แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : ทีนี้หัวข้อต่อไปก็เรื่องคุณและโทษของสุข ก็บอกแล้วว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสนี่ โดยทั่วไปแล้วจะตรัสไว้ว่ามีทั้งคุณอย่างไร โทษอย่างไร แล้วก็ในเมื่อมีคุณมีโทษอย่างนี้ เราจะมีจุดไหนที่ไหนที่จะพ้นไปจากข้อดีข้อด้อยเหล่านี้ ก็คือพัฒนาต่อไปนั่นเอง วิธีนี้จะทำให้พัฒนาต่อไปเรื่อยๆ พอเราไปถึงจุดหนึ่ง ยอมรับวิธีนี้ แต่ยังมีข้อด้อยของเสียอย่างนี้ แล้วทางออกอยู่ไหน ก็พัฒนาต่อไปพอไปถึงอันนั้นก็ข้อดีอันนี้ ข้อด้อยอันนี้ แล้วที่ไหนจะพ้นไปได้ ไปต่อ อย่างนี้วิธีพัฒนาอันหนึ่งก็คือว่ารู้ข้อดีข้อด้อยและทางออก อะ-สา-ทะ อา-ที-นา-วะ และ นิ-สะ-ระ-ณะ 3 อันนี้ ไปเรื่อยเลย จะเดินหน้าไปเรื่อย ทำงานทำการอะไรก็ต้องคอยดูอันนี้ไว้ จะมีการพัฒนาได้เรื่อย อย่าไปนึกว่าอะไรต่ออะไรมันสมบูรณ์แล้วก็เลยหลงเอาเลย ก็เสียอีก ทีนี้ความสุขในแง่เป็นคุณ อันที่เห็นชัดๆ ก็คือ สุข-ขะ-ปะ-ทัด-ถา-โน-สะ-มา-ธิ สมาธิมีสุขเป็นบรรทัดฐาน ก็คือสุขนี่เป็นบรรทัดฐาน เขาเรียกว่าเป็นเหตุใกล้ของสมาธิ คนที่จะบำเพ็ญสมาธิต้องให้เกิดสุข แต่ว่าสุขก็อยากที่ว่าแล้วต้องเป็นที่พัฒนากันขึ้นมา พอมีสุข จิตมันก็จะสงบ สุขแปลว่าคล่อง แปลว่าสะดวก แปลว่าง่าย มันไม่มีอะไรบีบคั้น ไม่ต้องดิ้นรน มันก็สงบ พอสุขก็สงบ พอสงบ สมาธิก็มาได้เลย มาง่าย เพราะฉะนั้นสมาธิต้องอาศัยสุขเป็นหลักเลยว่าสุข-ขะ-ปะ-ทัด-ถา-โน-สะ-มา-ธิ สมาธิมีสุขเป็นบรรทัดฐาน เพราะฉะนั้นสุขก็มีคุณมาก แล้วสุขก็เป็นอาการของชีวิตที่มีคุณภาพ แม้แต่พระอรหันต์ท่านก็ยังมี ทิด-สะ-ทำ-มะ-หะ-สุข-ขะ-วิ-หาร เวลาไม่ต้องทำอะไรก็ ทิด-สะ-ทำ-มะ-หะ-สุข-ขะ-วิ-หาร แต่ปกติก็มักจะอยู่ด้วยฌาน ก็เป็นเรื่องของการที่อยู่อย่างเป็นสุข คือให้อยู่เป็นสุข อันนี้ไม่จำเป็นต้องพูดมากแล้ว เอาพูดถึงโทษบ้าง คุณของสุขก็มี แต่โทษของสุขก็มี โทษของสุข หนึ่ง-ก็ทำให้ประมาทง่าย มัวเมาลุ่มหลง พอคนสุข โดยเฉพาะกามสุข มีความเป็นไปได้มากที่จะลุ่มหลงมัวเมา สยบ ติด แล้วก็ประมาท พอสุขทีนี้ก็ไม่อยากกระตือรือร้นทำอะไรแล้ว ก็เลยขี้เกียจ แล้วก็เฉื่อยชา แล้วก็เลยกลายเป็นคนอ่อนแอ เพราะฉะนั้นคนที่สุขแล้วไม่มีสติ ระวังตัว จะประมาทแล้วก็อ่อนแอ เฉื่อยชา แม้สมาธิที่มีสุขเป็นบรรทัดฐาน ก็มีโทษในแง่นี้ด้วย สมาธิว่าเป็นภาษาบาลี สมาธินี่เป็น โก-สะ-ชะ-ปะ-ขะ เป็นพวกเดียวกับความขี้เกียจ ท่านว่างั้นนะ สมาธิเนี่ย ท่านบอกว่าสมาธิเป็นพวกกันกา ความขี้เกียจ โก-สะ-ชะ แปลว่าความเกียจคร้าน แต่ในเวลาเดียวกันมันเป็น โพธิปักขิยะ ด้วยนะ อยู่ใน
โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ สมาธิก็อยู่นั่น เป็นธรรมในฝักฝ่ายการตรัสรู้ ในฝ่ายตรัสรู้โพธิก็ต้องอาศัยสมาธิ สมาธิก็อยู่ในพวกทางฝ่ายโพธิตรัสรู้ด้วย แต่ว่ามันก็อยู่ในพวกของโก-สะ-ชะ เพราะฉะนั้นเวลามองธรรมะอย่าไปมองแง่ดีอย่างเดียว แง่เสียมันก็มี เพราะฉะนั้นสมาธิปฏิบัติไม่ถูกเนี่ย ก็ทำให้เกิดความเกียจคร้าน เพราะฉะนั้นท่านต้องคอยระวัง ให้สติคอยระวัง ดูไว้ ว่าตอนนี้ได้สมาธิแล้วเขวไปทางเกียจคร้านหรือเปล่า เฉื่อยชาไหม ติดไหม ติดสมาธิ เพลินกับสุขไป เป็นประมาทไป ฉะนั้นสุขก็มีโทษมากในเรื่องนี้ ประมาท ไม่เฉพาะคน คนไหนพอสุขสบายแล้วเริ่มจะมีความโน้มเอียงไปทางขี้เกียจ ไม่กระตือรือร้น แล้วก็เลยประมาท ฉะนั้นก็เลยต้องรู้จักใช้ให้เป็น แต่สุขนี้ก็มีหลายระดับที่ว่า ต้องแยกว่าเป็นคุณโทษของสุขระดับไหน ความสุขที่ท่านเน้นเรื่องโทษมากก็คือเรื่องกามสุข เรื่องสุขจากอามิส จากวัตถุ ที่แสวงหามาเสพเนี่ย ที่ได้เอาเพื่อตัวเองเนี่ย มีโทษมากอย่างไร ที่จำเป็นจะต้องเอาศีล 5 มาคุม ก็คือเป็นเหตุของการแย่งชิง เพราะว่าสิ่งที่จะมาสนองให้เกิดความสมปรารถนานี่มันอยู่ข้างนอก แล้วมันก็ไม่เพียงพอแก่ความต้องการของมนุษย์ เพราะฉะนั้นต่างคนต่างต้องการ และให้ได้มากที่สุด ก็ขัดแย้งกัน ก็แย่งชิงกัน เป็นเหตุให้เกิดการเบียดเบียนกันในสังคม อันนี้ก็เป็นโทษประการที่หนึ่ง แล้วการที่เบียดเบียนกัน ในใจนั้นก็มีโทษ ก็คือความไม่รู้จักพอ ไม่อิ่ม ไม่เต็มสักที แล้วยิ่งได้มาก ต่อไปก็ยิ่งอยากได้มาก ที่เคยได้ดีกรีและปริมาณเท่านี้ ต่อไปได้เท่านั้น ไม่สุขเลย ชินชา แล้วกลายเป็นว่าที่เคยทำให้สุขก็กลายเป็นเบื่อหน่าย ที่เคยทำให้สุข กลายเป็นทำให้ทุกข์ เพราะมันกลายเป็นเบื่อแล้ว แต่ก่อนนี้ไม่มีเงินสักบาทเดียว หาเงินได้ 1,000 วันละ 1,000 บาท แหม มีความสุขเหลือเกิน ต่อไปหวังบอกว่า ถ้าได้วันละ 100,000 นี่ ต่อไปไม่ต้องเอาอะไรแล้ว สบาย มีความสุขเต็มที่เลย เกิดได้วันละ 100,000 ขึ้นมาจริงๆ ตอนแรกก็สุขเหลือเกิน ปรีดาปราโมทย์เต็มที่เลย แต่ตอนนั้นมี 2 อันเกิดขึ้น