แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
วันนี้อาตมาก็ขออนุโมทนาญาติมิตรทั้งหลายที่ได้มาร่วมกันทำบุญ วันนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสมงคลที่อาจารย์
ดร.อรรนพ กับคุณอรรัตน์ และพร้อมทั้ง ??? ก็ทำบุญบ้าน และก็ถือเป็นโอกาสพิเศษ เป็นการฉลองการที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าสถาปนาเป็นศาสตราจารย์ด้วย ก็เป็นข้อที่น่ายินดี เพราะว่าการที่ได้รับโปรดเกล้าอย่างนี้ก็เป็นการยืนยันถึงคุณความดีที่ได้บำเพ็ญ คือการที่ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคมประเทศชาติ ในทางวิชาการในการสั่งสอน ในการให้การศึกษาอบรม เพื่อให้ได้มีกำลังของประเทศชาติ คือ บุคลากรที่จะไปทำงานในการพัฒนาสังคม อาจารย์ก็ได้ทำงานมาก็ได้ใช้ความเพียรพยายาม ผลงานเกือบครึ่งก็ได้รับการยอมรับ แต่การได้รับการยอมรับสถาปนานี้ก็ ก็เป็นช่องทางให้เราได้ทำประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น มองในแง่ของธรรมะแล้ว ของท่านนั้นก็เป็นโลกธรรม โลกธรรมนั้นมี 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่น่ายินดีบางครั้งมีศัพท์เฉพาะเรียกว่า(อิด-ถา-รม) แปลว่า อารมณ์ที่น่าปรารถนา และตรงข้ามก็เรียกว่า(อะ-นิด-ถา-รม) แปลว่า อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา มีลาภ ยศ สุข สรรเสริญ นี่ เป็นเรื่องที่น่าปรารถนาจึงเรียกว่าเป็น (อิด-ถา-รม) เมื่อเกิดขึ้นก็ ย่อมเป็นธรรมดาที่จะทำให้เกิดความดีใจ ภูมิใจ เกิดความอิ่มใจ ปิติ ก็เป็นสิ่งที่สมควรที่จะได้เกิดความรู้สึกทำให้เกิดความสุข เพราะว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยชอบธรรม งาน การ ความเพียรพยายาม ก็เรียกว่าความดีที่ได้บำเพ็ญมาแล้ว ในทางพระท่านบอกว่า อ้าวนอกจากนั้นแล้ว พอเรายินดีแล้ว เราไม่มอมเมา เราไม่หลงระเริง ประมาท ก็ใช้สิ่งที่ได้มานี้เป็นโอกาสที่จะทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป เพราะว่า ลาภ ยศ นั้น พอมีขึ้นแล้วนี้เท่ากับว่า เรามีเครื่องมือที่จะทำความดียิ่งๆ ขึ้นไป ในทางพระพุทธศาสนาท่านก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีงามในแง่นี้ เหมือนอย่างพระเจ้าอโศกมหาราช อาตมาก็เคยเล่าบ่อยๆ ว่าพระเจ้าอโศกมหาราชนี่ ก็เป็นผู้ที่ได้สร้าง ลาภ ยศ ขึ้นมามาก แต่ว่าตอนแรกพระองค์สร้างในทางไม่ดี พระเจ้าอโศก คือ เป็น กษัตริย์ที่โหดเหี้ยมมาก ใจไม่ดีนะ ที่เรียกว่าแบบเก่านะ คือยกทัพไปรุกรานดินแดนอื่น แล้วก็ไปแย่งชิงเขา ไปฆ่าผู้คนล้มตายมาก จนกระทั่งมีความยิ่งใหญ่ เป็น เรียกว่าเป็นจักรพรรดินะ ในสมัยหลังๆ เขาก็เรียกว่าเป็นจักรพรรดิ ทีนี้ ลาภ ยศ ผลประโยชน์ เงินทอง หรือทรัพย์สิน อำนาจ ที่ได้มา ก็เพื่อความยิ่งใหญ่ของตัวเอง หาความสุขปรนเปรอตัวเอง ต่อมาก็มาประพฤติธรรมนะ มานับถือพระพุทธศาสนา ก็เข้าใจหลักความจริงที่ถูกต้อง ความจริงที่ถูกต้อง ความประพฤติที่ถูกต้อง ที่จริง ลาภ ยศ ความยิ่งใหญ่นี่ มันไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือที่จะมาบำรุงบำเรอตัวเรา แต่ว่ามันเป็นเครื่องมือ เป็นโอกาสที่จะทำความดีให้มากขึ้น ใช้สร้างสรรค์ประโยชน์สุข คนที่มีเงินทองมาก มีทรัพย์สิน มียศ มีอะไรมาก มีบริวารมาก ถ้าไม่หลงระเริง มอมเมาแล้ว ก็กลับใช้สิ่งเหล่านี้มาสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้มาก ถึงแม้ว่าเราจะเก่งกล้า สามารถ มีสติปัญญา ความรู้ แต่ถ้าเราไม่มีเครื่องมือเหล่านี้ ไม่มีเงินทอง ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีฐานะ ไม่มีบริวาร จะทำอะไรมันก็ได้แคบๆ แต่นี้พอเรามีลาภ ยศ แล้วนี่ เรามีโอกาสมาก จะทำอะไรก็ทำได้กว้างขวาง พระเจ้าอโศกมหาราชนี่หันมานับถือพระพุทธศาสนา ปฏิบัติตามหลักธรรมก็ได้ความเข้าใจใหม่ เปลี่ยนใหม่ คราวนี้ไม่เอาแล้ว ทรัพย์สิน เงินทอง ลาภ ยศ ความยิ่งใหญ่ อำนาจ ที่จะมาใช้นี้ ปรนเปรอตัวเอง เปลี่ยนเป็นว่าพระองค์ก็ใช้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ประโยชน์สุข เอาทีนี้เปลี่ยนนโยบายใหม่เลย เลิกสงครามยุทธ์พิชัย เปลี่ยนจากเอาชนะด้วยสงครามมาเป็นเอาชนะด้วยธรรมะ เอาชนะด้วยธรรมะ ก็คือเอาชนะด้วยความดี นะ เอาชนะใจคน พระองค์ก็สร้างใหญ่เลยทีนี้ พระองค์บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ทำสังคมสงเคราะห์ สร้างสรรค์ ประเทศชาติสังคม ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข มุ่งหวังไปที่ประโยชน์สุขของประชาราษฎร์ ก็เลยสร้างถนนหนทาง สร้างโรงพยาบาล ไม่ใช่เฉพาะสร้างโรงพยาบาลคน สร้างโรงพยาบาลสัตว์ด้วย พระเจ้าอโศกฯ น่าจะเป็นแบบแผน เป็นตัวอย่าง เป็นพระองค์แรกเลยที่สร้างโรงพยาบาลสัตว์ แล้วก็ดูครบ สมัยก่อนนี้ทำพวกยาสมุนไพร อะไรต่างๆ แล้วก็ให้การศึกษาประชาชน สมัยก่อนก็ไม่มีเครื่องมือเผยแพร่ ไม่มีวิทยุ ทีวี เหมือนสมัยนี้นะ เขาใช้ศิลาจารึกนะ ให้พวกข้าราชบริพารรับคำสั่งนี้ มีประกาศของราชการ??? ก็ไปจารึกลงศิลาไว้ตามที่ต่างๆ แล้วก็ให้หัวหน้าหมู่บ้าน นายอำเภออะไรพวกนี้มาเอาข้อความไปประกาศแก่พวกคนในหมู่ของตนเอง ก็ให้การศึกษา แล้วก็มาบำรุงวัดวาอารามซึ่งเป็นศูนย์กลางของการศึกษา อุปถัมภ์พระศาสนา จัดสังคายนา ส่งพระไปประกาศศาสนาต่างๆ พระพุทธศาสนามาถึงเมืองไทยเราก็เริ่มตั้งแต่พระเจ้าอโศกนี่เอง พระพุทธศาสนาก็เผยแผ่ไปทั่วโลกเพราะพระเจ้าอโศกมหาราช นี่แหละ คือลาภ ยศ นี่ต้องใช้ให้ถูก และกลายเป็นเครื่องมือสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ เราก็เลยได้พระเจ้าอโศกเป็นตัวอย่างแล้ว ว่า ในเรื่อง ลาภ ยศ (อิด-ถา-รม) ที่เกิดขึ้นนี้ วิธีการของชาวพุทธก็คือว่า ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ประโยชน์สุข ทำคุณงามความดีให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไป นี่ก็ เพราะฉะนั้นการได้ลาภ ยศ ที่เป็น(อิด-ถา-รม) นี้ จึงควรแก่การยินดี มีปิติ แล้วก็อาจารย์ทำบุญในวันนี้ก็ถือว่าเป็นการทำให้เกิดความเป็นสิริมงคล หรือมองในความหมายของพระพุทธศาสนานี้ มองเป็น 2 ชั้น ชั้นที่ 1 ก็คือว่า ชาวพุทธเราศรัทธาในพระศาสนา บำรุงพระศาสนาอยู่แล้ว นี้ก็ญาติโยมก็เป็นธรรมดาที่ยุ่งกับภารกิจ งานการก็เยอะ จะมาขวนขวายไปบำรุงรักษาพระสงฆ์อยู่ตลอดเวลาก็เป็นไปไม่ได้ ก็ต้องเลือกตามโอกาส ทีนี้ก็เลยใช้วิธีว่า มีเหตุการณ์อะไรในชีวิต หรือว่าในครอบครัวอะไรที่จะเป็นเรื่องปรารภขึ้นมา ก็ยกขึ้นมาเป็นเหตุปรารภแล้วก็ทำบุญ เราก็เลยใช้โอกาสสำคัญๆ อย่างนี้ มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ทำบุญ หรือว่าสร้างบ้านใหม่เสร็จก็ทำบุญบ้าน หรือว่าได้ตำแหน่งฐานะใหม่ ก็ทำบุญนะ ก็คือถือเป็นเหตุปรารภจะทำบุญนั่นเองนะ จะได้บำรุงพระศาสนา บำรุงพระศาสนาก็มีส่วนทำให้พระศาสนาเจริญงอกงามขึ้นไป เป็นประโยชน์สุขแก่ประชาชนสืบต่อไป แล้วก็ถ้ามองในแง่ของชาวบ้านทั่วไป อย่างเมื่อกี้ ก็คือว่า ทำให้เป็นสิริมงคล ทำให้เป็นมงคลนี้ก็มีความหมาย 2 แบบ คือว่า เป็นมงคลในความหมายของชาวบ้านอย่างหนึ่ง แล้วเป็นมงคลในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ทีนี้มงคลในแง่ของชาวบ้านกับมงคลในแง่ของพระพุทธศาสนา หรือว่าตามหลักธรรมนี้ ต่างกันอย่างไร ทีนี้อาตมาก็เลยนึกว่ามาคุยกันเรื่องมงคลกันสักนิดหนึ่ง เพราะว่าญาติโยมได้กันบ่อยเหลือเกิน ได้ยินคำว่า มงคล มงคล ทำโน่นให้เป็นมงคล แต่งงานก็เรียกว่างานมงคลอะไรอย่างนี้ เป็นต้นนะ นั้นอย่างไรล่ะถึงเรียกว่าเป็นมงคล มงคลนี้เป็นคำเก่ามาก มีมาก่อนพระพุทธเจ้า และก็มีเรื่องเล่าในพระไตรปิฎกด้วย ว่าคนแต่ก่อนนี้เขาถือกันว่า มงคลก็ ได้พบ ได้เห็นอะไรที่ดี ดอกไม้ที่สวยงาม ได้เห็นนกชนิดนั้น ชนิดนี้เรียกว่ามงคล การเห็นตรงข้าม เห็นนกชนิดที่น่าเกลียดน่าชัง เขาเรียกว่าไม่เป็นมงคล หรือไปเห็นสัตว์บางชนิดก็บอกไม่เป็นมงคล ไปเห็นวัตถุอะไรบางอย่างก็บอกว่าไม่เป็นมงคล เวลาได้ยินเสียงก็เหมือนกัน เสียงนกชนิดนั้นชนิดนี้เป็นมงคล นกชนิดนั้นชนิดนี้ไม่เป็นมงคล ได้ยินเสียงตุ๊กแกร้องเท่านั้นครั้งเป็นมงคล เท่านี้ครั้งไม่เป็นมงคล นี้ก็ถือกันมาอย่างนี้นะ อย่างนี้เรียกว่าเป็นมงคล ถ้าใช้ศัพท์สมัยนี้ก็คือถือโชคลางนั่นเอง เพราะฉะนั้นมงคล ในความหมายเก่านี้ ก็เป็นเรื่องโชคลาง ก็ถือกันมาอย่างนี้จนกระทั่งถึงสมัยพระพุทธเจ้า เขาก็ยังเถียงกันอยู่ว่าอะไรเป็นมงคลใช่ป่าว เพราะบางคนบอกนกชนิดนั้น ชนิดนี้เห็นแล้วเป็นมงคล บางคนก็ไม่ยอม ถ้านกก็บอกว่าต้องนกชนิดโน้น จึงจะเป็นมงคล อะไรอย่างนี้ เถียงกันไปเถียงกันมา อะไรเป็นมงคลอะไรไม่เป็นมงคล หาข้อยุติไม่ได้ ก็เลยมีเรื่องเล่าว่าเถียงกันไปจนถึงเทวดานะ เทวดาก็เถียงกันตกลงกันไม่ได้ เทวดาก็ไม่มีข้อยุติเหมือนกัน ในที่สุดก็เลยพากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะตอนนี้พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก็เลยลองมาถามพระพุทธเจ้าดูซิ ว่าพระพุทธเจ้าจะว่าอย่างไร อะไรเป็นมงคล อะไรไม่เป็นมงคล พระพุทธเจ้าก็เลยตรัสมงคลสูตร มงคลสูตรก็คือที่พระสวดไปเมื่อกี้นี้ พระสวดนี่ พระสูตรแรกที่สำคัญก็จะสวดมงคลสูตร เพราะถือว่างานมงคลสำคัญต้องสวดพระสูตรนี้ อะไรเป็นมงคลพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ในนี้แล้ว สมัยก่อนนี้นักเรียนมัธยมชั้นปีที่ 8 หรือเตรียมอุดมศึกษานี้ จะต้องเรียนมงคล 38 ประการ บางท่านในที่นี้ก็อาจจะเคยเรียนมาแล้วก็ได้นะมงคลสูตร มงคล 38 ประการ เริ่มต้นนะ อะเสวะนาจะพาลานัง ไม่คบคนพาลและคบบัณฑิต ในหลวงรัชกาลที่ 6 ได้ทรงประพันธ์เป็นคำโคลงกลอน และฉันท์ไว้ด้วยนะ ไว้ให้นักเรียนสวด เป็นทำนองไพเราะ เพราะเลย อะไร อาตมาก็จำไม่ได้เหมือนกันที่ในหลวงท่านทรงประพันธ์ไว้ แต่รวมแล้วก็มี 38 ข้อ พอเจอ 38 ข้อ ก็ชักท้อแล้วนะ มันเยอะ แค่จำก็แทบจะไม่ไหว ทีนี้ก็เอาเป็นว่ามงคลมี 