แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
ถาม : จากที่อ่านหนังสือพรที่สัมฤทธิ์นะคะ ท่านได้คุยว่าความสุขที่อยู่ตัวนะคะ ความสุขที่อยู่ข้างหน้านี่ อยากให้ท่านช่วยกรุณาอธิบายให้ญาติโยมฟังอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้ชัดเจนเจ้าค่ะ ขอความกรุณาค่ะ
ตอบ : อ๋อ ถามเรื่องความสุข ก็มีความสุขในตัว ความสุขนอกตัว ความสุขข้างหน้า ทีนี้ไอ้ที่มันแน่ก็คือ ความสุขที่อยู่ในตัว อยู่ในตัวแล้วก็มันก็อยู่กับตัวนี่แหละ ที่ยังไม่แน่ก็คือ ความสุขนอกตัว และความสุขข้างหน้า คนเรานี่เรามักจะใช้คำพูดว่าหาความสุข คำว่าหาความสุขทำให้มองไปได้ว่า แสดงว่าเรายังไม่มีความสุข ก็เลยหา ก็เลยกลายเป็นการฟ้องว่าเราน่ะขาดความสุข แล้วก็พยายามหา ถ้าคนที่ขาดความสุข แล้วเที่ยวหาความสุข ก็จะมีปัญหาคือ ขณะนั้นตัวไม่มีความสุข ขาดแคลน และตรงข้ามก็อาจจะมีความทุกข์อยู่ด้วย โดยมากก็จะมีความทุกข์อยู่ แล้วก็ไปแสวงหาความสุข ทีนี้ในเมื่อความสุขไม่มีอยู่ เราไปหานี่ แล้วถ้ามีคนต่างก็ขาดความสุข หาความสุขกันอย่างนี้เยอะๆ ก็แย่งกัน แย่งกันก็ต้องเกิดยุ่ง เบียดเบียนกัน แย่งชิงกัน ก็เวลานี้ที่เป็นปัญหามากก็เพราะว่า คนนี่ขาดความสุข ไม่มีความสุขอยู่กับตัวหรือในตัว ก็เที่ยวแสวงหาความสุข แล้วก็ขัดแย้งกัน แย่งความสุขกันเยอะเหลือเกิน นี่ก็ปัญหาหนึ่ง
อีกอันหนึ่งก็พูดถึงในแง่ความสุขในตัว นอกตัว ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความสุขข้างหน้า ก็เหมือนกัน ความสุขข้างหน้าก็เป็นความหวัง แล้วก็ยังไม่มีนั่นเอง ข้างหน้าก็รอไป ก็อยู่ในแบบแสวงหาก็ได้ หรือรอก็ได้ คือ อาจจะกว้าง เพราะว่าอยู่ยังไม่มีด้วย แล้วก็อาจจะหา หรือว่าอาจจะรอ ก็รอด้วยความหวัง จริงๆ ถ้าไม่มีความหวังเลย ก็ยิ่งทุกข์มาก นี่ที่แน่นอนก็คือ ความสุขที่อยู่ในตัวที่มีอยู่กับตัว เป็นของแน่นอน อันนี้อาตมาพูดแบบนี้ก็เป็นเชิงวิเคราะห์ศัพท์เท่านั้นเอง ทีนี้เราก็ต้องมาดูกันอีกว่า ความสุขข้างใน ข้างนอก ข้างหน้า มันยังไงกันบ้าง ความสุขของคนปัจจบัน อันที่หนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ ความสุขที่ว่าอยู่นอกตัว อยู่นอกตัวจะเป็นความสุขที่หวังจากพวกวัตถุเป็นอันดับที่ ๑ สิ่งเสพ สิ่งบริโภค สิ่งบำรุงบำเรอปรนเปรออะไรต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย อะไรต่างๆ ที่มีอยู่ภายนอก ที่เราไปเที่ยวหากัน เราหวังความสุขจากข้างนอกบนพวกวัตถุ มีเงิน มีทองแล้วก็นึกว่าจะไปหาความสุขได้ อันนี้จะมาก ก็ยอมรับ ท่านก็ยอมรับว่าเป็นความสุขประเภทหนึ่ง แต่ความสุขแบบนี้มีข้อจำกัด มีจุดอ่อนหลายอย่าง จุดอ่อนที่สำคัญอันหนึ่งที่คนไม่ค่อยมองคือ จุดอ่อนอันอื่นอาจจะมองง่าย จุดอ่อนอย่างหนึ่งที่คนมักจะมองข้ามไปก็คือ การที่เราอาจจะสูญเสียอิสรภาพ ทำไมจึงว่าสูญเสียอิสรภาพ ก็คือว่า ความสุขของเรานี้ไม่มีได้ด้วยตนเอง เราต้องพึ่งมัน พึ่งวัตถุ พึ่งสิ่งที่อยู่ข้างนอกนั้น
อีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาก็คือว่า เราจะพึ่งมากขึ้นด้วย คือ สิ่งเสพ บำรุง บำเรอที่เราจะได้ความสุขนั้น พอชินชาแล้วมันจะเบื่อ น่าจะต้องเพิ่มปริมาณ เพิ่มดีกรี เคยมีเท่านี้สุข ต่อไปเท่านั้นไม่สุขแล้ว ต้องเพิ่มปริมาณ ต้องเพิ่มดีกรี ก็จึงจะสุข ถ้าอย่างนี้ก็จะสุขยาก ก็จะมีปัญหาสุขยากขึ้น พอสุขยากขึ้น ก็มีทุกข์ง่ายขึ้นด้วย มันก็มาคู่กัน จะเป็นคนที่ยิ่งอยู่นานไป ก็เป็นคนที่ทุกข์ได้ง่ายขึ้น สุขได้ยากขึ้น ต้องมีมากขึ้นทุกทีๆๆๆๆ แม้แต่เรื่องเงินเรื่องทอง บางคนนี้เคยจน นึกว่ามีเงินสักเท่านั้น สักพัน สักหมื่น ก็แหมจะสุขเหลือเกิน หวังว่าอย่างนั้น ต่อมาเกิดสำเร็จ ได้พัน ได้หมื่น ตอนแรกแหมสุขเหลือเกิน สุขเต็มที่เลย พอต่อมาชักชินชาแล้ว แล้วทีนี้เกิดหาได้มากกว่านั้น ทีนี้หาดี้ละเยอะ ทีละหมื่น ทีละแสน เกิดเมื่อไหร่ได้พันหนึ่ง ไอ้ที่เคยหวังว่าจะสุขที่สุด ต่อมาตัวได้หมื่น ได้แสน พอได้พันนี่ กลายเป็นทุกข์เลยนะพันที่ได้ตอนนี้ ที่เคยให้มีความสุขเต็มที่ กลายเป็นทุกข์ไป เพราะว่าความสุขแบบนี้ไม่แน่นอน ก็อย่างที่ว่าเพิ่มปริมาณและดีกรีไปเรื่อย ไม่รู้จักจบ นี่ถ้าไม่มีสติยั้ง คนก็จะสูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขไป เท่านั้นก็ยิ่งโตขึ้น ยิ่งอยู่นานไปในโลกนี้ ก็เป็นคนที่ทุกข์ได้ง่าย สุขได้ยากขึ้นเรื่อยๆ และอีกประการหนึ่งที่บอกเมื่อกี้ที่ว่าสูญเสียอิสรภาพ ก็คือ ความสุขไม่มีในตัวเอง ต้องพึ่งพาขึ้นต่อสิ่งภายนอก นี่ถ้าสิ่งนั้นไม่มีตัว ก็กระวนกระวายอยู่ไม่ได้ มีความทุกข์ ก็อยู่ลำบาก ยิ่งเป็นคนที่สุขได้ยากขึ้น ก็ต้องพึ่งหวังสิ่งโน้นสิ่งนี้ อยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็หมดอิสรภาพในทางความสุข คือ เป็นความสุขแบบพึ่งพา อันนี้ก็เป็นจุดหนึ่งทำให้พระพุทธเจ้าสอน เพื่อให้เรารักษาความสามารถอีกด้านหนึ่งภายในไว้ อย่าให้เสียดุล คือ คนเรานี้มักจะมองด้านเดียวว่า ความสุขของเรานี่ เราจะต้องหามันอยู่ข้างนอก คล้ายๆ อย่างนั้น โดยไม่รู้ตัว นึกว่าอย่างนั้น ก็ไปหา ก็พัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งที่จะมาช่วยให้ตัวเองมีความสุข ใช่ไหม เพราะเก่งในการหา อันนี้ก็เป็นการยอมรับว่า เก่ง คนนี้เก่งในการหาสิ่งที่จะมาทำให้ตัวมีความสุข แต่ว่าอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ ไม่รู้ตัวว่าในเวลาเดียวกัน ที่มีความสามารถในการหาสิ่งมาทำให้ตัวเองมีความสุข ตัวเองก็ได้สูญเสียไปด้วย ก็คือ สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุข ซึ่งอันนี้คนไม่ค่อยคิด
ความจริงคนเรามันมีอยู่ในตัวนะ ความสามารถที่จะมีความสุข นี่ถ้าเรารู้จักรักษาและพัฒนามัน เราก็เป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น สุขเก่งขึ้น ถ้าเราเก่งจริง เราอยู่ไปในโลก เราต้องสุขได้ง่ายขึ้น ถามตัวเองเลยว่า เราอยู่มาในโลกนี้ เราสุขง่ายขึ้น หรือสุขยากขึ้น ถ้าเราสุขได้ยากขึ้น แสดงว่าเรานี่ผิดทางแล้ว ต้องมีอะไรเกิดปัญหาผิดพลาดขึ้นมาในตัวแล้ว ถ้าเก่งจริงนี่ มันต้องไม่เสียดุล แล้วเราต้องทำให้ได้ทั้งสองอย่าง คือ คู่กัน พัฒนาความสามารถ ในการหาสิ่งที่จะมาทำให้มีความสุข อันนั้นก็เรายอมรับ ทีนี้พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขในตัวเองด้วย อันนี้ก็ด้านภายในจิตใจแล้วนะ แล้วก็ปัญญาด้วย ที่จะรู้จักคิด รู้จักพิจารณา ทำให้ตัวเองมีความสุขได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งภายนอก
ทีนี้คนที่พัฒนาตัวเองถูก อยู่ไปก็มีความสามารถในการที่จะมีความสุขเพิ่มขึ้น ก็สุขง่ายขึ้นๆ แม้แต่อยู่คนเดียวไม่มีอะไร ฉันก็สุขได้ นี่ก็เก่ง ก็ดูพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ เป็นตัวอย่าง ท่านไม่ต้องมีอะไร ท่านก็สุข ใช่ไหม ท่านจะไปอยู่ที่ไหน กลางป่า กลางเขา จะลำบากอะไร ท่านก็สุขได้ทั้งนั้น อย่างนี้ก็คือ มีความสุขกับตัว หรืออยู่ในตัว สุขได้ตลอดเวลา ความสุขมันกลายเป็นคุณสมบัติของเราแล้ว ไม่ใช่สิ่งภายนอก อันนี้ก็มีอิสรภาพ
๑ ก็อิสรภาพ ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอก ที่จะให้ตัวมีความสุข ไม่เป็นความสุขแบบพึ่งพา และมันก็มีอยู่กับตัวอยู่ตลอดเวลา กลายเป็นคุณสมบัติของชีวิต แล้วก็มีความสามารถที่จะมีความสุข อันนี้จุดที่สังเกตอยากให้คนพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขไปด้วย หรืออย่างน้อยรักษาไว้ อย่างเด็กๆ เกิดมา แกยังมีความสามารถที่จะมีความสุขอยู่พอสมควร ไม่ต้องมีอะไรมาก ก็สุขได้ แต่หลายคนพอโตไปแล้ว ความสามารถที่จะมีความสุขนี่มันหายไป กลายเป็นว่าต้องเอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งข้างนอกหมดเลย นี่ถ้าเราเอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งภายนอกหมด เราก็แย่เท่านั้น ใช่ไหม ไม่มีทางที่จะมีความสุขได้จริง ชีวิตของเรานี้ มันก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย อย่างคนร่างกายตอนแรกเราก็ใช้มันได้เต็มที่ โดยมากความสุขภายนอกนี่จะอยู่กับร่างกายที่ดี มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่ยังใช้ได้ดี เรียกว่า อินทรีย์ยังแข็งแรง อินทรีย์ยังคมชัดอยู่ ต่อไปตา หู จมูก กาย มันเสื่อมหมด คนที่ไม่พัฒนาความสามารถที่จะมีความสุขไว้ หรืออย่างน้อยไม่รักษามันเอาไว้เลย เอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งภายนอกหมด ก็จะทุรนทุรายมาก พอร่างกายเสื่อมอินทรีย์ อ่อนแอลง แก่เฒ่าลงนี่ลำบากแล้ว ไม่สามารถจะมีความสุข ทุกข์เพราะว่าเอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งภายนอก ไอ้สิ่งภายนอกนั้น ที่เคยได้ความสุขอยู่กับมัน มันก็ไม่สามารถให้ความสุข อาหารที่เคยเอร็ดอร่อย ตอนนี้ลิ้นอะไรต่างๆ บางทีมันก็ไม่ค่อยรับรส แล้วก็หู ตา มันก็ไม่ดี หาความสุขจากสิ่งเหล่านั้นก็ไม่ได้ ไม่ต้องไปรอไปแก่หรอก เพียงแค่เจ็บป่วยเท่านั้นแหละ คนที่เอาความสุขไปฝากไว้กับสิ่งภายนอก ก็ลำบากเลยแหละ พอเจ็บป่วยมีแต่ความทุกข์ ทุรนทุราย ทีนี้คนที่รักษาความสามารถที่จะมีความสุขไว้นี่ แกก็เจ็บป่วยก็ไม่เป็นไร ก็ยังมีความสุขได้ ทำใจได้สบายขึ้น ฉะนั้น ก็เลยอย่างน้อยก็ให้รักษาดุลยภาพไว้ว่า ในขณะที่เรานั้นอยู่ในโลก มีการพัฒนาความสามารถที่จะหาสิ่งมาปรนเปรอบำเรอความสุขนี่นะ ก็อย่าให้สูญเสียความสามารถที่จะมีความสุขไปเสีย ถ้าให้ดีก็พัฒนามันไว้ด้วย ให้เพิ่มขึ้นๆ ทีนี้ถ้าเราพัฒนาความสามารถที่จะมีความสุข เราก็ขึ้นต่อความสุข ขึ้นต่อสิ่งบำรุงบำเรอน้อยลง เราก็จะอยู่ง่ายด้วย แล้วมันจะมีผลตามมาเยอะ หนึ่งชีวิตตัวเองก็เป็นอิสระมากขึ้น เคยพูดบ่อยๆ บอกว่าคนที่เอาความสุขไปฝากไว้กับวัตถุภายนอกหมด อยู่ในฐานะลำบาก ไปไหนก็ไม่เป็นอิสระ เพราะว่าความสุขต้องมีสิ่งมาปรนเปรอหมด ไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้ว อยู่ไม่ได้มีแต่ความทุกข์ ต้องพูดแต่เพียงว่า ต้องมีอันนั้นจึงจะอยู่ได้ ถ้าไม่มีฉันตายแน่ อะไรอย่างนี้
ทีนี้คนที่พัฒนาตัวเองไปดี ก็อย่างน้อยรักษาความสามารถที่จะมีความสุข ก็จะพูดได้ว่า สิ่งนั้นมีก็ดี ไม่มีก็ได้ มีก็ดีหมายความว่า มีก็ดีเราก็จะได้มีความสุข แต่ไม่มีก็ได้นะ ถ้าคนที่ยังมีอิสรภาพอยู่บ้าง จะต้องสามารถพูดอย่างนี้ มีก็ดี ไม่มีก็ได้ พูดได้ไหม ทีนี้ถ้าหากว่าเก่งไป ก็อาจจะบางอย่างชักชอบอยู่อิสระ บอกว่ามีก็ได้ ไม่มีก็ดี ว่างั้น มีก็ได้ ไม่มีก็ดี ก็หมายความว่า เอ้อ มีก็ได้ไม่เป็นไร ฉันก็อยู่กับมันได้ แต่ว่าไม่มีก็ดี ฉันก็สบาย เป็นอิสระ
ทีนี้อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า คนที่เป็นคนที่สุขได้ง่าย มีความสามารถที่จะมีความสุข ก็ไม่ต้องการสิ่งบำรุงบำเรอตัวมาก ใช่ไหม แต่ตัวเองนี่มีความสามารถที่จะหาสิ่งต่างๆ มา แต่ตัวเองสุขง่ายแล้วนี่ สิ่งนั้นก็เกินจำเป็นสำหรับตัวเอง คนพวกนี้ก็จะไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ แล้วจะเผื่อแผ่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ได้ง่ายด้วย ช่วยสังคมดี ถ้าคนที่สุขไม่อยู่กับตัว ฝากไว้กับสิ่งภายนอก เที่ยวหาความสุขอย่างนี้ ก็แย่งชิงเบียดเบียนกัน สังคมก็เดือดร้อน มันก็เสียทั้งชีวิตตัวเอง ทั้งผู้อื่น แต่ถ้าเรารักษาความสามารถนี้ไว้ได้ ชีวิตเราก็ดี แล้วก็เราก็สามารถเผื่อแผ่กับเพื่อนมนุษย์ อันนี้ก็เป็นแง่หนึ่งของความหมายของเรื่องความสุข ทั้งนอกตัว ในตัว