หนึ่ง-ก็คือถ้าวันไหนเกิดได้ 1,000 บาท ที่เคยได้แล้วมีความสุข ก็ทุกข์เลยใช่ไหม ที่เคยได้แล้วเป็นสุข ก็กลายเป็นทุกข์ไปเลย ทีนี้ต่อมาที่ว่าได้ 100,000 ชินชาไปเลย อยากได้ 1,000,000 ก็จะเขยิบเรื่อยไปไม่รู้จักจบ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสบอกว่า แม้แต่เนรมิตภูเขาให้เป็นทองคำทั้งลูก ก็ไม่พอแก่ความปรารถนาของบุคคล มันก็ไม่รู้จักจบ เรื่องนี้ท่านก็จะเล่าไว้มาก หมายความว่าความต้องการของมนุษย์นี่ไม่รู้จักสิ้นสุด ความอยากไม่มีที่จบสิ้น ทีนี้มันก็กลับมาเป็นเหตุของการเบียดเบียนกันมากขึ้น แล้วตัวเองก็ยิ่งทุกข์ลำบากมากขึ้น แล้วพร้อมกันนั้น ความทุกข์จากการเบื่อหน่ายชินชาก็มาด้วย แล้วจากการที่ไม่รู้จักพอแล้วตามหาแสวงหา วิ่งไล่ตามหาความสุขอยู่เรื่อย ต่อไปจะเกิดภาวะอันหนึ่งก็คือว่าการเป็นคนที่สุขได้ยาก แต่ก่อนนี้ได้อะไรนิดหน่อยก็สุขแล้ว ได้อะไรนิดหน่อยก็สุข ต่อไปชินชาเบื่อหน่ายหมด จะต้องได้อย่างที่ปรารถนาที่มากมายเหลือล้นจึงจะสุขได้ ต่อไปก็สนองความต้องการไม่ได้สักที ก็วิ่งไล่ไม่ทันความสุข แล้วก็เป็นคนที่สุขได้ยาก พอเป็นคนที่สุขได้ยากก็จะมีภาวะตรงข้าม ก็ทุกข์ได้ง่าย แต่ก่อนนี้ทำอะไรต่ออะไรก็ไม่ค่อยทุกข์หรอก ต่อไปนี่ทำอะไรนิดเดียว หรือขาดอะไรนิดเดียว ไม่ได้อะไรอย่างใจนิดเดียว ทุกข์หมด เป็นคนที่ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก มันขัดกับการพัฒนา ตรงข้าม สวนทางกับการพัฒนา มนุษย์ที่พัฒนาแล้วมันต้องสุขได้ง่ายขึ้น ทุกข์ได้ยากขึ้น ใช่ไหม เฮ้ย ฉันสุขได้ง่าย เจออะไรนิดหนึ่งก็สุขแล้ว จะทำให้ฉันทุกข์ได้ยาก ต้องบอกว่าใครจะมาทำให้ฉันทุกข์ ยากนะ แต่นี่มันกลายเป็นว่า สุขได้ยากเหลือเกิน ทุกข์ได้ง่าย แล้วเด็กสมัยนี้มีลักษณะอย่างนี้มาก เพราะว่าความเจริญของเทคโนโลยีเนี่ย มาสนองความต้องการแบบนี้ ทำให้กลายเป็นคนที่ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยาก เพราะฉะนั้นจะต้องเตรียมใจ ยิ่งวัตถุมาก ความสะดวกสบายมาก เราจะต้องเตรียมฝึกคน พัฒนาคน เพื่อจะให้เขามีความสามารถที่จะมีความสุข คือมนุษย์นี่มีศักยภาพที่จะมีความสุข พัฒนาเขาได้ แต่เมื่อมนุษย์มัวแต่วิ่งแล่นหาความสุขจากเหตุการณ์ภายนอก เขาก็ทำให้ตัวเขาเองสุขได้ยากขึ้น แล้วก็ไม่พัฒนาศักยภาพที่จะมีความสุข เมื่อไม่พัฒนาศักยภาพที่จะมีความสุข กลับกลายเป็นสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข หมดความสามารถที่จะมีความสุข เพราะฉะนั้นอย่าลืมพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข อันนี้มันเป็นหลักสำคัญ เมื่อเราเติบโตขึ้น มีชีวิตพัฒนาขึ้น เราก็ต้องมีความสามารถที่จะมีความสุขได้ง่ายขึ้น ไม่งั้นแล้วก็ไม่มีทางจบ ตัวเองก็ไม่จบ ทุกข์ก็ขยาย สุขก็อยากขึ้น แล้วก็เบียดเบียนกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นโลกนี้ก็ต้องเดือดร้อนอย่างนี้ ถ้าพัฒนาความสุขให้ถูกซะ มันก็แก้ปัญหาไปในตัว ทุกอย่างมันก็มาด้วยกัน ธรรมะต่างๆ มันมาด้วยกัน มันเนื่องถึงกันหมด เป็นอันว่าเรื่องกามสุขนี่ก็มีโทษมากอย่างที่ว่า แล้วก็เป็นเหตุให้ทำชั่วอื่นๆ เพราะต้องการหวังกามสุขในระบบเงื่อนไข ก็เลยทำความชั่วนั้นนี้ไป เพื่อให้ได้สิ่งที่ตนต้องการ ซึ่งมันไปไม่ได้เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ตรงไปตรงมา มันเป็นเรื่องที่ว่าต้องการสิ่งที่ดีงาม ทำเหตุที่ดีงามมันก็ได้ผลอย่างนั้น ในระบบฉันทะ พวกนี้ก็เป็นอันว่าเรื่องคุณกับโทษของสุขก็เอาแค่นี้ก่อน เอาพอเห็นแนวทาง ก็ระวังว่าสุขแล้วอย่าประมาท แล้วก็อย่าอ่อนแอ ทีนี้ในแง่ทุกข์ ทุกข์นี้เราไม่ชอบ มันเป็นสิ่งที่บีบคั้น อึดอัด ติดขัด บีบคั้น คับข้อง นี่คือความหมายของทุกข์ พอเจอทุกข์ขึ้นมันก็ไม่ชอบใจ แต่
โยนิโสมนสิการ ก็จะได้ประโยชน์จากทุกข์ ทุกข์นี่ทำให้ดิ้นรน เพราะมันเป็นการบีบคั้น พอยากจนข้นแค้นไม่มี จะมัวนั่งจับเจ่าแล้วก็ทุกข์อยู่นั่น ทับถมตัวเอง พอทุกข์มันก็บีบคั้นให้ดิ้นรน เหมือนกับระบบแข่งแข่ง เหมืนกับระบบเอาทุกข์มาบีบ แล้วคนก็จะดิ้น พอดิ้นรนมันก็เข้มแข็ง มันก็ไม่ประมาทไปในตัว แต่เป็นไม่ประมาทเทียม ไม่ประมาทที่ไม่ได้เกิดจากปัญญา แต่ก็ยังดี ถ้ามนุษย์เต็มไปด้วยความประมาท ผู้นำสังคมก็ต้องเอาความไม่ประมาทเทียมนี่มาใช้ เพื่อให้คนได้ลุกขึ้นมากระตือรือร้น ขวนขวายบ้าง ไม่งั้นแกก็จะประมาท นอนจับเจ่า นอนคุดคู้อะไรต่างๆ ก้เอาเป็นว่าเราจะต้องให้คนรู้จักใช้ประโยชน์จากความทุกข์ ก็คือว่าทุกข์บีบคั้นให้ดิ้นรนขวนขวาย ก็ทำให้เกิดความเข้มแข็ง แล้วเพราะการที่เรามีทุกข์ก็คือเกิดปัญหา ปัญหาก็ทำให้เราแก้ไขปัญหา แล้วการแก้ไขปัญหา เราจะพัฒนาตัวเอง พัฒนาที่หนึ่งก็คือพัฒนาปัญญา แก้ปัญหานี่ กว่าจะแก้ปัญหาเสร็จ เราก็ได้ปัญญาเยอะ แล้วก็การพัฒนาด้านกาย ด้านใจ ด้านพฤติกรรมอะไรต่ออะไรก็มาหมด เราก็จึงจะผ่านไปได้ ฉะนั้นทุกข์ก็เป็นประโยชน์ได้ก็คือ จะต้องเอาประโยชน์จากทุกข์ เพราะฉะนั้นท่านจึงมีหลักว่าคนมีปัญญาสามารถมีความสุขได้แม้ในทุกข์ แม้ในทุกข์ก็ต้องมีความสุขได้ด้วย แล้วก็เอาประโยชน์จากทุกข์ให้ได้ อันนี้จึงจะดี เมื่อพูดมาถึงตรงนี้แล้วก็เลยมาข้อว่าวิธีปฏิบัติต่อความสุข วิธีปฏิบัติต่อความสุขนี่เอาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลย มีพระสูตรหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสวิธีปฏิบัติต่อความสุขไว้ชื่อ เท-วะ-ทะ-หะ-สูตร ก็เป็น 4 ข้อง่ายๆ
