แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : วันนี้ก็มาคุยกันไปแบบเรื่อยๆ เบาๆ เป็นเกร็ดความรู้ วันนั้นได้พูดถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า วันนี้ก็อยากจะเน้นนิดนึง เราพูดกันถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เรียกว่าพุทธคุณ มีกี่อย่างนะ 3 นะ จำได้ไหมว่ามีอะไรบ้าง พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ อันนี้จำกันแม่นยำในประเทศไทย ทีนี้เราจะจำอีกแบบเป็นพุทธคุณ 9 ในอิติปิโส แต่ว่าเมื่อจับเป็นหลักแล้วเนี่ย คัมภีร์ท่านจะจัดเป็นหมวดเป็นหมู่ สรุปโดยทั่วไป ถือตามหลักมี 2 ประการ ทีนี้ในประเทศไทยเราจำเป็นชุด 3 เราก็เคยชินไปเลย แต่ในหลักคัมภีร์ที่สืบต่อกันมา ถือ 2 เท่านั้น ถืออะไร ก็พระปัญญาคุณและพระมหากรุณาคุณ พระวิสุทธิคุณก็เป็นเรื่องประจำพระองค์ของพระพุทธเจ้าที่หลุดพ้นปราศจากกิเลส เป็นภาวะประจำพระองค์เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าก็มีวิสุทธิคุณนี้ที่ได้ปฏิบัติมาจนกระทั่งว่าหลุดพ้นจากปวงกิเลสแล้ว เรียกว่าวิสุทธิก็ได้ วิมุตติก็ได้ วิสุทธิกับวิมุตตินี่แทนกันได้ วิสุทธิก็สะอาด ปราศจากกิเลส วิมุตติก็หลุดพ้นจากทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลสเหมือนกัน แต่ว่าในหลักทั่วไปเขาจะถือพระคุณ 2 เป็นสำคัญ เป็นพระคุณภาคปฏิบัติการ คือปัญญากับกรุณา ปัญญาทำให้ดำเนินงานต่างๆ จัดการงานต่างๆ ได้ ก็อย่างที่บอกวันนั้น ปัญญาพระพุทธเจ้านี่แยก 2 อันที่สำคัญ คือปัญญาที่รู้เข้าถึงสัจธรรมความจริงบรรลุโพธิญาณ รู้ธรรม นั่นเอง สอง-คือความสามารถรู้จักที่จะสื่อธรรมะที่รู้แล้วนั่นแหละมาให้คนอื่นรู้ด้วย ให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย คือให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น คือถ้ารู้แต่ขั้นที่หนึ่ง รู้ธรรม รู้ด้วยตนเองนะ ไม่ต้องอาศัยผู้อื่น ก็เป็นแค่ปัจเจกพุทธเจ้า ถ้ารู้โดยอาศัยผู้อื่นก็รู้ตามเขา ก็เรียกว่าอนุพุทธะ บรรลุธรรม พระสาวกทั้งหลายเป็นอนุพุทธะ นี่รู้ด้วยตนเอง ถ้ารู้แต่ว่าขาดความสามารถ คือการรู้จักที่จะไปสื่อไปพูดไปสำแดง หาทางจัดการให้คนอื่นพลอยรู้ด้วยได้ประโยชน์ด้วย ก็เป็นปัจเจกพุทธเจ้า ถ้ามีปัญญารู้จักจัดสรรทุกอย่างทุกประการ โดยเฉพาะก็คือพระพุทธจัดตั้งชุมชน จัดตั้งสังฆขึ้นมาได้ ความสามารถรู้จักจัดการจัดตั้งสังฆะวางกฎวินัยให้ชุมชนนี้อยู่ได้ด้วยดี แล้วก็ให้ชุมชนนี้เป็นแหล่งศูนย์กลางการศึกษา ที่ทำให้ประชาชนมารับประโยชน์ได้ แล้วก็ชุมชนนี้เองออกไปสื่อสาร ส่งพระออกไปเผยแพร่ธรรมะแก่ประชาชน