แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
[00:50] เริ่มต้นขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า จริยธรรม จริยธรรมในที่นี้มิใช่หมายถึง จริยธรรม ในความหมายแคบๆ ตามที่เราใช้กับปัจจุบันแบบตะวันตก ซึ่งเน้นที่พฤติกรรมทางสังคม แต่จริยธรรมในความหมายทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ การดำเนินชีวิต หรือวีถีชีวิตทั้งหมด คือความเป็นอยู่ ความรู้สึกนึกคิด ทั้งจิตใจ ทั้งปัญญา ทั้งพฤติกรรมทั้งหมด ในที่นี่้เราพูดกันถึงจริยธรรมของนักการเมือง เมื่อพูดถึงจริยธรรมในระดับของคนชั้นนำอย่างนักการเมืองนี้ ก็ขอข้ามเรื่องจริยธรรมสามัญสำหรับคนทั่วไป ซึ่งถือว่าทุกคนควรมีจริยธรรมพื้นฐานอยู่แล้ว อย่างเรื่องของการมีศีล 5 การไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้ายร่างกายทำลายชีวิตผู้อื่น การไม่ละเมิดทรัพย์สินของผู้อื่น การไม่ประพฤติผิดทางเพศ การไม่พูดเท็จโกหกหลอกลวง การไม่ดื่มสุรายาเมาสิ่งเสพติด และการงดเว้นอบายมุข เหล่านี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องของจริยธรรมพื้นฐาน ซึ่งทุกคนก็ควรจะมีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นในระดับของนักการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องพูดถึงอีก
เพราะว่าเมื่อพูดถึงจริยธรรมของนักการเมือง ก็ต้องหมายถึง การดำเนินชีวิต ความรู้สึกนึกคิด จิตใจและสติปัญญา ของผู้ที่จะไปบริหารบ้านเมือง หรือว่าเป็นผู้นำของประชาชน ในกิจการของประเทศชาติเพื่อจะนำประเทศชาติบ้านเมืองไปสู่ความเจริญงอกงาม และสันติสุข เริ่มต้นเมื่อพูดถึงจิรยธรรมของนักการเมือง ก็ต้องพูดถึงจุดหมายของงานการที่เกี่ยวกับบ้านเมือง เช่น การบริหาร การปกครอง หรือการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศชาติ ซึ่งเป็นเรื่องทางด้านปัญญา เราอาจจะพูดกันง่ายๆ ว่าจุดหมายของงานการเมืองก็คือ การที่จะบริหารกิจการ หรือปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี เป็นต้น แต่อย่างนี้ยังไม่ใช่จุดหมายที่แท้จริง อะไรคือจุดหมายที่แท้จริง มันจะต้องมองลึกลงไปว่าธรรมดาชีวิตของคนเราก็ดี สังคมก็ดีนั้น มีจุดหมายของมันเองอยู่แล้ว คือชีวิตต้องการความเจริญงอกงาม ความเป็นสุข การที่ชีวิตจะนั้นจะพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป สังคมก็เช่นเดียวกัน มีจุดหมายที่จะทำการสร้างสรรค์ เช่น มีอารยธรรมที่เจริญก้าวหน้า เป็นต้น นี้การบริหารบ้านเมืองที่ว่าให้สงบสุข หรือราษฏรอยู่ดีกินดีนั้น ความจริงก็เพื่อมาเป็นสภาพเอื้อให้แก่จุดหมายของชีวิตและจุดหมายของสังคมที่พูดไปแล้วนั่นชั้นนึง หมายความว่า จุดหมายของการเมือง หรืองานการเมืองนั้น เพื่อสร้างสภาพเอื้อ ให้แก่การที่ทั้งชีวิตและสังคมจะพัฒนาไปสู่จุดหมายของมัน
ที่พูดอย่างนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่มองอย่างที่ว่านี้เราจะมองไปตันแค่ว่า เช่น เป็นนักปกครองแล้วเพื่อให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุขอยู่กันเรียบร้อย และก็จัดการบ้านเมืองให้สงบเท่านั้น บางทีการปกครองก็จะไปเน้นเรื่องอำนาจ หรือมิฉะนั้นอย่างน้อยก็จะทำให้บ้านเมืองนั้นอยู่ในวังวนของความเจริญและความเสื่อม ยกตัวอย่างเช่นว่า เมื่อบริหารบ้านเมืองดี มีความสามารถ อยู่ดีกินดี เช่นมีความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ คนก็มาลุ่มหลงเพลิดเพลิน หันไปเน้นเรื่องการเสพบริโภค การบำรุงบำเรอ และก็ลุ่มหลงมัวเมา สังคมก็เสื่อมลง