38 ประการ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้นี้ โดยสาระก็คือว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า การกระทำ การประพฤติ การดำเนินชีวิตของเรานี้แหละ ที่ทำให้มันถูกต้อง ดีงาม ที่เป็นมงคล ถ้าดำเนินชีวิตผิด ทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม ก็ไม่เป็นมงคล มงคลก็เลยอยู่ที่การกระทำ กาย วาจา ใจ ของเรา การกระทำทางกายอย่างหนึ่ง การกระทำทางวาจา คือ พูดอย่างหนึ่ง แล้วก็การกระทำทางใจ คือ ความคิดอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าเราทำให้สิ่งที่ว่ามาทั้งนี้ คือ คิดดี พูดดี ทำดี นี้ มันก็เกิดเป็นมงคลขึ้น เริ่มตั้งแต่ความคิด พอเราคิดดีนี้ จิตใจของเราก็จะดี สบาย มีจิตใจร่าเริง ผ่องใส ถ้าเราคิดไม่ดี จิตใจของเราก็ขุ่นมัว เศร้าหมอง มันก็เริ่มไม่เป็นมงคลขึ้นมาที่ใจ ที่นี้อย่างเราไปเห็นอะไรขึ้นมา แล้วเราบอกเราถือกันว่าไม่เป็นมงคล ใจเราก็ขุ่นมัว มันก็พลอยไม่เป็นมงคลขึ้นมาจริงๆ นะ ทีนี้พอเรานึกว่าอะไรดี พอเราเห็นสิ่งนั้นแล้ว ว่าเป็นมงคล ใจเราก็สบายสิใช่มั้ย พอใจเราสบาย ใจก็เป็นมงคลสิทีนี้ เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่ามันอยู่ที่ใจเราคิด ถ้าเราไปคิดเราไปถือมันก็จะทำให้เกิดผลตามนั้น ถ้าเราไปเห็นสิ่งที่เรายึดถือว่าไม่เป็นมงคล แล้วใจเราขุ่นมัว เราก็เลยพลอยได้รับอัปมงคลไปเลย ทีนี้พอเราได้รับคติของพระพุทธเจ้ามาแล้ว เราสามารถพลิกไอ้ที่ไม่เป็นมงคลกลับเป็นมงคลอีก ใช้ความคิดของเรานี้ ในที่สุดมันอยู่ที่ใจที่คิดใช่มั้ย พอไปเห็นสิ่งที่ไม่เป็นมงคล เราทำใจของเราให้สบาย โธ่เอ้ย สิ่งนี้มันเป็นเรื่องธรรมดา ธรรมชาติ เราจะเห็นสิ่งที่เราชอบใจ สวยงามอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเห็นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายในโลกมีที่เราถูกตาบ้าง ไม่ถูกตาบ้าง มันก็ต้องเห็น เราต้องทำใจให้สบาย พอเราทำใจให้สบายได้ สิ่งที่เห็นที่ว่าไม่เป็นมงคลนั้นกลับเป็นมงคลไปเลย ใจเราเป็นมงคลแล้ว ใจเราสบาย ฉะนั้นอยู่ที่คิด ฉะนั้นพระพุทธเจ้าให้ ??? จะเป็นมงคลที่แท้ คือ อยู่ที่ทำดี พูดดี คิดดี เพราะฉะนั้นอย่าไปเป็นทาสของเพียงความยึดถือ ดังนั้นหากไปเจออะไร ได้ยินเสียงอะไร ที่มันไม่ดีนะ เราอย่าไปปล่อยใจปรุงแต่งตามมัน ถ้าตามมันปั๊บใจเราเศร้าหมอง ขุ่นมัว แล้วมันก็เลยไม่เป็นมงคลเอาเลยจริงๆ ใช่มั้ย ทีนี้เราพลิกกลับมาคิดให้เราเท่าทันความจริง ไอ้ตัวปัญญา การรู้เท่าทันความจริง ว่า สิ่งทั้งหลายนี้ มันเป็นเรื่องธรรมดา เกิดตามเหตุ ปัจจัย มันเป็นของตามธรรมชาติ ถูกตา ถูกใจ บ้าง ไม่ถูกตา ไม่ถูกใจบ้าง เราก็คิดซะให้มันดี เกิดปัญญารู้เท่าทัน ก็เกิดเป็นมงคล ใจคอผ่องใส สงบ เราก็เกิดเป็นมงคล มงคลนั้นแปลว่า สิ่งที่นำมาซึ่งความสุข ความเจริญ สิ่งที่นำมาซึ่งความสำเร็จ สิ่งที่นำมาซึ่งสมบัติทั้งหลายทั้งปวง นี้ก็เขาเชื่อกันอย่างนั้นแหละ ว่า โชคลางนั้นเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสุข ความสำเร็จ ความเจริญก้าวหน้า แต่ที่นี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าอยู่ที่พูดดี ทำดี คิดดี อันนี้แหละจะนำมาซึ่งความสำเร็จ ความสุข สมบัติทั้งหลาย ความเจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จึงเรียกว่าเป็นมงคล นั้นพอมาเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงตรัสหลัก คุณสมบัติของอุบาสกไว้ อุบาสกก็ตาม อุบาสิกาก็ตาม นี้ ควรจะมีคุณสมบัติที่สำคัญ 5 ข้อ แต่ว่ามันมีข้อ 3 นะ ที่เกี่ยวกับมงคล ท่านบอกว่า อุบาสก อุบาสิกา ที่ดีนี่ จะไม่ถือมงคล จะไม่มุ่งหวังความสำเร็จจากมงคล จะมุ่งหวังความสำเร็จจากการกระทำ คือ กรรม ก็เรียกว่าเชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล ทีนี้ในที่นี้ใช้คำว่า มงคล ในความหมายเก่า คือในความหมายที่ว่าเป็นโชคลางของคนโบราณ คือว่า คนโดยมากจะไปถือตามโชคลาง สิ่งที่ยึดถือกันมานี้เป็นมงคล ไม่เป็นมงคล ก็เลยไปยึดถือเอาสิ่งเหล่านี้ จนไปถึงเอาไปกราบไหว้ อ้อนวอน ขอผลจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เรียกว่า เอาไปหวังผลจากสิ่งที่ถือเอาว่าเป็นมงคล ทีนี้พอเป็นอุบาสก อุบาสิกาแล้ว ท่านบอกว่าให้อยู่ในเหตุในผลมากกว่า คือ ให้มุ่งหวังจากกรรม คือ การกระทำ การกระทำนี้ การเพียรพยายาม เราจะหวังผลสำเร็จอะไรเราต้องรู้ว่าสิ่งทั้งหลายนี้มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของมัน เรียกว่าเป็นไปตามเหตุปัจจัย ความเป็นเหตุเป็นผล ถ้าเราต้องการผลแล้ว อ่าวเราก็ต้องทำเหตุของมันสิ ทำเหตุอย่างไรล่ะ เราก็ต้องศึกษาเหตุปัจจัย อะไรจะเป็นเหตุให้เกิดผลที่เราต้องการ พอเราศึกษาใช้ปัญญารู้แล้ว เราก็ทำเสียเหตุอันนั้น ทำด้วยความเพียรพยายาม อย่าไปย่อท้อ พวกนี้ต้องเป็นผู้เข้มแข็ง ถ้าเรามัวไปหวังผลจากสิ่งภายนอกให้บันดาลให้เราก็อ่อนแอลงทุกที