แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เจริญสุข โอกาสนี้ก็ถือว่าเป็นสิริมงคลที่คุณพ่อคุณแม่มีความรักปรารถนาดี ได้ข้อพรพระรัตนตรัยแก่คุณทั้งสอง การที่มีชีวิตคู่นั้นก็เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญ เราถือกันว่าให้เป็นการเริ่มต้นที่ดี อย่างนี้ท่านผู้ใหญ่มีความรักความปรารถนาดีกับลูกหลานก็ย่อมพยายามสร้างความเป็นสิริมงคลนี้ให้เกิด มีอะไรจะเป็นสิริมงคลที่ประเสริฐที่ดีที่สุด ก็คือพระรัตนตรัย เพระว่าพระรัตนตรัยนั้นเป็นที่เคารพบูชาสูงสุดของพวกเรา เป็นสรณะที่พึ่งที่เรียกว่าเป็นเกษมคือปลอดภัย เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ สะอาด สงบ แล้วก็สว่าง ให้สติปัญญา คือว่ามีทั้งคุณความดี มีเมตตา ความรัก ความปรารถนาดี แล้วก็จริงใจบริสุทธิ์ แล้วก็มีความสว่างที่ว่าให้ปัญญาด้วย มงคลแม้จะดีจะสะอาดบริสุทธิ์ แต่ว่าถ้าหากว่ายังไม่ให้ปัญญา มงคลก็ยังไม่เต็มที่ ก็คือต้องให้ความรู้ พระรัตนตรัยนั้นให้แสงสว่าง ให้ธรรมะ บอกทางชีวิต บอกสิ่งที่ทำแล้วจะให้เกิดความดีงามความสุขความเจริญ อันนี้แหละคือเป็นมงคลที่แท้จริง เพราะอันที่จริงนั้นเพียงว่าคุณพ่อคุณแม่มีเมตตากรุณา ท่านมีความรัก มงคลก็เกิดแล้ว เพราะท่านรักลูก มีความปรารถนาดี อยากให้ลูกมีความสุขความเจริญ ความรักความเมตตาของท่านนี้ เป็นมงคลอยู่ในตัวแล้ว แล้วก็คุณทั้งสองนั่นเอง ใจเป็นมงคล ก็คือใจดี เริ่มต้นด้วยจิตใจมีความผ่องใส สะอาดบริสุทธิ์ มงคลก็เริ่มต้นแล้ว ทีนี้สำหรับพวกเราทั้งสองคนแล้วก็คุณพ่อคุณแม่ ญาติมิตร มีจิตใจดี ปรารถนาดี กับงานมงคลเริ่ม แล้วเราก็มารับพรพระรัตนตรัยอีก ก็ทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์เลย ทีนี้พอรับพรพระรัตนตรัย อย่างที่บอกเมื่อกี้ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มีความบริสุทธิ์ มีเมตตาแท้จริง ให้แสงสว่างแก่ธรรมะ ก็เลยเกิดเป็นมงคลที่ท่านเรียกว่า ธรรมะมงคล มงคลอันเกิดจากธรรมะ เป็นมงคลที่แท้จริง เพราะว่ามงคลทั่วไปนี่เขาจะมองที่พิธี พิธีกรรมต่างๆ ก็มงคล แต่ว่าก็จบไปเลย แต่ว่าเป็นธรรมมงคลเป็นหลักในการดำรงชีวิต เป็นสิ่งที่บอกว่าอะไรถูก อะไรผิด จะทำอย่างไรจึงจะได้ผลดี อันนี้เป็นมงคลที่ยั่งยืน ซึ่งเราต้องใช้เรื่อยเลย ทีนี้พอธรรมมงคลมาก็อยู่กับชีวิต แล้วก็อยู่ที่การปฏิบัติของเราเอาไปใช้ในการดำเนินชีวิต เพราะฉะนั้นถึงแม้จะมีความปรารถนาดีกันแล้ว ก็ควรจะมีธรรมมงคลเสริมเข้าไป ที่จริงก็ไปเป็นตัวแกนเลยทีเดียว ก็เลยวันนี้ก็ให้ธรรมะเป็นพร แล้วก็จะได้เป็นคนที่แท้จริง ทีนี้หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าที่จะเป็นธรรมมงคลกับชีวิตนั้นก็มีหลักสำหรับผู้ที่อยู่ครองเรือน เรียกว่า ฆราวาสธรรม คงจะได้ยินมาบ้างแล้ว ฆราวาสธรรม ก็หลักธรรมสำหรับการครองเรือน ก็เป็นชุดง่ายๆ มี 4 ข้อเท่านั้นเอง ปฏิบัติได้ครบ 4 ข้อนี่ก็เรียกว่าพอเลย พอทำ 4 ข้อเสร็จแล้ว ข้ออื่นตามมาเอง ตามมาเยอะแยะ ตามมาเป็นร้อยๆ ข้อก็ได้ ขอให้ 4 ข้อนี้เริ่มก็พอ ทีนี้ 4 ข้อนี้มีอะไรบ้าง หลักการครองเรือนก็มี 1.มีสัจจะ ความจริง ต่อจากความจริงก็ 2.ทมะ แปลว่าการฝึก ฝึกนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเรียกตามศัพท์สมัยใหม่ก็เรียกว่ามีศักยภาพในการพัฒนา นี่ภาษาปัจจุบัน 3.ขันติ ความอดทน 4.จาคะ ความมีน้ำใจเผื่อแผ่ เสียสละ เอื้อเฟื้อกัน 4 ข้อนี้ง่าย ทีนี้ก็มาขยายแต่ละข้อดู
1.สัจจะ ความจริง คนที่จะมาอยู่ร่วมกัน เป็นเพื่อนเป็นอะไรก็แล้วแต่ โดยเฉพาะเป็นคู่ครอง แน่นอนเลยอันแรกต้องมีความจริง จริงต่อกันก็เริ่มด้วยจริงใจ จริงใจต่อกัน ซื่อสัตย์ต่อกัน รักจริง ไม่คิดหลอกลวง จริงใจต่อกันนี่สำคัญที่สุด ความจริงนั้นถือว่าเป็นฐาน เหมือนกับว่าต้นไม้ต้องมีรากแก้ว ถ้าไม่มีรากแก้วแล้วก็ไม่มั่นคง ทีนี้ความจริงนี่เป็นฐาน ถ้าหากว่าจริงแท้ รากฐานก็มั่นคง ถ้าความจริงนี้เสียเมื่อไหร่ คลอนแคลนทันที ใช่ไหม ลองนึกดูสิ ทุกอย่าง มันเริ่มหวาดระแวง เริ่มอะไรต่ออะไร เรียกว่าหวั่นไหว มันคลอนไปหมด ถ้าไม่มีความจริง พอมีความจริงแล้วก็เกิดความเชื่อมั่น นี่เรียกว่าเกิดฐานที่มั่นคง ความจริงก็มี 3 ด้าน หนึ่ง-จริงใจ สอง-จริงวาจา พอจริงใจแล้วก็วาจาพูดก็จริง สาม-จริงการกระทำ ก็หมายความทำตามที่พูด ก็สามขั้นอันนี้ก็พูดอย่างง่ายๆ
2.ทมะ แปลว่าการฝึก คือมนุษย์นี่ต้องใช้คำว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ก็หมายความว่ามีความสามารถในการพัฒนาตน แล้วก็จะเจริญงอกงามได้ด้วยการฝึกฝนพัฒนาตน ด้วยการเรียนรู้ศึกษา ถ้าหากว่ามนุษย์ไม่ฝึกตน ไม่ทำ ไม่เรียนรู้ ไม่ศึกษาแล้ว หาความเจริญงอกงามไม่ได้ เพราะว่ามนุษย์นั้นเปรียบสัตว์ทั้งหลายอื่นในแง่ของสัญชาติญาณว่า มนุษย์จะอยู่ด้วยสัญชาติญาณนั้นแพ้สัตว์อื่นหมดเลย แต่มนุษย์นี้เก่งที่สุดด้วยการเรียนรู้ศึกษาพัฒนา พอมนุษย์รู้จักฝึกตัวเท่านี้แหละ ไม่มีสัตว์ชนิดไหนสู้ได้ ทีนี้ว่าแล้วในบรรดามนุษย์ทั้งหลายนั้น มนุษย์ที่รู้จักฝึกตนนั้น เป็นมนุษย์ที่เจริญก้าวหน้าที่สุด ถ้ามนุษย์คนไหนไม่ใช้ศักยภาพนี้ มนุษย์นั้นก็เจริญก้าวหน้าได้ยาก โดยมากเราก็จะฝึกกันแค่พออยู่ได้ เพราะว่าแม้แต่จะดำรงชีวิตอยู่ธรรมดาให้รอด แค่จะกินอยู่นี่ มนุษย์ต้องฝึกทั้งนั้น ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่นที่ว่าเขาไม่ต้องฝึก เขาก็อยู่ได้ตามสัญชาติญาณ อยู่กับพ่อแม่นิดเดียวเดี๋ยวไปได้แล้ว วันเดียวสองวันก็ปรี๋อไปแล้ว แต่มนุษย์นี้อยู่กับพ่อแม่ ฝึกกัน หัดกัน ทุกอย่าง จนกระทั่งเป็นสิบๆ ปี ต้องไปเรียนจนถึงมหาวิทยาลัย นี่ก็คือฝึกตน ทีนี้มนุษย์ที่มีศักยภาพแล้ว ก็รู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ ก็คือว่าชีวิตเราจะดี จะประเสริฐด้วยการฝึก ก็ฝึกหัดตนเองอยู่เรื่อย เจออะไรต่ออะไรเห็นเป็นเรื่องฝึกตน เห็นเป็นแบบฝึกหัดหมด อย่างนี้เราจะมีความเจริญอย่างเดียว เป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นด้วยการฝึก เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้ค้นพบ เป็นอะไรต่ออะไร เขาต้องฝึกทั้งนั้น ต้องเรียนรู้ศึกษาพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ดังนั้นก็เอาเป็นหัวใจของชีวิตที่พัฒนา ทีนี่คนที่เป็นคู่ครองกันนี่ ก็เหมือนกับเป็นแบบทดสอบเหมือนกันว่ามีความสามารถในการฝึกตัวแค่ไหน เริ่มต้นคนที่จะฝึกนี่ก็ต้องปรับตัวก่อน เวลาพบสถานการณ์ไหม่ พบงานใหม่ คนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ บ้านใหม่ ญาติมิตรใหม่ ตอนนี้มีใหม่หมดละ มีคุณพ่อคุณแม่คนใหม่เพิ่มอีก 2 คน แล้วก็มีญาติมิตรลุงป้าน้าอาเพิ่ม เมื่อพบกันแล้วก็ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่ ต้องปรับตัว การรู้จักปรับตัว ก็คือการต้องฝึกตน ถ้าคยที่มีความสามารถในการฝึกตนก็จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ให้เข้ากับบุคคล สิ่งแวดล้อม ได้ดี อันนี้ก็เรียกว่า