หนึ่ง-ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่เป็นทุกข์ คนเรานี่ชอบเอาทุกข์ทับถมตน ก็ไม่ได้เป็นทุกข์ อยู่ดีๆ ก็เอาทุกข์มาใส่ตัว เอาตัวอย่างง่ายๆ ก็คนกินเหล้าเมายา เสพยาเสพติด ก็ตัวเองก็อยู่ดีๆ ไปเอาสิ่งเหล่านั้นมาใส่ตัวเองให้เกิดทุกข์เกิดปัญหาขึ้นมา หรืออย่างทางจิตใจ บางคนก็เที่ยวเก็บอารมณ์อะไรต่างๆ กระทบกระทั่งนิดๆ หน่อยๆ แล้วพอไปนั่งเงียบก็เอามาคิด เอามาปรุงแต่ง แล้วก็เป็นทุกข์ ใจเศร้าหมอง ขุ่นมัว ไม่สบายใจ ทางพระท่านก็บอกว่า ถ้าปรุงแต่งไม่ว่า ปรุงแต่งให้ดี อย่าไปปรุงแต่งไม่ดี ปรุงแต่งไม่ดีท่านเรียกว่า อะ-ปุน-ยา-พิ-สัง-ขาร ก็กลายเป็นปรุงแต่งทุกข์ คนเรานี้ก็เก็บอารมณ์ทางตา ทางหู ได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ได้เห็นคนนั้นคนนี้ ทำอันนั้นอันนี้ ได้ยินเขาว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เสร็จแล้วก็เก็บเอาไป อย่างที่ว่าพอไปนั่งเงียบก็เอาขึ้นมาคิด มาปรุงแต่ง ก็ทุกข์ตัวเอง นี่ก็เป็นการทับถม เอาทุกข์ทับถมตนอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นท่านก็ให้เปลี่ยน ให้มีสติกั้นซะ แล้วก็ปรุงแต่งดีๆ ปรุงแต่งจิตใจให้มีปราโมทย์ ปิติ ปัสสัทธิ อยู่ อย่างที่ว่านั้น ก็จะแก้ปัญหาไป หรืออย่างในสมัยพระพุทธกาล พระพุทธเจ้าตรัสถึงพวกนิครนถ์ ที่บำเพ็ญตบะ เอาทุกข์ทับถมตน จะโกนผมเขาก็ไม่โกนหรอก เขาใช้เอาคีบหรืออะไร แหนบมาถอนผมทีละเส้นจนหมดศีรษะ อันนี้ก็เรียกว่าบำเพ็ญตบะ หรือเตียงเขามีดีๆ ก็ทรมานตัวเองซะ เอาตะปูไปตอกๆๆ แล้วก็นอนบนตะปู นอนบนหนาม สมัยก่อนนี้นอนบนหนาม หรืออดข้าวอดน้ำ เวลาหนาวก็ไปยืนแช่น้ำในแม่น้ำ เวลาร้อนก็มายืนกลางแดด บำเพ็ญตบะ อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นการเอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่ได้เป็นทุกข์ ทีนี้สำหรับตัวอย่างปัจจุบัน เราก็นึกว่า เออ ตัวอย่าง ก็เอาตามอย่างที่ว่าไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่ได้เป็นทุกข์
สอง-ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม ถ้าสุขนั้นเป็นสุขที่ชอบธรรม ท่านก็ไม่ให้ละทิ้ง
สาม-แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้น ก็ไม่ให้สยบ ว่าเป็นขั้นๆ สุขที่ชอบธรรมไม่ละทิ้ง เราก็มีความสุขอย่างนั้นได้ แต่ว่าอย่าสยบ แม้ในสุขที่ชอบธรรม ก็ไม่สยบ ไม่หลงติดมัวเมา ไม่หมกมุ่น อย่าเสียอิสรภาพ ต้องยังมีอิสรภาพอยู่ แล้วมันจะได้เข้าต่อไป
สี่- เพียรกำจัดทุกข์ให้หมดสิ้น หมายความว่าอะไรที่จะเป็นเหตุแห่งทุกข์ก็กำจัดให้หมดซะ ถ้ามันอยู่ในตัวเรา อย่างพวกกิเลส ก็แก้มันซะ มันจะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์ต่อไป ก็จะถึงขั้นจบสิ้น ถึงสุขที่บริบูรณ์ หรือจะพูดอีกสำนวนหนึ่ง ข้อสี่ก็บอกว่าเพียรพัฒนาความสุขที่ยิ่งขึ้นไป เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่สูงขึ้นไป
ก็เป็น 4 ข้อนี้ นี่เป็นวิธีปฏิบัติต่อความสุขที่ท่านตรัสไว้ให้แล้ว ทีนี้ถ้าเราพูดง่ายๆ ก็คือ ทั่วไปก็คือว่าเรื่องการปฏิบัติต่อความสุขที่ต้องระวังหนึ่ง- อย่าให้เกิดความประมาท ความสุขนี่มันชวนให้เฉื่อยชาประมาทอย่างที่ว่า มัวเมาลุ่มหลง แล้วดูซิ อารยธรรมสังคมที่ประสบความสำเร็จรุ่งเรืองขึ้นมา แทบทุกสังคม พอเจริญงอกงามถึงจุดหนึ่งก็จะลุ่มหลงมัวเมา แล้วก็จะเป็นจุดจบสลาย จบสิ้นของอารยธรรมนั้น ในประวัติศาสตร์ก็จะเป็นมาแบบนี้ บางทีครอบครัวก็เหมือนกันนะ ครอบครัวพ่อแม่ก็ต้องไม่ประมาท ถ้าลูกได้รับการบำรุงบำเรอมากเกินไป บางทีเดี๋ยวเลย ต่อไปก็อ่อนแอ ลุ่มหลง ประมาท แล้วครอบครัวนั้นก็เสื่อม คนก็เหมือนกัน คนตอนแรกก็มีความเพียรพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างดี แต่พอมีความสุขดีแล้วทีนี้ หลงมัวเมาประมาท ฉะนั้นจึงต้องระวังว่าในความสุขนั้นอย่าได้ประมาท นั่นหมายความว่าในความสุขเราก็ไม่ประมาท ในทุกข์เราก็เอาประโยชน์ได้ ก็ต้องไปคู่กันอย่างนี้ หนึ่ง-ก็คือไม่ประมาท สอง-ก็ใช้ให้เป็นโอกาส เมื่อกี้เราทุกข์ อึดอัด บับคั้น คับข้อง ทำอะไรมันก็ยากไปหมด มันต้องใช้ความเพียรมาก มันยาก มันติดขัด มันก็เพียรพยายามมาก มันก็ดีในแง่หนึ่ง ทีนี้สุขก็ดีในแง่หนึ่ง มันคล่อง มันสะดวก จะทำอะไรก็รีบทำ เพราะฉะนั้นถ้าสุขมาแล้วรีบใช้เป็นโอกาส เพราะมันคล่อง มันสะดวก มันง่าย จะทำอะไรก็ทำซะ ทีนี้ก็ยิ่งดีใหญ่ ตกลงไม่ว่าสุขว่าทุกข์มา ฉันใช้ประโยชน์หมด แล้วก็ผู้ปฏิบัติธรรมก็ต้องอย่างนี้ ก็คือหลักโยนิโสมนสิการ ไม่ว่าดีว่าร้ายฉันเอาประโยชน์ได้หมด สุขมา เออดี คราวนี้คล่องสบาย ง่ายสะดวกแล้ว ทำเต็มที่เลย ทุกข์มาก็ เออดี ตอนนี้ฉันสู้เต็มที่ ฉันจะได้เพียรพยายามเข้มแข็งกันใหญ่ ว่างั้น ดีทั้งนั้น