ไม่พัฒนาตัว เราจะหวังผลสำเร็จอะไร เราก็ทำตามแบบสมัยก่อนพระพุทธเจ้าเกิด คือ ตอนก่อนที่พระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมานี้ คนอินเดียก็นับถือพระผู้เป็นเจ้าเยอะแยะ เทพเจ้า สารพัดเลย เวลาต้องการอะไรก็ไปอ้อนวอน จนกระทั่งบูชายัน บูชายัน บวงสรวง อ้อนวอน กราบไหว้ ทีนี้พอไปบวงสรวง อ้อนวอน กราบไหว้ ก็รอให้พระผู้เป็นเจ้า เทพเจ้าบันดาลให้ ทีนี้ตัวเองก็เลยไม่ต้องทำ ทีนี้คนเรา ลองไม่ได้คิดเพียรพยายาม ไม่ได้ใช้ปัญญาในการแก้ปัญหา ไม่ช้านี่ก็จะอ่อนแอ แล้วก็ไม่พัฒนา ความสามารถก็ไม่เจริญ เพราะฉะนั้นก็เสื่อม ทีนี้คนที่ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ต่อปัญหา เจอปัญหา สู้ ใช้ความคิด ไม่ท้อแท้ ไม่ยอมแพ้ ไม่ขี้เกียจคิด และขยันคิด คิดไปคิดมา สืบสาว หาเหตุปัจจัย ไปค้นคว้าหาความรู้ ไปปรึกษาท่านผู้รู้ คิดไปคิดมามันก็ได้ปัญญาเพิ่มขึ้นทุกที คนเรานี้ก็พัฒนาโดยการสู้ปัญหา ยิ่งสู้ปัญหา เผชิญปัญหา แก้ปัญหาสำเร็จเราก็ยิ่งพัฒนา เราเจออุปสรรค เราเจอความยาก เราไม่ยอมพ่ายแพ้ เราไม่ท้อแท้ เราก็ทำ เราก็ทำจากความเพียรพยายามไปนี่ เราก็พัฒนาตัวเอง ต่อไปเราก็เก่งกล้า มีความสามารถ คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนี่ ก็มาจากการที่เขาเผชิญปัญหา เผชิญอุปสรรค แล้วเขาก็ไม่ท้อถอย และเขาสู้ เมื่อเขาสู้ ใช้ปัญญา ความคิด พัฒนา เขาก็เจริญ ได้สติ ปัญญา ความสามารถ เขาก็เจริญ ประสบความสำเร็จ ทีนี่ใครที่มัวไปหวังพึ่งสิ่งภายนอกอยู่ ก็เลยไม่พัฒนาตัวเอง แล้วเราจะประสบความสำเร็จมันก็เป็นไปได้ยาก เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านเลยต้องให้กำลังใจคนให้มีความเข้มแข็ง เราถึงมีคติพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์นี่เป็นพระพุทธเจ้าตอนก่อนตรัสรู้ เรียกว่าบำเพ็ญเพียรอยู่ หมายความว่าจะทำความดีอะไรแล้วทำอย่างยิ่งยวด ทำชนิดที่คนธรรมดาทำไม่ไหวท่านก็ไม่ยอมท้อ ท่านสู้ทุกอย่าง ชีวิตนี้สละได้เพื่อทำความดีที่ท่านจะทำ เสียสละเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ ก็เลยเป็นแบบอย่างของชาวพุทธนี่ ว่าพระพุทธเจ้าท่านเป็นผู้มีความเพียรพยายามเยี่ยมยอด มีความขยันอดทน มีความเสียสละ ทำความดีอะไรแล้วไม่ทีท้อถอยเลย เวลาชาวพุทธเราทำความดีอะไรแล้วเกิดความท้อถอยเราก็ไปดูปฏิปทาพระโพธิสัตว์ ไปดูประวัติของพระองค์ สมัยก่อนนี้อาตมาเทศน์ให้ฟังเพื่อจะได้เตือนใจชาวพุทธไว้ ว่าพระพุทธเจ้าท่านทำความดีมาหนักหนา ท่านเพียรพยายาม ท่านทนกลั่นแกล้ง ท่านลำบากอย่างไร ท่านไม่เคยท้อ ไม่เคยยอมแพ้เลย พอชาวพุทธเราไปอ่านประวัติพระโพธิสัตว์เราก็เกิดกำลังใจเข้มแข็ง ว่าเออนี่เราพึ่งสู้ เพียรพยายามแค่นี้ เราจะมาท้อถอยทำไม พระพุทธเจ้าหนักกว่าเราตั้งเยอะพระองค์ยังไม่ท้อเลย เราก็สู้ต่อไป พระพุทธเจ้านี้เป็นตัวอย่างของคนที่เข้มแข็ง ไม่ยอมแพ้อุปสรรค ตรัสรู้มาได้ก็เพราะว่าพัฒนาพระองค์เอง เพราะฉะนั้นชาวพุทธของเราต้องเป็นคนเข้มแข็ง ตอนหลังเรามาเข้าใจกันคลาดเคลื่อนไปบ้าง คือว่าต่อมานี้เรามามีคติโพธิสัตว์แบบใหม่ คือ จะไปมองว่าพระโพธิสัตว์ท่านมีเมตตา กรุณา ช่วยเหลือคนโน้นคนนี้ ท่านเสียสละเพื่อช่วยคนอื่นได้ มีพระโพธิสัตว์ที่คอยช่วยเราแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็เลยไปขอความช่วยเหลือจากพระโพธิสัตว์ กลับเป็นอย่างนั้นซะนี่ แทนที่จะเอาพระโพธิสัตว์เป็นตัวอย่างที่จะทำความดีอย่างพระองค์ กลายเป็นว่าพระโพธิสัตว์คอยช่วยเหลือเรา เราก็เลยไปขอความช่วยเหลือจากท่าน เดี๋ยวนี้กลายเป็นอย่างนั้นไปเลย นับแต่วันนั้นมาพระพุทธศาสนาเริ่มเสื่อม จริงๆ นะ ลองไปดู ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในอินเดียก็พอคติพระโพธิสัตว์แบบใหม่ที่ว่า มีพระโพธิสัตว์ไว้คอยช่วยเราแล้ว เราก็ไปขอความช่วยเหลือจากท่าน พระพุทธศาสนาก็เริ่มเสื่อม จนกระทั่งหมดจากอินเดีย ในจีน ก็ไปนับถือพระโพธิสัตว์แบบขอความช่วยเหลือท่าน ต่อมาก็เสื่อม จีนนี่เสื่อมนะ พระพุทธศาสนาเสื่อมมาตั้งหลายร้อยปีแล้วนะ นี่คติอย่างนี้ ตอนนี้ในเมืองไทยเรา คติอย่างนี้เริ่มเข้ามาแล้ว คนเริ่มไม่เข้าใจว่านับถือพระโพธิสัตว์ทำไม จริงๆ นับถือพระโพธิสัตว์เพื่อให้มีกำลังใจสู้ ทำความดีให้ได้อย่างท่าน ถ้าทำได้อย่างนั้นแล้วนี่ ชาวพุทธจะพัฒนาตัวเอง เพราะว่าพระพุทธศาสนานั้น เมื่อกี้นี้ท่านบอกว่า ให้เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล หวังผลจากกรรมไม่ได้หวังผลจากมงคล คือไม่ได้หวังผลจากโชคลาง การไปอ้อนวอนขอให้ท่านบันดาลให้ แต่หวังผลจากกรรม คือ การกระทำ กรรมก็คือ การกระทำ การกระทำมันเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งผล เพราะกรรม คือ การกระทำเป็นเหตุ และก็ เมื่อทำเหตุแล้วผลก็ตามมา แต่คนจะทำเหตุได้ จะทำกรรมให้สำเร็จได้ต้องมีความเพียร เพราะฉะนั้นกรรมก็คู่กับความเพียร