ทมะ ประการต้น เราก็ต้องปรับตัวเข้ากับทุกอย่าง ปรับตัวเข้ากับชีวิตแบบใหม่ด้วย ที่ไม่เคยเป็น ชีวิตคู่ครองก็เป็นชีวิตแบบใหม่ เหมือนกับเป็นบททดสอบขั้นต้นว่าเราปรับตัว พอปรับตัวแล้ว พอปรับตัวได้ คราวนี้ก็ปรับปรุง ปรับปรุงเพื่อทำให้ดียิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาต่อไป ตอนนี้แหละจะก้าวหน้าไม่มีที่สิ้นสุด ที่นี้ธรรมดาว่าพอเราไปดำเนินชีวิต มีชีวิตอยู่ในโลก อยู่ในสังคมมนุษย์ ก็เป็นธรรมดา อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อม ก็ต้องเจอสิ่งที่สะดวกสบายบ้าง สิ่งที่ติดขัดบ้าง อะไรต่างๆ เหล่านี้ สิ่งใหม่ที่เราไม่คุ้นเคย นอกจากปรับตัวปรับปรุงตนแล้วเนี่ย มันก็จะมีความหมายต่อความรู้สึกด้วย บางทีเราก็รู้สึก แหม มันยาก ทีนี้ถ้าเราเป็นผู้มีจิตสำนึกในการฝึกตนนี่ เราจะมองอะไรต่ออะไรเป็นโอกาสไปหมด เป็นโอกาสในการฝึกตน เพราะว่าเรารู้อยู่แล้ว หัวใจของการพัฒนามนุษย์อยู่ที่การฝึกตน ฉะนั้นอะไรเป็นโอกาสให้เราฝึกตน อันนั้นก็ถือว่ามันดี เพราะทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง ฉะนั้นคนที่เป็นนักฝึกตนนี่ เจองานยาก เจอเรื่องยาก เจอปัญหาก็จะมองว่านี่คือแบบฝึกหัด คนที่ไม่เจอแบบฝึกหัด อย่างนักเรียนที่ไม่ทำแบบฝึกหัดเนี่ย จะเก่งยาก ทีนี้ชีวิตคนทั่วไปก็ต้องมีแบบฝึกหัดด้วย เราก็จะเจริญพัฒนา เจอปัญหาไม่ท้อแท้ เจอปัญหาก็ เออ ได้แบบใกหัดอีกแล้ว ก็ทำแบบฝึกหัดอีก เราผ่านไปเราก็ยิ่งพัฒนาตัวเอง สติปัญญาเราก็มากขึ้น จิตใจเราก็เข้มแข็งมั่นคงขึ้น แล้วก็พฤติกรรม ความชำนาญ ทักษะในทางมือทางปากอะไรเราก็เก่งขึ้น เพราะเราได้ทดสอบ ได้ทำแบบฝึกหัด เพราะฉะนั้นคนที่มีจิตสำนึกในการฝึกตนก็มีคติบอกว่ายิ่งยาก ยิ่งได้มาก อะไรยากก็ทำให้เราได้ฝึกตนเองมาก เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปทุกข์ ไม่ต้องไปท้อ อันนี้ก็เป็นหลักในการพัฒนาชีวิต นี่แหละเป็นธรรมะข้อสำคัญ เป็นหลักธรรมที่จะทำให้ชีวิตเจริญพัฒนา เอาละ นี่ก็เป็นข้อที่สอง นี่ข้อสำคัญนะ ทำให้ชีวิตเจริญพัฒนา จึงเรียนภาษาสมัยใหม่ว่า ศักยภาพในการพัฒนา ก็อยู่ที่ข้อ ทมะ
3.ขันติ ความอดทน ที่จริงก็คือความเข้มแข็งนั่นเอง ทำไมจึงว่าความเข้มแข็ง แข็งแรงแล้วก็เข้มแข็ง ลองดูวัตถุก่อน วัตถุอย่างไม้ที่เอามาสร้างเรือน เขาก็ต้องการไม้ที่แข็งแรง แล้วก็ทนทาน ถ้าไม่แข็งแรง ไม่ทนทานก็ลำบาก เดี๋ยวบ้านก็พัง แล้วก็ต้องใช้วัสดุสิ่งก่อสร้างที่แข็งแรงทนทาน ชีวิตจิตใจคนก็เหมือนกัน จะอยู่ในโลกนี้เราต้องเดินหน้า ก้าวไปท่ามกลางสิ่งแวดลล้อม เจอสิ่งที่เอื้ออำนวย ไม่สะดวกบ้าง เจอสิ่งที่ติดขัดบ้าง มันเป็นเรื่องที่ธรรมดา แต่ว่าสำคัญที่ตัวเราจะต้องมีความเข้มแข็ง เข้มแข็งก็บุกฝ่าไปได้ ความเข้มแข็งนี่มี 2 ด้าน ฝ่ายเข้มแข็งฝ่ายรับ กับฝ่ายเดินหน้า ฝ่ายรับก็หมายความว่า อะไรต่ออะไรมันจะมากระทบกระแทกกระทั้นเราก็ทนทานได้ ไม่บุบ ไม่สลาย ไม่ย่นระย่อท้อถอย อันนี้เรียกว่า แข็งแรงในฝ่ายตั้งรับ แล้วก็แข็งแรงทางจิตใจนี่รวมไปถึงแม้อย่างที่พระพุทธเจ้าเปรียบพระอรหันต์ ท่านเหมือนกับแผ่นดิน หมายความว่าใครจะเอาอะไรมาทิ้ง ของสกปรก ของสะอาด ของดี ของร้ายนี่ รับได้หมด ไม่เป็นไร เพราะฉะนั้นคนที่มีจิตใจเป็นขันติแท้ๆ นี่รับได้หมด ต้องเอาอย่างพระพุทธเจ้าสอนไว้ เป็นแผนดินเลย ทีนี้สอง- แข็งแรงแบบเดินหน้า แข็งแรงแบบบุกแล้วทีนี้ เมื่อกี้นี้ฝ่ายรับ ทีนี้แข็งแรงฝ่ายบุกเดินหน้านี่พระพุทธเจ้าเปรียบเป็นพระองค์เอง พระองค์เองนี่ต้องบำเพ็ญพุทธกิจ ต้องเดินทางไปสั่งสอนผู้คน แล้วคนที่เขามีลัทธิอะไรต่างๆ ที่ขัดขวาง เขาไม่ชอบใจ พระองค์สอนหลักเรื่องธรรมะเนี่ย ขัดแย้งกับศาสนาพราหมณ์ที่เขาถือระบบวรรณะ เกิดมายังไงก็ต้องอยู่ในวรรณะนั้น เป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร เกิดไปจนตายต้องอยู่ในวรรรณะเดียว แล้วก็มีสิทธิต่างๆ กัน คนชั้นต่ำก็ไม่มีโอกาส พระพุทธเจ้าก็บอกว่า คนเกิดมาเหมือนกัน จะเจริญหรือประเสริฐ เพราะชาติก็หา แต่เป็นเพราะการกระทำ อะไรอย่างนี้ เขาบูชายัญ พระพุทะเจ้าบอกให้เลิก อะไรอย่างนี้ ไปสอนก็ขัดขวางเขา แล้วบางทีไปไม่ถูกใจเขาก็มี บางทีเขาจ้างคนมาด่าตั้งเยอะแยะ พระพุทธเจ้าก็บอกว่าพระองค์ต้องปฏิบัติตนเหมือนช้างศึก เรียกว่า อะหัง นาโควะ สังคา เม บอกว่าเราเป็นเหมือนช้างศึกอยู่ในสงครามนี้ มีเกาทัณฑ์ ลูกศร ธนู มีดพร้า อะไรต่ออะไร ดาบฟันโดนมา ช้างต้องทนได้ เดินหน้าไปสู่จุดหมาย ทีนี้คนที่มีขันติก็เหมือนกัน ต้องมีความอดทนในการบุกฝ่า เดินหน้าไป อะไรต่ออะไรมันไม่เป็นเรื่องเป็นราว เราอย่าไปมัวเอาเป็นอารมณ์มา ถือจุดหมายเป็นสำคัญ จุดหมายนั้นต้องเป็นจุดหมายที่ดีงามนะ ตั้งจุดหมายดีงามแล้วก็เดินหน้าไป อะไรต่ออะไรมันจะกระทบกระทั่งก็สู้ได้หมด เหมือนช้างศึกที่ว่า อันนี้เรียกว่าเป็นความอดทนแบบบุก คนที่จะดำเนินชีวิตที่ดี ก็จะต้องมีควมอดทนทั้งสองอย่าง ทั้งตั้งรับ ทั้งบุกฝ่า ทีนี้ก็แสดงออกเป็น 3 ด้าน หนึ่ง-อดทนต่อความลำบากตรากตรำ คนเรามีชีวิตอยู่ ยิ่งเป็นะพ่อบ้านแม่เรือนนี้ทำงานทำการตั้งตัว ทำประกอบงานอาชีพ ต้องมีความเข้มแข็ง อดทน ก็จะมีความลำบากตรากตรำ เหน็ดเหนื่อย บางคนที่อ่อนแอท้อแท้ง่าย เจองานนิดงานหน่อยเหนือแล้ว ท้อถอยแล้ว ทีนี้พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า ให้มองกิจการงานต่างๆ นี้ แม้ที่ยากนี้ไม่ยิ่งกว่ายอดหญ้า หมายความว่าไง ยิ่งกว่ายอดหญ้านี่หมายความว่า พวกหญ้าแพรก หญ้าอะไร นี่เราเดินบุกฝ่าได้สบายใช่ไหม ทีนี้งานยากก็ให้มองเหมือนยอดหญ้า เดินไปเหมือนกับเดินไปบนที่นุ่ม สนามหญ้า ฉะนั้นอย่าไปกลัวมัน ต้องเข้มแข็ง อันนี้ก็มีความอดทนต่อความลำบากตรากตรำ งานที่น่าเหน็ดเหนื่อย งานที่ลำบาก อย่าไปท้อแท้ สู้ได้หมด มีความเข้มแข็ง นี่ก็อดทนประการที่หนึ่ง ต่อไปอดทนประการที่สองก็คือ ท่านเรียกว่าอดทนต่อทุกขเวทนา ก็หมายความว่าเป็นมนุษย์ธรรมดา ก็ต้องมีร่างกาย มีสังขาร มีการที่ว่าจะเจ็บป่วยเมื่อยล้า เหมือนกับนั่งนี่แหละ พอเมื่อยแล้วทำไงล่ะ มีทุกขเวทนาก็ต้องอดทน ใช่ไหม อดทน เวลาเจ็บฝ่าย นิดๆ หน่อยๆ ก็อย่าโวยวาย ทำไปตามเหตุผล ไม่ประมาท ต้องรักษา แต่เราก็ไม่โวยวาย ก็ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ หรือยุ่ง ตัวเองก็ยุ่ง คนอื่นก็มาว่า ตัวเองก็ไม่มีกำลังใจ ก็หายยาก เพราะฉะนั้นก็มีความเข้มแข็ง ทนต่อทุกขเวทนา ความเจ็บปวด เจ็บไข้เมื่อยล้าอะไรต่างๆ เหล่านี้ สองแล้ว ต่อไปก็สาม- อดทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ อันนี้ลึกเข้าไปแล้ว อันนี้ก็สำคัญ มนุษย์อยู่ด้วยกันนี่ มีเรื่องที่ว่าเข้ามาทางตา ทางหู อะไรบ้าง ชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง คนมาอยู่ด้วยกัน แม่แต่คนที่รักชอบพอ สนิทกันที่สุด มันก็ต้องมี โดยบางทีไม่ได้เจตนา เราก็อย่าเพิ่งวู่วาม ถ้าเห็นอะไรมันไม่ถูกอกถูกใจ หรือแม้แต่ถ้อยคำพูดจากันเนี่ย อย่าเพิ่งวู่วาม ต้องอดทนก่อน