ต่อไปนี่ หนึ่ง-ก็ไม่ประมาท สอง-ก็ใช้เป็นโอกาส สาม-ก็ไม่พึ่งพา ไม่พึ่งต่อมัน หมายความว่าสุขนี้เราต้องไม่ขึ้นต่อมัน ไม่สยบ บางคนกลายเป็นติดเลยต้องพึ่งพาความสุขนั้น เราต้องเป็นอิสระ ต้องรักษาอิสรภาพไว้ แล้วเราจะได้ก้าวหน้าพัฒนาต่อไปได้ ก็พอไม่พึ่งพา ข้อต่อไปก็บอกว่าพัฒนาต่อไป ก็พัฒนาสู่ความสุขที่สูงขึ้นไป ทีนี้มันก็มีทางเดินหน้า สุขไปด้วย แล้วก็พัฒนาไปด้วย แล้วในพัฒนานั้นก็สุขไปอีก ก็ไปถึงสุขที่สูงขึ้นไปอีก ก็เป็นกระบวนการของความสุขทั้งหมดเลย ทั้งในการพัฒนาความสุข ก็มีแต่ความสุขตลอด เอาละ เรื่องวิธีปฏิบัติต่อความสุขก็ขอผ่านไปก่อน วันนี้คิดว่าจะจบได้ไวกว่าที่คาดหมาย เอาเป็นหัวข้อใหญ่ๆ ไว้ ทีนี้ต่อไปก็พูดถึงลักษณะของความสุขอย่างสูงสุด เอาไปบรรจบกับตอนแรกที่พูดไว้ บอกว่าในพุทธศาสนาบอกว่า นิพพานัง ปรณัง สุขัง นิพพานเป็นสุขที่สูงสุดแล้ว ในเมื่อเราพูดถึงสุขสูงสุด ก็มาถึงตรงนี้เราก็จะพูดว่าเมื่อพัฒนาไปถึงคสามสุขสูงสุดเนี่ย ความสุขสูงสุดจะมีลักษณะอย่างไร ก็ลักษณะง่ายๆ ที่มองเห็น จะเรียกว่าข้างนอกก็ได้
ข้อหนึ่งก็คือมีลักษณะที่ไม่ต้องหา มีอยู่ภายในเป็นคุณสมบัติของตัวเอง ก็มีอยู่ในตัวแล้วนี่ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้าเสด็จไปไหน จะไปนั่งนอนกลางดินกินกลางทราย อะไรก็มีความสุข เพราะมีความสุขเป็นคุณสมบัติของตัวเอง ไม่ต้องหาแล้ว ท
สอง-เป็นสุขที่ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งอื่น เป็นสุขที่อยู่กับตัวเอง เป็นอิสระ เป็นไทแก่ตัวเอง เพราะกามสุขเป็นสุขที่พึ่งพา แล้วปัญหาก็เพราะมันเป็นสุขที่พึ่งพา เป็นสุขที่ขึ้นต่อสิ่งอื่น ไม่เป็นอิสระแก่ตัวเอง อย่างรูป รส กลิ่น เสียง นี่เราต้องขึ้นกับมันทั้งนั้น จะมีสุขได้ก็ต้องขึ้นต่อมัน แล้วก็เลยเป็นเหตุของการเบียดเบียนผู้อื่น แก่งแย่งกัน แต่ทีนี้ถ้าพัฒนาไป ความสุขที่เป็นอิสระก็มีขึ้น ก็เป็นสุขที่ไม่ต้องพึ่งพา
หนึ่ง-ก็ไม่ต้องหา มีในตัว สอง-ไม่ต้องพึ่งพา เป็นอิสระ
สาม-มีลักษณะที่สมบูรณ์ สมบูรณ์ก็คือ ไม่มีทุกข์แฝง ไม่มีอะไรค้างคาระคาย คนในโลกจำนวนมากเขาบอกมีความสุข แต่ลึกเข้าไปแล้วยังมีทุกข์ หรือมีเหตุแห่งทุกข์แฝง ค้างคาระคายอยู่ ทำให้เสวยสุขเหล่านั้นไม่ได้เต็มที่ ทีนี้ถ้าสุขเต็มที่แล้วเนี่ย หมดเหตุแห่งทุกข์ในตัวแล้ว ก็เป็นอันว่าเป็นสุขสมบูรณ์ไม่มีทุกข์เลย เมื่อไม่มีทุกข์แฝง ไม่มีอะไรระคายใจ จะเสวยสุขอื่นใดก็ได้ มีความสุขในตัวด้วย และทำให้พร้อมที่จะเสวยสุขอื่นด้วย เหมือนอย่างพระอรหันต์ก็มีสุขประเภทสมบูรณ์นี้ด้วย สุขอยู่ตลอดเวลา เป็นคุณสมบัติ พร้อมกันนั้นท่านก็เสวยสุขอื่นได้อย่างเต็มที่ เช่นท่านเสวยฌานสุข ก็เป็นสุขประเภทหนึ่ง พระอรหันต์อยู่ว่างๆไม่มีอะไรทำ ท่านก็เข้าฌาน 4 เอา ฌาน 4 นี่เป็นทิด-สะ-ทำ-มะ-หะ-สุข-ขะ-วิ-หาร เป็นสุขในปัจจุบัน แล้วเวลาท่านเสวยฌาน ท่านก็สุขเต็มที่จากฌาน เพราะไม่มีอะไรแฝงระคายในใจ อย่างมนุษย์ปุถุชนนี่ก็ยังมีเชื้อแห่งทุกข์แฝงอยู่ในใจ ได้ฌานได้อะไรต่ออะไรก็ยังมีเชื้อทุกข์ เพราะฉะนั้นนี้เป็นความต่างอันหนึ่ง ย้ำอีกทีว่าสุขสูงสุดนี้ก็สมบูรณ์ เป็นความสุขในตัวด้วย ทำให้เกิดความพร้อมที่จะเสวยสุขอื่นได้เต็มที่ เมื่อเป็นผู้พร้อมจะเสวยสุขอะไรก็ได้ แต่ว่าใน มา-คัน-ทะ-นะ-สูตร นั่นแหละพระพุทธเจ้าตรัส ถ้าเราไม่บรรลุสุขที่ประณีตสูงนี้ เราก็รับประกันตัวไม่ได้ว่าเราจะไม่หวนกลับมาหากามสุข แต่เพราะเราได้เข้าถึงความสุขที่ประณีตนี้แล้ว ถ้าจะอุปมาก็เหมือนกับผู้ใหญ่มาเห็นเด็กเล่นขายของ ก็เลยไม่รู้สึกว่าจะมีความสุขในการที่จะต้องหลงใหล ที่ไม่เสวยสุขนั้นไม่ใช่เพราะว่าทำไม่ได้ แต่เพราะว่าจิตใจเป็นไปเอง มันเป็นพัฒนาการในทางความสุข ในเรื่องของจิตใจที่จะมาเป็นอย่างนั้น แต่ว่าท่านมีความพร้อมที่จะเสวยสุขได้อย่างไม่มีระคายเคืองใดๆ ทั้งสิ้น เป็นสุขที่เรียกได้ว่าสมบูรณ์ สุขตลอดเวลาเพราะว่ามีประจำตัว พอมาถึงนี่แล้วในเมื่อไม่มีอะไรค้างคาระคาย หนึ่ง-ก็คือจะเสวยสุขอะไรก็ได้แล้วแต่ ก็จะได้เต็มที่ เป็นแต่ว่าพัฒนาการมันจะเป็นไปเองที่จะไม่ไปเสวยสุขอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า เข้าถึงสัมผัสสิ่งที่จะทำให้มีความสุขได้ตลอด เหมือนอย่างพระอรหันต์ท่านไปภูเขา ท่านไปในป่า ท่านไปสัมผัสธรรมชาติท่านก็มีความสุข ไม่เหมือนคนที่ยังมีทุกข์ มีเชื้อทุกข์อยู่ เข้าไปในที่ที่น่าจะมีความสุข ตัวความกังวลใจ ความอะไรต่างๆ ความกลัวอะไรต่ออะไรมันก็ตามไปรังควานใจ มันก็สุขไม่เต็มที่ เพราะฉะนั้นพระอรหันต์ในสภาพแวดล้อมทั่วไปก็มีแต่สิ่งที่มาเสริมสุข จนกระทั่งถึงว่าแม้แต่สิ่งที่ไม่เอื้อก็เป็นที่รื่นรมย์ได้หมด อย่างที่ยกเป็นคาถาว่า คา-เม-วา-ระ-ทิ-วา-??? ที่บอกว่า ไม่ว่าบ้านไม่ว่าป่าไม่ว่าที่ลุ่มไม่ว่าที่ดอนท่านผู้ไกลกิเลสอยู่ที่ไหนที่นั้นไซร์เป็นภูมิสถานอันรื่นรมย์หมด พระอรหันต์ท่านไปอยู่ที่ไหนรื่นรมย์ได้หมด ท่านสามารถมองสิ่งปฏิกูลแล้วใจสบายก็ได้ มีอำนาจเหนือสัญญา นี่ก็เป็นเรื่องของความสามารถ เรื่องของความสุขที่ว่ามันเป็นไปเองในการพัฒนามนุษย์ การปฏิบัติธรรม ถ้าปฏิบัติถูกแล้ว ความสุขมันจะเลื่อนขั้นพัฒนาไปอย่างนี้ จนกระทั่งเมื่อไหร่สุขสมบูรณ์ ธรรมะอื่นก็สมบูรณ์ด้วย เป็นไปเองแน่นอน เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัย ถ้าเราจะพูดพุทธศาสนาเป็นระบบพัฒนาความสุขก็ได้ จะพูดว่ากระบวนการจำกัดทุกข์ก็ได้ จะพูดว่าอะไรก็พูดได้ เป็นแง่ความหมายที่มันมาโยงถึงกัน เป็นอันเดียวกัน คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งตอนนี้ให้เราย้อนเวียนกลับมา คือพอพัฒนาตนสมบูรณ์ มีความสุขสมบูรณ์แล้ว ก็หมายความว่าอะไรอะไร คุณสมบัติอะไรมันก็สมบูรณ์ ปัญญาก็สมบูรณ์รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลาย วางใจต่อสิ่งทั้งหลายถูกต้องหมด พออย่างนี้แล้ว ท่านเรียกว่าเป็น กะ-ตัง-กะ-ระ-นี-ยา เป็นผู้ทีทำสิ่งที่ต้องทำเสร็จหมดแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อให้ตัวเป็นอย่างนี้อีก จะทำอะไรเพื่อให้ตัวเป็นสุข ก็ไม่ต้องทำแล้ว แม้จะฝึกตนเพื่อให้พัฒนาในชีวิต ในการศึกษาอะไรก็ไม่ต้องทำแล้ว ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป เป็นอันว่าพระอรหันต์มีลักษณะอย่างหนึ่ง คือไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป เพราะตัวเองสมบูรณ์ครบแล้ว คราวนี้ยังไง คราวนี้ก็ว่าชีวิตที่มีอยู่ เรี่ยวแรงพลังงานที่มีอยู่ก็ทำเพื่อโลก แล้วตอนนี้จึงมาบรรจบกัน ก็คือบุคคลนั้นนิพพาน คนที่พัฒนาสูงสุด หมดกิเลส มีความสุขสมบูรณ์แล้ว ก็ใช้คำสั้นๆ ว่านิพพาน พอบุคคลนิพพาน ทีนี้ก็ทำการเพื่อโลก มีคติพุทธศาสนาพูดสั้นๆว่าอย่างนี้ ในอุดมคติบุคคลนิพพานทำการเพื่อโลก เพราะบุคคลนั้นนิพพาน แล้วกิเลสก็ไม่เหลือแล้ว ความสุขก็สมบูรณ์ ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง เพราะฉะนั้นก็ทำเพื่อโลกอย่างเดียว เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระอรหันต์ ตอนที่ส่งพระสาวกไปประกาศพระศาสนา ตั้งต้นตั้งแต่มีพระสาวก 60 องค์ ได้ปัญจวัคคีย์ แล้วก็พระอื่นมี 60 องค์ มีพระยสะกับเพื่อนอะไรเนี่ย พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกว่าเอาว่าภาษาบาลีอีกหน่อย อย่าเพิ่งเบื่อ มุต-ตา-วิ-กะ-เว-สัพ-พะ-ปา-เส-หิ-เย-ทิ-พา-เย-จะ-มา-นุ-สา ??? ภิกษุทั้งหลาย เรานี้พ้นแล้วจากบ่วงผูกรัดทั้งปวง ทั้งบ่วงทิพย์และบ่วงมนุษย์ เธอทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ของมนุษย์ ก็หมายความว่า จิตใจเป็นอิสระ สมบูรณ์แล้ว เป็นบุคคลอิสรเสรีที่แท้จริง คนอย่างนี้ท่านเรียกเสรีที่แท้นะ ไม่ใช่เสรีทำตามชอบใจ คือเสรีจากกิเลส ทีนี้เป็นคนเสรีจริงๆ แล้ว พระพุทธเจ้าก็บอกว่า จะ-ระ-ทะ-ภิก-ขะ-เว-จา-ริก –พะ-หุ-ชะ-นะ-หิ-ตา-ยะ-พะ-หุ-ชะ-นะ-สุ-ขา-ยะ-โล-กา-นุ-กำ-ปา-ยะ เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่พหูชน แก่ชนจำนวนมาก เพื่อเกื้อการุณแก่ชาวโลก ว่านั้น นี่คือกิจพระอรหันต์ ตัวเองหมดกิจเพื่อตัวเองแล้ว ทีนี้ทำเพื่อโลกอย่างเดียว ก็เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า ตกลงว่าตอนที่ปฏิบัติเนี่ย การปฏิบัติธรรมก็มีทั้งการทำที่ตัวเอง ขัดเกลาตัวเอง ทั้งการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ทั้งสองอย่างนี้เป็นการปฏิบัติธรรม อยากสูงก็ต้องปฏิบัติเพื่อผู้อื่นมากขึ้น อย่างพระโพธิสัตว์ จึงจะสำเร็จ ทีนี้ปฏิบัติไปๆ ตัวเองก็พัฒนามากขึ้น ตอนนั้นการทำเพื่อผู้อื่นก็ตาม อะไรต่ออะไร ในแง่หนึ่งก็เหมือนเป็นวิธีการพัฒนาตัวเอง ก็คือยังมีตัวเองที่ต้องฝึกต้องพัฒนา ทำเพื่อผู้อื่นก็ตาม ปฏิบัติธรรมอะไรก็ตาม ก็ยังต้องฝึกตัวเองให้พัฒนาตัวเอง แต่พอพัฒนาจบแล้วคราวนี้ ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียวเลย ตอนแรกคู่กันไป