ก็คือนำธรรมะไปให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น หนึ่ง-เข้าถึงธรรมะด้วยตนเอง ปัญญาที่หนึ่ง ปัญญาที่สองงง-สามารถนำธรรมะนั้นสื่อให้คนอื่นได้รับประโยชน์ ได้รู้เข้าใจด้วย แต่ปัญญาที่จะทำอย่างนี้ก็เพราะมีกรุณา ปัญญารู้ด้วยตนเองขั้นที่หนึ่ง ขั้นที่สอง-จะไปจัดการให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น ก็มีตัวนำ แรงขับ หรือแรงจูงใจก็ได้ สมัยนี้เขาเรียกแรงจูงใจ คือกรุณา เพราะฉะนั้นกรุณาก็เป็นคุณสมบัติ คุณธรรมหรือพระคุณข้อสำคัญที่ทำให้นำเอาธรรมะไปเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์กับผู้อื่น เรียกว่าโปรดสัตว์ เอาละ พระพุทธเจ้าก็มีพระคุณ 2 ประการเป็นสำคัญ แล้วเราดูเถอะมนุษย์เรานี้ที่เราอยู่กันได้ ก็กรุณาเป็นตัวนำ เป็นคุณสมบัติสำคัญที่สำให้มนุษย์ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แต่เราจะไปติดที่ปัญญา ปัญญาเราไปยัดเยียดให้คนอื่นไม่ได้ ปัญญา ก็ อัตตาหิ อัตโนนาโถ ปัญญาต้องรู้เข้าใจด้วยตนเอง แต่กรุณามันจะไปประสานกับปัญญา คือกรุณาก็พยายามช่วยเหลือเกื้อกูล จัดสรรปัจจัยภายนอกทุกอย่าง ทุกประการ แม้กระทั่งไปบอกไปเล่า ไปจ้ำจี้จ้ำไชไปพูดให้ฟัง เพื่อจะให้ปัจจัยต่างๆ มันพร้อมที่จะช่วยให้เขาเกิดปัญญา แต่ปัญญาจะเกิดก็ต้องเกิดที่ตัวเขาเอง กรุณาก็ช่วยเต็มที่เลย เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าก็หาทางจัดตั้งคณะสงฆ์เทศน์โปรดเวไนยสัตว์ หาทางวิธีการทุกอย่างทุกประการที่จะช่วยเขา ให้เขาพัฒนาปัญญาของเขาขึ้นมา แต่พระองค์จะทำไง ก็ยัดปัญญาให้เขาไม่ได้อีกแหละ เพราะฉะนั้นที่ช่วยกันก็ช่วยด้วยกรุณาเต็มที่ แต่ในที่สุดก็ไปติดที่ปัญญา ซึ่งต้องเกิดขึ้นในตัวเขาเอง สิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดขึ้นในตัวของแต่ละคนคือปัญญา เป็นตัวนำเลย เป็นตัวคุณสมบัติยิ่งใหญ่ที่สุด แล้วการที่เราจะช่วยคนอื่น ช่วยให้ดีที่สุดคือช่วยให้เขาเกิดปัญญา เพราะถ้าเขาเกิดปัญญาแล้ว เขาเพิ่งตนเองได้ ถ้าเขาได้ความช่วยเหลือ แต่เขาจัดการไม่ได้ เขาไม่รู้ไม่เข้าใจ จัดการไม่ได้ พึ่งตนเองไม่ได้ มันก็ไม่จบ เพราะฉะนั้นที่เราจะช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้ ก็คือช่วยให้เขาเกิดปัญญา เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า จุดประสงค์ของพระองค์ที่ไปช่วยต่างๆ ในที่สุดพระองค์ก็มุ่งช่วยให้เขาเกิดปัญญา ให้เขารู้จนกระทั่งรู้เหมือนพระองค์ พอรู้เหมือนพระองค์ก็จบ ตกลงนี่แหละ 2 อันที่สำคัญ กรุณากับปัญญา พอปัญญาเกิดขึ้นพัฒนาถึงที่สุดแล้ว คุณสมบัติอื่นมันก็ตาม มันต้องอาศัยซึ่งกันและกัน มันเป็นระบบ ปัญญาไม่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นมาได้เอง ใช่ไหม มันก็ต้องอาศัยอย่างที่ว่า ความสัมพันธ์กัน การสื่อสาร การรู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกัน การรู้จักพูดจักจาก็อยู่ในส่วนนั้น แล้วก็การรู้จักพัฒนาจิตใจ ความเพียร เอาใจใส่ที่จะคิดที่จะขยันอ่าน ที่จะขยันฟัง แล้วก็มีสติ มีสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิฟังไปก็ใจไม่แน่วแน่อีก ไม่เข้าใจอีก คิดไม่ออกอีก จิตมันไม่โปร่งไม่ใส อะไรอย่างนี้ ก็ต้องพัฒนาจิตใจให้มีความขยันหมั่นเพียร ให้มีสติ ให้มีสมาธิ อะไรต่างๆ ต้องอาศัยกันหมดเลย ปัญญาไม่ใช่เกิดมาได้เฉยๆ ก็ต้องอาศัยระบบศีล สมาธิ ปัญญา มา แล้วในที่สุดปัญญาก็เป็นตัวนำ ที่ว่าก้าวไปปั๊บ ปัญญาก็กลับมาช่วยหนุนศีล สมาธิ ดีขึ้นไปอีก ไปด้วยกันเลย เป็นทั้งระบบ ตกลงก็มี 2 อันนี่แหละ ปัญญากับกรุณา เป็นตัวใหญ่ที่สุด เป็นแกนนำ ฝ่ายช่วยเหลือก็กรุณาสัมพันธ์กัน ตัวเองก็ปัญญาต้องให้เกิดขึ้นให้ได้ ตอนหลังแม้กระทั่งว่าพุทธศาสนาแยกเป็นนิกาย เรียกว่าเป็นเถรวาทกับมหายาน แต่ก่อนเขาเรียกว่าหินยาน มหายาน แต่ที่จริงก็ไม่ถูกทั้งนั้น ศัพท์ว่าหินยานนี่ก็ไม่รู้เกิดเมื่อไหร่ คำว่าเถรวาทนี่เกิดก่อน แต่เขาก็จัดว่าหินยานนี่มีหลายนิกาย แล้วเถรวาทเป็นอันหนึ่งในหินยาน แล้วหินยานนี่ก็หายไปหมดเหลืออันเดียวคือเถรวาท คราวนี้เรียกว่าเถรวาทก็พอ ก็เท่ากับเป็นตัวแทนของหินยานทั้งหมด แต่ที่จริงทรัพย์ว่าหินยานก็ไม่ใช่ศัพท์เดิม มันเกิดขึ้นในยุคที่เกิดมหายาน มหายานก็เพิ่งเกิดในราว พ.ศ. 600
พ.ศ. 600 เกิดมหายาน มหายานเรียกตัวเองมหายาน แล้วก็เรียกผู้อื่นเป็นหินยาน ศัพท์ว่าหินยานก็เพิ่มเกิด ศัพท์ว่าเถรวาทเกิดตั้งแต่นานเนแล้ว ในพระไตรปิฎกยังมีเลย แต่ใช้คนละความหมายที่เราใช้ปัจจุบัน ไม่ใช่ชื่อนิกาย ก็เป็นคำที่มีมานาน เถรวาทก็มีมานานตั้งแต่แถวๆ สังคายนาครั้งที่ 2 ที่ 3 อะไรนั่นแหละ สังคายนาครั้งที่ 2 ก็ พ.ศ. 100
สังคายนาครั้งที่ 3 ก็ พ.ศ. ประมาณ 235-236 อะไรแถวนั้น สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทีนี้เขาแกล้งทายกันเล่น บอกหินยานกับมหายานอันไหนเกิดก่อน ท่านว่าใคร ใครเกิดก่อน บอกแล้วว่าทายเล่นๆ ก็ต้องรู้ ต้องมีปฏิภาณ จะว่าเกิดพร้อมกัน ก็มีเหลื่อมกันนิดๆ เหลื่อมกันนิดหน่อย มหายานก่อน ก็คือว่าคำว่าหินยานเกิดเมื่อเกิดมหายาน มหายานเกิดขึ้นมาเรียกตัวเองมหายาน เลยเรียกผู้อื่นว่าหินยาน อย่างนี้ก็เท่ากับมหายานนั้นเกิดก่อนนิดนึง ทีนี้ถ้าเอาตัวจริงตัวที่เป็นหินยานนั้นเกิดมาก่อนอยู่เดิม ของเดิมที่เป็นมา ก็เป็นอย่างนี้ อันนี้ก็เล่าให้ฟัง ทีนี้ต่อมาสมัยหลังก็มีนักปราชญ์บอกว่าที่มาเป็นมหายานกับหินยาน โดยเฉพาะที่เป็น
