แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
เจริญพร ในการเล่าเรื่องให้โยมฟังวันนี้ มาพอดีว่าตอนนี้จะมีการถวายพจนานุกรมแก่ในหลวง อาตมภาพก็เลยมานึกถึงเรื่องชาดก เกี่ยวกับเรื่องถวายของ รับพระราชทานของ เป็นทำนองนี้ แต่ว่าเป็นเรื่องที่อาจจะขำๆ หน่อย ก็เลยนำมาเล่าให้โยมฟัง แล้วก็เข้ากับหัวข้อธรรมะที่กำลังพูดอยู่ด้วย คือ เรื่องปัญญา ในชาดกนี้ก็เป็นเรื่องของการใช้ปัญญาเหมือน กัน ก็ขอนำเรื่องเบาๆ มาเล่าอีกเรื่องหนึ่ง
ท่านเล่าว่าในสมัยอดีตกาลนานมาแล้ว เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ก็ไปเสด็จอุบัติเป็นลูกของพราหมณ์คนหนึ่ง พราหมณ์นี้เป็นคนยากจนมาก แกก็ทำอาชีพไถนา แต่แกก็มีความเพียรพยายามดี แล้วก็อุตส่าห์เลี้ยงลูกอย่างดี ลูกคือพระโพธิสัตว์ นี้ชื่อโสมทัต โสมทัตก็ได้เล่าเรียนศึกษาวิชาการจนกระทั่งจบ แล้วก็ได้เข้ารับราชการ เข้ารับราชการก็เจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองมาก จนกระทั่ง ท่านได้มียศมีตำแหน่งสูง ได้เป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว คราวหนึ่งโสมทัตก็มาเยี่ยมพ่ออีก ตามที่เคยมาเยี่ยม
คราวนี้พ่อก็พูดขึ้นมา บอกว่า นี่นะ เดี๋ยวนี้ ลูกก็ไปเข้ารับราชการจนได้ดีแล้ว เป็นคนโปรดของพระเจ้าอยู่หัว นี่ลองหาโอกาสมาให้พ่อเข้าไปเฝ้าในหลวงสักครั้งสิ โสมทัตก็บอก เอาสิพ่อ เราจะไปเข้าเฝ้าในหลวงสักทีหนึ่ง แต่ว่าพ่อเตรียมตัวไว้ พ่อก็บอก เออ ไหนๆ จะไปเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินสักที ก็ให้มันได้อะไรสักหน่อย บอกว่า พอดีนะ วัวที่พ่อใช้ไถนานี่ คู่หนึ่งเนี่ยมันตายซะตัวแล้ว ก็ไปขอพระเจ้าอยู่หัวมาอีกตัว จะได้มาเข้าคู่กันให้มันครบ
โสมทัตบอกว่าตกลง แต่ว่าจะไปขอในหลวงเฉยๆ มันก็ไม่ค่อยดี พ่อไปครั้งนี้ครั้งแรก อึกอักไปถึงจะไปขอ ก็ยังไงอยู่ เอาอย่างนี้ดีกว่า ให้มีชั้นมีเชิงหน่อย ฉันจะแต่งเป็นโคลง เป็นกลอนให้พ่อ พ่อท่องไว้แล้วก็เอาไปว่าให้ในหลวงฟัง ถ้าไปว่าเป็นกลอน เป็นโคลงอย่างนี้ละก็ไม่น่าเกลียด
คราวนี้ฝ่ายท่านพราหมณ์เนี่ย ไม่รู้หนังสือ ไม่เคยเล่าเรียนเลย ก็บอก เออ ข้าก็พูดไม่เป็นหรอก ไอ้คำราชาศัพท์อะไรต่างๆ นี่ ลูกช่วยสอนหน่อยแล้วกัน โสมทัตก็เลยแต่งเป็นคาถา คาถาภาษาบาลี ก็คือโคลงกลอนนี่เอง ก็แต่งให้พ่อท่องบอกว่า โคของข้าพเจ้าคู่หนึ่ง โคของข้าพระพุทธเจ้าคู่หนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าใช้ไถนาทุกวัน บัดนี้ตัวหนึ่งตายไป ขอรับพระราชทานอีกตัวหนึ่งจะได้ไปเข้าคู่กัน ว่างั้น ก็อันนี้ก็แต่งให้ แล้วก็มอบให้พ่อ