ที่จริงนั้นผู้บริหารประเทศชาติ หรือนักการเมืองโดยทั่วไป จะต้อง จัดงานการบ้านเมืองนั้นก็เพื่อให้เกิดสภาพเอื้อ อย่างที่ว่าเมื่อกี้คือคำนึงอยู่เสมอว่า งานการที่เราทำหรือการที่จะบริหารกิจการบ้านเมืองนั้น ก็เพื่อให้ชีวิตและสังคมนั้นได้สภาพที่เกื้อหนุนต่อการที่จะก้าวไปสู่จุดหมาย เช่น เจริญงอกงามในอารยธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่ใช่เป็นจุดหมายปลายปิด ที่เพียงว่าให้ชีวิตสังคมอยู่กันสบายแล้วก็จบ ซึ่งอย่างง้้นจะตัน เมื่อเข้าใจจุดหมายของการเมืองการปกครอง การบริหาร กิจการต่างๆ แล้ว ก็จะต้องใช้ปัญญาศึกษาให้มากขึ้น คือไม่ใช่หยุดอยู่แค่ว่า อ้อ รู้เข้าใจว่าจุดหมายของการเมืองการปกครองเพื่อให้บ้านเมืองร่มเย็นเป็นสุข ประชาชนอยู่ดีกินดี แต่ที่จริงจะต้องคำนึงไปว่า อะไรคือจุดหมายของชีวิต อะไรคือจุดหมายของสังคม ที่เค้าควรจะก้าวต่อไป แล้วก็ไปเกื้อหนุนให้ชีวิตและสังคมเจริญงอกงามไปสู่จุดหมายอย่างนั้น อันนี้เป็นด้านปัญญา พร้อมกันนั้นอีกด้านหนึ่งก็คือ ด้านจิตใจ ด้านจิตใจที่คู่กะเรื่องของความรู้เข้าใจจุดมุ่งหมายของการเมืองการปกครอง การบริหารแผ่นดินนี้ ก็คือ จิตใจที่ใฝ่ปรารถนาอยากจะบรรลุจุดหมายนั้น อันนี้เป็นจุดสำคัญ เป็นแรงจูงใจ แล้วก็เป็นพลังที่จะผลักดันให้นักการเมืองก้าวไปในจริยธรรม ที่เป็นวิถีแห่งชีวิตในหน้าที่การของตน ยิ่งความใฝ่ปรารถนาหรือความอยากตัวนี้ แรงเข้มเท่าไหร่ก็ยิ่งได้ผลเท่านั้น แต่ในทางตรงข้ามถ้าขาดตัวความใฝ่ ความอยากความปรารถนา ต่อจุดหมายนี้แล้ว ก็มีทางที่จะเขวได้มาก
[08:20] ในที่นี่ก็เลยต้องขอพูดถึงเรื่องของตัวแรงจูงใจอันนี้ คือตัวความอยาก ความใฝ่ปรารถนานี้ ว่าในเบื้องต้นจะต้องแยกเป็น 2 อย่าง
ความอยากประเภท 1 ก็คือความอยากต่อสิ่งนั้นๆ อยากให้สิ่งนั้นๆ มันดี หรือให้มันเจริญก้าวหน้างอกงาม พูดง่ายๆ ก็คืออยากให้มันดี อย่างมีความอยาก ความใฝ่ปรารถนาต่อประชาชน ก็คืออยากให้ประชาชนดี มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข มีความใฝ่ปรารถนาต่อบ้านเมือง ก็คืออยากให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า มั่นคง มีความร่มเย็นเป็นสุข หรือทำงานใดก็ตาม มีความใฝ่ปรารถนาให้สิ่งนั้นดี เป็นความปรารถนาต่อสิ่งนั้นเอง นี้อย่างหนึ่ง ทีนี้ในทางตรงข้ามจะมีความปรารถนาหรือความใฝ่
ความอยากประเภท 2 ความอยากอีกแบบหนึ่ง คือความปรารถนา ความอยาก ที่โยงเข้ามาหาตัวตน อยากเพื่อตนเอง คืออยากได้ อยากเอา ก็คือว่าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งใด ก็เพื่อให้สิ่งนั้นอำนวยผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง ความอยากประเภทหลังนี้เรียกว่า ตัณหา
ส่วนความอยากประเภทที่ 1 เป็นความอยากที่ท่านเรียกว่าเป็น กุศล มีชื่อเฉพาะว่า ฉันทะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอยากที่เรียกว่า ฉันทะ เป็นแสงเงินแสงทองของชีวิตที่ดีงาม เป็นรุ่งอรุณหรือแสงอรุณ และเป็นจุดเริ่มที่สำคัญของวิถีชีวิตที่ดี นักการเมืองก็จะต้องมีตัวเนี่ยะ ตัวความอยาก ความใฝ่ปรารถนา ที่ดีต่อสิ่งที่ตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องซึ่งในที่นี้ก็คือ งานการเมือง และก็ตัวแรกก็คือ ความใฝ่ปรารถนาต่อจุดหมายของการเมืองการปกครองนั้น อยากให้จุดหมายนั้น สำเร็จผลอย่างแท้จริง มีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว
ความอยาก 2 ประเภทนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าเป็นตัวตัดสินทีเดียวว่า นักการเมืองจะเดินไปในจริยธรรมได้หรือไม่ ถ้าหากว่ามีความอยากประเภทหลังที่เรียกว่า ตัณหา มีความอยากที่โยงเข้ามาหาตัวเอง เพื่อตัวเอง เรียกว่า ความอยากได้รับผลประโยชน์ ความอยากได้รับการบำรุงบำเรอ การอยากเสพบริโภค ซึ่งเรียกว่าตัณหา และก็ความอยากประเภทเดียวกันนั้น ก็คือความอยากยิ่งใหญ่ ความอยากได้อำนาจ อันนี้เรียกศัพท์เฉพาะว่า มานะ และก็ยังมีความอยากที่เกี่ยวข้องกับตัวตนอีกอย่างหนึ่งอย่างหนึ่งก็คือ ความต้องการสนองความยึดถือของตัวเอง ตัวเองยึดถืออย่างไรจะต้องให้เป็นอย่างนั้นให้ได้ ซึ่งตรงข้ามกับการคำนึงถึงความดีงามและประโยชน์สุขของประชาชน หรือของชีวิตและของสังคม ถ้าหากมีความอยากประเภทหลังที่เรียกว่า ตัณหา มานะ และก็พร้อมทั้งทิฐิแล้ว ก็มีหวังว่าความวิบัติและหายนะจะรออยู่ข้างหน้า เพราะฉะนั้น จึงต้องมีตัวแรงจูงใจเบื้องต้น ที่เรียกว่าความอยากที่เป็นกุศล คือ ฉันทะนี้ในความอยากที่เรียกว่าฉันทะ ซึ่งเป็นตัวเริ่มต้นที่จะนำเข้าสู่จริยธรรม ก็ควรจะแยกให้เห็นชัดลงไป
อย่างที่กล่าวเมื่อกี้ว่า ฉันทะคือความต่ออยากสิ่งนั้นๆ เพื่อความดีงามหรือความสุขเป็นต้นของสิ่งนั้นๆ เอง ถ้าพูดง่ายๆ ก็คือความอยากให้มันดี ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับอะไร ทำอะไรก็อยากให้สิ่งนั้นมันดี หรือดีที่สุดของมัน เมื่ออยากให้มันดี ก็จะต้องก้าวต่อไปคือ อยากทำให้มันดี เพราะว่าถ้ามันยังไม่ดีก็อยากทำให้มันดี เราก็ยังต้องก้าวต่อไปอีกว่า เมื่ออยากทำให้มันดีก็ต้องรู้ว่าทำไงจึงจะให้มันดีได้ ก็นำไปสู่การศึกษา การหาความรู้ การพัฒนาสติปัญญา คือ ความอยากรู้ตามมา และความอยากให้มันดี หรือใฝ่ ใฝ่ดี กับความอยากรู้หรือใฝ่รู้ นี้ ก็จะเป็นความหมายสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า ฉันทะ เราจะมองเห็นความแตกต่างกันได้ชัดเจน ว่าถ้าเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายด้วยความอยาก 2 ประเภทนี้ ผลจะต่างกันอย่างไร คือเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไร โดยอยากให้มันดี กับเข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไร โดยอยากให้มันอำนวยผลประโยชน์ให้กับตน
ถ้าหากว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้นๆ โดยอยากให้มันดี อันนี้แน่นอนว่า ก็คือการมีจริยธรรม รึจุดเริ่มของจริยธรรม
ต่อจากนั้นเราก็จะคิด เราก็จะพยายาม เราก็ทำการต่างๆ เพื่อให้สิ่งนั้นมันดี เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสิ่งนั้นเอง ใช้ได้กับทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งกับคนหรือประชาชน แต่ถ้านำมาใช้กับคนหรือประชาชน คำว่าอยากให้มันดีนี้จะมีความหมายรวมไปถึงการให้เขามีความสุข อยากให้เขาดีงามก็คือให้เขามีชีวิตที่ดีงาม อยากให้เขามีความสุข ความอยากให้มันดีที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ หรือต่อคนต่อประชาชนนี้ มีศัพท์เรียกพิเศษว่า เมตตา กรุณา เพราะฉะนั้น เมตตา กรุณา ก็คือฉันทะ หรือความอยากความใฝ่ดี นั้นเอง ที่แสดงออกต่อเพื่อนมนุษย์ นักการเมืองการปกครองก็จำเป็นจะต้องมีตัวความใฝ่ดี ปรารถนาดี อยากให้มันดี อันนี้ต่อชีวิตของเพื่อนมนุษย์ หรือต่อประชาชน ได้พูดเรื่องนี้ยืดยาวก็เพราะว่าจะต้องย้ำให้มาก เพราะเป็นจุดตัดสินอย่างที่กล่าวแล้ว ถ้าขาดตัวความใฝ่ดี อยากให้มันดี อันนี้ ก็ไปมีตรงข้ามอย่างที่กล่าวแล้วก็คือ อยากได้ผลประโยชน์ อยากใหญ่อยากโต อยากมีอำนาจ เป็นต้น ซึ่งมันจะตรงข้ามกับจริยธรรม ถ้าหากว่ามีตัวตัณหามานะ ทิฐิ แน่นอนว่า จริยธรรมเดินไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จะต้องมีการพัฒนาเจ้าตัวความอยากให้มันดี ถ้าอยากทำให้มันดีนี้ ให้มีความเข้มข้นแรงกล้า ให้เป็นไปอย่างมุ่งมั่นที่สุด ให้ฝังลึกลงไปอยู่ในจิตใจให้ได้ เมื่อมีความใฝ่ดี อยากให้มันดี ความปรารถนาประโยชน์สุขแก่ประชาชน แก่บ้านเมืองอย่างนี้แล้ว ไอ้ตัวความปรารถนาดีอันนี้ก็จะมีความลึกซึ้งลงไป ถ้าพูดด้วยคำสั้นๆ ว่า ความอยากให้ธรรมะเกิดมีขึ้น หรือความใฝ่ธรรม อยากให้ธรรมะ ความดีความงาม ความจริง ความถูกต้อง มันเกิดมีขึ้นในสังคม นี่อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องใหญ่ การที่มีการปกครอง มีการงานบ้านเมืองต่างๆ ก็เพื่อให้เกิดมีธรรมะขึ้นในสังคมมนุษย์หรือเพื่อดำรงธรรมะให้คงอยู่
[17:04] ธรรมะนี้ก็พูดง่ายๆ อย่างที่กล่าวแล้วว่า คือความจริง ความถูกต้อง ความดีงามประโยชน์สุขที่แท้จริง รวมทั้งหลักการที่จะให้เกิดความดีงาม ความถูกต้องเหล่านี้ การที่เราจัดตั้งวางหลักการต่างๆ เช่น หลักการทางด้านรัฐศาสตร์ หลักการทางด้านนิติศาสตร์ หลักการทางด้านเศรษฐศาสตร์ หรือหลักการในเรื่องใดๆ ก็ตาม ก็เพื่อให้มีเกณฑ์ มีมาตรฐาน ในการที่จะดำเนินงานเพื่อสร้างสรรค์ ทำให้เกิดความดี ความงาม ความถูกต้อง เมื่อเราต้องการความดีงาม ประโยชน์สุขแก่บ้านเมือง เราก็ต้องยึดถือในหลักการเหล่านี้ หลักการเหล่านี้ก็เรียกว่า ธรรมะ เพราะฉะนั้น นักการเมืองจะต้องมีจริยธรรมเบื้องต้นที่สุดขั้นต่อไป ต่อจากความอยากที่ถูกต้อง หรือความใฝ่ปรารถนาที่เรียกว่า ฉันทะนั้นก็คือการที่จะต้องยึดถือเอาตัวธรรมะเป็นใหญ่ ที่ทางพระเรียกว่า ธรรมาธิปไตย
ถ้าคนเราไม่ถือเอาธรรมะเป็นใหญ่ คือไม่ถือเอาหลักการ ไม่ถือเอาความจริงความถูกต้อง ความดีงาม ประโยชน์สุขที่แท้ เป็นมาตรฐาน หรือเป็นใหญ่ เป็นที่ยึดถือ มันก็จะเอนเอียงหรือเขวออกไป ยึดถือเอาตัวตนเป็นใหญ่ เอาผลประโยชน์เป็นใหญ่ เอาคะแนนเสียงเป็นใหญ่ เป็นต้น ถ้าถือเอาตัวตน ผลประโยชน์ของตน ความยิ่งใหญ่ อำนาจของตน เป็นต้นเป็นใหญ่ ท่านก็เรียกว่า อัตตาธิปไตย ถ้าถือเอาความนิยม การเอาอกเอาใจกัน ความชอบใจพึงพอใจ ของคนจำนวนมากโดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์กัน ถ้าถืออย่างงั้น ก็เรียกว่า โลกาธิปไตย ผู้เป็นผู้ปกครอง เป็นนักการเมือง เป็นนักบริหาร ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญว่า ตอนนี้จะออกสู่ภาคปฏิบัติ ก็ต้องตั้งหลักก่อน ไอตัวที่จะตั้งหลักก็คือ จะต้องยึดถือตัวธรรมะเป็นใหญ่ ก็ย้ำว่า ก็คือการถือหลักการ ถือความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผลประโยชน์สุขที่แท้ เป็นใหญ่ เป็นเกณฑ์ เป็นมาตรฐาน เมื่อถือธรรมเป็นใหญ่ ก็เห็นแก่ธรรม เห็นแก่ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม ยึดถือตามหลักการ ก็จะไม่เอนเอียงไปข้างไหน ไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ ไม่เห็นแก่พรรคพวก ไม่เห็นแก่คะแนนนิยม เป็นต้น จะมีความชัดเจนในการทำงาน เมื่อมีธรรมาธิปไตยเป็นหลัก ตั้งตัวอยู่ในหลักได้แล้ว ต่อจากนี้ก็ก้าวออกไปในการทำงาน