เราทำกรรมให้ตรงกับผลที่ต้องการ ให้มันเป็นเหตุเป็นผลอย่างจริงจัง แล้วก็ทำด้วยความเพียร กรรมที่เราทำต้องทำด้วยปัญญาด้วยนะ ไม่ใช่เอาตะแบงเข้าว่า ไอ้ตะแบงเข้าว่า กรรมที่ทำ ทำอย่างเพียรพยายามเต็มที่ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นไปด้วยปัญญา มันก็ไม่เป็นเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้นมันไม่เป็นเหตุปัจจัย มันก็ไม่นำไปสู่ผลที่ต้องการ มันก็พลาด เพราะฉะนั้นเมื่อจะทำกรรม ก็ต้องมีความเพียร แล้วก็ต้องมีปัญญาด้วย ปัญญาก็ต้องรู้ว่ามันเป็นกรรมที่ตรงกับเหตุปัจจัยมั้ย ต้องสืบสาว ใช้ปัญญาสืบค้น เพราะต้องรู้ให้แน่ชัดด้วยปัญญา คราวนี้ก็จะเกิดผลสำเร็จแน่นอน เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงสอนเน้น เรื่อง ปัญญา เรื่องการที่จะพัฒนาเรียนรู้ สืบสาว หาเหตุปัจจัย มีการศึกษา ท่านเน้นเรื่องไตรสิกขา ให้คนได้เรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตนเอง เพราะฉะนั้นชีวิตของคนเรานี้ จะต้องพัฒนาด้วยการที่ฝึกฝน ต้องการ ใช้ปัญญา แล้วก็เพียรพยายามทำ ทีนี้ชาวพุทธจะไม่เสียหลัก ทีนี้เวลาเรานับถือพระ นับถืออะไร เราก็นับถือมาเป็นกำลังใจ พอเรานับถือถูก จิตของเรานี่ เวลาเราทำบุญนี่มันเป็นมงคลอย่างไรล่ะ ก็เป็นมงคลในแง่พระพุทธศาสนา ไม่ใช่มงคลความเชื่อที่ว่าทำอย่างนี้แล้วเป็นมงคล ถ้าญาติโยมทำบุญแล้วทำด้วยปัญญา รู้ว่าสิ่งนี้ดี โอ้เราได้สนับสนุนพระพุทธศาสนา ช่วยส่งเสริมให้พระสงฆ์ได้ปฏิบัติข้อศาสนกิจทำหน้าที่ของท่าน ท่านจะได้ไปเล่าเรียนธรรมะ ได้ปฏิบัติธรรมะ สนใจธรรมะได้ ท่านทำหน้าที่อย่างนั้นแล้วพระศาสนาก็รุ่งเรือง เพราะเราได้ถวายกำลังแก่พระแล้วเราก็ได้มีส่วนร่วมส่งเสริมพระศาสนาใช่มั้ย ก็ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทำแล้วใจคอก็สบาย ใจสบาย จิตใจก็เบิกบาน ผ่องใส สงบ เป็นจิตใจที่ดี ก็เป็นมงคล อย่างที่ว่าเมื่อกี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราทำใจถูกต้อง เราใช้โอกาสในการทำบุญทำกุศลให้เกิดความเป็นมงคล เราจะว่าทำบุญส่งเสริมพระศาสนา ทำสิ่งที่ดีงาม ทั้งกาย วาจา ใจ พูดดี คิดดี ทำดี แล้ว ใจเราปลอดโปร่ง ผ่องใส ร่าเริง มีปิติ อิ่มใจแล้ว ญาติมิตรก็มีโอกาสมาพบกันเวลาทำบุญครั้งหนึ่งนี้ก็มาพร้อมๆ กัน มาแสดงความยินดีต่อกัน มาสังสรรค์ด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ จิตใจที่ดีงามต่อกันนี้ เป็นบุญเป็นกุศล เป็นความสุข เป็นไมตรีรส เพราะฉะนั้นล้วนเป็นมงคลทั้งนั้นแหละถ้าเราทำใจให้ถูก นี้แหละมงคล พอมันเกิดขึ้นแล้วมันฝังลึกลงไปในจิตใจของเรา ถ้าว่าใช้ภาษาปัจจุบันที่ว่า ถ้าบุญ ความดีนี้ จิตใจ สภาพจิตใจที่ดีนี้มันฝังลึกลงไปเป็นโครงสร้างของจิตเมื่อไหร่นี้ ทีนี้ล่ะมันปรุงแต่งชีวิตดีเลย นั้นมงคลที่แท้มันมาตามเหตุตามผลอย่างนี้แหละ และก็ท่านก็เลยไม่ให้ไปเชื่อผิวเผิน คนโบราณแต่ก่อนที่พระพุทธเจ้าที่ไปเชื่อถืออันนั้นอันนี้เป็นมงคล เสียงนั้น สิ่งที่ ที่ว่าได้ยิน อะไรต่างๆ ก็ว่าความจริงมันก็เป็นอย่างนี้ เพราะว่าสิ่งที่สวย พอเห็นใจมันก็สบายใช่มั้ย เห็นสิ่งที่ไม่สวยไม่งามใจมันก็ไม่สบาย ได้ยินเสียงที่เพราะใจมันก็สบาย ได้ยินเสียงที่ไม่เพราะใจมันก็ไม่สบาย เพราะฉะนั้นมันก็เป็นมงคล ไม่เป็นมงคล ตื้นๆ เผินๆ หมายความว่าจากการที่สบายใจ ไม่สบายใจ เริ่มต้นตรงนั้น แต่ทีนี้ว่า เอาแค่นั้นมันก็เลยติดอยู่ที่ว่าเป็นมงคลและไม่เป็นมงคลที่ผิวเผิน เพราะไม่รู้จักแก้ มาแก้ที่จิตของตัวเองสิ เราไปบังคับสิ่งต่างๆ ภายนอกไม่ได้ เสียงที่ได้ยิน สิ่งที่ได้พบ ได้เห็นนี่ เราก็เลือกได้บ้างไม่ได้บ้าง ทีนี้ถ้าในยามที่เราไปได้ยิน ได้เห็น สิ่งที่ไม่ดี ไม่ชอบใจ แทนที่เราจะไปเป็นทาสต่อมงคลใช่มั้ย เราก็ปรุงแต่งจิตของเราสิ ด้วยปัญญารู้เท่าทันความจริง ทำจิตของเราให้มันดีไปเลย ให้เป็นจิตที่ร่าเริง ผ่องใส มงคลมันก็เกิดขึ้น นี้แหละแก้อัปมงคลได้เลย แก้ใจด้วยปัญญา ปัญญาเป็นตัวแก้หมดเลย ถ้าหากว่าเราเพียงแต่อยู่ด้วยความชอบใจ ไม่ชอบใจนี้ เราจะเป็นทาสของมงคลสมัยโบราณ พอเราใช้ปัญญาเรียกว่า โยนิโสมนสิการปั๊บ เปลี่ยนปั๊บไอ้สิ่งที่เรียกว่าไม่เป็นมงคลเปลี่ยนเป็นมงคลได้ ทีนี้ที่เป็นมงคลอยู่แล้วก็ยิ่งเป็นมงคลยิ่งขึ้นไป ตอนนี้จึงเรียกว่าเสริมมงคลที่ถูกต้องนะ เสริมมงคลอยู่ที่นี่ ที่ตัวเรานี่ ทำให้ดี แล้วพอเราได้จิตใจที่ดี เข้มแข็ง มีกำลังใจ กายก็สบายด้วย ทำอะไรก็ได้ผลงอกเงยขึ้น เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่ามงคลนั้นไม่อยู่ในสิ่งผิวเผินเพียงแค่เห็น แค่ได้ยินนะ มันอยู่ที่ การกระทำ สิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง แล้วก็อยู่ที่ สรุปก็คือ คิดดี พูดดี ทำดี พระองค์ก็เลยตรัสออกมาเป็นมงคลสูตร 38 ประการ วิธีดำเนินชีวิตที่ดีงาม ตอนนี้อาตมาก็คิดว่าอธิบายไม่ไหวแล้ว 38 ข้อ เยอะเหลือเกิน