒนาไปพัฒนามา ไอ้ตัวตนก็คือความยึดมั่นในตัวตนมันหมด พอมันหมด มันก็เต็มอิ่ม ไม่ต้องหาความสุข ไม่มีอะไร ท่านเรียกว่าไม่มีกิจต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป นะฮะ
ผู้ที่บรรลุนิพพานนี่ ไม่มีกิจต้องทำเพื่อตัวเอง แม้แต่ความยึดมั่นในตนมันก็หมด ไม่มีตนที่โหยหิว ไม่มีตนที่จะพร่อง จะขาด นะฮะ มันเต็มอิ่ม มีความสุขอยู่ในตัวเองโดยไม่ต้องหา พอมีความสุขเต็มอิ่มในตัวเองแล้ว คราวนี้ก็ทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ นั้นบุคคลก็นิพพานไป นะฮะ นี่คือจุดหมายในการเจริญไตรสิกขา ที่เราเจริญไตรสิกขาก็เพื่อจุดหมายเนี้ย ก็คือเพื่อนิพพาน ในความหมายหนึ่งก็คือดับความยึดมั่นในตัวตน ก็ดับกิเลสหมด ดับกิเลสก็รวมความยึดมั่นในตัวตน ตัวตนมันก็ไม่มีในความยึดมั่นต่อไป มีแต่ตัวโดยสมมติเรียกขานกันเท่านั้นเอง พอดับไอ้ตัวตนที่ยึดมั่นไว้ได้ นี้ทีนี้ มันก็ไม่มีตัว อย่างที่บอกเมื่อกี้ ตัวหิวโหย เรียกร้อง ขาดคล่อง แล้วก็ มันก็มีความสุข เป็นต้น เต็มอิ่มในตัว ท่านจึงเรียกว่าไม่มีกิจต้องทำเพื่อตนเองอีก
ทีนี้ก็มีจุดหมายพุทธศาสนาอีกข้อหนึ่งที่ว่า พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ ก็แปลว่า เพื่อประโยชน์สุขแก่พหูชนเพื่อเห็นแก่ หรือเพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกนี่แหละจุดหมายพุทธศาสนาก็เลยมารับอันที่สอง คือ จุดหมายเพื่อโลก บุคคลนิพพานแล้วทีนี้ก็ทำการเพื่อโลกได้เต็มที่ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ท่านก็ไม่ต้องมีเรื่องตัวเองแล้ว ก็จาริกไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน แม้แต่พระพุทธศาสนาทั้งหมดเนี่ย พระพุทธเจ้าก็จะตรัสบ่อยๆว่า พรหมจรรย์นี้หรือพระศาสนานี้ดำรงอยู่เพื่อประโยชน์สุขแก่ประชาชน นะฮะ เพื่อชาวโลก อันนี้คือจุดหมายของพระศาสนา นะฮะ
ถ้ามองในแง่ตัวเองก็คือไปดับอัตตา ดับตน เป็นนิพพาน ถ้ามองในแง่กว้างก็คือ จะได้บำเพ็ญประโยชน์สุขแก่ชาวโลก พอตัวเองยิ่งดับความเห็นแก่ตัว ดับไอ้เรื่องความยึดมั่นในอัตตาเท่าไหร่ มันก็ยิ่งสามารถบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นได้เท่านั้น ในระหว่างนี้ก็เราก็บำเพ็ญกิจ เช่นว่า ทำความดี ฝึกตนเองไปในการฝึกตัวเองนี้ส่วนหนึ่งก็คือการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น เมื่อเราประพฤติดีต่อผู้อื่นก็เป็นการฝึกตัวเองพัฒนาตัวเองไปด้วยตลอดเวลา นะฮะ เราพูดดีต่อผู้อื่น เราก็ได้ฝึกตัวเองด้วยในทางวาจา เราต้องคิดว่าพูดยังไงให้เขาได้ประโยชน์ ให้เขาเจริญงอกงาม ให้เขาได้รู้เข้าใจ ได้เข้าใจธรรมะ เราก็ต้องฝึกตัวเองให้พูดให้ได้ ใช่มั้ยฮะ เราก็เลยได้ผลอีก นะฮะ อันนั้นก็ตั้งใจปรารถนาดีกับญาติโยม