ก็ยังมีแง่พูดต่อไปคือว่า คนเรานี้ต้องพัฒนาความสุขด้วย เมื่อกี้นี้พูดถึงเรื่องของความสามารถที่จะมีความสุข ทีนี้ความสุขมันมีหลายขั้น หลายระดับ มันอยู่ที่การพัฒนาความต้องการ คนเรานี้มันมีความต้องการ ทีนี้เวลาเราสุขก็คือ เราได้สนองความต้องการของเรา ขอให้พิจารณาดูเถิด เวลาเราต้องการอะไรแล้ว เราได้สนองความต้องการ เราก็มีความสุข นี่ถ้าความสุขของเราเปลี่ยนไป ขออภัย พูดผิด ถ้าความต้องการของเราเปลี่ยนไป ความสุขก็เปลี่ยนด้วย เราเคยต้องการสิ่งนี้ เราได้ก็มีความสุข ใช่ไหม เกิดต่อมาเราไม่ชอบ เราไม่ต้องการสิ่งนี้ คราวนี้มาทุกข์เลย ใช่ไหม อันเดียวกันนั่นแหละ ทีนี้ความต้องการมันไม่ใช่แค่ต้องการอันนั้นอันนี้เท่านั้น ที่เปลี่ยนแปลงได้นี่ มันเปลี่ยนแปลงแม้กระทั่งประเภทของความต้องการ ระดับความต้องการ มันเปลี่ยนไปหมด ทีนี้ความต้องการของคนเรานี่ ในยุคนี้มันถูกสิ่งล่อเร้าทำกระตุ้นให้เกิดความต้องการ ประเภทสิ่งเสพบริโภควัตถุมาก จนกระทั่งคนนี่บางทีลืมเลย มองไม่เห็นว่ามันมีแดนความสุขด้านอื่น ซึ่งถ้ามนุษย์พัฒนาความต้องการไปถึงอันนั้นแล้ว ก็จะมีความสุขอย่างนั้นอีก เราก็เลยอยู่กับความต้องการสิ่งเสพบริโภคที่เป็นวัตถุ แล้วก็ต้องอาศัยวัตถุ อย่างนี้ซึ่งอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ เป็นความสุขแบบพึ่งพา แล้วก็อยู่ภายนอก ต้องตามหามันเรื่อย
ทีนี้ทำไมเราไม่พัฒนาความต้องการ ที่ท่านเรียกว่าพัฒนาจิตใจ แดนจิตใจนี่ตัวสำคัญอันหนึ่งก็คือ ความต้องการหรือความอยาก พูดง่ายๆ ความอยากมันมีหลายประเภท อันนี้ขอแทรกนิดหนึ่ง คือ คนไทยเรานี่ มักจะจำกันมาไม่ค่อยถูก คือ มองพุทธศาสนาว่า พุทธศาสนานี่สอนไม่ให้อยาก เคยได้ยินไหม พูดอย่างนี้ไม่ถูกหลัก พุทธศาสนานี้ ท่านให้แยกแยะ อย่างนี้ต้องใช้วิธีที่เรียกว่า “วิภัชชวาท” คือ ต้องจำแนก ทางพระนี่ท่านแยกไว้เลยว่า ความอยากมี ๒ ประเภท ความอยากที่เป็นอกุศล ประเภทหนึ่งคือ ไม่ดี และความอยากที่เป็นกุศล ประเภทหนึ่ง และความอยากที่เป็นกุศล เป็นตัวสำคัญที่จะพาให้เราเดินไปในชีวิต แล้วก็เดินไปในการปฏิบัติธรรม ที่จะดีสมาธิ วิปัสสนา ต้องอาศัยธรรมทั้งนั้นแหละ ต้องอาศัยความอยากทั้งนั้นแหละ ขออภัยพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ที่เอาไปเป็นพุทธกิจ โปรดสัตว์ทั้งหลาย ถ้าเราจะใช้ภาษาไทย เราต้องใช้ตัวนี้นะ ทรงมีความปรารถนา แต่เราพูดคำว่า “อยาก” เรารู้สึกว่ามันจะเป็นคำหยาบไป ใช่ไหม แต่ที่จริงก็ตัวเดียวกัน “ปรารถนา” ภาษาบาลี เราก็แปลมาเป็นไทยเสีย ความจริงเมื่อแปลเป็นไทยแท้ๆ ไม่แปลงนะ คือ “ปรารถนา” มันน่ะแปลง ไม่ใช่แปล คือบาลีว่า ปตฺถนา แล้วก็แปลงเป็นไทยเป็น “ปรารถนา” แล้วถ้าแปลเป็นไทยนี่ ไม่ใส่ “ง” นะ แปลเป็นไทย มันเป็นอย่างนั้นเอง เป็นความอยากนั่นเอง
ทีนี้อย่างพระพุทธเจ้ามีความปรารถนาอย่างหนึ่ง คือ ความปรารถนาที่เป็นกุศลจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ท่านเรียกว่า “ฉันทะ” เป็นพุทธลักษณะอย่างหนึ่งเลย พระพุทธเจ้าทุกพระองค์จะต้องมีคุณสมบัตินี้ประการหนึ่งในบรรดาคุณสมบัติ ๑๐ ประการ คือ ต้องมีความอยากที่ไม่ถดถอย คือ ความปรารถนานี้ไม่มีพระพุทธเจ้าเจออะไรไม่เคยท้อเลย ต้องการจะทำประโยชน์ ต้องการจะช่วยคนให้พ้นทุกข์นี่ ประสบอุปสรรคอะไรต่อะไร พระองค์ไม่เคยถอย ฉะนั้น พระพุทธเจ้ามีฉันทะที่ไม่ถดถอย เป็นลักษณะอันหนึ่ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดี เราทุกคนต้องมี ถ้าเรามีอันนี้แล้ว เราจะเจริญงอกงาม และชีวิตก็จะมีความสุขด้วย ก็หมายความว่าเราจะต้องก้าวไปสู่ความอยาก ความต้องการประเภทหนึ่ง คือ ความอยากนี้ก็ ความหมายก็คล้ายๆ ความต้องการนี่แหละ ความต้องการก็ความอยาก ความปรารถนา ซึ่งเราจะต้องพัฒนา
ทีนี้ความต้องการอะไรที่เราพัฒนาได้เรื่อยๆ เราก็มาดู ก็เป็นเรื่องของการพัฒนาจิตใจที่สำคัญ พัฒนาจิตใจก็เจาะเป็นอย่างๆ ตอนนี้เราจะพูดว่าพัฒนาจิตใจในเรื่องความต้องการ แล้วพอพัฒนาความต้องการได้ ก็พัฒนาความสุขได้ด้วย อันนี้ต้องการยังไง มีเยอะไป จะยกตัวอย่าง ความต้องการอันหนึ่งที่มนุษย์จะมีความสุขได้ แต่ถ้าพัฒนาไม่ได้ ก็ไม่มีความสุขจากอันนี้ ในหมู่มนุษย์ปุถุชนนี้ ก็ยังพอเห็นตัวอย่าง ยังไม่ต้องพัฒนาอะไรมากหรอก คือ เอาที่เริ่มที่คุณพ่อ คุณแม่ ก็ญาติโยมที่มานี่ก็เป็นคุณพ่อ คุณแม่เยอะ ทีนี้คุณพ่อ คุณแม่จะมีความต้องการอันหนึ่งเพิ่มขึ้นจากคนทั่วไป คนที่ยังไม่ได้แต่งงาน ยังไม่มีความต้องการอันนี้ หรือความอยากอันนี้ ความอยากหรือความต้องการอันนี้คืออะไร ก็คือ มีลูกแล้ว ต้องการให้เขาเป็นสุข ใช่หรือเปล่า มีลูกแล้วก็อยากให้ลูกเป็นสุข หรือต้องการให้ลูกเป็นสุข ความต้องการให้ลูกเป็นสุข เราพูดให้ไพเราะว่า ความปรารถนาให้เขาเป็นสุข ความปรารถนาให้เขาเป็นสุข อันนี้เราเรียกกันว่า เมตตา ใช่ไหม ถ้าเราต้องการให้คนอื่นมาบำเรอความสุขเรา เราต้องการได้สิ่งนั้นมา ทำให้เราเป็นสุข อันนี้เรียกว่า ราคะ เราอาศัยสิ่งนั้น เราจะได้มีความสุข แต่สำหรับลูกนี่ พ่อแม่จะต้องการให้เขาเป็นสุข พอต้องการให้ลูกเป็นสุข ท่านเรียกว่ามี เมตตา เกิดขึ้น ที่จริงเมตตานั่นก็เป็นความอยากชนิดหนึ่ง เป็นความต้องการอย่างหนึ่ง ทีนี้พอต้องการอย่างนี้ ต้องการให้ลูกเป็นสุข ความต้องการชนิดนี้เกิดขึ้นมา ก็ต้องสนอง พอเห็นลูกเป็นสุข อยากให้ลูกเป็นสุข อยากเห็นลูกเป็นสุข พอลูกเป็นสุข ก็สมปรารถนาได้สนองความต้องการ ก็สุขทันที ใช่ไหม อันนี้เป็นตัวอย่างของการที่ความต้องการและพัฒนาได้
ทีนี้ถ้าเกิดคนนั้นมีจิตใจที่มีความรัก คนอื่นขยายไป รักพี่ รักน้อง รักพ่อ รักแม่ รักเพื่อน รักอะไร ก็แล้วแต่จะขยายไปได้เท่าไร คนที่พัฒนาความต้องการคือ ความรักหรือเมตตา ไปได้ ก็จะเป็นคนที่มีโอกาสได้สุขมากขึ้น เป็นความสุขที่อยู่ในสังคมมนุษย์ ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องเสพวัตถุ คนที่ยังไม่มีอะไรเลย ก็จะมุ่งความสุขจากการเสพวัตถุ ทีนี้พอเรามีความสุขจากการได้สนองความต้องการให้คนอื่นเป็นสุข เช่น พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นสุข แล้วทำให้ลูกเป็นสุขได้ มันก็มีความสุขขึ้นมาอีกประเภทหนึ่ง แต่ทีนี้ทำไมเราจะไปสงวนจำกัดไว้แค่นั้นล่ะ ใช่ไหม ถ้าเรามีไอ้ตัวเมตตาหรือความรักนี้กว้างออกไป เราก็มีความสุขเพิ่มขึ้น ตามอัตราส่วนที่เราขยายมันออกไป ทีนี้พออยากให้เขาเป็นสุข ก็อยากเห็นเขาเป็นสุข เขายังไม่เป็นสุข ก็อยากทำให้เขาเป็นสุข ทีนี้ก็ทำสิ เพราะทำนี้ การทำนี้เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ใช่ไหม มันเป็นเรื่องที่ดี ไม่เหมือนอย่างสนองความต้องการแบบหาวัตถุ อันนี้จะเป็นไปในทางเบียดเบียนกันได้ เพราะแย่งชิง แต่พอต้องการให้คนอื่นเป็นสุข อย่างอยากให้ลูกเป็นสุข ทำเพื่อให้ลูกเป็นสุข มันเป็นการช่วยเหลือ ทีนี้ถ้ารักเพื่อนมนุษย์ รักไทย รักเด็ก รักอะไร แต่ก่อนเราก็เน้นกันผู้ใหญ่ต้องรักเด็ก ก็อยากเห็นเด็กเป็นสุข เราก็ทำโน่นทำนี่ให้เขาเป็นสุขได้ เราก็เป็นสุขไปด้วย นี่ก็เป็นการขยาย วิถีทางหนึ่งที่จะทำให้คนอื่นเป็นสุข ก็คือ การให้ เราก็เริ่มที่วัตถุก่อนอีกแหละ คนเขาขาดแคลนไม่มี ลูกของเรายังไม่มีสิ่งโน้นสิ่งนี้ เราก็มาพยายามทำให้เขาเป็นสุข ด้วยการให้ เป็นต้น
ดังนั้น พระพุทธศาสนาก็จึงเอาจุดนี้ มาเป็นจุดพัฒนาคน คือ หลักปฏิบัติของพุทธศาสนาที่จะเริ่มด้วยทาน ใช่ไหม ทานนี้ตามปกติมันขัดแย้งกับจิตใจคน คนเรามันอยากได้ เราอยากจะได้นี่ มันก็ต้องสนองความต้องการ ด้วยการที่ได้มาสิ เราจึงจะสุข พอให้มันก็เสียไปสิ เสียไปมันก็ฝืนความปรารถนา มันก็ทุกข์ ใช่ไหม ทีนี้ท่านก็ให้ฝึกให้ ก็เป็นการที่ว่ามันจะต้องไปโยงกับตัวเมตตากรุณาๆ ที่อยากให้คนไปเป็นสุข ถ้าเมื่อใดท่านมีไอ้ตัวเมตตากรุณาขึ้นมาได้ว่าอยากให้เขาเป็นสุข การให้มันก็เปลี่ยนเป็นสุขได้เลย ดังนั้น จากการที่เราให้แก่ลูก เราก็มีความสุขจากการให้แก่ลูกได้ พ่อแม่ไม่เป็นการเสียสละด้วยซ้ำ เพราะว่าเต็มใจ ลูกเรามีของมา เราไม่ต้องมาถือสิทธิ์แบ่ง เท่ากันสิ พ่อแม่ก็ให้แก่ลูกได้เลย ใช่ไหม ลูกเอาหมดเลย พ่อแม่อดก็ยังยอมเลย ทีนี้ถ้าเอาหลักสิทธิมนุษยชนมาใช้ ก็ต้องแบ่งกันสิ ต้องมาเถียงกับลูกว่า เธอครึ่งหนึ่ง ฉันครึ่งหนึ่ง ทีนี้พ่อแม่ไม่เถียง ไม่เรียกร้องสิทธิมนุษยชนจากลูก ก็เต็มใจให้ลูก แล้วก็ พ่อแม่ก็ให้ลูก ก็มีความสุขได้ด้วย
การพัฒนามนุษย์พระพุทธเจ้าก็เลยเอาทานมาเริ่มต้น ว่ามนุษย์นี้ต้องอยู่อาศัย อาศัยสิ่งเสพวัตถุ อะไรต่างๆ ถ้าไม่มีก็แย่ มนุษย์เราแต่ละคนนี่มุ่งปรารถนาจะเอาเพื่อตน ต้องการอย่างนี้จึงจะมีความสุข ให้เขาเป็นทุกข์ ก็มีฝึกที่นี่เสีย โลกมันจะได้อยู่ร่มเย็น แต่ให้ต้องมีการพัฒนาคุณธรรมไปด้วย พอมีเมตตากรุณา อยากให้เขาเป็นสุขนะ เห็นใครเป็นทุกข์ เราก็ต้องพัฒนากันตั้งแต่เด็กๆ คือ อันนี้ถ้าไปพัฒนาเมื่อโตยาก เพราะฉะนั้น ในสังคมไทยชาวพุทธเราก็พัฒนาตั้งแต่เด็กๆ หนูเห็นสัตว์เลี้ยง เห็นอะไร เห็นคนยาก คนจนมาก็หัดให้เขาสงสาร เห็นใจ อยากจะเผื่อแผ่ เสียสละ ช่วยเขาเป็นสุข ก็ฝึกตั้งแต่เด็กๆ เด็กก็มีน้ำใจ ใช่ไหม เราก็เรียกว่ามีน้ำใจนั่นเอง คือมีความต้องการให้คนอื่นได้เป็นสุข ทีนี้พอเรามีความต้องการนี้ เราได้ทำ ได้ให้เขา แล้วเห็นเขายิ้มแย้มแจ่มใจ มีความสุข เราก็ปลื้มใจ เหมือนอย่างญาติโยมที่มีน้ำใจเมตตากรุณานี้ ไปที่เด็กพิการ อย่างนี้เป็นต้น ก็มีน้ำใจแล้ว เมตตากรุณาสงสาร พอเอาอาหารไปเลี้ยงเขา เด็กมันก็ร่าเริงแจ่มใส ใช่ไหม พอเห็นเด็กร่าเริงแจ่มใสเป็นสุข นี่คือเราอยากให้เห็นเขาเป็นสุข อยากให้เขาเป็นสุข อยากเห็นเขาเป็นสุข ก็อยากทำให้เขาเป็นสุข พอเขาเป็นสุขสมใจ เราก็สุขด้วย อันนี้ก็จะเป็นสุขร่วมกันทั้งสองฝ่าย ไม่เป็นสุขแบบแย่งกัน ถ้าเป็นความสุขแบบเอาต้องได้ สนองความต้องการที่จะเสพเพื่อตนเอง เป็นความสุขแบบแย่งชิง ถ้าเราสุข เขาทุกข์ แต่พอเรามีตัวเมตตากรุณา เราก็จะเกิดมีทานเป็นต้นขึ้นมา ตลอดจนการช่วยเหลืออื่นๆ การช่วยเหลือด้วยกำลังร่างกาย ก็มาหมดแหละ ไม่เฉพาะทานหรอก แต่ทานนี้เป็นตัวเริ่มต้น มันเป็นของเห็นง่าย เป็นวัตถุ พอทำให้เขาเป็นสุข อย่างที่ว่าเห็นเขาหน้าตายิ้มแย้ม เบิกบาน ผ่องใส เด็กร่าเริง ยิ้มหัวเราะ อะไรต่างๆ คนญาติโยมที่ไปเลี้ยงเด็ก ก็มีความสุขไปด้วย อันนี้ก็คือ สภาพจิตที่ดี มันเป็นคุณธรรมที่ช่วยให้โลกอยู่ร่มเย็น ความสุขนี่ก็พัฒนาขึ้นมา อันนี้อาตมาก็ยกตัวอย่างอันหนึ่ง ที่ให้เห็นว่าเราสามารถจะมีความสุขพัฒนา ก็ด้วยการพัฒนาความต้องการ
ก็ยังไม่ใช่เท่านี้ล่ะ อันนี้อาตมายกตัวอย่าง
ความสุขมันยังมีได้อื่นอีก เช่น อย่างสมัยที่เราไม่ต้องมีวัตถุเสพมากนัก คนจะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติมาก แล้วคนเราก็สามารถมีความสุขกับธรรมชาติได้ ใช่ไหม ซึ่งคนสมัยนี้หลายคนเลยแปลกแยกออกไป ห่างเหินออกไปจนกระทั่งว่า ไม่รู้จักมัน แล้วนานๆ นั่นแหละ ความขาดแคลนนี่ก็เรียกร้องขึ้นมา แล้วความสุขจากธรรมชาตินั้น ไม่ต้องจ่ายสตางค์ แต่เดี๋ยวนี้ต้องจ่ายแล้วนะ เดี๋ยวนี้ธรรมชาติมันหายาก บางทีต้องไปอยู่ไกลๆ ต้องเสียเงินขับรถ ก็ไปไกลกว่าจะได้เจอธรรมชาติ คนสมัยนี้ก็ขาดแคลนความสุขด้านนี้ สมัยก่อนนี้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ได้เห็นท้องฟ้า ได้สัมผัสสายลม ได้ดูคลื่นในทะเล อะไรต่างๆ เหล่านี้ มันก็มีความสุข ความสุขอย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ คนเรานี่ก็อย่างน้อยก็ต้องมีสลับให้ได้ดุลยภาพบ้าง สุขจากการเสพวัตถุ ดิ้นรนวุ่นวาย ก็ชีวิตก็ไปแบบหนึ่ง ทีนี้บางครั้งเราก็ต้องการความสงบ ความวิเวก ความสงัดบ้าง หรืออย่างน้อยให้มันมีบ้างก็ยังดี อย่าให้ดิ่งไปด้านเดียว
