แม้ "ข้อความถอดเสียงนี้" จะพยายามให้ตรงกับเสียงต้นฉบับมากที่สุด ผู้ศึกษาพึงตรวจสอบกับเสียงธรรมบรรยายต้นฉบับ ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง [รับข่าวสารทางอีเมล]
ไฟล์ถอดเสียงนี้ยังไม่ได้ผ่านพิสูจน์อักษร นำขึ้นมาเพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ
พระนวกะ : ผมกราบขอความกรุณาเจ้าประคุณหลวงพ่อ ช่วยสอนวิธีไปสู่พระนิพพานในชาตินี้ โดยวิธีที่เข้าใจได้ง่าย เพื่อพวกเรา และผมเองนี่จะได้นำไปสอนครอบครัวทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และญาติโยมที่สนใจครับ
หลวงพ่อ : พูดได้หลายอย่าง ถ้าเราจะพูดตรงกลางหลักใหญ่ๆเนี่ย เช่นว่า โอ้ง่ายนิดเดียว จะไปนิพพานนะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ (ปาโมชฺชพหุโล) ผู้มากด้วยปราโมทย์ จักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป ปราโมทย์นี่เป็นสภาพจิตที่ดี เป็นสภาพจิตที่ร่าเริงเบิกบาน พอร่าเริงเบิกบานเนี่ย มันก็จะไม่มีความขุ่นมัวเศร้าหมอง หนึ่งในแง่สภาพจิตก็ดี มีความสุข แล้วพอมันไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง มันร่าเริงเบิกบาน มันก็เป็นจิตที่เปิด จิตที่เปิดมันก็ให้โอกาสแก่ปัญญา ตอนนี้ล่ะครับ มันจะพัฒนาไปด้านจิตด้านปัญญา
ฉะนั้นปราโมทย์มาเนี่ย ๑.นำไปสู่สมาธิ ฉะนั้นจะมีหลักที่ท่านเรียกว่า “ธรรมสมาธิ” มี ๕ ข้อ
๑. ปราโมทย์ ๒. ปีติ ๓. ปัสสัทธิ ๔. สุข ๕. สมาธิ
เวลาพระพุทธเจ้าตรัสถึงผู้ที่ปฏิบัติธรรมเนี่ย จะเริ่มจุดไหนก็แล้วแต่ ถ้าพระองค์ไปตรัสในระหว่างที่เค้าปฏิบัติไปแล้ว ก็มักจะตรัสอันนี้ด้วย เออพอเขาเริ่ม เช่นว่าเขาไปพิจารณาธรรม หรือไปสดับธรรมะมาแล้วก็มาไตร่ตรอง แล้วเค้าเกิดปราโมทย์ ทีนี้ให้มาเป็นชุด มีปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ ๕ข้อเนี่ย ท่านเรียกว่า ธรรมสมาธิ
พอธรรมสมาธิเกิดแล้วจะเกิดจิตตสมาธิ จิตตสมาธิก็สมาธิของจิต ก็หมายความว่า ไอ้ตัวความอยู่ตัวลงตัวของธรรมะ ที่มันสมดุล ก็ลงตัวนั่นแหละดีที่สุดแล้ว ที่มันจะทำให้จิตเนี่ยเป็นสมาธิ ๕ ตัวนี้ ท่านจึงเน้น ทีนี้เราไม่ค่อยพูดถึง เรียกว่า ธรรมสมาธิมี ๕ ตัว ปราโมทย์ ปีติ ปัสสัทธิ สุข สมาธิ
๑. ปราโมทย์ ความร่าเริง เบิกบานใจ
๒. ปีติ ความอิ่มใจ ความปลื้มใจ
๓. ปัสสัทธิ ความผ่อนคลาย สงบเย็นกายใจ พอถึงปัสสัทธิเนี่ย ด้านกายใจเนี่ยจะประสานกัน เนี่ยเป็นจุดบรรจบสำคัญ ปัสสัทธิ บอกว่าถ้ากายผ่อนคลายจิตผ่อนคลาย จิตผ่อนคลายกายก็ผ่อนคลายไปด้วย ทีนี้จะผ่อนคลายละปัสสัทธิ
พอปัสสัทธิเกิดทีนี้ก็สุข ความชื่นรื่นใจ
พอสุขมาก็เปิดโอกาสให้สมาธิ เพราะว่าถ้ามีทุกข์นี่จิตมันจะดิ้น มันถูกบีบคั้น พอสุขมันก็ปลอดโปร่ง คล่อง จิตมันไม่มีอะไรมากวน มันก็เลยได้โอกาสกะสมาธิ แต่ต้องระวังไม่งั้นก็ขี้เกียจไปเลย ทีนี้ถ้ามองในแง่จิตดีมันก็เป็นสมาธิ ฉะนั้นก็ ๕ ข้อ เอาละ พอพูดไปเข้าหลักเรื่องธรรมสมาธิ
ทีนี้ไม่ต้องพูดถึง ธรรมสมาธิ เอาตัวปราโมทย์เนี่ย แม้แต่ปราโมทย์ข้อเดียว พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลย
“ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ ปสนฺโน พุทฺธสาสเน อธิคจฺเฉ ปทํ สนฺตํ สงฺขารูปสมํ สุขํ”
ก็บอกว่า ภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์ มีจิตผ่องใสในคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็แปลว่า การเลื่อมใส จะบรรลุถึง สันตบท สันตบทก็หมายถึง นิพพาน บทที่สงบเป็นสันติ อันเป็นที่สงบการปรุงแต่งไปหมด หมายความว่าไม่มีการปรุงแต่งของสังขาร เป็นความสุขที่ปลอดโปร่ง เรียกว่า สงฺขารูปสมํ สุขํ ก็คือ นิพพานอันสุด ฉะนั้นก็ตั้งหลักไว้เลย มีจิตปราโมทย์ ได้แค่นี้ก็มีทางละ ก็เรียกว่า ท่านเริ่มเข้าสู่ทางละ ปฏิบัติถูก แค่นี้ก็ได้งานหนึ่งล่ะ ถ้าเอาอื่นก็เดี๋ยวค่อยว่ากันอีกที ได้แค่นี้ก็ยังบอกว่าเอ้อ อยากไปนิพพานก็ทำจิตให้ดีๆไว้ ทำจิตให้ร่าเริง เบิกบาน ใครจะมายั่วให้โกรธก็อย่าไปโกรธ เพราะเราเสียปราโมทย์ไม่ได้ ใช่มั้ยถ้าเราไปพลอยโกรธเค้า เราก็เสียปราโมทย์สิ แค่รักษาปราโมทย์ได้ จิตปราโมทย์โอ้ดีถมไปละ นี่ใกล้พระนิพพานเลยนะ เนี่ยภิกษุผู้มากด้วยปราโมทย์
อีกคาถาหนึ่งก็มี ปาโมชฺชพหุโล ภิกฺขุ เหมือนกัน ลงท้ายบอกว่ายังไง ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ ผู้มากด้วยปราโมทย์เนี่ยจักทำทุกข์ให้หมดสิ้นไป ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสติ ทำที่สุดแห่งทุกข์ก็คือนิพพานเหมือนกัน