ตอนหลังนี้ทำเพื่อผู้อื่นอย่างเดียว นี่ก็เรียกว่าจบกิจในพระศาสนา ก็มาตรงคติที่ว่านี้ คนนิพพานทำการเพื่อโลก ความสุขในพุทธศาสนา อาตมาก็คิดว่าให้เป็นหัวข้อสำคัญๆ เท่านี้ ทีนี้อย่างความหมายของพวกฉันทะ อะไรต่ออะไร อย่างไร ข้อมูลจากคัมภีร์นี้เราค่อยว่าอีกต่างหาก เพราะว่าเรื่องนี้บางทีก็ยากเหมือนกัน การแยก แม้แต่ว่าความอยากนี่มันยังไง พุทธศาสนาว่าอย่างไรกับความอยาก ยังมีการไปเข้าใจผิดว่า โอ้ อยากไม่ได้เลยเป็นชาวพุทธ อะไรอย่างนี้ อันนั้นก็พลาดมาก ทีนี้พอว่าความอยากมี 2 อย่าง เป็นกุศล อกุศล แล้ว ก็ยังแยกไม่ออกอีกว่า ฝ่ายอกุศลเป็นอย่างไร ฝ่ายกุศลเป็นอย่างไร ทีนี้ในเมื่อยังมีเวลาเหลืออยู่บ้าง ก็ถามตอบกันบ้าง โยมมีคำถามอะไร ถ้าโยมติดขัดอะไร จะมีอะไรถามก็ถามได้ แต่ว่าต้องให้ชัดนะเรื่องความหมายฉันทะเนี่ย อันนี้เป็นตัวสำคัญเลย เป็นจุดเริ่มที่จะก้าวเลย ถ้าจับอันนี้ไม่ได้ล่ะก็ ยาก มีใครสงสัยไหมเรื่องฉันทะ มันจะชัดต่อเมื่อมันแยกกับตัณหา ว่ามันต่างกันอย่างไร
คำถาม(ผู้หญิง) : คือทำงานอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทยนะคะ อยากจะถามว่าฉันทะในการทำงานเป็นอย่างไรคะ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : เคยพูดกับพระ พระท่านถาม บอกว่ามีคนมาสมัครงานก็สัมภาษณ์ถาม คุณชอบงานนี้ไหมล่ะ คำว่าชอบนี่กำกวมไหม ชอบที่เงินเดือนดี จะได้เงินมากๆ ทำงานสบายไม่ต้องหนักเหนื่อย งานก็ง่าย สะดวก มีเวลาพักเยอะ แล้วเงินก็เยอะ ชอบแบบนี้ นี่ชอบอย่างหนึ่ง ทีนี้อีกคนหนึ่งตอบชอบ ชอบยังไง ชอบงานนี้ มันถูกกับความถนัด ความสามารถ ทำแล้วมันมีประโยชน์ ช่วยประเทศชาติสังคม อย่างนั้นอย่างนี้ มันเป็นงานที่ดีงามสร้างสรรค์อย่างนั้นอย่างนี้ ชอบเพราะว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้นคำว่าชอบนี่ในที่นี้มันเป็นคำกำกวม ก็คือก้ำกึ่งระหว่างตัณหากับฉันทะนั่นเอง ถ้าจะให้ชัดมันก็ต้องพยายามสร้างความเข้าใจในคำว่าฉันทะให้ชัดขึ้นในสังคมไทย ว่างานนี้คุณมีฉันทะไหม หมายความว่ามันถูกกับความถนัดความสามารถ มองเห็นคุณค่าประโยชน์อะไรไหม ประกอบด้วยปัญญาอะไรต่างๆ ไม่ใช่ชอบเพียงเพราะว่ามันเงินเดือนดี สบาย ขี้เกียจได้ พักผ่อนเยอะ อะไรอย่างนี้ ถ้ามีฉันทะก็อย่างที่ว่าเราทำงานนี้เรารักงานจริงๆ รักนั้นด้วยเห็นคุณค่าเห็นประโยชน์ ว่างานนี้มีประโยชน์อย่างนี้ เป็นการสร้างสรรค์ต่อสังคมหรือต่อชีวิตของเรา หรือต่อประเทศชาติ อะไรก็แล้วแต่ ถ้าแม้มันไม่ชัดในเรื่องประโยชน์ต่อสังคม ก็ต้องพยายามให้เกิดฉันทะในแง่ว่า มีคุณค่าในการพัฒนาตัวเรา เวลาเราเข้าไปทำงานอะไรเนี่ย คุณค่าอย่างหนึ่งของงานนั้น ไม่ว่างานอะไร ชอบไม่ชอบ มันจะทำให้เราได้พัฒนาตัวเอง ยิ่งงานยาก เราก็ยิ่งได้พัฒนาตัวมาก ฉะนั้นคนที่มีฉันทะนี่ พอปลูกฉันทะได้ดีแล้ว มีความใฝ่ฝึก ปรารถนาในการศึกษา ใฝ่ในการศึกษา ตอนนี้แหละชอบแม้แต่สิ่งที่ยาก อย่างคติที่ว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก จริงไหมล่ะ งานยากเรายิ่งได้มาก ก็คือพัฒนาตัวเองมาก กว่างานนั้นจะเสร็จ กว่างานนั้นจะเดินไปได้ดีนี่เราพัฒนาเยอะเลย ทีนี้ถ้าเรามองไม่เห็นคุณค่าประโยชน์ต่อสังคมเป็นต้น ก็มองในแง่เราต้องทำงานนี้นะ ก็ทำให้เกิดฉันทะในแง่ที่ว่าจะทำให้เราได้พัฒนาชีวิตของเรา เพราะว่างานนี้มีความหมายอย่างหนึ่งก็คือเป็นแดนพัฒนาชีวิตของเราเอง งานนี่กินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต เช่นวันละ 8 ชั่วโมงนี่เท่ากับ 1 ใน 3 ของวันแล้ว แล้วเราจะเอาอะไรเราก็จะต้องเอาเวลาจาก 8 ชั่วโมงนี้ อย่าให้เสียเปล่า ถ้าไปมัวทุกข์ ไม่สบาย ฝืนใจกับงานนี้ เราก็แย่ ชีวิตเราก็เต็มไปด้วยความทุกข์ แล้วเราก็รีบสร้างฉันทะว่า งานอย่างนี้เราทำไปเถอะ เราจะได้พัฒนาตัวเอง พัฒนาทักษะ พัฒนาในการแก้ปัญหา พัฒนาปัญญา พัฒนาจิตใจในการอดทนในการมีความเพียร ในการควบคุมตน มีสติ มีสมาธิ พัฒนาได้ทั้งนั้นเลย งานทุกอย่าง เพราะฉะนั้นอย่างน้อยก็ได้พัฒนาตัวเอง ถ้ามีฉันทะอย่างนี้ ทำงานก็จะมีความสุขขึ้น ถ้างั้นเกิดไปทำงานที่ไม่ถูกใจที่ไม่ชอบใจ จิตก็อัดอั้น วนเวียน ไม่มีทางออก มันเดินไม่ได้ มันก็ทุกข์ทั้งนั้น จิตที่เป็นทุกข์ก็คือจิตที่มันอัดอั้นเดินไม่ได้ วกวนอยู่นั่นแหละ พอมันมีทางไปทีนี้มันสุขแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าใครประสบปัญหาก็สร้างฉันทะขึ้นมาด้วยวิธีนี้ งานทุกอย่างแปลว่ามีฉันทะได้ คือว่ามันเป็นโอกาส มันมีคุณค่าที่จะพัฒนาชีวิตของเรา พัฒนาตัวเรา เราไปอยู่ในงาน เราก็ต้องเจอผู้คน พอเจอผู้คนเราก็มีโอกาสฝึกตัวเองแล้ว เราลองหัดพูดกับเขาสิ พูดยังไงจะได้ผล พูดยังไงจะได้ไม่สร้างศัตรู พูดยังไงจะสร้างมิตร พูดยังไงจะทำให้งานของเราสำเร็จ เขาจะร่วมมือ อะไรอย่างนี้ วิธีปฏิบัติ อะไรๆ มันเป็นการฝึกตัวเองไปหมด เพราะฉะนั้น งานก็เช่นเดียวกับการศึกษา ยิ่งงานก็คือสิ่งที่ต้องทำ แล้วฉันทะมันก็คืออยากทำ แล้วก็อยากรู้อยากทำมันก็คือการศึกษา การศึกษาก็อยู่ที่อยากรู้อยากทำ เพราะอยากรู้อยากทำนี่เป็นเนื้อแท้ของการฝึก การศึกษาก็คือการฝึก อยากฝึกก็คืออะไร ก็อยากศึกษา ศึกษาก็คืออยากรู้อยากทำ เมื่ออยากรู้อยากทำมันก็เดินหน้าไป เราไปทำงานเราทำด้วยอยากทำ ได้ฝึกตัวเองมันก็เป็นการศึกษานั่นแหละ ที่จริงการเล่าเรียนการทำงานเป็นการศึกษาทั้งนั้น ก็คือพัฒนาชีวิตของตัวเองนั่นเอง คือการศึกษามันเป็นชีวิต ที่จริงนั้นถ้าปฏิบัติถูกต้องแล้ว ทั้งชีวิตนี้คือการศึกษา แล้วชีวิตนี้ก็คือจริยธรรม ด้านที่เป็นการฝึกการศึกษาพัฒนาให้ชีวิตดีขึ้น เราเรียกว่าเป็นด้านศึกษา ฝึกแล้วก็ทำชีวิตให้เจริญงอกงาม ให้พัฒนาขึ้นไป ไปศึกษา พอเราดำเนินชีวิตได้ดี ตามที่ฝึกก็เป็นจริยธรรม จริยธรรมก็เป็นผลของการศึกษา คู่กันอยู่ คำว่าจริยะในพุทธศาสนานี้ เป็นชื่อของมรรค ก็คือวิถีชีวิต วิถีชีวิตในพุทธศาสนาก็คือมรรคมีองค์ 8 ??? แล้วมีพุทธพจน์แห่งหนึ่งว่า อะ-ยะ-เม-วะ-ภิก-ขะ-เว-อะ-ริ-โย-อะ-ถัง-ภิก-โก-มัก-โค-ทำ-มะ-จะ-ริ-ยัน-ติ-พุด-จะ-ติ บอกว่า มรรคมีองค์ 8 อันประเสริฐนี้แหละ เรียกว่าจริยะอันประเสริฐ พรหมจริยะ ที่เราแปลว่า พรมจรรย์ ก็คือพรหมจริยะอันประเสริฐ ก็คือจริยธรรมอันประเสริฐ เพราะฉะนั้นจริยธรรมที่แท้ที่ประเสริฐก็คือมรรคมีองค์ 8 มรรคมีองค์ 8 ก็คือวิถีชีวิต มรรคมีองค์ 8 ก็คือยังไง ก็เกิดด้วยสิกขา สิกขา การศึกษา 3 ประการ ศีล สมาธิ ปัญญา องค์ประกอบมันก็คือมรรคมีองค์ 8 เมื่อฝึกได้ไตรสิกขาก็เกิดวิถีชีวิตแห่งมรรค เพราะฉะนั้นเรามีการศึกษา เราก็มีจริยธรรมที่เป็นไปตามการศึกษานั้น แล้วชีวิตนี้เป็นชีวิตของมนุษย์ เป็นสัตว์ที่ต้องฝึกต้องศึกษา ฉะนั้นชีวิตมันก็ต้องเป็นชีวิตแห่งการศึกษา แล้วเมื่อชีวิตนั้นดำเนินไปด้วยดี มีการศึกษาถูกต้องมันก็เป็นจริยธรรมไปในตัว มันก็เป็นเรื่องเดียวกันหมด จะเรียกว่าบูรณาการหรืออะไรก็แล้วแต่ ในแง่นี้ก็คือต้องบูรณาการการศึกษา บูรณาการจริยธรรม บูรณาการหลักธรรมทั้งหมด ด้วยการพัฒนาความสุขนี้ให้เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งก็คือเรื่องเดียวกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็ต้องไปแก้ปัญหาจริยธรรมด้วย ว่าทำไงจะให้เป็นจริยธรรมแห่งความสุข ตราบใดยังเป็นจริยธรรมแห่งความจำใจ ก็เป็นจริยธรรมแท้จริงไม่ได้ แล้วมันก็ไม่มีทางสำเร็จ ก็เรียกว่าเป็นจริยธรรมที่ไม่ยั่งยืน ไม่ทราบตอบตรงคำถามหรือเปล่า ได้ไหม เจริญพร ใครมีอะไรถาม
ผู้ดำเนินรายการ : มีคำถามต่อไปไหมครับ เชิญ แล้วก็กรุณาแนะนำตัวด้วยครับ
คุณอารี (ผู้ชาย) : มีครับ ผมชื่ออารี นำศิริแสงทอง ครับ อยากกราบเรียนถามท่านว่า แนวทางในการปฏิบัติ คือบางครั้งที่เราได้รับฟังธรรม ได้รับความรู้ส่วนใหญ่จะเป็นทางด้าน สุตมยปัญญา กับ จินตมยปัญญา แต่แนวทางที่เราจะนำธรรมเหล่านี้มาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดกับตัวเอง โดยเฉพาะเราเป็นปุถุชนนี้นะครับ จะต้องประกอบกิจการงาน ทีนี้แนวทางในการปฏิบัติมีความจำเป็นที่เราจะต้องปฏิบัติตามรูปแบบต่างๆ หรือว่าเราจะมีแนวทางในการที่ปฏิบัติควบคู่ไปกับการทำงานของเรา ให้เกิดความเข้าใจในฉันทะที่แท้จริงครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : มันก็อยู่ในทุกอย่าง ปฏิบัติต่อสิ่งนั้นถูกต้องก็เป็นธรรมะ ปฏิบัติให้ถูกต้อง อย่างน้อยก็ถูกต้องตามเหตุปัจจัย เราจะทำงานให้สำเร็จผล เราก็ต้องทำตามเหตุปัจจัยของมัน เราทำเหตุปัจจัยนั้นถูกต้อง ก็เกิดผลตามเหตุปัจจัยนั้น นั่นก็เป็นการปฏิบัติตามธรรมแล้ว แต่ทีนี้ว่าธรรมะในกรณีนั้น จะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ว่ากันอีกเรื่อง บางครั้งเรื่องเหตุปัจจัยในกรณีนั้นเป็นอกุศลก็มี เป็นการปฏิบัติธรรมะทั้งนั้นแหละ แต่เราสงวนคำว่าปฏิบัติธรรม เอาคำว่าธรรมะในที่นี้หมายถึงกุศลธรรมเท่านั้นเอง เรามุ่งที่ด้านเป็นกุศลกรรม เพราะมันทำให้เกิดการพัฒนา ถ้าเราไปทำตามธรรมะเหมือนกัน แต่เป็นฝ่ายอกุศล มันไม่พัฒนา ก็เลยมีการปฏิบัติธรรมให้เกิดการพัฒนาขึ้นมา ทีนี้ข้อสำคัญก็คือเราจะต้องรู้จักใช้ธรรมะให้ถูกต้องในแต่ละกรณี เช่นอย่างว่าเราทำอะไรมีสติ แค่นี้เราก็ปฏิบัติธรรมแล้วใช่ไหม สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา บอกคุณสติเป็นสิ่งจำปรารถนาในทุกกรณีอย่างนี้ เราทำอะไรเราก็ต้องมีสติ พอเราเดินมีสติ เราก็ปฏิบัติธรรมแล้ว ไม่ต้องอะไรมากหรอกคุณ คุณเดินนี่คุณก็ปฏิบัติธรรมแล้ว หรือเรานั่งเราก็ปฏิบัติธรรม ก็ต้องธรรมะทั้งนั้นแหละ เราเกิดมีความเพียร