นี่อาตมาก็ยกตัวอย่างมา ๒-๓ อย่าง ทีนี้ต่อไปก็จะลึกเข้าไป ทีนี้ก็จะไปถึงเรื่องของด้านภายในจิตใจตัวเองแล้ว ความสุขแม้แต่ที่เกิดจากการมีเมตตากรุณา เห็นคนอื่นเป็นสุข เราก็สุขด้วย บางทีมันก็ทำให้เกิดความผูกพัน มันก็มีทั้งคุณและโทษ นี่ถ้ารักษาตัวไม่ดี ก็เกิดความอ้างว้าง ว้าเหว่ บางคนก็กลายเป็นว่า อยู่คนเดียวลำพังไม่ได้แล้ว ว้าเหว่ จิตใจไม่สบาย เอาอีกแล้ว ก็แสดงว่าเสียดุลอีกแล้ว ก็ต้องมีความสามารถอีก ในการที่ว่าเมื่ออยู่ร่วมกันก็มีความสุขดี มีความปรารถนาดีช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แม้อยู่ลำพังก็มีความสุขได้ อันนี้ก็ต้องทำข้างในแล้ว ความสุขอย่างเมื่อกี้นี้ อย่างถ้าเกิดไปสร้างความผูกพัน ถ้าเกิดเมตตามันแปลงเป็นเสน่หา อย่างบอกอย่างนั้นนะ คือ เมตตานั้นเป็นตัวคุณธรรมบริสุทธิ์ คือ ความปรารถนาจะให้คนอื่นเป็นสุข แต่เสร็จแล้วมันอาจจะเกิดความผูกพันขึ้นมา ก็เป็นเสน่หา ตอนนี้มันจะทุกข์มาได้ ถ้าต้องให้รักษาอิสรภาพไว้อีก แม้แต่ความสุขในเชิงสังคม เมื่อกี้เราพูดถึงความสุขเชิงวัตถุก่อน แล้วเราขยับมาความสุขเชิงสังคม เราให้มีอันนี้ด้วย อย่างน้อยก็ให้มีดุลยภาพ แล้วเสร็จแล้วมันก็มีโทษได้อีก ถ้าเราวางจิตไม่ถูกต้อง เราก็เกิดความอ้างว้างว้าเหว่อย่างที่ว่า หงอยเหงาได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องให้อยู่ได้ด้วยตนเองหมด ไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์ไหน แม้แต่อยู่ลำพังไม่มีอะไร ฉันไม่มีวัตถุ ไม่มีใครอยู่ ฉันก็สุขได้ ก็ต้องพัฒนาด้านจิตใจไป
ตอนนี้ก็จะมีการฝึก เช่น เรื่องสมาธิ ทำสมาธิ ทำจิตใจให้สงบได้ จิตใจเป็นตัวของตัวเอง นั่นก็เป็นไปอีกขั้นหนึ่ง แต่ความสุขในสมาธิก็ยังมีโทษได้อีก พอสุขแล้วมันเพลิน จิตใจมันสงบ อันนี้ก็จะติดสุขในสมาธิได้อีก แต่ดีเยอะแล้วนะได้สุขจากสมาธิหมายความว่ามีความสามารถในการสร้างความสุข ให้กับตัวเอง คือ เมื่อก่อนนี้ไม่มีความสามารถในตัวเอง ต้องไปหาสิ่งภายนอกไปพึ่งมัน ตอนนี้อยู่ลำพังก็สร้างความสุขได้ โดยการพัฒนาจิตใจ ทำสมาธิ จิตใจเป็นความสุข เกิดมีความทุกข์ มีปัญหาเดือดร้อน กระทบกระทั่งภายนอก แม้แต่ปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็ยังมีเวลาให้จิตได้พัก ไม่ต้องไปอาศัยยานอนหลับ ทีนี้สมัยนี้พอมีความสุขทางวัตถุ มันก็มีความทุกข์มา ทางวัตถุนี้มันต้องปัญหาแหละ มันมีโทษหลายอย่าง คราวนี้ความกระวนกระวายเป็นต้น ก็ตามมา ทีนี้ถ้าหากว่าเราไม่พัฒนาความสามารถภายในที่จะทำให้มีความสุข เราก็ไปพึ่งพวกยา ไปพึ่งยาระงับประสาท ยานอนหลับ เป็นต้น ทีนี้ถ้าหากว่าเราทำได้ เราก็สร้างความสุขในใจตัวเองสิ เราก็อยู่ลำพัง เรามีปัญหา มีความทุกข์ แม้แต่เรื่องกระทบกระทั่ง มีเวลาปลีกตัวไปนั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบได้ แต่ทีนี้ว่านี่ดี แต่ว่าเราต้องว่าไปทุกอย่างมีแง่ดีแง่เสีย ทีนี้ก็ติดสุขเพลิน
ทีนี้เวลาได้ทำสมาธิแล้ว ไม่อยากไปทำอะไร ไม่อยากไปไหนแล้วนะ อันนี้ก็จะทำให้ประมาท ไอ้ปัญหาภายนอกมันยังอยู่นี่ ไม่ได้หายไปไหน ตัวเองไปหลบ มานั่งสมาธิเสียนี่ เสร็จแล้วปัญหาไม่แก้ อย่างนี้ยังใช้ไม่ได้ ท่านเรียกว่าประมาท ก็ติดสุข แล้วก็ทำให้เฉื่อยชา ทางธรรมะท่านสอนไว้เลยนะ ท่านบอกว่า สมาธิมันเป็นพวกเดียวกับโกสัชชะ โกสัชชะเป็นภาษาบาลีแปลว่า ความขี้เกียจ ความเกียจคร้าน คือ คนที่ได้สมาธินี่ มันจะเพลินสบาย จิตมันชักจะนิ่งสงบ มันก็ชักจะเฉื่อยชา ก็จะทำให้เกียจคร้านได้ง่าย ฉะนั้น ก็ต้องไม่ให้ประมาทไว้ ก็ต้องก้าวไปอีก ก้าวไปยังไง ก้าวไปสู่ขั้นปัญญา คนเราที่จะสุขที่เป็นอิสระแล้วไม่ตกเป็นทาสของความประมาท ไม่ตกหลุมความประมาท ก็ต้องไปถึงขั้นปัญญา
ปัญญาก็คือ ความเข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง เข้าใจชีวิต เข้าใจโลก อย่างที่ท่านบอกว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง มันต้องเปลี่ยนแปลงไป มันขึ้นกับเหตุปัจจัย ถ้าเราเจอปัญหา เราพบอุปสรรค เราก็อย่ามัวมาเอาตามชอบใจ ไม่ชอบใจเรา โดยมากเราอยู่กับจิตใจ ทางพระท่านบอกอยู่กับจิตใจไม่พอนะ แม้แต่ทำสมาธิก็ช่วยได้เพียงชั่วคราว สมาธินี่เป็นสุขประเภทชั่วคราว ท่านเรียกว่า ทำให้จิตหลุดพ้นไปจากปัญหาได้ชั่วระยะหนึ่ง เรียกว่า 35.48 สมายะวิมุติ อันนี้มันไม่เด็ดขาด ไม่ถาวร คล้ายๆ กลบหรือทับไว้ หญ้ามันงอกขึ้นมาก็เอาหินไปทับมันไว้ แล้วมันก็เงียบไป เอายกหินออกไป มันก็งอกขึ้นมาอีก แล้วก็สมาธินั้นเป็นระบบ นอกจากกดทับไว้ก็คือระบบทดแทน ก็หมายความว่า จิตของเรานี้ มีเรื่อง มีปัญหา มีความฟุ้งซ่าน มีความทุกข์อยู่ เราเอาอารมณ่ฝ่ายดี เข้ามาแทนที่ ทีนี้คนที่ฝึกสมาธิดีก็คือว่า เอาสิ่งที่ดีนั้น เข้ามาอยู่ได้โดยที่ว่า ฝ่ายร้ายไม่สามารถมากวน มาแย่งที่ จิตของเรานี่ มันอยู่ได้ทีละสิ่งเดียว เชื่อไหม ที่นี้เราเอาฝ่ายดีเข้า คนที่มีสมาธิก็เอาตัวดีเข้ามาอยู่ประจำเลย ไอ้เจ้าร้ายเข้ามาไม่ได้ ก็สุขตลอดเวลานั้น มากวนไม่ได้ ทีนี้ถ้ามันร้ายมันอยู่ มันมีปัญหา เราก็เอาฝ่ายดีเข้ามาอยู่ ใช่ไหม ก็เป็นระบบทดแทน เอาปัญหาไล่ออกไปซะ เอาอารมณ์ที่ดีเข้ามาอยู่ กำหนดอะไรก็อยู่อย่างนั้น ก็ฝึกสมาธิใจก็แน่วแน่อย่างนี้ ก็อย่างวิธีนี้ก็อย่างที่ว่าแหละ มันเป็นวิธีกลบบ้าง วิธีทับ วิธีทดแทน มันไม่ถาวรเด็ดขาด
ดังนั้น ก็ต้องให้ใช้ปัญญา แล้วในที่สุด พุทธศาสนาก็ต้องถึงขั้นปัญญา อย่างพระพุทธเจ้าคือ ตรัสรู้ ก็บอกว่าปัญญารู้ ก็คือ ปัญญา โพธิญาน โพธิ ก็คือ ปัญญา ความตรัสรู้ เป็นพุทธะ ก็คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน มองเห็นอะไรเข้าใจตามเป็นจริงหมด มีปัญหามาก็ไม่ใช่ว่า เออเราตามชอบใจ ไม่ชอบใจ คนเรานี่ถ้าอยู่กับจิตใจ มันก็จะมีเรื่องชอบใจ ไม่ชอบใจ ได้สิ่งชอยใจก็เป็นสุข เจอสิ่งไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ สิ่งชอบใจหายไปทุกข์อีกแหละ คือพลัดพรากจากสิ่งชอบใจ เจอสิ่งไม่ชอบใจทุกข์อีก ก็มีทุกข์ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าสิ่งที่ชอบใจ ก็ไม่ได้ หรือได้ก็พรากไปเสีย ไปเจอสิ่งที่ไม่ชอบใจ หรือปรารถนาแล้วไม่สมหวัง ไม่ได้อย่างใจ มันทุกข์หมด
คราวนี้ถ้าปัญญามานี่ มันก็ไม่ติดอยู่แค่ชอบใจ ไม่ชอบใจ อย่างน้อยมันก็เริ่มมองตามเหตุปัจจัย คนที่มีปัญญามันจะพลิก ให้สังเกตจุดสำคัญคือว่า คนเรานี่ขั้นต้นๆ อยู่กับความชอบใจ ไม่ชอบใจ เที่ยวแสวงหาสิ่งชอบใจ หนีสิ่งไม่ชอบใจอยู่นี่ ทีนี้พอเราเริ่มใช้ปัญญา เราจะเริ่มมองอะไรด้วยสายตาใหม่ คือท่านบอกว่าให้มองตามเหตุปัจจัย พอมองตามเหตุปัจจัยแล้ว ทีนี้จะชอบใจ ไม่ชอบใจไม่เกี่ยว มองว่ามันเกิดจากอะไร มันเป็นยังไงๆ
อาตมายกตัวอย่างบ่อยๆ เช่นว่าเพื่อนกัน คบกันมาสนุกสนานกันทุกวัน มาวันหนึ่งเจอกันไปโรงเรียน เอ้า วันนี้หน้าตาบึ้ง พูดไม่พูดด้วย อะไรอย่างนี้ เราก็ขัดใจ ใช่ไหม คนเราเอาที่ชอบใจ เราก็อยากให้เขาพูดดีกับเรา เราไปทักทายเขา ก็เคยพูดกันทุกวัน วันนี้ไม่ยอมพูดด้วย หรือพูดไม่ดี พูดไม่เพราะ เราก็ไม่ชอบใจ เราก็โกรธสิ ใช่ไหม จิตใจของเราก็หงุดหงิด ไม่สบายแล้ว เริ่มเกิดปัญหากับตัวเอง ก็เปลี่ยนซะ ให้มองตามเหตุปัจจัย พอมองตามเหตุปัจจัยมันใช้ปัญญา ก็ไม่มองแค่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ความชอบใจ ไม่ชอบใจ ไม่เกี่ยว ก็มองเอ๊ะเขาเป็นอะไร เขาหน้าตาไม่ดี เขาไม่พูดเพราะอะไรนะ เขาอาจจะมีปัญหา เขาอาจจะเดินทางมาตั้งแต่ออกจากบ้าน อาจจะมีอารมณ์ค้าง อาจจะถูกคุณพ่อ คุณแม่ดุ หรือวันนี้ไม่มีสตางค์ใช้ หรือเจ็บป่วยไม่สบาย เราแทนที่จะมาไม่ชอบใจ ขัดใจ โกรธเขาทำไมเล่า ถามเขาสิ พอเกิดความรู้สึกมองตามเหตุปัจจัย นึกว่าเขาอาจจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เริ่มเกิดคุณธรรมคือ ความกรุณาสงสาร จิตใจมันเปลี่ยน มันไม่มีความหงุดหงิด ตัวตนไม่เกิด เขาเรียกว่า ตัวตนไม่เกิด คือคนเรานี่พอมองชอบใจ ไม่ชอบใจ มีตัวตนทีเดียว มันจะมีตัวเรา ตัวเขา ตัวที่ถูกกระทบและตัวที่ถูกขัด แต่พอมองตามเหตุปัจจัย ตัวตนไม่มลายหายเลย มันไม่เกิดมาเลย มันมีแต่การมองสิ่งต่างๆ ที่เป็นไปเกิดขึ้นอยู่นี่ ที่วิปัสสนามาคืออย่างนี้ คือมันมองไปตามสิ่งที่เกิดขึ้น มันก็จะสืบค้น มันก็จะมองหาเหตุผล จิตใจมันก็เริ่มคล้อยไปตามความที่คิดคาด ว่าอาจจะเป็นด้วยเขาไม่สบายใจนะ เราต้องไปช่วยเหลือเขา ตอนนี้เขาอาจจะยังต้องการความสงบ อย่าเพิ่งไปกวนเขาเลย เดี๋ยวเขาดีขึ้นหน่อย เดี๋ยวเราหาโอกาสเข้ามาทัก ไถ่ถามว่ามันเป็นเพราะอะไร เราจะได้ช่วยเขาได้ เราก็ไม่มีปัญหาด้วย แล้วก็เราก็อาจจะมีโอกาสไปช่วยแก้ปัญหาให้เขาด้วย นี่เรียกว่า มองตามเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น อยู่ในบ้าน อยู่ในอะไร สถานการณ์ในที่ทำงาน เราก็เริ่มเปลี่ยนท่าที เปลี่ยนท่าทีจากการมองตามชอบใจ ไม่ชอบใจ มาเป็นมองตามเหตุปัจจัย แล้วอะไรต่ออะไรก็จะดีขึ้น
ทีนี้ต่อไปก็ก้าวไปอีก ก้าวไปอีกก็คือว่า มนุษย์เราอยู่ในโลก เราก็รู้ตามเป็นจริง พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ต้องเรียนรู้ ถ้าไม่ศึกษาแล้วจะเอาดีไม่ได้ คนเรานี่ไม่เหมือนสัตว์ชนิดอื่น มันอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ มันเกิดมาแล้ว มันก็เรียนรู้ตามพ่อแม่มัน ประเดี๋ยวเดียวหากินได้ ก็อยู่อย่างนั้นไปตลอดชีวิต แต่มนุษย์เรานี่ ต้องเรียนรู้ทุกอย่าง จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ขับถ่าย อะไรไม่รู้ ต้องเรียน ต้องหัดหมดเลย อยู่กับพ่อแม่ตั้งเป็น ๑๐ ปีกว่าจะเลี้ยงตัวได้ ๑๐ ปียังเลี้ยงตัวไม่ได้เลย เอาตัวไม่รอด คนเรานี่ ฉะนั้น ต้องฝึกกัน เรียนกันตลอดเลย ในเมื่อเราต้องเรียน มนุษย์จะเอาดีได้ ก็ด้วยการเรียนรู้ฝึกหัดตนเอง ทีนี้พอเรียนรู้ฝึกหัดตัวเอง ตอนนี้จะก้าวหน้าไปไม่หยุด ไปเป็นพระพุทธเจ้าก็ได้ ถ้าไม่หยุด ฝึกหัด ศึกษา พัฒนาตัวเองไม่หยุด ก็เดินหน้าไปเป็นพระพุทธเจ้า ก็สร้างจิตสำนึกขึ้นมา เป็นมนุษย์นี่อยู่ดีด้วยการฝึกฝนพัฒนาตน พระพุทธเจ้าก็ตรัสให้หลักเราไว้แล้วบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก ต้องย้ำกันบ่อยๆ เพราะคนไทยเราจำไม่ค่อยรอบครอบ คือ คนไทยเรามักจะจำแค่ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ทางพระท่านไม่ได้ยอมรับ ประเสริฐที่ไหนเล่า มนุษย์เกิดมาแล้ว ลองให้อยู่เฉยๆ ไม่ฝึก ไม่หัด ตายอย่างเดียว เอาตัวไม่รอด ฉะนั้น ที่ดีได้เพราะฝึก เพราะหัด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ในหมู่มนุษย์ผู้ที่ฝึกแล้วประเสริฐ ก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐด้วยการฝึก แล้วก็เติมวงเล็บว่า ถ้าไม่ฝึกหาประเสริฐไม่ จำไว้เลยเป็นหลักนี่ นี่ถ้าไม่ฝึกแล้ว ไม่ประเสริฐ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก ถ้าฝึกไปแล้วจะเป็นได้กระทั่งพระพุทธเจ้าเลย เราจึงได้ตั้งพระพุทธเจ้าไปเป็นต้นแบบ ที่เป็นสรณะนี่ ก็เพราะเตือนใจเราว่า เราจะมีชีวิตดีประเสริฐได้ก็เพราะฝึกฝน ศึกษาพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ไปอย่างพระพุทธเจ้า ทีนี้ชีวิตของเราก็ต้องเป็นชีวิตที่ศึกษา พัฒนาตัวเอง ชีวิตของเรานี้เป็นการศึกษา ถ้าเราไม่ศึกษา เราอยู่ไม่ได้หรอก ทำไมเราจึงว่าชีวิตเป็นการศึกษา ทางพุทธศาสนาเน้นชีวิตเป็นการศึกษา ท่านจึงถือหลักไตรสิกขา แล้วพระนี่บวชมาก็เพื่อไตรสิกขา จนกระทั่งมรณภาพก็เรียนไม่จบ ถ้าไม่ได้เป็นพระอรหันต์นะ ก็ต้องศึกษาเรื่อยไป ท่านบอกว่าแม้จะมีพรรษา ๗๐-๘๐ พรรษา ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็ต้องศึกษาตลอด