อย่างนี้ก็ง่ายหน่อย ทีนี้เอายากเข้าไปอีกก็ค่อยว่ากันอีก นี้เอาอย่างง่ายเลย บอกญาติโยมเนี่ยทำใจให้ปราโมทย์ไว้ เรารู้นี่ปราโมทย์เพื่อส่งเสริมคุณภาพจิตใจ จิตใจจะได้ไม่ขุ่นมัว ไม่เศร้าหมอง ไม่มีอำนาจกิเลสเข้ามายุ่ง ใจปราโมทย์เนี่ยมันใจผ่อง มันร่าเริงเบิกบาน โล่ง ผ่อง อย่างนี้มันก็ดีสิ มันก็เป็นสภาพจิตที่ดีแล้วก็จะมีกิเลสมีอะไรเกิดได้ยาก เหมือนกะเกิดเหตุการณ์ร้ายเนี่ย เราก็รักษาปราโมทย์ไว้ อย่าไปปล่อยโกรธกะเขาด้วย ทีนี้พวกที่ไปอยู่ในฝ่ายเหล่าเนี้ย มีปราโมทย์ไว้ได้เนี่ย แกก็จะไม่ทะเลาะกะเรา ถึงจะเถียงกันอย่างไงก็ไม่ทะเลาะและก็ไม่ตบตีกันใช่มั้ย ไปบอกทุกคนในนั้นน่ะ ว่า ปราโมทย์ไว้ปราโมทย์ไว้ มันก็ไม่ทุบตีกัน แค่นี้ก็ได้ความละ รักษาสังคมได้เลย ท่านให้ปราโมทย์ไว้ เอาละปราโมทย์เนี่ยสำคัญ เพราะมันอยู่ในกระบวนการพัฒนาปัญญาด้วย เราก็พัฒนาปัญญา
ทีนี้ด้วยจิตที่ปราโมทย์เนี่ยเราก็รับฟัง เอ้อจะฟัง จะพูดอะไรมา จิตเราปราโมทย์เราก็ฟังได้ดีสิครับ ไม่ไปมัวติดมัวยุดถูกใจเราไม่ถูกใจเรา มันไม่มี มันก็ไม่โกรธไม่อะไรกัน ไม่งั้นไม่มีปราโมทย์แล้วมันยุ่งไปหมดล่ะ รับฟังกันก็ไม่ได้ ตั้งปราโมทย์เป็นหลักใจไว้ก่อนเลย เอาอันนี้ก่อนนะครับตกลง
พระนวกะ : ขออนุญาตนะครับ ปราโมทย์ที่ว่านี้หมายถึงว่า ทำใจให้เบิกบาน
หลวงพ่อ : ภาวะที่จิตเบิกบาน ร่าเริงเบิกบาน บันเทิง
พระนวกะ : ถ้ามันเป็นการบันเทิงจากการที่เราฟังสิ่งที่ชอบใจ อาจจะเป็นสื่อบันเทิง อาจจะเป็นเพลงอะไรอย่างนี้ครับ ฟังตลกอะไรอย่างนี้น่ะครับ
หลวงพ่อ : อันนั้นอยู่ที่สติต้องระวัง เพราะฉะนั้นท่านจึงยอมเหมือนกันนะเรื่องเพลงเรื่องอะไรเนี่ย คือ เราต้องนึกว่าพุทธศาสนานี่มองคนในแง่ของการพัฒนามนุษย์ ฉะนั้นท่านจะไม่ไปตอบอะไรที่เรียกว่า “เอกังสวาท” ตอบโผงๆ มันไม่ได้ๆ ต้องแยกแยะให้ดี แม้แต่คนชั่วพระพุทธเจ้ายังแยกเลย เค้าชั่วในแง่นี้ แต่เค้ามีดีแง่นี้ จะไปพูดลงไปผางลงไปไม่ได้เด็ดขาด
อย่างดนตรีนี่เป็นตัวอย่าง ดนตรีเนี่ยในระดับศีล๕ แล้วท่านไม่ว่า ท่านให้ฝึกตัวเอง ทำไมให้งดเว้นดนตรีในระดับศีล๘ ก็เพราะว่า อย่างน้อย หนึ่งจะได้ให้เริ่มเป็นอิสระ ไม่ไปฝากความสุขขึ้นต่อสิ่งภายนอก ม่งั้นต่อไปก็ต้องขึ้นกะมัน ไม่มีมันแล้วไม่มีสุข ต้องสามารถอยู่ได้เป็นอิสระ ลำพังตัวได้ แต่ว่าไปเกี่ยวข้องกับมันต้องใช้เป็นประโยชน์
อย่างเรื่องดนตรีนี่ในระดับศีล๕ ไม่มีปัญหาเลย พระพุทธเจ้ายังเคยแต่งเพลงให้มานพ คัมภีร์มีพระพุทธเจ้าแต่งเพลงให้มานพ แกจะไปเกี้ยวสาว เอาละเคยเล่าอยู่ในธรรมบท แต่ว่าพระพุทธเจ้าทรงมีในพระทัยแล้วเนี่ย จะนำเค้าสู่ประโยชน์ที่สูงขึ้นไป แล้วจะให้ประชาชนได้ประโยชน์ด้วย เพราะว่า ถ้าแกแต่งเองแล้วแกแต่งเพลงที่ไปย้อมจิตให้คนมัวเมาหมกมุ่น ก็จิตคนประชาชนเหล่านั้นก็ต่ำลง พระองค์ทรงแต่งให้ ก็กลายเป็นว่ามานพนี้ไปร้องเพลงนี้ ก็กลายเป็นว่าไปช่วยให้ธรรมแก่ประชาชนพวกนั้น ประชาชนก็มีจิตดีขึ้น ก็ยกระดับจิตใจ กลายเป็นทำบุญทำกุศล
เพราะฉะนั้นการวินิจฉัยอะไรเนี่ย บางทีท่านไม่พูดอันนั้นเป็นอย่างนี้มั้ย ท่านให้หลักการกว้างๆ เช่น อย่างว่าได้ยินได้ฟังอันนี้ แล้วอกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ อันนี้ดี ใช้ได้ หรือพบอันใดแล้วทำให้กุศลเกิดขึ้นหรือเจริญขึ้น กุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิด กุศลที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญภิญโญงอกงามยิ่งขึ้น ไม่ต้องไปพูดว่าไอ้อันนี้ดีหรือไม่ดีไม่ต้องพูด ใช้หลักกว้างเลย เข้าใจมั้ยนี่เป็นข้อปฏิบัติที่ใช้กันแต่ละคนได้ ได้ยินอะไรแล้ว อกุศลธรรมเสื่อม กุศลธรรมเจริญ อันนี้ใช้ได้ อันนี้เป็นหลักง่าย อันนี้ก็เป็นข้อหนึ่ง