มีความเข้มแข็ง แล้วก็ใช้ข้อธรรมะมาปรับมาแก้ แล้วใช้ปัญญาพิจารณาแก้ไข ความเข้าใจ พูดจากัน ไม่ใช่ว่าเอาตามอารมณ์ เอาสติระงับไว้ แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาแก้ไข อันนี้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ฉะนั้นเรื่องที่กระทบกระทั่งใจนี่เข้ามา โดยกิริยาบ้าง โดยคำพูดบ้าง ต่างๆ เหล่านี้ อย่าเพิ่งวู่วาม ก็เป็นอันว่าเรื่องอดทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ ก็เป็นบทพิสูจน์ และเป็นบทเรียน เป็นแบบฝึกหัด สำหรับเราตลอดไปเลย ก็มีเรื่องที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อยการอยู่ร่วมกัน มนุษย์ที่ขาดความอดทนต่อสิ่งที่ขัดใจตัว หรือไม่เป็นไปตามในตัวชอบ ไม่เป็นไปตามความเชื่อของตัวเอง ก็จะทนไม่ได้ บางทีก็ฆ่าฟันกัน เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนี้ ที่ขัดแย้งกัน รบราฆ่าฟัน สงคราม ก็มาจากเรื่องนี้มาก ขัดแย้งกันเรื่องลัทธิศาสนา ความเชื่อ อุดมการณ์อะไรต่างๆ แทนที่จะหาทางแก้ปัญหาด้วยสันติ ก็เลยทำไม่ได้ มันก็เริ่มมาตั้งแต่บุคคลนี่แหละ เราก็พิสูจน์ว่าระดับคนเราก็แก้ปัญหาได้ รวมความก็เป็นอันว่าขันตินี่ทั้งในแง่ตั้งรับและบุกฝ่า แล้วก็มทั้ง 3 ด้าน ทั้งในแง่ของอดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ ตอนนี้พออดทนได้ ก็เหลือแต่ความเข้มแข็ง ความเข้มแข็งที่อยู่ในตัวนี่ ทีนี้เราแต่ละคนมีความเข้มแข็งมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งมีความเข้มแข็งมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดี ตอนนี้มีคนเดียวก่อน ก็แข็งแรงหนึ่ง ทีนี้พอมีสองคน ความแข็งแรงก็เป็นสอง ใช่ไหม ตอนนี้ความแข็งแรงคือพลังนั่นเอง เพิ่มแล้วเป็นสองคน ทีนี้พลังสองเพิ่มปุ๊บเป็นทวีคูณ คราวนี้ละก็ เดินหน้าได้ดีมากทีเดียว ฉะนั้นท่านบอกว่าพลังนี่อย่าให้เป็นลบ ถ้าหนึ่งบวกหนึ่งมันก็เป็นสอง แต่ถ้าหนึ่งลบหนึ่งมันเป็นศูนย์ เพราะฉะนั้นก็เลยให้หนึ่งบวกหนึ่ง ก็ให้พลังนี่เข้มแข็ง แรงเป็น 2 เท่า แล้วนอกจากนั้นคนที่มาเป็นคู่ครองกันนี้ กำไรเพราะว่ามีกำลังเพิ่มมาก ได้มาเองเลย ไม่ใช่แค่เป็นสองแล้ว เป็นสี่ เป็นสิบ เป็นยี่สิบ เพราะอะไร เพราะว่าจากตัวเองสองคนนี้ได้พ่อแม่อีกคนละสอง แล้วได้พี่น้องอีกคนละไม่รู้เท่าไหร่ สาม สี่ ห้า คน บวกญาติมิตรอีกเยอะเลย ทีนี่คนที่แต่งงานก็เลยได้เยอะ ได้พลังเพิ่มมากมาย อันนี้ก็เป็นคุณค่าอันหนึ่งของชีวิตคู่ที่เริ่มต้นแล้วก็ได้กำไรมาก ก็ต้องเอาพลังเหล่านี้มาทำให้เป็นประโยชน์ อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความอุ่นใจ ความมั่นใจ ความสุข แล้วก็ให้มีความสุขร่วมกัน ตกลงว่านี่ข้อที่สามแล้ว ขันติ
4. จาคะ แปลว่าความสละได้ สละได้ก็หมายความว่า ในแง่หนึ่งก็คือว่าใจนี่มายึดติดถือมั่น ความยึดติดถือมั่นนี่มันกำหนดด้วยอะไร ก็คือยึดติดถือมั่นจะเอาแต่ใจตัว หมายความว่าตัวจะเอาอย่างไร ยึดติดถือมั่น ต้องเป็นอย่างนั้น ท่านบอกว่าที่จริงแม้แต่อยู่กับธรรมชาติมันก็เป็นไปไม่ได้ สิ่งทั้งหลายนี่มันไม่ขึ้นแก่ใจคน มันขึ้นต่อเหตุปัจจัย จำไว้เลยเป็นหลัก สิ่งทั้งหลายไม่ได้ขึ้นกับใจเรา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็พูดง่ายๆ ก็คือไม่เป็นไปตามชอบใจไม่ชอบใจ แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย เราต้องรู้อันนี้ นี่เป็นหลักขั้นปัญญา ทีนี้เมื่อเป็นปัญญามันเป็นความจริงอย่างนี้ เราเข้าใจ ต้องรู้ทัน ฉะนั้นคนที่มีหลักจาคะ สละวางได้ขั้นสูงก็คือสละได้เพราะรู้ด้วยปัญญา ความจริง สัจจธรรมมันเป็นอย่างนั้น มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่เป็นไปตามใจตัวเอง อย่างที่เรียกว่าไม่เอาตามชอบใจ ไมชอบใจ เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งหลายเป็นยังไง มันไม่ตามใจเรา ก็จึงเรียกว่า วางได้ จาคะก็คือตัวนี้ ตัวสละ ละ ปล่อยวางได้ ปล่อยวางก็คือว่าวางใจ แล้วจัดการตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่วางปล่อยนะ ถ้าคนไหนวางปล่อย ท่านเรียกว่าประมาทอีก เดี๋ยวจะเข้าใจผิดว่าปล่อยวางนี่ไม่ใช่ว่า ปล่อย ไม่เอาเรื่องเอาราว คนไหนปล่อย ไม่เอาเรื่องเอาราว ท่านเรียกว่าคนประมาท เป็นคนเสีย ไม่ใช่คนดี ทีนี้ใจนี่ปล่อยวางได้ คือใจไม่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่เป็นไปตามความยึดมั่นถือมั่น คราวนี้ก็จัดการตามเหตุปัจจัย ใช้ปัญญาพิจารณาว่าเหตุปัจจัยมันเป็นยังไง จะทำให้สำเร็จต้องทำตามเหตุปัจจัยมันนะ แล้วต้องแก้ไขเหตุปัจจัยที่ไม่ถูก อันนี้ต้องใช้ปัญญา ศึกษา สืบสาว อะไรมันเป็นเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดความเสื่อม ต้องรู้จักแก้ไข ป้องกัน อันไหนที่จะเป็นเหตุปัจจัยที่อาศัยให้เกิดความเจริญงอกงามความสำเร็จ ก็ไปทำมา คู่กัน ไม่เอาตามความชอบใจ ไม่ชอบใจ แต่ว่าทำตามเหตุปัจจัย ปล่อยวางข้างใน แต่จัดการปัจจัยข้างนอก เพื่อให้มันเป็นไปตามที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุด้วยผล ทีนี้จาคะระดับนี้เรียกว่าจาคะระดับสูง ซึ่งเป็นไปด้วยปัญญา ทีนี้จาคะ ความเสียสละ ไม่เอาตามใจตัวเองนี้ก็ไปถึงระดับที่คนอยู่ร่วมกัน คำนึงถึงใจคนอื่น ไม่เอาแต่ใจตัวเอง ถึงอกเขาอกเรา แล้วก็ไม่นึกถึงแต่ความสุขของเรา จะเอาแต่ตัวได้ แต่ก็นึกถึงความสุขของผู้อื่น จะทำยังไงให้เป็นสุข ตอนนี้ก็มาถึงเมตตาแล้ว มีเมตตากรุณา มีน้ำใจต่อกัน ตอนนี้คำว่ามีน้ำใจมาแล้ว เพราะฉะนั้นจาคะในระดับสามัญก็คือความมีน้ำใจต่อผู้อื่น เห็นแก่เขา อยากให้เขาเป็นสุข ไม่นึกจะเอาแต่ใจตัวเองที่อยากได้ความสุข ตอนนี้ก็เลยมาถึงแม้แต่ความหมายพื้นฐานของคำว่าความรัก ความรักก็จึงมีสองอย่าง ความรักอย่างที่หนึ่งก็คือ ความรักหมายถึงความอยากได้สิ่งอื่น ผู้อื่น มาทำให้ตัวเป็นสุข อันนี้ความหมายสามัญ เรารักเราอยากได้อะไร เราก็อยาก ต้องการความสุข อยากได้สิ่งนั้นมาแล้งเราจึงจะเป็นสุขได้ ให้เขามาทำให้เราเป็นสุข ทีนี้ความรักอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ความรักคือความอยากให้เขาเป็นสุข ความรักที่อยากให้เขาเป็นสุขนี่ก็คือความรักที่สูงขึ้นไปอีก คนเราก็จะมีความรักประเภทที่หนึ่งนี้ก่อน คือความรักเพราะชอบใจ อยากได้เขามาทำให้ตัวเองเป็นสุข ทีนี้พอพัฒนาสูงขึ้น มีธรรมเข้าไปปนอยู่ด้วย ก็จะเกิดความรัก คืออยากให้เขาเป็นสุข ความรักอย่างนี้เห็นได้ง่ายๆ คือพ่อแม่ คุณพ่อคุณแม่รักลูกก็คืออยากให้ลูกเป็นสุข อยากให้ลูกได้รับพรพระรัตนตรัย ทำยังไงหนอลูกจะมีชีวิตที่ดีงาม เจริญรุ่งเรืองได้ คิดอยู่อย่างนั้น ไม่ได้คำนึงถึงตัวเอง ถ้าพ่อแม่รัก หรืออยากให้ตัวเป็นสุข หรือเอาลูกมาทำให้ตัวเป็นสุข พ่อแม่มานั่งคิดแบบนี้ ใช่ไหม ทีนี้พ่อแม่ก็คิดแต่ในแง่ว่าเราจะลำบากก็ไม่ว่าขอให้ลูกของเราเป็นสุขก็แล้วกัน หาทางทำให้ลูกเป็นสุข อยากให้ลูกได้รับพรพระรัตนตรัย อยากให้ลูกได้มีชีวิตที่เป็นสิริมงคล ก็เลยมาหาทางขวนขวายต่างๆ อันนี้เป็นความรักประเภทที่เป็นคุณธรรม ที่สำคัญมาก ทีนี้ชีวิตคู่ครองนี่ก็เป็นตัวอย่างของการที่ว่าต้องพัฒนา รวมทั้งการฝึกฝนคุณธรรมเข้ามา แล้วที่ชีวิตคู่ครองจะดี จะมีความสุขเจริญรุ่งเรืองที่แท้จริง เราต้องพัฒนามาให้ถึงขั้นที่สอง ต้องมีความรักประเภทที่อยากให้เขาเป็นสุข พอมีความรักที่อยากให้เขาเป็นสุข คราวนี้ก็นึกถึงว่าจะทำยังไงให้เขาเป็นสุขได้ ตอนนี้แหละก็กลายเป็นความมีน้ำใจใช่ไหม อ่านความหมายที่ว่ามีน้ำใจคือยังไง ก็คือว่ามีใจต่อเขา อยากให้เขาเป็นสุข ทีนี้ก็คิดแล้ว ทำไงจะให้เขาเป็นสุขได้ ก็คอยคิดหาทางแม้แต่ว่าคนหนึ่งอยู่บ้าน คนหนึ่งกลับจากที่ทำงาน ก็ว่าเขาเหนื่อยๆ มา ทำไงให้เขาเป็นสุข ก็ช่วยโอภาปราศรัย พูดคุย พูดจาต้อนรับ ทำให้เขาใจสบาย อันนี้ความมีน้ำใจมันจะยึดเหนี่ยวกันระยะยาว ฉะนั้นความรักประเภทที่หนึ่งเนี่ย มันไม่ยั่งยืนเท่าที่สอง ต้องมีทั้งสองตัว ตัวที่สองนี่แหละมาทำให้ยั่งยืน พอมีตัวที่สองแล้ว เกิดความมีน้ำใจ คราวนี้มันจะยึดเหนี่ยวใจกันเลย พอฝ่ายหนึ่งมีน้ำใจ มันก็ยึดใจอีกฝ่ายหนึ่งไว้ พอยึดเหนี่ยวใจกันได้ ก็เกิดความสามัคคี ก็เกิดความมั่นคง ยั่งยืน ขึ้นมา เพราะฉะนั้นตัวจาคะนี่ท่านบอกว่าเปรียบเหมือนน้ำหล่อเลี้ยง ทำไมเราเรียกน้ำใจ น้ำนั้นมีลักษณะที่หล่อเลี้ยง ทำให้ชุ่มชื่นมีความสุข ฉะนั้นก็ได้ตัวจาคะมาบำรุงหล่อเลี้ยงชีวิต ให้มีความสุขความสามัคคี และความยั่งยืนต่อไป จาคะก็มีน้ำใจระหว่างสองคน ต่อมาก็มีน้ำในต่อคนรอบข้าง ต่อพ่อแม่ทั้งสองฝ่าย ต่อญาติมิตรพี่น้อง ปฏิบัติต่อท่านผู้อื่นด้วยน้ำใจ อยากให้เขาเป็นสุข อยากให้เขาได้มีความเจริญงอกงาม ต่อไปเรามีฐานะ เจริญมั่นคงขึ้น มีเงินมีทองมาก เราก็เอาจาคะขยายไปสู่เพื่อนมนุษย์ บำเพ็ญประโยชน์ คนไหนขาดแคลน หรืออะไรจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ก็ช่วยกัน เผื่อแผ่ ช่วยเหลือ ด้วยปรารถนาจะให้สังคมนี้ เพื่อนมนุษย์นี้เป็นสุข นี่จาคะก็ขยายออกไป อย่างนี้ชีวิตคู่ครองก็จะเป็นตัวอย่าง และจะเป็นชีวิตที่แผ่ขยายสู่ความเจริญงอกงามออกไปในสังคม มีชีวิตที่ดีงามอย่างแท้จริง ตอนนี้ล่ะพรพระรัตนตรัยจะเกิดผลเต็มที่ ด้วยการที่ปฏิบัติเป็นธรรมมงคล เอาล่ะ ตอนนี้อาตมาก็ได้พูดมาครบ 4 ข้อแล้วใช่ไหม ครบ 4 ข้อ ก็ 1.สัจจะ ความจริง จริงใจ จริงวาจา จริงการกระทำ
2.ทมะ การฝึกฝนพัฒนาตนให้เจริญงอกงาม เริ่มจากปรับตัวได้ แล้วปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วก็ 3.ขันติ ความอดทน ความเข้มแข็งทนทาน มีพลังในการที่จะตั้งรับ และในการที่จะบุกฝ่าเดินหน้าไป แล้วก็จาคะ ความสละได้ มีน้ำใจ การที่รู้จักวางใจต่อสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญา ไม่เอาแต่ใจตัวเองอย่างเดียว แล้วมีธรรม เช่นการปรารถนาดีที่อยากให้ผู้อื่นมีความสุข ได้ 4 ข้อนี้แล้วก็จะเป็นชีวิตฆราวาสธรรม การครองเรือนที่เจริญงอกงามแน่นอน เพราะฉะนั้นการที่มาเริ่มชีวิตคู่นี่ ก็เลยเปรียบเหมือนกับว่าเรามาปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งขึ้นมา เป็นมงคลพฤกษ์ เป็นต้นไม้มงคลที่เราจะปลูกนี้มีองค์ประกอบ 4 อย่าง มีอะไรบ้าง เราจะให้มีองค์ประกอบ 4 อย่างนี้เป็นหลักแล้วเจริญงอกงาม เพราะเราต้องช่วยกันบำรุงต้นไม้ต้นนี้ให้เจริญต่อไป ระยะนี้คือระยะที่เริ่มปลูก มาช่วยกันรดน้ำพรวนดินอะไรก็แล้วแต่ บำรุงให้เจริญงอกงาม ต้นไม้ต้นนี้มีองค์ประกอบ 4 อย่าง 1.มีรากแก้วที่แข็งแรง 2.