ทีนี้ชีวิตของเราเป็นการศึกษายังไงล่ะ เรามีชีวิตอยู่เป็นอยู่ เราเจอโน่นเจอนี่ เจอสถานการณ์ใหม่ๆ ไปที่เราไม่รู้จัก เราก็ต้องหาทางปฏิบัติต่อสถานการณ์นั้น เราต้องรู้จักประสบการณ์นั้น สิ่งที่พบที่เห็น เราจะแก้ไขยังไง เราจะอยู่ได้ยังไงไปได้นี่ เราต้องคิดหาทางตลอดเวลา อันนี้คือการศึกษา ความจริงเราศึกษาอยู่เรื่อยแหละ ถ้าเราไม่ศึกษา เราก็โง่ ตีบตันอยู่แค่นี้ไปไหนไม่ได้ เป็นชีวิตที่ดีไม่ได้เลย ถ้าไม่มีการศึกษา ฉะนั้น ชีวิต (ที่ดี) คือการศึกษา เพราะว่าชีวิตมันจะอยู่ได้ มันต้องคิดหาทางปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ที่เจอให้ได้ ให้ถูกต้อง ให้ได้ผลดี ก็คือ การศึกษาตลอดเวลา ถ้าคนเอาประโยชน์จากอันนี้ก็จะฝึกตัว มองทุกอย่างเป็นการศึกษาหมด เป็นโอกาสฝึกตัวเอง พอเราได้อันนี้นะ มันได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นในแง่ความสุขด้วย คือเจออะไรมองเป็นสถานการณ์ที่จะได้ฝึกตัวเองหมดเลย พอเจอว่นี่เราไม่รู้จักมัน ไม่เคยเจอ เราก็ทุกข์แล้ว แต่พอเรามีไอ้ตัวนี้มาเตือนบอกว่า เอ้าพระพุทธเจ้าสอนไว้นะ ชีวิตเราคือศึกษา เราได้เรียนรู้ เจออะไรใหม่ๆ เราก็ฝึกตัวเอง เรียนรู้เอา เราก็มีท่าทีดีขึ้น เราก็หายทุกข์แล้ว ก็มองว่าเราจะได้ เพราะฉะนั้น ต่อไปคนอย่างนี้จะฝึกตัวเองตลอดเวลา ต่อไปเจออะไรยาก ไม่กลัว คนเรานี่พอเจออะไร บางคนนี่พอเจอต้องทำนี่ทุกข์เลย ทีนี้พอคนที่มีจิตแบบนี้ จะเรียกว่าจิตสำนึกในการศึกษาหรือฝึกตนก็ได้ พอเจออะไรแล้วมันจะรู้สึกว่ามันได้ฝึก แล้วมันจะรู้สึกก็จะได้ พอรู้สึกว่าจะได้ เป็นได้ทางชีวิตได้ที่แท้จริง เป็นสาระแก่นสาร ก็จะมีความดีใจ สุขภาพจิตก็ดี คนเรานี้ถ้าเจออะไรง่าย มันได้ฝึกตัวเองน้อย อะไรที่ง่ายๆ นี่ มันแทบไม่ต้องคิด ใช่ไหม มันทำได้เลย มันก็ไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ฝึก อะไรที่มันยาก มันก็ได้ฝึกตัวเองมาก มันก็เป็นหลักความจริงที่เอาไว้สอนตัวเอง บอกว่ายิ่งยากยิ่งได้มาก ตอนนั้นเด็กที่ได้ฝึกไว้แบบนี้ ต่อไปจะเก่ง จะแข็งแรงและสุขภาพจิตดี แกไม่ทุกข์ เด็กแบบนี้ไปเจออะไรยาก ก็โอ้! จะได้ฝึกตัวเองมาก ใช่ไหม ดีใจ ไปเจอทุกข์ เพราะฉะนั้นในทางพุทธศาสนา ท่านจึงไม่กลัวทุกข์ ทุกข์นี้แหละ ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ ถ้าใครไม่เจอทุกข์ จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ยังไง ก็ต้องฝึก ต้องอะไรๆ สู้ เจอปัญหา เจอทุกข์ ได้เรียนรู้ ได้ฝึกตัวเองหมด โดยเฉพาะปัญหา เป็นที่ลับปัญญาเลย ใครเอาชนะปัญหาได้คนนั้นก็เกิดปัญญา จริงไหม ปัญหามันคู่กับปัญญา ตัวนี้เป็นเคล็ดอยู่ในตัวเลย ปัญญากับปัญหานี่ เปลี่ยนตัวอักษรตัวเดียว เพราะฉะนั้น ทุกคนมีหน้าต้องเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา ฉะนั้น เจอปัญหาปั๊บ ถ้าใครไม่ยอมย่อท้อ ก็จะสู้ แล้วหาทางแก้ปัญหา พอคิดจบปัญญามาปั๊บ ปัญหาหายไปนี่เดินหน้าไปเยอะเลย ต่อไปชีวิตนี่ยิ่งเจริญงอกงาม ถ้าเราดูศึกษาชีวิตมหาบุรุษทั้งหลายมาจากการสู้ปัญหาแก้ปัญหาทั้งนั้น
อย่างพระพุทธเจ้าการบำเพ็ญบารมีคืออะไร ก็คือการที่เจอปัญหา เจออุปสรรคต่างๆ ไม่เคยย่อท้อ แล้วฝึกตัวเองไป ยิ่งยาก ยิ่งดี ฉะนั้น ก็เลยแทนที่จะเจอปัญหา เจอเรื่องลำบาก แล้วเป็นทุกข์ ไม่ทุกข์หรอก มีความสุขตลอดกาลเลย ฉะนั้น ได้ทุกอย่างถ้าฝึกตัวเองปฏิบัติตามธรรมะ มันมีแต่เจริญงอกงาม และในที่สุดก็เป็นชีวิตที่ประเสริฐ มีความสุขอยู่เต็มอิ่มในตัวเอง ในที่สุดฝึกไปฝึกมาได้ครบแล้ว ก็มาอยู่แค่จิตใจ เมื่อกี้อาตมาบอกว่าไปถึงปัญญา พอปัญญารู้เข้าใจชีวิตโลกมองตามความเป็นจริง มองตามเหตุปัจจัย อะไรเกิดขึ้น ก็ไม่อาแค่ตามชอบใจ ไม่ชอบใจ ไม่แค่ความอยาก ความต้องการ แล้วตอนนี้มันพัฒนาไปถึงปัญญาแล้ว พิจารณาว่าสิ่งนี้มันจะสำเร็จ ไม่สำเร็จมันอยู่ที่เหตุปัจจัยของมัน ถ้าเราจะทำให้มันสำเร็จ เราต้องทำให้ตรงเหตุปัจจัย เราต้องศึกษาเหตุปัจจัยของมัน แล้วไปทำเหตุปัจจัยนั้น ทีนี้ถ้าหากว่า ทำไปแล้ว เราก็ว่าเราทำเต็มเหตุปัจจัยแล้วไม่สำเร็จ ก็อย่าไปท้อมัน มันแน่นอนมันต้องมีเหตุปัจจัยที่ขัดขวางแทรกแซงเข้ามา ใช่ไหม มีตัวแปรตัวอะไร เราก็ศึกษาอีก ปัญญาเราก็แหลมคมยิ่งขึ้น พัฒนาตลอดเวลา เราก็ไปดูว่าตัวไหนยังขาดไปในเหตุปัจจัยนั้น แล้วไปแก้ ไปเสริม ทำครั้งหน้าจะดียิ่งขึ้น ไม่ประมาทในการศึกษา ก็แก้ปัญหาไปด้วย เจริญก้าวหน้าไปด้วย ใจก็ไม่ทุกข์ไปด้วย ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น ใช้ปัญญาต่อไปๆ มันเคย มันอยู่ด้วยปัญญา มันไม่อยู่ด้วยตัณหา คนเรานี่มันมีสองแบบ สุดขั้วก็คืออยู่ด้วยตัณหา กับอยู่ด้วยปัญญา
อยู่ด้วยตัณหาก็คือ อยู่ด้วยความอยากในสิ่งที่ชอบใจ และก๋หนีสิ่งที่ไม่ชอบใจ อยู่กับชอบใจ ไม่ชอบใจ และความอยากประเภทที่ว่าเมื่อกี้นี้ พวกนี้ตัณหา พอเจออะไรก็ไม่ได้อย่างใจ ก็ทุกข์ ทีนี้สิ่งทั้งหลายนี่ มันเป็นไปตามอยากของเราไหม ไม่เป็นใช่ไหม ทีนี้ถ้าท่านเอาความอยากของใจไปกำกับมัน อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ มันก็ต้องเจอกับการขัดแย้งตลอดเวลา ใช่ไหม เพราะสิ่งทั้งหลายมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันไม่เป็นไปตามชอบใจ จริงไม่จริง เราจำไว้เลยว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน มันไม่ได้เป็นไปตามใจอยากของเรา ถ้าเราเอาใจอยากของเรา ไปยึดมันเข้าไว้ ท่านเรียกว่า ตัณหาอุปาทานเกิด มันก็เกิดการกระทบกระทั่ง ใจอยากของเรานี่ เคยเทียบว่าให้เหมือนเป็นกระแสหนึ่ง กระแสของความอยากของใจ เราชอบใจอยากให้เป็นอย่างนี้ มันก็เป็นกระแสหนึ่ง ทีนี้สิ่งทั้งหลายที่เราอยากให้มันเป็นกระแสใจอยากของเราให้ไปทางนี้ แต่สิ่งทั้งหลายมันไปตามกระแสนไหน มันเป็นไปตามกระแสเหตุปัจจัยของมัน สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระแสเหตุปัจจัยของมัน แต่ว่าเรามีกระแสใจอยากของเรา ที่มันไม่ตรงกับกระแสเหตุปัจจัย แล้วมันไปทางไหน มันไปตามเหตุปัจจัย ใครชนะ กระแสเหตุปัจจัยชนะ ใช่ไหม กระแสเหตุปัจจัยชนะ เราก็แพ้สิ พอมันไปตามกระแสเหตุปัจจัย มันไม่มาตามกระแสใจอยากหรือความชอบใจของเรา เราก็ถูกกระทบกระทั่งบีบคั้น กระแทกกระทั้น เจ็บปวด เราก็ทุกข์ เพราะฉะนั้น ท่านก็บอกว่าอย่าเอาเรื่องใจอยาก หรือความชอบใจ ไม่ชอบใจ มาตั้ง อันนั้นมันเป็นตัณหาอุปาทาน เป็นกระแสที่ผิด มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ท่านก็บอกเอาปัญญามาแทนซะ ปัญญานี่มันจะรู้ตามความเป็นจริงพอมันรู้นี่ มันไปมองว่าที่กระแสเหตุปัจจัยเลย ทีนี้ปัญญามันเกิดเป็นกระแสใหม่ กระแสปัญญาคือ กระแสความรู้ มันจะตรงกับกระแสเหตุปัจจัยของสิ่งนั้น ใช่ไหม กระแสตัณหาเป็นกระแสคน ตอนแรกกระแสคนกับกระแสความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย มันขัดกัน กระแสคนก็คือ อยากให้เป็นอย่างนี้ๆ กระแสความจริงของสิ่งทั้งหลายก็ไปทางโน้น ตามเหตุปัจจัย ก็ใช้คำว่า กระแสคน กับกระแสธรรม มันขัดกัน กระแสคนก็คือ กระแสความอยาก กระแสธรรมก็คือ กระแสความเป็นจริงของเหตุปัจจัย มันก็ขัดกันอยู่เรื่อย ก็ทุกข์ด้วย ทีนี้พอเราใช้ปัญญา ก็เปลี่ยนกระแสคนใหม่ จะกระแสตัณหาที่อยาก มาเป็นกระแสความรู้เข้าใจตามเป็นจริง ก็มองไปที่เหตุปัจจัย กระแสปัญญามันก็ตามดูไปตามเหตุปัจจัยนั่นแหละ มันก็เป็นกระแสเดียวกันไปเลย พอกระแสคนเป็นกระแสปัญญา กระแสคนกับกระแสธรรมกลายเป็นกระแสเดียวกัน กลมกลืนกันไปเลย ทีนี้ไม่ขัดกันละ กระแสปัญญาก็รู้ไปตามที่เหตุปัจจัยมันเป็น ตามศึกษามันเป็นคนทำไปตามนั้น เราก็ศึกษาเหตุปัจจัย ทำที่เหตุปัจจัยได้สำเร็จ ไม่สำเร็จ ก็ค้นดูเหตุปัจจัย ก็พัฒนาแก้ไขกันต่อไป ก็ดูด้วยปัญญา มันก็ไม่ทุกข์ เพราะมันเป็นกระแสเดียวกัน กระแสคน กระแสธรรม มันกลมกลืนกัน ประสานกันได้ แต่ถ้าจะเอากระแสตัณหา ให้กระแสคนเป็นกระแสตัณหา เราตัองทุกข์เดือดร้อนตลอดกาลเลย อันนี้ก็เป็นแง่มุมหนึ่งที่จะให้มอง ตกลงว่าคนเราต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เราก็อย่างน้อยก็ให้มองว่าพุทธศาสนาสอนเรา ให้มีช่องทางไปได้ทุกอย่าง แม้แต่อย่างง่ายๆ เวลามองอะไร อย่างที่อาตมาบอกเมื่อกี้ อย่ามองตามชอบใจ ไม่ชอบใจ มองตามเหตุปัจจัย แล้วต่อมาบอกให้มีจิตสำนึกในการฝึกตน มองอะไรต่ออะไรเห็นเป็นเรื่องการได้ศึกษา ได้ฝึกตัวเรื่อย ยิ่งยาก ยิ่งได้มาก อะไรอย่างนี้ มันก็เดินหน้าไปอย่างเดียว แล้วถ้าต่อไปท่านบอกให้มีโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการก็ให้รู้จักมองสิ่งต่างๆ มองเป็น มองยังไง ท่านบอกว่าการมองเป็นของคน ที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ มันมี ๒ อย่างคือ
๑ มองหาความจริง
๒ มองหาประโยชน์
เวลาเราไปเจออะไรเข้า เราตั้งท่าทีให้ถูกก่อน ถ้าเราตั้งท่าทีชอบใจ ไม่ชอบใจ เกิดเรื่องแน่ เราก็ตั้งท่าทีว่า
๑ มองหาความจริง
๒ มองให้เป็นประโยชน์
มองให้เห็นประโยชน์ มองให้เห็นความจริง อันหนึ่งก็เรื่องหาความจริงของมนุษย์ ต้องมองเรื่อย เช่น มองสืบสาวเหตุปัจจัย อะไรๆ ก็มองหาความจริงไป แต่บางเรื่องมันเป็นของธรรมดา ไม่จำเป็นต้องหาความจริง มันรู้อยู่แล้ว แต่ว่าบางทีถ้าเราไม่ตั้งท่าทีให้ถูกต้อง มันก็เป็นความชอบใจ ไม่ชอบใจ กระทบกระทั่ง ก็เป็นทุกข์ เราก็ตั้งท่าทีเสียใหม่ว่า มองให้เห็นประโยชน์ ฉะนั้น อะไรๆ ก็ตามที่มันอาจจะชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง มองให้เห็นประโยชน์หมด หรือมองหาประโยชน์จากมัน อันนี้ไม่เหมือนกับมองแง่ดีทีเดียวนัก คือ เขาสอนกันว่าให้มองแง่ดี มองแง่ดีต้องระวัง เพราะบางทีเป็นการปลอบใจตัวเอง แล้วก็กล่อมใจ แล้วก็เลยหลง เพลิน มองให้เห็นประโยชน์นี่หมายความต้องใช้ปัญญาจริงๆ มองอะไรต่ออะไรต้องให้เห็นประโยชน์ให้ได้ ถ้ามองไม่เป็น ก็ไปเจออะไรไม่ชอบใจ ก็เป็นทุกข์ไปหมด ไปเจอ เดิน เจอใบไม้แห้งก็ใจเสียแล้วบางคน ถ้าเจอใบไม้เขียวก็สบายเป็นสุข แต่บางท่านไปเจอใบไม้แห้ง เลยสำเร็จเป็นพระอรหันต์ไปเลยว่างั้น ใช่ไหม มองให้เป็น ก็มองหาความจริง แล้วมองให้เห็นประโยชน์ ดังนั้น เราต้องใช้คตินี้ ไปเจออะไร มองก็มองให้เห็นประโยชน์
เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่ดี ทุกอย่างในโลกนี้ มันไม่ดี มีชั่ว หรอกในที่สุด คือในขั้นจิตนี้ ท่านแยกเป็นดีชั่ว ใช่ไหม ที่เป็นวัตถุอะไรต่างๆ ภายนอก แต่ถ้าเป็นขั้นสุดท้ายตามความเป็นจริง มันเป็นสภาวะธรรมชาติ มันเป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว อย่างพวกปฏิบัติทางสมถะบำเพ็ญสมาธิ ยังอยู่ในขั้นดีๆ ชั่วๆ ก็จะให้พิจารณาเรื่องอย่างนั้น อย่างนี้ แม้แต่ว่าอย่างที่พิจารณาอสุภะ ก็นี่ก็เป็นเรื่องระดับสมถะ ในวิปัสสนาไม่มี วิปัสสนามันเป็นปัญญา มันไม่มีแล้วสวย ไม่สวย ไม่เกี่ยว สิ่งทั้งหลายก็เป็นอย่างเดียวกันแหละ เป็นไปตามเหตุปัจจัย ปรากฏในรูปร่างต่างๆ แต่พวกสมถะยังต้องการสมาธิ ก็จะมีแยกสวย ไม่สวย เป็นต้น พอเป็นปัญญาก็มองตามเป็นจริงไปหมด ทีนี้มองตามเป็นจริงอย่างหนึ่ง แล้วก็อีกอย่างก็มองให้เห็นประโยชน์ ทีนี้สิ่งทั้งหลายก็อยู่ที่
๑ มนุษย์ตกลงกันว่าดี ว่าชั่ว หรืออะไร คือ ดี ชั่วในที่นี้หมายถึงว่า ที่มนุษย์ชอบ ไม่ชอบ คือ ดี ชั่ว ในภาษาไทยนี้มันกำกวม มักจะเป็นไปตามชอบใจ ไม่ชอบใจ อันไหนชอบใจ ก็ดี อันไหนไม่ชอบใจ ก็ไม่ดี ทีนี้มันก็เป็นอันตราย ทีนี้มันก็อยู่ที่มนุษย์นี่มาตกลงกัน ว่าอย่างนั้น ทีนี้เรามองที่ความเป็นจริง เราก็ไม่ถือตามนั้น มองไปอะไรที่มันคนเขาว่าร้าย เราก็มองให้เห็นประโยชน์ไปหมด มองหาประโยชน์ให้ได้ ก็ต้องฝึกตัวเอง อะไรที่ไปเจอที่ว่าไม่ดี ก็มองให้หาประโยชน์ให้ได้ แง่ที่จะเอามาใช้ประโยชน์ให้ได้ ฉะนั้น อย่างฝึกเด็กสมัยนี้ก็ต้องฝึก เช่นให้ดูทีวี ดูอะไรต่ออะไรให้เป็น ตอนนี้สำคัญเลย การศึกษาเบื้องต้น
๑ ได้ปัญญารู้ความจริงเพิ่มขึ้นมาให้ดูทีวี ไม่ใช่มีแต่โมหะ ลุ่มหลง เพลิดเพลิน อะไรไป
๒ มองเห็นประโยชน์ที่จะได้แก่ชีวิตไหม มองอะไรมาใช้ประโยชน์ได้บ้าง
ทีนี้ถ้ามองเป็นมันก็จะเห็นประโยชน์ เอามาใช้ได้ ฉะนั้น พัฒนาความ ในการพัฒนาเด็กนี่ ก็จะมี ๒ อันสวนกัน คือ ตามหลักท่านบอกว่าให้เราเป็นกัลยาณมิตร เช่น พ่อแม่เป็นกัลยาณมิตร ก็พยายามหาสิ่งที่ดีมาให้เด็ก ให้เด็กได้พบเห็นสิ่งที่ดี ได้ยินสิ่งที่ดีอยู่เสมอ แล้วก็จะได้สิ่งแวดล้อมมากล่อมเกลา ขอให้ชักนำไปในทางที่ดี แต่เราก็ต้องรู้ตัวว่า เด็กอยู่ในโลกนี้ มันจะได้แต่สิ่งที่เราเลือกตามปรารถนา เป็นไปไม่ได้ เด็กจะต้องไปเจอสิ่งที่ร้าย สิ่งที่อะไร เด็กจะต้องฝึกมองให้เป็น มองยังไงจะให้ได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้น นี่คือ พ่อแม่ต้องแนะ ต้องชี้ช่องละ ในพุทธศาสนาแม้แต่สิ่งที่ร้ายที่สุด ที่คนกลัวที่สุด ท่านก็มองให้เอาประโยชน์ให้ได้
ถ้าเราพูดง่ายๆ ก็อย่าง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่คนไม่ชอบ ท่านก็ยังให้มองเป็น ให้เอาประโยชน์จากมันให้ได้ เมื่อเป็นอนิจจัง ก็ทำไง อ๋อ มันไม่เที่ยง สิ่งทั้งหลายไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสิ่งรอบตัวเรา ทั้งตัวเรา แล้วเราจะนิ่งนอนใจอยู่ไม่ได้ ต้องไม่ประมาท ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ มีอะไรควรทำรีบทำ อย่างนี้เป็นต้น หรือว่าเขามาด่าเรา เราก็ เออ คนมาด่าเรานี่ เอาละเขาคิดไม่ดีต่อเรา แต่เรามัวไปโกรธ ก็เป็นโทษแก่เรา ใจเราก็ไม่ดีไปด้วย และคนที่จะมาด่าเราได้นี่ เขาต้องใช้เวลาคิดเหมือนกันนะ บางคนนี่ต้องสรรหาคำด่า คิดมา ๒ วันเลย เรานี่อยากจะศึกษา เราอยากจะฝึกตัวเอง เราจะพิจารณาตัวเอง ดีกว่าเราจะมองเห็นตัวเองบกพร่องอะไร จะฝึกตัวไหน บางทีเสียเวลาเยอะเลย แล้วบางทีเรามองตัวเองไม่ค่อยออก คนอื่นมาช่วยมองให้นี่ดี แหมได้ลาภอันประเสริฐเลย เขามาด่านี่ แกช่วยคิดให้ฉันตั้ง ๗ วัน มาด่าฉันนี่ ฉันได้เยอะ เอาแง่มุมมาคิดปรับปรุงตัวเอง พัฒนาตัวเองได้เยอะเลย ถ้าหากเราคิดไม่เป็น เราก็ได้แค่ชอบใจ ไม่ชอบใจ ก็โกรธกัน ด่าตอบกันอยู่ที่นี่เอง ไม่ได้อะไรขึ้นมา
เพราะฉะนั้น นี่แหละโยนิโสมนสิการเป็นหลักที่สำคัญ นี่อาตมาพูดมาคนเดียวยาวเยอะแล้วนะ ก็ให้ญาติโยมถามบ้าง ก็ในแง่เลย เดี๋ยวขออภัยเคยเรื่องความสุข เลยไปเรื่องอื่นไปเรื่อยๆ แต่ว่าตอบพอจะได้หรือยัง เรื่องความสุข ถ้าโยมยังสงสัยเรื่องความสุขก็ถามต่อ
ถาม : ถามท่านอาจารย์ต่อนิดนะครับ ว่าเรื่องความสุขนั้นนี่ บางครั้งมันอาจจะเลยไปเรื่องของอัตตาไปได้ไหมครับ อย่างรักษาคนไข้นี่ เรารู้สึกว่ารักษาดี ก็เกิดความภูมิใจ เกิดความดีใจ แต่จริงๆ รักษาแบบเดียวกัน คนไข้ก็ตาย อาจจะเป็นปัญหาว่า คือ มีคนเขาพูดว่า นี่คือเป็นเรื่องของที่บุญกรรมที่เขาทำมา ทีนี้ตรงนี้ท่านอาจารย์คิดอย่างไร และก็จะสร้างอย่างไร ไม่ให้ว่าเรานั้นสร้างความเพียร สุขก็ทำต่อเรื่อยๆ มันจะเกิดเป็นอัตตาขึ้นเรื่อยๆ จะตัดอย่างไร
ตอบ : คือ อัตตานี่มันจะมากับตัณหา แล้วก็อุปปาทานก็คือ ความอยาก ความยึด แล้วเกิดตัวตนขึ้นมา ถ้าเราคอยใช้ปัญญาแนะ เจ้าอัตตาเกิดยาก มันเป็นกระแสตรงข้าม มันคอยกัน คอยทำลาย คอยละลาย ปัญญามันจะละลายอัตตาได้ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องคอยใช้ปัญญาไว้ อย่าให้ตัวความอยากหรือตัณหานี่เข้ามาครอบงำจิตใจ ทีนี้มนุษย์ปุถุชนเราก็ต้องยอมรับ เป็นแต่เพียงว่าเราไม่ประมาท และระวังให้มีสติคอยกำกับ มิฉะนั้น เราก็จะเพลิดเพลินหลงตัวเอง ก็จะเกิดว่าเรารักษาได้เก่งนี่ ฉันแน่ เอาละนี่ถ้าเรียกว่าอัตตาเกิด เกิดปนมานะ มานะว่าฉันเก่ง ก็จะไม่ดี พอยุดอย่างนี้ขึ้นมาแล้วก็มีโอกาสกระทบกระทั่งมากขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงบอกให้ไม่ประมาท ไม่ประมาทก็คือว่า เราก็พัฒนาตัวเองไปด้วย ในขณะที่เรารักษาคนไข้ เราทำความดี ก็อย่างที่ว่า เช่นว่าเราอยากให้เห็น อยากเห็นคนไข้มีความสุขอย่างนี้ พอทำให้คนไข้มีความสุขได้ คุณหมอจะชื่นใจเลย ใช่ไหม ปีติ อิ่มใจ บางท่านนี่ไปนอนอิ่มใจนานเลย เป็นสุขจริงๆ เพราะว่าเรานี่ตั้งใจ
๑ ในแง่งานเราก็ต้องการให้ทำงานได้สำเร็จผล รักษาคนไข้หาย
๒ ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ เราก็ปรารถนาดีต่อเขา อยากให้เขาพ้นทุกข์ มีความสุข อยากให้เขาพ้นทุกข์ เรียกว่ากรุณา อยากให้เขาเป็นสุข เรียกว่า เมตตา ทีนี้พอเขาหายโรค มีความสุขสมใจเรา เราก็เป็นสุขด้วย นอกจากสุขแล้ว ก็คือ มีปีติ มีความอิ่มใจ ปลื้มใจ เป็นต้น เข้ามา
ทีนี้ ท่านก็ให้ระวังตรงนี้แหละ พอปลื้มใจแล้ว ก็จะเกิดอัตตาขึ้นมาได้ตอนนี้ ก็เราก็ท่านบอกให้มีสติกำกับ ก็ระวังอย่าประมาท อย่าประมาทก็หมายความว่า ให้ดูว่ายังมีจุดอ่อน จุดที่ต้องแก้ไข ที่ปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้น เพื่อให้การทำงานครั้งต่อไปได้ผลดียิ่งขึ้น ถ้าอันนี้ยังมีจุดอ่อน ยังมีแม้จะหาย แต่ว่ายังมีไม่สมบูรณ์ตรงนั้นตรงนี้ ต่อไปจับจุดไว้ได้แล้ว รักษาคราวต่อไป คนต่อไปจะดีกว่านี้ หรือว่าคราวนี้รักษาได้เต็ม โดยสมบูรณ์นั่นแหละ แต่มันช้ากว่าที่ควรจะเป็น ถ้าหากว่าเราเปลี่ยนกระบวนการมีเติมปัจจัยแง่นี้ๆ เข้าไป ต่อไปจะรักษาได้สำเร็จผลเร็วขึ้น หรืออะไรก็แล้วแต่ อันนี้ก็คือ การที่ศึกษาตลอดเวลา ถ้าเราศึกษาตลอดเวลา ใช้ปัญญาอยู่เรื่อย ให้อัตตามายึดตัวขึ้นมายาก อัตตานี่มันต้องจับตัว เราไม่ให้โอกาสมาจับตัว เราเดินหน้าไปเรื่อย กระแสของธรรม กระแสปัญญามันเดินไป พอจะเห็นไหม
ถาม : ขอเรียนถามเรื่องนี้ต่อนะคะ คือเรื่องที่ว่าตรวจรักษาคนไข้ จริงๆ แล้วนี่คนไข้เขาก็หายหรือไม่หาย ถ้าพูดถึงความเป็นจริง ก็คือ เป็นเรื่องของเขา ใช่ไหมเจ้าคะ คือหมายความว่า จริงๆ แล้ว ก็เคยเห็นคือ อย่างที่คุณหมอก็พูดเหมือนกันว่า รักษาก็รักษาอย่างเดียวกัน ใจก็ใจดวงเดิมที่อยากให้เขาหายเหมือนกัน แต่เขาจะหายหรือไม่หาย ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่ท่านบอกว่า ต้องมีปัญญาที่จะต้องแก้ไข ก็เรียนถามท่านว่า จริงๆ แล้วที่ท่านพูดถึงเรื่องก็โยงไปถึงเรื่องที่ท่านพูดถึงเรื่องกระแสคน เรื่องอันนั้นน่ะ จริงๆ แล้วมนุษย์เราที่เราเกิดมาอยู่ตอนนี้ ที่ก็ทราบกันอยู่ว่า ไม่ใช่มนุษย์ที่ประเสริฐ ถ้ายังไม่ได้รับการฝึก ไม่ได้รับการศึกษา และการศึกษาของท่าน ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องการศึกษา มีความเข้าใจว่า การศึกษานั้น เป็นการศึกษาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ใช่ไหมเจ้าคะ ไม่ใช่การศึกษาอย่างที่เราใช้สัญญามาศึกษา เรียนเป็นแพทย์ เรียนเป็นนักกฎหมาย ใช่ไหมเจ้าคะ อันนั้นเลยเรียนถามว่า ถ้าเราศึกษาโดยไม่ปัญญาที่ได้เรียนรู้ก่อนว่า พระพุทธเจ้าสอนอะไร ตรงนั้นคงไม่มีปัญญาพอที่จะไปรู้ว่า ตรงนี้มีตัณหาเกิดขึ้นหรือยัง แล้วก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนตัณหาให้เป็นปัญญาได้ เจ้าค่ะ ก็กราบเรียนถามท่านเจ้าค่ะ ว่าวิธีการที่จะทำตรงนี้เจ้าค่ะ จะทำได้สักแค่ไหน สำหรับปุถุชนที่ยังทำงานกันอยู่ตรงนี้เจ้าค่ะ
ตอบ : โธ่ ถามทีเดียวหลายประเด็นเลย อาตมาเลยลืมประเด็นไปหลายประเด็น
ถาม : ประเด็นแรกคือ เรื่องของการรักษาก่อน เจ้าค่ะประเด็นที่ถามว่า จริงๆ แล้ว กราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า จริงๆ ก็คือ เรื่องของหมอที่รักษาคนไข้กับการที่คนไข้หาย ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ใช่ไหมเจ้าคะ เราจะได้ไม่ต้องปลื้มปีติมากนัก ใช่หรือเปล่าเจ้าคะ
ตอบ : ยังไม่ถึงกับอย่างนั้นทีเดียว ไม่งั้นจะมีหมอทำไม พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้เลย บอกว่า โรคนี้มันมี ๔ แบบ คือ
๑ รักษาก็หาย ไม่รักษาก็หาย
๒ รักษาก็ตาย ไม่รักษาก็ตาย
๓ ถ้ารักษาจึงหาย ถ้าไม่รักษาตาย
๔ รักษาไม่รักษาก็ตาย
รักษาไม่รักษาก็หาย ก็มันมี ๔ ทีนี้ อันนี้มันมีอันที่ว่า ถ้าไม่รักษาก็ตาย เพราะฉะนั้น หมอก็จำเป็นอยู่
ถาม : ก็คงจะอยู่ในประเภทเดียวใน ๔ ประเภท ใช่ไหมเจ้าคะ
ตอบ : เจริญพร ก็นี่ประเภทที่ว่า ถ้ารักษาจึงหาย ถ้าไม่รักษาก็ตาย หรือไม่งั้นก็ต้องเป็นอย่างนั้นน่ะ บกพร่องอยู่เรื่อยไป ก็คือ เป็นไปตามเหตุปัจจัย หมายความว่า มันมีเหตุปัจจัยที่จะต้องแก้ไข ด้วยฝีมือหรือการกระทำ หรือกระบวนการรักษาของแพทย์ เหตุปัจจัยส่วนนี้ที่จะมาอาศัยแพทย์ ที่ว่าถ้าไม่รักษาแล้วตาย เราก็พูดกลางๆ แล้วก็คือ มันแล้วแต่เหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ก็เหตุปัจจัยมันมีหลายอย่าง และเหตุปัจจัยนี้มันยักเยื้องได้นะ โรคบางอย่าง คนไข้เขารักษาก็หาย ไม่จำเป็นต้องให้หมอรักษาก็ได้ เขารักษาตัวเองก็ได้นะ ใช่ไหม ที่ว่ารักษาก็หาย ไม่รักษาก็ตาย แต่คนไข้เกิดไม่มีความสามารถที่จะรักษา ทีนี้ถ้าคนไข้มีความสามารถ การรักษานี่เหตุปัจจัยมันยักเยื้องหลายอย่าง บางทีเหตุปัจจัยทางกาย เหตุปัจจัยทางใจ เหตุปัจจัยทางปัญญา ถ้าแยกละเอียดมันเยอะ เหตุปัจจัยทางอุตุ เรียกอุตุคือ สภาพแวดล้อม เหตุปัจจัยทางพืช ทางพันธุกรรม เหตุปัจจัยเยอะไปหมดเลย อุตุนี่สภาพแวดล้อม แล้วก็เรื่องพีชนิยาม นี่ทางกฎเกณฑ์ ทางพันธุกรรม เรื่องของการกระทำ คือ กรรมของมนุษย์ กรรมของมนุษย์ก็เป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง ทีนี้แต่ละปัจจัยๆ เหล่านี้ เราต้องทัน อย่างบางคนแกอาศัยแพทย์ช่วยรักษาทางด้านอุตุ คือ ทางปัจจัยแวดล้อม เช่น ยา หาย แต่ว่าเรื่องเดียวกันนั้น มันมีปัจจัยทางจิต ถ้าเกิดแก้ทางจิต อาจจะหายด้วยปัจจัยทางจิตก็ได้ ปรับจิตขึ้นมา ก็แก้ได้เหมือนกัน มันไม่ใช่ตายตัว การรักษาไม่มีคำตอบที่เด็ดขาด นอกจากบางเรื่อง บางเรื่องก็ตอบได้ตรงไปเลย แต่เรื่องทั่วไป บอกว่ามันยักเยื้องยืดหยุ่นอยู่