เถรวาทที่เหลืออยู่ ซึ่งที่จริงเป็นต้นเดิม ก็มีการเน้นพระคุณของพระพุทธเจ้าคนละข้อ มหายานนั้นเน้นกรุณา เน้นข้อมหากรุณา ส่วนเถรวาทนั้นปัญญา เขาว่าอย่างนั้นนะ นี่นักปราชญ์ว่ากันมา บางท่านก็พูดไปถึงกับว่า เวลานี้มหายานกับเถรวาทนี่ก็เหมือนกับปีกสองปีกของนก ที่เป็นพุทธศาสนารวมกัน เป็นนกตัวนี้ นกที่ชื่อว่าพุทธศาสนามีสองปีก ปีกหนึ่งเป็นมหายาน ปีกหนึ่งเป็นเถรวาท มีสองปีกก็ครบทำให้สมบูรณ์ ว่ากันไป ก็เป็นเรื่องของนักคิด นักเปรียบเทียบ แล้วก็อย่างที่บอก บอกว่ามหายานเน้นเรื่องมหากรุณา ที่ว่าเน้นมหากรุณาก็คือว่ามหายานเนี่ย มุ่งในเรื่องการช่วยเหลือผู้อื่นจนกระทั่งว่าให้ผู้ปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้นเป็นพระโพธิสัตว์ เขาจะเอาคติโพธิสัตว์ ที่เรียกมหายานว่าโพธิสัตวยาน ที่ท่านเรียกว่า โพธิสัตวยานกับมหายาน คืออันเดียวกัน เรียกกันในคนละแง่ความหมาย ก็คือเป็นคติโพธิสัตว์ ต้องการจะช่วยรื้อขนสรรพสัตว์ให้พ้นจากทุกข์หมดแล้ว ตัวเองจึงจะเข้านิพพานทีหลัง ก็หมายความว่าฉันบำเพ็ญบารมีจนพร้อมจะเข้านิพพานได้ จะตรัสรู้ แต่ไม่ยอมตรัสรู้ ขยักไว้ก่อน ช่วยเหลือสัตว์อื่นให้พ้นทุกข์ไปก่อน เพราะถ้าตัวเองเข้านิพพานบรรลุไปแล้วก็เลยจบ ช่วยคนอื่นต่อไม่ได้ ก็เลยยังไม่เข้านิพพาน ก็ช่วยสรรพสัตว์ให้หมดซะก่อน แล้วตัวเองถึงเข้านิพพานทีหลัง ก็อันนี้มหากรุณา ทีนี้เน้นไปเน้นมาจนกระทั่งว่าบางทีบางนิกายก็เลยออกไปทางอ้อนวอนไป เช่นอย่างนิกายสุขาวดีของญี่ปุ่น นิกายอมิตาพระ เคยได้ยินไหม พระอมิตาพระพุทธเจ้า นโม โอมิ โตโฝ ว่างั้น ว่าทำนองญี่ปุ่น อมิตาพระพุทธเจ้าท่านอยู่สวรรค์แดนสุขาวดี สุขาวดีนี่อยู่สวรรค์ตะวันตก ใครอยากจะไปอยู่กับพระพุทธเจ้า พระอมิตาพระ ก็ให้ออกพระนามของพระองค์ให้มากที่สุด ได้วันละ 1,000 ครั้งก็จะดี ตายแล้วก็จะได้ไปอยู่กับท่าน คือไปๆ มาๆ นี่ ไม่ต้องทำอะไรแล้ว ก็เรียกว่ามีศรัทธาให้เต็มที่ มีความจงรักภักดี แล้วก็สวดมนต์อ้อนวอนไปเลย นิกายนี้ก็จะหนักไปแบบนี้ มหายานก็จะมีแตกออกไปเยอะแยะหมด นิกายอมิตาพระ นิกายสุขาวดี แต่ก่อนนี้เขาเรียกนิกายโจโด นิกายสุขาวดีนี่นิกายโจโด ทีนี้ต่อมาก็มีพระอาจารย์องค์หนึ่ง ก็แยกตัวออกจากโจโด บอกว่าโจโดนั้นยังไม่แท้จริง ฉันจะตั้งสุขาวดีที่แท้ เรียกว่าโจโดชิน ไปเกิดเป็นนิกายใหม่ เรียกว่านิกายโจโดชิน แต่เรียกว่านิกายชิน เพื่อแยกให้ต่างก็เรียกสั้นๆ ว่านิกายโจโด ก็เป็นนิกายเก่า สุขาวดี แล้วนิกายชินก็เป็นนิกายสุขาวดีใหม่ นิกายชินนี่ได้รับความนิยมมาก