แต่ว่าให้ได้หลักอย่างที่ว่านี้ ตกลงสาระมันอยู่ที่นี่ คิดดี พูดดี ทำดี แล้วก็ขยายออกไป 38 ประการ ก็ดำเนินชีวิตดีงาม ดำเนินชีวิตดีงามอย่างไร อาตมาไม่ได้อธิบายก็จริง แต่จะพูดคร่าวๆ นะ 38 ประการ คืออะไรบ้างที่พระสวด เริ่มก็ (อะเสวะนา จะพาลานัง บัณฑิตเสวะนา ปูชายะปูชะนานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง) เป็นต้น เขาบอกว่า ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต บูชาคนที่ควรบูชา นี่เริ่มต้นแล้วนะ อันนี้คือคนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องนี่ ถ้าไปคบคนไม่ดีเป็นพาลนี่ เป็นอัปมงคลแน่เลย จะทำชีวิตเสียหาย คบคนดี ท่านบอกว่าไม่คบคนพาลเว้นแต่จะช่วยเหลือเขา พระพุทธเจ้าไม่ใช่ว่าจะตัดเขาขาดนะ คือว่า ถ้าจะคบก็คบเพื่อช่วยเหลือเขา เรารู้ เรามีปัญญารู้ว่าคนนี้ไม่ดี แต่ว่าเราต้องการจะช่วยเหลือเราก็คบได้ แต่ท่านบอกว่าต้องระวังนะ ตัวเองมีกำลังพอรึเปล่า ถ้าตัวเองไม่เก่งจริงนะกลายเป็นถูกเขาดึงเลยนะใช่มั้ย เพราะฉะนั้นต้องให้แน่ใจก่อนไปช่วยเขานี่ เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปแล้วนี่ท่านไม่ให้คบ ถ้าจะคบแล้วต้องมั่นใจว่าเรานี่ช่วยเหลือเขาได้ ให้เขาได้พึ่งพา เพราะฉะนั้นตกลงว่า เอาล่ะนะ 1 ก็ไม่คบพาล คบบัณฑิต บูชาคนควรบูชา ยกย่องคนที่ควรยกย่อง แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับสังคม ถ้าสังคมนี้คนรู้จักยกย่องคนดี คนที่มีคุณธรรมอะไรต่างๆ แล้ว มันก็ทำให้สังคมนี้ร่มเย็นเป็นสุข ถ้าคนในสังคมนี้ยกย่องคนที่ทำความชั่ว ยกย่องคนไม่ดี สักแต่ว่ามีลาภ มียศ อะไรต่างๆ ก็ยกย่องกันไป สังคมเองแหละที่จะรับผลไม่ดี นี่แหละพระพุทธเจ้าบอกมันเป็นมงคลไม่มงคล ก็เอามาปฏิบัติให้ถูกต้อง ต่อไปพระองค์ก็บอกว่าให้อยู่ในถิ่นที่เหมาะสม ให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิ่งแวดล้อมที่ดีก็เป็นมงคลสิใช่มั้ย สุขภาพก็ดี เพราะฉะนั้นเราก็ปลอดภัย อยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่ดีนี่ ไม่แน่ใจจะเกิดภัยอันตราย ลักขโมย โจรมาก อะไรอย่างนี้ ก็ต้องหาสิ่งแวดล้อมที่ดี ที่อยู่ที่เหมาะ แล้วก็บอกว่า ได้เตรียมสร้างหลักฐานทำทุนที่ดีไว้ การศึกษาเตรียมไว้แต่ต้น การงานอะไรต่างๆ ความถนัด ความสามารถ ฝึกฝนไว้ให้พร้อม เวลาต้องการจะใช้ทำอะไรก็ทำได้ทันที ถ้าคนไหนไม่ได้เตรียมตัวไว้ วิชาการความรู้ไม่ได้เรียนไว้ ไม่ได้ฝึกฝนความชำนาญไว้ พอต้องทำอะไรก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องเตรียมทุนไว้ให้ดี เตรียมพร้อมไว้ก่อน ก็เป็นมงคลแล้วนะ ท่านก็บอกว่าเพราะฉะนั้นก็ตั้งตัวไว้ให้อยู่ในหลักการและมีเป้าหมายที่ชัดเจน เพราะว่าเราจะดำเนินชีวิตนี่เราต้องมีหลัก เราจะดำเนินอาชีพอะไรเรามีหลักการชัดเจน เรามีเป้าหมายชัดเจน แล้วก็อย่าไป ??? ให้เขวออกไปจากทาง เช่น อบายมุข เป็นต้น ถ้าเรายืนหยัดในหลัก เราไม่ยอม เราไม่เขวออกไป เราก็เป็นสิริมงคลแล้ว สร้างความสุข ความเจริญ ความสำเร็จใช่มั้ย ถ้าเราทำได้ใน 4 ข้อนี้ได้ ก็เรียกว่า ชีวิตเหมือนกับติดล้อแล้ว ติดล้อแล้วหมายความว่าไง รถที่มันติดล้อแล้ว มันก็พร้อมแล้ว พร้อมที่จะวิ่งแล้วใช่มั้ย เพราะฉะนั้นท่านบอกว่า ที่พูดมาทั้ง 2 คาถานะ ทั้งหมดนี้มี 10 คาถา 10 คาถานี้ 2 คาถาต้นนี้ เหมือนกับมีชีวิตที่ติดล้อพร้อม จะเดินไปสู่ความเจริญ ท่านบอกว่า รวมความก็คือว่า ต้องรู้จักคบคน มีคนสัมพันธ์เกี่ยวข้องที่ดี รู้จักใช้คน บริวารดี อะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม จัดที่อยู่ที่อาศัยให้มันน่าอยู่ เอื้อเฟื้อ เกื้อกูลต่อการทำงาน การเป็นอยู่ แล้วก็เตรียมทุนความดีไว้ วิชาการความรู้เตรียมไว้ให้พร้อม ความถนัด จัดเจนอะไรต่างๆ นี้ อย่าประมาทเตรียมไว้ให้พร้อม แล้วก็ยืนหยัดในทิศทางและหลักการสู่เป้าหมายที่แน่นอน ชัดเจน อันนี้ท่านบอก ถ้าได้ 4 ข้อนี้ก็ เหมือนกับรถที่ติดล้อ 4 ล้อ พร้อมแล้ว พร้อมจะวิ่ง ต่อไปนี้ก็วิ่งเลยทีนี้นะ พระพุทธเจ้าก็ตรัสต่อไปจากนี้อีกมีอะไร พาหุสัจจะ ??? ปัญจะ คราวนี้ก็ไม่หยุดแค่นั้น ทุนดีมีแล้วก็หาความรู้ต่อไปอีก เป็นผู้มีความรู้อย่างกว้างขวาง รู้ซึ้งในวิชาการอะไรต่างๆ ที่ตัวถนัด ??? ปัญจะ ก็มีความถนัด จัดเจน ในศิลปะวิทยา มีความเชียวชาญในการใช้ฝีมือในงานของตนเอง เป็นต้น แล้วก็รู้จักพูดจานะ พูดจากับผู้คน พูดให้เป็นอะไรต่างๆ แล้วต่อไปพอตัวเองมีหลักในการดำเนินชีวิตแล้ว ทีนี้ก็หันมาดูคนที่เกี่ยวข้องในชีวิต มาตาปิตุอุปัฏฐาน ??? บำรุงบิดามารดา เลี้ยงดูพ่อแม่นะท่านบอก เลี้ยงดูพ่อแม่แล้วอะไร มาตาปิตุอุปัฏฐาน ??? สงเคราะห์บุตร ภรรยา แก่ครอบครัว บุตร ภรรยา ต้องเอาใจใส่ ต้องทำให้ดีนะ ให้อยู่กันเป็นสุข ต่อไปอีก อะไรอีก (อะ-นา-กุ-ลา-จะ-กัม-มัน-ตา ???) การงานต่างๆ ตั้งใจทำให้ดี ให้เรียบร้อย ไม่ให้คั่งค้าง หมักหมม อะไรต่างๆ นี่ เอาล่ะสิ เดินหน้าเลยนะตอนนี้ชีวิต