เอาละ ทีนี้ก็ย้อนมาที่ว่า เรื่องของอัตตา เรื่องของการศึกษา การศึกษานี่มันเป็นเรื่องที่ว่า ทำให้ชีวิตดีขึ้น คือเราสามารถเป็นอยู่ได้ดีขึ้น นี่คือการศึกษา เรามีชีวิต ชีวิตเราเป็นอยู่ได้ดีขึ้น นี่คือศึกษาแล้ว ก็คือฝึกทำให้มันอยู่ได้ดียิ่งขึ้น เราเคยอยู่อย่างนี้ เราเคยทำอะไร ก็ทำไม่เป็น เราเจออย่างนี้ก็ติดขัด ทำไม่ได้ พอเราฝึก เราเรียนรู้วิธีทำ เราก็ทำได้ เราก็เป็นอยู่ได้ดีขึ้นในด้านพฤติกรรม การสัมพันธ์สิ่งแวดล้อม ก็ศึกษา หรือจิตใจของเรา เราเคยเจอเรื่องอย่างนี้ เราท้อแท้ หดหู่ มีความทุกข์ แต่ว่าเราฝึกของเราใหม่ พอเจอแล้ว จิตใจของเราสู้ เราเข้มแข็ง เราไม่เสียใจ เราไม่ท้อแท้ นี่ก็ศึกษา เรียกว่าเราไม่รู้ในสิ่งนี้ ต่อมาเราหาวิธีคิด แล้วสืบค้นอะไรต่างๆ หาทาง แล้วก็แก้ไขได้ ทำได้สำเร็จ เกิดความรู้ เข้าใจขึ้นมา อันนี้ก็ศึกษาทั้งนั้น ทำให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ดีขึ้น เราเรียกว่าศึกษาแล้ว จึงบอกเมื่อกี้ไง บอกว่าชีวิตคือ การศึกษา เพราะว่าทุกเวลาที่เราเป็นอยู่นี่ เราต้องเจอประสบการณ์ใหม่ เราต้องไปอยู่ในสถานการณ์ใหม่ แต่ว่าสถานการณ์ใหม่อันนั้น ประสบการณ์ใหม่อันนั้น บางทีมันเป็นเรื่องที่ว่า เราแก้ไขจัดการได้ง่าย เราก็เลยไม่รู้ตัวว่าศึกษา ที่จริงเราต้องพยายามตลอด เราเจออะไรใหม่ เราก็ต้องเรียนรู้จักมันคือว่าอะไร เราไปเจอสถานการณ์ใหม่ เราก็ต้องหาทางว่าจะปฏิบัติตัวต่อสถานการณ์นี้อย่างไร เหมือนอย่างญาติโยมมาวัดนี่ พอมาก็ต้องเรียนรู้เจอสิ่งใหม่ ก็โยมก็ได้ศึกษา การที่จะทำให้ชีวิตมันเป็นอยู่ได้ดีขึ้น ก็คือการศึกษา แม้แต่ที่ว่า เด็กไปเข้าโรงเรียน กระบวนการศึกษาปัจจุบัน ก็คือ การพยายามให้เป็นอยู่ให้ดีขึ้นนี่แหละ แต่ทีนี้มันบางทีมันไปเน้นเป็นรูปแบบเกินไป จนกระทั่งลืมไปว่า ตัวสาระการศึกษามันก็อยู่ที่ชีวิตเรานี่แหละ ที่จะพยายามเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตลอดเวลา ถ้าเรารู้หลักเกณฑ์นี้แล้ว บางทีเราไม่ต้องไปอาศัยโรงเรียนก็ได้ เราก็ทำให้ชีวิตของเราเป็นอยู่ได้ดีขึ้น ทางด้านพฤติกรรม การสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม คือชีวิตคนเรานี่ มันจะมีอยู่ ๓ ด้าน
ด้านที่ ๑ ก็คือ ความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เราสัมพันธ์ด้วยอะไรบ้าง
๑ ชุด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ชุดนี้ ตาดู หูฟัง เป็นต้น
(๒ ชุดการกระทำ) ชุดที่หนึ่งท่านเรียกว่า ทางรู้ ทางรู้ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่คือทางรู้
๒ ทางธรรม ก็กายทำโน่น ทีนี้วาจา พูด
๓ แล้วก็คิด ทางนี้ทาง ๓
เราก็มีชิวตด้วยทางทั้ง ๓ ก็ทางทั้ง ๖ นี่ แล้วก็ต่อมาก็ในความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอันหนึ่งที่สัมพันธ์ก็คือ การเสพบริโภคสิ่งต่างๆ เครื่องใช้ไม้สอย นี่เป็นชีวิตของเราที่สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา อยู่กับเพื่อนมนุษย์ อะไรต่างๆ ทั้งหมดนี้ แดนนี้เป็นแดนใหญ่ ถ้าเราเป็นอยู่ได้ดีขึ้น เรากินอาหารเป็น ได้ประโยชน์ เราไม่เคยกิน กินแล้วเป็นโทษแก่ชีวิต และเราฝึกให้กินเป็น ได้ประโยชน์ขึ้น ก็เป็นอยู่ได้ดีขึ้น เราใช้ตาดู หูฟัง เราได้ความรู้เพิ่มขึ้น ก็แสดงว่าเราก็ได้ศึกษา การเคลื่อนไหว การกระทำ ทำไม่เป็นก็ทำเป็น พูดไม่เป็นก็พูดเป็น อันนี้ก็ศึกษาทั้งนั้น นี่ด้านสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมภายนอก แดนที่ ๑
แดนที่ ๒ ก็ แดนจิตใจของเรา ความตั้งใจ ความรู้สึกต่างๆ ความโกรธ ความเกลียดชัง หรือความดีงาม ความรัก ความมีศรัทธา ความมีใจผ่องใส เบิกบาน มีความสุข มีปีติ อิ่มใจ อะไรต่างๆ เหล่านี้ หรือความเข้มแข็ง อ่อนแอของจิตใจ ความหดหู่ ท้อแท้ หรือความีใจสู้ เข้มแข็ง มั่นคง มีสติ มีสมาธิ พวกนี้เป็นแดนจิตใจทั้งนั้น ทีนี้คนเราอยู่ไป ถ้าเราฝึกให้จิตใจของเราเข้มแข็งขึ้น มีจิตใจเบิกบาน ผ่องใส สดชื่นได้มากขึ้น หรือมีคุณธรรม มีความรักเมตตาได้มากขึ้น มีความต้องการที่ดีได้มากขึ้น นี่ก็ศึกษา แล้วด้านปัญญาก็คือ ความรู้ มองสิ่งต่างๆ แล้วได้ความรู้ อะไรเป็นอะไร อันนี้คืออะไร อันนี้เป็นอย่างไร มันเป็นอย่างนี้ได้เพราะอะไร แล้วอันนี้ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร เรียนรู้ไป รู้เข้าใจด้วยปัญญา แล้วเอามาใช้ แล้วก็มาคิด แก้ไขปัญหา เจอสถานการณ์ใหม่ เอาความรู้เก่า เอาข้อมูลเก่าๆ มาประสานกัน มาโยงกัน เชื่อมกัน สร้างความรู้ ความคิดใหม่ แก้ปัญหาได้ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ อันนี้เรียกว่า แดนปัญญา คนเราก็มี ๓ แดน บอกว่าชีวิต ศึกษาคือ เป็นอยู่ได้ดีขึ้น ก็คือ ๓ แดนนี้
ดูแดนที่ ๑ สัมพันธ์สิ่งแวดล้อมดีขึ้นไหม
๒ แดนจิตใจ ดีขึ้นไหม
๓ แดนปัญญา ดีขึ้นไหม
ไม่ว่าดีขึ้นในแดนใด นี่คือ ศึกษาทั้งนั้น และเด็กไปโรงเรียนก็อาจจะได้ ส่วนหนึ่งก็คือ ไปรู้สิ่งที่ครูได้สอนใหม่ๆ เอาไปใช้วิชาชีพ ก็ได้ส่วนหนึ่งของแดนหนึ่ง แต่ว่าถ้าแกเอาแค่นั้น แกศึกษาไปไม่รอดหรอก เชื่อไหม ศึกษาที่แท้มันอยู่ในชีวิตเลย ต้องให้ชีวิตของเรานี่เป็นอยู่ได้ดีขึ้น แล้วก็ใช้หลักนี้แล้ว เราจะอาศัย
๑ เราอาศัยโรงเรียน สถาบันการศึกษาน้อยลง
๒ เราใช้ประโยชน์จากโรงเรียนและสถาบันการศึกษาได้ดีขึ้น อันนี้มันสำคัญทั้งสองอย่าง
ถ้าหากว่าเราจะใช้มัน เราต้องใช้ให้เป็น เราไปโรงเรียนแล้ว เด็กบางคนได้ประโยชน์จากโรงเรียนนิดเดียว ไปมหาวิทยาลัยก็ได้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัยนิดเดียว แต่พอเรารู้จักศึกษา ได้ประโยชน์เต็มที่เลย ไม่ว่าไปอยู่ในสถานการณ์ไหน เจริญพร มีอะไรอีก
ถาม : กราบนมัสการเจ้าค่ะ ไม่ทราบว่าเมื่อกี้นี้ ท่านได้กล่าวถึงความสุข ๓ แบบ คือ ความสุขจากภายใน ภายนอกและก็ความสุขข้างหน้า ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์ได้พูดถึงความสุขข้างหน้าแล้วหรือยังคะ
ตอบ : อ๋อ ความจริงมันก็ปนๆ กันอยู่ โดยมากคนก็จะหวังความสุขข้างหน้าที่บอกว่าหาความสุข ใช่ไหม มันยังไม่มี มันอยู่ข้างหน้า ก็หวังมันเรื่อยไป คนอย่างนี้ก็จะมีแบ่ง คือ ถ้าเป็นความสุขข้างหน้า มันก็จะไปสัมพันธ์กับความหวัง พอคนเรามีความหวัง สิ่งที่คู่กันมันก็จะมาทันที คือ ความหวาด หวังคู่กับหวาด พอหวัง ก็หวาด หวังว่าจะได้ ก็หวาดว่าจะไม่ได้ แต่ที่จริงก็คือ มันยังไม่มี ฉะนั้น คนที่ยังไม่มีและหวังความสุขข้างหน้า ก็จะมีทุกข์ คือ ความหวาดนี้อยู่เรื่อย และถ้าเกิดไปถึงตอนหนึ่งแล้ว มันไม่มาเร็วเท่าที่ต้องการ ทุกข์เลย ใช่ไหม แล้วถ้ารู้ชัดว่าผิดหวังหมดเลย ฉะนั้น คนมันก็จะมีหลายประเภท
๑ คนที่ไม่มีความหวังเลย อันนี้ก็แย่ที่สุดเลย ทุกข์มาก
๒ คนที่ยังมีความหวัง ก็ยังมีสุข ปนทุกข์ มีหวาดอยู่ แล้วก็ยังไม่ได้สุขนั้น
๓ คนที่ผิดหวัง อันนี้ก็แย่อีกละ
ทีนี้คนที่ ๔ นี้สิ สำคัญ มันมาคล้ายคนที่ ๑ คนที่ ๑ คือคนที่ไม่มีหวัง ใช่ไหม แย่เลย เพราะแกนี่ก็อยากจะมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ก็ไม่มีหวังว่าแกจะได้ ทีนี้มีคนประเภทหนึ่ง คือคนที่อยู่ได้โดยไม่ต้องหวัง ถ้าเรียกสั้นๆ ถ้าเรียกคนที่ไม่มีความหวังเหมือนกันนะ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่มีความหวัง ต้องแยกออกเป็น ๒ ประเภท คนที่ไม่มีความหวัง ก็คือว่า มันอยากจะได้โน่น ได้นี่ แต่มันไม่มีทางเลย มองไม่เห็นทางเลย พวกนี้แย่ที่สุด
และคนที่ ๔ กลับมาเหมือนคนเหมือนคนที่แรก แต่คนละอย่าง ตรงข้ามเลย ก็คนที่ไม่ต้องหวังเลย ไม่ต้องมีความหวัง พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ เป็นคนประเภทนี้ คือคนที่อยู่โดยไม่ต้องหวัง เพราะสุขตลอดเวลา คือพัฒนาจิตใจตัวเอง จนกระทั่งมีความสุขเต็มเปี่ยมตลอดเวลา
อาตมาบอกแล้ว มีความสุขเป็นคุณสมบัติของตัวเอง ของจิตใจ เพราะฉะนั้น คุณสมบัติของพระอรหันต์จึงมีอันหนึ่งบอกว่า ผู้ไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป คนที่ยังต้องหาความสุข ยังต้องพัฒนาสุขนี้ ก็เพราะยังมีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง ฉะนั้น มันมีอันนี้ติดอยู่อันหนึ่ง แม้แต่พระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ก็ยังเป็นผู้ที่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเองอยู่ แต่เป็นผู้ประเสริฐที่ว่า ท่านไม่ยอมแพ้แก่ความชั่วร้าย และมีความเข้มแข็ง มีความเสียสละเต็มที่ที่จะทำแต่ความดี มีปณิธาน ปณิธานก็คือ ความตั้งใจมั่นเด็ดเดี่ยว จะทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ นี่เป็นคุณสมบัติที่เรายกย่องพระโพธิสัตว์ แต่พระโพธิสัตว์ก็ยังมีอะไรต้องทำเพื่อตน แต่ะพระอรหันต์ ประเสริฐตรงนี้คือ ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตนแล้ว สมบูรณ์ ความสุขสมบูรณ์แล้ว คนที่จะทำเพื่อผู้อื่นได้เต็มที่ มันก็อยู่ที่นี่แหละ ก็คือมีความเต็ม พระอรหันต์มีความสุขอยู่ในตัวเองตลอดเวลา ท่านจะนั่ง จะเดิน ที่ไหน ท่านก็ไม่ต้องไปหาความสุข มันสุขอยู่ในตัวแล้ว ท่านจะทำเพื่อใครล่ะทีนี้ ท่านก็ทำเพื่อคนอื่นได้เต็มที่ เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า ทำไมเราเคารพนับถือมาก ก็เพราะว่าพระองค์ไม่มีอะไรต้องทำเพื่อพระองค์เอง มีคุณธรรม มีความสุขสมบูรณ์แล้ว จะอยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่ที่คนที่เขาว่าทุกข์ ท่านก็สุข ใช่ไหม
เพราะฉะนั้น ท่านก็เดินทางไป จะไปนอนกลางดิน กินกลางทราย อะไรก็ได้ ท่านก็ไปได้นี่พระพุทธเจ้า ใช่ไหม ในพุทธประวัติ ก็ไม่เห็นจะต้องบำรุงบำเรออะไร ไปจาริกไป เดินเท้าเปล่าไป แต่ใจมุ่งไปแล้ว ว่าจะไปที่ไหน ไปโปรดใคร ก็มุ่งไปที่นั่น ก็มีความสุขอยู่ ท่านไม่ได้ทุกข์ มีความสุขตลอดเวลา แล้วก็ไปทำกิจหน้าที่ อย่างนี้ก็ ท่านเรียกว่า มีฉันทะที่ไม่มีลดหายไปไหนเลย ต้องการทำอะไร เพื่อประโยชน์สุขก็ทำได้เต็มที่ มีกำลังเพราะมันไม่รู้จักผิดหวัง ไม่รู้จักท้อแท้ คนทั่วไปมันมีตัณหาอยู่ คือมันมีตัวตนอยู่ ว่าเราจะทำอันนั้น ทำไมมันทำไม่ได้อย่างนี้ เกิดท้ออีกแล้ว ดังนั้น แรงมันก็หายไป ทีนี้พอไม่มีตัวตน อันนี้มันก็มีความเต็มอิ่ม แล้วก็มีตัวพลัง ความที่ต้องการจะทำประโยชน์สุข ก็ไปเรื่อย ทำไป กำลังก็ไม่ถดถอย แล้วก็มีปัญญาที่รู้เข้าใจเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆ มันก็สมบูรณ์ ใช่ไหม ทั้งด้านจิตใจก็สมบูรณ์ ด้านปัญญาก็สมบูรณ์ มันก็ไม่มีปัญหาอะไร นั่นก็คุณสมบัติพระอรหันต์ อันนี้ที่สำคัญ ก็เราก็เลียนแบบท่านเสีย เราทำไม่ได้อย่างท่าน เราก็พยายามให้มี ให้ความสุขนี่มันมีได้ในตัวเราเองมากที่สุด ก็ให้เป็นความสุขแบบที่เป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพา ไม่ต้องขึ้นกับภายนอก อย่างที่พูดแต่ต้น อย่างน้อยก็ให้พูดได้ว่า มีก็ดี ไม่มีก็ได้ มีก็ได้ ไม่มีก็ดี ก็เอาไปอีกขั้นหนึ่ง เจริญพร เชิญ
ถาม : กราบเรียนถามนะคะ พอดีมีเพื่อนที่ตอนเขาอายุสักประมาณ ๒๐ กว่าเคยมีหมอดูทักว่า เขาจะตายด้วยโรคลม แล้วพอผ่านมาตอนช่วงนี้ เขาอายุ ๔๔ เขาก็เกิดเป็นโรคลมชัก ที่แบบหมดสติเป็นพักๆ แกก็เลยเกิดความกังวล และแกก็มีความคิดว่าอยากไปหาพระเกจิอาจารย์ให้ช่วยทำ เขาเรียกว่าสวดบังสุกุลเป็น อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า บังสุกุลเป็นนี้ มีประโยชน์จริงหรือเปล่า แล้วสามารถช่วยได้จริงหรือเปล่าคะ เพื่อที่จะไปตอบคำถามเขาให้ได้ ตอนนี้เขากำลังกังวลอยู่นะค่ะ