ก็มีศาสนิกมากมาย เป็นนิกายที่ไม่มีพระไม่มีนักบวช ผมเคยไปเยี่ยมสังฆราชนิกายชิน ก็แต่งตัวชุดสากลนี่แหละ หวีผมแปล้ พอเราเข้าไปนั่ง เดี๋ยวก็มีผู้หญิงสาวออกมา เอาน้ำชามาถวาย สังฆราชท่านก็แนะนำว่านี่ลูกสาวผม ลูกสาวสังฆราช นี่นิกายชิน คือนิกายชินไม่มีพระ ไม่มีคฤหัสถ์ ไม่แยก ก็หมายความว่าผู้ทำหน้าที่พระก็เป็นคฤหัสถ์นี่แหละ ก็แต่งตัวอะไรต่ออะไรเป็นคฤหัสถ์ แล้วก็ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นเจ้าของธุรกิจอะไรต่างๆ ได้หมด ถึงเวลาทำพิธีก็ใส่เสื้อคลุมสีดำ เป็นคล้ายๆ ผ้ามุ้ง คลุมข้างนอก แล้วเวลาไปในที่สำคัญมีเกียรติก็จะมีเป็นปื้นผ้าเหลืองห้อยคอ เป็นเครื่องหมายของการเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้ที่มีฐานะสำคัญของนิกาย ถ้าเราเรียกก็คือเป็นเครื่องหมายเป็นพระนั่นเอง อย่างที่เราพูดกันถึงว่านี่เราแกล้งมาเทียบคติของเรา เราบอกว่าต่อไปพุทธศาสนาจะหมด พระจะเหลือแต่ผ้าเหลืองห้อยหูหรือ ห้อยคอ ท่านก็มีแค่นั้น มีเป็นปื้นห้อยคอไว้ อันนี้นิกายชิน ในญี่ปุ่นนิกายอื่นๆ ต่อมาก็มีครอบครัวกัน ไปๆ มาๆ แม้แต่นิกายเซน ที่แต่ก่อนไม่มีครอบครัว ก็พลอยมีไปด้วย เดี๋ยวนี้พระญี่ปุ่นจึงมีครอบครัวหมดเลย เป็นอย่างนั้นไป อันนี้มหายานก็คือว่าเน้นมหากรุณา เน้นคติโพธิสัตว์ให้เป็นโพธิสัตว์ช่วยเหลือสรรพสัตว์หลุดพ้นหมด แล้วตัวเองจึงจะนิพพาน แล้วก็คนที่จะไปนิพพาน ไปอยู่กับพระพุทธเจ้าก็กลายเป็นว่าบางทีไม่ต้องปฏิบัติอะไรมาก อย่างที่บอกเมื่อกี้ สวดมนต์อ้อนวอน ออกชื่อพระนามด้วยศรัทธาอะไรต่างๆ นิกายต่างๆ ก็แยกกันไปมากมาย อย่างของญี่ปุ่นนี่มีทั้งหมดนิกายใหญ่ 5 นิกาย แล้วนิกายนี่ก็จะหมดไปเป็นยุคๆ นิกายสมัยเก่า สมัยนาราเป็นราชธานีก็หมดไปแล้ว สูญสิ้นไป นิกายสมัยเกียวโตก็เกิดขึ้นใหม่ แล้วก็เหลืออยู่บ้าง หมดไปบ้าง เกียวโต แล้วก็มาโตเกียว ก่อนนั้นนารา แล้วยังมียุคคามากูระ จึงมาเกียวโต แล้วก็มาโตเกียว ญี่ปุ่นนี่จะมีลักษณะพิเศษ มี 5 นิกายเหลือปัจจุบัน แล้วแยกนิกายย่อยไปประมาณ 200 นิกาย นี่คือญี่ปุ่น แล้วก็เกิดนิกายใหม่แทบทุกปี ก็เลยแปลกกว่าเขา ญี่ปุ่น เอาล่ะ รวมความก็คือของมหายานก็เน้นกรุณา จะมีพระโพธิ์สัตว์นี่เป็นหลัก จนกระทั่งบางทีนับถือพระโพธิสัตว์ จนออกนำหน้าพระพุทธเจ้า เช่นพระโพธิสัตว์กวนอิม ที่มาจากจีน แล้วเข้ามาเมืองไทย เดี๋ยวนี้ก็นิยมทั่วหมด พระกวนอิมนี่ชื่อจริงท่านว่า พระอวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์ก็ไปจากอินเดียนั่นแหละ ก็คือมหายาน มีทางอินเดียก่อน แล้วก็เกิดคติโพธิสัตว์ขึ้น มีพระโพธิสัตว์มากมาย องค์ที่ได้รับความนิยมมากเพราะเด่นในมหากรุณา ก็ชื่อว่า