อย่างที่กล่าวแล้วว่า จุดหมายของการงานทางด้านการเมืองนั้น ก็เป็นเรื่องเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน คือสร้างสภาพเอื้อให้ชีวิต และสังคมนั้นได้พัฒนาก้าวหน้าไปสู่จุดหมายของมันอีกชั้นหนึ่ง ทีนี้การที่จะสร้างสภาพเอื้อขึ้นมานั้น เบื้องต้นก็อย่างที่กล่าวแล้วว่า ประชาชนจะต้องอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ไม่เบียดเบียนกัน ไม่มีความเดือดร้อน สังคมมีความมั่นคงปลอดภัยและมีสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นธรรม เพราะฉะนั้น หน้าที่ของนักการเมือง โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่ทางการปกครอง ก็คือการที่จะจัดการบำรุงรักษา ความคุ้มครองปกป้องโดยชอบธรรม ซึ่งทางพระท่านใช้คำว่า ธรรมิการักขา ก็คือ อารักขาที่เป็นธรรม สำหรับข้อนี้ในทางพระพุทธศาสนาจะมีการแยกรายละเอียดออกไปมาก ให้เห็นว่ามีคนกลุ่มใด ประเภทไหนบ้างที่ผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้องเอาใจใส่ ให้การคุ้มครองปกปักรักษา เช่น อาจจะแยกเป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน แล้วแต่จะแยกซอยออกไป พ่อค้าวาณิช สมณะพราหมณ์ ตลอดจนชาวชนบท คนที่อยู่ชายแดน และสัตว์บกสัตว์บิน สัตว์น้ำ นอกจากคุ้มครองรักษาให้อยู่ดีมั่นคงปลอดภัยแล้ว ก็ยังต้องช่วยเกื้อหนุนให้เขาสามารถทำสิ่งที่ดีงาม ทำการสร้างสรรค์ ก้าวหน้าไปได้ในกิจการต่างๆ ถ้าคุ้มครองรักษาประชาชนไม่ได้ ให้ความเป็นธรรม ให้โอกาสแก่ความเจริญงอกงามของชีวิต และสังคมไม่ได้ งานการเมืองการปกครองก็เรียกได้ว่า จะล้มเหลว เพราะว่าข้อนี้แหละเป็นการสร้างสภาพเอื้อ หรือสร้างโอกาสให้แก่ชีวิตและสังคมที่จะงอกงามก้าวหน้าไปสู่จุดหมายของมัน
ข้อต่อไปในด้านตรงข้ามก็คือว่า นอกจากส่งเสริม คุ้มครองป้องกันแล้ว ก็คือจะต้องระวัง ปราบปรามแก้ไขปัญหาต่างๆ สิ่งที่มาขัดขวางไม่ให้จะประชาชนอยู่ดีมีสุข คือ การกระทำทั้งหลายที่ไม่ชอบธรรม ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน ที่เป็นผลเสียต่อชีวิต ต่อสังคม อันนี้ท่านเรียกว่า มาอธรรมการ แปลว่าแก้ไข ป้องกัน กำหราบปราบปราม การกระทำที่ไม่เป็นธรรม หรือไม่ชอบธรรม ตั้งแต่โจรผู้ร้าย อาชญากรรม ความอยุติธรรมทุกรูปแบบในสังคม ตลอดจนกระทั่งถึงสิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางจิตใจ และความเสื่อมโทรมทางปัญญา
ข้อที่ 4 ก็มีความสำคัญมาก เป็นเรื่องทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งทางพระศาสนาก็ ถือว่า เป็นเรื่องพื้นฐานที่เรียกว่า ปัจจัย การคุ้มครองรักษาประชาชน การที่จะไม่ให้มีการกระทำที่ชั่วร้าย หรือความไม่ชอบธรรมในสังคมนั้น ก็จะเดินหน้าไปได้ยาก ถ้าขาดความเพียงพอทางด้านเศรษฐกิจเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้น หลักการข้อที่ 4 นี้ ก็จึงวางไว้ว่า พยายามไม่ให้มีคนยากไร้ ท่านเรียกว่า ธนานุประทาน แปลว่า การจัดสรรปันทรัพย์ให้แก่คนยากไร้ ไม่มีเงินทอง อันนี้ก็คนที่ยากจน ขัดสน ก็จะได้รับการ ต้องได้รับการเอาใจใส่ ให้เค้ามีทางทำมาหาเลี้ยงชีพ เป็นอยู่ได้ การส่งเสริมให้คนร่ำรวย จะกลายเป็นภัยอันตราย ถ้าสังคมไม่เอาใจใส่คนที่ยากไร้ขาดแคลน แต่ในทางตรงข้ามถ้าเราเอาใจใส่ คนยากไร้ ขาดแคลน ให้ได้รับความเกื้อหนุน มีทางเป็นอยู่ และฟื้นตัวได้ ก็การที่จะส่งเสริมความร่ำรวย มั่งคั่ง ก็จะกลายเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น แต่ก็จะต้องอยู่ในหลักการ คือเข้าใจความหมายของความเจริญ พรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ หรือวัตถุนี่ เป็นเรื่องสำคัญมาก
ทางพระเรียกเรื่องของความพรั่งพร้อมทางวัตถุ หรือการมีเงินทอง เป็นต้น นี่เรียกว่า ปัจจัย หมายความว่า เป็นมี เป็นเรื่องเกื้อหนุน ถ้าเราขาดวัตถุ ขาดปัจจัยสี่ เราจะไม่สามารถก้าวไปสู่การสร้างสรรค์ และทำความดีงามที่สูงขึ้นไป เพราะฉะนั้น เรื่องของปัจจัยสี่ เรื่องของความเจริญพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ ทางวัตถุ จึงเป็นปัจจัยเครื่องเกื้อหนุน ความก้าวหน้าดีงามและการสร้างสรรค์นั้น แต่ว่าการเจริญพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจไม่ใช่เป็นจุดหมาย ถ้าสังคมเข้าใจว่า ความพรั่งพร้อมทางเศรษฐกิจ ความมั่งมี เสพบริโภคเป็นจุดหมายเมื่อไหร่นั่นคือความเสื่อมของสังคม ปัญญาปัจจุบันนี้ที่สำคัญมากก็คือคน มีความโน้มเอียงที่จะมอง เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความพรั่งพร้อมทางวัตถุ เรื่องการเสพบริโภค การบำรุงบำเรอนี้เป็นจุดหมายไป นั้นสังคมนี้จะตัด แล้วก็จะตกอยู่ในความลุ่มหลงมัวเมา และก็เสื่อม เพราะฉะนั้น จะต้องมีทัศนคติ ท่าทีการมองความหมายของความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ หรือความพรั่งพร้อมทางวัตถุนี้ให้ถูกต้อง ว่าเป็นปัจจัย คือเป็นเครื่องเกื้อหนุนต่อการสร้างสรรค์ทำสิ่งที่ดีงามให้สูงขึ้นไป ซึ่งเราจะต้องมีความเจริญก้าวหน้า พัฒนา ทางด้านจิตใจ ทางด้านปัญญา ทางด้านศิลปะวิทยาการอะไร ต่าง ๆ เป็นต้น ไม่ใช่แค่มาบำรุง บำเรอ เสพบริโภค แล้วก็จบ แต่ทั้งนี้การที่จะก้าวไปสู่ ความดีงามการสร้างสรรค์เหล่านั้น ก็คือ จะต้องให้คนในสังคมนี้ ไม่ขาดแคลนวัตถุปัจจัยเครื่องเลี้ยงชีพ อย่างที่กล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น ข้อ 4 ก็คือ ธนานุประทาน การจัดสรรแบ่งปันทรัพย์ให้กับคนที่ยากไร้ขาดแคลน หรือพยายามไม่ให้มีคนที่ยากไร้ขาดแคลนนั้น
ข้อที่ 5 ข้อนี้เป็นเรื่องทางปัญญา คือนักการเมือง ผู้บริหาร ผู้ปกครอง จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญก็คือการแสวงปัญญา ต้องถือเป็นหน้าที่ทีเดียว อันนี้มักจะมองข้ามกันไป ว่านักการเมือง หรือผู้บริหารแผ่นดิน อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า เรามาดำเนินกิจการบ้านเมืองนี้ ก็เพื่อสร้างสภาพเอื้อ เพื่อให้ประชาชนและสังคมนี้ ได้เดินก้าวหน้าไปสู่จุดหมายแห่งชีวิต และจุดหมายแห่งสังคม สร้างสรรค์อารยธรรมเป็นต้น การที่จะทำหน้าที่นี้ได้ ก็คือจะต้องมีปัญญา รู้ว่าอะไรดี อะไรเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง อะไรควรจะเป็นจุดหมายของชีวิต อะไรควรเป็นจุดหมายของสังคม เพราะเราไม่ได้ปกครองหรือว่า บริหารกิจการบ้านเมืองเพียงให้บ้านเมืองสงบสุข อยู่เฉย ๆ คือจะต้องเน้นเรื่องการที่ว่าสร้างสภาพเอื้อนั้น ทีนี้ก็เลยจะต้องมีปัญญาที่รู้เข้าใจว่าอะไรดีงาม อะไรเป็นประโยชน์ อะไรควรจะเป็นจุดหมาย อะไรเป็นอารยธรรมที่แท้จริง เพราะฉะนั้นนักการเมือง นักบริหาร นักการปกครอง ต้องแสวงปัญญาอยู่เสมอ ต้องถือเป็นหน้าที่ โดยเฉพาะในสังคมประชาธิปไตยนั้น นักการเมืองนอกจากจะต้องศึกษาเพื่อพัฒนาปัญญาของตนเองแล้ว ยังจะต้องช่วยเกื้อหนุนให้ประชาชนมีการศึกษาด้วย
ชีวิตและสังคมจะดีงามไม่ได้ จะมีความสุขที่แท้จริงไม่ได้ ถ้าไม่รู้ว่า อะไรดีงาม อะไรเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ตนเอง