พ่อเป็นคนมีปัญญาทึบด้วย แล้วก็ไม่รู้หนังสือด้วย ก็ให้ลูกสอนแล้วก็ท่องๆ แล้วก็ต้องมาทบทวนให้แม่น ก็เพื่อความแน่ใจ ตัวเองก็ไม่เคยเข้าวังด้วย ก็ต้องท่องให้แม่นยำที่สุด ก็ขอเวลาลูก ก็ปล่อยให้ลูกกลับไปบ้าน ไปรับราขการตามปกติก่อน รอให้แน่ใจแล้ว ก็ให้พาเข้าเฝ้า ท่องกันมานาน จนกระทั่งพราหมณ์นี่ก็แน่ใจว่า เอาล่ะ คราวนี้แม่นยำแล้ว เข้าเฝ้าได้ ก็เตรียมซักซ้อมกันดีเชียวนะ บอกว่าให้เข้าไปอย่างนั้นๆ ไปถึงตอนนั้นแล้วก็ให้ว่าโคลงกลอนอันนี้ขึ้นมา
ก็เป็นอันว่าถึงวันที่กำหนด โสมทัตก็พาพราหมณ์ผู้เป็นพ่อนี่ไปเข้าวัง เข้าเฝ้าในหลวง ก็ไปเข้าตามพิธี ก็เป็นไปด้วยดี จนกระทั่งถึงตอนที่จะว่าคาถาเป็นโคลงกลอนนี้ ท่านพราหมณ์เนี่ยไม่เคยเลย ไปพูดกับในหลวงก็ประหม่า ประหม่าก็ว่าลำบาก คาถานั่นก็ท่องไว้อย่างดีแล้วล่ะ แต่เวลาเอาเข้าจริง มันก็ชักนึกไม่ออก ก็ว่าไปได้ตอนแรก ก็บอกว่าไป
พระเจ้าแผ่นดิน ในหลวงได้ฟังแล้วทรงทราบ ทรงเข้าใจว่า พราหมณ์นี่คงต้องว่าผิดแน่ แต่ก็ทรงหัวเราะ ทรงพระสรวล แล้วก็หันไปตรัสกับโสมทัต บอก เออนี่ ที่บ้านพ่อของโสมทัตเนี่ย คงจะมีโคมากใช่มั้ย เป็นการหยอก เป็นการล้อด้วย โสมทัตเป็นคนฉลาด มีปฏิภาณดี พอในหลวงตรัสมาว่าอย่างนั้น ก็กราบบังคมทูลตอบไป บอกว่า ถ้าพระองค์พระราชทานไปก็มีมากพระเจ้าค่ะ แหม อันนี้พระเจ้าอยู่หัว ก็ยิ่งชอบใหญ่ โปรดปรานมากเลย ทรงพระสรวลเป็นการใหญ่ บอก เออดี โสมทัตนี่ เธอนี่ฉลาดมาก เอาล่ะ ถ้าอย่างนั้น เราจะพระราชทานของให้พ่อเธอ ให้เป็นรางวัล ก็เลยโปรดพระราชทานของมากมายให้กับพ่อโสมทัต
พ่อโสมทัตแม้จะผิดพลาด แต่ได้อาศัยลูกนี่ช่วย ก็ได้กลับไปบ้านด้วยความอิ่มเอมใจ ได้รับของพระราชทานมาเป็นอันมาก เรื่องนี้ก็จบลง ก็เป็นเรื่องของการที่จะไปขอพระราชทานของ แต่กลับจะไปให้ จะไปถวายเสีย แต่ว่าข้อที่เป็นคติก็คือว่า การมีปฎิภาณได้แก่โสมทัต โสมทัตนี่เป็นพระโพธิสัตว์ และเป็นคนฉลาดมาก มีปฏิภาณ ปฏิภาณก็คือการใช้ปัญญาแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ทันท่วงที เพราะโสมทัตมีปฏิภาณนี้ แม้พ่อตัวเองจะว่าอะไรผิดถูก แต่โสมทัตก็แก้ให้กลับกลายเป็นดีไปได้
ก็เลยอาตมภาพนำมาเล่าอีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องประกอบกับการใช้ปัญญา ให้เห็นว่า การใช้ปัญญานั้น เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในแทบทุกสถานการณ์ แต่ทั้งนี้ก็ต้องใช้ปัญญาให้ถูกต้องด้วย อย่างที่ว่า ถ้าไปใช้อย่างลิงเฝ้าสวน ก็กลับเสียผลประโยชน์ไป อันนี้เป็นตัวอย่างในทางที่ดีงาม ก็เอามาเล่าเรื่อง เป็นเรื่องประกอบอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับวันนี้อาตมภาพก็คิดว่าเล่าแต่เรื่องโสมทัตเรื่องเดียวพอ ก็ขออนุโมทนาโยมเท่านี้