อันนั้นก็เริ่มตั้งแต่ไปบิณฑบาต เราก็ไม่ได้ตั้งใจว่า อู้ เราไปนี่เราจะได้อาหารมากเท่านั้นเท่านี้ ไม่ควรไปคิดอย่างงั้นนะฮะ ก็ไปแล้วญาติโยมเขาเห็นประโยชน์ เขาเห็นพระมีคุณค่า เขาก็ถวายเป็นเรื่องของศรัทธา แต่เราไปนี่ต้องตั้งใจไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกจริงๆ ตั้งใจปรารถนาดีต่อโยมว่า ให้โยมได้เห็นพระ อ้า เราประพฤติปฏิบัติแล้วก็ให้โยมเห็นแล้วก็จิตใจสบาย ได้ปสาทะจิตใจผ่องใสเบิกบาน ให้เขาได้บุญได้กุศล ตั้งใจดี นะฮะ คือตั้งใจดีต่อญาติโยมนั่นแหละ นะฮะ แล้วการประพฤติตัว การเดิน การอะไร มันจะไปเอง ไปเป็นเพื่อจุดหมายที่ดี ให้โยมเนี่ยได้ประโยชน์ ตั้งใจดีต่อญาติโยม
วัดที่ นี่ก็เหมือนกัน อ้าว ญาติโยมมาวัด เราไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปนึก ไม่ต้องไปมองว่า เอ้อ โยมมานี่จะเอาอะไรมาถวายพระ จะเอาอะไรมาให้วัด ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปมอง ไม่ต้องไปนึก เขาจะมาไง ข้อสำคัญก็คือต้องมองว่า ทำอย่างไรเราจะให้วัดของเราเนี่ย เป็นประโยชน์ สามารถทำประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชน ญาติโยมที่มาวัด ให้เกิดประโยชน์สุขโดยธรรม นะฮะ ประโยชน์สุขโดยชอบธรรม ไม่ใช่ประโยชน์สุขที่ไม่ชอบธรรม ประโยชน์สุขที่ไม่ชอบธรรมก็มี ใช่มั้ย นะฮะ ไม่งั้นก็จะไม่มีหรอก แบบว่า ฉันก็บำเพ็ญประโยชน์สุขของการให้หวย อย่างงี้ก็ไม่ใช่ประโยชน์สุขที่ชอบธรรม
ประโยชน์สุขที่ชอบธรรมก็ต้องเป็นเรื่องที่ถูกธรรมวินัย นะฮะ ก็อย่างน้อยก็ เออ โยมมาวัดแล้ว เขาเห็นวัดร่มรื่น สะอาดสะอ้าน มีธรรมชาติ จิตใจเรา ท่านก็สงบ รื่นรม โน้มมาสู่ธรรม หายกลุ้ม หายกังวล หายทุกข์ หายความเร่าร้อน จิตใจสบาย สดชื่น ผ่องใส เบิกบาน นี่แหละ นะฮะ เนี่ยอย่างน้อยก็ให้ญาติโยมเนี่ยมาวัดแล้วได้ประโยชน์อย่างนี้
พอเราคิดอย่างงี้ เราก็ต้องพยายามทำไง จัดวัดให้เกื้อกูลต่อจิตใจญาติโยม นะฮะ แล้วก็ต่อจากนั้นก็ อ้าว ญาติโยมให้ได้ประโยชน์สุขเพิ่มเข้าไปอีก นะฮะ มาแล้ว ถ้าเรามีธรรมะ ธรรมะโดยตรง โดยพระสอนอบรมก็ได้ นะฮะ มีโอกาสก็พูดจาอธิบายไป หรือเขาจะมาถามปัญหาอธิบายไป หรือเขามาถามปัญหา ก็ตอบ ชี้แจงให้ หรืออาจจะให้หนังสือ ให้เทป อะไรก็แล้วแต่
อันนี้ก็คือวัตถุประสงค์ในการที่ทำให้ญาติโยมมาวัดแล้วได้ประโยชน์สุขจากธรรมะจากพระศาสนา นะฮะ ก็เป็นอันว่าตั้งจิตตั้งใจแต่ในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ญาติโยมประชาชนมาวัดแล้วเนี่ยได้ประโยชน์สุขอันชอบธรรมไป นะฮะ ตั้งใจอย่างเงี้ย แล้วทุกอย่างจะดีเอง ไม่ต้องไปคิดว่า เออ วัดเรานี่ทำไงจะเด่น วัดเราจะได้เป็นหนึ่ง หรือว่า นะฮะ แน่ อะไรเงี้ย นะฮะ ไม่ต้องไปคิด นะฮะ คิดแต่เพียงว่าทำไงให้วัดเนี่ยสามารถทำประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นแก่ญาติโยม ตั้งแต่จิตใจเป็นต้นไป แล้วมันจะเป็นไปเอง เราก็จะพยายามทำ จัดวัดทำอะไรต่ออะไรให้มันดี นะฮะ ก็อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ว่า เราจะปฏิบัติธรรมไปในตัว เมื่อตั้งจิตถูกทางแล้ว นะฮะ ก็ทำหน้าที่ต่อประชาชนถูกต้องด้วย ตัวเองก็จะพัฒนา เจริญไตรสิกขาไปด้วย