เราฟังปาฐกถาบรรยายธรรม ชักจะเพลียแล้ว เกิดเพียรพยายามฟัง มีความอดทนขึ้นมา เราก็ปฏิบัติธรรมแล้วใช่ไหม ต้องมีขันติ มีวิริยะ แล้วก็ต้องปฏิบัติให้มันมีผลยิ่งขึ้น เอาแค่มีความเพียร มีขันติอดทน ไม่พอหรอก ต้องให้เกิดปัญญา เราฟังไปก็พิจารณา เอาโยนิโสมนสิการ มาใช้ด้วย ให้เกิดปัญญา มันก็เกิดปฏิบัติธรรมได้ผลยิ่งขึ้นๆ ยิ่งเรารู้จักปฏิบัติ รู้จักใช้ องค์ธรรมต่างๆ เหล่านี้ มันก็จะยิ่งปฏิบัติได้ผลมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็อยู่ที่ว่าเราจะมีความสามารถในการปฏิบัติแค่ไหน ใช่ไหม ต้องเก่ง ท่านจึงเน้นเรื่องโยนิโสมนสิการ เพราะโยนิโสมนสิการ เป็นตัวที่นำจิตไปเลย นำจิตไปในทางที่ได้ผลนั่นเอง เรื่องที่มาร้ายเราก็พลิกให้มันดีไปได้ อย่างที่เขายกตัวอย่างบ่อยๆ หมอพยาบาลเห็นคนไข้มานั่งหน้าบึ้ง พูดก็ไม่พูดด้วย เอ พูดทำหน้าอย่างนี้เราไม่ชอบ เราก็โกรธเป็นเหมือนกันนะ ก็โกรธเลย แต่ทีนี้พอใช้โยนิโสมนสิการ เออ คนไข้คนนี้หน้าบึ้ง พูดด้วยก็ไม่พูดด้วย น่ากลัวมีทุกข์มาก เขาคงมีอารมณ์ค้าง ทางบ้านอาจจะไม่ค่อยมีเงินใช้ เขาอาจจะเป็นห่วงลูกว่าเราเจ็บไข้ไม่สบายนี่ ลูกจะเป็นยังไง จะมีตังค์ได้เล่าเรียนศึกษาต่อหรือเปล่า เราจะเป็นโรคเล็กหรือโรคใหญ่ ถ้าโรคใหญ่แล้วลูกเราอาจจะต้องออกจากโรงเรียนเลย เขาอาจจะคิดมาก ทุกข์หนักเลย แทนที่จะโกรธเขาเลยสงสาร ใช่ไหม พอสงสารทีนี้ก็ทำให้คิดแก้ปัญหา ก็เลยถามไถ่ว่าเธอมีอะไร เป็นทุกข์อะไรหรือเปล่า อะไรต่ออะไร หาทางแก้ปัญหา ให้กลายเป็นดีไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย นี่แหละคุณธรรมก็มาแทน โยนิโสมนสิการ เกิดขึ้นในใจแล้วออกสู่การปฏิบัติ เป็นพรหมวิหาร 4 ไปได้เลย เป็นสังคหวัตถุไปได้เลย ฉะนั้นต้องอยู่ที่ว่าต้องฝึกกระบวรการของระบบ ศีล สมาธิ ปัญญา ควบคู่มาหนุนกันไปให้กระบวนการนี้มันเดินหน้าไป แล้วตัวสำคัญในระบบของมันก็คือโยนิโสมนสิการ เป็นตัวที่จะช่วยเราได้มาก สถานการณ์ต่างๆ แก้ได้ด้วยโยนิโสมนสิการ พลิกร้ายกลายเป็นดี ที่ดีแล้วก็ดียิ่งขึ้นไป ตอบหรือยัง พอจะช่วยได้ไหม
ผู้ดำเนินรายการ : ขอเรียนเชิญเลยนะครับ เป็นคำถามสุดท้ายครับ
คุณวิทยา (ผู้ชาย) : ท่านเจ้าคุณนะครับ พระภิกษุทุกรูป รวมทั้งท่านผู้ฟังนะครับ ผมวิทยา จากมหาจุฬาลงกรณ์ ศูนย์พระไตรปิฎกศึกษา แล้วเป็นคนข้างวัดนะครับ อยากเรียนถามท่านเจ้าคุณนะครับ ภาพรวมสังคมไทยในขณะนี้เหมือนว่าขาดฉันทะ ธรรมฉันทะนะครับ มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย อย่างที่ท่านเจ้าคุณเคยกล่าวไว้ ในการนี้ถ้าพระพุทธเจ้ามาตรัสสอน สองฝ่ายนี้ก็อาจจะไม่ฟังเลยนะครับ ผมก็เลยจะกราบเรียนถามท่านเจ้าคุณนะครับ มีหลักธรรมใด หรือหลักธรรมข้อใดที่จูงใจให้ผู้คนเกิดกุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ ที่เป็นสัมมาทิฐินะครับ ขอบคุณครับ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) : อย่างน้อยก็มีคุณธรรมทางสังคม เมตตา ความปรารถนาดีต่อทุกชีวิต ต่อสังคมส่วนรวม อันนี้เป็นฐาน หรือจะเรียกว่าเป็นแรงใจเบื้องต้นก็ได้ ให้มันมีอันนี้ขึ้นมาก่อน แล้วเวลาพิจารณาอะไรก็ต้องตรวจตราตัวเอง ไม่พิจารณาด้วยความรู้สึกที่เป็นอคติ เมตตากลายเป็นลำเอียง รักข้างหนึ่ง แล้วชังข้างหนึ่ง ต้องไม่ให้เกิดอันนี้ ไม่รักไม่ชัง ทำใจให้เป็นอุเบกขาได้ เหมือนอย่างการมองสถานการณ์นี้ บางทีต้องใจเย็น รอให้ฝุ่นควันมันสงบก่อน บางทีจึงเห็น จะเอากำลังฝุ่นตลบควันคลุ้งอยู่นี่ มองไม่เห็น ทีนี้คนก็ไม่ใจเย็นพอ ก็อย่างพระนเรศวรมหาราช ช้างพาพระองค์มา ฝุ่นตลบมองไม่เห็นเลย พอฝุ่นเงียบลงไป ปรากฏว่าอยู่กลางกองทัพพม่าแล้ว แต่ว่ามีสติ ก็ใช้สติ แล้วก็ใช้ปัญญา สติมาแล้วปัญญาก็ทำงาน ถ้าสติไม่มาปัญญาก็ทำงานไม่ได้ พอสติมาปัญญาทำงานแล้วก็เลยได้ผล แก้ปัญหาไปได้ อันนี้เราก็ต้องมองในสภาพที่สว่าง ทำไงจะสว่าง เวลานี้ก็เรียกได้ว่าอยู่ในสถานการณ์ที่ฝุ่นควันตลบ ทำให้คนมองไม่ค่อยเห็นสภาพที่เป็นอยู่ ฉะนั้นก็ต้องทำใจนี้ด้วยว่า ถ้าเราจะเห็นชัดเจนจะต้องให้ฝุ่นควันมันสงบ แล้วยังไม่สงบเราจะทำไง เราต้องวางใจให้ดี ระวังอย่าให้เอนเอียงไปง่ายๆ แต่ว่าอย่างน้อยรักษาสถานการณ์ให้มันเรียบร้อยสงบไว้ก่อน คือในขณะที่จะแก้ปัญหา ควบคุมไม่ได้ ต้องระวังสถาการณ์ไม่ให้มันมีอะไรที่มันเสียหายร้ายแรงลงไป ให้มันผ่านจุดนี้ไปได้ก่อน เพื่อให้ไปถึงจุดที่ว่าเจ้าฝุ่นควันที่ตลบมันสงบไปได้ แล้วทีนี้เราก็จะค่อยๆ เห็นอะไรขึ้นมา
ผู้ดำเนินรายการ : พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้เมตตาให้เวลากับพวกเราเกือบ 3 ชั่วโมงแล้วนะครับ ก็เป็นความเมตตาอันยิ่งใหญ่ หลังจากช่วงสุดท้ายจะให้ทางเจ้าภาพอาจารย์แพทย์หญิงคุณสาคร ธนมิตต์ ได้กรุณากล่าวขอบคุณนะครับ