ต่อไปพอตัวเองตั้งตัวได้ดี ทำงานได้ดีแล้ว (ทา-นัง-จะ-พรัม-มะ-จะ-ริ-ยา ???) มีโอกาสก็ช่วยเหลือเผื่อแผ่ แบ่งปันกัน ให้แก่กันในสังคมกัน สังคมเราจะได้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข แล้วก็ประพฤติธรรม กระทำในสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ ว่าเรื่อยไป ท่านกล่าวไปอีกตั้งเยอะนะ กว่าจะถึง 38 ข้อ ท่านคิดดูเถอะ ถ้าใครเอามาใช้นะชีวิตเจริญงอกงามแน่ จนกระทั่งไปถึงสุดท้ายเข้ามาถึงจิตใจ ทำจิตใจให้ดี เป็นอิสระ จนกระทั่งข้อสุดท้ายนี้ ท่านบอกว่า (กุศโลกธรรมเม ??? เอตัมมังคะละมุตตะมัง) บอกว่า จิตถูกโลกธรรมกระทบกระทั่งแล้วไม่หวั่นไหว เป็นจิตที่ผ่องใส ไร้ธุลี มลทิน แล้วก็ไร้ความเศร้าโศกเป็นจิตเกษม ปลอดโปร่ง มั่นคง ตอนนี้ล่ะ เป็นจิตที่เป็นอิสระแล้ว เป็นผู้อยู่ด้วยปัญญารู้เท่าทันโลกและชีวิต อันนี้จะเจออะไรต่างๆ ก็จิตใจไม่หวั่นไหว นี่พระพุทธเจ้าตรัสไว้มงคล 38 ประการนี้ ตั้งแต่การดำเนินชีวิตในชีวิตประจำวันตั้งเนื้อตั้งตัว ตั้งหลักฐาน ทำมาหากิน ให้ดี จนกระทั่งหาความสุข พัฒนาจิตใจ พัฒนาคุณธรรมในใจของตนเอง นอกจากจะมีความสุขทางวัตถุ ให้มีความสุขทางจิตใจด้วย นอกจากมีความสุขในตัวเองแล้ว ให้มีความสุขในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ตั้งแต่ในครอบครัวเป็นต้นไปด้วย ในสังคมด้วย นอกจากช่วยตัวเองให้ดีแล้วก็เผื่อแผ่สังคมด้วย นอกจากมีความสุขทางจิตใจแล้ว ทำใจให้เป็นอิสระด้วยปัญญาในขั้นสุดท้ายด้วยนะ ก็เรียกว่าถึงขั้นอยู่เหนือโลกธรรมเลย คราวนี้ก็เป็นผู้ที่ เรียกว่ามีความปลอดโปร่ง โล่ง เบา สบาย มีความสุขอยู่ในใจตลอดเวลา หันไปทางไหนเจออะไรก็ไม่มีความทุกข์ โดยรวมแล้วก็เป็นประโยชน์ 3 ประการในชีวิตของเรา สรุปอีกทีหนึ่งนะ 38 ประการก็เป็นประโยชน์ในชีวิต เป็นจุดหมายชีวิตคนควรจะได้ จะถึง 3 ขั้น ประโยชน์ในขั้นที่ 1. ก็เรียกว่าประโยชน์ที่ตามองเห็น ประโยชน์ที่ตามองเห็น ภาษาอีกอย่างหนึ่งก็เรียกว่า ประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ที่ตามองเห็นก็มีอะไร ทรัพย์สินเงินทอง อย่างน้อยให้พึ่งตนเองได้ พยายามหามา แสวงมา สอง ฐานะในสังคม การยอมรับ อย่างน้อยก็เป็นคนในสังคมไม่รังเกียจในแง่ของความประพฤติ ความดีงาม และก็มีตำแหน่งฐานะยิ่งๆ ขึ้นไป ในทางที่ดี ในแง่ของโอกาสที่จะมาสร้างสรรค์ความมีประโยชน์สุขมากยิ่งขึ้น มียศ มีตำแหน่ง มีฐานะ มีฐานันดร แล้วต่อไปอะไรล่ะ สุขภาพร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ท่านบอกว่า เราชาวพุทธนี่จำกันแม่นเลย (อะโรคะยา ปะระมะลาภา) ใช่มั้ย แต่ว่ามันพลาดไปนิด ที่จริงของท่านมันว่า (อะโรค คะยัค ปะระมะลาภา) ลิ้นไทยก็ต้องมาปรับให้เหมาะกับลิ้นไทย ก็แปลว่า ความไม่มีโรคเป็นลาภอย่างยิ่ง หรือว่าสุขภาพดีเป็นลาภอันประเสริฐ ถือว่าเป็นยอดแห่งลาภ นี้ก็เรื่องของประโยชน์ที่ตามองเห็น อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ญาติสนิทมิตรสหาย บริวาร การอยู่ด้วยไมตรีธรรม มีความสุขในการอยู่ร่วมกับสังคมแล้วก็ครอบครัวที่มั่นคง มีความสุข ไม่แค่นี้นะประโยชน์ นี้เรียกว่าประโยชน์ที่ตามองเห็น ได้แค่นี้ดีนะ ดีแล้วนะ จะได้เป็นฐานให้ชีวิตเจริญงอกงาม ทีนี้ต่อไปประโยชน์ขั้นที่ 2. ก็เรียกว่าประโยชน์ที่เลยจากขั้นที่ตามองเห็น ประโยชน์ที่เลยจากตามองเห็นคราวนี้เป็นเรื่องคุณธรรม ความดีงาม การดำเนินชีวิตให้มีคุณค่า มีประโยชน์ เราใช้ชีวิตนี้ทำประโยชน์ สร้างสรรค์ ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ เรานึกขึ้นมาใจก็สบาย มีความภูมิใจในตนเอง มีความสุข มีความอิ่มใจ แล้วก็ได้ทำความดี ได้ทำงานทำการที่เป็นประโยชน์กับสังคม นึกขึ้นมาก็ปิติ อิ่มใจ ได้ตลอดเวลา แล้วก็ความสุขในการประพฤติอยู่ในทางสุจริต หลักการพวกนี้ทำให้ชีวิตมีคุณค่า แล้วก็มีความสุขทางจิตใจ อันนี้เป็นประโยชน์ในขั้นที่ 2. นี่เราได้ 1. ก็ได้มาแล้ว ก็ยังไม่พอต้องได้ 2. ด้วย พอได้ 2. ชีวิตก็เริ่มสมบูรณ์แล้วนะ ถ้าเลยจากประโยชน์ที่เรียกว่าตามองเห็น ถ้าคนที่ได้ถึงประโยชน์ขั้นที่ 2. รับประกันเลย ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกลัวโลกหน้า เป็นหลักประกันเลย ถ้าเราดำเนินชีวิตอย่างนี้แล้ว ชีวิตดีมีคุณค่า มีความสุขทางจิตใจ มีความดีไว้ให้ภูมิใจนะ ไม่ต้องไปกลัวมันหรอก เรื่อง นรก เรื่องอะไรนั่นนะ มันเป็นหลักประกันอยู่ในตัวแล้ว ท่านบอกว่า ใจคุณนะถ้าใจคุณมีคุณธรรมความดีจนบัดนี้แล้วไม่ต้องไปกลัว มันเป็นหลักประกันอยู่ในตัว ทีนี้ขั้นต่อไปท่านบอกว่าแค่นี้ก็ยังไม่พอ เพราะว่าคนเรานี้ถึงแม้จะมีความดีก็ยังมีทุกข์ได้ คนดีมีทุกข์ได้อย่างไรล่ะ ก็คือว่า เรายังมีความยึดมั่นในความดีได้ เราก็ยังยึดว่า ต้องทำความดี ทำความดีแล้วเราอาจจะได้รับความนิยมสรรเสริญ แต่ทีนี้บางทีเราทำไปแล้วนี่ คล้ายๆ เราไม่เห็นผลของความดีของเรา แล้วเราเริ่มท้อใจ ไม่สบายใจ หรือเสียงสรรเสริญนิยม ยกย่อง ที่เคยได้ยินได้ฟัง มันก็ลดหายจางไปอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราก็อาจจะเกิดความทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นท่านบอกว่าต้องก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง ทำให้จิตใจนี้เป็นจิตใจที่เป็นอิสระด้วยปัญญา รู้เข้าใจความจริงของโลกกับชีวิต ว่าสิ่งทั้งหลายนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นของธรรมดา เราต้องรู้เท่าทันความจริงของโลกกับชีวิตนี้ สิ่งทั้งหลายเป็นอย่างนั้นเอง เป็นกฎธรรมชาติ เรามีปัญญารู้เท่าทันความจริงแล้ว เราก็ไม่ปล่อยใจให้ตกเป็นทาสของความเป็นไป ความผันผวน เปลี่ยนแปลงไปในโลก จิตใจของเราก็เป็นอิสระ รู้อยู่กับปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริง มีปัญญารู้ตามเหตุปัจจัย คราวนี้ก็จิตใจเป็นอิสระ มีความโล่ง ความโปร่ง ความเบาสบายอยู่ในใจตลอดเวลา ทีนี้ใจไม่ต้องขึ้นกับสิ่งภายนอก ใจที่จะมีความสุข แต่ก่อนนี้ต้องขึ้นต่อวัตถุบ้าง ต้องขึ้นต่อสิ่งที่ได้รับ ได้ยิน ได้ฟัง จากภายนอกบ้าง หรือแม้แต่นึกถึงสิ่งที่ตนได้ทำลงไป ตอนนี้พอถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ด้วยปัญญารู้ความจริงนี้ ใจมันโปร่ง โล่ง เบา สบาย มีความสุขในตัวเอง พอถึงขั้นนี้เรียกว่า ถึงขั้นทำจิตใจให้เป็นอิสระ ประโยชน์ขั้นสุดท้าย ความสุขจากอิสรภาพของจิตใจไม่ขึ้นกับสิ่งภายนอกก็จบ พอได้ถึงขั้นนี้แล้ว เรามีอิสรภาพของจิตใจไว้เป็นหลักประกัน เวลาจะมีความสุขทางวัตถุก็มีได้โดยสมบูรณ์ เพราะใจเราเป็นอิสระ ไม่มีสิ่งที่คอยมารบกวนทางจิตใจ หรือเราจะมีความสุขทางด้านของความดี ความงาม ชีวิตมีคุณค่าอะไรต่างๆ เราก็มีความสุขอย่างนั้นด้วยใจที่ปลอดโปร่ง โล่ง ไม่มีความหวาดระแวง หรือว่าความกังวล คนที่ยังอยู่ในขั้นที่ 1. ที่ 2. นี่ มันยังมีความกังวลเสียความรู้สึก กังวลใจ อะไรอย่างนี้มีบ้างนะ กังวลว่าเราทำอย่างนี้ไปแล้วนะ จะได้รับผลดีอย่างนั้นอย่างนี้ไหมนะ ความกังวลอย่างนี้ยังมีอยู่ แต่คนที่ไปถึงขั้นที่ 3. นี่ โปรง โล่ง หมดเลยนะ เออเราทำความดีของเราไป ดีเราทำความดี มีประโยชน์ ใครจะรู้ไม่รู้ เป็นอย่างไร ไม่เป็นอย่างไร มันก็เป็นประโยชน์ในตัวของมัน ทำไปแล้วใจสบาย เสียงสรรเสริญมาเออก็ดี ไม่มาก็เออนี่ปัญญารู้ตามทันโลกธรรม มันก็เป็นอย่างนี้นะ สิ่งทั้งหลายมันไม่เที่ยงแท้จะเอาอะไรกับมัน โลกนี้ไม่เป็นไปตามใจปรารถนาของเราหรอก ถ้าเราจะขืนไปยื้อยุดกับมันล่ะก็ ใจของเราก็จะยุ่งใจเปล่าๆ เราก็ไม่ไปยื้อยุดฉุดกระชากใจ ใจเราก็สบาย ปลอดโปร่ง โล่ง เป็นอิสระ นี่แหละถึงขั้นประโยชน์ที่ 3 ชีวิตของเรานี่ ถ้าทำได้อย่างนี้ นี่แหละมงคล ดีกว่าจะไปถือมงคลว่าได้ยินขลังที่โน่น ศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ วิ่งไปโน่นทีหนึ่ง วิ่งไปนี่ทีหนึ่ง เดี๋ยวอันนั้นเสื่อมไปแล้ว อันใหม่มาอีกแล้ว วิ่งไม่รู้จักหยุดเลย แล้วก็เลยหามงคลไม่พบ พอหาไม่พบซะทีก็เลยไม่ได้ความสุขที่แท้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าสอนให้เรารู้จักมงคลที่แท้จริง ดังที่อาตมาว่ามาแล้วนี้ มงคล 38 ประการ รวมลงย่อก็ลงในสาระใน 3 ขั้น ชีวิตที่มีจุดหมาย 3 ขั้น ประโยชน์ 3 อย่าง ทั้งประโยชน์ตามองเห็น ประโยชน์เลยจากตามองเห็น ประโยชน์ขั้นสูงสุดที่เป็นขั้นอิสรภาพของจิตใจด้วยปัญญา รู้เท่าทันโลกและชีวิตอย่างที่ว่ามานี้ วันนี้ก็เลยเอาเรื่องมงคลมาพูดกันเพราะว่า ทำบุญวันนี้ก็เพื่อความเป็นมงคล มันก็เป็นมงคลจริงๆ อย่างที่ว่ามานี้แหละ พอญาติมิตรมาพบกันก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ ใจคอดี มาด้วยความเป็นมิตร ด้วยไมตรีจิตร ด้วยความรักกันนะ พอเจอหน้ากันก็มงคลเกิดขึ้นแล้ว ใจสบายมีความสุข ได้มาทำบุญทำกุศลร่วมกัน ทำแล้วก็นึกถึงพระศาสนาที่เรานับถือจะได้เจริญรุ่งเรืองมั่นคงต่อไป เรามีส่วนร่วมด้วย ช่วยด้วย ใจคอสบาย อิ่มใจไปตลอด ไม่เฉพาะวันนี้นะ วันอื่นๆ ถ้าทำใจได้มาระลึกถึงว่าเออวันนั้นเราได้มาทำบุญทำกุศล สบายใจ เราได้ทำแล้ว ว่าสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ควรทำ เราได้ทำแล้ว อิ่มใจขึ้นมาอีก สบายใจเรื่อยไป ก็ขอให้บุญที่ทำให้เกิดมงคลนี้ตั้งมั่นในจิตใจของญาติมิตรทุกท่านทุกคน แล้วก็ทำให้เกิดความสุข ความเจริญ สมชื่อมงคลยิ่งขึ้นไป อาตมาก็ขออนุโมทนา อาจารย์ ดร.อรรนพ คุณอรรัตน์ ??? แล้วก็พี่ๆ น้องๆ ญาติมิตร โยม แล้วก็ทุกท่านที่ได้มาร่วมทำบุญกันในวันนี้ ก็ขออานุภาพคุณพระรัตนตรัย พร้อมทั้งบุญกุศลได้อภิบาลรักษาคุ้มครองให้เจริญด้วยจตุรพิธพรชัย ??? แต่จิตใจที่สบาย มีปิติ อิ่มใจ ในบัดนี้ และก็ให้ชีวิตได้เจริญมั่นคงงอกงามด้วยความสุขยิ่งขึ้นไป จงมีความร่มเย็น ไพบูลย์ในพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วกันทุกท่านตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