ตอบ : นี่ก็เป็นปัญหาเรื่องชีวิตคน ตอนนี้มันมาเข้าอีกแดนหนึ่ง คือแดนของสิ่งที่ปุถุชนไม่รู้ คือ เรานี่อยู่ในโลก อยู่กับความไม่รู้นี่เยอะเลย ชีวิตของเรา เราก็ไม่รู้ วันพรุ่งนี้เราก็ไม่รู้ มายังไงเราก็ไม่รู้ ทีนี้ความไม่รู้นี่ มันทำให้เกิดความกังวลลึกมาก ก็อาศัยพวกสิ่งที่จะมาช่วยด้านจิตใจ เพื่อจะมาลดอำนาจของความไม่รู้ ที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว คือ คนเราพอไม่รู้นี่มันจะกลัวนะ พอรู้แล้วจึงจะหายกลัว ความไม่รู้มันก็เป็นที่มาสำคัญ มันมาผสมกับความอยาก เราอยากมีชีวิตอยู่ เราอยากมีความสุขอย่างนั้น แล้วเราไม่รู้มันจะสำเร็จหรือเปล่า อะไรมันจะทำให้สำเร็จ พอไม่รู้มาบวกกับอยากเท่านี้ เกิดกลัวเลยทีนี้ ก็ทำยังไง ก็ต้องเอาด้านอะไรอีกอันหนึ่ง ที่เป็นคุณสมบัติทางจิตใจมาช่วยลดทอนพวกตัวปัญหาเหล่านี้ คนเรานี่ทำให้แก่ตัวด้วยสภาพจิตของตัวเอง เช่น ความกลัว ก็มาทำลายบั่นทอนชีวิตของตัวเองเยอะ
เพราะฉะนั้นเวลานี้ที่บอกว่า การแพทย์ทางเลือกเริ่มไปเจริญในตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกานี่กำลังฟื้นฟู กำลังนิยมกัน ก็เพราะนี่แหละ ก็มนษย์เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนกว่าที่วิทยาศาสตร์จะเข้าใจ ชีวิตมันไม่ได้มีแต่ร่างกาย มันมีจิตใจ และจิตใจมันละเอียดอ่อนมาก อันนี้ด้านนี้ที่ว่า การรักษาที่แต่ก่อนการแพทย์สมัยใหม่ไม่ยอมรับฟังเลย เล่าให้ฟังนิดหนึ่ง เมื่อวานนี้เอง คุณหมอที่ศิริราชท่านก็มาเล่าให้ฟัง คือ ท่านจะมานิมนต์ให้พูดเรื่องเกี่ยวกับสมาธิรักษาโรค เพราะจะมีการประชุมใหญ่ของศิริราช ก็บอกว่าตอนนี้ที่อเมริกา คือท่านใช้คำว่า อเมริกากำลังเป็นหัวหอกเรื่องการแพทย์ทางเลือก ซึ่งปัจจุบันนี้เปลี่ยนชื่อแล้ว คือตะก่อนนี้เรียกว่า alternative medicine การแพทย์ทางเลือก ตอนนี้ใช้อีกคำหนึ่งมาแทนได้ เรียกว่า complementary medicine ใช่ไหม เจริญพร อันนี้ก็หมายความว่า ในตะวันตกอย่างอเมริกานี่ ยอมรับเรื่องการแพทย์ทางเลือกนี้มากขึ้น ทีนี้การแพทย์ทางเลือก ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ ก็โยงไปหาชีวิตของมนุษย์ตามที่เป็นจริง ที่เป็นอยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อม เริ่มจากธรรมชาติ แล้วก็ตัวเขาเองก็จิตใจ ก็ในการแพทย์ทางเลือกก็นอกจากเรื่องของธรรมชาติแวดล้อม ก็เรื่องจิตใจ แล้วในเรื่องจิตใจ ก็จะมายอมรับเรื่องสมาธิมากขึ้น แล้วในมหาวิทยาลัยที่มีการสอนเรื่องการแพทย์บางแห่ง ก็มีเปิดคลินิกทำสมาธิ เอาสมาธิรักษา และในอเมริกานี่
ทีนี้ในเมืองไทยเมื่อ ๕ ปีก่อน บางแห่งในโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์สมัยใหม่ พูดเรื่องการแพทย์แบบพื้นเดิม การแพทย์ทางเลือกนี่ไม่ได้เลย ไม่ยอมรับเลยบางแห่ง แต่เดี๋ยวนี้เริ่มเอาเข้าไปแล้ว โรงพยาบาลสาธารณสุขบางแห่ง เอาหมอนวดแผนเก่าเข้าไปนวดในโรงพยาบาลแล้ว ฉะนั้น การฝังเข็ม ฝังอะไรก็เข้ามา ทีนี้อันหนึ่งก็คือ เรื่องจิตใจ เรื่องจิตใจมันเป็นแดนที่มาของปัญหาของชีวิต ก็คือว่า เหตุที่ทำให้เกิดโรคมีหลายอย่าง อย่างพระพุทธเจ้าตรัสไว้บอกว่า มาจากอุตุก็มี อุตุก็คือ สภาพแวดล้อม มาจากพีชะเรื่องของพันธุกรรม กรรมพันธุ์อะไรพวกนี้ก็มี แล้วก็มาจากเรื่องของกรรมก็มี เรื่องของการกระทำต่อกัน การบีบคั้นของปัจจัยภายนอก เช่นว่า คนมาทุบเรา อะไรอย่างนี้ก็มี ทีนี้ด้านแดนของจิต ก็มีเรื่องกรรมเป็นตัวสำคัญ กรรมนี่ก็ไม่ใช่ว่าหมายถึง ต้องกรรมชาติก่อน กรรมก็คือ การกระทำ การกระทำก็มีความหมายตั้งแต่
๑ การกระทำทางใจ ได้แก่ ความคิด ความรู้สึก สภาพจิต ความสุข ความทุกข์ ความรู้สึกกังวล ความหวาดหวั่น อะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วก็เรื่อง กรรมทางใจแล้วก็
(๒) กรรมทางวาจา
(๓) กรรมทางกาย
ทีนี้ กรรมทางใจนี้เป็นแดนสำคัญ คนเราก็สะสมกรรมตลอดเวลา เราคิด เรานึก เราก็มีกรรม แล้วเราก็มี ไอ้ตัวผสมก็ความตั้งใจอะไร ความหวังอะไร ความกังวลอะไร ความกลัวอะไร ความรู้สึกที่ทำให้เครียด หรือแม้แต่ความหงุดหงิดอะไร ความโกรธ ทุกอย่างนี่มันอยู่ในใจ แล้วมีกรรม มีเจตนาประกอบ พอมีเจตนาประกอบ ก็เป็นกรรมทั้งนั้นเลย อันนี้ตัวนี้เราไม่รู้ตัวหรอก แล้วมันลงลึกมาก คือ แม้แต่เราไม่รู้ตัว มันก็ทำงานตลอดเวลา บางทีมันไปออกในความฝัน มันก็ปรุงแต่งจิตของเราให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ บางทีก็ฝันดี ฝันร้าย อะไรต่างๆ ก็ตัวนี้มันก็ทำงาน ปรุงแต่งชีวิตของเราตลอดเวลา แล้วก็ทำให้เราเกิดอาการโน้น อาการนี้ รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บด้วย ฉะนั้น เหตุปัจจัยด้านกรรมนิยาม ก็เป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่ง ที่ถามเมื่อกี้นี้ ก็อยู่ที่อันนี้ด้วย ถ้าหากว่าเรามีความไม่รู้ แล้วมีความอยาก แล้วทำให้เกิดความหวาดกลัวนี้อยู่ เราก็ต้องหาทางมาแก้ความหวาดกลัวนี้ แล้วหวาดกลัวตัวนี้มาปรุงแต่งชิวิตเราแล้ว อาจจะทำให้เกิดอาการของโรคบางอย่างขึ้น บางคนกลัวจนเครียดเลย แล้วจากความเครียดนั้น ก็เกิดอาการในอวัยวะขึ้นมา ก็เป็นปัญหา เป็นโรคภัยไข้เจ็บ
วิธีของคนสมัยโบราณ บางทีก็ช่วยเรื่องจิตใจนี่แหละ เอาไป เอาด้านปรุงแต่งจิตด้านดี ให้เป็นกรรมใหม่ฝ่ายดี กรรมใหม่ฝ่ายดีถ้ามีกำลังมาก ก็จะไปลดกำลังของกรรมที่ไม่ดี เช่น ความหวาดกลัว เป็นต้น แล้วก็ไปแก้อาการนั้นได้เลย เพราะฉะนั้น เรื่องบังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย
๑ ถ้าคนมีความเชื่อมาก ก็จะเกิดผลมาก ถ้าไม่เชื่อก็มีผลน้อย เพราะว่าตัวปรุงแต่งจิต มันมีศรัทธาเป็นต้นเข้ามา แล้วก็บรรยากาศ อย่างเวลาไป เราไม่ใช่ไปแล้ว ไปถึงบังสุกุลนะ ไปที่วัด ไปเจอพระ ได้บรรยากาศ จิตใจเบิกบานผ่องใส จิตใจหายครุ่นคิด หายเครียด หายขุ่นมัว เบิกบานผ่องใสเพิ่มขึ้น ได้ปัจจัยฝ่ายดี ได้ทุนดีเข้ามาแล้ว โดยไม่รู้ตัว หลายๆ อย่างมันเข้ามาเลย แม้แต่เพียงว่า จะเตรียมไปหาพระ จิตใจมันก็ลดพลังฝ่ายร้ายแล้ว เกิดความหวังขึ้นมา กำลังจิตเกิดขึ้น ตั้งแต่นั้นเลยเตรียมตัวจะเดินทาง จัดของไปหาพระ มันได้ตลอดเลย แล้วก็พอบังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย ก็โล่งใจเลย อันนั้นมันก็มีผล แต่ว่ามันอยู่ในระบบของกรรมนิยาม รวมแล้วก็คือ การรักษาด้วยด้านจิตใจ แต่ทีนี้ถ้าเรารู้ตัว เราก็ไม่จำเป็นต้องไปอาศัย ระบบนี้เรียกว่าอาศัยปัจจัยภายนอก มาช่วยสร้างจูงปัจจัยภายใน ก็คืออาศัยพระภิกษุ อาศัยบรรยากาศแวดล้อมมาชักจูง ให้จิตนี้ดีขึ้น
ทีนี้ถ้าเราเก่ง เราก็พัฒนาตัวเอง เราก็สร้างสภาพจิตที่ดีขึ้นมา อย่างที่พระพุทธเจ้าสอนบอกว่า ให้ปฏิบัติธรรม แล้วให้สร้างสภาพจิตต่อไปนี้ไว้ประจำตัว แล้วจะดี เอาละ อาตมาก็เลยฝากไว้ให้เลย หวังว่าสภาพจิต ๕ ประการนี้ เป็นสภาพจิตที่ทุกคนควรมีไว้ประจำ
๑ ปราโมทย์ ปราโมทย์ก็คือ ความร่าเริง เบิกบานใจ ทำให้มันเป็นคุณสมบัติประจำใจเลย มีปราโมทย์ ร่าเริง บันเทิงใจอยู่เรื่อยๆ ตื่นขึ้นมาก็ยิ้ม อะไรอย่างนี้นะ ทักทายปราศรัย อย่าไปขุ่นมัว เศร้าหมอง ร่าเริงเบิกบานใจ ปราโมทย์
๒ ปีติ อิ่มใจ ให้รู้จักเก็บปีติจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ทำอะไรไป ล้างถ้วย ล้างชาม อย่าไปใจฟุ้งซ่าน อย่าไปคิดโน่น คิดนี่ หงุดหงิด อย่าไปเอาเรื่องไม่เป็นเรื่องมาคิด ทำงานไปใจก็อยู่กับถ้วยที่ล้างนี่ ล้างไปแล้วก็เห็นถ้วยมันสะอาดเพิ่มขึ้น ก็โดยไม่รู้ตัว มันมีปีติอย่างอ่อนๆ คือว่า สิ่งที่เราทำสำเร็จ ก้าวหน้าไปนี่ ทำให้จิตใจของเรา ก้าวไปกับความอิ่มใจ ว่าเราปลื้มใจ ดีใจนิดๆ ที่เราได้ทำงานก้าวหน้าไป แม้แต่ในการล้างถ้วยล้างชาม กวาดบ้านอะไรต่างๆ นี่ แต่นี่ก็คือ การฝึกสมาธิด้วยนะ แล้วจิตใจของเราก็ดี ๒.ก็ได้ปีติ อิ่มใจ ให้หาเก็บปีติจากสถานการณ์ที่เราเจอเรื่อย จากงานการที่ทำ เย็บจักร เย็บผ้า อะไรต่ออะไร หาปีติไปเรื่อยๆ อย่าไปทำใจให้ฟุ้งซ่าน กังวลเครียดไป
๓ ปัสสัทธิ ปัสสัทธิแปลว่า ความผ่อนคลาย ผ่อนคลายไม่เครียด ผ่อนคลายสงบเย็น พอจะเครียดก็มีสติ สตินี่จะเป็นตัวเตือน พอมีสติปั๊บก็หยุดเลย สตินี่จะเป็นตัวกั้นกระแส พอมีความโกรธ มีอะไรไม่ดีในใจ พอมีสติปั๊บหยุดทันที พอสติไปก็เดินต่อ แต่ทีนี้ว่าถ้าเรามีสติดี เราก็หยุดกระแสไม่ดี แล้วรีบดึงเจ้าตัวดีเข้ามา เราก็มาทำสิ่งที่ดีเสีย ก็เป็นปัสสัทธินี่ก็เป็นตัวที่ ๓ ก็ความผ่อนคลาย เย็นกาย เย็นใจ ตัวปัสสัทธิเป็นตัวเชื่อมระหว่างกายกับจิต พอใจผ่อนคลาย กายจะผ่อนคลายด้วย ถ้าใจเครียด กายจะเครียดด้วย นี่ที่สมาธิทำไมเขาใช้ประโยชน์ เพราะว่าหมอเดี๋ยวนี้ยอมรับแล้วนี่ว่า stress ความเครียดนี่ เป็นที่มาของโรคภัยไข้เจ็บเยอะแยะ ใช่ไหม ทีนี้จุดนี้ก็คือ คนนี่สภาพจิตปัสสัทธิหายไป ไม่มี ดังนั้น ก็ต้องสร้างปัสสัทธิขึ้นมา แต่ว่าไอ้เจ้า ๓ ตัวแรกนี้มันโยงกันอยู่ มันมีปราโมทย์ ปีติ แล้วนี่ มันจะมีปัสสัทธิมาเอง พอคนเราปลื้มใจ มีปีติ อิ่มใจ ก็ปัสสัทธิก็มา ก็ผ่อนคลาย พอใจผ่อนคลาย กายก็ผ่อนคลายด้วย เลือดลมก็เดินดี ที่เครียดนี่ทำให้เลือดลมสะดุด พอเครียดแล้ว เส้นเลือดบ้าง อะไรบ้าง มันผิดปกติหมดเลย ฉะนั้น โบราณก็ใช้คำว่า เลือดลม ให้เลือดลมมันเดินดี พอปัสสัทธิผ่อนคลาย ร่างกาย จิตใจ ผ่อนคลายหมด อวัยวะต่างๆ ก็ทำงานได้ตามปกติของมัน เลือดลมเดินดี สบายไปแล้ว ฉะนั้น ปัสสัทธิมาเป็นภาพ เป็นตัวเริ่มต้นเข้าสู่สมาธิ พอมีปัสสัทธิแล้ว ต่อมาก็ตามด้วยสุข
๔ สุข ก็สงบ สบาย ใจคล่องโล่ง ไม่มีอะไรบีบคั้น สุขก็ตรงข้ามกับทุกข์ ทุกข์แล้วบีบคั้น ติดขัด คับข้อง สุขก็โล่ง ก็คล่อง ไม่มีอะไรติดขัด แล้วก็ต่อไป พอสุขมาแล้ว สมาธิจะมาง่าย
(๕ สมาธิ) ถ้าบอกสุขเป็นปัฏฐานของสมาธิ สุขเป็นปัฏฐานของสมาธิ ก็เป็นตัวเหตุใกล้ที่ทำให้สมาธิเกิดขึ้นได้ คนที่จะฝึกสมาธินั้น ต้องอาศัยความสุข สมาธิจะเกิดไม่ได้ เกิดยากที่สุด ถ้าจิตใจมีทุกข์
พอเรามีปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ นี่เป็นกระบวนการ ตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ จิตมันจะเดินเอง เมื่อคนฝึกสมาธิ มันเลยได้ไปในตัว คือ ได้ปัสสัทธิ ความผ่อนคลายไงที่ว่า มันก็เลยไม่เครียด แต่ว่าของพระพุทธเจ้าท่านให้ไปครบ เราอาจจะไม่รู้ ว่าสัมพันธ์กันยังไง สมาธิแล้วไม่เครียด ก็นี่มันอยู่ในกระบวนการ ท่านบอกไว้แล้ว มีปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ แล้วพยายามสร้างให้ ๕ อย่างนี้ เป็นคุณสมบัติประจำใจเลย ให้มีอยู่ตลอดเวลา พอมันเคยชินแล้ว มันจะเข้ามาครอบครองจิตของเราอยู่ ทำให้ฝ่ายร้ายเข้ามายาก นี่ถ้าเราเคยสั่งสมฝ่ายไม่ดีไว้ เช่น คอยกลุ้ม คอยกังวล พอนั่งที่ไหนก็คิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ เก็บเอาเรื่องกระทบโน่นนิดนี่หน่อย ได้เห็นสิ่งนั้นขัดตา ขัดใจ พอมานั่งเงียบก็เอาละ ดึงเอาสิ่งที่กระทบมาคิดปรุงแต่ง คราวนี้ล่ะยุ่งเลย