หรือว่า อย่างถือธุดงค์เนี่ย ธุดงค์นี้ก็เป็นตัวอย่างเป็นข้อวัตร วัตรไม่ใช่ศีล วัตรคือข้อปฏิบัติที่ถือประจำ เพื่อประโยชน์ในการฝึกตนอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วก็ธุดงค์นี่ใครจะถือก็ได้ไม่ถือก็ได้ ถือเพื่อขัดเกลาตัวเอง ตัวเองนี่เป็นคนตามใจตัวเองในเรื่องนี้มากไป เช่น ตามใจในเรื่องฟุ่มเฟือย พระถึงจะไม่ฟุ่มเฟือยมาก บางทีก็ปล่อยตัวมีผ้าอดิเรกเยอะอย่างนี้ ก็เลยถือธุดงค์ซะ จะได้ใช้เฉพาะผ้าอย่างนี้เท่านั้น ธุดงค์ก็มีตั้ง ๑๓ ข้อให้เลือก ถือสั้น ถือยาวก็ได้ ถือก็ได้ ไม่ถือก็ได้ แต่ว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกตน นี่ท่านก็มีหลักว่า บอกว่าบางองค์ถือธุดงค์ข้อนี้แล้วอาจจะเสื่อมก็ได้ ไม่ใช่ถือธุดงค์แล้วจะดีเสมอไป ท่านก็บอกว่าตัวท่านน่ะ ถ้าถือธุดงค์ข้อนี้แล้ว อกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อมไม่ควรถือ ถ้าถือแล้วอกุศลธรรมเสื่อมหาย กุศลธรรมเจริญ ควรถือ อย่างนี้เป็นต้น นี้เป็นหลักที่ใช้ได้กว้างๆ ในกรณีที่เราไม่มีเรื่องเฉพาะ นี้ถ้าเป็นเรื่องของการฝึกตนที่เป็นเรื่องของชุมชนนี่ก็ต้องมีบทบัญญัติร่วมกัน อย่างศีลของพระเนี่ยก็เพื่อว่าจะได้ไม่เหลือขอบเขต
พอศีล๘ นี่ท่านให้ฝึกตน ฝึกตนว่า ลองซิว่าเราจะอยู่ได้และอยู่ได้ดีด้วยมั้ย โดยไม่ต้องพึ่งพาขึ้นต่อสิ่งเหล่านี้ ท่านจึงไม่ได้ให้ต้องถือตลอดเวลา เอ้อ คฤหัสถ์นี่มักจะมีความสุขจากการเสพบริโภคมากไป แล้วก็ไปๆก็ไปยุ่งกะการบันเทิงๆ ต่อไปมันกลายเป็นพึ่งพา มีความสุขแบบพึ่งพาขาดสิ่งเหล่านั้นไม่ได้ ทีนี้พอไปขึ้นต่อสิ่งเหล่านั้นแล้ว จิตใจก็ยิ่งวุ่นวายเพราะว่าคิดคำนึงไปหาสิ่งเหล่านั้นอยู่เรื่อย พอจะคิดถึงการเสพบริโภคแล้วก็โยงไปหาสิ่งที่เกี่ยวข้อง จิตใจก็ขุ่นมัวเศร้าหมอง มันก็ไม่เอื้อต่อการพัฒนาจิตใจ ท่านก็เลยเปิดโอกาสแก่การที่จะฝึกตนในการที่จะเจริญพัฒนาทางจิตกัน
พอคุณได้ศีล๕ นี่แค่ว่าให้สังคมเนี่ยมันไม่ลุกเป็นไฟ ให้มันอยู่กันได้ ไม่เบียดเบียนกัน ศีล๕ เอาแค่นั้น แต่ว่าถ้าเราต้องการจะฝึกชีวิตยิ่งขึ้นไป เราก็เริ่มทำชีวิตให้เป็นอิสระจากวัตถุเสพบริโภค ศีล ๕ เนี่ยมันมาช่วยคนในการที่เค้ายังหาสิ่งเสพบริโภค หากันนักหนาแล้วมันแย่งชิงเบียดเบียนกัน หาทรัพย์สินเงินทองไรต่อไร แล้วมันก็ทะเลาะกัน แล้วมันก็ฆ่าฟันกัน แล้วก็พูดปดพูดอะไรอย่างที่เราเล่าเรื่องสังคมพัฒนาวันนั้นน่ะ แค่สมัยโบราณเริ่มต้น พอว่าแบ่งเขตกันนิดเดียวยุ่งแล้ว แค่นั้นก็มุสา อทินนาทานา ปาณา มาได้หมดเลยแค่นั้นน่ะ นี่มนุษย์สังคมมันเป็นอย่างนี้ ต่างคนก็จะต่างหาเพื่อตนเอง ก็เลยว่า คุณจะหาก็หาไปไม่ว่าละ สุขจากเสพบริโภคก็ยอมรับมนุษย์ปุถุชนก็เลยเอา ๕ ข้อนี้ไว้ก่อน หาไปยังไงก็หาเหอะ อย่าละเมิด ๕ ข้อนี้ พอสังคมมันอยู่ได้ มันจะได้เป็นฐานให้มีทางพัฒนาอื่น
ทีนี้เราเกิดต้องการพัฒนาสูงขึ้นไป ท่านก็บอกว่า เอ้อคุณยังอยู่ศีล ๕ บางทีคุณยังพึ่งพาสิ่งเสพบริโภคมาก ยังหลงใหลมัวเมาได้ เป็นแต่เพียงไม่เบียดเบียนคนอื่น ตัวเองยังลุ่มหลงมัวเมา ท่านก็เลยเอ้าทีนี้มาฝึกตัวเองซะบ้าง ศีล๘ ที่เพิ่มน่ะไม่เกี่ยวกะคนอื่น ศีล ๕ นี่เกี่ยวทั้งนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกัน ๓ ข้อ ถ้าจะไปเปรียบ๓ข้อในศีล๘เนี่ย เป็นเรื่องตนเองหมดเลยไม่เกี่ยวกะคนอื่น ก็เป็นเรื่องตนเองที่จะได้ไม่ต้องพึ่งพาฝากความสุขไว้กับสิ่งเสพบริโภค สำหรับว่าฝึกตนว่า เออ๘วันทีนะ หรือคนจะถือมากกว่านั้นท่านก็ไม่ว่า เอาละแล้วแต่ใครจะตกลงใจกะตัวเอง ก็ให้ฝึกตัวเอง โดยว่า
เอ้อเราเคยกินอาหารตามชอบใจ ตอนนี้เรากินเป็นระเบียบ ฝึกตัวเองไม่กินเกินเวลานอกเวลา เอาแค่นี้พอมื้อเดียวหรือสองมื้อก่อนเที่ยง
แล้วก็เคยฟ้อนรำขับร้อง หาความสุขเพลิดเพลินกับเรื่องเหล่านี้ เออ ๘ วันงดซักทีเป็นวันอิสระงดบันเทิง
แล้วก็เคยต้องแต่งตัววุ่นวายกะเรื่องแต่งตัวเสียเวลาวันไม่ใช่น้อยนะ เงินก็เสียเยอะ ๘ วันก็ลองงดดูซักที
แล้วก็เคยนอนหรูหราตามใจตัวเอง ก็งดซักวัน เอาดูซิ
แล้วเราจะอยู่ได้ดีโดยไม่ต้องพึ่งพา แล้วเราจะอยู่ได้มีความสุขมั้ยโดยไม่ต้องพึ่งมันเนี่ย อย่างน้อยก็จะเป็นเครื่องเตือนสติตัวเอง แล้วก็ฝึกตัวเองว่า ให้เราอยู่ได้ อยู่ได้โดยไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งเหล่านี้ ไม่ให้เอาความสุขไปฝากไว้ ตอนนี้เริ่มจะมีความสุขแบบไม่พึ่งพา ความสุขจากการเสพบริโภคนี่ต้องพึ่งพา ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอก ต้องมีนั่นมีนี่ ไม่มีอยู่ไม่ได้ บางคนพึ่งพาเกินไปหมดอิสรภาพเลย ขาดไม่ได้แล้ว ขาดแล้วจะตายไม่มีความสุข นี้พอเราไม่ต้องมีแล้ว
ตอนนี้เราฝึกด้วยศีล ๘ เราก็เอ้อวันนั้นมีก็อยู่กันไปแล้วมีความสุข ถึงไม่มีก็ไม่เป็นไรเราก็อยู่ได้ ก็เลยมีโยมที่เอาคำไปพูด “มีก็ดี ไม่มีก็ได้” ตอนนี้ไอ้วัตถุเสพเหล่านั้นมันจะมาขั้นเนี่ย ที่เรารู้สึกว่าเราเริ่มเป็นอิสระมากขึ้น มีก็ดีแต่ไม่มีก็ได้นะ เออฉันไม่ถึงกะตายหรอก เราก็มีก็ดีไม่มีก็ได้