มีความเจริญเติบโต จากต้นเล็กก็ขยายโตขึ้นไป มีกิ่งมีก้าน มีดอกมีใบ มีผล นี่ก็เป็นข้อศักยภาพในการเจริญงอกงาม 3.องค์ประกอบสำคัญก็คือ ความแข็งแรงทนทาน ต้นไม้จะใหญ่โตยังไงก็ต้องมีความแข็งแรงทนทาน ต่อดินฟ้าอากาศ หนาวร้อนต่อพวกแมลง ต่อพวกสัตว์ต่างๆ ที่เข้ามากัดมาแทะ อะไรอย่างนี้ แล้วก็อะไรสารพัดแหละ วัชพืช กาฟาก อะไรเข้ามา นี่ก็ต้องมีความแข็งแรง ต้องมีน้ำหล่อเลี้ยง น้ำบำรุงเลี้ยงอย่างดี ต้องมีองค์ประกอบ 4 ข้อ ทีนี้เราก็มาปลูกมงคลพฤกษ์ต้นไม้มงคลนี้ขึ้น มาบำรุง ต้นไม้เมื่อมีองค์ประกอบนี้ ก็เห็นอยู่ชัดๆ แล้วว่ามีอะไรบ้าง มีรากแก้วที่แข็งแรงได้แก่สัจจะ ใช่ไหม ความจริง แล้วก็สอง-ก็มีความเจริญงอกงาม ได้แก่ ทมะ ศักยภาพในการพัฒนาตน แล้วก็สาม-มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อม ต่อสิ่งที่เข้ามากระทบกระทั่ง แล้วก็มีขันติ แล้วก็สี่-มีน้ำหล่อเลี้ยง ก็คือมีอาหารเลี้ยงอย่างดี น้ำเป็นตัวเด่นชัด อันนั้นก็คือจาคะ
วันนี้คุณทั้งสองก็มองเหมือนกับว่าเรานี่สองคนได้มาร่วมกันปลูกต้นไม้มงคล หรือมงคลพฤกษ์นี้ ให้มีองค์ประกอบ 4 ประการ ดังที่ได้กล่าวมา ทั้งรากแก้วที่แข็งแรง ทนทาน มีสัจจะ และมีศักยภาพในการพัฒนาเจริญงอกงาม คือ ทมะ มีความแข็งแรงทนทานที่เรียกว่าขันติ แล้วพร้อมทั้งมีน้ำหล่อเลี้ยงอาหารบำรุงอย่างดี ได้แก่ จาคะ เป็นความมีน้ำใจ เป็นต้น เมื่อได้ธรรมะ 4 ประการนี้เป็นองค์ประกอบแล้ว ชีวิตแห่งการครองเรือนก็จะเจริญงอกงามสืบต่อไป บัดนี้คุณพ่อคุณแม่ญาติมิตรก็ดี มีน้ำใจเมตตา ในปัจจุบันขณะเฉพาะหน้านี้ก็เป็นมงคลอยู่ในตัวแล้ว ที่ว่าทุกท่านมีน้ำใจต่อคุณทั้งสอง เมื่อคุณทั้งสองได้มีใจเป็นสิริมงคล คือซาบซึ้งในน้ำใจของท่าน แล้วมีความตั้งใจปรารถนาดี แล้วก็ทำจิตใจให้เบิกบานผ่องใส ก็จะเป็นมงคลอยู่ในตัว แล้วก็เพราะเหตุที่ว่าทุกท่านนั้นปรารถนาดีอยากให้ทั้งสองมีความสุข ให้เป็นความสุขร่วมกันต่อไป ต้องนึกว่าทั้งสองมีความสุข และคุณพ่อคุณแม่ก็มีความสุข เพราะฉะนั้นเหมือนกับว่าคุณพ่อคุณแม่มาฝากความสุขไว้กับคนทั้งสองด้วย ก็เป็นธรรมดาของพ่อแม่ รักลูก อยากให้ลูกมีความสุข มีชีวิตดีงาม เจริญต่อไป พ่อแม่ก็ปลาบปลื้มใจ เห็นลูกเมื่อไหร่ก็อุ่นใจปลื้มใจ ต้องตั้งใจอย่างนี้ว่า เราจะทำชีวิตของเราให้ดี คุณพ่อคุณแม่เห็นเมื่อไหร่แล้วก็
ชื่นใจ ปลื้มใจ มีความสุขทุกที ใจเราจะดี แล้วเราจะมี เรียกว่ามีความมุ่งหมายในทางที่ดีงาม มาช่วยกลับมาเป็นผลดีของเราด้วย ฉะนั้นเราก็ตั้งใจไว้อย่างนี้ เราจะให้ชีวิตของเรานี้ดีงาม ไม่ให้คุณพ่อคุณแม่ต้องหนักใจนะ ให้ท่านได้มีความสุขกับเราด้วย แล้วก็มีความสุขร่วมกัน อันนี้ก็จะเป็นมงคลที่เกิดจากธรรมะ ได้รับพรพระรัตนตรัยแท้จริง จิตใจประกอบด้วยน้ำใจแห่งเมตตากรุณา มีพรมวิหารของคุณพ่อคุณแม่และญาติมิตร ท่านผู้ใหญ่ทั้งหลายเนี่ย จงเป็นพรอันประเสริฐที่คุ้มครองรักษาอภิบาลให้เจริญงอกงามด้วยจตุรพิธพรชัย มีความเจริญงอกงาม ในชีวิตในการประกอบหน้าที่การงาน แล้วก็ขอให้มีพลังพรั่งพร้อม ทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งปัญญา ทั้งสามัคคีที่จะได้ก้าวไปในชีวิต มีความสามารถที่จะทำสิ่งที่ปรารถนา สิ่งที่เป็นจุดหมายให้ก้าวหน้าบรรลุผลสำเร็จ ทำให้เกิดประโยชน์สุขแก่ชีวิต แก่ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และแก่โลกนี้ทั้งหมด ขอให้มีความเจริญ มั่นคง ยั่งยืนนานสืบไปในร่มพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