ทีนี้เปลี่ยนใหม่ สร้างสภาพจิตเหล่านี้ พอเป็นได้ที่สงบปั๊บ ไม่ยอมละ เรื่องกระทบกระทั่งไม่เอาเลย ผ่านปล่อย ไม่เอาทั้งนั้น ให้นี่เข้ามา ให้ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ นี่เข้ามาประจำใจครองใจตัวเอง แล้วก็ต่อไปก็ดี พอมันเคยชิน ต่อไปมันเป็นอัตโนมัติ พอไปนั่งที่ไหน มันก็ไม่มีเรื่องยุ่ง เหมือนอย่างที่ว่า ท่านให้ไปทำบุญ ก็เพื่อสร้างสภาพจิตอย่างนี้ด้วย ท่านเรียกว่า ใช้บุญนี้ เช่น ทาน เป็นบริขารของจิต บริขารคืออะไร บริขารก็คือ ตัวประกอบที่มาปรุงแต่งจิต เราไปทำบุญ เราต้องรู้จักใช้ด้วย บางทีเราไม่สามารถ เราสร้างสภาพจิตของเราไม่เป็น เราไม่เข้มแข็งพอ แล้วเราลงร่องกับเรื่องไม่ดี ลงร่องก็คือว่า เราเคยคิดแบบนั้น เคยทำจิตให้หวาด ให้กลัว ให้เครียด พอไปนั่งที่ไหน มาทันทีเลย ก็ลงร่องไปแล้ว แก้ยาก ก็ต้องหาพลังที่เข้มแข็งมาสู้ นี่ก็การฝึกจิตใจ บางทีสู้ไม่ไหวตอนแรก ต้องมีกัลยาณมิตร หรือไม่งั้นก็เอาพฤติกรรมที่หยาบกว่า ในด้านพฤติกรรม เช่น ทาน มันของหยาบ มันจะมาช่วยทางด้านจิต คือ ไปทำบุญ ทำกุศล ให้พบสถานการณ์ที่มันเด่นๆ มันจะเป็นนิมิตขึ้นในใจ มันเป็นสัญญาที่คมชัด เวลาไปนั่งที่ไหน ภาพนี้ผุดขึ้นมาในใจ แล้วก็เป็นตัวนำให้จิตไปที่ดี ทีนี้ถ้าเราไปทำบุญไว้ เราเวลาทำท่านบอกให้ทำด้วยเจตนาครบ ๓
๑ มีปุพพเจตนา ก่อนทำก็ตั้งไว้เข้มแข็ง ตั้งใจทำความดี มีเมตตากรุณา ให้มีศรัทธาให้มาก คิดอยากให้เขาเป็นสุข ตั้งใจให้ดี
(๒) แล้วเวลาทำ ท่านเรียกว่ามีมุญจนเจตนา เจตนาขณะกระทำ ก็ทำด้วยจิตใจผ่องใส เบิกบาน ตั้งใจดีจริงๆ
๓ อปรเจตนา หลังจากทำแล้วก็ให้กิจนี้เกิดขึ้นอีก สภาพจิตที่ได้ไปทำบุญนี่ ระลึกขึ้นมา ปลื้มใจทุกที พอไปทำบุญไว้ ตอนนั้นตั้งจิตไว้ดี ทำสภาพแวดล้อมดี สถานการณ์ดี ก็เป็นภาพที่เด่นชัด พอระลึกขึ้นมา พอภาพอันนี้ เหตุการณ์นี้ขึ้นมาในใจ สภาพจิตอย่างนั้นเกิดเลย ที่เคยไปแล้วมันปลื้มใจ สบายใจ มันพอนึกขึ้นมาถึงสถานการณ์นั้น เหตุการณ์นั้นขึ้นมา ความสุขสภาพจิตดีเกิดด้วยทันทีเลย
ดังนั้น ท่านก็ให้ทำอย่างนี้ เพราะว่า ไปทำบุญมาแล้ว มาจะได้เป็นเหตุการณ์ที่เด่น เหมือนอย่างคนไปทำบุญฝังลูกนิมิต ไปปิดทองลูกนิมิตไว้ ลูกนิมิตมันใหญ่ มันเป็นลูกกลมๆ เป็นหินเบ้อเริ่ม มันเป็นนิมิตติดใจ เวลาไปนอน แม้แต่เจ็บป่วย มันขึ้นมาในจิตง่าย เวลาเราไปนอนเจ็บป่วย สารพัดมันแย่งที่กันในใจของเรานะ ไอ้โน่นก็มา ไอ้นี่ก็มา ทีนี้ไอ้เจ้าเรื่องร้ายมันจะเด่น ทีนี้ถ้าเราไม่ไปทำอะไรที่ใหญ่ไว้ ให้มันชัด ไอ้เจ้าเรื่องร้ายมันคอยจะโผล่ ทีนี้จิตของเราก็ไปอยู่กับความเศร้าหมอง กังวล ความเครียด ความขุ่นมัว ท่านก็ให้ไปเอาฝ่ายดีมา ให้มีกำลังสูงๆ ไว้บ้าง ทีนี้พอไปปิดทองลูกนิมิตนี่ ลูกนิมิตมันโตอย่างที่ว่า เวลานอนอยู่เจ็บไข้อยู่บนเตียง มันโผล่มาในใจ สถานการณ์นั้น เหตุการณ์นั้น ก็ตามมาด้วย จิตใจก็ดี มีความสุข ปลื้มใจไปเลย หรืออย่างเอาอย่างง่ายๆ อย่างญาติโยมมาวันนี้ ถ้าหากว่าปรุงแต่งจิตดี มีความสุข ไปนึกเมื่อไร พอนึกถึงเหตุการณ์นี้ จิตใจสบายมีความสุข บุญก็เกิดทันที อันนี้ท่านเรียกว่า อปรเจตนา
ทีนี้ถ้าเราทำอย่างนี้ไว้ ต่อไปมันเป็นบริขารของจิต มันเป็นตัวปรุงแต่งจิต พอไปอยู่ที่ไหน จิตมันไม่มีอะไร เราเคยว้าเหว่ หงอยเหงา มันไม่หงอยละ มันโผล่เข้ามาในจิตใจปั๊บ สบายใจ ปลื้มใจ ทีนี้ปรุงแต่งเป็น ก็พาไปในทางดี ก็อาจจะหายลงร่องได้เหมือนกัน ก็นานๆ ต้องทำบ่อยๆ อันนี้ก็เป็นตัวอย่าง ก็เลยเป็นอุบายต่างๆ ก็ที่ว่าเมื่อกี้นี้ ก็อย่างเรื่องบังสุกุลเป็น ตาย อะไรนี่ ก็ระวังอย่างเดียวอย่าไปติดเป็นศิลป์ปรามาส คือ ประยุทธ์ติดในรูปแบบ อะไรต่ออะไร แล้วก็เลยเขวออกไปเลย ดีไม่ดีก็เลยอยู่แค่นั้น ไม่พัฒนาตัวเอง เราต้องนึกว่านี่เราใช้เป็นที่อาศัย หมายความขณะนี้เรายังไม่เข้มแข็งพอ เรายังต้องอาศัยสถานการณ์แวดล้อม อาศัยกัลยาณมิตร อาศัยวัตถุ มาเป็นเครื่องช่วยจิต นำจิต ต่อไปเราต้องพัฒนาให้สามารถสร้างมันด้วยใจต้วเอง แล้วต่อไปก็จะเก่ง ไม่งั้นจะไปเป็นพระอรหันต์ไม่ได้หรอก ถ้าไม่พัฒนา ถ้าติดอยู่กับแค่บังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย ไปไม่ถึงไหนหรอก ก็พอจะเข้าใจนะ ก็เป็นอันว่าได้ประโยชน์ แต่ว่าต้องอย่างที่ว่าแล้ว มันเป็นเศษสิ่งที่มาช่วยแก้ปัญหาสำหรับปุถุชนที่ยังมีอวิชชาความไม่รู้ แล้วก็อยู่กับตัณหามากหน่อย
ถาม : นมัสการพระคุณเจ้า พระคุณเจ้ากรุณาเมตตาวิสัชชนาเรื่อง สิทธิของการตายด้วยได้ไหม เจ้าคะ
ตอบ : สิทธิของการตาย เคยพูดไว้ แล้วเขาเอาไปพิมพ์แล้วนะ อยู่ในหนังสืออะไรไม่รู้ เคยพูดไว้แล้ว เจริญพร มีเป็นหนังสือเป็นเล่ม จะอ่านหนังสือดี หรือจะให้ตอบดี คือ แน่นอนล่ะ ชีวิตของแต่ละคนเขาก็จะถือว่าเป็นสิทธิก็ได้ แต่คำว่าสิทธินี่ที่จริงมันเป็นบัญญัติของมนุษย์ คือว่า เราเห็นว่ามันน่าจะเป็นอย่างนั้น เราก็ตกลงกันว่าให้มนุษย์มีสิทธิ์อันนี้ ทีนี้ว่าโดยทั่วไปในขั้นต้นเรายอมรับก่อน แต่ว่าอย่าลืมนะ มันมี ๒ ตอน สิทธินี้อยู่ที่มนุษย์ปุถุชนตกลงกัน แต่ว่าอย่าลืมมนุษย์ปุถุชนพัฒนาไปเป็นพระอริยะได้ ฉะนั้น สิ่งที่ตัวเคยยึดว่าเป็นอย่างนั้นในตอนเป็นปุถุชน ตอนพัฒนาต่อไปมันอาจจะไม่เป็นอย่างนั้น หรือคนอื่นเขาอาจจะไม่ได้ คนที่เป็นอริยะและรู้ดีกว่า เข้าใจกว่าจะไม่เห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น แล้วการตัดสินใจในเวลาที่เจ็บป่วยนี่ บางครั้งก็ผิดได้ เพราะทุกขเวทนามันบีบคั้นมาก ก็เลยจะใช้สิทธิในการตาย แม้แต่ง่ายๆ บางทีถ้ารักษาไปอาจจะไม่ตายก็ได้ แต่ว่าชิงตายเสียก่อน เลยใช้สิทธินี้ ในกรณีนี้เรียกว่าใช้สิทธิผิด ฉะนั้น ก็มีอันตรายเหมือนกัน หรือว่าบางทีคนนั้น อาจจะรู้สู้คนที่มีประสบการณ์มากกว่าไม่ได้ คนที่เขาอยู่ในภาวะจิตที่ดี ปัญญาเขาดี เขามองสถานการณ์ออก เขาอาจจะเห็นว่าคนนี้ตัดสินใจผิดก็ได้ คนไข้นี่นะใช้สิทธินี้ ฉะนั้น คนที่เป็นอยู่แต่ถ้ามีเมตตากรุณาแท้ อาจจะตัดสินใจได้ดีกว่า ฉะนั้น ก็เลยก้ำกึ่ง จะเอาเป็นเด็ดขาดไม่ได้ จึงยากแก่การที่จะได้บัญญัติเป็นตัวบทกฎหมาย เพราะมันเป็นเหมือนกับดาบสองคม เป็นอันตรายด้วยในตัว และอย่างทางพุทธนี่ พระท่านสอนไว้ คนเรานี่ได้ประโยชน์จนกระทั่งวินาทีสุดท้ายของชีวิต หลายท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ตอนจะมรณภาพ ฉะนั้น ทางพุทธศาสนาคนไม่มีทางผิดหวังเลย เราสามารถได้สิ่งที่ประเสริฐสุดของชีวิต แม้ยามสุดท้าย วินาทีสุดท้ายที่จะตายเลย เหมือนอย่างพระอรหันต์บางท่าน ท่านเจ็บป่วยรุนแรงมาก แล้วท่านพลิกสถานการณ์กลับ พิจารณาเวทนาความเจ็บไข้ เกิดปัญญาตรัสรู้ขึ้นมาในตอนสุดท้ายเลย ก็กลับเป็นดีที่สุดไปเลย
ฉะนั้น ถ้าหากว่าเราไปใช้กระบวนการ เช่น ทางแพทย์หรืออะไรปัจจุบัน กลับไปขัดขวางอันนี้เลย โดยไม่รู้ตัว เรื่องของชีวิตนี่ มันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก มันมีอะไรที่ว่าเราอาจจะมองไม่ถึง แล้วก็เราจะมองแค่ด้านจิต ต้องมองข้ามปัญญา อย่างที่เราบอก เอ้าคนจะตายนี่ ทำยังไงจะให้ตายดี สมัยโบราณเราก็ต้องบอกให้จิตมันยึดสิ่งที่ดี เราจึงมีการบอก “อะระหัง” ใช่ไหม จิตของคนตายอาจจะปั่นป่วน ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล ก็พลุ่งพล่านไป วุ่นวายไปหมด นี่ก็ให้มีคนที่มาช่วยนำจิตเสีย เอาอะไรที่ดีๆ มาบอก ให้จิตเขากำกับอยู่กับสิ่งที่ดี “อ้อ คุณปู่ คุณตา วันนั้น ปีนั้นได้ไปทำบุญที่นั่นนะ” นี่แหละอย่างที่ว่าเมื่อกี้ เอานิมิตอันหนึ่งขึ้นมาให้จิตมันจับ มันก็อยู่กับสิ่งที่ดี ก็ทำให้จิตเปลี่ยนไป ก็จิตก็ผ่องใสเลย อะไรต่างๆ แบบนี้ก็คือ ให้จิตยึดอยู่กับสิ่งที่ดี ก็ถือว่าตายดี
แต่ทีนี้ ถ้าคนนั้นเก่งกว่านั้นใช้ปัญญา รู้เข้าใจชีวิตตามเป็นจริง มองเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วางใจต่อชีวิตได้สบายเลย ไม่มีห่วงกังวล ใจปลอดโปร่ง ผ่องใส ไม่ต้องอาศัยสิ่งยึดเหนี่ยวเลย สิ่งยึดเหนี่ยวนั้นกลายเป็นไม่จำเป็นสำหรับเขาเสียอีก นี่ไปอีกขั้นหนึ่งเลย ฉะนั้น คนเรานี่ ไปได้หลายอย่าง หลายแง่และหลายระดับ อย่าไปมองชั้นเดียว แต่เรื่องสิทธินี่ เอาแค่นี้ก่อนพอได้ ทีนี้ก็มีท่านพระท่านเอามาแล้ว มีอยุ่ ๒ เล่ม เล่มหนึ่งชื่อ “ปุจฉา วิสัชชนา เทคโนโลยีการแพทย์ กับจริยธรรมพุทธ” เล่มหนึ่ง แล้วก็เรื่อง “ช่วยให้ตายเร็ว หรือช่วยให้ตายดี” อีกเล่มหนึ่ง เล่มนี้ก็น่าจะตรง “ช่วยให้ตายเร็ว หรือช่วยให้ตายดี”
เพราะฉะนั้น ลองช่วยกันคิด เอาคำถามจากปกหนังสือนี่ มาช่วยกันตอบ ลองช่วยตอบสิ จะเอาอันไหน “ช่วยให้ตายเร็ว” กับ “ช่วยให้ตายดี” เอาอันไหน “ช่วยให้ตายดี” ดีกว่า บางทีมัน “ช่วยให้ตายเร็ว” แต่กลายเป็นตายไม่ดีไป ก็เลยว่า พยายามเอาเป้าหมายว่า “ช่วยให้ตายดี”ก่อน “ช่วยให้ตายดี”เป็นหลัก แล้วส่วนเร็ว-ช้า นี่มาเป็นตัวที่ ๒ จะมีคำถามอะไรหรือเปล่า
ถาม : ประทานกราบเรียนท่านอาจารย์เรื่อง สัมมาทิฏฐิ เคยเข้าใจว่า สัมมาทิฏฐิ นี่หมายความเห็นชอบ ในทางพุทธศาสนา คือ ความเห็นชอบ เข้าใจในไตรลักษณ์ในสภาวะความเป็นจริงของธรรมชาติ แต่ในบางแห่งรู้สึกขอบเขตของสัมมาทิฏฐิที่กล่าวในศาสนาพุทธ ค่อนข้างจะกว้าง บางแห่งกล่าวถึงการเชื่อในสังสารวัฎ เชื่อว่าถ้า ต้องเชื่อในการตายแล้วเกิดใหม่ จึงจะถือว่าเป็นสัมมาทิฏฐิของชาวพุทธ อยากจะกราบเรียนขอท่านอาจารย์ได้ให้ความกระจ่างแจ้งด้วยครับ
ตอบ : อันนี้ไม่มีอะไรมาก คืออย่างนี้ ท่านแบ่งสัมมาทิฏฐิเป็น ๒ ระดับ อันนี้ชัดเลย พระพุทธเจ้าตรัส บอกสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกียะ กับสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตตระ พอโยมได้ยินอย่างนี้ กระจ่างแจ้งไปเยอะ ทีนี้สัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกียะเป็นไง เชื่อกรรมดี ว่า “ทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว” เป็นต้น ที่โยมว่า เชื่อว่าสิ่งที่ทำไปแล้ว มีผลไม่ว่างเปล่า เชื่อว่าบิดามารดา มีเชื่อกายตายแล้ว เกิดอะไรต่างๆ เหล่านี้ นี่คือ สัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกียะ
ส่วนสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตตระ ก็คือ เข้าใจความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น นี่คือเข้าใจตัวสภาวะ ถ้าใช้ศัพท์ง่ายๆ โลกียะสัมมาทิฏฐิ ก็อยู่ระดับของกรรม สัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตตระ อยู่ระดับของธรรม นี่แยกง่ายเลย จะได้ไม่ต้องมาพูดเยอะ ระดับของกรรมก็คือ ยังอยู่กับสังสารวัฏ เรื่องของการกระทำ เรื่องของจิตปุถุชนที่ยังมีตัณหา มีความอยาก มีอวิชชา พวกนี้ยังมีเรื่องกรรมอยู่ ยังมีเจตนาว่าจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรต่างๆ เจตนาดีชั่ว เป็นกุศล อกุศล มันก็อยู่ในกฎแห่งเหตุปัจจัย ในระดับของกรรม คือเรื่องของผลในการกระทำของมนุษย์ ที่สัมพันธ์กับเจตจำนงค์ เจตนา แต่ทีนี้พอไปโลกุตตระสัมมาทิฏฐิ มันเป็นระดับของความจริงของสิ่งทั้งหลาย ตัวธรรมะเลย ธรรมชาติแท้ๆ เลย ตอนนี้มันพ้นการยึดติดแล้ว เป็นเรื่องปัญญาล้วนๆ พอจะเห็น ใช่ไหม
ก็ขอโมทนา โยมทุกท่าน ก็ขอให้ได้อย่างน้อยมีปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ บอกว่าพระพุทธเจ้าสอนเราเอาไว้ เอานี่ไว้ประจำใจ แล้วก็เราจะเจริญงอกงามในธรรมของพระพุทธเจ้าแน่นอน พระพุทธเจ้าตรัสไว้ พูดเสริมอีกแล้ว เดี๋ยวไม่จบ คือ แค่ปราโมทย์ตัวเดียว ไปนิพพานได้เลย ปราโมทย์พโลภิกขุ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ “ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ นั่นแหละอยู่ใกล้พระนิพพานแล้ว” ฉะนั้น ให้คิดว่า ถ้าเราทำใจปราโมทย์ได้ เราอยู่ใกล้พระนิพพาน เจริญพร ขอโมทนา