พระอวโลกิเตศวร แล้วก็ไปที่จีน ไปๆ มาๆ ก็เป็นชื่อกวนอิมไป แล้วไปญี่ปุ่นก็เป็น คันนอน ญี่ปุ่นก็มีนะ กวนอิมนี่แหละเป็นคันนอน ทีนี้คนนับถือก็กลายเป็นอย่างนี้ กวนอิมท่านก็เป็นพระโพธิสัตว์มีมหากรุณา ก็ช่วยเหลือ ไปๆ มาๆ แทบแยกไม่ออกกับลัทธิอ้อนวอน อยากได้อะไรก็ไปขอ อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งซึ่งพูดถึงมหายาน แต่มหายานอย่างที่ว่าแยกนิกายมากมาย อย่างนิกายเซนเขาก็เน้นสมาธิ เน้นความเพียรของตัวเองมากอยู่ ก็ไม่เหมือนกันทีเดียว เน้นสมาธิ จะว่าใช้ความกรุณามาช่วย มาโปรด ก็ไม่เชิง ก็ต้องเพียรพยายามด้วยตนเองมาก แล้วนั่นก็เป็นลักษณะทั่วไป คล้ายๆ ว่ามหายานนี่เน้นมหากรุณา ส่วนของเถรวาทก็บอกเน้นปัญญา แต่เน้นปัญญาเอาเข้าจริงเน้นจริงหรือเปล่า ก็พูดกันไปนะ คล้ายๆ ว่าเน้นปัญญาก็เน้นในแง่ว่าเพียรพยายามปฏิบัติให้เกิดปัญญาด้วยตนเอง ถือว่าการตรัสรู้นี่ต้องใช้ความเพียรพยายาม แต่เอาเข้าจริงก็ดูคนไทยนี่นิยมปัญญาหรือเปล่า มันก็น่าสงสัย สังคมไทยผมมองดูก็เน้นเรื่องกรุณาอยู่นั่นล่ะ ใช่ไหม เน้นความเมตตากรุณา เราก็เห็นกันอยู่ในสังคม เน้นแต่เรื่องเมตตากรุณาช่วยเหลือกันดีนะ คนไทยก็มีน้ำใจ จนกระทั่งได้ชื่อระดับประเทศว่าคนไทยมีน้ำใจมาก จะว่าประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเถรวาทนี่เน้นปัญญา ก็เน้นกรุณานี่แหละ ยังไงพวกนักปราชญ์นี่บางทีก็เชื่อไม่ค่อยได้เหมือนกัน ต้องค่อยๆ คิดพิจารณาตรวจสอบดู อาจจะเป็นแง่ๆ คล้ายๆ การปฏิบัติธรรมขั้นหลุดพ้นแล้วมั้ง เหมือนจะเน้นอย่างนั้น แต่ก็ไม่ใช่อีกแหละ ดูเมืองไทยเรานี่วัฒนธรรมแสวงปัญญานี้ขาดมาก เราจะเน้นเรื่องเมตตากรุณา การช่วยเหลือกันมาก แล้วเรื่องการหาความรู้ไม่ค่อยมี อย่างที่พูดวันก่อน แม้แต่มีเรื่องราวอะไรกันขึ้นก็ชอบให้ความเห็นแต่ไม่หาความรู้ ขอแทรกนิดนึงอย่างเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมา ก็อย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อวานซืนเรื่อง ก็จะสร้างพระพรหม พระพรหมถูกทำลายไป จะสร้างพระพรหมใหม่ จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อสังคม จะเป็นผู้บริหารประเทศชาติ หรือใครก็ตาม ก็ต้องคิดแล้ว ช่วงเวลาระหว่างองค์เก่าถูกทำลาย องค์ใหม่จะสร้างด้วย ก็แสดงเป็นจุดสนใจขึ้น แม้แต่เพียงถูกทำลายก็เป็นจุดสนใจ จะต้องถือเป็นโอกาสที่จะให้ความรู้กับประชาชน ความรู้เรื่องพระพรหมเป็นยังไงๆ รีบให้เลย ผมสังเกตดู เมืองฝรั่งเขาจะมีเรื่องวัฒนธรรมแสดงปัญญา อย่างตอนอเมริกัน อังกฤษ ฝรั่งมารบกับอิรัก อัฟกานิสถานมารบกับ