ต่อมาเรารู้สึกว่า ของมากมายมันเลอะเทอะรุงรัง แทนที่เราจะสุข มันไม่เป็นสุข นั่นแหละบางคนมันชอบโล่งๆ คล่องตัวดี ก็เลยชักจะกลายเป็นว่า “มีก็ได้ ไม่มีก็ดี” ใช่มั้ย เอ้อของเหล่านี้มีก็ได้ แต่ไม่มีก็ดี ไม่มีเรายิ่งสบายใหญ่ เป็นอิสระ ก็อย่างนี้ล่ะ เนี่ยฝึกตัวเอง ถ้าศีล๘ก็จะถึงขั้นเนี้ย มีก็ดีไม่มีก็ได้
ต่อจากนั้นก็จะฝึกต่อไป ทีนี้ก็ได้โอกาส เราก็ หนึ่งสงวนเวลา สงวนเรี่ยวแรงกำลังที่ไปยุ่งกะไอ้เรื่องการเสพบริโภคแสวงหาสิ่งเหล่านั้น ท่านก็ให้ใช้เวลาในการรักษาอุโบสถ ไปทำ “อนวัชกรรม” แล้วก็ฝึกฝนทางจิตปัญญา อนวัชกรรม ก็คือกรรมที่ไม่มีโทษ ก็คือบำเพ็ญประโยชน์ ไปช่วยเหลือคนยากจน ไปช่วยเหลือเด็กกำพร้า ไปทำอะไรต่ออะไรให้เป็นประโยชน์ หรือไปหาความรู้ ไปฟังธรรม ไปอ่านหนังสือ อะไรก็แล้วแต่เนี่ย อนวัชกรรมแล้วก็เจริญปัญญา ไปฟังธรรม ไปสนทนาธรรม ตอนนี้ก็ได้ประโยชน์ จากไอ้ตัวรักษาอุโบสถ ไม่ใช่รักษาเฉยๆ รักษาอุโบสถก็ไปฝึกตนและก็ใช้โอกาสให้เป็นประโยชน์ ก็โดยท่านเน้นว่าให้ทำอนวัชกรรม กรรมที่ไม่มีโทษ บำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ พอจะเห็นนะ ก็นี่แหละครับ
เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าเนี่ยไม่ใช่พูดอะไรเด็ดขาดทีเดียว ต้องแยกแยะเรียกว่า “วิภัชชวาท” แยกแยะว่าอันนี้มันจะดีในแง่นั้นเสียในแง่นั้น ถ้าเราปฏิบัติต่อมันอันนี้อันเดียวกันนี่แหละ คนนึงถ้าวางจิตหรือคนเดียวกันนี่แหละ ถ้าวางจิตอย่างนี้ก็ผิด วางจิตอย่างนั้นถูก จะเกิดคุณจะเกิดโทษ ไม่ต้องเด็ดขาด ต้องเกี่ยวกับตัวปัจจัยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องเข้ามา คนเรานี่มันละเอียดซับซ้อนมาก ฉะนั้นเป็นอันว่า ศีล ๕ ท่านที่เป็นนักดนตรีก็สามารถทำประโยชน์ได้ มนุษย์ทั่วไปในสังคมนี้ เป็นคนในระดับศีล ๕ ทั้งนั้นนี่ เราก็เอาดนตรีไปช่วยสิครับ ท่านมีเลยหลักของท่าน ดนตรีประกอบธรรมกับธรรมประกอบดนตรี ถ้าเอาธรรมะไปประกอบดนตรี อ้าขออภัย เพลงประกอบธรรม ธรรมประกอบเพลง เอาธรรมะไปเล่นซะนี่ อย่างนี้ไม่ถูกท่านไม่เอาด้วย แต่ว่าเอาเพลงมาเป็นเครื่องประกอบธรรม ช่วยสนับสนุนทำให้จิตของคนเนี่ยเกิดความเบิกบานผ่องใสอะไรเนี่ย ท่านให้เลย
เพราะฉะนั้นในพระไตรปิฎก ก็มีพระสูตรหนึ่งที่เป็นเพลง คือ ปัญจสิขาเทพบุตร เป็นลูกน้องพระอินทร์ ก็ไปรักกะเทพธิดาคนหนึ่ง ก็ร้องเพลงที่มีธรรมะด้วยนั่นน่ะ อะไรก็ใช้พูดสำนวนไม่ถูก คือเขาร้องเพลงถึงคู่รักของเขาน่ะด้วยจิตใจที่คิดถึง เนี่ยอยู่ในพระสูตรเลยนะ ชื่อ “สักกปัญหสูตร” มีเพลงของปัญจสิขาเทพบุตร ซึ่งในนั้นก็มีทั้งเรื่องของการพรรณนาความรักกะคู่รัก พร้อมทั้งเรื่องของความเลื่อมใสต่อพระรัตนตรัย ถ้าหากว่าอย่างนี้มันยังโยงกันอยู่เนี่ย จะโยงจิตของเขาขึ้นมาสู่ความดี ไม่ใช่เอาไอ้สิ่งเหล่านี้มาพาคนให้ลุ่มหลงไป นั้นเราก็อย่าทิ้งโอกาส ที่ว่า เอ้อทำไงเมื่อเราทำดนตรีได้เพลงได้ เราต้องหาทางเอาเพลงดนตรีเนี่ยมาช่วยคน มาเป็นเครื่องปลุกเร้ากุศล หรือนำคนเข้าสู่กุศลธรรม ทำพัฒนาจิตใจให้ดีขึ้น แล้วเพลงก็จะเป็นประโยชน์
เรื่องคาถาอะไรต่างๆเนี่ย กึ่งเพลงทั้งนั้น คาถาเนี่ยเป็นคีตที่สังคายนาก็ “สังคีติ” สวดพร้อมกัน การสวดนี่เป็นกึ่งเพลงเข้าไปแล้ว สวดที่เพราะขึ้นไปอีก เค้าเรียกว่า “สรภัญญะ” แทบเป็นเพลงเลย พระพุทธเจ้าก็อนุญาต มีในวินัยปิฎก พระเนี่ยไปดูการมหรสพ เค้าเรียกว่า (คี รัก คะ สะ มัช ชะ) การละเล่นเป็นยอดเขา อย่างพระสารีบุตรโมคคัลลานะ ที่ออกบวชก็เพราะไปดู (คี รัก คะ สะ มัช ชะ) เนี่ยมหรสพบนยอดเขาเนี่ยดูสิ วางจิตดีบางทีไอ้สิ่งเหล่าเนี้ยมันกลับทำให้ได้ธรรมะนะ มันไปกระตุ้น กระทบ พระสารีบุตรโมคคัลลานะ พระอุปติสสะโกลิตตะ ไปดูมหรสพบนยอดเขาก็ได้รู้สึกขึ้นมา เพราะมีประสบการณ์มาก เหมือนกับปลงเลย จิตปลง โอ๋เนี่ยโลกเป็นอย่างนี้ เห็นมนุษย์ลุ่มหลงอะไรต่อไรก็แล้วแต่ คือถ้าที่จิตขึ้นมาพัฒนาระดับหนึ่งเนี่ยมันจะมีมองเปลี่ยนไป ก็เป็นเหตุให้ออกบวช