[30:24] เรื่องนี้เป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดข้อหนึ่งที่ว่า มนุษย์มีความอยากได้อยากเอา แต่ก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสี่งที่ตนควรจะเอา อะไรเป็นประโยชน์แก่ตนหรือไม่ อาจจะเลือกเอาสิ่งที่เป็นโทษแก่ตนก็ได้ และอันนี้ก็คือเป็นปัญหาสำคัญของประชาธิปไตย ทำไมประชาธิปไตยต้องมีการศึกษา เพราะว่าการปกครองประชาธิปไตยนั้นเราให้ประชาชนเป็นใหญ่ เรียกได้ว่าประชาชนเป็นผู้ปกครอง หรือเป็นการปกครองของประชาชน เมื่อประชาชนเป็นผู้ปกครองก็คือประชาชนเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ในการตัดสินใจนั้นคืออะไร ก็คือตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร แล้วเราก็ถือเอาเสียงส่วนมากเป็นใหญ่ จะต้องเข้าใจกันให้ชัดว่า เสียงส่วนใหญ่นั้นตัดสินความจริง หรือแม้กระทั่งความดีงามไม่ได้ แต่เสียงส่วนใหญ่นั้น ตัดสินความต้องการได้ คือ ที่บอกว่าประชาชนเป็นใหญ่ เอาเสียงข้างมากตัดสินนั้น ก็คือตัดสินได้ว่าประชาชนจะเอาอย่างไร แต่เสียงข้างมากนั้นไม่เป็นเครื่องตัดสินว่า จริงหรือไม่จริง คนจำนวนมากถ้าหากว่าโง่ อาจจะไม่รู้ความจริง ยกตัวอย่างบ่อย ๆ เช่น เมื่อร้อยปีมาแล้ว คนร้อยล้านพันล้านคน ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่บอกว่าโลกแบน อาจจะมีคน ๆ เดียวที่รู้ว่าโลกกลม แล้วก็ปรากฏว่าคนเดียวนั้นถูก คนแปดสิบล้าน เก้าสิบล้าน ร้อยล้านพันล้านนั้นผิด เพราะฉะนั้นเสียงส่วนใหญ่เนี่ยตัดสินความจริงไม่ได้ ความจริงก็เป็นอยู่ของมันอย่างนั้น ไม่ว่าคนจะว่าอย่างไร เสียงส่วนใหญ่นั้นก็ตัดสินได้เฉพาะว่าจะเอาอย่างไร คือบอกความต้องการของตนเอง
ทีนี้สังคมประชาธิปไตยทีให้ใช้เสียงส่วนใหญ่ตัดสินก็คือ บอกความต้องการของประชาชนว่าจะเอาอย่างไร แต่ความต้องการของประชาชนที่ว่าจะเอาอย่างไรนั้น จะเกิดประโยชน์ดีงามแท้จริงก็ต่อเมื่อประชาชนนั้นมีความรู้ ว่าอะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม อะไรเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ แล้วเขาจะได้เลือกตัดสินใจเอาสิ่งถูกต้องดีงาม เป็นประโยชน์ คนที่จะรู้ว่าอะไรดีงาม จริง ถูกต้องเป็นประโยชน์ ก็คือจะต้องมีความรู้ มีการศึกษา เพราะฉะนั้น ในสังคมประชาธิปไตยจึงต้องมีการพัฒนาคน ให้มีการศึกษา ให้มีปัญญาเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ เพื่อให้ถึงจุดบรรจบที่ว่า ประชาชนที่เป็นเสียงส่วนใหญ่นั้น จะได้เลือกเอาหรือตัดสินใจเลือกเอา สิ่งที่จริง ถูกต้อง ดีงาม เป็นประโยชน์ เมื่อไรการตัดสินใจเลือกเอาสิ่งที่ต้องการนั้น ไปตรงกับสิ่งที่จริง ดีงาม ถูกต้อง เป็นประโยชน์ โดยอันนั้นก็คือความสำเร็จของประชาธิปไตย แต่ถ้าประชาธิปไตยได้แค่ให้เสียงส่วนใหญ่ เลือกเอา ตัดสินใจเอา สิ่งที่ต้องการ แล้วไม่พัฒนาปัญญาให้รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งดีงามที่ควรต้องการ อันนี้ก็คือ อาจจะเป็นหายนะของสังคมประชาธิปไตย ซี่งเวลานี้ต้องยอมรับว่าเป็นปัญหาเป็นอย่างยิ่ง คือ คนเลือกเอาสิ่งที่ตัวเองอยากได้อยากเอาเฉยๆ ทั้งที่มันเป็นโทษ ไม่ดี ไม่งาม ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นประโยชน์แท้จริง ฉะนั้น ผู้นำของประเทศชาติบ้านเมือง จะเป็นผู้ปกครอง ผู้บริหาร หรือนักการเมืองเนี่ย จะต้องมีการศึกษาอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีหลักการข้อที่ 5 นี้ ที่ท่านเรียกว่า ปริปุจฉา เพระว่าคอยปรึกษา สอบถาม ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอ เพื่อให้ๆ ทราบว่าอะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรดีงาม อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ อะไรจะเป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญงอกงามที่แท้จริงแก่ชีวิตและสังคม ถ้าขาดข้อนี้เสียแล้วก็ การปกครองแบบประชาธิปไตย ก็ไม่สัมฤทธิ์ผล
[35:21] ขอสรุปว่า การปกครองประชาธิปไตยนั้น คือการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่นั้นก็หมายถึงการที่ประชาชนแต่ละคน ทุกๆ คน มีส่วนร่วมในการปกครองนั้น ก็คือมาร่วมกันปกครองแต่ประชาชนจะมาร่วมกันปกครองแล้วได้ผลดี ประชาชนแต่ละคนนั้นก็จะต้องมีคุณภาพ ที่ว่ามีคุณภาพนั้นก็คือประชาชนนั้น จะต้อง
ถึงตอนนี้ งานของนักการเมืองก็เกิดขึ้น คือการที่จะจัดสรรสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ สภาพสังคมให้เอื้อต่อการที่ประชาชนจะพัฒนาศักยภาพของตนเอง คือมีการศึกษาให้เกิดสติปัญญาเจริญงอกงาม เป็นต้น อย่างที่กล่าวแล้วว่า ที่มีการปกครอง การจัดสรรบ้านเมือง ให้สงบศึก เป็นต้น ให้มีความมั่นคง ก็เพื่อให้เป็นสภาพเอื้อต่อความมุ่งหมายอันนี้ ที่ว่าอย่างน้อยประชาชนจะได้พัฒนาศักยภาพของเขา พัฒนาตัวเองให้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพ อันนี้เรียกได้ว่าเป็นแง่ที่ 1 ต่อไป 2 ก็คือนักการเมือง จะต้องหาทางที่จะดึงเอาศักยภาพของประชาชนทั้งหลาย ให้ออกมามีส่วนร่วมอย่างดีที่สุดในการสร้างสรรค์สังคม ประเทศชาติ คนมีศักยภาพต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน มีฝีมือ มีสติปัญญา มีความรู้ศิลปวิทยาด้านต่าง ๆ นักการเมืองก็จัดสรรวิธีการที่จะดึงเอาศักยภาพของคนเหล่านั้นออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แก่ส่วนรวม แก่สังคม และก็ 3 ก็คือว่า นักการเมืองนั้น เป็นศูนย์ประสานหรือมีความสามารถในการประสานศักยภาพของประชาชนเนี่ยให้ออกมาร่วมกันในการสร้างสรรค์ สังคม ประเทศชาติ ของตนเอง เพื่อชีวิต และสังคมที่ดีงามที่ก้าวไปสู่จุดหมายที่พึงประสงค์ ที่พูดมานี้ก็เป็นตัวอย่าง ของจริยธรรมในการปกครอง 5 ข้อนี้เรียกว่า จักรวรรดิวัตร หรือหน้าที่ของผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ ที่เราเรียกว่า
จักรพรรดิ ในความหมายของพุทธศาสนา ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีความสามารถปกครองให้บ้านเมืองดี โดยไม่ต้องใช้อำนาจบังคับ
[39:04] ขอทวน 5 ข้ออีกครั้งหนึ่ง
ในประเพณีการปกครองของเมืองไทย แบบพุทธ นอกจาก จักรวรรดิวัตร 5 ข้อ ที่ขยาย ย่อยเป็น 12 ข้อแล้ว ก็ยังมีหลักอื่น ๆ อีก เช่น หลักทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นความประพฤติส่วนตัวของพระราชา ความประพฤติส่วนพระองค์ของพระราชา หรือความประพฤติส่วนตัวของผู้ปกครอง และราชสังคหวัตถุ หลักการสงเคราะห์ประชาชนของผู้ปกครอง ซึ่งมี 4 ข้อ ได้แก่ ปรีชาสามารถในการบำรุงพืชพรรณธัญญาหาร โดยข้อ 1 เรียกว่า สัสสเมธะ ปรีชาสามารถในการทำนุบำรุงข้าราชการ เรียกว่า ปุริสเมธะ 3 ก็ปรีชาสามารถ ความสามารถในการยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน ในเรื่องของอาชีพ โดยเฉพาะของธุรกิจ การค้าวาณิชต่าง ๆ ให้คนมีทางประกอบอาชีพ ได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และก็ข้อ 4 ข้อ 3 นี่เรียกว่า สัมมาปาสัง และข้อ 4 ความสามารถในการพูดจาปราศรัย สร้างความรู้ความเข้าใจ ติดต่อสื่อสารเพื่อให้สังคมหรือบ้านเมืองนั้น เดินไปด้วยกันได้ เรียกว่า วาชะปริยะ อย่างที่พูดแล้วข้างต้นว่า จริยธรรมพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของทุกคนอยู่แล้ว นักการเมืองก็ต้องมีก่อน ก่อนที่จะก้าวมาสู่การมีจริยธรรมของนักการเมือง เพื่อทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้ตามหน้าที่ เพราะฉะนั้นในที่นี้ก็ไม่ต้องพูดถึงจริยธรรมพื้นฐาน อย่างเรื่องของการมีศีล 5 การเว้นจากอบายมุข ความเป็นผู้ซื่อสัตย์ เป็นต้น เรื่องจริยธรรมของนักการเมืองก็จึงขอกล่าวไว้เพียงเท่านี้ก่อน