ตาลีบัน ก็คือเด่นทางด้านศาสนาอิสลาม เพราะทางด้านนี้เขามีศาสนาอิสลามเป็นใหญ่ แล้วก็ศาสนนาอิสลามเป็นศาสนาที่เข้าไปสู่กิจกรรมทุกอย่างของชีวิต ไม่เหมือนศาสนาอื่น คือศาสนาอิสลามนี่ถือว่าเป็นทุกอย่างของชีวิต ผู้นำของศาสนาเป็นทั้งผู้ปกครองประเทศ เป็นทั้งแม่ทัพ เป็นทั้งนักบวช ก็ไม่เรียกนักบวช เพราะเขาถือว่าเขาไม่มีนักบวช อิสลามที่แท้ไม่มีนักบวช เพิ่งจะมีหลังๆ มีมุสลิม เค-หลิก อะไรต่ออะไร ก็ว่ากันไปนะ ซึ่งอิสลามเองก็เถียง บอกเขาไม่มีนักบวช แต่ตามหลักการที่แท้นั้นอิสลามไม่มีนักบวช เพราะว่าพระศาสดา แล้วก็กาหลิบต่อมา
กาหลิบก็คือ successor ผู้สืบต่อ กาหลิบก็เป็นประมุขประเทศด้วย แล้วเป็นผู้นำของศาสนา ประมุขของศาสนาด้วย เป็นทั้งประมุขของศาสนา เป็นทั้งประมุขของประเทศ แล้วก็เป็นแม่ทัพด้วย เป็นทุกอย่างในตัว ทีนี้ศาสนาอิสลามตอนนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ในตอนที่ฝรั่งมาสัมพันธ์กับพวกอิรัก พวกตะวันออกกลาง มากระทั่งอัฟกานิสถาน ปากีสถาน จะเห็นว่าวิทยุฝรั่งจะมีรายการเต็มไปด้วยการให้ความรู้เรื่องศาสนาอิสลาม แต่สังคมไทยเรามีแต่ให้ความเห็นกัน ไม่ให้ความรู้ การให้ความรู้มีอยู่ว่า หนึ่ง-ความรู้ล้วนๆ ที่เป็นข้อมูลข้อเท็จจริง เรียกว่าความรู้ตามที่มันเป็น ไม่มีความเห็น ไม่มีการวิจารณ์ โดยเฉพาะสังคมไทย อันนี้สำคัญมาก แล้วอีกขั้นหนึ่งค่อยมีความรู้ที่มีควมเห็นประกอบ มีวิจารณ์หรืออะไร ทีนี้สังคมของเรา ถ้าไม่พร้อมก็เอาขั้นที่หนึ่งก่อน ความรู้ล้วนๆ ความรู้ ข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่เป็นกลางๆ เพราะความรู้มันไม่เข้าใครออกใครใช่ไหม มันเป็นความจริง ข้อเท็จจริงเป็นยังไง อย่างเรื่องพระพรหมนี่ก็ถือโอกาสให้ข้อมูลเลย พระพรหมแตก ท่านเป็นใคร อย่างที่ว่าคราวที่แล้ว บอกไปกราบพระพรหม ยังไม่รู้เลยว่าพระพรหมที่ตัวไปกราบคือใคร เนี่ยคนไทยขนาดนี้ เป็นไปได้ยังไง ไม่รู้จักหาความรู้ แล้วผู้ที่รับผิดชอบสังคมก็ไม่เอาใจใส่ที่จะให้ความรู้ พอพระพรหมแตกพัง ก็ต้องให้ความรู้เลย ว่าพระพรหมนี่คือใคร เป็นยังไง แล้วเดี๋ยวมันก็ออกมาเอง คติพุทธเป็นไง คติพราหมณ์เป็นไง พระพรหมองค์นี้มาจากคติไหน เป็นพราหมณ์หรือเป็นพุทธ นี่ว่ากันนัวเนียหมด ไม่รู้อะไรเป็นอะไร ทีนี้ก็เดาสิ เดาแล้วก็มีแต่ความเห็น ก็เลยต้องบอกว่าเป็นสังคมที่ขาดวัฒนธรรมการแสวงหาปัญญา ไม่หาความรู้ แล้วจะบอกว่าเป็นสังคมเอาพุทธคุณข้อปัญญามายังไง ไม่เห็นเน้นเลย บอกว่าเน้นพระคุณข้อปัญญา ไม่ได้เอาเรื่องเลย แต่ว่าเน้นด้านจิตใจ จิตใจเรื่องเมตตากรุณา ผมเคยพูดอันหนึ่ง มีเรื่องหนึ่งเคยพูดไว้ แล้วก็ตั้งชื่อว่า