อ้าวแต่ทีนี้พระไปดูมหรสพบนยอดเขา ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ชาวบ้านติเตียนว่าทำไมพระไปเที่ยวดูมหรสพเหมือนชาวบ้าน พระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทไม่ให้ดู ทีนี้ก็พระชุดนี้แหละไม่ได้ไปดูมหรสพ วันนึงก็ร้องเพลง ไม่ได้ไปดูมหรสพก็เอาเพลงมาร้อง พระพุทธเจ้าก็บัญญัติสิกขาบทอีก ไม่ให้พระร้องเพลง นี้พอพระทั้งหลายพอพระพุทธเจ้าบัญญัติสิกขาบทนี้ก็ เป็นบทสวดชนิดหนึ่ง สรภัญญะ เนี่ยเป็นการสวดที่ไพเราะมาก ก็รังเกียจไม่กล้า สวดได้หรือเปล่า ก็เลยไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า เราอนุญาตสรภัญญะ ก็แปลว่า การใช้เสียงเป็นเครื่องกล่าว กล่าวธรรมด้วยเสียง เอาเสียงเป็นเครื่องมือในการกล่าวธรรม เอาเสียงเป็นสื่อ ไม่ใช่เอาแค่คำพูดนะ ตามปกตินี่เราเอาคำพูดเป็นสื่อธรรมะใช่มั้ย คำพูดนี่ก็พูดดีก็ได้พูดไม่ดีก็ได้ ก็เหมือนกัน คำพูดที่ไม่ดีมันก็ทำให้เกิดความเสียหาย เกิดอกุศลธรรม แต่ว่าคำพูดนี่เมื่อพูดธรรมก็ไม่เป็นไรก็เป็น “ธรรมกถา” ไป ทีนี้ถ้าเพราะขึ้นไปจากธรรมกถาก็เป็น “ธรรมคาถา” ตอนนี้ชักไพเราะละ เป็นโคลงฉันท์กาพย์กลอนละ ธรรมคาถา เอาล่ะทีนี้ พระท่านก็ถามพระพุทธเจ้าว่า สรภัญญะ นี่จะทำยังไง พระพุทธเจ้าก็อนุญาต ก็หมายความว่า ตอนนี้ไม่ใช่แค่ใช้ถ้อยคำคำพูดเป็นสื่อธรรมะ เอาเสียงเป็นสื่อ ก็คือเสียงที่ไพเราะ มีความเป็นระเบียบ ราบรื่น กลมกลืนอะไรนี่แหละ เป็นสื่อธรรมะได้ ทำให้จิตคนเนี่ยฟังแล้วเกิดความปลาบปลื้มปีติ เกิดปราโมทย์
ถ้าท่านทำเป็นนะครับ พวกบทเพลงดนตรีเนี่ย ทำให้จิตคนปราโมทย์ร่าเริงเบิกบานใจ ก็อยู่ที่ว่ามันทำให้จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ถ้าดนตรีนั้นทำให้จิตคนเป็นกุศลก็ถูกต้องดี แต่ถ้าทำให้เค้าฟังแล้วเกิดอกุศลไม่ดี แล้วมันก็ขึ้นกับผู้ฟังด้วยนะ บางอันเนี่ยก้ำกึ่ง บางคนฟังแล้วเกิดกุศล บางคนฟังแล้วเกิดอกุศล เราก็ต้องระวังไม่ประมาท เมื่อท่านจะทำก็ต้องพยายามทำให้โน้มจิตไปทางกุศลก็กลายเป็นว่าดี สำหรับปุถุชนเนี่ยเราต้องยอมรับเขาตามที่มันเป็น เค้าอยู่ในระดับการพัฒนาขั้นนี้ เราจะช่วยเค้าได้ยังไง เครื่องมือ อุปกรณ์ เรามีเจตนาดีต่อเขา ก็เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าก็วางแนวไว้ให้แล้ว ระดับศีล๕ ท่านบอกว่าเอามาใช้ แต่ใช้ให้เป็นเครื่องมือในการพัฒนากุศล
ทีนี้พอเราจะฝึกต่อไป ก็อยู่ที่ว่าตอนนี้ชั้นจะเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อสิ่งภายนอก ให้อยู่กะใจตัวเองได้ ให้ไปสู่ภายใน พัฒนาสู่ที่เป็นอิสระ แล้วก็เจริญจิตเจริญปัญญาขึ้นไป เพราะมันเป็นขั้นตอน อันนี้ล่ะที่อยากจะพูดอีก การพัฒนามนุษย์ในทางศาสนา พุทธศาสนาไม่ได้ถือสังคมแบบเป็นอย่างเดียวตายตัว นี่เป็นจุดสำคัญ “ทิฏฐิ” ทิฏฐิของนักอะไรทั้งหลายเนี่ย ที่เค้ามีความหวังดีกะสังคมเนี่ย มันไปจบตรงนี้ คือ สังคมจะต้องเป็นอย่างนี้ แล้วก็ห้ำหั่นฆ่าฟัน จะต้องทำสังคมให้เป็นอย่างที่ฉันคิดให้ได้
อย่างพอลพตเนี่ย ตัวอย่างที่เด่นมาก ต้องการให้สังคมเป็นอุดมคติตามลัทธิคอมมิวนิสต์ของแก แกไม่ทันใจ รอไม่ไหวละ แกก็เลยฆ่าชนิดที่เรียกว่าไม่ยั้งเลย ฆ่าเป็นล้านๆ ก็เพราะทิฏฐิ นี้พวกที่แม้แต่มีความหวังดีต่อสังคม มีจริยธรรมดี แต่เป็นพวกที่มีปัญหาติดทิฏฐินี้มาก แล้วถ้าไม่เบียดเบียนห้ำหั่นคน ก็ไม่ประสบความสำเร็จในที่สุด
ท่านเหมาเจ๋อตุง ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็น่าจะอยู่ในข่ายนี้ด้วย ท่านก็หวังดีแน่ต่อประชาชน แต่แนวคิดคอมมิวนิสต์ตามสังคมเสรีประชาธิปไตย ก็มีทิฏฐิคนละแบบที่ตรงข้าม แต่เป็นทิฏฐิชนิดหนึ่ง ก็คือเป็นทิฏฐิที่ว่า เหมือนกะมีตัวตายตัวแบบแผนอย่างเดียว ว่าต้องเป็นอย่างนี้ ทีนี้ก็ทะเลาะกันละ ท่านเหมาเจ๋อตุงก็สังคมอุดมคติของท่านนี่ต้องเหมือนกันเลย ประชาชนเหมือนกันใช่มั้ย ตอนนั้นเนี่ยแต่งตัวเหมือนกันหมดเลยทั้งประเทศจีนใช่มั้ย นึกออกมั้ย แต่งตัวรู้สึกว่าใช้เสื้อผ้านุ่งกางเกงเสื้อชุดสีเทาๆมั้ง แทบจะเป็นพระจีน พระเกาหลี พระจีนยังเทาบ้างเหลืองบ้าง แต่พระเกาหลีนี่เทาหมด ถ้าว่าไปก็เหมือนกับว่า ท่านเหมาเจ๋อตุงจะให้คนจีนเป็นพระเกาหลีหมด แต่งชุดสีเทาหมด เสร็จแล้วไปไม่ได้ ในที่สุดพอมันระเบิดนี่มันไปสุดกู่เลยใช่มั้ย กลายเป็นว่าจีนนี่หนักเข้าไปอีก พอพ้นอำนาจท่านเหมาเจ๋อตุง ไปกันใหญ่เลย หรูหราฉูดฉาด ฟุ้งเฟ้อ อะไรต่ออะไรกันเต็มที่เลย มันกลายเป็นสุดโต่ง กลายเป็นว่าสุดโต่งสองทาง