อันนี้ก็แปลว่าเริ่มต้นตั้งแต่นี้ไป เราก็จะได้เจริญไตรสิกขา แล้วก็มีการรับผิดชอบ ทำกิจหน้าที่ของตนเองด้วย ทำกิจต่อส่วนรวม สงฆ์ของเรานี้ให้อยู่ร่วมกันด้วยความสงบเรียบร้อย มีระเบียบ มีความพรักพร้อมเพรียงสามัคคี มีระเบียบวินัยอันดี เนี่ย เช่น กิจวัตรสวดมนต์ อะไรต่ออะไรเป็นต้น ให้ญาติโยมมาแล้วก็ได้ฟังสวดมนต์แล้วจิตใจปลาบปลื้ม นะฮะ มีความปีติ ผ่องใส แล้วก็ แม้แต่เหยียบเข้ามาวัดก็ให้ได้บรรยากาศที่ทำให้จิตใจเจริญงอกงามทันที นะฮะ ก็ตั้งกันอย่างเงี้ย ก็รับผิดชอบต่อตนเอง ต่อวัด ต่อสงฆ์ ต่อประชาชน ไปด้วยกัน แล้วตัวเองก็จากการที่ทำหน้าที่ถูกต้อง ก็เจริญพัฒนาไป
ก็วันนี้ก็คิดว่าได้พูดกันมาก็พอสมควร ไปรวมที่ว่าเนี่ย ในที่สุดเราเจริญไตรสิกขาไป ก็ก้าวไปสู่พระนิพพานทุกที นะฮะ ก็จะดับเรื่องความยึดมั่นในตัวตนที่เป็นที่แสดงออกสำคัญของกิเลส นะฮะ ที่พูดกันภาษาชาวบ้านที่ว่า ความเห็นแก่ตัว แล้วก็พร้อมกันนั้นก็ ได้ ได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลก ก็เป็นไปตามคติว่าบุคคลก็บรรลุนิพพาน แล้วก็บุคคลนั้นก็สามารถทำการทั้งหลาย เพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวโลกได้เต็มที่ ก็ประสานสอดคล้องซึ่งกันและกัน อย่างนี้ก็เรียกว่าพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ด้วยดีอย่างถูกต้อง นะ มั่นคงยั่งยืน นี่ถ้าพระไม่ทำตามหลักนี้ ก็บำเพ็ญประโยชน์ที่ผิด นะฮะ สังคมก็เสื่อมด้วย ตัวพระเองก็ไม่เจริญงอกงาม เสียไปด้วยกันหมดทุกอย่าง
ก็ขอให้เราได้ช่วยกัน ทำตามหลักการที่กล่าวมานี้ ก็จะได้เกิดผล ตามวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมายที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศไว้ อันเป็นจุดหมายที่พระองค์ตรัสเพื่อเป็นประโยชน์ของแต่ละบุคคล แล้วก็ให้บุคคลนี้สามารถทำประโยชน์สุขแก่ชาวโลกอย่างที่ว่ามา
ก็ขออนุโมทนา ก็ขอให้ทุกท่านโดยเฉพาะพระใหม่ ที่ท่านตั้งใจได้มาบวชจำพรรษามีเวลาประมาณ 3 เดือนนี้ ให้บำเพ็ญตามหลักไตรสิกขา ตามแนวทางที่ว่ามาเนี้ย ให้ได้ผลดีโดยตั้งใจจริงว่าเรามีเวลาแค่เนี้ยประมาณ 3 เดือนเนี่ยทำให้ได้ผลเต็มที่เลย ให้บรรลุจุดหมายให้ได้มากที่สุด แต่จะในแง่ตัวเองก็ถือเป็นกำไรชีวิตที่แท้ ให้เป็นประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ เพิ่มพูน แล้วก็เป็นประสบการณ์ที่ต่อไปในการภายหน้ายืดยาวของชีวิตเนี่ยอยู่ในความทรงจำที่ดีงาม ให้นึกมาด้วยความปลาบปลื้มใจ และก็สามารถนำเอาสิ่งที่ได้เล่าเรียนศึกษา ได้ปฏิบัติเป็นประสบการณ์นี้ไปเผื่อแผ่ขยายให้เกิดสุขแก่ท่านผู้อื่น แก่สังคม แก่ชาวโลกต่อไป ก็ขอให้ท่านเจริญงอกงามในพระธรรมวินัยทุกเมื่อ เทอญ