ก้าวไปให้เป็นพุทธ อย่าหยุดแค่เป็นพรหม สังคมคนไทยเราเนี่ย ต้องก้าวไปให้เป็นพุทธ เป็นพุทธก็คือต้องปัญญา พุทธแปลว่าตื่น รู้ ตรัสรู้ จะตรัสรู้ก็ด้วยปัญญา ด้วยโพธิญาณ ทีนี้เป็นพรหมนี่ได้ด้วยความเมตตากรุณา คือด้วยจิตใจ ด้วยความรู้สึกดี สังคมไทยเราได้เมตตากรุณาเราได้ในแง่นี้เราก็ได้เป็นสังคมพระพรหม คนไทยก็เป็นพระพรหม แต่ว่าไม่สามารถเป็นพุทธได้ ถ้าไม่พัฒนาปัญญา ก็เลยบอกว่า จงก้าวไปให้เป็นพุทธ อย่าหยุดแค่เป็นพรหม ดีมากมาได้เป็นพรหม ก็มีจิตใจที่ดี แล้วพรหมของเราก็เป็นคติพุทธที่มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พระพรหมของพราหมณ์ บอกแล้วพระพรหมสี่หน้า หมายถึงหนึ่ง-วรรณะสี่ สอง-ยุคสี่ สาม-พระเวทสี่ เดิมมีไตรเพท คือพระเสทสาม หนึ่ง-ฤคเวท สอง-ยชุรเวท สาม-สามเวท พอดีก็ครบแล้ว ต่อมาภายหลังเกิดพระเวทแถมขึ้นมาอีกหนึ่งเรียกว่า อัด-ถะพะ-นะ-เวท ไทยเรียกว่า อาถรรพเวท ก็เป็นเวทที่สี่ ก็เป็นพระพักต์ของพระหรหมสี่หน้า ก็เลยหันมาพูดเรื่องนี้อีดนิดหน่อย เป็นความรู้ คือเรามาอยู่ในเมืองไทย แม้แต่ไม่บวช เราอยู่ในสังคมไทย มันมีวัฒนธรรมที่มีรากฐานมาจากคติพุทธศาสนา แล้วก็ปนเรื่องศาสนาพราหมร์อะไรต่างๆ เรื่องวัฒนธรรมที่สืบมาแบบนี้ ที่จริงเราควรรู้นะ เหมือนกับฝรั่งเขาต้องรู้เรื่องกรีก เรื่องโรมัน เขาก็ถือกรีกนี้เป็นบูรพาจารย์ของเขา ฝรั่งมีไม่รู้ไหมเรื่องโสเครตีส เพลโต อริสโตเติล ก็ได้ยินกันทั้งนั้น แล้วของไทยเรา ก็เราอยู่ในอารยธรรมเรา ทำไมเราไม่รู้เรื่องรากฐานอารยธรรมของตัว ต้องรู้สิ อย่างนี้เราก็แย่ เราก็เสียเปรียบใช่ไหม ถ้าใช้หลักรู้เขารู้เรา เราก็แย่แล้วแหละ รู้เขา รู้เรา เขาเราก็รู้ไม่จริง ความเป็นมาของอารยธรรมตะวันตก เราก็รู้น้อย แล้วรู้เรา เราก็ไม่รู้ซะอีก เราก็แย่สิ เรื่องพระพรหมนี่ก็ถือโอกาสเล่าอีกนิดหน่อย เรื่องพระพรหมเวลานี้ก็มาสับสนกับพระนารายณ์ พระอิศวร แล้วก็พูดกันไปต่างๆ ที่จริงก็ควรจะรู้เชิงประวัติศาสตร์นิดหน่อย จะได้เข้าใจ ผมจะเล่านิดหนึ่ง บางทีก็แทรกส่วนที่แทรกนี่ท่านก็ไม่ต้องถือเป็นสำคัญ ถือเป็นความรู้แถม ก็คือว่าเรื่องของพระพรหมนี้รู้กันอยู่แล้วว่าเกิดในศาสนาพราหมณ์ของอินเดีย ทีนี้ศาสนาพราหมณ์ของอินเดีย ที่จริงมันไม่ได้เกิดในอินเดีย มันมากับพวกอารยัน แล้วอารยันมาจากไหน โน่น มาจากอิหร่าน แต่ที่จริงมันก่อนอิหร่านอีก มันมาจากทางทะเลสาบเหนือขึ้นไปโน่น แล้วเรามาเริ่มต้นที่อิหร่าน อิหร่านนี่เขาวิเคราะห์ศัพท์ว่าเพี้ยนมาจากคำว่าอารยัน อิหร่านแปลว่า the land of the aryan เอาล่ะ แล้วค่อยคุยกันใหม่ วันนี้ก็เอาเท่านี้ก่อน พรุ่งนี้มาต่อกันนะ