นี่ล่ะครับที่เป็นจุดที่สำคัญ ทิฏฐิมนุษย์ ก็จะมีความยึดถือแม้แต่ในแง่ของผู้หวังดีต่อสังคม พวกนี้โดยมากจะมีจริยธรรมดี พวกที่มีปัญหาเรื่องทิฏฐิ ไม่คอรัปชั่นไม่อะไร เป็นนักการเมืองที่ดีเลย แต่ว่ามีความคิดติดในทิฏฐิของตัว ที่ว่าสังคมจะต้องเป็นอย่างนี้ แล้วพอมันยึดแรงเข้ามันทนรอไม่ได้น่ะครับ ทนคนอื่นก็ไม่ได้ ทนเวลาก็ไม่ได้ พอลพตก็ทนเวลาไม่ไหว ไอ้พวกนี้เข้าไม่ได้จับฆ่าหมด สังคมมันยังไม่เป็นยังงี้จะเป็นยังไง คนในเมืองพนมเปญนี่เอาออกนอกเมืองไปอยู่ชนบทหมด เอาทั้งเมืองน่ะครับ แล้วก็ให้ทุกคนในประเทศเปลี่ยนชื่อหมด เอากันชนิดเรียกว่าถอนรากถอนโคนเลย สังคมใหม่ นี่คือสร้างสังคมใหม่ในฉับพลันทันที เสร็จแล้วเวียดนามทนไม่ไหว ๓-๔ปีส่งกองทัพมาสู้ยึดได้พนมเปญเลยใช่มั้ย พอลพตก็ต้องออก นี่อย่างท่านเหมาเจ๋อตุงท่านยังไม่รุนแรงเท่านี้ แต่ว่ารวมแล้วก็คือ จะมีทิฏฐิแบบว่ายึดถือต้องเป็นอย่างนี้
ท่านจะต้องมาเทียบกับพุทธศาสนา พุทธศาสนาถือว่ามนุษย์นี่อยู่ในระดับต่างๆของการพัฒนา แม้แต่ความสุขก็ยังต้องการไม่เหมือนกันเลย ไอ้นี่ไปบังคับจะให้เค้ามีความสุขแบบเดียวกัน แล้วจิตเค้าไม่ถึงแล้วจะไปบังคับกันยังไง มันเป็นไปไม่ได้ มันอยู่ไม่รอด นั้นท่านต้องคู่กันไป สร้างระบบสังคมที่ในนั้นมีภาวะหลากหลาย ที่จะเหมาะกะคนที่พัฒนาในระดับนั้นๆ คนก็ต้องการความสุขไม่เท่ากัน คนต้องการความสุขระดับนี้ก็มีแต่ขอบเขตว่าไม่ให้ละเมิดไม่ให้เสียหายแค่นี้ละเอาได้ ยอม แต่ว่ามีเกณฑ์อย่างมีเงื่อนไขว่า คุณต้องพัฒนาตลอดเวลา ขออย่างเดียวก็คือว่ายอมรับคนตามที่เค้าเป็นในทุกระดับ แต่ขออย่างเดียวว่า คุณอย่าหยุดการพัฒนา แล้วเราก็จัดสังคมที่เหมาะกะคนที่มีพัฒนาการในระดับต่างๆ ต้องเป็นสังคมแบบนี้ นี่พูดง่ายๆเลย
ลองไปคิดดูสิ ระบบสังคมในพุทธศาสนาเนี่ย เป็นสังคมที่จัดโดยมีอะไรทุกอย่างที่มันสนองต่อความต้องการที่เหมาะกะคนที่มีพัฒนาการในระดับนั้นๆ โดยมีกรอบเกณฑ์อย่างต่ำว่า ไม่ให้ละเมิดอันนี้ๆเช่น ศีล ๕ ที่จะทำให้เกิดการเบียดเบียนอยู่กันไม่ได้ และก็กรอบอย่างสูงอย่างของพระนี่ก็มี เกณฑ์อย่างต่ำ เกณฑ์อย่างสูง มีหลายอย่างที่ท่านให้เลือกเอา พระบวชเข้ามาแล้ว ถือศีล ๒๒๗ เหมือนกัน แต่อัธยาศัย ความต้องการ การพัฒนา ไม่เท่ากัน ก็ต่างกันอย่างนี้ก็ให้เลือกเอา อย่างธุดงค์ที่ผมเล่าให้ฟังก็เป็นตัวอย่างของการที่ให้เลือกได้ในข้อปฏิบัติ จะอยู่ป่าอยู่บ้านเลือกเอา จะอยู่นานหรืออยู่สั้นก็เลือกเอา พระองค์นี้อยากจะไปถือธุดงค์อยู่ป่า เอ้าไปอยู่ ท่านอยู่๓เดือนก็พอเอ้าก็พอ ท่านนี้อยู่ตลอดชีวิตก็เอา ท่านไม่ว่า ให้เลือกได้เท่านั้น เนี่ยๆ คือระบบแบบนี้ที่ว่ามีกรอบระดับหนึ่ง แต่ผู้ที่จะเข้าสู่กรอบนั้น ถามก่อนคุณสมัครใจมั้ย เมื่อสมัครใจก็ยอมรับละ ฉันเอากรอบนี้ และกรอบนี้ก็เป็นเครื่องฝึกเรา เนี่ยทำไงเราจะสร้างสังคมแบบพุทธได้ ยากมั้ย พอเห็นมั้ยฮะ ไม่เหมือนเลย เราอย่าไปเทียบสังคมคอมมิวนิสต์ สังคมทุนนิยม สังคมเสรีนิยม อะไรนั่นน่ะ ไม่เหมือนพุทธศาสนาหรอก อ้าวเดี๋ยวจะเกินไป ถ้ามีโอกาสก็คุยเรื่องนี้ต่อ
นี่ก็มีเรื่องค้างจากครั้งก่อนเรื่องปราโมทย์ ทางไปนิพพานก็มีสภาพทางจิตที่สำคัญก็คือ ปราโมทย์ ถ้ามีญาติโยมมาถามก็บอกว่า โยมทำใจให้ปราโมทย์ให้ได้ก่อนทำได้มั้ย ถ้าแค่ปราโมทย์ยังทำไม่ได้ โยมไปนิพพานยาก ต้องสามารถทำใจให้ปราโมทย์ เพราะเป็นใจที่เข้าแนวทางพระนิพพาน
ทีนี้ปราโมทย์นั้นไม่ใช่ว่าจะต้องดีเสมอไป เดี๋ยวจะเข้าใจผิด ปราโมทย์แล้วก็ปีติ โดยเฉพาะปีติ เราพูดกันในแง่ดี คือ ในแง่ดีนั้นดีแน่ แต่ว่ามันก็มีเงื่อนไขว่าในบางกรณีอาจจะเป็นปัญหา ขึ้นต่ออารมณ์ อารมณ์ก็คือ สิ่งที่เราปรารภทำให้เกิดปีติปราโมทย์นั้น เข้าใจมั้ยไม่ใช่อารมณ์ในภาษาไทยนะ อารมณ์หมายถึงสิ่งที่จิตไปเกาะไปจับหรือไปปรารภ นึกถึงอะไรนั่นเอง นึกถึงอะไรก็เกิดปีติขึ้นมา
อย่างว่า ปีติ ปลื้มใจ อิ่มใจเนี่ย อาจจะเกิดจากความโลภก็ได้ ประกอบกับความโลภ เช่น ได้อะไรสมใจ อยากได้อะไรได้สมใจ ก็เกิดปีติปลื้มใจอิ่มใจ อย่างนี้มันก็ประกอบอยู่กับอกุศล ก็เป็นปัญหาได้ จิตมันก็ไม่โปร่งแท้ มันก็จะมีปัจจัยที่จะนำไปเขวออก
หรือเกิดจากความโกรธก็ได้ เช่นว่า โกรธตาคนนั้น ได้ทุบเค้าสมใจเนี่ยนะ ก็ปีติเหมือนกัน อิ่มใจ เอออย่างน้อยได้ทุบเค้าได้ตีเค้าสมใจก็เกิดอิ่มใจ หรืออย่างเขามายกย่อง พูดจายกย่องชมเชยอะไรต่อไร ก็เกิดลำพองใจ เหิมใจ อย่างนี้ก็ปีติเกิดเหมือนกัน
ท่านบอกปีติมันจะมากับโสมนัส ปีติจะไม่เกิดโดยปราศจากโสมนัส โสมนัส ก็ดีใจ อิ่มใจ ปลื้มใจ นี่พอเค้ามายกย่องสรรเสริญก็ปลื้มใจ ทีนี้มันก็โยงมาหากิเลสได้ ก็ทำให้จิตเนี่ยไม่โล่ง ไม่โปร่ง ขุ่นมัว ในแง่ของธรรมะเนี่ยถือว่ามีตัวที่มันไม่โล่ง พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้ถึงเรื่องที่ว่า ถ้ามีใครมายกย่องสรรเสริญ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ก็อย่าให้เหิมใจ เนี่ยถ้าเกิดปีติในกรณีนี้ต้องระวัง คือต้องระวังจิต มิฉะนั้นมันจะเอนเอียงได้ก็ต้องให้ตั้งอยู่ในปัญญา มีสติตั้งมั่นไว้ แล้วก็มีปัญญามาคอยกำกับเพื่อไม่ให้เฉ ไม่งั้นเดี๋ยวมันเกิดความหลงเพลิน หรืออย่างเนี้ย เช่นว่า เรามีปัญหากะคนหนึ่งเป็นศัตรูหรืออะไรก็แล้วแต่ ได้ยินข่าวอีตาคนนั้นตายแล้วเนี่ยเกิดปราโมทย์เลย บันเทิงใจ ร่าเริงใจ อย่างนี้ก็เกิดปัญหาเพราะว่า มันมีไอ้ตัวประกอบที่มันพ่วงอยู่ด้วยที่มันไม่ดี แล้วมันจะปรุงแต่งไปตามนั้น
นี้ปราโมทย์ตามปกติจะเป็นตัวหลัก เพราะเป็นภาวะจิตที่ตามปกติก็คือไม่มีอะไรมารบกวนมันหรือมาขัด มาขวาง มาบีบ มาคั้น มากดมัน ถ้ามีพวกกิเลสมา แล้วก็จิตมันก็จะถูกกดถูกทับถูกบีบถูกชักพาอะไรต่อไร นี้จิตที่มันโล่งเนี่ย มันจะปราโมทย์ เรียกว่าจิตที่ไม่มีนิวรณ์ จิตปราศจากนิวรณ์ก็ปราโมทย์ ปรารภอารมณ์ที่มันดีๆงามๆ ที่เป็นกลางๆเช่นอย่างธรรมชาติเนี่ย ต้นไม้ ท้องฟ้า มันเป็นกลางๆ ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะฉะนั้นธรรมชาติเนี่ยก็เป็นจุดปรารภที่ทำให้จิตปราโมทย์ได้ง่าย ก็คือจิตมันไม่มีอะไรเข้ามายุ่งมากวน มันพร้อมที่จะมีปราโมทย์ ถ้ามันมีอะไรมากวนอยู่มันก็ปราโมทย์ไม่ได้ นั้นท่านจึงให้ความสำคัญกับจิตปราโมทย์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่เราก็ต้องดูด้วยว่า พร้อมกับความปราโมทย์นั้นมันมีตัวอะไรพ่วงอยู่รึป่าว ถ้าอารมณ์ที่อยู่ด้วยก็เป็นสิ่งที่ดีงามหรือเป็นสิ่งที่กลางๆ ก็กลายเป็นว่าจิตเวลานั้น ปลอดโปร่งจากนิวรณ์ ปลอดโปร่งจากนิวรณ์ก็ดีสิ ก็พร้อมจะเดินหน้าไป
ท่านให้ความสำคัญมากเรื่องจิตปราโมทย์ ปราโมทย์เนี่ยจะเป็นตัวเริ่มต้นแล้วก็ต่อด้วยปีติ แต่ว่ามันยังปลอดภัยกว่าปีติ เพราะปีตินี่ คือถ้ามันอยู่ข้างดี มันตามปราโมทย์ที่ดีมันก็ดีไปเลย แต่ว่ามันอาจจะไปเกิดจากอารมณ์ที่ไม่ดีก็ได้อย่างที่ว่าเมื่อกี้ ปีติปลื้มใจที่ได้ทุบเขา โกรธได้สมใจอะไรอย่างนี้นะ หรือโลภ หรือว่าเค้ามายกย่องสรรเสริญอย่างที่พูดไปแล้ว นั่นล่ะปีติมันจะเกิดแบบนี้ เอานะฮะ เป็นอันเข้าใจ เป็นอันให้ปราโมทย์โดยอยู่กะอารมณ์ที่เป็นกลางๆ หรือ เรื่องที่ดีงาม โดยเฉพาะท่านบอกว่า สิ่งที่จะช่วยให้จิตปราโมทย์ได้ดี ก็ ทาน ศีล ภาวนา และความมีไมตรีจิต มีมิตรภาพกับบัณฑิตกับกัลยาณมิตร ก็จะทำให้จิตมีโอกาสปราโมทย์ได้ดี ก็จะเห็นว่าท่านให้ความสำคัญในเรื่องสภาพสังคม กัลยาณมิตรอะไรพวกนี้ก็เป็นพวกด้านสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี ถ้าไม่ใช่กัลยาณมิตรคนดีก็เป็นสิ่งแวดล้อมประเภทธรรมชาติ จิตมันก็ปราโมทย์ โปร่ง ร่าเริง เบิกบาน ไม่มีอะไรมากด มาบีบ มาทำให้มันวุ่นวาย ถ้าจิตโล่งๆโปร่งๆเนี่ยมันก็เท่ากับเปิดโอกาส จิตมันก็ดีเป็นกุศล มันก็เปิดโอกาสให้เราก้าวไปในธรรมะได้ เพราะจิตที่จะก้าวไปในธรรมะก็ต้องเป็นจิตที่ไม่มีอะไรมาขัดขวาง เช่น นิวรณ์ นิวรณ์นี้เป็นตัวสำคัญ ปราศจากนิวรณ์จิตมันก็พร้อมที่จะปราโมทย์ นี่ถ้ามันมีนิวรณ์อยู่มันก็ปราโมทย์ไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นว่า ในแง่หนึ่งปราโมทย์ก็เป็นเครื่องหมายบอกว่า เอ้อตอนนี้อยู่ในสภาพจิตดี นั่นก็ให้ฝึกอย่างน้อยก็เอาอันนี้ก็ยังดี โยมมาพบกันก็เอ้อ คุณอยากจะปฏิบัติธรรม อยากไปนิพพานก็ทำจิตให้มันปราโมทย์ดูซิ ถ้าทำยังไม่ได้ก็มีตัวขวางละ ไม่ค่อยดี ไม่ค่อยพร้อม ก็เห็นจะพอนะฮะ เติมซะ
แต่ว่ามีอันหนึ่งที่อยากจะย้ำ ก็เรื่องเก่าแหละ คือทำไมพระพุทธเจ้า จึงได้ทรงเน้นย้ำตรัสบ่อยนักเรื่องปราโมทย์เนี่ย การปฏิบัติธรรมในแง่โน้นแง่นี้ก็ตรัส แม้แต่ตรัสแบบลำดับ อย่างที่ตรัสเป็นกลางๆเริ่มเข้ามาสู่พระศาสนา มาเป็นพระภิกษุบวชแล้วก็รักษาศีลอะไรต่างๆเหล่านี้ แล้วก็ไปต่อด้วยปราโมทย์ ไม่มี “วิปฏิสาร” ไม่เดือดร้อนใจ ก็มีปราโมทย์ ปราโมทย์แล้วก็ไปปีติต่อ ตรัสเรื่อยแหละ แง่หนึ่งที่น่าพิจารณาก็คือว่า สภาพจิตแบบปราโมทย์ ร่าเริงเบิกบาน สดชื่น โปร่งๆโล่งๆเนี่ย มันก็คล้ายกับธรรมชาติของจิตเอง จิตโดยธรรมชาติของเค้าเองที่ไม่มีอะไรเข้ามารบกวน เข้ามาวุ่นวาย หรือเข้ามาเคลือบแฝง มาบีบมาคั้นมาครอบงำอะไรต่างๆ จิตนั้นจะเป็นจิตที่ใส
เคยได้ยินมั้ย พุทธพจน์ที่ว่า “ปะภัสสะระมิทัง ภิกขะเว จิตตัง” และก็มีตรัสต่อไปอีกบอกว่า “อาคันตุเกหิ อุปักกิเลเสหิ อุปักกิลิฏฐัง” แปลว่า ภิกษุทั้งหลายจิตนี้ประภัสสร ประภัสสร ก็แปลกันว่า ผ่องใส แต่ขุ่นมัว เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสที่จรมา อุปกิเลส ก็คือ สิ่งที่ขุ่นมัวเศร้าหมอง พวกกิเลสก็คือสิ่งที่เศร้าหมอง ก็ โลภะ โทสะ เป็นต้น หรือแม้แต่ความรู้สึกไม่สบาย รู้สึกจิตใจไม่โล่งไม่เบาเนี่ย ก็เป็นภาวะที่มีความขุ่นมัว
นี้ที่เราปฏิบัติธรรมกันในแง่หนึ่งก็คือว่า ไม่ให้โอกาสหรือว่าไม่ยอมให้พวกกิเลสสิ่งเศร้าหมองเข้ามาครอบงำจิตใจ ถึงกับพูดกันว่า ชำระจิต เช่น ชำระจิตจากนิวรณ์ มันมีกิเลสเข้ามา เราก็มีสติเป็นต้น หรือว่ามีวิธีการปฏิบัติที่เหมือนกะขับไล่มันออกไป ก็ทำให้จิตเนี่ยอยู่ในภาวะของเค้าเอง เป็นสภาวะตามธรรมชาติ คือตัวจิตเองก็คือภาวะของเขา สมัยก่อนถึงกะพูดกัน บอกว่าจิตเดิมแท้เป็นจิตที่บริสุทธิ์ อะไรเนี่ย แต่อันนี้ที่จริงคำนั้นมันเป็นปัญหาทางภาษา พอไปบอกว่าจิตเดิมแท้ คำว่าเดิมเนี่ยมันให้ความหมายไปทางกาลเวลา ใช่มั้ยเหมือนกับว่าเอ้อ ในอดีตต้นเดิมแท้ๆเนี่ยมันบริสุทธิ์ แต่นี้คำว่าเดิมในอีกความหมายหนึ่ง ก็คือว่า สภาวะดั้งเดิมของมันเอง สภาวะมันเองอ่ะ ที่จริง คำว่า “เดิม” มันกำกวมอย่าไปใช้ดีกว่า ก็คือ โดยสภาวะหรือโดยธรรมชาติเค้าเอง ไม่ต้องไปพูดว่าเดิมหรือไม่เดิม เดิมแล้วเดี๋ยวยุ่งว่านึกถึงกาลเวลาในอดีต
เหมือนอย่างเราพูดถึงท้องฟ้า ว่าบนท้องฟ้าเนี่ยเดิมก็โล่งโปร่งผ่องใส อ้าวเดี๋ยวก็ไปถามว่า สมัยเดิมเมื่อไหร่อีก ก็ไม่ต้องพูดเดิมก็ได้ บอกว่า ฟ้าเนี่ยโดยสภาพของมันเองธรรมชาติ มันก็เป็นของมันอย่างนั้น ฟ้ามันก็โล่งของมันอย่างเงี้ย เป็นแต่ว่า ที่มันฟ้าหมองฟ้ามัว ก็มีเมฆ มีหมอก มีควัน มีฝุ่นละออง นั่นเรียกว่าจรมาไง เป็นของแปลกปลอม ไม่ใช่เนื้อตัวของฟ้า
เนี่ยจิตของเราเนี่ยโดยธรรมชาติเค้าเอง ก็เป็นจิตที่ผ่องใส พระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปอีกว่า ถ้าหากว่าจิตนี้มันไม่ใช่ของสะอาดผ่องใสอย่างนั้นแล้ว การที่จะกำจัดกิเลสมันก็เป็นไปไม่ได้ แต่เพราะเหตุที่ว่า ธรรมชาติของมัน คือของที่บริสุทธิ์หรือสะอาดอย่างที่ว่า การชำระกิเลสก็เป็นไปไม่ได้ เราก็ไม่ให้โอกาสมัน ไม่ให้กิเลสมายุ่งมาครอบงำ มารบกวนจิตใจ นี่คนที่ทำจิตใจให้ปราโมทย์ได้ ก็เหมือนกับว่า ทำใจให้อยู่ในภาวะที่ใกล้เคียงกับสภาพของมันเอง ธรรมชาติของมัน ก็เท่ากับว่าไม่มีสิ่งมัวหมองพวกอุปกิเลสเข้ามาครอบงำ ก็เลยเป็นภาวะที่ดี นั่นก็เลยเหมือนกับว่า ตั้งอยู่ในจุดที่ไปนิพพานได้ง่าย ใกล้เข้าไปละ เพราะว่า ภาวะจิตอันเนี้ยใกล้กับสภาพที่ดีของเขา ที่ปลอดโปร่ง ไม่มีอะไรมาครอบงำ นั้นปราโมทย์ก็เป็นสภาวะ หรือ คุณภาพของจิตใจที่ดีงาม ที่ตรัสถึงอยู่เรื่อย ก็ภิกษุปฏิบัติธรรม ก็ควรจะได้ปราโมทย์ โดยปกติก็ควรทำจิตให้ปราโมทย์ได้ ถ้าเรายังไม่สามารถทำจิตให้ปราโมทย์ได้ เอออย่างนี้เราจะไปหวังนิพพานยังไง เพราะว่าภาวะที่มันมีลักษณะใกล้เคียงเนี่ย เราก็ยังไม่สามารถทำได้ ก็คือ ทำใจให้มันโล่ง มันโปร่ง มันเบา ไม่มีกิเลส ความรู้สึกที่ไม่ดีทั้งหลายเข้ามารบกวนครอบงำ แล้วก็จิตสภาพนี้ก็อยู่ในชุดที่ว่า ในที่สุดก็เป็นสมาธินั่นเอง
นั้นก็ทำใจให้ผ่องใส ก็เข้ากับหลักที่เป็นหลักพุทธศาสนา ๓ ข้อ ที่เรามักจะพูดกันว่า หัวใจพุทธศาสนา
“สัพพปาปัสสะ อกรณัง” การไม่ทำบาปหรือสิ่งไม่ดีทั้งปวง แล้วก็
“กุสะลัสสูปะสัมปะทา” ทำกุศลให้ถึงพร้อม
“สะจิตตะปะริโยทะปะนัง” ทำจิตของตนให้ผ่องใส ผ่องใสแท้ก็ต้อง ปัญญา เพราะปัญญาก็เหมือนแสงสว่าง แสงสว่างก็ทำให้มองเห็นชัดเจน แล้วกำจัดสิ่งที่ขุ่นมัว เมื่อยังมีขุ่นมัว ความสว่างมันก็ยังไม่เต็มที่ การที่มีปัญญา สว่างเต็มที่ก็แสดงในตัวว่า เวลานั้นไม่มีสิ่งเศร้าหมองรบกวน ปัญญาจึงได้เห็นโทษชัด
พอปัญญามาก็คือ เป็นตัวที่เชื่อมต่อ มนุษย์เข้ากับความจริง ปัญญาเป็นตัวถึงความจริง ความจริงก็อย่างที่ว่าเป็นตามที่มันเป็น ที่บอกวันก่อนบอกว่า ท่านแนะนำพระใหม่บอกว่าให้ทำใจเหมือนพระจันทร์ หรือไม่งั้นก็ให้เราทำดวงใจให้สดชื่นเบิกบานเหมือนยามแลดูดวงจันทร์ คนดูดวงจันทร์นี้มักใจสบาย ทำใจให้สว่าง ใส เย็น อย่างกับพระจันทร์ อันนี้ก็เป็นอุบายวิธี ผมก็ว่าเรื่อยไป มีอะไรถามก็นิมนต์นะ ไม่มีนะ ไม่มีอะไรสงสัยวันนี้ก็เอาเท่านี้ก่อน